โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สุเทพเผยจุดชุมนุม 22 ธ.ค. 'ปิดกรุงเทพฯ ครึ่งวัน' ไล่ยิ่งลักษณ์พ้นรักษาการ

Posted: 18 Dec 2013 01:28 PM PST

เลขาธิการ กปปส. เผยได้ชี้แจง จนท.สถานทูต แก้ข้อกล่าวหาต้านเลือกตั้ง ยัน กปปส. ต้องการเห็นเลือกตั้งยุติธรรม-สนับสนุนปฏิรูป พร้อมชี้แจงจุดชุมนุมทั่ว กทม. 22 ธ.ค. 'ราชดำเนิน-อุรุพงษ์-อนุสาวรีย์ชัย-ปทุมวัน-ราชประสงค์-อโศก-สามย่าน-สวนลุม' โดยขอโทษล่วงหน้า เพราะจะปิดกรุงเทพฯ ชุมนุมครึ่งวัน

สุเทพ เทือกสุบรรณ ปราศรัยเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2556 โดยมีการชี้แจงการพบกับเจ้าหน้าที่สถานทูต และการนัดหมายพื้นที่ชุมนุมใหญ่วันที่ 22 ธ.ค. นี้ (ที่มา: Blue Sky Channel และ ASTV)

 

19 ธ.ค. 2556 - เมื่อเวลา 20.15 น. คืนวันที่ 18 ธ.ค. ที่ผ่านมา ที่เวทีชุมนุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ได้กล่าวปราศรัย ตอนนี้กล่าวถึงกรณีที่ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ที่จะตั้งข้อหากบฏและใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ สั่งอายัดบัญชีเงินบริจาค และบัญชีเงินฝากของ 18 แกนนำ กปปส. โดยยืนยันว่ายิ่งธาริตทำอย่างนี้ฝ่ายผู้ชุมนุมและแกนนำยิ่งมีแรงมากขึ้น และจะได้เห็นกัน เชิญอายัดทุกบัญชี เราจะชุมนุมต่อไป และจะสู้กับยิ่งลักษณ์ ชินวัตรต่อไปจนกว่าจะไล่ยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่งให้ได้

นอกจากนี้สุเทพ เล่าให้ฟังด้วยว่า ได้ไปร่วมงานเสวนาเรื่องการปฏิรูปที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงด้วย เนื่องจากได้รับเชิญ เพื่อให้มีสีสันในงานเสวนา แต่ก็หลบๆ ไปเพราะมีหมายจับ และกลับมาอย่างปลอดภัย โดยสุเทพยังระบุด้วยว่าอธิการบดีมหาวิทยาลัยยังกล่าวถึงเหตุการณ์ 30 พ.ย. และ 1 ธ.ค. ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงด้วย และมีทหารจากกรมทหารราบที่ 11 รอ. และรถจาก กทม. มาช่วย

สุเทพยังกล่าวว่าจะรอดูว่าจะมีการดำเนินคดีกับ 'ตั้ง อาชีวะ' ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือไม่ และถ้าไม่ดำเนินคดีคนพวกนี้ รวมทั้งผู้สั่งการ ผู้ร่วมมือ รอจนถึงวันที่ประชาชนชนะ จะมีการคิดบัญชีย้อนหลังทั้งธาริต ตำรวจ แกนนำเสื้อแดง ไม่ต้องมาปฏิเสธเพราะขึ้นพูดบนเวที เพราะจตุพรมายกย่องว่าเก่งมาก มันสมคบกันจริงๆ เพื่อทำร้ายบ้านเมือง

ส่วนการชี้แจงเจ้าหน้าที่จากสถานทูตและองค์กรระหว่างประเทศวันนี้นั้น เลขาธิการ กปปส. ระบุว่าเป็นการชี้แจงหลังรัฐบาลกล่าวหาผู้ชุมนุมผ่านสื่อต่างประเทศและสถานทูต สำหรับสถานทูตที่ไม่ได้ส่งผู้แทนมาก็จะให้เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษก กปปส. และทีมงานนำหนังสือไปชี้แจงและอธิบาย สุเทพระบุว่าเป็นความจำเป็นโดยกล่าวหาว่าฝ่ายตรงข้ามจ้างล็อบบี้ยิสต์ มีการจัดการให้ข่าวในทิศทางที่ต้องการ แล้วทำลายความน่าเชื่อถือของเราทุกรูปแบบ ซึ่งเราก็จะไม่ท้อถอย เดินหน้าชี้แจงไปเรื่อยๆ เพราะถือว่าเราพูดความจริง เขาพูดโกหก การต่อสู้ของเราเป็นการต่อสู้เพื่อชาติบ้านเมืองและต้องการให้ประเทศไทยนี้เป็นการต่อสู้ของประเทศไทยที่สมบูรณ์

สุเทพ กล่าวว่าได้อธิบายชาวต่างประเทศว่า "การต่อสู้ของผู้ชุมนุมนั้นเพื่อชาติ เพื่อบ้านเมือง ให้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นี่คือเจตนารมณ์ร่วมกันของประชาชน ได้บอกกับรรดาชาวต่างประเทศเหล่านั้นว่าที่รัฐบาลกล่าวหาว่าประชาชนต่อต้านการเลือกตั้ง ไม่ยอมไปเลือกตั้ง จะขัดขวางการเลือกตั้ง แท้ที่จริงไม่ใช่ เราอยากเลือกตั้ง เราอยากเห็นประเทศมีการเลือกตั้ง แต่เราต้องการ การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่มีการทุจริต ไม่มีการซื้อเสียง นี่เราบอกเขาชัด เราอธิบายให้ชาวต่างประเทศเหล่านั้นทราบ ถ้าเลือกตั้งภายในกฎเกณฑ์ กติกาเดิม กฎหมายเดิม กกต.เหมือนเดิม มีตำรวจช่วยซื้อเสียง มีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอคอยให้ท้าย กำกับ กำนันผู้ใหญ่บ้าน แล้วพวกกะเฬวรากก็ได้เลือกตั้งกลับมาทำชั่วให้บ้านเมืองอีก ประชาชนอย่างเราถึงยอมไม่ได้ เราจึงต้องการปฏฺิรูปประเทศ เพื่อแก้ไขกระบวนการเลือกตั้งให้สะอาด บริสุทธิ์ เพื่อให้คนดีได้มีโอกาสเป็นผู้แทนราษร เป็นตัวแทนของประชาชนจริงๆ ป้องกันไม่ให้คนชั่วมีอำนาจในบ้านเมืองอีก"

"ชาวต่างประเทศเข้าใจยากมาก พยายามถามว่าซื้อเสียงในประเทศไทยมันเป็นอย่างไร ผมก็เลยตอบว่าไม่ค่อยยากเย็นอะไรหรอก ถ้าลงไปดูในหมู่บ้าน ตำบล ถึงวันมีการไปปิดหัวบ้าน ท้ายบ้าน ขนเงินโดยรถตำรวจ แล้วแจกเปิดเผยไม่มีใครเป็นพยานให้ใคร เพราะคนไม่อยากได้เงินก็ไม่อยากมีเรื่อง เพราะคนให้เงินแต่งเครื่องแบบมาด้วย นี่จึงเป็นเรื่องที่ต้องปรับโครงสร้างตำรวจ"

ส่วนที่ชาวต่างชาติเป็นห่วงว่าจะเกิดเหตุรุนแรง ก็ยืนยันว่าพวกเราที่ต่อสู้ล้วนแต่เป็นพลเมืองดีทั้งสิ้น เราลุกขึ้นมาต่อสู้ เพราะรักบ้านรักเมือง เป็นห่วงอนาคตประเทศไทย ลูกหลานจะเดือดร้อน ทนไม่ได้กับระบอบทักษิณ จึงจำเป็นต้องทิ้งบ้านทิ้งเมือง มานอนกลางดินสู้เพื่อชาติเพื่อแผ่นดินคราวนี้ พี่น้องทราบไหมว่ารัฐบาลใช้กระบอกเสียงไปหลอกชาวต่างประเทศว่าคนที่มาชุมนุมกับกำนันสุเทพ เป็นคนชั้นสูงทั้งสิ้น ผู้มีฐานะทั้งสิ้น ไปต่อสู้กับอีกฝ่ายที่เป็นคนยากคนจน โน่น มันไปถึงนั่น ผมเลยบอกว่า ไปเดินดูเถิด ดูเอาเอง แต่ผมอธิบายว่าคนที่มาร่วมกันสู้ครั้งนี้มาจนทุกหนแห่งทั่วประเทศไทย ทุกภาคของประเทศ และมีทุกระดับทั้งคนจน คนรวย คนชั้นกลาง แต่มีหัวใจเหมือนกันคือไม่สามารถทนเห็นชาติล้มละลายต่อหน้าต่อตา จึงลุกขึ้นมาสู้ และเขาบอกว่าเห็นรัฐบาลบอกพวกเขาว่า คนมาร่วมต่อสู้คนค่อยๆ ร่อยหรอ ก็เลยชี้แจงว่านี่ไม่ใช่วันหยุดด้วยซ้ำแต่คนยังขนาดนี้ และผมบอกขอให้คอยดูวันที่ 19 วันที่ 20 และ 22 ธ.ค. ที่คนจะออกมาเยอะๆ คอยดูแล้วกัน

"เขาเป็นห่วงว่าพวกเราถ้าชนะแล้ว จะไม่ดูแลคนยากคนจนที่เป็นมวลชนเสื้อแดง ผมยืนยันว่า เราจะทำการต่อสู้ครั้งนี้เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ดีขึ้น ปฏิรูปให้ดีขึ้น และจะเป็นผลดีเป็นประโยชน์กับคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะเขาจะเสื้อแดง เสื้อเขียว เสื้อน้ำเงิน เสื้ออะไรก็ตาม ทุกคน ผมยืนยันว่าเราใจกว้างและอยากเชิญชวนพี่น้องคนเสื้อแดงทั้งหลายมาร่วมกับเรา เพราะเราต่างก็รักชาติ เรารักประชาธิปไตย มาเถิดมาร่วมกันทำงานครั้งนี้ เพื่อประเทศชาติในอนาคตด้วยกัน ยกเว้นเสื้อแดงที่ยอมตายเพื่อเงินทักษิณไม่ต้องมาเพราะพวกนั้นไม่มีอุดมการณ์ รวมทั้งแดงแบบวีระ ณัฐวุฒิ จตุพร ไม่ต้องมา ให้มึงอยู่กับทักษิณนั่นแหละ แล้วแดงประเภทคิดล้มเจ้าก็ไม่ต้องมา เพราะเป็นเราเป็นพวกจงรักภักดี อย่างนี้ร่วมกันไม่ได้ แต่แดงที่เหลือมาได้หมด เราต้อนรับ ยินดีร่วมทำงานเพื่อชาติ เพื่อแผ่นดิน ขอเชิญมาเลยทุกวัน"

สุเทพกล่าวด้วยว่า การต่อสู้ของเราแน่นอนว่าเหน็ดเหนื่อย ทุกข์ยาก เพราะว่าเราสู้แบบสันติ สงบ เราไม่ใช้ความรุนแรง ตนขอบอกให้ฟังเลยว่าถนนสายเดียวกันนี้เมื่อปี 2553 พวกเสื้อแดงก็มาชุมนุมที่นี่ต่างกัน แต่พวกนั้นมาสู้เพื่อคนเดียวคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่พวกเราต่อสู้เพื่อคนทั้งประเทศ ทั้ง 65 ล้านคน และคนพวกนั้นต่อสู้ด้วยอาวุธ ต่อสู้ด้วยความรุนแรง แต่พวกเราสู้ด้วยความสงบสันติ ไม่มีความรุนแรงเลย ทั้งนี้ กปปส. จะสู้ให้จารึกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยและมวลมนุษยชาติว่าเป็นการต่อสู้ของคนดี เป็นการเคลื่อนไหวตามสิทธิรัฐธรรมนูญ

ส่วนการออกหมายเรียกวันที่ 26 ธ.ค. นั้น สุเทพระบุว่ายังไม่ไปเพราะไม่ว่าง กำลังต่อสู้ไล่ยิ่งลักษณ์ ยังไม่ว่าง ค่อยไปพบทีหลัง เดี๋ยวจะให้พี่ๆ น้องๆ แต่งทนายไปยื่น ไล่ยิ่งลักษณ์เสร็จจะไปมอบตัว

นอกจากนี้ สุเทพขอซักซ้อมที่เราจะร่วมกันแสดงพลังในวันที่ 19 และ 20 ธ.ค.นี้ โดยในวันที่ 19 ธ.ค. นัด 9 โมงเช้าออกเดินด้วยกัน พรุ่งนี้จะให้เวที คปท.เดินนำหน้า จะตามด้วยกองทัพธรรม กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ จากนั้นเป็นชาวคณะราชดำเนินเป็นทัพหลัง มีสุเทพ เทือกสุบรรณนำหน้า จะผ่านไปทางผ่านฟ้า นางเลิ้ง เข้าถนนเพชรบุรี จนถึงอโศก สุดอโศกพักทานอาหารเที่ยง เห็นว่ามีพี่น้องชาวอโศกรอต้อนรับเราอยู่ที่นั่นด้วย จากนั้นก็จะเดินกลับผ่านสุขุมวิท นานา เพลินจิต ชิดลม สนามกีฬาแห่งชาติ มาทะลุอุรุพงษ์ ยมราช หลานหลวง ก่อนกลับมาที่ ถ.ราชดำเนินเหมือนเดิม แล้วจะถือโอกาสเชิญชวนพี่น้องประชาชนที่อยู่ข้างถนนพร้อมทั้งถ่ายทอดสดให้เห็นว่าเป็นการขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยิ่งลักษณ์ พ้นจากนายกรัฐมนตรีรักษาการ

ส่วนในวันที่ 20 ธ.ค. เดินไปสีลม เดินกลับเยาวราช โดยพรุ่งนี้จะแจ้งเส้นทางอีกครั้ง วันที่ 21 ธ.ค.เราจะพักนวดน้ำมันเล็กน้อย เพราะผมอายุ 64 เดินสองวันเดี๋ยวเป็นลม แต่วันที่ 22 ธ.ค. จะเป็นการระดมใหญ่ อยากเชิญชวนชาวไทยทั้งประเทศทุกภาค ลุกขึ้นมารวมกันแสดงพลังไล่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่ง ขอกราบเรียนเชิญชวนพี่น้องทุกคนที่มีเรี่ยวมีแรงมาร่วมกัน

"ขออธิบาย วันที่ 22 ธ.ค. จะไม่ให้พี่น้องเหนื่อยมาก เราจะเริ่มรายการบ่ายโมงตรง พี่น้องอยู่ใกล้ตรงไหน ออกมาสมทบตรงนั้น สถานที่ซึ่งเราจะชวนมาสมทบเริ่มตั้งแต่เวทีนี้ ถ.ราชดำเนิน ใครสะดวกมาที่นี่ เวทีเปิดตั้งแต่บ่ายโมงตรง จากนั้นเราจะไปร่วมสมทบกับพี่น้องที่อุรุพงษ์ และตลอดแนวที่ ถ.เพชรบุรี ต่อด้วยเวทีย่อยที่เวทีอนุสาวรีย์ชัย ให้พี่น้องที่อยู่กรุงเทพฯ ด้านเหนือมาสมทบ ลงมาจนถึงราชเทวี สี่แยกปทุมวัน สามย่าน สวนลุม สำหรับพี่น้องสามย่าน สีลม ชุมนุมกันได้ตรงจุดนั้นเลย ซึ่งผมจะเดินทางไปเยี่ยม"

"และจะมีจอใหญ่ที่สี่แยกปทุมวัน ชาวพารากอนมาชุมนุมได้ที่นี่ และที่สี่แยกราชประสงค์ด้วย เป็นย่านชุมนุมแหล่งใหญ่ไปมาสะดวกด้วยรถไฟฟ้า จากนั้นจะไปยังเพลินจิต จนถึงอโศก ก็จะมีจุดใหญ่ที่นั่น เพราะฉะนั้นสะดวกที่ไหนเป็นที่ชุมนุมก็ไปที่นั่น เพชรบุรี สุขุมวิท พระราม 4 เป็นที่แสดงพลังของผู้รักชาติ รักแผ่นดินทั้งสิ้น พวกผมคำนวณไว้แล้ว ชุมนุมตามจุดต่างๆ พี่น้องมาจากฝั่งธนมาร่วมกับพี่น้องที่สีลม สวนลุม พี่น้องที่มาด้านเหนือก็มาอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หรือมาในพื้นที่รถไฟฟ้าวิ่งผ่านเชิญตามอัธยาศัย ชอบตรงไหนไปตรงนั้น และขอบอกฝ่ายรัฐบาลไว้จะได้ไม่คำนวณผิด เป็นพื้นที่ 577,000 ตารางเมตร ตีให้เลย 3 คน ใน 1 ตารางเมตร จะมีผู้ชุมนุม 1,731,000 คน ถ้ามามาก ตารางเมตรเบียดมั่งนั่งมั่งได้ 4 คน จะได้ 2,308,000 คน เราจะมาดูกันว่าเท่าไหร่กันแน่ รอดูวันที่ 22 นี้ ขอให้ชาวไทยรักชาติรักแผ่นดิน มาปิกนิกหน้าบ้านบนถนนทุกสายตามที่ได้กราบเรียน"

"เลือกวันอาทิตย์เพราะไม่อยากให้เดือดร้อนกันมาก ต้องขอโทษไว้ล่วงหน้า เพราะจะปิดกรุงเทพฯ กันสักครึ่งวัน ตั้งแต่บ่ายโมงตรงถึงหกโมงเย็น หลังเคารพธงชาติเสร็จก็กลับบ้าน ให้นายกรัฐมนตรีเห็นว่าพลังมวลมหาประชาชนที่ออกมาไล่ครั้งนี้มีเท่าไหร่ ถ้าคุณยังด้านอยู่ ไม่พอใจ เที่ยวหน้านัดอีก ออกมามากกกว่านี้จนมึงไป คือต้องชุมนุมและรวมพลังกันจนเห็นว่าคนที่เกลียดพวกมัน ไม่ทนกับระบอบทักษิณ มีแต่เพิ่มขึ้นทุกครั้งที่ออกมารวมพลังกัน"

"ผมจะอยู่บนเวทีนี้บ้าง และจะแวะเวียนไปตามจุดต่างๆ เพื่อพูดคุยกัน ขอเวลาพี่น้องบ่ายโมง จนถึงเคารพธงชาติ วันที่ 22 เราอยู่บนนถนนแบบคนรักชาติ รักแผ่นดิน ปรึกษาหารืออย่างพี่น้อง อย่างคนรักกัน ทำแบบสงบ สันติ ไม่รุนแรง แล้วอย่าไปเชื่อครับ รัฐบาลก็สร้างข่าวเรื่อย นี่บอกผมจะพาคนมาก่อเหตุร้ายในกรุงเทพฯ กูจะพามาบ้าอะไร แค่นี้ก็เหนื่อยจะแย่แล้ว แล้วจะสอนให้มึงรู้ว่าไล่พวกมึงไม่ต้องใช้อาวุธ ไล่ด้วยปากนี่แหละ ไม่ไปต้องบ้าตาย ขาดใจตาย ด้วยลมปากของพวกเรา ไม่ไปก็ไล่ทั้งเดือน ขึ้นปีใหม่ไล่ต่อจนทนไม่ได้ ไม่มีเลิก เพราะมันนึกว่าเดี๋ยวเราหมดแรง เดี๋ยวเราเลิก อายัดเงินหมดเดี๋ยวเราไม่มีข้าวกิน ขอให้มาดูพรุ่งนี้ ข้าวมากกว่านี้อร่อยกว่านี้"

"เอาหัวใจมาเคียงกันสู้พวกทรราชย์ เอาชนะให้ได้ เพราะเป็นการสู้เพื่อชาติไทย แผ่นดินไทย เพื่อสถาบันอันเป็นที่รัก และเป็นการต่อสู้ครั้งเดียวในชีวิตนี้ กราบคารวะพี่น้องทุกท่าน" สุเทพกล่าวในที่สุด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ลงถึงพื้นที่ 'ชาวลาหู่' ดูงานการจัดการโฉนดชุมชนที่บ่อแก้ว

Posted: 18 Dec 2013 10:00 AM PST

กลุ่มชาวลาหู่ จาก เชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน กว่า 30 คน ลงพื้นที่ดูงานการทำโฉนดชุมชนที่ชุมชนบ่อแก้วชัยภูมิ ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการจัดการที่ดิน ชี้ปัญหาในพื้นที่ไม่ต่างจากชาวบ้านทางภาคอีสาน
 
 
เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.56 นายธีรภาพ ยืนยงธรรม ผู้จัดการมูลนิธิพัฒนาลาหู่ในประเทศไทย นำกลุ่มชาวลาหู่ จาก จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ และ จ.แม่ฮ่องสอน กว่า 30 คน ลงพื้นที่ศึกษาดูงานชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการจัดการที่ดินตามรูปแบบโฉนดชุมชน การทำกองทุนธนาคารที่ดินชุมชน รวมทั้งการบริหารจัดการที่ดินโดยชุมชน
 
นายธีรภาพ กล่าวว่า คนเผ่าลาหู่อาศัยอยู่เขตป่าสงวนฯ และเขตอุทยานแห่งชาติเช่นเดียวกับชาวบ้านทางภาคอีสาน จากที่ได้ติดตามข่าวสารมาโดยตลอด ทราบว่ากว่าจะมาเป็นชุมชนบ่อแก้วนั้นต้องต่อสู้กันมาหลายสิบปีกว่าจะได้ที่ดินทำกินเดิมกลับคืนมา จึงเดินทางมาลงพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนในพื้นที่บ้านบ่อแก้ว เพื่อจะได้เห็นภาพชัดเจนของการบริหารจัดการที่ดินโดยชุมชนว่าสามารถบริหารจัดการที่ดินในชุมชนกันอย่างไร เพื่อให้ผืนดินเกิดความมั่นคง และยั่งยืนให้ตกทอดไปสู่ลูกหลาน
 
นายนิด ต่อทุน ประธานโฉนดชุมชนบ้านบ่อแก้ว เล่าถึงที่มาของชุมชนบ่อว่า เป็นการปรากฏตัวของผู้ประสบปัญหาการสูญเสียที่ดินทำกิน ภายหลังจากที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้  (ออป.)  ยึดที่ดินไปปลูกยูคาลิปตัส รวมเนื้อที่กว่า 4,401 ไร่ เมื่อปี 2521 ส่งผลให้หลายครอบครัวกว่า 277 คน ต้องถูกอพยพจากที่ดินทำกินเดิม บ้างไปอาศัยอยู่กับญาติ บางครอบครัวแตกสลาย กลายเป็นแรงงานรับจ้าง เพราะไม่มีที่ดินทำกิน
 
"พวกเราต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อทวงคืนผืนแผ่นดินเดิม กระทั่งในวันที่ 17 ก.ค.2552 ได้กลับเข้ามายึดพื้นที่กลับคืนมา และทั้งปักหลักในพื้นที่จัดตั้งหมู่บ้านบ่อแก้วขึ้นมา เพื่อแสดงสัญลักษณ์ความเป็นเจ้าของพื้นที่ พร้อมกับประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน ตามที่ได้ผลักดันให้รัฐบาลสมัยนั้นมีมาตรการทางนโยบายเพื่อคุ้มครองสิทธิที่ดินดังกล่าว กระทั่งมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชนในเวลาต่อมา" ประธานชุมชนบ่อแก้ว กล่าว
 
 
นายนิด กล่าวต่อมาว่า กว่า 4 ปี ชาวบ้านได้ร่วมกันพลิกฟื้นชีวิตรวมทั้งผืนดินด้วยการบริหารจัดการที่ดินทำกินของชุมชนโดยชุมชน และเพื่อชุมชนมาโดยตลอด กระทั่งครบรอบ 3 ปี ชุมชนบ่อแก้ว ในปี พ.ศ.2555 จึงยกระดับเป้าหมายไปสู่การพัฒนาระบบการผลิตในพื้นที่ชุมชน ตั้งเป็นหมู่บ้านเกษตรกรรมอินทรีย์ ทั้งพื้นที่แปลงรวม และพื้นที่สิทธิการใช้ส่วนบุคคล เพื่อทำหน้าที่พัฒนาการผลิตของสมาชิกให้สามารถพึ่งตนเองได้ จำหน่ายได้ในผลผลิตบางประเภท ฟื้นฟูระบบนิเวศ สร้างความมั่นคงทางอาหาร และความร่วมมือของคนท้องถิ่น หากเปรียบเทียบกับสวนป่ายูคาลิปตัสของ ออป.จะเห็นว่ามีนัยที่แตกต่างกันมาก
 
นายนิด กล่าวว่า ปัจจุบันสถานภาพการผลิตของชาวบ้านบ่อแก้วสามารถพึ่งตนเองในระดับครอบครัวได้ โดยไม่ต้องพึ่งแหล่งอาหารจากภายนอก มีบางรายที่สามารถขายผลผลิตเป็นรายได้ในครัวเรือน เช่น กล้วย ตะไคร้ งา ถั่วแดง ข้าวโพด และพืชผักบางชนิด นอกจากนั้น ชาวบ้านยังมีการจัดสร้างธนาคารเมล็ดพันธ์  ร้านค้าชุมชน โรงอบสมุนไพร โรงปุ๋ยหมัก และเรือนพักรับรองในชุมชน
 
