โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

14 ปี สถาบันพระปกเกล้า 80 ปีปฏิวัติสยาม ชนะศึกแต่แพ้สงคราม? ตอนที่ 3 อันมีรัชกาลที่ 7 ทรงเป็นประมุข

Posted: 23 Jun 2012 08:31 AM PDT

สองตอนที่ผ่านมาได้กล่าวถึงจุดกำเนิด และแรงกิริยา-ปฏิกิริยา ทำให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่า สถาบันพระปกเกล้าในฐานะองค์กรหนึ่งของรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตยกลับมุ่งมั่นที่จะก้าวเดินสู่ทางเส้นขนานกับอุดมการณ์คณะราษฎรอย่างจริงจัง จึงไม่แปลกอะไรที่องค์กรนี้อยู่ในสถานภาพอันแปลกแยกเป็นอย่างยิ่งต่อความคึกคักของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเพื่ออำนาจของประชาชนในทุกวันนี้ บทความตอนสุดท้าย จะนำผู้อ่านไปสู่บทบาทที่เรามองไม่เห็นของสถาบันพระปกเกล้า ที่ได้ฝังรากและแผ่กิ่งก้านครอบงำสถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆ รวมถึงสร้างกลุ่มทางสังคมในนามของประชาธิปไตยที่มีรัชกาลที่ 7 ทรงเป็นประมุข

 

1. สำรวจ โครงสร้างของสถาบันพระปกเกล้า

สถาบันพระปกเกล้า ประกอบด้วย 2 ส่วนใหญ่ๆ นั่นคือ ส่วนกำกับนโยบาย ได้แก่ สภาสถาบันพระปกเกล้าที่มีประธานรัฐสภาเป็นประธาน ซึ่งฟากนี้มีกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการที่มาจากรัฐสภา ขณะที่ส่วนบริหาร ประกอบด้วย เลขาธิการ, คณะกรรมการบริหาร และผู้ตรวจสอบภายใน เลขาธิการเป็นหัวใจสำคัญที่สุดที่จะควบคุมการดำเนินการทั้งหลาย

ภายใต้เลขาธิการ (ปัจจุบันคือ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ) มีรองเลขาธิการ 2 ตำแหน่ง แยกเป็นรองเลขาฯ (ปัจจุบันคือ วุฒิสาร ตันไชย) ที่บริหารสายงานอันเน้นหนักด้านการเรียนการสอนและวิชาการอย่าง วิทยาลัยการเมืองการปกครอง, วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น, สำนักงานวิจัยและพัฒนา, สำนักงานส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง และ สำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา กับรองเลขาฯ อีกตำแหน่ง (ปัจจุบันคือ วิทวัส ชัยภาคภูมิ) ที่ดูแลสำนักงานเลขาธิการ, สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล และพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่ดูแลงานทั่วไปอย่าง ห้องสมุด ศูนย์บรรณสารและสารสนเทศ, ศูนย์ประชาสัมพันธ์. งานวิเทศสัมพันธ์, งานติดตามประเมินผล และงานโครงการพิเศษ เป็นบทบาทของผู้ช่วยเลขาธิการฯ

ภาพประกอบ ผังโครงสร้างองค์กรสถาบันพระปกเกล้า

 

2. สถาบันพระปกเกล้า โรงเรียนประชาธิปไตยอันมีรัชกาลที่ 7 ทรงเป็นประมุข

สถาบันพระปกเกล้า เปิดการเรียนการสอนอย่างจริงจังในลักษณะสถาบันการศึกษา [1] ในนามของวิทยาลัยการเมืองการปกครอง, วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น รวมไปถึงงานวิชาการ อบรมบุคลากรจากภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนเกี่ยวกับการเมือง การปกครองและการเศรษฐกิจและสังคม แต่เป็นสถาบันที่มีความชัดเจนว่าให้ความหมายต่อระบอบประชาธิปไตยในแบบของตัวเอง จนอาจกล่าวได้ว่า สถาบันนี้ในอีกด้านแล้วก็คือ โรงเรียนประชาธิปไตยอันมีรัชกาลที่ 7 ทรงเป็นประมุข

แต่โรงเรียนแห่งนี้ไม่มีบุคลากรที่เป็นอาจารย์สอนประจำมากเพียงพอ จึงต้องมีคณะกรรมการหลักสูตรจากภายนอก รวมถึงจ้างอาจารย์พิเศษจากภายนอกมา ตัวอย่างเช่น ใน วิชาแนวคิดเบื้องต้นและทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง [2] มีผู้สอนอันเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างก็คือ เทียนฉาย กีระนันนท์ (ปรัชญาพื้นฐานเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์) อัมมาร สยามวาลา (หลักและแนวคิดพื้นฐานทางด้านเศรษฐศาสตร์) วรากรณ์ สามโกเศศ (เป้าหมาย กลยุทธ์และเครื่องมือในระบบเศรษฐกิจ) ธงทอง จันทรางศุ (ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมายเศรษฐกิจไทย) สุเมธ ตันติเวชกุล (การดำเนินงานทางเศรษฐกิจตามแนวคิดในพระราชดำริ) ฯลฯ ผู้เขียนมีความรู้ไม่มากนักเกี่ยวกับเรื่องสถาบันการศึกษาในปัจจุบันที่จะชี้ว่า ลักษณะ “โปรโมเตอร์ทางวิชาการ” ของสถาบันนี้เหมือนหรือแตกต่างกับแห่งอื่นๆบ้างไหมในประเทศนี้

หากพิจารณาจากประกาศนียบัตร เราจะเห็นหลักสูตรการเรียนการสอน ดังนี้

  1. หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง [3] เป็นหลักสูตรการเมืองการปกครองสำหรับนักบริหารระดับสูง
  2. หลักสูตรประกาศนียบัตร [4] เป็นหลักสูตรอื่นที่สภาสถานประกาศกำหนด
  3. หลักสูตรสัมฤทธิบัตร เป็นหลักสูตรการให้บริการสาธารณะโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน
  4. หลักสูตรวุฒิบัตร [5]

หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง ถือได้ว่าเป็นสินค้าระดับพรีเมี่ยม การพยายามสร้าง “รุ่น” ขึ้น ได้มีการเรียกรุ่นด้วยตัวย่อตัวด้วยตัวเลขอย่าง ปปร.15 ทำให้ผู้เขียนนึกถึง การใช้ตัวย่อของรุ่น จปร. และวปอ. โดยเฉพาะหลักสูตรของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) วิทยาลัยดังกล่าว ได้สร้างกลุ่มทางสังคมของกลุ่มคนชั้นนำฝ่ายข้าราชการ ทหารและพลเรือน มาตั้งแต่ปี 2498 ที่ในภายหลัง ปี 2532 เปิด หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน หรือ ปรอ. ขึ้นมาอีกหลักสูตรหนึ่ง เพื่อให้นักธุรกิจระดับเจ้าของกิจการหรือผู้บริหารได้เข้ารับการศึกษาร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของภาครัฐ [6] หลักสูตรดังกล่าวจึงสร้างรุ่นและกลุ่มทางสังคมที่ติดอาวุธทางปัญญาแบบสถาบันพระปกเกล้า พร้อมไปกับสร้างแบ็คอัพให้กับสถาบันและประชาธิปไตยแบบนี้อย่างมั่นคง สิ่งที่พิสูจน์ได้ชัดก็คือ วีรกรรมของสมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้าที่ดาหน้าถล่มนิติราษฎร์ไปเมื่อช่วงก่อน

ที่น่าสังเกตก็คือ ค่าธรรมเนียมการเรียนการสอนบางหลักสูตรของสถาบันพระปกเกล้า พบว่าสูงถึง 109,000 บาท ในกรณีที่เคยผ่านหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงอื่น ของสถาบันพระปกเกล้ามาแล้วจะลดเหลือ 98,100 บาท [7] ซึ่งยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในการศึกษาดูงานในต่างประเทศ เอาเป็นว่าด่านการเงินก็เป็นอุปสรรคแรกต่อคนชั้นแรงงาน และคนธรรมดาสามัญเสียแล้วที่จะเข้าถึงหลักสูตรแบบนี้ อย่างไรก็ตามไม่ทราบว่ามีทุนการศึกษาให้หรือไม่ ข้อมูลในเว็บไซต์ไม่ได้แจ้งไว้

นอกจากนั้นหากเราเทียบกับการรับปริญญาแล้ว สถาบันนี้ยังมีการมอบประกาศนียบัตรชั้นสูงกิตติมศักดิ์ และประกาศนียบัตรกิตติมศักดิ์ ให้สำหรับคนที่คู่ควร โดยสถาบันจะเป็นผู้พิจารณามอบให้ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการมอบปริญญากิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ เลย

นักศึกษาหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
สำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 15 (ปปร.15) มอบเงินช่วยน้ำท่วม
ภาพจาก http://www.kpi.ac.th/kpith/index2.php?option=com_content&task=view&id=1146&pop=1&page=88&Itemid=68

 

ใครมีสิทธิเข้าโรงเรียนนี้บ้าง?

นอกจากจะต้องมีเงินถุงเงินถังแล้ว เมื่อพิจารณาดูจากคุณสมบัติของผู้เรียนประกาศนียบัตรชั้นสูงในหลายหลักสูตรพอจะประมวลได้ว่า แม้จะพบความหลากหลายในสาขาอาชีพ แต่ก็เป็นคนในระดับบนแทบทั้งสิ้น ซึ่งในแต่ละหลักสูตรจะเปิดรับคุณสมบัติที่แตกต่างกันบ้าง ที่มีลักษณะร่วมกันก็คือ ต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรี และอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป โดยให้ความสำคัญกับ ข้าราชการและผู้บริหารองค์กรเป็นหลัก หากเป็นนายทหารหรือนายตำรวจชั้นยศ, พันเอก, นาวาเอก นาวาอากาศเอกหรือ พันตำรวจเอกขึ้นไป หากเป็นข้าราชการพลเรือนก็ต้องไม่ต่ำกว่าระดับ 8 รวมถึงผู้บริหารระดับสูงของเอกชน

ที่พิสดารหน่อยก็คือ บางหลักสูตรรับ “ศิลปิน” ซึ่งหมายถึง นักร้อง นักแสดง ที่มีประสบการณ์สูงและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ แน่นอนว่าอาชีพสูงส่งในสังคมไทยย่อมผ่านคุณสมบัตินี้อย่างสบาย เช่น คนในแวดวงตุลาการอย่าง คนในแวดวงองค์กรที่มีผลต่อการเมืองไทยอย่าง สมาชิกรัฐสภา, กรรมการเลือกตั้ง, ผู้ตรวจการแผ่นดิน ,กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ตุลาการรัฐธรรมนูญ, กรรมการปปช., ประธานหรือรองประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ข้าราชการตุลาการยุติธรรม ตั้งแต่อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นขึ้นไป, ข้าราชการตุลาการศาลปกครองตั้งแต่ตำแหน่งอธิบดีศาลปกครองหรือภูมิภาคขึ้นไป, ข้าราชการอัยการตั้งแต่อธิบดีอัยการขึ้นไป บางหลักสูตรระบุว่า บุคคลที่สภาสถาบันพระปกเกล้าให้เข้ามาศึกษา เพราะมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในการพัฒนาประชาธิปไตย หรือเป็นผู้ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตย หรือสนับสนุนงานของสถาบันต่อไป

กลุ่มเป้าหมายดังกล่าว สะท้อนความเชื่อของสถาบันฝากความหวังการพัฒนาประชาธิปไตย ที่ให้ความสำคัญต่อคนที่อยู่บนโครงสร้างอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจเป็นหลักมากกว่าจะสร้างความเข้มแข้งจากฐานราก ฐานคิดเช่นนี้เป็นเรื่องเดียวกับข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นในส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ว่าด้วยผู้มีสิทธิรับสมัครเลือกตั้งที่ระบุว่าต้องจบปริญญาตรี ปัญหาของความคิดที่ไม่เปิดโอกาสความเท่าเทียมในการเข้าสู่อำนาจในระบอบประชาธิปไตย จึงตอกย้ำได้สมกับเป็นสถาบันพระปกเกล้าที่ไม่เห็นความสำคัญของอำนาจอธิปไตยของราษฎร ไม่เห็นความสำคัญของโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรที่เท่าเทียมกัน ว่าไปแล้วนี่คือ อุปสรรคของการพัฒนาประชาธิปไตยเสียด้วยซ้ำไป

 

3. In the name of the Father : ผลงานในนามสถาบันพระปกเกล้า

ในเว็บไซต์ของสถาบันพระปกเกล้าได้จัดระบบการอธิบายผลงานของตนไว้เป็น 7 หมวด ที่ไม่รวมกับการเรียนการสอน ได้แก่

  1. ระบอบประชาธิปไตย
  2. การกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น
  3. ธรรมาภิบาล
  4. สันติวิธีและการบริหารจัดการความขัดแย้ง
  5. การเมืองภาคพลเมืองและความเป็นพลเมือง
  6. พระปกเกล้าศึกษา
  7. ประเด็นนโยบายสาธารณะ

 

ในหมวดต่างๆ ก็ยังแบ่งเป็น 4 ส่วนเหมือนกันนั่นคือประกอบไปด้วย ผลงานวิจัย, บทความ, หนังสือเผยแพร่ และผลการสัมมนา สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ผลงานที่โดดเด่นที่สุดก็คือ หมวดระบอบประชาธิปไตยที่มีผลงานวิจัยอยู่ 57 ชิ้น มีบทความที่นำมาจากสื่อต่างๆอีก 32 บทความ มีหนังสือเผยแพร่อยู่ 21 เล่ม และผลการสัมมนาอยู่ 4 ชิ้น

ตามมาด้วยหมวดการกระจายอำนาจและปกครองท้องถิ่น ที่มีผลงานวิจัยอยู่ 3 ชิ้น บทความ 7 บทความ หนังสือเผยแพร่อยู่ถึง 54 เล่ม และผลการสัมมนา 6 ชิ้น

ที่น่าผิดหวังมาก ก็คือ หมวดพระปกเกล้าศึกษา ที่มีผลงานน้อยมาก นั่นคือ มีเพียงผลงานการทำหนังสือเผยแพร่ 2 เล่ม นั่นคือ เฉลิมพระยศเจ้านายฝ่ายใน เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 โดย สถาบันพระปกเกล้า และ อาคารพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดย บัณฑิต จุลาสัย และ พีรพงศ์ จันทรา หรืออาจเป็นได้ว่าในนามของรัชกาลที่ 7 แล้ว ความสัมพันธ์กับระบอบประชาธิปไตยช่างกลวงเปล่านัก สิ่งที่ประจักษ์แก่ตาพวกเราก็คือ ตัวสถาบันเองมิได้ผลิตข้อมูล งานวิจัย ข้อโต้แย้งใดๆในแวดวงวิชาการสาธารณะเลย การอ้างอิงถึงรัชกาลที่ 7 ก็เป็นเพียงผลิตซ้ำการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ด้วยอนุสาวรีย์และพิพิธภัณฑ์เพียงเท่านั้น

ผลงานอีกส่วนหนึ่งที่พบในเว็บไซต์ของสถาบันก็คือ ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง ที่พยายามสรุปหัวข้อและจัดทำบทความทางการเมืองการปกครองของไทยตั้งแต่การเปลี่ยนมาสู่ระบอบประชาธิปไตย จนถึงปัจจุบัน ฐานข้อมูลนี้มีหน้าตาและการใช้งานคล้ายกับ วิกิพีเดีย ขณะนี้มี 1,163 บทความ แบ่งเป็นหมวดหมู่ทั้งหมด 15 หมวด ได้แก่

  • กลุ่มที่ 1 พระมหากษัตริย์
  • กลุ่มที่ 2 พระปกเกล้าศึกษา
  • กลุ่มที่ 3 รัฐธรรมนูญ
  • กลุ่มที่ 4 สถาบันการเมือง
  • กลุ่มที่ 5 พรรคการเมืองและการเลือกตั้ง
  • กลุ่มที่ 6 การปกครองท้องถิ่น
  • กลุ่มที่ 7 เหตุการณ์สำคัญทางการเมือง
  • กลุ่มที่ 8 บุคคลสำคัญทางการเมือง
  • กลุ่มที่ 9 การเมืองภาคพลเมือง
  • กลุ่มที่ 10 ธรรมาภิบาล
  • กลุ่มที่ 11 สันติวิธี/การสร้างสังคมสันติสุข
  • กลุ่มที่ 12 การบริหารราชการแผ่นดิน
  • กลุ่มที่ 13 สารานุกรม คำศัพท์ต่าง ๆ
  • กลุ่มที่ 14 ประชาคมอาเซียน
  • กลุ่มที่ 15 วิทยานิพนธ์ / งานวิจัย / หนังสือต่าง ๆ

ลักษณะเด่นก็คือ มีการระบุผู้เขียนบทความ และมีผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความกำกับอย่างชัดเจน พร้อมทั้งการอ้างอิงและหนังสือแนะนำเพื่อค้นคว้าต่อ สำหรับผู้เขียนบทความ บางครั้งเป็นนักวิชาการในสถาบัน บางครั้งเป็นนักเขียนภายนอกที่อาจเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง เช่น นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เขียนบทความ “การหายตัวของทนายสมชาย นีละไพจิตร” [8] อุเชนทร์ เชียงแสน เขียนบทความ “เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร” [9] ฯลฯ

เว็บไซต์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า
http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/หน้าหลัก

 

4. เครือข่ายทางวิชาการ

จากเครือข่ายชนชั้นนำชนชั้นปกครองที่สร้างผ่านชุมนุมหลักสูตรชั้นสูงแล้ว ยังมีการประชุมวิชาการพระปกเกล้า ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2542 [10] อันต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน และยังมีโครงการให้ทุนสนับสนุนการทำวิทยานิพนธ์ขึ้นโดย สำนักวิจัยและพัฒนา ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2543 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกิดการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการ เมืองการปกครองและการพัฒนาประชาธิปไตย และสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ขึ้น

. นอกจากนั้น สถาบันยังทำตัวเอเย่นต์แนวคิดประชาธิปไตยที่มีรัชกาลที่ 7 ทรงเป็นประมุข โดยอาศัยแบรนด์ของตนทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมต่อกับเครือข่ายต่างจังหวัดในนาม “ศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง” เราพบว่าปัจจุบันมีศูนย์ดังกล่าวอยู่ใน 42 จังหวัดทั่วประเทศ [11] ศูนย์เหล่านี้ส่วนใหญ่ผูกติดกับมหาวิทยาลัยราชภัฏจังหวัดต่างๆ ดังที่จะเห็นว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏมักจะดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการศูนย์ฯ รวมไปถึงสถาบันในเครือข่ายราชภัฏเช่น วิทยาลัยแม่ฮ่องสอน อีกด้วย นอกจากนั้น หากจังหวัดใดไม่มีแม้เครือข่ายราชภัฏ ก็จะแปรเปลี่ยนไปตามบุคคลที่มีความสัมพันธ์ต่อการเรียนรู้และภาคประชาสังคม เช่น ผู้บริหารสถาบันการศึกษาใน จังหวัดพะเยา บุคลากรด้านสาธารณสุขแบบที่จังหวัดน่าน

เว็บเพจที่แสดงเครือข่ายศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง
http://www.kpi.ac.th/ppd/

 

5.ระบบเกียรติยศ และการมุ่งเน้นอาภรณ์คลุมกาย

สิ่งที่สถาบันเน้นมากอีกส่วนหนึ่งก็คือ การกำหนดอำนาจและขอบเขตเกี่ยวกับการให้ประกาศนียบัตร วุฒิบัตร รวมไปถึงการกำหนดเข็มวิทยฐานะ ซึ่งปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.สถาบันพระปกเกล้า (ฉบับที่2) พ.ศ.2543 อันกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับประกาศนียบัตร และวุฒิบัตรต่างๆใหม่ นอกจากนั้นยังมี ข้อบังคับสถาบันพระปกเกล้า เรื่อง เครื่องแบบสำหรับผู้ศึกษาในหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงทุกหลักสูตร พ.ศ. 2545, ข้อบังคับสถาบันพระปกเกล้า ว่าด้วยเข็มวิทยฐานะ ตราเครื่องหมาย สัญลักษณ์ของสถาบันพระปกเกล้า พ.ศ. 2544 และที่สำคัญ ข้อบังคับสถาบันพระปกเกล้า ว่าด้วยการศึกษาในสถาบันพระปกเกล้า พ.ศ. 2543 ที่แจงให้เห็นหลักสูตรและรายละเอียดการเรียนการสอน การกำหนดระเบียบที่ซับซ้อนเช่นนี้ ไม่ต่างจากระเบียบข้อบังคับของโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาในระบบของกระทรวงศึกษาธิการเลย

 

รางวัลสถาบันพระปกเกล้า ตอกย้ำแบรนด์ประชาธิปไตยแบบไทยๆ

การมอบรางวัลพระปกเกล้าและใบประกาศเกียรติคุณสถาบันพระปกเกล้านั้น ถือเป็นการปูนบำเหน็จและมอบเกียรติยศผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยอาศัยชื่อชั้นและแบรนด์ประชาธิปไตยที่มีรัชกาลที่ 7 ทรงเป็นประมุขเป็นจุดขาย โดยเฉพาะการผูกความหมายของรางวัลเข้ากับพระราชดำริการจัดตั้งเทศบาล เมื่อทรงพระราชทานสัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าว หนังสือพิมพ์ The New York Time ฉบับวันที่ 28 เมษายน 2474 เริ่มมีการมอบรางวัลตั้งแต่ปี 2544 และผูกติดกับงานประชุมวิชาการ KPI CONGRESS ประจำปี [12] อนึ่ง การจัดตั้งเทศบาลขึ้นอย่างจริงจังและกว้างขวางนั้น เป็นผลงานของคณะราษฎรที่แทบไม่ได้รับการกล่าวถึงและให้เกียรติจากสถาบันนี้เลย

