โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ศาลนางรองสั่งจำคุก 3 ชาวบ้าน ฐานรุกป่า

Posted: 04 Aug 2012 02:08 PM PDT

ศาลนางจังหวัดนางรองพิพากษาชาวบ้านรุกป่าดงใหญ่ จำคุก 8 เดือน ไม่รอลงอาญา ด้านกรมคุ้มครองสิทธิฯ หอบเงิน 6 แสนประกันตัว

 
 
ผู้สื่อข่าวรางงานว่า เมื่อวันที่ 31 ก.ค.55 ศาลจังหวัดนางรอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ได้มีการอ่านคำพิพากษาคดีบุกรุกแผ้วถางที่ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ ตัดสินจำคุกนายลุน สร้อยสด ชาวบ้านเก้าบาตร ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ และพวกรวม 3 คน เป็นเวลา 8 เดือน ลดโทษ 1 ใน 4 เหลือ 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา เงินประกันตัวคงเดิมคือคนละ 200,000 บาท
 
ต่อมา ผอ.กองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ กรมคุ้มครองสิทธิฯ และอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้ร่วมกันพิจารณาคำร้องของจำเลยทั้งสาม โดยได้อนุมัติตามคำร้องและมอบหมายเจ้าหน้าที่เดินทางไปที่ศาลนางรอง พร้อมเงินสด 600,000 บาท เพื่อประกันตัวชาวบ้านทั้ง 3 คนแล้ว
 
ทั้งนี้ กรณีพิพาทระหว่างชาวบ้านเก้าบาตรและกรมป่าไม้ เกิดจากชาวบ้านในพื้นที่เดิมได้เข้าไปบุกเบิกพื้นที่ตามที่รัฐมีนโยบายเปิดป่าดงใหญ่บางส่วนให้ชาวบ้านบริเวณนั้นเข้าไปทำกิน โดยเป้าหมายเพื่อเป็นกันชน ต่อต้านการก่อการร้ายตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เมื่อราว 40 ปีก่อน แต่หลังเหตุการณ์สู้รบเบาบางลง รัฐมีนโยบายอพยพชาวบ้าน จัดตั้งเป็นหมู่บ้านจัดสรรที่ดินให้ครอบครัวละ 16 ไร่ โดยให้สิทธิเป็น สทก. สิทธิทำกิน คือทำกินได้แต่ห้ามจำหน่ายจ่ายโอน ส่วนที่ดินเดิมถูกกันไม่ให้เข้าไปทำกิน
 
จากนั้นในปี 2528 รัฐเปิดให้เอกชน กลุ่มบุคคลเข้ามาเช่าพื้นที่เสื่อมโทรมในเขตป่าสงวนดงใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านเคยบุกเบิกทำกินไว้เดิมก่อนมีการจัดสรร ผู้ที่ได้สิทธิเช่าส่วนใหญ่เป็นนายทุน สัญญาเช่าเกือบ 30 ปี เสียค่าเช่าแค่ปีละ 10-20 บาทต่อไร่ แต่ชาวบ้านก็ไม่สามารถเช่าได้ ด้วยข้ออ้างเงื่อนไข “ไม่มีรถไถใหญ่ ก็ไม่สมควรทำประโยชน์” ทั้งที่สิทธิของพวกเขา คือ “เจ้าของที่ดิน ไม่ใช่คนขอเช่าด้วยซ้ำ” ขณะที่ชาวบ้านเองก็พยายามร่วมกันลงชื่อคัดค้านการต่อสัญญาเช่าของบริษัทเอกชน
 
ต่อมาชาวบ้านที่รวมตัวกันได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย และ ปี 2552 ได้เข้าไปปักหลักตั้งถิ่นฐานในแปลงที่หมดสัญญาเช่าของบริษัทเอกชน พื้นที่ 1,900 ไร่ เพื่อทำกินและร่วมกันจัดสรรที่ดินในรูปแบบ “โฉนดชุมชน”
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวบ้านลุ่มน้ำเซินประชุมร่วมฝ่ายปกครอง แก้ปมป่าไม้รุกตัดยาง-ขับไล่จากพื้นที่

Posted: 04 Aug 2012 01:37 PM PDT

ชาวบ้านทุ่งลุยลาย-ลุ่มน้ำเซิน เชิญนายอำเภอคอนสาร-กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน-หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้ง ร่วมคุยยกเลิกการตัดต้นยางชาวบ้าน หวังลดความขัดแย้งตัวแทนชาวบ้านแจงพื้นที่จัดทำโฉนดชุมชน ยังรอรัฐฯ แก้ปัญหา

 
 
นายเหลือ ซึมดร ประธานโฉนดชุมชนตำบลทุ่งลุยลาย และตัวแทนชาวบ้านเครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซิน สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 ก.ค.55 ชาวบ้านได้จัดการประชุม ที่เทศบาลตำบลทุ่งลุยลาย โดยเชิญ นายอำเภอคอนสาร กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในตำบลทุ่งลุยลายทั้ง 7 หมู่บ้าน รวมทั้งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้ง ร่วมแลกเปลี่ยนเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหากรณีการตัดฟันต้นยางของชาวบ้าน
 