ประธานโฉนดชุมชนบ้านบ่อแก้ว กล่าวว่า การต่อสู้ที่มีมาอย่างต่อเนื่องในระดับนโยบายนั้น ปัจจุบันตามที่ประชุมได้มีการพิจารณาถึงผลการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงร่วมระหว่างรัฐบาลกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เมื่อวันที่ 22 พ.ค.56 และตามมติของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ในการประชุมครั้งที่ 2/2556 วันที่ 27 พ.ค.56 ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงสวนป่าคอนสาร
 
ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ต.ค.56 นายสุภรณ์  อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง พร้อมรองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ นายอำเภอคอนสาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพฯ ผู้อำนวยการอุตสาหกรรมป่าไม้ ได้ลงพื้นที่ร่วมประชุมกรณีปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินสวนป่าคอนสาร ณ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอคอนสาร
 
จากนั้นนายสุภรณ์ ในนามตัวแทนของนายกรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการการให้ความคุ้มครองประชาชนให้สามารถอาศัยและทำมาหากินในที่ดินไปจนกว่าการดำเนินการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติ 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปัญหาการมโนไทย อันนำไปสู่ปัญหาการเมืองไทย (2549 – 2556)

Posted: 18 Dec 2013 09:46 AM PST

    

ปัญหาการ มโน คืออะไร มโน ในความหมายตามพจนานุกรมทั่วไปหมายถึง มโน แปลว่า ใจ, ความคิด, อยู่ในกลุ่มคำที่มีความหมายคล้ายกันคือ จิต มนัส เป็นอายตนะภายในอย่างสุดท้ายใน 6 อย่างคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มโนหมายถึง สภาวะของจิตที่น้อมจิตไปกำหนดสนใจ ตามเจตสิกที่เข้ามาปรุงแต่งให้จิตเพ่งความสนใจ ในอายตนะต่างๆ โดยเฉพาะ
มโนวิญญาณคือการน้อมจิตไปในธรรมารมณ์ทั้ง 3 คือ1.การน้อมจิตเสพเวทนา 2.การน้อมจิตระลึกถึงความจำในสัญญา(การนึก) และ3.การน้อมจิตปรุงแต่งสังขาร 3 คือกายสังขาร(เคลื่อนไหวร่างกาย) วจีสังขาร(การคิด) จิตสังขาร(ปรุงแต่งอารมณ์แก่จิต) ที่มา wikipedia

แต่"มโน" ศัพท์วัยรุ่นแปลว่า "นึกคิดไปเองฝ่ายเดียว" มโน มาจากภาษาบาลี แปลว่า "ใจ" ให้ความหมายไว้โดย ครูลิลลี่

ตัวแบบการมโนอธิบายโดยทฤษฎีระบบอย่างง่ายคือ ปัจจัยนำเข้าคือข่าวลือที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อหวังผลทางการเมือง โดยการนำเข้ามีหลายรูปแบบในยุคก่อนสังคมออนไลน์เรืองอำนาจจะมาในรูปแบบใบปลิว คำเล่าลือแบบปากต่อปาก พัฒนาต่อมาเป็นการส่งแฟกส์(โทรสาร) จนถึงยุคสังคมออนไลน์เฟื่องฟู กลายเป็นฟอร์เวิร์ดเมล์ hi 5 facebook ข้อความผ่านไลน์ โดยกระบวนการคือการเชื่อโดยขาดความยังคิดไตร่ตรองอันนำไปสู่ปัจจัยนำออกคือความเกลียดชังและอคติทางการเมืองอันเป็นตัวขับเคลื่อนความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง อธิบายเป็นแผนภาพได้ดังนี้

ความร้าวลึกของสังคมไทยอันเกิดจากปัญหาทางการเมืองทำให้มีกระบวนการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อการมุ่งเน้นในการสร้างความเกลียดชังเพื่อทำล้ายล้างฝั่งตรงข้ามทางการเมือง และก่อให้เกิดการมโนในหมู่ผู้คน

- ช่วงก่อน 19 กันยา 49 ได้หลายเหตุการณ์ ยกตัวอย่างกรณีการปั้นแต่งเรื่องความไม่จงรักภัคดีกรณีทำบุญประเทศในวัดพระแก้วของนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่โดนโจมตีถึงการพยายามตีตนเสมอเจ้า มีการแพร่กระจายและสร้างความไม่พอใจในวงกว้าง แม้จะมีการชี้แจงจากทั้งสำนักนายกรัฐมนตรีและทางสำนักพระราชวังแล้วก็ตาม แต่ประเด็นนี้ยังคงถึงนำมาโจมตีแม้กระทั้งในปัจจุบัน

- ความต้องการเป็นประธานาธิบดี ของอดีตนายกฯ โดยอ้างอิงการจัดซื้อเครื่องบินที่ใช้ในกิจกรรมของคณะรัฐมนตรี (ไทยคู่ฟ้า)โดยอ้างว่าเหมือนเครื่องบินประจำตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ

- แม้แต่ในฝั่งเสื้อแดงเองก็มีการปล่อยข่าวที่หาต้นตอของข่าวไม่ได้ในหลายครั้ง เพื่อเป็นการปลุกเร้ามวลชนในการชุมนุม  เช่นทหารที่มาปราบเป็นชนกลุ่มน้อยจากชายแดน เป็นต้น

- ในช่วงการล้อมปราบปี 53 มีข่าวลือมากมายที่นำไปสร้างความชอบธรรมในการล้อมสังหารประชาชนที่มาชุมนุมในขณะนั้น โดยช่วงนั้นใช้การเผยแพร่ผ่านโปรแกรมโทรศัพท์ บีบี แบลคเบอรี่ โดยมีลักษณะเป็นข้อความยาวๆเล่าเรื่องผูกโยงโดยอ้างอิงสถาบันหลักของชาติ และในทางกลับกันมีข้อความที่เผยแพร่กันในหมู่ผู้ชุมนุมที่สร้างความตื่นตัวในการชุมนุมเรื่องกองกำลังของคนนั้นคนนี้มาช่วย

- ในช่วงน้ำท่วมใหญ่มีข่าวลือมากมายที่สร้างการมโนของคนทั้งฝั่งที่เชียร์และต้านรัฐบาล ทั้งเรื่องที่เอาเบื้องสูงมาปะปนจนสำนักพระราชวังต้องออกมาชี้แจงว่าไม่เกี่ยวข้อง


การมโนในการเคลื่อนไหวของ กปปส.

ด้วยเคารพและเห็นด้วยอย่างยิ่งในการเคลื่อนไหวในการต่อต้าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าเป็นพลังที่มีความหมายอย่างยิ่งในระบอบประชาธิปไตย และการนั้นก็ถือเป็นการก้าวพลาดของรัฐบาลในการปลุกพลังมวลชนในการต่อต้านรัฐบาลขึ้นมา และถูกฝ่ายการเมืองตรงข้ามนำไปขยายผลไปสู่การชุมนุมขับไล่รัฐบาล แต่ปรากฏการณ์มโนที่เราพบในเหตุการณ์ทางการเมืองในครั้งนี้มีความชัดเจนมาก โดยเครื่องมือในการแพร่ข้อความข่าวลืออันนำไปสู่การมโนผ่านแอพพิเคชั่นไลน์ โดยการส่งเป็นข้อความโดยมีลักษณะประการหนึ่งคล้ายกันคือ การอ้างอิงแหล่งที่มาของข่าวที่น่าเชื่อถือ เช่น ผู้พิพากษาที่สนิทกับแม่เพื่อน ตำรวจข้างในที่เชื่อถือได้ เพื่อนที่เรียนโทด้วยกันอยู่วงใน หรือทหารคนสนิทของคนนั้นคนนี้ โดยไม่ได้ระบุที่มา ที่อ่านแล้วเจ็บปวดอย่างยิ่งคือข่าวลือไม่เหมาะสมที่เกี่ยวโยงไปถึงการออกมหาสมาคมในวันที่ 5 ธันวาคม ที่เผยแพร่ราวกับทราบพระทัยของพระองค์ท่านว่าเป็นเช่นนั้นเช่นนี้โดยตีความเพื่อเข้าข้างความคิดและความเคลื่อนไหวทางการเมืองของตน

ปัญหาคืออะไร ????  ปัญหาคือคนที่พร้อมจะเชื่อในข้อความเหล่านั้นในทันที โดยไร้การไตร่ตรองถึงความน่าจะเป็น อาจเป็นเพราะขาดความรู้ในเรื่องนั้นๆอย่างแท้จริง และนำความเชื่ออย่างฝังหัว ความเข้าใจผิดๆดังกล่าว นำไปเป็นพลังในการขับเคลื่อนทางการเมืองในรอบนี้


และมันเกิดจากอะไร????

โดยการวิเคราะห์อย่างหยาบๆ โดยไร้งานวิจัยรองรับ คาดว่าสาเหตุอาจต้องย้อนไปถึงระบบการศึกษาที่ตั้งแต่ระดับปฐมวัยขึ้นมาที่ประเทศเรามันเน้นในการท่องจำมากกว่าความเข้าใจ ขาดไร้ซึ่งการวิเคราะห์ สังเคราะห์ เวลาที่นักเรียนฟังคำสอนของครูอาจารย์ มักจะถูกสอนอย่างฝังหัวว่าคำสอนมักถูกเสมอและห้ามสงสัยในคำสอนเพราะจะบาป ส่งผลไปถึงกระบวนการคิดที่ไร้การสงสัยใคร่รู้ในสิ่งต่างๆอ่านหนังสือแค่พาดหัวแล้วสามารถตัดสินได้ทันที หากลองแสวงหาเหตุผลเชิงชนชั้น โดยยกคำบรรยายของศ.ดร.ธงชัย วินิจกุล ในเรื่องที่คนไทยเชื่อในเรื่องบุญบารมีที่ไม่เท่ากันของคนไทย ภายในสังคมไทย คนไทยจึงไม่กล้าที่จะโต้เถียงแก่แหล่งข้อมูลที่ดูมีบุญบารมีมากกว่าตน เช่นหากอ้างผู้มียศตำแหน่งชั้นสูงในข่าวลือ ผู้รับสารจะนึกในใจในทันทีว่า "ทำไมจะไม่จริง เค้าเป็นถึง ......  เชียวน่ะ"

การขับเคลื่อนทางการเมืองอันเริ่มต้นจากข่าวลือที่ไม่เป็นจริงแล้ว "มโน"ไปเลยเถิดจนเชื่อว่าเป็นจริงจนเกิดความโกรธแค้นชิงชัง ความโกรธแค้นชิงชังที่เกิดขึ้นเพราะเกลียดมากหรือรักสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาก อาจนำไปสู่ความตกต่ำของความเป็นมนุษย์ได้ แม้การมโนจะดูเล็กน้อยแต่การมโนโดยการปล่อยข่าวลือก็เคยทำให้คนไทยเชื่อว่า ในเดือนตุลาคม ปี 2519 มีคนญวนพร้อมอาวุธสงครามอยู่ในธรรมศาสตร์ มีการปลุกระดมคนให้ไปล้อมฆ่าอย่างเลือดเย็นเอาศพมาแขวนคอทุบตี ลากศพไปเผา เอาของแหลมทิ่มแทงอวัยวะเพศ และมีคนยืนดูและส่งเสียงเชียร์อย่างสนุกสนานมาแล้ว

เอวัง
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความรับผิดชอบของชนชั้นกลางต่อความรุนแรง

Posted: 18 Dec 2013 08:49 AM PST


เกริ่นนำ

"ความรุนแรงเชิงนามธรรม" (Abstract Violence) เป็นคำที่ใช้สรุปรวมความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (Structural violence) และ ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม (Cultural violence) ซึ่งความรุนแรงข้างต้นเป็นผลมาจากกระบวนการผลิตความอยุติธรรม (Injustice) ที่ปวงชนกระทำต่อปวงชนด้วยกันอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ระบบอุปโลกน์เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นระบอบการปกครอง ระบอบเศรษฐกิจ หรือตำแหน่งแห่งที่ทางภูมิศาสตร์ อาจกล่าวได้ว่า เมื่อใดก็ตามที่ความไม่เท่าเทียมจากความรุนแรงเชิงนามธรรมถูกปล่อยให้เกิดขึ้นโดยไม่มีการยับยั้งไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม สิ่งที่จะตามมาเสมอ "ความรุนแรงเชิงกายภาพ" (Direct violence) ภายใต้เหตุและแรงจูงใจที่เพียงพอ ประเด็นคือ "ทุกคน" มีส่วนที่จะต้องรับผิดชอบร่วมกัน (Shared responsibility) ในฐานะที่เพิกเฉยต่อความรุนแรงที่มองไม่เห็น ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญกว่าความรุนแรงเชิงกายภาพมาโดยตลอด และการโยนความผิดให้ทรราชหรือคนที่มีความผิดตามกฎหมายอยู่แล้วเป็นเพียงกลไกทางจิตวิทยา (defense mechanism) ที่ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นมา

เนื้อหา

1. เกี่ยวกับคำว่า "ความเท่าเทียม"


ความสับสนตรงนี้ทำให้เกิดความคิดที่ไม่ชอบด้วยเหตุผลหลายลักษณะ เพราะเมื่อเรากำลังพูดถึง "ความเท่าเทียม" หลายคนเข้าใจเป็นภาพพจน์ทางอุดมคติอย่างความเท่าเทียมกันเชิงคณิตศาสตร์ (Mathematical equality) เช่น เราพูดว่าทุกคนจะต้องได้รับค่าตอบแทนอย่างเท่าเทียมกันทุกคน นั่นหมายถึง เรานำรายได้ในระบบทั้งหมดมารวมกันและหารด้วยจำนวนคนซึ่งจะทำการแจกจ่ายลงไปในระดับเศษสตางค์ แต่ถ้าเรากำลังหมายถึง "ความเท่าเทียมกันเชิงสัดส่วน" (Proportional equality) นั่นจะมี "เงื่อนไข" (Condition) ที่จะตัดสินเบื้องต้นได้ว่า ใครควรจะได้อะไร และนี่คือที่มาของความอยุติธรรม เช่น การตั้งเพดานค่าบำรุงค่ารักษาพยาบาลในอัตราที่สูงเกินภาระรายจ่ายตามจริงของสถานพยาบาลย่อมเป็นเงื่อนไขให้มีเพียงบางคนเท่านั้น (For some) ที่จะมีกำลังซื้อมากพอจนสามารถเข้ารับบริการได้ ตัวอย่างนี้จะเห็นว่า "เงิน" เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะเช่นนี้ และถ้ากล่าวต่อไปจะพบว่า คนที่ไม่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไข คือ มีกำลังซื้อไม่พอ ย่อมไม่มีสิทธิโดยปริยายที่จะเข้ารับการรักษาพยาบาล สิ่งที่น่าสังเกตคือ คนที่มีกำลังซื้อมักเพิกเฉยต่อความอยุติธรรม เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับตนเอง บ่อยครั้งคนเหล่านี้เป็นผู้ร่วมสร้างเงื่อนไขเสียเองและกอบโกยหาผลประโยชน์อาศัยช่องว่างทางสังคม ลักษณาการดังกล่าวก่อรูปไปเป็นแนวความคิดที่ว่า "เมื่อฉันจ่ายภาษีฉันต้องได้ในส่วนของฉัน ใครที่ไม่จ่ายภาษีหรือจ่ายภาษีน้อยกว่าฉันจะไม่มีสิทธิได้เท่าฉัน" ดูเผินๆ เป็นประโยคที่ชอบด้วยเหตุผลเกี่ยวกับความเท่าเทียม แต่เมื่อนำไปใช้จริงจะทำให้เกิดข้อสงสัยด้านมนุษยธรรม


2. ชนชั้นกลางผู้กลายเป็นปัจเจกนิยม (Individualism)

การหล่อหลอมทางสังคมด้วยระบบการศึกษาที่มีพัฒนาการมาตั้งแต่ศตวรรณที่ 17-18 ส่งเสริมให้ "ปัจเจกบุคคล" มีภาวะ (Ontology) ที่แปลกแยกออกจากผู้อื่นมากขึ้นเรื่อยๆ และความเป็นปัจเจกบุคคลที่มีอิสระ (Autonomy) อาจมากเสียจนปัจเจกบุคคลนั้นกล้าที่จะปฏิเสธความเชื่อมโยงที่ตนมีต่อสังคมในฐานะสมาชิกคนหนึ่งในสังคมได้ ทำให้โลกทัศน์คับแคบและเป็นเพียงโลกส่วนตัวที่เต็มไปด้วยความหมกมุ่นเฉพาะทางวิชาชีพ ความเป็นไปทางจิตวิทยาสังคมเช่นนี้อาจ "ลดทอน" (Reduce) ความรุนแรงเชิงนามธรรมให้กลายเป็นเพียงปรากฏการณ์หนึ่งที่ปัจเจกบุคคลจะเลือกสนใจก็ได้หรือไม่ก็ได้ เป็นต้น ความคิดที่ว่า "คนจนเอาเงินเข้าฟาดหัวก็ยอมทั้งนั้น เป็นคนไม่คุณค่า" นั่นเป็นวิธีคิดซึ่งลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ โดยถือเอาเองว่า "คนจน" เป็นชนชั้นที่หิวกระหายเงินตามธรรมชาติโดยไม่มองว่าความรุนแรงเชิงโครงสร้างอะไรที่นำพาให้บรรดาคนจนเป็นเช่นนั้น? ที่สำคัญการยอมรับว่าคนจนเป็นเช่นนั้นจริงๆ ยังเป็นความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมที่จะสะท้อนให้เห็นผ่านวิธีคิดวิธีปฏิบัติต่อคนจนอีกชั้นหนึ่งในฐานะผู้ต่ำต้อย

ดังนั้นไม่แปลกถ้าปัจเจกบุคคลจะรู้สึกเรียบเฉยต่อชีวิตคนจนที่สูญเสียไป นั่นคือ ปัจเจกบุคคลจะมีอารมณ์ร่วมกับสมาชิกในสังคมที่ควรค่าต่อการมีความรู้สึกร่วม คือผู้ที่สูงส่งกว่าหรือผู้เท่าเทียมกับตนเองเท่านั้น กล่าวได้ว่า "ความตาย" (Death) ของชนชั้นล่างไม่มีผลต่อการตัดสินใจของคนพวกนี้ เพราะความหมกมุ่นส่วนตัวจะมีมากกว่า และทุกสิ่งที่จะถูกลากเข้าความให้สอดคล้องกับสิ่งที่กำลังหมกมุ่นอยู่เสมออาศัยกลไกทางจิตวิทยา นั่นเป็นเหตุผลที่ "ความตาย" ไม่มีแรงกระตุ้นมากพอให้ชนชั้นกลางลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อปกป้องและสร้างความเท่าเทียมให้กับชนชั้นล่าง เพราะ ความตายหรือการกดขี่อันเป็นความรุนแรงเชิงนามธรรมเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ตราบที่ไม่เกิดขึ้นกับตนเอง และคนตายก็เป็นเพียงคนโง่ นั่นคือ ถูกเขาหลอกใช้ ซึ่งไม่ได้มีคุณค่าต่อระบบ

เรื่อง "โง่ จน เจ็บ" จะเงียบหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์เสมอ ในฐานที่คนพวกนี้เป็นคนไร้ตัวตนไร้โอกาส(Subaltern) แต่ในอดีตเคยมีกรณีของชาวยิวที่รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มาได้อย่าง Jean Améry ที่ฝากข้อความถึงปัจเจกบุคคลร่วมสมัยกับเขาว่า "เขาปฏิเสธที่จะให้อภัย (Refusal to Forgive) ปัจเจกบุคคลเพิกเฉยและปล่อยให้เผ่าพันธุ์ของเขาต้องเผชิญหน้ากับชะตากรรมอันเลวร้ายจากท่านผู้นำอย่างโดดเดี่ยว" นั่นหมายถึง ชาวเยอรมันผู้ร่วมพงศ์พันธุ์เดียวกับท่านผู้นำการกวาดล้างชาวยิวอย่างฮิตเลอร์มัวทำอะไรอยู่เมื่อเกิดเหตุการณ์นั้น และมักเป็นเช่นนี้เสมอที่ปัจเจกบุคคลพร้อมจะหลับตาทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นความตายของเพื่อนมนุษย์ ด้วยอ้างว่าอุดมการณ์สำคัญกว่า

ในทางปฏิบัติ "ความอยุติธรรม" (Injustice) ที่เกิดขึ้นเป็นความรุนแรงเชิงนามธรรมที่ไม่อาจหาผู้รับผิดได้ จริงอยู่ที่จำเลยหลักต้องเป็นคนต้นคิดและจำเลยต่อๆไปคือผู้สมรู้ร่วมคิดแต่บางครั้งก็เป็นเรื่องที่ซับซ้อนเกินไปในการหาคนต้นคิดและมอบความผิดให้กับเขา ที่น่าสนใจ คือ ปัจเจกบุคคลที่เพิกเฉยทั้งที่รู้ว่าจะต้องเกิดเหตุการณ์แบบนี้สมควรที่จะแสดงความรับผิดชอบหรือไม่ นักวิชาการอย่าง Iris M.Young ให้แนวคิดว่า "ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นต้องมากกว่าเรื่องของคนใดคนหนึ่งและมันจะถูกลดทอนเป็นเรื่องของคนใดคนหนึ่งไม่ได้ เมื่อความอยุติธรรมเกิดขึ้นเหมือนทุกคนจะไม่มีความผิด เพราะทุกคนก็ทำตามกฎกันทั้งนั้น แต่ความอยุติธรรมก็ยังเกิดขึ้นและไม่อาจหาคนรับผิดได้" จึงเป็นที่มาของแนวคิด "การรับผิดชอบร่วมกัน" (Shared responsibility) เพื่อปฏิรูปสถาบันทางสังคมและคืนความยุติธรรมอันเป็นนามธรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นให้แก่ปวงชนอย่างเท่าเทียม โดยมุ่งที่การมองหาความรุนแรงเชิงนามธรรมที่กระทำต่อสังคมอย่างเป็นโครงสร้าง เพื่อยุติความรุนแรงเชิงกายภาพที่จะเกิดตามมา

3. กลไกจิตวิทยาเพื่อการไม่ยอมรับความจริง

เบื้องลึกชนชั้นกลางเป็นปัจเจกบุคคลสมบูรณ์ที่หวาดกลัวการประณามหยามเหยียด เพราะรู้แก่ใจว่าตนกำลังเพิกเฉยต่อมนุษยธรรมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง กลไกทางจิตวิทยา(Defense Mechanism) ช่วยถ่ายโอนความรู้สึกผิดนี้ออกไปเพราะยอมรับไม่ได้กับความจริงที่ว่าตนเองเกี่ยวข้องกับขบวนการที่ก่อให้เกิดความรุนแรงไม่มากก็น้อย กลไกทางจิตวิทยาไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคน แต่กลไกทางจิตวิทยาบางประเภทสะท้อนรูปรอยของความไม่มีวุฒิภาวะในตน (Immature Defenses) และมักจะเกิดควบคู่กับตรรกะวิบัติ (Fallacy Logic) ดังตัวอย่างต่อไปนี้

3.1 การโทษคนอื่น (Projection) นั่นคือ การโยนความรู้สึกที่ตนเองรับไม่ได้ให้กับผู้อื่น เช่น ฉันไม่มีส่วนในความรุนแรงเชิงนามธรรมทุกกรณี นักการเมืองต่างหากที่เป็นต้นคิด, ฉันมาเคลื่อนไหวไม่ได้ต้องการให้ใครตาย แต่อีกฝ่ายต่างหากล่ะที่ต้องการให้คนตาย เพราะลึกๆแล้วปัจเจกบุคคลรู้สึกไม่มากก็น้อยว่าตนมีส่วนกับเหตุการณ์นี้ เป็นต้น เคยชื่นชอบและแสดงอาการสนับสนุนสิ่งที่นำไปสู่การก่อเหตุรุนแรง ตรรกะวิบัติที่พบคู่กันกับกลไกทางจิตวิทยานี้ คือ การโจมตีตัวบุคคล(ad Hominem) นั่นคือความพยายามจะหาที่ไปให้กับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น ยิ่งใส่ร้ายบุคคลอื่นซ้ำๆด้วยผรุสวาท (Hate Speech) มากเท่าไร ยิ่งสบายใจเพราะเป็นหลักประกันว่าคนฟังจะเชื่อว่าความผิดอยู่ที่คนอื่นไม่ใช่ตน

3.2 การหาเหตุผลเข้าข้างตน (Rationalization) นั่นคือ ความพยายามในการหาคำอธิบายให้กับความรู้สึกที่ตนเองรับไม่ได้หรือไม่อาจยอมรับ ซึ่งเหตุผลที่กลุ่มไม่มีวุฒิภาวะในตน ใช้จะเป็นเหตุผลวิบัติ เช่น ไม่แน่ใจว่าพรรคพวกของตนมีส่วนในความรุนแรงหรือไม่เพื่อทำให้ตนเองสบายใจจึงสรุปว่าไม่มี (ad Ignoratiam) และใช้กลไกทางจิตวิทยาแบบปฏิเสธ (Denial) เมื่อมีคนมาบอกให้รู้ความจริงที่ประกอบด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ ถึงลึกๆ แล้วจะตรงกับที่ตนเองสงสัย แต่เลือกที่จะปฏิเสธความจริงเพราะไม่ยอมรับว่าพรรคพวกของตนเป็นเช่นนั้น

3.3 การเพิ่มและลดคุณค่า (Devaluation-Omnipotence) คือ ความพยายามที่จะลดทอนน้ำหนักของความจริงที่ไม่อาจยอมรับได้หรือเพิ่มคุณค่าบางอย่างเพื่อทำให้ความจริงไม่มีน้ำหนัก ยกตัวอย่างเช่น การอ้างว่าผู้พูดความจริงไม่มีการศึกษาซึ่งเพื่อลดคุณค่า (Devaluation) ของสารที่พูด แสดงว่าผู้ใช้กลไกทางจิตวิทยาแบบนี้รับรู้ข้อความนี้แล้วแต่ไม่อาจยอมรับได้ จึงลดคุณค่าอีกฝ่ายลงเพื่อให้รู้สึกสบายใจว่าความจริงที่ทำให้ตนอึดอัดไม่มีพลังมากพอเนื่องจากเป็นความคิดเห็นของคนที่ต่ำต้อยกว่าตน หรืออีกแง่หนึ่งคือตรรกะวิบัติแบบอ้างคนหมู่มาก (ad populum) เพื่อทำให้รู้สึกว่าความจริงนั้นไม่มีน้ำหนักเนื่องจากคนหมู่มากเชื่อแบบเดียวกันกับตน ดังนั้น ความจริงที่ได้รับมาจะไม่ยอมรับก็ยังได้

4. แล้วปัจเจกบุคคลคนชั้นกลางต้องรับผิดชอบอะไร?


