โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

นายกฯมาเลย์ รับทบทวน กม. หลังเว็บ-บล็อก "จอดับ" ต้าน

Posted: 14 Aug 2012 01:28 PM PDT

 

ตลอดวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา บล็อกและเว็บไซต์หลายแห่งในมาเลเซียขึ้นข้อความรณรงค์และทำจอดับ เพื่อต่อต้านการบังคับใช้มาตรา 114A ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยหลักฐาน ปี 1950 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมไป เมื่อเดือนเม.ย.  และมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 31 ก.ค.

ต่อมา ในช่วงเย็น นาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ระบุผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า "ผมได้ขอให้คณะรัฐมนตรีหารือกันเกี่ยวกับมาตรา 114A ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยหลักฐาน ปี 1950 แล้ว อะไรก็ตามที่เราทำ ประชาชนต้องมาก่อน"


https://twitter.com/NajibRazak/status/235342064089452544

 

ทั้งนี้ มาตรา 114A ว่าด้วยการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้เผยแพร่ โดยระบุว่า (1) ผู้ใดซึ่งเป็นเจ้าของ บริหาร หรือสร้างเว็บไซต์ ซึ่งเปิดให้ผู้ใช้ทั่วไปเข้ามาสร้างเนื้อหา เช่น ฟอรั่มออนไลน์ บล็อก (2) ผู้ให้บริการเว็บโฮสติง หรือบริการอินเทอร์เน็ต และ (3) เจ้าของคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์เคลื่อนที่ที่เผยแพร่เนื้อหาออนไลน์ ต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่เผยแพร่ผ่านบริการ เว็บ หรือ "ในนาม" ของพวกเขา

นอกจากนี้ ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าโพสต์เนื้อหาที่ผิดกฎหมายหรือทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงจะถูกถือว่ามีความผิดจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าบริสุทธิ์ ซึ่งขัดกับหลักทั่วไปในกระบวนการยุติธรรมที่บุคคลจะต้องบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าผิดด้วย

 

ที่มา: Global Voices, https://twitter.com/NajibRazak/status/235342064089452544

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรรมการศึกษาฯ ลงพื้นที่ 'โครงการเหมืองโปแตชอุดรฯ' พิสูจน์ข้อโต้แย้งชาวบ้าน

Posted: 14 Aug 2012 01:10 PM PDT

กรรมการศึกษา ติดตามกระบวนการขออนุญาตประทานบัตรโปแตชอุดรฯ ลงพื้นที่ สำรวจการปักหมุดรังวัดเขต พิสูจน์ข้อค้านชาวบ้าน จำนวนกว่า 5,000 รายชื่อ ด้าน เอ็นจีโอ จวก กพร. หมกเม็ด ไม่เปิดเผยข้อมูล หวังดันประทานบัตร

 
 
วานนี้ (14 ส.ค.55) เวลา 13.00 น. คณะกรรมการศึกษา ติดตามกระบวนการขออนุญาตประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ได้ลงตรวจสอบข้อเท็จจริง ในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี คำขอประทานบัตรที่ 1-4/2547 ของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ซึ่งครอบคลุม 5 ตำบล ได้แก่ ต.หนองขอนกว้าง ต.โนนสูง ต.หนองไผ่ อ.เมือง ต.นาม่วง และต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม โดยมีตัวแทนจากที่ดินจังหวัดเป็นคนกลางร่วมตรวจสอบ และมีชาวบ้านในพื้นที่กว่า 100 คน เข้าร่วมสังเกตการณ์
 
การลงพื้นที่ครั้งนี้ สืบเนื่องจากว่ามีชาวบ้าน จำนวนกว่า 5,000 รายชื่อ ได้ยื่นโต้แย้ง คัดค้าน ตามมาตรา 49 ของ พ.ร.บ.แร่ 2510 ว่า ข้อมูลสภาพพื้นที่ในใบไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรเป็นเท็จ และการปักหมุดรังวัดเขตคำขอประทานบัตร จำนวน 6 หมุด ครอบคลุมพื้นที่เหมืองกว่า 2.6 หมื่นไร่ ไม่ถูกต้อง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลงพื้นที่ของคณะกรรมการฯ ในครั้งนี้ ได้เริ่มต้นด้วยการดูพื้นที่บริเวณรอบหนองนาตาล ซึ่งแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่มีเนื้อที่เกือบ 1,000 ไร่ และเป็นพื้นที่ต้นน้ำ ซึ่งอยู่ติดกับพื้นที่ที่จะทำโรงแต่งแร่ ของบริษัทเอพีพีซี หลังจากนั้น คณะกรรมการฯ และกลุ่มชาวบ้านที่ร่วมสังเกตการณ์ได้ตระเวนไปดูหมุดตามจุดต่างๆ ทั้งหมด 6 จุด ปรากฏว่า พบหมุดรังวัดเพียงจุดเดียวเท่านั้น คือริมถนนมิตรภาพอุดร-ขอนแก่น บริเวณหน้าสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ที่เหลืออีก 5 จุด ไม่พบหมุดรังวัด
 
นางมณี บุญรอด คณะกรรมการศึกษา ติดตามกระบวนการขออนุญาตประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ได้กล่าวถึงการลงพื้นที่ในครั้งนี้ว่า คณะกรรมการฯ ได้มีมติร่วมกันที่ลงมาเพื่อดูสภาพข้อเท็จจริงของพื้นที่และหมุดรังวัด ซึ่งข้อเท็จจริงของสภาพพื้นที่ที่คณะกรรมการเห็นในวันนี้ ผิดจากที่มีการระบุไว้ในใบไต่สวน และหมุดรังวัดก็พบเพียงจุดเดียวเท่านั้น ส่วนจุดอื่นๆ ไม่พบว่ามีหมุดรังวัดเลย
 
“หลังจากนี้ก็จะลงบันทึกผลจากการลงพื้นที่ร่วมกัน แล้วจะนำบันทึกผลการลงพื้นที่ในครั้งนี้เข้าที่ประชุมของคณะกรรมการฯ ซึ่งเมื่อทำผิดก็จะต้องดำเนินการว่าไปตามผิด ” นางมณี กล่าว
 
สอดคล้องกับ นายภัทรชัย แก้วมณี นายช่างรังวัดชำนาญงานสำนักงานที่ดินจังหวัดอุดรธานี ซึ่งร่วมในการสำรวจที่ระบุว่า เจอเพียงแค่หมุดเดียวตรงริมถนนมิตรภาพ และจับ จีพีเอส ดูแล้ว ก็มีพิกัดตรงกันกับที่ระบุไว้ในแผนที่ ส่วนหมุดที่เหลือที่ลงไปตรวจดูแล้วตามจุดต่างๆ ที่มีการระบุว่ามีการปักหมุด ก็ไม่พบหมุด
 
นายภัทรชัย กล่าวถึงการเข้ามามีบทบาทเข้ามาลงพื้นที่ในครั้งนี้ว่า ทางคณะกรรมการได้มีการตั้งประเด็นการตรวจสอบถึงใบไต่สวนที่ไม่ถูกต้อง แล้วจึงมีหนังสือมายังสำนักงานที่ดินจังหวัด เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่มาเป็นคนกลางในการร่วมตรวจสอบ ตนเองจึงได้เข้ามาร่วมตรวจสอบสภาพพื้นที่และหมุดรังวัดในครั้งนี้ด้วย
 
“ในการลงพื้นที่ในครั้งนี้บรรยากาศก็ราบรื่นดีมีการพูดคุยกันกับคณะทำงานอย่างเป็นเหตุเป็นผลไม่ได้ใช้อารมณ์กระทบกระทั่งกันแต่อย่างใด” นายภัทรชัย กล่าว
 
ส่วน นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน แสดงความคิดเห็นว่า จากการลงพื้นที่ของคณะกรรมการฯ ในวันนี้ ทำให้เห็นว่ากระบวนการขอประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรที่ผ่านมานั้น กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) พยายามจะหมกเม็ด และไม่เปิดเผยข้อมูลให้กับชาวบ้าน ซึ่งมองได้สองประเด็น คือ โดยข้อเท็จจริงนั้นได้ปรากฏว่า ไม่มีหมุดรังวัด ตามที่ กพร. เคยอ้างมาตลอดว่าทำการปักเสร็จแล้ว อีกประเด็น คือ ขั้นตอนการขอประทานบัตรเหมืองแร่นั้น กพร. ก็จะพยายามดันต่อ ทั้งที่ชาวบ้านมีการค้านมาแล้วกว่า 5,000 รายชื่อ
 
“ในส่วนเรื่องใบไต่สวนที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ ซึ่งวันนี้กรรมการฯ ก็มาดูแล้วก็พิสูจน์ชัดแล้ว ทาง กพร.ก็บ่ายเบี่ยงว่าไม่ใช่สาระสำคัญหลักในส่วนเอกสารใบไต่สวน ควรจะต้องไปดูในส่วนของรายงาน อีเอชไอเอ ซึ่งทางเรามองว่า กพร.กำลังจะปัดความรับผิดชอบไปให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” นายสุวิทย์ กล่าว
 
ทั้งนี้ คณะกรรมการศึกษา ติดตามกระบวนการขออนุญาตประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ตั้งขึ้นมาโดยอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ มีบทบาทหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องการไต่สวนพื้นที่ และกระบวนการขอประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี รวมทั้ง ร่วมกันพิจารณาข้อกฎหมายแร่ มาตรา 88/9 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ให้ได้ข้อยุติ
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข่ายวิทยุชุมชนยื่นหนังสือ กสทช. ขอเพิ่มกำลังส่งเป็น 500 วัตต์

Posted: 14 Aug 2012 12:09 PM PDT

6 สมาคมวิทยุ ขอเพิ่มกำลังสัญญาณส่งเป็น 500 วัตต์ เสาส่งสัญญาณสูง 60 เมตร และไม่กำหนดรัศมีครอบคลุมการส่ง พ.อ.นที แจงอยู่ระหว่างพิจารณา ชัดเจน 22 ส.ค.นี้ ด้านเครือข่ายวิทยุชุมชนอีกกลุ่ม จี้ กสทช.เปิดงบประชาพิจารณ์ ถามสัดส่วนความเห็นที่ได้ต่อการปรับแก้นโยบาย

(14 ส.ค.) เวลา 14.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) กลุ่มผู้ประกอบการสถานีวิทยุชุมชน 6 สมาคม ได้แก่ สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย วิทยุเพื่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สมาคมวิทยุท้องถิ่นอุดรธานี ชมรมวิทยุกระจายเสียงจังหวัดอุบลราชธานี กลุ่มผู้ประกอบการวิทยุเพื่อสังคมและพระพุทธศาสนาสังกัดมหาเถรสมาคม สมาคมกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ รวมตัวยื่นหนังสือให้ กสทช. ทบทวนร่างประกาศหลักเกณฑ์ การกำหนดเงื่อนไขในร่างหลักเกณฑ์การกำหนดเทคนิคและอุปกรณ์ เครื่องส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียง โดยเห็นว่าหลักเกณฑ์ที่ กสทช.กำหนด ไม่สอดคล้องกับการกระจายเสียงในปัจจุบัน

นายเจริญ ถิ่นเกาะแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย กล่าวว่า วันนี้มายื่นข้อเสนอกสทช.ใน 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1.ให้กสทช.ยกเลิกข้อกำหนดที่ระบุให้วิทยุชุมชนใช้กำลังส่ง 100 วัตต์ โดยเสนอให้ใช้กำลังส่งไม่เกิน 500 วัตต์ 2.เสนอให้เปลี่ยนจากที่กำหนดให้ใช้เสาส่งสัญญาณสูง 40 เมตร เป็นใช้เสาส่งสัญญาณสูงไม่เกิน 60 เมตร และ 3.ให้ยกเลิกการกำหนดรัศมีการกระจายเสียงที่ระบุว่าไม่เกิน 15 กิโลเมตร เนื่องจากอยากให้เรื่องรัศมีที่ครอบคลุมเป็นไปตามธรรมชาติ เพราะกำลังส่ง 500 วัตต์สามารถส่งได้ครอบคลุม 15-20 กิโลเมตร รวมทั้งการกำหนดรัศมีครอบคลุมการส่งของ กสทช.ไม่ตอบโจทย์ลักษณะความแตกต่างในเชิงภูมิศาสตร์และบริบทด้านพื้นที่ของแต่ละภูมิภาค

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. ในฐานะประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ (กสท.) สำหรับข้อเรียกร้องของทั้ง 6 สมาคมวิทยุที่มายื่นหนังสือนั้น กสทช.กำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณา คาดว่าจะได้ความชัดเจนในการประชุม กสทช. วันที่ 22 ส.ค.นี้ โดยคาดว่าร่างประกาศหลักเกณฑ์ การกำหนดเงื่อนไขในร่างหลักเกณฑ์การกำหนดเทคนิคและอุปกรณ์ เครื่องส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียง จะสามารถประกาศใช้ได้ในต้นเดือน ก.ย.นี้

พ.อ.นที กล่าวด้วยว่า ทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอน และหน้าที่ของ กสทช.คือการทำให้สิ่งที่มีอยู่มีประโยชน์สูงสุด โดยเรื่องของความแตกต่างในเชิงภูมิศาสตร์และบริบทด้านพื้นที่ของแต่ละภูมิภาคก็จะนำมาพิจารณาด้วย ซึ่งวันนี้ข้อเรียกร้องคือ ทุกคนอยากได้กำลังส่งเพิ่มขึ้น และเสาส่งสัญญาณสูงขึ้น ดังนั้นบอร์ด กสท.ต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน
 

 

