โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

คำสั่ง กปปส. ฉบับที่ 2 ให้ยิ่งลักษณ์เป็นกบฎ ทหารรักษาสถานที่ราชการ

Posted: 10 Dec 2013 08:54 AM PST

หลังครบเส้นตาย 'สุเทพ' ให้ ครม. ลาออกจากรักษาการ ล่าสุดมีคำสั่ง กปปส. ฉบับที่ 2 ให้ดำเนินคดียิ่งลักษณ์ ชินวัตรและพวกในความผิดฐานกบฎ สั่งให้ตำรวจถอนกลับที่ตั้ง ให้ทหารดูแลสถานที่ราชการ ให้ผู้ชุมนุมติดตามความเคลื่อนไหวของ ครม. และพวก

10 ธ.ค. 2556 - หลังครบกำหนด 24 ชั่วโมง ที่เมื่อวานนี้สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ออกคำสั่ง "คำสั่งคณะกรรมการ กปปส.ฉบับที่ 1/2556" ให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีลาออกจากการเป็นรักษาการนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ล่าสุดเมื่อเวลา 22.30 น. สุเทพ ได้ปราศรัยบนเวทีและอ่าน "คำสั่งของคณะกรรมการกปปส. ฉบับที่ 2/2556" ระบุว่า

"ตามที่คณะกรรมการ กปปส. ได้ ขอให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีประกาศไม่ปฏิบัติหน้าที่รักษาการและไม่แต่งตั้งบุคคลอื่นขึ้นรักษาการ ภายใน 24 ชั่วโมง ตามคำสั่งคณะกรรมการ กปปส. ฉบับที่ 1/2556 อันเป็นการเปิดโอกาสให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก้าวลงจากอำนาจโดยละมุนละม่อม ทั้งที่ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ น.ศ.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคณะรัฐมนตรีได้สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ประกาศไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ เพื่อให้กระบวนการคืนอำนาจให้แก่มวลมหาประชาชนในการทำประชาภิวัฒน์เพื่อปฏิรูปประเทศไทยเป็นไปโดยราบรื่น แต่เมื่อครบกำหนดเวลาดังกล่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บังอาจอ้างว่า ตนมีอำนาจตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญอยู่ อันเป็นการขัดขวางกระบวนการประชาภิวัฒน์ของประชาชน คณะกรรมการ กปปส. จึงออกคำสั่ง ดังนี้"

"ข้อ 1 ให้มีการดำเนินคดีกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพวกในความผิดฐานกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 เนื่องจากได้กระทำการล้มล้าง หรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ และอำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ อันถือเป็นความผิดอาญาร้ายแรงและจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยโดยไม่สุจริตครั้งแล้วครั้งเล่า"

"ข้อ 2 ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสั่งให้ตำรวจทุกหน่วยถอนกำลังกลับไปที่ตั้งปกติ และปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย และทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ตามปกติ โดยให้ดำเนินการออกคำสั่งภายใน 12 ชั่วโมง นับแต่มีคำสั่งนี้"

"ข้อ 3 คณะกรรมการ กปปส. เห็นว่า เจ้าหน้าที่ทหารเป็นหน่วยงานที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากที่สุด จึงขอให้เจ้าหน้าที่ทหาร ปฏิบัติหน้าที่รักษาสถานที่ราชการ เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยต่อไป"

"ข้อ 4 ขอให้มวลมหาประชาชนติดตามพฤติกรรม ความเคลื่อนไหวของคนในตระกูลชินวัตร และบุคคลในคณะรัฐมนตรีที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญอย่างใกล้ชิด ให้แสดงออกต่อกลุ่มบุคคลดังกล่าวในแนวทางสันติ อหิงสา เพื่อให้หยุดการกระทำที่ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและเจตจำนงของมวลมหาประชาชน สั่ง ณ วันที่ 10 ธันวาคม 2556"

สุเทพ ปราศรัยด้วยว่า คณะกรรมการ กปปส. ยังแน่วแน่ที่จะร่วมดำเนินการทุกอย่างทุกประการกับพี่น้องประชาชนจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายคือการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็น "การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันสมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" และระบุว่าจะร่วมกันปฏิรูปประเทศไทยด้วยมือของประชาชน

ทั้งนี้ช่วงหัวค่ำ สุเทพ ได้ประกาศว่านายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโมฆะไปแล้ว ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของ กปปส. ซึ่งพร้อมอภิวัฒน์ประเทศ และปราศรัยเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ครม. ประธานวุฒิสภาลาออก เพื่อให้รองประธานวุฒิสภากราบบังคมทูลเสนอชื่อคนดีเป็นนายกรัฐมนตรี

ส่วนในช่วงบ่ายวันนี้ มีรายงานว่าระหว่างเวลา 13.30 - 16.00 น. สุเทพ ได้เข้าหารือกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ทบ. ที่บ้านพักพลเอกประวิตร ในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

นอกจากนี้ในช่วงเช้าขณะที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรีที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดีรังสิต  รังสิมา รอดรัศมี อดีต ส.ส.สมุทรสงคราม นาถยา เบ็ญจศิริวรรณ อดีต ส.ส.กทม. บุณย์ธิดา สมชัย อดีต ส.ส.อุบลราชธานี ได้นำผู้ชุมนุม กปปส. จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมุ่งหน้าสโมสรทหารบกเพื่อประท้วงการประชุม ครม. เรียกร้องให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่มาถึงหลังจาก ครม. เลิกประชุมแล้ว (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุเทพประกาศภาวะสุญญากาศ-ไม่มีรัฐบาล เรียกร้องนายกฯ ลาออกรักษาการ

Posted: 10 Dec 2013 06:45 AM PST

สุเทพ เทือกสุบรรณประกาศว่านายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโมฆะไปแล้ว ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของ กปปส. ซึ่งพร้อมอภิวัฒน์ประเทศ และปราศรัยเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ครม. ประธานวุฒิสภาลาออก เพื่อให้รองประธานวุฒิสภากราบบังคมทูลเสนอชื่อคนดีเป็นนายกรัฐมนตรี

สุเทพปราศรัยเรียกร้องนายกรัฐมนตรี ครม. ประธานวุฒิสภาลาออกจากรักษาการ

10 ธ.ค. 2556 - เมื่อเวลา 20.10 น. สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ได้ขึ้นปราศรัยที่แยกนางเลิ้ง ตอนหนึ่งกล่าวตอบโต้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีว่า "ไม่มีคนไทยไล่ทักษิณ แต่ทักษิณไปเองเพราะหนีคดี ถ้าคุณยิ่งลักษณ์ไม่เลิกนิสัยนี้ อีกไม่ช้าไม่นานต้องหนีคดีไปอยู่กับพี่ชายเช่นเดียวกัน แล้วอย่าหาว่าคนไทยเนรเทศนะครับ ที่ผู้ชุมนุมตะโกนว่า "ออกไปๆ" หมายถึงให้ยิ่งลักษณ์ ออกจากตำแหน่ง ไม่ใช่ออกจากประเทศไทย"

สุเทพปราศรัยต่อว่า สภาพความเป็นรัฐบาลหมดไปแล้ว ความเป็นนายกรัฐมนตรีของยิ่งลักษณ์ ความเป็นคณะรัฐมนตรีจบไปแล้ว ตั้งแต่วันที่พวกคุณลุกขึ้นปฏิเสธไม่เคารพกฎหมายรัฐธรรมนูญจึงโมฆะไปหมดแล้ว วันนี้ประชาชนลุกขึ้นทวงคืนอำนาจอธิปไตยอย่างชอบธรรมถูกต้อง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 เขาเอาคืนเพราะพวกคุณเอาอำนาจไปใช้เสียหาย จึงต้องเอาคืน

"เมื่อความเป็นรัฐบาลหมดไป สิ้นสภาพไป ต้องถือว่าวันนี้ประเทศไทยไม่มีรัฐบาล ไม่มีคณะรัฐมนตรี จะต้องจัดการนายกรัฐมนตรีของประชาชน สภาของประชาชน คนไทยนั้นใจดีมีเมตตาให้โอกาสนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ และ ครม. ให้ได้ส่งคืนอำนาจอธิปไตยให้เกิดความราบรื่น ไม่ต้องเกิดปัญหาหรือเรื่องวุ่นวายในประเทศ ทำให้สงบ เรียบร้อย ทำกันดีๆ แต่ยิ่งลักษณ์ไม่เข้าใจ เถียงคอเป็นเอ็นที่ได้คะแนนมาคนลงคะแนนให้ 14-15 ล้าน คนเดินขบวนไม่กี่ล้าน ดูสิแกแกล้งทำโง่ไปได้ คุณยิ่งลักษณ์ ครอบครัวคนไทยมี 4-5 คนเป็นอย่างน้อย คนที่เดินเป็นตัวแทนคนที่บ้านอีกสี่ห้าคน คุณยิ่งลักษณ์คูณไม่เป็นหรือไง"

"เนื่องจากรัฐบาลไม่ชอบธรรม เราถึงได้ประกาศให้คุณยิ่งลักษณ์และคณะประกาศเสียเองว่าไม่ขอเป็นรัฐบาลรักษาการณ์โดยที่ประชาชนไม่ต้องบังคับ แต่คุณยิ่งลักษณ์อ้างว่ายุบสภาแล้ว ถอยแล้ว เห็นใจกันบ้าง ผมว่ามันถอยไม่พอ คุณยิ่งลักษณ์ต้องถอยอีก ถ้าไม่อยากให้ประชาชนรู้สึกเกลียดชังมากกว่านี้ ขอแนะให้คุณยิ่งลักษณ์ทำตามข้อเสนอ กปปส. ลาออกเสียจากการรักษาการ เพื่อให้มีการตั้งคนดีที่คนทั้งประเทศยอมรับ มาเป็นนายกรัฐมนตรีของประชาชน เพื่อให้เดินหน้าเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยตามเจตนารมณ์ของประชาชน นั่นแหละถึงจะเรียกว่าถอย"

"ถอยแบบยุบสภา เลือกตั้งใหม่ แล้วอยู่ปาร์ตี้ลิสต์ใหม่ลำดับหนึ่ง เขาเรียกว่าถอยเพื่อมากินต่อ โกงต่อ เขาไม่เอา คุณทำตัวไร้เดียงสา โง่เขลาเบาปัญญาได้ แต่ประชาชนรู้เท่าทันพวกคุณหมดแล้วทั้งประเทศไทย คุณยิ่งลักษณ์ออกมาบอกว่า 'ไม่ได้ ลาออกจากรักษาการณ์ไม่ได้ เดี๋ยวหาว่าละทิ้งหน้าที่' ดังนั้นวันนี้ต้องว่าเสียหน่อย ที่บอกว่าไม่มีกฎหมายเขียน ไม่มีกฎหมายบัญญัติเอาไว้ว่าให้ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ ก็ตอนเขาร่างรัฐธรรมนูญ เขานึกไม่ถึงยังไงละครับว่ามีนายกรัฐมนตรีทำความเลวเสียหาย จนประชาชนทั้งประเทศทนไม่ได้ยังไงล่ะครับ คุณชัยเกษม นิติสิริ ผมจะบอกให้ว่านี่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ ไม่ต้องเปิดตำรามาตอบ นี่เป็นสถานการณ์พิเศษไม่เคยคาดคิดในกฎหมายไม่ได้เขียนไว้ แต่มีประเพณีปฏิบัติเมื่อปี 2516 เมื่อเกิดเหตุการณ์ลุกฮือเดินขบวน แล้วเกิดเหตุ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นจอมพลถอนม ลาออก แล้วไม่รักษาการ ไปต่างประเทศเลย ผมต้องยกย่องจอมพลถนอมนะครับ ใหญ่โตมาก มีอำนาจในมือ มีเหตุร้ายเกิดขึ้นนักศึกษาเสียชีวิต จอมพลถนอมลาออก ไม่รักษาการ ไปต่างประเทศ เพื่อให้ประเทศสงบเรียบร้อยลง"

"แล้วรองประธานสภานิติบัญญัติขณะนั้นนำความกราบบังคมทูลฯ ว่า สภานิติบัญญัติเห็นสมควรให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี นี่เขามีประเพณีปฏิบัติ เหตุการณ์นั้นคือเหตุการณ์ที่ผิดปกติ ไม่ใช่เหตุการณ์ธรรมดา วันนั้นไม่มีกฎหมายเขียนเอาไว้ ที่คุณชัยเกษมเอามาอ้างนั้นขอตอบว่าเขาเคยทำมาแล้ว และผ่านพ้นมาด้วยดี"

"นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์อย่ามาเถียงข้างๆ คูๆ ลาออกไม่ได้เดี๋ยวผิดฐานละทิ้งการปฏิบัติหน้าที่ แม่ทูนหัวช่วยลาออกเสียทีเถิด เอาอย่างนี้ไหมล่ะ นายกรัฐมนตรี ครม. ลาออกรักษาการทั้งคณะไปเลย แล้วให้ประธานวุฒิสภาออกไปด้วย เพราะคนนี้เป็นขี้ข้า เหลือรองประธานวุฒิสภาใช้ได้ ให้รองประธานวุฒิสภากราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวขอเสนอชื่อคนดีเป็นนายกรัฐมนตรี" สุเทพกล่าว

 

กปปส.ประกาศนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโมฆะ และขอให้ประชาชนมั่นใจในรัฏฐาธิปัตย์ของ กปปส.

ก่อนหน้านี้เมื่อเวลา 19.10 น. สุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ขึ้นเวทีที่แยกสวนมิสกวันอ่านประกาศ กปปส. ฉบับที่ 1/2556 เรื่อง"ความเป็นโมฆะของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.)" ระบุว่า

"ตามที่ศาล รธน. ได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 20  พ.ย.2556 ความว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติม รธน. ที่มา ส.ว. มีสาระสำคัญ ขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ2550  อันเป็นการทำให้ผู้ถูกร้องได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 ฝ่าฝืนมาตรา 68 วรรค 1 ซึ่งภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้วนั้น หัวหน้าพรรคเพื่อไทยในฐานะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอื่นๆ ซึ่งเป็นผู้แทนคณะรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทน  ประธานวุฒิ ส.ส.  ส.ว. ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งดังกล่าวได้แถลงไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

"ประกอบกับนายกฯ ได้นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ ทรงลงพระปรมาภิไธย ทั้งที่มีเนื้อหาและกระบวนการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรค 5  ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ ให้ต้องปฏิบัติตามเป็นเด็ดขาด"

"และต่อมาวันที่ 9 ธ.ค 2556   นายกรัฐมนตรีได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร โดยยังไม่ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรทั้งมาตรา 108 บัญญัติให้เป็นพระราชอำนาจ  นับเป็นการกระทำอันล่วงละเมิดพระราชอำนาจอย่างชัดแจ้งที่ไม่เคยมีมาก่อน  ทั้งเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญซ้ำแล้วซ้ำอีกดังปรากฏตามคำแถลงการณ์ของสภาทนายความ"

"การกระทำทั้งหลายดังกล่าวข้างต้นถือได้ว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและพรรคร่วมรัฐบาลได้ร่วมกันจงใจกระทำการละเมิดรัฐธรรมนูญโดยไม่สุจริตและตั้งตนเหนือรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้รัฐบาลชุดนี้ตกเป็นโมฆะนับแต่วันที่ประกาศไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการจงใจล่วงละเมิดรัฐธรรมนูญโดยไม่สุจริตดังกล่าว มีความร้ายแรงถึงขนาดไม่อาจให้รัฐบาลสามารถใช้อำนาจในนามของประชาชนได้อีกต่อไปดังนั้น แม้นายกฯ ได้ประกาศยุบสภาไปแล้ว ก็ไม่ส่งผลให้รัฐบาลที่สิ้นสภาพไปแล้วรักษาการต่อไปได้"

"เมื่อกรณีเป็นไปตามความดังกล่าวข้างต้น จึงถือได้ว่าในเวลานี้ประเทศไทยตกอยู่ในสภาวะสูญญากาศเนื่องจากไม่มีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีกต่อไปแล้ว จึงชอบที่จะต้องมีการดำเนินการตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยการจัดให้มีนายกรัฐมนตรี ที่ประชาชนทั้งประเทศยอมรับ เพื่อดำเนินการปฏิรูปประเทศไทยตามเจตจำนงของมวลมหาประชาชนต่อไป ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนได้มั่นใจกับหลักการประชาภิวัฒน์ ด้วยวิธีสงบ สันติ อหิงสาต่อไป และเชื่อมั่นในความเป็นรัฏฐาธิปัตย์แห่งมวลมหาชนประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงและได้ทวงกลับคืนมาไว้ได้โดยสิ้นเชิงและพร้อมที่จะประชาภิวัฒน์ประเทศไทยโดยเร็วต่อไป ประกาศ ณ วันที่ 10 ธ.ค. 56 ลงชื่อ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส."

 

สุเทพ เทือกสุบรรณ เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

อนึ่งในช่วงบ่าย มีรายงานว่า สุเทพ เทือกสุบรรณ ได้เข้าหารือกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ทบ. ที่บ้านพักพลเอกประวิตร ในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ โดยในเวลา 13.30 น. มีการส่งรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า พราโด้ ไปรับนายสุเทพที่จุดนัดหมายเพื่อเข้ามาภายใน ร.1 รอ. จากนั้นได้ให้รถยนต์คันเดิมกลับออกไปในเวลาประมาณ 16.00 น. (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุเทพหารือ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ก่อนขึ้นปราศรัยช่วงค่ำ

Posted: 10 Dec 2013 05:07 AM PST

10 ธ.ค. 56 - ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ได้เข้าหารือกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ทบ. ที่บ้านพักพลเอกประวิตร ในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ก่อนที่สุเทพจะขึ้นปราศรัยในช่วงเวลา 19.30 น.ของวันนี้

ทั้งนี้คมชัดลึกรายงานว่า ในเวลา 13.30 น. มีการส่งรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า พราโด้ ไปรับนายสุเทพที่จุดนัดหมายเพื่อเข้ามาภายใน ร.1 รอ. จากนั้นได้ให้รถยนต์คันเดิมกลับออกไปในเวลาประมาณ 16.00 น.      

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ธีรยุทธ บุญมี หนุน 'ปฏิวัตินกหวีด' แนะ กปปส.ขยายการมีส่วนร่วม สร้างฉันทามติ

Posted: 10 Dec 2013 04:57 AM PST

10 ธ.ค.2556 ธีรยุทธ บุญมี ผู้อำนวยการ สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงท่าทีต่อสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน ในหัวข้อ "การปฏิวัตินกหวีด มองเชื่อมโยงกับปัญหาอนาคตการเมืองไทย" ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยระบุว่า ตนเองสนับสนุนแนวทางการปฏิวัติของประชาชน เพราะเป็นพัฒนาการอีกขั้นของการตระหนักถึงสิทธิอำนาจของประชาชน อยากให้ประสบความสำเร็จ ให้มวลมหาประชาชนกว่า 2 ล้านคนได้สมหวัง โดยมีข้อเสนอต่อ กปปส. ประกอบด้วย การให้เวลาคนกลุ่มต่างๆ ครุ่นคิด ทำความเข้าใจ กปปส. โดยกระบวนการเกิดนโยบายหรือการจัดตั้งสภาประชาภิวัฒน์เพื่อร่างรัฐธรรมนูญ ควรต้องเป็นการปรึกษาหารือเพื่อสร้างฉันทามติอย่างกว้างขวางจริงใจ จากนั้นอาจต้องผ่านประชามติและเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยจริงๆ โดยเร็วที่สุด 

ธีรยุทธ เสนอด้วยว่า การจะได้มาซึ่งอำนาจอธิปัตย์โดยเฉพาะการยอมรับจากประมุขประเทศ และการสนับสนุนถึงขั้นให้ข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน มารายงานตัว ยังต้องอาศัยการยอมรับ ความไว้วางใจในเจตจำนงทางการเมือง อุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง บุคลิกท่วงทำนองประชาธิปไตย การเคารพซึ่งกันและกัน การอดทนต่อความแตกต่าง บุคคลเข้าร่วมหรือพร้อมจะเข้าร่วมที่มีคุณวุฒิ มีความสามารถด้านต่างๆ มาประกอบ โดยรวมถึงตัวแทนรากหญ้า ผู้นำปัญญาชนการเมืองท้องถิ่นทุกจังหวัดด้วย
 
อย่างไรก็ตาม ธีรยุทธ ระบุว่า โครงสร้างแนวร่วมประชาภิวัฒน์ที่ควรจะเป็นการต่อสู้ครั้งนี้อาจไม่บรรลุชัยชนะ หรือเราอาจผิดหวังกับผลงานของผู้ที่จะทำงานให้กับประชาชนในอนาคต แต่ที่สำคัญที่สุดคือได้เกิดประสบการณ์การใช้สิทธิอำนาจของประชาชน พลังที่แท้จริงของภาคประชาชน อำนาจต่อรองกับอำนาจการเมืองอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก  และถ้ารักษาพลังนี้ได้เราก็อาจได้แนวร่วมของขบวนการตรวจสอบภาคการเมืองต่อต้านคอร์รัปชั่นที่เข้มแข็งของประเทศในอนาคตได้

กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า ตอนหนึ่ง ธีรยุทธตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ว่า มองทางออกของประเทศอย่างไร เมื่อข้อเสนอของ กปปส.ถูกท้วงติงว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยธีรยุทธ กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่ายังมองทางออกของประเทศขณะนี้ไม่ชัด ว่าจะไปทางไหน เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองและผู้ที่มีอำนาจ จะต้องมานั่งพูดกัน เพื่อหาทางออกให้ประเทศ โดยให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจมากที่สุด แต่ตนไม่เห็นด้วยหากจะมีการใช้กระบวนการซิกแซกทางกฎหมายที่ซับซ้อน และไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาแก้ปัญหานี้

 


สำหรับเนื้อหาที่แถลงมีดังนี้
 

การปฏิวัตินกหวีด มองเชื่อมโยงกับปัญหาอนาคตการเมืองไทย
ธีรยุทธ บุญมี
แถลงที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
10 ธันวาคม 2556 วันรัฐธรรมนูญ 

1. คนไทยจะปฏิรูปประเทศไทยอย่างรอบด้านได้ไหม? ประเทศไทยเลยเวลาที่จะปฏิรูปมาเนิ่นนานแล้ว เพราะ
             • ตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 ประชาธิปไตยเลือกตั้งมีการใช้เงินและผลประโยชน์ซื้อเสียงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงขั้นการใช้นโยบายประชานิยม แจกเงินโดยตรงแก่ประชาชน
             • การคอร์รัปชั่นพัฒนาไปทุกรูปแบบ เป็นคอร์รัปชั่นด้วยนโยบาย เช่น การจำนำข้าว การเปิดเสรีรัฐวิสาหกิจ ฯ นักการเมืองกินเพิ่มขึ้นเป็น 30-40% การส่งส่วยของตำรวจจากผู้น้อยไปสู่ผู้ใหญ่มีทุกระดับ การใช้เงิน การรับใช้ทางการเมืองหรือเรื่องสกปรกแลกตำแหน่งมีทุกวงการ หลังสุดถึงขั้นว่าเมื่อส่วนกลางจัดงบประมาณให้หน่วยงานต่างจังหวัด หน่วยงานจะต้องส่งคืนกลับ 10-20% ให้ผู้บังคับบัญชาที่อนุมัติ
             • ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายเสื่อมทรามลงไปเรื่อยๆ คนทุกกลุ่มเลิกสนใจคุณธรรมหน้าที่ต่อบ้านเมือง มีการสมคบร่วมกันแย่งทึ้งประเทศชาติ เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะได้เปรียบไม่เสียเปรียบคนอื่นในทุกวงการ อย่างที่โบราณว่าไว้ว่า "ฝูงแร้งสมจร ฝูงแร้งด้วยกัน" ทั้งนี้เพราะพฤติกรรมที่ผ่านมาบ่งว่าเราอยู่ใต้ระบบสมจรของทักษิณ ใต้รัฐบาลสมจรหุ่นของทักษิณ และสภาก็คือขี้ข้าทักษิณมาสมจรกัน
             • การใช้อำนาจของนักการเมืองมีลักษณะเหิมเกริม ไร้ความละอายมากขึ้นเรื่อยๆ
             • ข้าราชการสมคบสยบยอมนักการเมืองเปิดเผยชัดเจนเกือบทั้งหมด
             • นโยบายจำนำข้าวเป็นดัชนีที่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจประเทศล้มเหลวและเกิดปัญหาร้ายแรงในที่สุด
            