เห็นได้ชัดว่าความเป็นปัจเจกนิยมครอบงำและนำให้ชนชั้นกลางหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง เช่น ส่วนได้ส่วนเสีย ผลประโยชน์ที่รู้สึกว่าหายไป ความรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ หรือกลไกทางจิตวิทยาที่จะพร้อมจะปฏิเสธความจริงที่ขัดกับโลกทัศน์ของตนเอง ซึ่ง "ความเพิกเฉย" เป็นหลักฐานสำคัญที่ใช้มัดตัวชนชั้นกลางในฐานที่ต้องรับผิดชอบต่อความรุนแรงเกิดขึ้น เริ่มจากความรุนแรงเชิงกายภาพ นั่นคือ "ความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเนื่องจากการชุมนุม" และ "ความประสงค์ร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สิน" โดยฐานรากของปรากฏการณ์ทางกายภาพเกิดจากความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม นั่นคือ ค่านิยมบางอย่างถูกปลูกฝังว่าการกระทำลักษณะนี้ เมื่อทำเพื่อเจตจำนงนี้ถือเป็นสิ่งถูกต้องและควรได้รับข้อยกเว้น ในขณะที่ ความรุนแรงเชิงโครงสร้างเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องอาศัยการผลิตซ้ำที่ให้ความชอบธรรมต่อการก่อเหตุรุนแรงเชิงกายภาพซึ่งประเทศไทยยังหาคนต้นคิดและผู้สมรู้ร่วมคิดไม่ได้ ในขณะที่มีผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงนี้อยู่ตลอด ดังนั้น ถ้าถือตามสัดส่วนของการได้รับโอกาส เห็นได้ชัดว่า "ชนชั้นกลาง" มีโอกาสทั้งในแง่ของการศึกษา ความเป็นอยู่ สาธารณสุข มากกว่า "ชนชั้นล่าง" ที่ด้อยโอกาสกว่าทุกอย่าง จากข้อได้เปรียบนี้ชนชั้นกลางควรที่จะ :

หยุดเล่นโวหารรังเกียจชนชั้นล่าง

มีหลายสำนวนที่เล่นโวหารรังเกียจชนชั้นล่าง ภายใต้การตั้งธง (Premise) ว่า ชนชั้นล่างไร้การศึกษาจึงไม่อาจตัดสินใจอะไรได้ด้วยตนเอง ชนชั้นล่างมีความดิบเถื่อนถ่อยเนื่องจากเป็นบุคคลที่ยังไม่ได้รับการขัดเกลา ชนชั้นล่างถูกซื้อด้วยเงินได้ง่ายดายเป็นชนชั้นที่ไร้อุดมการณ์ ไร้คุณธรรม ไร้ศีลธรรมอันดี ความจริงชนชั้นล่างอาจเป็นเช่นนั้นจริงๆหรือไม่ก็ได้ ประเด็นคือ "หยุดเล่นโวหารเชิงประณาม" ถึงแม้ว่าโวหารชนิดนี้จะทำให้การปราศรัยมีสีสัน ชนชั้นกลางผู้มีการศึกษาไม่ควรเห็นด้วยต่อการไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นคนทุกรูปแบบ

ทำความเข้าใจชนชั้นล่างผู้โง่ จน เจ็บ

ต้องเข้าใจให้ตรงกันว่าผู้เป็นแกนนำหรือผู้ขับเคลื่อนให้เกิดการเคลื่อนไหวไม่ใช่คนโง่, จน, เจ็บ เผลอๆจะ ฉลาด, รวย และพร้อมจะเอามวลชนเป็นโล่กำบังตัว อย่างไรก็ตาม ชนชั้นล่างผู้โง่ จน เจ็บ มีอยู่จริงหลายต่อหลายคนยากจนเกินกว่าจะเข้าร่วมกับฝ่ายใด มีสิ่งหนึ่งซึ่งทำให้การประณามหยามหมิ่นจากชนชั้นกลางมีน้ำหนัก นั่นคือ ชนชั้นล่างความอดทนต่ำ เขามักโกรธและแสดงอารมณ์เมื่อถูกยั่วยุดูหมิ่น ชนชั้นกลางควรทำความเข้าใจว่า "ความโกรธแค้น" ของชนชั้นล่างเป็นเครื่องหมายบ่งบอกว่า พวกเขาตระหนักรู้ถึงความเป็นคน มีชีวิตและจิตใจ และความโกรธแค้นในตัวมันเองเป็นการประท้วงต่อการถูกทำร้ายซึ่งชนชั้นที่เหนือกว่าได้กดขี่พวกเขาเชิงนามธรรมมาโดยตลอด

ไม่ลอยตัวเหนือปัญหา ควรอยู่เคียงข้างมนุษยธรรม

ไม่ว่าจะฝักใฝ่อุดมการณ์ทางการเมืองแบบใด ชนชั้นกลางต้องไม่ลอยตัวเหนือปัญหา ต้องมีจุดยืนเชิงมนุษยธรรมที่ชัดเจนกว่าอุดมการณ์ทางการเมือง ทิศทางของการปฏิรูปสังคมต้องนำไปสู่การเยียวยาความรุนแรงเชิงนามธรรม และปฏิเสธความรุนแรงเชิงกายภาพทุกชนิด การลอยตัวเหนือปัญหาไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นแม้แต่น้อย หากฝักฝ่ายของตนแสดงกิริยาที่ละเมิดต่อมนุษยธรรม ต้องกล้าโต้แย้งและแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างเป็นเหตุเป็นผล ที่สำคัญไม่ใช้กลไกทางจิตวิทยาอย่างคนไร้วุฒิภาวะที่มักเบี่ยงโบ้ยความผิดให้อีกฝ่ายอยู่ร่ำไป ควรพิจารณาว่าตนเองและฝักฝ่ายทิ้งเหตุผล (Fallacy Logic) อะไรไปบ้าง และเรียนรู้ที่จะเยียวยาสถานการณ์รุนแรงด้วยท่าทีประนีประนอม (Compromise)
ตราบใดที่พี่น้องร่วมสังคมยังโง่ จน เจ็บ ก็ไม่มีวันที่การปฏิรูปจะมีทิศทางที่ดีขึ้น

ตราบใดที่ความรุนแรงเชิงนามธรรมยังอยู่ ความอยุติธรรมในสังคมย่อมดำรงอยู่ต่อไป

 

หนังสืออ่านเพิ่มเติม
Young, Iris M. Justice and the Politics of Difference. New Jersey: Princeton University Press, 1990
Brudholm, Thomas. Resentment's Virtue: Jean Amery and the Refusal to Forgive. Philadephia: Temple University Press, 2008


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เก็บตก กิตติศักดิ์ VS ปิยบุตร : วิกฤตรัฐธรรมนูญไทย ใครบิดเบือน ?

Posted: 18 Dec 2013 08:29 AM PST

บรรยากาศจากการเสวนา "วิกฤตรัฐธรรมนูญไทย ใครบิดเบือน?" เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2556 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต (ที่มา: VoiceTV)

เมื่อวันที่  16  ธ.ค.2556  ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต  มีการจัดเสวนา "วิกฤตรัฐธรรมนูญไทย ใครบิดเบือน?" โดยวิทยากรนักกฎหมายมหาชน 2 คน คือ กิตติศักดิ์ ปรกติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. และ ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. งานนี้จัดโดยกลุ่มเสวนาวิชาการ ซึ่งเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มธ. 'ประชาไท'เห็นว่าการอภิปรายดังกล่าวน่าสนใจ จึงนำเสนอบางส่วนของการเสวนาในประเด็น ขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ และมาตรา 68  กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญอันหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาต่อต้านรัฐบาลที่บานปลายมาจนปัจจุบัน

0000

ปิยบุตร แสงกนกกุล

วิกฤตทางรัฐธรรมนูญครั้งนี้เริ่มตั้งแต่รัฐสภามีความพยายามจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ปีที่แล้วครั้งหนึ่ง ปีนี้อีกครั้งหนึ่ง แต่ก็สะดุดลงที่ศาลรัฐธรรมนูญโดยศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยการแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญตามช่องทางตามมาตรา 68 ซึ่งในความเห็นของผมมันไม่มีเขตอำนาจใดเลยที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับวินิจฉัยเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้


ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า องค์กรตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในโลกนี้มีอยู่ 2 ระบบใหญ่

1.ระบบกระจายอำนาจ หรือ American Model ศาลทุกศาลมีอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้ทุกศาล ประเทศที่ใช้เช่น สหรัฐอเมริกา อินเดีย

2.ระบบรวมอำนาจ เป็นระบบที่ประเทศภาคพื้นยุโรปหลายประเทศและเริ่มกระจายไปยังประเทศอื่น เป็นระบบที่มี ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลเดียวที่จะทำหน้าที่ควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ว่ากฎหมายที่ตราขึ้นมานั้นขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

เราจำเป็นต้องแยกสองระบบนี้ให้เคลียร์ก่อน เพราะสองระบบนี้มองไม่ตรงกัน ระบบกระจายอำนาจแบบสหรัฐอเมริกานั้นศาลทุกศาลมีเขตอำนาจในทุกๆ คดี รวมทั้งกรณีที่เป็นประเด็นข้อพิพาทกันในศาลแล้วมีคนหยิบยกขึ้นมาว่ากฎหมาย การกระทำนั้นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลแห่งคดีนั้นก็จะเป็นคนพิจารณาเอง จะเห็นว่าอำนาจมันกว้าง ในขณะที่ประเทศที่เลือกใช้ระบบศาลรัฐธรรมนูญ เป็นศาลศาลเดียวที่จะคอยวินิจฉัยว่ากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น มันจำเป็นต้องให้มีอำนาจจำกัดเท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด เช่น มีแค่ 10 รายการก็ต้องมีเท่านั้นจะมากกว่านั้นไม่ได้ สาเหตุที่เป็นแบบนี้เพราะศาลในระบบนี้วินิจฉัยแล้วมีผลผูกพันทุกองค์กร หากให้ศาลรัฐธรรมนูญขยายอำนาจตัวเองออกไปได้เรื่อยๆ เหมือนระบบสหรัฐอเมริกา สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นองค์กรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญและใหญ่ที่สุดในรัฐธรรมนูญซึ่งไม่เป็นไปตามเป้าประสงค์ของรัฐธรรมนูญในรัฐเสรีประชาธิปไตยซึ่งเน้นเรื่องการแบ่งแยกอำนาจให้ได้ดุลยภาพ ฉะนั้น เวลาจะเริ่มต้นอธิบายว่าประเทศนั้นประเทศนี้มีอำนาจในการตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือไม่ ต้องกลับไปดูก่อนว่าเขาใช้ระบบแบบกระจายอำนาจการควบคุมแบบสหรัฐอเมริกา หรือรวมอำนาจการควบคุมแบบเยอรมนีและออสเตรีย

ปัญหาคือ ของไทยเราใช้รูปแบบรวมอำนาจอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญแบบเยอรมนีแบบออสเตรีย เราก็ต้องเดินตามหลักนี้ ถ้าท่านไม่เชื่อผมไปเปิดตำราของอาจารย์หลายๆ ท่านที่วันนี้ออกมาบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ไปดูหนังสือของพวกเขาได้เลย ทุกคนพูดตรงกันหมดว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีเขตอำนาจเฉพาะเจาะจงได้เท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด

กรณีของไทย เมื่อดูบทบัญญัติรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ไม่ปรากฏบทบัญญัติใดเลยที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ว่าด้วยกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้พูดถึงว่าจะให้ใครเป็นคนตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ ไปดูบทบัญญัติอื่นๆ มาตราอื่นๆ ประกอบก็ไม่มีบทบัญญัติใดพูดว่าจะให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ มาตรา 291 (1) วรรค 2 เขียนว่า ญัตติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะเสนอให้ไปมีผลกระทบต่อรูปแบบของรัฐหรือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขไม่ได้ หมายความว่า การเสนอแก้รัฐธรรมนูญห้ามกระทบเรื่องรูปแบบของรัฐและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  ปัญหาก็เกิดขึ้นว่าถ้ารัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญแล้วไปกระทบ 2 เรื่องนี้ ใครจะเป็นผู้ตรวจสอบ ตกลงแล้วบทบัญญัติที่บอกว่ารัฐสภาห้ามแก้รัฐธรรมนูญไปกระทบเรื่องนั้นเรื่องนี้จะมีผลเกิดขึ้นไหมถ้าไม่มีใครตรวจสอบ

ลองดูให้ดี ในหลายๆ ประเทศที่มีศาลรัฐธรรมนูญ และมีบทบัญญัติลักษณะนี้หรือที่เรียกว่า eternity course หรือบทบัญญัตินิรันดร เขาทำอย่างไร ในประเทศที่มีบทบัญญัติห้ามแก้รัฐธรรมนูญไปกระทบเรื่องนั้นเรื่องนี้ ปรากฏว่ามีบางประเทศกำหนดไปชัดเจนเลยว่า ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยการแก้รัฐธรรมนูญว่าไปกระทบหลักการที่ต้องห้ามแก้แล้วหรือยัง เช่น ในตุรกี เขียนเอาไว้ชัดเจนว่าศาลรัฐธรรมนูญลงมาตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ว่ากระทบกับหลักการที่ห้ามแก้แล้วหรือยัง แต่ต่อมาก็เกิดปัญหาขึ้น จนปี 1982 ก็มีการแก้รัฐธรรมนูญบอกว่าต่อไปนี้ศาลรัฐธรรมนูญของตุรกีตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้เฉพาะกระบวนการแก้เท่านั้น ตรวจเนื้อหาการแก้ไม่ได้ นี่คือกลุ่มที่หนึ่ง

กลุ่มที่สอง ประเทศที่ไม่ได้เขียนเอาไว้แต่ศาลรัฐธรรมนูญประกาศออกไปว่าตัวเองมีอำนาจตรวจสอบการแก้รัฐธรรมนูญ เช่น เยอรมนี จึงมีนักวิชาการพยายามอธิบายว่าเราลอกมาจากเยอรมนี ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนียังลงไปตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เลยของเราก็ต้องตรวจสอบได้ ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เพราะอะไร

1. ถ้าเราลองไปดู การแก้รัฐธรรมนูญของเยอรมัน เขาไม่ได้ใช้คำว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแบบของไทย เขาใช้คำว่า กฎหมาย คือกฎหมายที่เข้าไปแก้รัฐธรรมนูญ ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงประกาศว่าตัวเองมีอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายธรรมดาหรือกฎหมายแก้รัฐธรรมนูญ เพราะเขามองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเขาใช้กฎหมายไปแก้ ในขณะที่ประเทศไทยเราลองดูประวัติศาสตร์ตั้งแต่ 2475 จนวันนี้ การแก้รัฐธรรมนูญทุกครั้งใช้คำว่า รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มทั้งหมด เราไม่ได้มองลักษณะแบบเยอรมันว่า กฎหมายที่เข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญมีสถานะเป็นกฎหมาย 

2.ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่าง ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีเข้าไปตรวจสอบการแก้รัฐธรรมนูญผ่านวิธีใด เขาแก้รัฐธรรมนูญจนเสร็จแล้ว ประกาศใช้แล้ว มีผู้ไปร้อง ศาลรัฐธรรมนูญจึงเข้าไปตรวจสอบ ไม่มีการใช้อำนาจมาผ่ากลางระหว่างทาง วาระ 1 วาระ 2 วาระ 3 เขาต้องตรวจตอนคุณแก้รัฐธรรมนูญและประกาศใช้แล้ว แต่ของไทยปีที่แล้ว ใช้ช่องทางมาตรา 68 เข้าไปตรวจระหว่างทาง 3. กรณีของเยอรมนีที่มีการตรวจสอบการแก้รัฐธรรมนูญ เขาตรวจสอบได้เฉพาะว่าแก้รัฐธรรมนูญแล้วไปยกเลิกหลักการสหพันธรัฐหรือไม่ ไปยกเลิกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือไม่ ไปยกเลิกเรื่องหลักนิติรัฐ หลักประชาธิปไตยหรือไม่ ไม่ได้ตรวจแบบครอบจักรวาล ตรวจได้แค่นี้ ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันรับคดีเหล่านี้มาตลอดเวลา แต่ไม่เคยมีคำวินิจฉัยใดที่บอกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นกระทบกับหลักการดังกล่าว นี่คือตัวอย่างที่มีนักวิชาการพยายามอธิบายว่า เยอรมนีตรวจได้ ไทยก็ต้องตรวจได้ ผมเลยพยายามอธิบายให้ท่านเห็นภาพว่ามันไม่เหมือนกัน

ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าพิจารณาที่มาศาลรัฐธรรมนูญระหว่างของเยอรมนีและของไทย ท่านจะยิ่งเห็นว่าความชอบธรรมทางประชาธิปไตยแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ตุลาการรัฐธรรมนูญของเยอรมนีที่เราเรียกว่า องค์คณะแฝด 16 คน คณะละ 8 คน มาจากวุฒิสภาครึ่งหนึ่ง มาจากสภาผู้แทนราษฎรอีกครึ่งหนึ่ง ขณะที่ตุลาการรัฐธรรมนูญของไทยนั้น ศาลฎีกาเป็นคนส่งมา ศาลปกครองสูงสุดส่งมา แล้วก็มีการสรรหาหาผู้เชี่ยวชาญ ไม่มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนมากเท่ากับศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมนี เพราะว่าคนที่คิดระบบศาลรัฐธรรมนูญ Hans Kelsen เขาระบุไว้เองว่า เนื่องจากอำนาจที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้มันไปกระทบกับรัฐสภา จำเป็นจะต้องหาความชอบธรรมทางประชาธิปไตยให้สูสีพอฟัดพอเหวี่ยงกับรัฐสภา ฉะนั้นเขาเลยดีไซน์ให้สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนฯ เป็นคนเลือกเอาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมา นี่ก็เป็นความแตกต่างที่เวลาเปรียบเทียบกับเยอรมนีจะต้องดูให้ชัด

ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2554 เคยพูดแล้วว่า ใช้ช่องทางส่งให้ตรวจสอบการแก้รัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ยอมรับ แต่มาเมื่อปี 2555 ศาลรัฐธรรมนูญรับ แต่คราวนี้ส่งในช่องอื่นคือ ส่งในช่องมาตรา 68 ซึ่งกรณีนี้มีปัญหา เวลาของผมจะหมด อาจพักประเด็นนี้ไว้รอบหน้า


กิตติศักดิ์ ปรกติ
ความจริงสิ่งที่พูดกันอยู่นี้ สมัยก่อนเมื่อหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา อาจารย์ไม่ต้องพูด จนกว่านักศึกษาจะอนุญาตให้พูด นักศึกษาจะเป็นคนพูดเอง แล้วก็ค้นคว้าเรื่องราวต่างๆ มาแลกเปลี่ยนกัน อันนี้หายไปนาน หวังว่าเมื่อมีการเปิดเวทีอย่างนี้แล้วก็น่าจะมีโอกาสที่นักศึกษาจะมาแสดงภูมิรู้และโต้แย้งกัน คราวนี้อาจารย์จะมานั่งฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องหลายเรื่องต้องรอให้อาจารย์เป็นผู้ออกแถลงการณ์ สมัยก่อนนี้ไม่ใช่เรื่องของอาจารย์ เป็นเรื่องของนักศึกษาที่จะมาออกแถลงการณ์ ส่วนอาจารย์อาจได้รับคำปรึกษาหารือหรือร้องขอให้ความเห็นบ้าง ก็อยากจะให้กำลังใจนักศึกษาว่าท่านก็น่าจะได้มีโอกาสริเริ่มจัดทำขึ้นเอง

ประเด็นที่สงสัยกันอยู่ ขอบคุณ อ.ปิยบุตรที่แสดงให้เห็นถึงฐานคิดที่แสดงให้เห็นว่าทำไมท่านและเพื่อนๆ หลายคนที่คิดทำนองเดียวกันทำไมจึงมีความคิดอย่างนี้ เหตุผลเพราะเริ่มต้นจากการแบ่งระบบศาลเป็นกระจายอำนาจกับรวบอำนาจ ส่วนผมมองต่างออกไป ผมไม่ได้มองที่ศาลแต่มองที่รัฐธรรมนูญ นั่นคือ ในระบบในโลกนี้ถ้าจะว่ากันตามอดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันเขียนบทความภาษาอังกฤษมากหน่อย ชื่อ ยุกเตอร์ ริมบัก เป็นผู้หญิงและเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยด้วย เขียนบทความอธิบายฐานะและบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันว่าแตกต่างจากฐานะและบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญอีกระบบหนึ่ง แยกออกเป็นสองระบบอย่างนี้ แยกว่าในระบบศาลหรือระบบที่จะมีการพิจารณาบทบาทของศาลต่อบทบาทของสภา ระบบหนึ่งเรียก Supremacy of Parliament ซึ่งก็คือระบบของอังกฤษ เริ่มต้นและตั้งบทฐานความคิดว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนและแสดงออกทางสภา เมื่อแสดงออกทางสภา สภาย่อมมีอำนาจสูงสุด ศาลไม่มีอำนาจเข้ามายุ่งเกี่ยว ให้เป็นอำนาจของสภาในฐานะที่เป็นตัวแทนอำนาจปวงชน เพียงแต่ว่าอังกฤษนั้นหลังจากได้เข้าสู่สหภาพยุโรป และถูกบีบบังคับให้ต้องยอมรับ Bill of Rights และต้องตรากฎหมายต่างๆ มากมาย ทำให้ต้องมีการจำกัดอำนาจของรัฐสภาแล้วก็ให้ขยายอำนาจของศาล ทำให้ศาลสามารถตัดสินได้ว่า กฎหมายของรัฐสภานั้นขัดต่อ Bill of Rights หรือคำประกาศสิทธิมนุษยชนของสหภาพยุโรปหรือไม่ แต่ก็ไม่ได้มีผลอะไร ทำได้เพียงประกาศว่ากฎหมายนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนแล้วก็เป็นเรื่องของสภาไปจัดการกันเอง อีกระบบหนึ่งที่ริมบักอธิบายไว้คือหลัก Supremacy of Constitution ถือว่ารัฐธรรมนูญอยู่เหนือสิ่งอื่นใด และสิ่งที่รัฐธรรมนูญมุ่งคุ้มครองคือ สิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นสิ่งที่เป็นคุณค่าสูงสุด การมีรัฐก็มีขึ้นมาเพื่อคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของปวงชนนั่นเอง ดังนั้น กลไกของรัฐทั้งหมดต้องมารองรับสิ่งนี้และละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของปวงชนไม่ได้

Supremacy Constitution แสดงออกในทางประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นของที่เริ่มเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา โดยไม่ได้มองว่าเป็นการกระจายอำนาจหรือรวบอำนาจอะไรทั้งสิ้น แต่บอกว่า แต่เดิมในระบบ Common law อเมริกาคิดในทำนองเดียวกันว่าควรจะเป็น supremacy parliament จนกระทั่งศาลสหรัฐอเมริกาในคดี Marbury v. Madison ได้ตัดสินออกมาว่า ศาลเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยว่ากฎหมายว่ายังไง รวมทั้งวินิจฉัยด้วยว่ารัฐธรรมนูญว่ายังไง เพราะศาลต้องเอากฎหมายมาตัดสิน เมื่อจะเอากฎหมายมาตัดสินมันต้องหาก่อนว่ากฎหมายมีความหมายว่าอย่างไร จะหาว่ากฎหมายมีความหมายว่าอย่างไรก็ต้องดูว่ากฎหมายนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ มันจึงมีอำนาจในการตีความรัฐธรรมนูญด้วย เมื่อคิดอย่างนี้ ศาลอเมริกันจึงเป็นศาลแรกที่ปฏิเสธความคิดซึ่งตกทอดมาในอังกฤษว่า Supremacy of Parliament นั้นไม่เอา  ต่อไปนี้เราจะเอาหลัก Supremacy of Constitution ซึ่งกรณีสหรัฐอเมริกานั้นก่อกำเนิดขึ้นมาจากการต่อต้านอังกฤษด้วย เวลาที่เขาพูดคำว่า เฮ จอร์จ! เฮ จอร์จ! เขาไม่ได้หมายความถึงนายจอร์จหรือใคร แต่เขาหมายถึงคิงจอร์จ ฉะนั้น ธรรมเนียมของสหรัฐอเมริกา เป็นธรรมเนียมที่ต่อต้านการจำกัดสิทธิเสรีภาพ และถือว่าสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญนั้นเป็นสิ่งสูงสุดและมุ่งที่จะคุ้มครอง

