โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

กลุ่มสิทธิสตรี 'FEMEN' เปลือยอกประท้วงโอลิมปิก ชี้หนุนกดขี่สตรีในรัฐอิสลาม

Posted: 02 Aug 2012 02:42 PM PDT

เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 55 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กลุ่มรณรงค์สิทธิสตรีฟีเมน (FEMEN) จากยูเครน ได้เปลือยอกประท้วงในกรุงลอนดอนเพื่อประท้วงเกมส์โอลิมปิก "ลอนดอน 2012" โดยชี้ว่าคณะกรรมการโอลิมปิกสนับสนุน "ระบอบอิสลามที่กดขี่เปื้อนเลือด" และเรียกร้องให้โอลิมปิกบอยคอตต์ประเทศที่ใช้กฎหมายอิสลามหรือ 'ชารีอะห์' เนื่องจากกดขี่สิทธิสตรี และขัดกับหลักการสากลเพื่อสันติภาพของเกมส์โอลิมปิก

กลุ่มผู้ประท้วงสตรี 4 คนจากกลุ่มฟีเมน จัดการประท้วงที่เรียกว่า "มาราธอนอิสลาม" โดยเปลือยกายท่อนบนวิ่งบริเวณสะพานลอนดอนทาวเวอร์ และเขียนคำบนหน้าอกว่า "ไม่เอากฎหมายชารีอะห์" โดยได้รับความสนใจจากสาธารณะและผู้สื่อข่าวจำนวนหนึ่ง แต่ต่อมาถูกตำรวจสก๊อตแลนด์ยาร์ดเข้าจับกุมในข้อหาละเมิดพ.ร.บ.ความเรียบร้อยในที่สาธารณะ และนำไปควบคุมตัวที่โรงพัก

แถลงการณ์ของกลุ่มฟีเมนระบุในหน้าเฟซบุ๊กขององค์กร ระบุว่า พวกเขาต้องการให้คณะกรรมการโอลิมปิกประณามความรุนแรงต่อสตรีที่เกิดขึ้นในรัฐอิสลาม และเรียกร้องให้ตัดประเทศที่ใช้กฎหมายอิสลามออกจากการแข่งขันโอลิมปิก เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวกดขี่สิทธิสตรีซึ่งขัดกับหลักสันติภาพของเกมส์โอลิมปิก 

"ด้วยการสนับสนุนของคณะกรรมการโอลิมปิก รัฐบาลอิสลามเหล่านี้ต่างใช้การเข้าร่วมของสตรีในเกมส์โอลิมปิกมาเป็นสิ่งบังหน้าเหยื่อของความรุนแรงและคนตายหลายพันคน ถ้าคณะกรรมการโอลิมปิกยังคงยุ่งเกี่ยวกับอิสลามสุดขั้ว อาจจะมีการเพิ่มเกมส์โอลิมปิกใหม่ๆ อย่างการรุมปาหินหรือการแข่งข่มขืนเร็วก็เป็นได้" แถลงการณ์ฟีเมนระบุ

ทั้งนี้ กลุ่มฟีเมน เป็นกลุ่มรณรงค์สิทธิสตรีที่ก่อตั้งในยูเครนเมื่อปี 2551 โดยก่อนหน้านี้ได้จัดการประท้วงเปลือยอกเพื่อต่อต้านสิทธิสตรีหลายครั้ง อาทิ ประท้วงการใช้นางแบบที่ผอมเกินไปในงานมิลาน แฟชั่น วีค เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การจัดการประชุมเวิรล์ด อีโคโนมิค ฟอรั่ม ที่กรุงดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือนมกราคม และระบุว่า การประท้วงวิธีนี้ "เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้มีเสียงดังในประเทศตนเอง และหากประท้วงแบบเดิมๆ ที่ถือป้ายประท้วง ข้อเรียกร้องของเราก็คงจะไม่มีใครสนใจ" 

 

ที่มาภาพ: จากเฟซบุ๊กของกลุ่ม FEMEN

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาโซมาเลียโหวตลงมติหนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

Posted: 02 Aug 2012 01:01 PM PDT

ประเทศที่มีสงครามกลางเมืองอย่างต่อเนื่องและขาดสถาบันปกครองที่มีเสถียรภาพ กำลังเดินตามการผลักดันของสหประชาชาติในก้าวต่อไปด้วยการลงมติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ขณะที่มีผู้พยายามก่อเหตุระเบิดพลีชีพสองรายแต่ไม่สำเร็จ

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา เหล่าผู้นำโซมาเลียได้ลงมติยอมรับรับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จากการโหวตเห็นชอบ 621 ราย โหวตไม่เห็นชอบ 13 ราย และงดออกเสียง 11 ราย

"พวกเรารู้สึกดีที่พวกคุณทำให้กระบวนการสำเร็จโดยการโหวตสนับสนุนรัฐธรรมนูญ" นายกรัฐมนตรี อับดีเวลี โมฮาเม็ด อาลี กล่าวต่อที่ประชุมสภา 825 คนหลังจากร่าง รธน. ได้รับมติเห็นชอบร้อยละ 96

ก่อนหน้าที่จะมีการลงมติไม่นาน ก็มีเหตุมือระเบิดพลีชีพสองราย ก่อเหตุอยู่นอกอาคารสภา โดยที่ตำรวจบอกว่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยิงมือระเบิดพลีชีพทั้งสองราย โดยทั้งสองรายถูกสังหารปละมีเจ้าหน้าที่ทหารโซมาเลีย 1 รายได้รับบาดเจ็บ

ยังไม่มีกลุ่มใดออกมาแสดงตนว่าเป็นผู้ก่อเหตุดังกล่าว ซึ่งตามมาด้วยเหตุระเบิดอีกหลายนัด ทั้งระเบิดข้างทางถนนและระเบิดมือ ในพื้นที่เมืองหลวงของโซมาเลีย

ในประเทศที่เต็มไปด้วยสงครามอย่างโซมาเลีย สภาพิเศษที่ถูกคัดเลือกตัวแทนโดยผู้ใหญ่บ้านตามประเพณีใช้เวลา 8 วันในการหารือและโหวตรัฐธรรมนูญใหม่อันเป็นกระบวนการที่สหประชาชาติหนุนหลังอยู่ โดยที่รัฐบาลรักษาการนี้จะหมดอายุลงในวันที่ 20 ส.ค.

แม้การลงมติร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวจะมีผลบังคับใช้ทันที อย่างไรก็ตามต้องได้รับการยอมรับผ่านการลงประชามติในระดับชาติอีกครั้ง

ดร.ออกัสติน มาฮิกา ตัวแทนระดับสูงจากยูเอ็นที่กรุงโมกาดิชู กล่าวว่าขั้นตอนต่อไปของกระบวนการคือการเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่ และการรับรัฐธรรมนูญเป็นก้าวสำคัญต่อกระบวนการสันติภาพในโซมาเลีย เขากล่าวให้ความเห็นต่อเหตุระเบิดว่า "เป็นความพยายามจะสร้างสถานการณ์เพื่อยับยั้งกระบวนการของพวกเขา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพยายามก่อสงครามอันไร้ระเบียบของฝ่ายกบฏ ซึ่งมีอัตราความสำเร็จจำกัด"

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้เวลาราว 8 ปี ในการร่างขึ้น โดยนำหลักกฏหมายของศาสนาอิสลามมาเป็นพื้นฐานในการร่าง และไม่มีศาสนาอื่นใดนอกจากอิสลามจะสามารถเผยแพร่ได้ในประเทศนี้ กฏหมายทุกมาตราจะต้องเป็นไปตามหลักกฏหมายชาริอะห์ (กฎหมายที่เป็นที่ยอมรับของชาวมุสลิม)

อย่างไรก็ตามร่างรัฐธรรมนูญล่าสุดของโซมาเลียได้ปกป้องสิทธิ์ในการทำแท้งเพื่อรักษาชีวิตของมารดา และสั่งห้ามการขลิบอวัยวะเพศของเด็กผู้หญิง ซึ่งเป็นสิ่งที่มักจะปฏิบัติกันในโซมาเลีย

ทางสหประชาชาติหวังว่าโซมาเลียจะเปิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศไปเป็นรัฐบาลแบบตัวแทนมากกว่า แต่การเลือกตั้งทั้งในระดับชาติและในระดับภูมิภาคยังดูห่างออกไปหลายปี แต่ออกัสตินก็แสดงความหวังว่าโซมาเลียกำลังเริ่มต้นยุคสมัยของการเมืองแบบผู้แทนด้วยการเลือดตั้งผู้นำหรือผู้ใหญ่บ้าน

โซมาเลียเป็นประเทศที่ไร้รัฐบาลกลางที่มีเสถียรภาพมาตั้งแต่ที่ประธานาธิบดี เซียด แบร์ ออกจากตำแหน่งไปในปี 1991

กรุงโมกาดิชูตกอยู่ภายใต้การโจมตีจากกลุ่มกบฏ อัล-ชาบับ นับตั้งแต่พวกเขาหันไปใช้ยุทธวิธีการรบแบบกองโจรในการต่อต้านรัฐบาล ในเวลาต่อมา อัล-ชาบับ ก็ถูกกดดันจากกองกำลังฝ่ายรัฐบาลและกองกำลังในพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งสูญเสียเมืองสำคัญๆ ไปในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ยังบอกว่าพวกเขายังไม่แพ้ง่ายๆ และยังเป็นภัยสำคัญอยู่

 

 

ที่มา

Somali assembly endorses draft constitution, Aljazeera, 01-08-2012 http://www.aljazeera.com/news/africa/2012/08/201281101033529886.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พันธมิตรฯ แนะรัฐบาลหากคิดจะสานเสวนา ขอให้ถอน พ.ร.บ.ปรองดองฯ

Posted: 02 Aug 2012 12:43 PM PDT

โฆษกพันธมิตรชี้สภาเลื่อนพิจารณา พ.ร.บ.ปรองดองฯ เป็นแค่การถ่วงเวลา ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ลั่นหากมีการลักไก่ เลื่อนวาระพิจารณาเมื่อไหร่พันธมิตรฯ จะชุมนุมทันที

เอเอสทีวี ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่าเมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่บ้านพระอาทิตย์ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้แก่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายพิภพ ธงไชย นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำรุ่น 2 และโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้แถลงข่าวภายหลังแกนนำพันธมิตรฯ ได้มีการหารือกัน

โดยนายปานเทพกล่าวว่า แกนนำพันธมิตรฯ ได้มีการประชุมกันที่บ้านพระอาทิตย์ และมีข้อสรุปต่อกรณีที่ทางพันธมิตรฯ ได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเรียกร้องให้พิจารณาเรื่องเกี่ยวข้องกับร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ต่อกรณีที่มีการเสนอกฎหมายดังกล่าวที่จะสร้างความแตกแยกให้แก่คนในชาติต่อไปในอนาคต ทางพันธมิตรฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้องว่าขอให้ถอนวาระดังกล่าวออกจากที่ประชุม โดยกำหนดเงื่อนไขว่า ถ้ามีปรากฏอย่างชัดเจนว่าจะประชุมเมื่อไหร่ และวาระปรากฏอย่างชัดเจนแล้ว พันธมิตรฯ จะดำเนินการชุมนุมโดยทันที

แต่เนื่องปรากฏเมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้มีการบรรจุวาระร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเข้าไปในที่ประชุม และมีการเสนอให้นำวาระ 10 เรื่องขึ้นมาเป็นวาระในการประชุมคราวหน้า ทำให้วาระกฎหมายปรองดองซึ่งเดิมอยู่ในบัญชีวาระเร่งด่วนพิเศษลำดับที่ 1 นั้นได้ตกลงไปเป็นลำดับที่ 11 เราจึงเห็นว่ากรณีดังกล่าวนั้นเป็นการถ่วงรั้งเวลาสถานการณ์ ไม่สามารถที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง

“สืบเนื่องมาจากกรณีดังกล่าวได้ล่วงเลยมาถึงวันที่ 1 ส.ค.แล้ว และประกอบกับมีการเลื่อนวาระดังกล่าวออกไปถึง 10 วาระดักหน้าเอาไว้กับกฎหมายปรองดอง เราจึงเห็นว่าถ้ายังไม่ปรากฏอย่างชัดเจนว่าจะมีการพิจารณาในวันที่ 8 ส.ค.นี้ เราก็จะยังชะลอการชุมนุมออกไปก่อน แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าปรากฏว่าจะมีการบิดพลิ้ว หรือมีการพิจารณาเสร็จสิ้นใกล้ถึง 10 วาระแล้ว พันธมิตรฯ ก็จะประชุมกันอีกครั้งเพื่อกำหนดวันชุมนุมครั้งต่อไป และก็จะกำหนดให้ทราบ แต่หากมีการลักไก่หรือมีการพลิกผันของมติฉุกเฉินในการพิจารณาว่าด้วยกฎหมายปรองดองเร่งด่วนพิเศษขึ้นมาลำดับแรกเมื่อไหร่ พันธมิตรฯ ก็จะจัดชุมนุมโดยทันทีเช่นเดียวกัน” นายปานเทพกล่าว

นายปานเทพกล่าวว่า เราเรียกร้องให้ทางแก้ที่ดีที่สุดก็คือ การถอนวาระดังกล่าวออกจากที่ประชุม เพราะเห็นว่าถ้ารัฐบาลมีความคิดจะสานเสวนาแล้ว ตราบใดที่ยังมีกฎหมายดังกล่าวคาอยู่เอาไว้ในสภา สะท้อนถึงความไม่จริงใจในการที่จะนำไปสู่ทางออกของประเทศ และเป็นไปไม่ได้ที่การคากฎหมายดังกล่าวเสมือนเป็นการตั้งธงเอาไว้ก่อนแล้วจะเชิญคนทุกกลุ่มมาสานเสวนานั้น พันธมิตรฯ ไม่มีทางจะเข้าร่วมได้เลย นอกจากการรอคัดค้านกฎหมายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เราจึงเห็นว่าในชั้นนี้เราจึงชะลอการชุมนุมออกไปก่อน และจะกำหนดอีกครั้งเมื่อถึงสถานการณ์ที่เหมาะสม ถ้ามีปรากฏอย่างชัดเจนว่าจะดำเนินการพิจารณาแล้ว เราก็จะมีการจัดชุมนุมโดยทันที และเรียกร้องเหมือนเดิมคือถอนกฎหมายดังกล่าวออกจากวาระการประชุม

ด้าน พล.ต.จำลองกล่าวว่า โดยสรุปก็คือ ถ้าจะมีการประชุมเรื่องกฎหมายปรองดองในสภาเมื่อไหร่ เราจะเรียกชุมนุมใหญ่ทันที ซึ่งเวลานี้ผู้ที่อัดอั้นตันใจอันเนื่องมาจากกฎหมายฉบับนี้ที่จะทำลายบ้านเมือง พร้อมอยู่แล้ว ไปที่ไหนเขาก็ถามว่าเมื่อไหร่จะชุมนุม เราบอกว่าเป็นไปตามเดิม คือจะมีการพิจารณากฎหมายนี้ในสภาเมื่อไหร่เราก็เรียกชุมนุมเมื่อนั้น ยืนยันว่าทัน และพร้อมอยู่แล้วในขณะนี้ ก็มีแต่คนของรัฐบาลออกมาให้ข่าวในทำนองว่าถ้าตัดเงื่อนไขบางอย่างออกไปก็น่าจะใช้ได้ เช่น ถ้าบอกว่าตัดการคืนทรัพย์สิน 4.6 หมื่นล้านบาทให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีออกไป กฎหมายนี้ก็น่าจะผ่านได้ เรายอมไม่ได้ เพราะร่าง พ.ร.บ.ปรองดองทั้งฉบับยังมีเรื่องอื่นที่ทำลายกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด เรายืนยันแล้วว่าแม้กฎหมายปรองดองเราจะได้ประโยชน์ โดยเฉพาะคดีฟ้องร้อง แต่ยืนยันว่าเราทำเพื่อสังคมส่วนรวม ไม่ได้ทำเพื่อตัวเราเอง และเรามั่นใจว่าเราไม่ผิด ถ้าเราผิดเราก็ยอมรับตามกระบวนการยุติธรรม ดีกว่าที่เอาตัวรอดไปแล้วทำให้บ้านเมืองเสียหาย ซึ่งเรายอมไม่ได้ ขอยืนยันอีกทีว่าเราไม่ได้เพิกเฉย เราติดตามสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา และเป็นไปตามที่เราได้พูดได้กล่าวไว้แล้ว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Human Resource ปัญหาที่ท้าทายของเมียนมาร์

Posted: 02 Aug 2012 08:35 AM PDT

            ภาพของ “เมียนมาร์” ในปัจจุบันดูจะเปรียบดั่งขุมทรัพย์อันหอมหวานของหลายประเทศทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสู่ความเป็น “ประชาธิปไตย” รวมถึงการปรับปรุงและผ่อนคลายเงื่อนไขทางกฎหมายและการวางแผนทางเศรษฐกิจตลอดช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุนและการค้า โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนจากต่างประเทศอย่างมาก โครงการลงทุนขนาดใหญ่ได้เริ่มปรากฎให้เพิ่มมากขึ้นในดินแดนแห่งนี้ พร้อมกับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจที่เริ่มทยอยไหลบ่าจากหลากหลายประเทศและองค์กรเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

            กระนั้นก็ดี “การปิดตัวเอง” และถูก “คว่ำบาตร” มาอย่างน้อยกว่า 2 ทศวรรษ ได้ทำให้ “เมียนมาร์” มีหลายปัญหาที่สะสมมาอย่างยาวนาน บางปัญหามีรากฐานมาแต่ครั้งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทศวรรษ 1960 โดยที่ปัญหาเหล่านี้ในมุมหนึ่งได้ส่งผลต่อการสร้างพื้นฐานรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและการลงทุนในปัจจุบันและอนาคต

            ในมุมมองของผู้เขียน “ทรัพยากรบุคคล” เป็นปัญหาหลักสำคัญหนึ่งของเมียนมาร์ที่ต้องเผชิญในระยะเวลาอันใกล้นี้ แม้เมียนมาร์จะมีแรงงานราคาถูกอันล้นเหลือที่พร้อมรองรับการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมประเภทใช้แรงงานเข้มข้น (Labor-intensive) หากแต่บุคลากรในระดับเทคนิค วิชาชีพ วางแผน และบริหารเป็นสิ่งที่เมียนมาร์ยังคงขาดแคลนอยู่อย่างมากทั้งในภาครัฐและเอกชน

            ปัญหาทรัพยากรบุคคลของเมียนมาร์เป็นสิ่งที่ได้รับการกล่าวถึงมานานตั้งแต่ทศวรรษ 1950 หลุยส์ เจ วาลินสกี้ (Louis J Walinsky) นักวิชาการและอดีตหัวหน้าที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลพม่า (1953 – 1958) ได้ชี้ให้เห็นว่าการขาดทรัพยากรบุคคลทางด้านต่างๆ เป็นปัญหาหลักสำคัญประการหนึ่งของประเทศและเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาประเทศ บุคลากรชาวอังกฤษและอินเดียส่วนใหญ่ที่เคยกุมบทบาทในระดับวิชาชีพและการวางแผนได้ได้ย้ายออกจากประเทศภายหลังการประกาศเอกราช

            ในทางเดียวกัน นักประวัติศาสตร์หญิงคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงหลังอาณานิคมของเมียนมาร์ ได้เคยกล่าวกับผู้เขียนว่าปัญหาทรัพยากรบุคคลนี้ นอกจากจะแทบไม่ได้รับการแก้ปัญหาแล้ว ยังประสบปัญหาซ้ำอีก ในทศวรรษ 1960 หลังการรัฐประหารของนายพลเนวิน และการประกาศใช้ “ระบบสังคมนิยมวิถีพม่า” ได้ส่งผลให้บรรดานักเทคนิคและผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งทยอยเดินทางออกนอกประเทศ อีกจำนวนหนึ่งได้ยุติบทบาทของตัวเองลง รวมถึงระบบเศรษฐกิจที่ว่านี้ยังทำให้ภาคเอกชนมีการขยายตัวที่ต่ำ อันหมายถึงบุคลากรและเจ้าหน้าที่ภาคเอกชนที่มีจำนวนเพียงน้อยนิด ในทางเดียวกัน การละเลยที่จะให้ความสำคัญกับการศึกษาในทุกระดับ และการปิดมหาวิทยาลัยหลายครั้งเพื่อยุติบทบาทการเคลื่อนไหวนักศึกษาได้กระทบต่อการพัฒนาและวางรากฐานทรัพยากรบุคคลของประเทศด้วยเช่นกัน

            สถานการณ์ในปัจจุบัน แม้จะมีสภาพในหลายด้านที่ดีขึ้นกว่าในอดีต หากแต่ในด้านทรัพยากรบุคคลในระดับกลางและสูงดูจะยังประสบปัญหาอย่างมาก แม้ในหลายภาคส่วนทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจและการเงินจะปรากฎข่าวการให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคและการอบรมจากสถาบันการเงินต่างประเทศ หากแต่นั่นเป็นสิ่งที่ยังคงต้องเวลาและการสร้างความคุ้นเคยสำหรับเจ้าหน้าที่ในประเทศที่แทบจะตัดขาดจากระบบการเงินสมัยใหม่ของโลก ทำนองเดียวกับ การพัฒนาบุคลากรผ่านการศึกษาที้จำเป็นต้องใช้เวลาอย่างมากกว่าจะเห็นผล ทว่าสภาพการศึกษาและการบุคลากรของเมียนมาร์ยังดูแทบจะหยุดนิ่ง หลายสิ่งหลายอย่างที่ปรากฎในแผนงานและเอกสารเผยแพร่เกี่ยวกับการศึกษาของรัฐดูจะยังแทบห่างไกลกับสภาพการศึกษาที่เป็นจริง รวมถึงการที่รัฐบาลแทบจะไม่มีการส่งคนหรือบุคลากรไปศึกษาต่อยังต่างประเทศเพื่อซึมซับระบบการทำงานและสภาพความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและเทคนิควิธีการเลย

            นอกจากนี้ ชาวเมียนมาร์ที่มีหน้าที่ในภาคเอกชนและบริษัทชั้นนำในหลายประเทศ แม้พวกเขาจะอยากกลับไปช่วย “พัฒนา” บ้านเกิดที่จากมาแสนนาน หากแต่ปัญหาสำคัญดูจะอยู่ที่เสถียรภาพทางการเมืองที่ถึงจะมีการปรับปรุงในหลายด้าน ทว่ายังคงมีความคุมเครือในอนาคตอยู่มาก และปัญหาของการกีดกัน/ขัดแย้งทางศาสนาดูจะทำให้พวกเขาหลายคนต้องคิดหนักกับการกลับไปเมียนมาร์

            จากที่กล่าวมา เมียนมาร์ในอนาคตอันใกล้จึงอาจประสบปัญหากับการขาดแคลนบุคลากรระดับกลางและสูงที่จะมีส่วนช่วยผลักดันและวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว ถึงแม้กฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศฉบับใหม่ที่มีแผนประกาศใช้ในอีกไม่นาน จะปรากฎเงื่อนไขที่บริษัทต่างประเทศต้องเพิ่มสัดส่วนแรงงานมีฝีมือชาวเมียนมาร์อันอาจรวมบุคลากรในระดับวิชาชีพและเทคนิค จากร้อยละ 25 ในปีที่ 5 เป็นร้อยละ 50 และ 75 ในปีที่ 10 และ 15 ของกิจการ หากแต่เป็นที่น่าจับตาว่าในทางปฏิบัติจะสามารถดำเนินการได้มากน้อยเพียงใด และแรงงานมีฝีมือที่ระบุนั้นมีขอบเขตกว้างขวางขนาดไหน

