โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เปิดตัวเว็บข่าวไทยพับลิก้าเจาะลึกความโปร่งใสภาครัฐ-เอกชน

Posted: 14 Sep 2011 12:21 PM PDT

วันนี้ (14 ก.ย.54) เมื่อเวลา 13.40 น. ที่ห้องประชุม 1011 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีการเปิดตัวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ThaiPublica.org บุญลาภ ภูสุวรรณ บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวไทยพับลิก้า และอดีตบรรณาธิการบริหาร นสพ.ประชาชาติธุรกิจ เล่าถึงที่มาของเว็บซึ่งจะเน้นการทำข่าวเชิงลึกที่ขาดไปในสื่อกระแสหลักปัจจุบันว่า ได้แรงบันดาลใจจากเว็บ propublica.org เว็บข่าวเจาะในอเมริกา ซึ่งสฤณี อาชวานันทกุล คอลัมนิสต์ของ นสพ.ประชาชาติธุรกิจมาขายไอเดีย โดยไทยพับลิก้า มีธีมหลักในการนำเสนอ 3 ธีม ได้แก่ ความโปร่งใสภาครัฐ ความโปร่งใสภาคเอกชนและความยั่งยืน

หน้าเว็บไซต์เนื้อหาหลักเบื้องต้นจะมี 5 ส่วน คือ ส่วนที่ 1.ข่าว ทั้งที่เป็นข่าวเจาะ และข่าวทั่วไป 2.คอลัมน์ 3.ฐานข้อมูลและอินโฟกราฟฟิค ซึ่งใช้ลักษณะพิเศษของเว็บไซต์ช่วยในการสื่อสารให้คนเข้าใจข้อมูลอย่างรวดเร็ว 4.Who’s Who ดึงข้อมูลมาจากฐานข้อมูล ไฮไลท์ให้เห็นตัวละครที่น่าสนใจในเมืองไทย 5.บล็อกของนักข่าว เป็นพื้นที่ให้บรรณาธิการและนักข่าวได้พูดคุยกับผู้อ่าน และท้ายข่าวทุกข่าว ผู้อ่านสามารถแสดงความคิดเห็นหรือพูดคุยได้

สำหรับแหล่งรายได้นั้น เบื้องต้นได้เงินทุนให้เปล่าจากผู้สนับสนุน หลังจากนั้น คาดว่าจะมีรายได้จากการขายข้อมูลให้สื่อหลัก รับสปอนเซอร์ โฆษณา และรับเงินบริจาค

จากนั้น เป็นการเสวนาในหัวข้อ “สื่อกับการสร้างความโปร่งใสประเทศไทย” บรรยง พงษ์พานิช คณะกรรมการที่ปรึกษา สำนักข่าวไทยพับลิก้า และประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) ตั้งข้อสังเกตถึงการที่สื่อไทยถูกวิจารณ์ว่าไม่เจาะลึกปัญหาคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นรากของปัญหาความเหลื่อมล้ำและการที่ประเทศไม่พัฒนาว่า เกิดจากการที่สื่อหลัก อยู่ได้ด้วยทรัพยากรและการลงโฆษณาของหน่วยงานรัฐ ทำให้การกลับไปวิจารณ์ผู้ให้การสนับสนุนเป็นเรื่องลำบาก นอกจากนี้ ในด้านคุณภาพและต้นทุนของสื่อ มองว่า เนื่องจากผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมไทยให้สัมภาษณ์ทุกที่ทุกเวลาทุกโอกาส ทำให้สื่อต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการติดตามทำข่าว โดยเวลาที่ใช้มากที่สุดคือการรอ ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาน้อย ขณะที่ต้นทุนสูง ส่งผลถึงการจ่ายเงินที่ได้น้อยตาม และเมื่อจ่ายน้อย ก็ยากจะพัฒนาคุณภาพ

บรรยง มองว่า การที่สื่อจะอยู่รอดนั้น นอกจากการที่ภาคธุรกิจที่ลงโฆษณาต้องไม่แทรกแซงกองบรรณาธิการแล้ว สื่อเองก็ต้องลดต้นทุนลงด้วย โดยชี้ว่า ขณะที่สำนักข่าวในไทยบางแห่ง มีนักข่าวตามนายกฯ 6 คน สำนักข่าววอชิงตันโพสต์มีนักข่าวทำข่าวประธานาธิบดีคิดเป็น 1/5 คน เพราะประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะพูดสัปดาห์ละครั้ง และบอกล่วงหน้าทุกครั้ง ซึ่งหากสื่อไทยลดตรงนี้ได้ ก็จะมีเวลาทำข่าวเชิงคุณภาพ

ทั้งนี้ บรรยง กล่าวด้วยว่า สื่อมีส่วนอย่างมากในการต้านคอร์รัปชั่น เนื่องจากสื่อมีอิทธิพลสูงมากในการชี้นำความคิดของสังคม เขามองว่า สื่อเท่านั้นที่จะเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนต่อการคอร์รัปชั่นได้ นอกจากนี้ สื่อต้องทำหน้าที่ตรวจสอบเชิงลึก ติดตามรายงานข่าว สอดส่องไม่ให้ทรัพยากรสาธารณะถูกปล้นชิงไปด้วย

ด้าน สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนอิสระ และคณะบรรณาธิการสำนักข่าวไทยพับลิก้า กล่าวว่า ขณะที่สื่อมีปัญหาด้านคุณภาพ และเราก็เข้าสู่ยุคโซเชียลมีเดีย ที่อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ เป็นสังคมของคนทุกคน หรือที่หลายคนบอกว่าเป็นนวัตกรรมที่ส่งผลกระทบมหาศาลต่อธุรกิจสื่อไทย ตั้งคำถามว่าสื่อไทยได้ปรับตัว หรือใช้ประโยชน์กับมันมากแค่ไหน ทั้งนี้ ในโลกที่ข้อมูลไหลเร็ว ซึ่งทักษะของนักข่าวในการแยกแยะ ประติดประต่อ ประมวลวิเคราะห์ข้อมูลมานำเสนอเป็นที่ต้องการ แต่กลับยังไม่เห็นการทำหน้าที่นี้เท่าที่ควร

 

อ่านเพิ่มเติมที่
สัมภาษณ์สื่อน้องใหม่ ThaiPublica.org : “ไทยพับลิก้า กล้าพูดความจริง”
 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศีลธรรมเสรีชน ภายใต้ศีลธรรมประจบ (?)

