โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

กลุ่มญาติคนงานเหมืองแอฟริกาใต้ ชุมนุมหลังเหตุคนงานปะทะตำรวจ

Posted: 18 Aug 2012 12:33 PM PDT

ครอบครัวของคนงานเหมืองแร่บริษัทลอนมินในแอฟริกาใต้ชุมนุมแสดงความไม่พอใจและเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เปิดเผยรายชื่อเหยื่อในเหตุการณ์ปะทะระหว่างตำรวจกับคนงานเหมืองแร่ที่หยุดงานประท้วงจนมีผู้เสียชีวิต 34 ราย

18 ส.ค. 2012 - สำนักข่าว BBC รายงานว่า มีครอบครัวของคนงานเหมืองแร่ในอเมริกาใต้ออกมาชุมนุมแสดงความไม่พอใจและเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เปิดเผยรายชื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ หลังเกิดเหตุคนงานถูกตำรวจยิงขณะหยุดงานประท้วงเมื่อ 2 วันก่อน จนมีผู้เสียชีวิต 34 ราย และได้รับบาดเจ็บ 78 ราย มี 200 รายถูกจับกุม โดยเหตุเกิดที่เหมืองแร่แพลตตินั่มในเมืองมารีคานา มีเจ้าของคือบริษัทลอนมิน

ขณะเดียวกันกลุ่มคนงานเหมืองแร่กว่าพันคนก็ส่งเสียงเชียร์ผู้นำเยาวชน จูเลียส มาเลมา ที่เรียกร้องให้ประธานาธิบดีลาออกหลังเกิดเหตุการปะทะดังกล่าว โดยมาเลมาบอกว่า ปธน. ซูมา มีส่วนรับผิดชอบกับวิธีการจัดการกับผู้ชุมนุมของตำรวจ

เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี จาคอบ ซูมา ก็ได้ลงไปดูพื้นที่เกิดเหตุซึ่งห่างออกไปราว 100 กม. ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงโจฮันเนสเบิร์ก และสั่งให้มีการสิบสวนเหตุรุนแรงดังกล่าว โดยบอกว่าการที่มีคนเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้เป็นเรื่อง 'โศกนาฏกรรม'

ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าอะไรทำให้ตำรวจตัดสินใจยิงใส่ผู้ชุมนุม แต่มีผู้เห็นเหตุการณ์อ้างว่ามีการยิงใส่ผู้ชุมนุมหลังจากที่ผู้ชุมนุมซึ่งส่วนหนึ่งถือกระบองและมีดมาเชทพุ่งเข้าหาตำรวจ ทำให้ตำรวจซึ่งมีอาวุธปืนกลและปืนพกยิงใส่ผู้ชุมนุมหลายสิบนัด

โธ คองคี ผู้สื่อข่าวจจากสถานีวิทยุ 702 ของแอฟริกาใต้ รายงานจากพื้นที่ว่ามีกลุ่มผู้หญิงที่ไปตรวจดูตามโรงพยาบาลและห้องดับจิตในย่านนั้นเพื่อตามหาญาติของพวกเขา แต่ก็ไม่เจอ 

โฆษกตำรวจ รตอ. เดนนิส แอดดริโอ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่กำลังใช้ฐานข้อมูลของบริษัทเหมืองแร่เพื่อติดต่อกับญาติของผู้ที่ถูกสังหาร, ได้รับบาดเจ็บ และถูกจับกุม แต่ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง

จูเลียส มาเลมา ผู้นำเยาวชนที่กล่าวโทษ ปธน.ซูมา ก่อนหน้านี้เคยเป็นคนสนิทของปธน. ก่อนที่จะถูกไล่ออกจากพรรคสภาแห่งชาติแอฟริกัน เขายังเป้นผู้เสนอให้มีการเข้าควบคุมกิจการเหมืองแร่โดยรัฐอีกด้วย

 

การชุมนุมขอขึ้นค่าจ้าง

การนัดหยุดงานชุมนุมของคนงานเหมืองแร่มาจากการที่พวกเขาต้องการให้ขึ้นค่าจ้างจากเดิม 4,000-5,000 แรนด์ (ราว 15,000 - 18,000 บาท) เป็น 12,500 แรนด์ (ราว 45,000 บาท) 

หนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านี้ข้อพิพาทเรื่องค่าจ้างเลวร้ายลงเหตุจากความขัดแย้งระหว่างสหภาพแรงงานที่เป็นอริกัน และเหตุดังกล่าวที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 10 ราย รวมถึงตำรวจ 2 ราย

แอฟริกาใต้เป็นประเทศที่ผลิตแพลตตินั่มรายใหญ่ของโลกและข้อพิพาทดังกล่าวก็ส่งผลกระทบต่อการผลิต 

บริษัทลอนมินเจ้าของเหมืองในเมืองมารีคานา เป็นผู้ผลิตแพลตตินั่มรายใหญ่เป็นอันดับสามของโลก ก่อนหน้านี้เคยมีการพิพาทแรงงานมาก่อน โดยในปี 2011 บริษัทได้สั่งปลดคนงานราว 9,000 คน โดยอ้างว่าพวกเขากระทำการเชิงแรงงานที่ไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฏหมาย (Unprotected industrial action) แต่ต่อมาลอนมินและสหภาพคนงานเหมืองแร่แห่งแอฟริกาใต้ (NUM) ก็บอกว่าพวกเขาถูกส่งกลับเข้าทำงานอีกครั้ง

ไซมอน สก็อต ประธานฝ่ายการเงินของบริษัทลอนมิน บอกว่าพวกเขานักหยุดงานประท้วงอย่างผิดกฏหมาย และไม่อาจควบคุมสถานการณ์ได้

"พวกเรามีสัมพันธภาพที่ดีกับสหภาพแรงงานของเรามาก่อน สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาถือเป็นความเสียหายด้านความสัมพันธ์ แต่พวกเราก็ให้ความสำคัญกับการสานความสัมพันธ์กลับมาเหมือนเดิม" สก็อตกล่าว

 

ที่มา: South Africa Lonmin killings: Anger over missing miners, BBC, 18-08-2012 http://www.bbc.co.uk/news/world-africa-19305698

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สื่อเกาหลีใต้รายงาน ทักษิณหารือโครงการป้องกันน้ำท่วม

Posted: 18 Aug 2012 11:46 AM PDT

KBS สถานีโทรทัศน์ของเกาหลีใต้รายงานว่าวานนี้ (18 ส.ค.) พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย เดินทางถึงเกาหลีใต้เพื่อเยี่ยมชมและศึกษาเกี่ยวกับโครงการป้องกันน้ำท่วม

เดลินิวส์ รายงานคำสัมภาษณ์ของนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ส.ค.เปิดเผยว่า ขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เดินทางออกจากเกาะฮาวาย สหรัฐอเมริกาและเดินทางไปยังประเทศเกาหลีใต้แล้ว จากนั้นจะเดินทางไปประเทศจีนซึ่งจะใช้เวลาพำนักที่จีนระยะหนึ่งเพื่อพบปะพูดคุยกับเพื่อนนักธุรกิจ ซึ่งน่าจะมีบางส่วนที่สนใจการลงทุนในประเทศไทย ทั้งนี้การเดินทางออกจากสหรัฐของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นไปตามแผนการเดินทางที่มีอยู่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงหรือทางการสหรัฐขอให้เดินทางออกนอกประเทศอย่างที่มีข่าวลือแต่อย่างใด

ทักษิณ ชินวัตร เคยเยือนสาธารณรัฐเกาหลีใต้โดยระบุว่าเป็นการเยือนเพื่อศึกษาโครงการป้องกันน้ำท่วมของเกาหลีเมื่อเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว โดยครั้งนั้นพำนักอยู่ในเกาหลีเป็นเวลา 3 วัน
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

SIU: ปัญหาของการลดเพดานประมูลคลื่น 3G จาก 20MHz เหลือ 15MHz

Posted: 18 Aug 2012 11:21 AM PDT

หมายเหตุ: ผู้เขียนเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่ย่าน 2.1GHzเพื่อรองรับเทคโนโลยี IMT-2000 หรือ IMT Advanced ของ กสทช. ซึ่งมีส่วนร่วมต่อการร่างประกาศกฎเกณฑ์การประมูล 3G ฉบับนี้ อย่างไรก็ตามผู้เขียนไม่ได้มีส่วนร่วมกับการตัดสินใจในระดับของ กทค.

 

ข่าวการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติปรับแก้หลักเกณฑ์การประมูลคลื่น 3G 2.1GHz จากร่างฉบับเดิมที่รับฟังความคิดเห็นต่อสาธารณะ (เอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นต่อประกาศฉบับร่าง จากเว็บไซต์ กสทช.) โดยลดเพดานการถือครองคลื่นสูงสุดจากเดิมที่อนุญาตให้ผู้เข้าร่วมประมูลสามารถยื่นประมูลได้สูงสุดรายละ 20MHz ลงมาเหลือ 15MHz ซึ่ง พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และประธาน กทค. ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่าเหตุผลเป็นเพราะป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งได้คลื่นเพียง 5MHz ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของการให้บริการ (อ้างอิงจากเดลินิวส์)

ผู้เขียนคิดว่าการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของเกณฑ์การประมูลในครั้งนี้ มีผลเสียต่อการสร้าง “สภาวะการแข่งขัน” ของการประมูลเป็นอย่างมาก และผิดจากเจตนารมณ์เดิมของประกาศฉบับร่างที่ออกแบบเงื่อนไขนี้ขึ้นมาเพื่อสร้างการแข่งขันระหว่างผู้เข้าร่วมประมูล


ใจความสำคัญของร่างประกาศเดิม

ปัญหาของการประมูล 3G ในครั้งนี้อยู่ที่ปริมาณคลื่นที่ว่างอยู่ 45MHz และนำมาจัดสรรนั้นเพียงพอสำหรับ “ว่าที่ผู้เข้าประมูล” ซึ่งก็ได้แก่โอเปอเรเตอร์รายใหญ่ของไทยทั้ง 3 รายพอดี

ถึงแม้การประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้จะเปิดกว้างให้บริษัทใดๆ ก็ได้ (ที่ผ่านคุณสมบัติพื้นฐานตามที่ กสทช. กำหนด เช่น มีสถานะเป็นบริษัทไทย มีเงินประกันตามจำนวนที่ระบุ) แต่ถ้าพิจารณาจากสภาวะการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมไทยปัจจุบัน ต้องยอมรับว่ามีบริษัทที่มีศักยภาพต่อการประมูลในระดับนี้เพียง 3 รายคือ AIS, DTAC และ TRUE เท่านั้น

สภาวะตลาดโทรคมนาคมไทยถือว่าอิ่มตัวมากแล้ว มีจำนวนหมายเลขโทรศัพท์มากกว่าจำนวนประชากร ดังนั้นการฝันเห็นบริษัทโทรคมนาคมในระดับนานาชาติเข้ามาร่วมประมูลคลื่น 3G ด้วยย่อมเป็นไปแทบไม่ได้เลย (และในการประมูล 3G ในปี 2553 ที่ถูกล้มไป ทางคณะกรรมการ กทช. ในสมัยนั้นได้เดินทางโร้ดโชว์ไปยังบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของโลกหลายแห่ง แต่ไม่ได้รับความสนใจจากบริษัทใดเลย) ส่วนบริษัทกึ่งรัฐวิสาหกิจอย่าง TOT และ CAT เองก็มีคลื่น 3G ให้บริการอยู่แล้วในปัจจุบัน ถึงแม้ในกฎการประมูลจะไม่ได้ห้ามทั้งสองบริษัทนี้เข้าร่วมการประมูล แต่พิจารณาจากแรงจูงใจและข้อจำกัดด้านการลงทุนของบริษัททั้งสอง จึงแทบเป็นไปไม่ได้เช่นกันว่าเราจะเห็น TOT หรือ CAT เข้ามาร่วมประมูลด้วย

