โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

อนุกรรมการสิทธิฯ เผยข้อมูลสถิติคดีหมิ่น แจ้งความปีละ 50-70 คดี

Posted: 21 Aug 2012 09:45 AM PDT

 

เมื่อวันที่ 20 ส.ค.55 คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้พบผู้แทนตำรวจเพื่อสอบถามเกี่ยวกับสถิติคดี มาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา หลักเกณฑ์วิธีการพิจารณาและสั่งคดี รวมถึงความเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

พ.ต.อ.ดร.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ หนึ่งในอนุกรรมการ เปิดเผยว่า  สำหรับข้อมูลด้านการดำเนินคดีอาญา มาตรา  112 นั้น นับแต่ปี พ.ศ.2550 เป็นต้นมา มีคดีที่เกิดขึ้น และตำรวจรับคำร้องทุกข์ เฉลี่ยปีละ 50 ถึง 70 คดี รวมถึงปัจจุบัน มีประมาณ 200 คดีเศษ แต่ทั้งนี้ ไม่รวมคดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ รับไว้พิจารณาโดยตรง และคดีที่อัยการสูงสุด ดำเนินการสืบสวนสอบสวนเอง โดยเฉพาะคดีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม นับแต่ปลายปี พ.ศ.2554 เป็นต้นมา มีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อตรวจสอบ กลั่นกรองเว็บไซต์ ที่มีการนำเสนอข้อมูลที่ดูแล้วน่าจะเข้าข่ายดูหมิ่นสถาบันฯ ทำให้มีการปิดกั้นเว็บไซต์ และส่งเรื่องให้มีการดำเนินคดีประมาณ 12,000 URLs  ขณะที่ฝ่ายกองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีการดำเนินคดี ตาม พ.ร.บ.ฯ คอมพิวเตอร์ฯ จริง ๆ เพียงไม่ถึง 20 คดี นอกจากนั้นจะเป็นการ เชื่อมโยงกับมาตรา 112 ทั้งนั้น

ศิริพล ระบุด้วยว่า สำหรับการพิจารณาคดีของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีคณะกรรมการกลั่นกรองคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พิจารณาให้สอดคล้องกับหลักการตามกฎหมายอาญา และแนวคำพิพากษาฎีกา เป็นหลัก

“ในความคิดเห็นส่วนตัวของผมแล้ว ผมว่าประเทศไทย เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายอาญา มาตรา 112  เรามักจะไม่กล้าใช้หลักกฎหมายอาญาเคร่งครัด ตามหลักการตีความกฎหมายอาญา ตีความเคร่งครัด และห้ามใช้กฎหมายประเพณีมาขยายความ ตลอดจนการตีความกฎหมายอาญาที่ไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์การปกครองระบอบประชาธิปไตย ในเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งถือเป็นหลักการแห่งสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และ หลักการที่ว่า บุคคลสาธารณะ (Public Figure) ทุกตำแหน่งต้องถูกวิจารณ์และตรวจสอบได้เสมอ”

“แนวคำพิพากษาฎีกา ยังมีปัญหาอีกมาก เพราะเขียนว่า สถาบันฯ ซึ่งเป็น Public Figure ไม่อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้เลย ซึ่งหากนำหลักการของประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตย มาพิจารณา จะเห็นว่า เป็นคำพิพากษาที่ขัดต่ออุดมการณ์การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้ง ดังนั้น ตามแนวคำพิพากษาฎีกา การวิพากษ์วิจารณ์ หรือ ตั้งคำถามต่อสถาบันฯ จึงเป็นสิ่งต้องห้าม แม้จะเป็นประโยชน์สาธารณะ หรือ เป็นความจริง ก็ไม่อาจจะพิสูจน์ ให้พ้นความรับผิดทางอาญาได้”ศิริพลระบุ

เขาเปิดเผยด้วยว่าคณะอนุกรรมการฯ ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ถามประเด็นสำคัญ คือ 1) หากเปลี่ยนวิธีการร้องทุกข์ให้มีคณะทำงานกลั่นกรอง หรือมีองค์กรพิจารณากลั่นกรองการรับคำร้องทุกข์ ตั้งแต่ขั้นต้น จะเกิดผลดีต่อสถาบันกษัตริย์ หรือไม่ 2) การแก้ไขปัญหาการพิจารณาคดี ทำอย่างไร คณะหารือให้คำตอบว่า จะมีผลดีต่อสถาบันหรือไม่ ขึ้นอยู่ที่ว่า จะให้บุคคลใด หรือองค์กรใด ร้องทุกข์ บุคคลดังกล่าว มีอุดมการณ์ และความเข้าใจหลักกฎหมายอาญา และหลักการพื้นฐานของหลักเสรีภาพมากน้อยเพียงใด สำหรับหลักการที่คณะอนุกรรมการเสนอฯ มาก็สดคล้องกับหลักพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2548 ที่ไม่ต้องการให้มีคดีเช่นนี้

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทบ.เชิญสื่อคุย-แย้ม งัดกฎหมายเล่นงาน ใครก็ตามทำให้เสียหาย

Posted: 21 Aug 2012 09:05 AM PDT

พ.อ.สรรเสริญ ให้สัมภาษณ์  กองทัพบก เชิญ บก. คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ ทีวี ทานอาหารเย็น แลกเปลี่ยนกับผู้บริหารระดับสูง แจงกรณีฟ้องอัมสเตอร์ดัม ไม่ใช่เรื่องบุคคล

21 ส.ค.55 เว็บไซต์มตินออนไลน์รายงานคำให้สัมภาษณ์ของ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก (ทบ.)  กรณีกองทัพบกเตรียมเชิญ บรรณาธิการและ คอลัมนิสต์ หนังสือพิมพ์และโทรทัศน์มาร่วมหารือทำความเข้าใจการทำงานของกองทัพบกว่า สำนักงานเลขานุการกองทัพบกได้ทำหนังสือเชิญบรรณาธิการ คอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์เพื่อมาร่วมรับประทานอาหารเย็น พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหารระดับสูงกองทัพบก ในวันที่ 27 สิงหาคม เวลา 18.00 น. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์

โดยจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลในปัจจุบันที่สื่อสนใจ เช่น การบริหารภายในกองทัพบก การปรับย้าย จังหวัดชายแดนภาคใต้ การปฏิบัติการทหารต่อกรณีปราสาทเขาพระวิหาร การเมือง การจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ ดังนั้น กองทัพจึงอยากเชิญบรรณาธิการ คอลัมนิสต์ มาพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น เพราะกองทัพบกเชื่อว่าบางส่วนที่คอลัมนิสต์เขียนเป็นประโยชน์ต่อกองทัพ ในหลายมุมมองจะนำข้อมูลทั้งหลายไปเป็นข้อสังเกตในการปรับประยุกต์หรือบูรณาการใช้กับงานที่ทำ ในขณะเดียวกัน หากใครที่เขียนแบบกว้างลอยๆ และไม่มีข้อมูลข้อเท็จจริงกองทัพบกจะได้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับท่าน

ขณะที่เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานคำให้สัมภาษณ์ของ พ.อ.สรรเสริญ กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้ให้นายทหารกรมพระธรรมนูญดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความกลุ่มคนเสื้อแดงในข้อหาหมิ่นประมาท ทำให้กองทัพบกเสียหายว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ให้แนวทางกรณีนี้ว่า ไม่เฉพาะตัวบุคคล กลุ่มบุคคล หรือเป็นอะไรก็แล้วแต่ที่นำเสนอข้อมูลผ่านทางสื่อที่แต่งแต้มสีสัน ใส่ข้อมูลเพิ่มเติม ใส่ความคิดเห็นบิดเบือน จนทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดในการปฏิบัติงานของกองทัพ หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)

“ผบ.ทบ.จะ ให้ผู้ที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องติดตามเรื่องต่างๆ และตรวจสอบกระบวนการของการทำงานว่า ส่งผลต่อภาพลักษณ์กองทัพบกหรือไม่ หากส่งผลและทำให้เกิดความเสียหาย ก็จำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เช่นกัน” พ.อ.สรรเสริญ กล่าวและว่า กลไกของกองทัพบกสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก มีหน้าที่ในการติดตามข้อมูลข่าวสารร่วมกับสำนักงานเลขานุการกองทัพบก โดยจะติดตามข่าวสารทั้งหลายที่เกิดขึ้นในสังคม หากข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏ ทำให้องค์กรเสียหาย อาทิ ผู้บังคับหน่วย  ผู้นำที่ส่งผลกระทบต่อองค์กรในทางเสียหาย เขามีหน้าที่ต้องนำเรียนพิจารณาผ่านการกลั่นกรองผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ทั้งนี้ ผบ.ทบ.ได้ให้สัมภาษณ์ในฐานะที่เป็นผู้นำองค์กร เมื่อหน่วยเสนอขึ้นมาก็จำเป็นต้องอนุมัติเพื่อดำเนินการ จะเห็นว่าทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ

โฆษก ทบ.กล่าวต่อว่า กองทัพบกไม่ได้ทำงานตามความรู้สึก ไม่ได้ทำงานตามความคิดเห็น แต่ทำงานตามระบบ ดังนั้นที่บอกว่า ช้าแก้เกี้ยว คงไม่ใช่ เป็นไปตามขั้นตอน ไม่เหมือนสื่อบางสื่อที่คิดแล้วเขียนเลย คิดปุ๊บแล้วก็นำเสนอหรืออยากให้สถานการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างไรก็เขียนไป กองทัพบกไม่ได้ทำงานตามความรู้สึก แต่ทำงานโดยยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง

 

 

ที่มา : เรียบเรียงจากเว็บไซต์มติชน และเว็บไซต์เดลินิวส์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหภาพฯ พนง.ภาครัฐประท้วงนโยบายเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ออสเตรเลีย

Posted: 21 Aug 2012 08:39 AM PDT

สหภาพแรงงานและพนักงานลูกจ้างของรัฐ อาทิ เจ้าหน้าที่ดับเพลิง เจ้าหน้าที่ประจำรถพยาบาล และอาจารย์ ออกมาประท้วงนโยบายรัดเข็มขัด ที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างและตัดลดสวัสดิการอื่นๆ

 

 

 

 

 

การประท้วงของคนทำงานภาครัฐใน Queensland เมื่อวันที่ 20 และ 21 ส.ค. (ที่มาภาพ: The Courier-Mail และ Brisbane Times)

21 ส.ค. 55 – สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าสหภาพแรงงานและพนักงานลูกจ้างของรัฐ อาทิ เจ้าหน้าที่ดับเพลิง, เจ้าหน้าที่ประจำรถพยาบาล และอาจารย์ ออกมาประท้วงนโยบายตัดลดงบประมาณ ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีขึ้นเงินเดือนให้เจ้าหน้าที่ในบางสายงาน แต่ก็กลับเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเพื่อตัดลดสวัสดิการอื่นๆ โดยได้เคลื่อนขบวนประท้วงที่หน้ารัฐสภาแห่ง Queensland

การประท้วงนำโดยสหภาพแรงงานคนทำงานภาครัฐ Queensland (Queensland Council of Unions - QCU) ที่มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 500 คน นี้เกิดขึ้นเพราะไม่เห็นด้วยกับนโยบายการปรับเปลี่ยนสภาพการจ้างงาน

โดยในส่วนของอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เดินขบวนประท้วงไปก่อนหน้านี้ ถึงแม้ว่าจะมีการยื่นข้อเสนอขึ้นค่าแรงให้ 2.7 % แต่สหภาพแรงงานออกมาระบุว่าพวกเขาไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงสภาพการจ้างอันอื่นแลกเปลี่ยนกับการขึ้นเงินเดือนนี้

เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ถูกยื่นข้อเสนอเพิ่มเงินให้ 2.2 % แต่ต้องถูกยืดระยะเวลาการทำงานให้ยาวขึ้นเป็น 12 ชั่วโมงต่อกะ

Alan Mountford เจ้าหน้าที่ผู้ช่วยแพทย์หนึ่งในผู้ประท้วงกล่าวว่าพวกเขาถูกนโยบายนี้บีบบังคับให้ต้องทำงานถึงกะละ 12 ชั่วโมง โดยไม่มีการหยุดพัก เขาให้ความเห็นต่อว่าไม่มีใครทำงานต่อเนื่อง 12 ชั่วโมงโดยไม่ได้หยุดพักได้  “มันไม่มีทางเป็นไปได้เลย”

"ถ้าคุณทำงานตลอด 12 ชั่วโมงในกะกลางคืน แล้วก็มาคำนวณปริมาณยาให้กับเด็กๆ ต่ออีกในวันต่อไปมันอันตรายมาก" Mountford กล่าว

ด้าน John Battams ประธานสหภาพ QCU กล่าวว่าจุดมุ่งหมายของการออกมาเรียกร้องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน และมันเป็นการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ของคนงาน

 

เรียบเรียงบางส่วนจาก:

Emergency services staff march on Qld Parliament (ABC, 21-8-2012)
http://www.abc.net.au/news/2012-08-21/fire-paramedic-rally/4212592

Hundreds of fired up workers march on Parliament (Brisbane Times, 21-8-2555)
http://www.brisbanetimes.com.au/queensland/hundreds-of-fired-up-workers-march-on-parliament-20120821-24jpt.html

There's no point protesting public service cuts - and demonstrations aren't sensible - Seeney tells unions (couriermail, 21-8-2012)
http://www.couriermail.com.au/news/together-union-urges-campbell-newman-not-to-follow-in-anna-blighs-footsteps/story-e6freon6-1226455051907

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

15 วันรู้ผลถอนอุทธรณ์ ‘ธันย์ฐวุฒิ’–อีก 2 รายได้ออก 23 ส.ค.

Posted: 21 Aug 2012 07:59 AM PDT

 

21 ส.ค.55 นายอานนท์ นำภา ทนายความของนายธันย์ฐวุฒิ (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 แจ้งว่า หลังจากลูกความของเขา ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 13 ปี ได้ตัดสินใจยื่นเรื่องขอถอนอุทธรณ์ ผ่านมาเกือบ 2 เดือนจึงทราบว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา คำร้องถอนอุทธรณ์ได้ถูกยื่นต่อศาล และในวันนี้ (21 ส.ค.) ศาลได้สั่งให้โจทก์แถลงว่าจะค้านหรือไม่ ซึ่งตามกระบวนการจะต้องรออีก 15 วัน หากโจทก์ไม่ค้านคดีจะถึงที่สุด และจำเลยจะขอพระราชทานอภัยโทษต่อไป

ทั้งนี้ ธันย์ฐวุฒิ อาชีพเป็นนักออกแบบเว็บ ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ดูแลระบบเว็บไซต์นปช.ยูเอสเอ และปล่อยให้มีการเผยแพร่ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เขาถูกจับกุมและคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.53 โดยไม่ได้รับการประกันตัว ต่อมาศาลพิพากษาจำคุก 13 ปี เมื่อวันที่ 15 มี.ค.54

ด้านนายคารม พลพรกลาง ทนายความนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข กล่าวว่า ศาลได้นัดพร้อมอีกครั้งในวันที่ 19 ก.ย.นี้ เพื่อฟังผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และนัดวันฟังคำพิพากษา ซึ่งภายในสัปดาห์หน้าทางทีมทนายจะยื่นประกันตัวอีกครั้ง เป็นครั้งที่ 11

ขณะที่ทีมงาน นปช.รายงานข่าวการเยี่ยมนักโทษการเมืองว่า

“อ.สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ เผยว่า ได้ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษอย่างเป็นทางการวันนี้ โดยคดีทั้ง 5 คดีของตนเองเด็ดขาดแล้ว รวมโทษจำคุก 12 ปี 6 เดือน (คดีละ 2 ปี 6 เดือน) แต่ได้รับการลดโทษจาก พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ 2555 จึงเหลือโทษจำคุก 10 ปี 9 เดือน หลังจากนี้เป็นขั้นตอนการขอพระราชทานอภัยโทษ เริ่มจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม สำนักนายกรัฐมนตรี กองราชวัลลภ และสำนักพระราชวัง ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

สมยศ พฤกษาเกษมสุข กล่าวว่า ตนเองยังคงจะต่อสู้คดีต่อไป โดยเชื่อว่าวันที่ 19 ก.ย. นี้ ซึ่งศาลอาญานัดฟังคำวินิจฉัยศาล รธน. (กรณี ม.112 อาจขัด รธน.) คำวินิจฉัยน่าของศาล รธน. จะยังไม่ออกมา และคงต้องเลื่อนออกไปอีก” เว็บ นปช.ระบุ

เว็บดังกล่าวยังระบุด้วยว่า สุชาติ นาคบางไทย หรือ วราวุธ (สงวนนามสกุล)  และ สุริยันต์ (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องขังตามมาตรา 112 จะได้รับพระราชทานอภัยโทษจาก พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ 2555 โดยจะได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 23 ส.ค. 55 เวลา 8.00 น.