Posted: 14 Sep 2011 08:08 AM PDT

ผมได้รับสำเนาหนังสือจากสถาบันพระปกเกล้าเชิญนิสิตนักศึกษา (ระดับปริญญาตรี โท เอก) นักวิชาการ อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษาให้ส่งบทความทางวิชาการเข้าประกวดชิงเงินรางวัลชนะเลิศ 70,000 บาท เพื่อเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา หัวข้อที่กำหนดมาคือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับธรรมาภิบาล”

และเมื่อวานมีผู้ที่อ้างว่าเป็นลูกศิษย์พระระดับ “พระราชาคณะ” โทรมาชวนเขียนบทความเรื่องดังกล่าว ทำนองว่าท่านเจ้าคุณไม่ว่าง เลยโยนเรื่องดังกล่าวมาให้ แล้วเขาก็นึกถึงผม อยากให้ผมช่วยเขียน (เห็นเราเป็นมือปืนรับจ้างหรือไง) ผมตอบไปทีเล่นทีจริงว่า “ถ้าจะให้มีธรรมาภิบาลโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เงื่อนไขอย่างต่ำที่สุดต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 8 และกฎหมายหมิ่นฯ มาตรา 112 ก่อนนะ เขียนแบบนี้ได้ไหม” เขาตอบว่า “โอ๊ย ไม่ได้ๆ ต้องยอพระเกียรติเท่านั้น”
 
ประเด็นของผมคือ ศีลธรรมที่อิงอยู่กับอุดมการณ์ความจงรักภักดี กับศีลธรรมแบบธรรมาภิบาลในโลกยุคใหม่เป็นศีลธรรมคนละระบบกัน และขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง (แต่ดูเหมือนว่าหน่วยงานที่จัดประกวดคงต้องการให้เขียนออกมาในแนวสนับสนุนกัน?) เพราะระบบศีลธรรมที่อิงอุดมการณ์ความจงรักภักดีเป็น “ศีลธรรมประจบ” (ยืมคำของอาจารย์สมภาร พรมทา) ส่วนศีลธรรมแบบธรรมาภิบาลคือ “ศีลธรรมเสรีชน”
 
ศีลธรรมประจบ คือศีลธรรมที่อยู่บนพื้นฐานความศรัทธาอย่างปราศจากข้อสงสัยในอำนาจศักดิ์สิทธิ์บางอย่าง อำนาจศักดิ์สิทธิ์นั้นอาจจะเป็นเทพเจ้า พระเจ้า หรืออภิมนุษย์ก็ได้ แต่ “ลักษณะร่วม” คือ ผู้ทรงอำนาจศักดิ์สิทธิ์นั้นๆ มีสถานะดัง “พระบิดา” อาจเป็นพระบิดาของโลก ของมนุษย์ในฐานะผู้สร้างโลกสร้างมนุษย์ หรือพระบิดาของประเทศก็ได้
 
พระบิดานั้นมีสถานะเป็น “ศูนย์กลางทางศีลธรรม” ในความหมายว่าเป็นที่มาของความดีงามทั้งปวง เป็นผู้สอน เป็นแบบอย่าง เป็นสื่อกลาง หรือเป็นแรงบันดาลใจในการทำความดีต่างๆ เช่น พระเจ้าคือความดีสูงสุด และเป็นที่มาของความดีทั้งปวง เราทำความดีเพื่อเข้าถึงพระเจ้า เพราะเรารักพระเจ้า เราจึงรักเพื่อนมนุษย์ รับใช้พระเจ้าคือรับใช้เพื่อนมนุษย์ คือพระเจ้าเป็นทั้งสื่อกลาง แรงบันดาลใจ และเป้าหมายในการทำความดีทั้งปวง
 
ผมไม่ได้บอกว่าความเชื่อดังกล่าวงมงาย หรือไม่ใช่รากฐานทางศีลธรรมที่ดี แต่ความเชื่อเรื่องพระเจ้ามีพัฒนาการที่ซับซ้อน ในสมัยพุทธกาลนั้น การทำความดีเพื่อพระเจ้ามักแสดงออกในรูปแบบของการประจบเอาใจพระเจ้า เพื่อต้องการให้พระเจ้าโปรดปรานประทานพร เช่น พิธีสวดอ้อนวอน บวงสรวง บูชายัญญ์ ล้างบาปในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่พุทธศาสนาปฏิเสธ
 
เพราะพุทธศาสนาเห็นว่าศีลธรรมแบบประจบพระเจ้า หรือหวังพึ่งพาการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ นั้น ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลว่าจะแก้ทุกข์ในชีวิตและสังคมได้อย่างไร บางเรื่องกลับไปสร้างทุกข์ซ้ำเติมอีก เช่น พิธีฆ่าสัตว์ ฆ่ามนุษย์ (ทาส) บูชายัญญ์ เป็นต้น ฉะนั้น พุทธศาสนาจึงเสนอ “ศีลธรรมเสรีชน” หมายถึงการทำความดีบนพื้นฐานการใช้เสรีภาพในการเลือกและรับผิดชอบตนเองบนฐานคิด “มนุษย์เป็นที่พึงของตนเองได้” ไม่ต้องพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาล
 
ในยุโรปหลังยุคกลาง นิทเช่ ก็เคยประกาศว่า “พระเจ้าตายแล้ว” เขาเห็นว่าศีลธรรมแบบประจบพระเจ้าเป็น “ศีลธรรมแบบทาส” มนุษย์ควรมี “ศีลธรรมแบบนาย” คือศีลธรรมที่มาจากการใช้เหตุผลตัดสินดีชั่วถูกผิดด้วยตัวเราเอง เราทุกคนคือนายของตัวเอง ความคิดทำนองนี้ คือที่มาของศีลธรรมแบบมนุษยนิยม หรือศีลธรรมเสรีชนอันเป็นที่มาของความคิดเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาค ประชาธิปไตยในระยะต่อมา
 
ศีลธรรมแบบพุทธศาสนาก็คือศีลธรรมเสรีชน หรือศีลธรรมแบบมนุษยนิยมนั่นเอง และระบบธรรมาภิบาลก็อยู่บนพื้นฐานของศีลธรรมเสรีชน แต่ศีลธรรมที่อิงอุดมการณ์ความจงรักภักดี เป็นศีลธรรมประจบที่เชื่อในอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้
 
ดูเหมือนคุณบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก็เคยพูดทำนองว่า “ทศพิธราชธรรมคือธรรมรัฐ หรือธรรมาภิบาล” ผมคิดว่า ถ้าพูดถึงทศพิธราชธรรมอย่างตรงไปตรงมาตามระบบศีลธรรมแบบเสรีชนของพุทธศาสนา ก็พออธิบายว่าเป็นธรรมมาภิบาลได้ เพราะตามหลักทศพิธราชธรรมจริงๆ ไม่มีข้อใดที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบพระมหากษัตริย์ ยิ่งกว่านั้นสาระสำคัญของทศพิธราชธรรมยังมีนัยให้ต้องตรวจสอบมากกว่า เพราะเราจะรู้ว่า พระมหากษัตริย์มีทศพิธราชธรรมสมบูรณ์ทั้ง 10 ประการได้ ก็ต่อเมื่อพระมหากษัตริย์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้อย่างแท้จริงเท่านั้น
 
แต่หากนำทศพิธราชธรรมไปสนับสนุนอุดมการณ์ความจงรักภักดีที่ถือว่าพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ ก็เท่ากับไม่ซื่อสัตย์ต่อหลักทศพิธราชธรรมแบบพุทธ เพราะเป็นการนำเอาศีลธรรมของพุทธที่เป็นศีลธรรมเสรีชนไปรับใช้ระบบศีลธรรมแบบประจบ ทศพิธราชธรรมที่ถูกนำไปใช้เช่นนั้นจึงไม่เป็นธรรมาภิบาล (หรือเป็นไม่ได้)
 
