โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

พยานที่ถูกยิงยันกระสุนจากทหาร คดี ‘จรูญ-สยาม’เหยื่อ 10 เมษา (มีคลิป)

Posted: 14 Mar 2013 12:38 PM PDT

 

เมื่อวันที่ 12 - 13 มี.ค.56 ที่ห้องพิจารณาคดี 504 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดไต่สวนชันสูตรพลิกศพคดี ช.13/2555 ที่พนักงานอัยการสำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนการเสียชีวิตของนายจรูญ ฉายแม้น ผู้ตายที่ 1 และนายสยาม วัฒนานุกูล ผู้ตายที่ 2  ถูกยิงเสียชีวิตหน้า ร.ร.สตรีวิทยา ถ.ดินสอ ในเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ภายใต้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 ซึ่งเป็นเหตุการณ์เดียวกับกรณีนายฮิโรยูกิ มูราโมโต้ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่น นายวสันต์ ภู่ทอง และนายทศชัย เมฆงามฟ้า ถูกยิงเสียชีวิต

 

จรูญ ฉายแม้น และ สยาม วัฒนนุกูล

 

2 ผู้ถูกยิงในคลิปขณะช่วยทหารเข้าเบิกความ ยันกระสุนมาจากทหาร

คลิปวีดีโอเหตุการณ์ที่ 2 พยานถูกยิง ถ่ายโดย บดินทร์ วัชโรบล ผู้ถูกยิง

 

นายบดินทร์ วัชโรบล ช่างภาพอิสระจากสมาคมผู้บริโภคสื่อสีขาว ซึ่งบันทึกภาพและถูกยิงบาดเจ็บในเหตุการณ์ ซึ่งมีวิดีโอคลิปเผยแพร่ทางยูทูปด้วยนั้น เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุทราบว่าจะมีการสลายการชุมนุมโดยได้เข้าไปที่ชุมนุมของ นปช. ที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ก่อน และเมื่อทราบจากประกาศของเวที นปช. ว่ามีทหารเข้ามาสลายการชุมนุมที่ถนนราชดำเนินจึงขับจักรยานยนต์ไปจอดที่หน้าเทเวศประกันภัย ถนนราชดำเนิน ในเวลา 17.00 น. เศษ ซึ่งขณะนั้นเริ่มมีการโปรยแก๊สน้ำตาลงมาจากเฮลิคอปเตอร์มายังเวทีผู้ชุมนุมที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าและรอบๆ

ใกล้เวลา 18.00 น. บนเวทีสะพานผ่านฟ้าประกาศว่ามีกำลังทหารและรถถัง พร้อมอาวุธครบมือมาถึงสี่แยกคอกวัว, สะพานปิ่นเกล้า, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พยานเดินไปทางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก่อน เห็นทหารยืนประจันหน้ากับผู้ชุมนุม โดยทหารแถวหน้าถือโล่ อยู่ด้านหน้าแถวถัดไปด้านในจะมีสะพายปืนเอ็ม 16 ด้วยหลายชั้น และมีรถหุ้มเกราะตรง ถ.ดินสอ มุ่งหน้ามาทางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งขณะนั้นมีทหารประมาณไม่ต่ำกว่า 300 นาย โดยพยานได้บันทึกภาพไว้ด้วย ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุม มีขวดน้ำ มีธง ไม่มีอาวุธปืนหรือมีด ไม่พบคนอื่นแปลกปลอม

นายบดินทร์ เบิกความต่อว่าหลังเคารพธงชาติ ทหารเปิดเพลงชาติ หลังจากนั้นมีรถหกล้อของแกนนำเข้ามา โดยมี พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ เป็นแกนนำมาประจันหน้ากับทหาร โดยวิ่งมาจากทางสะพานผ่านฟ้า พร้อมพูดผ่านเครื่องกระจายเสียงบอกทหารด้วยว่า 'ให้ใจเย็นๆ เราพี่น้องกัน เป็นคนไทยด้วยกัน เราอย่าทำร้ายกันและกัน' และเปิดเพลงเสื้อแดง พยานจึงมีการถ่ายวีดิโอไว้ หลังจากนั้นทหารได้ยิงปืนขู่ขึ้นฟ้าเป็นร้อยๆ นัด ซึ่งพยานอยู่ไกลไม่เกิน 10 เมตร และได้บันทึกทั้งภาพและเสียง โดยขณะนั้นยังไม่มีใครเจ็บหรือตาย หลังจากนั้นผู้ชุมนุมได้กว้างขวดน้ำไปยังแนวทหาร สักพักได้ยินเสียงระเบิด หลังแนวทหารและหลังรถหุ้มเกราะ มีสะเก็ดไฟ ตรงข้ามโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอหลังจากนั้นไม่เกิน 10 วินาทีก็มีเสียงดังบริเวณนั้นอีกลูก โดยหลังระเบิดทหารถอยร่นไปทาง สะพานวันชาติ มีผู้ชุมนุมที่อยู่ด้านหน้าบางส่วนตามกลุ่มทหารเข้าไป แต่พยานยังอยู่จุดเดิมไม่กล้าเข้าไป โดยหลังเสียงระเบิดแล้วมีเสียงปืนบ้าง เสียงปืนนั้นมาจากทิศทางไหน พยานไม่ทราบ จึงยืนถ่ายจากด้านนอก

หลังจากนั้น เวลาประมาณ 19.00 น.  เห็นมีคนหามคนตายจากด้านในถนนดินสอมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คนตายดังกล่าวศีรษะเปิด พยานได้ถ่ายรูปไว้ หลังจากนั้นเสียงปืนเริ่มเบา พยานจึงเดินเข้าไปดูสภาพด้านใน โดยเลาะด้านขวาถึงหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ซึ่งตรงนั้นมีทางม้าลาย 2 จุด มีแสงไฟ ขณะยืนถ่ายรูปอยู่นั้นบริเวณหน้าประตูโรงเรียน ข้างหน้ามีคนนอนอยู่บนพื้นถนน 1 คน ซึ่งคิดว่าคงเสียชีวิต และทหารนอนเจ็บ 1 นาย โดยที่ขณะนั้นได้ยินเสียงปืนจากแนวบริเวณสะพานวันชาติ  และเมื่อพยานหันหน้าไปทางนั้น เห็นแสงไฟจากปืนยิงมาทางผู้ชุมนุมที่จะออกไปทางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลังจากนั้นพยานได้เดินออกไปตามหน่วยพยาบาลเพื่อมาช่วยทหารนอนบาดเจ็บอยู่ โดยพยานได้พบกับอาสาพยาบาลคนหนึ่ง ทราบชื่อภายหลังว่า นายอิทธิกร ตันหยง จึงได้เข้ามาช่วยทหารคนดังกล่าวกับพยาน พร้อมด้วยผู้ชุมนุม 2-3 คนที่ตามมาช่วยด้วย โดยพยานเริ่มช่วยเหลือจากการพยายามแกะรองเท้าเจ้าหน้าที่ทหารคนดังกล่าวและเอาไม้มาดามขาทหาร ระหว่านั้นทางพยานและผู้ที่เข้ามาช่วยก็พยายามบอกทหารว่าอย่าพึ่งยิงมาทางที่เราอยู่  แต่ยังมีเสียงปืนจากแนวทหารเข้ามาอีก จนอิทธิกร ตันหยง ถูกยิงที่เท้า และกระสุนอีกนัดโดนที่ท้องของพยานเองด้วย

นายบดินทร์ เบิกความยืนยันว่ากระสุนที่โดนตัวเองและนายอิทธิกรนั้นมาจากฝั่งทหาร และหลังจากที่พยานถูกยิงจึงมีคนมาช่วยและพาไปส่งโรงพยาบาลและมีการผ่าตัดลำไส้ด้วย มีการเอ็กซเรย์พบกระสุนฝังอยู่หน้ากระดูกสันหลัง โดยปัจจุบันยังไม่ได้มีการนำเอาออก ซึ่งทั้ง รพ.ตากสินและ รพ.พระรามเก้าได้ออกใบรับรองแพทย์ โดยมีการส่งเอกสารดังกล่าวต่อศาลด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เคยให้การกับพนักงานสอบสวนมาแล้ว 2 ครั้ง

นายบดินทร์ เบิกความอีกว่า ฝั่งที่ทหารอยู่ไม่มีกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ ซึ่งบริเวณนั้นถูกควบคุมโดยทหารทั้งหมด รวมถึงบ้านที่อยู่อาศัยและอาคารที่อยู่ 2 ฝั่งถนนสตรีวิทยานั้นผู้ชุมนุมก็ไม่สามารถเข้าไปได้เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในการควบคุมของทหาร นอกจากนี้ก่อนได้ยินเสียงปืน ขอยืนยันว่าไม่ได้ยินเสียงทหารประกาศว่าจะใช้อาวุธปืนแต่อย่างใด

สำหรับผู้ที่อยู่ร่วมเหตุการณ์กับนายนายบดินทร์ คือ นายอิทธิกร ตันหยง  นั้น ได้เดินทางมาเบิกความในวันถัดมาคือวันที่ 13 มี.ค. นายอิทธิกร เป็นอาสาสมัครของมูลนิธิศูนย์พญาอินทรี มีศูนย์ใหญ่อยู่ที่ถนนพัฒนาการ เบิกความว่าในช่วงเหตุการณ์ชุมนุมทางศูนย์พญาอินทรีได้มีการให้เข้าไปตั้งเต็นท์อยู่ด้านหน้าเทเวศประกันภัย  ถนนราชดำเนิน  โดยเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปจะใส่ชุดฟอร์มของทางศูนย์และกระเป๋ายาจะมีเครื่องหมายกาชาด  ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ไม่พบผู้ชุมนุมมีอาวุธ               

สำหรับเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. 53 นายอิทธิกร เบิกความว่า 18.00 น. พยานได้รับแจ้งว่าทางศูนย์ฯ จะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปในที่ชุมนุมราว 18.00-19.00 น. เพื่อให้การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ  เนื่องจากทราบว่า ศอฉ. ประกาศว่าจะหยุดปฏิบัติการและนำกำลังพลกลับเมื่อฟ้ามืด  ทางศูนย์ใหญ่จึงได้ประสานให้เข้าไปเพราะคิดว่าทหารน่าจะกลับไปแล้ว  จากนั้นพยานจึงไปที่ศูนย์ที่พัฒนาการแต่เมื่อไปถึงราว 18.00 น. เศษ เจ้าหน้าที่ได้ออกจากศูนย์ไปแล้วพยานจึงขับรถยนต์ส่วนตัวตามไปที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศเอง แล้วไปจอดรถไว้ที่บาทวิถีหน้าวัดโสมนัสวิหารแล้วเดินเข้าทางถนนหลานหลวงระหว่างทาง เห็นเฮลิคอปเตอร์บินวนอยู่และมีการทิ้งแก๊สน้ำตาลงมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและสะพานผ่านฟ้าลีลาศซึ่งบริเวณนั้นมีผู้ชุมนุมอยู่เต็มพื้นที่  โดยพยานใช้ผ้าชุบน้ำปิดหน้าแล้วเดินต่อเพื่อที่จะไปคอกวัวผ่านเข้าไปที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่เมื่อถึงบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีผู้ชุมนุมอยู่ในบริเวณนั้นหนาแน่นมากจึงไปต่อไม่ได้จึงอยู่ในบริเวณนั้น  พยานได้เห็นว่าที่ถนนดินสอมีทหารอยู่เป็นจำนวนมากพยายามผลักดันผู้ชุมนุมอยู่มีการขว้างปาขวดน้ำใส่ทหาร โดยทหารพยายามจะเข้าไปในวงเวียนรอบอนุสาวรีย์แต่ผู้ชุมนุมไม่ให้เข้า  และมีรถหุ้มเกราะจอดอยู่หน้าทางเข้าถนน  3 คันและยังมีจอดอยู่ข้างในอีก ทางด้านหลังรถหุ้มเกราะมีทหารอยู่หลายร้อยคน  ทหารที่อยู่แถวหน้าสุดจะมีโล่กระบอง แถวหลังจะถือปืนลูกซองปากกระบอกชี้ขึ้นฟ้า แถวถัดไปอีกจะถือปืน M16 เล็งมาทางผู้ชุมนุม  โดยขณะนั้นพยานอยู่หน้าทางเข้าถนนดินสอฝั่งตรงข้ามร้านแมคโดนัลด์ห่างจากแนวทหารไม่เกิน  10 เมตร  พยานไม่เห็นว่ามีคนใส่โม่งหรือมีอาวุธอยู่กับผู้ชุมนุม ขณะนั้นยังท้องฟ้ายังไม่มืดจึงยังสามารถมองเห็นเหตุการณ์ได้

นายอิทธิกร เบิกความต่อว่า ผู้ชุมนุมกับทหารผลักดันกันได้ซักพักมีรถประชาสัมพันธ์ 6 ล้อ เข้ามาที่บริเวณถนนดินสอและประกาศว่า "ทหารอย่าทำร้ายประชาชน ทหารกับประชาชนเป็นพี่น้องกัน อย่าทำร้ายกัน"  และมีการเปิดเพลงด้วย หลังเพลงจบก็ได้มีเสียงปืนดังขึ้นจากทางฝั่งทหารเป็นการยิงทีละนัด แต่ยิงหลายนัดเป็นช่วงๆ ขึ้นฟ้า จากนั้นทหารมีการผลักดันผู้ชุมนุมรุกเข้าพื้นที่การชุมนุมทหารได้มีการยิงใส่ผู้ชุมนุมทำให้มีผู้รับบาดเจ็บพยานได้เข้าไปช่วยพาคนเจ็บออกมาและทำการปฐมพยาบาล 3 คน ซึ่งได้รับบาดเจ็บมีเลือดไหลออกเล็กน้อยคาดว่าจะได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยาง ต่อมาได้ช่วยคนเจ็บอีกเป็นคนที่ 4 ซึ่งได้รับบาดเจ็บเป็นแผลฉกรรจ์ที่หน้าออกมีเลือดไหลออกมา และที่หลังมีปากแผลกว้างและมีเลือดไหลออกมาเป็นจำนวนมาก พยานคาดว่าเกิดจากการถูกกระสุนจริงยิงจึงพาไปขึ้นรถกู้ชีพที่จอดอยู่ในบริเวณนั้น  หลังจากนั้นจึงหลบที่ต้นไม้ใหญ่ที่หน้าทางเข้าถนนดินสอ ขณะที่กำลังช่วยคนเจ็บและหลบออกมาแล้วนั้นได้ยินเสียงปืนดังอยู่ตลอดจากทางฝั่งทหารเท่านั้นและได้เห็นแสงไฟจากปากกระบอกปืนของทหารด้วย

ต่อมามีเสียงระเบิดดังขึ้นที่บริเวณทางเข้าถนนดินสอและตรงรถหุ้มเกราะ 3 ครั้ง ทหารได้ถอยลึกเข้าไปในถนนดินสอ เมื่อทหารถอยเข้าไป มองไม่เห็นทหารแล้ว หลังเสียงระเบิดยังมีเสียงปืนดังอยู่เป็นช่วงๆ  พยานได้เห็นมีคนลากคนเจ็บออกมา 4 คน ซึ่งทั้ง 4 คนไม่รู้สึกตัวแล้ว   รถประชาสัมพันธ์ได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมกลับไปที่หน้าเวทีที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศผู้ชุมนุมจึงออกจากบริเวณนั้นไปจนเกือบหมดแต่มีผู้ชุมนุมบางส่วนเดินตามทหารเข้าไป ขณะนั้นพยานยังหลบอยู่หลังต้นไม้ที่หน้าทางเข้าถนนดินสอ  เมื่อเสียงปืนเริ่มเงียบลงเพยานกำลังจะเดินกลับไปที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศได้มีนักข่าวคนหนึ่งมาจับแขนพยานไว้และบอกว่าข้างในถนนดินสอมีผู้ได้รับบาดเจ็บให้เข้าไปช่วยด้วยกัน ภายหลังทราบว่าคือนายบดินทร์ วัชโรบล

นายอิทธิกร เบิกความต่อว่า ในขณะที่เข้าไปในถนนดินสอได้ชูกระเป๋ายาซึ่งมีเครื่องหมายกาชาดขึ้นและตะโกนบอกว่าเป็นอาสาพยาบาลจะเข้าไปช่วยคนเจ็บ อย่ายิง  เมื่อเข้าไปได้ราว 20 เมตร ถึงตรงบริเวณทางม้าลายหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาพยานเห็นทหารอยู่ในช่วงปลายถนนดินสอ  เมื่อเดินเข้าไปถึงจุดที่มีคนเจ็บพบทหารได้รับบาดเจ็บขาหักนั่งพิงท้ายรถกระบะโดยหันหน้าไปทิศทางสะพานวันชาติ ขณะนั้นเห็นมีคนกำลังช่วยแกะเชือกรองเท้าให้อยู่ พยานจึงไปหาไม้มาดามขาที่หัก  พยานเข้าไปช่วยดามขาให้ทหารนายนั้นโดยพยานนั่งหันหลังให้โรงเรียนสตรีวิทยา ด้านซ้ายของพยานหันไปทางสะพานวันชาติ  ระหว่างที่ปฐมพยาบาลให้ทหารนายนั้นอยู่ก็มีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด จากทางกลุ่มทหาร จึงหันมองไปตามทิศทางของเสียง ไม่นานนักมีเสียงปืนดังขึ้นครั้งที่ 2 พยานจึงถูกยิงเข้าที่หลังเท้าข้างซ้ายแล้วจึงกระโดดหลบไป  มีเสียงปืนดังขึ้นตามมาอีกหลายนัดจากทางกลุ่มทหารจึงได้เอาตัวชิดกำแพงเดินเขย่งเท้ากลับออกไปและได้มีคนมาช่วยพาเขาออกไปขึ้นรถพยาบาลที่จอดอยู่ทางเข้าถนนดินสอและถูกนำส่งโรงพยาบาลตากสิน ในช่วงที่เข้าไปในถนนดินสอกับนายบดินทร์นั้นนายบดินทร์ได้บันทึกภาพเอาไว้ตลอดด้วย

เมื่อถึงโรงพยาบาลแพทย์ได้ทำการผ่าตัดเอาหัวกระสุนที่ฝังออกกระดูกหลังเท้าแหลกหายไปบางส่วนทำให้เท้าเสียรูป  แพทย์ได้บอกว่ากระสุนที่ฝังอยู่เป็นกระสุนปืน M16 พยานจึงได้ขอกระสุนและฟิล์มเอ็กซเรย์กับแพทย์แต่แพทย์ไม่ได้ให้มา  ได้ทำการรักษาที่โรงพยาบาล 40 กว่าวันและกลับบ้านมาพักรักษาตัวอีก 8 เดือน ปัจจุบันยังเจ็บเท้าอยู่ตลอด และนางสุภานันท์ ตันหยง ภรรยาของพยานได้เข้าแจ้งความกับตำรวจด้วยว่าพยานถูกยิง และได้เข้าให้การกับพนักงานสอบสวนและ DSI ด้วย ในภายหลังเขาทราบด้วยว่านายบดินทร์ที่เข้าไปในถนนดินสอด้วยกันก็ถูกยิงที่ท้องเช่นกัน

นายอิทธิกร เบิกความยืนยันด้วยว่าในวันเกิดเหตุนั้นไม่พบชายชุดดำและไม่พบว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธ มีเพียงขวดน้ำ โดยก่อนเข้าพื้นที่ชุมนุมได้มีการตรวจค้นผู้ชุมนุมก่อน ทนายญาติผู้ตายได้ถามนายอิทธิกร ว่าตอนที่เห็นทหารทำการยิงเป็นการยิงในลักษณะท่าทางใด นายอิทธิกร เบิกความว่าเห็นเล็งมาทางผู้ชุมนุมในแนวระนาบตั้งแต่ช่วงเอวขึ้นมา ถ้ายิงถูกก็อาจทำให้บาดเจ็บสาหัสหรือถึงแก่ชีวิต

นายอิทธิกร เบิกความด้วยว่า ในถนนดินสอยังมีแสงสว่างจากไฟถนนอยู่และกระเป๋าของเขากว้างราวกระดาษ A4 เครื่องหมายกาชาดมีขนาดใหญ่ ดังนั้นทหารจึงสามารถเห็นได้  โดยการยิงของทหารมายังพยานเป็นการยิงมุ่งเอาชีวิตเพราะมีการยิงไล่ซ้ำมาอีก และการใช้อาวุธปืนของทหารนั้นก่อนใช้ไม่มีการประกาศเตือนก่อนด้วย สำหรับบ้านทรงไทยที่อยู่ตรงข้ามโรงเรียนสตรีวิทยานั้น ยืนยันไม่มีผู้ชุมนุมเข้าไปอยู่ในนั้นและไม่เห็นว่าในบ้านมีคนอยู่ 

 

บุตรสาวของนายจรูญ เบิกความพ่อถูกยิงตายขณะเข้าช่วยทหาร

น.ส.นงลักษณ์ ฉายแม้น บุตรสาวของนายจรูญ ฉายแม้น เบิกความว่า เข้าร่วมชุมนุมกับครอบครัวตั้งแต่เดือน มี.ค.-เม.ย.2553 โดยสวมเสื้อยืดสีแดง ก่อนเข้าชุมนุมจะมีการตรวจค้นอาวุธ ระหว่างการชุมนุมไม่มีการปราศรัยชักชวนให้ทำลายทรัพย์สินทางราชการ และเคยไม่เห็นชายชุดดำปะปนอยู่กลุ่มผู้ชุมนุม โดยส่วนใหญ่สวมแต่เสื้อสีแดง ในวันเกิดเหตุ พยานไปร่วมชุมนุมที่ราชประสงค์ตั้งแต่ 09.00 น. ส่วนพ่อตามมาเวลาประมาณ 10.00 น. และอยู่ด้วยกันจนถึงเวลาประมาณ 18.00 น. พยานจึงกลับบ้าน ส่วนพ่อกับแม่และน้ายังอยู่ที่หน้าเวทีราชประสงค์

กระทั่งเวลา 20.00 เศษ น.ส.สุปราณี บุญเนา น้าสาว โทรศัพท์มาถามว่าอยู่กับพ่อหรือเปล่า และบอกให้ใจเย็นๆ แล้วให้มาที่รพ.กลาง พยานจึงไปกับน้องสาว เมื่อไปถึงก็ทราบว่า พ่อบาดเจ็บสาหัสอยู่ชั้น 9 พยานขึ้นไปก็พบพ่อเสียชีวิตแล้ว และเห็นบาดแผลถูกเย็บปิด แต่ไม่ทราบว่าเกิดจากอะไร ในวันรุ่งขึ้นจึงมารับศพพ่อไปประกอบพิธีทางศาสนา หลังจากนั้นได้พบกับนายไพบูลย์ อดีตเจ้าหน้าที่ธนาคาร บอกพยานว่า ไปร่วมชุมนุมอยู่หน้า ร.ร.สตรีวิทยา ใกล้กับพ่อ ขณะนั้นมีการปะทะกันระหว่างผู้ร่วมชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ทหาร แต่ผู้ร่วมชุมนุมไม่มีอาวุธ นายไพบูลย์เป็นคนให้พ่อไปช่วยทหารที่ได้รับบาดเจ็บ แต่พ่อถูกทหารยิงล้มไปหน้า ร.ร.สตรีวิทยา หลังจากพ่อเสียชีวิตก็ไม่ได้ติดตามข่าวใดๆ จึงไม่ทราบสาเหตุของการปะทะกัน

