โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ฝ่ายหนุน-ต้านแร่โปแตซอุดรฯ เกิดปะทะกัน

Posted: 31 Oct 2010 09:22 AM PDT

เกิดการปะทะกันระหว่างฝ่ายหนุนและฝ่ายค้านโครงการเหมืองแร่โปแตซ จ.อุดรธานี ขณะที่เจ้าหน้าที่กรมเหมืองแร่ฯ และฝ่ายสนับสนุน พยายามเข้ามาปักหมุดกำหนดพื้นที่โครงการ

เวลา 14.30 น. วันนี้ (31 ต.ค.) เกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวนกว่า 300 คน  กับชาวบ้านผู้สนับสนุนโครงการเหมืองแร่โปแตซ จังหวัดอุดรธานี  ประมาณจำนวน 200 คน โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นในพื้นที่ปักหมุด รังวัด เพื่อกำหนดขอบเขตโครงการเหมืองแร่โปแตซอุดรธานี  ในเขต ต.หนองไผ่ ต.โนนสูง อ.เมือง ต.ห้วยสามพาด และ ต.นาม่วง  อ.ประจักษ์ศิลปาคม  จ.อุดรธานี

การกระทบกระทั่งกันครั้งนี้ มีสาเหตุมาจากการพยายามที่จะเข้ามาปัดหมุดรังวัดเพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตซ โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ หรือ กพร. ซึ่งพยายามจะดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม ที่ผ่านมา

โดยกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวหาว่า ในวันนี้ กพร. และบริษัทได้มีการว่าจ้างชาวบ้านจำนวน 200 คน ให้มาเป็นกันชนต่อชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ  ที่มาร่วมกันตรึงพื้นที่แต่ละจุดที่คาดว่าจะมีการเข้ามาปักหมุดรังวัด

โดยการกระทบกันระหว่างชาวบ้านทั้งสองกลุ่มนั้น เกิดขึ้นสามครั้งในบริเวณที่จะมีการปักหมุดรังวัดในพื้นที่ โดยฝ่ายที่เห็นด้วยกับโครงการฯ ได้ร้องตะโกน ส่งเสียงยั่วยุชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ซึ่งส่วนใหญ่จัดตั้งกลุ่มผู้หญิง เด็ก และคนแก่ มาเป็นกันชนขัดขวางการปักหมุดรังวัด โดยให้เหตุผลในการขัดขวางว่าเจ้าหน้าที่ดำเนินการที่ไม่ชอบธรรมและชาวบ้านขาดการมีส่วนร่วม ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ทำหน้าที่เพียงแค่อำนายความสะดวกให้กับการปักหมุดรังวัดในแต่ละจุดเสร็จสิ้นอย่างรวดเร็ว

นางมณี บุญรอด แกนนำชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี  ได้กล่าวว่า  ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์จะยังคงยืนหยัดขัดขวางการรังวัดปักหมุดให้ถึงที่สุด  และจะไม่ยินยอมให้ใครมาแย่งชิงทรัพยากรของท้องถิ่นที่ตนเองและกลุ่มร่วมกันหวงแหนไว้ให้กับลูกหลาน

ส่วนนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน  กล่าวถึงการกระทบกระทั่งกันระหว่างกลุ่มชาวบ้านทั้งสองฝ่ายว่า การดำเนินการปักหมุดรังวัดขาดความชอบธรรม  และได้แสดงความกังวลใจต่อความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้

 “การปักหมุดรังวัดในครั้งนี้นั้นได้ขาดความชอบธรรมไปแล้ว เพราะชาวบ้านในพื้นที่ขาดการมีส่วนร่วม และ กพร. ไม่ได้ลงมาชี้แจงให้กับชาวบ้านในพื้นที่ก่อนว่า พื้นที่ๆ จะทำการปักหมุดรังวัดอยู่ในจุดไหนบ้าง  และผมมีความห่วงใยต่อการที่บริษัทใช้เงินขนคนมา  เพื่อที่จะเป็นกันชน และสร้างสถานการณ์ให้เกิดการปะทะกันขึ้นระหว่างชาวบ้านทั้งสองฝ่าย  ถ้าหากสถานการณ์มันลุกลามบานปลายไปมากกว่านี้มันก็จะยากต่อการควบคุม  โดยเฉพาะความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น  เมื่อเหตุการณ์มาถึงขนาดนี้ผมจึงอยากตั้งคำถามต่อบทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่มว่าวางตัวเหมาะสมหรือไม่ และส่วนราชการน่าจะมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ให้มากกว่านี้ และสุดท้ายถ้าเหตุการปะทะกันจนถึงขั้นรุนแรงและมีคนบาดเจ็บถึงขั้นล้มตายใครจะเป็นผู้รับชอบต่อเหตุการรืที่เกิดขึ้น”  สุวิทย์ กล่าว

ทั้งนี้ในช่วงเย็น เมื่อ กพร. และชาวบ้านฝ่ายที่เห็นด้วยกับโครงการฯ  ได้ถอนตัวออกไปจากพื้นที่แล้ว  ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ  ยังคงปักหลักร่วมกันในการเฝ้าระวังพื้นที่ตามจุดต่างๆ กันอย่างหนาแน่น  และจัดเวรยามในในช่วงกลางคืน  และมีการนัดหมายกันให้มาอย่างพร้อมเพรียงในเช้าวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553  เวลา 06.00  น.  สำหรับการตรึงพื้นที่ป้องกันการเข้ามาปักหมุดรังวัดต่อไป

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุรพศ ทวีศักดิ์: บทเติม “กษัตริย์ตามทัศนะของพุทธศาสนา”

Posted: 31 Oct 2010 04:54 AM PDT

สุรพศ ทวีศักดิ์” ส่งบทความอันเป็น “บทเติม” บทความก่อนหน้านี้ โดยเสนอว่าต้องซื่อสัตย์ต่อหลักการที่ว่าพุทธศาสนาปฏิเสธระบบชนชั้นอย่างชัดเจน ทั้งในแง่หลักการสำคัญของคำสอน

ในบทความ กษัตริย์ตามทัศนะของพุทธศาสนา” ผมอ้างถึงอัคคัญญสูตรว่า พุทธศาสนาปฏิเสธระบบชนชั้นแบบพราหมณ์ และเสนอว่าพุทธศาสนามองว่า “มนุษย์เท่าเทียมกับภายใต้กฎแห่งกรรม” ประเด็นที่ผมต้องการขยายความต่อ คือ

1. การปฏิเสธระบบวรรณะแบบพราหมณ์ หมายถึงการปฏิเสธความคิดหลักสำคัญสองเรื่อง คือ 1) ปฏิเสธอภิปรัชญาที่ว่าพระพรหมสร้างโลกสร้างมนุษย์ และกำหนดสถานะทางชนชั้นอย่างตายตัว เป็น กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร 2) ปฏิเสธสถานะทางศีลธรรมที่ตัดสินคุณค่าความเป็นคน ความดี ความเลว การได้รับการปฏิบัติ หรือยกเว้นการปฏิบัติ ฯลฯ โดยอ้างอิงสถานะทางชนชั้น

2. เมื่อปฏิเสธเช่นนั้นพระพุทธองค์เสนอว่า “...เรื่องของสัตว์เหล่านั้นจะต่างกันหรือเหมือนกัน จะไม่ต่างกันหรือไม่เหมือนกันก็ด้วยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่นอกไปจากธรรม...” ฉะนั้น เกณฑ์ตัดสินดีเลวของมนุษย์ คือ “ธรรม” ซึ่งได้แก่ กุศลธรรม กับอกุศลธรรม ใครประพฤติกุศลธรรมก็คือทำกรรมดี ได้รับผลดี ประพฤติอกุศลธรรมก็คือทำกรรมชั่ว ได้รับผลชั่ว หรือทำดี ก็เป็นคนดี ทำชั่ว ก็เป็นคนชั่ว นี่คือความหมายตรงๆ ของคำว่า “ธรรม หรือกรรมจำแนกคนให้ต่างกันหรือเหมือนกัน” ซึ่งเจาะจงที่เรื่องทางศีลธรรม ไม่ใช่เรื่องสถานะทางสังคม (แน่นอนว่า ตามคำสอนเรื่องกรรมระบุว่าคนทำดี ทำชั่วแล้วทำให้เกิดมามีสถานะทางสังคมที่ต่างกัน แต่นั่นคือ “ทำให้เกิด” ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเกิดมาในชนชั้นใดๆ แล้วเขาควรจะได้รับข้อยกเว้นเป็นพิเศษ เช่น เกิดในชนชั้นกษัตริย์แล้ว สั่งฆ่าคนต้องได้รับข้อยกเว้นไม่ต้องรับผิดทางศีลธรรม ฯลฯ ในทศชาติชาดก “พระเตมีใบ้” ทำตัวเป็นคนใบ้เพราะไม่ต้องการเป็นกษัตริย์ เนื่องจากเห็นว่าถ้าเป็นกษัตริย์อาจหลีกเลี่ยงการทำบาปไม่ได้ เช่น ต้องสั่งประหารชีวิตนักโทษ เป็นต้น)

3. ประเด็นสำคัญคือหลักคิดเรื่องกรรมบ่งบอก “ความเป็นมนุษย์” อย่างไร พุทธศาสนาระบุว่า “กรรมคือเจตนา” (เจตนาหัง กัมมัง วทามิ - ภิกษุทั้งหลายเรากล่าเจตนาว่าเป็นกรรม) หมายความว่า กรรมหรือการกระทำเกิดจากความจงใจ เมื่อมีความจงใจก็หมายถึงมี “การเลือก” (ว่าจะทำอะไร จะทำหรือไม่ทำ ฯลฯ) เมื่อมีการเลือกก็หมายความว่ามี “เสรีภาพ” และเพราะใช้เสรีภาพในการเลือกกระทำจึงต้องรับผิดชอบต่อผลกรรมหรือผลของการกระทำ ฉะนั้น หลักคิดเรื่องกรรมหรือการกระทำทางศีลธรรมตามทัศนะของพุทธศาสนา จึงแสดงให้เห็น “ความเป็นมนุษย์” ว่าคือ “ความมีเสรีภาพและความรับผิดชอบ”

4. ประเด็นที่ว่า “ความเป็นมนุษย์คือเสรีภาพ” นี้ ผมคิดว่าพุทธศาสนามองในระดับเดียวกับทัศนะของ existentialism (แม้จะมีรายละเอียดอื่นๆ ต่างกันมาก) คือมองว่า “เสรีภาพ เป็น essence หรือเป็นธรรมชาติอันเป็นแก่นแท้ของมนุษย์” ในความหมายที่ว่า ถ้าปราศจากเสรีภาพมนุษย์ก็ไม่เหลือความเป็นมนุษย์ พุทธศาสนาอาจไม่มีคำศัพท์ freedom เหมือนที่ใช้กันในปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ แต่คำสำคัญที่ยืนยันว่า “เสรีภาพ เป็น essence หรือเป็นธรรมชาติอันเป็นแก่นแท้ของมนุษย์” คือคำว่า “วิมุติ” (พจนานุกรมพุทธศาสน์ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “วิมุติ” ว่า freedom) หมายถึงความหลุดพ้น ความมีเสรี หรือความเป็นอิสระจากพันธนาการของกิเลส สาระสำคัญก็คือว่า สัญชาตญาณ อารมณ์ความรู้สึก ความโลภ โกรธ หลง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้แม้จะเป็นคุณลักษณะด้านหนึ่งของมนุษย์ แต่ก็ไม่ใช่ essence ของมนุษย์ในความหมายที่ว่าเมื่อเอาสิ่งเหล่านี้ออกไป หรือขจัดสิ่งเหล่านี้ออกไปจากความเป็นมนุษย์ได้หมดสิ้น (เช่นพระพุทธเจ้า พระอรหันต์) ความเป็นมนุษย์ก็ไม่ได้หมดไป [มีพุทธพจน์ยืนยันว่ากิเลสต่างๆเป็นเหมือนอาคันตุกะที่จรมาในจิตเรา] แต่พุทธศาสนากลับมองว่าเมื่อขจัดสิ่งเหล่านั้นออกไป เสรีภาพที่สมบูรณ์ของมนุษย์ปรากฏขึ้น ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ปรากฏขึ้น!