สิ่งที่สำคัญตามมาคือ หลักนี้มีการเอามาใช้ในเยอรมนี ในเยอรมนีหนักมากขึ้นไปอีก มีประสบการณ์ที่แตกต่างจากฝรั่งเศส ของฝรั่งเศสหลังจากมีการปฏิวัติแล้ว มีรัฐบาลอะไรต่างๆ มากมาย ฝรั่งเศสจะยกย่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนและยกย่องรัฐบาลเพราะเหตุว่ารัฐบาลของเขายังไม่เคยปรากฏว่าฉ้อฉล คดโกงแล้วก็หักหลังประชาชนครั้งใหญ่ เหมือนกับที่เคยเกิดในบางประเทศ แต่เยอรมนีประสบกับรัฐบาลที่ฉ้อฉล คดโกงแล้วก็หักหลัง รวมทั้งมองเห็นประชาชนไม่เป็นมนุษย์ ถึงขนาดเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ฉะนั้น เมื่อมีการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นในเยอรมนี จึงจัดทำรัฐธรรมนูญที่ถือหลักสิทธิเสรีภาพเป็นหลักที่มุ่งคุ้มครองเป็นอันดับแรก อันที่สองเขาเข้าใจดีว่าจะมีอำนาจการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจของสภาและรัฐบาลที่จะมาจำกัดตัดสิทธิและเบียดบังเอาความชอบธรรมต่างๆ ไป ดังนั้น เขาจึงเสนอรัฐธรรมนูญอีกแบบหนึ่ง นอกจากจะถือหลัก Supremacy of Constitution หรือหลักรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งสูงสุดแล้วยังถืออีกหลักหนึ่งซึ่งเป็นหลักใหญ่มาก คือ ต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ป้องกันตนเองได้ ถ้าหากว่ามีการกระทำอันใดอันหนึ่ง ถึงขนาดเป็นการล้มล้างระบบการปกครอง หรือทำลายล้างระเบียบแบบแผนของการปกครองที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน อันนี้คือรากฐานของมัน

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เราจะตีความรัฐธรรมนูญของเราเป็นแบบไหน ถ้าหากจะตีความว่า รัฐธรรมนูญของเราเป็นรัฐธรรมนูญที่ถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นสิ่งทรงค่าสูงสุด และถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นรัฐธรรมนูญที่ป้องกันตนเองได้ เราจะเห็นได้จากหลักเกณฑ์ในหลักพิทักษ์รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นหลักสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนว่า ถ้าหากมีอะไรก็ตาม รวมถึงการกระทำที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพถึงขั้นที่เป็นการล้มล้างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองนอกเหนือจากวิถีทางที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ รัฐธรรมนูญก็วางหลักที่จะให้รัฐธรรมนูญนั้นสามารถที่จะปกป้องตนเองได้ผ่านประชาชน ประชาชนสามารถที่จะร้องต่อผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องคือศาลรัฐธรรมนูญ กรณีนี้ก็คือมาตรา 68 ซึ่งเราจะได้กล่าวกันต่อไป ที่สำคัญมากที่สุดคือ ให้สิทธิประชาชนที่จะลุกขึ้นมาต่อต้านการล้มล้างการปกครองได้โดยวิธีการที่เรียกว่าเป็นสันติวิธี ในมาตรา 69  

นี่เป็นฐานสำคัญของความคิดในการยอมรับว่าศาลรัฐธรรมนูญมีฐานะและมีหน้าที่ในฐานะเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เมื่อมีหน้าที่และฐานะเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญปัญหาต่อไปที่จะต้องถามคือ ในกรณีที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างที่เราเห็น อ.ปิยบุตรกรุณาชี้แจงว่าไม่ได้มีตรงไหนบอกไว้เลยว่าให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน เพราะฉะนั้นถ้าถือตามความเข้าใจตามหลัก supremacy of parliament รัฐสภาก็ต้องเป็นผู้ตัดสิน รัฐสภาเป็นผู้วินิจฉัยเองแหละว่าขัดต่อหลักการพื้นฐาน เป็นการล้มล้างการปกครองหรือเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยมิชอบด้วยวิถีทางตามรัฐธรรมนูญตามที่รัฐธรรมนูญห้ามไว้หรือไม่ อันนี้เราจะเห็นได้ว่า มาตรา 291 ไม่ได้เขียนเอาไว้จริงอย่างที่ท่านว่า แต่ถ้าเรามองกลับกัน มองกลับไปว่า มาตรา 291 ที่ห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำลายพื้นฐานของรัฐธรรมนูญเอง  เมื่อห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ห้ามไม่ให้ทำลายพื้นฐานของรัฐธรรมนูญเอง ปัญหาคือใครจะเป็นคนตัดสิน ถ้าให้สภาตัดสินก็เท่ากับให้สภาเป็นผู้ตัดสินเรื่องที่ตัวเองจะแก้ไข เป็นผู้ถูกกล่าวหา ก็ย่อมขัดต่อหลักขั้นพื้นฐาน ในที่สุดเราก็ต้องหาคนกลางมาตัดสิน ที่มีให้เราเลือกได้ก็มีศาลรัฐธรรมนูญกับศาลยุติธรรม แล้วก็พิจารณาตามธรรมชาติเท่านั้นเองว่าใครมีฐานะใกล้ชิดเป็นผู้ที่ตัดสินเรื่องนี้ดีที่สุด

เผอิญเรื่องนี้เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีหลายคนอธิบายว่า รัฐธรรมนูญไม่ใช่กฎหมาย ฉะนั้น ศาลไม่ต้องมาตัดสิน ให้รัฐสภาตัดสิน จริงๆ แล้วรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแน่นอน เขาเรียกกฎหมายรัฐธรรมนูญ ส่วนปัญหาว่าใครเป็นผู้มีอำนาจตัดสิน มันก็เป็นไปตามระบอบการปกครองว่า ระบอบประชาธิปไตยนั้นคือหลักการแยกอำนาจ ต้องมีการถ่วงดุลและคานกัน ก็คือ มันต้องให้คนกลางมาเป็นผู้ตัดสิน และคนกลางที่จะมาตัดสินก็ขึ้นอยู่กับช่องทางที่จะมาตัดสิน ซึ่งในกรณีเช่นนี้ก็หนีไม่พ้นศาลรัฐธรรมนูญซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเองก็ได้ตัดสินเอาไว้ว่า ถ้าหากว่าเป็นการเสนอแก้ไข เสนอให้ศาลตรวจสอบตามมาตรา 151, 154 ศาลไม่ตัดสิน แต่ถ้าหากว่าเสนอเข้ามาในฐานะเป็นมาตรา 68 คือเป็นการกล่าวอ้างว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง ศาลก็ค่อยเข้าไปตรวจสอบได้ว่ามีการล้มล้างการปกครองหรือมีการทำให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งอันนี้ก็เป็นช่องทางที่เป็นไปอย่างที่เราเห็นในคำพิพากษา
 

ปิยบุตร แสงกนกกุล
ก่อนไปถึงประเด็นมาตรา 68 ขออนุญาตเห็นต่างกับอ.กิตติศักดิ์นิดหนึ่ง ที่ผมเริ่มต้นอธิบายระบบควบคุมความชอบของรัฐธรรมนูญแบบกระจายอำนาจแบบของสหรัฐอเมริกา เทียบกับแบบรวมอำนาจแบบของออสเตรีย เยอรมนีและของไทยนั้น ผมก็ถือหลัก Supremacy of Constitution เหมือนที่อาจารย์บอกนั่นแหละ ไม่ได้มีตรงไหนที่ผมบอกว่ารัฐสภามีอำนาจสูงสุด ก็เพราะว่าเราถือหลักว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดนี่ไงจึงต้องตามมาด้วยการออกแบบว่า เมื่อรัฐธรรมนูญนั้นสูงสุดแล้ว ใครจะเป็นคนควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ สหรัฐอเมริกาเลือกใช้แบบกระจายการควบคุมโดยเริ่มจากคดี Marbury v. Madison ที่อาจารย์บอกถูกต้องทุกประการ แต่ภาคพื้นยุโรปเขาคิดตรงกันข้าม เขากังวลใจว่าหากทำแบบสหรัฐอเมริกามันจะไปเจอเรื่อง government by judge เพราะศาลทุกศาลสามารถเข้ามาในแดนของรัฐธรรมนูญทุกศาลเลย จึงคิดว่าอย่างนั้นสร้างศาลเดียวคือ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนตรวจสอบดีกว่า แล้วศาลรัฐธรรมนูญจะต้องมีองค์ประกอบที่มาที่ไม่เหมือนกับศาลยุติธรรม ศาลฎีกาแบบที่สหรัฐอเมริกาใช้ เขาจะต้องหาทางไปเชื่อมกับตัวประชาชนให้ได้ มีวาระการดำรงตำแหน่ง เอาสภาผู้แทนฯ เอาวุฒิสภามาเป็นคนเลือก ดังนั้น จุดเริ่มต้นของผมในเบรคที่ 1 ผมไม่ได้บอกว่าผมยึดถือ Supremacy of Parliament ผมยึดถือเหมือนกันคือ รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุด และเพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดถึงต้องมาออกแบบระบบว่าจะให้ใครเป็นคนควบคุม ประเทศที่เริ่มคิดว่าจะให้ใครมาเป็นคนควบคุมก็คิดอย่างนี้ทั้งนั้นและได้กลายมาเป็นโมเดลแบบอเมริกัน หรือออสเตรีย หรือเยอรมัน เท่านั้นเอง

อีกอันหนึ่ง อ.กิตติศักดิ์ยกคำพิพากษาคดี Marbury v. Madison ของไทยเราก็เคยใช้คดีอาชญากรสงคราม 1/2489 ไทยเราก็เคยเป็นแบบอเมริกันเมื่อก่อน แต่ต่อมาเมื่อเกิดกรณี 1/2489 กฎหมายอาชญากรสงครามเป็นการตรากฎหมายลงโทษย้อนหลัง ก็เป็นอันให้กฎหมายนั้นใช้ไม่ได้ ทางรัฐสภาเห็นว่าศาลชักจะเข้ามากินแดนในเรื่องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแล้วก็เลยตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาโดยใช้รัฐธรรมนูญปี 2489 ร่างกันขึ้นมาให้ตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาทำหน้าที่ เพื่อจะบอกว่าศาลคุณไม่ต้องทำนะ ให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญทำ ก็แสดงว่าปี 2475 ถึง 2489 เราก็เป็นแบบสหรัฐอเมริกาคือกระจายอำนาจไปให้ศาลทุกศาล พอมาปี 2489 มีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ตุลาการรัฐธรรมนูญก็มีอำนาจตรวจสอบว่ากฎหมายไหนขัดรัฐธรรมนูญ ต่อมามีรัฐธรรมนูญหลายๆ ฉบับ หลังจากนั้นมาหลายฉบับไม่ได้พูดถึงคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็มี นั่นหมายความว่า เราก็กลับไปใช้ระบบแบบกระจายอำนาจแต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตามในทุกกรณี ตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยชัดเจนแล้วว่าเราจะใช้ระบบแบบรวมอำนาจไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นไม่มีหนทางอีกต่อไปที่จะอธิบายในลักษณะไปเชื่อมกับ Marbury v. Madison เพราะมันอธิบายได้กับกรณี 1/2489 คดีอาชญากรสงครามเท่านั้น เพราะตอนนั้นเรายังไม่ได้ตัดสินใจว่าเราจะใช้แบบไหน จากเหตุการณ์นั้นจึงตามมาด้วยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ปี 40 เราก็มีศาลรัฐธรรมนูญโดยไปลอกมาจากเยอรมนี ปี 2550 เราก็ยังใช้ต่อ เพราะฉะนั้นถึงวันนี้ ขีดเส้นใต้จบแล้วว่าเราไม่มีทางเดินแบบของสหรัฐอเมริกา

ไม่ว่าจะเป็นระบบสหรัฐก็ดี ระบบเยอรมนีก็ดี ก็ถือหลักเดียวกันคือให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด เพียงแต่ออกแบบให้องค์กรควบคุมไม่เหมือนกันเท่านั้นเอง ในเมื่อเราเดินแบบเยอรมนีก็ต้องอธิบายแบบเยอรมนีทั้งหมด ว่าเขตอำนาจรัฐธรรมนูญมีได้อย่างจำกัด จะเอาแบบสหรัฐอเมริกามาปนไม่ได้

อีกประเด็นคือ การป้องกันตนเองของตัวรัฐธรรมนูญ เป็นอย่างที่อ.กิตติศักดิ์บอกว่าเยอรมนีเริ่มคิดการป้องกันตนเองของรัฐธรรมนูญขึ้นมา ต้องมีสิทธิในการป้องกัน สิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ อันนี้จะโยงมาถึงมาตรา 68 

มาตรา 68 และ 69 เราก็ลอก ก็ได้รับอิทธิพลมาจากรัฐธรรมนูญเยอรมันอีกเหมือนกัน มาตรา 68 ถ้าดูให้ดี วรรคแรกเขียนว่า กรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใช้เสรีภาพไปในทางที่เป็นล้มล้างการปกครองหรือให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยไม่ใช่วิถีทางตามระบอบประชาธิปไตย ใช้เสรีภาพ ใครใช้เสรีภาพ บุคคลใช้สิทธิและเสรีภาพ แล้วสิทธิและเสรีภาพคืออะไร ก็รัฐธรรมนูญมาตราตั้งแต่ 27 ถึง 67 หมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยนั่นเอง ถ้าบุคคลหรือพรรคการเมืองใช้สิทธิเสรีภาพเหล่านี้แล้วเป็นการล้มล้างการปกครองหรือเป็นการได้มาซึ่งอำนาจอันไม่เป็นประชาธิปไตย ใครพบเห็นการกระทำดังกล่าวก็ร้องไปที่อัยการสูงสุด ถ้าอัยการสูงสุดเห็นว่ามีมูลก็จะเสนอคำร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น มาตรา 68 จะต้องเป็นกรณีบุคคลหรือพรรคการเมืองใช้สิทธิและเสรีภาพ กรณีการแก้รัฐธรรมนูญโดยรัฐสภา รัฐสภาไม่ใช่บุคคล รัฐสภาไม่ใช่พรรคการเมือง รัฐสภาเป็นองค์กรของรัฐ เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ รัฐสภาใช้อำนาจตามมาตรา 291 แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในมาตรา 27 ถึง 67 แต่รัฐสภาในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญกำลังใช้อำนาจที่ตนเองมี อำนาจที่รัฐธรรมนูญให้มาแก้รัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 ฉะนั้น การแก้รัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาจึงไม่อยู่ในขอบข่ายของมาตรา 68 ได้เลย เพราะมาตรา 68 ใช้ในกรณีบุคคลหรือพรรคการเมืองใช้สิทธิและเสรีภาพ แต่นี่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญเข้าไปแก้รัฐธรรมนูญ

ประเด็นถัดมาคือ สมมติว่ามีบุคคลใช้สิทธิเสรีภาพอะไรต่างๆ ในทางล้มล้างการปกครองแล้วมีคนพบเห็น ส่งเรื่องให้อัยการ อัยการเห็นว่ามีมูลส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญชี้ ถามว่าศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งห้ามอะไรได้บ้าง ก็จะสั่งบุคคลนั้นห้ามกระทำการล้มล้างฯ ห้ามกระทำการให้ได้มาซึ่งอำนาจอันไม่ชอบฯ และถ้าเป็นพรรคการเมืองก็อาจยุบพรรค ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นได้ นี่คือกระบวนการของมาตรา 68

ปัญหาก็มีคนสงสัยกันว่า แล้วองค์กรของรัฐอื่นๆ ล่ะ มาตรา 68 จะเอาเฉพาะแต่บุคคลและพรรคการเมืองเท่านั้น แล้วถ้าองค์กรของรัฐใช้อำนาจของตนเองละเมิดรัฐธรรมนูญจะทำอย่างไร ก็รัฐธรรมนูญก็ออกแบบไว้ให้หมดแล้วว่าองค์กรของรัฐอื่นๆ ใช้อำนาจไปขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญจะมีระบบตรวจสอบควบคุมอย่าไร เช่น รัฐสภาตรากฎหมายมาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญก็มีช่องทางในการตรวจสอบ ส.ส.บางส่วน ส.ว.บางส่วนอาจจะเสนอไปที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.นั้นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือ พ.ร.บ.ประกาศใช้ไปแล้ว เป็นประเด็นขึ้นมาในคดี ศาลแห่งคดีก็อาจส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบว่าคดีนั้นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ การกระทำทางปกครอง คำสั่งทางปกครอง เจ้าหน้าที่ต่างๆ ใช้อำนาจของตนเองขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ ก็มีศาลปกครองลงมาตรวจสอบ องค์กรของรัฐองค์กรอื่นๆ มันมีโอกาสอยู่แล้วที่จะใช้อำนาจขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแล้วเราก็ดีไซน์ระบบไว้แล้วว่า ถ้าเขาใช้อำนาจตรากฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญคุณมาตรวจสอบ ถ้าเจ้าหน้าที่ออกคำสั่งทางปกครองขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญคุณก็ไปฟ้องกันที่ศาลปกครอง ไม่ได้หมายความว่าพอ มาตรา 68   ไม่ได้แปลความไปถึงการใช้อำนาจขององค์กรของรัฐแล้วรัฐธรรมนูญจะถูกสั่นคลอน ไม่มีใครมาตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ คำตอบมี แต่มันอยู่ในมาตราอื่นๆ มาตรา 68 เขาเก็บเอาไว้ใช้กับกรณีพรรคการเมืองหรือบุคคล ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญนี้ เสรีภาพในการแสดงความเห็น เสรีภาพในการชุมนุม การชุมนุมแล้วเสนอข้อเสนอเปลี่ยนแปลงการปกครอง แบบนี้แหละถึงจะเข้ามาตรา 68 เต็มๆ แต่การแก้รัฐธรรมนูญเป็นการใช้อำนาจขององค์กรของรัฐ ไม่ได้เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ

มีความพยายามอธิบายเหมือนกัน เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 ท่าน อธิบายเองในคำวินิจฉัยเมื่อปีที่แล้ว บอกว่าการใช้อำนาจก็เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเหมือนกัน โดยอธิบายว่าคนที่มีอำนาจเขาเลือกได้ว่าจะใช้อำนาจหรือไม่ใช้อำนาจ เช่น บอกว่ารัฐสภามีอำนาจในการแก้รัฐธรรมนูญ ดังนั้น รัฐสภาจึงมีเสรีภาพเลือกว่าจะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ จะแก้ตอนไหน ในคำวินิจฉัยส่วนตน 2 ท่านเขียนไว้อย่างนี้ ผมเห็นว่านี่เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนอย่างชัดเจน การใช้อำนาจแล้วเลือกว่าตัวเองจะใช้หรือไม่ใช้เป็นเรื่องดุลยพินิจไม่ใช่เรื่องเสรีภาพ กฎหมายมอบอำนาจให้องค์กรของรัฐไปแล้ว คุณจะใช้หรือไม่ ใช้อย่างไร ก็เป็นดุลยพินิจของคุณ ไม่ใช่เรื่องเสรีภาพ เสรีภาพจะไปอยู่กับบุคคล รัฐธรรมนูญออกแบบสิทธิและเสรีภาพให้กับบุคคล บุคคลจึงเอาสิทธิเสรีภาพนั้นไปใช้ ฉะนั้น กรณีการใช้อำนาจในการแก้รัฐธรรมนูญไม่มีทางเป็น "สิทธิและเสรีภาพ" ได้เลย

มีคำอธิบายต่อไปอีกว่า มาตรา 68 ควรต้องเปิดช่องไว้ เพราะมีโอกาสที่การแก้รัฐธรรมนูญอาจไปล้มล้างไปกระทบหลักการพื้นฐานของประเทศ แล้วจะให้ใครมาตรวจสอบ มาตรา 68 ต่อให้เราตีความแบบต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบโดยอธิบายว่าในเมื่อมันไม่มีที่ไหนจะให้เข้ามาตรวจได้ก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจแล้วกัน โดยอธิบายว่าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ โดยอธิบายว่าองค์กรของรัฐก็เป็นบุคคลเหมือนกัน ไม่ว่าจะอธิบายใดๆ ก็ตาม หรืออธิบายไปจนถึงที่ว่า ในเมื่อมาตรา 68 เขามุ่งหมายจะคุ้มครองอะไรบางอย่าง ในเมื่อมีคนหรือองค์กรของรัฐละเมิดสิ่งที่รัฐธรรมนูญมุ่งหมายจะคุ้มครองแล้วต่อให้ช่องมันไม่เปิด ก็ต้องตีความให้มันขยายมากขึ้น ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเข้ามาตรวจสอบมากขึ้น ผมเห็นว่าการตีความแบบนี้มันไม่ถูกต้อง ถ้าเราลองดูมาตรา 68 ตีทั้งตัวอักษร ตีทั้งเจตนารมณ์ ตีทั้งตัวระบบรัฐธรรมนูญ ไม่มีทางที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเข้ามาตรวจสอบการแก้รัฐธรรมนูญตามช่องทางมาตรา 68 ได้เลย

ตัวอักษรทุกถ้อยคำในมาตรา 68 ชัดโดยตัวมันเองทุกคำ ถ้าดูตามเจตนารมณ์ มาตรา 68 อยู่ในหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ พูดง่ายๆ คือ รัฐธรรมนูญมอบสิทธินี้ให้กับบุคคลเป็นแพ็คเกจเลย รัฐธรรมนูญก็กลัวว่าคนจะเอาสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญให้ไปใช้ทำลายตัวระบอบตัวรัฐธรรมนูญเอง ก็เลยมีมาตรา68 ขึ้นมา คุณมีเสรีภาพและอย่าเอามาทำลายตัวรัฐธรรมนูญนะ  ดังนั้น มาตรา 68 มุ่งหมายกับคนหรือพรรคการเมืองอยู่แล้ว หรือเราลองไปดูต้นแบบที่เราลอกจากเยอรมนีก็ได้ ผมว่ามีนักกฎหมายเยอรมนีเดินทางมาไทยบ่อยๆ เอาไปถามเขาตรงๆ เลยว่าศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันใช้ช่อง 68 ตรวจการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ผมเชื่อมั่นว่าโปรเฟสเซอร์ทุกคนจะบอกว่าทำไม่ได้

ต่อมาดูเจตนารมณ์ผู้ร่างก็ได้ ดูจากเอกสารในการยกร่าง ผู้ร่างทุกคนพูดเหมือนกันหมด ปี 40 ก็ใช้แบบนี้ ปี 50 ก็เอามาคำต่อคำเลย 

ตีความแบบทั้งระบบ โอเคเราต้องการคุ้มครองรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด แล้วมันก็มีหลักเรื่องการแบ่งแยกอำนาจ ถ้าหากเราตีความเปิดโอกาสให้ศาลรัฐธรรมนูญหยิบจับเรื่องต่างๆ ที่มีคนร้องเข้ามา แล้วศาลรัฐธรรมนูญใช้ช่องมาตรา 68 เข้าไปตรวจสอบได้หมด ศาลรัฐธรรมนูญจะทำลายการแบ่งแยกอำนาจไปเสียเอง เพราะศาลรัฐธรรมนูญจะตั้งตนไปอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ พูดง่ายๆ คือ พิจารณาได้ทุกๆ เรื่อง ทุกๆ เรื่องอย่างไร ก็ถ้าตีความว่าองค์กรของรัฐใช้อำนาจแล้วเป็นการล้มล้างฯ ต่อไปหากศาลพิพากษาคดีหนึ่งขึ้นมา บุคคลเห็นว่าคำพิพากษานี้เป็นการล้มล้าง ก็หยิบคำพิพากษานี้ไปหาศาลรัฐธรรมนูญบอกว่านี่เป็นการใช้อำนาจในทางล้มล้างฯ ตำรวจออกใบสั่ง ตำรวจเข้าไปสลายการชุมนุมหรือไม่สลายการชุมนุม ทุกคนหยิบเรื่องไปหาศาลรัฐธรรมนูญได้หมด บอกว่านี่เป็นการใช้อำนาจเพื่อการล้มล้างฯ ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาดูหน่อย ถ้าตีความมาตรา 68 แบบนี้ ทุกๆ องค์กรที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ ท่านใช้อำนาจเมื่อไร ท่านจะเจอคนที่ไปร้องศาลรัฐธรรมนูญได้ตลอด ศาลรัฐธรรมนูญก็เลือกรับหรือไม่รับ แบบนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะสถาปนาตัวเองขึ้นไปใหญ่ที่สุดเหนือรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นคนบอกทุกๆ การกระทำในระบบการแบ่งแยกอำนาจนี้ว่าใครทำอะไรได้หรือไม่ได้ เพียงใด ล้มล้างการปกครองหรือไม่ ระบบแบบนี้ทำลายดุลยภาพของการแบ่งแยกอำนาจเสียเอง ซึ่งเป็นเป้าประสงค์ของตัวรัฐธรรมนูญเองด้วย
 

