โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ศอ.บต. เตรียมทำป้ายไทย-อังกฤษ-มลายูในสถานที่ราชการชายแดนใต้

Posted: 05 Jun 2012 11:42 AM PDT

ศอ.บต. ตั้งคณะกรรมการจัดทำป้าย 3 ภาษา ไทย-อังกฤษ-มลายู ตามสถานที่ราชการและสถานที่สำคัญเพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์พื้นที่และปรับปรุงการสื่อสารกับชาวต่างชาติ

 

ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้จัดทำป้าย 3 ภาษา ประกอบด้วยภาษาไทย อังกฤษและมลายูอักษรยาวีตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2554  เพื่อเป็นการแสดงออกถึงอัตลักษณ์มลายูชายแดนใต้และเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารระหว่างราชการกับประชาชนในพื้นที่ (ภาพ : ยารีนา กาสอ)

เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. วันที่ 5 มิถุนายน 2555 นางอลิสรา มะแซ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ส่วนกระทรวงวัฒนธรรมเปิดเผยว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ได้หารือในประเด็นเรื่องการจัดทำป้าย 3 ภาษาเมื่อสี่วันก่อนและมีมติให้จัดทำป้าย 3 ภาษา โดยให้หน่วยงานราชการและหน่วยงานเอกชนที่สำคัญเป็นพื้นที่นำร่อง เช่น โรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาล ที่ว่าการอำเภอ สถานีตำรวจ องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล เรือนจำหรือสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งในอนาคตจะมีการติดตั้งป้าย 3 ภาษานี้เพิ่มเติมในสถานที่สาธารณะอื่นๆ

คนมลายูมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้พูดภาษามลายูเป็นภาษาแม่ แม้ว่าพวกเขาส่วนใหญ่จะพูดภาษาไทยได้ การมีภาษาเป็นของตัวเองเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญสำหรับอัตลักษณ์คนมลายูมุสลิมซึ่งบางคนมองว่ารัฐไทยพยายามที่จะทำลายอัตลักษณ์ของพวกเขา ในอดีต หน่วยงานราชการใช้ภาษาไทยในการสื่อสารเท่านั้นและป้ายสาธารณะต่างๆ ส่วนใหญ่ก็เขียนเป็นภาษาไทยภาษาเดียว  ในปี 2548 คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติซึ่งมีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้เสนอให้มีการใช้ภาษามลายูเป็นภาษาทำงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้  แต่ผู้ที่ออกมาคัดค้านข้อเสนอนั้นเป็นท่านแรกคือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองค์มนตรี  และข้อเสนอนั้นก็ไม่ได้มีการนำมาใช้แต่อย่างใด

สำหรับความริเริ่มในการทำป้าย 3 ภาษานี้ นางอลิสราระบุว่าในขั้นตอนต่อไปจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านภาษาและอัตลักษณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยคาดว่าจะมีประมาณ 7 - 8 คน และจะคัดเลือกผู้ทรวงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยทักษิณและจากหน่วยงานราชการอื่นๆ โดยคาดว่าจะแต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้

ในการประชุมกพต. เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมาที่ศอ.บต. ซึ่งมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่องเป็นประธาน ที่ประชุมได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดทำป้าย 3 ภาษานี้ว่าเพื่อให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์และวิถีชีวิตของชาวไทยพุทธและมุสลิมในพื้นที่และเพื่อให้เกิดความสะดวกและการสื่อสารที่ดีขึ้นสำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาติดต่อกับหน่วยงานราชการ เนื่องจากภาษาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารและสร้างความเข้าใจ จึงต้องคำนึงถึงผลระยะยาว ทำให้เกิดความความถูกต้อง เป็นกลางและเป็นที่ยอมรับ โดยหลังจากได้ข้อสรุปในการออกแบบป้ายแล้ว กรมทางหลวง แขวงการทางจะดำเนินการในการจัดทำป้ายต่อไป 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สื่อเวเนซุเอลล่าแย้ง ชาเวชเคยป่วยแต่ตอนนี้ยังแข็งแรงดี

Posted: 05 Jun 2012 11:24 AM PDT

จากกรณีที่สื่อตะวันตกเผยว่าชาเวซป่วยเป็นมะเร็งและใกล้เสียชีวิต ทางด้านสื่อ Venezuelanalysis.com มีบทความที่แสดงความเห็นตรงกันข้าม บอกว่าชาเวซป่วยแต่เข้ารับรักษาแล้วและฟื้นตัวได้ดี ดูยังแข็งแรง แม้อาจทำงานหนักได้ไม่เท่าเดิม

จากกรณีที่สื่อหนังสือพิมพ์ ABC ของสเปนรายงานเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ว่า ปธน. ฮูโก้ ชาเวซ ประธานาธิบดีเวเนซุเอลล่า ได้รับการตรวจว่าเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายและกำลังใกล้เสียชีวิต

ในอีกฝั่งหนึ่ง Eva Golinger จากเว็บไซต์ Venezuelanalysis.com ก็เปิดเผยว่า หลังจากที่ปธน. ชาเวซ ได้รับการตรวจพบมะเร็งและรักษาด้วยการตัดเนื้องอกออกไปตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2011 แล้ว ก็มีข่าวลือ ข่าวลวง และการคาดเดาไปเองเกี่ยวกับสุขภาพของชาเวซ

Eva Golinger กล่าวไว้ในบทความที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ว่า ข่าวเกินจริงเหล่านี้มักจะมาจากสื่อที่ต่อต้านชาเวซอย่างเช่น Miami Herald และจากเว็บบล็อกของบุคคลฝ่ายขวาจัด เช่น บล็อกของ โรเจอร์ นอเรียกา อดีตผู้ช่วยรมต.ต่างประเทศของสหรัฐฯ สมัยบุช ผู้ที่หมกมุ่นกับเรื่องชาเวซมาหลายปีแล้ว โดยข่าวพวกนี้จะอ้างถึงแหล่งข่าวที่ไม่ระบุที่มา เช่น "ข้อมูลจากวงใน" ในการพูดถึงสุขภาพของผู้นำเวเนซุเอลลา

"เป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจนักหากสื่อพวกที่บิดเบือนข้อเท็จจริงขิงเวเนซุเอลลาเมื่อหลายสิบปีมาแล้วจะรายงานข่าวที่ผิดจากความจริง และเรื่องราวแย่ๆ ของ ปธน. ชาเวซ" Eva กล่าว "แต่กับนักข่าวสืบสวนสอบสวนที่จริงจังและมีประสบการณ์อย่างแดน ราเธอร์ กลายมาเป็นคนรายงานข่าวของ ปธน. เวเนซุเอลล่าราวผู้ชอบเสพความตายของคนอื่น เป็นเรื่องที่น่าผิดหวังจริงๆ"

แดน ราเธอร์ รายงานใน HDNet เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่ผ่านมาว่า สุขภาพของชาเวซอยู่ในขั้นวิกฤติ และอาการใกล้ถึงขั้นสุดท้ายแล้ว โดยราเธอร์อ้างอิงแหล่งที่มาว่ามีแหล่งข่าวชั้นสูงคือผู้อยู่ใกล้ชิดปธน.ชาเวซบอกว่า ชาเวซจะมีชีวิตอยู่ได้อีกแค่ไม่เกิน 2 เดือนเท่านั้น และสิ่งที่เขาเรียกว่าเป็นข่าว 'เอ็กคลูซีฟ' ก็เป็นการที่เขาใช้ภาษารายงานข่าวที่เติมอคติตัวเองลงไปเท่านั้น

Eva โต้ว่า ก่อนหน้ารายงานของแดน 1 วัน ปธน. ชาเวซ ได้ออกโทรทัศน์การถ่ายทอดสดการประชุมสภาเป็นเวลา 4 ชั่วโมง ซึ่งชาเวซก็ยังดูแข็งแรง ร่าเริง และมีใจทำงานตามหน้าที่ และถึงขั้นร้องเพลงออกมาตามแบบฉบับของผู้นำที่มีเสน่ห์และบุคลิกเฉพาะตัว นอกจากนี้เขายังยืนยันเรื่องที่จะลงสมัครเลือกตั้ง ปธน. ในวันที่ 7 ต.ค. อีกด้วย

"ปธน.ชาเวช เป็นมะเร็งจริง" Eva กล่าวในบทความ "...แต่เขาก็ได้รับการรักษาและเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่เมื่อเดือน มิ.ย. ปีที่แล้วที่มีการผ่าตัดเนื้องอก ชาเวซเข้ารับการบำบัดทางเคมี 5 ขั้นตอน มี 4 ขั้นที่ไปทำที่คิวบา"

"เขาฟื้นตัวได้ดี และยังรับบทบาทสำคัญในการประชุมสุดยอดผู้นำที่คาราคัสในเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว เพื่อเปิดตัวประชาคมละตินอเมริกาและรัฐแคริบเบียน (CELAC) ซึ่งมีตัวแทนของ 33 ชาติในแถบภูมิภาคเข้าร่วมด้วย" Eva กล่าวถึงชาเวซ

Eva เล่าต่ออีกว่า เมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ชาเวซก็ตรวจพบว่ามีเนื้องอกเล็กกว่าเกิดขึ้นที่ส่วนเชิงกราน ทำให้เขาต้องกลับไปคิวบาเพื่อผ่าตัดอกอีกครั้ง และเข้ารับการบำบัดด้วยการฉายรังสี ตัวชาเวซเองบอกว่าไม่มีการแพร่กระจายของเนื้อร้ายหรือเกิดผลกระทบต่ออวัยวะของเขา และในวันที่ 11 พ.ค. ที่ผ่านมาเขาก็กลับมาสู่เวเนซุเอลล่าหลังจากที่เสร็จจากการรักษาและแสดงออกแบบมองโลกในแง่ดีกับการฟื้นตัวของตน

"ผมอยู่บนเครื่องบิน ...กำลังจะไปที่ดินแดนปิตุภูมิเวเนซุเอลล่า ผมดูมีความหวังมากขึ้น! พวกเราจะมีชีวิตอยู่ และพวกเราจะต้องมีชัย!" ชาเวซกล่าวผ่านทวิตเตอร์ในวันนั้น

Eva เล่าต่ออีกว่า หลังจากนั้นชาเวซก็เดินสายพบปะที่มีถ่ายทอดออกโทรทัศน์ เข้าร่วมรายงานข่าวต่างๆ เพื่อหารือเรื่องนโยบายของเขาและพูดถึงสุขภาพล่าสุดของตัวเอง ชาเวซยอมรับว่าเขาไม่อาจเป็นคนที่ทำงานหนักได้มากเท่าแต่ก่อน และจำต้องจำกัดเวลาทำงานของตัวเองไว้เพียงแค่ 8 ชั่วโมงในวันทำงาน ต้องคอยควบคุมอาหารและการนอนด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ ชาเวซจะออกโทรทัศน์และเข้าร่วมงานของภาครัฐได้หลายชั่วโมง บางครั้งเกินแปดชั่วโมง และเข้าร่วมกิจกรรม 3-4 กิจกรรมในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ

"เขา (ชาเวซ) นอนน้อยมากและดื่มกาแฟดำเติมน้ำตาลจัดๆ เป็นประจำ เขาทำงานจนถึงช่วงเช้ามืด และจะฟังเสียงของทุกคน ทำตามคำเรียกร้องทุกอย่าง เขาเป็นคนที่มีความกระตือรือร้นสูง เช่นเดียวกับที่มีความกังวลสูงด้วย กับการที่มีพันธะในการสร้างชาติเวเนซุเอลล่าและกำหนดนโยบายของเขาให้สามารถลดปัญหาความยากจน ให้สิ่งต่างๆ แต่ผู้ที่ขาดแคลน" Eva กล่าว

"ชาเวซเป็นมะเร็งก็จริง แต่เขาก็สู้กับมันอย่างถึงที่สุด ด้วยความเข้มแข็งแบบเดียวกับที่เขาใช้ขับเคลื่อนให้ประเทศเดินหน้าต่อไป แม้จะต้องพบเจออุปสรรคที่ยากเข็ญที่สุด" Eva กล่าวในบทความ "แต่ชาเวซไม่ได้ 'หลุดออกจากเกม' ไปแล้วเช่นที่แดน ราเธอร์ กล่าวไว้อย่างป่วยๆ แน่นอน"

 

ที่มา

Rather’s False Reporting on Venezuela & President Hugo Chavez, Eva Golibnger, 01-06-2012

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เศรษฐศาสตร์แห่งช็อกโกแลต... กับการเรียนรู้วิถีแห่งอำมาตย์และความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ

Posted: 05 Jun 2012 10:04 AM PDT

มีอยู่ช่วงหนึ่งเพื่อนของ ME ชวน ME เปิดร้านช็อกโกแลตครบวงจร ด้วยความเนิร์ดME ก็รับไปศึกษาประวัติศาสตร์ของช็อกโกแลตว่ามีเส้นทางประวัติศาสตร์เป็นมาอย่างไร ก็ค้นพบว่า ประวัติศาสตร์ของช็อกโกแลตนั้นย้อนรอยไปได้ยาวนาน และก็เป็นธรรมดาของสิ่งที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานที่จะต้องมีความแพรวพราวของเรื่องเล่าน่าตื่นตาจำนวนมากตามไปด้วย แต่มิติหนึ่งที่ ME จะยกขึ้นมากล่าวถึงอย่างพิเศษก็คือ ช็อกโกแลตมีส่วนร่วมทางประวัติศาสตร์ในกลุ่มชนชั้นนำมากเป็นพิเศษ กล่าวได้ว่า ช็อกโกแลตโดยเฉพาะช่วงแรกของประวัติศาสตร์นั้นพัวพันอยู่กับชนชั้นนำสังคมมากกว่าชนชั้นลางอย่างเด่นชัด

ก่อนอื่นต้องให้ความรู้เบื้องต้นว่าช็อกโกแล็ตนั้นได้จากการนำเมล็ดของต้นคาเคา (Cacao) มาผ่านกระบวนการ หลายขั้นตอนก่อนจะมาเป็นช็อกโกแลตแสนอร่อยให้พวกเราได้ทาน ข้อสันนิษฐานโดยทั่วไปชี้ว่าต้นคาเคาน่าที่จะมีถิ่นกำเนิดเริ่มต้นที่อเมริกากลางไปจรดอเมริกาใต้ สัตว์ชนิดแรกที่กินมันเข้าไปก็คือ “ลิง” โดยลิงกินจะแกะเปลือกที่แข็งออก กินส่วนที่เป็นเนื้อผล (pulp - มีรสหวาน) และทิ้งส่วนที่เป็นเมล็ดตรงกลาง (bean) ซึ่งเป็นพฤติกรรมแสนจะธรรมชาติของสัตว์ในการกินส่วนอร่อยและทิ้งส่วนนี่แข็ง-ขม เมื่อมนุษย์โบราณMesoamerica เห็นลิงกินแล้วปลอดภัย(อร่อย?) ก็กินตามลิง กินแล้วก็ทิ้งเปลือกเหมือนลิง... เมล็ดคาเคาก็กระจายตัวไปอย่างกว้างขวางกินที่ไหนก็ทิ้ง(และถ่าย)ที่นั้นต้นคาเคาก็ขึ้นงอกงาม

การละเลยเมล็ดต้นคาเคาดำเนินมาจนกระทั่งปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีว่าชนเผ่าที่ปลูก (domesticate) ใช้งานเมล็ดของต้นคาเคาครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วง 1,200-300 ปีก่อนคริสตกาลโดยเผ่าโบราณที่ชื่อ Olmecsบริเวณที่ราบต่ำทางตอนกลาง-ใต้ของเม็กซิโก โดยชาว Olmecsเรียกเมล็ดของคาเคาว่า Kakawaและใช้มันในพิธีกรรมทางศาสนา (แหล่งพลังลี้ลับด้านสุขภาพและอำนาจ) ซึ่งแน่นอนว่าใจกลางอำนาจของเผ่าโบราณขึ้นอยู่กับพลังเหล่านี้ไม่มากก็น้อย

ชนเผ่าโบราณที่อยู่ดินแดนใกล้เคียงกันในยุคต่อมาได้แก่ชาวมายัน (Mayan) ซึ่งมีวิวัฒนาการก้าวล้ำอย่างมากในยุคนั้น คือมีปีระมิดและปฏิทินที่ใช้งานได้ยาวนานถึงศตวรรษที่ 21 และยังมีภาษา-ตัวอักษรสลับซับซ้อน ชาวมายันไม่ได้ทานช็อกโกแลตเป็นแท่งอย่างที่เราทานกันในปัจจุบัน หากทานเป็นน้ำช็อกโกแลตควบคู่กับเครื่องเทศที่มีความหลากลายทางโภชนาการอย่างมาก (และแน่นอนไม่อุดมไปด้วยน้ำตาล)

ต่อมาชาวเผ่าที่เข้าครอบครองพื้นที่แทนชาวมายันก็คือ... ชาวแอซเทค (Aztecs) ซึ่งเชื่อในตำนานที่ว่า มนุษย์ได้รับต้นคาเคามาจากเทพที่ชื่อ Quetzalcoatl จนเป็นเหจุให้เทพองค์ดังกล่าวถูกเนรเทศเพราะได้มอบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้แก่มนุษย์ผู้ต่ำต้อยไม่เป็นอมตะ แต่Quetzalcoatl สาบานว่าจะกลับมาอีกครั้ง ความเชื่อนี้เองเป็นเหตุให้ในราวศตวรรษที่ 16 กษัตริย์ชาวแอซเทคนามว่ามอนเตสซูม่า (King Montezuma) เข้าใจผิดว่านักสำรวจชาวสเปนชื่อ คอเตซ-ผู้พิชิต(Cortes, the Spanish conquistador) เป็น Quetzalcoatl กลับมาและได้ยินยอมให้คอเตซขูดรีดเอาทรัพยากรอย่างไร้ขอบเขต ทั้งๆที่ชาวแอซเทคมีมากกว่าผู้บุกเบิกกลุ่มนี้หลายเท่า