เราสามารถแบ่งเป็นรางวัล 2 ประเภท นั่นคือ รางวัลสถาบันพระปกเกล้า และรางวัลสถาบันพระปกเกล้าทองคำ ซึ่งส่วนหลังเป็นรางวัลระดับพรีเมี่ยม

รางวัลสถาบันพระปกเกล้า จะมีการแจกทุกปีตั้งแต่ปี 2544 จนกระทั่งในปี 2552 เริ่มแบ่งประเภทรางวัลเป็น 3 ประเภท [13] ได้แก่ ประเภทที่ 1 ด้านความโปร่งใสและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ประเภทที่ 2 ด้านการเสริมสร้างสันติสุขและความสมานฉันท์ และประเภทที่ 3 ด้านการเสริมสร้างเครือข่าย รัฐ เอกชน และประชาสังคม นั่นทำให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีโอกาสที่จะได้รับรางวัลมากขึ้นกว่าเดิม สถาบันให้เหตุผลว่า เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้น

รางวัลสถาบันพระปกเกล้าทองคำ จะมีทำการมอบรางวัลแบบปีเว้นปี ที่แตกต่างจากรางวัลธรรมดาก็คือ เป็นรางวัลที่มอบให้กับ องค์กรที่บริหารงานด้วยความโปร่งใสและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนที่โดดเด่น ต่อเนื่อง และมีการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการบริหารงานใหม่ๆ อันเป็นแบบอย่างที่ดีแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นในประเทศไทย บังเอิญเสียเหลือเกินว่า การมอบรางวัลพระปกเกล้าทองคำครั้งแรก เกิดขึ้นในวันที่ 5 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นวันสถาปนาสถาบันพระปกเกล้า [14] ก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน เพียง 2 สัปดาห์

รางวัลพระปกเกล้าทองคำ ปี 2551 ของ เทศบาลตำบลกำแพง จังหวัดสตูล
http://www.kumpangcity.go.th/award/a51_4.php

 

6. สถาบันพระปกเกล้า มาจากภาษีของประชาชน

สถาบันพระปกเกล้า ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐ ตัวเลขต่อปีอยู่ที่ 200-400 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงบประมาณของมหาวิทยาลัยราชภัฏในแต่ละจังหวัดที่ได้เฉลี่ยแห่งละประมาณ 200-300 ล้านบาท ก็นับได้ว่า สถาบันพระปกเกล้าใช้จ่ายเงินในขนาดพอๆกัน อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับองค์ที่สุรุ่ยสุร่ายกว่ามากๆอย่าง สสส. ที่ภายใน 10 ปีใช้เงินไปกว่า 24,403 ล้านบาทแล้ว ถือว่า สถาบันพระปกเกล้าทำงานได้คุ้มค่ากว่ามาก ตารางด้านล่างจะแสดงให้เห็นการได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐตั้งแต่ยังสังกัดอยู่กับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

ตารางแสดง งบประมาณแผ่นดินที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระปกเกล้า ปี 2538-2555

ปีงบประมาณ
งบประมาณ
คณะรัฐบาล
หมายเหตุ
2538
ไม่มีข้อมูล
บรรหาร
เริ่มจัดตั้งสถาบันพระปกเกล้า ในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
2539
ไม่มีข้อมูล
บรรหาร/ชวลิต
งบประมาณอยู่ในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
2540
ไม่มีข้อมูล
ชวลิต/ชวน
งบประมาณอยู่ในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
2541
1,319,283,400
ชวน
งบประมาณอยู่ในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร/ พรบ.พระปกเกล้า
2542
1,120,586,800
ชวน
งบประมาณอยู่ในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
2543
1,088,539,600
ชวน
งบประมาณอยู่ในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร/พรบ.พระปกเกล้า (ฉ.2)
2544
1,140,409,800
ชวน/ทักษิณ
งบประมาณอยู่ในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
2545
265,000,000
ทักษิณ
แยกงบประมาณออกมาเป็นอิสระ
2546
220,000,000
ทักษิณ
 
2547
238,114,900
ทักษิณ
 
2548
239,100,000
ทักษิณ
 
2549
314,279,000
ทักษิณ/สุรยุทธ์
รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดย คปค.
2550
200,000,000
สุรยุทธ์
 
2551
264,321,000
สุรยุทธ์/สม้คร/สมชาย/อภิสิทธิ์
 
2552
360,000,000
อภิสิทธิ์
สถาบันพระปกเกล้าออกนโยบายจริยธรรม
2553
406,109,000
อภิสิทธิ์
เหตุการณ์ปราบปรามประชาชน เดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553
2554
383,084,300
อภิสิทธิ์/ยิ่งลักษณ์
 
2555
372,968,900
ยิ่งลักษณ์
สถาบันพระปกเกล้าเสนองานวิจัยปรองดอง

 
ที่มา พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ตั้งแต่ปี 2538-2555 ใน ราชกิจจานุเบกษา ระหว่างปี 2538-2540 ดูในส่วนของ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา ดูในส่วนของ สถาบันพระปกเกล้า

 

5. สถาบันพระปกเกล้าหลัง รัฐประหาร 2549

เป็นสิ่งที่น่าติดตามเช่นกันว่า หลังรัฐประหาร 2549 แล้ว สถาบันนี้จะมีบทบาทอย่างไรในสังคมการเมืองที่เปลี่ยนผ่านไปทางอาการเสื่อมถอยของประชาธิปไตย แทนที่เราจะพบกับคำถามที่แหลมคมต่อการรัฐประหาร ไม่ว่าจะสนับสนุนหรือไม่เห็นด้วย แต่เปล่าเลยเรากลับพบว่า สิ่งที่ปรากฏก็คือ การเต้นตามทำนองพร่ำเพ้อหาศีลธรรม คุณธรรมจากปากฝ่ายอนุรักษ์นิยมทั้งหลาย นั่นคือ การตรา “ประมวลจริยธรรมบุคลากรของสถาบันพระปกเกล้า” ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา ปี 2552 [15] โดยทำการยกเลิก “จรรยาบรรณพนักงาน ลูกจ้างของสถาบันพระปกเกล้า” ฉบับเดิมในปี 2544

คำปรารภของประมวลจริยธรรม กล่าวถึงนิยามของจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้วยตรรกะอันพิสดาร ที่จับใจความได้ว่า การที่ทุกตำแหน่งต้องปฏิบัติงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้นั้น ต้องมี “จริยธรรม” อันเกิดจากการรวมตัวกันของ “คุณธรรม” ในฐานะประโยชน์แก่ส่วนรวมและตัวเอง และ “ศีลธรรม” ในฐานะโทษของส่วนรวมและตัวเอง โดยภาพรวมเนื้อหาหลักๆ ของประมวลจริยธรรมนี้ก็อาจไม่แปลกอะไรและไม่ต่างอะไรกับจรรยาบรรณทั่วๆไป แต่ที่สะดุดใจผู้เขียนก็คือ มีอยู่ตอนหนึ่งของจริยธรรมบุคลากรที่ผูกโยงเข้ากับความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์อย่างแน่นแฟ้น ดังนี้ [16]

หมวด 3 จริยธรรมบุคลากร

ข้อ 4 บุคลากรต้องมีจิตสำนึกและยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยอย่างน้อยต้องวางตน ดังนี้

1) ไม่แสดงการต่อต้านการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือสนับสนุนให้นำการปกครองในระบอบอื่นที่ไม่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาใช้ในประเทศไทย

2) จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และไม่ละเมิดองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินีและพระรัชทายาทไม่ว่าทางกาย หรือทางวาจา

 

6. ประชาธิปไตยแบบเซเล็บ กับผู้นำเด็กๆ ของฉัน

แทนที่สถาบันพระปกเกล้าจะมุ่งเน้นสร้างองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับคุณูปการของพระปกเกล้า หรือข้อโต้แย้งข้อเสนอของฝ่ายตรงกันข้าม หรือกระทั่งการสนับสนุนแนวคิด “คณะราษฎรชิงสุกก่อนห่าม” อย่างเป็นระบบ กลับพบว่าปัญญาชนฟากฝั่งนี้ไม่ได้ให้ความสนใจ ที่จะสร้างความรู้ใหม่ๆมาเสริมสิ่งที่หัวใจของตนเอง แต่กลับมุ่งทำในสิ่งที่ไม่ใช่ด้านถนัดของตน ตัวอย่างสำคัญก็คือ การสร้างกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้เข้ามามีบทบาทเสริมภาพลักษณ์องค์กร ดังที่เห็นได้จากหลักสูตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตยรุ่นที่1 สถาบันพระปกเกล้า (ปนป.1) ที่เริ่มต้นในปี 2554

หลักสูตรผู้นำฯ รุ่นแรก 120 คน มีอายุตั้งแต่ 20-40 ปี ประกอบด้วยคนดังในวงการบันเทิง ได้แก่ วู้ดดี้ - วุฒิธร มิลินทจินดา, อั๋น-ภูวนาถ คุนผลิน, ฟลุ๊ค-เกริกพล มัสยวาณิช, พชร ปัญญายงค์ แวดวงการเมือง เช่น อี้-แทนคุณ จิตต์อิสระ, วิสาระดี เตชะธีรวัฒน์, สกลธี ภัททิยะกุล และสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ที่รั้งตำแหน่งประธานรุ่น ส่วนแวดวงธุรกิจ ก็มี ธนา เธียรอัจฉริยะ,จตุภัทร์ ตั้งคารวคุณ,นิธิ เนื่องจำนง,ปณิธาน ปวโรฬารวิทยา รวมถึงอาชีพอื่นๆ ทั้งตุลาการ ตำรวจ สื่อมวลชน นักวิชาการ แม้แต่แอร์โฮสเตส นักสังคมสงเคราะห์ ร่วมด้วยบรรดาผู้นำนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น จุฬา,ธรรมศาสตร์,รามคำแหง ผู้นำนักศึกษามุสลิม โดยจุดประสงค์ของหลักสูตรนี้จากการสัมภาษณ์ของบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบัน ก็คือ ต้องการให้คนเหล่านี้มีความรู้ที่กว้างขึ้นกว่างานที่ตัวทำ, พัฒนาสู่ทักษะออกไปช่วยสังคม แทนที่จะเขียนเปเปอร์ส่งเหมือนหลักสูตรอื่นๆ หลักสูตรนี้ต้องคิดทำโครงการ ลงพื้นที่ศึกษาปัญหาในชุมชน ฝึกฝนทักษะทำงานเป็นทีมและทำงานร่วมกับประชาชน เมื่อจบหลักสูตรแล้วจะมีการประกวดโครงการแข่งขันกัน, หวังว่าหลังจากเรียนจบแล้วจะมีทัศนคติที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น [17]

เหล่าผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตยรุ่นที่1 สถาบันพระปกเกล้า (ปนป.1)

ด้วยความที่มีพิธีกรรายการโทรทัศน์ชื่อดังอย่างวู้ดดี้ ซึ่งมีคอนเนกชั่นทางสื่อและวงการบันเทิง ทำให้เกิดผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอันก็คือ การจัดทำสปอตรณรงค์เพื่อเชิญชวนคนออกมาเลือกตั้งทั่วไปในปี 2554 ที่ชื่อว่า “อวสานแพลงกิ้ง จะนอนนิ่งหรือจะ...?”  [18]

คลิป “อวสานแพลงกิ้ง จะนอนนิ่งหรือจะ...?” ที่เผยแพร่ในยูทูป
http://www.youtube.com/watch?v=Yo37rPGqF0E

นอกจากนั้น เครื่องมือสำคัญที่พวกเขาใช้หล่อหลอมพฤติกรรมให้กลายเป็นคนกลุ่มเดียวกันในระยะเวลาอันสั้นก็คือ กิจกรรมเข้าค่ายลูกเสือ แม้ว่าลูกเสือชาวบ้านเคยถูกใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายอนุรักษ์นิยมขวาจัดในช่วงขวาพิฆาตซ้ายช่วงปี 2518-2519 มาแล้ว แต่สถาบันพระปกเกล้าก็ไม่ยี่หระใดๆต่อประวัติศาสตร์แบบนั้น และอาจถือว่าไม่เกี่ยวกันและอยู่คนละบริบททางประวัติศาสตร์แล้วก็เป็นได้ สถาบันจัดกิจกรรมให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัสโลกของลูกเสือ ผ่านกิจกรรมเข้าค่ายลูกเสือที่ผสมผสานอุดมการณ์ชาตินิยมและการสันทนาการนอกบ้านได้อย่างลงตัว มีบทสัมภาษณ์ของสมาชิกรุ่น ปนป.1 อย่าง มินท์ อรรถวดี จิรมณีกุล ไฮโซและนักร้องเสียงดี กล่าวไว้ว่า

“ที่สำคัญพอกลับมาแล้วมิ้นท์รู้สึกมองโลกเปลี่ยนไปเลย เพราะไปอยู่ตรงนั้นมันไม่ได้สบาย ต้องทำทุกอย่างเอง จุดเตาไฟทำกับข้าวเอง พอกลับมาบ้าน สิ่งธรรมดาอย่างแค่เครื่องปรับอากาศ เราก็รู้สึกถึงค่าของมันมากขึ้น ว่าที่จริงชีวิตเราสบายนะ หรือการมีคนทำนู่นนี่ให้ เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีอย่างเรา มันทำให้เราฉุกคิดและเห็นคุณค่าอะไรหลายๆ อย่างในชีวิตของเรามากขึ้น” [19]

 

เหล่าผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตยรุ่นที่1 สถาบันพระปกเกล้า (ปนป.1) ในเครื่องแบบลูกเสือ ยามออกค่าย

ล่าสุดเห็นว่ามี ปนป.2 แล้วในปี 2555 เหล่าคนดังที่เรารู้จักกันก็มีตั้งแต่ [20] สุริยะใส กตะศิลา, จิตรภัสร์ ภิรมย์ภักดี, หมอโอ๊ค สมิทธิ์ อารยะสกุล, โอปอล์ ปาณสรา พิมพ์ปรุ ฯลฯ คำสัมภาษณ์ของยะใส น่าจะเป็นคำพูดแทนใจของคนในรุ่นได้อย่างหมดจด

“เป็นความทรงจำที่สุดแสนประทับใจ และสามารถเก็บเกี่ยวมิตรภาพที่สุดวิเศษจากเพื่อน ปนป.2 ได้อย่างงดงาม ที่สำคัญที่สุดทำให้ผมเห็นคุณค่าของหลักสูตรนี้ตั้งแต่เริ่มต้น ขอบคุณคณาจารย์หลักสูตรสถาบันพระปกเกล้า ครูฝึกลูกเสือ เพื่อนร่วมรุ่นทุกๆท่าน ที่ร่วมกันสร้างประสบการณ์อันทรงเกียรติกันครั้งนี้ครับ”

การที่สถาบันพระปกเกล้า เน้นความเป็นผู้นำก็ดี การกีดกันคนที่การศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีก็ดี การเรียนหลักสูตรที่มีค่าธรรมเนียมแสนแพงก็ดี การคัดคนที่มีลำดับชั้นบนให้เข้ามาร่วมสังสรรค์ก็ดีแสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่า ประชาธิปไตยแบบนี้เป็นอย่างไร และเป็นของใครกันแน่

 

8. ไหนว่าสนับสนุนท้องถิ่นกระจายอำนาจ คำถามต่อกระแสการเลือกตั้งท้องถิ่น

ตั้งแต่ต้นปี 2555 ไปถึง 2556 สนามการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศร้อนระอุขึ้นท่ามกลางการขยายตัวของผลประโยชน์และการตื่นตัวทางการเมือง ทั้งที่สมรภูมินี้เป็นตัวชี้วัดสำคัญต่อการตื่นตัวของประชาธิปไตยในสังคมไทย เมื่อการเมืองท้องถิ่นนั้นวางอยู่บนฐานผลประโยชน์ชนิดที่ว่าเป็นการเมืองใกล้ตัวที่กินได้

หลายแห่งเราพบด้วยซ้ำว่า ยักษ์ใหญ่แบบพรรคเพื่อไทยก็ยังล้ม เมื่อไม่แคร์ต่อความรู้สึกประชาชนในการการส่งผู้แทนที่ไม่เข้าท่า และไม่มีศักยภาพจะสร้างผลงาน ไม่ว่าจะเป็นสนามเลือกตั้งระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัด, เทศบาลนคร, เทศบาลเมือง ไล่มาจนถึงระดับองค์การบริหารส่วนตำบล

แต่ที่เงียบเชียบเป็นพิเศษก็คือ ท่าทีของสถาบันพระปกเกล้าที่จะเดินเกมรุกที่จะ “เล่น” กับการกระแสท้องถิ่นที่อย่าลืมว่าเป็นจุดขายที่สถาบันพระปกเกล้าเคยอ้างกระแสพระราชดำรัส รัชกาลที่ 7 ไว้ ทั้งที่สถาบันพระปกเกล้าที่ควรจะเป็นหัวเรือใหญ่ที่จะเล่นกับกระแสการเมืองท้องถิ่นนี้ เมื่อเทียบกับผลกระทบและเป็นประเด็นทางการเมืองอย่างงานวิจัยปรองดองนั้นแล้ว สถาบันกลับมีท่าทีที่เฉยเมย อย่างยิ่งกับสนามเลือกตั้งท้องถิ่นนี้ ทั้งที่แบรนด์รางวัลพระปกเกล้าของตัวเองนั้นให้น้ำหนักของท้องถิ่นเป็นอย่างมาก สิ่งเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำว่า สถาบันถนัดที่จะสร้างภาพและผลิตงานเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ

ยังดีที่ว่า สถาบันพระปกเกล้ายังอยู่ในแวดวงของกระแส “จังหวัดจัดการตัวเอง”  [21]

 

บทบาทของสถาบันพระปกเกล้าที่ผ่านมา จึงเต็มไปด้วยความลักลั่นพอๆกับนิยามของประชาธิปไตยในสังคมไทย ในความเห็นผู้เขียนเห็นว่า หากสถาบันพระปกเกล้าไม่สามารถพิสูจน์ศักยภาพในฐานะสถาบันที่เชิดชูประชาธิปไตยของตัวเองได้ ก็คงจำเป็นต้องแจ้งแก่สาธารณะโดยตรงว่า สถาบันนี้ไม่ได้สนับสนุนประชาธิปไตย แต่ต้องการเป็นโรงเรียนบริหารการเมืองธุรกิจ เพื่อผลิตผู้นำทางการเมืองระดับครีมอะไรก็ว่ากันไป และแยกตนออกมาจากการสนับสนุนของรัฐสภาเสีย และเปิดโอกาสให้มีหน่วยงานใหม่เข้ามาทำงานตรงนี้แทนที่ เพราะอย่าลืมว่า สาระของหน่วยงานนี้คือ องค์กรอิสระภายใต้กำกับของรัฐสภาอันเป็นสถาบันตัวแทนของประชาชน

แม้กระทั่งชื่อของสถาบัน เราก็อาจตั้งคำถามได้ด้วยว่า ไปกันได้กับประชาธิปไตยที่คนส่วนใหญ่ของประเทศใฝ่หาและเอื้อให้อำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎรอย่างแท้จริงหรือไม่ หรือจำเป็นที่จะต้อง Rename เพื่อไม่ทำให้คนไขว้เขวและเข้าใจผิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยไปมากกว่านี้

หรือไม่เช่นนั้นก็สถาบันพระปกเกล้า ก็จงทำให้สาธารณะเห็นเถิดว่า สิ่งที่ผู้เขียนปรามาสไว้นั้นผิด.

