โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ปฏิรูป บีอาร์เอ็น

Posted: 24 Mar 2013 09:43 AM PDT

 

การมีความเห็นร่วมกันว่า "ต่อไปนี้เราจะคุยกัน" แทนการสาดกระสุนใส่กัน นับเป็นก้าวย่างที่สำคัญของการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อเหตุการณ์มาถึงจุดที่ต่างฝ่ายต่างตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่าการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธรังแต่จะสร้างความพินาศร่วมกัน (mutual destruction) ให้แก่ทั้งสองฝ่าย ประเด็นอื่นๆเช่นเรื่องตัวจริงหรือตัวปลอมที่มีการพูดกันจึงเป็นเพียงประเด็นย่อย มิพักต้องกล่าวว่ารัฐจะต้องคุยกับทุกกลุ่มไม่ว่ากลุ่มไหน อีกทั้งการพูดคุยเป็นกระบวนการมิใช่เหตุการณ์เฉพาะ กระบวนการนี่เองจะเป็นตัวขัดเกลา ดึงตัวจริงเข้าหรือคัดของปลอมออก ข้อกังวลเรื่องตัวจริงตัวปลอมจึงเป็นข้อกังวลที่สามารถปัดเป่าให้หายไปได้ด้วยกระบวนการดังกล่าวข้างต้น 
 
ผมยังมองไม่เห็นว่ารัฐไทยจะสูญเสียอะไรจากการพูดคุยภายใต้อำนาจอธิปไตยของไทยที่พรักพร้อมด้วยอำนาจทางการทหารและยุทโธปกรณ์ ประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดและมีบทบาทสำคัญอย่างมาเลเซียก็ยืนยันมาตลอดว่าไม่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน กลุ่มประเทศที่ประชุมโลกอิสลามหรือ โอไอซี (Organization of Islamic Conference, OIC) ซึ่งมีซาอุดิอารเบียเป็นแกนนำหลักสำคัญก็ไม่ยอมรับการแบ่งแยกดินแดนดังที่ท่านเลขาธิการ ดร.เอกเมลดดิน อิซาโนกลู  ได้ออกแถลงการณ์ทุกครั้งที่เยือนประเทศไทย

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น เหตุการณ์ทางการเมืองรวมทั้งภูมิรัฐศาสตร์ในโลกอาหรับก็ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงจากทศวรรษ 1960-1980 ที่ประเทศในภูมิภาคนี้แข่งกันสนับสนุนขบวนการปฏิวัติในโลกมุสลิมกันอย่างกว้างขวาง กลุ่ม BRN ที่นำโดย อุสตาส การีม ก็เป็นหนึ่งในผลผลิตอันนี้ ประเทศที่เคยให้ความช่วยเหลือกลุ่มพูโล (PULO) และ BRN อย่าง ลิเบีย อียิปต์ ตูเนียเซีย หรือ อิรัก กลายเป็นประเทศประชาธิปไตยไปหมดแล้ว (แม้จะเผชิญกับปัญหาหลายประการอันเกิดจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตย) ส่วน ซีเรียดินแดนที่ตวนกู บิรอ (d.2008) ผู้นำ PULO ผู้ล่วงลับใช้เป็นแหล่งพักพิงก่อนเสียชีวิตและฝังศพ กำลังมีปัญหาสงครามกลางเมืองที่ยังมองไม่เห็นอนาคตว่าจะลงเอยแบบใด

ทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกดังกล่าวข้างต้นล้วนทำให้การแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากยิ่งในในศตวรรษนี้ แกนนำระดับบริหารและปัญญาชนฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบล้วนตระหนักถึงข้อเท็จจริงนี้เป็นอย่างดี เห็นได้จากท่าทีของ นาย กัสตูรี มะห์โกตา ผู้นำ กลุ่มพูโลที่ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์ไทยช่องหนึ่งเมื่อเร็วๆนี้ วาทกรรมเรื่องการเจรจาแล้วอาจนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนที่กำลังเผยแพร่กันอย่างเอิกเริกในสื่อสังคมออนไลน์ในขณะนี้จึงเป็นสำนวนโวหารที่ว่างเปล่า (Emptied Rhetoric) ปราศจากข้อเท็จจริงและภาวะแวดล้อมสนับสนุน
 
ปัญหาที่อาจเกิดจากการพูดคุยจึงไม่ได้อยู่ที่รัฐไทย แต่อยู่ที่ ตัวBRN เองต่างหาก การที่รัฐไทยลงนามในข้อตกลงร่วมกันกับ BRN ทำให้เกิดคำถามขึ้นตามมาก็คือ BRN เป็นตัวแทนอันถูกต้องและชอบธรรมของประชาชนชาวปาตานี (สามจังหวัดชายแดนภาคใต้) หรือไม่? การลงนามเป็นการยอมรับกลายๆจากรัฐไทยว่าเป็นเช่นนั้น ในขณะที่ BRN ก็สามารถนำมาอ้างได้ว่าพวกเขาพูดกับรัฐไทยในนามของประชาชนชาวปาตานี เพราะถ้าไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นว่าเรื่องที่ลงนามหรือพูดคุยกันเป็นเรื่องระหว่าง BRN ซึ่งเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของ BRN กับรัฐบาลมิใช่เป็นเรื่องของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ประเด็นที่ต้องพิจารณาถัดไปก็คือ ถ้า BRN อ้างว่าเป็นตัวแทนอันถูกต้องและชอบธรรมที่สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คำถามที่เกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติก็คือ ชอบธรรมอย่างไร? ที่ผ่านมาอย่างน้อยในรอบ 20 ปี BRN ได้เคยรับฟังความคิดเห็นด้วยการทำงานในระดับรากหญ้าเคียงบ่าเคียงไหล่กับพี่น้องประชาชนเพื่อสร้างฉันทามติร่วมกันหรือไม่ (มิใช่เพียงแค่ชักจูงกลุ่มวัยรุ่นในโรงเรียน)