ในทางเทคนิคแล้ว การให้บริการคลื่น 3G แก่ผู้ใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ ควรมีความกว้างคลื่นอยู่ระหว่าง 10-20MHz (ปัจจุบัน AIS ให้บริการ 3G บนความถี่เดิม 900MHz โดยใช้คลื่นกว้างเพียง 5MHz ซึ่งประสบปัญหาด้านคุณภาพการให้บริการเป็นอย่างมาก) และข้อมูลจากประเทศอื่นๆ ที่เปิดให้บริการ 3G พบว่าส่วนใหญ่ได้รับการจัดสรรคลื่นอยู่ที่ 15MHz

ดังนั้นเมื่อมีคลื่นอยู่ 45MHz และมีบริษัทที่มีศักยภาพประมูลเพียงแค่ 3 ราย การหารเท่าแล้วนำคลื่นไปใช้งานรายละ 15MHz จึงทำให้อุปสงค์เท่ากับอุปทานพอดี จึงไม่เกิดการแข่งขันระหว่างผู้เข้าร่วมประมูลด้วยกัน ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า พ.ร.บ. กสทช.) มาตรา 45 ที่ระบุให้จัดสรรคลื่นด้วยการประมูล
 

กฎ N-1 ของ กทช.
สภาพการแข่งขันของตลาดโทรคมนาคมไทยลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในการประมูลเมื่อ พ.ศ.2553 ทางคณะกรรมการ กทช. ในสมัยนั้นแก้ปัญหาโดยออกกฎที่เรียกกันว่า N-1 หรือการลดใบอนุญาตลง 1 ใบในกรณีมีผู้เข้าร่วมประมูลเพียง 3 ราย (ใบอนุญาต 1 ใบให้คลื่น 15MHz) เพื่อให้อุปทานน้อยกว่าอุปสงค์ และเกิดการประมูลแข่งขันกันเพื่อชิงใบอนุญาต 2 ใบจากผู้เล่น 3 ราย

ถึงแม้กฎ N-1 จะช่วยเพิ่มการแข่งขันในการประมูลได้ แต่การลดใบอนุญาตลักษณะนั้นก็มีปัญหาด้านอื่น นั่นคือใบอนุญาตอีก 1 ใบที่เหลือจะนำมาเปิดประมูลอีกครั้งในภายหลัง ทำให้บริษัทที่สามเสียเปรียบเรื่องการแข่งขัน เนื่องจากเปิดให้บริการช้ากว่าคู่แข่งอีก 2 รายไปถึง 6 เดือนหรือ 1 ปี
 

กฎการซอยบล็อคย่อยของร่างประกาศ กสทช.
ในการร่างกฎเกณฑ์การประมูลครั้งนี้ ทางคณะอนุกรรมการฯ จึงปรับแก้เงื่อนไขที่สร้างสภาพการแข่งขันเสียใหม่ โดยแทนที่จะลดจำนวนใบอนุญาตลง ก็เปลี่ยนมาใช้วิธีปรับขนาดของความถี่ไม่ให้ตายตัวที่ 15MHz แต่เลือกซอยเป็นบล็อคย่อย 9 บล็อค บล็อคละ 5MHz แทน แล้วให้ผู้เข้าร่วมประมูลเลือกประมูลเป็นจำนวนบล็อคแทน

อธิบายง่ายๆ ว่ากฎเกณฑ์เดิมของ กทช. ให้ผู้เข้าร่วมประมูลแข่งกันว่าใครจะได้หรือไม่ได้ใบอนุญาตขนาด 15MHz เปลี่ยนมาเป็นการแข่งกันว่าใครจะได้รับช่วงคลื่นเยอะกว่ากัน แต่เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งกวาดคลื่นไปเยอะจนเกินควร ทางคณะอนุกรรมการฯ จึงเพิ่มเงื่อนไขเป็นเพดาน (ceiling) ว่า ประมูลได้สูงสุดเพียง 4 บล็อค หรือ 20MHz เท่านั้น

ดังนั้นผลลัพธ์ของการประมูลที่เป็นไปได้จึงมีตั้งแต่

  • 15MHz-15MHz-15MHz (ทุกรายได้คลื่นไปเท่ากันหมด)
  • 20MHz-15MHz-10MHz
  • 20MHz-20MHz-5MHz

กรณีแรกเป็นกรณีที่แย่ที่สุด (worst case) เพราะไม่เกิดการแข่งขันในการประมูล แต่เป็นกรณีที่ผู้ประกอบการต้องการมากที่สุด (เพราะราคาประมูลจะไม่สูงจนเกินไป)

กรณีที่สองเป็นกรณีที่ดีที่สุด (best case) เพราะเกิดการแข่งขันชิงคลื่นขนาด 20MHz แต่ผู้แพ้รายสุดท้ายก็ได้คลื่นไม่น้อยจนเกินไปที่ 10MHz ยังให้บริการได้อย่างมีคุณภาพ

กรณีที่สามถือว่าเป็นไปได้เช่นกัน โดยรายสุดท้ายได้คลื่นไปเพียง 5MHz อาจก่อให้เกิดผลต่อคุณภาพการให้บริการได้

การประมูลโดยแบ่งเป็นบล็อคลักษณะนี้ยังถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดสถานการณ์ 15-15-15 และที่ผ่านมาหลังกฎเกณฑ์ฉบับร่างเปิดรับฟังความเห็น ผู้ประกอบการทั้งสามรายก็ประกาศชัดเจนว่าจะประมูลคลื่นเพียง 15MHz เท่านั้นเพื่อลดสภาพการแข่งขัน แต่นั่นเป็นเพียงการให้ข่าวต่อสาธารณะ ยังไม่มีอะไรการันตีว่าในการประมูลจริงจะไม่มีบริษัทใดบริษัทหนึ่ง “หักหลัง” และยื่นประมูลคลื่นขนาด 20MHz โดยมีแรงจูงใจเรื่องการถือครองคลื่นขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เป็นไปได้รองรับนั่นเอง

ดังนั้นกฎเกณฑ์การประมูลฉบับร่างที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็น ไม่ได้การันตีว่าจะไม่เกิดสถานการณ์ 15-15-15 แต่ก็เปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขันชิงคลื่นก้อนใหญ่ 20MHz ได้อยู่
 

ปัญหาในการปรับเงื่อนไขของ กทค.
การปรับลดเพดาน 20MHz ของที่ประชุม กทค. จะทำให้เกณฑ์การแข่งขันในการประมูลหมดความสำคัญลงไป เพราะเมื่อ “เพดาน” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเกณฑ์การประมูลฉบับร่าง ถูกปรับลดลงเหลือ 15MHz ตามที่ผู้ประกอบการแสดงความต้องการ ย่อมทำให้ผลลัพธ์ของการชิงคลื่นแบบ 20-15-10 หรือ 20-20-5 เป็นไปไม่ได้ตั้งแต่ต้น เรียกง่ายๆ ว่าถูกล็อกให้เกิดสถานการณ์ 15-15-15 ตั้งแต่แรกนั่นเอง

เหตุผลที่ กทค. ให้ไว้คือต้องการเลี่ยงสถานการณ์ 20-20-5 ซึ่งจะเกิดผลเสียต่อผู้ให้บริการรายสุดท้าย ไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ ซึ่งในมุมมองของผู้เขียนคิดว่านั่นเป็นประเด็นที่สำคัญรองลงไป เพราะการสร้างสภาพการแข่งขันในการประมูลเพื่อเลี่ยงสถานการณ์ 15-15-15 นั้นสำคัญมากกว่ามาก การประมูลเป็นการแข่งขันกันด้วย “กำลังเงิน” ของผู้ประกอบการทุกราย ดังนั้นถ้าผู้ประกอบการรายที่ได้คลื่นไปเพียง 5MHz มีกำลังเงินเพียงเท่านั้น ก็เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ และไม่ว่า กสทช. จะทำอย่างไร ผู้ประกอบการรายนี้ก็คงไม่มีเงินเพิ่มขึ้นจนมาประมูลแข่งได้มากกว่า 5MHz ได้อยู่ดี

ถ้าหากเงื่อนไขการประมูลเอื้อให้เกิดสถานการณ์ 15-15-15 เพียงแบบเดียว (คงไม่มีรายใดยื่นประมูล 10HMz และทิ้งคลื่นให้ว่างไปเฉยๆ 5MHz) ราคาการประมูลจะเท่ากับราคาตั้งต้น (starting price ซึ่งในกรณีนี้เท่ากับ reserved price) ผู้เข้าร่วมประมูลจะยื่นเสนอราคาเพียงรอบเดียว และได้คลื่นไปครอบครอง ไม่ต่างอะไรกับการยื่นขอรับคลื่นแล้วจ่ายค่าธรรมเนียมโดยไม่ผ่านการประมูล (ซึ่งกฎหมายไม่อนุญาตให้ทำเช่นนั้น) ถ้าเรียกด้วยภาษาปากก็อาจจะพูดได้ว่า “กสทช. ล็อกสเปกให้ฮั้วประมูล” นั่นเอง

ผลเสียที่ตามมาคือ ประเทศเสียประโยชน์จากราคาคลื่นที่ต่ำกว่าสภาพการแข่งขันในตลาด เพราะกลไกราคาไม่ทำงาน นอกจากนี้ยังเปิดช่องให้หน่วยงานต่างๆ ยื่นฟ้อง กสทช. เพื่อล้มประมูลอีกครั้งได้ (ซึ่งก็เป็นเหตุการณ์ที่ กสทช. เองก็ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นที่สุด) การประมูลคลื่น 3G ครั้งนี้ล่าช้ามานาน และเป็นการประมูลครั้งแรกของ กสทช. ที่ประชาชนฝากความหวังเอาไว้สูง ทาง กสทช. เองจึงจำเป็นต้องออกกฎเกณฑ์การประมูลให้โปร่งใส และตอบคำถามสังคมได้เป็นสำคัญ ถ้าหากว่าการประมูลครั้งนี้มีปัญหาจนถูกล้มไปแล้ว เครดิตความน่าเชื่อถือของ กสทช. อาจจะหมดไป และส่งผลต่อการดำเนินงานของ กสทช. ในอนาคตต่อไปได้

กฎเกณฑ์การประมูลฉบับร่างมีปัญหาว่าอาจออกผลลัพธ์เป็น 15-15-15 ได้ และในช่วงการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ผู้ประกอบการก็แสดงเจตนาจะยื่นข้อเสนอให้เกิดสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่ง กทค. เองควรนำข้อมูลนี้กลับไปแก้ไขไม่ให้เกิดสถานการณ์ 15-15-15 ได้ในเกณฑ์การประมูลฉบับจริง แต่ผลกลับออกมาตรงข้าม เพราะเงื่อนไขของ กทค. กลับเอื้อให้เกิดสถานการณ์ 15-15-15 เพียงอย่างเดียวแทน
 

ทางออกที่เป็นไปได้
ถ้าหากว่า กทค. มองว่าผลลัพธ์แบบ 20-20-5 เป็นปัญหาต่อผู้ให้บริการรายที่สามจริงๆ แล้วล่ะก็ ทางออกที่ตอบโจทย์ได้ทั้งสองกรณีคงเป็นการยกเลิกการประมูลแบบบล็อคไปเสีย และล็อกขนาดของใบอนุญาตให้ตายตัวที่ 20-15-10 ไปตั้งแต่ต้นเสียเลย ซึ่งเงื่อนไขแบบนี้จะช่วยแก้ปัญหาการเหลื่อมของเวลาแบบกฎ N-1 และยังรักษาสภาพการแข่งขันระหว่างผู้เข้าประมูลเอาไว้ได้ (โดยแข่งกันที่ขนาดของใบอนุญาตไม่เท่ากัน) แถมยังการันตีว่าผู้เข้าประมูลรายที่ได้คลื่นน้อยที่สุดยังได้คลื่นไป 10MHz ซึ่งถือว่าเพียงพอต่อการให้บริการในระดับสากล

 

 


//////////
หมายเหตุ:
เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.siamintelligence.com/nbtc-3g-auction-15mhz-problem/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมอตุลย์-สมศักดิ์ เจียมฯ ร่วมเวที "อึด ฮึด ฟัง" เปิดใจคุยเรื่องมาตรา 112-สถาบันฯ

Posted: 18 Aug 2012 10:58 AM PDT

 


ภาพจาก เพจ อึด ฮึด ฟัง เวทีสันติประชาธิปไตย Platform for Peaceful& Democratic Thailand

 

(16 ส.ค.55) มีการจัดสานเสวนา ประเด็น “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์...เสรีภาพในการแสดงออกและมาตรา 112” ภายใต้โครงการเวทีสันติประชาธิปไตย จัดโดยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยความร่วมมือและสนับสนุนของ โครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย และ USAID ที่ห้องประชุม ศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การเสวนาดังกล่าวมีผู้ร่วมพูดคุยจากกลุ่มต่างๆ อาทิ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มธ. ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส นสพ.เดอะเนชั่น นิธิวัต วรรณศิริ ผู้ประสานงานเครือข่ายเสรีราษฎร สมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ เครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจากมาตรา 112 พล.ท.อิสระ วัชรประทีป อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 1 พลเอกไวพจน์ ศรีนวล อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมศรี หาญอนันทสุข ผู้อำนวยการเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (มูลนิธิอันเฟรล) สกุล สื่อทรงธรรม มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย ฯลฯ

โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ให้สัมภาษณ์ว่า โครงการเวทีสันติประชาธิปไตย มีเป้าหมายต้องการให้ประชาธิปไตยของไทยเป็นแบบสันติ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ถ้ารู้จักฟังกัน ทั้งนี้ ต้องอาศัยความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ผ่านการพูดคุย เปิดใจ โดยเมื่อเข้าใจความรู้สึกกันมากขึ้นแล้ว ก็จะทำให้ไม่เกิดการกล่าวโทษกันง่ายๆ หรือสามารถช่วยแก้ไขความเข้าใจผิดให้แก่กัน ซึ่งจะสร้างสันติประชาธิปไตยได้ โดยลักษณะการพูดคุยจะเป็นแบบ "อึด ฮึด ฟัง" หมายถึง อดทน หนักแน่น และฟังอย่างตั้งใจ ทั้งนี้ ไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะต้องเปลี่ยนความคิดใคร แต่อยากให้ฟังความเห็นที่ต่างด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน

อนึ่ง ก่อนการเสวนามีการชี้แจงว่า เนื่องจากเรื่องที่พูดคุยในวันนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงขอให้ไม่มีการบันทึกเสียง รวมถึงขอให้ไม่มีการอ้างอิงคำพูดของผู้ร่วมแลกเปลี่ยน โดยช่วงเวลาพูดคุยกว่า 4 ชั่วโมง บรรยากาศเป็นไปด้วยความราบรื่น แม้จะมีการโต้แย้งกันบ้าง แต่เมื่อผู้จัดขอให้พูดทีละคน ผู้ร่วมเสวนาก็รับฟังและยินดีปฏิบัติตาม และหลังการพูดคุยมีการถ่ายรูปร่วมกันด้วย

ในงานสานเสวนาดังกล่าว มีการพูดคุยถึงปัญหาของกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่าถูกนำมาใช้เพื่อกลั่นแกล้งกันทางการเมือง กำหนดบทลงโทษที่สูงเกินไปและมีหลายมาตรฐานในการพิจารณาให้ประกันตัว นอกจากนี้ยังทำให้การแลกเปลี่ยนอย่างมีวุฒิภาวะทำไม่ได้ อย่างไรก็ตาม บางฝ่ายมองว่ามาตรา 112 ไม่ใช่ปัญหาทั้งหมด โดยปัจจุบันมีการหยิบคดีหมิ่นสถาบันฯ มาเป็นเครื่องมือรณรงค์แก้มาตรา 112 รวมถึงสร้างความเข้าใจผิดต่างๆ เกี่ยวกับสถาบันฯ ซึ่งหากมีการเชื่อและนำข้อมูลผิดๆ ไปใช้ อาจเกิดผลเสียตามมา

อย่างไรก็ตาม มีการพูดถึงข้อมูลด้านลบเกี่ยวกับสถาบันว่าแบ่งเป็นข้อมูลเท็จซึ่งควรต้องพิสูจน์ ข้อมูลที่เป็นจริงแต่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และข้อมูลที่เป็นจริงและเป็นประโยชน์สาธารณะ ซึ่งข้อมูลลักษณะนี้ไม่ควรปิดกั้น

อีกทั้งยังมีการวิจารณ์ถึงการนำเสนอข้อมูลสถาบันฯ ในด้านดีด้านเดียวโดยสื่อกระแสหลัก และปิดกั้นเว็บไซต์ที่วิจารณ์ด้วยเหตุผล ขณะที่ในโลกออนไลน์นั้นมีการถกเถียงกันเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง ซึ่งท้ายที่สุดในคดีหมิ่นฯ บางคดี สื่อก็ต้องนำเสนอข่าว แสดงให้เห็นว่าเรื่องเหล่านี้ไม่มีทางปิดกั้นได้ นอกจากนี้ยังมีการตั้งคำถามด้วยว่าเวลาพูดถึงสถาบันกษัตริย์นั้น มองในลักษณะปัจเจกบุคคลหรือองค์กร

แนวทางแก้ปัญหามาตรา 112 มีการเสนอว่าศาลฎีกาต้องวางบรรทัดฐานในการตีความมาตรา 112 โดยจำกัดเฉพาะเรื่องของความมั่นคงของรัฐเท่านั้น ส่วนคนที่ใช้คำพูดดูหมิ่นก็ยังมีกฎหมายอื่นจัดการได้ อย่างไรก็ตาม มีการแย้งว่าการตีความของศาลนั้น ในต่างประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา เกิดจากหลักการที่ยึดถือร่วมกันคือ The Bill of Rights ไม่ได้ผูกกับสถาบันใด ขณะที่ของไทยยังไม่มี

นอกจากนี้ยังมีการถกเถียงเรื่องการรายงานข่าวของนิตยสารฟอร์บส์ ที่รายงานว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงร่ำรวยที่สุดในโลก สถานะของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และเงินบริจาค โดยบ้างยกข้อกฎหมาย บ้างยกข้อมูลจากการค้นคว้ามาอ้างอิง

อย่างไรก็ดี มีการเสนอว่า ปัญหาทุกวันนี้ ไม่ใช่แก้มาตรา 112 แล้วจะจบ แต่สังคมไทยควรจะหาคำตอบว่าจะจัดวางที่ทางของสถาบันกษัตริย์อย่างไร เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น มีการเสนอให้สร้างบรรทัดฐานการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ แบบเดียวกับที่วิจารณ์นักการเมือง โดยชี้ว่าในสังคมสมัยใหม่ที่ทุกคนคิดด้วยตัวเอง เกิดการตัดต่อภาพล้อเลียน คงไม่มีใครหยุดได้แล้ว ขณะเดียวกัน มีการแย้งว่า การเสนอในลักษณะนี้ควรต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพราะเกรงจะมีผลเสียตามมา อีกทั้งมีการถกเถียงถึงจังหวะเวลาในการแก้ปัญหา โดยมีทั้งฝ่ายที่มองว่าควรรีบแก้ไขก่อนเกิดการนองเลือด และฝ่ายที่มองว่าควรค่อยเป็นค่อยไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ถือศีลอดแล้วก็ต้องจ่ายซะกาต ตัวอย่างการจัดการที่มัสยิดกลางปัตตานี

Posted: 18 Aug 2012 05:09 AM PDT

สัมภาษณ์นายยะโก๊ป หร่ายมณี อิหม่ามมัสยิดกลางปัตตานี ตัวอย่างการจัดการซะกาตหรือทานบังคับของมุสลิม หลักการอิสลามที่อยู่ถัดจากการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน
 
 
จ่ายซะกาต - ชาวบ้านตะบิงติงงี อ.มายอ จ.ปัตตานี พากันมาจ่ายซะกาต หรือ ทานบังคับสำหรับมุสลิมในช่วงสุดท้ายของเดือนรอมฎอน ที่มัสยิดประจำหมู่บ้าน (ภาพถ่ายโดย ฮัสซัน โตะดง)
 
เมื่อถือศีลอดแล้วก็ต้องบริจาค นั่นคือหลักการถัดมาหลังจากการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิม ก็คือการบริจาคที่เป็นภาคบังคับหรือทำทานบังคับ ที่เรียกว่า “ซากาต” เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้มีสิทธิรับซะกาตต่อไปนั่นเอง
 
ในช่วงปลายๆ ของเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม ในทุกมัสยิดจึงมีสิ่งผิดสังเกตเพิ่มขึ้นมา นั่นคือถุงข้าวสารที่ตั้งกองพะเนินอยู่ เพื่อรอจำหน่ายให้สัปบุรุษมาซื้อแล้ว นำไปจ่ายซะกาต โดยมอบหมายให้คณะกรรมการมัสยิดเป็นผู้นำไปแจกจ่าย
 
ที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ก็เช่นกัน ตั้งแต่คืนวันที่ 16 สิงหาคม 2555 เป็นต้น ชาวบ้านต่างทยอยเดินทางมารอซื้อข้าวสารและรอจ่ายซะกาตกันอย่างคึกคัก ซึ่งบรรยากาศจะเป็นเช่นนี้ต่อไปจนถึงวันสิ้นสุดการถือศีลอด หรือวันอีดิ้ลฟิตรี อันเป็นวันฉลองการสิ้นสุดการถือศีลอดหรือวันฮารีรายอนั่นเอง
 
หะยียะโก๊ป หรือ นายยะโก๊ป หร่ายมณี อิหม่ามประจำมัสยิดกลางปัตตานี บอกว่า ซะกาติมี 2 ประเภท ได้แก่ ซะกาตมาล หรือซะกาตทรัพย์สินจากการทำธุรกิจ เป็นซะกาตที่เกี่ยวข้องกับรายได้ ซึ่งเมื่อครบ 1 ปี โดยจะต้องจ่ายในอัตราร้อยละ 2.5 ต่อปี
 
ส่วนซะกาตประเภทที่ 2 คือ ซะกาตฟิตเราะฮ์ ความหมายคือ ความสะอาดบริสุทธิ์ ซะกาตฟิตเราะฮ์เป็นซะกาตจ่ายเพื่อที่จะล้างมูลทินต่างๆในช่วงเดือนรอมฎอน หรือ เป็นซะกาตที่จะไปทดแทนในสิ่งทำให้สูญเสียผลบุญจากการถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอน แต่ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะ ซะกาตประเภทนี้บังคับสำหรับทุกคน
 
หะยียะโก๊ป ระบุต่อไปว่า สำหรับสิ่งของที่จะนำมาการจ่ายซะกาตฟิตเราะฮ์นั้น จะเน้นอาหารหลักที่เป็นของท้องถิ่นหรือสิ่งของที่ใช้การรับประทานอาหารในชีวิตประจำวัน ซึ่งในบ้านเราก็คือข้าวสารหรือแปลงเป็นเงินก็ได้
 
“ข้าวสารที่จะนำมาจ่ายซะกาต คือปริมาณคนละ 1 กันตัง (มาตรตวงชนิดหนึ่ง) หรือเท่ากับน้ำหนักข้าวสาร 2.4 กิโลกรัม ปัจจุบันมีราคาประมาณ 60 บาทต่อ 1 กันตัง”
 
สำหรับบุคคลที่มีสิทธิในการรับซะกาตมีทั้งหมด 8 จำพวก ได้แก่ 1.คนยากจน 2.คนที่อัตคัดขัดสน 3.คนที่มีหัวใจโน้มมาสู่อิสลาม (เข้ารับอิสลาม) 4.ผู้บริหารการจัดเก็บและการจ่ายซะกาต 5.ทาส 6.ผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว 7.คนพลัดถิ่นหลงทาง 8.คนที่ต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ
 
หะยียะโก๊ป ระบุว่า ในแต่ละปีมีประชาชนมาจ่ายซะกาตที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีประมาณ 1,000 กว่าคน ส่วนใหญ่จ่ายเป็นข้าวสารและเงิน แต่ละปีจะได้เงินซะกาตประมาณ 200,000 – 300,000 บาท ทางมัสยิดจะไปแจกจ่ายให้กับกลุ่มบุคคลทั้ง 8 จำพวกข้างต้น ส่วนข้าวสารที่ได้ทางมัสยิดนำไปขายเพื่อนำเงินมาแจกจ่ายแทน
 
“คณะกรรมการมัสยิดจะแจกจ่ายภายใน 2-3 วันหลังจากวันอีดิ้ลฟิตรี โดยให้ตัวแทนกลุ่มต่างๆ ในชุมชน ซึ่งมี 7 ชุมชนที่ขึ้นกับมัสยิดแห่งนี้ เช่น กลุ่มสตรี กลุ่มยุวมุสลิม ไปสำรวจบุคคลที่มีสิทธิจะได้รับซะกาตเป็นประจำทุกปี โดยปกติมัสยิดแต่ละแห่งจะมีบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิที่จะได้รับซะกาตฟิตเราะฮ์อยู่แล้ว แต่เหตุที่ต้องสำรวจทุกปี เนื่องจากบางคนอาจจะสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวได้ จนกระทั่งพ้นหลักเกณฑ์ของการรับซะกาตแล้ว”
 
แต่ละปีมีผู้ที่มีสิทธิได้รับซะกาตที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีรับผิดชอบอยู่ประมาณ 50 – 60 คน ตามบัญชีของมัสยิด เฉลี่ยแต่ละคนจะได้รับเงินซะกาตประมาณ 2,000 -3,000 บาทต่อราย
 
โดยกลุ่มบุคคลที่จะได้รับมากกว่าบุคคลอื่นๆ คือมูอัลลัฟ (คนที่มีหัวใจโน้มมาสู่อิสลามหรือผู้เข้ารับอิสลาม) ซึ่งปีนี้มีประมาณ 30 คน รองลงมาเป็นคนยากจน ส่วนคนเดินทางซึ่งมีสิทธิได้รับเงินซะกาตด้วยไม่ค่อยมี
 
หะยียะโก๊ป ยังยกตัวอย่างด้วยว่า เคยมีชาวบ้านคนหนึ่งที่คณะกรรมการมัสยิดเคยนำเงินซะกาตไปมอบให้ แล้วเขานำไปซื้อรถเข็นมาประกอบอาชีพจนสามารถสร้างตัวได้ ปัจจุบันเขากลับเป็นคนจ่ายให้ซะกาตให้คนอื่นได้แล้ว
 
บรรยากาศค่ำคืนนี้ ทุกมัสยิดก็คงจะยิ่งคึกคักขึ้นไปอีก เพราะทุกคนต่างมุ่งไปยังมัสยิดเพื่อรีบจ่ายซะกาตให้ทันก่อนถึงเวลาละหมาดอีดิ้ลฟิตรีในวันรุ่งขึ้น หากทางสำนักจุฬาราชมนตรีประกาศว่า มีผู้พบเห็นดวงจันทร์และกำหนดให้เป็นวันสำคัญทางศาสนา “อีดิ้ลฟิตรี” เพราะหากเลยเวลานั้นไปแล้ว ซะกาตจะกลายเป็นแค่การบริจาคทานธรรมดานั่นเอง
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประเดิมแจกเงินเยียวยา เลขาฯ ศอ.บต. เผยหวังยืนศักดิ์ศรี - เปลี่ยนความรุนแรงสู่สันติ

Posted: 18 Aug 2012 04:51 AM PDT

ศอ.บต. เริ่มมอบเงินเยียวแก่ผู้สูญเสียจากความไม่สงบภาคใต้ เลขาธิการ ศอ.บต. เผยวันนี้ “อยากคืนเกียรติยศและศักดิ์ศรีแก่ประชาชน” และหวังให้การเยียวยาเปลี่ยนความรุนแรงสู่สันติ
 
 
เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 17 สิงหาคม 2555 มีการมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาแก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งรวมถึงผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ    เหตุการณ์วันที่ 28 เมษายน 2547 กรณีกรือเซะและสะบ้าย้อย ผู้ถูกควบคุมตามหมายจับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผู้ถูกบังคับให้สูญหายและละเมิดสิทธิมนุษยชน      ในงานดังกล่าวมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.    นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำปัตตานี และผู้แทนจากกงสุลประเทศมาเลเซียประจำจังหวัดสงขลามาเข้าร่วม และมีผู้มาลงทะเบียนรับเงินกว่า 270 คน      
 
“วันนี้เป็นวันที่เราอยากจะพูดว่า เราอยากคืนเกียรติยศและศักดิ์ศรีแก่พี่น้องประชาชนทุกท่าน ไม่ว่าจะพี่น้องที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนถ่ายจากความรุนแรงไปสู่สันตินั้น ไม่มีอะไรดีกว่าการเยียวยาและการให้ความเป็นธรรม” พ.ต.อ.ทวี กล่าว 
 
พ.ต.อ.ทวีชี้แจงว่าการเยียวยาฟื้นฟูแก่พี่น้องประชาชนในครั้งนี้เป็นความตั้งใจจริงของรัฐบาลที่จะนำความสันติสุขกลับคืนมาสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงได้มีนโยบายเยียวยาฟื้นฟูแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยให้มีความเสมอภาพและให้มีความเป็นธรรมบนพื้นฐานข้อจำกัดของงบประมาณและความเป็นไปได้ 
 
นางสาวซัลวานี สาวนิ ผู้สูญเสียพ่อจากเหตุการณ์ตากใบกล่าวว่าแม้ว่ารัฐบาลจะจ่ายเงินเยียวมากถึง 7.5 ล้านบาทแต่เงินไม่สามารถที่จะทดแทนชีวิตของพ่อได้ แต่อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่ารัฐมีความใส่ใจและดูแลครอบครัวผู้สูญเสีย ส่วนเงินในจำนวนดังกล่าวทางครอบครัวจะนำไปทำธุรกิจเพื่อที่จะเลี้ยงดูครอบครัว และอีกส่วนหนึ่งเป็นทุนการศึกษาให้กับน้องๆ 
 
ด้านนายฐานิส ศรียะพันธ์ รองเลขาธิการศอ.บต. ได้แถลงชี้แจงในส่วนของคณะอนุกรรมการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบกรณีถูกบังคับให้สูญหายหรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนวิธีอื่นโดยเจ้าหน้าที่รัฐจนบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิต    โดยชี้แจงว่าทางอนุกรรมการฯ ได้อนุมัติชุดแรก 5 ราย โดยจะให้เงินช่วยเหลือเยียวยาเงินจำนวน 7.5 ล้านบาทสำหรับ 4 ราย ได้แก่ นายฟักรุกดีน บอตอ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดนราธิวาสซึ่งถูกยิงบาดเจ็บจนเป็นอัมพฤกษ์    2.นายสุไลมาน แนซา ซึ่งเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ทหารในปี 2553 3.นายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งหายตัวไปตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2547 4.นายอัสมีน นูรุลอาดีน ซึ่งถูกทหารพรานยิงเสียชีวิตในปี 2547 ส่วนรายสุดท้าย นายอามีนูดีน กะจิ ครูสอนศาสนาโรงเรียนรุ่งโรจน์วิทยา ซึ่งถูกซ้อมทรมานระหว่างการควบคุมตัวในปี 2551 จะได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยา 500,000 บาท    
 
นายฟักรุกดีน บอตอ กล่าวว่าขอบคุณที่ทางรัฐบาลที่มอบเงินเยียวยาให้ 7.5 ล้านบาท แต่ที่ตนอยากเรียกร้องคือให้ทางเจ้าหน้าที่รัฐเร่งรัดดำเนินการกับคู่กรณีของตนให้เร็วที่สุด เพราะว่าเวลามาผ่าน 6 ปี คดียังไม่มีความคืบหน้า อีกทั้งกลัวว่าคู่กรณีของตนอาจจะมาทำร้ายตนอีก ซึ่งตอนนี้ตนและครอบครัวอยู่อย่างหวาดกลัวอย่างมาก 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักข่าวพม่าเตรียมประท้วงอาทิตย์หน้า ไม่พอใจรัฐบาลไม่ปฏิรูปสื่อตามสัญญา

Posted: 18 Aug 2012 04:14 AM PDT

18 ส.ค. 55 - กลุ่มนักข่าวพม่าเปิดเผยว่า เตรียมที่จะประท้วงในกรุงย่างกุ้งสัปดาห์หน้า เพื่อแสดงความไม่พอใจที่รัฐบาลพม่าภายใต้ประธานาธิบดีเต็งเส่งไม่สามารถทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้ว่าจะปฏิรูปสื่อภายในในประเทศ
 
ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการเพื่อเสรีภาพสื่อ (Committee for Press Freedom – CPF) ได้ร่วมกันหารือถึงกรณีที่กระทรวงข่าวสารของพม่ายังคงควบคุมสื่อภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกรณีที่รัฐบาลดำเนินคดีฟ้องร้องกับหนังสืมพิมพ์ 2 ฉบับ นั่นคือหนังสือพิมพ์ Voice Weekly และ Snap Shot News จึงทำให้ทาง CPF ตัดสินใจที่จะออกมาประท้วงในวันที่ 21 สิงหาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งก็ได้ขออนุญาตที่จะทำการประท้วงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในเขตกรุงย่างกุ้ง
 
มีรายงานว่า นอกจากรัฐบาลจะไม่ทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้ว่าจะยกเลิกคณะกรรมเซ็นเซอร์แล้ว สิ่งที่ทำให้สื่อมวลชนในพม่ายิ่งผิดหวังมากขึ้นก็คือ การร่างกฎหมายเกี่ยวกับสื่อที่ผ่านมา ทางรัฐบาลไม่เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนในประเทศเข้ามีส่วนร่วมด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลยังคงเดินหน้าจำกัดเสรีภาพสื่อในประเทศต่อไป
 
ทางด้าน ซอเท็ตทวย โฆษกกลุ่ม CPF กล่าวว่า “หากพม่าเป็นประเทศประชาธิปไตยที่แท้จริง ก็ไม่ควรที่จะมีการเซ็นเซอร์ และไม่ควรดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีกับสื่อมวลชนที่ปฏิบัติตามหลักจริยาธรรม หรือแม้แต่การที่ร่างกฎหมายเกี่ยวกับสื่อขึ้นมา โดยที่ไม่ฟังความคิดเห็น ข้อชี้แนะจากสื่อมวลชนเลย อันนี้ เป็นสิ่งที่เรายอมรับไม่ได้” เขากล่าว
 
มีรายงานว่า นักข่าวพม่าจะสวมเสื้อและหมวกสีดำ ซึ่งมีข้อความเขียนไว้ว่า “เสรีภาพสื่อ” ไปร่วมฟังการพิจารณาคดีกรณีที่หนังสือพิมพ์ The Voice Weekly ซึ่งถูกรัฐบาลยื่นฟ้อง โดยจะมีการพิจาณณาคดีกันในวันที่ 23 สิงหาคมที่จะถึงนี้ในเมืองดาโก่ง
 
ขณะที่หนังสือพิมพ์ Snap Shot News มีดำหนดการจะต้องขึ้นศาลในกรณีเดียวกัน ในวันที่ 24 สิงหาคม ในเมืองปาซูนเด่าว์ โดยทางด้านซอเท็ตทวยยังเปิดเผยว่า ทางกลุ่มจะจัดแถลงข่าวในเย็นวันที่ 24 สิงหาคมนี้ ถึงกรณีที่รัฐยังคงควบคุมสื่อในประเทศต่อไป
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Thailand Mirror: สัมภาษณ์"หงา" ผมไม่ชอบสีแดงเท่าไหร่ ไม่ชอบวิธีการที่เขาทำอยู่

Posted: 18 Aug 2012 03:30 AM PDT

สุรชัย จันทิมาธร : ผมไม่อยากเป็นอะไร  เพราะการพูดกับการทำมันไม่แมทช์กัน ปรองดองมานานแล้ว เผยเสื้อแดงเคยมาขอโทษชี้เหลืองแตกแยกทำลายกันเอง ส่วนแดงก็ทำลายตัวเอง ย้ำชาวบ้านเขาปรองดองกันได้แต่เหตุที่ปรองดองไม่ได้เพราะนักการเมือง  

THAILAND MIRROR(http://www.youtube.com/watch?v=_vwL57tTQyc) สัมภาษณ์ หงา คาราวาน หรือ สุรชัย จันทิมาธร "สหายพันตา" อาจารย์ใหญ่แห่งวงการเพลงเพื่อชีวิต เผยว่าคนเรียกตนเองว่าสีเหลือง “แต่ผมก็ไม่รู้สึกรู้สาอะไรกับสีของผมเท่าไหร่ กับพวกสีแดงผมก็เจอ ตอนหลังผมก็ไปเล่นให้วันเกิดกำนันโน้นกำนันนี่มันก็แดงทั้งเทือก ผมก็เล่นได้เขาก็เชิญผมไป” 

 

VDO Clip วงการวรรณกรรมไม่มีสี : หงา คาราวานโดย THAILAND MIRROR
 
“ผมไม่อยากเป็นอะไร ผมก็ไม่ชอบสีแดงเท่าไหร่ ไม่ชอบวิธีการที่เขาทำอยู่ ถึงแม้ว่าหลายๆคนก็เป็นเพื่อนกัน แต่การพูดกับการทำมันไม่แมทช์กันเท่าไหร่ เอาเรื่องเผาเมืองกันนะ เราก็เข้าใจว่าเผาทำไม เราเข้าใจว่าจะปฏิวัติจะโค่นล้มอะไรกันล่ะ จะยึดเมืองล่ะ แต่มันไม่สำเร็จขึ้นมาแล้วก็บอกว่าตัวเองไม่ได้เผา พูดอย่างนี้มันไม่ถูก ก็ใครเผาล่ะงั้น” หงา คาราวาน กล่าว
 
สำหรับเรื่องการปรองดอง สุรชัย กล่าวว่าตนเองปรองดองมานานแล้ว เจอคุยหมดทุกคน บางคนในซีกของเสื้อแดงที่เคยทำงานร่วมกันมา เขียนรูปก็ดี เขียนหนังสือก็ดี บางคนมาขอโทษ เพราะตลอดมาตนเองไม่เคยไปใช้สื่อ หรือว่าให้สัมภาษณ์ไปด่าเขา พยายามหลีกเลี่ยงตรงนี้มากที่สุด ไม่ใช่เพราะไม่กล้าแตะ แต่ไม่ได้ใช้สื่อ เขียนข้อความก็ดี เขียนหนังสือพิมพ์ก็ดี ออกวิทยุออกทีวีแล้วก็ด่า ตนเองไม่ทำ แต่เพื่อนตนเองกลับทำกับตนโดยที่ตนไม่สนใจ
 
อาจารย์ใหญ่แห่งวงการเพลงเพื่อชีวิต มองว่าสรรพสิ่งทุกอย่างมันมีเกิดมันก็ต้องมีล่วง เหมือนๆกับสถานการณ์ทางการเมือง มีสีเหลืองในที่สุดเหลืองก็มาแตกแยกทำลายกันเอง พอมีแดงในที่สุดถึงจุดพีคก็มานั่งทำลายตัวเอง พรรคคอมมิวนิสต์ก็เหมือนกันก่อตัวตั้งปฏิวัติเสร็จเรียบร้อยในที่สุดก็ทำลายตัวเอง
สุรชัย ยังได้เสริมเรื่องการปรองดองด้วยว่า ชาวบ้านเขาปรองดองกันได้ ชาวบ้านจริงๆ ถึงแม้ว่าจะเคยด่ากันจะเคยตีกัน แต่ก็คุยกันได้กินเหล้ากันได้ แต่ที่ปรองดองกันไม่ได้คือการเมือง คือการเมืองของพรรคการเมือง ชี้นำชาวบ้านให้แบ่งพวกแบ่งฝ่าย “ผมว่านักการเมืองมีปัญหา” หงา คาราวาน ย้ำ
 
ทั้งนี้เกี่ยวกับเรื่องสีกับการเมือง สุรชัย ได้แต่งกลอน ทวงคืนสีแดง และ facebook  เพจ “วารสารฯ ต้านนิติราษฎร์” (https://www.facebook.com/photo.php?fbid=403889876323815 )ได้นำมาเผยแพร่เมื่อ 26 มิ.ย.55 ที่ผ่านมาจนเป็นเหตุให้เกิดวิวาทะผ่านบทกลอนเพื่อโต้บทกลอนของหงาอีกจำนวนมาก
 
 
บทกลอน ทวงคืนสีแดง ของ หงา คาราวาน
 
“ขอเรียนศาลแห่งสีที่เคารพ
สีต้องใช้ไม่ครบกระบวนสี
มีกลุ่มคนผูกขาดในชาตินี้
ยึดสีแดงไปย่ำยีเป็นของตน
ทำให้สีแดงแย่มีแต่ยุ่ง
จะแต่งปรุงงานศิลป์ก็สับสน
ศิลปินเดือดร้อนเกินจะทน
เพราะสีแดงถูกปล้นขโมยไป
เอาสีแดงคืนมาให้ข้าเถิด
ก่อนจะเกิดสงครามห้ามไม่ได้
ทุกวันนี้พวกข้าไม่กล้าใช้
เพราะว่าใจไม่มีให้สีแดง…”
 
ตัวอย่างบทกลอนที่โต้บทกลอนของหงา เช่น บทกวี “จึงเรียนมาด้วยความไม่เคารพศาลแห่งสี” ของ “วิสา คัญทัพ” ที่ว่า
 
“ขอเรียนศาล เลือกข้างสี ที่ไม่เคารพ
สีไม่ครบ เพราะถูกใช้ เติมใส่สี
ไประบาย เลือดไพร่ หาไม่ดี
สาดกระสุนส่องวิถีดับชีวิต
สีแดงคือเลือดมหาประชาชน
ผู้ทุกข์ทนคนไทยผู้ไร้สิทธิ์
ใช่คนปล้นสีไปไร้ความคิด
เขาถูกปลิดชีพเชือดจนเลือดริน
กระหายดื่มสีแดงแห่งเลือดข้น
จึงไล่ยิงกลางถนนคนใจหิน
เนาวรัตน์ สุรชัย ไม่ได้ยิน
จึงลืมดิน ไม่มีใจ ให้สีแดง”
 
ขณะที่ “เกษียร เตชะพีระ” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้เขียนบทกลอนมีเนื้อหาเกี่ยวกับการผูกขาด "สีเหลือง" ผ่าน facebook ส่วนตัว “Kasian Tejapira(https://www.facebook.com/photo.php?fbid=4217639842157 )” ด้วยว่า


“ขอเรียนศาลแห่งสีที่เคารพ
สีต้องใช้ไม่ครบกระบวนสี
มีกลุ่มคนผูกขาดในชาตินี้
ยึดสีเหลืองไปย่ำยีเป็นของตน
ทำให้สีเหลืองแย่มีแต่ยุ่ง
จะแต่งปรุงงานศิลป์ก็สับสน
ศิลปินเดือดร้อนเกินจะทน
เพราะสีเหลืองถูกปล้นขโมยไป
เอาสืเหลืองคืนมาให้ข้าเถิด
ก่อนจะเกิดสงครามห้ามไม่ได้
ทุกวันนี้พวกข้าไม่กล้าใช้
เพราะเหลืองแคบเหลือใจไม่ฟังมิตร”

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผบ.ทบ.ส่งนายทหารพระธรรมนูญแจ้งจับ "โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม" พ่วงล่าม ข้อหาหมิ่น "กองทัพบก"

Posted: 18 Aug 2012 03:27 AM PDT

18 ส.ค. 55 - มติชนออนไลน์รายงานว่าเมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 18 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. มอบหมายให้ พ.ท.สายัณห์ ขุนขจี  นายทหารพระธรรมนูญ เข้าแจ้งความกับ ร.ต.อ.บดินทร์ คำผุย พนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี ให้ดำเนินคดีกับนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ชาวแคนาดา ทนายความคนเสื้อแดง และหญิงไทย ไม่ทราบชื่อและนามสกุล ซึ่งเป็นล่ามแปลและเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์เอเชียอัพเดท ในข้อหาหมิ่นประมาท พร้อมกับนำแผ่นซีดีบันทึกคำปราศรัยของนายโรเบิร์ตกับพวก จำนวน 1 แผ่น ไปมอบให้กับพนักงานสอบสวนเพื่อเป็นหลักฐานด้วย
 
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2555 ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 20.10 น. นายโรเบิร์ตพร้อมกับพวกได้ขึ้นเวทีปราศรัยที่บริเวณแยกราชประสงค์ เป็นภาษาอังกฤษ โดยมีล่ามแปลเป็นภาษาไทย ผ่านเครื่องขยายเสียงของสถานีโทรทัศน์เอเชียอัพเดท ซึ่งข้อความในการปราศรัยได้หมิ่นประมาทถึงกองทัพบก ทำให้ได้รับความเสียหายและเสื่อมเสียชื่อเสียง จึงเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี เพื่อให้ดำเนินคดี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมผ่านมา
 
ด้าน พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รอง ผบช.น. ดูแลงานกฎหมายและสอบสวน เปิดเผยว่า ทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และรายงานให้ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น.ทราบแล้ว ขณะนี้ให้ทาง บก.น.5 ตั้งคณะพนักงานสอบสวนระดับ บก.เพื่อพิจารณาคดีดังกล่าว ซึ่งตนจะควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด และให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเนื้อหาที่นายโรเบิร์ตขึ้นพูดระบุว่า กองทัพได้ซื้ออาวุธจากสหรัฐอเมริกาเพื่อมาเข่นฆ่าประชาชน รัฐบาลอเมริกาส่งสไนเปอร์มาสอนสไนเปอร์ไทยให้กระทำกับประชาชนโดยไม่รู้ถึงสิทธิเสรีภาพ
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“กลุ่มประชาชนทนไม่ไหว” ประท้วงอเมริกาให้ส่งทักษิณกลับไทยในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน

Posted: 18 Aug 2012 03:12 AM PDT

ชี้ ทักษิณ ถูกศาลตัดสินว่าและเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง เข้าอเมริกาเพื่อปลุกปั่นล้มสถาบัน  อดีต ส.ว. ร่วมปราศรัยโจมตีทูตมะกันเป็นแค่แม่บ้าน อาศัยความสัมพันธ์โอบามาได้มาเป็นทูต สุดท้ายไม่ได้ยื่นหนังสือทูตมะกันยันออกวีซ่าตาม ก.ม.สหรัฐฯ

10.00 น. 17 ส.ค.55  ที่บริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย “กลุ่มประชาชนทนไม่ไหว” ประมาณ 400 คน ได้ชุมนุมเพื่อยื่นจดหมายประท้วงการที่สหรัฐอเมริกาให้วีซ่า อนุญาตให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าประเทศ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทางการสหรัฐส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับประเทศไทยในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจาก อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ถูกศาลตัดสินแล้วว่ากระทำความผิดจากการฉ้อราษฎร์บังหลวง และเป็นผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

 
ในจดหมายของทางกลุ่มประชาชนทนไม่ไหวที่เรียนถึงประธานาธิบดี บารัค โอบามา ของสหรัฐอเมริกา ยังอ้างด้วยว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้เข้าประเทศอเมริกาเพื่อไปยุยง ปลุกปั่น กลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า “เสื้อแดง” เพื่อที่จะมาโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย
 
ทั้งนี้ระหว่างการรอการยื่นจนหมายนั้น ได้มีการปราศรัยสลับกับการเปิดเพลงจากรถขยายเสียง โดยมีนายสมบูรณ์ ทองบุราณ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ขึ้นปราศรัยโจมตี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนางคริสตี้ เคนนี่ย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ด้วยว่า ก่อนที่โอบาม่าจะเป็นประธานาธิบดี นางคริสตี้ เป็นเพียงแม่บ้าน แต่สามีเป็นนักธุรกิจ ที่มีความสัมพันธ์กับโอบาม่า จึงได้มาเป็นทูตฟิลิปปินส์ อยู่ฟิลิปปินส์มารยาททราม จึงมาอยู่ประเทศไทย

แต่พอมาอยู่ประเทศไทยกลับไปจับมือกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายสมบูรณ์ ปราศรัยสรุปว่านางคริสตี้ เป็นทูตที่มารยาททรามที่สุดในโลก  นอกจากนี้ นายสมบูรณ์ ยังได้ปราศรัยด้วยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นฆาตกร รวมถึงโจมตีพฤติกรรมของ นายกรัฐมนตรี เช่น การเข้าประชุมการพิจารณางบประมาณของรัฐบาลในสภาเพียง 10 นาที การพูดผิด เป็นต้น  “สหรัฐอเมริกาไม่มีวัฒนธรรม ภาษาของตัวเองก็ไม่มี แต่ทำตัวเป็นเจ้าโลก” อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าว

 
 
สมบูรณ์ ทองบุราณ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ขึ้นปราศรัย
สมบูรณ์ ทองบุราณ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ขึ้นปราศรัย
 
นอกจากนี้ยังมีผู้ปราศรัยโจมตีประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยว่า สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศมหาอำนาจ แต่ประเทศไทยมีศักดิ์ศรี ไม่ได้เป็นเมืองขึ้น เราเจริญได้ด้วยตัวเราเอง เพราะประเทศไทยเราเจริญได้ทุกวันนี้เพราะในหลวง อเมริกาไม่เคยมาช่วยอะไรมีแต่สร้างความเดือดร้อนให้ เรามีภาษาไทยเป็นของเราเอง ผู้ปราศรัยจากกลุ่ม “สงขลารวมใจ FM 95.50 MHz” กล่าวย้ำอีกว่า ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่กว่าสหรัฐอเมริกาหลายเท่า เรามีประวัติศาสตร์เป็นพันปี ในขณะที่อเมริกาอเมริกาพึ่งตั้งประเทศเพียงร้อยปี 
 
แต่ในที่สุดไม่ได้มีการยื่นจดหมายเนื่องจากทางผู้ชุมนุมต้องการให้ทางสถานทูตส่งคนมารับด้านนอกแต่ทางสถานทูตต้องการให้ตัวแทนผู้ชุมนุม 2 คนไปยื่นด้านในสถานทูตโดยมี ผู้ช่วยทูตฝ่ายการเมืองมารับ จึงมีการสลายการชุมนุมในเวลา 16.30 น.  โดยมีการชี้แจงใน Facebook เพจ “กลุ่มประชาชนทนไม่ไหว “  ว่า “เราได้สลายตัวกันแล้วค่ะ ประชาชนทนไม่ไหว ไว้เราจะนัดกันใหม่นะคะ งานนี้ยังไม่จบแต่เพียงเท่านี้ค่ะ ..พวกสถานทูตเค้ากลับกันแล้วค่ะ เราจะนัดกันใหม่นะคะ”
โดยไม่ได้มีการเดินทางไป สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถนนพระราม 1 ตามที่ทางกลุ่มได้มีการวางแผนไว้ เพื่อติดตามทวงถามความคืบหน้าการดำเนินคดีของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพรายล่าสุด 
 
ทูตมะกันยันออกวีซ่าให้ทักษิณ ตาม ก.ม.สหรัฐฯ ไม่กระทบการเมืองประเทศอื่น


ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมา เดลินิวส์ออนไลน์รายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล นางคริสตี เอ เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับวีซ่าเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันมีคนไทยที่สนับสนุนและต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ออกมาเคลื่อนไหวในสหรัฐ ว่า มีคนไทยเดินทางไปเยือนสหรัฐฯจำนวนมาก โดยมีคนไทยที่ได้รับการออกวีซ่าจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เฉลี่ยปีละ 50,000 คน  เมื่อถามว่าแต่พ.ต.ท.ทักษิณ ถือเป็นผู้ต้องหาหรือนักโทษของประเทศไทย เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กล่าววา การออกวีซ่าของสหรัฐฯให้กับคนต่างชาตินั้น กระทำภายใต้กฎหมายของสหรัฐอย่างเคร่งครัด และไม่มีอะไรเกี่ยวข้องหรือส่งผลใดๆกับสถานการณ์การเมืองของประเทศนั้นๆ
 
ต่อข้อถามว่าจากการที่สนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างไทย-สหรัฐฯ ได้มีการหารือกับรัฐบาลในเรื่องส่งตัวพ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่ นางคริสตี้ กล่าวว่า สหรัฐฯรู้สึกดีใจและเป็นเกียรติที่มีความร่วมมือทางด้านกฎหมายของทั้ง 2 ประเทศ และแน่นอนว่าไทยกับสหรัฐฯมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน ซึ่งที่ผ่านมา สหรัฐฯก็ตอบสนองคำขอของรัฐบาลไทย  เมื่อถามว่าสหรัฐฯไม่ทราบหรือว่าพ.ต.ท.ทักษิณ มีปัญหาทางการเมืองกับประเทศไทยซึ่งทำให้เกิดความวุ่นวายในสหรัฐฯ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กล่าวย้ำว่า การออกวีซ่าให้กับคนต่างชาติในทุกกรณีอยู่ภายใต้กฎหมายสหรัฐ และไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเมืองประเทศใดประเทศหนึ่ง.
 
 
 
ภาพบรรยากาศกิจกรรม
 
 
 
 

 

 

 หมายเหตุ ประชาไทแก้ไขข้อผิดพลาดชื่อกลุ่มจากเดิม "คนไทยทนไม่ไหว" เป็นชื่อที่ถูกต้องของกลุ่ม "ประชาชนทนไม่ไหว" เมื่อเวลา 18.40 น. ขออภัยในความผิดพลาดมา ณ ที่นี่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: บทกลอนสะท้อนกลับต่อ “กงกรรม กงแก้ว”

Posted: 18 Aug 2012 02:53 AM PDT

 คนหลายคนที่เชื่อกงคงเชียร์แก้ว
ก็ไม่แคล้วโดนกลอนด่าซะอย่างงั้น
ก็พี่เล่นเอาแพะ-แกะมาชนกัน
ก็ได้เพียงแค่ความมันส์เท่านั้นเอง

ทั้งเรื่องศาลและกีฬาก็เหมือนกัน
ต่างต้องการยุติธรรม์อันตรงเผง
มาประชดคนเชียร์แก้ว...ตูละเง็ง
เล่นเอาเบ่งอึไม่ออกตามๆ กัน

ขอเรียกร้องทั้งสองเรื่องจะได้ไหม
ไม่ต้องแขวะเรื่องฝั่งใดได้มั้ยท่าน
หากมันพบอยุติธรรมเหมือนเหมือนกัน
จะแขวะเสียดเหยียดกันเพื่ออะไร?"

 

(ต่อจากนี้เป็น Short Note เพิ่มเติมเรื่องที่ยัดลงไปในกลอนไม่หมด เนื่องด้วยความอ่อนด้อยทางเชิงวรรณศิลป์ของตัวผมเอง)

ผมเข้าใจแหละ ว่ากรณีอากงมันเป็นเรื่องถึงแก่ชีวิต แต่สิ่งที่ผมรู้สึกคือ ถ้าผมเลือกจะเรียกร้องความยุติธรรมให้กับทั้งสองประเด็นนั้น มันจะดีกว่ามั้ย เพราะทั้งสองเรื่องมันอยู่กันคนละมุมกันเลย

ส่วนไอ้ที่บอกว่าแก้วชนะแล้วประเทศมันจะดีขึ้นมั้ย...ผมรู้เฟ้ย แต่ถ้าผมจะขออนุญาตมีความสุขกับกีฬาบ้างจะได้มั้ย...ผมว่าการประชดแบบกลอนชิ้นนั้นแม่งบ้าเกิ๊น... (ถ้าใช้มาตรวิธีคิดแบบผู้เขียนกลอนท่านนั้น...ผมว่าประเทศนี้ยกเลิกการแข่งกีฬาทุกประเภทเลยดีมั้ยครับ จะได้สมเจตนาพี่เค้าไป)
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: กงกรรม กงแก้ว

Posted: 17 Aug 2012 11:53 PM PDT

 

หะหาย กระต่ายเต้น เป็นฟืนไฟ
เหรียญทอง ถูกปล้นไป ใจเจ็บแสน
เหมือนแก้วแตก ร้าวราน ปานเสียแดน
ไทยทั้งผอง คั่งแค้น เจียนวายปราณ

ได้เหรียญทอง แล้วอย่างไร หรือไทยจะรุ่ง?
บ้านเมืองมุ่ง สู่อารยะ เป็นสุขศานต์?
ไพร่ฟ้า จะหน้าใส ทุกวันวาร?
ทุกหย่อมย่าน จะฟุ้งเฟื่อง ก็เปล่าเลย

แก้วไม่ได้เหรียญทองทำร้องคลั่ง
อากง ตายในห้องขังยังนั่งเฉย
ชีวิตคนทั้งชีวิตกลับละเลย
ไอ้ห่าเอ๊ย...ยังมีหน้า หายุติธรรม

แก้ว...สุกใส ใครๆ ก็วิ่งหา
กง...ชรา ถูกทิ้งตาย ช่างน่าขำ
หนึ่งตาย หนึ่งเกิด เป็นกงกรรม
เป็นมายา สาระยำ ประจำไทย

 

 

 

 

ที่มาภาพ: ไทยรัฐออนไลน์
               www.bangkokvoice.com
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คำสั่งรักษาด่านศอฉ.ใช้ "พลแม่นปืน" หากผู้ก่อเหตุปะปนผู้ชุมนุม - หากยิงไม่ได้ให้ใช้ "สไนเปอร์"

Posted: 17 Aug 2012 10:19 PM PDT

เปิดเอกสาร “ศอฉ.” เผยแนวทางปฏิบัติการใช้อาวุธเพื่อรักษาที่ตั้งสำคัญ จุดตรวจ ด่านตรวจ ของช่วงสลายชุมนุม เม.ย. – พ.ค. 53 ระบุหากมีผู้ก่อเหตุใช้อาวุธแล้วอยู่ปะปนกับผู้ชุมนุม ให้เจ้าหน้าที่งดใช้อาวุธยกเว้นถ้าในหน่วยมี “พลแม่นปืน” ให้ทำการยิงเพื่อหยุดยั้งการก่อเหตุได้ และหากไม่สามารถยิงได้ สามารถร้องขอ “พลซุ่มยิง (Sniper)” จาก ศอฉ. ได้ 

18 ส.ค. 55 – ผู้สื่อข่าวประชาไท ได้รับเอกสาร ส่วนราชการ สยก.ศอฉ. ที่ กห.1407.55 (สยก.) ลงวันที่ 17 เม.ย. 53 เรื่อง “ขออนุมัติแนวทางการปฏิบัติในการใช้อาวุธเพื่อ รปภ. ที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญ รวมทั้งการปฏิบัติ ณ จุดตรวจ/ด่านตรวจและสายตรวจเคลื่อนที่” ลงนามโดย พล.ท.อักษรา เกิดผล หน.สยก.ศอฉ. เสนอ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ. ในเวลานั้น

โดยเอกสารมีทั้งหมด 5 หน้า ใจความสำคัญคือการระบุแนวทางปฏิบัติ หากมี “ผู้ก่อการร้ายแฝงตัวมากับกลุ่มผู้ชุมนุม และใช้อาวุธ/วัตถุระเบิดต่อเจ้าหน้าที่ และประชาชนผู้บริสุทธิ์”

เอกสาร ส่วนราชการ สยก.ศอฉ. ที่ กห.1407.55 (สยก.) ลงวันที่ 17 เม.ย. 53 เรื่อง “ขออนุมัติแนวทางการปฏิบัติในการใช้อาวุธเพื่อ รปภ. ที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญ รวมทั้งการปฏิบัติ ณ จุดตรวจ/ด่านตรวจและสายตรวจเคลื่อนที่” ลงนามโดย พล.ท.อักษรา เกิดผล หน.สยก.ศอฉ. เสนอ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ. 

โดยในข้อ 2.5 ระบุว่า “ในกรณีพบความผิดซึ่งหน้าในลักษณะผู้ก่อเหตุใช้อาวุธยิงใส่เจ้าหน้าที่ หรือใช้อาวุธ/วัตถุระเบิดต่อที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญที่ ศอฉ. กำหนด ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อาวุธยิงผู้ก่อเหตุ เพื่อหยุดยั้งการปฏิบัติได้ แต่หากผู้ก่อเหตุอยู่ปะปนกับผู้ชุมนุมจนอาจทำให้การใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ เป็นอันตรายต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ให้งดเว้นการปฏิบัติ ยกเว้นในกรณีที่หน่วยได้จัดเตรียมพลแม่นปืน (Marksmanship) ที่มีขีดความสามารถเพียงพอให้ทำการยิงเพื่อหยุดยั้งการก่อเหตุได้ นอกจากนี้หากหน่วยพบเป้าหมายแต่ไม่สามารถทำการยิงได้ เช่น เป้าหมายอยู่ในที่กำบัง ฯลฯ หน่วยสามารถร้องขอการสนับสนุนพลซุ่มยิง (Sniper) จาก ศอฉ. ได้”

 

ต่อมามี ที่การออกหนังสือที่ กห.0407.45 (สยก./130) ลงวันที่ วันที่ 17 เม.ย. 53 “เรื่อง ขออนุมัติแนวทางการปฏิบัติการใช้อาวุธเพื่อ รปภ. ที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญ รวมทั้งการปฏิบัติ ณ จุดตรวจ ด่านตรวจ และสายตรวจเคลื่อนที่” เรียน ผอ. ศอฉ. โดย พล.อ. รอง เสธ.ศอฉ. (3) 18 เม.ย. 54

โดยในท้ายเอกสารมีข้อความว่า “อนุมัติตามเสนอในข้อ 4” ลงนามโดย “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ในฐานะ ผอ.ศอฉ. โดยลงนามวันที่ 18 เม.ย. 53

โดยก่อนหน้านี้ ในการแถลงข่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อ 16 ส.ค. 55 กล่าวปฏิเสธว่าไม่มีการใช้สไนเปอร์ เป็นเพียงปืนติดลำกล้องเพื่อใช้ระวังป้องกัน ซึ่งในตลาดนัดก็มีขายสำหรับใช้ยิงนก ขณะที่เมื่อ 16 พ.ค. 53 พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. ก็ปฏิเสธว่าไม่มีการใช้สไนเปอร์ มีเพียง “พลแม่นปืนระวังป้องกัน” ทำหน้าที่คุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ต่ำหรือตามถนนหนทางโดยทั่วไป เจ้าหน้าที่เหล่านี้จะมีหน้าที่ในการตรวจสอบว่ามีบุคคลผู้ใดถืออาวุธหรือจะเข้าทำร้ายเจ้าหน้าที่ และจะใช้การยิงคุ้มครอง (อ่านข่าวย้อนหลัง)

ต่อมาเมื่อ 18 มี.ค 54 พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ได้นำรายงานบัญชีสรุปรายการเบิกจ่ายกระสุนจากหน่วยคลังแสงสรรพาวุธทหารบก เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ตั้งแต่ 11 มี.ค. 53 จนถึงเสร็จสิ้นการโดยมีการเบิกกระสุนจากคลังแสงทหารบกกว่า 597,500 นัด ส่งคืน 479,577 นัด ใช้ไป 117,923 นัด เผยมีการเบิกกระสุนปืนซุ่มยิง 3,000 นัด คืนเพียง 880 นัด ขณะที่เบิกกระสุนซ้อมเพียง 10,000 นัด ส่งคืน 3,380 นัด (อ่านข่าวย้อนหลัง)

สำหรับรายละเอียดเอกสาร  สยก.ศอฉ. ที่ กห.1407.55 มีรายละเอียดดังที่ปรากฏในท้ายข่าว

 

000

บันทึกข้อความ

ส่วนราชการ สยก.ศอฉ.
ที่ กห. 1407.55 (สยก.)/130 วันที่ 17 เม.ย. 53

เรื่อง ขออนุมัติแนวทางการปฏิบัติในการใช้อาวุธเพื่อ รปภ. ที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญ รวมทั้งการปฏิบัติ ณ จุดตรวจ/ด่านตรวจและสายตรวจเคลื่อนที่

เรียน ผอ.ศอฉ.

อ้างถึง 1. หนังสือ สยก.ศอฉ. ที่ กท. 0407.45 (สยก.)/13 ลง 8 เม.ย. 53
2. หนังสือ สยก.ศอฉ. ลับ - ด่วนที่สุด ที่ คห.0407.45 (สยก.)/106 ลง 15 เม.ย. 53

สิ่งที่ส่งมาด้วย แนวทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ศอฉ. ในการใช้อาวุธสำหรับการรักษาความปลอดภัยที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญ รวมทั้งการปฏิบัติ ณ จุดตรวจ/ด่านตรวจ และสายตรวจเคลื่อนที่

1. ตามที่ รอง นรม./ผอ.ศอฉ. ได้กรุณาอนุมัติแนวทางการปฏิบัติในการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ ศอฉ. เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารซึ่งทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยสถานที่สำคัญ และประจำจุดตรวจ/ด่านตรวจในพื้นที่ นำไปใช้ยึดถือปฏิบัติ รายละเอียดตามอ้างถึง 1 นั้น

2. เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน ปรากฏว่ามีผู้ก่อการร้ายแฝงตัวมากับกลุ่มผู้ชุมนุม และใช้อาวุธ/วัตถุระเบิดต่อเจ้าหน้าที่ และประชาชนผู้บริสุทธิ์ ดังนั้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารซึ่งทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ตั้งหน่วย และสถานที่สำคัญ รวมทั้งการปฏิบัติ ณ จุดตรวจ/ด่านตรวจ และสายตรวจเคลื่อนที่ ได้มีกรอบแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมกับสถานการณ์ดังกล่าว สยก.ศอฉ. จึงได้พิจารณาปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติโดยเพิ่มเติมและแก้ไขรายละเอียดการปฏิบัติฯ ตามข้อ 1 ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย สรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้.-

2.1 แนวทางปฏิบัติทั่วไป ในหัวข้อการใช้อาวุธในการป้องกันตนเองและรักษาความปลอดภัยฯ ได้เพิ่มเติมข้อความเกี่ยวกับการป้องกันบุคคลอื่น หรือทรัพย์สินของทางราชการ และเอกชนที่อยู่ในความคุ้มครองของเจ้าหน้าที่ รวมทั้ง ให้หน่วยกำหนดแนวห้ามผ่านเด็ดขาด โดยให้ทำเครื่องหมายหรือประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่มากดดันทราบ และในหัวข้อการปฏิบัติภายหลังเกิดเหตุ ได้แก้ไขให้เจ้าหน้าที่ทำการปฐมพยาบาลผู้ก่อเหตุตามหลักมนุษยธรรม ภายหลังจากที่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว

2.2 แนวทางปฏิบัติเฉพาะเหตุการณ์ ในกรณีผู้ชุมนุมพยายามที่จะบุกรุกเข้ามาในที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญที่ ศอฉ. กำหนด: ได้เพิ่มเติมรายละเอียดการปฏิบัติโดยให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้โล่และไม้พลองยาว เพื่อต้านทานการบุกรุก และเมื่อมีแนวโน้มจะต้านทานไม่อยู่ให้ใช้การฉีดน้ำ และ/หรือคลื่นเสียงได้ แต่ถ้าผู้ชุมนุมยังสามารถปีนรั้ว/เครื่องกีดขวาง/ฝ่าแนวห้ามผ่านเด็ดขาดเข้ามาได้ หากมีผู้บุกรุกมีจำนวนน้อยและไม่มีอาวุธ ให้เข้าทำการจับกุม หากมีจำนวนมาก ให้ใช้แก๊สน้ำตา, กระบอง, กระสุนยาง และยิงเตือนตามลำดับและเมื่อปฏิบัติตามขั้นตอนแล้ว ผู้ชุมนุมยังคงบุกรุกเข้ามาจนอาจก่อให้เกิดอันตราย ให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อาวุธตามสมควรแก่เหตุ โดยการใช้กระสุนจริงจาก ปลซ. และ ปลย. ตามลำดับ ทั้งนี้ หากผู้บุกรุกมีอาวุธเช่น มีด, ปืน, วัตถุระเบิด ฯลฯ และฝ่าแนวห้ามผ่านเด็ดขาดเข้ามาได้ เจ้าหน้าที่สามารถข้ามขั้นตอนการใช้แก๊สน้ำตา, กระบอง หรือกระสุนยาง ไปสู่การใช้กระสุนจริงได้ โดยในการใช้อาวุธกระสุนจริง ทั้งสองกรณี ผู้มีอำนาจตกลงใจสั่งการ คือ ผบ.หน่วยที่รับผิดชอบสถานที่นั้น หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย

2.3 แนวทางการปฏิบัติเฉพาะเหตุการณ์ในกรณีการปฏิบัติ ณ จุดตรวจ/ด่านตรวจ: ได้เพิ่มเติมข้อความ ในกรณีพบผู้ต้องสงสัย ซึ่งไม่ยอมให้ตรวจค้น/จับกุม และกำลังจะหลบหนี ให้ทำการยิงเตือน, ติดตาม และสกัดจับ รวมทั้งใช้อาวุธตามหลักเกณฑ์ในการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย และสมควรแก่เหตุ

2.4 แนวทางปฏิบัติเฉพาะเหตุการณ์ ในกรณีพบความผิดซึ่งหน้าในลักษณะผู้ก่อเหตุเตรียมใช้อาวุธ/วัตถุระเบิด: ได้เพิ่มเติมรายละเอียดในการเข้าจับกุม โดยเจ้าหน้าที่สามารถใช้อาวุธประจำกายเล็งไปยังผู้ก่อเหตุได้ และถ้าผู้ก่อเหตุพยายามหลบหนีให้ใช้เทคนิคการต่อสู้ระยะประชิด, การยิงเตือน และการใช้อาวุธยิงในจุดที่ไม่สำคัญของร่างกาย เพื่อหยุดการเคลื่อนที่ของผู้ก่อเหตุตามลำดับ

2.5 แนวทางปฏิบัติเฉพาะเหตุการณ์ ในกรณีพบความผิดซึ่งหน้าในลักษณะผู้ก่อเหตุใช้อาวุธยิงใส่เจ้าหน้าที่ หรือใช้อาวุธ/วัตถุระเบิดต่อที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญที่ ศอฉ. กำหนด ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อาวุธยิงผู้ก่อเหตุ เพื่อหยุดยั้งการปฏิบัติได้ แต่หากผู้ก่อเหตุอยู่ปะปนกับผู้ชุมนุมจนอาจทำให้การใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ เป็นอันตรายต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ให้งดเว้นการปฏิบัติ ยกเว้นในกรณีที่หน่วยได้จัดเตรียมพลแม่นปืน (Marksmanship) ที่มีขีดความสามารถเพียงพอให้ทำการยิงเพื่อหยุดยั้งการก่อเหตุได้ นอกจากนี้หากหน่วยพบเป้าหมายแต่ไม่สามารถทำการยิงได้ เช่น เป้าหมายอยู่ในที่กำบัง ฯลฯ หน่วยสามารถร้องขอการสนับสนุนพลซุ่มยิง (Sniper) จาก ศอฉ. ได้

3. สยก.ศอฉ. พิจาณาแล้วมีความเห็น ดังนี้

3.1 แนวทางการปฏิบัติในการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ ศอฉ. สำหรับการรักษาความปลอดภัยที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญ รวมทั้งการปฏิบัติ ณ จุดตรวจ/ด่านตรวจ และสายตรวจเคลื่อนที่ ตามข้อ 2 ได้ปรับปรุงในรายละเอียดการปฏิบัติให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยสอดคล้องกับการพัฒนาของสถานการณ์ ซึ่งปรากฏว่ามีผู้ก่อการร้ายแฝงตัวมากับกลุ่มผู้ชุมนุม และใช้อาวุธ/วัตถุระเบิดโจมตีต่อเจ้าหน้าที่ และประชาชนผู้บริสุทธิ์ ทำให้เจ้าหน้าที่มีความจำเป็นต้องใช้อาวุธในการป้องกันตนเองและบุคคลอื่น รวมทั้ง ทรัพย์สินของทางราชการและเอกชนที่อยู่ในความคุ้มครอง ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น จึงเห็นสมควรอนุมัติให้ยกเลิกแนวทางการปฏิบัติในการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ ศอฉ ตามข้อ 1 และอนุมัติให้หน่วยที่เกี่ยวข้องใช้แนวทางการปฏิบัติในการ รปภ. ที่ตั้งหน่วย และสถานที่สำคัญฯ ตามข้อ 2 เป็นแนวทางการปฏิบัติต่อไป

3.2 สำหรับแนวทางการปฏิบัติในการใช้อาวุธเพื่อ รปภ. ที่ตั้ง บก.ศอฉ ตามที่อ้างถึง 2 นั้น ได้กำหนดแนวทางการใช้อาวุธ และแนวทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อกลุ่มก่อการร้ายแฝงตัวปะปนมากับกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งยังคงมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันจึงเห็นสมควรให้หน่วยยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ ในการ รปภ. ที่ตั้ง บก.ศอฉ. ได้ต่อไป

4. ข้อเสนอ เห็นสมควรดำเนินการตามการพิจารณาในข้อ 3 ดังนี้

4.1 ยกเลิกแนวทางการปฏิบัติในการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ ศอฉ. ตามข้อ 1

4.2 อนุมัติแนวทางการปฏิบัติในการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ ศอฉ. สำหรับการรักษาความปลอดภัยที่ตั้งหน่วย และสถานที่สำคัญ รวมทั้งการปฏิบัติ ณ จุดตรวจ/ด่านตรวจ และสายตรวจเคลื่อนที่ ตามข้อ 2

จึงเรียนมาเพื่อกรุณาพิจารณาอนุมัติตามเสนอในข้อ 4

(ลายมือชื่อ) พล.ท.อักษรา เกิดผล
หน.สยก.ศอฉ.



แนวทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ศอฉ. ในการใช้อาวุธสำหรับการรักษาความปลอดภัยที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญ รวมทั้งการปฏิบัติ ณ จุดตรวจ/ด่านตรวจ และสายตรวจเคลื่อนที่

1.แนวทางการปฏิบัติทั่วไป

1.1 แนวทางการปฏิบัตินี้ ใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาที่ตั้งหน่วย และสถานที่สำคัญ รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่บริเวณจุดตรวจ/ด่านตรวจ และสายตรวจเคลื่อนที่ซึ่งอนุญาตให้กำลังพลสามารถใช้อาวุธประจำกายและอาวุธปืนพกได้ตามความจำเป็นของสถานการณ์

1.2 การใช้อาวุธในการป้องกันตนเอง และรักษาความปลอดภัยฯ ต้องการเป็นป้องกันอันตรายที่ใกล้จะมาถึง และเป็นอันตรายต่อชีวิตของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งบุคคลอื่นหรือทรัพย์สินทางราชการ และเอกชนที่อยู่ในความคุ้มครองของเจ้าหน้าที่ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ก่อเหตุกำลังระเบิดใส่ กำลังเล็งปืนใส่ กำลังถือมีดเข้าทำร้ายร่างกาย เป็นต้น

1.3 การป้องกันตนเองและรักษาความปลอดภัยฯ ต้องเป็นการกระทำเพื่อป้องกันตนเองหรือผู้อื่น และสมควรแก่เหตุ รวมทั้งการใช้อาวุธนั้น ต้องใช้เท่าที่จำเป็น จากเบาไปหาหนัก และมีแจ้งเตือนการปฏิบัติกับผู้ก่อเหตุก่อนเสมอ

1.4 การใช้อาวุธจะไม่อนุญาตให้ใช้ในสถานการณ์ที่ไม่กระจ่างชัด หรือการใช้อาวุธที่ปราศจากความแม่นยำ ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้ไม่เกี่ยวข้องได้ เช่น การยิงกราด การยิงสุ่ม และการยิงที่ไม่เล็ง รวมทั้งไม่อนุญาตให้ใช้การยิงอัตโนมัติ โดยหากจะใช้อาวุธต้องทำการยิงทีละนัดเท่านั้น และห้ามใช้อาวุธเล็งศีรษะหรือส่วนสำคัญของร่างกายโดยเด็ดขาด

1.5 ให้หน่วยกำหนดแนวทางห้ามผ่านเด็ดขาดบริเวณที่ตั้งหน่วย และสถานที่สำคัญ รวมทั้งใช้เครื่องหมายหรือประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่มากดดันทราบ

1.6 หากมีความจำเป็นในการใช้อาวุธแล้ว ต้องใช้ตามลำดับขั้น ดังนี้

ขั้นที่ 1 แจ้งเตือนด้วยวาจา ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย มีระดับความดังเสียงที่ผู้ก่อเหตุได้อย่างชัดเจน และกล่าวซ้ำหลายๆ ครั้ง อย่างน้อย 3 ครั้ง เพื่อให้ผู้ก่อเหตุหยุดการกระทำดังกล่าว ... "หยุดนี่คือเจ้าหน้าที่"

ขั้นที่ 2 การยิงเตือนขึ้นฟ้า หรือเป็นการยิงในทิศทางที่ปลอดภัย

ขั้นที่ 3 การใช้อาวุธตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายและสมควรแก่เหตุ สรุปคือเป็นการยิงที่ไม่ประสงค์ให้ผู้ก่อเหตุเป็นอันตรายถึงชีวิต

ทั้งนี้ การปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าวอาจปฏิบัติข้ามการปฏิบัติเป็นขั้นที่ 2 หรือ 3 โดยทันที ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ได้ประสบกับภัยคุกคามที่ใกล้จะมาถึงและเป็นอันตรายต่อชีวิตของตนเองและบุคคลอื่นที่อยู่ในความคุ้มครองของเจ้าหน้าที่

 

 

เหตุการณ์

การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่อนุญาตให้ทำได้

ผู้ก่อเหตุใช้อาวุธยิงใส่เจ้าหน้าที่ หรือใช้อาวุธวัตถุระเบิดต่อที่ตั้งหน่วยหรือสถานที่สำคัญ

 

1) ใช้อาวุธตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย และสมควรแก่เหตุโดยสามารถใช้อาวุธยิงผู้ก่อเหตุ เพื่อหยุดยั้งการปฏิบัติได้

2) หากผู้ก่อเหตุอยู่ปะปนกับผู้ชุมนุมจนอาจทำให้การใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ เป็นอันตรายต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์แล้ว ให้งดเว้นการปฏิบัติยกเว้นในกรณีที่หน่วยได้จัดเตรียมพลแม่นปืน (Marksmanship) ที่มีขีดความสามารถเพียงพอให้ทำการยิงเพื่อหยุดยั้งการก่อเหตุได้

3) ในกรณีที่หน่วยพบเป้าหมายแต่ไม่สามารถทำการยิงได้ เช่น เป้าหมายอยู่ในที่กำบังหน่วยสามารถร้องขอการสนับสนุนพลซุ่มยิง (Sniper) จาก ศอฉ. ได้

 
หมายเหตุ:

1. เมื่อผู้ชุมนุมมีการรวมตัวที่บริเวณภายนอกที่ตั้งหน่วย หรือสถานที่สำคัญให้ใช้เครื่องขยายเสียงประกาศให้ผู้ชุมนุทราบว่า หากมีการบุกรุกเข้ามา เจ้าหน้าที่จะมีขั้นตอนการปฏิบัติและการใช้อาวุธอย่างไร โดยให้มีการประกาศซ้ำหลายๆ ครั้ง

2. แนวทางการใช้อาวุธตามคำแนะนำฯ นี้ ไม่จำกัดสิทธิ์ในการใช้อาวุธเพื่อป้องกันตนเองและบุคคลอื่นจากการกระทำของผู้ก่อเหตุ ที่เป็นไปโดยสมควรแก่เหตุ

3. กรณีประสบเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่เป็นอันตรายต่อชีวิต หรือก่อให้เกิดการบาดเจ็บสาหัสให้เจ้าหน้าที่ที่ประสบเหตุสามารถใช้อาวุธเพื่อระงับเหตุการณ์นั้นๆ ได้ โดยไม่ต้องรอฟังคำสั่งใดๆ

4. ห้ามใช้อาวุธยิงใส่ยานพาหนะต้องสงสัยใดๆ ที่ขับฝ่าด่านตรวจ/จุดตรวจ/จุดสกัด โดยให้จดจำเลขทะเบียนและลักษณะที่สำคัญแจ้งให้หน่วยในพื้นที่ใกล้เคียง (ทั้งทหาร - ตำรวจ) ดำเนินการสกัดให้หยุดและตรวจค้น เว้นแต่ได้รับแจ้งยืนยันแน่ชัดแล้วว่ายานพาหนะนั้นเป็นการหลบหนีของผู้ก่อเหตุ จึงสามารถใช้อาวุธยิงโดยเล็งที่บริเวณเครื่องยนต์หรือหม้อน้ำของยานพาหนะ เพื่อสกัดให้หยุดการเคลื่อนที่

5. ยานพาหนะที่จงใจขับพุ่งชนเพื่อฝ่าแนวต้านทานเข้ามาในที่ตั้งหน่วย หรือสถานที่สำคัญที่ ศอฉ. กำหนด ให้สามารถใช้อาวุธยิงเพื่อหยุดยานพาหนะนั้นได้โดยเล็งที่บริเวณเครื่องยนต์ หรือหม้อน้ำของยานพาหนะ ทั้งนี้ให้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติเป็นสำคัญ รวมทั้งต้องประกาศให้ผู้ก่อเหตุทราบ ในลักษณะ "หยุด ถ้าไม่หยุดเจ้าหน้าที่มีความจำเป็นต้องใช้อาวุธ"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น