จี้ กสทช.เปิดงบประชาพิจารณ์ ถามสัดส่วนความเห็นที่ได้ต่อการปรับแก้นโยบาย
วันเดียวกัน ศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน เครือข่ายสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ (สวชช.) และสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย (สวทท.) ออกจดหมายเปิดผนึกถึง กสทช. ถึงประเด็นทิศทางของวิทยุกระจายเสียงขนาดเล็กในประเทศไทย มีข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ประกอบด้วย

1.กสทช.ควรเปิดเผยตัวเลขงบประมาณที่ใช้ในการทำประชาพิจารณ์ พร้อมประเมินประสิทธิภาพการใช้งบประมาณด้วย ความเห็นที่ได้รับมีคุณค่าหรือประโยชน์ต่อ กสทช.ในการนำมาปรับใช้หรือเปลี่ยนแปลงนโยบายตามที่ได้รับฟังมาเป็นสัดส่วนเท่าใด

2.ขณะจัดทำประกาศฯ หลักเกณฑ์อนุญาตทดลองประกอบกิจการของสถานีวิทยุขนาดเล็ก กสทช.ควรมีมาตรการควบคุมสถานีวิทยุหลัก ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายเดิมให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขเรื่องกำลังส่งที่ได้รับอนุญาตพร้อมกันไปด้วย

3.การพิจารณาออกใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ควรคำนึงถึงองค์ประกอบอื่นๆ นอกเหนือจากการกำหนดขนาดกำลังส่ง ซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิคด้วย เช่น ด้านเนื้อหา ความหนาแน่นของประชากร จำนวนที่เป็นไปได้ของคลื่นความถี่เพื่อให้การส่งกระจายเสียงมีประสิทธิภาพ

4.ตั้งคณะทำงานกำกับดูแลความเรียบร้อยในระดับพื้นที่ เพราะจะเข้าใจปัญหาในพื้นที่และเข้าถึงผู้ประกอบการได้ดีกว่าส่วนกลาง และ 5.เปิดเผยข้อมูลด้านเทคโลโนยีดิจิตอลในอนาคตที่เกี่ยวกับวิทยุขนาดเล็ก เพื่อป้องกันการหลอกลวงหาประโยชน์จากกลุ่มทุนที่ขายเครื่องส่งมาอย่างต่อเนื่อง

อนึ่ง ปัจจุบันมีสถานีวิทยุที่ออกอากาศทั้งที่ได้รับใบอนุญาต และไม่มีใบอนุญาต กว่า 7,000 สถานี ซึ่ง กสทช.ยังอยู่ระหว่างการกำหนดหลักเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานในหลายๆ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการกระจายเสียงในขณะนี้ และคาดว่าจะจัดระเบียบทั้งหมดได้เรียบร้อยภายในปลายปีนี้
 

 

ที่มา: บางส่วนจาก http://www.dailynews.co.th/technology/149464

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ซีเอ็ด-นายอินทร์ ไม่ประชุม กมธ.สภา กรณีเงินกินดิบ 1% ก.พาณิชย์ชี้ส่อฮั้ว

Posted: 14 Aug 2012 10:44 AM PDT

สองบริษัทยักษ์ใหญ่วงการหนังสือไม่เข้าร่วมประชุม กรณีเงินกินเปล่า1% กระทรวงพาณิชย์ชี้การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการกระจายสินค้าจากสองบริษัทส่อว่าพยายามมีอำนาจเหนือตลาด 

วันที่ 14 ส.ค. 2555  เวลา 13.30 น.  ณ อาคารรัฐสภา  คณะอนุกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการสื่อสารมวลชน  ซึ่งมีนายวัชระ เพชรทอง เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายฝ่าย อาทิตัวแทนจากหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์  เครือข่ายสำนักพิมพ์อิสระขนาดเล็ก สมาคมนักเขียน สมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เครือข่ายนิสิตนักศึกษาผู้รักการอ่าน ฯลฯ  เพื่อมาร่วมพิจารณาและรับฟังความเห็นต่อกรณีของการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมศูนย์กระจายสินค้าในอัตรา 1% ของมูลค่าส่งสินค้าราคาปกจากบริษัทซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัทอมรินทร์บุ๊คเซนเตอร์จำกัด  

ทั้งนี้เนื่องจากทั้งสองบริษัทได้ทำจดหมายถึงเจ้าของและผู้จัดการสำนักพิมพเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา ขอเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการกระจายสินค้า ( Distribution Center Fee ) จากสำนักพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายทุกแห่ง สาเหตุที่ต้องเรียกเก็บค่ากระจายสินค้านี้ ทั้งสองบรษัทอ้างว่านโยบาย ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันของรัฐบาลซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ใน 7 จังหวัดนำร่อง เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมาได้ทำให้ทั้งสองบริษัทมีต้นทุนที่สูงขึ้น  จึ่งได้เรียกเก็บค่ากระจายสินค้าอีก 1 เปอร์เซนต์จากผู้สำนักพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือ โดยจะเรียกเก็บตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมเป็นต้นไป และเดือนมีนาคม 2556 จะปรับเพิ่มค่ากระจายสินค้านี้อีกระดับหนึ่ง เนื่องจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท จะมีผลต่อทุกจังหวัด  

หลังจากจดหมายฉบับนี้อออกมา ได้มีเสียงหลายเสียงแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยทั้งจากสมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เครือข่ายธุรกิจหนังสืออิสระขนาดเล็ก  สำนักพิมพ์ต่างๆ เครือข่ายนิสิตนักศึกษาผู้รักการอ่าน ฯลฯ ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการกระจายสินค้าดังกล่าว ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการมีต้นทุนที่สูงขึ้นในทันใด เมื่อต้นทุนสูงขึ้น ราคาหนังสือก็สูงขึ้นตามในทันใด  ส่งผลกระทบทั้งผู้ผลิตและผู้อ่าน ซึ่งเป็นวงจรสำคัญของธุรกิจหนังสือ การแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยนี้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั้งในพื้้นที่โซเชียลมีเดีย และพื้นที่ของสื่อสิ่งพิมพ์ในที่ต่างๆ   สำหรับประเด็นสำคัญในการรับฟังความคิดเห็นวันนี้ 

นายวุฒิเทพ ทิมทอง สำนักส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ต้องดูว่าบริษัทซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด และบริษัทอมรินทร์บุ๊คเซนเตอร์จำกัดทำผิดกฎหมายการแข่งขันทางการค้าหรือไม่  ซึ่งมีกฎหมาย  มาตรา 25  และมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 เรื่องของการใช้อำนาจเหนือตลาด  การจะดูได้ว่าบริษัทไหนใช้อำนาจเหนือตลาดหรือไม่ มีเกณฑ์ตรวจสอบได้สองหลักเกณฑ์ใหญ่ๆ  ได้แก่ 1.ผู้ประกอบธุรกิจรายเดียวมีส่วนแบ่งการตลาดเกิน 50% และมียอดเงินขายเกิน  1 พันล้านบาท 2.ผู้ประกอบธุรกิจ 3 ราย มีส่วนแบ่งการตลาดเกิน 75% และมียอดเงินขายเกิน1  พันล้านบาท ซึ่งก็ต้องมาดูกันต่อไปว่าทั้งสองบริษัทเข้าข่ายหลักเกณฑ์ดังกล่าวหรือไม่  

อีกประเด็นสำคัญที่นายวุฒิเทพ เสนอวันนี้ คือ มี ” การฮั้วกัน” ของทั้งสองบรษัทหรือไม่ เข้าข่ายมาตรา 27(3) เป็นเรื่องของการทำความตกลงร่วมกันเพื่อครอบครองตลาดหรือควบคุมตลาด จากที่ได้ดูหนังสือที่ลงวันที่ 5 กรกฎาคม อาจเป็นไปได้ว่าเรื่องของการฮั้วกัน ต้องดูว่าทั้งนายอินทร์และซีเอ็ดมีอำนาจลงนามหรือไม่  อาจนำมาเป็นกรณีตัวอย่างการรับเรื่องร้องเรียนมาพิจารณาอีกครั้งในกระบวนการของกฎหมายต่อไป”  

ในตอนท้าย นายวรพันธ์ โลกิจสถาพร นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการขึ้นค่าธรรมเนียมการกระจายสินค้านี้ผลกระทบจะรุนแรงและไปสู่วงกว้างกว่าที่คิด มันจะมีผลต่อธุกิจหนังสือทั้งระบบ อยากให้หน่วยงานของรัฐเข้ามามีส่วนช่วยผลักดันในการลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้ระบบการพิมพ์และการจัดจำหน่ายของหนังสือในประเทศไทยทีที่ทางที่ดีกว่านี้  

อนึ่ง การประชุมรับฟังความคิดเห็นในวันนี้้ตัวแทนจากบริษัทซีเอ็ดยูเคชั่น และตัวแทนจากบริษัทอมรินทร์บุ๊คเซนเตอร์จำกัดไม่ได้มาเข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นแต่อย่างใด การประชุมจะมีขึ้น อีกครั้งวันอังคารที่ 21 สิงหาคม ศกนี้  นายวัชระ เพชรทอง ประธานอนุกรรมการ ฯ กล่าวว่าจะเชิญทั้งสองบริษัทมาร่วมประชุมอีกครั้งหนึ่ง 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :1%Effect: สนพ.นักอ่าน นักศึกษาล่ารายชื่อค้านซีเอ็ด,อมรินทร์กินรวบวงการหนังสือ

                         :วาด รวี: ผู้จัดจำหน่ายหนังสือ, เหยื่อรายแรกของการเก็บค่ากระจายสินค้าร้านหนังสือซีเอ็ด-นายอินทร์

                        : นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนเรื่อง ตลาดออนไลน์ แก้ปัญหากินดิบ 1 %

                        : นักข่าวพลเมือง: นศ.บุกสภา ยื่นค้าน “ซีเอ็ด-นายอินทร์” ผูกขาดตลาดวรรณกรรม

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม.เพิ่มวงเงินเยียวยา "ผู้เสียชีวิต-ทุพพลภาพ" จากเหตุไฟใต้เป็น 5 แสน

Posted: 14 Aug 2012 10:03 AM PDT

(14 ส.ค.55)  เมื่อเวลา 13.00 น. น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการการปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่เสียชีวิตและทุพพลภาพจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ประธานกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เสนอ ตามมติคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการประชุมครั้งที่ 3/2555 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2555 ได้มีมติให้ความเห็นชอบตามที่คณะกรรมการเยียวยาฯเสนอ ดังนี้

1.กรณีประชาชนผู้เสียชีวิตสืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เดิมได้รับการช่วยเหลือเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท เพิ่มเป็น 500,000 บาท

2.กรณีประชาชนผู้ทุพพลภาพสืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากเดิมได้รับการช่วยเหลือเป็นเงินจำนวน 80,000 บาท เพิ่มเป็น 500,000 บาท

ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2555 เป็นต้นไป และให้ย้อนหลังครอบคลุมผู้เสียชีวิตและทุพพลภาพ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 เป็นต้นมา โดยส่วนที่มีผลย้อนหลังจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นไม่ช้ากว่าปีงบประมาณ พ.ศ.2558 เพื่อไม่ให้เป็นภาระด้านงบประมาณในปีหนึ่งปีใดเกินสมควร และให้นำจำนวนเงินที่ได้รับความช่วยเหลือไปแล้วมาหักออกจากจำนวนเต็มที่พึงจะได้รับด้วย

น.ส.ศันสนีย์กล่าวต่อว่า โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2555 ให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นในกรอบวงเงิน 2,000 ล้านบาท ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการให้ใช้จ่ายเพื่อการเยียวยาไว้แล้ว ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 24 เมษายน 2555 และเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 866.9055 ล้านบาท คงเหลือ 1,133.0945 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอเพื่อการดังกล่าว สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ.2556 ได้เสนอตั้งงบประมาณรองรับไว้ จำนวน 370 ล้านบาท ส่วนในปีงบประมาณ พ.ศ.2557-2558 ให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก ศอ.บต. ระบุว่าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 47 จนถึงปัจจุบัน มีตัวเลขผู้เสียชีวิยและทุพพลภาพจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนทั้งสิ้น 3,042 คน แบ่งเป็นผู้เสียชีวิต 2,739 คนและทุพพลภาพ 303 คน

 

ที่มา: เว็บไซต์มติชนออนไลน์ และไทยพีบีเอส

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ว่าด้วยบักโฮมผีบ้า “เหยื่อ” ของความขัดแย้งทางการเมือง

Posted: 14 Aug 2012 09:49 AM PDT

ที่จะเขียนต่อไปนี้ไม่ใช่เป็นการวิจารณ์วรรณกรรม เพราะผมไม่มีความรู้เรื่องวรรณกรรม เพียงแต่อยากจะบอกว่าผมรู้สึกอย่างไรกับความคิดที่เสนอผ่านเรื่องสั้น “บุญโฮมผีบ้า” ซึ่งเป็นหนึ่งในรวมเรื่องสั้น “กลับบ้านเก่า” ของสมภาร พรมทา


ดาวน์โหลดได้ที่ http://www.stc.arts.chula.ac.th/WisdomMag/index.html

บักโฮมผีบ้าเป็นเรื่องราวชีวิตอันน่าเศร้าของคนที่เราบอกไม่ถูกว่า เขาเกิดมาเพื่อตกเป็น “เหยื่อ” หรือว่าเขาถูกระบบสังคมทำให้ต้องกลายเป็นเหยื่อกันแน่ เรารู้เรื่องราวของเหยื่อที่ชื่อบุญโฮม หรือที่คนในหมู่บ้านเรียกเขาว่า “บักโฮมผีบ้า” จากคำบอกเล่าของตัวละครที่เป็นครูบ้านนอก ซึ่งเป็นเพื่อนของบุญโฮมมาตั้งแต่วัยเด็ก
พิจารณาจากบุคลิกภาพ จะเห็นว่าบุญโฮมเป็นคนหัวไม่ดี ตอนเรียนประถมสอบตกซ้ำชั้นบ่อยๆ จบประถมหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ออกโรงเรียน” มาได้ก็ถูกล้อว่า “เอาไก่แลกออก” เพื่อนที่เป็นครูในหมู่บ้านเดียวกันบรรยายบุคลิกภาพในวัยเด็กของบุญโฮมว่า