            ทรัพยากรบุคคลของเมียนมาร์จึงเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่ง ที่ควรตระหนักท่ามกลางภาพแห่งความหวังของการพัฒนาเศรษฐกิจและการลงทุน เพราะความยั่งยืนและทิศทางแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจ นอกจากแรงงานระดับล่างจะมีความสำคัญแล้ว บุคลากรในระดับกลางและสูงยังมีความสำคัญไม่แพ้กัน และเป็นรากฐานให้เมียนมาร์ยกระดับการผลิตและเศรษฐกิจของประเทศจากการพึ่งพาแรงงานราคาถูก มาเป็นการผลิตและเศรษฐกิจที่พึ่งพาเทคโนโลยีและภาคบริการในอนาคต

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กอ.รมน.ภาค 4 ยันไม่ประกาศเคอร์ฟิวชายแดนใต้

Posted: 02 Aug 2012 08:31 AM PDT

 

กอ.รมน. ภาค 4 ยันไม่มีความจำเป็นต้องประกาศเคอร์ฟิว รัฐบาลเตรียมตั้งศูนย์แก้ปัญหาภาคใต้ส่วนหลังที่ กทม. รองนายกฯ ยุทธศักดิ์นั่งเป็นประธาน  ใต้ยังป่วน เผาโรงเรียนรัฐในปัตตานี

พ.อ. ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้ากล่าวว่าทางหน่วยยังไม่มีนโยบายในการประกาศเคอร์ฟิวพี้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  แม้ว่าทางรัฐบาลจะได้แสดงความเป็นห่วงถึงสถานการณ์ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฏาคม ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นการเข้าสู่เดือนรอมฎอนซึ่งเป็นเดือนแห่งการถือศีลอดของชาวมุสลิม 

ก่อนหน้านี้ สื่อหลายฉบับได้รายงานว่าทางกอ.รมน.เตรียมจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการประกาศใช้เคอร์ฟิวในบางพื้นที่ในช่วงหลังเดือนรอมฎอน

ตามที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้มีคำสั่งจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่กรุงเทพฯนั้น หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวในกองทัพบกว่าทางผู้บัญชาการทหารบกได้ประชุมร่วมกับกอ.รมน.แล้ว และเสนอที่ตั้งศูนย์ฯ สามแห่ง คือ ทำเนียบรัฐบาล กองทัพบก หรือกอ.รมน.  

โดยศูนย์นี้จะมีพล.อ. ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงเป็นผู้อำนวยการ  และมีนายยงยุทธ  วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีเป็นที่ปรึกษา  มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการเหล่าทัพเป็นรองผู้อำนวยการศูนย์ และมีเสนาธิการทหารบกเป็นเลขานุการ  โดยศูนย์ดังกล่าวจะทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์และรายงานตรงต่อผอ.ศูนย์ฯ และนายกรัฐมนตรี รวมถึงอำนวยการแก้ไขสถานการณ์เบื้องต้นอีกด้วย

สำหรับสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้  ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน  กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้ารายงานว่าเมื่อเวลา 19.15 น. วันที่ 1  สิงหาคม 2555 คนร้าย 4 คน ขับขี่รถจักรยานยนต์ 2 คันเป็นพาหนะ ลอบวางเพลิงอาคารเรียนโรงเรียนบ้านกูวิง หมู่ที่ 1 ต.สาคอใต้ อ.มายอ จ.ปัตตานี ทำให้อาคารเรียนไม้ 2 ชั้น 8 ห้องเรียนได้รับความเสียหายทั้งหลัง โดยอาคารนั้นเป็นอาคารเรียนเก่า ไม่ได้ใช้งาน ในขณะเกิดเหตุ ชุดรักษาหมู่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบที่เฝ้าโรงเรียนออกไปทำการละศีลอด คนร้ายจึงอาศัยเวลาดังกล่าวก่อเหตุ กอ.รมน. เชื่อว่าเป็นการกระทำของผู้ก่อเหตุรุนแรง 

ต่อมาเมื่อเวลา 2.30 น. ของวันที่ 2 สิงหาคม 2555 คนร้ายได้ดักยิงนายฮามะ ดอมิ อายุ  64 ปี ขณะเดินทางกลับจากมัสยิดเพื่อจะกลับบ้าน  นายฮามะเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ  เหตุเกิดที่บ้านมาหยอ หมู่ที่ 2 ต.มายอ อ.มายอ จ.ปัตตานี สาเหตุอยู่ระหว่างการตรวจสอบ

ในเวลา 7.00 น. มีผู้พบศพนายซาการียา สามะ อายุ 26 ปี อยู่ที่บริเวณสวนยางพาราหลังโรงเรียนตาดีกา บ้านบาลูกาตือเงาะ หมู่ที่ 1 ต.ลุโบะยิไร อ.มายอ  จ.ปัตตานี  เขาถูกยิงด้วยอาวุธปืนลูกซองบริเวณหน้าอกคาดว่าเสียชีวิตมาแล้วประมาณ 8 ชั่วโมง กอ.รมน. คาดว่าเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือลักขโมย  

 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "พึ่งจะรู้"

Posted: 02 Aug 2012 08:05 AM PDT

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "พึ่งจะรู้"

กะเหรี่ยงตะวันตกเร่งรัฐ ทำตามมติ ครม.ฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง

Posted: 02 Aug 2012 07:57 AM PDT

เตือน มติ ครม.เพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยงออกมาได้ครบสองปีแต่ไร้วี่แววปฏิบัติตาม ชูให้เห็นความสำคัญทางมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

มหาวิทยาลัยราชภัฎกาญจนบุรี – คณะอนุกรรมการเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงร่วมกับเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมตะวันตก 6 จังหวัดเร่งผลักดันให้รัฐบาลปฏิบัติตามมติ ครม.เพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยงที่ออกมาสองปีที่แล้วให้นำไปปฏิบัติจริง หลังไร้วี่แววปฏิบัติ โดยชูให้เห็นความสำคัญทางมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

ภายหลังจากที่รัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรีเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยงตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2553 แต่ยังไร้วี่แววในทางปฏิบัติ ทางคณะอนุกรรมการเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมตะวันตกจาก 6 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ จัดโครงการประสานพลังท้องถิ่นเพื่อการผลักดันมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ให้นำไปสู่การปฏิบัติ เมื่อวันที่ 28-30 กรกฎาคม 2555 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎกาญจนบุรี  โดยมีแกนนำกะเหรี่ยงเข้าร่วมกว่า 100 คน

นางภินันท์ โชติรสเศรณี ประธานกลุ่มสตรีเมืองกาญจน์ ซึ่งมีบทบาทรณรงค์เรื่องการปกป้องป่าและวิถีชีวิตคนกะเหรี่ยงมาตลอดได้กล่าวเปิดว่า กะเหรี่ยงมีบุญคุณต่อสังคมไทยมาตั้งแต่โบราณ นับแต่ร่วมปกป้องชายแดนไทยจากการรุกรานจากพม่า มาจนถึงปัจจุบันที่มีบทบาทการดูแลรักษาป่า โดยเฉพาะป่าทุ่งใหญ่นเรศวรที่มีความสำคัญเป็นมรดกโลกที่สร้างธรรมชาติสมบูรณ์ ดังนั้นเมื่อมีเหตุอะไรมากระทบต่อคนกะเหรี่ยงเราควรจะนึกถึงบุญคุณโดยร่วมปกป้องสิทธิของคนกะเหรี่ยงเฉกเช่นพลเมืองอื่นๆ ของไทย

นายสุรพงษ์ กองจันทึก รองประธานอนุกรรมการอำนวยการเพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวถึงที่มาของมติครม.ว่า เกิดจากเครือข่ายกะเหรี่ยงตะวันตกจัดศูนย์วัฒนธรรมที่ไล่โว่ กาญจนบุรี โดยเชิญรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมธีระ สลักเพชร มาร่วมงาน ทำให้เห็นถึงคุณค่าความสำคัญของกะเหรี่ยงทั้งในเรื่องการรักษาป่าและวัฒนธรรม พร้อมเห็นถึงปัจจัยคุกคามต่อวิถีชีวิตคนกะเหรี่ยง จึงได้เกิดการตั้งคณะกรรมการเพื่อฟื้นฟูชีวิตกะเหรี่ยงที่มาจากหลายฝ่าย และเกิดเป็นมติคณะรัฐมนตรีขึ้นมา โดยก้าวต่อไปจะผลักดันให้ไร่หมุนเวียนได้รับการรับรองเป็นมรดกทางภูมิปัญญาวัฒนธรรมของชาติและของโลกด้วยการจัดงานครั้งนี้จะเป็นการระดมความคิดเห็น ข้อเสนอเพื่อผลักดันต่อรัฐบาลดำเนินการตามมติครม.อย่างเป็นรูปธรรมในเวลาไม่ช้า

อนึ่ง ปัจจุบันกะเหรี่ยงทั้งภาคตะวันตกและภาคเหนือเผชิญภัยคุกคามหลายด้าน ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกทำลายป่า ทั้งที่อยู่ในพื้นที่ป่ามานับร้อยปีและมีบทบาทรักษาป่ามาตลอด และยังถูกจำกัดการทำไร่หมุนเวียนโดยกล่าวหาว่าเป็นไร่เลื่อนลอย ทั้งที่มีงานศึกษาทั้งวิทยาศาสตร์และสังคมยืนยันตรงกันว่าเป็นระบบการผลิตบนที่สูงที่มีความยั่งยืนทางนิเวศและความมั่นคงอาหารมากที่สุด ในด้านสิทธิ หลายชุมชนไม่ได้รับรองสัญชาติ ทำให้เข้าไม่ถึงระบบสวัสดิการของรัฐทั้งเรื่องการศึกษา สาธารณสุขและอื่นๆ อีกทั้งกระแสเศรษฐกิจและวัฒนธรรมกำลังกระทบต่อวัฒนธรรมกะเหรี่ยงอย่างรุนแรง ดังนั้นคนกะเหรี่ยงต้องการฟื้นฟูวัฒนธรรมกะเหรี่ยง

การจัดงานเวทีประสานพลังท้องถิ่นเพื่อผลักดันมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 ผ่านกระบวนการความคิดเห็นของเครือข่ายกะเหรี่ยงในระหว่างวันที่ 28 - 30 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการผลักดันมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ดังนี้

 

ข้อเสนอเชิงนโยบาย

เสนอต่อรัฐบาล / ราชการ

1. รัฐบาลต้องกำกับ ดูแลให้หน่วยงานราชการปฏิบัติตามมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 (การเข้าถึงบริการสาธารณะที่เท่าเทียมทั่วถึงเปรียบเสมือนประชาชนโดยทั่วไป
2. รัฐบาลต้องปรับแก้กฎหมาย ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต (สอดคล้องกับไร่หมุนเวียน)

3. รัฐบาลต้องส่งเสริมให้เกิดกระบวนการพัฒนาร่วมระหว่างภาคราชการและชุมชนชาวบ้าน

เสนอต่อองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น
1. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีแผนพัฒนาที่สอดคล้องกับมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553
2. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องออกระเบียบ / ประกาศที่เอื้อต่อมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553
3. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินกิจกรรมฟื้นฟูวัฒนธรรม

เสนอต่อองค์กรพัฒนา
1. องค์กรพัฒนาต้องส่งเสริมการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
2. องค์กรพัฒนาต้องสนับสนุนความรู้ให้กับชุมชนเพื่อการผลักดันมติครม. 3 สิงหาคม 2553 สู่การปฏิบัติ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แนวทางการพัฒนากฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อพนักงานมหาวิทยาลัย

Posted: 02 Aug 2012 07:45 AM PDT

เกรินนำ
ก่อนปี พ.ศ. 2542 ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในมหาวิทยาลัยโดยมากมีสถานภาพเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2507 ซึ่งผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งต่างๆ ในมหาวิทยาลัยจะได้รับสิทธิและสวัสดิการในฐานะที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่นั้นเป็นข้าราชการพลเรือน แต่ภายหลังจากปี พ.ศ. 2542 หลักเกณฑ์เกี่ยวกับสถานภาพของบุคคลากรของมหาวิทยาลัยก็เปลี่ยนไป อันเนื่องมาจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จัดจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยเพื่อทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการออกนอกระบบในปี พ.ศ. 2545 อันเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2542 ที่ได้วางกรอบนโยบายให้ทบวงมหาวิทยาลัยได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการจ้างพนักงานทดแทนเท่ากับจำนวนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยที่เกษียณอายุในปีงบประมาณนั้น ๆ จนกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐได้ปรับเปลี่ยนไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐภายในปี พ.ศ. 2545

