โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

คนคอนสารจัดบุญกุ้มข้าวใหญ่ สืบชะตาเมืองคอนสาร ค้านโรงงานยางพาราฯ

Posted: 12 Dec 2013 11:38 AM PST

ชาวอำเภอคอนสารร่วมกันจัดงานบุญ 'บุญกุ้มข้าวใหญ่ สืบชะตาเมืองคอนสาร' ระดมข้าวไปแลกเป็นเงินทุน เพื่อติดตามการก่อสร้างโรงงานผลิตยางพาราในพื้นที่ ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันเพื่อคัดค้านโรงงานยางพารา
 
 
12 ธ.ค.2556 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวอำเภอคอนสารร่วมกันจัดงานบุญ 'บุญกุ้มข้าวใหญ่ สืบชะตาเมืองคอนสาร' ณ ที่ว่าการอำเภอคอนสาร จ.ชัยภูมิ เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2556 โดยมีชาวบ้านจากในทุกตำบล รวมทั้งจากอำเภอข้างเคียง เช่น อ.หนองบัวแดง อ.ภูเขียว อ.เกษตรสมบูรณ์ ทยอยกันนำทั้งข้าวเหนียว ข้าวจ้าว มารวมกองกัน โดยกิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อนำข้าวที่ได้จากการบริจาคมาใช้เป็นกองทุนไว้สำหรับติดตามความเคลื่อนไหวและคัดค้านการสร้างโรงงานยางพาราของบริษัทศรีตรังแอโกรอินดัสทรีจำกัด (มหาชน) ในพื้นที่บ้านหินรอยเมย หมู่ที่ 8 ต.ดงบัง อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ
 
"บุญกุ้มข้าวใหญ่ ถือเป็นครั้งแรกของชาวอำเภอคอนสาร ทีได้จัดงานนี้ขึ้นมา แม้ในครั้งแรกจะเป็นไปเพื่อการคัดค้านโรงงานยางพาราฯ แต่ก็ได้แสดงให้สังคมเห็นว่า ชาวไทคอนสารได้รวมพลังออกมาร่วมแรง ร่วมใจกันมาทำบุญ โดยบริจาคข้าวมากองรวมกันไว้เพื่อไปแลกเป็นเงินทุน เพื่อติดตามและคัดค้านการดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตยางพารา เพราะทางกลุ่มของเราที่ได้ร่วมกันคัดค้านโรงงานนั้น ไม่ได้รับเงินจากหน่วยงานที่ไหนสักแห่งเดียว เงินทั้งหมดนั้นได้มาจากการที่พี่น้องของเราร่วมกันบริจาค" วิเชษฐ อุสันเที๊ย ประธานกลุ่มรักษ์คอนสาร กล่าว
 
 
นอกจากนั้น ในวันงานยังมีการประกอบพิธีสงฆ์ โดย พระครูนันทเจติยาภิรักษ์ (พระอาจารย์โต) เจ้าอาวาสวัดเจดีย์ แสดงพระธรรมเทศนา ร่วมกันทำพิธีสู่ขวัญข้าว และประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการคัดค้านโรงงานยางพาราดังกล่าว
 
จากนั้นทางตัวแทนกลุ่มรักษ์คอนสาร ได้ยื่นหนังสือเรื่อง 'ขอให้พิจารณาเสนอความเห็นให้ยกเลิกการอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตยางพารา' ถึงพรศักดิ์  เจียรณัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ โดยนายอำเภอคอนสาร เป็นตัวแทนรับหนังสือ พร้อมทั้งกล่าวให้คำมั่นกับผู้มาร่วมบุญฯ ว่า จะดำเนินการส่งหนังสือถึงมือผู้ว่าฯ เป็นการด่วนที่สุด
 
 
วิเชษฐ กล่าวว่า นับตั้งแต่เดือนส.ค.2556 ภายหลังจากทราบว่า วันที่ 12 ก.ค.2556 บริษัทศรีตรังฯ ได้ทำหนังสือขออนุญาตตั้งโรงงานประกอบกิจการโรงงาน บนเนื้อที่กว่า 290 ไร่ บริเวณบ้านหินรอยเมย โดยจะเข้ามาดำเนินกิจการก่อสร้างโรงงานยางพาราอัดแท่ง ทางกลุ่มฯ ได้ทำการร้องเรียน ติดตามการแก้ไขมาโดยตลอด
 
ประธานกลุ่มรักษ์คอนสาร กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันการดำเนินการก่อสร้างโรงงานดังกล่าวอยู่ระหว่างการจัดหาข้อมูลเพิ่มเติมตามที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ส่งเรื่องมายังจังหวัดชัยภูมิ และเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของจังหวัด ในวันนี้นอกจากชาวบ้านจะออกมาร่วมกันทำบุญแล้ว ยังแสดงเจตจำนงให้มีการยุติการก่อสร้างโรงงานยางพาราฯ จึงได้ทำการยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ โดยส่งผ่านไปทางนายอำเภออีกครั้ง
 
"การนำกองข้าวมารวมกัน ก็แสดงถึงการรวมพลังน้ำใจกันอีกทางหนึ่ง ถือว่าได้ทั้งบุญ ได้ทั้งน้ำใจจากพ่อแม่พี่น้องของเราด้วย และอาจกล่าวได้ว่า บุญกุ้มข้าวใหญ่ ประเพณีที่ดีงามนี้ จะสืบกันต่อไปอย่างต่อเนื่องทุกปี" ประธานกลุ่มฯ กล่าว

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ป.ป.ช.เรียกไต่สวนถอดถอน 383 ส.ส.-ส.ว. คดีแก้ไขร่าง รธน. 13 ธ.ค.

Posted: 12 Dec 2013 11:05 AM PST

ป.ป.ช.เตรียมสอบ กรณีมีผู้ร้องเรียนดำเนินคดีอาญา-ถอดถอน 383 ส.ส.-ส.ว. กรณีเข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรียกเลขาธิการศาล รธน.ให้การปากแรก 13 ธ.ค. เล็งหาช่องลดขั้นตอนไต่สวน เพื่อความรวดเร็ว ย้ำพร้อมให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงทุกคน แบไต๋ตัดสินตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

12 ธ.ค.2556 เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า  ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จ.นนทบุรี นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ ป.ป.ช.แถลงผลการประชุม ป.ป.ช.ถึงการไต่สวนดำเนินคดีอาญา และถอดถอนสมาชิกรัฐสภาที่เข้าชื่อกันเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว.โดยมิชอบว่า ที่ผ่านมามีสำนวนการร้องขอให้ดำเนินคดีอาญาและถอดถอนสมาชิกรัฐสภาอยู่ในมือ ป.ป.ช.5 สำนวน แต่ล่าสุดมีผู้มายื่นเรื่องให้ดำเนินคดีอาญาและถอดถอนสมาชิกรัฐสภาเพิ่มอีก 3 สำนวน รวมเป็น 8 สำนวน ที่ประชุม ป.ป.ช.จึงมีมติให้รวมทั้ง 8 สำนวน เป็นเรื่องเดียวกัน เนื่องจากมีเนื้อหาลักษณะเดียวกัน ทำให้ขณะนี้มี ส.ส.และ ส.ว.ที่ถูก ป.ป.ช.ไต่สวนถอดถอนมากขึ้นจากเดิม 312 คน เป็น 383 คน

นายประสาท กล่าวว่า การประชุม ป.ป.ช.ครั้งนี้ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช.ได้ลงนามคำสั่ง แจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 383 คน ทราบถึงการถูกตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้ จะเริ่มกระบวนการไต่สวนทันที เริ่มจากเชิญผู้กล่าวหา และพยานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลต่อ ป.ป.ช. โดยในวันที่ 13 ธ.ค.จะเชิญนายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ มาให้การเป็นปากแรก เพื่อให้ข้อมูลเรื่องข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริง ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงนายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในผู้ร้องถอดถอน มาให้ข้อมูลต่อ ป.ป.ช.ด้วย

หลังจากนั้น ป.ป.ช.จะเชิญผู้กล่าวหารายอื่นๆ มาให้ถ้อยคำต่อ ป.ป.ช.ต่อไป อาทิ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นายถาวร เสนเนียม นายวันชัย สอนสิริ ตลอดจนข้าราชการ ที่เกี่ยวข้อง เช่น นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ก็ต้องเชิญมาด้วย เพื่อทราบถึงขั้นตอนการเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ

นายประสาท กล่าวต่อว่า หลังจากเชิญผู้กล่าวหามาให้ข้อมูลแล้ว ป.ป.ช.ก็จะเชิญผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 383 คน มาชี้แจงทุกคน ไม่สามารถหยิบยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มาตัดสินได้ทันที แต่ ป.ป.ช.จะรวบรัดขั้นตอนไต่สวนไม่ให้ยืดเยื้อจนเกินไป อาทิ การตัดพยานในส่วนที่ไม่จำเป็นทิ้ง การนัดไต่สวนทุกวัน อะไรที่มีข้อเท็จจริงอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องสอบเพิ่มเติม เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปอย่างรวดเร็ว

แต่ยืนยันว่า จะต้องเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาทั้ง 383 คน มาชี้แจงทุกคน ทั้งทางลายลักษณ์อักษร หรือชี้แจงด้วยตัวเอง ไม่สามารถตัดคนใดคนหนึ่งทิ้งได้ ทั้ง 383 คน ต้องมาชี้แจงภายใน 15 วัน หลังจากที่ ป.ป.ช.มีหนังสือสั่งให้มาชี้แจง ยืนยันว่า ป.ป.ช.จะให้ความเป็นธรรมเต็มที่ และพิจารณาโดยเร็วที่สุด แต่ไม่สามารถบอกได้ว่า จะเสร็จทันก่อนการเลือกตั้งใน วันที่ 2 ก.พ. 57 หรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า คำตัดสินของ ป.ป.ช.คดี นี้จะขัดแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ได้ หรือไม่ นายประสาท กล่าวว่า ไม่น่าจะได้ตามหลัก แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน อีกทีหนึ่ง เพราะในรัฐธรรมนูญระบุให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร

เมื่อถามว่า มติ ป.ป.ช. ต้องเป็นไปตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญ ใช่หรือไม่ นายประสาท ตอบว่า จะพูดแบบนั้นทีเดียวก็ไม่ได้ ต้องดูเอกสารหลักฐานประกอบด้วย เพราะ ตามหลักนิติธรรม ระบบไต่สวนต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหา ชี้แจง ต้องรับฟังก่อนวินิจฉัย
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คปสม.เสนอปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ แก้ รธน.เพิ่ม ‘สภาพลเมือง’ ให้ ปชช.มีอำนาจถ่วงดุล

Posted: 12 Dec 2013 10:43 AM PST

คปสม.ชี้รัฐบาลจากทั้งทหาร-ปชป.-พท.ในระบบการเมืองแบบเก่าประชาชนไม่ต่างอะไรกับผู้ร้องขอ ไม่นำสู่การแก้ปัญหา เสนอปฏิรูปโครงสร้างอำนาจประเทศไทยใหม่ เพิ่มสภาพลเมือง จาก 3 อำนาจหลัก บริหาร นิติบัญญัติ  ตุลาการ มีหน้าที่เสนอแผนการพัฒนาประเทศ-กฎหมายภาคประชาชนที่ต้องนำไปสู่การปฏิบัติ
 
12 ธ.ค.2556 ไมตรี จงไกรจักร ตัวแทนเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) เผยแพร่ข้อเสนอปฏิรูปประเทศไทย ของเครือข่าย คปสม. ซึ่งก่อนหน้านี้ได้สัมมนาอย่างเข้มข้นต่อสถานการทางการเมืองที่เกิดขึ้น ระหว่างวันที่ 8-10 ธ.ค.ที่ผ่านมา และมีข้อเสนอต่อสังคม ดังนี้
 
 
ข้อเสนอปฏิรูปประเทศไทย
โดยเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.)
 