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่หน่วยลาดตระเวนป่าไม้ นำโดย นายพจน์ พรมเอี่ยม ได้เดินทางไปพบกับนายวานิช สุขันธ์ นายคำกอง ญาณไกล และนางสง่า ฤทธิ์คุ้ม ชาวบ้าน ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ แจ้งให้ทำการรื้อถอน ตัดฟันต้นยาง แม้ชาวบ้านพยายามร้องขอไม่ให้ดำเนินการใดๆ ในพื้นที่และยุติการขับไล่ชาวบ้าน เนื่องจากอยู่ในช่วงที่รัฐบาลออกนโนบายเพื่อแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือเรื่องสิทธิในที่ดินทำกินให้ราษฎร์ แต่นายพจน์ไม่รับฟัง โดยอ้างว่าชาวบ้านทำความผิดตามกฎหมายป่าไม้ พร้อมกับกำชับให้ชาวบ้านรีบตัดต้นยาง ออกภายในวันที่ 2 ส.ค.55 หากไม่ปฏิบัติตามจะเข้าดำเนินการยึด รื้อถอนเอง โดยชาวบ้านจะต้องออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด
 
นายเหลือ ให้ข้อมูลว่า การประชุมดังกล่าว มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่เข้าร่วม อาทิ นายตระกูล บุญบำรุง ประธานสภาเทศบาล นางกมลวรรณ กลีบสัตบุตร รองนายกเทศเทศมนตรี นายผจญ จังซุย รองนายกเทศบาลตำบลทุ่งลุยลาย นายเดช ทาเวียง กำนันตำบลทุ่งลุยลาย และนายพจน์ พรหมเอี่ยม ตัวแทนเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าผาผึ้ง อีกทั้งมีชาวบ้านในเครือข่ายเข้าร่วมกว่า 50 คน โดย ไพศาล ศิลปะวัฒนานันท์ นายอำเภอคอนสาร เดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานี มีกำหนดเดินทางกลับ 30 ก.ค.55 และแจ้งว่าไม่สามารถเดินทางเข้าร่วมประชุมกับชาวบ้านได้เนื่องจากติดธุระ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมร่วมกันระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานฝ่ายปกครองมีมติว่า ให้ยุติการตัดต้นยางพาราของชาวบ้านออกไปก่อน เนื่องจากแนวเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าผาผึ้ง ยังไม่มีความชัดเจนที่แน่นอน ดังนั้นจึงให้มีการแก้ไขแนวเขตที่มีปัญหาให้เสร็จก่อน โดยครั้งนี้ต้องให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการวางแนวเขตต่อไปด้วย
 
 
ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ส.ค.55 นายตระกูล บุญบำรุง ประธานสภาเทศบาลตำบลทุ่งลุยลาย ได้ทำหนังสือส่งถึง หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้ง ให้พิจารณาการผ่อนผันการตัดต้นยางพาราตามที่ราษฎรมีการร้องขอออกไปก่อน จนกว่าจะหาทางออกร่วมกันได้
 
ด้านนายไสว จุลละนันท์ ตัวแทนชาวบ้าน ให้ข้อมูลว่า ได้เคยเกิดเหตุการณ์ในกรณีเดียวกันนี้มาแล้ว โดยเมื่อวันที่ 13 ก.ย.54 ได้มีหนังสือลงนามโดยนายประทีป ศิลปะเทศ อดีตนายอำเภอคอนสาร สั่งการพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติ จังหวัดชัยภูมิ ส่งถึง 1.นายวานิช สุขันธ์ อายุ 53 ปี 2.นายคำกอง ญาณไกล อายุ 62 ปี 3.นางสง่า ฤทธิ์คุ้ม อายุ 52 ปี 4.นายประยูร สวดสม ทั้งหมดเป็นชาวบ้าน ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ให้ทำการรื้อถอน สิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งพืชผลที่ปลูกไว้ออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้งให้หมด ภายในวันที่ 7 ต.ค.54 ซึ่งชาวบ้านได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว
 
นายไสว กล่าวว่า พื้นที่กรณีพิพาทเป็นที่กินทำกินของชาวบ้าน และมีปัญหาเรื่องแนวเขตระหว่างราษฎรกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้ง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีข้อตกลงของคณะทำงานในพื้นที่ในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและได้ข้อยุติร่วมกัน
 
 
ส่วนการประชุมครั้งนี้มีขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับชาวบ้าน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2544 อีกทั้งชาวบ้านในพื้นที่ได้เข้าร่วมกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ระหว่างภาครัฐกับประชาชน ขณะนี้อยู่ในช่วงที่รัฐบาลออกนโนบายเพื่อแก้ไขปัญหา เพื่อช่วยเหลือในเรื่องสิทธิที่ดินทำกินให้ราษฎร์ โดยปัจจุบันได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาขึ้นมาจำนวนนับ 10 ชุดแล้ว
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 29 ก.ค. - 4 ส.ค. 2555

Posted: 04 Aug 2012 07:04 AM PDT

เผยแรงงานได้ค่าแรงจริงไม่ถึง 300 บ.

นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยว่า จากการศึกษาดัชนีค่าครองชีพในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาพบว่า แม้ผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศจะได้รับการขึ้นค่าจ้าง 40% ตั้งแต่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยมี 7 จังหวัด ที่มีค่าแรงขั้นต่ำถึง 300 บาทแล้ว ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร (กทม.) นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม และภูเก็ต แต่พบว่าอำนาจการซื้อหายไป 10 บาท เนื่องจากสินค้าประเภทอาหาร พลังงานและสิ่งของจำเป็นภายในบ้านเพิ่มราคาขึ้น เหลือใช้กำลังซื้อที่แท้จริงเพียง 290 บาท และหากปรับเพิ่มเป็น 300 บาททั่วประเทศในปี 2556 อำนาจการซื้อของแรงงานทั่วประเทศจะลดลงยิ่งกว่านี้

ขณะเดียวกัน จากการติดตามผลกระทบและการปรับตัวในช่วง 100 วันหลังการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท พบว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีใน 7 จังหวัดข้างต้น มีกลุ่มตัวอย่าง 87.5% ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง แต่ 73.2% ของกลุ่มที่ได้รับผลกระทบระบุว่ายังสามารถรับมือได้ ส่วนอีก 14.3% ไม่สามารถรับมือกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นได้

นายเกียรติอนันต์ กล่าวว่าข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลคือในระยะเวลา 5 เดือนที่เหลือก่อนสิ้นปี รัฐจะต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยการบริหารความเสี่ยงทางธุรกิจในภาพรวม เช่น สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ต้องไม่มีความเสี่ยงด้านการเมือง อย่าให้ต้นทุนธุรกิจเพิ่มมากกว่านี้ เช่น ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้อ่อนค่าลงกว่าเดิม ดูแลราคาพลังงานอย่าให้ปรับเพิ่มเร็วเกินไป ตลอดจนสร้างบรรยากาศความเชื่อมั่นให้ประชาชนมั่นใจในการบริโภค และนักลงทุนกล้าลงทุนมากขึ้น

(โพสต์ทูเดย์, 30-7-2555)

หวั่นปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ธุรกิจอาจปิดตัว 80,000 ราย

ผลวิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยว่า 100 วัน หลังขึ้นค่าแรง 300 บาท 7 จังหวัด พบว่า วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ เอสเอ็มอี ส่วนใหญ่ยังรับมือได้

แต่รายเล็กมีแนวโน้มปิดกิจการกว่า 80,000 ราย ขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ส่งสัญญาณเตรียมย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านกลางปีหน้า หลังปรับขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ

3 เดือนเศษ หลังขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ใน 7 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม และภูเก็ต ทำให้อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น เครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ ได้รับผลกระทบชัดเจน และหากปรับเป็น 300 บาททั่วประเทศก็มีแนวโน้มจะลดขนาดโรงงานในอีสานแล้วย้ายไปประเทศเพื่อนบ้าน

นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ปัญหาแรงงานที่ต้องเผชิญในปีหน้า คือการย้ายถิ่นฐานมายังเมืองใหญ่มากขึ้น เพราะโรงงานในจังหวัดเล็กๆ จะปิดตัว โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ เอสเอ็มอี ที่คาดว่าจะปิดตัว 80,000 -130,000 ราย และอีก 40,000 - 50,000 ราย สถานการณ์น่าเป็นห่วง

ขณะที่ผลสำรวจผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใน 7 จังหวัดนำร่อง หลังขึ้นค่าแรงตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.พบว่าร้อยละ 87 ได้รับผลกระทบ

แม้ว่าส่วนใหญ่ระบุว่ารับมือกับผลกระทบได้ แต่ก็มีต้นทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 17 ซึ่งสมุทรสาครเป็นจังหวัดที่ต้นทุนเพิ่มมากที่สุด

รองลงมาคือกรุงเทพ และปทุมธานี ส่วนวิธีที่ผู้ประกอบการเกือบครึ่งหนึ่งนำมาใช้ปรับตัวคือ ขึ้นราคาสินค้า ลดพนักงาน และลดปริมาณการผลิต

(ไทยพีบีเอส, 31-7-2555)

สธ.เร่งขยายประกันสุขภาพท้องถิ่นให้ทันปี 56

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการบริหารหลักประกันสุขภาพของท้องถิ่น ว่า ตามที่ทางรัฐบาลได้มีนโยบายสร้างความเสมอภาคของ 3 กองทุนคือ กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งได้เริ่มที่บริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 เป็นต้นมา สร้างความสะดวกผู้ที่อยู่ภายใต้สิทธิ์ 3 กองทุนเป็นอย่างดี แต่สิทธิ์ดังกล่าว ไม่ครอบคลุมข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่นและครอบครัว จำนวนประมาณ 800,000 คน เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือ อปท.มีกฎหมายและระเบียบเฉพาะ การเบิกจ่ายค่ารักษาแยกส่วน แต่ละองค์กรอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย แตกต่างจาก 3 กองทุน   กระทรวงสาธารณสุข จึงได้มอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ร่วมประชุมกับ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สมาคมผู้บริหาร ข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นสามารถใช้สิทธิ์รับบริการสาธารณสุข โดยได้เร่งให้ดำเนินการยกร่างให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี คาดว่าจะสามารถประกาศใช้อย่างเร็วที่สุด เดือนเมษายน 2556 หรือ ภายในตุลาคม 2556 เป็นอย่างช้า

(ไอเอ็นเอ็น, 31-7-2555)

สวัสดิ​การฯ​แรงงานจัด สัปดาห์​ความปลอดภัย

นายสุวิชาน ​แพทย์อุดม สวัสดิ​การ​และคุ้มครอง​แรงงานจังหวัดนครปฐม?​เปิด​เผยว่า สวัสดิ​การ​และคุ้มครอง​แรงงาน จ.นครปฐม ขอ​แจ้งว่ากรมสวัสดิ​การ​และคุ้มครอง​แรงงานมอบหมาย​ให้ จ.​เพชรบุรี ​เป็น​เจ้าภาพ​ใน​การจัดงานสัปดาห์​ความปลอดภัย​ใน​การ​ทำงานภาคตะวันตก ประจำปี 2555?​โดยกำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 9 - 10 ส.ค. 2555?ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏ​เพชรบุรี อ.​เมือง จ.​เพชรบุรี