5. เรื่อง “เสรีภาพ (ทางจิต) ที่สมบูรณ์ = ความเป็นมนุษย์สมบูรณ์” เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันได้ (เพราะเกี่ยวข้องกับความหมาย/คุณค่าของ “สมบูรณ์” ว่าคืออะไร น่าพึงปรารถนาหรือไม่ ฯลฯ) แต่ความหมายสำคัญคือว่า ถ้ามนุษย์ไม่มี “เสรีภาพ เป็น essence หรือเป็นธรรมชาติอันเป็นแก่นแท้” มนุษย์จะสามารถพัฒนาตนให้สามารถบรรลุถึงวิมุติหรือความมีเสรีภาพที่สมบูรณ์ได้อย่างไร

สรุปตรงนี้ว่า เพราะมนุษย์มีเสรีภาพเป็นแก่นสาร ฉะนั้น มนุษย์จึงสามารถเลือกกระทำกรรมต่างๆ และหากมนุษย์เลือกกระทำกรรมดี จนถึงเลือกปฏิบัติตามมรรคมีองค์ 8 ได้สมบูรณ์ มนุษย์ก็จะหลุดพ้นจากอำนาจของสัญชาตญาณหรือกิเลสต่างๆ กลายเป็นมนุษย์ที่มีเสรีภาพสมบูรณ์ หรือเสรีภาพที่เป็นแก่นสารซึ่งอยู่ในสภาพแฝง (potentiality) คลี่คลายกลายเป็นสภาพจริง (actuality)

6. ทีนี้เราจะมอง “ความเป็นคนที่เท่าเทียม” ในมุมไหน สำหรับผมเราจะบอกว่า “ความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมคือความมีเสรีภาพ เป็น essence  เหมือนกัน” ก็ได้ และเนื่องจากความคิดเรื่องเสรีภาพในพุทธศาสนาแยกไม่ออกจากความคิดเรื่องกฎแห่งกรรมหรือกฎแห่งการกระทำทางศีลธรรม ในความหมายที่ว่าเสรีภาพในการเลือกกระทำเป็นเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ของ “กรรม” หรือการกระทำทางศีลธรรม

คือถ้ามนุษย์ไม่มีเสรีภาพในการเลือก กรรมหรือการกระทำและความรับผิดชอบก็มีไม่ได้ การพัฒนาตนไปสู่ความหลุดพ้นก็เป็นไปไม่ได้ และภายใต้กฎแห่งกรรมมนุษย์ย่อมมีความเสมอภาคทางศีลธรรม คือ “ทุกคนใช้เสรีภาพเลือกกระทำสิ่งเดียวกันด้วยคุณภาพจิต (เช่น โกรธ เมตตา ฯลฯ) แบบเดียวกันย่อมได้รับผลแบบเดียวกัน” หรือ “เมื่อใช้เสรีภาพเลือกทำสิ่งที่ถูกก็ถูก เลือกทำสิ่งที่ผิดก็ผิด ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม”

7. ฉะนั้น ความเสมอภาคภายใต้กฎแห่งกรรม หรือ “ความเท่าเทียมทางศีลธรรม” บ่งบอกถึง “ความเสมอภาคในความเป็นคน” คือ “ความมีเสรีภาพ-ความรับผิดขอบ-อิสรภาพที่จะลิขิตชีวิตตนเองที่มนุษย์มีอย่างเท่าเทียมกัน” ถ้า apply หลักการนี้กับหลักการทางสังคมการเมือง จะเห็นได้ชัดว่าขัดแย้งกับระบบสังคมการการเมืองที่ยอมรับระบบชนชั้น แต่เข้ากันได้กับระบบสังคมการเมืองที่ยืนยัน “ความเท่าเทียมในความเป็นคน"

 

บทส่งท้าย

ที่ผมเขียนมานี้ ไม่ได้ต้องการเสนอว่าพุทธศาสนาเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตย พุทธศาสนาย่อมเป็นพุทธศาสนาที่ให้คำตอบแน่นอนเฉพาะเพาะเรื่อง (ไม่ใช่ให้คำตอบได้ทุกเรื่อง) แต่ต้องการเสนอว่า พุทธศาสนาปฏิเสธระบบชนชั้นอย่างชัดเจน ทั้งในแง่หลักการสำคัญของคำสอน (เช่น ดังอภิปรายมา เป็นต้น) และความพยายามสร้างความเท่าเทียมทางสังคม เช่น สร้างสังคมสงฆ์ อนุญาตให้สตรีบวช เป็นต้น (แม้จะทำได้อย่างจำกัดในบริบทสังคมเมื่อกว่าสองพันปีที่แล้ว แต่ก็เห็นได้ว่าพยายามทำ)

การตีความพุทธศาสนาเพื่อสนับสนุนระบบชนชั้น (หรือ apply พุทธเพื่อรับใช้การเมือง) อาจพิจารณาได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเราต้องยอมรับอย่างซื่อสัตย์ว่านั่นเป็น “การบิดเบือน” เมื่อประวัติศาสตร์เปลี่ยนไป หรือผู้เขียน (ที่มีอำนาจอันชอบธรรมในการเขียน) ประวัติศาสตร์เปลี่ยนมาเป็นประชาชนของประเทศ เราย่อมไม่อาจยอมรับการบิดเบือนแบบอดีตอีกต่อไป

ซึ่งทำได้ง่ายๆ คือ ต้องซื่อสัตย์ต่อหลักการที่แท้จริง!

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อัตตาลักษณ์แห่งชาติพันธุ์กับการเมืองเรื่อง "ความเป็นชาตินิยม"

Posted: 30 Oct 2010 09:17 PM PDT

อัตลักษณ์ (identity) เป็นความรู้สึกของบุคคลมีต่อตนเองว่า “ฉันคือใคร” การระบุได้ว่าเรามีอัตลักษณ์เหมือนในกลุ่มหนึ่งและมีความแตกต่างจากกลุ่มอื่นอย่างไร และ “ฉันคือใคร” ในสายตาคนอื่น อัตลักษณ์นั้นเป็นลักษณะที่มีความสลับซับซ้อน และไม่ได้ชี้เฉพาะเจาะจงไปในเรื่องใด หรือในลักษณะใดในร่างกายอย่างรัดกุม สำหรับคนๆ หนึ่งแล้วสามารถระบุได้ว่าเป็นมีหลายอัตลักษณ์ภายในคนๆ เดียว

แต่สำหรับอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์แล้วเป็นลักษณะทางชีวภาพไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งในส่วนของแนวคิดเรื่องชาติ ได้ก่อตัวเป็นแนวคิดชาตินิยม ชาตินิยมเป็นกระบวนการในการสร้างอุดมการณ์ให้เกิดการหวงแหน และสำนึกในการรักชาติ เป็นการแสดงถึงอัตลักษณ์อย่างหนึ่งของมนุษย์ ลักษณะของชาตินิยมจากตัวอย่างที่ปรากฏอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มี 2 ลักษณะที่เด่น คือ

1. ชาตินิยมแบบพรมแดน หรือ ชาตินิยมพลเมือง โดยชาตินิยมประเภทได้ให้ความสำคัญต่อประชาชนทุกชาติพันธุ์ภายในประเทศประเทศของตน โดยไม่มีการเน้นถึงกลุ่มชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่งในประเทศนั้นๆ ตัวอย่างชาตินิยมประเภทนี้คือ ประเทศอินโดนีเซีย ตัวอย่างเช่น ได้มีการสร้างภาษาขึ้นมาใหม่เพื่อเป็นภาษากลางที่ใช้ภายในประเทศ

2. ชาตินิยมแบบเน้นชาติพันธุ์ เป็นแนวคิดชาตินิยมที่ให้ความสำคัญเฉพาะกลุ่มของตนเองอย่างเช่น มาเลเซีย พม่า เป็นต้น ซึ่งในกรณีนี้ มีความพยายามผลักดันวัฒนธรรมของตนเองให้เป็นวัฒนธรรมกระแสหลักแห่งชาติ

 

โดยส่วนชาติพันธุ์ได้กลายเป็นปัญหาที่บั่นทอนความมั่นคงภายในประเทศต่างๆ ที่มีความหลากหลายภายในประเทศนั้นๆ สำหรับภาพรวมองปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาทางชาติพันธุ์เกิดจากปัจจัยต่างๆ เช่น

1. โลกาภิวัตน์ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความเป็นชาติอ่อนแอลง

2. ทุนนิยม ความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องของเศรษฐกิจ และการพัฒนาเศรษฐกิจที่เอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนชาติพันธุ์หลักของประเทศ

3. ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากร เป็นการผูกขาดในการใช้ทรัพยากร ได้นำทรัพยากรตามภูมิภาคต่างๆ มาใช้ประโยชน์ สำหรับผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้กลับไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ แต่เป็นนายทุน และรัฐบาลนำไปพัฒนาเมืองหลวงเป็นส่วนใหญ่ เช่นในกรณีของอาเจะห์ ที่ทางรัฐบาลอินโดนีเซีย ได้นำทรัพยากรที่มีในพื้นที่ตรงนี้ แต่กลับนำไปพัฒนาในอาเจะห์เพียงเล็กน้อย

 

จึงทำให้เรื่องของชาติพันธุ์ได้กลายเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อความมั่นคงต่อรัฐบาลในหลายประเทศ โดยปัญหาชาติพันธุ์เป็นเรื่องที่เป็นความขัดแย้ง ตัวอย่างในกรณีของประเทศรวันดา  เหตุความขัดแย้งก็เกิดขึ้นจากกลุ่มชาติพันธุ์ 2 กลุ่มที่อาศัยอยู่ภายในประเทศเดียวกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ทุทซี่ กับฮูตู ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนนับล้าน หรือแม้แต่สงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลาอย่างช้านานเช่น สงครามระหว่างอิสราเอล กับปาเลสไตน์ ก็มีสาเหตุหนึ่งจากความแตกต่างของชาติพันธุ์ปรากฏอยู่ด้วย คือความขัดแย้งระหว่างชาวยิวกับชาวอาหรับ

นอกจากนี้ปัญหาชาติพันธุ์ภายในประเทศมาเลเซีย จากกรณีของเหตุการณ์ฮินดาฟ ที่มีการประท้วงเรียกร้องการปกครองอย่างเป็นธรรม โดยชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ภายในประเทศ  การประท้วงครั้งนี้ได้มีการนำเอาสัญลักษณ์ของประเทศอินเดีย รวมถึงมหาตมะ คานธี นับว่าเป็นปรากฏการณ์ทางชาติพันธุ์ ที่มีการเชื่อมโยงสู่ประเทศเดิมของบรรพบุรุษตน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการสำนึกในการเป็นคนในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน แม้นว่าจะอาศัยอยู่นอกพื้นที่ประเทศของตนเองก็ตาม

สำหรับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นรายวันภายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องมองย้อนไปตั้งแต่ยุคที่สังคมไทย เริ่มสร้างแนวคิดใหม่เพื่อการสร้างความเป็นไทยขึ้นมา ความเป็นไทยที่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นวัฒนธรรมของคนในชาติ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วอาจเป็น ความเป็นกรุงเทพฯ ที่นำมาใช้นิยามในลักษณะเช่นนี้ และการสร้างสิ่งที่ใหม่สำหรับกลุ่มอื่นๆ ที่มีวัฒนธรรมเดิมของตนเอง แต่จำต้องรับและปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นไทยตามการกำหนดขึ้นของทางรัฐบาล ซึ่งวิธีการเหล่านี้เป็นกระบวนการหนึ่งที่เกิดขึ้นภายในรัฐสมัยใหม่ ที่บรรจุคนที่มีความหลากหลายเข้าไว้ในเส้นพรมแดนที่เรียกกันว่า รัฐชาติ

โดยเฉพาะในสมัยของ นายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สร้างความเป็นไทยขึ้นมาใหม่ ด้วยการกำหนดนโยบายที่มีความเป็นชาตินิยม และใช้ในการสร้างวัฒนธรรมไทยให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเชิดชูในความเป็นไทย รวมถึงการการสร้างความเป็นสมัยใหม่ กระตุ้นให้เกิดกระแสความรักชาติเป็นและได้เปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทย ซึ่งได้แสดงออกถึงว่าเป็นประเทศของชาวไทย ได้สร้างวัฒนธรรมไทยขึ้นมาตามรูปแบบตะวันตก นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ประเด็นอัตลักษณ์ได้กลายมาเป็นข้ออ้างในการก่อการความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการต่อต้านอำนาจจากส่วนกลางมาจนถึงปัจจุบัน

แต่ในกรณีของชาตินิยมกลับกลายเป็นเรื่องที่ลื่นไหลได้ตลอดเวลาตามการนิยามของผู้คนในช่วงเวลานั้น และได้กลายเป็นเครื่องมือในการสร้างทัศนคติที่เหยียดหยาม เช่น ในกรณีจาก การสร้างกระแสชาตินิยมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เป็นปัญหาความขัดแย้งในเรื่องของปราสาทเขาพระวิหาร รวมถึงการระบุถึงกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ว่าเป็นคนขายชาติ เพราะมีพฤติกรรมที่ฝักใฝ่กับรัฐบาลกัมพูชา

จากสาเหตุที่ได้กล่าวไปแล้วทั้งหมด จึงเห็นได้ว่าชาตินิยมจึงสัมพันธ์กับกลุ่มความคิดของผู้คนจำนวนมากที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่กลับไปกดทับผู้คนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยทำให้ชาตินิยมได้กลายเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการกดขี่และการบังคับให้ผู้อื่นกระทำตามในสิ่งที่ตนต้องการให้เป็น รวมถึงการจัดสรรผลประโยชน์ให้กับคนในกลุ่มของตนเองเท่านั้น และชาตินิยมเป็นเครื่องมือในการอำนวยประโยชน์ในทางการเมืองการปกครองเป็นสำคัญ

ดังนั้นแม้ว่าอัตลักษณ์เป็นลักษณะที่ระบุถึงความเป็นคนๆ หนึ่งและนำไปสู่การระบุถึงความเป็นตัวตนว่าตัวเองเป็นใคร ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นชาติตัวเอง แต่ในขณะเดียวกัน ลักษณะดังกล่าวได้สร้างความสูญเสีย เกิดความพยายามที่จะกลายกลืนอัตลักษณ์ของผู้อื่น เพื่อเชิดชูกลุ่มตัวเองให้เหนือกว่า

รากฐานของปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมไทยและสังคมโลกทุกระดับ มีข้อพึงระวัง คือ หากมนุษย์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ของตัวเอง ขาดการเคารพอัตลักษณ์ของผู้อื่น จนเกิดการสร้างกระแสความเป็นชาตินิยม เพื่อผลประโยชน์และอำนาจทางการเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนเกินเลยและเกิดความเหลื่อมล้ำ มักจะนำสู่ความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรงในการสร้างกระแสต่อต้านจนเกิดความสูญเสียถึงชีวิตในหลายกรณีดังที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ทางการเมืองของประเทศต่างๆในโลกตลอดมา

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กลุ่มอนุรักษ์อุดรฯ ตั้งด่านเฝ้าระวังเจ้าหน้าที่รังวัดเขตเหมืองโปแตซ

Posted: 30 Oct 2010 07:50 PM PDT

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีสับ กพร. เละ จวกแหกตาชาวบ้าน ฉวยโอกาสปักหมุดรังวัดพื้นที่เหมืองเอื้อประโยชน์บริษัทโปแตซ ทั้งที่ช่วงชี้แจงจะให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม

เวลา 8.00 น. วานนี้ (30 ต.ค.) กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ประมาณ 200 คน ได้ร่วมกันเฝ้าระวังและป้องกัน การเข้ามาปักหมุดรังวัดเพื่อสำรวจขอบเขตพื้นที่เหมืองแร่โปแตซซึ่งดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ในเขตพื้นที่ตำบลห้วยสามพาด ตำบลนาม่วง อำเภอประจักษ์ศิลปาคม ตำบลหนองไผ่ และตำบลโนนสูง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตซ จังหวัดอุดรธานี