ความเป็นมา
 
เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2549 โดยการรวมตัวกันของชาวบ้าน ๔๘๐ ชุมชน จาก ๑๘ เครือข่ายย่อยทั่วประเทศ  ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหาด้านที่ดิน  ที่อยู่อาศัย กลุ่มชาติพันธ์ กลุ่มไร้สัญชาติ  และกรณีปัญหาทรัพยากร เช่นเหมืองแร่ การสัมปทานเหมืองฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชุมชนที่อยู่ในพื้นที่พัฒนาและขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ชาวบ้านในพื้นที่ถือว่าเสี่ยงต่อการถูกไล่รื้อ  การถูกจับดำเนินคดีกรณีชาวเลหากินในทะเล  การถูกไล่รื้อสุสานฝังศพชาวเลเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว การที่ต้องกลายเป็นผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจาการสัมปทานเหมืองแร่ที่ละเมิดสิทธิชุมชน  หรือกรณีของคนไทยพลัดถิ่นที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานการรักษาพยาบาล  การเดินทาง  การศึกษาของลูกหลานเป็นต้น  รวมถึงหลายชุมชนนั้นอยู่ในพื้นที่ของรัฐที่ประกาศทับ เช่น ที่สาธารณะ ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ดินราชพัสดุ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วชุมชนเหล่านี้ล้วนเป็นชุมชนดั้งเดิมมีการก่อตั้งเป็นชุมชนมาเป็นระยะเวลายาวนานระหว่าง 50-150 ปี
 
ก่อนการรวมตัวกันในนามเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม) สมาชิกเครือข่ายบางกลุ่มต่อสู้กับปัญหามากว่า ๒๐ ปี รวม ๑๐ รัฐบาล  แต่ปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไขด้วยกระบวนการใช้อำนาจในการปกครองทั้ง ๓ อำนาจ คือ บริหาร  นิติบัญญัติ และตุลาการ ของประเทศ เพราะการใช้อำนาจเชื่อมโยงกัน และมีความสัมพันธ์ของอำนาจที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนหลังจากเข้าสู่อำนาจแล้ว
 
 
คปสม.เข้าเสนอแนวทางแก้ปัญหาชุมชน และเข้าร่วมการแก้ปัญหามาแล้ว ตั้งแต่รัฐบาล นายกทักษิณ  ชินวัตร  นายก สุรยุทธ จุลานนท์  นายกสมัคร สุนทรเวช  นายกสมชาย วงศ์สวัสดิ์  นายก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายกยิ่งลักษณ์  ชินวัตร  มีกรรมการกว่า ๕๐ ชุด อนุกรรมการ กว่า ๑๐๐ ชุด และคณะทำงาน กว่า ๒๐๐ ชุดมาแล้ว  แต่ปัญหาทั้งหมดเพียงแค่ทุเลาลง เท่านั้น ชุมชน สมาชิกเครือข่ายฯที่มีปัญหา ยังคงอยู่คู่กับชุมชน เป็นคนผิดกฎหมายที่รัฐออกมาบังคับ ละเมิดสิทธิชุมชน และถูกดำเนินคดีคนจน อยู่ตลอดมา  เพื่อให้ประชาธิปไตยและผู้ใช้อำนาจเพื่อการแก้ปัญหาชุมชน สังคม ทางเครือข่ายฯ จึงสรุปว่า รัฐบาลที่มาจากทั้งทหารปฏิวัติ  พรรคประชาธิปปัตย์ และ พรรคเพื่อไทย  ในระบบการเมืองแบบเก่าประชาชนไม่ต่างอะไรกับผู้ร้องขอ  และไม่นำสู่การแก้ปัญหาประชาชนโดยตรง  จึงมีข้อเสนอกับสังคมดังนี้
 
๑.ต้องปฏิรูปโครงสร้างอำนาจประเทศไทยใหม่ โดยแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีอำนาจถ่วงดุลโดยประชาชนโดยตรง คือมีอำนาจบริหาร  อำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจตุลาการ และสภาพลเมือง เพื่อเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
 
๒.ต้องปฏิรูประบบรัฐสภาโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรง จากสามส่วน คือ
 
๒.๑ ส.ส.คือผู้แทนกลุ่มอาชีพ  โดยแบ่งกลุ่มอาชีพของประเทศออกเป็นกลุ่ม  และให้ทุกคนลงทะเบียนอาชีพตนเอง  และเลือก ผู้แทนของกลุ่มอาชีพตนเอง
 
๒.๒ ส.ส.คือผู้แทนกลุ่มประเด็น โดยเครือข่ายกลุ่มประเด็นที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วกับองค์กรต่างๆให้รวบรวมและแบ่งกลุ่มประเด็น และเลือกผู้แทนตนเองตามสัดส่วนตามจำนวนสมาชิก
 
๒.๓ ส.ส.ผู้แทนจากพื้นที่จังหวัด โดยการแบ่งเขตตามสัดส่วนจำนวนประชากร
 
๓.ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้มีระบบการเดินเผชิญสืบ โดยให้ใช้หลักฐานสังคมวิทยา มานุษยวิทยา หลักฐานความเป็นวิถีชีวิตชุมชนประกอบการพิจารณาคดี  และให้มี พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม
 
๔.ต้องปฏิรูประบบบริหารราชการ โดยการกระจายอำนาจไปสู่จังหวัด โดย ๑.การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ยกเลิกราชการส่วนผู้มิภาค ให้คงเหลือเฉพาะรัฐส่วนกลางและท้องถิ่น ๒.การจัดเก็บภาษีให้เป็นรายได้ของจังหวัดและส่งส่วนกลาง ๓๐ %  ๓.กระจายการบริหารจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ทะเลให้จังหวัดจัดการตนเอง และ ๔.ให้ตำรวจเป็นตำรวจท้องถิ่น
 
๕.ต้องปฏิรูปให้มีสภาพลเมืองถาวรที่เป็นอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ เสนอแผนการพัฒนาประเทศ หรือกฎหมายภาคประชาชนหรืออื่นๆ ตามมติสมัชชาสภาพลเมือง และ/หรือมีอำนาจวีโต้ หรือคัดค้านนโยบาย แผนการพัฒนา หรือกฎหมายที่ส่งผลกระทบกับสังคมในวงกว้าง เมื่อผ่านสมัชชาสภาพลเมืองให้ถือเป็นกฎหมาย หรือนโยบายของประเทศที่ต้องนำไปสู่การปฏิบัติ
 
 
 
                   
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายพลเมืองปกป้อง ปชต. แถลงหนุนเลือกตั้ง เจรจาอย่างสันติ

Posted: 12 Dec 2013 10:24 AM PST

12 ธ.ค.2556 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ยุทธพร อิสรชัย คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มสธ. ในฐานะแกนนำเครือข่ายพลเมืองร่วมปกป้องประชาธิปไตย แถลงว่า เครือข่ายพลเมืองร่วมปกป้องประชาธิปไตยเป็นกลุ่มพลเมืองที่มีจิตใจรักประชาธิปไตย และขอสนับสนุนกลุ่มอื่นๆ มีแนวทางประสงค์ดีต่อบ้านเมืองที่กำลังได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในสังคม
         
โดยมีคำแถลงการณ์ ดังนี้

1.เครือข่ายพลเมืองฯขอสนับสนุนแนวทางการดำเนินงานของสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) ตามหลักประชาธิปไตย หลักนิติรัฐ และหลักนิติธรรม ซึ่งเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก
2.สนับสนุนการหาทางออกร่วมกันด้วยการเจรจาอย่างสันติวิธี ตามแนวทางของ 7 องค์กรภาคธุรกิจเอกชน เพื่อป้องกันและระงับความเสียหายทางเศรษฐกิจ สังคมอันเนื่องมาจากความขัดแย้งในสังคมที่มีมายาวนาน
3.เครือข่ายพลเมืองร่วมปกป้องประชาธิปไตยขอเรียกร้องให้องค์กรอิสระและองค์กร ตุลาการทุกองค์กร มีคำวินิจฉัยที่ไม่เพิ่มความขัดแย้ง เพื่อรักษาครรลองของประชาธิปไตยไปสู่การเลือกตั้งที่จะเป็นตัวชี้วัดตัดสินจากประชาชน
4.ขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนทำหน้าที่อย่างเป็นกลางในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องต่อสังคม
5.ขอเรียกร้องให้นักวิชาการทำหน้าที่ในการให้ความรู้และความเข้าใจแก่สังคมอย่างถูกต้องบนหลักการทางวิชาการ ไม่เอนเอียงเลือกข้างหรือแอบอิงกับผลประโยชน์ทางการเมือง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"คนดี" ทำให้ผมลำบากใจมาก

Posted: 12 Dec 2013 10:04 AM PST

ผมเกิดมารายล้อมด้วยคนดี ทั้งในชีวิตวัยเด็กก็รายล้อมด้วยชุมชนชาวนาที่ขยันขันแข็งทำนาปีละ 2-3 ครั้งเพื่อไทยรักษาตำแหน่งประเทศส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก ... แม้ว่าจะมีทะเลาะเบาะแว้งกินเหล้าเมายาและเล่นหวยเล่นไฮโลกันบ้าง แต่ผู้คนในหมู่บ้านก็ช่วยเหลือกัน เข้าวัดทำบุญ ฟังเทศน์ฟังธรรม และใส่บาตรกันทุกวัน

ยามอยู่ในวัยเรียนจนจบมหาวิทยาลัย แม้จะโดดเรียนบ้างเข้าเรียนบ้างเพราะทำกิจกรรมนักศึกษา ผมก็รายล้อมไปด้วยเพื่อนและอาจารย์คนดี และในชีวิตการทำงานมาจนถึงปัจจุบัน แม้จะเป็นงานที่ต้องทะเลาะกับนายจ้างเป็นส่วนใหญ่ ผมก็รายล้อมไปด้วยเพื่อนร่วมงานและคนดีมากมายที่ทำงานด้วย

ถ้าตลอดชีวิตที่ผ่านมา ผมพบพานคนชั่วมากกว่าคนดี ผมคงหมดหวังกับประเทศไทยและท้อแท้กับการมีชีวิตอยู่เป็นแน่แท้ แต่ผมยังมีความหวัง เพราะแม้ว่าในความเป็นหมู่เป็นพวกที่ดูโหดร้ายรุนแรง ผมยังเห็นความเป็นปัจเจกชนคนดีอยู่ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ เส้นวัดความเป็นคนดี-คนเลวของผมนั้นไม่ซับซ้อน มันตั้งอยู่เพียงแค่การรู้จักเอื้อเฝื้อเผื่อแผ่กัน เห็นอกเห็นใจกัน รู้จักอดทนอดกลั้น และเคารพในความเป็นมนุษย์ของกันและกันของผู้คนในสังคม ที่ไม่จำตัวว่าต้องสัญชาติเดียวกัน ศาสนาเดียวกัน สีผิวเดียวกัน มีชาติตระกูลสูงส่ง มีใบปริญญาบัตร หรือมีหน้าที่การงานหรือความมั่งคั่งแห่งทรัพย์สินเงินทอง

ยามเขียนถึงตรงนี้ ดวงหน้าของคนดีของผมก็ลอยมาในมโนสำนึกมากมาย ... ทั้งพี่สาวแสนดี ที่เสียสละเงินเดือนส่งผมเรียนมหาวิทยาลัย คิดถึงอาจารย์แสนดีที่แสนรักหลายคน ที่ช่วยเหลือดูแลจนผมสามารถเรียนจบ นึกถึงหญิงสาวคนแรกๆ ที่พบเจอในวัยทำงาน คนดีที่ยอมเสียสละร่างกายตัวเองเพื่อหาเงินส่งเสียครอบครัว คิดถึงชาวสิงคโปร์คนดีขาเป๋ ที่อุตสาห์เดินพาผมไปส่งยังแคมป์คนงานเมื่อผมถามทาง โดยที่จริงๆ แล้ว เขาเพียงแค่ชี้ทางก็น่าจะพอแล้ว และยังคิดถึงนักกิจกรรมหญิงชาวเปรูที่อดตาหลับขับตานอนพาผมตระเวณพูดคุยกับคนงานหลายจุดในเวลาอันจำกัดที่เรามีเพียง 24 ชั่วโมง และคิดถึงคนดีอีกมากมายที่ไม่อาจบรรยายได้หมด

แน่นอนว่าสังคม ประเทศชาติ และโลก ต้องมีคนดี ไม่งั้นชาติก็ล่มจม โลกก็ล่มสลาย การศึกษาในทุกประเทศในโลกนี้(รวมทั้งประเทศไทย) ก็เพื่อต้องการให้คนในชาติเป็นคนดีและเคารพกฎกติกาของประเทศและกติกาสากลที่ร่วมกันกำหนดของทุกประเทศในโลก เพื่อสันติภาพและสันติสุขของมวลมนุษยชาติ ... ซึ่งแน่นอนในประเทศไทย ผมก็ขอย้ำอีกครั้งว่า ผมเห็นว่าไทยมีคนดีเยอะอยู่ ไม่ว่าจะใส่เสื้อสีแดง สีเหลือง สีขาว สีเขียว สีส้ม สีดำ หรือสีน้ำเงิน ฯลฯ ก็ตาม

ตลอดหลายสิบปีแห่งการใช้ชีวิตท่ามกลางคนดี ผมไม่เคยถามไถ่คนที่รู้จักหรือทำงานด้วยเพื่อจะดูว่าเขาเป็นคนดีหรือไม่ด้วยคำถามว่า คุณนามสกุลอะไร จบมหาวิทยาลัยไหน คุณร่ำรวยแค่ไหน หรือคุณรักในหลวงหรือเปล่า เป็นอาทิ ... จริงๆ แล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงการถกเถียงในประเด็นอ่อนไหวในสังคมไม่ใช่ทั้งในไทยและในต่างประเทศ ผมจะหลีกเลี่ยงประเด็นที่อ่อนไหวต่อความรู้สึกของผู้คน และจะมุ่งเป้าคุยเรื่องการแก้ปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบของผู้คนในสังคมและ ให้ความรู้เรื่องการต่อรองเรียกร้องสิทธิจากนายจ้างจะต้องทำกันอย่างไร 

แต่ ณ ยามนี้ "คนดี" ทำให้ผมรู้สึกลำบากใจมากจริงๆ

สืบเนื่องมาจากช่วง 3 - 4 ปีที่ผ่านมา เมื่อสังคมไทยร้อนฉ่าท่ามกลางการปะทุของการต่อสู้ทางการเมืองขึ้นมาอีกครั้ง อันเป็นการต่อเนื่องแห่งสงคราม "โค่นทักษิณไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม" ที่เริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2548 และก็เช่นเดียวกับในปี 2549 ขบวนการคนดี ณ พ.ศ. 2556เริ่มเรียกหารัฐบาล "คนดี" พระราชทาน กันอย่างกระหึ่มอีกครั้ง โดยที่ภาพ "คนดี" ที่ทำให้ผมเห็นคือ การเป็นคนมีชาติตระกูล มีภูมิความรู้ มียศฐาบรรดาศักด์  และที่สำคัญต้องรักในหลวง ผมก็เลยตั้งคำถามเรื่องนิยามและความหมายของ "คนดี" ขึ้นมามากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

"คนดี" สำหรับผม ไม่ได้ผูกขาดอยู่แค่ว่าต้องเป็นคน "รักในหลวง" อย่างขาดสติและบ้าคลั่งเท่านั้น

การเรียกหาผู้นำ "คนดีพระราชทาน" ในทางการเมืองไทย นำไปสู่การถูกอ้างเพื่อล้ม "รัฐบาลคอร์รัปชั่น" มาหลายครั้งในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของไทย

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผมหรือคนไทยไม่ต้องการคนดีมาบริหารบ้านเมือง แต่เพราะว่า แม้แต่นิยาม "คนดี" ของเรา ก็ดูเหมือนว่าจะแตกต่างกันซะแล้ว

และผมก็ไม่เห็นด้วยอย่างเด็ดขาดกับการล้มรัฐบาลด้วยวิถีนอกรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะด้วยการรัฐประหาร การตัดสิทธิ์ยุบพรรค เพื่อการเพรียกหา "สภาประชาชนคนดี" ที่มาจากการแต่งตั้ง "โดยคนดี ของคนดี และเพื่อคนดี" ที่ "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" หรือ กปปส. กำลังกดดันอยู่ ณ ขณะนี้

กระนั้น ผมก็ไม่อาจดูแคลนคนเข้าร่วมขบวนการล้มรัฐบาลเพื่อแต่งตั้ง "สภาประชาชนคนดี" ในนาม กปปส. ที่นำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ และขุนพลพรรคประชาธิปัตย์ ว่าเป็นม็อบรับจ้าง เช่นเดียวกันที่ผมก็ไม่อาจดูแคลนคนเสื้อแดงที่เข้าร่วมกับขบวนการนปช.ที่ปกป้องรัฐบาลเพื่อไทยว่าเป็นม็อบรับจ้างได้เช่นกัน ...

