โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

รบ.พม่ายกเลิกบัญชีดำ "ภัยความมั่นคง" กว่า 2 พันรายชื่อ

Posted: 30 Aug 2012 02:36 PM PDT

ทั้งชาวพม่าและชาวต่างชาติ ในจำนวนนี้มีลูก "ออง ซาน ซูจี" และ "หมอซินเธีย" พ่วงด้วย ขณะที่ "แอ๊ด คาราบาว" "ชาญวิทย์ เกษตรศิริ" และผู้สื่อข่าวไทยหลายคนก็ถูกเลิกขึ้นบัญชีดำเช่นกัน ด้านอดีตนักศึกษาพม่าเรียกร้องให้ทางการพม่ายกเลิกบัญชีดำที่เหลืออยู่ทั้งหมด

 

เมื่อวานนี้ (30 ส.ค. 55) เว็บไซต์ทำเนียบประธานาธิบดีพม่า ได้แจ้งว่า ได้ลบรายชื่อประชาชนราว 2,000 คน ทั้งชาวต่างชาติและพลเมืองพม่า ออกจากบัญชีดำบุคคลซึ่งถูกพิจารณาว่าเป็นภัยต่อสันติภาพและความมั่นคงของรัฐบาลทหารพม่าชุดก่อนแล้ว

ความเคลื่อนไหวดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากสื่อของรัฐบาลพม่าประกาศว่า รายชื่อบุคคลจำนวน 2,082 คน ได้ถูกย้ายออกจากบัญชีผู้ที่อาจเป็นศัตรูของรัฐ ในสมัยรัฐบาลทหารชุดก่อนแล้ว โดยในรายชื่อมีทั้งฝ่ายต่อต้านรัฐบาลชาวพม่า นักกิจกรรมชาวต่างชาติ ผู้สื่อข่าว นักประวัติศาสตร์ เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ และลูกของนางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้าน

โดยบุคคลที่มีชื่อเสียงของพม่า ที่อยู่ในบัญชีดังกล่าวประกอบด้วย นพ.เส่ง วิน ผู้นำรัฐบาลพม่าพลัดถิ่น อ่อง ดิน จากกลุ่ม US Campaign for Burma นางซิปโปร่า เส่ง เลขาธิการสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) พญ.ซินเธีย หม่อง ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการแม่ตาวคลินิก โป่จี, เต็ตหน่าย และสมาชิกสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า (AAPPB) อ่อง โมซอว์ จากพรรคประชาธิปไตยเพื่อสังคมใหม่ (DPNS) หม่อง หม่อง จากสหพันธ์สหภาพแรงงานพม่า (FTUB) ขิ่น โอมาร์ จากเครือข่ายเพื่อประชาธิปไตยและการพัฒนา อ่อง ทู จากสภาทนายความพม่า และหน่อ เล ดี จากสหภาพสตรีพม่า

รายชื่อในบัญชีดำที่ถูกยกเลิกยังประกอบด้วยโม ตี ซอน และ นพ.นายอ่อง อดีตผู้นำแนวร่วมนักศึกษาพม่าทั้งมวล (ABSDF) กองกำลังนักศึกษาพม่าติดอาวุธ ซึ่งจัดตั้งขึ้นหลังการปราบปรามผู้ประท้วงฝ่ายนิยมประชาธิปไตยเมื่อปี พ.ศ. 2531 ด้วย

โดยโม ตี ซอน ซึ่งวางแผนกลับเข้าพม่าในวันที่ 1 ก.ย. นี้ กล่าวกับอิระวดีว่าเขายินดีกับข่าวลบชื่อออกจากบัญชีดำนี้ แต่ขอเรียกร้องให้มีการลบชื่อบุคคลที่ยังอยู่ในบัญชีดำทั้งหมด ซึ่งยังมีมากกว่า 4 พันรายชื่อ

"ถ้ารัฐบาลลบชื่อพวกเราออกจากบัญชีดำได้ ก็ควรลบชื่อคนอื่นๆ ซึ่งเป็นผู้ปราศจากมลทินด้วย"

ทั้งนี้ นพ.นาย อ่อง ซึ่งจะเข้าไปในพม่าวันศุกร์นี้ พร้อมด้วยนักกิจกรรมซึ่งลี้ภัยอีก 4 คน ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปไตยเพื่อสังคมใหม่ (DPNS) รวมทั้งหม่อง หม่อง จากสหพันธ์สหภาพแรงงานพม่า (FTUB)  จะหยิบยกเรื่องการถอนรายชื่อบุคคลต่างๆ ออกจากบัญชีดำไปหารือกับรัฐมนตรีในรัฐบาลพม่าด้วย

"การเดินทางของเรานั้นราบรื่นและเรียบง่าย เราไม่ต้องกรอกหนังสือแสดงความยินยอมอะไร และเราจะไปหารือเรื่องนี้กับรัฐบาล" นพ.นาย อ่อง กล่าว

ในบรรดารายชื่อชาวต่างประเทศที่อยู่ในบัญชีดำ ประกอบด้วย เดนิส เรกย์ จากสำนักข่าว AP แอนดรูว์ มาร์แชล อดีตผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ อดีตผู้สื่อข่าวอังกฤษอย่างจอห์น พิลเกอร์ และอดีตผู้ประกาศ CNN ริซ ข่าน

"การถอนบัญชีดำ ไม่ได้มีความหมายอะไรมาก ที่ผมสนใจก็คือ ยังมีคนอีกจำนวนหลายพันที่ยังถูกขึ้นบัญชีดำ" มาร์แชลให้สัมภาษณ์กับอิระวดี "พวกเขาเป็นใคร และทำไมเขายังถูกพิจารณาว่าเป็นศัตรูของยุคพม่าปฏิรูป?"

ทั้งนี้ มาร์แชล ถูกควบคุมตัวและเนรเทศเมื่อปี 2551 หลังแอบเข้าไปรายงานข่าวพายุไซโคลนนาร์กีส แม้ว่าชื่อของเขาจะถูกลบออกจากบัญชีดำอย่างเป็นทางการแล้ว แต่เขากล่าวว่า เขาได้เข้าไปเยือนพม่ามา 6 ครั้งแล้วนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา รวมทั้งการเข้าไปทำข่าวการเยือนพม่าของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา นางฮิลลารี่ คลินตัน

ชาวต่างชาติคนอื่นๆ ที่ถูกลบชื่อจากบัญชร ยังประกอบด้วย เดวิด สก็อต แมธิสันจาฮิวแมนไรท์วอช (HRW) เดสมอนด์ บอล ศาสตราจารย์ออสเตรเลีย และคริสทีนา ฟิง ผู้เขียน "Living Silence" หนังสือที่ถ่ายทอดเรื่องราวภายใต้รัฐบาลทหารพม่า

จอห์น วิลเลียม ยิตทอว์ ชาวอเมริกันที่ลอบเข้าไปในบ้านพักนางออง ซาน ซูจีในเดือนพฤษภาคมปี 2552 ซึ่งทำให้นางออง ซาน ซูจีถูกขยายเวลาการกักบริเวณออกไปจนถึงเดือนพฤศจิกายนปี 2553 ก็ถูกลบรายชื่อออกจากบัญชีดำเช่นกัน

ทั้งนี้ประมาณ1 ใน 3 ของรายชื่อ 2,082 บุคคลที่ถูกลบออกจากบัญชีดำ ประกอบด้วยอาจารย์มหาวิทยาลัย แพทย์ นักธุรกิจ และนักกิจกรรมในประเทศพม่า

โดยอิระวดี สัมภาษณ์อาจารย์มหาวิทยาลัยสตรีท่านหนึ่ง ซึ่งกล่าวว่า ไม่น่าเชื่อว่ารายชื่อของเธออยู่ในบัญชีนั้น "ฉันได้ลาออกจากตำแหน่งก่อนที่จะสิ้นสุดสัญญาจ้างงาน 5 ปี บางทีนี่อาจเป็นสาเหตุว่าทำไมฉันถึงอยู่ในบัญชีดำ แม้ว่าฉันได้จ่ายค่าปรับจากการเลิกสัญญาแล้วก็ตาม"

ทั้งนี้ ประชาชนในประเทศที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีดำจะไม่ได้รับอนุญาตให้ถือหนังสือเดินทางเพื่อออกไปนอกประเทศ ซึ่งนักศึกษารุ่น '88 หลายคนก็ยังเผชิญปัญหานี้อยู่

จากการตรวจสอบของผู้สื่อข่าวเพิ่มเติม รายชื่อของผู้ที่ถูกยกเลิกจากบัญชีดำยังประกอบด้วย เบอร์ทิล ลิตเนอร์ ผู้สื่อข่าวและนักเขียนชาวสวีเดน ซึ่งมีงานเขียนเกี่ยวกับพม่าหลายเรื่อง แอนเดอร์ส ออสเตอร์การ์ด ผู้กำกับภาพยนตร์ Burma VJ ซึ่งเคยเข้าชิงรางวัลออสการ์ แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชีย ของฮิวแมนไรท์ วอทซ์ ชี ซุน ฉวน ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน SDP ของสิงคโปร์ สี ชี หาว นักสิทธิมนุษยชนและ ส.ส.จากรัฐซาราวัก มาเลเซีย ขณะเดียวกันมีชื่อของ พริสซิลลา แอน แคลปป์ นักการทูต ประจำกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ซึ่งรับผิดชอบกองงานพม่า  ระหว่างปี 2542 - 2545 ด้วย

นอกจากนี้ยังมีรายชื่อบุคคลที่เสียชีวิตไปแล้วอย่าง คิม แด จุง อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และนางคอราซอน อากีโน อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์

ขณะเดียวกัน ยังพบรายชื่อของชาวไทยที่ถูกยกเลิกจากบัญชีดำของทางการพม่าจำนวนมาก เช่น ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ สมศรี หาญอนันทสุข ผู้อำนวยการเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้ง ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน และผู้สื่อข่าวไทยอย่างเช่น ชิบ จิตนิยม, สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี, สุพัตรา ภูมิประภาส และวาสนา นาน่วม

นอกจากนี้ยังมีชื่อของยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด คาราบาว ซึ่งเคยแต่งเพลงโจมตีรัฐบาลพม่า และเคยเข้าไปแสดงดนตรีในพื้นที่ของกองกำลังชนกลุ่มน้อยพม่า

ขณะเดียวกันมีชื่อของนักกิจกรรมทางการเมืองด้วย อย่างเช่น จรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และแกนนำ นปช. ซึ่งเคยถูกทางการพม่าจับและเนรเทศ หลังเข้าไปเคลื่อนไหวในพม่า และมีชื่อของอัญชะลี ไพรีรัก อดีตผู้ประกาศข่าว ซึ่งเคยมีบทบาทในขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยด้วย

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

อิระวดี  และ Myanmar President Office [1], [2]

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ก.พลังงาน’ รุกกระบี่ ส่งนิด้าทำ SEA ด้าน ‘อดีตคน กฟผ.’ รับโรงไฟฟ้ากระทบคนปกาสัย

Posted: 30 Aug 2012 01:19 PM PDT

กระทรวงพลังงานรุกพื้นที่ จ.กระบี่ส่งนิด้าประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ อดีตคน กฟผ.รับโรงไฟฟ้ากระทบคนปกาสัย หวั่นส่งผลชุมชน-ทรัพยากร-สิ่งแวดล้อม กลุ่มชาวบ้านยันชักธงรบต้าน-เผยข้อมูลไม่พอ

 
 
เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 29 สิงหาคม 2555 ที่ศาลาการเปรียญวัดปกาสัย ตำบลปกาสัย อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ สำนักปลัดกระทรวง กระทรวงพลังงาน ร่วมกับคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดเวทีเสวนาและรับฟังความคิดเห็นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการพัฒนาโครงการด้านพลังงาน ภายใต้โครงการด้านพลังงาน กรณีศึกษาจังหวัดกระบี่ โดยใช้การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) ซึ่งมีนายอำเภอเหนือคลอง รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ ผู้บริหารและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านจากตำบลปกาสัย ตำบลตลิ่งชัน และตำบลใกล้เคียง ประมาณ 70 คน
 
รองศาสตราจารย์จำลอง โพธิ์บุญ ผู้เชี่ยวชาญนโยบายและการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงว่า การศึกษาโครงการฯ มุ่งศึกษาศักยภาพและข้อจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมในการวางนโยบาย และพัฒนาโรงไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดกระบี่ให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับศักยภาพของจังหวัด เพื่อศึกษารูปแบบ กระบวนการขั้นตอน และองค์ประกอบในการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) เพื่อสอดคล้องกับบริบทของการพัฒนาพลังงานไฟฟ้า และจัดทำแนวการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ในการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจังหวัดกระบี่
 
รองศาสตราจารย์จำลอง ชี้แจงอีกว่า เพื่อพัฒนารูปแบบ และกระบวนการมีส่วนร่วม ที่สอดคล้องกับบริบทของการพัฒนาพลังงานไฟฟ้า ทั้งในกระบวนการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การคัดเลือกผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และกำหนดกิจกรรมการมีส่วนร่วมที่สอดคล้องกับบริบทของการพัฒนา เพื่อศึกษาแนวทาง วิธีการพัฒนาภาพลักษณ์นโยบาย แผนงาน โครงการ แนวทางวีธีการประชาสัมพันธ์
 
ส่วนรองศาสตราจารย์วิสาขา ภู่จินดา ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดลัอม ชี้แจงว่า โครงการมีศึกษารูปแบบที่เหมาะสมของกองทุนสิ่งแวดล้อมด้านการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประชาชน ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเพื่อให้กองทุนฯ เป็นที่ยอมรับของชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้าและพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดจนวางแผนการบริหารจัดการให้กองทุนดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม
 
ด้านนายดำรัส ประทีป ณ ถลาง กำนันตำบลปกาสัย กล่าวในเวทีว่า โครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ผ่านมามีการจัดเวที 4 ครั้ง ประกอบด้วยวันที่ 28 กรกฎาคม 2555 ที่โรงเรียนเหนือคลองประชาบำรุงตำบลเหนือคลอง วันที่ 7 สิงหาคม 2555 ที่วัดปกาสัย และระหว่างวันที่ 25-26 สิงหาคม 2555 ที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 2 ตำบลโคกยาง อำเภอเหนือคลอง
 
“ถึงแม้ว่าโครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ ตั้งอยู่ในตำบลคลองขนาน แต่คนตำบลปกาสัยได้รับผลกระทบเต็มๆ ปัจจุบันได้รับผลกระทบจากควันของโรงไฟฟ้า ในอนาคตหากมีการก่อสร้างชาวบ้านได้รับผลกระทบแน่ๆ อีกทั้งเส้นทางการขนส่งถ่านหินจากท่าเทียบเรือผ่านคลองปกาสัย ชาวบ้านกังวลว่าจะกระทบกับทรัพยากรทางทะเล และสุขภาพ” นายดำรัส กล่าว
 
นายชลิต สุโข สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลปกาสัย หมู่ที่ 1 ตำบลปกาสัย กล่าวในเวทีว่า ตนยืนยันไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเช่นทุกเวทีที่ผ่านมา เพราะมีผลกระทบต่อคนปกาสัย ไม่ใช่คนคลองขนาน เขาพนม ปลายพระยา ฯลฯ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ที่ไปรับงานจากกระทรวงพลังงาน ต้องวางตัวให้เป็นกลางอย่าชี้นำ ก็เหมือนๆ กับคนรับจ้างถางสวนยางพารา ต้องถางให้ดีเจ้าของส่วนถึงจะจ่ายเงินให้ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ก็เช่นกันต้องตอบสนองต่อกระทรวงพลังงานให้ได้
 
ขณะที่นายไพฑูรย์ สุวรรณบริบาล อดีตผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าภาคใต้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชี้แจงว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เล็งพื้นที่ภาคใต้ 9 จังหวัด ที่เหมาะสม เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน สำหรับโรงไฟฟ้ากระบี่ตนยอมรับว่ามีผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อมจริง ซึ่งปัจจุบันยังต้องแก้ไข ถ้าในอดีตไม่ต้องพูดถึงทั้งฝุ่น และเถ้าลอย แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะแก้ปัญหาให้ อีกทั้งกระบี่มีความชื้นในอากาศสูงจึงมีควันจากโรงไฟฟ้า 5-6 กิโลเมตร
 
“ปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ดีขึ้นต้องยอมรับว่าสามารถควบคุมได้ 70 เปอร์เซ็นต์ จนสามารถตรวจสอบได้แบบเรียลไทม์ ไม่ให้เกิดมลพิษซ้ำอีก ชาวบ้านไม่ต้องกังวลกระทรวงพลังงาน หรือโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดไหม เรามีมาตรการเข้มงวดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากระทบตามมา” นายไพฑูรย์ กล่าว
 
 
 
โครงการขยายกาลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
 
ตั้งอยู่ภายในโรงไฟฟ้ากระบี่ ที่ตำบลคลองขนาน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ขนาดกำลังผลิตติดตั้งประมาณ 870 เมกะวัตต์ (ขนาดกาลังผลิตสุทธิประมาณ 800 เมกะวัตต์) โดยใช้ถ่านหินนำเข้าเป็นเชื้อเพลิง มูลค่าโครงการทั้งหมดประมาณ 50,000 ล้านบาท
 
กระบวนการผลิต การผลิตไอน้า หม้อไอน้าทำหน้าที่ผลิตไอน้าแรงดันสูงเพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า การผลิตไอน้าแรงดันสูงเริ่มจากถ่านหินจากพื้นที่กองเก็บ ถูกส่งไปบดให้เป็นผงขนาดเล็กและป้อนเข้าสู่ห้องเผาไหม้ ก๊าซร้อนซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ภายในหม้อไอน้าจะถ่ายเทความร้อนให้แก่น้า ทาให้น้ามีอุณหภูมิสูงขึ้นจนกลายเป็นไอ ไอน้าที่ผลิตได้ถูกป้อนเข้าสู่เครื่องกาเนิดไฟฟ้าต่อไป ทั้งนี้ ก๊าซร้อนจากการเผาไหม้ถ่านหินประกอบด้วยมลสารต่างๆ เช่น ออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และฝุ่นละอองจากเถ้าเบา ซึ่งมลสารดังกล่าวถูกควบคุมด้วยระบบควบคุมที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น ระบบควบคุมก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน โดยใช้ตัวเร่งร่วมกับแอมโมเนียเหลว (Selective Catalytic Reduction; SCR) ระบบดักฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต (Electrostatic Precipitator; ESP) และระบบควบคุมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Flue Gas Desulphurization ; FGD) ตามลาดับ ก่อนปล่อยสู่บรรยากาศทางปล่องสูงต่อไป
 
การผลิตไฟฟ้า ไอน้ำแรงดันสูงที่ผลิตได้จากหม้อไอน้ำถูกส่งไปขับเครื่องกังหันไอน้าซึ่งเชื่อมติดอยู่กับแกนเพลาของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เมื่อกังหันไอน้ำหมุนก็จะทำให้แกนเพลาขับเคลื่อนแม่เหล็กให้เคลื่อนที่ตัดกับขดลวดของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าขึ้น โครงการมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าติดตั้งประมาณ 870 เมกะวัตต์ โดยกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนหนึ่ง (ประมาณ 70 เมกะวัตต์) ถูกนามาใช้ภายในโครงการ โดยกระแสไฟฟ้าส่วนที่เหลือประมาณ 800 เมกะวัตต์ ถูกเพิ่มแรงดันด้วยหม้อแปลงไฟฟ้าก่อนส่งเข้าระบบสายส่งต่อไป สำหรับไอน้ำที่ผ่านการใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าแล้วจะมีพลังงานลดลงและถูกส่งมาควบแน่นที่ระบบหล่อเย็น เพื่อนำกลับไปใช้ผลิตไอน้ำอีกครั้ง
 