ทั้งนี้ สุชาติถูกกล่าวหาว่ากล่าวปราศรัยบนเวทีแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หมิ่นประมาทพระราชินีองค์ปัจจุบัน  เขาถูกออกหมายจับเมื่อวันที่ 14 ต.ค.51 และได้หายตัวไปจนกระทั่งถูกจับกุมเมื่อวันที่ 1 พ.ย.53 บริเวณประตูน้ำ และถูกคุมขังจนกระทั่งวันที่ 24 พ.ย.53 ศาลพิพากษา จำคุก 6  ปีจำเลยให้การรับสารภาพลดเหลือ 3 ปี

สุริยันต์ มีอาชีพเป็นช่างทำรองเท้า โทรศัพท์ไปที่ 191 ศูนย์วิทยุผ่านฟ้า ขู่ว่าจะวางระเบิดที่โรงพยาบาลศิริราช และกล่าววาจาใส่ความสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 30 ก.ย.53 เขาถูกจับกุมและคุมขังเมื่อวันที่ 4 ต.ค.53 ต่อมาวันที่ 14 ก.พ.54 ศาลพิพากษาจำคุก 6 ปี 1 เดือน สุริยันต์รับสารภาพ ศาลลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือลงโทษจริง 3 ปี 15 วัน

ด้านเครือข่ายญาติ ม.112 จัดพิมพ์การ์ดรำลึกอากงจำนวน 1,500 ใบ ซึ่งเป็นภาพที่หลานๆ ของนายอำพล หรือ อากงเขียนให้กับอากง ขณะที่ยังอยู่ในเรือนจำ โดยจำหน่ายใบละ 10 บาท เพื่อนำรายได้มาใช้สนับสนุนกิจกรรมของกลุ่ม ซึ่งผู้ที่ซื้อการ์ดสามารถเขียนข้อความให้กำลังใจผู้ถูกคุมขังทางการเมืองได้  ติดต่อได้ที่ 112familynetwork@gmail.com

นอกจากนี้ ยังแจ้งด้วยว่าทาง นปช. ได้เข้าเยี่ยมเยียนเพื่อรับทราบปัญหา และความต้องการของเพื่อนผู้ถูกคุมขังเสื้อแดง 40 คนเป็นระยะๆ พร้อมทั้งดูแลเรื่องอาหารให้กับผู้ถูกคุมขังเสื้อแดงในเรือนจำหลักสี่ โดยมีการจัดส่งกับข้าววันละ 2 มื้อด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาสวัต บุญศรี: ภาษาถิ่นในหนังสั้นและหนังไทยอิสระ –กระบวนการเสนอสำเนียงที่แท้จริง

Posted: 21 Aug 2012 07:31 AM PDT

ผมยอมรับว่าเป็นคนที่ไม่พึงใจอย่างรุนแรงกับสำเนียงภาษาที่ปรากฎอยู่ตามละครทีวีไทย ไม่ว่าจะเป็นตัวละครพูดเหนือ พูดอีสาน หรือพูดใต้ ที่เพี้ยนแปร่งไม่ตรงกับความจริงเสียสักน้อยนิด คนผลิตก็คงคิดอยากจะเปิดตลาดเพิ่มเติมในภูมิภาคต่าง ๆ โดยให้ตัวละครพูดสำเนียงที่เขาคิดว่าเป็นพื้นเพแถวนั้น ทว่าก็ไม่ได้เคยไปรู้เลยสักนิดว่าแท้ที่จริงชาวบ้านร้านตลาดเขาพูดออกเสียงยังไงกันแน่ คนเหนืออีสานใต้ที่ได้ฟังนักแสดงหน้าตาดีสวยหล่อเหล่านั้นพยายามพูดภาษาถิ่นของตนก็มีทั้งเอ็นดูในความพยายาม ไปจนนั่งหัวเราะด้วยความสมเพช

ไม่ว่าจะได้รับคำวิจารณ์ในประเด็นไม่สมจริงของสำเนียงภาษาเท่าใด ก็ดูผู้ผลิตไม่ได้สนใจที่จะให้นักแสดงของตนฝึกฝนพูดให้ได้ใกล้เคียงเท่าใดนัก ก็จะมีแต่คนภาคกลางโดยเฉพาะกรุงเทพฯ ที่หลงใหลใคร่ฝันไปว่านี่คือเป็นการช่วงอนุรักษ์ภาษาถิ่น (จอมปลอม) ไว้

วงการบันเทิงด้านอื่น ๆ นอกจากละครไทยก็มีการใช้ภาษาถิ่นเช่นกัน โดยเฉพาะในฟากของผู้ผลิตหนังไทยอิสระและหนังสั้น ผมเองได้ลองสำรวจดูจากในงานเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 16 ที่จัดโดยมูลนิธิหนังไทย พบว่ามีหนังหลายเรื่องที่ผู้กำกับตั้งใจให้ตัวละครพูดภาษาไทยด้วยสำเนียงท้องถิ่น ที่น่าสนใจคือพวกเขาใส่กันไม่ยั้งชนิดไม่กลัวเลยแม้แต่น้อยว่าคนดูจะฟังเข้าใจหรือเปล่า

สำเนียงภาษาในแต่ละพื้นที่มีลักษณะแตกต่างกัน ลำพังแค่ภาษาไทยในภาคกลางก็มีสำเนียงเฉพาะถิ่นแตกออกไปเป็นหลายร้อยสำเนียง และแม้เราจะบอกว่าพูดภาษาไทยเหมือนกันแต่ก็ใช่ว่าเราจะฟังสำเนียงของถิ่นอื่นออก เอาแค่สำเนียงภาคกลางเอง คนเมืองหลวงถ้าหลงไปตามชนบทก็พบภาวะ ‘lost in translation’ ได้ง่าย ๆ ซึ่งผมเองรู้สึกว่านี่คือความงามของภาษาอันหลากหลาย และเป็นการบ่งบอกอัตลักษณ์ที่ชัดเจนของชุมชนแต่ละที่แห่ง

สำเนียงท้องถิ่นถูกเหยียดหยามและกดทับให้คนพูดรู้สึกอับอายเมื่อเอ่ยปากมานาน พ่อของผมซึ่งเป็นคนอีสานเคยเล่าว่าเมื่อครั้งย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ ใหม่ ๆ แทบไม่อยากพูดอีสานเลยเพราะเมื่อพูดติดสำเนียงอีสานเมื่อใดก็จะโดนดูถูกโดยคนอื่น ภาษาท้องถิ่นจึงกลายเป็นของขบขันสำหรับคนกรุงเทพฯ ใครพูดเหน่อ พูดสำเนียงแปลก ๆ ก็จะถูกแซว เด็กวัยรุ่นในหลาย ๆ พื้นที่ทั้งภาคเหนือและภาคอีสานเองก็รู้สึกอายและไม่กล้าพูดภาษาถิ่นเมื่ออยู่โรงเรียน

คนทำหนังไทยมิได้จำกัดอยู่เฉพาะคนในกรุงเทพฯ ยิ่งสายหนังสั้นมีคนทำมากหน้าหลายตาจากทั่วประเทศ หลายคนเลือกนำเสนอภาษาสำเนียงท้องถิ่นที่ตนพูดออกมาอย่างซื่อตรงตามจริง อาจจะด้วยเหตุความรู้สึกไม่พอใจจากการนำเสนอภาษาอันผิดเพี้ยน ไม่ก็นำเสนออัตลักษณ์อันชัดเจนของกลุ่มชุมชนพวกเขา ฯลฯ ต่อไปคือตัวอย่างที่ขอยกมาเล่าให้พอได้รู้จักบ้าง

ลองสำรวจจากเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 16 หนังสั้นเรื่อง ในสวน ของ อุรุพงษ์ รักษาสัตย์ ว่าด้วยหญิงสาวคนหนึ่งคุยกับแม่ของเธอในสวนยางพาราว่าไม่อยากให้ใช้ยาฆ่าแมลง เพราะยาฆ่าแมลงสุดท้ายจะถูกชะล้างไปอยู่กับน้ำใต้ดิน แล้วคนที่ใช้น้ำก็เท่ากับกินยาฆ่าแมลงไปด้วย หนังได้สะท้อนภาพของพื้นที่สวนยางพาราที่อุดมด้วยวัชพืช ทั้งสองแม่ลูกพูดภาษากลางด้วยสำเนียงที่ผมไม่คุ้นเคยเลยแม้แต่น้อย ฟังแล้วพอจับใจความบางคำได้

ในขณะที่เมืองกรุง ของอิศรา แจ่มสายบัว เล่าเรื่องยามหนุ่มผู้อัดเสียงใส่เทปคลาสเซทท์ส่งไปให้แม่ผู้ตาบอดได้ฟังที่บ้านนอก เขาพูดภาษาอีสานเล่าเรื่องที่เกิดขึ้น พร่ำพรรณาความคิดถึงพ่อแม่ ไปจนถึงแจ้งข่าวว่าสงกรานต์นี้ไม่ได้กลับบ้านอีกแล้ว สำเนียงยโสธรของเขาติดตรึงในใจยิ่งนัก

ฟากหนังยาวของคนทำหนังไทยอิสระ วิชชานนท์ สมอุ่มจารย์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องสิ้นเดือนเมษาฝนตกมาปรอยปรอย ที่นอกจากตัวละครของเขาจะพูดภาษาอีสานแบบขอนแก่นแล้ว หนังยังพาเราไปให้เห็นบริบทวัฒนธรรมของพื้นที่ในขอนแก่น เช่น ตัวเอกของเรื่องยามอยู่กับเพื่อนนั้นพูดภาษาอีสานเป็นธรรมดา ทว่ายามอยู่กับพ่อที่บ้านกลับเกิดภาวะ พ่อพูดอีสาน ลูกพูดกลาง (ซึ่งจากการสอบถามผู้กำกับ เขาบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับตัวเขา)

ดู ๆ แล้วฟากคนทำหนังสั้นนั้นตั้งใจสื่อสารสำเนียงภาษาออกมาได้สมกับความเป็นจริงมาก น้อยครั้งที่เราจะเจอภาษาเหนือปลอม อีสานปลอมและใต้ปลอมในหนังสั้นไทย มองทางหนึ่งนี่คือการตอบโต้การใช้ภาษาถิ่นปลอม ๆ ในละครทีวีว่าของจริงเขาต้องพูดกันแบบนี้ อีกทางหนึ่งผมมองว่านี่คือการพยายามสร้างการยอมรับแก่คนกรุงเทพฯ ให้ยอมรับในตัวตน ยอมรับในภาษาสำเนียงที่แม้แปร่งหูแต่เป็นเอกลักษณ์และมิควรถูกเหยียดหยามลดค่าจากคนที่พูดสำเนียงกลางมาตรฐาน พวกเขาไม่อายอีกต่อไปแล้วที่จะพูดภาษาถิ่น นำเสนอภาษาถิ่นของตนด้วยบทสนทนาในชีวิตประจำวัน

ผมเองก็หวังไว้ว่าเราจะได้เห็นหนังไทยที่พูดภาษาถิ่นกันอย่างถูกต้องและหลากหลายตามเอกลักษณ์ของชุมชนมากขึ้น รวมถึงแพร่ไปยังละครทีวีที่ให้ความสำคัญกับสำเนียงของท้องถิ่นอย่างแท้จริงบ้าง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิสิต มก.ค้านไม่อยู่ ครม.ไฟเขียว "มหา’ลัยเกษตร" ออกนอกระบบ

Posted: 21 Aug 2012 06:18 AM PDT

ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ... ขั้นต่อไปส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณารายละเอียด ด้านกลุ่มนิสิตเข้ายื่นหนังสือค้าน เรียกร้องให้นำกลับไปสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับนิสิต-ประชาชนก่อน

 
กลุ่มตัวแทนนิสิต ม.เกษตรศษสตร์ เดินทางไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล คัดค้านการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ฯ  ออกนอกระบบ
 
วันนี้ (21 ส.ค.55) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายนิพิฐพนธ์ คำยศ นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วยตัวแทนนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ... (ม.นอกระบบ) ที่จะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ โดยยื่นหนังสือต่อนายสุชาติ ธาดาดำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนางฐิติมา ฉายแสง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ตามที่มีการรายงานข้อมูลว่า กระทรวงศึกษาธิการจะนำ เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันนี้
 
ตัวแทนนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ มีผลกระทบต่อนิสิต นักศึกษา ประชาชนทั่วไปซึ่งกระบวนการในการร่าง นิสิต นักศึกษาและประชาชนไม่มีส่วนร่วม และให้อำนาจผู้บริหารที่มาจากการแต่งตั้งบริหารเงินอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งเสนอให้ ครม.มีมติไม่รับร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว และให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นำร่างกลับไปสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาคม อย่างแท้จริง อีกทั้ง ยังขอให้รัฐบาลทำหนังสือถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ
 
ในวันเดียวกันนี้ เครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนเคียงข้างเพื่อนนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คัดค้านการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ฯ ระบุการนำร่างกฎหมายดังกล่าวเสนอเข้าสู่การพิจารณาขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) นั้น เป็นการกระทำที่ไร้หลักธรรมาภิบาล ใช้อำนาจโดยไม่รับฟังเสียงหรือความคิดเห็นของนักศึกษาและประชาชนเลย
 
แถลงการณ์ระบุด้วยว่า ในความเป็นจริงแล้วยังมีนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จำนวนมากที่ยังไม่ทราบข้อมูลและยังไม่เห็นด้วยกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ จึงทำให้เกิดกระแสคัดค้านจากนักศึกษาและมีข้อเรียกร้องให้ยุติกระบวนการดำเนินการดังกล่าว และเปิดให้มีกระบวนการการมีส่วนร่วมจากประชาคมในมหาวิทยาลัยอย่างทั่วถึงมาโดยตลอด
 
“เราในนามเครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ ขอแสดงจุดยืนคัดค้านการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกนอกระบบ ร่วมกับแนวร่วมนิสิตคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกนอกระบบอย่างถึงที่สุด” แถลงการณ์ระบุ
 
ด้านเว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงผลประชุม ครม.ระบุ ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ.... ให้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแล้ว ซึ่งขั้นตอนต่อไปต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณารายละเอียดของร่างกฎหมาย หากได้รับความเห็นชอบก็จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป อย่างไรก็ตามในส่วนมหาวิทยาลัยอื่น อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ที่เคยยื่นความประสงค์จะออกนอกระบบนั้น ขณะนี้ยังไม่มีการเสนอเรื่องมา
 
นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า สำหรับมหาวิทยาลัยที่ยื่นความประสงค์ขอออกนอกระบบกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แล้ว มีดังนี้ มข. มศก. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) มหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.) มธ. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) สวนสุนันทา เบื้องต้นก่อนหน้านี้ สกอ.ส่งจดหมายไปยังแต่ละมหาวิทยาลัยให้ยืนยันความประสงค์ขอออกนอกระบบอีกครั้ง แต่ขณะนี้ยังไม่มีมหาวิทยาลัยใดตอบกลับมา เนื่องจากบางแห่งยังมีปัญหาภายในที่ยังไม่ได้ข้อยุติ หากมหาวิทยาลัยใดยืนยันความพร้อมกลับมา สกอ.ก็พร้อมผลักดันต่อไป
 
นายวุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การยื่นขอเปลี่ยนฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ หรือออกนอกระบบดังกล่าว เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เคยยื่นตั้งแต่ปี 2549 และเป็นการยื่นขอออกนอกระบบต่อจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ สำหรับข้อกังวลว่า หากออกนอกระบบแล้วค่าเล่าเรียนจะเพิ่มสูงขึ้นนั้น มหาวิทยาลัยไม่สามารถดำเนินการได้ หากไม่มีเหตุผลด้านความจำเป็นรองรับ แต่หากจำเป็นต้องขึ้นค่าเล่าเรียน มหาวิทยาลัยต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านก่อน และขอยืนยันว่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไม่มีนโยบายผลักภาระให้ผู้ปกครอง และนักศึกษาต้องแบกรับเรื่องนี้
 
หนังสือของนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ระบุเนื้อหา ดังนี้
 
 
แนวร่วมนิสิตคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกนอกระบบ
 
 
วันที่ 21 สิงหาคม 2555
 
เรียน      นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
 
เรื่อง      ขอให้ยับยั้งการผ่านร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ...
 
เนื่องจากการที่กระทรวงศึกษาธิการได้นำร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ...  หรือที่เรียกว่าร่าง พ.ร.บ.ในกำกับของรัฐ (ม.นอกระบบ) เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2555  กำหนดให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น  
 
แนวร่วมนิสิตคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกนอกระบบ ในฐานะกลุ่มนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และเครือข่ายแนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้านม.นอกระบบอันประกอบไปด้วยนิสิตนักศึกษาหลายมหาวิทยาลัย  จึงขอคัดค้านร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เนื่องจาก
 
1.ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลกระทบต่อนิสิตนักศึกษาและประชาชนโดยทั่วไป แต่กระบวนการร่าง กลับไม่มีการมีส่วนร่วมจากนิสิตนักศึกษาและประชาชน  เป็นร่าง พ.ร.บ. ที่ออกมาจากฝั่งผู้บริหารเท่านั้น เท่ากับเป็นการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จจากฝ่ายผู้บริหารของมหาวิทยาลัย
 
ถึงแม้จะมีการทำประชาพิจารณ์ครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ.2550 ก็เป็นเพียงแค่กระบวนการเพื่อสร้างความชอบธรรมแก่ให้ฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นเพียงการให้ข้อมูลด้านดีด้านเดียว และมีนิสิตรับรู้ข้อมูลเพียงน้อยนิด ขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงตามหลักวิชาการ 
 
2.เนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ให้อำนาจผู้บริหารรวมทั้งสภามหาวิทยาลัยที่มาจากการแต่งตั้ง ไม่ใช่การเลือกตั้งที่มาจากการมีส่วนร่วมจากประชาสังคมในมหาวิทยาลัย มีอำนาจในการบริหารงาน บริหารเงินอย่างเต็มที่ ขาดระบบการตรวจสอบที่รัดกุม แต่กลุ่มบุคคลเหล่านี้กลับเป็นผู้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวเพื่อให้ประโยชน์แก่กลุ่มตนเอง
 
3.จากเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังมหาวิทยาลัย 14 แห่ง ที่ได้ส่งร่างพ.ร.บ.ออกนอกระบบมาที่ สกอ.ว่ายังยืนยันออกนอกระบบหรือไม่ มีมหาวิทยาลัยที่ยืนยันกลับมาแล้วว่าจะออกนอกระบบระบบ จำนวน 4 มหาวิทยาลัย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งที่นิสิตส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยยังไม่มีความรู้ ความเข้าใจเรื่อง ม.นอกระบบ และไม่มีการนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมาพิจารณาสอบถาม รับฟังความคิดเห็น ไม่มีการให้ความรู้แก่นิสิตและประชาคม
 
ทางกลุ่มจึงขอเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลดังนี้
 
1.ให้ ครม. มีมติไม่รับร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว และให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นำร่างกลับไปสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมกับประชาคม นิสิตนักศึกษาและประชาชนอย่างแท้จริง
 