ทั้งนี้ เมื่อ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา กรมอุตสาหกรรมฯ ได้มีการประชุมชี้แจงเรื่องการขออนุญาตประทานบัตรตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ภายใต้กรอบมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550  ณ โรงแรมเซ็นทารา โฮเต็ล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดอุดรธานี  โดยมีวิทยากรมาบรรยายให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับ ประเด็นสิทธิชุมชน  แนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์โครงการเหมืองแร่โปแตซ และขั้นตอนการขอประทานบัตรการทำเหมืองใต้ดิน  อีกทั้งเปิดให้ชาวบ้านที่เข้าร่วมเวทีชี้แจงให้ซักถาม แลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นต่างๆ ที่บรรยายโดยวิทยากร

หลังจากเวทีชี้แจงฯ เพียงหนึ่งวัน ชาวบ้านในพื้นที่กลับได้รับหนังสือจากหน่วยงานราชการต่อการเข้ามาในพื้นที่เพื่อทำการปักหมุดรังวัดโดยเจ้าหน้าที่จากกรมอุตสาหกรรมฯ ในช่วงระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม ถึง วันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 ทำให้ลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่มีความชอบธรรม ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ โดยให้เหตุผลว่าภายในเวทีชี้แจงที่ผ่านมานั้น ได้มีการกล่าวถึงขั้นตอนของการปักหมุดรังวัดว่าต้องเปิดเวทีประชาคมให้ข้อมูลให้กับชาวบ้านในพื้นที่อย่างทั่วถึงและรอบด้าน เพื่อให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น  อีกทั้ง ความพยายามผลักดันการปักหมุดรังวัดในช่วงระยะที่ผ่านมาได้สร้างความขัดแย้งแตกแยกให้เกิดขึ้นในพื้นที่  อันเนื่องมาจากกระบวนการที่ไม่ชอบธรรมและขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน

นายบุญเลิศ เหล็กเขียว แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี  ได้กล่าวถึงการเข้ามาปักหมุดรังวัดของ กรมอุตสาหกรรมฯ ในครั้งนี้ว่า เป็นการดำเนินการที่ลัดขั้นตอน และขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในพื้นที่  เพราะในเวทีชี้แจงที่ผ่านมา  อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  หรือ กพร.  ได้พูดไว้ว่าถ้าหากจะมีการรังวัดปักหมุดเพื่อหาขอบเขตพื้นที่การทำเหมืองนั้น  จะทำการเปิดประชุมกับชาวบ้านเพื่อถามความคิดเห็นก่อนที่จะการดำเนินการ แต่ในครั้งนี้ กพร. กลับมาลงมือปักหมุดรังวัดทันทีที่เสร็จสิ้นจากเวทีชี้แจง  ซึ่งถือว่าพฤติกรรมของ กพร. นั้นได้สวนทางกับสิ่งที่ อธิบดี กพร. ได้พูดไว้  และการจัดเวทีของ กพร.นั้น บริษัทได้มีการเกณฑ์คนเข้ามาร่วมโดยใช้เงินจ้างมาเป็นจำนวนมาก   ตนจึงมีข้อสังเกตว่า การกระทำของ กพร. เอื้อประโยชน์หรือมีการสมรู้ร่วมคิดในการผลักดันโครงการเหมืองโปแตซ กับบริษัทรึเปล่า นายบุญเลิศ กล่าว

บุญเลิศ กล่าวด้วยว่า ทางกลุ่มจะไม่มีทางให้มีการปักหมุดรังวัดขึ้นในพื้นที่โดยเด็ดขาด เพราะทางกลุ่มยังยืนยันในจุดยืนถึงการคัดค้านโครงการเหมืองโปแตซว่าจะต้องมีการดำเนินต่อไป เพราะเป็นสิทธิอันชอบธรรมของชาวบ้านที่จะปกป้องรักษาทรัพยากรท้องถิ่นของตนเอง

ด้านนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์  ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน  ได้แสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ดังกล่าวว่า ที่ผ่านมา อธิบดี กพร. ได้มีการพูดคุยร่วมกับนักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน กว่าสิบคน  ซึ่งเบื้องต้นได้มีความเห็นร่วมกันที่จะทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ หรือ เอสอีเอ ต่อการพัฒนาเหมืองแร่โปแตซในภาคอีสาน แต่ยังมิได้มีการวางกรอบประเด็นสำหรับการศึกษาร่วมกัน โดย อธิบดี กพร. จะทำหน้าที่ในการเปิดเวทีชี้แจงให้ข้อมูลในทุกจังหวัดที่เหมืองแร่โปแตซ  ในประเด็นประเภทโครงการรุนแรง  ตามมาตรา 67 วรรค 2และการทำเอสอีเอ ซึ่งทางเราเห็นด้วยต่อสิ่งที่อธิบดี กพร. ได้พูดไว้  และในช่วงระหว่างการทำเอสอีเอนั้น อธิบดี กพร. ก็เห็นด้วยและรับหน้าที่ในการประสานงานกับผู้ประกอบการการลงทุนด้านเหมืองแร่โปแตซ  ให้หยุดกระบวนการทุกขั้นตอนในการผลักดันโครงการเหมืองแร่โปแตซ

แต่หลังจากเวทีชี้แจงเมื่อวันที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา  อธิบดี กพร.  ได้มีการทำหนังสือไปยังส่วนราชการในจังหวัดอุดร  เพื่อขอเข้าไปทำการปักหมุดรังวัดขอบเขตพื้นที่เหมืองโปแตซจังหวัดอุดร โดยอ้างว่าต้องการทราบถึงขอบเขตพื้นที่เหมืองแล้วนำไปใช้ในการทำ เอสอีเอ  การกระทำของ กพร.  ได้แสดงออกถึงความไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหาโครงการเหมืองแร่โปแตซที่มีมาตลอดช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา

สุวิทย์ กล่าวด้วยว่า ได้ทำการปรึกษาหารือร่วมกับ นักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน  ที่เคยร่วมคุยกับ อธิบดี กพร. ในช่วงที่ผ่านมาในเรื่องการทำเอสอีเอ  ซึ่งทุกคนได้มีความเห็นต่อ การกระทำของ กพร.  ว่าไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาเหมืองแร่โปแตซ และเป็น หน่วยงานราชการ แต่กลับวางตัวไม่เหมาะสมต่อสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น  จึงไม่ขอเข้าร่วมกระบวนการทำทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ หรือ เอสอีเอ  ต่อการพัฒนาเหมืองแร่โปแตซในภาคอีสาน  ตามที่ได้คุยกันไว้มาก่อนหน้านี้

สำหรับสถานการณ์ภายในพื้นที่นั้น ล่าสุดได้รับการรายงานจากผู้สื่อข่าวว่า ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ  ยังคงร่วมกันเฝ้าระวังการเข้ามาปักหมุดรังวัดของเจ้าหน้าที่กรมอุตสาหกรรมฯ ซึ่งสมาชิกกลุ่มทุกคนต่างได้ชักชวนกันมาประจำจุดต่างๆ ที่คาดว่าจะมีการเข้ามาปักหมุดรังวัด  และแบ่งบทบาทหน้าที่กันในการสำรวจตรวจตราความผิดสังเกตและคนแปลกหน้าที่เข้ามาในพื้นที่กันอย่างแข่งขันทั้งกลางวันและกลางคืน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปาฐกถานำ: 80 ปี “จิตร ภูมิศักดิ์”

Posted: 30 Oct 2010 05:15 PM PDT

 
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ปาฐกถานำ ในการสัมมนา 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ จัดโดย ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์และกองทุนจิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2553 ณ ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์
 
80 ปี “จิตร ภูมิศักดิ์”
พ.ศ.2473-2553 ค.ศ.1930-2010
(ปาฐกถานำ โดยชาญวิทย์ เกษตรศิริ 
29 ตุลาคม 2553/2010)
 
ท่านสุภาพบุรุษ สุภาพสตรี และสุภาพชน
 
ในฐานะประธานมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ และกองทุนจิตร ภูมิศักดิ์ ในฐานะของ “ผู้คนใฝ่ฝันอยากเรียน” ขอกล่าวสวัสดี และด้วยความเชื่อมั่นว่าคนที่ “เขาตายในชายป่า เลือดแดงทาดินอิสาน” นั้น มีจิตใจที่กว้างขวางใหญ่โตครอบคลุมไปทั่วทุกสัดส่วนของ “สยามประเทศไทย” แล้ว ก็ยังก้าวข้ามพรมแดนไปไกลพอที่จะกล่าวทักทาย “ผู้คนร่วมภูมิภาคอุษาคเนย์” ด้วยภาษาอื่นว่า “สบายดี-จุมเรียบซัว-ซินจ่าว-มิงกลาบา-และสลามัตเซียง” ฯลฯ
 
ในฐานะประธานมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ และกองทุนจิตร ภูมิศักดิ์ ในฐานะของ “ผู้คนใฝ่ฝันอยากเรียน” ที่ได้ร่วมการ “ขุดค้น-สร้างสรรค์-จด-และ-จำ” และล่าสุด คือ ผลัก-ดันให้เกิดทั้ง “อนุสรณ์สถานจิตร ภูมิศักดิ์” กับ “อนุสาวรีย์” หรือรูปปั้น-รูปสลักของมหาบุรุษที่ “เขาตายในชายป่า” ณ บ้านหนองกุง จังหวัดสกลนคร ข้าพเจ้าก็มีความวิตกกังวล เหมือนๆ กับที่ได้เคยมีส่วนในความผิดพลาด ในการกระทำสิ่งเดียวกันนี้ให้กับ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ เมื่อปี พ.ศ.2526 
 
นั่นคือทำให้ท่านปรีดีกลายเป็น “รูปปั้น” ที่ “นั่งนิ่งๆ” ไร้พลังอยู่ที่ริม “เจ้าพระยา ท่าพระจันทร์” และนี่ก็คือปัญหาทางด้านงานศิลปะ ปัญหางานด้านประติมากรรมปัจจุบันของประเทศเรา ที่ขาดพลัง ขาดชีวิต และขาดความเคลื่อนไหว ไม่สามารถจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นต่อๆ ไปได้ แม้จะมีข้อยกเว้นในบางกรณีของรูปปั้นและอนุสาวรีย์ในบ้านเมืองของเรา
 
แต่ข้าพเจ้าก็ยังอุ่นใจอยู่บ้าง เมื่อได้รับคำปลอบประโลมจากมิตรต่างชาติผู้หนึ่ง ที่บอกว่า “ความสำคัญของจิตร หาใช่ว่า เขาตายที่ไหน หรืออนุสาวรีย์ของเขาจะเป็นอย่างไร” แต่อยู่ที่ความเป็น “นักคิด-นักเขียน” หรือพูดให้ชัดก็คือ “หนังสือ” ของเขานั่นแหละ นั่นคือมรดกที่แท้จริงที่จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ทิ้งไว้ให้กับผู้คนและสังคม “สยามประเทศไทย”
 
เมื่อได้โจทย์เช่นนั้น ข้าพเจ้าก็ได้ข้อคิดเพิ่มเติมอีกว่า ในรอบ 100 ปี ที่ผ่านมา หากเราจะเสนอนามหรือพระนามของ “นักคิด-นักเขียน” ที่สร้างผลงานอันยิ่งใหญ่ สร้างแรงบันดาลใจ และสร้างความสั่นสะเทือนในแง่ของ “ภูมิปัญญา” ของ “สยามประเทศไทย” สัก 10 ท่านแล้ว จะมีใครกันบ้างเล่า ข้าพเจ้าเชื่อว่า 1 ใน 10 นั้น จะต้องมีจิตร ภูมิศักดิ์ติดอยู่ด้วย 
 
ครับ ข้าพเจ้าเชื่อว่าในแต่ละรอบของ 100 ปี อาจจะมี “มันสมอง” (ขอไม่ใช้คำว่า “อัจฉริยะ”) อย่าง “จิตร ภูมิศักดิ์” นี้ผ่านมาใน “แผนที่สยามประเทศไทย” บนโลกใบนี้เพียงไม่กี่มันสมอง/คนเท่านั้นเอง
 
เมื่อได้ทั้งโจทย์และข้อคิดข้างต้น ข้าพเจ้าก็เริ่มเสาะแสวงหาต่อ และก็ได้คำตอบจากมิตรต่างวัยว่า “เป็นการยากที่จะระบุว่าจิตร ภูมิศักดิ์ (พ.ศ.2473-2509 ค.ศ.1930-1966 เขาตายเมื่ออายุได้เพียง 36 ปี) ได้เขียนหนังสือออกมากี่เล่ม บทความกี่ชิ้น บทกวีกี่บท หรือแต่งเพลงจำนวนเท่าไหร่ เพราะงานของจิตร ภูมิศักดิ์ ได้เกิด “ภายใต้วันคืนอันอัปลักษณ์” โดยเฉพาะการถูกคุมขังในคุกลาดยาว (2501-2507) ภายใต้ “เผด็จการระบอบทหารสฤษดิ์-ถนอม” 
 
จิตร (ซึ่งถูกกระทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อจากสมจิตร ดังเช่น “นางพิม” เปลี่ยนเป็น “นางวันทอง” “สมบูรณ์” เปลี่ยนเป็น “ชาติชาย” หรือเหมือนๆกับที่ “สยาม” ต้องถูกจับเปลี่ยนเป็น “ไทย” “พระสยามเทวาธิราช” กลายเป็น “พระไทยเทวาธิราช” (ชั่วคราว) และ “แม่น้ำของ” ถูกเปลี่ยนเป็น “แม่น้ำโขง” นั้น) ได้ผลิตผลงานออกมาเป็นจำนวนมาก หลายชิ้นเพิ่งพิสูจน์ว่าเป็นผลงานของจิตร หลายชิ้นที่ยังไม่ทราบแน่ชัด ขณะที่อีกหลายชิ้นรอการตีพิมพ์”
 
ถึงแม้ว่าจิตรจะผลิตผลงานออกมาเป็นจำนวนมาก แต่ทว่าจิตร กลับมีหนังสือเพียงเล่มเดียวเท่านั้น ที่เป็นผลงานที่ตีพิมพ์ออกมาในช่วงที่เขายังชีวิตอยู่ นั่นคือ “ศิลปเพื่อชีวิต” ซึ่งเขียนในนามปากกา “ทีปกร” หนังสือเล่มนี้ถูกนำมาตีพิมพ์ในชื่อ “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” และเป็นผลงานของการเคลื่อนไหวทาง “ภูมิปัญญา” ของนักศึกษากลุ่ม “แสวงหาความหมาย” ยุคก่อน “วันมหาปิติ 14 ตุลา 2516 ” ที่ตีพิมพ์อย่างงดงามเตะตา (แม้จะขายไม่ออกเท่าไรนัก)
 
ส่วนผลงานอื่นๆ ที่เรารับรู้กันในปัจจุบันนั้น เขียนออกมาในรูปแบบของบทความตามวารสาร วิชาการ หนังสือนักศึกษา และหน้าหนังสือพิมพ์ ในวาระต่าง ๆกัน และที่มีมากที่สุดในปัจจุบันคือผลงานที่ “เพิ่งค้นพบ” ภายหลังที่จิตร ภูมิศักดิ์ เสียชีวิตไปแล้ว...
 