บางวันในห้องเรียน เวลาทำข้อสอบ เช่นเลข ผมเห็นบุญโฮมนั่งคิด สายตาเหม่อลอย ปากอมดินสอ หน้าตาเหมือนคนหมดทางไป แต่ก็ไม่เป็นทุกข์ ดวงตาของบุญโฮมถ้าใครได้เห็นใกล้ๆ อย่างผม จะรู้ว่าเป็นดวงตาที่ซื่อใสเหมือนดวงตาของหมาน้อยอายุสักสามเดือน (ขออภัยผมรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ) หมานั้นเวลาถูกเจ้าของตีไม่ว่าจะหนักหนาอย่างไร มันก็ไม่เคยแสดงอาการโกรธแค้นเจ้าของ เวลาที่บุญโฮมถูกพ่อตี ผมก็รู้สึกอย่างเดียวกันนั้น

การเป็นคนป้ำๆ เป๋อๆ ของบุญโฮม อาจไม่ได้มาจากธรรมชาติทางชีววิทยา หรือว่าความเป็นคนสมองทึบเป็นด้านหลัก แต่สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากการทารุณกรรมของพ่อขี้เมา อารมณ์โมโหร้าย เมื่อเมามาก็มักจะมาลงที่บุญโฮมเป็นประจำ ความจริงอันน่าเศร้าอย่างแรกคือบุญโฮมกลายเป็นเหยื่ออารมณ์ร้ายของพ่อตนเอง อย่างที่สองคือเขาตกเป็นเหยื่อของชาวบ้าน ถูกชาวบ้านเรียกว่า “บักโฮมผีบ้า” ไม่มีใครอยากคบค้าสมาคมด้วย เดินไปไหนในหมู่บ้านก็มักจะถูกเด็กๆ ปาก้อนหินใส่ ในที่สุดเขาก็ไปปลูกกระท่อมอยู่ที่ทุ่งนาใช้ชีวิตร่วมกับผู้หญิงที่ชาวบ้านเรียกว่า “อีกืก” (หญิงใบ้) ที่ว่ากันว่าเคยเป็นโสเภณีอยู่ในเมือง ต่อมาติดโรคที่รักษาไม่หาย เขาเลยเอามาปล่อยในหมู่บ้าน และกลายมาเป็นเมียของบุญโฮม

แล้วชะตากรรมก็เล่นตลกกับบุญโฮมไม่เลิก เมื่อเขาต้องกลายมาเป็นเหยื่อของความขัดแย้งทางการเมือง เรื่องราวมีว่า ผู้ใหญ่บ้านได้รับคำสั่งจาก “ท่าน ส.ส.” ให้หาคนในหมู่บ้านไปร่วมชุมนุมที่ราชประสงค์ 20 คน แต่หาคนได้ไม่ครบในที่สุดก็พาบุญโฮมไปด้วย เขาไม่รู้ว่าไปทำอะไร จะได้หรือไม่ได้อะไร เขารู้สึกดีใจหน่อยตอนที่ผู้ใหญ่บ้านขอตัวกลับก่อนแล้วทิ้งเงินไว้ให้คนละ 300 บาทต่อวัน รู้สึกเขาจะได้ราวๆ 900 บาท เป็นเงินก้อนแรกที่เขามีโอกาสได้จับในชีวิต เขาอยู่ในที่ชุมนุมโดยไม่รู้เรื่องอะไร แต่ที่เขาช่วยอะไรได้บ้างคือช่วยดูแลลุงใสขี้เมาที่บังเอิญเป็นไข้ในระหว่างชุมนุม ซึ่งตัวเขาเองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าลุงใสนั้นเคยรังเกียจความเป็น “บักโฮมผีบ้า” ของเขามากเพียงใด เพื่อนของเขาเล่าฉากสุดท้ายของชีวิตบุญโฮมว่า

คืนสุดท้าย ก่อนที่ทุกอย่างจะคลี่คลาย เปลวไฟรอบๆ เริ่มสงบลงมาก เหลือเพียงควันสีดำๆ และฝุ่นผงที่ลอยกระจายอยู่ทั่วบริเวณ ลุงใสไข้ขึ้น กินยาแล้วยังไม่ดี ตอนนั้นบุญโฮมต้องนอนอยู่ข้างแก ตกดึกผมกำลังจะเคลิ้มหลับ คลับคล้ายคลับคลาว่าลุงใสแกปวดท้องจะเข้าส้วมแต่ลุกไม่ได้ แกตะโกน “บักผีบ้า พากูไปส้วมเร็ว ขี้จะแตก” บุญโฮมลุกขึ้น เอามือช้อนไปที่ใต้รักแร้ของลุงใส แล้วหิ้วแกขึ้นเหมือนหิ้วของเบาๆ เนื่องจากร่างกายของเขาใหญ่โตแข็งแรง และลุงใสผอมกะหร่องอย่างนั้น ผมมองตามไปสักพักก็เห็นสองคนนั้นล้มลงเต็มแรง ลุงใสด่า “บักห่าเอ๊ย พากูล้ม มึงไม่มีตาหรือไงวะ” แต่ร่างของบุญโฮมที่ล้มไปนั้นไม่ไหวติง ลุงใสที่นอนอยู่พยายามเอาตีนไปกระทุ้ง “ลุกๆ บักผีบ้า” ไม่มีเสียงตอบ ผมเอะใจ จึงถลันไปที่ร่างนั้น บุญโฮมนอนคว่ำหน้า เมื่อผมกับเพื่อนครูอีกคนช่วยกันพลิกร่างของเขากลับมาในท่านอนหงาย ผมก็ตกใจสุดขีด ที่หน้าผากของเพื่อนผู้อับโชคของผมมีรอยกระสุนและคราบเลือดตรงปากทางกระสุนนิดหน่อย แต่บริเวณท้ายทอยที่มือของผมกำลังอุ้มประคองอยู่นั้น ผมสัมผัสได้ถึงเลือดที่เหนียวเหนอะนองเต็มไปหมด สองตาของเพื่อนยังเปิดอยู่ ดวงตานั้นยังใสซื่อเหมือนเมื่อก่อน ต่างเพียงตอนนี้ดวงตาคู่นี้กำลังอยู่ในร่างที่ไร้วิญญาณ

ผมอ่านเรื่องสั้น “บักโฮมผีบ้า” จบลงด้วยความรู้สึกหดหู่ บอกไม่ถูกว่าโลกของความเป็นจริงกับโลกในนิยายอันไหนน่าเศร้ามากกว่ากัน เราปฏิเสธไม่ได้ว่าชีวิตที่ตกเป็น “เหยื่อ” ในแทบทุกสังคมนั้นมีอยู่จริง คนอย่างบุญโฮม ก็ไม่ใช่คนที่เราไม่อาจพบได้ในโลกของความเป็นจริง

จะว่าไปแล้ว โลกในความเป็นจริงอาจโหดร้ายกว่าโลกในนิยายด้วยซ้ำ อย่าง 6 ศพที่วัดปทุมพวกเขาคงไม่ได้เขียนนิยายให้ตนเองต้องมาปิดฉากลงเช่นนั้น แต่มีคนอื่นเขียนฉากสุดท้ายของชีวิตพวกเขา หรือแม้แต่ เสธ.แดงที่เราเห็นได้ชัดว่าเขาเลือกที่จะกำหนดบทบาทของเขาเอง ไม่ได้ถูกใครจูงจมูก แต่แน่นอน เขาไม่เขียนนิยายชีวิตของตนเองให้ต้องปิดฉากลงเช่นนั้น คนอื่นเป็นคนเขียน 6 ศพที่วัดปทุม เสธ.แดง หรือรวมแล้ว 98 ศพ พวกเขาคือ “เหยื่อ” ของใครหรือระบบอำนาจใดก็ตามที่เป็นผู้เขียนฉากสุดท้ายของชีวิตพวกเขา

ผมสนใจมุมมองบางอย่างที่ถ่ายทอดผ่านตัวละครผู้เล่าเรื่องราวชีวิตของบุญโฮม ตอนหนึ่งตัวละครนี้พูดถึงจุดยืนทางการเมืองของตนเองว่า

ผมไม่ใส่เสื้อสีไหนทั้งนั้น แต่ลึกๆ นั้น ผมเองว่าไปแล้วค่อนข้างเอนเอียงมาทางแดง เพราะรู้สึกว่าเหลืองนั้นในช่วงหลังๆ มีหลายเรื่องที่ผมเห็นว่าอธิบายด้วยเหตุผลอย่างตรงไปตรงมาไม่ได้ แต่หากกล่าวถึงแกนนำทั้งเหลืองทั้งแดง ผมไม่ไว้ใจฝ่ายไหนทั้งนั้น คนที่เป็นแกนนำในทางการเมืองบ้านเรา นับร้อยทั้งร้อยเป็นคนที่สืบประวัติได้ทั้งหมดว่า เคยเคลื่อนไหวมาก่อนทั้งสิ้น แกนนำแบบนี้ผมมองว่าเหมือนคนติดยาเสพติด การเมืองเป็นยาเสพติดอย่างหนึ่ง เมื่ออยู่ใกล้สถานการณ์ทางการเมืองที่ยั่วยวน คนพวกนี้ก็จะอดไม่ได้ และที่น่าเศร้าก็คือคนพวกนี้แหละที่พาผู้บริสุทธิ์ทั้งหลายไปล้มตายมานักต่อนักแล้ว

หลายคนอ่านประโยคสุดท้ายแล้วอาจโกรธจน “ของขึ้น” เพราะคำว่า “แกนนำพาคนไปตาย” เป็นวาทกรรมทางการเมืองที่เถียงกันได้มาก บ้างก็มองว่ามันไม่แฟร์เพราะเป็นการลงโทษฝ่ายที่ไม่ได้ลงมือฆ่ามากกว่า ไม่ได้โทษความผิดของฝ่ายที่ลงมือฆ่าไปแล้ว และไม่มีความหมายในเชิงว่าจะมีแนวทางป้องกันฝ่ายที่ลงมือฆ่าไปหลายต่อหลายครั้งแล้วไม่ให้ฆ่าอีกได้อย่างไร

วาทกรรมนี้หากจะมีเหตุผลอยู่บ้างก็ในแง่ของการเรียกร้องความรับผิดชอบจากแกนนำให้ถือว่า การปกป้องชีวิตของมวลชนเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดกว่าชัยชนะทางการเมือง จำได้ว่าผมเคยเขียนบทความชื่อ “แกนนำ นปช. อย่าพาคนไปตาย” ลงประชาไทวันที่ 16 เม.ย.53 (ในเวลานั้น อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้ออกมาเตือนประมาณว่า “เพียงเพื่อให้ได้การเลือกตั้ง ตาย 1ศพ ยังไงก็ไม่คุ้ม นี่ตั้ง 25 ศพแล้วจะบวกอีกเท่าไรยังไม่ทราบ ถ้าไม่เปลี่ยนยุทธวิธีต่อสู้”) ในบทความนั้นเนื้อหาไม่ได้มุ่งตำหนิแกนนำ แต่ผมเห็นว่า ในขณะนั้นแกนนำสามารถประเมินสถานการณ์ได้ว่า หากไม่หาทางคืนสู่โต๊ะเจรจาให้ได้ และยังเดินเกมกดดันต่อไปเช่นนั้นจะเกิดอะไรขึ้น!

ส่วนเรื่องไม่เลือกสีเพราะไม่ไว้ใจแกนนำนั้น มีหลายคนที่คิดเช่นนั้น ผมเคยสัมภาษณ์หลวงพี่ไพศาล วิสาโล ท่านก็ตอบแบบนี้ บางคนนั้นถึงขนาดอึดอัดไม่อยากแสดงความเห็นทางการเมือง เพราะกลัวถูกผลักไปเป็นสีนั้นสีนี้ เหตุผลของแต่ละคนก็ต่างกันไป บางคนไม่เลือกสีแต่ก็พยายามเข้าใจและเคารพเหตุผลของทุกสี บางคนไม่เลือกเพราะรังเกียจหรือเบื่อหน่ายทุกสี บางคนไม่เลือกเพราะเห็นว่าทุกสีต่างก็ “ไม่บริสุทธิ์” เพราะต่างมี “วาระซ่อนเร้น” ของตนเอง หรือต่างตกเป็นเครื่องมือของนักการเมือง และอำมาตย์ หรือกระทั่งมองว่าพวกเลือกสีไม่รู้ประชาธิปไตย ไม่ได้สู้ด้วยอุดมการณ์ประชาธิปไตยจริงๆ พวกนี้ก็จะพยายามมาเทศนาให้ทุกสีลดพฤติกรรมก้าวร้าว หยาบคาย หันมาเจรจาด้วยเหตุผล รับฟังกันและกัน ฯลฯ แต่ไม่รู้ว่า พวกเขามีข้อเสนออะไรที่จะแก้ระบบอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ส่วนตัวผมนั้นเห็นว่า เหตุผลเรื่องไม่ไว้ใจแกนนำนั้น เป็นเหตุผลที่ไม่มีน้ำหนักมากนัก ผมคิดตรงไปตรงมาว่า แกนนำก็คือคนที่แสดงบทบาทหนึ่งในการต่อสู้ทางการเมืองตามความสามารถที่เขามี ส่วนที่คนออกมาร่วมต่อสู้จำนวนมากนั้น ขึ้นอยู่กับว่า “วาระทางการเมือง” ที่แกนนำเสนอประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่จริงสามารถปลุกเร้ามโนธรรมทางสังคมได้มากน้อยเพียงใด ถึงที่สุดแล้วการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองก็ไม่ได้ผูกอยู่กับแกนนำ และแกนนำแต่ละยุคก็ไม่ใช่คนที่ดีหรือเลวบริสุทธิ์