 

อ้างอิง:

  1. สถาบันพระปกเกล้า. "การเรียนการสอน". http://www.kpi.ac.th/kpith/index.php?option=com_content&task=view&id=620&Itemid=9#d (27 พฤษภาคม 2555)
  2. สถาบันพระปกเกล้า. “ตารางการดำเนินการจัดการศึกษา รุ่นที่ 10 แนวคิดเบื้องต้นและทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง 7 กันยายน พ.ศ. 2554 ถึง 8 เดือน ตุลาคม 2554”. http://www.kpi.ac.th/kpith/index.php?option=com_content&task=view&id=1047&Itemid=281 (19 มิถุนายน 2555)
  3. ตามแผนการศึกษา มีรายละเอียดดังนี้
    • หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง
    • หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน
    • หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารเศรษฐกิจสาธารณะสำหรับนักบริหารระดับสูง
    • หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติสุข
    • หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารงานพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืน
  4. ตามแผนการศึกษา มีรายละเอียดดังนี้
    • หลักสูตรประกาศนียบัตรวิทยากรการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี
    • หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย
    • หลักสูตรประกาศนียบัตรนักเจรจาไกล่เกลี่ย
    • หลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลของผู้บริหารระดับกลาง
    • หลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลสำหรับผู้บริหารระดับต้นของสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
    • หลักสูตรประกาศนียบัตรแนวคิดพื้นฐาน เกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งด้านนโยบายสาธารณะโดยสันติวิธี
    • หลักสูตรประกาศนียบัตรการพัฒนาเมืองสำหรับผู้บริหารท้องถิ่น
    • หลักสูตรประกาศนียบัตรการบริหารจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
    • หลักสูตรประกาศนียบัตรกฎหมายท้องถิ่น
    • หลักสูตรประกาศนียบัตรการวางแผนพัฒนาท้องถิ่นแบบบูรณาการ
    • หลักสูตรประกาศนียบัตรไทยกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
  5. ตามแผนการศึกษา มีรายละเอียดดังนี้
    • หลักสูตรวุฒิบัตรการพัฒนาความสามารถผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
    • หลักสูตรวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิกรัฐสภา
    • หลักสูตรวุฒิบัตรผู้ช่วยและผู้ปฏิบัติงานของสมาชิกรัฐสภา
    • หลักสูตรวุฒิบัตรการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนสำหรับผู้ปฏิบัติงาน
    • หลักสูตรวุฒิบัตรการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนสำหรับผู้บริหาร
    • หลักสูตรวุฒิบัตรการกำกับดูแลกิจการสำหรับกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชน
  6. โดยข้อพิจารณาของ วปอ.นี้ มีข้อกำหนดของผู้ที่จะได้รับการพิจารณาให้เข้าศึกษาว่า
    • ถ้าเป็นข้าราชการพลเรือน ต้องเป็นระดับ 9 หรือเทียบเท่า ขึ้นไป
    • ถ้าเป็นข้าราชการทหาร ต้องมีชั้นยศระดับพันเอก รับเงินเดือน อัตราพันเอกพิเศษ นาวาเอก รับเงินเดือน อัตรานาวาเอกพิเศษ นาวาอากาศเอก รับเงินเดือน อัตรานาวาอากาศเอกพิเศษ ขึ้นไป
    • ถ้าเป็นข้าราชการตำรวจ ต้องมีชั้นยศระดับพันตำรวจเอก รับเงินเดือน อัตราพันตำรวจเอกพิเศษ ขึ้นไป
    • วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.). "ความเป็นมาของสถาบัน". http://thaindc.org.a27.readyplanet.net/index.php?lay=show&ac=article&Id=539428636 (20 มิถุนายน 2555)
  7. อัตราค่าธรรมเนียมจาก หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารเศรษฐกิจสาธารณะสำหรับนักบริหารระดับสูง, หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารงานพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืน, หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน
  8. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. "การหายตัวของทนายสมชาย นีละไพจิตร". ใน สถาบันพระปกเกล้า. http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A2_%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%9E%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A3 (4 ตุลาคม 2554 )
  9. อุเชนทร์ เชียงแสน. "เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร". ใน สถาบันพระปกเกล้า. http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2_19_%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B8%B2_%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3 (5 ตุลาคม 2554 )
  10. มีหัวเรื่องรายปีดังนี้
    • การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 1 ประจำปี 2542 เรื่อง การเมือง การบริหาร และการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยในต้นศตวรรษหน้า
    • การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 2 ประจำปี 2543 เรื่อง การมีส่วนร่วมของประชาชน ความยั่งยืนของประชาธิปไตย
    • การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 3 ประจำปี 2544 เรื่อง การกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นในประเทศไทย
    • การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 4 ประจำปี 2545 เรื่อง 5 ปีของการปฏิรูปการเมืองตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
    • การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 5 ประจำปี 2546 เรื่องประชาธิปไตยกับการบรรเทาความยากจน
    • การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 6 ประจำปี 2547 เรื่องสันติวิถี กับความยั่งยืนของประชาธิปไตย
    • การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 7 ประจำปี 2548 เรื่องการเมืองฐานประชาชน ความยั่งยืนของประชาธิปไตย
    • การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 8 ประจำปี 2549 เรื่องการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ : มุมมองเชิงเปรียบเทียบ
    • การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 9 ประจำปี 2550 เรื่องวัฒนธรรมการเมือง จริยธรรม และการปกครอง
    • การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 10 ประจำปี 2551 เรื่อง การเมืองและวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม
    • การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 11 ประจำปี 2552 เรื่อง ความขัดแย้ง ความชอบธรรม และการปฏิรูประบบรัฐ: การจัดสรรผลประโยชน์ที่เป็นธรรมในสังคมไทย
    • การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 12 ประจำปี 2553 เรื่อง คุณภาพสังคมกับคุณภาพประชาธิปไตยไทย
    • การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 13 ประจำปี 2554 เรื่อง ความเป็นพลเมืองกับอนาคตประชาธิปไตยไทย(Citizenship and the Future of Thai Democracy)
    • ดูใน สถาบันพระปกเกล้า. "หมวดหมู่:การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า KPI CONGRESS". http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B9%88:%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2_KPI_CONGRESS (25 พฤษภาคม 2555)
  11. สถาบันพระปกเกล้า. "ประวัติความเป็นมาของศูนย์". http://kpi.playthailand.com/index.php?module=political&pro_id=1 (20 มิถุนายน 2555)
  12. สถาบันพระปกเกล้า. "รางวัลพระปกเกล้า ปี 2544". http://www.kpi.ac.th/kpiaward/index.php?option=com_content&view=category&layout=blog&id=1&Itemid=63 (20 มิถุนายน 2555)
  13. สถาบันพระปกเกล้า. "รางวัลสถาบันพระปกเกล้า ปี 2552". http://www.kpi.ac.th/kpiaward/index.php?option=com_content&view=category&layout=blog&id=9&Itemid=71 (20 มิถุนายน 2555)
  14. สถาบันพระปกเกล้า. "รางวัลสถาบันพระปกเกล้าทองคำ ปี 2549". http://www.kpi.ac.th/kpiaward/index.php?option=com_content&view=article&id=15:2010-08-08-09-23-40&catid=114:about-it&Itemid=51 (20 มิถุนายน 2555)
  15. “ประมวลจริยธรรมบุคลากรของสถาบันพระปกเกล้า” ใน ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 126, ตอนพิเศษ 159 ง, 30 ตุลาคม 2552, หน้า 117-128
  16. “ประมวลจริยธรรมบุคลากรของสถาบันพระปกเกล้า” ใน ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 126, ตอนพิเศษ 159 ง, 30 ตุลาคม 2552, หน้า 119
  17. สถาบันพระปกเกล้า. "'ยังบลัด'พระปกเกล้า..คอนเนคชั่นเพื่อสังคม". http://www.kpipnp.com/news/detail/23 (27 มิถุนายน 2554)
  18. "อวสานแพลงกิ้ง จะนอนนิ่งหรือจะ...?". http://www.youtube.com/watch?v=Yo37rPGqF0E (20 มิถุนายน 2554)
  19. ASTVผู้จัดการออนไลน์. ""ณัฐภัทร-อรรถวดี จิรมณีกุล" ผนึกกำลังสองเจนสู่ผู้นำธุรกิจนาฬิกา". http://www.manager.co.th/Celebonline/ViewNews.aspx?NewsID=9540000132310 (14 พฤศจิกายน 2554)
  20. จดหมายข่าวสถาบันพระปกเกล้า, 13 : 4 (เมษายน 2555)
  21. สำนักข่าวอิศรา. "3 โมเดล “จังหวัด-อำเภอจัดการตนเอง”...ฝันที่เป็นจริง?" http://www.isranews.org/community-news/%E0%B8%AA%E0%B8%81%E0%B8%B9%E0%B9%8A%E0%B8%9B-%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7/21-scoop-news-documentary-analysis/5229-3-%E0%B9%82%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%A5-%E2%80%9C%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94-%E0%B8%AD%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%A0%E0%B8%AD%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%87%E2%80%9D-%E0%B8%9D%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%87.html (31 มกราคม 2555)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นศ.รัฐศาสตร์หลายรั้วมหา'ลัยเดินรณรงค์ครบรอบ 80 ปี 24 มิ.ย. 2475

Posted: 23 Jun 2012 08:12 AM PDT

 

นักศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์หลายรั้วมหาวิทยาลัยเดินรณรงค์เรียกร้องให้สังคมให้ความสำคัญ 80 ปี 24มิ.ย. 2475 แม้ประชาธิปไตยกระท่อนกระแท่น แต่ประชาชนยังศรัทธา ยืนยันจะต่อต้านการปฏิวัติรัฐประหารล้มประชาธิปไตยทุกรูปแบบ 

9.30 น. วันนี้(23 มิ.ย.) สโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับเครือข่ายสิงห์สัมพันธ์ เช่น นิสิตนักศึกษารัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  มหาวิทยาลัยบูรพาและมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี เป็นต้น กว่า 100 คน ได้เดินขบวนรณรงค์ร่วมกันภายใต้ชื่อโครงการนิสิตนักศึกษากับประชาธิปไตย: ขบวน รณรงค์ครบรอบ 80 ปี 24มิ.ย. 2475 โดยมีการเริ่มเดินขบวนรณรงค์จากสะพานมัฆวาน รังสรรค์ไปยังอนุสาวรีย์ ประชาธิปไตย พร้อมทั้งจะมีการปราศรัยและจัดการแสดงบริเวณหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และสลายการชุมนุมไปเวลา 11.00 น.

โดยทางผู้จัดได้ให้เหตุผลของการเดินรณรงค์ครั้งนี้ว่าเพื่อให้สังคมเล็งเห็นความสำคัญของวันที่ 25 มิถุนายน 2475 และเป็นการนำองค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์ในห้องเรียนไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมและเพื่อให้นิสิตนักศึกษารัฐศาสตร์ได้ ใช้โอกาสในการร่วมจารึกเหตุการณ์สำคัญ ของประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยร่วมสมัย ด้วยการแสดงออกทางการเมืองอย่างสันติ ผ่านการรณรงค์เรียกร้องและชี้ชวนให้สาธารณชนหวนระลึกถึงวันที่ 24มิถุนายน เนื่องในโอกาสที่ปี 2555 นี้ นับเป็นการครบรอบปีที่ 80 ของการเปลี่ยนแปลงการ ปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยและตั้งคำถามว่าประเทศไทยเป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด รวมไปถึงการตั้งคำถามต่อประเด็นสิทธิ เสรีภาพและ หน้าที่ของพลเมืองชาวไทยด้วย

 

ภาพนักศึกษาแสดงละครสะท้อนการเมือง – แต่งเป็นประชาชนที่ต้องเป็นนักโทษการเมือง


นายติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง ประธานฝ่ายวิชาการ สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะผู้ประสานงานได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า “ปีนี้ครบรอบ 80 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 อยากเชิญชวนพี่น้องชาวไทยทุกคนหันมาระลึกร่วมกันว่า 80 ปีมาแล้วเราเป็นประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด เราหลงลืมความสำคัญของวันที่ 24 มิถุนา 2475 ไปแล้วหรือปล่าว และที่สำคัญบริบททางการเมืองและสังคมในตอนนี้ หลายคนกำลังหมดหวัง สิ้นหวังและหมดความศรัทธากับกลไกทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา ส.ส. นักการเมือง หรือการกลัวเรื่องของสถาบันอื่นๆที่จะเข้ามาแทรกแซงกับระบอบประชาธิปไตย อาจจะมีการล้มกระดานระบอบรัฐสภาลง เราก็เลยจะเป็นส่วนหนึ่งในการเชิญชวนพี่น้องชาวไทยทุกคนหันมาหวนระลึกและศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตยด้วยกัน เพราะผมเชื่อว่าถ้าเราทุกคนยังคงศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าใครก็ตามไม่สามารถล้มกระดานนี้ได้ เราจะดำรงต่อไป อยู่ในระบอบประชาธิปไตยต่อไปและจะยิ่งสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทุกคนร่วมมือร่วมใจกันครับ”

โดยนายติณณภพจ์ ได้วิเคราะห์ถึงความสนใจของนักศึกษาที่มีต่อการเมืองว่า “ถ้าเป็นการเมืองในปัจจุบันอย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อสีต่างๆหรือว่ากลุ่มการเมืองต่างๆที่ออกมาเรียกร้องและใช้พื้นที่สาธารณะในการเรียกร้อง ในคณะรัฐศาสตร์ของเราเองก็มีน้องๆที่มีจุดยืนมีพี่ๆที่มีจุดยืนแตกต่างหลากหลายด้วยกันทั้งหมด แต่สิ่งหนึ่งที่ผมมั่นใจและกล้ายอมรับกับสังคมไทยก็คือเราทุกคนต่างยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิดครับ ไม่ว่าคุณจะคิดต่างกันมากเพียงใด ไม่ว่าคุณจะคิดเหมือนกัน ไม่ว่าคุณจะขัดแย้งกันมากเพียงใด แต่เราอยู่ร่วมกันในสังคมนี้ได้ครับ ซึ่งคณะรัฐศาสตร์จุฬาอยากเรียกร้องเป็นสำคัญเลยว่าอยากให้สังคมไทยหันมาเปิดใจยอมรับฟังทุกๆฝ่าย และไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน กิจกรรมในวันนี้ที่เรามาทำร่วมกันเป็นการใช้การเรียกร้องอย่างสันติและอหิงสา และเราก็หวังว่าทุกฝ่ายในสังคมไทยตอนนี้จะไม่ใช้ความรุนแรง”

เกี่ยวกับความสำคัญของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นายติณณภพจ์ มองว่า “เราอาจจะบอกว่าเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วไง แต่สิ่งที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองมันนำมาซึ่งสิทธิ เสรีภาพ หน้าที่ความเป็นพลเมืองและทุกอย่างเท่าที่เราจะเป็นพลเมืองไทย และเราควรจะได้รับในฐานะที่เราถืออำนาจอธิปไตยบนผืนแผ่นดินนี้ ซึ่งผมขอกล่าวขอบคุณคณะราษฎรที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง และนำประชาธิปไตยลงมาสู่มือของประชาชนทำให้เรามีสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค”

“คณะราษฎรมองสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคแก่พวกเรา แต่น่าเป็นห่วงทำไมในทางปฏิบัติแล้วสังคมไทยจึงไม่มีเรื่องของพื้นที่ของสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียม นั่นเป็นเพราะเรายังไม่เปิดใจยอมรับครับ เรายังไม่อาจยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ ความแตกต่างหลากหลายทางชนชั้น ความแตกต่างหลากหลายทางเพศภาวะ และอื่นๆ ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นปัญหาทางความคิดและอุดมการณ์ ผมคิดว่าต่อให้เราแตกต่างกันมากเพียงใดปัญหาที่เราต้องจัดการคือเราต้องเปิดใจยอมรับ เราต้องรับฟังผู้อื่นให้มาก” นายติณณภพจ์ กล่าว

สำหรับการแสดงละครในวันนี้ของทางกลุ่ม ประธานฝ่ายวิชาการ สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้อธิบายว่า “ที่ผ่านมาประชาธิปไตยกระท่อนกระแท่นบาดเจ็บหนักจากการถูกฉีกทิ้งถูกทำลายแต่ประชาชนก็ยังคงศรัทธา นำพาและเดินต่อไป ซึ่งในระยะทางต่างๆก็จะมีนักการเมืองที่ฉ้อฉล ทหารที่จะต้องล้มกระดานหมากนี้ลง ซึ่งภาพที่สะท้อนในละครก็จะเห้นว่าลำพังการต่อสู้ของคนหยิบมือเดียวนี่ไม่สามารถต่อสู้ได้แน่นอนที่จะทำให้ประชาธิปไตยดำรงอยู่ต่อไปได้ เพราะในขณะเดียวกันทั้งนักการเมืองและทหารต่างก็ผลิตซ้ำวาทกรรมและสร้างมายาคติเพื่อมาหลอกลวง เพราะฉะนั้นเราเองจะต้องเป็นตัวแสดงหลัก ตัวแสดงที่สำคัญที่สุดในการเรียกร้องประชาธิปไตยและเราจะต้องสร้างประชาธิปไตยไปได้ร่วมกัน”

นายติณณภพจ์ ย้ำถึงจุดยืนของนักศึกษาในการรักษาประชาธิปไตย “เราขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะต่อต้านการปฏิวัติรัฐประหารทุกรูปแบบไม่ว่าจะใช้รถถังหรือไม่ก็ตาม เราไม่อาจให้ใครมาล้มเกมส์หมากกระดานนี้ได้ครับ ทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามกติกาของประชาธิปไตย ไม่ว่าใครจะชอบหมากกระดานนี้หรือไม่ก็ตาม เราจะใช้กติกาอย่างเสมอภาคร่วมกันครับ และเราจะเดินหน้าต่อไป  อย่างช่วงชีวิตของผมผมปัจจุบันมีอายุ 22 ปี ผมเกิดมาผมได้ทันเห็นและมีความทรงจำเพียงครั้งเดียวเกี่ยวกับการปฏิวัติรัฐประหารก็คือในปี 2549 และคิดว่าเป็นความเลวร้ายที่สุดเท่าที่สังคมไทยเคยเผชิญมา ผมไม่อาจให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้เป็นครั้งที่ 2 ในความทรงจำของผม ณ ตอนนี้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าใครก็ตามที่คิดจะสนับสนุนการปฏิวัติรัฐประหารและล้มประชาธิปไตยลง ขอกล่าวและเชิญชวนไว้ ณ ที่นี้ว่าอย่าเลยครับ ประชาธิปไตยมอบสิทธิ เสรีภาพและความเท่าเทียมแก่ท่านทุกคน ให้แก่ผมด้วยเพราะฉะนั้นเรามาร่วมกันจรรโลงสังคมไทยใช้กติการ่วมกันและทำให้สังคมไทยรุดหน้าก้าวหน้าต่อไปด้วยกันดีกว่านะครับ” 

“ผมปฏิเสธทุกรูปแบบของการปฏิวัติรัฐประหารและผลพวงของมัน เช่นกันครับ รัฐธรรมนูญปี 2550 ในปัจจุบันก็เป็นเศษซากความเน่าเฟะของการปฏิวัติรัฐประหาร เพราะฉะนั้นผมคิดว่าจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไข กลไกที่สำคัญอาจไม่ได้อยู่ที่นักการเมือง กลไกที่สำคัญคือประชาชนคนไทยทุกคนต้องร่วมมือกันออกมาเคลื่อนไหวแล้วแสดงจุดยืน และทำให้ประชาธิปไตยเป็นของประชาชนคนไทยสร้างรัฐธรรมนูญของคนไทยขึ้นมาอย่างแท้จริง” นายติณณภพจ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

VDO Clip การแสดงละครและการปราศรัยบางส่วน : 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประวิตร โรจนพฤกษ์: ความทรงจำร่วมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และการลืมของสังคม

Posted: 23 Jun 2012 08:06 AM PDT


ที่มาภาพ https://twitter.com/wisdombright/status/216457872551313409

 

1. การที่สังคมจำประวัติศาสตร์อะไร ลืมอะไร มักไม่ใช่เหตุบังเอิญ
2. เหตุการณ์ในอดีตมีมากมายสารพัดจนบันทึกได้ไม่ครบถ้วน ความทรงจำในอดีตจึงเป็นสิ่งที่คัดสรร ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม/ ความทรงจำร่วมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่คนปัจจุบันเกิดไม่ทันเป็นสิ่งที่ต้องผลิตซ้ำและตอกย้ำผ่านตำราเรียน หนัง พิธีกรรม ฯลฯ มันไม่ใช่สิ่งที่เรียนรู้เองโดยธรรมชาติ
3. ผู้มีอำนาจมักอยากให้ประชาชนจำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจ และลืมในสิ่งที่เป็นลบต่อผู้มีอำนาจเช่น 24 มิถุนายน วันชาติไทย = วันที่ประเทศไทยเคยมี แต่ถูกเผด็จการยกเลิก+ทำให้คนส่วนใหญ่ลืม
4. อดีตมักถูกจัดการโดยคนในปัจจุบัน ไม่ว่าถูกเอามาอ้างเพื่อเสริมความชอบธรรมหรือทำให้ลืมเพื่อสนองประโยชน์บางอย่าง
5. สังคมที่ลืมอดีตมักไม่เข้าใจปัจจุบัน ใครควบคุมอดีตได้ก็มักสามารถควบคุมความเข้าใจต่อปัจจุบันและปัจจุบันได้
6. สังคมไทยน่ากลัว เขาสามารถทำให้คนจำนวนมากลืมได้ว่า 24 มิถุนา เคยเป็นวันชาตินานกว่ายี่สิบปี – นี่เขาจะทำให้ประชาชนลืมอะไรอีกบ้างก็ไม่รู้
7. ปิดหูปิดตาปิดปาก ป้อนข้อมูลด้านเดียวอย่างไม่รู้จักพอเพียงยังไม่พอ พวกเขายังอยากให้ประชาชนลืมเหตุการณ์ประวัติศาสตร์บางเรื่องอีกต่างหาก
8. ผู้คนมักจำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง เรามักอ้างเหตุการณ์ในอดีตที่ให้คุณแก่เรา
9. การลืมหรือการถูกทำให้ลืม เป็นส่วนหนึ่งของการจัดระเบียบปัจจุบัน
10. ความทรงจำร่วมของสังคมหรือการลืมของสังคม ไม่ใช่แค่เรื่องการจำกับการลืมหากคือการต่อสู้ทางอำนาจแบบหนึ่ง กลุ่มไหนมีอำนาจมากในสังคมก็มักพยายามให้สังคมจำประวัติศาสตร์เวอร์ชั่นที่พวกเขาอยากให้จดจำ – เหมือนสื่อเอียงข้างทางการเมืองที่มักเล่นข่าวที่ฝ่ายตนได้ประโยชน์เป็นข่าวใหญ่+พยายามไม่รายงานข่าวด้านลบ
11. ความทรงจำร่วมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และการทำให้ลืมจึงเป็นเรื่องของการใช้อำนาจอย่างหลีกเลี่ยงแทบไม่ได้ ประวัติศาสตร์มันจึงมิใช่เพียงแค่เรื่องเล่าจากอดีตที่ไม่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ของสังคมในปัจจุบัน
12. การที่ผู้คนโดยเฉพาะเสื้อแดงหันมาสนใจและให้ความสำคัญกับวันที่ 24 มิถุนายน หรือการที่คนไทยรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ไม่เคยได้ยินเพลงชาติ 24 มิถุนายน ก็ไม่ใช่เหตุบังเอิญเช่นกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "รำลึก 24 มิถุนายน 2555"