ทั้ง 6 ปัจจัยนี้จะทำให้ประเทศและสังคมไทยแตกวิ่นเป็นกลุ่มแสวงหาผลประโยชน์กลุ่มเล็กและใหญ่กระจายไปทั่ว และจะแตกวิ่นในลักษณะภูมิภาค ท้องถิ่น ชนชั้น กลุ่มอาชีพ ฯลฯ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติมีชะตากรรมที่เลวร้ายที่สุดตั้งแต่เคยเป็นมา ทั้ง 6 ปัจจัยเป็นเหตุผลให้ควรเร่งแก้วิกฤติการเมืองไทยอย่างจริงจัง ไม่ทำแบบขอไปที
            
2. ทำไมประเทศไทยไม่เคยปฏิรูปสำเร็จ ที่ปฏิรูปไม่สำเร็จเพราะมีไทยเฉยเยอะ ที่เป็นไทยเฉยมี 5 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
             1) ชาวบ้านในเมือง รากหญ้าในชนบท เฉย ไม่ใช่เพราะโง่เง่าหรือขาดการศึกษา แต่เพราะต้องดิ้นรนทำกิน และปัจจุบันก็ตื่นตัวในเรื่องข้อมูลข่าวสาร สิทธิของตนเองมากขึ้น ทั้งในแนวเสื้อแดง เสื้อเหลือง หรือในขบวนการนกหวีด
             2) ชนชั้นกลางเฉยเพราะต้องตั้งเนื้อตั้งตัว แต่ก็ดีขึ้น เช่น กลุ่มธุรกิจสีลม อโศก รัชดา กลุ่มอาชีพต่างๆ
             3) ผู้ดี ราชครูปุโรหิตทำหน้าที่สรรเสริญพระเจ้าอยู่หัวเฉยๆ แต่ไม่กล้าหาญพอจะปฏิบัติหน้าที่ให้บรรลุ ในการรักษ์ความยุติธรรม ป้องกันการโกง การสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง และความอยู่ดีมีสุขของประชาชนแทนพระองค์
             4) ข้าราชการ เสนาอำมาตย์ เฉย ไม่นำพาต่อการโกงกินบ้านเมือง แม้คนเป็น 1-2 ล้านออกมาเรียกร้องก็ไม่นำพา กลับเริ่มเสวยสุขกับนักการเมืองโกงกินทั้งหลาย
             5) เจ้าสัวเฉย ไม่ยอมลงทุนเพื่อสร้างสรรค์การเมือง มีแต่ลงทุนเฉพาะทางธุรกิจเพื่อให้ครอบครัวร่ำรวย และออกมาคร่ำครวญเดือดร้อนอย่างน่าเห็นใจทุกคนเมื่อมีวิกฤติการเมือง
            
3. มองพลังประชาชนอย่างมีความหวัง ขบวนนกหวีดที่เริ่มขึ้นเล็กๆ จากกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) ที่อุรุพงษ์ กลุ่มกองทัพธรรมที่ผ่านฟ้า กลุ่มคัดค้านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่สามเสนและราชดำเนิน จนเกิดเป็น กปปส. ทำให้การปฏิรูปประเทศไทยอย่างรอบด้านมีโอกาสเป็นจริงขึ้นได้ เราสามารถอธิบายได้ว่าการแข็งขืนของ กปปส. หรือ "ขบวนนกหวีด" ครั้งนี้ โดยแก่นแท้ไม่ใช่ปัญหาว่าเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ไม่ใช่เป็นการไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่หรือเป็นขบถ
            
แต่เป็นทั้งการใช้ "สิทธิและการปฏิบัติหน้าที่อันจำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้" สิทธิและหน้าที่ที่ว่าก็คือ การต่อต้านล้มล้างรัฐบาลที่ฉ้อฉลหรือเป็นทรราช (tyrannicide) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีและปรัชญาการเมืองประชาธิปไตย และมีการกระทำที่เป็นจริงมาตั้งแต่สมัยประชาธิปไตยของกรีก โรมัน งานของนักคิดสำคัญๆ จำนวนมาก เช่น Juan de Mariana, Hugo Grotius, John Locke ซึ่งเป็นบิดาของการปฏิวัติประชาธิปไตยของอังกฤษ ล้วนยืนยันสิทธิในการขับไล่ล้มล้างรัฐบาลฉ้อฉลทั้งสิ้น เช่น Locke มองว่าสิทธิในการปฏิวัติของประชาชนเป็นการป้องกันให้พ้นจากระบบทรราช
            
และถือว่าเมื่อมีการละเมิดผลประโยชน์ของประชาชนภายใต้สัญญาประชาคม ประชาชนมีสิทธิปลุกระดมเพื่อก่อการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนเป็นรัฐบาลที่รับใช้ผลประโยชน์ของประชาชน (ดูงาน Mariana, De rege et regis institutione (1598), Locke, Two Treatise of Government (1689), Grotius, Truth of the Christian Religion (1627) และ The Rights of War and Peace, including the Law of Nature and of Nations (1901))
            
โทมัส เจฟเฟอร์สัน, เบนจามิน แฟรงคลิน ต่างใช้สิทธิและหน้าที่นี้ในการต่อสู้กับจักรวรรดิอังกฤษ ดังแฟรงคลินได้เสนอแบบเหรียญมหาลัญจกรของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีข้อความการขับไล่ทรราชเป็นพันธกิจศักดิ์สิทธิ์ต่อพระเจ้าในคำประกาศอิสรภาพของอเมริกาที่เขียนไว้ว่า "เมื่อการใช้อำนาจไม่ชอบ การฉกฉวยดำเนินไปต่อเนื่องไม่ผันแปร ... จะเป็นระบบทรราชแบบสมบูรณ์
            
จึงเป็นสิทธิเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะล้มล้างรัฐบาลเช่นนั้นเสีย" ในคำปรารภรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสปี 1793 ก็มีกำหนดไว้หลายมาตรา เช่น มาตรา 27 "... เมื่อรัฐบาลละเมิดสิทธิของประชาชน ประชาชนย่อมต้องลุกฮือขึ้นต่อต้าน โดยถือว่าเป็นสิทธิที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด และเป็นหน้าที่ที่จักขาดเสียไม่ได้มากที่สุด" และยังมีคำยืนยันสิทธินี้ในรัฐธรรมนูญอีกหลายประเทศ และยังมีกำหนดไว้โดยนัยยะในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนด้วยเช่นกัน
            
การใช้สิทธิดังกล่าวส่วนใหญ่ต้องมีการยกเลิกกฎหมายหรือละเมิดกฎหมายบางข้อ แต่ก็มีการอ้างได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ เช่น โทมัส เจฟเฟอร์สัน กล่าวว่า "การเคารพกฎหมายอย่างเคร่งครัดเป็นหน้าที่ที่สูงส่งอย่างไม่ต้องสงสัยของพลเมืองที่ดี แต่การรักษาประเทศของเราจากอันตรายเป็นพันธกิจที่สูงกว่า การสูญเสียประเทศของเราโดยการติดยึดกับกฎหมายที่ตราไว้โดยสำนึกทางศีลธรรมของเรา จะเท่ากับเป็นการสูญเสียระบบกฎหมายทั้งหมด ชีวิต เสรีภาพและทรัพย์สินทั้งหมดของเรา จึงเท่ากับเป็นการเสียสละเป้าหมาย (ประเทศและชีวิต) เพื่อรักษาเครื่องมือ (คือตัวบทกฎหมายบางข้อ – ผู้เขียน) ไว้อย่างไร้เหตุไร้ผลโดยสิ้นเชิง"
            
อย่างไรก็ตาม ศาลมักเตือนว่าการใช้สิทธิดังกล่าว รัฐธรรมนูญ กฎบัตรต่างๆ มักพิจารณาให้ใช้ในสภาวะที่เป็นความจำเป็นที่เกิดขึ้นจริงๆ เป็นมาตรการสุดท้าย โดยการไตร่ตรองด้วยเหตุผลและสามัญสำนึก ไม่ใช่การโน้มน้าวจูงใจด้วยอารมณ์หรือความเคียดแค้นชิงชัง
            
4. "การปฏิวัตินกหวีด" หรือ "ประชาภิวัฒน์" กปปส. ปฏิเสธการยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทางเลือกของ กปปส. จึงเหลือเพียง 2 ทาง ทางแรกคือการกดดันให้เกิด "สุญญากาศ" ทางการเมือง เพื่อใช้มาตรา 3 มาตรา 7 แต่คาดว่าพรรคเพื่อไทยคงไม่ยินยอม และหนทางดังกล่าวจะทำให้เกิดความอึดอัดไม่สบายใจของฝ่ายต่างๆ ที่จะตีความรัฐธรรมนูญหรือปฏิบัติตามแนวคิดดังกล่าว
            
อีกหนทางไม่เคยเกิดในประเทศไทย คือการปฏิวัติของประชาชน ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนแปลง 2475 เป็นการปฏิวัติของทหารร่วมกับพลเรือน เพื่อล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ประชาชนมีส่วนเฉพาะการโค่นล้มระบอบเผด็จการ แต่ไม่มีส่วนในการออกแบบระบอบการเมืองที่ใช้กันต่อมา เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 การปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน ประชาภิวัฒน์หรือ "การปฏิวัตินกหวีด" จึงอาจถือเป็นการ "ปฏิวัติประชาชน" ครั้งแรก เพราะเรียกร้องสภาที่ประชาชนมีอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่เนื่องจากระบอบการเมืองที่ถูกล้มไปมาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญที่ชอบธรรม

[หมายเหตุ การปฏิวัติกับประชาธิปไตยเป็นคนละสิ่งกัน การปฏิวัติไม่เคยเกิดจากประชาชนหมดทั้งประเทศออกมาใช้สิทธิแบบการเลือกตั้ง ไม่ว่าการปฏิวัติประชาธิปไตยของอังกฤษ (1688) การปฏิวัติฝรั่งเศส (1789) การประกาศอิสรภาพของอเมริกา (1776) การปฏิวัติกำมะหยี่ (1989) ของเชกโกสโลวาเกีย การปฏิวัติสีส้ม (2004) ของยูเครน ล้วนเป็นประชาชนจำนวนหนึ่งซึ่งอ้างเจตนารมณ์ร่วม (General Will) ของประชาชนทั้งสิ้น อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญของประเทศทั่วโลกก็มาจากตัวแทนของฝ่ายต่างๆ ซึ่งแต่งตั้งโดยผู้ทำการปฏิวัติทั้งสิ้น]
            
จึงอธิบายได้ว่าประชาชนทำปฏิวัติได้ เพียงแต่ต้องทำให้คนเชื่อมั่นว่า "การปฏิวัติประชาชน" ครั้งนี้จะทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมาก มีสิทธิเสรีภาพที่ดีขึ้นกว่าเก่า มีความเคารพซึ่งกันและกันมากขึ้น ทำให้ประเทศมีสภาพที่ดีขึ้น และแก้ปัญหาเลวร้ายที่เรียกว่าระบอบทักษิณได้จริงหรือไม่ บ่อยครั้งการอ้างความเป็นตัวแทนของประชาชนก็ไม่เป็นจริง แม้ในสหรัฐเองตัวแทนจากหลายรัฐก็มาจากอภิสิทธิ์ชนเกือบทั้งหมด สวิสเซอร์แลนด์อาจเป็นข้อยกเว้นประเทศเดียว (ดู R.R.Palmer, The Age of the Democracy Revolution vol.I,II (1989)) ประเด็นสำคัญคือเนื้อหาและการปฏิบัติให้เป็นจริงมากกว่า
            
5. ความยากลำบากที่สุดของการนำพาให้การปฏิวัติประชาชนสำเร็จ และไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ในเมืองไทย การปฏิวัติประชาชนเกิดขึ้นได้ยากอย่างยิ่ง โดยเฉพาะของประเทศไทยในครั้งนี้ซึ่งอาศัยเพียงนกหวีดเป็นอาวุธ และโดยประเพณีในการเมืองไทยต้องประกอบไปด้วยปัจจัย
             ก. การรับรองจากประมุขของประเทศ
             ข. การยอมรับจากกองทัพ ตำรวจ ข้าราชการ
             ค. ในปัจจุบันประชาชนซึ่งตื่นตัวในสิทธิประชาธิปไตยมีมากขึ้น การยอมรับของประชาชนทุกส่วนและภาคเอกชนก็เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่ง
            
ผู้เขียนสนับสนุนแนวทางการปฏิวัติของประชาชน เพราะเป็นพัฒนาการอีกขั้นของการตระหนักถึงสิทธิอำนาจของประชาชน อยากให้ประสบความสำเร็จ ให้มวลมหาประชาชนกว่า 2 ล้านคนได้สมหวัง จึงขอออกแรงในทางความคิดเสนออย่างจริงจังและตั้งใจจริง ดังนี้
            
กปปส. ควรตระหนักว่า การประกาศทวงอำนาจสูงสุดคืออำนาจอธิปไตยคืนเป็นของประชาชน ซึ่งโดยนัยยะมี กปปส. เป็นตัวแทนถืออำนาจนั้น เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่สำคัญมาก ไม่เคยปรากฏมาก่อนในบ้านเรา เพราะมันหมายถึงการยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือครองอำนาจในการจัดการสิทธิเสรีภาพในชีวิต ทรัพย์สิน ของแต่ละคน รวมทั้งทิศทางทั้งหมดของประเทศได้ จึงมีความจำเป็นที่ กปปส. ต้องตระหนักดังนี้
            
ก. การเร่งรัดให้คนกลุ่มอาชีพต่างๆ ยอมรับการตัดสินใจของ กปปส. โดยไวเกินไป ยิ่งทำให้คนลังเล การใช้เวลาให้คนส่วนใหญ่ได้ครุ่นคิด ตริตรอง ทำความเข้าใจ และมีโอกาสได้ไต่ถามพูดคุยกับ กปปส. กระบวนการเกิดนโยบายหรือการจัดตั้งสภาประชาภิวัฒน์เพื่อร่างรัฐธรรมนูญ ควรต้องเป็นการปรึกษาหารือเพื่อสร้างฉันทามติอย่างกว้างขวางจริงใจ จากนั้นอาจต้องผ่านประชามติและเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยจริงๆ โดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชน กปปส. ควรแสดง
             1) การมีเจตจำนงการเมืองที่แน่วแน่ (Political Will) ที่จะบรรลุภารกิจที่ตัวเองประกาศไว้ นั่นคือการแก้ไขการขยายตัวของการคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นตัวฉุดดึงทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงของชาติ ให้ล่มสลายตามไปด้วย ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการกฎหมายที่เข้มงวด มีการสร้างหน่วยงานปราบคอร์รัปชั่นที่มีอำนาจสูง การปฏิรูประบบยุติธรรม เช่น ตำรวจ อัยการ ให้ทำงานสอดคล้องกัน พิสูจน์ลงโทษให้เห็นชัดเจน
             2) ต้องมีคำประกาศอุดมการณ์การเมืองที่ชัดเจน ผูกมัดตัวเอง ผูกมัดสังคมที่จะเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิเสรีภาพของประชาคมและชุมชน ท้องถิ่น จริงจัง ต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงโดยไว
             3) ต้องมีอุดมการณ์เศรษฐกิจที่ชัดเจน ซึ่งควรเป็นเสรีนิยมที่เป็นธรรม ไม่ใช่เป็นประชานิยมเอียงซ้าย หรือชาตินิยมแบบอเมริกาใต้ ซึ่งนำความเสื่อมโทรมมาสู่เศรษฐกิจชาติอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างความเป็นธรรม อำนาจในการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากร ความมั่งคั่งที่กระจายอย่างยุติธรรมมากขึ้น
             4) ควรเน้นเนื้อหาการกระจายอำนาจสู่ภูมิภาค เน้นการเคารพการตัดสินใจในการดูแลผลประโยชน์ของท้องถิ่น
             5) เคารพภูมิปัญญา วัฒนธรรม ประเพณี ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเอาใจใส่เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน
             6) พัฒนาแลกเปลี่ยนระดับความรู้ของทุกภูมิภาคให้เท่าเทียมกัน ทั้งในด้านการศึกษา วิจัย การพัฒนา
             7) ดังที่ได้ย้ำหลายหนว่า การปฏิวัติเพื่อสถาปนารัฐธรรมนูญที่มีการอ้าง "อำนาจประชาชน" หรือเจตจำนงของประชาชน โดยไม่เคยเป็นประชาธิปไตย 100% ทุกที่ แต่ก็ต้องให้สภาประชาภิวัฒน์หรืออื่นๆ มีลักษณะเป็นระบบตัวแทนที่กว้างขวางที่สุด
            
ข. กปปส. มีความสามารถในการโน้มน้าวจูงใจ แจกแจงเหตุผลให้กับมวลชนจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งก็คือลักษณะของขบวนการต่อต้านคัดค้านรัฐบาล (protest movement) เป็นทุนหรือเป็นพลังทางการเมืองที่สำคัญ แต่แม้จะเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมอีกก็ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้
            
แต่การจะได้มาซึ่งอำนาจอธิปัตย์โดยเฉพาะการยอมรับจากประมุขประเทศ และการสนับสนุนถึงขั้นให้ข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน มารายงานตัว ยังต้องอาศัยการยอมรับ ความไว้วางใจในเจตจำนงทางการเมือง อุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง บุคลิกท่วงทำนองประชาธิปไตย การเคารพซึ่งกันและกัน การอดทนต่อความแตกต่าง บุคคลเข้าร่วมหรือพร้อมจะเข้าร่วมที่มีคุณวุฒิ มีความสามารถด้านต่างๆ มาประกอบ ถ้าจะเปรียบเทียบก็คือ กปปส. และมวลมหาประชาชนเป็นเสมือนฐานราก ยังจำเป็นต้องมีส่วนอื่นๆ คือ เสา ฝา หลังคา รั้ว เพื่อประกอบเป็นโครงสร้างหน้าที่ที่สมบูรณ์
            
ถ้าใช้ศัพท์การเมืองก็คือการมีองค์กรแนวร่วม (united front) ที่ประกอบด้วยบุคคลที่เสมือนเป็นทุนทางสังคม ทุนทางสัญลักษณ์ ทุนทางศรัทธา ความน่าเชื่อถือ ความสามารถและมีประสบการณ์ ซึ่งที่จริง กปปส. สามารถที่จะแสวงหาทรัพยากรเหล่านี้ได้ไม่ยาก
            
ทั้งจากผู้เข้าร่วมชุมนุมอยู่แล้ว และจากพรรคประชาธิปัตย์ จากองค์กรภาคธุรกิจเอกชน 7 องค์กรที่ประกาศพร้อมจะเป็นคนกลาง บุคคลผู้อาวุโสในสังคม เทคโนแครตบางส่วน การเน้นคนเหล่านี้อาจถูกหาว่าเป็นอภิชนนิยม การเปิดทางให้ชนชั้นสูงเป็นใหญ่ (elitism แต่ถ้าเน้นเฉพาะหลักการให้การเลือกตั้งเป็นตัวสินในทุกสถานการณ์ ก็เป็นแนวธนานิยม moneyism คือแนวโน้มการให้อำนาจเงินเป็นใหญ่ไปอีกทาง) จึงควรมีองค์ประกอบจากตัวแทนรากหญ้า ผู้นำปัญญาชนการเมืองท้องถิ่นทุกจังหวัดด้วย

โครงสร้างแนวร่วมประชาภิวัฒน์ที่ควรจะเป็น
การต่อสู้ครั้งนี้อาจไม่บรรลุชัยชนะ หรือเราอาจผิดหวังกับผลงานของผู้ที่จะทำงานให้กับประชาชนในอนาคต แต่ที่สำคัญที่สุดคือได้เกิดประสบการณ์การใช้สิทธิอำนาจของประชาชน พลังที่แท้จริงของภาคประชาชน อำนาจต่อรองกับอำนาจการเมืองอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก ซึ่งคุ้มค่าแก่ความเหนื่อยยากทั้งปวงอยู่แล้ว และถ้ารักษาพลังนี้ได้เราก็อาจได้แนวร่วมของขบวนการตรวจสอบภาคการเมืองต่อต้านคอร์รัปชั่นที่เข้มแข็งของประเทศในอนาคตได้
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มีผู้ไม่พอใจเนื่องจากเห็นนายกรัฐมนตรียิ้มหลังจากร้องไห้แถลงข่าว

Posted: 10 Dec 2013 04:50 AM PST

หลังนายกรัฐมนตรีแถลงข่าวและมีน้ำตาคลอหลังจากตอบคำถามกรณีแกนนำชุมนุมปราศรัยขับไล่ตระกูลชินวัตร ล่าสุดสื่อหลายฉบับรายงานว่ามีผู้ไม่พอใจเนื่องจากหลังแถลงข่าวนายกรัฐมนตรียิ้ม

นายกรัฐมนตรีแถลงข่าวหลังประชุม ครม. 10 ธ.ค. 2556 (ที่มา: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์)

10 ธ.ค. 2556 - กรณีที่เช้าวันนี้ (10 ธ.ค.) ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงข่าวหลังประชุม ครม. ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดีรังสิต และตอบคำถามกรณีที่มีผู้ปราศรัยขับไล่ตระกูลชินวัตรและมีน้ำตาคลอว่า "ดิฉันไม่ใช่ไม่มีความรู้สึก ดิฉันได้ฟังมาตลอดกับการร้องขอกับผู้ชุมนุม การที่กล่าวถึงทั้งตระกูลนั้น ดิฉันก็ถือว่าเราเป็นคนไทยด้วยกัน จะถึงขนาดไม่ให้เหยียบอยู่ในแผ่นดินไทยเลยหรือ เราจะเป็นกันอย่างนี้หรือ ดิฉันถอยไม่รู้ว่าจะถอยอย่างไรแล้ว ก็ขอความเป็นธรรมด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ" (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

ภาพนายกรัฐมนตรีหันมามองกล้องหลังการแถลงข่าววันที่ 10 ธ.ค. โดยผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลได้แสดงความไม่พอใจเนื่องจากเห็นว่านายกรัฐมนตรียิ้ม (ที่มา: เนชั่นทีวี)

ล่าสุดนั้น มีผู้แสดงความไม่พอใจการแถลงข่าวที่นายกรัฐมนตรีมีน้ำตาคลอ เนื่องจากลังจากสิ้นสุดการแถลงข่าวนายกรัฐมนตรีได้ยิ้ม โดย โพสต์ทูเดย์ รายงานโดยพาดหัวข่าวว่า "ชาวเน็ตโพสต์คลิปปูยิ้มร่าหลังแถลงน้ำตาคลอ" อยู่ในหมวดข่าวการเมือง ส่วน เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ ได้พาดหัวข่าวว่า "ชาวเน็ตจวกช่อง 9, ช่อง 11 ทาสรัฐบาล เผยคลิปจับผิดวินาที "ปู" ยิ้มร่าหลังแหลบีบน้ำตา" พาดหัวรองว่า " โลกออนไลน์จวกโมเดิร์นไนน์ฯ ช่อง 11 ไม่ทำหน้าที่สื่อ หลังทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์วันวานที่ผ่านมา พร้อมโพสต์คลิปจับผิดวินาที "ปู ยิ่งลักษณ์" เล่นละครบีบน้ำตาขอความเห็นใจ แต่พอแถลงเสร็จกลับสะบัดก้นเดินยิ้มร่า" โดยลงในหมวดข่าวบันเทิง