หลัง “14 ตุลา 2516” ทุกท่านก็คงทราบดีว่าได้เกิดกระแสของความเปลี่ยนแปลงทางภูมิปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนหนุ่มคนสาว ในหมู่ของนักเรียน-นิสิต-นักศึกษา ที่เราอาจจะเรียกให้ “เป็นบวก” ว่าเป็น “ปัญญาชน-คนรุ่นใหม่-ซ้ายใหม่-ความคิดก้าวหน้า” ฯ หรือให้ “เป็นลบ” ว่า “เอียงซ้าย-หัวรุนแรง-เด็กหัวแดง-คอมมิวนิสต์-หนักแผ่นดิน” ที่มาพร้อมๆกับความเปลี่ยนแปลงในระดับสากลของ “ยุค 60s-70s” ซึ่งนักสังเกตการณ์ “สังคมสยามประเทศไทย” ท่านหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า นี่เป็นปรากฏการณ์ที่กลับตาลปัตร แทนที่เราๆท่านๆ จะเชื่อว่า “ดวงอาทิตย์หมุนรอบโลก” กลับกลายเป็น “โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์” 
 
ไม่มีครั้งใดที่คนหนุ่มคนสาวของเรา จะมองหาวีรชน (heroes-heroines) ที่ไม่ใช่บุคคลที่ประสบความสำเร็จประเภท “มหาบุรุษ-มหาสตรี” ที่เป็นบุคคล-เจ้านายที่รัฐให้การยกย่องเชิดชูบูชา แต่วีรชน “ใหม่” ของ “คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่” นี้ กลับกลายเป็นบุคคลที่เป็นผู้แพ้ เป็นผู้ประสบเคราะห์กรรม พลัดพราก ถูกทำลายชีวิต เป็นสามัญชน และที่สำคัญ คือ ไม่ได้รับการรับรองจากรัฐ จากแบบเรียนกระทรวงศึกษาฯ หรือจากสื่อมวลชนกระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็น นสพ. วิทยุหรือทีวี และหลายต่อหลาย “วีรชนใหม่” นี้ถ้าไม่ถูกทำให้ “ลืม” ก็ no names หรือ “ไร้ชื่อ-ไร้เสียง” อย่างเช่นกรณีของปรีดี พนมยงค์ – กุหลาบ สายประดิษฐ์ – นายผี – เสนีย์ เสาวพงศ์ และจิตร ภูมิศักดิ์ 
 
ยุค 60s และ 70s นี้แหละที่เป็นยุคสมัยของการ “ขุด-แต่ง-ฟื้นฟู- บูรณะ-จด-และจำ” วีรชน “นอกคอก-นอกกรอบ-นอกทะเบียน” เหล่านี้
 
ในบริบทและบรรยากาศเช่นนี้แหละ ที่จิตร ภูมิศักดิ์ที่ดูเสมือน “ตายอย่างไร้ค่า แต่ต่อมาก้องนาม ผู้คนไถ่ถามอยากเรียน” ที่ทำให้งานคิด-งานเขียน” ของเขา “ถูกขุด-ถูกค้น” ขึ้นมาโดย “เยาวชนคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่” จนกล่าวได้ว่า จิตรได้ถือกำเนิดใหม่เป็นครั้งที่ 2 
 
หลัง “14 ตุลา 2516” เพียง 2-3 ปี มีผลงานของจิตร ก็ถูกตีพิมพ์ออกมาเป็นจำนวมาก เช่น กวีการเมือง (2517) บทวิพากษ์ว่าด้วยศิลปวัฒนธรรม (2517) นิราศหนองคาย วรรณคดีที่ถูกสั่งเผา (2518) งานแปล เช่น ความเรียงว่าด้วยศาสนา (2519) คาร์ล มากซ์ ประวัติย่อ (2518) ด้วยเลือดและชีวิต : รวมเรื่องสั้นเวียดนาม (2518)
 
ข้าพเจ้าจำได้ว่า ที่แผงหนังสือที่ท่าพระจันทร์นั้น วันหนึ่งข้าพเจ้าเห็นหนังสือหน้าปกแปลกๆ และชื่อเรื่องประหลาดๆ ที่ทำให้ข้าพเจ้าแม้จะจบปริญญาเอก เขียนงานวิทยานิพนธ์ทางประวัติศาสตร์อยุธยามาแล้ว ต้องควักเงินซื้อมาในทันที และก็อ่านจบอย่างรวดเร็วด้วยความรู้สึกที่ “พูดไม่ออกบอกไม่ได้”
 
หนังสือเล่มนั้น ก็คือ “โฉมหน้าศักดินาไทย” (2517) ที่เคยตีพิมพ์มาแล้วในรูปของบทความในหนังสือ “นิติศาสตร์ฉบับรับศตวรรษใหม่ “ (2500 ซึ่งก็คงไม่ค่อยจะมีคนได้อ่าน หรือแม้แต่รับรู้) งานเล่มนี้ของจิตร แม้จะได้รับการโต้-แย้ง-ปฏิเสธในแง่ของทฤษฏี (มาร์กซีสม์) อย่างรุนแรงจากนักรัฐศาสตร์-นักประวัติศาสตร์ “กระแสหลัก” แต่ก็สร้างความสั่นสะเทือนให้กับ “ภูมิปัญญา” และแนวความคิดเดิมๆ ของ “สยามประเทศไทย” อย่างไม่เคยมีมากก่อน
 
ในขณะเดียวกัน งานหนังสือวิชาการที่หนักแน่นและรัดกุมมากกว่า คือ “ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาวและขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” ที่ถูกฝาก-ฝังและเก็บรักษาต้นฉบับไว้เป็นอย่างดี (โดยสุภา ศิริมานนท์ และประสานงานขุดค้นออกมาให้ได้รับการตีพิมพ์ (2519) โดยชลธิรา สัตยาวัฒนา) ก็เริ่มปรากฏสู่บรรณพิภพหลังจากที่จิตรเสียชีวิตแล้วถึง 10 ปี (2509-2519) 
 
หนังสือเล่มนี้ น่าจะเป็นเล่มท้ายๆ ที่ตีพิมพ์ออกมาได้ก่อนเหตุการณ์ “วันมหาวิปโยค ̉6 ตุลา 2519” (ที่สังคมสยามประเทศไทยไม่เพียงแต่เห็น “อาชญากรรมโดยรัฐ” ใช้กำลังอาวุธทหารและตำรวจ ประหัตประหาร “ประชาชน” กลางกรุงเทพมหานครอีกหนึ่งครั้งในหลายๆ ครั้ง ที่มีมาก่อน และเกิดขึ้นตามหลังมาอีกนั้น ก็ได้เห็นการ “ยึด-ทำลาย-เผา-และคำสั่งห้าม” ทั้ง “หนังสือ-การอ่าน-การคิด-และการเขียน” เราต้องไม่ลืมว่าสมัยนั้นยังไม่มีโทรศัพ์มือถือ/ไอโฟน ไม่มีอีเมล์ ไม่มีอินเตอร์เน็ท ไม่มี facebook-twitter)
 
ความพยายามในครั้งนั้น ที่จะฟื้นฟู “ระบอบทหาร” และ “การปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” นั้น แม้จะยับยั้ง “กระบวนการประชาธิปไตย” ได้ชั่วครั้งชั่วคราว แต่เพียงไม่กี่ปี ก็ไม่สามารถสกัดกั้น “ผู้คน (ที่) ไถ่ถามอยากเรียน” ได้ ดังนั้นผลงานที่ตามกันออกมาก็มีเช่น “โองการแช่งน้ำ และ ข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา” (2524) หรือ “ตำนานแห่งนครวัด” (2525) หรือ “สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา” (2526) 
 
ในขณะที่บทกวีซึ่งเป็นอาวุธที่สำคัญ (pen is mightier than sword) ตามแนวทางการต่อสู้ทางความคิดของจิตรนั้น ก็ได้รับการตีพิมพ์อย่างสมบูรณ์ อันเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการสรรพนิพนธ์ จิตร ภูมิศักดิ์” ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน นั่นคือ “ด้นดั้นดุ่มเดียวคนเดียวแด” (2550) หรือ “ถึงร้อยดาวพราวพรายกระจายแสง” (2551) หรือ “คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย” (2552)
 
ถึงแม้เราจะไม่อาจจะบอกได้ว่าผลงานของจิตร มีกี่ชิ้นกันแน่ แต่ก็อาจสรุปเป็นเบื้องต้นได้ดังต่อไปนี้ คือ
 
1. ประวัติศาสตร์ เช่น โองการแช่งน้ำ และ ข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา
 
2. นิรุกติศาสตร์ เช่น ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาวและขอม และลักษณะทางสังคมชองชื่อชนชาติ ศัพท์สันนิษฐานและอักษรวินิจฉัย 
 
3. งานแปล เช่น แม่, โคทาน, คนขี่เสือ
 
4. รวมบทกวี ด้นดั้นดุ่มเดี่ยวคนเดียวแด, ถึงร้อยดาวพราวพรายกระจายแสง, คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย (2552) 
 
5. รวมบทความด้านวิจารณ์สังคม
 
6. บันทึกส่วนตัว
 
อาจกล่าวได้ว่าความพยายามของ “ผู้คน (ที่) ใฝ่ฝันอยากเรียน” ที่มาจากหลายฝ่ายหลายกลุ่ม ที่ต่างวัยต่างประสบการณ์ (ที่ควรจะได้รับการบันทึกและจดจำไว้) ด้วยกันนั้น ทำให้จิตร ภูมิศักดิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่วาระการครบรอบ 72 ปีของเขาเมื่อปี พ.ศ.2545 (2002) ได้ทำให้ความเป็น “นักคิด-นักเขียน” ของเขาดูจะยิ่งหนักและแน่นยิ่งขึ้น ถึงกับมีการกล่าวว่าจิตร “เกิดครั้งที่ 3” แล้วกระนั้น 
 
ครับ งานอนุสรณ์สถาน งานอนุสาวรีย์ของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่บ้านหนองกุง จังหวัดสกลนคร ก็คงจะสำเร็จลุล่วงไปได้ ไม่ช้าก็เร็ว แต่ “งานปฏิวัติสังคมสยามประเทศไทย” ที่จิตรใฝ่ฝัน ที่จิตรกระทำมาให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้ว จับทั้งปากกาและจับทั้งปืน เพื่อสร้างสังคมใหม่ที่ดีกว่า ที่เป็น “ประชาธิปไตย” ที่เต็มไปด้วย “ภราดรภาพ เสมอภาค และเสรีภาพ” (Fraternity-Equality-Liiberty) นั้นยังไม่จบ และจักต้องดำเนินไปด้วย “คนรุ่นใหม่” ที่จะมีตามติดกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า และนี่ก็เป็นสัจธรรมของสังคมทุกสังคม
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ยกฟ้องคดีคนเร่ร่อนฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังนอนคุก 5 เดือน

Posted: 30 Oct 2010 02:02 AM PDT

 
วันที่ 29 ต.ค.53 ที่ศาลแขวงปทุมวัน ศาลพิพากษายกฟ้อง คดีอาญาดำที่ 1219/2553 ซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจกท์ฟ้องนาย สมพล แวงประเสริฐ ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังเขาโดนจับกุมบริเวณด่านทหารเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ขณะมีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ หลังจากนั้นจึงถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จนถึงวันตัดสินคดี รวมเวลาประมาณ 5 เดือนครึ่ง
ทั้งนี้ นายสมพลระบุว่าเป็นคนเร่ร่อนมีอาชีพเก็บขยะขายในย่านหัวลำโพง ไม่มีญาติ ทั้งยังให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยระบุว่าตนเพียงต้องการจะเดินทางไปเตะตะกร้อที่สนามศุภฯ ตามปกติ ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม
ในวันนัดพิจารณาคดีศาลได้อนุญาตให้ทนายขอแรงขึ้นว่าความให้นายสมพล โดยความผิดที่ระบุในคำฟ้องคือความผิดฐานร่วมกันตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไปชุมนุมมั่วสุมกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในพื้นที่ที่มีประกาศ ศอฉ.กำหนด และร่วมกันใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะใดๆ เข้าหรือออกในเส้นทางที่กำหนดในพื้นที่ที่มีการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
คำพิพากษาระบุถึงเหตุอันน่าสงสัยหลายอย่างจึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยแก่จำเลย ทั้งในเรื่องการตั้งด่านของทหารที่อยู่ในซอยจุฬา12 ขณะที่จำเลยสามารถเดินมาได้หลายทางเพื่อไปยังสนามศุภฯ ไม่จำเป็นต้องเดินออกมาจากที่ชุมนุม อีกทั้งผู้ที่จับกุมก็ไม่ได้เห็นว่าจำเลยเดินมาตามถนนสายใดอย่างแน่ชัด อีกทั้งบริเวณดังกล่าวยังมีผู้เดินผ่านทางไปมาได้ เพราะไม่มีประกาศห้ามออกนอกเคหสถาน ขณะที่จำเลยเดินมาคนเดียว ไม่ได้เดินออกมาเป็นกลุ่ม และไม่ได้มีหลักฐานเกี่ยวพันกับ นปช.หรืออาวุธต้องสงสัยใดๆ รวมถึงวันเวลาของการจับกุมซึ่งทหารระบุว่าเป็นวันที่ 14 พ.ค.เวลากลางคืนก็ไม่ตรงกับคำให้การของจำเลยว่าเป็นสายวันที่ 15 พ.ค. โดยในสำนวนที่ได้ยื่นต่อศาลนั้นปรากฏมีการลบแก้วันที่ดังกล่าวด้วย จึงพิพากษายกฟ้อง
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จันทจิรา เอี่ยมมยุรา: ตัวตรงเงาไม่คด

