โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

นักกฎหมายสิทธิฯ แนะเลือกตั้ง ชี้นายกฯพระราชทานไม่ใช่วิธีทางแห่งรัฐธรรมนูญ

Posted: 11 Dec 2013 11:33 AM PST

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ระบุนายกฯพระราชทานไม่ใช่วิธีทางแห่งรัฐธรรมนูญ แนะใช่กติกาการเลือกตั้งและการแข่งขันเชิงนโยบาย

เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2556 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส) ได้ออกแถลงการณ์เสนอแนะต่อสถานการณ์ทางการเมือง เพื่อวิธีทางแห่งประชาธิปไตย จากที่ได้มีกลุ่มบุคคลหลายกลุ่ม เช่น คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) โดยมีข้อเรียกร้องหลายอย่างเช่น ให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากการรักษาการ ร้องขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน รวมทั้งเรียกร้องการปฏิรูประบอบการเมืองของประเทศนั้น

โดย สนส. มีความเห็นและข้อเสนอแนะต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว ดังนี้

1.นายกรัฐมนตรีพระราชทาน ไม่ใช่วิธีทางแห่งรัฐธรรมนูญ

ตามที่ได้มีข้อเรียกร้อง ขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน โดยอ้างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 7 เป็นเพียงบทอุดช่องว่างของกฎหมาย ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญรองรับไว้เท่านั้น แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติถึงที่มาของนายกรัฐมนตรีไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 171, 172, และ 173 แล้ว ข้อเรียกร้องจึงไม่ต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ อีกทั้งการร้องของนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ก็ไม่ใช่แนวทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยหรือประเพณีแห่งระบอบประชาธิปไตย ที่ต้องยึดถือเจตจำนงร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ

2. ขอให้ทุกฝ่าย มุ่งเข้าสู่วิธีทางแห่งประชาธิปไตย

ระบอบประชาธิปไตย เป็นระบอบที่มาจากเจตจำนงร่วมของประชาชนเพื่อมุ่งไปสู่ผลประโยชน์ของมหาชน แม้เจตจำนงร่วมจะสามารถผิดพลาดได้ แต่เจตจำนงร่วมก็มิอาจถูกทำลายลงได้ การเข้าสู่กติกาการเลือกตั้งและการแข่งขันเชิงนโยบาย จะทำให้ได้ตัวแทนทางการเมืองอันมาจากความเห็นชอบของมหาชน ซึ่งแน่นอนอยู่แล้วว่าต้องมีความขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ระบอบการเลือกตั้งตามวิธีทางแห่งประชาธิปไตย ย่อมสามารถสร้างความไว้วางใจต่อสังคมว่า รัฐบาลจะคุ้มครองประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทย อีกทั้ง ระบอบการตรวจสอบถ่วงดุล ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งการสร้างความเชื่อมั่นว่า รัฐจะไม่กระทำการใดๆอันเป็นการมุ่งไปสู่ผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าผลประโยชน์ของมหาชนรัฐ

ข้อเสนอของฝ่ายที่เรียกร้องให้ใช้แนวทางอื่นๆ นอกจากวิธีทางการเลือกตั้ง ย่อมไม่อาจรับฟังได้ ด้วยเหตุที่ ตัวแทนทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ย่อมมิอาจพิสูจน์เจตจำนงร่วมของประชาชนได้ และตัวแทนดังกล่าวก็ไม่มีหลักประกันแห่งสิทธิใดๆต่อประชาชนว่าจะปกป้องประโยชน์สุขของมหาชน

3. ทุกฝ่ายต้องสร้างเจตจำนงร่วมเพื่อแก้ปัญหาทางการเมือง

เพื่อสร้างแนวทางการปฏิรูปทางการเมือง แต่ละฝ่ายจึงต้องละทิ้งผลประโยชน์ส่วนตน มุ่งตรงไปสู่ผลประโยชน์ของมหาชน เคารพสัญญาประชาคมที่ประชาชนในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ร่วมมอบให้แก่รัฐในฐานะมติมหาชน เพื่อให้รัฐเป็นผู้คุ้มครองประโยชน์สุขของประชาชน องค์กรทางการเมือง ส่วนราชการ องค์กรทางกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ต้องหาข้อตกลงร่วมและให้สัตยาบันในการปฏิรูปการเมือง เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกฝ่ายมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด การปฏิรูปการเมืองจึงจะสะท้อนถึงเจตจำนงร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่มุ่งแต่พิทักษ์ผลประโยชน์ของเสียงส่วนใหญ่หรือกลุ่มคนบางกลุ่ม เพราะรัฐบาลไม่ใช่รัฐบาลของกลุ่มบุคคลเพียงกลุ่มเดี่ยว แต่เป็นรัฐบาลของประชาชน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไฟที่ไม่ยอมมอด ‘PHOS’ นักสาธารณสุขเพื่อสังคมที่ชายแดนใต้

Posted: 11 Dec 2013 11:17 AM PST

ทำความรู้จักกับ 'PHOS' กลุ่มนักสาธารณสุขเพื่อสังคมที่ชายแดนใต้ หวังเป็นกลไกขับเคลื่อน 'สังคมมุสลิมสุขภาพดี' พวกเขาไม่ยอมให้ไฟนักกิจกรรมปัญญาชน ต้องมอดดับลงในวังวนของระบบราชการ

กลุ่มนักสาธารณสุขเพื่อสังคม หรือ "PHOS" เกิดจากการรวมตัวของนักกิจกรรมบางส่วนจากวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดยะลา เมื่อปี พ.ศ.2553 เพราะเห็นว่าสังคมมุสลิมละเลยเรื่องสุขภาพ..... เล็งเด็กนักเรียนตาดีกาเป็นสื่อกลางนำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพดูแลชุมชนต่อไป

มูฮำหมัดอัซมี กาซอ

จุดเริ่มการก่อตัว

กลุ่มนักสาธารณสุขเพื่อสังคม หรือ Public health – officer for social welfare ซึ่งพวกเขาเรียกตัวเองสั้นๆว่า "PHOS" เริ่มก่อตัวเมื่อปี 2553 จากการรวมตัวกันของนักกิจกรรมบางส่วนในชมรมมุสลิมกับสโมสรนักศึกษาชุดที่ 21 ของวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดยะลา

นายมูฮำหมัดอัซมี กาซอ เจ้าพนักงานสาธารณสุขโรงพยาบาลปะนาเระ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ในฐานะประธานกลุ่มนักสาธารณสุขเพื่อสังคม เปิดเผยว่า การรวมตัวครั้งแรกมีสมาชิกประมาณ 10 คน หลังจากนั้นมีคนเข้าร่วมสมทบเรื่อยๆ และค่อยๆ ขยายตัว

PHOS เกิดขึ้นจากเชื้อไฟของความเป็นนักกิจกรรมในสมัยเรียนของนักศึกษาสาธารณสุขบางส่วน หลังจบการศึกษาจากวิทยาลัยแล้วพวกเขามีความรู้สึกว่า ไม่อยากให้ไฟที่ยังเหลืออยู่ต้องดับมอดไป จึงรวมตัวกันอีกครั้งแล้วคิดหากิจกรรมที่จะมอบประโยชน์ให้สังคมบนพื้นฐานความรู้ความสามารถที่พวกเขามีอยู่ เพื่อสานต่ออุดมการณ์การเรียนรู้จากห้องเรียนสู่ชุมชน

สังคมมุสลิมยังละเลยเรื่องสุขภาพ

ระหว่างมองหาและคัดเลือกกิจกรรมอยู่นั้น พวกเขาพบว่า คนมุสลิมในสังคมชายแดนใต้ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมและถูกต้อง ทั้งที่ศาสนาอิสลามให้ความสำคัญและเน้นย้ำในประเด็นนี้อย่างมาก

พวกเขาจึงตัดสินใจโฟกัสไปที่โรงเรียนตาดีกาเป็นพื้นที่ดำเนินกิจกรรม เพราะโรงเรียนตาดีกาเป็นสถาบันพื้นฐานในการเรียนรู้วิชาศาสนาของเยาวชนมุสลิม เป็นจุดศูนย์กลางที่จะแผ่ขยายความรู้สู่ชุมชนได้ไม่ยากอีกด้วย

กิจกรรมการสร้างสังคมสุขภาพดี

นายมูฮำหมัดอัซมี กล่าวว่า พวกเรามาจากวิทยาลัยสาธารณสุข มีความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ จึงคิดนำความรู้ที่มีอยู่ไปดำเนินกิจกรรมที่สร้างสังคมให้มีสุขภาพดี และตั้งชื่อกลุ่มว่า กลุ่มนักสาธารณสุขเพื่อสังคม

กิจกรรมแรกของกลุ่มได้ดำเนินการในปี 2553 คือ กิจกรรมสาธารณสุขสัญจร เป็นกิจกรรมวันเดียวจบ ตามโรงเรียนตาดีกาใน ต.ตะโละไกรทอง อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี และที่บ้านบาตูปูเต๊ะ ต.ลิดล อ.เมือง จ.ยะลา

เป็นการจัดกิจกรรมฐานให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพแก่เด็ก เช่น ฐานตรวจสุขภาพร่างกาย ฐานยาเสพติด ฐานการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ฐานยาสามัญประจำบ้าน เป็นต้น

นอกจากการให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพแล้ว ยังพยายามนำความรู้ทางศาสนาแทรกเพิ่มเติมด้วย เพื่อให้เด็กได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพตามทัศนะอิสลาม ทั้งนี้การจัดกิจกรรมต่างๆ พยายามให้อยู่ในบรรยากาศที่เป็นกันเองและสนุกสนาน

หลังจากนั้น PHOS ก็เริ่มจัดค่ายเยาวชนรักสุขภาพ ระยะเวลา 2 วัน 3 คืน ที่บ้านทอน ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส และที่บ้านเหนือ ต.โคกโพธิ์ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี

เป็นการจัดกิจกรรมฐานให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพแก่เด็กเช่นกัน แต่ใช้เวลามากขึ้นเพื่อเพิ่มเนื้อหาในกิจกรรมมากขึ้น และช่วงเย็นทีมงานก็ได้ไปเดินพบปะชาวบ้านและพูดคุยเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ

เป็นกิจกรรมครั้งแรกที่ทำให้ทีมงานได้รู้ว่า บางครั้งชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึงการบริการของสาธารณสุขที่มีอยู่ในชุมชน ซึ่งนับเป็นบทเรียนสำคัญในการทำงานของนักสาธารณสุขอย่างพวกเขา

จากนั้นในช่วงปี 2554 - 2555 PHOS เริ่มจัดค่ายเสริมสร้างการเรียนรู้สู่การดูแลสุขภาพในชุมชน ระยะเวลา 5 วัน 4 คืน ที่บ้านห้วยบ่อน ต.บ้านโหนด อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา และที่บ้านปะลุกาแปเราะ ต.ปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส

ลักษณะกิจกรรมคล้ายกับค่ายเยาวชนรักสุขภาพ แต่เพิ่มกิจกรรมให้หลากหลายมากขึ้น โดย PHOS ได้แบ่งทีมงานเป็น 2 ทีม คือ ทีมจัดกิจกรรมเด็กและทีมลงพื้นที่เยี่ยมชาวบ้าน

สำหรับทีมจัดกิจกรรมเด็กทำหน้าที่อบรมจริยธรรมและการปฏิบัติศาสนกิจต่างๆ โดยแทรกความรู้เกี่ยวกับสุขภาพเข้าไปด้วย พยายามเชื่อมโยงถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพในอิสลาม เช่น เมื่อพูดถึงเรื่องการดูแลความสะอาด เราก็ยกบทบัญญัติในอิสลามที่กล่าวถึงประเด็นนี้ด้วย เพื่อทำให้เด็กตระหนักว่าศาสนาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตเพื่อให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดี

ส่วนทีมลงพื้นที่เยี่ยมชาวบ้าน ก็จะแบ่งสายเดินไปตรวจสุขภาพเบื้องต้นแก่ชาวบ้าน เช่น วัดความดันโลหิต พร้อมพูดคุยแนะนำการดูแลสุขภาพ เช่น การกินอาหาร การออกกำลังกาย และอื่นๆ

"เราพบว่า การลงพื้นที่ให้ความรู้ตามชุมชนแบบเข้าถึงในบรรยากาศแบบอิสระและเป็นกันเอง ทำให้เราได้รับรู้สภาพความเป็นจริงของชาวบ้าน ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่สำคัญสำหรับการพัฒนาองค์ความรู้และรูปแบบในการทำงานกิจกรรมสาธารณสุขต่อไป" นายมูฮำหมัดอัซมี กล่าว

 

"ตาดีกา" คือความหวังแห่งอนาคต

ปัจจุบัน PHOS กำลังดำเนินโครงการ "ตาดีกาส่งเสริมสุขภาพ" เพื่อให้โรงเรียนตาดีกาเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพของชาวมุสลิมในชุมชนอย่างเต็มรูปแบบ โดยหวังว่าจะให้นักเรียนตาดีกาเป็นสื่อกลางนำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพไปเผยแพร่ในชุมชนต่อไป

ที่สำคัญเด็กคือผู้ใหญ่ในอนาคต ดังนั้นหากทำให้เด็กมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและเหมาะสมแล้ว ก็นับเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงต่อสังคมอีกด้วย

สำหรับโครงการ "ตาดีกาส่งเสริมสุขภาพ" ได้ดำเนินการเป็นที่แรกไปแล้วที่บ้านปอเยาะ ต.ลำใหม่ อ.เมือง จ.ยะลา

โครงการนี้เริ่มจาก PHOS ได้ลงไปพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อหาแนวทางการพัฒนาร่วมกัน จากนั้นได้ลงไปช่วยจัดพื้นที่บริเวณโรงเรียนตาดีกาให้เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพ เช่น ติดตั้งบอร์ดให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ พูดคุยกับครูตาดีกาเพื่อให้เพิ่มกิจกรรมดูแลสุขภาพเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน เช่น ให้เด็กแปรงฟันหลังกินข้าวเที่ยงเหมือนในโรงเรียนประถม

นอกจากนั้น ยังจัดงานให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพครั้งใหญ่แก่คนในชุมชนด้วย ในงานมีนิทรรศการสุขภาพ จัดบู๊ทให้ข้อมูลด้านสุขภาพ เช่น บู๊ทตรวจฟัน บู๊ทนวดแผนไทย ฯลฯ เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพมาบรรยายให้ความรู้ เชิญทีมแพทย์จากสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุขมาให้บริการตรวจสุขภาพชาวบ้าน และเชิญกลุ่มต่างๆ จากภาคประชาสังคมมาร่วมงานด้วย เช่น ศูนย์ทนายความมุสลิมยะลา กลุ่มสตรี กลุ่มช่างภาพชายแดนใต้ ฯลฯ

นายมูฮำหมัดอัซมี เปิดเผยว่า ช่วงแรกของการดำเนินกิจกรรมของ PHOS ได้รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิโกมลคีมทอง จากนั้นเมื่อ PHOS มีกิจกรรมบางส่วนที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น จึงได้เข้าไปคุยกับกลุ่มผู้นำชุมชนเพื่อเสนอกิจกรรมที่สามารถทำร่วมกันได้โดยทางชุมชุนหางบประมาณมาสนับสนุนส่วนหนึ่ง แต่การจัดกิจกรรมในช่วงหลังๆ ใช้งบประมาณของชุมชนทั้งหมด โดย PHOS ลงไปทำกิจกรรมเท่านั้น

ช่วยสมานแผลจากความรุนแรง

นายมูฮำหมัดอัซมี กล่าวว่า การลงพื้นที่จัดกิจกรรมของ PHOS บางครั้ง มีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในพื้นที่มาระบายความรู้สึกให้ทีมงานฟังด้วย แสดงว่าชาวบ้านไว้วางใจพวกเรา และการรับฟังของพวกเราก็ทำให้เขารู้สึกคลายความอัดอั้นลงได้

"บางครั้งเรามีโอกาสได้ดูแลบาดแผลทางร่างกายที่ยังมีอยู่ ได้พูดให้กำลังใจเขา และหากเรามองเห็นแนวทางช่วยเหลือในเรื่องอื่นๆ เราก็จะแนะนำไป เช่น การติดต่อศูนย์ทนายความมุสลิมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมด้านกฎหมาย ทำให้รู้สึกว่าบางครั้งเราก็มีโอกาสช่วยสมานแผลให้เขาได้บ้าง" นายมูฮำหมัดอัซมี กล่าว

พัฒนาเครือข่ายสื่อเพื่อสาธารณะ

แผนงานของ PHOS อีกแผนหนึ่ง คือ การพัฒนาพื้นที่การสื่อสารกับสาธารณะในโลกออนไลน์ โดยทีมพัฒนาสื่อของ PHOS โดยพยายามส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพใน 3 รูปแบบ คือ ผลิตคลิปวีดิโอเผยแพร่ทางเว็บไซต์ Youtube การโพสต์รูปบนเว็บไซต์ facebook และนำเสนอข้อมูลข่าวสารผ่านบล็อค http://am–phos.blogspot.com

ทั้งนี้ทีมพัฒนาสื่อจะให้สื่อทั้ง 3 รูปแบบเชื่อมโยงถึงกัน เพื่อประสิทธิภาพในการสื่อสารกับสาธารณะได้กว้างขวางมากขึ้น

ขณะนี้ทีมพัฒนาสื่องานของ PHOS ได้นำเสนอข้อมูลมาเผยแพร่ในบล็อค http://am–phos.blogspot.com ไปบ้างแล้ว เช่น สุขภาพวิถีอิสลาม การแพทย์แผนนบี(ศาสดา) ประวัติบุคคลสำคัญเกี่ยวกับการแพทย์อิสลาม การออกกำลังกาย อาหารและโภชนาการ สมุนไพร แพทย์แผนไทย ทันตสุขภาพ ข้อมูลโรคภัยไข้เจ็บ ข่าวสารเกี่ยวกับสุขภาพของอาเซียน เป็นต้น

นอกจากนี้ บล็อค http://am–phos.blogspot.com ยังใช้เป็นพื้นที่ในการกระจายผลงานและประชาสัมพันธ์การดำเนินกิจกรรมของ PHOS ด้วยอีกทางหนึ่ง

"เราเพิ่งอัพเดทช่องทางการสื่อสารบนอินเตอร์เน็ตอย่างจริงๆ จังๆ เมื่อสองเดือนที่ผ่านมานี้เอง คงต้องใช้เวลาเพื่อพัฒนาอีกสักระยะ คาดว่าถ้าสำเร็จด้วยดี ก็จะทำให้การดำเนินกิจกรรมของ PHOS ขยายไปในวงกว้างยิ่งขึ้น" นายมูฮำหมัดอัซมี กล่าว

ผลที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจของนักสาธารณสุขเพื่อสังคม คือ ภาพการนำความรู้ที่เรียนมาไปสู่ชาวบ้าน ทำให้ผู้คนในชุมชนได้รู้และเข้าใจเกี่ยวกับดูแลสุขภาพมากขึ้น

"เราหวังว่า ถ้ากิจกรรมที่ทำอยู่กับเยาวชนสามารถขยายตัวในวงกว้างและมีฐานที่แข็งแกร่ง ก็จะทำให้สังคมของเรามีแกนนำในการดูแลเรื่องสุขภาพแก่ชุมชนในอนาคต" นายมูฮำหมัดอัซมี กล่าว

บูรณาการความรู้นอกกรอบระบบราชการ

นางสาวดารุนี มะแอ พร้อมเพื่อนหญิงกลุ่มนักสาธารณสุขเพื่อสังคมทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ในโลกความเป็นจริง การทำงานของระบบราชการ บางครั้งเต็มไปด้วยความกดดัน ความเครียดและไม่เป็นอิสระ แต่เมื่อแบ่งเวลามาทำงานกับ PHOS ด้วย ทำให้รู้สึกว่าได้ทำงานในพื้นที่แห่งความจริง บรรยากาศการทำงานเป็นธรรมชาติ และได้ใช้ความรู้ความสามารถที่มีได้อย่างอิสรเสรี

แม้ PHOS ทำให้เวลาส่วนตัวของพวกเขาลดลงไป แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดจิตสำนึกของการเป็นนักสาธารณสุขเพิ่มขึ้น

นางสาวดีนา จินดาเพ็ชร รองประธานกลุ่มนักสาธารณสุขเพื่อสังคม กล่าวว่า การเข้าร่วมกิจกรรมของ PHOS ทำให้เห็นการบูรณาการความรู้ทางด้านสาธารณสุขที่มาใช้ได้จริงในชุมชน เพราะทำให้มองเห็นความสัมพันธ์ของความรู้ด้านต่างๆ เช่น เทคนิคเภสัชกรรม ทันตสาธารณสุข แพทย์แผนไทย เวชกิจฉุกเฉิน สาธารณสุขชุมชน ฯลฯ ว่ามีส่วนช่วยเกื้อหนุนการเสริมสร้างสุขภาพของผู้คนในชุมชนอย่างไร

ทั้งนี้ เพราะคนที่ทำงานในโรงพยาบาลก็จะทำหน้าที่แต่ของตัวเองเท่านั้น เป็นการทำงานที่แยกส่วน ทำให้มองไม่เห็นการใช้ศาสตร์ความรู้ด้านอื่นๆมาทำงานร่วมกัน จึงมองไม่เห็นว่าส่วนประกอบเล็กๆ ที่เชื่อมต่อกันกลายเป็นภาพใหญ่นั้นเป็นอย่างไร การทำงานแบบบูรณาการกัน จึงค่อนข้างเห็นได้ยากในระบบการทำงานแบบแยกส่วน

นางสาวดีนา กล่าวว่า "ในปีนี้ไม่มีรุ่นน้องเข้าร่วมกลุ่ม แต่ก็ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคของการทำงานของ PHOS สมาชิกกลุ่มที่มีอยู่ส่วนใหญ่ยังคงทำงานร่วมกันต่อไปเรื่อยๆ ถ้ายังสามารถทำได้ คงเป็นเพราะความผูกพันที่ทำงานร่วมกันมาหลายปี"

นางสาวอัฮลาม อาแว เลขานุการกลุ่มนักสาธารณสุขเพื่อสังคม กล่าวว่า "การทำงานตรงนี้ทำให้เราได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาได้อย่างเต็มที่ และดีใจที่ได้ทำ เมื่อรู้สึกสนุก มันก็ไม่เหนื่อย"

ปัจจุบันเครือข่ายสมาชิกกลุ่มนักสาธารณสุขเพื่อสังคม ต่างมีหน้าที่รับผิดชอบงานประจำตามหน่วยงานสาธารณสุขต่างๆ ประจำอำเภอและตำบล ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล) การที่พวกเขายังออกมาร่วมกันทำงานต่อไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย ก็เป็นความหวังที่จะทำให้ภาพสังคมสุขภาพดีที่พวกเขาวาดกันไว้ เกิดขึ้นได้ในอนาคต

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทำไม ‘สถิติความรุนแรงจึงสำคัญกับสันติภาพ’ เรียนรู้จากอาเจะห์ผ่าน World Bank

Posted: 11 Dec 2013 11:02 AM PST

คุยกับ 'แอเดรียน มอเรล' ผู้เชียวชาญการเก็บข้อมูลสถิติความรุนแรงในประเทศอินโดนีเซีย ชี้แม้ไม่อาจทำให้เกิดสันติภาพได้โดยตรง แต่เป็นข้อมูลเบื้องต้นสู่การเจรจาและการเยียวยาผลกระทบ ดังตัวอย่างในอาเจะห์

12 ธ.ค.2556 ในโอกาสที่นายแอเดรียน มอเรล ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสังคมในโครงการเกี่ยวกับความขัดแย้งและการพัฒนา ของธนาคารโลก(World Bank) ประจำสำนักงานกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย มีภารกิจหลักคือการทำระบบการมอนิเตอร์(ติดตาม)ความรุนแรงระดับชาติในประเทศอินโดนีเซียเดินทางมาประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) อย่างเข้มข้น เรื่องการเก็บข้อมูลสถิติความรุนแรงในชายแดนใต้กับศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ระหว่างวันที่ 25 – 29 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ จึงถือโอกาสสัมภาษณ์แอเดรียน มอเรล โดยมุ่งเป้าไปที่การเก็บสถิติความรุนแรงในพื้นที่ซึ่งเป็นหนึ่งบทบาทสำคัญของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ที่เรียกกันเล่นๆ ว่าภารกิจนับศพนี้ จะมีส่วนในการสร้างสันติภาพได้อย่างไร

แอเดรียน มอเรล 

ทำไมธนาคารโลกจึงเข้าไปจัดทำระบบมอนิเตอร์ความรุนแรงระดับชาติ ของประเทศอินโดนีเซีย ?