กิตติศักดิ์ ปรกติ
ผมไม่เห็นเป็นวิกฤต ผมสดุดีคำพิพากษาฉบับนี้ว่าเป็นคำพิพากษาซึ่งคุ้มครองระบบการปกครองซึ่งเป็นความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ แล้วก็คุ้มครองไม่ให้ใช้อำนาจฉ้อฉลเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยที่นอกเหนือวิถีทางที่รัฐธรรมนูญกำหนด เวลาเราอ่านมาตรา 68 เราต้องอ่านให้ดีว่าความมุ่งหมายของมันคืออะไร ต้องการจำกัดสิทธิประชาชนหรือต้องการคุ้มครองสิทธิของประชาชน ถ้าต้องการคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการจะมีระบอบการปกครองที่เขาเชื่อและต้องการจะอยู่ในระบอบการปกครองนั้น ไม่ต้องการให้ใครมาล้มล้าง ไม่ต้องการให้ใครมาทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้ได้ไปซึ่งอำนาจที่ไม่ชอบด้วยวิถีทางที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เขาย่อมจะใช้มาตรา 68 ได้ ปัญหาก็คือ มาตรา 68 จริงอยู่อย่างที่อ.ปิยบุตรว่าไว้ว่าเขียนเอาไว้ว่า บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองไม่ได้ ขนาดบุคคลธรรมดายังทำไม่ได้ ถ้าองค์กรจะล้มล้างการปกครองจะได้อย่างไร ของมันง่ายๆ มากเลย การตีความกฎหมายไม่ใช่จะตีความมัดมือทำให้กฎหมายนั้นใช้ไม่ได้ มันต้องตีความให้ใช้ได้ เพราะถ้าตีความอย่างที่อ.ปิยบุตรท่านว่า เมื่อเกิดปัญหาในมาตรา 291 นั่นคือมีการแก้รัฐธรรมนูญจนถึงขั้นที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือทำให้ได้มาด้วยอำนาจที่ไม่ชอบด้วยวิถีทางตามรัฐธรรมนูญ ผลก็คือไม่มีใครตัดสิน ร้องตามมาตรา 68 ก็ไม่ได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าร้องได้ และที่ร้องได้เหตุผลที่สำคัญคือความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญนั้นมุ่งป้องกันตนเองไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขระบอบการปกครองฯ

คราวนี้ถามต่อไปว่า ตีความอย่างไร ง่ายๆ ก่อน นี่เป็นคำสอนของอ.ปรีดี ที่สอนชั้นปีที่ 1 ท่านชอบยกตัวอย่างเรื่อย บอกป้ายห้ามเดินลัดสนามมันรวมทั้งห้ามวิ่ง ห้ามไม่ให้เอารถยนต์ทับสนามด้วย ถ้าเขียนป้ายว่าห้ามเดินลัดสนาม แล้วมีคนคิดแผลงเอารถขึ้นไปบนสนามแล้วบอกว่าไม่ได้ห้าม ตามตัวอักษรไม่ได้เขียนไว้ เราจะเห็นได้ชัดว่ามันฟังไม่ขึ้น และคดีทำนองนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น ในอังกฤษมีคดี Adler v. George คดีนี้น่าสนใจตรงที่พวกผู้ก่อการร้ายและคัดค้านรัฐบาลอังกฤษในไอร์แลนด์เขาชอบประท้วงรัฐบาล แล้วเขาประท้วงรัฐบาลด้วยการสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นรอบๆ ฐานทัพอากาศในไอร์แลนด์ ไม่ให้กองทัพอังกฤษส่งเครื่องบินไปลงได้โดยสะดวก อังกฤษจึงออกกฎหมายมาว่าห้ามมิให้ผู้ใดสร้างสิ่งกีดขวางบริเวณรอบๆ ฐานทัพ หรือใช้คำว่า vicinity ซึ่งเป็นปัญหาในเรื่องเขาพระวิหาร คำนี้หมายถึงรอบๆ ปรากฏว่ามีกระทาชายนายหนึ่งเป็นองค์กรก่อการร้ายในไอร์แลนด์ต้องการจะท้าทาย เขาปีนเข้าไปในฐานทัพในเวลาค่ำคืนซึ่งปลอดคนแล้วไปสร้างสิ่งปลูกสร้างข้างในฐานทัพเลย ตรงกลางเลย ถูกจับ เขาก็ดำเนินคดี เขาก็บอกเขาไม่ได้สร้างรอบๆ แต่สร้างในฐานทัพ กฎหมายบอกเพียงโดยรอบจะมาลงโทษไม่ได้เพราะกฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด คดีนี้ศาลอังกฤษตัดสินว่าขนาดรอบๆ เขายังห้ามเลย ตรงกลางยิ่งต้องห้าม แน่นอน มีคนมาอธิบายว่าศาลอังกฤษตัดสินอย่างนี้ไม่ถูก อันนี้เป็นปัญหาที่นักกฎหมายเห็นต่างกันได้

กรณีมาตรา 68 เรื่องสิทธิกับอำนาจ บางทีคนเราก็เขียนซ้อนกัน ไม่ต้องอะไร ในหนังสือ "Jurisprudence" ที่อธิบายสิทธิทุกกรณี อธิบายไว้หมดว่า สิทธินั้นรวมถึงอำนาจ รวมถึงเสรีภาพ รวมถึงความคุ้มกัน รวมถึงเอกสิทธิทั้งหมด มีไหมอำนาจที่ไม่มีสิทธิ อำนาจมีได้เฉพาะเมื่อมีสิทธิหรือมีความชอบธรรมที่จะทำได้ เสรีภาพก็เช่นเดียวกัน ทั้งหมดมันมีฐานอยู่ที่สิทธิ เมื่อฐานมันอยู่ที่สิทธิแล้ว เราอาจเข้าใจได้ว่า บุคคลไม่พึงใช้สิทธิและเสรีภาพในการทำลายรัฐธรรมนูญมันยิ่งเห็นชัดเข้าไปใหญ่ ยิ่งเป็นองค์กรของรัฐ เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจมากกว่านั้น ยิ่งต้องห้ามเข้าไปใหญ่ นี่เป็นพื้นฐานง่ายๆ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับทัศนะการตีความกฎหมายว่าจะตีความแบบยึดตัวหนังสือหรือจะตีความแบบยึดความมุ่งหมาย แล้วเอาข้อความคิดมาอธิบาย
หนังสือของอาจารย์ในคณะเราซึ่งตอนนี้ท่านไปเป็นศาลแล้ว อาจารย์วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ประโยคแรกๆ หน้าแรกๆ เขียนว่า สิทธิคืออำนาจ ดังนั้น คำว่าสิทธิมันมีทั้งความหมายแคบและความหมายกว้าง และคำว่าบุคคลก็มีทั้งความหมายแคบและความหมายกว้าง

มีคนตั้งข้อคิดว่ามาตรา 68 เขียนห้ามบุคคลและพรรคการเมือง ทำไมต้องห้ามพรรคการเมืองในเมื่อพรรคการเมืองก็เป็นบุคคล มันง่ายๆ เพราะเหตุว่าเราคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และพรรคการเมืองนั้นถ้าจะว่าตามหลักสิทธิและเสรีภาพแล้วถ้าเขาไม่จดทะเบียนนิติบุคคลเขาก็เป็นพรรคการเมืองในฐานะที่เป็นผู้ที่ใช้สิทธิและเสรีภาพในการรวมตัวกันตามรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุนี้ ผมจึงอยากเรียนว่า ถ้าเราตีความรัฐธรรมนูญในความหมายเคร่งครัด กับตีความตามความมุ่งหมาย ความหมายมันจะแตกต่างกัน ในต่างประเทศก็เหมือนกัน สิทธิเสรีภาพในทรัพย์สิน ทรัพย์สินจะตีความว่าอย่างไร ถ้าเราตีความอย่างแคบคือตีความตามกฎหมายลักษณะทรัพย์มันก็จะแคบมาก แต่ถ้าหากตีความโดยรวมทั้งสิทธิประโยชน์อื่นๆ นอกเหนือจากคำว่าทรัพย์สินในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มันก็จะเป็นสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองกว้างขวางขึ้น ใครมาเบียดบังริบเอาสิทธิเหล่านั้นไปเราก็จะได้ใช้สิทธิของเราในการโต้แย้งคัดค้านได้

ที่สำคัญมากที่สุด ผมคิดว่าเวลาที่เราจะพิจารณาเรื่องกฎหมายว่าจะตีความกฎหมายไปแบบไหน เราก็ต้องตีความให้มีผล แล้วถ้าเราตีความให้มีผลเราไม่ต้องกลัวว่าศาลจะขยายอำนาจจนก่อให้เกิดอันตรายเพราะเวลานี้ยังไม่ปรากฏว่าศาลได้ก่อให้เกิดอันตราย ที่ปรากฏชัดเจนคือรัฐสภาของเราก่อให้เกิดอันตราย และอันตรายนั้นร้ายแรงมาก เพราะเหตุว่า ไม่ว่าจะทำอะไรกันก็สามารถใช้เสียงข้างมากปิดปากเสียงข้างน้อยไม่ให้เขาอภิปรายได้ สามารถที่จะลงคะแนนแทนกันได้ และสามารถที่จะปลอมเอกสารต่างๆ ได้ ถ้าทำแบบนี้แล้วบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยตัดสิน คราวนี้ก็ยุ่งสิครับ มันก็จะทำให้ประชาชนมาใช้สิทธิตามมาตรา 69 สิทธิในการต่อต้านโดยสันติ มันต้องเลือกเอาระหว่างมีคดีขึ้นศาลรัฐธรรมนูญเยอะกับมีประชาชนมาใช้สิทธิตามมาตรา 69 เยอะๆ ผมเห็นว่าวิธีที่มาขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญนั้นดีกว่า และศาลรัฐธรรมนูญเขาก็จะจัดกระบวนการแยกแยะเองว่าคดีไหนไม่เข้า คดีไหนเข้า

อย่างกรณีที่เห็นชัด เมื่อไม่กี่วันนี้ก็มีการยื่นร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าการที่ รมว.มหาดไทยออกมาปฏิเสธอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยวิถีทางที่นอกเหนือจากรัฐธรรมนูญให้ไว้ ศาลรัฐธรรมนูญก็ปฏิเสธว่าอันนี้ไม่ถึงขั้นนั้น ก็ทำให้เรื่องนี้จบสิ้นไป ในเยอรมนีมีปัญหาแบบนี้เยอะ เพราะมาตรา 93 ของรัฐธรรมนูญเยอรมันไม่ใช่แค่บอกว่าจะล้มล้างรัฐธรรมนูญนะ ใครก็ตามกระทำอะไรก็ตามกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนและไม่มีทางออกอื่นแล้วก็สามารถร้องศาลรัฐธรรมนูญได้หมด คดีแบบนี้มีมาก ก็เป็นเรื่องที่เราต้องพัฒนากระบวนการทางตุลาการของเราให้สามารถกลั่นกรองเรื่องพวกนี้ออกไป เรื่องที่ร้องเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันนั้นมีประมาณ 2-3% เท่านั้นเองที่จะเข้าสู่การพิจารณา แต่เขาก็เปิดให้มีการร้องเรียนได้มากมายเพื่อจะคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของประชาชน ให้ประชาชนแน่ใจได้ว่าเมื่อมีอะไรกระทบกับสิทธิขั้นพื้นฐานของตนนั้นเขามีทางออก และทางออกนั้นก็คืออำนาจตุลาการ

ผมคิดว่ามันมีเหตุน่าหวาดเกรงเหมือนกันว่าตุลาการอาจจะใช้อำนาจอะไรเกินเลยไป แต่ผมไม่หวาดเกรงเพราะเรามีนิติราษฎร์ (ผู้ฟังหัวเราะ ปรบมือ) เรามีนักวิชาการ นักวิชาการก็คอยวิพากษ์วิจารณ์ศาล วิพากษ์วิจารณ์ได้เต็มที่ แต่อย่างหนึ่งที่ไม่ควรทำ คือไปปฏิเสธอำนาจศาล อย่างนี้มันไม่ได้ วิจารณ์เต็มที่แล้วศาลเขาก็ต้องฟังเพราะประชาชนเขาก็ได้ฟังด้วย มันจะเป็นการควบคุมอำนาจเอง แต่พอไปบอกว่าให้ล้มศาล ไม่ยอมรับอำนาจศาล ไม่เอาศาล อันนี้เรากำลังก้าวล่วงไปถึงจุดว่า ถ้าพระมันไม่ดีก็เลิกศาสนา ทหารมันไม่ดีก็เลิกกองทัพเสีย ผมไม่เห็นด้วย
 

ปิยบุตร แสงกนกกุล
อำนาจในการทำโน่นทำนี่เป็นสิทธิของตัวบุคคล แต่อำนาจหน้าที่คืออำนาจตามที่กรอบของกฎหมายมอบอำนาจหน้าที่ให้องค์กรของรัฐต่างๆ ใช้อำนาจหน้าที่ของตัวเองกระทำการต่างๆ ดังนั้น ความหมายนี้ไม่เหมือนกัน

ประเด็นถัดมา ผมยืนยันว่าที่เขาทำกันอยู่ ของฝ่ายการเมืองก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ในส่วนของพวกผมที่เขียนคำวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญนั้นอย่าบอกว่าปฏิเสธอำนาจศาล เราไม่ได้ปฏิเสธอำนาจศาลแต่เราไม่ยอมรับการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้เท่านั้นเพราะศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจโดยที่ละเมิดตัวรัฐธรรมนูญเสียเอง คุณใช้อำนาจเข้ามากินแดนของรัฐสภา รัฐธรรมนูญมอบอำนาจต่างๆ ให้องค์กรต่างๆ หลากหลายกันไป ศาลรัฐธรรมนูญคุณก็มีอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย รัฐสภาเขาก็มีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นแดนใครแดนมัน กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาล้ำแดนรัฐสภา รัฐสภาก็มีสิทธิที่จะบอกว่าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของเขา ดังนั้น ไม่ใช่การไม่ยอมรับอำนาจแต่ไม่ยอมรับการกระทำของศาลรัฐธรรมนูญในคำวินิจฉัยเมื่อปีที่แล้วกับปีนี้ 

ปรากฏพบให้เห็นในต่างประเทศเยอะ ไม่ใช่ทุกประเทศในโลกเขายอมรับอำนาจศาลหมด ผมย้อนไปถึงคดี Marbury v. Madison ก็ได้ โทมัส เจฟเฟอร์สันออกมาด่าศาลเละเทะเลย คดีนี้เป็นเรื่องในทางการเมืองก่อน ขอละไว้แล้วกัน แต่โทมัส เจฟเฟอร์สัน ออกมาประณามบอกว่าต่อไปนี้ศาลจะเข้ามายุ่งวุ่นวายกับการแก้รัฐธรรมนูญแล้วจะเกิดการที่ศาลมีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ เขาก็พูดชัดเจน อินเดียก็เหมือนกันตอนที่อินเดียแก้รัฐธรรมนูญแล้วศาลฎีกาอินเดียเข้ามายุ่งวุ่นวาย รัฐสภาอินเดียก็ไปเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาว่าศาลฎีกาห้ามเข้ามายุ่งวุ่นวายกับการแก้รัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาก็ยังเข้ามายุ่งอีกบอกว่าการแก้รัฐธรรมนูญแบบนี้แก้ไม่ได้ ปรากฏว่ารัฐบาลรัฐสภาก็ออกมาด่าศาลฏีกาเหมือนกัน พูดตรงไปตรงมาก็คือคุณชักจะใช้อำนาจล้ำแดนเกินไป ไม่ยอมรับเหมือนกัน นี่ก็เป็นเรื่องปกติในการวิพากษ์วิจารณ์ ใช้อำนาจโต้แย้งกับศาล

ผมเรียนว่า การตีความรัฐธรรมนูญไม่ใช่เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญองค์กรเดียว ทุกองค์กรที่ใช้รัฐธรรมนูญมันได้ตีความรัฐธรรมนูญทั้งนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมองมาตรา 68 ว่าเป็นอำนาจของเขา รัฐสภาก็สามารถมองได้ว่าไม่ใช่อำนาจของคุณ เป็นอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แดนใครแดนมันนั่นเอง

ทีนี้การตีความมาตรา 68   แบบยิ่งต้องเป็นเช่นนั้นแบบที่ อ.กิตติศักดิ์เสนอมา ขนาดบุคคลเขายังห้ามใช้สิทธิเสรีภาพไปในทางล้มล้างฯ เลย อย่างนี้ถ้ายิ่งเป็นองค์กรของรัฐล้มล้างฯ ยิ่งต้องห้ามเข้าไปใหญ่ แน่นอน องค์กรของรัฐจะใช้อำนาจไปในทางล้มล้างระบอบไม่ได้อยู่แล้ว แต่เขามีช่องทางในการตรวจสอบช่องทางอื่น ไม่ใช่ช่องทางมาตรา 68 มาตรานี้ไม่ได้บอกว่าเราห้ามเฉพาะบุคคลล้มล้างฯ ส่วนองค์กรของรัฐทำไปเลยไม่เป็นไร ไม่ใช่ แต่องค์กรอื่นมีช่องทางอื่น มาตรานี้สงวนไว้สำหรับบุคลคลหรือพรรคการเมืองใช้สิทธิเสรีภาพในการล้มล้างฯ หากเราตีความขยายกันออกไปอย่างที่ อ.กิตติศักดิ์ยกตัวอย่างเรื่องป้ายห้ามเดินลัดสนาม การยกตัวอย่างต้องดูว่าตัวอย่างที่ยกมาเป็นประเด็นเดียวกันกับเรื่องนี้หรือเปล่า หรือยกตัวอย่างกรณีอื่นๆ ที่มันไม่เกี่ยวกันเลย (ผู้ฟังปรบมือ) ไม่อย่างนั้นทุกคนจะยกตัวอย่างไปสะเปะสะปะหมด

ผมยืนยันว่ามันคนละเรื่องกับเรื่องเดินลัดสนาม แต่สมมติว่ายอมเอาตัวอย่างเรื่องนี้เดินลัดสนามก็ได้ ถ้าอย่างนั้นผมใช้ argument เดียวกับ อ.กิตติศักดิ์ "ยิ่งต้องเป็นเช่นนั้น" ผมดูรัฐธรรมนูญแล้วมีส่วนที่บอกว่า ครม.มีอำนาจตรา พ.ร.ก.ในกรณีภัยพิบัติ ปกป้องเศรษฐกิจอะไรต่างๆ ผมบอกว่า "ยิ่งต้องเป็นเช่นนั้น" ครม.ทำเป็น พ.ร.บ.เลย หรือกรณีการตีความตามความมุ่งหมายที่อาจารย์พูดถึง มันก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะตีความอำเภอใจใดๆ ก็ได้ เพื่อสนองตอบต่อธงที่เราคิดไว้ในใจ ถ้าเป็นแบนี้รัฐธรรมนูญมีมาตราเดียวก็ได้ ไม่ต้องเขียนอะไรเลย เดี๋ยวองค์กรนั้นจะตีความเอง ถ้าแบบนี้ระบบปั่นป่วน ถ้าศาลรัฐธรรมนูญต้องการปกป้องรัฐธรรมนูญตีความขยายไปเรื่อยๆ โดยอาศัยช่องทางมาตรา 68 คนนั้นจะมาล้มล้างฯ คนนี้จะมาล้มล้างฯ ตีความแบบนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นองค์กรที่เหนือรัฐธรรมนูญ ใหญ่ที่สุด

ลองยกตัวอย่างอีกก็ได้ ต่อไปนายกฯ ยุบสภาก็จะมีคนไปบอกว่าการยุบสภาเป็นการล้มล้าง ต่อไปศาลฎีกาพิพากษาคดีหนึ่งคนไม่เห็นด้วยก็ไปบอกว่าเป็นการล้มล้าง ต่อไปเจ้าหน้าที่ตำรวจออกใบสั่งออกใบสั่งเป็นการล้มล้าง ตำรวจไปสลายการชุมนุมการสลายการชุมนุมเป็นการล้มล้าง มันเข้าได้ทุกเรื่อง หรือสมมติพระมหากษัตริย์แต่งตั้งองคมนตรี องคมนตรีใช้อำนาจในการเป็นผู้สำเร็จราชการแทน อะไรต่างๆ เหล่านี้ องค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งหมดหรือแม้แต่พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการวีโต้กฎหมาย ถ้าเกิดมีคนอีกกลุ่มมองว่าการวีโต้นั้นเป็นกระเทือนกับระบอบประชาธิปไตย เขาไปร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญไหม ถ้าตีความแบบนี้ทุกๆ องค์กรมีโอกาสถูกยื่นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าล้มล้างหมด ยิ่งไปกว่านั้นตัวศาลรัฐธรรมนูญเอง ผมยื่นไปว่าที่ศาลรัฐธรรมนูญทำปีที่แล้วกับปีนี้เป็นการล้มล้าง ยื่นตามมาตรา 68 ศาลรัฐธรรมนูญช่วยวินิจฉัยหน่อยว่าล้มล้างฯ ไหม จะเอาแบบนี้ไหม ตีความว่าล้มล้างได้หมด แล้วศาลรัฐธรรมนูญก็จะใหญ่ที่สุดในประเทศนี้ เป็นคนบอกได้หมดว่าองค์กรของรัฐทั้งหลายทำอะไรได้บ้าง ในนามของ ไอ่นี่ล้มล้าง ไอ่นั่นไม่ล้มล้าง

การตีความแบบนี้ทำให้ระบบปั่นป่วน การแบ่งแยกอำนาจจะเสียดุลยภาพไปและศาลรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นองค์กรเหนือรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น ผมจึงบอกว่าเวลาตีความท่านต้องดูตัวอักษร ดูเจตนารมณ์ ดูตัวระบบ ไปพร้อมกันหมด ไม่ใช่ว่าเราตั้งใจว่าจะให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจให้ได้ก็เลยขยายความกฎหมายไปเรื่อยๆ ก็ในเมื่อระบบประเทศนี้มันดีไซน์ไว้แล้วว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตรวจสอบไม่ได้ ยกตัวอย่าง ตอน ส.ส.ร.ทำรัฐธรรมนูญ 50 ถ้าคิดกันมากทำไมไม่เขียนไว้ ถ้ากลัวว่าวันหน้าจะมีการแก้รัฐธรรมนูญแล้วจะไปล้มล้าง กระทบกระเทือนรูปของรัฐ กระทบกระเทือนระบอบการปกครอง ส.ส.ร.50 คุณอยู่ที่ไหน ทำไมไม่เขียนมาหนึ่งมาตราว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการตรวจสอบรัฐธรรมนูญ ก็แสดงว่าคุณไม่ต้องการให้มันมี ถามต่อว่าแล้วที่บอกว่าห้ามแก้กระทบเรื่องนั้นเรื่องนี้ใครจะเป็นคนมาตรวจสอบ จริงๆ กล่าวอย่างเคร่งครัด รัฐธรรมนูญมาตรา 291(1)วรรค 2 เขียนไม่ดีด้วย ถ้าท่านดูทุกประเทศที่มีบทบัญญัติห้ามแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นใดบ้าง เขาจะเขียนเลยว่าการแก้รัฐธรรมนูญกระทบหลักการนั้นหลักการนี้ แต่ของไทยตัวบทใช้คำว่า ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัติย์ทรงเป็นประมุขจะเสนอมิได้ เขาพูดแค่ว่าจะเสนอมิได้เท่านั้น ไม่ได้พูดเลยว่าการแก้ทำไม่ได้ จริงๆ วันข้างหน้าถ้าอยากจะตรวจสอบเขียนแบบนี้อันตราย ท่านต้องเขียนให้ชัดว่า ห้ามแก้รัฐธรรมนูญกระทบหลักการนั้นหลักการนี้แล้วศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรวจสอบ เขียนแบบนี้มันไปไม่ถึง ทำไม ส.ส.ร.50 ถึงไม่เขียนเอาไว้