สำหรับภาพที่ทำให้มีผู้แสดงความไม่พอใจดังกล่าว ผู้สื่อข่าวตรวจสอบพบว่าเป็นภาพหลังการแถลงข่าว โดยนายกรัฐมนตรีซึ่งหันหลังกลับเข้าอาคารของสโมสรทหารบกไปแล้ว ได้หันกลับมามองกล้อง

ทั้งนี้ เมื่อวานนี้ (9 ธ.ค.) สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำผู้ชุมนุม กปปส. ได้เรียกร้องให้ยิ่งลักษณ์ ลาออกจากนายกรัฐมนตรีรักษาการ โดยในการแถลงข่าวยิ่งลักษณ์ตอบว่า ได้ทำตามกรอบรัฐธรรมนูญกำหนด ที่ให้ทำหน้าที่ต่อจนกว่าจะมีรัฐมนตรีชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งวันนี้เป็นวันรัฐธรรมนูญ ขอให้ประชาชนปกป้องพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ รวมถึงไม่ให้มีการก้าวล่วงพระราชอำนาจ และเรียกร้องให้กลุ่มผู้ชุมนุมหยุดเคลื่อนไหว และใช้กลไกของการเลือกตั้ง ส่วนจะลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ รอปรึกษากับทางพรรคอีกครั้ง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การซื้อเสียงเป็นเพียงข้ออ้างไร้สาระที่อันตราย

Posted: 10 Dec 2013 04:50 AM PST

การอ้างว่ารัฐบาลปัจจุบันไม่มีความชอบธรรมเพราะชัยชนะจากการเลือกตั้งของพวกเขามาจากการซื้อเสียงนั้นถูกกู่ร้องก้องตะโกนมาจากเวทีประท้วงซ้ำแล้วซ้ำเล่า ข้ออ้างเช่นนี้ถูกกล่าวซ้ำในบทความหลายชิ้นในบางกอกโพสต์ก่อนหน้านี้ และปรากฏเป็นความเห็นทั่ว ๆ ไปของผู้เขียนจดหมายถึงหนังสือพิมพ์ฉบับนี้

และมันเป็นเรื่องไร้สาระ ไร้สาระและอันตราย

ในช่วงแรกของประวัติศาสตร์การเลือกตั้งไทย ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะยัดเงินให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อสร้างข้อผูกมัด ครั้นเมื่อผู้เลือกตั้งรับน้ำใจจากผู้สมัครแล้ว คงดูเป็นการเสียมารยาทหากไม่ทดแทนน้ำใจงาม ๆ ด้วยการลงคะแนนให้ แต่การแลกเปลี่ยนที่ไร้เดียงสาเช่นนี้ไม่ได้มีอายุยืนยาวนัก หลังจากนั้นไม่นาน ประชาชนย่อมเรียนรู้ว่าพวกเขาสามารถรับเงินจากผู้สมัครทุกคน และยังคงกาบัตรเลือกตั้งของตัวเองได้ตามแต่ใจนึก

อย่างไรก็ดี จนกระทั่งถึง ต้นทศวรรษ 2540 ประชาชนทั่วไปยังไม่ได้สนใจการเลือกตั้งมากนัก ในช่วงเวลานั้น พวกเขาเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกสามถึงสี่ปี โดยเลือกจากรายชื่อบรรดานักธุรกิจร่ำรวยที่ไม่ได้ทำอะไรให้พวกเขามากเท่าไหร่ พวกเขาเห็นค่าคะแนนเสียงของตัวเองเพียงน้อยนิด จึงขายมันเพื่อแลกกับเงิน หรือสาธารณูปการบางอย่าง อาทิ น้ำประปาหรือการตัดถนน การเมืองของการเลือกตั้งไม่ได้เป็นเรื่องตื่นระทึกจนหายใจรดต้นคอหรือทำให้หัวใจตกไปอยู่ใต้ตาตุ่ม ทุก ๆ ครั้งที่มีการเลือกตั้งทั่วไป กระทรวงมหาดไทยต้องออกมารณรงค์โน้มน้าวให้คนไปใช้สิทธิ์ใช้เสียงของตัวเอง

สถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างน่าประทับใจเมื่อช่วงเปลี่ยนสหัสวรรษ ด้วยหลักปฏิบัติใหม่ ๆในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของกลไกการกระจายอำนาจให้กับรัฐบาลท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง ผู้คนเริ่มไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งมากขึ้นและไม่ได้เลือกตั้งเพียง ส.ส. อย่างเดียวทุก ๆ สองสามปี พวกเขาไปใช้สิทธิ์กันถึงปีละสองสามครั้งเพื่อเลือก ส.ว. ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาตำบล และกำนัน ในการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นเหล่านี้ ประชาชนมักจะเลือกผู้สมัครที่ตัวเองรู้จัก และสามารถเห็นผลของการเลือกของพวกเขาได้อย่างชัดเจน การให้การศึกษาถึงเรื่องคุณค่าและอำนาจของคะแนนเสียงด้วยวิธีเช่นนี้มีความรวดเร็วและหยั่งลึก และทักษิณก็แสดงให้ประชาชนเห็นว่าการเลือกตั้งนั้นส่งผลในระดับชาติได้เช่นกัน

กระทรวงมหาดไทยไม่ต้องรณรงค์ให้คนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งอีกต่อไป เนื่องจากคนที่ออกมาใช้สิทธิ์เมื่อสองสามครั้งที่ผ่านมามีจำนวนมากกว่าร้อยละเจ็ดสิบ ถือว่าสูงกว่าประเทศที่ประชาธิปไตยพัฒนาแล้วเสียอีก ระหว่างการประท้วงของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ผู้หญิงคนหนึ่งกล่าวกับผู้วิจัยถึงสาเหตุในการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่ว่า "คนกรุงเทพมีชีวิตความเป็นอยู่ดีแล้ว พวกเขาจึงไม่ต้องการการเลือกตั้งเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง แต่เราต้องการ"

การซื้อเสียงอาจยังไม่ได้หายไปไหน เมื่อถึงเวลาเลือกตั้ง ผู้สมัครบางท่านอาจยังต้องให้เงิน เนื่องจากกลัวจะถูกมองว่าเป็นคน "ขี้งก" หรือ "ไม่มีน้ำใจ" แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นคือเงินนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่ชี้ขาดผลการเลือกตั้งอีกต่อไปแล้ว  

ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2554 แบบแผนของการเลือกตั้งมีความแตกต่างอย่างชัดเจน ในพื้นที่ขนาดใหญ่แต่ละส่วนของประเทศ  เขตการเลือกตั้งที่ติดกัน ส.ส. ที่มาจากพรรคเดียวกันมักชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคอีสาน ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยชนะขาดด้วยเสียงสนับสนุนมากกว่าร้อยละหกสิบ ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนน้อยกว่าร้อยละสิบ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน พรรคเพื่อไทยชนะด้วยคะแนนมากกว่าร้อยละห้าสิบ ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ประมาณร้อยละยี่สิบเท่านั้น

ในภาคใต้ (ยกเว้นบริเวณใต้สุดที่มีชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่) พรรคประชาธิปัตย์ชนะด้วยคะแนนมากกว่าร้อยละหกสิบ ในขณะที่พรรคเพื่อไทยชนะด้วยคะแนนต่ำกว่าร้อยละสิบ

แบบแผนเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้น ถ้าคุณคิดว่าการซื้อเสียงเป็นตัวชี้ขาดผลการเลือกตั้ง ประเด็นคือ พรรคการเมืองจะซื้อเสียงเกินจำนวนคะแนนที่จำเป็นต้องใช้เพื่อชนะการเลือกตั้งขนาดนั้นไปทำไม สมัยที่การซื้อเสียงส่งผลจริง ๆ เมื่อ 30 ปีก่อน แบบแผนของผลการเลือกตั้งนั้นผิดแผกแตกต่างออกไปอย่างมาก สิ่งที่เราเห็นจากแบบแผนของปี 2554 คือผลการเลือกตั้งที่มีฐานมาจากสำนึกร่วมกันของคนจำนวนมาก

ข้ออ้างผิด ๆ เกี่ยวกับการซื้อเสียงในปัจจุบันเป็นส่วนสำคัญของการรณรงค์เพื่อทำให้ประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งอ่อนแอลง ปัญหาที่แท้จริงคือประชาชนที่เข้าใจคุณค่าของคะแนนเสียงกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ และกำลังใช้มันเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขาเอง  

 

 


หมายเหตุ: แปลมาจาก "Vote-buying claims nothing but dangerous nonsense"

หมายเหตุ:

ศาสตราจารย์ ดร. ผาสุก พงไพจิตร เป็น ศาสตราจารย์กิตติคุณของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Christ Baker เป็นนักประวัติศาสตร์ เป็นนักวิชาการที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพ และเป็นผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการเมืองและเศรษฐกิจไทยร่วมกับศาสตราจารย์ ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร

ภาคิน นิมมานนรวงศ์ กำลังศึกษาปริญญาโทสาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ธรรมชาติ กรีอักษร กำลังศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ถาม-ตอบ: นักวิชาการจะเอาคอรัปชั่น? เลือกตั้งกี่ครั้งก็แพ้ จะให้ทำอย่างไร? ฯลฯ

Posted: 10 Dec 2013 04:49 AM PST

 

10 ธ.ค.56 ภายหลังการแถลงข่าวและการออกแถลงการณ์ของสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) นำโดยนักวิชาการกว่าร้อยคน มีการตั้งคำถามและตอบคำถามที่น่าสนใจ สรุปได้ดังนี้  

(คลิปวีดิโอ สามารติดตามชมได้เร็วๆ นี้) 

ประวิตร โรจนพฤกษ์ จาก The Nation ตั้งคำถามว่า ถ้าผู้ชุมนุมฝั่งคุณสุเทพถามว่าทำไมไม่พูดเรื่อง abuse of power หรือ คอรัปชั่นเลย จะตอบว่าอย่างไร, การแถลงในวันนี้สื่อถึงคนกลุ่มไหนในสังคมเป็นพิเศษไหม ยังคาดหวังว่าผู้ชุมนุมฝ่ายคุณสุเทพจะยังฟังไหม ในสถานการณ์ทีเกลียดชังกันอย่างมากจนไม่มี trust หลงเหลือ, ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมจะเกิดอะไรขึ้น, มั่นใจแล้วหรือว่าทหารจะไม่เข้ามาแทรกแซง เพราะเอาเข้าจริงการที่ทหารเป็นคนกลางในการเจรจาระหว่างคุณยิ่งลักษณ์และคุณสุเทพ ก็ชัดเจนว่าทหารมีบทบาทมากกว่าอยู่ในกองทัพ ฯลฯ

เกษียร เตชะพีระ

ประเด็นที่ถามว่า ทำไมที่ประชุมนี้ไม่พูดถึงประเด็น abuse of power หรือ corruption พูดง่ายๆ อันนี้เป็นปัญหา tyranny of the majority ปัญหานี้มีอยู่จริงและผมคิดว่ามีคนไทยจำนวนมากโดยเฉพาะที่มาร่วมชุมนุมคิดว่านี่เป็นปัญหาหลักของเขา และการที่ออกมาเดินขบวนแทบจะยึดกรุงเทพฯ ทั้งหมด และไม่คิดว่าการเลือกตั้งเป็นคำตอบของเขาด้วยนั้นเพราะเขารู้สึกว่าพวกเขาไปเลือกตั้งทีไรแพ้การเลือกตั้งทุกที เพราะเขาเป็นเสียงข้างน้อย (ผู้ฟังปรบมือ) ที่เลือกตั้งทุกครั้งแล้วแพ้เลือกตั้ง เท่ากับไปพิสูจน์ว่าเขาไม่มีอำนาจ เขารู้สึกว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เลยในสิ่งที่เป็นปัญหา

ปัญหานั้นมีอยู่จริง ทั้งกระบวนการได้มาซึ่งอำนาจและกระบวนการใช้อำนาจ ปัญหาหลักใหญ่ของพรรคการเมืองไทยคือ "อำนาจทุน" อยู่เหนือ "อำนาจมวลชน" และอำนาจสมาชิกพรรค และไม่เคยมีกลไกกระบวนการที่จำกัดอำนาจทุนที่ครอบงำพรรคการเมือง ไม่มีใครหยิบยกเรื่องนี้ เรื่องนี้เป็นปัญหาประชาธิปไตยที่อื่นด้วย และในที่สุดเราจะต้องติดตั้งกลไกต่างๆ ที่จะจำกัดอำนาจนายเงินนายทุนลง ไม่ให้ไปซื้อพรรคหรือคุมพรรคทั้งหมด กระบวนการนี้ไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน และที่สำคัญกระบวนการนี้จะเกิดขึ้นได้และมั่นคงได้ต้องช่วยกันทำในกรอบประชาธิปไตย ไม่ใช่หวังว่าจะมีเทวดาที่ไหนลงมาติดปืนยึดอำนาจรัฐ สร้างมันขึ้น มันไม่มี(ผู้ฟังปรบมือ)

รวมทั้งปัญหาทุจริตคอรัปชั่นต่างๆ ผมเข้าใจว่าหลายคนอยากให้ปัญหาพวกนี้ที่มันอันตราย มันเลวร้ายหมดไปในเร็ววัน ไม่มีประเทศไหนในโลกไม่มีปัญหาคอรัปชั่น ต่อให้เป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่สุดก็ตาม แต่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยใช้ประชาธิปไตยจำกัดคอรัปชั่นลง (ผู้ฟังปรบมือ) ไม่ใช่โดยการทำลายประชาธิปไตยเพื่อจะหยุดคอรัปชั่นบางอย่าง แล้วปล่อยให้คอรัปชั่นบางอย่างเกิดขึ้นโดยที่คุณไม่มีเครื่องมือตรวจสอบ

คุณสุเทพต้องการหยุดคอรัปชั่นของทักษิณกับพรรคพวก ถ้ามี คุณสุเทพต้องการหยุดคอรัปชั่นของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล ถ้ามี คำถามคือ โดยผ่านการมอบอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ให้คุณสุเทพนั่นหรือ (ผู้ฟังปรบมือโห่ร้อง) แล้วถ้าคุณสุเทพคอรัปชั่นล่ะ แล้วถ้าคุณสุเทพกับพรรคประชาธิปัตย์คอรัปชั่นล่ะ แล้วถ้าคุณสุเทพ พรรคประชาธิปัตย์กับกอทัพคอรัปชั่นล่ะ ประชาชนไทยจะหยิบเครื่องมืออะไรไปตรวจสอบคุณสุเทพ เพราะคุณสุเทพรวบอำนาจไว้หมดแล้ว(เสียงปรบมือ)

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องสำเร็จความอยากทางอำนาจได้ในเวลาอันสั้น เป็นเรื่องที่คนไทยต้องช่วยกันทำ แล้วอย่าคิดว่าคนไทยนอกกรุงเทพออกไปเขาไม่ได้แบ่งแยกระหว่างนักการเมืองดีเลว เขาไม่ได้แบ่งแยกระหว่างคอรัปชั่นไม่คอรัปชั่น เขาแบ่งแยกครับ ผมมีนักศึกษาเพิ่งไปทำวิทยานิพนธ์สัมภาษณ์ชาวบ้านในเขตภาคอีสานมา เขารู้ว่านักการเมืองคนไหนเลวหรือดี เขารู้ว่านักการเมืองคนไหนคอรัปชั่นไม่คอรัปชั่น เพียงแต่เขาไม่อยากไม่เหมือนเรา และถ้าเขาคิดว่าถ้านักการเมืองคนนี้เลวและคอรัปชั่น เขาไม่เลือก เพียงแต่เขาคิดไม่เหมือนเรา(เสียงปรบมือ)

การไม่เริ่มบทสนทนา ไม่ยอมให้เขามีสิทธิมีเสียงมีปากในการคุย แล้วยัดคำนิยามเรื่องดีเลว คอรัปชั่นไม่คอรัปชั่นของคนเมืองใส่เข้าไปในชนบท ไม่เวิร์ค เขาไม่รับ (เสียงปรบมือโห่ร้อง)

เขาคิดได้ ไม่น้อยกว่าเรา เพียงแต่เขาคิดไม่เหมือนเรา การที่เขาคิดไม่เหมือนกับเรา ไม่ได้แปลว่าเขามีความเป็นคนหรือเป็นคนไทยน้อยกว่าเรา ถ้าอันนี้เราไม่รับ ไม่มีทางที่บ้านเมืองจะออกอย่างสันติได้(เสียงปรบมือ)

ยังมีกลไกอะไรในระบบไหมที่จะไปหยุดการ abuse of power ของเสียงข้างมาก คือผมยอมรับว่ากลไกเหล่านี้ด้อยพัฒนา และเท่าที่มีอยู่ตอนนี้ก็สร้างขึ้นโดยคณะรัฐประหาร ที่น่าเศร้าก็คือเพราะมันมีที่มาแบบนั้น ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. มันจึงด่างพร้อยและคนไม่เชื่อถือ คำถามคือที่มาก็มีปัญหาว่ามาจากอำนาจเสียงข้างมาก มาจากประชาชนเลือกหรือเปล่า

ดังนั้นเราต้องการไหมกลไกที่จะหยุดทรราชย์ของเสียงข้างมาก หยุดการฉวยใช้อำนาจ เราต้องการ แต่เราต้องสร้างมันขึ้นมาเอง แล้วเชื่อผมเราทำได้ (เสียงปรบมือโห่ร้อง) จำไม่ได้หรือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เหมาเข่ง ออกมาจากสภาอย่างน่าเกลียดที่สุด มวลชน นปช. ค้าน บรรดานักวิชาการจำนวนมากซึ่งพยายามจะปกป้งประชาธิปไตยค้าน พรรครัฐบาลไม่ฟังผ่านจากสภาออกมา แต่พอมวลชนออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้ มันหยุดไหม เสียงข้างมากในสภากล้าไหมล่ะ (เสียงปรบมือโห่ร้อง) เราสามารถอาศัยพื้นที่ในระบอบประชาธิปไตย สามารถอาศัยกลไกที่เรามีในระบอบหยุดมันได้ เพียงแต่ที่น่าเสียใจคือมันเหนื่อยใช่ไหม เราต้องไปชุมนุมกว่าจะหยุดมันได้ ทำไมเราไม่คิดกลไกอื่นๆ ขึ้นมาเพื่อหยุดมัน เช่น ให้มีประชามติแทน ถ้ากฏหมายเฮงซวยแบบนี้ออกมาไม่ต้องไปเดินขบวน ไม่ต้องไปยึดอำนาจ ไม่ต้องไปยึดสถานที่ราชการ ลงประชามติเลยว่ากฏหมายเฮงซวยแบบนี้ กูไม่เอา (เสียงปรบมือโห่ร้อง) บ้านเมืองไม่เสียหาย ไม่ต้องเสี่ยงกับอนาธิปไตย ไม่ต้องมีใครตายฟรีแม้แต่คนเดียว (เสียงปรบมือ) ถ้าเราเดินเส้นทางผิดจะมีคนตายฟรีไปเรื่อยๆ และไม่แก้ปัญหา มันน่าเศร้าที่สุดตรงนี้

 

ประจักษ์ ก้องกีรติ

พูดต่อจากอาจารย์เกษียรไม่รู้จะพูดต่ออย่างไร? (ผู้ฟังหัวเราะ ปรบมือ) ผมคิดว่าเราพูดกับผู้ชุมนุมด้วยและพูดกับประชาชนทั้งประเทศ เพราะผมคิดว่า มันไม่ได้หมายความว่าประชาชนที่ไปร่วมชุมนุมกับคุณสุเทพทั้งหมดจะเห็นด้วยกับข้อเสนอของคุณสุเทพทั้งหมด เรายังมีความเชื่อแบบนี้

เราสื่อสารกับคนที่ไปร่วมชุมนุมด้วยเพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่า ท้ายสุดแล้วข้อเสนอใดๆ ก็ตามที่เสนอออกมามันไม่มีทางที่จะทำขึ้นได้ ตราบเท่าที่ไม่ได้รับความเห็นชอบและยินยอมพร้อมใจจากประชาชนทั้งประเทศ คุณอาจตั้งขึ้นได้ ตั้งเสร็จแล้วคุณจะอยู่ได้ประมาณ 1-2 สัปดาห์ แล้วจะมีประชาชนจำนวนมากที่เขาไม่ได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งที่คุณเสนอขึ้น เขาก็จะออกไปโค่นล้มและล้มล้างสิ่งที่คุณสร้างอยู่ดี เพราะฉะนั้นเพื่อทำให้ข้อเสนอนี้เป็นไปได้ มันก็ต้องดันกลับมาให้สังคมได้ถกเถียงกัน

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าคนกลุ่มใหญ่ที่สุดที่เราสื่อสารด้วยก็คือกลุ่มคนที่เป็นประชาชนทั้งสังคม ซึ่งเรายังเชื่อว่าสังคมไทยมีสติ ประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมไทยยังมีสติอยู่และพร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอที่เป็นทางออกที่ยังอยู่ในกติกาที่รักษาประชาธิปไตยไว้ และไม่ต้องให้มีใครมาตายฟรีอย่างที่อาจารย์เกษียรเสนออีก (ผู้ฟังปรบมือ)

 

วรเจตน์  ภาคีรัตน์

ขอพูดประเด็นคอร์รัปชั่นนิดหนึ่ง อาจารย์เกษียรตอบประเด็นนี้ไปก็สมบูรณ์แล้ว แต่คือผมสงสัยว่า เรายังมีประสบการณ์หาคนกลางเข้ามาไม่พออีกหรือประเทศนี้ (ผู้ฟังหัวเราะปรบมือ) เราลืมแล้วหรือว่าก่อน 19 ก.ย.49 เกิดอะไรขึ้น  แล้วข้ออ้างที่ทหารออกมาทำรัฐประหารคืออะไร แล้วหลังรัฐประหารเสร็จแล้วเกิดอะไรขึ้น หลังจากนั้นมันดีขึ้นไหม แล้วงบประมาณลับที่ใช้ไปในการทำรัฐประหารทุกวันนี้มีใครรู้ไหม แล้วจะมีโอกาสได้รู้ไหม เวลาที่เราพูดเรื่องคอร์รัปชั่น มันเป็นปัญหา ไม่มีใครบอกว่าคอร์รัปชั่นเป็นสิ่งที่ดี ทุกคนก็ต่อต้านทั้งนั้น เพียงแต่ว่าวิธีการจัดการกับปัญหานี้คุณทำอย่างไร คุณคิดว่าออกมาเดินแบบนี้ ตั้งสภาประชาชนขึ้นมาเสร็จปุ๊บ ประเทศจะใสสะอาดจากคอร์รัปชั่นกระนั้นหรือ ถ้ามันทำอย่างนั้นได้ ผมคิดว่าเขาทำกันทั้งโลกแล้วครับ (ผู้ฟังปรบมือ) ไม่มีใครใช้กลไกประชาธิปไตยหรือ ที่อดทน รอคอยให้กระบวนการตรวจสอบมันเดิน บางประเทศใช้วิธีนี้ด้วยเวลาเป็น 10 ปี 20 ปี เอาตัวคนที่ทุจริตคอร์รัปชั่นมาลงโทษ มันมีกลไกของมันเอง