ระยะหลังมานี้สังคมเราโปรโมทในหลวงให้เป็น “ศูนย์กลางทางศีลธรรม” ของสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ พระองค์เป็นทั้งศูนย์รวมความศรัทธาในความดีงามทั้งปวง เป็นผู้สอน เป็นแบบอย่าง เป็นสื่อกลาง เป็นแรงบันดาลใจในการทำความดีต่างๆ เพื่อ “พ่อ” เช่น ร้องเพลงเพื่อพ่อ เก็บขยะเพื่อพ่อ เลิกยาเสพติดเพื่อพ่อ ปลูกป่าเพื่อพ่อ ฯลฯ (ว่ากันว่ามีอาจารย์บางคนในมหาวิทยาลัยชั้นนำ สอนนักศึกษาปีสี่ให้ “อ่านหนังสือเตรียมสอบเพื่อพ่อ” ด้วย)
 
ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นสิ่งที่ดี (ในความเชื่อของเขา) นะครับ แต่น่าสังเกตว่าทำไมประเทศนี้จึงไม่มีการรณรงค์ทำความดีในความหมายของการสร้าง “ความเป็นธรรมทางสังคม” เพื่อพ่อบ้าง เช่น เรียกร้องเสรีภาพ ความเสมอภาค ประชาธิปไตยเพื่อพ่อ ฯลฯ หรือว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความดี? แน่นอนครับ มันไม่ใช่ความดีในความหมายของศีลธรรมแบบประจบ แต่เป็นความดีในความหมายของศีลธรรมแบบเสรีชน
 
ฉะนั้น ผมจึงรู้สึกทึ่งมากกับการจัดประกวดบทความทำนองนี้ เช่น “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับธรรมาภิบาล” ที่ทึ่งผมหมายความว่า มันเป็นเรื่องน่าอ้ศจรรย์กับความช่างคิดที่จะรวม (ยำ) ศีลธรรมแบบประจบกับศีลธรรมแบบเสรีชนให้เป็นเนื้อเดียวกันให้ได้
 
เพราะถ้าเรายืนยัน “ธรรมาภิบาล” ตามหลักสากลที่เน้นการมีส่วนร่วม ความโปร่งใสตรวจสอบได้เป็นต้นแล้วละก็ ธรรมาภิบาลโดยสัมพันธ์กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมีได้จริงๆ ก็ต่อเมื่อมีการแก้ไขปรับปรุง หรือยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 8 และกฎหมายหมิ่นฯ มาตรา 112 (เป็นอย่างน้อย) แล้วเท่านั้น

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประกาศพื้นที่การอ่านต้นแบบ "วินมอเตอร์ไซค์" ดิดอันดับด้วย

Posted: 14 Sep 2011 07:18 AM PDT

ประกาศพื้นที่การอ่านต้นแบบ 30 แห่ง โครงการกรุงเทพมหานครเมืองหนังสือโลก 2556 พบ "วินมอเตอร์ไซค์-คาร์แคร์-ร้านอาหาร" ติดอันดับ ส่งเสริมการอ่านคนกรุง

14 ก.ย. 54 - เนื่องด้วยด้วยโครงการกรุงเทพมหานครเมืองหนังสือโลก 2556 ได้จัดกิจกรรมประกาศพื้นที่การอ่านต้นแบบ และประกาศเกียรติคุณให้แก่พื้นที่หลากหลายรูปแบบ (3rd Place) ที่ได้ดำเนินการสนับสนุนด้านการอ่าน และก่อให้เกิดกระแสความตื่นตัวในการพัฒนาพื้นที่การอ่านในกรุงเทพมหานคร โดยไม่จำกัดเพียงห้องสมุดเท่านั้น

ทั้งนี้ทางโครงการกรุงเทพมหานครเมืองหนังสือโลก 2556 ได้ดำเนินการคัดเลือกพื้นที่การอ่านต้นแบบ ที่มีการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้บริการ มีบรรยากาศชวนอ่านหนังสือ และมีหนังสือให้บริการ เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2554 โดยมีพื้นที่ที่ได้รับการคัดเลือก 30 พื้นที่ ดังต่อไปนี้

ลำดับ

ชื่อพื้นที่

ประเภท

ที่ตั้ง (เขต)

1

ไล บรา รี่

ร้านอาหาร/ เครื่องดื่ม

เขตสวนหลวง

2

Coppi coffy

ร้านอาหาร/ เครื่องดื่ม

เขตบางกะปิ

3

กาแฟบ้านบางอ้อ

ร้านอาหาร/ เครื่องดื่ม

เขตบางพลัด

4

คาเฟ่ เดอ บางอ้อ

ร้านอาหาร/ เครื่องดื่ม

เขตบางพลัด

5

Yellow submarine

ร้านอาหาร/ เครื่องดื่ม

เขตบางพลัด

6

ก.เอ๋ย ก.กาแฟ

ร้านอาหาร/ เครื่องดื่ม

เขตบางกอกน้อย

7

Ristretto Coffee

ร้านอาหาร/ เครื่องดื่ม

เขตลาดพร้าว

8

Vivi

ร้านอาหาร/ เครื่องดื่ม

เขตพระนคร

9

Seat2Cup Coffee

ร้านอาหาร/ เครื่องดื่ม

เขตห้วยขวาง

10

หอมกรุ่น

ร้านอาหาร/ เครื่องดื่ม

เขตวังทองหลาง

11

ดอยช้าง

ร้านอาหาร/ เครื่องดื่ม

เขตจตุจักร

12

My cafe' The Library

ร้านอาหาร/ เครื่องดื่ม/ ซ่อมหนังสือ

เขตลาดพร้าว

13

สตาร์บัค มศว.

ร้านอาหาร/ เครื่องดื่ม

เขตคลองเตย

14

Sugar Lust Cafe & Bistro

ร้านอาหาร/ เครื่องดื่ม

เขตคลองเตย

15

Chico interior products café

ร้านอาหาร/ เครื่องดื่ม/ ของใช้ ของตกแต่งบ้าน/ คาเฟ่แมว

เขตวัฒนา

16

บ้านไอซ์

ร้านอาหาร

เขตจตุจักร

17

นั่งสบาย หายหิว

ร้านอาหาร

เขตห้วยขวาง

18

House Cafe’ (House RCA)

ร้านอาหาร/ โรงภาพยนตร์

เขตห้วยขวาง

19

Barn@36

Car care / ร้านอาหาร/ เครื่องดื่ม/ ร้านขายเสื้อผ้า

เขตคลองเตย

20

คาร์แคร์ กาแฟ หมอดู

Car care

เขตจตุจักร

21

วินมอเตอร์ไซค์สี่แยกประชานุกูล

บริการ/ มอเตอร์ไซด์

เขตบางซื่อ

22

ICE HAIR

ร้านทำผม

เขตปทุมวัน

23

บ้านหนังสือ ชินเขต 1

บ้านหนังสือ เอกชน

เขตหลักสี่

24

สวนหนังสือเจริญกรุง

ห้องสมุด เอกชน

เขตบางคอแหลม

25

Reading Room

ห้องสมุด เอกชน

เขตบางรัก

26

ห้องสมุดประชาชน แสงอรุณ

ห้องสมุด เอกชน

เขตบางรัก

27

ห้องสมุดสิขาเอเชีย

ห้องสมุดมูลนิธิ

เขตคลองเตย

28

มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก

(ศูนย์ดวงแข)