บางคนชอบนำ “สามเกลอหัวขวด” ไปเปรียบเทียบกับแกนนำยุค 14 /6 ตุลา เพื่อสรุปว่าแกนนำยุคนั้นสู้ด้วยอุดมการณ์มากกว่า แต่ผมเคยเห็น “ท่านพี่ใบตองแห้ง” ซึ่งเป็นคนเดือนตุลา พูดออกทีวีว่า กระบวนการ 6 ตุลา กับกระบวนการเสื้อแดงปัจจุบันก็เหมือนกันนั่นแหละคือไม่ได้บริสุทธิ์ชนิดที่มองได้แบบขาว-ดำ เขาจึงแปลกใจว่าทำไมคนที่เคยเป็นอดีตนักศึกษา 6 ตุลา จึงเชียร์ให้ล้อมปราบคนเสื้อแดงได้ลงคอทั้งที่ต่างก็ถูกล้อมปราบด้วยการอ้างสถาบันกษัตริย์เช่นเดียวกัน (พูดจบก็ปล่อยโฮออกมาอย่างกลั้นไม่อยู่) นี่ยังไม่ต้องพูดถึง “กวีธรรม” ที่เคยผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาว่ามองเสื้อแดงเป็น “ควายแดง” อย่างไร หรือคนอย่าง “หงา คราวาน” ยังต้องออกมาทวงสีแดงคืนด้วยอ้างว่าเป็นสีเลือดในกายของทุกคน ใครจะผูกขาดสีแดงไม่ได้ เป็นต้น นี่คือตัวอย่างให้เห็นว่า แกนนำไม่ว่ายุคไหนก็ไม่ใช่คนที่เราอาจฝากความเชื่อใจไว้ได้ แต่เราควรเชื่อและเลือกฝ่ายที่สู้ด้วยวาระประชาธิปไตยและอ้างอิงวาระดังกล่าวในการตรวจสอบแกนนำด้วย

จริงอยู่คนที่เลือกฝ่ายเสื้อแดง นักการเมือง พรรคการเมืองที่พวกเขาสนับสนุนก็ไม่ใช่บริสุทธิ์ ไร้บาดแผล ซึ่งคนเสื้อแดงย่อมรู้ความจริงนี้ แต่ที่ผมมองว่า พวกเขาเลือกฝ่ายถูกก็คือพวกเขาเลือกฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้ (ไม่มีกฎหมายห้าม) ประชาธิปไตยมันก็เป็นแบบนี้ จะหาอะไรที่ดีบริสุทธิ์ส่วนเดียวได้อย่างไร (สมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือระบบอะไรก็ไม่มีที่ดีบริสุทธิ์หรอก) มันคือการเดินทาง การร่วมเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันท่ามกลางความกึ่งดิบกึ่งดีนี่แหละ

ประเด็นสุดท้าย คือมุมมองเกี่ยวกับ “ความไม่รู้เรื่อง” ของชาวบ้าน ตัวละครที่เล่าเรื่องพูดถึงความไม่รู้เรื่องของชาวบ้านที่มาชุมนุมทางการเมืองว่า

วันหนึ่งคนบนเวทีพูดเรื่อง “สองมาตรฐาน” ลุงใสแกได้ยิน แกหันมาถามผมว่า “อาจารย์เขาพูดเรื่องสองอีหยังวะ สองถานสามถานมันเกี่ยวอีหยังกับถาน (ส้วม-ผู้เขียน) พระวะ” ....

ลุงใสนี้ผมคิดว่า เป็นตัวอย่างของชาวบ้านธรรมดาๆ ที่บางครั้งก็เข้ามาเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองในอีกแบบหนึ่ง แกไม่รู้เรื่องส่วนใหญ่ที่คนพูดบนเวที แกรู้จักทักษิณคนเดียว และแกเชื่อของแกว่าทักษิณดี เพราะแกเคยเห็นทักษิณนั่งรถอีแต๋นในโทรทัศน์ และมีข่าวในช่วงทักษิณตระเวนอีสาน ใครเข้าไปขออะไรทักษิณให้หมด นายกอย่างทักษิณนี่แหละที่ลุงใสแกเชื่อว่าดี แกมาคราวนี้เพราะแกเชื่อว่าจะช่วยให้ทักษิณได้กลับมาเป็นนายกอีก

อันที่จริงผมชอบตัวละครตัวนี้นะครับในแง่ที่เขาเป็นคนที่มีจิตใจละเอียดอ่อนต่อ “บักโฮมผีบ้า” เพื่อนผู้อับโชคของเขา และช่วงท้ายๆ ของเรื่องเขาก็เล่าถึงลุงใสอย่างให้เกียรติความเป็นมนุษย์ของแก แต่มุมมองข้างบนนี้ผม “รู้สึก” ว่าจะขัดกับบุคลิกภาพของตัวละครที่เป็น “ครูบ้านนอก” ผู้ไม่ติดจานดาวเทียมเกาะติดการชุมนุมทางการเมืองอย่างที่เขาเล่าแต่ต้น

เพราะอ่านมุมมองนี้แล้วทำให้ผมนึกถึงนักธุรกิจคนหนึ่งออกทีวี (ที่ผมจำได้ไม่ลืม) เขาพูดถึงชาวบ้านที่มาชุมนุมว่า “แกนนำเขาชวนมาโค่นอำมาตย์ก็มาตามเขา ไม่รู้ว่าอำมาตย์คืออะไร พอมาถึงก็ถามว่า ไหนต้นอำมาตย์อยู่ไหนพวกเราจะได้ช่วยกันโค่น” ผมเลยสงสัยว่าทำไมครูบ้านนอกคนนี้จึงมีมุมมองต่อชาวบ้านเหมือนมุมมองของคนชั้นกลางในเมืองเหลือเกิน ผมไม่ได้ปฏิเสธว่าอาจมีชาวบ้านอีสานจำนวนหนึ่งมีมุมมองเช่นนี้อยู่จริง แต่ผมไม่เชื่อว่าการเกิดขึ้นของหมู่บ้านเสื้อแดง หรือเป็นเสื้อแดงเกือบทั้งภาค หรือการที่ชาวบ้านธรรมดาออกมาร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองมหาศาลขนาดนี้จะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้เพียงเพราะพวกเขาไม่มีสำนึกทางการเมือง หรือเพียงแค่นิยมชมชอบทักษิณอย่างผิวเผิน

ว่าโดยสรุป เรื่องสั้น “บักโฮมผีบ้า” สะท้อนโศกนาฏกรรมของคนที่ตกเป็น “เหยื่อ” ได้อย่างสะเทือนใจ ผมชอบเรื่องสั้นเรื่องนี้ อ่านแล้วทำให้ผมคิดถึงเหยื่อรายอื่นๆ นึกถึงอากง นักโทษมโนธรรมสำนึกในคดี 112 นึกถึงชาวบ้านหลายจึงหวัดที่ถูกศาลตัดสินจำคุก 20-30 ปี (ที่เพิ่งได้ประกันตัวไปบ้างในระยะหลังๆ) หลายคนสูญเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ และอิสรภาพที่แลกมาได้เพียง “การเลือกตั้ง” แต่รัฐบาลที่เลือกมาไม่มีอำนาจจะทำอะไรเลย ไม่ต้องพูดถึงแก้ 112 แม้แต่จะแก้รัฐธรรมนูญก็จะกลายเป็นขบถล้มล้างการปกครองเสียแล้ว นี่หมายความว่าเราตกเป็นเหยื่อของใคร และมีใครบ้างที่ไม่ตกเป็นเหยื่อ

พูดก็พูดเถอะ อย่างอากงที่ต้องตายในคุกเพราะทำผิดด้วยข้อความเพียง 4 ข้อความ นี่คือเหยื่อในโลกความจริงที่น่าเศร้ายิ่งกว่าเหยื่อในนิยายเสียอีก อย่างอาจารย์สมศักดิ์จะว่าไปก็คือ “เหยื่อ” ที่ถูกสังคมตัดสินว่า “มีอคติต่อเจ้า” ที่ว่า “สังคม” ตัดสินเพราะไม่ใช่เสื้อเหลืองเท่านั้น แม้แต่สื่อหรือนักวิชาการฝ่ายก้าวหน้าบางคนก็มองว่าเขามีอคติต่อเจ้า ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเขาสู้กับอคติเชิงโครงสร้างที่กำหนดให้พูดถึงสถาบันเฉพาะด้านบวกเพียงด้านเดียว

ความมีเหตุผลหรือเป็นวิทยาศาสตร์ก็คือ บุคคลที่มีบทบาทสาธารณะทุกคนต้องพูดถึงได้ทั้งด้านบวกและลบ หรือต้องถูกวิจารณ์ตรวจสอบได้ แต่ประหลาดไหม คนที่ต่อสู้ด้วยจุดยืนของเหตุผลเช่นนี้กลับกลายเป็นเหยื่อถูกพิพากษาว่ามีอคติ ขณะที่ฝ่ายปกป้องโครงสร้างอคติกลับไม่มีใครว่าอะไร

แน่นอน นิติราษฎร์ก็ตกเป็นเหยื่อ เช่นที่อาจารย์วรเจตน์ถูกทำร้ายร่างกาย และกลุ่มนิติราษฎร์ถูกโจมตีใส่ร้ายต่างๆ จะว่าไปคนที่นิยามตนเองว่าเป็นกลาง หรือไม่เลือกฝ่ายอาจกำลังตกเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัวในความหมายใดความหมายหนึ่งอยู่ก็ได้

แต่เหยื่ออย่างเราๆ ก็ยังดีกว่าบักโฮมผีบ้า เพราะเรายังมีสติสตังสมประกอบ และสามารถเลือกได้ว่าจะต่อสู้เพื่อปลดปล่อยตนเอง ปลดปล่อยกันและกันไม่ให้ต้องอยู่ในสภาพที่ตกเป็น “เหยื่อ” เช่นนี้ตลอดไปได้อย่างไร!


หมายเหตุ: ชื่อบทความเดิม: บักโฮมผีบ้า “เหยื่อ” ของความขัดแย้งทางการเมือง: เรื่องสั้นของ สมภาร พรมทา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ร้อง รมว.ยุติธรรม คุ้มครองญาติเหยื่อ "คดีฆ่าตัดตอน" หวั่นถูกแก้แค้น

Posted: 14 Aug 2012 09:24 AM PDT

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ร้อง "ประชา พรหมนอก" คุ้มครองโจทก์และผู้เกี่ยวข้องคดีฆ่าตัดตอน จ.กาฬสินธุ์ หวั่นถูกทำร้าย หลังการคุ้มครองพยานสิ้นสุดหลังจากศาลมีคำพิพากษา

(14 ส.ค.55) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) นำโดย สมชาย หอมลออ ประธาน ครส. ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึงพลตำรวจเอกประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ขอความร่วมมือในการคุ้มครองบุคคลซึ่งเป็นโจทก์ร่วมและผู้ได้รับผลกระทบจากคดีเยาวชนอายุ 17 ปี เสียชีวิตระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ควบคุมตัวในช่วงสงครามยาเสพติดเมื่อปี 2547 ซึ่งล่าสุด (30 ก.ค.) ศาลตัดสินให้ประหารชีวิต จำเลยที่ 1-3 ยกฟ้องจำเลยที่ 4 จำคุก 7 ปี จำเลยที่ 5 และจำคุกตลอดชีวิต จำเลยที่ 6 ทั้งนี้ ศาลได้ให้จำเลยทั้งหมดประกันตัว

ครส. ระบุว่า หลังศาลมีคำพิพากษา กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ยุติการคุ้มครองพยานไป จึงเกรงว่า นางพิกุล พรหมจันทร์ ซึ่งเป็นอาของนายเกียรติศักดิ์ฯ ในฐานะโจทก์ร่วมในคดีและนางสา ถิตย์บุญครอง ย่าของนายเกียรติศักดิ์ฯ และเป็นพยานปากสำคัญในคดี อาจถูกข่มขู่ คุกคาม หรือปองร้ายได้ง่ายยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งนี้ จากการติดตามคดีนี้มาตลอด ครส.พบว่า การดำเนินคดีนี้มีความยุ่งยาก และยืดเยื้อมากพอสมควร มีการปิดบังอำพรางคดี บิดเบือนคดี โดยการสร้างหลักฐานเท็จ มีการคุกคาม ข่มขู่พยาน ผู้เกี่ยวข้อง และผู้ได้รับผลกระทบโดยชัดแจ้ง

ทั้งนี้ ครส. ระบุด้วยว่า เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่ได้รับความสนใจจากองค์กรสิทธิมนุษยชนจากนานาประเทศ อันเกี่ยวข้องกับภาพลักษณ์และประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย หากเกิดอะไรขึ้นกับนางพิกุลฯ หรือ นางสาฯ ภาพลักษณ์ของรัฐบาล และประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในประชาคมระหว่างประเทศได้

 

 

 


00000000000

ด่วนที่สุด
14 สิงหาคม 2555
เรื่อง ขอความร่วมมือในการคุ้มครองบุคคลซึ่งเป็นโจทก์ร่วมและผู้ได้รับผลกระทบจากคดีอาญา
เรียน ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พลตำรวจเอกประชา พรหมนอก
อ้างถึง คำพิพากษาศาลอาญา ในคดีดำที่ อ.3252/2552 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2555 กรณีการสังหารนายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง เยาวชนอายุ 17 ปี