ให้รัฐบาลทำหนังสือ ถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขอให้เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการนำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกนอกระบบ ให้เป็นที่รับรู้ต่อนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสังคมภายนอกอย่างทั่วถึง
 
2.ให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนนโยบายมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ม.นอกระบบ) โดยจัดเวทีระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ถอดบทเรียนจากมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบไปแล้วและยังไม่ออก เพื่อกำหนดเป็นนโยบายทางการศึกษาที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมและมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนตามหลักการประชาธิปไตย
 
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทางรัฐบาลจะรับฟังเสียงของนิสิต และสนใจปัญหาทางการศึกษาที่ถูกหมักหมมมานาน ยิ่งหากมีผ่านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้หนักขึ้น เป็นการให้อำนาจคนบางกลุ่มเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากโครงสร้างระบบการศึกษา และหวังว่าคณะรัฐมนตรีซึ่งนำโดยท่านนายกรัฐมนตรีจะไม่ผ่านร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว
 
ด้วยจิตคารวะ
 
แนวร่วมนิสิตคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกนอกระบบ
 
รายชื่อองค์กรนิสิตนักศึกษา
1.แนวร่วมนิสิตคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกนอกระบบ
2.เครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ
3.เครือข่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาไม่เอาม.นอกระบบ
4.กลุ่มรั้วแดง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
5.กลุ่มแสงดาว มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
6.กลุ่มปูกฮัก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
7.กลุ่มลูกชาวบ้าน มหาวิทยาลัยบูรพา
8.กลุ่มสะพานสูง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
9.กลุ่มเสรีนนทรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
10.ซุ้มเหมราช มหาวิทยาลัยรามคำแหง
11.กลุ่มนกกระจอก มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
12.กลุ่มอาสากลาง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
13.ชมรมมหาวิทยาลัย-ชาวบ้านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
14.กลุ่มดาวดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น
15.กลุ่มระบายฝัน มหาวิทยาลัยนเรศวร
15.สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)
 
 
 
 
 แถลงการณ์ เครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบระบุเนื้อหา ดังนี้
 
 
แถลงการณ์แสดงจุดยืนเคียงข้างเพื่อนนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
“คัดค้านการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกนอกระบบ”
 
จากการที่กระทรวงศึกษาธิการได้นำร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ... (ม.นอกระบบ) เสนอเข้าสู่กระบวนการพิจารณาขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เพื่อนำไปสู่การผลักดันมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกนอกระบบนั้น ในความเป็นจริงแล้วนั้นยังมีนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จำนวนมาก ที่ยังไม่ทราบข้อมูลและยังไม่เห็นด้วยกับการนำมหาวิทยาลัยออกเกษตรศาสตร์ออกนอกระบบ จึงให้เกิดกระแสคัดค้านจากนักศึกษาและมีข้อเรียกร้องให้ยุติกระบวนการการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบและเปิดให้มีกระบวนการการมีส่วนร่วมจากประชาคมในมหาวิทยาลัยอย่างทั่วถึงมาโดยตลอด
 
จากเหตุการณ์ดังกล่าว เราในนามเครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ ได้ติดตามสถานการณ์การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบมาโดยตลอด จึงเห็นว่า การกระทำของรัฐมตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่ได้เสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกนอกระบบนั้น เป็นการกระทำที่ไร้หลักธรรมาภิบาล ใช้อำนาจโดยไม่รับฟังเสียงหรือความคิดเห็นของนักศึกษาและประชาชนเลย
 
เราในนามเครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ ขอแสดงจุดยืนคัดค้านการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกนอกระบบ ร่วมกับแนวร่วมนิสิตคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกนอกระบบอย่างถึงที่สุด
 
ด้วยจิตคารวะ
เครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ
21 สิงหาคม 2555
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนรักสุขภาพเฮ-คอเหล้าบุหรี่อ่วม รัฐขึ้นภาษีมีผลทันที

Posted: 21 Aug 2012 04:57 AM PDT

21 ส.ค.55 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตสุราและยาสูบ โดยให้มีผลทันทีตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ในส่วนของบุหรี่จะปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต 8 ยี่ห้อในอัตรา 6-8 บาท/ซอง ส่วนสุรา แบ่งเป็นสุราผสม ปรับภาษีสรรพสามิตเพิ่มเป็น 120 บาทต่อลิตร และสุราต่างประเทศ เพิ่มเป็น 400 บาทต่อลิตร โดยการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตในครั้งนี้ยังถือว่าไม่เป็นเพดานที่ได้กำหนดไว้ โดยกระทรวงการคลังให้เหตุผลในการปรับภาษีสุราและบุหรี่ในครั้งนี้ว่า เพื่อเป็นการทำให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ช่วยลดการบริโภคสุราและยาสูบ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อสุขภาพของประชาชน

 

ที่มา: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘อมรา’ แจง รายงาน สลายชุมนุม พ.ค.53 ยังไม่ออก กำลังพิจารณาร่างสุดท้าย

Posted: 21 Aug 2012 04:47 AM PDT

 

21 ส.ค.55  นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้สัมภาษณ์ว่า ร่างรายงาน “การตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช.ระหว่างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2553” ยังไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ ที่สื่อนำไปเผยแพร่น่าจะเป็นฉบับเก่า ขณะนี้คณะกรรมการสิทธิฯ กำลังพิจารณาร่างสุดท้ายอยู่ ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะต้องปรับแก้อีกกี่ครั้ง แต่คาดว่าจะสามารถเผยแพร่สู่สาธารณะได้เร็วๆ นี้ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม (ศปช.) ที่ได้เปิดเผยรายงานไปแล้ว (19 ส.ค.) และคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีกำหนดจะออกรายงานภายในเดือนส.ค.นี้ 

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้สื่อมวลชนหลายสำนักรายงานข่าวร่างรายงานเรื่องนี้ของคณะกรรมการสิทธิฯ ที่รั่วออกมา ซึ่งระบุว่าการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงชุมนุมนั้นมีบางส่วนที่ติดอาวุธ พร้อมใช้ความรุนแรงขณะที่การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ในขณะนั้นเป็นสิ่งจำเป็นเหมาะสม ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม ต่อมา คณะกรรมการสิทธิฯ ได้แถลงว่า ร่างดังกล่าวเป็นของกรรมการสิทธิฯ จริง แต่เป็นเพียงร่างรายงานของ “คณะทำงาน” ซึ่งได้สำรวจ เก็บข้อมูล เบื้องต้นและยังต้องผ่านการพิจารณาของอนุกรรมการเฉพาะกิจอีก 3 ชุด และกรรมการสิทธิชุดใหญ่อีกจึงจะเป็นรายงานที่พร้อมเผยแพร่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลบราซิลสั่งระงับ “เขื่อนเบโล มองต์” เหตุอนุมัติโครงการโดยมิชอบ-ขาดการหารือชนเผ่าพื้นเมือง

Posted: 21 Aug 2012 04:38 AM PDT

ศาลบราซิลพิพากษาระงับโครงการเขื่อน กลุ่มผู้พัฒนาโครงการต้องจ่ายค่าปรับวันละ 2.5 แสนเหรียญสหรัฐ หากไม่ปฏิบัติตาม คาดจะมีการอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ด้านประธานศาล TRF1 ประกาศความตั้งใจจะคว่ำคำตัดสิน

 
 
เว็บไซต์องค์กรแม่น้ำนานาชาติ  เผยแพร่ข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 14 ส.ค.55 ที่ผ่านมา ศาลบราซิลอ่านคำพิพากษาระงับการก่อสร้างเขื่อนที่เกิดการถกเถียงอย่างร้อนแรง อย่างเขื่อนเบโล มองต์ บนแม่น้ำซิงกู (Xingu) ในเขตลุ่มน้ำอเมซอน โดยอ้างหลักฐานจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่ามีความบกพร่องในการปรึกษาหารือกับชนพื้นเมืองก่อนการอนุมัติโครงการ
 
คณะผู้พิพากษาศาลบราซิลระดับภูมิภาค (TRF1) คงคำวินิจฉัยก่อนหน้านี้ที่ประกาศว่า การอนุมัติโครงการของรัฐสภาแห่งบราซิลในปี 2548 นั้น มิชอบด้วยกฎหมาย โดยยึดข้อสรุปที่ว่ารัฐธรรมนูญแห่งบราซิลและอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 169 ซึ่งบราซิลเป็นสมาชิกอยู่นั้น กำหนดไว้ว่า รัฐสภาจะสามารถอนุมัติการใช้ทรัพยากรน้ำสำหรับโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าได้ต่อเมื่อมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการปรึกษาหา​​รือกับชนพื้นเมืองซึ่งจะได้รับผลจากโครงการแล้วเท่านั้น
 
อันหมายถึง รัฐสภาแห่งบราซิลจะต้องแก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น โดยการจัดประชุมปรึกษาหา​​รือเกี่ยวกับผลกระทบของโครงการกับชนพื้นเมืองจากลุ่มแม่น้ำซิงกู โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชนเผ่าจารูนา (Juruna), อารารา(Arara) และ คิคริน (Xikrin) ความคิดเห็นต่อโครงการของพวกเขาควรได้รับการพิจารณาในการตัดสินใจของรัฐสภา ว่าจะอนุมัติโครงการเขื่อนเบโล มองต์ (Belo Monte) หรือไม่ และในขณะเดียวกันการก่อสร้างเขื่อนได้ถูกสั่งระงับแล้ว กลุ่มผู้พัฒนาโครงการ ซึ่งได้แก่ บริษัท Norte Energia, S.A, นำโดย Eletrobras ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานจะต้องจ่ายค่าปรับรายวันประมาณ 250,000 เหรียญสหรัฐ หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งระงับโครงการ คาดว่าผู้พัฒนาโครงการจะอุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อศาลฎีกาของบราซิล
 
ผู้พิพากษาโซซ่า พรูดองต์ (Souza Prudente) กล่าวว่า “การตัดสินใจของศาลย้ำชัดว่า เป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลบราซิลและรัฐสภาจะต้องเคารพรัฐธรรมนูญและข้อตกลงระหว่างประเทศ ในการปรึกษาหา​​รือล่วงหน้ากับชนพื้นเมืองเกี่ยวกับโครงการที่จะนำพาวิถีชีวิตและดินแดนของพวกเขาไปสู่ความเสี่ยงในอนาคต และสิทธิมนุษยชนและการปกป้องสิ่งแวดล้อม ไม่ด้อยค่าไปกว่าประโยชน์ทางธุรกิจเช่นกัน”
 
“คำพิพากษาของศาลล่าสุด พิสูจน์ให้เห็นว่า สิ่งที่คนพื้นเมือง นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน และสำนักงานอัยการเพื่อสาธารณะ (Federal Public Prosecutor’s Office) ได้รับการเรียกร้องมาตลอด เราหวังว่า นายดิลมา อัตเตอรนี่ (Dilma’s Attorney) ประธานอัยการสูงสุด และผู้พิพากษาหัวหน้าศาลรัฐบาลกลาง (TRF1) จะไม่พยายามล้มล้างการตัดสินใจที่สำคัญเช่นที่ ดังที่พวกเขาได้เคยทำมาแล้วในสถานการณ์ที่คล้ายกันในอดีตที่ผ่านมา” เบรนต์ มิลลิแกน ตัวแทนจากองค์กรแม่น้ำนานาชาติกล่าว
 
“การตัดสินใจครั้งนี้เป็นการตอกย้ำการเรียกร้องของ คณะกรรมาธิการอเมริกันเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เมื่อเดือนเมษายน 2011 ที่ผ่านมา โดยได้เรียกร้องให้มีการระงับโครงการ เนื่องจากการขาดการปรึกษาหา​​รือกับชุมชนท้องถิ่น เราหวังว่า บริษัทนอร์ทเอ็นเนอเจีย (Norte Energia) และรัฐบาล จะยอมรับต่อการตัดสินใจครั้งนี้และเคารพสิทธิของชุมชนพื้นเมือง” จอนห์สัน คาวาลคานต์ ตัวแทนจาก ของสมาคม Cavalcante of the Interamerican Association for Environmental Defense (AIDA) ซึ่งเป็นองค์กรให้การสนับสนุนทางด้านกฎหมายแก่ชุมชนที่คาดว่าได้รับผลกระทบ
 
รัฐสภาของบราซิล ได้อนุมัติโครงการเขื่อน เบโล มองต์ เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ทั้งที่ไม่มีรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และมีเพียงรายงานการศึกษาที่จัดทำโดยสามบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของบราซิล คือ บริษัทพลังงานของรัฐ Eletrobras บริษัท Camargo Correa, Andrade Gutierre และ บริษัท Odebrecht และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง สำหรับการประเมินความผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนของชนพื้นเมืองและชุมชนดั้งเดิมอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ปลายน้ำ เพราะเขื่อนขนาดใหญ่นี้จะเปลี่ยนแปลงการไหลตามธรรมชาติของแม่น้ำซิงกู มากถึง 80% รายงานดังกล่าวได้รับการอนุมัติโดยหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลกลางของบราซิล (IBAMA) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2010 ภายใต้แรงกดดันทางการเมืองที่รุนแรงและการคัดค้านเป็นอย่างมากจากหน่วยงานด้านเทคนิคต่างๆ
 
การเผชิญหน้าสร้างเขื่อนเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2011, การคาดการณ์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่กว้างขวางล่วงหน้าของเขื่อนเบโล มองต์เกิดขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนพื้นเมืองได้ต้องลุกขึ้นเพื่อต่อต้านเขื่อนเบโล มองต์(Belo Monte)
 
ในระหว่างการประชุมสหประชาชาติ Rio+20 (การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน : United Nations Conference on Environment and Development) เมื่อเดือนมิถุนายน 2555 ตัวแทนชนพื้นเมืองที่จะได้รับผลกระทบ ได้บุกยึดพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนเป็นเวลา 21 วัน เพื่อประท้วงและต่อต้านการพัฒนาโครงการ และฉีกสัญญากับนักสร้างเขื่อน โดยชุมชนพื้นเมืองได้กักตัว 3 วิศวกรของบริษัทนอร์ทเอ็นเนอเจีย (Norte Energia) ไว้เป็นเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อเป็นการประท้วงเรียกร้องให้มีการระงับการโครงการอันเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามจากการลดผลกระทบตามข้อเรียกร้องของพวกเขา
 
เดือนที่แล้วสำนักงานอัยการแห่งชาติ ยื่นฟ้องเรียกร้องให้มีการระงับใบอนุญาตการก่อสร้างเขื่อน เบโล ม็องต์ นำไปสู่ความบานปลายแห่งขวามขัดแย้งและถกเถียงกันอย่างกว้างขวางที่ไม่มีกระบวนการปรึกษาหารือต่อชนพื้นเมือง และน่าจะเป็นผลเชิงบวกต่อคำตัดสินของคณะลูกขุนจากมุมมองของชนพื้นเมือง
 
ภาวะความขัดแย้งด้านละเมิดสิทธิของชนพื้นเมือง เกิดขึ้นบ่อยครั้งในการพัฒนาลุ่มน้ำอเมซอน ล่าสุด สัปดาห์ที่ผ่านผู้พิพากษาโซซ่า พรูดองต์ ในนามของกลุ่มของผู้พิพากษาจาก TRF1 ได้สั่งระงับทันที 1 ใน 5 เขื่อนขนาดใหญ่ที่วางแผนไว้สำหรับการพัฒนาในแม่น้ำเตเรส ปีเรส์ (Teles Pires) แม่น้ำสาขาของ ตาพาโจส์ (Tapajos) ด้วยเหตุผลที่ว่า การขาดการปรึกษาหา​​รือล่วงหน้าและแจ้งกับชนพื้นเมืองคายาบิ Kayabi อาเพียกา (Apiakás) และ มูนโดโรคู (Munduruku) ซึ่งจะเป็นผู้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการดังกล่าว
 
ผู้พิพากษาโซซ่า พรูดองต์ กล่าวว่า “ในกรณีของเขื่อนเตเรส ปีเรส์ (Teles Pires) ถือว่าเป็นโครงการที่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชนพื้นเมือง มากกว่าเขื่อนเบโล มองต์ (Belo Monte) เพราะการตัดสินใจทางการเมืองที่จะดำเนินการกับการก่อสร้างของห้าเขื่อนขนาดใหญ่ในแม่น้ำเตเรส ปีเรส์ กระทำโดย รัฐมนตรีกระทรวงเหมืองแร่และพลังงาน ที่ไม่มีการวิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพ และยังไม่มีการประเมินผลกระทบต่อวิถีชีวิตและดินแดนของชนพื้นเมือง เซเต เกดาส์ (Sete Quedas) ผลกระทบต่อแก่งในแม่น้ำเตเรส ปีเรส์ ถือว่ามีความสำคัญสำหรับการหาปลา ซึ่งเป็นการดำรงชีพหลักของพวกเขา และคาดว่ารัฐบาลและรัฐสภาก็ละเลยภาระหน้าที่ของตน ในกระบวนการการปรึกษาหา​​รือล่วงหน้าและแจ้งกับชนพื้นเมืองที่ซึ่งถูกกำหนดโดยกฎหมายรัฐธรรมนูญและอนุสัญญา ILO 169 เช่นกัน”
 
เมื่อวานนี้ เมื่อประธานศาล TRF1 ประกาศความตั้งใจของเขาที่จะคว่ำการตัดสินใจของนายโซซ่า พรูดองต์ และผู้พิพากษาของรัฐบาลภูมิภาคอื่นๆ เกี่ยวกับโครงกาไฟฟ้าพลังน้ำใน แม่น้ำเตเรส ปีเรส์ (Teles Pires) นับเป็นการเพิ่มวิกฤตการณ์ภายในระบบตุลาการของบราซิลมากขึ้น ภายใต้การบริหารงานของนางจิลมา รูสเซฟ (Dilma Rousseff) ประธานาธิบดีหญิงบราซิลคนปัจจุบันที่มีความทะเยอทะยานในการพัฒนาเขื่อนในลุ่มน้ำอเมซอน
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปิดฉากวาทกรรมซื้อเสียง ผลวิจัยฟันธง ซื้อเสียงจูงใจคนได้เพียง 4.5%