ระบบสนับสนุนการผลิต
1. น้ำใช้ โครงการมีความต้องการใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆของโครงการประมาณ 3,830 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยรับน้ำมาจากบ่อน้ำดิบของโครงการ
 
2. ระบบหล่อเย็น มีหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิของอุปกรณ์ต่างๆ ในส่วนการผลิต พร้อมทั้งควบแน่นไอน้ำที่ผ่านการใช้งานแล้วให้กลายเป็นของเหลว(น้ำคอนเดนเสท) เพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์อีกครั้ง ทั้งนี้โครงการตั้งอยู่ใกล้กับคลองปกาสัยจึงใช้น้าจากคลองปกาสัยเป็นน้ำหล่อเย็น น้ำที่ผ่านการใช้งานแล้วจะถูกระบายกลับสู่คลองปกาสัย
 
3. ระบบระบายน้ำฝน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ น้ำฝนที่ไม่มีโอกาสปนเปื้อนจะถูกระบายลงสู่รางระบายน้าฝนของโรงไฟฟ้า ส่วนน้ำฝนที่อาจปนเปื้อน โครงการได้จัดให้มีระบบบาบัดน้ำเสีย
 
4. ระบบขนถ่ายและลาเลียงถ่านหิน โครงการนาเข้าถ่านหินบิทูมินัสจากต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ซึ่งมีการขนส่งด้วยเรือมายังท่าเทียบเรือของโครงการ
 
สารเคมี
สารเคมีที่ใช้ในโครงการส่วนใหญ่ถูกใช้ในระบบเสริมการผลิตหรือระบบสาธารณูปโภค เช่น การปรับปรุงคุณภาพน้ำ ระบบหล่อเย็น การควบคุมมลภาวะทางอากาศ เป็นต้น สารเคมีที่ใช้ในโครงการ เช่น แอมโมเนียมเหลวใช้สำหรับระบบควบคุมก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน แอมโมเนียใช้ในการปรับความเป็นกรด-ด่าง (พีเอช) ของน้ำในระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำในเครื่องผลิตไอน้ำ เพื่อป้องกันการเกิดตะกรัน และการกัดกร่อนของระบบท่อและอุปกรณ์ต่างๆ ก๊าซคลอรีนใช้เติมในระบบหล่อเย็นเพื่อควบคุมและป้องกันการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น เพรียงหอย เพื่อไม่ให้ไปอุดตันระบบท่อและอุปกรณ์ของระบบหล่อเย็น และใช้ในระบบควบคุมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์
 
จากการตรวจสอบสารเคมีกับข้อมูลของหน่วยงานสากลต่างๆ เช่น International Agency for Research on Cancer (IARC) พบว่าสารเคมีที่ใช้ในโครงการมิได้จัดอยู่ในกลุ่มที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ นอกจากนี้ อาคารเก็บสารเคมีเป็นอาคารปิดมิดชิด เป็นอาคารที่มีหลังคาสูงโปร่ง มีการระบายอากาศที่ดี มีทางเข้าออกง่าย มีเครื่องมือแสดงทิศทางลมติดตั้งไว้ พร้อมมีอุปกรณ์ความปลอดภัย ได้แก่ หน้ากากกรองอากาศและเครื่องช่วยหายใจ
 
 
ที่มา:เอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นการกำหนดขอบเขตและแนวทาง การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Scoping) โครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แฉกรมเหมืองแร่ฯ รวมหัวเอกชน ดันมติ อบต. เดินหน้าประทานบัตรเหมืองโปแตชอุดรฯ

Posted: 30 Aug 2012 12:57 PM PDT

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ออกโรงค้าน กรณี กพร.มีหนังสือให้ อบต.ตรวจสอบการจัดประชาคมเหมือง เชื่อหวังล้มกระดานการตรวจสอบ ด้านคณะกรรมการฯ การแก้ไขปัญหาโครงการเหมืองฯ ชี้ละเมิดข้อตกลง เตรียมฟ้องศาลเอาผิด

 
 
วานนี้ (30 ส.ค.55) เวลา 10.00 น.ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวนกว่า 70 คน เข้าพบและยื่นหนังสือต่อประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสามพาด อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี เพื่อคัดค้านกรณีที่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ หรือ กพร.ออกหนังสือคำสั่งให้ อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ประสานงานให้ องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสามพาด ดำเนินการตรวจสอบการมีส่วนร่วมตามขั้นตอนการขอประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานี ในขณะที่คณะกรรมการศึกษา ติดตามกระบวนการขออนุญาตประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ที่แต่งตั้งโดยอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กำลังดำเนินการตรวจสอบการคัดค้านของชาวบ้านตามขั้นตอนของกฎหมายแร่
 
 
ทั้งนี้ มีการระบุข้อมูลด้วยว่า เมื่อวันที่ 28 ส.ค.55 ผู้จัดการฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ของบริษัท เอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ เอพีพีซี ได้พยายามเข้าไปเกลี้ยกล่อมประธานสภา อบต.และนายก อบต.ให้ทำการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อที่จะผลักดันวาระเร่งด่วนกรณีโครงการเหมืองแร่โปแตชฯ พร้อมได้ทำร่างหนังสือเตรียมมาให้ประธานสภา อบต.ลงนามแล้วเสนอไปยังนายอำเภอ ทั้งๆ ที่สภา อบต.กำลังจะหมดวาระลงในวันที่ 31 ส.ค.นี้ และอยู่ระหว่างการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่
 
นายปัญญา  โคตรเพชร เลขานุการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ร่วมกันลงรายชื่อกว่า 5,800 รายชื่อ เพื่อค้านการขอประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรฯ จนได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งข้อตกลงก็ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการ ขั้นตอนทุกอย่างต้องยุติจนกว่าผลการตรวจสอบจะเสร็จสิ้น แต่เมื่อ กพร.มีหนังสือมาให้ อบต.ทำการตรวจสอบการจัดประชาคม เพื่อส่งลูกต่อบริษัทมาล็อบบี้ให้มีการเปิดประชุมสภา อบต.หวังจะผลักดันวาระเหมืองโปแตช จึงเป็นการละเมิดข้อตกลงร่วมระหว่าง กพร.กับชาวบ้าน และถ้าหาก อบต.ดำเนินการก็จะผิดกฎหมายเพราะไม่มีอำนาจ
 
 
ด้าน นายประจักษ์  อุดชาชน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสามพาด ได้ชี้แจงต่อชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีว่า ข้อเท็จจริงนั้น กพร.ได้มีหนังสือมายัง อุตสาหกรรมจังหวัด ให้ อบต.ห้วยสามพาด ทำการตรวจสอบการจัดประชาคมของแต่ละหมู่บ้านว่าเป็นไปตามระเบียบที่กำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งทาง อบต. ก็ชี้แจงตอบไปเมื่อวานว่าไม่สามารถทำการตรวจสอบได้ เพราะยังไม่ได้รับรายงานการจัดประชาคมของแต่ละหมู่บ้านในตำบลห้วยสามพาด
 
“ส่วนเรื่องที่มีคนบริษัทฯ เข้ามาใน อบต.เพื่อขอให้เปิดประชุมสมัยวิสามัญ เพื่อจะบรรจุญัตติโครงการเหมืองแร่โปแตชนั้น ยอมรับว่า เป็นเรื่องจริง ซึ่งผมก็ได้ปฏิเสธไปแล้ว เพราะ สภา อบต.กำลังจะหมดวาระ” นายประจักษ์ กล่าว
 
ส่วนนายเลิศศักดิ์  คำคงศักดิ์ คณะกรรมการศึกษา ติดตามกระบวนการขออนุญาตประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตามความเข้าใจส่วนตัวต่อหนังสือ ที่ กพร.ทำมายัง อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรฯ เพื่อให้ อบต.ตรวจสอบการประชาคม โดยให้ยึดหลักดำเนินการตามระเบียบวิธีปฏิบัตินั้น ไม่ว่าการดำเนินการและผลการประชาคมจะทำตามขั้นตอนของกฎหมายหรือไม่ หรือว่าความเห็นของชาวบ้านจะเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร กพร.ก็ยังคงจะเดินหน้าผลักดันโครงการต่อไป
 
นายเลิศศักดิ์ ให้เหตุผลว่า เพราะ กพร.ได้รับใบสั่งมาจากบริษัทเอกชนในการผลักดันโครงการเหมือง ซึ่งสอดรับกับการที่บริษัทที่ปรึกษาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นแล้วเสร็จ ก็กำลังจัดทำร่างรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เตรียมจะเสนอไปยัง สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมต่อไป เพื่อจะเดินหน้าโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรฯ
 
“ในความเห็นของผม เมื่อ กพร.มีการกระทำละเมิดข้อตกลงของคณะกรรมการฯ การแก้ไขปัญหาโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรฯ คงจะไม่สิ้นสุดที่คณะกรรมการฯ ชุดที่ตั้งขึ้นมา ต่อไปคงจะต้องมีการฟ้องศาล เพื่อที่จะเอาผิดกับส่วนราชการที่มีความเกี่ยวข้องกับปัญหาที่เกิดขึ้น” นายเลิศศักดิ์ กล่าว
 
 

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘สมัชชาคนจน’ ขอ ปชช.ร่วมหนุนชาวบ้านเขาบรรทัด ส่ง จม.ถึงนายกฯ ค้านอุทยานฯ ตัดฟันยาง

Posted: 30 Aug 2012 11:58 AM PDT

สมัชชาคนจนออกแถลงการณ์หยุดการทำร้าย ทำลายคนจน แจง 3 ข้อเสนอวอนประชาชนร่วมหนุน ด้านกรรมการสิทธิฯ ร่อนหนังสือถึง ‘นิวัฒน์ธำรง-ยงยุทธ-รมว.ทรัพย์’ ระงับข้อพิพาท ป้องพื้นที่โฉนดชุมชน ชี้อุทยานฯ ควรรอผลตรวจสอบก่อน

 

 
ขอ ปชช.ร่วมหนุนชาวบ้านเขาบรรทัด ส่ง จม.ถึงนายกฯ ผ่าน facebook
 
วันนี้ (30 ส.ค.55) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมัชชาคนจนออกแถลงการณ์ ‘หยุดการทำร้าย ทำลายคนจน’ ระบุขณะนี้เกษตรที่เป็นผู้อยู่อาศัยดั้งเดิมในเขตเทือกเขาบรรทัด ในภาคใต้ กำลังเผชิญกับการบุกรุกจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ส่งกองกำลังพร้อมอาวุธเข้าโค่นทำลายพืชผลทางการเกษตร ตามนโยบายปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าในเขตภาคใต้ ซึ่งเมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณในการดำเนินการ 50 ล้านบาท แต่กรมอุทยานกลับไม่ได้แยกแยะระหว่างคนทำลายป่า กับชาวบ้านดั้งเดิมที่อยู่อาศัยมาก่อนที่รัฐจะประกาศให้ที่ทำกินของตนเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ
 
เมื่อวันที่ 27 ส.ค.55 แนวร่วมปกป้องสิทธิที่ดินทำกินดั้งเดิมริมเทือกเขาบรรทัด ซึ่งเป็นการรวมตัวของชาวบ้านผู้ประสบผลกระทบจากกรณีดังกล่าว รวมทั้งเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเขาบรรทัดซึ่งเป็นสมาชิกของสมัชชาคนจน ได้จัดให้มีเวทีสาธารณะขึ้นที่จังหวัดตรัง มีชาวบ้านกว่า 300 คน จากจังหวัดตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช สตูล และกระบี่เข้าร่วม โดยได้มีการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายปราบปรามการบุกรุกป่าที่ได้ละเมิดสิทธิชุมชนด้านที่ดิน เนื่องจากชาวบ้านในเขตดังกล่าวยังไม่ได้รับคำตอบที่น่าพอใจจากฝ่ายรัฐ แนวร่วมปกป้องสิทธิฯ จึงตัดสินใจที่จะระดมสมาชิกและเปิดการปฏิบัติการมวลชนตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค.เป็นต้นไป
 
ทั้งนี้ แนวร่วมปกป้องสิทธิฯ ยืนยันว่าที่ดินที่ถูกทางการเข้าบุกรุกทำลายนั้นเป็นพื้นที่ทำกินดั้งเดิมตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ และได้เรียกร้องไปยังรัฐบาลดังนี้ 1.ให้รัฐบาลยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 20 พ.ค.55 โดยทันที 2.ให้กองกำลังพร้อมอาวุธที่นำโดยกรมอุทยานฯ ถอนกำลังออกจากพื้นที่โดยด่วน 3.ให้รัฐบาลเรียกประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจนเพื่อหาทางแก้ไขปัญหานี้
 
สมัชชาคนจน ระบุขอความร่วมมือจากประชาชน หน่วยงาน กลุ่มองค์กรทางสังคมในการร่วมส่งจดหมายแสดงความสมานฉันท์ เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการมวลชนของแนวร่วมปกป้องสิทธิฯ และสนับสนุนข้อเรียกร้องที่มีต่อรัฐบาล โดยส่งไปยังนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่านหน้าเพจสื่อออนไลน์ facebook ทาง http://www.facebook.com/Y.Shinawatra และส่งสำเนาถึงสมัชชาคนจนที่ aop_t@yahoo.com โดยการส่งจดหมายดังกล่าวถือเป็นการสนับสนุนความพยายามของสมัชชาคนจนในการแสวงหาความร่วมมือและความเข้าใจทั้งจากรัฐบาลและสาธารณะ
 
 
เผย อุทยานฯ มีเป้าเข้าทำลายพื้นที่เกษตรอีกไม่ต่ำกว่า 1,000 ไร่ ภายใน ส.ค.นี้
 
นอกจากนั้น แถลงการณ์ยังให้ข้อมูลด้วยว่า ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติอนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินการตามนโยบายปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าในเขตภาคใต้ดังกล่าว กรมอุทยานฯ ก็ได้มีการเข้าทำลายพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านดั้งเดิมมาแล้ว เช่น ในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.55 หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่าได้นำกำลังเข้าตัดโค่นพืชผลของชาวบ้านรวมทั้งต้นยางพาราในชุมชนดั้งเดิมหลายแห่งในเขตจังหวัดตรังและพัทลุง แต่งบประมาณที่ได้รับทำให้สถานการณ์รุนแรงยิ่งขึ้น
 
นับตั้งแต่เดือน ก.ค.55 เป็นต้นมา พื้นที่การเกษตรของชาวบ้านในชุมชนดั้งเดิมราว 200-300 ไร่ถูกตัดฟันทำลาย มีชาวบ้านจำนวนมากจากจังหวัดตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช และสตูลได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการนี้ และกรมอุทยานฯ ยังมีเป้าหมายที่จะเข้าทำลายพื้นที่ของชาวบ้านที่ยากจนเหล่านี้อีกไม่ต่ำกว่า 1,000 ไร่ ภายในเดือน ส.ค.นี้
 
สถานการณ์เริ่มตึงเครียดมากขึ้นเมื่อกองกำลังพร้อมอาวุธจากกรมอุทยานฯ และตำรวจตระเวนชายแดนได้บุกเข้าไปตัดฟันทำลายพืชผลทางการเกษตรรวมถึงต้นยางพาราของชาวบ้านใน ต.บ้านนา อ.ศรีนครินทร์, ต.ตะแพน อ.ศรีบรรพต และอ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง เมื่อวันที่ 23 ส.ค.55 ทั้งนี้ กองกำลังดังกล่าวเข้าพื้นที่ในช่วงเวลาเช้ามืด โดยปราศจากการแจ้งล่วงหน้าที่เหมาะสม สร้างความหวาดกลัวให้กับชาวบ้านตลอดเขตเทือกเขาบรรทัด แต่ในทางตรงกันข้ามปฏิบัติการเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นหากคู่กรณีเป็นนายทุน อีกทั้งกรณีการบุกรุกป่าเพื่อสร้างที่พักตากอากาศหรือรีสอร์ทที่เป็นคดีความก็ใช้เวลานานกว่าคดีจะสิ้นสุด
 
แถลงการณ์ระบุว่าในส่วนจังหวัดตรัง หากมีการบุกรุกโดยเจ้าหน้าที่เกิดขึ้นจะเป็นการละเมิดข้อตกลงระหว่างชาวบ้านกับจังหวัดตรังที่ได้ทำไว้เมื่อเดือน ม.ค.55 ซึ่งได้ตกลงที่จะจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อหาข้อเท็จจริง เพื่อจะระบุขอบเขตที่ทำกินดั้งเดิมของชาวบ้านและดำเนินคดีกับผู้ที่บุกรุกป่าที่เข้ามาใหม่ แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่ากรมอุทยานฯ ไม่ให้ความสำคัญกับคณะกรรมการดังกล่าว และเลือกที่จะใช้ความรุนแรงต่อชาวบ้านที่ยากจน
 
 
กสม.จี้ อุทยานฯ หยุดฟันต้นยางพาราในตรัง-พัทลุง ชี้หลักฐานพื้นที่อุทยานฯ ไม่ชัด
 
เมื่อวันที่ 28 ส.ค.55 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติโดยคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ซึ่งมีนายนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ เป็นประธานมีหนังสือถึงประธานคณะกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิสิทธิมนุษยชน นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ขอให้ระงับการเข้าตัดฟันต้นยางพารา โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
ตามที่ได้ปรากฏข้อมูลทางสื่อมวลชนว่า เมื่อวันที่ 23 ส.ค.55 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้กว่า 1,500 คน พร้อมอาวุธปืน มีดพร้า และเครื่องเลื่อยยนต์ เข้าตัดฟันทำลายต้นยางพาราของราษฎรในชุมชนหลายพื้นที่ เช่น บ้านคอกเสือ หมู่ที่ 8 ต.บ้านนา อ.ศรีนครินทร์ และต.ตะแพน อ.ศรีบรรพต จ.พัทลุง เป็นพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 200 ไร่ และมีการตรึงกำลังเพื่อเตรียมการเข้าตัดฟันทำลายต้นยางพาราของราษฎรในชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรังด้วย ซึ่งกรมอุทยานฯ กล่าวอ้างว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดและเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่า
 
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้มีราษฎรประมาณ 100 กว่าคน ชุมนุมคัดค้านในพื้นที่ไม่ให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าดำเนินการได้ รวมทั้งมีราษฎรจำนวนประมาณ 50 คน เดินทางไปศาลากลางจังหวัดตรัง เพื่อยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดตรังขอให้มีคำสั่งชะลอการตัดฟันต้นยางพาราและพืชผลทางการเกษตรอย่างเร่งด่วน โดยราษฎรได้แจ้งว่าจะกลับไปชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดตรังในวันที่ 24 ส.ค.55 นั้น  
 