นางบุญนำ ตาเวียง พี่สาวของนายสยาม เบิกความว่า น้องชายเคยเข้าร่วมชุมนุมตั้งแต่ปี 2549 ส่วนพยานเข้าร่วมชุมนุมตั้งแต่เดือน มี.ค.-พ.ค.2553 โดยประจำอยู่ในเต็นท์ของพัทยาที่เวทีสะพานผ่านฟ้า ส่วนใหญ่ผู้ชุมุนมจะสวมเสื้อสีแดงและไม่มีอาวุธ ตลอดการชุมนุมก็ไม่เห็นชายชุดดำแต่อย่างใด ทุกครั้งที่เข้าร่วมชุมนุมจะไม่ได้อยู่จุดเดียวกับน้องชาย เพราะอาศัยอยู่กันคนละที่จึงแยกกันมา แต่จะโทร.คุยกันตลอด วันเกิดเหตุ พยานอยู่ที่เต็นท์ของพัทยาที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศตั้งแต่เช้า เพราะทราบว่าทหารจะเข้ามาสลายการชุมนุม จึงโทรศัพท์นัดกับน้องชายว่าตอนเย็นเจอกัน และพี่สาวอีกคนจะไปนอนด้วย เวลาประมาณ 14.00 น. พยานไปอยู่ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ก็เห็นทหารเดินเข้ามาจากทั้ง 2 ด้าน ประมาณหลายร้อยนาย แลประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอม จึงมีการผลักดันกัน ทหารใช้โล่และกระบองดันผู้ชุมนุม แต่ไม่มีการทำร้ายกัน และไม่เห็นชายชุดดำ ส่วนผู้ชุมนุมก็ไม่มีอาวุธ มีเพียงขวดน้ำ

นางบุญนำ เบิกความต่อว่า สักพักทหารโยนแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม และเกิดเหตุการณ์ชุลมุน ก่อนที่ทหารจะถอนกำลังกลับ กระทั่งเวลาประมาณ 16.00 น. มีเฮลิคอปเตอร์ขับวนอยู่หลายรอบ และมีผู้ร่วมชุมนุมจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศวิ่งมาบอกว่า มีการโยนแก๊สน้ำตาลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ เวลาประมาณ 18.00 น. บนเวทีประกาศว่า ทหารจะเข้ามาทาง ถ.ดินสอ ให้ผู้ชุมนุมชายรวมตัวกันที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ พยานจึงไปยืนอยู่หน้าเวที สักพักมีรถติดเครื่องขยายเสียงของ นปช. ขับไปจอดอยู่หน้ารถถังของทหารที่จอดอยู่หน้าร.ร.สตรีวิทยา ตรงวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย  ขณะนั้นเห็นรถสายพานลำเลียงประมาณ 2-3 คัน จอดเรียงกันตาม ถ.ดินสอ และเห็นทหารประมาณหลายร้อยคน ด้านหน้าจะถือโล่และกระบอง ส่วนทหารที่ยืนอยู่บนรถถังจะถืออาวุธปืนยาว พยานจึงไปร้องรำทำเพลงร่วมกับผู้ชุมนุมคนอื่น แต่เพลงยังไม่ทันจบก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นมาจากฝั่งทหารเป็นการยิงจากปืนกระบอกเดียวแบบทีละนัด เวลา 19.00 น. เศษ ได้ยินเสียงปืนรัวเป็นชุด พยานจึงก้มหมอบลงกับพื้น บริเวณโค้งวงเวียนหัว ถ.ดินสอ ตรงข้ามร้านแมคโดนัลด์ สักพักเห็นผู้ชุมนุมบาดเจ็บจากการถูกยิงถูกหามขึ้นรถพยาบาล 2 คน แต่ทราบว่าก่อนหน้านี้มีอีกหลายคนที่ถูกนำส่ง รพ.แล้ว

พยานเบิกความอีกว่า กระทั่งเวลา 20.00 น. เศษ ได้ยินเสียงดังคล้ายระเบิด 2 ครั้ง หน้าร.ร.สตรีวิทยา ที่ทหารประจำการอยู่ โดยบนเวทีประกาศว่า ทหารถอยไปแล้ว จากนั้นมีผู้ชุมนุมควบคุมตัวทหารที่สะพายอาวุธปืน 2 กระบอก พร้อมเครื่องกระสุนปืนขึ้นไปบนเวที และมีการนำศพผู้ชุมนุมขึ้นไปบนเวทีด้วย ขณะนั้นไม่ทราบว่าน้องชายอยู่ที่ใด แต่คิดว่าชุมนุมอยู่ที่ราชประสงค์ กระทั่งวันที่ 11 เม.ย. พี่สาวชื่อนางปราณีต กลับเพียร ที่จะไปนอนกับน้องชาย ติดต่อน้องชายไม่ได้ จึงออกตามหาที่รพ.ต่างๆ และไปเห็นรูปถ่ายศพของน้องชายแปะอยู่ที่รพ.กลาง พยานและพี่สาวจึงเข้าไปดูก็พบศพน้องชาย ทราบจากตำรวจที่รพ.กลางว่า น้องชายถูกยิงกระสุนฝังใน บริเวณ ถ.ดินสอ หน้า ร.ร.สตรีวิทยา หลังจากนั้นได้รับการติดต่อจาก น.ส.ศิริพร เมืองศรีนุ่น ทนายความ บอกให้ไปดูคลิปเหตุการณ์วันเกิดเหตุ ในคลิปเห็นน้องชายขณะยังไม่เสียชีวิต สวมเสื้อยีนส์แขนยาวยืนอยู่หน้า ร.ร.สตรีวิทยา ใกล้กับจุดที่นายวสันต์ ภู่ทอง ถูกยิงล้มลง และน้องชายเดินถอยออกมาจากจุดที่มีคนยืนมุงกันอยู่ จากนั้นก็ไม่เห็นน้องชายแล้ว โดยก่อนสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ไม่ได้ประกาศเตือนว่าจะใช้อาวุธปืนกับผู้ชุมนุมแต่อย่างใด

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุณูปการของพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ต่อประชาคมจุฬา

Posted: 14 Mar 2013 10:24 AM PDT


               
จากข้อคิดเห็นของพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ในรายการ Wake Up Thailand  ว่าด้วยภาพลักษณ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการวิจัยของประเทศและภูมิภาค ซึ่งถูกนำเสนอคู่กับภาพการหมอบกราบคลานของนิสิตจุฬา เป็นเรื่องที่ดูผิดแผกกับภาพลักษณ์การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำที่มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ที่ตอบสนองพลวัตของโลก (Research Base University) ในทางกลับกัน จุฬาฯ ถูกนำเสนอในฐานะ มหาวิทยาลัยพิธีกรรม (Ritual Base University) เรื่องเหล่านี้มิใช่เรื่องแปลกที่ถูกนำเสนอครั้งแรกในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก เป็นที่ทราบกันดีว่า ความเป็น Ritual Base University ของจุฬาถูกนำเสนอมาอย่างยาวนาน มากกว่าเรื่องขีดความสามารถทางวิชาการหรือวิจัย

สิ่งที่ ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ตั้งข้อสังเกตเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเป็นประเด็นที่จะเตือนสติประชาคมจุฬาว่า "บางอย่างอาจจะไปด้วยกันไม่ได้"  เช่น หลายท่านตั้งข้อสังเกตว่าเป็น มหาวิทยาลัยที่สืบสานความเชื่อและพิธีกรรมก็เป็นเรื่องหนึ่ง การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิชาการและวิจัยก็อีกเรื่องหนึ่ง หรือการสืบสานพิธีกรรมนี่แหละที่ทำให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีชื่อเสียงด้านอื่นๆ เป็นที่ยอมรับ บทความนี้จะมุ่งชี้ให้เห็นว่าพิธีกรรมหรือการเป็นสถาบันเน้นพิธีกรรมได้สร้างอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาสถาบันการศึกษาด้านวิชาการและวิจัย

ในส่วนแรกจะขอยกประเด็นลักษณะการเป็นองค์กรเน้นพิธีกรรมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วหลายท่านจะเห็นเฉพาะพิธีกรรมที่อยู่นอกชั้นเรียน แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาคือพิธีกรรมของจุฬาฯ ปรากฏอยู่ในหลายมิติ มิติแรกคือความสัมพันธ์ระหว่างนิสิตที่เต็มไปด้วยความสัมพันธ์เชิงอำนาจ จุฬาฯ เป็นต้นตำรับของการรับน้องที่ปลูกฝังความเหลื่อมล้ำในความสัมพันธ์ของมนุษย์ การละลายพฤติกรรมผ่านกิจกรรมที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ ที่หากคุยกับชาวต่างชาติในสังคมอารยะคงมองว่ากิจกรรมเหล่านี้มีความคล้ายกับกิจกรรมนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง นิสิตที่ปลีกตัวออกจากกิจกรรมเหล่านี้จะถูกแบนและลงโทษทางสังคม กิจกรรมบ้านรับน้องที่เป็นการรับรองเส้นสายและระบบคอนเน็คชั่นของนิสิตระหว่างคณะ

ระบบอุปถัมภ์ของสถาบันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของความอ่อนด้อยทางวิชาการ  และความสามารถของบุคลากร เป็นที่ทราบกันดีว่า บัณฑิตจากคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ มีอภิสิทธิ์ในการสอบเข้ารับราชการในกระทรวงหลักของประเทศ ด้วย "สี" ศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา ความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องกลายเป็นเรื่องของ Know Who ที่สำคัญกว่า Know How ในท้ายสุด

พิธีกรรมของจุฬาฯ ยังคงปรากฏในระบบการเรียนการสอน ระบบการเรียนแบบแพ้คัดออกและการมีเสรีภาพทางวิชาการที่ต่ำโดยเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำในระดับเดียวกัน (อย่าเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่นในประเทศนี้ที่มีเสรีภาพต่ำในระดับใกล้เคียงกัน) การสร้างองค์ความรู้ทางการวิจัยจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความคิดต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่างสำนักคิด มหาวิทยาลัยวิจัยในอุดมคติคือมหาวิทยาลัยที่ปราศจากอำนาจ อาณาจักรและศาสนจักรที่จะคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับที่ผู้สอนต้องเป็นกลางหรือปราศจากอุดมคติทางการเมือง ผู้สอนต้องมีเสรีภาพในการแสดงออก "ระบบคิด" ของตนอย่างเสรีและไม่ถูกคุกคาม แต่จารีตของมหาวิทยาลัยไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุฬาฯ ไม่เอื้อให้เกิดเงื่อนไขนั้น

หากจำกันได้เมื่อ 4-5 ปีก่อน ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีกรณีพิพาทในกรณีการปฏิเสธเผยแพร่งานเขียนของ รองศาสตราจารย์ ใจ อึ๊งภากรณ์ แน่นอนว่าเป็นสิทธิของศูนย์หนังสือที่จะเลือกเผยแพร่งานชิ้นใด แต่สิ่งที่จุฬาลงกรณ์ต้องขบคิดคือ เส้นแบ่งระหว่างอำนาจรัฐกับเสรีภาพของงานเขียนที่มีความเป็นวิชาการควรจะอยู่ที่ใด กรณีของอาจารย์ใจ อาจเป็นกรณีสุดโต่งไปอีกด้านหนึ่ง แต่เราก็จะพบระบบจารีตในทางวิชาการที่มากมายที่อาจไม่ใช่เรื่องการสกัดกั้น แต่การมุ่งตาม Impact Factor จากการตีพิมพ์บทความ  เพียงลำพังก็ได้เพียงแค่ตัวบ่งชี้เชิงปริมาณ แต่ข้างในความเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยกลับกลวงเปล่า เพราะองค์ความรู้มิใช่เกิดขึ้นจากการตีพิมพ์ผลงานในวารสาร หากแต่เกิดจากการถกเถียงและเปิดกว้างในสังคมอารยะอย่างเท่าเทียม

จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยที่ "ตาย" ไม่มีชีวิต นั่นก็ด้วยพิธีกรรมบางอย่างที่ปลูกฝังมา ในทางภูมิทัศน์จุฬาฯ มีลักษณะคล้ายวัด อุทยาน มีความคล้ายกับพุทธมณฑล (พุทธอุทยาน จังหวัดนครปฐม) มากกว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการวิจัย หรือวิชาการ พื้นที่ถูกทำให้สะอาดตา การติดใบปลิวโฆษณาทางการเมืองในพื้นที่ส่วนมากเป็นสิ่งต้องห้าม การทำกิจกรรมทางการเมืองในมหาวิทยาลัยเหมือนโรคร้ายของคนเสียสติ (เว้นแต่กิจกรรมจารีตที่ได้รับอนุญาต) การสัมมนาทางวิชาการถูกทำให้เป็นทางการเพื่อวิ่งตามตัวชี้วัดของ สกอ.และ สมศ.เมื่อรวมกับความอนุรักษ์แบบจุฬาฯ ทำให้งานสัมมนาวิชาการเป็นเรื่องของการเชิญผู้วิเศษมาบรรยาย มากกว่าการจัดงานเพื่อปฏิสัมพันธ์กันอย่างคนที่เท่าเทียม มหาวิทยาลัยวิจัยต้องเป็นพื้นที่สำคัญที่มนุษย์จะปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างมนุษย์ที่เท่าเทียม จึงจะสามารถสร้างองค์ความรู้ที่ตอบสนองต่อประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่ในสังคมได้ การคิดดำริจินตนาการจากคนส่วนน้อยองค์ความรู้ที่ได้ก็ไม่ต่างจาก ชุดศีลธรรมที่มีไว้ควบคุมความเหลื่อมล้ำทางสังคมต่อไป

สำหรับผม พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ เป็นคนที่น่าเคารพอย่างยิ่งมิใช่ในฐานะอาจารย์แต่ในฐานะมนุษย์ มนุษย์ที่พร้อมจะปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นอย่างมนุษย์ด้วยกัน ข้อตักเตือนของท่านเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาคมจุฬาฯ บทความนี้เพียงต้องการยกให้เห็นว่า  Ritual Base ของสถาบันแห่งนี้กำลังเป็นภัยคุกคามต่อคุณภาพทางวิชาการและการวิจัยของสถาบันแห่งนี้ และสถาบันการศึกษาอื่นที่กำลังมุ่งเดินตามเส้นทางนี้โดยไม่ตั้งคำถามอะไร

 

 

 

หมายเหตุ: ชื่อบทความเดิม: คุณูปการของพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ต่อประชาคมจุฬา : ภาพลักษณ์ของจุฬาฯในฐานะมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการวิจัยที่ก้าวไม่พ้นแนวคิดอนุรักษ์นิยม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การเมืองว่าด้วย 'พลังงานไทย' (ตอนที่ 1): ขบวนการ 'สามทวงคืน' ของพันธมิตรเสื้อเหลือง

Posted: 14 Mar 2013 09:39 AM PDT



ในช่วงระยะสองปีมานี้ ขบวนการโจมตีรัฐบาลและบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในประเด็นราคาน้ำมันแพง ได้ขยายตัวขึ้นจนเป็นประเด็นถกเถียงทั่วไป เกิดเป็นเครือข่ายกลุ่ม "ทวงคืน ปตท." หรือ "ทวงคืนพลังงานไทย" มีผู้คนเข้าร่วมบนสื่อออนไลน์หลายพันคน แม้แต่คนเสื้อแดงส่วนหนึ่งก็ได้เข้าร่วมด้วย

ขบวนการ "ทวงคืน" ดังกล่าว มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ริเริ่มโดยนักเคลื่อนไหวองค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิกวุฒิสภา เริ่มแรกมุ่งโจมตีนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลไทยรักไทยโดยรวม และเน้นไปที่การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2544 ในเวลานั้น คนพวกนี้กล่าวหาว่า มีการแจกจ่ายหุ้น ปตท.ในหมู่นักการเมืองพรรคไทยรักไทยและเครือญาติ ชูป้าย "ทวงคืนสมบัติชาติ" ต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งหมด ในกรณีของ ปตท. ก็ได้ไปฟ้องเป็นคดีในศาลปกครอง ให้ยกเลิกการแปลงสภาพ ปตท. ซึ่งยืดเยื้อมาถึงปี 2550

เมื่อเกิดกรณีการจดทะเบียนมรดกโลกของปราสาทพระวิหารในสมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชน กลุ่มสันติอโศก พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนักการเมือง สว.กลุ่มเผด็จการก็รวมตัวกันเคลื่อนไหว "ทวงคืนแผ่นดินไทย" ฉวยใช้กรณีปราสาทพระวิหาร ปลุกกระแสคลั่งชาติเพื่อโค่นล้มรัฐบาลพรรคพลังประชาชน เรียกร้องให้ยกเลิกบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (เอ็มโอยู) ปี 2543 ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา

การเคลื่อนไหว "ทวงคืนแผ่นดินไทย" ได้ขยายประเด็นปราสาทพระวิหารไปสู่พื้นที่ทับซ้อนอื่นๆ ตลอดแนวพรมแดนไทย-กัมพูชา แล้วเอามาผูกโยงกับประเด็นผลประโยชน์พลังงาน โดยลากเส้นพรมแดนของพวกตนลงไปครอบคลุมแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย เพื่อแสดงว่า การ "สูญเสียดินแดน" บนบกจะนำไปสู่การ "สูญเสียพื้นที่ทางทะเล" ให้แก่กัมพูชาด้วย จากนั้นก็กล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลพรรคพลังประชาชน ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลพรรคเพื่อไทยปัจจุบันว่า เป็น "ทุนสามานย์" ขายแผ่นดินไทย (คือปราสาทพระวิหาร พื้นที่ทับซ้อน และพื้นที่ทะเล) ให้กัมพูชา เพื่อแลกกับสัมปทานก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาในอ่าวไทย

กลุ่มสันติอโศกและกลุ่มพันธมิตรฯ สูญเสียมวลชนไปเกือบหมดจากความขัดแย้งกับรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และความแตกแยกกันเองในการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 แต่กลุ่ม "ทวงคืน" ก็ยังเคลื่อนไหวต่อไป โดยหวนกลับมาที่ประเด็น ปตท.อีกครั้ง แต่คราวนี้ได้ผนวกเอาประเด็นราคาน้ำมันแพงเข้ามาด้วย กลายเป็น "กลุ่มทวงคืนพลังงานไทย" หรือ "กลุ่มทวงคืน ปตท." ในปัจจุบัน

ขบวนการนี้จึงอาจเรียกได้ว่า เป็น "ขบวนการสามทวงคืน" คือ ทวงคืนสมบัติชาติ (ยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งหมด) ทวงคืนแผ่นดินไทย (ปราสาทพระวิหารและพื้นที่ทับซ้อน) และทวงคืนพลังงานไทย (ต่อต้าน ปตท.และรัฐบาล กรณีก๊าซและน้ำมัน)

การที่กลุ่มสันติอโศก กลุ่มพันธมิตรฯและสมาชิกวุฒิสภากลุ่มเผด็จการต้องหันมาเคลื่อนไหวประเด็นเหล่านี้เข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เพราะความเสื่อมทรุดในทางการเมืองและความโดดเดี่ยวไร้มวลชน คนพวกนี้ไม่สามารถดึงดูดมวลชนด้วยการอ้างประชาธิปไตยได้อีกต่อไป แม้แต่การอ้างว่า ต่อสู้เพื่อสถาบันกษัตริย์ ก็ไม่ได้รับความเชื่อถือ จึงเหลือแต่ประเด็นราคาน้ำมันแพงอันเป็นความเดือดร้อนร่วมกันของคนส่วนใหญ่ อ้างว่า เป็นประเด็น "ไม่มีสี" เพื่อดึงประชาชน รวมทั้งคนเสื้อแดง มาเข้าร่วมให้ได้มากที่สุด

คนพวกนี้ดำเนินการอย่างชาญฉลาด โดยการปฏิเสธข้อมูลสาธารณะบางส่วนที่ได้จากรัฐบาลและ ปตท. อ้างว่า เป็น "ข้อมูลเท็จ" ขณะเดียวกัน ก็ใช้ข้อมูลสาธารณะส่วนที่เป็นประโยชน์ เอาไปผสมปนเปกับข้อมูลตัวเลขที่อ้างว่า ได้มาจากแหล่ง "ที่น่าเชื่อถือ" เอาชิ้นส่วนมาประกอบกันเป็นนิทานเรื่อง "กลุ่มผลประโยชน์ครอบงำ ปตท. ปล้นชิงพลังงาน" เพื่ออธิบายว่า นี่คือสาเหตุที่น้ำมันมีราคาแพง

กลุ่มพันธมิตรพวกนี้ลงทุนลงแรงอย่างมาก เอาคนมาอุปโลกน์ตัวเองเป็น "นักวิชาการเครือข่ายพลังงาน" เที่ยวเดินสายบรรยายไปทั่วประเทศ อ้างอิงตัวเลขข้อมูลจริงปนเท็จ ปลุกกระแสเกลียดชัง ปตท. กระตุ้นให้มีการตั้ง "กลุ่มทวงคืน" ตามที่ต่าง ๆ เป็นเครือข่ายทั่วประเทศ

คนพวกนี้อาศัยความสลับซับซ้อนของธุรกิจพลังงาน บวกกับความผิดพลาดในนโยบายพลังงานและภาษีของรัฐบาลไทยที่ตกทอดกันมาตั้งแต่ยุค 2520 ถึงปัจจุบัน ใช้เป็นจุดอ่อนในการโจมตีและบิดเบือนความจริง อาศัยความไม่พอใจต่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันแพงเป็นตัวกระตุ้น

และเพื่อดึงดูดผู้คนให้เข้าร่วมมากที่สุด คนพวกนี้เริ่มต้นจึงยังไม่กล่าวเจาะจงว่า "กลุ่มผลประโยชน์" ดังกล่าวคือใคร แม้หลายครั้งจะกล่าวลอยๆ ว่าเป็น "ทุนสามานย์" (ซึ่งเป็นคำที่พวกพันธมิตรหมายถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและพรรคพวก) จงใจปล่อยให้คนเสื้อแดงที่เข้าร่วมขบวนเข้าใจเอาเองว่า "กลุ่มผลประโยชน์" ที่ว่าคือกลุ่มทุนจารีตนิยม ทั้งที่เป้าโจมตีที่แท้จริงของคนกลุ่มนี้ก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณและรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ดังจะเห็นได้ว่า แม้แต่กรณีการเริ่มเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนสามจังหวัดภาคใต้ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาเกี่ยวข้องเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็ยังถูกคนพวกนี้บางคนกล่าวหาว่า พ.ต.ท.ทักษิณทำไปเพื่อต้องการฮุบผลประโยชน์พลังงานในทะเลสามจังหวัดภาคใต้

คนเสื้อแดงที่ไปตามแห่ขบวนการ "ทวงคืนพลังงานไทย" มักจะเป็นกลุ่มที่มีความไม่พอใจพรรคเพื่อไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จากประเด็นการแก้ไข ป.อาญา ม.112 กรณีการรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง เป็นต้น คนเสื้อแดงบางส่วนเชื่อไปถึงขั้นที่ว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้หักหลังคนเสื้อแดง หันไป "เกี้ยเซี้ย" สมคบกับพวกจารีตนิยม ร่วมแบ่งปันผลประโยชน์กันในธุรกิจพลังงานโดยผ่าน ปตท.อีกด้วย นัยหนึ่ง เห็นทั้งกลุ่มจารีตนิยมและรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเป็นศัตรูร่วมไปแล้ว