ผมจะไม่มีปัญหาเลยถ้าเกิดมีข้อเรียกร้อง เช่น เรียกร้องให้ปฏิรูปโครงสร้างของนักการเมืองให้มีความเป็นประชาธิปไตย ไม่ถูกครอบงำโดยใครคนใดคนหนึ่ง การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ประชาชนต้องมีส่วนในการกำหนดผู้สมัครรับเลือกตั้ง อันนี้คือสิ่งที่เราต้องทำให้มันเกิดขึ้น และนี่คือจุดที่ผมว่าไม่ต่างกัน แต่วิธีการที่ทำอยู่มันไม่ทำให้เกิดผลสำเร็จหรอก คุณกำลังเอาอำนาจไปมอบให้ใครก็ไม่รู้ และที่สำคัญ ไม่รู้ด้วยว่าในใจคุณสุเทพคิดอะไรอยู่ ผมนั่งคิดตลอดเวลาว่าเขาคิดอะไรของเขาอยู่ เขาต้องการให้โฉมหน้าประเทศเป็นอย่างไรกันแน่ สมมติว่าการกระทำของเขาสำเร็จ เขาจะเปลี่ยนอะไรบ้าง จริงๆ ผมคิดว่าผมมีคำตอบอยู่ในใจเหมือนกัน แต่ผมไม่แน่ใจในคำตอบนี้และผมว่าคำตอบนี้บางทีอาจจะพูดได้ไม่หมด ผมคิดว่ามีบางอย่างอยู่ในใจซึ่งไม่ใช่อย่างที่เขาบอกว่าเป็นเรื่องคอร์รัปชั่น มันมีมากกว่านั้นในสภาวการณ์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองขนาดใหญ่ของประเทศนี้ มันมีมากไปกว่านั้นอย่างแน่นอน

ประเด็นที่ถามว่า ถ้าเกิดไปเลือกตั้งแล้วมีการซื้อเสียง ความจริงคุณประวิตรอาจจะลืมถามไปอีกคำถามหนึ่ง เติมให้เลยนะ คือ มีคนจำนวนหนึ่งบอกว่าไม่ไปเลือกตั้ง เพราะจะมีการโกงการเลือกตั้งอีก ได้รัฐบาลโกง มาโกงทั้งโคตรอีก คำถามคือ ประสบการณ์การโกงของแต่ละคนเป็นตัวบ่งชี้ทั้งหมดหรือว่า ประเทศนี้คนทั้งประเทศถูกซื้อเสียงแล้ว ผมว่าถ้าคนทั้งประเทศนี้ถูกซื้อเสียงแล้ว ระดับทุนของอีกฝ่ายหนึ่งมันต้องมากพอจะซื้อได้มากกว่าอย่างแน่ๆ  แต่เพราะมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นไงครับ แล้วไม่คิดบ้างหรือว่าประชาชนยืนยันเจตจำนงซ้ำกี่ครั้ง ปี 44 ปี 48 ปี 49 ปี 50 ปี 54 มันซ้ำจนชัดเจนแล้วว่าเขาต้องการอะไร ปัญหาของบ้านเราตอนนี้คือการไม่เคารพเจตจำนงของประชาชน (ผู้ฟังปรบมือ) เราไม่รู้จะเอาอะไรมาพูดเรื่องการโกงการเลือกตั้ง ปี 49 กกต.ไม่เป็นกลาง เอากลไกทางกฎหมายไปจัดการ กกต.แล้วไม่ให้ประกันตัวและออกจากตำแหน่ง จนจะจัดการเลือกตั้งอีกทีก็รู้ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นแบบเดิม จึงรัฐประหารกัน เที่ยวนี้จะเอาอีก คาดหมายว่าผลการเลือกตั้งจะไม่เป็นอย่างที่ตัวเองต้องการ ใช้วิธีการต่างๆ อีก

เป้าหมายที่อยากจะสื่อไปชัดๆ อีกกลุ่มคือ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) รวมทั้งแวดวงนักวิชาการทั้งหลาย ถามว่ามองไม่ออกหรือว่าถ้าหากมีสภาประชาชน คนเหล่านี้จะไปนั่งเป็นสมาชิกสภาไหม เป็นกันมากี่ครั้งแล้ว (ผู้ฟังปรบมือ) ผมว่ามันพอได้แล้ว คุณเลิกที่จะบิดตัวหลักวิชาต่างๆ เพื่อสนองต่อตำแหน่งที่คุณจะได้เถอะ

เขาบอกว่าจะสร้างคนกลางขึ้นมา มันไม่มีหรอกคนกลางตอนนี้ มันไม่มีผู้วิเศษที่จะแก้ปัญหานี้ได้ (ผู้ฟังปรบมือ) เราก็ต้องอดทนกันไปแบบนี้แหละ ส่วนคำถามที่ว่าถ้าประชาธิปัตย์ไม่ลงเรื่องตั้ง ถ้าระบบเดินไปจนถึงที่สุดแล้วไม่ลงเลือกตั้งก็เป็นเรื่องของประชาธิปัตย์ (ปรบมือ) ผมคิดว่าจะมีพรรคการเมืองใหม่ๆ มาเป็นทางเลือกให้ประชาชนได้เลือก ถ้าคุณไม่พร้อมจะต่อสู้ในระบอบประชาธิปไตยแบบนี้ ไม่อดทนที่จะเปลี่ยนแปลงให้คุณเป็นเสียงข้างมาก จูงใจคนด้วยนโยบายต่างๆ จูงใจคนด้วยหลักการที่มันถูกต้อง คุณก็ไม่ต้องลงเลือกตั้ง คุณก็หยุดไปปฏิรูปพรรคของคนเสียก่อน (ผู้ฟังปรบมือ) เมื่อมีพรรคการเมืองพรรคหนึ่งไม่ลงเลือกตั้ง คุณทำลายกระบวนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นแต่พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่อยากให้ประชาธิปัตย์ลงเลือกตั้งนะ อยากมากๆ เลย อยากเห็นจำนวนของมวลมหาประชาชน (ผู้ฟังปรบมือ)

ส่วนเรื่องทหาร พอดีอาจารย์ธเนศ (อาภรณ์สุวรรณ) ชิงขอบคุณทหารไป ผมว่าสถานกาณณ์เวลานี้เป็นสถานการณ์ที่ไว้วางใจไม่ได้ เรามีประสบการณ์จากปี 49 ตอนนี้มีความพยายามจะให้เกิดเหตุการณ์อย่างนั้นอีก แต่การเกิดขึ้นครั้งนี้ถ้ามันสำเร็จมันจะเปลี่ยนอย่างมาก อย่างที่เราคิดไม่ถึง มันจะไม่เป็นแค่การเปลี่ยนรัฐบาลอย่างปี 49 ถ้าอำนาจหลุดลอยจากมือประชาชนไปเมื่อไร ผมว่าเที่ยวนี้จะได้คืนยาก และการจะได้คืนมาอาจต้องแลกด้วยราคามหาศาลมากๆ ในความเห็นผม ฉะนั้น เราขอให้ทหารเป็นทหาร เกียรติของทหารคือ การเป็นทหารอาชีพ เราเคารพทหารแบบนี้ ทหารปฏิบัติหน้าที่ไป กลไกทางการเมืองยังมีอยู่ แล้วเดินไปอย่างที่เราอธิบาย มันจะไม่มีทางไปสู่ทางตัน พ.ร.ฎ.รักษาการยังอยู่ อีกแค่ 40-50 วันก็จะมีการเลือกตั้ง จะเกิดการแข่งขันกัน ตอนนี้เสนอนโยบายเลย ถ้าพรรคประชาธิปัตย์อยากให้มีสภาประชาชนคุณรณรงค์ทันทีเลยจะแก้รัฐธรรมนูญยังไง สภาประชาชนจะมาจากไหน มีบทบาทหน้าที่อย่างไร ให้คนทั้งประเทศร่วมตัดสินใจว่าหลังเลือกตั้งแล้วเราจะมาแก้รัฐธรรมนูญ ขอให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นวาระร่วมกันหลังจากมีการเลือกตั้งแล้ว เกิดกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีการปฏิรูปในทุกๆ ส่วนอย่างแท้จริง และนั่นคือทางออกทางเดียวของประเทศไทย ไม่มีทางลัด ทางลัดนั้นคือลัดลงเหว (ผู้ฟังปรบมือ)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยิ่งลักษณ์เธอ...ร้องไห้ทำไม???

Posted: 10 Dec 2013 04:37 AM PST

เธอแสดงบทผู้หญิง ในพื้นที่ของผู้ชาย คือ พื้นที่แห่งช้างเท้าหน้า จึงต้องทนกับกระแสอคติในสังคมที่นิยมให้ชายเป็นใหญ่ ตั้งแต่ครัวเรือนจนถึงระดับชาติ การอดทนในครั้งนี้ของเธอ คือ ภาวะผู้นำอย่างหนึ่งที่สำคัญ ความอดทนของเธอในครั้งนี้ คือ บรรทัดฐานใหม่ของสังคม

"เราก็เลือกเป็นผู้ที่ถูกบอกว่า รัฐบาลอ่อนแอ ..... ดีกว่าที่เราจะมาบอกว่าเรากำหนดDeath line เพื่อที่จะขอคืนพื้นที่ และสุดท้ายผลออกมาคือพี่น้องประชาชนเจ็บปวด และก็ดิฉันก็เชื่อว่าภาพฝันร้ายของความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในอดีต ก็คงเป็นเหตุการณ์ที่จะหลอนประชาชนคนไทยไปอีกนาน เราไม่อยากเห็นเหตุการณ์นั้น"

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกล่าว แถลงข่าวและตอบคำถามสื่อ 30 พฤศจิกายน 2556

คำกล่าวนี้สะท้อนภาพภาวะผู้นำที่มาจาก "ฐานคิด" ของผู้นำ ว่าเธอ "ต้องการแบบใด" โดย "ฐานคิด" นี้ มีส่วนประกอบของ Plot เรื่องในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

เธอมองว่าจะใช้ความรุนแรงแบบในอดีตไม่สามารถกระทำได้อีก  และต้องการลดการสูญเสียและยุติการสูญเสียที่เกิดขึ้น เพื่อรักษาคะแนนนิยมของตนไว้ และเพื่อเรียกกระแสนิยมกลุ่มไทยเฉย ไทยอดทน ที่ล้วนไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงและเรียกร้องสังคมที่ปกติสุขโดยไว คนกลุ่มนี้ คือ ผู้ชี้ความชอบธรรมให้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ฝ่ายใดได้รับความชอบธรรมจากคนกลุ่มนี้ก็จะมีพลังมากขึ้น เพราะ คือกลุ่มที่มีจำนวนมากในสังคม

แต่สิ่งที่สำคัญกว่าความนิยม ณ ห้วงเวลานี้ คือ การสร้างบรรทัดฐานใหม่ในสังคม การแสดงออกหรือการมีส่วนร่วมทางการเมืองรัฐต้องคุ้มครองและการสูญเสียชีวิตในการร่วมกิจกรรมทางการเมืองไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีไม่ว่าฝ่ายใดก็ตาม

การหลีกหนีการเผชิญหน้าหรือการปะทะที่จะนำมาสู่การสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้ จึงนำมาสู่การแถลงยุบสภา โดยเธอได้กล่าวว่า "การคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินด้วยการยุบสภาเเละเลือกตั้งใหม่ให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยเเละเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ประชาชนต้องตัดสินว่า คนส่วนใหญ่ต้องการเเนวทางใดเเละให้ใครมาบริหารประเทศตามเเนวทางนั้น ขอเชิญทุกกลุ่มเเละทุกพรรคใช้เวทีเลือกตั้งนำเสนอทางเลือกให้คนไทย" นาวสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวแถลงยุบสภา 9 ธันวาคม 2556

การเลือกตั้งจึงเป็นอาวุธที่มีอานุภาพมากกว่าปืนหรืออุปกรณ์ในการสลายการชุมนุมที่จะยุติความขัดแย้ง การเลือกตั้งเป็นการเปลี่ยนถ่ายทางอำนาจที่เรียบง่ายที่สุด ในการลดการเผชิญหน้าทางการเมือง ในการให้ประชาชนทั้งประเทศได้มาร่วมตัดสินใจร่วมกันอีกครั้ง เป็นการนำเอาผลงานมาแลกคะแนนเสียง ทั้งผลงานของฝ่ายค้านและผลงานของฝ่ายรัฐบาล

แต่เรื่องราวที่เข้ามายังตัวเธอยังไม่จบ ฝ่ายผู้ชุมนุมกลับหลีกหนีการเลือกตั้ง เพราะ มีความเชื่อที่ว่าตนจะได้รับความพ่ายแพ้ แสดงให้เห็นว่าพรรคฝ่ายค้านไม่มีผลงานในการมาแลกคะแนนเสียง แต่ก็ได้นำคำว่า "ระบอบทักษิณ" มาเป็นเครื่องมือในการหลีกหนีการเลือกตั้ง ผลจากกลุ่มคนที่มีมากที่สุดของประเทศ คือ กลุ่มคนที่เรียกกันว่า รากหญ้า และ ชนชั้นกลางใหม่ คนกลุ่มนี้เติบโตมาด้วยนโยบายของพี่ชายเธอ เขามีความรู้สึกว่าได้รับโอกาสจากพี่ชายของเธอ เขาจึงครองเสียงข้างมากของประเทศไว้ได้จนเธอลงเลือกตั้งในปี พ.ศ.2554 ก็ได้รับชัยชนะ พรรคการเมืองของเขาชนะการเลือกตั้งมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เว้นช่วงการขึ้นมาของรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ในปี พ.ศ.2551

กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาเรียกร้อง สภาประชาชน ไม่เอาเลือกตั้ง ไม่เอายุบสภา เพราะ กระบวนการประชาธิปไตยแบบสากลนี้มันทำให้เขาพ่ายแพ้แน่นอน ด้วยจำนวนฝั่งผู้สนับสนุนรัฐบาลที่เขามีเยอะกว่า ผ่าน ระบบ 1 คน 1 เสียงจึงเป็นเครื่องมือที่ทรงอำนาจของคนกลุ่มสนับสนุนรัฐบาล ฝ่ายที่ต้องออกแรงในทางการเมืองคือกลุ่มสนับสนุนพรรคฝ่ายค้านที่ต้องออกมาริมถนน แต่ผู้ที่เติบโตจากนโยบายของพี่ชายเธอ ได้รับความสบายขึ้น รอเดินเข้าหาระบบ เช่น คูหาเลือกตั้ง เป็นต้น ไม่ต้องเหนื่อยริมถนนเช่นในอดีต การปะทะกันด้านจำนวนจึงเกิดขึ้น สงครามตัวเลขจึงเกิดขึ้น ว่าใครมีมากกว่ากัน

ประชาธิปไตยจึงต้องแลกมาด้วยความอดทนของทุกฝ่ายเพราะตัวเลขขึ้นลงตามเวลาและเหตุการณ์ ภาพความอดทนที่ประชาชนคาดหวังจากผู้นำ เป็นภาพความอดทนที่อยู่ในภาพสังคมที่ชายเป็นใหญ่ ที่กล้าหาญท้าชนกับทุกสิ่ง จึงเป็นที่มาของการกล่าวจบท้ายการแถลงข่าวที่ว่า

"ก็วันนี้ยังอยู่ที่นี่ ยังยืนอยู่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นหัวใจหลัก แล้ววันนี้ดิฉันก็มีโอกาสมาให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ทำงานเหน็ดเหนื่อย ในการดูแลความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน ดิฉันเองไม่หนีไปไหนหรอกค่ะ ถึงแม้ดิฉันเป็นผู้หญิง ดิฉันก็กล้าเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ต่างๆ"

นาวสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกล่าว แถลงข่าวและตอบคำถามสื่อ 30 พฤศจิกายน 2556

และด้วยความเป็นผู้หญิงของเธอ เธอได้แสดงความเป็นหญิงออกมาเสียมากเกินไปในสังคมชายเป็นใหญ่ คือ การร้องไห้ เธอจึงถูกมองว่าไม่มีภาวะผู้นำ การที่เธอ "ร้องไห้" ไม่ใช่เรื่องราวใหญ่โต ถ้าเรามองในมุมที่เธอ "มนุษย์คนหนึ่ง" แต่ด้วยความคาดหวังของประชาชน แต่การเป็นผู้นำ การร้องไห้ก็จะไม่สู้ดีนัก การร้องไห้จึงแสดงถึงความอ่อนแอหรือยอม ทั้งที่การร้องไห้มันตีความหมายได้มาก ดีใจก็ได้ เสียใจก็ได้ ยอมถอยก็ได้ ลุกขึ้นสู้ก็ได้ เป็นต้น  แต่การร้องไห้   ก็ไม่สำคัญเท่า "การแสดงความรับผิดชอบ" ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมันอยู่ที่คุณร้องไห้ "ด้วยเหตุผลอะไร"  ร้องไห้เพราะไม่อยากทำให้เสียหาย หรือ ร้องไห้เพราะลงมือทำให้เสียหายไปแล้ว

มิใช่เพียงการร้องไห้เพียงอย่างเดียวที่ถูกนำมาวิพากษ์วิจารณ์ การมองที่เรื่องความสวยและเรื่องพฤติกรรมทางเพศ เช่น กรณีการขึ้นโรงแรมโฟร์ซีซัน มีการตีความไปถึงความไม่รักนวลสงวนตัว ศีลธรรมอันดีหรือรสนิยมทางเพศ ตามมายาคติทางเพศ ซึ่งผู้ชายมักจะไม่ถูกตั้งคำถามเหล่านี้  , กรณีการกล่าวสุนทรพจน์ถึงเรื่องสภาวะการเมืองไทย ณ ประเทศมองโกเลีย ก็สร้างความไม่พอใจให้กับขั้วตรงข้ามทางการเมือง โดยคุณชัย ราชวัตร ได้กล่าวลงเฟซบุคว่า "โปรดเข้าใจ กะหรี่ไม่ใช่หญิงคนชั่ว กะหรี่แค่เร่ขายตัว แต่หญิงชั่วเที่ยวเร่ขายชาติ" , กรณีการพูดผิดๆถูกๆของเธอเมื่อให้สัมภาษณ์ทางสื่อมวลชน , กรณีการต้อนรับประธานาธิบดีบารัค โอมาบา ที่มีผู้วิจารณ์ว่ากำลังส่งสายตัวยั่วยวนหรือมีพฤติกรรมยั่วยวนฝั่งตรงข้าม , กรณีการกล่าวว่าเป็น "อีโง่" ของหัวหน้าฝ่ายค้าน และสื่อมักจะวิจารณ์เธอว่า "เอาแต่แต่งตัวสวย"เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ลดทอนความเป็นมนุษย์เป็นอย่างมาก มันแสดงให้เห็นถึงทางตันของฝ่ายต่อต้านที่แทบจะหาเหตุผลมาโต้แย้งมิได้

จึงเป็นคำกล่าวของเธอที่ว่า

"ดิฉันไม่ใช่ไม่มีความรู้สึก ดิฉันได้ฟังมาตลอดกับการร้องขอกับผู้ชุมนุม การที่กล่าวถึงทั้งตระกูลนั้น ดิฉันก็ถือว่าเราเป็นคนไทยด้วยกัน จะถึงขนาดไม่ให้เหยียบอยู่ในแผ่นดินไทยเลยหรือ เราจะเป็นกันอย่างนี้หรือ ดิฉันถอยไม่รู้ว่าจะถอยอย่างไรแล้ว ก็ขอความเป็นธรรมด้วยค่ะ"

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวแถลงแถลงข่าวและตอบคำถามสื่อ 10 ธันวาคม 2556

เธอแสดงบทผู้หญิง ในพื้นที่ของผู้ชาย คือ พื้นที่แห่งช้างเท้าหน้า จึงต้องทนกับกระแสอคติในสังคมที่นิยมให้ชายเป็นใหญ่ ตั้งแต่ครัวเรือนจนถึงระดับชาติ การอดทนในครั้งนี้ของเธอ คือ ภาวะผู้นำอย่างหนึ่งที่สำคัญ ความอดทนของเธอในครั้งนี้ คือ บรรทัดฐานใหม่ของสังคม

ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งที่สำคัญในสังคมประชาธิปไตยที่พยายามให้มนุษย์เสมอภาคกัน แต่วันนี้พื้นที่ทางการเมืองมีแต่การทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นสภาวะการเมืองทุ่มหมดหน้าตัก ประชาชนทั้งประเทศจะตัดสินตัวเธอเอง และประชาชนทั้งประเทศจะตัดสินอนาคตประเทศไทยร่วมกัน

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหรัฐฯ แถลง หนุน 'กระบวนประชาธิปไตย' ในไทย เดินหน้าเลือกตั้ง

Posted: 10 Dec 2013 03:29 AM PST

10 ธ.ค.2556 วานนี้ เว็บไซต์สถานทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทย เผยแพร่แถลงการณ์ของ เจนนิเฟอร์ ปซากี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ต่อกรณีความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทย โดยระบุว่า สหรัฐอเมริกาสนับสนุนสถาบันประชาธิปไตยและกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยในประเทศไทย ในฐานะเพื่อนมิตรที่ยาวนาน การที่นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง เป็นการก้าวไปข้างหน้า ท่ามกลางความขัดแย้งและการชุมนุมทางการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ โดยสหรัฐฯ ขอสนับสนุนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองโดยสันติและเป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย เพื่อสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของประชาชนไทยและเพื่อทำให้นิติรัฐของไทยเข้มแข็ง 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สิทธิแห่งการลุกขึ้นสู้ : ก้าวใหม่ของการเมืองภาคประชาชน

Posted: 10 Dec 2013 03:23 AM PST

จงบดขยี้วาทกรรมทุนนิยมสามานย์   "ยุบสภาคืนอำนาจประชาชน" ยืนหยัดสู่การลุกขึ้นสู้ปฏิวัติ"
   "สถาปนาอำนาจอธิปไตยประชาชน"  หรือ  "ประชาภิวัฒน์"   อันมีเป้าหมายใหญ่ปฏิรูปประเทศไทย !
….การเมืองภาคประชาชนจงเปล่งพลัง.....
....ประชาชนจักต้องกำหนดอนาคตตนเอง....
(วันมหาประชาปิติ   9 ธันวาคม 2556)


ฉากทัศน์แห่งสถานการณ์ลุกขึ้นสู้ของมวลมหาประชาชน ( mass  political  uprising scenario) ได้ยกระดับ
ขึ้นสู่การยึดกุมอำนาจรัฐ  แล้ว ด้วยคำแถลงการณ์ของนายสุเทพ  เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการ ประสานงานเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย สู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (หรือ กปปส.) โดยมีจุดยืนแจ่มชัด"ประชาภิวัฒน์"หรือ การปฏิวัติโดยภาคประชาชนอย่างถึงที่สุดและยึดกุมเป้าหมาย"ปฏิรูปประเทศไทย "พิทักษ์ดอกผลของการลุกขึ้นสู้ด้วยกลไกอำนาจรัฐใหม่ในนาม "สภาประชาชนปฏิวัติ"  (คำแถลงการณ์ของ กปปส.  ณ 9 ธันวาคม 2556  เวลา 18.00 น.

ก่อนหน้านั้น ฝ่ายอำนาจรัฐ (เดิม)ตอบโต้ผู้ชุมนุมด้วยการประกาศเขต หวงห้าม  และการขอคืนพื้นที่ (กระชับพื้นที่) ตาม พรบ.ความมั่นคงภายใน รวมทั้ง การประกาศล่าสุดของนายก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร "ยุบสภา คืนอำนาจประชาชน" หวังสยบกระแสการลุกขึ้นสู้   ซึ่งขยายตัวอย่างถล่มทลาย  ของมวลมหาประชาชนกว่า5 ล้านคนทั่วประเทศ (คำแถลงการณ์  นายกยิ่งลักษณ์ ณ 9 ธันวาคม 2556 เวลา 8. 45 น.)