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีความเห็นเบื้องต้นต่อการดำเนินการดังกล่าวของกรมอุทยานฯ ดังนี้ 1.เนื่องจากพื้นที่ชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู เป็นพื้นที่เดียวกับที่ราษฎรในนามเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จังหวัดตรัง ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่าและเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด ได้เข้าตัดฟันทำลายต้นยางพาราและพืชผลเกษตรและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งพยายามจับกุมราษฎร ทั้งๆ ที่พื้นที่ดังกล่าวนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยยึดหลักสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 66 และมาตรา 67 และยังเป็นพื้นที่ดำเนินงานโฉนดชุมชน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 อีกด้วย ปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินั้น
 
คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องร้องเรียนดังกล่าว มีความเห็นเบื้องต้นต่อว่า การดำเนินการตามที่ปรากฏเป็นข่าวข้างต้นของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยอาจทำให้กระบวนการตรวจสอบไม่ได้ข้อเท็จจริงที่รอบด้านและถูกต้องอย่างเพียงพอในระดับที่สามารถนำมาประมวลและวิเคราะห์เพื่อนำเสนอมาตรการการแก้ไขปัญหาที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายได้
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบในประเด็นแนวเขตพื้นที่โฉนดชุมชนของบ้านทับเขือ-ปลักหมู ซึ่งจากการเดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2555 ร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร พร้อมด้วย นายฐิติ กนกทวีฐากร ในฐานะผู้แทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายทัศพันธ์ พงษ์เภตรา ผู้อำนวยการสำนักงานโฉนดชุมชน นายเกรียงศักดิ์ ดีกล่อม หัวหน้าเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า และผู้ร้องเรียน พบข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า พื้นที่ที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า เข้าไปตัดฟันต้นยางพาราตามกรณีร้องเรียนข้างต้นนั้น น่าจะอยู่ในเขตพื้นที่ดำเนินงานโฉนดชุมชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 ซึ่งหากมีการดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มเติม ก็อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้
 
2.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เคยมีข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีปัญหาข้อพิพาทในเรื่องการปลูกต้นยางพาราระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่ากับราษฎรในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ดังนั้น การดำเนินการตามที่ปรากฏเป็นข่าวข้างต้นของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อาจไม่เป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีดังกล่าว
 
3.คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีความห่วงใยว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกับกลุ่มราษฎรทั้งในพื้นที่จังหวัดพัทลุงและจังหวัดตรังที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ หากไม่มีการดำเนินการใดๆ เพื่อระงับเหตุการณ์เผชิญหน้าดังกล่าว ก็อาจส่งผลให้สถานการณ์มีความรุนแรงบานปลายไปสู่ปัญหาความมั่นคงได้
 
ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำที่อาจเข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น จึงขอให้ระงับหรือยับยั้งการดำเนินการที่อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเอาไว้ก่อน จนกว่าการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะแล้วเสร็จ
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภามหาวิทยลัยธรรมศาสตร์ อนุมัติ 14 ตุลา เป็นวันสำคัญมหาวิทยาลัย

Posted: 30 Aug 2012 10:51 AM PDT

 

สภามหาวิทยาลัยได้มีหนังสือถึงประธานกรรมการมูลนิธิ 14 ตุลา ลงวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา แจ้งว่าที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยได้มีมติอนุมัติให้วันที่ 14 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันสำคัญของมหาวิทยาลัย และให้มีการจัดกิจกรรมต่อเนื่องทุกปีภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตาที่มูลนิธิเสนอ

ทั้งนี้ มูลนิธิ 14 ตุลา ได้ทำหนังสือเสนออธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อให้พิจารณาให้วันที่ 14 ตุลาเป็นวันสำคัญของมหาวิทยาลัยและมีการจัดกิจกรรมต่อเนื่องภายในมหาวิทยาลัย ดังเช่นวันสำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเกียรติภูมิและประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย เพื่อเผยแพร่ให้แก่นิสิต นักศึกษาและสาธารณชน เพื่อไม่ให้เหตุการณ์นี้เลือนหายไปจากความทรงจำโดยไม่จำกัดแวดวงอยู่แต่เพียงคนเดือนตุลาเท่านั้น

“เราคงกล่าวได้ว่าเหตุการณ์ 14 ตุลานั้น แนบแน่นกับผู้คน พื้นที่ และความทรงจำของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะแหล่งบ่มเพาะรังสรรค์ และท้ายที่สุดได้กลายเป็นพื้นที่อันอำนวยให้เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ขึ้นมา ประวัติศาสตร์แห่งเหตุการณ์ 14 ตุลา ส่วนสำคัญได้แฝงฝังไว้ในผืนดินของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หากกล่าวถึง 14 ตุลาย่อมต้องมีธรรมศาสตร์ และเช่นเดียวกัน หากนึกถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ย่อมแยกไม่ออกจากเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยครั้งสำคัญครั้งนี้” ตอนหนึ่งของหนังสือระบุ

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปธน.อียิปต์วิจารณ์รัฐบาลซีเรียในที่ประชุมกรุงเตหราน

Posted: 30 Aug 2012 10:12 AM PDT

ที่ประชุมขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (NAM) ในกรุงเตหราน ประเทศอิหร่าน ปธน.โมฮาเม็ด มอร์ซี แสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับประชาชนผู้ต่อสู้กับรัฐบาล ทำให้ตัวแทนจากซีเรียพากันเดินออกจากห้องประชุม

30 ส.ค. 2012 ประธานาธิบดี โมฮาเม็ด มอร์ซี ของอียิปต์ได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเผด็จการของซีเรีย ในที่ประชุมขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (NAM) ในกรุงเตหราน ประเทศอิหร่าน จนทำให้ตัวแทนของซีเรียพากันเดินออกจากห้องประชุม
 
ประธานาธิบดีมอร์ซี กล่าวว่า มันเป็น 'หน้าที่เชิงศีลธรรม' ในการสนับสนุนประชาชนชาวซีเรียเพื่อต่อต้าน 'รัฐบาลเผด็จการกดขี่' ในซีเรีย
 
"พวกเราเป็นหนึ่งเดียวกับการต่อสู้ของประชาชนชาวซีเรียเพื่อต่อต้านรัฐบาลเผด็จการกดขี่ที่สูญเสียความชอบธรรม สิ่งนี้คือหน้าที่เชิงศีลธรรม รวมถึงเป็นเรื่องจำเป็นในเชิงยุทธศาสตร์และการเมือง" มอร์ซีกล่าว
 
"พวกเราทุกคนจะต้องประกาศความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับผู้ที่ต่อสู้เพื่อแสวงหาเสรีภาพและความยุติธรรมในซีเรีย และแปลงความเห็นใจนี้ให้เป็นวิสัยทัศน์ทางการเมืองที่กระจ่างชัด อันจะเป็นการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สะท้อนความต้องการของประชาชนชาวซีเรียอย่างเสรี"
 
คำกล่าวของมอร์ซี ทำให้ตัวแทนของซีเรียเดินออกจากห้องประชุม
 
วาลิด มูอัลเล็ม รมต.ต่างประเทศของซีเรียบอกว่า คำกล่าวของมอร์ซีเป็นการปลุกปั่นให้การนองเลือดในซีเรียดำเนินต่อไป
 
อิราน ข่าน นักข่าวอัลจาซีร่ารายงานจากที่ประชุมว่า ความเห็นของมอร์ซีทำให้เกิดความคลางแคลงใจโดยเฉพาะกับตัวแทนชาวอิหร่านที่มีความใกล้ชิดกับประเทศซีเรีย
 
ขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดก่อตั้งขึ้นในปี 1961 โดยกลุ่มประเทศที่ต้องการถ่วงดุลอำนาจระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียตที่เป็นมหาอำนาจอยู่ในช่วงสงครามเย็น
 
พวกเขาประชุมกันทุก 3 ปี แต่ความสำคัญของพวกเขาในระดับเวทีนานาชาติหมดลงไปแล้วตั้งแต่จบสิ้นสงครามเย็นและการล่มสลายของสหภาพโซเวียต
 
เรื่องวิกฤติในซีเรียเป็นหนึ่งในวาระการประชุมที่มีขึ้นสองวัน วาระเรื่องอื่นๆ ได้แก่เรื่องสิทธิมนุษยชนและการปลดอาวุธนิวเคลียร์
 
ก่อนหน้านี้ อยาโตลาห์ อาลี คาเมนี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านกล่าวโจมตีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติว่า 'เผด็จการเกินไป' ในการปราศรัยเปิดการประชุม จากเหตุขัดแย้งเรื่องโครงการณ์นิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านกับสหประชาชาติ
 
ในวันเดียวกัน คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติก็ได้เรียกประชุมประเทศสมาชิกเพื่อหารือเรื่องวิกฤติซีเรีย โดยประเทศอย่างตุรกี, เลบานอน และจอร์แดน ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของซีเรียก็หมายจะร่วมประชุมด้วย แต่ประเทศสมาชิกรายอื่นๆ มีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่หมายจะเข้าร่วมประชุม
 
วิกฤติการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม
สำนักข่าวอัลจาซีร่ารายงานว่า มีชาวซีเรียมากกว่า 200,000 คน และอาจจะมากถึง 300,000 ที่ต้องอพยพออกจากซีเรียนับตั้งแต่การลุกฮือต่อต้านรัฐบาลอัสซาดเมื่อปีที่แล้ว ตามรานงานของกลุ่มให้ความช่วยเหลือ ขณะที่มีอีกกว่า 3,000,000 คนไร้ทีอยู่อาศัย
 
เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ประเทศตุรกีผู้ได้รับผลกระทบจากการทะลักเข้ามาของผู้อพยพมากที่สุด บอกว่าตนต้องการทางออกของปัญหานี้ โดยรมต.ต่างประเทศของตุรกี อาห์เม็ด ดาวูโตกลู ได้เรียกร้องให้ยูเอ็นคุ้มครองชาวซีเรียไร้ที่อยู่ในประเทศของพวกเขา
 
ทางด้าน ปธน.อัสซาดของซีเรียกล่าวให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ อัล ดูเนีย ซึ่งเป็นสถานีสนับสนุนรัฐบาลบอกว่าเขาปฏิเสธจะหารือกับตุรกีในเรื่องเขตกันชน (buffer zone) "พูดถึงเรื่องเขตกันชน ประการแรกคือผมไม่ได้คิดจะเปิดใจเรื่องนี้เลย ประการที่สองคือมันเป็นความคิดที่ขัดกับหลักความจริง ที่มาจากกลุ่มประเทศและศัตรูของซีเรีย"
 
 
ที่มา เรียบเรียงจาก
Morsi criticises Syria at Tehran meeting, Aljazeera, 30-08-2012
 
UN Security Council meeting to discuss Syria, Aljazeera, 30-08-2012

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สัมภาษณ์ ‘พวงทอง ภวัครพันธุ์’ บทเรียน-ไม่รู้-ลืม? “สลายการชุมนุมปี 53”

Posted: 30 Aug 2012 10:09 AM PDT

หลังจากใช้เวลาเก็บข้อมูลและค้นหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์เป็นเวลา 2 ปี ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเดือน เม.ย-พ.ค. 53 (ศปช.) ก็ได้พิมพ์รายงานออกมาเป็นรูปหนังสือหนากว่าหนึ่งพันหน้าชื่อ ‘ความจริงเพื่อความยุติธรรม: เหตุการณ์และผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53’

ประวิตร โรจนพฤกษ์ แห่งหนังสือพิมพ์ เดอะเนชั่น สัมภาษณ์ ผศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ ผู้ประสานงาน ศปช. และบรรณาธิการร่วมของรายงาน เกี่ยวกับข้อมูลที่ค้นพบและมุมมองของเธอ

ประวิตร: ศปช. ค้นพ้นข้อมูลอะไรที่อาจเปลี่ยนความเข้าใจต่อเหตุการณ์ปี 53 บ้าง?
พวงทอง: ค่อนข้างตกใจว่าคนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นไปอย่างสะเปะสะปะมาก คือคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ถูกลูกหลงเยอะมาก

ภาพใหญ่ที่มักเข้าใจคือความรุนแรงเกิดขึ้นหลังเผา [Central World และตึกอื่นๆ] แต่เราพบว่าปฏิบัติการทางทหารเกิดขึ้นตั้งแต่ 14 พฤษภาโดยเฉพาะสวนลุม บ่อนไก่ ราชปรารภ มีคน 11 คน [ตาย] ในวันเดียว ซึ่งพอมาอ่านบทความหัวหน้าควง นายทหารระดับเสนาธิการ เขียนลงในวารสารเสนาธิปัตย์ ซึ่งเขาวิเคราะห์ความสำเร็จของปฏิบัติการกระชับวงล้อมก็ทำให้เข้าใจว่าทำไมความตายเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 14 คือมีการใช้อาวุธยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุม และนี่น่าจะเป็นสาเหตุให้คนถูกลูกหลง

ส่วนของชายชุดดำ มันไม่มีความชัดเจนว่าเขาเป็นใคร แม้รัฐบาล [อภิสิทธิ์] ก็ยังไม่มีปัญญาไปตามหาได้ และในขณะที่รัฐบาลอภิสิทธิ์อ้างว่ามีการใช้กำลังก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตเพราะชายชุดดำยิงใส่ผู้ชุมนุมเอง แต่ ศปช.พบว่ามีการใช้อาวุธจริง [จากฝั่งทหาร] ตั้งแต่บ่ายวันที่ 10 แล้ว และมีคนบาดเจ็บก่อนที่ชายชุดดำจะโผล่มา

เรื่อง M79 เราไม่ได้เก็บข้อมูลตรงนี้ เพราะในที่สุดต้องไปพิสูจน์ตรงวิถีกระสุนด้วย…

รัฐบาลมักจะบอกว่าคนที่ตายเป็นผู้ก่อการร้ายแต่จากหลักฐานที่เรามี ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเราไม่พบคราบเขม่าปืนในมือของผู้เสียชีวิตเลย คนจำนวนมากมีภาพถ่ายและคลิปวิดีโอ ผู้คนเหล่านี้ไม่ได้มีอาวุธร้ายแรงในมือ เพราะฉะนั้น การบอกว่าทหารต้องใช้กระสุนจริงเพื่อป้องกันตนเองนั้นฟังไม่ขึ้น

แล้วกรณีสไนเปอร์?
สไนเปอร์เนี่ย ภาพคลิปต่างๆมากมายที่อยู่ในโลกออนไลน์เห็นว่าทหารจำนวนมากถือปืนที่มีกล้องส่อง ทำให้เกิดความแม่นยำในการยิง มันอธิบายว่าทำไมผู้เสียชีวิตเกือบ 30 เปอร์เซนต์ ถูกยิงที่หัว และถ้ารวมหน้าอกด้วยอีก 22 เปอร์เซนต์ มัน 50 เปอร์เซนต์… มันไม่ได้ยิงเพื่อป้องกันตนเอง

คิดว่าใครควรรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของทั้งสองฝ่าย?
คนที่สั่งการ คือหัวหน้าของรัฐบาล และผู้สั่งการ ศอฉ. รวมถึงผู้กำหนดยุทธศาสตร์ของกองทัพด้วย มันเป็นความผิดพลาดที่คุณเอาวิธีทางการทหารมาสลายการชุมนุมและควบคุมมันไม่ได้

กลุ่มคุณถูกมองว่าเอียงแดงและมีธงอยู่แล้ว
เราก็ไม่แปลกใจกับข้อกล่าวหานั้น แต่สิ่งที่เราอยากให้สังคมพิจารณาคือข้อมูลที่เราเสนอ ในหลายกรณีมันชี้ชัดว่ารัฐใช้กำลังเกินกว่าเหตุและการสลายการชุมนุมไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่ศอฉ.กับรัฐบาลกล่าวไว้เลย

ต่อให้คุณมีอำนาจทางการทหารและกฎหมาย คุณก็ไม่สามารถละเมิดสิทธิการมีชีวิตของประชาชนที่เขาไม่มีอาวุธร้ายแรงในการต่อสู้กับรัฐบาล และจะใช้ข้อกล่าวหาก่อการร้ายโดยรวมและให้ผู้ชุมนุมทั้งหมดรับผิดชอบความรุนแรงทุกกรณีไม่ได้

คุณดูจะมองการเก็บข้อมูลเสนอข้อเท็จจริงของ คอป. กับคณะกรรมการสิทธิฯ ในแง่ลบ ทำไม?
คือ คอป. เราคิดว่าเราไม่เห็นความชัดเจนในการทำงานของเขา สองปีผ่านมาคิดว่าเขาไม่สามารถพิสูจน์ตนเองได้ว่าเขาค้นหาความจริง คิดว่าเขายังสับสนว่าความจริงจะเป็นอุปสรรคต่อการปรองดอง ส่วนกรรมการสิทธิฯ เราหวังว่าจะ apply (ใช้) หลักสิทธิมนุษยชนเท่าเทียมกันทุกฝ่าย ไม่ใช่เอาหลักสิทธิมาปกป้องรัฐและให้รัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชนได้อย่างไม่เลือกหน้า

[ผู้ชุมนุม] บางคนถูกขังฟรี ศาลยกฟ้อง กระบวนการยุติธรรมได้มีการดำเนินคดีกับคนเหล่านั้นแล้ว แต่ขณะเดียวกัน ฝ่ายรัฐบาลอภิสิทธิ์ยังไม่มีใครถูกดำเนินคดีเลยแม้แต่คนเดียว

ดูเหมือนว่าทุกกลุ่มในสังคมจะมีข้อสรุปอยู่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นในปี 53 คุณคิดอย่างไรกับเรื่องนี้?
เราก็ไม่ได้คาดหวังว่าสังคมจะเปลี่ยนใจจากข้อสรุปที่มีอยู่แล้ว แต่ว่าเราทำหน้าที่ในการที่จะรวบรวมข้อมูลที่มีอยู่ให้มากที่สุด ก่อนที่ข้อมูลเหล่านี้จะหายไปตามกาลเวลา ข้อมูลเหล่านี้มันช่วยยืนยันอย่างเป็นระบบว่ารัฐใช้กำลังเกินกว่าเหตุและละเมิดสิทธิในชีวิตประชาชนอย่างไร

ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือไม่ มันขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ถ้าในวันข้างหน้ากระบวนการยุติธรรมจะสามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ ข้อมูลเหล่านี้ก็น่าจะเป็นประโยชน์

การหยุดยั้งการใช้ความรุนแรงจากรัฐต่อประชาชนโดยไม่ต้องรับผิดชอบหรือ impunity จะหมดไปจากสังคมไทยไหม? ขึ้นอยู่กับกรณี เมษา-พฤษภา 53 เพียงไร?
หลังจากเกิดเหตุการณ์พฤษภา 35 ใหม่ๆ ซึ่งเราไม่สามารถยอมรับกับ culture of impunity ได้ แต่เราพยายามรวบรวมข้อมูลความจริงให้มากที่สุด ถ้าคุณจะเอาผิดกับผู้กระทำผิด ความจริงเป็น the first step เป็นขั้นแรกของกระบวนการในการที่จะเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษ

คือเราเห็นตัวอย่างในอดีต ไม่ว่าจะเป็น 6 ตุลา [2519] พฤษภา 35 ที่คนทำผิดลอยนวล ไม่เคยถูกเอามาลงโทษ