Posted: 23 Jun 2012 05:04 AM PDT

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "รำลึก 24 มิถุนายน 2555"

เตือนเก็บผลไม้สวีเดน-ฟินแลนด์ ได้ไม่คุ้มเสีย

Posted: 23 Jun 2012 04:19 AM PDT

จรรยา ยิ้มประเสริฐ นักกิจกรรมผู้คลุกคลีกับประเด็นแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศเผยข้อมูล "เจาะลึกและตีแผ่ ขบวนการพาคนไทยมาเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดนและฟินแลนด์" เผยได้ไม่คุ้มเสีย

23 มิ.ย. 55 - สืบเนื่องจากกรณีที่นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากทางการสวีเดนว่า ได้ให้โควตาแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายนนี้ ประมาณ 5,000 คน โดยสหภาพแรงงานในสวีเดนได้ประกันรายได้ให้แก่ผู้ที่เดินทางไปเก็บผลไม้ จะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 80,000 บาท และได้จัดเตรียมทั้งที่พักและข้าวของไว้ให้แรงงานไทยเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะที่พักจัดแยกเป็นหลายแคมป์ ทำให้ไม่แออัดเช่นปีผ่านๆ มา ส่วนประเทศฟินแลนด์จะให้โควตาแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ประมาณ 2,000 คน 

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีแรงงานไทยมาลงทะเบียนเพื่อเดินทางไปเก็บผลไม้ในสวีเดนและฟินแลนด์ ประมาณ 6,000 คน ซึ่งการเดินทางไปทำได้ใน 2 รูปแบบ คือ 1.แจ้งการเดินทางผ่านบริษัทจัดหางาน และ 2.เดินทางไปด้วยตนเองโดยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสวีเดนคนละ 7.5 หมื่นบาท และฟินแลนด์คนละ 6 หมื่นบาท คาดว่าจะเริ่มส่งแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ใน 2 ประเทศนี้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ 

ด้านจรรยา ยิ้มประเสริฐ นักกิจกรรมผู้คลุกคลีกับประเด็นแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ได้เปิดเผยข้อมูล "เจาะลึกและตีแผ่ ขบวนการพาคนไทยมาเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดนและฟินแลนด์” เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ที่ผ่านมาระบุว่าการทำงานมีสภาพที่เลวร้าย คนงานจะต้องทำงานหนักทุกวันไม่มีวันหยุดถึง 2 เดือน รวมถึงสภาพความเป็นอยู่ในแค้มป์คนงานไม่เอื้อต่อการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานของประเทศปลายทาง และคนงานไทยต้องจ่ายค่าความเสี่ยงต่างๆ เอง ไม่ว่าจะเป็นการเช่าพาหนะ ถูกหักกำไรจากการเก็บผลไม้ป่าไปจ่ายค่าที่พักและอาหารเป็นต้น

โดยรายละเอียดของรายงาน "เจาะลึกและตีแผ่ ขบวนการพาคนไทยมาเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดนและฟินแลนด์”  มีดังต่อไปนี้ ...

อ่านเพิ่มเติม "รายงานการต่อสู้ของคนงานเก็บเบอรี่ในสวีเดนยังไม่จบ"

 

สารคดีคนงานไทยที่ประสบปัญหาหลังจากการไปเก็บผลไม้ป่าที่สวีเดน เมื่อปี 2552

The 2009 Blueberry Fiasco in Sweden from OH Production House on Vimeo.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: 80 ปี แห่งการเดินทางของประชาธิปไตย

Posted: 23 Jun 2012 03:44 AM PDT

 
หากมองอย่างตรงตามข้อเท็จจริง การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 คือจุดเริ่มต้นของการต่อสู้เพื่อสถาปนาความหมายและอุดมการณ์ประชาธิปไตย เป็นการต่อสู้ระหว่างความหมายและอุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบคณะราษฎร กับความหมายและอุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบฝ่ายกษัตริย์นิยม
 
หรือพูดอย่างเจาะจงคือ ประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ กับ ประชาธิปไตยที่กษัตริย์เป็นประมุข
 
ความหมายของ ประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เห็นได้จากใจความสำคัญในประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ว่า
 
“...จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลาย ๆ ความคิดดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่มีประสงค์ทำการชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงขอเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองของแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร คณะราษฎรได้แจ้งความเห็นนี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจลงมาก็จะชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา...”
 
หมายความว่า เจตนารมณ์ของคณะราษฎร คือ ต้องการสถาปนาประชาธิปไตยระบบรัฐสภา ซึ่งมีอยู่ 2 ทางเลือกคือ เป็นประชาธิปไตยระบบรัฐสภาที่ยังมีสถาบันกษัตริย์ แต่กษัตริย์องค์จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองของแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร และเป็นประชาธิปไตยที่ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขว่า รัชกาลที่ 7 จะยอมรับเป็นกษัตริย์อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินตามข้อเสนอของคณะราษฎรหรือไม่
 
และเมื่อรัชกาลที่ 7 ยอมรับ ก็เท่ากับว่าสยามประเทศได้เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็น ระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ นับแต่บัดนั้น
 
ความเป็นประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญนั้นมีความหมายสำคัญว่า จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎร เช่นที่เป็นอยู่) และจะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ ตามที่ปรากฏในหลัก 6 ประการ
 
1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทางการเมือง การศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
 
2. จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
 
3.ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎร
อดอยาก
 
4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎร เช่นที่เป็นอยู่)
 
5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
 
6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

และมีการเน้นย้ำในสรุปท้ายประกาศฉบับนี้ว่า “...ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพจากการเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาสพวกเจ้า...” ฉะนั้น ประชาธิปไตยระบบรัฐสภาที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ จึงหมายถึงประชาธิปไตยที่ “ทุกคน” มีสิทธิเสมอภาคกันไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิมากกว่า หรือมีอภิสิทธิ์เหนือราษฎร เท่ากับเปลี่ยนสถานะของราษฎรจาก ไพร่ เป็น พลเมืองที่สิทธิ เสรีภาพเป็นของตนเองอย่างเท่าเทียมกัน
 
จะเห็นได้ว่า ความหมายของประชาธิปไตยแบบคณะราษฎร มีลักษณะคล้อยไปทางประชาธิปไตยแบบโลกสมัยใหม่ที่เรียกกันว่า “เสรีนิยมประชาธิปไตย” หมายถึงเจ้าของอำนาจคือประชาชน ซึ่งการใช้อำนาจนั้นเป็นไปตามกติกาเสียงข้างมาก แต่ ขอบเขต ของการใช้อำนาจต้องเคารพสิทธิ เสรีภาพของปัจเจกบุคคล เช่น จะอ้างเสียงข้างมากบังคับให้ทุกคนนับถือศาสนาเดียวกันไม่ได้ เป็นต้น
 
อย่างไรก็ตาม แม้การยึดอำนาจจากษัตริย์จะเป็นไปอย่างไม่เกิดการนองเลือด แต่การสถาปนาความหมายของประชาธิปไตยที่ “ทุกคน” มีสิทธิเสมอภาคกัน ก็หาเป็นไปอย่างราบรื่นไม่ เนื่องจากมีการช่วงชิงสถานะของผู้สถาปนาประชาธิปไตย ช่วงชิงการสถาปนาความหมายและอุดมการณ์ประชาธิปไตยจากอีกฝ่ายมาตลอด
 
ดังเช่น ฝ่ายกษัตริย์นิยมพยายามโปรโมทสถานะผู้สถาปนาระบอบประชาธิปไตยผ่านข้อความในพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 7 ในคราวสละราชสมบัติที่ว่า
 
ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่สละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร
 
ข้อความนี้ถูกตีแผ่ไปอย่างแพร่หลายพร้อมๆ กับการโจมตีคณะราษฎรว่ายึดอำนาจจากกษัตริย์มาเพื่อแย่งชิงกันเอง ไม่ได้มีกระบวนการทำให้อำนาจเป็นของราษฎรอย่างแท้จริง เช่นหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ไม่ให้มีการตั้งพรรคการเมือง ต้องใช้เวลาถึง 20 ปี จึงให้มีการก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้น เป็นต้น แต่ข้อเท็จจริงคือ มีการต่อสู้ระหว่างฝ่ายกษัตริย์นิยมกับคณะราษฎรอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้เกิดการหวาดระแวงกันหากจะให้มีการตั้งพรรคการเมืองขึ้นในเวลานั้น
 
ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของการต่อสู้คือ มีความพยายามสถาปนาความหมายของประชาธิปไตยที่ต่างไปจากความหมายที่คณะราษฎรสถาปนา และชัยนะของการต่อสู้ดังกล่าวก็ปรากฏให้เป็นเป็นรูปธรรมในทศวรรษ 2490 เมื่อฝ่ายกษัตริย์นิยมสามารถขจัด ปรีดี พนมยงค์ มันสมองของคณะราษฎรออกไปจากเวทีการเมืองในรัฐสภาได้ ด้วยข้อกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 จากนั้นฝ่ายคณะราษฎรก็อ่อนแอลงโดยลำดับ อำนาจรัฐตกไปอยู่ในมือของฝ่ายกษัตริย์นิยมอย่างเต็มที่ในยุคเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ การโปรเจ้าจึงเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ยุคนั้นเป็นต้นมา ทำให้ความหมายของ ประชาธิปไตยที่กษัตริย์เป็นประมุข ที่ก่อตัวขึ้นในทศวรรษ 2490 เด่นชัดขึ้น
 
ประชาธิปไตยที่กษัตริย์เป็นประมุขมีการอ้างอิงสิทธิธรรมจากคติ อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ ที่คิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 หมายถึงว่า สถานะกษัตริย์ถูกสมมติขึ้นโดยหมู่ชนที่มาประชุมตกลงกันเลือกระบบการปกครองที่ให้ทุกคนมีสิทธิเสมอภาคกัน ยกเว้นกษัตริย์เพียงผู้เดียวที่มีอภิสิทธิเหนือบุคคลทั้งปวง
ฉะนั้น ประชาธิปไตยที่กษัตริย์เป็นประมุขจึงหมายถึงทุกคนอยู่ภายใต้หลักสิทธิ เสรีภาพ อย่างเสมอภาคกัน ยกเว้นกษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของรัฐ รูปธรรมคือ ประชาชนสามารถใช้หลักสิทธิ เสรีภาพเป็นฐานในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบบุคคลสาธารณะต่างๆ ได้ แต่จะใช้หลักการเดียวกันนี้กับกษัตริย์ไม่ได้
 
คตินี้สร้างความเชื่อในหมูราษฎรว่า กษัตริย์อยู่เหนือการเมือง ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่เป็นการเมืองในความหมายอย่างแคบ คือการลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อเข้ามามีอำนาจรัฐในการบริหารประเทศ และการเมืองในความหมายของการแสดงออกอย่างเปิดเผยว่าเข้าข้างหรือสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ใช่การเมืองในความหมายอย่างกว้างที่รวมไปถึงการใช้อำนาจและเงินภาษีประชาชนในเรื่องประโยชน์สาธารณะต่างๆ ดังที่กษัตริย์ยังมีโครงการพระราชดำริต่างๆ จำนวนมาก ที่ใช้เงินภาษีประชาชน มีอำนาจในการจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของแผ่นดินจำนวนมหาศาลในนามสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นจอมทัพไทย เลือกคณะองคมนตรีได้เอง และอำนาจอื่นๆ รวมทั้งอำนาจบารมีที่ถูกปลูกฝังด้วยรูปแบบการประชาสัมพันธ์ด้านเดียวผ่านสถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา และสื่อกระแสหลักในฐานะ ผู้นำจิตวิญญาณ หรือเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ เป็นต้น แต่ทั้งหมดนั้นไม่ถือว่าเป็น เรื่องการเมือง
 
อาจกล่าวได้ว่าตั้งแต่ 19 กันยา 49 ถึงปัจจุบันเป็นยุคเข้มแข็งสุดขีดของ ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพราะมีทั้งนักวิชาการ สถาบันวิชาการ องคมนตรี กองทัพ ตุลาการ สื่อมวลชนสนับสนุนอย่างเข้มแข็ง แต่ในขณะเดียวกันก็มีความพยายามต่อสู้เพื่อฟื้นความหมายของประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญตามเจตนารมณ์คณะราษฎรจนนำมาสู่เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 พฤษภา 35 และ พฤษภา 53 แม้ว่ารายละเอียดของแต่ละเหตุการณ์อาจมีความซับซ้อนต่างกัน แต่อุดมการณ์ที่ฝ่ายประชาชนยืนยันคือ ประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชน ทว่าพวกเขาก็ถูกปราบปรามด้วยข้ออ้างเรื่องการปกป้องสถาบัน ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มาตลอด
 
และปีนี้อาจถือได้ว่าเป็นปีแห่งการตอกย้ำ ยืนยันความหมายของ ประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ตามอุดมการณ์ของคณะราษฎรมากที่สุด มีการจัดกิจกรรมรำลึกทั้งในกรุงเทพฯ และในบางจังหวัด ขณะเดียวกันข้อความแห่งพระราชหัตเลขาของรัชกาลที่ 7 ก็ถูกนำมาตอกย้ำกันอีก
 
ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่สละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร
 
แต่ข้อความนี้กลับตอกย้ำให้เห็นคำถามสำคัญ ว่า ใคร หรือ คณะใด โดยเฉพาะกันเล่า ที่ใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร!
  
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ๘๐ ปีวันชาติไทย

Posted: 23 Jun 2012 03:37 AM PDT

“ยี่สิบสี่มิถุนา ยนมหาศรีสวัสดิ์
ปฐมฤกษ์ของรัฐ ธรรมนูญของไทย
เริ่มระบอบแบบอา -รยประชาธิปไตย
เพื่อราษฎรไทย ได้สิทธิเสรี
สำราญสำเริง บันเทิงเต็มที่
เพราะชาติเรามี เอกราชสมบูรณ์”
 
บทเพลง ๒๔ มิถุนายนนี้ สะท้อนถึงความสำคัญของเหตุการณ์ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทย เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ โดยคณะราษฎร ที่นำโดย พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ทำการยึดอำนาจดำเนินการให้ก่อเกิดรัฐธรรมนูญมาเป็นมิ่งขวัญของประชาชนชาวไทย และนำมาสู่คำขวัญที่ว่า “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และ รัฐธรรมนูญ” และอันที่จริงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ยังมีฐานะเป็นวันชาติของไทยอีกด้วย ดังนั้น ปี พ.ศ.๒๕๕๕ นี้ ซึ่งเป็นโอกาสครบรอบ ๘๐ ปี แห่งกรณี ๒๔ มิถุนา จึงต้องถือเป็นปีมหามงคลสมัยของประชาชนไทยอย่างแท้จริง
 
การปฏิวัติในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายประการ เช่น การยอมรับอำนาจทางการเมืองของราษฎรสามัญว่า สามารถที่จะมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศได้โดยผ่านการเลือกตั้ง ให้ชาวไทยได้มีสิทธิเสรีภาพ และมีความเสมอภาคกันภายใต้กฏหมาย ไม่ใช่เจ้าอยู่สูงกว่าราษฎร ต่อมาก็คือ การใช้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด อันนำมาซึ่งการปกครองโดยกฎหมาย แทนที่การปกครองด้วยพระบรมราชโองการในแบบเดิม การใช้หลักการแบ่งแยกอำนาจเป็นสาม และการบริหารด้วยคณะรัฐมนตรีตามกรอบเวลาที่กำหนด ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ ที่สำคัญคือการสิ้นสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งหมายถึงการสิ้นสุดของการบริหารที่อำนาจอยู่ในมือของคนเดียว บริหารประเทศแบบไม่มีกรอบเวลา
 
คงต้องย้อนไปอธิบายให้ชัดเจนว่า การปฏิวัติ ๒๔๗๕ เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตอย่างรอบด้าน เพราะตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๒ เกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก และนำมาซึ่งการตกต่ำครั้งใหญ่ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ กรณีนี้กลายเป็นปัญหาของระบอบการปกครอง เพราะถ้าเป็นประชาธิปไตยแบบปัจจุบัน ถ้ารัฐบาลล้มเหลวในการแก้ปัญหา ประชาชนยังมีโอกาสในการเปลี่ยนรัฐบาลโดยผ่านกลไกรัฐสภา หรือผ่านการเลือกตั้ง แต่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โอกาสเช่นนั้นไม่มี ปัญหาของระบอบก็คือ ความผิดพลาดในการบริหารของรัฐบาล กลายเป็นความรับผิดชอบของพระเจ้าอยู่หัวด้วย ดังนั้น จึงมีการอธิบายกันด้วยซ้ำว่า การปฏิวัติของคณะราษฎรเป็นการผ่อนเบาพระราชภาระ และเป็นการรักษาเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ และการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯพระราชทานอำนาจอธิปไตยให้กับประชาชนมาแล้วนั้น เป็นการมอบในเชิงสถาบัน จึงไม่สามารถรับคืนได้ ความความพยายามในการถวายคืนพระราชอำนาจแก่พระมหากษัตริย์ที่กระทำกัน จึงเป็นการหมิ่นพระเกียรติเป็นอย่างยิ่ง
 
จากนั้น วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ จึงถือเป็นวันสำคัญที่มีความหมายแก่ประวัติศาสตร์ประชาชนไทย และวันนี้ยิ่งสำคัญมากขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๒ รัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม ประกาศให้วันที่ ๒๔ มิถุนายน เป็นวันชาติของประเทศไทย โดยครั้งแรกเรียกว่า “วันชาติและวันฉลองสนธิสัญญา” เพราะปี พ.ศ.๒๔๘๒ จะเป็นครั้งแรกที่ประเทศได้เอกราชสมบูรณ์ หลังจากที่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของสัญญาเสียเปรียบมาตั้งแต่สัญญาบาวริง พ.ศ.๒๓๙๘
 
จากนั้น ประเทศไทยก็มีการเฉลิมฉลองวันชาติเรื่อยมา จนกระทั่ง รัฐบาลเผด็จการสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยกเลิกวันที่ ๒๔ มิถุนายนเป็นวันชาติ และให้ใช้วันที่ ๕ ธันวาคม เป็นวันชาติแทน เรียกในปฏิทินว่า “วันชาติและวันเฉลิมพระชนม์พรรษา” แต่ปรากฏว่า วันที่ ๕ ธันวาคมนั้นเป็นวันสำคัญที่อุ้มเอาความหมายของสถาบันพระมหากษัตริย์ และต่อมาก็ได้มีการรณรงค์ให้เป็นวันพ่อของแผ่นดิน ความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์จึงกลบลบความสำคัญของวันชาติไป และในปฏิทินทั่วไปก็เลิกเรียกวันชาติไปนานแล้ว ทำให้สังคมไทยในระยะหลังไม่ได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของวันชาติ
 
ยิ่งไปกว่านั้น ตั้งแต่หลัง พ.ศ.๒๔๙๐ เป็นต้นมา เกิดการแพร่หลายของวาทกรรมฝ่ายนิยมเจ้า ที่อธิบายว่า การปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นการชิงสุกก่อนห่าม เพราะพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯก็จะพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว บ้างก็อธิบายว่า การปฏิวัติเป็นเรื่องของคนจำนวนน้อย ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ยิ่งไปกว่านั้นก็คือการโยงประชาธิปไตยเข้ากับการพระราชทานของรัชกาลที่ ๗ แล้วโยงคณะราษฎรเข้ากับการรัฐประหารของทหาร จึงกลายเป็นว่าคณะราษฎรเป็นตัวการในการทำลายประชาธิปไตย ทำให้เกิดการรัฐประหารไม่จบสิ้น
 
คำอธิบายเหล่านี้ ล้วนเป็นวาทกรรมต้านประชาธิปไตยและพยายามทำลายคุณค่าและความหมายของการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ และเป็นการมองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่า โครงร่างธรรมนูญที่รัชกาลที่ ๗ เตรียมพระราชทาน ก็เป็นธรรมนูญกษัตริย์นิยม ยังให้อำนาจตสูงสุดที่พระมหากษัตริย์ ไม่มีการประกันเรื่องสิทธิ และความเสมอภาคของราษฎร และยังมองข้ามหลักฐานข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ ประชาชนชาวเมือง ชนชั้นกลาง พ่อค้า ครู ทนายความ และผู้มีการศึกษา แสดงการตอบสนองต่อการปฏิวัติในเชิงบวก ประชาชนต่างก็ร้องไชโย โห่ร้องแสดงความยินดีต้อนรับการปฏิวัติ และเมื่อกระแสการปฏิวัติแพร่ไปยังหัวเมือง พ่อค้า ข้าราชการ ครู และชาวเมืองในหัวเมืองก็ตอบรับการปฏิวัติในเชิงแสดงความยินดีเช่นกัน ระบอบใหม่จึงเป็นที่ต้อนรับอย่างกว้างขวาง สำหรับประชาชนระดับล่างในสมัยนั้น อาจไม่มีปฏิสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลง เพราะการขยายบทบาทของชนชั้นล่างจะเป็นส่วนหนึ่งของกระแส ๑๔ ตุลาคม ซึ่งมาทีหลัง แต่ก็มิได้หมายความว่า ชนชั้นล่างของสยามในขณะนั้น จะนิยมชมชื่นระบอบเก่า ส่วนการรัฐประหารที่เกิดขึ้นจำนวนมากนั้น ส่วนมากเป็นการสนับสนุนของฝ่ายนิยมเจ้า การรัฐประหารเหล่านี้ จึงโยงกับรัฐประหาร พ.ศ.๒๔๙๐ เสียยิ่งกว่า
 