Posted: 29 Oct 2010 11:25 PM PDT

 

ชื่อบทความเดิม ตัวตรงเงาไม่คด - “ถ้าตัวตรง ไม่ต้องกลัวเงาคด ถ้าหัวตรง ไม่ต้องกลัวเท้าเอียง”
เผยแพร่ครั้งแรกที่
เว็บไซต์นิติราษฎร์

ดูเหมือนกระแสน้ำที่ท่วมท้นประเทศไทยอยู่ขณะนี้จะพัดพา เอาข่าวคราวเรื่องคลิปลับกรณี คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ละลายหายไปกับสายน้ำเรียบร้อยแล้ว แต่สิ่งที่ไม่เป็นข่าวก็ไม่ได้แปลว่าไม่เป็นปัญหา เพราะคลิปลับซึ่งข่าวว่ามีด้วยกัน 5 ตอนนี้กลายเป็นวัตถุพยานเพิ่มน้ำหนักความระแวงสงสัยของสาธุชนที่มีมาก่อน หน้านี้แล้วว่าศาลนั้นยังคงเที่ยงธรรมและเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนอยู่ หรือไม่ ด้วยเนื้อหาในคลิปแสดงไปในทิศทางว่ามีการวิ่งเต้นล็อบบี้เจ้าหน้าที่ระดับ สูงของศาล คือเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญมิให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ นอกจากนี้มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนหารือกันถึงวิธีการเพื่อให้ได้พยาน บุคคลบางคนมาให้การต่อศาล [1] แต่พลันที่ข่าวนี้เผยแพร่ออกไปตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกลับเห็นว่านี่เป็นขบวน การบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญด้วยการเผยแพร่คลิป

ล่าสุดคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกโรงมีมติให้เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐ ธรรมนูญแจ้งความดำเนินคดีขบวนการจัดฉากเผยแพร่คลิปฉาวในข้อหาข่มขู่และหมิ่น ประมาท [2] สร้างความฉงนสนเท่ห์ให้แก่สาธุชนที่มีใจเป็นธรรมจำนวนไม่น้อยว่าเหตุใดศาล รัฐธรรมนูญหรือหน่วยงาน ป.ป.ช.จึงไม่ดำเนินการสอบสวนให้ได้ความกระจ่างแจ้งเสียก่อนว่าคลิปดังกล่าว เป็นของจริงหรือตัดแต่ง มีตุลาการหรือข้าราชการศาลรัฐธรรมนูญคนใดต้องรับผิดชอบกับความไม่ชอบมาพากล เรื่องนี้อย่างไรบ้าง รวมทั้งบุคคลภายนอกที่วิ่งเต้นล็อบบี้ศาลด้วย

อย่างนี้จะเข้าทำนองตัวไม่ตรง แต่ไปโทษว่าคนอื่นทำเงาคดหรือไม่

ปีนี้ผู้รู้ออกมาให้ข้อมูลว่าประเทศไทยจะประสบกับพายุฝนที่โหมกระหน่ำ หนักหนาที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา ความอึมครึมของฟ้าฝนดูจะไม่แตกต่างจากบรรยากาศในวงการยุติธรรมไทยสักเท่าใด นัก ระหว่างรอวันฟ้าสว่างผู้เขียนไปพบหนังสือเล่มหนึ่งที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใช้เป็นตำราเรียนในวิชาหลักวิชาชีพนักกฎหมายของนักศึกษานิติศาสตร์ชั้นปีที่ 4 มาตลอดยี่สิบกว่าปี หนังสือเล่มนี้บรรจุเนื้อหาการบรรยายของนักกฎหมายและตุลาการคนสำคัญ ๆ ของวงการกฎหมายไทยร่วมสมัยเกี่ยวกับการปฏิญาณตนเข้าสู่วิชาชีพและการปฏิบัติ ตนของนักกฎหมาย ตั้งแต่วิชาชีพทนายความไปจนถึงผู้พิพากษาตุลาการอันเป็นขั้นสูงสุดของ วิชาชีพกฎหมาย บรรยากาศเมืองไทยเวลานี้และข่าวคลิปลับคดียุบพรรค ปชป. ย่อมดึงดูดความสนใจของผู้เขียนต่อหนังสือเล่มนี้เป็นพิเศษ และนับเป็นวาระอันเหมาะสมที่จะนำสาระสำคัญบางตอนในหนังสือเล่มนี้มาคุยกับ ท่านผู้อ่านเว็บไซต์นิติราษฎร์ในรอบนี้

ข้อความตอนหนึ่งบรรยายโดย ศาสตราจารย์โสภณ รัตนากร อดีตประธานศาลฎีกา ในหัวข้อเรื่อง “หลักวิชาชีพนักกฎหมาย : ตุลาการ” ท่านกล่าวว่า

สำหรับผู้พิพากษาตุลาการ เรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และถือเป็นอุดมการณ์ของตุลาการทุกระบบไม่ใช่เฉพาะของไทย จึงได้เขียนเอาไว้ในประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการเป็นข้อแรก โดยบัญญัติว่า

“หน้าที่สำคัญของผู้พิพากษา คือการประสาทความยุติธรรมแก่ผู้มีอรรถคดี ซึ่งจักต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเที่ยงธรรม ถูกต้องตามกฎหมายและนิติประเพณี ทั้งจักต้องแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนด้วยว่าตนปฏิบัติเช่นนี้อย่าง เคร่งครัดครบถ้วน เพื่อการนี้ผู้พิพากษาจักต้องยึดมั่นในความเป็นอิสระของตนและเทิดทูนไว้ซึ่ง เกียรติศักดิ์แห่งสถาบันตุลาการ”

เหตุที่ประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการยกเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตไว้ เป็นข้อแรก และถือเป็นอุดมการณ์แห่งวิชาชีพที่สำคัญที่สุดเพราะเหตุว่าถ้าผู้พิพากษาไม่ มีความซื่อสัตย์สุจริต สถาบันตุลาการก็อยู่ไม่ได้ เป็นที่เชื่อถืออะไรไม่ได้ [3] ซึ่งจะนำไปสู่ความเสื่อม และล่มสลายของสถาบันตุลาการในที่สุด

ความซื่อสัตย์สุจริตและความเป็นอิสระของผู้พิพากษานอกจากต้องมีอยู่ในตนอย่างแท้จริงแล้ว

ตอนท้ายของประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการข้อนี้ยังเรียกร้องให้ผู้ พิพากษา “จักต้องแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนด้วยว่า ตนปฏิบัติเช่นนี้อย่างเคร่งครัดครบถ้วน”ซึ่งอาจารย์โสภณหมายความว่า ผู้พิพากษามีหน้าที่ต้องทำให้ประชาชนเห็นจริงด้วยว่า เขาได้รับความยุติธรรมโดยปราศจากข้อเคลือบแคลงสงสัย ไม่ใช่ว่าตัวผู้พิพากษาคิดว่าได้ให้ความยุติธรรมแล้ว แต่ประชาชนสงสัยว่าเขาไม่ได้รับความยุติธรรม อย่างนี้ใช้ไม่ได้

มีคำพูดคำหนึ่งในวงการตุลาการว่าผู้พิพากษาไม่เพียงต้องซื่อสัตย์สุจริต แต่จะต้องทำตัวให้ไม่มีฉายาแห่งความไม่สุจริต คือ ไม่ให้มีเงาให้คนอื่นเขาสงสัยในความไม่สุจริตนั่นเอง

ผู้เขียนเห็นว่าคำว่า “ฉายาหรือเงา” สำหรับผู้พิพากษา นอกจากจะหมายเอาที่พฤติกรรมอันไม่สุจริตของตัวผู้พิพากษาซึ่งทำหน้าที่ พิพากษาตัดสินคดีโดยตรงแล้ว ยังหมายรวมไปถึงพฤติกรรมของบุคคลใกล้ชิดผู้พิพากษาทั้งในหน้าที่การงานและใน ครอบครัวซึ่งการกระทำของบุคคลเหล่านั้นอาจทำให้บุคคลภายนอกเข้าใจไปได้ว่า เป็นการยินยอมหรือความเห็นชอบของผู้พิพากษาผู้นั้น

กล่าวเฉพาะเจาะจงเรื่องคลิปลับ หากตั้งคำถามว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ปรากฏตัวในคลิปทั้งโดยตัวเองและโดยเงา (โดยนัย) จะเข้าข่ายมีพฤติกรรมที่อาจถูกสงสัยในความซื่อสัตย์สุจริตและความเป็นอิสระ แล้วหรือไม่ และสมควรดำเนินการทางกฎหมายประการใด ผู้เขียนขอมอบให้องค์กรผู้มีหน้าที่สอบสวนอย่างคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นผู้ตอบ
ส่วนคดียุบพรรคประชาธิปัตย์นั้น ตุลาการที่ถูกสงสัยควรปฏิบัติตัวอย่างไร ประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ ข้อ 14 กล่าวถึงการปฏิบัติหน้าที่ในอรรถคดีว่า

“ผู้พิพากษาพึงถอนตัวออกจากการพิจารณา และพิพากษาคดีเมื่อมีเหตุที่ตนอาจจะถูกคัดค้านได้ตามกฎหมาย หรือเมื่อมีเหตุประการอื่นที่เกี่ยวกับตัวผู้พิพากษาอันอาจทำให้การพิจารณา พิพากษาคดีนั้นเสียความยุติธรรม และจักต้องไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการจูงใจผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาพิพากษาคดีนั้นในภายหลังในประการที่ อาจทำให้เสียความยุติธรรมได้”

เรื่องนี้อาจารย์โสภณเห็นว่า เป็นเรื่องที่สำคัญของผู้พิพากษา เพราะการถอนตัวไม่เพียงแต่เป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจของผู้พิพากษาเท่านั้น แต่ยังเป็นการป้องกันมิให้มีข้อครหาเกิดขึ้นภายหลัง เพื่อดำรงความบริสุทธิ์ยุติธรรมของสถาบันศาลและเพื่อรักษาไว้ซึ่งความศรัทธา ของประชาชนต่อศาลด้วย

ผู้เขียนเห็นว่าเหตุผลประการหลังนี้เองเป็นรากฐานของบรรดาข้อบัญญัติ ประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการและนิติประเพณีทั้งหมดทุกประการ คดียุบพรรคการเมืองไม่ว่าพรรคใดล้วนเป็นเรื่องใหญ่ มีประชาชนที่เขาหวงแหนพรรคสนับสนุนอยู่จำนวนมาก หากประชาชนเหล่านั้นรู้สึกว่าการยุบหรือไม่ยุบพรรคการเมืองใดไม่ได้ขึ้นอยู่ กับพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงในคดีแล้ว ย่อมเกิดความไม่เชื่อถือเคารพศรัทธาสถาบันศาลและตุลาการตามมา และหากความรู้สึกเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคมแล้ว (แม้ความรู้สึกอาจตรงหรือไม่ตรงกับข้อเท็จจริงก็ตาม) วิถีทางการระงับความขัดแย้งในสังคมโดยสันติย่อมสิ้นสุดลง ประชาชนจะเลิกนำคดีมาสู่ศาลและหันไปยุติความขัดแย้งด้วยความรุนแรง (ดังปรากฏการณ์ระเบิดเกลื่อนเมืองขณะนี้) ท้ายที่สุดความหายนะย่อมเกิดขึ้นกับสถาบันศาลและสังคมไทยอย่างไม่อาจหลีก เลี่ยงได้

ผู้เขียนเห็นว่าผู้พิพากษาและตุลาการซึ่งได้ปฏิญาณตนตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งสถาบันแห่งรัฐทั้งหลายซึ่งมีหน้าที่ประกันความอิสระของตุลาการ [4] มีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องรักษาความบริสุทธิ์ยุติธรรมของสถาบันศาลและความศรัทธาของประชาชนต่อศาลไว้เท่าชีวิตตน

ก่อนจบผู้เขียนนึกขึ้นได้ว่าในสมัยที่ท่านอาจารย์โสภณ รัตนากร ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกานั้น ท่านเป็นผู้ที่ไล่ผู้พิพากษาออกจากราชการถึง 17 คน นับว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ของวงการตุลาการไทย สาเหตุการไล่ออกก็มีต่าง ๆ นานา แต่ไม่เห็นเคยตีโพยตีพายเลยว่ามีขบวนการบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของศาล ยุติธรรม ข่มขู่หรือหมิ่นประมาทศาล เรื่องพรรค์นี้ผู้หลักผู้ใหญ่ซึ่งเป็นตุลาการที่ผู้เขียนเคารพนับถือพูดเสมอ ว่า “ถ้าตัวตรง ไม่ต้องกลัวเงาคด ถ้าหัวตรง ไม่ต้องกลัวเท้าเอียง”

-------------------------------------

1. มติชนออนไลน์ วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2553 เวลา 05:06:31 น. เผยแพร่ข่าวนี้พร้อมกับสรุปสาระของคลิปแต่ละตอน ดังนี้

ตอนที่ 1 เป็นภาพ "ผู้ใหญ่" พบและปรึกษาหารือบิ๊กตุลาการบางคนโดยอ้างว่า เป็นการพบเพื่อให้ช่วยไม่ให้พรรคประชาธิปัตย์ถูกยุบ โดยรับปากว่า หากผ่านวิกฤตนี้ได้จะปูนบำเหน็จด้วยตำแหน่งที่สูงส่ง

ตอนที่ 2 เป็นคลิปและคำสนทนาของส.ส.ในฐานะตัวแทนฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์คนหนึ่ง นัดพบเจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ห้องอาหารแห่งหนึ่ง เพื่อปรึกษาการเตรียมการให้กกต.ที่ให้การเป็นคุณ ในการอ้างข้อกฎหมาย เพื่อให้พรรคไม่ถูกยุบ

ตอนที่ 3 เป็นคลิปตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนปรึกษาหารือเพื่อจะอ้างคำให้การของนาย อภิชาต เพื่ออ้างว่ามีอำนาจทำได้และพ่วงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ตอนที่ 4 เป็นคลิปคำพูดหลายคำของวงปรึกษาหารือที่ซ่อนนัยยะหากตัดสินไม่ยุบประชาธิ ปัตย์ เกรงจะมีข้อครหานินทา จึงจะดึงนายอภิชาตมาร่วมรับในสองมาตรฐาน

ตอนที่ 5 เป็นทรรศนะของตุลาการรัฐธรรมนูญบางคนที่มีต่อ ส.ส.เพื่อไทย ใช้คำว่า "มัน"ทุกครั้งที่เอ่ยชื่อ
จาก http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1287228593&grpid=00&catid

2. หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม 2553 ใน http://www.ryt9.com/s/nnd/1015442

3. โสภณ รัตนากร “หลักวิชาชีพนักกฎหมาย : ตุลาการ” ใน รวมคำบรรยายหลักวิชาชีพนักกฎหมาย, แสวง บุญเฉลิมวิภาส บรรณาธิการ, พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ วิญญูชน, 2545, หน้า 158-159.

4. ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ค.ศ.1958 มาตรา 64 วรรคแรก บัญญัติว่า “ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเป็นผู้ประกันความเป็นอิสระของตุลาการ”
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

คลิปศาล รธน. ระลอกสอง ว่อนอีก

Posted: 29 Oct 2010 02:43 PM PDT

คลิปซึ่งถูกอ้างว่าเป็นบทสนทนาของตุลการศาลรัฐธรรมนูญหลุดอีก 3 ตอน เนื้อหาตั้งรับสถานการณ์หลังคลิปหลุดระลอกแรก ซับไตเติ้ลระบุชื่อ พิสิฐ จรูญ และสุพจน์

เมื่อวันที่ 29 ต.ค. มีการเผยแพร่คลิปพร้อมซับไตเติ้ล โดยใช้ชื่อว่า “พฤติกรรมศาลรัฐธรรมนูญไทย” 3 ตอนต่อเนื่อง ผ่านเว็บไซต์ยูทูปว์ และระบุว่าเป็นบทสนทนาระหว่างบุคคลที่ชื่อว่า พิสิฐ จรูญ และสุพจน์ เกี่ยวกับการเผยแพร่คลิปซึ่งมีการอ้างว่าเป็นบทสนทนาของข้าราชการระดับสูงในศาลรัฐธรรมนูญกเกี่ยวกับการยุบพรรคประชาธิปัตย์

โดยคลิปทั้งหมดถูกโพสต์โดยบุคคลที่ใช้ชื่อว่า ohmygod3009 ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการยูทูปว์รายเดียวกันกับที่โพสต์คลิปที่ถูกอ้างว่าเป็นบทสนทนาของข้าราชการระดับสูงในศาลรัฐธรรมนูญและทนายความของพรรคประชาธิปัตย์จำนวน 5 คลิปก่อนหน้านี้

สำหรับคลิปทั้งสามมีรายละเอียดดังนี้

1 พฤติกรรมศาลรัฐธรรมนูญไทย ตอนที่ 1
เขียนบรรยายคลิปว่า “การปรึกษาหารือของตุลาการ( จรูญ, สุพจน์ ) เพื่อจะแก้ปัญหา คลิปที่ถูกบันทึกในกรณีที่พวกตัวเองลักลอบ­เอาข้อสอบไปให้ญาติและพวกตัวเองอ่านก่อนสอบ ชึ่งตุลาการเกือบทั้งคณะ สมคบกัน มีทั้งชื่อผู้ให้และผู้รับ ครบกันถ้วนหน้า ยากที่จะแก้ตัวว่าถูกจัดฉากเพราะบทสนทนาคือคำสารภาพ ที่ล่อนจ้อน”

2 พฤติกรรมศาลรัฐธรรมนูญไทย ตอนที่ 2
เขียนบรรยายคลิปว่า “ต่อเนื่องจากตอนที่ 1”

3 พฤติกรรมศาลรัฐธรรมนูญไทย ตอนที่3 เขียนบรรยายคลิปว่า

“การให้คำแนะนำพรรคพวกในการให้ข่าว หากมีการนำบทสนทนา ที่นำข้อสอบไปให้ญาติ และพรรคพวก ถูกเปิดโปงออกมา โดยโยนให้เป็นเรื่อง ของขบวนการทำลายเครดิตศาลรัฐธรรมนูญ และคลิปมีการตัดต่อโดยอ้างว่า อภิสิทธิ์ก็โดนเช่นกัน อีกทั้ง คนของพรรคเพื่อไทยอยู่เบื้องหลัง การนำคลิปไปเผยแพร่.

"(ท่านเห็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจเยี่ยงจิ้งจอกของบุคคลกลุ่มนี้ในคราบของตุลาการ ท่านคิดว่าประเทศไทยจะอยู่อย่างไร ศาลสั่งได้จริงหรือเปล่า ลองไปนึกถึงคำตัดสิน กรณีต่างๆใช้ทั้งอารมณ์ เปิดทั้งพจนานุกรม และขาดชึ่งมาตรฐานตามหลักสากล)

"หมายเหตุ: ภายหลังคลิปนี้คงมีคำสั่งให้ตุลาการพวกนี้ออกเพื่อให้องค์คณะไม่ครบ จึง ทำกระบวนการพิพากษาชะงักงัน การยุบพรรคจึงต้องทอดเวลาออกไป ประชาธิปัตย์ก็ทำหน้าที่รัฐบาลต่อไปอีก หรือ ทำการยึดอำนาจเพื่อแก้ปัญหาศาลรัฐธรรมนูญถูกคุกคาม เพราะตุลาการจัดฉาก และสารภาพด้วยตนเอง นี่คือตัวอย่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์เริ่มทำงาน­แล้ว”

ทั้งนี้ ภายหลังที่คลิปชุดแรกแพร่สะพัดออกไป มีการพยายามค้นหาว่าใครเป็นผู้เผยแพร่คลิปโดยทางกองปราบระบุว่าจะดำเนินการออกหมายจับผู้เผยแพร่คลิปยุบพรรคประชาธิปัตย์ ขณะเดียวการมีการถอดนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ออกจากตำแหน่งเลขาประธานศาลรัฐธรรมนูญ โดยที่นายพสิษฐ์นั้นเดินทางออกนอกประเทศไปก่อนหน้านั้นแล้ว

นอกจากนี้ ทีมกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์ยังฟ้องนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทยด้วยข้อหาหมิ่นประมาทจากการเผยแพร่คลิปชุดดังกล่าว

ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ได้แถลงเรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบคลิปที่อ้างว่าเป็นบันทึกการสนทนา ระหว่างเจ้าหน้าที่ตุลาการระดับสูงและทนายความของพรรคประชาธิปัตย์ โดยระบุเป็นปัญหาความซื่อสัตย์เที่ยงธรรม หากทำจริงต้องลาออก และอย่าเบี่ยงประเด็นที่มาของคลิป

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ยังไม่มีความคืบหน้าเกี่ยวกับการหาข้อเท็จจริงในคลิปชุดแรกว่าใครเป็นผู้ปล่อยคลิปและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีพฤติกรรมตามที่ปรากฏในคลิปจริงหรือไม่ ก็มีการเผยแพร่คลิประลอกที่ 2 ออกมาดังกล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลยกฟ้องไชยยันต์ ฉีกบัตรเลือกตั้ง

Posted: 29 Oct 2010 12:48 PM PDT

ศาลจังหวัดพระโขนงยกฟ้องคดีนายไชยยันต์ ไชยพร ฉีกบัตรเลือกตั้ง อ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุการเลือกตั้งปี 2549 ไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 บัตรเลือกตั้งที่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมอบให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จึงไม่ใช่บัตรเลือกตั้งเป็นเพียงแบบพิมพ์บัตรเลือกตั้ง การกระทำของจำเลยจึงไม่อาจเป็นความผิด

เว็บไซต์เมเนเจอร์ออนไลน์รายงานว่า วันที่ 29 ต.ค. ที่ ศาลจังหวัดพระโขนง ถ.สรรพาวุธ ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง นายไชยยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นจำเลยฐานกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 ม.108 ที่ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดทำบัตรเลือกตั้งดีให้เป็นบัตรเสีย และ ป.อาญา ม.358 ฐานทำให้เสียทรัพย์

คดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 2 เม.ย.49 เวลากลางวัน จำเลยฉีกบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 1 ใบ และแบบบัญชีรายชื่อ 1 ใบ ของ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขาดออกเป็นหลายชิ้นจนเสียหายใช้ลงคะแนนไม่ได้ อันเป็นการจงใจกระทำด้วยประการใดๆ ให้บัตรเลือกตั้งดังกล่าวชำรุดเสียหาย เหตุเกิดที่หน่วยเลือกตั้ง โรงเรียนเตรียมอุดมพัฒนาการ แขวงและเขตสวนหลวง กรุงเทพฯ ขอให้จำเลยตามความผิดและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี

จำเลยให้การปฏิเสธและนำสืบว่า การยุบสภาผู้แทนฯของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ไม่ได้มีสาเหตุมาจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ แต่เพื่อหลีกเลี่ยง การตรวจสอบในสภาเรื่องการถือครองหุ้นชินคอร์ป ของครอบครัวชินวัตร การยุบสภาจึงมิได้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย และจะใช้ผลการเลือกตั้งซักฟอกความผิดของตน และกำหนดวันเลือกตั้งไปไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยฉีกบัตรเลือกตั้งดังกล่าวโดยเจตนาที่จะต่อต้านการเลือกตั้งที่ไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย โดยมิได้มีเจตนาทำลายบัตรเลือกตั้ง

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานนำสืบทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นว่า การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 49 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 9/2549 ว่า เป็นการเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรม ไม่เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 บัตรเลือกตั้งที่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมอบให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จึงไม่ใช่บัตรเลือกตั้งเป็นเพียงแบบพิมพ์บัตรเลือกตั้ง การกระทำของจำเลยจึงไม่อาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว. ม.108 และการที่จำเลยมาใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วฉีกบัตรเฉพาะในส่วนที่ได้รับมาทั้ง สองใบอย่างเปิดเผยเพื่อสื่อให้ประชาชนตระหนักถึงการเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรม โดยไม่ได้ก่อให้เกิดความวุ่นวาย หรือความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด จึงเป็นการใช้สิทธิต่อต้านการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยสันติวิธี ทั้งบัตรเลือกตั้งดังกล่าวก็เป็นทรัพย์ที่ กกต.ใช้ในการทำความผิดในการเลือกตั้งและมีราคาเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองของประเทศโดยวิธี การซึ่งมิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้อง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สนธิฉะมาร์คตระบัดสัตย์ขายชาติตอนน้ำท่วม นักธุรกิจเพื่อปชต. ระดมพลค้านมติ ก.ก. ร่วมไทย-กัมพูชา

Posted: 29 Oct 2010 12:41 PM PDT

สนธิ จวกนายกรัฐมนตรี ฉวยโอกาสน้ำท่วมนำเรื่องแบ่งปันเขตแดนไทย-กัมพูชาเข้าสภา ชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตยร่อนจะหมายผ่านเครือข่ายและสื่อมวลชนให้ออกมาแสดงพลังคัดค้านการในวันอังคารที่ 2 พ.ย. ที่จะถึง อ้างไทยจะเสียดินแดนมหาศาล

โดยจดหมายเรียกร้องให้ออกมาแสดงพลังคัดค้านมติคณะกรรมการร่วมไทย-กัมพูชา มีข้อความว่า “ตามที่รัฐบาลมีความพยายามที่จะให้รัฐสภาให้การรับรองบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่วมชายแดนไทย-กัมพูชาโดยได้ลักไก่นำเข้าพิจารณาและผลักดันให้รัฐสภารับรองเมื่อวันที่ 26 ที่ผ่านมา โดยผลที่เกิดขึ้นคือ “มีผลให้รัฐบาลไทยให้คำรับรอง และยอมรับแผนที่มาตรส่วน 1:200000 ที่จัดทำโดยฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียว แทนข้อตกลงร่วมไทย-ฝรั่งเศส ที่ให้ใช้สันปันน้ำเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา อันจะเป็นความสุ่มเสี่ยงที่ทำให้ไทยอาจเสียดินแดงให้แก่กัมพูชานับล้านไร่” โดยจะมีการพิจารณาในรัฐสภาอีกครั้งในเช้าวันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน 2553 “เพราะเมื่อคราวที่แล้วไม่ครบองค์ประชุม” ในการนี้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีมติคัดค้าน และจะร่วมกันแสดงความเห็นให้สมาชิกรัฐสภาตระหนักในผลที่จะเกิดกับประเทศ โดยสูญเสียดินแดนจำนวนมหาศาล

“จึงเรียนให้ท่านสมาชิกได้พิจารณาเห็นด้วย โปรดร่วมกันแสดงพลัง ที่บริเวณหน้ารัฐสภาในช่วงเช้าวันที่ 2 พฤศจิกายน 2553 ให้มากที่สุด” ลงชื่อ นายสมเกียรติ หอมลออ ประธานชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย

ด้านเว็บไซต์เมเนเจอร์ออนไลน์รายงานการวิเคราะห์ของนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งกล่าวในรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์” ทาง เอเอสทีวี คืนวันที่ 29 ต.ค. กรณีที่รัฐบาลเสนอวาระการพิจารณาบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนไทย(เจ บีซี)ไทย-กัมพูชา 3 ฉบับ เข้าสู่ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 2 พ.ย.นี้ว่า หากรัฐสภามีมติรับรองบันทึกการประชุมเจบีซีดังกล่าวจะทำให้ไทยสูญเสียดิน แดนอย่างแน่นอน และเป็นการสูญเสียในยุคที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล เหมือนที่เคยสูญเสียช่วงหลังปี 2540 ที่ให้ฝรั่งเข้ามาซื้อทรัพย์สินราคาถูก รวมทั้งก่อนหน้านั้นที่เปิดให้มีบีไอบีเอฟ