ประเทศอินโดนีเซียในปี ค.ศ.1998 เป็นช่วงที่อดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต ลงจากอำนาจ ซึ่งในช่วง 3-4 ปีแรกของการลงจากอำนาจ เกิดความวุ่นวายตามพื้นที่ต่างๆในประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านจากระบบที่ซูฮาร์โตใช้ปกครองประเทศ (เผด็จการ) มาเป็นระบอบประชาธิปไตย

ซึ่งเกิดความขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มต่างๆ เช่น ในเมืองซูลาเวซี มาลูกู กาลีมันตัน อาเจะห์ เป็นความขัดแย้งในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะความขัดแย้งที่เกิดจากความต้องการแบ่งแยกดินแดน แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ในเมืองเหล่านี้ความขัดแย้งที่เกิดจากความต้องการแบ่งแยกดินแดนลดลงอย่างมาก ยกเว้นในเมืองปาปัวที่ยังคงมีความต้องการแบ่งแยกดินแดนอยู่

แต่มีความขัดแย้งในรูปแบบอื่นๆ เพิ่มขึ้น เช่น ความขัดแย้งจากกรณีพิพาทในเรื่องทรัพยากรหรือที่ดิน ความขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มน้อยในเมืองต่างๆที่ต้องการเรียกร้องสิทธิบางอย่าง และความขัดแย้งที่คนกลุ่มใหญ่ไปคุกคามกลุ่มบุคคลที่เล็กกว่า เป็นต้น

ความรุนแรงดังกล่าวจึงทำให้รัฐบาลอินโดนีเซียมีความกังวลมาก จึงขอให้ธนาคารโลกเก็บข้อมูลสถิติความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะค้นหาสาเหตุและวางแนวทางป้องกันความรุนแรงในอนาคต โดยเป้าหมายเพื่อต้องการพัฒนาประเทศและสังคมให้มีความเจริญมากยิ่งขึ้น

โดยปกติธนาคารโลกมีการโครงการที่จะพัฒนาทางสังคมในประเทศอินโดนีเซียอยู่แล้ว ดังนั้นการเก็บข้อมูลสถิติความรุนแรง จึงเป็นโครงการหนึ่งที่จะช่วยทางรัฐบาลอินโดนีเซีย

ธนาคารโลกมีโครงการที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนอินโดนีเซียทุกหมู่บ้าน เพื่อที่จะพัฒนาทุกหมู่บ้าน ชื่อโครงการ National Program For Community Empowerment แต่บางครั้งโครงการนี้เป็นตัวที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในชุมชน เพราะเกิดความขัดแย้งกันในเรื่องเงินทุนที่ทางโครงการให้ ความขัดแย้งจึงส่งผลกระทบจากต่อโครงการและส่งผลกระทบต่อชาวบ้านด้วย

ดังนั้นธนาคารโลกกับรัฐบาลอินโดนีเซียจึงมาศึกษาว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านจะส่งผลกระทบต่อการช่วยเหลือของธนาคารโลกอย่างไรบ้าง และความช่วยเหลือของธนาคารโลกนั้นทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างไร ปกติทุนที่ธนาคารโลกให้สามารถช่วยพัฒนาสังคมได้ก็จริงขณะเดียวกันจะมีผลกระทบแง่ลบด้วย

ดังนั้นทางรัฐบาลอินโดนีเซียกับธนาคารโลกต้องการให้เกิดความแน่ใจว่า โครงการดังกล่าวจะไม่ทำให้สถานการณ์แย่ลงกว่าเดิม ผมจึงต้องเข้ามาเก็บข้อมูล เพื่อให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร

ข้อมูลสถิติความรุนแรงในช่วงสงครามและหลังสงครามระหว่างอาเจะห์กับรัฐบาลอินโดนีเซียมีความแตกต่างกันอย่างไร ?

สงครามในอาเจะห์ เป็นสงครามทีมีมายาวนานประมาณ 30 ปี มีคนเสียชีวิตประมาณ 15,000 – 30,000 คน หนีภัยสงคราม (Displaced) 500,000 คน โดยเฉพาะในปี ค.ศ. 2000 - 2004 ที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงหรือเป็นการต่อสู้อย่างทารุณ

ต่อมาปี ค.ศ.2005 มีการเซ็นสัญญาณสันติภาพระหว่างขบวนการ GAM (Gerakan Aceh Merdeka) กับรัฐบาลอินโดนีเซีย ซึ่งหลังจากมีข้อตกลงสันติภาพแล้ว ความรุนแรงก็ลดลงอย่างมากถ้าเทียบกับจังหวัดอื่นๆของประเทศอินโดนีเซีย

แต่กลับมีความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นความรุนแรงในลักษณะการแข่งขันทางการค้า การทำมาหากิน การเลือกตั้ง และการแย่งชิงอำนาจทางเศรษฐกิจกับอำนาจทางการเมือง

ปัจจุบันนี้ GAM แยกออกเป็น 2 กลุ่ม และมีการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างทั้ง 2 กลุ่ม จึงเป็นเหตุให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น มีการปล้นปืน มีการจับตัวเรียกค่าไถ่ ยาเสพติด สาเหตุเพราะอดีตสมาชิกGAM บางส่วนที่มีอยู่ไม่มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรบางอย่างได้

"แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันความรุนแรงในอาเจะห์มีไม่มากนักหากเทียบกับจังหวัดอื่นๆ แต่ความรุนแรงก็ยังมีอยู่ จึงยังจำเป็นต้องเก็บข้อมูลสถิติความรุนแรงต่อไป เพื่อที่จะค้นหาสาเหตุและแนวทางป้องกันต่อไป"

ข้อมูลสถิติความความรุนแรงดังกล่าว มีส่วนสำคัญอย่างไรกับกระบวนการสันติภาพอาเจะห์ ?

การเก็บข้อมูลสถิติความรุนแรงจะทำให้เห็นถึงปัญหาของระบบบางอย่าง โดยเฉพาะเห็นถึงปัญหาการให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่อดีตสมาชิก GAM ที่ไม่ทั่วถึง อดีตสมาชิก GAM เหล่านั้นจึงต้องก่ออาชญากรรม ทั้งที่การช่วยเหลือเยียวยานั้น เป็นหนึ่งในเงื่อนไขในสัญญาสันติภาพ

"หลังเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิถล่มอาเจะห์ คนทั่วไปคิดว่าความรุนแรงในอาเจะห์สงบแล้ว และภารกิจต่างๆที่ให้ความช่วยเหลือชาวอาเจะห์ขององค์กรต่างๆในระหว่างสงครามก็จบลงไปด้วย แต่จากการเก็บข้อมูลพบว่ายังมีเหตุรุนแรงอยู่ ซึ่งอาจมาจากการเยียวยาอดีตสมาชิก GAM อย่างไม่ทั่วถึงหรือไม่ หรือยังมีปัญหาอื่นๆที่นำไปสู่ความรุนแรงได้"

เมื่อมีตัวเลขข้อมูลสถิติที่บ่งบอกว่ายังมีความรุนแรงอยู่อีก ทั้งรัฐบาลอินโดนีเซีย องค์กรภาคประชาสังคม และต่างประเทศจึงต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับอาเจะห์อีกครั้งและมากขึ้น

จากการศึกษา พบว่า 1 ใน 2 ของทุกพื้นที่ความขัดแย้งทั่วโลกหลังจากมีข้อตกลงสันติภาพไปแล้ว 5 ปี จะเกิดความรุนแรงลักษณะเดียวกับที่อาเจะห์ขึ้นอีก ซึ่งคนส่วนใหญ่คิดว่าเมื่อมีข้อตกลงสันติภาพทุกอย่างก็จบ แต่จากการเก็บข้อมูลสถิติความรุนแรง ทำให้รู้ว่าความรุนแรงที่มีอยู่เกิดขึ้นได้อย่างไร ดังนั้นการเก็บข้อมูลของผมกับการเก็บข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ จะสามารถป้องกันเหตุร้ายต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปได้

ปาตานีได้รับประโยชน์การเก็บข้อมูลสถิติความรุนแรงของหน่วยงานของคุณ ?

ผมเริ่มเก็บข้อมูลสถิติเหตุรุนแรงในอาเจะห์หลังจากมีข้อตกลงสันติภาพแล้ว แต่ก็มีการเก็บข้อมูลย้อยหลังไปก่อนหน้านั้นอีก 5 ปีด้วย โดยเก็บข้อมูลจากที่ต่างๆ ที่มีระบบการเก็บข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น สื่อต่างๆ หนังสือพิมพ์ และข้อมูลจากทหาร เป็นต้น

การเก็บข้อมูลภายหลังมีข้อตกลงสันติภาพทำได้ง่ายกว่า แต่การเก็บข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้เป็นการเก็บข้อมูลระหว่างเกิดความขัดแย้งมีความเปราะบางอย่างมาก อีกทั้งมีความละเอียดอ่อนสูง และต้องทำงานบนพื้นฐานของความเป็นกลางมากที่สุด ผมเองได้เรียนรู้จากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ด้วย ซึ่งเป็นการทำงานหนักมาก และทำงานได้ดีพอสมควร เพราะศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สามารถสร้างความสัมพันธ์ได้ดีกับแหล่งข่าว

"ผมคิดว่า การเซ็นสัญญาณสันติภาพในปาตานีน่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และการเก็บข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้นั้น มีความสำคัญมากพอสมควร สำหรับคนที่ต้องการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ ดังนั้นข้อมูลเหล่านี้จึงมีประโยชน์อย่างแน่นอน โดยเฉพาะเพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงในพื้นที่"

หลังจากลงพื้นที่ดูวิธีการเก็บข้อมูลสถิติความรุนแรงของทหารกับของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้แล้ว ท่านคิดว่าสถิติเหล่านี้จะมีส่วนต่อกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่อย่างไร?

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มีความพยายามอย่างมากที่จะนำสันติภาพกลับมาสู่พื้นที่ ส่วนฝ่ายทหารก็ยอมรับการเจรจาสันติภาพพอสมควร ด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และพยายามทำงานกับองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่มากขึ้น โดยมีเป้าหมายให้เกิดสันติภาพในพื้นที่

การทำงานระหว่างทหารกับองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ มีลักษณะช่วยกันสร้างความเข้าใจสถานการณ์มากขึ้น โดยไม่เกี่ยวกับประเด็นการเมือง คิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่จะนำไปสู่การเจรจาสันติภาพได้

"การเก็บข้อมูลไม่ใช่ตัวที่จะทำให้เกิดสันติภาพได้โดยตรง แต่ช่วยได้ในแง่ที่ทุกฝ่ายที่ขัดแย้งกันได้นำข้อมูลเหล่านี้มาพิจารณาร่วมกันว่า สถานการณ์จริงเป็นอย่างไร แล้วมาทำข้อตกลงกัน โดยทั้ง 2 ฝ่ายต้องถอยคนละก้าวและตัดประเด็นการเมืองออกไป จะช่วยให้การเจรจานำไปสู่สันติภาพได้ง่ายยิ่งขึ้น"

จากประสบการณ์ที่ทำงานความขัดแย้งในอาเจะห์ อะไรคือทางออกของความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้?

ผมไม่ทราบพลวัตของความขัดแย้งของที่นี่ว่าเป็นอย่างไร แต่จากประสบการณ์ในอาเจะห์ คิดว่ารัฐอาจจะต้องเปิดโอกาสทางการเมืองให้ประชาชนในพื้นที่มากขึ้นด้วยการกระจายอำนาจหรือกำหนดเป็นเขตปกครองพิเศษ (Autonomy) พร้อมๆกับกระจายทรัพยากรให้ประชาชนมากขึ้น    

ภูมิหลัง "แอเดรียน มอเรล"

นายแอเดรียน มอเรล เป็นชาวฝรั่งเศส ปัจจุบันเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสังคมในโครงการเกี่ยวกับความขัดแย้งและการพัฒนาของธนาคารโลก ประจำสำนักงานกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนความพยายามในการสร้างสันติภาพในอินโดนีเซีย รวมทั้งทดลองออกแบบแนวทางแก้ปัญหาความรุนแรงให้กับประเทศอื่นๆ

เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูภายหลังความขัดแย้ง (Post-Conflict) ในพื้นที่ซึ่งมีความเปราะบาง รวมทั้งการวิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้งหรือการประเมินผลกระทบ การมอนิเตอร์(การติดตาม)ความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีส่วนสำคัญในการจัดทำโครงการสนับสนุนระบบการมอนิเตอร์ความรุนแรงในระดับชาติ (National Violence Monitoring System – NVMS, กรุณาดูรายละเอียดในเว็บไซต์ www.snpk-indonesia.com) ตลอดจนจัดทำข้อเสนอแนะในทางนโยบายแก่ผู้คนในท้องถิ่นและรัฐบาลอินโดนีเซีย

นอกจากนี้ เขายังมีความชำนาญด้านการปรับปรุงการป้องกันและการจัดการความขัดแย้งของสังคม โดยมีประสบการณ์ร่วมเวลา 6 ปี ทั้งนี้เป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ทั่วไปและแนะนำเทคนิคการทำงานต่างๆ ให้กับธนาคารโลก (World Bank) รวมทั้งประเทศอื่นๆ เช่น ฟิลิปปินส์ ไทย เมียนม่าร์

ผลงานที่ได้รบการตีพิมพ์

Delivering Assistance to Conflict-Affected Communities: The BRA-KDP Program in Aceh (การส่งมอบความช่วยเหลือสู่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง: โครงการ BRA-KDP ในอาเจะห์)

Community-Based Reintegration in Aceh: Assessing the Impacts (แนวทางการกลับคืนสู่สังคมที่อยู่บนฐานของชุมชนในอาเจะห์: บทประเมินผลกระทบ)

จุลสาร Aceh Conflict Monitoring Updates (กรุณาดูรายละเอียดที่ www.conflictanddevelopment.org)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เพื่อไทยร้อง DSI เอาผิด ‘สุเทพ’ ม.112,113

Posted: 11 Dec 2013 10:53 AM PST

พรรคเพื่อไทยร้องดีเอสไอเอาผิด 'สุเทพ' ฐานหมิ่นพระบรมเดชนุภาพฯและเป็นกบฏ ยื่นกกต.ให้ยุบพรรคปชป.เหตุปลุกระดมประชาชน ขณะที่ 'ธาริต' ยันจะไม่เข้ารายงานตัวตามที่นายสุเทพได้ประกาศเอาไว้

11 ธ.ค.2556 Voice TV รายงานว่า นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทยพร้อมด้วยคณะทำงานฝ่ายกฏหมายเดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ให้ดำเนินคดีกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ที่ได้กระทำการก้าวล่วงพระราชอำนาจ และได้กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112

โดยการสร้างเงื่อนไขใหม่ ปลุกระดมมวลชนให้ล้มล้างรัฐบาลและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองด้วยการกระทำผิดกฏหมาย อันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ รวมถึงได้กระทำผิดตามมาตรา 113 โดยการปลุกระดมมวลชนเดินสายตามท้องถนนทั่วกรุงเทพมหานคร สร้างความเดือดร้อนและทำให้การจราจรติดขัด มีการปิดล้อมสถานที่ราชการหลายแห่ง

อีกทั้งได้กระทำการให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีรักษาการหยุดปฏิบัติหน้าที่ ตามที่แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมได้อ่านแถลงเอาไว้ ทั้งนี้การกระทำของนายกสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำผู้ชุมนุมได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม ประเทศชาติอย่างรุนแรงจึงร้องให้ดีเอสไอได้ดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด

ขณะที่นายธาริต เรียกร้องให้นายสุเทพ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ปฏิบัติตามกฏหมายโดยการเดินทางไปยังศาลอาญา ตามที่อัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องฐานก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป นอกจากนี้นายธาริตยืนยันจะไม่เดินทางไปรายงานตัวต่อนายสุเทพตามที่ได้ประกาศให้ข้าราชการเข้ารายงานตัว เนื่องจากคำประกาศดังกล่าวไม่มีกฏหมายรองรับและขัดต่อรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตามกรมสอบสวนคดีพิเศษกำลังดำเนินการสืบสวนสอบสวนกรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมทำลายทรัพย์สิน และทำให้ทรัพย์สินสูญหายภายหลังจากการชุมนุมที่ศูนย์ราชการของกรมสอบสวนคดีพิเศษว่ามีจำนวนเท่าใด แต่สำนวนคดีต่างๆนั้นยืนยันว่าไม่ได้มีการสูญหาย

นอกจากนี้ยังเปิดเผยว่าทางตำรวจได้รับแจ้งคดีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมของนายสุเทพกว่า 40 คดี ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษจะมีการประชุมในวันที่ 17 ธันวาคมนี้เพื่อรวบรวมหลักฐานว่าจะนำให้คดีดังกล่าวเข้าเป็นคดีพิเศษหรือไม่ 

ยื่น กกต. ให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ เหตุปลุกระดมประชาชน

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง วันเดียวกัน ไอเอ็นเอ็นรายงานว่า นายสิงห์ทอง บัวชุม สมาชิกพรรคเพื่อไทย ได้เข้ายื่นเรื่องขอให้นายทะเบียนพรรคการเมือง พิจารณายุบพรรคประชาธิปัตย์ กรณีที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และพวก ได้กระทำการปลุกระดมประชาชนให้มีการชุมนุมประท้วง ขณะที่ยังไม่ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีการปลุกระดมมวลชนให้มีการยึดสถานที่ราชการ ซึ่งถือเป็นการกระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ขัดต่อรัฐธรรมนูญในหลายมาตรา อาทิ มาตรา 215 มาตรา 216 อีกทั้ง มีการเผาทรัพย์สินของราชการ ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 83 ด้วย

โดยการชุมนุมครั้งนี้ มีการเรียกร้องให้มีการใช้มาตรา 3 และมาตรา7 แห่งรัฐธรรมนูญ ในการจัดตั้งสภาประชาชน โดยที่ไม่มีอยู่ในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมารองรับ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมษนุษยชน ขัอต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง จึงขอให้นายทะเบียนพรรคการเมือง พิจารณายุบพรรคประชาธิปัตย์ ต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จับ 2 ผู้ต้องหาเผารถบัสหน้าราม อ้างแค่ฉกของปัดเอี่ยวม็อบ

Posted: 11 Dec 2013 10:01 AM PST

ตร.ประชุมเร่งรัดสืบสวนสอบสวนคดีฆ่าและวางเพลิงย่านมหาวิทยาลัยรามคำแหง รวม 24 คดี แจงจับกุมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเข้าไปวางเพลิงเผาทรัพย์รถบัสและมีผู้เสียชีวิตได้แล้ว

11 ธ.ค.2556 เฟซบุ๊กแฟนเพจทีมโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ "Policespokesmen" รายงานว่า เวลาประมาณ 10.00 น. พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี ที่ปรึกษา สบ10 ได้ประชุมเร่งรัดสืบสวนสอบสวนคดีฆ่าและวางเพลิงย่านมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อวันที่ 30 พ.ค.- 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อสืบสวนสอบสวนออกเป็น

1. คณะกรรมการด้านการสืบสวน นำโดยพลตำรวจโท หาญพล นิตย์วิบูลย์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค7 และ พลตำรวจตรี รณศิลป์ ภู่สาระ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พร้อมทีมงานจากตำรวจภูธรภาค 7 และตำรวจนครบาล เข้ามาดูแลเรื่องการสืบสวนโดยเฉพาะ

2. คณะกรรมการด้านการสอบสวน นำโดยพลตำรวจเอก เอก อังสนานนท์ ได้เข้ามากำกับดูแลด้วยตนเอง และมอบหมายให้ พลตำรวจตรี วิทยา ประยงค์พันธ์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค7 เป็นหัวหน้ากำกับดูแลเรื่องสำนวนการสอบสวน ดังนี้

2.1 คดีสำคัญ 5 คดี ได้แก่

- คดีที่มีผู้เสียชีวิตจากการถูกยิง 4 คดี และ

- คดีที่มีผู้เสียชีวิตจากเพลิงไหม้ในรถโดยสารจำนวน 1 คดี

2.2 สำหรับคดีอื่นๆที่ได้รับคดีไว้แล้วอีก 19 คดี ได้แก่

- คดีพยายามฆ่ากรณีถูกยิงได้รับบาดเจ็บ 8 ราย

- ทำร้ายร่างกาย 8 ราย

- ทำให้เสียทรัพย์ 2 ราย และ

- วางเพลิง 1 ราย

พล.ตร.อ. จรัมพร สุระมณี ที่ปรึกษาสัญญาบัตร10 แถลงข่าวความคืบหน้าคดีไฟไหม้รถโดยสารปรับอากาศ บริเวณหน้าการกีฬาแห่งประเทศไทย ติดกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง เหตุเกิดเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 1 ธ.ค. ที่ผ่านมาว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเข้าไปวางเพลิงเผาทรัพย์รถโดยสารปรับอากาศ และมีผู้เสียชีวิต โดยภาพจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ปรากฏภาพกลุ่มชายฉกรรจ์ มีลักษณะการสวมใส่เสื้อผ้าตามที่ปรากฏตามภาพข่าว นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ภาพเพิ่มเติมจากพลเมืองดี พบว่าบริเวณโดยรอบรถโดยสารปรับอากาศก่อนที่จะเกิดเพลิงไหม้นั้น มีชายฉกรรจ์อยู่บริเวณดังกล่าวจำนวนนับสิบคน โดยตำรวจได้นำภาพดังกล่าวมาขยายผล จะปรากฎภาพชาย 3 คน คนหนึ่งอุ้มโทรทัศน์ คนที่สองอุ้มเครื่องขยายเสียง และคนที่สาม ถือเครื่องขยายเสียงและชุดไมโครโฟน

ซึ่งจากการสืบสวนติดตาม ทำให้ทราบว่า  ชายฉกรรจ์ทั้ง 3 คน นั้นประกอบด้วย นายเบนซ์ นายต้าร์ นายหรั่งหรือจิมมี่ ซึ่งต่อมาสามารถจับกุมได้ในที่สุด โดย นาย อดิสรณ์ สีจันทร์ผ่อง หรือ นายต้าร์ อายุ 29 ปี ซึ่งจากการตรวจค้นบ้านในซอยวัดเทพลีลา พบเครื่องขยายเสียง ซึ่งเป็นของกลางที่ได้มาจากรถโดยสารปรับอากาศก่อนเกิดเพลิงไหม้ซ่อนไว้ในตุ่ม นอกจากนี้ยังตรวจพบเสื้อผ้า-กางเกงยีนส์ ที่ปรากฎในภาพในวันเกิดเหตุ ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันชัดเจน นอกจากนี้รถจักรยานยนต์ที่พบในภาพ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ไปตรวจยึดเพื่อขยายผล ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่าเข้าไปลักทรัพย์ พร้อมทั้งตรวจพบเสื้อผ้าในวันเกิดเหตุในตู้เสื้อผ้า โดยได้ส่งตัวผู้ต้องหาดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว

ไอเอ็นเอ็นรายงานด้วยว่าอีก 1 คน เป็นเยาวชน โดยทั้ง 2 คน ให้ภาคเสธ ยอมรับว่า เข้าไปร่วมเหตุการณ์และลักทรัพย์จริง แต่ไม่ได้เป็นผู้ลงมือเผารถบัส รวมถึง ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมตั้งแต่แรก

เบื้องต้น ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหา ทั้ง 2 คน ในความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและลักทรัพย์ โดยส่งให้พนักงานสอบสวน สน.บางชัน รับไปดำเนินคดี รวมถึงจะได้ติดตามผู้ร่วมก่อเหตุที่เชื่อว่ามีอีกกว่า 10 คน มาดำเนินคดีต่อไป

ทั้งนี้เนชั่นรายงานด้วยว่า เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 13.00 น. นายอดิสรณ์ มีบ้านอยู่ในซอยรามคำแหง 39 (ซอยวัดเทพลีลา)ได้ชวนนายหรั่ง (เยาวชน) ซึ่งอยู่บ้านใกล้กันซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า เวฟ สีแดง ของตนออกไปซื้อบุหรี่บริเวณหน้า ม.รามฯ และอยากไปดูการชุมนุมด้วย โดยได้ขี่รถไปกดเงินจากตู้เอทีเอ็มที่ปากซอยรามคำแหง 61 หลังจากกดเงินมีกลุ่มวัยรุ่นหลายคนโดนคาดว่าน่าจะเป็นกลุ่มเด็กอาชีวะขี่รถจักรยานยนต์ผ่านมา และชวนไปร่วมทุบทำลายรถบัสซึ่งจอดอยู่ที่หน้าการกีฬาแห่งประเทศไทย นายอดิสรณ์ และนายหรั่ง ได้ร่วมกันขึ้นไปบนรถกับพวกที่กำลังทุบทำลายทรัพย์สินและเผารถ นายอดิสรณ์ และนายหรั่ง ได้ถอดเครื่องเสียงออกจากรถคันดังกล่าวแล้วนำกลับไปไว้ที่บ้าน ต่อมาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมได้พร้อมของกลาง โดยถูกควบคุมตัวสอบสวนอยู่ที่ สน.หัวหมาก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อลงกรณ์ เผย17 ธันวานี้ ปฏิรูปใหญ่ประชาธิปัตย์

Posted: 11 Dec 2013 09:57 AM PST

รอง หน.พรรค เตรียมดันข้อเสนอปฏิรูป ปชป.และข้อบังคับใหม่ ผ่านที่ประชุมใหญ่ ยันยังไมม่เปลี่ยนหัวหน้าพรรค เชื่อปฏิรูปพรรคจะนำสู่การปฏิรูปการเมือง

11 ธันวาคม 2556 อลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์  ประกาศผ่านทวีตเตอร์ ว่าวันที่ 17ธันวาคม 2556 .นี้ พรรคประชาธิปัตย์ จะมีการประชุมใหญ่เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างข้อบังคับใหม่ว่าด้วยการปฏิรูปโครงสร้างใหม่และเลือกตั้งคณะกก.บห.ชุดใหม่ โดยเลื่อนการประชุมแต่เดิมที่กำหนดไว้จากวันที่24ธันวาคม เป็น17 ธันวาคม วาระสำคัญในการประชุมได้แก่การอนุมัติโครงสร้างใหม่ตามข้อเสนอการปฏิรูปพรรคและการเลือกคณะกรรมการทุกชุดใหม่ โดยที่ร่างข้อเสนอปฏิรูป ปชป.และข้อบังคับใหม่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารและที่ประชุมร่วมส.ส.-กก.บห.ตามขั้นตอนอย่างเป็นเอกฉันท์เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา


สำหรับความเป็นมา อลงกรณ์เล่าว่า การเตรียมการปฏิรูปเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมาข้อเสนอการปฏิรูปพรรค ปชป.การจัดตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการปฏิรูปและยกร่างข้อบังคับใหม่เพื่อปฏิรูปโครงสร้างและระบบบริหารจัดการใหม่ของพรรคปชป.โดยนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ ท้ายสุดรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เชื่อว่า การปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์จะส่งผลให้เกิดการปฏิรูปในพรรคการเมืองอื่นๆเพื่อก้าวสู่ภาวะการแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ทำให้การเมืองไทยเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น

อลงกรณ็ชี้แจงข้อซักถามว่า สำหรับการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคจะมีหลังการเลือกตั้ง และยืนยันว่าจะไม่ย้ายพรรคแต่จะปฏิรูปพรรค ปชป.ให้สำเร็จแล้วก็กลับบ้านเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“สมัชชาสุขภาพ” : เครื่องมือสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม

Posted: 11 Dec 2013 09:35 AM PST

แม้ว่าเจตนารมณ์สำคัญของระบอบประชาธิปไตย คือ การเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มสามารถต่อรองร่วมกันได้ แต่กลับพบว่า คนบางกลุ่มกลับเข้าไม่ถึงกลไกบางอย่าง เพื่อจะทำให้ตัวเองสามารถจะต่อรองกับกลุ่มอื่นๆในสังคมได้  เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะมีเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นที่สามารถเข้าไปต่อรองในพื้นที่ดังกล่าวได้ โอกาสที่จะเกิดระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงขึ้นในสังคมจึงเกิดขึ้นได้ยากตามไปด้วย

เช่นเดียวกับวิกฤติบ้านเมืองที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ต้องยอมรับว่ามีสาเหตุมาจากระบอบการปกครองที่เราใช้ นั่นก็คือ "ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน" ที่ใช้วิธีการเลือกตั้งผู้แทนของประชาชนไปทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง

แต่ผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งนั้นกลับไม่ยึดหลักธรรมาภิบาล แต่ไปทำตามบุคคลที่มีอิทธิพลเหนือกว่า โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของสาธารณะเป็นที่ตั้ง

กระแสเรียกร้องทางการเมืองข้อหนึ่ง คือ ต้องมีการพัฒนาระบอบการปกครองของไทยเราให้เป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เพื่อเป็นทางออกของประเทศไทย

แล้วประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม คืออะไรล่ะ

มีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายโดยสรุปได้ว่า หมายถึง การมีส่วนร่วมในทางการเมืองการปกครอง ตลอดจนการกำหนดวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย ทั้งนี้ไม่ว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิเสรีภาพ หน้าที่ ตามระบอบการเมืองการปกครองที่ไม่ไปก้าวก่ายหรือก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นหรือสังคมส่วนรวม

มีนักวิชาการท่านหนึ่ง ชื่อ แคทท์ (Helena Catt) เสนอไว้อย่างน่าสนใจว่า องค์ประกอบและเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดของความเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม มี ๔ ประการ คือ

ประการแรก ทุกคนสามารถยกประเด็นปัญหาใดปัญหาหนึ่งขึ้นมา เพื่อกำหนดเป็นวาระของการประชุม สามารถเสนอทางเลือก และมีส่วนร่วมในการเลือกหรือการตัดสินใจสุดท้ายได้

ประการที่สอง เป็นการประชุมที่ทุกคนสามารถพูดคุยกันได้อย่างทั่วถึง (Face-to-face meeting)

ประการที่สาม มีการปรึกษาหารือ หรืออภิปรายประเด็นปัญหาที่หยิบยกมาพิจารณากันอย่างกว้างขวาง ทุกคนต้องการมีส่วนร่วมในการอภิปราย และสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่

ประการที่สี่ มะแนวโน้มที่พยายามจะให้เกิดความเห็นพ้อง (Consensus) ร่วมกันในประเด็นปัญหาที่พิจารณา

กล่าวได้ว่า ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม จึงเป็นระบบที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงทัศนะและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องต่างๆที่จะมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง

อีกทั้งยังช่วยในการตัดสินใจของรัฐบาลให้มีความรอบคอบ และสอดรับกับปัญหาและความต้องการของประชาชนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังเป็นการควบคุมการบริหารงานของรัฐบาลให้มีความโปร่งใส (Transparency) ตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของประชาชน (Responsiveness) และมีความรับผิดชอบหรือสามารถตอบคำถามของประชาชนได้ (Accountability) เป็นอย่างดี

ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นนั้นเอง

ผมเขียนมาถึงตรงนี้ ทำให้คิดไปถึงเครื่องมือหนึ่งตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่เรียกว่า "สมัชชาสุขภาพ" ซึ่งกฎหมายได้ให้ความหมายไว้ว่า

เป็น "กระบวนการที่ให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเรียนรู้อย่างสมานฉันท์ เพื่อนำไปสู่การเสนอแนะนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ หรือความมีสุขภาพที่ดีของประชาชน โดยจัดให้มีการประชุมอย่างเป็นระบบและอย่างมีส่วนร่วม"

ซึ่งหากนำความหมายของคำว่า "สมัชชาสุขภาพ" ไปเชื่อมโยงกับแนวคิดของคำว่า "ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม" จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่ตั้งอยู่บนหลักการเดียวกัน

เพราะสมัชชาสุขภาพนั้น

เป็นกระบวนการที่เปิดกว้างสำหรับบุคคลและคณะบุคคล ในการเสนอประเด็นปัญหาที่จะนำมาพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย

เป็นกระบวนการที่ให้ความสำคัญกับทุกคนในการแสดงความคิดเห็นอย่างทัดเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นเสียงเล็กเสียงน้อย และครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน

เป็นกระบวนการที่เน้นการพูดคุยที่ตั้งอยู่บนฐานความรู้และข้อมูลรองรับที่เชื่อถือได้

เป็นกระบวนการที่ไม่ได้ใช้เสียงส่วนมากในการตัดสินใจ แต่จะใช้ความเห็นร่วมกันจากบุคคลทุกฝ่ายในลักษณะที่เรียกว่า "ฉันทามติ" หรือ Consensus นั่นเอง

เป็นกระบวนการที่ไม่ได้มอบมติที่เห็นพ้องต้องกันนั้น ให้เป็นภาระของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ถือเป็นเจ้าของร่วมกัน ทุกฝ่ายมีหน้าที่นำมตินั้นไปปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วก็นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน แบ่งปันกัน

ผมจึงกล้ากล่าวอย่างเต็มปากว่า ในขณะนี้ประเทศไทยเราได้สร้างเครื่องมือไว้พร้อมแล้วสำหรับการพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม

ฉะนั้น หากถามว่าเราจะพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอย่างไร

คำตอบก็ง่ายนิดเดียว เพียงเร่งส่งเสริมให้ทุกพื้นที่ ทุกองค์กรมีการนำเครื่องมือ "สมัชชาสุขภาพ" ไปใช้อย่างกว้างขวางให้เต็มพื้นที่ เปิดพื้นที่ให้ทุกเสียงของทุกคนกำหนดอนาคตของตนเอง

เพราะหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม คือ การสร้างอำนาจให้ทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย มีอำนาจในการต่อรองอย่างเท่าเทียมกัน ประชาธิปไตยจึงจะดำรงอยู่ได้ด้วยฐานอำนาจที่หลากหลายเช่นนี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศิษย์ มธ.ยื่น 3 พันชื่อขับ ‘อั้ม เนโกะ’ ออกจากธรรมศาสตร์

Posted: 11 Dec 2013 09:13 AM PST

อธิการ มธ. ระบุอั้มมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหลายครั้ง ตั้ง 'ปริญญา เทวานฤมิตรกุล' เป็นประธานสอบฯ คาดว่าจะพิจารณาโทษใน 1-2 สัปดาห์นี้ ระบุหากโทษไม่ถึงคัดชื่อออก ก็ไม่สามารถทำได้

11 ธ.ค.2556 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มติชนออนไลน์ รายงานว่า นักศึกษา มธ.นำโดยนายองค์อร ภูอากาศ ศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มธ.ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มธ.ให้พิจารณาคัดชื่อนายศรันย์ ฉุยฉาย หรืออั้ม เนะโกะ นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ ชั้นปี 2 ออกจากการเป็นนักศึกษาของ มธ.

โดยระบุนายศรันย์มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมทั้งการแต่งกาย และใช้วาจาไม่สุภาพต่อคณาจารย์ ล่าสุดพยายามชักธงดำขึ้นยอดโดมที่ มธ.ศูนย์รังสิต เพื่อประท้วงอธิการบดี มธ.ซึ่งนายศรันย์เห็นว่าอธิการบดี มธ.เอนเอียงทางการเมือง ถือเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้อื่น และผิด พ.ร.บ.ธงชาติ โดยมีศิษย์เก่า และปัจจุบันร่วมลงชื่อให้พิจารณาโทษนายศรันย์ 3,050 คน

นายสมคิดกล่าวว่า นายศรันย์ได้แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมหลายครั้ง ทั้งการปีนขึ้นไปบนรูปปั้นอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เรื่องการแต่งกายไม่เหมาะสม และใช้วาจาไม่สุภาพกับอาจารย์ จึงได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนที่มีนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา เป็นประธาน และคณะกรรมการสอบสวนซึ่งเป็นตัวแทนนักศึกษา ได้เสนอลงโทษพักการเรียน 1 ปี แต่ผู้ปกครองและนายศรันย์ได้ขอให้ลดโทษเหลือพักการเรียน 1 ภาคเรียน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของนายปริญญา คาดว่าจะพิจารณาโทษใน 1-2 สัปดาห์นี้

ส่วนเรื่องพฤติกรรมการแสดงออกของนายศรันย์เกี่ยวกับการชักธงดำนั้น จะต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนอีกเรื่อง ซึ่งการลงโทษต้องเป็นไปตามระเบียบมหาวิทยาลัย หากโทษไม่ถึงคัดชื่อออก ก็ไม่สามารถทำได้

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าจากการตรวจสอบพบเฟซบุ๊กแฟนเพจ "จดหมายเปิดผนึก ถึง อธิการ มธ กรณี อั้ม เนโกะ" ใช้ในการรณรงค์ มียอดกดไลค์ล่าสุด 6,280 อย่างไรก็ตามเมื่อประมาณ 23.00 น. ที่ผ่านมา มีการตั้งเฟซบุ๊กแฟนเพจชื่อ "สนับสนุน อั้ม เนโกะ และการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย"  เพื่อให้กำลังใจอั้มด้วย

โดลเพจสนับสนุนฯ ได้โพสต์เชิงตั้งคำถามด้วยว่า "หากนักเรียนนักศึกษาทำผิด ก็จงหยุดให้การศึกษาแก่นักเรียนนักศึกษาคนนั้นหรอค่ะ ทำไมอธิการและคณะกรรมการสอบสวนไม่ใช้ความอดทนที่ควรมีต่อนักศึกษาที่แหกกฏที่คุณอยากให้เป็นค่ะ การพักการเรียนคือทางออกให้เด็กนักศึกษาคนนี้เงียบ เชื่อง และห้ามแสดงออกอีกหรือค่ะ ทำไมไม่ตักเตือน ตักเตือนไปเรื่อยๆด้วยเหตุผล และทำความเข้าใจกับต้นเหตุที่ทำให้ อั้ม เนโกะ มีพฤติกรรมที่พวกคุณไม่พอใจล่ะค่ะ พักการเรียนคือการแก้ปัญหาจริงๆหรอค่ะ"

"นี่คือความคิดเห็นของคนที่จบธรรมศาสตร์หรอค่ะ มหาวิทยาลัยคือสถานที่แห่งการแสดงออกซึ่งความหลากหลายทางความคิดไม่ใช่หรอค่ะ หรือมหาวิทยาลัยคือกรงที่ใช้ครอบคนให้มีความคิดเห็นเหมือนกันทั้งหมด ต้องเชื่อง ห้ามคิดต่าง หรือมหาวิทยาลัยคือที่ที่ไม่ต้องใช้เหตุและผลอีกต่อไป ใช้แค่อารมณ์ความรู้สึกก็พอ โกรธใคร เกลียดใคร ไล่มันออกไป นี่คือความคิดของคนที่จบมหาวิทยาธรรมศาสตร์หรอค่ะ"

"ปล. การพักการเรียน คือ ผลตอบแทนของนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวและแสดงความคิดเห็นตามระบอบประชาธิปไตยโดยไม่ละเมิดผู้อื่นหรอค่ะ" เพจสนับสนุนฯ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมัชชาสหภาพรัฐสภาเตือนตัดไทยจากสมาชิกหากไม่มีเลือกตั้ง

Posted: 11 Dec 2013 08:29 AM PST

เลขาธิการสมัชชาสหภาพรัฐสภาเตือนไทยหากไม่มีเลือกตั้งจะตัดชื่อจากสมาชิก รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทยชี้เลือกตั้งเป็นกติกาสากลช่วยให้ปัญหาจบได้ ขณะที่พรรคฯ เลือดไหล 'มัชฌิมา - อดีต ส.ส.' แห่ลาออก

11 ธ.ค.2556 ที่พรรคภูมิใจไทย นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นกรรมการสมัชชาสหภาพรัฐสภา (ไอพียู) เลขาธิการไอพียู แจ้งว่า ถ้าไม่มีการเลือกตั้งในประเทศไทย องค์กรดังกล่าวจะตัดชื่อประเทศไทยออกจากการเป็นสมาชิกไอพียู ที่มีอยู่ 160 ประเทศ ซึ่งจะเป็นปัญหาการยอมรับในทางสากล ส่งผลกระทบในระยะยาว ทำให้ประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะเลิกคบหากับประเทศไทย

เมื่อถามถึงจุดยืนของพรรคต่อกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. นายศุภชัย ตอบว่า มีกำหนดวันเลือกตั้งแล้ว อำนาจกลับมาอยู่ เป็นกติกาสากล ช่วยให้ปัญหาจบได้ แต่ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง ก็ไม่เป็นประชาธิปไตย ความขัดแย้งจะเกิดขึ้น ตนจึงอยากขอให้ทุกพรรคลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ต้องบอยคอต

'ภูมิใจไทย' เลือดไหล 'มัชฌิมา - อดีต ส.ส.' แห่ลาออก

คมชัดลึกออนไลน์ บรรยากาศที่พรรคภูมิใจไทยตั้งแต่ช่วงเช้า วันที่ 11 ธ.ค. มีอดีต ส.ส.กลุ่มมัชฌิมา พรรคภูมิใจไทย ทยอยเดินทางมายังที่ทำการพรรคเพื่อขอลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ประกอบด้วย นายเรืองศักดิ์ งามสมภาค อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายมนู พุกประเสริฐ อดีต ส.ส.สุโขทัย และนางนันทนา สงฆ์ประชา อดีต ส.ส.ชัยนาท ส่วนอดีต ส.ส.ที่ส่งตัวแทนมาขอลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ประกอบด้วย นายมานิต นพอมรบดี อดีต ส.ส.ราชบุรี นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา อดีต ส.ส.ราชบุรี นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล อดีต ส.ส.สุโขทัย นอกจากนี้ยังมีอดีต ส.ส.ของพรรค ที่ไม่ได้อยู่กลุ่มมัชฌิมา แต่มาลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทยในวันนี้ด้วย ประกอบด้วย นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร อดีต ส.ส.นครนายก นายประนอม โพธิ์คำ อดีต ส.ส.นครราชสีมา น.ส.ชะวรลัทธิ์ ชินธรรมมิตร อดีต ส.ส.ราชบุรี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อดีต ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ที่คาดว่าจะลาออกเพิ่มเติม คือ อดีต ส.ส.สระบุรี ชัยนาท และศรีสะเกษ

นายเรืองศักดิ์ ชี้แจงว่า การลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ไม่ได้มีปัญหาความขัดแย้งใดๆ เพียงแต่มีแนวทางการเมืองไม่สอดคล้องกันอย่างที่ควรจะเป็น เมื่อยุบสภาแล้ว จึงเป็นจังหวะเหมาะที่จะลาออก แต่ยังไม่มีกำหนดที่จะไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยในขณะนี้ ขอให้เป็นความเห็นพ้องของ อดีต ส.ส.ในกลุ่มมัชฌิมาก่อน แต่มั่นใจว่าจะลงสมัครทันการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 57

ขณะที่นายศุภชัย ใจสมุทร แถลงว่า ในพรรคการเมืองซึ่งจดทะเบียนถูกต้อง และมีวัตถุประสงค์ชัดเจนที่จะส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง วันนี้พรรคจึงกำลังเตรียมตัวส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีการยุบสภาย่อมมีความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ เกิดขึ้น ในส่วนของพรรคภูมิใจไทย วันนี้มีผู้แสดงความจำนงยื่นลาออกจากสมาชิกพรรคแล้ว 9 คน คือ ในส่วนของกลุ่มมัชฌิมา นอกจากนี้ยังมีสมาชิกพรรคที่ไม่ได้เป็นกลุ่มมัชฌิมา แต่ลาออกด้วย ซึ่งทั้งหมดแสดงจุดยืนว่า ไม่ได้อยู่ในกลุ่มภูมิใจไทยมานานแล้ว จึงไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่ แต่เป็นเรื่องปกติที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่า ถ้าสมาชิกไม่ประสงค์จะอยู่ในพรรคการเมืองที่ตนเองสังกัดอยู่ ก็มีสิทธิที่จะลาออก ซึ่งพรรคไม่คัดค้าน แต่แสดงความยินดีด้วยที่จะไปดำเนินงานการเมืองตามอุดมการณ์ของแต่ละท่านต่อไป ส่วนนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ยังคงเป็นรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย อยู่เหมือนเดิม

นายศุภชัย กล่าวต่อว่า สำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคประเมินไว้ว่า จะได้จำนวน ส.ส.ไม่น้อยลง เพราะเรามีหลักว่าพื้นที่ใดที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมา เราได้ทำการเมืองอย่างต่อเนื่อง และบรรยากาศขณะนี้คิดว่าประชาชนมีวิธีการเลือก และคิดว่าจะลงคะแนนให้ใคร ซึ่งเชื่อว่าจะแตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เรามั่นใจว่าจะดำรงความเป็นพรรคการเมืองอันดับที่ 3 ซึ่งจะเป็นพรรคทางเลือกที่สำคัญให้กับประชาชน ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จะลงสมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 หรือไม่ เท่าที่พูดคุยนายอนุทิน พร้อมที่จะลงมาทำงานการเมืองโดยลงสมัครด้วยตัวเอง แต่ต้องรอการประชุมพรรคก่อน ทั้งนี้ตนเชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น เพราะในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ในระบบรัฐสภา คงไม่สามารถทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้ได้เมื่อมีการยุบสภา

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีโอกาสที่นายเนวิน ชิดชอบ จะกลับมาเล่นการเมืองหรือไม่ นายศุภชัย กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ได้พูดคุยกับนายเนวิน นานแล้ว จึงไม่แน่ใจว่านายเนวิน จะตัดสินอย่างไร แต่ที่ผ่านมาถือเป็นบุคคลที่มีคุณค่าต่อชาติบ้านเมือง และเชื่อว่านายเนวิน รู้ว่าเวลาไหน จะดำเนินการอย่างไร และเชื่อว่าคนทั้งประเทศเรียกร้องนายเนวิน เพราะเป็นบุคคลที่มีคุณค่าต่อคนทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะพรรคภูมิใจไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดร่างกฏหมายที่ตกไป หลังยุบสภาฯ

Posted: 11 Dec 2013 07:49 AM PST

ร่างกฎหมายที่ตกตามการยุบสภา ร่างแก้ รธน. 291 , 68 และ 237 รวมทั้งกฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอโดนด้วย

11 ธ.ค.2556 หลังจากพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา นอกจากจะส่งผลให้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นรัฐบาลรักษาการแล้ว ยังส่งผลให้ร่างกฎหมายที่ค้างอยู่ในชั้นสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ก็มีอันต้องตกไปด้วย โดย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า นายสมชาติ ธรรมสิริ โฆษกสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึง ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่ค้างอยู่ในระเบียบวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และที่ประชุมร่วมรัฐสภาว่า มีทั้งสิ้น 69 ฉบับ เมื่อนายกฯ ประกาศยุบสภาแล้ว ร่างกฎหมายที่อยู่ในระเบียบวาระจะถือว่าตกไปทั้งหมด รวมถึงร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 291, มาตรา 68 และ มาตรา 237 ด้วย

ทั้งนี้ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 3 ร่าง ค้างอยู่ในวาระ 3 ของที่ประชุมร่วมรัฐสภา

อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินและมีความสำคัญ จะให้สิทธิคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ยืนยันการพิจารณาร่างกฎหมายได้ แต่ในชั้นนี้ถือว่าตกไปทั้งหมด

ประเด็นดังกล่าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ที่ระบุว่า ในกรณีที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือบรรดาร่างพระราชบัญญัติที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยหรือเมื่อพ้น 90 วันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ให้เป็นอันตกไป

ในกรณีที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภาแล้วแต่กรณี จะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หรือร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบต่อไปได้ ถ้าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปร้องขอภายใน 60 วันนับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้งทั่วไป และรัฐสภามีมติเห็นชอบด้วย แต่ถ้าคณะรัฐมนตรีมิได้ร้องขอภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป

สำหรับร่างกฎหมายสำคัญๆ ที่ค้างอยู่ในขั้นตอนต่างๆ ของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา อาทิ

ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจบัตรเครดิต พ.ศ. .... (ประเด็นกำหนดหน้าที่ของสถาบันการเงินที่บริษัทข้อมูลเครดิตเข้ารับเป็นสมาชิก)

ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ....ร่าง พ.ร.บ.ความลับทางการค้า (ฉบับที่..) พ.ศ. ....

ร่าง พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่..) พ.ศ. ....

ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ....

ร่าง พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (นางสุธีรา วิจิตรานนท์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 40,542 คน เป็นผู้เสนอ)

ร่าง พ.ร.บ.ตั้งจังหวัดฝาง พ.ศ. .... (นายบดินทร์ กินาวงศ์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 10,753 คน เป็นผู้เสนอ)

ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ....

(นางสาวสารี อ๋องสมหวัง กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 10,631 คน เป็นผู้เสนอ)

ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากระบบบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... (นางอรพรรณ์ เมธาดิลกกุล กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 10,994 คน เป็นผู้เสนอ)

ร่าง พ.ร.บ.การประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ....

ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. .... (นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.พรรคเพื่อไทย กับคณะ เป็นผู้เสนอ)

ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. .... (นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.พรรคเพื่อไทย กับคณะ เป็นผู้เสนอ)

ร่าง พ.ร.บ.การกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 พ.ศ. .... (คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ)

ร่าง พ.ร.บ.การเดินอากาศ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการฯ)

ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางบก (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (ปรับปรุงประเภทของหน่วยงานราชการที่ได้รับการยกเว้นภาษีประจำปีและนิรโทษกรรมภาษีประจำปีที่ค้างชำระของหน่วยงานราชการ) ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่วุฒิสภามีการแก้ไข

ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (ศาลฎีกาเป็นผู้เสนอ เป็นร่าง พ.ร.บ.ที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับผู้พิการหรือทุพพลภาพ ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย)

ร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดชอบทางแพ่งเพื่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมัน พ.ศ... (อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ)

ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ....(อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ)

ขณะที่ในชั้นวุฒิสภานั้น มีร่างกฎหมายฉบับเดียวที่อยู่ในวาระพิจารณาของคณะกรรมาธิการ คือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บันทึกของ นิค นอสติทซ์ "รามคำแหง : มุมมองจากในสนามกีฬา"

Posted: 11 Dec 2013 07:36 AM PST

นิค นอสติทซ์ ผู้สื่อข่าวที่ติดตามความขัดแย้งทางการเมืองในไทย เขียนบันทึกกรณีเหตุการณ์ปะทะที่ราชมังคลากีฬาสถานและ ม.รามคำแหง คืนวันที่ 30 พ.ย. โดยเล่าตั้งแต่เหตุการณ์นักศึกษาทำร้ายร่างกายคนบนรถบัสข่วงบ่าย ไปจนถึงเหตุการณ์ปะทะช่วงกลางคืนถึงช่วงเช้า

เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2556 นิค นอสติทซ์ ผู้สื่อข่าวชาวต่างประเทศผู้ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในเมืองไทย ได้เขียนบันทึกกรณีเหตุการณ์ความวุ่นวายที่ราชมังคลากีฬาสถานและที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในคืนวันที่ 30 พ.ย. ถึง 1 ธ.ค. ชื่อบทความ "รามคำแหง : มุมมองจากในสนามกีฬา" (Ramkhamhaeng: A view from inside the stadium) เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ New Mandala เนื้อหามีดังนี้
 
นี้คือบันทึกถึงสิ่งที่ผมพบเห็นในราชมังคลากีฬาสถาน และที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงในคืนระหว่างวันที่ 30 พ.ย. ถึง 1 ธ.ค. 2556 มีนักข่าวน้อยคนมากที่จะอยู่ที่นั่นตลอดคืน เพื่อนร่วมงานของผมส่วนใหญ่กำลังเตรียมตัวเพื่อรับสถานการณ์การปะทะกันที่อาจจะเกิดขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาลและสำนักงานตำรวจในวันถัดไป ผมเองก็เกือบจะทำอย่างเดียวกันแล้ว แต่ว่าการที่มีคนทำร้ายผมในวันที่ 25 พ.ย. ตามมาด้วยการรณรงค์สร้างความเกลียดชังจะทำให้ผมไม่อยากไปที่แหล่งชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ผมจึงเดินทางไปที่การชุมนุมของเสื้อแดงที่ราชมังคลากีฬาสถาน เหตุผลส่วนใหญ่คือมันเป็นที่ๆ ทำให้ผมปลอดภัย และเพราะผมรู้สึกอยากออกไปทำอะไรสักอย่างมากกว่าจะรู้สึกซึมเศร้าอยู่ที่บ้าน อย่างน้อยผมก็อยากถ่ายภาพสนามกีฬาที่เต็มไปด้วยผุ้ชุมนุมเสื้อแดงซึ่งเป็นภาพชวนประทับใจ ผมไม่เคยคิดมาก่อนแม้แต่น้อยว่าผมจะได้เห็น ได้ประสบกับค่ำคืนที่มีการปะทะกันอย่างรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2553
 
ผมเก็บบันทึกไว้ไม่เผยแพร่มาจนถึงบัดนี้ ส่วนหนึ่งเพราะกลัวว่าผมอาจตกเป็นเป้ามากขึ้น สิ่งที่กลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลบอกเล่าออกมาดูขัดกับสิ่งที่ผมได้เห็นจริง และผมเองก็ต้องรอการยืนยันข้อเท็จจริงกับข้อมูลเพิ่มเติมในหลายๆ กรณี
 
ในวันเสาร์ที่ 30 พ.ย. ผมออกจากบ้านไปตอนบ่าย 4 โมงด้วยรถจักรยานยนต์ของผมเอง ปกติแล้วการเดินทางไปราชมังคลาจะใช้เวลาประมาณ 30 ถึง 40 นาที แต่วันนั้นผมใช้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง ทีแรกผมก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงมีรถติดมากขนาดนี้ การจราจรแทบไม่เคลื่อนไปข้างหน้าเลย แต่เมื่อภรรยาของผมโทรหาไม่นานนักก่อนกำลังจะถึงสนามกีฬาเธอบอกว่ามีนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงไปปิดถนนรามคำแหง มีการค้นรถเพื่อหาเสื้อแดงและทุบตีพวกเขา โชคดีและอาจจะถือว่าฟลุ๊กที่ผมตัดสินใจไปใช้ถนนลาดพร้าว แทนถนนพระราม 9 เช่นที่เคยใช้ปกติซึ่งจะทำให้ผมต้องผ่านมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาตรวจค้นเสื้อแดง
 
เมื่อผมไปถึงสถานที่ผมก็เจอเพื่อนบางคนถ่ายภาพนักศึกษาทุบตีคนเสื้อแดง มีคนหนึ่งบอกผมว่ามีนักศึกษาคนหนึ่งตบหน้าช่างภาพต่างประเทศขณะที่เขากำลังถ่ายภาพเหตุการณ์ ผมอยู่ห่างๆ มหาวิทยาลัยและกลุ่มนักศึกษาต่อต้านรัฐบาลกลุ่มนั้นเพราะกลัวว่าพวกเขาจะจำผมได้หลังจากมีการสร้างความเกลียดชังตัวผมผ่านเพจบลูสกายแชนแนลในเฟซบุ๊ค ผมอาจจะโดนแบบเดียวกับที่เสื้อแดงโดนได้ เพื่อนผมบอกว่าไม่แน่ใจว่าใครเป็นคนเริ่มการต่อสู้ก่อน แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่านักศึกษาได้ดึงตัวคนเสื้อแดงทุกคนออกมาจากรถโดยสาร รถแท็กซี่ และรถยนต์ส่วนตัวเพื่อลงไม้ลงมือ ต่อมาเพื่อนผมที่อยู่มาตั้งแต่ช่วงบ่ายสองโมงครึ่ง ถึงบ่ายสามโมง บอกว่าในตอนนั้นก็เริ่มใช้อารมณ์รุนแรงกันแล้ว ภายใต้การควบคุมของการ์ดเสื้อดำโพกหัวธงชาติไทย ซึ่งตอนนั้นพวกเขาอยู่ที่หน้าทางเข้าซึ่งมีเวทีเคลื่อนที่และตะโกนใส่รถหรือจักรยานยนต์ทุกคันที่รับส่งคนเสื้อแดง
 
ในเตนท์พยาบาลหน้าสนามกีฬา มีคนเสื้อแดงที่ถูกทุบตีได้รับการรักษาอยู่ เขาต้องอยู่ที่นี่ไปก่อนเพราะการลำเลียงผู้บาดเจ็บตอนนี้มีความเสี่ยงเกินไป เขาชื่อวิชืต กัลยาโท อายุ 45 ปี เขาบอกว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นตอนราวๆ สี่โมง และมีเขาคนเดียวที่เป็นผู้ประท้วงเสื้อแดงที่อยู่บนรถประจำทางตอนที่นักเรียนพากันล้อมรถประจำทางและเริ่มทุบกระจกรถ เขาจึงตัดสินใจลงจากรถเพื่อไม่ให้ผู้โดยสารคนอื่นเป็นอันตราย เขาถูกลากไปที่ถนนรามคำแหงซอย 43 ด้านตรงกันข้ามกับทางเข้าหลักของมหาวิทยาลัยถูกคน 10 ถึง 20 คนรุมทำร้าย บังคับให้ถอดเสื้อแดงออก ถูกยึดโทรศัพท์มือถือ และเตือนไม่ให้เข้าไปในสนามกีฬา แต่วิชิตก็ยังคงหาทางเข้าไปในสนามกีฬาได้ขณะที่ตัวเขาเองกระดูกซี่โครงหลายซี่รวมถึงกระดูกไหปลาร้าหัก มีรอยฟกช้ำทั่วตัว พอถึงเวลาหนึ่งทุ่มครึ่งหน่วยกู้ภัยอาสาก็มากันมาที่ด้านนอกและนำตัวเขาออกไปจากพื้นที่โดยใช้เปลพยาบาล เพื่อไปที่สถานีตำรวจหัวหมากที่มีรถพยาบาลจอดอยู่
 
 
ตกเย็นนักศึกษารามคำแหงก็มารวมตัวกันที่อีกฟากของถนนรามคำแหง เยาะเย้ยและตะโกนใส่กลุ่มเสื้อแดง ตำรวจที่คุ้มกันอยู่หน้าทางเข้าสนามกีฬามีเพียงไม้กระบองและโล่ห์ป้องกันเท่านั้น ขณะที่เจ้าหน้าที่คนอื่นๆ คอยทำหน้าที่โบกรถให้ไปอีกทาง
 
 
 
คนเสื้อแดงที่เฝ้าประตูมีไม้กระบองกับท่อนเหล็กเป้นอาวุธเพื่อใช้ปกป้องตัวเองเนื่องจากมีโอกาสที่นักศึกษาจะเข้าโจมตีพวกเขา พวกเขาตั้งรับและคอยหลบอยู่หลังเส้นกั้นตำรวจบางที่ใช้ป้องกันอะไรไม่ได้อยู่ในสนามกีฬาตลอดเวลา อีกส่วนหนึ่งอยู่ที่สนามหญ้าหลังหนองน้ำเล็กๆ ที่อยู่ระหว่างถนนกับสนามหญ้า
 
 
ที่ประตูหลังไปสู่สนามกีฬาก็มีสถานการณ์คล้ายๆ กัน มีซอยแคบๆซึ่งไม่ปลอดภัยสำหรับเสื้อแดง สนามกีฬาราชมังคลาจึงถูกล้อมโดยที่เสื้อแดงไม่สามารถเข้าหรือออกไปได้เนื่องจากกลัวว่าจะถูกทุบตีหรือทำร้าย
 
 
เวลาราวสองทุ่ม ผมก็เดินไปที่ทางเข้าเวที ในตอนนั้นเองมีระเบิดลูกเล็กๆ ถูกขว้างจากมหาวิทยาลัยข้ามรั้วเข้ามาในสนามกีฬา มาระเบิดตรงกระจกหน้ารถที่จอดอยู่ในนั้น ผมเห็นควันลอยมาจากส่วนที่ถูกระเบิด
 
 
จากนั้นผมก็เข้าไปในสนามกีฬาเพื่อเก็บภาพผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่มีอยู่เต็มสนาม
 
 
เสร็จแล้วผมก็ไปที่ประตูหมายเลข 5 ออกไปทางซอยรามคำแหงที่ 24 ที่นั่นมีเสื้อแดงถือท่อนอาวุธยืนรวมตัวกันหลังแถวตำรวจที่ดูเบาบางในเขตสนามกีฬา มีเฮลิคอปเตอร์ตำรวจส่องไฟลาดตระเวณไปทั่วพื้นที่อยู่ตลอดเวลา มันเป็นฉากที่น่าขนลุกชวนให้นึกถึงเหตุการณ์ในปี 2553 
 
 
 
 
ในเวลาสามทุ่มสี่สิบนาที ก็มีเสียงปืนดังมาจากบริเวณใกล้มหาวิทยาลัยที่ทางเข้าด้านหลัง มีเสื้อแดงหลบอยู่หลังรถที่จอดอยู่ แล้วก็วิ่งหนี แล้วก็ก้มหลบอีก การ์ดหลายคนพยายามมองหาว่าคนยิงอยู่ที่ไหน ไม่ว่าจะจากอาคารในมหาวิทยาลัยหรือบนพื้นที่ใกล้กับกำแพง ผมอยู่ที่นั่นราว 30 นาที
 
 
เมื่อเหตุการณ์เริ่มเงียบสงบลงผมก็ไปที่ประตูที่ 5 อีกครั้ง มีคนบอกว่ามีการปะทะเกิดขึ้นที่ซอยรามคำแหง 24 หลังสนามกีฬาตรงทางเข้ามหาวิทยาลัย ที่ประตูผมเห็นเสื้อแดงหลายคนที่เกยกันอยู่ข้างนอกกำลังหวาดผวาก่อนที่จะได้เข้าไปข้างใน
 
 
เวลาประมาณสี่ทุ่มสี่สิบนาที ผมเข้าไปที่เขตปะทะอย่างช้าๆ และระมัดระวัง อยู่ห่างออกไปไม่กี่ร้อยเมตรจากประตูด้านขวา แต่ก็ตั้ดสินใจอยู่หลังเส้นกั้นเพราะอยากหลีกเลี่ยงไม่ให้โดนจับตัวหรือมีนักศึกษาคนใดจำหน้าได้ ซึ่งผมเห็นเงาร่างของนักศึกษาได้จากระยะห่างหลังเส้นกั้นของเสื้อแดง มีคนในพื้นที่เล็กน้อยมองดูฉากสถานการณ์จากข้างถนน มีเสียงปืนและเสียงระเบิดปิงปองดังหลายครั้งมาก ไม่นานนักนักสู้เสื้อแดงก็บุกไปพร้อมกับไม้กระบองสองไม้ชู้ขึ้น ส่งเสียงร้อง และโห่แสดงความดีใจซ้ำๆ ว่า "มีเสียงปืนหลายนัด แต่พวกเราไม่มีใครตายเลย พวกเราไม่มีใครตายเลย!"
 
 
ถึงตอนนั้นดูเหมือนว่านักสู้เสื้อแดงจะสามารถดันกลุ่มนักศึกษากลับเข้าไปในมหาวิทยาลัยและตามตรอกได้ ห่างออกไปจากสนามกีฬา มีเสื้อแดงบางคนอยู่ที่กำแพงมหาวิทยาลัยซึ่งตรงนั้นยังมีเสียงปืนและระเบิดให้ได้ยินอยู่ ผมไม่รู้ว่าฝ่ายไหนเป็นคนยิง และคิดว่าจะดีกว่าถ้าไม่เข้าไปใกล้กว่านี้ เมื่อมีคนจากอาคารด้านบนมองออกมา เสื้อแดงก็ตะโกนบอกให้เขาปิดหน้าต่างเสีย พวกเขาอธิบายกับผมว่ามีคนจากอาคารบางแห่งขว้างปาขวดลงมาที่พวกเขาในช่วงที่มีการต่อสู้
 
 
เมื่อถึงเวลาประมาณห้าทุ่มครึ่ง ก็มีรถตำรวจหลายคันเรียงขบวนเข้ามา มีบางส่วนอยู่ห่างออกไปทางถนนที่มีนักศึกษาอยู่ ที่เหลือมาหยุดอยู่ที่พื้นที่ของกลุ่มเสื้อแดง นักสู้เสื้อแดงส่งเสียงเชียร์ให้กับตำรวจ หลังจากนั้นสถานการณ์ก็วุ่นวายน้อยลงมาก
 
 
เพื่อนชาวต่างชาติของผมบางคนเดินผ่านมา พวกเขาอยู่ตอนช่วงที่มีการปะทะ พวกเขาบอกว่าแนวหน้าของการปะทะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ช่วงหนึ่งเป็นนักศึกษา ต่อมาเป็นกลุ่มเสื้อแดง ซึ่งย้ำให้ผมรู้สึกว่าผมตัดสินใจถูกที่อยู่ข้างหลัง มีคนหนึ่งเผยรูปให้เห็นนักศึกษาที่ถูกสังหาร กับรูปของคนเสื้อแดงที่บาดเจ็บสาหัสและถูกจับตัวไว้
 
คนเสื้อแดงและตำรวจช่วยหันพาตัวพนักงานร้านพิซว่าคอมพานีที่กำลังหวาดกลัวออกมาจากร้าน กระจกหน้าร้านถูกทำลาย มีรถจักรยานยนต์ถูกขว้างเข้ามาในร้าน คนเสื้อแดงบอกว่าถูกขว้างมาจากด้านบนอาคารซึ่งมีคนขว้างปาขวด และอาจจะมีระเบิดด้วย ในช่วงที่พวกเขาต่อสู้กัน
 
 
 
ถึงเวลาเที่ยงคืน ยังคงมีเหตุการณ์มาจากซอยย่อยที่ 14 มีกลุ่มนักศึกษายังคงปฏิบัติการในที่มืด มีเสื้อแดงคนหนึ่งเดินออกมา เขาได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยจากการถูกขว้างขวดใส่ แล้วก็มีเสื้อแดงอีกคนหนึ่งร้องตะโกนว่าเขาถูกยิงที่แขนนั่งรถจักรยานยนต์ออกมา
 
 
 
 
จากนั้นเหตุการณ์ก็สงบลง แล้วผมก็เดินกลับไปที่สนามกีฬา จากที่นั่นผมยังได้ยินเสียงปืนดังอยู่เป็นพักๆ ผมเดินไปที่ประตูหลักซึ่งเหตุการณ์สงบ ขณะที่ผมกำลังจะเดินกลับ ผมก็เห็นการ์ดเสื้อแดงจับตัวชายวัยกลางคนไว้ได้คนหนึ่ง เขามีตราของกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล การ์ดพาตัวเขาไปที่เขตเวทีพร้อมกับตะโกนห้ามไม่ให้กลุ่มเสื้อแดงจู่โจมชายผู้นี้
 
 
 
พวกเขาสามารถนำตัวชายผู้นี้ไปที่หลังเวทีได้ แม้ว่าจะมีเสื้อแดงที่กำลังโกรธพยายามจะทำร้ายเขา เด็กอายุ 17 ปีคนหนึ่งที่ถูกยิงที่แขนชี้บอกว่าชายคนนี้เป็นคนยิงเขา
 
 
 
ชายวัยกลางคนผู้นี้ถูกนำไปที่ห้องหลังเวทีเพื่อไต่สวนเพิ่มเติม จากนั้นจึงส่งตัวให้กับตำรวจ ผมหิวน้ำมากจึงขอน้ำดื่มแต่ตอนนั้นไม่มีน้ำเหลือในสนามกีฬาอีกแล้ว
 
ผมเดินกลับไปทีหลังประตูที่ 5 ผ่านไปยังซอยรามคำแหงที่ 24 ซอยย่อยที่ 14 ผมเห็นนักศึกษาที่ซ่อนอยู่ในทางมืดๆ กำลังเยาะเย้ยคนเสื้อแดง มีรถเข็นขายก๋วยเตี๋ยวออกมาจากซอยมืดๆ นั้นและได้ขายก๋วยเตี๋ยวให้กับเสื้อแดงที่รวมตัวกันอยู่ มีเสื้อแดงกลุ่มหนึ่งวิ่งเข้าไปในซอยเพื่อไล่กลุ่มนักศึกษาออกไป
 
ตอนนั้นมีนักข่าวอยู่แค่สองคนคือผมกับนักทำหนังสารคดีคนหนึ่งชื่อจูน พวกเราตัดสินใจเดินเข้าไปราว 30 เมตรในซอยทันใดนั้น จากทางเดินลึกเข้าไปข้างในพวกเราก็ได้ยินเสียงปืน 6 นัด ตอนนั้นเป็นเวลาประมาณ ตีหนึ่ง 55 นาที ของวันที่ 1 ธ.ค. 2556 ไม่นานหลังจากที่เสื้อแดงคนหนึ่งวิ่งเข้ามาทางพวกเรา ตะโกนว่ามีคนหนึ่งในพวกเขาถูกสังหาร ก็มีเสื้อแดงอีกกลุ่มหนึ่งหอบร่างๆ หนึ่งออกมา ผมถ่ายภาพไว้บางส่วน เมื่อมูลนิธิร่วมกตัญญูเข้ามาในพื้นที่ คนเสื้อแดงก็พากันนำร่างขึ้นไปบนรถและขับออกไปจากซอย ผมถ่ายภาพๆ ร่างกายของเขาไว้ได้ชัดๆ ภาพหนึ่ง เขาถูกยิงที่ศรีษะ
 
 
 
ผู้ประท้วงเสื้อแดงยืนอยู่รอบชายสวมหมวกกันน็อก ผมถ่ายภาพไว้ เริ่มจากหมวกด้านนอก เห็นชัดว่ามีรูกระสุน จากนั้นจึงถ่ายด้านใน มีเศษสมองติดอยู่ในหมวก พยานเล่าว่าเขาเห็นชายคนนี้ถูกยิงจากระยะห่างออกไป 10 เมตร จากชั้นสองของอาคารกอพักซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจากภาคใต้
 
 
ผมเห็นคนเดินเข้าไปในเซเว่นอิเลเว่นอย่างเงียบๆ ผมจึงตามเข้าไป กระจกร้านถูกปิดไปด้วยการดาษหนังสือพิมพ์จากด้านใน ผมถามขอซื้อน้ำเปล่าผ่านทางช่องเล็กๆ ของประตูที่ล็อกไว้ บอกว่าตัวเองเป็นนักข่าวจากต่างประเทศ พนักงงานมองลอดช่องออกมา แง้มประตูเพื่อรับธนบัตรใบละ 100 บาทของผม ก่อนที่จะถุงบรรจุขวดน้ำเปล่าให้สองถุง ผมเก็บไว้ที่ตัวเองขวดหนึ่ง อีกขวดหนึ่งเอาให้จูน และที่เหลือก็ยกให้คนเสื้อแดง จูนกับผมนั่งลงดื่มน้ำบนเก้าอี้พลาสติกที่อีกด้านหนึ่งของซอย ทีแรกผมยังไม่รู้สึกอะไร แต่ต่อมาก็เริ่มรู้สึกเศร้ามาก นี้ผมได้ถ่ายภาพคนหนุ่มที่ถูกสังหารอีกแล้วหรือ
 
จูนใช้สมาร์ทโฟนถ่ายรูปจากกล้องของผมต่ออีกทีหนึ่ง แล้วส่งข่าวไปในให้สำนักข่าวประชาไท ระบุว่ามีคนถูกสังหารอีกหนึ่งรายในคืนนี้ ทันใดนั้นกลุ่มเสื้อแดงก็ร้องตะโกนด้วยความโกรธ เดินออกมาจากซอย หนึ่งในนั้นขณะที่เดินออกมาก็ใช้ปืนพกของเขายิงขึ้นไปในอากาศ พวกเรายังคงนั่งอยู่ที่เก้าอี้ตัวเดิม
 
มีคนในพื้นที่เดินผ่านไปเป็นพักๆ และคนเสื้อแดงก็บอกพวกเขาว่าให้ระวังไม่เข้าไปในซอยลึกๆ เพราะพวกเขาอาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นเสื้อแดงโดยนักศึกษาที่โจมตีพวกเขา ตอนนั้นเหตุการณ์เริ่มสงบลงจูนกับผมจึงเดินไปที่สนามกีฬา ผมถ่ายภาพเสื้อแดงซึ่งยังคงติดอยู่ที่นี่ รอเวลาที่จะกลับบ้านได้ ภาพส่วนหนึ่งที่จับใจผมคือภาพของครอบครัวที่นอนหลับอยู่ในมุมเงียบๆ ใกล้กับหลังเวที
 
 
 
จูนกับผมไปที่ทางเข้าหลัก ดูตึงเครียดแต่ก็ค่อนข้างสงบ มีตำรวจเฝ้าอยู่ที่ประตูโดยมีเสื้อแดงอยู่ข้างหลังและส่วนหนึ่งก็อยู่ที่สนามหญ้าหลังหนองน้ำ นักศึกษาต่อต้านรัฐบาลยังคงครอบครองพื้นที่ถนนรามคำแหงอยู่ บางช่วงก็มีการเย้ยหยันกันระหว่างกลุ่มนักศึกษากับเสื้อแดง บางครั้งก็มีการใช้ประทัดยิงด้วยหนังสติ๊กใส่อีกฝ่าย (แต่ก็ไม่ถูกตัวใคร เพราะระยะห่างมากเกินไป) รวมถึงมีการตะโกนด่ากัน
 
 
พวกเราผ่านทางประตูที่ 5 ออกไปจนเจอกับนักข่าวไทยกลุ่มเล็กๆ ที่โรงแรมในซอย 24 ใกล้ๆ ประตู พอถึงช่วงตีห้า กลุ่มเสื้อแดงกลุ่มแรกก็เริ่มออกจากพื้นที่ ผมตัดสินใจรอจนพระอาทิตย์ขึ้นเพื่อให้สถานการณ์ปลอดภัย จูนกลับบ้านไปราวตีห้าครึ่ง ก่อนพระอาทิตย์ขึ้นไม่นาน นักข่าวไทยหลายคนเดินไปที่ประตูที่ 1 มีกลุ่มเสื้อแดงปรบมือให้กับตำรวจขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังเปลี่ยนกะ
 
 
ทันใดนั้นเอง กลุ่มคนเสื้อแดงก็วิ่งไปที่ประตูข้างแล้วแห่กันออกไปที่ถนนรามคำแหง
 
 
สถานการณ์เริ่มบ้าคลั่ง มีระเบิดเต็มไปหมด มีการยิงปืนจากทั้งสองฝ่าย ต่างฝ่ายต่างก็มีอารมณ์โกรธ "เลือดขึ้นหน้า" กลุ่มเสื้อแดงส่วนหนึ่งถูกกักตัวอยู่ในสนามกีฬาโดยที่น้ำเปล่าหมดตั้งแต่ห้าทุ่มของคืนที่แล้วเริ่มดุร้าย พากันไล่นักศึกษาออกไปจากถนน มีบางคนที่อยู่ตรงสะพานข้ามทางด่วนขว้างปาระเบิดลงมาใส่เสื้อแดง มีกลุ่มเสื้อแดงขนาดใหญ่วิ่งเข้าไปที่ประตูหลักของมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีเสียงปืน เสื้อแดงตะโกนว่าคนของพวกเขาคนหนึ่งถูกยิงใส่หลายนัดที่หน้าอก
 
 
 
 
 
 
ผมยังคงอยู่ที่ประตูสนามกีฬา ไม่นานนักก็มีคนได้รับบาดเจ็บหลายคนถูกนำตัวเข้ามา มีคนหนุ่มคนหนึ่งถูกยิงที่มือ อีกคนมีแปลที่ศรีษะจากอะไรผมก็ไม่ทราบได้ เหตุการณ์สงบลงอีกครั้ง เสื้อแดงกลับเข้าไปในสนามกีฬา เหตุการณ์ปะทะกันทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในช่วงเวลา 25 นาทีเท่านั้น
 
 
 
 
แกนนำนปช. ประกาศยกเลิกการชุมนุม คนเสื้อแดงก็พากันออกจากสนามกีฬาผ่านทางประตูหลังซึ่งในตอนนี้ปลอดภัยสำหรับพวกเขาแล้ว ผมก็ออกจากที่นั่นด้วย รู้สึกเหนื่อยล้าอย่างที่สุด พอถึงบ้านผมก็หลับไปได้ 3 ชั่วโมง อะดรีนาลีนและอารมณ์ความรู้สึกของคืนนั้นยังคงหลั่งไหลอยู่ในตัว มีข้อมูลของเมื่อคืนปรากฏออกมาเรื่อยๆ แล้วก็มีทั้งเสียงปืนและเสียงระเบิดมากขึ้นในบริเวณนั้น มีข่าวนักศึกษาได้รับการช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยโดยทหาร มีข่าวรถประจำทางถูกเผาและมีซากกระดูกหลงเหลืออยู่ภายใน ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นั้นประกอบด้วย นักศึกษาต่อต้านรัฐบาล 1 คน (ทวีศักดิ์ โพธิ์แก้ว อายุ 21 ปี) เสื้อแดงเสียชีวิต 3 คน (ธนสิทธิ์ เวียงคำ อายุ 22 ปี, วิโรจน์ เข็มนาค อายุ 43 ปี, วิษณุ เภาพู่ อายุ 26 ปี) และวัยรุ่นอีกคนหนึ่ง (สุรเดช คำแปงใจ อายุ 19 ปี) ซึ่งในตอนแรกการเสียชีวิตยังคงเป็นปริศนาก่อนที่หลายวันต่อมาบทความในบางกอกโพสท์ระบุว่านักศึกษาต่อต้านรัฐบาลที่เสียชีวิตกับเพื่อนของเขาทำการเผารถประจำทางที่ขนคนเสื้อแดงแต่นักศึกษาคนดังกล่าวไม่สามารถหนีออกมาได้ทันก่อนที่ไฟจะลุกลามไปทั่ว
 