เพราะผมมีคนที่รู้จักและทำงานด้วยมาเป็นสิบและยี่สิบปีจำนวนไม่น้อยที่เข้าร่วมอยู่ในทั้งสองค่าย และหลายคนก็เป็นคนดีในสายตาผม เป็นคนที่ผมก็เชื่อว่าพวกเขาก็ต้องการเห็นชาติบ้านเมืองพัฒนาเช่นกัน

แต่การตัดสินใจเลือกยุทธศาสตร์การทำงานและการต่อสู้นั้นต่างกัน ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ในวิถีประชาธิปไตยที่คนคิดต่างได้ เลือกอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกันได้ และสามารถอยู่ร่วมกันในความต่างได้ ณ ขณะนี้ ได้นำสังคมคนหมู่มากให้มาอยู่ในสภาวะทางสองแพร่ง - ต้องเลือกว่าจะ "ปกป้อง" หรือ "จะโค่น" พรรคการเมืองเพียงเพราะเป็นกลุ่มทุนนามสกุลชินวัตรเท่านั้น

โดยฝ่ายที่ต้องการ "โค่นรัฐบาลทักษิณและตระกูลชินวัตร" ให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทย ได้เข้าหานายชนชั้นสูง ทหารและนายทุนขั้วอำนาจเก่า เพื่อร่วมกันถล่มชินวัตรให้ยุติบทบาททางการเมืองในประเทศไทย เพราะรู้ว่ากำลังตามลำพังมันไม่พอ โดยพวกเขาต้องยอมประนีประนอมผลประโยชน์ให้กับพวกทุนกลุ่มที่หนุนเช่นกัน

ด้วยเป้าหมายต้องชนะไม่ว่าจะด้วยวิธีใด โดยไม่สนกติกาประชาธิปไตย ด้วยข้ออ้างข้างๆ คูๆ อันล้าสมัยว่า เพื่อเรียกร้องให้คนดีเข้ามาบริหารบ้านเมือง ... คนดีที่ผมรู้จักที่เคยประกาศว่า "งาช้างไม่ได้งอกจากปากหมาฉันท์ใด นโยบายเพื่อคนจนก็ไม่มีทางออกมาจากรัฐบาลนายทุนฉันท์นั้น" ได้ยอมกลืนน้ำลายตัวเอง และเลือกยุทธศาสตร์การต่อสู้ในนามเพื่อคนดี และกระโดดร่วมอย่างออกหน้าออกตาไปกับกลุ่มนายทุนเก่าเพื่อโค่นทุนใหม่ที่เขากลัวมากกว่า

แน่นอนผมไม่เห็นพ้องกับแนวคิดการเมืองคนดีพระราชทานที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนี้ ที่เริ่มก่อตัวอีกครั้งตั้งแต่ปลายปี 2548 และก็ต้องเศร้าสลดมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเห็นผู้คนรอบข้างเริ่มไม่สามารถรับฟังเหตุผลหรือข้อคิดเห็นต่างได้มากขึ้นเรื่อยๆ ...

แต่ผมเลือกที่จะไม่ปะทะโดยตรงกับคนดีที่รักและรู้จัก และเลือกที่จะไม่ไปยืนอยู่ในขบวนประชาชนอีกค่าย เพื่อเป็นแนวร่วมเพิ่มจำนวนให้กับพรรคการเมืองหนึ่ง ที่ยังไม่ใช่พรรคการเมืองในฝันของผม

แม้จะถูกชวนร่วมชุมนุมจากคนทั้งสองค่าย ผมก็เลือกไม่เข้าร่วม และมุ่งมั่นทำงานศึกษาปัญหาแรงงานในระดับหมู่บ้านมากขึ้นเรื่อยๆ และมุ่งมั่นในงานช่วยประชาชนและคนงานให้รวมตัวต่อรอง และต่อสู้กับนายทุนหรือนายจ้างของพวกเขาได้อย่างเข็มแข็งมากขึ้น

ผมเลือกที่จะยึดมั่นในระบบประชาธิปไตยเลือกตั้งตัวแทนเข้ารัฐสภา แม้ว่าผมไม่ได้เลือก แต่ถ้าพรรคนั้นชนะการเลือกตั้ง ผมก็พร้อมเคารพเสียงคนที่เลือกพรรคนั้นเข้ารัฐสภา ... ขณะเดียวกันผมก็เชื่อว่า "ทุกชนชั้น" ควรมีตัวแทนในรัฐสภา และผมก็ส่งเสริมให้คนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะคนชั้นล่างจัดตั้งพรรคการเมืองของตัวเอง และส่งคนลงรับสมัครเลือกตั้งเพื่อเข้าไปเป็นปากเสียงของตัวเองในสภา

แน่นอนการเลือกของผมมันไม่สะใจ และเดินไปอย่างเชื่องช้า แต่ผมเชื่อว่ามันไม่มีวิธีการอื่น ถ้าจะสร้างเสถียรภาพทั้งทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจในประเทศไทย ที่มีประชากร 65 ล้านคน จากหลายสิบชนเผ่า และหลายสิบภาษา ให้สามารถอยู่ร่วมกันและเคารพกันในความแตกต่างได้ โดยไม่ยึดมั่นในกติกาประชาธิปไตยเลือกตั้ง "หนึ่งคนหนึ่งเสียง" เท่ากันทั้งประเทศ

"คนดี" ทำให้ผมรู้สึกลำบากใจอีกแล้ว

มันน่าเศร้าสำหรับประเทศไทย ที่สภาวะคุยกับคนดีไม่ได้หรือเลือกที่จะไม่คุยกันดีกว่า มันใช้เวลานานกว่าที่คิด และก็เป็นเวลา 5-6ปีแล้ว ที่ผู้คนจำนวนมากในสังคม(รวมทั้งผมด้วย) ต้องอยู่กันด้วยวิถีเลือกค่าย หรือเลือกที่จะไม่คุยกันเพื่อที่จะได้ไม่ทะเลาะกัน

แต่ขณะนี้เราก็กำลังอยู่ในจุดหัวเลี้ยวหัวต่อแห่งบรรยากาศทางการเมืองที่การหลีกเลี่ยงการไม่ปะทะกันทำได้ไม่ได้ง่ายนัก แม้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะสามารถจัดการรับมือกับความร้อนแรงทางการเมืองด้วยการยุบสภาและกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ "เลือดนองท้องถนน" ไปได้อย่างสันติ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ไทยที่น่าชื่นชม ...

แต่การประท้วงของ กปปส. ก็ยังไม่จบ  

ขณะนี้ คนไทยและคนทั่วโลกที่ห่วงใยสถานการณ์ในเมืองไทย กำลังได้เห็นผลลัพธ์ที่เกิดจากการโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์และอัดฉีดนโยบายด้านการเมือง การทหาร และการศึกษา ที่กล่อมเกลาผู้คนทั้งประเทศไทย ให้อยู่ภายใต้แนวนโยบายเพื่อปกป้อง "เพื่อชาติ ศาส์น กษัตริย์" ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ใช้มาตั้งแต่ยุคปี 2500 ที่ยังคงใช้สืบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

สถานการณ์เมืองไทย ณ ขณะนี้จึงยังน่าห่วงใยยิ่งเมื่อ ...

คนไทยจำนวนไม่น้อยรักชาติอย่างแท้จริงและอย่างรุนแรง
คนไทยจำนวนมากรักในหลวงอย่างแท้จริงและอย่างรุนแรง
คนดีหลายคนรักชาวบ้านอย่างแท้จริงและอย่างรุนแรง
คนมีอำนาจและคนดีจำนวนไม่น้อยเกลียดทักษิณและยิ่งลักษณ์อย่างแท้จริงและอย่างรุนแรง
นักการเมืองและนักกิจกรรมหลายคนอยากเปลี่ยนแปลงประเทศไทยอย่างแท้จริงและอย่างรวดเร็ว

ในสถานการณ์เช่นนี้ เรื่องที่ต้องระวังคือการปะทุแห่งอารมณ์ความเกลียดชังที่ถูกบ่มเพาะและโหมโฆษณาเพื่อจัดตั้งมวลชนจนน่ากลัวและน่าสยดสยอง

เรื่องตลกร้ายคือ ผมแทบไม่เชื่อว่า ภายใต้วิถีการเมืองประชาธิปไตยที่ประเทศไทยใช้เวลาไปแล้วถึง 80 ปีเพื่อเรียนรู้ร่วมกันในหมู่พลเมืองว่า จะอยู่ร่วมกันภายใต้การเมืองวิถีนี้ได้อย่างไร ... ผู้ทรงคุณวุฒิและครูบาอาจารย์จำนวนไม่น้อยในสังคม จะยังสามารถอ้างเหตุผลข้างๆ คูๆ ถึงความจำเป็นที่จำต้องล้มกติกาประชาธิปไตยเลือกตั้ง เพื่อเรียกหาการแต่งตั้ง "สภาประชาชนคนดี" ด้วยความคิดอันไม่น่าเชื่อว่า "คนดี" และ "คนมีความรู้" เท่านั้น ที่มีความรู้ ศักยภาพ และประสิทธิภาพมากพอที่จะพัฒนาประเทศไทย

ถ้ามวลมหาประชาชนของฝ่ายเรียกร้อง "สภาประชาชนคนดี" จากการ "แต่งตั้ง" เกิดปะทะกับมวลชนของ "พรรคการเมือง "คนเลว"" ที่ชนะการ "เลือกตั้ง" แล้วละก็ ไม่มีใครสามารถรับประกันได้ว่า จะไม่มีความรุนแรงถึงขั้นเลือดตกยางออกได้ และ ณ จุดนั้น "คนดี" กับ "คนเลว" ก็ไม่มีความแตกต่างกันเลยแม้แต่น้อย

ซึ่งผมและ (ผมเชื่อว่า) คนไทยจำนวนไม่น้อย ไม่อยากเห็นภาพสงครามกลางเมืองเกิดขึ้นในประเทศไทย และพวกเราต่างก็หวังกันว่า ความเป็นคนดีในหลายๆ ด้านของคนในประเทศไทย จะช่วยเตือนสติคนไทยทั้งหลาย ไม่ให้โหดร้ายพอที่จะลุกขึ้นมาใช้ความรุนแรงเข่นฆ่าสังหารกันเพราะอยู่คนละค่ายการเมืองเท่านั้น
 
การตระหนักว่าแม้ในโลกไร้พรมแดนที่เปิดเชื่อมต่อกันสู่สากลเช่นนี้ คนในดินแดนที่เรียกว่าชาติไทยยังอาจจะสามารถลุกขึ้นมาฆ่ากันได้เพราะความเกลียดชัง เป็นความจริงที่น่าตระหนกและไม่ใช่เรื่องที่จะทดลองเล่น

คนไทยได้เรียนรู้บทเรียนในประวัติศาสตร์ทั้งในประเทศและของโลกมากมาย ที่บันทึกถึงโศกนาฎกรรมแห่งการเข่นฆ่าสังหารกันเพราะการรังเกียจเดียจฉันท์ - ไม่วาจะเป็นการเหยียดศาสนา การเหยียดผิวดำ เหยียดเกย์ เหยียดเชื้อชาติ เหยียดชนชั้น หรือเพื่อลัทธิการเมือง - ซึ่งต่างก็เป็นชนวนให้คนในประเทศลุกมาฆ่ากันอย่างรุนแรงจริงและตายกันจริงกันถึงครึ่งค่อนประเทศ

ผมเลือกที่จะไม่ไปยืนอยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่งบนท้องถนนแห่งการต่อสู้เช่นนี้ เพราะผมคิดว่าเราอยู่ในศตวรรษที่ 21 แล้ว ที่มีประวัติศาสตร์รอบโลกให้ได้เรียนรู้ศึกษา ถ้าผมยังโง่ พาตัวเองไปตายในสถานการณ์เช่นนั้นอยู่ได้อีก ก็เท่ากับตลอดชีวิตจนเกินวัย 40 ปีมาแล้วเช่นนี้ ผมไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย

เป็นเรื่องที่คนในประเทศไทยแล้วล่ะ ที่จะต้องหยุดและร่วมกันคิดว่า ถ้าสังคมไทยจะต้องอยู่กันบนความแยกขั้วแยกค่ายอย่างชัดเจนเช่นนี้ต่อไป เราจะต้องทำอะไรกันบ้าง ที่จะให้ได้อยู่ร่วมกันได้แบบ "อดทนและอดกลั้น" และ "เคารพ" ในความแตกต่างของผู้คนในสังคม แม้มันจะไม่ง่ายนักก็ตาม เพราะเราคงต้องละวางทิฐิและอัตตาตัวตนกันพอสมควร พร้อมทั้งเริ่มพูดคำว่า "ขอโทษ" กันมากขึ้นเรื่ิอยๆ

ในท้ายที่สุดนี้ แม้ผมไม่รู้ว่าจะสมานความรู้สึกกับครอบครัวและเพื่อนเก่าได้อย่างไร และจะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าใด เมื่อต่างเห็นแย้งกันมาค่อนข้างยาวนานในเรื่องความคิดและแนวทางการพัฒนาประเทศ แต่เมื่อมองย้อนไปถึงภาพความสัมพันธ์ 10 ปี 20 ปี หรือทั้งชีวิตที่มีมาร่วมกัน ผมคิดว่า เมื่อบทสรุปแห่งการเมืองไทยมันตกผลึกจนชัดเจนขึ้นแล้ว และ...