ส่วนกรณีไม่ยอมรับการวินิจฉัย เมื่อสักครู่ได้เรียนไปแล้ว เรายืนยันว่าศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจเข้ามาล้ำแดนอีกองค์กรหนึ่ง องค์กรนี้เขาก็มีอำนาจของเขาซึ่งเป็นอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่อำนาจนิติบัญญัติ รัฐสภาในกรณีแก้รัฐธรรมนูญนั้นใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญแบบแก้รัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญรูปแบบหนึ่ง ดังนั้น อำนาจนี้ใหญ่กว่าอำนาจที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้อีก ศาลรัฐธรรมนูญคุณก็รับอำนาจที่รับมาจากรัฐธรรมนูญ แต่รัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญเป็นอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญที่เข้าไปแก้รัฐธรรมนูญ อำนาจคนละไซส์กัน แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับเข้ามาล้ำแดนรัฐสภาในกรณีนี้ ผมเรียนให้ท่านทราบว่าทุกๆ ประเทศในโลกเวลาศาลทำอะไรขึ้นมา องค์กรอื่นของรัฐเขามีอำนาจตอบโต้ เขาใช้อำนาจนั้นได้ แต่องค์กรของรัฐคุณก็ประเมินกันเองว่าจะใช้หรือไม่ใช้ ยกตัวอย่าง สหรัฐอเมริกา เราลองดูการแก้รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาหลายครั้งเป็นการแก้เพื่อสู้กับศาลฎีกา เช่น รัฐสภาตรากฎหมายขึ้นมาฉบับหนึ่งบอกให้เก็บภาษีทางตรงได้ ศาลฎีกาบอกไม่ได้ขัดรัฐธรรมนูญ รัฐสภาเลยเข้าไปแก้รัฐธรรมนูญเลยว่าให้เก็บภาษีทางตรงได้ มันก็ไม่มีการขัดรัฐธรรมนูญแล้ว เขาใช้วิธีนี้ การแก้รัฐธรรมนูญหลายๆ ครั้งของสหรัฐอเมริกาจึงเป็นการสู้กับศาลฏีกา

เหมือนกันสมมติว่า ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาล้ำแดนแบบนี้ รัฐสภาบอกไม่ไหวแล้ว ครั้งนี้ยอมไปก่อนก็ได้ แต่ครั้งหน้าเขาจะแก้รัฐธรรมนูญบ้าง แก้เพื่อบอกให้ศาลรัฐธรรมนูญห้ามใช้มาตรา 68 มายุ่งกับผม หรือเขียนลงไปเลยว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่ว่าขั้นตอนใด นั่นก็คือรัฐสภากำลังใช้อำนาจของเขาโต้กับศาลรัฐธรรมนูญ แล้วถามว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญใช้มาตรา 68 มาวินิจฉัยเรื่องนี้นับว่ามีส่วนได้เสียไหม รัฐสภากำลังแก้รัฐธรรมนูญเพื่อฟอร์ม เพื่อเชฟอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ อย่างนี้ประโยชน์ทับซ้อนไหม มันมีโอกาสเพราะมาตรา 68 ศาลรัฐธรรมนูญสถาปนาตัวเองไปแล้ว วันข้างหน้าถ้ามีการแก้รัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็จะลงมาตรวจอีกแล้วก็บอกว่าการแก้ มาตรา 68 ให้ส่งเรื่องไปยังอัยการก่อนเป็นการล้มล้างฯ อีก ตกลงประเทศนี้ก็จะแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ได้เลย

ขอสรุปปิดท้ายนิดหน่อย  จริงๆ วิกฤตในทางรัฐธรรมนูญนั้น โดยระบบแล้วมีกลไกทางออกของมัน กลไกทางออก เช่น เราเกิดรัฐประหาร มีการทำรัฐธรรมนูญ 50 ขึ้นมา คนไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ 50 ก็แพ้ในการออกเสียงประชามติ ไม่ต้องพูดถึงว่าการออกเสียงประชามติตอนนั้นอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกษา มีการโฆษณาให้รับๆ ไปก่อนแล้วแก้ทีหลัง หรือไม่ยอมบอกว่าไม่รับ 50 จะเอาฉบับไหนมาแทน ดีๆ ชั่วๆ เขาก็ชนะประชามติมา คนที่แพ้ประชามติก็มาเล่นกันตามระบบ มาเลือกตั้ง พรรคการเมืองก็หาเสียงว่าเขาจะแก้รัฐธรรมนูญ แล้วจู่ๆ วันหนึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็สถาปนาอำนาจตัวเองขึ้นมาบอกว่า ห้ามแก้ แล้วอย่างนี้ใครกันที่ไม่เป็นไปตามระบบ รัฐธรรมนูญ 50 ถ้าคุณหวงแหนมาก คนร่างรัฐธรรมนูญทำไมไม่เขียนมาเลยว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ 30 ปีค่อยแก้ 50 ปีค่อยแก้ ก็ในเมื่อระบบมันเปิดโอกาสให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ คุณจะได้รันไปตามระบบ ศาลรัฐธรรมนูญกลับปิดประตูไม่ให้คนแก้

วันข้างหน้าถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญประเทศนี้ต้องทำยังไง หนึ่ง ขออนุญาตศาลรัฐธรรมนูญก่อน ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่ให้โดยอ้างเรื่องล้มล้าง แต่เจตจำนงของประชาชนเขาอยากจะแก้เรื่องนี้ แล้วจะทำยังไง วิกฤตการเมืองครั้งนี้ ดีๆ ชั่วๆ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นต้นเหตุหนึ่ง จากการวินิจฉัยเมื่อ 20 พ.ย.เพราะคุณเป็นคนปิดประตูไม่ให้รัฐธรรมนูญนี้ได้แก้ไข ในขณะที่พลังทางการเมืองของอีกกลุ่มหนึ่งเขาต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่คุณปิดประตูไม่ให้เขาแก้ตามระบบ ฉะนั้น วิกฤตครั้งนี้จะถอดสลักออกได้ ผมคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องเปลี่ยน ต่อไปวันข้างหน้าเขาแก้ 68 มาก็ปล่อยไปเสีย อย่าใช้มาตรา 68 มายุ่งวุ่นวายกับการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ผมเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ทำเช่นนั้น เพราะถ้าศาลรัฐธรรมนูญยอมให้แก้รัฐธรรมนูญได้ ศาลรัฐธรรมนูญก็จะกังวลใจขึ้นมาทันทีว่าดุลยภาพทางอำนาจของรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเปลี่ยนไป ทั้งๆ ที่ตอนที่รณรงค์รับร่างรัฐธรรมนูญก็เป็นคนเสนอกันเองว่ารับเสร็จแล้วไปแก้ไขกันได้ ตั้ง ส.ส.ร.ได้

ประเด็นปัญหาครั้งนี้ มันมีคนที่พยายามจะเดินตามระบบแต่ถูกขัดขวาง ถูกสกัดกั้นตลอด กับคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่ทำตามระบบ ตามกติกาเลย แต่ฉันจะเอาของฉันแบบนี้ แล้ววิกฤตครั้งนี้จะโทษใคร คนที่เขาพยายามใช้กลไกที่มีอยู่แก้ไขไปเรื่อยๆ ช้าหน่อย บางทีไม่ทันใจกองเชียร์ด้วย กับอีกข้างที่ขัดขวางไม่ให้ทำหมด แล้วจะเอาแบบนี้ต้องเอาให้ได้  อย่างนี้ใครกันแน่เป็นต้นเหตุของวิกฤต ระบบมันมีทางให้เดินก็ไปปิดทางตันไม่ให้เดิน จนไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป
 

กิตติศักดิ์ ปรกติ
พวกเราต้องเข้าใจเป็นเบื้องต้นว่านักกฎหมายมีเสน่ห์หรือมีปัญหาอยู่อย่างหนึ่งคือ ถ้ามาอยู่รวมกัน 2 คนขึ้นไป จะมีความเห็นแตกต่างกัน 4 5 6 7 8 หรือนับไม่ถ้วน แต่ความเห็นที่แตกต่างกันนี้ก็แลกเปลี่ยนกันเพื่อแสวงหาความจริงว่า เหตุผลข้อใดเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนัก ฉะนั้นการโต้เถียงกันจึงเป็นเรื่องธรรมดา และการมีความเห็นแตกต่างกันมากๆ แล้วยินดีมาแลกเปลี่ยนกันอย่างจริงจังเป็นนิมิตหมายที่ดี เสียดายแต่ว่าในบางสถาบันที่ควรต้องให้มีการโต้แย้งกันอย่างเต็มที่ไม่ได้ทำหน้าที่นั้นซึ่งจะทำให้เกิดปัญหา หากสภาผู้แทนราษฎรเปิดโอกาสให้มีการโต้แย้งถกเกียงกันอย่างเต็มที่ก็จะทำให้ลดแรงกดดันที่มีอยู่ในสังคมไป แต่หากเมื่อไรก็ตาม เสียงข้างมากใช้วิธีโหวตปิดปากเสียงข้างน้อย จำกัดให้พูดน้อยหรือไม่ให้พูดเลยมันก็จะเป็นแรงกดดันที่ส่งออกมาภายนอก และจะเกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย

ผมอยากเห็นต่างจากอาจารย์ปิยบุตรที่บอกว่าวิกฤตการเมืองที่เกิดอยู่นี่เกิดจากศาลรัฐธรรมนูญ ผมมองตรงข้ามเลย วิกฤตรัฐธรรมนูญที่เราเจออยู่นี้ความจริงเกิดจากสภาผู้แทนราษฎรและนักการเมืองที่ไม่ได้ต่อสู้ทางการเมืองเพื่อแสวงหาความไว้วางใจจากประชาชน และไม่เคยสนใจความไว้วางใจของประชาชน ดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้เกิดผลสำเร็จโดยไม่คำนึงเลยว่าสิ่งที่ทำไปนั้นจะทำลายความไว้วางใจของประชาชน มันจึงได้เกิดผลเช่นนี้ ที่เกิดผลขนาดนี้ ถ้ามีคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญฉบับเดียวก็คงไม่มีปัญหายุ่งยาก แต่ปัญหามันเกิดเนื่องจากสภาไปตราร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และประชาชนเขาจับได้ว่าโกหกเขาตั้งแต่ต้น เพราะแต่แรกบอกว่าไม่ทำแน่ๆ แต่ถึงเวลาก็ทำ และทำตรงกันข้ามกับที่ตัวเองพูดไว้ ทำอย่างชนิดร้ายกาจจนประชาชนไม่ว่าเสื้อสีอะไรรู้สึกว่าหักหลังเขาอย่างร้ายแรง นี่ต่างหากที่เป็นปัญหา

เมื่อเป็นปัญหาแล้ว ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญตัดสินออกมาอีกว่าที่คุณพยายามแก้รัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้แก้ให้มันถูกเรื่องถูกราว ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ตัดสินว่าห้ามแก้รัฐธรรมนูญ แต่ตัดสินว่าแก้ได้ แต่ต้องแก้โดยเคารพรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาคุณแก้โดยไม่เคารพรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญก็คือไม่เคารพมาตรา 3 หลักนิติธรรมซึ่งเป็นรากฐานของรัฐ เขาวางหลักไว้แล้วว่าอำนจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจนั้นตามรัฐธรรมนูญ แล้วก็บอกด้วยว่าองค์กรของรัฐทั้งปวงไม่ว่าองค์กรใดก็ตามต้องใช้อำนาจตามหลักนิติธรรม

หลักนิติธรรมก็คือหลักที่บอกว่าไม่มีใครมีอำนาจตามอำเภอใจ หลักที่สำคัญคือ ทุกฝ่ายต้องมีอำนาจถ่วงดุลและคานกัน และกฎหมายเป็นหลักสูงสุดต้องใช้อำนาจตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ในหลักนิติธรรมนั้น หลักการที่ยอมรับกันเป็นที่สุด ก็คือ กฎหมายมีว่าอย่างไร ศาลในฐานะที่มีอำนาจน้อยที่สุดในบรรดา 3 อำนาจ ไม่มีอำนาจในการริเริ่มตรากฎหมาย ไม่มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย แต่มีอำนาจชี้ขาดว่ากฎหมายมีว่าอย่างไร และศาลเขาชี้ออกมาว่าที่รัฐสภาในอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นถ้าอยู่ในกรอบของหลักนิติธรรมทำได้ แต่ถ้าพ้นจากกรอบของหลักนิติธรรมหรือทำลายหลักนิติธรรมแล้วทำไม่ได้

ทั้งสองเรื่องมันมาซ้อนทับเข้าด้วยกัน 1.ความไม่ไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อรัฐสภาและรัฐบาลเพราะทำเรื่องที่ไม่คำนึงถึงความไว้วางใจ 2.ศาลมาชี้ต่อไปอีกว่าคุณผิดกฎหมาย แล้วคราวนี้ผู้แทนเสียงข้างมาก พรรคการเมือง รมต.สำคัญออกมาประกาศไม่รับอำนาจศาล นี่ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจหนักหนาทบทวี ข้อที่สำคัญ วิจารณ์คำพิพากษาไม่มีใครเขาว่า นิติราษฎร์วิจารณ์คำพิพากษาผมสรรเสริญ ต่อให้ผมไม่เห็นด้วยก็ยังบอกให้นักศึกษาที่เรียนกับผมไปอ่านของเขา อ่านแล้วคิดคล้อยคิดค้านอย่างไรก็จะได้ความรู้ ผมถือว่าคณะนิติศาสตร์หล่อขึ้นเพราะมีนิติราษฎร์อยู่ มีเสน่ห์ทำให้คนสนใจทั้งประเทศเลยทีเดียว แต่ว่าไม่จำเป็นว่าเราต้องเห็นด้วยกัน และเมื่อไม่เห็นด้วยกันก็วิจารณ์กัน การวิจารณ์ศาลไม่มีความผิด แต่หมิ่นศาลมีความผิดตามกฎหมาย ในการปกครองทั่วโลกเขาวิจารณ์ศาลกันทั้งนั้น แต่เมื่อไรที่กระทำการถึงขนาดไม่ยอมรับอำนาจศาล ท้าทายขนาดจะล้มล้างอำนาจศาล เขากำลังเสี่ยงในทางการเมือง

ตัวอย่างที่เห็นได้ในสหรัฐอเมริกาเกิดปัญหาทำนองนี้ ประธานาธิบดีวิจารณ์คำพิพากษาแต่ไม่เคยประกาศไม่รับอำนาจศาล หรือไม่รับคำพิพากษา เขาปฏิบัติตามคำพิพากษาเรื่อยมา สิ่งที่ประธานาธิบดีรูสเวลล์ทำ วางแผนต่อเนื่องกันเป็นเวลานานและเป็นความลับด้วยคือการวางแผนว่าจะจำกัดอำนาจศาลอย่างไร ในที่สุดฝ่าย เสธ.ของรูสเวลล์บอกเลยว่าแก้รัฐธรรมนูญเลย จำกัดอำนาจศาลไปเลย แต่ประธานาธิบดีรูสเวลล์ก็เห็นว่าทำไม่ได้ เพราะจะทำให้ระบอบการปกครองเสียไป สิ่งที่ประธานาธิบดีทำคือ เพิ่มจำนวนผู้พิพากษา คนที่อายุเกิน 70 ปีถ้าไม่เกษียณตัวเอง ประธานาธิบดีตั้งผู้พิพากษาเพิ่มได้ ทำให้สัดส่วนทางความคิดของผู้พิพากษาใน supreme court เปลี่ยนแปลงไป และทุกฝ่ายก็ยอมรับ นั่นคือการทำตามกติกาที่ยอมรับได้โดยไม่ทำให้เสื่อมเสียความไว้วางใจของประชาชน

อีกกรณีหนึ่งคือ ปากีสถาน เมื่อมูชาราฟทำรัฐประหารใหม่ๆ เขาเคารพศาล มีคนไปฟ้องต่อศาลเขาก็ไปขึ้นศาล ศาลบอกว่าที่คุณทำรัฐประหารศาลพิจารณาดูแล้วว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ศาลตัดสินว่ายอมรับได้ เพราะมีเหตุจำเป็นเนื่องจากตอนนั้นมีการก่อการร้าย มีการวางระเบิดกันมาก แต่ว่าที่คุณจะถืออำนาจไว้ จะปฏิรูปการเมืองอย่างไม่มีกำหนดนี่ศาลไม่เห็นด้วย ให้มีอำนาจอยู่ในตำแหน่งได้เพียงแค่ 2 ปี มูชาราฟก็ยอมรับ ต่อมาศาลฎีกาตัดสินในทางเป็นโทษกับรัฐบาลมากขึ้น มูชาราฟไม่รู้จะทำยังไงก็เลยหาทางดำเนินการสอบสวนวินัยประธานศาลฎีกา ผลก็คือประธานศาลฎีกาก็ต้องสละตำแหน่ง คนเป็นรองขึ้นดำรงตำแหน่งแทน พอสอบสวนเสร็จเห็นว่าไม่มีความผิดต้องคืนตำแหน่งให้ แต่คนมาดำรงตำแหน่งเป็นพวกกันกับมูชาราฟ ไม่ยอมคืนตำแหน่งให้ ผลที่เกิดคือสูญเสียความไว้วางใจจากประชาชนอย่างกว้างขวาง สภาทนายความมีมติหยุดงาน ประชาชนออกมาเดินขบวนพร้อมๆ กับประธานศาลฏีกา คนมาเป็นล้าน ก็ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ต้องยอมคืนตำแหน่งให้ประธานศาลฎีกา

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องความไว้วางใจ เมื่อไรก็ตามถ้าศาลใช้อำนาจหน้าที่เกินกว่าเหตุแล้วคำวิพากษ์วิจารณ์ของนิติราษฎร์มีน้ำหนัก ประชาชนเห็นชอบ แน่นอน ความไว้วางใจก็ต้องเปลี่ยนไป ศาลก็ต้องปรับตัว ผมมีเพื่อนที่อยู่ในศาลฏีกา ศาลอุทธรณ์ จึงรู้ว่าคำวิพากษ์วิจารณ์ของนักวิชาการนั้นเขารับฟัง แม้ไม่ได้เห็นด้วยหมดแต่ข้อที่เขาเห็นด้วยก็มี ฉะนั้น เราก็ควรเข้าใจว่าคำวิพากษ์วิจารณ์นี่แหละคือยาที่ใช้สำหรับแก้สิ่งที่เราเห็นว่าศาลทำไม่ถูก แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นผู้ผูกขาดความถูกต้องเสียคนเดียว มีคนอื่นที่อาจเห็นแตกต่าง

ในประเทศเยอรมนีมีการวิพากษ์วิจารณ์ศาลตลอดว่าตัดสินก้าวก่ายเข้าไปในอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ อดีตผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญเอง อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญเองเมื่อพ้นจากตำแหน่งก็ยังวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาที่ตัวเองเป็นเสียงข้างน้อยว่าอันนั้นมันขัดต่อรัฐธรรมนูญ อันนั้นมันเกินอำนาจ แต่ว่าเขาก็วิจารณ์กันภายในขอบเขตเหตุผล แต่เขาไม่เคยบอกว่าฉันไม่รับคำพิพากษานั้น เป็นคำพิพากษาแล้วมันมีผลในฐานะที่เป็นคำพิพากษา ถ้าเราจะเน้นระบบเราก็ต้องยอมรับระบบแต่เรามีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ระบบได้ การที่พรรคการเมืองก็ดี รัฐบาล หรือใครก็ตามออกมาบอกไม่รับคำพิพากษาฉบับใดฉบับหนึ่ง ถ้าเป็นแต่เพียงการแสดงความไม่เห็นด้วยนั้นทำได้ แต่ถ้าเป็นองค์กรของรัฐทำไม่ได้ เพราะผูกพันต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำพิพาษาของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน

อย่างไรก็ตาม อีกเรื่องที่ต้องอธิบายคือ สิทธิและอำนาจ อาจารย์ปิยบุตรบอกว่านั่นเป็นเรื่องวิชากฎหมายแพ่ง ไม่ใช่ ที่ผมอ้างคำอธิบายของอาจารย์วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ นั้นเป็นคำอธิบายเรื่องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในกฎหมายมหาชน เดี๋ยวนี้ก็ยังมีขายอยู่ไปอ่านดูได้ ที่สำคัญมาก ไม่ใช่มีแต่อาจารย์วรพจน์ ในตำรา Jurisprudence ที่ถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญเขาอธิบายหมดว่าสิทธินั้นมีทั้งความหมายแคบและความหมายกว้าง และแน่นอน เมื่อเราพูดถึงรัฐสภามันไม่ใช่บุคคลมันพูดได้ยาก ไม่อย่างนั้นเราก็ต้องยอมรับไปหมดว่ารัฐไม่ใช่บุคคล มันขึ้นอยู่กับบุคคลในฐานะที่เป็นผู้ที่สามารถมีสิทธิได้หรือไม่ ความเป็นบุคคลหรือไม่เป็นบุคคลไม่ใช่ดูว่าดูหน้ากันแล้วเป็นมนุษย์หรือเปล่า แต่ดูว่าสิ่งที่สามารถมีสิทธิได้ตามกฎหมายเขาถือว่าเป็นบุคคล และหากว่ารัฐสภามีอำนาจหน้าที่ได้ เป็นผู้ร้องได้ เป็นผู้ถูกร้องในศาลได้ นั่นแหละมีสภาพบุคคล เมื่อมีสภาพบุคคลมีอำนาจหน้าที่ ถ้าละเมิดรัฐธรรมนูญมันก็ต้องมีกระบวนการ ถ้าเราตีความแบบไม่มีทางออก รัฐสภาจะแก้รัฐธรรมนูญอย่างไรก็ได้ มันก็คือตีความแบบมัดมือ มันจะมีประโยชน์อะไร ต้องตีความแล้วมีทางออก สามารถหาข้อยุติได้

ปัญหาของเราที่เป็นปัญหา รัฐธรรมนูญอาจไม่ชัด แต่มันไม่ใช่ปัญหา เราต้องทำความรู้ให้มันชัด ความรู้ที่ชัดนั้นแตกต่างกันยิ่งดีมันยิ่งชัด เพราะในที่สุดผู้มีอำนาจหน้าที่เขาย่อมรับไปพิจารณาแล้วก็เลือกเอาสิ่งที่มีเหตุผลที่สุด ไม่มีใครที่พูดคำเดียวแล้วถูกต้องทั้งหมด แต่กระบวนการเอาใจใส่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน หาความขัดแย้งเพื่อนำไปสู่ความจริงที่ดีขึ้นมันจะไปสู่ความจริงที่ดีขึ้น แล้วศาลก็จะพัฒนาขึ้นไปมากขึ้นเรื่อยๆ

ผมจึงอยากสรุปว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากศาล แต่เกิดจาก 1.การหมดสิ้นความไว้วางใจต่อนักการเมืองที่ได้ทำตัวเอง 2.เราคิดว่าความรู้ของเรานั้นมันชัดแล้วทั้งๆ ที่มันไม่ชัด ความจริงเราต้องช่วยกันทำให้มันชัดขึ้น
 

ปิยบุตร แสงกนกกุล
ผมยืนยันว่า ณ ปัจจุบันผมไม่พบเห็นองค์กรของรัฐใดเลยที่ไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จริงๆ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีที่เกิดขึ้น ไม่รู้จะปฏิบัติตามอย่างไรด้วย เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้สั่งอะไรเลย กรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้สั่งอะไรเลย แล้วจะให้เขาปฏิบัติตามยังไง เราต้องดูข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริงๆ อย่าจินตนาการเอาเอง คนที่ออกมาบอกไม่รับคำวินิจฉัย ไม่ได้บอกไม่รับอำนาจศาล แค่บอกว่าไม่รับคำวินิจฉัยกรณีนี้ เป็นแค่พรรคการเมืองเท่านั้น ซึ่งในความเห็นส่วนตัวผมคิดว่าน้อยไปด้วย ผมอยากให้รัฐสภาประชุมกันแล้วลงมติเลยด้วยซ้ำ เพราะคุณไม่มีอำนาจตั้งแต่รับเรื่องแล้ว อำนาจแก้รัฐธรรมนูญเป็นของรัฐสภา แต่สภาพการเมืองไทยตอนนี้คงไม่มีใครอยากตอแยสู้กับศาลรัฐธรรมนูญ แต่ถึงกระนั้น แม้ไม่สู้เลย ก็ยังถูกกล่าวหาว่ารัฐสภา คณะรัฐมนตรี รัฐบาล ไม่เคารพศาล ไม่ปฏิบัติตามศาล

ดูข้อเท็จจริงมีตรงไหนที่บอกว่ารัฐสภาไม่ยอมรับอำนาจศาล ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยศาล มันก็เป็นไปตามกระบวน หนึ่ง ไม่รู้จะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยอย่างไรเพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้สั่ง ศาลเพียงแต่บอกว่าการแก้ไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย แต่ไม่ได้สั่งอะไร ให้ถอนร่างไหม ให้ทำอะไรไหมก็ไม่ได้สั่ง แล้วอย่างนี้จะให้รัฐสภาทำอะไร ต่อให้รัฐสภาอยากปฏิบัติตามใจจะขาดก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ที่เขาแถลงปฏิเสธคำวินิจฉัยกันนั้นเป็นพรรคการเมือง องค์กรของรัฐในระบบนั้นไม่มีใครปฏิเสธเลย แล้วอาจารย์ก็อ้างนิติราษฎร์ ผมเป็นนักวิชาการไม่ได้อยู่ในองค์กรของรัฐ ผมพูดปากฉีกถึงหูก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงอะไรกับศาลรัฐธรรมนูญได้ (ผู้ฟังปรบมือ)