เป็นที่น่าสังเกตว่า เจตนารมย์ประชาธิปไตยของคณะราษฎรซึ่งเคยลดกระแสลงในระยะก่อนหน้านี้ กลับขึ้นสู่กระแสสูงมากขึ้น หลังจากการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ ซึ่งระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาที่พัฒนาอย่างมาก กลับประสบความชะงักงัน กลุ่มอำมาตยาธิปไตยที่ครอบงำด้วยแนวคิดนิยมเจ้าสุดขั้ว ได้เข้าควบคุมการเมืองไทย และใช้กลไกศาลเข้าทำลายหลักการปกครองแบบประชาธิปไตย พร้อมทั้งใช้ขบวนการมวลชนฝ่ายขวามาเสนอหลักการบิดเบือนประชาธิปไตย ขบวนการประชาชนคนเสื้อแดงจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องรณรงค์ให้มีการรื้อฟื้นหลักการประชาธิปไตยของคณะราษฎร จึงมีการเคลื่อนไหวจัดงานเฉลิมฉลอง ๒๔ มิถุนายนกันทุกปี ในเงื่อนไขที่เป็นไปได้ และโดยเฉพาะในปี พ.ศ.๒๕๕๕ นี้ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือ นปช.จะเป็นแกนกลางในการจัดงานเฉลิมฉลอง ๘๐ ปีประชาธิปไตยเสียเอง และตามมหาวิทยาลัย ก็ได้มีการจัดงานวิชาการเฉลิมฉลอง ๘๐ ประชาธิปไตย จึงทำให้ ๒๔ มิถุนายน ปีนี้มีบรรยากาศที่คึกคักเป็นพิเศษ
 
คงต้องอธิบายด้วยว่า เจตนารมย์หนึ่งของคณะราษฎรในการสร้างระบอบการเมืองแบบใหม่หลัง พ.ศ.๒๔๗๕ แม้ว่าจะมีการแบ่งแยกอำนาจ เป็น นิติบัญญัติ บริหาร และ ตุลาการ แต่ถือกันว่า รัฐสภามีอำนาจสูงสุด เพราะเป็นสถาบันอันมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน รัฐสภาจึงเป็นตัวแทนอันชอบธรรมของประเทศ และศาลซึ่งไม่ได้ยึดโยงต่อประชาชน ต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบของรัฐสภา หลักการนี้จงจะต้องมีการรื้อฟื้นด้วย เพราะควบคุมอำนาจอยุติธรรมของศาล และจัดการที่ศาลเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองจนเกินเลย นี่เป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณากันต่อไป
 
ในที่นี่อยากเสนอว่า เมื่อจะเฉลิมฉลองกันแล้ว ควรที่จะเรียกร้อง ๒๔ มิถุนายน ในฐานะของวันชาติกลับคืนมา เราต้องถือกันว่า การทำลายวันชาติ ๒๔ มิถุนายนนั้น เป็นดอกผลของเผด็จการ ถ้ารื้อฟื้น ๒๔ มิถุนายนได้ ประเทศไทยก็จะได้มีวันชาติเช่นเดียวกับประเทศอื่นเสียที
 
“ไทยจะต้องเป็นไทย ด้วยร่วมใจเทอดไทย ชโย”
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เล่าเรื่องประชากรไทย นัยต่ออนาคต

Posted: 23 Jun 2012 03:33 AM PDT

ที่มากราฟ: การประมาณการโดยองค์การสหประชาชาติ ปี 2553

รูปภาพที่เป็นเส้น 3 เส้นกับกราฟแท่งนี้ หลายท่านอาจจะคิดว่าไม่น่าสนใจ ออกจะน่าเบื่อหรือไม่ก็วิชาการเกินไป แต่แท้จริงแล้วรูปภาพนี้อธิบายเรื่องราวของคนไทยในอดีตและยังทำนายทายทักอนาคตประเทศไทยได้ด้วย

จะขอเล่าเรื่องแต่พอสังเขป ถ้าต้องการติดตามอย่างละเอียดต้องไปอ่านรายงานชีวิตคนไทยที่สนับสนุนโดยแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี สสส. 

ลองดูเส้นที่เขียนว่า เด็กอายุ 0-14 ปี จะเห็นว่าปี พ.ศ. 2493 ประเทศไทยมีเด็กอายุ 0-14 ปีเกือบ 10 ล้านคน มีน้อยกว่าผู้ใหญ่ (เส้นผู้ใหญ่อายุ 15-64 ปี) ประมาณ 3 ล้านคนเท่านั้น ภายในเวลาประมาณ 30 ปีหลังจากนั้นจำนวนเด็กเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เมื่อจำนวนเด็กเพิ่ม เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็เลยทำให้จำนวนผู้ใหญ่สะสมเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ครอบครัวสมัยก่อนนิยมมีลูกมาก เหตุผลหลักน่าจะเป็นการช่วยเหลือทำงานในครอบครัว ถ้าเป็นครอบครัวเชื้อสายจีนก็น่าจะมีเรื่องผู้สืบสกุลมาช่วยอธิบายด้วย ถ้าเป็นเหตุผลแบบนักเศรษฐศาสตร์ก็ต้องบอกว่า มีลูกมากเพราะคาดว่าผลประโยชน์ ไม่ว่าด้านเศรษฐกิจและด้านความสุขทางใจที่จะได้จากการมีลูกนั้น มันสูงกว่า ต้นทุนในการเลี้ยงดูบุตร

ในสมัยรัฐบาลยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม เคยมีการส่งเสริมการมีบุตรด้วยมาตรการน่ารักน่าชัง เช่น คู่สมรสใหม่ได้ดูหนังฟรี 30 วัน คนท้องขึ้นรถเมล์ฟรี ลูกคนแรกได้รับการศึกษาฟรี การห้ามคุมกำเนิด หรือแม้กระทั่งเก็บภาษีชายโสดเพิ่มขึ้น แต่นโยบายเหล่านั้นก็ไม่น่าจะมีผลต่อการมีลูกดกเท่าไรนัก

กราฟเส้นผู้ใหญ่ 15-64 ปี เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วใน 30-40 ปีที่ผ่านมา และทำให้ประชากรไทยเติบโตจาก 21 ล้านคนในปี 2493 เป็น 69 ล้านคนในปัจจุบัน (ตัวเลขจากองค์การสหประชาชาติ) ถ้าไม่เป็นเพราะความสำเร็จของการคุมกำเนิดอย่างจริงจังและต่อเนื่องทั้งจากภาครัฐและเอกชน แล้วประชากรไทยคงจะมีมากกว่านี้ ความสำเร็จของการคุมกำเนิดเห็นได้ชัดเจนเมื่อปี 2523 ซึ่งเป็นปีที่มีจำนวนเด็กมากที่สุด และหลังจากนั้นก็ลดลงอย่างต่อเนื่องและไม่มีวี่แววว่าจะเพิ่มแต่อย่างไร

การมีประชากรเพิ่มทำให้ความต้องการสินค้าและบริการแทบทุกอย่างเพิ่มขึ้น เมื่อมีเด็กมากขึ้น ก็ต้องการของใช้เกี่ยวกับเด็กมากขึ้น ต้องการโรงเรียนมากขึ้น ต้องการแพทย์พยาบาลมากขึ้น เมื่อเด็กเป็นผู้ใหญ่ก็มีความต้องการงานทำงานขึ้น เมื่อจ้างงานมากขึ้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจก็เพิ่มขึ้นด้วย วัยผู้ใหญ่มีการขยายครอบครัว ต้องการสร้างบ้านใหม่ มีการขยายของเมือง ต้องการใช้ถนนหนทางมากขึ้น ต้องการอาหารมากขึ้น ทุกอย่างขยายหมด เมื่อเศรษฐกิจโต รายได้เพิ่ม ก็เกิดความต้องการสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นไปอีก

สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจนี้คือการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ มีการย้ายถิ่นฐานทำมาหากิน สังคมเมืองขยาย ก็มีผลทำให้ครอบครัวและสังคมเปลี่ยนไปด้วย ในปัจจุบันมีเด็กประมาณ 60% ที่อยู่ในครอบครัวที่มีพ่อและแม่อยู่พร้อมหน้า ประมาณ 21% อยู่กับญาติโดยไม่มีพ่อแม่อยู่ด้วย และอีก 14% อยู่กับแม่แต่ไม่มีพ่ออยู่ด้วย

ภาพครอบครัวที่พ่อ แม่ ปู่ย่า หรือ ตายาย ลุง ป้า น้า อา อยู่ในบ้านเดียวกัน นั่งกินข้าวเป็นวงโตๆ เหลือน้อยเต็มที การเปลี่ยนแปลงครัวเรือนที่มีขนาดเล็กลง มีการไปตั้งครอบครัวใหม่ ก็ทำให้ความต้องการที่ดินเพื่อสร้างบ้านเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ในปี 2563 เป็นปีที่ประเทศไทยมีประชากรอายุ 15-64 ปีสูงที่สุด 51 ล้านคน หลังจากนั้นจะค่อยๆ ลดลง ประชากรวัยนี้เรียกว่าวัยทำงาน และเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศ ประชากรในวัยอื่นๆ เรียกว่าวัยพึ่งพิง ซึ่งต้องอาศัยคนวัยทำงานในการเลี้ยงดูทางเศรษฐกิจ

มาดูกราฟเส้น 65 ปีขึ้นไป จะเห็นว่ามีไม่ถึง 1 ล้านคน ในปี 2493 เพราะคนไทยอายุสั้น โดยเฉลี่ยชายไทยอายุ 49 ปี และหญิงไทยอายุ 53 ปีเท่านั้น เรียกง่ายๆ ว่าส่วนใหญ่ตายก่อนอายุ 65 ปี ความก้าวหน้าทางการแพทย์และด้านอื่นๆ ทำให้คนไทยอายุยืนขึ้น ในปี 2558 คนเด็กไทยที่เกิดมาจะสามารถมีอายุยืนไปถึง 75 ปี

การเกิดน้อยลง และการตายช้าลง ในที่สุดเราก็เสียสมดุลของโครงสร้างประชากร มันจะมีวันหนึ่งที่จำนวนผู้สูงอายุนั้นมากกว่าจำนวนเด็กและจำนวนคนวัยทำงานลดลงเรื่อยๆ ดังเช่นในรูปภาพ เมื่อเส้นเด็กอายุ 0-14 ปีตัดกับเส้นผู้ใหญ่ 15-64 ปี และหลังจากนั้น เส้นเด็กอายุ 0-14 ปีก็ดิ่งหัวลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกับเส้นผู้ใหญ่อายุ 15-64 ปี

เมื่อประชากรลดลง ความต้องการสินค้าและบริการก็ลดลงด้วย แต่อย่างไรเสีย การที่คนไทยมีรายได้มากขึ้นก็จะยังทำให้ความต้องการสินค้าและบริการบางประเภทเพิ่มขึ้น ความต้องการสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น ถ้าเราเปิดเสรียอมให้คนย้ายเข้ามาอยู่ประเทศไทยมากขึ้น ก็จะทำให้เหตุการณ์เปลี่ยนไปได้ ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง การแยกครัวเรือนของคนหนุ่มสาวเพื่อไปสร้างบ้านใหม่และครัวเรือนใหม่จะน้อยลง การขยายตัวของเมืองอาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หัวเมืองใหญ่ในภาคเหนือ กลาง อีสาน และใต้ ที่มีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่จะสามารถดูดคนหนุ่มสาวให้ย้ายเข้าไปมากขึ้น เมืองเหล่านั้นจะได้เปรียบและมีโอกาสในการเติบโตเร็วกว่าเมืองอื่นๆ เรามักจะเห็นการเก็งกำไรธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดที่มีมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นอย่างบ้าระห่ำ

ส่วนเมืองที่เสียเปรียบ เราจะเห็นการเกิดขึ้นของโรงเรียนร้าง หรือหมู่บ้านที่มีแต่ผู้สูงอายุ ค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้น

ถ้าเรายังปล่อยให้การโครงสร้างประชากรไทยในอนาคตเสียสมดุลตามที่เห็นในรูปภาพ ภาระทางเศรษฐกิจและการเลี้ยงดูประชากรสูงอายุจะตกแก่คนวัยทำงานสูงมาก เด็กที่เกิดในวันนี้ทุกคนจะมีภาระต้องเลี้ยงดูผู้สูงอายุมากกว่าผู้ใหญ่ในปัจจุบัน สังคมไทยพึ่งพาการดูแลจากผู้หญิงซึ่งก็จะทำให้หญิงไทยในอนาคตมีภาระการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้นด้วย ในปัจจุบันพบว่าประมาณ 45% ของผู้สูงอายุที่อายุ 95 ปีขึ้นไปนั้นได้รับการดูแลจากลูกสาวหรือลูกสะใภ้ ตอนนี้ลูกสาวหลายคนยังสลับกันดูแลพ่อแม่ไหว แต่ในอนาคตนั้นแนวโน้มจะเป็นว่าลูกสาวหนึ่งคนต้องดูแลทั้งพ่อและแม่ 

ความไม่สมดุลของโครงสร้างประชากรมีผลทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม จะปล่อยไว้เฉยๆ ให้รุ่นลูกหลานไปแก้ปัญหากันเองก็ใช่ที่ รุ่นที่ผ่านมาได้ถลุงทรัพยากรธรรมชาติจนแทบจะไม่เหลืออะไร แล้วยังไม่สนใจภาระใหม่ๆ ที่ได้ทิ้งไว้ให้ลูกหลานอีกเชียวหรือ

แต่ทว่าการปรับโครงสร้างประชากรก็มิใช่ของง่าย อยู่ๆ จะไปบอกให้คนมีลูกมาก ก็คงจะไม่เกิดผลอย่างแน่นอน หรือไปทำให้คนตายเร็วขึ้นก็คงไม่งามนัก มันต้องพยายามทำให้เห็นว่า มูลค่าที่จะได้ในเชิงเศรษฐกิจและความสุขทางจิตใจจากการมีบุตรนั้นสูงกว่าต้นทุนการเลี้ยงดูบุตร นโยบายรัฐช่วยได้ถ้าทำให้ต้นทุนการเลี้ยงดูบุตรลดลง เริ่มตั้งแต่ตั้งครรภ์เลยแล้วกัน ใครอยากมีก็ช่วยให้มี (หญิงมีบุตรยากทั้งหลาย) ใครไม่อยากมีก็ไม่ส่งเสริมให้มี (วัยรุ่นทั้งหลาย) ส่วนนโยบายที่ช่วยเพิ่มมูลค่าของบุตรในเชิงเศรษฐกิจและความสุขทางจิตใจนั้นมันได้เปลี่ยนไป แต่อย่างไรเสียการสำรวจเมื่อปี 2550 เราพบว่าประมาณ 80% ของคนไทยยังหวังพึ่งบุตรให้ดูแลด้านการเงิน และการพาไปหาหมอเมื่อยามเจ็บป่วย ความพยายามเชิงนโยบายด้านนี้อาจจะไม่ยากนัก

เส้นทางลัดอีกทางในการสร้างความสมดุลของโครงสร้างประชากรคือ การเปิดรับคนวัยทำงานจากต่างประเทศ สมัยก่อนคนไทยเชื้อสายจีนก็เคยหอบเสื่อผืน หมอนใบ นั่งเรือจ้างมาอาศัยพระบรมโพธิสมภารที่สยามประเทศ คนไทยสมัยนี้ก็น่าจะมีจิตใจที่เปิดกว้าง อย่างไรเสียเราก็คนเหมือนกัน หรือว่ากันอีกอย่างมันก็พัฒนามาจากลิงด้วยกันทั้งนั้นแล.

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เบื้องหลังวิธีคิดและข้อสังเกตุ “จังหวัดจัดการตนเอง”

Posted: 23 Jun 2012 03:15 AM PDT

1.การเคลื่อนไหวและผลักดัน “จังหวัดจัดการตนเอง”:

นำโดยขบวนการนักพัฒนาองค์เอกชนและเครือข่ายแกนนำชุมชนที่ใกล้ชิด ทำการเคลื่อนไหวรณรงค์ใน 40 กว่าจังหวัด โดยได้รับการสนับสนุนทางวิชาการและงบประมาณจำนวนมากจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.), คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป, สภาพัฒนาการเมือง, และสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)เป็นต้น

ขบวนการกลุ่มนี้เสนอทำนองว่า การต่อสู้ทางการเมืองระดับประเทศระหว่างเหลืองกับแดงในปัจจุบันนี้ เป็นการต่อสู้กันระหว่างชนชั้นนำ-นักธุรกิจการเมือง, ประชาชนไม่ได้อะไร แถมยังตกเป็นเหยื่อให้เขาหลอกใช้ และควรหันกลับมาทำการเมือง/ประชาธิปไตยท้องถิ่นเราดีกว่า

สำหรับในเชิงรูปธรรมของการเคลื่อนไหวบางกลุ่มของขบวนการนี้เสนอให้มีการยกระดับการปกครองท้องถิ่นเป็นระดับจังหวัด ยุบเลิกหน่วยราชการส่วนภูมิภาคที่อยู่ในจังหวัดแล้วให้โอนหน่วยงานเหล่านั้นลงมาอยู่ในท้องถิ่นจังหวัด,ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯจังหวัดโดยตรง เป็นเรื่องที่ควรสนับสนุน 

และคำถาม? ประเด็นสำคัญเสนอให้มีการถ่วงดุลกำกับควบคุมการทำงานของฝ่ายสภานิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจังหวัดโดย “สภาประชาชน สภาพลเมือง”(ตัวแทนจากเครือข่ายองค์กรชุมชน/สภาองค์กรชุมชน)ที่มาจากกระบวนการ “สรรหากันเอง”ในเครือข่าย ? ประเด็นปัญหาความทับซ้อนระหว่างอำนาจหน้าที่ของฝ่ายสภาประชาชนกับสภานิติบัญญัติ รวมถึงปัญหาที่มาของ “สมาชิกสภาประชาชน” ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ? 

ตลอดทั้งการปฏิเสธยกเว้น ไม่แตะต้อง ศาล และทหาร อันเป็นอุปสรรคสำคัญยิ่งในการพัฒนาประชาธิปไตยทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ?