ตามที่ศาลอาญามีคำพิพากษา ในคดีดำที่ อ.3252/2552 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2555 กรณีการสังหารนายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง เยาวชนอายุ 17 ปี ชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งมีจำเลยที่ 1 คือ ดต. อังคาร คำมูลนา จำเลยที่ 2 ดต. สุดธินัน โนนทิง จำเลยที่ 3 ดต.พรรณศิลป์ อุปนันท์ จำเลยที่ 4 พ.ต.ท. สำเภา อินดี จำเลยที่ 5 พ.ต.อ. มนตรี ศรีบุญลือ จำเลยที่ 6 พ.ต.ท.สุมิตร นันสถิต ขณะเกิดเหตุเมื่อเดือนกรกฎาคม 2547 จำเลยทั้งหกเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ โดยศาลอาญาได้มีคำพิพากษาให้ ดต. อังคาร คำมูลนา ดต. สุดธินัน โนนทิง ดต.พรรณศิลป์ อุปนันท์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความผิดฐานย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุเเห่งการตาย ลงโทษจำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ลงโทษประหารชีวิต เมื่อรวมโทษเเล้วให้ลงโทษประหารชีวิต จำเลยที่ 5 พ.ต.อ มนตรี ศรีบุญลือ กระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา กระทำการในตำเเหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดให้ไม่ต้องรับโทษ ลงโทษจำคุก 7 ปี จำเลยที่ 6 พ.ต.ท.สุมิตร นันสถิต กระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำคุกตลอดชีวิต เเละให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 พ.ต.ท. สำเภา อินดี

สำหรับคดีดังกล่าวอัยการได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุเเห่งการตาย เเละเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำเเหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดให้ไม่ต้องรับโทษ โดยจำเลยที่ 1-3 เเละ 6 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ร่วมกันฆ่านายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง อายุ 17 ปี ผู้ต้องหาคดีลักทรัพย์ ขณะนำตัวออกจาก สถานีตำรวจภูธรเมืองกาฬสินธุ์ด้วยการบีบรัดจนขาดอากาศหายใจ เสียชีวิต และได้ปิดบังเหตุเเห่งการตายโดยร่วมกันย้ายศพไปเเขวนคอไว้ที่กระท่อมบ้านบึงนา อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด และ ได้ร่วมกันทำการข่มขู่พยาน เหตุเกิดระหว่างวันที่ 21-22 กรกฎาคม 2547 ศาลได้ให้จำเลยทั้งหมดประกันตัวออกไปหลังมีคำพิพากษา

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะที่ได้ติดตามคดีนี้อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอดเล็งเห็นว่าคดีดังกล่าวนี้ถือเป็นคดีอุกฉกรรจ์ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรมมิได้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาซึ่งเป็นเยาวชนต้องถึงแก่ความตาย อีกทั้งยังปรากฏหลักฐานว่าการดำเนินคดีนี้มีความยุ่งยาก และยืดเยื้อมากพอสมควร มีการปิดบังอำพรางคดี บิดเบือนคดี โดยการสร้างหลักฐานเท็จ มีการคุกคาม ข่มขู่พยาน ผู้เกี่ยวข้อง และผู้ได้รับผลกระทบโดยชัดแจ้ง ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ได้ทำการตรวจสอบข้อร้องเรียนนี้ก่อนการฟ้องร้องคดี และได้ชี้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และต้องรับผิดชอบกับการเสียชีวิตของนายเกียรติศักดิ์ฯ ครั้นเมื่อศาลได้มีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว ทำให้มีความเป็นไปได้อย่างมากว่าผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้อาจถูกข่มขู่ คุกคาม ทำร้ายร่างกายจนอาจถึงแก่ชีวิต ด้วยเหตุอันเนื่องมาจากความแค้นเคือง

ก่อนหน้านี้ นางพิกุล พรหมจันทร์ ซึ่งเป็นอาของนายเกียรติศักดิ์ฯ ในฐานะโจทก์ร่วมในคดีนี้ได้ถูกข่มขู่คุกคาม จนได้มีการร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อกรณีนี้ได้เข้าสู่การเป็นคดีพิเศษภายใต้ความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษก็ได้ให้ความคุ้มครองพยานด้วยดีมาจนกระทั่งศาลมีคำพิพากษา กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงได้ยุติการคุ้มครองพยานไป ทำให้ขาดหลักประกันในชีวิตและความปลอดภัยของนางพิกุล พรหมจันทร์ และญาติผู้เกี่ยวข้อง อาทิ เช่น นางสา ถิตย์บุญครอง ผู้เป็นย่าของนายเกียรติศักดิ์ฯ และเป็นพยานปากสำคัญในคดีนี้ด้วย นับแต่นั้น เมื่อการคุ้มครองพยานสิ้นสุดลง จึงเป็นช่วงสุญญากาศซึ่งนางพิกุลฯ และนางสาฯ จะมีโอกาสถูกข่มขู่ คุกคาม หรือปองร้ายได้ง่ายยิ่งขึ้นไปอีก

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ท่านในฐานะที่เป็นผู้มีอำนาจได้สั่งการให้มีการคุ้มครองบุคคลในกรณีฉุกเฉินเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากองค์กรสิทธิมนุษยชนจากนานาประเทศอันเกี่ยวข้องกับภาพลักษณ์และประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย นอกจากนี้นางพิกุลฯ ยังได้รับรางวัลนักสิทธิมนุษยชนดีเด่นประจำปี 2553 จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอีกด้วย ซึ่งหากเกิดอะไรขึ้นกับนางพิกุลฯ หรือ นางสาฯ ภาพลักษณ์ของรัฐบาล และประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในประชาคมระหว่างประเทศ

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านจะได้สั่งการเพื่อให้การอำนวยความยุติธรรม เกิดการคุ้มครองผู้บริสุทธิ์ พิทักษ์ความเที่ยงธรรม และสร้างความมั่นใจให้กับระบบยุติธรรม เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการเป็นกรณีเร่งด่วน

ขอแสดงความนับถือ
นายสมชาย หอมลออ
ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

1 ในผู้สมัคร ร่อนจม.ถึงไทยพีบีเอส จี้แจงหลักเกณฑ์สรรหา กก.นโยบาย

Posted: 14 Aug 2012 08:35 AM PDT

ศราวุฒิ ประทุมราช นักกฎหมายสิทธิฯ หนึ่งในผู้สมัครกรรมการนโยบายไทยพีบีเอส ส่งจดหมายถึงประธานคณะกรรมการสรรหา ถามความกระจ่าง หลักเกณฑ์คัดเลือก กก.นโยบายฯ

(14 ส.ค.55) ศราวุฒิ ประทุมราช นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ในฐานะหนึ่งในผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการนโยบาย องค์การกระจายสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) ด้านการส่งเสริมประชาธิปไตยฯ ทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการสรรหากรรมการนโยบาย ไทยพีบีเอส เพื่อขอทราบหลักเกณฑ์และกระบวนการพิจารณาคัดเลือกกรรมการนโยบายฯ โดยทำสำเนาถึงประธานกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย และสื่อมวลชนด้วย

 

00000000000000

14 สิงหาคม พ.ศ.2555

เรื่อง ขอทราบหลักเกณฑ์และกระบวนการพิจารณาคัดเลือกบุคคลผู้ได้รับการประกาศให้ดำรงตำแหน่งกรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ด้านการส่งเสริมประชาธิปไตย การพัฒนาชุมชนหรือท้องถิ่น การเรียนรู้และการศึกษา การเรียนรู้และพัฒนาเด็กเยาวชนหรือครอบครัว หรือการส่งเสริมสิทธิของผู้ด้อยโอกาสทางสังคม

เรียน
ประธานคณะกรรมการสรรหากรรมการนโยบาย องค์การกระจายสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย

อ้างถึง
1.ประกาศคณะกรรมการสรรหากรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 1/2555 ลงวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2555
            2. ประกาศคณะกรรมการสรรหากรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 2/2555 ลงวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2555

ตามที่ประธานคณะกรรมการสรรหากรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศฉบับที่ 1/2555 และฉบับที่ 2/2555 ตามที่อ้างถึง เพื่อสรรหาและคัดเลือกบุคคลผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 เข้าเป็นกรรมการนโยบาย ในตำแหน่งที่ว่างลง 5 ตำแหน่ง โดยข้าพเจ้าได้สมัครเข้ารับการสรรหาในตำแหน่งกรรมการนโยบายด้านผู้มีความรู้หรือความเชี่ยวชาญในด้านการส่งเสริมประชาธิปไตยฯ นั้น

ปรากฏว่าคณะกรรมการสรรหาได้ประชุมกันและทำการคัดเลือกบุคคล 3 คน เป็นกรรมการนโยบาย ด้านการส่งเสริมประชาธิปไตย การพัฒนาชุมชนหรือท้องถิ่น การเรียนรู้และการศึกษา การเรียนรู้และพัฒนาเด็กเยาวชนหรือครอบครัว หรือการส่งเสริมสิทธิของผู้ด้อยโอกาสทางสังคม คือนางสมศรี หาญอนันทสุข นายสมพันธ์ เตชะอธิก และ นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์

อาศัยหลักการเรื่องความโปร่งใส ความเสมอภาค และความเป็นธรรมในการคัดเลือกบุคคลเข้ารับตำแหน่งในหน่วยงานหรืองค์การที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งต้องสามารถถูกตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ตามหลักการของการจัดการที่ดีในสังคมประชาธิปไตย ข้าพเจ้ามีความประสงค์ขอทราบขั้นตอนหลักเกณฑ์ และวิธีการคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งกรรมการนโยบาย ด้านการส่งเสริมประชาธิปไตย การพัฒนาชุมชนหรือท้องถิ่น การเรียนรู้และการศึกษา การเรียนรู้และพัฒนาเด็กเยาวชนหรือครอบครัว หรือการส่งเสริมสิทธิของผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ดังต่อไปนี้

  1. คณะกรรมการสรรหาใช้หลักเกณฑ์อะไรและด้วยวิธีการอย่างไร ในการเปรียบเทียบคุณสมบัติของผู้สมัครหรือผู้ได้รับการเสนอชื่อ ตามลักษณะของความรู้ความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ ตลอดจนผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ และวิสัยทัศน์ของผู้สมัครหรือผู้ได้คัดเลือกบุคคล จากใบสมัคร ของผู้สมัครหรือผู้ได้รับการเสนอชื่อในรอบแรก เพื่อคัดเลือกให้เหลือสองเท่าของตำแหน่งที่จะต้องแต่งตั้ง
     
  2. คณะกรรมการสรรหา มีหลักเกณฑ์หรือการให้คะแนนอย่างไร หรือด้วยวิธีการใด ที่นอกเหนือจากหลักเกณฑ์และวิธีการ ตามเอกสารที่อ้างถึง หมายเลข 1 สำหรับผู้สมัครและผู้ได้รับการเสนอชื่อที่ผ่านการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ และได้รับการประกาศให้ผ่านคุณสมบัติเพื่อประกาศเป็นกรรมการนโยบาย
     
  3. กล่าวโดยเฉพาะตำแหน่งกรรมการนโยบายด้านการส่งเสริมประชาธิปไตย การพัฒนาชุมชนหรือท้องถิ่น การเรียนรู้และการศึกษา การเรียนรู้และพัฒนาเด็กเยาวชนหรือครอบครัว หรือการส่งเสริมสิทธิของผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ตามจำนวนที่ต้องการ 3 ตำแหน่งนั้น ผู้ได้รับการคัดเลือกและคณะกรรมการสรรหาได้ประกาศว่ามีคุณสมบัติผ่านการคัดเลือก จำนวน 3 คนนั้น คณะกรรมการสรรหาได้คัดเลือกจากผู้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมในด้านการส่งเสริมประชาธิปไตย จำนวน 1 คน ผู้มีคุณสมบัติด้านการพัฒนาชุมชนหรือท้องถิ่น การเรียนรู้และพัฒนาเด็กเยาวชนหรือครอบครัว จำนวน 1 คน และผู้มีคุณสมบัติในการส่งเสริมสิทธิของผู้ด้อยโอกาสทางสังคม จำนวน 1 คน ใช่หรือไม่ ถ้าใช่ หรือมิใช่ประการใด ขอความกรุณา ให้คำอธิบายอย่างกระจ่างแจ้ง

เรียนมาเพื่อผดุงไว้ซึ่งความโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล หลักนิติธรรมและหลักประชาธิปไตย ข้าพเจ้ารอรับคำตอบเป็นลายลักษณ์อักษร และหากจะแถลงผลการพิจารณานี้ต่อสาธารณะด้วย จักขอบคุณยิ่ง หากผลของคำตอบยังไม่มีความกระจ่างแจ้งชัดเจนประการใด ข้าพเจ้าขอสงวนสิทธิ์ในการดำเนินการตามที่เห็นสมควรต่อไป

ขอแสดงความนับถือ

นายศราวุฒิ ประทุมราช
ผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการนโยบาย ด้านการส่งเสริมประชาธิปไตยฯ

สำเนา: ประธานกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย
           : สื่อมวลชน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักข่าวพลเมือง: นศ.บุกสภา ยื่นค้าน “ซีเอ็ด-นายอินทร์” ผูกขาดตลาดวรรณกรรม

Posted: 14 Aug 2012 08:29 AM PDT

(14 ส.ค.55) เวลา 15.00 น. ตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฯลฯ เดินทางไปยังอาคารรัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมศูนย์กระจายสินค้า 1 % ต่อนายวัชระ เพชรทอง ประธานกรรมการธิการพัฒนาการเมืองและสื่อสารมวลชน สภาผู้แทนราษฎร

นายปณิธาน ผัสสะผล หนึ่งในตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพากล่าวว่า สาเหตุที่มายื่นหนังสือคัดค้าน เพราะมองว่ามาตราดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผู้อ่าน โดยจะทำให้ราคาหนังสือสูงขึ้น ขณะที่สำนักพิมพ์หรือนักเขียนก็ไม่ได้รายได้สูงขึ้นตาม พูดง่ายๆ คือร้านซีเอ็ดกับนายอินทร์คือนายหน้าที่คอยเก็บหัวคิวเท่านั้นเอง ซึ่งถือเป็นการปิดกั้นไม่ให้นิสิตนักศึกษาสามารถเข้าถึงความรู้ได้ในราคาถูก และเป็นจุดเริ่มต้นของการผูกขาดตลาดทางปัญญา