ขณะที่เหตุการณ์ช่วงกลางส่วนมากคืนยังดูเลือนราง ต่อมาก็มีข้อเท็จจริงมากขึ้นเพื่อให้ตั้งคำถามที่ชวนไม่สบายใจว่า อะไรเป็นขนวนที่ทำให้เกิดความรุนแรงตั้งแต่แรก เรื่องนี้จำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงเบื้องหลังเหตุการณ์สักเล็ฏน้อย มีสองเหตุผลที่นปช. เลือกพื้นที่ราชมังคลากีฬาสถานเป็นที่ชุมนุม
 
เหตุผลแรกคือ ราชมังคลาฯ เป็นพื้นที่เชิงสัญลักษณ์ของการต่อสู้ตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งตอนนั้นเสื้อแดงเริ่มเปลี่ยนสภาพจากกลุ่มที่ค่อนข้างไร้การจัดการมาเป็นการเคลื่อนไหวของมวลชนในสังคม พวกเขาเริ่มจัดการชุมนุมใหญ่ๆ ได้ ที่แรกคือที่ธีนเดอร์โดม เมืองทองธานีในวันที่ 11 ต.ค. 2551 และต่อมาก็จัดโดยมีคนมาร่วมมากขึ้นราว 80,000 คนในวันที่ 1 พ.ย. 2551
 
เหตุผลที่สองคือ นปช. ต้องการเน้นให้เสื้อแดงออกมาห่างๆ กลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะระหว่างผู้ประท้วงสองกลุ่มแต่ก็อยากแสดงให้เห็นตัวตนของผู้สนับสนุนรัฐบาล พวกเขาจัดชุมนุมเสื้อแดงครั้งแรกขึ้นที่อิมแพคอารีน่า เมืองทองธานี ในวันที่ 10 พ.ย. 2556 ซึ่งมีคนมาร่วม 50,000 - 60,000 คน และเมื่อการประท้วงต่อต้านรัฐบาลเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาไม่สามารถไปที่นั่นอีก เพราะศาลรัฐธรรมนูญอยู่ติดกับที่นั่นซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงไม่กี่วันก่อนการตัดสินครั้งสำคัญเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องที่มาของวุฒิสภา ดังนั้นพวกเขาจึงใช้ราชมังคลากีฬาสถานเพื่อจัดชุมนุมแทน เริ่มจากวันที่ 19 พ.ย. 2556 ซึ่งมีคนมาร่วมจำนวนน้อยเพียง 5,000 ถึงมากสุด 30,000 คนเท่านั้น
 
เหตุการณ์เริ่มต้นจากการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มเสื้อแดงก่อน นักศึกษาอาชีวะและกลุ่มต่อต้านรัฐบาลฮาร์ดคอร์อยู่ในพื้นที่ต้นซอยของถนนรามคำแหงและถนนลาดพร้าว มองหาเสื้อแดงที่มาคนเดียว การโจมตีครั้งแรกเกิดขึ้นในคืนแรกของการชุมนุมที่ซอยรามคำแหง 53 มีคนเสื้อแดงคนหนึ่งได้รับชาดเจ็บจากการถูกทำร้ายขณะกำลังเดินกลับบ้าน ในคืนวันที่ 26 พ.ย. มีเสื้อแดงคนหนึ่งถูกแทงที่ท้อง (มีรูปที่แสดงให้เห็นด้ามมีดยังคงปรากฏออกมา) และในคืนเดียวกันนั้นเองก็มีคนเสื้อแดง 3 คนถูกบังคับให้ถอดเสื้อผ้า มีการเตะและทุบตีด้วยเสาธงชาติ มีคนเดินผ่านไปมาเก็บภาพเคลื่อนไหวไว้ด้วยกล้องโทรศัพท์มือถือ
 
จากนั้นเสื้อแดงก็ประกาศชุมนุมใหญ่วันที่ 30 พ.ย. ผมเชื่อว่าผมต้องถูกหาว่า "อคติ" หรือเป็น "นักข่าวเสื้อแดง" อีกแน่ๆ แต่ผมตั้งคำถามกับแรงจูงใจของกลุ่มนักศึกษาและแกนนำที่มาจัดการชุมนุมต่อต้านในวันเดียวกันใกล้กับมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีการเล่าเรื่องอีกแบบหนึ่งที่บอกว่าเหตุการณ์เป็นการที่ "เสื้อแดง" เข้าไปปะทะกับ "นักศึกษา" ก็ฟังดูไม่เป็นเหตุเป็นผลเหมือนกัน เพราะในฝ่ายผู้ชุมนุมเสื้อแดงก็มีนักศึกษารามคำแหงและศิษย์เก่าอยู่จำนวนมากเช่นกัน รวมถึงบางคนที่ผมพบเจอและพูดคุยด้วยในช่วงที่มีการต่อสู้กันในซอยรามคำแหง 24 และในกลุ่มนักศึกษาต่อต้านรัฐบาลก็มีกลุ่มนักศึกษาอาชีวะรวมอยู่ด้วย และอาจจะมีบางคนที่ไม่มีเกี่ยวข้องอะไรกับมหาวิทยาลัยเลย
 
ตั้งแต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมาซึ่งมีการแบ่งแยกทางเมือง กลุ่มนักศึกษารามคำแหงซึ่งมีความกระตือรือร้นทางการเมืองก็มีหลายคนที่อยู่คนละข้างกัน มีนักศึกษาจำนวนมากที่มาจากภาคใต้เป็นเสื้อเหลือง หรือเป็นกลุ่มสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ นักศึกษาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือจำนวนมากอยู่กับฝ่ายเสื้อแดง นักศึกษารามคำแหงบางคนที่ทำหน้าที่การ์ดในช่วงการเดินขบวนจัดโดยพรรคประชาธิปัตย์หลายเดือนก็ยังทำหน้าที่นี้อยู่ในการประท้วงปัจจุบัน เวทีเครือข่ายนักศึกษาที่นางเลิ้งก็มีนักศึกษารามคำแหงอยู่จำนวนมาก อีกฟากหนึ่งฝ่ายเสื้อแดงก็มีเครือข่ายนักศึกษาของตัวเองในม.รามคำแหง แกนนำนักศึกษาปรากฏตัวหลายครั้งในเวทีของนปช. และเสื้อแดง ตั้งแต่ช่วงปี 2549-2550 ที่เริ่มมีการเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช. ที่สนามหลวงก็มีการ์ดเป็นนักศึกษารามคำแหง แกนนำนปช. จตุพร พรหมพันธุ์ ก็เป็นศิษย์เก่าของรามคำแหง มหาวิทยาลัยนี้จึงเป็นเสมือนเครื่องสะท้อนสังคมไทยโดยทั่วไปที่มีการแบ่งแยกสีทางการเมืองกันอย่างฝังราก และส่วนใหญ่ก็มีเรื่องของภูมิภาคมาเกี่ยวข้องแม้จะไม่ได้สามารถแบ่งได้เช่นนั้นเสมอไป
 
เรื่องเข้าใจผิดอย่างหนึ่งคือการเล่าแบบมักง่ายว่าเสื้อแดงล้อมมหาวิทยาลัยและทำให้นักศึกษาติดอยู่ในนั้น จากมุมมองที่ผมเห็นจากในที่ชุมนุมเสื้อแดงแล้ว เหตุการณ์มันกลับกันเลย ช่วงก่อนที่เสื้อแดงจะสามารถดันกลุ่มนักศึกษาให้กลับเข้าไปในมหาวิทยาลัยได้ช่วงก่อนเที่ยงคืน สนามกีฬารางมังคลาก็ถูกปิดล้อม (แม้จะมีซอยเล็กๆ ด้านหลัง แต่ก็ยังคงอันตรายเกินไปสำหรับเสื้อแดงที่จะออกไปก่อนพระอาทิตย์ขึ้น) ทางเข้าหลักของมหาวิทยาลัยอยู่ที่ถนนรามคำแหง และถนนนี้ก็มีนักศึกษาต่อต้านรัฐบาลครองพื้นที่อยู่จรกระทั่งพระอาทิตย์ขึ้น (ซึ่งอาจเป้นคำที่ไม่ถูกเท่าไหร่ แต่ก็ใช้โดยทั่วไป)
 
มีคำถามอีกว่านักสู้ต่อต้านรัฐบาลในมหาวิทยาลัยเป็นนักศึกษาจริงๆ กี่คน และมีคนนอกเข้ามากี่คน ผมเชื่อว่ามีนักศึกษาที่ไม่ได้เกี่ยวข้องทางการเมืองติดอยู่ในมหาวิทยาลัยจำนวนมาก หวาดกลัวกับการต่อสู้ที่เกิดขึ้น จากเสียงปืนและเสียงระเบิดที่เกิดขึ้นตลอดคืนและในช่วงเช้า พวกเขากลัวเกินกว่าจะออกมาจากมหาวิทยาลัย และพวกเขาก็กลายเป็นเหยื่อผู้บริสุทธิ์เพราะมีแกนนำบางคนเลือกพื้นที่มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งชุมนุมต่อต้านเสื้อแดง
 
ไม่น่าแปลกใจเลยว่าในกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่มหาวิทยาลัยมีคนที่ใช้ความรุนแรงและมีกลุ่มคนที่มีอาวุธ ไม่เพียงแค่มีนักศึกษาคนหนึ่งถูกยิงเสียชีวิตเท่านั้น แต่เสื้อแดงอีก 3 คนและคนอื่นๆ ก็ได้รับบาดเจ็บจากลูกกระสุน เรื่องนี้ชวนให้ตั้งคำถามสำคัญเรื่องความรับผิดชอบของแกนนำการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลและผู้มีอำนาจในมหาวิทยาลัยที่อนุญาตให้มีการประท้วงในเชิงยั่งยุใกล้กับแหล่งชุมนุมของกลุ่มนปช. ทั้งที่เดิมทีนปช. เลือกพื้นที่นี้เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากันแต่แรกมานานก่อนหน้าที่กลุ่มผู้ประท้วงต้านรัฐบาลจะตัดสินใจใช้ที่นี่ด้วย แล้วพวกเขาจะมาที่นี่ทำไมเมื่อมีการชุมนุมที่ราชดำเนินและในเขตใกล้เคียงแล้วอย่างในศุนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และที่กระทรวงการคลัง
 
แม้ว่ากลุ่มแกนนำเสื้อแดงอาจจะถูกต่อว่าเรื่องไม่ยอมยกเลิกการชุมนุมก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ที่ราชมังคลาฯ หลังจากมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นแล้วในช่วงก่อนหน้าการชุมนุมใหญ่วันที่ 30 พ.ย. แต่เรื่องนี้ก็กลายเป้นคำถามได้อีกว่าคนเสื้อแดงจะไม่อนุญาตให้ชุมนุมในกรุงเทพได้เลยหรือ? ผมได้ไปเยี่ยมเวทีของเสื้อแดงอิสระเล็กๆ ที่ตอนเหนือของกรุงเทพฯ แกนนำบอกว่ามีคนนั่งรถจักรยานยนต์มายิงพวกเขาช่วงกลางคึก ทำให้เสื้อแดงส่วนใหญ่ไม่ใส่ชุดสีแดงเพราะกลัวว่าจะถูกทำร้ายขณะกลับบ้าน
 
อีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกตั้งเป้ากล่าวหาให้รับผิดชอบต่อความรุนแรงคือกลุ่มตำรวจ แต่จะให้ตำรวจทำอะไรได้บ้างล่ะ จะให้บุกเข้าไปใช้ปืนยิงเหรอ (ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่สนามกีฬาไม่มีปืนเลย) ให้ไปประจันหน้ากับทั้งสองกลุ่มที่ต่างก็มีอาวุธเหรอ ถ้าทำแบบนั้นแล้วพวกเวทีต่อต้านรัฐบาลอาจเอาไปอ้างได้ว่าตำรวจใช้กำลังอย่างไม่เหมาะสม หรือจะให้พวกเขาถือโล่ห์กับกระบองเข้าไปแล้วก็คอยหมอบรอเป็นเป้าถูกยิงล่ะ ซึ่งตำรวจก็ถูกพวกต่อต้านรัฐบาลใส่ความอยู่แล้วว่าเป็น "ขี้ข้าทักษิณ" การเข้าแทรกแซงใดๆ ของตำรวจอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่านี้ได้ แต่ตำรวจก็มาที่รามคำแหงซอย 24 ท่ามกลางการต่อสู้ของสองกลุ่ม เพื่อพยายามกันให้สองกลุ่มออกจากกัน 
 
เราต้องไม่ลืมด้วยว่าตำรวจกับทหารมีความขัดแย้งกัน ทำให้ตำรวจกลัวว่าการใช้กำลังอย่างไม่เหมาะสมใดๆ ก็ตามอาจทำให้ทหารหันไปเข้าข้างฝ่ายต่อต้านรัฐบาล เรื่องนี้มีที่มาก่อนหน้านี้ช่วงปี 2549-2551 ที่ทหารอยู่ข้างเดียวกับเสื้อเหลือง จากมุมมองของผมต่อข้อเท็จจริงที่มีตามเรื่องที่เกิดขึ้นนี้แล้ว ผมนึกไม่ออกว่าตำรวจจะได้อะไรจากการเข้าแทรกแซงสถานการณ์มากกว่านี้
 
ในวันที่ 3 ธ.ค. 2556 และวันถัดมาซึ่งเป็นพิธีฌาปนกิจ ผมได้ไปงานศพของนักสู้เสื้อแดงที่ถูกสังหารและผมได้ถ่ายภาพไว้ ผมได้รู้ชื่อของเขาในตอนนั้นเองว่าเขาชื่อธนสิทธิ์ เวียงคำ เป็นทหารเกณฑ์อายุ 22 ปี  เขามีภรรยาและลูกสาวอายุ 5 ปี ครอบครัวเขาทุกคนเป็นเสื้อแดงที่มีความกระตือรือร้น ภรรยาและพ่อแม่ของเขาก็อยู่ที่สนามราชมังคลาฯ ในคืนนั้นด้วย ครอบครัวเขาบอกว่าธนสิทธิ์เป็นคนที่ไม่กลัวอะไรและมักจะไปอยู่แนวหน้า พวกเขายังเคยไปร่วมชุมนุมในปี 2553 ด้วย
 
 
 
 
 
 
พิธีศพก็เหมือนกับงานศพของกลุ่มเสื้อแดงคนอื่นๆ คือมีเสื้อแดงจำนวนมากมาเข้าร่วม มีแกนนำนปช. อย่างธิดา ถาวรเศรษฐ กับสามีคือเหวง โตจิราการ แม้แต่ส.ส. เสื้อแดง สุรชาติ ชาญประดิษฐ์ ก็เดินทางจากจังหวัดศรีษะเกษมาร่วมงาน นปช.และพรรคเพื่อไทยต่างก็ให้เงินชดเชยแก่ครอบครัวพวกเขา มีการกล่าวคำปราศรัยในพิธีการและการแสดงนาฎศิลป์ตามประเพณี มีพระทอดผ้าบังสุกุล และมีทหารจากหน่วยของธนสิทธิ์เข้าร่วมพิธีด้วย กลุ่มเสื้อแดงทั้งเศร้าและโกรธ ตอนแบกส่งโลกศพมีบางคนเคาะฝาโลงพร้อมบอกว่า "สู้ๆ" หลังจากพิธีฌาปนกิจแล้ว เสื้อแดงก็พากันไปที่อีกถนนหนึ่งที่มีพิธีศพของเสื้อแดงคนอื่นที่ถูกสังหาร
 
 
 
ภรรยาของธนสิทธิ์บอกว่าเธออยากจะไปที่ๆ ธนสิทธิ์เสียชีวิตเพื่อทำพิธีทางศาสนาตรงจุดนั้น เธอบอกว่า "วิญญาณของสามีเธอยังคงอยู่ตรงนั้น ยังคงต่อสู้ ขว้างก้อนหินและขวดน้ำ เขายังไม่รู้ว่าตัวเองเสียชีวิตไปแล้ว ฉันอยากช่วยให้เขาออกมาจากตรงนั้น ฉันอยากจะสวดมนต์ จุดธูปเทียน"
 
แต่ที่นั่นก็ยังอันตรายสำหรับเธอที่จะเข้าไป
 
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Ramkhamhaeng: A view from inside the stadium, New Mandala, 10-12-2013
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุเทพประกาศหน้าจอเชิญ ผบ.สส. ผบ.เหล่าทัพ ผบ.ตร. มาพูดคุย

Posted: 11 Dec 2013 07:27 AM PST

สุเทพ เทือกสุบรรณขอพบเหล่าทัพ-ตำรวจเพื่อกางพิมพ์เขียวปฏิรูปและตอบข้อซักถาม และขอเจรจากับ 7 ภาคธุรกิจ โดยไปเฉพาะ 40 แกนนำ-เจรจาแบบเปิดเผย พร้อม 'ออกบัตรเชิญ' นปช. ร่วมปฏิรูป โดยจะถอดหรือใส่เสื้อแดงมาก็ได้ ยกเว้นสามเกลอ วีระ-จตุพร-ณัฐวุฒิ เพราะไม่ไว้ใจ ขณะที่ล่าสุด ผบ.สส. ยังไม่รับนัด บอกให้ไปพบกลุ่มอื่นก่อน

 

สุเทพปราศรัยรอบค่ำ ระบุการต่อสู้ครั้งนี้เป็นประวัติศาสตร์ให้มวลมนุษยชาติยึดถือเป็นแบบอย่าง

11 ธ.ค. 56 – เมื่อเวลา 19.30 น. วันนี้ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ได้ปราศรัยที่เวทีแยกนางเลิ้ง ตอนหนึ่งกล่าวว่า "คนทั่วโลกจับตาดูว่าประชาชนไทยที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ จะได้สร้างประวัติศาสตร์ไว้ให้มวลมนุษยชาติ ทุกชาติในโลก ได้ยึดถือเป็นแบบอย่าง เพราะว่าเป็นการต่อสู้ของพลเมืองดี ที่สู้อย่างสันติ สงบ ปราศจากอาวุธ ไม่มีความรุนแรงใดๆ เลย ท่านกำลังสร้างประวัติศาสตร์ให้โลกจารึก ขอให้ท่านปรบมือให้ตัวเอง"

สุเทพกล่าวต่อไปว่า เมื่อเริ่มชุมนุมที่สถานีรถไฟสามเสน เคยคิดว่าถ้ามีผู้ชุมนุมมาร่วมสามแสนก็สุดยอดแล้ว พอย้ายมาราชดำเนินก็มีผู้ชุมนุมเป็นล้าน 24 พ.ย. เราก็นึกว่านั่นสุดยอด แต่วันที่ 9 ธ.ค. มีคนชุมนุมเป็นล้านมาแสดงตนกล้าหาญ ประกาศตัวชัดเจนว่าต้องการเห็นประเทศไทยเปลี่ยนแปลงมีการปฏิรูป

"ผมเป็นกำนันบ้านนอก ถ้ามีลูกบ้านมาเดินขบวนแบบนี้ ผมกราบเท้าลาออกแล้ว แต่นายกรัฐมนตรีแกสุดบรรยายจริงๆ ไม่ไปสักที พวกเราอธิบายให้ฟังทุกเรื่องว่าความเป็นรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ หมดสภาพไปแล้ว ตั้งแต่วันที่รัฐบาลและรัฐสภาประกาศไม่เคารพรัฐธรรมนูญ ไม่เคารพคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ อยู่เหนือรัฐธรรมนูญเท่ากับประกาศตัวเป็นโมฆะ เหมือนพระปราชิก สิ้นความชอบธรรมทางกฎหมายสิ้นเชิง นายกรัฐมนตรีก็เถียงข้างๆ คูๆ ว่าเสียงข้างมากเลือกมาเป็นรัฐบาล เราก็บอกนายกรัฐมนตรีว่าเสียงที่เลือกนายกรัฐมนตรีอาจมี 14-15 ล้านคน แต่คนเดินขบวน 4-5 ล้านคน เป็นตัวแทนของคน 20-30 ล้านคนทั่วประเทศแล้วนายกรัฐมนตรี"

 

ยืนยันรัฐบาลรักษาการลาออก มีนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นสิ่งที่ทำได้แบบสมัย 14 ตุลา

"เมื่อคืนที่บอกว่าไม่ยอมรับการปกครองของรัฐบาลนี้ ก็หมายความว่ารัฐบาลนี้หมดความชอบธรรมทางการเมืองลงอีกอย่างหนึ่ง ไม่เหลืออะไรแล้ว ประชาชนเขามาเอาอำนาจอธิปไตยเขาคืน เขาจะเอาไปบริหารจัดการให้ประเทศดีขึ้น ก็บอกนายกรัฐมนตรีอย่างนี้ มาถึงวันนี้ นายกรัฐมนตรีไม่เถียงแล้ว เรื่องว่ายังชอบธรรมทางกฎหมาย หรือทางการเมืองหรือไม่ เที่ยวนี้มาเถียงใหม่ บอกออกจากตำแหน่งไม่ได้ ถ้าออกจะผิดกฎหมาย โน่นเถียงไปโน่น แล้วให้ชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรียุติธรรมประชุมนักกฎหมายออกมาพูดจาชี้แจง บอกไม่มีประเพณีปฏิบัติ ต้องมีนายกรัฐมนตรี เราก็ได้บอกไปเมื่อคืน ว่าไม่จริงที่คุณจะอ้างต้องมีนายกรัฐมนตรี ครม. รักษาการ ประเทศจะอยู่ได้ ไม่จริง เพราะในอดีตเคยมีแล้ว สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เกิดเหตุไม่ปกติ ท่านลาออกแล้วไปเมืองนอกเลย ไม่มีใครรักษาการ เขาถึงได้มีรองประธานสภานิติบัญญัติกราบบังคมทูลฯ เสนอชื่อสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทน นี่เขามีประเพณีปฏิบัติมาแล้ว ถ้าพูดกันแบบนี้แล้วไม่เชื่ออีก จะยกตัวอย่างอะไรมาอีก หรือว่าสมมติเครื่องบินที่มี ครม. นั่งทุกคน โหม่งพื้นพสุธา ตายหมดลำ ประเทศไทยยังอยู่ได้ แก้ไขปัญหาไม่ปกตินี้ได้แน่นอน"

ทั้งนี้สุเทพได้ประกาศ "เชิญชวนทุกคนมาแก้ปัญหาบ้านเมืองอย่างละมุนละม่อม" ด้วยการเสนอให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากรักษาการ ครม. ลาออกจากรักษาการ และเปรียบเทียบว่า "ประเทศไทยก็จะว่างรัฐบาล เหมือน ครม. นั่งเครื่องบินตกหมดทั้งลำ แล้วเราก็เลือกใหม่ นายกรัฐมนตรีจะได้ไม่ต้องเถียงว่าไม่มีกฎหมายเขียนไว้" นอกจากนี้สุเทพยังอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 7 ว่าสามารถเลือกคนมาเป็นนายกรัฐมนตรีและตั้งรัฐบาลได้

 

ชี้แจงเรื่องขอพบ ผบ.เหล่าทัพ ว่าจะเป็นการพบแบบไม่พาผู้ชุมนุมไปกดดัน และจะเปิดโอกาสให้ซักถาม

ต่อมา สุเทพได้ชี้แจงมติที่ได้แถลงเมื่อช่วงบ่าย ที่จะขอพบ ผบ.สส. ผบ.เหล่าทัพสามเหล่าทัพ และ ผบ.ตร. (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ว่าที่ไปพบเพราะบุคคลเหล่านี้เป็นผู้ดูแลความสงบเรียบร้อยของประเทศ "เราจะขอพบเต็มคณะ 40 คน ไม่เอาประชาชนไปเดินขบวนกดดัน เอาแต่คณะกรรมการตัวแทนประชาชนไปพบ แล้วพบเปิดเผย พบอย่างเป็นทางการ เพื่ออะไรครับ เพื่ออธิบายให้ท่านทั้งหลายเข้าใจ ว่ามวลมหาประชาชนในประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยมีเจตนารมณ์ร่วมกันเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ดีขึ้นเป็นระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบจริงๆ ต้องการปฏิรูปประเทศให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชนทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน เห็นประเทศมีความเจริญก้าวหน้า มั่นคง มีอนาคตที่ดีสำหรับลูกหลาน ต้องการไปอธิบายสิ่งเหล่านี้ ให้บรรดาแม่ทัพ นายกอง ท่านผู้บัญชาการทั้งหลายนอกจากได้ยินพวกเราชี้แจงแล้ว จะได้มีโอกาสซักถาม ตรงไหนไม่ชัดเจน ไม่เข้าใจเขาจะได้ถามพวกเรา เราพร้อมจะตอบทุกข้อ ทุกประเด็น"

"นี่ไม่ใช่การกดดันอะไร ไม่ยกขบวนมวลชนไป ไปกัน 40 คนเท่านั้น" สุเทพย้ำ

"เมื่อท่านเข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว จะได้ตัดสินใจว่าสมควรหรือยังที่จะย้ายข้างมายืนข้างเดียวกับประชาชน หรือท่านจะตัดสินใจเป็นอย่างอื่น เราจะได้รู้กันไปเสียที"

 

เตรียมพบภาคธุรกิจ 7 กลุ่มด้วย เรียกว่าสื่อสารสองทาง

ต่อมาสุเทพกล่าวถึง กรณีที่ภาคธุรกิจ 7 องค์กร ได้แก่  สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย หารือกันเกี่ยวกับวิกฤตทางการเมือง โดยสุเทพกล่าวด้วยว่าเตรียมจะเข้าพบหารือกับ 7 ภาคธุรกิจ

"นอกจากจะพบกับผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผบ.เหล่าทัพ ผบ.ตร. แล้ว คณะกรรมการ กปปส. จะตั้งใจไปพบองค์กรภาคเอกชน 7 องค์กร หอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคม สมาคมผู้ประกอบกิจกรรมตลาดหลักทรัพย์ 7 องค์กรเราก็จะไปพบ เราไปในฐานะทูตของมวลมหาประชาชนไปอธิบายให้เข้าใจ ให้เขาซักถาม เรียกว่าเป็นการสื่อสารสองทาง เราตั้งใจทำให้เสร็จสิ้นก่อน 2 ทุ่ม คืนวันพรุ่งนี้"

 

กำลังนัด ผบ.สส. เมื่อนัดได้แล้วจะให้ ผบ.สส. จะเรียกทุกเหล่าทัพและ ผบ.ตร. มาพร้อมกันทีเดียว

สุเทพระบุว่า ตอนที่ปราศรัยอยู่นี้ยังติดต่อผู้บัญชาการทหารสูงสุดไม่ได้ แต่ ผบ.ทบ. แนะนำให้ติดต่อ ผบ.สส. ทีเดียว โดยสุเทพกล่าวว่า "แต่พูดกับท่าน ผบ.ทบ. ต่อหน้าคณะกรรมการ กปปส. ทั้งหลาย ผบ.ทบ.บอกว่าได้เลย ให้คณะกรรมการ กปปส. ติดต่อ ผบ.สส. เพราะเขาเป็นผู้บังคับบัญชาสามเหล่าทัพ จะเรียกไปพบทีเดียวพร้อมๆ กัน เราไม่ต้องไปพบทีละหน่วย"

"เช่นเดียวกันวันนี้เป็นครั้งแรกที่ผมได้พูดโทรศัพท์ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว "บอกว่าผมสุเทพ เทือกสุบรรณนะครับ ไม่ได้ติดต่อมามอบตัวนะครับ ติดต่อมาเจรจาความเมือง" เรื่องตั้งข้อหาผมไม่หนีไปไหน มอบตัวแน่นอน ทำเรื่องของมวลมหาประชาชนเสร็จก่อน ผมมอบตัวแน่นอน ผมต้องการนำคณะ กปปส. ไปพบท่านเป็นทางการ พบต่อหน้าต่อตาเปิดเผย อธิบายให้ ผบ.ตร. เข้าใจว่าประชาชนคิดอะไรอยู่ และถ้าท่านสงสัยจะได้ไต่ถาม พล.ต.อ.อดุลย์บอกว่ายินดีครับ ผมไปพบพร้อมกับพร้อมกับ ผบ.เหล่าทัพ ขอให้ท่านติดต่อ ผบ.สส. จะได้พบกันทีเดียว ทั้ง ผบ.สส. และสี่เหล่าทัพ ถามทีเดียว อธิบายทีเดียว"

"ผมได้ขอบคุณ พล.ต.อ.อดุลย์ และบอกว่า คุณอดุลย์ เป็นตำรวจที่ดี และผมเคยชมคุณ ท่านครับ ผมทำตามหน้าที่ สุเทพบอกว่า ผมเข้าใจ แต่ขอสักอย่างเถอะที่วางแผนสลายชุมนุม เลิกเถอะคุณอดุลย์เพราะไม่มีประโยชน์อะไร"

สุเทพกล่าวด้วยว่า ได้บอกกับ ผบ.ตร. ว่าการเอากำลังเจ้าหน้าที่มาสลายผู้ชุมนุมจะทำให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลายใหญ่โต จะทำให้ไม่สามารถควบคุมอะไรได้ "ผมยืนยันให้คุณอดุลย์สบายใจ ในฐานะ ผบ.ตร. ต้องรักษากฎหมาย รักษาความเรียบร้อยของบ้านเมือง ประชาชนเขาต่อสู้สงบ สันติ อหิงสาจริงๆ ขอให้สบายใจ สุเทพกล่าวว่า พล.ต.อ.อดุลย์บอกว่า เข้าใจประชาชนดี"

 

ผบ.สส. ยังไม่รับสาย เลยขอฝากรักไปกับสายลม

สุเทพ กล่าวต่อไปว่า "เพราะฉะนั้นรอคำตอบจากบุคคลคนเดียว ท่านเดียว คือ ผบ.สส. ผมขออนุญาต ผบ.สส. ครับ ผมพยายามติดต่อท่านมาครึ่งวัน ไม่สามารถติดต่อได้ ถ้าท่านได้ทราบด้วยอะไรก็แล้วแต่ เช่นลูกน้องท่านรายงาน หรือท่านเปิดทีวีมาพอดี ขอให้ทราบว่าพวกผม กปปส. ตัวแทนของมวลมหาประชาชน เห็นว่ามีความจำเป็นจริงๆ ที่เราต้องพบกันเป็นทางการ วันพรุ่งนี้ก่อน 2 ทุ่ม ท่านช่วยจัดการให้เราได้พบท่าน และ ผบ.สี่เหล่าทัพด้วยครับท่าน ผบ.สส."

"ต้องฝากรักไปกับสายลมแบบนี้แหละ เพราะโทรศัพท์มันไม่ได้ผล" สุเทพนัดแบบออกอากาศ และกล่าวด้วยว่า "แต่ผมจะไม่ละความพยายาม คืนนี้จะโทรไปหาที่บ้าน ท่านอย่ายกโทรศัพท์ออกก็แล้วกัน พรุ่งนี้ก็ติดต่อต่อไป ติดต่อท่านทั้งไว้ เพราะต้องการพบจริงๆ"

สุเทพ ถามว่า "ผู้ชุมนุมต้องการปฏิรูปประเทศไทย ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ ใช่หรือไม่ใช่พี่น้อง" จากนั้นผู้ชุมนุมส่งเสียงปรบมือ ตะโกนว่า "เห็นด้วย" สุเทพกล่าวต่อไปว่า "และท่าน ผบ.สูงสุดก็ดี หากท่านมีใจเมตตา จะให้คำแนะนำอย่างไร ผมพร้อมน้อมรับคำแนะนำเหล่านั้น และนำมาบอกพี่น้องอย่างเปิดเผย"

 

ยินดีร่วมหารือกับภาคธุรกิจ 7 องค์กร รวมทั้งอานันท์ - ประเวศ ซึ่งชอบทำเรื่องปฏิรูป

สุเทพกล่าวถึงกรณีที่ 7 องค์กรภาคธุรกิจด้วยว่า "ทำนองเดียวกันครับพี่น้อง เมื่อได้พบกับผู้นำภาคเอกชน 7 องค์กร จะทำอย่างเดียวกัน หวังที่สุดว่าผู้นำองค์กรเอกชนทุกองค์กร มีข้อเสนอแนะ ข้อแนะนำ ให้ผมนำกลับมาฝากประชาชน ผมไม่ถือดีอะไร จะทำตัวนอบน้อม พร้อมรับคำชี้แนะ ทุกอย่าง ผมถือว่าเป็นกำนันต้นทุนต่ำ ใครมีความรู้ความสามารถให้แนะนำมา ถ้ามีประโยชน์ต่อบ้านเมือง ก็แนะนำมา สิ่งที่ประชาชนคิดจะเปลี่ยนแปลง จะได้ทำได้รวดเร็ว ราบรื่นขึ้น"

สุเทพกล่าวด้วยว่า "จะไปขอความรู้จาก คุณอานันท์ ปันยารชุน หรือบุคคลอย่างท่าน นพ.ประเวศ วะสี ซึ่งสนใจทำเรื่องปฏิรูปประเทศ จะได้ปฏิรูปประเทศไทยอย่างรวดเร็ว แล้วเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งอย่างที่เขาประกาศกันมา"

 

ย้ำเลือกตั้งตามกติกาเดิม ระบอบทักษิณจะไม่หมดไป ยัน กปปส. สู้เพื่อคนไทยล้วนๆ ไม่มีสิ่งเจือปน

สุเทพย้ำว่า "ถ้าจะไปเลือกตั้งตามประกาศยุบสภาของรัฐบาล ประชาชนไม่สามารถยอมได้จริงๆ เพราะเห็นว่าถ้าเลือกตั้งภายใต้กฎกติกาเดิม กฎหมายเดิม ผลการเลือกตั้งจะเหมือนเดิม ระบอบทักษิณไม่หมดไปจากประเทศไทยสักที มันจะเป็นวัฏจักรที่ชั่วร้าย ไม่สามารถพาประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าได้ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นได้ รวมทั้งแก้ปัญหากระจายอำนาจไม่ได้ เพราะสภาเลือกตั้งตามรูปแบบเดิมๆ ไม่มีวันยอมให้ออกกฎหมายแบบนี้เด็ดขาด เพราะกระทบเจ้าของนายทาส เจ้าของทุนซื้อคะแนนเสียงมาเป็น ส.ส. ถูกไม่ถูกครับพี่น้อง"

"ขอถือโอกาสกราบเรียนด้วยความจริงใจในนาม คณะกรรมการ กปปส. มวลมหาประชาชนว่าที่พวกเราทั้งหลายกำลังต่อสู้ครั้งนี้ ต้องการสู้เพื่อประเทศไทยทั้งประเทศ ต่อสู้เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดินจริงๆ ไม่มีประโยชน์อื่นเจือปนแน่นอน ผมเองในฐานะที่ท่านทั้งหลายยกให้เป็นเลขาธิการ กปปส. ประกาศชัดแล้ว ทำเรื่องนี้เสร็จ เปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้ทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอย บ้านเมืองเดินหน้าได้ ผมล้างมือแล้ว ไม่ลงเลือกตั้ง ไม่ลงพรรคไหนแล้ว"

สุเทพกล่าวด้วยว่า "ขอร้องอย่าป้ายสีผม เพราะนี่มันดำอยู่แล้ว คงเส้นคงวาแล้ว จะเขียนคิ้ว แต้มหนวด ผมก็ไม่หล่อแล้ว ชาตินี้"

 

ชี้แจงปฏิรูปตำรวจ ไม่ถึงกับให้ไปขึ้นตรง อบต. แต่จะให้อยู่กับ ผวจ. แบบเลือกตั้ง

"ผมไม่ได้ดูในสื่อออนไลน์เลย เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ พอแถลงการณ์ พอประกาศ ก็ประชุมกับคณะกรรมการ กปปส. ก็ประชุมทั้งวัน อภิปรายเต็มที่ แต่มีพี่น้องประชาชนผู้หวังดีแจ้งมาว่าที่ผมปราศรัยบนเวที แล้วออกแถลงการณ์ ออกประกาศ เรื่องปรับโครงสร้างตำรวจไทยน่ะ มีคนไปขยายความให้ จนตำรวจโกรธไปหมดแล้ว ผมถามว่าขยายอย่างไรครับ คนเอามาให้ดู กำนันสุเทพ จะปรับโครงสร้างตำรวจ ต่อไปนี้ให้ตำรวจขึ้นกับ อบต. โน่นไปขนาดนั้นแล้ว ถ้าทำสำเร็จจะให้เรียกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายก อบต. มิหนำซ้ำบอกว่าพอกำนันสุเทพ ยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ ตำรวจต้องไปรายงานตัวกับ นายก อบต. ทุกคน โน่นไปโน่นแล้วช่างหวังดีเหลือเกิน พี่น้องทั้งหลาย พูดไปให้ได้ยินกัน เพราะมีคนดูทีวีในเครือข่ายเราหลายล้านคน"

"ช่วยอธิบายกับพี่น้องตำรวจเถิด มวลมหาประชาชน ไม่ได้มีความรู้สึกรังเกียจเดียดฉันท์ข้าราชการตำรวจ รู้ว่าตำรวจเป็นคนดี พิทักษ์สันติราษฎร์ รักษากฎหมาย เสียสละ ผมไม่ต้องการให้ตำรวจสองสามแสนคนมาขึ้นกับคนๆ เดียวคือ ผบ.ตร. และคนๆ เดียวไปขึ้นกับคนๆ เดียวในต่างประเทศที่ชื่อทักษิณ ชินวัตร อย่างนั้นไม่เอา ตำรวจนครบาล บิ๊กแจ๊ด ต้องไปอยู่ใต้บังคับบัญชาผู้ว่า กทม. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ตำรวจก็ไปขึ้นกับผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ถึงกับเป็นนายก อบต. ไม่ถึงขนาดนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังอยู่ ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายวิชาการ สอบสวนกลาง ยังมีส่วนกลาง แต่ไม่ใหญ่โตล้นฟ้า กลายเป็นรัฐตำรวจ ขอให้เข้าใจตรงกัน"

 

โต้นักวิชาการ ยันไม่ได้สู้เพื่อตัวเอง แต่สู้เพื่อประชาชนไทยทุกคน

สุเทพกล่าวถึงการเคลื่อนไหวของนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยกับ กปปส. โดยกล่าวว่า "ที่ประชาชนเขาสู้ทั้งหมดนี้ เขาไม่ได้สู้เพื่อกำนันสุเทพ และผมก็ไม่ได้มีน้ำยาอะไร เป็นลุงแก่ๆ ที่ไม่เล่นการเมือง ไม่ต่อสู้ทางการเมือง จะเอาอำนาจเวรไปทำอะไร ไม่มี! ที่ต่อสู้ไม่ได้สู้เพื่อคนๆ หนึ่งเลย แต่ต้องการให้ประเทศไทยมีการปกครองแบบนานาอารยะประเทศ ไม่มีทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่มีซื้อเสียง ประชาชนจะได้ตายตาหลับ เป็นการสู้เพื่อคนทั้งประเทศ ไม่ใช่เพื่อลุงกำนัน"

"แล้วอย่าไปคิดทำอะไรง่ายๆ ที่วางแผนกัน ว่าจะเอาเขมรมาเสียบพุงลุงกำนันหรือคอมมานโดมาจัดการ เพราะประชาชนสี่ห้าล้านคนเขาสู้เอง เขาลากลุงกำนันไป เข้าใจด้วยพวกสมองกลวงทั้งหลาย พวกนี้อยู่บนหอคอยงาช้าง ไม่มาดูว่าคนที่ออกมาชุมนุมต่อสู้คราวนี้ เป็นเสรีชนทั้งสิ้น มาด้วยใจบริสุทธิ์มาเดินขบวนกับเขามีลูกน้องหิ้วตระกร้ามา ผมบอกนั่งลง ก็นั่งเรียบร้อย แต่คนบนหอคอยงาช้างไม่เข้าใจว่าคนที่มาเขาเหลืออดกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศนี้"

 

ออกบัตรเชิญทุกฝ่าย รวมทั้งคนเสื้อแดงมาร่วมปฏิรูปการเมือง จะถอดหรือใส่เสื้อแดงมาก็ต้อนรับ

ต่อมาสุเทพ ได้ประกาศเชิญชวนทุกฝ่ายรวมทั้งคนเสื้อแดงทุกคนมาร่วมปฏิรูปการเมืองด้วยโดยกล่าวว่า "เอาอย่างนี้ไหมครับ ไม่ว่าท่านจะอยู่ฝ่ายไหน ผมจะออกบัตรเชิญแทนพี่น้องประชาชน อย่างจริงใจ ถ้ารักประเทศไทย รักระบอบประชาธิปไตยมาร่วมเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง ปฏิรูปประเทศไทยร่วมกับมวลมหาประชาชน ขอออกบัตรเชิญ"

"ขอพี่น้องทั้งหลายชวนมวลชนคนเสื้อแดงทั้งแผ่นดินมาร่วมมือกับเรา พูดจากหัวใจคนเป็นกำนัน มวลมหาประชาชน ขอต้อนรับคนเสื้อแดงทุกฝ่ายที่อยู่ทุกหนทุกแห่งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง แม้แต่ กทม. มาร่วมกัน ถ้าท่านบอกว่าถ้าท่านรักประชาธิปไตย คนเสื้อแดงสู้เพื่อประชาธิปไตย สู้เพื่อความยุติธรรม มวลมหาประชาชนที่นี่ก็สู้เพื่อความยุติธรรม เลิกแบ่งฝ่าย มาเลย ถอดเสื้อแดงมา หรือใส่เสื้อแดงมาคนก็ต้อนรับ มาร่วมมือกันทุกฝ่าย"

 

แต่ไม่ต้อนรับสามเกลอ นปช. ให้ไปสู้คดีเสียก่อน ย้ำถ้าข้าราชการมาร่วมด้วย ระบอบทักษิณก็หมดฤทธิ์

"แต่ขออนุญาตไม่ต้อนรับ จตุพร พรหมพันธ์นะ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อนะ วีระ มุสิกพงศ์นะ สามคนนี้ไม่รับ ไม่รับเข้ากระบวนการมวลมหาประชาชน ให้ไปสู้คดีก่อน สงสัยในความประพฤติว่าไม่ได้สู้เพื่อประชาธิปไตย ความเป็นธรรม หรือสู้เพื่อทักษิณก็ไม่อยากกล่าวหาขนาดนั้น แต่สำหรับพี่น้องมวลชนเสื้อแดงทั้งแผ่นดิน ผมและพี่น้องประชาชนที่เป็นมวลมหาประชาชนที่นี่เชื่อว่าท่านเป็นคนไทยเจ้าของประเทศ อยากเห็นประเทศนี้ดีขึ้น ท่านต้องการเห็นความยุติธรรมคนจนทั้งแผ่นดิน ช่วยเหลืออย่างจริงๆ ท่านกับพวกเราคิดเหมือนกัน มาร่วมมือกันเถิดไม่ต้องต่อสู้กัน"

"ตำรวจ ทหาร ข้าราชการ มาร่วมกัน ระบอบทักษิณก็จะหมดฤทธิ์สิ้นเชิง เอาใส่หม้อมาเลย"

สุเทพย้ำว่า "พี่น้องเสื้อแดงผมขอออกบัตรเชิญใหญ่ๆ มาช่วยกันปฏิรูปประเทศไทย เพื่อลูกหลานของพวกเรา ได้ไม่ได้ครับพี่น้อง" โดยหลังจากนั้นผู้ชุมนุมได้ปรบมือ

"พี่น้องเสื้อแดงขอให้ได้เข้าใจว่าอย่ามาต่อสู้กันเองเลย มากอดคอกันมาทำเพื่อบ้านเมือง ผมรอต้อนรับมวลชนเสื้อแดงมาร่วมกันด้วยความจริงใจ ผมขอเชิญชวนแทนมวลชนเสื้อแดงครับ"

 

สุเทพย้ำให้ยิ่งลักษณ์ลาออกรักษาการให้จบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง

ช่วงท้ายสุเทพกล่าวย้ำกับนายกรัฐมนตรีว่า ให้ลาออกจากตำแหน่งรักษาการด้วย โดยกล่าวว่า "อย่าไปคิดแค่ว่ามีเงินเป็นแสนล้าน แล้วมาแพ้กำนันบ้านนอก คุณยิ่งลักษณ์ไม่มีทางเอาชนะคนตั้งสี่ห้าล้าน ที่เขามีกองหนุนยี่สิบสามสิบล้านคน ยอมกันดีๆ ดีกว่า ลาออกจากรักษาการ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และ ครม. หมดทุกคน แล้วก็ช่วยกันเลือกนายกรัฐมนตรีชั่วคราว เปลี่ยนแปลงประเทศไทย ปฏิรูปประเทศไทยตามเจตนารมณ์ของประชาชน ทำให้เร็วที่สุด มีกฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายต่อต้านคอร์รัปชั่น กระจายอำนาจ ปรับโครงสร้างตำรวจ วางนโยบายวาระประชาชน ก็เชิญท่านจะเป็นหัวหน้าพรรคใหม่ ลงสมัครรับเลือกตั้งก็เลือกให้สบายใจ หมดภารกิจแล้ว เท่านั้นเอง จบง่ายๆ สบายๆ"

"จบแบบนี้แฮปปี้เอนดิ้ง ไปร้านสระผมเขาก็สระผมให้ ไปร้านนวดเขาก็นวดท่าน ไม่บีบคอท่าน ถ้าท่านไม่ยอมให้ทุกอย่างราบเรียบละมุนละม่อม ผมรับรองคนในตระกูลชินวัตรไม่สามารถเดินบนถนนได้อีกต่อไป เพราะเขาโกรธ เขาเกลียดชัง แล้วจะทำอย่างไร โปรดอย่ามองว่าเขาคุกคามขู่เข็ญ ผมกำนันพูดตรงๆ ถ้าท่านไม่เชื่อ พรุ่งนี้ท่านติดต่อผม ท่านรับรองความปลอดภัยด้วยชีวิต มาไหมท่านนายกรัฐมนตรีมาไหม มาฟังด้วยตัวเอง รับรองที่นี่ไม่มีคนบ้าเหมือนไอ้เหลิม ไอ้ปลื้มเจือปน"

สุเทพกล่าวทิ้งท้ายว่าขอให้นายกรัฐมนตรี "หยุดฟังคนประจบสอพลอ หวังได้เงินทรัพย์สินจากการคอร์รัปชั่น ท่านยังอายุไม่มาก มีชีวิตสนุกสนานต่อไปอีกหลายปี ทำความดีเพื่อประเทศไทย หยุดปฏิบัตินายกรัฐมนตรีไม่ต้องตั้งใครแทน ไม่ต้องตั้งแง่แก้กฎหมาย ท่านลาออกจากรักษาการ แล้วจะเห็นประเทศไทยเดินหน้าด้วยประชาชนเอง ขอให้นายกรัฐมนตรีไปคิด ทุกนาทีมีค่า คิดได้เร็วก็เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย"

ทั้งนี้สุเทพกล่าวปราศรัยจบในเวลา 21.00 น. เศษ โดยขณะที่สิ้นสุดการปราศรัยยังไม่มีการตอบรับของ ผบ.สส. โดยวาสนา นาน่วม นักข่าวสายกองทัพได้ทวิตเตอร์ว่า "มติเอกฉันท์ ผบ.สส.ผบ.เหล่าทัพ ผบ.ตร. ไม่สะดวกพบนายสุเทพ พรุ่งนี้ แนะให้ไปพบปะกลุ่มอื่นๆ ในสังคมก่อน ทหารขอนิ่ง วอนกลับมารักกัน เลิกแบ่งข้าง"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอ็นจีโอทวายร้อง ‘ญี่ปุ่น’ หยุดหนุนโครงการทวาย จี้เดินตามหลักปฏิบัติสากล

Posted: 11 Dec 2013 07:06 AM PST

สมาคมพัฒนาทวายระบุการลงทุนใหม่ที่จะเกิดขึ้นในโครงการทวายต้องเป็นไปตามหลักปฏิบัติสากล ร้องญี่ปุ่นอย่าลงทุนในอุตสาหกรรมสกปรกที่จะทำร้ายชุมชนท้องถิ่น-สิ่งแวดล้อม ก่อนไทย-พม่า หารือร่วมทุนญี่ปุ่น ในเวที Japan-ASEAN Summit 13-15 ธ.ค.นี้
 
 
11 ธ.ค.2556 สมาคมพัฒนาทวาย (Dawei Development Association: DDA) แถลงข่าว เรื่อง "การลงทุนใหม่ที่จะเกิดขึ้นใน โครงการทวาย ต้องเป็นไปตามหลักปฏิบัติสากล" เนื่องในวาระการประชุมการประชุมสุดยอดผู้นำญี่ปุ่น-อาเซียน (Japan-ASEAN Summit) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 13-15 ธ.ค.2556 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทางคณะกรรมการประสานงานร่วมระหว่างไทย-พม่า (JCC) เพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ได้ระบุว่า ทางรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าจะใช้โอกาสในการร่วมประชุมครั้งนี้ในการหารือกับนายชินโซ อะเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เพื่อขอให้สนับสนุนโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายในพม่าด้วย
 
สมาคมพัฒนาทวายจึงแถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่น และหน่วยงานด้านการพัฒนา รวมทั้งนักลงทุนระงับการลงทุนในโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei Special Economic Zone: DSEZ) ในแคว้นตะนาวศรี ประเทศพม่า จนกว่าจะมีการปฏิบัติตามหลักปฏิบัติสากล
 
ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พม่าและไทยได้เข้ามาบริหารโครงการแทนที่ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD) เนื่องจากบริษัทประสบปัญหาความล้มเหลวในการระดมทุน และการตัดสินใจเรื่องแหล่งพลังงานสำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย
 
สมาคมพัฒนาทวาย ระบุว่า นักลงทุนญี่ปุ่นจะต้องไม่ลงทุนในอุตสาหกรรมสกปรกที่จะทำร้ายชุมชนท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านได้เคยหยิบยกประเด็นความวิตกกังวลอย่างยิ่งต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชน ผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาพึ่งพิงอาศัย และเมื่อวันที่ 4 ม.ค.2555 ประชาชนหลายพันคนได้รวมตัวกันต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งนับเป็นขบวนการทางสังคมครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในทวาย ซึ่งต่อมาโครงการดังกล่าวก็ได้ถูกยกเลิกไป
 
"ชุมชนท้องถิ่นไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโครงการที่เพียงพอ ชาวบ้านถูกบังคับให้ออกจากที่ดินของพวกเขาโดยไม่ได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรมและเท่าเทียม และพวกเขายังไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยและการประกอบอาชีพที่เหมาะสมหลังจากการถูกโยกย้าย นอกจากนี้ ยังไม่มีแนวทางการแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านที่ถูกละเมิดสิทธิในปัจจุบัน ทั้งนี้ ปัญหาทั้งหมดนี้ต้องได้รับการแก้ไขก่อนที่จะมีนักลงทุนใหม่เข้ามาลงทุน" ทาน ซิน (Thant Zin) ผู้ประสานงาน สมาคมพัฒนาทวาย (DDA) กล่าว
 