เมื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย
สามารถปักหมุดหลักเริ่มต้นได้ที่เมืองไทย
เมื่อนั้น ...
ถ้าเราได้มีโอกาสมานั่งวงกินข้าวร่วมกันเพียงครั้งสองครั้ง
มิตรภาพจะเริ่มกลับคืนมา!

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แถลงการณ์: ค้านข้อเสนอรัฐบาลพระราชทาน สภาประชาชน ต้องเลือกตั้งอย่างเดียว

Posted: 12 Dec 2013 09:54 AM PST

กลุ่ม สหพันธ์ประชาชนเสรีเพื่อประชาธิปไตย ภาคอีสาน ประกาศจุดยืนไม่เอามาตรา7 ไม่ยอมรับแนวทางสภาประชาชน ขอทหารยุติแทรกแซงการเมือง ยืนยันการเลือกตั้งเป็นวาระแห่งชาติ เตือนNGOs อย่าหวังเศษเนื้อที่ กปปส.ได้หยิบยื่นให้

แถลงการณ์  ฉบับที่ 3
"ต่อต้านรัฐบาลพระราชทาน คัดค้านสภาประชาชน
ปกป้องรัฐบาลประชาธิปไตย  เดินหน้าเลือกตั้งอย่างเดียว"

 

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า  ภายหลังที่ "กลุ่ม กปปส. นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ"  ได้กระเสือกกระสน  เพื่อต่อลมหายใจเฮือกสุดท้าย  โดยแอบไปพบ "ทหาร" กลุ่มหนึ่งที่ค่ายทหาร  เพื่อออกแบบวางแผนในการเคลื่อนไหวให้เกิด "สุญญากาศทางการเมือง" เปิดช่องให้มี "นายกรัฐมนตรีพระราชทาน" ซึ่งก็คือการก่อ "รัฐประหารแบบใหม่" อันจะนำไปสู่การฟื้นฟู "รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใหม่" ตามอุดมการณ์สูงสุดของพวกเขา

ในสถานการณ์ปัจจุบัน การแทรกแซงทางการเมืองของ "กลุ่มทหาร" เป็นไปแบบแนบเนียน  นับตั้งแต่ "สะเออะ" ทำตัวเป็นคนกลางในการเจรจา  ซึ่งไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของทหารแต่อย่างใด  และการที่ "กลุ่ม กปปส."  เสนอตัวต่อบรรดา ผบ.เหล่าทัพ/ ผบ.สส./ ผบ.ตร.  เพื่อเสนอแนวทาง "การปฏิรูปประเทศไทย"  ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการเล่น "ละคร"  แหกตาประชาชนทั้งสิ้น

ส่วนข้อเสนอของ "กลุ่ม กปปส."  ที่จะเรียกบรรดา "นักพัฒนา" องค์กรพัฒนาเอกชน/ องค์กรชุมชน/ ภาคประชาสังคม และองค์กรสาธารระ ต่าง ๆ ไป "เข้าพบ" นั้น  ก็เป็นไปตามการออกแบบวางแผนของเหล่า "ขุนนาง NGOs" ภายใต้การชี้นำของกลุ่มที่เรียกตนเองว่า "ราษฏรอาวุโส"  ที่ไม่เคยเชื่อมั่นและเคารพในกติกา "หนึ่งสิทธิ์ หนึ่งเสียง" ซึ่งมักอ้างตัวว่าเป็น "ตัวแทน" ของชาวบ้าน/ประชาชนเรื่อยมา  กลุ่มพวกเขาเหล่านี้  มีความฝันอันสูงสุดในการสร้าง "สภาประชาชน"  ที่จะมาจากการ "แต่งตั้ง" โดยบรรดา "คนดีมีศิลธรรม" จาก "เครือข่ายอำมาตย์" ของพวกมันเอง ซึ่งแท้ที่จริงก็คือ "สภาขุนนาง"  ดี ๆ นี่เอง  ทั้งหลายทั้งปวง  ล้วนแล้วอยู่ภายใต้การบงการของ "อำนาจนอกระบบเหนือรัฐ"  ที่เป็น "อีแอบ" ขัดขวางการพัฒนา "ประชาธิปไตย" ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน และนิรันดร.......

ด้วยเหตุดังนั้น  คณะกรรมการ "สหพันธ์ประชาชนเสรีเพื่อประชาธิปไตย" (สปป.)  เป็นองค์กรประสานความร่วมมือ "กลุ่มพลังประชาธิปไตย" เพื่อสถาปนา, สร้างสรรค์ "ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แท้จริง"  ได้ประเมินสถานการณ์และมีข้อเสนอต่อสังคมไทย  ดังต่อไปนี้


ข้อเสนอต่อกลุ่มทหาร

 ขอให้หยุดแทรกแซงทางการเมือง  กลับเข้าสู่กรมกอง  เป็นทหารอาชีพที่ยึดโยงอยู่กับประชาชน  ภายใต้รัฐบาลรักษาการยิ่งลักษณ์  ชินวัตร  เพราะบัญชีเก่าประชาชนยังไม่ได้สะสาง  อย่ารีบสร้างบัญชีใหม่ขึ้นมาอีกเลย

ข้อเสนอต่อ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน และกลุ่มพลังประชาธิปไตย ต่าง ๆ

1. ให้ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน  ประสานงาน "กลุ่มพลังประชาธิปไตย" หรือ กลุ่มแดงอิสระ อื่น ๆ จัด "สัมมนาใหญ่" เพื่อสร้างเอกภาพทางความคิด และผลักดัน "การเลือกตั้งเป็นวาระแห่งชาติ" ร่วมกัน
2. ขอสนับสนุนยุทธศาสตร์ "การเลือกตั้งเป็นวาระแห่งชาติ" ของ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ภายใต้คำขวัญ "เดินหน้าประชาธิปไตย  ประเทศไทยต้องเลือกตั้ง" โดยไม่มีเงื่อนไข
3. ขอแสดงความยินดีกับ "สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย" (สปป.) ที่ก่อรูปเป็นองค์กรทางปัญญา  เพื่อชี้ทางสว่างให้กับสังคมไทย และขอสนับสนุนกิจกรรมที่จะสร้างสรรค์ขึ้นทุกอย่าง

ขอประกาศจุดยืนของ สปป. และภาคีเครือข่าย ดังต่อไปนี้

1. จะต่อต้าน  การรัฐประหาร  สภาประชาชน ทุกรูปแบบ
2. ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ (รัฐบาลพระราชทาน/ รัฐบาลที่มาจาก มาตรา7)
3. จะเดินหน้าคัดค้าน และต่อต้าน "อำนาจนอกระบบเหนือรัฐ" ที่แทรกแซงทางการเมือง ทุกรูปแบบ
4. จะสนับสนุนและเข้าร่วมผลักดัน "การเลือกตั้งเป็นวาระแห่งชาติ" โดยไม่มีเงื่อนไข

สุดท้าย สปป. ขอประณามการกระทำอันชั่วร้ายของกลุ่ม "ขุนนาง NGOs" และพวกที่มักอ้างตัวเป็น "ปราชญ์ชาวบ้าน" / "ผู้นำองค์กรชุมชน" ที่ได้เผยถึง "ธาตุแท้" ของพวกเขาออกมาแล้วอย่างล่อนจ้อน  ด้วยการกระทำอันรังเกียจ  โดยการวิ่งเข้ากราบแทบเท้า "นายสุเทพ เทือกสุบรรณ" อย่างหน้าละอายและไร้ศักดิ์ศรี   เพียงเพื่อหวัง "เศษเนื้อ"  ที่พวก กปปส.จะหยิบยื่นให้  หรือ ตำแหน่ง "รัฐมนตรี" ใน "รัฐบาลพระราชทาน" ที่ "เพ้อเจ้อ"  ซึ่งสะท้อนถึงการ "ฝักใฝ่ศักดินา  แสวงหาชั้นยศ" อันเป็นคราบไคลที่แท้จริง  อันหยั่งรากลึกอยู่ในมโนสำนึกของพวกเขาเหล่านี้

และขอตักเตือนบรรดาเหล่า "ขุนนาง NGOs" ดังกล่าว โปรดจงรีบ "ถอนตัว" ออกมาโดนด่วน  ขอจงใช้สติในฐานะปัญญาชนไต่ตรองให้รอบคอบ  เพื่อที่จะไม่เป็นภาระแก่ลูกหลาน


ประชาชน  เสรีชน  ผู้รักประชาธิปไตย  จงลุกขึ้นสู้ !!!
สหพันธ์ประชาชนเสรีเพื่อประชาธิปไตย (สปป.)
  12  ธันวาคม  2556

 

รายชื่อกลุ่ม/ องค์กร สมาชิก
1. แนวร่วมแรงงานและเกษตรกรเพื่อประชาธิปไตย (นรกป.)
2. กลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอีสาน (กสส.) 
3. เครือข่ายองค์กรชุมชนแก้ไขปัญหาที่ดินภาคอีสาน (คอป.อ.)
4. กลุ่มดงมูลเพื่อการพัฒนา (กดม.) จ.กาฬสินธุ์
5. กลุ่มต้นอ้อ จ.ขอนแก่น   
6. กลุ่มมิตรภาพ  จ.ขอนแก่น
7. กลุ่มศึกษาปัญหาสังคมเพื่อการเปลี่ยนแปลง (ศสป.)
8. กลุ่มภูเวียงเพื่อการพัฒนา (กภว.)  จ.ขอนแก่น 
9. กลุ่มประชาชนไทยแวงน้อย  จ.ขอนแก่น
10. กลุ่มภูพานเพื่อการพัฒนา (กภพ.)  จ.สกลนคร 
11. กลุ่มเพื่อนพัฒนาภูกระดึง  จ.เลย
12. กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ลุ่มน้ำพรมตอนต้น  จ.ชัยภูมิ
13. กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ลุ่มน้ำบัง  จ.นครพนม
14. องค์กรอิสระเถียงนาประชาคม  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
15. กลุ่มปุกฮัก  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
16. กลุ่มเพื่อนสังคม  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
17. กลุ่มเพื่อนปริญญาโทรักความเป็นธรรม  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
18. ซุ้มเกี่ยวดาว  มหาวิทยาลัยขอนแก่น
19. กลุ่มข้าวต้มมัด  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
20. คณะกรรมการรณรงค์การกระจายอำนาจภาคอีสาน
21. เครือข่ายอนุรักษ์ภูเก้า-ภูพานคำ  จ.หนองบัวลำภู
22. เครือข่ายองค์กรชาวบ้านลุ่มน้ำปาว (คอป.)  จ.กาฬสินธุ์
23. เครือข่ายอนุรักษ์ภูผาเหล็ก  จ.สกลนคร
24. เครือข่ายคนรุ่นใหม่ลุ่มน้ำโขง  จ.อุบลราชธานี 
25. เครือข่ายคนรุ่นใหม่ยโสธร  จ.ยโสธร
26. เครือข่ายคนรุ่นใหม่มหาสารคาม  จ.มหาสารคาม
27. เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชนเขลาโคก  จ.ร้อยเอ็ด
28. สหพันธ์เยาวชนอีสาน (สยส.)
29. สหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน (สนนอ.)
30. สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) 
31. สถาบันเพื่อพัฒนาเยาวชนแห่งประเทศไทย (สยท.)
32. กลุ่มครูเพื่อประชาธิปไตยภาคอีสาน (กคส.)
33. สำนักเรียนรู้กระจายอำนาจและปกครองตนเอง (กอ.ปอ.)
34. สถาบันสร้างสรรค์ชีวิตและสังคม (LSI.)
35. ชมรมส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือตอนล่าง
36. กลุ่มนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยภาคอีสาน (กนป.)
37. กลุ่มท้องถิ่นเพื่อประชาธิปไตย (กทป.)
38. กลุ่มสตรีก้าวหน้า  จ.ขอนแก่น
39. กลุ่มศิลปินเพื่อสังคมภาคอีสาน (กศป.)
40. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดร้อยเอ็ด
41. เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซิน
42. กลุ่มแรงงานเพื่อประชาธิปไตยภาคเหนือ
43. สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.)
44. กลุ่มสังคมศาสตร์แดง'56 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก (มหาวิทยาลัยนเรศวร)
45. กลุ่มปีกซ้ายพฤษภา 2535
46. เครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อสังคมรุ่นใหม่ ( กรุงเทพมหานคร)
47. เครือข่ายคนรุ่นใหม่จังหวัดสุรินทร์
48. กลุ่มแดงศรีโคตรบอง
49. สถาบันส่งเสริมศักยภาพอีสานล้านช้าง
50. กลุ่มกวีเพื่อประชาธิปไตย (กกป.)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาคประชาสังคม ‘กลุ่มโลกสวยฯ’ เสนอรัฐฯ ออก พ.ร.ก.ตั้ง ‘สภาเพื่อการปฏิรูป’