ในช่วง 200 ปีระหว่างก่อนที่ชาวสเปนจะเข้ามายึดครองความมั่งคั่งทั้งหมดของชาวแอซเทค(ในนามของพระเจ้า)ไปนั้นช็อกโกแลตมีส่วนอย่างมากในทางเศรษฐกิจเช่น ประการแรก เมล็ดคาเคาสามารถเป็นเงินตราได้ เมล็ดคาเคา 30 เมล็ดแลกได้กับกระต่ายตัวเล็กๆ 1 ตัว, หาก 3 เมล็ดแลกไข่ไก่งวงได้และ 1 เมล็ดแลกมะเขือเทศลูกใหญ่ได้ 1 ผล เป็นต้น สองพระคลังของกษัตริย์ (Royal storehouse) เต็มไปด้วยหน่วยเงินตราที่เป็นเมล็ดคาเคา (cacao currency) นี้อยู่ถึงราว 11,680,000 เมล็ด ซึ่งหากไข่ไก่งวงราคาเท่ากับปัจจุบัน (ราว 3.5 เหรียญสหรัฐ) เมล็ดคาเคาที่กษัตริย์เก็บเอาไว้มีมูลค่าราว 408.8 ล้านบาทโดยประมาณเลยทีเดียว และเนื่องจากทุกๆเมล็ดของคาเคาที่จะนำมาทำเป็นเครื่องดื่มคือเงิน (ตรงตามตัวเลยเพราะเมล็ดคาเคาคือเงินในยุคดังกล่าว) ชนชั้นนำของสังคมเท่านั้นจึงทานช็อกโกแลตเป็นเครื่องดื่ม กษัตริย์ของพวกเขาชอบทานช็อกโกแลตอย่างมากเป็นที่ลือกันว่า Montezuma  ดื่มช็อกโกแลตราว 50 แก้วต่อวัน

เมื่อภายหลังคอเตซ ได้ครอบครองโลกใหม่ (สำหรับชาวยุโรปแต่เป็นบ้านเกิดเมืองนอนแสนเก่าของชาวพื้นเมือง) ภายใต้การบุกเบิกของสเปนเช่น เฮติและตรินิแดด เขาได้นำต้นคาเคาไปปลูกด้วย และยังมีตำนานลือกันต่อไปอีกว่าคอเตซนี่เองคือคนที่นำต้นคาเคาไปปลูกที่แอฟริกาตะวันตกในระหว่างการเดินทางสำรวจโลกใหม่ของเขา อย่างไรก็ตามไม่มีหลักฐานมากมายนักยืนยันถึงประเด็นเหล่านี้ ผลิตผลคาเคาถูกส่งกลับไปยุโรปบางส่วนแน่นอนเพื่อกษัตริย์คาลอสที่ 1 แห่งสเปน บัดนี้ต้นคาเคาอภิสิทธิ์แห่งหมอผีผู้นำทางจิตวิญญาณชนเผ่าโบราณ สู่อภิสิทธิ์แห่งกษัตริย์ชนเผ่า และสู่อภิสิทธิ์แห่งกษัตริย์ชาวตะวันตก

ต่อมาเมื่อเจ้าหญิงสเปน Princess Maria Theresa อภิเษกสมรสกับกษัตริย์หลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1660 และนั่นทำให้ช็อกโกแลตเดินทางสู่ชนชั้นนำของยุโรป (Cream of European Society) อย่างสง่างาม... ชนชั้นนำที่ถูกเชิญมาในงานได้ลิ้มรสช็อกโกแลตร้อนของโปรดของเจ้าหญิงแล้วต่างติดใจ(พระทัย)ไปตามๆกันโดยเฉพาะพระสวามีมักทานควบคู่ไปกับการตอกไข่แดงลงไปด้วยเสมอๆ (โด๊ป?)และในช่วงศตวรรษที่ 17 เมื่อกษัตริย์ Holy Roman Empire Charles ที่6 ได้ย้ายจากมาดริด ไปพำนักที่ออสเตรีย, เวียนนา พระองค์ก็ได้นำช็อกโกแลตไปแพร่หลายที่นั่นด้วย

ในอีกด้านหนึ่งการที่อังกฤษเข้าไปยึดครองจาไมก้าราว ค.ศ. 1655 ก็ทำให้อังกฤษรับเอาช็อกโกแลตเข้ามารับประทานเช่นเดียวกัน โดยเป็นช่วงเดียวกันกับที่อังกฤษรับเอากาแฟมาจากแอฟริกาและชาจากเอเชีย โดยราคาชามากกว่าช็อกโกแลต และช็อกโกแลตราคาสูงกว่ากาแฟ (แพงเป็น 3 เท่าของกาแฟ) นั่นทำให้ชาและช็อกโกแลตแพร่หลายในชนชั้นนำมากกว่ากาแฟ (ทำให้แตกต่าง) ในขณะที่กาแฟทานได้ทุกๆหัวมุมถนน ช็อกโกแลตจะหาทานได้ก็เฉพาะในร้านช็อกโกแลต (Chocolate house) เท่านั้น ซึ่งมักจะกลายเป็นที่สนทนาเรื่องการเมืองเฉพาะผู้ใหญ่ (เด็กห้ามเข้า) และต่อมาการเปิด Chocolate house ก็แพร่หลายเข้าไปที่ Netherland ด้วย

ช็อกโกแลตได้หมดยุคสมัยของชนชั้นนำ – อภิสิทธิ์ชนก็เมื่อราว คริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมานี้เองโดยกระบวนการผลิตแบบอุตสาหกรรมและการเกิดขึ้นของช็อกโกแลตบาร์ซึ่งไม่ต้ออาศัยกรรมวิธีที่ยุ่งยากในการกินโดยเฉพาะการกินแบบนั่งโต๊ะพูดคุยอย่างลอยชายในสังคมชั้นสูงซึ่งเริ่มต้นตราสินค้าช็อกโกแลตที่เป็นที่รู้จักกันในโลกทุกวันนี้อย่างเช่น Swiss made และช็อกโกแลตดัตช์ เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงการผูกขาดทางฝั่งผู้ดื่มกินช็อกโกแลตอาจจะนับเป็นก้าวสั้นๆของการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยและความเท่าเทียมมากยิ่งขึ้นฝั่งผู้บริโภค

ทว่าในอีกด้านหนึ่ง... ด้านของผู้ผลิตในฝั่งละตินอเมริกา จากยุคสมัยของบรรพบุรุษที่ถูกยึดครองขูดรีด มาสู่ยุคสมัยของการประกาศเอกราช ผู้ผลิตชาวพื้นเมืองเหล่านี้ยังไม่อาจจะหลุดพ้นไปจากความยากจนข้นแค้นกระทั่งเกิดคำว่า “ทาสช็อกโกแลต (Chocolate Slaves)” ขึ้นมาและมีการทำสารคดีโดย BBC ในเรื่องนี้โดยเฉพาะด้วย – ผู้อ่านอาจลองหาจากเฮีย “กู” ดูได้ครับไม่ยากครับ

ข้อมูลเบื้องต้นก่อนที่จะได้ไปหาอ่านกันต่อก็คือ ประเทศผู้ผลิตเมล็ดคาเคาในละตินอเมริกานั้นมีคุณภาพชีวิตที่แย่เอามากๆ และจำนวนไม่น้อยคือเด็กอายุต่ำกว่าเกณฑ์ซึ่งถูกขายทำงานประเทศอย่างเช่น กาน่า และไอเวอรี่โคสที่ผลิตเมล็ดคาเคากว่าร้อยละ 60 ของโลกและมีครัวเรือนกว่า 10 ล้านครัวเรือนที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานยังมีรายได้ต่ำผิดจากบรรดาบริษัทที่รับซื้อเมล็ดจากพวกเขาลิบลับเด็กวัยเรียนราว 100,000 คนอยู่นอกโรงเรียนและบริษัทอย่างเช่น Nest(XX) (สองตัวอักษรหลังใส่เอาเองนะครับ ME ไม่อยากถูกฟ้อง) ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมโครงการ Fair trade ปฏิเสธเพียงว่า “Panorama (สารคดี BBC – ME) ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าแหล่งผลิตที่ Nest(XX) ซื้อนั้นมีการใช้แรงงานเด็กในการผลิต” สิ่งที่น่าสนใจคือท่ามกลางการปฏิเสธเสียแข็งของบริษัทเอกชนเหล่านี้ กฎหมายซึ่งริเริ่มโดย Congressman Eliot Engel เพื่อให้รัฐสภาสหรัฐออกกฎหมายติดฉลาก ปลอดการใช้แรงงานทาส-เด็ก (slave-labour-free or child-slave-labour-free) กลับต้องตกไปไม่ผ่านสภาเมื่อ 9 ปีก่อนเพราะแรงล็อบบี้จากบริษัทเหล่านี้เองด้วยส่วนหนึ่ง

ดูเหมือนว่าการขูดรีดจากยุคลัทธิอาณานิคม (Colonialism) แม้จะผ่านมาสู่ยุคทุนนิยม (Capitalism) แล้ว... ก็ไม่ได้มีอะไรต่างไปจากเดิมมากนัก ผู้ที่ถูกขูดรีดก็ยังคงถูกขูดรีดต่อไป ในนามประชาธิปไตย (ที่จะปฏิเสธความช่วยเหลือ) และเสรีภาพ-การค้าเสรี

 

 

Biography
www.allchocolate.com
http://news.bbc.co.uk/panorama/hi/front_page/newsid_8583000/8583499.stm
CREDITED PICTURE:-http://blog.friendseat.com/candy-bars-made-by-child-slaves

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บทสัมภาษณ์อองซาน ซูจี บทเรียนที่นักการเมืองไทยพึงเรียนรู้

Posted: 05 Jun 2012 09:56 AM PDT

(ภาพโดย: World Economic Forum by Sikarin Thanachaiary)

 

ผ่านไปแล้วกับการเยือนประเทศไทยของนางอองซาน ซูจี กับภารกิจที่เข้าถึงประชาชนมากที่สุดในช่วงเวลาเพียงสี่วันที่เธออยู่ในเมืองไทยทั้งการเยี่ยมกลุ่มผู้ใช้แรงงานชาวพม่าในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ชาวพม่าผู้พลัดถิ่นในพื้นที่จังหวัดตาก และการเยี่ยมเยียนศูนย์พิสูจน์สัญชาติ

การเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum ของซูจีในครั้งนี้ เธอไม่ได้เข้าร่วมในฐานะผู้นำประเทศหรือในฐานะรัฐบุรุษ(สตรี)ของโลก แต่เธอได้ย้ำกับผู้สื่อข่าวเสมอว่า เธอปรารถนาที่จะรับฟังและเรียนรู้มากกว่าที่จะพูด และเธอยังบอกอีกว่าเธอได้เรียนรู้มากมายจากการเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ จากภารกิจการเข้าร่วมการประชุมเวทีระดับโลกในฐานะนักการเมืองแม้ว่าขณะนี้เธอไม่ใช่นักการเมืองกลุ่มที่มีเสียงข้างมากในสภา แต่เธอได้ทำหน้าที่อย่างน่าชื่นชม

จากการได้อ่านบทสัมภาษณ์ ผู้เขียนอยากจะขอแบ่งปันบทสัมภาษณ์บางส่วนที่อ่่านแล้วรู้สึกเคลื่อนไหวจิตใจและได้แรงดลใจ โดยเฉพาะกับบุคคลที่ทำงานด้านการเมืองที่จะได้เรียนรู้สิ่งดีๆ จากบทสัมภาษณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความรักประเทศชาติ รักประชาธิปไตย และรักประชาชนของเธอ ความรักที่เป็นความรักที่แท้จริงที่สัมผัสได้ และเป็นความรักอย่างคนที่มีความเข้าใจ ยิ่งกว่านั้น เบื้องหลังการพูดและให้สัมภาษณ์ของเธอปรากฏว่า เธอไม่มีแม้สมุดบันทึกคำกล่าว ไม่มีแม้แต่เครื่องอุปกรณ์อีเลคทรอนิคใดๆ แต่เธอก็พูดได้อย่างลื่นไหลและสร้างความประทับใจให้กับผู้สื่อข่าวจำนวนมากที่กำลังใช้อุปกรณ์สื่อสารที่ทันสมัยอย่าง iPhone และ iPad เพื่อบันทึกและสื่อสารคำพูดของเธอแบบคำต่อคำ

รวมบทสัมภาษณ์นางอองซาน ซูจี จากเวที World Economic Forum วันที่ 1  มิถุนายน 2012

- ซูจี กล่าวว่า อยากให้พม่าเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตพัฒนาต่อไป การปฏิรูปประเทศในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อชาวพม่าและประเทศอื่นที่เข้ามาลงทุน

- อยากให้การเข้ามาลงทุนที่เพิ่มขึ้น ทำให้คนพม่ามีงานทำมากขึ้นไม่อยากให้เป็นโอกาสต่อคนที่รวยอยู่แล้วคอร์รัปชั่น

- ต้องทำให้คนพม่าเข้าใจกฎหมาย และการใช้กฎหมายไม่ควรเอื้อใครคนในคนหนึ่ง

- จะต้องไม่คิดว่าใครมาจากพรรคการเมืองไหน สิ่งสำคัญคือต้องฟังเสียงของประชาชน

- การปกครองเป็นอย่างไรไม่สำคัญเท่ากับการให้คนเป็นคนตัดสินอนาคตของตัวเองได้

- การปกครองในปัจจุบันควรเป็นประชาธิปไตย แต่ยอมรับว่าอาจยังไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มที่

- ณ เวลานี้พม่าได้ให้คำมั่นสัญญาแล้วว่าจะเดินไปข้างหน้า ไม่ถอยหลัง ไม่อยากถูกคนอื่นทิ้งห่าง

- ยอมรับว่าพม่าล้าหลังกว่าหลายประเทศ ดังนั้นจึงต้องการนักลงทุนเข้ามาช่วยพัฒนาพม่า

- ขอให้นักลงทุนอย่ามุ่งเพียงแค่ผลกำไรจากการลงทุนในพม่า แต่ต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ

- ดิฉันจะให้ความสำคัญกับการขยายการศึกษาขั้นพื้นฐานในพม่า เพื่อทำให้คนหางานทำได้ง่ายขึ้น

- พม่าประกอบไปด้วยคนกลุ่มน้อยจำนวนมาก จึงต้องมีการปรองดองเพื่อให้ประเทศเดินหน้าปฏิรูปได้

- การปฏิรูปในพม่าในครั้งนี้ เป็นการให้คำมั่นของทหารว่าจะพัฒนาประเทศ จะไม่หันหลังกลับ

- การปฏิรูปในพม่า ไม่ใช่เพียงแค่การปฏิรูปทางการเมือง แต่เน้นการปฏิรูปเศรษฐกิจ

นักข่าวถามว่า เห็นตึกสูงในกรุงเทพคิดถึงอะไร ซูจีบอก “เห็นไฟฟ้าตามตึกสูงตอนกลางคืน คิดถึงคนพม่าที่จุดเทียนประท้วงที่ไฟฟ้าดับ”

การเปิดประเทศของพม่า เป็นเสมือนแม่เหล็กที่ดึงดูดนักลงทุนจากทั่วทุกสารทิศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ที่กำลังแข่งขันกันฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่ดีกับพม่าอย่างเร่งรีบ ซึ่งไม่ต่างกับนักลงทุนจากหลายๆ ประเทศที่พร้อมที่จะเข้าร่วมกอบโกยผลประโยชน์จากประเทศที่ปิดตัวมาอย่างยาวนาน ประเทศที่ยังคงเหลือทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์อย่างล้นเหลือ แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นกลุ่มนักลงทุนชาวไทยที่มีชายแดนติดกับประเทศนี้

แม้เธอจะทราบดีว่านักลงทุนจะเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ แต่เธอก็มองเห็นความสำคัญของการพัฒนาประเทศโดยอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญของนักลงทุนจากต่างประเทศเหล่านั้น เป็นการเปิดรับอย่างมีความเข้าใจ เพราะเมื่อมีการลงทุนจำนวนมากก็จะมีการสร้างงานจำนวนมากเช่นเดียวกัน สิ่งดังกล่าวย่อมส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาคุณภาพความเป็นอยู่ของประชาชนชาวพม่าให้ดียิ่งขึ้นจากการจ้างงานและสิ่งอำนวยความสะดวกในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

แน่นอนว่านอกเหนือจากการพัฒนาเศรษฐกิจแล้ว การพัฒนาด้านสังคมและการเมืองถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ จากมุมมองของเธอในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า โดยเธอเห็นว่าการศึกษามีส่วนสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล การพัฒนาประเทศ และการพัฒนาประชาธิปไตย นี่เป็นการแสดงวิสัยทัศน์ของเธอที่มองไปถึงอนาคตอันยาวไกล และการพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืน อีกทั้งเธอยังได้ย้ำเตือนสิ่งที่ผู้นำทหารของพม่าที่ได้ให้สัญญาว่าจะไม่เดินถอยหลังอีก นั่นแสดงว่า จะต้องมีการปฏิรูปกฎหมายครั้งสำคัญเพื่อให้สิทธิและเสรีภาพแก่ประชาชนเพื่อให้สอดรับกับกระบวนการพัฒนาของโลกในสังคมปัจจุบัน