ทั้งนี้​เพื่อ​เป็น​การรณรงค์ส่ง​เสริม​และถ่ายทอด​ความรู้ด้านปลอดภัย​ ใน​การ​ทำงานของสถานประกอบกิจ​การ หน่วยงานภาครัฐ​และองค์กรต่างๆ ที่​เกี่ยวข้อง​ในภาคตะวันตก ​ซึ่งมีกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วย ​การมอบรางวัลสถานประกอบกิจ​การดี​เด่นด้าน​ความปลอดภัยฯ ​การ​แสดงนิทรรศ​การด้าน​ความปลอดภัย​ใน​การ​ทำงาน ​การสัมมนาทางวิชา​การ ​การประกวดคำขวัญ ​การประกวดวาดภาพของนัก​เรียน​และนักศึกษา ​การประกวดภาพวาด ​และ​การประกวดร้อง​เพลง

ดังนั้น​จึงขอ​เชิญท่าน​และลูกจ้าง​ในสถานประกอบกิจ​การ​เข้าร่วมงาน สัมมนาวิชา​การ ​และร่วมประกวดวาดภาพ? ภาพ​โปส​เตอร์ ​และประกวดร้อง​เพลง?​โดยขอทราบหลัก​เกณฑ์​การประกวดข้างต้น ​ได้ที่สำนักงานสวัสดิ​การ​และคุ้มครอง​แรงงาน จ.นครปฐม ​โทร 034-340067-9 ต่อ 111, 113 ​และ 104

(แนวหน้า, 3-8-2555)

แฉเงินเดือนผู้บริหารมหาลัยพุ่ง 3 แสนบาท ส่วน พนง.ดิ่งเหว-สถานะแย่กว่าลูกเมียน้อย

นายเปรื่อง กิจรัตน์ภร อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) พระนคร ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งประเทศไทย (ทปอ.มรภ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม ทปอ.มรภ.เมื่อเร็วๆ นี้ มีความเห็นร่วมกันว่า ปัญหาค่าตอบแทนของพนักงานมหาวิทยาลัย ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข ดังนั้น วันที่ 7 สิงหาคม ตนในฐานะประธาน ทปอ.มรภ.จึงเชิญผู้บริหารกองแผนและนโยบายของ มรภ.ทั้ง 40 แห่ง มาจัดทำข้อมูลว่าแต่ละแห่งให้เงินเดือนพนักงาน แต่ละสาย/ ระดับ จำนวนเท่าไหร่ เพื่อหามาตรฐานกลางของค่าตอบแทนที่พนักงานในกลุ่ม มรภ.ควรจะได้รับ รวมถึง ต้องคำนวณด้วยว่าหากใช้มาตรฐานกลางค่าตอบแทนที่ มรภ.ทั้ง 40 แห่งตกลงร่วมกันแล้ว รัฐบาลจะต้องสนับสนุบงบประมาณเพิ่มให้มหาวิทยาลัยอีกเท่าใดถึงจะพอ จากนั้นจะเสนอสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) พิจารณา และเสนอต่อสำนักงบประมาณต่อไป

นายเปรื่องกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารัฐบาลจัดสรรงบฯให้มหาวิทยาลัยเป็นก้อน เพื่อใช้จ่ายค่าตอบแทน 1.5-1.7 เท่าของเงินเดือนข้าราชการ แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้บอกว่าให้มหาวิทยาลัยจ่ายเฉพาะเงินเดือนเท่านั้น แต่รวมถึงสวัสดิการต่างๆ ด้วย ดังนั้น แต่ละแห่งจึงต้องหักจาก 1.5-1.7 เท่าไปจัดทำเป็นสวัสดิการต่างๆ ให้พนักงานทำให้ได้เงินเดือนไม่เท่ากัน

"โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการ แต่ไม่ได้รวมพนักงาน และบอกให้มหาวิทยาลัยใช้เงินรายได้ของตัวเองเจียดจ่ายไปก่อน ซึ่งบางแห่งไม่มีเงินมากพอ ขณะที่ มรภ.ยังมีสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ และยังไม่ได้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ ดังนั้น รัฐจึงต้องรับภาระดูแลเรื่องดังกล่าวด้วย ขณะเดียวกันรัฐบาลเองไม่ชัดเจนว่าจะสนับสนุนมหาวิทยาลัยให้ออกนอกระบบหรือ ไม่ หากต้องการให้ออกนอกระบบ ก็ควรต้องมีปัจจัยที่เข้ามาสนับสนุน และผลักดันมหาวิทยาลัยมากกว่านี้ มหาวิทยาลัยจะได้เตรียมความพร้อม" นายเปรื่องกล่าว

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในภาพรวมคิดว่าระบบพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา ไม่เป็นไปตามแนวคิด หรือหลักการเกิดพนักงาน จะเห็นได้ว่าปัญหาซึ่งเป็นข้อกังวลก่อนมหาวิทยาลัยจะออกไปเป็นมหาวิทยาลัยใน กำกับรัฐหลายข้อเป็นจริงขึ้นมาแล้ว อาทิ เงินเดือนผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางแห่งสูง 200,000-300,000 บาท แต่เงินเดือนพนักงานกลับต่ำมาก เสรีภาพทางวิชาการน้อยลง เพราะถูกระบบประเมินผลงานค้ำคออยู่ พนักงานไม่มีขวัญกำลังใจ เพราะไม่มีหน่วยงานที่ออกมาเป็นปากเป็นเสียงให้ และส่งผลกระทบถึงค่าหน่วยกิตของนักศึกษาที่สูงขึ้น จากหลักสูตรพิเศษต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น