กลุ่มฮามาส (Hamas) ในปาเลสไตน์เป็นตัวอย่างที่ดีขององค์กรในลักษณะปฏิวัติที่ BRN มีส่วนคล้ายอยู่บ้าง (แน่นอนเปรียบเทียบกันไม่ได้ แต่เราเปรียบเทียบเพื่อหาสิ่งเปรียบเทียบ) ฮามาสทำงานอย่างหนักกว่า 20 ปี ด้วยการสร้างเครือข่ายทางสังคมและองค์กรการกุศลในระดับรากหญ้าเพื่อยกระดับสภาพความเป็นอยู่ของชาวปาเลสไตน์ เมื่อมีคนป่วย คนชรา เด็กกำพร้า หรือผู้เสียชีวิตที่ไหนฮามาสไปถึงที่นั่น ฮามาสสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล และคลินิก ทั้งยังมีหน่วยกู้ภัยที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลกอาหรับ ในความรู้สึกของคนปาเลสไตน์ฮามาสคือผู้ช่วยเหลือ คอยแก้ปัญหาต่างๆให้กับประชาชนในขณะที่รัฐ (คณะกรรมการบริหารตนเอง/Palestine Authority, PA) ทำงานอยู่บนหอคอยงาช้าง ห่างจากประชาชน และล้มเหลวแม้กระทั่งการให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน เช่น แจกจ่ายยาในภาวะของการเจ็บไข้ได้ป่วย  ด้วยเหตุนี้ในสายตาของชาวปาเลสไตน์ กลุ่มฮามาสจึงมีความชอบธรรมในการต่อสู้ในนามของพวกเขา เมื่อมีการเลือกตั้งในปี 2006 ฮามาสจึงชนะอย่างถล่มทลายยิ่งเป็นการการันตีความชอบธรรมให้กับฮามาสในฐานะ "ตัวแทนของประชาชนชาวปาเลสไตน์"  
 
ปัญหาของ BRN ก็คือ ที่ผ่านมา BRN แค่เล่นกับความรู้สึก (ทางประวัติศาสตร์/การกดขี่ข่มเหง/ความอยุติธรรม) ที่ผู้คนในอาณาบริเวณนั้นประสบจากรัฐไทย โดยผลประโยชน์และความผิดพลาดในการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นตัวสร้างความชอบธรรมในการต่อสู้ให้กับ BRN แต่เมื่อเข้าสู่โต๊ะเจรจา BRN ต้องเจรจาในนามของประชาชนชาวปาตานี นี่เองจะเป็นปัญหาอย่างมากเนื่องจาก BRN มิได้เป็นองค์กรที่เกิดจากฉันทานุมัติของประชาชน หรือเป็นองค์กรที่เป็นที่เห็นพ้องต้องกันของบรรดาเหล่าผู้รู้ทางศาสนา (อูลามาอ์) ดังเช่นในกรณีของอาเจ๊ะ ซึ่งมี องค์กรรวมอูลามาอ์อาเจ๊ะ (Persatuan Ulama Seluruh Aceh, PUSA) เป็นหัวหอกในการต่อสู้  อีกทั้งแนวทางการต่อสู้ของ BRN ก็มิได้เป็นการแสวงหาเครือข่ายหรือสร้างพันธมิตร ยังไม่ต้องพูดถึงว่าชาวบ้านยังไม่รู้ว่า BRN ทำอะไรให้กับชาวบ้านบ้างนอกจากสร้างความกลัวและกำจัดผู้ที่เห็นต่างจากแนวทางของตน 
 
แต่สิ่งสำคัญยิ่งไปกว่านั้นสำหรับ BRN ก็คือ ถ้าเป้าหมายสูงสุดในการเจรจาคือ การร่วมกันใช้อำนาจ (Power Sharing) ไม่ว่ารูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง BRN จะใช้อำนาจบนพื้นฐานของอะไรถ้าไม่ได้รับการเห็นพ้องต้องกันและฉันทานุมัติจากประชาชนชาวปาตานีในทุกๆภาคส่วน ทั้งมุสลิมสายเก่า สายใหม่ พี่น้องชาวพุทธ นักธุรกิจ ปัญญาชน คนชั้นกลาง นักการเมือง ข้าราชการ ครู สื่อมวลชนในพื้นที่ พี่น้องเชื้อสายจีนที่คุมทั้งอำนาจทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมือง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดปัตตานี) ฯลฯ เพราะการใช้อำนาจในปัจจุบันต้องผูกโยงกับประชาชนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง (เว้นเสียแต่ BRN ต้องการใช้อำนาจแบบเกาหลีเหนือ) ภาคประชาชนและองค์กรเอ็นจีโอ (NGOs) อาจมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือในด้านข้อเสนอที่มาเลเซีย แต่นั่นมิได้ทำให้ BRN มีความชอบธรรมมากขึ้นในการใช้อำนาจเนื่องจาก ตัวบุคล องค์กร ตลอดจนแนวทางการต่อสู้ มิได้เกิดจากการสร้างการยอมรับด้วยความสมัครใจ หากแต่ใช้ความกลัว แต่ความกลัวไม่มีภาวะของการดำรงอยู่จริง (Ontological Existence) กล่าวคือ ภาวะของความกลัวเกิดจากการ "ขาด (Absent)" ภาวะนี้จะหายไปเมื่อส่วนของเหตุและผล (Faculty of Reasoning)ในตัวมนุษย์ได้ทำงานของมันเต็มที่ (Presence)
 
ถึงเวลาแล้วที่ BRN จะต้องปฏิรูปองค์กรและแนวทางการต่อสู้ไปพร้อมๆกับการเข้าสู่กระบวนการพูดคุยหรือเจรจาถ้า BRN ต้องการที่จะเป็นตัวแทนที่ถูกต้องและชอบธรรมของประชาชนชาวปาตานี    หาไม่แล้ว ผู้ที่จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากกระบวนการพูดคุย คงหนีไม่พ้นนักการเมืองหน้าเดิมๆ เนื่องจากพวกเขามีสิ่งสำคัญที่ BRN ไม่มี คือความชอบธรรมอันเนื่องมาจากการที่พวกเขาการยึดโยงอยู่กับภาคประชาชน 
 
    
   
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: ข้อสังเกต 10 ประการ คดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์ ก่อนพิพากษาพรุ่งนี้

