โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เปิดราคาตั้งต้นประมูลทีวีดิจิตอล HD ไม่เกิน 3 พันล้าน/ช่อง

Posted: 06 Mar 2013 09:15 AM PST

'กสทช.' แง้มราคาตั้งต้นประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอล ช่อง HD สูงสุดที่ 1,000-3,000 ล้านบาทต่อช่อง ด้าน 'สุภิญญา' แนะช่อง 5 เพิ่มรายการสาระ ช่อง 11 เพิ่มพื้นที่ฝ่ายค้าน หากต้องการเป็นช่องสาธารณะ



(6 มี.ค.56) ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยว่า จากการศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ราคาตั้งต้นในการประมูลใบอนุญาต หรือ ไลเซนส์ ทีวีดิจิทัล ประเภทธุรกิจ จำนวน 24 ช่อง ซึ่งจะมีอายุ 15 ปี แบ่งเป็นช่องรายการที่มีคุณภาพความคมชัดสูง (HD) จะเริ่มที่ 1,000-3,000 ล้านบาทต่อช่อง ช่องคุณภาพทั่วไป (SD) จะเริ่มที่ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อช่อง และช่องรายการเด็ก เริ่มที่ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อช่อง 

ทั้งนี้ ธวัชชัย กล่าวว่า ราคาตั้งต้นดังกล่าว อยู่ภายใต้เงื่อนไข 2 ข้อ คือ หนึ่ง ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (Must Carry rule) ซึ่งตอนนั้นเขียนขึ้นเพื่อป้องกันการเกิดกรณีจอดำ-บอลยูโร ซึ่งทีมศึกษาฯ ตีความว่า จะต้องออกอากาศทุกแพลตฟอร์ม ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาประมูลต่ำ และ สอง การกำหนดเพดานให้ผู้ประกอบการถือครองไม่เกิน 2 ช่อง ซึ่งหากเงื่อนไขเหล่านี้เปลี่ยน เช่น ไม่ต้องออกอากาศทุกช่อง หรือให้ถือครองได้ 3 ช่อง ก็จะทำให้ราคาตั้งต้นประมูลสูงขึ้น ทั้งนี้ จะนำผลการศึกษาดังกล่าว เสนอต่อที่ประชุมเพื่อพิจารณาในวันจันทร์หน้า (11 มี.ค.)

ก่อนหน้านี้ (4 มี.ค.) พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. ได้แถลงถึงมติบอร์ด กสท. เรื่องการพิจารณากรณีการออกอากาศคู่ขนานของช่องโทรทัศน์ในระบบอนาล็อก ซึ่งจะเป็นแนวนโยบายที่สำคัญของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิทัล โดยระบุว่า เนื่องจากผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ระบบอนาล็อกเดิมเป็นของหน่วยงานของรัฐและคู่สัญญาสัมปทาน กสท.จะต้องคำนึงถึงกระบวนการออกอากาศคู่ขนานเป็นกรณีๆ ไป เพื่อมิให้ขัดต่อกฎหมาย โดยจะแบ่งเป็นสองกรณีคือ 1.ช่องรายการระบบอนาล็อกเดิมที่อาจจะเป็นกิจการประเภทบริการสาธารณะในอนาคต เช่น ททบ. 5 สทท. 11 หรือไทยพีบีเอส กสท.มีมติให้ออกอากาศคู่ขนานในสัดส่วนช่องรายการกิจการบริการสาธารณะ โดยการออกอากาศคู่ขนานในระบบดิจิทัลนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อยุติการออกอากาศในระบบอนาล็อก 2.ช่องรายการระบบอนาล็อกเดิมที่อาจจะเป็นกิจการประเภทบริการธุรกิจในอนาคต เช่น ช่อง 3 ช่อง ททบ.7 หรือ ช่อง 9 อสมท. กสท.มีมติให้ใช้คลื่นความถี่ที่จัดไว้สำหรับกิจการบริการชุมชน โดยกำหนดให้ยุติการออกอากาศคู่ขนานเมื่อมีการประมูลคลื่นความถี่ ออกใบอนุญาตประกอบกิจการ และเริ่มออกอากาศช่องบริการธุรกิจ


สุภิญญา แนะช่อง 5 ช่อง 11 ต้องปรับตัว หากต้องการเป็นช่องสาธารณะ
สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. และ กสท. กล่าวว่า ขณะนี้ บอร์ด กสท. ยังไม่มีมติว่าฟรีทีวีที่มีอยู่ ช่องไหนจะเป็นช่องบริการธุรกิจหรือช่องบริการสาธารณะ อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวมองว่า จะยอมให้เป็นช่องบริการสาธารณะได้ ช่อง 5 และช่อง 11 จะต้องปรับตัว ไม่ใช่แค่บอกว่าเกี่ยวกับความมั่นคง โดยส่วนตัวเสนอว่า ช่อง 5 อาจต้องปรับผังรายการ ให้มีรายการสาระ 70% และแสดงให้เห็นว่าการหารายได้ของช่องจะต่างจากช่องบริการธุรกิจอย่างไร ขณะที่ช่อง 11 ก็อาจต้องปรับผังรายการ โดยเพิ่มพื้นที่ให้ฝ่ายค้าน 30-50% แต่หากไม่มีการปรับตัวเลย ก็คงยากจะให้ได้ เพราะจะขัดกับหลักการและความเป็นจริง

สุภิญญา กล่าวต่อว่า สำหรับช่องบริการสาธารณะที่จะมีการยื่นขอจัดสรรใบอนุญาต (Beauty Contest) จะเสนอให้มีการวางหลักเกณฑ์ที่ละเอียดขึ้นในการประชุมบอร์ดจันทร์หน้า เช่น กำหนดสัดส่วนความเป็นเจ้าของ โมเดลรายได้ เป็นต้น โดยวันศุกร์ที่จะถึงนี้จะเปิดเวทีเพื่อระดมความเห็นจากฝ่ายต่างๆ เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจ ทั้งนี้ คาดว่าหากมีการวางหลักเกณฑ์ก็น่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่สาม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผอ.ร.ร.อิสลามบูรพา รับรางวัลสตรีดีเด่นด้านสันติภาพชายแดนใต้

Posted: 06 Mar 2013 08:56 AM PST

นางสาวซูไบดะห์ ดอเลาะ เตรียมรับรางวัล เนื่องในวันสตรีสากล จากจำเลยคดีความมั่นคง สู่แกนนำผู้หญิงภาคประชาสังคม ผู้ประสานความเข้าใจรัฐกับชาวบ้าน

นางสาวซูไบดะห์ ดอเลาะ

 

โครงการผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ แจ้งว่า นางสาวซูไบดะห์ ดอเลาะ ผู้อำนวยการโรงเรียนอิสลามบูรพา (ปอเนาะสะปอม) ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ได้รับรางวัล สตรีดีเด่นด้านการส่งเสริมสันติภาพใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล ปี 2556

โดยนางสาวซูไบดะห์ จะเดินทางไปรับรางวัลจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2556 ณ ห้องรอยัล จูบิลีบอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี

โครงการผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ แจ้งด้วยว่า สำหรับประวัติของซูไบดะห์ ดอเลาะ ผู้อำนวยการโรงเรียนอิสลามบูรพา เคยตกเป็นจำเลยในคดีที่โรงเรียนอิสลามบูรพาถูกทางการสั่งปิดเนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุไม่สงบในพื้นที่ เมื่อปี 2550 แต่ได้รับอนุญาตให้เปิดการเรียนการสอนอีกครั้งในปี 2554 โดยคดีของเธอพร้อมอุสตาส (ครูสอนศาสนาอิสลาม) ถูกศาลพิพากษายกฟ้อง

โครงการผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ แจ้งอีกว่า นางสาวซูไบดะห์มีบทบาทในการทำงานด้านสันติภาพ โดยเป็นแกนนำเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ที่มีบทบาทด้านการสื่อสารสาธารณะและการรณรงค์ เพื่อให้สังคมได้เห็นผลกระทบของผู้ที่ตกเป็นจำเลยในกระบวนการยุติธรรม การต่อสู้โดยใช้สันติวิธี และการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

"นางสาวซูไบดะห์ ยังยืนหยัดในการต่อสู้เพื่อให้เด็กๆด้อยโอกาสในพื้นที่ ได้รับการศึกษาทั้งด้านศาสนา และสามัญ ที่จะเป็นทางเลือกใหม่ในชีวิต ซึ่งปัจจุบันโรงเรียนอิสลามบูรพา ได้กลายเป็นปอเนาะในโครงการพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี"

โครงการผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ระบุอีกว่า นางสาวซูไบดะห์ ต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมแก่ตัวเองและโรงเรียนอิสลามบูรพา ที่ถูกสั่งปิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2550 โดยคดีอาญาในข้อหา "ใช้หรือยินยอมให้ผู้อื่น ใช้สถานที่หรือบริเวณโรงเรียนทำการสอนหรือฝึกอบรมเพื่อสนับสนุนซึ่งลัทธิที่เป็นภัยต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยของประเทศ หรือขัดต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญหรือทำการอื่นใดขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความไม่สงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่โรงเรียน"

โดยเป็นคดีที่สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่า มีคนร้ายมาหลบซ่อนในโรงเรียน จึงได้ปิดล้อมตรวจค้น จนสามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไว้ได้ 6 คน

โครงการผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ระบุต่อไปว่า ระหว่างที่นางสาวซูไบดะห์ ถูกดำเนินคดีและโรงเรียนถูกสั่งปิดเป็นเวลาประมาณ 5 ปี นางสาวซูไบดะห์ได้ต่อสู้เรียกร้องขอความเป็นธรรมให้แก่ตนเองและโรงเรียนมาโดยตลอด โดยใช้แนวทางสันติวิธี และเคารพในกระบวนการยุติธรรม นับตั้งแต่การทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การเชื่อมประสานกับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ องค์กรภาครัฐ และภาคประชาสังคมอื่นๆที่ทำงานทางด้านสิทธิมนุษยชน การประสานหาทนายความในการต่อสู้คดีให้แก่ตนเองและคณะ

"การที่คดีของซูไบดะห์ได้รับการยกฟ้อง นับว่าเป็นชัยชนะและความสำเร็จของซูไบดะห์ ในฐานะที่ได้ยืนหยัดใช้สันติวิธี และกระบวนการยุติธรรมในการต่อสู้ และเป็นแบบอย่างหรือแรงบันดาลใจของคนที่ยืนหยัดต่อสู้และเรียกร้องความเป็นธรรม โดยใช้แนวทางสันติวิธี และกระบวนการยุติธรรม เพราะการยืนยันการใช้แนวทางดังกล่าว ทำให้เธอต้องทำหน้าที่เป็นคนกลางในการสร้างความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบรรดาครู นักเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งช่วยคลี่คลายความขัดแย้ง ระหว่างฝ่ายรัฐกับฝ่ายโรงเรียนได้มาก ในภาวะที่ทั้งสองฝ่ายมีความหวาดระแวงต่อกัน"

โครงการผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ระบุอีกว่า การสื่อสารเพื่อสะท้อนเรื่องราวการเรียกร้องความเป็นธรรมโดยใช้สันติวิธี ความอดทนอดกลั้น กระบวนการยุติธรรม การเป็นคนกลางสร้างความเข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับทางโรงเรียน โดยใช้สื่อประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเวทีภาคประชาสังคม สื่อวิทยุ รายการเสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ ที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุ 17 แห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รายการโทรทัศน์เสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ ทางช่อง 9 ในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2555 รวมทั้งร่วมเขียนหนังสือ "เสียงของความหวัง เรื่องเล่าผู้หญิงเพื่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้" เพื่อถ่ายทอดเรื่องราว ซึ่งเป็นการสื่อสารกับคนในวงกว้าง เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ กำลังใจและแบบอย่างของการทำงานเพื่อสันติภาพของผู้หญิง ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้

สำหรับกิจกรรมเนื่องในวันสตรีสากล ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มีวัตถุประสงค์ เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนในสังคม ตระหนักถึงความสำคัญของวันสตรีสากล สนับสนุน และและมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเนื่องในวันสตรีสากลให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้สตรีและบุรุษมีส่วนร่วมในกิจกรรมทุกด้าน และทุกระดับในสังคม ตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศ และเสริมสร้างเจตคติของสังคมในการคำนึงถึงศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ ส่งเสริมศักยภาพและพิทักษ์คุ้มครองสิทธิมนุษยชนของสตรี และส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย

กิจกรรม "วันสตรีสากล" ประจำปี 2556 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "หญิงชายรวมพลัง สู่ความเสมอภาคและสันติสุข" เนื่องจากเห็นว่าความสำคัญในพลังของหญิงและชาย ซึ่งไม่ว่าจะเพศใดต่างก็มีพลังที่สร้างสรรค์ที่แฝงอยู่ในตน และหากนำพลังสร้างสรรค์นั้นมารวมกัน ก็จะนำความเสมอภาค ความสุขและสันติสุขมาสู่สังคมได้ ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้ให้ความสำคัญกับพลังของสตรี ในการขับเคลื่อนประเทศไทย

สำหรับกรอบ หลักเกณฑ์การคัดเลือกสตรีดีเด่นด้านการปกป้องสิทธิของตนเอง ประกอบด้วย 1.เป็นบุคคลที่ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมของตนเอง ตามสิทธิที่พึงมีพึงได้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2.เป็นบุคคลที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วยตนเอง และได้รับสิทธิโดยชอบ เป็นที่ยอมรับ เป็นตัวอย่างแก่สตรีไทยทั่วไป 3.การปกป้องสิทธิของตนเองเป็นไปอย่างถูกต้องชอบธรรม และไม่อยู่ในระหว่างดำเนินการในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม 4.เหตุการณ์การปกป้องสิทธิของตนเอง เกิดขึ้นแล้วไม่นานกว่า 3 ปี 5.การปกป้องสิทธิของตนเองสามารถนำไปใช้เป็นบทเรียนหรือแนวทางสำหรับการปกป้องสิทธิของตนเองแก่บุคคลอื่นในสังคม และ 6.ไม่เคยได้รับรางวัลประเภทนี้ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มาก่อน

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม้บรรทัดวัดสังคมของคนกรุงกับคนบ้านนอก

Posted: 06 Mar 2013 08:55 AM PST

 
เกริ่นนำ
 
เป็นธรรมดาที่ความเหลื่อมล้ำจะมีอยู่ในสังคมไทย รายงานวิจัยต่างๆ มักจะชี้ชวนเช่นนั้น  ซึ่งคำว่า "คนกรุง" กับ "คนบ้านนอก" ยังถูกใช้และผลิตซ้ำอยู่เสมอในสังคมชนบท ถึงแม้ว่า ชาวบ้านนอกเขตเมือง (ตามทฤษฎีการพัฒนาเมืองและผังเมือง) ซึ่งต่อสู้และรับมือกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจนลืมตาอ้าปากได้จะไม่อยากใช้คำว่า "คนบ้านนอก" แล้วก็ตาม  แต่ชาวบ้านบางส่วนที่แร้นแค้นจริงๆ ที่ยังมีความลำบากจนถึงขั้นกระเสือกกระสนทางการเงิน ยังรู้สึกว่าตนเองเป็น "คนบ้านนอก" อยู่ และเมื่อสภาพความเป็นอยู่มีความแตกต่างกันเช่นนี้ ไม่ว่าจะเพราะความขี้เกียจ (แบบที่หลายคนกล่าวหา) หรือจนใจในความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นที่แตกต่างมากเกินไปก็ตาม ดูเหมือนว่า "ไม้บรรทัดวัดสังคม" ของคนกรุงกับคนบ้านนอกจะใช้มาตรวัดคนละมาตรกัน สังเกตได้จากผลการเลือกตั้ง แนวคิด และการแสดงออกทางสังคม
 
เนื้อหา
 
"ไม้บรรทัดวัดสังคม"  คือ การให้คุณค่าต่อเหตุการณ์ต่างๆ ของบุคคลหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นร่องรอยความคิดและการประกอบสร้างชุดความคิดที่มีต่อสังคม ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม สิ่งนี้จะเป็นหลักฐานที่มีน้ำหนักมากขึ้นเมื่อถูกสถาปนาด้วยอำนาจของกลุ่มที่ครองอำนาจหลักในสังคม กล่าวคือ การพัฒนาไม้บรรทัดวัดสังคมของคนๆเดียว ให้กลายเป็น กลุ่มคนที่ใช้ไม้บรรทัดเดียวกัน อาศัยอำนาจที่จะกำหนดคุณค่าและความหมายของชุดความคิดจนกลายเป็นวาทกรรม เมื่อเป็นแบบนี้ ถ้าเราสมมติว่า ไม้บรรทัดวัดสังคมของคนกลุ่มหนึ่ง ถือว่า ความตายของเพื่อนร่วมสังคมที่คิดต่าง ไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วน ไม่จำเป็นต้องลุกขึ้นมาจัดการอย่างทันทีทันใดเท่ากับปัญหาอื่น แบบนี้ เราจะเห็นว่า ชุดความคิดนี้ย่อมขัดกับ ไม้บรรทัดวัดสังคมของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งถือว่า ความตายของเพื่อนร่วมสังคมที่คิดต่าง เป็นสิ่งที่สำคัญและการวัดอย่างหลังอาจสอดคล้องกับไม้บรรทัดของพวกนักคิดอัตถิภาวะนิยมทั่วโลกก็เป็นได้ แต่ใครจะสน?
 