นายสมพงษ์กล่าวต่อว่า ปัญหาดังกล่าวถือเป็นวิกฤตหนึ่งของระบบอุดมศึกษาที่ต้องเร่งแก้ไข และหากยังไม่ทำให้ระบบพนักงานดีขึ้น คุณภาพของสถาบันอุดมศึกษาจะต่ำลงเรื่อยๆ แม้จะมีปริมาณงานวิจัยเพิ่มขึ้น แต่จะไม่เกิดผลในเชิงคุณภาพที่จะใช้งานวิจัยไปช่วยพัฒนาประเทศได้อย่างแท้ จริง ทั้งนี้ ในส่วนของจุฬามีปัญหาไม่มากเท่าที่อื่น เพราะยอมรับว่าจุฬาเป็นมหาวิทยาลัยใหญ่ที่มีความพร้อมทั้งด้านศักยภาพ และทรัพยากรค่อนข้างมาก ขณะเดียวกับ พ.ร.บ.จุฬายังเขียนไว้ค่อนข้างดีและชัดเจน ตนเป็นหนึ่งในพนักงานสายวิชาการ ที่เลือกเปลี่ยนสถานภาพจากข้าราชการมาเป็นพนักงานรุ่นแรก ได้เงินเดือน 1.7 เท่า และทุกครั้งที่รัฐบาลขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการ จุฬาจะปรับให้ด้วยแต่อาจจะช้าหน่อย ส่วนของพนักงานสายสนับสนุนจะได้รับเท่าไหร่นั้น ไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจน

"ปัญหาการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยนั้น ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยเล็กๆ ที่เตรียมออกนอกระบบ จะได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะจะสู้มหาวิทยาลัยใหญ่ไม่ได้ ขณะที่พนักงานที่บรรจุช้าจะเหมือนไม่มีอนาคต หากไม่จัดระบบดูแลให้ดีจะกลายเป็นปัญหา เพราะขณะนี้ไม่ใช่แค่เรื่องลูกเมียน้อยแล้ว แต่พนักงานจะกลายเป็นลูกหลง และมีสถานะไม่ต่างจากลูกจ้างเท่านั้น" นายสมพงษ์กล่าว

(มติชน, 3-8-2555)

รพ.เอกชนบี้รัฐเพิ่มค่ารักษาเหมาจ่าย

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า กรมอยู่ระหว่างการพิจารณาเพิ่มค่ารักษาพยาบาลแบบเหมาจ่ายรายโรคให้กับโรง พยาบาลเอกชน เพราะหลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายให้ผู้ป่วยของ 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ ประกอบด้วย กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค เข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งทั่วประเทศได้ ตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล เพราะทางโรงพยาบาลจะเรียกเก็บจากกองทุนต่างๆ เอง

ทั้งนี้ จากการดำเนินมาในช่วง 2-3 เดือน ทางโรงพยาบาลเอกชนพบว่ามีปัญหาด้านค่าใช้จ่ายในการรักษาของโรงพยาบาลสูงกว่า เงินที่เบิกได้จริง โดยเฉพาะในโรคที่ต้องรักษาฉุกเฉิน เช่น การผ่าตัดสมอง การผ่าตัดหัวใจ เป็นต้น จึงขอให้ทางรัฐบาลช่วยปรับค่ารักษาแบบเหมาจ่ายรายโรคเพิ่มขึ้น

นายรังสรรค์กล่าวอีกว่า ทางกรมมีความเข้าใจเรื่องค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลเอกชนที่สูง ซึ่งทางกรมมีคณะกรรมการที่มาจากตัวแทนแพทย์ นักวิชาการ พิจารณาปรับเพิ่มค่ารักษาพยาบาลแบบเหมาโรคให้สอดคล้องกับความเป็นจริง สำหรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของข้าราชการปี 2555 จะอยู่ที่ 6.1 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าเล็กน้อย.

(ไทยโพสต์, 3-8-2555)


ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รองสมุหราชองครักษ์เผย 'ในหลวง-ราชินี' ทรงห่วงสถานการณ์ภาคใต้

Posted: 04 Aug 2012 05:32 AM PDT

พล.อ.ณพล บุญทับ รองสมุหราชองครักษ์เผย ในหลวง-ราชินี ทรงห่วงสถานการณ์ความไม่สงบภาคใต้ ทรงช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ

4 ส.ค. 55 - เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่าพล.อ.ณพล บุญทับ รองสมุหราชองครักษ์กล่าวบรรยายพิเศษในการประชุมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรนหัวข้อ ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนหนึ่งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถทรงให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าวและได้ทรงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

"พระราชินีฯมีรับสั่งให้ ผมไปดูแลปัญหาชาวไทยพุทธ ในพื้นที่  และพระสงฆ์ ทรงให้ไปเยี่ยมพระให้ครบกว่า260วัดใน3จังหวัดชายแดนใต้ ทรงห่วงพระสงฆ์ คนไทยพุทธ ที่ตกเป็นเป้าหมาย พระราชินีฯทรงพระราชทานทรัพย์ให้ไปซื้อที่ดินต่อจากชาวไทยพุทธ ที่โดนข่มขู่ให้ขายที่ทางเข้าวัด ทรงให้ปลูกพืชในที่ดินพระราชทาน  ทรงให้กำลังใจ ไม่อยากให้ทิ้งแผ่นดินไป"พล.อ.ณพลกล่าว