Posted: 24 Mar 2013 09:42 AM PDT

หลังจากที่เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ศาลแพ่งพิพากษา ให้ บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด(มหาชน)ชำระค่าสินไหมทดแทนเกือบ 2 พันล้านให้กับบริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด หรือ ห้างเซน และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามสัญญาประกันวินาศภัย และสัญญาประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักจากกรณีที่เกิดเพลิงไหม้ที่ห้างสรรพสินค้า เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 และ กว่า 3 พันล้าน ให้กับกองทุนรวมธุรกิจไทย 4 และบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด โดยศาลพิเคราะห์ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เป็นการกระทำจากเหตุก่อการร้าย

อย่างไรก็ตามสำหรับคดีเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ในศาลอาญานั้น มีจำเลย 4 คน แบ่งเป็น เยาวชน 2 คนซึ่งได้รับการประกันตัวและต่อมาศาลเยาวชนได้พิพากษายกฟ้องไปเมื่อ 12 ธ.ค. 55  (อ่านที่ศาลยกฟ้อง 2 เยาวชน จำเลยคดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์ เจ้าตัววอนเยียวยา "เรียนและงาน") ส่วนอีก 2 คนเป็นผู้ใหญ่ คือ สายชล แพบัว และ พินิจ จันทร์ณรงค์  ซึ่งทั้งคู่ไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว และถูกคุมขังในเรือนจำมาเกือบ 3 ปีแล้วนั้น ปัจจุบันกระบวนการพิจารณาคดีได้แล้วเสร็จแล้ว และศาลได้นัดพิพากษา ในวันพรุ่งนี้(25 มี.ค.) ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ห้องพิจารณาคดี 405 โดยในส่วนของพินิจนั้น เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.54 ศาลได้พิพากษายกฟ้องข้อหาใช้อาวุธปืนยิง ต่อสู้ ขัดขวางเจ้าหน้า รวมกับจำเลยอีก 6 คนไปแล้วในเหตุการณ์เดียวกัน โดยศาลระบุว่าแม้จะสามารถตรวจยึดกระสุนได้ภายในห้าง แต่ไม่พบอาวุธที่ตัวจำเลย และเจ้าพนักงานก็ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าอาวุธดังกล่าวเป็นของจำเลย อีกทั้งไม่มีการนำสืบว่าจำเลยเป็นผู้ใช้อาวุธต่อสู้ขัดขวางการทำงานของเจ้า พนักงาน 

ก่อนจะทราบคำพิพากษา ประชาไทได้รวบรวม 10 ข้อสังเกตจากพยานหลักฐานที่ได้จากการสังเกตการณ์คดีและรายงานข่าวการพิจารณาคดี ดังนี้

 

1. พยานยัน 'สายชล' ไม่ใช่คนในภาพที่ใช้ดำเนินคดี

ภาพซ้าย : ภาพที่ รปภ.ห้างเซ็นทรัลเวิลด์  มอบให้พนักงานสอบสวนและถูกนำมาใช้เป็นหลักฐานในการจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ เชื่อว่าภาพชายชุดดำดังกล่าวคือจำเลยที่ 1 ในที่เกิดเหตุ

ภาพขวา : นายสายชล จำเลยที่ 1 ขณะถูกนำตัวมาแถลงข่าวหลังถูกจับกุม เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.53 ภาพจากเว็บไซต์มติชน

พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ อายุ 61 ปี แกนนำนปช.จังหวัดชุมพร ปัจจุบันเป็นข้าราชการการเมืองประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นนายจ้างนายสายชลจำเลยที่ 1 ที่จ้างให้ขายของที่ร้าน ชั้น 4 ห้างอิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว เบิกความเมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา หลังทนายจำเลยได้นำภาพที่ใช้เป็นหลักฐานในการจับกุมและดำเนินคดีกับนายสายชล จำเลยที่ 1 (ดูภาพซ้ายประกอบ)ให้ พ.ต.ต.เสงี่ยม พิจารณาดูว่าเป็นนายสายชลหรือไม่นั้น พ.ต.ต.เสงี่ยม ได้ยืนยันต่อศาลว่าไม่ใช่ หลังจากนั้นทนายได้นำภาพที่นายสายชลขณะถูกนำตัวมาแถลงข่าวหลังถูกจับกุม เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.53 (ดูภาพขวาประกอบ) พ.ต.ต.เสงี่ยม ได้ยืนยันต่อศาลว่าคนในภาพนี่คือนายสายชล

เช่นเดียวกับนายสายชลที่เบิกความก่อนหน้า(21 ม.ค.)ยืนยันตนเองไม่ใช่คนในภาพ

ด้าน ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล พนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ผู้รับผิดชอบคดีดังกล่าว ได้เบิกความในคดีนี้เมื่อวันที่ 21 ส.ค.55 ได้เบิกจากการทนายจำเลยได้นำภาพ 2 ภาพดังกล่าวมาเทียบเปรียบเทียบให้ ร.ต.อ.ปิยะ พิจารณา โดย ร.ต.อ.ปิยะ เบิกความว่า ภาพดังกล่าวไม่ชัด จึงไม่สามารถยืนยันด้วยตาว่าใช่หรือไม่ใช่

 

2. ภาพที่ใช้ดำเนินคดีจำเลยไม่มีรอยสักที่แขน รปภ.ยันเห็นรอยสัก

ภาพชายชุดดำขวามีเป็นภาพที่ใช้ดำเนินคดีสายชล ไม่พบรอยสักที่แขนขวา ขณะที่ภาพซ้ายเป็นภาพขณะถูกนำตัวมาแถลงข่าว พบรอยสักที่แขนขวา

ระหว่างเบิกความปาก นายสายชล จำเลยที่ 1 นั้น ทนายจำเลยได้มีการฉายภาพที่ใช้ในการดำเนินคดีบนจอโปรเจ็คเตอร์เพื่อให้ศาลและนายสายชลพิจารณา ซึ่งนายสายชลก็ยังยืนยันว่าไม่ใช่คนในภาพ รวมทั้งขอให้นายสายชลลองยืนในท่าเดียวกับคนในภาพเพื่อเปรียบเทียบรอยสักที่แขนขวา ซึ่งบุคคลในภาพดังกล่าวก็ไม่ปรากฏรอยสักแต่อย่างใด แต่ที่แขนนายสายชลจะปรากฏเห็นรอยสัก