ล่าสุดผู้เขียนได้อ่านบทสัมภาษณ์เธอผ่านหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า 'ซูจี' เยี่ยมศูนย์พักพิงจังหวัดตาก พบผู้ลี้ภัยพม่า รับปากจะพากลับบ้าน” ผู้เขียนได้แต่คิดว่า หากถึงเวลานั้นคงเป็นช่วงวิกฤตของประเทศไทย เนื่องจากในปัจจุบันจากการศึกษาพบว่า ประเทศไทยขาดแรงงานกว่าสามแสนอัตราในขณะที่ประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นชาวพม่ากว่าหนึ่งแสนห้าหมื่นคน (ข้อมูลจาก UNHCR ปี 2011) จึงมีคำถามว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ประเทศไทยจะใช้แรงงานจากคนเหล่านี้ เพราะในขณะที่ประเทศไทยมีทรัพยากรบุคคลอยู่ในประเทศอย่างมากมายกลับไม่ใช้ แต่ปล่อยให้เป็นภาระของรัฐในการบริหารจัดการที่ไม่ได้มาตรฐานของหน่วยงานดูแลกลุ่มผู้พลัดถิ่นชึ่งต้องสูญเสียงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชนจำนวนมาก ในขณะที่ประเทศต่างๆ ในยุโรปและในหลายทวีปในกลุ่มประเทศโลกที่หนึ่งกลับต้องเผชิญกับการขาดแคลนแรงงานรุนแรงและส่งผลเสียต่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานให้มีความทันสมัยอันมีผลสืบเนื่องมาจากการจ้างแรงงานราคาสูง เหตุผลของการไม่จ้างงานชาวพม่าพลัดถิ่นเหล่านี้คือ เหตุผลด้าน “ความมั่นคงของรัฐ”

ข้อเท็จจริงจากสภาพความเป็นอยู่ที่ปรากฏ ชาวพม่าในศูนย์ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ยังขาดการเข้าถึงการจ้างงาน การสาธารณสุข สวัสดิการสังคม และการศึกษาที่จำเป็นต่อบุคคล

แม้ประเทศไทยไม่ได้ลงนามเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัว  และไม่มีกฎหมายใดที่รองรับสถานะภาพผู้ลี้ภัยของชาวพม่าและผู้ลี้ภัยที่มาจากประเทศอื่นๆ ผลคือ ทำให้บุคคลเหล่านี้ขาดสถานะภาพบุคคลตามกฎหมายและขาดสิทธิในการเข้าถึงการบริการสังคมและสิทธิต่างๆ ตามที่กฎหมายระบุ แต่ประเทศไทยเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกประติบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (International Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination 1965: CERD) หลักการสำคัญตามอนุสัญญาฉบับดังกล่าวระบุว่า “รัฐภาคีจะไม่กระทำการใดๆ ที่จะเป็นการเลือกปฏิบัตทางเชื้อชาติิต่อบุคคล กลุ่มบุคคล และสถาบันในทุกรูปแบบ” (ข้อ 2) หลักการประการหนึ่งที่สำคัญคือ สิทธิในการมีทำงาน (Rights to work) นอกเหนือจากสิทธิที่สำคัญอื่นๆ เช่น การเข้าถึงการบริการสังคม การบริการทางการแพทย์หรือการบริการด้านสาธารณะสุข ความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน และการเข้าถึงการศึกษา (ข้อ 5)

ด้วยเงื่อนไขข้างต้น หากเพียงจะรอให้มีการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาตามที่ระบุและมีการพัฒนากฎหมายเพื่อรองรับสิทธิของคนเหล่านี้อาจต้องใช้เวลาเนิ่นนาน จุดเริ่มต้นที่ดีที่สามารถทำได้ทันทีคือ การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะมีทัศนะคติต่อคนต่างชาติพลัดถิ่นเหล่านี้ว่า ไม่ว่าจะเป็นคนชาวพม่า เขมร หรือชาติอื่นๆ เข้ามาในประเทศไทย เขาเหล่านั้นหนีร้อนมาพึ่งเย็น ไม่ว่าอย่างไรเขายังมีความเป็นคนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Human dignity) ไม่ต่างจากคนไทย ดังนั้น บุคคลเหล่านี้พึงได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค (non-discrimination) ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการมีงานทำ สิทธิการเข้าถึงการบริการสังคม การเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ หรือแม้แต่สิทธิในการเข้าถึงการศึกษา เพราะคุณค่าของความเป็นคนของบุคคลไม่ได้ลดลง ไม่ว่ารวยหรือจนหรือมาจากเชื้อชาติใด

การมาเยือนประเทศไทยของนางอองซาน ซูจี ในครั้งนี้ ส่วนตัวผู้เขียนได้เรียนรู้จากชีวิตของสตรีผู้นี้ในหลายด้านที่เป็นประโยชน์ ทั้งนี้ ผู้เขียนไม่ได้ชื่นชมนางอองซาน ซูจี ในฐานะที่เป็นบุคคลที่วิเศษดีเลิศ หรือเป็นคนดีที่สมบูรณ์แบบอะไร เพียงแต่แนวคิด ท่าที แรงปรารถนา และการกระทำที่ดีที่เธอมีให้ประชาชน ประเทศชาติ และความเป็นประชาธิปไตยของเธอ ถือเป็นแบบอย่างและเป็นบทเรียนที่สำคัญที่เราชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองไทยควรเอาเยี่ยงอย่างบ้างไม่มากก็น้อย

 

หมายเหตุ: บทสัมภาษณ์โดย: Teerat Ratanasevi, Pattra Apimyawat and Voice TV @ Twitter 

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรณีอุทยานฯ ตัดฟันยางชุมชนทับเขือวุ่น ตรวจวัดพิกัดพื้นที่โฉนดชุมชนไม่ตรงกัน

Posted: 05 Jun 2012 09:49 AM PDT

กรรมการสิทธิ์ลงพื้นที่เขาบรรทัด ร่วมสำรวจพิกัด GPS พื้นที่อุทยานฯ ตัดฟันยาง เกิดข้อถกเถียงอยู่ ‘นอก-ใน’ เขตนำร่องโฉนดชุมชน หมอนิรันดร์เตรียมลงพื้นที่รื้อถอนสะพานบ้านหาดสูง-ห้วยยอดอีกครั้ง

 
 
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 4 มิ.ย.55 ที่ศูนย์ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ชุมชนทับเขือ-ปลักหมู ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมอนุกรรมการฯ ประกอบด้วย นายประสาท มีแต้ม นายแสงชัย นายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ และนายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ลงพื้นที่ตรวจสอบหลังจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ตัดฟันแปลงยางชาวบ้านในชุมชนทับเขือ-ปลักหมู ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการโฉนดชุมชน
 
โดยมี นายทัศพันธ์ พงษ์เภตรา ผู้อำนวยการสำนักงานโฉนดชุมชนสำนักนายกรัฐมนตรี นายธิติ กนกทวีฐากร  ผู้ตรวจราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายสมชัย แสงแก้ว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า นายสุรเชษฐ์ วันดีเรืองไพศาล หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด นายสมนึก พุฒนวล นายบุญ แซ่จุ่ง นางกันยา ปันกิตติ กรรมการเครือข่ายปฏิรูปเทือกเขาบรรทัด ชาวบ้านในเครือข่ายฯ และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ  กว่า 200 เข้าร่วม
 
นายทัศพันธ์ พงษ์เภตรา ผู้อำนวยการสำนักงานโฉนดชุมชนสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ชุมชนทับเขือ-ปลักหมู ผ่านมติคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) แล้วอยู่ในระหว่างการเตรียมการประกาศออกโฉนดชุมชน คาดว่าภายในระยะเวลาอันใกล้นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน
 
นายสมนึก พุฒนวล กรรมการเครือข่ายปฏิรูปเทือกเขาบรรทัด กล่าวให้ข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2555 เวลาประมาณ 14.30 น.นายสมชัย แสงแก้ว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า พร้อมเจ้าหน้าที่กว่า 50 นาย ได้เข้าทำลายรื้อถอนแปลงยางพาราของชาวบ้านทับเขือ-ปลักหมู พื้นที่ที่ถูกทำลายทั้งหมด 15 ไร่ อยู่ในเขตเสนอขอโฉนดชุมชนจำนวน 7 ไร่
 
ด้านนายสมชัย แสงแก้ว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ยืนยันว่า ตนเองพร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้เข้าทำลายรื้อถอนแปลงยางพาราจำนวน 15 ไร่ เมื่อวันที่ 30 มี.ค.55 จริงแต่พื้นที่ดังกล่าวอยู่นอกเขตเสนอขอโฉนดชุมชน อีกทั้งแปลงยางของนายณรงค์ รอดรักษ์ 3.2 ไร่ และนายเรวัตร รักษ์ทองจันทร์ 3.8 ไร่ ที่นำกำลังเจ้าหน้าที่ฯ เข้าฟันทำลายนั้นเคยถูกดำเนินคดีมาตั้งแต่ปี 2552
 
จากนั้นเวลา 11.00 น. คณะอนุกรรมการสิทธิชุมชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่แปลงยางที่ถูกฟันทำลาย ด้วยการเดินตรวจวัดพิกัด GPS ที่ชาวบ้านส่งถึงสำนักงานโฉนดชุมชน ร่วมกันทั้งเจ้าหน้าที่อุทยานฯ และชาวบ้าน
 
ปรากฏว่าจุดที่ 22 มีการทำสัญลักษณ์ต้นไม้เป็นเลข 24 ซึ่งนายสมชัย ยืนยันว่าตนและเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ไม่ได้ร่วมเดินตามพิกัดนี้ จึงต้องร่วมกันตรวจวัดพิกัดจากจุดที่ 19 จุดที่ 20 จุดที่ 21 จุดที่ 23 จุดที่ 24 และจุดที่ 25 โดยเครื่องหมายสัญลักษณ์ จุดที่ 23 จุดที่ 24 หายไป แต่จากการตรวจการตรวจวัดพิกัด GPS ตรงกับตัวเลขที่ชาวบ้านส่งเรื่องถึงโฉนดชุมชน
 
นายประสาท กล่าวว่า จากการตรวจวัดพิกัด GPS แสดงว่าต้นไม้ที่ทำสัญลักษณ์เลข 24 น่าจะเป็นจุดที่ 22 และพื้นที่แปลงยางที่ถูกฟันอยู่ในเขตดำเนินการเพื่อขอโฉนดชุมชน
 
ขณะที่นายสมชัย แย้งว่า ต้นไม้ที่ทำสัญลักษณ์เลข 24 ตนเองไม้ได้ร่วมเดินแนวเขตด้วย ดังนั้นชาวบ้านน่าจะทำขึ้นเอง แปลงยางที่ตนและเจ้าหน้าที่ฟันอยู่นอกเขตดำเนินการโฉนดชุมชน ตัวเลขพิกัด GPS ที่ชาวบ้านอ้างกับที่ตนร่วมเดินแนวเขตด้วยนั้นคนละตัวเลขพิกัดกันกับที่อุทยานฯ มี ทั้งนี้จะส่งตัวเลขพิกัด GPS ให้นพ.นิรันดร์ อีกครั้ง
 
“หัวหน้าสมชัย บอกว่าจะส่งตัวเลขพิกัด GPS ของอุทยานฯ อีกครั้งเนื่องจากเป็นคนละตัวเลขพิกัดกันที่ชาวบ้านอ้าง หลังจากนี้ผมจะตรวจสอบอีกครั้งว่าตัวเลขพิกัด GPS ของชาวบ้านกับของอุทยานฯ ของใครถูกต้องกันแน่ และผมจะลงพื้นที่บ้านหาดสูงในกรณีเจ้าหน้าที่อุทยานตัดฟันสะพานชาวบ้านในโอกาสต่อไป” นพ.นิรันดร์ กล่าว
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“ปล่อยนักโทษการเมือง” คือความรับผิดชอบทางศีลธรรมของรัฐบาลเพื่อไทย

Posted: 05 Jun 2012 09:39 AM PDT

เมื่อยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรมตามระบอบประชาธิปไตย เราจำเป็นต้องยอมรับข้อเสนอ “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร” ของนิติราษฎร์ ซึ่งมีผลให้การดำเนินการของ คตส.เป็นโมฆะ และคดีต่างๆ ของคุณทักษิณต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติ

การปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวโดยอ้างว่าทักษิณได้ประโยชน์ หรือเป็นข้อเสนอล้างผิดให้ทักษิณ (ที่จริงไม่ได้ล้างเพียงแต่ยืนยันสิทธิในการพิสูจน์ตนเองภายใต้หลักความเสมอภาคทางกฎหมาย) ย่อมเท่ากับปฏิเสธหลักนิติรัฐ นิติธรรม เพราะเป็นการยอมรับสภาพความเป็นนิติรัฐ นิติธรรม ของระบบอำนาจที่ได้มาจากการทำรัฐประหารล้มระบอบประชาธิปไตย

ที่สำคัญการปฏิเสธเช่นนั้นยังเป็นการสร้าง “มายาคติ” ว่า “ทักษิณคือศูนย์กลางของปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดอง” ทั้งที่ปัญหาที่แท้จริงคือการรัฐประหารทำลายหลักการแห่งนิติรัฐ นิติธรรมตามระบอบประชาธิปไตย

ทว่าตลกร้ายของสังคมไทยคือ ทำไมมวลชนของคนชั้นกลางในเมืองรับไม่ได้อย่างเด็ดขาดกับการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไม่เสียภาษี แต่ยอมรับได้กับรัฐประหารและกระบวนการเอาผิดนักการเมืองและพรรคการเมืองโดยระบบอำนาจของรัฐประหาร

การรับไม่ได้เด็ดขาดกับความผิดน้อยกว่า (การทำผิดกฎหมาย) กับการยอมรับได้และให้การสนับสนุนอย่างแข็งขันแก่ความผิดที่มากกว่า (ฉีกรัฐธรรมนูญ ล้มระบอบประชาธิปไตย) ในกรณีตัวอย่างนี้ เป็นเรื่องไม่อาจเข้าใจได้ หรืออธิบายไม่ได้ด้วยตรรกะที่อ้างอิงหลักจริยธรรมทางการเมือง หลักการ อุดมการณ์ประชาธิปไตย หรือหลักนิติรัฐ นิติธรรม

ฉะนั้น การแก้ปัญหาความขัดแย้ง หรือการสร้างความปรองดองจะไม่มีทางเป็นไปได้ ถ้าไม่กลับไปหาหลักการ หรือยึด “หลักการ”เป็นตัวตั้ง

แต่ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองที่แก้ไม่ตก เพราะมันถูกทำให้เป็น “เกมการเมือง” และเป็นเกมการเมืองที่มีเป้าหมายเพื่อกำจัดทักษิณให้ได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม ซึ่งที่จริงการขจัดทักษิณหรือนักการเมืองคนใดเป็นเรื่องที่ทำได้และควรทำหากเขาทำผิดกฎหมายตามที่กล่าวหาจริง แต่วิธีการขจัดต้องเป็นวิธีการที่ถูกต้องตามหลักนิติรัฐ นิติธรรมในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น

ถ้าอีกฝ่ายไม่ยอมรับว่าได้ใช้วิธีที่ผิดแล้วเปลี่ยนมาใช้วิธีที่ถูก การแก้ปัญหาขัดแย้งหรือการสร้างความปรองดองก็ไม่อาจเป็นไปได้

พูดจำเพาะเจาะจงกว่านั้นคือ ฝ่ายที่ไม่ยอมรับว่าได้ใช้วิธีที่ผิด ไม่ยอมรับข้อเสนอให้วิธีที่ผิดเป็นโมฆะคือฝ่ายที่ไม่ต้องการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ไม่ต้องการสร้างความปรองดอง ต้องการเพียงอย่างเดียวคือขจัดทักษิณ เพราะเห็นว่าทักษิณคือคู่แข่งทางการเมืองที่น่ากลัว และทำให้สถานะอำนาจของฝ่ายตนไม่มั่นคงเหมือนเดิม

คำถามคือ คุณทักษิณ แกนนำ นปช.และรัฐบาลเพื่อไทยจะสร้างความปรองดองกับฝ่ายที่ไม่ต้องการความปรองดองได้อย่างไร?