ด้านนายธิวัชร์ ดำแก้ว เลขาธิการศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมประชาธิปไตยกล่าวว่า การให้การศึกษาทางการเมืองแก่พลเมืองจะถูกผูกขาดเพียงแนวคิดเดียว คือจากสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ที่มีทุนเยอะเท่านั้น ทั้งที่หนังสือถือเป็นการเข้าถึงความรู้ ที่ควรถูกกระจายไปยังผู้อ่านอย่างทั่วถึง ดังนั้น ราคาของหนังสือจึงไม่ควรแพงเกินไป

นายวัชระ เพชรทอง กล่าวกับตัวแทนนักศึกษากลุ่มดังกล่าวว่า จะนำหนังสือที่นักศึกษามายื่นวันนี้ส่งต่อให้กับผู้แทนร้านนายอินทร์และร้านซีเอ็ดบุ๊ค และจะเชิญตัวแทนนักศึกษามาประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการในครั้งต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดตัวนักแสดงหนัง "นวมทอง"-บก.ฟ้าเดียวกัน ตั้งคำถามบทหนัง

Posted: 14 Aug 2012 07:18 AM PDT

โด่ง อรรถชัย รับบทเป็น “นวมทอง” ร่วมด้วย จ.เจตน์, ไม้หนึ่ง ก.กุนที และ จิตรา คชเดช ฯลฯ ผู้จัดเผยเป็นหนังแฟนตาซี บันทึก 100 ปีการต่อสู้ประชาธิปไตย เปิดกล้อง ก.ย.นี้ คาดแล้วเสร็จต้นปีหน้า บก.ฟ้าเดียวกัน วิจารณ์ "พลังวิเศษ" ในบทหนัง อ่านแล้วนึกถึง "สุวินัย ภรณวลัย"

 

วานนี้ (13 ส.ค.55) เวลา 18.00 น. คณะกรรมการบริหารและจัดการกองทุนสร้างภาพยนตร์ "นวมทอง" ร่วมกับแนวร่วมประชาธิปไตยกลุ่มต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ ร่วมจัดเลี้ยงโต๊ะจีนเพื่อระดมทุนสร้างหนัง "นวมทอง" ซึ่งมีสโลแกนว่า “หนังประชาธิปไตยเรื่องแรกของคนเสื้อแดง โดยคนเสื้อแดง และเพื่อคนไทยทั้งประเทศ” ณ ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ ชั้น 6 ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว พร้อมเปิดตัวนักแสดงนำในเรื่อง โดยมี โด่ง อรรถชัย อนันตเมฆ รับบทเป็น “นวมทอง” จ.เจตน์ รับบทเป็น “จีระ บุญมาก” ไม้หนึ่ง ก.กุนที รับบทเป็น “จิตร ภูมิศักดิ์” และ จิตรา คชเดช รับบทเป็น “ผู้นำกรรมกรในโรงงาน” เป็นต้น นอกจากนี้ในงานยังมีการกล่าวปราศรัยสลับกับการแสดงดนตรีอีกด้วย
 


อภิรักษ์ วรรณสาธพ กรรมการบริหาร
และจัดการกองทุนสร้างภาพยนตร์ "นวมทอง"

นายอภิรักษ์ วรรณสาธพ กรรมการบริหารและจัดการกองทุนสร้างภาพยนตร์ "นวมทอง" เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงเหตุผลในการจัดสร้างภาพยนตร์นี้ว่า มาจากแนวคิดที่ว่าคนเสื้อแดงควรขับเคลื่อนในทุกๆ ทางเพื่อให้ได้ประชาธิปไตยที่แท้จริง จึงมีผู้เสนอว่าควรจะทำการเคลื่อนไหวรณรงค์ในเชิงศิลปะด้วย จึงได้หาคนที่จะเขียนบท ก็ได้คุณวัฒน์ วรรลยางกูร เสนอพล็อตเรื่องการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของคนไทย ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่กบฏหมอเหล็ง ร.ศ.130 การเปลี่ยนแปลงการปกครอง(2475) 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19 จนกระทั่งถึง พฤษภา 53 ของคนเสื้อแดง โดยจะเป็นลักษณะหนังแฟนตาซี เพื่อให้คนดูไม่รู้สึกว่าหนักไปและให้สาระที่ครบถ้วน

สำหรับเหตุที่ใช้ชื่อหนังว่า “นวมทอง” นั้น นายอภิรักษ์ ให้เหตุผลว่า ต้องการให้เกียรติและเชิดชู ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ซึ่งยอมสละชีวิต ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จริงๆ ก็มีคนอื่นๆ ที่สละชีวิตต่อสู้ แต่คุณลุงนวมทองเป็นบุคคลในยุคปัจจุบันที่ชัดเจน และยังเป็นแรงบันดาลใจของคนหลายๆ คน จึงใช้คำว่า “นวมทอง” อย่างไรก็ตาม หนังเรื่องนี้ไม่ใช่ประวัติลุงนวมทอง แต่เป็นประวัติการต่อสู้และเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของไทย ตั้งแต่รุ่นหมอเหล็ง รุ่นพระยาพหลฯ มาจนถึงผู้นำนิสิตนักศึกษาประชาชนรุ่นต่างๆ มาแลกเปลี่ยนมาให้ความรู้ รวมทั้งมีนักคิดต่างชาติที่มีชื่อเสียงมาให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ แล้วเรื่องนี้ก็มาขมวดปมลงในตอนที่มีการสังหารโหดประชาชนเมื่อ พฤษภา 2553

“เราตั้งใจว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังของประชาชนจริงๆ เพราะฉะนั้นก็ไม่มีนายทุนคนใดมาเป็นเจ้าของหนัง เราขอให้คนเสื้อแดงร่วมกันลงขันกันสร้าง ลงแรงกันแสดง ร่วมความคิดกันทำ” กรรมการบริหารและจัดการกองทุนสร้างภาพยนตร์ "นวมทอง" กล่าว

ด้านการดำเนินการจัดสร้าง นายอภิรักษ์ กล่าวว่า หนังตั้งงบประมาณ 3 ล้านบาท เฉพาะผลิตหนังอย่างเดียว ไม่คิดการทำโฆษณาการทำการตลาด แต่เราต้องการทำหนังที่มีคุณภาพในระดับที่ส่งประกวดนานาชาติได้ หนังเรื่องนี้ทำเสร็จจะส่งประกวดเทศกาลหนังนานาชาติที่เบอร์ลิน เยอรมนี ที่เวนิส อิตาลี เป็นต้น คุณภาพของหนังเราตั้งใจทำให้ไปสู่ระดับนั้นจริงๆ ซึ่งตอนนี้ก็ระดมทุนมาได้ประมาณ 3 ใน 4 ของงบประมาณที่ต้องการใช้แล้ว สำหรับกำหนดการเปิดกล้องกรรมการบริหารและจัดการกองทุนสร้างภาพยนตร์ฯ ยืนยันว่า หลังจากเดือนนี้จะเริ่มถ่ายแล้ว เพราะทุกอย่างค่อนข้างลงตัวหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบทภาพยนตร์ ดารา สถานที่ คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปีหน้า

นายอภิรักษ์ กล่าวอีกว่า ดารานำเป็นดาราอาชีพที่ประกาศตัวว่าเป็นคนเสื้อแดง รวมถึงคนเสื้อแดงที่แม้ไม่ได้เป็นดาราแต่ว่ามีความสามารถ เป็นศิลปินก็มาร่วมแสดงด้วย และคนเสื้อแดงทั่วๆ ไปที่อยากจะเข้ามา เป็นการลงขันสร้าง ร่วมแรงทำและระดมความคิดกัน เพราะฉะนั้นก็ร่วมแรง คนที่แสดงทุกคนไม่ได้คิดค่าตัวเลย ทุกคนแสดงด้วยใจทั้งหมด

เรื่องการเข้าฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วไปนั้น กรรมการบริหารและจัดการกองทุนสร้างภาพยนตร์ฯ มองว่า ขึ้นอยู่กับโรงว่าจะฉายหรือไม่ และขึ้นอยู่กับบรรยากาศของประชาธิปไตยในเมืองไทย อย่างไรก็ตาม จะทำเป็นแผ่นด้วย เพื่อให้ผู้ที่ร่วมลงขันสร้างได้เก็บไว้ดู เก็บไว้เป็นที่ระลึกส่งต่อให้ลูกหลานต่อไป

 


วัฒน์ วรรลยางกูร ผู้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์ “นวมทอง”


"วัฒน์" แจงเป็นหนังแฟนตาซี ใช้พลังความคิดสู้เผด็จการ

นายวัฒน์ วรรลยางกูร ผู้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์ “นวมทอง” กล่าวกับผู้ร่วมงานระดมทุนว่า หนังดังกล่าวจะมีผู้กำกับมือรางวัลจากเทศกาลหนังเบอร์ลินมาร่วมกำกับด้วย เป็นหนังที่ทุกคนดูได้ไม่ว่าจะเสื้อสีอะไร ขอเพียงมีหัวใจที่เป็นธรรม

นายวัฒน์ยังได้เปิดเผยถึงบางช่วงบางตอนของหนังว่า หนังเรื่องนี้จะมีเมืองปีศาจประชาธิปไตย ที่รวบรวมเอาบรรดาผู้ที่มีความใฝ่ฝันต่อสู้ในทางประชาธิปไตย ในช่วงเวลา 100 ปี ตั้งแต่กบฏหมอเหล็ง 2455 สมัย ร.6 ซึ่งบรรดาผู้ที่ชุมนุมในเมืองปีศาจประชาธิปไตย ก็ต้องมาร่วมต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย ภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีฉากแฟนตาซีอยู่มาก จะมีนักคิดอย่างจิตร ภูมิศักดิ์ เช กูวารา มาเคลื่อนไหวอยู่ในจอภาพยนตร์เรื่องนี้ บรรดาปีศาจประชาธิปไตยเหล่านี้จะรวบรวมพลังช่วยต่อสู้ โดยจะมีการฝึกกระบวนวิชา เพื่อต่อกรฝ่ายเผด็จการที่จะเอาปืนมาไล่ยิงคนเสื้อแดง

“เพราะว่าเราสู้กับเผด็จการอำนาจพิเศษ อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นพลังประชาชนอย่างเดียวมันไม่ค่อยพอ แล้วฝ่ายประชาธิปไตยก็ต้องมีอำนาจพิเศษ ก็คือจิตวิญญาณของปีศาจประชาธิปไตยเหล่านั้น ซึ่งความจริงอำนาจพิเศษเหล่านั้นก็คือ พลังแห่งปณิธานของคนรุ่นหมอเหล็ง รุ่นนายปรีดี พนมยงค์ รุ่นจิตร ภูมิศักดิ์ รุ่นศรีบูรพา หรือนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทั่วโลก จะมาช่วยกัน แท้จริงแล้วพลังพิเศษของคนเหล่านั้นก็คือ “พลังแห่งความคิด” “มรดกทางความคิด” เจตนารมณ์อุดมการณ์ที่ท่านทั้งหลายเหล่านั้น ได้ทิ้งไว้ให้พวกเราได้สืบสานต่อสู้ต่อไปให้เป็นจริงขึ้นมา” นายวัฒน์ วรรลยางกูร ผู้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์ กล่าว
 

บก.ฟ้าเดียวกัน วิพากษ์หลังอ่านบทหนัง
เชื่อในพลังวิเศษมากกว่าอำนาจประชาชน
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. นายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการวารสาร “ฟ้าเดียวกัน” ได้เขียนวิจารณ์การสร้างหนัง "นวมทอง" ลงในบันทึกลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ในหัวข้อ “อย่าหาว่าขัดคอกันเลยอ่านเรื่องย่อ "นวมทอง" แล้วนึกถึงสุวินัย ภรณวลัย” 

เห็นข่าวการจัดระดมทุนเพื่อสร้างหนัง "นวมทอง" ในวันที่ 13 ส.ค. 55 เวลา 18.00 น. ชั้น 6 ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียล ลาดพร้าว
http://www.prachatai3.info/journal/2012/08/41938
ข่าวระบุว่า สามารถระดมทุนได้แล้วกว่า 2.2 ล้านบาทแล้ว จากงบที่ตั้งไว้ 3 ล้านบาท เท่ากับว่าเหลือีก 8 แสนก็จะได้ครบเพื่อจะสร้างหนังเรื่องนี้ออกมา 

ในฐานะคนที่ "อิน" กับลุงนวมทอง ไพรวัลย์ (2489-2549) ผมคิดถ้าพูดถึงนวมทอง ไพรวัลย์ คนก็จะนึกถึงจดหมาย "สละชีพเพื่อประชาธิปไตย" ชิ้นนั้น ซึ่งน่าจะเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยสมัยใหม่ที่สำคัญชิ้นหนึ่ง และอดจะดีใจไม่ได้ ถ้าจะมีหนังที่จะถ่ายทอด ชีวิตและความคิดของลุงนวมทองที่หล่อหลอมมาจนเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ชิ้นดังกล่าว

แค่เมื่อมาอ่าน เรื่องย่อภาพยนตร์นวมทอง แล้วไม่แน่ใจว่าคนสร้างคิดที่จะสร้างหนังประวัติลุงนวมทอง หรือสร้างหนังแฟนตาซีเกี่ยวกับการเมืองไทย