Posted: 21 Aug 2012 03:59 AM PDT

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นำเสนอผลการวิจัย “การป้องกันและแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงในการเลือกตั้ง”  พบยอมรับเงินจากผู้สมัคร แต่ไม่เลือก 46.79 และแม้ไม่ได้รับเงินก็จะเลือก 48.62 

สำนักข่าวไทยรายงานเมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่โรงแรมเซ็นทารา คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ในการสัมมนาทางวิชาการของสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล ได้นำเสนอผลการวิจัยเรื่อง  “การป้องกันและแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงในการเลือกตั้ง” โดยการวิจัยดังกล่าวได้สุ่มตัวอย่างผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ จำนวน 941 คน  ในการเลือกตั้งส.ส.เมื่อวันที่ 3 ก.ค.54 ที่ผ่านมา  พบว่า ในส่วนการเลือกตั้งระดับชาติปัจจุบันการใช้เงินเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิ เลือกตั้งลงคะแนนเลือกตนเองในการเลือกตั้งระดับชาติ มีผลต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งน้อยลงจากเดิม และไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดในการแพ้หรือชนะการเลือกตั้งอีกต่อไป 

ข้อมูลจากการสำรวจพบว่า ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ยอมรับเงินจากผู้สมัคร แต่ไม่เลือกผู้สมัครรายนั้น ถึงร้อยละ 46.79 และที่ตอบว่า แม้ไม่ได้รับเงินก็จะเลือก มีร้อยละ 48.62 ส่วนผู้ที่ตอบว่าเลือกเพราะได้รับเงินมีเพียง 4.59 ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับผลการสัมมนากลุ่มย่อยของผู้นำชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ที่พบว่า ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ไม่ได้เลือกผู้สมัครเพราะเงิน 

นอกจากนี้ยังพบว่า ความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนที่มีเพิ่มขึ้นและความรู้สึกผิดที่รับเงิน แล้วไม่เลือกหรืออาจเป็นบาปที่เลือกลดลงไป ทำให้ในการตัดสินใจเลือกตั้ง ส.ส.ระดับชาติ ปัจจุบันผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกพรรคมากกว่าตัวบุคคล  โดยจากผลสำรวจในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 54 แม้ในแบบแบ่งเขต ซึ่งเลือกเฉพาะชอบตัวบุคคลคิดเป็นร้อยละ 46.26 ขณะที่เลือกเพราะชอบนโยบายพรรค ร้อยละ 37.64 และเลือกเพราะอยากได้หัวหน้าพรรค ร้อยละ 16.10  แต่เมื่อรวมผลสำรวจระหว่างการเลือกเพราะชอบนโยบายพรรคและอยากให้หัวหน้าพรรค เป็นนายกฯ เท่ากับว่า ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาประชาชน เลือกพรรคมากกว่า 53.74

การนำระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนมาใช้ทำให้พรรคการเมืองต้องแข่งขันกันในทาง นโยบายมากขึ้น ตัวผู้สมัครมีความสำคัญลดลง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกพรรคมากขึ้น ส่งผลให้การใช้เงินซื้อเสียงได้ผลน้อยลง นอกจากนี้ความแตกแยกแบ่งข้างทางการเมืองในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ยังทำให้ประชาชนพิจารณาเลือกพรรคมากกว่าตัวบุคคล และทำให้การรับเงินแล้วไม่เลือกมีมากขึ้น 

ผลวิจัยยังระบุว่า การให้เงินปัจจุบันไม่ใช่ความสัมพันธ์ในลักษณะการซื้อและการขายเสียงอีกแล้ว เพราะการให้จะไม่มีการตรวจสอบควบคุมให้คนรับเงินต้องเลือกตนเอง แต่เป็นการให้ลักษณะให้เปล่าคล้ายเบี้ยเลี้ยงหรือสินน้ำใจ โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้รับเงินก็ไม่รู้สึกว่าถ้าได้รับแล้วไม่เลือกจะเป็นบาปหรือเป็นการไม่ซื่อสัตย์ โดยจำนวนเงินที่มีการจ่ายกันก็เพียง 300-500 บาท ไม่มากเหมือนสมัยก่อน ซึ่งผู้สมัครที่ยังใช้เงินก็รู้ว่าได้ผลน้อย แต่ที่ยังต้องจ่ายเพราะกลัวแพ้หรือกลัวว่าอีกฝ่ายให้เงินจึงต้องให้เงินด้วย

 

ที่มา: สำนักข่าวไทย

 

 

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "ส่องนกพ่อง"

Posted: 21 Aug 2012 03:51 AM PDT

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "ส่องนกพ่อง"

แนวทางการช่วยเหลือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ

Posted: 21 Aug 2012 03:31 AM PDT

                ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเกิดจากปัญหาความยากจน และอื่น ๆ เพื่อสวัสดิภาพของทุกฝ่าย จึงควรให้การช่วยเหลือตั้งแต่การจัดหาที่พักพิงแบบเช่าหรือแบบให้เปล่าชั่วคราว การเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคม แต่ทั้งนี้ทำได้ยากเพราะงบประมาณของรัฐในด้านสังคมมีจำกัดเพียง 0.44% ของงบประมาณแผ่นดิน ต่ำกว่างบประมาณด้านการทหารถึง 17 เท่าตัว

                เมื่อวันอังคารที่ 21 สิงหาคม 2555 ผมในฐานะประธานมูลนิธิอิสรชน (http://www.facebook.com/issarachonfoundation) ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ให้การช่วยเหลือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ได้รับเชิญจากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ไปเป็นวิทยากรในการสัมมนา “คนเร่ร่อน ไร้ที่พึ่ง เครือข่ายคำทำงาน เรียนรู้ รุกและรับเพื่อสร้างความเป็นธรรมและเตรียมความพร้อมบุคลากรก่อนเปิดประตูสู่ประชาคมอาเซียน” ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพมหานคร

                จากการสำรวจข้อมูลของมูลนิธิอิสรชนพบว่า ในปี 2554 มีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะประมาณ 2,600 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ประมาณ 8%  แต่ก็เป็นจำนวนที่ไม่มากนัก  อย่างไรก็ตามหากนับรวมขอทานซึ่งมีทั้งที่เป็นขอทานเดี่ยว สัญชาติไทย และขอทานที่เป็นกระบวนการค้ามนุษย์ทั้งไทยและเทศ ก็คงมีอีกเป็นจำนวนมาก  แต่ไม่ได้อยู่ในการสำรวจรอบนี้

                ในต่างประเทศพบว่า กรณีนครนิวยอร์ก มีประชากรผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ณ เดือนมิถุนายน 2555 อยู่ถึง 44,402 คน หรือประมาณ 0.5% ของประชากรนิวยอร์ก (ทุก ๆ 1 ใน 200 คนของชาวนิวยอร์ก เป็นผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ) [1]  ส่วนอินเดีย มีประชากรผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะถึง 78 ล้านคน หรือราว 7% ของประชากรในประเทศดังกล่าว [2]  อาจกล่าวได้ว่า ประเทศที่เจริญทางเศรษฐกิจกว่ามักมีจำนวนประชากรผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะน้อยกว่า

                การเกิดขึ้นของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะก็เพราะบุคคลเหล่านี้ไม่สามารถอยู่อาศัยในระบบบ้านปกติ เช่น บ้านจัดสรร บ้านเช่า บ้านพักคนงานในรูปแบบต่าง ๆ ด้วยฐานะที่ยากจนลง ไร้ที่พึ่ง ต่อต้านสังคม วิกลจริต หรืออื่น ๆ ทำให้ต้องมาเป็นผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ  ซึ่งอาจแยกย่อยเป็นกลุ่มผู้ไร้บ้าน (ควรมีบ้านได้แต่ฐานะยากจนเกินกว่าจะมีบ้านได้หรือเช่าบ้านได้) เยาวชน ผู้ให้บริการทางเพศ คนวิกลจริต หรือผู้ย้ายถิ่นทั้งที่ชั่วคราวหรือ (กึ่ง) ถาวร เป็นต้น

                การดำรงอยู่ของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะถือเป็นปัญหาที่กระทบต่อสวัสดิภาพของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะและบุคคลอื่น  รัฐบาลจึงควรมีมาตรการที่พึงให้ความช่วยเหลือ เช่น

                1. การบำบัดต่าง ๆ โดยเฉพาะความหิวโหย ซึ่งถือเป็นการบรรเทาทุกข์เฉพาะหน้า

                2. การให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลของรัฐ แต่ที่ผ่านมาหลายคนไม่มีบัตรประชาชนเพราะหายไป หรือร่างกายไม่สะอาด ได้รับการรังเกียจจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

                3. การจัดที่อยู่อาศัยฉุกเฉินให้โดยไม่คิดมูลค่าเป็นการชั่วคราวโดยเฉพาะผู้ที่ควรได้รับการบำบัดเป็นพิเศษเมื่อพบเห็น

                4. การมีที่พักอาศัย เป็นเตนท์ หรือเตียงขนาดเล็กให้เช่าหลับนอนราคาถูก โดยตั้งอยู่ใกล้ ๆ เป็นการชั่วคราว และให้อยู่ในระยะเวลาที่สั้นที่สุดจนกว่าจะเข้าสู่สังคมปกติได้ โดยอาจเช่าที่วัด ราชพัสดุ เอกชน หรือขอรับการบริจาคจากเอกชน เพื่อสวัสดิภาพในการอยู่อาศัยยามค่ำคืน  สถานที่ตั้งต้องเป็นในเขตเมือง ไม่ใช่ออกไปชานเมือง เพราะคงไม่มีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะสามารถเดินทางไปพักผ่อนในยามค่ำคืนได้

                5. สำหรับผู้ที่ไม่มีรายได้ ไม่มีอาชีพแต่จำเป็นต้องอยู่อาศัยในที่พักอาศัยให้เช่าข้างต้น ก็ควรมีบริการงานให้ทำเพื่อให้เกิดรายได้ เช่น งานทำความสะอาดสถานที่สาธารณะ งานฝีมือ ฯลฯ เพื่อเป็นค่าที่อยู่อาศัยในยามค่ำคืน

                6. การฝึกอาชีพ สำหรับบุคคลปกติแต่ขาดรายได้ โดยไม่เพียงแต่สอนให้มีทักษะอาชีพ แต่ยังควรสอนให้เป็นผู้ประกอผู้ประกอบการที่ดี หรือเป็นลูกจ้างที่ดีในอนาคตด้วยเช่นกัน

                7. ในกรณีบุคคลที่ไม่ได้ต้องการมีบ้านเป็นของตนเอง แต่เป็นกลุ่มเยาวชน ผู้ให้บริการทางเพศ คนวิกลจริต ฯลฯ ต้องส่งสถานสงเคราะห์ให้การรักษาจนกว่าจะกลับเข้าสู่สังคมได้ตามปกติสุข

                8. การจัดหน่วย ‘ลาดตระเวน’ เพื่อตรวจสอบ ป้องปรามอาชญากรรมในยามค่ำคืนตามย่านชุมชนและสถานีขนส่งประเภทต่าง ๆ

                9. การสร้างฐานข้อมูลผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะโดยออกสำรวจตามย่านชุมชนทั่ว กทม.และปริมณฑล โดยในกรณีนครนิวยอร์ก ได้ระดมอาสาสมัครออกสำรวจในยามค่ำคืนหนึ่งพร้อม ๆ กัน เพื่อให้ได้ข้อมูลผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะอย่างครบถ้วน และยังมีการสำรวจถึงจำนวนและสถานที่สาธารณะที่พักอาศัยต่อเนื่องทุกเดือนจนสามารถรู้จักผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะทุกราย

                อย่างไรก็ตามโอกาสในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ข้างต้นอาจจำกัด เนื่องจากงบประมาณของประเทศมีจำกัด ในปีงบประมาณ พ.ศ.2556 ที่กำลังพิจารณาอยู่นี้ งบประมาณของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นเพียง 0.44% ของงบประมาณแผ่นดิน หรือเป็นเงิน 10,516.7 ล้านบาท (เป็นของกรมสวัสดิการสังคมเพียง 6,000 ล้านบาท)  และหากเทียบกับงบประมาณของกระทรวงกลาโหมที่ 180,811.4 ล้าน บาท (7.5% ของงบประมาณแผ่นดิน) นั้น กลับสูงกว่างบประมาณของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ถึง 17 เท่าตัว [3]

                ด้วยงบประมาณที่จำกัดนี้ จึงทำให้สถานสงเคราะห์ มีอยู่อย่างจำกัดมาชั่วนาตาปี  โอกาสขยายจึงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่สามารถรองรับความต้องการจำเป็นในการดูแลสวัสดิภาพของประชาชน ไม่สามารถทำงานเชิงรุกเพื่อการป้องปราม  รัฐจัดสวัสดิการสังคมผ่านกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แต่เพียงในนาม เพราะเจียดงบประมาณให้น้อยมากนั่นเอง

                การช่วยเหลือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะก็เป็นไปตามหลักมนุษยธรรม และเพื่อสวัสดิภาพและความสงบสุขในสังคมของทุกภาคส่วน  บุคคลที่สนใจสามารถติดต่อให้การสนับสนุนมูลนิธิได้ตามเว็บไซต์นี้ http://www.facebook.com/issarachonfoundation หรือติดต่อที่ผมก็ได้ sopon@thaiappraisal.org

 

 

อ้างอิง    

[1] โปรดดูรายละเอียดที่ http://www.coalitionforthehomeless.org/pages/basic-facts

[2] โปรดดูรายละเอียดที่ http://www.slumdogs.org/homeless-facts/

[3] โปรดดูรายละเอียดที่http://www.bb.go.th/FILEROOM/CABBBIWEBFORM/DRAWER29/GENERAL/DATA0000/00000120.PDF

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กก.ปฏิรูปกฎหมาย ชงความเห็น "ร่าง พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมายฯ"

Posted: 21 Aug 2012 03:17 AM PDT

ประธาน คปก.ลงนามบันทึกความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายฯ เสนอนายกฯ-ปธ.สภา-วิปรัฐบาลฝ่ายค้าน ประกอบการพิจารณาวาระ 2-3 แนะยกเลิกผู้ริเริ่มเสนอกฎหมาย ให้ประชาชนมีสิทธิเสนอ กกต. “ไพโรจน์ พลเพชร” เผย กมธ.วิฯ เมินฉบับภาคประชาชน

 
 
วันนี้ (21 ส.ค.55) นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเรื่อง ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. ... เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ประธานวิปรัฐบาล และประธานวิปฝ่ายค้าน เพื่อนำความเห็นและข้อเสนอแนะดังกล่าวประกอบการพิจารณาในวาระ 2 และวาระ 3 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประกอบการพิจารณารับหลักการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. ... รวมทั้งการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภา ซึ่งจะมีการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 22 ส.ค.นี้
 
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมีความเห็นที่สำคัญหลายประเด็น คือไม่ควรกำหนดให้มีผู้ริเริ่มจำนวน 20 คน เป็นผู้ริเริ่มเสนอกฎหมาย เพื่อเสนอให้ประธานรัฐสภาตรวจสอบร่างพระราชบัญญัติว่ามีหลักการเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนหรือแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ  เนื่องจากตามมาตรา 6 กำหนดให้มีผู้ริเริ่มจำนวน 20 คน ทำหน้าที่ในการพัฒนาร่างพระราชบัญญัติจนเป็นร่างกฎหมายที่สมบูรณ์แล้ว หรือหากจะแก้ไขร่างกฎหมายที่เสนอต้องดำเนินการก่อนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายเท่านั้น ดังนั้นกระบวนการและขั้นตอนดังกล่าวจึงเป็นการตัดตอนและลดทอนกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งร่วมลงชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติรายอื่นๆ ซึ่งควรมีโอกาสเข้าร่วมในการพัฒนากฎหมายตั้งแต่เริ่มต้นอย่างกว้างขวางมากที่สุด
 
ขณะที่ประเด็นการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คปก.มีความเห็นว่า ประชาชนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายควรมีสิทธิเสนอให้ กกต.ดำเนินการจัดให้มีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายดังเช่นที่เคยบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2542 เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. ... เป็นร่างกฎหมายที่มีเจตนารมณ์ในการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ดังนั้นจึงควรเปิดช่องทาง และทางเลือกในทุกช่องทางที่เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน
 
นอกจากนี้ คปก.ยังเห็นว่าในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชนนั้น มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจำนวนมาก ทั้งในการรณรงค์ เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนั้น ค่าใช้จ่ายในการจัดทำเอกสารต่างๆ ควรกำหนดให้กองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง ซึ่งมีเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญเพื่อช่วยเหลือการดำเนินกิจกรรมสาธารณะของชุมชน รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินการของกลุ่มประชาชนที่รวมตัวกันในลักษณะเครือข่ายทุกรูปแบบให้สามารถแสดงความคิดเห็นและเสนอความต้องการของชุมชนในพื้นที่ เพื่อเป็นกองทุนสำหรับสนับสนุนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนด้วย แม้ว่าการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการวิสามัญฯ จะมีความเห็นว่าไม่จำเป็นต้องกำหนดกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองสำหรับการดำเนินการเข้าชื่อเสนอกฎหมายก็ตาม
 
นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) เปิดเผยว่า ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. ... เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยการวางหลักเกณฑ์และวิธีการเข้าชื่อของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติหรือเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ดังนั้นร่างกฎหมายดังกล่าวจึงมีความสำคัญอย่างมากในแง่ของการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมในทางการเมืองโดยตรงของประชาชน โดยที่ผ่านมาประชาชนมีความตื่นตัวต่อร่างกฎหมายดังกล่าวค่อนข้างสูง มีภาคประชาชนได้ร่วมลงชื่อ 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายฉบับประชาชน จำนวน 2 ฉบับ
 