การต่อสู้ของคุณทักษิณเดินมาถึงจุดนี้ได้ เพราะมีพลังประชาชนจำนวนมหาศาลสนับสนุน แน่นอนว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยอาจรัก ศรัทธาในตัวคุณทักษิณ แต่ประชาชนที่รักประชาธิปไตยทุกคน ไม่ว่าเขาจะชอบหรือเกลียดคุณทักษิณก็ตาม เขาย่อมรับไม่ได้กับการทำรัฐประหารและการเอาผิดโดยรัฐประหาร

ฉะนั้น คุณทักษิณจึงถูกปกป้องทั้งโดยประชาชนที่รักเขา และถูกปกป้องโดยปริยายจากประชาชนทุกคนที่รักประชาธิปไตย

เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ ยุทธศาสตร์การต่อสู้ของคุณทักษิณ แกนนำ นปช.และรัฐบาลเพื่อไทยต้องยึด “หลักการ” เป็นตัวตั้ง ต้องสร้างประชาธิปไตยและความยุติธรรมให้ได้

การปรองดองด้วยภาษาที่อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เรียกว่า “เจรจาต้าอ่วย” หรือ “ทอดไมตรี” ให้อำมาตย์นั้น ไม่อาจเป็นไปได้ เว้นเสียแต่ว่ารัฐบาลเพื่อไทยจะยอมทำตัวเป็น “เครื่องมือ” ของอำมาตย์เหมือนที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ยอม แต่ประชาชนที่สนับสนุนรัฐบาลเพื่อไทยจะยินยอมหรือ

โดยเฉพาะผู้ที่บาดเจ็บ สูญเสียสมาชิกของครอบครัวและญาติมิตรของเขาไป และชาวบ้านธรรมดาที่ยังอยู่ในคุก คนเหล่านี้เขาควรจะได้รับความยุติธรรมอันดับแรก

อาจารย์สมศักดิ์เคยเสนอมานานแล้วว่า รัฐบาลควรย้ายนักโทษคดี ม.112 มาอยู่ในคุกนักโทษการเมือง ควรออกกฎหมายนิรโทษกรรมคนเสื้อแดงที่อยู่ในคุกก่อน เพราะทำได้ง่ายกว่า พ.ร.บ.ปรองดอง และล่าสุดเขายังยืนยันอีกว่า

ผมยังเห็นและยืนยันว่า เรื่องเร่งด่วน ที่คุณทักษิณ-เพื่อไทย-นปช. ควรทำให้สำเร็จโดยเร็ว คือ ทำอย่างไร จะช่วยให้นักโทษการเมืองเป็นอิสระ... เห็นใจคนติดคุก 2 ปีกว่า ยิ่งเหตุการณ์ที่สร้างความหวังไว้สูงเมื่อสัปดาห์ก่อน แล้วต้องผิดหวัง (นึกว่าจะได้ออก) เป็นอะไรที่ผมเห็นว่า คุณทักษิณ-เพื่อไทย-นปช. ควรต้องตระหนักในความรับผิดชอบทางคุณธรรม (moral responsibility) ต่อพวกเขาอยู่ (มติชนออนไลน์ 4 มิ.ย.55)

ผมคิดว่าความรับผิดชอบทางศีลธรรมต่อประชาชนผู้เสียสละเป็นสิ่งที่รัฐบาลที่มาจากการต่อสู้ของพวกเขาไม่อาจปฏิเสธได้ คุณทักษิณบอกว่าได้ส่งคนไปดูแลทุกคนที่เดือดร้อน นั่นก็เป็นสิ่งที่ดี แต่พวกเขาเหล่านั้นต้องได้รับความเป็นธรรมทั้งจากรัฐบาลของเขาเองและจากระบบยุติธรรม

การนิรโทษกรรมให้คนระดับชาวบ้านธรรมดาเป็นเรื่องที่อธิบายกับสังคมได้ไม่ยาก ในทางการเมืองก็ไม่น่าจะยากจนเกินไป เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หมอวรงค์แห่งพรรคประชาธิปัตย์เองยังพูดผ่านรายการ “คม ชัด ลึก” ว่าเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมให้คนระดับชาวบ้านธรรมดา จึงเป็นเรื่องเข้าใจไม่ได้ว่าทำไมรัฐบาลเพื่อไทยไม่ริเริ่มทำเรื่องนี้ก่อนตามข้อเสนอของอาจารย์สมศักดิ์

แน่นอนว่า ความเป็นจริงของปัญหาที่คุณทักษิณ แกนนำ นปช.และรัฐบาลประสบอยู่อาจซับซ้อนและยากลำบาก แต่ ณ วันนี้สังคมต้องการนักการเมือง และพรรคการเมืองที่มีความสามารถเป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” และเส้นทางการสร้างความปรองดองก็เป็นไปไม่ได้ถ้าไม่ยึดหลักการเป็นตัวตั้ง ฉะนั้น ทางเลือกจึงมีทางเดียวคือยืนยันหลักการ ต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมเป็นประชาธิปไตยและความยุติธรรมให้ได้

คุณทักษิณ แกนนำ นปช.และรัฐบาลต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคมสู่ความเป็นประชาธิปไตยและความยุติธรรมบนหลักเสรีภาพและความเสมอภาค ต้องเริ่มจากง่ายไปหายากปล่อยนักโทษการเมืองก่อน พร้อมๆ กับส่งสัญญาณหรืออธิบายกับสังคมอย่างต่อเนื่องในเรื่องความยุติธรรม ความเป็นประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน

การทำงานเพื่อปากท้องของประชาชนก็ต้องทำ แต่การเดินหน้าทางเศรษฐกิจจะยั่งยืนไม่ได้ ถ้าไม่สร้างระบอบประชาธิปไตยให้ยั่งยืน

แม้แต่ความปรองดอง หรือการที่คุณทักษิณจะกลับบ้านอย่างปลอดภัยก็ไม่มีทางเป็นไปได้ ถ้าไม่ดำเนินไปตามหลักการแห่งนิติรัฐ นิติธรรมตามที่กล่าวมาได้สำเร็จ และสิ่งที่สังคมต้องการมากเวลานี้คือนักการเมืองและพรรคการเมืองที่แสดงบทบาทอย่างชัดเจนว่าพวกเขาคือ “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง”

มันจะเป็นเรื่องที่เสียโอกาสมากเพียงใดที่เมื่อเดินมาถึงจุดนี้แล้ว คุณทักษิณ แกนนำ นปช.และรัฐบาลเพื่อไทยไม่สามารถจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคมสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง!  

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เริ่มสืบพยานคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กรณีโพสต์เรื่องหุ้นตกปี 52

Posted: 05 Jun 2012 09:33 AM PDT

5 มิ.ย.55 ที่ศาลอาญา รัชดา มีการสืบพยานเป็นวันที่สอง ในคดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ฟ้องนายคธา (ขอสงวนนามสกุล) อดีตโบรกเกอร์บริษัทแห่งหนึ่งว่ากระทำความผิดมาตรา 14 (2) ,(3) พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2551

ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ  (Freedom of Expression Documentation Center )ระบุว่า จำเลยถูกกล่าวหาว่าใช้นามแฝงว่า wet Dream โพสต์ข้อความเกี่ยวกับข้อมูลอันเป็นเท็จเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ทำให้หุ้นในตลาดหุ้นร่วงดิ่งลงในเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน จากนั้นจึงถูกจับกุมในข้อกล่าวหาที่ว่า มีส่วนทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก มีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน

ทั้งนี้ มีการนัดสืบพยานโจทก์ในคดีนี้ตั้งแต่วันที่ 1, 5, 6, 7 มิ.ย.55 นัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 8 มิ.ย.55

ข้อมูลเพิ่มเติม http://freedom.ilaw.or.th/th/case/83#detail

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เรื่องเล่าของมนุษย์ล่องหน'

Posted: 05 Jun 2012 09:29 AM PDT

หมายเหตุ เสนอในการเสวนาในหัวข้อ “แหกคุก :สถานะของนักโทษการเมือง” ในกิจกรรมนิทรรศการศิลปะ “เรื่องเล่าของมนุษย์ล่องหน” วันที่ 2 มิถุนายน 2555 ที่ร้าน Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่

 

 

ในปี 2548 (2005) ศิลปินชาวจีนนามว่า หลิว โบลิน (Liu Bolin) ได้เริ่มต้นงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า “Hiding in the city” หรือ “ซ่อนตัวในเมืองใหญ่” ของ โบลินแสดงงานของเขาโดยการตกแต่งตัวเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่ตนไปยืนอยู่ เขาจะยืนพรางตัวนิ่งๆ อยู่บริเวณสถานที่ที่เลือกไว้ ซึ่งโดยมากจะเป็นพื้นที่เมืองใหญ่ และฉากสำคัญก็มักเป็นสัญลักษณ์ของเมือง โบลินเริ่มต้นกิจกรรมนี้ในประเทศจีนบ้านเกิด ภายหลังสตูดิโอศิลปะของเขาถูกทางการจีนปิดลง หลังจากนั้นก็ตระเวนไปแสดงในอีกหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก เขาอธิบายงานของตนเองว่า มันคือการประท้วงที่ไร้เสียง (silent protest) เป็นการประท้วงทั้งต่อสภาพแวดล้อมที่มนุษย์ในเมืองดำรงชีวิตอยู่ และประท้วงต่อรัฐ รวมทั้งเรียกร้องความใส่ใจของศิลปินในจีน ต่อการใช้อำนาจต่อวงการศิลปะของรัฐบาลจีน เขาจึงถูกผู้คนรู้จักในนาม “มนุษย์ล่องหน” (invisible man)


ตัวอย่างงานของหลิว โบลิน (ดูเพิ่มเติม)

 

เราอาจกล่าวได้ว่าการล่องหน (invisible) คือภาวะที่บางสิ่งบางอย่างถูกมองไม่เห็น ถูกทำให้ไม่ปรากฏ หรือถูกซ้อนเร้นไว้ ทั้งๆ ที่บางสิ่งบางอย่างนั้นยังคงมีอยู่ มีตัวตน และดำรงอยู่จริง การล่องหนต่างจากการหายไป (disappear) ซึ่งมีลักษณะของการสาบสูญหรือสูญหายไปเลย สำหรับการล่องหนในบางครั้งบางเวลา เรา (หรือผู้ดู) ก็ตระหนักในการดำรงอยู่ของสิ่งนั้นๆ แต่กลับทำเสมือนมันไม่มีอยู่ หรือกระทั่งถูกทำให้รู้สึกเสมือนมันไม่มีอยู่หรือไม่สำคัญ 

คำถามคืออะไรสักสิ่งหรือใครสักคนจะล่องหนไปได้อย่างไร กระบวนการแบบไหนที่ทำให้เกิดมนุษย์ล่องหน? ถ้าดูจากกิจกรรมศิลปะของหลิว โบลิน เขาทำตัวเองให้ล่องหนไปโดยการเพนท์และทาสีตัวเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม เหมือนกิ้งก่าที่เปลี่ยนสีของมันและพรางตัวตนเข้ากับต้นไม้หรือโขดหินที่มันซ่อนตัวอยู่ ขณะเดียวกันก็อาศัยการหยุดนิ่งไม่เคลื่อนไหว เพื่อไม่ให้สัตว์ชนิดอื่นรับรู้การมีอยู่ของมัน เพียงแต่กรณีของมนุษย์การจะทำเช่นนั้นได้ ต้องอาศัยการอยู่นิ่งๆ ในพื้นที่ที่จะหายตัวไปนานนับหลาย 10 ชั่วโมง เพื่อค่อยๆ ระบายสีลงบนร่างกายตัวเอง ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมรอบตัว

ผู้คนจำนวนมากในสังคมหนึ่งๆ ก็อยู่ในสภาวะที่อาจเรียกได้ว่า “ล่องหน” เช่นเดียวกัน เพียงแต่ผู้คนเหล่านั้นไม่ได้เลือกจะล่องหนด้วยตัวเองในแบบงานศิลปะของโบลิน แต่พวกเขาหรือกลับถูกกระบวนการบางอย่างทำให้ล่องหน ทำให้มองไม่เห็น ทำให้เสียงไม่ดัง ถูกทำให้เลือนหายไป หรือถูกซ่อนเร้นไว้ ทั้งๆ ที่ตัวตนของพวกเขาและเธอดำรงอยู่ และบ่อยครั้งกระบวนการบางอย่างที่ทำให้เลือนหายเหล่านั้นมักเป็นความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ จากทั้งรัฐ ทุน หรือคนอื่นๆ ในสังคมเอง

 “นักโทษการเมือง” และผู้ต้องหาในคดีความจากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็เช่นกัน ที่อยู่ในสถานะและสภาวะของการเป็น “มนุษย์ล่องหน” ในสังคมของตนเอง ผู้ต้องหาหรือนักโทษในคดีนี้เป็นตัวอย่างอันดีของการชี้ให้ความรุนแรงโดยรัฐและสังคม ที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์การล่องหนในหลายมิติ ในบทความนี้ จึงอยากลองสำรวจบางส่วนดูว่าสิ่งที่ล่องหนหายไปด้วยอำนาจที่ถูกใช้ผ่านประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และกระบวนการต่างๆ ที่รายล้อมจากการบังคับใช้มาตรามีอะไรบ้าง และมันทำให้เกิดผลอย่างไรได้บ้างต่อผู้ต้องหา นักโทษในคดี หรือสังคมของเราเอง

ผู้เขียนใช้เรื่องเล่าบางเรื่องที่มีโอกาสได้ฟัง ได้อ่าน และได้ประสบพบเห็นในระหว่างที่ได้มีโอกาสติดตามบรรยากาศ ผู้คน และกระบวนการที่แวดล้อมมาตรา 112 นี้อยู่ โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเด็น คือ คดีล่องหน, บริบทล่องหน, “ความเป็นคน” ล่องหน และการปรากฏตัวของมนุษย์ล่องหน

คดีล่องหน
จนถึงปัจจุบัน คนจำนวนมากในสังคมไทย ไม่ว่าอยู่ในฝั่งฝ่ายการเมืองไหน หรือถึงแม้จะไม่สนใจการเมืองเลย อย่างน้อยก็น่าจะเคยได้ยิน ได้ฟัง หรือผ่านตาเรื่องราวเกี่ยวกับมาตรา 112 (หรือที่มักถูกเรียกว่า “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”) มาบ้างไม่มากก็น้อยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่จะได้ยินมาแบบไหน และรับรู้มันอย่างไรคงมีความแตกต่างกันไปตามกลุ่มฝ่ายการเมือง และสถานะในสังคมของแต่ละคน แต่การรับรู้ที่เริ่มเป็นไปกว้างขวางขนาดนี้เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้เอง

หากย้อนกลับก่อน “อากง sms” จะเสียชีวิต ย้อนไปก่อนเกิดการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ในนามของคณะกรรมการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) และคณะนิติราษฎร์ ก่อนการตัดสินลงโทษจำคุกอากง 20 ปี ก่อนการอภิปรายเสวนาบ่อยครั้งในประเด็นกฎหมายและสถาบันกษัตริย์ในระยะหลัง ก่อนการจับสมยศ พฤกษาเกษมสุข และสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ แกนนำทางฝั่งเสื้อแดงด้วยข้อหานี้ ก่อนหน้านั้นการเป็นที่รับรู้ของสาธารณชนต่อปัญหาของกฎหมายมาตรานี้ หรือการถกเถียงอย่างกว้างขวางก็ยังมีไม่มากนัก (อาจจะนับการอภิปรายเรื่องหลากมิติกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อเดือนมีนาคม 2552 เป็นครั้งแรกๆ ของการนำเรื่องนี้ขึ้นสู่สาธารณชน ซึ่งก็เพิ่งในช่วง 3 ปีมานี้)

อีกทั้ง สภาวะของการพูดถึงปัญหาของกฎหมายมาตรานี้จนถึงปัจจุบัน ก็ยังติดอยู่ภายใต้เพดานบางอย่าง ข่าวการรณรงค์การเสนอชื่อเข้าสู่สภา ข่าวการเสียชีวิตของอากง ข่าวข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์อย่างครบถ้วนรอบด้าน แทบจะไม่มีพื้นที่ในหน้าสำคัญของสื่อกระแสหลักหรือในโทรทัศน์ ทั้งอาจโดยการเลือกจะทำเป็นไม่สนใจ และการเซ็นเซอร์ตนเองก็ตาม ในขณะที่สื่อและองค์กรต่างประเทศพากันจับตามองการใช้กฎหมายนี้อย่างค่อนข้างกว้างขวาง แต่การถกเถียงพูดถึงให้รอบด้านในประเด็นนี้ในเมืองไทยก็ยังทำได้อย่างจำกัด และต้องระแวดระวังสิ่งที่ตนเองจะพูดกันอย่างสูง

ขณะเดียวกันแม้เราจะทราบว่ามีการฟ้องร้องคดีนี้เพิ่มมากขึ้น แต่ในระดับสาธารณชน เราก็ไม่ทราบกันนักว่ามีใครบ้างที่โดนกล่าวหาในคดีนี้ ถ้าไม่ใช่บุคคลสาธารณะที่เป็นรู้จักกันอยู่ก่อนแล้วเช่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล หรือกรณีอย่าง อากง sms, ดา ตอร์ปิโด, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ที่พอจะมีชื่อเสียงอยู่บ้าง เราก็แทบไม่รู้จักว่ามีใครบ้างที่โดนกล่าวหาในมาตรานี้กันนัก

อีกทั้งในทางสาธารณะ เราก็แทบไม่รู้ว่าข้อความหรือการแสดงออกซึ่งคนที่ถูกกล่าวหาในคดีพูดหรือทำคืออะไร ซึ่งนั่นดูจะเป็นข้อมูลหรือสิ่งพื้นฐานที่สุดของคดีในลักษณะหมิ่นประมาท ทุกคนรู้ว่าคนนั้นคนนี้โดนคดีนี้ แต่แทบไม่มีใครรู้ว่าคนนั้นทำอะไร พูดอะไร หรือแสดงออกแบบไหน และการนำคำพูดนั้นมาวิเคราะห์วิจารณ์ กล่าวซ้ำ หรือเผยแพร่เพื่อทำความเข้าใจอย่างมีเหตุมีผลสามารถทำได้หรือไม่  ถึงที่สุด เราแทบบอกไม่ได้เลยว่าเส้นแบ่งระหว่างการหมิ่นฯ หรือไม่หมิ่นฯ ทางกฎหมายอยู่ตรงที่ใด เราสามารถเอ่ยถึงสถาบันในแบบใดได้บ้าง ทำให้ความเงียบล้อมรอบประเด็นเหล่านี้กลายเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ราวกับว่าข้อมูลในคดีนี้และเส้นแบ่งต่างๆ กลายเป็นสิ่งล่องหนอย่างหนึ่ง