อาจารย์ยกตัวอย่างปากีสถาน รูสเวลล์ กรณีปากีสถานนี่กลับตาลปัตรกับไทยเลย ศาลเขาสู้รัฐประหาร สู้มูชาราฟ ศาลไทยไม่เคยสู้รัฐประหารแต่ศาลไทยกำลังจะสู้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง (ผู้ฟังปรบมือ) เวลาจะเปรียบเทียบต้องดูด้วยว่ากรณีมันเหมือนกันจริงหรือเปล่า หรือต่างกัน

กรณีเรื่องสิทธิ เป็นความเห็นอาจารย์ แต่ผมเห็นว่าเรื่องสิทธินั้นเป็นสิทธิของบุคคล แต่กรณีแก้รัฐธรรมนูญนั้นเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรของรัฐ ไม่ใช่ของบุคคล สิทธิกับอำนาจความหมายไม่เหมือนกัน

แล้วบทบัญญัติที่ว่าห้ามกระทบรูปแบบของรัฐ ระบอบการปกครอง ถ้าการแก้รัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบไม่ได้แล้วจะทำอย่างไร โดยระบบของเรื่องมีองค์กรหนึ่งที่ตรวจสอบได้ จริงๆ รัฐสภาก็ตรวจสอบกันเอง แต่อาจารย์กิตติศักดิ์บอกว่ามันมีส่วนได้เสีย  มีอีกองค์กรหนึ่งที่ตรวจสอบคือ ประมุขของรัฐหรือพระมหากษัตริย์นั่นเอง หลังลงมติวาระ 3 เสร็จ นายกรัฐมนตรีทูลเกล้า ให้นำมาตรา 150 และ 151 มาใช้โดยอนุโลม 151 คือพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการยับยั้งการประกาศใช้กฎหมาย กรณีนี้คือการประกาศใช้รัฐธรรมนูญนั่นเอง ถ้าพระมหากษัติย์พิจารณาแล้วเห็นว่า การแก้มีเสียบบัตรแทนกัน แก้แล้วล้มล้าง พระมหากษัตริย์ก็ใช้สิทธิวีโต้ ระบบรัฐธรรมนูญไทยเป็นแบบนี้ ดีไซน์เป็นแบบนี้ นี่ยังไม่นับว่ามีการถอดถอนได้ แต่ผมยืนยันว่าไม่มีตรงไหนให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบ

ฟังอาจารย์กิตติศักดิ์แล้วพบว่าน้ำหนักในการวิจารณ์นักการเมืองกับศาลนั้นไม่เท่ากัน แต่ผมยืนยันว่าผมให้เท่ากัน ผมก็วิจารณ์กรณี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ศาลผมก็วิจารณ์ ต้องวิจารณ์ศาลด้วยในระนาบ ในระดับความเข้มข้นเดียวกัน ไม่ใช่เห็นว่าศาลทำอะไรก็ถูกหมด ที่อาจารย์บอกว่านักการเมืองทรยศต่อความไว้วางใจ เรื่องแก้รัฐธรรมนูญเขาหาเสียงชัดเจนว่าเขาจะแก้รัฐธรรมนูญ พยายามแก้หลายครั้งก็โดนสกัดกั้น แล้วอย่างนี้ทรยศความไว้วางใจไหม การไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นประชาชนที่ว่าเป็นใครบ้าง มี 60 กว่าล้านคนจะวัดอย่างไร อาจมีกลุ่มหนึ่งไม่ไว้วางใจรัฐบาล ก็คงตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ เป็นเรื่องปกติ (ผู้ฟังหัวเราะ) แต่มันก็มีประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังไว้วางใจรัฐบาลอยู่ ในกลุ่มนั้นก็แตกกันแล้วด้วยเพราะเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการตามปกติ แล้ว ณ เวลานี้จนปัจจุบันระบบกำลังรันด้วยดี เมื่อแตกเป็นสองข้างสามข้าง หากสงสัยกันมากว่าประชาชนยังไว้วางใจรัฐบาลอยู่ไหม ก็ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนแล้วลงเลือกตั้งกันใหม่ ตกลงแล้วจะไว้วางใจใคร ก็ออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งก็ตัดสินกัน การอ้างว่าการไม่ไว้วางใจ เราต้องดูด้วยว่า ประชาชนที่ว่าเฉพาะผู้ชุมนุม กปปส.หรือเปล่า การวัดจะวัดอย่างไร ผมคิดว่าก็ต้องวัดกันที่การหย่อนบัตรเลือกตั้ง ถ้าคิดว่าไม่พออีกวันข้างหน้าก็ลงประชามติก็ได้เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ มีช่องทางอีก ถึงจะวัดออกมาได้ว่าเสียงของประชาชนที่ว่าเอาทางไหน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เล็งตั้งสมาพันธ์ครูอิสลามชายแดนใต้ หวังช่วยเหยื่อ-พร้อมลดอคติจากสังคม

Posted: 18 Dec 2013 08:10 AM PST

เล็งตั้งสมาพันธ์ครูอิสลามชายแดนใต้ ช่วยเหยื่อซ้อมทรมาน ผู้ถูกคดี ถูกกล่าวหาเป็นแหล่งบ่มเพาะความรุนแรง รวมสถิติบุคคลากรทางศาสนาที่ได้รับผลกระทบ พร้อมชี้แจงต่อสาธารณะหากครูถูกวิสามัญ หวังสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและลดอคติทั้งจากรัฐและสังคม

นายสาการียา เลาะยะผา รองประธานเครือข่ายส่งเสริมสิทธิมนุษยชน (HAP) ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า HAP กำลังเตรียมจัดตั้งสมาพันธ์ครูเอกชนสอนศาสนาอิสลามใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากเป็นความต้องการของครูสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่ เพื่อหานโยบายหรือมาตรการช่วยเหลือครูเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไม่สงบในพื้นที่ รวมทั้งคนที่ตกเป็นเป้าหมายถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่รัฐ

นายสาการียา เปิดเผยต่อไปว่า ทั้งนี้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ได้มีการจัดสัมมนาโครงการ "สานสัมพันธ์เพื่อหาสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยั่งยืน" โดยเชิญตัวแทนโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาเอกชนในจังหวัดยะลาที่เคยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อนำเสนอจุดเด่น จุดด้อย อุปสรรคและข้อเสนอแนะในการทำงานร่วมกัน จากนั้นจะจัดโครงการครั้งต่อไปที่จังหวัดปัตตานีและนราธิวาส

นายสาการียา เปิดเผยต่อไปว่า จากการนำเสนอของตัวแทนโรงเรียนดังกล่าวได้ข้อสรุปว่า การที่บุคลากรของโรงเรียนถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง หรือโรงเรียนถูกกล่าวหาว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะของขบวนการก่อการร้าย รวมทั้งการที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเฝ้าสังเกตการณ์ในโรงเรียนหลายแห่งบ่อยครั้งส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนในโรงเรียน ผู้บริหาร บุคลากร ตลอดจนนักเรียนขาดสมาธิในการเรียนการสอน ถือเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพอย่างหนึ่ง จึงอยากให้มีเครือข่ายภาคประชาสังคมร่วมกันหามาตรการช่วยเหลือและให้เจ้าหน้าที่ทบทวนเรื่องนี้ด้วย

"ครูสอนศาสนาอยากรวมตัวกันเป็นสมาพันธ์เหมือนกับสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนใต้ขึ้นมา โดยใช้สื่อและเว็บไซต์ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้สังคมได้เห็นภาพผลกระทบที่เกิดขึ้น" นายสาการียา กล่าว

นายสาการียา เปิดเผยอีกว่า ในการจัดตั้งสมาพันธ์นั้น จะมีการรวมกลุ่มครูเอกชนสอนศาสนาอิสลามใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาเป็นเครือข่ายก่อนเพื่อให้สามารถประสานงานได้อย่างต่อเนื่องเห็นเป็นรูปธรรม เช่น หากมีครูหรือบุคลากรด้านศาสนาอิสลามถูกวิสามัญฆาตกรรมหรือควบคุมตัว หรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เครือข่ายจะใช้สื่อชี้แจงหรือนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง

นายสาการียา เปิดเผยด้วยว่า เมื่อรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายได้แล้ว จะสามารถรวบรวมสถิติครูเอกชนสอนศาสนาอิสลามมาเป็นฐานข้อมูล โดยจำแนกเป็นชายหญิง และจะรายงานต่อองค์กรภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะองค์กรต่างประเทศที่เป็นมุสลิม ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย ตุรกี กลุ่มประเทศอาหรับและแอฟริกา เป็นต้น

นายสาการียา กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ครูสอนศาสนาคาดหวังเป็นอย่างยิ่ง คือ การให้ความกระจ่างต่อหน่วยงานรัฐเพื่อลดอคติที่มีต่อครูสอนศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะการเป็นผู้บ่มเพาะเยาวชนให้ใช้ความรุนแรง

นายสาการียา เปิดเผยว่า ในอนาคตจะรวมตัวกันเป็นเครือข่ายรวม 6 เครือข่าย จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 3 เครือข่าย ได้แก่ เครือข่ายถูกซ้อมทรมานระหว่างถูกควบคุมตัวทั้งจากฝากขังหรือจากการใช้กฎอัยการศึกและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) เครือข่ายผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ หรือ ยาริงงันวานีตอ และเครือข่ายครูเอกชนสอนศาสนาที่ถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยอีก 2 ปีข้างหน้าจะเกิดเครือข่ายเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์และคดี และเครือข่ายเพื่อนจอ (เพื่อนจำเลย) ซึ่งน่าจะครอบคลุมกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบได้รวมทั้งหมด

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ถอดบทเรียนกระบวนการสันติภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มองผ่านกรณีอาเจะห์และมินดาเนา

Posted: 18 Dec 2013 07:58 AM PST

รายงานกระบวนการพูดคุยสันติภาพชายแดนภาคใต้ โดยมี ศอ.บต.,สมช. อาเจะห์อินโดนีเซีย และตัวกลางของมินดาเนาประเทศฟิลิปปินส์ มาร่วมแลกเปลี่ยน

แม้ว่าขณะนี้หลายเสียงในพื้นที่ต่างออกมาแสดงความคิดเห็นว่าการเจรจาสันติภาพระหว่างบีอาร์เอ็นกับรัฐบาลเพื่อไทยนั้นได้ล่มเสียแล้ว ด้วยเสถียรภาพทางการเมืองและสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ แต่ตัวแทนภาครัฐและอดีตตัวแทน GAM ของอาเจะห์ประเทศอินโดนีเซียรวมทั้งผู้ที่เคยอยู่ในคณะตัวกลางของมินดาเนาก็ต่างบอกว่า การเจรจานั้นต้องใช้เวลา การพูดคุยสันติภาพของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือเป็นการเริ่มต้น รัฐและประชาชนอย่าเพิ่งถอดใจ

เมื่อวันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม 2556 ทางสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ร่วมกันศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้งจุฬาลงกรณ์ได้จัดประชุมรับฟังและทำความเข้าใจกระบวนการพูดคุยสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีตัวแทนจากประเทศไทย คือศอ.บต. และสมช. และต่างประเทศซึ่งเป็นตัวแทนจาก GAM อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย และตัวแทนคณะตัวกลางของมินดาเนาประเทศฟิลิปปินส์ มาร่วมแลกเปลี่ยน

ยืนยันนโยบายการพูดคุยต้องเดินหน้าต่อไป

ผศ. ปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กล่าวอย่างมั่นใจว่า แม้ว่าขณะนี้จะมีการยุบสภา แต่กระบวนการเจรจาสันติภาพจะต้องดำเนินการต่อไป เพราะการพูดคุยสันติภาพได้เป็นนโยบายและมติของคณะรัฐมนตรีที่ได้เสนอและรับรองจากรัฐสภาเมื่อต้นปี 2556 ที่แล้วโดยมีกรอบเวลาทำงานตั้งแต่ปี 2555 - 2557 โดยทางรัฐบาลมีภารกิจเปิดพื้นที่รับฟังความเห็นต่างด้วยสันติวิธี และลดเงื่อนไขของความขัดแย้งที่เป็นสาเหตุของความรุนแรงในทุกรูปแบบและทุกกลุ่ม

รูปแบบการเจรจาไม่มีรูปแบบสำเร็จรูปและต้องใช้เวลา

ในขณะที่ Former Major General Jaakko Oksanen, Crisis Management Initiative, Marti Ahtisaari Center ผู้ที่เคยอยู่ในคณะตัวกลาง กรณีอาเจห์  กล่าวว่ากระบวนการสันติภาพในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่ ดังนั้นไม่มีรูปแบบการเจรจาใดที่สามารถไปใช้ได้ แต่เราสามารถเรียนรู้เพื่อเลือกว่าส่วนไหนจะเหมาะสมกับพื้นที่ของตน   และต้องใช้เวลาในการปรึกษาหารือ ที่สำคัญต้องมีการติดตามว่าข้อตกลงได้รับการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดหรือไม่ อย่างกรณีอาเจห์ ประธานาธิบดีอาดีซารี ยึดเป้าหมายหลักของการพูดคุย คือนึกถึงศักดิ์ศรีของประชาชนทุกคนไม่ใช่เพียงแต่คนในโต๊ะเจรจาเท่านั้น

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งของ  General Jakko การแถลงการณ์ภายหลังจากการเจรจานั้น ไม่ควรแถลงการณ์ถึงรายละเอียดในการพูดคุยแต่รายงานเพียงบรรยากาศของการพูดคุยเท่านั้น เช่น การพูดคุยเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะคณะพูดคุยทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องรักษาน้ำใจของมวลชนทุกฝ่ายเพื่อให้ทุกคนพอใจกับการเจรจา และข้อตกลงใดๆ ก็ต้องมีการติดตามให้ทั้งสองฝ่ายปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ General Jakko มองว่า คู่เจรจาทั้งสองฝ่ายต้องมีเจตจำนงร่วมกันว่าทางออกคือ การคุยกัน และหวังเพื่อให้ประชาชนไม่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งอีกต่อไป และต้องสร้างความไว้วางใจกันและกัน 

ด้าน Mr.Muhammad Nur Djuli, จากGAM อาเจะห์ประเทศอินโดนีเซีย มองว่า การเจรจาที่ดีต้องเริ่มที่การสร้างความเข้าใจปัญหาที่แท้จริง อย่างกรณีความขัดแย้งในอาเจห์ บุคคลที่สามมักมองว่าเป็นเรื่องเชื้อชาติ มีปัญหาทางเศรษฐกิจ ต้องการปฏิวัติ ต้องการการแบ่งแยกดินแดน  แต่แท้จริงแล้วประเด็นสำคัญคือ อำนาจอธิปไตย

Muhammad Nur ได้ย้ำเตือนว่า หากได้มีโอกาสสังเกตสภาพเมืองอาเจะห์ขณะนี้ก็จะเริ่มมีการพัฒนาไปในทางที่ถูกต้องโดยเริ่มมีร้านค้าที่มีสินค้าถูกๆจากประเทศจีน รถรามากขึ้น แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกขึ้น สันติภาพที่แท้จริงยังไม่เกิดขึ้น เพราะหลังจากเซ็นสัญญาสันติภาพแล้วคนที่เคยเป็นกองกำลังติดอาวุธหลายคนต้องตกงาน เหยื่อจากความรุนแรงก็ไม่ได้รับการเยียวยาและไม่ได้รับความเป็นธรรม เด็กกำพร้าจำนวนเป็นแสนคนยังไม่มีคนดูแล ที่น่าสนใจคือ การเซ็นสัญญาเอ็มโอยูสันติภาพที่ผ่านมาแปดปีแล้วนั้นยังไม่ได้รับการปฏิบัติแต่อย่างใด

คำถามคือ เหตุใดขณะนั้น GAM จึงต้องเซ็นสัญญาสันติภาพ คำตอบคือตอนนั้นทุกคนเบื่อสงครามเหลือเกิน หรือสันติภาพได้มาเมื่อคนขี้เกียจทำสงครามแล้วหรือ  หรือว่าหลักฐานว่าการเกิดสันติภาพนั้นเป็นสิ่งสำคัญกว่าเพื่อให้สันติภาพยืนยงต่อไป ซึ่งเขาย้ำว่าเราจำเป็นต้องตั้งคำถามสิ่งเหล่านี้

ด้าน Prof.Abhoud Syed Ab Ghafer Tengku Mohamed  ผู้ที่เคยอยู่ในคณะตัวกลาง กรณีมินดาเนา ได้กล่าวว่า สำหรับการพูดคุยสันติภาพของประเทศไทยถือว่าเป็นการเริ่มต้นพูดคุยดังนั้นก็อย่าเพิ่งถอดใจ  เขาย้ำว่า สำหรับเขานั้นมองว่า การเจรจาเป็นวิถีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาที่ใช้อาวุธ เพราะกรณีมินดาเนาเองก็ตระหนักดีว่า การใช้อาวุธนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาได้เพราะยิ่งใช้อาวุธก็ยิ่งเกิดความรุนแรง และไม่มีทางออก เนื่องจากกองกำลังของมินดาเนาไม่สามารถเอาชนะกองกำลังของรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้

ทั้งนี้ Syed Lingga ได้ระบุความคืบหน้าของการพูดคุยเจรจาของมินดาเนาโดยมีมาเลเซียเป็นตัวกลางว่า เมื่อคืนที่ผ่านมา (วันที่ 10 ธันวาคม 2556) ได้เซ็นสัญญาลงนามภาคผนวกในการแบ่งอำนาจเสร็จสิ้นที่เมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

นอกจากนี้เขาได้ถอดประสบการณ์การเจรจาว่า เหตุใดการเจรจาต้องใช้เวลานานนั้นเพราะที่ผ่านมาเราไม่ได้ตระหนักถึงบริบทของปัญหาอย่างชัดเจน อันดับแรกการเจรจาที่สำคัญคือต้องตั้งคำถามให้ถูกต้องก่อนถึงจะแก้ปัญหาได้ถูกจุด อย่างกรณีมินดาเนาที่วิเคระห์ปัญหาผิดพลาดทำให้นักวิชาการ รัฐบาลและประชาชนหลงทางมาหลายปี

เช่นเมื่อต้นปี 1960 มีการใช้อำนาจของชนชั้นนำทำให้เกิดความขัดแย้งกับมุสลิม จึงมีวิเคราะห์ว่าประชาต้องมีส่วนร่วม ทำให้มีการจัดเสวนารวมทั้งกิจกรรมต่าง ๆ  เพื่อรวมคนให้เป็นกลุ่มเดียวกัน เพื่อให้ คริสเตียนกับมุสลิมมีความเข้าใจกัน ในขณะที่รัฐบาลต้องการผนวกรวมคนมุสลิมให้อยู่ในกระแสหลักคือ คริสเตียน  ทั้งที่จริงแล้วไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้องและไม่ใช่ความต้องการของคนในพื้นที่  พอสิบปีให้หลัง ก็เพิ่งรู้ว่าบังซาโมโรต้องการอำนาจในการปกครองของตนเองไม่ใช่อื่นใด

ทั้งนี้หากเรามองว่าเป็นปัญหาระหว่างมุสลิมกับคริสเตียนแล้วเราก็จะแก้ปัญหาไม่ถูกจุด คนสองกลุ่มก็จะต่อสู้กันอีก ดังนั้นกรณีมินดาเนาคนส่วนใหญ่เป็นคริสเตียน ทหารตำรวจเป็นคริสเตียน แต่ในจำนวนนั้นก็มีบรรดาทหารที่เป็นมุสลิมอยู่ด้วย

ฉะนั้นการหาประเด็นหลักของปัญหาจะช่วยให้แก้ปัญหาได้รวดเร็วขึ้น และการเจรจาที่ดีต้องตั้งจุดประสงค์ของการเจรจาสันติภาพว่าเป็นไปเพื่อแก้ไขความขัดแย้งหรืออย่างไร มิเช่นนั้นมิอาจแก้ปัญหาที่แท้จริงได้แต่เป็นเพียงแค่ถ่วงเวลาเท่านั้น เพราะรากเหง้าของปัญหายังคงอยู่  เมื่อรู้ปัญหาแล้วก็ต้องระบุตัวแสดงของขั้วอำนาจที่อยู่เบื้องหลังต่างๆ  และออกมาพูดคุยเจรจาแบบประนีประนอม

เนื่องจากความต้องการของทั้งสองฝ่ายที่ขัดแย้งกันอยู่คือ รัฐบาลต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปตามปกติเหมือนเดิม ส่วนคนบังซาโมโรต้องการแยกดินแดนออกมา ขณะนั้นกรอบของบังซาโมโร ได้ลงนาม ว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ให้เหมือนเดิม

ฉะนั้นการเจรจากับคู่ขัดแย้งที่ไม่สมมาตรหรือไม่สมดุลนี้ต้องปรับให้อำนาจสมดุลกัน รัฐบาลต้องยอมรับอัตลักษณ์ของคนบังซาโมโร และสร้างหลักประกันว่า คนบังซาโมโรสามารถปกครองตนเองได้ ในทางกลับกันคนบังซาโมโรต้องยอมรับว่ามีคนฟิลิปปินส์อยู่ในมินดาเนาด้วย และต้องยอมรับว่าเป็นดินแดนของฟิลิปปินส์อยู่  สำหรับโครงสร้างของการเจรจานั้นต้องมีคนกลางเพื่อ อย่างมินดาเนาคือ ประเทศมาเลเซีย และกลุ่มเอ็นจีโอระหว่างประเทศเพื่อติดตามการเจรจาให้เกิดผลและไม่เกิดการละเมิด ซึ่งก็เป็นผลทำให้ความรุนแรงลดลง

สิ่งสำคัญเราต้องไม่กลัวเรื่องการพัฒนาอย่างมินดาเนาก็มีโครงการที่ให้ประชาชนมีอาหารกินอย่างเพียงพอ เอาชนะความกลัวที่เราอาจจะไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต หรือ รัฐกลัวว่ารัฐไม่อยากคุยกับกองกำลังเพราะเกรงว่าจะอีกฝ่ายจะมีสถานะอื่น กองกำลังอาจกลัวรัฐบาลจะหลอก หรือว่าถูกบังคับ หรือล่อลวงให้มีการเซ็นที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น

การเจรจาที่ดี ต้องมีข้อตกลงทีดี ข้อตกลงที่ต้องตอบโจทย์ความทุกข์ยากของประชาชนในพื้นที่และสิ่งที่ได้ต้องไม่ใช่ทางออกชั่วคราว แต่ต้องเป็นทางออกที่ยั่งยืนและที่ไม่มีความรุนแรง   

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อัยการตั้งสำนักงานพิเศษเฉพาะคดีความมั่นคง พร้อมตรวจสอบกรณีซ้อมทรมาน

Posted: 18 Dec 2013 07:35 AM PST

อัยการภาค 9 ตั้งสำนักงานพิเศษรับผิดชอบคดีความมั่นคงโดยเฉพาะ เพื่อความเอกภาพในการสั่งฟ้องคดีมุ่งสร้างความยุติธรรมให้ประชาชน พร้อมตรวจสอบกรณีซ้อมทรมาน

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2556 ที่ห้องจะบังติกอ โรงแรมซี.เอ็ส.ปัตตานี สำนักงานอัยการฝ่ายพิเศษคดี 2 ภาค สำนักงานอัยการภาค 9 จัดสัมมนาเพื่อรับฟังความคาดหวังและข้อเสนอแนะต่อสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 2 ภาค ซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่ที่ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา เพื่อรับผิดชอบคดีก่อการร้ายโดยเฉพาะ โดยมีตัวแทนภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมประมาณ 60 คน

นายโสภณ ทิพย์บำรุง อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 2 เปิดเผยระหว่างการสัมมนาว่า สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 2 ภาคนี้ตั้งอยู่ที่ชั้น 3 ของอาคารสำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี มีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะคดีก่อการร้ายตั้งแต่จังหวัดตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส แต่ส่วนใหญ่คดีก่อการร้ายมักเกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา

"สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 2 ภาค รับชอบผิดชอบคดีความมั่นคงที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 256 เป็นต้นมา ส่วนคดีที่เกิดก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2556 เป็นหน้าที่ของอัยการแต่ละจังหวัดที่เป็นผู้สั่งคดี"นายโสภณ เปิดเผย

นายโสภณ เปิดเผยอีกว่า สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 2 ภาค มีหน้าที่ 1.เพื่อให้การสั่งฟ้องคดีความมั่นคงในพื้นที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการที่ผ่านมาการสั่งฟ้องคดีความมั่นคงขึ้นอยู่กับอัยการแต่ละจังหวัด ซึ่งไม่เป็นในทิศทางเดียวกัน 2.เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการสั่งคดีความมั่นคงให้อยู่ในที่เดียวกัน

"สิ่งสำคัญที่สุดคือพนักงานอัยการที่ปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักงานนี้ ต้องเป็นพนักงานอัยการระดับ 4-5 หรือรับราชการอย่างน้อย 8 – 10 ปี เป็นต้นไป เพื่อใช้ประสบการณ์ในชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในการสั่งฟ้องคดี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชนมากที่สุด" นายโสภณ กล่าว