"ประเทศญี่ปุ่นมีแนวระเบียบปฏิบัติ (guidelines) ในการป้องกันผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนอันเกิดจากโครงการ และด้วยข้อกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับโครงการที่มีอยู่จนถึงบัดนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นและนักลงทุนต้องมั่นใจว่าจะปฏิบัติตามแนวระเบียบปฏิบัติดังกล่าว ก่อนที่จะมีการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายด้วย" ทาน ซิน กล่าว
 
ตัวแทนสมาคมพัฒนาทวาย ให้ข้อมูลว่า บริษัท มิตซูบิชิ ประเทศญี่ปุ่น ได้เห็นชอบที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ
 
"จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลพม่า และ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ยังมิได้กระทำการใดใดสักเท่าไรในการปกป้อง สิทธิ วิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อมของชุมชนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ดังนั้น นักลงทุนรายใหม่ๆ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบครอบถึงผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นจากโครงการ ที่สอดคล้องตามหลักมาตรฐานสากล" ทาน ซิน กล่าว
 
สมาคมพัฒนาทวาย ระบุข้อเรียกร้องว่า นักลงทุนที่จะลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายต้องปฏิบัติตามหลักปฏิบัติสากลในการปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการเคารพสิทธิของชนพื้นเมืองดั้งเดิมตาม 'หลักการยินยอมที่ได้รับการบอกแจ้งล่วงหน้าและเป็นอิสระ' (Free, Prior, Informed Consent – FPIC) การเปิดเผยข้อมูลในเวลาและรูปแบบที่เหมาะสม รวมถึงดำเนินการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง ทั้งในช่วงการวางแผน การดำเนินงาน และการติดตามผลของโครงการ ไม่กระทำการบีบบังคับหรือขมขู่ให้ชาวบ้านและชุมชนต้องโยกย้ายโดยไม่สมัครใจ หลีกเลี่ยงการโยกย้ายอย่างไม่สมัครใจหากกระทำได้ หรืออย่างน้อยที่สุดต้องฟื้นฟูมาตรฐานความเป็นอยู่และโอกาสทางรายได้ของชาวบ้านที่ถูกโยกย้าย และมีมาตรการป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
 
 
ทั้งนี้ สมาคมพัฒนาทวาย เคยส่งจดหมายร้องเรียนถึงรัฐบาลญี่ปุ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 25 พ.ค.2556 เรื่อง ข้อกังวลในเกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันสืบเนื่องมาจากโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย มีรายละเอียดดังนี้
 
 
นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรี ประเทศญี่ปุ่น
นายทาโร่ อาโซะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประเทศญี่ปุ่น
นายฟูมิโอะ คิชิดะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่าง ประเทศญี่ปุ่น
นายโทชิมิสึ โมเตะกิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น
นายฮิโรชิ โอกุดะ ผู้ว่าการธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JBIC)
นายอากิฮิโกะ ทานากะ ประธานองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA)
 
25 พฤษภาคม 2556
 
เรื่อง ข้อกังวลในเกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันสืบเนื่องมาจากโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ในประเทศพม่า
 
พวกเราจากสมาคมพัฒนาทวาย (Dawei Development Association – DDA) ต้องการจะหยิบยกข้อกังวลต่อผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม และสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนอันสืบเนื่องมาจากโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายที่กำลังพัฒนาอยู่ขณะนี้ในแคว้นตะนาวศรี[1]  พวกเราทราบว่ารัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้ความสนใจเข้ามาร่วมทุนในโครงการนี้[2] พวกเราเชื่อว่ารัฐบาลญี่ปุ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการทบทวนอย่างรอบคอบในผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่สำคัญๆ ที่จะเกิดขึ้นจากโครงการ โดยการดำเนินงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมถึงแนวระเบียบปฏิบัติ (Guidelines) สำหรับข้อพิจารณาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (ต่อจากนี้จะเรียกว่า "แนวระเบียบปฏิบัติ") ของธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan Bank for International Cooperation – JBIC) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency – JICA) ก่อนการตัดสินใจใดๆ
 
โครงการในทวายจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อวิถีชีวิตและสิทธิมนุษยชนของคนท้องถิ่นในสามพื้นที่ ดังนี้
 
1)   พื้นที่ 204.5 ตารางกิโลเมตรของโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมในย่านนาบูเล  ซึ่งห่างจากเมืองทวายไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 20 กิโลเมตร มีประชากรจำนวนกว่า 32,274 คน จาก 3,977 ครัวเรือน ซึ่งมี 21 หมู่บ้านจะถูกโยกย้าย
 
2)   หมู่บ้านกาโลนท่า ซึ่งห่างจากเมืองทวายไปทางตอนเหนือประมาณ 36 กิโลเมตร ที่แห่งนี้จะถูกสร้างเป็นที่กักเก็บน้ำบนแม่น้ำตะลายยาร์  มีประชากรประมาณ 1,000 คน จาก 182 ครัวเรือน จะถูกโยกย้าย
 
3)   พื้นที่ถนนเชื่อมโยงจากเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายไปยังบ้านพุน้ำร้อน (ชายแดนไทย) ระยะทาง 132 กิโลเมตร ประมาณการว่ามีประชากรกว่า 50,000 คน จะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น มีความยากลำบากในการเพาะปลูกเนื่องจากการก่อสร้างและของเสียจากการก่อสร้างถนน ราคาที่ดินที่สูงขึ้นมากทำให้คนในชุมชนท้องถิ่นไม่สามารถเข้าถึงที่ดินของตัวเองได้
 
 
ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมสืบเนื่องมาจากโครงการ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเกิดจากบริษัทไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  
 
1)   การละเมิดสิทธิชนพื้นเมืองดั้งเดิมและกลุ่มชาติพันธุ์ – ปราศจาก 'หลักการยินยอมที่ได้รับการบอกแจ้งล่วงหน้าและเป็นอิสระ' (Free, Prior, Informed Consent – FPIC)
 
โครงการนี้ได้ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบทั้งต่อชนพื้นเมืองดั้งเดิมของทวายที่อาศัยอยู่บริเวณนาบูเล (ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ หรือก่อนยุคพุกาม) และกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างถนน  อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงและแผนงานทั้งหมดที่กระทำขึ้นระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่ารวมทั้งบริษัทต่างๆ ได้มีการลงนามและดำเนินการโดยปราศจาก 'หลักการยินยอมที่ได้รับการบอกแจ้งล่วงหน้าและเป็นอิสระ' (FPIC) ที่พึงปฏิบัติต่อชนพื้นเมืองดั้งเดิมและชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ กล่าวคือ
 
ประการแรก บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และรัฐบาลพม่าประสบความล้มเหลวในการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการให้ข้อมูลแก่ชุมชนท้องถิ่นถึงการดำเนินงานของโครงการ แม้ว่าการก่อสร้างโครงการจะเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2553 แต่ บมจ. อิตาเลียนไทยฯ เพิ่งจะว่าจ้างบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด, บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด และสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Assessment – EA) ในพื้นที่ท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย พื้นที่อ่างเก็บน้ำ และพื้นที่แนวถนนเชื่อมโยง เมื่อเดือนกันยายน 2554 นี้เอง ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทไม่เคยทำการประเมินผลกระทบทางด้านสิทธิมนุษยชนของโครงการนี้เลย[3]
 
ประการที่สอง ตั้งแต่ปี 2553 ที่ บมจ. อิตาเลียนไทยฯ ได้เริ่มกิจกรรมต่างๆ ในทวาย การดำเนินการนั้นขาดความโปร่งใสและไม่มีการเปิดเผยข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับแผนการดำเนินงานต่อชุมชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกเราไม่เคยได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม (EA) จาก บมจ.อิตาเลียนไทยฯ และจากรัฐบาลทั้งสองประเทศ จนกระทั่งวันนี้ พวกเขาไม่เคยเปิดโอกาสให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบได้เข้าร่วมในกระบวนการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม (EA) อย่างแท้จริง การมีส่วนร่วมถูกจำกัดเพียงแค่การนำเสนอข้อมูลด้านเดียวเกี่ยวกับแผนของโครงการ แทนที่จะเป็นการสื่อสารสองทางที่มีการแลกเปลี่ยนระหว่างกันอย่างมีความหมายกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ
 
บริษัทได้ก่อสร้างถนนโดยตัดผ่านพื้นที่เพาะปลูก และทำลายพืชผลเสียหาย โดยปราศจากการยินยอมของชนพื้นเมืองดั้งเดิมและกลุ่มชาติพันธุ์  ซึ่งชุมชนท้องถิ่นมองว่า วิธีการที่ทางโครงการดำเนินการ เช่น การทำการศึกษาต่างๆ หลังจากการก่อสร้างได้ดำเนินการไปแล้วและทรัพย์สินได้ถูกทำลายไปแล้วนั้น เป็นการแสดงถึง "ความไร้จริยธรรม" ของทางบริษัทอย่างชัดเจน
 
วิธีการปฏิบัติต่างๆ เหล่านี้ที่กระทำโดย บมจ. อิตาเลียนไทยฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น มิได้เคารพต่อสิทธิในการตัดสินใจของชนพื้นเมืองดั้งเดิมและกลุ่มชาติพันธุ์ ต่อการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นและที่ดินในชุมชนของพวกเขา
 
2)   การโยกย้ายโดยไม่สมัครใจ และการสูญเสียวิถีชีวิตท้องถิ่น
 
ขณะนี้ ชนพื้นเมืองดั้งเดิมของทวายมากกว่า 32,000 คน ในแถบนาบูเล และประชากรกว่า 1,000 คนในหมู่บ้านกาโลนท่ากำลังเผชิญหน้ากับการถูกโยกย้ายโดยไม่สมัครใจ ทั้งบมจ. อิตาเลียนไทยฯ และกลุ่มบุคคล หรือองค์กรต่างๆ ที่ทำงานในนามของ บมจ. อิตาเลียนไทยฯ ไม่มีการสำรวจอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับการโยกย้ายชาวบ้าน และไม่มีกระบวนการปรึกษาหารืออย่างมีความหมายถึงความประสงค์ของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ
 
ที่หมู่บ้านกาโลนท่า ทั้ง บมจ. อิตาเลียนไทยฯ และรัฐบาลพม่ามีแผนที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำบนแม่น้ำตะลายยาร์ใกล้กับหมู่บ้าน ซึ่งอ่างเก็บน้ำแห่งนี้จะส่งผลให้น้ำท่วมและทำลายพื้นที่เพาะปลูกกว่า 3,000 เอเคอร์ (ประมาณ 7,587 ไร่) ของชาวบ้านในกาโลนท่า ซึ่งพวกเขาทั้งหมดมีวิถีชีวิตที่พึ่งพิงกับการเพาะปลูก ทั้งนี้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบแห่งนี้ได้แสดงความต้องการย่างหนักแน่นว่า จะไม่ยอมย้าย และจะไม่ยอมสูญเสียพื้นที่ป่า และพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางบริษัทกำลังกดดันให้ชุมชนท้องถิ่นยอมรับการโยกย้าย
 
จากงานวิจัยที่พวกเราได้ทำร่วมกับกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนในพม่า เช่น LokaAhlinn และ Southern Society Development Network และเครือข่ายระหว่างประเทศชื่อ Trocaire[4] พบว่า 86 เปอร์เซนต์ของคนท้องถิ่นในแถบนาบูเลที่ได้รับผลกระทบจากเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย มีชีวิตที่พึ่งพากับที่ดินเพาะปลูกและการทำเกษตร อย่างไรก็ตาม พื้นที่รองรับผู้อพยพในเขตบาวา ทาวา และวาซันตอ นั้นกลับตั้งอยู่ภายในเทือกเขาตะนาวศรี หรืออยู่ระหว่างเทือกเขากับทะเล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างแคบเกินไปหรือเป็นที่ดินที่ไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก ในขณะที่พื้นที่รอบๆ เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายกำลังถูกกว้านซื้อโดยนักเก็งกำไร ซึ่งชุมชนที่ได้รับผลกระทบจะไม่สามารถซื้อได้ ถ้าคนท้องถิ่นในนาบูเลถูกบังคับให้โยกย้าย วิถีชีวิตของพวกเขาก็จะถูกทำลายไปอย่างไม่สามารถแก้ไขได้ ถึงกระนั้น พื้นที่รองรับผู้อพยพได้ถูกสร้างขึ้นโดยปราศจากความเห็นชอบของชาวบ้าน นอกจากนั้น บ้านในพื้นที่รองรับผู้อพยพยังมีคุณภาพต่ำ และบ้านหลายหลังยังได้พังลงถึงสองครั้งจากกระแสลมตามฤดูกาลปกติ
 
ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ บริษัทได้อวดอ้างถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ดีกว่าเดิม พวกเขายังติดป้ายโปสเตอร์แผ่นโตที่ศูนย์เยี่ยมชมโครงการของทางบริษัทเพื่อโฆษณาว่า "พวกเขามีความห่วงใยในวิถีชีวิตของชาวบ้านมากขนาดไหน" แต่กระนั้นพวกเขาก็ไม่มีแผนใดๆ ทั้งสิ้นที่จะหาที่ดินทดแทนให้กับชาวบ้านเพื่อการทำเพาะปลูกและการทำเกษตรกรรมที่ดี
 
3)   ค่าชดเชยที่ไม่เป็นธรรม และการทุจริตคอรัปชั่น
 
โครงการมีส่วนเกี่ยวข้องกับชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบกว่า 3,000 คน แต่ทางบริษัทไม่มีกระบวนการที่เป็นมาตรฐานเพื่อที่จะรองรับและจัดการกับปัญหาเหล่านี้ และที่สำคัญ ยังปราศจากการปรึกษาหารือล่วงหน้าและความยินยอมของชุมชน ในระยะแรกเริ่มของการพัฒนาโครงการเช่นนี้ ก็ปรากฏชัดว่า การจ่ายค่าชดเชยนั้นไม่ยุติธรรมและไม่เท่าเทียมกันในหลายกรณี
 
ที่ดินหลายผืนถูกยึดไปเพื่อก่อสร้างสำนักงานของบริษัทและถนน ถึงแม้ว่าโครงการจะถูกบริหารงานโดยบริษัทเพียงแห่งเดียว แต่กระบวนการชดเชยก็ยังไม่มีมาตรฐาน อีกทั้งราคาที่ดินถูกกำหนดโดยวิธีการคำนวณที่แตกต่างกัน ทั้งยังมีการคุกคาม และการใช้อิทธิพลจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นด้วย
 
เจ้าหน้าที่รัฐของพม่าได้พยายามที่จะใช้อิทธิพลในขั้นตอนการจ่ายค่าชดเชยด้วยเช่นกัน เนื่องจากทางบริษัทไม่ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชย ซึ่งทำให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐและการกระทำอันมิชอบของบรรดานายหน้า
 
เมื่อต้นปี 2555 บมจ. อิตาเลียนไทยฯ เริ่มจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่ชาวบ้านที่สูญเสียที่ดินจากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อย่างเช่น ถนน ที่ทำการของสำนักงาน และอาคารต่างๆ รอบบริเวณพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจำนวนเงินของการจ่ายค่าชดเชยในแต่ละครั้งมีความแตกต่างกัน แม้ว่าจะเป็นการจ่ายให้กับรายบุคคลที่มีสภาพที่ดินเหมือนกัน แต่ค่าชดเชยนั้นกลับต่างกัน นี่คือการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน ในแต่ละกรณีนั้นการตัดสินใจเรื่องค่าชดเชยจะขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่รัฐและ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ยิ่งไปกว่านั้น การจ่ายค่าชดเชยจะผ่านทางเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลและผู้ปกครองหมู่บ้าน พวกเราสงสัยอย่างยิ่งว่ามีการทุจริตอย่างแพร่หลายในกระบวนการจ่ายเงินค่าชดเชย และพวกเรายังมีหลักฐานอย่างชัดเจนในการทุจริตหลายกรณี อาทิ เจ้าหน้าที่รัฐเก็บเงินจำนวน 40 ล้านจั๊ต จากเจ้าของที่ดินโดยการทำตัวเลขค่าชดเชยให้สูงขึ้น เป็นต้น จนกระทั่งถึงตอนนี้ยังไม่มีความโปร่งใสเกี่ยวกับจำนวนเงินค่าชดเชยที่จ่ายโดยบริษัท และจำนวนเงินที่ชาวบ้านผู้ถูกผลกระทบได้รับ
 
ประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่ามีการละเมิดในแนวระเบียบปฏิบัติ (Guidelines) หลายข้ออย่างชัดเจน ดังนั้นพวกเรา – คนท้องถิ่นจากทวายในแคว้นตะนาวศรี ขอเรียกร้องรัฐบาลญี่ปุ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้พิจารณาอย่างรอบคอบและติดตามอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งทบทวนรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมที่มีอยู่ รวมถึงสถานการณ์การละเมิดทางสิทธิมนุษยชนในโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายก่อนทำการตัดสินใจที่จะเข้าร่วมในโครงการนี้ และก่อนที่สถาบันทางการเงินของญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนโครงการนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการยึดที่ดินและการใช้ที่ดินที่ยังไม่เคยมีการปรึกษาหารืออย่างจริงจังกับชาวบ้าน ซึ่งต้องเป็นเรื่องที่ต้องดูแลอย่างละเอียดถี่ถ้วน   
 
พวกเราเชื่อว่าญี่ปุ่นต้องพร้อมที่จะถูกตรวจสอบเกี่ยวกับประเด็นผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ ทันทีที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม ซึ่งรวมไปถึงการลงทุนหรือการให้กู้  แม้พวกเราตระหนักดีและคาดหวังอย่างยิ่งว่า ญี่ปุ่นจะดำเนินการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะขั้นสูงเมื่อต้องประเมินโครงการทวายอย่างเป็นทางการ พวกเราจึงอยากจะเน้นย้ำประเด็นดังต่อไปนี้ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของพวกเราเพื่อให้ญี่ปุ่นคำนึงถึงมาตรฐานสากลในการปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนี้
 
1)   บมจ. อิตาเลียนไทยฯ รวมทั้งรัฐบาลไทย และพม่า ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสิทธิของชนพื้นเมืองดั้งเดิมตามหลักการยินยอมที่ได้รับการบอกแจ้งล่วงหน้าและเป็นอิสระ (FPIC)
 
2)   เปิดเผยข้อมูลให้ทันท่วงทีและด้วยการปฎิบัติที่เหมาะสม และให้คนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการแนวทางสำคัญต่างๆ  อย่างเช่น การวางแผนงาน การดำเนินงาน และการติดตามตรวจสอบในแผนการดำเนินการการโยกย้าย (RAP) และกระบวนการการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม
 
3)   ไม่มีการบีบบังคับหรือข่มขู่คุกคามชาวบ้านและชุมชนในกระบวนการโยกย้ายที่ไม่สมัครใจ
 
4)   หลีกเลี่ยงการโยกย้ายที่ไม่สมัครใจ หากมันได้พิสูจน์ว่ามาตรฐานความเป็นอยู่และโอกาสทางรายได้ของคนท้องถิ่นจะไม่ดีขึ้น หรืออย่างน้อยจะได้รับการฟื้นฟู
 
5)   ไม่มีการทุจริต หรือมีมาตรการที่มีประสิทธิภาพและมีความหมายต่อการต่อต้านการทุจริต
 
6)   เคารพต่อสิทธิมนุษยชนในการดำเนินกิจกรรมใดก็ตามของโครงการ
 
ขอบคุณเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพิจารณาข้อเรียกร้องของพวกเรา และพวกเราจะรอฟังการตอบรับของคุณ
 
 
 
ด้วยความเคารพอย่างสูง
 
 
ลงชื่อ
สมาคมพัฒนาทวาย (DDA)
 
 
 
 
 
ลำดับเหตุการณ์สำคัญตั้งแต่ ปี 2551-2556
 
 
โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย
ลำดับเหตุการณ์สำคัญ  (ปี 2551-2556)
 
2551
9 พฤษภาคม 2551
รัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมเพื่อการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย และการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมสู่กรุงเทพฯ
 
19 มิถุนายน 2551
รัฐบาลพม่าลงนามบันทึกความเข้าใจกับ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เพื่อการศึกษาความเป็นไปได้ ในโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายและการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมสู่กรุงเทพฯ 
 
2553
ชาวบ้านเริ่มสังเกตเห็นการก่อสร้างในพื้นที่ และชาวบ้านบางคนเริ่มร้องเรียนว่าที่ดินของเขาถูกบุกรุก หรือทำลายโดยปราศจากการแจ้ง หรือได้รับการยินยอม
 
2 พฤศจิกายน 2553
บมจ. อิตาเลียนไทยฯ ลงนามกรอบข้อตกลงกับการท่าเรือพม่า โดยบริษัทได้รับสัมปทานในการสร้าง ดำเนินการ และถ่ายโอน (BOT) ในโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย (รวมถึงอุตสาหกรรมหนัก เช่น โรงเหล็ก โรงงานปุ๋ย โรงไฟฟ้า และสาธาณูปโภคอื่น ๆ), ถนน, ทางรถไฟ, ท่อก๊าซ, ท่อน้ำมัน และอาคารที่พักอาศัย
 
2554
19 กรกฎาคม 2554
สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือเคเอ็นยู เข้าระงับการก่อสร้างถนนเชื่อมจากโครงการทวายมาประเทศไทยของ บมจ. อิตาเลียนไทยฯ เนื่องจากชาวบ้านได้ร้องเรียนว่าที่ดินของพวกเขาถูกบริษัททำลายและไม่ได้รับการดูแลหรือจ่ายค่าชดเชยใดๆ ถนนสายนี้มีระยะทาง 160 กิโลเมตร ตัดผ่านชุมชนชาวกะเหรี่ยง 21 หมู่บ้าน
 
15 ธันวาคม 2554
สมาคมพัฒนาทวาย (Dawei Development Association หรือ DDA) จัดแถลงข่าวที่กรุงย่างกุ้ง โดยออกแถลงการณ์แสดงความวิตกกังวลต่อโครงการซึ่งจะทำให้ประชาชนในพื้นที่จำนวน 32,279 คน โรงเรียน 21 แห่ง และวัด 23 แห่ง จาก 19 หมู่บ้านต้องย้ายออกจากพื้นที่ และเรียกร้องรัฐบาลและผู้พัฒนาโครงการต้อง; 1) ยึดถือแนวทางการพัฒนาสีเขียวอันยั่งยืน คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชนในพื้นที่โครงการทวาย 2) ดำเนินการโดยยึดเอาความปรารถนาของประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ 3) ทำการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และผลกระทบทางสังคม (SIA) ในมาตรฐานสากล และ 4) เพื่อการพัฒนาสีเขียวอันยั่งยืน ผลประโยชน์และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ควรได้รับการพิจารณา
 
2555
4 มกราคม 2555
สมาคมพัฒนาทวายร่วมกับชาวทวายจัดกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ชายหาดเมามะกัน โดยเรียกร้อง "การพัฒนาสีเขียว" ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
 
5 มกราคม 2555
องค์กรภาคประชาชนไทย 18 องค์กร ออกแถลงการณ์กรณีโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย โดยตั้งคำถามต่อรัฐบาลไทยถึงความเหมาะสมในการนำเงินสาธารณะจำนวน 5.2 หมื่นล้านบาท และเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างทางหลวงพิเศษรองรับโครงการนี้ รวมถึงการที่กฟผ.เจรจาเพื่อทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากประเทศพม่าในสัดส่วนที่สูงมากจนอาจกระทบต่อความมั่นคงของระบบพลังงานไทยในอนาคต และแสดงความห่วงใยต่อผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น
 
7 มกราคม 2555
สมาคมพัฒนาทวายยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีไทย ในระหว่างการจัดการประชุมร่วมทวิภาคีเพื่อหารือในความร่วมมือในโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายระหว่างรัฐมนตรีของสองประเทศที่เมืองทวาย โดยได้แสดงความกังวลต่อปัญหาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม และสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการโครงการในวิถีทางซึ่งแสดงถึงความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ อีกทั้งยึดมั่นต่อหลักการสิทธิมนุษยชน
 
9 มกราคม 2555
นายอู คิน หม่อง ซอ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานไฟฟ้า (ลำดับที่ 2) แถลงต่อสื่อมวลชนที่กรุงย่างกุ้งว่า จะไม่อนุญาตให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 4,000 เมกะวัตต์ ในโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย เพราะจะเกิด
ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตามมา
 
6 เมษายน 2555
กะเหรี่ยงหมู่บ้านตะบิวชองในพม่า ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการตัดถนนเชื่อมระหว่างนิคมอุตสาหกรรมทวายกับประเทศไทย ประท้วงและเดินออกจากห้องประชุมในขณะที่คณะนักวิชาการจากสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงพื้นที่ขอชี้แจงการสำรวจข้อมูลเพื่อจะใช้ประกอบการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยชาวบ้านไม่เชื่อมั่นว่าจะเกิดความเป็นกลางในการจัดทำรายงาน เพราะนักวิชาการเดินทางมากับ บมจ. อิตาเลียนไทยฯ เจ้าของโครงการ และทางบริษัทฯ เองก็ไม่สามารถให้คำตอบชัดเจนในเรื่องการชดเชยที่เกิดจากความเสียหายของการขยายถนน  ซึ่งสร้างความไม่พอใจต่อชาวบ้าน เพราะบริษัทฯ ได้ก่อสร้างถนนรุกเข้าไปในที่ทำกิน แต่ไม่เคยดูแลหรือเยียวยา จนชาวบ้านได้ประกาศปิดถนนห้ามบริษัทเข้ามาก่อสร้าง ซึ่งบริษัทก็ได้เลี่ยงไปก่อสร้างที่อื่นก่อน และยังทิ้งปัญหาไว้
 