ในส่วนของผู้โดนจำขังหรือกล่าวหาจากมาตรานี้เอง ก็ไม่ได้ถูกนิยามว่าเป็น “คดีการเมือง” หรือ “นักโทษการเมือง” ทั้งในมุมมองของรัฐและทางกฎหมาย ด้วยฐานคิดว่าว่าเรื่องนี้เป็นคดีอาญาในหมวดของความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และเป็นคดีร้ายแรงกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน มุมมองเช่นนี้นำไปสู่ความลักลั่นกับการจัดประเภทของผู้ต้องหาจากคดีมาตรา 112 เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีการย้ายเฉพาะ “นักโทษการเมือง” คดีต่างๆ ที่ยังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปยังเรือนจำหลักสี่เพื่อให้นักโทษมีความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่กลับไม่นับนักโทษจากคดีมาตรา 112 รวมไว้ด้วย ทำให้พวกเขาและเธอยังถูกคุมขังไว้ที่เดิม หรือข้อเสนอเรื่องปรองดองจากฝ่ายต่างๆ ก็ไม่นับคดีจากมาตรานี้อยู่ในกรณีที่จะมีการนิรโทษกรรม ทั้งที่ในบริบทและเงื่อนไขทางการเมืองในปัจจุบัน สิ่งที่พวกเขาพูด สิ่งที่พวกเธอแสดงออก ล้วนเป็นปัญหาทางการเมือง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับประเด็นสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์โดยตรง

การไม่ถูกยอมรับเป็นนักโทษทางการเมืองหรือนักโทษทางความคิด แต่กลับจัดวางในหมวดความมั่นคงและคดีอาญา ทำให้กระบวนการยุติธรรมและการพิจารณาคดีเหล่านี้ ยืนอยู่บนฐานการมองผู้ต้องหาในฐานะอาชญากรที่ทำอาชญากรรมรุนแรง ถูกมองว่ามีความผิดตั้งแต่ถูกแจ้งความทั้งที่ยังไม่ผ่านการพิสูจน์ความผิดในชั้นศาลไม่ต้องพูดถึงกระบวนการยุติธรรมและพิจารณาคดี ที่คดีนี้ถูกปฏิบัติแตกต่างไปจากความผิดในลักษณะอื่นๆ เช่น การพิจารณาคดีในทางลับ อย่างกรณีของคุณดา ตอร์ปิโด,  สิทธิในการประกันตัวที่ไม่ได้รับการพิจารณา ไม่ว่าจะยื่นประกันไปกี่ครั้ง หรือการตัดสินโทษที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ ก็ได้สร้างความลักลั่นในสัดส่วนของโทษในระบบกฎหมายขึ้นมา อย่างที่เราพอทราบกัน

เหตุผลหนึ่งที่ผู้เขียนค้นพบว่าเหตุใดกรณีมาตรา 112 จำนวนมากแทบไม่เป็นที่รู้จักนั้น คือตัวผู้ต้องคดีจำนวนมากเลือกที่จะทำตัวเองให้ล่องหนเสียเอง เพื่อไม่ให้ตนเองหรือครอบครัวต้องเผชิญกับความไม่ปลอดภัยหรือความรุนแรง รวมถึงการเลือกจะต่อสู้และโด่งดังกลับทำให้ยิ่งเป็นที่จับตาและเพ็งเล็งจากอำนาจ กระบวนการยุติธรรม หรือกระบวนการทางสังคมมากยิ่งขึ้น  และส่วนมากคนเหล่านี้จะเป็นคนเล็กคนน้อยที่ไม่มีชื่อเสียง ไม่เป็นที่รู้จัก ไม่มีสถานะทางสังคม และโดยมากเป็นคนไม่มีฐานะนัก ทำให้การคุ้มครองจากสาธารณะแทบเป็นไปไม่ได้ 

ทนายความในคดีมาตรา 112 ที่เงียบๆ คดีหนึ่งที่ผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยด้วย ย้ำหลายครั้งว่า “คดีนี้ต้องเงียบๆ อย่างเดียว ยิ่งตีมากยิ่งทำให้เขาโกรธแค้น และยิ่งสั่งลงมาแรง” ความเงียบเช่นนี้ ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาในกรณีนี้ได้รับการประกันตัวในชั้นสืบสวน และคาดว่าจะยอมรับสารภาพเพื่อให้เสร็จสิ้นกระบวนการโดยเร็ว

หรือผู้ต้องหาอีกกรณีหนึ่งที่ปัจจุบันยังถูกจำขังในเรือนจำกรุงเทพฯ โดยยังอยู่ในระหว่างรอการสืบพยานในชั้นศาล แม่ของผู้ต้องหาเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า “พี่ชายเขาขอเงียบๆ ไม่อยากโด่งดัง เราไม่มีอะไรที่จะต่อสู้ เป็นคนสามัญชนไม่มีอะไรเลย ถ้าดังแล้ว เขาอาจจะหมั่นไส้เรา เหมือนปูเหมือนปลา ยิ่งดิ้นเท่าไรก็ยิ่งรัดตัว ไม่รู้จะทำอย่างไร...”

แม้เรื่อง 112 จะเป็นปัญหาที่ถูกอภิปรายกว้างขวางมากขึ้นแล้ว แต่ผู้ต้องหาจำนวนมากยังคงเลือกจะอยู่ในความเงียบ อยู่ในสถานะล่องหน และเผชิญกับกระบวนการยุติธรรมเองอย่างเงียบๆ ซึ่งต้องแลกมาด้วยการจำยอม รับสารภาพ และรอคอยการอภัยโทษหรือลดโทษในขั้นตอนต่างๆ กระบวนการเช่นนี้ก็ดูไม่ต่างไปจากการยืนนิ่งๆ ให้มีการเพนท์สีเพื่อทำตนเองให้เข้าสิ่งแวดล้อมในงานของโบลิน ศิลปินจำเป็นต้องอดทนยืนให้นิ่งที่สุด และเงียบที่สุด เพื่อถูกทำให้กลืนเข้ากับสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด จนกระทั่งล่องหนหายไป...

บริบทล่องหน
ผู้เขียนมีโอกาสเข้าไปฟังการสืบพยานในคดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งถูกกล่าวหาในฐานะบรรณาธิการ ที่ดูแลรับผิดชอบการตีพิมพ์บทความที่มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นฯในนิตยสาร  การนำสืบพยานในครั้งนี้มีคำถามหรือการพูดถึงปัญหาที่สำคัญต่อสังคมการเมืองไทยอย่างมาก หลายคำถามโดยเฉพาะที่ทนายจำเลยถาม ไม่ได้เป็นเพียงการถามในประเด็นเรื่องเนื้อหาบทความว่าหมิ่นฯหรือไม่หมิ่น หรือปัญหาทางเทคนิคต่างๆ ในคดี แต่ทนายจำเลยพยายามถามไปถึงปัญหาเชิงอุดมการณ์ของกฎหมาย ปัญหาสถานะบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ และคำถามเกี่ยวกับบริบททางการเมืองที่เป็นอยู่อันทำให้เกิดปัญหาการกล่าวหากันในคดีมาตรา 112 กันเป็นจำนวนมาก ซึ่งคำถามเหล่านี้ถามกันไม่ได้ง่ายนักในที่สาธารณะภายนอกศาล   และสิ่งที่ผู้เขียนพบในการถามคำถามทำนองนี้กับพยานกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะพยานฝ่ายโจทก์ คือพวกเขาบ่ายเบี่ยง ปัดปฏิเสธ และไม่ยอมพูดถึงมันแต่อย่างใด เสมือนกับมันไม่มีอยู่

พยานฝ่ายโจทก์คนหนึ่งในคดีเป็นเจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายคนหนึ่งในสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หลังการเบิกความโดยอัยการเป็นผู้ถาม ทนายจำเลยก็ทำหน้าที่ซักค้าน (ในบทความส่วนหนึ่งมีการพูดถึงการวางแผนสังหารประชาชนของ “อำมาตย์” ทำให้การสืบพยานจำเป็นต้องมีการตีความว่าคำนี้หมายถึงใครบ้าง)

ทนายถามว่า: 4-5 ปีหลังประชาชนแบ่งออกเป็นสีๆ ทราบหรือไม่
พยานเบิกความว่า: ทราบ
ทนายถามว่า: ฝ่ายสีเหลืองมักจะอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ และหาว่าเสื้อแดงไม่จงรักภักดีทราบหรือไม่
พยานเบิกความว่า: ไม่เคยได้ยิน ไม่ได้สนใจ
ทนายถามว่า: ประชาชนฝ่ายสีแดงมีการประท้วงและปราศรัยบนเวทีโจมตีว่าไทยเรามีปัญหาทุกวันนี้เพราะอำมาตย์ทราบหรือไม่
พยานเบิกความว่า: ไม่ทราบ ไม่สนใจเรื่องนี้
ทนายถามว่า: คำว่าอำมาตย์ตีความหมายว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์ได้หรือไม่
พยานเบิกความว่า:  ไม่ได้สนใจ ไม่ได้เกี่ยวข้อง
ทนายถามว่า:  พยานไม่สนใจเรื่องการเมืองเลยหรือ
พยานเบิกความว่า: ใช่
ทนายถามว่า: พยานทำงานให้สำนักงานทรัพย์สินฯ มีประชาชนเรียกพยานว่าอำมาตย์ใช่หรือไม่
พยานเบิกความว่า:  ไม่ทราบ มันแล้วแต่คนเรียก เรื่องของเขา

จะเห็นว่าไม่ว่าจะถามอย่างไร คำตอบของพยานยังคงเป็นไม่ทราบ ไม่เคยได้ยิน ไม่สนใจ ไม่ขอออกความเห็น ไม่ขอตอบ ซึ่งอีกหลายคำถามที่พยานให้การยังคงเป็นไปในลักษณะนี้ ยกเว้นการยืนยันว่าพยานเข้าใจว่าในบทความมีการกล่าวถึงสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เราอาจจะตั้งคำถามได้ว่าพยานไม่ทราบอะไรเลยเกี่ยวกับปัญหาการเมืองเรื่องสีตลอดหลายปีที่ผ่านมาในสังคมไทยจริงหรือไม่ แม้จะดูประหลาดอยู่ที่พยานในฐานะตำแหน่งเช่นนั้นจะไม่ทราบเรื่องเหล่านั้นเลย แต่หากเชื่อว่าพยานไม่ทราบจริงๆ ก็กลับยิ่งน่าตระหนกมากกว่า ว่าพยานโจทก์ที่มาเป็นผู้พยายามยืนยันความผิดต่อจำเลย กลับไม่ได้สนใจ ไม่ทราบถึงบริบทหรือเงื่อนไขแวดล้อมที่กำลังเป็นอยู่ในสังคมไทย และมีส่วนทำให้เกิดการกล่าวหากันจำนวนมากด้วยข้อหาจากมาตรา 112 หรือบริบทการเมืองที่ทำให้ผู้คนจำเป็นต้องพูดถึงหรือวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ ราวกับประเด็นเหล่านี้ไม่มีอยู่  

หรือในอีกกรณีหนึ่ง พยานโจทก์อีกคนเป็นทหารยศพันเอกของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)

ทนายถามว่า: เพราะสังคมโลกเติบโตขึ้น เปิดให้สถาบันกษัตริย์วิจารณ์ได้เท่าที่ไม่ผิดกฎหมาย และที่คนพูดถึงในหลวงมาก
เพราะมีคนบางกลุ่มเอาสถาบันกษัตริย์มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง จนประชาชนต้องพูดถึงใช่หรือไม่
พยานเบิกความว่า: ขอไม่แสดงความคิดเห็น   
ทนายถามว่า: พระมหากษัตริย์หลัง 2475 เป็นกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ปัจจุบันการพูดถึงสถาบันพูดได้มากน้อยแค่ไหน
พยานเบิกความว่า: ต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิ
ทนายจำเลยถามว่า: พยานเคยได้ยินพระราชดำรัสวันที่ 4 ธันวาคม 2548 ในหลวงทรงดำรัสถึงหัว The King can do wrong และพูดถึงว่ากษัตริย์สามารถทำผิดได้หรือไม่
พยานดูเอกสารแล้วตอบว่า: ไม่ขอแสดงความคิดเห็น
ทนายถามว่า: ถ้าประชาชนติดคุก ก็ทรงไม่สบายพระราชหฤทัย เคยได้ยินไหมว่ามีพระราชดำรัสนี้
พยานตอบว่า: ใครละเมิดกฎหมาย ก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย

คำตอบสุดท้ายของพยานแทบจะเป็นการตอบคำถามที่ไม่ตรงกับคำถามเลย แต่มันกลับสะท้อนปัญหาการมองกฎหมาย โดยเฉพาะกรณีมาตรา 112 นี้ได้อย่างน่าสนใจ เป็นไปได้ไหมว่าคำถามที่พยานผู้นี้ดูเหมือนตอบไม่ตรง แต่ในอีกมุมเขาได้ตอบตรงกับที่ตัวเองคิดและเชื่ออยู่ กล่าวคือไม่ว่าคำถามจะเป็นอย่างไร (เช่น สถานะและบทบาทของพระมหากษัตริย์เป็นอย่างไร วิพากษ์วิจารณ์ทำได้หรือไม่ ทำไมถึงมีการฟ้องร้องข้อหานี้กันมากขึ้น ฯลฯ) เขายังคงจะตอบว่าใครละเมิดกฎหมายก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย มันคล้ายๆ มนต์ที่ถ่องบ่นซ้ำๆ จนตอบเป็นสูตร มันทำให้เห็นว่าคนจำนวนมากพิจารณากฎหมายอย่างโดดๆ แยกขาดออกจากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและเป็นอยู่ในสังคม ราวกับสิ่งอื่นๆ ไม่มีอยู่ มีแต่เพียงตัวกฎหมาย และผู้คนที่อยู่ดีๆ ก็ลุกขึ้นมากระทำการหมิ่นฯ หรือแม้แต่อยู่ๆ ก็จ้องล้มเจ้าอยู่เต็มไปหมด โดยไม่มีที่มาที่ไป เรื่องอื่นๆ ไม่ใช่สาระหรือประเด็นที่สำคัญ ผู้เขียนเข้าใจว่าในหลายกรณีศาลก็ไม่ได้บันทึกความเห็นเหล่านี้ลงในคำให้การด้วย แต่เลือกบันทึกเฉพาะประเด็นทางเทคนิคหรือการตีความข้อความที่ถูกกล่าวหาเท่านั้น

ไม่ว่าจะด้วยความกลัว ความหวาดระแวง การปิดหูปิดตา หรืออย่างไรก็ตาม แต่การไม่รับรู้ รับรู้แต่ทำเสมือนว่าไม่มีอยู่ รับรู้แต่ไม่อยากพูดถึง การทำความเข้าใจมิติที่ซับซ้อนของผู้ถูกกล่าวหาจำเป็นต้องพิจารณาร่วมกับเงื่อนไขหรือบริบทที่เกิดการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างกว้างขวางในสังคมไทยหลายปีหลัง แต่เรื่องนี้ก็แทบไม่ถูกอภิปราย หรือทำความเข้าใจในทางสาธารณะ และดูเหมือนแทบเป็นไปไม่ได้ในสังคมไทย

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเพียงในศาล แต่ในสังคมเอง มันทำให้สังคมเราการเป็นสังคมสองระนาบ หรือสังคมสองหน้า ที่มีฉากหน้ากับฉากหลัง ด้านหนึ่งในทางสาธารณะ เราทำราวกับปัญหาทุกอย่างล่องหน ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ชีวิตทางการเมืองดำเนินไปอย่างปกติ ในอีกด้านหนึ่งสิ่งที่ล่องหนเหล่านี้ถูกพูดถึง ถูกแสดงออกอย่างวุ่นวาย มากมากหลายรูปแบบในพื้นที่ส่วนตัว ทั้งในโลกอินเตอร์เนต ในการชุมนุมบนถนน แผ่นซีดี หรือหนังสือหนังหาหลายรูปแบบ การทำให้ประเด็นที่ใหญ่โตขนาดนี้เสมือนไม่มีอยู่ กลับยิ่งทำให้การมีอยู่ของมันขยายใหญ่ขึ้นในพื้นที่ที่ไม่ใช่สาธารณะ ทั้งที่ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาใจกลางอย่างหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมการเมืองไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ถ้าเทียบกับงานศิลปะของหลิว โบลิน แล้ว การทำให้บริบทล่องหนนี้ก็ตรงกันข้ามกับการทาตัวเองให้กลืนเข้ากับสิ่งแวดล้อม แต่มันกลับคือการทำลายสภาพแวดล้อมทั้งหมด และเพ่งความสนใจไปที่ตัวคนเพียงอย่างเดียว ทำให้คนที่ล่องหนลอยเด่นขึ้นมา ขณะเดียวกันก็ทำให้ทิวทัศน์ฉากหลังทั้งหมดล่องหนหายไป คำถามก็คือว่าเราทำเช่นนั้นได้จริงๆ หรือ ฉากหลังแบบไหนกันที่ไม่มีอะไรอยู่เลย และเราแต่ละคนยืนอยู่อย่างโดดๆ เช่นนั้นไม่ได้เกาะเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมเงื่อนไขสังคมที่เราอยู่เลยหรือ เราจะเข้าใจนักโทษในคดีมาตรา 112 โดยดูแต่เฉพาะข้อความที่พวกเขาหรือเธอถูกหาว่ากล่าวหรือแสดงออก โดยไม่พิจารณาเหตุผลหรือสภาพแวดล้อมที่ทำให้พวกเขาทำเช่นนั้นออกมาได้จริงๆ ล่ะหรือ