ทั้งนี้ การจัดสรรงบประมาณสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานทดแทนอัตราข้าราชการที่เกษียณอายุในแต่ละปีดังกล่าว ให้จัดสรรเพิ่มขึ้นจากอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของข้าราชการในตำแหน่งที่เกษียณอายุในปีนั้น ๆ กล่าวคือ[2] เพิ่มขึ้น 1.7 เท่า จากอัตราเงินเดือนแรกบรรจุข้าราชการ สำหรับการจัดสรรงบประมาณทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย สาย ก[3]

 และเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า จากอัตราเงินเดือนแรกบรรจุข้าราชการ สำหรับการจัดสรรงบประมาณทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย สาย ข. และสาย ค.[4]

  เหตุที่มติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2542 ได้บัญญัติไว้เช่นนี้ ก็เพราะต้องการจูงใจให้ผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานมหาวิทยาลัยทั้งในส่วนของสายวิชาการและสายสนับสนุน จัดทำและขับเคลื่อนบริการสาธารณะด้านการให้การศึกษาระดับอุดมศึกษาให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวได้เปิดโอกาสให้สภามหาวิทยาลัยสามารถบริหารจัดการงบประมาณในส่วนของค่าจ้างได้ด้วยตนเองเพื่อให้ผู้มีความรู้ความสามารถได้ค่าจ้างที่เหมาะสมและเป็นธรรมกว่าหน่วยงานราชการอื่นๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การเปลี่ยนสถานภาพจากข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษามาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ได้ส่งกระทบหลายประการต่อพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุน ตัวอย่างเช่น[5]

การกำหนดอัตราเงินเดือนที่ไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2542 โดยไม่มีการปรับเงินเดือนให้เทียบเท่ากับเงินเดือนข้าราชการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2554 และเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2555 และการเลิกจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยอย่างไม่เป็นธรรม เป็นต้น

ดังนี้ การเปลี่ยนสถานภาพจากข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษามาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ได้ส่งผลกระทบหลายประการต่อพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุน อันก่อเกิดการเลือกปฏิบัติ (Discrimination) ต่อพนักงานมหาวิทยาลัยในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐจากความไม่เท่าเทียม ในการจ้างงาน (Employment Inequality) ในภาครัฐ อันอาจก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคมสถาบันอุดมศึกษา นอกจากนี้ การเลือกปฏิบัติที่สามารถส่งผลเสียต่อขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของพนักงานมหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นแรงงานประเภทหนึ่งในสังคมแรงงานและส่งผลเสียต่อคุณภาพในการจำทำบริการสาธารณะด้านการให้บริการทางวิชาการด้วย

ปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อพนักงานมหาวิทยาลัย
แม้มติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2542 ได้กำหนดหลักการเพื่อต้องการจูงใจให้ผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานมหาวิทยาลัยทั้งในส่วนของสายวิชาการและสายสนับสนุน โดยกำหนดอัตราเงินเดือนที่พิเศษให้กับผู้ดำรงตำแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัย แต่นโยบายตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวกลับสร้างปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อพนักงานมหาวิทยาลัยที่ไม่เป็นธรรมในเวลาต่อมา โดยอาจพิจารณาประเด็นปัญหาดังต่อไปนี้ ได้แก่ ประการแรก สิทธิในการฟ้องคดีปกครองของพนักงานมหาวิทยาลัยในกรณีเกี่ยวกับกระบวนการในการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานมหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาเป็นการภายในเพื่อต่อสัญญาจ้างได้ถูกจำกัด เพราะพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ไม่ได้รองรับสิทธิให้พนักงานมหาวิทยาลัยสามารถฟ้องคดีได้ โดยถือว่ากระบวนการในการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานมหาวิทยาลัยนั้น ถือเป็นเพียงแค่ขั้นตอนภายในของคณะกรรมการประเมินเพื่อเสนอผลการพิจารณาต่อผู้บังคับบัญชาต่อไปเท่านั้น กระบวนการประเมินผลการปฏิบัติงานดังกล่าวมิได้มีผลกระทบต่อผู้ฟ้องคดีอันจะมีสถานะเป็นคำสั่งทางปกครองแต่อย่างใด[6]

ด้วยข้อจำกัดดังกล่าวอาจทำให้สถานภาพของพนักงานมหาวิทยาลัยไม่มีความมั่นคงในอาชีพและผู้บังคับบัญชาอาจอาศัยช่องทางกฎหมายดังกล่าวมาต่อรอง กลั่นแกลงหรือล่วงละเมิดทั้งทางร่างกายและจิตใจในกรณีอื่นๆ ตามมา ตัวอย่างเช่น การล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual Harassment) ต่อพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนโดยอาศัยเงื่อนไขสัญญาจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยที่กำลังจะหมดอายุมาเป็นเครื่องต่อรองเพื่อคุกคามทางเพศและการเปิดช่องให้ใช้ระบบอุปภัมภ์ (Patronage System) โดยไม่สนใจถึงประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานที่แท้จริงของพนักงานมหาวิทยาลัยที่มิได้อยู่ในอุปถัมภ์ของตน เป็นต้น

ประการต่อมา รัฐบาลและมหาวิทยาลัยต้นสังกัดของพนักงานมหาวิทยาลัยมักกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการโดยไม่คำนึงถึงมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2542 ที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้น แต่กลับอาศัยช่องว่างทางกฎหมายและข้อกำหนดในเรื่องสถานภาพของพนักงานมหาวิทยาลัยมากำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นเพื่อเอารัดเอาเปรียบพนักงานมหาวิทยาลัยที่สังกัดมหาวิทยาลัยของรัฐ เช่น การหักเงินเดือนบางส่วนไปใช้จัดสวัสดิการให้พนักงานมหาวิทยาลัย ทำให้พนักงานมหาวิทยาลัยไม่ได้รับเงินเดือนในอัตรา 1.5 ถึง 1.7 เท่าของอาจารย์ประเภทข้าราชการ เป็นต้น นอกจากนี้ การจ่ายเงินประจำตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ประเภทพนักงานมหาวิทยาลัย ที่ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ ได้แก่ ศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ยังเหลื่อมล้ำหรือไม่เท่ากับอาจารย์มหาวิทยาลัยประเภทข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งในระดับเดียวกัน ซึ่งถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยอาศัยสถานภาพในสัญญาจ้างแรงงานมาปิดกั้นโอกาสไม่ให้ได้รับสิทธิหรือสวัสดิการที่เท่าเทียมกัน

ประการที่สาม ในปัจจุบันประเทศไทยมีข้อจำกัดทางกฎหมายโดยไม่เปิดช่องให้มีการจัดตั้งสหภาพพนักงานมหาวิทยาลัยเหมือนอย่างบางประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ เพราะการบริหารงานบุคลากรประเภทพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการและสายสนับสนุนไม่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายแรงงานสัมพันธ์เหตุผลที่ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายแรงงาน เหตุที่เป็นเช่นนี้น่าจะเกิดจากเหตุผลสองประการ ได้แก่ มหาวิทยาลัยไม่ต้องการให้พนักงานมหาวิทยาลัยนัดหยุดงานหรือใช้สิทธิทางแรงงานเหมือนกับแรงงานในตลาดแรงงานประเภทอื่นๆ เพราะพนักงานมหาวิทยาลัยถือเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการศึกษาอันถือเป็นการจัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษาอย่างหนึ่ง หากพนักงานมหาวิทยาลัยสามารถนัดรวมตัวหรือหยุดงานได้ อาจไปกระทบต่อการจัดทำบริการสาธารณะของมหาวิทยาลัยและหลักการจัดทำบริการสาธารณะที่บริการสาธารณะต้องต่อเนื่อง (Le principe de continuité du service public) ไม่สะดุดเพราะหน่วยงานหรือคนในหน่วยงานผู้จัดทำเอง นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งต้องการออกหลักเกณฑ์และวิธีการในการควบคุมและบริหารบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัยแตกต่างกัน เพราะขึ้นอยู่กับสภาพและปัจจัยภายในและภายนอกของมหาวิทยาลัยหลายประการ เช่น ข้อจำกัดด้านงบประมาณ ความต้องการจำกัดอำนาจของกลุ่มอิทธิพลที่เป็นข้าราชการมีตำแหน่งบริหารในสถาบัน เป็นต้น

ประการที่สี่ แม้ว่าในปัจจุบันรัฐได้กำหนดกฎหมายและข้อบังคับหลายฉบับเพื่อส่งเสริมหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) ในมหาวิทยาลัย เช่น ประกาศ ก.พ.อ. เรื่อง มาตรฐานของจรรยาบรรณที่พึงมีในสถาบันอุดมศึกษา พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 และพระราชบัญญัติการบริหารส่วนงานภายในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2550[7]

เป็นต้น แต่กฎหมายฉบับต่างได้กำหนดเพียงหลักการเรื่องธรรมาภิบาลในการบริหารการจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยอย่างกว้างๆ แต่มิได้ระบุแนวทางในการปฏิบัติ (Code of Practice) หรือเกณฑ์กลาง ในการกำหนดมาตรฐานการบริหารงานพนักงานมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด

ประการสุดท้าย แม้ผู้ดำรงตำแหน่งหรือสถานภาพพนักงานมหาวิทยาลัยที่เหมือนกันและมีหน้าที่ในการทำภารกิจบริการสาธารณะด้านการศึกษาที่เหมือนกัน แต่ต่างกันแต่เพียงที่มาของแหล่งเงินเดือน ก็ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม โดยพนักงานมหาวิทยาลัยบางประเภทไม่มีสิทธิที่จะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เช่นเดียวกับข้าราชการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีหรือพนักงานมหาวิทยาลัยในสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณแผ่นดิน

แนวทางในการพัฒนากฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อพนักงานมหาวิทยาลัย
ในบางประเทศได้มีการบัญญัติกฎหมายเพื่อขยายหลักการในเรื่องของการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของพนักงานมหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นลูกจ้าง (Contractual Employees) ภายใต้สัญญาจ้าง ให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ตัวอย่างเช่น ประเทศอังกฤษได้บัญญัติกฎหมาย Equality Act 2010 มาตรา 39 และมาตรา 40 ที่กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อขยายสิทธิและเสรีภาพของพนักงานมหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นลูกจ้างตามสัญญา ให้ได้รับความเท่าเทียมกันในระบบแรงงานสัมพันธ์และปราศจากการเลือกปฏิบัติจากนายจ้างหรือระบบการบังคับบัญชาภายในองค์กร เช่น การกำหนดมาตรการลงโทษนายจ้างที่กระทำการล่วงละเมิดทางเพศแก่ลูกจ้างและการห้ามไม่ให้เลือกปฏิบัติในกรณีที่มีการพิจารณาการเลื่อนขั้นหรือเลื่อนระดับของลูกจ้างของลูกจ้าง เป็นต้น นอกจากกฎหมายของอังกฤษฉบับดังกล่าวคุ้มครองลูกจ้างมิให้ถูกเลือกปฏิบัติหรือกีดกันจากนายจ้างหรือผู้บังคับบัญชาตามสายการบังคับบัญชา กฎหมายดังกล่าวยังมุ่งประสงค์ที่คุ้มครองผู้สมัครเข้าทำงาน (Applicants) ในมหาวิทยาลัยของรัฐให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมในการคัดเลือกบุคคลเพื่อรับเข้าทำงานในหน่วยงานต่างๆ จากบทบัญญัติดังกล่าว จากที่กล่าวมาอาจเห็นได้ว่าสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในประเทศอังกฤษต้องปฏิบัติตามกฎหมาย Equality Act 2010 เพื่อให้พนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการและพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนได้มีโอกาสได้รับการปฏิบัติในด้านการจ้างแรงงานจากมหาวิทยาลัยอย่างเท่าเทียม ในฐานะที่ตนเป็นผู้ที่ทำงานภายใต้สัญญาจ้างปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย (Contract Worker) โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างและความหลากหลายด้านอายุ ความพิการทางกาย การแปลงเพศ การแต่งงานและการใช้ชีวิตคู่ การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร สีผิว ศาสนาและความเชื่อ เพศ และรสนิยมทางเพศ[8]