เช่นเดียวกับ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล พนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ผู้รับผิดชอบคดีดังกล่าว ได้เบิกความในคดีนี้เมื่อวันที่ 21 ส.ค.55 ได้เบิกความตอนหนึ่งหลังจากที่ทนายจำเลยที่ 1 ได้ให้ดูจังหวะที่มีชายถือวัตถุสีเขียว(ถังดับเพลิง) โดย ร.ต.อ.ปิยะ ยืนยันว่าชายคนดังกล่าวว่าไม่พบรอยสักที่แขนขวา รวมถึงหลังมือบุคคลในรูปด้วย

จากนั้นทนายจำเลยที่ 1 จึงได้นำตัวจำเลยที่ 1 ซึ่งถูกควบคุมตัวและมาร่วมฟังการพิจารณาคดีนี้มาแสดงแขนขวาให้ ร.ต.อ.ปิยะ ได้พิจารณาดูรอยสัก ซึ่งพยานได้เบิกความต่อศาลว่าจำเลยที่ 1 มีรอยสักที่ไหล่  ท้องแขนด้านหน้า และหลังมือ ส่วนด้านหลังแขนไม่มี ผู้พิพากษาได้สอบถามจำเลยว่า รอยสักดังกล่าวสักนานหรือยัง จำเลยที่1 ตอบว่า สักตั้งแต่เด็กๆ

แต่อย่างไรก็ตาม นายรัชพล เจริญสุข เจ้าหน้าที่ชุดรปภ.ของ CTW ผู้ถ่ายภาพในวันเกิดเหตุ เบิกความเมื่อวันที่ 2 ส.ค.54 ว่า จำหน้าจำเลยได้เพราะหลังเกิดเหตุการณ์ได้กลับไปดูไฟล์ภาพของตนเองอีกครั้ง จำได้ว่าภาพที่เห็นลายสักที่แขนบุคคลดังกล่าว แต่ภาพที่นำสืบในศาลไม่สามารถเห็นรายละเอียดใดๆ ได้ และไม่ทราบว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่จึงเลือกภาพดังกล่าวนำส่งศาล เพราะเพียงนำสำเนาไฟล์รูปถ่ายทั้งหมดส่งให้กับหัวหน้าไปเท่านั้น ทั้งนี้ ใช้กล้องส่วนตัวในการถ่ายภาพดังกล่าว ยี่ห้อแคนนอน รุ่น 30D เลนส์ฟิก 50 มม. ไม่สามารถซูมได้

 

3. ไม่ถูกแจ้งข้อหานี้ทันที แต่เพิ่มเติมทีหลัง

ในการเบิกความของ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล  อัยการได้ซักว่าทำไมดีเอสไอถึงไม่ทำคดีนี้แต่แรก ร.ต.อ.ปิยะ เบิกความต่อศาลว่า โดยหลักการรับคดี เมื่อเหตุเกิด พนักงานสอบสวนในท้องที่จะรับเรื่องและหากพิจารณาแล้วว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษก็จะส่งสำนวนมาให้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ ส่วนคดีนี้เป็นคดีพิเศษตามมติของคณะกรรมการคดีพิเศษในการประชุมที่ 3/2553 ลงวันที่ 16 เม.ย. 53 และตามคำสั่งนายกฯ ขณะนั้นได้ให้พนักงานสอบสวนในท้องที่ร่วมเป็นทีมสอบสวนคดีพิเศษด้วย

จากการสอบสวนจำเลยที่ 1 พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวันได้มีการจับตัวมาดำเนินคดี โดยมีพนักงานรักษาความปลอดภัยของห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ชี้ตัวยืนยันว่าเป็นผู้กระทำความผิด ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ให้การปฏิเสธ แต่ไม่ได้อ้างพยานหลักฐานแก้ข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวน จึงทำให้มีความเห็นส่งฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2 ได้ถูกจับกุมในคดีปล้นทรัพย์ ในวันและที่เกิดเหตุเดียวกัน โดยมีพนักงานรักษาความปลอดภัยของห้างเซ็นทรัลเวิลด์ได้ชี้รูปถ่าย พนักงานสอบสนของ สน.ปทุมวัน จึงแจ้งข้อหาดำเนินคดี ซึ่งจำเลยได้ให้การปฏิเสธ แต่ก็ไม่ได้อ้างพยานหลักฐานแก้ข้อกล่าวหาเช่นกัน ดังนั้นพนักงานสอบสวนจึงมีความเห็นส่งฟ้อง

 

4. ภาพไม่สามารถระบุตำหนิรูปพรรณได้ชัด จึงไม่ขอหมายจับคนอื่น

อัยการได้นำภาพถ่ายกลุ่มบุคคลที่เจ้าพนักงานอ้างว่าเป็นจำเลยทั้ง 2 รวมถึงอีก 5 คนที่ออกหมายจับไปแล้วแต่ยังจับไม่ได้ และยังมีบุคคลอื่นๆ รวมอยู่ด้วย โดยได้สอบถามถึงการดำเนินคดีกับคนอื่นๆในรูป ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล เบิกความว่า เนื่องจากคนอื่นๆในภาพไม่สามารถระบุตำหนิรูปพรรณได้ชัดเจนว่าเป็นใคร ดังนั้นแม้ส่งไปขอหมายจับต่อศาลก็มีความเป็นไปได้สูงที่ศาลจะไม่อนุมัติ จึงไม่ได้มีการขอหมายจับ

 

5. ถังดับเพลิงที่ชายในภาพถือ ไม่ใช่ถังแก๊ส

ภาพชายชุดำกำลังถือถังสีเขียวที่ใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีกับนายสายชล

พ.ต.ท.ชุมพล บุญประยูร อายุ 72 ปี พนักงานราชการ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย,เลขาธิการสมาคมอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยแห่งประเทศไทยและที่ปรึกษาด้านอัคคีภัยกลุ่มบริษัทเซ็นทรัลพัฒนามากว่า 20 ปีในฐานะผู้ควบคุมการดับเพลิงในเซ็นทรัลเวิลด์ เข้าเบิกความในคดีเมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา เบิกความตอนหนึ่งหลังทนายจำเลยได้นำภาพถ่ายที่ถูกนำมาใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีกับนายสายชล ซึ่งเป็นรูปชายชุดดำกำลังถือถังสีเขียวว่า ภาพดังกล่าวถ่ายในบริเวณห้าง ส่วนถังสีเขียวในรูปเป็นถังดับเพลิง ซึ่งในตัวห้างก็มีถังในลักษณะนี้อยู่ ยืนยันว่าไม่ใช่ถังแก๊ส แต่เป็นถังดับเพลิง และเครื่องดับเพลิงไม่สามารถใช้เป็นอุปกรณ์ในการวางเพลิงได้