คนพวกนี้มีแรงจูงใจทางการเมืองเบื้องหลังเป็นพวกพันธมิตรเสื้อเหลือง การตอบโต้คนพวกนี้ก็คือ ต้องเปิดเผยให้เห็นถึงต้นกำเนิดทางการเมืองและจุดประสงค์ที่แท้จริงของพวกเขา รวมทั้งต้องให้ข้อมูลความจริงที่ชัดเจนแก่ประชาชนในประเด็นเกี่ยวข้องทั้งหมด ในส่วนหลังนี้ ที่ผ่านมา ทั้งกระทรวงพลังงานและ ปตท. บกพร่องอย่างยิ่งในการชี้แจงให้ทันท่วงที เป็นระบบและชัดเจน

ทั้งหมดนี้ ก็มิใช่เพื่อปกป้อง ปตท.หรือพรรคเพื่อไทย แต่เพื่อปกป้องขบวนประชาธิปไตย มิให้ไขว้เขวออกไปจากเป้าหมายที่แท้จริงคือ ต่อสู้กับพวกเผด็จการและบรรลุประชาธิปไตยที่แท้จริงให้ได้เร็ววัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐปาตานีกับองค์ประกอบของความเป็นรัฐตามหลักสากล

Posted: 14 Mar 2013 09:37 AM PDT

เป็นที่ยอมรับทางสังคมศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นรัฐศาสตร์หรือนิติศาสตร์ ว่าการจะเป็นรัฐจะต้องมีองค์ประกอบ 4 ประการ กล่าวคือ 1.ดินแดน(Territory) 2.ประชากร(Population) 3.อำนาจอธิปไตย(Sovereignty) 4.รัฐบาล(Government) ซึ่งมีที่มาและสอดคล้องกับอนุสัญญามอนตาวิเดโอว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของรัฐ (The Montevideo Convention on the rights and Duties of states) ค.ศ.1933 มาตรา 1 (Article 1) ซึ่งบัญญัติว่า "The state as a person of international law should possess the following qualification: (a) a permanent population; (b) a defined territory; (c) government; and (d) capacity to enter into relations with the other states"

1 ทศวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน สงครามที่ปาตานีเริ่มมีความชัดเจนว่า เป็นการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน ซึ่งหมายถึง การต่อสู้เพื่อเอกราช อย่างไรก็ตาม เอกราชจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีรัฐ ดังนั้น ไม่ว่ากลุ่มขบวนการต่อสู้ที่ปาตานีจะมีแนวทางและกระบวนการไปถึงจุดมุ่งหมายอย่างไร หากไม่สามารถสร้างรัฐที่มีองค์ประกอบตามหลักสากลได้ เอกราชคงเป็นเพียงอุดมการณ์ที่เลื่อนลอยเท่านั้น  เมื่อเป็นเช่นนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่รัฐไทยดำเนินการอยู่ในการต่อสู้กับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน ก็คือมาตรการป้องกันไม่ให้กลุ่มขบวนการสามารถสร้างองค์ประกอบของความเป็นรัฐได้อย่างสมบูรณ์

การต่อสู้ของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน จะสามารถสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ได้หรือไม่ และรัฐไทยมีโอกาสสูญเสียดินแดนปลายด้ามขวานที่ตนยึดมาจากรัฐปาตานีในอดีตมากน้อยเพียงใด ประการหนึ่งที่สามารถตอบคำถามเหล่านั้นได้คือ ปาตานีสามารถสร้างและมีองค์ประกอบของความเป็นรัฐตามหลักสากลได้มากน้อยเพียงใด

ประการแรก ดินแดน (Territory) การต่อสู้ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ปาตานี เป็นการต่อสู้เหนือดินแดนที่มีอาณาเขตชัดเจน เพื่อให้ดินแดนที่อยู่ในจังหวัด ปัตตานี นราธิวาส ยะลาและ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ซึ่งได้แก่ นาทวี จะนะ เทพา และสะบ้าย้อย ได้รับการปลดปล่อยจากรัฐไทย โดยพื้นที่ทั้งหมดล้วนเป็นดินแดนประวัติศาสตร์ที่คนปาตานีเชื่อว่า เคยเป็นรัฐปาตานีมาก่อน ดังนั้น พื้นดิน พื้นน้ำและพื้นอากาศเหนือพื้นที่ดังกล่าวจึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีโอกาสเป็นรัฐปาตานีในอนาคต

ประการที่สอง ประชากร (Population) ตามหลักสากลจำนวนประชากร เชื้อชาติหรือศาสนาของคนในรัฐหามีความสำคัญไม่ เพียงแต่ควรมีมากเพียงพอที่จะรักษาสถาบันต่างๆ ของรัฐและดำเนินกิจการต่างๆ ของรัฐได้  ในรัฐหนึ่งอาจประกอบด้วยประชากรหลากหลายศาสนาหรือหลากหลายเชื้อก็ได้ ที่ปาตานีก็เช่นกันในปัจจุบันมีผู้คนอาศัยอยู่หลากหลายศาสนาหลากหลายเชื้อชาติ โดยมีประชากรเชื้อสายมลายูมุสลิมอาศัยอยู่จำนวนมากที่สุดประมาณ 80% ของประชากรทั้งหมดในพื้นที่ จากดินแดนที่กล่าวไว้ข้างต้น ประชากรของรัฐปาตานีจึงน่าจะเป็นบุคคลที่อาศัยอยู่ในจังหวัด ปัตตานี นราธิวาส ยะลาและ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ได้แก่ นาทวี จะนะ เทพาและสะบ้าย้อย ซึ่งเป็นพื้นที่มีวัฒนธรรม ภาษาและวิถีการดำเนินชีวิตจำเพาะแต่ต่างจากพื้นที่อื่นของประเทศไทยอย่างสินเชิง โดยมีประชากรทั้งหมดประมาณ 2.3 ล้านคน

อนึ่ง ลักษณะสำคัญประการหนึ่งของรัฐสมัยใหม่ (Modern State) คือ รัฐประชาชาติ (Nation-state) ซึ่งหมายถึง หน่วยการปกครองที่ประกอบด้วยประชาชนที่มีจิตสำนึกในทางประวัติศาสตร์และในทางวัฒนธรรมร่วมกัน มีความสำนึกในความเป็นกลุ่มก้อนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีกำเนิดที่มา  มีอนาคตและชะตากรรมร่วมกัน ที่เรียกว่าว่า สำนึกแห่งความเป็นชาติ (Nation) เหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้เกิดอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนที่ปาตานี เพราะประชาชนปาตานีไม่มีจิตสำนึกของความเป็นรัฐประชาชาติ ดังนั้นที่ปาตานี  หากจะมีรัฐปาตานีได้ คนในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติใดและศาสนาใดจะต้องสร้างสำนึกความเป็นชาติร่วมกันอย่างสมัครใจและภาคภูมิใจ เพื่อเป็นรัฐประชาชาติ ซึ่งไม่ใช่สำนึกความเป็นชาติที่มาจากการบังคับจากผู้ปกครองอย่างที่รัฐไทยเคยทำกับคนมลายูปาตานีในอดีต

ประการที่สาม รัฐบาล (Government) แม้การต่อสู้ที่ปาตานีจะมีกลุ่มขบวนการหลายองค์กร แต่กลุ่มที่มีอิทธิพลมากที่สุดในปัจจุบัน คือ BRN มีการจัดตั้งองค์กรและมวลชนอย่างเข้มแข็ง ขณะเดียวกันมีการจัดตั้งรัฐบาลเงาและกระทรวงที่สำคัญเพื่อดำเนินการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ จึงอาจกล่าวได้ว่า ปัจจุบัน BRN เป็นพรรคที่มีบทบาทและอิทธิพลมากที่สุดในพื้นที่ จึงคาดหมายได้ว่าระยะแรกของการปฏิวัติเมื่อเกิดรัฐปาตานีพรรคที่จะเป็นรัฐบาลบริหารกิจการต่างๆของรัฐก็คือ BRN

ในส่วนองค์ประกอบสุดท้าย อำนาจอธิปไตย (Sovereignty)  ซึ่งหมายถึง อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ หากเกิดการเปลี่ยนแปลงและเกิดรัฐปาตานี อำนาจสูงสุดของรัฐจะเป็นของใคร เป็นไปตามหลักการปกครองประเทศว่า รัฐปาตานี จะใช้ระบอบใดในการปกครองประเทศ ประชาธิปไตยหรือระบอบคอมมิวนิสต์หรือระบอบอื่น นอกจากนี้ยังจะต้องดูเงื่อนไขแวดล้อมที่ทำให้ปาตานีได้รับเอกราช ว่าเกิดจากการสนับสนุนของประเทศค่ายไหน ประชาธิปไตยหรือสังคมนิยม สหรัฐอเมริกาหรือจีน จากข้อมูลที่ผู้เขียนได้ศึกษาการปฏิวัติที่ปาตานี เป็นการปฏิวัติของประชาชน และจะสำเร็จไม่ได้หากประชาชนในพื้นที่ไม่ให้ความร่วมมือ โอกาสที่รัฐปาตานีจะปกครองประเทศแบบประชาธิปไตย ซึ่งอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน จึงมีโอกาสเป็นไปได้มากกว่าการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของผู้ปกครอง

อำนาจสูงสุดในการปกครอง เป็นสิ่งเดียวที่กลุ่มขบวนการยังไม่มีอย่างชัดเจนที่สุด เห็นได้จากรัฐไทยยังคงมีอำนาจที่จะจัดการและดำเนินการทุกอย่างที่ปาตานี ขณะที่ BRN ยังไม่สามารถดำเนินการใดๆในทางการเมืองได้เว้นแต่การทหาร เนื่องจากองค์กรยังไม่มีฐานะทางการเมืองที่ชอบธรรม แต่หากมองในแง่อำนาจอธิปไตยในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน มีคำถามชวนสงสัยว่า รัฐไทยมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนปาตานีหรือไม่ ถ้าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน  ประชาชนปาตานีสมัครใจที่จะยอมมอบอำนาจดังกล่าวให้แก่รัฐไทยหรือไม่ เช่นเดียวกันกับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน BRN  การต่อสู้เพื่อเอกราชจะได้รับการรับรองและยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศตามหลักสากลหรือไม่ การต่อสู้จะต้องได้รับความไว้วางใจและเห็นด้วยจากประชาชนปาตานีที่จะมอบอำนาจอธิปไตยที่มีอยู่เหนือดินแดนปาตานี ให้ BRN เป็นตัวแทนของตนในการปกครองประเทศ

เมื่อคู่ขัดแย้ง คือ ขบวนการแบ่งแยกดินแดน BRN กับรัฐไทยกำลังหวาดระแวงและไม่มั่นใจว่าประชาชนปาตานีจะเห็นด้วยกับฝ่ายใด การผลักดันและสนับสนุนกระบวนการทางการเมืองเพื่อสันติภาพ เช่น การเจรจาเพื่อสันติภาพ (ไม่ใช่การเจรจาเพื่อประนีประนอม) การลงประชามติ จากทั้งสองฝ่ายจะยังไม่เกิดขึ้น เพราะอาจทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียหายหรือเสียเปรียบได้ เมื่อการเมืองอ่อนแอ การทหารก็จะต้องเข็มแข็ง การปฏิบัติการทางทหารจากขบวนการและฝ่ายความมั่นคงจึงยังคงมีต่อไป ความรุนแรงจึงเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้

ดังนั้น แม้ในทางทฤษฏี องค์ประกอบของความเป็นรัฐจะมี 4 ประการ แต่สิ่งเดียวที่ที่สำคัญที่สุดและจะเป็นเครื่องชี้วัดว่า ใครแพ้ใครชนะสงคราม คือ ประชาชน ประชนเห็นด้วยและจะมอบอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนที่พวกเขาอยู่ให้ใคร หากประชาชนปาตานีเห็นด้วยกับรัฐไทย รัฐไทยก็จะสามารถปกป้องรักษาดินแดนปาตานีไม่ให้เสียไปได้ หากประชาชนปาตานีเห็นด้วยกับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน BRN การได้มาซึ่งองค์ประกอบอื่นๆ ของความเป็นรัฐก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป รัฐปาตานีจะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน หรือประชาชนอาจจะมีตัวเลือกอื่นเพราะไม่เห็นด้วยทั้งกับรัฐไทยและ BRN เพราะสันติภาพไม่ได้อยู่ที่รัฐไทยหรือขบวนการแบ่งแยกดินแดน BRN แต่อยู่ในมือของประชาชนปาตานี

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ใบตองแห้ง’ออนไลน์: เสรีที่จะยัดข้อหา 'ล้มเจ้า'

Posted: 14 Mar 2013 09:17 AM PDT

 

ศาลอุทธรณ์เพิ่งยกฟ้อง คดีพรรคไทยรักไทยและ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ฟ้องสนธิ ลิ้มทองกุล, เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, ชัยอนันต์ สมุทรวณิช, ปราโมทย์ นาครทรรพ และ ASTV ฐานหมิ่นประมาท จัดเสวนาเรื่อง "ปฏิญญาฟินแลนด์" ยุทธศาสตร์ครองเมืองของไทยรักไทย เมื่อวันที่ 24-25 พ.ค.2549 ซึ่งโจทก์ฟ้องว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ว่า ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไปสู่การปกครองในระบอบทักษิณโดยมุ่งหมายเข้าบริหารประเทศตามข้อตกลงปฏิญญาฟินแลนด์ ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเพียงสัญลักษณ์

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยชี้ว่าการจัดเสวนาของจำเลย ไม่ได้ยืนยันว่า "ปฏิญญาฟินแลนด์" มีจริงหรือไม่ เพียงแต่กล่าวถึงการบริหารราชการแผ่นดินของโจทก์ทั้งสองเท่านั้น จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การเสวนาของจำเลยไม่ได้ให้ความสำคัญหรือยืนยันว่า "ปฏิญญาฟินแลนด์" มีจริงหรือไม่ แต่มุ่งวิพากษ์วิจารณ์การบริหารราชการแผ่นดิน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถือเป็นบุคคลสาธารณะที่ประชาชนทั่วไปจะแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

"ขณะเดียวกันโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าข้อตกลงปฏิญญาฟินแลนด์นั้นไม่มีอยู่จริง ส่วนการเผยแพร่บทความเกี่ยวกับปฏิญญาฟินแลนด์ก่อนหน้านั้น ก็เป็นเพียงการนำเสนอเพื่อให้การเสวนาน่าสนใจเท่านั้น ไม่อาจฟังได้ว่าเป็นการทำลายล้างทางการเมืองหรือมุ่งโจมตีโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท"

นี่คือบทสรุปของ "ปฏิญญาฟินแลนด์" ที่พันธมิตรฯ โดยบุคคล 4 คนข้างต้น นำมาโจมตีรัฐบาลทักษิณจนเป็นข่าวใหญ่โตครึกโครม แต่ท้ายที่สุดกลับกลายเป็น "การนำเสนอเพื่อให้การเสวนาน่าสนใจ" "จำเลยไม่ได้ให้ความสำคัญหรือยืนยันว่าปฏิญญาฟินแลนด์มีจริง" กลายเป็นหน้าที่ของโจทก์ต่างหากที่ต้องนำสืบให้เห็นว่าปฏิญญาฟินแลนด์ไม่มีอยู่จริง

ก็ย้อนกลับไปอ่านข่าวเมื่อปี 2549 ดูกันนะครับว่า จำเลยทั้ง 4 พูดอย่างไรเกี่ยวกับปฏิญญาฟินแลนด์ พวกเขายืนยันว่ามีจริงหรือไม่ และส่งผลอย่างไรต่อสถานการณ์การเมืองในขณะนั้น ซึ่งตามมาด้วยการรัฐประหารโดย 1 ใน 4 ข้อหาคือมีการกระทำอัน "หมิ่นเหม่"

วิพากษ์"ชนชั้นสูง" คือไม่จงรักภักดี?
เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดมีนบุรีได้พิพากษายกฟ้อง คดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ฟ้องสนธิ ลิ้มทองกุล และแกนนำพันธมิตรฯ รวม 6 คน ฐานหมิ่นประมาท จากการประกาศคำปฏิญญา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2551 ที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เหตุเกิดในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ก่อนที่พันธมิตรฯ จะยึดทำเนียบ

คำพิพากษาเท่าที่อ่านจากข่าวในเว็บไซต์ผู้จัดการระบุว่า คดีนี้จำเลยนำสืบว่า เหตุที่ออกปฏิญญาเนื่องจากรัฐบาลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 เพื่อหนีคดียุบพรรคพลังประชาชน และแก้ไขมาตรา 309 เพื่อลบล้างความผิดที่ คตส.ได้ตรวจสอบและชี้มูลความผิดไว้ การกล่าวปฏิญญาเพื่อต้องการตักเตือนรัฐบาลสมัครไม่ให้เป็นหุ่นเชิดของโจทก์ เนื่องจากพฤติกรรมของโจทก์สมัยที่เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ใช้นโยบายประชานิยมให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียง โดยหลอกลวงประชาชนว่าจะแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนให้หมดไปภายใน 6 ปี แต่ปัจจุบันความยากจนก็ไม่ได้หมดไป แต่โจทก์กับพวกกลับร่ำรวยมากขึ้น ซึ่งต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษาให้ยึดทรัพย์ของโจทก์และพวกตกเป็นของแผ่นดินฐานร่ำรวยผิดปกติ และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 2 ปี ฐานกระทำต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 การใช้นโยบายปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอย่างแข็งกร้าว มีผู้ถึงแก่ความตายประมาณ 2,600 คน มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เอื้อประโยชน์ให้นายทุนและพวกพ้อง โดยประชาชนไม่สามารถเข้าซื้อหุ้นได้ เช่น การแปรรูป ปตท. 800 ล้านหุ้น ราคาเริ่มต้นที่หุ้นละ 35 บาท โดยใช้เวลาขายเพียง 1 นาที หลังจากแปรรูปราคาหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 200 บาท ถึง 300 บาท

ข้อนำสืบของจำเลยทั้งหกแสดงให้เห็นว่า สมัยที่โจทก์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โจทก์บริหารประเทศไม่โปร่งใส มีการทุจริตคอร์รัปชัน มีการออกนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อตนเองและพวกพ้องทำให้โจทก์และพวกร่ำรวยยิ่งขึ้น ซึ่งต่อมาอัยการสูงสุดได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองริบทรัพย์สินของโจทก์กับพวกฐานร่ำรวยผิดปกติให้ตกเป็นของแผ่นดิน แม้โจทก์จะไม่ยอมรับคำพิพากษาแต่ก็แสดงให้เห็นว่า โจทก์มีพฤติกรรมบริหารประเทศส่อไปในทางไม่สุจริตจริง

สำหรับข้อความที่กล่าวหาโจทก์ว่ากดขี่ ข่มเหง และเข่นฆ่าประชาชนนั้น สืบเนื่องจากนโยบายปราบปรามยาเสพติดของโจทก์ที่แข็งกร้าว เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจากนโยบายดังกล่าวถึง 2,600 คน

ส่วนข้อความที่กล่าวหาว่าโจทก์ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ก็ปรากฏจากทางนำสืบของจำเลยทั้งหกว่า ภายหลังจากโจทก์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โจทก์ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนต่างประเทศหลายแขนงต่อเนื่องว่า "ตนเองเป็นภัยคุกคามชนชั้นสูง" และยังให้สัมภาษณ์ต่อไปว่า "บรรดาชนชั้นสูงที่มีอภิสิทธิ์ทั้งหลาย เชื่อถือในทุกสิ่ง ยกเว้นประชาธิปไตย" ตามสำเนาหนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 24 ตุลาคม 2551 พฤติกรรมของโจทก์ดังกล่าวย่อมทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าโจทก์ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 นำเอาจุดบกพร่องในการบริหารราชการแผ่นดินของโจทก์มาวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะโจทก์เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีย่อมเป็นบุคคลสาธารณะ อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ เป็นการป้องกันส่วนได้เสียของตนตามคลองธรรม ในฐานะประชาชนชาวไทยที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำหรือพฤติกรรมของรัฐบาลที่บริหารราชการแผ่นดินในขณะนั้นและเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

เอาละ ในประเด็นข้อกล่าวหาว่าไม่โปร่งใส เอื้อประโยชน์ต่อตนเองและพวกพ้อง ก็ดีใจด้วยละครับ เพราะผมก็เคยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทักษิณไว้คล้ายกัน เป็นอันว่าผมไม่ผิดไปด้วย ฮิฮิ แม้ประเด็นที่จำเลยยกมานำสืบบางประเด็นฟังไม่ขึ้น เช่น ข้อกล่าวหาเรื่องหุ้น ปตท.ซึ่งเป็นที่มาของการ "ทวงคืนผัดกระเพรา" ให้ครึกครื้นอยู่เวลานี้ (เพราะความเป็นจริงใครก็ซื้อได้ แม้แต่ NGO ก็ยังซื้อ)

รวมทั้งการที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษายึดทรัพย์ จริงๆ แล้วก็ไม่ได้บอกว่า "ทุจริต" แต่บอกว่า "ได้ประโยชน์โดยไม่สมควร" (มีแต่กฎหมายไทยนี่แหละครับที่ "ไม่สมควร" ก็มีความผิด) แถมยังไม่สามารถบอกได้ว่า ราคาหุ้นชินคอร์ปเพิ่มสูงผิดปกติจากบริษัทอื่นๆ สุดท้ายศาลก็ไปจิ้มเอาวันที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ

หรือคำพิพากษาให้จำคุก 2 ปี อันนั้นศาลบอกชัดเจนว่า "ไม่ทุจริต" แต่ติดคุกเพราะเซ็นชื่อยินยอมให้เมียซื้อที่ดิน (มีแต่กฎหมายไทยเช่นกัน ทักษิณถึงลอยนวลไปได้ทั่วโลก)

อย่างไรก็ดี คำกล่าวหาว่าไม่โปร่งใส เอื้อประโยชน์ต่อตัวเองและพวกพ้อง เป็นคำที่ประชาชนควรวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้เมื่อเกิดกรณีอื้อฉาวหลายครั้งแม้ไม่มีใบเสร็จ (แต่ถ้าชี้หน้านายกฯ หรือรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งว่า "โกง" ก็ต้องมีข้อพิสูจน์นะครับ)

แต่ที่ผมกังขาประเด็นแรกคือ คำกล่าวที่ว่ากดขี่ ข่มเหง เข่นฆ่าประชาชนนั้น จะอ้างเอาจากนโยบายปราบปรามยาเสพย์ติดเท่านั้นหรือ ผมเองก็วิพากษ์นโยบาย "ฆ่าตัดตอน" แต่ไม่เคยใช้คำว่า เข่นฆ่าประชาชน ที่ถูกต้องใช้คำว่า ละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะฆ่าตัดตอนคือการที่(สันนิษฐานว่า)ตำรวจใช้ศาลเตี้ยลงโทษประหารผู้ค้ายาเสพย์ติด ทั้งที่ผู้กระทำความผิดควรได้รับโทษตามกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็น "คำสั่ง" ของรัฐบาล แต่ต้องตำหนิรัฐบาลที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ให้ท้ายตำรวจ

คำว่าเข่นฆ่าประชาชน ต้องใช้ในความหมายที่ชัดเจนกว่านั้น เช่น สั่งให้กำลังทหารหรือตำรวจใช้อาวุธกระสุนจริงเข้าสลายการชุมนุมของประชาชน แต่ในอีกคดีหนึ่ง ที่จตุพร พรหมพันธุ์ กล่าวหาว่าอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ "สั่งฆ่าประชาชน" ศาลก็ยังลงโทษจำคุก