แปลว่าคุณไม่มั่นใจ?
ก็ไม่มีความมั่นใจ แต่เราก็ไม่ได้อยู่นิ่งเฉยไม่ทำอะไร และเราก็มีความหวังว่าถ้าเราไม่ยอมรับมัน มันก็จะถูกสั่นคลอน สิ่งที่เรากำลังทำคือ challenge (ท้าทาย) ไอ้ culture of impunity นี้

 

 

////////////

หมายเหตุ:บทสัมภาษณ์นี้ เผยแพร่ครั้งแรกในภาษาอังกฤษในหนังสือพิมพ์ The Nation ฉบับวันที่ 31 สิงหาคม 2555

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกับประเทศไทย

Posted: 30 Aug 2012 08:07 AM PDT

 

 

เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งมีประเทศไทยเป็นสมาชิกอยู่นั้น จะมีผลเต็มรูปแบบในปี ค.ศ.2015 หรือ พ.ศ.2558 แต่รัฐประหาร 2549 และความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาร่วมหกปี ทำให้รัฐบาลแต่ละชุดไม่สามารถดำเนินการรูปธรรมเพื่อเตรียมการรับมือ เป็นผลให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องขาดทิศทางและนโยบายที่ชัดเจน ผลก็คือ คนไทยน้อยมากที่จะเข้าใจถึงสิ่งที่กำลังจะมาถึง

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ASEAN Economic Community (AEC) มีต้นกำเนิดจากการรวมกลุ่มของห้าประเทศหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2510 และได้รับบรูไนเป็นสมาชิกอันดับหกเมื่อปี 2527 จากนั้น ในช่วงปี 2538-42 จึงได้มีการขยายตัวครั้งใหญ่ด้วยการรับเวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา เข้ามาเป็นสมาชิก เนื่องจากสมาชิกสองกลุ่มนี้มีความแตกต่างกันมากในระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ และมีข้อผูกพันต่างกัน จึงเรียกสมาชิกหกประเทศแรกว่า อาเซียน-6 และเรียกสมาชิกสี่ประเทศหลังว่า CLMV จากชื่อย่อของสี่ประเทศดังกล่าว

ความจริงแล้ว ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นเพียงหนึ่งในสามองค์ประกอบของ “ประชาคมอาเซียน” ซึ่งได้มีการประกาศเป็นครั้งแรกในที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่บาหลี ในปี 2546 อีกสององค์ประกอบคือ ประชาคมความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community) ซึ่งเป็นความร่วมมือทางการเมืองและความมั่นคงของภูมิภาค และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community) ซึ่งเป็นความร่วมมือทางวัฒนธรรม โดยให้มีผลสมบูรณ์ในปี 2563 แต่ต่อมาในปี 2550 ที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่เมืองเซบูได้ตกลงเร่งรัดให้ประชาคมอาเซียนเป็นจริงโดยสมบูรณ์เร็วขึ้นอีกห้าปี เป็นปี 2558

แม้จะเป็นเพียงหนึ่งองค์ประกอบ แต่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีความสำคัญยิ่งยวดเพราะเป็นการรวมตัวอย่างทั่วด้านในทางเศรษฐกิจของกลุ่มอาเซียน ให้เป็นเขตการค้าสินค้าบริการและการเคลื่อนย้ายทุนโดยเสรี ให้อาเซียนสิบประเทศ ประชากรประมาณ 600 ล้านคน รวมเป็นตลาดเดียว เออีซีมีรากฐานจาก “ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน” หรืออาฟต้า ซึ่งลงนามโดยสมาชิกกลุ่มแรกในปี 2535 โดยได้เริ่มทะยอยลดอัตราภาษีศุลกากรลงเป็นศูนย์ในรายการสินค้ากว่าร้อยละ 90 ตั้งแต่ปี 2536 กระทั่งมีผลสมบูรณ์ตั้งแต่ 1 มกราคม 2553 ส่วนกลุ่มประเทศ CLMV จะมีผลสมบูรณ์ตั้งแต่ 1 มกราคม 2558

แต่ละประเทศยังมีสินค้ายกเว้นจำนวนน้อยใน “บัญชีสินค้าอ่อนไหว” ซึ่งอัตราภาษีศุลกากรไม่ต้องเป็นศูนย์ แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 5 ในกรณีประเทศไทย สินค้าอ่อนไหวได้แก่ กาแฟ มันฝรั่ง มะพร้าวแห้ง และไม้ตัดดอก ขณะที่สิงคโปร์และอินโดนีเซียไม่มีบัญชีสินค้าอ่อนไหว นอกจากนี้ ยังมี “บัญชีสินค้าอ่อนไหวสูง” ซึ่งสมาชิกสามารถกำหนดอัตราภาษีพิเศษ แต่ต้องได้รับการยินยอมจากประเทศสมาชิกอื่น ๆ ด้วย ซึ่งมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ได้ขอสงวนข้าวและน้ำตาลไว้ โดยประเทศไทยซึ่งไม่ได้ขอสงวน ก็จะได้รับการชดเชยเป็นมาตรการนำเข้าขั้นต่ำไปยังประเทศนั้น ๆ

นอกจากนี้ ยังมีความตกลงด้านบริการ โดยจะอนุญาตให้นักลงทุนสัญชาติอาเซียนสามารถเข้ามาถือหุ้นในกิจการบริการเพิ่มขึ้นได้ถึงร้อยละ 70 ของกิจการภายในปี 2558 ครอบคลุมบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ สุขภาพ การท่องเที่ยว การบิน โลจิสติกส์ บริการธุรกิจครอบคลุม 8 วิชาชีพ ได้แก่ วิศวกรรม การสำรวจ สถาปัตยกรรม แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล บัญชี และบริการท่องเที่ยว ส่วนความตกลงด้านการลงทุน เป็นการให้สิทธินักลงทุนอาเซียนได้รับการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติตั้งแต่ปี 2553

อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีการค้าบริการและการลงทุน ยังคงอยู่ภายใต้กฎหมายเฉพาะสาขาในแต่ละประเทศ การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือและการลงทุนข้ามชาติภายในอาเซียนจึงต้องเข้าใจภาษา กฎหมายเฉพาะ และระเบียบท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้รับสิทธิตามความตกลงนั้น ๆ เช่น การรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงาน และการอนุญาตประกอบวิชาชีพ เป็นต้น โดยหลักการใหญ่คือ ให้ใช้ภาษาอังกฤษ เป็นภาษากลาง

ในด้านการค้า เนื่องจากประเทศไทยมีระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมค่อนข้างสูงภายในอาเซียนและต้องนำเข้าวัตถุดิบจำนวนมาก ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากเออีซีจึงเป็นการนำเข้าวัตถุดิบอุตสาหกรรมที่จำเป็นในราคาถูกด้วยอัตราภาษีนำเข้าเป็นศูนย์จากแหล่งอาเซียนนั่นเอง แม้ว่า อัตราภาษีนำเข้าวัตถุดิบของประเทศไทยจะอยู่ในระดับต่ำมากอยู่แล้วก็ตาม ส่วนประโยชน์ในด้านการส่งออก กลุ่มอาเซียนนับเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของประเทศไทย มีมูลค่าปีละกว่าสี่หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยประเทศไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าตลอดมา และคาดว่า การส่งออกจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเมื่อกลุ่มสมาชิก CLMV ได้ลดอัตราภาษีส่วนใหญ่เหลือศูนย์ภายในปี 2558 ตามกำหนด

ประโยชน์ในด้านการลงทุนที่สำคัญคือ ผู้ผลิตไทยจะย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา มากขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์จากแรงงานราคาถูกและสิทธิพิเศษทางการค้าที่ประเทศเหล่านี้ได้รับจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ยิ่งกว่านั้น การพัฒนาโลจิสติกส์ที่ประสานเป็นหนึ่งเดียวมากขึ้นจะลดต้นทุนการขนส่งวัตถุดิบและชิ้นส่วนภายในอาเซียนได้อย่างมาก ทำให้เกิดห่วงโซ่การผลิตอุตสาหกรรมร่วมกันภายในกลุ่ม โดยมีผู้ผลิตอุตสาหกรรมในไทยเป็นฐานผลิตสำคัญอีกแห่งในอาเซียนเพื่อส่งออกไปยังประเทศคู่ค้านอกกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป

ในทางตรงข้าม จะมีธุรกิจไทยบางส่วนที่ถูกกระทบเนื่องจากไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับการแข่งขันจากผู้ผลิตอื่นในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ซึ่งรัฐบาลจะต้องตระเตรียมมาตรการเยียวยา เช่น กองทุนปรับตัว ให้ธุรกิจเหล่านี้ปรับปรุงการผลิตให้สามารถแข่งขันได้หรือสนับสนุนให้ปรับเปลี่ยนไปสู่สาขาอื่นที่มีความได้เปรียบมากกว่า

ส่วนประชาชนผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ทางอ้อมด้วยสินค้าจากกลุ่มอาเซียนจะมีต้นทุนการนำเข้าที่ลดลง เกษตรกรจะได้ประโยชน์โดยตรงเพราะอาเซียนเป็นตลาดสินค้าเกษตรไทยที่สำคัญอันดับต้นมาโดยตลอด แม้ว่าธุรกิจไทยบางส่วนจะย้ายฐานการผลิตออกไป แต่ผู้ใช้แรงงานไทยจะยังได้ประโยชน์จากค่าจ้างที่สูงขึ้นต่อไปเนื่องจากการขยายตัวของการค้าและการลงทุนจากการเปิดตลาดเสรี แรงงานต่างชาติที่เข้ามาจะยังคงเป็นแรงงานไร้ฝีมือซึ่งไม่ได้แข่งขันกับแรงงานไทยโดยตรงเช่นเดิม

ส่วนประโยชน์ทางการเมืองที่ชัดเจนคือ ประเทศไทยจะไม่อาจมีรัฐประหารในรูปแบบดั้งเดิมได้ง่าย ๆ อีกต่อไป เพราะนอกจากจะถูกปฏิเสธจากกลุ่มประเทศตะวันตกแล้ว ก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศในกลุ่มอาเซียนอีกด้วย ดังเช่นที่ประเทศพม่าได้เรียนรู้และต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วด้วยการหันมาสวมเสื้อคลุมการเมืองแบบเลือกตั้ง และเร่งพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วยการเปิดเสรีอย่างรวดเร็ว

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "เขตใช้กระสุนยางจริง"

Posted: 30 Aug 2012 07:42 AM PDT

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "เขตใช้กระสุนยางจริง"

ก้าวข้ามเพศมายา การเปิดพื้นที่ให้แก่ชีวิตและเพศวิถีนอกกรอบจารีต

Posted: 30 Aug 2012 07:31 AM PDT

"ในภาษาสิทธิมนุษยชน เรื่องเพศเป็นเรื่องของการกำหนดวิถีชีวิตและอนาคตตัวเอง การที่เราจะอยู่กับเพศตรงข้ามหรือเพศเดียวกันนั่นคืออนาคต ซึ่งเรามีสิทธิจะเลือกได้...เป็นสิทธิในชีวิต"

ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี
ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

 

ค่ำคืนวันที่ 29 สิงหาคม 2555 รายการ “พื้นที่ชีวิต” ทางสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ได้นำเสนอตอน “ก้าวข้ามเพศมายา” สำหรับดิฉัน นี่คือประตูบานใหม่ที่ทรงพลังและมีนัยสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการเปิดพื้นที่ให้แก่ชีวิตและเพศวิถีนอกกรอบจารีต “ก้าวข้ามเพศมายา” สะท้อนภาพความจริงบางอย่างที่แฝงฝังในสังคมไทยผ่านการบอกเล่าของคนห้ากลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้กำกับ (ภาพยนตร์) นักวิชาการ นักบวช นักเคลื่อนไหวทางสังคม และผู้ทำหน้าที่พิธีกรคือคุณนุ่น ศิรพันธุ์ วัฒนจินดา และคุณวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ซึ่งเป็นตัวแทนของคนทั่วไปที่มอง “เข้า” มาในประเด็นนี้ สิ่งที่ “ก้าวข้ามเพศมายา” สะท้อนสู่สังคมจึงมีมิติที่ลุ่มลึกและหลากหลายอย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ไม่ค่อยมีการกล่าวถึงนักอย่าง สุนทรียภาพ ศาสนา วัฒนธรรม และความเป็นชายขอบของชายขอบ

สุนทรียภาพ

“ก้าวข้ามเพศมายา” นำเสนอแง่มุมจากหนังสั้นและภาพยนตร์สามเรื่องของสองผู้กำกับ ได้แก่ (1) “ทัศนอคติ ” หนังสั้นรางวัลพิราบขาว ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกันระหว่างมนุษย์ จากเทศกาลภาพยนตร์สั้นของมูลนิธิหนังไทยครั้งที่ 14 กำกับโดยคุณภาณุ แสง-ชูโต “ทัศนอคติ” นำเสนอเรื่องราวชีวิตที่มีทั้งความเหมือนและความแตกต่างของกะเทยสามคนคือคุณชูชาติ ดุลยประภัทศร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.ท้ายบ้านใหม่ ผู้ใหญ่บ้านกะเทยคนแรกของ จ.สมุทรปราการ (หรืออาจจะของประเทศไทย?) คนที่สองคุณเริงจิรา หรืออดีตนาวาโท เริง จุลละสุขุม พ่อลูกสองซึ่งตัดสินใจเปลี่ยนวิถีทางเพศจากชายเป็นหญิงเมื่ออายุ 50 ปี และคนสุดท้ายคุณอัสรี่ ภูมิใจ กะเทยผู้นับถือศาสนาอิสลามโดยกำเนิด เธอเชื่อว่า เธอถูกเลือกแล้วให้เป็นเช่นนี้...

ภาพยนตร์เรื่องที่ (2) และ (3) เป็นผลงานของคุณธัญญ์วาริน สุขะพิศิษฐ์ คือ (2) "ไม่ได้ขอให้มารัก" นำเสนอภาพของสามเณรกะเทยที่ถูกพ่อบังคับให้บวชเรียนในพุทธศาสนาเนื่องจากเชื่อว่าจะช่วยแก้ไขพฤติกรรมของลูกชายได้ และ (3) หนังสั้น “ภิกษุณี” วิพากษ์กรณีที่ผู้หญิงหรือบัณเฑาะว์ไม่สามารถบวชในพุทธศาสนาได้ ซึ่งผลงานทั้งสองเรื่องของธัญญ์วารินถูกมองว่ามีเนื้อหาเชิงวิพากษ์พุทธศาสนาที่ตรงไปตรงมาและค่อนข้างจะ “รุนแรง” ในสายตาของคนทั่วไป

สิ่งที่สื่อสารผ่านภาพยนตร์เหล่านี้บอกอะไรกับเรา? คุณจะเห็นการค้นหาพื้นที่ยืนในสังคมของกลุ่มชายข้ามเพศหรือกะเทยกลุ่มหนึ่ง ในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อทางศาสนา การทำมาหากิน และการเป็นสมาชิกที่มีศักดิ์ศรีในสังคม ได้รับการยอมรับจากครอบครัวของตัวเอง สำหรับดิฉัน “ทัศนอคติ” “ไม่ได้ขอให้มารัก” และ “ภิกษุณี” เป็นการนำเสนอภาพความจริงของกะเทยที่ไม่ “ขำ” หรือ “ขำไม่ออก” ไม่บ่อยนักที่สังคมไทยจะเกิดอาการขำไม่ออกกับเรื่องราวของเหล่ากะเทยหรือคนหลากหลายทางเพศกลุ่มอื่นๆ ภาพยนตร์ทั้งสามเรื่องได้ช่วงชิงการอธิบายตัวตนของกะเทยจากแนวคิดกระแสหลักมาได้สำเร็จ และมันเป็นการช่วงชิงเชิงสุนทรียภาพ เนื่องจากบ่อยครั้งความรุนแรงอันแนบเนียนที่คนเรากระทำต่อกันนั้นถูกทำผ่านเสียงหัวเราะและความขบขัน คุณอวยพร เขื่อนแก้ว ผู้อำนวยการโครงการผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความยุติธรรม กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า "ความรุนแรงในเชิงโครงสร้างที่ไม่ใช่เรื่องเลือดตกยางออกนี่แหละน่ากลัว เพราะมันถูกทำให้เป็นเรื่องปกติเราเลยไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน ทำไมคนถึงฆ่าตัวตาย รู้สึกหมดคุณค่า ไม่รู้สึกปลอดภัย เพราะเขาได้ยินข้อความการโจ๊กแบบนี้บ่อยๆ ทำให้ไม่มีตัวตนในสังคม ไม่มีพื้นที่” ในทางตรงข้าม การสร้างความขบขำให้กับคนอื่นก็เหลือเป็นพื้นที่เล็กๆที่กะเทยได้รับอนุญาตให้แสดงบทบาทของตัวเอง ดิฉันไม่แปลกใจเลยหากคนส่วนใหญ่ดูผลงานภาพยนตร์ทั้งสามเรื่องแล้วจะรู้สึกว่ามัน “แรง” ก็เพราะมันไม่เห็นขำนั่นเอง


อวยพร เขื่อนแก้ว ผู้อำนวยการโครงการผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความยุติธรรม


ธัญญ์วาริน สุขะพิศิษฐ์ ผู้กำกับ ‘ภิกษุณี’

คุณธัญญ์วารินได้ให้ทัศนะเบื้องหลังการสร้างงานของเธอว่า "พี่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้คนโง่ ไม่เคยสอนให้คนเชื่อโดยปราศจากการตั้งคำถาม" และภาพยนตร์ของเธอคือการ "ตั้งคำถาม" เพื่อให้สังคมพุทธอย่างสังคมไทยร่วมกันหาคำตอบให้ได้ และเธอมั่นใจว่าการตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมอย่างที่เธอกระทำผ่านผลงานเชิงสุนทรียภาพเช่นภาพยนตร์นั้นไม่ใช่ความรุนแรง ความรุนแรงที่แท้จริงคือการตีตราคนอื่นด้วยความเชื่อที่ไม่เคยถูกตั้งคำถามต่างหากเล่า

ศาสนา

นอกจากแทรกอยู่ในภาพยนตร์ของคุณธัญญ์วารินแล้ว ประเด็นเพศภาวะ (gender) กับศาสนายังถูกนำเสนอผ่านการสนทนากับหลวงแม่ธัมนันทา ภิกษุณีในสายเถรวาทรูปแรกของเมืองไทย ท่านกล่าวถึงสถานการณ์ของภิกษุณีไทยในปัจจุบันว่าเป็น "ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน เป็นช่วงที่ผู้หญิงต้องพิสูจน์ตัวเอง" ใช่ ดิฉันเห็นด้วยกับท่าน คนที่มีอำนาจ ‘น้อย’ ย่อมต้องทำอะไรต่อมิอะไร ‘มาก’ เพื่อพิสูจน์ตนเองเสมอ ยิ่งสิ่งที่ท่านกำลังต่อรองมีรูปแบบเชิงสถาบันที่มีโครงสร้างชัดเจน ยิ่งนานวันยิ่งแข็งตัว การต่อรองนี้ก็จะยิ่งยาวนานและเรียกร้องมากขึ้น แต่สิ่งที่ดิฉันสนใจมากที่สุดคือทัศนะต่อคติความเชื่อต่างๆที่แฝงฝังอยู่ในวัฒนธรรมประเพณีและศาสนาพุทธเถรวาทแบบไทย อย่างแนวคิด “ผู้หญิงบวชไม่ได้” ซึ่งถูกกำหนดไว้มาช้านาน หลวงแม่ท่านช่วยแก้ให้ว่า "สังคมคือ ‘เรา’ มนุษย์เราเป็นคนสร้างประเพณี ประเพณีก็ต้องแก้ไขพัฒนาได้ ให้มันดีขึ้น" และสิ่งที่น่าขบคิดมาจากคำกล่าวของสามเณรี Jennetta Oosthuizen ชาวอัฟริกาใต้ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเท่าเทียมทางจิตวิญญาณและความเชื่อทางศาสนาของฝ่ายที่ถูกผลักให้ด้อยและน้อยกว่า "ผู้หญิงไม่ใช่คนชั้นสองของสังคม เราเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่อยากให้สังคมดีขึ้น อยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มันไม่ใช่เรื่องของอำนาจที่ว่าเราจะมายึดอำนาจหรือมายึดประเทศอะไร มันเป็นเรื่องของการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ แค่ให้เรามีสิทธิ์บ้างและยอมรับในสิ่งที่เราทำให้กับสังคมบ้าง พวกเราก็มีความสามารถที่จะรู้แจ้งได้เช่นเดียวกัน เราทุกคนเท่ากัน"