“ความเป็นคน” ล่องหน
นอกจากการถูกกระทำผ่านความรุนแรงในเรือนจำ ตั้งแต่การถูกล่ามโซ่ตรวนหนาหนัก ข้าวปลาอาหารที่นักโทษได้กิน การดูแลรักษาพยาบาลในเรือนจำ สวัสดิภาพความปลอดภัย ความแออัดยัดเหยียดภายใน การถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นมนุษย์ของนักโทษ และสภาพแวดล้อมซึ่งค่อยๆ ดูดกลืนจิตวิญญาณ และทำลาย “ความเป็นมนุษย์” ของคนที่เข้าไปอยู่ในนั้นนานๆ ไป จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมในกรณีของ “อากง” หรือการจำเป็นต้องรับสารภาพในคดีของจำเลยในหลายกรณี (ดูตัวอย่างปัญหาเรือนจำไทยได้ในบทความ “ปิดฉาก ‘อากง’ เปิดฉาก ‘คุกไทย’ เรื่องใหญ่ต้องยกเครื่อง”) ผู้เขียนอยากจะพูดถึงการทำให้ความเป็นคนล่องหนไปในอีกมิติหนึ่งโดยกฎหมายมาตรา 112  

ตัวอย่างที่สำคัญคือกรณีของ “หนุ่ม เรดนนท์” พ่อเลี้ยงเดี่ยวที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ดูแลเวบไซต์นปช.ยูเอสเอ และมีการนำข้อความที่มีเนื้อหาให้ร้ายพระมหากษัตริย์ขึ้นสู่เวบไซต์  เขาถูกตัดสินจากศาลชั้นต้นให้จำคุกจากข้อหามาตรา 112 และความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ รวมแล้ว 13 ปี โดยปัจจุบันเขาอยู่ในคุกกว่าสองปีแล้ว

บทความในวารสารฟ้าเดียวกันฉบับเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2554 คุณหนุ่มได้เขียนบทความขนาดสั้นส่งออกมาจากคุกในเรื่อง “ผมสูญเสีย ‘สถาบันครอบครัว’ไปอย่างไม่มีวันกลับ เพียงเพราะคนบางกลุ่ม (อ้างว่า) ต้องการปกป้อง ‘สถาบันกษัตริย์’” โดยบทความเน้นเล่าเรื่องครอบครัวคนจีนขนาดใหญ่ของเขา และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมากับครอบครัวเมื่อเขาถูกกล่าวหาในคดีนี้ วันที่เขาถูกจับ เขาติดต่อทางบ้านให้มารับลูกชายของเขาไป เพราะต้องถูกนำตัวไปศาล แต่ปรากฏว่าไม่มีญาติคนใดมารับตัวหลานชายไป ช่วงที่โดนจับ หนุ่มเล่าว่าญาติพี่น้องทุกคนทราบข่าวดีแต่ไม่มีใครกล้ามาเยี่ยมและช่วยเหลือลูกชายของเขา

หนุ่มเล่าว่า “พ่อถูกห้ามไม่ให้ติดต่อหรือยุ่งเกี่ยวใดๆ กับผมและลูก จะโทรหาหลานก็ต้องแอบโทร แต่พ่อบอกกับผมในจดหมายว่า ‘เขามิอาจทำใจได้ที่จะลืมผม’ เหมือนกับที่คนอื่นเขาทำกัน และในเดือนนี้เอง (ตุลาคม 2553 ราวครึ่งปีหลังถูกจับ—ผู้เขียน) พ่อก็หอบสังขารวัย 72 ปีมาเยี่ยมผมเป็นครั้งแรก และยังคงแอบมาเยี่ยมผมจนถึงทุกวันนี้ ทุกเดือนไม่เคยขาด พ่อยังบอกอีกว่า ยังมีอีกคนที่รักและห่วงใยผมและอยากมาเยี่ยมเช่นกัน นั่นคือแม่ของผม แต่ท่านก็ถูกห้ามเอาไว้ ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับผม อีกทั้งกลัวคดีที่ผมโดนว่าจะนำความเดือดร้อนไปสู่พี่น้องคนอื่นๆ อีก...ไม่ต้องพูดถึงคำถามทำนองว่า ที่โดนจับนี่ทำจริงหรือไม่ได้ทำ ได้รับความยุติธรรมหรือเปล่า ความเป็นอยู่ข้างในสบายดีไหม ขาดเหลืออะไร มีทนายหรือยัง จะให้หลานอยู่ที่ไหน จะประกันตัวได้หรือเปล่า คำถามเหล่านี้ไม่เคยมีเลย พวกเขาทำเหมือนผมกับลูกไม่เคยมีอยู่ในโลกนี้” (หน้า 161-162)

ประโยคสุดท้ายที่ว่า "พวกเขาทำเหมือนผมกับลูกไม่เคยมีอยู่ในโลกนี้" ประโยคนี้อธิบาย “การล่องหน” ของความเป็นมนุษย์ของนักโทษมาตรา 112 ได้เป็นอย่างดี ผู้เขียนอ่านแล้วรู้สึกถึงความเลือดเย็นจนน่าตื่นตระหนก เมื่อ “พวกเขา” ที่ทำเหมือนกับคุณหนุ่มและลูกไม่เคยมีอยู่ในโลกนี้กลับคือครอบครัวและญาติพี่น้องของตนเอง มิหนำซ้ำการกระทำนี้ยังเกิดขึ้นโดยไม่มีการถามไถ่การกระทำ มุมมอง ความคิด จากเจ้าตัวเสียด้วยซ้ำ เพียงแค่รู้ว่าใครคนหนึ่งในครอบครัวโดนกล่าวหาด้วยกฎหมายมาตรานี้ ความเป็นมนุษย์ในด้านที่ดำรงอยู่ด้วยสายสัมพันธ์ ความไว้เนื้อเชื่อใจของครอบครัวเพื่อนฝูง กลับถูกทำลายขาดสะบั้นลงอย่างง่ายดายจนน่าตระหนก

บางทีความรุนแรงอย่างถึงที่สุดของมาตรา 112 อาจไม่ใช่การฆ่าให้ตาย ทำร้ายร่างกายให้เจ็บปวด แต่คือการฆ่าการดำรงอยู่ของใครสักคนทั้งที่เขายังมีชีวิตอยู่ ทำ “เสมือน”ไม่เคยมีเขาอยู่  สำหรับปัจเจกบุคคลแล้ว ต่อให้สังคมหรือคนแปลกหน้าคนอื่นๆ จะพิพากษาคนๆ หนึ่งเป็น “อาชาญกร” “ปีศาจ” “มนุษย์ล่องหน” อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่รุนแรงเท่ากับญาติมิตร คนในครอบครัวตัวเองรู้สึกและมองคนๆ หนึ่งเช่นนั้นเสียเอง

แน่ละ, ไม่ใช่ความผิดของครอบครัวหรือญาติพี่น้องของคุณหนุ่ม แต่คำถามคือสังคมและคุณค่าในสังคมแบบไหนกันแน่ที่มีพลัง มีอานุภาพพอขนาดจะตัดผ่าแบ่งแยกทำลายสายใย สายสัมพันธ์ของครอบครัว ของญาติมิตร ของคนสนิทกันลงได้ ทำให้คนในครอบครัวเป็นคนแปลกหน้า และล่องหนระหว่างกันและกันได้ถึงเพียงนี้

ผู้เขียนมีโอกาสไปเยี่ยมคุณหนุ่ม และได้เจอคุณพ่อของแกที่ไปเยี่ยมด้วยในวันนั้น ถึงวันนี้เกือบสองปีผ่านไป คุณพ่อก็ยังบ่นให้ผู้เขียนฟังว่าญาติพี่น้องเขากลัวหมด ยังคงไม่มีใครกล้าไปเยี่ยม มีพ่อเพียงคนเดียวที่มาอย่างสม่ำเสมอ ขณะที่คุณแม่ก็เคยมาบ้างเป็นบางครั้ง ผู้เขียนไม่รู้ว่าความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ณ ปัจจุบันเป็นอย่างไรแล้ว พี่น้องของคุณหนุ่ม “ลืม” เขาได้จริงๆ หรือ แล้วเขาจัดการอย่างไรกับความทรงจำในการดำรงอยู่ของคุณหนุ่ม แต่เท่าที่รับรู้เพียงแค่นี้ ครอบครัวนี้ก็กำลังเผชิญกับความรุนแรงที่ล่องหนและมองไม่เห็นจากสังคมที่เรากำลังอาศัยอยู่

การปรากฏตัวของมนุษย์ล่องหน
เวทีสรุปการรณรงค์ล่ารายชื่อ ของ “ครก.112” เมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา น่าจะเป็นครั้งแรกๆ ที่เสียงของผู้ต้องหาและครอบครัวของนักโทษมาตรา 112 หลากหลายกรณีขึ้นไปดังอยู่บนเวทีสาธารณะกลางหอประชุมเล็ก ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในหัวข้อ “เสียงจากเหยื่อ 112

ภรรยาของสุรชัย ขึ้นไปเล่าถึงปัญหาการดูแลสุขภาพและการรักษาพยาบาลในเรือนจำ ภรรยาของสมยศขึ้นไปเล่าเรื่องปัญหาการประกันตัว และประกาศว่าพวกตนไม่ใช่เหยื่อ โต้แย้งหัวข้อการพูดคุยที่ชื่อ คุณพ่อของ “หมี” นักโทษคดีมาตรา 112 อีกคนที่ยังคงอยู่ในเรือนจำ ขึ้นไปเล่าสภาพที่ลูกชายถูกซ้อมขณะสอบสวน ขณะคุณแม่ “หมี” ขึ้นไปนั่งเงียบๆ เพราะคุณพ่อบอกว่า “คุณแม่ไม่สามารถพูดถึงเรื่องลูกชายได้ เพราะจะร้องไห้ทุกทีที่นึกถึง” ณัฐ อดีตผู้ต้องขังคดีหมิ่นฯ ที่ได้รับการอภัยโทษอีกคนหนึ่งขึ้นไปเล่าถึงคดีที่ตนเผชิญ  และ “ป้าอุ๊” ภรรยาของอากงที่เพิ่งผ่านความสูญเสียมา ขึ้นไปเล่าความรู้สึกของภรรยานักโทษคดีหมิ่นได้อย่างแหลมคมด้วยประโยคว่า “สามีติดคุกในเรือนจำ ภรรยาก็มีนรกอยู่ในเรือนใจ

วันนั้น ป้าอุ๊พูดและเรียกร้องต่อสังคมบนเวทีว่า “…ขอร้องสังคม ช่วยนักโทษ ไมว่าคดีไหนก็แล้วแต่ มองเห็นว่าเขายังเป็นมนุษย์เหมือนกับพวกเรา ให้เขาเข้าถึงสิทธิต่างๆ ของเขาด้วยค่ะ…(คิดถึง) ความเป็นคนของนักโทษ เขาเท่าเทียมกับพวกเรา ให้เขาได้มีโอกาสรับรู้ความเป็นไปในร่างกายของเขา ให้ได้พบหมอเมื่อเจ็บป่วย จะได้รู้เท่าทันมัน อย่าให้เป็นเหมือนอากง และอากงคงไม่ชอบใจที่ใครจะมาเป็นเหมือนเขา”

การเล่าเรื่องราวของตนเองด้านหนึ่งก็ดูจะเป็นการเยียวยาสิ่งที่แต่ละคนได้ประสบพบเจอ เปิดเผยเรื่องราวที่อัดอั้น เจ็บปวด คับแค้น ของครอบครัวและผู้ต้องหา  อีกด้านหนึ่งมันทำให้เรื่องราวของพวกเขาได้ดำรงอยู่ ได้มีที่ทางในที่สาธารณะ เอ่ยเสียง ส่งแจ้งข่าวสาร ชะตะกรรมของนักโทษและครอบครัวต่อสังคมส่วนรวม ย้ำเตือนว่าพวกเขาและเธอไม่ควรถูกทำให้เป็นมนุษย์ล่องหน ไม่ควรถูกปฏิบัติราวกับไม่ใช่มนุษย์ ปัญหาจากคดีมาตรา 112 สิ่งแวดล้อมหรือบริบทสังคมที่แวดล้อมกฎหมายนี้อยู่ไม่ใช่สิ่งที่ควรซ่อนตัวล่องหนอยู่ในความเงียบ แต่ควรออกมาอยู่บนพื้นที่สาธารณะเพื่อพูดคุยกันอย่างสงบสันติ เสียงเรียกร้องเหล่านี้ดูเหมือนจะค่อยๆ ปรากฏดังขึ้นจากรอบทิศทางของสังคมไทย ถ้าเราสดับรับฟังมัน

ขณะเดียวกัน เมื่อผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำหลัง “อากง sms” ได้เสียชีวิตลง พวกเขาต่างก็แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าตนเองจะเผชิญกับสภาวะเช่นใด ก็ยังคงพยายามรักษาความเป็นมนุษย์ของตนเองไว้อยู่ “หมี” นักโทษคนหนึ่งที่ผู้เขียนได้ไปเยี่ยม น้ำตารื้นๆ ขึ้นมาเมื่อถูกถามถึงเรื่องอากง เพราะอยู่ในแดนเดียวกัน และเล่าว่าพ่อกับแม่เขาเห็นอากงแก่แล้ว เลยเคยฝากเขาซึ่งยังหนุ่มแน่นให้ดูแล หรือคุณ “หนุ่ม เรดนนท์” ก็ตัดสินใจโกนหัวของตนหลังทราบข่าวอากงเสียชีวิต เพราะเขาเป็นคนดูแลอากงยามอยู่ในคุกตลอดมา ทำให้มีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน และหนุ่มยังยิ้มหน้าบาน เมื่อได้แนะนำคุณพ่อซึ่งในวันนั้นได้ไปเยี่ยมเขา ให้ผู้เขียนได้รู้จัก ผู้เขียนคิดเอาเองว่าเขาดีใจมากเสมอที่พ่อมาเยี่ยม และดีใจที่ได้แนะนำคนอื่นๆ ที่มาเยี่ยมให้รู้จักกันกับคุณพ่อ

สายใยความเป็นมนุษย์ที่ผู้ต้องขังมีต่อกัน ผู้เขียนคิดว่ามันคือการยืนยันความเป็นมนุษย์ที่มีหัวจิตหัวใจ เป็นคนที่มีความสุขความทุกข์เหมือนๆ เรา ไม่ใช่ “ปีศาจ” “อาชญากร” “นักโทษคดีร้ายแรง” “ภัยต่อความมั่นคง” ที่สมควรถูกกระทำและลงโทษอย่างร้ายแรงเข่นนี้ และรอยยิ้มหรือหยาดน้ำตาเหล่านี้ สำหรับผู้ที่ได้เห็นหรือพบเจอ มันทำให้ “ความเป็นมนุษย์” ของพวกเขาและเธอที่สังคมพยายามทำลายมันลง ปรากฏออกมาและย้ำเตือนการดำรงอยู่ หาได้ล่องหนซ่อนตัวอยู่อีกต่อไป

 

มอนิเตอร์ ประเด็น ศาลรธน. เพื่อไทยแถลงไม่รับ ขุนค้อนฝ่อ

Posted: 05 Jun 2012 09:03 AM PDT

แม้พรรคเพื่อไทยจะมีแถลงการณ์แสดงจุดยืนไม่ยอมรับคำสั่งของตุลาการรัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนต่อประเด็นการเดินหน้าลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ขณะที่ประธานรัฐสภา แถลงจะไม่มีการนำวาระดังกล่าวเข้าพิจารณา

พรรคเพื่อไทยแถลงไม่ยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญกรณีรับคำร้อง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา68 ไว้พิจารณาและคำสั่งให้รัฐสภาระงับการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่าเป็นกระบวนการพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และกระบวนการพิจารณาไม่ชอบ พร้อมเรียกร้อง ศาลรัฐธรรมนูญต้องทบทวนการใช้อำนาจหน้าที่ของศาลในกรณีนี้

เว็บไซต์ข่าวสดรายงานเมื่อเวลา 15.30 น. นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยมีมติไม่เห็นด้วยและไม่ยอมรับกับคำสั่งชะลอการเรียกประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ด้วยเหตุผล 1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ทั้งส่วนที่เป็นลายลักษณ์อักษรและตามเจตนารมณ์ 2.ประธานศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจสั่งให้องค์กรนิติบัญญัติชะลอการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ วาระ 3 เป็นการใช้อำนาจแทรกแซงอำนาจอธิปไตย เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติจะดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้น ขึ้นอยู่กับความเห็นของที่ประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 8 มิ.ย.นี้ โดยคาดว่าจะมีการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาอย่างกว้างขวาง สำหรับพรรคเพื่อไทยกำชับ ส.ส.ให้เข้าร่วมประชุมพร้อมเพรียง ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยไม่ได้มีการหารือเรื่องดังกล่าว

ขุนค้อนถอย แถลงไม่มีวาระลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสาม
อย่างไรก็ตาม ท่าทีของนายนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา นั้นเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับพรรคเพื่อไทย โดยเขาแถลงภายหลังการเป็นประธานประชุมคณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภาว่า ตนจะเรียกประชุมร่วมรัฐสภาเป็นกรณีพิเศษ ในวันที่ 8 มิ.ย. นี้ซึ่งมีวาระพิจารณาเรื่องที่เสนอตามกรอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เท่านั้น โดยและจะไม่มีเรื่องของการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสาม

ทั้งนี้ ท่ามกลางกระแสความเห็นต่อประเด็นเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่ก้าวล่วงอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญนั้น เว็บไซต์ คมชัดลึกรายงานคำพูดของประธานรัฐสภาว่า “ช่วงนี้ผมขอทำจิตให้ว่างก่อน และยอมรับว่ามีแรงกดดัน เพราะว่าไม่ว่าจะตัดสินใจไปทางไหน ก็มีคนว่าผมผิด ไม่ว่าผมจะทำอะไรก็ผิด หากสั่งให้เดินหน้าประชุม และให้ลงมติแก้รัฐธรรมนูญวาระสาม ก็ผิดเพราะละเมิดอำนาจศาล แต่หากฟังคำสั่งศาล ระงับการลงมติ ก็ทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 291 (5) อีก ผมขอถามคนที่เกี่ยวข้องช่วยชี้ทางให้ผมที ว่าจะทำอย่างไรดี”