Posted: 12 Dec 2013 09:52 AM PST

ภาคประชาสังคม 'กลุ่มโลกสวย ปฏิรูปการเมืองตามวิถีประชาธิปไตยด้วยสันติวิธี' แสดงจุดยืนค้านข้อเสนอ กปปส.ให้รัฐบาลรักษาการลาออก เชื่อรัฐบาลชั่วคราวไม่ใช่ตัวแทนคนส่วนใหญ่ของประเทศ พร้อมเสนอรัฐบาลออก พ.ร.ก.ตั้งสภาเพื่อการปฏิรูปโดยประชาชนทันที มุ่งเจรจาแก้ปัญหา
 
12 ธ.ค.2556 กลุ่มคนทำงานภาคประชาสังคมในนาม 'กลุ่มโลกสวย ปฏิรูปการเมืองตามวิถีประชาธิปไตยด้วยสันติวิธี' ออกจดหมายเปิดผนึกข้อเสนอทางออกจากวิกฤตการณ์ทางการเมือง ค้านข้อเสนอ กปปส.ที่ให้รัฐบาลรักษาการลาออก แต่เสนอให้รัฐบาลออก พ.ร.ก.ตั้งสภาเพื่อการปฏิรูปโดยประชาชน เริ่มดำเนินการก่อนวันเลือกตั้ง และให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี โดยมีผู้แทนจากฝ่าย กปปส., นปช., รัฐบาล, ภาคเอกชน, ภาควิชาการ และภาคประชาชนเข้าร่วมในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อเป็นกลไกพัฒนาจัดทำข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการเมืองตามประเด็นหลักการของ กปปส.และข้อเสนอของประชาชนภาคส่วนต่างๆ
 
พร้อมระบุการเจรจาเพื่อหาความตกลงร่วมกันโดยยึดหลักการประชาธิปไตย และสร้างความร่วมมือเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจัง เป็นทางออกเดียวที่สามารถทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปสู่สังคมที่เป็นประชาธิปไตย มีความเท่าเทียมทางสังคม และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
 
ทั้งนี้ จดหมายเปิดผนึกดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้
 
 
 
จดหมายเปิดผนึก
ข้อเสนอทางออกจากวิกฤตการณ์ทางการเมือง
 
            สืบเนื่องจากการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากที่สุดครั้งหนึ่งภายใต้การนำของ "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" หรือ "กปปส."นั้น เราเห็นว่าเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมเป็นการเรียกร้องให้ขจัดการทุจริตในระบบการเมือง และต้องการปฏิรูปให้ระบบการเมืองของประเทศมีธรรมาภิบาลและประชาธิปไตยมากขึ้น เราเชื่อว่า จิตวิญญาณของผู้เข้าร่วมชุมนุมส่วนใหญ่หาได้ปฏิเสธเสียงส่วนใหญ่และการเลือกตั้งซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญของระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใดไม่ เฉกเช่นเดียวกับประชาชนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมการชุมนุมภายใต้การนำของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก็หาได้ยืนอยู่ตรงข้ามกับการสร้างระบบการเมืองที่ปลอดพ้นไปจากการทุจริตคอรัปชั่นในทุกรูปแบบแต่ประการใด
 
อย่างไรก็ตามข้อเสนอของ กปปส.ที่ต้องการให้รัฐบาลรักษาการพ้นไปจากหน้าที่และจัดตั้งสภาประชาชนเพื่อให้มีการปฏิรูปการเมืองโดยปฏิเสธการเจรจา ในขณะที่การยืนยันให้ใช้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นภายใน 60 วันในการแก้ปัญหาวิกฤตทางการเมืองที่เกิดขึ้นของรัฐบาลโดยปราศจากการดำเนินการเพื่อให้มีหลักประกันใดๆ ที่ตอบสนองต่อเจตนารมณ์ของประชาชนที่ร่วมชุมนุมนั้น อาจทำให้เกิดวิกฤตทางการเมืองในระดับที่ร้ายแรงและอาจนำประเทศไปสู่สภาวะสงครามกลางเมืองในที่สุด
 
เราขอแสดงจุดยืนทางการเมืองและเรียกร้องต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
 
1.     เราไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้รัฐบาลรักษาการลาออกเพื่อให้เกิดสุญญากาศ หรือการเว้นวรรคกระบวนการประชาธิปไตยอื่นใด โดยเชื่อว่ารัฐบาลชั่วคราวหากจะถูกตั้งขึ้นไม่อาจเป็นตัวแทนของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้ และจะไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งจะก่อให้เกิดวิกฤติทางการเมืองที่ไม่มีวันสิ้นสุด
 
2.     เราเรียกร้องให้รัฐบาล ดำเนินการให้มีการออกพระราชกำหนดจัดตั้งสภาเพื่อการปฏิรูปโดยประชาชนในทันที เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาจัดทำข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการเมืองในประเด็นหลักการที่ กปปส.ได้เรียกร้องในการชุมนุม และข้อเสนอของประชาชนภาคส่วนต่างๆ เช่น การสร้างกลไกขจัดการคอรัปชั่นของนักการเมืองและข้าราชการในทุกรูปแบบ การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม การสร้างการมีส่วนร่วมทางนโยบายของประชาชน การกระจายอำนาจ (โดยให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด) การควบคุมตำรวจหรือการรักษาความมั่นคงภายใน มิให้ถูกแทรกแซงโดยนักการเมืองเพื่อประโยชน์ของฝ่ายตน เป็นต้น
 
3.     "สภาเพื่อการปฏิรูป" นี้ จะต้องสามารถเริ่มดำเนินการก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 และให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี โดยมีผู้แทนจากฝ่าย กปปส., นปช. และ รัฐบาลในสัดส่วนที่สมดุล อีกทั้งต้องมีตัวแทนจาก ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชนเข้าร่วมด้วยในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยดำเนินการด้วยความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชน
 
4.     พรรคการเมืองและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องลงนามในสัตยาบัน/สัญญาประชาคมว่า จะนำข้อเสนอในการปฏิรูปการเมือง ซึ่งอาจต้องแก้รัฐธรรมนูญ การตราเป็นกฎหมาย หรือการตั้งกลไกต่างๆ ไปดำเนินการโดยเร็ว ผ่านกระบวนการของรัฐสภาชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งโดยทุกภาคส่วนต้องร่วมรณรงค์ให้วาระการปฏิรูปการเมืองเป็นวาระหลักของการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น
 
5.     ขอเรียกร้องให้ รัฐบาลและ กปปส. เจรจาอย่างเร่งด่วน และพยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อให้มีความตกลงร่วมกันเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดการเผชิญหน้าและนำไปสู่การสูญเสียเลือดเนื้อของประชาชน ทั้งนี้ กปปส.และพลเมืองทุกกลุ่มย่อมมีสิทธิอย่างเต็มที่ที่จะเคลื่อนไหวทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปฏิรูปทางการเมืองทั้งในช่วงรณรงค์ก่อนการเลือกตั้งและหลังการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่แล้ว
 
เราเห็นว่าวิถีประชาธิปไตยที่อ้างเสียงข้างมากในการตัดสินใจทางนโยบายในทุกกรณีนั้น ไม่อาจนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย และการสร้างสังคมที่เป็นธรรมและสันติสุขได้ การปฏิรูปการเมืองภายใต้บริบททางเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันจะต้องเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมที่สร้างความเสมอภาคในการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนทุกกลุ่ม ตรวจสอบการใช้อำนาจ เพิ่มกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการออกกฎหมาย และการกำหนดนโยบายสาธารณะ อีกทั้งต้องมีกลไกในการขจัดการผูกขาดและควบคุมตรวจสอบอิทธิพลของกลุ่มทุนและบรรษัทขนาดใหญ่ในการกำหนดนโยบายและผลักดันโครงการที่เอื้อประโยชน์ต่อตัวเอง และสร้างผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ ไปพร้อมๆ กันด้วย
 
การเจรจาเพื่อหาความตกลงร่วมกันโดยยึดหลักการประชาธิปไตย และสร้างความร่วมมือเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจัง เป็นทางออกเดียวที่สามารถทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปสู่สังคมที่เป็นประชาธิปไตย มีความเท่าเทียมทางสังคม และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
 
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา
คำรณ ชูเดชา
จักรชัย โฉมทองดี
จะเด็จ เชาวน์วิไล
ชูวิทย์ จันทรส
ฝ้ายคำ หาญณรงค์
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ
สามารถ สะกวี
สุภา ใยเมือง
 
12 ธันวาคม 2556
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

iLaw: อัยการ-ศาล สร้างนิยมใหม่ความผิดฐาน 'พยายามหมิ่นกษัตริย์ฯ'

Posted: 12 Dec 2013 09:02 AM PST

วันที่ 12 ธันวาคม 2556 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาในคดีที่นายกิตติธนถูกฟ้องว่า เป็นผู้ใช้นามแฝงว่า "เคนจิ" โพสต์ข้อความดูหมิ่น หมิ่นประมาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีลงในเว็บไซต์ dangddดอทcom หรือเว็บไซต์ internetfreedom โดยศาลตัดสินว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (2) (3) ทั้งหมด 2 กรรม ลงโทษจำคุกกรรมละ 5 ปี

นอกจากนี้นายกิตติธนยังมีความผิดฐาน "ตระเตรียมและพยายาม" หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาทด้วย จากการที่มีภาพถ่ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระเทพฯ และองค์เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ รวมทั้งองค์รัชทายาทของแต่ละพระองค์ที่เสด็จไปสถานที่ต่างๆ ในพระอิริยาบถต่างๆ โดยจำเลยเขียนพิมพ์ข้อความต่างๆ ประกอบพระบรมฉายาลักษณ์ โดยเป็นข้อความในลักษณะดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ซึ่งจำเลยตระเตรียมภาพถ่ายพร้อมข้อความดังกล่าวและบันทึกไว้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อเผยแพร่ภาพและข้อความดังกล่าว ในบรรยายฟ้องระบุว่า จำเลยกระทำความผิดไปโดยตลอดแล้วแต่การกระทำไม่บรรลุผลเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นและยึดไว้ก่อนที่จำเลยจะโพสต์ในอินเทอร์เน็ต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามกระทำผิดมาตรา 112 ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี 4 เดือน

รวมทั้งหมด นายกิตติธนถูกศาลตัดสินให้จำคุก 13 ปี 4 เดือน เนื่องจากรับสารภาพในทุกข้อกล่าวหาตั้งแต่ชั้นสอบสวนและชั้นศาล ศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือโทษจำคุก 5 ปี 20 เดือน

[อ่านรายละเอียดคดีกิตติธน : เคนจิ คลิกที่นี่]

 

รับสารภาพไม่ใช่ผิดอัตโนมัติ ศาลยังคงมีหน้าที่ต้องปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง

เป็นหลักการทั่วไปว่า ศาลเป็นผู้มีหน้าที่วินิจฉัยคดีความ โดยหน้าที่ของศาลคือการปรับบทกฎหมายให้เข้ากับข้อเท็จจริง คือศาลต้องอธิบายว่าการกระทำของจำเลย เข้าองค์ประกอบความผิดตามตัวบทกฎหมายอย่างไร เพื่อตอบคำถามว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่

กรณีที่จำเลยรับสารภาพในชั้นศาล หมายความว่า จำเลยรับสารภาพว่าตัวเองได้กระทำไปตามที่โจทก์เขียนบรรยายมาในคำฟ้อง และข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างมานั้นเป็นความจริงทุกประการ มีผลให้ประเด็น "ข้อเท็จจริง" ในคดีนี้ยุติแล้ว ศาลสามารถใช้ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องวินิจฉัยคดีและพิพากษาคดีได้เลย แต่ทั้งนี้ ศาลยังมีหน้าที่ต้องนำข้อเท็จจริงมาปรับเข้ากับตัวบทกฎหมายอีกครั้งว่า ข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วนั้น เข้าองค์ประกอบความผิดตามตัวบทกฎหหมายมาตราใด หรือไม่

ตัวอย่างเช่น หากเป็นการฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แม้จำเลยรับสารภาพศาลก็ยังคงต้องพิจารณาว่าการกระทำของจำเลย ข้อความที่จำเลยกล่าวนั้น เป็นการ "หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย" บุคคลที่กฎหมายมาตรานี้มุ่งคุ้มครองหรือไม่ หากการกระทำของจำเลยไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายแล้ว แม้จำเลยจะรับสารภาพ ศาลก็ต้องสั่งยกฟ้อง

แต่คำพิพากษาในคดีของนายกิตติธนนั้น ศาลไม่ได้วิเคราะห์ปรับข้อเท็จจริงให้เข้ากับตัวบทกฎหมายเลย เพียงแต่กล่าวไว้สั้นๆ ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามกฎหมายมาตราใดและมีโทษอย่างไร โดยไม่ได้อธิบายเหตุผลไว้ให้ชัดเจน

 