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการวิสามัญ กลับไม่ได้นำสาระสำคัญในร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายฉบับที่ภาคประชาชนเสนอบรรจุไว้ในร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณา ทั้งยังมีบทบัญญัติบางมาตราอาจเป็นอุปสรรคและไม่เอื้อต่อการส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชน เช่น  ประเด็นการกำหนดให้มีผู้ริเริ่มในการเสนอกฎหมายจำนวน 20 คน การตัดบทบาทของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง ออกจากการเป็นองค์กรสนับสนุนการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
 
“นอกจากนี้ยังกำหนดโทษทางอาญาสำหรับผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมีความเห็นว่า เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน การกำหนดโทษทางอาญาไว้ในร่างกฎหมายฉบับนี้อาจทำให้เกิดความไม่มั่นใจในการใช้สิทธิเสนอกฎหมายของประชาชน” นายไพโรจน์ กล่าว
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนา: สิทธิการชุมนุมของกรรมกร กรณีคนงานไทรอัมพ์ฯ

Posted: 21 Aug 2012 02:23 AM PDT

นักวิชาการแจงหลักกฎหมายสิทธิในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ นักกฎหมายสิทธิฯ ชี้ไทยเข้าเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศฯ ซึ่งคุ้มครองสิทธิการชุมนุมแล้ว แม้ยังไม่มีกฎหมายรองรับ แต่รัฐซึ่งหมายรวมถึงศาลต้องปฏิบัติตาม ขณะผู้นำแรงงานสงสัยทำไมตั้งข้อหาแค่สามคน ทั้งที่ไปเป็นร้อยๆ

 

(19 ส.ค.55) ในการเสวนา เรื่อง “สิทธิการชุมนุมของกรรมกรต่อกรณีคนงานไทรอัมพ์ฯ” จัดโดยเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิ ร่วมกับสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย กลุ่มคนงาน Try Arm และกลุ่มประกายไฟ ณ ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ร่วมเสวนาโดยจิตรา คชเดช เจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ และผู้ต้องหาในคดี ศราวุฒิ ประทุมราช นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงาน ทั้งนี้ ผู้จัดแจ้งว่าได้ติดต่อกระทรวงแรงงานแล้ว แต่อธิบดีและผู้อำนวยการแรงงานสัมพันธ์ติดราชการต่างประเทศจึงไม่สามารถมาร่วมได้

จิตรา คชเดช เจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ และผู้ต้องหาในคดีฝ่าฝืนมาตรา 215-216 ประมวลกฎหมายอาญา เล่าที่มาของคดีดังกล่าวว่า สืบเนื่องจากการเลิกจ้างพนักงานขนานใหญ่ของบริษัทบอดี้แฟชั่น ประเทศไทย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายชุดชั้นในไทรอัมพ์ ในวันที่ 27 มิ.ย.52 ซึ่งสหภาพแรงงานมองว่าขัดต่อสภาพการจ้างที่ตกลงกันไว้ว่าถ้าจะมีการเลิกจ้างจำนวนมาก ต้องแจ้งล่วงหน้า 60 วัน และจ่ายค่าชดเชยมากกว่ากฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตาม บริษัทได้แจ้งว่าประกาศเลิกจ้างจะมีผลในวันที่ 27 ส.ค. ซึ่งเข้าข่ายแจ้งล่วงหน้า 60 วันแล้ว รวมถึงขอให้คนงานไม่ต้องมาทำงานในช่วงดังกล่าว แต่จะได้รับค่าจ้างจน 27 ส.ค. ส่วนเรื่องการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายนั้น บริษัทระบุเพียงว่าไม่เข้าข่าย

จิตรา เล่าต่อว่า จากนั้น สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ เดินทางไปชุมนุมยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหา ให้มีการรับคนงานกลับเข้าทำงานและปฏิบัติตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล บีโอไอ ซึ่งอนุมัติเงินลงทุนให้บริษัท สถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทตั้งอยู่ ฯลฯ จนวันที่ 27 ส.ค. ซึ่งเป็นวันที่การเลิกจ้างจะมีผล จึงได้เดินทางไปทวงถามความคืบหน้าจากรัฐบาลอีกครั้ง โดยยืนยันว่าไม่ได้มีวาระทางการเมืองใดๆ แต่ดูเหมือนรัฐบาลมองว่าเป็นเรื่องเกี่ยวโยงกับกลุ่มเสื้อแดงซึ่งจะชุมนุมในวันที่ 30 ส.ค.ในขณะนั้น

อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ เล่าว่า โดยวันดังกล่าว เมื่อไปถึงทำเนียบรัฐบาล ไม่มีใครมารับหนังสือจึงเดินทางต่อไปที่รัฐสภา ซึ่งได้รับการอำนวยความสะดวกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในการเดินทาง พอไปถึงหน้ารัฐสภา ได้รับแจ้งว่านายกฯ (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ไม่ออกมารับหนังสือ และจากการประสานงาน ท้ายที่สุด ได้เข้าพูดคุยกับประธานวิปฝ่ายค้านและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งรับปากว่าจะแก้ปัญหา จากนั้นจึงได้เดินทางกลับ

จิตรา เล่าว่า ขณะที่อยู่ที่หน้ารัฐสภานั้น คนงานเห็นเครื่อง LRAD (Long Range Acoustic Device) ตั้งอยู่ใกล้รั้ว แต่ไม่รู้ว่าคือเครื่องอะไร ยังนึกกันว่าเป็นเครื่องถ่ายทอดสด และเมื่อมีการใช้เครื่องดังกล่าว ก็ยังเข้าใจกันว่าเป็นเสียงไมค์หอนด้วยซ้ำ เพราะเครื่องดังกล่าวส่งเสียงดังรบกวนจนทำให้การสื่อสารระหว่างกันไม่รู้เรื่อง จนคนงานต้องตะโกนร้องเพลงตอบโต้ ทั้งนี้ ภายหลังเพิ่งรู้ว่าเครื่องดังกล่าวคือ LRAD ที่ใช้กันในสงครามอิรัก ใช้กับโจรสลัดโซมาเลีย หรือศัตรูระยะไกลที่มองไม่เห็นตัว เพื่อทำให้ศัตรูวิ่งออกจากที่ซ่อน

จิตรา กล่าวว่า ผลจากวันนั้น มีคนงานที่หูชั้นกลางอักเสบ รวมถึงร่างกายอ่อนเพลียต้องพักหลายวัน ขณะที่ตนเองและเพื่อนคนงานอีก 2 คนถูกออกหมายจับ ด้วยข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย หรือทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก และ พ.ร.บ.จราจร โดยมี พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ และสุดา รังกุพันธุ์ อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนายประกัน ต่อมา อัยกาารสั่งฟ้องด้วยข้อหามั่วสุมเกินสิบคน สั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ส่วน พ.ร.บ.จราจร นั้นหมดอายุความ จึงฟ้องไม่ได้ ในชั้นนี้ได้ ส.ส.สุชาติ ลายน้ำเงิน ใช้ตำแหน่งประกันตัวให้วงเงินคนละ 200,000 บาท โดยจะมีการนัดสืบพยานที่ศาลอาญา ในวันที่ 23-24 และ 28-30 ส.ค.นี้

จิตรา กล่าวด้วยว่า ยังเชื่อมั่นในสิทธิการชุมนุม และยืนยันว่าวันดังกล่าวไม่มีการก่อความวุ่นวาย พร้อมตั้งคำถามด้วยว่าอะไรคือความวุ่นวายที่หมายถึง

 

มาตรา 215 ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ บรรดาผู้ที่กระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัว หน้า หรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 216 เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกไป ผู้ใดไม่เลิก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


สิทธิการชุมนุมในบริบทสากลและปัญหาการตีความ

ศราวุฒิ ประทุมราช นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า เสรีภาพในการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ ถูกรับรองอยู่แล้วในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่งและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ข้อ 21 และไทยก็เข้าภาคีของกติกาฉบับนี้ อย่างไรก็ตาม กรณีประเทศไทย เมื่อมีการรับรองกฎหมายระหว่างประเทศแล้วไม่สามารถอนุวัตใช้กับกฎหมายภายในได้ทันที แต่ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติก่อน ขณะที่ในกฎหมายระหว่างประเทศระบุว่า หลังเข้าเป็นภาคี รัฐนั้นๆ ต้องทำให้กฎหมายของตัวเองสอดคล้องกับกติกาดังกล่าว ซึ่งส่วนตัว เขามองว่ารัฐในที่นี้หมายรวมถึงอำนาจทั้งสามส่วน คือ ตุลาการ บริหาร และนิติบัญญัติ

ศราวุฒิ กล่าวว่า การชุมนุมเป็นเสรีภาพในการแสดงความเห็น เพื่อทำให้เห็นถึงความเดือดร้อนของผู้ชุมนุม และให้รัฐบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ควรต้องใช้กฎหมายอาญามาจัดการ โดยควรดูเจตนาและองค์ประกอบต่างๆ ด้วย ทั้งนี้ เขามองว่า กฎหมายอาญา มาตรา 215 นั้น เป็นเรื่องของการรวมตัวกันเพื่อทำผิดกฎหมาย ก่อความไม่สงบ เปลี่ยนแปลงการปกครอง หรืออั้งยี่ มากกว่า

เขาชี้ว่า ที่ผ่านมา การชุมนุมตั้งแต่ 14 ต.ค.16 พ.ค.35 พ.ค.53 หรือการชุมนุมเรื่องราคาพืชผลต่างๆ แม้จะอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่รัฐก็มักอ้างเหตุการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ เพื่อสลายการชุมนุม นั่นเพราะเรายังไม่มีกฎหมายการชุมนุม อย่างไรก็ตาม ย้ำว่า หากจะมีกฎหมายการชุมนุมจะต้องมีเพื่อส่งเสริมการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ

เขามองว่าชุมนุมป็นการแสดงสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง เช่น การจุดเทียนเพื่อบอกว่ามีความมืดในการใช้เสรีภาพหรือระลึกผู้เสียชีวิต การนอนกีดขวางเส้นทาง แต่สิ่งเหล่านี้เป็นการกระทำชั่วคราวแล้วเลิก บอกให้รัฐรู้ว่ากำลังละเมิดสิทธิเสรีภาพ อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐไม่ออกมารับหนังสือ คนงานที่อยากแสดงความรู้สึกเดือดร้อน บางครั้งก็เลือกปิดถนน

เขาตั้งคำถามว่า ความเดือดร้อนจากการปิดถนนกับการถูกเลิกจ้าง จะจัดความสัมพันธ์กันอย่างไร ทั้งนี้ เขาเห็นว่า ผู้ใช้รถใช้ถนนต้องสละเสรีภาพของตัวเองชั่วคราวเพื่อให้ผู้ที่เดือดร้อนได้ใช้เสรีภาพในการเรียกร้องให้รัฐมาแก้ไขปัญหา ดีกว่ามาบอกว่าเมื่อปิดถนนทุกครั้งต้องสลายการชุมนุม

 

 

การชุมนุม 101
จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กรณีคดีของจิตราและเพื่อนคนงาน ถ้ากระบวนการยุติธรรมเป็นธรรมต้องไม่เป็นคดีแต่แรก เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ควรดำเนินคดี และพนักงานอัยการไม่ควรสั่งฟ้องเลยด้วยซ้ำ

จันทจิรา กล่าวว่า เสรีภาพในการชุมนุมเป็นเสรีภาพระดับรัฐธรรมนูญ และเป็นเสรีภาพที่สอดคล้องกับเสรีภาพในการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน การนัดหยุดงาน การชุมนุมเพื่อต่อรองกับนายจ้าง ดังนั้น จะต้องผูกพันทุกองค์กรของรัฐ รวมทั้งศาลด้วย ตามมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญ (สิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองโดยชัดแจ้งย่อมได้รับความคุ้มครองผูกพันรัฐสภา รัฐมนตรี ศาล และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ) เราสามารถกล่าวอ้างสิทธินี้ต่อศาล ต่อรัฐสภา ต่อกระทรวง ทบวง กรม ทั้งหมดได้

ทั้งนี้ มาตรา 63 วรรคแรก ระบุว่า การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย คำว่า "โดยสงบ" นั้นไม่ได้หมายถึง พับเพียบเรียบร้อย อยู่นิ่งๆ ไม่มีกิจกรรม แต่คำว่า "โดยสงบ" หมายความรวมถึงการใช้เครื่องเสียง ซึ่งบางทีอาจเป็นการก่อกวน เดือดร้อน รำคาญ หรือการเดินบนถนนทางเท้า จะเห็นว่ารบกวนทั้งสิ้น แต่อยู่ในข่ายที่รัฐธรรมนูญยังให้การรับรอง ถ้าใช้เสรีภาพอย่างสุจริต

จันทจิรายกตัวอย่างว่า ผู้ชุมนุมมากัน 200 คน ก็ต้องแบ่งพื้นที่ให้รถใช้ส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ ต้องแปรตามสภาพข้อเท็จจริง เช่น ถ้ามากันเป็นแสน ตำรวจก็ต้องปิดถนน จัดการจราจรเลี่ยงเส้นทางชุมนุม เป็นต้น "โดยสงบ" จึงไม่ใช่ไม่รบกวน หรือก่อความรำคาญเลย แต่ต้องเป็นไปอย่างได้สัดส่วน ดูตามสภาพข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆ ไป

นอกจากนี้ คำว่าโดยสงบ ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่ไปหน้าทำเนียบ หรือ หน้ารัฐสภา ถ้าเรื่องที่ต้องชุมนุมต้องเจรจากับผู้ออกกฎหมาย สถานที่ชุมนุมก็ต้องเป็นหน้ารัฐสภา ดังนั้นการดูว่าการชุมนุมเป็นไปโดยสงบหรือไม่ต้องดูเรื่องวัตถุประสงค์ ข้อเรียกร้องของการชุมนุม ต่อสถานที่และเวลาในการชุมนุม แม้ว่าจะรบกวนบุคคลที่ไม่ได้เห็นพ้องกับการชุมนุมก็ตาม

ส่วน "ปราศจากอาวุธ" นั้น จันทจิรา กล่าวว่า การชุมนุมสมัยใหม่ ที่ต้องการเรียกร้องความสนใจจากสังคมและสื่อ ก็ต้องมีอุปกรณ์ ริ้ว ธง รถ ประกอบ หากอธิบายได้ว่า ใช้ในการชุมนุม ก็เป็นการใช้เสรีภาพโดยสุจริต โดยยกตัวอย่างคดีที่จะนะ ตำรวจฟ้องว่า ชาวบ้านไม่ได้ปราศจากอาวุธ มีด้ามธงไม้ไผ่เหลาปลายแหลมจำนวนมาก ชาวบ้านพกมีดสปาร์ต้า ตะกั่วถ่วงอวนปลา กรรไกร มีดพก ซึ่งศาลปกครอง ระบุว่า อาวุธมีสองประเภทคือ อาวุธโดยสภาพ หมายถึงมองแล้วรู้ว่าเป็นอาวุธ เช่น ปืน มีด และสิ่งที่ไม่ใช่อาวุธโดยสภาพ แต่กรณีนี้เมื่อเจ้าหน้าที่ใช้กำลังสลายการชุมนุม ชาวบ้านจึงใช้สิ่งใกล้มือเพื่อป้องกันตัว การชุมนุมดังกล่าวจึงถือเป็นการชุมนุมที่ปราศจากอาวุธ

จันทจิรา กล่าวว่า ในกฎหมายของต่างประเทศ รัฐอาจจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมได้ เมื่อชุมนุมในที่สาธารณะ หมายถึง ที่เปิดโล่ง ไม่มีกำแพง รั้วหลังคา เช่น สี่แยก ถนน ลานกว้าง ทางพิเศษ เวลาวิกาล โดยเฉพาะต่อเนื่องหลายวันหลายคืน และมีลักษณะการชุมนุม ที่ยุยงให้ใช้กำลัง ก่อจลาจล หรือฝ่าฝืนกฎหมาย อย่างไรก็ตาม กรณีประเทศไทย หากรัฐจะจำกัดเสรีภาพ ต้องเสนอต่อรัฐสภา เพื่อออกกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ ทั้งนี้การจำกัดเสรีภาพดังกล่าว ต้องเป็นไปเพื่อให้บุคคลที่สามมีโอกาสใช้พื้นที่ สาธารณะร่วมด้วย

จันทจิรา แสดงความเห็นต่อคดีที่ฟ้องคนงานไทรอัมพ์ฯ ว่า โดยหลักทั่วไป การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธนั้นไม่ต้องขออนุญาต มาตรา 108 ของ พ.ร.บ.การจราจรทางบก ที่กล่าวว่าต้องขออนุญาตพนักงานจราจรก่อน ต้องหลีกทางให้กับเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ การแจ้งให้พนักงานจราจรทราบ ควรเป็นไปเพื่อให้เจ้าหน้าที่มีโอกาสอำนวยความสะดวกเท่านั้น เพื่อเป็นการแบ่งใช้พื้นที่สาธารณะและสร้างสมดุลระหว่างสิทธิเสรีภาพของผู้ชุมนุมกับผู้ใช้ถนน และแม้ว่า ไม่ได้แจ้งเพราะเป็นการจัดการชุมนุมโดยเร่งด่วน ในกฎหมายยังระบุว่า กรณีที่มีเหตุผลอันสมควร รัฐธรรมนูญยังคุ้มครองเสรีภาพให้เป็นการชุมนุมที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถออกคำสั่งให้ปฏิบัติตามในการแบ่งพื้นที่ได้