พล.อ.ณพลกล่าวว่า ปัจจุบันยังมีจดหมายร้องทุกข์จาก3 จังหวัดภาคใต้จำนวนมากผ่านกองราชเลขาฯในพระองค์ สมเด็จพระราชินีทรงให้ส่งคนไปดูแล ทรงให้การช่วยเหลือด้านการประกอบอาชีพสำหรับประชาชนและจัดหาที่อยู่ให้กับผู้ได้รับผลกระทบ

"ผมยังคงต้องลงไปในพื้นที่ทุกเดือนไปแบบเงียบๆ ไม่ให้ใครรู้ล่วงหน้า ต้องไปอัพเดทสถานการณ์"พล.อ.ณพลกล่าว

พล.อ.ณพล กล่าวอีกว่า ผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้มีแผนปิดล้อมทางศาสนา เศรษฐกิจ การศึกษา และปิดล้อมทางทหาร กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบต้องการให้เอาทหารออกให้เขาปกครองกันเอง มีการฆ่าชาวไทยพุทธให้ย้ายหนี ขายที่ดิน เช่น ที่ อ.กรงปินัง อ.บันนังสตา จ.ยะลา เหลือหมู่บ้านไทยพุทธ หมู่บ้านเดียว และจากการเก็บข้อมูลคนไทยพุทธถูกฆ่า ใน3 จังหวัดชายแดนภาคใต่ต่อเนื่องก็พบว่าเป็นไปตามแผนของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ทำการปิดล้อมทางศาสนา จนคนไทยพุทธย้ายออกจากพื้นที่ไปเรื่อยๆ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอกซเรย์พื้นที่สีม่วงใกล้ท่าเรือปากบารากับ ‘นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาขาว’

Posted: 04 Aug 2012 04:42 AM PDT

สัมภาษณ์ นายก อบต.เขาขาว เผยอยากเห็นหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา รวมถึงองค์การพัฒนาเอกชนลงมาให้ข้อมูลในเวทีเดียวกัน

นายเวียง เตบเส็น นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาขาว

ในห้วงที่เมกะโปรเจ็กต์ถั่งโถมเข้าสู่จังหวัดสตูล โดยเฉพาะการโหมโรงเข้ามาของโครงการแลนด์บริดจ์สงขลา–สตูล ที่จะเริ่มจากท่าเรือน้ำลึกปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ไปเชื่อมกับท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ท่อขนส่งและคลังน้ำมันละงู และท่อขนส่งน้ำมันที่จะไปเชื่อกับคลังน้ำมันที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ของกระทวงพลังงาน ทางรถไฟรางคู่ที่จะใช้ขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือน้ำลึกปากบารา–ท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 พร้อมศูนย์ซ่อมบำรุง และสถานีบรรจุและแยกสินค้า

เอกสารรายงานผลการศึกษาโครงการสำรวจออกแบบเพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล ของกรมเจ้าท่าระบุว่า มีพื้นที่ที่มีศักยภาพพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมหลังท่าเรือถึง 1.5 แสนไร่ จากการสำรวจพบว่าพื้นที่ดังกล่าวคาบเกี่ยวอำเภอละงู อำเภอมะนัง อำเภอควนกาหลง และอำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล

อันตามมาด้วยแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภท ท้ายกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดสตูล พ.ศ. ... มาตราส่วน 1:250,000 ได้ระบุพื้นที่สีม่วง (ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า) ไว้ 3 พื้นที่ จุดแรกบริเวณตำบลเขาขาว อำเภอละงู จังหวัดสตูล จุดที่สองบริเวณตำบลนิคมพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล จุดที่สามบริเวณตำบลควนกาหลง อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล

“ผมไม่เคยรู้ว่ามีพื้นที่สีม่วงอยู่ที่ในตำบลเขาขาว อำเภอละงู จังหวัดสตูล” นายเวียง เตบเส็น นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาขาว พร้อมกับขอดูรายละเอียดว่า เป็นหมู่บ้านใดในตำบลเขาขาว

ตอนแรกนายเวียง เตบเส็น ไม่แน่ใจว่า พื้นที่สีม่วงดังกล่าว อยู่บริเวณเดียวกับหนองโพร๊ะบุหลัง ซึ่งมีอาณาบริเวณ 10 ไร่ ที่ตอนนี้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลเขาขาว จัดงบประมาณปรับปรุงภูมิทัศน์ 10 ล้านบาท หรือจะเป็นที่ดินของ “เสี่ยเกียรติ” นายสมเกียรติ เลียงประสิทธิ์ เจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด เกียรติเจริญชัยการโยธา ซึ่งเป็นผู้รับเหมารายใหญ่ของจังหวัดสตูล ตรงบริเวณหัวเขา ทางเข้าตำบลเขาขาว ริมคลองละงู หรือที่ใดกันแน่

เมื่อนายเวียง เตบเส็น สังเกตอย่างละเอียดจึงพบว่า น่าจะอยู่ตรงริมคลองละงู บริเวณบ้านดาหลำ ตำบลเขาขาว ฝั่งตรงข้ามเป็นบ้านห้วยมะพร้าว และบ้านทุ่ง ตำบลละงู พื้นที่ใกล้เคียงคือบ้านสันติสุข บ้านนาข่าใต้ ตำบลเขาขาว ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากทุกปี

บ้านดาหลำ มีพื้นที่ประมาณ 1,500 ไร่ มีชาวบ้าน 800 กว่าคน บ้านสันติสุข 1,000 กว่าคน บ้านนาข่าใต้ 400 กว่าคน หากรวมหมู่บ้านใกล้เคียงแล้ว มีชาวบ้านทั้งสิ้น 2 พันกว่าคน หากนับรวมบ้านห้วยมะพร้าว และบ้านทุ่ง ตำบลละงู จำนวนประชากรน่าจะมากถึง 4,000 คน ชาวบ้านส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนยางพารา ทำนาข้าว เป็นหลัก

“ถ้าบ้านดาหลำมีโรงงานอุตสาหกรรมหนัก ผมไม่เห็นด้วยกลัวมลพิษจะกระทบกับชาวบ้าน ซึ่งแก้ไขยากมาก แต่ถ้าเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเบา อาจจะพอรับได้ ส่วนหนึ่งผมอยากให้คนตำบลเขาขาวมีงานทำ เพื่อลดปัญหาการว่างงาน แต่ทั้งนี้ต้องเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่มีมลพิษ” นายเวียง เตบเส็น ย้ำด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

นายเวียง เตบเส็น บอกว่าที่ผ่านมาไม่มียังใครติดต่อมาทางองค์การบริหารส่วนตำบลเขาขาว เพื่อขอตั้งโรงงานอุตสาหกรรม มีแค่โรงโม่หินพุทธา ขออำนาจสภาตำบลเขาขาวอนุมัติสร้างโรงโม่หิน ที่เขาบ้านหาญ ตำบลเขาขาว เมื่อ 10 ปีที่แล้ว สมัยที่ยังเป็นสภาตำบลเขาขาว สมัยนั้นไม่ต้องทำประชาคมหมู่บ้าน ภาษีที่องค์การบริหารส่วนตำบลเขาขาวจัดเก็บได้จากโรงโม่หินพุทธาปีละ 150,000 บาท

นายเวียง เตบเส็น บอกว่าถ้าองค์การบริหารตำบลเขาขาวได้ภาษีจากแต่ละโรงงาน โรงงานละ 150,000 บาทต่อปี แต่ชาวบ้านได้รับมลพิษจนล้มป่วยมันก็ไม่คุ้มค่า

เมื่อ 3–4 ปี ครั้งที่โรงโม่หินพุทธาระเบิดหินที่เขาบ้านหาญ ชาวบ้านจำนวนมากก็ลุกขึ้นมาต่อต้านไม่ให้ระเบิดเขา เพราะได้รับผลกระทบจากฝุ่นและเสียงดัง จนโรงโม่หินพุทธา ต้องล้มเลิกความคิดไป

ตำบลเขาขาวมีพื้นที่ประมาณ 3,500 ไร่ ประชากรประมาณ 6 พันกว่าคน มีทั้งหมด 7 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านสันติสุข บ้านหาญ บ้านบ่อหิน บ้านนาข่าเหนือ บ้านดาหลำ บ้านทุ่งเกาะปาบ และบ้านนาข่าใต้

“เคยได้ยินข่าวจากชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า ตำบลเขาขาวเป็นพื้นที่ไข่แดงที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากท่าเรือน้ำลึกปากบารา ผมยอมรับว่าไม่รู้ข้อมูล เพราะไม่ได้ศึกษารายละเอียด”

นายเวียง เตบเส็น ค่อนข้างจะเห็นด้วยกับการพัฒนาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน เช่น เป็นแค่โรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร แต่ต้องไม่เสี่ยงโรคร้ายที่มากับมลพิษอุตสาหกรรม

“พี่น้องตายไปหนึ่งคนไม่สามารถประเมินค่าเป็นเงินได้ มันไม่คุ้มกับรายได้ที่องค์การบริหารส่วนตำบลเขาขาว จัดเก็บภาษีได้จากโรงงานมลพิษ” นายเวียง เตบเส็น กล่าว

หน่วยงานรัฐเองก็ไม่ได้ให้ข้อมูลเรื่องท่าเรือน้ำลึกปากบารา และพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากท่าเรือน้ำลึกปากบารา 1.5 แสนไร่ แก่คนตำบลเขาขาว

“ผมคิดไม่เห็นด้วยที่หน่วยงานรัฐทำมวลชนสัมพันธ์ โดยการดึงผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ผู้นำชุมชน โต๊ะอิหม่าม ด้วยการจ่ายเงินใต้โต๊ะให้สนับสนุนโครงการ ทางที่ดีก็คือการให้ข้อมูลทั้ง 2 ด้าน ทั้งด้านดีและด้านไม่ดี ผ่านการทำประชาคมหมู่บ้านทั้งตำบล ถ้าชาวบ้านไม่เอา ผมว่าคนที่อยากรับเงินก็ไม่กล้ารับ ใครรับถูกชาวบ้านโจมตีหนักแน่” นายเวียง เตบเส็น แนะกระบวนการการให้ข้อมูลเพื่อป้องกันการซื้อตัวผู้นำ