"ตระเตรียมการ" หมิ่นฯ ไม่นับเป็นความผิดตามกฎหมาย

ในคำฟ้องคดีนี้ พนักงานอัยการโจทก์บรรยายฟ้องไว้ว่า จำเลยตระเตรียมการกระทำความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หมวดหนึ่ง แต่ความผิดข้อนี้จะเป็นความผิดสำเร็จก็ต่อเมื่อจำเลยกระทำไปถึงขั้น "ลงมือกระทำความผิด" แล้ว เพียงแค่ขั้นตอนการตระเตรียมการยังไม่เป็นความผิด

แต่ตามหลักกฎหมายอาญา ความผิดที่แม้เพียงการ "ตระเตรียมการ" ก็ถือเป็นความผิดนั้น กฎหมายต้องเขียนระบุเอาไว้เป็นการเฉพาะว่าการตระเตรียมการนั้นๆ เป็นความผิด เช่น ความผิดฐานลอบปลงพระชนม์ ตามมาตรา 107 ความผิดฐานกบฏ ตามมาตรา 114 ความผิดฐานก่อการร้าย ตามมาตรา 135/2 (2) หรือความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ในมาตรา 219 เป็นต้น

ดังนั้น แม้มาตรา 112 จะอยู่ในหมวดว่าด้วยความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งความผิดหลายมาตราในหมวดนี้กฎหมายบัญญัติไว้ว่าการตระเตรียมการเป็นความผิดก็ตาม แต่ในเมื่อไม่มีกฎหมายมาตราใดบัญญัติว่าการ "ตระเตรียมการ" ที่จะกระทำความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิดด้วย การตระเตรียมการของจำเลยในคดีนี้จึงย่อมไม่เป็นความผิดตามกฎหมายใดๆ เมื่อพนักงานอัยการโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้เช่นนี้ ศาลผู้มีหน้าที่วินิจฉัยปรับบทกฎหมายให้เข้ากับข้อเท็จจริง ควรจะวินิจฉัยกรณีนี้ไว้ด้วย แต่ศาลในคดีนี้ไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นการตระเตรียมการ

 

"พยายามหมิ่นกษัตริย์ฯ" แนวพิพากษาคดีแบบใหม่ล่าสุด

ขณะที่ความผิดฐาน "ตระเตรียมการ" จะเป็นความผิดเฉพาะกรณีที่ระบุเอาไว้ในกฎหมาย แต่ความผิดฐาน "พยายาม" นั้นต่างออกไป กล่าวคือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80 กำหนดว่า

"มาตรา 80 ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้น พยายามกระทำความผิด

ผู้ใดพยายามกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น"

จะเห็นว่า การกระทำใดที่จะถือเป็นความผิดฐานพยายามได้ ต้องมีลักษณะ "ลงมือกระทำความผิดแล้ว" แต่กระทำไปไม่ตลอด เช่น หลอกลวงให้คนเอาเงินมาให้ เมื่อคนเอาเงินมาให้แล้วแต่ปรากฏวันนั้นไม่ว่างจึงยังไม่ได้รับเงิน แม้การกระทำนั้นยังไม่ครบองค์ประกอบอันจะทำให้เป็นความผิดสำเร็จฐานฉ้อโกง แต่ก็เป็นการกระทำความผิดฐานพยายามฉ้อโกงแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอด หรือ "กระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล" เช่น เอาปืนยิงไปคู่อริ ยิงไปแล้วแต่หมอช่วยชีวิตไว้ทัน จึงไม่ตาย แม้ยังไม่ครบองค์ประกอบอันจะทำให้เป็นความผิดสำเร็จฐานฆ่าคนตาย แต่ก็เป็นการกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าคนตายแล้ว ซึ่งได้กระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นยังไม่บรรลุผล

กรณีความผิดตามมาตรา 112 อันประกอบด้วยการ "หมิ่นประมาท" "ดูหมิ่น" "แสดงความอาฆาตมาดร้าย" นั้น สาระสำคัญของการลงมือกระทำความผิดอันเป็นการหมิ่นประมาทต้องมีลักษณะ "ใส่ความ" ผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม สาระสำคัญของการลงมือกระทำความผิดอันเป็นการดูหมิ่นหรือการแสดงความอาฆาตมาดร้ายก็ต้องมีลักษณะของการ "แสดงออก" ซึ่งความคิดความรู้สึกออกมา จึงจะถือว่าได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว

การที่พนักงานอัยการโจทก์เขียนบรรยายคำฟ้องในคดีนี้ว่า จำเลยมีภาพถ่าย แล้วเขียนข้อความประกอบรูปไว้ในลักษณะหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย เพื่อเผยแพร่เข้าไปในสื่ออินเทอร์เน็ต ถือว่าจำเลยได้ลงมือกระทำความผิดไปโดยตลอดแล้ว แต่การกระทำของจำเลยไม่บรรลุผล เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นและยึดภาพถ่ายและข้อความต่างๆ เสียก่อน การวินิจฉัยนี้น่าจะไม่ถูกต้องกับความเป็นจริง เพราะจำเลยเพียงแค่ "มี" ไว้ในครอบครอง และ "เขียน" ถ้อยคำประกอบรูป แต่ยังไม่มีข้อมูลใดชี้ให้เห็นถึงการกระทำในลักษณะของการแสดงออก เผยแพร่ หรือใส่ความ ให้ข้อความเหล่านั้นไปถึงยังผู้รับสารคนอื่นเลย กรณีนี้จึงไม่ใช่ลักษณะที่จำเลยกระทำความผิดไปโดยตลอดแล้วแต่การกระทำของจำเลยไม่บรรลุผล แต่เป็นกรณีที่จำเลยยังไม่ได้ลงมือกระทำความผิดเลย

กรณีที่จะถือว่าจำเลยลงมือกระทำความผิดไปแล้ว จนเป็นความผิดฐานพยายามได้นั้น ต้องถึงขั้นที่จำเลยได้ลงมือกระทำ "ขั้นตอนสุดท้าย" ของความผิดนั้นแล้ว เช่น กดโพสต์เข้าไปในอินเทอร์เน็ตแล้ว แต่มีความขัดข้องทางเทคนิคทำให้โพสไม่สำเร็จ หรือส่งไปให้บุคคลอื่นดูแล้วแต่คนที่ดูอ่านภาษาไทยไม่ออกจึงไม่เข้าใจข้อความนั้น เป็นต้น

ข้อเท็จจริงเท่าที่พนักงานอัยการโจทก์เขียนบรรยายมาในคำฟ้องนั้น จำเลยยังไม่ได้ลงมือกระทำความผิดเลย ยังไม่ใช่การกระทำขั้นตอนสุดท้ายของความผิดตามมาตรา 112 ยังเป็นการกระทำที่ไม่ใกล้เคียงต่อผล เพราะจำเลยอาจมีรูปและข้อความเอาไว้ใช้เพื่อเจตนาอย่างอื่นก็ได้ ทั้งยังอยู่ในขั้นตอนที่จำเลยอาจเปลี่ยนใจไม่กระทำความผิด หรือไม่เผยแพร่รูปและข้อความเหล่านั้นเมื่อไรก็ได้ จึงยังไม่เป็นความผิดฐานพยายามหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 ประกอบมาตรา 80

กล่าวโดยสรุป การที่จำเลยมีรูปไว้ในครอบครองพร้อมเขียนข้อความประกอบ ยังไม่ถึงขนาดเป็นความผิดฐานพยายาม กระทำความผิดตามมาตรา 112 แม้การกระทำของจำเลยอาจจะถือได้ว่า เป็นการตระเตรียมการกระทำความผิดแล้ว แต่เนื่องจากไม่มีบทกฎหมายกำหนดให้การตระเตรียมการกระทำความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิด จึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้ และแม้จำเลยจะรับสารภาพว่าได้กระทำไปตามฟ้องจริง แต่ศาลก็ยังมีหน้าที่ต้องวินิจฉัยด้วยว่าข้อเท็จจริงตามฟ้องของโจทก์นั้น เป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่ การที่คำพิพากษาของศาลเพียงแค่กำหนดโทษให้จำเลยไปตามข้อเท็จจริงที่โจทก์ฟ้อง โดยไม่นำหลักกฎหมายใดๆ มาวินิจฉัยด้วยนั้น จึงน่าจะไม่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่หลายประการ

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน iLaw, 12 ธันวาคม 2556

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สลัม 4 ภาค หนุน สปป. เสนอทุกพรรคลงสัตยาบันก่อนเลือกตั้ง ร่วมแก้ รธน.-แก้ปัญหาโครงสร้างสังคม

Posted: 12 Dec 2013 08:49 AM PST

 
12 ธ.ค.2556 เครือข่ายสลัม 4 ภาค ออกแถลงการณ์ แสดงจุดยืนทางการเมือง สนับสนุนข้อเสนอของสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป) เพื่อรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย โดยระบุว่า จากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบันนับเป็นวิกฤตของประเทศไทยอีกครั้ง โดยมีหลากฝ่าย หลายความคิด และไม่มีท่าทีของการเจรจาต่อรองเพื่อให้เกิดข้อยุติของความขัดแย้ง อีกทั้งมีข้อเสนอจากหลายๆ ฝ่าย ให้มีการเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปประเทศไทย แต่การเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิรูป ต้องอยู่ภายใต้ในหลักการของประชาธิปไตย อยู่ในกรอบกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรั

เครือข่ายสลัม 4 ภาค ยังมีข้อเสนอเพิ่มเติม คือ การแก้ไขปัญญาวิกฤตทางการเมือง ต้องแก้ไขตามครรลองของรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย ให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.2557 และก่อนมีการเลือกตั้งให้พรรคการเมืองทุกพรรคลงสัตยาบันว่า จะร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และให้เกิดการแก้ไขปัญหาโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม
 
นอกจากนี้ พรรคการเมืองที่จะลงรับเลือกตั้งต้องนำข้อเสนอของภาคประชาชน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขหรือเพิ่มในรัฐธรรมนูญ ดังนี้ 1.ต้องมีการจำกัดการถือครองดิน โดยการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า 2.ต้องให้มีการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ที่มีผลกระทบต่อประชาชน เช่น ด้านพลังงาน รัฐต้องซื้อคืนจากภาคเอกชน ให้กลับมาเป็นสมบัติของรัฐ 3.ปฏิรูปการศึกษา โดยจัดการศึกษาให้ทั่วถึง เป็นธรรม สถาบันการศึกษาที่ออกนอกระบบให้กลับคืนมาเป็นของรัฐ
 
4.ปฏิรูประบบสุขภาพ โดยส่งเสริมระบบประกันสุขภาพอย่างทั่วถึง เท่าเทียม เป็นธรรม มีระบบสวัสดิการของผู้สูงอายุ หรือบำนาญชราภาพ 5.ปฏิรูปกฎหมายต้านคอรัปชั่น เพื่อให้เกิดการขจัดปัญหาการคอรัปชั่นได้อย่างถึงรากถึงโคน และ 6.ต้องให้เกิดการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น ในแบบที่ไม่ใช่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้น  แต่ต้องให้ชุมชนท้องถิ่นเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหาร และจัดการตนเอง
 
เครือข่ายสลัม 4 ภาค ระบุด้วยว่า หากพรรคการเมืองใด ไม่ประกาศสนับสนุน รวมทั้งไม่ลงสัญญาประชาคมต่อข้อเสนอเชิงนโยบายดังกล่าว ก็ให้เป็นสิทธิ์ของประชาชนผู้เลือกตั้งว่าจะลงคะแนนเสียงให้หรือไม่ หรือถ้าพรรคการเมืองใดรับปากว่าจะดำเนินการปฏิรูปการเมือง ตามข้อเสนอเชิงนโยบายเหล่านี้ แต่ไม่กระทำการภายหลังการเข้าสู่อำนาจรัฐ  ภาคประชาชนก็จะดำเนินการทวงถาม และติดตามให้ถึงที่สุด
 
 
แถลงการณ์ดังกล่าวระบุรายละเอียด ดังนี้
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อภิสิทธิ์ขึ้นศาลคดีสลายชุมนุมปี 53 ได้ประกันตัวด้วยวงเงิน 6 แสน

Posted: 12 Dec 2013 08:47 AM PST

อภิสิทธิ์ใช้โฉนดอาคารชุดประกันตัวคดีสลายการชุมนุมปี 53 พร้อมโพสต์ขอบคุณผู้สนับสนุน ชี้การต้านกฎหมายนิรโทษกรรม ทำให้ได้มีโอกาสพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ขณะที่สุเทพศาลเลื่อนส่งฟ้องเพราะติดภารกิจ ส่วนอีกคดีศาลเริ่มสืบพยานโจทย์ 24 แกนนำ นปช. คดีก่อการร้าย

12 ธ.ค.2556  สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า วันนี้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมาศาลอาญา ตามที่อัยการนัดส่งฟ้อง หลังตกเป็นผู้ต้องหาร่วมกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกลุ่ม กปปส. อดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ในคดีร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 จากกรณีที่ ศอฉ.มีคำสั่งให้ใช้กำลังเจ้าหน้าที่กำชับพื้นที่การชุมนุมของ นปช. เมื่อปี 2553 จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ โดยทันทีที่เดินทางมาถึงศาลอาญา นายอภิสิทธิ์ มีสีหน้าเรียบเฉยเดินขึ้นไปยังห้องพิจารณารับฟ้องคดีทันทีโดยไม่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนแต่อย่างใด ในส่วนของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ส่งทนายความยื่นหนังสือขอเลื่อนส่งฟ้องต่อศาล