ในขณะเดียวกันก็มีการตั้งข้อสังเกตเชิงเคลือบแคลงอย่างน่าสนใจต่อเป้าประสงค์ในการเคลื่อนไหวของ “ขบวนการจังหวัดจัดการตนเอง”นี้ในหลายประการ

ประการแรก : การอ้างว่าการต่อสู้ระดับประเทศที่ผ่านมาเป็นเรื่องของความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำ ประชาชน/ชาวบ้านเป็นเพียงแค่ “เหยื่อ/เบี้ย”ของการต่อสู้” ถือเป็นการบิดเบือนป้ายสีและดูถูกประชาชนผู้รักประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง ทั้งๆที่ความขัดแย้งที่ผ่านมาเกิดจากการรัฐประหาร 2549 เป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายที่ไม่ต้องการประชาธิปไตย เป็นการต่อสู้ในเรื่องกติกาที่ว่าจะมอบหมายให้ใครมาใช้อำนาจทางการเมืองการปกครองระหว่าง “คนดีมีศีลธรรมที่มาจาการสรรหาแต่งตั้งโดยเทวดา” หรือจะเอา “ตัวแทนที่ประชาชนเลือกตั้ง”(ตามหลัก“ความเสมอภาค/หนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียง” มิใช่โดย “ชาติกำเนิด/ฐานะทางชนชั้น” ) เป็นความขัดแย้งระหว่าง “อุดมการณ์อนุรักษ์นิยม/อำมาตย์/คลั่งชาติ” กับ “อุดมการณ์เสรีนิยม/ประชาธิปไตย/รักชาติ”

สวิง ตันอุด สถาบันการจัดการทางสังคม(สจส.)และหัวขบวนจังหวัดจัดการตนเองกล่าวว่า

“ศูนย์กลางอำนาจหรือโครงสร้างอำนาจกับโครงสร้างอำนาจขัดแย้งกันเอง เป็นมหาโครงสร้างต่อ มหาโครงสร้างปะทะกัน ตอนนี้เลยกลายเป็นปรากฏสีเหลืองสีแดง ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐ แต่ว่ามันคือการต่อสู้เพื่อล้มล้างอำนาจรัฐระหว่างผู้นำของแต่ละฝ่ายโดยดึงมวลชนเข้ามาร่วม 

เราต้องก้าวข้ามเรื่องความขัดแย้งนี้ไป ถ้าสมมติว่าไม่สามารถที่จะก้าวข้ามความขัดแย้งไปได้ แนวโน้มอาจก่อความขัดแย้งรุนแรงมากยิ่งขึ้น จนถึงขั้นแบ่งแยกดินแดนก็เป็นได้

เหตุที่เราต้องคิดเรื่อง “ท้องถิ่นจัดการตนเอง หรือ จังหวัดจัดการตัวเอง” เพราะถ้าปล่อยให้สถานการณ์แบบนี้สร้างความรุนแรงต่อไป เกิดการต่อสู้กันนอกกติกา เกิดการปะทะกันระหว่างประชาชนกับประชาชน พอกระทบกระทั่งกันแรงขึ้นๆ กฎหมายจะคุมไม่อยู่ และนำไปสู่การสู้กัน นอกกฎหมายมากขึ้น แบบนี้มันลุกเป็นไฟ พัฒนาไปสู่การสะสมอาวุธ เกิดการแบ่งพวกแบ่งข้าง มากขึ้น โฆษณาเอาคนมาเป็นพวกของตัวเองมากขึ้น ก็จะเกิดความรุนแรง ถ้าเป็นแบบนี้จะแก้ยากที่สุด และถึงที่สุดมันจะนำไปสู่การแบ่งประเทศ”

พรหมศักดิ์ แสงโพธิ์ นักคิดนักเขียนประจำขบวนจังหวัดจัดการตนเองกล่าวว่า

“ประเทศไทยภายใต้รัฐเผด็จการ จากระบอบกษัตริย์มาเป็นกลุ่มคนฝันเรื่องประชาธิปไตยแต่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน จึงเป็นได้แค่เปลี่ยนคณะบุคคลที่ใช้อำนาจไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างการบริหาร ประเทศไทยกลายเป็นรัฐเผด็จการ การแย่งชิงอำนาจระหว่างเผด็จการกลุ่มเก่ากับเผด็จการกลุ่มใหม่ 79ปีผ่านไปการแย่งชิงอำนาจของคนสองกลุ่มยังไม่สิ้นสุด ประเทศจึงได้ผู้ปกครองที่เห็นแก่ตัวและคณะมากกว่าการสร้างประเทศชาติให้มีความเจริญรุ่งเรือง ประเทศทรุดโทรมไม่เจริญเทียบได้กับกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย”

ประการที่สอง การอ้างว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในยุคปัจจุบันหรือความเป็นเหลืองแดง มาจากรากเหง้ามาจากการรวมศูนย์อำนาจ จึงต้องมี “จังหวัดจัดการตนเอง” ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาและเป็นทางออกต่อปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองทั้งปวงได้นั้น ถือเป็นแนวคิดและข้อเสนอที่มีข้อบกพร่องและไม่รอบด้านอย่างยิ่ง เนื่องเพราะ ปัญหาระบอบประชาธิปไตยของไทยที่ผ่านมา นอกจากจะมีลักษณะรวมศูนย์แต่แตกกระจายแล้ว ยังมีปัญหาการรัฐประหารล้มล้างระบอบประชาธิปไตยจากกลุ่มเผด็จการมาโดยตลอดอีกด้วย นี่ยังมิพักต้องเอ่ยถึงปัญหาอำนาจมืดเหนือรัฐที่หลอกใช้อธิปไตยของประชาชน รวมไปถึงกฎหมาย กติกา กลไกต่างๆที่เป็นสิ่งประดิษฐ์มรดก ตกทอดของกลุ่มเผด็จการที่ทำหน้าที่คอยค้ำยันอำนาจอิทธิพลของระบอบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยอีกต่างหาก เช่น รัฐธรรมนูญฉบับหน้าแหลมฟันดำปี 2550 , ม.112, พรบ.กลาโหม, สว.ลากตั้ง เป็นต้น ดังนั้น การอ้างว่า “จังหวัดจัดการตนเอง” จะแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองทั้งปวงได้ จึงเป็นเรื่องที่เหลวไหลและส่อเจตนาปิดบังอำพรางความจริงของปัญหาอย่างน่าละอายยิ่ง

สวิง ตันอุด หัวขบวนจังหวัดจัดการตนเองกล่าวไว้ว่า

“ถ้าจังหวัดสามารถจัดการตนเองได้ ปัญหาในทางการเมืองที่เกิดขึ้นมันจะย่อส่วนลงมาจากเวทีระดับชาติ จะกลับมาสู่ในเวทีระดับจังหวัด ทุกวันนี้เหลืองแดงไม่ได้คิดเรื่องท้องถิ่น แต่เป็นแนวความคิดระดับชาติ ถ้าเราเสนอแนวความคิดแบบแนวตัดขวาง ซึ่งก็คือเรื่องของท้องถิ่น ความเป็นเหลืองแดงจะหมดความหมายในตัวของมันเอง เพราะเหลืองแดงมันสมมติตัวเองเพื่อที่จะไปยึดศูนย์กลางอำนาจ แต่ถ้าพุ่งเป้าว่าตัวเองจะเข้ามาเพื่อที่จะมามีบทบาทในเรื่องของท้องถิ่นจังหวัดนั้นๆได้ขนาดไหน ดังนั้นมันจะละลายความเป็นเหลืองแดง เพราะความเป็นเหลืองแดงอยู่ที่ไหน มันก็อยู่ในชุมชนท้องถิ่นนั่น ถ้าคนในท้องถิ่นหันความสนใจมารับใช้ท้องถิ่นว่าจะจัดการตัวเองอย่างไร ไม่ไปรับใช้ศูนย์กลางอำนาจรัฐ ตรงนี้จะสลายตัวไปเอง”

อนึ่ง พึงตราไว้ด้วยว่า การพยายามผลักดันให้มีการระดมหนึ่งหมื่นรายชื่อเพื่อเสนอรัฐสภาพิจารณาออก พ.ร.บ.มหานครเชียงใหม่ ภายใต้กติการัฐธรรมนูญ2550 ที่ยังคงอำนาจการพิจารณากฎหมายของ สว.ลากตั้ง นับว่าพวกเขายังไม่สรุปบทเรียนความผิดพลาดใหญ่หลวง จากกรณี พรบ.ป่าชุมชน ที่ขับเคลื่อนมาร่วม 20 กว่าปี และได้ออกพรบ.ป่าชุมชนอย่างรวดเร็วในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ที่มี เตือนใจ ดีเทศน์ หัวขบวนของกลุ่ม ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิก สนช.โดยเผด็จการ คมช. และสนช.เองได้บิดเบือนสาระสำคัญ เช่น แทนที่จะให้อำนาจชุมชนท้องถิ่นกลับให้อำนาจรวมศูนย์ที่กรมป่าไม้เช่นเดิม หรือแม้แต่กรณีการสรรหาคณะกรรมการ กสทช.ล่าสุดผู้ได้รับการสรรหาก็มีทหารจำนวนถึง 5 คน วุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งจำนวนมากก็ไม่ต่างจาก สนช.ที่มาจากคมช. ซึ่งพวกเขาก็น่ารู้ดีว่า กลุ่มคนเหล่านี้มีวิธีคิดแบบรวมศูนย์อำนาจ ชอบสั่งการสูง ไม่ชอบการตรวจสอบ และที่สำคัญไม่นิยมประชาธิปไตย

ประการที่สาม การพยายามเชิดชูและผลักดัน “สภาประชาชน”(สภาองค์กรชุมชนที่ได้รับการจัดตั้งและสนับสนุนอย่างใกล้ชิดจาก พอช.และสภาพัฒนาการเมือง) ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในท้องถิ่นตามหลัก 1สิทธ์1เสียง แต่กลับเสนอให้มีอำนาจเหนือสภานิติบัญญัติและ ฝ่ายบริหารท้องถิ่น เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับหลักการระบอบประชาธิปไตยและหลักการกระจายอำนาจอย่างชัดเจน ดังที่ ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ หัวขบวนจังหวัดจัดการตนเองอีกผู้หนึ่งกล่าวไว้ว่า

“ประชาธิปไตยแบบพุทธ” หรือ “ประชาธิปไตยแบบท้องถิ่น” จะเป็นทางออกให้กับ “การเมืองแบบตัวแทนที่ล้มเหลว” กระบวนการของชุมชนแต่เดิมคือการพูดคุยกัน โดยสมาชิกชุมชนจะมาพูดคุยกัน ดูว่าใครเป็นคนดีมีคุณธรรม แล้วหมู่คณะก็จะเข้าไปคุยว่า “เราคิดว่าท่านเป็นคนดีมีคุณธรรม น่าจะเป็นผู้นำที่ดีของเราได้” แล้วก็ใช้วิธีเหมือนกับการลงประชามติ นี่เป็นการสรรหาโดยชุมชนซึ่งมีมานานแล้ว แต่กฎหมายข้างนอกไปบอกว่า “คุณต้องสมัคร คุณต้องหาเสียง คุณต้องเลือกตั้ง” เพราะฉะนั้นก็เสร็จนายทุนหมด ใช่ไหม? ในขณะที่กระบวนการดั้งเดิมของเขาก็คือการหาคนดี คนมีคุณธรรม โดยชุมชน จริงๆ

หรืออย่างเช่นที่ ดร.ชื่นฤทัย กาญจนจิตรา(ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการในคณะกรรมการสมัชชาปฎิรูป)ผู้สนับสนุนสำคัญของจังหวัดจัดการตนเอง ได้กล่าวว่า

“สำหรับโครงสร้างองค์กรของจังหวัดจัดการตัวเองนั้น ประกอบด้วยสภาจังหวัด ผู้ว่าการจังหวัด ปลัดจังหวัด ส่วนราชการประจำจังหวัด ข้าราชการจังหวัด โดยสภาจังหวัดประกอบด้วย สมาชิกจำนวนไม่เกิน 50 คน มาจากทั้ง อปท. 2 ใน 3 นอกนั้นมาจากภาคประชาสังคม โดยอนาคตควรให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านควรให้นายกฯ อบจ.เป็นผู้ว่าฯ ”

สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงพื้นฐานความเชื่ออุดมการณ์ทางการเมืองแบบคลุมเครือของกลุ่มแกนนำขบวน ที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยแบบสากล

ประการที่สี่ เมื่อพิจารณาจากช่วงจังหวะเวลาของการออกมาเคลื่อนเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง หลังเหตุการณ์ล้อมฆ่าประชาชนฝ่ายประชาธิปไตย 19 พฤษภาคม 2553 เป็นที่น่าเคลือบแคลงว่า จากที่กลุ่มนี้ไม่เคยให้ความสำคัญในเรื่องกระจายอำนาจใดๆมาก่อน แล้วเหตุไฉนอยู่ๆก็ชูประเด็นนี้ขึ้นมาและเลือกออกมาเสนอในจังหวะเวลาที่มวลชนฝ่ายประชาธิปไตยกำลังต่อสู้ขับเคี่ยวอย่างเอาเป็นเอาตายกับอำนาจเผด็จการอำมาตย์ในช่วงนี้ด้วยเล่า ทั้งๆที่ปัญหาการกระจายอำนาจมีการนำเสนอผลักดันมาตั้งแต่ช่วงหลังพฤษภาทมิฬ2535 เป็นไปได้หรือไม่?ว่า พวกเขาอาจมีเจตนา แอบแฝงด้วยการลดทอนการต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยให้เป็นแค่เรื่องความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำ และต้องการเบี่ยงเบนประเด็นทางสังคมการเมืองที่สำคัญๆ เช่น การลงโทษคนสั่งฆ่าประชาชน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ2550 การ ม. 112 การปฏิรูปกองทัพและการปฏิรูประบบศาลยุติธรรม เป็นต้น พร้อมๆกับการพยายามดึงพลังมวลชนในชนบทให้กลับมาสนใจเฉพาะเรื่องท้องถิ่น

ประการที่ห้า เมื่อพิจารณาจากประวัติการเคลื่อนไหวและบทบาทางการเมืองของกลุ่มหัวขบวนจังหวัดจัดการตนเองแล้ว พบว่า พวกเขาหลายคนเคยมีแต่มีบทบาทในการคัดค้านข้อเสนอเลือกตั้งผู้ว่าฯเมื่อครั้งหลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 ,หลายคนเคยปฏิเสธและเยาะเย้ยถากถางแนวคิดการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองท้องถิ่นมาตลอด พร้อมๆกับมุ่งโฆษณาความเลวร้ายของระบบประชาธิปไตยตัวแทน/การเลือกตั้ง, กลุ่มขบวนนี้เป็นกลุ่มขบวนที่เคลื่อนไหวมวลชนให้โหยหาเชิดชู “ชุมชน/วัฒนธรรมดั้งเดิม” แบบโรแมนติคอย่างเอาการเอางาน

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.) ซึ่งทำงานคลุกคลีกับชาวบ้านในชนบทด้วย “แนวคิดวัฒนธรรมชุมชน” วิเคราะห์ว่า

“เหตุที่ทำให้ประชาธิปไตยไทยไปไม่ถึงไหน เพราะประชาชนไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง พวกเขาไม่มีสิทธิ ไม่มีอำนาจในกำหนดวิถีทางพัฒนาชุมชนตนเอง หนำซ้ำรูปแบบประชาธิปไตยโดยการเลือกตั้งยังทำลายรูปแบบในการจัดการความสัมพันธ์อันมีมายาวนานในท้องถิ่นไทย”

“การเมืองภาคประชาชนในช่วงที่ผ่านมานี้ มีอยู่ 2 ช่วงใหญ่ๆ ช่วงแรกคือตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเป็นต้นมา ก่อนยุคทักษิณ การเมืองภาคประชาชนมีการเคลื่อนไหวค่อนข้างสูง กลุ่มภาคประชาชนต่างๆ รวมตัวกันค่อนข้างเยอะ มีการขับเคลื่อน มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา โดยใช้แนวทางรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เป็นหลักในการเคลื่อนไหว พอมาถึงช่วงที่สอง คือในสมัยรัฐบาลทักษิณ การเมืองภาคประชาชนแผ่วลงไป เพราะถูกรัฐบาลทักษิณสกัด เช่น ถูกควบคุมด้วยสื่อ ถูกแทรกแซง ถูกปิดกั้น อะไรต่อมิอะไรทั้งหลายที่ประชาชนเข้าถึงถูกบล็อกเกือบหมดเลย การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนถูกจำกัดโดยรัฐบาลทักษิณที่มีลักษณะเป็นเผด็จการรัฐสภาบวกกับการแทรกแซงองค์กรอิสระต่างๆ”

แต่ที่สำคัญ คือ หัวขบวนกลุ่มนี้ เคยร่วมสนับสนุนการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งและปล้นชิงอำนาจของประชาชนเมื่อครั้งเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 ตัวอย่างเช่น

• นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ ได้รับการแต่งตั้งจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อศึกษารวมแนวทางปฏิรูปประเทศ หลังจากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงใน พ.ศ. 2553

• นายสวิง ตันอุด เป็นสมาชิกหมายเลข 082 สภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับหน้าแหลมฟันดำแต่งตั้งเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2550

เป็นที่น่าสงสัยว่า กลุ่มคนที่เคยแสดงให้เห็นว่าตนเองไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย จะกลับกลายมาเป็นหัวขบวนนำมวลชนเพื่อขับเคลื่อนผลักดันการกระจายอำนาจได้อย่างไร? คงต้องคอยติดตามกันต่อไป รวมทั้งช่างสอดคล้องกับสยามประชาภิวัฒน์และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอย่างบังเอิญหรือไม่? โปรดดู: “ประชาชนต้องปกครองตนเอง” คุยรอบแรก “พันธมิตรฯ” กับ “สยามประชาภิวัฒน์”

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Mad Economist: บทสำรวจเศรษฐศาสตร์-ตลาดหนังโป๊

Posted: 23 Jun 2012 03:00 AM PDT

ชื่อบทความเดิม - เปลือยเศรษฐกิจ สะกิดเศรษฐโป๊: บทสำรวจเศรษฐศาสตร์-ตลาดหนังโป๊ [1]

หนังโป๊ก่อปัญหาสังคมไหม?

เราศึกษาถึงโครงสร้างของตลาดจำนวนมากแต่ตลาดหนึ่งที่ใกล้ตัวเรามากๆ แต่เราไม่ค่อยมีความรู้โครงสร้างตลาดดังกล่าวมากเท่าไรนักได้แก่ “ตลาดหนังโป๊” อย่างแรกต้องเข้าใจก่อนว่าหนังโป๊นั้นไม่ใช่เรื่องที่ทั่วโลกเห็นพ้องต้องกันว่าผิดกฎหมายนะครับ มีหลายประเทศในโลกทีเดียวที่มองว่าหนังโป๊เป็นธุรกิจที่ถูกกฎหมายได้ (legal) และหลายประเทศยินยอมภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง (legal under restriction) และบางประเทศที่ธรรมะธรรมโมก็อาจจะให้ผิดกฎหมายไปเสียเลย (illegal) ประเทศไหนมีกฎหมายเช่นไรก็ดูตามภาพ 1 เอานะครับ

 

ภาพ1 แสดงสถานะตามกฎหมายของหนังโป๊

ที่มา: http://en.wikipedia.org/wiki/File:Pornography_laws.svg

สีแดง = ผิดกฎหมาย สีเหลือง = ถูกกฎหมายภายใต้เงื่อนไข สีเขียว = ถูกกฎหมาย และ สีเทา = ไม่มีข้อมูล

ส่วนผลกระทบทางสังคม อาทิ การก่อให้เกิดกำหนัดและการข่มขืน หรืออาชญากรรมรูปแบบอื่นนั้นก็ค่อนข้างไม่สามารถพิจารณาได้ด้วยตาเปล่าเนื่องจากญี่ปุ่นซึ่งเป็นแหล่งหนังโป๊ที่สำคัญที่สุดประเทศหนึ่งของโลก (ใครจะไปคุกคามเศรษฐโป๊ในญี่ปุ่น เกิดสงครามโลกครั้งที่สามแน่ๆ ครับ) กลับมีอัตราการข่มขืนต่ำเกือบจะที่สุดของโลกคือมีเพียง 0.014 คนใน 1,000 คนเท่านั้น ทว่ากรณีนิวซีแลนด์ซึ่งจัดอยู่ในประเทศเสรีด้านการทำหนังโป๊เช่นเดียวกับญี่ปุ่นกลับมีอัตราการข่มขืนสูงเกือบที่สุดในโลกคือ 0.315 คนใน 1,000 คน [2] (ดูตารางที่ 1) เมื่อดูข้อมูลด้วยตาแล้วยังไม่สามารถทราบได้เราลองไปสำรวจกันดูไหมครับว่านักวิชาการด้านต่างๆ เข้าพูดเรื่องผลกระทบของหนังโป๊ต่อสังคมว่าอย่างไรบ้าง

ตารางที่ 1 แสดงการบันทึกสถิติการข่มขืนโดยตำรวจของประเทศต่างๆเป็นจำนวนคดี ต่อประชากร 1,000 คน [3]

 

Corne และคณะ (1992) [4] ทำการสำรวจแนวคิดเกี่ยวกับการถูกข่มขืนของเด็กปริญญาตรี (ประเทศไหนไม่ทราบ) แล้วได้ข้อสรุปว่าทัศนคติที่ยอมรับการข่มขืน (rape-supportive) มีความสัมพันธ์กับการชมหนังโป๊ ซึ่งทำให้คำนึงไปว่าความรุนแรงทางเพศของฝ่ายชายนั้นนับเป็นความโรแมนติกรูปแบบหนึ่ง!!! Baron (1990) [5] พบว่าเมื่อนำข้อมูลดัชนีความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality Index) กับการหมุนเวียนของนิตยสารโป๊ มาทดสอบความสัมพันธ์แบบสมการถดถอย (Multiple regressions) พบว่าถ้ายิ่งการหมุนเวียนของนิตยสารโป๊มีมากเท่าไหร่ความเท่าเทียมทางเพศในด้านต่างๆ ก็ยิ่งมีน้อยลงเท่านั้น

อย่างไรก็ตามมีงานในกลุ่มหนึ่งเช่นเดียวกันที่มองว่าธุรกิจหนังโป๊นั้นไม่ได้ส่งผลร้ายเช่น Kutchinsky (1991) ได้ผลสรุปงานวิจัยเชิงประจักษ์ (Empirical research) ใน 4 ประเทศได้แก่ Denmark, Sweden, Germany, and the US แล้วพบว่าไม่มีผลสัมพันธ์ระหว่างหนังโป๊และการข่มขืน อย่างไรก็ตามแต่ งานที่ทำเพียงทดสอบความสัมพันธ์ของตัวเลขรวมๆ เช่นนี้อาจจะไม่มีประโยชน์มากนักในมุมมองของ ME เพราะจริงๆ แล้วการทดสอบว่ามีผลหรือไม่มีผลอาจจะต้องคิดคำนวณบนฐานของประเทศที่มีโครงสร้างสถาบัน (Structure of institution) โดยเฉพาะสถาบันด้านความปลอดภัยเช่นตำรวจ กฎหมาย ฯลฯ ที่เข้มแข็งเท่าๆ กันมาทดสอบแบบแบ่งกลุ่ม ไม่เช่นนั้นข้อมูลที่ได้จะไม่มีประโยชน์ แต่แน่นอนว่า ME เหนื่อยงานเยอะเลยนั่งหลังพิงโซฟาด่าอย่างเดียว (armchair critism) คงไม่คิดทำเองให้ดีๆ ครับบ่นไปอย่างนั้นเอง

ในระหว่างที่มาสามารถจะพิสูจน์ได้อย่างแน่ชัด ตามหลักกฎหมาย-ความยุติธรรมเราก็ให้ถือว่าผู้ต้องหายังไม่เป็นนักโทษและยังไม่มีความผิดแล้วกันนะครับดังนั้นเราจะเข้าสู่หัวข้อถัดไป...