 

6. ไม่มีการตรวจลายนิ้วมือแฝงของกลาง

ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล เข้าเบิกความเมื่อวันที่ 21 ส.ค.55 ระบุว่า ถังแก๊สหุงต้ม 7 ใบที่เป็นวัตถุพยานของกลางรวมถึงวัตถุพยานอื่นๆ ที่ตรวจพบในที่เกิดเหตุนั้นไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นของจำเลยทั้ง 2 และไม่มีการตรวจลายมือแฝงของจำเลยกับวัตถุพยานของกลางดังกล่าว โดยขณะนี้เก็บไว้ที่ สน.ปทุมวัน 

ร.ต.อ.ปิยะ เบิกความด้วยว่าไม่สามารถระบุได้ว่าขวดเครื่องดื่มชูกำลังบรรจุน้ำมันที่เป็นวัตถุพยานนั้นเป็นของใคร

 

7. จำเลยอ่านหนังสือไม่ออก ไม่มีทนายหรือญาติอยู่ตอนจับกุม

นายสายชล จำเลยที่ 1 เบิกความด้วยว่า ในวันแถลงข่าวตนก็ยังไม่ได้พบญาติหรือทนาย และในตอนจับกุมและแถลงข่าว เจ้าหน้าที่แจ้งข้อหาเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์อย่างเดียว โดยไม่ได้บอกว่าร่วมกับใครเผา ก่อนหน้าที่จะโดนจับตนไม่เคยเห็นหรือรู้จักจำเลยที่ 2 หรือนายพินิจ แต่อย่างใด โดยพบครั้งแรกในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตอนที่ดีเอสไอหรือกรมสอบสวนคดีพิเศษมาสอบปากคำ ทนายจำเลยถามด้วยว่าเมื่อเอกสารคำให้การเป็นตัวหนังสือทั้งหมด ตัวนายสายชลอ่านไม่ออก ดังนั้นข้อเท็จจริงนายสายชลจะให้การตามคำเบิกความในศาลนี้ใช่หรือไม่ นายสายชลจึงยืนยันต่อศาลว่าใช้ข้อเท็จจริงตามที่เบิกความในศาล

 

8. 'พินิจ' เป็นเพียงพวกที่หลบอยู่ในห้างไม่มีอาวุธ ไม่สามารถวางเพลิงได้

ในการเบิกความของ พ.ต.ท.ชุมพล บุญประยูร ทนายได้นำภาพผู้ถูกจับกุม 9 คนซึ่งถูกตำรวจจับกุมตัวในห้างฯ โดยนำมาจากหนังสือ "ความลับหลังฉาก เผาเซ็นทรัลเวิลด์" หน้า 27 ซึ่ง 1 ในนั้นมีจำเลยที่ 2 (พินิจ) รวมอยู่ด้วยให้ พ.ต.ท.ชุมพล จากนั้น พ.ต.ท.ชุมพล ได้ยืนยันต่อศาลว่า 9 คนนี้เป็นพวกที่หลบอยู่ในห้างไม่มีอาวุธและไม่ใช่กลุ่มคนที่มีอาวุธที่มีประมาณ 7-8 คน แต่งกายคล้ายทหารและมีอาวุธด้วยเข้ามาทางด้านห้างเซ็นทรัลเวิลด์ โดยเขาได้รับการยืนยันจากหัวหน้า รปภ.ที่อยู่ในที่เกิดเหตุด้วย

พ.ต.ท.ชุมพลเบิกความว่าเมื่อพิจารณาจากปัจจัยหลายๆ อย่าง ทั้งระบบการป้องกันอัคคีภัยและรายงานจากทีมดับเพลิงในที่เกิดเหตุเห็นว่า ผู้ถูกจับกุมทั้ง 9 คนที่ถูกจับในห้างนั้นไม่มีความสามารถในการวางเพลิงได้

ภาพ 9 คน(พินิจ เสื้อเขียว)ที่ถูกตำรวจจับกุมตัวในห้างฯจากหนังสือ "ความลับหลังฉาก เผาเซ็นทรัลเวิลด์" หน้า 27

 

9. กลุ่มก่อการที่ "ขนาดตำรจวจยังหนี" + ทหารควบคุมพื้นที่หมด

พ.ต.ท.ชุมพล เบิกความถึงพื้นที่รอบที่เกิดเหตุว่า ถูกควบคุมโดยกองกำลังของทหารทั้งหมด แม้กระทั่งตอนออกจากห้างในช่วงเย็นทางด้านหลังห้างพารากอนก็มีทหารควบคุมพื้นที่อยู่ รถพยาบาลหรือ รปภ. วิ่งออกมาจากพื้นที่ก็ยังต้องผ่านด่านทหาร ทนายได้ถามด้วยว่าหลังสลายการชุมนุมของ นปช. บริเวณห้างและรอบๆ นั้น จากที่พยานได้รับรายงานและประสานงานนั้นเป็นหน่วยไหนที่ควบคุมพื้นที่ พ.ต.ท.ชุมพล  เบิกความว่าเป็นเจ้าหน้าที่ทหารของ ศอฉ.