ห้องสมุดมูลนิธิ

เขตปทุมวัน

29

มุมหนังสือ เรือนสรรปัญญา

ห้องสมุด

เขตคลองสาน

30

สวนโมกข์ กรุงเทพฯ

ห้องสมุด

เขตจตุจักร

โดยโครงการกรุงเทพมหานคร เมืองหนังสือโลก 2556 จะมีการจัดงานแถลงข่าวและมอบโล่ประกาศเกียรติคุณใหแก่พื้นที่การอ่านต้นแบบ จำนวน 30 พื้นที่ ในวันอังคารที่ 20 กันยายน 2554 เวลา 14.00-16.00 น. ณ ลานสานฝัน อุทยานการเรียนรู้ TK Park

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตุรกีหวั่นซีเรียขัดแย้งบานปลายเป็นสงครามกลางเมือง

Posted: 14 Sep 2011 03:56 AM PDT

13 ก.ย. 2011 - กลุ่มสันนิบาตชาติอาหรับและนายกฯ เพิ่มการกดดันทางการฑูต ขณะที่ยังมีรายงานว่ารัฐบาลซีเรียสังหารประชาชน

นักกิจกรรมในซีเรียรายงานว่ามีประชาชนราว 33 รายที่ถูกสังหารในวันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมามีอย่างน้อย 5 รายถูกยิงจากหน่วยสไนเปอร์ที่เล็งเข้ามาในงานศพของชาวบ้านที่ทำพิธีศพให้กับผู้ที่เสียชีวิตก่อนหน้านี้ในเมือง คฟาร์ นูโบเซห์

ในวันเดียวกันนั้น (13) สมาชิกของสันนิบาตชาติอาหรับทั้ง 22 ราย ได้ประชุมหารือกันที่กรุงไคโรโดยออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลซีเรียหยุดใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชน

โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 10 ก.ย. ที่ผ่านมา นาบิล เอล-อราบี ประธานของสันนิบาตชาติอาหรับได้เดินทางไปเยือนซีเรียพร้อมแผนข้อตกลงการปฏิรูป ซึ่งเอล-อราบีกล่าวหลังการเดินทางเยือนว่าทางรัฐบาลซีเรียยอมรับข้อตกลงในการปฏิรูป ขณะที่สื่อของรัฐบาลซีเรียรายงานเรื่องการมาเยือนของประธานสันนิบาตชาติอาหรับว่า เอล-อราบีได้ย้ำถึงจุดยืนปฏิเสธการแทรกแซงจากต่างชาติต่อกิจการภายในของซีเรีย และผู้นำทั้งสองก็ตกลงร่วมกันในแนวทางปฏิบัติที่เป็นไปได้ในเรื่องการปฏิรูปซีเรีย

ทางด้านนักกิจกรรมวิจารณ์การมาเยือนของประธานสันนิบาติชาติอาหรับว่าพวกเขามาช้าเกินไป ก่อนหน้านี้ก็เคยมีการวิจารณ์กลุ่มนี้ว่าได้แต่นิ่งเงียบไม่แสดงท่าทีใดๆ ต่อการปราบปรามผู้ชุมนุม โดยยังมีข้อสังเกตจากนักกิจกรรมอีกว่าการมาเยือนครั้งนี้เป็นการพยายามดำรงรักษาผู้นำของซีเรียเอาไว้

ขณะที่ประธานาธิบดีอัสซาดประกาศว่าจะมีการปฏิรูปในบางเรื่องเช่นการยกเลิกกฏหมายบริหารงานในสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีการ "เจรจาในระดับชาติ" ซึ่งทางกลุ่มต่อต้านบอกว่าไม่ได้ส่งผลต่างจากเดิมมากนัก

 

ตุรกีหวั่นซีเรียขัดแย้งบานปลายเป็นสงครามกลางเมือง

เมื่อวันที่ 13 ก.ย. เรเซป ทายิป เออโดแกน นายกรัฐมนตรีตุรกีก็ออกเดินทางเยือนกลุ่มประเทศอาหรับซึ่งมีการลุกฮือของประชาชนขับไล่รัฐบาลเผด็จการ โดยเออโดแกนกล่าวเตือนว่าความขัดแย้งในซีเรียอาจลามไปเป็น "สงครามกลางเมือง" ระหว่างนิกายซุนหนี่ซึ่งมีประชาชนส่วนมากนับถือ กับนิกายอาลาวียะห์ซึ่งมีประชาชนส่วนน้อยรวมถึงประธานาธิบดีอัสซาดนับถือ

ขณะเดียวกันเออโดแกนยังได้แสดงความไม่พอใจรัฐบาลอัสซาดที่ตัวเขาเองสร้างความสัมพันธ์แน่นแฟ้นเอาไว้ว่าเขาล้มเหลวที่ไม่ยอมฟังเสียงของประชาชน

"ความโกรธเคืองของประชาชนมีต่อชนชั้นนำซึ่งเป็นนิกายอลาวี ไม่เพียงเพราะพวกเขาเป็นเครื่องมือของรัฐบาล ...และรัฐบาลซีเรียเองก็กำลังเลือกเล่นไพ่อันตราย" เออโดแกนกล่าวในการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ของอิยิปต์

อัลจาซีร่ารายงานว่า มีผู้ชุมนุมบางส่วนต้องการให้ต่างชาติใช้กำลังเข้ามาคุ้มครองการปราบปรามสังหารประชาชนของรัฐบาล แต่ดูเหมือนทางประเทศตะวันตกจะไม่มีท่าทีต้องการใช้กำลังทหารกับประเทศซีเรียเช่นที่นาโต้ได้ใช้กำลังช่วยล้มมุมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบียเลย

มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่า การใช้กำลังทหารแทรกแซงประเทศซีเรียที่อยู่ใจกลางเหล่าประเทศตะวัรออกกลางที่พร้อมปะทุนั้นอันตรายเกินไป ซีเรียมีประชากรมากกว่าลิเบีย 3 เท่า เป็นประเทศที่สนับสนุนกลุ่มติดอาวุธของปาเลสไตน์และเลบานอน เป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นกับอิหร่าน ทำสงครามกับอิสราเอล มีอิทธิพลในเลบานอนและชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดทางตะวันออก

 

นักกิจกรรมร้องรัสเซีย อย่างต้านการคว่ำบาตรของยูเอ็น

ในวันที่ 13 ก.ย. นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยในซีเรียได้จัดชุมนุมในฐานะ "วันแห่งความโกรธ" ขึ้น เพื่อแสดงความไม่พอใจที่รัสเซียต้านมาตรการคว่ำบาตรรัซบาลซีเรียของสหประชาชาติ โดยผู้ชุมนุมได้มีการเผาธงชาติรัสเซีย ขณะที่ในเพจ The Syrian Revolution 2011 ในเฟสบุ๊คก็มีข้อความเรียกร้องให้รัสเซีย "อย่าได้สนับสนุนฆาตกร"

โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลรัสเซียได้แสดงท่าทีคัดค้านการใช้มาตรการคว่ำบาตรรัฐบาลซีเรียของสหผระชาชาติ และพยามเรียกร้องให้ฝ่ายรัซบาลและฝ่ายต่อต้านร่างเงื่อนไขข้อตกลงและมีการเปิดเจรจา และในวันจันทร์ (12) ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีรัสเซีย ดิมิทรี เมดเยเดฟ ก็กล่าวยืนยันท่าทีเดิมในการหารือ

ทางด้านองค์กรนิรโทษกรรมสากลเปิดเผยตัวเลขผู้เสียชีวิตว่า 95 รายในเรือนจำของรัฐบาลซีเรียตั้งแต่เดือน เม.ย. ขณะเดียวกันก็แสดงความกังวลต่อนักกิจกรรม 4 รายที่ถูกจับกุมตัวไปในกรุงดามากัสเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยทั้ง 4 รายนี้ถูกจับตัวไปหลังจากที่ร่างที่เสียชีวิตแล้วของเพื่อนร่วมงานที่เป็นนักกิจกรรมที่ชื่อ ไคฟ์ มัตตระ ถูกนำมาส่งกลับครอบครัว

 

 

ที่มา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประกาศปฏิญญาผู้ไร้สิทธิ ชูหลักศาสนานำการพัฒนา

Posted: 14 Sep 2011 03:46 AM PDT

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่หอประชุมอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โครงการจัดตั้งศูนย์อิสลามศึกษาเพื่อบูรณาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมกับภาคีเครือข่ายอีก 12 องค์กร ร่วมกันจัดโครงการประชุมวิชาการระดับชาติ “ชุมคนชุมชนคนใต้ครั้งที่ 3 เสียงจากผู้ไร้สิทธิชายแดนใต้” (Voices of Voiceless: from the Southernmost People in Thailand) เป็นวันที่ 2 มีประชาชน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล คนไทยพลัดถิ่น เครือข่ายชุมชนในพื้นที่ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ นักพัฒนาเอกชน (NGOs) นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยทักษิณ และสื่อมวลชน ร่วมงานประมาณ 500 คน

หลังจากเวทีเสวนา “นโยบายองค์กรภาคีเพื่อร่วมขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้เข้าร่วมทั้งหมดได้ขึ้นเวทีเพื่อร่วมประกาศปฏิญญาสงขลาเพื่อการพัฒนาภาคใต้ยั่งยืน ชื่อว่า ปฏิญญาสงขลา สังคม-ชุมชนใหม่ที่เป็นไปได้ โดยมีแนวทางสู่การปฏิบัติการและการเคลื่อนไหวทางสังคม 5 แนวทาง คือ การใช้หลักศาสนานำการพัฒนา สิทธิกลุ่มทางวัฒนธรรมและกลุ่มชาติพันธุ์ จะต้องได้รับการคุ้มครอง เปิดพื้นที่เหมาะสมสำหรับหญิง-ชายในงานพัฒนา เด็กและเยาวชน จะต้องมีหลักประกันในความเท่าเทียม ยุติและทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ทั้งระบบ และปฏิเสธการจัดการศึกษาแบบดิ่งเดียวหรือรูปแบบเดียว

สำหรับการระดมความคิดเห็นกลุ่มย่อยสมัชชาประชาชน”ว่าด้วยเสียงผู้ไร้สิทธิ” มี 3 ประเด็น คือ ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ การเมืองภาคพลเมืองภาคใต้ และปัญหาภาคใต้

นายแวรอมลี แวบูละ ที่ปรึกษาเครือข่ายชุมชนศรัทธา กล่าวในกลุ่มการพัฒนาและการปรับตัวของชุมชนชายแดนใต้ ในประเด็นปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ถึงการเกิดขึ้นของชุมชนศรัทธาว่า การพัฒนาต้องเดินไปพร้อมกับความสามัคคีและการปรับตัวให้เข้ากับสังคม จึงเกิดแนวคิดในการแก้ไขปัญหาด้วยการพึ่งพาตนเอง โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึงภาคประชาสังคมอื่นๆ ที่ร่วมกันเป็นเครือข่ายในการสร้างความยุติธรรมและเยียวยาผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

นายแวรอมลี กล่าวว่า กระบวนการจัดการในหมู่บ้าน ผู้นำหรือชุมชนต้องมีความเข้าใจปัญหา โดยอยู่ในกรอบของศาสนา จึงเกิดแนวปฏิบัติที่เป็นนวัตกรรมใหม่และกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นเยอะมาก ถือเป็นแนวทางสำคัญในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ เช่น กิจกรรมการสอนอ่านคำภีร์อัลกุรอ่านแบบกีรออาตีในเครือข่ายชุมชนศรัทธาที่อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา กำลังขยายตัวเพิ่มเป็น 3 พื้นที่ มีคนเข้าร่วมกว่า 700 คน ซึ่งช่วยพัฒนาคุณภาพทางด้านศาสนาของเด็กได้ดีขึ้นมากกว่าเดิม จากงบประมาณเพียง 100,000 บาท จึงอยากให้รัฐบาลส่งเสริมในเรื่องนี้ให้มากขึ้นกว่าเดิม

“กว่า 3,000 หมู่บ้านใน 3 จังหวัดชายแดนใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา หากมีการขับเคลื่อนเครือข่ายชุมชนศรัทธาหรือชุมชน“ตักวา” จะทำให้สามารถพัฒนาชุมชนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นการนำหลักการทางศาสนามาเป็นตัวนำในการพัฒนา” นายแวรอมลี กล่าว

นายแวรอมลี กล่าวอีกว่า นโยบายของรัฐบาลหลายอย่างดีแล้ว แต่การปฏิบัติการล้มเหลว โดยเฉพาะเรื่องการแก้ปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาหลักในจังหวัดชายแดนใต้ ขณะเดียวกันก็ยังขาดการพัฒนา จึงต้องการให้รัฐบาลเหลียวแลประชาชนให้มากขึ้น เช่น การยกระดับและพัฒนาศักยภาพของ คน ศาสนา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ อาชีพ ที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยที่ การมีส่วนรวมของชุมชน เป็นต้น

นางพาฮีสะ ท้วมงาน อาสาสมัครชุมชนศรัทธา กล่าวในประเด็นปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ ในกลุ่มนโยบายการพัฒนาของภาครัฐกับผลกระทบชุมชนชายแดนใต้ ที่ห้อง 15202 อาคารเรียนรวม 15 มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลาว่า พื้นที่หมู่ที่ 4 ชุมชนวังกระ ตำบลตาเซะ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ เนื่องจากหลังจากมีการสร้างเขื่อนปัตตานีขึ้น ทำให้พื้นที่ชุมชนวังกระเป็นพื้นที่อ่างเก็บน้ำของเขื่อนปัตตานี

“ผลของการสร้างกำแพงกั้นน้ำที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ชุมชนวังกระถึงปีละ 2 ครั้ง ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถทำนาได้ จนกลายเป็นนาร้างอยู่หลายปี แต่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านพยายามฟื้นฟูนาร้างขึ้นมา แต่สามารถทำนาได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น” นางพาฮีสะกล่าว