ทั้งนี้ ที่หน้าศาลอาญา มีเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 20 นาย ดูแลความเรียบร้อยอย่างเข้มงวด พร้อมวางรั้วเหล็กกั้นเป็นทางเดินขึ้นศาลอาญา เนื่องจากมีมวลชนทั้งกลุ่มสนับสนุนและต่อต้านนายอภิสิทธิ์รออยู่บริเวณหน้าศาลอาญา

ขณะเดียวกัน ในวันเดียวกันนี้ ศาลอาญาได้นัดสืบพยานโจทก์ ในคดีที่ 24 แกนนำ นปช. ตกเป็นจำเลยในข้อหาก่อการร้าย ล่าสุดแกนนำสำคัญ อาทิ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายวีระกาน มุสิกพงศ์ นายแพทย์เหวง โตจิราการ นายก่อแก้ว พิกุลทอง นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง เดินทางมาถึงศาลแล้ว โดยบรรยากาศยังเป็นไปอย่างเรียบร้อย

จากนั้นบัณฑิต ศิริพันธ์ ทนายความส่วนตัว เปิดเผยว่า นายอภิสิทธิ์ ได้ยืนยันความบริสุทธ์และปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยนายอภิสิทธิ์ ยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัวเป็นโฉนดอาคารชุด ที่จังหวัดชลบุรี และศาลไม่ได้กำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัว ซึ่งศาลนัดตรวจสอบเอกสารอีกครั้ง วันที่ 24 มีนาคม 2557 ส่วนกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ศาลเลื่อนส่งฟ้อง เนื่องจากติดภารกิจ ซึ่งอัยการ จะกลับไปหารือร่วมกับคณะทำงานอีกครั้ง ว่า สมควรให้เลื่อนการนำตัวนายสุเทพ ส่งฟ้องศาลหรือไม่ หลังจากศาลอนุญาติปล่อยตัวชั่วคราว นายอภิสิทธิ์ ได้เดินทางออกจากศาลอาญา ทางด้านหลังอาคาร โดยไม่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

ภายหลังการประกันตัว อภิสิทธิ์ ได้โพสต์ในเฟซบุ๊คด้วยว่า "ขอบคุณสำหรับกำลังใจจากทุกๆท่านครับ เมื่อเช้าอัยการได้สั่งฟ้องและนำตัวผมส่งฟ้องศาลคดีฆาตกรรม 12 ศพ จากเหตุการณ์ปี 2553 ศาลให้ประกันตัว วงเงิน 600,000 บาท ขอบคุณพี่น้องที่ต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม ทำให้ผมมีโอกาสพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ผมเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมครับ"

ขณะเดียวกันสำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า หลังจากศาลอุทธรณ์ พิพากษาให้จำคุก พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย  1 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในคดีที่นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นโจทก์ ฟ้องนายพร้อมพงศ์ และนายเกียรติ์อุดม เมนะสวัสดิ์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณานั้น ล่าสุดนายพร้อมพงศ์และนายเกียรติอุดม ได้ยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัว คนละ 1 แสนบาท ศาลได้อนุญาติให้ปล่อยชั่วคราว โดยนายพร้อมพงศ์ระบุว่าจะปฎิบัติตามเงื่อนไขของศาลในคดีหมิ่นประมาท ซึ่งเป็นคดีลหุโทษอย่างเคร่งครัด หลังจากนี้จะยื่นคำร้องขอต่อศาลฏีกาภายในกำหนด 30 วัน ตามกฏหมาย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้เชี่ยวชาญเผย ล่ามภาษามือ พิธีรำลึก 'แมนเดลา' เป็นล่ามปลอม

Posted: 12 Dec 2013 08:41 AM PST

ผู้เชี่ยวชาญ ด้านภาษาท่าทางหลายคนกล่าวตรงกันว่า ชายที่ทำหน้าที่ล่ามภาษามือในพิธีรำลึกเนลสัน แมนเดลา ไม่สามารถสื่อสารอะไรออกมาได้อย่างมีความหมาย ทางด้านชายคนดังกล่าวแก้ตัวว่าเขากำลังอยู่ระหว่างรักษาโรคจิตเภทและเกิดอาการตอนอยู่ในงานพิธีพอดีจึงทำงานผิดพลาด

12 ธ.ค. 2556 ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาท่าทาง กล่าวว่า ผู้ที่ทำหน้าที่ในสื่อสารเป็นภาษามือในงานรำลึกเนลสัน แมนเดลา รัฐบุรุษผู้ต่อต้านการเหยียดสีผิวของแอฟริกาใต้ ไม่สามารถทำหน้าที่สื่อสารภาษามือได้จริง โดยบอกว่าสิ่งที่เขาสื่อออกมาไม่มีความหมายใดๆ

คารา โลนนิ่ง ผู้อำนวยการด้านการเรียนรู้และพัฒนาการทางภาษาแห่งเมืองเคปทาวน์ กล่าวว่า ผู้สื่อสารภาษามือในพิธีการรำลึกการเสียชีวิตของแมนเดลาแค่ทำมือไปมาโดยไม่ได้สื่อสารอะไรที่มีความหมายออกมาเลย ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาคนอื่นๆ คือบรูโน ดรูเชน จากสมาพันธ์คนหูหนวกแห่งประเทศแอฟริกาใต้ และอิงกริด พาร์กิน อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนสอนคนหูหนวกเซนต์วินเซนท์แห่งโจฮันเนสเบิร์กก็กล่าวไปในทางเดียวกัน

ดรูเชนเปิดเผยว่ามีคนหูหนวกคนหนึ่งอัดวิดีโอพิธีการนี้เอาไว้แล้วส่งมาให้ทางสมาพันธ์คนหูหนวกชม พร้อมทั้งเขียนร้องเรียนในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ

ข้อกล่าวหานี้นำมาซึ่งคำถามว่า ชายผู้นี้สามารถเข้ามาทำหน้าที่ในงานพิธีที่มีผู้นำจากหลายประเทศ รวมถึงประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งควรมีการรักษาความปลอดภัยสูงได้อย่างไร และด้วยเหตุใด เนื่องจากในขณะที่ผู้นำจากหลายประเทศยืนอยู่บนเวทีเพื่อแสดงการคารวะต่อแมนเดลา ชายผู้นี้ยืนอยู่ห่างออกไปเพียงเมตรเดียว

พาร์กิน กล่าวอีกว่า ชายผู้นี้ไม่ได้แสดงสีหน้าใดๆ เพื่อสื่อถึงอารมณ์ความรู้สึกของคำปราศรัย ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับล่ามภาษามือ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวอีกว่าเขาไม่สามารถสื่อได้แม้กระทั่งคำว่า "ขอบคุณ" หรือชื่อของ "แมนเดลา"

คอลลินส์ ชาเบน รัฐมนตรีประจำสำนักประธานาธิบดีของแอฟริกาใต้กล่าวว่า ทางรัฐบาลกำลังมีการสืบสวนในเรื่องนี้และจะมีการรายงานผลให้สาธารณชนทราบ

ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาท่าทางกล่าวว่าชายผู้ที่ทำหน้าที่นี้ไม่ได้จดทะเบียนเป็นล่ามภาษามือของประเทศแอฟริกาใต้และอเมริกาใต้ หรือภาษาอื่นๆ ที่มีการแปลเป็นภาษามือได้

นิโคล ดู ทัว ล่ามภาษามือที่ดูการแพร่ภาพออกอากาศพิธีรำลึกกล่าวว่า ชายคนดังกล่าวเป็นความอับอายของแอฟริกาใต้

ในเวลาต่อมา ล่ามแปลภาษามือคนดังกล่าวก็ออกมากล่าวถึงสาเหตุที่เขาสร้างความผิดพลาดในงานพิธีของแมนเดลา โดยอ้างว่าตนเองมีอาการประสาทหลอนได้ยินเสียงอื่น และกำลังเข้ารับการรักษาโรคจิตเภท (schizophrenia)

ล่ามที่ชื่อทัมซันคา จันเจีย ผู้ทำหน้าที่แปลคำพูดของผู้นำโลกหลายคนในงานพิธีเป็นภาษามือกล่าวให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เซาธ์แอฟริกาสตาร์ว่า ในขณะร่วมพิธีนั้นเขารู้สึกเหมือนอยู่คนเดียวในสถานการณ์ที่อันตราย เขาพยายามควบคุมตัวเองไม่แสดงออกให้โลกเห็น และเขารู้สึกเสียใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมาก

จันเจียให้สัมภาษณ์ทางวิทยุ 702 ทอล์กว่าเขามีความสุขมากที่ได้ทำหน้าที่ล่ามภาษามือในงานใหญ่อย่างพิธีรำลึกแมนเดลา และก่อนหน้านี้เขาเคยทำหน้าที่ในงานใหญ่อย่างพิธีศพของอัลเบอร์ติน่า ซิซูลู (นักกิจกรรมต้านการเหยียดสีผิวของแอฟริกาใต้) และการประชุมสุดยอดผู้นำห้าประเทศ BRICS แต่เขาก็ยอมรับว่าเขาเป็นผู้ป่วยกำลังเข้ารับการรักษาโรคจิตเภทอยู่

โรคจิตเภทเป็นอาการทางจิตที่ผู้ป่วยมีความคิดและการรับรู้ไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น อาการหลงผิด หวาดระแวง ประสาทหลอน เรียบเรียงความคิดออกมาไม่ได้ ทำให้ส่งผลกระทบต่อการงานและชีวิตประจำวัน โดยโรคนี้อาจมีสาเหตุทั้งจากด้านพันธุกรรม ความผิดปกติของสมอง หรือด้านจิตใจ

จันเจียอ้างว่าเขาทำงานให้กับบริษัทที่ชื่อ "เอสเอ อินเตอร์เพรเตอร์" และถูกจ้างโดยพรรคสภาแห่งชาติแอฟริกัน (ANC) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล แต่โฆษกพรรค ANC ซึ่งมีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นก็ปฏิเสธว่าเขาไม่รู้จักจันเจีย และจันเจียไม่ได้ทำงานให้พรรค โดยได้โยนความรับผิดชอบไปให้คณะรัฐบาลปัจจุบันของแอฟริกาใต้

ขณะที่โฆษกทำเนียบขาว โจช เอิร์นเนส กล่าวว่าพวกเขาไม่เห็นว่ามีข้อควรกังวลใดๆ กับการที่มีล่ามปลอมแอบขึ้นเวที และบอกว่ามันเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจจากสิ่งที่สำคัญจริงๆ คือตัวพิธีการ และการสืบทอดเจตนารมณ์ของเนลสัน แมนเดลา



เรียบเรียงจาก

Interpreter at Mandela memorial called a fake, Aljazeera, 12-12-2013
http://www.aljazeera.com/news/africa/2013/12/interpreter-at-mandela-memorial-called-fake-20131211231733698886.html

Mandela memorial interpreter says he has schizophrenia, The Guardian, 12-12-2013
http://www.theguardian.com/world/2013/dec/12/mandela-memorial-interpreter-schizophrenia-sign-language


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

http://en.wikipedia.org/wiki/Schizophrenia

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปี 57 สปสช.ได้งบกองทุนเอดส์ 2.9 พันล้าน ให้ยาต้านไวรัส-ส่งเสริมดูแลผู้ป่วย

Posted: 12 Dec 2013 08:30 AM PST

12 ธ.ค.2556 นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.มีภารกิจการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีงบประมาณแยกจากงบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งในปี 2557 ได้รับจัดสรร 2,946.997 ล้านบาท แบ่งเป็น งบดูแลรักษาด้วยยาต้านไวรัสและบริการที่เกี่ยวข้อง 2,874.497 ล้านบาท และงบสนับสนุนส่งเสริมการจัดบริการสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ 72.5 ล้านบาท ซึ่งจะจัดสรรลงสถานพยาบาลเพื่อชดเชยค่าบริการดูแลผู้ป่วยตามปริมาณงาน และอีกส่วนหนึ่งสำหรับสนับสนุนการจัดบริการเพื่อเพิ่มศักยภาพของสถานพยาบาลทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ

โดยผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2556 นั้น ข้อมูลล่าสุดผู้ลงทะเบียนสะสมทั้งสิ้น 352,956 คน ในจำนวนนี้เป็นรายใหม่ 12,355 คน และได้รับยาต้านไวรัส 169,792 คน แบ่งเป็นยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐาน 156,311 คน และยาต้านไวรัสสูตรดื้อยา 13,481 คน มีผู้รับบริการให้คำปรึกษาเพื่อตรวจเลือดโดยสมัครใจ 239,955 ครั้ง พบผลเลือดบวก 8,819 คน หรือร้อยละ 3.68 ของการตรวจเลือด มีผู้ป่วยได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ ตรวจ CD4 146,155 ครั้ง การตรวจปริมาณไวรัสในกระแสเลือด 51,680 ครั้ง และการตรวจเชื้อไวรัสดื้อยา 2,620 คน

นพ.วินัย กล่าวว่า ขณะที่ชุดสิทธิประโยชน์การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.การให้ยาต้านไวรัสและยาอื่น ดังนี้ การรักษาด้วยยาต้านไวรัสเออาร์ที การให้ยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในทารกแรกเกิด การให้ยาต้านเอชไอวีเพื่อป้องกันการติดเชื้อภายหลังสัมผัสใน 2 กรณี คือ การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหลังสัมผัสจากการทำงาน และหลังสัมผัสจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ การรักษาภาวะไขมันในเลือดสูงที่เป็นผลข้างเคียงจากยาต้านไวรัส 2.การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อติดตามการรักษา ทั้งการตรวจระดับภูมิคุ้มกัน(CD4) การตรวจปริมาณไวรัสในกระแสเลือด และการตรวจเชื้อไวรัสดื้อยา 3.การให้คำปรึกษาและการตรวจเลือดแบบสมัครใจ และ 4.การป้องกันการแพร่กระจายโรคเอดส์

เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า สิทธิประโยชน์นี้ครอบคลุมผู้ติดเชื้อเอชไอวีในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยสามารถลงทะเบียนเข้ารับบริการได้จากสถานพยาบาลประจำที่ขึ้นทะเบียนไว้ หรือหากมีความจำเป็นก็สามารถเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลอื่นในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่ง สปสช.จะจ่ายชดเชยบริการตามสิทธิประโยชน์และอัตราที่กำหนดไว้ ทั้งนี้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนสปสช. โทร.1330

        

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลเลื่อนพิพากษาคดีเสื้อแดงเชียงราย ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

Posted: 12 Dec 2013 07:58 AM PST

12 ธ.ค.2556 วานนี้ (11 ธ.ค.) เวลา 13.30 น. ศาลจังหวัดเชียงราย นัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.513/2555 ระหว่างฝ่ายโจทก์ พนักงานอัยการจังหวัดเชียงราย กับฝ่ายจำเลย อรรถกร กันทไชย และพวก รวม 5 คน ซึ่งเป็นแกนนำและดีเจสถานีวิทยุของกลุ่มคนเสื้อแดงในจังหวัดเชียงราย ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จากกรณีเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553

โดยศาลแจ้งฝ่ายจำเลยว่า ขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไป เนื่องจากศาลต้องส่งให้สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ตรวจคำพิพากษาก่อน ศาลและฝ่ายจำเลยจึงได้ตกลงกันเลื่อนฟังคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 9.00 น.