เมื่อทบทวนระลอกแห่งการลุกขึ้นสู้ (political uprising)  นับตั้งแต่เดือนตุลาคม  2556 เป็นต้นมา (การจัดงาน
รำลึก 40 ปี สืบสานเจตนารมณ์  14 ตุลา) ยุทธวิธีอารยขัดขืน(civil disobedience ) ได้ดำเนินอย่างต่อเนื่องดุจระลอกคลื่นอันกระเพื่อมอย่างเข้มข้น   การเคลื่อนย้ายมวลชนในลักษณ "ดาวกระจาย"   ณ ราชดำเนิน และไปยังสถานที่สำคัญต่าง ๆ  ในส่วนกลาง (กระทรวง / ทบวงกรม/ ทำเนียบรัฐบาล) และในต่างจังหวัด  (ศาลากลางจังหวัด ) 

โดยเฉพาะในภาคใต้ เกิดบรรยากาศของการจัดขบวน มวลชน  ออกเป็น 3 ส่วน กล่าวคือ  หนึ่ง  มวลชนระลอกแรกหรือ  ทัพหน้า  (Vanguard mass action) ผู้ซึ่งเข้าร่วมชุมนุมอย่างสม่ำเสมอ  ติดตามข่าวสารข้อมูลทั้งด้านกว้างและด้านลึก  เกิดความตื่นรู้ เข้าใจเป้าหมายยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี รวมทั้งจังหวะก้าวของฝ่ายแกนนำ  สอง   มวลชนสมทบหรือ ทัพหลัง  (active  support  mass) ซึ่งเข้าร่วมการชุมนุมตามเงื่อนไขที่เป็นจริง  หรือ เข้าร่วมต่อสู้ในประเด็นที่"โดนใจ"   เช่นประเด็น    นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง (สุดซอย)   ประเด็นไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ประเด็น การใช้แก๊สน้ำตายิงกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างไม่ยั้ง  ประเด็นความตาย 5 ศพ  ณ ถนนหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหงฯลฯ  และ สาม  มวลชนสำรอง (Potential mass)หรือพลังท้องถิ่นซึ่งจะมีการบุกเข้ายึดศาลากลางจังหวัดหรือการเปิดเวทีปราศรัย  ประจำวันเพื่อดึงพลังเงียบ(Silence majority)เข้าสู่กระแสธารการเคลื่อนไหวตามความแปรเปลี่ยนของสถานการณ์  และคำชี้นำของแกนนำ ส่วนกลาง ซึ่งมีการยกระดับปรับเปลี่ยนตลอดเวลาภายหลังจากที่เกิดการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน จนเกิดความตึงเครียด  ส่อเค้าความรุนแรง

ฝ่ายอำนาจรัฐ (นายกยิ่งลักษณ์) กับตัวแทนผู้ชุมนุม (สุเทพ  เทือกสุบรรณ) ได้พบปะเจรจากัน 2 รอบ  โดยมีฝ่ายกองทัพเป็นสะพานเชื่อม    ฝ่ายอำนาจรัฐก็ได้ผ่อนคลายมาตรการปกป้องพื้นที่      มาสู่การเปิดพื้นที่เชิงสัญลักษณ์ให้ผู้ชุมนุมสามารถเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล และสถานที่ราชการอื่น ๆได้  ทำให้สถานการณ์ทางการเมือง  เข้าสู่ดุลย์อำนาจใหม่ระหว่างสองฟากฝ่าย

บรรยากาศการเคลื่อนไหวในท้องถิ่น (ต่างจังหวัด นับตั้งแต่ 6-8 ธันวาคม 2556)  ต่างมีการเตรียมการเพื่อการเคลื่อนไหวสู่เป้าหมายสูงขึ้น  ซึ่งแกนนำได้ประกาศให้ลุกขึ้นสู้ในขอบเขตทั่วประเทศ  พร้อมกันในวันที่ 9 ธันวาคม 2556  การลุกขึ้นสู้ นำสู่การขยายผลสู่มวลชนอย่างกว้างขวาง ทั้งในส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น  ชนชั้นกลาง  ในเมืองรวมทั้งชนชั้นล่างในชนบทได้ค่อย ๆ ปรับความรับรู้ข้อมูล  และปรับสำนึกเข้าหากัน  อย่างมีนัยยะ สำคัญยิ่งทำให้รัฐท้องถิ่น (นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัด) ต้องระดมสรรพกำลัง ตำรวจ ทหาร  เข้ารักษาการณ์ในพื้นที่ ราชการอย่างเข้มงวดเพื่อสะกัดกั้นผู้ชุมนุมมิให้เข้าไปปักหลักยึดสถานที่

เมื่อมีคำแถลงการณ์ของ กปปส. (โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ)  ณ 18.00 น.  วันที่ 9 ธันวาคม 2556 มวลมหาประชาชน ทั่วทุกหัวระแหง ต่างกระโดดโลดเต้นด้วยความปิติยินดียิ่ง มีการเฉลิมฉลอง กันในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเปิดเสวนาและแถลงข่าวสื่อมวลชน, การเข้าร่วมกันเป่านกหวีด สลับกับการปราศรัยของแกนนำ, การเฉลิมฉลองด้วยการตั้งขบวนแห่ไปตามถนนสายสำคัญๆ รอบๆเมือง การแจกใบปลิวรณรงค์  เป็นต้น

นับเป็นปรากฎการณ์ที่ประวัติศาสตร์ไทย จะต้องจารึกไว้ว่า มวลชนทั่วประเทศกว่า 5 ล้านคนได้ก่อการลุกขึ้นสู้ยกระดับขึ้นสู่ " การปฏิวัติประชาชน"  (ประชาภิวัฒน์)   แล้วนับตั้งแต่วันนี้ (9 ตุลาคม 2556)

ต่อจากนี้ไป จึงเป็นทางสองแพร่ง  ที่สำคัญและสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งยวด  จะเกิดสงครามช่วงชิงมวลชนด้วย
วาทะกรรมต่าง ๆของ 2 ขั้วอำนาจ เพื่อชัยชนะขั้นเด็ดขาด  หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สามารถยึดกุม "หลังเงียบ"หรือ"พลังที่สาม"ได้มากที่สุดกว้างขวางที่สุด

หรือหากรัฐฝ่ายอำนาจรัฐ(เดิม)  ตัดสินใจสั่งการปราบปรามผู้ชุมนุม  (ตามมาตฐานสากลที่พร่ำบอก
อยู่เสมอ) จักเกิดการเผชิญหน้า  และเข้าสู่ซุ้มประตูแห่ง  "สงครามกลางเมือง"   (Civil war)  อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

 ...ฤา โศกนาฎกรรมใหญ่จะเกิดขึ้น
 ....ฤา  ชะตากรรมชาติไทยจะแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ
... ขึ้นอยู่กับการยึด มั่น กับกระบวนการสันติวิธี อย่างเหนียวแน่น ของทั้ง 2 ขั้วอำนาจ  ที่จักต้องมีการ
เจรจา หาทางออกร่วมกัน โดยสันติวิธี
.... ขึ้นอยู่กับผู้คนในสังคม  (นักวิชาการ สถาบันการศึกษา ฝ่ายธุรกิจเอกชน  องค์กรพัฒนาเอกชน
องค์กรประชาชน  (ทุกประเด็น และทุกสาขาอาชีพ)  จะลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในการคลี่คลายหาทางออก
และกระทำการปกป้องหลักการ สันติวิถี (peaceful way) มากน้อย แค่ไหน เพียงไร
                        
....จงตื่นขึ้นเถิดมวลมหาประชาชน
...อนาคตของประเทศอยู่ในมือของท่านแล้ว
...ประชาชนจักต้องกำหนดนอนาคตของตนเอง
....จงร่วมกันผลักดันอำนาจประชาชนให้ปรากฏเป็นจริงและยั่งยืน
....การปฏิวัติของประชาชน จงเจริญ !!!

                    
ด้วยศรัทธา-คารวะ
ราชสีห์  อีศาน
กระท่อม บรรพชน
10 ธันวาคม 2556

 


เอกสารประกอบ/อ้างอิง

• ไปให้พ้นการเมืองเหลืองแดงสู่การปฏิวัติของประชาชน
•สถานการณ์ทางเลือกที่สาม : ไปให้พ้นสงครามกลางเมือง โดยราชสีห์  อีศาน ๑ ธันวาคม ๒๕๕๖
•ลักษณะสังคมไทย  โดยหน่วยศึกษาค้นคว้า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (25 ธันวาคม 2554)
• คู่มือการเมืองภาคประชาชน 2548 โดยคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน
• นโยบายในระยะปัจจุบัน พคท.  (7  สิงหาคม 2555)
• สังคมทางเลือก : แนวคิดเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่พึงปรารถนา โดย สนั่น ชูสกุล บรรณาธิการ
   (มกราคม 2553)

หมายเหตุ : ท่านผู้ใดต้องการเอกสาร โปรดติดต่อคุณเล็ก สำนกงาน กป.อพช.อีสาน

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สื่อต่างชาติระบุ 'ไม่เชื่อเลือกตั้งเพราะการซื้อเสียง' เป็นเพียงข้ออ้าง

Posted: 10 Dec 2013 02:11 AM PST

นิวยอร์กไทม์และนักข่าวบีบีซี กล่าวถึงข้ออ้างของแกนนำฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่ว่าไม่เชื่อวิธีการเลือกตั้งเนื่องจากมีการซื้อเสียง ซึ่งในภูมิภาคเดียวกันอย่างมาเลเซีย-กัมพูชาก็เคยอ้างแบบเดียวกัน แต่นิวยอร์กไทมส์ชี้ว่ากรณีไทยน่าจะเป็นเพราะมีนโยบายชนะใจเสียงข้างมากในสมัยทักษิณมากกว่า

10 ธ.ค. 2556 - นิวยอร์กไทม์กล่าวถึงสถานการณ์ล่าสุดในประเทศไทยจากกรณีที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภาและให้มีการเลือกตั้งใหม่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (9 ธ.ค.) หลังจากมีการประท้วงหลายสัปดาห์

นิวยอร์กไทม์ ยังได้สัมภาษณ์แกนนำการชุมนุมครั้งล่าสุดที่มีแกนนำบางส่วนเรียกร้องให้มีการจัดตั้ง "สภาประชาชน" และการที่พรรคประชาธิปัตย์ผู้ที่นิวยอร์กไทม์เรียกว่าเป็น "กลุ่มเบื้องหลังฝ่ายค้านที่เก่าแก่ที่สุด" ได้ทำการลาออกจากสภาเพื่อร่วมประท้วง

เทพไท เสนพงศ์ หนึ่งใน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ที่ลาออกให้สัมภาษณ์ต่อนิวยอร์กไทม์ว่า "เราไม่สามารถเอาชนะพวกเขาได้" "ไม่ว่าเราจะยกทั้งมือทั้งเท้าของเราในสภา เราก็ไม่เคยชนะ" ขณะที่สาทิตย์ วงศ์หนองเตย หนึ่งในแกนนำ กปปส. ก็กล่าวว่าพวกเขากลัวว่าจะมีการโกงการเลือกตั้งหากรัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาลรักษาการ

นิวยอร์กไทม์ระบุว่าเรื่องความไม่เชื่อใจในการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นในมาเลเซียรัฐบาลได้ใช้กลโกงในการวางแผนปูทางการเลือกตั้ง ในกัมพูชานายกรัฐมนตรีอำนาจนิยมฮุน เซน ได้ใช้เครื่องมือของรัฐและกองทัพในการเพิ่มอำนาจให้ตัวเอง ซึ่งกลุ่มต่อต้านรัฐบาลกัมพูชาก็ยังคงคว่ำบาตรรัฐสภาจากข้อกล่าวหาที่ว่ามีการโกงการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามนิวยอร์กไทม์พูดถึงกรณีในประเทศไทยว่าเป็นเรื่องของการที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ใช้นโยบายชนะใจเสียงข้างมากได้มากกว่า และแม้ว่ากลุ่มฝ่ายค้านจะอ้างว่าฝ่ายทักษิณใช้วิธีการซื้อเสียง แต่นักวิชาการไทยสองคนก็ได้เขียนบทความบอกว่าเป็นข้อกล่าวที่ไร้สาระเนื่องจากสิ่งที่ตรึงใจคนได้เป็นเพราะนโยบายมากกว่า

ทางด้านนักข่าวบีบีซี โจนาธาน เฮด วิเคราะห์ว่าจากการประท้วงตลอดช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาสิ่งที่แกนนำแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนคือพวกเขาไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่จะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ และเชื่อว่าการประกาศยุบสภาของยิ่งลักษณ์จะไม่ทำให้ประชาชนแสนกว่าคนที่มาชุมนุมในกรุงเทพฯ พอใจ และมีคนบอกว่าพวกเขาต้องการให้ครอบครัวชินวัตรออกไปจากประเทศก่อนถึงจะพอใจ

เฮด ยังได้กล่าวถึงเรื่องที่กลุ่มแกนนำต่อต้านรัฐบาลเชื่อว่าการชนะการเลือกตั้ง 5 สมัยติดต่อกันมาจากการซื้อเสียงไม่ว่าจะด้วยการติดสินบนหรือผ่านทางนโยบายประชานิยมที่ไม่ยั่งยืน แต่ข้อมูลที่มีอยู่แสดงให้เห็นว่าภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยยังสนับสนุนรัฐบาลนี้อย่างแข็งขันและการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาไม่นานนี้ได้สะท้อนเจตจำนงของเสียงข้างมาก

 

เรียบเรียงจาก

Thai Premier Calls for Elections as Opposition Quits, New York Times, 08-12-2013 http://www.nytimes.com/2013/12/09/world/asia/members-of-thai-opposition-party-quit-parliament.html

Thai PM Yingluck dissolves parliament and calls election, BBC, 09-12-2013 http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-25252795

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สายชล สัตยานุรักษ์: ข้อเสนอในสถานการณ์ความขัดแย้ง

Posted: 10 Dec 2013 02:00 AM PST

ในบริบทที่สูญเสียอำนาจต่อรองกับ "ระบอบทักษิณ" ที่ครอบงำการเมืองและเศรษฐกิจไทยอย่างสูงทำให้ชนชั้นกลางรู้สึกอับจนหนทางจนออกมาสู่ท้องถนนและหันไปพึ่ง มาตรา 7  

ในสถานการณ์การเมืองที่การต่อสู้เกิดขึ้นบนท้องถนนโดยมีมวลชนมากไพศาลเข้าร่วม  ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของฝ่ายที่อาจเรียกกว้างๆ ว่า "คนเสื้อเหลือง" หรือ "คนเสื้อแดง" ล้วนทำให้คนไทยวิตกกังวลว่าจะเกิดความรุนแรงตามมา หรืออย่างน้อยก็ทำให้บ้านเมืองปั่นป่วนวุ่นวายยาวนานและส่งผลกระทบทั้งต่อชีวิต จิตใจ  ความสัมพันธ์ทางสังคมตั้งแต่ระดับครอบครัว เครือญาติ เพื่อนฝูง หน่วยงาน ไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนในชาติ  และยังมีผลต่อระบบเศรษฐกิจซึ่งหมายถึงความยากจนลงของคนไทยส่วนใหญ่อีกด้วย

แม้ว่าหลายฝ่ายจะพยายามเสนอทางออก แต่ดูเหมือนจะเป็นทางออกที่ประชาชนแต่ละคนไม่อาจเลือกกระทำด้วยตนเอง เพราะล้วนแต่เป็นข้อเสนอต่อผู้นำหรือแกนนำของคู่ขัดแย้ง และบ้างก็เสนอทางออกโดยเชียร์ฝ่ายรัฐบาลและประณามฝ่ายคุณสุเทพ หรือบ้างก็เสนอทางออกที่เชียร์ฝ่ายคุณสุเทพและประณามฝ่ายรัฐบาล ซึ่งล้วนได้รับการปฏิเสธจากแกนนำและมวลชนของอีกฝ่ายหนึ่งจนไม่มีผลใดๆ ในทางปฏิบัติ  กลับมีปฏิกิริยาออกมาในเชิงตอบโต้หรือต่อต้านรุนแรงมากขึ้น

ที่ผ่านมา คนในหัวเมืองและชนบทเคยถูกมองว่า "โง่-จน-เจ็บ" และในเวลาต่อมานักวิชาการสำคัญๆ ก็มีแนวโน้มที่จะดูหมิ่นชนชั้นกลางในเมืองใหญ่ว่าโง่เพราะถูกครอบงำทางความคิด อีกทั้งยังพากันเห็นว่าชนชั้นกลางไทยเห็นแก่ตัวเพราะนึกถึงแต่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนเองเป็นหลัก

การมองทั้งสองแบบล้วนผิดพลาดและไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหา เช่นเดียวกับการมองระบอบประชาธิปไตยที่ฝ่ายเสื้อแดงให้ความสำคัญแก่การเลือกตั้ง ในขณะที่ฝ่ายเสื้อเหลืองให้ความสำคัญแก่การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพื่อหาผลประโยชน์หรือการคอร์รัปชั่น และต่างก็ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตยในความหมายที่ตนเองให้ความสำคัญ (แทนที่จะให้ความสำคัญทั้งสองส่วนไปพร้อมกัน) ยิ่งไปกว่านั้นยังปรากฏด้วยว่าต่างฝ่ายต่างก็ไม่ยอมเข้าใจและไม่ยอมรับจุดยืนของอีกฝ่ายหนึ่ง ได้แต่มองอีกฝ่ายหนึ่งว่าโง่และเห็นแก่ตัว ซึ่งทำให้ความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายทวีขึ้น

อาจเป็นด้วยสถานการณ์ทางการเมืองและอิทธิพลจากข่าวสารข้อมูลในสื่อต่างๆ ที่กดดันและผลักดันให้คนไทยแต่ละคนพากันเลือกข้างอย่างชัดเจนและตายตัว ขาดการปรับเปลี่ยนมุมมองหรือจุดยืนเพื่อเข้าใจคนอื่นๆ ที่คิดต่างจากตน

ที่จริงแล้วทั้ง "คนเสื้อเหลือง" และ "คนเสื้อแดง" ต่างก็ถูกหล่อหลอมจากภูมิหลังทางสังคมและวัฒนธรรมและบริบททางเศรษฐกิจและการเมืองของแต่ละฝ่ายในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมทางความคิดของแต่ละฝ่ายที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อการตัดสินใจทางการเมือง เช่น การเรียกร้อง ม.7 ก็เกิดจากอุดมการณ์กระแสหลักที่ได้รับการผลิตซ้ำอย่างเข้มข้นตั้งแต่ทศวรรษ 2490 สืบมาจนถึงปัจจุบัน และทัศนะที่ผิดพลาดที่ "คนเสื้อเหลือง" และ "คนเสื้อแดง" มีต่อกัน ตลอดจนทัศนะต่อระบอบประชาธิปไตยที่มีจุดเน้นคนละอย่าง ก็มาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองที่มีความได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งทำให้ฝ่ายที่เสียเปรียบจำเป็นต้องต่อสู้ด้วยการอ้างเสียงข้างมาก และฝ่ายที่เคยได้เปรียบ (ซึ่งกลายเป็น "ผู้ได้เปรียบน้อยลง" ในขณะเดียวกับที่มีความวิตกมากขึ้นต่อความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ) ก็จำเป็นต้องอ้าง "สิทธิของเสียงข้างน้อย" และหันไปยึดสถาบันตามประเพณีเป็นที่พึ่งเพราะสอดคล้องกับอุดมการณ์ที่ตนยึดถือ

ผู้เขียนเองเชื่อว่าชนชั้นกลางไทยไม่ได้ปฏิเสธความสำคัญของการเลือกตั้ง เพราะหลายปีที่ผ่านมาชนชั้นกลางในเขตเมืองออกไปเลือกตั้งมากขึ้น ขณะเดียวกันชนชั้นกลางก็ไม่ได้ต้องการดึงเอาผลประโยชน์ทั้งหลายมาไว้ในมือของตนแต่ถ่ายเดียว เพราะแท้ที่จริงแล้วในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมางบประมาณของประเทศได้ไหลไปสู่ชนบทมากเสียยิ่งกว่าที่ถูกดูดออกมาจากชนบท (และมิใช่เพิ่งไหลลงไปเมื่อมีนโยบายประชานิยม) ชนชั้นกลางตระหนักดีว่าตลาดภายในมีความสำคัญต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนสูง จึงต้องการให้ชาวบ้านรวยขึ้น นอกจากนี้ชนชั้นกลางจำนวนมากยังมีญาติพี่น้องเป็นชนชั้นกลางระดับล่างในหัวเมืองและชนบทอีกด้วย 

ในบริบทที่สูญเสียอำนาจต่อรองกับ "ระบอบทักษิณ" ที่ครอบงำการเมืองและเศรษฐกิจไทยอย่างสูงยิ่ง และสูงกว่ายุคใดๆ ที่ผ่านมาอย่างเทียบกันไม่ได้ต่างหาก ที่ทำให้ชนชั้นกลางรู้สึกอับจนหนทางจนออกมาสู่ท้องถนนและหันไปพึ่ง มาตรา 7   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งคนเข้าไปกุมอำนาจหลายระดับในรัฐวิสาหกิจต่างๆ การยื่นมือเข้าไปเกี่ยวข้องกับการโยกย้ายข้าราชการทุกระดับ การสร้างโครงการที่ใช้เงินมหาศาลนอกกระบวนการตรวจสอบและการหลีกเลี่ยงระเบียบด้านงบประมาณ รวมทั้งความไม่แน่ใจเรื่องความคุ้มทุนและผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการ 2.2 ล้านล้าน โครงการจัดการน้ำ  โครงการจำนำข้าว ฯลฯ ตลอดจนปัญหาคอร์รัปชั่นที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพิ่มสูงขึ้นมาก และปัญหาความล้าหลังด้านการศึกษาที่มีมานานแล้วก็จริงแต่เพิ่งเป็นที่รับรู้ในวงกว้างในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา (และรัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็เปลี่ยนรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการถึง 3 คน ในช่วงเวลาเพียง 2 ปี)

หากเข้าใจความวิตกของชนชั้นกลาง ทางออกสำหรับความขัดแย้งในปัจจุบันก็ไม่ควรวางอยู่บนอคติต่อชนชั้นกลาง ในทำนองเดียวกับที่ชนชั้นกลางไม่ควรมองหาทางออกด้วยการทำลายระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะจะเกิดผลเสียร้ายแรงตามมาอีกมากและอีกนาน

ในปัจจุบัน คนไทยทุกฝ่ายล้วนถูกปลุกเร้าทางการเมืองอย่างเข้มข้นโดยแกนนำของแต่ละฝ่าย นอกจากในที่ชุมนุมโดยตรงแล้ว ยังมีการใช้สื่อหลายประเภท รวมทั้งวิทยุชุมชนและสื่อออนไลน์ ทำให้ใช้การสติปัญญาและทัศนะวิพากษ์ลดน้อยลงไป แต่คนไทยทุกฝ่ายคงประจักษ์แก่ใจว่าถ้าหากความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงดำรงอยู่ต่อไปในอนาคต ผลเสียหายร้ายแรงจะตามมา การหาทางออกที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติจึงเป็นที่ต้องการอย่างมากของสังคมโดยรวม แต่ทางออกที่มีอยู่และที่ได้รับการเสนอขึ้นมา มักไม่ให้ทางเลือกที่ภาคสังคมหรือภาคประชาชนจะมีส่วนร่วมได้อย่างสงบสันติ และมีโอกาสใช้ปัญญาอย่างมีสติกำกับเท่าที่ควร

สิ่งที่ต้องการเสนอในที่นี้ ก็คือ การสร้างทางเลือกที่ประชาชนแต่ละคนจะเข้าไปร่วมอย่างอิสระ แทนการออกมาชุมนุมหรือเดินขบวน ซึ่งภาคสังคมสามารถช่วยกันคิดว่าจะสร้างองค์กรใหม่หรือใช้องค์กรที่เรามีอยู่แล้วองค์กรใดบ้างสำหรับการสร้างโอกาสให้แก่ประชาชนทุกฝ่ายได้เข้าร่วม เช่น การทำให้มีองค์กรที่จะรวบรวมปัญหาที่คนไทยแต่ละคนมองเห็นตลอดจนทางออกที่แต่ละคนเสนอ ซึ่งเมื่อรวบรวมออกมาได้และจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ชัดเจนดีแล้ว ก็เปิดกว้างสำหรับการโต้แย้ง การวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงจากทุกๆ ฝ่าย เพื่อให้ทุกคนทุกฝ่ายมองเห็นจุดอ่อนในความคิดความเห็นของตนเอง และมีโอกาสมองเห็นข้อดีหรือส่วนดีในความคิดของคนอื่นๆ ไปพร้อมกัน

เราอาจเรียกวิธีนี้ว่าเป็นการวิจัย โดยดึงเอาทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามาตอบโจทย์วิจัยเดียวกัน จนเกิดเป็น "การทำวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม" แม้แต่คนที่ชอบเขียนด่าคนอื่นตามสื่อออนไลน์ก็มีส่วนร่วมในการวิจัยด้วย เพราะคำด่าก็เป็นข้อมูลที่จะนำมาใช้เพื่อวิเคราะห์ทัศนคติของผู้คน กลายเป็นส่วนหนึ่งของรายงานผลการวิจัยที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ต่อไป

ผู้เขียนยังนึกภาพที่ชัดเจนไม่ได้ว่าข้อเสนอนี้จะเป็นไปได้อย่างไร และองค์กรใดที่จะทำหน้าที่ "ตัวกลาง" ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจเริ่มต้นจากองค์กรที่เรามีอยู่แล้ว เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ที่จะเป็นผู้จัดการให้การทำวิจัยร่วมกันในแต่ละจังหวัดเกิดขึ้นได้  ในมหาวิทยาลัยต่างๆ  ก็อาจเรียกร้องให้อาจารย์ นักวิจัย เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา เข้ามามีส่วนในการทำวิจัยนี้ ส่วนครูในโรงเรียนและนักพัฒนาเอกชนในแต่ละหมู่บ้าน ก็ทำวิจัยด้วยโจทย์วิจัยเดียวกันนี้ อาจมีการสังเคราะห์ผลการวิจัยในระดับอำเภอหรือระดับจังหวัด และคนทุกกลุ่มในสังคมก็จะเข้ามามีส่วนร่วมในฐานะต่างๆ เช่น อาจเข้าร่วมในฐานะผู้ให้ข้อมูล ผู้วิเคราะห์ข้อมูล ผู้วิจารณ์ ผู้เสนอทางเลือกใหม่ๆ ฯลฯ

ข้อเสนอข้างต้นอาจยากที่จะเป็นไปได้ ซึ่งผู้เขียนก็ยอมรับว่าเป็นเช่นนั้น แต่ก็อยากยกตัวอย่างรูปธรรมให้เห็นว่าสังคมไทยควรมีทางเลือกใหม่ๆ ที่เป็นของภาคสังคมหรือภาคประชาชนจริงๆ เพราะเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องทำให้คนไทยได้ใช้สติปัญญามากขึ้น มีทัศนะวิพากษ์มากขึ้น และมีช่องทางใหม่ๆ ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกเหนือจากช่องทางที่แกนนำของแต่ละฝ่ายกำหนดขึ้นมา ผู้เขียนจึงขอเรียกร้องให้ช่วยกันคิดเรื่องนี้อย่างจริงจังก่อนที่หายนะจะเกิดแก่คนไทยทุกกลุ่มในอนาคตอันใกล้
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สหพันธ์ประชาชนเสรีเพื่อประชาธิปไตย' แถลงไม่รับนายกแห่งชาติ

Posted: 10 Dec 2013 01:36 AM PST


10 ธ.ค.2556 คณะกรรมการ "สหพันธ์ประชาชนเสรีเพื่อประชาธิปไตย" (สปป.) ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 2 แสดงจุดยืน ต่อต้านรัฐบาลพระราชทาน ปกป้องระบอบประชาธิปไตย นายกฯรักษาการต้องไม่ลาออก และเดินหน้าเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษ ในวันที่ 12 ธันวาคม 2556 ซึ่งเป็นวันที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ สุเทพ เทือกสุบรรณ ต้องขึ้นศาลในคดีสั่งสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 โดยมีข้อเสนอต่อฝ่ายต่างๆ ดังนี้

ข้อเสนอต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
1. สนับสนุนการตัดสินใจของนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  ในการ "ยุบสภา" อันเป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญ  แสดงถึงการเคารพประชาชน  ที่จะเป็นคนตัดสินอนาคตประเทศไทยเอง
2. ขอสนับสนุน "ไม่ให้" นายกฯรักษาการยิ่งลักษณ์ ชินวัตร "ลาออก" โดยเด็ดขาด  เพราะแค่ "ยุบสภา" ก็แสดงให้เห็นถึง "วุฒิภาวะทางการเมือง" การกระทำดังกล่าวนี้  ถือว่าเป็นการเสียสละครั้งยิ่งใหญ่ต่อประเทศมากพอแล้ว  และสมควรยกย่องเป็น "วีรสตรี" คนใหม่ของแผ่นดินในยุคปัจจุบัน
3. ขอให้กำลังใจรัฐบาลรักษาการยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย (พท.)  ให้ยืนหยัดต่อสู้เพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตยอย่างถึงที่สุด  และขอสนับสนุนให้นายกฯรักษาการยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  ลงสมัครเลือกตั้งปาร์ตี้ลิสต์ อันดับ 1 เพื่อหวนกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี  เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและอาเซียน  รวมถึงเดินหน้าแก้ไข "รัฐธรรมนูญ ปี 2550" ทั้งฉบับต่อไป

ข้อเสนอต่อ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน
1. ให้ประกาศสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง และกลุ่มพลังประชาธิปไตยอื่นๆ โดยให้จัดชุมนุมที่หน้า "ศาลากลางจังหวัด" ของทุกจังหวัดตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป 
2. ไม่ควรจัดชุมนุมในส่วนใจกลางกรุงเทพฯ  แต่ต้องตัดสินใจจัดเวทีในเขตชานเมืองกรุงเทพฯและปริมณฑล จนกว่าจะชนะ

ขอประกาศจุดยืนของ สปป. และภาคีเครือข่าย ดังต่อไปนี้
1. จะต่อต้าน กปปส. การรัฐประหาร  และสภาประชาชน ทุกรูปแบบ
2. ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ (รัฐบาลพระราชทาน/ รัฐบาลที่มาจาก ม.7)
3. จะเดินหน้าคัดค้าน และต่อต้าน "อำนาจนอกระบบเหนือรัฐ" ที่แทรกแซงทางการเมือง ทุกรูปแบบ

แถลงการณ์ระบุว่า สปป. ขอประณามการข่มขู่คุกคามบรรดาข้าราชการ โดยปิดสถานที่ราชการทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จนทำให้ข้าราชการที่ต้องรับใช้บริการพี่น้องประชาชนทำงานไม่ได้  นอกจากนี้ สปป. จะจัดให้มีเวทีชุมนุมทางการเมือง ครั้งที่ 2  ในวันที่ 15 ธันวาคม  .2556  ณ  จังหวัดศรีสะเกษ

อนึ่ง คณะกรรมการ "สหพันธ์ประชาชนเสรีเพื่อประชาธิปไตย" (สปป.) จัดตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2556  ณ ริมบึงแก่นนคร  อำเภอเมือง  จังหวัดขอนแก่น โดยระบุว่า เพื่อเป็นองค์กรประสานความร่วมมือกลุ่มต่างๆ เพื่อสถาปนา สร้างสรรค์ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แท้จริง ประกอบด้วย

1. แนวร่วมแรงงานและเกษตรกรเพื่อประชาธิปไตย (นรกป.)
2. กลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอีสาน (กสส.) 
3. เครือข่ายองค์กรชุมชนแก้ไขปัญหาที่ดินภาคอีสาน (คอป.อ.)
4. กลุ่มดงมูลเพื่อการพัฒนา (กดม.) จ.กาฬสินธุ์
5. กลุ่มต้นอ้อ จ.ขอนแก่น   
6. กลุ่มมิตรภาพ  จ.ขอนแก่น
7. กลุ่มศึกษาปัญหาสังคมเพื่อการเปลี่ยนแปลง (ศสป.)
8. กลุ่มภูเวียงเพื่อการพัฒนา (กภว.)  จ.ขอนแก่น 
9. กลุ่มประชาชนไทยแวงน้อย  จ.ขอนแก่น
10. กลุ่มภูพานเพื่อการพัฒนา (กภพ.)  จ.สกลนคร 
11. กลุ่มเพื่อนพัฒนาภูกระดึง  จ.เลย
12. กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ลุ่มน้ำพรมตอนต้น  จ.ชัยภูมิ
13. กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ลุ่มน้ำบัง  จ.ยโสธร
14. องค์กรอิสระเถียงนาประชาคม  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
15. กลุ่มปุกฮัก  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
16. กลุ่มเพื่อนสังคม  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
17. กลุ่มเพื่อนปริญญาโทรักความเป็นธรรม  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
18. ซุ้มเกี่ยวดาว  มหาวิทยาลัยขอนแก่น
19. กลุ่มข้าวต้มมัด  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
20. คณะกรรมการรณรงค์การกระจายอำนาจภาคอีสาน
21. เครือข่ายอนุรักษ์ภูเก้า-ภูพานคำ  จ.หนองบัวลำภู
22. เครือข่ายองค์กรชาวบ้านลุ่มน้ำปาว (คอป.)  จ.กาฬสินธุ์
23. เครือข่ายอนุรักษ์ภูผาเหล็ก  จ.สกลนคร
24. เครือข่ายคนรุ่นใหม่ลุ่มน้ำโขง  จ.อุบลราชธานี 
25. เครือข่ายคนรุ่นใหม่ยโสธร  จ.ยโสธร
26. เครือข่ายคนรุ่นใหม่มหาสารคาม  จ.มหาสารคาม
27. เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชนเขลาโคก  จ.ร้อยเอ็ด
28. สหพันธ์เยาวชนอีสาน (สยส.)
29. สหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน (สนนอ.)
30. สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) 
31. สถาบันเพื่อพัฒนาเยาวชนแห่งประเทศไทย (สยท.)
32. กลุ่มครูเพื่อประชาธิปไตยภาคอีสาน (กคส.)
33. สำนักเรียนรู้กระจายอำนาจและปกครองตนเอง (กอ.ปอ.)
34. สถาบันสร้างสรรค์ชีวิตและสังคม (LSI.)
35. ชมรมส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือตอนล่าง
36. กลุ่มนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยภาคอีสาน (กนป.)
37. สมาคมส่งเสริมสิทธิแรงงาน (สสร.)
38. กลุ่มท้องถิ่นเพื่อประชาธิปไตย (กทป.)
39. กลุ่มสตรีก้าวหน้า  จ.ขอนแก่น
40. กลุ่มศิลปินเพื่อสังคมภาคอีสาน (กศป.)
41. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดร้อยเอ็ด
42. เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซิน
43. กลุ่มแรงงานเพื่อประชาธิปไตยภาคเหนือ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วรเจตน์-เกษียร-ปิยบุตร: เหตุผลค้าน 'สภาประชาชน' หวั่นเกมนอกกติกานำสู่วิกฤตนองเลือด

Posted: 10 Dec 2013 12:59 AM PST

 

 

10 ธ.ค.2556 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มนักวิชาการในนามสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) แถลงข่าวข้อโต้แย้งด้านกฎหมายกับแนวคิดการก่อตั้ง "สภาประชาชน" โดย คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง

ยังไม่ถึงทางตัน ยังแก้ได้ในระบบ ก่อนเดินสู่สงครามกลางเมือง
 

ศ.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า บ้านเมืองเรายังไม่ถึงทางตัน เราไม่จำเป็นต้องเลือกไปสู่สงครามกลางเมือง ในความรู้สึกเรา วิกฤตนี้กำลังถูกแปรเป็นกฎหมาย ข้อเสนอจำนวนหนึ่ง ในภาวะปกติเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในทางการเมืองและในทางกฎหมาย แต่โดยเงื่อนไขของวิกฤตนี้ นักวิชาการ คณะบุคคลหนึ่ง กำลังทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในทางการเมืองกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในทางการเมืองและต้องทำ นี่เป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง เพราะวางอยู่บนพื้นฐานของการปฏิเสธการเลือกตั้งซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย

"เราผ่านวิกฤตการเมืองมานาน คงเห็นตรงกันแล้วว่า คนไทยเราไม่เหมือนกัน มีกลุ่มที่ความคิดทางการเมืองแตกต่างอย่างมหาศาล แต่เราสามารถทะเลาะกันได้อย่างสันติถ้าเรายอมรับว่าคนไทยเราเท่ากันทางการเมือง แต่เมื่อปฏิเสธความเท่ากัน ไม่มีทางแก้ปัญหาความแตกต่างทางการเมืองอย่างสันติ ถ้าเราปฏิเสธการเลือกตั้ง ทางข้างหน้าจะมีแต่ความรุนแรงและสงครามกลางเมือง"

"พวกเราไม่เชื่อว่าข้อเสนอเบื้องหน้าเราตอนนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ในทางการเมือง เรามีโอกาสจะออกจากช่องทางที่อันตราย พาประเทศไปสูความรุนแรงหรือนองเลือดได้"

เกษียรกล่าวต่อว่า การรวมตัวครั้งนี้นักวิชาการที่รู้ด้านนิติศาสตร์ ด้านรัฐศาสตร์ ด้านอื่นๆ ก็เอามรวมกันเพื่อให้สังคมไทยได้แก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองที่จริงและใหญ่โดยไม่ต้องฆ่า  นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายศิลปิน นิสิต นักศึกษา ฯลฯ ที่ตั้งใจรณรงค์ให้สังคมได้รับฟังทางเลือก อย่าตกอับกับข้อกล่าวอ้างที่กำลังถูกทำให้เป็นจริงเพราะเป็นเรื่องอันตรายมาก นำพาไปสู่ทางตัน

"เราไม่ต้องการไปสู่ระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ต้องการเสี่ยงกับสงครามการเมืองเพื่อทดลองสิ่งสร้างสรรค์ทางวิชาการที่ไม่มีที่ไหนเขาทำ"

 จุดร่วมพื้นฐานที่ควรเป็นบรรทัดฐานของสังคมไทยที่ต้องทำเพื่อให้ผ่านการทะเลาะกันอย่างสันติ คือ 1.เราไม่เห็นด้วยกับการดึงเอาสถาบันมายุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง สถาบันเป็นสมบัติร่วมของชาติ ของคนไทยทั้งหมด ไม่อาจให้คนไทยางกลุ่มดึงไปใช้ได้ 2.เราไม่เห็นด้วยกับการแทรกแซงทางการเมืองของทหาร 3.ต้องการรักษาและขยายพื้นที่สิทธิเสรีภาพของคนไทย 4.ต้องการรักษาและขยายพื้นที่ประชาธิปไตย  

นายกฯ ออกจากรักษาการไม่ได้ ภารกิจเพื่อรักษาระบบให้เดินต่อ
 

รศ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรศาสตร์ กล่าวถึงข้อเรียกร้องให้ครม./นายกฯ รักษาการณ์พ้นจากตำแหน่งว่า สภาพขณะนี้ นายกฯ ทูลเกล้ายุบสภาและมีผลใช้บังคับแล้ว กำหนดวันเลือกตั้งแล้วคือ 2 ก.พ.57 ก่อนจะยุบสภามีข้อเสนอมาจากบุคคลจำนวนหนึ่งให้ตั้งนายกฯ คนกลาง โดยขอให้นายกฯ ทูลเกล้ายุบสภา หลังจากนั้นให้ลาออกจากการเป็นรักษาการณ์นายกฯ บางคนบอกให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ บางคนบอกให้ครม.ออกจากรักษาการณ์ทั้งคณะ เพื่อให้เกิดสภาพสุญญากาศ เมื่อเกิดสภาพแบบนี้ให้มีการทูลขอนายกฯ โดยให้พระมหากษัตริย์ใช้พระราชอำนาจตามมารตรา 7 แต่งตั้งคนกลาง

"บางท่านแนบเนียนกว่า ซับซ้อนกว่า คือ ให้ ส.ว. สรรหาบุคคลที่ได้รับการยอมรับ โดยให้ประธานวุฒิสภาทูลเกล้าฯ ให้กษัตริย์แต่งตั้ง ในทางกฎหมายเรื่องนี้ชัดเจนแล้วว่าข้อเสนอดังกล่าเวป็นไปไม่ได้"

วรเจตขยายความว่า เป็นไปไม่ได้ด้วยเหตุผลหลายประการ คือ 1.บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ไม่มีที่ใดเขียนให้กษัตริย์มีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งนายกฯ ได้ ประเพณีที่กษัตริย์จะแต่งตั้งนายกฯ ได้เองยังไม่เกิดขึ้นจนเรียกได้ว่าเป็นประเพณี เพราะต้องมีการทำซ้ำหลายครั้ง จนทำให้คนสำนึกว่าถูกต้องตามกฎหมายแล้วจึงแปรสภาพเป็นกฎหมายให้ต้องปฏิบัติการ

หากมองถึงจุดกำเนิด มาตรา 7 ก็จะเห็นว่ากำเนิดจากธรรมนูญชั่วคราวที่ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยเกิดขึ้นครั้งแรกในธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราว พ.ศ. 2502 ซึ่งเกิดจากการทำรัฐประหารของสฤษดิ์  ธนะรัชต์ ธรรมนูญดังกล่าวมี 20 มาตราเท่านั้น ที่เขียนแบบบมาตรา 7 เพราะธรรมนูญนั้นมีข้อความสั้น อาจเกิดปัญหาแล้วเกิดความสงสัย ผู้ทำรัฐธรรมนูญชั่วคราวจึงเขียนแบบนี้ ต่อมาก็บัญญัติแบบนี้เกือบตลอด รวมถึงรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้รัฐธรรมนูญเป็นฉบับยาว การใช้มาตรา 7 ใช้ในฐานเป็นบทบัญญัติสำรอง เปิดช่องสำหรับกรณีที่มีปัญหาทางรัฐธรรมนูญแล้วองค์กรใดก็ตามที่ต้องวินิจฉัยก็ค้นหากฎหมายทางประเพณีขึ้นมาวินิจฉัยได้ เรียกว่า เอาไว้อุดช่องว่างกฎหมายลายลักษณ์ ไม่ใช่แหล่งอำนาจให้เอาไปใช้ ยิ่งกว่านั้นมาตรานี้ยังไม่สามารถใช้ได้ตามอำเภอใจแต่ต้องสอดคล้องกับประชาธิปไตยด้วย เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะบัญญัติมาตราใดให้ตีขัดกับหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญได้ นอกจากนี้เหตุการณ์นี้เคยปรากฏแล้วปี 2549 พระมหากษัตรย์เคยมีพระราดำรัสไว้ว่าไม่สามารถใช้ได้

วรเจตน์กล่าวว่า ประเด็นสำคัญคือ อาจมีคนบอกว่าจะทำอย่างไรในเมื่อยุบสภาแล้ว ตามหลักการเวลายุบสภา ต้องเป็นการยุบเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ฝ่ายบริหารหรือกษัตริย์ไม่สามารถทำตามคำแนะนำของนายกฯ ที่จะยุบโดยไม่เลือกตั้งได้ ข้อเสนอผู้ชุมนุม จริงๆ คือข้อเสนอให้ยุบสภาเพื่อไม่ให้เกิดการเลือกตั้ง ช่วงเวลานี้มีความพยายามบีบนายกฯ ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เพื่อจะได้อ้างว่า ครม.ที่รักษาการพ้นสภาพแล้ว มีอธิการแห่งหนึ่งบอกว่าสมัยรัฐบาลทักษิณเมื่อปี 2549 หลังยุบสภาแล้วก็เกิดสภาพนี้ ฝ่ายค้านบอยคอต ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งนั้นเป็นโมฆะ (คูหาเลือกตั้ง) ต่อมาทักษิณก็ออกจากรักษาการณ์นายกฯ เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง ข้อเท็จจริงคือ เป็นการลาพักการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกฯ รักษาการ แล้วให้รองนายกฯ ทำหน้าที่แทน แต่ระหว่างตรา พ.ร.ฏ.เลือกก็เกิดรัฐประหาร ดังนั้น ไม่เคยมีสุญญากาศเกิดขึ้นจริง

"ปัจจุบันหากจะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นจริง คุณยิ่งลักษณ์ทำได้แค่พักการปฏิบัติหน้าที่ มอบหมายงานให้รองนายกฯ คนถัดไป รักษาการนายกฯ เป็นไปตามลำดับจนหมด ครม. แม้ไม่เหลือให้ ครม.ซักคนแล้ว ก็ให้ข้าราชการสูงสุดในกระทรวงขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เพื่อให้มีการเลือกตั้ง เป็นการรอให้ประชาชนตัดสินใจ ไม่มีช่องทางใดๆ ให้เกิดนายกฯ คนนอกเพื่อแก้ปัญหานี้ได้ ข้อเสนอนี้ไม่เคารพลักเกณฑ์ในทางรัฐธรรมนูญ โดยพื้นฐานแล้วทำให้เกิดความชะงักงันของระบบ ไม่มีฐานทางหลักวิชารองรับ เป็นการตีความให้เกิดทางตัน"  

"ถ้าจะมีคนบอกว่ามีนายกฯ รักษาการมา เพื่อให้ดำรงชั่วคราวก็ไม่มีประโยชน์ เพราะต้องมีการจัดการเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน เว้นแต่ผู้เสนอนั้นมีเผยจิต ไม่ต้องการให้เกิดการเลือกตั้ง การเสนอเช่นนี้จึงเป็นการผลักประเทศไปสู่หุบเหวหายนะ ทำให้คนจำนวนมากไม่พอใจที่มีคนภายนอกมากแทรกแซง ทำให้เกิดกาประท้วงปะทะกันได้"

ในทางความเป็นจริง ประเทศไทยเคยผ่านสภาพนี้มาแล้วในสมัยของทักษิณ เพราะฝ่ายที่คาดว่าจะแพ้การเลือกตั้งอาจทำทุกวิถีทางที่ไม่นำไปสู่การเลือกตั้ง ทำให้เกิดการขัดขวางไม่ให้เกิดการเลือกตั้ง ซึ่งทำได้หลายอย่าง คือ 1. ทำเหมือนที่เคยทำเมื่อปี  2549 ใช้กำลังทหารยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 แต่ก็เคยทำมาแล้ว 2.ใช้กลไกทางกฎหมายเข้าดำเนินการซึ่งเกี่ยวพันกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาส.ว.กำหนดให้มาจากการเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ในทางกฎหมายคำวินิจฉัยนี้อาจกล่าวได้ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญเสียเอง เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ศาลทุกศาลต้องวินิจฉัยชี้ขาดคดีไปตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ แต่คดีนี้ไม่เป็นไปตามกฎหมายปรากฏความบกพร่องมากมาย โดยฉพาะอำนาจเหนือคดี เป็นคำวินิจฉัยที่เสียเปล่า ไม่มีผลบังคับ แต่องค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช. ก็อาจนำผลคำวินิจฉัยนี้เป็นฐานในการกล่าวหาผู้ลงมติแก้รัฐธรรมนูญเรื่องที่มาส.ว. และอาจสั่งให้มีการหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ อย่างไรก็ดี ตอนนี้การสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นไปไม่ได้แล้วเพราะยุบสภาไปแล้ว ส.ส.พ้นจากตำแหน่งหมดแล้ว แต่ในทางปฏิบัติเท่าที่ผ่านมา ปปช.น่าจะไต่สวนเพื่อถอดถอนต่อไปโดยอ้างว่าจะตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี และจะเหลือปัญหากรณีเดียวคือ กรณีนายกฯ ในฐานะคนนำเรื่องทูลเกล้าฯ จะถูกถอดถอนด้วยเหรือไม่ จะสั่งให้หยุดรักษาการหรือไม่ โดยส่วนตัวเห็นว่าทำไม่ได้ แต่แม้ทำได้ รองนายกฯ คนอื่นก็ต้องทำต่อ ดังนั้นในทางกฎหมายการให้ ครม.รักษาการล้มไปนั้น เป็นไปไม่ได้ในทางกฎหมาย

"นายกฯ ได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญจนสุดหนทางแล้ว ไม่สามารถกระทำการเป็นอย่างอื่นได้อีก หากยุติการปฏิบัติหน้าที่ก็ถือว่าฝ่าฝืน มาตรา 181 ของรัฐธรรมนูญ ในทางการเมืองเท่ากับ ครม.เองไม่รักษาระบอบรัฐธรรมนูญให้เดินต่อ การยุบสภาจึงเป็นการใช้อำนาจสุดท้ายทางกฎหมาย แล้วให้ไปวัดกันในสนามเลือกตั้ง ใครมีมวลมหาประชาชนกี่คนก็จะทราบกันในการเลือกตั้ง การขัดขวางการเลือกตั้งจะทำให้ประเทศไทยไม่เหมือนเดิมอีอกต่อไป"

 สมัชชาปกป้องประชาธิปไตยนี้เกิดขึ้นเพราะต้องการให้สังคมเห็นอีกด้านหนึ่งซึ่งเราเห็นว่าถูกต้อง ขณะที่ข้อเสอ ทอป. ขาดฐานทางรัฐธรรมนูญรองรับ ไม่ถูกต้อง

"เวลานี้องค์กรทางการเมืองทั้งหมดต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ครม.ต้องรักษาการต่อไป ไม่ใช่เฉพาะการไปสู่การเลือกตั้งอย่างเดียว แต่รักษาการเพื่อให้ระบบเดินไปได้ ถ้าเลิกจะเป็นปัญหากับระบบ การรักษาการจึงไม่ได้เป็นไปเพื่อพรรคการเมืองเท่านั้น แต่เป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่มากกว่านั้น คือภารกิจในการรักษาระบบไว้ให้เดินไปข้างหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือดหรือหายนะที่จะเกิด หากครม.ไม่รักษาระบบเอาไว้" 

"สื่อคงเห็นแล้วว่าอะไรคือทางต้องเดิน ต้องทำให้เกิดฉันทามติเรื่องนี้แล้วมุ่งหน้าไปสู่การเลือกตั้ง อยากปฏิรูปแบบไหน อย่างมีสภาประชาชนอย่างไร ว่ากันหลังเกิดการเลือกตั้งขึ้น นี่เป็นหนทางเดียวที่จะนำประเทศออกจากวิกฤต"

สภาประชาชน ถอดโมเดลมุสโสลินี
 

ปิยบุตร  แสงกนกกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงประเด็นที่มาและผลกระทบทางกฎหมายของการเกิดสภาประชาชน ว่า กปปส.อธิบายว่า เวลานี้รัฐสภารัฐบาลเป็นโมฆะเพราะไม่ยอมรับอำนาจศาล อำนาจกลับมาสู่ประชานตามมาตรา 3 เลยและจะใช้อำนาจตั้งสภาประชาชนขึ้นมาและให้มีนายกฯ พระราชทานด้วย นักวิชาการบางคนบอก "ขาเข้ามาตรา 3 แล้วขาออกคือมาตรา 7"

ที่อ้างมานั้นไม่พบเห็นว่า รัฐบาลหรือรัฐสภาไม่ยอมรับอำนาจศาลแต่อย่างใด เพียงแต่ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยกรณีแก้รัฐธรรมนูญเรื่องที่มาส.ว.เพียงเรื่องเดียว และคำวินิจฉัยนี้ก็มีประเด็นปัญหาสำคัญคือ การรับคดีโดยปราศจากอำนาจอย่างสิ้นเชิง ขาดเหตุผลรองรับในเกือบทุกประเด็น ดังนั้น จะไปเอาเหตุนี้มากล่าวว่า รัฐบาลและรัฐสภาเป็นโมฆะยังไม่ได้ ต่อให้รัฐบาลป็นโมฆะจริง อำนาจจะกลับสู่ประชาชนตามมาตรา 3 (อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย) ได้อย่างไรก็ไม่ใช่แนวทางของ กปปส. เพราะปวงชนชาวไทยมีจำนวนมากและจะแสดงออกซึ่งการใช้อำนาจนั้นได้ย่างไร รัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้ทำได้หลายวิธี คือ 1.การออกเสียงเลือกตั้ง 2.การออกเสียงประชามติ 3.ใช้อำนาจผ่านองค์กรของรัฐซึ่งมีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน โดยมาตรา 3 กำหนดไว้ว่าพระมหากษัตริย์ใช้อำนาจนั้นผ่านรัฐสภา ครม.และศาล ฉะนั้น อำนาจอธิปไตยนี้ไม่ใช้จะใช้อย่างไรก็ได้ มีแค่ 3 วิธีเท่านั้น

กปปส.อธิบายว่า เวลานี้อำนาจเป็นของเขาแล้วจะใช้อำนาจเอง ระบบรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ไม่มีที่ไหนบอกว่าใช้อำนาจโดยตรงตั้งสภาประชาชนขึ้นมาได้เลย

"เมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญทั้งฉบับแล้ว เกิดได้ด้วยวิธีเดียวคือ แก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดสภาประชาชน แล้วดีไซด์รูปแบบออกมา ไม่มีหหนทางอื่น หนทางอื่นก็คือ นอกระบบ คือ ฉีกรัฐธรรมนูญหรือรัฐประหาร ดังนั้น ที่กปปส.เสนอ เขาเกาะมาตรา 3 เพื่อบกว่ายังเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่จริงๆ แล้วใช้วิธีการนอกรัฐธรรมนูญทั้งนั้น"  

สภาประชาชนนั้นมีนักวิชาการยกตังอย่างหลายกรณี  เช่น กรณีปี 1789 ประเทศฝรั่งเศส หลังฐานันดรที่ 3 รวมตัวกันให้สภานั้นเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ, เยอรมันในสมัยไวมาร์เปลี่ยนระบบกษัตริย์เป็นสาธารณรัฐ, เหตุการณ์ยุโรปตะวันออก เช่น โปแลนด์ ที่เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย แต่การเปรียบเทียบดังกล่าวผิดฝากผิดตัว ดังนี้ 1.ตัวอย่างที่ยกมาทั้งหมดโดยเฉพาะยุโรปตะวันออกเปลี่ยนผ่านจากระบบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์สู่ระบบรัฐเสรีประชาธิปไตย แต่ปัจจุบันที่อ้างกัน เราเป็นเสรีประชาธิปไตยอยู่แต่กำลังจะเปลี่ยนเป็นระบอบเป็นอะไรก็ไม่รู้ 2.วิธีการเปลี่ยนแปลงจากต่างประเทศเหล่านั้นคือการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงจากระบอบการเมืองหนึ่งเป็นอีกอันหนึ่ง

"แต่ของไทย กปปส.ยังไม่กล้าพูดชัดเจนว่า สิ่งที่ตัวเองทำอยู่คือการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง อันใหม่คืออะไร เขาก็ยังไม่พูดถึง แต่สิ่งที่ทำคือการเปลี่ยนแปลงระบอบ การเปลี่ยนแบบนี้โดยใช้วิธีการลุกขึ้นสู้ จุดตัดที่ถือว่าสมบูรณ์เรียบร้อยว่าระบอบใหม่เข้ามาแทนแล้ววัดกันตรงไหน ทุกวันนี้จุดตัดนั้นยังไม่เกิด แต่คุณสุเทพฯ พยายามอยู่"  

อีกประเด็นหนึ่งคือ ที่มาของสภาประชาชน ทาง กปปส. ก็ยังไม่ตกผลึกว่าจะมาจากไหน มีใครบ้าง แต่มีจุดร่วมตรงกันว่าสภานี้ไม่มาจากเลือกตั้ง แต่แต่งตั้งจากหลายวิชาชีพ สภาแบบนี้เกิดขึ้นในสมัยอิตาลี คือ การขึ้นสู่อำนาจของมุสโสลินี มีคนประท้วง  มีคนชุดดำยึดสถานที่ต่างๆ จนสุดท้ายกษัตริย์ยอมให้มุสโสลินีซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยเป็นนายกฯ เมื่อมุสโสลินีเข้าสู่อำนาจก็กฎหมายหลายฉบับ ที่สำคัญ คือ เปลี่ยนสภาผู้แทนราษฎรเป็นสภาวิชาชีพแล้วเอาทั้งพวงนี้ไปทำประชามติว่าเอาหรือไม่เอา วิธีการแบบนี้เกิดขึ้นแล้วที่อิตาลี สำหรับจุดที่ยึดอำนาจได้เด็ดขาดคือ การเอาคณะกรรมการฟาสซิสต์ที่เป็นองค์กรนอกระบบ ตั้งมาเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มีบทบาทเป็นคนเลือกผู้จะมาเป็นนายกฯ ประธานสภา ตลอดจนกษัตริย์องค์ต่อไป

"สิ่งที่กปปส. ทำลอกมาจากฟาสซิสม์ ไม่ใช่เสรีประชาธิปไตย"

ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สมัชชาปกป้องประชาธิปไตยเปิดให้ประชาชนทั่วไปสมัครเป็นสมาชิกหรือร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ได้ โดยส่งชื่อมาทางอีเมล์ afdd.thailand@gmail.com  หรือสามารถเข้าไปที่แฟนเพจ สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย ทั้งนี้ สมัชชายืนอยู่บนจุดยืน 3 ประการ คือ เคารพกติการประชาธิปไตย เข้าสู่การเลือกตั้ง และไม่มอบอำนาจให้คนกลาง 

เตือนสติคณาจารย์ไทย

ศ.พิเศษ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิบการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ่านจดหมายว่าด้วย พันธกิจผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประชาชนไทย อาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน สำเนาถึงนายนรนิต เศรษฐบุตร ประธานสภามหาวิทยาลัย ระบุว่า สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองยืดเยื้อยาวนานกว่าทศวรรษ หลังรัฐประหาร 2549 ความขัดแย้งในครั้งนี้ไม่ใช่เพียงชนชั้นนำและกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่ม แต่คือความขัดแย้งของการเมืองมวลชนที่ต่างฝ่ายต่างมีผู้สนับสนุนมากมายหลายล้านคน ขณะเดียวกันความขัดแย้งนี้ก็ได้มีการนำเสนอความคิดในการแก้ปัญหาทางการเมืองจากหลากหลายกลุ่มความคิด จากนักวิชาการมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยอ้างหลักจากต่างประเทศสนับสนุนความคิดและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของตน ในบรรดาข้อเสนอต่างๆ บางเรื่องได้มีการบิดผันทั้งหลักการและข้อเท็จจริงบางประการ จนดูหมิ่นเหม่จะเป็นอนาธิปไตย อนิติธรรม อนิติรัฐ

ข้อเสนอทางวิชาการบางเรื่อง แทนที่จะนำเสนอทางแก้ปัญหากลับกลายเป็นปัญหาในตัวมันเอง และมีแนวโน้มเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ความขัดแย้งมีมากขึ้นด้วย บรรดาผู้บริหารหลายท่านที่เป็นส่วนหนึ่งในการเคลื่อนไหวดูประหนึ่งยืนตรงข้ามกับหลักนิติธรรม นิติรัฐ ประชาธิปไตยและการทำในนามมหาวิทยาลัยก็หาได้ผ่านความเห็นชอบจากประชาคมแต่อย่างใด มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้ สติปัญญา เป็นของชาติ ของส่วนรวม มหาวิทยาลัยหรือผู้บริหารไม่ควรนำไปเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคล หมู่คณะหรือชนชั้น

สำหรับข้อเสนอกับรัฐบาลเพื่อให้ผ่านวิกฤตนี้ เห็นว่า ต้องประกาศจัดออกเสียงประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ คืนอำนาจการตัดสินใจให้ประชาชน และยืนยันในความสำคัญของการรักษาประชาธิปไตยตามวิถีทางรัฐสภา แบบนานาอารยประเทศ

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โฉมหน้าศักดินามหาวิทยาลัย กรณี ทปอ.กับสังคมประชาธิปไตย

Posted: 09 Dec 2013 11:55 PM PST


ภาพจากผู้จัดการออนไลน์

 

เสาหลักของชนชั้นนำสังคมไทยเสาหนึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือ สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เป็นโรงงานผลิตบุคลากรป้อนตลาดแรงงานได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน รวมไปถึงการสร้างสถานะอันสูงส่งราวกับเทวสถานอันศักดิ์สิทธิ์ มหาวิทยาลัยยังเป็นศูนย์กลางความรู้ของโลกสมัยใหม่ที่มาแทนราชสำนัก วัดอารามหลวง กระทั่งราชบัณฑิตสภา ต่อมากลายเป็นราชบัณฑิตยสถานหลังปฏิวัติสยาม 2475

การเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยในบริบทสังคมไทย
ลักษณะเฉพาะของสังคมไทย หลังการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ก็คือ มหาวิทยาลัยเกิดขึ้นรับใช้มวลชนพร้อมไปกับผลิตบุคลากรป้อนระบอบใหม่ อย่างมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเกิดขึ้นปี 2477 จากนั้นก็ยกระดับโรงเรียนที่สอนวิชาชีพเฉพาะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยในช่วงคณะราษฎรเรืองอำนาจ ในปี 2486 เช่น  มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น มหาวิทยาลัยมหิดล) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร

ในช่วงการพัฒนาประเทศเกิดมหาวิทยาลัยระดับภูมิภาคขึ้นเช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2507 มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2509 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ปัตตานี เป็นแห่งเดียวที่ไม่ได้ชื่อจังหวัดตั้งเป็นชื่อมหาวิทยาลัยในยุคนี้) 2511 อันเป็นการขยายโอกาสสู่ภูมิภาคต่างๆ ในระลอกแรก ยุคนี้ยังเกิดสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ในปี 2509 และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ทั้ง 3 วิทยาเขต ในปี 2514 นั่นคือ เจ้าคุณทหารลาดกระบัง, ธนบุรี และพระนครเหนือ นอกจากนั้นหลังจากการปิดตัวลงของมหาวิทยาลัยตลาดวิชาอย่างธรรมศาสตร์ในทศวรรษ 2490 การเกิดขึ้นของ มหาวิทยาลัยรามคำแหงและมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชในปี 2514 ก็สร้างความใหม่ให้กับระบบการศึกษาแบบตลาดวิชาขึ้น เพียงเวลาอีกไม่กี่ปีก็เกิดมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตรที่มีฐานสำคัญอยู่ที่วิชาชีพครู ในปี 2517

จะสังเกตเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 2511 เป็นต้นมา ชื่อมหาวิทยาลัยเริ่มผูกอยู่กับพระนามชนชั้นนำแล้ว ผิดกับช่วงก่อนหน้านั้นที่ชื่อผูกกับวิชาชีพและความเป็นจังหวัดศูนย์กลางของภูมิภาค มหาวิทยาลัยเหล่านี้จึงเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่กลายเป็นมหาวิทยาลัยชั้นครีมของประเทศที่เยาวชนทั้งประเทศต่างแย่งชิงที่นั่งเพื่อเข้ามาแสวงหาโอกาสของชีวิตทั้งในกรุงเทพฯ และในภูมิภาค ด้านหนึ่งคืออุตสาหกรรมศึกษาต่อเนื่องจากระดับมัธยมปลาย ธุรกิจกวดวิชา หอพัก บันเทิง ฯลฯ แต่อีกด้านหนึ่งแล้วมันคือ แซงจูรี่ของปัญญาชน ทั้งหมดคือ การก่อตั้งของมหาวิทยาลัยหลักก่อน 14 ตุลาคม 2516 กล่าวคือ กลุ่มบัณฑิตไม่น้อยจากสถาบันดังกล่าวผ่านร้อนผ่านหนาวมาตั้งแต่ยุคเปลี่ยนผ่านสำคัญ อย่างไรก็ตามสำหรับมหาวิทยาลัยรามคำแหงและสุโขทัยฯ อาจเป็นข้อยกเว้นในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยเปิด

ระลอกต่อมา คือ การยกระดับและก่อสร้างมหาวิทยาลัยในภูมิภาคแถว 2 ขึ้นมา หลังจากที่สังคมชนบทขยายตัวจากฐานเศรษฐกิจในประเทศ ส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนผ่านจากวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เช่น มหาวิทยาลัยนเรศวร (พิษณุโลก) มหาวิทยาลัยบูรพา (ชลบุรี) ในปี 2533 ขณะที่ในปีเดียวกัน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่แยกตัวมาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็เกิดขึ้น  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีได้รับการยกระดับจากวิทยาลัยสุรนารี

หลังรัฐประหาร 2534 ก็ได้เกิดมหาวิทยาลัยในหัวเมืองต่างๆ ขึ้นอีกนั่นคือ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (นครศรีธรรมราช) 2535 นอกจากนั้น รกรากของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ยังส่งผลให้เกิดมหาวิทยาลัยอีกจำนวนหนึ่ง คือ มหาวิทยาลัยสารคาม ในปี 2537 มหาวิทยาลัยทักษิณ 2539 ขณะที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (เชียงใหม่) 2539 ยกระดับจากสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการพัฒนาที่เชื่องช้า ทั้งที่มีฐานการเป็นสถาบันการศึกษามาเนิ่นนาน

ความต้องการของท้องถิ่นที่ยังเรียกร้องสถาบันระดับอุดมศึกษายังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ในจังหวัดใดที่มีคอนเนคชั่นกล้าแข็ง ก็สามารถจะตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นมาได้เช่นกัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (เชียงราย) 2541 ขณะที่การจัดตั้งมหาวิทยาลัยอีกโมเดลหนึ่งก็คือ ควบรวมสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในท้องถิ่นต่างๆ ยกตนขึ้นมา ได้แก่ มหาวิทยาลัยนครพนม 2548 ที่รวมเอามหาวิทยาลัยราชภัฏนครพนม, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม วิทยาเขตนครพนม, วิทยาลัยเทคนิคนครพนม, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครพนม, วิทยาลัยการอาชีพธาตุพนม, วิทยาลัยการอาชีพนาหว้า และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครพนม ขณะที่มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ 2548 ได้รวมวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส วิทยาลัยการอาชีพตากใบ วิทยาลัยเทคนิคนราธิวาส และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีเข้าไว้ด้วยกัน ส่วนมหาวิทยาลัยน้องใหม่ล่าสุดก็คือ มหาวิทยาลัยพะเยา 2553 (2538) อันเกิดจากรากฐานของมหาวิทยาลัยนเรศวร

ทั้งหมดนี้คือ มหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกของ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)


กำเนิดที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)

ตามข้อมูลของเว็บไซต์ ทปอ. [1] ชี้ให้เราเห็นว่าการรวมตัวกันมาเป็น ทปอ.นั้นเกิดขึ้นในปี 2515 ช่วงรัฐบาลจอมพลถนอมกิตติขจรนั่นเอง พบว่าช่วงนั้นรัฐบาลกำลังปฏิรูประบบบริหารราชการจัดรูปงานและองค์การของราชการเสียใหม่ให้มีหน่วยงานเท่าที่จำเป็น คณะที่ปรึกษาระเบียบบริหารของคณะรัฐบาลได้เสนอให้โอนมหาวิทยาลัยทั้งหมดไปสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ปัญหาดังกล่าวเป็นที่ขบคิดกันของเหล่าชนชั้นนำปัญญาชนและเห็นว่า สถาบันดังควรร่วมมือกันมากขึ้นจึงจัดตั้งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยนั้น ได้มีการมอบหมายให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ  ณ นคร, ศาสตราจารย์ นพ.สวัสดิ์  สกุลไทย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ยกร่างข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เป็นข้อตกลงว่าด้วยการประชุมอธิการบดี พ.ศ. 2515 ขึ้น

เมื่อร่างเสร็จจึงมีการจัดประชุมขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 29 มกราคม 2515 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ประชุมได้ลงมติรับรองข้อตกลงดังกล่าว และได้มีการลงนามในข้อตกลงโดยผู้แทนจาก 12 สถาบัน คือ

ศาสตราจารย์ มจ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ  จักรพันธุ์  ผู้แทนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ศาสตราจารย์ พิมล  กลกิจ  ผู้แทนมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ศาสตราจารย์ ดร.อรุณ  ศรเทศน์ ผู้แทนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศาสตราจารย์ นพ.บุญสม  มาร์ติน ผู้แทนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ศาสตราจารย์ สัญญา  ธรรมศักดิ์ ผู้แทนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศาสตราจารย์ นพ.กษาน  จาติกวนิช  ผู้แทนมหาวิทยาลัยมหิดล
ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์  ผาสุขนิรันดร์ ผู้แทนมหาวิทยาลัยรามคำแหง
ศาสตราจารย์ แสวง  สดประเสริฐ ผู้แทนมหาวิทยาลัยศิลปากร
ศาสตราจารย์ ดร.บัวเรศ  คำทอง ผู้แทนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ศาสตราจารย์ ดร.ชุบ  กาญจนประกร ผู้แทนวิทยาลัยวิชาการศึกษา (ต่อมาคือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ)
ศาสตราจารย์ ดร.สุดใจ  เหล่าสุนทร ผู้แทนสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า

ตามประวัติยังกล่าวว่าในเวลาต่อมาเพิ่มสมาชิกอีก 4 สถาบันซึ่งน่าจะรวม มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่ต่างก็เกิดขึ้นในปี 2533 ในระยะเวลาอันสั้นผู้เขียนไม่สามารถค้นพบว่า ทปอ.มีปฏิบัติการที่ส่งผลต่อสาธารณะในวงกว้างเช่นไรในอดีต แต่ฐานกำลังดังกล่าวจะเห็นถึงเครือข่ายอันแน่นหนาของแวดวงการเมืองปัญญาชน นอกจากนี้กลุ่มมหาวิทยาลัยเหล่านี้ก็ยังมีการเชื่อมความสัมพันธ์ผ่านกิจกรรมอย่างเช่น กีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยที่เริ่มในปี 2513

เดือนกันยายน พ.ศ. 2522 ในการประชุมครั้งที่ 6/2522 ที่ ประชุมได้พิจารณาทบทวนและกำหนดบทบาทของทปอ. ดังนี้ [2]

1) ที่ประชุมอธิการบดีฯ ควรเป็นแหล่งประสานงานส่งเสริมความช่วยเหลือ และการพัฒนามหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น การพัฒนาบุคลากร การร่วมมือพัฒนาคุณภาพ และคุณวุฒิอาจารย์มหาวิทยาลัย โดยไม่ดำเนินการซ้ำซ้อนกับงานของทบวงมหาวิทยาลัย (ทบวงมหาวิทยาลัย ปัจจุบันคือ สกอ.)