นางนิธิมา บินตำมะหงง จากสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เปิดเผยว่า ทัศนียภาพของภาคใต้เป็นเชิงเขา ทุ่งนาและทะเล ปัจจุบันพื้นที่เชิงเขากำลังมีการบุกรุกทำลายป่าไม้หลายพื้นที่ เช่น ในเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าป่าบาลาฮาลา และเขตอนุรักษ์ป่าไม้ในจังหวัดสตูล ส่วนพื้นที่ทุ่งนาหลายแหล่งถูกทิ้งร้าง เช่น ในพื้นที่ตำบลท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ซึ่งเกิดจากการที่ภาครัฐไม่ส่งเสริมเกษตรกรรมมากนัก แต่ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมมากกว่า ขณะที่พื้นที่ทางทะเลก็ถูกนายทุนทำประมงแบบทำลายล้าง ส่งผลให้ชาวประมงพื้นบ้านได้รับกระทบอย่างหนัก

นายสมบูรณ์ คำแหง เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล กล่าวในกลุ่มแผนพัฒนาภาคใต้และการจัดการทรัพยากรที่ดินชายฝั่ง ประเด็นปัญหาภาคใต้ว่า แผนพัฒนาภาคใต้ เป็นคำที่คนเข้าใจผิดว่าเป็นแผนที่ทำให้ภาคใต้เจริญ แต่อีกนัยยะหนึ่ง คือ แผนที่จะผลักดันให้โครงการขนาดใหญ่ลงมามากกว่า จึงถูกเรียกว่า “แผนพัฒนาภาคใต้” เช่น โครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก เป็นต้น

นายสมบูรณ์ กล่าวอีก เหตุที่ทำให้ต้องมีการขยายอุตสาหกรรมมายังภาคใต้เพิ่มขึ้น เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยองไม่สามารถขยายตัวได้อีกแล้ว เพราะผลกระทบจากมลภาวะต่างๆ ภาครัฐจึงต้องเล็งหาพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมแห่งใหม่ ซึ่งภาคใต้มีความเหมาะสมทั้งสภาพภูมิภาคและทำเลที่ตั้ง แต่รัฐบาลจะไม่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่กระจุกตัวอยู่แห่งหนึ่งแห่งใด จะใช้วิธีกระจายให้ทั่วชายฝั่งทะเลแทน

นายสมบูรณ์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้รัฐบาลได้เร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมในภาคใต้ให้เร็วขึ้น เพื่อให้ทันกับการเปิดเสรีอาเซียน โดยคาดหวังว่า ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางในการขนส่งระดับอาเซียน ถ้าภาคใต้จะถูกพัฒนาไปในทิศทางนั้น ถามว่า รัฐบาลได้ถามประชาชนที่อยู่ในพื้นที่นั้นแล้วหรือยังว่า พวกเขาต้องการโครงการนั้นหรือไม่ ทำไมภาครัฐไม่ชี้แจงให้ประชาชนในพื้นที่ทราบว่า จะสร้างอะไร แต่ละโครงการมีผลกระทบอะไรบ้าง

ประกาศปฏิญญาผู้ไร้สิทธิ ชูหลักศาสนานำการพัฒนา
ผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการระดับชาติ “ชุมคนชุมชนคนใต้ครั้งที่ 3 เสียงจากผู้ไร้สิทธิชายแดนใต้” (Voices of Voiceless: from the Southernmost People in Thailand) ประชาชน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล คนไทยพลัดถิ่น เครือข่ายชุมชนในพื้นที่ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ นักพัฒนาเอกชน (NGOs) นิสิตนักศึกษา ร่วมประกาศปฏิญญาสงขลา เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่หอประชุมอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา

ปฏิญญาสงขลา

สังคม-ชุมชนใหม่ที่เป็นไปได้

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อมจากการเข้าสู่สังคมโลกาภิวัตน์ การเติบโตของระบบการค้า นโยบายการพัฒนา การผันแปรทางการเมือง ภัยคุกคามและความไม่มั่นคงในภาคใต้ ได้ส่งผลกระทบอย่างขนานใหญ่ต่อพวกเราในฐานะประชาชน คนธรรมดาสามัญ ที่ถูกกำหนดชะตาชีวิตให้เดินในเส้นทางที่ไม่ได้กำหนด ทำให้เผชิญกับความเจ็บปวด ทรมาณอย่างแสนสาหัส

และบัดนี้เราได้ประจักษ์ชัดถึงความจำเป็นในเส้นทางที่เป็นไปได้ สำหรับการสร้างสรรค์สังคมใหม่ ที่ทำให้ประชาชน ธรรมดา สามัญ สามารถกำหนดนิยามสังคม-ชุมชนใหม่ ที่เราต้องการ ด้วยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่ต่อเนื่องและโยงใย เพื่อปฏิบัติการปกป้อง คุ้มครอง และร่วมกันสร้างสังคมใหม่-ชุมชนใหม่อย่างมุ่งมั่นและจริงจัง

ในฐานะประชาชน ธรรมดาสามัญ เราทั้งหลาย ณ ที่นี่ จึงร่วมกันประกาศปฏิญญา “สังคม-ชุมชนใหม่” ดังต่อไปนี้