นายเวียง เตบเส็น เคยได้รับฟังคำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ของบริษัทที่ปรึกษาโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่มาให้ข้อมูล ณ ที่ว่าการอำเภอละงู จังหวัดสตูล เมื่อปลายปี 2554 ข้อมูลที่ได้รับมีแต่ผลดีเท่านั้น ไม่มีผลเสียอะไร บริษัทที่ปรึกษาฯ บอกว่าจะไม่ส่งผลกระทบกับตำบลเขาขาว เพราะพื้นที่ที่ใช้เป็นท่าเรือ เป็นที่ที่ถมลงไปในทะเล โดยไม่ยอมบอกว่า จะนำเขาดิน หิน ทราย จากภูเขา หาดทราย ที่ไหนไปถมทะเล ไม่บอกถึงผลการศึกษาที่ระบุว่าพื้นที่ที่ศักยภาพรองรับนิคมอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากท่าเรือน้ำลึกปากบาราว่า กินอาณาบริเวณไหนบ้าง

ด้วยเหตุนี้ นายเวียง เตบเส็น จึงต้องการให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา รวมถึงองค์การพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ลงมาให้ข้อมูลในเวทีเดียวกัน

“องค์การบริหารส่วนตำบลเขาขาว พร้อมรับเป็นเจ้าภาพจัดเวทีให้การศึกษา แก่ผู้บริหารและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โต๊ะอิหม่าม ครู และชาวบ้านในตำบลเขาขาว”

เป็นถ้อยยืนยันหนักแน่นจากปากของนายเวียง เตบเส็น นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาขาว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“ยุว นปช.” ขับรถสปอร์ตบุก ปชป. จี้มาร์คถอนคำพูด

Posted: 04 Aug 2012 04:14 AM PDT

“ยุว นปช.” ขับรถสปอร์ตเปิดประทุน บุก ปชป.จี้ “มาร์ค” ถอนคำพูดบิดเบือนอุดมการณ์คนเสื้อแดง หลังใส่เสื้อแดงขึ้นเวทีผ่าความจริง

4 ส.ค. 55 - เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่าเมื่อเวลาประมาณ 14.30 น. มีนักศึกษา 3 คน ผู้ชายแต่งชุดนักศึกษา 1 คน หญิงใส่เสื้อสีแดง 2 คน โดยอ้างตัวว่าเป็น "ยุว นปช." ได้ขับรถสปอร์ตหรูแบบเปิดประทุนสีขาวมายังที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ถอนคำพูดจากการพูดถึงอุดมการณ์ของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ  (นปช.) หรือคนเสื้อแดง ในวันที่นายอภิสิทธิ์สวมเสื้อแดงขึ้นเวทีผ่าความจริง หยุดล้มรัฐธรรมนูญ - ออกกฎหมายล้างผิดคนโกง ที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง เมื่อปลายเดือนที่่ผ่านมา  นักศึกษาทั้งสามคนไม่ยอมเปิดเผยชื่อจริง โดยผู้ชายบอกเพียงว่าชื่อ “ซิม” พร้อมกับระบุว่า แม้ว่ากลุ่มตนจะรับได้ที่นายอภิสิทธิ์สวมเสื้อแดงในการขึ้นเวทีผ่าความจริงในวันนั้น แต่ก็ไม่ควรพูดบิดเบือนอุดมการณ์ของคนเสื้อแดง จึงมาเรียกร้องในนายอภิสิทธิ์แสดงความรับผิดชอบขอให้ถอนคำพูดในเรื่องดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ได้มีตำรวจจาก สน.บางซื่อเข้ามาดูแลความเรียบร้อยด้วย.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ชาตินิยมสยาม-ปาตานี ความรุนแรงที่ปลายด้ามขวาน

Posted: 04 Aug 2012 03:20 AM PDT

ฟาฏอนียะ! ฉันศรัทธาในอุดมการณ์แผ่นดินเกิดของเธอ
เธอมีทางเลือกต่อสู้ สันติภาพ หรือเอกราช
การสถาปนาสันติภาพในชายแดนใต้หนทางยังอีกไกล
ทว่าใกล้กว่าการกอบกู้เอกราชบนซากศพของมนุษยชาติ

เธอก่อกำแพงสูงชัน อัตตาที่สูงลิ่ว
ประวัติศาสตร์ยังคงถูกสร้างแบบชาตินิยม
ซีแย นายู บริบทอยู่ตรงไหน
คนพุทธสยาม มลายูปาตานี ฤา

คนอื่น ของแผ่นดินเขา ไม่ใช่เรา
มลายู ปาตานี อิสลาม ยากแยกแยะ
เสียงระเบิด กระสุนปืน คราบน้ำตาและความเจ็บปวด
ทหาร ขบวนการ ในม่านหมอกสงคราม

บุหงารายา อาจสวยงามกว่าดอกไม้อื่นใด
ยะลา นรา ปัตตานี อาจรวมบางส่วนของสงขลา
แล้วพร่ำพรรณาถึงชาติพันธุ์ และประวัติศาสตร์
อิสลามสยาม มลายูเซอตูล สิงขรา อยู่หนใด

ชาตินิยมสยามยังคงข่มเหงชาตินิยมปาตานี
แผ่นดินนี้ใครก็เอาไปไม่ได้ ชาตินิยมสยามลั่น
ชาตินิยมปาตานีสำทับ ทางออกคือการปลดแอกกอบกู้เอกราช
“แผ่นดินนี้ของนายู หาใช่ของซีแยที่นำสงครามปล้นรัฐอิสระ”

ชาตินิยมสยาม-ปาตานี ฝังรากเหง้าลึกสุดโต่ง
ประวัติศาสตร์ชาตินิยมสยาม-ปาตานี คือต้นตอ
หากรัฐไทย-ปาตานีชน ไม่ข้ามพ้นแก่นที่แท้จริง
ความรุนแรงที่ปลายด้ามขวานจะดำเนินตราบชั่วกาลปาวสาน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น