ดังที่ประโยคที่สรุปว่า "ภาพยนตร์เรื่องนี้จะอาศัยเทคนิคการล่องหน เกิดเป็นเรื่องสนุกตื่นเต้น ตลกขบขัน และเศร้าสะเทือนใจคละเคล้ากันไป ตลอดจนแทรกประวัติศาสตร์การเมือง เปิดโปงเบื้องหลังเผด็จการ"
http://prachatai.com/sites/default/files/Proposal-budget-form_Nuamthong%28Thai%29.pdf

สำหรับผม การอาศัยพล็อต "ระลึกชาติ" ของหนังเรื่องนี้ อ่านไปอ่านมาดูเหมือนเป็นพวกจิตวิญญาณ ที่เชื่อในพลังวิเศษมากกว่าจะเชื่อเรื่องอำนาจที่มาจากการสร้างขึ้นเองของประชาชน สารภาพว่าอ่านไปแล้วนึกถึงหน้าสุวินัย ภรณวลัย มากกว่าแววตาของลุงนวมทอง ไพรวัลย์

http://www.youtube.com/watch?v=LjWOEASFc3U
แต่ถึงที่สุดแล้วในฐานะคนที่ติดตามข่าวเรื่องนี้ก็ขอเอาใจช่วยให้หนังเรื่องนี้ออกมาได้

 

โดยในบันทึกของนายธนาพล ยังมีการเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม และมีผู้ใช้ชื่อ “Bhuridata Jaiyasresratha” ร่วมแสดงความเห็นด้วยว่า

กูว่า เทคนิควิธีการเล่าเรื่องมันกลายเป็นเป้าหมายในตัวเองไปเลยว่ะ กูว่ามันน่าจะเป็นเครื่องมือที่มุ่งไปรับใช้เป้าหมายที่อยากไปถึงมากกว่า ...
แต่ก็เข้าใจว่าคงอยากจะสื่อสารในวงกว้าง อยากให้สนุก อยากให้แปลกๆ แต่ก็นั่นแหละ มันอาจพาคนดูไปผิดทาง ผิดเป้าที่อยากไปถึงเลยก็ได้

(อยากยกตัวอย่างนอกเรื่อง มิวเซียมสยามที่พยายามสื่อเรื่องสุวรรณภูมิให้ข้ามพ้นเรื่องชาติแบบเดิมๆ ดันเสือกมีห้องให้ยิงปืนใหญ่ใส่กองทัพพม่า เพื่อความสนุกสนานของเด็ก สุดท้าย เด็กแม่งจำออกมาว่า อยากฆ่าพม่าๆ ย้อนแย้งไม๊ล่ะ เฮ้อ...นี่เป็นเรื่องที่คนในมิวเซียมสยามพูดเองนะ)

กูว่านี่เป็นปัญหาคลาสสิคเรื่องความคิดสร้างสรรค์ของนักคิดในสังคมไทยเลยล่ะ เอาแต่จะคิดงานแบบ hi-concept ไปขายกันอยู่นั่น (ลูกค้าแม่งก็จะเอาแต่ hi-concept เหมือนกัน) งานออกแบบ (ที่กูสังกัดอยู่) ก็เป็นด้วย น่าเบื่อ และเซ็งอย่างยิ่ง

กูคงอยากดูหนังนวมทองแบบง่ายๆ จริงๆ แต่สำรวจลึกลงไปในความเป็นมนุษย์ของแก เห็นหลายๆ ด้าน ไม่ตัดสิน ปล่อยให้คนดูพิจารณาเอาเอง ในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนนึงเช่นกัน กูว่าอย่าเอาแกมารับใช้อุดมการณ์ของกลุ่มตัวเองเลยวะ ปล่อยให้แกเป็นอิสระในฐานะมนุษย์ได้ไม๊ ... ขอร้อง
 

สำหรับนายนวมทอง ไพรวัลย์ (พ.ศ. 2489 - 31 ต.ค. 2549 รวมอายุ 60 ปี) คนขับรถแท็กซี่ ซึ่งเป็นอดีตพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บางกรวย เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549 ได้ขับรถยนต์แท็กซี่ โตโยต้า โคโรลล่า สีม่วง ทะเบียน ทน 345 กรุงเทพมหานคร ของบริษัท สหกรณ์แหลมทองแท็กซี่ จำกัด พุ่งเข้าชนรถถังเบา M41A2 Walker Bulldog ป้ายทะเบียนตรากงจักร 71116 ของคณะปฏิรูปฯ และได้รับบาดเจ็บสาหัส และต่อมา 1 เดือน ในคืนวันที่ 31 ตุลาคมหลังออกจากโรงพยาบาลมาแล้ว นายนวมทองได้ผูกคอตายกับราวสะพานลอย บริเวณถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออกเยื้องกับที่ตั้งสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โดยในจดหมายลาตายระบุว่า ต้องการลบคำสบประมาทของ พันเอกอัคร ทิพโรจน์ รองโฆษก คปค. ที่ว่า ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้ โดยนายนวมทองได้สวมเสื้อยืดสีดำ สกรีนข้อความเป็นบทกวี ที่เคยใช้ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดยด้านหน้าเป็นบทกวีของรวี โดมพระจันทร์ และด้านหลังเป็นบทกวีของศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์)

 

ภาพบรรยากาศงานระดมทุน :


หุ่นนิ่งในงาน


รูปปูนปั้น นวมทอง ไพรวัลย์


จ.เจตน์ รับบทเป็น “จีระ บุญมาก”


จิตรา คชเดช รับบทเป็น “ผู้นำกรรมกรในโรงงาน”

วีระกานต์ มุสิกพงศ์ ร่วมปราศรัยในงาน

จาตุรนต์ ฉายแสง ร่วมร้องเพลงในงาน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดร่าง พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมาย จำคุก 10 ปีคนปลอมลายเซ็น

Posted: 14 Aug 2012 07:14 AM PDT

ที่มา: โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

 

ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.... มีความสำคัญในฐานะเป็นกฎหมายแม่บทที่กำหนดขั้นตอนสิทธิและหน้าที่ของประชาชน ในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ร่างดังกล่าวได้เข้าสู่กระบวนการของสภาผู้แทนราษฎร โดยมีร่างเข้าสู่การพิจารณาพร้อมกัน 4 ฉบับ ได้แก่ ร่างฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ร่างที่เสนอโดยส.ส.วิชัย ล้ำสุทธิ พรรคประชาธิปัตย์ และร่างที่เสนอโดยประชาชนสองฉบับ คือฉบับของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และฉบับของสถาบันพระปกเกล้า

ใจความสำคัญของร่างกฎหมาย หลังออกจากกรรมาธิการของสภาผู้แทนฯ

ขณะ นี้ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ซึ่งนำหลักการจากร่างที่เสนอมาทั้ง 4 ฉบับมาผสมกัน 

ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ฉบับล่าสุดที่ผ่านกรรมาธิการ มีสาระสำคัญดังนี้ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมตามไฟล์แนบ)

1. การเข้าชื่อเสนอกฎหมายต้องมีผู้ริเริ่มไม่น้อยกว่ายี่สิบคนแจ้งให้ประธาน รัฐสภาทราบ พร้อมด้วยร่างกฎหมาย เพื่อให้ประธานรัฐสภาพิจารณาก่อนว่าร่างกฎหมายนั้นๆ เป็นกฎหมายตามหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด 5 ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ (ร่างมาตรา 6)

2. ผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายทุกคนต้องใช้ข้อมูลเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือเอกสารอื่นที่ราชการออกให้และมีรูปถ่าย แนบเป็นหลักฐานประกอบการลงชื่อ (ร่างมาตรา 7)

3. เมื่อประธานรัฐสภาได้รับรายชื่อผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายแล้ว ให้ตรวจสอบให้เสร็จภายใน 45 วัน หากรายชื่อครบถ้วนให้ประกาศรายชื่อทางเว็บไซต์ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้ แทนราษฎร และจัดเอกสารไว้ให้ประชาชนสามารถมาตรวจสอบหรือคัดค้านได้ที่สำนักงาน เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นเวลา 30 วัน (ร่างมาตรา 10) 

4. หากประธานรัฐสภาตรวจสอบแล้วพบว่ารายชื่อไม่ครบถ้วน ให้ผู้ริเริ่มมีเวลาอีก 90 วันในการหารายชื่อมาให้ครบ หากไม่สามารถหาได้ให้สั่งจำหน่ายเรื่อง (ร่างมาตรา 11)

5. การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะเสนอมิได้ (ร่างมาตรา 12)

6. ผู้ใดให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ให้ผู้อื่นลงชื่อหรือไม่ลงชื่อในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย  มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท (ร่างมาตรา 13)

7. ผู้ใดลงลายมือชื่อปลอม หรืออ้างลายมือชื่อปลอมในเอกสารการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท (ร่างมาตรา 14)

ร่าง พระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายถูกบรรจุไว้ในวาระเร่งด่วน เป็นลำดับที่ 4 ซึ่งคาดว่าจะถูกหยิบขึ้นมาพิจารณาโดยสภาผู้แทนราษฎรวาระ 3 ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ หากการพิจารณาวาระ 3 ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหลักการใดเพิ่มเติม ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามเนื้อหาดังกล่าว ก็จะผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และเดินทางเข้าสู่ขั้นตอนของวุฒิสภาต่อไป 

ทั้งนี้ จากเนื้อหาร่างดังกล่าวจะพบว่า มีหลักการหลายอย่างที่ภาคประชาชนเสนอหายไป เช่น ยกเลิกการใช้สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน ให้การเข้าชื่อเสนอกฎหมายอาศัยหลักฐานเพียงเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ให้กรรมการปฏิรูปกฎหมาย สภาพัฒนาการเมือง เข้ามามีบทบาทช่วยภาคประชาชนในการผลักดันร่างกฎหมาย ขณะที่หลักการหลายอย่างจากร่างของรัฐบาลที่เป็นเรื่องกังวลใจก็ยังถูกคงเนื้อหาไว้ เช่น การกำหนดให้มีผู้ริเริ่มการเข้าชื่อเสนอกฎหมายส่งร่างกฎหมายที่จะรวบรวมรายชื่อให้ประธานรัฐสภาพิจารณาก่อนการระดมรายชื่อ การกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่ปลอมลายมือ หรือแอบอ้างรายชื่อผู้อื่น เป็นต้น

คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายค้าน ร่างเข้าชื่ออาจสร้างอุปสรรคการมีส่วนร่วม
เมื่อ วันที่ 14 สิงหาคม 2555 คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างฉบับผ่าน กรรมาธิการ โดยที่ประชุมส่วนใหญ่ยังมีความเห็นว่า ร่างกฎหมายนี้ยังมีปัจจัยที่สร้างอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ประเด็นที่เป็นความกังวล เช่น การกำหนดให้มีผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายยี่สิบคน เพราะเกรงว่าจะเป็นอุปสรรคสำหรับประชาชนกลุ่มเล็กที่ต้องการขับเคลื่อน และการให้อำนาจประธานรัฐสภาแต่เพียงผู้เดียวในการตัดสินตั้งแต่ก้าวแรกนั้น อาจไม่เป็นธรรม

นอกจากนี้ กรณีการให้ประกาศรายชื่อประชาชนผู้เสนอกฎหมาย เพื่อเปิดโอกาสให้คัดค้าน โดยเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์รัฐสภานั้น อาจทำให้ประชาชนบางส่วนไม่สามารถเข้าถึงช่องทางนี้ได้ 

ในที่ประชุมของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายยังเห็นว่า ประชาชนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายควรมีหน้าที่เพียงระบุหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ก็เพียงพอโดยไม่ต้องแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือเอกสารอื่น เพราะจะก่อปัญหาในด้านต้นทุนค่าใช้จ่าย ความไม่สะดวก เป็นการลดทอนโอกาสในการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน

ในที่ประชุมยังกล่าวถึงบทบาทของหน่วยงานของรัฐ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และกองทุนพัฒนาภาคพลเมือง เข้ามาสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเห็นว่าประชาชนควรมีสิทธิเสนอให้กกต. ช่วยเหลือประชาชนเรื่องการระดมรายชื่อให้ครบ เพราะเป็นหน่วยงานที่มีฐานข้อมูล มีเครื่องมือและความเชี่ยวชาญในการจัดการอยู่แล้ว และควรมีสิทธิขอให้กองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองเข้ามาสนับสนุนค่าใช้จ่าย ในกระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายด้วย

สำหรับเรื่องเงื่อนเวลาในการทำงานของภาครัฐนั้น คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเห็นว่า ร่างนี้น่าจะกำหนดด้วยว่า การพิจารณาร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะ เวลาที่กำหนด เช่น ไม่เกินสองสมัยประชุม และกำหนดว่าร่างกฎหมายของภาคประชาชนควรได้รับการพิจารณาโดยเร็วไม่ว่าจะมี ร่างของรัฐบาลมาประกบหรือไม่ก็ตาม

สำหรับประเด็นที่ถือเป็นเรื่องใหม่ที่สุด คือการกำหนดโทษจำคุกไว้ในร่างกฎหมายนี้ด้วยนั้น คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเห็นว่า ไม่ควรกำหนดฐานความผิดและบทลงโทษ เนื่องจากการเข้าชื่อเสนอกฎหมายเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ หากมีการแสดงเอกสารเท็จก็มีโทษตามประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้ว และการปลอมแปลงเอกสารเพื่อเสนอกฎหมายก็ไม่ได้เป็นการรอนสิทธิบุคคลใดจึงต้อง มีโทษทางอาญา

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของชาติยื่นสอบ ร.ร.เสื้อแดง

Posted: 14 Aug 2012 04:21 AM PDT

ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของชาติระบุ ร.ร.เสื้อแดง เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ เดินหน้ายื่นหนังสือถึงนายกฯ ผ่านทางปลัด ศธ.ขอให้ดำเนินคดีกับ “สุชาติ” ครูใหญ่ ร.ร.เสื้อแดง ฐานผิดรัฐธรรมนูญ ทำธุรกิจด้านการศึกษาซ้ำซ้อนกับตำแหน่ง รมว.ศธ.และตรวจสอบ “ธิดา ถาวรเศรษฐ์” ผู้จัดการ ร.ร.เสื้อแดง มีตั๋วครูหรือไม่ 
 
14 ส.ค. 55 - เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของชาติ (ภตช.) เปิดเผยว่า ได้ยื่นหนังสือผ่าน น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ไปถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับ ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กรณีแสดงตัวเป็นครูใหญ่/ผู้อำนวยการ ร.ร.เสื้อแดง อย่างเปิดเผย ทั้งนี้ เพราะรัฐธรรมนูญห้ามไม่ให้รัฐมนตรีทำธุรกิจด้านการศึกษาซ้ำซ้อน แต่โรงเรียนเสื้อแดงนั้น เข้าข่ายเป็น ร.ร.เอกชน การที่ ศ.ดร.สุชาติ แสดงตัวต่อหน้าสื่อว่าเป็นครูใหญ่ ร.ร.เสื้อแดง จึงอาจเข้าข่ายมีธุรกิจซ้ำซ้อน
       
“มีประเด็นด้วยว่า ร.ร.เสื้อแดงจัดตั้งถูกต้องตามกฎหมาย ร.ร.เอกชนหรือไม่ เพราะเท่าที่รู้ไม่ได้มีการขออนุญาตจัดตั้งอย่างถูกต้องมายัง ศธ.และไม่สามารถปฏิเสธในเชิง ว่า ร.ร.เสื้อแดงเป็นแค่การรวมกลุ่มให้ความรู้ ไม่ได้อยู่สถานะ ร.ร.อย่างเต็มตัว เพราะทุกอย่างที่นำเสนอออกมา ทำให้สังคมเข้าใจว่า ร.ร.เสื้อแดงมีสถานภาพเป็นโรงเรียน มีการเก็บค่าเทอม ค่าธรรมเนียมจากผู้เรียน และมีการแจกใบประกาศนียบัตรให้กับผู้เรียนด้วย โดยมี ศ.ดร.สุชาติ เป็นผู้เซ็นรับรองในใบประกาศนียบัตรดังกล่าว” นายมงคลกิตติ์ กล่าว
       
เลขาธิการ ภตช.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ขอให้ตรวจสอบการจัดตั้ง ร.ร.เสื้อแดง ว่า มีใบอนุญาตจัดตั้งถูกต้องหรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบด้วยว่า นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธาน นปช.ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็น ผู้จัดการ ร.ร.เสื้อแดง มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษาถูกต้องหรือไม่ ขณะเดียวกัน ขอเรียกร้องให้ยกเลิกการแต่งตั้ง นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธาน นปช. นายวรพล พรหมิกบุตร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านนโยบายและแผนการ นายไกรสิน โตทับเที่ยง อดีตผู้สมัคร ส.ส.ตรัง พรรคไทยรักไทย (พท.) นายสมาน เลิศวงศ์รัฐ อดีตนายทะเบียนพรรคไทยรักไทย และนายสิงห์ทอง บัวชุม อดีตผู้สมัคร ส.ส.พท.เขตบางกะปิ กทม.เป็นคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา (สกศ.) และเสนอให้ นายธีนพัฒน์ คำคูบอน กรรมการคุรุสภา นายประแสง มงคลศิริ อดีตที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ และ นายมงคลกิตติ์ มาดำรงตำแหน่งอนุกรรมการสภาการศึกษาแทน
       
“จริงอยู่ว่า คุณประแสง คุณธีรพัฒน์ และผมก็เป็นเสื้อแดง เหมือนกัน แต่พวกผมเป็นเสื้อแดงรักกษัตริย์ แต่หลายคนที่ได้รับการแต่งตั้งจาก ศ.ดร.สุชาตินั้น เป็นแดงล้มกษัตริย์อย่างชัดเจน อย่าง รศ.ดร.วรเจตน์ ซึ่งเป็นคนเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 112 หรืออย่างคุณธิดานั้น ทั้งตัวเขาเอง และลูกน้อง นปช.ของเขาทุกคนล้วนแต่ถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หากให้คนเหล่านี้มาเป็นอนุกรรมการของ สกศ.อาจเข้ามาเปลี่ยนแปลงหลักสูตร การจัดศึกษาให้คนไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จริงๆ แล้ว คนเสื้อแดงส่วนใหญ่ประมาณ 99% เป็นแดงที่จงรักภักดีต่อกษัตริย์ แต่ 1% ที่ไม่เอากษัตริย์นั้น เป็นพวกที่มีบทบาท เป็นแกนนำควบคุมเสื้อแดงทั้งประเทศ และคอยเสี้ยมสอนให้คนไม่จงรักภักดี โดยเฉพาะ ร.ร.เสื้อแดงนั้น เนื้อหาที่สอนจริงๆ คือ ชักจูงให้คนไปเป็นคอมมิวนิสต์ เพราะคนพวกนี้ส่วนใหญ่เคยเป็นคอมมิวนิสต์จีนมาก่อน จึงมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นคอมมิวนิสต์ตามแนวทางการปฏิวัติของประชาชนแบบเหมาเจ๋อตุง ต้องการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ บอกได้เลยว่า ร.ร.เสื้อแดงนี้ เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ” นายมงคลกิตติ์ กล่าว
       
ด้าน รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สิ่งที่ นปช.ใช้ปลุกระดมคนนั้น อิงอยู่บนทฤษฎีมาร์กซิสต์ ซึ่งแบ่งสังคมออกเป็นชนชั้นต่างๆ และเน้นการต่อสู้ทางชนชั้น แต่ ร.ร.เสื้อแดง ปรับทฤษฎีมาร์กซิสต์ คลาสสิก ให้เป็นนีโอ มาร์กซิสต์ (Neo-Marxism) จะไม่ใช้วิธีคิดแบบเศรษฐศาสตร์ แต่จะใช้วิธีคิดแบบการศึกษาเป็นตัวหล่อหลอม เพราะฉะนั้น ร.ร.เสื้อแดง จะใช้ทฤษฎีนี้ในการหล่อหลอม และสร้างอุดมการณ์ ปลุกระดมคน โดยใช้เนื้อหาสังคมนิยม แต่อิงประชาธิปไตย วิธีการของโรงเรียน นปช.จะสอดแทรกในเรื่องของความแตกต่าง ชนชั้น มีชุดวาทกรรมที่ชัดเจน เช่น คนรวย คือชนชั้นนายทุน ขุนศึก คือ ทหาร อำมาตย์ ส่วน กรรมกร ชาวนา คือ ไพร่
       
อย่างไรก็ตาม การใช้การศึกษาเป็นตัวสร้างมวลชน จะเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น โรงเรียน นปช.ที่เปิดหลักสูตร 2-3 วันจะสอนเกี่ยวกับ ประวัติศาสตร์การต่อสู้เรื่องชนชั้น มีเรื่องเอาทฤษฎีเหมาเจ๋อตุง มาประกอบ คือ การปฏิวัติโดยประชาชน จะอิงอยู่ 3 ส่วน คือ มีส่วนของพรรค ส่วนของกองทัพ และส่วนของมวลชน ครบทั้ง 3 ส่วน ซึ่งรวมทั้ง นีโอ มาร์กซิสต์ เหมา และ เชกูมารา คือ พวกสังคมนิยม ซึ่งจะใช้เวลาการอบรมเพียงครึ่งวัน จากนั้นก็การระดมคน ไปหากำลังคน จาก 1 เป็น 3 จาก 3 กลายเป็น 9 เมื่อได้สมาชิกมาแล้ว ก็จะเปิดอบรมตามโรงแรม รีสอร์ต และโรงเรียน หลักสูตร เป็นหลักสูตรนีโอ มาร์กซิสต์ ทั้งนั้น
       
“เมื่อก่อนเราต้องการต่อต้านการปฏิวัติรัฐประหาร ต่อต้านเผด็จการ แต่ขณะนี้สิ่งที่มวลชนเข้าไปหาเขา เพราะชาวบ้านได้รับความอยุติธรรม เพราะเขาโดนเอารัดเอาเปรียบ เป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากที่รัฐดำเนินการมา เขาได้รับการปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน พวกนายทุนขุนศึก เขาจะอินกับอุดมการณ์มาก ซึ่งโรงเรียน นปช.ได้ดำเนินการมานานแล้ว ตั้งแต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ท่านอภิสิทธิ์ยังไม่รู้เลยว่ามีการปลุกระดมลักษณะอย่างนี้ ตอนนี้กำลังเข้ามาในกรุงเทพฯแล้ว” รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วุฒิสมาชิกเลือก "นิคม ไวยรัชพานิช" เป็นประธานวุฒิสภาคนใหม่

Posted: 14 Aug 2012 01:08 AM PDT

มติชนออนไลน์ รายงานว่า ที่ประชุมวุฒิสภา ลงมติ 77 คะแนน ให้นายนิคม ไวยรัชพานิช ส.ว. จ.ฉะเชิงเทรา รองประธานวุฒิสภา เป็นประธานวุฒิสภาคนใหม่ ขณะที่ผู้ถูกเสนอชื่ออีกคนคือ นายพิเชต สุนทรพิพิธ ส.ว. ระบบสรรรหา ได้ 69 คะแนน โดยขั้นตอนต่อจากนี้เลขาธิการวุฒิสภาจะมีหนังสือแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อนำความกราบบังคมทูลต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มอนุรักษ์อุดรฯ จัดกิจกรรมลดโลกร้อนวันแม่ พ่วงทอดผ้าป่าต้านเหมืองโปแตช

Posted: 14 Aug 2012 12:59 AM PDT

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จูงแขนลูกหลานจัดกิจกรรม ปั่นจักรยาน ปลูกป่า ลดปัญหาโลกร้อน “ วันแม่แห่งชาติ” คึกครื้นทอดผ้าป่าระดมทุนต้านเหมืองโปแตช

 
 
วันที่ 12 ส.ค.55 เวลา 09.00 น.ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี พร้อมด้วยเยาวชนในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช ประมาณ 100 คน จัดกิจกรรมปั่นจักรยานรณรงค์ “คนหัวใจสีเขียว ปั่น ปลูก ป่า ลดปัญหาโลกร้อน” เนื่องในวันแม่แห่งชาติ โดยเริ่มปั่นตั้งแต่บริเวณปากทางเข้าหมู่บ้านโนนสมบูรณ์ ติดถนนมิตรภาพอุดร-ขอนแก่น ผ่านหมู่บ้านป่าก้าว บ้านอีทุย ไปสิ้นสุดที่วัดอรุณธรรมรังษี บ้านโนนสมบูรณ์ ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี เพื่อร่วมกันทอดผ้าป่าระดมทุนต้านภัยเหมืองแร่โปแตช และปลูกต้นไม้บริเวณหนองบึงกุง รวมระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร
 
บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักตั้งแต่เช้า โดยผู้เข้าร่วมขบวนต่างสวมเสื้อเขียวรณรงค์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และนำธงกระดาษสีเขียวมีข้อความว่า “ค้านประทานบัตรเหมืองโปแตช” มาติดประดับรถจักรยาน ระหว่างสองข้างทางก็มีชาวบ้านออกมาให้กำลังใจ และนำน้ำดื่มมาให้ตลอดเส้นทาง
 
 
เวลาประมาณ 11.00 น. กลุ่มชาวบ้านได้ร่วมกันทอดผ้าป่า จากชาวบ้านจำนวน 26 หมู่บ้าน ทำต้นเงินสมทบทุน ร่วมกับผ้าป่าจากต่างประเทศ รวมยอดเงินได้รับ 49,378 บาท เมื่อเสร็จพิธีจึงปั่นจักรยานต่อไปปลูกต้นไม้ตามลำดับ
 
นางมณี บุญรอด กรรมการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ต.ห้วยสามพาด กล่าวว่า การทำผ้าป่าครั้งนี้ เนื่องจากว่าเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ไปชุมนุมที่หน้า กพร. (กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) กรุงเทพฯ เพื่อติดตามการคัดค้านประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ทำให้กองทุนที่กลุ่มสะสมมาจากงานบุญกุ้มข้าวใหญ่ในทุกๆ ปี ขาดเขินลงไปมาก พี่น้องกลุ่มอนุรักษ์ฯ จึงเห็นชอบร่วมกันว่าควรจัดทำผ้าป่าขึ้น
 
“รู้สึกภูมิใจที่เห็นพี่น้องออกมาร่วมกิจกรรมกันอย่างคึกคัก ถึงแม้ว่าอยู่ในช่วงของการทำนา แต่ชาวบ้านในหลายหมู่บ้านก็ยังเห็นความสำคัญ ประกอบกับมีสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ฯ ไปทำงานที่ประเทศไต้หวันได้ทำผ้าป่ามาร่วม ส่วนจำนวนเงินที่ได้อาจจะไม่มากนักแต่มันมีคุณค่ายิ่ง สำหรับการต่อสู้กับเหมืองโปแตชที่มีทุนหลายล้าน” นางมณีกล่าว
 
 
ด้านน.ส.รัชนี ประสมศรี ประธานกลุ่มเยาวชนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า รู้สึกดีที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม และเห็นความสามัคคี ร่วมแรง ร่วมใจของเยาวชนกับผู้ใหญ่ ซึ่งก็อยากให้มีกิจกรรมดีๆ อย่างนี้อีกต่อไป เพื่อให้คนอื่นเข้าร่วมมากๆ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการติดต่อสื่อสารกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งทางเฟสบุ๊คและโทรศัพท์ เพื่อเชิญชวนให้มาร่วมกิจกรรม เช่น การทำนารวม บุญกุ้มข้าวใหญ่ และการรณรงค์คัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น