  1. เราจะกระทำทุกวิถีทางที่ชอบธรรมในการส่งเสริม สนับสนุนความเข้มแข็ง ภาคประชาชนในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การสร้างสังคม ชุมชนใหม่ ที่เราสามารถกำหนดด้วยตัวเองอย่างมีเกียรติ์ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งในฐานะที่เป็นศูนย์กลางและเป้าหมายของการพัฒนา
  2. เราจักต่อสู้ ยืนหยัดอย่างต่อเนื่องและกล้าหาญในการปกป้อง ผืนแผ่นดิน มาตุภูมิของเรา, การรุกราน ยัดเยียด การกระทำใดที่ปราศจากความชอบธรรม จะได้รับการตอบโต้ และต่อต้าน ในฐานะประชาชน สิทธิชุมชน ความเป็นพลเมือง ในทุกการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้มั่นใจว่าเราจะไม่ได้เดือนร้อน เจ็บปวดเช่นที่ผ่านมา
  3. เราขอยืนยันว่าในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคม เราทุกคนไม่ว่าจะเป็น ผู้หญิง เด็ก เยาวชน เกษตรกร กลุ่มชาติพันธุ์ จะต้องได้รับการปกป้อง คุ้มครอง ปลอดพ้นจากเลือกปฏิบัติขุมขู่ คุกคาม ทุกรูปแบบ อันรวมถึงการเลือกปฏิบัติใดๆอันเนื่องมาจากความแตกต่าง
  4. เราได้ใคร่ครวญอย่างถ้วนถี่จากเส้นทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน จึงขอประกาศว่านับจากนี้พลังชีวิตทั้งมวลของพวกเราจะถูกปลดปล่อยออกมาอย่างสร้างสรรค์และมีสามัญสำนึก สำหรับการสร้างสรรค์สังคม-ชุมชนใหม่ ที่เท่าเทียมและกำหนดโดยตัวเรา
  5. เราทั้งหลายจะนำปฏิญญาสงขลา สังคม-ชุมชนใหม่ที่เป็นได้ ออกสู่การปฏิบัติการและการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อให้ได้ซึ่งสิ่งปรารถนา ในทุกระดับ ดังนี้
    1. การใช้หลักศาสนานำการพัฒนา ตามแนวทางเครือข่ายชุมชนศรัทธาหรือกัมปง ตักวา ด้วยรูปแบบการพัฒนา “สี่เสาหลัก” โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนด้วยการสร้างพื้นที่สังคม การปฏิบัติการ และการสนับสนุนที่เหมาะสมจากภายนอก เพื่อให้สามารถสร้างความมั่นคงของชุมชนตามแนวทางศรัทธา
    2. สิทธิกลุ่มทางวัฒนธรรมและกลุ่มชาติพันธุ์ จะต้องได้รับการคุ้มครองทั้งในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคม ความเป็นมนุษย์ มีศักดิ์ศรี อิสระ ความเท่าเทียม กับกลุ่มอื่นๆในสังคม ปลอดพ้นจากการอคติ การรังเกียจ เบียดขับทางชาติพันธุ์ และการถูกกีดกันจากระบบทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม
    3. เปิดพื้นที่เหมาะสมสำหรับหญิง-ชาย ในงานพัฒนา มีสิทธิอย่างเท่าเทียมในการเข้าร่วมอย่างแข็งขันในการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจ และการดำเนินการ การกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ การใช้ความรุนแรงจะได้รับปกป้อง คุ้มครองในทุกรูปแบบ
    4. เด็กและเยาวชน จะต้องมีหลักประกันในความเท่าเทียม ปราศจากการแบ่งแยก กีดกันใดๆ อันเนื่องมาจากความแตกต่างด้านชาติพันธุ์ ภาษา การเมือง ศาสนาและวัฒนธรรม และการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้แสดงบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในการเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสังคม ชุมชนท้องถิ่น
    5. ยุติและทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ทั้งระบบ การดำเนินการใดๆที่ปิดกั้นการมีส่วนร่วม และปราศจาการยินยอมจากชุมชนท้องถิ่นจะได้รับการคัดค้าน ต่อต้านในระดับที่ทันกันอย่างที่สุด
    6. ปฏิเสธการจัดการศึกษาแบบดิ่งเดียวหรือรูปแบบเดียว ทั้งเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษาอย่างเหมาะสม อาทิ การจัดการศึกษาภายใต้แนวคิดและรูปแบบโรงเรียนตักวาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ณ มหาวิทยาลัยทักษิณแห่งนี้ เราขอยืนยันและแสดงเจตนารมณ์อย่างแจ้งชัดและแน่วแน่ ว่าเราจักมุ่งมั่นในวิถีและเส้นทางใหม่ที่เลือกแล้ว

เสมอมั่นในแนวทาง
มหาวิทยาลัยทักษิณ สงขลา
13 กันยายน 2554

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดหลักฐานใหม่:ใบลานจารึกโดยผู้นำกบฎเชียงใหม่

Posted: 13 Sep 2011 11:53 PM PDT

ชาวบ้านหนองจ๊อม จ.เชียงใหม่ เปิดเผยระหว่างวงเสวนา "เล่าขานตำนานล้านนา" เผยหลักฐานใหม่ใบลานธรรมซึ่งเขียนโดยพญาปราบสงคราม ผู้นำกบฎพญาปราบสงคราม หรือกบฎเชียงใหม่ ต่อต้านการเก็บภาษีหมาก พลู เมื่อ พ.ศ. 2432 

 

 

วงเสวนา "เล่าขานตำนานล้านนา" ที่ลานหน้าวัดสันป่าสัก ต.หนองจ๊อม อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ เมื่อ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา

ธเนศวร์ เจริญเมือง

ใบลานธรรมหนึ่งในหลายฉบับที่ค้นพบที่วัดสันป่าสัก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ซึ่งท้ายใบลานจารึกว่าผู้เขียนคือพญาปราบสงคราม (ภาพนี้ได้รับการเอื้อเฟื้อจากกลุ่มนักข่าวพลเมืองเชียงใหม่)

เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา ประชาคมหลายกลุ่มใน อ.สันทราย และอำเภอใกล้เคียงใน จ.เชียงใหม่ ร่วมกันจัดวงเสวนา "เล่าขานตำนานล้านนา" ที่ลานหน้าวัดสันป่าสัก ต.หนองจ๊อม อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ มีวิทยากรคือนายประสิทธิ์ เก่งกาจ นักวิชาการท้องถิ่น ผู้ปริวรรตอักษรล้านนา  และ ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดยในงานดังกล่าวได้มีการเปิดเผยหลักฐานใหม่คือใบลานธรรม ซึ่งเขียนโดยพญาปราบสงคราม ผู้นำกบฎพญาปราบสงคราม หรือกบฎเชียงใหม่ พ.ศ. 2432

นายประสิทธิ์ เก่งกาจ กล่าวว่า จากการศึกษาใบลานที่รักษาอยู่ในวัดสันป่าสัก พบว่ามีใบลานนับสิบผูกที่ท้ายธรรมระบุว่าจารึกใบลานโดยหนานเตชะ หรือพญาปราบสงคราม

"อะหังนามะกร บอวรชื่นช้อย ตัวข้าน้อยชื่อว่านันทาภิกขุ ปางเมื่ออยู่วัดสันป่าสัก ยั้งไน พญาปราบแล" ประสิทธิ์อ่านตอนท้ายของใบลานเล่มหนึ่ง

ประสิทธิ์ตั้งข้อสังเกตว่า นอกจากจะระบุถึง "พญาปราบสงคราม" แล้วใบลานที่บันทึกในช่วงพญาปราบสงครามบวชอยู่ที่วัดสันป่าสัก จะจารึกว่านันทาภิกขุ เมื่อสึกแล้วจะระบว่าหนานเตชะ เมื่อรับตำแหน่งขุนนางยังมีการระบุว่า "ท้าวเตชะราชาโพธินาม"

โดยในใบลานบางเล่ม พญาปราบสงครามยังลงท้ายว่าเพื่อเป็นอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับญาติด้วย

ทั้งนี้ตามธรรมเนียมการจารึกใบลานในล้านนา ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา โดยผู้จารึกมักนิยมระบุว่าตนเป็นผู้จารึกใบลานไว้ในตอนท้ายบท

ด้าน ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำเสนอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในช่วงกบฎเชียงใหม่ พร้อมเสนอว่าในชุมชนน่าจะเริ่มกระบวนการแสวงหาความจริง ศึกษา และค้นคว้าประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แม้จะเริ่มศึกษาช้า แต่เชื่อว่าเอกสารเหล่านี้ถ้าอ่านดีๆ จะมีเรื่องสำคัญอยู่

ธเนศวร์ ยังเสนอด้วยว่า มีความจำเป็นต้องศึกษาเอกสารซึ่งรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติในกรุงเทพฯ โดยที่ใครที่มีลูกหลานต้องส่งเสริมให้ได้เรียนหนังสือจะได้มีโอกาสไปค้นคว้าที่หอหมายเหตุแห่งชาติ นอกจากนี้ยังเสนอให้ชุมชน รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการประชุมเพื่อตั้งคณะกรรมการพัฒนาชุมชนวัดสันป่าสักเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและเป็นแหล่งศึกษาทางประวัติศาสตร์ในเรื่องกบฎพญาปราบสงคราม

หนังสือประวัติศาสตร์ล้านนา ของสรัสวดี อ๋องสกุล ระบุว่ากบฎพญาปราบสงครามหรือกบฎเชียงใหม่ เกิดใน พ.ศ. 2432 เมื่อพระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์ ข้าหลวงห้าหัวเมือง รวมทั้งเมืองเชียงใหม่ ได้กำหนดให้เก็บอากรพืชสวนแบบกรุงเทพฯ คือให้เจ้าภาษีนายอากรออกเก็บปีละครั้ง แทนระบบเดิมที่กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ข้าหลวงห้าหัวเมืองก่อนหน้านี้ กำหนดให้เสียภาษีต่อเมื่อมีการซื้อขายเท่านั้น โดยการเก็บภาษีระบบใหม่ทำให้ชาวบ้านแถบสันทรายซึ่งปลูกหมาก พลู หาเงินมาชำระภาษีไม่ทัน และขอเสียภาษีเป็นผลผลิตตามระบบเก็บภาษีแบบดั้งเดิม แต่เจ้าภาษีไม่ยอมกลับจับกุมชาวบ้านใส่ขื่อมือขื่อเท้า ทำให้พญาปราบสงคราม ขุนนางท้องถิ่น และมีตำแหน่งเป็นแม่ทัพเมืองเชียงใหม่ ได้นำชาวบ้านต่อต้านการเก็บภาษีและลุกลามกลายเป็นกบฎ โดยหลังการกบฎมีผู้นำกบฎจำนวนมากถูกประหารชีวิต ส่วนพญาปราบสงครามได้หนีไปพึ่งเจ้าเมืองเชียงตุงและไม่ได้กลับมาเชียงใหม่อีก

 

หมายเหตุ: ที่มาของภาพวิดีโอต้นฉบับได้รับการเอื้อเฟื้อจากกลุ่มนักข่าวพลเมืองเชียงใหม่

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สั่งจำ บก.ลายจุด6เดือน ปรับ6,000บาทฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินแต่ให้รอลงอาญา

Posted: 13 Sep 2011 10:25 PM PDT

ศาลสั่งจำคุก บก.ลายจุด 6 เดือน-ปรับ 6,000 บาท กรณีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชุมนุมแยกใต้ด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ แต่ให้รอลงอาญา เจ้าตัวยันยื่นอุทธรณ์

วันนี้ (14 ก.ย.54) ที่ศาลแขวงพระนครเหนือโดย นายธิติพันธ์ ฉายบาง ผู้พิพากษา ขึ้นนั่งบัลลังก์คำพิพากษาในคดีนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด แกนนำกลุ่ม 19 กันยา ต้านรัฐประหาร และกลุ่มพลเมืองภิวัตน์ จากเหตุการณ์การชุมนุมบริเวณแยกใต้ทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ ใกล้ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว เมื่อวันที่ 21 พ.ค.53 (คดีดำที่ 1189/2553)

โดยคดีดังกล่าวอัยการโจทก์ได้ระบุว่า นายสมบัติและผู้ชุมนุมประมาณ 1,000 คนได้ชุมนุมบริเวณทางเท้าและพื้นผิวถนน มีการกล่าวปราศรัยโดยใช้โทรโข่งรวมถึงมีการแสดงภาพถ่ายผู้เสียชีวิต ภาพทหารถืออาวุธสงคราม และภาพพระภิกษุถูกจับกุมโดยทหาร ในบริเวณดังกล่าว เป็นการขัดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และก่อให้เกิดความเดือดร้อน เนื่องจากกีดขวางทางจราจร โดยนายสมบัติได้เป็นผู้กล่าวปราศรัยและดำเนินการให้มีผู้อื่นมากล่าวปราศรัย

ในส่วนทนายจำเลยได้แย้งว่า นายสมบัติ(จำเลย)เห็นว่าการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 เป็นการกระทำโดยมิชอบของรัฐ ขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Convenant on Civil and Political Right- ICPR ) และอ้างว่าจำเลยเป็นอนุกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงกรณีการสลายการชุมนุม 10 เมษยน 2553 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พร้อมยืนยันว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นไปในหน้าที่ของอนุกรรมการสิทธิฯ ในการสอบหาข้อเท็จจริง และนิทรรศการภาพไม่ใช่ภาพของจำเลย แต่ไม่ทราบว่าเป็นของใคร ในการปราศรัย มีผู้นำโทรโข่งมาให้ ซึ่งได้ปราศรัยแนวคิดทางการเมืองเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยและสันติวิธี

ศาลได้อ่านคำพิพากษา ยืนว่าการประกาศ พรก.ฉุกเฉิน ของ ศูนย์อำนวยแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ไม่ขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2550 ในหมวดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม เนื่องจากเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฏหมายตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ สำหรับในกรณีเรื่องการที่จำเลยขอให้มีการไต่สวนเรื่องความถูกต้องในกระบวนการที่รัฐใช้กำลังทหารในการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พค. 2553 นั้นไม่ได้นำมาประกอบการพิจารณาเนื่องจากไม่ได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงต่อคดีนี้ ศาลจึงได้สั่งจำคุกนายสมบัติ เป็นเวลา 6 เดือนและปรับเป็นเงินจำนวน 6,000บาท โดยโทษจำให้รอลงอาญา

หลังจากที่เสร็จสิ้นการพิพากษา นายสมบัติ บุญงามอนงค์ นส.ภาวิณี ชุมศรี ทนายความได้ยืนยันที่จะขอยื่นอุทธรณ์ต่อคำพิพากษาของศาลชั้นต้น พร้อมทั้งได้เดินทางไปจ่ายเงินค่าปรับจำนวน 6,000 บาท เพื่อเป็นการที่จะไม่ต้องประกันตัวในชั้นอุทธรณ์) โดยที่ในการฟังคำพิพากษาคดีดังกล่าว มีผู้ร่วมฟังประมาณ 20คน

โดยที่ก่อนหน้านี้นายสมบัติ ได้ถูกกุมตัวโดย ศอฉ.โดยอ้างอำนาจตาม พรก.ฉุกเฉิน ไปขังไว้ที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายเเดน ภาค 1 คลอง 5 จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2553 รวม14วัน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นิธิ เอียวศรีวงศ์

Posted: 13 Sep 2011 07:48 PM PDT

เผด็จการทางรัฐสภาไม่เคยเป็นปัญหาในเมืองไทย แต่พลังและอำนาจที่คอยทัดทานต่อต้านเสียงข้างมากอย่างผิดกฎหมาย หรืออย่างไม่เป็นประชาธิปไตยต่างหากที่เป็นปัญหา ทิศทางที่ถูกต้องก็คือสร้างพลังและอำนาจในการทัดทานต่อต้านที่ถูกกฎหมายและ เป็นประชาธิปไตยขึ้น

เผด็จการทางรัฐสภา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น