สอดคล้องกับมุมมองของนักวิชาการ ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร มองว่าอคติทางเพศเป็นของนำเข้าในสังคมไทย ซึ่งเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่การผลิตสร้างชุดความรู้ที่อิงกับคำอธิบายของศาสนาและวิทยาศาสตร์ของโลกตะวันตก ซึ่งกล่าวว่าเพศตามธรรมชาตินั้นมีเพียงเพศหญิงและเพศชายเท่านั้น สุดท้ายจึงกลายเป็นการตีตราว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้น - เบี่ยงเบน ผิดธรรมชาติ และมีเวรมีกรรม - ที่น่าสนใจคือ ดร.นฤพนธ์เน้นย้ำในสิ่งที่ฟังแล้วคุณอาจจะไม่เชื่อก็ได้ “การมีอคติทางเพศคือการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้มากที่สุด"

วัฒนธรรม

สำหรับเรื่องนี้ คุณพงศ์ธร จันทร์เลื่อน จากมูลนิธิเอ็มพลัส จังหวัดเชียงใหม่อภิปรายไว้ว่า "ผมเติบโตมาที่เชียงใหม่ รู้จักเชียงใหม่พอ เชียงใหม่ถูกทำให้เป็นเมืองท่องเที่ยว วัฒนธรรมเป็นตัวขาย แต่การที่เอาวัฒนธรรมมาเป็นตัวนำในการท่องเที่ยวมันกลายเป็นว่าวัฒนธรรมไม่ได้เป็นของพวกเราอีกต่อไป มันเป็นของรัฐ ของนายทุน และประชาชนอย่างพวกเราทั้งเกย์กะเทยก็เป็นเพียงตัวละครหนึ่งในวัฒนธรรมนั้น วัฒนธรรมเชียงใหม่ถูกมองว่ามีคุณค่าสูงส่ง ฉะนั้นมันถูกเลือกอธิบายบางมุมและบางมุมก็ถูกทอดทิ้งหรือปิดบังไป คุณจะไปนั่งบนกระทงหรือ บนรถบุปผาชาติหรือ? ก็ไม่เหมาะสมกระมัง? ควรจะเป็นผู้หญิงผู้ชายที่ ‘แท้จริง’ เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้อนุญาตให้อยู่ในพื้นที่บางพื้นที่ที่ถูกมองว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัว แต่พอก้าวไปสู่พื้นที่อื่น พื้นที่สาธารณะ มันก็ถูกตั้งคำถาม ถูกกีดกัน นี่คือการเลือกปฏิบัติอย่างหนึ่งซึ่งเราถูกกระทำในนามของวัฒนธรรม แต่ต้องอย่าลืมว่าเชียงใหม่ไม่ใช่วัฒนธรรมเดี่ยวนะฮะ แต่เป็นพหุวัฒนธรรมที่มันต้องอยู่ให้ได้กับวัฒนธรรมทุกระดับ" จบค่ะ แบบที่...คงไม่ต้องอธิบายอะไรเพิ่มเติมอีก

คนชายขอบ ของชายขอบ ชายขอบ ขอบ...บ

เชื่อไหมคะ สังคมเราผลิตคนชายขอบมากมายยังไม่พอ ยังมีความสามารถอันน่าทึ่งผลิตความซ้ำซ้อนในอาการชายขอบนั้นได้ด้วย กล่าวคือ มีคนที่เราอาจเรียกได้ว่าเขาเป็น “คนชายชอบ ของชายขอบ ชายขอบ...บ..” (แม้ว่าเจ้าตัวอาจจะไม่ตระหนักก็ตาม) เรื่องนี้คุณอวยพร เขื่อนแก้ว นักกิจกรรมที่ทำงานเพื่อสังคมตามแนวคิดสตรีนิยมทางจิตวิญญาณ เป็นผู้กล่าวถึงค่ะ เธอชี้ว่า ‘หญิงรักหญิง’ นั่นแหละคือคนชายขอบของชายขอบ (อีกทอดหนึ่ง) " “ขอบ” แปลว่าห้ามเข้าถึงสิทธิ โอกาส แหล่งอำนาจบางอย่าง เช่นถ้าเราเป็นหญิงรักหญิงเราก็จะไม่มีสิทธิแต่งงาน ไม่มีสิทธิเปิดเผยตัว เราถูกผลักให้อยู่ขอบ ไม่ใช่เพราะเลือกเป็นแต่เพราะถูกผลักออกโดยระบบต่างๆที่ไม่ยุติธรรม...คนเหล่านี้ (หญิงรักหญิง) ยิ่งเป็น "ขอบ" หนักเลยในบ้านเรานะคะ เช่น เราเวลาพูดถึงความรุนแรงที่เกิดกับผู้หญิง เรามักจะไม่พูดถึงหญิงรักหญิงเลยทั้งที่มันโดนซ้อนสองชั้น คือเป็นผู้หญิงก็โดนอยู่แล้วแต่เป็นหญิงรักหญิงก็จะโดนจากครอบครัวด้วย"

ดิฉันคิดเอาเองว่าที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ‘หญิงรักหญิง’ น่าจะเป็นประเด็นใหม่ที่ท้าทายและสร้างความคับข้องใจให้กับผู้คนในขนบจารีตแบบ “ไทยๆ” รวมถึง ‘ผู้หญิง’ ด้วยกันเอง มากกว่าคนหลากหลายทางเพศกลุ่มอื่น เราอาจพบทัศนะคติของผู้หญิงส่วนใหญ่ที่สามารถจำแนกแบบหยาบๆได้ว่า “กะเทยเป็นเพื่อนสาว” “ทอมดูแลช่วยเหลือในเราเรื่องต่างๆ” “ดี้ก็เป็นแฟนของทอมไง แต่ฉันไม่ใช่หรอกนะ!” “ทรานส์แมนนี่อะไรเหรอ?” “เลสเบี้ยนเป็นพวกมีโลกส่วนตัวสูงและเข้าใจยาก” ขณะที่พวกหญิงรักสองเพศอย่างไบเซ็กชวลนั้น “ไม่น่าไว้ใจ” ไปจนถึง “พวกที่ว่ามาทั้งหมดนี้วิปริตทำให้เสื่อมเสียสถาบันผู้หญิง”

ดังนั้นในพื้นที่อันจำกัด-เป็นรอง-เป็นชั้นสองของผู้หญิงในชนชั้นทางเพศในสังคมชายเป็นใหญ่อย่างสังคมไทย จึงเกิดอาการชายขอบซ้ำซ้อน ตัวตนของหญิงรักหญิงยิ่งถูกผลักให้อยู่ใต้-ต่ำ-และย้ำมิดลงไปอีก บ่อยครั้งความรุนแรงที่เกิดกับหญิงรักหญิง ถูก ‘ผู้หญิง’ มองว่าเป็นเรื่องที่สมควรเกิดขึ้นแล้ว เนื่องจากเธอได้ละเมิดกรอบความเป็นผู้หญิง ‘ที่ดี’ ที่สังคมกำหนดไว้ และความรุนแรงจึงเป็นเรื่องที่อาจจะพอยอมรับได้หากมันเกิดขึ้นกับคนกลุ่มนี้ ซึ่งสะท้อนผ่านความต้องการที่จะดำรงอยู่อย่าง “ไร้ตัวตน” หรือ “ไม่เปิดเผยตัว” ของหญิงรักหญิงจำนวนมาก

ประเด็นหญิงรักหญิงนั้นเข้าใจยากกว่า สื่อสารได้ยากกว่า และอาจจะมีความซับซ้อนมากกว่าในบางกรณี คนกลุ่มนี้แตกต่างจากกลุ่มที่ถูกเห็นได้ชัดและมีพื้นที่ทางสังคมเยอะกว่าอย่างชายรักชายหรือเกย์-กะเทย หากมีผู้หญิงกลุ่มใหญ่ยืนอยู่ต่อหน้าคุณซักสิบคน คุณอาจแยกได้ว่าใครที่ ‘ไม่เข้าพวก’ โดยดูจากการซอยผมสั้น ท่าทางทะมัดทะแมงและแต่งตัวข้ามเพศก่อนเป็นอันดับแรก ส่วนคนที่เหลือก็เหมือนๆกัน (เป็นผู้หญิง) แม้คน ‘ไม่เข้าพวก’ ที่ถูกมองเห็น ก็ยังมีความเชื่อฝังลึกในสังคมว่าคนเหล่านี้มีอัตลักษณ์ทางเพศ “เป็นหญิง” อยู่ดี สรุปแล้วไม่มีหรอกค่ะความหลากหลงหลากหลายอะไร พวกนั้นก็เป็น “ผู้หญิง” นั่นแหละ ผู้หญิงที่ต้องเป็นลูกสาวที่ดี เมียที่ดี แม่ที่ดี น้องสาวที่ดี พี่สาวที่ดี และอะไรต่อมิอะไร ‘ที่ดี’ สำหรับครอบครัวและสังคมที่เพศชายมีอำนาจนำ ขบวนการเคลื่อนไหวของหญิงรักหญิงซึ่งอยู่ในปัญหาโดยตรงคงต้องทำงานหนักในการสื่อสารและผลิตสื่อที่สะท้อนปัญหาเหล่านี้ให้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะมันยากในการทำความเข้าใจและยังใหม่มากๆสำหรับสังคมไทย

หลังจากดูรายการฯจบลง ดิฉันได้ตระหนักกับตัวเองว่า พื้นที่ที่ความหลากหลายทางเพศที่อธิบายไม่ได้ด้วยกรอบจารีต ที่ถูกผลักออกจากสังคมกระแสหลักนั้นมีแรงผลักที่ลึกไปถึงระดับของ “พื้นที่ทางจิตวิญญาณ” การเริ่มต้นทำงานเคลื่อนไหวทางสังคมของคนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มหญิงรักหญิง จึงต้องเริ่มต้นจากการ ‘ซ่อมแซม’ ‘เยียวยา’ และ ‘สร้างพลัง’ จากภายในกันเลยทีเดียว

 

โดยภาพรวม “ก้าวข้ามเพศมายา” จับประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศออกมาได้ดีค่ะ มีประเด็นสุนทรียภาพ ศาสนา วัฒนธรรม และการพูดถึงอำนาจที่ไม่เท่ากันได้ค่อนข้างดี เป็นประเด็นที่ไม่ค่อยถูกเอ่ยถึงในพื้นที่สาธารณะสักเท่าไหร่ และเป็นประเด็นที่คนมองไม่ค่อยเห็นและมักจะคิดว่ามันไม่มี ในขณะที่ขนบของศาสนาและอคติที่แฝงอยู่ในวัฒนธรรมนี่แหละที่ได้สร้างความรุนแรงให้กับผู้ที่มีเพศวิถีนอกกรอบจารีตในระดับลึกที่สุด สั่นสะเทือนความรู้สึกและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากที่สุด อาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่สร้างความเจ็บปวดและบาดแผลระหว่างกันไม่ใช่ “กำปั้น” หรือ “กลไก” ต่างๆในโครงสร้างของสังคม หากคือ “ระบบวิธีคิด” ที่อยู่เบื้องหลังสิ่งเหล่านั้น ที่สร้างความรุนแรงให้กับคนกลุ่มหนึ่งและลดทอนความเป็นมนุษย์ของพวกเขาได้มากที่สุด และที่สำคัญ นี่ไม่ใช่สิ่งที่มองเห็นได้โดยง่าย

เรื่องซับซ้อนยุ่งยากแบบนี้ คนที่จะเข้าใจและตระหนักในเรื่องนี้ต้องฉลาดเฉลียวและเท่าทันการผลิตสร้างวิธีคิดเหล่านี้เช่นนั้นหรือ ดิฉันเห็นว่า “ไม่จำเป็น” นี่ไม่ใช่เรื่องทฤษฎี ไม่สำคัญว่าคุณจะร่ำเรียนมาสูงแค่ไหน อยู่ในสถาบันการศึกษาที่ดีแค่ไหน มีโอกาสเข้าถึงความรู้หรืออภิสิทธิ์ทางสังคมมากแค่ไหน คิดในเชิงตรรกะได้คล่องแคล่วหรือเก่งกาจในการเชื่อมโยงเรื่องราวอันซับซ้อนมากเพียงใด เพราะต่อให้มีสิ่งเหล่านี้พร้อมบริบูรณ์แล้วแต่หัวใจของคุณไม่เปิดกว้าง ไม่อ่อนไหว ไม่สามารถจินตนาการถึงความเจ็บปวดของผู้อื่นได้ ก็ไม่อาจตระหนักถึงความรุนแรงต่อคนหลากหลายทางเพศอยู่นั่นเอง

และบทสนทนาปิดท้ายรายการระหว่างคุณนุ่นและคุณวรรณสิงห์ สะท้อนให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่า มุมมองคุณวรรณสิงห์คือตัวอย่างของคนไทยโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ชาย-ชนชั้นกลาง-มีการศึกษา-อาศัยอยู่ในเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอำนาจนำ มีโอกาสและมีพื้นที่มากที่สุดในสังคมไทย อันเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มว่าจะเข้าใจปัญหาเรื่องความหลากหลายทางเพศและคนชายขอบอื่นๆในสังคมได้ยากที่สุด เมื่อเขากล่าวว่า "ไปมาหลายประเทศทำให้รู้สึกว่าบ้านเราให้ความเสมอภาคตรงนี้ ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราภูมิใจด้วยนะ" เขายังกล่าวถึงการรณรงค์เรื่องการแต่งงานของเพศเดียวกันในสหรัฐอเมริกาโดยเทียบเคียงว่า "ในบ้านเราเรื่องนี้มันไม่ใช่ประเด็นขนาดนั้นนะ กลุ่มเรียกร้องสิทธิหลากหลายทางเพศหรือผู้หญิงก็ยังมีอยู่ แต่ว่าประเด็นไม่ได้ร้อนแรงเหมือนหลายประเทศที่เคยไปมา" (นี่เป็นประเด็นที่กลุ่มหลากหลายทางเพศในสังคมไทยกำลังริเริ่มรณรงค์กันอยู่ค่ะ)

อย่างไรก็ตาม คุณวรรณสิงห์ได้แสดงความเข้าใจในปัญหาเหล่านี้ในฐานะผู้ชายคนหนึ่งในสังคมไทยว่า "เกิดเป็นชายสบายหนักหนา โดยที่พวกเราก็พยายามทำหน้าที่ของเราแล้ว แต่มานั่งสังเกตตัวเองแล้ว เอ้อ หน้าที่ของเรามันเบาจริงๆ เทียบจากด้านจิตใจ แม้ตัวเองจะรู้สึกว่าประเทศไทยมีความเท่าเทียมทางเพศสูงแต่ผู้ชายก็ยังได้เปรียบอยู่ดี และความได้เปรียบนี้อาจจะไม่ใช่ผู้ชายทุกคนที่มองเห็น เพราะพวกเราก็มีหน้าที่ทางสังคมที่ต้องทำแต่มันก็ยังเบาอยู่ดี การพูดเพื่อให้เกิดความเสมอภาคทางเพศก็ยังไม่ค่อยได้พูดกันในสังคมไทยเพราะมันเกือบจะเท่ากันอยู่แล้ว เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องใหญ่...หรือมันเป็นเรื่องเล็กน้อยจนถ้าบ่นไปก็ดูไม่มีอะไร?” สำหรับดิฉัน นี่เป็นความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจที่มองจากมุมที่อยู่สูงกว่ามองลงมา ไม่ใช่การมองจากคนที่อยู่หรือมองเห็นจากระนาบเดียวกันค่ะ

เวลา 60 นาที ที่เรื่องราวเพศวิถีนอกกรอบจารีตได้แพร่ภาพออกอากาศผ่านโทรทัศน์สาธารณะสู่สายตาของคนทั่วไปคือ ‘พื้นที่’ และ ‘โอกาส’ ที่คนกลุ่มหนึ่งไม่ค่อยมีโอกาสเข้าถึง ปกติเรื่องราวเหล่านี้ไม่เคยถูกพูดถึงอย่างละอคติ และมีพื้นที่น้อยมากในสื่อกระแสหลัก กล่าวได้ว่า “ก้าวข้ามเพศมายา” ได้สะท้อนประเด็นซึ่งคนทั่วไปยังไม่ตระหนัก และน่าจะยังไม่เคยมีสื่อโทรทัศน์นำเสนอมาก่อน ต่อไปเทปบันทึกรายการพื้นที่ชีวิตในตอนนี้ จะถูกใช้เป็นกรณีศึกษาในเบื้องต้นเกี่ยวกับประเด็นความหลากหลายทางเพศในเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิติด้านสังคมวัฒนธรรม ความเชื่อทางศาสนา การใช้ความรุนแรงและอำนาจ และอคติทางเพศที่แฝงลึก โดยจะมีมุมมองแบบคุณวรรณสิงห์เป็นภาพตัวแทนสะท้อนให้เราเห็นถึงวิธีคิดของคนทั่วไปในสังคมไทยที่ยังขาดความเข้าใจ อยู่ห่างไกล และลอยตัวอยู่เหนือปัญหานี้

ดิฉันในฐานะคณะทำงานอัญจารี ที่กำลังอยู่ระหว่าง ‘ซ่อม’ และ ‘สร้าง’ หนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหวในประเด็นหญิงรักหญิงและความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ขอแสดงความขอบคุณและคารวะในความพยายามและความตั้งใจของทีมงานรายการพื้นที่ชีวิต และขอจบบทความนี้ด้วยข้อคิดอันเฉียบคมที่ได้จากคุณนุ่น ศิรพันธุ์ ที่ว่า “เราต่างหากที่ควรจะมาพิจารณาตัวเองว่าฉันเห็นแก่ตัวหรือเปล่า ฉันได้ทำอะไรหรือเปล่า ฉันต่างหากที่ไม่เข้าใจ เป็นคนปิดกั้นตัวเอง เป็นคนตาบอดเองหรือเปล่า เป็นคนที่รุนแรงเองหรือเปล่า ถ้าเราสามารถทำความรุนแรงกับคนอื่นได้ทั้งเรารู้ตัวหรือไม่รู้ตัว โจ๊ก? การล้อเล่น? ใช่ไหม? แค่ท่าทางบางอย่างมันก็คือการทำให้คนอื่นบาดเจ็บโดยที่เราไม่รู้ตัวหรือเปล่า? การจะแก้ปัญหาสังคมมันขึ้นอยู่กับตัวเรา เราตื่นหรือยัง? ต้องทำข้างในของเราให้แข็งแรงก่อน...นุ่นเชื่อว่าหลายคนที่ลุกขึ้นมาทำบางสิ่งบางอย่าง เพราะข้างในเขาแข็งแรงพอ เขาจึงเลือกที่จะยืนหยัดและก้าวออกมาเพื่อขยายพื้นที่ให้คนอื่นด้วย เราซึ่งเป็นคนหนึ่งในสังคมเราก็ควรทำ แม้ว่าจะเป็นจุดเล็กๆจุดหนึ่ง ทำมากๆเดียวมันก็จะขยายไปเองค่ะ"