ประเด็นที่น่าตระหนกที่สุดก็คือ การที่ศาลชี้ว่า ทักษิณไปให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศว่า "ตนเองเป็นภัยคุกคามชนชั้นสูง" และ "บรรดาชนชั้นสูงที่มีอภิสิทธิ์ทั้งหลาย เชื่อถือในทุกสิ่ง ยกเว้นประชาธิปไตย" เป็นพฤติกรรมที่ "ย่อมทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าโจทก์ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์" นั้นเป็นการตีความที่กว้างมาก กว้างจนไม่รู้ขอบเขต

ผมไม่ทราบว่าจะมีใครเอาคำกล่าวของทักษิณไปฟ้องว่าผิด ม.112 ไหม แต่ถ้าคดีนี้ถึงฎีกาและพิพากษายืนตามนี้ ก็แปลว่าต่อไปใครบังอาจวิพากษ์วิจารณ์ "ชนชั้นสูงที่มีอภิสิทธิ์" ก็จะถูกประณามว่าไม่จงรักภักดี โดยที่ผู้ประณามไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

"บ้ากาม" ไม่หมิ่น
ก่อนหน้านี้วันที่ 25 ธ.ค.2555 ที่ศาลจังหวัดมีนบุรี ศาลอุทธรณ์ได้อ่านคำพิพากษา ยกฟ้องคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายจากประพันธ์ คูณมี และ ASTV 100 ล้านบาท จากการปราศรัยบนเวทีพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 25-26 พ.ค.2551 โดยศาลชั้นต้นยกฟ้องไปเมื่อปลายปี 2553

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคำปราศรัยของจำเลย สรุปได้ว่ามีการกล่าวหา 4 ประเด็นคือ 1.ในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โจทก์บริหารราชการแผ่นดินเป็นที่เสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชน ใช้อำนาจเอื้อประโยชน์แก่ตนเอง ญาติพี่น้องและพวกพ้อง มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต 2.ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 3.เป็นคนไร้สัญชาติ ไม่มีชาติ ไม่มีประเทศคิดแต่เรื่องเงินเพียงอย่างเดียว 4.บ้าเซ็กซ์ บ้ากาม

คำพิพากษาระบุว่า โจทก์เป็นบุคคลสาธารณะ ซึ่งย่อมหมายความว่าชีวิตและความเป็นส่วนตัวจะได้รับความคุ้มครองจากฎหมายน้อยกว่าสถาบันหรือบุคคลธรรมดาที่ไม่ใช่บุคคลสาธารณะ ทั้งนี้ เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวหากได้รับการเปิดเผยแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน

ปัญหาต่อไปที่จะต้องพิจารณาคือ ข้อกล่าวหาเหล่านั้นเป็นจริงหรือไม่ หรือหากไม่เป็นจริงจะเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ส่งข่าวสารมิได้รู้ว่าเป็นความเท็จตามมาตรา 423 วรรคสองหรือไม่ จำเลยทั้งสามนำสืบพยานหลักฐานหลายประการซึ่งอ้างว่า ทำให้จำเลยเชื่อว่าข้อความที่กล่าวหาโจทก์เป็นจริง เช่นข้อเท็จจริงที่โจทก์ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาลงโทษจำคุก และโจทก์หลบหนีไปต่างประเทศจนศาลต้องออกหมายจับก็ดี การที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งยึดทรัพย์สินของโจทก์เพราะเหตุร่ำรวยผิดปกติ และประพฤติมิชอบขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ดี

"การที่โจทก์ในขณะเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นประธานประกอบพิธีศาสนสัมพันธ์สมานฉันท์แห่งชาติ "พิธีทำบุญประเทศ" ภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยโจทก์นั่งอยู่ในตำแหน่งที่ประทับโดยปกติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงก็ดี การปล่อยให้บุคคลซึ่งใกล้ชิดกับโจทก์เคลื่อนไหวในลักษณะท้าทายอำนาจแห่งองค์พระมหากษัตริย์ก็ดี หรือการที่โจทก์ใช้ชีวิตใกล้ชิดพบปะกับดาราหรือบุคคลในวงการบันเทิงที่เป็นสตรีในต่างประเทศก็ดี"

เห็นว่าพยานหลักฐานฝ่ายจำเลยน่าเชื่อได้ว่า ในขณะที่จำเลยปราศรัยด้วยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำ การไม่กระทำ ความคิด จริยธรรม แม้กระทั่งชีวิตส่วนตัวของโจทก์ "จำเลยเชื่อว่าเป็นความจริง ทั้งนี้อาจเกิดจากความครุ่นคิดฝักใฝ่ ความกระตือรือร้น ความรู้สึกส่วนตัวหรือความเชื่อในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังจากพรรคพวก จึงทำให้จำเลยที่ 1 กล่าวหาโจทก์เช่นนั้น…"

โจทก์ย่อมใช้บุคลากรและอุปกรณ์ที่โจทก์มีอยู่เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบความจริงในสายตาของโจทก์ ฝ่ายจำเลยเองก็ย่อมใช้สิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพียงแต่ฝ่ายจำเลยต้องอยู่ในกรอบของความถูกต้องชอบธรรม รวมทั้งจริยธรรมและมารยาทในสังคมด้วย

"การกล่าวหาโจทก์ของจำเลยที่ 1 แม้บางประเด็นจะเป็นถ้อยคำที่ไม่สุภาพอาจจะถึงขั้นหยาบคาย แต่ก็เป็นเพียงปัญหาด้านจริยธรรมและมารยาท ยังไม่ถือเป็นละเมิดตามกฎหมาย"

คดีนี้หมายความว่าอะไรครับ หมายความว่าศาลเห็นว่าการกล่าวหา 4 ประเด็นนั้น ไม่เป็นความจริง (หรือไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง) แต่จำเลยเชื่อว่าเป็นความจริง จึงไม่มีความผิด

ว้าว! ประพันธ์ คูณมี เชื่อโดยสุจริตว่าทักษิณบ้าเซ็กส์ บ้ากาม ด้วยความครุ่นคิดฝักใฝ่ กระตือรือร้น เชื่อในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังจากพรรคพวก แล้วเอามาพูดบนเวทีพันธมิตร ในฐานะผู้สนใจกิจการบ้านเมืองและการบริหารประเทศ จึงไม่มีความผิด แม้ใช้ถ้อยคำไม่สุภาพ อาจถึงขั้นหยาบคาย แต่ก็เป็นปัญหาด้านจริยธรรมและมารยาท ไม่ผิดกฎหมาย

นักศึกษากฎหมายควรไปถอดเทปคำปราศรัยของประพันธ์มาศึกษานะครับว่า ใช้ถ้อยคำหยาบคายอย่างไร ที่เป็นเพียงปัญหาด้านจริยธรรมและมารยาท แต่ไม่หมิ่นประมาท เพราะความเข้าใจพื้นๆ ของผม เท่าที่ทำหนังสือพิมพ์มา เราไม่กล้าใช้ถ้อยคำหยาบคายกับตัวบุคคลเพราะกลัวจะหมิ่นประมาท

นี่ถ้าใครใช้ถ้อยคำไม่สุภาพกับศาลบ้าง จะถือเป็นปัญหาด้านจริยธรรมและมารยาทไหมหนอ

"ล้มเจ้า" ก็ไม่หมิ่น
เมื่อวัน11 ธ.ค.2555 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องคดีที่บริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ฟ้องสุรวิชช์ วีรวรรณ กับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและเว็บไซต์ ฐานหมิ่นประมาทจากการเขียนบทความเรื่อง "มติชนกับการล้มกษัตริย์" ลงในคอลัมน์ "หน้ากระดานเรียงห้า" เมื่อวันที่ 27-28 พฤษภาคม 2553 ซึ่งมติชนฟ้องว่ามีเนื้อหายืนยันว่าโจทก์กระทำการล้มกษัตริย์ และยังโน้มน้าวให้ผู้อ่านเชื่อว่าโจทก์มีพฤติกรรมล้มกษัตริย์ล้มเจ้า

คดีนี้ศาลชั้นต้นยกฟ้อง โดยระบุว่าที่โจทก์อ้างว่าจำเลยหมิ่นประมาทใส่ความด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จนั้น การใส่ความ ตาม ป.วิอาญา มาตรา 326, 328 จะต้องมีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นเกี่ยวกับบุคคล และบทความใดจะเป็นเท็จต้องมีข้อความที่เป็นจริงเสียก่อนจึงจะนำมาเปรียบเทียบให้เห็นเป็นความเท็จได้ การกระทำของจำเลยเป็นการเสนอบทความในลักษณะเป็นการตั้งคำถามสงสัย ด้วยความกังวลห่วงใยการเสนอข่าว หรือบทความเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยสุจริต ตามเหตุตามผลที่ประชาชนทั่วไปย่อมสามารถแสดงความคิดเห็นได้ มิได้มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง ว่า "โจทก์กระทำการล้มกษัตริย์ หรือเชื่อว่าโจทก์มีพฤติกรรมล้มกษัตริย์ล้มเจ้า" อันเป็นการใส่ความโจทก์แต่อย่างใด

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า นายสุรวิชช์ วีรวรรณ เขียนในทำนองวิเคราะห์ความเห็นของตนและเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศ "มิใช่เขียนยืนยันว่าโจทก์กระทำการตามชื่อเรื่องของบทความ เป็นการเขียนและเผยแพร่บทความในลักษณะห่วงผลกระทบต่อสถาบันกษัตริย์อันเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทย ซึ่งประชาชนทุกหมู่เหล่ามีสิทธิ์ที่จะวิตกต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น และมีสิทธิ์ที่จะแสดงความเห็นได้ และเป็นการเขียนบทความในลักษณะสงสัยในเจตนาของโจทก์ที่นำเสนอบทความว่าโจทก์มีเจตนาเช่นไรเท่านั้น มิใช่เป็นการสร้างความเท็จขึ้นมายืนยันใส่ร้ายโจทก์"

คดีนี้ผู้จัดการยังฟ้องกลับมติชน จากการเอาคำฟ้องไปตีพิมพ์ ต้องคอยดูว่าท้ายที่สุดมติชนผู้ถูกกล่าวหาว่า "ล้มกษัตริย์" จะกลายเป็นฝ่ายหมิ่นประมาทเสียเองหรือไม่

ขอเท้าความหน่อยว่า คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 25 พ.ค.2559 หลังเหตุการณ์พฤษภาอำมหิต รัฐบาล ปชป.ออกหมายจับทักษิณคดีก่อการร้าย มติชนเขียนบทความเรื่อง "วิเคราะห์ รบ.ใช้หมายจับข้อหาก่อการร้าย เด็ดปีก "ทักษิณ" แต่คำถามคือ ถ้าจับได้จริง จะเอาคุกที่ไหนขัง?" ซึ่งก็ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์เลย แค่ตั้งคำถามตอนท้ายว่าจะเอาคุกที่ไหนขัง "เพราะคาดว่าเรือนจำที่ใช้ขัง พ.ต.ท.ทักษิณ จะถูกคนเสื้อแดงบุกไปล้อมแบบคุกบาสติล (Bastille)"

สุรวิชช์จับตรงนี้ไปเขียน ตั้งแง่ว่าทำไมต้องยกตัวอย่างคุกบาสติล เป็นเสรีภาพในการเขียนแต่ผู้อ่านก็มีสิทธิจะตีความในนัยที่ซ่อนเร้นอยู่

       "14 กรกฎาคม ค.ศ.1789 หรือ "วันบาสติล"(Bastille Day) หรือที่รู้จักกันในนาม "วันชาติฝรั่งเศส" หรือนัยหนึ่งถือเป็นวันปฏิวัติใหญ่ล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในฝรั่งเศส และนำไปสู่การโค่นล้มระบอบกษัตริย์ฝรั่งเศส การจับพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ประหารชีวิตด้วยเครื่องกิโยติน

      "วันบาสตีล" ถือเป็นวันแห่งการปฏิวัติการปกครองจากระบบ "เจ้าขุนมูลนาย" ไปสู่การปกครองในระบอบสาธารณรัฐที่มี "ประธานาธิบดี" เป็นประมุขของฝรั่งเศส และเป็นวันก่อตั้งพรรคไทยรักไทยของทักษิณด้วย"

สุรวิชช์เก่งจริงๆ สามารถเขียนให้วันบาสตีล สัญลักษณ์ของการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งชาวโลกยกย่องว่าเป็นจุดเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตย ให้กลายเป็น "วันล้มเจ้า" ไปได้

ในประเทศนี้ใครจะยกย่องวันทลายคุกบาสตีล ยกย่องการปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ได้นะครับ อาจารย์รัฐศาสตร์ อ.เกษียร อ.พิชญ์ ถ้าสอนเรื่องปฏิวัติฝรั่งเศสต้องระวังให้ดี คุณอาจโดนคอลัมนิสต์ผู้จัดการกล่าวหาว่าต้องการ "ล้มเจ้า" (ที่จริงน่าจะห้ามฉายหนัง Les Miserables ไปเลย)

      "สำหรับมติชนแล้ว การหยิบยกเรื่องการ "ล้มระบอบกษัตริย์"ในต่างประเทศ มาเทียบเคียงกับสังคมไทยนั้นไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น

       ก่อนหน้านี้มติชนสุดสัปดาห์ฉบับประจำวันที่ 16 มิถุนายน 2549 เคยนำเสนอรายงานหน้าปกเรื่อง Case study เมื่อเนปาล คืน "อำนาจ" ให้ "ประชาชน" ซึ่งเป็นเรื่องราวของการโค่นล้มระบอบกษัตริย์ของราชวงศ์เนปาลเช่นเดียวกัน

       มติชนอาจจะหาคำอธิบายมาอ้างไปได้ว่า ทำไมเขาถึงเอาเรื่องคุกบาสติลมาโยงกับการที่ทักษิณถูกหมายจับในข้อหาก่อการร้ายและอาจถูกนำตัวมาขังคุก เขานำเสนอเรื่องการล้มระบอบกษัตริย์เนปาลเพราะเป็นข่าวที่สร้างปรากฏการณ์ในช่วงนั้น แต่คำตอบที่แท้จริงย่อมอยู่ในกรรมที่เป็นเครื่องชี้เจตนานั่นเอง"

สุรวิชช์ลากย้อนไปได้ 4 ปี ตกลงมีมติชนฉบับเดียวรายงานข่าวล้มระบอบกษัตริย์เนปาล แล้วการรายงานข่าวนี้เป็นสิ่งต้องห้ามในประเทศนี้?

อย่าลืมความจริงอีกอย่าง มติชนเมื่อปี 49 ยังไล่ทักษิณอยู่โครมๆ รัฐประหารก็ยังเชียร์ เพิ่งจะมาเปลี่ยนเมื่อด่าม็อบพันธมิตรยึดทำเนียบยึดสนามบิน จนถูกพวกเหลืองคลั่งผลักมาอยู่ตรงข้าม

     "ผมไม่รู้ว่า ผู้เขียนบทวิเคราะห์ชิ้นนี้มีเจตนาอย่างไร แต่กรณีตัวอย่างเรื่องการล้มระบอบกษัตริย์เนปาลและการทลายคุกบาสติลผ่านการนำเสนอของมติชนนั้น มีนัยที่ต้องตั้งคำถามและน่ากังขาอย่างมาก เมื่อนำจุดยืนในการเลือกข้างคนเสื้อแดงผ่านบทวิเคราะห์รายงานต่างๆของหนังสือในเครือแล้ว ก็ยิ่งจะต้องตั้งคำถามมากยิ่งขึ้น"

นี่คือวิธีการเขียนของสุรวิชช์ ซึ่งใช้วิธีการ "ตั้งข้อสงสัย" แต่ไม่ต้องสงสัยว่าผู้ถูกพาดพิงเสียหายไปแล้ว ใน "ข้อสงสัย" ที่ร้ายแรงว่า "ล้มเจ้า" แต่ศาลเห็นว่าไม่หมิ่นเพราะเป็นแค่ "ข้อสงสัย"

ลองอ่านบทความนี้ดูนะครับ http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9530000073024

แล้วลองนึกเทียบดู อ.เกษียรเขียนบทความชื่อ "บรรหารบุรีใต้ร่มพระบารมี" มติชนไม่กล้าลง ขอให้เปลี่ยนชื่อ เพราะกลัวสลิ่มยัดข้อหาหมิ่น แต่สุรวิชช์กล้าๆ เขียนบทความชื่อ "มติชนกับการล้มกษัตริย์" โดยไม่กลัวหมิ่น และไม่หมิ่นจริงๆ ด้วย

ผิดที่ไม่ฟ้องพระอรหันต์
ก่อนนั้นอีก วันที่ 6 สิงหาคม 2555 ศาลจังหวัดปทุมธานียกฟ้องคดีที่ทักษิณฟ้องพันธมิตรฐานหมิ่นประมาท จากการออกแถลงการณ์คัดค้านและประณามการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งกล่าวโดยสรุป ศาลเห็นว่าเป็นสิทธิที่จะพิทักษ์รัฐธรรมนูญและเห็นด้วยกับแถลงการณ์พันธมิตรว่าไม่ผิดทุกประเด็น

คดีนี้มีของแถมที่สนธิ ลิ้มทองกุล ออกมาให้สัมภาษณ์เกินจากแถลงการณ์พันธมิตรฯ ว่ามีความเป็นไปได้ที่หากโจทก์สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ตนเองหลุดพ้นจากองค์กรตรวจสอบความรับผิด ซึ่งรับรองโดยมาตรา 309 ได้แล้วย่อมเป็นเงื่อนไขข้อแรกนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์ เพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของไทยเป็นระบอบประธานาธิบดี แล้วทุกสิ่งเป็นไปได้หมด

สนธิต่อสู้โดยอ้างว่าทักษิณกระทำมิบังควรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยยกเอาภาพเมื่อครั้งทักษิณเป็นนายกฯ ไปพบประชาชนที่อยุธยาแล้วมีประชาชนถือธง "ทรงพระเจริญ" มาต้อนรับ อ้าง "ข้อเท็จจริง" ของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ว่าทักษิณจะเป็นประธานาธิบดี และหลังเกิดคดี ทักษิณยังให้สัมภาษณ์จาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ จนหลายฝ่ายต้องออกมาปกป้อง (หมายถึงกรณีให้สัมภาษณ์ไทม์ส ออนไลน์)

ศาลตัดสินว่า "การกระทำตามภาพถ่ายในหนังสือพิมพ์ ซึ่งจำเลยที่ ๑ กล่าวอ้าง ปรากฏมีคำว่าทรงพระเจริญที่ธงชาติไทย ซึ่งประชาชนบางส่วนถือนำมาต้อนรับโจทก์และมีชื่อโจทก์เป็นภาษาอังกฤษที่ธงชาติไทยติดไว้ ในสนามฟุตบอล ภาพดังกล่าวถึงจะไม่สามารถบ่งชี้ได้แน่ชัดว่า โจทก์เป็นคนจัดให้มีการกระทำนั้นขึ้นมา เนื่องจากอาจเป็นความสมัครใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของบุคคลอื่นก็เป็นได้ รวมทั้งคำชี้แจงของโจทก์ตามข่าวเอกสารหมาย ล.๒๕ แม้จะไม่บังควรที่กล่าวถึงเบื้องสูงให้มาเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ก็อยู่ในลักษณะของคนตั้งใจที่จะปฏิบัติตามรับสั่งเท่านั้น ยังไม่ถึงขนาดเป็นไปได้ชัดว่า โจทก์มีเจตนาล้มล้างรัฐธรรมนูญมาเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประธานาธิบดี.......  แต่จำเลยที่ ๑ ยังมีข้อเท็จจริงตามคำเทศนาของหลวงตามหาบัว น่าเชื่อถือศรัทธาเป็นที่ประจักษ์บอกเล่าถึงโจทก์ที่หวังอาจเอื้อมเป็นประธานาธิบดี ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ ๑ นำเรื่องราวต่างๆของโจทก์มาประกอบรวมกันทั้งหมดแล้วจึงอาจทำให้เข้าใจไปได้ว่า โจทก์อาจต้องการล้มล้างรัฐธรรมนูญจริงจึงให้สัมภาษณ์ไปในสาธารณะเช่นนั้น"

สนธิไม่ผิดยังไม่พอนะครับ ศาลยังเห็นว่าทักษิณล่วงละเมิดอีกต่างหาก จากการให้สัมภาษณ์ไทม์ส ออนไลน์

"ตามข่าวเอกสารหมาย ล.๒๕-ล.๒๘ ศาลตรวจอ่านดูแล้วทราบว่าโจทก์ให้สัมภาษณ์พาดพิงและล่วงละเมิดสถาบันเบื้องสูงอย่างรุนแรง และเป็นคำพูดที่ไม่เหมาะสมชี้ให้เห็นจุดประสงค์ที่แท้จริงของโจทก์ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยมีข่าวว่าเหล่าทัพออกมาชี้แจงให้ผู้ใต้บังคับบัญชาระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และเทิดทูนพระมหากษัตริย์"

นั่นคือทัศนะของศาล ทั้งที่บทสัมภาษณ์ทักษิณในไทม์ส ออนไลน์ ซึ่งมีการเผยแพร่ทั่วไป ไม่มีที่ใดกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระราชินี หรือองค์รัชทายาท ในทางเสียหาย มีแต่ยกย่องเทิดทูน เพียงแต่กล่าวโจมตีตรงๆ ต่อองคมนตรีและเครือข่าย

"ข้อเท็จจริงตามข่าวสารดังกล่าวจึงมีมูลเหตุให้น่าเชื่อไปได้ว่า โจทก์มีพฤติกรรมดังกล่าวจริง สอดคล้องกับข้อเท็จจริงของโจทก์ต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในคำพิพากษาของศาลอาญาซึ่งยกฟ้องโจทก์คดีหมิ่นประมาทเรื่องกลับมาเป็นประธานาธิบดี ...การให้สัมภาษณ์ของจำเลยที่ ๑ ขณะเกิดเหตุว่าอาจมีมูลความจริงตามที่เชื่อก็ได้ สมควรยกประโยชน์ในทางเป็นคุณให้แก่จำเลย"

คำพิพากษาศาลอาญาที่ศาลจังหวัดปทุมธานีอ้างถึงคือกรณีที่ศาลยกฟ้อง คดีทักษิณฟ้องสุเทพ เทือกสุบรรณ ฐานหมิ่นประมาทจากการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2552 ว่า "...ไม่ต้องวิเคราะห์ครับ คุณทักษิณชัดเจนว่า ท่านไม่ยอมแพ้ ท่านก็พยายามสู้ขอท่านไปเรื่อย ท่านก็บอกแล้วว่าวันหนึ่งท่านจะกลับมาเป็นประธานาธิบดี เราก็ไม่ต้องวิเคราะห์อะไร..."