"ทีมงานเราอยู่ภายในถ้าไม่ไล่เราออกไป มันเรื่องเล็กสำหรับไฟขนาดนั้น ในอาคารมีอุปกรณ์พร้อม น้ำในห้างก็มีจำนวนมหาศาลทั้ง 3 อาคารเชื่อมต่อกัน ระบบแรงดันน้ำภายในห้างก็ใช้ได้ ถ้าไม่ไล่เราออกไม่มีทางจะไหม้ ส่วนคนที่ไล่เราออกไปนั้นคือกลุ่มคนที่มีอาวุธ มีการโยนระเบิด ขนาดตำรวจยังต้องหนี" ที่ปรึกษาฯ กล่าว

เขาเบิกความต่อว่า เมื่อออกไปแล้วก็กลับเข้ามายากมากเพราะต้องติดด่านที่ทหารตั้งอยู่ ตั้งแต่ด่านตรงเพชรบุรี สะพานหัวช้าง และถนนพระราม 1 ก็ไม่ให้เข้า เลยต้องขอเข้าด้านหลังแทน

พ.ต.ท.ชุมพล  เบิกความย้ำด้วยว่า "ไม่มีที่ไหนในโลกหรอกที่เขาไม่เคลียร์พื้นที่ให้กับทีมดับเพลิง ตั้งแต่เย็นไม่มีใครเคลียร์พื้นที่ให้ ปล่อยให้มันไหม้ได้อย่างนั้น"

 

10. จำเลยทั้ง 2 คน ไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวในระหว่างการต่อสู้คดี โดยถูกคุมขังในเรือนจำมาเกือบ 3 ปีแล้ว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศอ.บต.ระดมความเห็นจากพื้นที่ ก่อนเริ่มพูดคุยสันติภาพ 28 มีนาฯ

Posted: 24 Mar 2013 09:22 AM PDT

 

ศอ.บต.ระดมความเห็นทุกภาคส่วน ก่อนการพูดคุยกับกลุ่มผู้มีความคิดต่างในวันที่ 28 มีนาคม 2556 นี้ที่ประเทศมาเลเซีย ย้ำสังคมไทยต้องสร้างพลังบวกกับการพูดคุย เพราะเป็นทางเดียวในการแก้ปัญหา ฝึกอบรมกำนันผู้ใหญ่เปิดพื้นที่สันติภาพ ลุยสร้างสันติสุขระดับชุมชนหมู่บ้าน

 
เวลา 13.00 น. วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2556 ที่ลานอเนกประสงค์ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ร่วมกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ  ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พร้อมอธิการบดี 5 มหาวิทยาลัยในพื้นที่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นักวิชาการสันติวิธี และตัวแทนภาคประชาสังคม นักศึกษา ผู้นำศาสนา นักวิชาการ สื่อมวลชน ประมาณ 60 คนร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับบทบาทมหาวิทยาลัย นักวิชาการ นักศึกษาและองค์กรต่างๆ ในการช่วยสร้างความเข้าใจเพื่อร่วมสนับสนุนกระบวนการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
สำนักสารสนเทศและประชาสัมพันธ์ ศอ.บต.ได้สรุปสาระสำคัญจากการหารือดังกล่าวว่า ประชาชนทั้งประเทศเป็นพลังที่สำคัญในการสร้างสันติภาพ ทุกกลุ่มทุกฝ่ายต้องมีความเชื่อว่า วิถีทางสู่สันติสุขมีทางเดียว คือ การพูดคุยโดยเอาประโยชน์สุขของประชาชนเป็นตัวตั้ง 
"ทุกฝ่ายทั้งคนในพื้นที่คนในสังคมไทย เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ต้องไว้วางใจว่า คนไปพูดคุยไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และก่อนวันที่ 28 มีนาคม 2556 สื่อมวลชน สถาบันอุดมศึกษา นักศึกษา ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น ต้องร่วมกันแสดงพลังสนับสนุนแนวคิดว่า หนทางสู่สันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีหนทางเดียวคือการพูดคุย"
 
ดังนั้น ต้องร่วมกันสร้างพลังบวกให้กับการพูดคุย สนับสนุนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ สร้างความมั่นใจให้กับทั้ง 2 ฝ่ายที่พูดคุยกัน และทำให้การเปิดพื้นที่เสรีในพื้นที่ให้ประชาชนได้มีโอกาสพูดคุยได้อย่างเสรี โดยไม่ผิด มีพื้นที่ปลอดภัย ไม่มีข้อจำกัดทางกฎหมายในพื้นที่ โดยเฉพาะในระดับชุมชน หมู่บ้าน มหาวิทยาลัย เพื่อให้กระบวนการสันติภาพเดินไปอย่างยั่งยืน 
รวมทั้งทุกฝ่ายต้องทำการสื่อสารพูดคุยกัน ให้การสื่อสารเป็นการสร้างสันติภาพเชิงบวกในระดับหมู่บ้าน ตำบล โดยผู้นำศาสนา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปัญญาชน การเอาวิถีชีวิตปกติของประชาชนกลับคืนมา โดยการลดการใช้ความรุนแรง ลดการใช้กฎหมายพิเศษ
 
ก่อนหน้านี้ระหว่างวันที่ 17-21 มีนาคม 2556 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้จัดอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพกำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รุ่นที่ 1 จาก 3 อำเภอในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งประสงค์หนึ่งคือการประชุมกำหนดแนวทางการทำงานเพื่อให้เกิดสันติสุขภายในตำบล โดยเฉพาะการเปิดพื้นที่เพื่อสันติภาพ ซึ่งกำนันผู้ใหญ่บ้านจะมีบทบาทสำคัญที่จะขับเคลื่อนขยายผลแนวคิดสันติวิธีไปยังระดับชุมชน หมู่บ้านและตำบล ซึ่งโครงการนี้จะมีการอบรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา รวม 79 ตำบล แบ่งเป็น 6 รุ่น จำนวนทั้งสิ้น 537 คน
 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อ 'รธน.' ขัดต่อ 'กฎมณเฑียรบาล' ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์

Posted: 23 Mar 2013 11:47 PM PDT

เมื่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2550 หมวด 2 ขัดต่อกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467

ประการที่หนึ่ง
 
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หมวด 2 พระมหากษัตริย์ มาตรา 23 วรรคแรก บัญญัติว่า
 
"ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตาม กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบ และให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ"
 
หมายความว่า แม้พระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้แล้ว พระรัชทายาทก็ยังไม่อาจขึ้นทรงราชย์ได้ทันที จะต้องรอกระบวนการทางคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเสียก่อน
 
หลังจากจบกระบวนการดังกล่าวแล้วยังจะต้องมีการประกาศอัญเชิญองค์พระรัชทายาท หรือองค์ผู้สืบราชสันติวงศ์ชึ้นทรงราชย์อีกด้วย โดยมาตรา 24 วรรคแรก บัญญัติให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน
 
