โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

'ไทยพีบีเอส' ชี้แจงกรณีงดรายการตอบโจทย์ 'สมศักดิ์-ส.ศิวรักษ์'

Posted: 15 Mar 2013 01:55 PM PDT

ระบุมีผู้ร้องเรียน 'รายการตอบโจทย์' อัดหนักเทปดีเบต 'สมศักดิ์ - ส.ศิวรักษ์' และกังขาบทบาท ส.ศิวรักษ์ ที่ปกป้องสถาบันฯ แต่ชอบโยงการแก้ ม.112 ขณะที่ กอง บก. ได้พิจารณาเทปรายการวันที่ 15 มี.ค.แล้วพบว่ามีเนื้อหาสมดุล แต่หลังประเมินสถานการณ์อีกรอบหวั่นความขัดแย้งขยายรุนแรง ผู้บริหารจึงขอทบทวนการนำเสนออีกครั้ง และรับข้อร้องเรียนเข้าสู่การพิจารณาตาม ม.46

ภาพจากคลิปประชาสัมพันธ์รายการ "ตอบโจทย์ประเทศไทย" ที่จะออกอากาศในวันศุกร์ที่ 15 มี.ค. แต่มีการงดออกอากาศเสียก่อน

 

ตามที่รายการ "ตอบโจทย์ประเทศไทย" ดำเนินรายการโดยภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สาธารณะ "ไทยพีบีเอส" ตลอดทั้งสัปดาห์นี้ตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. เป็นต้นมา ได้มีการออกอากาศในหัวข้อ "สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ" อย่างไรก็ตามในวันที่ 15 มี.ค. ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายของการออกอากาศจะเป็นการอภิปรายตอนที่ 2 ต่อจากเทปเมื่อวันที่ 14 มี.ค. ระหว่างสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้มีการงดออกอากาศนั้น แล้วเปลี่ยนเป็นนำตอน "หะยีสุหลง" ซึ่งเคยอออกอากาศแล้วมาออกอากาศซ้ำ และขึ้นตัววิ่งชี้แจงนั้น (อ่านข่าวที่นี่)

ล่าสุดเวลา 1.35 น. วันนี้ (16 มี.ค.) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจง "กรณีรายการตอบโจทย์ประเทศไทย ตอน "สถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ" โดยมีรายละเอียดดังนี้

สืบเนื่องจากกรณีที่มีประชาชนส่วนหนึ่งเดินทางมาร้องเรียนและยื่นข้อเสนอต่อผู้บริหารองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ให้ระงับการออกอากาศรายการตอบโจทย์ประเทศไทย ตอน "สถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ" ตอนที่ 5 ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย ที่มีกำหนดออกอากาศในวันศุกร์ที่ 15 มีนาคม 2556

ทั้งนี้ รายการตอบโจทย์ประเทศไทยที่ออกอากาศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้นำเสนอมุมมองที่หลากหลายในเรื่องการปรองดอง การนิรโทษกรรม ซึ่งในหลายกรณีคาบเกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งกำลังเป็นประเด็นที่อยู่ในกระแสข่าว ทั้งในสื่อกระแสหลัก และในสื่อสังคมออนไลน์ โดยทางรายการได้เชิญแขกรับเชิญหลายฝ่าย นับจาก ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้เคยถวายงานรับใช้ใกล้ชิดพระราชวงศ์ ในฐานะประธานจัดงานครองสิริราชสมบัติ 60 ปี ซึ่งเป็นแขกรับเชิญในวันจันทร์ที่ 11 มีนาคม 2556 ติดตามมาด้วยนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันอังคารที่ 12 มีนาคม 2556 ซึ่งได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ในวันพุธที่ 13 มีนาคม 2556 ทางรายการได้เชิญ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตหัวหน้านายตำรวจประจำราชสำนัก มานำเสนอมุมมองต่อข้อวิพากษ์ของนายสมศักดิ์ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ชมเป็นคนตัดสิน

แต่ช่วงเวลาที่ก่อให้เกิดข้อวิพากษ์มากที่สุด เป็นเนื้อหารายการในวันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม 2556  ที่มีการดีเบตระหว่างนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กับนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ถึงแม้ทางฝ่ายหลังจะประกาศตัวเป็นคนรักเจ้า ที่ต้องการปกปักรักษาให้มีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในประเทศไทยอย่างเปิดเผย แต่ก็ยังถูกตั้งคำถามจากผู้ชมบางส่วนถึงการวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาของนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ซึ่งผู้ชมหลายฝ่ายอาจจะกังขาต่อท่าทีและวิธีการนำเสนอ ที่เชื่อมโยงไปถึงประเด็นการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นประเด็นที่อ่อนไหวและถูกถามถึงวัตถุประสงค์ของการนำเสนอรายการ

จากการแสดงความคิดเห็นของกลุ่มประชาชนที่เดินทางมาประท้วงการนำเสนอรายการดังกล่าว  องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย มิได้เพิกเฉย โดยนำเรื่องเข้าหารือเป็นวาระเร่งด่วนในคณะกรรมการนโยบาย  พร้อมทั้งเรียกประชุมกองบรรณาธิการข่าวเพื่อพิจารณาเนื้อหาของเทปรายการและตัดสินใจ โดยการประชุมดังกล่าวดำเนินไปโดยอิสระตามจริยธรรมและวิชาชีพ โดยมิได้รับการร้องขอหรือถูกบังคับจากหน่วยงานหรือสถาบันใด   ทั้งนี้ การประชุมพิจารณาเทปรายการ พบว่ามีเนื้อหาที่สมดุลในการแสดงความคิดเห็น แต่ในการประเมินสถานการณ์ เวลาประมาณ 21.00 น. วันที่ 15 มีนาคม 2556 พบว่าอาจมีการขยายความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น  คณะผู้บริหารพิจารณาภายใต้หลักการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม องค์การฯ จะต้องไม่สร้างปัจจัยความขัดแย้งเพิ่มเติม หรือเป็นคู่ขัดแย้งเอง นำมาสู่การตัดสินใจพิจารณาทบทวนการนำเสนอประเด็นอ่อนไหวอย่างรอบคอบอีกครั้ง นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการองค์การฯ จึงได้มีข้อเสนอให้นำเรื่องร้องเรียนของกลุ่มประชาชนดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน  ตามมาตรา 46 พ.ร.บ. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551

องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย

 

ว่าด้วยมาตรา 46 ให้คณะกรรมการนโยบายจัดให้มีคณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ในกรณีที่องค์การ ผู้ผลิตรายการ หรือพนักงาน หรือลูกจ้างขององค์การ กระทำการหรือผลิตรายการที่ขัดต่อข้อบังคับด้านจริยธรรมของวิชาชีพตามมาตรา 42  ทั้งนี้ โดยคณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ต้องพิจารณาและตรวจสอบเรื่องร้องเรียนดังกล่าวอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม

กระบวนการพิจารณาของคณะอนุกรรมการตามวรรคหนึ่ง จะต้องครอบคลุมถึงวิธีการแก้ไขหรือเยียวยา ในกรณีที่มีการผลิตรายการที่ขัดต่อข้อบังคับด้านจริยธรรมของวิชาชีพ รวมทั้งมีวิธีการแก้ไขข้อความที่เป็นเท็จ สิทธิการโต้แย้ง และการขออภัยในกรณีที่เกิดความผิดพลาด

การร้องเรียนตามกระบวนการตามมาตรานี้ ไม่เป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนในการที่จะใช้ช่องทางอื่นตามกฎหมายเพื่อแก้ไขหรือเยียวยาต่อกรณีที่มีการร้องเรียนนั้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐบาลพม่าประกาศไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ทวาย

Posted: 15 Mar 2013 12:44 PM PDT

 
เมื่อวันที่ 15 มี.ค.56 รายงานข่าวจากสื่อท้องถิ่น Dawei Watch ระบุ รัฐบาลพม่าไม่ต้องการให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ทวาย
 
"พม่าไม่มีแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ทวายสำหรับป้อนให้กับโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรมทวาย" นาย เมียท โก ผู้ว่าการแคว้นตะนาวศรี กล่าวกับ Dawei Watch
 
จากกรณีที่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กล่าวกับสื่อว่า จะมีการสร้างโรงไฟฟ้าซึ่งมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตไปถึง 8,200 เมกะวัตต์ และระบุด้วยว่าพลังงานไฟฟ้าส่วนใหญ่จะมาจากถ่านหิน
 
นายเปรมชัย ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า มีแผนจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่โครงการทวาย 8,200 เมกะวัตต์ ซึ่ง 1,000 เมกะวัตต์จะมาจากก๊าซธรรมชาติ และอีก 7,200 เมกะวัตต์จะมาจากถ่านหิน โดยจะส่งไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ผลิตได้ขายให้กับประเทศไทยด้วยถึง 4,200 เมกะวัตต์
 
อย่างไรก็ตาม นายเมียท โก กล่าวว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 7,200 เมกะวัตต์นั้นถือว่าใหญ่มาก แม้แต่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดยังใช้ไฟฟ้าจากถ่านหินเพียง 1,800 เมกะวัตต์เท่านั้น
 
"ผมเชื่อว่าเราไม่มีความคิดที่จะสร้างโรงไฟฟ้าทำนองนี้แน่ ๆ และเมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลพม่าเพิ่งจะหยุดแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 4,000 เมกะวัตต์ไปเอง เนื่องจากเป็นโครงการที่สร้างปัญหา" นายเมียท โก กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จวกกรมเหมืองแร่ฯ เปิดห้องแจง ‘อีเอชไอเอ’ โปแตชอุดร เป็นราชการหนุนนายทุน

Posted: 15 Mar 2013 12:19 PM PDT

กลุ่มอนุรักษ์ฯ จวก กรมเหมืองแร่ฯ เป็นข้าราชการแต่เอื้อประโยชน์ให้นายทุน ยอมเปิดห้องประชุมให้ชี้แจง ทั้งที่ชาวบ้านค้านกระบวนการทำอีเอชไอเอไม่ถูกต้อง กลุ่มอนุรักษ์ฯ เผยส่งข้อมูล สผ. และสช.พร้อมใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ขอรายงาน

 
เมื่อวันที่ 14 มี.ค.56 แหล่งข่าวภายในกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. ที่ห้องประชุม กพร.ได้มีการประชุมกรณีกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีไอเอ) โครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี โดยมีผู้บริหารบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอเปอร์เรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ผู้ยื่นขออนุญาตประทานบัตรโครงการฯ เข้าชี้แจงให้ข้อมูลกับข้าราชราชการระดับสูงของ กพร.
 
"เป็นการรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการฯ ของบริษัทเอพีพีซี ในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะกรณีการจัดทำรายงานอีเอชไอเอ ซึ่งบริษัทได้จัดทำรายงานเสร็จแล้วและได้นำส่งไปยังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อให้มีการพิจารณาตามขั้นตอน ดังนั้น การประชุมในวันนี้จึงเป็นการรับฟังความเห็นหรือข้อเสนอแนะจาก กพร. ต่อการจัดทำรายงานอีเอชไอเอดังกล่าวด้วย" แหล่งข่าวระบุ
 
ทั้งนี้ บริษัทเอเชียแปซิฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ได้ว่าจ้างคณะศึกษาวิจัยของ บริษัท ทีมคอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนต์ จำกัด บริษัทที่ปรึกษา จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) โครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี จนแล้วเสร็จเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และได้นำรายงานเสนอต่อสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อพิจารณา ก่อนนำไปประกอบการขออนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ใต้ดิน ตามพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545
 
ในขณะที่โครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ไม่เข้าข่ายโครงการรุนแรงที่จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติ สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพที่ส่วนราชการรัฐวิสาหกิจหรือเอกชน จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2553 ทว่าบริษัทฯ ได้ดำเนินการจัดทำรายงานดังกล่าว ตามคำแนะนำของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)
 
ด้านนางมณี บุญรอด แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา กพร.ซึ่งเป็นข้าราชการ มักจะเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทฯ ซึ่งเป็นนายทุนที่จะมาแย่งชิงเอาทรัพยากรจากชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของทรัพยากร อยู่เสมอ ดังเช่นในครั้งนี้ถึงกับยอมเปิดห้องประชุมของกรมฯ ให้บริษัทฯ ได้เข้าชี้แจงถึงการทำรายงานอีเอชไอเอ ทั้งๆ ที่ชาวบ้านคัดค้านกันอย่างมาก ว่ากระบวนการไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ดี กลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ส่งข้อมูลไปยัง สผ. และสช. (สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ) แล้ว พร้อมกันนี้ ก็ยังทำหนังสือคัดค้าน และใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ เพื่อขอรายงานอีเอชไอเอ ฉบับดังกล่าวด้วย
 
"กระบวนการจัดทำรายงานอีเอชไอเอ โครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ที่ผ่านมา บริษัทเอพีพีซี และบริษัทที่ปรึกษา ได้ดำเนินการโดยไม่มีการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง โดยบริษัทฯ จะเลือกเอาเฉพาะกลุ่มคนที่สนับสนุนโครงการให้เข้าร่วมกระบวนการ และปิดกั้นการมีส่วนร่วมของชาวบ้านกลุ่มที่คัดค้าน โดยการใช้กำลังจากเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งกลุ่มมวลชนในพื้นที่ให้คอยขัดขวาง ซึ่งเป็นวิธีการที่ถูกต้องและเป็นธรรม หรือไม่ กพร.และสผ.ต้องพิจารณา" นางมณีกล่าว
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

งานวิจัยอังกฤษเผย ทหารผ่านสงครามอิรัก-อัฟกานิสถาน มีโอกาสก่อความรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป

Posted: 15 Mar 2013 11:33 AM PDT

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทหารอังกฤษ 14,000 นายที่เคยไปรบในสงครามอิรักและสงครามอัฟกานิสถานพบว่าทหารผ่านศึกโดยเฉพาะที่อายุต่ำกว่า 30 จำนวนร้อยละ 20 ก่ออาชญากรรมความรุนแรง เนื่องจากผลกระทบจากสงคราม โรค PTSD และการดื่มสุราจัด

15 มี.ค. 2013 - รายงานของวารสารการแพทย์แลนเซทซึ่งระบุว่าทหารอายุต่ำกว่า 30 ปี ที่ผ่านประสบการณ์การสู้รบมีโอกาสก่อเหตุรุนแรงมากกว่าประชากรอื่นๆ

โดยทีมวิจัยได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ทหารอังกฤษ 14,000 นาย ที่เคยไปรบในสงครามอิรักและอัฟกานิสถาน และเผยแพร่ผลการวิจัยในวารสารทางการแพทย์แลนเซท 10 ปี หลังจากสงครามในอิรัก

งานวิจัยเปิดเผยว่าประชากรที่เป็นทหารจะมีอัตราการก่ออาชญากรรมโดยรวมต่ำกว่าประชากรทั่วไปในกลุ่มช่วงวัยเดียวกันเล็กน้อย โดยที่กลุ่มประชากรทหารผ่านศึกราวร้อยละ 94 ที่กลับมาจากพื้นที่สงครามจะไม่ก่ออาชญากรรม

แต่อย่างไรก็ตามนักวิจัยพบว่ากลุ่มทหารผ่านศึกก่ออาชญากรรมด้านความรุนแรงสูงกว่าประชากรอื่นๆ โดยเฉพาะในกลุ่มชายอายุต่ำกว่า 30 ปี ที่มีอัตราการก่ออาชญากรรมด้านความรุนแรงราวร้อยละ 20 หรือจำนวน 2,728 คนจากทั้งหมด เทียบกับกลุ่มประชากรคนหนุ่มที่ไม่ได้เป็นทหารมีเพียงร้อยละ 6.7 โดยอาชญากรรมด้านความรุนแรงส่วนใหญ่คือการทำร้ายร่างกาย

เนื้อความระบุว่าการเป็นทหารยศน้อยที่ถูกใช้ให้ไปรบและประสบการณ์ที่สร้างบาดแผลทางใจเช่นการถูกยิง ทั้งหมดนี้เกี่ยวโยงกับแนวโน้มการใช้ความรุนแรงของทหารที่กลับมาจากสงคราม นอกจากนี้แล้วการเสพติดเครื่องดื่มแอลกอฮอลและโรคเครียดจากเหตุการณ์ร้ายแรง (Post Traumatic Stress Disorder, PTSD) ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมใช้ความรุนแรงด้วย

ทีมนักวิจัยยังได้วิเคราะห์ข้อมูลโดยอาศัยเรื่องประวัติของกลุ่มตัวอย่าง พบว่าคนที่มีแนวโน้มชอบใช้ความรุนแรงมีมักจะได้เป็นคนออกไปสู้รบในสงครามมากกว่า

ศจ. ไซมอน เวสส์ลี จากมหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจของลอนดอนกล่าวว่า คนที่ได้รับบทบาทในการออกรบจะเป็นคนที่มีพื้นเพต่างจากคนอื่นเล็กน้อยอยู่แล้ว

"กองทัพไม่ได้คัดเลือกพวกเด็กพฤติกรรมดีที่ชอบเล่นหมากรุก พวกเขามักจะเลือกจากคนที่มีภูมิหลังขาดแคลนและมีความก้าวร้าว และพวกเขาก็มักจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพที่ได้ออกไปสู้รบในสนามจริง" ไซมอนกล่าว

"ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือคนที่เคยกระทำความผิดโดยใช้ความรุนแรงมาก่อนที่พวกเขาจะไปเป็นทหาร แต่ก็ยังมีเรื่องผลกระทบจากการไปทำสงคราม รวมถึงผลกระทบบางส่วนจากการดื่มสุราหนักและโรคเครียดจากเหตุการณ์ร้ายแรง หรือปัญหาทางสุขภาพจิตอื่นๆ ที่เป็นผลจากการไปรบในสงคราม"

ไซมอนกล่าวอีกว่า การที่กลุ่มคนหนุ่มเหล่านี้ไม่ยอมรับว่าตนเองกำลังเผชิญปัญหาเป็นอุปสรรคใหญ่สำคัญในการรักษา

กรณีของลูอิส แมคเคย์ ที่เคยไปรบในสงครามอิรักและอัฟกานิสถานกล่าวว่าบุคลิกของเขาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยเป็นคนผ่อนคลายกลายเป็นคนก้าวร้าวหลังจากเขากลับมาจากสงครามอัฟกานิสถาน

ลูอิส ซึ่งปัจจุบันทำงานเป็นยามที่อาการสำนักงานของ BBC เล่าประสบการณ์สิ่งที่เขาได้พบเห็นและประสบกับตัวเองในอัฟกานิสถานเป็นเรื่องที่รุนแรงมากเกินว่าร่างกายและจิตใจคนเราจะทนทานได้ เขาบอกว่าครั้งหนึ่งเขาเคยเกือบทำร้ายภรรยาเขาแต่เขาก็หันไปชกกำแพงหรือหน้าต่าง บางครั้งเขาก็มีภาพประสบการณ์เก่าๆ ย้อนกลับมา จนถึงขั้นแค่การกระชากปิดกระตูรถก็ทำให้เขาล้มลงไปอยู่บนพื้นได้

จอห์น ชาร์ปเลย์ แพทย์ทหารผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชจากกระทรวงกลาโหมอังกฤษเห็นด้วยกับประเด็นที่ว่าการให้ทหารหนุ่มยอมรับความช่วยเหลือเป็นเรื่องสำคัญมาก และเรื่องรอยแผลในจิตใจ (stigma) ก็เป็นปัญหาใหญ่

"มันเป็นไปไม่ได้ที่จะฝึกฝนตัวเองให้เผชิญกับอะไรบางอย่างที่เป็นเรื่องร้ายแรงทางจิตใจ ซึ่งในเชิงนิยามคือการเผชิญสิ่งที่อยู่นอกเหนือประสบการณ์ของคนนั้นๆ" จอห์นกล่าว

ทางด้านโฆษกของกระทรวงกลาโหมอังกฤษกล่าวว่าพวกเขามีพันธกิจในการสนับสนุนสมาชิกกองทัพ และครอบครัวของพวกเขาหลังกลับจากสงครามแล้ว แต่ก็กล่าวถึงผลการวิจัยว่าเจ้าหน้าที่ทหารส่วนใหญ่ดูปรับตัวได้ดีและมีความเสี่ยงในการใช้ความรุนแรงหลังกลับจากสงครามเพิ่งขึ้นร้อยละ 2 เท่านั้นเมื่อเทียบกับประชากรทั่วไป อย่างไรก็ตามการละเมิดกฏหมายด้วยการใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องที่ทางกองทัพจะไม่ยอมให้เกิดขึ้น

โจนาธาน บีล นักข่าวสายความมั่นคงของ BBC กล่าวว่า งานวิจัยเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพจิตจากการลงพื้นที่สงครามยังคงเป็นเรื่องใหม่มาก แต่ก็มีหลักฐานบ่งชี้ถึงผลกระทบจนทำให้ควรมีการคำนึงถึงเรื่องนี้ โดยในสหรัฐฯ พบว่าทหารที่เคยไปรบในสงครามอัฟกานิสถานและอิรักร้อยละ 15 เป็นโรคเครียดจากเหตุการณ์ร้ายแรง และ มีการประเมินว่าทหารในกองทัพสหรัฐฯ ฆ่าตัวตายในอัตราเฉลี่ย 1 คน ต่อวันในปี 2012


เรียบเรียงจาก

'Violence risk' after military tours, BBC, 15-03-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชิลีเปิดตัวกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดยักษ์ ALMA อย่างเป็นทางการ