- ด้วยความคารวะจากใจและขอบพระคุณค่ะคุณนุ่น -

 

หมายเหตุ:

 

 

  1. ภาพการอบรมที่โครงการผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความยุติธรรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการของกลุ่มนักกิจกรรมหญิงรักหญิงในเมืองไทย ภายใต้หัวข้อ “ความหลากหลายที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง(ทั้งภายในและภายนอก) เพื่อสิทธิและความเป็นธรรม” ในเดือนกรกฎาคม 2555 มีนักกิจกรรมจากกลุ่มอัญจารี กลุ่มฟ้าสีรุ้ง กลุ่มกัลยาสโมสร กลุ่มเลิฟพัทยา องค์ผู้หญิงอาทิกลุ่มมาตาปัญญา นักวิจัย นักกิจกรรมอิสระ เข้าร่วมการอบรม
  2. ท่านสามารถดูรายการพื้นที่ชีวิตตอน “ก้าวข้ามเพศมายา” ย้อนหลังได้ที่ http://clip.thaipbs.or.th/home.php?644480b934d3e0a29cac4b80e6e4769e หรือhttp://tv.ohozaa.com/hourly-rerun/tpbs/2012-08-29/22/
  3. ดูหนังสั้น “ทัศนอคติ” ของ ภาณุ แสงชูโต ได้ที่http://www.scgfoundation.org/th/corporateVDOdetail.asp?id=265 หรือ http://life.voicetv.co.th/my-portfolio/18197.html
  4. ดูตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง “ไม่ได้ขอให้มารัก” ได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=97jzl1slGdE
  5. ดูหนังสั้นเรื่อง “ภิกษุณี” ได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=CSAWGNDfkGo

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ว่าด้วยธรรมวินัยและโลกโลกียวิสัย

Posted: 30 Aug 2012 07:16 AM PDT

ธรรมกายทำผิดธรรมวินัยหรือไม่ อันนี้เป็นประเด็นที่นักคิดชาวพุทธหลายท่านได้อรรถาธิบายกันแยะ ซึ่งทุกครั้งที่เกิดการถกเถียงกันเกี่ยวกับประเด็นธรรมกายก็ดี สันติอโศกก็ตาม หรือพุทธแบบอื่นๆ นอกเหนือจากแบบที่รัฐรับรอง ก็มักยกธรรมวินัยขึ้นมาอ้างอิงเสมอ ปัญหาที่น่าสนใจคือ ข้าพเจ้ามองว่า นักคิดชาวพุทธเช่น อาจารย์สุรพศ ทวีศักดิ์ หรือพระไพศาล วิสาโล กำลังพูดคนละภาษากับนักคิดฝั่งเสรีนิยม

เพราะประเด็นที่แท้จริงไม่ใช่ทำผิดพระธรรมวินัยหรือไม่ แต่ประเด็นที่ฝั่งเสรีนิยมเสนอคือ แล้วองค์กรทางศาสนานั้นควรมีอำนาจรัฐมากำกับหรือไม่ต่างหาก ทีนี้เราลองมาตรวจสอบดูว่า อำนาจรัฐที่ให้หรือมอบผ่านตัวแทนทางศาสนามีจริงหรือไม่ในสังคมไทย ผมอยากชี้ชวนให้ดู พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505

มาตรา 4 ภายในระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ บรรดากฎกระทรวง สังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ข้อบังคับและระเบียบเกี่ยวกับคณะสงฆ์ที่ใช้บังคับอยู่ในวันประกาศพระราชบัญญัตินี้ในราชกิจจานุเบกษา ให้คงใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้จนกว่าจะมีกฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ข้อบังคับหรือระเบียบของมหาเถรสมาคม ยกเลิก หรือมีความอย่างเดียวกัน หรือขัดหรือแย้งกัน หรือกล่าวไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา 5 เพื่อประโยชน์แห่งมาตรา 4 บรรดาอำนาจหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ในสังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ข้อบังคับและระเบียบเกี่ยวกับคณะสงฆ์ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพระภิกษุตำแหน่งใดหรือคณะกรรมการสงฆ์ใดซึ่งไม่มีในพระราชบัญญัตินี้ ให้มหาเถรสมาคมมีอำนาจกำหนดโดยกฎมหาเถรสมาคมให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพระภิกษุตำแหน่งใด รูปใดหรือหลายรูปร่วมกันเป็นคณะตามที่เห็นสมควรได้

มาตรา 8 สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ และทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชโดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม

มาตรา 15 ตรี มหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม

(2) ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร

(3) ควบคุมและส่งเสริมการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่ การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์

(4) รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา

(5) ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น

เพื่อการนี้ ให้มหาเถรสมาคมมีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคม ออกข้อบังคับ วางระเบียบ ออกคำสั่ง มีมติหรือออกประกาศ โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายและพระธรรมวินัย ใช้บังคับได้ และจะมอบให้พระภิกษุรูปใดหรือคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการตามมาตรา 19 เป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ตามวรรคหนึ่งก็ได้

มาตรา 15 จัตวา เพื่อรักษาหลักพระธรรมวินัยและเพื่อความเรียบร้อยดีงามของคณะสงฆ์มหาเถรสมาคมจะตรากฎมหาเถรสมาคม เพื่อกำหนดโทษหรือวิธีลงโทษทางการปกครอง สำหรับพระภิกษุและสามเณรที่ประพฤติให้เกิดความเสียหายแก่พระศาสนาและการปกครองของคณะสงฆ์ก็ได้

พระภิกษุและสามเณรที่ได้รับโทษตามวรรคหนึ่งถึงขั้นให้สละสมณเพศ ต้องสึกภายในสามวันนับแต่วันทราบคำสั่งลงโทษ

เอาล่ะครับ ทีนี้คงพอเห็นว่ารัฐได้ “มอบอำนาจ” ของรัฐให้แก่คณะบุคคล/บุคคล ข้างต้น เพื่อที่จะทำการ “ปกครองสงฆ์” หรือพูดอีกแบบคือ “ควบคุมศาสนาพุทธ” ให้เป็นตามสิ่งที่เชื่อว่าถูกต้องดีงาม นั่นแปลว่าอะไร? นั่นแปลว่าศาสนาที่คนนับถือมากที่สุดในประเทศไทย มีคณะบุคคลที่ทำหน้าที่แทนรัฐมาตีความบัญญัติ คำสอน ปรัชญา ขนบ ฯลฯ แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น แล้วผู้ที่ตีความพุทธหรือสถานะความเป็นพระในแบบอื่น ๆ ล่ะ จะมีชะตากรรมอย่างไร ชะตากรรมของ ครูบาศรีวิชัย สันติอโศก หรือกระทั่งธรรมกาย ก็คงบอกอะไรกับเราได้

แน่ล่ะ ข้าพเจ้าไม่ได้บอกว่า ครูบาศรีวิชัย สันติอโศก หรือธรรมกาย ดีเหมือนกัน หรือมีปรัชญาคำสอนอะไรที่เหมือน ๆ กัน แต่ข้าพเจ้ากำลังจะบอกว่า เขาเหล่านั้นมีชะตากรรมเหมือนกันในแง่ที่ถูกอำนาจรัฐ (ผ่านตัวแทนที่เป็นองค์กรสงฆ์) ตัดสิน ตีความ กระทั่งขับไล่ให้พ้นจากความเป็นสงฆ์ (เช่น กรณีสันติอโศก เป็นต้น)

ข้าพเจ้าขอยืนยันอีกครั้งว่า ธรรมกายดีหรือไม่ ครูบาศรีวิชัยท่านสอนถูกปฏิบัติถูกหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นของข้าพเจ้า แต่ปัญหาคือ ในรัฐโลกียวิสัย (Secular State) จะมีคณะ/บุคคล ใดบุคคลหนึ่งได้รับอำนาจจากรัฐ มาตัดสินเรื่องความเชื่อได้จริงๆ หรือ?

ข้าพเจ้าลองตั้งคำถามว่า สมมติสันติอโศกเกิดมีแนวคิดว่า พระสงฆ์ทั่วไปของไทยนั้น ยึดถือหลักการที่ผิดและขาดจากความเป็นสงฆ์บ้างจะเกิดอะไรขึ้น คำตอบคือ ก็คงไม่เกิดอะไร เพราะสันติอโศกไม่มีอำนาจรัฐรับรอง เช่นนั้น สถานะพุทธแบบสันติอโศกย่อมไม่เท่ากันกับสถานะพุทธแบบมหาเถรสมาคม ใช่หรือไม่? แปลว่ารัฐยอมให้อำนาจแก่ความเชื่อแบบหนึ่งเป็นพิเศษ มากกว่าความเชื่อแบบอื่น ๆ ใช่หรือไม่?

สรุปให้เข้าใจง่ายๆ คือ พุทธแบบ ก. มีอำนาจรัฐรับรอง แต่พุทธแบบ ข. ค. ง . ฯลฯ ไล่ไปจนถึง ฮ.นกฮูก ไม่ได้มีอำนาจรัฐรับรองด้วย แล้วรัฐมีความชอบธรรมอันใดเล่าที่จะให้อำนาจ (ที่ตราเป็นกฎหมาย) แก่ความเชื่อแบบใดแบบหนึ่งเหนือกว่าความเชื่อแบบอื่นๆ ?

ท่านอาจมีคำถามว่า แล้วที่พระสงฆ์ทั้งหลายในปัจจุบันทำเรื่องต่าง ๆ ที่บาดใจสาธุชนเหลือเกินนั้น หากไม่ให้รัฐหรือตัวแทนอำนาจรัฐเข้าไปจัดการแล้วจะให้ทำอย่างไรเล่า ข้าพเจ้าประทับใจอย่างยิ่งกับคำกล่าวของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์จากรายการ พุทธชยันตี ฟังเสียงพุทธบริษัท ช่อง TPBS http://www.youtube.com/watch?v=3bO7Y6blYsc

“....จะทำยังไงให้พระปรับตัว ผมไม่เชื่อว่าคุณจะมีรัฐบาลที่ดี มีผู้นำที่ดีแล้วไปให้พระปรับตัว ไม่ ผมไม่เชื่อ ผมเชื่อว่าพระไทยสามารถปรับตัวเองให้เข้ากับกาลสมัยได้ ขออย่างเดียว อย่าให้รัฐไปคุ้มครองพระเป็นอันขาด เป็นอิสระ แข่งขันกันกับพระหลาย ๆ นิกาย คุณอยากอยู่รอด คุณปรับตัวเอง แต่เมื่อไหร่ที่มีรัฐ มีอำนาจ มีทรัพย์ไปคอยปกป้องคุ้มครองคณะสงฆ์เอาไว้ คณะสงฆ์จะอึดถึกไม่มีวันปรับตัว เท่านั้นเอง...”

ก็ขอแลกเปลี่ยนมาดังนี้ ก็หวังว่าท่านที่เรียกร้องให้ มหาเถรสมาคมไปจัดการกับธรรมกายทั้งหลาย ก็ลองทบทวนดูอีกทีแล้วกันครับ และข้าพเจ้าคิดว่ามันจะไม่เป็นอะไรเลย ถ้ามหาเถรสมาคมเป็นองค์กรเอกชนที่ไม่ดึงอำนาจรัฐมารับรอง แต่ถ้ายังเป็นเช่นปัจจุบันนี้ เราจะบอกว่า เราเป็นรัฐโลกียวิสัยได้อย่างไร เราจะเป็นรัฐที่ให้ความเท่าเทียมกันแก่ทุก ๆ ความเชื่อได้อย่างไร ข้าพเจ้ามองไม่ออกจริงๆ

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อภิสิทธิ์-สุเทพ เบิกความไต่สวนการตาย "พัน คำกอง"

Posted: 30 Aug 2012 07:15 AM PDT

  

(30 ส.ค.55) ที่ห้องพิจารณา 909 ศาลอาญา รัชดา มีการไต่สวนการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง คนขับแท็กซี่ซึ่งถูกยิงบริเวณถนนราชปรารภ ใกล้แอร์พอร์ตลิงก์ซึ่งเป็นจุดประจำการของทหาร เช้ามืดวันที่ 15 พ.ค.53 จากกรณีที่มีการยิงสกัดรถตู้ที่เข้ามาในพื้นที่ โดยวันนี้ มีพยาน 3 ปากได้แก่ พล.ต.อ.ประทีป ตันประเสริฐ รักษาการ ผบ.ตร.ในขณะนั้น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)

สุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ตอบทนายว่า เมื่อมีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ตั้งเวทีที่ผ่านฟ้า ยึดถนนราชดำเนิน นายกฯ โดยการอนุมัติของ ครม. จึงใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง ตั้ง ศอรส. เพื่อคลี่คลายสถานการณ์แต่ต่อมาผู้ชุมนุมไม่ได้ชุมนุมโดยสงบ คุกคามการใช้ชีวิตโดยสงบของประชาชนทั่วไป มีการก่อเหตุร้าย ยิงปืน เอ็ม 79 ระเบิดชนิดขว้าง ใส่สถานที่ราชการและเอกชน จนเกิดความหวาดหวั่น ปลุกระดมด้วยข้อความที่ทำให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาลและสถาบันอันเป็นที่เคารพ หลังจากผู้ชุมนุมบุก ก.ก.ต.และรัฐสภา พร้อมด้วยอาวุธ และเข้ายึดอาวุธจากเจ้าหน้าที่ ครม.จึงเห็นชอบประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง เมื่อ 7 เม.ย. พร้อมมอบหมายให้ตนเองเป็นผู้อำนวยการ ศอฉ. เพื่อป้องกันเหตุร้าย คลี่คลายสถานการณ์ให้ปกติสุข และดำรงไว้ซึ่งอำนาจรัฐและความมั่นคงปลอดภัยของบ้านเมือง

สุเทพ กล่าวว่า ศอฉ.มีอำนาจตาม พ.ร.ก.ในการระดมกำลังพลเรือน ตำรวจ ทหาร เพื่อป้องกันยับยั้งเหตุร้าย โดยสายบังคับบัญชายังมีอยู่ตามปกติ ทั้งนี้ ยืนยันว่า ศอฉ.ไม่เคยมีคำสั่งสลายการชุมนุมแม้แต่ครั้งเดียว โดยตลอดเวลา 2 เดือนครึ่งที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นการแก้ไขตามสถานการณ์ในแต่ละเวลา เช่น เมื่อ นปช.ตั้งเวทีที่ผ่านฟ้า และยึดราชดำเนินทั้งสาย ทั้งยังยึดสี่แยกราชประสงค์ ก่อให้เกิดปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ อย่างรุนแรง ศอฉ.จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ผลักดันผู้ชุมนุม เพื่อขอคืนพื้นที่บางส่วน เพื่อแก้ปัญหาจราจรตามนโยบายของนายกฯ

สุเทพ อธิบายการผลักดันผู้ชุมนุมว่า ไม่ใช่การสลายการชุมนุม ซึ่งเป็นการใช้กำลังบังคับโดยเจ้าหน้าที่ให้เลิกชุมนุม แต่คือ การดันให้ผู้ชุมนุมถอยร่น เพื่อคืนพื้นที่บางส่วนสำหรับการจราจร

สุเทพ กล่าวว่า ในการปฏิบัติงานเมื่อวันที่ 10 เม.ย. มีคำสั่ง 1/53 ศอฉ. ที่ระบุวิธีปฏิบัติในการควบคุมฝูงชนชัดเจน โดยสาระสำคัญของการใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนอยู่ในภาคผนวก 9 ว่าด้วยกฎการใช้กำลัง ซึ่งให้เจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนตามหลักสากล ตั้งแต่ โล่ กระบอง รถฉีดน้ำ แก๊สน้ำตาชนิดขว้าง และปืนลูกซองกระสุนยาง ซึ่งมีการแจ้งให้ประชาชนและผู้ชุมนุมทราบโดยตลอด ทั้งนี้ รับว่าหนังสือดังกล่าวประทับตรา "ลับมาก" ไม่เผยแพร่สู่ประชาชนตามระเบียบของราชการ แต่ ศอฉ.และรัฐบาลก็ได้ชี้แจงให้ประชาชนทราบโดยตลอด

สุเทพ กล่าวว่า การจัดกำลัง แถวหน้าเป็นเจ้าหน้าที่ถือโล่และกระบอง ถัดมาเป็นรถฉีดน้ำ และปืนลูกซอง อย่างไรก็ตาม อนุญาตให้มีอาวุธปืนเล็กยาวได้ไม่เกินหน่วยละ 10 คน สำหรับผู้บังคับหมู่ขึ้นไป เพื่อใช้ป้องกันหน่วย หรือประชาชน กรณีมีเหตุร้าย ซึ่งเป็นปกติที่กำหนดไว้ในกฎการใช้กำลัง หากแต่มีคำสั่งกำชับชัดเจนให้ใช้เมื่อพบผู้กระทำผิดซึ่งหน้า และจะเกิดอันตรายถึงชีวิตแก่เจ้าหน้าที่และประชาชน

ทั้งนี้ ในวันที่ 10 เม.ย. ซึ่งมีกำลังพลจากกองพลทหารราบที่ 9 มาปฏิบัติการที่บริเวณสะพานพระปิ่นเกล้านั้น ทราบว่าเดินทางมาโดยรถหุ้มเกราะสายพานลำเลียง แต่ไม่มีการใช้อาวุธที่อยู่ในรถต่อประชาชน

เขาระบุว่า วันดังกล่าว เริ่มปฏิบัติการเมื่อเวลา 13.00 น. และหยุดเมื่อ 18.15 น. เนื่องจากเห็นว่าใกล้ค่ำ จึงให้ทุกหน่วยหยุด ณ จุดที่ไปได้ถึง แต่ปรากฏมีผู้ชุมนุมล้อมรถพาหนะของเจ้าหน้าที่ และแย่งอาวุธเอ็ม 16 ปืนทราโว ไปจำนวนมาก แกนนำปลุกระดม เกิดการปะทะด้วยความรุนแรงขึ้น และเนื่องจากมีลม ทำให้แก๊สน้ำตาจากพื้นดินไม่ได้ผล ศอฉ.จึงสั่งให้เฮลิคอปเตอร์โปรยใบปลิวและแก๊สน้ำตาทางอากาศ เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าถึงเจ้าหน้าที่