และยังได้กล่าวอภิปรายในสภาเมื่อวันที่ 5 ก.พ. ว่า "ผมเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชอบระบอบประธานาธิบดี ในจิตใจส่วนลึกของ พ.ต.ท.ทักษิณ อยากเป็นประธานาธิบดี"

"ศาลได้พิเคราะห์จากพยานหลักฐานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องสรุปได้ว่า โจทก์เคยดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่างปี 2544 ถึง 2549 ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) เห็นว่าโจทก์มีพฤติการณ์เหยียบย่ำ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ จึงได้เทศนาสั่งสอนโจทก์เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2548 ว่า อย่าคิดอาจเอื้อมเป็นประธานาธิบดี.... และในส่วนตัวโจทก์เองก็ได้แสดงพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมต่อองค์พระมหากษัตริย์ คือ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2548 โจทก์ได้พูดกลับกลุ่มบุคคลที่หอประชุมอินดอร์สเตดียมหัวหมาก ด้วยข้อความไม่เหมาะสมต่อองค์พระมหากษัตริย์ ต่อมาเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 โจทก์ได้พูดในรายการนายกทักษิณ คุยกับประชาชน ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เรื่องการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของโจทก์ โดยใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสมต่อองค์พระมหากษัตริย์ และเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2549 โจทก์ได้พูดต่อข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ว่ามีผู้บารมีเหนือรัฐธรรมนูญมาก่อความวุ่นวายต่อระบอบประชาธิปไตยมากเกินไป จนทำให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า การกระทำของโจทก์ทำให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยว่าโจทก์ไม่ปกป้องต่อสถาบันพระมหากษัตริย์.."

ศาลยังร่ายยาวว่าทักษิณมีความเชื่อมโยงกับเสื้อแดง

"และการชุมนุมของคนเสื้อแดงทุกครั้งมักจะพูดพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น การชุมนุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2550, วันที่ 10 มิถุนายน 2551, วันที่ 15 สิงหาคม 2251 โดยเฉพาะการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2551 กลุ่มคนเสื้อแดงได้นำพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ติดไว้ที่ฉากหลังเวที โดยมีข้อความที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง... ต่อมาเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2552 มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงหลายครั้งและมีการตั้งโต๊ะเสนอให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญาข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ.....จากพฤติกรรมของโจทก์เป็นผลให้ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ว่าโจทก์ลบหลู่ดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์.... นอกจากนี้ พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ ก็ยังได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า โจทก์จ้องล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 4 เม.ย. 2552 ซึ่งโจทก์น่าจะหยุดการกระทำอันไม่บังควรดังกล่าว แต่โจทก์กลับไม่หยุด และในทางกลับกันโจทก็กลับให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไฟแนนเซี่ยลไทม์ว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ควรทราบเรื่องแผนการรัฐประหารมาล่วงหน้า" ตามหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 15 พ.ค.2552 โจทก์ยังได้ให้การสนับสนุนกลุ่มคนเสื้อแดงให้มาชุมนุมกันที่ถนนราชดำเนิน ลานพระบรมรูปทรงม้า จนนำไปสู่การจลาจล ซึ่งชวนให้เห็นว่า เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติโดยประชาชนตามคำชักชวนของโจทก์ ทั้งนี้ เพราะโจทก์กับกลุ่มคนเสื้อแดงย่อมรู้อยู่แล้วว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยรูปแบบอื่นตามที่โจทก์ต้องการไม่อาจทำได้โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ"

"จากพฤติการณ์ของโจทก์และกลุ่มคนเสื้อแดงย่อมบ่งชี้ให้เห็นว่ามีเจตนาที่ส่อไปในทางที่สอดคล้องกับคำเทศนาของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปัณโน จำเลยอยู่ในฐานะอันชอบธรรมที่จะแสดงความคิดเห็นได้ ทั้งนี้ เพราะจำเลยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรองนายกรัฐมนตรี"

คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2555 โดยที่โจทก์แย้งว่า หลายคนมีอคติต่อโจทก์ เช่น หลวงตามหาบัว ซึ่งเป็นเถระชั้นผู้ใหญ่ราชาคณะชั้นธรรม โจทก์ไม่อยากจะฟ้องร้องทะเลาะกับพระ หากเป็นบุคคลธรรมดาโจทก์ก็จะต้องฟ้องร้องดำเนินคดี

แต่ศาลตั้งข้อสังเกตว่า "เหตุใดโจทก์จึงไม่ดำเนินคดีฟ้องร้องบุคคลอื่นอีกหรือดำเนินคดีฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ทั้งหลายที่ลงข้อความดังกล่าว เพราะการกล่าวของบุคคลอื่นโดยมีหนังสือพิมพ์นำข้อความมาลงก็ดี หรือหนังสือพิมพ์ลงพระบรมฉายาลักษณ์ก็ดี ล้วนแต่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายได้ เพราะประชาชนทั้งหลายที่ได้ยินได้ฟังคำกล่าวของบุคคลอื่นหรือได้อ่านหนังสือพิมพ์ดังกล่าว ย่อมเกิดความเข้าใจโจทก์ผิดในข้อเท็จจริงได้ ตลอดจนจำเลยก็อาจเกิดความเข้าใจผิดด้วย และข้อเท็จจริงดังกล่าวแม้ในความเป็นจริงจะเป็นเท็จหรือไม่ก็ตามเมื่อประชาชนทั่วไปได้รับทราบถึงพฤติการณ์ของโจทก์ก็อาจก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนต่อโจทก์ก็ได้ เพราะโจทก์เคยเป็นนายกรัฐมนตรีอันเป็นบุคคลสาธารณะ ย่อมเป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไป และประชาชนย่อมจะต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 ว่า "องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้..." ตลอดจนต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา ๒ ที่บัญญัติว่า "ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" หากมีผู้ใดที่มีพฤติการณ์หรือมีข้อเท็จจริงที่ทำให้ประชาชนดังกล่าวเข้าใจว่าบุคคลนั้นไม่มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ หรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ประชาชนทั้งหลายย่อมมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะปกป้องพระมหากษัตริย์มิให้ผู้ใดล่วงละเมิดได้ ตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้"

"เมื่อพฤติการณ์ของกลุ่มคนเสื้อแดงและตัวโจทก์ก่อให้จำเลยและประชาชนเห็นว่ามีเจตนาส่อไปในทางที่สอดคล้องกับคำเทศนาของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ตามที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้ จำเลยจึงจะมีสิทธิอันชอบธรรมทั้งในฐานะประชาชนที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์......ทั้งในฐานะผู้แทนราษฎรและในฐานะรองนายกรัฐมนตรี..."

ผมก็ไม่ทราบว่าคดีนี้ถึงฎีกาหรือไม่ แต่ถ้าศาลฎีกายืน ประชาชนคนไทยทุกคน นายหมูนายหมานายแมวที่ไหนก็สามารถพูดได้ว่าทักษิณอยากเป็นประธานาธิบดี เพราะถือเอาตามที่หลวงตามหาบัวพูดไว้แล้วทักษิณไม่ฟ้อง

มาตรฐานเดียว
คำพิพากษาคดีหมิ่นประมาทที่ยกมาเป็นตัวอย่าง หากเทียบกับการตีความ ความผิดฐาน "หมิ่น" ตามมาตรา 112 บางคนอาจโวยวายว่าไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

แต่อย่าไปว่าศาลท่านอย่างนั้นเชียว เพราะดูให้ดี ศาลใช้มาตรฐานเดียวกัน (โดยที่ยังไม่ต้องมีคดีถึงฎีกา)

นั่นคือมาตรฐานที่ยึดว่าพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 8 (ที่จริงในรัฐธรรมนูญของหลายประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในยุโรป ก็เขียนข้อความทำนองเดียวกัน แต่ตีความต่างกัน)

เพราะฉะนั้น ในคดี 112 ผู้ใดบังอาจพาดพิงพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์แม้แต่น้อย หรือบังอาจตั้งข้อสงสัยถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะมีความผิด เพราะศาลเห็นว่าสถาบันอยู่เบื้องสูง ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง การพูดหรือเขียนเช่นนั้นเป็นการลบหลู่ล่วงละเมิดสถาบันซึ่งเป็นที่เคารพสักการะ "ในหลวงทรงงานหนัก" ทรงอุทิศพระองค์เพื่อพสกนิกร ความผิดนั้นจึงต้องลงโทษอย่างรุนแรง

แต่ในคดีหมิ่นประมาท ที่มีผู้ตั้งแง่กล่าวหาผู้ใด โดยเฉพาะผู้นำทางการเมืองอย่างทักษิณ ว่าไม่จงรักภักดี ว่ามีเจตนาจะล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ ว่าจะสถาปนาระบอบประธานาธิบดี ฯลฯ ถึงแม้บางคดี ศาลจะเห็นว่าไม่เป็นความจริง แต่จำเลยก็ไม่มีความผิด เพราะมีเจตนาอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง ต้องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ มิให้ผู้ใดล่วงละเมิด บ้างก็มีความกระตือรือร้นแรงกล้า จนเชื่อว่าโจทก์มีพฤติกรรมเช่นนั้น (รวมไปถึงพฤติกรรมบ้าเซ็กส์ บ้ากาม ซึ่งน่ากังขาว่าจะเป็นมาตรฐานให้กล่าวหานักการเมืองอีกพรรคที่เอาเมียเพื่อนได้หรือไม่)

ในหลายคดี ศาลมีความเห็นคล้อยตามจำเลยด้วยซ้ำไปว่า โจทก์มีพฤติกรรมส่อไปในทางที่ไม่จงรักภักดีหรือกระทั่งทำให้เชื่อว่าจะล้มล้างสถาบัน สถาปนาระบอบประธานาธิบดี ซึ่งเป็นเรื่องน่าตระหนก เพราะคำพิพากษาสะท้อนว่า ศาลมีทัศนะแตกต่างห่างไกลจากโลกประชาธิปไตย หรือโลกทางวิชาการ

เช่น การกล่าวถึงชนชั้นสูงที่มีอภิสิทธิ์ ศาลเห็นว่าเป็นถ้อยคำที่ทำให้เข้าใจได้ว่าไม่จงรักภักดี

เช่น การให้สัมภาษณ์ไทม์ส ออนไลน์ ซึ่งมุ่งวิพากษ์วิจารณ์ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดสถาบัน ศาลกลับเห็นว่าเป็นการพาดพิงและล่วงละเมิดอย่างรุนแรง (ถ้าเป็นในอังกฤษ สเปน นอรเวย์ สวีเดน เดนมาร์ก เรื่องทำนองนี้ถือเป็นธรรมดา และน่าจะถือเป็นการปกป้องสถาบันด้วยซ้ำ)

หรือคำกล่าวต่างๆ ของทักษิณ ที่ศาลยกมาในคดีเทพเทือก ก็เป็น 1 ใน 4 ข้ออ้างของการรัฐประหารว่ามีพฤติการณ์ "หมิ่นเหม่" แต่ท้ายที่สุด อัยการสั่งไม่ฟ้อง ในยุคสมัย คมช.นั่นแหละ กระนั้นเทพเทือกก็ยังนำมาเป็นหลักฐานปกป้องตัวเองได้

แม้แต่การเข้าชื่อกันแก้ไข ม.112 ของเสื้อแดง คำพิพากษาทั้งศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ก็เห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่ทำให้เชื่อว่าจะสถาปนาระบอบประธานาธิบดี

"...พฤติการณ์ของกลุ่มคนเสื้อแดงและตัวโจทก์ก่อให้จำเลยและประชาชนเห็นว่ามีเจตนาส่อไปในทางที่สอดคล้องกับคำเทศนาของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน..."

นี่เป็นคำพิพากษาเมื่อปีที่แล้วนี่เอง ในขณะที่สังคมกำลังพยายามกลับเข้าสู่วิถีทางประชาธิปไตย พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งและไม่ได้มีท่าทีต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแม้แต่น้อย หากต้องการเพียงแก้ไขรัฐธรรมนูญให้กลับไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย (ซึ่งก็ยังขลาดเขลาไม่กล้าแก้หมวดพระมหากษัตริย์)

แต่คำพิพากษาเหล่านี้กลับสะท้อนว่า ทัศนะของศาลต่อ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" แตกต่างจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในสากล อย่างอังกฤษ สเปน สวีเดน นอรเวย์ เดนมาร์ก หรือญี่ปุ่น

"ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ต้องเป็นอย่างที่เป็นอยู่นี้เท่านั้น (ซึ่งก็ไม่มีใครกล้าพูดชัดว่าเป็นอย่างไรแน่ ต่างกับฝรั่งที่มีกษัตริย์ตรงไหน) โดยมีองค์ประกอบของพระบารมี ที่ใครต่อใครก็นำไปอ้างและอิง ทั้งทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ การตลาด โดยมีองค์ประกอบของมาตรา 112 ค้ำจุนไว้

ถ้าศาลมีทัศนะเช่นนี้ ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปประชาธิปไตย และการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้พ้นจากความขัดแย้งและการอ้างอิงของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เพื่อให้เป็นที่เคารพเทิดทูนของประชาชนอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบเสรีประชาธิปไตย

 

                                                                                           

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นาซ่าเผยดาวอังคารอาจเคยมีแหล่งน้ำสะอาดที่สิ่งมีชีวืตดำรงอยู่ได้

Posted: 14 Mar 2013 08:42 AM PDT

หุ่นยนต์สำรวจดาวอังคารและทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบหลักฐานสำคัญถึงความเป็นไปได้ว่าดางอังคารอาจเคยมีสิ่งมีชีวิต จากแร่ธาตุในหินบนดาวอังคารที่มีธาตุสำคัญสำหรับสิ่งมีชีวิตและมีดินเหนียวซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่ามีแหล่งน้ำอยู่ในพื้นที่มาก่อน และอาจเป็นน้ำสะอาดที่คนเราดื่มได้

เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ องค์การนาซา เปิดเผยว่ามีความเป็นไปได้มากที่แหล่งน้ำบนดาวอังคารจะสะอาดมากพอให้มนุษย์ดื่มได้ นอกจากนี้แล้วยังได้เปิดเผยอย่างเป็นทางการว่าอาจเคยมีสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารมาก่อนหน้านี้ เนื่องจากมีปริมาณธาตุอ็อกซิเจนและคาร์บอนในระดับที่ชีวิตดำรงอยู่ได้

นักวิทยาศาสตร์ได้อาศัยหุ่นยนต์สำรวจดาวอังคารตรวจสอบกลุ่มตัวอย่างของหินที่ถูกให้ความร้อนระดับ 1100 องศาเซลเซียส ทำให้พบแร่ดินเหนียวที่บ่งบอกว่าก่อนหน้านี้ดาวอังคารในยุคโบราณเคยมีแหล่งน้ำไหลผ่านพื้นที่ส่วนที่หินถูกนำมาสำรวจมาก่อน และจากการที่เคยมีน้ำไหลผ่านก็เป็นตัวบ่งชี้ว่าอาจเคยมีสิ่งมีชีวิตจำพวกจุลินทรีย์บนดาวอังคารมาก่อน

จอห์น กรอทซิงเจอร์ หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ในโครงการคิวริออสซิตี้ซึ่งเน้นการสำรวจสภาพภูมิศาสตร์ของดาวอังคาร กล่าวว่า "พวกเราได้ค้นพบสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นไปได้ว่าหากมีแหล่งน้ำพวกนี้รอบๆ แล้วคุณกอยู่ที่นั่น คุณน่าจะดื่มมันได้"

นอกจากดินเหนียวแล้ว หินที่ถูกให้ความร้อนจัดยังปรากฏธาตุซัลเฟอร์, ไนโตรเจน, ไฮโดรเจน, อ็อกซิเจน, ฟอสพอรัส และคาร์บอน ซึ่งเป็นสารเคมีสำคัญในการดำรงชีวิต

ไมเคิล เมเยอร์ หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของโครงการณ์สำรวจดาวอังคาร กล่าวว่า "คำถามหลักสำหรับภารกิจในครั้งนี้คือคำถามว่าดาวอังคารมีสภาพแวดล้อมที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้หรือไม่ ...จากข้อมูลที่เราทราบ คำตอบคือใช่"

หุ่นยนต์คิวริออสซิตี้ได้ค้นพบหินดังกล่าวจากการทำการสำรวจดาวอังคารในส่วนพื้นที่ที่ถูกเรียกว่าแอ่งเยลโลว์ไนฟ์เบย์ บนพื้นที่ปล่องภูเขาไฟเกล ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเป็นส่วนปลายแหล่งน้ำของแม่น้ำหลายสายในดาวอังคารยุคก่อน อย่างไรก็ตามแม้พื้นทีดังกล่าวจะมีความเป็นไปได้ที่จะมีชีวิตอาศัยอยู่ แต่ก็ยังไม่มีสิ่งบ่งชี้ว่าเคยมีสิ่งมีชีวิตใดดำรงอยู่มาก่อน

หุ่นยนต์คิวริออสซิตี้จะทำการสำรวจเยล์โลวไนฟ์เบย์ต่อไปอีกไม่กี่สัปดาห์ก่อนจะลงไปสำรวจยังใจกลางยอดเขาของภูเขาไฟเกล  ที่ชื่อว่ายอดเขาชาร์ป

เป้าหมายของคิวรอออสซิตี้ไม่ใช่การค้นพบสิ่งมีชีวิตโดยตรง แต่เป็นการพิสูจน์ว่าดาวอังคารเคยมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่มาก่อนหน้านี้หรือไม่ โดยการค้นพบวัตถุที่บ่งชี้การมีอยู่ของสายน้ำ รวมถึงธาตุทางเคมีที่เป็นปัจจัยสำคัญของการกำเนิดชีวิต หมายความว่าภารกิจของคิวริออสซิตี้กำลังใกล้สำเร็จลุล่วง

จอห์น บริดจ์ สมาชิกทีมคิวริออสซิตี้จากมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ กล่าวว่า "มันเป็นความสำเร็จที่โดดเด่น พวกเราเริ่มเห็นผลลัพธ์จากห้องทดลองวิทยาศาสตร์บนดางอังคาร (MSL) ที่แสดงให้เห็นความสำคัญของภารกิจของพวกเรา ...ซึ่งเราจะคอยเก็บผลสำรวจ 1 ครั้งใน 1 ซอล (sol - การนับวันจากดาวอังคาร)"


เรียบเรียงจาก

Scientists say water on Mars would have been 'pure enough to drink', as presence of oxygen and carbon prove conditions are ideal for life, The Independent, 13-03-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โสภณ พรโชคชัย: การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตามแนวรถไฟฟ้า

Posted: 14 Mar 2013 06:56 AM PDT

แนวทางการการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าด้วยภาษีการเพิ่มขึ้นของมูลค่าทรัพย์สิน โดยไม่ต้องกู้ หรือใช้ผู้ใช้เป็นผู้จ่าย แต่องคาพยพปัจจุบันของรัฐบาลไทย ไม่เอื้อต่อการพัฒนาที่ดินอย่างมีบูรณาการ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย จึงควรตั้งองค์การบริหารที่ดินแห่งชาติมาจัดการ

1. จากการศึกษาของศูนย์ฯ พบว่า ราคาที่ดินบริเวณใกล้เคียงกับสถานีรถไฟฟ้า 112 สาย ราคาเฉลี่ยคือ 392,955 บาทต่อตารางวา

2. ในที่นี้ที่ดินติดถนนในรัศมี 500 เมตรจากสถานีรถไฟฟ้า 2 ข้าง และลึกจากถนนใหญ่ระยะทาง 200 เมตร หรือรวมพื้นที่ 250 ไร่ มีผลต่อราคาที่ดินสูงสุด ที่ดินส่วนนี้จะมีขนาดประมาณ 250 ไร่ รอบสถานี (500 x 200 เมตร x 4 ด้าน)

3. ประมาณการราคาที่ดินเป็นเงินตารางวาละ 192,548 บาท หรือเท่ากับที่ดินที่ดินถนนใหญ่ระยะ 500 เมตรมีค่าเท่ากับ 60% ของราคาแปลงที่ดินที่ดินถนนใหญ่ที่ตั้งอยู่ติดถนน และหากเฉลี่ยกับที่ดินที่อยู่ในซอยอีกไม่เกิน 200 เมตรเป็นเท่ากับ 60% ของที่ดินทั้งผืน (392,955 x 70% x 70%) หรือตกเป็นเงินไร่ละ 77.019 ล้านบาท เมื่อรวม 250 ไร่ และ 112 สถานี ก็จะเป็นเงิน 2.157 ล้านล้านบาท

4. ที่ดินนี้หากเทียบกับเมื่อปี 2541 จะมีค่าเป็น 339% หรือเท่ากับเพิ่มขึ้น 1.438 ล้านล้านบาท

5. หากที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการเก็บภาษีมูลค่าจากอสังหาริมทรัพย์เพิ่มมูลค่า (Land Value Increment Tax) จากการที่ราคาที่ที่ดินเพิ่มขึ้นเองโดยมิได้ลงแรงลงทุน (unearned increment of land value) ณ อัตราประมาณ 20% ของการเพิ่มขึ้นของมูลค่า ประเทศไทยก็สามารถมีภาษีจากผลของระบบรถไฟฟ้าถึง 287,538 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอที่จะสร้างระบบรถไฟฟ้าขึ้นใหม่ทั้งหมด หรือเพิ่มปริมาณรถไฟฟ้าได้อีกนับเท่าตัว

จะเห็นได้ว่า ถ้ามีการบริหารและจัดการที่ดินและภาษีที่ดี รัฐบาลไม่ต้องไปกู้เงินมาสร้างรถไฟฟ้าเลย รัฐบาลสามารถนำเงินจากผู้ได้ประโยชน์จากการมีรถไฟฟ้าผ่านโดยเฉพาะบริเวณริมถนนรอบสถานี 500 เมตรลึก 200 เมตรก็เพียงพอที่จะนำมาก่อสร้างรถไฟฟ้าได้อีกมากมาย ยิ่งกว่านั้นในหลักการพัฒนารถไฟฟ้า ผู้ใช้ยังเป็นผู้แบกรับภาระค่าใช้จ่าย ไม่ใช่ไปกู้เงินมาดำเนินการ

ยิ่งกว่านั้นรัฐบาลสามารถนำแนวคิดการร่วมพัฒนาที่ดินโดยรอบรถไฟฟ้าด้วยแนวคิดการจัดรูปที่ดินตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ พ.ศ. 2547 โดยอาศัยความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ที่มีจำนวนประชาชนและขนาดที่ดินรวมกันเป็นส่วนใหญ่เกินกว่า 2 ใน 3 การจัดรูปที่ดินโดยนำที่ดินรอบสถานีรถไฟฟ้ามาพัฒนาใหม่จะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีเพราะมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าเศษในระยะเวลา 15 ปี 

นอกจากนี้รัฐบาลยังสามารถใช้แนวคิดการเวนคืนที่ดินมาสนับสนุนการพัฒนาบริเวณพื้นที่รอบ ๆ รถไฟฟ้าอีกด้วยซึ่งทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย สามารถดำเนินการสำเร็จด้วยดี อย่างไรก็ตามตามกฎหมายเวนคืนของไทยมีปัญหา 

ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 42 ระบุว่า "การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะกิจการของรัฐเพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภค การอันจำเป็นในการป้องกันประเทศ การได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ การผังเมือง การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การพัฒนาการเกษตรหรือการอุตสาหกรรม การปฏิรูปที่ดิน การอนุรักษ์โบราณสถานและแหล่งทางประวัติศาสตร์ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น . . . . กฎหมายเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ต้องระบุวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนและกำหนดระยะเวลาการเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ไว้ให้ชัดแจ้ง ถ้ามิได้ใช้เพื่อการนั้นภายในระยะเวลาที่กำหนดดังกล่าวต้องคืนให้เจ้าของเดิมหรือทายาท"