Posted: 15 Mar 2013 11:26 AM PDT

ความฝันในนิยายวิทยาศาสตร์ที่ทำนายไว้เมื่อ 40 ปีก่อนกลายเป็นจริงแล้ว เมื่อมีการเปิดตัวกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดยักษ์ในชิลี ซึ่งสามารถรับคลื่นสัญญาณจากกาแล็กซี่ไกลโพ้น สามารถตรวบจับคลื่นแสงที่มนุษย์มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และสามารถประเมินการเกิดของดวงดาวย้อนไปได้ถึงช่วงต้นกำเนิดจักรวาล

เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2013 ทางการชิลีได้เปิดตัวกล้องโทรทัศน์วิทยุขนาดยักษ์ (Atacama Large Millimeter/sub-millimeter Array หรือ ALMA) อย่างเป็นทางการ โดย ALMA ถูกสร้างบนที่ราบสูงชัจนันทอร์ ที่ความสูง 5,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลในเขตทะเลทรายอตาคามา

ปธน. ปิเนร่ากล่าวในงานเปิดตัว ALMA ว่านับแต่วันนี้ชิลีจะกลายเป็นเมืองหลวงดาราศาสตร์ของโลก "แม้ชิลีจะเป็นประเทศเล็กๆ แต่พวกเราก็กลายเป็นยักษ์ใหญ่"

โดยก่อนหน้านี้นักบินอวกาศจากสถานีอวกาศนานาชาติได้ส่งคำแสดงความยินดีต่อการเปิดตัวของ ALMA และกล่าวกับนักวิทยาศาสตร์ของชิลีว่าขอให้สนุกกับนวัตกรรมของพวกคุณ

The Independent ระบุว่ากล้องโทรทรรศน์วิทยุ ALMA ใช้เวลาสร้างนับสิบปี ด้วยทุนสร้าง 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 40,000 ล้านบาท) ประกอบด้วยเสารับสัญญาณขนาดใหญ่ 66 เสา มีความสามารถในการจับคลื่นแสงที่มนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และสามารถประเมินย้อนกลับไปในช่วงกำเนิดจักรวาลได้ ทำให้เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังสำหรับนักดาราศาสตร์ในการศึกษาการกำเนิดและการเปลี่ยนแปลงของดาวฤกษ์และดาวเคราะห์

บทความจากวารสาร Nature เปิดเผยว่า การสำรวจโดยใช้ ALMA ได้แสดงให้เห็นประวัติศาสตร์ของจักรวาลในช่วงที่มีดาวกำเนิดใหม่เป็นจำนวนมากในช่วงระยะเวลาอันสั้น ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อพันล้านปีก่อนหน้าที่มนุษย์เราเคยประเมินไว้ โดยเกิดขึ้นไม่นานนักหลังจากปรากฏการณ์ระเบิดครั้งใหญ่หรือบิ๊กแบงค์

สิ่งที่ ALMA สามารถช่วงศึกษาได้อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องเคมีอวกาศ (Astrochemistry) โดยเฉพาะเรื่องการก่อรูปและการกระจายตัวของโมเลกุลซับซ้อนรวมถึงสารอินทรีย์ที่เป็นโครงสร้างของชีวิต ทำให้แม้ว่าการค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกอาจไม่ใช่ภารกิจหลักของ ALMA แต่ก็อาจให้ข้อมูลเบาะแสสำคัญในเรื่องนี้ได้

โครงการณ์นี้ได้รับการสนับสนุนจากภาคีความร่วมมือนานาชาติ โดยส่วนหนึ่งคือสภารัฐแห่งหอสังเกตการณ์ทางใต้ของยุโรป (EOS) ซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศยุโรป 15 ประเทศ มีส่วนร่วมในเงินทุนร้อยละ 37.5 นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือจากชาติสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และไต้หวัน

ทิม เดอ เซอุว ผู้อำนวยการของ ESO กล่าวในพิธีเปิดว่ากล้องโทรทรรศน์ขนาดยักษ์เคยมีปรากฏในนิยายที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1973 เรื่อง The Inferno ของเซอร์ เฟรด ฮอยล์ นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ ซึ่งกล่าวถึงกล้องโทรทัศน์วิทยุที่สามารถจับคลื่นความถี่ต่ำเพื่อการศึกษาองค์ประกอบโมเลกุลของก๊าซ

อิงหลักการ 'เลนส์ความโน้มถ่วง' ของไอน์สไตน์

ในข้อมูลจากเว็บไซต์โครงการ ALMA กล่าวว่า ในตอนนี้มีการใช้เสารับสัญญาณแค่บางส่วนจาก 66 เสาเท่านั้น เนื่องจากหอสังเกตการณ์ยังอยู่ในระหว่างการสร้าง และเมื่อ ALMA สร้างเสร็จแล้วจะสามารถรับสัญญาณได้ดีกว่านี้และอาจค้นหาตำแหน่งของกาแล็กซี่ที่สว่างน้อยกว่าได้ โดยได้อ้างถึงหลักการ 'เลนส์ความโน้มถ่วง' (Gravitational Lens) ซึ่งทำนายโดยอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ จากทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไป ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจากแสงที่มีแหล่งกำเนิดจากกาแล็กซี่ไกลโพ้นเกิดการบิดผัน (distorted) จากแรงดึงดูดของสิ่งที่อยู่ใกล้กับตัวผู้สังเกตการณ์มากกว่า ทำให้คล้ายกับเลนส์ทำให้แสงจากวัตถุสว่างน้อยสว่างมากขึ้น

 

เรียบเรียงจาก

Science fiction becomes science reality as Chile unveils $1.4bn ALMA telescope, The Independent, 13-03-2013
ALMA Telescope Inaugurated In Chile's Atacama Desert, The Huffington Post, 03-13-2013

ALMA Rewrites History of Universe's Stellar Baby Boom, Alma Observatory, 03-13-2013


ข้อมูลเสริมจาก

http://en.wikipedia.org/wiki/Atacama_Large_Millimeter_Array
http://th.wikipedia.org/wiki/เลนส์ความโน้มถ่วง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารอีก 2 ปากเบิกความ คดี 6 ศพวัดปทุม

Posted: 15 Mar 2013 10:26 AM PDT

 

เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 56) ห้อง 402 เวลา 9.30 น. ศาลนัดไต่สวนการเสียชีวิตของ อัฐชัย ชุมจันทร์, มงคล เข็มทอง, รพ สุขสถิต, น.ส.กมลเกด ฮัคอาด และ อัครเดช ขันแก้ว ซึ่งเสียชีวิตภายในวัดปทุมวนาราม เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53

อรรณพ แสงแก้ว ให้การว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 พยานเป็นพลทหาร สังกัดกรมทหารราบที่ 31 กองพันทหารราบที่ 2 กองพลทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์

19 พ.ค. 53 เวลา 3.00 น. พยานได้รับคำสั่งจาก ร.ท.พิษณุ ทัสแก้ว ให้มาประจำการที่สนามกีฬาแห่งชาติ โดยพยานได้รับปืนลูกซองยาวจำนวน 1 กระบอกพร้อมกระสุนจริง 5 นัด และกระสุนยางอีก 20 นัด แต่กระสุนปืนที่พยานได้รับมาไม่ได้ถูกยิงแต่อย่างใด

เวลา 17.40 น. ร.ท.พิษณุ สั่งให้พยานเคลื่อนกำลังไปที่หน้าห้างสยามพารากอน โดยพยานเป็นพลเปล ซึ่งมีหน้าที่ลำเลียงผู้ได้รับบาดเจ็บออกจากพื้นที่ 

ขณะที่พยานเคลื่อนกำลังผ่านหน้าโรงภาพยนตร์สยามซึ่งกำลังเกิดเพลิงไหม้ พยานได้ยินเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด ไม่ทราบทิศทาง แต่ยิงมาที่พยาน หลังจากนั้นมีเสียงตะโกนสั่งให้พยานและเพื่อนของพยานหลบ พยานจึงหลบอยู่หลังตอหม้อของรถไฟฟ้า BTS ในลักษณะหลังพิงฝา หันหน้าไปทาง สน.ปทุมวัน ชุดทหารของพยานไม่ได้เคลื่อนออกจากพื้นที่ไปไหนจึงไม่ทราบว่ามีการยิงกันหรือไม่

พยานหลบอยู่ตรงจุดนั้นจนถึงเวลา 19.00 น. จึงได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังไปยังทางออกจากลานจอดรถซึ่งอยู่ด้านข้างของห้างสยามพารากอน และได้รับคำสั่งให้อยู่ที่นั่นจนถึงตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น วันที่ 21 พ.ย. 53 ช่วงเช้าถึงเที่ยงพยานได้รับคำสั่งให้ตั้งด่านอยู่วัดปทุมวนารามเพื่อตรวจบัตรผู้ที่เข้า-ออกวัดปทุมวนาราม พยานไม่ได้เข้าไปในพื้นที่ของวัดปทุมวนารามแต่อย่างใด และไม่ทราบว่ามีผู้เสียชีวิตอยู่ภายในวัดปทุมวนาราม 

ส่วนช่วงบ่ายพยานถูกย้ายไปกระทรวงพลังงานและย้ายกลับไป จ.ลพบุรี ในวันที่ 24 พ.ค. 53

ทนายซักพยานได้ความเพิ่มเติมว่า ระหว่างวันที่ 19-20 พ.ค. 53 พยานไม่เห็นชายชุดดำอยู่ในพื้นที่แต่อย่างใด พยานอยู่ด้านหน้าทางออกจากลานจอดรถซึ่งอยู่ด้านข้างของห้างสยามพารากอน แต่ไม่เห็นผู้ใดยิงปืนใส่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่กำลังดับเพลิงอยู่ในโรงภาพยนตร์สยาม

ร.อ.พนม จันนินลา ให้การว่า วันที่ 19 พ.ย. 53 พยานเป็นหัวหน้าหน่วยของกรมทหารราบที่ 31 กองพันทหารราบที่ 2 กองพลทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ พยานได้รับคำสั่งจาก พ.ท.ยอดอาวุธ พึ่งพักตร์ ให้มาดูแลความสงบเรียบร้อยที่สนามกีฬาแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. 53 โดยพยานได้รับปืนเล็กยาว ทราโว 50 จำนวน 1 กระบอกพร้อมกระสุน M16 จำนวน 20 นัด แต่กระสุนปืนที่พยานได้รับมาไม่ได้ถูกยิงแต่อย่างใด

วันที่ 19 พ.ค. 53 ช่วงบ่ายมีผู้ชุมนุม นปช. บางส่วนทยอยออกมาจากสี่แยกราชประสงค์มาที่ๆพยานดูแลพื้นที่อยู่ 

เวลา 15.00 น. พยานเห็นควันไฟอยู่บริเวณแยกปทุมวัน แถวสยามสแควร์ พยานจึงแจ้งผู้บังคับบัญชาของพยานให้ทราบว่า มีรถดับเพลิงเข้าไปภายในพื้นที่ ผู้บังคับบัญชาของพยานจึงสั่งให้พยานช่วยอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเหล่านี้

พยานและทหารใต้บังคับบัญชาของพยานรวม 4 คนจึงเข้าไปช่วยเหลือ โดยนำปืนและกระสุนแบล็ง (กระสุนแบบไม่มีหัวกระสุน มีแต่เสียง) เข้าไปด้วย เมื่อหน่วยทหารของพยานเข้าไปใน ถ.พระราม 1 ระยะหนึ่ง พยานได้ยินเสียงปืนจากแยกเฉลิมเผ่ามาที่พยาน ซึ่งเป็นเสียงปืนประปราย แต่ไม่เห็นผู้ยิง พยานจึงได้รายงานไปยังผู้บังคับบัญชาของพยาน ผู้บังคับบัญชาของพยานจึงสั่งให้ถอนกำลังออกจากพื้นที่ เวลา 17.00 น. ผู้บังคับบัญชาของพยานสั่งให้พยานเข้าไปคุ้มครองรถดับเพลิงอีกครั้ง โดยแบ่งออกเป็น 2 หมวด หมวดของพยานมีทหาร 40 คนเดินเข้าไปด้านซ้ายของ ถ.พระราม 1 (ฝั่งห้างสยามพารากอน) ส่วนด้านขวามีทหารอีก 1 หมวด แต่พยานไม่ทราบจำนวน

สักพักพยานได้รับรายงานว่า มีเสียงปืนอยู่ด้านหน้าห้างสยามพารากอน และยังมีการรายงานมาเป็นระยะๆ ว่า มีเสียงปืนมาจากแยกเฉลิมเผ่า หมวดของพยานจึงเคลื่อนที่เข้าไปเรื่อยๆ โดยหลบตามตอหม้อของรถไฟฟ้า BTS โดยที่ด้านหน้าของหน่วยทหารของพยานมีชุดทหารของ ร.ท.พิษณุ เดินนำอยู่

เขากล่าวต่อว่า เมื่อพยานเคลื่อนที่มาถึงทางขึ้นรถไฟฟ้า BTS สถานีสยามก็ได้รับรายงานว่า มีคนหลบอยู่แถวตอหม้อรถไฟฟ้า BTS พยานจึงวิ่งขึ้นบันไดไปบนรถไฟฟ้า BTS สถานีสยาม โดยพยานวิ่งขึ้นไปบนชั้น 2 ของรางรถไฟฟ้าและหาที่กำบัง ระหว่างทางพยานได้ยินเสียงปืนยิงถูกคานของรางรถไฟฟ้า BTS เป็นระยะๆ จนเศษคอนกรีตกะเทาะออกมา พยานหลบอยู่ด้านหลังของแผ่นเหล็กซึ่งอยู่ด้านหน้าบันได และได้ยินเสียงปืนดังมาจากแยกเฉลิมเผ่า พยานก้มลงไปมองด้านล่าง แต่ไม่เห็นผู้ใด พยานได้รับรายงานว่า มีคนอยู่ที่ตอหม้อของรถไฟฟ้า BTS แยกเฉลิมเผ่า พยานมองลงไปที่ตอหม้อดังกล่าว แต่ไม่เห็นคนยิง

นอกจากนี้ ร.ท.พิษณุ ยังแจ้งว่า มีชายชุดดำยิงปืนมาจากจุดดังกล่าว แต่พยานไม่ทราบว่ามีการยิงตอบโต้หรือไม่

พยานรายงานเรื่องนี้ให้ผู้บังคับบัญชาของพยานทราบ แต่พยานแจ้งว่า พยานมองไม่เห็นชายชุดดำ เวลานั้นบริเวณดังกล่าวมืด พยานเห็นมีรถบรรทุกถังแก๊สจอดอยู่ พยานจึงคิดว่า อาจเป็นการหลอกล่อให้หมวดทหารของพยานเข้าไป พยานจึงสั่งให้หมวดทหารของพยานหยุดเคลื่อนที่ เวลานั้นมีทหารเคลื่อนที่อยู่บนรางรถไฟฟ้าชั้น 1 แต่พยานไม่ทราบว่า ทหารเหล่านั้นเคลื่อนที่อย่างไร

พยานอยู่ในบริเวณดังกล่าวจนถึงเวลา 20.00 น. จึงถอนกำลังออกมาอยู่บริเวณด้านข้างห้างสยามพารากอน พยานอยู่ตรงจุดนั้นจนถึงเวลาเช้าของวันรุ่งขึ้น วันที่ 20 พ.ค. 53 ช่วงบ่ายพยานอยู่ดูแลความเรียบร้อยบริเวณแยกเฉลิมเผ่า โดยพยานได้เข้าไปภายในลานจอดรถของวัดปทุมวนารามเท่านั้น ระหว่างนั้นมีชุดทหารของ ร.ท.พิษณุ และเจ้าหน้าที่อื่นเข้าไปตรวจพื้นที่ภายในวัดปทุมวนาราม โดยเข้าไปตรวจค้นอาวุธ ต่อมาทหารใต้บังคับบัญชาของพยานรายงานว่า มีการตรวจพบอาวุธหลายชนิด เช่น ปืน M79 และระเบิดขว้าง พยานอยู่ในบริเวณดังกล่าวจนถึงวันที่ 23 พ.ค. 53

ทนายซักพยานเพิ่มเติมได้ความว่า เวลานั้นพยานไม่ทราบว่า พ.ท.ยอดอาวุธ อยู่ที่ไหน ส่วนหน่วยทหารของพยานอยู่ด้านหลังของ ร.ท.พิษณุ โดยทิ้งระยะห่างประมาณ 10 เมตร การที่พยานไม่ได้ยิงผู้ใดเป็นไปตามกฎการใช้อาวุธคือ ถ้าไม่มีผู้ใดทำร้ายก็จะไม่ยิง

พยานยืนยันว่า บนรางรถไฟฟ้า BTS ที่พยานแอบอยู่สามารถมองเห็นคนที่ยืนอยู่ตอหม้อได้ พยานจ้องมองบริเวณดังกล่าวประมาณ 10 นาที แต่ไม่เห็นผู้ใด พยานยังยืนยันว่า ไม่เห็นผู้ใดเคลื่อนไหวอยู่บนที่ตอหม้อรถไฟฟ้า BTS  แต่ไม่สามารถมองผ่านไปยังสี่แยกราชประสงค์ได้ เนื่องจากมีเต๊นท์และสะพานลอยขวางอยู่

วันที่ 19 พ.ค. 53 พยานประจำอยู่ที่หน้าสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีตำรวจอยู่ร่วมตรวจค้น โดยพยานและทหารใต้บังคับบัญชาของพยานเดินลาดตระเวนระหว่างสถาบันเทคโนโลยีปทุมวันถึงสนามกีฬาแห่งชาติ

เขากล่าวว่า วัน ที่ 19 พ.ค. 53 พยานเห็นมีทหารอยู่บนรางรถไฟฟ้า BTS คอยคุ้มกันทหารที่อยู่ด้านล่าง แต่หลังเวลา 15.00 น. ไม่มีผู้ชุมนุม นปช. คนใดไปสนามกีฬาแห่งชาติอีก วันที่ 20 พ.ค. 53 พยานทำหน้าที่ตรวจค้นผู้ที่เข้า-ออกพื้นที่ ซึ่งจะต้องมีการตรวจบัตรและอาวุธ และไม่พบมีผู้ชุมนุม นปช. เหลืออยู่ในพื้นที่

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Commercializing Royalism เมื่อราชวงศ์มีค่ามากกว่าศูนย์รวมน้ำใจคนทั้งชาติ

Posted: 15 Mar 2013 09:47 AM PDT

หากถามว่าสัญลักษณ์ของความเป็น "ชาวอังกฤษ" คืออะไร มีสัญลักษณ์ใดเป็นตัวแทนของ "คนอังกฤษผู้รักชาติ" คนอังกฤษมักจะอึ้งและตอบได้ยาก เนื่องจากสหราชอาณาจักรมิได้มีโครงการโฆษณาประชาสัมพันธ์รณรงค์ความรักชาติหรือรักสถาบันใดๆ ด้วยเงินงบประมาณภาษีของรัฐ   จึงไม่อาจระบุได้ชัดเจนมากนักว่า ในปัจจุบันสัญลักษณ์ประจำชาติของชาวอังกฤษคืออะไรเพราะมิได้มีการกำหนด "นิยามอย่างตายตัว"   หากเทียบกับประเทศอื่นที่มีกำหนดนิยาม "ชาติ" ผ่านโครงการประชาสัมพันธ์ต่างๆ

ยิ่งไปกว่านั้น ความแตกต่างทางเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ที่มีมากในปัจจุบันยิ่งเพิ่มความยุ่งยากในการระบุลงไปให้ชัดว่า "ความภาคภูมิใจของชาวอังกฤษ" คืออะไร และไม่ต้องพูดถึง ชาวสก็อต ชาวเวลช์ ชาวไอริช ที่ยิ่งไกลห่างไปจากความภาคภูมิใจแบบชาวอังกฤษ   และมีแนวโน้มแปลกแยกหรือแยกประเทศออกไปในอนาคตอันใกล้

การสอบถามจากชาวอังกฤษจึงได้คำตอบที่หลากหลายและไม่ชัดเจนนัก แม้กระทั่งศาสตราจารย์ที่ทำงานในแนวกฎหมายการรักษาความมั่นคง หรือต่อต้านภัยคุกคามของชาติ ยังกล่าวว่า ปัจจุบันคุณค่าของ "ความเป็นบริติช" ที่ชาวบริติช (รวมคนในพื้นที่บริเตนใหญ่ทั้งหมด) ภูมิใจ และสะท้อนผ่านระบบกฎหมายและนโยบายทางการเมืองคือ กฎหมายและการปกครองที่ส่งเสริมความเสมอภาค เคารพสิทธิมนุษยชน และเพียรสร้างภราดรภาพบนพื้นฐานของความหลากหลายทางชาติพันธุ์   ซึ่งพอพูดเสร็จศาสตราจารย์ท่านดังกล่าวก็หัวเราะ และบอกว่า "เอ๊ะ...นี่เราเหมือนฝรั่งเศส ไปแล้วหรือ"