สุเทพ กล่าวว่า ต่อมา เวลาทุ่มเศษ มีกองกำลังชุดดำ ใช้อาวุธสงครามนานาชนิด ยิงใส่เจ้าหน้าที่และประชาชน มีผู้บาดเจ็บ ล้มตาย เมื่อ ศอฉ.สั่งถอนกำลัง ปรากฏว่ามีการปิดล้อมเจ้าหน้าที่ ใช้เอ็ม 79 และปืนเล็กยาว ยิงใส่เจ้าหน้าที่ รวมถึงใช้ระเบิดชนิดขว้าง ศอฉ.จึงอนุญาตให้ใช้อาวุธปืนยิงขู่เพื่อป้องกันตนเองได้ อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถจับชายชุดดำได้แม้แต่คนเดียว เนื่องจากเข้าไม่ถึงตัวและมีการปะปนในกลุ่มผู้ชุมนุม ทั้งนี้ มีตำรวจสายสืบของนครบาลสามารถแย่งชิงอาวุธจากชายชุดดำได้ 1 รายโดยได้เครื่องยิงเอ็ม 79 มา ทั้งนี้ หลังเหตุการณ์ 10 เม.ย. มีการกำหนดมาตรการป้องกันการสูญเสียบาดเจ็บหลายอย่าง อาทิ ให้เจ้าหน้าที่ตั้งหน่วยอยู่กับที่ รักษาระยะห่างอย่างน้อย 150 เมตร ไม่ให้ประชาชนเข้าถึงตัว มีด่านตรวจที่มีที่กำบัง

สุเทพ ย้ำว่า ศอฉ.ไม่เคยสั่งการหรืออนุญาตให้มีการซุ่มยิง เพราะไม่มีเจตนาทำร้ายประชาชน การอนุมัติใช้อาวุธมีลำดับขั้นตอนตามความรุนแรงของสถานการณ์ โดยหลังเกิดเหตุ 10 เม.ย. ได้อนุญาตให้ใช้ปืนลูกซองกระสุนลูกปราย เพื่อระงับเหตุและไม่ประสงค์ชีวิตประชาชน โดยต้องเล็งยิงในระดับต่ำกว่าเข่าลงไป ต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่ตั้งด่านตามถนน ถูกผู้ก่อการร้ายใช้อาวุธสงครามโจมตี จึงอนุญาตให้มีปืนเล็กยาวป้องกันตัว จากนั้น เมื่อผู้ก่อการร้ายซุ่มยิงจากตึกสูง จึงมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ควบคุมพื้นที่สูงข่ม รอบบริเวณไม่ให้มีการทำร้ายเจ้าหน้าที่ได้

กรณีการเสียชีวิตของพัน คำกอง จากการสอบถามคณะตัวแทนของ พล.ร.1 เพื่อชี้แจงต่อสภาหลังเหตุการณ์ ได้ข้อมูลว่า เช้ามืดวันที 15 พ.ค. มีรถตู้ฝ่ามาบริเวณสถานีแอร์พอร์ตลิงก์ มีการโจมตีชุลมุน ไม่รู้ใครเป็นใคร เมื่อเหตุสงบพบผู้เสียชีวิต 2 ราย รายหนึ่งคือพัน คำกอง เสียชีวิตใกล้บังเกอร์เจ้าหน้าที่แต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธว่าไม่ใช่การกระทำของเจ้าหน้าที่ อีกรายคือเด็กชายคุณากร ซึ่งถูกยิงในซอยข้างโรงหนัง นอกวิถีกระสุนของเจ้าหน้าที่

ทนายแสดงภาพรถตู้ที่มีรอยกระสุนบริเวณกระจกข้าง สุเทพระบุว่า ไม่ทราบว่าใครยิง แต่เจ้าหน้าที่จะยิงแบบนี้ไม่ได้

อัยการถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับชายชุดดำ สุเทพระบุว่า ชายชุดดำปรากฏชัดเจนในช่วงค่ำวันที่ 10 เม.ย. ซึ่งมีการขอคืนพื้นที่ โดยจากเหตุทั้งหมด มีที่จับกุมได้บางส่วนได้ส่งดีเอสไอ ดำเนินคดีก่อการร้าย

นอกจากนี้ หลังการเปิดคลิปวิดีโอที่ถ่ายไว้โดยช่างภาพของสำนักข่าวเนชั่น ศาลถามว่าในคำสั่ง ศอฉ.เกี่ยวกับการใช้อาวุธ ระบุว่าห้ามใช้ปืนยิงอัตโนมัติ แต่ในคลิปดังกล่าว มีเสียงปืนอัตโนมัติ ผิดหรือไม่ สุเทพ ตอบว่า ในภาพไม่เห็นว่าใครยิงและมีปืนกี่กระบอก ได้ยินแต่เสียง อาจเป็นการยิงพร้อมๆ กันก็ได้

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เบิกความย้ำว่าไม่เคยมีคำสั่งสลายการชุมนุม ก่อนการประกาศภาวะฉุกเฉินร้ายแรงและขอคืนพื้นที่ รัฐบาลได้ขอให้ศาลแพ่งวินิจฉัยซึ่งวินิจฉัยว่ากระทำได้ เนื่องจากการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ มีหลักการปฏิบัติตามความเหมาะสมและจำเป็น

อภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่ทราบรายละเอียดวิธีปฏิบัติและไม่ทราบว่าในการปฏิบัติจริง มีการทำตามคำสั่งหรือไม่ แต่มีรายงานว่าได้ดำเนินตามนโยบายที่ให้ไว้ นอกจากนี้ ในช่วงที่มีการชุมนุมในหลายประเทศ ซึ่งสหประชาชาติให้ความสนใจถึงหลักการสลายการชุมนุม ก็ไม่ได้ระบุว่าไทยมีการละเมิด

อภิสิทธิ์กล่าวว่า ในวันที่ 10 เม.ย. ขณะปฏิบัติการยังไม่มีรายงานการเสียชีวิต จนเมื่อหยุดปฏิบัติหน้าที่ช่วงใกล้ค่ำ มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ถูกโอบล้อมและมีการใช้อาวุธกับเจ้าหน้าที่ จึงมีรายงานความสูญเสียครั้งแรก นอกจากนี้ ตั้งแต่ 14 พ.ค. มีรายงานว่ามีผู้ติดอาวุธโจมตีเจ้าหน้าที่ที่ด่านรอบการชุมนุม โดยมีการลำเลียงอาวุธจากในที่ชุมนุม อย่างไรก็ตาม สาเหตุการเสียชีวิตของประชาชนยังไม่มีข้อยุติ แต่ยังไม่มีรายงานว่าเกิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยบางกรณีมีความชัดเจนระดับหนึ่ง เช่น เสียชีวิตจากเอ็ม 79 ก็เสียชีวิตจากคนที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ใช้เอ็ม79 ขณะที่กรณีสูญเสียชีวิตจากการยิง ก็ต้องสอบสวน เพราะมีอาวุธของเจ้าหน้าที่ถูกปล้นและนำไปใช้ ทั้งนี้ ทราบว่ามีกลุ่มติดอาวุธในผู้ชุมนุม จากคลิปวิดีโอ มีการดำเนินคดีไปแล้วบางส่วนแต่จำรายละเอียดไม่ได้

อภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มการชุมนุม พยายามส่งคนไปเจรจากับแกนนำ นปช. หลายครั้ง แม้กระทั่งประกาศแผนปรองดอง กำหนดวันยุบสภา เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่แกนนำไม่ยุติการชุมนุมและเปลี่ยนเงื่อนไขการเจรจาอยู่ตลอด รัฐบาลจึงมีนโยบายกระชับวงล้อมเพื่อกดดันให้ยุติการชุมนุมโดยไม่สลายการชุมนุม เช่นเดียวกับการชุมนุมในปี 52

อภิสิทธิ์กล่าวว่า ในการปฏิบัติการขอคืนพื้นที่สวนลุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค. ไม่ทราบว่าใครสั่งเคลื่อนพล-ใช้กำลัง พร้อมอธิบายว่า การใช้คำว่าขอคืนพื้นที่ เป็นการอธิบายตามความเป็นจริง ไม่ใช่การหลีกเลี่ยงคำว่า สลายการชุมนุม โดยขณะนั้น ขอคืนพื้นที่สวนลุม การชุมนุมที่ราชประสงค์ก็ยังทำได้ แต่ถ้าเป็นการสลายการชุมนุมจะไม่เป็นเช่นนั้น

อภิสิทธิ์กล่าวว่า สำหรับเหตุการณ์ที่วัดปทุมวนาราม มีผู้สื่อข่าวต่างประเทศจาก นสพ.ดิอินเพนเดนท์ ได้โทรประสานงานให้รัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือ แต่หน่วยพยาบาลกลับถูกซุ่มยิง นอกจากนี้ยังมีการรายงานไม่เป็นลายลักษณ์อักษรระบุว่า มีชายชุดดำอยู่ในวัดปทุม มีการต่อสู้ ข่มขู่ทวงหนี้ด้วย

พล.ต.อ.ประทีป ตันประเสริฐ รักษาการ ผบ.ตร.ในขณะนั้น เบิกความว่า หลังประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เมื่อวันที่ 7 เม.ย.53 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศอฉ. โดยในการประชุม ศอฉ. มีสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้อำนวยการ ศอฉ.นั่งอยู่ด้วยทุกครั้ง ตั้งแต่เริ่มชุมนุม ตำรวจมีการหาข่าวตลอด ทั้งโดยตำรวจนอกและในเครื่องแบบ

พล.ต.อ.ประทีป กล่าวว่า ในช่วงแรก มีกำลังของตำรวจ ช่วย ศอฉ. 70 กองร้อยๆ ละ 155 คน ขึ้นตรงต่อกองทัพภาคที่ 1 ต่อมาหลัง 14 พ.ค. มีการเปลี่ยนนโยบาย มาขึ้นตรงต่อ ศอฉ. เนื่องจากมีการชุมนุมในต่างจังหวัดด้วย แต่กองทัพภาคที่ 1 มีอำนาจเฉพาะในกรุงเทพฯ จึงให้ ศอฉ.คุมกำลังแทน

พล.ต.อ.ประทีป กล่าวว่า ในการสลายการชุมนุมที่ผ่านฟ้า เมื่อวันที่ 10 เม.ย.53 ไม่ทราบว่าใครควบคุมการเข้าสลายการชุมนุม ทราบแต่ว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายยุทธการของทหาร โดยปกติการจัดกำลังจะแบ่งเป็น 3 ชั้น กำลังตำรวจอยู่ชั้น 2 และ 3 ส่วนด้านหน้าเป็นหน่วยงานอื่น ทั้งนี้ ตนเองไม่ทราบรายละเอียดการใช้กำลังและวิธีปฏิบัติ เนื่องจากดูแลด้านนโยบายเท่านั้น ต่อมา ที่ราชประสงค์ ศอฉ. มีนโยบายจำกัดพื้นที่ เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเพิ่มกำลัง เนื่องจากขณะนั้นมีการประกาศว่าเป็นการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กำลังเป็นของฝ่ายทหารไม่ทราบว่าฝ่ายใดปิดล้อม โดยกำลังตำรวจอยู่ที่ชั้น 2-3 เหมือนเดิม

พล.ต.อ.ประทีป กล่าวว่า ในวันที่ 10 เม.ย. ตำรวจมีเพียงโล่และกระบองเท่านั้น ไม่มีอาวุธอื่น ต่อมา ช่วงหลังมีการอนุญาตให้พกปืนพกได้ เนื่องจากมีตำรวจเสียชีวิตที่ สีลม 2 นาย จากการโดนยิงที่ท้อง 1 นายและเอ็ม 79 1 นาย นอกจากนี้ ศอฉ. ให้เจ้าพนักงานใช้ปืนลูกซอง และปืนเล็กยาว เพื่อป้องกันตนเองได้ โดยสมควรแก่เหตุ โดยมีการทำหนังสือย้ำหลักปฏิบัตินี้ตลอด

พล.ต.อ.ประทีป กล่าวว่า ไม่ทราบถึงรายงานการเสียชีวิตของประชาชน รวมถึงพัน คำกอง บริเวณราชปรารภ ที่จัดทำโดยตำรวจนครบาล พญาไท ทั้งนี้ โดยทั่วไป เมื่อมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น พนักงานสอบสวนในพื้นที่จะต้องเข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตุโดยเร็ว กรณีพัน คำกอง พนักงานสอบสวนเข้าไม่ได้ เพราะติดแนวลวดหนาม และมีการปะทะกันอยู่ แต่ต่อมาตำรวจก็ได้ไปโรงพยาบาลพญาไท ซึ่งมีการตั้งศพไว้

พล.ต.อ.ประทีป กล่าวว่า หากมีการกระทำใดๆ เกี่ยวกับการสลายการชุมนุมโดยตำรวจ ตนเองในฐานะ ผบ.ตร.และ ผช.ศอฉ. ต้องได้รับการรายงาน โดยที่ผ่านมา ไม่พบกรณีที่เจ้าหน้าที่ถูกลงโทษทางวินัยจากการไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง อย่างไรก็ตาม หากมีการกระทำเกินกว่าเหตุ ในฐานะผู้บังคับการตำรวจ มองว่า เจ้าพนักงานตำรวจผู้ที่กระทำการต้องรับผิดชอบ

 

อนึ่ง การไต่สวนการตายของ "พัน คำกอง" เสร็จสิ้นแล้วในวันนี้ โดยศาลอาญานัดฟังคำสั่ง ในวันที่ 17 ก.ย.นี้ เวลา 9.00น. โดยนับเป็นการไต่สวนการตายคดีแรกที่ศาลจะมีคำสั่ง
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กฎหมายผังเมืองว่าด้วยการคุ้มครองต้นไม้ใหญ่ในชุมชนเมืองของอังกฤษ

Posted: 30 Aug 2012 07:11 AM PDT

 

การสร้างพื้นที่สีเขียวในชุมชนเมือง นอกจากจะเป็นบทบาทของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ประชาชนทุกคนในแต่ละท้องถิ่นต้องมีส่วนช่วยสนับสนุนให้กลไกการสร้างพื้นที่สีเขียวขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ชุมชนเมืองด้วย

สาเหตุจากการขยายตัวของพื้นที่ชุมชนเมืองในพื้นที่มหานครลอนดอนและเมืองสำคัญอื่นๆ ในประเทศอังกฤษ พร้อมๆ กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมและการเพิ่มจำนวนประชากรในชุมชนเมือง ย่อมก่อให้เกิดปัญหามลภาวะและสิ่งแวดล้อมหลายประการ โดยเฉพาะปัญหามลภาวะทางอากาศที่เป็นผลโดยตรงจากการขยายตัวของพื้นที่ชุมชนเมืองและการขยายตัวของจำนวนประชากรในชุมชนเมือง อันอาจก่อให้เกิดอันตรายและผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนเมืองนั้นๆ

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศอังกฤษจึงได้พยายามแสวงหาแนวทางในการกำหนดมาตรการวางผังเมืองเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว อันถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุมชนเมือง จากปัญหามลภาวะทางอากาศได้ อันอาจทำสุขภาพกายและจิตใจของผู้คนในชุมชนเมืองดีขึ้น

แม้ว่าในอดีตที่ผ่านมารัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและท้องถิ่นระดับต่างๆ ของประเทศอังกฤษได้พยายามแสวงหาแนวทางร่วมกันในการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นในพื้นที่สาธารณะอันเป็นที่ดินของรัฐหรือการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นในพื้นที่ของเอกชน แต่รัฐ  หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และท้องถิ่นได้ประสบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่ในชุมชนเมืองหลายประการ ตัวอย่างเช่น ในอดีตรัฐหรือท้องถิ่นของประเทศอังกฤษไม่อาจดำเนินการอนุรักษ์และรักษาต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่เอกชนมีกรรมสิทธิ กล่าวคือ เอกชนมีสิทธิที่กฎหมายรับรองหรือคุ้มครองว่า เอกชนดังกล่าวสามารถครองครองหรือใช้ประโยชน์ดังกล่าวในฐานะที่เป็นเจ้าของและทรัพย์สินส่วนบุคคล ซึ่งรัฐเองไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปอนุรักษ์และบำรุงรักษาต้นไม่ใหญ่ที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่ของเอกชนที่เอกชนมีกรรมสิทธิ์ได้

ในเวลาต่อมา รัฐบาลอังกฤษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวางผังเมือง จึงได้พยายามแสวงหาแนวทางเกี่ยวกับการวางมาตรการทางกฎหมายผังเมืองเพื่อคุ้มครองต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่ของรัฐและของเอกชน เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวในบริเวณชุมชนเมืองและประโยชน์อื่นๆ อันเกิดมาจากการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ในชุมชนเมือง เช่น เสริมสร้างคุณค่าทางสิ่งแวดล้อมในชุมชนเมือง  เสริมสร้างเส้นทางการเดินทางหรือสัญจรสีเขียวและอนุรักษ์พื้นที่ทางธรรมชาติอื่นๆ ที่อยู่ภายในชุมชนเมือง ดังนั้น รัฐบาลอังกฤษจึงได้บัญญัติกฎหมาย Town and Country Planning (Tree Preservation) (England) Regulations 2012 และกฎหมาย Town and Country Planning Act 1990 ที่กำหนดอำนาจและหน้าที่ของท้องถิ่นให้สามารถดูแลและป้องกันการทำลายเพื่อการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่ในบริเวณพื้นที่ชุมชนเมือง

กฎหมาย Town and Country Planning (Tree Preservation) (England) Regulations 2012 และกฎหมาย Town and Country Planning Act 1990 ได้กำหนดมาตรการหลายประการเพื่อการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่ในบริเวณพื้นที่ชุมชนเมือง โดยมีสาระสำคัญ กล่าวคือ กฎหมายดังกล่าวได้ให้อำนาจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของอังกฤษในการอนุญาตหรือห้ามเอกชนจงใจทำลาย จงใจทำให้เสียหาย ตัด โค่นและถอนต้นไม้ขนาดใหญ่ในพื้นที่ทั่วไปในชุมชนเมืองและพื้นที่ในบริเวณชุมชนเมืองที่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยกฎหมายฉบับนี้ได้ให้อำนาจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการออกคำสั่งอนุรักษ์ต้นไม้ (Tree Preservation Orders – TPOs) ห้ามมิให้เอกชนจงใจทำลาย จงใจทำให้เสียหาย ตัด โค่นและถอนต้นไม้ในพื้นที่ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนและพื้นที่ที่เป็นกรรมสิทธิของรัฐและท้องถิ่น

เหตุที่กฎหมายผังเมืองของอังกฤษได้ถูกบัญญัติไว้เป็นเช่นนี้ ก็เพราะรัฐบาลอังกฤษประสงค์ที่จะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับต่างๆ ทำหน้าที่ในการดูแลต้นไม้เพียงภายในพื้นที่ของตนและอาศัยอำนาจดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องในการห้ามเอกชนไม่ให้ทำลายต้นไม้ขนาดใหญ่ระบุเฉพาะเพียงต้นเดียวที่เหมาะสมที่จะได้รับการอนุรักษ์หรือต้นไม้ที่ขึ้นเป็นกลุ่มในชุมชนเมืองหรือในบริเวณป่าไม้ในชุมชนเมืองอันมีคุณค่าต่อการอนุรักษ์ ซึ่งต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่ในชุมชนเมืองสามารถสร้างพื้นที่สีเขียวในชุมชนเมืองได้และต้นไม้ใหญ่บางต้นยังมีอายุที่มาก อันทำให้ยากต่อการตัด โค่น ถอน ทำลายหรือทำให้เสียหายด้วยประการอื่นๆ ด้วย