ดังนั้นการเวนคืนในประเทศไทยจึงเวนคืนมาเพื่อการพาณิชย์ไม่ได้ แต่ในขณะที่ในประเทศอื่นสามารถเวนคืนเพื่อนำมาพัฒนาที่ดินในเชิงพาณิชย์เพื่อการพัฒนาประเทศได้ นอกจากนั้นหากเวนคืนแล้วยังไม่ได้ใช้ตามระยะเวลาที่กำหนด ยังต้องคืนเจ้าของที่ดินเดิมอีก ซึ่งอาจเป็นประเทศเดียวหรือไม่กี่ประเทศในโลกที่กำหนดไว้แปลก ๆ เช่นนี้ แต่ที่เป็นดังนี้คงเป็นเพราะที่ผ่านมา การจ่ายค่าเวนคืนมักจ่ายตามราคาประเมินของทางราชการที่ต่ำกว่าราคาตลาด และจ่ายล่าช้า จึงทำให้ประชาชนไม่พอใจ 

อย่างไรก็ตามหากมีการเวนคืนที่เป็นธรรม และมีการจัดหาที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงรอบรับผู้ถูกเวนคืน หรือมีการแบ่งประโยชน์ระหว่างกันในลักษณะของการจัดรุปที่ดิน เชื่อว่าประชาชนจะให้ความร่วมมือ และทำให้การพัฒนามหานครมีระเบียบแบบแผนยิ่งขึ้นไม่ใช่แบบปัจจุบันที่ผู้ถุกเวนคืนนับว่าโชคร้ายและผู้ที่มีทรัพย์อยู่ในแนวรถไฟฟ้าแต่ไม่ถูกเวนคืนถือว่าโชคดี เป็นต้น 

การจะพัฒนารถไฟฟ้าหรือการขนส่งมวลชนระบบราง ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินหรือบนดิน หรือรถไฟฟ้ามวลเบา (Light Rail หรือ Monorail) ก็ตาม รัฐบาลควรมีการวางแผนและประสานแผนอย่างเป็นระบบทั้งการเวนคืน การพัฒนาที่ดิน ในทำนองประเทศที่พัฒนาแล้วอื่น ๆ แต่หากยังติดขัดอยู่กับแต่ละหน่วยงานโดยไม่ประสานงานกัน ก็จะทำให้การพัฒนาต่าง ๆ ล่าช้า ไม่มีการกระจายประโยชน์สู่ประชาชนส่วนใหญ่ และมีผู้ได้ประโยชน์เพียงเฉพาะรายเป็นสำคัญ

องค์การบริหารการพัฒนาที่ดินแห่งชาติ ควรเป็นหน่วยลงทุนที่เป็นองค์การมหาชนมีหน้าที่รวบรวมจัดการพัฒนาที่ดินในเขตเมือง หรือ ในเขตชานเมืองเพื่อการพัฒนาเมือง และควรมีหน้าที่สำคัญคือ การจัดหาที่ดินเพื่อการพัฒนาเมือง โดยการซื้อที่ดินภาคเอกชนมาดำเนินการ หรือนำที่ดินของทางราชการมาจัดประโยชน์ ทั้งนี้สามารถดำเนินการประสานกับทางกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อให้การพัฒนาที่ดินเป็นไปตามผังเมืองรวมหรือผังเมืองเฉพาะ 

แนวทางการดำเนินการได้แก่ การสร้างอุปทานที่ดินเพื่อการพัฒนาเมือง หมายรวมถึงการจัดหาที่ดินเพื่อให้โครงการหมู่บ้านจัดสรร ที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า นิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ เช่น การจัดหาที่ดินพร้อมสาธารณูปโภคในย่านชานเมือง ประมาณ 5,000 ไร่ เพื่อจัดสรรให้โครงการที่อยู่อาศัยหลายประเภทไปซื้อเพื่อพัฒนาโครงการขายแก่ผู้ซื้อบ้านต่อไป

ช่วยกันคิดเพื่อการพัฒนาที่ดินของชาติเพื่อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Electrolux เจรจาอีกรอบ สหภาพฯ ยืนยันขอนับอายุงานต่อเนื่อง

Posted: 14 Mar 2013 03:51 AM PDT

สหภาพแรงงานและตัวแทนบริษัท Electrolux ประเทศไทยเจรจาอีกรอบ สหภาพแรงงานระบุ 2 เงื่อนไขที่บริษัทกำหนดให้คือทดลองงานกับนับอายุงานใหม่ ขอให้บริษัททบทวนอีกครั้ง ด้านสุภรณ์วอนบริษัทช่วยคนงานเพราะเป็นเหมือนครอบครัวเดียวกัน ตัวแทนบริษัทระบุพรุ่งนี้ (15 มี.ค.) ให้คำตอบ

14 มี.ค. 56 – ที่ทำเนียบรัฐบาล ได้มีการเจรจา 3 ฝ่ายระหว่างสหภาพแรงงานอีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย ตัวแทนบริษัท Electrolux ประเทศไทย และเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน โดยมีนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ประสานให้มีการเจรจา และทำหน้าที่ประธานในการเจรจาในวันนี้

ทั้งนี้ทางฝ่ายสหภาพแรงงานยืนยันว่าเงื่อนไขการกลับเข้าทำงานใหม่ ทั้งหมด 8 ข้อ ที่บริษัทเสนอนั้น (อ่านเพิ่มเติม: สหภาพอีเลคโทรลักซ์กังขาเงื่อนไขกลับเข้าทำงานใหม่ของบริษัท) ทางสหภาพแรงงานอยากให้บริษัททำการทบทวนข้อเสนอข้อที่ 3 และข้อที่ 6 คือการให้คนงานทดลองงานใหม่ถึง 119 วัน และเรื่องการนับอายุงานใหม่ ซึ่งทางสหภาพแรงงานเห็นว่าไม่เป็นธรรมต่อคนงาน อยากจะขอให้ทางบริษัททบทวนเงื่อนไขสองข้อนี้

ด้านนายสุภรณ์ระบุว่าอยากจะขอความกรุณาให้บริษัทนับอายุงานคนงานต่อเนื่องหลังจากกลับเข้าทำงาน รวมทั้งการทดลองงานนั้นอาจจะเป็นการให้ทำข้อตกลงสัญญาใจแทนมากกว่าการเริ่มทดลองงานใหม่ เพราะคนงานกับบริษัทก็เหมือนครอบครัวเดียวกันน่าจะอะลุ่มอล่วยให้ได้ โดยขอความกรุณาให้ตัวแทนการเจรจาจากบริษัทไปพูดคุยกับผู้บริหารที่มีอำนาจตัดสินใจ

ด้านตัวแทนการเจรจาของบริษัทได้รับปากนายสุภรณ์และสหภาพแรงงานว่าจะนำข้อเสนอในการพูดคุยกันวันนี้ไปให้ผู้บริหารที่มีอำนาจตัดสินใจได้พิจารณาและจะมีคำตอบให้กับทางนายสุภรณ์และสหภาพแรงงานภายในวันพรุ่งนี้ (15 มี.ค.)

ทั้งนี้ทางสหภาพแรงงานได้มอบหนังสือแนบรายชื่อพนักงาน 86 คน ที่แจ้งความจำนงขอกลับเข้าทำงานระหว่างการเจรจา เพื่อไม่ให้เสียสิทธิที่บริษัทให้ไว้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเป็นการยอมรับในเงื่อนไขทั้ง 8 ข้อของบริษัท แต่เป็นภายใต้เงื่อนไขการพูดคุยระหว่างบริษัทกับตัวแทนสหภาพแรงงานจากสวีเดนและองค์กรแรงงานสากล เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา (อ่านเพิ่มเติม: สหพันธ์แรงงานสวีเดนเจรจา บริษัทตกลงรับคนงาน Electrolux กลับเข้าทำงาน-คงสภาพการจ้างเดิม)

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การใช้จักรยานในมหานครลอนดอน

Posted: 14 Mar 2013 03:38 AM PDT

มหานครลอนดอนไม่เพียงสนับสนุนการขนส่งสาธารณะประเภทต่างๆ ยังได้พยายามสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้สอดรับกับการเดิน และการปั่นจักรยาน ภายใต้ฐานแนวคิดสนับสนุนการเดินทางระยะสั้นที่สามารถควบคุมเวลาได้

[1] บทนำ

จักรยานนับว่าเป็นพาหนะประเภทหนึ่งที่มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายในประเทศอังกฤษ โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่ชุมชนเมืองหรือใจกลางเมืองสำคัญที่มีการใช้งานจักรยานเป็นยานพาหนะอย่างกว้างขวาง เหตุที่ประชาชนชาวอังกฤษบางส่วนได้นิยมใช้จักรยานหรือหันมาใช้จักรยานในการคมนาคมติดต่อ ก็เพราะรัฐบาล หน่วยงานของรัฐและท้องถิ่น รวมไปถึงองค์กรเอกชนบางองค์กรได้หันมาสนับสนุนและรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้จักรยานในชีวิตประจำวันกันมากขึ้น ในการเดินทางระยะสั้นบริเวณพื้นที่ชุมชนเมือง

มหานครลอนดอนหรือ Greater London เป็นเมืองหลวงของประเทศอังกฤษที่ประกอบด้วยการจัดแบ่งพื้นที่ในการบริหารท้องถิ่นออกถึง 32 เขตการปกครอง (Borough) โดยจากการจายอำนาจจากมหานครลงไปสู่เขตการปกครองย่อยนี้เอง ย่อมทำให้แต่ละเขตการปกครองพัฒนาการใช้งานที่ดินกับโครงสร้างสาธารณะในบริเวณพื้นที่ชุมชนเมืองให้มีการคมนาคมขนส่งหรือการเดินทางเพื่อรองรับความต้องการของประชาชนให้สะดวกหลากหลายมากขึ้น ซึ่งการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการรองรับการคมนาคมขนส่งประเภทต่างๆ ย่อมเป็นหน้าที่ของมหานครลอนดอนและเขตการปกครองต่างๆ โดยมีสำนักงานขนส่งมหานครลอนดอน (Transport of London) มาควบคุมและบังคับการบริการสาธารณะด้านคมนาคมขนส่งในมหานครให้เป็นระเบียบเรียบร้อย

มหานครลอนดอนไม่เพียงสนับสนุนการขนส่งสาธารณะประเภทต่างๆ ได้แก่ โครงข่ายรถไฟใต้ดินสาธารณะ (London Underground) โครงข่ายรถไฟฟ้าบนดินสาธารณะ (London Overground) โครงข่ายรถประจำทาง (Bus) โครงข่ายรถไฟลอยฟ้าสาธารณะ (Docklands Light Railway) โครงข่ายรถรางสาธารณะ (London Tramlink) มหานครลอนดอนยังได้พยายามสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้สอดรับกับการเดิน (Walking) และการปั่นจักรยาน (Cycling) ในบริเวณพื้นที่ชุมชนเมืองภายใต้ฐานแนวคิดสนับสนุนการเดินทางระยะสั้นที่สามารถควบคุมเวลาได้ การประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของครัวเรือน การส่งเสริมสุขภาพที่ยั่งยืนและการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเหตุประการหนึ่งที่รัฐบาล มหานครลอนดอนและสำนักงานขนส่งมหานครลอนดอน พยายามแสวงหาแนวทางและมาตรการในการรณรงค์ให้ประชาชนหันมาอาศัยวิธีการเดินทางโดยการเดินหรือใช้จักรยานสำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางในระยะสั้นบริเวณพื้นที่ชุมชนเมือง แทนการโดยสารสาธารณะประเภทอื่นๆ

ด้วยข้อดีหลายประการดังที่กล่าวมาทำให้มหานครลอนดอนและเขตการปกครองในมหานครลอนดอน หันมาใส่ใจต่อการสนับสนุนการขี่จักรยานให้เป็นทางเลือกสำหรับประชาชน โดยมหานครลอนดอนและสำนักงานขนส่งมหานครลอนดอน ได้กำหนดเทคนิคและวิธีการสนับสนุนการใช้จักรยานในมหานครลอนดอนหลายประการตามรายละเอียดด้านล่างดังต่อไปนี้


ภาพที่ 1 ทางจักรยานในสวนสาธารณะไฮด์ ปาร์ค ในมหานครลอนดอน

 

[2] การใช้จักรยานในมหานครลอนดอน

มหานครลอนดอนวางมาตรการและนโยบายในการสนับสนุนการใช้จักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองผ่านแนวทางการปฏิวัติการใช้จักรยานในมหานครลอนดอน (Cycling Revolution London) ในปี 2010 อันก่อให้เกิดจากความร่วมมือของมหานครลอนดอน หน่วยราชการของมหานครลอนดอน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานจักรยานหรือการสนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมการใช้จักรยานในพื้นที่ชุมชนเมือง ทั้งนี้ แนวทางการปฏิวัติการใช้จักรยานในมหานครลอนดอนดังกล่าวได้มุ่งเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและทางวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการใช้จักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองผ่านการปฏิบัติงานของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่ทำให้มหานครลอนดอนสามารถก้าวไปสู่การเป็นเมืองแห่งการปั่นจักรยาน (cyclised city) ในอนาคต อนึ่ง นายบอริส จอห์นสัน (Boris Johnson) เทศมนตรีมหานครลอนดอนคนปัจจุบันได้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนแนวทางการปฏิวัติการใช้จักรยานในมหานครลอนดอน ผ่านวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนาของท่านที่จะพัฒนาการคมนาคมขนส่งกับการพัฒนาผังเมือง เพื่อสร้างแรงจูงในให้ประชาชนชาวเมืองลอนดอนหันมาใช้งานจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมือง

สำหรับแนวทางการปฏิวัติการใช้จักรยานในมหานครลอนดอนที่กำหนดขึ้นผ่านการนำไปสู่การปฏิบัติในโครงการต่างๆ อันประกอบสาระสำคัญโดยย่อ 5 ประการ ได้แก่

[2.1] ทางจักรยานในลอนดอนที่ปลอดภัย

มหานครลอนดอนได้กำหนดโครงการจัดทางจักรยานสาธารณะหรือเลนจักรยานประเภทต่างๆ เพื่อนำไปสู่การปฏิวัติการใช้งานจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมือง สำหรับทางจักรยานสาธารณะหรือเลนจักรยานที่มหานครลอนดอนได้จัดทำขึ้นแล้วหรือกำลังจะจัดทำในอนาคตภายใต้แนวทางการปฏิวัติการใช้งานจักรยาน ต้องมุ่งเน้นให้มีพื้นที่สำหรับการใช้งานจักรยานที่มากขึ้นและมีความปลอดภัยทั้งสำหรับผู้ขับขี่จักรยานและผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะอื่นๆอีกด้วย ทางจักรยานสาธารณะภายใต้การปฏิวัติการใช้งานจักรยาน ที่มหานครลอนดอนมีหน้าที่จัดสร้างหรือบำรุงรักษามีหลายประเภท เช่น ทางด่วนพิเศษเฉพาะสำหรับจักรยาน (Cycle superhighways) ทางจักรยานในบริเวณสวนสาธารณะเพื่อการนันทนาการหรือพักผ่อนหย่อนใจ (Greenways) และทางจักรยานที่ปันส่วนจากช่องทางเดินรถประจำทาง (Share bikeway with bus lanes) เป็นต้น


ภาพที่ 2 การใช้จักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองในมหานครลอนดอน

[2.2] จุดให้บริการเช่าจักรยาน

มหานครลอนดอนได้จัดโครงการให้เช่าจักรยานในบริเวณมหานครลอนดอน (London Cycle Hire Scheme) โดยโครงการดังกล่าวมีชื่อว่าโครงการให้เช่าจักรยานบาร์เคลย์(Barclays Cycle Hire) เหตุที่มีชื่อนี้ก็เพราะธนาคารบาร์เคลย์อันเป็นสถาบันทางการเงินที่มีชื่อเสียงของประเทศอังกฤษได้เข้ามาสนับสนุนโครงการดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ซึ่งมหานครลอนดอนได้จัดจุดให้เช่าจักรยาน (Docking station) อันมีเครื่องบริการให้เช่าจักรยานอัตโนมัติประจำอยู่ในแต่ละจุด ที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการใช้จักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองที่ประสงค์จะใช้จักรยานในเวลาเร่งด่วนที่มีการจราจรคับคั่งหรือนักท่องเที่ยวที่ต้องการใช้งานจักรยานเพื่อเที่ยวชมสถานที่สำคัญต่างๆ ในมหานครลอนดอน ซึ่งผู้ต้องการใช้จักรยานสามารถจ่ายเงินค่าเช่าจักรยานด้วยบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิตผ่านเครื่องบริการให้เช่าอัตโนมัติตามจุดให้เช่าจักรยานต่างๆ ในมหานครลอนดอน


ภาพที่ 3 จุดให้เช่าจักรยาน (Docking station) ตามโครงการให้เช่าจักรยานบาร์เคลย์


ภาพที่ 4 เครื่องบริการให้เช่าจักรยานอัตโนมัติ ตามโครงการให้เช่าจักรยานบาร์เคลย์


ภาพที่ 5 ภาพช่องทางเดินรถประจำทางแดงของมหานครลอนดอน (Bus lanes) ที่ไม่ได้มีไว้แค่เดินรถประจำทางเท่านั้น หากแต่รถแท็กซี่ รถมอเตอร์ไซค์และรถจักรยาน ก็สามารถใช้เส้นทางเดินรถร่วมกับรถประจำทางได้

[2.3] เส้นทางและแผนที่จักรยาน

มหานครลอนดอนได้พยายามสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับจักรยาน ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางจักรยานหรือเลนจักรยานประเภทต่างๆ จุดจอดจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองหรือจุดจอดจักรยานใกล้ๆ กับสถานีขนส่งสาธารณะประเภทอื่นๆ แผนที่ทางจักรยานในบริเวณชุมชนเมือง (มักระบุแผนที่ทางจักรยานควบคู่ลงไปในแผนที่กำหนดสถานที่สำคัญและสถานที่ท่องเที่ยวในชุมชนเมืองของแต่ละท้องถิ่น) รวมไปถึงไฟจราจรจักรยานหรือป้ายจราจรต่างๆ ที่กำหนดวินัยการใช้งานจักรยานบนท้องถนน

นอกจากนี้ ภายใต้แนวทางการปฏิวัติการใช้จักรยานในมหานครลอนดอนดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้น มหานครลอนดอนยังได้กำหนดการใช้จักรยานให้สอดคล้องกับความหนาแน่นของจำนวนประชาการ การใช้ที่ดินในชุมชนเมือง และการขยายตัวของพื้นที่ชุมชนเมืองที่แตกต่างกันในแต่ละเขตการปกครองในมหานครลอนดอน ตัวอย่างเช่น พื้นที่ชุมชนเมืองใจกลางมหานครลอนดอน (Central London) อันเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญต่างๆ ย่อมเหมาะสมกับการพัฒนาการเดินทางด้วยจักรยาน เพื่อลดปริมาณการใช้งานยานพาหนะอื่นๆ ที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุมชนเมืองประกอบกับการเดินทางด้วยจักรยานสามารถเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนเมืองนอกเหนือจากการขนส่งสาธารณะประเภทอื่นๆ เป็นต้น


ภาพที่ 6 แผนที่ทางจักรยานในบริเวณชุมชนเมืองของมหานครลอนดอน

[2.4] การเชื่อมการใช้งานจักรยานกับเส้นทางขนส่งสาธารณะประเภทอื่นๆ

มหานครลอนดอนพยายามเชื่อมโยงทางจักรยานเข้ากับเส้นทางขนส่งสาธารณะประเภทอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ช่องทางเดินรถประจำทางแดงของมหานครลอนดอน (Bus lanes) ไม่ได้มีไว้แค่เดินรถประจำทางเท่านั้น หากแต่รถแท็กซี่ รถมอเตอร์ไซค์และรถจักรยาน ก็สามารถใช้เส้นทางเดินรถร่วมกับรถประจำทางได้ โดยช่องทางเดินรถประจำทางที่รถจักรยานใช้ร่วมอยู่ด้วยแยกออกมาจากช่องทางเดินรถยนต์ส่วนบุคคล

นอกจากนี้ ประชาชนที่ใช้งานจักรยานในมหานครลอนดอน หากต้องการนำจักรยานขึ้นไปบนรถสาธารณะประเภทอื่นๆ ประชาชนก็สามารถนำจักรยานขึ้นไปยังบริการสาธารณะด้านขนส่งประเภทอื่นๆ ได้ เช่น ประชาชนอาจนำเอาจักรยานขึ้นไปบนรถประจำทางแดงของมหานครลอนดอนหรือประชาชนอาจนำเอาจักรยานขึ้นรถไฟไปยังสถานที่ต่างๆ ได้ด้วย อย่างไรก็ดี การนำจักรยานขึ้นไปยังบริการสาธารณะด้านขนส่งประเภทอื่นๆ อาจต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ประจำบริการสาธารณะด้านขนส่งนั้นๆ เป็นกรณีไป


ภาพที่ 7 จุดจอดจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองของมหานครลอนดอน

[2.5] การรณรงค์อื่นๆที่สนับสนุนทางการปฏิวัติการใช้จักรยานในมหานครลอนดอน

มหานครลอนดอนได้จัดทำการรณรงค์และแผนงานต่างๆ ให้สอดคล้องกับการปฏิวัติการใช้งานจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมือง ผ่านความร่วมมือระหว่างสำนักขนส่งมหานครลอนดอน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานจักรยานและองค์กรพันธมิตรที่สนับสนุนการใช้งานจักรยานในชุมชนเมืองอื่นๆ เช่น แผนปฏิบัติการเพื่อความปลอดภัยในการใช้งานจักรยาน (Cycle Safety Action Plan) และแผนปฏิบัติการเพื่อป้องกันการโจรกรรมจักรยานในบริเวณชุมชนเมือง (Cycle Security Plan) เป็นต้น

 

[3] บทสรุป

การสนับสนุนการใช้จักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองผ่านแนวทางการปฏิวัติการใช้จักรยานในมหานครลอนดอน ย่อมสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนอันทำให้ประชาชนผู้ที่ต้องการเดินทางระยะสั้นในพื้นที่ชุมชนเมืองมีทางเลือกในการเดินทางได้เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการใช้รถโดยสารสาธารณะหรือยานพาหนะส่วนบุคคล อนึ่ง การปฏิวัติการใช้จักรยานในมหานครลอนดอนย่อมต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นมหานครลอนดอน สำนักขนส่งมหานครลอนดอน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานจักรยานและองค์กรพันธมิตรที่สนับสนุนการใช้งานจักรยานในชุมชนเมือง รวมไปถึงความเข้าใจและวิสัยทัศน์ที่ดีของนายกเทศมนตรีมหานครลอนดอน ที่ไม่เพียงแต่มีวิสัยทัศน์ในด้านการคมนาคมขนส่งและการพัฒนาเมืองที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานจักรยานภายใต้ข้อจำกัดต่างของมหานครลอนดอนแล้ว นายยกเทศมนตรีของมหานครลอนดอนยังได้นำแนวความคิดของตนเองมาสู่กรอบหรือแนวทางปฏิบัติที่แท้จริงเมื่อได้รับการดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารมหานครชั้นนำของโลกอีกด้วย ด้วยเหตุนี้เอง จักรยานจึงได้กลายมาเป็นยานพาหนะทางเลือกประเภทหนึ่งสำหรับชาวมหานครลอนดอนและผู้มาเยือนมหานครลอนดอนทั้งในปัจจุบันและในอนาคตภายใต้วิสัยทัศน์ นโยบาย แผนและยุทธศาสตร์ภายใต้การสนับสนุนของนายกเทศมนตรีกับองค์กรพันธมิตรที่สนับสนุนการใช้งานจักรยานอื่นๆ

 