แต่เมื่อโยนคำถามนี้เข้าไปในหมู่ชาวต่างชาติกลับได้คำตอบซึ่งสะท้อนความคิดของคนนอกที่มองชาวอังกฤษในช่วงเวลานี้ว่า "ชาวอังกฤษดูปลาบปลื้มกับราชวงศ์" มากกว่าที่เป็นอยู่ในประเทศของตนทั้งคนที่มาจากรัฐที่มีราชวงศ์ และชัดมากสำหรับคนที่มาจากประเทศที่ไม่มีราชวงศ์ คำตอบนี้ได้รับปฏิกิริยาจากชาวอังกฤษในหลากหลายมุมมอง ทั้งคนที่เห็นว่า มีความผูกพันกับราชวงศ์มากขึ้นโดยเฉพาะในปีที่ผ่านมามีกิจกรรมและราชพิธีที่สะท้อน "พระราชจริยวัตรอันงดงาม" ของราชวงศ์   ทั้งในงานฉลองครองราชย์ครบ 60 ปีของสมเด็จพระราชินี   และงานราชพิธีเสกสมรสของเจ้าชายวิลเลียม กับ เคท มิดเดิลตัน   ซึ่งมีมหรสพรูปแบบต่างๆ สร้างความตื่นตาตื่นใจและซาบซึ้งให้กับผู้ชมทั่วโลก

อย่างไรก็ดีสื่ออังกฤษและชาวอังกฤษก็ตอบให้เห็นที่มาที่ไปของกระแสนิยมราชวงศ์ไว้ในหลายรายงาน และหลายเวทีสัมมนา ว่า   กิจกรรมต่างๆที่ได้มีการใช้งบประมาณของแผ่นดินรังสรรค์ความอลังการขึ้นมานั้นมิได้เป็นการสูญเปล่า เพราะภาพลักษณ์ของราชวงศ์ที่คนทั้งโลกได้เฝ้าชมการถ่ายทอดสด หรือเป็นกระแสข่าวกระตุ้นมาอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมานั้น ได้ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยเพื่อการท่องเที่ยวและซื้อสินค้าบริการที่เกี่ยวเนื่องกับพิธีต่างๆ จำนวนมหาศาล เช่น โรงแรม ร้านอาหาร สินค้าตราสัญลักษณ์ หรือบริการนำเที่ยว และเข้าชมสถานที่สำคัญต่างๆ  

โดยนักท่องเที่ยวมิได้จำกัดอยู่ในหมู่ชาวบริติช แต่ปรากฏนักท่องเที่ยวต่างชาติจากทั่วโลกที่แห่มาถ่ายรูปกับพระราชวังบัคกิ้งแฮม รวมถึงจุดสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในมหานครลอนดอน ดังปรากฏรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรที่ดีดตัวขึ้นในปี 2012 สวนทางกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคยุโรป

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมกระตุ้นความรักชาติของบริติชอย่างโอลิมปิก ที่ทีมบริเตนใหญ่ได้รวมกันเป็นทีมเดียวเพื่อชิงชัยและทำผลงานได้น่าประทับใจโดยมีสมาชิกของราชวงศ์ไปปรากฏตัวในสถานที่แข่งอยู่บ่อยครั้ง   เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายปี เจมส์ บอนด์ สายลับบริติชที่มีเชื้อสายสก็อต(แลนด์ยาร์ด?) ก็ฟื้นคืนกลับมาปกป้องผลประโยชน์ของราชอาณาจักรจากภัยคุกคามในโลกหลังสมัยใหม่ โดยส่วนประกอบของ MI6 ได้จัดสรรขึ้นมาใหม่และประกอบไปด้วยความหลากหลายในองค์กรมากขึ้นแต่มีเป้าหมายร่วมกัน คือ พิทักษ์ราชบัลลังก์ เฉลิมฉลองการครบรอบ 50 ปีกำเนิดภาพยนตร์เรื่องนี้

เมื่อย้อนกลับมาที่บทสะท้อนของชาวอังกฤษว่าทำไมจึงปลาบปลื้มราชวงศ์มากขึ้นจึงสะท้อนให้เห็นว่า ยิ่งมีการเร่งฉายภาพของราชวงศ์ซ้ำๆ ในลักษณะ "งดงามสง่าผ่าเผยโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์" ประจำชาตินั้น   ยิ่งเป็นการขับเน้นจุดเด่นจุดต่างให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างชัดเจนและกระจายรายได้ไปให้ผู้คนจำนวนมาก และยังเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ อุตสาหกรรมบันเทิงทั้งหลายอีกด้วย   ดังนั้นจึงยิ่งมีการผลิตซ้ำภาพลักษณ์ของราชวงศ์เพื่อทำให้เกิดความต้องการซื้อสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องมากขึ้น จนถึงขั้นเกิดกระแสรักและปกป้องภาพลักษณ์ของราชวงศ์มากขึ้นเพราะภาพลักษณ์ของราชวงศ์ คือ ผลประโยชน์ร่วมของทุกคนที่เกี่ยวข้อง   โดยไม่ต้องโหมกระตุ้นให้เกิดการคลั่งสถาบันคลั่งชาติ

ดังกรณีกระแสต่อต้านการนำเสนอภาพส่วนตัวของสมาชิกราชวงศ์ที่สื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งมีชื่อเสียงในการเปิดโปงกิจกรรมส่วนตัวของคนดังต้องเผชิญ   และสื่อรายใหญ่ของประเทศตัดสินใจไม่เผยแพร่ภาพดังกล่าวเพราะคำนวณแล้วว่าผู้อ่าน (ลูกค้า) ไม่ต้องการเสพภาพดังกล่าวเนื่องจากกระแสนิยมราชวงศ์กำลังสูงขึ้นนั่นเอง   แม้ข่าวซุบซิบนินทาและภาพลับของราชวงศ์เป็นสินค้าที่ขายได้เสมอมาเนื่องจากสถานะของราชวงศ์ในสังคมก็จัดเป็นเรื่อง "คนดัง" (Celebrity) ที่คนต้องการล่วงรู้ชีวิตส่วนตัว   แต่ก็มีเสียงสะท้อนในมุมกลับเช่นกันว่า การโหมกระพือกระแสเหล่านี้ส่วนหนึ่งก็เป็นการกลบความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐบาลและความถดถอยทางเศรษฐกิจที่มีอัตราการว่างงานสูงและอยู่อย่างเศร้าสร้อยของคนอังกฤษ

ทั้งนี้สื่อที่เผยแพร่ข่าวและภาพดังกล่าวก็มิต้องเผชิญปัญหาทางกฎหมาย เนื่องจากราชวงศ์อังกฤษเลือกที่จะให้สังคมเป็นคนตัดสินในเนื้อหา "ข่าว" และ "ภาพ" ว่าจะคิดเห็นอย่างไร รวมถึงสะท้อนความรู้สึกอย่างไรต่อสื่อที่เผยแพร่ข้อมูลเหล่านั้น   ทั้งนี้ราชวงศ์เลือกจะอยู่เหนือจากปัญหาข้อขัดแย้งทางกฎหมายโดยไม่เข้าไปเป็นคู่กรณีในข้อพิพาท และกฎหมายก็มิได้เอื้อให้ประชาชนผู้นิยมราชวงศ์นำเรื่องเข้าฟ้องร้องในกระบวนการทางกฎหมาย    ดังนั้นราชวงศ์อังกฤษจึงปรับตัวให้เหมาะกับสถานการณ์ได้โดยการทำตามความต้องการของกระแสสังคม และเลือกที่จะดำเนินกิจกรรมการกุศลที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ให้ราชวงศ์ ดังที่ล่าสุดเจ้าชายวิลเลียมได้ร่วมรณรงค์งดการซื้องาและฆ่าช้างเพื่อเอางา   และมกุฎราชกุมาร เจ้าฟ้าชายชาลส์ที่รณรงค์เรื่องปัญหาโลกร้อน และระบบเกษตรอินทรีย์ ฯลฯ

สถานะและบทบาทของ "ราชวงศ์อังกฤษ" จึงไม่ได้หลุดลอยไปจากกาลเทศะของสังคม แต่เลือกที่จะจัดวางตำแหน่งให้เข้ากับสถานการณ์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว   โดยสังคมก็มีบทบาทในการช่วยเตือนและขัดเกลาการจัดวางสถานะของราชวงศ์ได้อย่างเปิดเผย ดังกรณี หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนเปิดเผยเอกสารกรณีสมเด็จพระราชินีและเจ้าฟ้าชายชาลส์ของอังกฤษใช้อำนาจการตัดสินใจในกฎหมายต่างๆ กว่า 30 ฉบับ เกี่ยวกับงบประมาณและทรัพย์สินส่วนพระองค์ และการแทรกแซงทางการเมืองของเจ้าฟ้าชายชาลส์ต่อกฎหมายที่มีผลกระทบต่ออสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นการใช้บารมีเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน   กรณีดังกล่าวถูกตีแผ่และวิพากษ์วิจารณ์ได้ตามคำสั่งศาล และกฎหมายข้อมูลข่าวสารฯ เพราะเป็นประเด็นสาธารณะที่กระทบผลประโยชน์ของประชาชนซึ่งมองในอีกแง่ก็เป็นประโยชน์ต่อการจัดบทบาทของราชวงศ์

สิ่งหนึ่งที่ชาวอังกฤษสามารถกระทำได้ คือ การวิเคราะห์สถานการณ์และกิจกรรมราชวงศ์อังกฤษในชีวิตประจำวันได้ มิต้องหลบซ่อนหรือแอบกระทำ  ซึ่งเป็นการสะท้อนความคิดเห็นต่อเหตุการณ์และกรณีต่างๆ อันเป็นข้อมูลที่ดีต่อการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์องค์กร แม้จะมีการพยายามเซ็นเซอร์ดังในกรณีเฟซบุ๊กของพระราชินี แต่ก็ยังสามารถเก็บข้อมูลจำนวนมากที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสะท้อนขึ้นมา และนำไปวางแผนสร้างกลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมภาพลักษณ์สถาบันได้อย่างทันสถานการณ์ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจเกี่ยวเนื่องและราชวงศ์ในระยะยาว เพราะไม่มีคดีความในศาลซึ่งอาจกระทบต่อภาพลักษณ์สถาบัน 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไทยพีบีเอสงดฉาย-ทบทวนเทปตอบโจทย์ "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" - "ส.ศิวรักษ์" หวั่นความขัดแย้ง

Posted: 15 Mar 2013 08:33 AM PDT

คลิปประชาสัมพันธ์ของรายการ "ตอบโจทย์ประเทศไทย" ตอนสถาบันพระกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ภาพจากคลิปประชาสัมพันธ์รายการ "ตอบโจทย์ประเทศไทย" ที่จะออกอากาศในวันศุกร์ที่ 15 มี.ค. แต่มีการงดออกอากาศเสียก่อน

ภาพจากรายการ "ตอบโจทย์ประเทศไทย" ตอน "หะยุสีหลง" ซึ่งนำมาออกอากาศแทน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่รายการ "ตอบโจทย์ประเทศไทย" ดำเนินรายการโดยภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สาธารณะ "ไทยพีบีเอส" ทุกวันจันทร์ ถึง ศุกร์ เวลา 21.45 น. - 22.30 น. ได้แจ้งทางเพจ "ตอบโจทย์ประเทศไทย" ว่าตลอดทั้งสัปดาห์ 11-15 มีนาคม 2556 พบข้อถกเถียงทางวิชาการว่าด้วย สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ในรายการตอบโจทย์ประเทศไทย โดยออกอากาศมาได้ 4 วัน ได้แก่ วันจันทร์ที่ 11 มี.ค. สัมภาษณ์อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย วันอังคารที่ 12 มี.ค. สัมภาษณ์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  วันพุธที่ 13 มี.ค. สัมภาษณ์พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร นักเขียนและนายตำรวจราชสำนักประจำ และวันพฤหัสบดีที่ 14 มี.ค. เป็นการอภิปรายระหว่างสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กับสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ และในวันนี้กำหนดที่จะเป็นการอภิปรายระหว่างสมศักดิ์ และ ส.ศิวรักษ์เป็นตอนสุดท้าย

ตัววิ่งด้านล่างจอภาพ ระหว่างออกอากาศรายการตอบโจทย์ประเทศไทย วันที่ 15 มีนาคม 2556

อย่างไรก็ตามเมื่อถึงเวลา ไม่มีการออกอากาศตอนดังกล่าว แต่นำตอน "หะยีสุหลง" ซึ่งเคยออกอากาศมาแล้ว มาออกอากาศแทน [ชมคลิป] และมีตัววิ่งด้านล่างจอภาพว่า

"เนื่องจากมีการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายต่อเทปรายการตอบโจทย์ประเทศไทย จนอาจจะขยายนำไปสู่ความขัดแย้ง ไทยพีบีเอสในฐานะองค์การสื่อสารมวงชนที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม จึงขอทบทวนเทปรายการ โดยยึดหลักมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ไทยพีบีเอส จะรักษาไว้ซึ่งคุณธรรม จริยธรรมของวิชาชีพสื่อสารมวลชนอย่างเคร่งครัด"

สำหรับรายการตอบโจทย์ประเทศไทยตอน "หะยีสุหลง" เป็นเรื่องราวของ หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ หรือ หะยีสุหลง โต๊ะมีนา เป็นปัญญาชนเชื้อสายมลายู และสืบเชื้อสายสุลต่านนครรัฐปัตตานี หลังกลับมาจากการเรียนศาสนาที่เมกกะ ซาอุดิอาระเบีย ได้เดินทางกลับ จ.ปัตตานี บ้านเกิดเพื่อก่อตั้งโรงเรียนสอนศาสนาหรือปอเนาะ และเป็นผู้นำเสนอข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ที่ให้ความเป็นธรรมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวมุสลิมในพื้นที่ ก่อนถูกเจ้าหน้าที่รัฐฆาตกรรมและนำศพไปอำพรางคดี

โดยรายการดังกล่าวเป็นการสัมภาษณ์นายเด่น โต๊ะมีนา บุตรชายของหะยีสุหลง ผู้เป็น ส.ส.ปัตตานี 8 สมัย และวุฒิสมาชิก รวมทั้งเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และสัมภาษณ์แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา บุตรสาวของนายเด่น โต๊ะมีนา ซึ่งเป็น 1 ใน 9 ที่ปรึกษาของรัฐบาลปัจจุบันในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

ทั้งนี้รายการตอบโจทย์ประเทศไทย อธิบายตัวเองในเพจว่าเป็น "รายการที่ถามแทนคนไทย และเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้ "ตอบโจทย์ประเทศไทย" อย่างตรงไปตรงมา"

อนึ่งก่อนหน้านี้ ในช่วงที่ละคร "เหนือเมฆ" ถูกถอดออกจากผังรายการช่อง 3 นั้น ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้ดำเนินรายการ "เวทีสาธารณะ" และบรรณาธิการข่าวสังคมและนโยบายสาธารณะ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้โพสต์สเตตัสในเฟซบุค ตั้งค่าการเข้าถึงแบบสาธารณะว่า "เอาละคร เหนือเมฆ มาฉายช่อง ไทยพีบีเอส ซิคะ รัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็แบนไม่ได้ ใครเห็นด้วย ขอ 1 ไลค์ค่ะ" [ข่าวที่เกี่ยวข้อง]

 

"ไทยพีบีเอส" แพร่ข่าวกลุ่ม "คนไทยรักชาติ"เรียกร้องให้งดออกอากาศ "ตอบโจทย์ฯ"
และรอฟังจนกว่าจะได้คำตอบที่พอใจ

 

ที่มาของภาพ: ไทยพีบีเอส

ขณะเดียวกัน เวลา 19.17 น. วันนี้เว็บไซต์ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้เผยแพร่ข่าว "กลุ่ม"คนไทยรักชาติ"ร้อง"ไทยพีบีเอส"ระงับ"ตอบโจทย์"ชี้เนื้อหาไม่เหมาะสม" ผู้ชมบางส่วนรวมตัวกันจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ ในชื่อ "คนไทยผู้รักชาติ" เดินทางมายื่นหนังสือถึงผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และผู้ผลิตรายการตอบโจทย์ โดยระบุถึงการนำเสนอรายการตอนสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ออกอากาศไปในวันที่ 12-14 มีนาคมที่ผ่านมา ว่ามีเนื้อหาไม่เหมาะสม และอ้างว่าแขกรับเชิญ คือนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (หมายเหตุ - เว็บไซต์ไทยพีบีเอสสะกดเป็น "สมศักดิ์ เจียมสกุน") และนายสุลักษณ์ ศิวลักษณ์ ได้ "พูดพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างมิบังควร" และ "อาจมุ่งแก้กฎหมายมาตรา 112 อย่างจงใจ" โดยผู้ที่มาชุมนุม "เรียกร้องให้สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ระงับการออกอากาศรายการตอบโจทย์ ตอนสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่มีกำหนดออกอากาศต่อในคืนนี้ และจะปักหลักเรียกร้อง จนกว่าจะได้รับคำตอบที่พอใจ"

โดยนายมงคล ลีลาธรรม รองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ด้านบริหารและปฏิบัติการ รับหนังสือ ฟังความคิดเห็น พร้อมทำความเข้าใจกับผู้ร้องเรียน โดยยืนยันว่าผู้บริหาร กำลังหาทางออกที่เป็นผลดีกับทุกฝ่าย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสียงจากพื้นที่ ก่อนเดินหน้าพูดคุยเพื่อสันติภาพชายแดนใต้

Posted: 15 Mar 2013 07:56 AM PDT

ความเห็นจากพื้นที่ ก่อนเดินหน้าพูดคุยเพื่อสันติภาพในชายแดนใต้ ย้ำรัฐต้องคุยกับหลายๆ กลุ่ม รวมทั้งภาคประชาสังคมในพื้นที่ต้องมีบทบาท ต้องตกลงกันก่อนว่าจะไม่ให้เกิดความรุนแรงอีก ชี้ความขัดแย้งต้องจบลงด้วยการเจรจา แต่ถ้าไม่มีความจริงใจ ความรุนแรงจะย้อนกลับมา

การลงนามเพื่อริเริ่มการพูดคุยเพื่อสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่าง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่ง (สมช.) ในฐานะตัวแทนรัฐไทย กับนายอาแซ เจ๊ะหลง หรือฮัสซัน ต็อยยิบ แกนนำขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (BRN-Coordinate) เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ประเทศมาเลเซีย ทำให้นักวิชาการ และคนทำงานภาคประชาสังคม ต่างให้คำนิยามของการลงนามครั้งนี้แตกต่างกันออกไป

ทว่า สิ่งที่เหมือนกัน คือ "การพบปะครั้งนี้เป็นขั้นตอนสำคัญในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในรูปแบบสันติวิธี"

แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา

"ต้องคุยหลายๆ กลุ่มและภาคประชาสังคมต้องมีบทบาท"

แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การพบว่าครั้งนี้ ถือว่าเป็นเจตจำนงที่ดีของรัฐบาลที่จะแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือว่าเป็นบันไดขั้นแรกที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาโดยการพูดคุย

"อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลมีความพร้อมจะมีการเจรจากับฝ่ายขบวนการ การพูดคุยครั้งนี้มีความแตกต่างจากการพูดคุยจากหลายครั้งที่ผ่านมา ที่ดำเนินการโดยฝ่ายทหาร และภาคประชาสังคม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วรัฐบาลไม่เคยทราบ

"หลังจากการลงนามเพื่อจะพูดคุยกันในครั้งนี้ คิดว่าไม่ได้หวังว่าจะทำให้เกิดความสงบสุขในเวลาอันรวดเร็ว เนื่องการพุดคุยครั้งนี้ ถือว่าเป็นการสร้างความรู้จัก และสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน หลังจากนั้น จึงพัฒนาสู่การทำอย่างไรที่จะทำให้ทั้ง 2 ฝ่าย ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกัน โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรงต่อกัน

"อย่างไรก็ตาม การพูดคุยระหว่างกันตัวแทนรัฐบาลไทยกับแกนนำขบวนการ BRN-Coordinate ที่จะมีขึ้นครั้งต่อไปในวันที่ 28 มีนาคม 2556 คิดว่าน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในหลายๆ ประเด็น สิ่งสำคัญที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการคือ ต้องมีการพูดคุยกับหลายๆ กลุ่มที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ แม้ว่ากลุ่มเหล่านั้นจะไม่มีกองกำลังที่เคลื่อนไหวในพื้นที่แล้วก็ตาม

"เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา ดิฉันและสมาชิกกลุ่มวะดะห์ในฐานะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ได้มีการประชุมนัดแรกไปแล้วหลังจากได้รับการแต่งตั้ง โดยดิฉันตนได้เสนอต่อที่ประชุมว่า อยากให้ภาคประชาสังคมในพื้นที่เข้ามามีบทบาทในกระบวนการพูดคุยด้วย เนื่องจากภาคประชาสังคมเป็นบุคคลในพื้นที่ ทั้งที่เป็นนักวิชาการ นักศึกษาและอื่นๆ

"บุคคลเหล่านี้มีความใกล้ชิดกับประชาชน และรู้ปัญหาในพื้นที่อย่างดี แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับแต่อย่างใดในขณะนี้

"อยากให้รัฐบาลและฝ่ายขบวนการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ว่า ประชาชนต้องการให้พื้นที่ตรงนี้มีการปกครองในรูปแบบใด ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบเดิมทีใช้อยู่ในปัจจุบัน หรือเป็นรูปแบบใหม่ตามที่ฝ่ายขบวนการนำเสนอ หรือรูปแบบอื่นๆ ซึ่งคิดว่าน่าจะให้ภาคประชาสังคมเป็นผู้ดำเนินการสำรวจก็ได้

 

นางสาวละม้าย  มานะการ

 "ต้องตกลงกันก่อนว่าจะไม่ให้เกิดความรุนแรงอีก"