แม้ว่าประเทศไทยไม่ได้มีความหลากหลายและความแตกต่างในด้านวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อรสนิยมและสีผิวแบบผู้คนในสังคมมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาในประเทศอังกฤษ[9]

แต่อย่างไรก็ดี ปัญหาที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติต่อพนักงานมหาวิทยาลัย นั้นคือ การอาศัยความแตกต่างและความเหลื่อมล้ำทางด้านสถานภาพของบุคคลกรในมหาวิทยาลัยในการเลือกปฏิบัติ (Labour Discrimination) อันก่อให้เกิดความเหลือมล้ำระหว่างผู้ที่ปฏิบัติงานในหน้าที่และภารกิจบริการสาธารณะในลักษณะงานบริการสาธารณะด้านการศึกษาแบบเดียวกัน แต่กลับได้รับการปฏิบัติทางด้านสวัสดิการและความมั่นคงในการทำงานที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ การกระทำภายในองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลประเภทพนักงานมหาวิทยาลัย ก็ยากที่จะตรวจสอบโดยกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง เพราะศาลปกครองภายใต้กฎหมายวิธิพิจารณาคดีทางปกครองไม่อาจก้าวล่วงมาตรวจสอบการพิจารณาหรือวินิจฉัยเป็นการภายในมหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นหน่วยงานทางปกครองได้ดังที่ได้กล่าวไปในข้างต้น ซึ่งการที่กระบวนการยุติธรรมทางปกครองไม่สามารถตรวจสอบได้ตามกฎหมาย ย่อมเปิดช่องให้ผู้บังคับบัญชาอาจใช้อคติในการตัดสินหรือพิจารณาการต่ออายุสัญญาของพนังงานมหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาต่างๆ อันเนื่องมาจากความแตกต่างและความเหลื่อมล้ำทางด้านสถานภาพของบุคคลกรในมหาวิทยาลัย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดและบัญญัติมาตรการทางกฎหมายเฉพาะขึ้น เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากสถานภาพทางตำแหน่ง (Anti-discrimination) และส่งเสริมสวัสดิการด้านต่างๆ ให้เท่าเทียมกับสถานภาพของบุคคลกรประเภทอื่นๆ ในมหาวิทยาลัย ที่ปฏิบัติงานในภารกิจหรือหน้าที่การจัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษาที่เหมือนกัน เช่น ข้าราชการ เป็นต้น นอกจากการขจัดการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากสถานภาพทางตำแหน่งโดยอาศัยมาตรการทางกฎหมายแล้ว รัฐควรบัญญัติแนวทางในการปฏิบัติหรือเกณฑ์กลาง (Code of Practice) ตามมาตรการทางกฎหมายที่ได้จัดทำขึ้น เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ แนวทางและวิธิการเพื่อสร้างปทัสถานที่ดีในการขจัดการเลือกปฏิบัติในกรณีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลประเภทพนักงานมหาวิทยาลัย เช่น การกำหนดเกณฑ์กลางด้านธรรมาภิบาลในการประเมินผลงาน (Performance Appraisal Governance) สำหรับผู้บังคับบัญชาหรือคณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงานพนักงานมหาวิทยาลัย เพื่อให้มีแนวการปฏิบัติอย่างเดียวกันและป้องกันการใช้ดุลพินิจและอคติที่ไม่เป็นธรรมในการประเมินผลการปฏิบัติงาน

สรุป
จากข้อจำกัดด้านต่างๆ ของข้อจำกัดการบริหารงานบุคคลประเภทพนักงานมหาวิทยาลัย ช่องว่างที่กระบวนการยุติธรรมทางปกครองไม่สามารถตรวจสอบการกระทำอันเป็นการภายในได้และข้อผูกมัดของสัญญาจ้างตามเงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่พนักงานมหาวิทยาลัยที่ได้ทำกับมหาวิทยาลัย อาจส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อพนักงานมหาวิทยาลัยในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม จนอาจนำมาซึ่งการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมในสถาบันอุดมศึกษาได้ ดังนั้น การขจัดการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากสถานภาพทางตำแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัยโดยอาศัยมาตรการทางกฎหมายการจัดทำแนวทางในการปฏิบัติหรือเกณฑ์กลาง ย่อมถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการสร้างธรรมาภิบาลภายในมหาวิทยาลัยของรัฐและอาจเป็นเครื่องมือเพื่อส่งเสริมให้พนักงานมหาวิทยาลัยมีขวัญและกำลังใจในการพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาในเจริญก้าวหน้าต่อไปในอนาคต

 


[1] สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดอมงฟอร์ต สหราชอาณาจักร

[2] มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2555. มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2542 เรื่อง ผลการดำเนินการของคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) เกี่ยวกับอัตราที่ยุบเลิกจากผลการเกษียณอายุปีงบประมาณ พ.ศ. 2541 คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่รองนายกรัฐมนตรี. [Online]. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม, 2555 , จาก http://www.cau.ku.ac.th/01_intro/resolution/2542_10_12.htm

[3] อัตราพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการมาทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย สาย ก.

[4 อัตราพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนมาทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย สาย ข. และสาย ค.

[5] คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล้านนา. 2555. สรุปผลการประชุม. [Online]. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม, 2555 , จากhttp://engineering.rmutl.ac.th/engineer/attachments/article/205/สรุปผลการประชุม1.pdf

[6] คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 236/2554

[7] มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์. 2552. โครงการวิจัยสถานภาพธรรมาภิบาลมหาวิทยาลัยในมหาวิทยาลัยราชภัฏ. [Online]. สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม, 2555 , จาก http://www.vru.ac.th/goodgovru/law.html

[8] ปีดิเทพ อยู่ยืนยง. 2555. ความเสมอภาคในสถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายอังกฤษ. [Online]. สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม, 2555 , จาก http://www.midnightuniv.org/

[9] กฎหมาย Equality Act 2010 ได้กำหนดลักษณะของบุคคลที่ได้รับการคุ้มครอง (Protected characters) ภายใต้กฎหมายเฉพาะ ได้แก่ อายุ (age) ความพิการทางกาย (disability) การแปลงเพศ (gender reassignment) การแต่งงานและการใช้ชีวิตคู่ (marriage and civil partnership) การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร (pregnancy and maternity) สีผิว (race) ศาสนาและความเชื่อ (religion or belief) เพศ (sex) การแสดงออกรสนิยมทางเพศ  (sexual orientation) แต่สำหรับการพัฒนากฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อพนักงานมหาวิทยาลัยนั้น อาจพัฒนาหลักการโดยกำหนดลักษณะของ “สถานภาพพนักงานมหาวิทยาลัย” (Protected Employee Status) ให้ได้รับความคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติทางแรงงานและสวัสดิการ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"เฟซบุ๊ก" คาดมีผู้ใช้ปลอมมากกว่า 83 ล้านชื่อ

Posted: 02 Aug 2012 07:37 AM PDT

จัดประเภทเป็นแอคเคาท์ที่สองของผู้ใช้ แอคเคาท์ของสัตว์เลี้ยง และสแปม ด้านบริษัทผู้ลงโฆษณา เริ่มไม่แน่ใจทำตลาดบนเฟซบุ๊ก คนมากดไลค์ใช่ตัวจริง?


 

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า เฟซบุ๊ก เว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์กอันดับหนึ่งของโลกคาดการณ์ว่า ขณะนี้มีผู้ใช้ปลอม 83.09 ล้านชื่อในเฟซบุ๊ก โดยจากข้อมูลของบริษัทที่เผยแพร่ในสัปดาห์นี้ ระบุว่า 8.7% ของผู้ใช้ที่ยังมีความเคลื่อนไหว (แอคทีฟ) อยู่ 955 ล้านราย ไม่ใช่ตัวจริง โดยแบ่งเป็นโปรไฟล์สำเนาตัวจริง 4.8% ผู้ใช้ "ผิดประเภท" 2.4% และผู้ใช้ที่ "ไม่เป็นที่พึงปรารถนา" อีก 1.5%

เฟซบุ๊กอธิบายว่า โปรไฟล์สำเนาตัวจริง หมายถึงบัญชีที่ผู้ใช้มีไว้นอกเหนือจากบัญชีหลัก ส่วนผู้ใช้ผิดประเภท คือผู้ใช้ที่สร้างโปรไฟล์ส่วนตัวให้กับธุรกิจ องค์กร หรือสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ เช่น สัตว์เลี้ยง ขณะที่ผู้ใช้ที่ไม่เป็นที่พึงปรารถนา หมายถึงโปรไฟล์ซึ่งใช้เพื่อส่งข้อความสแปมหรือเนื้อหาอื่นๆ

บีบีซีระบุว่า เฟซบุ๊ก ซึ่งมีโมเดลธุรกิจขึ้นกับการโฆษณาไปยังกลุ่มเป้าหมาย เริ่มถูกตรวจสอบถึงคุณค่าของโมเดลโฆษณาที่มาจากการนับการกด "ไลค์" จากผู้ใช้

โดยเอกสารระบุว่า เฟซบุ๊กนั้นมีรายได้หลักที่สำคัญจากการขายโฆษณา และว่า หากขาดผู้ลงโฆษณา หรือผู้ลงโฆษณากับเฟซบุ๊กน้อยลงอาจเป็นอันตรายต่อธุรกิจของเฟซบุ๊ก

เมื่อเดือนก่อน โรรี เซลลัน-โจนส์ ผู้สื่อข่าวสายเทคโนโลยีของบีบีซี ได้ตั้งบริษัทปลอมชื่อ VirtualBagel เพื่อสืบเรื่องการปลอมแปลง "ไลค์" และพบว่า การปลอม "ไลค์" จำนวนมากมาจากบริษัทปลอมในตะวันออกกลางและเอเชีย

สัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัท Limited Press กล่าวหาว่า จากการวิเคราะห์ด้วยซอฟต์แวร์ของบริษัท พบว่า จำนวนการกดไลค์ 80% ของโฆษณาในเฟซบุ๊กมาจากผู้ใช้ปลอม โดยโพสต์ในเพจเฟซบุ๊กของบริษัทว่า พวกเขาพบว่ามี บอท (โปรแกรมอัตโนมัติ) กำลังโหลดเพจของพวกเขา และกำลังถีบราคาโฆษณา ทั้งยังระบุว่า พวกเขาเหนื่อยแล้วกับการติดต่อกับเฟซบุ๊กในเรื่องนี้ เพราะเฟซบุ๊กไม่ตอบกลับเลย

อย่างไรก็ตาม เมื่อประเด็นนี้ทำให้บริษัทดังกล่าวกลายเป็นที่สนใจขึ้นมา บริษัทดังกล่าวก็มีการลบโพสต์ และระบุว่า เฟซบุ๊กกำลังตรวจสอบเรื่องดังกล่าว

ในส่วนบทวิเคราะห์ โรรี เซลลัน-โจนส์ ผู้สื่อข่าวสายเทคโนโลยีของบีบีซี แสดงความเห็นว่า เมื่อตอนที่เขาพบว่ามีโปรไฟล์ปลอมนั้น โฆษกของเฟซบุ๊กตอบกลับว่าไม่มีหลักฐานในเรื่องนี้ แต่ตอนนี้จากข้อมูลของเฟซบุ๊กเองก็ปรากฏแล้วว่ากว่า 80 ล้านผู้ใช้ที่เฟซบุ๊กมีอาจไม่มีผลอะไรเลยต่อผู้ลงโฆษณา และว่า ขณะนี้ผู้ลงโฆษณาจำนวนมากกำลังท้าให้เฟซบุ๊กพิสูจน์ว่า จำนวนคลิกที่โฆษณาของพวกเขาได้รับนั้นเป็นของจริง