อ้างอิงจาก

  1. Greater London Authority. (2013). THE MAYOR'S VISION FOR CYCLING IN LONDON – An Olympic Legacy for all Londoners. London: Greater London Authority, pp 1-30.
  2. Transport for London. (2010). Analysis of Cycling Potential Policy Analysis Research Report. London: Transport for London, pp 1-49.
  3. Transport for London. (2010). Cycling for business. London: Transport for London, pp 1-32.
  4. Transport for London. (2010). Cycling Revolution London. London: Transport for London, pp 1-78.
  5. Transport for London. (2012). Barclays Cycle Superhighways FAQs (Last updated: 19 December 2012). London: Transport for London, pp 1-14.
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศีลธรรมเชิงจารีตและเชิงก้าวหน้าของอเมริกัน

Posted: 14 Mar 2013 03:18 AM PDT

ในการแข่งขันทางการเมือง เพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของคนอเมริกัน ไม่ว่าครั้งไหนๆ ก็ตาม ระบบศีลธรรม ได้ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นหาเสียงทุกครั้งทั้ง 2 พรรค  คือ ทั้งเดโมแครตและรีพับลิกัน  ต่างอ้างเสมอว่า ใส่ใจกับศีลธรรมอันดีของตนเองและจะผลักดันนโยบายเชิงศีลธรรมให้เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญของอเมริกันกำหนดให้ศีลธรรมหรือศาสนา แยกออกไปจากการเมืองการปกครอง(secular state) ก็ตาม

ข้อเท็จจริง คือ ทั้ง 2 พรรค ต่างผูกติดกับระบบคำสอนของศาสนาคริสต์ไม่มากก็น้อย ต่างฝ่ายต่างมีเป้าหมายทางศีลธรรมที่แตกต่างกัน  จนเกิดมีการแบ่งแยกฝ่ายในเรื่องนี้อย่างชัดเจน ได้แก่ ฝ่ายที่เรียกว่า pro-life กับฝ่ายที่เรียกว่า pro-choice

ฝ่ายแรก หมายถึง พรรครีพับลิกัน และฝ่ายที่สองหมายถึงพรรคเดโมแครต

คำว่า 'บาป' ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องในการประกาศตน (จุดยืน) ทางการเมืองของแต่ละแคนดิเดท ในแต่ละพรรค พรรคอนุรักษ์นิยมอย่างรีพับลิกัน ปฏิเสธไม่เห็นด้วยกับนโยบายการทำแท้ง รักร่วมเพศ (ของเพศที่สาม) และความสำส่อนทางเพศเชิงการมีมากกว่าผัวเดียวเมียเดียว รวมถึงการปฏิเสธในประเด็นประโลมโลกของชุมชนฮอลลีวูด, จึงไม่แปลก ที่ไม่ว่าในยุคสมัยใดโดยส่วนมากแล้ว พรรครีพับลิกันจะไม่ได้เสียงสนับสนุนจากชาวฮอลลีวูด ยกเว้นแต่เพียงผู้ที่เป็นดาราบางคน อย่างอดีตผู้ว่ารัฐแคลิฟอร์เนีย อาร์โนลด์ ซวากเซเนกเกอร์ และดาราคนอื่นๆ เพียงไม่กี่คนเท่านั้น

พรรครีพับลิกัน จึงถูกกล่าวหาว่าเป็นพรรคฝ่ายเสรีนิยมขวา ไม่เป็นที่ประทับใจคอการเมืองชนกลุ่มน้อย (minority group)อีกด้วย เว้นเสียการกล่าวเลยไปจากการได้รับการเลือกตั้งของ สส.ผิวขาวบางคนอย่าง Dana Rohrabacher แห่ง ออร์เร้นจ์ เค้าน์ตี้ ที่ครั้งหนึ่งเขาเคยบอกผมทำนองว่า เขาเข้าถึง Asian sense หรือเข้าถึงความรู้สึกของคนเอเชียในเขตเลือกตั้งของเขา คือเขต Huntington beach

แต่คนไทย โดยเฉพาะในเขตแคลิฟอร์เนีย ยิ่งในแอล.เอ.ด้วยแล้ว ย่อมไม่มีทางเข้าใจ Conservative  morality sense หรือความรู้สึกด้านศีลธรรมแนวอนุรักษ์นิยมได้ง่ายๆ หากคนไทยส่วนใหญ่ถูกกล่อมเกลาโดย 'สำนึกชนกลุ่มน้อย' จากวาทกรรมเชิงตรรกะที่ว่า 'รีพับลิกันไม่มีทางเข้าใจคนจน เอาใจแต่คนรวย เพราะผู้บริหารพรรคส่วนใหญ่เป็นคนรวย ดังนั้น  พรรคนี้จึงจะไม่ช่วยเหลือคนจน หรือไม่มีวันเข้าใจหัวอกคนจน' ซึ่งการพิสูจน์วาทกรรมดำเนินต่อมาตราบเท่าที่ยังมีการเทคโอเวอร์ของนักการเมืองพรรคเดโมแครต อย่างผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย Gray Davis กำลังดำเนินไป กระทั่งรัฐเดียวกันนี้ถึงกับล้มละลาย บนกอง (ระบบ) สวัสดิการอันไพบูลย์, คนเอเชียนอเมริกันที่เมืองเฟรสโนบางคน หากินกับบรรดาลูกๆ นับโหลหรือมากกว่านั้นของเขาโดยไม่ทำงานเป็นเวลานับสิบๆปี

จากอนุสนธิจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2012, การอ้างระบบศีลธรรมของฝ่ายรีพับลิกัน โดยเฉพาะในส่วนตัวของมิทท์ รอมนีย์ แคนดิเดทประธานาธิบดีของพรรค ที่มีเงื่อนเงาทะมึนของนิกายมอร์มอนทอดทับอยู่นั้น ไม่เพียงแต่ทำให้ต่อมความรู้สึกของชาวเอเชียนอเมริกัน หรือกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในอเมริกาพาลนึกถึงสถานการณ์ด้านศีลธรรมและศาสนาในเมือง Salt Lake City มลรัฐ Utah ศูนย์กลางของนิกายมอร์มอน  ซึ่งแม้แต่ชาวรีพับลิกันด้วยกันเอง ก็อดประหวั่นเรื่อง 'ความเคี่ยวเครียดเชิงจารีต' ของรอมนีย์ไปด้วยไม่ได้ ดีหน่อยที่แบคกราวด์ของรอมนีย์ ไม่ได้ 'เคี่ยว' เชิงจารีต มากเท่าที่คนในนิกายมอร์มอนเป็นกัน แต่ Image ของอดีตผู้ว่าการรัฐแมสสาซูเซสส์ 'ขวากลาง' ก็ชัดว่า เขาเป็น pro-life ตัวฉกาจอย่างไม่สามารถเลี่ยงได้, ตอนนั้นเพื่อนผมที่ลาสเวกัส แซวว่า หากรอมนีย์ไปลาส เวกัส เขาคงไม่ อบายมุข –temptation enjoys จากเกมพนันที่มีอยู่เกลื่อน หากแต่จะเลือกเพียงไวน์ชั้นดีในห้องส่วนตัวที่ โรงแรมและบ่อน Bellagio ไม่ก็ในบ่อนอื่นในเครือเอ็มจีเอ็ม

ขณะที่ในอีกฝ่าย 'กลยุทธ์หาเสียงกับคนจนยังใช้ได้ผล'  บารัก โอบามา ขวัญใจโรบินฮู้ด ก็มุ่งทำงานหาเสียงอย่างขะมักขะเม้น

ใช่แน่นอน ถ้าจะบอกว่า โอบามา คือผู้ลบภาพเชิงลบของ 'คนผิวสี'ในอเมริกาออกได้บางส่วน อย่างน้อยก็กับคนส่งทูโกคนไทยในเขตแอล.เอ. ซึ่งเขาเคยผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายจากคนผิวสี อเมริกัน-แอฟริกันมาอย่างใจหายใจคว่ำ เมื่อชายผิวดำร่างยักษ์จับข้อเท้าของเขายกขึ้น เอาหัวห้อยลง   แล้วเขย่าตัวกรุ๊งกริ๊ง เพื่อปล้นแม้กระทั่งเหรียญเพนนีเล็กๆ ขณะเขาไปส่งทูโกย่านอีสต์ฮอลลีวูดในวันหนึ่ง

อิมเมจเชิงศีลธรรมของโอบามา แตกต่างจากอิมเมจเชิงศีลธรรมของรอมนีย์แทบจะสิ้นเชิง เพราะว่าแท้จริงแล้ว คนนิกายเดโมแครตส่วนหนึ่งกำลังโตขึ้นอย่างมาก พวกนี้ประกาศตนเองด้วยซ้ำว่า 'ไม่มีศาสนา' ทำให้โอบามาเองถูกเคลือบแคลงจากมหาชนอเมริกันเช่นกันว่า 'เป็นไปได้อย่างไรที่โซเชียลลิสต์อย่างเขา (โอบามา) จะนับถือพระเจ้า'

กระนั้น ก็เป็นที่ถูกใจของเสรีชน สุขนิยม โดยเฉพาะสุขนิยมทางเพศชาวฮอลลีวูด ก่อนการเลือกตั้งพวกเขาส่งสัญญาณที่ดีว่า จะเลือกยืนข้างโอบามา ไม่ต่างจากเพศที่สาม การณ์เป็นไปถึงขนาดว่า ศิลปินนักร้องจำนวนหนึ่ง ตั้งท่ายื่นฟ้องต่อรอมนีย์ ฐานนำเพลงของเขาไปเปิดนำ (introduce) ขณะหาเสียงบนเวที, แสดงให้เห็นว่า รอมนีย์ อยู่ในสถานการณ์ที่คับแค้น ถึงขนาดต้องวิ่งขอลิขสิทธิ์เพลงเพื่อเปิดนำบนเวทีหาเสียงด้วยความลำบากยากเข็ญ

ฐานแห่งการเป็น pro-choice ของเดโมแครตและโอบามา ถูกนักวิจัยความสุขที่นิวยอร์คกระตุกเมื่อไม่นานมานี้ เมื่อดัชนีความสุขที่เป็นผลของการวิจัย บ่งว่า พวก pro-life มีความสุขมากกว่าพวก pro-choice จากเหตุผล เงื่อนไขทางศีลธรรมและความตั้งมั่นในสถานภาพและเพศสภาพ โพลล์บอกว่า ชาวprolife ไม่มีการตั้งคำถามกับชีวิตและสังคมมากมายเหมือนชาว pro-choice  ซึ่งส่วนหนึ่งของการมีความทุกข์ของชาว pro-choice นั้นถูกมองว่า เกิดจากตัววิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) ต่อสิ่งต่างๆ มากเกินไป ทำนองการตั้งคำถาม ทำไม ทำไมและทำไม เป็นตัวการสร้างทุกข์ภายในใจให้เกิดขึ้นได้ตลอด

ชาว pro-life จึงพอใจในสภาพที่ตนเองเป็นอยู่มากกว่าชาว pro-choice รวมถึงความพอใจในระบบการใช้ชีวิตแบบครอบครัวผาสุก ผัวเดียวเมียเดียว จึงไม่ต้องสงสัยว่า เรื่องของ บิล คลินตัน กับ โมนิกาเลวินสกี้ กลายเป็นโจ๊กโอเปร่ามาแสนนาน แม้คลินตันจะได้ชื่อ Golden Tiger –เสือทอง ก็ตาม

ขณะเดียวกันประเด็นทางด้านศีลธรรมก็ทำให้นักการเมืองอเมริกันที่คาดกันว่า จะมีอนาคตรุ่งโรจน์ต้องเสียคนมานักต่อนักแล้ว  

รอมนีย์เอง ก็คงจะนึกไม่ออกว่า โอบาม่า มีอะไรเสื่อมเสียทางศีลธรรม และคนรวยอย่างเขาผิดตรงไหน ทั้งๆ ที่เขาเองก็มีที่มาไม่ต่างจาก Harry Reid  ประธาน Senator (สว.) เสียงข้างมากของแดโมแครต Reid นั้น เป็นถึงลูกชายของเจ้าของเหมืองแร่ใหญ่ แห่งเมือง Searchlight รัฐทะเลทราย-เนวาดา

 แน่นอนว่า ศีลธรรมเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล ตราบเท่าที่ไม่นำระบบศีลธรรมไปบีฑาหรือบังคับให้คนอื่นเชื่อในระบบศีลธรรมแบบเดียวกับตน เหมือนที่ รอมนีย์กำลังเชื่อศีลธรรมกระแสหลัก (คริสตธรรม) และโอบามากำลังเชื่อศีลธรรมกระแสรอง (อัตตธรรม/ไร้ศาสนา)

เพราะการไปโบสถ์ (วัด) ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง หรือการไปโบสถ์ (วัด) ของบุคคลสำคัญทางการเมืองและของนักการเมือง ไม่ได้บ่งเสมอไปว่า เขาผู้นั้นเป็นคนดีมีศีลธรรมประการใด !

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปสช.หนุนตั้งคลินิกใน รพ.ดูแลไตวายเรื้อรัง จัดงบ 4 พันล้าน รุกชะลอความเสื่อมของไต

Posted: 14 Mar 2013 03:02 AM PDT

สปสช.ดูแลปี 56 ครบวงจรทั้งการล้างไตผ่านช่องท้อง การฟอกเลือด การปลูกถ่ายไต ดึงเครือข่ายโรคไตช่วยดูแลเพื่อป้องกันภาวะเสื่อมของไต จัดงบกว่า 4.3 พันล้านดูแล เผยผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2552-2555 มีจำนวนผู้ป่วยเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ทุกปี สะท้อนคนไทยป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมากขึ้น เน้นส่งเสริมการป้องกันควบคู่กับการดูแลรักษา โดยเฉพาะการตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไม่ให้ป่วยเป็นไตวายเรื้อรัง

นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้สิทธิประโยชน์ดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายครบวงจร ให้เข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ป้องกันการล้มละลายจากการเจ็บป่วยที่มีค่าใช้จ่ายสูง ครอบคลุมการบำบัดทดแทนไต ได้แก่ การผ่าตัดปลูกถ่ายไต การล้างไตผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม รวมถึงการให้ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง

ทั้งนี้ ในปี  2556 สปสช.จัดสรรงบประมาณการบำบัดทดแทนโรคไตวายเรื้อรังจำนวนกว่า 4,357 ล้านบาท  โดยตั้งเป้าจะมีผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 31,434 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องจำนวน  16,513 ราย การฟอกเลือดจำนวน 13,757 และการผ่าตัดเปลี่ยนไตจำนวน  156 ราย  ผู้ป่วยที่ต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกัน 1,008 ราย   ซึ่งล่าสุดข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2556 มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 24,221คนแบ่งเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการล้างไตผ่านช่องท้องแล้ว จำนวน 12,487 ราย การฟอกเลือดแล้ว10,737 รายผ่าตัดเปลี่ยนไตและได้รับยากดภูมิจำนวน 986 ราย   ทั้งนี้ โดยเฉลี่ยมีค่าใช้จ่ายในการบำบัดทดแทนไตประมาณ 200,000 บาทต่อคนต่อปี

นพ.วินัยกล่าวว่า  นอกจากการรักษาพยาบาลแล้ว สปสช.ได้ส่งเสริมให้มีเครือข่ายผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังในโรงพยาบาล ปัจจุบันมีชมรมผู้ป่วย 47 แห่ง เพื่อพัฒนาเครือข่ายผู้ป่วยให้เข้มแข็ง ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคไตเข้าถึงการรักษา มีความรู้ ความมั่นใจในการดูแลตนเองตามมาตรฐาน สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างแพทย์ พยาบาล ผู้ป่วย และครอบครัว ทำให้เข้าใจสิทธิการรักษา ลดปัญหาความขัดแย้ง และเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการได้อีกทางด้วย รวมถึงการส่งเสริมการป้องกันโรค การตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เพื่อไม่ให้ป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เนื่องจากเป็นสาเหตุสำคัญของการเป็นไตวาย หากป้องกันไตวายจะช่วยชะลอไตเสื่อมก่อนเวลาได้ และสนับสนุนให้มีการตั้งคลินิกเฉพาะในรพ. อีกด้วย

ทั้งนี้  ผลการดำเนินงานตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552-2555 มีผลการดำเนินงานเกินเป้าหมายทุกปี สะท้อนคนไทยป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายกันมาก จากพฤติกรรมการบริโภคอาหารและการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ทั้งในภาพรวมและการบำบัดรักษาในผู้ป่วยล้างไตผ่านทางช่องท้อง และผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม โดยภาพรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น   ซึ่งในปี 2555 ที่ผ่านมาสปสช.จัดสรรงบกองทุนบริการสุขภาพผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง มีจำนวน 3,857 ล้านบาท   โดยมีผู้รับบริการในปีงบประมาณ 2555 ทั้งสิ้น 27,253คน แบ่งเป็น การล้างไตผ่านช่องท้องมีจำนวน  14,609 คน และการฟอกเลือดด้วยเครื่องมีจำนวน  11,515 คน  ขณะที่การผ่าตัดเปลี่ยนไตและได้รับยากดภูมิคุ้มกันมีจำนวน เพียง  1,129 คนเนื่องจากว่ามีผู้บริจาคไตจำนวนไม่มาก

เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า นโยบายของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น เน้นการส่งเสริมการล้างไตผ่านทางช่องท้อง เนื่องจากมีความสะดวกต่อผู้ป่วยและสถานพยาบาล เหมาะสมกับสังคมไทยที่มีจำนวนเครื่องฟอกไตเทียมไม่เพียงพอ โดยเริ่มตั้งแต่ การผ่าตัดวางสายล้างช่องท้อง การดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง การสนับสนุนน้ำยาล้างไตโดยส่งให้ทางไปรษณีย์ให้กับผู้ป่วยที่ล้างไตผ่านช่องท้อง และการให้ยาพื้นฐาน ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง ยารักษาโรคอื่นที่จำเป็น และการรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการรักษา ทั้งนี้ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติได้ที่บ้านด้วยตนเอง เพื่อเตรียมผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายให้มีความพร้อมจนกว่าจะสามารถรับบริการปลูกถ่ายไต

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกกำหนดให้วันพฤหัสบดีที่สองของเดือนมีนาคม ทุกปีเป็น "วันไตโลก" (World Kidney Day) และในปีนี้อยู่ระหว่าง วันที่ 11 –17 มีนาคม 2556 นี้ 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายผู้หญิงชายแดนใต้ แถลงหนุนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ

Posted: 14 Mar 2013 02:32 AM PDT

เมื่อเวลา 15.30 น.วันที่ 13 มีนาคม 2556 ที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลาเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้แถลงการณ์ "สนับสนุนการการพุดคุย เพื่อสันติภาพ ระหว่างรัฐบาลกับขบวนการ BRN-Coordinate ในช่วงปิดงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ครั้งที่ 3: "สนามสันติภาพ : เครือข่ายการสื่อสารภาคประชาสังคม" Fields of Southern Peace : Communication Networks of Civil Society และงานชุมนุมช่างภาพชายแดนใต้ ครั้งที่ 3 โดยนางสาวซูไบดะห์ ดอเลาะ ผู้อำนวยการโรงเรียนอิสลามบูรพา อ.เมือง จ.นราธิวาส เป็นผู้อ่านแถลงการณ์

นางสาวซูไบดะห์ แถลงว่า สนับสนุนการการพุดคุย เพื่อสันติภาพ ระหว่างรัฐบาลกับขบวนการ BRN-Coordinate ที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา ระหว่างตัวแทนของรัฐไทย คือ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กับตัวแทนขบวนการ BRN-Coordinate พร้อมทั้งขอเรียกร้องให้ประชาชนในพื้นที่สนับสนุนกระบวนการนี้

นางสาวซูไบดะห์ แถลงว่า 9 ปีกว่าของสถานการณ์ไฟใต้ ได้สร้างผลกระทบและความสูญเสียแก่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับคู่ขัดแย้งได้กลายเป็นเหยื่อของเหตุการณ์มากกว่าร้อยละ 90 ในขณะที่คู่ขัดแย้งโดยตรง ทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการต่างก็เผชิญกับความสูญเสียไม่ต่างกัน จึงเห็นได้ว่าไม่มีฝ่ายใดเป็นผู้ชนะ

นางสาวซูไบดะห์ แถลงต่อไปว่า ทุกฝ่ายมีแต่ความสูญเสียและความบอบช้ำ โดยเฉพาะผู้หญิง คือผู้เป็นแม่ๆ เมียๆ ของทุกฝ่ายที่มีคนในครอบครัวเสียชีวิตบาดเจ็บ พิการ รวมถึงสมาชิกในครอบครัวถูกควบคุมตัว ถูกจับกุมคุมขัง ต้องตกเป็นผู้แบกรับภาระผลกระทบและผลพวงจากเหตุการณ์

นางสาวซูไบดะห์ แถลงอีกว่า ด้วยเหตุนี้เมื่อคู่ขัดแย้งหลักทั้งสองฝ่ายคือฝ่ายรัฐไทยและฝ่ายขบวนการ ได้หันหน้าเข้าหากันมาสู่กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ โดยมีการลงนามเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมานั้น เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้จึงขอแสดงความเห็นและเรียกร้องต่อทุกๆ ฝ่ายดังนี้

1.เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมฯ สนับสนุนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพอย่างเต็มที่เพราะเห็นว่าเป็นกระบวนการแก้ปัญหาในแนวทางสันติวิธีที่คู่ขัดแย้งในพื้นที่ ซึ่งมีความขัดแย้งกันทั่วโลกใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกภาคส่วนในสังคมไทยร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนกระบวนการพูดคุยให้นำไปสู่การสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน เพื่อคืนความสงบและสันติสุขให้แก่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

2.กระบวนการพูดคุยที่มีจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการและเปิดเผยต่อสาธารณะระหว่างฝ่ายรัฐไทยและฝ่ายขบวนการที่เห็นต่างจากรัฐในครั้งนี้ ต่างเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า อาจต้องอาศัยเวลาและความต่อเนื่อง กว่าจะบรรลุข้อตกลงที่สองฝ่ายยอมรับกันได้และในระหว่างการพูดคุยก็ย่อมมีปัญหาอุปสรรค รวมทั้งความรุนแรงที่ยังคงเกิดขึ้นได้เช่นกันด้วยเหตุนี้จึงขอเรียกร้องให้ทุกๆฝ่ายในสังคมไทยเข้าใจในกระบวนการดังกล่าวว่ากระบวนการพูดคุยครั้งนี้คงไม่ใช่ยาวิเศษที่สามารถสร้างสันติภาพได้ชั่วข้ามคืน

3.ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เข้าร่วมในกระบวนการพูดคุยมีความจริงใจต่อกันเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกันทำให้พื้นที่การพูดคุย มีความปลอดภัยและไว้วางใจรวมทั้งอดทนอดกลั้นต่อปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการพูดคุยเพื่อพัฒนาไปสู่การแสวงหาทางออกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งร่วมกันให้ได้

4.ขอเรียกร้องให้มีการเปิดเผยผลในการพูดคุยแต่ละครั้งเพื่อให้ประชาชนซึ่งมีส่วนได้เสียได้รับทราบนอกจากนั้นขอเรียกร้องให้พิจารณามีตัวแทนของภาคประชาสังคมที่มีผู้หญิงอยู่ด้วยเข้าร่วมในกระบวนการพูดคุยในครั้งนี้

5.ในระหว่างนี้ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันสร้างบรรยากาศและสภาวะแวดล้อมที่เอื้อและสนับสนุนกระบวนการพูดคุยและกระบวนการสร้างสันติภาพโดยขอเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายลดการใช้ความรุนแรงจากการใช้อาวุธต่อกันอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุดโดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงที่ทำให้ประชาชนที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งต้องได้รับผลกระทบ

6.สันติภาพสันติสุข ในความหมายของผู้หญิงนอกเหนือจากหมายถึงความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแล้ว ยังหมายถึงการ "มี 4 อ" คือ อ.อาหาร อ.อาชีพ อ.อนามัย อ.อัตลักษณ์ และต้อง "ไม่มี1 อ" คือ อ.อยุติธรรม ส่วน "อ.สุดท้าย"คืออ.อำนาจในการจัดการตนเองที่เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ต้องการให้สมาชิกในสังคมได้มีสิทธิมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ทั้งนี้นางสาวซูไบดะห์ เป็นผู้ที่ได้รับรางวัลสตรีดีเด่นด้านการส่งเสริมสันติภาพใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล ปี 2556 โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้มอบรางวัลนี้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มหกรรม ‘วิจารณ์คำพิพากษา’ นิติราษฎร์และเครือข่าย จัดงานใหญ่ 17 มี.ค.