นางสาวละม้าย  มานะการ กองเลขานุการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้เป็นการเจรจาระหว่าง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร กับ นายฮัสซัน ต็อยยิบ หากรัฐบาลมีความจริงใจในการเจรจา หรือเป็นนโยบายของรัฐบาลจริงๆ คิดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ในลักษณะสันติวิธี ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ที่ทำงานในเรื่องสันติวิธี เน้นการพูดคุยเพื่อสันติภาพ และการเจรจาระหว่างกัน

"จากการศึกษากรณีของจังหวัดอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย และกรณีภาคใต้ของประเทศฟิลิปปินส์  พบว่า กว่าที่การเจรจาจะนำไปสู่การเกิดสันติภาพได้นั้น ต้องใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี ดังนั้นสิ่งสำคัญหลังจากนี้ที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการคือ การกำหนด Road Map (แผนที่นำทาง) ให้ชัดเจนว่า จะนำสันติภาพมาสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร

"รัฐบาลจะต้องทำความเข้าใจในหน่วยงานของรัฐเอง และหน่วยงานของรัฐทุกๆหน่วยต้องออกมาสนับสนุนการดำเนินการของรัฐบาลในครั้งนี้ และเรื่องนี้ต้องเป็นนโยบายของทุกๆ รัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ที่สำคัญอย่าเอาเรื่องนี้มาเป็นเรื่องการเมือง เพราะประชาชนในพื้นที่มีความสูญเสียมามากพอแล้ว

"สิ่งที่สำคัญที่รัฐบาลและขบวนการ BRN-Coordinate ต้องดำเนินการ คือต้องมีข้อตกลงในเบื้องต้นก่อนว่า จะต้องทำให้ไม่เกิดความรุนแรงหรือความสูญเสียอีกต่อไป ในระหว่างการเจรจานี้ หากเกิดความรุนแรงอีก ทางขบวนการจะต้องออกมาชี้แจ้งว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขบวนการ BRN เป็นผู้กระทำหรือไม่ หากเป็นผู้กระทำ ก็ต้องอธิบายว่า กระทำด้วยเหตุผลอะไร เพราะหากความรุนแรงยังคงเกิดขึ้นอยู่ การเจรจาก็จะเป็นไปได้ยากมาก

อาจารย์อะฮหมัด สมบูรณ์  บัวหลวง

"ความขัดแย้งต้องจบลงด้วยการเจรจาและความจริงใจ"

อาจารย์อะฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง ผู้อำนวยการหลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การลงนามดังกล่าว เป็นการทำสัญญาต่อกัน

"การลงนามครั้งนี้ ตนมีความคิดเห็น 2 ประการ คือ ประการที่ 1.รัฐบาลไทยยอมรับว่ามีขบวนการกอบกู้เอกราชปาตานีจริง ดังนั้นหลังจากนี้รัฐบาลจะเรียกขบวนการกอบกู้เอกราชปาตานีว่า "โจร" อีกต่อไปไม่ได้ อีกทั้งเป็นการยอมรับว่า การต่อสู้ในพื้นที่เป็นการต่อสู้ทางอุดมการณ์  

"ประการที่ 2.เป็นการเปิดพื้นที่ในการแก้ปัญหาในมิติใหม่ ที่ประเทศไทยจะต้องจารึกว่า ความขัดแย้งที่เกิดขั้นจะต้องจบลงด้วยการพูดคุยเท่านั้น ดังนั้นการเซ็นสัญญาครั้งนี้ เป็นแสวงหาสันติภาพในอนาคต ฉะนั้นหลังจากนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องมีความจริงใจต่อการแสวงหาแนวทางสันติภาพที่ถาวร ไม่ใช่แค่ต้องการให้ประชาคมโลกรับรู้ว่า รัฐบาลมีแนวทางแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีแล้วเท่านั้น

"หลังจากนี้ อย่าถามว่าพื้นที่ตรงนี้จะสงบหรือไม่ เนื่องจากความสงบสุขกับความรุนแรงเป็นคนละเรื่องกัน การเซ็นสัญญาครั้งนี้เป็นกระบวนการหรือขั้นตอนหนึ่งที่จะหาทางออกร่วมกันในอนาคต หรือเป็นการยอมรับศักดิ์ศรีของแต่ละฝ่ายในการทำข้อตกลงร่วมกัน

"การเซ็นสัญญาครั้งนี้ บุคคลที่ออกมาเซ็นสัญญากับรัฐบาลจะเป็นตัวปลอมหรือตัวจริงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญคือเป็นเป็นมิติใหม่ที่ประวัติศาสตร์ไทยจะต้องจารึกว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะต้องจบลงบนโต๊ะเจรจา หรือต้องแก้ปัญหาด้วยสติปัญญา ไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยการใช้อาวุธ

"ส่วนเหตุรุนแรงในพื้นที่นั้น คิดว่าจะยังคงเกิดขึ้นต่อไป แต่จะรุนแรงขนาดไหน ก็ขึ้นอยู่กับทั้ง 2 ฝ่ายว่า จะมีความจริงใจแค่ไหนในสิ่งที่เซ็นสัญญาลงไป หากรัฐบาลไม่มีความจริงใจ ก็อาจจะเกิดความรุนแรงขึ้นได้อีก หรือหากรัฐบาลมีความจริงใจ แต่ฝ่ายขบวนการไม่มีความจริงใจ ผลสะท้อนก็จะกลับไปเกิดขึ้นต่อขบวนการเสียเอง

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประธานศาล รธน. ระบุ 'คดีชิมไปบ่นไป' เป็นตัวอย่างของการเขียนคำวินิจฉัยไม่เรียบร้อย

Posted: 15 Mar 2013 06:33 AM PDT

ระบุการรีบเขียนคำวินิจฉัยอาจเกิดข้อผิดพลาดได้ โดยคำวินิจฉัยที่ถูกต้อง ต้องเริ่มด้วยคำวินิจฉัยที่มีข้อเท็จจริงยุติก่อน และค่อยตามด้วยข้อกฎหมาย แต่ที่ผ่านมากลับนำเอาข้อกฎหมายขึ้นมาก่อน แล้วค่อยมาเป็นถกเถียงในเรื่องข้อเท็จจริง เช่นคดีสมัคร สุนทรเวช กรณี "ชิมไปบ่นไป"

แฟ้มภาพนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ (ที่มา: Wikipedia)

ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ (15 มี.ค.) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้จัดโครงการสัมมนาสื่อมวลชน ประจำปี 2556 ที่โรงแรมนาน่า รีสอร์ท  แอนด์สปา จ.เพชรบุรี  หัวข้อ การรักษาดุลยภาพทางการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย โดยมีนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์  รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายเจษฎ์  โทณะวณิก ผู้อำนวยการมหาบัณฑิตนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม และ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เข้าร่วมเสวนา

ในระหว่างการสัมมนา ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า นายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ซักถามนายนครินทร์  ถึงในเรื่องของบทบาทหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ ว่าการให้เป็นที่ยอมรับจะต้องปรับบทบาทอย่างไร นายนครินทร์ ได้แนะนำว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ต้องมีการปรับตัวให้เป็นที่ยอมรับ ด้วยการเข้าถึงสื่อมวลชนให้มากขึ้น เพราะการตัดสินคดี ต้องมีการอธิบายและขยายความเพื่อให้เกิดความเข้าใจง่าย ซึ่งตัวตุลาการจะพูดแต่ตัวคำวินิจฉัยอย่างเดียว คนฟังก็จะเข้าใจยาก ดังนั้นน่าจะมีกลไกมาช่วยสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจการพิจารณาคดีมากขึ้น

ขณะนั้นนายวสันต์ ได้แย้งขึ้นว่าสาเหตุที่ประชาชนเกิดความเข้าใจคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายากขึ้นนั้น เกิดจากสื่อมวลชนไม่ได้มีการนำเสนอผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ  อาทิ ล่าสุดที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีการพิจารณาวินิจฉัยสั่งยุบพรรคชีวิตที่ดีกว่า และวินิจฉัยชี้ว่า พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในทางอาญา พ.ศ. 2535 มาตรา 41 ขัดกับรัฐธรรมนูญ นั้น ก็ไม่ได้มีการถูกนำไปเสนอเป็นข่าวแต่อย่างใด ทั้งที่เรื่องทั้งสองเป็นกรณีที่สำคัญ

ขณะที่นายวสันต์ กล่าวชี้แจงต่อว่า เราก็คำนึงถึงสังคมว่า เราไม่ควรมานั่งฟังคำวินิจฉัยของศาล แต่บางครั้งคำวินิจฉัยนั้นเข้าใจยาก เหมือนอย่าง "สุขเอาเผากิน" ดังนั้น คำวินิจฉัยต้องมีการอ่านในวันนั้น และเจ้าหน้าที่ก็ต้องยกร่างคำวินิจฉัย ณ วันนั้น ต้องเร่งทำคำวินิจฉัย ทำให้มีข้อผิดพลาดได้ง่าย ตนเห็นว่าคำวินิจฉัยที่ถูกต้อง ต้องมีคำวินิจฉัยที่มีข้อเท็จจริงยุติก่อน และค่อยตามด้วยข้อกฎหมาย แต่ที่ผ่านมากลับนำเอาข้อกฎหมายขึ้นมาวินิจฉัยก่อน แล้วค่อยมาเป็นถกเถียงในเรื่องข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราจึงไม่ต้องการเอาแบบ "สุขเอาเผากิน" อย่างกรณีคำวินิจฉัย คดีนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี จัดรายการชิมไปบ่นไปเป็นต้น

เมื่อเราได้มติเสียงข้างมากในห้องประชุม เราก็เอาคำวินิจฉัยมาปรับปรุงและนำมาเขียนเป็นร่างคำวินิจฉัย ซึ่งจะดูเนียนกว่าเดิม และเร็วขึ้นด้วย เพราะหลังจากอ่านคำวินิจฉัยผู้ร้องและผู้ถูกร้องสามารถมาคัดลอกคำวินิจฉัยได้อีก 15 วันถัดมา ตรงกับวิธีการของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงอ่านได้ทันและเร็วขึ้น เพราะมีการเตรียมการล่วงหน้า แต่ไม่ใช่เป็นการฟันธงไว้ล่วงหน้า ซึ่งเราจะมีการเขียนคำวินิจฉัยไว้หลายๆ แบบ หากผลคำวินิจฉัยที่มีการถกเถียงกันออกมาเป็นอย่างไร ก็ค่อยนำร่างที่ร่างไว้มาเขียนเป็นคำวินิจฉัย แต่ในบางครั้งคนเราหรือแม้กระทั่งตัวตุลาการแต่ละท่านก็มีความเข้าใจในคำวินิจฉัยแตกต่างกัน ดังนั้นเราจึงมีทีมโฆษกไว้ตอบคำถามสื่อมวลชน เพื่อให้หายข้อข้องใจ แต่สื่อมวลชนก็ต้องพยายามที่จะเข้าใจ

จากนั้นผู้ร่วมสัมมนาได้สอบถามนายวสันต์ถึงกรณีข้อกล่าวหาข้อครหาว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นตุลาการภิวัฒน์  โดยนายวสันต์ ตอบว่า หากไม่มีใครทำผิดกฎหมาย ก็จะไม่มีคดีเข้ามาให้ศาลพิจารณา ตัวเขาก็พร้อมตกงาน แต่ปรากฎว่าก็มีการทำผิดกันมาเรื่อยๆ  ยิ่งถ้าคนทำผิดเป็นคนของตัวเองก็อยากให้ศาลวินิจฉัยให้ชนะ แต่ถ้าไม่ใช่ก็อยากให้แพ้ อีกทั้งก็มีการกล่าวหาว่าการพิจารณาของศาลมีการตั้งธงมาก่อน ทั้งที่จริงๆ แล้วกว่าที่จะตัดสินได้ เราใช้เวลานานมากพอสมควร ดังนั้นอย่ามองว่าศาลเป็นพวกของคนนี้เป็นพวกคนนั้น

"การยื่นร้องประเด็นน้ำท่วม ของแจก ต้องบอกว่าเวลาที่ชาวบ้านเดือดร้อน  จะหวังให้ทุกคนทำถูกต้องตามเงื่อนไขไม่ไหวหรอก  เราก็จำหน่ายคำร้องหมดทั้งคู่  เมื่อจำหน่ายเขาก็ว่าเราทั้งนั้น ไม่มีใครพอใจ จริงๆ ถ้าไม่มีใครทำผิด  เราก็ไม่ต้องทำหน้าที่ เราก็สบาย เพราะฉะนั้นจะทำผิดกันทำไม  สังคมอยากทำผิดแต่ไม่อยากถูกลงโทษ สังคมไทยมันเป็นอย่างนี้" ประธานศาลรัฐธรรมนูญกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง! คดีฆ่า'เจริญ วัดอักษร'-ภรรยาตั้งคำถามถึงหลักฐาน

Posted: 15 Mar 2013 06:12 AM PDT

 

15 มี.ค.56 เมื่อเวลา 10.30 น. ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีจ้างวานฆ่าผู้อื่น ในคดีหมายเลขดำ 2945/2547 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ฟ้องนายเสน่ห์ เหล็กล้วน อายุ 48 ปี , นายประจวบ หินแก้ว อายุ 43 ปี , นายธนู หินแก้ว อาชีพ ทนายความ อายุ 51 ปี , นายมาโนช หินแก้ว ส.จ.ประจวบคีรีขันธ์ อายุ 47 ปี , และนายเจือ หินแก้ว อดีตกำนัน ต.บ่อบอก อายุ 76 ปี ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1 - 5 ในความผิดฐานร่วมกันจ้างวานฆ่าผู้อื่น

ศาลอุทธรณ์ ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่เพียงพอให้เอาผิดจำเลยได้ อุทธรณ์จำเลยที่ 3 ฟังขึ้น จึงพิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 4-5 อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนยกฟ้อง

ทั้งนี้ อัยการโจทก์ ฟ้องว่า ระหว่างวันต้นปี 2547 - วันที่ 21 มิ.ย.47 จำเลยที่ 3-5 ร่วมกันจ้างวานให้จำเลยที่ 1- 2 ฆ่านายเจริญ วัดอักษร แกนกลุ่มคัดค้านการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอก และประธานกลุ่มอนุรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยใช้อาวุธปืนยิงนายเจริญ โดยใช้อาวุธปืนขนาด 9 มม. และ .38 ยิงที่ศีรษะ ใบหน้า และตามร่างกายรวม 9 นัดของนายเจริญ ซึ่งเป็นประธานกลุ่มรักษ์ถิ่นบ่อนอก ที่ต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ของบริษัท กัลฟ์ อีเลคทริค จำกัด ขณะลงจากรถปรับอากาศสายกรุงเทพฯ-บางสะพาน หลังกลับจากการให้ปากคำกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อเรื่องการบุกรุกที่ดินในเขต อ.เมือง จ.ประจวบฯ เป็นเหตุให้นายเจริญถึงแก่ความตาย บริเวณสี่แยกบ่อนอก อ.เมือง จนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ที่ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อ 30 ธ.ค.51 ให้ประหารชีวิต นายธนู หินแก้ว จำเลยที่ 3 ฐานจ้างวาน ส่วนจำเลยที่ 4-5 ให้ยกฟ้องพยานหลักฐานนำสืบไม่ชัดเจน จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ขณะที่ระหว่างอุทธรณ์คดีจำเลยที่ 3 ได้รับการประกันตัว ส่วนนายเสน่ห์ จำเลยที่ 1 และนายประจวบ จำเลยที่ 2 กลุ่มมือปืน ได้เสียชีวิตระหว่างถูกคุมขังที่เรือนจำ ต่อมา นายธนู จำเลยที่ 3 ยื่นอุทธรณ์ ขณะที่อัยการโจทก์ ยื่นอุทธรณ์ ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 4- 5 ด้วย

ด้านกรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยาของเจริญกล่าวถึงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ชาวบ้านคาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่าคดีจะออกมาในรูปนี้ ไม่เกินความคาดหมาย และมีมติร่วมกันแต่ต้นแล้วว่าจะไม่เป็นโจทก์ร่วมในการฟ้องคดีจะได้ไม่เป็นการสแตมป์สร้างความชอบธรรมให้กระบวนการ รวมทั้งยุติการติดตามคดี เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมคงไม่สามารถเป็นที่พึ่งของชาวบ้านได้ และยังตั้งคำถามถึงเหตุผลการยกฟ้องในครั้งนี้ว่า หลักฐานไม่แน่หนาพอ

กรณ์อุมา ขยายความถึงรูปคดีที่ผ่านมาว่า มือปืนสองรายคือ นายเสน่ห์ เหล็กล้วน และนายประจวบ หินแก้ว เสียชีวิตในเรือนจำอย่างมีเงื่อนงำในเวลาไล่เลี่ยกันโดยเรือนจำระบุว่าป่วยเสียชีวิต แต่ชาวบ้านคิดว่านั่นคือการตัดตอนสู่ที่ผู้ยังเหลืออยู่เพราะพวกเขาเสียชีวิตก่อนที่จะขึ้นศาล นอกจากนี้ตำรวจยังจับกุมผู้ต้องหาทั้งสองได้ที่บ้านของจำเลยที่ 3 คือนายธนู หินแก้ว ซึ่งนายประจวบ หนึ่งในมือปืนเป็นลูกพี่ลูกน้องกับนายธนู ส่วนมือปืนอีกคนก็อยู่กับนายธนูมาตั้งแต่แรก ในชั้นสอบสวนมีการนำตัวผู้ต้องหามาสอบปากคำ โดยมีรองผู้ว่าฯ ในขณะนั้นร่วมเป็นพยานด้วย ผู้ต้องหาทั้งสองก็ซัดทอดและให้การว่าได้วางแผนสังหารร่วมกับจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 3 ได้ขับรถนำนายประจวบมาเจอนายเสน่ห์ที่ปั๊มปตท. ซึ่งเป็นปั๊มของนายเจือ หินแก้ว ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่เกิดเหตุ ต่อมารองผู้ว่าฯ คนดังกล่าวได้ขึ้นศาลเป็นพยานเบิกความว่าผู้ต้องหาทั้งสองให้การซัดทอดจริง

เธอกล่าวด้วยว่า สำหรับผลคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นี้ก็ทำให้ชาวบ้านมีบทสรุปร่วมกันว่า จะต้องพึ่งพาตัวเอง ดูแลตัวเองในเรื่องความปลอดภัย รวมทั้งช่วยเหลือตัวเองในการแสวงหาความยุติธรรมด้วย

"เจริญไม่ใช่เคสแรกที่จบลงลักษณะนี้ คือ ไม่สามารถหาผู้กระทำผิดได้ เราอยากให้ที่อื่นสรุปบทเรียนเช่นกันว่าคุณจะสร้างกระบวนการในการปกป้องกันเองอย่างไรในการต่อสู้ เพราะถึงที่สุดแล้วเราพึ่งอย่างอื่นไม่ได้" กรณ์อุมากล่าว

 

 

เรียบเรียงบางส่วนจาก เว็บไซต์คมชัดลึกและ ASTV-ผู้จัดการ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อแท็กซี่หนีเที่ยว ไปแอบฟัง “ลาว คำหอม” คุยเรื่อง Silly Silly

Posted: 15 Mar 2013 03:28 AM PDT

โทรศัพท์จากน้องนักข่าวสาวจากประชาชาติธุรกิจดังขึ้นขณะที่ผมกำลังขับแท็กซี่ทำมาหากินในบ่ายวันหนึ่ง แจ้งว่าคงต้องใช้รถผมเพื่อจะเดินทางไปสัมภาษณ์ลุงคำสิงห์ ศรีนอก นักเขียนและศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี 2535 เจ้าของนามปากกา "ลาว คำหอม" และล่าสุดกับรางวัลนักเขียนอมตะคนที่ 6 ประจำปี 2555 ที่ไร่ธารเกษม ปากช่อง หลังจากผมได้แนะนำให้เธอได้รู้จักลูกสาวคนโตของคุณลุงคำสิงห์ผ่านเครือข่ายสังคมบนเส้นเมื่อไม่กี่วันก่อน

เรา หมายถึงน้องจากประชาติธุรกิจ มติชน ข่าวสด เพื่อนสาวคนสนิทของน้องในกลุ่มและผม รวม 5 ชีวิต  เดินทางถึงปากช่องคืนวันก่อนนัด เพื่อไปอาศัยนอนที่บ้าน "ดาบแป๊ะ" ในตัวอำเภอปากช่อง ก่อนจะเดินทางเข้าไปที่ไร่เป้าหมาย ที่แยกออกจากถนนมิตรภาพหลบสายตาผู้คนไม่ไกลนัก ในสายของวันนัดพฤหัสฯที่ 14 มีนาคม

เราเจอป้าตุ่น ซึ่งกำลังง่วนกับการเตรียมของว่างให้กับแขกผู้มาเยือน เธอคงต้องต้อนรับผู้มาเยือนในหลายลักษณะมามิใช่น้อย ตลอดการใช้ชีวิตคู่กับนักเขียนอาวุโสท่านนี้

"ลุงเขาเดินเล่นอยู่ในไร่ เดี๋ยวก็ออกมา" ป้าตุ่นบอกพวกเรา ก่อนยกหูหาคุณลุงเพื่อบอกว่าแขกมาถึงบ้านแล้ว

"ลุงเขาเดินเล่นแบบนี้ทั้งวันหรือครับ" น้องจากข่าวสดถาม "ถ้าเดินทั้งวัน เขาไม่เรียกเดินเล่นแล้วล่ะครับ" ผมไม่วายกวนตีนผู้โดยสาร