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ กล่าวว่า ประมวลอาญา 215 และ 216 เป็นกฎหมายอาญายอดฮิตที่พนักงานตำรวจมักตั้งข้อหากับผู้ชุมนุมในปัญหาปากท้อง หากเป็นการชุมนุมทางการเมืองก็จะพ่วงมาตรา 116 ว่าด้วยกบฏในราชอาณาจักรมาด้วย อย่างไรก็ตาม มาตรา 215 และ 216 จะเป็นความผิดเมื่อการชุมนุมนั้นมีวัตถุประสงค์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น รวมตัวกันเพื่อปล้น เผา ก่อความวุ่นวาย ขณะที่การชุมนุมไม่ว่าจะเรียกร้องทางการเมืองให้ยุบสภา ไม่ให้ออกกฎหมาย หรือแก้ปัญหาปากท้อง เป็นการชุมนุมที่มีวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เข้าลักษณะข่ายมั่วสุม

ส่วนการใช้เครื่องมือก่อกวนขัดขวางการชุมนุมอย่าง LRAD นั้น จันทจิรากล่าวว่า ในหลักสากล เมื่อประชาชนใช้เสรีภาพในรัฐธรรมนูญ ในทางตรงกันข้าม รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมหรืออำนวยความสะดวก หรืออย่างน้อยไม่ขัดขวางการใช้เสรีภาพของประชาชน กรณีนี้ เจ้าหน้าที่บอกว่าใช้เป็นลำโพง แต่ไม่แจ้ง ก่อให้เกิดการข่มขวัญ กดดันผู้ชุมนุม อาจเข้าข่ายขัดขวางการใช้เสรีภาพโดยสงบของประชาชน ซึ่งในกฎหมายต่างประเทศ ถือเป็นโทษทางอาญา

จันทจิราเรียกร้องว่า ถึงเวลาแล้วที่จะมีกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การใช้เสรีภาพให้ชัดเจน ให้เจ้าหน้าที่รัฐรู้ว่าทำอะไรได้ไม่ได้ ขณะที่คนงานเองควรทำงานในเชิงรุก โดยใช้กลไกขององค์กรต่างๆ เช่น ผลักดันให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เสนอรายงานเชิงนโยบายต่อรัฐบาลเรื่องการใช้เสรีภาพในการชุมนุม ให้ตำรวจไม่ตั้งข้อหามาตรา 215-216 หรือออกหมายจับโดยง่าย เพราะหลายครั้งเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมักอ้างว่าอยู่นอกเหนืออำนาจของตนเองแล้ว

ต่อข้อเสนอดังกล่าว จิตราให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรณีที่คนงานไทรอัมพ์เคยไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรื่องการเลิกจ้าง ทำลายสหภาพฯ และการใช้เครื่อง LRAD ของเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อปี 52 เมื่อ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา รายงานออกมาแล้ว โดยเชื่อตามเจ้าหน้าที่ตำรวจที่บอกว่าไม่ได้ใช้เครื่องดังกล่าว ทั้งที่ฝ่ายคนงานมีหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอชัดเจน


สงสัยไปเป็นร้อยๆ ทำไมตั้งข้อหาแค่สามคน

ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า คนงานที่จะเรียกร้องสิทธิของตัวเองต้องเกาะกลุ่มกัน แต่นายจ้างอาจจะไม่ให้ตามข้อเรียกร้อง การชุมนุมจึงถือเป็นอาวุธหนึ่งของคนงานในการสร้างอำนาจต่อรอง โดยเมื่อ 30 ปีก่อน การชุมนุมจะอยู่ในบริเวณสถานประกอบการ พอชุมนุมก็ปิดโรงงานไม่ให้นายจ้างเข้าไปได้ ส่วนคนงานก็มีน้ำ-ไฟใช้ มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ทำให้คนงานมีพลังและมีอำนาจต่อรองมาก ต่อมาในช่วงประมาณปี 2520 เมื่อมีการชุมนุมมากๆ เข้า นายจ้างก็ตอบโต้ด้วยการใช้กฎหมาย ใช้พนักงานรักษาความปลอดภัย รวมถึงตำรวจ มาไล่คนงานออกจากโรงงาน ทำให้คนงานกำลังต่อสู้ถดถอย เพราะการชุมนุมอยู่ตามท้องถนนหรือหน้าบริษัท มีค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเต๊นท์

ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวต่อว่า ในช่วงหลัง ขบวนการแรงงานเปลี่ยนรูปแบบโดยออกไปหาผู้บริหารประเทศ หรือไปตามจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ เช่น กระทรวงแรงงาน ทำเนียบ รัฐสภา ลานพระบรมรูปทรงม้า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ให้สังคมเห็น ให้สื่อมาทำข่าว เพื่อสะท้อนปัญหาออกไป ทั้งนี้ ยืนยันว่า การชุมนุมของคนงานนั้นไม่ได้ต้องการสร้างความเดือดร้อน แต่เพราะไม่ได้รับการเหลียวแล จึงต้องมาเรียกร้องกับผู้มีอำนาจ แต่เมื่อไปเป็นจำนวนมาก รถก็อาจจะติด ทำให้เดินทางไม่สะดวก อย่างไรก็ตาม ย้ำว่าไม่เคยทำลายทรัพย์สินราชการ

ชาลี กล่าวต่อว่า ถ้าชุมนุมแล้วรถติด เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ควรเข้ามาดูแล ไม่ใช่ใช้เครื่องมือ LRAD อย่างไรก็ตาม มองว่า กรณีที่มีการใช้กับสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ นั้นเป็นการทดลองเครื่องมือใหม่ ไม่ใช่เพื่อป้องปราม ทั้งนี้ การปราบปรามผู้ชุมนุมต้องมีขั้นตอน มีการเตือนก่อน ไม่ใช่ใช้ทันที อย่างกรณีไทรอัมพ์ ชุมนุมอยู่เพียง 2-3 ชั่วโมงเท่านั้นก็ใช้เครื่องดังกล่าวเลย ในวันดังกล่าว ตนเองก็ร่วมชุมนุมอยู่ด้วย ยืนยันว่าไม่ได้ทำทรัพย์สินราชการเสียหาย หรือทำให้ประชาชนเดือดร้อน เพราะมีการเปิดเส้นทางให้สัญจรได้

ทั้งนี้ เขากล่าวด้วยว่า ลูกจ้างมาชุมนุมด้วยเจตนาบริสุทธิ์ เพื่อเรียกร้องสิทธิของตัวเอง ไม่ได้จะทำให้ประเทศเสียชื่อเสียง หรือทำให้ปกครองกันไม่ได้ การกระทำดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าการชุมนุมดังกล่าวผิดจริง ทำไมไม่จึงแจ้งข้อหาทุกคน ทั้งที่ไปกันหลายร้อยคน ทำไมจึงมีการแจ้งข้อหาแค่สามคน

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอนดรูว์ เอ็ม. มาร์แชล: "Uneducate people" (คน "ไม่มี" การศึกษา)

Posted: 21 Aug 2012 02:19 AM PDT

ระหว่างที่กำลังเกิดความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศไทย เพื่อนนักข่าวรอยเตอร์ของผมคนหนึ่งได้เก็บภาพที่น่าขบขันและเศร้าไปพร้อมๆกันภาพหนึ่งเอาไว้ได้ในวันที่ 22 เมษายน เป็นภาพของกลุ่มผู้ชุมนุมที่มาจากกลุ่มที่เรียกกันว่า “กลุ่มคนเสื้อหลากสี” ที่กำลังแสดงความไม่พอใจกลุ่มผู้ชุมุนุม “เสื้อแดง” ที่ปักหลักอยู่อีกฟากหนึ่งของถนน


ที่มาภาพ: Vivek Prakash/REUTERS

ชายในกลุ่มผู้ชุมนุมคนหนึ่งได้ชูป้ายที่เขียนขึ้นอย่างบรรจงด้วยปากกาหมึกสีน้ำเงินเป็นภาษาอังกฤษอย่างภาคภูมิ คาดว่าเพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านการสื่อสารแก่สื่อมวลชนต่างชาติ โดยเนื้อหาเป็นการโจมตีฝ่ายเสื้อแดง –ซึ่งส่วนใหญ่แต่ไม่ทั้งหมดเป็นประชากรคนจนในเมืองและชนบทของประเทศไทย- ว่าเป็นพวก “uneducate people”

ภาพดังกล่าวถูกมองด้วยความขบขันโดยชาวต่างชาติ เนื่องจากคำว่า "uneducate people" ไม่มีความหมายในภาษาอังกฤษ คำที่ถูกต้องควรเป็นคำว่า "uneducated people" ซึ่งแปลว่า "คนไม่มีการศึกษา" ที่ถูกหลักไวยากรณ์

ความพยายามอย่างทุลักทุเลใน การที่จะขับไล่ไสส่งประชากรรายได้ต่ำของประเทศไทยว่าเป็นพวกปัญญาอ่อนนั้น ไม่ใช่การดูถูกที่เพิ่งจะเกิดขึ้นหรือเกิดเป็นกรณีแยกเดี่ยวออกมา หากแต่เป็นหัวใจของปรัชญาของกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลชุดปัจจุบันที่นำโดยนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และเป็นศูนย์กลางของความเชื่อทางการเมืองของฝ่ายกษัตริย์นิยม (Royalists) หรืออีกชื่อคือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเสื้อเหลือง (PAD) ที่ร่วมมือกับพรรคประชาธิปัตย์ของนายอภิสิทธิ์แบบไม่ค่อยลงรอย ร่วมกันล้มรัฐบาลและทำให้อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรกลายเป็นผู้ต้องหา

ข้ออ้างของพวกเขาก็คือคนไทยนั้นยังไม่พร้อมสำหรับระบอบประชาธิปไตยโดยเฉพาะในเขตชนบท พวกเขาว่าเครือข่ายอุปถัมภ์และการโกงเลือกตั้งเป็นสิ่งที่เห็นได้ทั่วไป และคนชนบทไม่รู้อะไรมากไปกว่าการขายเสียงของตนให้กับผู้ที่ให้ราคาสูงสุด ซึ่งนี่หมายถึงฝ่ายประชานิยมและนักการเมืองที่ดีแต่พูดสามารถยึดฐานอำนาจ ผ่านทางกล่องคะแนนเสียงเลือกตั้งได้โดยการหลอกและให้สินบนแก่คนจน และก็ช่วยกันพาประเทศลงเหวโดยการทำแต่สิ่งที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ตัวเองและ พรรคพวก โดยมีค่าใช้จ่ายก็คือผลประโยชน์ของประเทศชาติ ดังนั้น ตามที่ข้ออ้างของพวกเขาได้กล่าวต่อไปคือ มันจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องให้กลุ่มชนชั้นกลางและชั้นสูงของกรุงเทพที่ เป็นผู้มีความรู้ กลุ่มตุลาการศาล อำมาตย์ ทหารยศสูง และเหนือสิ่งอื่นใด ราชวงศ์ เป็นผู้ปกป้องรักษาระบอบประชาธิปไตย และขัดขวางเมื่อจำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนที่เจริญน้อยกว่าทำสิ่งผิด พลาดที่เลวร้ายด้วยการถูกชักจูงให้ลงคะแนนให้กับคนที่ไม่เหมาะสม  ประชาธิปไตยแบบตะวันตกนั้นไม่เหมาะสมกับประเทศไทย –อย่างน้อยก็ในตอนนี้- และในขณะนี้กลุ่มชนชั้นสูงที่มีจริยธรรมและมีการศึกษา จะต้องเป็นผู้ที่ขับเคลื่อนพวกโง่เง่าเต่าตุ่นบ้านนอกด้วยการชี้นำที่แข็งแรงแต่เต็มไปด้วยกุศลธรรม

ดังที่พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้นำการปฏิวัติในปี 2549 ได้กล่าวในการสัมภาษณ์หลังการยึดอำนาจไม่นานว่า

ผมเห็นว่าประชาชนไทยยังขาดความเข้าใจที่เพียงพอเกี่ยวกับประชาธิปไตย ประชาชนจำเป็นจะต้องเข้าใจถึงสิทธิและหน้าที่ของตนเอง บางคนยังไม่รู้ถึงระเบียบวินัยเลยด้วยซ้ำ ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องทำให้ประชาชนเข้าใจถึงกฏของ ประชาธิปไตย

แต่เป็นที่น่าเสียดายสำหรับผู้ที่อยู่ เบื้องหลังของการปฏิวัติ ว่าทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามแผน นโยบายของรัฐบาลที่ได้รับการหนุนหลังจากทหารถูกเห็นทั่วกันว่าเป็นหายนะ เมื่อการเลือกตั้งได้ถูกจัดตั้งขึ้นอีกครั้งในเดือนธันวาคม ปี 2550 พวกพลังประชาชนซึ่งเป็นตัวแทนของทักษิณ ได้รับชัยชนะ มีจำนวนเก้าอี้สูงสุดในสภาและก่อตั้งรัฐบาลร่วม เพียงเพื่อผู้ที่ได้รับเลือกตามระบอบประชาธิปไตย ต้องถูกล้มอีกครั้งโดยกลุ่มชนชั้นสูงของประเทศ คราวนี้ด้วยแรงผสมผสานระหว่างอำนาจตุลาการและกฎหมู่ของกลุ่มม็อบ กลุ่มเสื้อเหลืองเข้ายึดสถานที่ราชการต่างๆ บังคับให้กลุ่มคณะบริหารที่ได้รับเลือกตั้งมาต้องไปอยู่ในออฟฟิศชั่วคราว ซึ่งทำให้การบริหารประเทศนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย นายกรัฐมนตรีนาย สมัคร สุนทรเวช ได้ถูกบังคับให้ลงจากเก้าอี้หลังจากผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้ขาดว่านายสมัครขาดคุณสมบัติในการเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากได้รับค่าจ้างจากการไปออกรายการทำอาหารทางโทรทัศน์ชื่อ “ชิมไปบ่นไป” สามเดือนต่อมาหลังจากที่กลุ่มเสื้อเหลืองได้ปิดสนามบินซึ่งส่งผลกระทบต่อ เศรษฐกิจของไทยและภาพลักษณ์ต่อต่างชาติเป็นอย่างมาก ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ตัดสินอีกครั้งให้ยุบพรรคพลังประชาชน และหลังจากการต่อรองข้อเสนอกันอย่างดุเดือดในค่ายทหาร ฝ่ายค้านก็ได้รวมหัวกันเป็นกลุ่มรัฐบาลร่วมปัจจุบันโดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

ในที่สุด รัฐบาลของประเทศไทยก็ได้มาอยู่ในมือของสมาชิกกลุ่มชนชั้นสูงที่มีความน่า เชื่อถือด้านการศึกษาสมบูรณ์แบบ อภิสิทธิ์นั้นสำเร็จการศึกษาที่มหาวิทยาลัยชนชั้นสูงของอังกฤษคือวิทยาลัยอีตันและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของเขา กรณ์ จาติกวาณิช ก็สำเร็จการศึกษาจากออกซ์ฟอร์ดเช่นเดียวกัน

แต่อย่างไรก็ตาม พวกไร้การศึกษาบ้านนอกยากจนก็ยังไม่รู้จักเรียนรู้ว่าอะไรดีสำหรับพวกเขา วิกฤติในประเทศไทยได้เกิดขึ้นอีกครั้งในเดือนมีนาคมเมื่อกลุ่มคนเสื้อแดงที่ นิยมทักษิณได้เริ่มการประท้วงรัฐบาลขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยสื่อในประเทศ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นฝ่ายสนับสนุนเกือบทั้งหมด อยู่ในอาการตกใจ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ได้ขึ้นพาดหัวว่า “รุ่งสางแห่งแดงเดือด” (Red Rage Rising) “กลุ่มคนชนบทมุ่งหน้าสู่เมืองหลวง”

กลุ่มผู้ชุมนุม ได้เข้ายึดพื้นที่ที่เป็นที่นิยมสูงสุดของกลุ่มชนชั้นสูงกระเป๋าหนัก ตั้งค่ายมีรั้วกั้นเป็นป้อมปราการตามโรงแรมและห้างสรรพสินค้าสุดหรูบริเวณ สี่แยกราชประสงค์ เมื่อทหารได้ขับไล่พวกเขาออกไปในกลางเดือนพฤษภาคม การต่อสู้ได้คร่าชีวิตพลเรือน 90 คนและบาดเจ็บนับร้อย สิ่งก่อสร้างหลายแห่งถูกวางเพลิงโดยนักวางเพลิงที่อยู่ในกลุ่มคนเสื้อแดง และเศรษฐกิจของประเทศก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักอีกครั้ง ในการตามล่าในเวลาต่อมา ผู้นำกลุ่มเสื้อแดงได้ถูกจำคุก ซึ่งตรงข้ามอย่างชัดเจนกับผู้นำกลุ่มเสื้อเหลืองยึดสนามบินที่มีอิสรภาพเต็ม รูปแบบ และ –ในกรณีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศนายกษิต ภิรมย์- เป็นถึงคนสำคัญในรัฐบาล เสียงที่ไม่พอใจได้ถูกทำให้เงียบไป ด้วยการเซนเซอร์ทุกความเห็นที่เป็นการต่อต้านรัฐบาล เว็บไซต์หลายหมื่นแห่งถูกปิดกั้น และสถานีวิทยุตามชนบทได้ถูกสั่งปิด พระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินยังถูกบังคับใช้ในหลายจังหวัดรวมถึงกรุงเทพ อันเนื่องมาจากอำนาจอันกว้างขวางของนายอภิสิทธิ์ที่จะสั่งการและทำลายล้าง ฝั่งตรงข้ามของตน

สำหรับผู้ที่สนับสนุนรัฐบาล เหตุการณ์อันน่าสลดในปี 2553 ได้ยืนยันฝันร้ายที่สุดของพวกเขาเกี่ยวกับความโง่เง่าและความหูเบาของคนส่วน ใหญ่ของประเทศ พวกเขาชี้ว่าคนเสื้อแดงทั่วไปที่เข้ายึดกรุงเทพนั้นถูกจ้างมา อย่างน้อยบางส่วนก็มาจากเงินในประเป๋าของทักษิณ นอกจากนี้ คนเสื้อแดงจนๆหลายคนยังถูกบอกอีกว่า ถ้าทักษิณกลับมา หนี้ของพวกเขาก็จะได้รับการยกเว้น และการวางเพลิงในวันที่ 19 พฤษภาคม ก็เป็นการยืนยันว่า “พวกบ้านนอก” ไร้อารยธรรมและอันตรายแค่ไหน ทำให้พวกเขายิ่งเชื่อขึ้นไปอีกว่า ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องมีรัฐบาลชนชั้นสูงที่แข็งแรงพอจะโค่นทักษิณ ป้องกันระบบศักดินาที่มีอยู่ และนำประเทศกลับสู่ความเป็นสยามเมืองยิ้มสังคมปรองดองโดยให้ทุกคนสำเหนียกว่าตนอยู่ระดับไหนของสังคม

แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่ากลุ่มผู้สนับสนุนจนๆของทักษิณนั้น ขาดความเข้าใจและง่ายที่จะติดสินบนให้เลือกผู้นำที่จะไม่นำประโยชน์ใดๆมาให้เลย แอนดรูว วอล์คเกอร์ แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ผู้ซึ่งเป็นคนทำบล็อค New Mandala กับ นิโคลัส ฟาเรลลี่ ได้เขียนบทความวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับการลงคะแนนในชนบทไว้ว่า

นักวิจารณ์การเมืองหลายคนได้ยินยันว่าประชากรไทยนั้น โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรชนบท ขาดคุณลักษณะขั้นพื้นฐานสำหรับการเป็นพลเมืองประชาธิปไตยสมัยใหม่  ปัจจัยที่ส่งผลต่อความไร้ประสิทธิภาพของประชากรผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งนั้นมี อยู่สามปัจจัยหลักคือ อันดับแรก ผู้ลงคะแนนมักจะไม่ค่อยสนใจเรื่องการเมือง ขาดความรู้สึกถึงผลประโยชน์ของชาติและพวกเขาจะลงคะแนนให้กับใครก็ได้ที่นำ ประโยชน์มาให้ในทันที อันดับสอง สืบเนื่องมาจากความยากจนและไร้การศึกษา พวกเขาจึงถูกชักจูงได้ง่ายด้วยอำนาจของเงิน การซื้อเสียงเป็นสิ่งที่เห็นได้โดยทั่วไป เงินส่งที่แจกจ่ายโดยผู้ลงรับสมัครเลือกตั้ง ผ่านทางเครือข่ายและหัวคะแนน เป็นกุญแจสำคัญในการรักษาฐานเสียงและซื้อความซื่อสัตย์ของผู้ลงคะแนน และอันดับสาม การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นนั้นเคลื่อนไหวผ่านทางระบบอุปถัมภ์ที่ซึ่งผู้มี อิทธิพลในท้องถิ่นจะนำกลุ่มผู้ลงคะแนนในท้องถิ่นนั้นๆไปลงคะแนนให้กับผู้ที่ เป็นหัวหน้าทางการเมือง

แต่ว่า วอล์คเกอร์ก็ได้แสดงให้เห็นถึงการวิเคราะห์ที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับหมู่บ้าน บ้านเตี๊ยม (ต้นฉบับคือ Ban Tiemผมไม่แน่ใจว่าใช่ชื่อไทยนี้หรือไม่ –ผู้แปล) ซึ่งอยู่ห่างจากเชียงใหม่ประมาณ 1 ชั่วโมงหากเดินทางโดยรถยนต์ ว่าคนชนบทอาจไม่เข้าใจถึงความสลับซับซ้อนของระบอบประชาธิปไตย แต่พวกเขามีความสามารถเกินพอ ในการที่จะตัดสินใจเลือกพรรคที่พวกเขารู้สึกว่าจะทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น มากที่สุด

จากมุมมองของรัฐธรรมนูญชนบทแบบบ้านเตี๊ยม รัฐบาลทักษิณได้รับการเลือกตั้งเพราะประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าผู้แทนและนโยบาย ของพรรคไทยรักไทยนั้นตรงกับสิ่งที่เขาคิดว่าควรเป็นผู้นำทางเมืองมากที่สุด หลายครั้งที่คุณสมบัตินั้นไม่ได้สมบูรณ์แบบตามที่ต้องการ แต่ว่า เมื่อเปรียบเทียบตัวเลือกต่างๆแล้ว ไทยรักไทยเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากที่สุด ความคิดในการตัดสินใจลงคะแนนเลือกตั้งแบบนี้ถูกซัดหายไปพร้อมกับคลื่นการประท้วงในเมืองซึ่งต่อมาส่งผลให้เกิดการเลือกตั้งที่ถูกเตะตัดขาในเดือนเมษายน 2549 และการประท้วงในเดือนกันยายน 2549 กลุ่มผู้สนับสนุนการปฏิวัติและนักเล่นแร่แปรธาตุรัฐธรรมนูญได้พยายามค้นหาทางที่จะทำให้การสนับสนุนทางการเมืองของผู้ที่ชื่นชอบทักษิณเป็นเรื่องที่ผิดโดยกล่าวหาว่าความชอบต่างๆนั้นเกิดขึ้นจากเงินที่แจกจ่ายให้กับพวกคนชนบท ที่ไม่รู้เรื่องรู้ราว การลบคุณค่าทุกเมื่อเชื่อวันของการเมืองในกลุ่มชนบทแบบนี้เป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตยของไทยที่ร้ายแรงยิ่งกว่าการฉีกรัฐธรรมนูญของปี 2540 เสียอีก

จากการศึกษาของวอล์คเกอร์ยิ่งชี้ให้เห็นถึงชุดที่น่าจะเห็นได้ชัดเจนกับคนที่คิดแม้เพียงสักเล็กน้อยเกี่ยวกับประเด็นนี้ ว่าไม่ว่าใครจะคิดยังไงกับทักษิณ ชินวัตร (และความเห็นของผม อยู่ที่นี่ แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือ รัฐบาลไทยรักไทยของเขาได้พยายามรับฟังว่าสิ่งที่ประชาชนชนบทต้องการคืออะไร และได้ประยุกต์ใช้นโยบายที่พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเหล่านั้น เป็นเหตุผลในตัวของมันเองที่ว่าทำไมคนชนบทถึงเลือกสนับสนุนทักษิณ และนี่ไม่ใช่สัญญาณของความโง่เขลา จริงๆเป็นในทางตรงข้ามด้วยซ้ำไป แน่นอนว่าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในชนบทนั้นมักจะได้รับอิทธิพลจากปัญหาในท้องถิ่นและตัวบุคคลต่างๆ แต่จะมีทางอื่นใดให้พวกเขาตัดสินอีกล่ะว่าใครที่พวกเขาควรจะลงคะแนนให้? ก่อนที่ทักษิณจะเข้ามาปฏิรูปการเมืองไทยเมื่อ 10 ปีก่อน พรรคการเมืองในประเทศไทยไม่เคยมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน และผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไม่ว่าจะในเมืองหรือชนบท จนเหรือรวย มีการศึกษาหรือไม่มี ได้แต่ลงคะแนนโดยมีข้อมูลเพียงน้อยนิด

ผู้ที่คัดค้านทักษิณได้ชี้ไปที่การคอรัปชั่นและความโลภที่ปฏิเสธไม่ได้ของเขา ว่าเป็นหลักฐานที่ชี้ว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในชนบทนั้น ลงคะแนนอย่างไม่ฉลาด แต่นี่ก็เป็นอีกครั้งที่พวกเขาหลงประเด็น ดังที่ เจมส์ สเต๊นท์ ได้บันทึกลงใน “วิเคราะห์วิกฤติประเทศไทย” ของเขาดังนี้

เพื่อนในกรุงเทพของผม[พูดว่า]ทักษิณได้รับเลือกตั้งมาเพียงเพราะว่าความร่ำรวยของเขา และผู้ลงคะแนนนั้นรับสินบน จากประสบการณ์ของผมเองในบ้านต้นทีในจังหวัดเชียงราย (ต้นฉบับคือ Ban Ton Thi ผมไม่แน่ใจว่าใช่ชื่อไทยนี้หรือไม่ –ผู้แปล) ผมรู้ว่าพรรคไทยรักไทยของทักษิณนั้นได้จ่ายเงิน 500 บาทเพื่อซื้อคะแนนเสียงจริง แต่หลังจากที่ได้สนทนากับคนในหมู่บ้าน เป็นที่เห็นได้ชัดว่าคนในหมู่บ้านเหล่านี้นั้นชอบในสิ่งที่ทักษิณได้พวกเขา จากใจจริง และรู้สึกว่าเขาเป็นนักการเมืองคนแรกที่พูดคุยกับพวกเขาเรื่องคุณภาพชีวิต ของพวกเขา และทำตามที่ตัวเองได้ให้สัญญาไว้

เมื่อผมถามชาวบ้านว่า แล้วถ้าเกิดว่าทักษิณไม่ได้เป็นคนโกงกินล่ะ ผมก็ได้รับคำตอบกึ่งขบขันกลับมาเหมือนๆกันว่า “แน่นอน เขาโกงกิน นักการเมืองทุกคนโกงกินทั้งนั้น แต่นี่เป็นนักการเมืองโกงกินคนแรกที่ได้ทำอะไรสักอย่างเพื่อพวกเรา” จนถึงทุกวันนี้ การคอร์รัปชั่น การใช้อำนาจในทางที่ผิด และความร่ำรวยส่วนบุคคลของทักษิณก็ยังเป็นที่พูดถึงกันในกลุ่มผู้สนับสนุนชาวชนบท – ไม่ได้ปฏิเสธ แต่ถูกจัดให้เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกัน

นอกจากนี้ ทุกพรรคก็ใช้การซื้อเสียงและระบบอุปถัมภ์ และนี่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนชาวชนบทจะไม่สามารถลงคะแนนอย่างมีความรับผิดชอบให้กับพรรคที่นำเสนอการเปลี่ยนแปลงทางด้านบวกที่ดีที่สุดให้กับพวกเขาธงชัย วินิจจะกูลศาสตราจารย์วิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ได้กล่าวอย่างเชือดเฉือนถึงความลำเอียงอย่างไม่เป็นธรรมต่อชาวชนบทของกลุ่ม คนกรุงเทพในการศึกษาปี 2551 ของเขาที่ชื่อว่า “ล้มประชาธิปไตย” เอาไว้ดังนี้

ข้อกล่าวหาโดยทั่วไปมักจะไปตกอยู่กับกลุ่มผู้ลงคะแนนที่ได้รับการศึกษาน้อยและมีฐานะยากจน โดยเฉพาะในเขตชนบท ซึ่งจะถูกกล่าวหาว่าขายคะแนนเสียงเพื่อแลกกับผลประโยชน์ระยะสั้นและเงิน เพียงน้อยนิด กล่าวกันว่าพวกเขาขาดความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตย ขาดซึ่งจริยธรรมที่ดีเพราะพวกเขาไม่รู้เรื่องรู้ราวและไม่มีข้อมูลใดๆสำหรับ การตัดสินเพราะพวกเขาไร้การศึกษา พวกเขาถูกจัดให้เป็นกลุ่มคนที่มีส่วนทำให้ระบอบประชาธิปไตยล้มเหลว แคมเปญโฆษณาเชิงให้ความรู้ต่อต้านการซื้อสียงส่วนมากก็มีกลุ่มเป้าหมายเป็น ประชากรชนบทและคนจนในชุมชนเมือง พวกเขาถูกจัดว่าติดโรคร้าย ในขณะที่กลุ่มชนชั้นกลางในเมืองติดเชื้อน้อยกว่าหรือปลอดโรค กลุ่มหลังเป็นกลุ่มคนที่เป็นฮีโร่ของระบอบประชาธิปไตยที่ซึ่งหน้าที่คือทำ การเมืองให้สะอาด แน่นอนว่าวาทกรรมเรื่องการซื้อเสียงนั้นไม่ได้เป็นการกล่าวหาอย่างลอยๆ และก็มีกลุ่มคนที่ไม่สนใจอย่างอื่นนอกจากผลประโยชน์ระยะสั้นและเงินน้อยนิดอยู่จริง แต่วาทกรรมนี้เป็นการกล่าวแบบเหมารวมที่น่ารังเกียจโดยกลุ่มชนชั้นกลางที่มี อคติต่อกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่มีการเลือกตั้งแบบจังหวัด

ธงชัยได้บันทึกต่อว่า “ประชาชนชนบทนั้นได้รับข้อมูลข่าวสารและเข้าใจถึงประโยชน์ที่ตัวเองควรจะได้รับเหมือนกับคนเมือง” และการทึกทักเอาเองว่าตัวเองเหนือกว่าของกลุ่มชนชั้นกลางในกรุงเทพนั้นเป็นสัญญาณให้เห็นชัดเจนถึงความไม่รู้ของพวกเขา

ชนชั้นกลางในเมืองโดยทั่วไปแล้ว ขาดข้อมูลข่าวสารและไม่รู้เรื่องรู้ราว อคติของพวกเขานั้นได้ขโมยเอาโอกาสที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับกลุ่มคนชนบทไป

จึงทำให้มีเหตุผลเพียงพอที่จะให้เชื่อว่า กระบวนทัศน์ที่มองว่าการปฏิวัติในปี 2549 เป็นเรื่องที่ถูกต้อง การขัดขวางโดยระบบยุติธรรมในปี 2551 และโครงการต่างๆที่ออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อบดขยี้กลุ่มคนเสื้อแดงนั้นบกพร่องตั้งแต่เริ่มต้น

 

หลายคนในกลุ่มชนชั้นกลางและสูงของกรุงเทพได้ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการที่จะจับใจความว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในประเทศของตนเอง ความไร้ความสามารถของพวกเขาที่จะเข้าใจว่ากลุ่มคนจนอาจเข้าใจระบอบประชาธิปไตยบางส่วนและอาจต้องการที่จะเห็นประเทศไทยที่เสมอภาคกันมากขึ้นจากใจจริงนั้น ชี้ให้เห็นว่าพวกเขาเชื่อว่ากลุ่มคนที่สนับสนุนคนเสื้อแดง ทำเพราะว่าพวกเขาถูกซื้อหรือถูกหลอกโดยทักษิณและ ผู้นำ “ก่อการร้าย” เสื้อแดงคนอื่นๆ และหัวเราะเยาะคนจนว่าเป็นพวกไร้การศึกษาโง่เง่าเต่าตุ่น พวกเขายังได้คร่ำครวญเกี่ยวกับความโง่เขลาของสื่อต่างชาติและรัฐบาลต่างชาติ ที่ไม่เข้าใจว่าการตั้งอยู่ของกลุ่มคนชั้นสูง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่สนับสนุนการคงอยู่ของสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นคนดี/พระเอกของเรื่องนี้ และตัวร้ายก็คือทักษิณที่เป็นคนปลุกปั่นกลุ่มคนและจ่ายเงินให้กับพวกเขา เพื่อทำลายประเทศของตนเอง

ตัวอย่างหนึ่งของมุมมองนี้คือ บทความในเดือนเมษายนชิ้นนี้ ในหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่นซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุนชนชั้นสูง พาดหัวว่า “พวกเขารู้กันจริงๆรึเปล่าว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นที่นี่?”

บทบาทของผู้ต้องหา อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ในฐานะของผู้ร้ายหลัก นั้นได้รับการกล่าวถึงน้อยมากในสังคมและสื่อต่างชาติ เป็นที่เห็นได้ชัดว่า มันเกินจินตนาการของพวกเขาที่จะเข้าใจว่าคนๆหนึ่งสามารถเป็นสาเหตุให้เกิดความไม่เชื่อฟังและความกระด้างกระเดื่องในกลุ่มประชาชนได้มากขนาดนี้ แต่นี่แหละคือจุดสำคัญ [เพราะ] ทักษิณได้ส่งเงินของเขาผ่านทางภรรยาที่หย่าขาดจากกันแล้วและสมุนทั้ง หลาย เพื่อสนับสนุนการประท้วง

นักเขียนนิยายลึกลับและนักแต่งเพลง สมเถาว์ สุจริตกุล ได้เข้ามาร่วมในการโต้วาทีครั้งนี้ด้วยบล็อคที่ไม่ค่อยอยู่ในโลกความเป็นจริงอันนี้ ที่ซึ่งเขาได้อธิบายว่าสื่อมวลชนต่างชาติไม่มีความสามารถทางภาษาเพียงพอที่ จะเข้าใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นและกำลังพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะนำเสนอว่าวิกฤติในประเทศไทยปัจจุบันนั้นเป็นการเกิดซ้ำของการประท้วงในฟิลิปปินส์ ในปี 2529 เพื่อที่จะ “ทำให้แน่ใจว่าเงินค่าโฆษณาไหลเขามาเรื่อยๆ” ดูเหมือนเขาจะไม่รู้เลยว่าแนวทางทำธุรกิจที่ดีที่สุดในความเป็นจริงของ ธุรกิจสื่อ คือการรายงานเหตุการณ์ต่างๆโดยถูกต้องแม่นยำและไม่ใส่อารมณ์ร่วม

ในความพยายามที่จะสอนกลุ่มชาวต่างชาติที่ไม่รู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในประเทศ กระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ให้ความช่วยเหลือด้วยการให้แนวทางและคำแนะนำนี้ให้กับนักสื่อข่าวชาวต่างชาติ เรื่องหนึ่งที่มันบอกได้ก็คือ ประเทศไทยนั้นเคารพเรื่องสิทธิ์ของผู้สื่อข่าวเต็มที่ แต่สื่อบางแห่งที่รายงานเกี่ยวกับความรุนแรงจะต้องถูกปิดลง มันเป็นมุมมองที่ไม่ถูกต้องที่จะมองว่าวิกฤติในประเทศไทยเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนรวยและคนจน แต่เป็น “เรื่องนั้นเป็นข้ออ้างที่ถูกนำมาใช้โดยกลุ่มแกนนำการประท้วงเพื่อสร้างอารมณ์ร่วมภายในกลุ่ม เป็นการเล่นบนความรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมและความเจ็บปวดของผู้คน“ ว่า “ราชวงศ์ไทยอยู่เหนือการเมือง” ว่า “กฎหมายหมิ่นพระบรมฯไม่เคยเป็นอุปสรรคต่อการปรึกษาหารือกัน” และสุดท้าย มันผิดที่จะเสนอว่ามันมีการกระทำสองมาตรฐานอยู่ในประเทศไทย