Posted: 14 Mar 2013 01:29 AM PDT

 

วันอาทิตย์ที่ 17 มี.ค.นี้ ที่หอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  คณะนิติราษฎร์ฯ ครก 112 ปฏิญญาหน้าศาล กวีราษฎร์ แสงสำนึก กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) จัดสัมมนาใหญ่ 'ศาลกับความยุติธรรมในสังคมไทย'

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกคณะนิติราษฎร์ฯ กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า งานนี้ไม่ได้พูดถึงเรื่อง 112 เพื่อให้เกิดการแก้ไขอย่างที่เคยทำไปแล้ว แต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาที่ออกมารวมทั้งกระบวนการอื่นๆ ด้วยทั้งระบบ

เขากล่าวว่า ประเด็นหลักจะเกี่ยวกับเรื่องคำตัดสินของศาลในหลายคดี ตั้งแต่ปี 2549 ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า มาตรา 112 ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้ยังไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเป็นระบบ  คดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ศาลเพิ่งตัดสินไปเมื่อไม่นานมานี้เราก็จะมีการนำคำพิพากษามาวิเคราะห์ รวมทั้งการพูดถึงโครงสร้างของศาล กระบวนการของศาลทั้งระบบอีกครั้ง จะมีการแสดงทัศนะเกี่ยวกับการตีความของศาลไทย และมีจดหมายเปิดผนึกถึงผู้พิพากษาตุลาการด้วย เป็นข้อสังเกตที่จะเสนอถึงบรรดาผู้พิพากษาตุลาการ เกี่ยวกับวิธีพิจารณา การใช้ และการตีความกฎหมายที่เป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องมาตรา 112 เพราะเป็นกรณีค่อนข้างชัดเจนที่สุดในการแสดงทัศนะและอุดมการณ์ผู้พิพากษาในระบบกฎหมายไทย และต้องการชี้ให้สาธารณชนได้เห็นด้วย

 "เราถือว่าศาลเป็นองค์กรหนึ่งในการใช้อำนาจของรัฐ เหมือนนิติบัญญัติ และบริหาร ดังนั้นเราสามารถจะวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารได้ ฝ่ายตุลาการก็ต้องไม่พ้นออกไปจากการวิพากษ์วิจารณ์ และการวิพากษ์วิจารณ์นี้ก็อยู่ในกรอบของกฎหมาย เพียงแต่เราชี้ให้เห็นถึงประเด็นที่เราไม่เห็นด้วยในการตัดสินคดีที่ผ่านมาในหลายคดี เป็นการเอาข้อเท็จจริงมาพูดกัน" วรเจตน์กล่าว

เพจเฟซบุ๊กของคณะนิติราษฎร์ ระบุว่า งานดังกล่าวจะมีการระดมทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ผ่านการจำหน่ายเสื้อยืดหลากหลายแบบ  (ราคาตัวละ 250 บาท) และเสื้อคอปกโปโลของคณะนิติราษฎร์ (ราคาตัวละ 300  บาท) ซึ่งออกแบบโดย มุกหอม วงษ์เทศ และดำเนินการโดยสำนักพิมพ์อ่าน นอกจากนี้ภายในงานยังมีนิทรรศการ ความเคลื่อนไหวของประชาชนในประเด็นเกี่ยวกับมาตรา 112 จัดแสดงด้วย

 


สติ๊กเกอร์ที่ขายภายในงาน

 

 


 

 

สัมมนา "ศาลกับความยุติธรรมในสังคมไทย"
วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม 2556
ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
 

13:00 – 13:15 กล่าวนำ / อ่านจดหมายโต้แย้งคำสั่งประธานรัฐสภา กรณีปฏิเสธไม่นำร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

13:15 – 15:00 ศาลกับ "ความยุติธรรม" ในคดีมาตรา 112
วาด รวี
สาวตรี สุขศรี
ปิยบุตร แสงกนกกุล
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์
พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ดำเนินรายการ
 

15:00 – 15:40 งานแสดงศิลปวัฒนธรรม
กวีราษฎร์ และแสงสำนึก
 

15:40 – 16:50 ศาล ในฐานะกลไกของระบอบ... ?
นิธิ เอียวศรีวงศ์
วรเจตน์ ภาคีรัตน์

พวงทอง ภวัครพันธุ์ ดำเนินรายการ

16:50 – 17:00 อ่านจดหมายเปิดผนึกถึงผู้พิพากษาและตุลาการ
สถิตย์ ไพเราะ อดีตรองประธานศาลฎีกา
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร

Posted: 14 Mar 2013 01:00 AM PDT

"ไม่จำเป็นต้องใช้วิทยาศาสตร์อะไรนี่ครับ อยากจะรู้ว่าคนไทยส่วนใหญ่คิดยังไง เดินออกไปแค่ตลาดหน้าบ้านก็รู้อยู่แล้ว คุยกับชาวบ้านก็รู้อยู่แล้ว ต้องไปหาวิทยาศาสตร์อะไรที่ไหนมา"

13 มี.ค.56, นักเขียนและอดีตนายตำรวจราชสำนักประจำ กล่าวในรายการ ตอบโจทย์ฯ กับประเด็น "สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ"

ระบบอาหารที่ดีต้องสร้างเอง (ภาคคนกิน)

Posted: 14 Mar 2013 12:52 AM PDT

 

กิน (ไม่) เปลี่ยนโลก ?

             

เมื่อตอนที่แล้วชวนคุยเรื่องเกษตรกรชาวนาชาวไร่ และความมั่นคงทางอาหาร เรื่องใหญ่

ครอบโลก เลยต้องยืดเยื้อมาเป็นตอนสอง ที่อยากจะชวนถกเรื่องผู้บริโภคกินเปลี่ยนโลก

ที่มาของการชวนกันถกคือบทความ "เกษตรอินทรีย์ กับระบบอาหารโลก"  ซึ่งชี้ให้เห็นข้ออ่อนและข้อจำกัดของเกษตรอินทรีย์ ที่มีแนวโน้มกลายเป็นโอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ ของธุรกิจการเกษตรมากกว่าจะเป็นคำตอบที่นำไปสู่การจัดความสัมพันธ์ในการผลิตการตลาดใหม่ หรือการรณรงค์กับผู้บริโภคหากไปไม่พ้นจากการเปลี่ยนพฤติกรรมปัจเจก สนใจแต่สุขภาพ หรือการพูดเรื่องการกินแบบประดิษฐ์ประดอย (แดก) ไม่อาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหาโครงสร้างซึ่งมีความซับซ้อน

ในฐานะคนทำงานรณรงค์ "กินเปลี่ยนโลก" ไม่อาจเห็นด้วยไปได้มากกว่านี้

ในเวลานี้ กลุ่มคนที่ตกอยู่สถานะลำบากที่สุดน่าจะเป็นผู้บริโภคเต็มเวลา (แปลว่าผู้ไม่มีหรือไม่ได้ใช้ที่ดินทำการเพาะปลูกใดๆ และไม่มีอาหารผลิตได้เป็นของตนเอง) ที่พอจะลุกขึ้นมาเลือกกินไม่ว่าจะด้วยห่วงใยตัวเอง ห่วงสิ่งแวดล้อม หรือรักเกษตรกรรายย่อย รักความเป็นธรรมมั่กๆ ก็ไม่มีให้เลือกด้วยเหตุที่ "ระบบทุนนิยมสร้างเงื่อนไขบีบบังคับผู้บริโภค" ดังที่เนตรดาวระบุ

ดังนั้นโจทย์หลักจึงเป็นว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้างหรือขับเคลื่อนให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญของการสร้างระบบอาหารที่ดี คืออาหารดี ปลอดภัย ราคาเหมาะสม เป็นธรรมกับทั้งคนปลูกคนกิน เป็นระบบที่สามารถตอบโจทย์ทุกคนไม่ว่ายากดีมีจน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน การจะมีระบบอาหารแบบนี้ได้ที่สุดแล้วก็จะต้องมีเสียงทางการเมืองที่เข้มแข็ง ที่จะไปบอกกับรัฐบาลว่าควรจะมีนโยบายสาธารณะ และมาตรการต่างๆ ที่จะเอื้อต่อการสร้างระบบอาหารที่ดีสำหรับทุกคน ไม่ใช่เพียงแค่มีเงินเท่านั้นจึงจะเข้าถึงอาหารดีได้

งานกินเปลี่ยนโลกในระยะแรกเรียนรู้และนำหลักการของขบวนการ Slow food มาใช้สื่อสาร หลักการนั้นคือ Good  Clean  Fair  ดีนั้นหมายถึงอาหารดี มีประโยชน์ อร่อยด้วย สะอาดหมายถึงกระบวนการผลิตที่สะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีอะไรตกค้าง ปลอดภัยต่อคนปลูกคนกิน และเป็นธรรม ก็คือคนปลูกมีรายได้พอใจ คนขายอยู่ได้ คนกินรับได้ เข้าถึงได้ สิ่งที่ชวนคนกิน เลือกกิน ก็มีเพียงเลือกกินอาหารสด ใหม่ ไม่แช่แข็ง ไม่แปรรูป ไม่มาไกลเกินจำเป็น เลือกซื้อจากตลาดนัดชาวนา ร้านค้าท้องถิ่นบ้าง อันนี้ยังไม่ต้องพูดถึงอาหารอินทรีย์เลย ในยุโรป หรือกระทั่งอเมริกาในปัจจุบันไม่ใช่สิ่งทำได้ง่ายๆ เลย แต่เมื่อมามองบ้านเราอาจนึกว่าง่าย ปรากฏว่ากลับไม่ง่ายอย่างที่คิด ด้วยวิถีการกินบ้านเราเปลี่ยนเร็วเหลือเชื่อ ใครจะนึกว่าชั่วเวลาไม่ถึงสิบปี คนไทยผู้ร่ำรวยทางวัฒนธรรมอาหารจะสามารถปรับตัวให้อยู่กับอาหารปรุงสำเร็จแช่แข็งอุ่นไมโครเวฟได้มากขนาดนี้

ปัญหาใหญ่มากอีกประการหนึ่งคือความรู้เรื่องอาหาร ความเป็นจริงในชีวิตประจำวันของผู้คน ผู้บริโภคอยู่ห่างไกลจากระบบการผลิต ขาดความรับรู้เรื่องที่มาหรือกระบวนการผลิตอาหาร ตลอดจนการขาดการสืบทอดเรื่องการปรุงอาหารในระดับครอบครัว นอกเหนือจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนสับสนที่ได้จากขบวนการโฆษณาอาหารสุขภาพ ทำให้ความสามารถในการเลือกเหลือน้อยยิ่งกว่าน้อย

ดังนั้น "กินเปลี่ยนโลก" ก็ทำได้เพียงชวนผู้บริโภคตั้งคำถามค้นหาที่มาของสิ่งที่เรียกว่าอาหารที่กินเข้าไปวันละไม่ต่ำกว่า 3 มื้อทุกวัน รวมทั้งนั่งบอกข่าวร้ายอยู่ทุกวี่วัน ว่าอันนี้อย่าไปเชื่อเขาโฆษณาเกินจริง ผักไฮโดรโปนิคไม่ใช่ผักอินทรีย์นะ ตรา Q มีสารตกค้างพอๆ กับผักรถเร่เลย ฯลฯ หนักเข้าก็บอกกันไปตรงๆ ว่าถ้ากินอาหารปลอดภัยจริงๆ ในขณะนี้หาไม่ได้เลย ให้ทำใจ

เช่นกันกับงานฟากผู้ผลิต สิ่งที่พอทำได้คือชวนผู้บริโภคที่เห็นว่าการเลือกกินนั้นสำคัญ พอมีทรัพย์ และเงื่อนไขแวดล้อมที่จะเลือก มาปฏิบัติการบางอย่างเท่าที่ปัจเจกบุคคลพอทำได้ เริ่มจากการจ่ายตลาดสดบ้าง คุยซักไซร้กับแม่ค้าบ้าง ลองกินผักพื้นบ้านแปลกๆ หาความรู้เรื่องฤดูกาลของผักก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป ผัดกระเพราไก่ไข่ดาวกินเองบ้าง โดยใช้กระเพราใบเล็กๆ ดำๆ แล้วจะเริ่มเรียนรู้ความต่างๆ ของผักหญ้า หัดทำอาหารจานโปรดที่แม่เคยทำให้กินโดยโทรไปถามสูตรแม่ ใครจะมีสุนทรียะขนาดลุกขึ้นมาโขลกเครื่องแกง คั้นกะทิเองบ้างเป็นพัก ๆ ก็มิได้เป็นเรื่องประหลาดพิสดารจนต้องห้ามลอกเลียนแบบ พวกขยันมากหน่อยก็ไปจนถึงปลูกผักกินเอง หรือที่สุดแล้วปรับเปลี่ยนอะไรไม่ได้เลย แค่สงสัยเป็นพักๆ ก็ยังดีกว่ามีอะไรก็กินๆ เข้าไป มิได้คิดสิ่งใดเลย

กระบวนการเช่นนี้จริง ๆ แล้วคือมิใช่การตั้งเป้าเพียงเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะเอาเข้าจริงแล้วอาจเปลี่ยนแทบไม่ได้ หากแต่ที่สำคัญคือการปรับเปลี่ยนความรู้และทัศนคติ ซึ่งหมายถึงในอนาคตอันไม่ใกล้นักผู้บริโภคก็จะข้ามผ่านเป็นพลเมืองที่มีอำนาจของความรู้ และส่งเสียงทางการเมือง บอกว่าฉันขอกำหนดแบบแผนการผลิตอาหารร่วมกับเกษตรกรชาวนาชาวไร่ กำหนดการตลาดหรือการกระจายอาหาร และวิถีการกินของฉันเองบ้าง


จากกินละเมียด สู่ขบวนการอาหารท้องถิ่น ไปทวงคืนระบบอาหาร

จากการเฝ้ามองขบวนการเคลื่อนไหวอาหารท้องถิ่นของโลกไม่กี่ปีที่ผ่านมาพบว่า ขบวนการอาหารท้องถิ่นได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วกว้างขวางทั่วโลกตะวันตก และเริ่มไปเชื่อมโยงกับขบวนการต่อต้านทุนนิยมโลกาภิวัตน์อย่างน่าสนใจ

จากคาร์โล เปตรินี นักหนังสือพิมพ์ชาวอิตาเลียน ผู้ซึ่งชื่นชอบและให้ความสำคัญกับศิลปะการปรุงอาหาร ได้ลุกขึ้นมาเป็นตัวตั้งตัวตีรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ร่วมอุดมการณ์ เพื่อต่อต้านการคุกคามของ McDonald ยักษ์ใหญ่ธุรกิจอาหารโลกที่มาเปิดสาขาในกรุงโรม เมื่อปี 2529 นำมาสู่การก่อนตั้งขบวนการ Slow food ในปี  2532 เพื่อเป็นขั้วตรงข้ามกับอาหารจานด่วนหรือ fast food และนับตั้งแต่การจัดมหกรรมอาหารช้า และเครือข่ายแผ่นดินแม่ Slow food Festival & Terra Madre ในปี 2547 เป็นต้นมา รับรองผู้คนจากทุกสารทิศทั่วโลกทั้งชาวไร่ชาวนา นักปรุงอาหาร เกษตรกรผู้เพาะพันธุ์สัตว์ ชาวประมง นักเก็บเมล็ดพันธุ์ คนเลี้ยงผึ้ง คนทำขนมปัง นักการศึกษา และนักวิชาการมากมายถึง 170,000 คน (จาก 5,000 คนในปีแรก) เพื่อแลกเปลี่ยนตั้งแต่เรื่องสูตรลับก้นครัว การบริโภคน้ำ อาหารท้องถิ่น ไปจนถึงการสร้างเครือข่ายและวิสัยทัศน์ร่วมกัน จากจุดเริ่มต้นสมาคมคนกินมีรสนิยม ได้สร้างแรงบันดาลใจ สร้างความเข้มแข็งและเจริญเติบโตให้กับเครือข่ายผู้ผลิตอาหารท้องถิ่น และขับเคลื่อนให้ "อาหารช้า" หมายถึงอาหารที่ดี-สะอาด-เป็นธรรม อันหมายถึงเป็นอาหารที่มีคุณภาพและรสชาติ "ดี" มีกระบวนการผลิตที่ "สะอาด" เคารพธรรมชาติ และ "เป็นธรรม" นั่นคือผู้ผลิตมีศักดิ์ศรี ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม และได้รับความนับถือจากผู้บริโภค

ตั้งแต่ปี 2548-49 เราได้เห็นการขยายตัวของขบวนการอาหารท้องถิ่น ที่มุ่งส่งเสริมการผลิตของเกษตรกรขนาดเล็ก เช่นที่ในอเมริกาเรียก "family farm" ผู้บริโภคหันมาแสวงหาอาหารสด ใหม่ ปลูกจากฟาร์มในท้องถิ่นไม่ไกลจากที่ตนอาศัยอยู่ จากตลาดดัดจริตกินของคนมีเงินรักสุขภาพ จำนวนไม่กี่ตลาด ผู้ผลิตขยายตัว ตลาดชาวนา Farmer market ขยายตัวจากนับสิบเป็นนับพันแห่งทั่วยุโรป และอเมริกาในช่วงเวลาเพียงสามสี่ปี ตามด้วยขบวนการ City Farm และเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่คนหนุ่มสาวในเมืองใหญ่เริ่มขยับไปหาพื้นที่ดินทำการเกษตร สร้างระบบอาหารสมาชิก ผัก Community Support Agriculture: CSA ขยายตัวอย่างรวดเร็วในหลายรัฐของอเมริกา

นอกเหนือจากแนวคิด "อาหารช้า" โปรเฟสเซอร์ทิม ลาง แห่งภาควิชานโยบายอาหาร มหาวิทยาลัยเมืองลอนดอน Food Policy at City University, London ได้พัฒนาวาทกรรม "ประชาธิปไตยทางอาหาร"  ในราวกลางปี 2533 ในการตอบโต้กับการขยายการควบคุมระบบอาหารของบรรษัท และการที่ผู้บริโภคไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆ ในระบบอาหาร โดยแนวคิดนี้เสนอว่าพลเมืองมีอำนาจที่จะกำหนดนโยบายด้านอาหาร และปฏิบัติการทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ระดับชาติ และระดับสากล เป้าหมายของประชาธิปไตยทางอาหารคือการมีหลักประกันการเข้าถึงอาหาร ที่มีราคาเหมาะสม ดีต่อสุขภาพ และสอดคล้องกับวัฒนธรรมอาหาร และเน้นความเป็นธรรมทางสังคมในระบบอาหาร เพราะเชื่อว่าอาหารคือหัวใจของกระบวนการประชาธิปไตย

เมื่อขบวนการยึดวอลสตรีท Occupied Wall street เริ่มต้นขึ้นในเดือนกันยายน ปี 2554 ขบวนการผู้บริโภคอาหารท้องถิ่น เครือข่ายชาวนาขนาดเล็ก เครือข่ายเมล็ดพันธุ์ Seed Growers  ในสหรัฐอเมริกาก็ได้เข้าร่วมอย่างแข็งขัน ไม่นานก็เคลื่อนเป็นขบวนการยึดคืนระบบอาหาร Occupied Food System เคลื่อนไหวความคิดทวงคืนระบบอาหารจากการครอบงำของบรรษัทขนาดยักษ์ เดินขบวนไปพร้อมตั้งครัวปรุงอาหารทั้งจากฟาร์มของเครือข่าย และไปเก็บอาหารทิ้งหมดอายุที่ยังกินได้แต่กลายเป็นขยะของซุปเปอร์มาร์เก็ต ในยุโรปมีการจัดขบวนคาราวาน Good Food March 2012 ทั้งคนกิน คนปลูกเดินทางร่วมกัน เริ่มต้นจากหลายเมืองในยุโรป มุ่งหน้าสู่กรุงบรัสเซลล์ในปลายเดือนสิงหาคม 2555 ที่ซึ่งจะมีการตัดสินใจทางนโยบายเกษตรร่วมของสหภาพยุโรป (Common Agriculture Policy: CAP) เพื่อเรียกร้องนโยบายที่จะสร้างระบบอาหารและระบบการผลิตที่ดี

หันกลับมามองในบ้านเรา คงไม่อาจคาดหวังได้ว่าการเคลื่อนไหวอย่างมีพลังของขบวนการผู้ผลิตเชื่อมโยงกับผู้บริโภคจะเกิดขึ้นรวดเร็วนัก แต่พัฒนาการที่เรียนรู้ได้จากขบวนการผู้บริโภคในโลกตะวันตกก็บอกย้ำกับเราว่า นี่มิใช่ความฝันที่เป็นไปไม่ได้

น่าเสียดายว่า บรรดานักสังเกตการณ์สังคม นักวิชาการ สื่อมวลชน ยังมิอาจทำความเข้าใจและร่วมขบวนความคิดได้มากนัก จะเป็นด้วยข้อจำกัดใดคงจะได้วิเคราะห์หาทางปรับปรุงปฏิบัติการกันต่อไป และคงจะเป็นประโยชน์กว่านี้มาก หากการวิเคราะห์วิจารณ์จะช่วยชี้ให้เห็นถึงข้ออ่อนอย่างรอบด้าน แต่การจะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องมองให้เห็นที่มา ชุดความคิด และพัฒนาการของขบวนที่ปฏิบัติการอยู่

การวิจารณ์ที่ติดกับคำไม่กี่คำ หรือเลือกจากภาพไม่กี่ภาพมากล่าวถึงอย่างบิดเบือน  และเมื่อไปดูท้ายบทความตอนอ้างอิง ก็แทบไม่เห็นว่าศึกษาขบวนที่ทำ ๆ กันอยู่จากเอกสารอะไร ที่จะกล่าวถึงประสบการณ์ประเทศไทย ก็เห็นมีเพียงสารคดีข้าวปลาอาหาร ออกอากาศเป็นซีรีส์ มีทั้งหมดสิบตอน ไม่แน่ใจว่าได้ดูครบทุกตอนหรือไม่ ดังนั้นก็น่าจะมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะช่วยกันวิเคราะห์ และพัฒนาขบวนการและปฏิบัติการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดระบบอาหารที่ดีซึงแท้จริงแล้วเป็นของทุกคน

"The most political act we do on a daily basis is choosing what to eat"

(Professor Jules Pretty, University of Essex, UK)

 การปฏิบัติการการเมืองอย่างที่สุดที่เราทำเป็นประจำวัน นั้นก็คือ 

การเลือกว่าจะกินอะไร

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น