ลุงคำสิงห์เดินออกมาจากไร่ในเสื้อยืดคอปกสีดำ มีด้ายขาวปักคำว่านิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อประชาชนบนหน้าอกด้านซ้าย ชวนหาที่นั่ง ส่วนผมแยกออกมานั่งนอกวง แต่พยายามยื่นหูให้ใกล้วงมากที่สุด ตามประสาคนชอบสอดรู้สอดเห็น

"นักเขียนควรเขียนงานจากภาษาแม่ของตัวเอง ยกเว้นแขกเพราะเขามีรากภาษาจากบาลี สันสกฤต ซึ่งมีรากร่วมกับภาษาละติน ก่อนที่จะพัฒนาเป็นภาษาชาติต่างต่างอย่างทุกวันนี้" ลุงคำสิงห์ เล่าให้พวกเราฟัง ก่อนจะโยงว่าแกเคยบอกกับชาติ กอบจิตติ นักเขียนสองซีไรท์อย่างนี้ สมัยที่ชาติกลับจากสหรัฐอเมริกาใหม่ใหม่

"ตอนนั้นชาติเขาอยากเขียนงานเป็นภาษาอังกฤษ เคยมานอนเขียน 'เวลา' ที่นี่แหละ เช้ามาก็หนีบเหล้าสองขวดใส่รักแร้เดินไปเดินมา หาที่ที่จะนั่งนอนเขียนหนังสือ ลุงก็เลยบอกเขาว่านักเขียนควรจะมีที่ทางของตัวเอง เขาฟังแล้วก็ไม่ได้ว่าอะไร ที่จริงลุงว่าจะชวนเขามาอยู่ใกล้ใกล้กัน แต่เขาก็หาที่ทางของเขาได้เอง ไม่ไกลจากที่นี่เท่าไหร่ มีเวลาก็แวะไปเยี่ยมเขาบ้าง" ลุงคำสิงห์เล่า บางคนในกลุ่มที่เคยแวะเวียนไปหาน้าชาติอยู่บ่อยบ่อยในบางปีก่อน และทันได้ถ่ายรูปคู่กับผู้พันแซนเดอร์ส* ที่ไร่น้าชาติ ยิ้มน้อยน้อยไม่กล่าวอะไร

ลาว คำหอม เล่าให้ผู้มาเยือนฟังว่าเมื่อสองสามวันก่อนมีกลุ่มนักเขียนจากอินโดนีเซีย เวียดนาม มาเยี่ยม หลายคนเป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาไทย วรรณกรรมไทยในมหาวิทยาลัย และใช้ "ฟ้าบ่กั้น" เป็นหนังสือประกอบการเรียน สอบถามถึง "ที่มีที่ไป" ของรวมเรื่องสั้นชิ้นนี้

"ลุงเคยนึกสงสัยเหมือนกันว่าเครื่องแบบของพระนี่มีที่มาที่ไปยังไง ไอ้เรื่องที่มาที่ไปนี่สำคัญมาก ถ้าเรารู้มันจะช่วยไขความกระจ่างในการอ่านเรื่องต่างต่างได้" คุณลุงคำสิงห์วาดมือไปที่หัวใจ พยายามหยีตาขึ้น

"สมัยก่อนการถวายผ้าบังสุกุลไม่ได้ทำอย่างทุกวันนี้ ลุงเดาว่าการใช้ผ้าบังสุกุลคือการเพ่งพินิจชีวิตจากความตาย การดึงผ้าของคนตายมาใช้แสดงว่าตนเองได้สละแล้ว ซึ่งถ้าเป็นที่อินเดียคงต้องไปเอาแถวแม่น้ำคงคา   เพราะคนไปเผาศพกันที่นั่น สมัยลุงเป็นเด็กวัดที่อีสานยังทันเห็นพระทอดผ้าบังสุกุลแบบเดิม ซึ่งคนที่มาถวายผ้าส่วนใหญ่เป็นคนมีปัญหาเรื่องสุขภาพ เจ็บป่วย คล้ายคล้ายมาทำบุญเพื่อต่อชีวิต ลุงเคยคุยกับพี่เส(เสนีย์ เสาวพงศ์) ว่าอยากให้คนอ่านอ่านงานของลุงแบบว่าเขาเป็นพระ พระที่ทอดผ้าบังสุกุล คือได้เพ่งพินิจชีวิต" คุณลุงคำสิงห์อธิบายงานของลาว คำหอมให้เราฟัง

ลุงคำสิงห์เล่าต่อว่าสมัยยังหนุ่มเคยพาเพื่อนชาวกรุงสาวสาว ที่อยากตามมาดูชีวิตคนอีสาน เลยพาไปอำเภอบัวใหญ่ (จังหวัดนครราชสีมา บ้านเกิดคำสิงห์ ศรีนอก) "พอไปถึงเขาก็ชื่นชมดอกไม้สวยสวย พวกบัวสาย ลุงเลยบอกว่ามันกินได้ด้วยนะ เพื่อนเลยบอกเราว่าคำสิงห์คุณนี่มันคนอีสานจริงจริง คือมันเป็นลักษณะเด่นของคนอีสาน คือเราต้องต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด ทางเดียวคือต้องกินง่าย อยู่ง่าย อะไรกินได้เรากินหมด" แกเล่าพลางหัวเราะชอบใจ

"ลุงเพิ่งกลับไปเขตปลดปล่อยซำเหนือในลาวกับเตือนและคำหอม (ลูกสาวคนโตและคนรอง) ซึ่งเราเคยหลบลี้หนีภัยสมัยก่อน เห็นดอกไม้สวยสวย ครูคนลาวที่พาเราเที่ยวก็บอกว่าชื่อดอกบาน กินได้ด้วยนะ ลุงก็หัวเราะ คือชีวิตเราเปลี่ยนไปแล้วเราก็จำอะไรแบบนั้นไม่ได้ ลูกสาวก็เป็นคนเมืองไม่มีสัญชาติญาณพวกนี้แล้ว พอเขาพูด เราก็เฮ้ย...นี่มันคนเหมือนเรานี่หว่า" ลุงคำสิงห์เล่าเอกลักษณ์คนอีสานที่นำมาใช้ในงานเขียน ผ่านประสบการณ์ตรงอย่างอารมณ์ดี

ลุงคำสิงห์บอกน้องน้องนักข่าวว่าการเขียนคือการเล่าเรื่องด้วยตัวหนังสือ คุณลุงเล่าว่าเคยฟังนายฮ้อยวัวต่างเขาเล่าว่าถ้าจะข้ามดงพญาเย็นก็ต้องพกหม้อเก็บกระดูกมาด้วย เผื่อไม่รอดจะได้ให้เพื่อนเก็บกระดูกกลับไป เขาเล่าได้สนุกมากแต่ไม่เขียน หรืออาจจะเพราะเขาเขียนไม่ได้ แต่เราเขียนได้

"สมัยเด็กลุงเรียนโรงเรียนราษฎร์ เวลากลับบ้านก็จะสวนทางกับนักเรียนโรงเรียนหลวง ซึ่งเป็นลูกพ่อค้า ข้าราชการแต่งเครื่องแบบสวยงาม แต่เราเป็นลูกชาวบ้านแต่ตัวด้วยเสื้อผ้าที่ทอมือกันเอง สีดำดำมอมอ ยิ่งเราเรียนสูงไปเรื่อยเรื่อย ยิ่งเห็นความต่าง เรามีความต่าง และมองเห็นปัญหาบนความต่างเลยอยากเสนอบนความต่างนั้น แต่เราไม่ได้เล่าเรื่องพวกนี้ตรงตรง เราเลยจับบรรยากาศเพื่อเล่าเรื่องความต่างพวกนั้น"

คุณลุงคำสิงห์เล่าถึงช่วงชีวิตการเป็นนักเขียนในช่วงที่สองที่เป็นการเขียนอย่างเอาจริงเอาจังว่า สมัยนั้นคุณลุงติดสยามสมัย ต้องรับทุกฉบับเพราะตามอ่านเรื่องปีศาจของเสนีย์ เสาวพงศ์ ซึ่งตีพิมพ์เป็นตอนตอน ทำให้อยากเขียนในลักษณะนี้บ้าง เลยแอบเขียนเรื่องสั้นส่งในช่วงที่ทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัยสถาบันค้นคว้ามหาวิทยาลัยคอร์แนล ประจำประเทศไทย ซึ่งกำลังวิจัยเรื่องชาวนาอยู่ที่บางชัน สมุทรปราการ ระหว่างนั้นคุณพจน์ สารสิน(นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) จะไปมอบวัวพันธุ์ที่จังหวัดขอนแก่น ผสมกับที่คุณลุงหมั่นไส้ฝรั่งอยู่ในทีอยู่แล้ว จึงเขียนเรื่องสั้น "คนพันธุ์" โดยเปลี่ยนจากวัวฝรั่งเป็นคนฝรั่ง และได้ผ่านเกิดในปิยมิตรสมใจ หลังจากนั้นจึงเขียนลงตีพิมพ์ต่อเนื่องทุกสัปดาห์ จนสามารถรวมเล่มและตีพิมพ์ฟ้าบ่กั้น ด้วยสำนักพิมพ์เกวียนทองที่คุณลุงตั้งขึ้นในปี 2501

"ช่วงนั้นเป็นช่วงที่บ้านเมืองเริ่มมีปัญหาจิตร ภูมิศักดิ์ โดนโยนบกช่วงเดียวกับที่ฟ้าบ่กั้นตีพิมพ์ ตอนนั้นนงเยาว์ ประภาสถิตที่เป็นนักเขียนและกวีหญิงที่มีชื่อเสียงเพิ่งกลับจากจีน และอาสาเขียนคำนำให้ ก็เกิดกลัวขึ้นมา เพราะสฤษดิ์ตอนนั้นมีอำนาจล้นฟ้าด้วย ม.17 เลยไปคุยกับคุณมาลัย ชูพินิจ คุณมาลัยเลยไปคุยกับตำรวจใหญ่ให้ เขาอ่าน 'ไพร่ฟ้า' แล้วเขาก็ขีดเส้นใต้ตรง อินถาสงสัยว่าคนจะเป็นเจ้าได้อย่างไร** สันติบาลเลยขอให้เก็บจากร้านอย่าวางประเจิดประเจ้อ" คุณลุงคำสิงห์ เล่าถึงชะตากรรมฟ้าบ่กั้นของลาว คำหอม

ลุงคำสิงห์เล่าต่อว่าหลังจากนั้นสฤษดิ์ก็ตาย เป็นยุคของถนอม กิตติขจร ก็ไม่มีใครกล้าพิมพ์ เพราะกลัวกันไปหมด เรื่องอย่างนี้ ฝรั่งเขาเรียกว่า "Silly"

"เขาเพ่งเล็ง 'ฟ้าบ่กั้น' เพราะลุงเขียนเรื่องคนยาก คนจน ชาวไร่ ชาวนาน่าจะเป็นพวกคอมมิวนิสต์ เขาห้ามขายและสั่งเผาทิ้ง ลุงก็เอากลับมากองอยู่ที่บ้านปากช่อง วันหนึ่งคณะของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ มาเที่ยวที่บ้าน สุวรรณี สุคนธาก็ถามว่าหนังสือของใครทำไมมากองอยู่ตรงนี้ เลยหยิบมาอ่านแล้วบอกว่าดีมาก เทพศิริ สุขโสภาที่มาด้วยก็หยิบอ่านบ้าง แล้วก็สงสัยถามว่าทำไมหนังสือดีอย่างนี้ถึงไม่เคยได้อ่าน บอกว่าถ้าพิมพ์ก็จะเขียนปกให้ สุลักษณ์ที่นั่งเอ้เต้เป็นเจ้านายก็หัวเราะบอกว่าถ้าจะพิมพ์ก็อยากให้พิมพ์กับศึกษิตสยามที่เขาเพิ่งตั้งขึ้น" คุณลุงคำสิงห์ ย้อนประวัติวิบากกรรรมของฟ้าบ่กั้นที่กว่าจะได้ตีพิมพ์ใหม่อีกครั้งกับศึกษิตสยามในปี 2512

คำสิงห์ ศรีนอกเล่าต่อว่าหลังจากฟ้าบ่กั้นได้รับการตีพิมพ์ครั้งที่สองโดยศึกษิตสยาม ก็ถูกนำไปบรรจุในการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยอย่างกว้างขวาง เพื่อให้นิสิต นักศึกษาในมหาวิทยาลัยได้เรียนรู้ปัญหาของบ้านเมืองโดยเฉพาะปัญหาของชาวนาในภาคอีสาน

"ต่อมาอาจารย์ป๋วย เป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็จะตั้งมูลนิธิฯ*** สุลักษณ์ก็แนะนำให้มาคุยกับผม ตอนหลังแกก็ก่อตั้งบัณฑิตอาสาสมัครเพื่อให้นักศึกษาที่เรียนจบใช้เวลาช่วงนี้ไปเรียนรู้ปัญหาในชนบท หลายคนก็หนีบฟ้าบ่กั้นเข้าไปด้วย พอกลับออกมาก็มาร้องห่มร้องไห้กับผมบอกว่าชนบทในหนังสือกับของจริงมันเหมือนกันมาก ขบวนการนักศึกษา ชาวไร่ ชาวนา กรรมกร ก็เริ่มเติบโตขึ้นในยุคนั้น จนกระทั่งเขาเห็นว่าควบคุมไม่อยู่ต้อง Get Rid เขาก็สร้างเรื่องเดิมเดิม Silly Silly ขึ้นมา มีทั้งเรื่องญวนกินหมา ป๋วยป่วย อุโมงค์ลับในธรรมศาสตร์ คอมมิวนิสต์ ไอ้พวกคิดทำลายสถาบัน สื่อบิดเบือน ตัดแต่งรูป ดาวสยาม จนนำไปสู่การฆ่าหมู่นักศึกษาประชาชนเมื่อ 6 ตุลา 19 มันก็ไม่ต่างกับยุคนี้แหละ เสื้อแดง พวกล้มเจ้า ชายชุดดำ มันเป็นเรื่อง Silly Silly ทั้งนั้นแหละ แต่คนตายจริงนี่ประชาชนทั้งนั้น"

ลุงคำสิงห์เล่าให้เราฟังด้วยท่าทีผ่อนคลายเสมือนฉายภาพนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนชาชิน และลุกไปหยิบภาพข่าวตัดแปะจำนวนไม่น้อยมาให้พวกเราได้ชม ทั้งภาพการ์ตูนล้อป๋วยป่วย ภาพการประชุมเรื่องเขื่อนผามองที่กลายเป็นการประชุมของคอมมิวนิสต์รัสเซีย ที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากเคจีบี ภาพข่าวการบุกค้นไร่ที่ปากช่องเพราะเป็นแหล่งซ่องสุมอาวุธของคอมมิวนิสต์ ฯลฯ 

"การเขียนวรรณกรรมของลุง ลุงไม่เคยคิดว่ามันเป็นการสร้างสรรค์งานศิลปะอะไร แต่มันเป็นการทำงานความคิด อาจจะเพราะลุงเคยไปสัมผัสกับคอมมิวนิสต์ ลุงก็เลยอยากตรวจสอบความคิด ทั้งความคิดเราและความคิดของคนที่เราได้พบปะ" ลุงคำสิงห์ เผยนัยยะของกระบวนการงานเขียนของแก

ลมฝนพัดกรูจนดอกยางนาร่วงพรูอย่างพร้อมเพรียง พวกเราหลายคนยกมือขึ้นปิดแก้วของตัวเองอย่างอัตโนมัติ มีเพียงคุณลุงคำสิงห์ที่ยังตาเหม่อลอยไปไกล มิได้นำพาต่อดอกยางนาที่หล่นใส่แก้วใสบรรจุโลหิตของพระเจ้าแต่อย่างใด จนคำหอมลูกสาวคนรองที่ร่วมแลกเปลี่ยนกับน้องน้องสื่อมวลชนต้องเอื้อมไปหยิบแก้วใช้ช้อนมาตักดอกยางนาออก ก่อนคืนแก้วเดิมไปให้เพราะพ่อบอกไม่ต้องเททิ้ง สุดท้ายป้าตุ่นต้องมาเตือนให้เรายุติวงสนทนาเพราะกลัวจะออกไปไม่ได้เนื่องจากฝนห่าใหญ่กำลังทำท่าจะมาเยือน

ระยะเวลาการพูดคุยกว่า 6 ชั่วโมง ดวงตาที่เหม่อลอยในบางช่วงยาม ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าในใจลึกลึกคุณลุงกำลังนึกถึงชะตากรรมในช่วงชีวิตไหน อาจจะเป็นช่วงระหกระเหินในป่าซำเหนือ ประเทศลาว ช่วงที่ได้รับการเรียกขานเชิงกล่าวหาว่าเป็น "นายกรัฐมนตรีพลัดถิ่น" มีป้าตุ่นคู่ชีวิตเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ช่วงพลัดจากครอบครัวคนละทิศละทาง ช่วงลี้ภัยที่สวีเดน ช่วงกระเตงลูกเลียบขั้วโลก หรือว่าสำนึกเสียใจในชะตากรรมของเพื่อนร่วมอุดมการณ์อย่าง ดร.บุญสนอง บุญโยทยาน ฯลฯ แต่ทุกเรื่องลุงคำสิงห์บอกว่ามันเป็นเรื่องที่ท้ายสุดแล้วเกิดจากสิ่งที่ฝรั่งบอกว่า "มันเป็นเรื่อง Silly Silly ทั้งนั้นแหละ"

"ประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชนนั่นแหละคือคำตอบ" เสียงสุดท้ายของคำสิงห์ ศรีนอก ยังก้องอยู่ในหัวของผม ขณะขับแท็กซี่พาน้องน้องสื่อมวลชนกลับเข้ากรุงเพื่อทำหน้าที่นักสื่อสารมวลชน.

 

 

หมายเหตุ

1. พันเอกฮาร์แลนด์ เดวิด แซนเดอร์ส (Harland David Sanders) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ผู้พันแซนเดอร์ส เจ้าของไก่ทอดสูตรลึกลับ และภายหลังเป็นผู้ว่าการรัฐเคนตั๊กกี้ ร้านไก่ทอดของเขามีสาขากระจายอยู่ทั่วโลก กว่า ๓๐,๐๐๐ สาขา หุ่นผู้พันแซนเดอร์สในชุดสูทขาว โบว์สีดำ ซึ่งเป็นชุดเดียวกับที่เขาใส่ลงหลุมฝังศพ ยืนประจำการเป็นเอกลักษณ์อยู่หน้าร้านทุกสาขา แต่มีเรื่องเล่าว่าบางสาขาในไทย หุ่นผู้พัน "ถูกอุ้ม" หายไปอย่างลึกลับ

2. คำสิงห์ ศรีนอกน่าจะหมายถึงตรง "เอ นายนี่ อู้สับป้ะ เจ้าตี้ไหน? คนแต้ๆ ผมหันกิ๋นเข้าหยับๆตึงวัน กับตรง "นาย ทำไมคนถึงเป็นเจ้า?" ตามที่ปรากฏในเรื่องสั้นไพร่ฟ้า ที่เขียนขึ้นใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับความหนาในการพิมพ์รวมเล่มครั้งแรก

3. มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นับป็นองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่10 ตุลาคม พ.ศ.2510โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้นำในการก่อตั้ง

4. คุณลุงคำสิงห์ยังเตือนพวกเราอีกว่าท่านปรีดีก็ตายแล้ว อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ก็ลับ ทั้งท่านผู้หญิงพูนศุข เสนีย์ เสาวพงศ์ ก็ 94 ปีแล้ว คุณลุงก็ 82 ต่างก็เจียนไปเจียนอยู่ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ก็ 80 แล้ว ถ้าไม่บันทึกปากคำคนเหล่านี้ไว้บ้าง อาจจะไม่เหลือความทรงจำที่ถูกต้องเลยก็เป็นได้

5. มีเรื่องอีกจำนวนมากที่ถูกตัดทอนออกไปเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้พื้นที่ตีพิมพ์แบบบนเส้นนี้ แต่มีบางเรื่องที่ Silly Silly เกินไปกว่าที่ผมจะเขียนถึงได้ เพราะชะตากรรมของผมก็น่าจะ "Silly Silly พอแรง" แล้วล่ะ

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนาภาคประชาสังคมกับองค์กรอิสระ ชี้ต้องแก้กระบวนการสรรหา เพิ่มส่วนร่วมจากปชช.

Posted: 15 Mar 2013 02:46 AM PDT

เวทีเสวนาเห็นร่วมผลงานกรรมการอิสระสะท้อนปัญหาบทบัญญัติกรรมการสรรหาองค์กรอิสระที่จำกัดอยู่กับอรหันต์จากสายตุลาการ ต้องแก้ไข  น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระชี้ องค์กรอิสระต้องกลับสู่หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน จอน อึ๊งภากรณ์ ระบุภาคประชาสังคมต้องมีส่วนร่วมมากขึ้น

15 มี.ค. 2556 ร.ร. พลาซ่าแอทธนี ประชาไทร่วมกับ USAID และโครงการสะพาน จัดเสวนาหัวข้อ "ความหวังของภาคประชาสังคมในการถ่วงดุลกระบวนการทางการเมืองและนโยบายสาธารณะ" ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย กำชัย จงจักรพันธ์ ที่ปรึกษากรรมการการเลือกตั้ง, จอน อึ๊งภากรณ์ อนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง, น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กสม. และเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธบูรณะนิเวศ

ศ. กำชัย จงจักรพันธ์: องค์กรอิสระต้องอิสระและเป็นกลาง

ศ. กำชัย จงจักรพันธ์ ที่ปรึกษา กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า  รธน. 2540 เป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดองค์กรอิสระ ในเชิงกฎหมาย แต่ในเชิงการเคลื่อนไหวของความคิดมีมาก่อนหน้านั้นแล้ว การปฏิรูปประเทศไทยที่ก่อตัวก่อนการเกิดขึ้นของ รธน. 2540 เป็นพลังให้รธน. 40 มีองค์กรอิสระขึ้น ซึ่งเดิมจะมี 4 องค์กร คือ กกต. ปปช. ซึ่งมาจากเดิมที่เป็นองค์กรของรัฐที่เป็น ปปป. ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และกสม.