นายสนธิ กล่าวต่อว่า บันทึกการประชุมเจบีซีที่สภาจะลงมติรับรองในวันที่ 2 นี้ จัดทำขึ้นตามเอ็มโอยูปี 2543 ซึ่งมีการลงนามในยุคที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลเช่นกัน โดยขณะนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็น รมช.ต่างประเทศ ซึ่งนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีขณะนั้นก็ยอมลงนามตามที่ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศเสนอมา ทั้งที่ในเรื่องเขตแดนนั้น หากแต่ละประเทศจะยืนยันเขตแดนของตัวเองตามหลักฐานที่แต่ฝ่ายมีอยู่แม้จะตกลง กันไม่ได้เป็น 50 ปี 100 ปีก็ไม่เป็นไร แต่ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศของไทยขี้ขลาดตาขาว หลังจากที่เราเสียตัวปราสาทให้กัมพูชาเมื่อปี 2505 จึงเอาตัวรอด ไม่กล้าปกป้องแผนดินของตัวเอง ยิ่งในยุคที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล มักจะทำตามที่ข้าราชการประจำเสนอมา พรรคประชาธิปัตย์ก็ปล่อยให้ทำไป ไม่กล้าเข้าไปแทรกแซง เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาเป็นนายกฯ ก็มักจะบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศ

นายสนธิระบุว่า รัฐบาลได้ฉวยโอกาสน้ำท่วมนำเรื่องที่ตัวเองขายชาติเข้าสภา โดยในวันที่ 26 ต.ค.ที่วาระนี้เข้าสภาครั้งแรก โฆษกรัฐบาลกัมพูชาก็บอวก่นายฮุนเซนจะไม่เอาเรื่องเขตแดนไทย-กัมพูชาเข้า หารือกับนายบันคีมูน เลขาธิการสหประชาติ เพราะฝ่ายไทยรับปากว่ารัฐสภาไทยจะผ่านบันทุกการประชุมเจบีซีให้ จึงไม่ทราบว่าใครไปตกลงขายชาติเอาไว้ล่วงหน้า ฝ่ายเขมรจึงรู้ว่าสภาไทยจะผ่านให้ ใครเป็นคนไปรับปาก นายอภิสิทธิ์หรือนายกษิต

นายสนธิ กล่าวอีกว่า นายอภิสิทธิ์เคยพูดกับพันธมิตรฯ ที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดง เมื่อวันที่ 7 ส.ค.และพูดระหว่างการออกโทรทัศน์ช่อง 11 กับตัวแทนเครือข่ายประชาชนเมื่อวันที่ 8 ส.ค.ว่าจะยึดหลักสันปันน้ำ และยอมรับว่าการที่คนกัมพูชาเข้าไปอยู่บริเวณรอบปราสาทพระวิหาร เป็นการละเมิดเอ็มโอยู. 2543 ซึ่งรัฐบาลจะใช้มาตรการทั้งทางการทูตและการทหารผลัดกันคนกัมพูชาออกไป แต่จนบัดนี้ผ่านมา 3 เดือนแล้วนายอภิสิทธิ์ยังไม่ดำเนินการใดๆ เพื่อผลักดันคนกัมพูชาออกไปเลย ทุกอย่างยังเหมือนเดิม แสดงว่าที่นายอภิสิทธิ์พูดวันนั้นแค่โกหกใช่หรือไม่ และถ้าวันนี้ยังยึดหลักสันปันน้ำอยู่ นายอภิสิทธิ์ต้องสั่งห้ามเจบีซีไม่ไปทำเขตแดนใหม่ในบริเวณที่ไทยกับฝรั่งเศส ได้ตกลงกันไว้แล้ว และถ้าบอกว่ามีการละเมิดเอ็มโอยู 2543 ก็จะต้องยกเลิก แต่เหตุที่ไม่ยกเลิก ก็เพราะเป็นผลงานที่พรรคประชาธิปัตย์เคยทำไว้ เป็นความพยายามรักษาพรรคเอาไว้ โดยยอมให้ประเทศเสียดินแดน

นายสนธิย้ำว่า ถ้าให้บันทึกการประชุมเจบีซีผ่านสภา จะมีผลให้ไทยเสียดินแดนอย่างแน่นอน นายอภิสิทธิ์ นายกษิต ส.ส.ส.ว.คนไหนก็ตามที่ลงมติ รวมทั้งนายวศิน ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง จะต้องเข้าข่ายเป็นคนขายชาติอย่างแน่นอน ดังนั้น พันธมิตรฯ จะต้องแสดงพลังในวันที่ 2 พ.ย.นี้ เพื่อปกป้องแผ่นดินไทย ขอให้พี่น้องมาร่วมชุมนุมกันตั้งแต่เช้า แต่จะไม่ปิดทางเข้าออกรัฐสภา แต่เราจะแสดงพลังให้เขาเห็นว่าเราไม่เห็นด้วย เพราะเขาหาว่าเราไม่มีน้ำยา

“ปัญหาไม่ใช่เราไม่มีน้ำยา ปัญหาคือเราเป็นคนมีเหตุผล เห็นเขาตั้งใจทำงานเราก็พร้อมที่จะหาทางออกให้เขา แต่การที่เขาเอาเจบีซีเข้าสภา แสดงว่าเขาตระบัดสัตย์ เพราะเนื้อหาเจบีซีนั้นเป็นเนื้อหาที่มันตรงกันข้ามกับสิ่งที่เขาพูดหมด ที่คุณพูดเอาไว้ไง ว่าคุณยึดถือสันปันน้ำ และวันนี้เจบีซีมายึดถือสันปันน้ำหรือเปล่าล่ะ

“กระทรวงการต่างประเทศมันเป็นหนึ่งกระทรวงภายใต้รัฐบาล คุณสั่งไม่ได้เชียวหรือ คุณอภิสิทธ์ คุณกษิต ภิรมย์ คุณบอกเขาไมได้เหรอว่าผมไม่เอาแบบนี้ คุณดูรายละเอียดเจบีซีซิคุณต้องรู้ คุณต้องอ่านรายละเอียด ... คุณปล่อยเลยตามเลย เพราะคุณเป็นคนไม่กล้าตัดสินใจอะไรทั้งสิ้น คุณต้องการลอยตัวอยู่เหนือปัญหา ถึงชาติบ้านเมืองจะเสียดินแดนไปก็ช่างมัน ...ผมเสียดาย ผมเสียใจ ผมสนับสนุนคุณมาตลอดด้วยความสัตย์จริง หลายต่อหลายอย่าง ผมเห็นว่าควรให้โอกาสคุณ เกือบสองปีที่ผมอยู่เฉยๆ เพราะผมคิดว่าให้คุณทำ ทั้งๆ ที่หลายต่อหลายครั้งผมไม่สบายใจและผมหงุดหงิดในความเป็นคุณ”นายสนธิกล่าว
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สาวสวยซาอุฯ มีเฮ รัฐยื่นมือจัดการธุรกิจจัดหาคู่ในซาอุดี้

Posted: 29 Oct 2010 12:00 PM PDT

อาชีพพ่อสื่อแม่ชักในซาอุดิอาระเบียกำลังจะได้รับการยอมรับว่าถูกต้องตามกฎหมายและหลักศาสนา หลังพบสถิติสาวโสดในเมืองซาอุพุ่งสูงถึง 1.5 ล้านคน

ริยาดฮฺ บรรดาแม่สื่อ และนักจัดคู่ นับร้อยๆ คนในซาอุดี้ กำลังติดตามข่าวที่ทางการได้จัดให้มีการประชุมครั้งแรก เพื่อจัดการขึ้นทะเบียนอาชีพนี้ให้ถูกต้อง และจะมีการให้การอบรมสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าสู่วงการอย่างเป็นเรื่องเป็น ราวซึ่งจะมีการออกประกาศนียบัตรรับรองผู้เข้าอบรมให้ด้วย

การประชุมที่จะจัดขึ้นมีชื่อว่า Matchmakers in the Saudi Society เพื่อปรึกษาหารือในการสร้างมาตรฐาน สำหรับนักจัดคู่ทั้งหญิง ชาย และเพื่อส่งเสริมให้เป็นอาชีพที่ถูกต้องทั้งตามศาสนา และกฎหมายในอนาคต

มุฮัมมัด อัล-อับดุล อัลกาเดอร์ เลขาธิการสมาคม Weaam ซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับการบริการแต่งงาน กล่าวว่า จำนวนสาวโสดที่เพิ่มสูงขึ้นในซาอุดี้ เป็นหนึ่งในหลายๆ เหตุผลที่ทำให้เกิดการประชุมครั้งนี้

เขากล่าวว่า ตาม สถิติเมื่อเร็วๆ นี้ สาวโสดในซาอุดี้มีจำนวนถึง 1.5 ล้านคน และหากไม่เริ่มดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ จำนวนอาจพุ่งขึ้นถึง 4 ล้านคนในอีกไม่นาน

ธุรกิจการหาคู่ได้เข้าสู่ความนิยมในซาอุดี้ หลังจากอัตราการแต่งงานได้ลดน้อยถอยลง และกลายเป็นธุรกิจที่ทำเงินรายได้ให้เจ้าของเป็นจำนวนมาก

มีรายงานที่เผยแพร่ในนิตยสาร Laha ของซาอุดี้ ที่ระบุว่า ผู้จัดหาคู่ได้เงินจากการทำงานที่สำเร็จตามความคาดหมายครั้งละประมาณ 1,066 ดอลล่าร์ ในที่นี้หมายถึงคู่ที่เป็นหญิง-ชายสามัญชน แต่หากเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ค่าตอบแทนจะพุ่งขึ้นเป็นราว 26,664 ดอลล่าร์

มีความกริ่งเกรงกันว่า หากทางการไม่ยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ธุรกิจจัดหาคู่จะสุ่มเสี่ยงจากการเห็นแก่ผลประโยชน์เป็นเรื่องสำคัญเหนือ จริยธรรม และความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้คนในสังคมอนุรักษ์ของซาอุดี้ เพราะถึงแม้สตรีที่มีความรู้ระดับ แพทย์ อาจารย์ และวิศวกร ในซาอุดี้ ก็ยังอาจถูกหลอกต้มให้ตกลงแต่งงานแบบลับๆ ได้

 

ที่มา: สำนักข่าวมุสลิมไทย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท: คิดถึงลุงนวมทอง ไพรวัลย์

Posted: 29 Oct 2010 11:39 AM PDT

4 ปีแล้ว...ลุง
ดังเข็มมุ่งไม่เปลี่ยนผัน
ปณิธานลุงแสนสามัญ
แต่ยืนยันความยิ่งใหญ่

มนุษย์หนึ่งเกิดมา
จะมีค่าเพียงใด
หากเราเป็นเพียงไพร่
หาได้มีสิทธิ์เสรี

นวมทอง ลุงนวมทอง
ประกาศก้องปฐพี
สละได้แม้นชีวี
ศักดิ์ศรีแลกลมหายใจ

ความตาย คายความงาม
เป็นไฟลามระอุไหม้
จุดวิญญาณประชาธิปไตย
ธำรงไว้ให้เชิดชู

นวมทอง ลุงนวมทอง
ยังเรียกร้องให้เราสู้
เผด็จการจักได้รู้
อย่าหาญสู้คนสามัญ

แม้นเทวาจักได้รู้
อย่าหาญสู้คนสามัญ!

 

คิดถึงลุงเสมอ
Homo erectus

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นูรวาตี ทุยเลาะ ชีวิตบ้านเล็กเหยื่อชายแดนใต้

Posted: 29 Oct 2010 11:26 AM PDT

อีกหนึ่งตัวอย่างของผู้ได้รับผลกระทบจากชายแดนใต้ นูรวาตี ทุยเลาะ ชีวิตบ้านเล็กเหยื่อชายแดนใต้ กับโจทย์เรื่องการเยียวยา

สะอื้น – นางนูรวาตี ทุยเลาะ ร้องไห้สะอื้นขณะเล่าเรื่องของตัวเองที่ได้รับผลกระทบจากเหตุสามีเสียชีวิตจากเหตุการณ์ไม่สงบ

ถึงคราวที่ผู้ชายมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีเมียหลายคน ประสบเหตุไม่สงบจนถึงกับเสียชีวิ บรรดาผู้หญิงที่อยู่ข้างหลังก็ต้องลำบากกันถ้วนหน้า ไหนจะลูกอีกหลายคน

เช่นเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้นกับนายเจ๊ะบาเหม ทุยเลาะ อายุ 47 ปี กำนันตำบลทุ่งพอ อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ที่ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตที่ตลาดสะบ้าย้อย เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2553

ขณะเสียชีวิตนายเจ๊ะบาเหม มีภรรยา 2 คน ชื่อนางฮามีดะห์ ลีเงาะ มีลูกด้วยกัน 4 คน อีกคนนางนูรวาตี ทุยเลาะ มีลูกด้วยกัน 1 คน อายุ 2 ขวบครึ่ง

ก่อนหน้านั้นนายเจ๊ะบาเหม มีภรรยามาแล้วอีก 2 คน แต่ได้เลิกร้างกันไปแล้ว โดยมีลูกรวมกันทั้งหมด 13 คน

นางนูรวาตี ทุยเลาะ อายุ 33 ปี คือภรรยาคนล่าสุดของนายเจ๊ะบาเหม ถือเป็นภรรยาคนสุดท้อง เธอเคยแต่งงานมาแล้ว มีลูก 3 คน และเป็นหม้ายมา 2 – 3 ปี ก่อนจะแต่งงานกับกำนัน เนื่องจากสามีคนแรกเป็นโรคเสียชีวิต

หลังจากสามีถูกยิงเสียชีวิต นางนูรวาตี จึงได้พาบุตรสาวคนเดียวที่เกิดกับนายเจ๊ะบาเหม กลับไปอยู่อาศัยอยู่กับมารดาที่บ้านเลขที่ 40/1 บ้านป่าขี้เหล็ก หมู่ที่ 15 ตำบลนาทวี อำเภอนาทวี ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมของตนเอง

นางนูรวาตี ซึ่งเรียกแทนตัวเองว่า “สาว” เล่าถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตัวเอง กับผลกระทบและการเยียวยาที่ได้รับ ดังนี้
............................
อยู่อาศัยกับกำนันที่บ้านปลักไม้ไผ่ ตำบลทุ่งพอ โดยกำนันสร้างบ้านหลังใหม่ให้อยู่ 1 หลัง ราคา 2,300,000 บาท สร้างเสร็จแต่ยังไม่ทันได้ขึ้นบ้านใหม่ กำนันก็ถูกยิงเสียชีวิตก่อน กำนันยังได้ซื้อสวนยางพาราให้เธออีก 17 ไร่