"คนกรุง" คือ ชนชั้นที่ไม่ใช่ผู้ใช้แรงงานโดยตรง กล่าวคือ ไม่ต้องปากกัดตีนถีบมากนัก (ยกเว้นแต่จะกัดปากและถีบตีนตัวเองเพื่อให้ได้มาซึ่งความสะดวกสบายทางเทคโนโลยี) ฉะนั้น "คนกรุง" จึงต้องรับตำแหน่ง "ชนชั้นสูง" และ "ชนชั้นกลาง" อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง เพราะ "คนบ้านนอก" ยังไม่มีแม้แต่สิทธิในการเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขั้นพื้นฐานด้วยซ้ำเป็นต้น ปัจจัยสี่ หรือ ปัจจัยห้าอย่างเงิน ที่กว่าจะเจียดมาถึง จากน้ำย่อยของระบบนายทุน ตัวอย่างนี้จะชัดเจนขึ้น ถ้าสังเกตว่า อย่างไรก็ตาม "คนกรุง" ก็ยังทำงานในห้องปรับอากาศหรืออย่างน้อยในที่มีกำบัง มีขนส่งมวลชนหรือรถส่วนตัวบริการ เพื่อให้ได้เงินมาสำหรับเลี้ยงชีพต่อเดือนในหลักหมื่น โดยที่ไม่ต้องมีหนี้สินอะไร ถ้าไม่สร้างหนี้หรือคิดเรื่องภาษีสังคม กลับกัน "คนบ้านนอก" ต้องสร้างหนี้เสียก่อนด้วยการกู้เงินจากสถาบันหรือนิติบุคคลใดก็ได้มาลงทุน และเพื่อให้ได้เงินหลักหมื่นก็จำเป็นต้องอดทนตรากตรำทำงานท่ามกลางสภาพที่ไม่มีอะไรบริการ บ่อยครั้ง คนบ้านนอกบางคน พยายามเลียนแบบคนกรุงบ้างในเรื่องของภาษีสังคม ผลที่ตามมาคือการก่อคดีและอาชญากรรม เนื่องมาจาก ปัจจัยความเหลื่อมล้ำเป็นที่ตั้ง มีวรรณกรรมและเพลงมากมายถ่ายทอดชีวิตคนบ้านนอกที่ถูกสังคมเมืองทำร้าย
 
"คนบ้านนอก" จึงเป็นไปอย่างที่คนบ้านนอกพูดถึงตัวเอง คือ ขาดโอกาส จุดหนึ่งที่คนบ้านนอกโดนโจมตี คือ ไม่แสวงหาโอกาสอย่างชาญฉลาด แต่ประเด็นเรื่องนี้ มักถูกส่งต่อและบิดเบือนความหมายจนกลายเป็นสรุปว่า "คนบ้านนอกโง่" และ "คนบ้านนอกเอาเงินซื้อได้ในทางการเมือง" เรื่องนี้น่าเจ็บปวดตรงที่ ข้อความที่ดูถูก (เพราะคิดว่าเป็นความจริง) ถูกผลิตซ้ำมากพอจนรั่วไปถึงหูคนบ้านนอกเอง และนั่นทำให้เกิดความคิดสะท้อนกลับมายังคนกรุงว่า "คนบ้านนอกอย่างฉันไม่ได้โง่" นั่นเป็นการตอบโต้กันระหว่างคนกรุงกับคนบ้านนอก และเหตุการณ์นี้ไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่เกิดขึ้นทั่วไปในสังคมโลก แต่สิ่งที่ต่างคือรูปแบบที่ล้าหลังเมื่อเทียบกับพัฒนาการเรื่องการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศอื่น  
 
ฉะนั้น คนกรุงยังครอบครองพื้นที่กระแสหลักส่วนใหญ่ในสังคมทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็น เสียงที่ดังกว่า คือ อำนาจสื่อสารที่อยู่ปลายนิ้วสัมผัส ชาติพันธุ์และศาสนากระแสหลักซึ่งเป็นที่มาของความภาคภูมิใจ จึงไม่แปลกอะไรที่จนแล้วจนรอดไม่ว่าคนกรุงจะแก้ต่างให้กลุ่มของตนอย่างไรหรือดูมีภาพลักษณ์แค่ไหน ก็จะมีชนชั้นกลางหรือชนชั้นสูงเสมอที่แสดงออกอย่างไม่ฉลาดนัก มิหนำซ้ำยังผลิตซ้ำวาทกรรมให้เห็นว่า ลึกๆแล้วฉันเหยียด เขมร ลาว หม่อง แขก รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่คิดว่าไม่ใช่ "ไทย" ประเด็นนี้ โดยตัวมันเองมีความลักลั่นย้อนแย้งสูง เพราะใครก็สามารถหาตัวอย่างค้านได้ทันทีว่าแล้ว "เจ๊กจีนล่ะ?" (ซึ่งมักเป็นนายทุนและเจ้านาย) จึงกลายเป็นว่า ชนชั้นกลางไทยคร่อมอยู่ระหว่างความตระหนักรู้ในตน กับ ความการแสดงบทบาทหลอกๆ ทางสังคม ซึ่งมักสวนทางกัน ตามหลักคิดว่า "น้ำขุ่นไว้ในน้ำใสไว้นอก" โดยลืมไปว่า "ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวปิดไม่มิด"
 
ความคิดเห็นที่มีต่อชัยชนะในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ผ่านมา แม้จะมิได้สะท้อนให้เห็นภาพรวมทั้งหมดของคนกรุงก็ตามที แต่อย่างน้อยที่สุด ก็อาจเป็นภาพเบลอๆ ของคนกรุงก็เป็นได้ ซึ่งแสดงให้เห็นด้วยหลักฐานทางสถิติว่า ไม้บรรทัดของฉันไม่เหมือนไม่บรรทัดของพวกเธอ(คนบ้านนอก) ฉันเป็นเมืองหลวง เป็นไม้บรรทัดที่วัดได้ว่าอะไรคือการต่อสู้กับอสัตย์อธรรมในแผ่นดินนี้แต่เพียงกลุ่มเดียว นี่ไม่นับข่าวลือที่ว่า คนกรุงเจ้าของไม้บรรทัดบางส่วนยอมโกงเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ แต่เรื่องเหล่านี้ จับมือใครดมไม่ได้อยู่แล้วในเมืองกรุง เช่นเดียวกับทุกเรื่องของคนกรุง มีใครจะอยากเล่าว่าตัวเองและครอบครัวมีหนี้สินมากเท่าไร เพื่อซื้อสังคมให้ตนเองอยู่ เรื่องนี้เป็นข่าวลือกันในชนชั้นสูงและชนชั้นกลาง ท่ามกลางนักการเมือง พ่อค้า นายทุน ซึ่งผู้ที่เอาเรื่องนี้มานินทาต่อก็อาจไม่ต่างอะไรจากไพร่หรือทาส เมื่อหลายร้อยปีที่แล้วก็เป็นได้ในแง่พฤติกรรม 
 
เพราะแนวโน้มที่รักการวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะทาสนินทานายนี้เอง ที่ผลิตซ้ำมากพอ ทำให้พฤติกรรมดังกล่าวของคนกรุงกลายเป็นไม้บรรทัดวัดสังคมไปเสียแล้ว ดูเหมือนว่า ความไม่รักในเหตุผลแต่รักที่จะมีอารมณ์รักชังระหว่างนายกับบ่าว กลับเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่ไม่ค่อยต่างอะไรจากบรรทัดฐานเดิมสักเท่าไรนัก แนวโน้มพฤติกรรมที่เต็มไปด้วยความบ้าคลั่งและซับซ้อนค่อยๆ ถูกเปิดเผยออกมาจากการก่อเหตุของบรรดาชนชั้นสูงหลายๆ คนในระดับลูกหลาน ความแปรปรวนทางอารมณ์ที่สะท้อนให้เห็นปัญหาที่หยั่งรากลึกในการเลี้ยงดูชี้ให้เห็นว่ากระบวนการผลิตไม้บรรทัดอาจมีปัญหาตั้งแต่เบ้าหลอมของมัน สิ่งที่บิดเบี้ยวและผิดปรกตินี้ค่อนข้างแตกต่างกับความเป็น "คนบ้านนอก" ซึ่งรักก็ว่ารัก เกลียดก็ว่าเกลียด อย่างไรก็ตาม เราก็ควรยอมรับความจริงว่า ภาพตัวแทนของสิ่งต่างๆ มันพร่าเลือนเหลือเกิน เพราะอะไรๆ ก็ถูกทำให้ไม่ชัดเจนทั้งนั้นในเรื่องเหล่านี้ สิ่งเดียวที่ชัดเจนคือ มีการตัดสินด้วยไม้บรรทัดชนิดต่างๆ และเมื่อไม้บรรทัดของใครควบรวมกับอำนาจ "ความตายและการกดขี่ปวงประชาภายใต้ไม้บรรทัดเดียวก็เกิดขึ้น"
 
สรุป
 
ไม้บรรทัดของคนกรุงกับคนบ้านนอกย่อมไม่เหมือนกันไม่ว่าในทางใด ไม้บรรทัดของคนกรุงมีความซับซ้อนและเต็มไปด้วยพฤติกรรมหรือฆาตกรรมอำพราง ไม้บรรทัดของคนกรุงแยบยลและดำมืด แต่แปลกที่ไม้บรรทัดของคนกรุง วัดไปที่ใด เพื่อนมนุษย์ที่ล่วงลับไปก็ไร้ค่า แม้แต่ เพื่อนมนุษย์ที่มีชีวิตอยู่ก็เหมือนไม่ใช่คน ดูเหมือนว่า ไม้บรรทัดนี้อาจเต็มไปด้วยความบ้าคลั่งที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้รูปลักษณ์ที่สวยงาม หรือบางทีไม้บรรทัดนี้อาจไม่ได้ใช้วัดคุณค่าอะไรของมนุษย์ แต่อาจจะถูกหล่อหลอมและผลิตมาเพื่อวัดความเป็นความตายของมนุษย์ ว่าใครสมควรตาย และ ใครสมควรอยู่ อาศัยวาทกรรมบงการของผู้ผลิตไม้บรรทัดในเงามืดซึ่งเราไม่มีวันรู้ได้เลยว่าเป็นใคร โปรดอย่าเข้าใจผิด เพราะผู้ผลิตไม้บรรทัดย่อมเป็น  "นายทุน" , "นายทาส" เพื่อชนชั้นที่ถูกกดขี่ต้องน้อมรับการกดขี่ต่อไป เพราะความดีความชั่ว มีเพียงไม้บรรทัดกระแสหลักเท่านั้นที่เป็นผู้กำหนด คนบ้านนอกไร้การศึกษาจะไปรู้อะไร? 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'พงศ์เทพ' ถอดบทเรียน 'องค์กรอิสระ' ฮีโร่ไม่มีจริง พลาดตั้งแต่ รธน.40

Posted: 06 Mar 2013 08:49 AM PST

 

ชมคลิปวิดีโอและถอดความการเปิดงาน 15 ปีองค์กรอิสระ สำรวจธรรมาภิบาลไทย สำรวจประชาธิปไตย (1 มี.ค.56) โดย พงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2540 

นอกจากนี้วันที่ 1 แล้ว ยังมีการจัดสัมมนาต่อเนื่องในวันที่ 8 มี.ค.นี้ ซึ่งจะว่าด้วย 'ภาคธุรกิจและองค์กรอิสระ การหนุนเสริมเพื่อสร้างธรรมาภิบาล' มีผู้อภิปราย ได้แก่ ศ.(พิเศษ) วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. , พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน, วัลลภา แวนวิลเลียนส์วาร์ด ผู้จัดการบริษัทสวนเงินมีมาจำกัด และ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท

ปิดท้ายด้วยเสวนาในวันที่ 15 มี.ค. ว่าด้วย 'ความหวังของภาคประชาสังคมในการถ่วงดุลกระบวนการทางการเมืองและนโยบาย สาธารณะ' มีผู้อภิปรายได้แก่ ศ.กำชัย จงจักรพันธ์ ที่ปรึกษา กกต., จอน อึ๊งภากรณ์ อนุกรรมการฯ ในกรรมการสิทธิฯ, นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิฯ

 

พงศ์เทพ เทพกาญจนา
รองนายกรัฐมนตรี และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (พ.ศ.2540)

 


เรื่องขององค์กรอิสระกับธรรมาภิบาลเป็นหัวใจสำคัญที่เป็นประเด็นปัญหาที่ประเทศไทยจะต้องมาขบคิดในเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง การที่ USAID และมีโครงการสะพานได้จัดเรื่องนี้ขึ้น ถือว่าเป็นประโยชน์มาก ผมเองอาจเป็นคนไม่กี่คนที่ได้มีโอกาสทำงานอยู่ในกลไกการใช้อำนาจอธิปไตยทั้งสามอำนาจ ผมเริ่มจากฝ่ายตุลาการแล้วก็มาเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ได้เห็นหมดว่าคนในกลไกต่างๆ ทั้งสามอำนาจมีคนประเภทไหนบ้าง ทำงานอย่างไร และพูดได้ว่าไม่ว่าจะองค์กรไหน มีคนทุกประเภทปนอยู่เหมือนๆ กันทั้งสิ้น ไม่มีองค์กรไหนจะมีแต่คนที่เก่งคนที่ตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์ ดีเหมือนกันทุกคน ปนกันอยู่ทั้งสิ้น และการที่ปนกันอยู่ไม่ใช่ปนกันเฉพาะในประเทศไทย ทั่วโลกเหมือนกัน

องค์กรที่ถือว่าโดยปกติเป็นองค์กรที่น่ามีความน่าเชื่อถือมากที่สุด ได้คนที่มีมาตรฐานที่สุดในการทำงาน ในประเทศไทย แต่ไหนแต่ไรมา เราจะเชื่อถือคนในองค์กรตุลาการ ในวงการตุลาการต่างประเทศเองก็คงไม่ต่างกัน แต่เราก็เห็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นทั้งในวงการตุลาการไทย วงการตุลาการต่างประเทศ ที่เราได้ตระหนักว่าไม่ใช่เช่นนั้นเสมอไป แล้วอาจไม่ใช่เยอะด้วย แม้กระทั่งในประเทศที่มีการพัฒนา มีระบบที่เข้มแข็งมากอย่างสหรัฐอเมริกา ก็ยังเคยเจอปัญหาที่ร้ายแรง ประเทศไทยมี Car for Cash เอารถแลกเงิน ในสหรัฐฯ ประมาณสิบปีมานี้ ก็มี Kids for Cash เอาเด็กไปแลกเงิน ที่ศาลเยาวชน มลรัฐเพนซิลเวเนีย มีหัวหน้าศาลกับผู้พิพากษาไปจัดให้สถาบันของเอกชนเข้ามาเปิดสถานพินิจเอกชน โดยจะได้รับเงินจากรัฐบาลเป็นรายหัวของเด็กที่ส่งไป ปรากฏว่ามีผู้พิพากษาคนหนึ่งได้รับเงินจากสถานพินิจเอกชนหลายล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการส่งเด็กเข้าไปสถานพินิจนี้ โดยเขาส่งเด็กไปหลายพันคน เด็กที่โดยปกติไม่ควรถูกส่งไปก็ถูกส่งไป มีเด็กคนหนึ่งเป็นนักมวยปล้ำระดับออลสตาร์ซึ่งมีฝีมือดีมาก มีเพียงเครื่องมือที่ใช้เสพยาเสพติด ไม่ใช่มียาเสพติด ปรากฏว่า ผู้พิพากษารีบส่งเด็กคนนี้ไปสถานพินิจ หลังออกมาเด็กคนนึ้ซึมเศร้าแล้วก็ฆ่าตัวตาย

ต่อมาเรื่องปรากฏขึ้น ศาลสูงสุดของมลรัฐเพนซิลเวเนีย ต้องยกเลิกคำสั่งที่ส่งเด็กไป สถานพินิจหลายพันคนที่ผู้พิพากษาคนนี้สั่ง ผู้พิพากษาถูกลงโทษจำคุก 27 ปี ตัวหัวหน้าศาลถูกจำคุกประมาณ 17 ปี เขาเอาจริงเอาจัง

ในเมืองไทยเรามีผู้พิพากษาที่ทำอะไรไม่ถูกต้องและถูกไล่ออกจำนวนหนึ่ง แต่ไม่ค่อยได้เป็นข่าว หรือเป็นที่รู้กันไปทั่ว แต่ที่จะบอกคือ ในวงการตุลาการเราก็เห็นเรื่องอย่างนี้ ในวงการนิติบัญญัติ เราก็เห็น ถูกจำคุกไปก็มี ในวงการฝ่ายบริหาร ก็มีรัฐมนตรีถูกพิพากษา ลงโทษจำคุก

ทีนี้กลับมาดูองค์กรอิสระ เผอิญผมเองมีส่วนร่วมในการที่ก่อให้เกิดขึ้น ช่วงระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ตอนนั้นก็คิดว่าทำอย่างไรที่จะมีกลไกการตรวจสอบขึ้นมาใหม่ ที่สามารถตรวจสอบทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ  ต้องยอมรับว่า ส.ส.ร.ในปี 2540 ผิดพลาด ตัวผมเองก็ผิดพลาด เพราะคิดว่าเราจะหาคนที่เพียบพร้อม ด้วยคุณธรรมความรู้ ตรงไปตรงมา เข้ามาอยู่ในองค์กรอิสระ ซึ่งมีเยอะ คนประเภทที่ต้องบอกว่า ซูเปอร์ฮีโร่ทั้งหลาย แต่ซูเปอร์ฮีโร่ทั้งหลายนั้นมีแต่ในหนังสือการ์ตูน ในชีวิตจริงหายาก หายากจริงๆ แล้วก็จะเห็นว่าจากที่เกิดขึ้น คนอย่างที่เราคาดหวังว่าจะมาอยู่ในองค์กรอิสระต่างๆ นั้นเราไม่ได้คนอย่างที่เราตั้งความฝันไว้ มันหายากมาก

เป็นอย่างที่ ลอร์ดแอคตัน (John Dalberg-Acton) กล่าวไว้ว่า Power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely. Great men are almost always bad men. อำนาจมีแนวโน้มจะทำให้เกิดการฉ้อฉล ยิ่งถ้าอำนาจเบ็ดเสร็จยิ่งทำให้เกิดการฉ้อฉลอย่างเบ็ดเสร็จ และผู้ที่ได้รับการยกย่องชื่นชมทั้งหลาย หลายครั้งก็ได้กระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องเยอะแยะมากมาย

สิ่งที่สำคัญคือเมื่อเราสร้างองค์กรอิสระขึ้นมา ซึ่งหลายองค์กรมีบทบาทในการตรวจสอบ แต่องค์กรเหล่านี้ซึ่งมีอำนาจมหาศาล อาจจะมากกว่าองค์กรเดิมๆ ด้วยซ้ำไป แล้วใครเล่าจะมาตรวจสอบองค์กรเหล่านี้ ใครจะรักษาประโยชน์ของตัวเขาได้ดีที่สุด

พูดถึงตัวเรา เราก็ต้องบอกว่าตัวเราที่จะรักษาประโยชน์ของตัวเราได้ดีที่สุด แต่ถามว่าผลประโยชน์ของชาวไทย 66 ล้านคน ท่านคิดว่าใครจะรักษาผลประโยชน์ของคนเหล่านั้นได้ดีที่สุด องค์กรอิสระอย่างนั้นหรือ ไม่มีทาง ไม่มีทางจริงๆ เป็นไปไม่ได้ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นหลายครั้ง เราก็เห็นว่าเขาไม่มีทางสามารถรักษาประโยชน์ของคน 60 กว่าล้านคนได้ ทำอย่างไรที่จะจัดกลไกให้ถ้ามีองค์กรอิสระ องค์กรอิสระนี้ต้องมีความยึดโยงกับประชาชน องค์กรอิสระเหล่านี้ต้องถูกตรวจสอบอย่างไร

ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ไปสร้างกลไกไว้ที่ประหลาดมาก เพราะว่ารัฐสภา ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เป็นตัวแทนของประชาชน  แต่บทบาทของรัฐสภาในการได้มาซึ่งองค์กรอิสระก็ดี ในการตรวจสอบองค์กรอิสระก็ดีกลับถูกจำกัด ยกตัวอย่าง คณะกรรมาธิการของรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา ไม่สามารถจะเรียกองค์กรอิสระ คนในฝ่ายตุลาการ มาสอบถามได้เลย ในเรื่องที่เป็นการใช้อำนาจของฝ่ายตุลาการ เรื่องอำนาจหน้าที่โดยตรงขององค์กรอิสระ ถามเขาไม่ได้ ถ้าถามฝ่ายตุลาการ ถ้าเกิดมีคดี 5 คดีที่ดูแล้วเหมือนกัน ทำไมสั่งไม่เหมือนกัน  แม้กระทั่งคดีง่ายๆ ยกตัวอย่างคดีการปล่อยตัวชั่วคราว 5 คดี คนดูบอกว่าคดีที่ดูแล้วไม่น่าจะปล่อยเขาไว้ ท่านปล่อย คดีที่ไม่น่าจะขังเขาไว้ ท่านขัง ปกติต้องถูกเรียกมาถามแล้วว่าเพราะเหตุใด กลไกการตรวจสอบโดยตัวแทนของประชาชน หรือองค์กรอิสระต้องถูกเรียกมาถามแล้วว่า ทำไมคดีท่านสั่งอย่างนี้ เหตุผลเป็นอย่างไร แล้วโต้แย้งเหตุผลซึ่งกันและกัน

ถ้าเราไปดูอย่างสหรัฐอเมริกา ผู้ใช้อำนาจทั้งหลายถูกสอบถาม ไต่สวนจากกรรมาธิการของรัฐสภา ทั้งระดับผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา แต่ของไทยเรา องค์กรเหล่านี้ไม่มี เรียกไปถามก็ไม่ได้ เราก็ไม่รู้ว่าเขาทำอะไร

เรื่องของที่มานี่ไม่ต้องพูดเลย เพราะคนในกลไกเหล่านั้นเลือกกันเอง เสนอกันเองขึ้นมา การที่ภาคประชาสังคมจะเข้ามามีส่วนร่วมในกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด และผมก็อยากเห็นการใช้อำนาจรัฐของไทยไม่ว่าองค์กรไหนโปร่งใส มีเหตุผล มีความเป็นธรรม ตรงไปตรงมา 

จะสร้างกลไกเหล่านี้อย่างไร ก็ต้องสร้างกลไกให้ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคสื่อต่างๆ สามารถจะเข้ามาได้ เราไม่มีทางที่จะตรวจสอบองค์กรเหล่านี้หรือทำให้องค์กรเหล่านี้น่าเชื่อถือถ้าเราไม่รู้ว่าเขาทำอะไร

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘บาบอการีม’ ปอเนาะดาลอ มุ่งตั้งองค์กรศาสนาชี้นำชายแดนใต้

Posted: 06 Mar 2013 08:48 AM PST

 

อับดุลการีม นาคนาวา

หลักฐานเก่าแก่ – บรรดานักเรียนและครูสอนศาสนาอิสลามพากันเยี่ยมชมบ่อน้ำซึ่งอดีตเป็นที่ตั้งปอเนาะของเชคดาวูด
นักปราชญ์ผู้รู้ศาสนาอิสลามชื่อดังระดับโลกของปัตตานีในช่วง 200 ปีที่แล้ว
ที่บ้านปาเระ หมู่ที่ 2 ต.บาราโหม อ.เมือง จ.ปัตตานี หลังจากเข้าร่วมงานเปิดสภาอูลามาอฺฟาฏอนีย์ ดารุสลาม

 

ในสถานการณ์ความไม่สงบ บทบาทของผู้นำศาสนาอิสลามอิสลามในพื้นที่ถูกตั้งคำถามอย่างมากว่า เหตุใดจึงไม่ออกมาให้ความเห็นอย่างชัดเจนถึงเรื่องราวการจับอาวุธต่อสู้ของคนกลุ่มหนึ่งในชายแดนใต้ว่า ถูกต้องตามหลักศาสนาหรือไม่ ด้วยเหตุดังกล่าว กลุ่มผู้นำศาสนาในพื้นที่ จึงพยายามรวมกลุ่มเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กร เพื่อให้สามารถชี้นำสังคมได้อย่างจริงจัง บทบาทส่วนหนึ่งก็คือการก่อตั้งสภาอูลามาอฺฟาฏอนีย์ดารุสสลาม

สภาอูลามาอฺฟาฏอนีย์ดารุสสลาม มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้ว เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2556 ที่ผ่านมาอย่างยิ่งใหญ่ ที่บ้านปาเระ หมู่ที่ 2 ต.บาราโหม อ.เมือง จ.ปัตตานี โดยมีผู้หลักผู้ใหญ่ เช่น นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รวมทั้งโต๊ะครู ผู้นำศาสนา นักเรียนปอเนาะเข้าร่วมงานคับคั่งกว่า 8,000 คน

เป็นงานที่จัดพร้อมกับงานเมาลิดนบีบนที่ดินที่จะก่อสร้างเป็นศูนย์สภาอูลามาอฺฟาฏอนีย์ดารุสสลามมูลนิธิ ซึ่งที่ดินส่วนหนึ่งเป็นที่ตั้งของปอเนาะหรือโรงเรียนสอนศาสนาของเชคดาวูด บินอับดุลลอฮฺ บินอิดริส อัลฟาฏอนีย์ นักปราชญ์ผู้รู้ทางด้านศาสนาอิสลามชื่อดังของปัตตานีในอดีต ซึ่งยังมีบ่อน้ำของเชคดาวูดเหลืออยู่เป็นหลักฐานบริเวณด้านหลังของพื้นที่ก่อสร้างศูนย์ฯ ซึ่งที่ผ่านมามีประชาชนแวะมาเยี่ยมชมบ่อน้ำดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ

ทำไมการศูนย์สภาอูลามาอฺฟาฏอนีย์ดารุสสลามมูลนิธิ จึงได้มาก่อสร้างบนที่ดินของอูลามาอฺที่มีชื่อระดับโลกในช่วง 200 ปีที่แล้ว "บาบออับดุลการีม" หรือนายอับดุลการีม บินฮัสบุลลอฮฺ นาคนาวา โต๊ะครูสถาบันศึกษาปอเนาะดาลอ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ในฐานะประธานสภาอูลามาอฺฟาฏอนีย์ดารุสสลามมูลนิธิ ซึ่งภาคภูมิใจกับที่ดินผืนนี้มาก เพราะมีคุณค่าทางจิตวิญญาณ ไม่สามารถที่จะเปรียบเทียบมูลค่าราคาใดๆได้ จะให้คำตอบเรื่องนี้

ความเป็นมาของสภาอูลามาอฺฟาฏอนีย์ดารุสสลาม?
สภาอูลามาอฺฟาฏอนีย์ดารุสสลามก่อตั้งมานานแล้ว เริ่มก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ.2536 โดยโต๊ะครูฮัจญี ฮูเซ็น บิน มูฮัมหมัด แห่งปอเนาะดาลอ มีวัตถุประสงค์เพื่อถกประเด็นที่กำลังปะทุขึ้นในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับหลักอากีดะฮ์ (ความเอกกะ) กฎหมายอิสลาม (ฮูกุมฟิกฮ์) และประเด็นปัญหาร่วมสมัย โดยทำหน้าที่ในการฟัตวา (ชี้ขาด) เพื่อให้สังคมได้มีที่พึ่งในการหาคำตอบ

ก่อนที่จะมีการจัดตั้งเป็นสภาอูลามาอฺฟาฏอนีย์ดารุสสลามได้อย่างทุกวันนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายๆ เลย แต่เดิมเป็นแค่ชมรมเล็กๆ ชมรมหนึ่ง ที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก ประกอบกับในช่วงนั้นมีอุปสรรคมากมาย ทั้งความไม่มั่นคง ความไม่มั่นใจในความปลอดภัย ก็เลยเงียบไประยะหนึ่ง แต่ชมรมยังคงอยู่ ไม่ได้หายไปไหน จากวันนั้นถึงวันนี้ก็อัลฮัมดูลิลลาฮ (ขอบคุณพระเจ้า)ที่ทำให้มีวันนี้ขึ้นมา

สภาอูลามาอฺฟาฏอนีย์ดารุสสลามมีบทบาทอะไรบ้าง?
อย่างที่บอก สภาอูลามาอฺฟาฏอนีย์ดารุสสลามเป็นที่ทำการของอูลามาอฺฟอฏอนีย์ ซึ่งครอบคลุมทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นทั้งที่ชุมนุมของบรรดาผู้รู้ เป็นสถาบันหลักในการออกคำสั่งหรือฟัตวาในประเด็นศาสนาให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ในขณะเดียวกันเพื่อเป็นการรวมกันของบรรดาอูลามาอฺให้เป็นหนึ่งบนรากฐานอัลอิสลาม

เหตุใดถึงเลือกสถานที่บริเวณนี้ก่อสร้างศูนย์สภาอูลามาอฺฟาฏอนีย์ดารุสสลามมูลนิธิ?
คงเป็นเพราะตักดีร(ลิขิต)ของอัลลอฮฺ เพราะตามความเป็นจริงที่นี่คงไม่น่าจะเป็นสถานที่สำหรับเราแน่นนอน เพราะเจ้าของมีแผนจะสร้างบ้านจัดสรรอยู่ด้วย อีกอย่างเราไม่นึกไม่ฝันสักนิดเลยว่าจะมาอยู่ที่นี่เพราะก่อนหน้านี้ได้ไปดูสถานที่แห่งหนึ่งแต่ก็ยังไม่ได้ตกลงจะซื้อ

ขอเล่าอย่างคร่าวว่า วันนั้นผมได้ไปเยี่ยมอุสตาซอิสมาแอล เบญจสมิทธิ์ (นักประวัติศาสตร์คนหนึ่ง) แล้วจู่ๆ ท่านก็เอยขึ้นว่า บาบอสนใจอยากซื้อที่ดินของท่านเชคดาวูดไหม ได้ฟังอย่างนั้นก็รู้สึกดีใจมาก ก็เลยตอบตกลงทันที และให้อุสตาซอิสมาแอลติดต่อกับเจ้าของที่ดินทันที

ที่ดินของเชคดาวูด คือบริเวณที่ตั้งบ่อน้ำด้านหลังพื้นที่ที่จะก่อสร้างศูนย์ เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่เศษ ในราคา 320,000 บาท แต่เจ้าของมีข้อแม้ว่าต้องรีบนำเงินมาจ่ายภายในเวลา 10 วันเท่านั้น ผมก็ตอบตกลงไปอย่างง่ายๆ ทั้งที่ในช่วงนั้นไม่มีงบแม้แต่บาทเดียว

หลังจากตกลงกันเรียบร้อยก็กลับไป แต่ไม่รู้ว่าอะไรมาดลใจ ทำให้ลืมเรื่องนั้นไปเสียทั้งๆ ที่เขาให้เวลาแค่ 10 วันเท่านั้น แต่ด้วยตักดีรอีกครั้ง กระทั่ง 2 วันสุดท้ายก่อนจะครบกำหนดจึงนึกขึ้นได้ ทำให้ผมต้องหายใจรดต้นคอ เพราะเหลือเวลาไม่มากเพราะเจ้าของร้อนเงิน ไม่อย่างนั้นเขาจะขายให้คนอื่น เพราะมีคนรอจะซื้อยู่แล้ว

ตอนั้นเงินยังไม่มี หากชักช้ามีหวังพลาดไปอย่างน่าเสียดาย ก็เลยต้องวิ่งหาเงินจากพรรคพวกรวมทั้งญาติมิตรจากที่ต่างๆ ใครให้ได้ 5,000 บาทก็เอามาก่อน หาไปเรื่อยๆ ที่นั่นนิด ที่นี่หน่อย จนครบและจ่ายเงินได้ทันวันที่กำหนด

ส่วนที่ดินส่วนอื่นซื้อมาในราคาทั้งหมด 6,700,000 บาท มาจากเงินบริจาคของประชาชนทั้งหมด โดยในเดือนเมษายนนี้จะจัดงานเลี้ยงสมทบทุนสร้างอาคารทั้งหมด ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณทั้ง 70 ล้านบาท

โดยที่ดินทั้งหมดมี 12 ไร่ จะมีการก่อสร้างมัสยิด สำนักงาน ห้องประชุม ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ โดยจะรวบรวมผลงานทั้งหมดของเชคดาวูดมาไว้ที่นี่

ภารกิจของศูนย์สภาอูลามาอฺฟาฏอนีย์ดารุสสลามมูลนิธิจะมีด้านใดบ้าง?
ภารกิจมีมาก คงจะเอ่ยได้ไม่หมด แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ที่นี่จะเป็นสถานที่ผลิตนักปราชญ์รุ่นใหม่ที่มีคุณภาพแทนรุ่นเก่า คือเราจะสร้างพวกเขาให้มีความรู้อย่างชาญฉลาดให้ท่องจำตำราทุกเล่มเช่นเดียวกับนักปราชญ์รุ่นก่อน โดยเราจะคัดเลือกจากนักเรียนฮาฟิซชาฮาดะฮ์มาเรียนที่นี่

นักเรียนฮาฟิซชาฮาดะฮ์ คือนักเรียนท่องจำอัลกุรอานที่ผ่านการทดสอบการอ่านโดยการท่องจำต่อหน้าโต๊ะครูต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงหลังละหมาดซุบฮ์(เวลาประมาณตี 5) ถึงหลังละหมาดอีชา(เวลาประมาณ 2 ทุ่ม) จนจบอย่างไม่ติดขัด รวมประมาณ 16 ชั่วโมง

เราจะคัดเลือกเด็กพวกนี้ไม่เกิน 15 คนต่อปี โดยเราจะทำความเข้าใจกับผู้ปกครองว่า เราต้องการสร้างบุตรของท่านให้เป็นอย่างนี้จนถึงที่สุด โดยผู้ปกครองไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายแม้แต่บาทเดียว อินชาอัลลอฮ์ (หากพระองค์ทรงประสงค์) เราจะสามารถสร้างอูลามาอฺขึ้นมาเพื่อทดแทนรุ่นเก่าได้อย่างแน่นอน

 

อ่านบทสัมภาษณ์ ภาษามลายูได้ที่
http://www.deepsouthwatch.org/sites/default/files/sinaran_2.pdf

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บทความจากฝั่งมาเลย์: ความมุ่งมั่นต่อการแก้ปัญหาไม่สงบที่ปาตานีของรัฐบาลไทย

Posted: 06 Mar 2013 08:36 AM PST

การจับอาวุธต่อสู้ของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนทางภาคใต้ของประเทศไทย นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมผู้ประท้วงที่หน้า สภ.ตากใบ และการปิดล้อมยิงถล่มมัสยิดกรือเซะตลอดระยะเวลาเก้าปีที่ผ่านมานั้น ได้ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นใจในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องในพื้นที่เป็นตลอดมา

นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2004 ความพยายามของนายกรัฐมนตรีไทยทั้งหลายที่ผ่านมาที่ต้องการแสวงหาความสงบสุขมาสู่พื้นที่ภาคใต้ ล้วนแล้วประสบกับความล้มเหลวมาโดยตลอด ซึ่งตอนนี้ได้เกิดคำถามไปยังรัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า สัญญาพันธกิจแนวทางที่มีต่อนโยบายในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว เพื่อที่จะกอบกู้ความสงบสุขกลับคืนมาให้กับคนในพื้นที่ให้ได้

ก่อนที่จะมีการทำข้อตกลงเจรจาสันติภาพร่วมกันระหว่างกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนกับรัฐบาลไทยในครั้งนี้ ณ เมืองปูตราจายา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ที่เชื่อว่าเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่จริง ก่อนหน้านี้ก็ได้เกิดเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ด้วยกัน ปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่ได้ทำให้ฝ่ายรัฐบาลจากกรุงเทพ จำเป็นที่จะต้องขับเคลื่อนแนวทางการแก้ไขในทางการเมืองที่มีความยั่งยืนโดยที่มาเลเซียเป็นคนช่วยประสานอำนวยความสะดวกให้

รัฐบาลไทยเองก็คงอาจจะได้เห็นบ้างแล้วว่า ทางการฟิลิปปินส์ได้ใช้มาตรการใดที่สามารถเจรจาสันติภาพหาข้อยุติร่วมกันกับฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนโมโรได้สำเร็จ จนกระทั่งนำมาซึ่งการเกิดขึ้นเขตปกครองพิเศษแห่งประชาชนชาวโมโรได้ในที่สุด ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ได้ลุกขึ้นมาจับอาวุธต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพของตัวเอง

ด้วยสัญญาในการทำข้อตกลงเจรจาเพื่อสันติภาพร่วมกันดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนสามารถหาทางออกได้

ทางรัฐบาลไทยเองก็ควรที่จะศึกษาเรียนรู้จากบทเรียนเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ด้วย ที่ท้ายที่สุดแล้วขบวนการอาเจะห์เสรี (Gerakan Aceh Merdeka : GAM) ที่ในที่สุดก็ได้เห็นพ้องต้องกัน ที่จะยอมลดข้อเรียกร้องของตนเองจากเดิมที่ต้องการความเป็นเอกราชอย่างเดียวเท่านั้น โดยยินยอมที่จะอยู่ภายใต้การปกครองของอินโดนีเซียเช่นเดิม

ทางรัฐบาลไทยเองก็คงจะเดินมาถูกทางแล้ว ที่ได้พยายามนำกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนทางภาคใต้ของไทยเข้าสู่โต๊ะเจรจา ทั้งยังเป็นนิมิตรหมายที่ดีอีกด้วยที่มาเลเซียได้เข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะเป็นฝ่ายผู้ช่วยประสานงานในการเจรจาสันติภาพครั้งนี้

ทางกรุงเทพเองก็คงจะพอเข้าใจได้แล้วว่า ความพยายามและนโยบายที่เคยได้ปฏิบัติกันมาในอดีต ในการที่จะจัดการกับปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นทางภาคใต้ของประเทศนั้นเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า ล้วนแต่ประสบกับความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ซึ่งความล้มเหลวในการหาทางออกของปัญหา เป็นเพราะว่า ทางกรุงเทพเองไม่ค่อยมีความจริงใจที่จะให้มีการพูดคุยเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่าง ตรงกันข้ามชอบที่จะใช้มาตรการทางการทหารในการหยุดยั้งเอาชนะการต่อสู้ของคนมุสลิมภาคใต้ด้วยซ้ำ

หากย้อนดูแนวทางการแก้ไขปัญหาของผู้นำไทยหลายๆ ท่านก่อนหน้านี้ จะไม่ค่อยให้ความหวังกับสังคมมุสลิมภาคใต้มากนัก ถ้าเทียบกับท่านนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร คนปัจจุบัน

ท่านต้องพยายามอย่างหนักเพื่อให้เกิดความสงบสุขให้ได้ เพราะท่านเองก็คิดว่า สังคมมุสลิมนั้นยังไม่ลืมบาดแผลอันโหดร้ายที่เกิดจากน้ำมือของทักษิณ ชินวัตร พี่ชายเขาเอง ที่ได้กระทำต่อกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงที่หน้า สภ.ตากใบ เพื่อต้องการที่จะเอาชนะใจมวลชน ท่านมิได้เพียงแค่อำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้ที่เป็นเหยื่อจากสถานการณ์ความรุนแรงอย่างเดียว หากแต่ยังต้องการที่จะสร้างยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อให้สันติสุขกลับคืนมาสู่พื้นที่โดยเร็ว

เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เพื่อต้องการสนองตอบในเรื่องการกระจายอำนาจ (autonomi) ให้กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหมือนอย่างที่ท่านได้สัญญาไว้ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว

ในการพยายามเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยบนโต๊ะเจรจา เหมือนอย่างที่รัฐบาลฟิลิปปินส์เคยได้ทำกับประชาชนชาวโมโร เราเชื่อว่า ปัญหาของชาวมุสลิมทางภาคใต้ของไทยก็น่าจะสามารถยุติลงได้เช่นกัน

จากประสบการณ์ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า บ่อยครั้งที่กระบวนการสร้างสันติภาพมักจะพบกับความสะดุดกลางคัน หากเป็นเป็นเช่นนั้น ทั้งสองฝ่ายควรหลีกเลี่ยงในการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน ตรงกันข้าม ทั้งสองฝ่ายจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยคนกลาง (ผู้ประสาน) อย่างมาเลเซีย เพื่อให้เกิดความพึงพอใจแก่ทั้งสองฝ่าย

ความจริงแล้วยังมีอีกมากที่รัฐบาลไทยเองจำเป็นที่จะต้องเข้าใจว่า เพราะเหตุใดพื้นที่ดังกล่าวจึงมีความขัดแย้งเกิดขึ้น

หากพูดถึงปฐมฤกษ์ สาเหตุแห่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทางภาคใต้ของไทย หลายคนมักจะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า สาเหตุจะมาจากการที่สังคมมลายูในพื้นที่มีความรู้สึกไม่พอใจ

จะเห็นได้ว่าทางรัฐบาลเองยังไม่เข้าใจอย่างดีพอ ต่อปัจจัยและสิ่งที่เป็นความต้องการของสังคมมลายูมุสลิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่

ปัญหาดังกล่าวยิ่งทวีเพิ่มมากขึ้น เมื่อทางกรุงเทพเองยังไม่ค่อยเข้าใจต่อความต้องการที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตลักษณ์ของคนมลายู การไม่ยอมรับภาษามลายู ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและการพัฒนาพื้นที่

ลองคิดดู นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ตากใบและที่มัสยิดกรือเซะ การลงทุนในพื้นที่ก็ไม่เกิดขึ้น และนักท่องเที่ยวก็ได้ลดลงไปด้วย

นับตั้งแต่เหตุการณ์ดังกล่าว พื้นที่ภาคใต้ของไทยก็ต้องประสบกับเหตุการณ์การลอบวางระเบิดและปฏิบัติการทางทหารโดยกลุ่มขบวนการที่ต้องการล้างแค้นมาโดยตลอด

การที่รัฐบาลไทยและกลุ่มบีอาร์เอ็นออกมาเซ็นสัญญาทำข้อตกลงการเจรจาสันติภาพในครั้งนี้ จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ของการเจรจาสันติภาพที่เคยจนตรอกมาแล้วอีกด้วย เพื่อหาแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อนำสันติภาพมาสู่พื้นที่ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ที่ชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ให้ได้

รายละเอียดบางส่วนจากเอกสารการพูดคุยเพื่อสันติภาพในครั้งที่ผ่านมา ก็คือ ได้ร้องขอให้ทางกลุ่มขบวนการลดเป้าหมายที่ต้องการเอกราชของตนเองลง และจะถูกตอบแทนด้วยการนิรโทษกรรมให้ทั้งหมด เศรษฐกิจจะถูกพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น และการเพิ่มงบประมาณบริหารพื้นที่ให้มากขึ้น

ทางการไทยก็พร้อมที่จะยกเลิกมาตรการทางทหาร และยังได้เรียกร้องให้กลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนทำการวางอาวุธเพื่อเป็นการยุติการใช้อาวุธและระเบิดที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่ในพื้นที่

นับตั้งแต่ที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทย รัฐบาลชุดนี้ได้พยายามที่จะสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้มาโดยตลอด ด้วยการมุ่งเน้นไปที่เรื่องการศึกษา การสร้างอาชีพและการให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจขนาดเล็กในพื้นที่

ท่านยิ่งลักษณ์เอง คงจะทราบดีว่า การใช้มาตรการทางทหารเพื่อเอาชนะการต่อสู้ของคนมุสลิมนั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายแต่อย่างใด ตรงกันข้ามยังได้สร้างความสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ดูเหมือนว่า ทางรัฐบาลไทยมีแนวโน้มที่จะนำแบบอย่างการจัดการเรื่องชาติพันธุ์ตามแบบอย่างของมาเลเซีย ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก ที่ประเทศของเรา (มาเลเซีย) ได้มีประสบการณ์ในเรื่องนี้เป็นอย่างดีในการจัดการเกี่ยวกับปัญหาชนชาติพันธุ์ที่มีสามกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ๆ เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่อยู่ในรัฐซาบาห์และรัฐซาราวัก

ด้วยเหตุนี้ การใช้แนวทางการศึกษาเพื่อการพัฒนา สมควรเป็นอีกหนึ่งทางเลือก หากว่ารัฐบาลไทยต้องการที่จะเห็นสันติภาพความสงบสุขที่ยั่งยืนในพื้นที่ ประเด็นศาสนาและด้านภาษา จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดโอกาสให้กับทุกชาติพันธุ์ได้ใช้สิทธิของตนเอง ยิ่งไปกว่านนั้น รัฐไทยจะต้องส่งเสริมในสถานศึกษาด้วยซ้ำ

ไม่มีประโยชน์ใดๆ เลย ในการพยายามของรัฐบาลไทยที่จะให้ประชาชนชาวมลายูมุสลิมทางภาคใต้ลืมรากเหง้าศาสนาและภาษาของพวกเขา เพราะว่าการพยายามดังกล่าว มีแต่จะต้องล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

ความจริงแล้วมาเลเซียเองก็ไม่ได้ต้องการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องการเมืองภายในของไทยแต่อย่างใด แต่วันนี้เมื่อถูกร้องขอมา เราก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่

รัฐบาลมาเลเซียเองมีความกังวลมากกับสิ่งที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของไทย แต่เพื่อความสงบร่มเย็นของประเทศเพื่อนบ้าน ถึงจะต้องการหรือไม่ต้องการมันก็เป็นความรับผิดชอบของเราอยู่ดี

ในขณะเดียวกันแนวทางที่จะสร้างความมั่งคั่งให้กับเพื่อนบ้าน ถือว่าเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับบริบทของจังหวัดที่ติดชายแดนไทย- มาเลเซียอีกด้วย หากมาเลเซียสามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับพี่น้องแถวชายแดนทางภาคใต้ของไทยได้ ผลพลอยทั้งหมดก็จะตกแก่ทั้งสองประเทศอย่างแน่นอน

รัฐบาลมาเลเซียเองก็ได้ยืนยันมาโดยตลอดว่าพร้อมที่จะช่วยเหลือเพื่อยุติเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ของไทย ที่มีความยืดเยื้อกันมาเป็นเวลายาวนาน

ท่านนายกรัฐมนตรี ดาโต๊ะนาจิบ รอซัค เองก็เชื่อว่า การเจรจาสันติภาพระหว่างคู่กรณีในครั้งนี้ จะนำมาซึ่งความสงบสุขที่ยั่งยืนสู่พื้นที่ได้อย่างแน่นนอน

ซึ่งทั้งสามฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลไทย ฝ่ายขบวนการเอง และตัวแทนของมาเลเซีย ควรที่จะริเริ่มแนวทางการแก้ปัญหาในระยะยาวด้วย เพราะผลของมันสามารถยังประโยชน์ให้แก่ทุกฝ่ายได้ อีกแนวทางหนึ่งก็คือ ทั้งสองฝ่ายจะต้องช่วยกันกำหนดรูปแบบร่วมเพื่อไปสู่ชัยชนะร่วมกัน

อิสลามในมาเลเซียเองไม่ได้สอนเกี่ยวกับวิถีแห่งความรุนแรง แต่สอนเกี่ยวกับความเรียบง่าย(ความเป็นกึ่งกลาง) ซึ่งเป็นสิ่งที่มาเลเซียใคร่ขอความร่วมมือกันในการทำงานกับบรรดาผู้นำศาสนาในพื้นที่ภาคใต้ของไทย

 

ที่มาของต้นฉบับภาษามาเลย์ :
http://www.utusan.com.my/utusan/Rencana/20130302/re_01/Komitmen-di-selatan-Thai

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิกฤตไฟฟ้าเมษา วิกฤตหรือสร้างสถานการณ์ ?

Posted: 06 Mar 2013 08:34 AM PST

นับเป็นปีที่สองติดต่อกันแล้วที่กระทรวงพลังงานสร้างความตื่นตกใจแก่ประชาชนว่าจะเกิดปัญหาไฟฟ้าขาดแคลนในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสุงสุดของปี โดยในปีนี้รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและผู้ว่าการ กฟผ.ถึงกับระบุว่า ในวันที่ 5 เมษายนนี้อาจเกิดปัญหาไฟดับในพื้นที่กรุงเทพฯ และภาคใต้ เนื่องจากก๊าซจากพม่าจะหยุดส่งเพื่อซ่อมบำรุงแท่นขุดเจาะ อีกทั้งในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ท่อก๊าซไทย-มาเลเซียก็จะปิดซ่อมเช่นกันเนื่องจากอุบัติเหตุจากการทิ้งสมอเรือทำให้ท่อก๊าซเสียหาย

มีการอ้างว่า ผลจากการหยุดส่งก๊าซทั้งสองแหล่งจะทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าหายไปประมาณ 6,000 เมกะวัตต์ ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองเหลือเพียง 2%
 
เช่นเดียวกับปีที่แล้ว นายณอคุณ สิทธิพงษ์ ปลัดกระทรวงพลังงานได้ออกมาให้ข่าวในช่วงเดือนมีนาคมว่าจะเกิด "ภาวะวิกฤติด้านพลังงานของประเทศ" ในช่วงวันที่ 8-17 เมษายน 2555 เพราะกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองจะลดลงจาก 20% เหลือเพียง 5% จากการที่พม่าปิดซ่อมท่อส่งก๊าซ ทำให้โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติไม่สามารถใช้การได้ถึง 5,000 เมกะวัตต์
 
นับเป็นเรื่องแปลกที่ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองสูงเกินมาตรฐานที่เหมาะสมมาโดยตลอด แต่จู่ๆ ภาวะวิกฤติพลังงานไฟฟ้าก็เกิดขึ้นถึง 2 ปีติดต่อกัน ซึ่งเมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกันให้ดีแล้ว การเสนอข่าวที่สร้างความตกใจแก่ประชาชนครั้งนี้ มีประเด็นที่น่าเคลือบแคลงอยู่หลายเรื่อง ดังนี้
 
1. ตัวเลขกำลังไฟฟ้าสำรองเหลือแค่ 2% มีที่มาอย่างไร ?
ณ ขณะนี้ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้น 32,600 เมกะวัตต์ ในขณะที่ กฟผ.คาดว่าการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในวันที่ 4 เมษายนนี้จะอยู่ที่ระดับ 26,500 เมกะวัตต์ นั่นหมายความว่ากำลังผลิตไฟฟ้าสำรองในระบบมีอยู่ 6,100 เมกะวัตต์ แต่กระทรวงพลังงานอ้างว่าเมื่อก๊าซพม่าหยุดส่งจะทำให้โรงไฟฟ้าใช้การไม่ได้ประมาณ 6,000 เมกะวัตต์ 
 
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของ กฟผ.เองนั้น โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซจากพม่ามีทั้งสิ้น 5 โรง รวมกำลังผลิต 6,961 เมกะวัตต์ โดยมี 3 โรงที่สามารถใช้น้ำมันเตาและดีเซลทดแทนก๊าซธรรมชาติได้รวมแล้ว 5,581 เมกะวัตต์ ดังตาราง
 

ผลกระทบก๊าซฯ จากแหล่งตะวันตก

การแก้ไข

โรงไฟฟ้า

กำลังผลิต(เมกะวัตต์)

ใช้น้ำมันเตา/ดีเซล

หยุด

ราชบุรี

3,481

3,481

 

ราชบุรีพาวเวอร์

1,400

1,400

 

ไตรเอ็นเนอร์ยี

700

700

 

พระนครใต้

710

 

710

พระนครเหนือ

670

 

670

รวม

6,961

5,581

1,380

(ที่มา : กฟผ.)

ดังนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงจะทำให้กำลังผลิตหายไปจากระบบเพียง 1,380 เมกะวัตต์เท่านั้น ไม่ใช่ 6,000 เมกะวัตต์ และกำลังไฟฟ้าสำรองในวันที่ 4 เมษายนจะยังคงมีอยู่ถึง 4,720 เมกะวัตต์หรือ 18% ไม่ใช่ 2% 
 
2. ท่อก๊าซไทย-มาเลเซียไม่ได้มีปัญหา
สำหรับภาคใต้ที่ถูกระบุว่าอาจเกิดปัญหาไฟดับนั้น มาจากโรงไฟฟ้าจะนะที่จะต้องหยุดเดินเครื่องเพราะท่อก๊าซไทย-มาเลเซียต้องปิดซ่อม แต่แล้วก็มีรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ (20 กุมภาพันธ์ 2556) ว่า "ท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซียที่ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุทิ้งสมอเรือ เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ขณะนี้ได้ซ่อมบำรุงเสร็จเรียบร้อยและเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว" สรุปว่าไม่มีปัญหา ซึ่งที่จริงเรื่องนี้นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ จากมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติได้เปิดเผยในรายการคมชัดลึก เนชั่นทีวีว่า ปัญหาเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2555 และการซ่อมแซมท่อก๊าซไทย-มาเลเซียดำเนินการเสร็จไปตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์แล้ว เรื่องนี้ควรได้รับการตรวจสอบ เพราะถ้าเป็นจริงก็ต้องถือว่ากระทรวงพลังงานเจตนาให้ข้อมูลเท็จต่อสาธารณะ
 
3. ไม่ใช่ "พม่า" แต่เป็น "ปตท." ที่ทำให้เกิดปัญหา
ผู้เกี่ยวข้องในเรื่องพลังงานต่างทราบกันดีว่า หน้าร้อน โดยเฉพาะเดือนเมษายนเป็นช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงที่สุดของปี ซึ่งโรงไฟฟ้าสำรองในระบบจะต้องถูกเตรียมพร้อมเพื่อรองรับความต้องการไฟฟ้าที่จะเพิ่มสูงขึ้น แต่การหยุดซ่อมท่อก๊าซพม่าถูกกำหนดไว้ในเดือนเมษายนมา 2 ปีติดต่อกันแล้ว และเป็นเหตุให้เกิดกระแสข่าวที่น่าวิตกเกี่ยวกับวิกฤติไฟฟ้าทั้งสองครั้ง
 
การซ่อมท่อก๊าซพม่าครั้งนี้และปีที่แล้ว ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยเพราะท่อก๊าซขัดข้องหรือเกิดอุบัติเหตุ แต่เป็นสิ่งที่มีการวางแผนล่วงหน้าว่าจะดำเนินการในช่วงเวลาใด โดยเฉพาะในกรณีของปีที่แล้ว เป็นการหยุดเพื่อ "ปรับปรุงประสิทธิภาพ" ให้ท่อก๊าซมีกำลังการส่งเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ท่อก๊าซเกิดชำรุดจนต้องซ่อมแซมอย่างปัจจุบันทันด่วนแต่อย่างใด คำถามก็คือ เหตุใดจึงต้องหยุดส่งก๊าซในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ก๊าซเพื่อผลิตไฟฟ้ามากที่สุด ? 

เรื่องนี้มีความสำคัญมาก จากกราฟของ กฟผ. ด้านล่างที่แสดงถึงการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในแต่ละเดือนของปี 2555 จะเห็นได้ว่า การใช้ไฟฟ้าในเดือนอื่นๆ ต่างก็มีระดับที่ต่ำกว่าเดือนเมษายนอย่างน้อย 1,000 เมกะวัตต์ หากการปรับปรุงท่อก๊าซถุกกำหนดไว้ในเดือนอื่นๆ ที่ไม่ใช่เดือนเมษายน "สถานการณ์วิกฤติไฟฟ้า" ก็จะไม่เกิดขึ้น

สิ่งที่ควรทราบก็คือ เมื่อเรากล่าวว่า "พม่าหยุดส่งก๊าซ" พม่าที่ว่านั้นไม่ใช่ประเทศพม่า แต่เป็นกลุ่มบริษัทที่ร่วมลงทุนขุดเจาะก๊าซ ซึ่งมีบริษัท ปตท.สผ.เป็นผู้ร่วมทุนอยู่ด้วย ดังตาราง
 

ผู้ร่วมทุนขุดเจาะก๊าซพม่า

สัดส่วนทุน

แหล่งยาดานา

 

โททาล อี แอนด์ พี เมียนมาร์

31.24%

ยูโนแคลเมียนมาร์ ออฟชอร์ (UMOL)

28.26%

ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

25.5%

Myanmar Oil and Gas Enterprise

15%

แหล่งเยตากุน

 

Petronas Carigali Myanmar (Hong Kong) Ltd.

40.91%

เมียนมาร์ ออยล์ แอนด์ แก๊ซ เอ็นเตอร์ไพรส์

20.45%

ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ปตท.สผ.อ.)

19.32%

Nippon Oil Exploration (Myanmar) Limited

19.32%

 
ดังนั้น ตามข่าวที่บอกว่า ฝ่ายไทยได้พยายามเจรจาให้มีการเลื่อนกำหนดปิดซ่อมแท่นชุดเจาะ แต่พม่ายอมเลื่อนให้แค่วันเดียวนั้น ถือเป็นเรื่องตลกและไม่ใช่ประเด็นเลย เพราะที่จริงแล้ว ปตท.จะต้องตกลงกับ "พม่า" ซึ่งในที่นี้ก็คือ ปตท.สผ. บริษัทลูกของตัวเอง ตั้งแต่ต้น ให้กำหนดแผนหยุดซ่อมในเดือนอื่น เพียงเท่านี้ประเทศไทยก็สามารถหลีกเลี่ยงวิกฤติที่อ้างว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย

สิ่งที่ไม่สามารถเข้าใจได้ก็คือ สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น 2 ปีติดต่อกัน จนดูเหมือนเหตุการณ์เมื่อปีที่แล้วที่กระทรวงพลังงานแสดงความวิตกว่าเป็นภาวะวิกฤติร้ายแรงนั้น ไม่ได้ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลายคิดหาวิธีป้องกันปัญหาที่จะเกิดซ้ำสองเลย 
 
4. ความรับผิดชอบของ ปตท.อยู่ตรงไหน
ทุกครั้งที่เกิดปัญหาท่อก๊าซสะดุด ไม่ว่าจะมาจากสาเหตุอะไร ผู้ที่ต้องรับภาระก็คือผู้ใช้ไฟฟ้าที่ต้องจ่ายค่าเอฟทีเพิ่มขึ้นจากการที่ กฟผ.ต้องใช้น้ำมันเตาและดีเซลเป็นเชื้อเพลิงทดแทน 
 
หรือแม้กระทั่งชาวบ้านต้องเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเช่นกรณีเหตุการณ์ปี พ.ศ. 2552 ที่แหล่งก๊าซยาดานาของพม่าหยุดจ่ายก๊าซทำให้ กฟผ.ต้องเปิดเขื่อนศรีนครินทร์เต็มกำลังผลิตจนเกิดปัญหาน้ำท่วมชาวบ้านที่ จ.กาญจนบุรี เป็นต้น แต่ ปตท.ในฐานะผู้รับผิดชอบจัดหาก๊าซไม่เคยต้องร่วมรับผิดชอบภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเลย ทำให้เกิดคำถามว่า สัญญาซื้อขายก๊าซเป็นสัญญาที่ยุติธรรมหรือไม่ กล่าวคือ ในส่วนของผู้ซื้อก๊าซ (กฟผ.)  จะมีเงื่อนไขเรื่องค่า take or pay คือหากไม่สามารถรับก๊าซได้ตามสัญญา จะต้องจ่ายค่าก๊าซตามจำนวนที่สัญญาว่าจะรับซื้อ ซึ่งปัญหานี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อครั้งที่โรงไฟฟ้าราชบุรีก่อสร้างเสร็จล่าช้า กฟผ.ต้องจ่ายค่าก๊าซที่ยังไม่ได้ใช้ แต่ในทางกลับกัน ในกรณีที่ผู้ขายก๊าซไม่สามารถส่งก๊าซได้ ผู้ขายไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ปล่อยให้ผู้ซื้อไปหาเชื้อเพลิงอื่นมาทดแทนเอง ลักษณะที่ไม่เป็นธรรมนี้เหมือนกันทั้งก๊าซพม่าและอ่าวไทย ซึ่ง ปตท.เป็นผู้ผูกขาดการจัดหาทั้งหมด หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ผู้ใช้ไฟก็ต้องแบกรับค่าเอฟทีที่เกิดจากการวางแผนปิดซ่อมท่อก๊าซในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมไปตลอด ทั้งๆ ที่เป็นปัญหาจาก ปตท.
 
ถึงที่สุดแล้ว วิกฤติไฟฟ้าครั้งนี้ไม่ใด้ถึงขั้นวิกฤติจริง และโอกาสที่จะเกิดไฟดับนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลยก็ว่าได้ เพราะระดับกำลังไฟฟ้าสำรองยังคงอยู่ในมาตรฐานคือไม่ต่ำกว่า 15% (ถ้ายังปล่อยให้เกิดไฟดับได้  เห็นทีคงต้องปลดรัฐมนตรีพลังงานและผู้ว่าการ กฟผ.เป็นอันดับแรก)
 
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็คือความวิตกกังวลไปทั่วทุกวงการว่า ระบบไฟฟ้าของเรากำลังอยู่ในภาวะไม่มั่นคง ซึ่งผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องทั้งหลายต่างก็ประสานเสียงกันกล่าวว่าสาเหตุเป็นเพราะประเทศไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติมากเกินไป และทางออกก็คือการกระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิง ซึ่งข้อเสนอหลักก็คือต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและนิวเคลียร์เพิ่มขึ้นนั่นเอง 
 
ในการให้สัมภาษณ์กับ "ประชาชาติธุรกิจ" (20 กุมภาพันธ์ 2556) นายรัตนชัย นามวงศ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมโรงไฟฟ้า กฟผ. ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับโครงการพลังงานนิวเคลียร์ว่า 
"ตกลงจะเอาไฟดับหรือจะเอาไฟแพง ตรงนี้จะกลายเป็นวิกฤตพลังงานของประเทศไทย เราจึงต้องนำเสนอนิวเคลียร์เพราะเราไม่มีพลังงานใช้ในอนาคต"
 
ในฐานะผู้บริโภค เราคงต้องตอบว่า ไม่เอาทั้งไฟดับและไฟแพง แล้วก็อย่ามาถามในตอนนี้ว่าจะเอานิวเคลียร์ไหม เพราะสิ่งที่เราต้องการก่อนอื่นใดก็คือ ระบบการบริหารไฟฟ้าที่โปร่งใสซื่อตรง และมีความรับผิดชอบต่อผู้ใช้ไฟ ไม่ใช่ระบบที่ให้ข้อมูลเท็จ สร้างความแตกตื่นแก่สังคมจนเกินเหตุเพื่อเป้าหมายซ่อนเร้นอะไรก็ตาม 
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“นศ.ไม่ผิด ไม่ได้จับอาวุธสู้” เสียงจากเวทีสะท้อนบทบาทไทยพีบีเอส

Posted: 06 Mar 2013 08:21 AM PST

ม.อ.ปัตตานี ร่วมกับไทยพีบี  จัดเสวนาบทเรียนการสื่อสาร เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับนักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นกรณีไทยพีบีเอสนำเสนอข่าวพาดพิงนักศึกษาเกี่ยวข้องขบวนการแบ่งแยกดินแดน

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2556 คณะรัฐศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ร่วมกับ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดเวทีสาธารณะ "บทเรียนการสื่อสารและการเปิดพื้นที่ทางการเมือง: กรณีไทยพีบีเอสกับกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ชายแดนใต้" ที่ห้องประชุมชูเกียรติ ปิติเจริญกิจ ชั้น 3 คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะไทยพีบีเอส เปิดเผยว่า หลังจากที่ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส นำเสนอข่าวที่กล่าวถึงขบวนการนักศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และบางส่วนที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี หรือ BRN-Coordinate ซึ่งข่าวนี้ถูกนำเสนอเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา

นายธาม เปิดเผยอีกว่า หลังการนำเสนอข่าวและสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้(สนน.จชต.) ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงผู้บริหารของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เพื่อชี้แจงการนำเสนอข่าว ขณะที่ผู้บริหารของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้ดำเนินตามแผนปฏิบัติ (Action Plan) ในการที่แก้ปัญหาเรื่องในเรื่องดังกล่าว ดังนี้

1.ทางสถานีโทรศัพท์ไทยพีบีเอส ได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาในการจะรับข้อร้องทุกข์ต่างๆ โดยอนุกรรมการจะประชุมกันวันที่ 7 มีนาคมนี้ โดยจะเตรียมหลักฐานที่เป็นคลิปข่าวการนำเสนอ เอกสารข้อเรียกร้องต่างๆ และจดหมายเปิดผนึก สนน.จชต.มาพิจารณาด้วย และจะเชิญตัวแทน จาก สนน.จชต.มาฟังด้วย

2.ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้ดำเนินการชี้แจ้งไปยัง สนน.จชต. ไปแล้วว่า ทาง สนน.จชต. สามารถที่จะเข้ามาตรวจสอบกระบวนการทำงานของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสได้ตลอดเวลา

3.ประเด็นที่ทาง สนน.จชต. ต้องการให้ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เปิดเผยถึงแหล่งข่าวโดยเฉพาะประเด็นของแผนผังโครงสร้างการจัดการมวลชนในสถาบันอุดมศึกษาของ BRN-Coordinate นั้น ทางอนุกรรมการของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสกำลังพิจารณาเรื่องอยู่ และคิดว่าในวันที่ 7 มีนาคมนี้ จะมีความชัดเจนในเรื่องนี้

4.หากอนุกรรมการพิจารณาไปแล้วพบว่า ข่าวที่นำเสนอไปทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง หรือนำเสนอออกไปโดยที่ไม่มีข้อมูลที่สมบูรณ์ และอนุกรรมของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส พิจารณาว่าเกิดความเสียหายต่อ สนน.จชต. จริง ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จะแสดงความเสียใจต่อ สนน.จชต. ต่อไป สิ่งที่สำคัญต้องรอผลของการประชุมของอนุกรรมการไทยพีบีเอสที่จะประชุมวันที่ 7 มีนาคมนี้

นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธานที่ปรึกษา สนน.จชต. กล่าวว่า สิ่งที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จะต้องเร่งดำเนินการคือ ต้องสร้างความชัดเจนต่อสาธารณะชนในสิ่งที่ได้นำเสนอไป เพราะขณะนี้นักศึกษาต้องกลายเป็นจำเลย แต่เชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความผิดพลาด และคงไม่ใช่เป้าหมายของสถานีโทรทัศน์ที่จะให้เกิดความเข้าใจผิด 

1.ต้องระบุให้ชัดเจนว่า ข้อมูลที่ทางโทรทัศน์ไทยพีบีเอสนำเสนอได้ข้อมูลมาจากไหน สมมติว่าข้อมูลมาจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รนม. ภาค 4 สน.) หรือมาจากอาจารย์คนใดคนหนึ่ง ทางนักศึกษาก็จะไปหาหน่วยงานหรือบุคคลเหล่านี้ว่า มีหลักฐานอะไรที่บอกว่านักศึกษามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการ BRN-Coordinate

2.สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จะต้องระบุให้ชัดเจนว่า บุคคลใดใน สนน.จชต.มีความเกี่ยวข้องกับขบวนการ BRN แล้วผมฐานะประธานที่ปรึกษาจะนำบุคคลเหล่านั้นไปมอบให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ

"ถ้าหากมีนักศึกษามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการ BRN-Coordinate จริง ผมคิดว่าพวกเขาจะไม่มีความผิดใดทั้งสิ้น ตราบใดที่พวกเขาไม่ไปจับอาวุธต่อสู่กับรัฐ" นายอาเต๊ฟ กล่าว

อาจารย์สมัชชา นิลปัทม์ รองคณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร มอ.ปัตตานี กล่าวถึงการนำเสนอข่าวดังกล่าวที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ และมีการต่อต้านอย่างกว้างขวางจากขบวนการนักศึกษา ต่อมาวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เมื่อ พล.ท.ภราดร ในนามตัวแทนของรัฐได้มีการลงนามในข้อตกลงในเรื่องของการพูดคุยเรื่องสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กับนายฮัสซัน เจ๊ะหลง ตัวแทนจากฝ่ายขบวนการ BRN ได้ทำให้องค์กรผู้ที่เห็นต่างจากรัฐปรากฏตัวชัดเจนขึ้น จะทำให้บรรยากาศการพูดคุยเพื่อสันติภาพสามารถเดินหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรม ในขณะเดียวกัน ขบวนการนักศึกษาเองจะคลายความกดดันเมื่อองค์กรนอกกฎหมายที่ถูกพาดพิงกลายเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับ

"ซึ่งหากพิจารณาถึงขบวนการนักศึกษาก่อนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ จะพบว่า นักศึกษาอาจจะถูกผลักไปอยู่กับองค์กรหรือขบวนการผิดกฎหมายที่รัฐไทยไม่ยอมรับ แต่หลังจากวันที่ 28 กุมภาพันธ์ กลุ่มขบวนการที่เห็นต่างจากรัฐมีตัวตนที่ได้รับการยอมรับ มันอาจจะเป็นสิ่งที่ดีต่อนักศึกษาก็ได้" อ.สมัชชากล่าว

ในระหว่างที่มีเสวนาอยู่นั้นได้มีนักศึกษาจำนวน 5 คน ชูป้ายที่มีข้อความต่อต้านสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส อย่างเช่น "สถานีโทรทัศน์ Thai PBS เป็นสถานีโทรทัศน์ ที่กอ.รมน.ไว้วางใจ" เป็นต้น

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปิยบุตร แสงกนกกุล: การกลับมาของพรรคสังคมนิยมในฝรั่งเศส

Posted: 06 Mar 2013 06:54 AM PST

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ที่ผ่านมา ในงานรำลึก 37 ปี การจากไปของ ดร.บุญสนอง บุญโยทยาน เหลียวหลังแลหน้า ทางออกระบบพรรคการเมือง ที่ ร.ร.รามาการ์เดนส์ ถ.วิภาวดีรังสิต ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อภิปรายหัวข้อ การกลับมาของพรรคสังคมนิยมในฝรั่งเศส (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ช่วงหนึ่งปิยบุตร อภิปรายว่าวัฒนธรรมทางการเมืองของฝ่ายซ้ายฝรั่งเศสคือ เกิดมาเพื่อเป็นฝ่ายค้านตลอดเวลา ในช่วงหลังจึงคิดกันได้ว่าหากไม่มีโอกาสนำสิ่งที่ค้านไปทำย่อมไม่เกิดประโยชน์ จึงคิดปรับพรรคใหม่หาทางให้ได้รับเสียงข้างมาก หมุดหมายสำคัญคือ ปี 1971 มีการจัดประชุมสภาใหญ่ ครั้งนั้นมีคนขอลงสมัครเป็นผู้นำพรรคหลายคน   เมื่อได้หัวหน้าก็เริ่มจัดรณรงค์หลายปีโดยเริ่มการรวมกลุ่มสารพัดซ้าย หลากหลายเฉดเข้าด้วยกัน  จนกระทั่งปี 1981 พรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสชนะการเลือกตั้งได้เสียงข้างมากในสภาและได้เป็นประธานาธิบดี การรวมเสียงที่สำคัญคือการสร้างพันธมิตรกับพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส มีการหารือกันเพื่อเตรียมวางแผนนโยบายใหม่ โดยจูนคลื่นกันไว้ก่อนระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับพรรคสังคมนิยม

ครั้งนี้เป็นการชนะแบบสง่าผ่าเผย  เมื่อได้บริหารประเทศ พรรคฝ่ายซ้ายจัดการทุกอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่ปี ผลงานสำคัญ เช่น ยกเลิกโทษประหารชีวิต, กำหนดเกษียณอายุที่ 60 ปี , สิทธิในการลาคลอดทั้งชายหญิง คนละ 5 สัปดาห์ต่อบุตร 1 คน, การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ, การเก็บภาษีผู้มีรายได้สูง, อนุญาตให้สตรียุติการตั้งครรภ์ได้โดยสมัครใจ ซึ่งฝ่ายขวาทำมาก่อน แต่ฝ่ายซ้ายเพิ่มในส่วนว่าเบิกประกันสังคมได้, การทำวิทยุโทรทัศน์ช่องความรู้, การแก้ไขเรื่องบทบาททางการเมืองหญิงชายให้เท่ากัน, การกำหนดการทำงานขั้นสูงไม่เกิน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ที่สำคัญคือ ทำรถไฟความเร็วสูง,การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นซึ่งมีการเลือกตั้งโดยตรง, สร้างพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ฯ ฝ่ายซ้ายเติบโตมาเรื่อยแล้วจึงค่อยๆ ถดถอยลง ประกอบกับยุโรปเริ่มลดบทบาทรัฐด้วย ฝ่ายขวจึงกลับมาได้ในที่สุด

ปิยบุตรกล่าวด้วยว่า ในปี 2008 มีจัดสัมมนาใหญ่ เพราะฝ่ายซ้ายแพ้ฝ่ายขวาอย่างหนัก จึงทบทวนกันอีกครั้งเพื่อปรับพรรคอีกรอบให้ได้เสียงข้างมากในสภา ซึ่งในที่สุดก็ประสบความสำเร็จในปี 2012 วิธีการปรับพรรค คือ ย้อนกลับไปเอาสมาชิกพรรค แกนนำพรรคเคาะประตูหาชาวบ้านใหม่ โดยมีสโลแกน "ฝรั่งเศสที่เรารัก" ไถ่ถามทุกบ้าน ขอดีเบตกับทุกพื้นที่ทั่วประเทศถึงแนวนโยบายด้านต่างๆ หลังจากนั้นแบ่งทีมศึกษา เช่น เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การศึกษา ความปลอดภัย เศรษฐกิจ แล้วจัดงานอภิปรายตามหัวเมืองใหญ่ต่างๆ เชิญสมาชิกพรรคมาแลกเปลี่ยน สิ่งที่เป็นนวัตกรรมใหม่ คือ การนำระบบ primary vote มาใช้ โดยในตัดสินหาตัวแทนลงสมัครเพื่อเป็นประธานาธิบดีในปี 2012 ผู้สมัคร 6 คนต้องแข่งขันกันจนชนะโหวตในพรรคก่อน แสดงให้เห็นว่าตัวแทนที่ลงแข่งจะไม่มีทางที่จะหิ้วกระเป๋าเงินเข้ามากำหนดได้ วิธีการแข่งขันก็ให้เลือกตั้งอย่างจริงจัง ในครั้งนั้นมีสมาชิกพรรค 2.8 ล้านคนที่มาออกเสียงลงคะแนน ในการออกเสียงต้องนำเงินมาบริจาคให้พรรคด้วย 1 ยูโร มีการจัดดีเบตออกโทรทัศน์ 3 ครั้ง จนสุดท้ายได้ ฟร็องซัว ออล็องด์  เป็นผู้ชนะ ส่วนนโยบายก็มีการทำไว้แล้วเรียบร้อยจากการเดินสายหารือทั่วประเทศ เขาลงเลือกตั้งโดยม สโลแกนว่า "การเปลี่ยนแปลง เดี๋ยวนี้ !" โดยในแผ่นพับโฆษณา มีแนวนโยบายทั้งหมด 60 ข้อ หลังจากได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี สื่อและทุกฝ่ายก็ตรวจสอบจาก 60 ข้อดังกล่าว

"หากเราดูการเดินทางของพรรคสังคมนิยมปัจจุบัน เราจะเห็นว่าปี 2012 พรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส ชนะทุกสนามเลือกตั้ง  แต่ก็ไม่มีทหาร ไม่มีใครออกมาพูดว่า นี่คือเผด็จการรัฐสภา เผด็จการกินรวบประเทศ ฝ่ายขวาเขาก็รอ อีก 5 ปีมาเลือกกันใหม่ ซึ่งไม่แน่อาจชนะเพราะฝ่ายซ้ายเก็บภาษีเยอะ" ปิยบุตรกล่าว

ในส่วนของปัจจัยที่ทำให้พรรคสังคมนิยมไม่มีนายทุนใหญ่ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ปิยบุตรกล่าวว่า ที่เป็นเช่นนั้นเพราะ 1.มีอุดมการณ์ชี้นำพรรคอยู่แล้ว โดยธรรมชาติจึงไม่มีใครเป็นเจ้าของ วัฒนธรรมภายในก็พยายามทำให้เป็นประชาธิปไตยตั้งแต่รากขึ้นมา

2.ฝรั่งเศสอาจประหลาดหน่อยตรงที่พรรคการเมืองเกิดจากเสรีภาพในการวมตัวกัน ในฝรั่งเศสสมาคมต่างๆ เต็มประเทศเพราะรวมตัวกันได้โดยไม่ต้องจดทะเบียน แต่การจดทะเบียนกับรัฐจะได้ของแลกเปลี่ยน เช่น เงินอุดหนุน ลดหย่อนภาษี

3.พรรคสังคมนิยม มีแนวทางชัดเจนในการสร้างคนใหม่ๆ พรรคมีการสร้างมหาวิทยาลัยของเขาเอง 2 แห่ง เป็นมหาวิทยาลัยถาวรแห่งหนึ่ง คำซึ่งจะมีการจัดอบรมใหญ่ ปีละ 4 สัปดาห์ ที่จะจัด เวียนไปตามหัวเมืองใหญ่ พวกแกนนำ หัวคะแนนจะมาอบรม , อีกแห่งคือ มหาวิทยาลัยฤดูร้อน ทุกฤดูร้อนจะมีการจัดการศึกษาที่เมืองตากอากาศ เน้นกลุ่มเยาวชน นักศึกษา ที่เริ่มมีแนวคิดสังคมนิยม นอกจากเรียนรู้วิธีคิดแล้ว ยังได้เจอเพื่อนๆ สร้างเครือข่าย

4.สร้าง think thank ขึ้นมาชื่อ "ห้องทดลองของความคิด" เอานักวิชาการมานั่งสกัดนโยบาย โดยเอาข้อมูลจากที่เดินสายทั่วประเทศมาประมวลผล

5.การสร้างเครือข่าย ผูกมิตรกับขบวนการสหภาพแรงงาน กับอีกด้านคือเครือข่ายสังคมนิยมทั่วโลก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘สมบัติ จันทรวงศ์’ ทำจดหมายลาออกแล้ว 8 ตำแหน่ง

Posted: 06 Mar 2013 04:31 AM PST

ศาสตรจารย์ ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ ทำจดหมาย 8 ฉบับลงวันที่ 6 มีนาคม 2556 ลาออกจากการทำหน้าที่ โดยเนื้อหาทั้ง 8 ฉบับ ระบุว่า

"ตามที่ได้มีข่าวปรากฏเป็นที่รับรู้กันทั่วไปในสังคมว่า อดีตข้าราชการชั้นสูงท่านหนึ่งถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ และมีชื่อของผมเข้าไปพัวพันด้วยนั้น ผมได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ ลำพังความบริสุทธิ์ใจของตนเองเพียงอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอเสียแล้วที่จะทำให้ผมสามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะอาจารย์อย่างที่ผมเข้าใจต่อไปได้"

ในจดหมายระบุด้วยว่า ดังนั้นเพื่อมิให้เรื่องนี้กระทบถึงเกียรติภูมิของสถาบัน องค์กร หน่วยงาน และบุคคลที่เกี่ยวข้อง และเพื่อเป็นการแสดงออกถึงสำนึกในความรับผิดชอบทางจริยธรรมของตนเอง ผมจึงขอยุติการทำหน้าที่ในตำแหน่งต่าง ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้ในจดหมาย 8 ฉบับประกอบด้วย 1. ขอยุติการทำหน้าที่เป็นอาจารย์ผู้สอนในวิชา ร.211 และ ร.212 (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) 2.การขอลาออกจากการเป็นประธานคณะผู้ตรวจสอบทางวิชาการของงานวิจัยโครงการ "อนาคประเทศไทยและการเมืองที่พึงปรารถนา" (สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ) 3.โครงการปริญญาเอกกาจนาภิเษก 4.โครงการปริญญาโท สาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 5.กรรมการประจำคณะ (วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม) 6.กรรมการมูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา 7.กรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ มหาวิทยาลับราชภัฏเทพสตรี จ.ลพบุรี 8.ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเรียนการสอนวิชาพื้นฐาน (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รบ.อินเดียดำเนินคดีเจ้าของรางวัลกวางจูไพรซ์ ปี 2550 ข้อหาพยายามฆ่าตัวตายเพราะอดอาหาร

Posted: 06 Mar 2013 04:05 AM PST

ชามิลา อิรอม หญิงสาวชาวมานิปูร์ ซึ่งอดอาหารประท้วงรัฐบาลอินเดียที่ใช้ความรุนแรงต่อประชาชนผ่านกฎหมายให้อำนาจพิเศษแก่ทหารในการควบคุมพื้นที่บางรัฐ และได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนเมื่อปี 2550 ถูกรัฐบาลอินเดียฟ้องข้อหาพยายามฆ่าตัวตายหลังจากเธออดอาหารต่อเนื่องมากว่า 12 ปี

ภาพจาก youthkiawaaz.com
 

ฮินดูโพสต์รายงานเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (4 มี.ค.) ว่า รัฐบาลอินเดียดำเนินคดีข้อหาพยายามฆ่าตัวตายแก่ชามิลา อิรอม โดยอ้างความผิดฐานพยายามฆ่าตัวตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 และนำตัวเธอขึ้นศาล ในการไต่สวนดังกล่าว ชามิลา ตอบว่า "ฉันไม่ได้พยายามฆ่าตัวตาย ฉันเพียงแต่ต่อสู้ในแนวทางไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อมีชีวิตต่อไปในฐานะมนุษย์"

เธอกล่าวย้ำว่าเธอรักชีวิต และเธอจะกินอาหารทันทีที่มีการเลิกใช้พระราชบัญญัติพื้นที่ปกครองพิเศษภายใต้การควบคุมของกองทัพ (The Armed Forces (Special Powers) Act, 1958, - AFSPA,)

"ฉันรักชีวิต ฉันไม่ได้อยากตาย แต่สิ่งที่ฉันต้องการก็คือความยุติธรรมและสันติภาพ" 

ฮินดูโพสต์ รายงานด้วยว่านักเขียน ผู้สื่อข่าวได้ร่วมตัวกันประท้วงรัฐบาลอินเดียที่หน้าศาลเพื่อแสดงการสนับสนุนชามิลา อิรอม ซึ่งอดอาหารประท้วงความรุนแรงต่อชีวิตและสวัสดิภาพของประชาชนในพื้นที่ประกาศใช้พระราชบัญญัติพื้นที่ปกครองพิเศษภายใต้การควบคุมของกองทัพ 

ชามิลา เป็นหญิงสาวจากเมืองมานิปูร์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ซึ่งอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติดังกล่าว

ชามิลา เริ่มอดอาหารประท้วงตั้งแต่ปี 2544 เป้าหมายของเธอคือ เรียกร้องต่อรัฐบาลอินเดียให้ยุติความรุนแรงต่อประชาชนของตัวเองในเขตจังหวัดมานิปูร์

ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยทหารของรัฐบาลอินเดียได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี หญิงสาวชาวมานิปูร์จำนวนมากถูกทหารอินเดียข่มขืนต่อหน้าต่อตาญาติพี่น้อง และชาวมานิปูร์ต้องเผชิญกับความรุนแรงหลายรูปแบบจากทหารของรัฐบาลอินเดีย

คำสัมภาษณ์ของชามิลาเมื่อสองวันก่อน (4 มี.ค.) เธอยืนยันที่จะอดอาหารประท้วงต่อไป และกล่าวว่าเธอประท้วงรัฐบาลที่ใช้ความรุนแรงในการปกครองประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติพื้นที่ปกครองพิเศษภายใต้การควบคุมของกองทัพ

เธอกล่าวด้วยว่า เธอเป็นเพียงผู้หญิงสามัญธรรมดาคนหนึ่งที่ดำเนินรอยตามหลักไม่ใช้ความรุนแรงของมหาตมะ คานธี บิดาของประเทศอินเดีย "จงปฏิบัติต่อเราเช่นที่ปฏิบัติต่อเขา (คานธี) อย่าเลือกปฏิบัติ, อย่ามีอคติลำเอียงต่อมนุษย์"

ชามิลาได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ในปี 2550 

ในรายงานของสุภัตรา ภูมิประภาส ซึ่งเขียนถึงชามิลา อิรอม ระบุว่า รัฐบาลอินเดียเริ่มต้นจัดการกับการประท้วงของเธอมาตั้งแต่เมื่อเธอเริ่มอดอาหารประท้วง ด้วยการให้ตำรวจจับกุมเธอในข้อหา "พยายามฆ่าตัวตาย" โดยความผิดฐาน "พยายามฆ่าตัวตาย"นั้นมีโทษปรับและจำคุกสูงสุด 1 ปี ชาร์มีลาถูกนำตัวไปคุมขังไว้แต่เธอยังยืนยันที่จะอดอาหารจนกว่ารัฐบาลจะยกเลิกกฎหมาย เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถทำอะไรเธอได้นอกจากการจองจำร่างกายที่ทรุดโทรมจากการอดอาหาร ชาร์มีลาจึงถูกส่งตัวไปควบคุมไว้ที่โรงพยาบาลในกรุงนิวเดลฮีโดยที่เธอถูกบังคับให้รับสารอาหารผ่านท่อที่ต่อเข้าทางโพรงจมูกของเธอ

แต่เมื่อได้รับการปล่อยตัว ชาร์มีลายังคงอดอาหารต่อ

ชีวิตของชาร์มีลาวนเวียนอยู่ในวงจรของการถูกจับกุมในข้อหา "พยายามฆ่าตัวตาย" ต้องโทษจองจำ และได้รับอิสรภาพมาตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม. รับวันสตรีฯ ประกาศปราศจากละเมิดทางเพศในที่ทำงาน

Posted: 06 Mar 2013 03:45 AM PST

๖ มีนาคม  ๒๕๕๖  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีมติเห็นชอบให้นำกฎ ก.ร. ว่าด้วยวินัยข้าราชการรัฐสภาสามัญ พ.ศ. ๒๕๕๕  มาใช้บังคับแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพร้อมประกาศเจตนารมณ์เป็นองค์กรที่ปราศจากการล่วงละเมิดทางเพศในสถานที่ทำงานเพื่อป้องกันมิให้เกิดการคุกคามทางเพศและล่วงละเมิดทางเพศ ตามกฎ ก.ร.ข้อที่ ๔ ที่ระบุว่า ข้าราชการรัฐสภาสามัญผู้ใดกระทำการประการใดประการหนึ่ง ดังต่อไปนี้ต่อข้าราชการด้วยกัน หรือผู้ร่วมปฏิบัติราชการ  ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในหรือนอกสถานที่ราชการโดยผู้ถูกกระทำมิได้ยินยอมต่อการกระทำนั้น  หรือทำให้ผู้ถูกกระทำเดือดร้อนรำคาญ  ถือว่าเป็นการกระทำอันเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ  ตามข้อ ๓ (๙)  คือ

๑. การกระทำการด้วยการสัมผัสทางกายที่มีลักษณะส่อไปในทางเพศ  เช่น การจูบ การโอบกอด การจับอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง  เป็นต้น

๒.  กระทำการด้วยวาจาที่ส่อไปในทางเพศ เช่น วิพากษ์วิจารณ์ร่างกาย  พูดหยอกล้อ  พูดหยาบคาย  เป็นต้น

๓.  กระทำการด้วยอากัปกิริยาที่ส่อไปในทางเพศ  เช่น การใช้สายตาลวนลาม  การทำสัญญาณ หรือสัญลักษณ์ใด ๆ เป็นต้น

๔.  การแสดงหรือสื่อสารด้วยวิธีการใด ๆ ที่ส่อไปในทางเพศ  เช่น  แสดงรูปลามกอนาจาร  ส่งจดหมาย  ข้อความ  หรือการสื่อสารรูปแบบอื่น  เป็นต้น

๕.  การแสดงพฤติกรรมอื่นใดที่ส่อไปในทางเพศ ซึ่งผู้ถูกกระทำไม่พึงประสงค์หรือเดือดร้อนรำคาญ

นางวิสา  เบ็ญจะมโน  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานอนุกรรมการตรวจสอบการละเมิดสิทธิเด็ก สตรีและความเสมอภาคของบุคคลและประธานอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิเด็ก สตรีและความเสมอภาคของบุคคล  เปิดเผยว่า  กสม.ได้พยายามที่จะผลักดันตามที่นักวิชาการและองค์กรเครือข่ายด้านสตรีได้ให้การสนับสนุนและคาดหวังให้ กสม. ในฐานะที่เป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนได้ประกาศตัวเป็นองค์กรนำในด้านจริยธรรมเกี่ยวกับเรื่องนี้  สำหรับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ที่ประชุมได้มีมติว่าควรจะมีความรับผิดชอบเช่นเดียวกับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ในการนี้ กสม. ถือเป็นนโยบายสำคัญในการร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสวันสตรีสากล ๘ มีนาคม  ประจำปี ๒๕๕๖

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

28 กุมภา: เพิ่มเงื่อนไขสันติภาพ หรือเพิ่มเงื่อนไขสงครามยืดเยื้อ?

Posted: 06 Mar 2013 03:32 AM PST

ถือได้ว่าการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างรัฐไทยโดยผ่านเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติกับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีที่ชื่อว่า BRN เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ณ กรุงกัวลาลุมโปร์ ที่ผ่านมา เป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ที่โลกต้องจารึกเลยทีเดียว เพราะเป็นครั้งแรกที่ท่าทีของรัฐไทยและรัฐมาเลเซียยอมรับสถานะทางการเมืองอย่างเป็นทางการของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีต่อหน้าคนทั่วโลกที่ร่วมกันเป็นสักขีพยาน โดยการเผยแพร่ของสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือกแทบทุกช่องและทุกสำนักในรอบ 227 ปี ตั้งแต่ดินแดนปาตานีถูกยึดครองโดยอาณาจักรสยามเมื่อ ค.ศ.1786

ถ้ามองแบบผิวเผินแค่เพียงเปลือกนอกของกระบวนการพูดคุยในครั้งนี้ ก็จะเห็นและรู้สึกได้อย่างตรงกันว่า สัญญาณบวกต่อกระบวนการสร้างสันติภาพได้เกิดขึ้นแล้ว แต่ทว่า ถ้ามองลึกลงไปในเนื้อใน ก็จะเห็นและรู้สึกได้อย่างตรงกันเช่นเดียวกันว่า สัญญาณลบต่อกระบวนการสันติภาพ (peace process) ได้เกิดขึ้นแล้วเช่นกัน

สัญญาณบวกต่อกระบวนการสันติภาพ ซึ่งอยู่ที่เปลือกนอกของกระบวนการพูดคุยครั้งนี้ ก็คือกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่จะพัฒนาไปข้างหน้า อย่างค่อยเป็นค่อยไปสู่การเจรจาเพื่อสันติภาพได้ริเริ่มอย่างเป็นทางการแล้ว ด้วยการชี้วัดจากท่าทีของคู่กรณีขัดแย้งหลักว่า มีความไว้วางใจที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งเป็นผลพวงสำคัญมาจากบทบาทของผู้อำนวยการพูดคุย (Facilitator) โดยยึดมั่นอย่างแข็งขันในหลักการอำนวยความสะดวกให้คู่กรณีขัดแย้งได้พูดคุยสานเสวนาให้มากเท่าที่จะมากได้ ซึ่งการพูดคุยดังกล่าวนั้น ปราศจากการกำหนดเงื่อนไขหรือการวางกรอบการพูดคุยใดๆ ทั้งสิ้น

สัญญาณลบต่อกระบวนการสันติภาพ ซึ่งเป็นเนื้อในของกระบวนการพูดคุยครั้งนี้ ก็คือ มีกลิ่นอายของการพูดคุยเพื่อประนีประนอม (compromise dialogue) มากกว่าการพูดคุยเพื่อสันติภาพ(peace dialogue) ที่เป็นมาตรฐานสากลซึ่งเริ่มต้นกระบวนการด้วยการสร้างบรรยากาศความไว้วางใจซึ่งกันและกันก่อน โดยยังไม่มีเงื่อนไขหรือกรอบของการพูดคุยใดๆ ทั้งสิ้น

ซึ่งสัญญาณลบที่ว่านั้น เห็นได้จากท่าทีที่ไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจนของรัฐไทยและรัฐมาเลเซียต่อจุดยืนและความต้องการของขบวนการ BRN นั่นก็คือคำว่า "Patani Merdeka" หรือปาตานีเอกราช โดยผ่านเนื้อหาข้อตกลงการพูดคุย คือรัฐไทยได้แสดงจุดยืนว่า "การพูดคุยต้องอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญเท่านั้น" และรัฐมาเลเซียก็แสดงจุดยืนชัดเจนว่า สถานะของมาเลเซียนั้นไม่ใช่  "คนกลาง" (mediator)  เป็นแค่ผู้ประสานงานและผู้อำนวยการพูดคุยเท่านั้น และชัดเจนว่า รัฐมาเลเซีย "ไม่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน" ของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานี

คำว่า peace คือ สันติภาพที่มาจากความพึงพอใจในผลการเลือกของประชาชนส่วนใหญ่ต่อทางเลือกสันติภาพที่มีอยู่ทั้งหมดและนำไปสู่การมีภาวะของการใช้ชีวิตที่มีหลักประกันความสุขด้วยความเป็นธรรมและร่มเย็น

คำว่า compromise คือการประนีประนอม หรือยอมความรับในสิ่งที่ตนไม่พึงพอใจด้วยความไม่เต็มใจ แต่ต้องจำยอมเพราะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกบีบบังคับ

เมื่อปราฎการณ์การพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับBRN อย่างเป็นทางการโดยมี สมช.มาเลเซียเป็นคนกลางที่ไม่ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง (Mediator) และมีกรอบการพูดคุยที่ออกนอกรัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่กลับดึงตัวแทน BRN ระดับรองเลขาธิการพรรคและหัวหน้าสภาการเมือง (อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์ออนไลน์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 1 มีนาคม 2556 ชื่อบทความ "แฉปาหี่ระดับโลก 'ปู-นาจิบ' ชู 'ทักษิณ' ต้นคิดเจรจา BRN กองทัพไม่เกี่ยว") ยอมขึ้นโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติภาพที่คนทั่วไปตาสีตาสาไม่มีความรู้เรื่องกระบวนการสันติภาพก็มองเห็นชัดเจนว่า ตัวแทน BRN เสียเปรียบ

ประกอบกับภาวะวิสัยการเมืองปัจจุบันของทั้งรัฐบาลไทยและมาเลเซีย ซึ่งถ้าทั้งสองสามารถอธิบายอย่างเชื่อมโยงให้ดีกับผลลัพธ์เปลือกนอกของการพูดคุยเพื่อสันติภาพครั้งนี้ ว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของทั้งสองได้ล่ะก็ ผลประโยชน์ทางการเมืองในรูปของการได้ใจประชาชนก็จะเกิดขึ้นโดยปริยาย กล่าวคือฝั่งของรัฐบาลไทยที่บริหารโดยพรรคเพื่อไทยซึ่งมีพี่ชายนายกฯอยู่ในภาวะที่กำลังหาช่องทางให้สามารถกลับบ้านได้นั้นอาจจะได้ประโยชน์  และทางฝั่งรัฐบาลมาเลเซียที่บริหารโดยพรรค UMNO ซึ่งอยู่ในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งนายกฯคนใหม่ก็อาจจะได้ประโยชน์เช่นกัน

แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ทั้งสองนั้นสามารถสร้างสัมพันธ์ทางการทูตได้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การตอบโจทย์ผลประโยชน์แห่งรัฐย่อมมาเป็นที่หนึ่งเหนือผลประโยชน์อื่นใดทั้งสิ้น ซึ่งมีผลประโยชน์อันมหาศาลทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจรองรับ

ไปๆ มาๆ ผู้ที่ สมช.ไทย และ สมช.มาเลเซียเรียกว่า เป็นตัวแทน BRN ก็ตกกระไดพลอยโจรเข้าแผนขุดบ่อล่อปลาของรัฐไทยอีกแล้ว โดย สมช.ไทย เป็นคนขุดบ่อ และ สมช.มาเลเซียเป็นคนล่อปลา หรืออาจจะใช้การบีบบังคับปลาด้วยซ้ำไปก็เป็นได้

คงไม่แปลกที่ปฏิกิริยาหลังจากการพูดคุยเพื่อสันติภาพครั้งนี้ของกองกำลังขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานี จะชื่อ BRN หรือชื่ออะไรก็ไม่สำคัญ แต่ที่สำคัญคือนัยยะการก่อเหตุอย่างเข้มข้นกระจัดกระจายอย่างไม่ลดละไม่เว้นวัน ทั่วพื้นที่ชายแดนใต้หรือปาตานี จนถึง ณ เวลาผู้เขียนกำลังเขียนบทวิเคราะห์นี้ก็เกิดเหตุระเบิดหน้าสถานีรถไฟยะลา จะเป็นสัญญาณที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยเพื่อสันติภาพครั้งนี้หรือไม่ ถ้าไม่เกี่ยวก็โชคดีไป จะได้ไม่ต้องปวดหัววิเคราะห์ว่า มันจะส่งผลบวกหรือผลลบกับกระบวนการสันติภาพที่จะเกิดขึ้นอีกหลายฉากหลังจากนี้จนกว่าสงครามจะยุติ

แต่ทว่าการก่อเหตุดังกล่าว เกี่ยวข้องกับการพูดคุยเพื่อสันติภาพเมื่อ 28 กุมภา ณ กรุงกัวลาลุมโปร์     สมช.ไทย กับ สมช.มาเลเซีย คงต้องถอดบทเรียนแล้วสิว่า ส่งผลให้เพิ่มเงื่อนไขสันติภาพ หรือเพิ่มเงื่อนไขสงครามยืดเยื้อ กันแน่?

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ได้เวลาสังคายนา กฎหมายประกันสังคม

Posted: 06 Mar 2013 03:20 AM PST

กว่า 20 ปีแล้ว ที่สังคมไทยได้นำ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533มาใช้ในการเพื่อดูแลสวัสดิภาพของแรงงานในระบบ จำนวน 11.7 ล้านคน จากแรงงานทั้งประเทศกว่า 39.6 ล้านคน มีสำนักงานประกันสังคม ภายใต้กระทรวงแรงงานเป็นผู้ดูแล โดยมีเงินสะสมในกองทุนกว่า 991,837 ล้านบาท ปัจจุบันเวลาผ่านไปกว่า 20 ปี บริบทของสังคมไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองได้เปลี่ยนไปอย่างมาก และกำลังเข้าสู่ AEC ในอีก 2 ปีข้างหน้า ขณะที่การดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคมในปัจจุบัน ไม่สามารถบริหารจัดการให้ตอบสนองต่อความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จึงน่าจะถึงเวลาที่เราควรจะทบทวน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับ บริบทของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมีรายละเอียดที่จะแลกเปลี่ยนในประเด็นต่างๆ ดังนี้

ประเด็นที่ 1 ความครอบคลุมกลุ่มแรงงาน แต่เดิม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ผูกพันกับการจ้างงาน จึงครอบคลุมเฉพาะแรงงานในระบบที่มีนายจ้าง เช่น ลูกจ้างในโรงงาน บริษัท ไม่รวมถึงกลุ่ม 'แรงงานที่ได้รับค่าตอบแทน' เช่น เกษตรพันธะสัญญา ผู้ที่รับงานไปทำที่บ้าน และอื่นๆ แต่ปัจจุบันการจ้างงานมีหลากหลายรูปแบบ ดังนั้นควรขยายความครอบคลุมไปสู่ประชาชนทุกกลุ่ม และการจ้างงานทุกรูปแบบ เข้าสู่แนวคิด 'ประกันสังคมถ้วนหน้า' ประเด็นนี้น่าเป็นหลักการและแนวคิดที่สำคัญที่สุดที่ควรปรับปรุง

ประเด็นที่ 2 ความเป็นอิสระของสำนักงานประกันสังคม ที่ผ่านมามีปัญหาในการดำเนินงานที่ล่าช้า ถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง บุคลากรไม่เพียงพอและขาดแคลนคุณภาพ ขาดการตรวจสอบการทำงาน ส่งผลให้เกิดการขาดทุนจากการลงทุนต่างๆ จำนวนมาก และที่สำคัญ ผู้ประกันตนและนายจ้างเองขาดการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการดำเนินงานต่างๆ ของสำนักงานประกันสังคม ดังนั้นสำนักงานประกันสังคมควรเป็นองค์กรอิสระ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ต้องมาจากการเลือกตั้งจากคณะกรรมการไม่ใช่เป็นข้าราชการเช่นในปัจจุบัน เพื่อจะได้ดึงดูดคนที่มีความสามารถเข้าสู่สำนักงานได้

ประเด็นที่ 3 องค์ประกอบของคณะกรรมการ ควรประกอบด้วยคณะกรรมการที่ดูแลทั้งด้านสวัสดิการแรงงานคณะกรรมการการแพทย์ คณะกรรมการการลงทุน คณะกรรมการตรวจสอบ โดยประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นมืออาชีพ มีความเป็นอิสระปราศจากกลุ่มผลประโยชน์ นอกจากนั้นการเลือกตัวแทนแรงงาน เข้ามาเป็นตัวแทนต้องมีวิธีการสรรหาตัวแทนที่สามารถเป็นตัวแทนของแรงงานได้อย่างแท้จริง เพราะวิธีการเลือกตัวแทนที่ผ่านมาเลือกมาจากสหภาพแรงงาน ซึ่งข้อเท็จจริงมี สมาชิกสหภาพเพียง 300,000 คนเท่านั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาวิธีเลือกตัวแทนให้เป็นตัวแทนของผู้ประกันตนอย่างแท้จริง

ประเด็นที่ 4 สิทธิประโยชน์ เป็นเรื่องที่ควรเร่งปรับปรุง เพราะสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น ด้านการแพทย์กลับด้อยกว่า 'บัตรทอง' อย่างเห็นได้ชัด ทั้งๆ ที่บัตรทองเพิ่งมีมาได้เพียง 10 ปีเท่านั้น และนับวันจะยิ่งห่างกันมากขึ้นไปทุกๆ ที นอกจากนั้นสิทธิประโยชน์สำหรับแรงงานต่างด้าวบางอย่างก็ไม่เหมาะสม เช่น ว่างงานและชราภาพ คนเหล่านี้ ไม่มีทางได้รับสิทธิประโยชน์เหล่านี้เลยทั้งๆ ที่เขาต้องจ่ายเท่าคนไทย เพราะเมื่อตกงานเขาก็ต้องกลับประเทศแล้ว หรือเมื่อเกษียณอายุก็ต้องกลับประเทศเช่นกัน ทำให้แรงงานต่างด้าวเหล่านั้นไม่อยากเข้าสู่ระบบประกันสังคม และที่สำคัญที่สุดผู้ประกันตนยังเป็นกลุ่มเดียวที่ยังต้องจ่ายสมทบค่ารักษาพยาบาล ขณะที่คนกลุ่มอื่นยังไม่ต้องจ่าย จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่งต่อการปรับปรุง พ.ร.บ.ประกันสังคมในครั้งนี้

กว่า 20 ปีแล้ว ที่สังคมไทยได้นำ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533มาใช้ในการเพื่อดูแลสวัสดิภาพของแรงงานในระบบ จำนวน 11.7 ล้านคน จากแรงงานทั้งประเทศกว่า 39.6 ล้านคน มีสำนักงานประกันสังคม ภายใต้กระทรวงแรงงานเป็นผู้ดูแล โดยมีเงินสะสมในกองทุนกว่า 991,837 ล้านบาท ปัจจุบันเวลาผ่านไปกว่า 20 ปี บริบทของสังคมไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองได้เปลี่ยนไปอย่างมาก และกำลังเข้าสู่ AEC ในอีก 2 ปีข้างหน้า ขณะที่การดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคมในปัจจุบัน ไม่สามารถบริหารจัดการให้ตอบสนองต่อความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จึงน่าจะถึงเวลาที่เราควรจะทบทวน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับ บริบทของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมีรายละเอียดที่จะแลกเปลี่ยนในประเด็นต่างๆ ดังนี้

ประเด็นที่ 1 ความครอบคลุมกลุ่มแรงงาน แต่เดิม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ผูกพันกับการจ้างงาน จึงครอบคลุมเฉพาะแรงงานในระบบที่มีนายจ้าง เช่น ลูกจ้างในโรงงาน บริษัท ไม่รวมถึงกลุ่ม 'แรงงานที่ได้รับค่าตอบแทน' เช่น เกษตรพันธะสัญญา ผู้ที่รับงานไปทำที่บ้าน และอื่นๆ แต่ปัจจุบันการจ้างงานมีหลากหลายรูปแบบ ดังนั้นควรขยายความครอบคลุมไปสู่ประชาชนทุกกลุ่ม และการจ้างงานทุกรูปแบบ เข้าสู่แนวคิด 'ประกันสังคมถ้วนหน้า' ประเด็นนี้น่าเป็นหลักการและแนวคิดที่สำคัญที่สุดที่ควรปรับปรุง

ประเด็นที่ 2 ความเป็นอิสระของสำนักงานประกันสังคม ที่ผ่านมามีปัญหาในการดำเนินงานที่ล่าช้า ถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง บุคลากรไม่เพียงพอและขาดแคลนคุณภาพ ขาดการตรวจสอบการทำงาน ส่งผลให้เกิดการขาดทุนจากการลงทุนต่างๆ จำนวนมาก และที่สำคัญ ผู้ประกันตนและนายจ้างเองขาดการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการดำเนินงานต่างๆ ของสำนักงานประกันสังคม ดังนั้นสำนักงานประกันสังคมควรเป็นองค์กรอิสระ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ต้องมาจากการเลือกตั้งจากคณะกรรมการไม่ใช่เป็นข้าราชการเช่นในปัจจุบัน เพื่อจะได้ดึงดูดคนที่มีความสามารถเข้าสู่สำนักงานได้

ประเด็นที่ 3 องค์ประกอบของคณะกรรมการ ควรประกอบด้วยคณะกรรมการที่ดูแลทั้งด้านสวัสดิการแรงงานคณะกรรมการการแพทย์ คณะกรรมการการลงทุน คณะกรรมการตรวจสอบ โดยประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นมืออาชีพ มีความเป็นอิสระปราศจากกลุ่มผลประโยชน์ นอกจากนั้นการเลือกตัวแทนแรงงาน เข้ามาเป็นตัวแทนต้องมีวิธีการสรรหาตัวแทนที่สามารถเป็นตัวแทนของแรงงานได้อย่างแท้จริง เพราะวิธีการเลือกตัวแทนที่ผ่านมาเลือกมาจากสหภาพแรงงาน ซึ่งข้อเท็จจริงมี สมาชิกสหภาพเพียง 300,000 คนเท่านั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาวิธีเลือกตัวแทนให้เป็นตัวแทนของผู้ประกันตนอย่างแท้จริง

ประเด็นที่ 4 สิทธิประโยชน์ เป็นเรื่องที่ควรเร่งปรับปรุง เพราะสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น ด้านการแพทย์กลับด้อยกว่า 'บัตรทอง' อย่างเห็นได้ชัด ทั้งๆ ที่บัตรทองเพิ่งมีมาได้เพียง 10 ปีเท่านั้น และนับวันจะยิ่งห่างกันมากขึ้นไปทุกๆ ที นอกจากนั้นสิทธิประโยชน์สำหรับแรงงานต่างด้าวบางอย่างก็ไม่เหมาะสม เช่น ว่างงานและชราภาพ คนเหล่านี้ ไม่มีทางได้รับสิทธิประโยชน์เหล่านี้เลยทั้งๆ ที่เขาต้องจ่ายเท่าคนไทย เพราะเมื่อตกงานเขาก็ต้องกลับประเทศแล้ว หรือเมื่อเกษียณอายุก็ต้องกลับประเทศเช่นกัน ทำให้แรงงานต่างด้าวเหล่านั้นไม่อยากเข้าสู่ระบบประกันสังคม และที่สำคัญที่สุดผู้ประกันตนยังเป็นกลุ่มเดียวที่ยังต้องจ่ายสมทบค่ารักษาพยาบาล ขณะที่คนกลุ่มอื่นยังไม่ต้องจ่าย จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่งต่อการปรับปรุง พ.ร.บ.ประกันสังคมในครั้งนี้

ประเด็นที่ 5 ประเด็นอื่นๆ เช่น ความยั่งยืนของกองทุน มีงานวิชาการทั้งจากองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และ สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ให้เห็นชัดว่า หลังจากมีการจ่ายบำนาญชรา กองทุนประกันสังคมเงินที่มีเงินมหาศาลจะหมดไปภายในเวลา 20 ปี จำเป็นต้องเก็บเบี้ยประกันจากผู้ประกันตนจาก 5% เป็น 10% และ 15% มากขึ้นตามลำดับ ดังนั้นควรเพิ่มเพดานการเก็บเงินจากไม่เกิน 15,000 บาทให้มากขึ้น เป็นต้น และหาแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมเพื่อความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคมในอนาคตต่อไป

ช่วงนี้ รัฐสภากำลังจะรับรองร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับต่างๆ ทั้งของกระทรวงแรงงาน ของภาคประชาชน และของพรรคประชาธิปัตย์ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ผู้ประกันตนควรใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ประกันตนอย่างยั่งยืนต่อไป และเชื่อว่าในประเด็นสำคัญ อาทิ ความเป็นองค์กรอิสระนั้น เป็นไปได้ยากที่กระทรวงแรงงานจะปล่อยให้สำนักงานประกันสังคมที่มีเม็ดเงินเป็นแสนล้านบาท ที่เคยอยู่ในมือ ออกนอกระบบไปเป็นองค์กรอิสระที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบโดยผู้ประกันตนได้อย่างง่ายๆ แน่นอน

เช่น ความยั่งยืนของกองทุน มีงานวิชาการทั้งจากองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และ สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ให้เห็นชัดว่า หลังจากมีการจ่ายบำนาญชรา กองทุนประกันสังคมเงินที่มีเงินมหาศาลจะหมดไปภายในเวลา 20 ปี จำเป็นต้องเก็บเบี้ยประกันจากผู้ประกันตนจาก 5% เป็น 10% และ 15% มากขึ้นตามลำดับ ดังนั้นควรเพิ่มเพดานการเก็บเงินจากไม่เกิน 15,000 บาทให้มากขึ้น เป็นต้น และหาแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมเพื่อความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคมในอนาคตต่อไป

ช่วงนี้ รัฐสภากำลังจะรับรองร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับต่างๆ ทั้งของกระทรวงแรงงาน ของภาคประชาชน และของพรรคประชาธิปัตย์ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ผู้ประกันตนควรใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ประกันตนอย่างยั่งยืนต่อไป และเชื่อว่าในประเด็นสำคัญ อาทิ ความเป็นองค์กรอิสระนั้น เป็นไปได้ยากที่กระทรวงแรงงานจะปล่อยให้สำนักงานประกันสังคมที่มีเม็ดเงินเป็นแสนล้านบาท ที่เคยอยู่ในมือ ออกนอกระบบไปเป็นองค์กรอิสระที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบโดยผู้ประกันตนได้อย่างง่ายๆ แน่นอน

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความตายและความทรงจำ: ฮิวโก้ ชาเวซ ทหาร-ผู้นำปฏิวัติ สู่ประธานาธิบดี 4 สมัย

Posted: 06 Mar 2013 12:58 AM PST

ประธานาธิบดีเวเนซูเอลาเสียชีวิตลงแล้วจากโรคมะเร็ง ด้วยวัย 58 ปี เตรียมจัดงานศพในกรุงคาราคัสศุกร์นี้ นักวิเคราะห์คาดการเสียชีวิตของชาเวซอาจเปลี่ยนดุลอำนาจในละตินอเมริกา 

 

6 มี.ค. 56 - ประธานาธิบดีเวเนซูเอลา ฮิวโก้ ชาเวซ เสียชีวิตลงแล้วในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงคาราคัส เมืองหลวงของเวเนซูเอลา หลังจากป่วยด้วยโรคมะเร็งกว่าหนึ่งปี โดยรองประธานาธิบดีนิโคลาส มาดูโร ได้ประกาศผ่านทางโทรทัศน์แห่งชาติในคืนวันอังคารว่า ประธานาธิบดีฮิวโก้ ชาเวซ เสียชีวิตลงแล้วในเวลา 16.45 น. ของวันที่ 5 มี.ค. ที่ผ่านมา 
 
มีรายงานว่าเขาเสียชีวิตจากสภาวะการหายใจติดเชื้อ โดยก่อนหน้านี้เขาได้เข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคมะเร็งหลายครั้งที่โรงพยาบาลในประเทศคิวบา เขามิได้ปรากฏตัวในสาธารณะเลยเป็นเวลา 3 เดือน หลังการผ่าตัดฉุกเฉินในประเทศคิวบาเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ที่ผ่านมา
 
พิธีงานศพมีกำหนดจัดขึ้นในวันศุกร์นี้ (8 มี.ค.) และมีกำหนดไว้ทุกข์เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ในขณะที่หลายประเทศในละตินอเมริกาประกาศไว้อาลัย โดยรัฐบาลคิวบาประกาศให้มีการไว้ทุกข์เป็นเวลา 3 วัน รวมถึงรัฐบาลอาร์เจนตินา, เปรู, โบลิเวีย และเอกวาดอร์ ซึ่งให้มีการไว้อาลัยอย่างเป็นทางการเช่นกัน 
 
ประธานาธิบดีฮิวโก้ ชาเวซ (1954-2013)
 
รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศเวเนซูเอลากล่าวว่า ในระหว่างนี้ รองประธานาธิบดีนิโคาลาส มาดูโร จะดำรงตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดี และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 30 วัน
 
ทั้งนี้ ฮิวโก้ ชาเวซ เป็นประธานาธิบดีเวเนซูเอลาที่อยู่ในตำแหน่งมาแล้วตั้งแต่ปี 1999 โดยชนะการเลือกตั้งทั้งหมด 4 ครั้ง ได้แก่ปี 1998, 2000, 2006 และ 2012 ซึ่งเขาชนะด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 56, 60, 63 และ 54.4 ตามลำดับ 
 
รองประธานาธิบดีมาดูโร กล่าวด้วยว่า การป่วยด้วยโรคมะเร็งของชาเวซ เป็นการวางแผนของรัฐบาลสหรัฐ หรือ "ศัตรู" ของเวเนซูเอลา ซึ่งเล่นเกมสกปรกเพื่อโจมตีเวเนซูเอลา ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่สหรัฐโต้ทันควันว่าไม่มีมูล อย่างไรก็ตาม รองประธานาธิบดีกล่าวว่า คณะกรรมาธิการด้านวิทยาศาสตร์ จะสอบสวนสาเหตุการเสียชีวิตของชาเวซว่าเกี่ยวข้องกับแผนการของสหรัฐหรือไม่
 
โดยก่อนหน้านี้หนึ่งวัน เวเนซูเอลาได้เนรเทศเจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐหนึ่งคน ในข้อหาวางแผนบ่อนเซาะทำลายประเทศ 
 
รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ได้แถลงถึงการเสียชีวิตของชาเวซว่าเป็น "ช่วงเวลาที่ท้าทาย" และชี้ว่าสหรัฐยังคงสนับสนุนประชาชนชาวเวเนซูเอลาและพัฒนาความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์กับรัฐบาลเวเนซูเอลา 
 
"ประวัติศาสตร์บทใหม่ของเวเนซูเอลาได้เริ่มขึ้นแล้ว...สหรัฐฯ ยังคงมีนโยบายสนับสนุนหลักการประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และการเคารพสิทธิมนุษยชนต่อไป" ประธานาธิบดีโอบามากล่าว
 
นักวิเคราะห์มองว่า การเสียชีวิตของชาเวซ อาจะทำให้ดุลอำนาจทางการเมืองในละตินอเมริกาเปลี่ยนแปลงไป โดยจะเคลื่อนมาสู่ประเทศที่มีจุดยืนกลางๆ แทน นอกจากนี้ อาจส่งผลกระทบในทางเศรษฐกิจด้วย เนื่องจากที่ผ่านมา เวเนซูเอลาได้ขายน้ำมันในราคาต่ำกว่าตลาดให้กับประเทศใกล้เคียงโดยเฉพาะในแถบแคริบเบียน 
 
จากทหาร-กบฎ สู่ผู้นำปฏิวัติประเทศสังคมนิยม 
 
วิถีการบริหารประเทศของประธานาธิบดีชาเวซ นำมาซึ่งความคิดเห็นที่ทั้งชอบและเกลียดเขาไปพร้อมๆ กันจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยนโยบาย "สังคมนิยมในศตวรรษที่ 21" ทำให้เขาดำเนินการปฏิรูปต่างๆ ในฐานะส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ "การปฏิวัติแบบโบลิวาร์" นำมาสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่างๆ ให้เป็นของรัฐ เพิ่มงบประมาณสวัสดิการด้านการศึกษาและการรักษาพยาบาล และลดขีดความยากจนในประเทศ รวมถึงการใช้รัฐธรรมนูญใหม่ การให้มีสภาแห่งชาติ
 
การวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐอเมริกาอย่างถึงพริกถึงขิงโดยเฉพาะเรื่องการทำสงครามในตะวันออกกลาง ทำให้ชาเวซสร้างพันธมิตรกับผู้นำหลายประเทศในละตินอเมริกา และการใช้ทรัพยากรน้ำมันในประเทศอย่างเกิดประโยชน์ก็ทำให้เขาสามารถยกระดับประเทศในหมู่ประชาคมนานาชาติ
 
ในขณะที่ฝ่ายค้านชาเวซ มักโจมตีเรื่องการปกครองที่มีความเป็นอำนาจนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการมุ่งสร้างรัฐพรรคเดี่ยว และการเล่นงานผู้ที่เห็นต่างในประเทศ 
 
ฮิวโก้ ชาเวซ เกิดเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 1954 ในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งของรัฐบารินา ประเทศเวเนซูเอลา เขาเติบโตมาในครอบครัวที่ค่อนข้างยากจน โดยบิดาและมารดาทำงานเป็นครูในโรงเรียน
 
เขาเข้าเรียนในโรงเรียนแดเนียล โอ เลียรี่ ในเมืองบารินา ก่อนที่จะเข้าศึกษาต่อในวิทยาลัยการทหารในกรุงคาราคัส ณ ที่แห่งนั้น เขาได้เริ่มต้นศึกษาประวัติชีวิตของผู้นำปฏิวัติอย่างไซมอน โบลิวาร์ ผู้นำทางทหารและการเมืองชาวเวเนซูเอลา ซึ่งมีบทบาทนำการปฏิวัติในละตินอเมริกาเพื่อปลดปล่อยจากอาณานิคมของสเปนในช่วงศตวรรษที่ 18 และเช กัววารา ผู้นำปฏิวัติสายมาร์กซิสต์ชาวอาร์เจนติน่า ซึ่งส่งผลต่อความคิดทางการเมืองของเขาอย่างมากในเวลาต่อมา 
 
หลังจากที่เขาเรียนจบด้วยระดับเกียรตินิยมในปี 1975 ความคิดทางการเมืองของเขาเริ่มก่อเกิด และเชื่อว่ากองทัพควรมีบทบาทในรัฐบาลพลเรือนเพื่อการพิทักษ์ชนชั้นล่างในสังคม 
 
ต่อมา เขาถูกส่งไปทำงานในหน่วยปราบปราบการก่อความไม่สงบ ซึ่งเป็นกลุ่มที่พยายามทำการโค่นล้มประธานาธิบดีคาร์ลอส อังเดรส เปเรซ แต่ก็มิได้ให้ความสนใจมากนัก และใช้เวลาไปกับการอ่านวรรณกรรมฝ่ายซ้ายเป็นจำนวนมาก ในช่วงนั้น การคอร์รัปชั่นและการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยกองทัพ ทำให้เขากลับเกิดความเห็นใจกลุ่มก่อความไม่สงบ
 
ในปี 1981 เขาถูกส่งไปสอนในวิทยาลัยการทหารที่ที่ครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นนักเรียน และเผยแพร่ความคิดทางการเมืองต่อไปยังนักเรียนการทหารรุ่นต่างๆ แต่เมื่อผู้บังคับบัญชาของเขาทราบเรื่อง เขาจึงถูกย้ายไปยังรัฐอปูเร
 
ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1992 ชาเวซ ภายใต้ "ขบวนการปฏิวัติโบลิวาร์" ทำการรัฐประหารประธานาธิบดีเปเรซ ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย และการประท้วงที่แพร่หลายในประเทศ แต่การรัฐประหารดังกล่าวทำไม่สำเร็จ หลังจากมีผู้เสียชีวิต 18 คน และบาดเจ็บอีก 60 คน ชาเวซก็มอบตัว และถูกจำคุก
 
การรัฐประหารเกิดขึ้นอีกครั้ง 9 เดือนถัดมา ด้วยการนำของคนใกล้ชิดของเขา แต่ว่าก็ล้มเหลวอีกครั้ง โดยในครั้งนั้นกลุ่มกบฏสามารถยึดสถานีโทรทัศน์ และเผยแพร่วีดีโอเทปของชาเวซซึ่งประกาศการล่มสลายของรัฐบาลทางสถานีโทรทัศน์ดังกล่าว 
 
ในปี 1994 ชาเวซได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ เขาก่อตั้งพรรคการเมืองที่ชื่อว่า "ขบวนการแห่งสาธารณรัฐที่ 5" และเปลี่ยนเส้นทางชีวิตจากทหารมาสู่นักการเมืองอย่างเต็มตัว ชาเวซลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 1998 และชนะด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 56 โดยได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นล่างและชนชั้นกลางเวเนซูเอลาอย่างท่วมท้น 
 
เขาเริ่มใช้นโยบายปฏิรูปสังคมต่างๆ เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การจัดหาการรักษาพยาบาลฟรี และการอุดหนุนค่าอาหารสำหรับคนยากจน ในขณะเดียวกันได้เปิดช่องทางการสื่อสารกับประชาชนด้วยการทำรายการทางโทรทัศน์และวิทยุเพื่ออธิบายนโยบายต่างๆ และให้ประชาชนโทรศัพท์เข้ามาสอบถามเรื่องที่อยากจะถาม 
 
เขาชนะการเลือกตั้งในปี 2000 อีกครั้ง ด้วยคะแนนร้อยละ 59
 
จากนั้นไม่นาน ความสัมพันธ์กับรัฐบาลสหรัฐก็ลดลงถึงจุดต่ำสุด เมื่อเขาโจมตีรัฐบาลสหรัฐว่า "ต่อสู้การก่อการร้ายด้วยการก่อการร้าย" ซึ่งหมายถึงการทำสงครามในอัฟกานิสถานหลังจากเกิดเหตุการณ์ 11 ก.ย. 2001 ในขณะที่ชนชั้นกลางในประเทศเริ่มโจมตีชาเวซว่า จะทำให้ประเทศไปสู่ประเทศพรรคเดี่ยว 
 
ในช่วงต้นปี 2002 ชาเวซได้พยายามแปรรูปอุตสาหกรรมน้ำมันของประเทศให้เป็นของรัฐ เกิดการนัดหยุดงานและประท้วงครั้งใหญ่ภายในประเทศ ซึ่งกองทัพได้ใช้โอกาสนี้ทำการรัฐประหารชาเวซในวันที่ 12 เม.ย. 2002 อย่างไรก็ตาม หลังจากผู้สนับสนุนชาเวซ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนยากจนออกมาประท้วง ทำให้ชาเวซกลับเข้ารับตำแหน่งเดิมเพียงสองวันถัดมา 
 
ในปี 2006 เขาชนะการเลือกตั้งอีกครั้งด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 63 และได้ทำการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เขาสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อย่างไม่มีกำหนด ซึ่งประชาชนรับรองในประชามติด้วยคะแนนร้อยละ 54 ในช่วงนั้นชาเวซได้ผูกมิตรกับผู้นำประเทศฝ่ายซ้ายต่างๆ ในละตินอเมริกาอย่างใกล้ชิด ในขณะที่ประณามการบุกโจมตีลิเบียของสหรัฐในปี 2011 
 
ชาเวซเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาเองไม่ได้เป็นศัตรูของโอบามา แต่ก็ไม่ชอบนโยบายที่มีลักษณะจักรวรรดินิยมในวอชิงตัน โดยหลายปีก่อนหน้านี้ ระหว่างการประชุมของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ชาเวซได้เรียกอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐว่า "ปีศาจ" ต่อหน้าเขา 
 
ในปัจจุบัน เวเนซูเอลา นับเป็นประเทศที่มีการกระจายอำนาจที่เท่าเทียมมากที่สุดในทวีปละตินอเมริกา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลภายใต้การนำของชาเวซได้เผชิญปัญหาหลายอย่างโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ อัตราอาชญากรรมที่พุ่งขึ้นสูง และการคอรํรัปชั่นในรัฐบาลที่ยังคงแพร่หลาย 
 
ปัญหาสิทธิมนุษยชน ด้านมืดที่ยังถูกจับตา 
 
ในขณะเดียวกัน วันที่ 5 มี.ค ที่ผ่านมา องค์กรฮิวแมนไรท์ วอทช์ ได้ออกแถลงการณ์ย้ำถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนในเวเนซูเอลาที่ยังดำเนินอยู่ โดยเฉพาะการข่มขู่และดำเนินคดีต่อผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง การแทรกแซงองค์กรตุลาการ รวมถึงการเซ็นเซอร์สื่อมวลชน 
 
ฮิวแมนไรท์ วอทช์ ได้ยกตัวอย่างกรณีของผู้พิพากษามาเรีย ลัวร์เดส อาฟีนี ที่มีคำสั่งให้ปล่อยตัวผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลคนหนึ่ง หลังจากที่เขาถูกจำคุกมาแล้ว 3 ปี โดยชาเวซได้กล่าวประณาม และเรียกร้องให้จำคุกผู้พิพากษาคนดังกล่าวเป็นเวลา 30 ปี ต่อมา เธอถูกดำเนินคดี และถูกคุมขังเป็นเวลากว่า 1 ปี ก่อนการไต่สวนได้เริ่มขึ้น หลังจากคำวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก เธอถูกย้ายมาคุมขังในบ้าน และการไต่สวนคดียังคงดำเนินอยู่ แต่อาฟีนี่ปฏิเสธที่จะขึ้นศาล เนื่องจากเกรงว่าจะไม่ได้รับการไต่สวนที่เป็นธรรม 
 
นอกจากนี้ ยังมีกรณีการสั่งปิดหนังสือพิมพ์ 6to Poder และจับกุมผู้อำนวยการและประธานของหนังสือพิมพ์ในข้อหาสร้างความเกลียดชังต่อสาธารณะ เนื่องจากตีพิมพ์บทความที่วิพากษ์วิจารณ์ระบอบการปกครองของชาเวซ และผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลกรณีอื่นๆ ก็ถูกดำเนินคดีในลักษณะที่คล้ายกัน 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น