18 สิงหาคม 2555
นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม นายวีรวัธน์  ธีรประสาธน์ ประธานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ และนางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมเป็นวิทยากรในการแถลงข่าว "หยุดอุ้มโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย หยุดขยายหนี้สาธารณะ" ตั้งคำถามต่อจริยธรรมและธรรมาภิบาลในโครงการ และแสดงความไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลไทยเข้าสนับสนุนโครงการนี้โดยใช้เงินแผ่นดิน ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างหนี้สาธารณะ ยังเป็นการอุ้มเอกชนให้ลงทุนในประเทศที่ไม่มีความพร้อมในการปกป้องสิทธิมนุษยชน และมาตรการป้องกันผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ โดยมีองค์กรภาคประชาสังคม 42 องค์กรได้ร่วมลงนามในแถลงการณ์นี้ด้วย
 
กันยายน 2555
รายงานวิจัยขององค์กรสิทธิมนุษยชนเนเธอร์แลนด์ที่ร่วมกับกลุ่มท้องถิ่นระบุว่า ทาง บมจ. อิตาเลียนไทยฯ ถูกชาวบ้านกล่าวหาในเรื่องการยึดที่ดินของชาวบ้าน การจ่ายค่าชดเชยที่ต่ำ และการบังคับให้ชาวบ้านโยกย้าย และได้ประเมินตัวเลขของผู้ที่จะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากปัญหาการยึดที่ดินขนานใหญ่ในพื้นที่ทวายว่าอาจสูงถึง 500,000 คน
 
20 กันยายน 2555
ชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ได้รวมตัวกันจัดกิจกรรมเพื่อต่อต้านโครงการที่พวกเขาบอกว่า เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมสกปรกและไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยชาวบ้านในหมู่บ้านกาโลนท่า ซึ่งได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเพื่อนำมาใช้ในโครงการ ได้ทวงถามถึงบัญญัติหลัก 4 ข้อเกี่ยวกับการลงทุนของต่างชาติที่ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง เคยดำริไว้ นั่นคือ 1) ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนพม่า 2) ปกป้องศักดิ์ศรีแห่งรัฐ 3) ปกป้องอธิปไตยของชาติ และ4) การลงทุนของต่างชาติต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
 
ทั้งนี้ ชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างถนนยังได้ติดตั้งป้ายคัดค้านโครงการที่มีใจความว่า "หยุดสร้างมาบตาพุดอีกแห่งในทวาย"
 
4 ตุลาคม 2555
ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้หารือกับนายเซ็ทซึโอะ อิอูจิ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ประจำประเทศไทย ซึ่งยืนยันจะร่วมมือพัฒนาพื้นที่ทวาย ในลักษณะ 3 ประเทศ คือไทย พม่า และญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานแก่โครงการต่างๆ
 
28 ตุลาคม 2555
ชาวบ้านในพื้นที่นาบูเล ซึ่งเป็นพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรมทวาย บอกว่าโครงการนี้ทำให้พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ไม่สามารถปลูกพืชผลได้ตามฤดูกาล และเจ้าหน้าที่โครงการยังสั่งให้พวกเขาย้ายไปปลูกที่อื่นด้วย กลุ่มท้องถิ่นในทวายที่ชื่อ Tavoyan Voice ยังได้กล่าวว่า โครงการทวายสร้างประโยชน์เฉพาะนักธุรกิจและเจ้าหน้าที่เท่านั้น ในขณะที่ชาวท้องถิ่นจะต้องเป็นผู้รับเคราะห์กรรมในเรื่องผลกระทบ
 
15 พฤศจิกายน 2555
แผนการสร้างเขื่อนที่บ้านกาโลนท่าเพื่อนำน้ำไปใช้ในเขตนิคมอุตสาหกรรมทวายถูกต่อต้านจากชาวบ้าน เนื่องจากทั้งหมู่บ้าน 182 หลังคาเรือนจะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ และชาวบ้านกว่า 1.000 คนต้องย้ายออกจากพื้นที่ ชาวบ้านกล่าวว่า บริษัทขอเดินทางมาเจรจา เพราะการคัดค้านของชาวบ้านทำให้โครงการทวายต้องล่าช้าออกไป แต่ในวันที่เจ้าหน้าที่ทางการและ บมจ. อิตาเลียนไทยฯ เดินทางไปที่หมู่บ้านเพื่อพูดคุยถึงแผนการโยกย้าย ชาวบ้านต้อนรับด้วยป้ายที่เขียนว่า "ไม่เอาเขื่อน" และ "ไม่ย้าย"
 
22 พฤศจิกายน 2555
องค์กรท้องถิ่นในทวาย ชื่อ Tavoyan Voice ออกมาตอบโต้ข่าวที่ทาง บมจ. อิตาเลียนไทยฯ ระบุกับสื่อว่ามีการโยกย้ายชาวบ้านส่วนใหญ่ออกจากพื้นที่ไปแล้ว ซึ่งแหล่งข่าวในพื้นที่กล่าวว่า ยังไม่มีชาวบ้านสักคนเดียวที่ย้ายออกจากพื้นที่ การออกมาให้ข่าวของทางบริษัทเป็นความพยายามที่จะทำให้เห็นว่าโครงการมีความคืบหน้าเพื่อดึงดูดนักลงทุน แต่ในความเป็นจริงแล้ว แผนการโยกย้ายประชาชนกว่า 32,000 คนของทางบริษัทกำลังเผชิญกับการต่อต้านจากชาวบ้านซึ่งไม่ต้องการย้ายออกจากพื้นที่
 
28 พฤศจิกายน 2555
สื่อระบุว่า รายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรมทวายจะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2556 ในขณะที่ชาวบ้านมีข้อกังขาว่า โครงการได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2553 แต่ บมจ. อิตาเลียนไทยฯ เพิ่งจะว่าจ้างให้ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด, บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด และสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อม (Environmental Assessment) ในพื้นที่ท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย, พื้นที่สร้างเขื่อนที่หมู่บ้านกาโลนท่า และพื้นที่ก่อสร้างถนนเชื่อมต่อมายังประเทศไทย ตามลำดับ ซึ่งการศึกษาเพิ่งจะเริ่มต้นเมื่อเดือนกันยายน ปี 2554 และจนถึงบัดนี้ ยังไม่เคยมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการประเมินสิ่งแวดล้อมใด ๆ แก่ชาวบ้าน
 
2556
17 มกราคม 2556
นายชินโซ อะเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในการนี้ นายอะเบะได้พูดคุยกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทยเกี่ยวกับประเด็นการพัฒนา ซึ่งรวมถึงโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น รายงานว่าประเทศญี่ปุ่นได้แสดงความสนใจที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายในประเทศพม่า
 
19 มกราคม 2556
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้แสดงความเชื่อมั่นว่าประเทศญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะลงทุนในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย พร้อมทั้งเสริมว่า การขยายตัวของการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของญี่ปุ่นเพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานของโครงการนั้น จะช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ของโครงการ เนื่องจากเงินกู้ดังกล่าวจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยในช่วงเริ่มต้นของโครงการ
 
25 มกราคม 2556
นักปั่นจักรยานและนักกิจกรรมในประเทศพม่าเริ่มการรณรงค์ปั่นจักรยานเป็นเวลา 10 วัน จากย่างกุ้งไปยังโครงการทวาย เพื่อรณรงค์ให้สาธารณชนตระหนักถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากโครงการ
 
5 มีนาคม 2556
สมาคมพัฒนาทวายได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประเทศไทย ที่กรุงเทพมหานคร ระบุถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธชุมชนอันเกิดจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โดยชี้ให้เห็นว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นโดยบริษัทไทยและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การละเมิดสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ – ไม่มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลและไม่มีการปรึกษาหารืออย่างเหมาะสมกับชนพื้นเมืองท้องถิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์ นอกจากนี้ คนท้องถิ่นกว่า 32,000 คน ยังต้องประสบกับการโยกย้ายถิ่นฐานโดยไม่สมัครใจและการให้ค่าชดเชยที่ไม่เป็นธรรม
 
28 มีนาคม 2556
ชาวบ้านจากหมู่บ้านชาคาน ในเขตเท็งจี ถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นให้ย้ายออกจากหมู่บ้าน เพื่อเปิดทางให้กับการก่อสร้างโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านปฏิเสธที่จะย้าย เนื่องจากได้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านดังกล่าวมานานหลายทศวรรษ และได้ดำรงชีวิตโดยการหาปลาและทำนาเกลือมาหลายชั่วอายุคน
 
12 พฤษภาคม 2556
ประชาชนในท้องถิ่นซึ่งได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อจากทวายไปยังประเทศไทย ได้ปฏิเสธการเข้าร่วม "การประชุมสาธารณะเพื่อปรึกษาหารือ" จัดโดยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถูกว่าจ้างโดย บมจ. อิตาเลียนไทยฯ เพื่อทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านกล่าวว่าคณะนักวิจัยล้มเหลวหลายต่อหลายครั้งในการให้ข้อมูลเรื่องการทำการศึกษา และล้มเหลวในการชี้แจงประเด็นที่สำคัญอย่างการชดเชยความเสียหายอันมีต่อที่ดินและพืชผล พวกเขายังกล่าวถึงการดำเนินการของ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ และคณะนักวิชาการ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการทำการศึกษาหลังจากที่การก่อสร้างได้เริ่มไปแล้ว และทรัพย์สินของชาวบ้านได้รับความเสียหายไปแล้วว่า เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการ "ขาดจริยธรรม"
 
24 มิถุนายน 2556
กลุ่มจับตาทวาย (Dawei Watch) กล่าวว่าชาวบ้านในทวายกำลังวางแผนที่จะฟ้อง บมจ. อิตาเลียนไทยฯสำหรับการสูญเสียที่ดินจากการที่บริษัทได้ตัดถนนผ่านที่ดินของชาวบ้านในเมืองเยบิว นอกจากนี้ ตามรายงานของเจ้าของพื้นที่เพาะปลูกที่เสนอต่อศาลพิเศษในเขตอำเภอตะลายยาร์ยังระบุว่า ชาวบ้าน 14 คน ได้โต้แย้งถึงจำนวนเงินค่าชดเชยที่บริษัทเสนอให้สำหรับการสูญเสียพื้นที่เพาะปลูกและวิถีชีวิตของพวกเขา
 
29 กรกฎาคม 2556
นาย ทูรา ตวง ลวิน ประธานคณะกรรมการบริหารการจัดการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ประกาศถึงความพยายามที่จะดึงประเทศญี่ปุ่นเข้าเป็นพันธมิตรในทางยุทธศาสตร์ของโครงการทวาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้รับเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดในการจัดหาไฟฟ้า ทั้งนี้ ยังได้กล่าวถึงจดหมายเชิญอย่างเป็นทางการจากรัฐมนตรีประเทศพม่าและประเทศไทยที่ส่งถึงประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 24 เมษายน เพื่อเชิญชวนให้ร่วมลงทุนในโครงการ
 
4 สิงหาคม 2556
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศพม่ากล่าวว่า พวกเขายังคงเชื่อมั่นว่าประเทศญี่ปุ่นจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโครงการทวาย ขณะที่เจ้าหน้าที่ของญี่ปุ่นกล่าวกับว่า ญี่ปุ่นกำลังพิจารณาหลาย ๆ ตัวเลือกเพื่อเข้าร่วมในโครงการทวาย นาย มาซากิ ทากาฮาระ ผู้บริหารองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ประจำย่างกุ้ง กล่าวด้วยว่า ประเทศญี่ปุ่นสามารถช่วยเหลือในสิ่งที่ญี่ปุ่นเชี่ยวชาญผ่านการวางแผนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสามารถพิจารณาเรื่องการจัดหาทุนสำหรับโครงการด้วย โดยเขากล่าวว่า "การสนับสนุนการพัฒนาและการเชื่อมโยงในภูมิภาคนี้ ถือเป็นงานของประเทศญี่ปุ่น ในฐานะที่เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาค"
 
9 กันยายน 2556
ชาวบ้านในพื้นที่ทำการปิดถนนที่หมู่บ้านตะบิวชอง เพื่อประท้วง บมจ. อิตาเลียนไทยฯ  โดยกล่าวหาว่าบริษัทไม่รักษาสัญญาที่เคยระบุว่า จะชดเชยความเสียหายจากการสร้างถนนสำหรับโครงการทวาย โดยทางกลุ่มผู้ประท้วงยังได้ออกแถลงการณ์วิจารณ์ถึง "ค่าชดเชยที่ไม่เป็นธรรมและไม่โปร่งใส" ที่บริษัทดำเนินการ
 
29 กันยายน 2556
ชาวบ้านทวายเรียกร้องให้ระงับโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย โดยกล่าวว่าบริษัทไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยตามที่ได้สัญญาไว้  ในขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่เริ่มไม่พอใจมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากไร่สวนของพวกเขาถูกทำลายจากการก่อสร้างโครงการโดยที่พวกเขาไม่เคยรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการมาก่อน
 
16 ตุลาคม 2556
สื่อ Eleven Media ของพม่ารายงานว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นกล่าวในที่ประชุมร่วมพม่า-ไทย-ญี่ปุ่น ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังดำเนินการพิจารณาครั้งใหม่เกี่ยวกับการเข้าร่วมในโครงการทวาย โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการขนส่ง นาย ฮัน ซิน ในฐานะประธานกรรมการดำเนินงานโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย กล่าวว่า "รัฐบาลญี่ปุ่นสนใจเข้าลงทุนในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย แต่ทั้งนี้ยังไม่ได้มีการตัดสินใจใดๆ และหากรัฐบาลญี่ปุ่นต้องการลงทุนในโครงการนี้จริง ก็จะต้องใช้วิธีการระดมทุนในทางสาธารณะ"
 
21 พฤศจิกายน 2556
คณะกรรมการประสานงานร่วม ไทย-พม่า ให้ความเห็นชอบกรอบข้อตกลงโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายฉบับใหม่ และมีการลงนามในสัญญา 3 ฉบับ คือ
 
1. สัญญาระหว่างคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (DSEZ Authority) กับบริษัท ทวาย เอสอีแซด ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) ซึ่งถือหุ้นร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐบาลไทย และรัฐบาลพม่าฝ่ายละ 50% (เงินทุนจดทะเบียนเบื้องตัน 12 ล้านบาท) โดย SPV จะเป็นผู้ประสานงานและที่ปรึกษาหลักหลักของคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย รวมไปถึงการเชิญชวนนักลงทุนที่มีศักยภาพเข้ามาลงทุนในโครงการ ทั้งนี้คณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายจะเป็นผู้คัดเลือกผู้ลงทุนในโครงการนี้
 
2. สัญญาร่วมสามฝ่าย (Tripartite Memorandum) ระหว่าง บมจ. อิตาเลียนไทยฯ คณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และ SPV โดยเนื้อหาสำคัญระบุถึงสิทธิการดำเนินงานที่เหลืออยู่ของ บมจ. อิตาเลียนไทยฯ ก่อนส่งมอบงานให้กับนิติบุคคลย่อย (SPC) รับช่วงในการดำเนินงานต่อไป ซึ่งสิทธิในการดำเนินงานของ บมจ. อิตาเลียนไทยฯ  ก่อนที่จะมีการประมูลโครงการเกิดขึ้น คือการซ่อมแซมและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานที่ได้มีกรก่อสร้างไปแล้วบางส่วนในโครงการทวาย เช่น ถนน และท่าเรือขนาดเล็ก
 
และ 3. สัญญาในการยกเลิกสิทธิสัมปทานเดิมของบมจ. อิตาเลียนไทยฯ ที่ได้มีการทำสัญญาเป็นผู้ก่อสร้างและบริหารโครงการทวายที่ บมจ. อิตาเลียนไทยฯ  เคยลงนามร่วมกับคณะกรรมการบริหารท่าเรือพม่า โดยสิทธิดังกล่าวจะคืนให้กับ SPV เพื่อนำไปสู่การประมูลโครงการต่างๆ ในทวาย โดย SPV จะได้สิทธิในการบริหารโครงการตามกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ของพม่าเป็นเวลา 75 ปี และมีการขยายสัญญาการลงทุนได้อีก 25 ปี
 
นาย เซต อ่อง รองผู้ว่าการธนาคารกลางพม่า กล่าวว่าตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่นได้เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์ นอกจากนี้ คณะกรรมการจัดการยังได้เชิญชวนให้นักลงทุนญี่ปุ่นส่งข้อเสนอทางธุรกิจสำหรับการพัฒนาโครงการชุดแรกด้วย อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดหมายว่าญี่ปุ่นจะประกาศแผนการลงทุนของตนในโครงการทวายในการประชุมฉลองความสัมพันธ์ 40 ปี อาเซียน-ญี่ปุ่น ที่จะจัดขึ้น ณ กรุงโตเกียว ในเดือนธันวาคม 2556
 
21 พฤศจิกายน 2556
ชาวบ้านทวายปิดถนนทวาย-บ้านพุน้ำร้อน ช่วงหลักกิโลเมตรที่ 37-38 และยึดรถ 3 คันของ บมจ. อิตาเลียนไทย โดยกล่าวว่า บมจ. อิตาเลียนไทย ไม่รับผิดชอบในการจ่ายค่าชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเรือกสวนไร่นาซึ่งถูกทำลายนับแต่บริษัทเริ่มก่อสร้างถนนในปี 2554
 
22 พฤศจิกายน 2556
บริษัท มิตซูบิชิประกาศจะร่วมกับ บมจ. ผลิตไฟฟ้า (EGCO) และ บมจ. อิตาเลียนไทย ในสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 30, 50 และ 20 ตามลำดับ เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 7,000 เมกะวัตต์ในทวาย ซึ่งถือว่ามีขนาดเท่ากันกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถึง 7 โรง โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้ 3,000 เมกะวัตต์ จะใช้ในโครงการทวาย และอีก  4,000 เมกะวัตต์ จะขายให้ประเทศไทย ทั้งนี้ คาดว่าโรงไฟฟ้าส่วนแรกจะจ่ายไฟฟ้าได้ในปี 2558
 
25 พฤศจิกายน 2556
สำนักข่าวอิระวดี รายงานว่ารัฐบาลญี่ปุ่นและภาคเอกชน ได้หันกลับมาสนใจโครงการทวายอีกครั้งหลังจากที่เคยแสดงท่าทีเมินเฉยต่อข้อเสนอเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว "โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายเป็นโครงการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับภูมิภาคนี้" นายทาดาชิ เมเอดะ กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) ได้กล่าวในงานสัมมนาธุรกิจที่กรุงย่างกุ้ง ซึ่งจัดโดยนิเคอิ บริษัทสื่อชื่อดังของญี่ปุ่น
 
 
 
 
 

[1] โครงการประกอบด้วยองค์ประกอบหลายส่วน อาทิ ท่าเรือน้ำลึก, โรงกลั่นน้ำมัน, อุตสาหกรรมปิโตรเคมี, อุตสาหกรรมเหล็ก, โรงไฟฟ้าถ่านหิน และอุตสาหกรรมอื่นๆ รวมไปถึงโครงการกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และถนนเชื่อมโยงมายังประเทศไทย โดยเป็นไปตามข้อตกลงในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ที่ลงนามโดยการท่าเรือแห่งพม่า กับ บมจ. อิตาเลียนไทยฯ เมื่อเดือนมิถุนายน 2551  โดยในข้อตกลงเบื้องต้นนั้นมี บมจ. อิตาเลียนไทยฯ เป็นผู้พัฒนาหลักของโครงการ แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นโครงการระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล ภายใต้การลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลพม่าและรัฐบาลไทย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2555
 
[2] ยกตัวอย่างเช่น นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีประเทศญี่ปุ่น ได้กล่าวในโอกาสเข้าพบนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ในวันที่ 17 มกราคม 2556 ว่า  "ญี่ปุ่นต้องการแลกเปลี่ยนความเห็นกับประเทศที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่ก็มองการพัฒนาต่าง ๆ (ในพื้นที่ทวาย) ด้วยความสนใจ"  (http://www.mofa.go.jp/region/asia-paci/pmv_1301/thailand.html) นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังมีการหารืออย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศพม่า โดยเฉพาะหัวข้อเกี่ยวกับพื้นที่ทวาย  ทั้งในการประชุมระดับภูมิภาคและการประชุมระดับทวิภาคี อันได้แก่ การประชุมผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2554 (http://www.mofa.go.jp/annouce/jfpu/2011/12/1221-01.html), การประชุมผู้นำญี่ปุ่น-ไทย วันที่ 7 มีนาคม 2555 (http://kantei.go.jp/foreign/noda/diplomatic/201203/07thai_e.html), และในการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 4 วันที่ 30 สิงหาคม 2555 (http://www.asean.org/news/asean-secretariat-news/item/joint-media-statement-of-the -4th-makong-japan-economic-ministers-meeting-siem-reap-cambodia-30th-august-2012).  
 
[3] การประเมินผลกระทบทางด้านสิทธิมนุษยชนมีความสำคัญอย่างยิ่งในกรณีนี้ เนื่องจากการก่อสร้างถนนที่เชื่อมโยงจากโครงการได้ตัดผ่านพื้นที่ที่ได้เกิดความขัดแย้งเมื่อไม่นานมานี้ และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการละเมิดทางด้านสิทธิมนุษยชน
 
[4] DDA, LokaAhlinn, Southern Society Development Network, Trocaire. "Local People Understanding of Dawei Special Economic Zone" (March 2012).

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลรธน.ชี้‘สุเทพ’ชุมนุมสงบ ไม่รับคำร้อง‘เรืองไกร’ขอให้สั่งยุติ

Posted: 11 Dec 2013 06:52 AM PST

ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง "เรืองไกร" กรณีขอให้สั่ง "สุเทพ" ยุติชุมนุม ชี้เป็นการชุมนุมสงบ ปราศจากอาวุธ ทำในนามประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรอง

11 ธ.ค.2556 สำนักข่าวไทยรายงานนายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วันนี้  (11 ธ.ค.) ว่าที่ประชุม มีคำสั่งไม่รับคำร้องกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกลุ่มผู้คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมและขับไล่ระบอบทักษิณ นำมวลชนกระทำผิดกฎหมายรวมตัวกันเข้ายึดกระทรวงการคลัง ทำการตัดน้ำ ตัดไฟ ข่มขืนใจเจ้าหน้าที่รัฐให้หยุดปฏิบัติราชการตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับไล่ระบอบทักษิณ เสนอระบบการปกครองใหม่ เช่น การจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ ไม่ให้มีการซื้อเสียง กำจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เป็นสาเหตุให้ ส.ส.เข้ามาแสวงหาประโยชน์ การให้ประชาชนมีอำนาจทางการเมืองสามารถถอดถอนนายกรัฐมนตรีและ ส.ส.ได้ เสนอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ปฏิรูปโครงสร้างตำรวจเพื่อให้เป็นตำรวจของประชาชน ทำให้ข้าราชการอยู่ในระบอบคุณธรรมไม่เล่นพรรคเล่นพวก กำหนดให้ปัญหาพื้นฐาน เช่น การคมนาคม ความเป็นอยู่ การศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ โดยจะจัดตั้งสภาประชาชนที่มาจากทุกสาขาอาชีพ สร้างนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในฝันของประชาชนนั้น เข้าข่ายเป็นกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองและกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิถีทางที่มิได้บัญญัติไว้ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่งหรือไม่ และขอให้ศาลสั่งให้นายสุเทพ เลิกการกระทำที่จะตั้งสภาประชาชน และสร้างนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในฝัน รวมถึงมีคำสั่งให้นายสุเทพเลิกกระทำการตามฐานความผิดในหมายศาลอาญาที่ 2363/2556 ที่ศาลได้มีออกหมายจับนายสุเทพด้วย

นายพิมล กล่าวอีกว่า ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของนายสุเทพ ผู้ถูกร้องเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และเป็นการกระทำในนามประชาชนที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ ส่วนการยึดสถานที่ราชการก็ไม่ได้เกิดขึ้นแล้ว และสถานการณ์ตามคำร้องได้พัฒนาไปสู่การยุบสภาผู้แทนราษฎรและเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งแล้ว จึงไม่มีมูลกรณีเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนญมาตรา 68 วรรคหนึ่ง ส่วนประเด็นคำขออื่นไม่จำต้องพิจารณา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พระไพศาล วิสาโล

Posted: 11 Dec 2013 05:33 AM PST

"จะโค่นล้มระบอบทักษิณอย่างไร พึงระวังอย่าให้ระบอบอื่นที่เลวร้ายกว่ามาแทนที่ กล่าวอีกนัยหนึ่ง จะโค่นล้มทักษิณอย่างไร ก็อย่าปล่อยให้ระบอบประชาธิปไตย ที่การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญอันจะขาดเสียมิได้ ถูกทำลายไปด้วย หาไม่แล้วความเสียหายร้ายแรงต่าง ๆ จะตามมา อย่างไม่คุ้มกับสิ่งที่ได้มาเลย"
10 ธ.ค.56

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น