 

 

ที่มา:
Facebook has more than 83 million 'fake' users
http://www.bbc.com/news/technology-19093078

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นศ.ร้องยุติพิจารณาร่าง ม.นอกระบบ ยันฟังความเห็น นศ.ก่อน

Posted: 02 Aug 2012 07:37 AM PDT

1 สิงหาคม 2555 แนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้านมหาวิทยาลัยนอกระบบ ยื่นหนังสือต่อ รศ.นพ. กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการ คณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อขอให้ยุติกระบวนการผ่านร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ (มหาวิทยาลัยนอกระบบ) พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการทำประชาพิจารณ์จากฝ่ายต่าง ๆ ภายหลังจากที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้ยืนยันความพร้อมในการแปรสภาพจากมหาวิทยาลัยของรัฐไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ

นายนิพิฐพนธ์ คำยศ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เหตุผลที่มายื่นหนังสือ เพราะทางกลุ่มแนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบ เห็นว่าทั้งมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ที่ออกนอกระบบไปแล้ว หรือที่กำลังดำเนินการออกนอกระบบ ไม่มีส่วนร่วมจากนักศึกษาในการร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยนอกระบบ อีกทั้งการให้ข้อมูลความรู้ไม่เต็มที่ ไม่ทั่วถึง แสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรม ไม่โปร่งใสในการกระบวนการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ

“แนวร่วมฯ เห็นว่า ถ้ามหาวิทยาลัยยังพยายามที่จะออกนอกระบบ โดยไม่ฟังเสียงประชาคม ผลเสียก็จะเกิดกับนิสิตนักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่ส่งลูกหลานมาเรียน ดังนั้นทางกลุ่มจึงขอให้คณะกรรมการการอุดมศึกษา ยุติกระบวนการการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ของทุกมหาวิทยาลัย และให้ส่งร่าง พ.ร.บ.ของแต่ละมหาวิทยาลัยกลับไปยังมหาวิทยาลัยนั้น ๆ เพื่อทำกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย” นายนิพิฐพนธ์ กล่าว

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จิตอาสากับจริตชนชั้นกลางเมืองหลวง

Posted: 02 Aug 2012 07:07 AM PDT

ภาพนี้มีชื่อว่า "เพื่อนกันวันอาทิตย์ กิจกรรมอาสาข้างถนน 29/7/55" อัลบั้มภาพชื่อว่า โครงการผู้ป่วยข้างถนน ของมูลนิธิแห่งหนึ่ง เมื่อเห็นภาพครั้งแรกรู้สึกถึงความขัดแย้งตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างผู้ให้กับผู้รับ ขณะที่หลายคนมองเป็นความงดงาม กดแชร์ กดไลค์ มากมาย ในอีกด้านกลับพบความประดักประเดิดของผู้ถูกจับทำความสะอาด ตัดเล็บ ล้างแผล ล้างเท้า ถ้าผมเป็นเขาคงไม่เพียงทำตัวไม่ถูก แต่คงหวาดระแวง ตกใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวฉัน และฉันทำผิดอะไรจึงต้องถูกจับล้างทำความสะอาดเช่นนี้ การรุมล้อมทำความสะอาดร่างกายดังปรากฏในภาพมีนัยสำคัญ 2 ประการ คือ การไม่ได้มองว่าร่างกายนั้นมีชีวิตหากแต่เป็นวัตถุที่ถูกจับจ้อง ควบคุม ที่ผ่านเข้ามาในอาณาบริเวณของการตรวจจับ  เพราะในชีวิตจริงเราจะไม่รุมล้อมสวมถุงมืออาบน้ำให้ใครด้วยจำนวนคนมากขนาดนั้น  ประการที่สองวัตถุที่ต้องใช้คนมากขนาดนี้ทำความสะอาด ก็ย่อมมีความสกปรกเป็นที่สุด ป่วยไข้เป็นที่สุด

ย้อนไปถึงวันที่ชนชั้นกลางไปล้างรอยเลือดในวัน big cleaning day ที่ไม่ใช่มีความหมายตื้นเขินเพียงแค่การรวมตัวกันมาทำประโยชน์สาธารณะ หากแต่เป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษ์ ที่มองร่างกายของคนจน คนข้างถนน เสื้อแดงว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมไม่สะอาด และ "จิตอาสา" มีหน้าที่ ต้องกวาดล้างทำความสะอาด ให้เกลี้ยงเกลา โล่ง ใส สบายตา ในแบบร่างกายของคนชั้นกลาง ซึ่งผ่านกระบวนการที่เรียกว่า “การพัฒนา”  กล่าวคือเป็นร่างกายที่ได้รับการ ตกแต่ง ประทิน เสริม เติมอย่างพิถีพิถัน ห่อคลุมด้วยสิ่งสะอาด งดงาม  ขณะที่ร่างกายที่มีลักษณะตรงข้าม สกปรก เลอะเทอะ ปล่อยปะละเลย ขาดการปรุงแต่ง ไม่มีสิ่งสวยงามห่อหุ้ม ไม่ได้พอก ปิดด้วยเครื่องสำอาง เป็นร่างกายของความด้อยพัฒนา ร่างกายประเภทแรกจะสมบูรณ์ได้ก็ด้วยการแสดงให้เห็นถึงความเมตตาสงสาร การเข้ามาช่วยเหลือ ขจัดปัดเป่าร่างกายประเภทที่สอง เพื่อยกสถานะทางร่างกายให้สูงส่งเหนือขึ้นไปอีกระดับภายใต้สิ่งที่เรียกว่า “จิตอาสา”

จิตอาสา ในยุคสมัยปัจจุบันทำหน้าที่สำคัญ คือการเข้ายึดพื้นที่ความดี งาม ในความหมายของการเยียวยา สงเคราะห์ ที่ทำได้ง่าย ๆ ทุกที่ ทุกเวลา ขอให้มารวมกันเยอะ ๆ จากตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมที่หลากหลาย และถ้าเป็นข่าวด้วยก็จะเป็น จิตอาสาที่สมบูรณ์   พื้นที่ทำกิจกรรมจิตอาสามักเป็นพื้นที่ของคนหนุ่มสาวเมืองหลวง มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันตามรสนิยมรูปแบบการใช้ชีวิต เช่น ถนนคนเดิน ห้างสรรพสินค้า มหาวิทยาลัย ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ป่าชายเลน ทุ่งนาป่าเขา ลำธาร  หมู่บ้านชนบท  ท้องสนามหลวง ถนนราชดำเนิน ถนนราชประสงค์  

กิจกรรมจิตอาสาของคนเมืองหลวงเหล่านี้เป็นไปในลักษณะตรวจตรา ควบคุม เมื่อพบเห็นสิ่งใดไม่ดีงามก็เข้าไปกำกับ จัดการ โดยเรียกสิทธิอำนาจการเข้าไปจัดการนี้ว่า “จิตอาสา”  ซึ่งเป็นการใช้อำนาจในแบบที่ไม่ได้ใช้กำลังบังคับ หรืออาวุธเข้าทำร้ายต่อร่างกาย แต่ใช้ความเมตตา สงสาร ในรูปการช่วยเหลือ เข้าไปจัดกระทำให้สะอาด สมบูรณ์ เช่น การจับอาบน้ำ การสั่งให้เข้าแถวเพื่อรับของบริจาคในบริเวณน้ำท่วม (เพื่อถ่ายภาพออกโทรทัศน์)  ปลูกป่าชายเลน (ที่ปลูกซ้ำพื้นที่เดิมที่เคยปลูกทุกปี)   จัดเรียงกระสอบทราย  การช่วยงานในศูนย์อพยพ (มีข่าวแย่งของบริจาคกลับไปใช้ที่บ้าน) ปั้นก้อนจุลลินทรีย์  การเข้าไปทำความสะอาด ทาสี  เลี้ยงอาหารกลางวันเด็ก คนแก่ ซึ่งล้วนเป็นไปเพื่อมอบสิ่งดี ๆ ให้กับสังคมที่ขาดแคลน

หากพิจารณาให้ดีกิจกรรมจิตอาสา  มักมีลักษณะ “สมัครเล่น” ไม่สนใจว่าผู้ร่วมกิจกรรมจะมีทักษะความรู้  ความเข้าใจ หรือไม่  การทำงานจิตอาสาจึงไม่สามารถคาดการณ์คุณภาพของผลงานได้ เพราะเพียงมีใจมาช่วยโดยไม่คิดถึงรายได้ตอบแทนก็ถือว่าน่ายกย่อง ศรัทธามากพอแล้ว กิจกรรมจิตอาสาจึงมักเป็นกิจกรรมที่ออกแบบมาสำหรับความสนุกสนามเพลิดเพลิน ไม่ต้องหวังผลจากสิ่งที่ทำมากนัก ง่ายทำได้หลายคน ให้ปริมาณมากกว่าคุณภาพ  ที่สำคัญต้องได้ท่องเที่ยวหรือไปอยู่ในสถานที่แปลกใหม่ ได้พบปะผู้คน มีเพื่อนใหม่ ๆ วัยเดียวกัน กิจกรรมเหล่านี้ถูกยกย่องว่าเป็นคุณงามความดีตามการนิยามของคนเมือง คนชั้นกลาง  และไม่เคยที่จะถูกถามถึง “ความรับผิดชอบ”  (responsibility) ต่อผลที่ตามมาจากกิจกรรมอาสาเหล่านั้น และยิ่งละเลยอย่างยิ่งต่อการคำนึงถึงการล่วงละเมิดสิทธิของคนผู้รับความช่วยเหลือ  การที่สังคมจะอ้างว่าเมื่อไม่ได้รับเงิน ก็สมควรยกเว้นไว้สำหรับความรับผิดชอบเป็นสิ่งที่เข้าใจผิด เนื่องจากกิจกรรมจิตอาสาได้สร้างสิทธิพิเศษให้แก่อาสาสมัคร  สิทธินี้เป็นสิทธิอำนาจ ได้แก่

การเข้าสู่พื้นที่ สถานที่เป็นอื่นได้เสมือนเป็นเจ้าของพื้นที่ เพราะถือเป็นผู้รู้ ผู้ให้ หรือผู้เข้ามาปลดปล่อย เช่นพื้นที่ชนบทห่างไกล พื้นที่อนุรักษ์ป่าชายเลน เขตอุทยานแห่งชาติ เป็นต้น

สิทธิของการทำหน้าที่ตรวจตรา ควบคุม จัดการ ในสิ่งแปลกปลอมที่พลัด หลงเข้ามาในพื้นที่  เช่น จัดการกับคนเร่อน จรจัด สิ่งสกปรกเลอะเทอะที่คนต่างจังหวัดเข้ามาทิ้งไว้

สิทธิเข้าควบคุม สั่งการ ต่อร่างกายของผู้ที่รับความช่วยเหลือ

สิทธิดังกล่าวข้างต้นทำให้จิตอาสา มีอำนาจในการกำหนดนิยาม และกดทับให้ผู้รับความช่วยเหลือเป็นวัตถุแปลกปลอม

ดังผู้มาแสดงความเห็นท้ายภาพข้างต้นข้อความว่า

"สุดยอด นับถือน้ำใจทุกคนเลยค่ะ เคยเห็นคนลักษณะแบบนี้แต่ย่ำแย่กว่านี้ที่อนุสาวรีย์ชัย เคยคิดอยากให้มีองค์กรจับไปขัดสีฉวีวรรณบ้าง แต่ถ้าให้ไปจับเองไม่กล้าค่ะ ตาขวางมาก" Monday at 12:21pm · Like · 6,"อาบน้ำให้คนไร้บ้าน น่าคารวะมากครับ" Monday at 12:30pm · Like · 2

จิตอาสาในสถานการณ์ปัจจุบัน จึงมีลักษณะขยายช่องว่างความไม่เท่าเทียม ในสถานะของความเป็นมนุษย์ และทำให้ช่องว่างทางอำนาจระหว่างคนจน กับคนรวย คนชนบท กับคนเมืองกว้างขวางขึ้น 

จิตอาสาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นควบคู่กับความรู้เข้าใจในสิ่งที่ทำ  มีความรับผิดชอบ และเคารพในความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น โดยระลึกรู้ไว้เสมอว่า คนที่กำลังรับความช่วยเหลือนั้นมีสถานะความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกับตนผู้มีจิตอาสา

 

 

หมายเหตุ : ผู้เขียนต้องขออภัยหน่วยงานเจ้าของภาพและผู้ที่ปรากฏในภาพ ทั้งนี้ไม่ได้มีเจตนาที่จะกล่าวพาดพิงบุคคลหรือองค์กรใดในภาพ แต่กำลังกล่าวถึงจิตอาสาที่กำลังเป็นอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: มาตรา 112 กับการล่าแม่มดครั้งใหม่

Posted: 02 Aug 2012 06:59 AM PDT

ในสมัยกลางของยุโรป เมื่อคริสตศาสนายังคงเป็นความคิดอันครอบงำ ชนชั้นปกครองและพระชั้นสูงในสมัยนั้น รักษาอำนาจโดยการอ้างอิงตนเองว่า เป็นผู้ศรัทธาต่อพระเจ้าอันแท้จริง และกล่าวหาคนที่คิดต่างว่า เป็นพวกแม่มด ต้องถูกลงโทษโดยการเผาทั้งเป็น ผลจากกรณีนี้ทำให้มีประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก ถูกสอบสวนและถูกลงโทษ เมื่อเวลาผ่านไป มาตราการล่าแม่มดเช่นนี้ ถือว่าเป็นมาตราการป่าเถื่อนจึงถูกยกเลิก เสรีภาพในด้านความคิดความเชื่อจึงเป็นที่ยอมรับ และชาวยุโรปก็จะเลิกบังคับให้คนคิดและศรัทธาในแบบเดียวกัน 

แต่ในกรณีของประเทศไทย การล่าแม่มดยังคงดำเนินการอยู่ กรณีล่าสุด เริ่มต้นเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยกรณีที่ศาลเองไปทำการละเมิดอำนาจนิติบัญญัติ ด้วยการใช้คำสั่งให้รัฐสภายุติการพิจารณาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่จะต้องมีการลงมติในวาระที่สาม ในวันนั้น กลุ่มประชาชนฝ่ายขวาหลายกลุ่มที่ให้การสนับสนุนศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะกลุ่มที่เรียกตนเองว่า กองทัพปลดแอกประชาชน ได้ไปชุมนุมกันที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ โดยอ้างเหตุผลว่าจะปกป้องศาล ซึ่งในที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้เสนอข้อวินิจฉัยอันไร้สาระออกมาชุดหนึ่ง แต่ปัญหาของเหตุการณ์ไม่ได้อยู่ที่คำวินิจฉัย หากแต่อยู่เหตุการณ์หน้าศาล ดังที่เอเอสทีวีรายงานว่า

“ในระหว่างที่กลุ่มกองทัพปลดแอกประชาชน จะให้สื่อมวลชนบันทึกภาพในพิธีอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาร่วมในการบันทึกภาพ ได้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเมื่อมีหญิงสูงอายุคนหนึ่ง ทราบชื่อภายหลัง นางฐิตินันท์ แก้วจันทรานนท์ อายุ 63 ปี ได้เดินฝ่าฝูงชนเข้ามาตรงไปยังผู้ที่อัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ ก่อนที่จะกระทำการอันมิบังควรกับพระบรมฉายาลักษณ์ซึ่งผู้ถือได้ชูอยู่เหนือศีรษะ สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมที่เห็นเหตุการณ์เป็นอย่างมาก”

เหตุการณ์นี้เองได้กลายเป็นที่มาของการล่าแม่มดครั้งใหม่ เพราะกลุ่มพลังฝ่ายขวาทั้งหลายได้ถือโอกาสนำมาเป็นเรื่องสร้างกระแสติดตามและสำแดงพลังคุกคาม โดยส่วนหนึ่งก็ได้นำเรื่องนี้มาโจมตีกล่าวหาฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ และโจมตีไปถึง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวหาว่า ไม่สนใจติดตามตัวคุณฐิตินันท์มาดำเนินคดี แม้ว่าจะมีรายงานข่าวว่า คุณฐิตินันท์เป็นบุคคลไม่ปกติ มีอาการทางประสาท ทั้งเป็นผู้สูงอายุแล้ว แต่กลุ่มฝ่ายขวาก็ยังคงไม่ละเว้น ยังคงกระเหี้ยนกระหือรือที่จะเล่นงานคุณฐิตินันท์ให้เป็นเหยื่อกรณี 112 อย่างปราศจากความเมตตา และยังโจมตีไปถึงสื่อกระแสหลัก เช่น ไทยรัฐ มติชน และ โทรทัศน์ช่องต่างๆ รวมไปถึงรายการของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ว่ามิได้อนาทรร้อนใจต่อพฤติกรรมมิบังควรของหญิงชรารายนี้

เหตุผลในการติดตามไล่ล่าคุณฐิตินันท์ครั้งนี้ กลุ่มฝ่ายขวาก็กระทำเช่นเดิม คือโจมตีคุณฐิตินันท์ว่าเป็นคนชั่ว หนังสือพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการ นำรูปมาขึ้นปกแล้วเปรียบเทียบว่าเป็น “เห็บหมา” พวกฝ่ายขวาพยายามอ้างตนเองเป็นผู้มีความจงรักภักดีอย่างสุดซึ้งยิ่งกว่าใคร และได้แสดงความเห็นในทางที่ไม่เชื่อว่า คุณฐิตินันท์จะเป็นผู้มีอาการป่วย แต่กล่าวหาไปว่า ทางการตำรวจใช้ข้ออ้างนี้ในทางที่จะไม่ดำเนินคดี เช่นในการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม กลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายขวาได้นำหุ่นแทนตัว พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ นำใส่โลงศพจำลอง มายังบริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อนทำการฌาปนกิจ ด้วยการฉีดสารเคมีแทนการเผาหุ่น เพื่อแสดงเชิงสัญลักษณ์ว่าไม่ต้องการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ไม่ดำเนินคดีกับกลุ่มคนที่กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

 ในการติดตามไล่ล่าแม่มดครั้งนี้ ได้นำเอาประวัติของคุณฐิตินันท์มาเปิดเผยว่า เป็นชาวอำเภอพล ขอนแก่น และเปิดร้านอาหารที่เมืองไครสเชิร์ส ประเทศนิวซีแลนด์ อ้างกันว่ามีเฟสบุคในโลกไซเบอร์ และมีการกดไลค์เพจของณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นเพื่อนกับอดิศร เพียงเกษ และขวัญชัย ไพรพนา มีรายการดนตรีโปรดปรานคือ วิสา คัญทัพด้วย และยังคลิกไลค์เพจ “รวมพลังสนับสนุนการทำงานของ ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง” ทั้งที่ทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้เป็นพฤติกรรมอันผิดกฎหมายแต่อย่างใด

กรณีที่คุกคามอย่างมาก คือเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม กลุ่มฝ่ายขวาจำนวนหนึ่งได้ไปรวมกลุ่มกันถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อมีข่าวว่า คุณฐิตินันท์จะเดินทางกลับนิวซีแลนด์ ผู้ชุมนุมฝ่ายขวาอ้างว่า ต้องการไปยุติการเดินทาง เพราะทราบมาว่า คุณฐิตินันท์จะเดินทางด้วยเครื่องบินของการบินไทยในเวลา 18.40 น. และยังบางกระแสข่าวระบุว่า กัปตันของการบินไทยที่ทำหน้าที่ในไฟลต์บินดังกล่าวได้ประกาศว่า เขาและลูกเรือจะไม่ทำการบิน หากนางฐิตินันท์มีรายชื่อเป็นผู้โดยสาร เพราะถือว่าเป็นบุคคลวิกลจริต ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ควบคุมสถานการณ์อยู่ ได้บอกต่อประชาชนที่มาประท้วงว่า นางฐิตินันท์ ไม่ได้มาเช็กอิน แต่อยู่โรงพยาบาล ซึ่งเมื่อแน่ใจว่า นางฐิตินันท์ไม่ได้เดินทางกลับนิวซีแลนด์ ประชาชนที่ไปรวมตัวดักรอนางฐิตินันท์ จึงสลายตัวในเวลาต่อมา

ปรากฏว่า พ.ต.อ.พงษ์ สังข์มุรินทร์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง ยืนยันว่า ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาหมิ่นสถาบัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต่อคุณฐิตินันท์แล้ว พร้อมควบคุมตัวส่งโรงพยาบาลศรีธัญญา เนื่องจากมีประวัติการรักษาที่โรงพยาบาลดังกล่าว ต่อมาได้นำตัวส่งสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์และอายัดตัวไว้เพื่อตรวจสอบสภาพจิต จึงไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ ประกอบกับพาสปอร์ตของคุณฐิตินันท์ยังอยู่กับพนักงานสอบสวน ส่วนตั๋วเครื่องบินเดินทางไปประเทศนิวซีแลนด์ นั้นเป็นการซื้อตั๋วแบบไป – กลับ ราคาประหยัด หากไม่ได้เดินทาง ก็จะเป็นการยกเลิกไปโดยปริยาย และมีการสอบปากคำพยานที่อยู่ในเหตุการณ์ไปแล้ว 3 ปาก รวมถึงสอบปากคำสามี และบุตรชายของนางฐิตินันท์ ซึ่งระบุว่า ช่วงหลัง นางฐิตินันท์ไม่ค่อยรับประทานยา พร้อมนำตัวอย่างยามอบให้พนักงานสอบสวนด้วย

กรณีนี้จึงอธิบายได้ว่า คุณฐิตินันท์ก็ตกเป็นเหยื่ออีกกรณีหนึ่งของกรณีมาตรา 112 ที่เริ่มต้นจากฝ่ายพันธมิตรประชาชนโดย คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ที่อ้างเอาสีเหลืองของสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มของตน เพื่ออ้างอิงผูกขาดความภักดี และใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องมือในการโจมตีฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองและใส่ร้ายบุคคลที่มีความคิดต่าง และต่อมาในสมัยรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะก็มีการขานรับการดำเนินการของฝ่ายเสื้อเหลือง โดยกวาดจับประชาชนจำนวนมากในข้อหาความผิดตามมาตรา 112

พร้อมกันนั้น สื่อมวลชนของฝ่ายเสื้อเหลืองและฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้ใช้วิธีปลุกระดมประชาชนให้เกิดความเคียดแค้นชิงชังผู้ที่มีความคิดต่าง โดยดึงเอาสถาบันเบื้องสูงมาเป็นข้ออ้างตลอดเวลา ในระยะที่ผ่านมาจึงมีผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก ต้องตกเป็นเหยื่อตามข้อกล่าวหาในมาตารานี้ ตัวอย่างเช่น กรณีของ คุณดารณี ชาญเชิงศิลปกุล คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข คุณสุรชัย ด่านวัฒนุสรณ์ และ คนอื่นอีกหลายคน และยังมีผู้บริสุทธิ์ที่ถูกขังจนถึงแก่กรรมในคุกมาแล้ว เช่น กรณีคุณอำพน ตั้งนพคุณ

ปัญหาคือ การเคลื่อนไหวปลุกเร้าประชาชนลักษณะนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดพุทธิปัญญาแต่อย่างใด และยิ่งไม่เป็นผลดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่กลับยิ่งทำให้เกิดความงมงายคับแคบ คิดและศรัทธาแบบเดียวตายตัว เห็นคนที่คิดต่างเป็นศัตรูที่ต้องกวาดล้างทำลาย ย้อนกลับไปในเมื่อปี พ.ศ.2519 กลุ่มฝ่ายขวาของสมัยนั้นก็ดำเนินการลักษณะเดียวกันในการปลุกปั่นให้เกิดความเข้าใจผิดและความเกลียดชังต่อขบวนการนักศึกษา โดยกล่าวหาว่าเป็นพวกที่ไม่จงรักภักดี และผลจากการเคลื่อนไหวปลุกกระแสเช่นนั้น ก็นำมาสู่การฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิจำนวนมากในกรณี 6 ตุลาคม ซึ่งเป็นรอยมลทินครั้งใหญ่ประวัติศาสตร์มาจนถึงปัจจุบัน