2) ที่ประชุมอธิการบดีฯ ควรเป็นองค์กรกลางระหว่างมหาวิทยาลัยของรัฐบาล ช่วยแนะนำให้คำปรึกษาแก่ทบวงมหาวิทยาลัย และรัฐบาลหรือแสดงท่าทีในด้านต่างๆ ให้รัฐบาลได้รับทราบ

3) ที่ประชุมอธิการบดีฯ ควรเป็นองค์กรกำหนดนโยบายในลักษณะการกำหนดท่าที หรือความคิดเห็นกว้างๆ เกี่ยวกับเรื่องที่เป็นผลประโยชน์หรือปัญหาร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย และเสนอความคิดเห็นต่อรัฐบาล ส่วนเรื่องใดทำได้เองก็ร่วมมือร่วมใจให้ 

จนกระทั่งปี 2542 ได้มีการกำหนดตำแหน่งแห่งที่ของตนอีกครั้ง ได้มีการออก ปฏิญญาว่าด้วยพันธกิจและสถานภาพของ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ในศตวรรษใหม่ประกาศเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2542 คาดว่าเป็นการปรับตัวครั้งสำคัญหลังจากที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้นทศวรรษ 2540 มหาวิทยาลัยที่เคยทำหน้าที่เป็นโรงงานผลิตบุคลากรป้อนตลาดแรงงาน จึงค่อยๆหันมาสมาทานหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์อีกครั้งหนึ่ง เงาของชาตินิยมได้ขยายตัวขึ้นในเวลาเดียวกับแสงอาทิตย์ของความชิบหายทางเศรษฐกิจที่แผดแรงกล้า จุดยืนของทปอ.จึงกลับมาสู่ชุมชน ความเป็นไทย คู่ไปกับความร่วมมืออื่นๆด้วย โดยเฉพาะการลุกขึ้นมา "ชี้แนะ" และ "ชี้นำ" สังคม ดังพันธกิจข้อแรกที่กล่าวว่า

ทปอ. จะเพิ่มบทบาทการชี้แนะเชิงนโยบายแก่รัฐบาล และชี้นำชุมชนและสังคมในการแก้ไขปัญหาพัฒนาและ สร้างภูมิคุ้มกันแก่ชุมชนและสังคมเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนด้วยองค์ความรู้จากการศึกษาวิจัยเพื่อมุ่งสู่การพึ่งพาตนเองบนฐานวัฒนธรรมไทยและด้วยสัมพันธภาพที่ดีกับนานาประเทศอย่างมีศักดิ์ศรี

สำนึกทางศีลธรรมความเป็นไทยจึงค่อยเติบโตงอกรากอย่างพิสดารหลังวิกฤตเศรษฐกิจและปฏิญญา ทปอ.ในปี 2542อย่างช้าๆ


เทวสถานสมัยใหม่กับอำนาจเผด็จการ

แม้ว่าการลุกฮือของประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จะมีแกนหลักอยู่ที่นิสิตนักศึกษา โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ไม่ปรากฏชัดนักว่า ทปอ.จะมีบทบาทอะไรต่อรัฐบาลเผด็จการทหาร ไม่เพียงเท่านั้นนอกโครงสร้างมหาวิทยาลัยเราพบว่า สถาบันที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้ล้วนอาศัยสุญญากาศและกระบวนการอำนาจสถาปนาสถาบันต่างๆ ขึ้นมาอย่างน่าสนใจ เช่น การก่อตั้งสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2515 ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 42, การก่อตั้ง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช. หรือ NSTDA)  ซึ่งรวมเอา ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ  (NECTEC – ปรับรูปองค์กรใหม่ให้เฉพาะทางมากขึ้น), ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC)  เมื่อเดือนธันวาคม 2534 หลังรัฐประหารโดยคณะ รสช., การก่อตั้งสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.),  สมัยอานันท์ ปันยารชุนรัฐบาลที่เกิดจากรัฐประหาร หรืออาจจะนับการเกิดขึ้นของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสที่เกิดขึ้นจากรัฐประหารในปี 2549  ดังนั้น องค์กรสถาบันความรู้ในสังคมไทยจึงมีความสัมพันธ์พิเศษกับอำนาจนิยมและเผด็จการอยู่อย่างปฏิเสธไม่ได้ ข้อแก้ตัวทั้งหลายที่เกิดขึ้นจึงมักกล่าวอ้างระบบการเมืองปกติที่ไม่เอื้อต่อการเกิดขึ้นของสถาบันต่างๆ เนื่องจากนักการเมืองไม่เข้าใจ หรืออะไรก็แล้วแต่ การสถาปนาความรู้จึงนิยมทางลัด

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตก็คือ องค์กรความรู้ไม่น้อยก็สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นในรัฐบาลพลเรือนเช่นกัน ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปี 2544 ต้นรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เมื่อเครือข่ายประเวศ วะสียังญาติดีกับนักการเมืองฝั่งนี้อยู่, สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD ในปี 2547 ถือเป็นองค์กรที่รัฐบาลทักษิณได้นวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาให้เป็นที่รู้จักอย่าง TK Park โดย สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) มิวเซียมสยาม โดย สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) TCDC โดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ศสบ.) ฯลฯ


มหาวิทยาลัยที่ไม่ถูกนับ

สถาบันการศึกษาชั้นรองที่เคยเป็นแหล่งผลิตผู้เชี่ยวชาญทางวิชาชีพรับใบประกาศนียบัตร อนุปริญญา กระทั่งปริญญาตรี ได้ปรับตัวอย่างช้าๆ มาเป็นสถาบัน และมหาวิทยาลัย นั่นคือ วิทยาลัยครู ที่กลายมาเป็นสถาบันราชภัฏ ปี 2538 มหาวิทยาลัยราชภัฏปี 2547 ที่มีมากถึง 41 จังหวัด (ก่อนที่บางแห่งจะถูกควบรวมภายหลัง) ขณะที่วิทยาลัยด้านช่างได้ยกระดับเป็น สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลในปี 2532 และยกเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ในปี 2548  ในส่วนนี้ประกอบด้วยวิทยาเขตกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ มหาวิทยาลัยเกิดใหม่เหล่านี้ตามที่สำรวจจากเว็บไซต์ ทปอ. ไม่ถูกนับเป็นสมาชิก


ทปอ.เปิดหน้าสู้รัฐบาล

ไม่ใช่เรื่องธรรมดาที่ ทปอ.ที่เป็นประดุจสภาผู้ทรงภูมิที่มีสมาชิกจาก 27สถาบันจะออกหน้าคัดค้านรัฐบาล จริงอยู่ว่ารัฐบาลเพื่อไทยก็มิได้เป็นรัฐบาลที่ใสบริสุทธิ์ การไม่ชอบการชังรัฐบาลนี้ด้วยเหตุผลหลายประการเป็นสิ่งที่พอเข้าใจได้ แต่ที่น่าสังเกตก็คือ หลังจากที่รัฐบาลใต้เงาของทักษิณ ชินวัตรตั้งแต่ไทยรักไทย พลังประชาชนและเพื่อไทย จะถูกตรวจสอบ ถ่วงดุลด้วยอิทธิฤทธิ์จากหลายฝ่ายทั้งการรัฐประหารลุ่นๆ โดยทหาร, ตุลาการภิวัตน์โดยอำนาจศาล, สมาชิกวุฒิสภา, พรรคฝ่ายค้าน อีกกลุ่มอิทธิฤทธิ์ที่ก้าวออกมาในที่แจ้งก็คือ ทปอ.นั่นเอง

การค้นข่าวเก่าที่สุดที่จะหาได้ก็คือ จดหมายเปิดผนึกของชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาของกฏหมายอาญา มาตรา 112 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2555 อย่างไรก็ตาม [3] จุดเริ่มต้นของหมากเกมนี้ปรากฏชัดหลังจากต้นเหตุสำคัญคือ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ...  ปัญหาของร่าง พ.ร.บ.นี้ มีตั้งแต่การยัดไส้ร่าง พ.ร.บ. , การผ่านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ 3 วาระรวดตอนก่อนรุ่งเช้าวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 ที่ทำให้คนลุกขึ้นมาต้านร่าง พ.ร.บ.นี้อย่างแข็งขัน ทุกวันนี้จำนวนไม่น้อยก็คงภาพโพรไฟล์ใน FB เป็นการต้านนิรโทษกรรมนั้นอยู่ เช่นเดียวกับบางมหาวิทยาลัยยังดีเลย์รณรงค์ต่อต้านร่างนี้อยู่เช่นกัน

วันที่ 4 พฤศจิกายน เวลา 13.30 น. ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ณ โรงแรมดุสิตธานี ได้ออกแถลงการณ์ ทปอ.เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม [4] โดยมีสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะประธาน ทปอ.พร้อมด้วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยในกลุ่ม ทปอ.ร่วมแถลงข่าว ต่อต้านร่าง พ.ร.บ.โดยให้เหตุผลหลักอยู่ที่การต่อต้านคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นแคมเปญที่พวกเขารณรงค์อยู่ โดยเหตุผลไม่ได้โต้เถียงเรื่องเกี่ยวกับประเด็นอื่นๆ ที่สำคัญไม่แพ้กันเลย เช่น การนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมทางการเมือง

"การที่ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม มีเนื้อหาดังกล่าวข้างต้น เท่ากับเป็นการสร้างมาตรฐานที่ไม่ถูกต้องขึ้นในสังคมไทย เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า การทุจริตคอร์รัปชันมิใช่สิ่งร้ายแรง และในท้ายที่สุดก็สามารถหลุดพ้นจากความรับผิดได้ด้วยการนิรโทษกรรม การนิรโทษกรรม การกระทำความผิด ในเรื่องทุจริตคอร์รัปชันจะทำให้การต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันในสังคมไทยในปัจจุบันไม่ประสบผลสำเร็จ และจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับการกระทำในลักษณะนี้ต่อไปในอนาคต
ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เห็นว่า การรณรงค์ต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่สำคัญ ดังจะเห็นได้จากการจัดโครงการ "บัณฑิตไทยไม่โกง" ขึ้น ที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตลอดปี พ.ศ.2556 การรณรงค์ดังกล่าว จะประสบความสำเร็จได้ดีต่อเมื่อมีตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า คนที่กระทำการทุจริตคอร์รัปชันจะต้องถูกลงโทษโดยไม่มีการนิรโทษกรรม

ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ดังมีรายนามต่อไปนี้ จึงขอคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ฉบับนี้ร่วมกัน" 
[5]

อีกสัปดาห์ต่อมาวันที่ 11 พฤศจิกายน ทปอ.ก็ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 เรียกร้องรัฐบาลรับผิดชอบ มีความจริงใจ ใช้สันติวิธีแก้ปัญหาและวอนทุกฝ่ายงดใช้ความรุนแรงโดยที่ยังมีฐานอยู่ที่การต่อต้านคอร์รัปชั่นนั่นเอง [6]  กระนั้นผู้เขียนไม่สามารถค้นเจอแถลงการณ์ฉบับที่ 3 แต่พบข่าวว่าในวันที่ 29 พฤศจิกายน ทปอ.เสนอให้รัฐบาลยุบสภา และส่งจดหมายเวียนเสนอให้มหาวิทยาลัยปิดทั้งประเทศ ในวันที่ 5-10 สอดคล้องกับที่มีการหยุดต่อเนื่องอยู่แล้ว [7]

ในฉบับที่ 4 วันที่ 2 ธันวาคม ได้เสนอสิ่งที่มีปัญหาอย่างยิ่งและทำให้สถานการณ์ตึงเครียดไปอีกนั่นคือ ประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงพร้อมทั้งเสนอให้ยุบสภาและให้รัฐบาลลาออกเพื่อให้มีรัฐบาลกลางรักษาการณ์ก่อนจะถึงการเลือกตั้ง [8] เรียกได้ว่าบีบรัฐบาลไปจนสุดทาง ซึ่งด้วยปัจจัยอีกมหาศาลอื่นในที่สุด รัฐบาลก็ถูกกดดันจนตัดสินใจประกาศยุบสภาเช้าวันที่ 9 ธันวาคม 2556

นับว่าบทบาทที่ออกมาเล่นเต็มตัวไม่ว่าจะเป็นในนามของ ทปอ. หรืออธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจกล่าวได้ว่าทำให้ ทปอ.กลายเป็นองค์กรการเมืองที่ออกมาสู่ที่แจ้งอย่างเต็มตัว เช่นเดียวกับองค์กรอื่นๆ ก่อนหน้านี้ที่เคยแอบซ่อนตัวเองอยู่อย่างอดทน

ที่น่าสังเกตคือ เมื่อเทียบกับยุคหลังราชประสงค์ 2553 ที่พวกนักสันติวิธี ผู้รู้ ราษฎรอาวุโส (ใครเป็นคนตั้งให้กันแน่ทุกวันนี้ผู้เขียนก็ยังงงถึงที่มา) อดีตนายกฯ ดาหน้าออกมาสร้างความชอบธรรมใน คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ [9] คนเหล่านี้หายหัวไปหมดแทบไม่ปรากฏออกสื่อ ไม่แน่ว่ากำลังเก็บตัวหรือซุ่มคิดอะไรอยู่หลังม่านเราก็ไม่ทราบได้ แต่ที่แน่ๆ บทบาทของ ทปอ.ที่ยังนึกว่าตนเองเป็นเทวสถานอันศักดิ์สิทธิ์อยู่ ได้เข้ามาสร้างความชอบธรรมให้กับม็อบขย่มรัฐบาลอย่างปฏิเสธไม่ได้


ปัญหาความโปร่งใสของตำแหน่งอธิการบดี การยึดโยงกับประชาคมภายในมหาวิทยาลัย และความเหลื่อมล้ำ

ในด้านหนึ่งตำแหน่งอธิการบดีนั้นถือว่าเป็นพื้นที่ขับเคี่ยวทางการเมืองเป็นอย่างยิ่ง การที่อดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ พงศ์เทพ เทพกาญจนาออกมาเตือนให้ สภามหาวิทยาลัยควรมีความโปร่งใสในการสรรหาอธิการบดี ก็ยิ่งเป็นตัวชี้วัดได้ดี [10] ไม่เพียงเท่านั้นข่าวฉาวของอธิการบดีก็มีอยู่เรื่อยๆ ทั้งในระดับมหาวิทยาลัยชั้นนำสมาชิก ทปอ. และมหาวิทยาลัยนอก ทปอ. ยังไม่ต้องนับว่า ตำแหน่งอธิการบดีหลายแห่งในประเทศไทย ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และตัดขาดความมีส่วนร่วมของประชาคมในมหาวิทยาลัยนั้นๆ

ความเหลื่อมล้ำของสถาบันต่างๆ โดยโครงสร้างนั้นมีอยู่จริง ไม่นับต้องพูดถึงความเหลื่อมล้ำภายในองค์กรที่จัดฐานันดรศักดิ์ ข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย ลูกจ้างชั่วคราว ที่เป็นปัญหาอย่างมากในฐานะขององค์กรแนวดิ่ง ไม่มีสหภาพแรงงานเฉกเช่นประเทศในโลกสมัยใหม่ทั้งหลาย  ในที่นี้ขอปิดท้ายด้วยงบประมาณที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้รับการจัดสรร ตั้งแต่งบประมาณปี 2549-2556 ทำให้เห็นความแตกต่างของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในระดับครีมสมาชิกทั้ง 27 แห่ง มีความแตกต่างอย่างไรกับมหาวิทยาลัยที่ไม่ถูกนับ ช่องว่างดังกล่าวแสดงถึงความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นรูปธรรมยิ่ง มหาวิทยาลัยใหญ่จึงได้รับทั้งอภิสิทธิ์ทางเกียรติยศ เงินทอง และบทบาททางการเมือง ซึ่งที่ถือว่ามีปัญหามากในสายตาของผู้เขียนคือ ทำตัวเป็นผู้ไม่รู้ร้อนเกี่ยวกับหลักการอยู่ร่วมกันโลกสมัยใหม่ และระบอบประชาธิปไตย.


ตารางที่ 1   งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2549, 2553, 2556 ของ 27 มหาวิทยาลัย
ที่เป็นสมาชิก ทปอ.

 

มหาวิทยาลัย

ปี 2549

ปี 2553

ปี 2556

หมายเหตุ

จุฬาลงกรณ์ฯ

4,603,134,000

3,708,977,900

5,325,192,500

 

เกษตรศาสตร์

2,713,963,200

2,870,028,300

3,917,298,400

 

ขอนแก่น

2,835,428,000

3,099,287,200

3,712,444,000

 

เชียงใหม่

2,862,714,500

4,135,889,000

5,299,092,800

งบก้าวกระโดด

ทักษิณ

599,415,400

512,057,400

926,807,400

 

ธรรมศาสตร์

1,802,949,300

2,024,839,600

2,543,653,100

 

นเรศวร

1,271,297,000

1,822,197,900

1,651,239,400

 

บูรพา

612,424,400

985,888,500

1,215,947,500

 

มหาสารคาม

793,182,000

720,645,600

896,133,100

 

มหิดล

6,060,641,000

9,027,319,200

10,361,578,400

มากที่สุด

แม่โจ้

583,958,500

678,085,400

839,721,300

 

รามคำแหง

1,015,741,000

1,085,769,100

1,268,514,100

 

ศรีนครินทรวิโรฒ

1,370,721,100

2,118,610,700

2,558,941,800

 

ศิลปากร

998,528,400

921,515,100

1,125,409,500

 

สงขลานครินทร์

2,499,405,000

3,267,602,900

4,171,014,200

งบก้าวกระโดด

สุโขทัยธรรมาธิราช

640,340,000

634,995,600

731,083,200

 

อุบลราชธานี

396,812,200

493,710,100

574,656,400

 

พระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง

861,822,500

1,091,902,400

1,371,513,200

 

พระจอมเกล้าฯ พระนครเหนือ

711,662,000

1,060,972,700

1,453,342,500

 

พระจอมเกล้าฯ ธนบุรี

717,983,000

941,229,200

1,153,896,200

 

นิด้า

366,353,400

429,822,000

633,901,700

 

เทคโนโลยีสุรนารี

658,376,600

767,778,500

1,045,677,000

 

วลัยลักษณ์

452,735,000

564,219,800

737,840,100

 

แม่ฟ้าหลวง

360,105,900

485,802,400

880,481,900

 

นราธิวาสราชนครินทร์

100,000,000

514,798,900

461,561,800

น้อยที่สุด

นครพนม

 

382,024,900

473,694,200

เพิ่งแยกตัวออกมา

พะเยา

   

883,310,800

เพิ่งแยกตัวออกมา

ที่มา : พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2549, 2553, 2556

ปีงบประมาณ 2549 อยู่ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร, 2553 ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ2556 ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ตารางที่ 2   งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2549, 2553, 2556 ของ 27 มหาวิทยาลัยที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ทปอ. (สุ่มตัวอย่าง)

 

มหาวิทยาลัย

ปี 2549

ปี 2553

ปี 2556

หมายเหตุ

ราชภัฏกาญจนบุรี

120,633,100

169,147,400

275,626,300

 

ราชภัฏกาฬสินธู์

84,701,000

76,708,700

117,010,600

น้อยที่สุดในราชภัฏ?

ราชภัฏจันทรเกษม

182,280,200

259,616,400

304,720,100

 

ราชภัฏชัยภูมิ

56,509,800

69,082,700

155,513,300

 

ราชภัฏเชียงใหม่

224,420,000

330,791,100

560,712,100

มากที่สุดในภูมิภาค?

ราชภัฏนครปฐม

167,670,000

196,680,500

410,999,400

 

ราชภัฏนครราชสีมา

195,169,400

233,386,000

429,437,900

 

ราชภัฏนครศรีธรรมราช

116,444,400

253,433,100

486,437,700

 

ราชภัฏนครสวรรค์

171,111,500

217,311,400

379,892,600

 

ราชภัฏบุรีรัมย์

141,372,400

210,827,300

296,902,200

 

ราชภัฏเพชรบูรณ์

104,815,500

215,586,700

292,740,200

 

ราชภัฏภูเก็ต

126,711,200

149,939,100

311,253,500

 

ราชภัฏยะลา

135,957,900

212,811,600

280,660,900

 

ราชภัฏลำปาง

158,915,500

183,661,900

295,935,400

 

ราชภัฏศรีษะเกษ

49,646,000

161,663,000

307,832,700

งบก้าวกระโดด

ราชภัฏสวนดุสิต

214,986,400

396,713,200

682,810,400

มากที่สุดในราชภัฏ?

ราชภัฏสวนสุนันทา

203,130,000

392,334,300

638,520,400

 

       

 

สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน

80,569,800

80,333,100

157,847,200

 

เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

770,088,000

820,966,500

1,106,628,800

 

เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

637,758,800

833,813,500

1,300,839,500

 

เทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก

326,319,300

454,375,400

647,881,200

 

เทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย

427,882,600

700,641,000

888,759,900

 

เทคโนโลยีราชมงคลสุวรณภูมิ

416,346,400

577,746,900

752,883,600

 

เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

632,975,600

851,657,900

1,303,361,800

 


ที่มา : พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2549, 2553, 2556

ปีงบประมาณ 2549 อยู่ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร, 2553 ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ2556 ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

 

เชิงอรรถ

[1] ประชาไท. จดหมายเปิดผนึกจากอดีตอธิการบดี (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ) ถึงประธานที่ประชุมอธิการบดี: ขอเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาของ ม.112 . http://prachatai.com/journal/2012/06/41193 (21 มิถุนายน 2556)
[2] ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย. "บทบาทและกิจกรรมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย". http://www.cupt-thailand.net/activity.php (10 ธันวาคม 2556)
[3] ประชาไท. จดหมายเปิดผนึกจากอดีตอธิการบดี (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ) ถึงประธานที่ประชุมอธิการบดี: ขอเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาของ ม.112 . http://prachatai.com/journal/2012/06/41193 (21 มิถุนายน 2556)
[4] ASTVผู้จัดการออนไลน์. เอกฉันท์! มหา'ลัยกลุ่ม ทปอ.ค้านนิรโทษฯ ศิริราชรอหารือมหิดล ยันไม่ห้ามแสดงความเห็น. http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000137387 (4 พฤศจิกายน 2556)
[5] ASTVผู้จัดการออนไลน์. ทปอ.ค้านร่าง กม.นิรโทษฯ ชี้สร้างมาตรฐานผิดให้สังคมไทย. http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9560000137168 (4 พฤศจิกายน 2556)
[6] ไทยรัฐออนไลน์. แถลงการณ์ 'ทปอ.' ฉบับ 2 วอนรัฐจริงใจแก้ปัญหา. http://www.thairath.co.th/content/edu/382130 (10 ธันวาคม 2556)
[7] สำนักข่าวอิศรา. ทปอ. "อารยขัดขืน" เล็งสั่งปิดมหาวิทยาลัยทั่วปท.5-10 ธ.ค.. http://www.isranews.org/isra-news/item/25503.html (29 พฤศจิกายน  2556)
[8] แนวหน้า. ทปอ.ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 4 เสนอยุบสภา-ตั้งรัฐบาลรักษาการ. http://www.naewna.com/politic/80178 (2 ธันวาคม 2556)
[9] ประชาไท. "อานันท์-ประเวศ" เปิดรายชื่อคณะกรรมการปฏิรูป 19 คน และสมัชชาปฏิรูป 27 คน. http://prachatai.com/journal/2010/07/30255 (8 กรกฎาคม 2553)
[10] ASTVผู้จัดการออนไลน์. "พงศ์เทพ" จี้สภามหา'ลัยมีความโปร่งใสสรรหาอธิการบดี. http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000033605 (19 มีนาคม 2556)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น