ยิ่งกว่านั้นรัฐธรรมนูญ มาตรา 23 มาตรา 24 ก็ยังหาได้กำหนดระยะเวลาในการประกาศอัญเชิญองค์พระรัชทายาท ไว้ว่าจะต้องกระทำการในกำหนดระยะเวลากี่วัน กี่เดือน กี่ปี
 
บทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 23 และ 24 นี้ จะขัดกับกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พุทธศักราช 2467 มาตรา 6 ซึ่งบัญญัติว่า
 
"เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสมมุติท่านพระองค์ใดให้เป็นพระรัชทายาทแล้ว และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศข้อความให้ปรากฏแก่พระบรมวงศานุวงศ์ เสนามาตย์ ราชเสวกบริพารและอาณาประชาชน ให้ทราบทั่วกันแล้ว ท่านว่า ให้ถือว่าท่านพระองค์นั้นเป็นพระรัชทายาทโดยแน่นอนปราศจากปัญหาใด ๆ และเมื่อใดถึงกาลอันจำเป็น ก็ให้พระรัชทายาทพระองค์นั้นเสด็จขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์สนองพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกษโดยทันที ให้สมดังพระบรมราชประสงค์ที่ได้ทรงประกาศไว้นั้น"
 
บทบัญญัติของกฎมณเฑียรบาลฯ มาตรา 6 ดังกล่าวนี้จึงขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 23 มาตรา 24 คือให้องค์รัชทายาทขึ้นทรงราชย์สันตติวงศ์ทันทีไม่ต้องมีประกาศอัญเชิญพระรัชทายาทจึงไม่มีขั้นตอนที่ประธานองคมนตรีจะต้องเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อนแต่อย่างใด
 
ประการที่สอง
 
รัฐธรรมนูญ มาตรา 20 วรรคแรก วรรคสอง บัญญัติว่า
 
"ในระหว่างไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามบัญญัติไว้ในมาตรา 18 (เมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม) หรือมาตรา 19 (พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา 18 หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่น) ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน...
 
ในกรณีที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 18 หรือ มาตรา 19 ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน..."
 
กรณีตามมาตรา 19 มาตรา 20 จะต้องมีกระบวนการโดยคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา ทั้งยังกำหนดให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมิได้กำหนดระยะเวลาไว้เป็นที่แน่นอนว่าจะต้องกระทำภายในกำหนด กี่วัน กี่เดือน กี่ปี
 
ในกรณีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยเฉพาะในกรณีที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยังทรงพระเยาว์ นั้น ตามกฎหมายมณเฑียรบาลฯ มาตรา 15 บัญญัติไว้ว่า "ถ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระเยาว์ดังกล่าวมาแล้วในมาตรา 14 (พระชนมายุยังไม่ครบ 20 พรรษาบริบูรณ์) แห่งกฎมณเฑียรบาลนี้ ท่านว่าให้ท่านเสนาบดีพร้อมกันเลือก เจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์พระองค์หนึ่งขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจนกว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมีพระชนมายุครบ 20 พรรษาบริบูรณ์ จึงให้ท่านผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์นั้นพ้นจากหน้าที่"
 
ผู้ที่จะเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในกรณีนี้ตามกฎมณเฑียรบาลฯ ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่าต้องเป็นเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์ และมาตรา 17 และมาตรา 18 ให้เสนาบดีผู้มีอาวุโสมากที่สุดในราชการสองท่านเป็นที่ปรึกษาของผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เรียกว่า "สภาสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" หรือเรียกโดยย่อว่า "สภาสำเร็จราชการแผ่นดิน"
 
ประการที่สาม
 
รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 23 วรรคสอง บัญญัติว่า
 
"ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบสันตติวงศ์ตามมาตรา ๒๒ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบในการนี้ จะเสนอพระนามพระราชธิดาก็ได้ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธาน รัฐสภาอัญเชิญองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหา กษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ"
 
ตามรัฐธรรมนูญมาตรานี้ หมายความว่า คณะองคมนตรีเป็นผู้เสนอพระนามของผู้สืบราชสันตติวงศ์ ซึ่งจะเสนอพระนามพระราชธิดาก็ได้ส่วนกฎหมายมณเฑียรบาลฯ มาตรา 17 บัญญัติว่า "ในกาลสมัยนี้ยังไม่ถึงเวลาอันควรที่ราชนารีจะได้เสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นสมเด็จพระแม่อยู่หัวบรมราชินีนาถ ผู้ทรงสำเร็จราชการสิทธิ์ขาดอย่างพระเจ้าแผ่นดินโดยลำพังแห่งกรุงสยาม ฉะนั้นท่านห้ามมิให้จัดเอาราชนารีพระองค์ใด ๆ เข้าไว้ในลำดับสืบราชสันตติวงศ์เป็นอันขาด"
 
ถ้าจะถามคนทั่วไปว่า เมื่อบทบัญญัติของกฎหมายอื่นขัดกับรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติกฎหมายอื่นที่ขัดกันก็ต้องถือว่าถูกยกเลิกแก้ไขไป
 
แต่สำหรับกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ เป็นกฎหมายซึ่งตราขึ้นไนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เป็นกฎหมายสำคัญเพราะเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพสูงสุดของปวงชนชาวไทย
 
และกฎมณเฑียรบาลฯนี้ใช่จะห้ามการแก้ไขเปลี่ยนแปลง แต่การแก้ไขต้องทำตามหมวดที่ 7 ว่าด้วยการแก้กฎมณเฑียรบาล ดังนี้
 
มาตรา 19 บัญญัติว่า "พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตรากฎมณเฑียรบาลนี้ไว้ให้เป็นราชนิติธรรมอันมั่นคง เพื่อดำรงพระบรมราชจักรีวงศ์ไว้ชั่วกาลนาน และได้ทรงใช้พระวิจารณญาณโดยสุขุม ประชุมทั้งโบราณราชประเพณีแห่งกรุงสยามตามที่ได้เคยมีปรากฏมาในโบราณราชประวัติ ทั้งประเพณีตามที่โลกนิยมในสมัยนี้เข้าไว้พร้อมแล้วฉะนั้นหากว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใดในอนาคตสมัยทรงพระราชดำริจะแก้ไขหรือเพิกถอนข้อหนึ่งข้อใดแห่งกฎมณเฑียรบาลนี้ ก็ให้ทรงคำนึงถึงพระอุปการะคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ผู้ทรงตรากฎมณเฑียรบาลนี้ขึ้นไว้ แล้วและทรงปฏิบัติตามข้อความในมาตรา 20 แห่งกฎมณเฑียรบาลนี้เถิด"
 