หลังรัฐประหาร 2549 รธน. 2550 หมวด 11 บัญญัติแบ่งองค์กรตามรธน. สองประเภท หนึ่งคือ องค์กรอิสระตามรธน. ซึ่งประกอบด้วย ปปช. กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน และสตง. และประเภทที่ 2 คือองค์กรอื่นตามรธน. ที่เดิมไม่ถือเป็นองค์กรอื่นตาม รธน. คือ อัยการ กสม. สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

เวลาพูดว่าอะไรคือองค์กรอิสระ ถ้าจะพูดให้เคร่งครัดที่สุดก็มี 4 องค์กรเท่านั้น อย่างไรก็ตามมีผู้รู้ทั้งนักกฎหมายและศาสตร์ต่างๆ มักจะเรียกองค์กรอื่นๆ โดยถือว่าเป็นองค์กรอิสระด้วย คือรวมความถึง อัยการ กสม. และสภาที่ปรึกษาฯ

ขณะเดียวกันก็มีหลายความว่าแม้องค์กรอื่นๆ ไม่ได้ถูกระบุใหนหมวด 11 ก็จัดเป็นองค์กรอิสระ เช่น กสทช., คปก. (คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย)และสภาพัฒนาการเมือง เป็นต้น แสดงว่า เราจะมองความหมายขององค์กรอิวสระกว้างหรือแคบก็แล้วแต่มุมมองว่าจะยึดอะไรเป็นที่ตั้ง  

สำหรับเขา ถ้าหาลักษณะร่วมขององค์กรร่วมขององค์กรเหล่านี้จะพบลักษณะร่วมที่สำคัญ คือต้องเป็นอิสระ และเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ จึงอาจกล่าวรวมได้ว่า เป็นองค์กรที่ถูกออกแบบและกำหนดให้ผู้บริหารองค์กรมีความเป็นอิสระ และความเป็นอิสระนี้เองที่เป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้มีความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่  

ความเป็นอิสระหมายถึงการไม่ถูกแทรกแซง สั่งการ ไม่สังกัดใคร ปกครองตนเอง รูปธรรมที่เห็นได้คือ กกต. ปปช. กสม. กสทช. ออกกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ได้เองโดยอิสระ ไม่ต้องตกอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาสั่งการ เขาจึงสามารถดำรงความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่  

"ที่เราต้องการให้องค์กรอิสระเป็นอิสระเพราะต้องการให้เขาปราศจากการถูกแทรกแซง เมื่อไม่ถูกแทรกแซงสั่งการ หลักการต่อไปก็จะทำให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง ความเป็นกลางคือปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาตามข้อเท็จจริง ตามข้อกฎหมาย ตามหลักวิชาของแต่ละองค์กรโดยไม่โอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  

"ด้วยเหตุนี้กฎหมายรธน. และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระจึงบัญญัติว่าต้องเป็นอิสระและเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่"  

เขากล่าวว่าความเป็นกลางคือหัวใจขององค์กรอิสระ และจะต้องเป็นอิสระเสียก่อน ไม่ถูกแทรกแซงสั่งการได้เสียก่อน ไม่มีใครอยู่เหนือที่สามารถให้คุณให้โทษจนทำให้ไม่เป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่  แต่ถ้าไม่อิสระ แล้วยังเป็นกลางได้ก็น่าพอใจ แต่ถ้าอิสระแต่ไม่เป็นกลางน่าจะไม่ถูกต้อง

อิสระมีสองนัยยะกว้างๆ คืออิสระจากภายนอก คือกระบวนการสรรหา การเข้าสู่ตำแหน่ง พยายามสร้างและออกแบบให้มั่นใจได้ว่า องค์กรอิวสระเหล่านี้อิสระในการปฏัติหน้าที่ แต่ความเป็นอิสระจากภายในยังเป็นอักปัจจัยหนึ่งซึงสำคัญมาก และถ้าใครเป็นนักกฎหมายก็ต้องยึดหลักเป็นกลาง ในมุมมมองผู้พิพากษาตุลาการนั้นในอดีตไม่ค่อยมีปัญหาว่าใครจะแทรกแซง เพราะระบบแต่เดิมสร้างความเป็นอิสระจากภายนอกไว้ดีแล้ว แต่ที่สั่งสอนเวลาเรียนในชั้นเรียนกฎหมายคือต้องปราศจากอคติทั้ง 4  

ความเข้าใจอีกประการหนึ่งคือ ความเป็นกลางเป็นเรื่องปฏิบัติยาก ซึ่งเขาเห็นด้วยเพราะมนุษย์มักมีอคติ ความเป็นกลางไม่ได้หมายความว่าอยู่เฉยๆ ไม่ตัดสินใจ กกต. ทั้งห้าคนก็ต้องเลือกตั้งพรรคที่เขาเห็นว่าดีที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่สามารถรปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางได้ แม้ว่าจะปฏิบัติได้ยาก แต่ไม่ได้หมายความไม่ต้องปฏิบัติ

เขาตั้งคำถามกลับถึงประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ราชการว่าเป็นต้นเหตุแห่งความไม่ถูกต้องดีงาม ขณะที่เหตุที่เกิดจากองค์กรอิสระเพราะสังคมไม่เชื่อถือฝ่ายการเมือง แต่เดิมหน้าที่ทั้งหลายที่อยู่กับองค์กรอิสระอยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายบริหาร อย่างไรก็ตามไม่ว่าใครที่มีอำนาจล้วนมีแนวโน้มที่จะใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบทั้งสิ้น ดังที่ลอร์ดแอคตันกล่าวว่า Power tends to corrupt, Absolute power corrupts absolutely. ฉะนั้นองค์กรอิสระเองก็ต้องตระหนักว่าองค์กรอิวสระไม่ใช่มีอำนาจที่จะทำอะไรก็ได้ เพราะต้องถูกตรวจสอบเช่นกัน

แล้วองค์กรอิสระสำเร็จได้อย่างไร

หนึ่ง ต้องเป็นอิสระและเป็นกลาง แต่ถ้าถามว่าปัจจุบันเปนอวระและเป็นกลางแล้วหรือยัง แต่พื้นที่ของตอบประเด็นเหล่านี้ก็อยู่ที่กระบวนการได้มา กระบวนการสรรหา รวมถึงคุณสมบัติ

สอง ความรู้ความเข้าใจ ในงานของตนเอง การปฏิบัติหน้าที่ของวทึกหน่าวยงานไม่ได้ปฏิบัติไปตามอำเภอใจ ขณะที่กฎหมายที่ต้องปฏิบัติตามก็ซับซ้อน ยุ่งยาก ละเอียด และบางครั้งขาดความชัดเจน เฉพาะกกต. มีกฎหมาย 5 ฉบับที่เกี่ยวข้องและเชื่อว่าคนไม่มากนักที่เข้าใจกฎหมายทั้งระบบ ปปช. มีกฎหมาย 3 ฉบับ เป็นต้น

สาม มีความสามารถในการบริหารจัดการ

สำหรับประเด็น 15 ปีที่ผ่านมาองค์กรอิสระเป็นปฏิบัติหน้าที่ได้สมความคาดหวังของประชาชนหรือไม่นั้น เขาคิดว่า การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องอย่างหลากหลายเป็นเรื่องดี แต่จะทำให้เป็นผลสัมฤทธิ์นั้นเขาเสนอให้มีการศึกษาและการวิจัยต่ออย่างเป็นระบบระเบียบให้เห็นความสำเร็จล้มเหลวขององค์กรอิสระของทุกๆ องค์กร แล้วนำมาสังเคราะห์วิคราะห์เพื่อตอบโจทย์ต่อไปว่าจะทำอย่างไรกับองค์กรอิสระ

เขาคิดว่าการพัฒนา หรือปรับปรุง หรือออกแบบองค์กรอิสระ ไม่ใช่เอาความเห็นแบบปัจเจกมานำไปสู่ข้อเสนอ เป็นการเอาประเทศชาติเป็นที่ทดสอบความเห็นของคนจำนวนหนึ่งที่ไม่เป็นสัจธรรมที่นำไปสู่การแก้ปัญหา แต่ควรผ่านการวิจัยอย่างเป็นระบบระเบียบ ถ้าจะต้องยุบก็ยุบไปโดยปราศจากอคติ ถ้าสำเร็จอยู่แล้วก็ตอบได้ว่าสำเร็จ

จอน อึ๊งภากรณ์ชี้ต้องแก้ที่มาองค์กรอิสระ และให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น

จอน อึ๊งภากรณ์ อนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เห็นว่าองค์กรอิสระของไทยถูกครอบงำ 2 ช่วงคือ ช่วงเวลาพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นการครอบงำชั่วคราว และช่วงที่สองถูกครอบงำแบบถาวรโดยระบบอำมาตย์ 

"ผมคิดว่าองค์กรอิสระที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนคือ ศาลปกครอง การหยุดยั้งการแปรรูปกฟผ. เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มาบตาพุด  บทบาทศาลปกครองในกรณีนี้ ทำให้เรานึกได้ว่าศาลปกครองมีอำนาจจริงๆ ที่สามารถจะคานกับอำนาจรัฐได้ในเรื่องสำคัญๆ ที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจริงๆ"

องค์กรที่สองเขานึกถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในสเกลเล็ก ที่สามารถจะตรวจสอบการละเมืดสิทธิได้ แต่ถ้าถามประสิทธิภาพของกรรมการสิทธินั้นเขาเห็นว่ามีปัญหาพอสมควร

แต่พอมานึกถึงผู้ตรวจการแผ่นดินนั้นเขานึกไม่ออกจริงๆ ว่าทำประโยชน์อะไรให้กับสังคมไทย หรือ ปปช. ซึ่งเขาเห็นว่ามีข้อจำกัดมากในการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ทำได้ไม่กี่คดี ทั้งๆ ที่รับรู้กันว่าการโกงกินขนาดใหญ่มีมากเพียงใด

ส่วนกกต. นั้นเขานึกถึงกกต. ชุดแรกที่เป็นอิสระจริงๆ แต่หลังจากนั้นเขาไม่คิดว่าเป็นอิสระ

โดยสรุปเขาเห็นว่าองค์กรอิสระนั้นไม่เป็นอิสระ ตั้งแต่เรื่องของการสรรหา แบ่งเป็นสองยุค ยุคแรกคือพรรคไทยรักไทยสามารถเข้าไปชี้ให้วุฒิสภาเลือกใครหรือไม่เลือกใครเข้ามาดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ ที่ชัดเจนคือ ศาล รธน., กกต. และ ปปช. ที่ไม่ได้แทรกแซงคือ กสม. เพราะว่าไม่คอยมีทางเลือกเท่าไหร่เพราะกรรมการสรรหาเลือกมาค่อนข้างดี ไม่ค่อยมีตัวแปรที่รัฐบาลจะพึ่งพาได้ นั่นคือการแทรกแซงครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นลักษณะชั่วคราวคือชั่วอายุรัฐบาลไทยรักไทย

การแทรกแซงครั้งที่สองเป็นการแทรกแซงถาวรเกิดจากรัฐประหาร 2549 และเขียนรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แม้จะผ่านประชามติก็ตาม องค์กรอิสระที่ถูกแทรกแซงครั้งที่สองอาจจะเรียกว่าแทรกแซงโดยอำมาตย์ก็ได้

 จนกระทั่งปัจจุบัน องค์กรอิสระจำนวนมากกลายเป็นที่พักพิงของข้าราชการเกษียณที่ต้องการจะมีอะไรทีเป็นชื่อเสียง มีเงินเดือน มีตำแหน่ง และจบชีวิตลงด่วยตำแหน่งที่มีเกียรติ นี่ต่องพูดกันตามความเป็นจริง อาจจะไม่ใช่ทุกคน แต่โดยส่วนใหญ่ก็เป็นเช่นนั้น

ปัญหาที่สอง คือการต้องเกี่ยวข้องกับระบบราชการ ทั้งกระบวนการสรรหา ก็ไม่ค่อยมีภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมในการสรรหา และคนที่ได้รับเลือกก็แทบจะไม่มีภาคประชาสังคมเข้าไป อาจจะไม่ความรู้สึกว่าภาคประชาสังคมไม่ค่อยมีความเชี่ยวชาญที่จะไปปฏิบัติหน้าที่เช่น เป็นกกต. แต่ในประเทศที่เจริญแล้วเขาไม่มองเช่นนั้น การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมแทบจะไม่มีทั้งในกระบวนการสรรหา และทั้งในการดำเนินงานขององค์กรเหล่านี้ ทำให้คนที่เข้าไปอยู่ในองค์กรอิวระไม่ได้เข้าใจลึกซึ้งถึงความเดือดร้อนของประชาชนผู้ไร้อำนาจ

ปัญหาที่สามที่เจอในการทำงานของหลายองค์กรก็คือสำนักงาน สำนักเลขาขององค์กรเหล่านี้เป็นปัญหาขององค์กรเหล่านี้เกือบทั้งนั้น คือองค์กรอิสระจะทำงานได้ดี ต้องมีสำนักเลขาธิการที่รู้เรื่องงาน แต่สำนักเลขาฯ โดยทั่วไปออกแบบเป็นราชการ เป็นเรื่องของการมีขั้นและการเลื่อนขั้น และคนที่เข้าไปจำนวนมาก อย่าง กสม. ชุดแรก ข้าราชการที่เข้ามาไม่รู้เรื่องสิทธิจำนวนมาก หรือบางครั้งสำนักเลขาฯ ทำตัวเป็นใหญเป็นโตจะเข้ามาครอบงำคณะกรรมการก็มี ฉะนั้นองค์กรอิสระต้องมีสำนักเลขาฯ ที่สอดคล้องกับงานของตัวเอง

ปัญหาที่สี่ อำนาจหน้าที่ และงบประมาณ แม้จะเป็นองค์กรอิสระก็ต้องขึ้นกับงบประมาณแผ่นดิน

เขากล่าวว่า ปัญหาสำคัญประการหนึ่งขององค์กรอิสระคือการให้ 7 อรหันต์มาสรรหากรรมการองค์กรอิสระ ต้องสรุปบทเรียนการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระและ หาวิธีสรรหาที่เหมาะสมและที่สำคัญคือต้องมีภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม กรรมการสรรหาต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญและพิสูจน์ตัวเองในเรื่องนั้นๆ เช่น ปปช. ต้องมีคนที่เคยมีประสบการณ์การปราบปรามทุจริตได้จริง โดยย้ำว่าการสรรหาโดย 7 อรหันต์ คือตัวแทนศาลต่างๆ (ประธานศาลรัฐธรรมนูญ  ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือตุลาการศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร)มาสรรหากรรมการอิสระนั้น เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข

ในส่วนอำนาจหน้าที่ต่างๆ ขององค์กรอิสระอาจจะต้องเพิ่ม อย่างกรณีของ กสม. ที่ได้รับการเปิดโอกาสให้ฟ้องศาลแทนผู้ถูกละเมิดได้ แต่น่าเสียดายที่ กสม. ไม่ใช้อำนาจที่รธน. ให้ แต่ กสม. ปัจจุบันก็มีปัญหามากมายเนื่องจากระบบการสรรหา  ต้องได้ The right person for the right job.

สำหรับความเป็นกลาง เขาเห็นว่าการทำงานต้องใช้หลักเกณฑ์เดียวกันคือมาตรฐานเดียวในการพิจารณาทุกเรื่องโดยไม่คำนึงถึงกระแสการเมืองต่างๆ ยึดหลักการ

นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ: องค์กรอิสระต้องกลับมายึดโยงกับหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน

น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เป้าหมายขององค์กรอิสระคือ การปิดทุจริต เปิดเสรีภาพ และสร้างความมั่นคง องค์กรอิสระทุกองค์กรจำเป็นต้องยึดโยงกับหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ซึ่งหลักการที่จะให้อำนาจประชาชนมากขึ้นคือลดอำนาจรัฐ โดยเขาวิพากษ์ว่า รธน. 2540 ทำให้ได้รัฐบาลที่เข้มแข็ง แต่ภาคประชาชนและสังคมอ่อนแอ องค์กรอิสระนั้นต้องทำงานกับหลักสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมของประชาชนที่อยู่ในหมวด 3 และ 5 ของรธน.

ถ้าใช้หลักนี้ไปพิจารณาการทำงาน จะเห็นปัญหาเช่น กกต. ที่เป็นระบบรราชการมากกว่าจะเห็นการมีส่วนร่วมของประชาชน

เขาย้ำว่า องค์กรอิสระจะเป็นอิสระและเป็นกลางเฉยๆ ไม่ได้ ต้องทำสิ่งที่เป็นสิทธิและเป็นประโยชน์ของประชาชนและจะทำได้ต้องเป็นกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน

แต่หลังจากรัฐประหารกลุ่มอำนาจเก่าทำรัฐประหาร  แทนที่รธน. จะปกป้องสิทธิประโยชน์ของประชาชนกลายเป็นเครื่องมือต่อสู้ระหว่างอำนาจเก่าและใหม่ รัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นหลังการรัฐประหารมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาเกี่ยวกับองค์กรอิสระ

น.พ.นิรันดร์กล่าวต่อไปถึงปัญหาการสรรหากรรมการมาดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 2550 ว่าจำกัดอยู่กับอำนาจตุลาการมากเกินไป "ผมไม่ได้ดูหมิ่นว่าตุลาการเป็นกรรมการสรรหาไม่ได้ แต่ตุลาการจะรู้ได้อย่างไรว่าคนที่จะทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิปะชาชนได้อย่างไร" เขาเห็นว่าบทบัญญัติประเด็นกรรมการสรรหาคณะกรรมการองค์กรอิวสระ เช่น กสม. เป็นประเด็นที่จำเป็นต้องแก้

น.พ.นิรันดร์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนกสม. พบปัญหาว่าสำนักงานยังเป็นราชการ เขากล่าวว่า องค์กรอิสระจะไม่จำเป็นเลยหากข้าราชการทำดีอยู่แล้ว แต่เพราะข้าราชการยังมีข้อบกพร่องจึงต้องมีองค์กรอิสระ ปัญหาขณะนี้ หน่วยงานธุรการขององค์กรอิสระก็ยังเป็นราชการอยู่ แต่ราชการขณะนี้ทำงานโดยไม่ได้มีสำนึกของประชาชน ยังใช้สำนึกของผู้มีอำนาจเป็นผู้ปกครอง ยังไม่มีการทำปฏิรูประบบราชการ พอเป็นระบบราชการและมีอำนาจขององค์กรอิสระก็คิดว่าตัวเองเป็นซูเปอร์ราชการก็ไปกันใหญ่ ทำให้ระบบการทำงานไม่เห็นหัวประชาชน ห่างไกลจากประชาชน ทั้งกสม. หรือปปช. หรือองค์กรอื่นๆ

ประเด็นปัญหาต่อมาคือการแทรกแซง  โดยเขายกตัวอย่างองค์กรอิสระในอดีตที่ถูกแทรกแซงตั้งแต่ยังไม่คลอดออกมาคือ กสช. เพราะทุนจะเข้าไปแทรกแซงเนื่องจากองค์กรนี้จะส่งผลกระทบต่อทุน หลังรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา รัฐบาลที่ได้มา ก็ผนวกเข้ากับทุน และเป็นปัญหาต่อมาว่าองค์กรอิสระต้องเผชิญกับการแทรกแซงและกลายเป็นเครื่องมือของทั้งรัฐและทุน

สำหรับองค์กรอิสระทางการเมือง มีอำนาจมากในการตรวจสอบ บางคนหวังว่ากสม. แล้วทำไมไม่สั่งการ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด กสม. ทำหน้าที่เพียงแต่ตรวจสอบ ซึ่งก็เป็นเพียงเสือกระดาษ เช่น ปัญหาการจับกุมผู้ที่ชุมนุมทางการเมือง กสม. บอกว่าเจ้าหน้าที่รัฐใช้กฎหมายผิด เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าเขาไม่ผิดเพราะเขาใช้กฎหมายตามที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่สนใจรัฐธรรมนูญ เป็นการละเมิดทางนโยบายและกฎหมาย เรื่องสิทธิชุมชน กรมป่าไม้ก็อ้างกฎหมายป่าไม้ กรมอุทยานก็อ้างกฎหมายอุทยาน ไม่อ้างรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญปี 2550 ให้อำนาจกสม. ในการฟ้องคดี แต่ยอมรับว่าระบบภายในกสม. นั้นไม่พร้อม ก็ตองประสานกับสภาทนาย

โดยสรุปเรื่องความคาดหวังและอุปสรรคขององค์กรอิสระ ปัญหาขององค์กรอิสระคือการแก่งแย่งทางการเมือง , รธน. เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงาน ,ต้องดูเรื่องกฎหมายหน่วยงานว่าสอดคล้องกับการทำงานหรือไม่ , มีปัญหาการเมืองที่เข้ามาแทรกแซง และสุดท้ายองค์กรอิสระเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจที่แบ่งแยกมากแล้ว ไม่ใช่อำนาจรวมศูนย์

สุดท้าย เขากล่าวว่าประชาชนจะใช้กสม. เป็นเครื่องมือ โดยต้องใช้สิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง และเข้ามาร่วมตรวจสอบการทำงานของกสม. รวมถึงเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการบริหารนโยบายผ่านกครงการพัฒนาต่างๆ ของรัฐ และเป้าหมายในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่องค์กรอิสระต้องคำนึงถึง 

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง: ประเทศไทยโชคดีที่มีองค์กรอิสระ แต่...