คำถามก็คือ ถ้าคิดอย่างมีสติแล้ว สังคมไทยจะได้คุณประโยชน์อย่างใดหรือ ถ้าจะต้องจับเอาผู้สูงอายุ เช่น คุณฐิตินันท์มาเป็นจำเลย หรือต้องถูกจำคุกต่อแถวอีกคนหนึ่ง ในจำนวนนักโทษการเมืองผู้บริสุทธิ์ที่ถูกดำเนินคดีอยู่ในขณะนี้

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เตรียมยื่นผู้ว่าฯ ภูเก็ต เสนอตั้ง กก.สอบ กรณีเลิกจ้าง พนง.รร.ร่วม 800

Posted: 02 Aug 2012 05:38 AM PDT

สหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมและบริการภูเก็ตเตรียมยื่นหนังสือผู้ว่าฯ ภูเก็ต ร้องตั้งกรรมการสอบกรณีเลิกจ้างพนักงานโรงแรม ขาดทุนจริง หรือทำลายสหภาพฯ

จากกรณีการเลิกจ้างพนักงานโรงแรมลากูน่า บีช รีสอร์ท และโรงแรมดิเอวาซอนภูเก็ต โดยต่อมา ศาลแรงงาน จ.ภูเก็ต อนุญาตให้โรงแรมลากูน่า บีช รีสอร์ท เลิกจ้างกรรมการลูกจ้างได้ เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่ผ่านมา

(2 ส.ค.55) วิจิตร ดาสันทัด ประธานสหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมและบริการภูเก็ต ให้สัมภาษณ์ว่า สหพันธ์ฯ เตรียมยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อขอให้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการเลิกจ้าง ว่าเหตุผลที่เลิกจ้างเนื่องจากการขายกิจการ และการขาดทุน เป็นความจริงหรือไม่ หรือมีความต้องการล้มสหภาพแรงงาน โดยจะเสนอให้คณะกรรมการมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ แรงงานจังหวัด สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จัดหางาน ประกันสังคม อัยการจังหวัด อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยว ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ทั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรมต่อลูกจ้าง และไม่ให้ลูกจ้างรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง โดยเชื่อว่าหากผลสอบออกมาว่านายจ้างขาดทุนจริง ก็เชื่อว่าลูกจ้างจะเข้าใจได้อยู่แล้ว แต่หากเป็นการกลั่นแกล้งสหภาพฯ ก็ต้องว่ากันต่อไป ว่าจะจัดการอย่างไรกับนายจ้าง

ประธานสหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมและบริการภูเก็ต กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ โรงแรมลากูน่า บีช รีสอร์ท ภูเก็ต ได้ประกาศเลิกจ้างพนักงานประมาณ 350 คน โดยมีการแจ้งล่วงหน้า 30 กว่าวัน และให้เหตุผลว่า เนื่องจากขายโอนกิจการให้ผู้ซื้อรายใหม่จึงต้องปิดกิจการ ขณะที่โรงแรมดิเอวาซอน ภูเก็ต มีการประกาศเลิกจ้างพนักงาน 400 คนโดยไม่แจ้งล่วงหน้าและไม่เคยมีการพูดคุยกับกรรมการลูกจ้างมาก่อน แม้จะมีการติดต่อขอประชุมกับฝ่ายบริหารเพื่อขอคำยืนยันเนื่องจากมีกระแสข่าวว่าจะมีการเลิกจ้าง โดยมีการเลื่อนนัดกรรมการลูกจ้างถึงสองครั้ง โดยในการเลิกจ้างนี้ โรงแรมให้เหตุผลว่าขายกิจการและที่ผ่านมาขาดทุน 4 ปีติดต่อกัน ทั้งนี้ พนักงาน 60-70% ของทั้งสองโรงแรมล้วนแต่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน

วิจิตร กล่าวว่า กรณีโรงแรมลากูน่า บีช รีสอร์ท นั้น นายจ้างได้ขออำนาจศาลในการเลิกจ้างคณะกรรมการลูกจ้าง ซึ่งศาลได้อนุญาตเมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการลูกจ้างจะอุทธรณ์ในกรณีดังกล่าว ขณะที่โรงแรมดิเอวาซอนนั้น ติดประกาศว่าไม่ได้เลิกจ้างคณะกรรมการลูกจ้าง แต่กลับมีการโอนเงินค่าชดเชยเข้าบัญชีของทุกคนแล้ว เป็นการสื่อว่าเลิกจ้างแน่ๆ โดยกรณีของพนักงานทั้งสองโรงแรมนี้ สภาทนายความได้เข้ามาช่วยเหลือด้านคดีความ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด

เขากล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีการเลิกจ้างในลักษณะนี้ โดยเมื่อเปลี่ยนเจ้าของก็มักมีการโอนทั้งสภาพหนี้และลูกจ้าง และว่าแทนการใช้มาตรา 75 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน โดยจ่ายเงินให้ลูกจ้างในช่วงที่หยุดกิจการ แต่โรงแรมกลับล้างไพ่ใหม่ เพื่อคัดเอาพนักงานหนุ่ม-สาว เข้ามาแทนพนักงานเก่าที่อายุงานนาน ค่าจ้างสูง สิทธิประโยชน์-สวัสดิการเยอะ โดยไม่คำนึงถึงพนักงานที่ทำงานมานานกว่า 20-30 ปี จนอายุ 40-50 ปี ว่าจะหางานใหม่ได้อย่างไร

วิจิตร กล่าวว่า อยากให้ผู้มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย บังคับใช้กฎหมายอย่างทั่วถึง เท่าเทียม อย่าเลือกปฏิบัติหรือปล่อยให้จบที่การจ่ายค่าชดเชย จะต้องคุ้มครองแรงงานด้วย ทั้งนี้ กังวลว่าหากปล่อยให้มีการโละพนักงานคนเก่าได้ จะเกิดลัทธิเอาอย่าง เกิดการเลิกจ้างเป็นโดมิโนแน่ๆ

ประธานสหพันธ์ฯ กล่าวว่า คนงานตระหนักดีว่า ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว เป็นแหล่งทำมาหากินของประเทศชาติ ก็พยายามไม่ประท้วง รวมตัวปิดถนน เพราะเกรงจะสร้างภาพไม่ดีต่อการท่องเที่ยว แต่รัฐในฐานะผู้กุมกลไกทางกฎหมายก็ต้องช่วยเหลือลูกจ้างด้วย หากลูกจ้างมองว่าพึ่งกฎหมายไม่ได้ ก็อาจพึ่งตัวเอง เมื่อนั้นก็อาจจะสายไปแล้ว

 

 


--------------------------------

เพิ่มเติม
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 75 กำหนดว่า “ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างจนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัยต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน

ให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนวันเริ่มหยุดกิจการตามวรรคหนึ่งไม่น้อยกว่าสามวันทำการ”

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิสา เบ็ญจะมโน

Posted: 02 Aug 2012 05:17 AM PDT

เป็นการผสานระหว่างจินตนาการ และงานศิลปะเข้าด้วยกัน ไม่ได้มองว่าเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้ความเห็นกรณีโปสเตอร์ "อย่าเสียความเป็นคน ด้วยน้ำเมา"

โอลิมปิก 2012 : นักกีฬาไม่พอใจ “กฎข้อ 40” ป้องกันโฆษณาแฝง

Posted: 02 Aug 2012 03:58 AM PDT

นักกีฬาที่ชอบ “แชร์” กิจวัตรหรือความรู้สึกนึกคิดลงในโปรแกรมโซเชียลเน็ตเวิร์คระหว่างการแข่งขันโอลิมปิก กำลังปวดหัวกับ “กฎข้อ 40” ของ OIC ว่าด้วยเรื่องโฆษณาแฝง อันมีขึ้นเพื่อปกป้องผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการของการแข่งขัน

 

Dawn Harper นักกีฬาทีมชาติสหรัฐอเมริกาจัดตั้งเพื่อนนักกีฬา
เพื่อกดดันให้ OIC ผ่อนคลายกฎข้อ 40 ว่าด้วยการโฆษณาแฝง

ในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งที่ไฮเทคที่สุดนี้ กรรมการโอลิมปิกสากล (OIC) ก็ได้ออกมากระตุ้นให้บรรดานักกีฬาใช้โปรแกรมเครือข่ายสังคมออนไลน์ (twitter, facebook และอื่นๆ) ในระหว่างการแข่งขัน เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก ดึงดูดให้คนรุ่นใหม่ที่จมจ่ออยู่แต่หน้าจอคอมพิวเตอร์มาสนใจเรื่องกีฬาบ้าง

แต่กระนั้นก็มีความลักลั่นย้อนแย้งในนโยบายส่งเสริมการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คตามสมัยนิยม เมื่อ OIC เองก็กลับเข้มงวดอยู่กับกฎข้อที่ว่าด้วย “การป้องกันโฆษณาแฝง” อันมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “Rule 40”

Dawn Harper นักกีฬาทีมชาติสหรัฐอเมริกา เจ้าของเหรียญทองวิ่งข้ามรั้ว 100 เมตรที่ปักกิ่ง 2008 ออกมาฟอร์มทีมจัดตั้งเพื่อนนักกีฬากดดันให้ OIC ผ่อนคลายกฎข้อ 40 นี้ พร้อมระบายความรู้สึกว่า เธอรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นนักกีฬาโอลิมปิก แต่เราต้องการเปลี่ยนแปลงกฎข้อ 40 นี้

ทั้งนี้กฎข้อ 40 ของโอลิมปิกนั้น มีไว้เพื่อป้องกันไม่ให้นักกีฬาโฆษณาแฝงให้กับสินค้าและบริการอื่นๆ นอกเหนือจากผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการของการแข่งขัน เช่น Coca-Cola, McDonalds, GE, Dow, Panasonic, Acer, Atos, Omega, Visa, P&G, Samsung และแบรนด์อื่นๆ ที่ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินโอลิมปิกถึงปีละ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดระยะเวลา 4 ปีเพื่อเป็นผู้สนับสนุนให้กับทั้งการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนและโอลิมปิกฤดูหนาว (ดูรายชื่อผู้สนับสนุนโอลิมปิกเพิ่มเติม)

กฎข้อห้ามนี้ได้มีการออกคู่มือแจกนักกีฬาและเอเยนต์ก่อนเริ่มการแข่งขัน (Rule 40 - London 2012 Olympics) ที่ระบุถึงความเข้มงวดในการใช้สื่ออินเตอร์เน็ตและการโฆษณาแฝงโดยตรง ซึ่งจะทำให้นักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันหมดสิทธิ์โฆษณาสินค้าที่เป็นผู้สนับสนุนส่วนตัวของตัวเอง โดย OIC เตือนว่าหากคนไหนฝ่าฝืนต่อกฎนี้ ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกลงโทษ ซึ่งรวมถึงการเชิญออกจากการแข่งขันโอลิมปิก

อนึ่งในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2012 UEFA ได้ลงโทษสั่งปรับเงิน Nicklas Bendtner นักฟุตบอลทีมชาติเดนมาร์ก 1 แสนยูโร พร้อมห้ามลงสนาม 1 นัด หลังจากที่เขาได้แอบโฆษณาแฝงระหว่างฉลองการทำประตูได้ในเกมแพ้โปรตุเกส 2-3 ด้วยถกเสื้อโชว์ขอบกางเกงในบ็อกเซอร์ ที่มีชื่อสปอนเซอร์ร้านรับพนัน แห่งหนึ่งที่ไม่ได้เป็นผู้สนับสนุนการแข่งขัน

 

ที่มาข่าวบางส่วน:

Olympic athletes use Twitter to protest sponsorship rules (metronews.ca, 30-7-2012)

Rule 40 - London 2012 Olympics (เข้าดูเมื่อ 1-8-2012)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น