ประธานวิปรัฐบาลคาด ประชุมครั้งหน้าไม่มีวาระแก้ไขรธน.
มติชนออนไลน์ รายงานเมื่อเวลา 17.31 ว่า นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไป การประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 8 มิถุนายนนี้นั้น ตามระเบียบวาระเดิมจะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เป็นเรื่องแรกก่อนที่จะตามด้วยการพิจารณากรอบการเจรจาระหว่างประเทศตามมาตรา 190 ทั้ง 6 ฉบับ แต่เมื่อเกิดกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งถึงประธานรัฐสภาให้ชะลอการพิจารณาออกไปนั้นก็ขึ้นอยู่กับตัวประธานว่าจะบรรจุวาระการประชุมอย่างไร

"การประชุมร่วมรัฐสภาโดยหลักๆ เป็นการพิจารณากรอบการเจรจาระหว่างประเทศ ซึ่งประธานคงจะแจ้งต่อที่ประชุมถึงคำสั่งศาล เพราะปัจจุบันยังไม่มีใครรับทราบอย่างเป็นทางการรู้กันจากสื่อเท่านั้น" นายอุดมเดชกล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หลังการแจ้งคำสั่งศาลจะมีการลงมติเลยหรือไม่ นายอุดมเดชแสดงความเห็นส่วนตัวว่า น่าจะยังไม่มีการลงมติ ทั้งนี้ อยู่ที่ตัวประธานว่าจะบรรจุระเบียบวาระหรือไม่ ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลและเตรียมยื่นถอดถอนนั้นเป็นความเห็นส่วนตัวของแต่ละคน เพราะในกระบวนการรัฐสภาไม่ได้มีพรรคเพื่อไทยเพียงอย่างเดียวแต่มีวุฒิสภาและพรรคร่วมรัฐบาลด้วย

หมายเหตุ

สาระของรัฐธรรมนูญมาตรา 68
มาตรา 68 บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้าง การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทาง
ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้

ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว

ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการตามวรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้

ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองตามวรรคสาม ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบ
ในขณะที่กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งดังกล่าว

 

http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม.เตรียมเปิดเวทีสอบข้อเท็จจริง “โรงไฟฟ้าถ่านหินตรัง”

Posted: 05 Jun 2012 08:46 AM PDT

กรรมการสิทธิ์ฯ ลงพื้นที่ดูข้อมูล กรณีชาวบ้านร้อง “โรงไฟฟ้าถ่านหินตรัง” กระทบชุมชน-ฐานทรัพยากร เตรียมเปิดเวทีเรียก กฟผ.-หน่วยงานเกี่ยวข้อง สอบข้อเท็จจริง ชาวบ้านเผยนายทุนกำลังกว้านซื้อที่ แถมความขัดแย้งหนักมีการส่ง SMS ขู่-ฟันหน้ายาง

 
เมื่อเวลา 15.40 น.วันที่ 4 มิ.ย.55 ที่ศูนย์ประสานงานเครือข่ายชุมชนรักษ์บ้านเกิด ต.วังวน อ.กันตัง จ.ตรัง นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชน พร้อมอนุกรรมการฯ ประกอบด้วย นายประสาท มีแต้ม นายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ และนายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ลงพื้นที่ตรวจสอบเบื้องต้นหลังจากได้รับข้อร้องเรียนของชาวบ้านกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง ขนาด 800 เมกะวัตต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กระทบสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร โดยมีชาวบ้าน ต.วังวนประมาณ 50 คน ร่วมสังเกตการณ์
 
นายวุฒิชัย หวังบริสุทธิ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนรักษ์บ้านเกิด กล่าวว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินตรัง ขนาด 800 เมกะวัตต์ โดยมี 3 พื้นที่ทางเลือกคือ 1.ต.วังวน อ.กันตัง 2.ต.บางสัก อ.กันตัง 3.ต.นาเกลือ อ.กันตัง และทราบข่าวมาว่ามีนายทุนมากว้านซื้อที่ดินสวนปาล์มน้ำมันริมป่าชายเลน บริเวณบ้านทุ่งไพร ต.วังวน ประมาณ 700 ไร่ แต่มีโฉนดที่ดินแค่ 300 ไร่ อีก 400 ไร่ ยังไม่แน่ชัดว่าอยู่ในอำนาจของกรมที่ดินหรือกรมป่าไม้
 
“ชาวบ้านรู้สึกเป็นกังวลเป็นอย่างมาก หวั่นวิตกผลว่าจะกระทบกับชุมชน และฐานทรัพยากรในตรังที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งพืชพันธุ์ไม้และทรัพยากรสัตว์น้ำ จึงร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิเพื่ออยากได้ข้อมูลจาก กฟผ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อมูลผลทั้งสองด้านของโรงไฟฟ้าถ่านหิน” นายวุฒิชัย กล่าว
 
ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนรักษ์บ้านเกิด กล่าวถึงสถานการณ์ในพื้นที่ด้วยว่า ตอนนี้เริ่มมีความขัดแย้งในชุมชน ชาวบ้านที่ต่อต้านถูกฟันหน้ายางพาราบ้าง โดนส่งข้อความขู่ทางโทรศัพท์บ้าง
 
จากนั้นเวลา 16.30 น. ชาวบ้านได้พา นพ.นิรันดร์ และคณะลงพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันอายุ 2-3 ปี ริมป่าชายเลน บริเวณบ้านทุ่งไพร ตำบลวังวน
 
ต่อมา 17.40 น. นพ.นิรันดร์ และคณะ ได้เดินทางไปที่สำนักสงฆ์นาหว้า ต.บางสัก อ.กันตัง จ.ตรัง เพื่อพบกับชาวบ้าน ต.บางสักซึ่งเป็นพื้นที่ 1 ใน 3 ที่มีศักยภาพสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรังของ กฟผ.โดยมีชาวบ้านร่วมประมาณ 100 คน
 
นายชนะชัย ศักดิ์แดหวา ชาวบ้าน ต.บางสัก กล่าวว่า เพิ่งทราบเกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง ของ กฟผ.จากชาวบ้านใน ต.วังวน มาเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ชาวบ้านไม่ค่อยได้รับข้อมูลอะไรเลย ส่วนตัวทราบมาว่า กฟผ.นำผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ผู้บริหารและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลต่างๆ ไปดูงาน แต่ผู้นำเหล่านั้นกลับไม่เคยนำเรื่องราวที่ไปศึกษาดูงานมาบอกเล่าชาวบ้านเลยว่าไปเจออะไรมาบ้าง
 
ด้าน นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า ต่อไปจะมีการจัดเวทีสาธารณะที่ที่ว่าการอำเภอกันตัง หรืออาจจะเป็นที่ศาลากลางจังหวัดตรัง เชิญ กฟผ. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดตรัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากส่วนกลาง มาชี้แจงตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง เพื่อทราบถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน และข้อดีข้อเสียจากการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ทั้งนี้จะต้องกำหนดวันและเวลาอีกครั้ง
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท ปากบารา:เมื่อทุนอุตสาหกรรมฉีกคำสั่งพระเจ้า

Posted: 05 Jun 2012 06:56 AM PDT

(กัวลาบารา)
กัวลาบารา..........
เสียงอาซาน-แห่งศรัทธา-ยังก้องหู
บ่าวพระองค์-ละหมาด-เชิดชู
พระองค์-รับรู้-ตลอดกาล

กัวลาบารา.........
ทะเล-ฟ้าสีฟ้า-เกาะตระหง่าน
กุ้งหอยปูปลาฯลฯ-ทรงประทาน
ให้ท้องถิ่น-แถบย่าน-อันอุดม

กัวลาบารา.........
สีขาว-ดอกดาหลา-แย้มสวยสม
หาดทราย-ใต้แสงจันทร์-ยังน่าชม
ซากไฟฟืน-กาต้ม-วิถีคนเล

(ปากบารา)
ปากบารา........
ความงามเธอ-เข้าตา-คนร้อยเล่ห์
ทุนบุก- ปลุกปล้ำ -ประดาประเด
เขาบอกเธอ-จำเจ-ต้องเปลี่ยนแปลง

ปากบารา.......
เขาจับเธอ-ถ่างขา-ถุยแถลง
นักการเมือง-ทุนข้ามชาติ-ต่างทิ่มแทง
มีประโยชน์-แอบแฝง-กับร่างเธอ

ปากบารา........
เราไม่ยอม-เป็นเมืองท่า(เรือ)-ตามเสนอ
ร่วมปกป้อง-ตะโกนไล่-ไม่ออเออ
เพียงบำเรอ-อุตสาหกรรม-ทำสามานย์

(ท่าเรืออุตส่าห์หากรรม)
ท่าเรืออุตส่าห์หากรรม........
แผนขย้ำ-ปากบารา-น่าสงสาร
ขากถ่มถุย-คุยบอก-เพื่อสร้างงาน
ให้ลูกหลาน-สตูล-เตรียมตัวรอ

ท่าเรืออุตส่าห์หากรรม.........
คือม่านดำ-ขึงปิด-คิดหัวหมอ
ฉีกคำสั่ง-พระเจ้า-องค์อัลลอฮ์
ที่ประทาน-เพียงพอ-ทรัพยากร

ท่าเรืออุตส่าห์หากรรม.........
หยุด!หยุด!หยุด!กระทำ -หยุด!หลอกหลอน
เราลูกหลาน-รักษ์ถิ่นเกิด-เทิดเมืองนอน
จักไม่ยอม-โอนอ่อน-ผ่อนความตาย

หยุด!ท่าเรืออุตส่าห์หากรรม.......
หยุด!นโยบาย-หยุด!ปล้ำ-ทำฉิบหาย
รัฐบาลต้องหยุด!ท่าเรือเอื้อพวกนายฯ
คนสตูล-ขอท้าทาย-กำหนดอนาคตตนเอง.......

ร่วมเป็นกำลังใจให้พี่น้องสตูล-ปากบารา นพรินทร์ สุบินรัตน์
๔ มิถุนายน ๒๕๕๕

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกษียร เตชะพีระ

Posted: 05 Jun 2012 06:54 AM PDT

ในฐานะที่รัฐสภาเป็นผู้แทนรับมอบอำนาจของเราไปจากเรา หน้าที่ของพวกท่านคือสู้ปกป้องอำนาจที่ประชาชนมอบให้ไป ประเด็นไม่ได้อยู่ที่แพ้หรือชนะ ประเด็นอยู่ที่ต้องสู้ เป็นหน้าที่ ไม่มีทางเลือก ต่อให้แพ้ก็ต้องสู้ แล้วมาเริ่มต้นสู้รอบใหม่อีก ไม่ต้องกลัว จิตรบอกจากในคุกว่า... เขาจึงสู้อยู่อย่างคนบนผืนดิน พิทักษ์ถิ่นไว้ด้วยเลือดอันเดือดไหม้ ตายก็ฝังยังก็อยู่สู้ต่อไป ให้ลือใจคนกล้าทั้งธาตรี.... นั่นในคุก ไม่มีอำนาจอะไรในมือเลย นอกจากปากกากับสมอง สภามีอำนาจในมือที่ประชาชนเลือกมาและมอบให้ ถ้าไม่สู้ก็อายหมามันครับ"

 

5 มิถุนายน 2555

กิตติศักดิ์ สฤษดิสุข: 24 มิถุนา วันสถาปนาอำนาจเป็นของราษฎร

Posted: 05 Jun 2012 06:45 AM PDT

 

24 มิถุนายน เคยเป็นวันชาติ ตามประกาศของรัฐบาลพระยาพหลฯ เมื่อปี พ.ศ. 2481 และมีการเฉลิมฉลองวันชาติ 24 มิถุนายน ครั้งแรกในปีถัดมาโดยรัฐบาลจอมพล ป.

การเฉลิมฉลองมีเพียง 21-22 ปี หลังจากที่รัฐบาลสฤษดิ์ ประกาศให้ 5 ธันวาคม เป็นวันชาติตั้งแต่ปี 2503 เป็นต้นมา

เนื่องจาก 5 ธันวาคม เป็นวันชาติอย่างเป็นทางการมานานพอสมควร (“พอสมควร” หมายถึงไม่สั้น เมื่อเทียบกับความทรงจำของช่วงชีวิตคนหนึ่ง แต่ก็ไม่ยาว เมื่อเทียบกับชีวิตของประเทศ) ผมจึงเห็นว่าควรคงวันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันชาติต่อไป อย่างน้อยตลอดรัชสมัยในหลวงองค์ปัจจุบัน

สิ่งที่ผมอยากเสนอ คือการรื้อฟื้นความสำคัญของวันที่ 24 มิถุนายน ในฐานะวันที่อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนวันชาติจากวันที่ 5 ธันวาคม

ผมมีความเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงโลกทรรศน์ ความเชื่อของคน ที่เรียกรวมๆกันว่าวัฒนธรรม มีความหมายมากกว่าการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย

ปีนี้ครบ 80 ปีของการคืนอำนาจสู่ราษฎร ผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลที่มาจากราษฎร ใช้งบประมาณอย่างน้อยสักครึ่งหนึ่งของงานฉลองวันชาติ เพื่อใช้จ่ายในงาน 24 มิถุนา วันสถาปนาอำนาจเป็นของราษฎร และควรจัดเป็นงานที่มีความสำคัญยิ่งขึ้นตลอดทุกปีนับจากนี้ไป

ควรรักษาวันที่ 5 ธันวาคมเป็นวันชาติ นอกจากความจริงที่ว่าช่วงชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่ผูกพันกับในหลวงเจ้าของวันเกิดอย่างมาก ยังเป็นการไม่ถอนทิ้งรากเหง้าของชาติไทยอันเป็นราชอานาจักรมายาวนาน ถือเป็นการเหลียวหลัง ไม่ลืมอดีต

แต่ 24 มิถุนา วันสถาปนาอำนาจเป็นของราษฎร มีความสำคัญในแง่ที่ว่าประเทศไทยได้เปลี่ยนสู่ระบอบใหม่ อันมีสาระสำคัญอยู่ที่ศักดิ์ศรีความเท่าเทียมกันของมนุษย์แต่ละคน และเป็นระบอบที่สอดคล้องกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีในปัจจุบัน ถือเป็นการแลไปข้างหน้า สู่อนาคต

หากจะจัดให้ 24 มิถุนา เป็นวันสถาปนาอำนาจเป็นของราษฎร ขึ้นมาจริงๆ รัฐบาลอย่าไปกลัว “ขี้ปาก” ของพวกกลัวการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นคิด ว่าคิดล้มเจ้า(อีกแล้ว) เพราะการกระทำอย่างนี้ไม่ได้ทำลายเกียรติยศของเจ้าแต่อย่างใด กลับแต่จะทำให้เจ้าคงอยู่อย่างมีเกียรติท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลก ท่ามกลางการส่งต่อทางความคิดจากคนรุ่นหนึ่ง สู่รุ่นหนึ่ง

เฉพาะจัดงานฉลอง 24 มิถุนา ยังไม่พอในการสร้างสมดุลระหว่างวัฒนธรรมเดิมและวัฒนธรรมใหม่ ผมเสนอว่ารัฐบาลต้องกล้าที่จะทำ อย่างน้อยทุกอย่างที่ฝ่ายต้องการรักษาวัฒนธรรมเดิมพยามยามทำ เช่นชื่อ ปรีดี, พระยาพหลฯ, แปลก, ป๋วย, เลียง, ไขแสง, แคล้ว, นวมทอง. ป๋วย. กมลเกด. ทนายสมชาย เป็นต้น นำชื่อเหล่านี้ไปตั้งชื่อโรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ถนน สะพาน ชื่องานรณรงค์ต่างๆ ทั้งระดับประเทศ จังหวัด จนถึงท้องถิ่นซึ่งมีผู้นำคนชั้นล่าง และทหาร ตำรวจชั้นผู้น้อยที่เสียชีวิตทั่วประเทศ

ที่ขาดเสียมิได้ คือถือโอกาส 80 ปีอันสำคัญนี้ รัฐบาลช่วยเปลี่ยนชื่อสถาบันการศึกษาที่ก่อตั้งขึ้นอย่างเชื่องโยง ผูกพันกับระบอบใหม่อย่างใกล้ชิด เป็นชื่อเดิมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เสียที

เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในประเทศ บ่งบอกว่าประเทศไทยไม่เหมือนเดิม คนไทยไม่สามารถคิดอะไร ชอบอะไรไปทางเดียวกันอีกแล้ว อย่าว่าแต่คนในสังคม แม้แต่พี่น้อง เพื่อนที่ทำงาน เพื่อนร่วมรุ่น อาจมีอะไรๆในหัวสมองต่อสังคม ต่อวิถีชีวิตที่แตกต่างกันได้

ผมจินตนาการถึงประเทศไทย ทุกปีวันที่ 5 ธันวาคม ประเทศฉลองวันชาติอย่างยิ่งใหญ่ และอีก 6 เดือนถัดมา วันที่ 24 มิถุนายน ประเทศฉลองวันสถาปนาอำนาจเป็นของราษฎร อย่างยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน

จินตนาการเห็นสวนสมเด็จฯ ข้างรั้วมหาวิทยาลัยปรีดี

จินตนาการเห็นโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ อยู่ตรงหัวสะพานนวมทอง ไพรวัลย์

เมื่อนั้นประเทศไทยอันเป็นที่รักของผม จะกลายเป็นอารยะทางวัฒนธรรม ทางการเมือง และทุกๆด้าน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยูโร 2012: บางแง่มุมเกี่ยวกับ 16 ทีมที่คุณควรรู้ (กลุ่ม C)

Posted: 05 Jun 2012 04:58 AM PDT

สำหรับคอกีฬา เราลองมารู้จักบางแง่มุมของ 16 ประเทศที่จะร่วมโม่แข้งในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปนอกเหนือจากเรื่องฟุตบอล ขอนำเสนอเกร็ดเล็กๆ ของประเทศในกลุ่ม C สเปน, อิตาลี, ไอร์แลนด์ และโครเอเชีย

 

สเปน


ต่อจากรีซคือสเปน? – ในทางเกมกีฬา สเปนได้แชมป์ยุโรปต่อจากรีซ (กรีซ ปี 2004 สเปน 2008) และในวิกฤตเศรษฐกิจยุโรประรอกนี้ สเปนก็ดูเหมือนจะมีทีท่าล้มละลายต่อจากกรีซ

ปัญหาทางการเงินในสเปนดำดิ่งทุกที จนมีความเป็นไปได้ที่จะต้องขอรับความช่วยเหลือจากนานาชาติ ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจของสเปนนั้นใหญ่เป็นอันดับ 4 ของยูโรโซน (รองจากเยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี) นิตยสาร New York Times ระบุว่านอกจากปัญหาหนี้สาธารณะและขาดดุลงบประมาณในสัดส่วนที่สูงแล้ว ภาคการธนาคารของสเปนซึ่งมีหนี้เน่าจำนวนมหาศาล จากฟองสบู่แตกในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความเชื่อมั่น โดยนักลงทุนต่างชาติพากันขนเงินออกนอกประเทศเพราะเริ่มไม่มั่นใจในเสถียรภาพของประเทศนี้

ทั้งนี้ทันทีหลังจากที่รัฐบาลสเปนผ่านมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังมูลค่า 3 หมื่นล้านยูโร ซึ่งประกอบไปด้วยการหยุดขึ้นค่าจ้างภาครัฐ, เพิ่มภาษีรายได้ภาษีเงินออม และภาษีที่ดิน ฯลฯ ก็มีพลังประชาชนออกมาเดินขบวนประท้วงอย่างคับคั่ง

โดยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาชาวสเปนนับแสนคน รวมตัวกันบริเวณจัตุรัส Puerta del Sol ใจกลางกรุง Madrid  รวมถึงเมืองใหญ่อื่นๆ เช่น Barcelona, Bilbao, Malaga และ Seville โดยการประท้วงครั้งนี้ ยังเป็นการรำลึกครบรอบ 1 ปี ที่มีประชาชนหลายแสนคนออกประท้วงเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมปีที่แล้ว (2011) โดยกลุ่มนักศึกษาและประชาชนที่ตกงานที่เรียกตนเองว่า Los Indignados

อนึ่งสเปนเป็นประเทศที่มีอัตราการว่างงานสูงที่สุดใน 16 ประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ (ดูเพิ่มเติม: ยูโร 2012: ว่าด้วยเกร็ดตัวเลขนอกเหนือเรื่องฟุตบอลของทั้ง 16 ทีม)

         

อิตาลี


รีดภาษีฟุ่มเฟือย – อิตาลีเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ถูกวิกฤตเศรษฐกิจเล่นงานอย่างสาหัสจนถึงต้องกับมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล โดยรัฐบาลอิตาลีภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี Mario Monti เริ่มกวดขันการจ่ายภาษีรถราคาแพง เช่นเดียวกับที่เคยทำกับเรือยอชท์ของเศรษฐีที่จอดเทียบท่าตามท่าเรือต่างๆ

จากข้อมูลของ Bloomberg Businessweek รัฐบาลอิตาลีประมาณการว่าการเลี่ยงภาษีของประชาชน (ผู้มีอันจะกิน) ทำให้ประเทศสูญเสียรายได้ราว 1.2 แสนล้านยูโรต่อปี ทั้งนี้การเข้มงวดในการเก็บภาษีนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการ ในการลดภาระการกู้ยืมของอิตาลี ซึ่งสูงถึง 1.9 ล้านยูโร และเพื่อให้รอดพ้นจากการประสบปัญหาเศรษฐกิจ โดย Monti ยังได้เพิ่มภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งรวมไปถึงรถราคาแพง

นโยบายการเก็บภาษีรถหรูนี้พุ่งเป้าไปที่รถที่มีขนาดเครื่องยนต์เกิน 251 แรงม้า อย่างเช่นเจ้าของรถ Lamborghini Aventador ราคา 316,000 ยูโร จะต้องเสียภาษีราว 8,400 ยูโรต่อปี เป็นต้น และคาดการณ์ว่ารัฐจะสามารถจัดเก็บภาษีรถหรูนี้ได้ถึง 165 ล้านยูโร นอกจากนี้รัฐบาลยังเพิ่มภาษีน้ำมัน การเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นเหล่านนี้จะทำให้ผู้ใช้รถในอิตาลีมีค่าใช้จ่ายรวมกันถึง 5.1 พันล้านยูโรในสิ้นปี 2012 นี้ 

ไอร์แลนด์


ประท้วงสมเด็จพระราชินี – เมื่อปีที่แล้ว (2011) สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ได้เสด็จเยือนไอร์แลนด์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่พระองค์เดือนทางมาเยือนไอร์แลนด์ ตั้งแต่ที่ประเทศนี้แยกออกจากอังกฤษไปเป็นเอกราชได้สำเร็จในปี 1921

พระองค์ได้ทรงวางพวงมาลาที่ Garden of Remembrance ในกรุงดับลิน ซึ่งเป็นอนุสรณ์สถานสำหรับวีรชนผู้ล่วงลับของไอร์แลนด์ ต่อหน้าบุคคลสำคัญและผู้ทรงเกียรติจำนวนมาก รวมทั้งทหาร, ตลอดจน เจ้าชายฟิลิปพระสวามีของพระองค์ ซึ่งพระปิตุลาของเจ้าชายก็ได้ถูกพวกชาตินิยมไอริชหัวรุนแรงสังหารในปี 1979

แต่กระนั้นก็มีชาวไอริชบางส่วนที่ไม่พอใจ ซึ่งนำโดยพรรค Sinn Fein (พรรคการเมืองที่เคลื่อนไหวเพื่อแบ่งแยกไอร์แลนด์เหนือออกจากการปกครองของสหราชอาณาจักร) ได้ปะทะกับตำรวจโดยประปรายระหว่างการประท้วงเพื่อต่อต้านการเสด็จเยือนครั้งนี้ และกลุ่มผู้ประท้วงร่วมกันตะโกนว่า "บริเตนออกไป" พร้อมกับชูป้ายซึ่งมีข้อความว่า "ไม่เอาสถาบันกษัตริย์"

โครเอเชีย


ประท้วงคำตัดสินของศาลโลก – ปีที่แล้ว (2011) นอกเหนือจะมีการประท้วงรัฐบาลเรื่องผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโดยประปรายแล้ว ในโครเอเชียก็มีการประท้วงที่น่าสนใจอีกหนึ่งเหตุการณ์ ก็คือการประท้วงคำตัดสินของศาลโลก

ในเดือนเมษายนปีที่แล้ว ชาวโครเอเชียหลายพันคนรวมทั้งอดีตทหารผ่านศึกจำนวนหนึ่ง ออกมาประท้วงใจกลางเมืองหลวง เนื่องจากไม่พอใจศาลอาชญากรสงครามระหว่างประเทศของสหประชาชาติ (ที่ตั้งอยู่ในกรุงเฮกของประเทศเนเธอร์แลนด์) ตัดสินจำคุก 24 ปี พลเอก Ante Gotovina อดีตนายทหารกองทัพโครเอเชีย ข้อหาอาชญากรสงครามที่ก่อคดีความผิดต่อมวลมนุษยชาติระหว่างสงครามคาบสมุทรบัลข่านเมื่อช่วงปี 1995 แต่ทั้งนี้สำหรับชาวโครแอต Gotovina นั้นกลับได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษของประเทศ ที่ช่วยขับไล่กองกำลังชาวเซิร์บออกไปจากพื้นที่ของชาวโครแอต

โดยก่อนหน้านั้นในเดือนกุมภาพันธ์ชาวโครเอเชียจำนวนมากชุมนุม เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลโครเอเชียปกป้องเหล่าทหารผ่านศึกในสมัยสงครามบอลข่าน ที่ถูกจับกุมในต่างประเทศและถูกส่งตัวไปให้ศาลอาชญากรสงครามระหว่างประเทศพิจารณาคดี

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"พีมูฟ" จี้รัฐบาลเปิดเจรจาแก้ไขปัญหาคนจน-ปักหลักรอลุ้น "คดีที่ดินลำพูน" พรุ่งนี้

Posted: 05 Jun 2012 04:54 AM PDT

เครือข่ายชาวบ้าน-ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมรวมตัวหน้าศาลากลางลำพูน ยื่นหนังสือร้องการเจรจาแก้ไขปัญหาผ่านผู้ว่าลำพูนถึงยิ่งลักษณ์ ก่อนเคลื่อนขบวนฟังศาลฎีกาตัดสินคดีที่ดินลำพูนพรุ่งนี้

 
 
ประมวลภาพการชุมนุม ณ ศาลากลางจังหวัดลำพูน โดย สำนักข่าวลุ่มน้ำเซิน
 
วันนี้ (5 มิ.ย.55) เวลาประมาณ 10.00 น.เครือข่ายชาวบ้านทั่วประเทศในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ P move ประมาณ 500 คน เดินทางไปรวมตัวที่บริเวณศาลากลางจังหวัดลำพูน เพื่อยื่นหนังสือถึงนางสาวยิงลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนเร่งรัดให้รัฐบาลเปิดการเจรจาแก้ปัญหาเรื่องที่ดิน ก่อนปักหลักหน้าศาลากลางลำพูน เพื่อเตรียมเคลื่อนขบวนไปร่วมรับฟังการอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีพิพาทที่ดินลำพูนในช่วงเช้าวันพรุ่งนี้ (6 มิ.ย.)
 
สำหรับ ประเด็นเร่งด่วนที่มีการเรียกร้องให้เปิดเจรจา ประกอบด้วย 1.การเร่งรัดแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนชุมชนในคณะกรรมการบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) 2.การดำเนินการโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน 5 ชุมชน (ตามมติ ครม.22 ก.พ.55 และ 18 มี.ค.54) 3.การเร่งรัดการผลักดันพระราชบัญญัติการรับรองสิทธิ์ที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน (ตามนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา) ในระหว่างที่กฎหมายดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้ ให้ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 และ พ.ศ.2555
 
4.เร่งรัดการแก้ไขกฎหมายป่าไม้ ทั้ง 5 ฉบับ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ในหมวดว่าด้วยสิทธิชุมชน และแนวทางในการยุติการฟ้องร้อง การดำเนินคดีโลกร้อน 5.เร่งรัดการแก้ไขปัญหาอื่นๆ ที่ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมที่ได้ยื่นต่อรัฐบาลไว้แล้ว
 
นอกจากนี้ ทางเครือข่ายภาคประชาชนยังระบุขอรับทราบความชัดเจนเกี่ยวกับการเจรจา และตัวแทนรัฐบาลที่จะมาเจรจากับ ขปส. ภายในวันที่ 6 มิ.ย.55 นี้ ก่อนเวลา 12.00 น. ซึ่งจะตรงกับวันที่ศาลจังหวัดลำพูนนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาคดีของนาย สืบสกุล กิจนุกร นายประเวศน์ ปันป่า และนายรังสรรค์ แสนสองแคว ซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกและข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ในความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ หรือ คดีที่ดินลำพูน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ ขปส.ยังได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า ไม่ว่าผลการตัดสินของศาลจะออกมาเป็นอย่างไร ขปส.พร้อมเครือข่ายจะเดินหน้าผลักดันการแก้ไขปัญหาต่อไป
 
 
แถลงการณ์ฉบับที่ ๑๓
 
พิสูจน์ความจริงใจรัฐบาล เปิดการเจรจาแก้ไขปัญหาคนจน
 
เป็นเวลากว่า ๙ เดือนแล้ว ที่รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาบริหารประเทศ ตลอดเวลาที่ผ่านมา พวกเราขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ได้นำเสนอปัญหาความเดือดร้อนของพวกเราต่อรัฐบาลหลายครั้ง รวมทั้งการเข้านายกรัฐมนตรีที่กองบิน ๔๑ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๕๕ เมื่อคราวการประชุม ครม.สัญจรที่เชียงใหม่ และการเข้าพบนายกรัฐมนตรีที่สนามบินจังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๕ ในคราวการประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้กับภาคประชาชน
 
แม้ว่าต่อมารัฐบาลได้มีคำสั่งที่ ๑๕/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๕ แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ)เป็นประธาน และต่อมาเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๕ คณะกรรมการฯ ดังกล่าว ได้เรียกประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๕๕ ขึ้น ที่ตึกบัญชาการทำเนียบรัฐบาล ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบให้ในหลักการให้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการ และอนุกรรมการเพื่อใช้เป็นกลไกในการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ภายใน ๓๐ วัน แต่ปรากฏว่าไม่มีความคืบหน้าใดเกิดขึ้น
 
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๕ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมได้ขอเข้าพบและเปิดการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ) ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ที่ห้องรับรองกระทรวงมหาดไทย การหารือดังกล่าวได้เห็นชอบร่วมกันให้มีการเร่งรัดดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการ ๑ คณะ และคณะอนุกรรมการจำนวน ๑๐ คณะ โดยเร็ว แต่จนกระทั้งถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการดำเนินการใด ใด ที่เป็นรูปธรรม
 
ขณะที่การแก้ไขปัญหาไม่มีความคืบหน้า แต่หน่วยงานราชการในพื้นที่กลับบุกรื้อทำลายพืชผลที่ชาวบ้านทำการเพาะปลูก จนทำให้เกิดการเผชิญหน้า การปะทะกันระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ นอกจากนี้ยังมีการการไล่รื้อ การจับกุม รวมทั้งการฟ้องร้องดำเนินคดี โดยเฉพาะการพิพาทที่ดินลำพูน ซึ่งศาลจังหวัดลำพูนจะอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันพรุ่งนี้
 
พวกเราขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ขอยืนยันร่วมกันว่า ไม่ว่าผลการพิพากษาจะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม พวกเราจะเดินหน้าผลักดันการแก้ไขปัญหาต่อไป โดยรัฐบาลจะต้องเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการ ที่จังหวัดลำพูน ขอรับทราบคำตอบจากรัฐบาลผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ภายในวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๕ เวลา ๑๒.๐๐ น
 
 
คนจนทั้งผองพี่น้องกัน
 
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
 
๕ มิถุนายน ๒๕๕๕ หน้าศาลากลางจังหวัดลำพูน
 
 
 
ขณะที่ สำนักข่าวประชาธรรมรายงานว่า นายรังสรรค์ แสนสองแคว สมาชิกขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และหนึ่งในสามผู้ถูกกล่าวหาในคดี กล่าวว่า เราเรียกร้องให้ประสานงานไปยังสำนักนายกฯ เพื่อให้รัฐบาลส่งตัวแทนมาเจรจากับเรา ถึงแม้ว่าตัวนายกไม่ได้มาก็ขอให้เป็นรองนายกฯ หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายโฉนดชุมชน โดยให้ประสานงานเพื่อเจรจาในวันที่ 7 มิ.ย.นี้ ตามกำหนดที่เราได้ยื่นหนังสือไปเมื่อวันที่ 29 พ.ค.55 อีกเรื่องหนึ่ง คือ ให้ผู้ว่าฯ ประสานงานไปยังสำนักงานที่ดินป่าซางให้ยุติการออกรังวัดโฉนดที่ดิน 10 แปลง 46 ไร่ ซึ่งมีข้อตกลงตามนโยบายโฉนดชุมชน ที่จะใช้เงิน 167 ล้านซื้อที่ดินนำร่อง
 
ด้านนายสุรชัย ขันอาสาผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนได้ออกมารับเรื่องและกล่าวว่า เรื่องแรกที่ให้ประสานตามหนังสือที่ได้มีการยื่นตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา ตนเองจะติดต่อไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นเรื่องนี้ให้ ซึ่งหลังจากรับเรื่องแล้วรัฐบาลจะมอบหมายว่าให้ใครมาเป็นผู้เจรจาในเรื่องนี้ ส่วนอีกเรื่องเป็นการดำเนินการภายในจังหวัด ขอให้ระงับการรังวัดโฉนดที่ดินของเอกชน ซึ่งถ้ามีหนังสือจากส่วนกลางให้ระงับ เราก็ต้องระงับ
 
“เราไม่ใช่คนแก้ปัญหานี้ ปัญหานี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เรื้อรังมานาน ไม่ว่ารัฐบาลไหนจะต้องเข้ามาช่วยแก้ปัญหา ทางจังหวัดเราจะคอยอำนวยความสะดวกและเป็นผู้ประสานงานให้พี่น้องประชาชน ส่วนจะใช้เวลานานเท่าไหร่คงต้องแล้วแต่รัฐบาล” นายสุรชัย กล่าวชี้แจง
 
สำหรับกรณีข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านและสำนักงานที่ดินสาขาป่าซาง ผู้สื่อข่าวรายงานว่าได้ข้อตกลงว่าสำนักงานที่ดินจังหวัดจะทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรแก่สำนักที่ดินสาขาป่าซาง ให้ระงับการรังวัดที่ดิน
 
ทั้งนี้ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ประกอบด้วย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.),เครือข่ายสลัม 4 ภาค, สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.), เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคเหนือ (คปน.), เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) เป็นต้น
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น