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวในการเสวนาหัวข้อ "ความหวังของภาคประชาสังคมในการถ่วงดุลกระบวนการทางการเมืองและนโยบายสาธารณะ" เห็นว่าการมีองค์กรอิสระนั้นช่วยเปิดมิติในการเข้าถึงและการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น สามารถตรวจสอบ-เอาผิดนักการเมืองได้ เข้าถึงข้อมูลได้ แต่ก็ควรจะมีองค์กรอิสระเท่าที่จำเป็นต้องมีเท่านั้น ไม่ใช่นึกอะไรขึ้นมาได้ก็เสนอตั้งขึ้นมา และภาคประชาชนต้องคิดเรื่องการตรวจสอบองค์กรอิสระด้วย

ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวในการเสวนาหัวข้อ "ความหวังของภาคประชาสังคมในการถ่วงดุลกระบวนการทางการเมืองและนโยบายสาธารณะ" ระบุว่าโดยเปรียบเทียบนั้นไทยยังโชคดีกว่ามากที่มีองค์กรอืสระ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่นพม่า หรือมาเลเซียที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการโครงการพัฒนา เช่น นิคมอุตสหากรรมทวาย และเขตอุตสาหกรรมในมาเลเซีย ซึ่งประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้เลย

โดยบรรยากาศทางการเมืองและสิทธิเสรีภาพของไทยนั้นนับว่าดีมากแล้ว การมีองค์กรอิสระนั้นนอกจากต้องเป็นที่พึ่งพาได้ของชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับองค์กรรัฐ และโครงการขนาดใหญ่

อีกประการที่เป็นประโยชน์มากคือ ข้อมูล เพราะแต่เดิมประชาชนจะเข้าไม่ถึงข้อมูลบเกี่ยวกับโครงการต่างๆ แต่ปัจจุบันสามารถร้องเรียนและขอข้อมูลได้ ซึ่งข้อมูลเป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่งต่อการต่อสู้ด้านสิทธิเสรีภาพและตรวจสอบนโยบายของรัฐ และภาคประชาชนหรือใครก็ตามที่ต้องผันตัวเองไปสู้ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งล่าช้า และน้อยมากๆ ที่ภาคประชาชนจะได้ประโยชน์

ข้อมูลที่หลากหลายยังช่วยให้มีมุมมองที่กว้างและชัดเจนขึ้น ขณะเดียวกันการลุกขึ้นมาต่อสู้ของชาวบ้านได้รับการขานรับ สอดส่องดูแลจากองค์กรอิสระที่รับเรื่องร้องเรียน สังคมวงกว้างก็จะได้รับข้อมูลมากขึ้น เช่นกรณี บ้านคลิตี้ ที่ จ.กาญจนบุรี ที่ได้รับผลกระทบตะกั่วปนเปื้อนจากเหมืองแร่ใกล้เคียง แม้จะอยู่ใกล้เพียง จ. กาญจนบุรี แต่กว่าประชาชนทั่วไปจะรู้จักกรณีนี้ก็ต้องใช้เวลายาวนานมาก และกว่าประชาชนที่คลิตี้จะรู้ถึงสาเหตุของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภูมิลำเนาของตัวเองก็ใช้เวลานานหลายปี โดยระยะแรกไม่ได้ข้อมูลจากหน่วยงานราชการเลย แม้วัวควายจะเริ่มล้มตายจากสารพิษปนเปื้อนแล้วก็ตาม

โดยสรุปเธอเห็นว่า การมีองค์กรอิสระนั้นช่วยเปิดมิติในการเข้าถึงและการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น สามารถตรวจสอบ-เอาผิดนักการเมืองได้ เข้าถึงข้อมูลได้

สำหรับประเด็นความเป็นกลางนั้นเธอเห็นว่าไม่มีอยูจริงไม่ว่าจะเป็นองค์กรอะไรก็ตาม เพราะความเป็นกลางเป็นอัตตวิสัย เธอจึงไม่เรียกร้องความเป็นกลาง แต่ขอเพียงตรวจสอบข้อมูลหลักฐานตามข้อเท็จจริงที่มีอยู่ ยึดหลักวิชาการที่มีอยู่ แล้ววิเคราะห์รวมทั้งตัดสินข้อมูลเรื่องราวต่างๆ บนหลักการเหล่านี้ ความเป็นกลางไม่มีความจำเปนความถูกต้องตามหลักการและข้อเท็จจริง และทำหน้าที่ตามที่มี เท่านี้ก็เพียงพอ

ส่วนความเป็นอิสระนั้น เธอก็ไม่เชื่อว่ามีอยู่จริง หากแต่สัมพันธ์กับความเป็นมาหรือที่มาขององค์กรอิสระ ซึ่งกระบวนการสรรหามีอยู่จริง และหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองถือว่าภาคประชาชนพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิง

ประเด็นต่อมาคือ องค์กรอิสระบางองค์การมาจากการต่อสู้ของประชาชน เช่น คณะกรรมกรรกำกับกิจการพลังงาน กสทช. ซึ่งภาคประชาชนต้องคิดต่อว่าจะตรวจสอบอย่างไร

เธอกล่าวในที่สุดว่า องค์กรอิสระสังคมไทยควรจะมีเท่าที่จำเป็นต้องมีเท่านั้น ไม่ใช่นึกอะไรขึ้นมาได้ก็เสนอตั้งขึ้นมา ไม่เช่นนั้นจะเป็นเพียงหน่วยงานที่ให้ข้าราชการมนั่ง องค์กรอิสระควรตรวจสอบได้ประเมินผลงานได้ และควรต้องออกแบบการตรวจสอบหน่วยงานที่มีอำนาจให้ใบอนุญาตอย่างกสทช. ด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนา: บทเรียนพรรคสังคมนิยมเอลซัลวาดอร์และมาเลเซีย

Posted: 14 Mar 2013 08:45 PM PDT

คลิปการเสวนา "ว่าด้วยพรรคการเมืองในโลกประชาธิปไตย"
ในงานรำลึก 37 ปี การจากไปของ ดร.บุญสนอง บุญโยทยานเมื่อ 2 มีนาคมที่ผ่านมา

จากซ้ายไปขวา ปิยบุตร แสงกนกกุล อานนท์ ชวาลาวัณย์ พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ และพัชณีย์ คำหนัก ในการเสวนาหัวข้อ "ว่าด้วยพรรคการเมืองในโลกประชาธิปไตย" ในงานรำลึก 37 ปี การจากไปของ ดร.บุญสนอง บุญโยทยานเมื่อ 2 มีนาคมที่ผ่านมา

 

เมื่อวันที่ 2 มี.ค.56 โครงการรวบรวมประวัติและผลงานของ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน จัดงานรำลึก 37 ปี การจากไปของ ดร.บุญสนอง บุญโยทยาน เหลียวหลังแลหน้า ทางออกระบบพรรคการเมือง ที่ ร.ร.รามาการ์เดนส์ ย่านหลักสี่ ถ.วิภาวดีรังสิต โดยนอกจากการอภิปรายเรื่องพรรคสังคมนิยมในฝรั่งเศสโดยปิยบุตร แสงกนกกุล ตามที่ได้มีการนำเสนอไปแล้วนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ในงานมีวงสัมมนาว่าด้วยตัวอย่างพรรคสังคมนิยมในประเทศต่างๆ โดยอานนท์ ชวาลาวัณย์ นำเสนอหัวข้อ พลวัตพรรคการเมืองในอเมริกากลาง กรณีศึกษาพรรคการเมืองในเอลซัลวาดอร์ เป็นการกล่าวถึงพรรค FMLN (The Farabundo Martí National Liberation Front) พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายซึ่งเริ่มจากขบวนการติดอาวุธ ก่อนที่จะเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลแล้วเข้าสู่พรรคการเมืองในรัฐสภา ขณะที่ พัชณีย์ คำหนัก ยังนำเสนอหัวข้อ พรรคฝ่ายซ้ายในอาเซียน กรณีศึกษาพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายในมาเลเซีย โดยนำเสนอกรณีพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย พรรคการเมืองในรัฐสภา ที่เริ่มมาจากองค์กรภาคประชาชนหลายองค์กรที่ทำงานกับคนจนเมืองและชนบทในประเทศมาเลเซียเริ่มจัดตั้งเครือข่ายแนวร่วม ก่อนขยายสู่การมีพรรคการเมือง (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

อนึ่ง บุณสนอง บุณโยทยาน เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเลขาธิการ 'พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย' ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของผู้มีแนวคิดสังคมนิยม และบางส่วนจาก "กลุ่มคน 100 คน ที่ลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ" และ "13 กบฏ เรียกร้องรัฐธรรมนูญ" ที่เป็นจุดสำคัญของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เขาเคยลงสมัครสมาชิกผู้แทนราษฎร ในปี 2518 แต่ไม่ได้รับเลือก ต่อมาเขาถูกลอบยิงเสียชีวิตระหว่างเดินทางโดยรถยนต์ที่บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต ในวันที่ 28 ก.พ.2519

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เก็บตกเสวนา 15 ปีองค์กรอิสระ ‘สุนี ไชยรส’ ถอดบทเรียนจาก รธน.40-50

Posted: 14 Mar 2013 04:10 PM PDT

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่โรงแรม พลาซ่าแอทธินี ประชาไทร่วมกับโครงการสะพานจัดสัมมนา 15 ปีองค์กรอิสระ สำรวจธรรมาภิบาล สำรวจประชาธิปไตย  โดยหัวข้อหนึ่งของการสัมมนาคือ 'องค์กรอิสระกับสื่อมวลชน 2 พลังสร้างธรรมาภิบาล' ซึ่งมีผู้ร่วมอภิปรายหลายคน รวมทั้ง สุนี ไชยรส ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และในอดีตเคยเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งองค์กรอิสระชุดที่มาจากรัฐธรรมนูญ 40 ดังนั้น เธอจึงมีประสบการณ์ที่คาบเกี่ยวระหว่างรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ และเห็นจุดอ่อนจุดแข็งในกระบวนการทำงานขององค์กรอิสระได้เป็นอย่างดี

และในวันนี้ (15 มี.ค.) จะมีเวทีเสวนาเกี่ยวกับองค์กรอิสระอีกครั้งหนึ่ง ในหัวข้อ 'ความหวังของภาคประชาสังคมในการถ่วงดุลกระบวนการทางการเมืองและนโยบาย สาธารณะ' มีผู้อภิปรายได้แก่ ศ.กำชัย จงจักรพันธ์ ที่ปรึกษา กกต., จอน อึ๊งภากรณ์ อนุกรรมการฯ ในกรรมการสิทธิฯ, นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิฯ ในส่วนการอภิปรายของสุนี ประชาไทเก็บความนำเสนอดังนี้

 

มันเป็นสัจธรรมที่ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบได้ทันทีในทุกเรื่องแบบในทางทฤษฎี

ก่อนปี 40 สังคมไทยเราอยู่กับเผด็จการมามาก เราเจอคือการคุกคามเสรีภาพสื่ออย่างหนักและนี่คือประเด็นใหญ่ที่สุดของสถานการณ์ในช่วงยุคเผด็จการ ฉะนั้น รัฐธรรมนูญ 40 หรือองค์กรอิสระก็เริ่มเกิดขึ้นมาจากกระแสที่ต้องการถ่วงดุลทั้งเผด็จการหรือแม้แต่ประชาธิปไตยเองก็ตาม เราบอกว่าอำนาจ 3 ฝ่ายยิ่งใหญ่ที่สุด ดูเหมือนเป็นโครงสร้างสำคัญที่สุด แล้วทำไมจึงยังต้องมีองค์กรอิสระ ในยุคของรัฐธรรมนูญ 40 ความเป็นจริงก็คือ ถ้าเราย้อนไปดูมาตรา 3 ซึ่งเถียงกันมากในรัฐธรรมนูญ 40 บอกว่า ไม่ว่าการปกครองแบบประชาธิปไตยจะเป็นยังไงก็ตามอำนาจการตรวจสอบ อำนาจการดูแลสูงสุดอยู่ที่ประชาชน ฉะนั้น อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบทุกอำนาจได้  หลักการอยู่ตรงนี้แต่ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า สิ่งหนึ่งที่จะตรวจสอบได้ก็โยงกับเรื่องสื่อ หัวใจของสื่อและองค์กรอิสระที่ถูกออกแบบกันมา คือ ข้อมูล ต้องทำให้ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ทุกคนเข้าถึงได้ สื่อทำหน้าที่นี้อย่างทรงพลังในอดีตแล้วก็โดนคุกคามมา องค์กรอิสระก็เหมือนกันที่สร้างมาเพื่อสามารถเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ ซึ่งก็รวมทั้งเรื่องของข้อมูลด้วย

เรื่องเหล่านี้เป็นพื้นฐานให้ สสร.40 เถียงกันมาก เวลาพูดถึงเสรีภาพสื่อ บางคนบอกว่าสื่อทรงพลังมากเกินไป แล้วก็มาคุกคามสิทธิเสรีภาพของบุคคลเยอะแยะ คนลุกมาโต้แย้งว่าการให้เสรีภาพสื่อมากก็จะไปคุกคามสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล เกียรติยศชื่อเสียงของบุคคล  ข้อนี้ถูกนำมาออกแบบซึ่งกลายเป็นข้อจำกัดที่เยอะเกินไปหน่อย เช่น เรื่องความมั่นคง และอะไรต่างๆ ก็ยังจำกัดสื่อได้เยอะ ในรัฐธรรมนูญเขียนหลักการไว้ดีหมด ห้ามปิดโรงพิมพ์ ปิดสถานีโทรทัศน์ซึ่งสมัยก่อนปิดกันเยอะ แต่แย่หน่อยที่ไปยกเว้นเรื่องความมั่นคงและกรณีอื่นๆ อย่างไรก็ตาม เขายังคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลในเรื่องข้อมูลส่วนตัว เว้นแต่เพื่อประโยชน์สาธารณะ คำว่า "เว้นแต่เพื่อประโยชน์สาธารณะ" นำมาซึ่งการที่สื่อต้องสามารถแสดงพลังของการหาข้อมูล ของการเปิดเผยเรื่องราวต่อสาธารณะ ถ้ามันเป็นประโยชน์สาธารณะก็สามารถแหวกข้อจำกัดหลายๆ เรื่องออกไปได้เพราะสังคมถือว่า สามอำนาจที่เราถือว่าเป็นโครงสร้างหลักนั้นไม่เพียงพอ ต่อให้รัฐบาลมีเสียงข้างมากมากแค่ไหนก็ตามก็ยังต้องถูกตรวจสอบได้

อันนี้เป็นแนวคิดขององค์กรอิสระด้วยที่เกิดขึ้นมา แม้ว่าบางคนจะบอกว่านี่เป็นการสร้าง "อำนาจที่ 4"  ประชาธิปไตยมี 3 อำนาจพอแล้ว ในส่วนของรัฐบาลกับรัฐสภาก็ยังมาจากการเลือกของประชาชนด้วย แต่แนวคิดเบื้องหลังของการมีองค์กรอิสระก็คือ รัฐบาลต้องถูกตรวจสอบถอดถอนได้ตลอดเวลา

นอกจากนี้ยังต้องการออกแบบให้มีการถ่วงดุล องค์กรอิสระที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่องค์กรอิสระที่มามิติเดียว องค์กรอิสระที่ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน องค์กรอิสระที่ตรวจสอบในเชิงของคำสั่งทางปกครอง องค์กรอิสระที่ตรวจสอบการทุจริต จิ๊กซอว์เป็นอย่างนี้

มีคนตั้งคำถามกันว่า เมื่อมีองค์กรอิสระเยอะๆ แล้วทำไมไม่ทำอะไรไปพร้อมๆ กันไปเลย นี่เปลืองมาก ทุกคนพากันตรวจสอบ แต่นี่คือโจทย์ ดิฉันบังเอิญไปอยู่ที่กรรมการสิทธิฯ จึงขอโยงมานิดหนึ่งว่า เราจะต้องฟันธงบอกว่า องค์กรอิสระต้องไม่ฮั้วกัน เพราะมันถูกออกแบบให้ตรวจสอบกันเองด้วย องค์กรอิสระไม่ใช่เฉพาะจะมาตรวจสอบแต่รัฐบาล แต่จะต้องตรวจสอบซึ่งกันและกันด้วย และถูกตรวจสอบจากประชาชน ไม่ใช่อิสระจากทุกสิ่งทุกอย่าง  คุณไม่สามารถอิสระจากอำนาจถ่วงดุลในรัฐธรรมนูญ คุณไม่สามารถอิสระจากอำนาจของประชาชนซึ่งเป็นแกนหลักของอำนาจพื้นฐาน

ดังนั้น องค์กรอิสระจึงเกิดขึ้น เพราะยังไม่สามารถจะสร้างทฤษฎีที่รัฐบาลจะสมบูรณ์แบบ ทำอะไรก็ได้ ดี เรียบหมดเลย ไม่ใช่ สภาเองก็ไม่ใช่ว่าจะสมบูรณ์แบบ

เมื่อโยงไปถึงสื่อ อำนาจของข้อมูลข่าวสารกับการเปิดเผย ถ้าเราดูรัฐธรรมนูญเราต้องไปดูเฉพาะหมวดว่าด้วยองค์กรอิสระและเสรีภาพสื่อ  รัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนโยงไปทั้งมิติของกระบวนการยุติธรรม โยงไปเรื่องสิ่งแวดล้อม โยงไปทุกเรื่องเพื่อจะบอกว่า ประชาชนต้องสามารถมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง การจะมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในเรื่องทั้งหลาย หนทางสำคัญคือต้องเปิดเผยอข้อมูลข่าวสาร ทำให้ทุกเรื่องเปิดเผยต่อสาธารณะ และนี่เป็นการมีส่วนร่วมที่ประชาชนไม่ต้องรอเฉพาะการถอดถอนนักการเมืองอย่างเดียว แต่สามารถเคลื่อนขบวนของการตรวจสอบนี้เป็นระยะๆ อำนาจยังอยู่กับประชาชน  ไม่ได้อยู่ที่อำนาจสามฝ่าย ไม่ได้อยู่ที่องค์กรอิสระ ไม่ได้อยู่ที่สื่ออย่างเดียว  แต่สามารถออกแบบให้สามารถตรวจสอบถ่วงดุลจากสิทธิเสรีภาพของประชาชนในทุกมิติ มีส่วนร่วมเอาไว้ในทุกขั้นตอน

นี่คือการออกแบบที่ดูเหมือนจะวาดหวังบรรเจิด แต่ในความเป็นจริงก็เกิดปัญหา ซึ่งเข้าใจได้ เพราะบังเอิญตัวเองไปอยู่ทั้งกรรมการสิทธิฯ ตอนนี้ก็อยู่กรรมการปฏิรูปกฎหมาย ไม่แน่ใจว่าเป็นองค์กรอิสระไหม แต่เขาเขียนว่าเหมือนเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ50 โดยเพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ใน 2 ปีนี้

ทีนี้ลองมาพูดถึงข้อโต้แย้งที่เราเปิดประเด็นเอาไว้ เรื่องเสรีภาพสื่อ เบื้องต้นพยายามอธิบายแล้วว่า โดยหลักการเราต้องให้เสรีภาพสื่อสูงสุดสำหรับสังคมประชาธิปไตย  แต่แน่นอน ถ้าคุณละเมิดดิฉัน ดิฉันก็ฟ้องคุณ  ถ่วงดุลด้วยการที่สามารถฟ้องต่อศาลได้ ฟ้องต่อองค์กรอิสระได้เพื่อให้ตรวจสอบสื่อได้ ในเชิงบวกของมันก็คือ สื่อกับองค์กรอิสระซึ่งมีหลายมิติ ถ้าสามารถร่วมมือกันได้น่าจะสามารถผลักดันสิ่งต่างๆ ได้มาก เช่น ดูเหมือนหลายองค์กรไม่ได้ใช้บทบาทของสื่อ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด ตอนอยู่ที่กรรมการสิทธิฯ เราก็ได้ทำงานร่วมกับสื่ออย่างมาก สื่อลงพื้นที่กับเรา สื่อไปพิสูจน์เรื่องราวกับเรา แล้วสื่อกลับมารายงานแสดงพลังของความเป็นสื่อ หรือแม้แต่การแถลงข่าวตามปกติ นอกจากนี้ยังมีการประสานข้อมูลกันมาก เพราะเงื่อนไขของกรรมการสิทธิฯ หรือองค์กรอิสระอื่นๆ พลังของเขาอยู่ที่อำนาจแห่งการเรียกข้อมูลเพื่อตรวจสอบข้อมูลช่วยประชาชน บางข้อมูลก็ส่งให้สื่อ สื่อได้ข้อมูลก็ส่งให้องค์กรอิสระ แล้วก็ส่งผ่านไปที่ประชาชน นี่คือแกนกลางของความร่วมมือ นี่คือแนวคิดอันสมบูรณ์ในเรื่องความร่วมมือ แต่จะไม่ฮั้วกันและตรวจสอบกันในทุกมิติขององค์กรอิสระและสื่อด้วย

นอกจากนี้เมื่อพูดถึงสิ่งที่คาดหวังในรัฐธรรมนูญ40 นั้น รัฐธรรมนูญ50 ก็นำบางส่วนมาใช้อยู่ แล้วใครจะตรวจสอบที่ลึกลงไปกว่านั้น เช่น วุฒิสภาถอดถอนองค์กรอิสระ เพียงแต่มีจุดเปลี่ยนบางอย่าง เมื่อให้เสรีภาพสื่อแล้วต้องควบคุมดูแลกันเองด้วยการสร้างมาตรฐานจริยธรรม สร้างองค์กรวิชาชีพ ฯลฯ เพื่อมาถ่วงดุล องค์กรอิสระก็เหมือนกัน ต้องถูกตรวจสอบได้ตลอดเวลา อันนี้จะออกแบบกันอย่างไร ต้องยอมรับว่าองค์กรอิสระก็เป็นกลุ่มที่ถูกว่ากันไปทุกองค์กร เช่น กกต. ป.ป.ช. กสม. ผู้ตรวจการฯ ถูกสื่อถูกภาคประชาชนวิจารณ์มาก แต่ที่ไม่อาจจะวิจารณ์ได้ชัดเจนก็คือ องค์กรอิสระที่เราเรียกว่า ศาล

เรายังรู้สึกไปไม่ถึงศาลนัก จะวิจารณ์ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญได้แค่ไหน  คือวิจารณ์ได้ระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เท่าองค์กรอิสระอื่นๆ อันนี้เป็นโจทย์ที่ยังทิ้งไว้

ต่อมา เรื่องที่มาและองค์ประกอบจึงเป็นเรื่องสำคัญขององค์กรอิสระ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ40 ก็ไม่ใช่ว่าดีหมดแต่มันถูกออกแบบโดยการเชื่อมโยงกับภาคประชาชน เช่น คณะกรรมการสรรหาของเกือบทุกองค์กรอิสระ แม้ว่าจะมีศาล มีนักการเมือง มีอธิการบดี  ภาคราชการ แล้วก็ถูกออกแบบต่างกันเล็กน้อยในแต่ละองค์กร แต่มันยังขาดความเชื่อมโยงกับภาคประชาชน เช่น บางองค์กร อย่าง กสม.นั้นชัด ที่มานั้นมาจากอธิการบดี ตัวแทนสื่อ ตัวแทนภาคประชาสังคม หลายฝ่ายเข้าไปมีส่วนร่วมในการสรรหา ก็จะยึดโยงกับประชาชน อย่างที่สองคือ ยึดโยงกับวุฒิสภา วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จึงเป็นเสมือนตัวแทนของประชาชนแล้วมาเป็นคนเลือกองค์กรอิสระ ซึ่งมาจากกรรมการสรรหาที่หลากหลาย ยึดโยงภาคประชาสังคม แต่ก็ถ่วงดุลด้วยการให้วุฒิสภามีสิทธิเลือกด้วย  ถ้ายังจำได้ กรรมการสรรหาจะเลือกไว้เป็นสองเท่า แล้วให้วุฒิสภาเลือกให้เหลือครึ่งหนึ่ง 

แต่พอมาเปลี่ยนแปลงเป็นรัฐธรรมนูญ50 ก็ต้องขอวิจารณ์ต่อไว้ว่า รัฐธรรมนูญ50 ได้ทำให้ที่มาและองค์ประกอบขององค์กรอิสระเพี้ยน  เพี้ยนจากเจตนารมณ์เดิม คือ เรื่องที่มาเราคงพอรับรู้กันอยู่ว่า ถึงแม้มันจะมีความต่างกันบ้างในแต่ละองค์กร แต่ก็มีจุดร่วมที่คล้ายกัน พูดง่ายๆ ในภาพรวมก็คือ มาจาก 7 คนเป็นหลัก  7 คนนั้นก็มาจากศาลเสีย 3 วงเล็บมาจากศาลเลือกอีก 2 รวมเป็น 5 ที่เหลือมาจากประธานรัฐสภา และผู้นำฝ่ายค้าน รวมเป็น 7 คน แล้วก็เลือกองค์กรอิสระเกือบทั้งหมดเลย องค์ประกอบจะคล้ายกัน ต่างกันบางองค์กร 

ประการที่สอง วุฒิสภา มาจากการเลือกตั้งส่วนหนึ่งและมาจากการสรรหาอีกส่วนหนึ่ง และการสรรหาของวุฒิสภาก็มาจากการสรรหาโดยศาล  มันถูกออกแบบจนกระทั่งการยึดโยงกับประชาชนในที่มาและองค์ประกอบขององค์กรอิสระมันสับสน แล้วก็แล้วก็ทำให้ยิ่งแย่ ดิฉันเองก็ยังสะเทือนใจในฐานะคนอยู่กับรัฐธรรมนูญ 40 เวลาเขาวิจารณ์เรื่องนี้ไม่ได้หมายถึงว่าคุณหมอนิรันดร์ (พิทักษ์วัชระ-กรรมการสิทธิ) ไม่ดี แต่นี่เรากำลังผู้ถึงโครงสร้างที่มันถูกออกแบบจนไม่ยึดโยงกับภาคประชาชน และถูกออกแบบให้สับสน วงกลมนี้มันทำให้กระบวนการ ที่มาของการตรวจสอบอย่างเข้มแข็งนั้นเปลี่ยนไป

กรรมการสรรหาเสนอเท่าเดียว คือวุฒิสภาไม่มีสิทธิเลือกด้วย  ถ้าวุฒิสภาไม่เห็นด้วยอย่างดีก็โยนกลับให้กรรมการสรรหา แล้วถ้ากรรมการสรรหายืนยันมติ วุฒิสภาก็ต้องรับ ดังนั้น ความเป็นองค์กรอิสระตามเจตนารมณ์ มันจึงขึ้นอยู่กับการออกแบบด้วยและไม่ใช่เพียงตัวตนแค่ง่ายๆ มันต้องออกแบบทั้งขบวน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า รัฐธรรมนูญ40 สมบูรณ์ เพียงแต่อธิบายให้เห็นภาพว่า ถ้าคุณตัดขาดจากกระบวนการเหล่านี้ ที่มาและองค์ประกอบมันจะยิ่งสับสนขึ้น เพราะว่าพูดตรงไปตรงมา ศาลไม่มีทางรู้ได้เลยว่าใครคือนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนอันเป็นที่ประจักษ์ตามที่รัฐธรรมนูญเขียน

สำหรับสื่อเอง วันนี้ดูสถานการณ์ก็ต้องยอมรับกันตรงไปตรงมา รัฐธรรมนูญ50 ไปเขียนเพิ่มเอาไว้ในเรื่องสื่อที่น่าสนใจในหลายมาตรา บอกว่า ห้ามนักการเมืองเข้าไปถือหุ้น หน่วยงานของรัฐห้ามไปสนับสนุนสื่อของภาคเอกชนเพื่อไม่ให้มีการครอบงำสื่อ มันต้องถ่วงดุลกันอย่างนี้ ไม่อย่างนั้นเสรีภาพสื่อมันจะแสดงออกไม่ได้ นอกจากนี้ยังให้พนักงานของสื่อทั้งภาครัฐและเอกชนมีสิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็น เช่น คัดค้านบก.ได้ อันนี้ก็เป็นทฤษฎีอยู่เหมือนกันว่าจะกล้าค้านบก.แค่ไหน เพราะสื่อถูกคาดหวังสูงว่าจะต้องถ่วงดุลการตรวจสอบทั้งขบวนทั้งนักการเมืองและองค์กรอิสระ

รัฐธรรมนูญ50 ออกแบบในเรื่องนี้มาฟังดูดีพอสมควร แต่ถามว่าในความเป็นจริงวันนี้ก็จะเห็นว่าสื่อกระแสหลักต่างๆ ก็ไม่อาจหลุดพ้นไปจากการครอบงำของทุน ถ้าวิจารณ์กันลึกลงไป ตอนนี้มันออกแบบให้กลุ่มทุนหรือนักการเมืองซับซ้อนขึ้น เช่น นักการเมืองดูเหมือนไม่ได้ถือหุ้น แต่ว่าอาจจะเป็นบริษัทลูกหลานอะไรที่ซับซ้อนขึ้น  และไม่ใช่เพียงหน่วยงานของรัฐไปถือหุ้นในสื่อเอกชน แต่กลายเป็นบริษัทที่ถูกออกแบบให้จากเดิมเป็นรัฐวิสาหกิจแล้วก็แปลงทุน แปรรูปก็มี  ไม่แปรรูปก็มี กลายเป็นตั้งบริษัทลูกต่อๆ ไปซึ่งก็มีอิทธิพลต่อสื่ออยู่ดีในแง่ของงบโฆษณาทั้งหลาย ไม่ใช่แค่บริษัทเอกชนธรรมดา จนกระทั่งสื่อเองควรจะมีหน้าที่ไปวิเคราะห์ความซับซ้อนเหล่านี้ เพื่อเปิดให้เห็นว่าสื่อนั้นต้องการเสรีภาพที่จะแสดงพลังของตนเองได้ ที่พูดนี้ก็ด้วยความเห็นใจว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราพูดกันในเชิงหลักการ

เพราะฉะนั้นสองพลังขององค์กรอิสระและสื่อจึงสำคัญอย่างมากและต้องประสานกัน ถึงอย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวยังยืนยันว่าการมีองค์กรอิสระที่มีการสร้างองค์ประกอบและที่มาที่ไปให้สมบูรณ์ยังเป็นเรื่องที่ดีและจำเป็น เสรีภาพสื่อยังต้องพิทักษ์เต็มที่ เพราะว่าสองอย่างนี้สามารถช่วยเหลือภาคประชาชนในการแสดงพลังของการตรวจสอบ บนฐานที่ไม่ใช่แค่เรื่องทุจริตเท่านั้น วันนี้สังคมไทยและสังคมโลกมีความซับซ้อนที่มากกว่านั้น แล้วนำไปสู่การมีนโยบายที่ทำให้ภาคประชาชนเดือดร้อนมากมาย เป็นการทุจริตที่ไม่เหมือนกับการโกงเงิน แต่เป็นการทุจริตที่ทำให้เกิดคดีสิ่งแวดล้อม เกิดคดีแรงงาน พันไปจนถึงเรื่องนโยบาย ไปจนถึงระดับอาเซียนที่ให้ประโยชน์กับกลุ่มทุน เพราะฉะนั้นองค์กรอิสระทุกมิติ และสื่อ จึงจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันอย่างแข็งแรง ขณะเดียวกันก็จะต้องให้สังคมเข้ามาตรวจสอบเราคือตรวจสอบองค์กรอิสระ และตรวจสอบสื่อด้วย

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตที่สำคัญในเรื่องอิทธิพลอันทรงพลังของข้อมูลข่าวสาร ตอนนี้กำลังถูกออกแบบจากกฤษฎีกาเสียใหม่ โดยกฤษฎีกาได้แก้ร่างกฎหมายคณะกรรมการสิทธิฯ ซึ่งต้องออกใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วไปล็อกความสำคัญของการเปิดเผยข้อมูลระหว่างองค์กรอิสระกับสื่อและภาคประชาชน ด้วยการไปแก้ไขร่างกฎหมาย ซึ่งดิฉันเป็นคนร่วมร่างตอนอยู่กรรมการสิทธิฯ ก่อนจะหมดวาระ เพราะต้องร่างตามรัฐธรรมนูญ 2550 ปรากฏว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาไปเพิ่มประโยคสำคัญที่แย่มาก และวันนี้ก็ยังดำรงอยู่ในร่างของกรรมการสิทธิฯ ที่กำลังเข้าสภา คือ บอกว่าห้ามกรรมการสิทธิฯ เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่ได้มาจากการตรวจสอบ นี่คือการตัดมือตัดตีนกรรมการสิทธิฯ เพราะกรรมการสิทธิฯ ไม่มีอำนาจเหมือนศาล แต่กรรมการสิทธิสามารถเข้าถึงข้อมูล มีอำนาจตรวจสอบ เอาข้อมูลมาให้ภาคประชาชน เอาข้อมูลมาให้สาธารณะ เอาข้อมูลมาให้สื่อ ถ้าห้ามกรรมการสิทธิฯ เปิดเผยข้อมูล โดยกำหนดว่ามีสิทธิเปิดเผยข้อมูลใน 2 กรณีเท่านั้น คือเข้าไปอยู่ในชั้นศาล กับ รายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องโจ๊กไหม รายงานคณะกรรมการสิทธิฯ อาจจะหนา 20 หน้า 30 หน้า แต่ข้อมูลนั้นอาจจะกองท่วมหัว แล้วหลายข้อมูลจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะให้เร็ว จึงจะสามารถนำไปสู่การตรวจสอบ ต่อยอดออกไปได้

ดังนั้น การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งไม่ได้เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญตอนนี้ แต่อยากบอกว่าถ้าจะแก้ไขก็มีหลายเรื่องที่ต้องแก้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระ 

เราพูดถึงเป้าหมายหรือทิศทางที่เราคาดหวังไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระหรือเสรีภาพสื่อ เพราะมันเป็นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่ต้องมีการเลือกตั้ง มีถอดถอน แต่ในนั้นต้องวงเล็บไว้ด้วยว่า เราไม่ได้ต้องการประชาธิปไตยที่มีแต่การเลือกตั้งอย่างเดียว แต่มันต้องควบคู่กับการที่ต้องมีประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ในทุกระดับ ขณะเดียวกันก็ต้องบอกว่าสิทธิเสรีภาพจะได้มานั้นจำเป็นต้องได้มาจากการตระหนักของคนที่เกี่ยวข้อง ถ้าพูดแบบสำนวนส่วนตัวก็คงจะบอกว่า สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค อะไรทั้งหลายทั้งปวงนั้นต้องได้มาด้วยการต่อสู้ของแต่ละท่าน  แต่ละกลุ่มที่เกี่ยวข้องด้วย มันถึงจะเป็นหลักประกัน ต้องมีส่วนที่ประชาชนลุกขึ้นมาพิทักษ์สิทธิหรือเรื่องราวของตัวเอง ไม่ให้มีใครมาทุจริต หรือไม่ให้มีใครมาใช้อำนาจเกินขอบเขต และอีกส่วนหนึ่ง ต้องบอกด้วยว่าตราบใดที่สังคมไม่มีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีมันก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย ฉะนั้นประชาธิปไตยจึงมีสามเรื่องที่เกี่ยวข้องกันหมด

เหตุที่ต้องโยงตรงนี้ เพราะอยากจะตอบคำถามบางประการ ขอยกตัวอย่างเร็วๆ ของกรรมการสิทธิฯ เพราะเป็นเรื่องที่เจ็บปวดมาก  กรรมการสิทธิฯ สู้กันในรัฐธรรมนูญหนักหน่วงมากเพราะถือเป็นองค์กรฝ่ายซ้าย เอียงกระเท่เร่ เขากังวลว่ามันจะเข้าข้างประชาชนมากไป เมื่อเข้าไปสู่กระบวนการทางกฎหมายของกฎหมายกรรมการสิทธิฯ เถียงกันหนักมาก สู้กันหลายรอบ ผลสุดท้ายก็บังคับให้กรรมการสิทธิฯ มีสำนักงานเป็นส่วนราชการ แพ้ตั้งแต่ยกแรกของการมีสำนักงาน ส่วนราชการคืออะไร  เลขาธิการต้องมาจากระดับ 10 และระดับ 11 เท่านั้น แล้วจะหามาจากไหน เพราะต้องการประสบการณ์ที่แหวกกรอบ เข้าใจเรื่องสิทธิ ออกนอกกรอบให้ได้ ดังนั้นก็อิหลักอิเหลื่อกันมา พอมาถึงรัฐธรรมนูญ 50 เขาก็บอกว่าให้เป็นหน่วยงานของรัฐ คือ คุณออกจากส่วนราชการได้ ดิฉันเป็นคนร่างกฎหมายกรรมการสิทธิฯ ตอนนั้นก็บอกให้ออกจากราชการ ทำแบบระบบคู่ เพื่อทำให้เขาค่อยๆ ปรับตัวได้ เพราะข้าราชการเข้ามาอยู่กันเยอะแล้วไปตัดสิทธิเขาไม่ได้ ผลปรากฏว่า พอเข้ากฤษฎีกา ข้าราชการยกขบวนไปบอกว่า กรรมการสิทธิฯ กำลังละเมิดข้าราชการ กฤษฎีกาก็แก้กลับไปเป็นส่วนราชการเหมือนเดิม วันนี้ร่างที่อยู่ในสภาและรอคิวอยู่ ก็ระบุให้กลับไปเป็นส่วนราชการ เป็นเรื่องของสภาแล้วว่าจะแหวกกรอบตรงนี้ออกมาได้ยังไง แต่แนวโน้มยากที่จะแหวกออกมาได้

อันที่สองคือ ทัศนคติของคนที่มององค์กรอิสระทุกระบบ พยายามทำให้องค์กรอิสระอยู่ในกรอบ เวลาเขียนก็จะไปหมกเม็ดในรายละเอียดของกฎหมาย  องค์กรอิสระเลยอยู่ระหว่างการต่อสู้ทางความคิดระหว่างการเป็นอิสระอย่างแท้จริง กับการที่ถูกดึงเอาไว้ไม่ให้อิสระจริงโดยเฉพาะแนวคิด ทัศนคติที่ครอบงำ แม้จะออกมาจากหน่วยงานของรัฐแล้ว แต่ถ้าคนยังมาจากข้าราชการ หรือมีทัศนคติแบบนั้น ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากที่เราจะแหวกกรอบออกมาได้

อีกจุดหนึ่งที่สู้แล้วยังไม่ไปไหนคือ องค์กรภายใน ทุกองค์กรจะต้องพิทักษ์สิทธิตัวเอง พนักงานทั้งหลายต้องลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิตัวเองได้ เช่น การมีสหภาพ การรวมกลุ่ม กล้าต่อรองกับสิ่งที่ไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในระบบของสำนักงานนั้นๆ ตอนนี้กฎหมายเราก็ยังวุ่นวาย อิหลักอิเหลื่ออยู่ ยังไปไม่ถึง เช่น จะมีสหภาพข้าราชการ สหภาพในหน่วยงานของรัฐ เหล่านี้จะต้องอาศัยความกล้าหาญของเราด้วย เพราะเรื่องการต่อรองภายในนั้น คุณต้องกล้าที่จะลุกขึ้นสู้ด้วย

ประการต่อมา รัฐธรรมนูญ 40 มีองค์กรอิสระที่เขียนเอาไว้กว้างๆ ว่ามีองค์กรอะไรบ้าง ยังมีบางองค์กรที่ควรออกมาเป็นอิสระ แต่ยังไม่มีเป็นหมวดเฉพาะเช่น องค์กรผู้บริโภค กสทช. คือ เป็นหมวดว่าด้วยองค์กรอิสระรับรู้ด้วยกัน แต่จู่ๆ รัฐธรรมนูญ50 ก็อคติแบ่งองค์กรอิสระแยกเกรด องค์กรอิสระเกรดเอ เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ กรรมการสิทธิฯ ถูกย้ายไปอยู่เกรดบี เป็นต้น ก่อให้เกิดความสับสนไปหมดว่า ตกลงมันเป็นองค์กรอะไรกันแน่  นำมาซึ่งการตีความ การจัดการที่ไม่เข้าท่านัก และยังมีเรื่องการมีส่วนร่วม ที่พูดไปแล้วว่า การมีส่วนร่วมมีตั้งแต่องค์กรภายในด้วยกันเอง การมีส่วนร่วมจากภายนอก เพราะวิถีชีวิต วัฒนธรรมคนเราต่างกัน เมื่อไม่มีการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังก็จะสร้างปัญหา และดูเหมือนจะเป็นปัญหาใหญ่ของกฎหมาย

ตอนนี้มาเป็นคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จะขอพูดเรื่องนี้สักหน่อย  การปฏิรูปกฎหมายก็คือ ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่การร่าง การติดตาม การบังคับใช้ การตรวจสอบ เมื่อกฎหมายไม่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง มันจึงนำมาซึ่งกฎหมายที่ก่อให้เกิดปัญหาซ้อนแล้วซ้อนอีก

อีกนิดหนึ่ง ตอนนี้คนไปใช้คำว่า กฎหมายองค์กรอิสระต้องเป็นกลาง และมีความพยายามจะแก้กฎหมายกรรมการสิทธิฯ ท่านคงจำได้ว่ากรรมการสิทธิฯ ถูกถอดถอนคนหนึ่งด้วยข้อหาว่าไม่เป็นกลาง แท้ที่จริงแล้วต้องถกเถียงกันนานเลยว่า คำว่าเป็นกลางขององค์กรอิสระคืออะไร มันจะต้องไม่มีความเป็นกลาง แต่มันจะต้องมีความเที่ยงธรรม เราแก้กฎหมายกรรมการสิทธิฯ ตัดคำว่าเป็นกลางออก แล้วเปลี่ยนเป็น เที่ยงธรรม คณะกรรมการกฤษฎีกาก็แก้กลับมาใหม่เหมือนเดิม กฎหมาย คปก. ก็เหมือนกัน ถูกล็อคกับคำว่าเป็นกลาง เพราะฉะนั้น โจทย์ตรงนี้มันสะท้อนทัศนคติหลากหลายมาก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น