มาตรา 20 บัญญัติว่า "ถ้าแม้เมื่อใดสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่ามีเหตุจำเป็นที่จะต้องแก้ไขหรือเพิกถอนข้อความใด ๆ แม้แต่ส่วนน้อยหนึ่งในกฎมณเฑียรบาลนี้ไซร้ ท่านว่าให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนัดประชุมองคมนตรีสภา ให้มีองคมนตรีมาในที่ประชุมนั้นไม่น้อยกว่า 2 ส่วนใน 3 แห่งจำนวนองคมนตรีทั้งหมด แล้วและพระราชทานข้อความอันมีพระราชประสงค์จะให้แก้ไขหรือเพิกถอนนั้นให้สภาปรึกษากันและถวายความเห็นด้วยความจงรักภักดีซื่อสัตย์สุจริต"
 
ในมาตรา 20 วรรคสอง ตอนท้ายยังบัญญัติว่า "....ถ้าและองคมนตรีมีองคมนตรีที่มาประชุมนั้น มีผู้เห็นควรให้แก้ไขหรือเพิกถอนเป็นจำนวนไม่ถึง 2 ใน 3 แล้ว ก็ขอให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระขันติระงับพระราชดำริที่จะทรงแก้ไขหรือเพิกถอนนั้นไว้เถิด"
 
ส่วนรัฐธรรมนูญ 2550 บัญญัติถึงเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ไว้ตามมาตรา 22 วรรคสอง ซึ่งต่างกับที่บัญญัติไว้ในกฎหมายมณเฑียรบาลฯ
 
 
ข้อสังเกตของผู้เขียน
 
1) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยเฉพาะหมวด 2 พระมหากษัตริย์มีบทบัญญัติขัดกับกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พุทธศักราช 2467 อยู่หลายเรื่องซึ่งล้วนแต่เป็นสาระสำคัญอันเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น แม้รัฐธรรมนูญจะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่ก็ร่างขึ้นภายหลัง กฎมณเฑียรบาลฯ ควรจะหลีกเลี่ยงการขัดกันกับกฎหมายสำคัญ เช่นนี้
 
2) หากจะคิดว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ประสงค์จะแก้ไขบทบัญญัติของกฎมณเฑียรบาลก็ควรจะดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักการแก้ไขกฎหมาย
 
3) ตามกฎมณเฑียรบาล หมวดที่ 7 บัญญัติไว้ชัดเจนว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้นที่จะมีพระดำริว่ามีเหตุจำเป็นต้องแก้ไขหรือเพิกถอนข้อความใด ๆ แม้แต่ส่วนน้อยหนึ่งในกฎมณเฑียรบาล
 
4) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องทรงนัดประชุมองคมนตรี และต้องมีองคมนตรีมา ประชุมไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 แห่งจำนวนองคมนตรีและองคมนตรีจำนวนดังกล่าวเห็นควรแก้ไขเพิกถอนตามพระราชประสงค์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงค่อยมีพระบรมราชโองการให้แก้ไขหรือเพิกถอน
 
5) ถ้าองคมนตรีที่มาประชุมนั้นมีผู้เห็นควรให้แก้ไขหรือเพิกถอนมีจำนวนไม่ถึง 2 ใน 3 แล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงมีพระขันติระงับพระราชดำริที่จะทรงแก้ไขหรือเพิกถอนนั้นเสีย (คือไม่ทรงแก้ไข)
 
6) ได้ตรวจดูรายงานการประชุมของ สสร. ผู้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 23 มาตรา 24 หมวดพระมหากษัตริย์แล้ว มีบันทึกเจตนารมณ์ของผู้ร่างไว้แต่เพียงว่า "คงเดิมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540" และยังบันทึกไว้ด้วยว่า "หลักการดังกล่าวนี้มีบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 เป็นครั้งแรก" การบันทึกเหตุผลไว้แต่เพียงสั้นๆ เช่นนี้ อาจเป็นเหตุให้ประชาชนเกิดความคลางแคลงใจได้ จึงสมควรแสดงเหตุผลในการแก้ไขไว้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 หมวด 2 ในอนาคต
 
7) หากมีการพิจารณาหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 หมวด 2 อย่างไรแล้วน่าจะต้องตรวจดูประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร มาตรา 107 ถึงมาตรา 112 เพราะอาจจะมีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ดังกล่าวข้างต้น
 
8) การแสดงความคิดเห็นขอแก้ไขบทกฎหมายในเรื่องเหล่านี้โดยเปิดเผยไม่ควรถูกมองว่ามีเจตนาล้มล้างสถาบันแต่ประการใด เพราะเป็นการกระทำในวิถีทางของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยแท้ ผู้คิดล้มล้างสถาบันนั้นคงไม่เสนอขอแก้ไขกฎหมายที่บกพร่อง แต่น่าจะเป็นผู้ซึ่งคิดดำเนินการซ่องสุมผู้คนและซ่องสุมอาวุธเพื่อกระทำการดังกล่าวในทางลับ ๆ มากกว่า
 
ผู้เขียนมีโอกาสทราบทางสื่อว่ามีนักการเมืองและบุคคลบางกลุ่มออกมาคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ หมวด 2 พระมหากษัตริย์เป็นจำนวนไม่น้อย
 
แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่านักการเมืองหรือบุคคลเหล่านั้นได้ทราบความจริงในเรื่องนี้บ้างหรือไม่ ถ้าไม่ทราบคิดผิดแล้วคิดใหม่ได้
 
แต่ถ้าทราบมาก่อนแล้ว ยังคิดคัดค้านการแก้ไขอยู่อีก ท่านก็ต้องตั้งคำถามตัวท่านเองว่าการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดนี้ กระทำเพราะท่านจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยใจจริง หรือ ว่าทำไปเพียงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองเท่านั้น.
 
 
 
หมายเหตุ : น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล เป็นอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ปัจจุบันอาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  
 
 
ที่มา: www.isranews.org
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น