นายโสภณ เปิดเผยว่าหลังจัดสัมมนาว่า จากการจัดสัมมนาครั้งนี้ พบว่า สิ่งที่สำนักงานนี้ต้องการดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือ กรณีที่ประชาชนอ้างถูกซ้อมทรมานในกระบวนการซักถามระหว่างถูกควบคุมตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกพระพุทธศักราช 2457 (พ.ร.บ.กฎอัยการศึก) ซึ่งข้อเท็จจริงเรื่องนี้ไม่เคยปรากฏในสำนวนการสอบสวนที่เคยได้รับมา ดังนั้นเมื่อประชาชนร้องเรียนมาแล้ว ทางสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 2 ภาคก็ต้องตรวจสอบต่อไป
"ผมชี้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ประชาชนสามารถร้องเรียนต่อสำนักงานอัยการพิเศษคดีอาญา 2 ภาคได้ หากไม่ได้รับความยุติธรรม" นายโสภณ กล่าว

นายโสภณ เปิดเผยว่า ก่อนหน้าที่นี้สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 2 ภาคได้รับเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมก่อนสั่งฟ้องมาแล้ว เพื่อให้เกิดการบูรณการการทำงานและดำเนินการด้วยความโปร่งใส่ ทั้งในกระบวนการสอบสวน การออกหมาย การซักถามการจับกุมและอายัดคดี เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีความศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ได้
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประจักษ์ ก้องกีรติ

Posted: 18 Dec 2013 07:26 AM PST

ถ้าคนในสังคมร้อยละ 99 เป็นนักบุญหรือเป็นพระหมด ประชาธิปไตยก็จะกลายเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยไปในทันที ก็ไม่จำเป็นแล้วถ้า 99 เปอร์เซ็นต์ในสังคมเป็นพระอรหันต์ เพราะจะไม่มีการขัดกันของผลประโยชน์หรืออุดมการณ์อะไรเลย

แต่ถ้าทั้งสังคมเป็นโจรหมด ประชาธิปไตยก็เกิดขึ้นไม่ได้อยู่แล้วตั้งแต่ต้น ปัญหาคือในโลกของความเป็นจริงที่เราอยู่ มันไม่ใช่โลกของนิทาน มันเป็นโลกของคนดีๆ ชั่วๆ เราไม่ได้ถูกสาปให้ดีหรือชั่วตั้งแต่กำเนิด ทุกคนก็เป็นมนุษย์ที่มีกิเลสตัณหา ทะเยอทะยาน ฉลาดบ้าง โง่บ้างตามเวลา แล้วความคิดของคนก็เปลี่ยนแปลงได้ ไม่มีใครที่จะเห็นตรงกับคนอื่นตลอดเวลาไปทุกเรื่อง หรือเห็นไม่ตรงกับคนอื่นไปตลอดเวลาในทุกเรื่อง"

 

เสวนาหัวข้อ 'มายาคติว่าด้วยประชาธิปไตย' 18 ธ.ค.2556 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

องค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยยื่น กกต.เบรคโบนัสข้าราชการ

Posted: 18 Dec 2013 06:58 AM PST

เป็นการลุแก่อำนาจนำภาษี ปชช.ทั้งประเทศมาก่อประโยชน์ให้กับกลุ่มหรือคณะหรือพรรคการเมืองฝ่ายบริหารชี้ขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งส่อซื้อเสียงล่วงหน้า


วันนี้  10.30 น. ณ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศรีสุวรรณ  จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ภาคีเครือข่ายประชาชนคนปทุมธานี สมาคมสิทธิผู้บริโภค และเครือข่ายพิทักษ์สิทธิพลเมือง ได้เข้ายื่นหนังสือเป็นจดหมายร้องเรียนกล่าวโทษ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อธิบดีกรมบัญชีกลาง และ กทม. ว่าได้กระทำความผิดตามข้อห้ามของรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง

ทั้งนี้สืบเนื่องจากกรณีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ได้มีมติจัดสรรเงินรางวัลประจำปีงบประมาณ 55 ให้สำหรับส่วนราชการ จังหวัดและสถาบันอุดมศึกษา ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง โดยอนุมัติงบประมาณรายจ่ายปี 56 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 1,400 ล้านบาท เพื่อจัดสรรเงินรางวัลประจำปีงบประมาณ 55 สำหรับส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา ที่ได้จัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการและประเมินผลการปฏิบัติราชการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบ 55 เพิ่มเติม จากที่มีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 56 เพื่อการนี้ไว้แล้วในงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการปรับเงินค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ จำนวน 2,000 ล้านบาท และงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ55 ของส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา ที่เหลือจ่ายประมาณ 345 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 3,745 ล้านบาท นอกจากนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร(กทม.) ก็ยังได้มีการเตรียมพิจารณาแจกเงินรางวัลผลปฎิบัติราชการประจำปี(เงินโบนัส)แก่ข้าราชการและบุคลากรของกทม.อีกด้วยในอัตรา 1.5 เท่าของเงินเดือนซึ่งจะใช้เงินงบประมาณจากภาษีประชาชนประมาณถึง 2,030 ล้านบาท

การนำเงินงบประมาณแผ่นดินซึ่งมาจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศมาตอบแทนให้กับข้าราชการซึ่งมีเงินเดือน เงินสวัสดิการต่าง ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมมากมายอยู่แล้วนั้น เป็นการขัดต่อหลักกฎหมาย หลักธรรมาภิบาล และหลักจริยธรรมโดยชัดแจ้ง ในขณะที่พี่น้องชาวไร่ ชาวนา ชาวสวนยางพารา ฯลฯ ยังไม่สามารถขึ้นเงินหรือได้รับเงินจากโครงการประชานิยมต่าง ๆ ที่รัฐบาลประกันราคาได้เลย ทั้งนี้ข้ออ้างของรัฐบาลที่ว่าเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับข้าราชการและลูกจ้างประจำต่าง ๆ ที่จะได้ช่วยทำให้นโยบายของรัฐสามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายได้นั้น เป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น เพราะบุคลากรภาครัฐมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว การนำเงินงบประมาณแผ่นดินจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศมาจ่ายเป็นเงินรางวัลหรือโบนัส จึงเป็นเพียงกุศโลบายทางการเมือง ซึ่งอาจเข้าข่ายความผิดในลักษณะ "การซื้อเสียงล่วงหน้า" ได้

ทั้งนี้ เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงที่มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2556 เป็นต้นมา และมีการกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2557 นี้แล้ว การดำเนินการดังกล่าวจึงเข้าข่ายเป็นการกระทำที่จงใจขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 181 (2) และ (4) และหรือเป็นการขัดหรือแย้งหรือจงใจกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ. 2550 และเป็นการขัดต่อระเบียบและข้อกำหนดของคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยชัดแจ้ง

"การกระทำดังกล่าวน่าจะมีผลทำให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นวันเวลาใดนับแต่นี้เป็นต้นไป มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และเป็นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 103 และหรือมาตรา 106 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ. 2550 และหรือมาตราอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการการเลือกตั้งในฐานะองค์กรที่มีอำนาจและหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ที่จะต้องจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์และยุติธรรม ดังนั้นเมื่อมีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 104 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ. 2550  และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม  เพื่อกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อระงับมิให้มีการดำเนินการในกรณีดังกล่าวข้างต้นภายใน 7 วัน และหากพบการกระทำอันเข้าข่ายเจตนาหรือจงใจกระทำการดังกล่าวของพรรคการเมืองใดมีส่วนร่วมหรือรู้เห็นด้วย ขอให้เสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต่อไปด้วย" นายศรีสุวรรณ กล่าว

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาล รธน.ไม่รับคำร้องสมาคมทนายฯ ชี้การชุมนุมของ กปปส.ใช้เสรีภาพตาม รธน.

Posted: 18 Dec 2013 06:05 AM PST

ศาลรธน.เสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เห็นว่า กปปส. ชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ ประกอบกับสถานการณ์เข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งแล้ว จึงไม่รับคำร้องสมาคมทนายความฯ กรณีกล่าวหาว่าล้มล้างการปกครอง

18 ธ.ค.2556 ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนุญ เผยแพร่ผลการพิจารณาคำร้องของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในกรณีที่ นายกิตติ อธินันท์ ตัวแทนสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ซึ่งยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชาธิปัตย์ กระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิธีการ ซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่

จากกรณีที่ผู้ถูกร้องได้กระทำการชุมนุมบริเวณ ถ.ราชดำเนิน โดยปิดเส้นทางการจราจร อีกทั้งยังได้ดำเนินการเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมไปปิดล้อมและบุกยึดสถานที่ราชการ สถานที่เอกชน และรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ จนทำให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ รวมทั้งการที่นายสุเทพ ประกาศจะจัดตั้งสภาประชาชนเพื่อใช้อำนาจอธิปไตยสร้างกฎเกณฑ์และกติกาในการปกครองประเทศใหม่ จึงเห็นว่าการกระทำของนายสุเทพ ได้รับการสนับสนุนจากนายอภิสิทธิ์ และพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 3 และ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง

ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เห็นว่า การชุมนุมของประชาชนตามคำร้องเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง โดยมีเหตุผลมาจากความไม่ไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล อันถือเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และเป็นการเรียกร้องและแสดงพลังด้วยการสนับสนุนของประชาชนจำนวนมาก ประกอบกับสถานการณ์ตามคำร้องได้พัฒนาไปสู่การยุบสภาและเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งแล้ว จึงยังไม่มีมูลกรณีตามคำร้องดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชาธิปัตย์ประชุม 21 ธ.ค. นี้เพื่อหาข้อสรุปส่ง ส.ส. หรือไม่

Posted: 18 Dec 2013 04:34 AM PST

อภิสิทธิ์ระบุพรรคจะประชุม 21 ธ.ค. นี้เพื่อหาข้อสรุปจะส่งผู้สมัครเลือกตั้งหรือไม่ ยอมรับหนักใจ และยืนยันเป้าหมายของพรรคคือปฏิรูปประเทศโดยไม่ขัดประชาธิปไตย และการตัดสินใจลงเลือกตั้งหรือไม่จะไม่เกี่ยวกับ กปปส. เพราะ กปปส. เคลื่อนไหวอย่างอิสระแท้จริงไม่เกี่ยวกับพรรค

ประชุมใหญ่วิสามัญ พรรคประชาธิปัตย์  17 ธันวาคม 2556
(แฟ้มภาพ/ที่มา: เพจอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รับชมภาพทั้งหมดได้
ที่นี่)

 

18 ธ.ค. 2556 - ภายหลังการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 17 ก.ค. นั้น ในวันเดียวกัน สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการหารือของคณะกรรมการบริหารพรรคทั้งชุดเก่าและชุดใหม่ กรณีที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ว่า ทางพรรคจะมีการประชุมอีกครั้งในวันเสาร์ ที่ 21 ธันวาคมนี้ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือไม่

โดยตั้งแต่วันนี้ได้สั่งการให้สาขาพรรคทุกจังหวัดดำเนินการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทันที และรายงานกลับมาที่พรรค ทั้งนี้ยอมรับว่ารู้สึกหนักใจกับการตัดสินใจครั้งนี้ ไม่ว่าจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ แต่เห็นว่าหากทำแล้วประเทศเดินหน้าไปได้ก็ควรทำ พร้อมยืนยัน เป้าหมายของพรรคประชาธิปัตย์ คือ ปฏิรูปประเทศโดยไม่ขัดกับระบอบประชาธิปไตยและให้การเปลี่ยนแปลงปราศจากความรุนแรง ส่วนการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ต้องรอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบ ซึ่งระหว่างนี้คณะกรรมการบริหารพรรคทั้งชุดใหม่และชุดเก่า จะร่วมกันทำงาน โดยในการประชุมใหญ่ของพรรคครั้งนี้ได้มีการแก้ไขข้อบังคับ โดยเฉพาะการแก้ไขให้บุคคลภายนอกสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานของพรรคได้ เพื่อผลักดันการปฏิรูปประเทศ

อนึ่ง ฐานเศรษฐกิจ รายงานคำให้สัมภาษณ์ของอภิสิทธิ์เพิ่มเติม โดยอภิสิทธิ์กล่าวถึงการตัดสินใจว่าจะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งหรือไม่ว่า "คณะกรรมการบริหารพรรคจะไม่ตัดสินใจเรื่องนี้เพียงลำพัง แต่จะนำความคิดเห็นทั้งหมดมาประชุมร่วมกับอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค  และไม่ว่าจะตัดสินใจลงสมัครหรือไม่ ล้วนแต่ส่งผลต่อพรรค  เป็นเรื่องที่น่าหนักใจ เพราะเจ็บทุกทาง แต่จะเจ็บหรือพิการ  หากทำแล้วทำให้ประเทศเดินหน้าไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเราก็ต้องยอม เพราะเรื่องใหญ่  คือ การปฏิรูปประเทศ รัฐบาลซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนในการคลี่คลายปัญหา"

นอกจากนี้ได้ตอบคำถามที่ว่า "ก่อนตัดสินใจจะหารือกับ กปปส. ก่อนหรือไม่" โดยอภิสิทธิ์กล่าวว่า กปปส. มีความเป็นตัวเองชัดเจน  มวลชนที่มาชุมนุมสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนพรรคประชาธิปัย์ก็ตาม แต่ประเด็นการเคลื่อนไหวเป็นเรื่องของ กปปส.ที่เป็นอิสระแท้จริงไม่เกี่ยวกับพรรค และเขาไม่คิดว่าเขาเป็นพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ แต่เขาเรียกร้องร้องการปฏิรูปประเทศและไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะปฏิรูปได้จริง

อนึ่งการประชุมประธานสาขาพรรคเพื่อเลือกตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เป็นไปอย่างคึกคัก ซึ่งในช่วงเย็นมีการเลือกรองเลขาธิการพรรค 5 คน โดยที่ประชุมพรรคได้เลือก นายกนก วงษ์ตระหง่าน นายเจิมมาศ จึงเลิศสิริ นายนราพัฒน์ แก้วทอง นายเทพไท เสนพงศ์ นายศิริโชค โสภา และมีนางศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ เป็นเหรัญญิกพรรค นางผ่องศรี ธาราภูมิ เป็นนายทะเบียนพรรค นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เป็นโฆษกพรรค รวมถึงเลือกคณะกรรมการ 3 คณะ คือ คณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง คณะกรรมการนโยบายพรรค และคณะกรรมการส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยในพรรค

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผบ.สส.ปัดขัดแย้งปลัดกลาโหม ยันเลือกตั้งได้ก็ดี

Posted: 18 Dec 2013 02:27 AM PST

<--break->

18 ธ.ค.2556 ที่กรมการบินขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. พร้อมด้วย พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร รองผบ.สส. พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เสนาธิการทหาร และนายทหารขั้นผู้ใหญ่ เดินทางไปเยี่ยมกำลังพล เพื่อสร้างขวัญกำลังใจเนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่กับทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมไปให้นโยบาย และรับฟังปัญหาในพื้นที่

พล.อ.ธนะศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม ระบุว่า จุดยืนของกองทัพสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.57 ว่า เดี๋ยวก็เจอกันในการประชุมสภากลาโหมในวันศุกร์ที่ 20 ธ.ค.นี้ และไม่เห็นว่าจะต้องเคลียร์อะไรกับพล.อ.นิพัทธ์ พร้อมยืนยันว่าไม่ได้ขัดแย้งกับ พล.อ.นิพัทธ์ กองทัพต้องเป็นกลไกของรัฐ และหนุนให้บ้านเมืองทำตามกรอบกติกาตามรัฐธรรมนูญ ให้มีการเลือกตั้ง และกองทัพพร้อมส่งทหารเข้าไปช่วยดูแลการเลือกตั้ง

"ผมไม่เคยพูด ไม่เคยได้ออกมาตำหนิ พล.อ.นิพัทธ์ ตามที่สื่อนำไปเขียน เพราะการแถลงในวงเสวนาของรัฐบาล พล.อ.นิพัทธ์ แถลงในระดับกระทรวงกลาโหม ผมเคยพูดอะไร ใครจะหาว่า ผมพูดอะไร ซึ่งท่าทีในการเสวนา ทุกคนก็ฟัง ผมได้เสนอให้ยึดพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง โดยมีคนกลาง คณะกรรมกลางกลาง ทหารพร้อมช่วย แต่เสวนาวันนั้น ไม่ได้ขัอสรุป ผมบอกแล้วว่า กองทัพมีทหาร 4.2 แสนคน ถือ อาวุธ ถือระเบิด ถ้าไม่มีระเบียบวินัย ก็จะเป็นกองโจร ดังนั้นทหารต้องยึดกรอบกติกา"พล.อ.ธนะศักดิ์กล่าว

เมื่อถามย้ำว่า กองทัพสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งหรือไม่ พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวว่า การเลือกตั้งทำได้ก็ดี แต่ถามว่า ตนสั่งว่าต้องมีการเลือกตั้งได้หรือไม่ ตนสั่งไม่ได้ เพราะกฎหมายมีอยู่แล้วตามกติกา ส่วนใครจะพอใจหรือไม่พอใจต้องมาพูดคุย ถ้าคุยได้ก็ไปได้ดี คือ วิน-วิน ได้ประโยชน์ วันนั้นคำพูดตนเป็นแบบนี้ ทั้งนี้ทุกคนเป็นผู้ใหญ่มีสิทธิ์แสดงความคิดเห็น งานก็เป็นงานของเขา จุดยืนของกองทัพต้องอยู่ในระเบียบวินัย ส่วนใครจะรักใครชอบใครก็ทำไป ถึงเวลางานก็ต้องไปทำ ส่วนปลัดกระทรวงกลาโหมอาจจะเป็นนโยบายของท่านที่ต้องสนับสนุนการเลือกตั้ง ท่านก็ดูในเรื่องกติกาอยู่ ท่านเป็นระดับนโยบายของกระทรวงกลาโหม

เมื่อถามว่า ข้อเสนอของผบ.สส. ในการตั้งคนกลางมาดูแลการเลือกตั้ง โดยกองทัพคอยสนับสนุนจะเป็นไปได้หรือไม่ พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวว่า ปกติใครขออะไรมา กองทัพทำให้อยู่แล้ว ถ้าขอมาเป็นช่องทาง เพราะกองทัพถือเป็นกลไกของรัฐแต่ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ เราจะไปทำโน่นทำนี่ จะต้องมีการขอมา ซึ่งตนยังยึดหลักว่า งานที่รับผิดชอบต้องไม่ให้เสีย ต้องเดินหน้าไปเรื่อย ส่วนรายละเอียดทางการเมืองก็ว่ากันไป ที่ผ่านมาถือเป็นเรื่องดีที่ประชาชนออกมาแสดงความเห็นเป็นจำนวนมาก หากใครมีเหตุผลดีก็จะเป็นประโยชน์กับประเทศ  

 

 

ที่มา: เว็บไซต์ไทยรัฐ เว็บไซต์ข่าวสด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สั่งตรวจสอบเหตุมือมืดปาระเบิดบ้านผู้ต้องหาคดี 112

Posted: 18 Dec 2013 02:10 AM PST

18 ธ.ค.2556 เว็บไซต์ไทยรัฐรายงานว่า จากกรณีที่ตำรวจร้อยเวร สน.หนองจอก ได้รับแจ้งจากเจ้าของบ้านเลขที่ 9/279 ซอย 29 หมู่ 2 หมู่บ้านทรัพย์เจริญ เขตหนองจอก ซึ่งเป็นบ้านของ นายเอกภพ (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาคดีหมิ่นเบื้องสูงโดยมีคนร้ายไม่ทราบจำนวนปาระเบิดใส่บ้านเมื่อกลางดึกที่ผ่านมาแต่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ

พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า ได้มอบหมาย พล.ต.ต.ชาญเทพ เสสะเวช รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่ายังไม่ทราบว่าเป็นระเบิดชนิด โดยในตอนแรกเข้าใจว่าเป็นประทัดยักษ์แต่จากการเก็บหลักฐานในที่เกิดเหตุพบว่ามีดินระเบิดตกอยู่ ซึ่งต้องตรวจสอบอีกครั้งว่าเป็นระเบิดชนิดใด และในวันพรุ่งนี้ (19 ธ.ค.) จะมีการเรียกประชุมชุดสืบสวนเพื่อติดตามความคืบหน้าเหตุนี้อีกครั้ง ส่วนการติดตามตัวนายเอกภพได้จัดชุดติดตามจับกุมตัวแล้ว

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มติเพื่อไทยส่ง ส.ส.ทุกเขต คนบ้านเลขที่ 109 - ภูมิใจไทยสมัครเข้าพรรค

Posted: 18 Dec 2013 01:26 AM PST

มติพรรคเพื่อไทยส่ง ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ สมศักดิ์ เทพสุทิน นำคนบ้านเลขที่ 109 มัชฌิมาธิปไตยเดิม และภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนาบางส่วนสมัครเข้าพรรคพร้อมรับเลือกตั้ง - ส่วนมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ขอเว้นวรรคการเมือง

ที่มา: เว็บไซต์พรรคเพื่อไทย

18 ธ.ค. 2556 - สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานเมื่อวานนี้ (17 ธ.ค.) ว่า ที่พรรคเพื่อไทยมีสมาชิกพรรคการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะสมาชิก บ้านเลขที่ 109 ที่พ้นจากการถูกตัดสิทธิทางการเมือง ได้เข้ามาสมัครสมาชิกพรรคเพื่อไทยจำนวนมาก เช่น กลุ่มมัชฌิมาธิปไตย ได้แก่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน นายเรืองศักดิ์ งามสมภาค นายมนู พุกประเสริฐ นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล นายมานิต นพอมรบดี นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา นายอนุชา นาคาศัย และนางนันทนา สงฆ์ประชา และจากพรรคภูมิใจไทย 4 คน ประกอบด้วย นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร นางสาวชะวรลัทธิ์ ชินธรรมมิตร นายปิยะรัช หมื่นแสน นายวิสิทธิ์ พิทยาภรณ์ และจากพรรคชาติไทยพัฒนาได้แก่ นางปารีณา ไกรคุปต์ โดยฝั่งพรรคเพื่อไทยมี นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายสมชาย วงศ์สวัสดื์ อดีตนายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับผู้สมัครเข้าพรรคเพื่อไทยอย่างอบอุ่น

นายสมศักดิ์ กล่าวว่ารู้สึกยินดีที่ได้กลับมาร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งเชื่อมั่นว่าสถานการณ์ในปัจจุบันมีแต่พรรคการเมืองใหญ่ที่จะดำเนินงานทางการเมืองได้อย่างมั่นคง ด้านนายสมชายกล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้พรรคเพื่อไทยมีศักยภาพและแข็งแกร่งมากขึ้น พร้อมสนับสนุนให้เดินหน้าจัดการเลือกตั้ง

ขณะเดียวกัน สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานด้วยว่า นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงถึงมติที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค ว่าได้มอบให้นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นผู้พิจารณาและเสนอชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 125 คน และแบบแบ่งเขต 375 เขต โดยจะให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 23 ธันวาคมนี้ พร้อมมอบหมายให้นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อดีตกรรมการพรรคพลังประชาชน เป็นผู้อำนวยการศูนย์การเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย นอกจากนี้ ยังกำชับห้ามไม่ให้กรรมการบริหาร และสมาชิกทุกคน กระทำผิดกฎระเบียบที่คณะกรรมการเลือกตั้งกำหนดไว้ ทั้งนี้ที่ประชุมไม่มีการพิจารณารายชื่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นแคนดิเดต ส.ส. แบบบัญชีรายชื่ออันดับหนึ่ง เนื่องจากขณะนี้มีรายชื่อผู้ที่สมัครรับการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อเป็นจำนวนมาก ซึ่งต้องพิจารณาคัดเลือกคุณสมบัติของผู้สมัครให้แล้วเสร็จก่อน

นายพร้อมพงศ์ เปิดเผยด้วยว่า จะรวบรวมรายชื่อสมาชิกพรรคเพื่อไทยและประชาชนทั่วไปเพื่อดำเนินคดีกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. และกลุ่ม 40 ส.ว. โดยเฉพาะนายไพบูลย์ นิติตะวัน ที่กระทำการส่อไปในทางไม่สุจริต เพราะทำการขัดขวางการเลือกตั้ง เนื่องจากร้องขอ กกต. ให้เลื่อนวันเลือกตั้งออกไป ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ ได้คัดเลือกกรรมการบริหารพรรคทั้ง 35 คน ว่า เป็นเรื่องปกติที่พรรคการเมืองต้องทำการปฎิรูป ทั้งนี้อยากให้กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ คำนึงถึงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 รวมทั้งให้ส่งรายชื่อผู้สมัครทั้งแบบเขตและบัญชีรายชื่อลงสมัครแข่งขันด้วย

ล่าสุด สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานวันนี้ (18 ธ.ค.) ว่า นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย อดีตหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคพลังประชาชน อดีตรองนายกรัฐมนตรี แสดงความจำนงต่อหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ไม่ขอลงสมัครเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 พร้อมยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค มีผลตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่า ไม่ได้มีความขัดแย้ง ถูกกดดัน ปัญหาภายในพรรค และไม่ได้เบื่อการเมือง แต่ส่วนตัวต้องการเว้นวรรคหรือหยุดพักการทำงานการเมือง ไปปฏิบัติหน้าที่อื่นแทน และยืนยันว่า ไม่คิดไปสังกัดพรรคการเมืองอื่น และยังมีความสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทย ส่วนสมาชิกจะมีสมาชิกพรรคคนอื่นลาออกด้วยหรือไม่ ไม่ทราบ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น