การถดถอยครั้งใหญ่ของเศรษฐกิจหนังโป๊ off-line ในสหรัฐ

จากข้อมูลที่นำมาเผยแพร่โดย Patrick James [6] นับว่าให้ภาพถดถอยของธุรกิจที่เคยมีมูลค่าถึงกว่าปีละ 13,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ได้เป็นอย่างดีเพราะ นักแสดงหนังโป๊ได้รับค่าจ้างโดยเฉลี่ยลดลงจาก 1,000 ดอลลาร์ มาอยู่เพียง 700 ดอลลาร์เท่านั้น (James ลืมบอกว่าต่อเดือนหรือต่อปีหรือต่อครั้ง แต่เท่าที่ ME ทราบจากบทสัมภาษณ์ของ ทอมมี่ กันน์ หนึ่งในดาราหนังโป๊ชายที่ได้รับความนิยมสูงสุดของอเมริกา เขาได้รับค่าตัวอยู่ที่ได้ 150ดอลลาร์ต่อฉากนะครับ) การจ่ายเงินเพื่อเข้าชมหนังโป๊แบบเสียเงิน (pay-per-view / paysite) ลดลงราว 50% จากปี 2005 งานเทศกาลประจำปีที่จัดประจำในลาสเวกัสที่ชื่อ Adult Entertainment Expo มีผู้เข้าชมลดลงกว่า 20% เจ้าของค่ายหนังโป๊ดังอย่าง Larry Flynt ก็ประสบปัญหาทางการเงินและต้องการเงินกู้ฉุกเฉิน (Bailout) และถูกปฏิเสธไปเมื่อปี 2009 ร้านเช่าแผ่นหนังโป๊ DVD มียอดเช่าคาดการณ์ลดลงจาก 3.62 พันล้านดอลลาร์ในปี 2006 เมื่อถึงในปี 2009 ยอดดังกล่าวเหลือเพียง 1.81 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น

ภาพรวมที่เข้าสู่เกียร์ถอยของเศรษฐโป๊ในอเมริกานี้ไม่ได้หมายความว่าคนอเมริกันจะเข้าสู่โบสถ์วิหาร บำเพ็ญตบะกันจนหมดอยากใน Pink movie กันเสียเมื่อไหร่ และก็ไม่ใช่เพราะคนทุกคนสามารถเข้าถึงเพศสัมพันธ์จริงๆ ได้จนไม่ต้องใช้หนังโป๊ เนื่องจาก อย่างน้อยที่สุดชีวิตจริงก็ไม่เคยเพียงพอสำหรับจินตนาการด้านเพศ (Sexual fantasy) หนังโป๊จึงยังคงมีความจำเป็นเสมอ แต่ที่สภาพตลาดหนังโป๊ที่ถดถอยลงนั้นก็เพราะแนวทางการทำธุรกิจใหม่ๆ อย่างเช่นการให้บริการหนังโป๊ออนไลน์และบนโทรศัพท์มือถือแบบไม่คิดค่าใช้จ่ายได้ขึ้นมาทดแทนตลาดดั้งเดิมมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น มีการคาดการณ์โดยสถาบันวิจัยชื่อ Jupiter Research ว่ามูลค่าตลาดของการให้บริการหนังโป๊บนมือถือจะเพิ่มสูงขึ้นจาก 2.8 พันล้านดอลลาร์ในปี 2009 ไปเป็น 4.9 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2013 ผู้เข้าใช้บริการในเว็บไซต์หนังโป๊ไม่คิดค่าใช้จ่าย 4 รายใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง XVideos, RedTube, PornHub, YouPorn มีสูงถึง 7.3, 8.5, 9.9 และ 13.7 ล้านคนตามลำดับ ทิ้งห่างเว็บที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายรายใหญ่ที่สุดอย่าง Club Jenna ซึ่งมีคนเข้าชมเพียง 83,600 คนเท่านั้น (วัดเฉพาะเดือนพฤศจิกายน 2009 เท่านั้น) [7]

และเพราะบทบาทของธุรกิจอินเตอร์เน็ตมีผลมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในวงการหนังโป๊อเมริกา นักวิจัยด้านความมั่นคงจาก The Technical University of Vienna, Eurecom และ UC Santa Barbara ได้ร่วมกันวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์ของธุรกิจบริการหนังโป๊ออนไลน์เพื่อตีพิมพ์และบรรยายในงาน The Ninth Workshop on the Economics of Information Security ที่ฮาร์วาดในหัวข้อเรื่อง Is the Internet for Porn? An Insight Into the Online Adult Industry

ผลการวิจัยชี้ว่า เว็บไซต์ที่ให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายนั้นส่วนใหญ่แล้วเป็นเว็บไซต์ที่ไม่ได้สร้างเนื้อหา (หรือก็คือหนังโป๊) เองแต่ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้รวบรวม link จากเว็บไซต์ที่ผลิตเนื้อหาแล้วสร้างยอดผู้เข้าชมเพื่อนำไปส่งมอบให้แก่เว็บที่ผลิตเนื้อหา (Paysite) หรือเว็บคนกลาง (Link collections) อีกทีหนึ่ง เราเรียกเว็บไซต์เหล่านี้ว่านายหน้าค้าการผู้เข้าชม (Traffic broker) [8] นอกจากนี้ โรงแรมอย่างเช่น Marriott, Westin, and Hilton ซึ่งมีบริการให้ผู้ใช้บริการโรงแรมสามารถเข้าชมหนังโป๊ได้จากทีวีภายในห้องพักและคิดค่าใช้จ่ายโดยโรงแรมจะหักเอาไว้ราว 5-10% นอกจากนี้ช่องเคเบิลและดาวเทียมก็ได้รับรายได้ในส่วนนี้เช่นเดียวกันโดยมีรายใหญ่คือ AT&T – Comcast และที่ขาดไม่ได้คือบรรดาเว็บรวบรวมค้นหา (Search Engine) รายใหญ่ๆ อย่าง Yahoo ก็ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำเช่นเดียวกันจากการขายโฆษณาให้แก่ Paysite ต่างๆ [9] จึงกลายเป็นว่าพ่อค้าคนกลางหนังโป๊เหล่านี้ได้กำไรเน้นๆ ในขณะที่ต้นทุนของผู้ผลิตหนังโป๊มีต้นทุนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ 

แม้ว่าผู้ผลิตหนังโป๊ในอเมริกาจะประสบปัญหาภาวะถดถอย (Recession period) ก็ตาม... แต่ไม่ต้องกังวลไปครับท่านชายและหญิงทั่วโลก เพราะว่าอเมริกาหาใช่เมืองหลวงของการเสพหนังโป๊แน่ๆ มูลค่ากรตลาดที่ใหญ่ที่สุด 4 อันดับแรกในโลกนั้นมีเอเชียตะวันออกถึง 3 อันดับและอเมริกานับเป็นรายบ๊วยครับ อันดับหนึ่งได้แก่จีน 27.4 พันล้านดอลลาร์, เกาหลีใต้ 25.73 พันล้านดอลลาร์, ญี่ปุ่น 19.98 พันล้านดอลลาร์ แล้วจึงค่อยเป้นอเมริกาที่ยอกซึ่งได้กล่าวไปแล้วในตอนต้นได้แก่ 13.3 พันล้านดอลลาร์ [10] ดังนั้นหายห่วงครับ (อย่างมากก็จะมีสวัสดิการสังคมลดลงจากความหลากหลายที่น้อยลงเท่านั้น แต่... Supply of pornographic Medias never dies)

 

 

เชิงอรรถ

[1]  หมายเหตุ Mad Economist สำรวจเพื่อเป็นวิชาการเท่านั้น มิได้ส่งเสริมให้เกิดการบริโภคหนังโป๊เปลือยแต่อย่างไร

[2]  สถิติทั้งสองตัวบันทึกเมื่อปีค.ศ. 2008 และแหล่งที่มาคือ European Institute for Crime Prevention and Control International Statistics on Crime and Justice, 2011 อ้างถึงใน http://www.nationmaster.com 

[3]  การพิจารณาต้องระมัดระวังในการตีความ ทั้งนี้เพราะ การบันทึกมากหรือน้อยนั้นอาจแตกต่างกันตามความเข้มแข็งของสถาบันตำรวจและเสรีภาพด้านเพศในประเทศผู้บันทึกด้วย อาทิ ในประเทศที่ความเท่าเทียมทางเพศน้อย สตรีถูกกดทับด้วยบุรุษเพศอย่างมาก การข่มขืนอาจถูกเพิกเฉยจากเจ้าหน้าที่ของรัฐและได้รับการบันทึกน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

[4]  Corne,S. et. al.J. Women's attitudes and fantasies about rape as a function of early exposure to pornography. Interpersonal Violence, 1992 7: 454-461

[5]  Baron,L. J. Sex Res. Feminist perspectives on sexuality. 1990 27:363-380.

[6]  เรื่อง The Economics of Porn: Better than the Economics of Other Stuff ใน website ชื่อGood Business และ URL คือ http://www.good.is/post/the-economics-of-porn-better-than-the-economics-of-other-stuff/

[7]  ผู้อ่านสามารถอ่านถึงความถดถอยของอุตสาหกรรมหนังโป๊ในสหรัฐได้เพิ่มเติมจาก http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1339675467&grpid=03&catid=06&subcatid=0600

[8]  Download บทความวิชาการฉบับเต็มได้จาก iseclab.org/papers/weis2010.pdf

[9]  http://www.pbs.org/wgbh/pages/frontline/shows/porn/business/mainstream.html

[10] http://www.economywatch.com/world-industries/porn-industry.html

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เม้าท์มอย: เว้นวรรค 24 มิ.ย.2475 ดีมั้ย?

Posted: 22 Jun 2012 09:16 PM PDT

เม้าท์มอยสัปดาห์นี้ ช่วงแรกมาเม้าท์ๆ มอยๆ เรื่องฮอตฮิตในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา คงไม่พ้นคนเอานมวาดรูป บางคนก็ว่าเป็นงานศิลปะ บางคนก็ว่ารับไม่ได้ มาดูว่าหลิ่มหลี ชามดอง คิดอย่างไรกับเรื่องนี้
 
ช่วงที่สอง คุยกันถึงวันสถาปนาประชาธิปไตยในประเทศสยาม เมื่อ 24 มิ.ย.2475 ซึ่งจะครบ 80 ปีในปีนี้ วันสำคัญเช่นนี้เหตุใดจึงไม่เป็นวันหยุดราชการ และประวัติศาสตร์การเมืองไทยช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึง พ.ศ.2490 ถึงไม่เป็นที่รู้จักและจดจำกันอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนไทย ชามดองเลยเสนอให้เว้นวรรคประวัติศาสตร์ตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย.2475 ไปแล้วมาต่ออีกที่หลังจอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจเลยดีมั้ย
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวี: "เจริญ วัดอักษร" คนจริงที่บ่อนอก

Posted: 22 Jun 2012 05:54 PM PDT

(1)
คน “หินกรูด-บ่อนอก” ได้บอกโลก
ว่ารัฐโยก ยักยอก หลอกชาวบ้าน
จะสร้างโรงไฟฟ้า มาประจาน
เพื่อล้างผลาญ งบประมาณ สลายคน
 
(2)
หลายปี ที่ เจริญ ยืนหยัดสู้
ว่า “มึงสร้าง-กูเผา” ไม่สับสน
รวมเลือดเนื้อ รวมพี่น้อง รวมผองชน
เพื่อหยุดโจร ปล้นทรัพย์ ประชาชน
 
(3)
เมื่อหยุดโจร ปล้นทรัพย์ ชุมชนได้
แต่ เจริญ กลับต้องตาย ข้างถนน
นี่หรือรางวัล คนดีของคนจน
ใยสังคม มืดมน อนธกาล
 
(4)
หลับเถิดเพื่อน หลับไปให้สนิท
พันธกิจ แห่งชีวิต จักสืบสาน
เพื่อร่วมทาง สร้างสังคม อุดมการณ์
ต้องล้มรัฐ อันธพาล อันตราย
 
(5)
แม้นความตาย พราก “เจริญ” ที่บ่อนอก
แต่ความจริง ยิ่งตอกย้ำ ในจุดหมาย
คือคนจริง คนกล้า จนตัวตาย
คือพี่ชาย ผู้งดงาม นาม “เจริญ”
 
" เจริญ วัดอักษร" นักสู้ผู้กล้าหาญชาญชัย ได้เสียสละชีวิตไปแล้ว แต่เขายังไม่ตาย เขายังอยู่ยั้งยืนยงอยู่ในดวงใจจิตวิญญาณของพวกเรา ของประชาชนเป็นนิรันดร์ !!!
 
ร่วมรำลึกการสูญเสียของสามัญชน 8 ปีการตายของเจริญ วัดอักษร ภายใต้กระสุนของทุนสามานย์และกลไกรัฐที่ฉ้อฉล
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินตรังกระทบไหล่ผู้ว่าฯ ลงกันตัง19 กรกฎาไขก๊อก

Posted: 22 Jun 2012 05:45 PM PDT

19 กรกฎาฯ เครือข่ายต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินตรัง กระทบไหล่ผู้ว่าตรังลงกันตังไขก๊อก กฟผ. แจงม.เกษตร-ราชมงคลตรังแค่รับงานวิจัยชายฝั่ง กรกฎาลุยแน่ศึกษา IEE ยังไม่ชัดบริษัทไหน-กำลังเปิดซองประมูล  ลั่นพร้อมรับดีเบต

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 22 มิถุนายน 2555 ที่ตลาดนัดบางสัก ตำบลบางสัก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เครือข่ายคนไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง จัดเวทีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน หลักๆ ในเวทีเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์จากการไปดูงานที่จังหวัดระยอง ลำปาง และสมุทรสาคร ในระหว่างวันที่ 11-16 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา โดยมีชาวบ้านตำบลบางสัก ตำบลนาเกลือ ตำบลวังวน และตำบลอื่นๆ ในอำเภอกันตัง ร่วมงานประมาณ 200 คน 

นายชนะชัย สังข์แดหวา ผู้ประสานงานเครือข่ายคนไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดตรัง นำเสนอว่า จากกที่ตนและคณะได้ไปดูงานที่โรงไฟฟ้าบีแอลซีพีพาวเวอร์ ระยอง ปรากฏว่าบริเวณโรงอาหารของโรงไฟฟ้ามีผงฝุ่นถ่านหินกระจายโดยทั่วไป ขณะที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ได้เจอกับชาวบ้านรอบเหมืองลิกไนต์และโรงไฟฟ้าที่ต้องอพยพหนีมลพิษจากที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ไปที่ดินซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิ์เพียง 1 ไร่ แลกกับที่ดิน 10-20 ไร่ที่เคยมี ส่วนที่สมุทรสาครได้รับฟังถึงปัญหาเกี่ยวกับเรือขนถ่ายถ่านหิน ที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน

นายวุฒิชัย หวังบริสุทธิ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนรักบ้านเกิด จากตำบลวังวน กล่าวในเวทีว่า เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา ตนและเครือข่ายชุมชนรักบ้านเกิด ได้ประชุมร่วมกับนายอำเภอกันตัง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในตำบลวังวน ได้รับแจ้งว่าเวลา 15.00 น. วันที่ 19 กรกฎาคม 2555 นี้นายธีรยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง จะลงมารับฟังชาวบ้านที่ตำบลวังวนจากกรณีที่ชาวบ้านได้ยื่นหนังสือร้องเรียนเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินตรัง จึงเชิญชวนชาวบ้านตำบลบางสัก และใกล้เคียงเข้าร่วมรับฟัง หรืออาจทำหนังสือร้องเรียนยื่นผู้ว่าฯ ในวันดังกล่าว

นายชวการ โชคดำลีลา วิศวกร 9 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หัวหน้าศูนย์พลังงานไฟฟ้าจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้กฟผ.ได้จ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ วิทยาเขตกระบี่ กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ทำงานวิจัยเกี่ยวกับทรัพยากรชายฝั่งในจังหวัดตรัง เพื่อให้ทราบว่าปริมาณทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในจังหวัดตรังที่เขาว่าๆ มีอยู่นั้นมีอยู่จริงหรือไม่ ทั้งพะยูน แหล่งหญ้าทะเล ปู ปลา ฯลฯ และมีอยู่ปริมาณเท่าไหร่ 

นายชวการ เปิดเผยอีกว่า การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) นั้นคาดว่าสามารถดำเนินงานภายในเดือนกรกฎาคม 2555 นี้ ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงเปิดซองประมูลราคา ยังไม่ชัดบริษัทไหนได้ศึกษา IEE คาดว่าปลายเดือนนี้คงได้คำตอบที่แน่ชัด

“สำหรับการที่กลุ่มชาวบ้าน และเอ็นจีโอท้าดีเบตข้อมูลเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น ผมพร้อมที่จะเข้าร่วมเวทีในระดับจังหวัดที่แลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นหลัก ส่วนเวทีชาวบ้านที่มุ่งไปทางคัดค้านนั้นผมไม่ไปร่วม ที่ผ่านมายังไม่ได้รับการเชิญให้ร่วมเวทีไหนเลย” นายชวการ กล่าว

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"เจษฎ์-จาตุรนต์-พิชิต" กับมุมมองอดีตและอนาคต จาก "80 ปีประชาธิปไตย"

Posted: 22 Jun 2012 05:27 PM PDT

 
22 มิ.ย.55 วงเสวนา “อดีตและอนาคต จาก 80 ปีประชาธิปไตย” ในงานสัมมนาเรื่อง “จาก 100 ปี ร.ศ.130 ถึง 80 ปี ประชาธิปไตย” จัดโดย ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันนโยบายศึกษา โดยการสนับสนุนของมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ และนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ณ อาคารมหาจักรีสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดยเวียงรัตน์ เนติโพธิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
 
เจษฎ์ โทณะวณิก อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า การมีประชาธิปไตยกับการมีรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เพราะไม่ว่าจะมีหรือไม่มีประชาธิปไตย ก็มีรัฐธรรมนูญได้ทั้งนั้น และรัฐธรรมนูญไม่ได้แสดงออกถึงความเป็นประชาธิปไตย โดยยกตัวอย่างว่ารัฐธรรมนูญของพม่านั้นดีกว่าของไทยเสียอีก และในจีน หรือรัสเซีย ต่างก็มีรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการปกครองรัฐ ดังนั้น ไม่ว่าประเทศระบอบใดก็มีรัฐธรรมนูญได้ และมักเขียนเรื่องต่างๆ ที่ใช้ปกครองบ้านเมืองในรัฐธรรมนูญ จึงมีความเชื่อมโยงระหว่างการปกครองและรัฐธรรมนูญขึ้น
 
เมื่อมองย้อนกลับไป เจษฎ์มองว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกตัวเองว่าคณะราษฎร์ถือเป็นการกบฏ แต่เมื่อรัฐประหารสำเร็จจึงเป็นการปฏิรูปและมีการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้น เขาตั้งคำถามต่อประกาศของคณะราษฎรที่เขียนถึงความอดอยากยากแค้นของราษฎรเกิดจากรัชกาลที่ 7 ว่า ไม่รู้ว่าประกาศนั้นจริงเท็จประการใด รวมถึงส่วนที่กล่าวถึงบรรพบุรุษของกษัตริย์ว่าไม่ได้ทำอะไรเลยนั้นว่าจริงหรือไม่ โดยชี้ว่าการรบในอดีตนั้น ยากที่บรรพบุรุษของฝ่ายใดจะไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะผู้นำและทหารจะต้องร่วมมือกัน 
 
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นจึงไม่สามารถตอบได้ทีเดียวว่าสิ่งที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นที่มาของการสถาปนาหรือเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่ถูกต้องนัก และเมื่อคณะราษฎรเริ่มต้นก่อการ ไม่ดี จึงยังกระพร่องกระแพร่งอยู่ทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม มองว่าแทบไม่มีประเทศไหนที่เริ่มต้นดี เพราะการล้มล้างกันไม่ว่าจะเริ่มด้วยคิดดีหรือไม่ ย่อมเป็นการเริ่มต้นที่ไม่ดี เพราะไม่ใช่สันติวิธี 
 
อย่างไรก็ตาม เขาเสนอทางออกต่อสถานการณ์ปัจจุบันว่า ต้องมีการพูดคุยกันว่า ปัญหาที่ผ่านมาคืออะไร รัฐธรรมนูญเป็นปัญหาอย่างไร และมีเนื้อหาที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติวิทยาศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคม อย่างไร รวมถึงปัญหาเชิงความเป็นประชาธิปไตย โดยพูดคุยในรูปแบบสานเสวนา ทั้งนี้ แนะว่าอย่าคิดว่าคนที่คิดต่างเป็นคนละพวก ต้องแยกจากเรื่องการทุจริต วงศ์ตระกูล สีเสื้อ หรือชาติพันธุ์ หากเอามารวมกันหมดจะไปไม่ถึงไหน โดยสิ่งที่ต้องตระหนักตลอดคือประชาธิปไตยต้องอดทน
 
 
นักการเมืองติดสินบน-รัฐบาลไร้เสถียรภาพ วิวาทะเก่า 100 ปี ใช้โต้ประชาธิปไตย 
 
จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย หนึ่งในสมาชิกบ้านเลขที่ 111 กล่าวว่า ก่อนที่จะมีเหตุการณ์ 2475 มีคนในสังคมไทยพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นระบอบ limited monarchy ในเหตุการณ์ คณะ ร.ศ.130 (พ.ศ.2455) 
 
จากวิวาทะของคณะ ร.ศ.130 เสนอหลักการเสรีนิยม ความมีเหตุและผล ความเสมอภาค ส่วนวิวาทะของฝ่ายตรงข้ามคือเรื่องความริษยา มีการตอบโต้ว่าหากมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแล้วจะเกิดพวกนักการเมือง หรือในสมัยนั้นเรียกว่าโพลิทิเชียน (politician) เป็นผู้ที่ทำมาหากินทางการเมือง มีการเลือกตั้ง เกิดการล่อใจประชาชน ด้วยถ้อยคำ การเลี้ยงดู และติดสินบน นำมาสู่ความแตกแยก เกิดเป็นระบบพรรคการเมือง และเป็นรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพต้องเปลี่ยนบ่อยๆ ทั้งนี้วิวาทะเหล่านี้มีมาเมื่อ 100 ปีก่อน และถึงวันนี้ เมื่อมีคนบอกว่าต้องการเป็นประชาธิปไตย สิ่งที่โต้กลับก็ยังคงเป็นความเห็นแบบเดิมนี้อยู่
 
จาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงในปี 2475 เป็นการยืนยันว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่เหมาะกับสังคมไทย และต้องการสถาปนา “ระบอบรัฐธรรมนูญ” ที่มีเรื่องการปกครองหลักนิติธรรม มีแนวความคิดเรื่องนิติรัฐที่ว่าทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่ดีอย่างเท่าเทียมกัน ใช้อำนาจได้เท่าที่กฎหมายบัญญัติไว้ และกฎหมายต้องมีที่มา คณะราษฎรต้องการสร้าง“ระบอบรัฐธรรมนูญ” ขึ้นมาโดยให้ “อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร” ซึ่งต่อมามีการใช้คำว่า “อำนาจอธิปไตยมาจากประชาชน” และ “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย”
 
“เวลาประเมินคณะราษฎร เส้นแบ่งสำคัญอยู่ตรงเรื่องระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับอีกระบอบที่ไม่ใช่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งในแง่นี้ถ้าเราดูจากทั่วโลกและดูจากประเทศไทยเอง เข้าใจว่ามันเป็นความก้าวหน้าอย่างมาก และผมคิดว่าสังคมไทยแม้จะมีคนเสนอว่าทำไมไม่เพิ่มพระราชอำนาจ อยากให้เพิ่มอยากให้คือพระราชอำนาจในหลายสิบปีมานี้ แต่ก็ยังไม่มีใครกล้าเสนอว่าให้กลับไปเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็เท่ากับเป็นความยอมรับอยู่ แต่ในความเห็นผม ผมคิดว่าเป็นความก้าวหน้าเป็นคุณูปการในเรื่องนี้” อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยให้ความเห็น
 
 
ประสบการณ์สังคมไทยชี้การปกครองโดยไม่มี “รัฐธรรมนูญ” คือระบอบเผด็จการ
 
จากประเด็นที่ว่าการเป็นประชาธิปไตยจำเป็นหรือไม่แค่ไหนที่ต้องมีรัฐธรรมนูญ จาตุรนต์ แสดงความเห็นว่า เมื่อ 80 ปีที่แล้ว หากไม่มีรัฐธรรมนูญก็ไม่รู้ว่าอะไรคือการเปลี่ยนระบอบการปกครอง หรือจะเปลี่ยนจากอะไรไปสู่อะไร เพราะสิ่งที่ต้องการคือการมีกฎหมายสูงสุดขึ้นมาหนึ่งฉบับ และด้วยแนวคิดแบบนิติรัฐที่ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายจึงมีรัฐธรรมนูญขึ้น และในสภาพการณ์แบบในประเทศไทยหากไม่เขียนอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรก็จะเกิดคำถามว่าจะเริ่มกันอย่างไร
 
ใน 80 ปี มานี้ ช่วงเวลาที่ประเทศไทยไม่มีรัฐธรรมนูญ หรือไม่มีสิ่งที่พอจะเรียกว่ารัฐธรรมนูญได้ ก็คือช่วงที่เกิดการรัฐประหารหรือการปกครองโดยคณะรัฐประหาร โดยจะเรียกสิ่งที่ใช้อยู่ว่าเป็นธรรมนูญการปกครอง หรือรัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่ความจริงทั้งธรรมนูญการปกครองและรัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้น คือกฎหมายสูงสุดที่คณะรัฐประหารเขียนกันเองหลังจากออกคำสั่งคณะรัฐประหารแล้ว
 
จาตุรนต์ กล่าวต่อมาว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นสัญลักษณ์ที่ดีอย่างหนึ่งคือทำให้เห็นว่าความเป็นเผด็จการที่สมบูรณ์แบบนั้นเป็นอย่างไร คือคนๆ เดียวอยู่เหนือกฎหมาย ทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจ 3 อำนาจออกจากกันอย่างสิ้นเชิงโดยคนๆ เดียวที่คุมกำลังกองทัพ มาจนสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร แต่ในที่สุดก็จำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญ หลังจากที่ทำการร่างมายาวนานตั้งแต่ปี 2500 จนมีรัฐธรรมนูญ 2511 และจัดการเลือกตั้งในปี 2512 ต่อมาในปี 2514 ก็เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจตัวเองของจอมพลถนอม 
 
ในส่วนสังคมไทยก็ได้เรียนรู้เช่นกันว่า การปกครองโดยไม่มีรัฐธรรมนูญนี้ก็คือปกครองโดยระบอบเผด็จการ หากไม่มีรัฐธรรมนูญที่บัญญัติอะไรไว้ให้ดี ก็จะกลายเป็นเผด็จการเด็ดขาด จึงเป็นที่มาของการเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อเดือนตุลาปี 2516 โดยข้อเรียกร้องสำคัญในครั้งนั้นคือให้มีรัฐธรรมนูญ แต่ต่อมาก็มีการรัฐประหารยึดอำนาจอีกครั้งในปี 2519 จะเห็นได้ว่า 80 ปีมานี้ สังคมไทยผ่านช่วงที่พยายามสถาปนาสร้างระบอบรัฐธรรมนูญ สร้างระบบรัฐสภาให้มีพรรคการเมือง มีการเลือกตั้ง สลับไปมากับการสู้กับความพยายามที่จะกลับคืนสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีการรัฐประหารยึดอำนาจ จนมาถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน
 
อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยกล่าวแสดงความเห็นต่อมาว่า ในแง่ความสำเร็จในการสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญส่วนตัวคิดว่าไม่สำเร็จ และถึงแม้ในปัจจุบันมีรัฐธรรมนูญก็คิดว่าไม่สำเร็จ เนื่องจากใน 80 ปีที่ผ่านมา มีการปกครองโดยที่ไม่มีรัฐธรรมนูญใช้นานมาก หลายช่วงไม่มีรัฐธรรมนูญ ตอนที่มีรัฐธรรมนูญ เรามีรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตยมากในช่วงแรกๆ แต่ต่อจากการไม่มีรัฐธรรมนูญ ก็มามีรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยหลายครั้ง 
 
“พูดได้ว่าเวลาที่เรามีรัฐธรรมนูญ เรามีรัฐธรรมนูญที่เป็นเครื่องมือที่จะทำไว้ให้โลกเขาดูว่า อ้อ ประเทศนี้ก็มีรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญของประเทศนี้ไม่ใช่เป็นรัฐธรรมนูญที่ประกันว่าประชาชนจะเป็นผู้กำหนดความเป็นไปของประเทศ หรือพูดอีกแบบก็คือว่า จริงๆ แล้วอำนาจอธิปไตยไม่ใช่เป็นของปวงชน หรือไม่ต้องพูดถึงว่าอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร” จาตุรนต์กล่าว
 
จาตุรนต์ ยกตัวอย่างว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งมีการระบุห้าม ส.ส.เป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการเขียนไว้เพื่อให้ผู้ที่ยึดอำนาจได้ขึ้นเป็นรัฐบาล ต่อมาก็มีการเขียนให้ ส.ว.มาจากการแต่ตั้งและมีอำนาจขึ้นมา ที่แย่ไปกว่านั้นคือไทยผ่านการรัฐประหารมาหลายครั้ง ในแต่ละครั้งเมื่อยึดอำนาจได้แล้วมีคนมาคัดค้านร้องเรียน บ้างก็จะถูกจับติดคุก บ้างถูกปฏิเสธ ด้วยเหตุผลจากฝ่ายตุลาการว่าผู้ที่ยึดอำนาจได้แล้วเป็นรัฏฐาธิปัตย์ 
 
“80 ปีมานี้จึงพูดได้ว่า เราปกครองโดยระบอบที่รัฐธรรมนูญไม่ใช่กฎหมายสูงสุดจริง ในความหมายนี้คือ ถ้ามีการรัฐประหารเมื่อไหร่ คำสั่งรัฐประหารสูงกว่ารัฐธรรมนูญ ในระหว่างที่ไม่มีรัฐประหาร คณะรัฐประหารเลิกไปแล้วและยอมให้มีรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญนั้นเป็นกฎหมายสูงสุด แต่ก็เป็นกฎหมายสูงสุดที่ไม่ได้มุ่งให้อำนาจประชาชน ซึ่งตรงนี้เป็นความจริงมาจนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน” อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าว
 
 
จวก “รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน” ออกแบบไว้ เพื่อประกันไม่ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน
 
จาตุรนต์ วิพากษ์รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่า มาจากคณะยึดอำนาจเมื่อปี 2549 และถูกออกแบบไว้เพื่อที่จะประกันไม่ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน โดยเขียนไว้ในเรื่อง อำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่มาขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ อำนาจของ ส.ว.ในการถอดถอน ที่มาของ ส.ว.จากการสรรหาที่มีอยู่ถึงครึ่งหนึ่ง ตรงนี้เป็นระบบที่เมื่อประชาชนเลือกตั้งมา แต่อาศัยกลไกและเนื้อหาตามรัฐธรรมนูญนี้สามารถล้มรัฐบาลได้โดยง่าย โดยไม่ต้องเป็นไปตามหลักประชาธิปไตยหรือหลักความยุติธรรม และที่ผ่านมาก็เกิดมาแล้วกับ 2 รัฐบาล 
 
การเขียนรัฐธรรมนูญเช่นนี้นำมาสู่วิกฤติมากมายในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพราะคนส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยเพราะพรรคที่เขาเลือกตั้งมาถูกยุบ และออกมาเรียกร้องให้ยุบสภาแล้วจัดการเลือกตั้งใหม่เพื่อพิสูจน์กันอีกครั้ง แต่กลับนำมาสู่เหตุการณ์นองเลือด และเมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ประชาชนได้ตัดสินแล้ว แต่จะถูกหักล้างอีกจากกลไกรัฐธรรมนูญหรือไม่ นี่เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป 
 
 
ล้ม “ร่างรัฐธรรมนูญ” ความถดถอยครั้งใหญ่จาก น้ำมือ “ศาลรัฐธรรมนูญ”
 
จาตุรนต์ กล่าว่า จากวิกฤติที่เกิดขึ้น คนกลุ่มหนึ่งจึงเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ถูกต้องและเป็นธรรม และเกิดคำถามว่าใครจะแก้ ทำให้มีการกำหนดแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ให้มีการเลือกตั้ง สสร.เพื่อลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ถูกยับยังโดย “ศาลรัฐธรรมนูญ” เนื่องจากมีคนไปร้องว่ามีผู้จะล้มล้างระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งผู้ถูกร้องคือประธานรัฐสภา ครม.พรรคการเมืองบางพรรค และส.ส.บางคน ข้อหาดังกล่าวเป็นข้อหาเดียวกันกลุ่ม ร.ศ.130 ทั้งที่เป็นการแก้รัฐธรรมนูญในรัฐสภา และจะมีการนำไปลงมติโดยประชาชนทั้งประเทศ 
 
นอกจากนี้ การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องโดยตรงนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ขัดกับบรรทัดฐานเดิม ขัดกับการตีความของนักกฎหมาย โดยมีวินิจฉัยไปแล้วว่าสามารถรับคำร้องเองได้ และจะมีผลต่อไป ตรงนี้เท่ากับเป็นการแก้รัฐธรรมนูญโดยการวินิจฉัยที่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญ เป็นการแก้รัฐธรรมนูญโดยทำผิดรัฐธรรมนูญเสียเอง อีกทั้งมีการตีความรัฐสภา และครม.เป็นบุคคลโดยศาลรัฐธรรมนูญตีความเข้าตามมาตรา 68 และศาลรัฐธรรมนูญกำลังทำผิดต่อไปอีก จากการตรวจสอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งที่มีอำนาจเฉพาะการพิจารณาร่างกฎหมายว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ 
 
แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้นำไปสู่การล้มการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยไม่นำไปสู่การยุบพรรคการเมืองหรือมีผลบานปลายตามมา แต่เพียงการวินิจฉัยล้มการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็ถือเป็นความเสียหายครั้งใหญ่หลวงต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย เป็นความล้าหลังที่ไม่เหมือนกับครั้งไหนๆ เพราะกระทำโดยศาลรัฐธรรมนูญ ไม่เหมือนการยึดอำนาจแต่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังขยายขอบเขตอำนาจของตนเอง ให้กลายเป็นสามารถตรวจสอบและวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญเหนือกว่ารัฐสภา ถือเป็นการทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจ ปิดทางการแก้รัฐธรรมนูญ เท่ากับนำสังคมไทยสู่ทางตัน
 
“ภายในประมาณต้นเดือนหน้า อย่างเร็วคือต้นเดือนหน้า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเร็ว ก็จะเกิดระบบที่ฝ่ายตุลาการในที่นี้คือศาลรัฐธรรมนูญในประเทศนี้มีอำนาจเหนือกว่าฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร หมายความว่ากำหนดความเป็นไปของคณะรัฐมนตรีได้ กำหนดว่าจะให้แก้กฎหมาย หรือไม่ให้แก้กฎหมาย หรือปฏิเสธการแก้กฎหมายที่รวมถึงรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากก็คือเรากำลังบอกว่าเราจะก้าวไปสู่ระบบที่ผู้มีอำนาจทางตุลาการที่ไม่มีการยึดโยงกับประชาชนแต่อย่างใดทั้งสิ้น และตรวจสอบโดยประชาชนไม่ได้ กำลังจะมีอำนาจเหนือกว่าอำนาจอื่นๆ ที่ยึดโยงกับประชาชน” อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าว
 
อย่างไรก็ตาม นายจาตุรนต์ ได้กล่าวถึงความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นว่า ขณะนี้ประชาชนในสังคมไทยมีความเข้าใจมากขึ้น จาก 80 ปี ที่ผ่านมา และต่างจาก 20 ปีที่แล้วมาก กระแสโลกเปลี่ยนแปลงไป ตรงนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาธิปไตย และในประเทศไทยมีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องความเข้าใจของประชาชนต่อระบบพรรคการเมืองและการเลือกตั้งอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมา นอกจากนั้นพลังประชาชนที่ไม่ใช้เฉพาะในสภาก็มีการตื่นตัวมาก ตรงนี้เป็นข้อดีที่จะทำให้การชักคะเย่อกันต่อไปนี้จะไม่ถูกดึงจนชนะไปทางไหนได้ง่ายๆ 
 
 
วิจารณ์นักประวัติศาสตร์ไม่ตีความ 2475 ปล่อยรัฐศาสตร์กระแสหลักคุมวาทกรรม
 
พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การตีความประวัติศาสตร์นั้นอย่างน้อยขึ้นอยู่กับนักประวัติศาสตร์และนักรัฐศาสตร์ แต่ที่ผ่านมา นักประวัติศาสตร์จำกัดตัวเองอยู่ที่การรวบรวมข้อมูลและเล่าเหตุการณ์ แต่ขาดการตีความและทำความเข้าใจเชื่อมโยงอย่างเป็นตรรกะเพื่อเชื่อมโยงสู่อนาคต ทำให้การตีความและทำความเข้าใจ 24 มิ.ย.2475 ตกเป็นลิขสิทธิ์ของนักรัฐศาสตร์ไทยกระแสหลัก ซึ่งตีความจากกรอบของคณะนิยมเจ้าซึ่งฟื้นหลังปี 2500 จากการทำรัฐประหารของสฤษดิ์ ธนะรัตน์ โดยตีความว่า 24 มิ.ย.2475 เป็นความล้มเหลว เป็นที่มาของปัญหาความวุ่นวายและวงจรอุบาทว์ โดยในมุมของคนกลุ่มนี้ ประวัติศาสตร์มีแค่สองยุคคือ ก่อน 24 มิ.ย.2475 และ หลัง 24 มิ.ย.2475 โดยก่อน 2475 เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และหลัง 24575 เป็นเผด็จการรัฐสภา ประชาธิปไตยครึ่งใบ ล้มลุกคลุกคลาน ด่างดำด้วยทหารเห็นแก่ตัวและคอร์รัปชั่น สลับกับนักการเมืองซื้อเสียง ซึ่งการมองแบบนี้มีผลต่อทัศนะในการมองเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมา
 
พิชิต กล่าวต่อว่า ที่น่าสนใจ คือ การตีความ 24 มิ.ย.2475 โดยกระแสหลักของฝ่ายซ้ายไทยและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ตีความคล้ายกับรัฐศาสตร์กระแสหลักไทยมาก โดยไม่ให้ความสำคัญกับ 24 มิ.ย.2475 และวิจารณ์คณะราษฎรในทางลบว่า แม้จะมีท่าทีต่อต้านจักรวรรดินิยม ศักดินานิยม แต่ล้มเหลวในภารกิจ เพราะผูกขาดอำนาจไว้ในกลุ่มเล็กๆ ไม่เอาอำนาจผูกโยงกับประชาชน และเป็นการรัฐประหารเช่นเดียวกัน
 
เขามองว่า การตีความทั้งในแบบของนักรัฐศาสตร์กระแสหลักหรือฝ่ายซ้ายต่างครอบงำวิธีคิดของนักวิชาการไทยมานานมาก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 4-5 ปีตั้งแต่รัฐประหาร 19 ก.ย. ก่อให้เกิดกระแสที่สาม คือ กลุ่มคนเสื้อแดง ที่หันมามอง 24 มิ.ย.2475 ในแบบที่ต่างออกไป การตีความและมอง 24 มิ.ย.2475 ของพวกเขามีความโดดเด่น เพราะไม่ได้ถูกครอบงำโดยรัฐศาสตร์กระแสหลัก ไม่ยอมรับว่าคณะราษฎรเป็นต้นกำเนิดของอำมาตยาธิปไตยไทย เมื่อเปิดวิทยุในที่ต่างๆ จะเจอดีเจเอา 24 มิ.ย.2475 มาพูดในมุมที่ต่างกับที่นักวิชาการพูด ซึ่งเป็นเรื่องดีในแง่ที่ว่าการประเมินไม่ควรอยู่ในแวดวงมหาวิทยาลัยหรือนักวิชาการอีกต่อไป เราทำจนเป็นพิธีกรรมไปแล้ว ไม่อาจหลุดจากการวิเคราะห์ได้ เสนอว่านักวิชาการต้องมองภายนอกและฟังมากขึ้น
 
ทั้งนี้ พิชิตกล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของคณะราษฎรซึ่งแก้ไม่ตกและล้มเหลวเป็นปัญหาจนทุกวันนี้ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตย คณะราษฎรพยายามหาสูตรสำเร็จ จัดวางสถานะของสถาบันกษัตริย์ โดยพิมพ์เขียวที่วางไว้ชัดเจน ในฉบับ 10 ธ.ค.75 ระบุชัดเจนว่าสถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งมีอำนาจที่จำกัดอย่างยิ่ง เพราะทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติผ่านรัฐสภา และใช้อำนาจบริหารผ่านคณะรัฐมนตรีที่มาจากรัฐสภา มีเพียงอำนาจตุลาการอำนาจเดียวที่รัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธ.ค.75 ไม่ได้แตะต้อง อย่างไรก็ตาม การจัดวางตำแหน่งแห่งที่นี้ล้มเหลว โดยรัฐประหารของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นำมาซึ่งการฟื้นคืนสถานะและพระราชอำนาจของกษัตริย์ 
 
พิชิต ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หลายสิบปีมานี้มีคดีการเมืองที่ตัดสินโดยศาลจำนวนมาก อาทิ การลงโทษกบฏบวรเดช เนรเทศนักโทษการเมือง หลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีการจับกุมนักเขียนฝ่ายซ้าย หรือคำวินิจิฉัยของศาลฎีกาที่บอกว่าคำสั่งของคณะรัฐประหารเป็นกฎหมาย  แต่การใช้องค์กรตุลาการแทรกแซงอย่างเป็นระบบเพิ่งมีมาไม่กี่ปีมานี้ ดังนั้น เหตุการณ์ใน 4-5 ปีมานี้ หรือเทศกาลยุบพรรคที่อาจจะเกิดขึ้น ก็เป็นบทเรียนที่ดีที่ทำให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์การเมืองปัจจุบัน การแก้ไขโครงสร้างตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถ้ายังร่างได้ (ส่วนตัวคิดว่าจบไปแล้ว) การปฏิรูปตุลาการจะเป็นประเด็นหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธ และคงจะต้องมีการพูดถึงการเชื่อมโยงองค์กรตุลาการเข้ากับอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
 
"ปัญหาของการใช้อำนาจทางตุลาการไปแทรกแซงปัญหาทางการเมืองอย่างโจ่งแจ้ง มันได้กระตุ้นให้คนคิดและเข้าใจปัญหาได้ชัดเจนมากขึ้น และมันก็ทำให้เห็นชัดเจนด้วยว่าอำนาจที่แท้จริงในระบอบการเมืองปัจจุบันมันอยู่ที่ไหน ความขัดแย้งในปัจจุบันนี้มันก็คือความขัดแย้งระหว่างอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งกับอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และมันแสดงออกอย่างชัดเจนและแหลมคมที่องค์กรตุลาการ ก็คือศาลรัฐธรรมนูญที่เข้ามาก้าวก่ายและครอบงำอำนาจนิติบัญญัติ" พิชิตกล่าวและว่า ก่อนหน้านี้ ชัดเจนว่า องค์กรตุลาการเข้ามาครอบงำอำนาจบริหารเป็นหลัก เห็นได้จากการยุบพรรค ถอดถอนนักการเมือง แต่เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าอำนาจตุลาการนั้นอยู่เหนือรัฐธรรมนูญและอยู่เหนืออำนาจนิติบัญญัติด้วย
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น