ในรัฐบาลปัจจุบันนี้ มีเพียงมาตรฐานเดียวและทุกคนเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย

เนื่องมาจากความจริงที่ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ นายกษิต ภิรมย์ ผู้ซึ่งเป็นคนควบคุมดูแลกระทรวงที่ทำบทความแถลงนี้ เป็นหนึ่งในกลุ่มแกนนำคนเสื้อเหลืองที่เกี่ยวข้องกับการยึดสนามบินในปี 2551 มันค่อนข้างจะชัดเจนว่ารัฐบาลไทยคาดหวังที่จะให้สื่อต่างชาติโง่แค่ไหนถ้าจะให้เชื่อสิ่งที่ให้มานี่ นายกษิตก็ยังเป็นบุคคลที่ทำให้ประเทศต้องละอายอย่างต่อเนื่อง ด้วยเรื่องที่เขากล่าวกับรัฐบาลและฑูตต่างชาติว่าพวกเขานั้นควรจะมองวิกฤติในประเทศไทยอย่างไร ในขณะที่การมีอยู่ของตัวเขาที่ใจกลางของรัฐบาลนั้นเองเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับที่เขาพยายามจะทำให้คนอื่นเชื่ออย่างชัดเจน

ไม่เพียงแต่สื่อต่างชาติเท่านั้นที่ไม่พบสิ่งใดที่เชื่อถือได้ในข้อโต้แย้งของผู้สนับสนุนรัฐบาลอภิสิทธิ์ นักวางแผนการลงทุนชาวต่างชาติก็ได้สรุปออกมาเป็นแนวทางเดียวกัน ทีมวิเคราะห์ความเสี่ยงประเทศของสแตนดาร์ดชารท์เตอร์ได้เขียนลงในรายงานการวิเคราะห์ความเสี่ยงของโลกประจำไตรมาสไว้ในเดือนเมษายนว่า

ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าความสำคัญของตำแหน่งนั้นเป็นที่เข้าใจในกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลอภิสิทธิ์หรือไม่ ซึ่งจนปัจจุบันก็เป็นประเด็นทักษิณ ตอนนี้มันเป็นเรื่องของการขาดความน่าเชื่อถือเชิงประชาธิปไตยของรัฐบาล ปัจจุบันเสียมากกว่า

แต่ในหมู่ของกลุ่มผู้มีการศึกษาชั้นกลางและชั้นสูงของไทย ผู้ที่ถือตัวเองว่าเป็นผู้ปกป้องประชาธิปไตยของประเทศ มีความสามารถหรือความตั้งใจเพียงน้อยนิดที่จะคิดอย่างวิเคราะห์วิจารณ์อย่างจริงๆจังๆกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นี่เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นชัดเจนถึงตวามล้มเหลวของพวกเขาในการที่จะเผชิญหน้ากับความอันตรายของกองทัพที่นับวันจะทวีอิทธิพลที่น่ากลัวต่อการเมืองของไทยมากขึ้นเรื่อยๆ

ไม่ว่าทักษิณจะเลวร้ายต่อระบอบประชาธิปไตยของไทยมากแค่ไหน ก็ค้านได้ยากว่าการปกครองโดยกองทัพนั้นมันเลวร้ายกว่าเยอะ ในประวัติศาสตร์ไทย กองทัพได้พิสูจน์ตัวเองว่าเป็นกลุ่มที่เชี่ยวชาญการจุ้นจ้านเรื่องการเมือง และคอร์รัปชั่นแบบเปิดเผย แต่มีความสามารถเพียงน้อยนิดในสิ่งที่ตัวเองควรจะทำซึ่งก็คือการปกป้องประเทศชาติ แพ้แม้กระทั่งสงครามสั้นๆกับประเทศลาวในปี 2530-2531 สุดยอดมากๆ

ในปี 2535 ชนชั้นกลางของประเทศไทยยืนขึ้นต่อต้านการปกครองโดยกองทัพอย่างกล้าหาญ หลายคนถูกฆ่า แต่สิ่งที่พวกเขาทำให้เกิดขึ้นถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการ พัฒนาประเทศไทย – การเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมืองของพวกทหารจะไม่เป็นที่ยอมรับได้อีกต่อไป แต่กระนั้น 14 ปีต่อมา กลุ่มคนกรุงเทพได้ปรบมือต้อนรับกองทัพที่ทำการปฏิวัติโค่นล้มทักษิณ  และจากนั้นเป็นต้นมา ก็เป็นใบ้กันถ้วนหน้าเพราะกองทัพเข้ายึดที่นั่งต่างๆทางการเมืองและฝังราก การคอร์รัปชั่นซึ่งเห็นได้ชัดอย่างน่าเจ็บปวด

ความพยายามอย่างทุลักทุเลของกองทัพที่พยายามปล้นคนไทยคงจะเป็นเรื่องที่น่าขบขันหากมัน ไม่ส่งผลต่อประเทศอย่างร้ายแรง กองทัพอากาศไทยจากมากกว่าประเทศอื่นๆเช่น โรมาเนีย ในการจัดซื้อเครื่องบินเจ็ท กริพเพน จากสวีเดน เรือเหาะราคา 350 ล้านถูกสั่งเพื่อนำมาตรวจตราผู้ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ แม้ว่าจะมีหลักฐานมากมายมหาศาลชี้ว่ามันไร้ประโยชน์สิ้นดี – มันบินได้ไม่สูงพอที่จะพ้นวิถีกระสุนปืนไรเฟิล ซึ่งก็หมายความว่าใช้ไปก็คงไม่พ้นที่จะถูกยิงจนพรุน ร่วงลงมากระแทกพื้นกลายเป็นเศษเหล็ก กองทัพได้ของบประมาณประมาณ 5,000 ล้านบาทเพื่อซื้อรถเกราะบรรทุกคนเพิ่มขึ้น 121 คันจากยูเครน แม้ว่าจะยังไม่ได้รับรถเกราะที่คล้ายกันจำนวน 96 คัน ที่สั่งในปี 2550 ในราคา 3,900 ล้านบาท เนื่องจากผู้ขายไม่สามารถใส่เครื่องยนต์มาให้ได้

สิ่ง ที่น่าแปลกใจมากที่สุดในบรรดาตำนานโกงกินสิ้นชาติทั้งหมดของกองทัพ ก็คือเรื่องการจัดซื้อเครื่องตรวจจับระเบิด GT200 ซึ่งมันควรที่จะตรวจจับระเบิด ยา หรือแม้กระทั่งคนได้ ซื้อมาโดยงบประมาณจำนวนมหาศาลโดยกองทัพและบางส่วนของรัฐบาล เครื่อง GT200 ไม่ใช่เครื่องหลอกลวงต้มตุ๋นที่ทำมาอย่างแนบเนียน – อุปกรณ์ทั้งชิ้นเป็นแค่แท่งพลาสติกโดยไม่มีอุปกรณ์ชิ้นส่วนใดๆเลย แต่เราก็พบกับหลักฐานชัดแจ้งว่ากองทัพไม่เคยลดละความพยายามในการโกงกินอย่าง ต่อเนื่องด้วยการออกมาแถลงข่าวกับสื่อมวลชนโดยนายทหารชั้นสูงของกองทัพ นำโดยพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ในเดือนกุมภาพันธ์เพื่อมาย้ำกับคนไทยว่า “ไอ่เครื่อง GT200 นี้มันใช้ได้จริงๆนะ”

แม้กระทั่งทักษิณยังอาจจะต้องคิดแล้วคิดอีกในการคิดจะหาทางชิ่งหากทำการหลอกลวงหน้าด้านๆแบบนี้ แต่แล้วก็เป็นอีกครั้ง ที่กลุ่มผู้มีการศึกษาของประเทศไทย รู้ทั้งรู้ว่ากองทัพของประเทศไทยมันเลวทรามต่ำช้าแค่ไหน ก็เลือกที่จะหยุดความไม่เชื่อเอาไว้ที่ตรงนั้น แล้วพวกเขาและชนชั้นปกครอง ก็ได้เหยียบย่ำคำปฎิญาณที่ให้ไว้ว่าจะถอนรากถอนโคนการคอร์รัปชั่นที่เคยพูด ไว้ ด้วยการยอมศิโรราบให้กับการกระทำของกองทัพ พวกเขาเลือกที่จะทำเป็นมองไม่เห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงที่กระทำ โดยกองทัพที่เห็นชัดคือการสังหารผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาหลายร้อยคนจากประเทศพม่า – ในขณะที่ประณามการกระทำของทักษิณเช่นสงครามกับยาเสพติด และการฆ่าคนมุสลิมในภาคใต้ของไทยที่กรือเซะและตากใบ แม้ว่าตอนนั้นจะมีผู้สนับสนุนการกระทำอยู่ไม่น้อยก็ตาม

ที่แย่ไปกว่านั้น พวกที่มีการศึกษาของไทยที่ล้อเลียนและประณามการนับถือทักษิณในหมู่คนไทยที่ มีรายได้ต่ำนั้นเป็นการแสดงถึงการยกยอกองกำลังติดอาวุธ(กองทัพ)ไทย โฆษกกองทัพ ผู้พันสรรเสริญ แก้วกำเนิด ได้ในสัมภาษณ์ลงในนิตยสารไฮโซอย่างน้อยสองฉบับ (ที่นี่ และ ที่นี่) และได้รับการยกย่องจากหนังสือพิมพ์เนชั่น ว่าเป็น “ผู้พันที่เท่ที่สุดของประเทศ” ทางเนชั่นถึงขนาดทำ “วิดีโอเอกซ์คลูซีฟ” เกี่ยวกับสิ่งของที่อยู่ในกระเป๋าของผู้พัน โดยที่นักข่าวหน้าแหยๆทั้งหลายแทบจะเก็บความตื่นเต้นเอาไว้ไม่อยู่

พฤติกรรมเหล่านี้ ถ้ามาจากกลุ่มคนจนของประเทศก็คงจะโดนหัวเราะเยาะกันทั่วประเทศ – และก็จะเป็นอีกหลักฐานหนึ่งถึงความไร้การศึกษาและไร้อารยธรรม แต่ดูเหมือนว่าถ้ามาจากคนกรุงแล้วละก็มันเป็นสิ่งที่ยอมรับได้

ชนชั้นกลางและสูงของไทยนั้นอยู่ในสภาวะของการปฎิเสธความจริงที่ไม่น่าดูว่า เพื่อที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป รัฐบาลอภิสิทธิ์จะต้องทำข้อตกลงต่าๆงกับนักการเมืองบางกลุ่มที่เรียกได้ว่า ทรามและเลวร้ายที่สุดของประเทศ – ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ เนวิน ชิดชอบ มุมมองของพวกเขาคืออะไรก็ถูกต้องตราบใดที่สิ่งที่ทำนั้นช่วยป้องกันไม่ให้ รัฐบาลทักษิณกลับมามีอำนาจ

และมันก็เป็นที่เห็นได้ชัดเจนแก่ผู้สังเกตการณ์ทุกคนว่าสิทธิและเสรีภาพของคนไทยนั้น ถูกตีกรอบและบั่นทอนมากกว่าสมัยทักษิณจนเปรียบไม่ได้ และการคอร์รัปชั่นก็เลวร้ายกว่ากันมาก คนไทยที่สนับสนุนการปกครองปัจจุบันได้เถียงว่านี่มันเป็นสิ่งจำเป็นต่อ ประชาธิปไตย มุมมองของพวกเขานั้นเป็นสิ่งที่ทำให้นึกถึงคำแถลงที่เป็นที่กล่าวขานในด้านลบอย่างมากของนายพันคนหนึ่งในช่วงสงครามเวียดนามเกี่ยวกับการทิ้งระเบิดปูพรมหมู่บ้านเบนเทร “มันเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องทำลายมันทิ้งเพื่อที่จะรักษามันไว้”

ประชาธิปไตย นั้นไม่สมบูรณ์แบบและมีข้อบกพร่อง ไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือประเทศไหนๆ ดังที่วินสตัน เชอร์ชิล เคยกล่าวไว้อย่างโด่งดังว่า “ระบบประชาธิปไตยเป็นรูปแบบที่แย่ที่สุดของรัฐบาล ยกเว้นว่าจะได้ลองแบบอื่นมาหมดแล้ว” ผู้ลงคะแนนเสียงมักจะเลือกทางที่แย่บ่อยๆที่ทำให้เขาต้องมาเสียใจในภายหลัง แต่นั้นก็เป็นวิธีที่สังคมเรียนรู้ ถ้าคุณคิดว่ารัฐบาลกำลังทำนโยบายที่ทำร้ายประเทศชาติ คุณก็จะต้องออกมาพร้อมกับทางเลือกใหม่ นโยบายใหม่ ที่จะเอาชนะใจผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง คุณไม่มีสิทธิ์ส่งกองทัพ ล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างชอบธรรมผ่านทางการขัดขวางด้วยกระบวน การ”ยุติธรรม”ที่มีแต่ข้อกังขา ปิดสื่อที่ไม่เห็นด้วยและตราหน้าแม้แต่คนที่ประท้วงอย่างสันติว่าเนรคุณแผ่น ดิน

ดังที่ เจมส์ สเตนท์ ได้เถียงเอาไว้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ของประเทศไทย ล้มเหลวอย่างต่อเนื่องในการที่จะคิดการตอบสนองแบบประชาธิปไตยที่เชื่อถือได้ มาต่อกรกับความนิยมในตัวทักษิณ

พรรคประชาธิปัตย์ .. ได้รับการพิสูจน์มาตั้งแต่หลังการได้รับเลือกตั้งของทักษิณในปี 2544 ว่าไม่สามารถที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการและภาพลักษณ์ได้ หรือแม้แต่จะนำเสนอผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในชนบทด้วยนโยบายทางเลือกที่เชื่อ ถือได้มาแข่งทักษิณ พวกมีการศึกษาชนชั้นกลางและสูงในเมืองได้แต่แสดงอาการไม่พอใจ แต่ความรู้สึกของผมก็คือพวกเขาต้องเลือกว่าจะออกมาพร้อมนโยบายใหม่ๆที่เป็น ทางเลือกที่ดีกว่าของทักษิณ หรือไม่ก็ยอมรับว่าจะต้องอยู่ภายใต้การปกครองของทักษิณไปสักพักใหญ่ๆ ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่พวกเขาต้องจ่ายในฐานะที่ไม่สามารถพัฒนาวิสัยทัศน์แบบ องค์รวมที่ออกไปถึงและเกี่ยวข้องกับผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนที่ยากจนส่วนใหญ่ ที่ซึ่งตอนนี้หันไปหาทักษิณในฐานะที่เป็นไอดอลทางการเมืองของพวกเขา

เมื่อไม่สามารถพัฒนาวิสัยทัศน์ได้ พวกคนกรุงก็เลยเลือกที่จะอยู่โดยไม่มีประชาธิปไตยกันไปเลยสำหรับเวลานี้ แทนที่จะก้าวข้ามความไม่พอใจและออกมาพร้อมกับนโยบายที่ดีกว่า พวกเขากลับเลือกพยายามที่จะทำให้ฝั่งตรงข้ามเป็นพวกนอกกฎหมายให้ได้มากที่สุด พวกเขาได้เลือกที่จะพึ่งวิธีที่ใช้โดยผู้นำเผด็จการที่ล้มละลายทางสติปัญญา ที่ว่า เมื่อไม่สามารถชนะใจและการสนับสนุนของคนส่วนใหญ่ได้ ก็หันไปหาการเซนเซอร์ ปิดกั้นข่าวสาร ข่มขู่ และกดขี่ และคนไทยที่มีการศึกษาจำนวนมากก็ได้ให้การสนับสนุนวิธีการนี้อย่างเต็มที่ ในขณะที่ปากก็ยังกล่าวหาความล้มเหลวของประชาธิปไตยในประเทศว่าเป็นความผิด ของคนจน อย่างต่อเนื่อง

หนึ่งในการประณามอย่างโจ่งแจ้งที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานเกี่ยวกับการกดขี่ในประเทศไทย ได้ออกมาจากปากของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี 2551 ในสมัยที่เขายังอยู่ฝ่ายค้านและผู้ประท้วงเสื้อเหลืองสองคนเสียชีวิตระหว่าง การตีกันในกรุงเทพ:

ในเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ นายกรัฐมนตรีไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ไม่ว่าจะเกิดจากความไม่รู้หรือโดยตั้งใจ สิ่งที่แย่กว่าการโยนความผิดให้กับหน่วยงานของรัฐก็คือ การทำให้ประชาชนเป็นผู้ร้ายของเรื่อง ผมไม่เคยคิดว่าเราจะมีรัฐที่ทำให้ประชาชนถูกฆ่าและบาดเจ็บสาหัส และจากนั้นก็กล่าวหาประชาชนว่าเป็นคนก่ออาชญากรรม นี่เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ผมได้ยินพวกที่อยู่ในรัฐบาลถามประชาชนอยู่เสมอว่าพวกเขาเป็นคนไทยหรือเปล่า เมื่อพิจารณาสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ในตอนนี้แล้ว มันไม่ใช่คำถามว่าเป็นคนไทยหรือเปล่า แต่คุณเป็นมนุษย์หรือเปล่าเสียมากกว่า

มันเป็นโศกนาฏกรรมสำหรับประเทศไทยที่ผู้มีการศึกษาจำนวนมากที่ควรจะมีความรู้ความคิด ได้ล้มเลิกหลักการที่พวกเขาอ้างว่าสนับสนุนเมื่อไม่ถึงสองปีก่อน ทิ้งไปอย่างไม่ใยดี

จะมีประโยชน์อะไรถ้ามีการศึกษา แล้วลืมว่าการคิดเองนั้น ทำยังไง?

 

 

ตีพิมพ์ครั้งแรกที่เว็บไซต์ Zenjournalist

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น