กลุ่มคนเสื้อแดงเชียงรายมอบดอกไม้ให้กำลังใจฝ่ายจำเลย

คดีนี้เกิดขึ้นจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2553 ในขณะที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่ และกลุ่มคนเสื้อแดงในจังหวัดเชียงรายได้รวมตัวกันที่ถนนหน้ากองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย ก่อนจะพากันเดินไปยังศาลากลางจังหวัด เพื่อทำการยื่นหนังสือผ่านจังหวัด ขอให้รัฐบาลในขณะนั้นอย่าได้มีการใช้ความรุนแรงต่อคนเสื้อแดงที่ชุมนุมอยู่ที่สี่แยกราชประสงค์

จนเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.53 ทางสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงรายได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่แกนนำ 5 คน ได้แก่ นายอรรถกร กันทไชย, นายธนิต บุญญนสินีเกษม, นายวิทยา ตันติภูวนาท, นางพิมพ์นารา หนองหารพิทักษ์ และนายทรงธรรม คิดอ่าน โดยคดีแยกเป็น 2 ส่วน คือกรณีนายธนิต นายวิทยา และนางพิมพ์นารา ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 โดยชักชวนและจัดให้มีการชุมนุมและมั่วสุมกันของประชาชนตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ทางหลวง จากการปิดกั้นเส้นทางหลวง

ส่วนนายทรงธรรม และนายอรรถกร ไม่ได้ไปร่วมชุมนุม แต่ได้จัดรายการในสถานีวิทยุชุมชนคลื่น 107.5 MHz จึงถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เรื่องการชักชวนให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล และเรื่องการเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว และทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ โดยฝ่ายจำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 26 ก.ค. 2554 สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงราย ได้ออกคำสั่งไปยังผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย แจ้งให้ยุติการดำเนินคดีนี้แล้ว แต่ในภายหลังทางอัยการเชียงรายกลับยังคงดำเนินการสั่งฟ้องคดีนี้อยู่ (ดูเพิ่มเติม อัยการเตรียมสั่งฟ้องดีเจวิทยุชุมชนเสื้อแดงเชียงรายอีกครั้ง หลังเคยสั่งยุติดำเนินคดีไปแล้ว)

นายธนิต บุญญนสินีเกษม หนึ่งในจำเลยของคดี เล่าว่ากรณีนี้เกิดขึ้นในระหว่างเหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ในปี 2553 คนเสื้อแดงเชียงรายที่ไปชุมนุม ขากลับเสียชีวิตอยู่ 5 ราย เพราะอุบัติเหตุ และมีคนเชียงรายไปชุมนุมกันเยอะมาก ญาติพี่น้องก็ไม่อยากให้มีการบาดเจ็บล้มตายกันขึ้นมาจากการกระทำความรุนแรงของรัฐบาลในตอนนั้น จึงมีการรวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือถึงรัฐบาล ผ่านทางจังหวัด ขอให้ไม่ใช้ความรุนแรงและรักษาของชีวิตประชาชนไว้ โดยมีคนไปร่วมขบวนยื่นหนังสือราว 1,000 คน ไม่ได้มีการตั้งเวทีแต่อย่างใด และเมื่อยื่นหนังสือเสร็จแล้วก็กลับ

นายธนิตเล่าว่าทางฝ่ายจำเลยได้ต่อสู้คดีกันเองทั้งหมด โดยได้กลุ่มทนายความจากสำนักราษฎรประสงค์มาช่วยว่าความให้ และในคดีนี้ ได้เคยแถลงกับศาลว่าเราพูดกันไม่รู้เรื่อง โดยทางเจ้าหน้าที่รัฐพูดถึงอำนาจ การใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่เราในฐานะประชาชน เราพูดถึงเรื่องสิทธิ การไปยื่นหนังสือเราทำในฐานะประชาชน ทำโดยเอามนุษยธรรมเป็นใหญ่ เพื่อจะรักษาชีวิตของประชาชนไว้ ไม่ให้ถูกใช้ความรุนแรง มันก็เลยเป็นการพูดกันคนละเรื่อง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กองทัพจะจัดเวทีเสวนาให้สุเทพมาชี้แจง และเชิญกลุ่มต่างๆ มาซักถาม

Posted: 12 Dec 2013 07:55 AM PST

กองทัพเลี่ยงเจรจากับสุเทพ และคณะ กปปส. แต่เปลี่ยนเป็นจัดเวทีเสวนาที่ บก.กองทัพไทย ถ.แจ้งวัฒนะ ในวันเสาร์นี้ และจะเชิญหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ มาร่วมเสวนาและซักถาม ยันกองทัพจะยึดมั่นในรัฐธรรมนูญ และระเบียบของกลาโหม

สุเทพ เทือกสุบรรณ นำคณะกรรมการ กปปส. ชี้แจงแผนปฏิรูปการเมืองของ กปปส. กับสมาคมธุรกิจ 7 องค์กร เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2556 ที่โรงแรมสุโกศล ถ.ศรีอยุธยา (แฟ้มภาพ)

 

12 ธ.ค. 56 - วันนี้ กองทัพไทย ได้แจกเอกสารข่าวในการจัดเวทีเสวนาสาธารณะเพื่อปรึกษาหารือ รับฟังความคิดเห็น และหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มีใจความว่า

"ตามที่ คณะกรรมการ กปปส. ผู้แทนมวลมหาประชาชนขอเข้าพบผู้นำเหล่าทัพ และคณะกลุ่มบุคคล ในภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจงจุดยืนและเป้าหมาย รวมทั้ง การตอบคำถามเกี่ยวกับการปฏิรูป การเปลี่ยนแปลงประเทศไทย กองทัพไทย ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่คณะผู้แทนมวลมหาประชาชนจะเดินทางไปพบปะและชี้แจงให้หน่วยงานต่างๆ ในหลายสถานที่และในเวลาต่างๆ กันนั้น เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน หารือ ข้อคิดเห็น เพื่อนำมาสู่ความสงบสุขและผลประโยชน์ของประเทศชาติ กองทัพไทยจึงจัดให้มีเวทีเสวนาสาธารณะในวันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม 2556 ณ ห้องประชุม ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ กองบัญชาการกองทัพไทย ถนนแจ้งวัฒนะ เวลา 14.15 น.ลงทะเบียน 15.00 น.เริ่มเสวนา 17.00 น. จบการเสวนา"

"โดยผู้แทนของมวลมหาประชาชนจะได้ชี้แจง จากนั้นผู้แทนกลุ่มต่างๆ จะได้ซักถาม สำหรับกลุ่มผู้เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ ผู้แทนหน่วยองค์กร นักวิชาการ ภาคเอกชน และกลุ่มผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งกองทัพไทยจะได้เชิญกลุ่มบุคคลดังกล่าวเข้าร่วมเสวนาต่อไป ทั้งนี้ กองทัพไทย ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การพิทักษ์รักษาไว้ซึ่ง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ การรักษาความมั่นคงของรัฐ การรักษาผลประโยชน์ของชาติ การปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การช่วยเหลือประชาชนและการพัฒนาประเทศ โดยปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กฎ ระเบียบ แบบแผน และข้อบังคับของกระทรวงกลาโหมอย่างเคร่งครัด" เอกสารข่าวของกองทัพไทยระบุ

อนึ่งช่วงค่ำวันนี้ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ได้ปราศรัยว่าในวันเสาร์ที่ 14 ธ.ค. เวลา 15.00 น. ผบ.สส. ผบ.เหล่าทัพสามเหล่าทัพ และ ผบ.ตร. จะเปิดโอกาสให้แกนนำ กปปส. เข้าพบ โดยสุเทพกล่าวว่าถือเป็นการสื่อสารทางตรงไม่ผ่านสื่อ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) อย่างไรก็ตามการเข้าพบตามที่สุเทพระบุ เป็นการจัดเวทีเสวนาสาธารณะที่กองทัพไทยได้เผยแพร่เอกสารข่าวดังกล่าว

ขณะที่ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 15.00 น. แกนนำของ กปปส. รวมทั้งสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้เดินทางมาที่โรงแรมสุโกศล ถ.ศรีอยุธยา เพื่อหารือและชี้แจงเรื่องการปฏิรูปการเมืองในแนวทางของ กปปส. ร่วมกับตัวแทน 7 องค์กรภาคธุรกิจ ประกอบด้วย สภาหอการค้าไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, สภาธุรกิจตลาดทุนไทย, สมาคมบริษัทจดทะเบียน, สมาคมธนาคารไทย รวมทั้งองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่นแห่งประเทศไทย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช.เปิดรายชื่อผู้มีสิทธิประมูลทีวีดิจิตอล 33 ราย

Posted: 12 Dec 2013 07:33 AM PST

สำนักงาน กสทช. ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลสำหรับการขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ จำนวน 33 ราย

12 ธ.ค.2556 สำนักงาน กสทช. ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลสำหรับการขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ จำนวน 33 ราย แบ่งตามหมวดหมู่ให้บริการ ได้แก่ HD 9 ราย SD 16 ราย ข่าว 10 ราย เด็ก 6 ราย
           
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า หลังจากการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการธุรกิจระดับชาติเสร็จเรียบร้อย และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้เห็นชอบผลการตรวจสอบคุณสมบัติฯ เมื่อวันจันทร์ที่ 9 ธ.ค. 2556 ที่ผ่านมา และวันนี้สำนักงานฯ ขอประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลสำหรับการขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ โดยแบ่งตามหมวดหมู่ให้บริการ ดังนี้

1.หมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว มีผู้มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลจำนวน 6 ราย ได้แก่ บริษัท โรสมีเดีย แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด, บริษัท ไทยทีวี จำกัด, บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) , บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด, บริษัท เนชั่น คิดส์ จำกัด และบริษัท ทรู ดีทีที จำกัด

2.หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ มีผู้มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลจำนวน 10 ราย ได้แก่ บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด, บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด, บริษัท ไอ-สปอร์ต มีเดีย จำกัด, บริษัท ไทยทีวี จำกัด, บริษัท โพสต์ ทีวี จำกัด, บริษัท 3เอ. มาร์เก็ตติ้ง จำกัด, บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น จำกัด, บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด, บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด และบริษัท โมโน เจนเนอเรชั่น จำกัด

3.หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (ทั่วไป SD) มีผู้มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลจำนวน 16 ราย ได้แก่ บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด, บริษัท  อาร์.เอส.เทเลวิชั่น จำกัด, บริษัท โฟร์ วัน วัน เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด, บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด, บริษัท บีบีทีวี แซทเทลวิชั่น จำกัด, บริษัท ไทยทีวี จำกัด, บริษัท ทัช ทีวี จำกัด, บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด, บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด, บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน), บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอสดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด, บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด, บริษัท แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง จำกัด, บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด, บริษัท ทรู ดีทีที จำกัด, และบริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด

4. หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (ทั่วไป HD) มีผู้ซื้อเอกสารการประมูลจำนวน 9 ราย ได้แก่ กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด, บริษัท พีเอ็ม กรุ๊ป จำกัด, บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด, บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด,  บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน), บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอชดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด, บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด, บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด และบริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด

ทั้งนี้ ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติที่จะประมูลในครั้งนี้ ประกอบด้วยใบอนุญาตฯ หมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว จำนวน 3 ใบอนุญาต หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ จำนวน 7 ใบอนุญาต หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (ทั่วไป SD) จำนวน 7 ใบอนุญาต หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (ทั่วไป HD) จำนวน 7 ใบอนุญาต สำหรับวัน เวลา และสถานที่ประมูล จะประกาศให้ทราบในวันที่ 16 ธ.ค. 2556 หลังจากนั้น สำนักงานจะจัดให้มีการจำลองการประมูลสำหรับผู้มีสิทธิเข้าร่วมการประมูล และสำหรับสื่อมวลชน ก่อนการประมูล

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น