กฎหมายผังเมืองของอังกฤษยังได้วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสาระสำคัญของคำสั่งอนุรักษ์ต้นไม้ของอังกฤษประกอบด้วย ผู้ที่ถูกกระทบสิทธิหรือผู้ที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง การระบุข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งที่ตั้งต้นไม้หรือพื้นที่ที่ท้องถิ่นมีคำสั่งให้อนุรักษ์ต้นไม้ หลักเกณฑ์และวิธีการในการโต้แย้งคำสั่งและอุทธรณ์หากผู้ที่ถูกกระทบสิทธิหรือผู้ที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งในกรณีที่ไม่พอใจคำสั่งดังกล่าวหรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องใช้ดุลพินิจมิชอบด้วยกฎหมายและระยะเวลาเริ่มต้นจนถึงสิ้นผลของคำสั่งดังกล่าว นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำต้องจัดทำแผนที่ประกอบการออกคำสั่งอนุรักษ์ต้นไม้ (Tree Preservation Order Map) เพื่อให้เอกชนผู้รับคำสั่งหรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับประเภทของต้นไม้ ขนาดของพื้นที่และตำแหน่งของต้นไม้ที่ชัดเจนเพื่อประโยชน์แห่งการอนุรักษ์ต้นไม้เฉพาะต้นหรือกลุ่มต้นไม้ที่ถูกระบุในคำสั่งของท้องถิ่น

แม้ว่าท้องถิ่นมีอำนาจในการออกคำสั่งอนุรักษ์ต้นไม้ แต่ภายหลังจากที่ท้องถิ่นได้ออกคำสั่งดังกล่าวแล้ว กฎหมายของอังกฤษยังเปิดช่องให้เอกชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ สามารถขออนุญาตต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้ท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ของท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องให้ดุลพินิจพิจารณาคำขอของเอกชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ต้องการตัด โค่น ถอน ทำลายหรือทำให้เสียหายอื่นๆ  (Application for tree works) เป็นกรณีไป โดยเอกชนต้องระบุถึงความจำเป็นอันอาจกระทบต่อคำสั่งอนุรักษ์ต้นไม้และพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Description of Works) และระบุถึงตำแหน่งที่ตั้งหรือข้อมูลของต้นไม้ที่อ้างถึงความจำเป็นในการขออนุญาตเป็นรายกรณีดังกล่าว (Identification of Tree) รวมไปถึงการระบุความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อทรัพย์สินอื่นๆ อันอาจเกิดขึ้นภายหลังจากที่ได้รับการอนุญาตจากท้องถิ่นแล้ว (Alleged Damage to Property)

กฎหมายผังเมืองของอังกฤษยังได้กำหนดโทษของผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งอนุรักษ์ต้นไม้ดังกล่าวไว้ โดยบุคคลใดที่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อคำสั่งดังกล่าว ศาลแขวงท้องถิ่นมีอำนาจเปรียบเทียบปรับเป็นจำนวนเงินไม่เกิน £20,000 หรือประมาณหนึ่งล้านบาท ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนต่อคำสั่งนี้อย่างร้ายแรงและส่งผลกระทบต่อพื้นที่อนุรักษ์และสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นเป็นอย่างมากศาลสูงอาจพิจารณาให้ผู้ฝ่าฝืนดังกล่าวชดใช้ค่าเสียหายโดยที่กฎหมายมิได้จำกัดอัตราค่าปรับขั้นสูงเอาไว้

มาตรการทางกฎหมายผังเมืองในการให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการออกคำสั่งอนุรักษ์ต้นไม้ จึงถือเป็นขั้นตอนหนึ่งในอนุรักษ์ต้นไม้ในชุมชนเมือง (Urban Tree Preservation Procedure) เพราะมาตรการการออกคำสั่งอนุรักษ์ต้นไม้ของอังกฤษมิได้มุ่งหมายเพียงเพื่อคุ้มครองต้นไม้ในพื้นที่อนุรักษ์ในชนบทหรือพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น มาตรการการออกคำสั่งอนุรักษ์ต้นไม้ตามกฎหมายผังเมืองของอังกฤษดังกล่าวยังประสงค์ที่จะคุ้มครองต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ขึ้นอยู่ในชุมชนเมืองหรือต้นไม้อื่นๆ ที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่ชุมชนเมืองที่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ (Urban Designated Conservation Areas)

ด้วยเหตุนี้ การกำหนดมาตรการทางกฎหมายผังเมืองโดยการให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการออกคำสั่งอนุรักษ์ต้นไม้จึงถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่รัฐได้ให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการส่งเสริมและอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่ในชุมชนเมืองหรือท้องถิ่นอื่นๆ ไม่ให้ถูกทำลายจากเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ที่ปราศจากเหตุผลอย่างเพียงพอเพื่ออ้างการตัด โค่น ถอน ทำลายหรือสร้างความเสียหายต่อต้นไม้ใหญ่ในชุมชนเมือง นอกจากนี้ การกำหนดมาตรการดังกล่าวย่อมถือเป็นการส่งเสริมรุกขกรรม (Arboriculture) หรือการปลูกและจัดการเกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่เพื่อประโยชน์แห่งภูมิทัศน์ในชุมชนเมือง เพื่ออนุรักษ์พื้นที่สีเขียวในชุมชนเมืองให้ดำรงอยู่และรอดพ้นจากการทำลายในลักษณะหรือรูปแบบต่างๆ แม้ว่าประเทศอังกฤษประกอบด้วยพื้นที่ชุมชนเมืองที่ขยายตัวมากขึ้น แต่มาตรการทางกฎหมายผังเมืองว่าด้วยการคุ้มครองต้นไม้ใหญ่ถือเป็นส่วนช่วยที่สำคัญในการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวในชุมชนเมืองประการหนึ่ง ไม่ให้การขยายตัวของชุมชนเมืองมาทำลายพื้นที่สีเขียวในชุมชนเมืองที่ควรค่าต่อการอนุรักษ์ไว้

 



[1] นักวิจัยประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดอมงฟอร์ต สหราช อาณาจักร                                                          

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แฉล็อบบี้ยิสต์บรรษัทยาข้ามชาติแทรกซึมทุกอณูรัฐ-เอกชน

Posted: 30 Aug 2012 07:06 AM PDT

ขัดขวางการเข้าถึงยา-หวังดันเอฟทีเอ ไทย-ยุโรปแลกผลประโยชน์เตือนสภาหอการค้าและ สภาอุตสาหกรรมต้องระวัง ไม่ตกเป็นเหยื่ออ้างใช้ชื่อ

30 ส.ค.55 เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการเข้าถึงยาออกมาเปิดโปงพฤติกรรมล็อบบี้ยิสต์บริษัทยาข้ามชาติแทรกซึมไปในคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา, สภาอุตสาหกรรม และสภาหอการค้า เพื่อใช้ชื่อองค์กรเหล่านี้สร้างความชอบธรรมในการเร่งการเจรจาเอฟทีเอ และยอมรับเงื่อนไขของสหภาพยุโรปที่จะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของคนไทย

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาล็อบบี้ยิสต์บริษัทยาข้ามชาติพยายามแทรกเข้าไปในหน่วยงานต่างๆ เช่น เป็นคณะอนุกรรมาธิการของวุฒิสภา เพื่อโจมตีการประกาศบังคับใช้สิทธิในประเทศไทย ทั้งที่เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯเคยร้องเรียนถึงความไม่ชอบธรรมดังกล่าว ก็ยังปล่อยให้มีรายงานที่มีอคติและไม่มีฐานทางวิชาการออกมา และล่าสุดยังพยายามใช้ชื่อของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญาจากยุโรปมาทำงานวิจัยเร่งด่วนใน 2 สัปดาห์เพื่อสนับสนุนการยอมรับเนื้อหาความตกลงที่เกินไปกว่าข้อตกลงทริปส์

“เราจะทำหนังสืออย่างเป็นทางการไปเพื่อสอบถามเรื่องนี้กับสภาหอการค้า เพราะข่าวที่ได้มาไม่ใช่เงินสภาหอการค้าที่จัดจ้าง แต่เป็นเงินของอุตสาหกรรมยาข้ามชาติที่ทำอย่างไม่ชอบธรรม เราต้องการรู้ว่าสภาหอการค้ายอมรับให้เกิดการกระทำเช่นนี้ได้อย่างไร พวกเราไม่ได้ค้านการทำเอฟทีเอ แต่คัดค้านการทำเอฟทีเอที่เอาแต่ประโยชน์ทางการค้าของคนบางกลุ่ม โดยทิ้งภาระให้คนทั้งประเทศแบกรับ หากการเจรจาการค้าใช้วิชาการเข้าช่วยและมีกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่รับสนองกันเป็นลูกคลื่นแบบนี้ ซึ่งเป็นความผิดปกติตั้งแต่ การทำความเห็นของกรมเจรจาฯที่บิดเบือนงานวิจัยทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในประเทศไทยว่า การยอมรับทริปส์พลัสไม่มีผลกระทบ เชื่อว่างานนี้เป็นการจับมือกันระหว่างผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่และกลุ่มบริษัทยาข้ามชาติ”

ทางด้านนายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า นอกจากวุฒิสภา และสภาหอการค้าแล้ว ที่ผ่านมา กลุ่มเหล่านี้ยังแทรกซึมเข้ามาเคลื่อนไหวในนามสภาอุตสาหกรรมด้วย

“ในคณะกรรมการกลไกความร่วมมือระดับประเทศ (Country Coordinating Mechanism- CCM) ของกองทุนโลก (Global Fund) ในประเทศไทย คนเหล่านี้ไปล็อบบี้ให้สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยส่งสมาคมผู้ผลิตยาและเวชภัณฑ์ หรือ PReMAและตัวแทนสมาคมโรงพยาบาลเอกชนมาเป็นผู้แทนใน CCM ซึ่งภาคประชาสังคมกังขาถึงความเหมาะสมและการทับซ้อนด้านผลประโยชน์ ทำให้มีการคัดค้านทั้งจากภาคประชาสังคมและภาควิชาการโดยตลอด และเราได้ทำหนังสือคัดค้านอย่างเป้นทางการไปยังสภาธุรกิจทั้งสองแล้ว”

ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ภาคประชาสังคมไม่ได้คัดค้านการเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป แต่การเร่งรัด บิดเบือนความจริง ละทิ้งงานวิชาการ และการแผ่ซ่านทางอิทธิพลของล็อบบี้ยิสต์เช่นนี้เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ ดังนั้น พวกเราจะขอติดตามตรวจสอบและร้องเรียนไปทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขอเรียกร้องให้กรมเจรจาการค้า กระทรวงพาณิชย์ นำเอกสาร Scoping exercise ที่ไปทำกับสหภาพยุโรปเมื่อปลายเดือน ก.ค. ออกมาเปิดเผย เพราะถือว่าเป็นการพยายามไปทำความผูกพันไว้ก่อนหน้าที่เรื่องนี้จะผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา เราเชื่อว่า รัฐบาลชุดนี้จะต้องฟังเสียงประชาชน”

เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขานุการการประชุมระดับสูงเพื่อพิจารณาเตรียมการเปิดการเจรจาการค้าเสรีของไทย ได้เสนอต่อรัฐบาลว่า ‘ควรกำหนดให้ไทยมีท่าทีการเจรจาที่ยืดหยุ่น โดยอาจยอมรับข้อผูกพันที่มากกว่า TRIPsหรือยอมรับ TRIPs Plus ในการจัดทำการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป เนื่องจากการคุ้มครองข้อมูลทดสอบยา (Data Exclusivity) เพิ่มเติม 5 ปีจะไม่มีผลกระทบต่อราคายาในปัจจุบัน และการคุ้มครองข้อมูลทดสอบยา อาจมีผลทำให้ยาสามัญ (Generic drugs) วางตลาดได้ช้าลงแต่ไม่เกิน 5 ปี จึงทำให้ผลกระทบต่อยามีจำกัด’ และจะเร่งนำร่างกรอบดังกล่าวเข้าสู่ ครม.ใน 1-2 สัปดาห์นี้เพื่อทันการพิจารณาของรัฐสภาในสมัยนี้ แม้จะมีเสียงคัดค้านจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าข้อสรุปดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะมีงานวิจัยอย่างน้อย 3 ชิ้นที่ใช้งบประมาณกรมเจรจาฯจัดจ้างต่างชี้ว่ามีผลกระทบรุนแรง แค่เพียงการผูกขาดข้อมูลทางยาประการเดียวจะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นทุกปี โดยนับจากปีที่ 5 เป็นต้นไปจะมีผลกระทบมากกว่า 80,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นทุกงานศึกษาจึงสรุปว่า ไม่ควรรับข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าทริปส์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ชาลี ดีอยู่’ แรงงานชาวพม่าบาดเจ็บได้รับเงินชดเชยจากซีพีแล้ว

Posted: 30 Aug 2012 07:04 AM PDT

หลังศาลแรงงานไกล่เกลี่ย ในคดีฟ้องประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน ชาลีเป็นที่รู้จักต่อสาธารณะในระหว่างรักษาตัว ถูกควบคุมตัวเพื่อรอส่งกลับและถูกล่ามโซ่ไว้กับเตียงผู้ป่วย ซึ่งต่อมาศาลได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัว

หลังศาลแรงงานพิพากษาตามการไกล่เกลี่ยของคู่ความ ในคดีฟ้องเรียกค่าเสียหายกรณี ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานก่อสร้างในอาคารโรงงานจนบาดเจ็บสาหัสลำใส้ใหญ่แตก กระดูกหัก และกรณีชาลีเป็นที่รู้จักต่อสาธารณะในระหว่างรักษาตัวในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 เมื่อชาลีถูกควบคุมตัวเพื่อรอส่งกลับและถูกล่ามโซ่ไว้กับเตียงผู้ป่วย ซึ่งต่อมาศาลได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัว

วันที่ 27 สิงหาคม 2555 นายชาลี ดีอยู่ แรงงานข้ามชาติชาวพม่า ได้รับเงินชดเชยจำนวน 100,000 บาท จากบริษัทบริษัทซีพีค้าปลีกและการตลาดจำกัด (CP) กรณีที่นายชาลี ยื่นฟ้องนายธารา ริตแตง นายจ้าง, ห้างหุ้นส่วนจำกัด NSV Supply ผู้รับเหมาก่อสร้าง, และบริษัทซีพีค้าปลีกและการตลาดจำกัด เพื่อเรียกค่าเสียหายจากอุบัติเหตุขณะทำงานก่อสร้าง รื้อถอนและดัดแปลงต่อเติมอาคารโรงงาน CPเป็นเหตุให้นายชาลี ดีอยู่ได้รับบาดเจ็บสาหัส ลำใส้ใหญ่แตก กระดูกสะโพกและขาหักนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลกว่าสามเดือน ปัจจุบันสภาพร่างกายยังอ่อนแอและไม่สามารถกทำงานได้ตามเดิม

เหตุเกิดมื่อวันที่ 9 มกราคม 2554 นายชาลี ถูกผนังปูนหล่นทับ ระหว่างทำงานก่อสร้างให้ผู้รับเหมาซึ่งทำการรื้อถอน ดัดแปลง และต่อเติมห้องทำงานวิศวกรภายในอาคารโรงงานบริษัท CP ในอำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานวินิจฉัยว่าการดำเนินการก่อสร้างไม่เป็นไปตามกำหนดวิธีการปฏิบัติงานที่ปลอดภัยตามมาตรฐานในการบริหารและจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. 2551 นายชาลีถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลปทุมธานี ต่อมาตำรวจได้เข้าควบคุมตัวนายชาลีด้วยข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมายและเกือบถูกส่งกลับประเทศพม่าทั้งที่ยังป่วยหนัก เมื่อมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) เข้าให้ความช่วยเหลือ นายชาลีจึงถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจที่ซึ่งนายชาลีถูกล่ามโซ่ไว้กับเตียงในสถานะผู้ป่วยต้องกัก ต่อมาวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 ศาลอาญากรุงเทพฯใต้ได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวนายนาชาลี เและให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองชดเชยค่าเสียหายจากการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมีหลักฐานว่า ชาลีได้ขึ้นทะเบียนแรงงานไว้แล้ว

ปัจจุบันเเม้นายชาลีจะอาการดีขึ้นแล้วหลังจากต้องเดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อติดตามอาการตลอดมาเป็นเวลากว่า 1 ปี แต่ยังคงต้องดามเหล็กเพื่อรักษากระดูกสะโพกและขาที่หัก โดยที่ชาลียังไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติตามเดิม และมีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถกลับไปทำงานใช้แรงงานหนักได้อีก และเนื่องจากเป็นแรงงานข้ามชาติที่ยังมิได้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งตามระเบียบสำนักงานประกันสังคมกำหนดให้ไม่สามารถได้รับเงินจากกองทุนเงินทดแทนได้ แรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้จึงถูกปฏิเสธสิทธิที่จะได้รับการดูแลเยียวยาการบาดเจ็บจากการทำงานจากกองทุนเงินทดเเทน แม้สำนักงานประกันสังคมจะเข้ามาดูแลเป็นตัวกลางในการมีคำส่งให้ผู้รับเหมาก่อสร้างเข้ามาดูแลค่ารักษาพยาบาลสำหรับนายชาลี หรือนายจ้างในกรณีอื่น ๆ ที่คล้ายกัน แต่ก็ยังมีปัญหาอุปสรรคในการบังคับให้นายจ้างปฏิบัติตามคำสั่งหรือมีความล่าช้า ส่งผลให้ลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติไม่สามารถได้รับการเยียวยาได้อย่างทันท่วงทีและเต็มเม็ดเต็มหน่วยตามสิทธิที่ตนควรได้รับ

ต่อมา มสพ.ได้ให้ความช่วยเหลือในการต่อทะเบียนแรงงานให้กับนายชาลีเพื่อให้ยังสามารถอยู่ในประเทศไทยได้ในระหว่างดำเนินการเรียกร้องสิทธิตามกฎหมาย และได้ยืนฟ้องต่อศาลแรงงานขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนระเบียบของสำนักงานประกันสังคม โดยเห็นว่าเป็นระเบียบที่เลือกปฏิบัติและขัดต่อรัฐธรรมนูญและพันธกรณีของประเทศไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึี่งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ก็ได้มีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลไทยทบทวนระเบียบดังกล่าวนี้ โดยคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล และอีกคดีซึ่งฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนายจ้าง ผู้รับเหมาก่อสร้าง และบริษัท CP โดยศาลได้มีคำพิพากษาตามการไกล่เลี่ยตกลงระหว่างคู่ความให้บริษัท CP ชดเชยค่าเสียหายเป็นเงิน 100,000 บาท และนายธารา ริตแตง นายจ้างซึ่งเข้ามาในคดีในวันสุดท้ายตกลงจ่ายค่าเสียหาย 10,000 บาท ส่วนผู้รับเหมาก่อสร้างไม่เข้ามาในคดี โดยหลังจากนายชาลีได้รับเงินดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม จึงได้เดินทางกลับภูมิลำเนาในประเทศพม่าตามความประสงค์ของนายชาลีและครอบครัว

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น