บ้านหลังนี้ กำนันกู้เงินจากธนาคารมาสร้างบ้าน แต่หลังจากกำนันเสียชีวิต เงินงวดสุดท้ายที่จะนำมาเป็นค่าใช้จ่าจากการสร้างบ้านที่เหลือยังไม่ได้รับ ทางธนาคารก็ไม่ได้โอนมาให้ จึงจำเป็นต้องยืมเงินคนอื่นมาจ่าย

อาชีพเดิมของกำนันคือทำธุรกิจขายไม้ยางพารา มีลูกน้องหลายคน ทำให้มีรายได้เข้ามาพอสมควร ทำให้สามารถสร้างบ้านและซื้อสวนยางพาราได้ จากที่เมื่อก่อนกำนันไม่เคยคิดจะซื้อไว้ เมื่อได้แต่งานกับสาว สาวก็แนะนำให้ซื้อเก็บไว้บ้าง กำนันจึงซื้อไว้

หลังจากกำนันตาย บ้านกับสวนยาพาราก็ถูกญาติของกำนันจัดการขายไปหมด เพื่อเอาเงินมาแบ่งกัน แม้กระทั่งรถสิบล้อที่มี ก็ต้องขายหมดเพื่อเอามาจ่ายหนี้

บ้านก็ซื้อกันเองในราคาที่ถูกมาก เขาอยากได้ก็ให้ไป เงินที่ได้มาก็ไม่ภูมิใจเท่าไร เหมือนขายสมบัติเราแล้วเอาเงินมาแบ่งให้เราคิดว่าไม่ยุติธรรม

ช่วงหลังมีการฝากคำพูดกับคนอื่นมาว่า เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สาวคิดว่าไม่ต้องพูดแล้ว ทำไมตอนที่เราอยู่ที่นั่นจึงไม่พูด สาวไม่อยากทะเลาะ เพราะแย่งสมบัติ เพราะเราไปตัวเปล่า แล้วไปสร้างเอาที่นั่น

หลังจากกำนันเสียชีวิต สาวอยู่ที่นั่นอีกเกือบ 2 เดือน ก็ทนไม่ไหว มีปัญหาเยอะ แต่ละวันไม่เหมือนกัน เช่น มีคนมาทวงเงิน บางครั้งญาติพี่น้องของกำนันพยายามบีบให้ออกจากวง เพราะเกรงว่า ถ้าสาวยังอยู่อาจจะคัดค้านในสิ่งที่เขาต้องการก็ได้

คงเห็นว่าเราเป็นเมียน้อย สาวไม่อยากทะเลาะกับใคร จึงย้ายออกมาจากที่นั่น และไม่ต้องการสมบัติที่กำนันทิ้งไว้ แม้โต๊ะอิหม่ามต้องการให้อยู่ต่อเพื่อแก้ปัญหาเรื่องมรดกตามหลักศาสนาอิสลามให้เสร็จก่อน

กำนันไม่ได้ทำพินัยกรรม บ้านที่สร้างก็ไม่มีเอกสารอะไร เพราะไม่คิดว่าสร้างบ้านแล้วจะเสียชีวิต กำนันเคยพูดว่าบ้านหลังนี้จะให้สาวกับลูก ซึ่งคนอื่นก็รู้กันทั่ว แต่ญาติของกำนันยืนยันที่จะขายบ้านหลังนั้น

เงินที่ขายบ้าน เขาแบ่งให้มาบ้างไม่มาก เอาไปซื้อสวนยางก็ไม่ได้ เงินที่ได้มันเทียบไม่ได้กับสิ่งที่สร้างไว้ ซึ่งเราไม่พอใจเพราะน่าจะได้มากกว่านั้น แต่เราไม่ต้องการแย่งสมบัติ กลัวคนที่ตายไปแล้วไม่สบายใจ เขาอยากได้ ก็ให้เขาไป เราสามารถเลี้ยงลูกเองได้

กับภรรยาอีกคนของกำนันเคยทะเลาะบ้างกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง แม้กำนันเคยบอกว่า อยากให้เมียทั้งสองคนรักกัน แต่สาวบอกว่า ต่างคนต่างอยู่ดีกว่า เขาคงคิดว่าเราไปแย่งของเขา แต่ช่วงหลังๆ กำนันก็มักจะมาอยู่กับสาวมากกว่า

สาวใช้นามสกุลเดียวกับกำนัน เพราะเป็นภรรยาคนเดียวที่กำนันพาไปจดทะเบียนสมรส เหตุที่กำนันพาไปจนทะเบียนสมรส เพราะจะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งต้องใช้ทะเบียนสมรสเป็นหลักฐานในการเดินทางด้วย

แต่หลังจากจดทะเบียนสมรสแล้ว สาวได้ตั้งครรภ์ แผนที่จะเดินทางไปกระกอบพิธีฮัจย์พร้อมกับกำนันก็ถูกยกเลิก

หลังจากที่สาวกลับมาอยู่ที่บ้านเดิม ได้ข่าวว่า ทางศาลากลางจังหวัดสงขลาได้มอบเงินช่วยเหลือจากการเสียชีวิตของกำนัน 100,000 บาท ซึ่งตามหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบ กำนันต้องได้รับเงินช่วยเหลือ 500,000 บาท แต่ตอนนั้นเจ้าหน้าที่ยังสรุปไม่ได้ว่า กำนันเสียชีวิตเพราะเหตุการณ์ไม่สงบหรือเรื่องส่วนตัว

เมื่อยังไม่สามารถสรุปได้ ทางศาลากลางจังหวัดจึงมอบเงินช่วยเหลือให้ก่อน 25% เงินที่ได้ก็ต้องเอามาแบ่งกันหลายคน ซึ่งตกมาถึงสาวด้วยจำนวนหนึ่งซึ่งไม่มาก ซึ่งเงินที่ได้มานั้น นำมาเก็บไว้ให้ลูกคนสุดท้อง เพราะเป็นทรัพย์สินอย่างเดียวที่ได้มาจากกำนัน

ส่วนเงินช่วยเหลือเยียวยาที่เหลือจะได้ด้วยหรือไม่นั่น ไม่ทราบ เพราไม่ได้ติดตามข่าว ซึ่งหลังจากกลับมาอยู่บ้านเดิม ก็ไม่เคยติดต่อกลับไปที่บ้านเดิมของสามีเลย

สาวเองก็ไม่อยากพูดเรื่องนี้ เพราะเสียความรู้สึกกับเรื่องนี้มาก พูดทุกทีก็ช้ำใจทุกที ก็เลยไม่อยากพูดกับใคร ไม่อยากไปไหน เพราะเจอแล้ว เขาก็ถามว่าทำไมถึงกลับมาอยู่บ้าน สาวก็ต้องเริ่มต้นเล่าเรื่องใหม่อีกครั้งไม่รู้จบ

กลับมาอยู่บ้านใหม่ๆ คนก็พูดว่า ไปอยู่ที่โน่นแล้ว กลับมาไม่ได้อะไรมาบ้างหรือ ยิ่งทำให้ไม่อยากให้ใครรู้ด้วยซ้ำว่า สาวกลับมาอยู่บ้านแล้ว

หลังจากกลับมาอยู่ที่บ้านเดิม ก็สบายใจขึ้นระดับหนึ่ง เหมือนถอยมาตั้งหลักให้กับชีวิต เพราะสาวไม่ชอบบอกคนอื่นว่า เราลำบาก ไม่อยากแสดงความอ่อนแอให้คนอื่นเห็น

กลับมาอยู่บ้านทำงานรับจ้างกรีดยางพารา เพราะกรีดยางเป็น มีรายได้วันละ 200 – 250 บาท ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ให้ลูกไปโรงเรียน

ขายของก็ได้ เพราะตอนอยู่กับกำนัน เคยลงทุนเปิดร้านขายของหน้าโรงงานใกล้บ้าน แต่เมื่อคลอดลูกก็เลิก ตอนนี้ยังไม่ได้คิดที่จะเปิดร้านขายของ

ที่ผ่านมา เคยขอทุนมูลนิธิเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ นำมาเลี้ยงปลาดุกแต่เนื่องจากเป็นงานที่เราไม่เคยทำ ไม่มีความชำนาญ ก็เลยล้มเหลวและไม่ได้ทำต่อ

เมื่อกลับมาอยู่บ้าน ลูกทั้ง 4 คนก็ได้มาอยู่ด้วยกัน จากที่ฝากเลี้ยงไว้กับอดีตแม่ยายและแม่ของตัวเอง

ส่วนบ้านที่อาศัยอยู่ก็เป็นบ้านของอดีตสามีสร้างไว้ แต่สร้างไม่เสร็จอดีตสามีก็เสียชีวิต จากนั้นอดีตพ่อตาสร้างต่อให้เสร็จและมั่นคงแข็งแรงดี ก่อนหน้านี้อยู่กับแม่ แต่ที่บ้านแม่ถูกน้ำท่วมบ่อย จึงขนของมาอยู่กันที่บ้านหลังนี้

สำหรับลูกทั้ง 4 คน คนโตเป็นผู้หญิง อายุ 15 ปี ชื่อสางสาวนาวียะห์ ขะมิโดย เรียนจบชั้นประถามศึกษาปีที่ 6 และไม่ได้เรียนต่อ

คนที่สองเป็นผู้ชาย อายุ 13 ปี ชื่อเด็กชายกัดดาฟี ขะมิโดย ปัจจุบันเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนสมบูรณ์ศาสน์ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา

คนที่สาม เป็นผู้หญิง อายุ 11 ปี ชื่อเด็กหญิงปนัสยา ขะมิโดย กำลังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และคนสุดท้อง ซึ่งเกิดกับกำนันเจ๊ะบาเหม ชื่อเด็กหญิงนัฟตาลี ทุยเลาะ อายุ 3 ขวบ ส่งเข้าเรียนอนุบาลแล้ว

หลังจากกลับมาอยู่ที่บ้านไม่นาน ก็มีคนโทรศัพท์มาจีบบ่อย ส่วนใหญ่จะพูดจาหยาบคาย คงคิดว่าเราเป็นแม่หม้าย จึงพูดอะไรตรงๆ ได้ ไม่ต้องให้ความสำคัญกับคำพูดที่สวยหรูมากก็ได้ แต่สาวเองคิดว่า เราต้องให้เกียรติกับตัวเอง อย่างน้อยก็เพื่อตัวเราเองและเพื่อลูก

เมื่อมีคนโทรศัพท์มาจีบมากๆ ก็รู้สึกรำคาญ จึงตัดปัญหาด้วยการเปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์มือถือเสียเลย แม้บางคนมาถึงที่บ้านก็ไม่ยอมให้เข้าบ้าน ไล่เขากลับไป ตอนนี้ไม่มีคนโทรศัพท์มากวนแล้ว

ทุกวันนี้สาวรู้สึกมีความสุขดีและเลี้ยงลูกทั้ง 4 คนเองได้ พอใจกับชีวิตที่เป็นอยู่แล้ว
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“ประวิตร” สั่งเช็กทหารแตงโมโพสต์ข้อความหมิ่นสถาบัน

Posted: 29 Oct 2010 02:33 AM PDT

เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 53 ที่ผ่านมา ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าพ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงผลการประชุมสภากลาโหม ครั้งที่ 10/2553 ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุม ว่า ในที่ประชุมได้มีการพูดถึงการเผยแพร่ข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในสังคมออ นไลน์ ที่ปัจจุบันมีการใช้กันอย่างกว้างขวาง เป็นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสู่สาธารณะได้เป็นวงกว้างภายในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งที่เป็นทหารและพลเรือน และที่ผ่านมา มีการตรวจพบเว็บไซต์ที่มีการเผยแพร่ข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นจำนวน มาก โดยมีผู้โพสต์ข้อความ มีทั้งคนไทยที่อยู่ในประเทศไทย และอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งเป็นขบวนการเครือข่ายที่มุ่งร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง
      
“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงสั่งการให้หัวหน้าหน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการเหล่าทัพ เข้มงวดกวดขันวินัยในการใช้สังคมออนไลน์ของข้าราชการทหารในสังกัดทุกระดับ ชั้น โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ตรวจสอบการใช้งานของข้าราชการทหาร หากพบว่ามีการใช้งานในลักษณะดังกล่าว ให้รายงานหัวหน้าหน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการเหล่าทัพทราบ เพื่อดำเนินการลงโทษตามวินัยทหารอย่างเด็ดขาด เพื่อมิให้เป็นตัวอย่างต่อบุคคลอื่น”
      
พ.อ.ธนาธิป กล่าวว่า หากตรวจพบว่า ทหารคนใดเข้าไปเกี่ยวข้อง และมีความผิดในทางอาญาฐานบ่อนทำลายสถาบันก็จะต้องสั่งให้ปลดออกจากราชการ รวมถึงนำตัวดำเนินการตามกฎหมายต่อไป เพราะสถาบันทหารมีหน้าที่ในการพิทักษ์รักษา และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง จะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับประชาชน ซึ่งทหารทุกคนจะต้องยึดถือปฏิบัติ ตามค่านิยมหลักของมาตรฐานจริยธรรมอย่างเคร่งครัด

ที่มาข่าว:

“ประวิตร” สั่งเช็กทหารแตงโมโพสต์ข้อความหมิ่นสถาบัน หากพบไล่ออก เอาผิดอาญา (ASTVผู้จัดการออนไลน์, 28-10-2553)
http://manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9530000152077

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศุขปรีดา พนมยงค์ ถึงแก่กรรมด้วยวัย 75 ปี

Posted: 28 Oct 2010 11:51 PM PDT

 Voice TV รายงานเมื่อเวลา 12.59 น. ว่า นายศุขปรีดา พนมยงค์ บุตรชายคนที่สามของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ถึงแก่กรรมแล้วเมื่อเวลาประมาณ 2.00 น. ของคืนวันที่ 29 ตุลาคม 2553 ที่ร.พ.ธรรมศาสตร์ ด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด โดยก่อนที่จะเสียชีวิตนายศุขปรีดาได้บริจาคร่างกายไว้กับร.พ.ธรรมศาสตร์ 

สำหรับพิธีรดน้ำศพกำหนดจัดที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2553 และจะจัดพิธีรำลึกที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper