โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

กัมพูชาประท้วงไทยวางแนวลวดหนามล้ำเขตเขาพระวิหาร

Posted: 04 Jul 2012 01:50 PM PDT

วานนี้ (4 ก.ค.) รัฐบาลกัมพูชายื่นจดหมายประท้วงไปยังสถานทูตไทยในกัมพูชา โดยระบุว่ามี “การกระทำที่ไม่สร้างสรรค์” เกิดขึ้นจากฝั่งไทย และเป็นการละเมิดคำสั่งของศาลโลก เมื่อวันที่ 18 กรกฏาคม 2554

โดยกัมพูชาระบุว่ามีพฤติการณ์ไม่สร้างสรรค์โดย “ทหารชุดดำ” วางแนวลวดหนามในระหว่างวันที่ 23-26 และ 30 มิ.ย. ตามแนวพิกัด VA 659-918, VA 664-917, VA634-925 และ VA659-918 โดยเวลาประมาณ 22.00 น. ของวันที่ 26 มิ.ย.มีเสียงปืนดังขึ้นบริเวณพิกัด VA 634-925และVA 630-926 จุดละ 1 ครั้ง

จดหมายดังกล่าวระบุว่า ในการวางแนวลวดหนามที่พิกัด VA 659-918 นั้น มีบางส่วนล้ำเข้ามาในเขตเขาพระวิหาร และเรียกร้องต่อทางการไทยให้หยุดการกระทำที่ละเมิดต่อคำสั่งศาลโลก

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จดหมายร้องทุกข์: ถามหาความรับผิดชอบของผู้บังคับบัญชา กรณีคำสั่งปลดออกจากราชการไม่ชอบ

Posted: 04 Jul 2012 11:56 AM PDT

ชื่อบทความเดิม: ถามหาความรับผิดชอบของผู้บังคับบัญชาเมื่อมีกรณีการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

 
สืบเนื่องมาจากศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดง ที่ อ 245-246/2552 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2552 ให้เพิกถอนคำสั่งปลดออกจากราชการ และพิพากษาเพิกถอนโดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่คำสั่งมีผลบังคับ ย่อมต้องถือเสมือนว่าไม่เคยมีคำสั่งดังกล่าวมาก่อน เนื่องจากเป็นมติและคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ได้ดำเนินการทางวินัยตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่หน่วยงานเป็นผู้กำหนดและกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 กับผู้ฟ้องคดี และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 สังกัดอยู่จะต้องรับผิดต่อผู้ฟ้องคดีในผลแห่งละเมิดที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยการออกคำสั่งดังกล่าว ทั้งนี้ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประกอบมาตรา 5 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โดยให้หน่วยงานต้นสังกัดจ่ายค่าเสียหายเป็นเงินเดือนย้อนหลังให้กับผู้ฟ้องคดี 
 
จึงมีข้อเท็จจริงว่า การมีมติและคำสั่งปลดออกจากราชการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหาย เพราะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ฟ้องคดีเป็นเงินเดือนย้อนหลังให้โดยไม่ได้ทำงาน
 
มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 บัญญัติว่า ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐ ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง 
 
ข้อ 20 ของคณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย (ก.จ.จ.เชียงราย) เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวนฯ ลงวันที่ 24 มกราคม 2545 ระบุ “เมื่อปรากฏว่ามีมูลที่ควรกล่าวหา ข้าราชการผู้ใดกระทำผิดวินัยโดยมีพยานหลักฐานเบื้องต้นอยู่แล้วให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยทันที... ผู้บังคับบัญชาผู้ใดละเลยไม่ปฏิบัติตามข้อนี้ และตามส่วนที่ 1 ของหมวด 2 หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวโดยไม่สุจริตให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิด
 
และมติคณะรัฐมนตรีตามหนังสือ ที่ นร 0206/ว 218 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2541  “ถ้าปรากฏว่า มีความจริงอันเป็นกรณีความผิดกฎหมายบ้านเมืองให้ดำเนินคดีอาญา ถ้ามีมูลความจริงเป็นกรณีความผิดวินัยให้ดำเนินการสอบสวน หรือตั้งกรรมการสอบสวน” ในกรณีนี้มีพยานหลักฐานในเบื้องต้นอยู่แล้วตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ซึ่งถือเป็นที่สุดและไม่มีผู้ใดสามารถยกเลิกเพิกถอนคำพิพากษาดังกล่าวได้
 
ทั้งนี้ เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสถานะเป็นนิติบุคคลไม่มีตัวตนและไม่สามารถดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้ด้วยตนเอง การดำเนินการทางวินัยจึงต้องกระทำโดยผ่านเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งก็คือ เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบการบริหารงานบุคคลของหน่วยงานและบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการทางวินัยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
ดังนั้น การที่หน่วยงานไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติกับผู้ที่กระทำผิดกฎหมายอันเป็นเหตุให้ราชการและผู้อื่นได้รับความเสียหายตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยอ้างเอาเองว่า “ไม่อาจฟังได้ว่าข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแต่ประการใด”  ก็เท่ากับเห็นว่าศาลปกครองสูงสุดตัดสินคดีผิดพลาด ต้องไม่รับผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการและต้องไม่ชดใช้ค่าเสียหายในการกระทำละเมิดกับผู้ฟ้องคดีตามคำพิพากษา รวมทั้งต้องฟ้องขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาคดีใหม่เพื่อยกเลิกเพิกถอนคำพิพากษาดังกล่าว แต่เมื่อไม่ได้กระทำก็ต้องถือว่าคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดถือเป็นที่สุด
 
โดยมีข้อเท็จจริงว่า หน่วยงานได้รับผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการและจ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ฟ้องคดีบางส่วน และได้คืนขั้นเงินเดือนย้อนหลังให้แต่ไม่ได้เลื่อนระดับให้กับผู้ฟ้องคดีตามสิทธิที่มีอยู่โดยชอบด้วยกฎหมายก่อนคำสั่งปลดอออกจากราชการมีผลบังคับใช้
 
และไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในการดำเนินการหาตัวผู้กระทำผิดและลงโทษตามระเบียบของราชการ เนื่องจากมาตรา 420 แห่งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ให้เขาเสียหายแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”  
 
โดยมีข้อเท็จจริงว่า แม้ผู้ฟ้องคดีผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องถูกปลดออกจากราชการโดยไม่มีความผิดถึง 6 ปี จะได้ทำหนังสือร้องเรียนหน่วยงาน กรณีไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติต่อผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้มีหน้าที่กำกับดูแลตามมาตรา 77 แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 และในฐานะผู้บังคับบัญชาผู้รับหนังสือร้องเรียนตามมติคณะรัฐมนตรี ถึง 12 ฉบับ แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แต่อย่างใด  
 
รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของผู้ว่าราชการจังหวัด ได้มีหนังสือแจ้งว่าได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเป็นผู้รับมอบหมายให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ แต่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกลับมีหนังสือแจ้งว่าได้ส่งเรื่องร้องเรียนให้จังหวัดพิจารณาดำเนินการรวมกับเรื่องเดิม แล้วรายงานผลการดำเนินการพร้อมทั้งความเห็นของจังหวัดและเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นทราบ ผลเป็นประการใดจังหวัดจะแจ้งให้ผู้ร้องเรียนทราบต่อไป แม้จะมีข้อเท็จจริงว่าผู้ฟ้องคดีได้ร้องเรียนกล่าวโทษการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของจังหวัดด้วย อันเท่ากับกรมฯ ได้ส่งเรื่องร้องเรียนให้ผู้ที่ถูกร้องเรียนโดยตรงดำเนินการ ซึ่งขัดกับมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาผู้รับเรื่องร้องเรียนต้องให้ความคุ้มครองกับผู้ร้องเรียน และระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของราชการ
 
จนบัดนี้ที่เวลาได้ล่วงเลยมานับแต่มีคำพิพากษาในวันที่ 6 ตุลาคม 2552 มาแล้วเกือบ 3 ปีแล้ว ผู้บังคับบัญชาที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในการดำเนินการสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดเพื่อลงโทษตามระเบียบของราชการ และเรียกเงินคืนให้กับราชการกรณีที่ได้ชดใช้ค่าเสียหายในการกระทำละเมิดกับผู้ฟ้องคดีไปก่อนยังไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างใด ซึ่งก็ขอฝากถึงกระทรวงมหาดไทยด้วยว่า เมื่อไม่สามารถลบล้างคำพิพากษาศาลของศาลปกครองสูงสุดได้ ท่านจึงมีหน้าที่ตามกฎหมาย ต้องหาตัวผู้กระทำผิดเพื่อลงโทษและเรียกเงินคืนให้รับราชการ เพราะกฎหมายและระเบียบของราชการมีไว้ใช้กับข้าราชการทุกคนเท่าเทียมกัน 
 
 
เอกสารอ้างอิง
1. คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีหมายเลขแดง ที่ อ 245-246/2552
2. หนังสือฯ ที่ ชร 51001/3338 ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2552
3. หนังสือฯ ที่ ชร 51001/2101 ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2554
4. หนังสือฯ ที่ ชร 51001/4576 ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2554
5. ประกาศ ก.จ.จ.เชียงราย เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการสอบสวนฯ ลงวันที่ 24
    มกราคม 2545
6. หนังสือฯ ที่ นร 0206/ว 218 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2541 เรื่อง หลักเกณฑ์และแนวทาง
     ปฏิบัติเกี่ยวกับการร้องเรียนกล่าวโทษข้าราชการฯ
7. พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 49
8. หนังสือร้องเรียนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อขอให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้อง
    ปฏิบัติ  จำนวน 12 ฉบับ
 
 
AttachmentSize
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีหมายเลขแดง ที่ อ 245-246/2552298 KB
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

"คำนูณ สิทธิสมาน" เสนอหลัก 8 ประการ จะแก้ รธน. ห้ามขัดหลักนี้

Posted: 04 Jul 2012 10:57 AM PDT

ลั่นจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องไม่กระทบ "หลักการ 8 ประการ" ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เป็นรูปแบบการปกครอง "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้วางไว้ โดยถือเป็นอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ห้ามลบล้าง

หมายเหตุ: เมื่อวันที่ 4 ก.ค. นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.ระบบสรรหา ได้โพสต์บทความในเฟซบุค โดยระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องไม่กระทบหลักการ 8 ประการของรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยมีรายละเอียดของบทความดังนี้

000

 

ความผิดฐาน “ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้” ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 68 ฝ่ายผู้เสนอแก้ไขในลักษณะที่เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับแล้วโอนอำนาจจากรัฐสภาไปให้ส.ส.ร.มักจะแก้ต่างว่าไม่ได้ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแน่นอน เพราะรัฐธรรมนูญทุกฉบับรวมทั้งรัฐธรรมนูญ 2550 ห้ามเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐอยู่แล้ว และร่างฯแก้ไขมาตรา 291 ก็ยอมแก้ไขเพิ่มเติมตามข้อเรียกร้องโดยเขียนบังคับไว้ว่าห้าม ส.ส.ร.แตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์

แต่มันไม่ใช่แค่นั้น!

ข้อความในมาตรา 68 วรรคนี้ต้องอ่านเต็มๆ ว่า “ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้” ขีดเส้นใต้ร้อยเส้นตรงประโยคท้ายที่ว่า “...ตามรัฐธรรมนูญนี้” !

การปกครองระบอบประชาธิปไตยย่อมมีได้หลายรูปแบบทั่วโลก เฉพาะในประเทศไทยเราเองที่แม้จะเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็ยังมีรูปแบบแตกต่างกันไปตามรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ

การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ในมาตรา 68 จึงมีความหมายเฉพาะเจาะจง คือ หมายถึงล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรูปแบบที่รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดไว้ ไม่ใช่แค่ไม่แก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์เท่านั้น

จะแก้ไขอย่างไรก็ได้ แต่จะต้องไม่กระทบหลักการ 8 ประการของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เป็นรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้วางไว้

หลักการทั้ง 8 ประการนี้ปรากฏอยู่ตั้งแต่ใน “คำปรารภ” ของรัฐธรรมนูญ 2550

หนังสือตัวบทรัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับล่าสุดที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาพิมพ์ล่าสุด ได้ตีพิมพ์ไว้ชัดเจนสวยงามบนปกหลัง

การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามเงื่อนไขมาตรา 291 ไม่ว่าครั้งนี้หรือครั้งหน้า หากเป็นการทำลายหลักการใดหลักการหนึ่งหรือหลายหลักการที่ว่านี้ มีผู้ตีความว่าล้วนเข้าข่าย “ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้” ทั้งสิ้น ซึ่งผมค่อนข้างเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตีความเช่นนี้ แต่ที่สุดก็ต้องรอคำวินิจฉัยศาลฯ ก่อนว่าจะพูดครอบคลุมถึงประเด็นนี้ด้วยหรือไม่

 หลักการทั้ง 8 ประการที่ปรากฎอยู่ในภาพถ่ายปกหลังหนังสือ เพื่อความชัดเจนขอถ่ายทอดมาอีกครั้ง

ประการที่ 1 ธำรงไว้ซึ่งเอกราชและความมั่นคงของชาติ

ประการที่ 2 ทำนุบำรุงรักษาศาสนาทุกศาสนาให้สถิตสถาพร

 ประการที่ 3 เทิดทูนพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและเป็นมิ่งขวัญของชาติ

ประการที่ 4 ยึดถือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นวิถีทางในการปกครองประเทศ

ประการที่ 5 คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

ประการที่ 6 ให้ประชาชนมีบทบาทและส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรม

ประการที่ 7 กำหนดกลไกสถาบันทางการเมืองทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารให้มีดุลยภาพและประสิทธิภาพตามวิถีการปกครองแบบรัฐสภา

ประการที่ 8 ให้สถาบันศาลและองค์กรอิสระอื่นสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสุจริตเที่ยงธรรม

หลักการทั้ง 8 ประการนี้เป็นเสมือนหลักการที่ “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” (หรือ “อำนาจบัญญัติรัฐธรรมนูญและจัดให้มีองค์การทางการเมือง” หรือ “อำนาจตั้งแผ่นดิน” หรือ “Pouvoir Constituant”) วางไว้ ห้ามลบล้าง

อำนาจนี้เป็นของพระมหากษัตริย์ร่วมกับปวงชนชาวไทย ดังที่ตอนสำคัญในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ 2550 เขียนไว้ในตอนท้ายของย่อหน้าที่ 4 ว่า...

“...ทรงพระราชดำริว่าสมควรพระราชทานพระบรมราชานุมัติตามมติของมหาชน”

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ประการที่ 5, 6 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประการที่ 8

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญยืนยันในอำนาจรับคำร้องได้โดยตรงจากประชาชนตามมาตรา 68 วรรคสอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งต่อๆ ไป ศาลฯ จะเข้ามามีบทบาทโดยตรง หากมีประชาชนยื่นคำร้องเข้าไป

เป็นต้นว่า แก้ไขเนื้อหามาตรา 67 หรือ 67 วรรคสอง, มาตรา 190 วรรคสองและสาม ก็จะมีผู้ยื่นคำร้องว่าเข้าข่ายขัดหลักการประการที่ 5 และ 6 หรือแก้ไขให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลฎีกา ก็จะมีผู้ยื่นคำร้องว่าเข้าข่ายขัดหลักการประการที่ 8 และอาจจะประการที่ 3 ด้วย

สรุปก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นองค์กรตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ!

สรุปก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นองค์กรในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญไม่ให้เปลี่ยนแปลงไปจากเจตนารมณ์ของผู้ใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ!!

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารพม่าและกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" รบกันเดือดหลายพื้นที่ในรัฐฉาน

Posted: 04 Jul 2012 10:43 AM PDT

ทหารพม่ากับกองทัพรัฐฉาน SSA "เหนือ" เปิดฉากรบกันหนักในหลายพื้นที่ของรัฐฉาน เผย แนวโน้มสองฝ่ายรบกันรุนแรงขึ้น หลังพม่าสั่ง SSA "เหนือ" ถอนกำลังออกพื้นที่ ขณะที่แม่ทัพพม่าไปปักหลักสั่งการด้วยตนเอง 

มีรายงานจากแหล่งข่าวในรัฐฉานว่า ขณะนี้เกิดการสู้รบกันอย่างหนักระหว่างทหารกองทัพรัฐฉาน SSA "เหนือ" กับทหารกองทัพพม่าในหลายพื้นที่ของรัฐฉานภาคเหนือ โดยเมื่อวานนี้ (3 ก.ค.) สองฝ่ายสู้รบกันอย่างหนักบริเวณดอยกองไม้ฮุง เขตเมืองสู้ และขณะนี้การสู้รบได้ลุกลามไปในพื้นที่เมืองต้างยาน รัฐฉานภาคเหนือ โดยทหารพม่าได้ทำการโจมตีฐานดอย 7 หลัก ของ SSA "เหนือ"

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า การสู้รบระหว่างทหารพม่าและกองกำลังไทใหญ่ SSA "เหนือ" ในพื้นที่เมืองต้างยาน ตรงบริเวณฐานดอย 7 หลัก เกิดขึ้นหลังจากทหารพม่าบุกขึ้นโจมตี โดยวานนี้ (3 ก.ค.) ทหารสองฝ่ายเปิดฉากสู้รบกันอย่างหนักตั้งแต่เวลา 6 โมงเช้า กระทั่ง 5 -6 โมงเย็น เสียงปืนยังไม่สงบ ฝ่ายทหารพม่าใช้ปืนใหญ่หลายชนิดระดมถล่มเข้าใส่ฐานของ SSA "เหนือ" อย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา ทหารพม่าได้บุกโจมตีฐานกองกำลังไทใหญ่ SSA "เหนือ" ตรงบริเวณดอยกองไม้ฮุง แล้วครั้งหนึ่ง สองฝ่ายเปิดฉากสู้รบกันอย่างดุเดือด มีรายงานว่า ฝ่ายทหารพม่าได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตรวมกว่า 20 นาย ขณะที่ฝ่าย SSA "เหนือ" มีบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง 

ทั้งนี้ ทหารพม่าที่ทำการโจมตีกองกำลังไทใหญ่ SSA "เหนือ" ครั้งนี้มี 3 กองพัน ประกอบด้วยกองพันทหารราบ 33 (เมืองก๋าว) กองพันทหารราบเบา 326 (เมืองต้างยาน) กองพันทหารราบ 136 (เมืองปาด)

การสู้รบระลอกใหม่ระหว่างทหารพม่ากับกองกำลังไทใหญ่ SSA "เหนือ" ครั้งใหม่ ดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยทหารพม่าได้ส่งกำลังเข้าพื้นที่เคลื่อนไหวSSA "เหนือ" และทำการโจมตี SSA "เหนือ" อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ทางฝ่าย SSA "เหนือ" ได้ทำการตอบโต้อย่างหนักเช่นกัน

เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ทหารพม่าสังกัดกองพันทหารราบ 516 โจมตีฐานทหาร SSA "เหนือ" บริเวณระหว่างบ้านต๋องเฮวและเมืองออด เขตเมืองสู้ สองฝ่ายสู้รบกันนานกว่า 4 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่เวลา 15.00 – 17.00 น. ฝ่ายทหารพม่าเสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บอีกหลายนาย การสู้รบสองฝ่ายดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

กระทั่งวันที่ 20 มิ.ย. ทหารทั้งสองฝ่ายเกิดการสู้รบกันอย่างหนักอีกที่บริเวณบ้านห้วยหลอด เขตเมืองสู้ การสู้รบครั้งนี้เกิดขึ้งหลังจากทหารพม่าเสริมกำลังจำนวน 4 กองพันเข้าไปในพื้นที่ของ SSA "เหนือ" สองฝ่ายสู้รบนานกว่า 2 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 5.00 – 7.00 น.

สาเหตุทหารสองฝ่ายเปิดฉากรบกันนั้น ก่อนหน้านี้ฝ่ายทหารพม่าอ้างว่า ทหาร SSA "เหนือ" พกพาอาวุธไปมาในพื้นที่ของตน ขณะเดียวกัน พ.อ.อ่องตู่ รมต.ความมั่นคงชายแดนของพม่า เรียกร้องให้ SSA "เหนือ" ถอนกำลังทหารที่ประจำอยู่ในพื้นที่เมืองออด เขตเมืองสู้ โดยอ้างว่าเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวกองทัพรัฐบาล ขณะที่ SSA "เหนือ" ระบุเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของตน ทำให้กองทัพพม่าไม่พอใจและส่งกำลังโจมตีฐานประจำการของ SSA "เหนือ" บริเวณดอยผาผึ้งอย่างหนัก จนทำให้ SSA "เหนือ" ต้องถอนกำลังออกจากฐานดังกล่าว

ด้าน พ.ต.จายละ โฆษก กองทัพรัฐฉาน SSA "เหนือ" เปิดเผยว่า หลังถูกทหารพม่าโจมตีติดต่อกันหลายวัน ตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. ตนได้เดินทางไปเมืองมัณฑะเลย์ พบกับอูเต็งจ่อ รองประธานดำเนินการสร้างสันติภาพของพม่า รายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งอูเต็งจ่อ ได้ทำหนังสือส่งถึงประธานาธิบดีทันที จากนั้นอูเต็งจ่อ แจ้งว่า ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ได้สั่งให้ทหารพม่าหยุดโจมตี SSA "เหนือ" แล้ว แต่หลังจากตนเดินทางถึงบ้านไฮ (ที่ตั้ง บก. SSA "เหนือ") วันที่ 30 มิ.ย. ทราบว่าทหารพม่าได้เสริมกำลังเตรียมโจมตี SSA "เหนือ" อีก

พ.ต.จายละ เผยด้วยว่า ทหารพม่าที่เข้าทำการโจมตี SSA "เหนือ" ครั้งนี้ เป็นทหารในสังกัดกองทัพภคตะวันออกกลาง (โขหลำ) และกองทัพภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ล่าเสี้ยว) มีกำลังพลรวมกว่า 10 กองพัน โดยอาวุธหนักที่ทหารพม่ามาใช้ถล่ม SSA "เหนือ" มีทั้งปืนค.81 ค.82 และค. 120 นอกจากทหารยังมีการใช้ลูกระเบิดเคมีโจมตีด้วย โดยมีทหาร SSA "เหนือ" อย่างน้อย 2 นาย ได้บาดเจ็บจากการสุดดมควันสารเคมี 

ทั้งนี้ มีรายงานว่า นับตั้งแต่ทหารกองทัพพม่าเริ่มโจมตีกองกำลังไทใหญ่ SSA "เหนือ" ครั้งใหม่ ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. ส่งผลให้มีชาวบ้านในพื้นที่กว่า 300 คน จาก 10 หมู่บ้านต้องละทิ้งบ้านเรือนอพยพออกนอกพื้นที่

แหล่งข่าวในพื้นที่รายงานว่า แนวโน้มการสู้รบระหว่างทหารกองทัพพม่ากับกองกำลังไทใหญ่ SSA "เหนือ" ในพื้นที่รัฐฉานภาคเหนือส่อเค้าจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยขณะนี้พลจัตวา ทุนทุนหน่อง แม่ทัพภาคตะวันออกกลางพม่า ได้ไปปักหลักสั่งการด้วยตนเองอยู่ที่เมืองสู้ ขณะที่พลจัตวาติ่นลวิน ผบ.กองบัญชาการยุทธการ 2 เมืองหนอง ไปปักหลักสั่งการอยู่ที่เมืองออด (เขตเมืองสู้) เพื่อกวาดล้างกองกำลังไทใหญ่ SSA "เหนือ"

กองทัพรัฐฉาน SSA "เหนือ" หรือ กองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" มีองค์กรการเมืองชื่อ พรรครัฐฉานก้าวหน้า (Shan State Progressive Party - SSPP) มีพล.ท.ป่างฟ้า เป็นผู้นำสูงสุด เคลื่อนไหวในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางของรัฐฉาน โดย SSA/SSPP ได้ลงนามหยุดยิงสร้างสันติภาพกับรัฐบาลพม่ารอบใหม่เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามทหารทั้งสองฝ่ายยังคงสู้รบกันอย่างต่อเนื่อง จนถึงขณะนี้สองฝ่ายสู้รบกันแล้วกว่า 20 ครั้ง

 
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

 


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ก้าวข้ามหนึ่งร้อยเดือนสถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้: เราจะไปทางไหน?

Posted: 04 Jul 2012 09:59 AM PDT

 

หมายเหตุ : จากบทความเดิมชื่อ เมื่อก้าวข้ามหนึ่งร้อยเดือนของสถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้: เรากำลังจะไปทางไหน?

 

ในวันนี้ เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงดำเนินต่อไป พร้อมด้วยความเป็นพลวัตและซับซ้อนของสถานการณ์ พัฒนาการของความรุนแรงได้นำเราไปสู่สภาวะที่เรียกว่า “ความยืดเยื้อเรื้อรังของความขัดแย้ง” ไปแล้ว ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้รายงานให้เห็นข้อมูลว่าในรอบ101 เดือนของความรุนแรงที่ผ่านมา เหตุการณ์ที่เริ่มไต่ระดับสูงมาตั้งแต่ 4 มกราคม 2547 ถึง 31พฤษภาคม 2555 หรือก้าวข้ามเข้าสู่ปีที่ 9 ของความรุนแรง มีเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 11,754 เหตุการณ์ ซึ่งยังผลทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บรวมกันประมาณ 14,343 รายในจำนวนนี้ประกอบไปด้วยผู้เสียชีวิต 5,206 รายและ มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกประมาณ 9,137 ราย ทุกวันทุกคืนเรายังคงได้รับข่าวสารเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบภาคใต้เกิดขึ้นตลอดเวลา

ความรุนแรงที่ซ้ำซากและยืดเยื้อ

คำถามก็คือว่าปรากฏการณ์ความรุนแรงนี้ได้สะท้อนความเป็นจริงอะไรบางอย่างที่เรามองไม่เห็นบ้าง?ปรากฏการณ์เช่นว่านี้ก็คือความรุนแรงมีลักษณะที่ต่อเนื่องไม่มีวันหยุด เป็นความรุนแรงที่มีชีวิตและสามารถต่อชีวิตของตัวเองได้ แต่ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? และมันจะเดินต่อไปจนถึงจุดไหน? ความเป็นจริงที่ประจักษ์ชัดก็คือว่า ในรอบ 100 เดือนกว่าที่ผ่านมา สถานการณ์ความรุนแรงที่ภาคใต้ไม่เคยหรือไม่มีแนวโน้มว่าจะหยุดชะงักหรือลดน้อยถอยลงไปได้แต่อย่างใด หรือถ้าหากจะลดระดับลงในบางครั้ง ก็ไม่ใช่การลดระดับลงอย่างมีความหมายนัยสำคัญเลย

ภาพลักษณ์ของข้อสรุปดังกล่าว จะมองเห็นได้เด่นชัดจากการศึกษาแบบแผนของความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่า ลักษณะที่เห็นเหมือนกันก็คือ เริ่มตั้งแต่ในปี 2547 เป็นต้นมา สถานการณ์ความไม่สงบจะไต่บันไดสูงขึ้นเป็นอย่างมาก จนกระทั่งในปลายปี 2550 ก็ลดระดับลงอย่างมีนัยสำคัญ อันเป็นผลมาจากการระดมกำลังทหารและปฏิบัติการควบคุมอย่างเข้มข้นของรัฐโดยอาศัยการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ คือ กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเป็นการใช้ความเข้มข้นของการปราบปรามและการควบคุมด้วยกำลัง แต่ก็ดังที่ทราบกันดี ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ระดับความสูญเสียจากความรุนแรงกลับมีลักษณะคงที่ ณ จุดนี้ การก่อรูปของความรุนแรงและความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้พัฒนาตัวเองไปสู่รูปลักษณะใหม่ กล่าวคือ ในขณะที่จำนวนครั้งของความรุนแรงหรือเหตุการณ์ความไม่สงบมีระดับลดลงไปบ้างจากห้วงปี 2547-2550 แต่อัตราการตายและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้ลดลงตามจำนวนเหตุการณ์ที่ลดลงไปด้วย ถ้าจะกล่าวในอีกแง่หนึ่งจำนวนของการสูญเสียที่รวมเอาทั้งการตายและการบาดเจ็บนั้นกลับมีลักษณะคงที่หรือไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเลยความรุนแรงที่เกิดขึ้นในระยะหลังจึงได้กลายรูปแปลงกายไปเป็น‘ความรุนแรงเชิงคุณภาพ’หรือ ‘ความรุนแรงที่ยึดเยื้อเรื้อรัง’ไปเสียแล้ว

เศรษฐกิจทรงกับทรุดยังพัฒนาอยู่หรือ?

ความยืดเยื้อเรื้อรังของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีผลกระทบอย่างมากในหลายด้าน ในทางเศรษฐกิจ จากข้อมูลทางด้านรัฐสภาชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลได้ทุ่มทรัพยากรงบประมาณแผ่นดินในระหว่างปี 2547-2556 เป็นเงินประมาณมากถึง180,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาการบริหารและการพัฒนาในสถานการณ์พิเศษของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อพิจารณาจากข้อมูลเศรษฐกิจมหภาคในช่วงสิ้นปี 2547 อัตราการเจริญเติบโตของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากการทุ่มงบประมาณทางการทหารและความมั่นคงเพื่อควบคุมสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แต่อัตราการเจริญเติบโตเศรษฐกิจของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการขยายตัวในอัตราที่ลดน้อยลงจากก่อนปี 2547พอถึงในปี 2550 อัตราการเจริญเติบโตของทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ลดลงเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนในการผลิต โดยเฉพาะน้ำมัน ความหวั่นเกรงว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก และการยกระดับความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้ในช่วงดังกล่าว แต่ในปี 2551 การเจริญเติบโตของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นในระดับเดิม ในปี 2552-2553 น่าสังเกตว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ขยายตัวในระดับคงที่ประมาณปีละ 2% เนื่องจากการใช้จ่ายงบประมาณทางการทหารที่เพิ่มขึ้นและเริ่มได้รับผลจากการใช้แผนพัฒนาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้

แต่สิ่งที่น่าสังเกตอีกด้านหนึ่งก็คือ จากงานวิจัยโครงสร้างเศรษฐกิจภาคใต้ โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปีปัจจุบัน ผลผลิตภาคการเกษตรจากที่เคยขยายตัวในระดับสูง กลับขยายตัวอยู่ในระดับต่ำสลับกับการหดตัวหรือการเติบโตในอัตราลบ แต่ภาคเศรษฐกิจที่ยังคงขยายตัวอยู่อย่างต่อเนื่องก็คือ “สาขานอกภาคเกษตร” ซึ่งก็หมายความถึงส่วนใหญ่ของกิจกรรมในภาครัฐหรือรายจ่ายการบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งการพัฒนาการศึกษาและสาธารณสุขอันเป็นกิจกรรมในภาครัฐ อาจกล่าวได้ว่า การที่ระบบเศรษฐกิจโดยรวมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังรักษาระดับการขยายตัวอยู่ได้เล็กน้อยและไม่ถึงกับอยู่ในภาวะภาวะชะงักงันหรือล่มลงจากวิกฤตการณ์อันมาจากสถานการณ์ความไม่สงบและความผันผวนของเศรษฐกิจจากภายนอก เช่น วิกฤตราคาน้ำมันสูงขึ้น สาเหตุหลักก็คือการมีรายจ่ายภาครัฐพยุงไว้ ดังนั้น ผลที่ตามมาอีกก็คือ แม้เศรษฐกิจจะยังอยู่ในสถานภาพที่คงขยายตัวได้ แต่ผลลัพธ์ในการยกระดับรายได้และพัฒนาคุณภาพคุณภาพชีวิตไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจหลักหรือโครงสร้างการผลิตที่แท้จริงในการผลิตการเกษตรไม่ได้ขยายตัวไปด้วย

การระดมกองกำลังและความยืดเยื้อของเหตุการณ์

สิ่งที่ทำให้เกิดความมั่นคงและการรักษาระบบเศรษฐกิจสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ให้ล่มสลายลงก็เพราะกิจกรรมที่มาจากรายจ่ายภาครัฐ ในบริบทเช่นนี้กลไกที่สำคัญคือการใช้กองกำลังติดอาวุธ ซึ่งรวมทั้งทหาร ตำรวจ ทหารพราน อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) และกองกำลังที่มาจากชาวบ้านที่รัฐไปจัดตั้งติดอาวุธป้องกันตนเอง เช่น ชรบ.และ อรบ. ภายหลังจากการปรับตัวของโครงสร้างกองกำลังเป็นระยะเวลายาวนานนับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ปลายปี 2550 เป็นต้นมา กระบวนการจัดการของรัฐได้ผ่านการปรับตัว การระดมกำลังทางการทหารและฝ่ายความมั่นคงจากทุกฝ่าย ซึ่งมีผลทำให้จำนวนบุคคลากรทางด้านความมั่นคงในปีปัจจุบันสูงถึง 163,422 คนในจำนวนนี้ถ้าเรานับเฉพาะกองกำลังที่ติดอาวุธจริงๆ จะประกอบไปด้วยกองทหารและตำรวจอาชีพ กองกำลังกึ่งทหารกึ่งพลเรือนและกองกำลังติดอาวุธของชาวบ้านหรือพลเรือนติดอาวุธที่จัดตั้งโดยรัฐเพื่อป้องกันตนเอง จากการประมาณการกองกำลังทหารและตำรวจประจำการที่เป็นมืออาชีพมีจำนวน 40,622 คน กองกำลังกึ่งทหาร เช่น ทหารพราน และ อส. ประมาณ 25,000 คน นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านหรือพลเรือนที่ติดอาวุธอีกประมาณ 84,768 คน รวมกำลังทั้งหมดประมาณ 150,350 คน เมื่อคิดจากประชากรในราว 2,000,000 คน ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา เรามีกองกำลังอาวุธฝ่ายรัฐอยู่ประมาณร้อยละ 7.5 ต่อประชากรทั้งหมดในพื้นที่นี้

กองกำลังฝ่ายความมั่นคงของรัฐที่มากมายถึงกว่า 150,000 คน ก็เพื่อสู้กับกองกำลังฝ่ายกลุ่มผู้ก่อความรุนแรงหรือขบวนการต่อสู้ของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งแหล่งข่าวทางการทหารระบุว่ามีอยู่ประมาณ 9,616 คน !!!

การที่รัฐใช้กองกำลังฝ่ายความมั่นคงจำนวนมากทั้งทหารและพลเรือน อาสาสมัคร ทำให้จังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็น “สภาวะทางการทหาร” (militarization) ที่เข้มข้น ซึ่งถ้ารวมกับมาตรการในการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ เช่น กฎอัยการศึกและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ โครงสร้างการปฏิบัติการทางการทหารที่ระดมพลังมาจากทั้งกองทัพภาคที่ 1 กองทัพภาคที่ 2 กองทัพภาคที่ 3 และกองทัพภาคที่ 4 ด้วยแล้ว เห็นได้ชัดว่าจะต้องใช้ต้นทุนทั้งที่เป็นตัวเงินและกำลังคนเป็นจำนวนมากเลยทีเดียว

แหล่งข้อมูล: การประมาณการของ Deep South Watch (มิถุนายน 2555)

แหล่งข้อมูล: การประมาณการของ Deep South Watch (มิถุนายน 2555)

ทุ่มกำลัง-ทุ่มงบประมาณ พยายามแต่ยังซื้อใจไม่ได้

เมื่อเผชิญกับปฏิบัติการอันเข้มข้นของกองกำลังฝ่ายความมั่นคง ประชาชนส่วนมากกลับมีความรู้สึกหวาดระแวงและไม่ไว้วางใจทหารและตำรวจ ลักษณะอารมณ์ความรู้สึกเช่นนี้ได้รับการยืนยันบ่อยครั้งจากการวิจัยสำรวจความคิดเห็นหลายครั้งโดยนักวิชาการในพื้นที่ จากการศึกษาของสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อสำรวจผลการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในปี 2553 พบว่าประชาชนจำนวนมากคิดว่า พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจอย่างไม่จำกัดแก่เจ้าหน้าที่มากเกินไป และทำให้มีการปฏิบัติการผิดพลาดเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงปีแรกๆ ของการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว สิ่งที่สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนคือทัศนคติความเชื่อมั่นไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อทหารและตำรวจซึ่งอยู่ในระดับต่ำมาก ประเด็นที่น่าสนใจก็คือองค์กรและตัวบุคคลที่ได้รับความเชื่อมั่นไว้วางใจที่สุดก็คือผู้นำทางศาสนา เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับการยอมรับมากก็คือฝ่ายการศึกษาและสาธารณสุข

สิ่งที่สะท้อนให้เห็นในอีกด้านหนึ่งก็คือ ในกระบวนการที่รัฐทุ่มกำลังคนและงบประมาณจำนวนมากด้วยจำนวนกองกำลังติดอาวุธมากกว่า 150,000 คน และงบประมาณกว่า180,000 ล้านบาทในช่วงเวลาเกือบ 9 ปีของความไม่สงบชายแดนใต้ ทำให้สามารถ “กด”ระดับความรุนแรงลงได้ในเชิงปริมาณนับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังไม่สามารถกดความรุนแรงเชิงคุณภาพลงได้ ดังนั้น นับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ระดับความรุนแรงในการก่อความไม่สงบภาคใต้ยังอยู่ในระดับคงที่ จำนวนครั้งของความรุนแรงที่เหมือนกับจะลดลง แต่จำนวนผู้ตายและบาดเจ็บรายเดือนก็ยังอยู่ในระดับคงที่ ในบางครั้งก็สูงโด่งขึ้นมามากกว่าจำนวนครั้งของเหตุการณ์ความไม่สงบ ตัวอย่างเช่นในเดือนมีนาคมปีนี้มีเหตุการณ์การระเบิดที่เมืองยะลาและหาดใหญ่ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

 

 

พัฒนาการของความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงได้ก้าวเข้าสู่สภาวะใหม่ที่เรียกว่า ความยืดเยื้อเรื้อรังของความขัดแย้งประสบการณ์ความรุนแรงและความขัดแย้งที่เกี่ยวกับประเด็นเรื่องชาติพันธุ์และศาสนาในหลายประเทศทั่วโลกเมื่อความขัดแย้งภายในเป็นเรื่องยึดเยื้อเรื้อรัง (Protracted Conflict) ระดับความรุนแรงจะเคลื่อนไปสู่จุดที่เรียกว่าภาวะคงที่ในลักษณะที่เป็นเหมือน“พื้นที่ราบสูง”ที่เต็มไปด้วยความสัมพันธ์อันยุ่งเหยิง มันติดกับดักของตัวเองพัวพันกับแบบแผนของปฏิกิริยาของพฤติกรรมความรุนแรงโต้ตอบกันและแลกเปลี่ยนกันอย่างซ้ำซ้อนต่อเนื่อง “กลายเป็นความรุนแรงที่อยู่ในภาวะไหวตัวอยู่ตลอดเวลาและมีความเสถียร”ถ้าความรุนแรงเป็นเช่นนี้อยู่ต่อไป ความหมายของมันจะยืดเยื้อไปเรื่อยๆ เหมือนกับในพื้นที่ความรุนแรงที่อื่นๆในโลกที่กลายเป็นระบบอันซับซ้อน ประกอบด้วยทั้งสาเหตุรากเหง้าของมันเองและปัจจัยแทรกซ้อนอื่นๆ ความรุนแรงจะมีชีวิตของมันเองและจะต่อชีวิตตัวเองไปเรื่อยๆจนกระทั่งมีผลสะท้อนกลับเป็นแรงบวกซึ่งกลับมาทำลายระบบของตัวเองทั้งหมด นอกจากนี้แล้ว สิ่งที่ชัดเจนจากประสบการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้ก็คือ การแก้ไขปัญหาความรุนแรงด้วยวิธีการทางการทหารและการใช้ความรุนแรงตอบโต้ความรุนแรงไม่มีทางแก้ปัญหาได้แต่กลับจะยิ่งเพิ่มความรุนแรงอันจะนำไปสู่ระดับการทำลายอำนาจชอบธรรมของรัฐทั้งระบบด้วย

ทางเลือก-ทางรอด ?

การแสวงหาทางออกของความรุนแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรังจึงกลายเป็นสิ่งท้าทายในสถานการณ์ปัจจุบัน การเสนอทางออกในปัจจุบันประกอบไปด้วยสามแนวทางคือจากฝ่ายรัฐบาลเอง การแสวงหาทางออกจากภายใน และการขับเคลื่อนจากปัจจัยภายนอก

ในระดับรัฐบาล จากการหาทางออกด้วยวิธีการใช้การทหารและการใช้มาตรการควบคุมอย่างเข้มข้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีผลทำให้เกิดมาตรการลดความรุนแรงด้วยการใช้กำลังทหาร และกฎหมายพิเศษไปกดความรุนแรง แต่ดังที่กล่าวไปแล้ว ความรุนแรงเชิงปริมาณลดลง แต่ความรุนแรงเชิงคุณภาพกลับไม่ลดลงและกลายเป็นความยืดเยื้อ การเปลี่ยนแปลงในทางบวกเกิดขึ้นในนโยบายระดับสูงเมื่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ออกนโยบายความมั่นคงแห่งชาติเกี่ยวกับภาคใต้ฉบับใหม่ในชื่อ “นโยบายการบริหารและการพัฒนาเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี พ.ศ. 2555-2557” ซึ่งประกาศในเดือนมีนาคม 2555 นโยบายใหม่ดังกล่าวมีความก้าวหน้ามากขึ้น ความรุนแรงที่ขยายตัวในปี 2547 และสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงรัฐบาลทักษิณ ได้ทำลายกรอบของนโยบายความมั่นคงแห่งชาติที่เคยสร้างมาอย่างเป็นระบบก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะนโยบายเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำหนดในช่วงระหว่างปี 2542-2546 โดย สมช. นโยบายในปี 2555 เป็นการกลับมาของกรอบนโยบายอย่างเป็นระบบในเรื่องความมั่นคงแห่งชาติเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ คำหลักที่ปรากฏในวัตถุประสงค์ข้อที่ 8 และข้อที่ 9 กำหนดว่าจะมีการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการพูดคุยหาทางออกของความขัดแย้ง และสร้างหลักประกันให้บุคคลและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายในกระบวนการสร้างสันติ นอกจากนี้ยังมุ่งที่จะสร้างการจัดการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นกระบวนการ โดยการมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพ และการใช้ความรู้ในการจัดการปัญหาอย่างถูกต้อง

ความก้าวหน้าดังกล่าว นำไปสู่กระบวนการที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ดำเนินการเปิดเวทีการพูดคุยเจรจาที่นำไปสู่สันติภาพในภาคใต้กับฝ่ายต่างๆ ในช่วงต้นปี 2555 เป็นการสร้างถนนสายที่หนึ่ง (Track 1) ในการพูดคุยสนทนาเรื่องสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างค่อนข้างเปิดเผยโดยรัฐบาลไทย ถือเป็นครั้งแรกหลังจากที่ได้ทีการดำเนินการอย่างปิดลับมาก่อนหน้านี้มาหลายปี

ปัญหาก็คือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการต่อสู้ทางการเมืองในการกำหนดนโยบายความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังเดินไปสู่จุดพลิกผัน การเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลในผู้กำหนดนโยบายความมั่นคงแห่งชาติใน สมช. จะต้องไม่กระทบกระเทือนการสร้างถนนสายที่หนึ่ง ซึ่งก็คือการพูดคุยระหว่างฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายทหาร และฝ่ายขบวนการฯ ที่กำลังเดินต่อไปและมีแนวโน้มที่ก้าวหน้าไปตามนโยบายใหม่ การปรับขบวนแถวของฝ่ายความมั่นคงในระดับสูง ถ้าจะเกิดขึ้น ควรจะเดินไปตามแนวทางเพื่อให้เกิดการปฏิรูปของฝ่ายความมั่นคง (Security Sector Reforms) เพื่อให้งานความมั่นคงมีลักษณะประชาธิปไตย มีส่วนร่วม และมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ทั้งยังมีประสิทธิผลในการจัดการความขัดแย้งมากขึ้น มิใช่เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น การพูดคุยและสนทนาเพื่อให้เกิดแนวทางสันติ จึงควรดำเนินการในระดับผู้กำหนดนโยบายฝ่ายต่างๆ ของรัฐไทยด้วย ไม่ใช่ระหว่างรัฐไทยกับขบวนการฯ เท่านั้น

แต่คำถามอีกข้อหนึ่งก็คือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระดับชาติจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่? จึงเป็นประเด็นทางยุทธศาสตร์ที่ต้องระมัดระวัง

ปัจจัยที่สองที่เกิดกระบวนการจากภายในพื้นที่ กล่าวคือเกิดข้อเสนอหลายประการ “จากคนใน” พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น จากภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีข้อเสนอทางออกของไฟใต้เป็นตัวแบบของการกระจายอำนาจที่ยกร่างขึ้นเป็น “ทางเลือกกลางไฟใต้: เราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร” ข้อเสนอดังกล่าวประกอบด้วยรูปแบบพิเศษของการกระจายอำนาจ 6 แนวทาง ซึ่งเป็นข้อเสนอในการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษที่ทำให้เกิด “การพูดคุย” ในเรื่องการกระจายอำนาจหรือการจัดการตนเอง อันเป็นการเปิดพื้นที่ทางการเมือง (Political Space) โดยเมื่อไม่นานมานี้ สภาประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้นำข้อเสนอขึ้นสู่เวทีสาธารณะ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการนำเสนออย่างเป็นระบบจากคนในพื้นที่ที่รวมตัวกันเป็นองค์กรเครือข่ายสังคมอย่างมีพลัง

ทั้งนี้ ทางเลือกของการปกครองพิเศษประกอบด้วย “การปกครองส่วนกลางแบบพิเศษ” สองแนวทาง คือ 1) แนวทางตามกฏหมาย ศอ.บต.และ 2) แนวทางทบวงการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกส่วนหนึ่งคือข้อเสนอ “รูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ” อันประกอบไปด้วย 3) แนวทางสามนครสองชั้น ที่เป็นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละจังหวัดแต่รักษาไว้ซึ่งรูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบเดิมไว้ เช่น เทศบาล และ อบต.4) แนวทางสามนครชั้นเดียว ซึ่งเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดของแต่ละจังหวัดและยกเลิกการปกครองท้องถิ่นแบบเดิมทั้งหมด 5) แนวทางมหานครสองชั้น ซึ่งเป็นการเลือกผู้ว่าการเขตปกครองสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งรวมกันเป็นเขตเดียว พร้อมทั้งมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และเทศบาล รวมถึง อบต. ในแต่ละจังหวัดไปพร้อมกัน ส่วนข้อเสนอสุดท้ายคือ 6) แนวทางมหานคร ที่สะท้อนผ่านตัวแบบ “ปัตตานีมหานคร” โดยมีผู้ว่าสามจังหวัดเพียงคนเดียวและบริหารทั้งสามจังหวัดเป็นเขตเดียวหรือมณฑลเดียว

ข้อเสนอการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษทั้งหมดคือแนวทางหรือรูปแบบการปกครองที่ถูกเสนอเพื่อแก้ ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยภาคประชาสังคมซึ่งมาจาก “คนในพื้นที่” นับเป็นอีกส่วนหนึ่งของการสร้างถนนสายที่สอง (Track 2) อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาและแปรเปลี่ยนความขัดแย้งที่รุนแรงไปสู่แนวทางสันติ แทนที่จะใช้กำลังความรุนแรง

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอจากภาคประชาสังคมในพื้นที่ เช่น “สันติธานี” จากคณะนักศึกษาหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข (4ส.) จากสถาบันพระปกเกล้า ข้อเสนอ “เสียงท้าทายจากกัมปง” ผ่านการทำกระบวนการประชาหารือของเครือข่ายประชาหารือสู่สันติภาพ ข้อเสนอ “ภาพอนาคตจังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่มาจากการประเมินบทบาทของภาครัฐและขบวนการฯ ในฐานะที่เป็นกุญแจที่เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ข้อเสนอทบทวนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของฝ่ายบริหาร โดยเพิ่มบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติในการพิจารณาถึงความจำเป็นของการขยายการประกาศในแต่ละครั้งของมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เป็นต้น

ข้อเสนอดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าภายใต้สถานการณ์ความรุนแรงและความขัดแย้ง ถ้าเรามี “พื้นที่ทางการเมือง”อำนาจในการต่อรองจากหลายฝ่ายอาจจะนำไปสู่การถ่วงดุลการใช้ความรุนแรงด้วยแนวทางสันติ ซึ่งจะนำไปสู่การลดระดับความรุนแรงในที่สุด แต่ถ้าพื้นที่ทางการเมืองถูกปิดกั้น ความรุนแรงก็มีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อไปอย่างยืดเยื้อ การสร้างวาทกรรมทางการเมืองเรื่องสันติภาพและความยุติธรรมจะเป็นพลังขับดันที่สำคัญและเป็นตัวสร้างเงื่อนไขสำหรับการเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมของทุกฝ่ายที่อยู่ในคามขัดแย้งดังกล่าวนี้

พื้นที่ทางการเมืองที่ดีที่สุดก็คือการปฏิบัติการของฝ่ายประชาสังคมในพื้นที่สิ่งที่สำคัญในกระบวนการนี้ก็คือการการสร้างกระบวนการสันติภาพที่เกิดจากคนใน (Insider Peace-building Initiatives) ซึ่งเป็นกระบวนการจากภายใน มาจากภาคสังคม อันเป็นเส้นทางสายที่สอง (Track 2) ในการเปลี่ยนความขัดแย้งทางเลือกใหม่ในการแสวงหาทางออกเรื่องสันติภาพปาตานี หรือ Pa(t)tani Peace Process (PPP)ซึ่งเป็นเส้นทางที่กำลังก่อรูปขึ้นในขั้นตอนปัจจุบัน กระบวนการดังกล่าวมีพลังการสร้างสรรค์ในระดับสูงและจุดเน้นย้ำที่ชัดเจนคือเป็นทางเลือกที่ไม่ใช้ความรุนแรง แต่ใช้ภูมิปัญญาและความรู้เป็นฐานในการเคลื่อนไหวที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง สิ่งที่จะช่วยให้กระบวนการสันติภาพประสบความสำเร็จจะต้องเป็นการทำงานที่เดินบนถนนหลายสายพร้อมๆ กันไม่ว่าเป็นสายที่หนึ่ง สายที่สองและสาม และกระบวนการนี้จะมีสภาพคล้ายการสร้างสถานีรถไฟที่มีหลายชานชาลาหรือประกอบด้วยความหลากหลายรูปแบบของการสื่อสาร (Multi-track and Multi-platform Peace Initiatives)

เหมือนกับที่นักวิทยาศาสตร์อย่าง Stephen Hawking มองว่าว่าขีดความสามารถด้านเหตุผลและการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ของคนเราเป็นผลพวงมาจากกระบวนการที่มีการเลือกสรรตามธรรมชาติ ซึ่งในที่สุดแล้วการค้นพบทางวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์และการใช้ความรู้จากสติปัญญาที่มีเหตุผลจะนำมาซึ่ง“ความได้เปรียบในการอยู่รอดของมนุษย์” ในสถานการณ์ความรุนแรงภาคใต้ การใช้ความรู้และภูมิปัญญาก็จะนำพาเราไปสู่สันติภาพและความได้เปรียบในการอยู่รอดของสังคมไทยและผู้คนในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นเดียวกันเรากำลังมีความรู้มากขึ้นว่าจะเดินไปทางไหน? หลังจากผ่าน 9 ปีของความเจ็บปวดและความสูญเสีย

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ www.deepsouthwatch.org

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

iLaw: TDRI เปิดผลวิจัยชี้กฤษฎีกาจำกัดอำนาจตัวเอง

Posted: 04 Jul 2012 09:36 AM PDT

งานวิจัยบทบาทกรรมการกฤษฎีกาชี้ กรรมการกฤษฎีกาส่วนใหญ่อยู่ในวัยผู้เฒ่ามีโอกาสสูงที่จะมีวิธีคิดและยึดติดวิถีแบบราชการ และมีข้อจำกัดในการทำความเข้าใจกาการเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคมไทย รวมทั้งอาจมีความรู้ความเข้าใจในสาขาวิชาชีพอื่นนอกเหนือจากสาขากฎหมายอย่างจำกัด บวรศักดิ์แย้ง ข้อเสนอวิจัยบั่นทอนความเป็นอิสระของกฤษฎี

2 ก.ค. 55 แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) จัดเวทีสาธารณะเรื่อง การปรับปรุงกระบวนการนิติบัญญัติเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งเป็นหัวข้องานวิจัยที่ศึกษาโดยดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และคณะ ภายในงานมีการเสนอผลการศึกษาเรื่อง "กรณีศึกษากระบวนการนิติบัญญัติ ประเด็นการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย และบทบาทคณะกรรมการกฤษฎีกา" 

คณะ กรรมการกฤษฎีกาเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ทำร่างกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับต่างๆ เมื่อคณะรัฐมนตรีและกระทรวงใดๆ ต้องการผลักดันการออกหรือการแก้ไขกฎหมาย กระทรวงต่างๆ จะต้องร่างกฎหมายขึ้น แล้วส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะนำร่างกฎหมายนั้นๆ เข้าสู่รัฐสภา คณะกรรมการกฤษฎีกาทำหน้าที่เป็นฝ่ายเทคนิคที่เขียนกฎหมายให้สามารถบังคับใช้ ได้จริง ปรับปรุงถ้อยคำให้เหมาะสม รัดกุม ภายใต้หลักการที่กระทรวงต่างๆ เสนอเข้ามา
 
ปี34, 51 กฤษฎีกาแก้กฎหมาย ให้แต่งตั้งตัวเองได้ และดำรงตำแหน่งได้ไม่มีวาระ
ผศ.ปก ป้อง จันวิทย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ หนึ่งในคณะวิจัย นำเสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับบทบาทการจัดทำร่างกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งพบว่า เคยมีการแก้ไขพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกาหลายครั้ง เพื่อให้อำนาจมากขึ้นแก่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เช่น ในปี 2551 เปลี่ยนที่มาของคณะกรรมการกฤษฎีกา จากการได้รับโปรดเกล้าฯ ตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี มาเป็นการได้รับโปรดเกล้าฯ จากกระบวนการคัดเลือกของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเอง และยังแก้ไขวาระการดำรงตำแหน่งที่เดิมกำหนดวาระละ 3 ปี แต่การแก้ไขเมื่อปี 2551 กำหนดว่าวาระการดำรงตำแหน่งไม่ให้บังคับใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะ กรรมการกฤษฎีกาแต่ละคณะ 
 
ในปี 2534 มีการแก้ไขหลักเกณฑ์การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยให้อำนาจแก่ กฤษฎีกาหากมีความเห็นแย้งในสาระสำคัญของหลักการกฎหมาย กฤษฎีกาสามารถเสนอให้ทบทวนในหลักการ และรายงานให้คณะรัฐมนตรีวินิจฉัยต่อไป ทำให้คณะกรรมการกฤษฎีกามีอำนาจใช้ดุลพินิจพิจารณาร่างกฎหมายเพิ่มมากขึ้น จนก้าวไปสู่การกำหนดว่ากฎหมายควรจะมีหลักการอย่างไร
 
พบกรรมการกฤษฎีกา ส่วนใหญ่อยู่ในวัยผู้เฒ่า
ผู้ วิจัยตั้งข้อสังเกตว่า บุคลากรที่ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการกฤษฎีกาส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ พิจารณาจากกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งในปีพ.ศ. 2552 พบว่า จากกรรมการกฤษฎีกาจำนวนทั้งหมด 108 คน ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการเกษียณ ร้อยละ 49 มีอายุช่วง 61-70 ปี ร้อยละ 22 มีอายุช่วง 71-80 ปี และร้อยละ 14 มีอายุ 80 ปีขึ้นไป
 
ผลศึกษาชี้ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาเกือบทั้งหมดเป็นข้าราชการหรืออดีตข้าราชการ จึงมีโอกาสสูงที่คณะกรรมการกฤษฎีกาจะมีวิธีคิดและยึดติดวิถีแบบราชการ และมีข้อจำกัดในการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคมไทย รวมทั้งอาจมีความรู้ความเข้าใจในสาขาวิชาชีพอื่นนอกเหนือจากสาขากฎหมายอย่าง จำกัด
 
ข้อเสนอแนะของทีมวิจัยคือ ควรกำหนดอายุของกรรมการกฤษฎีกาไม่ให้เกิน 70 ปี เพิ่มองค์ประกอบของกรรมการให้หลากหลาย ลดสัดส่วนความเป็นข้าราชการลง ทีมวิจัยยังมีข้อสังเกตว่า หลักเกณฑ์ที่มาของกรรมการกฤษฎีกาปิดช่องไม่ให้ผู้มีความรู้ความสามารถคน อื่นๆ เข้ามาทำหน้าที่ได้ และเกิดสภาพการผูกขาดในหน้าที่ งานวิจัยนี้จึงเสนอให้จำกัดให้วาระการดำรงตำแหน่ง ให้กรรมการกฤษฎีกาดำรงตำแหน่งไม่เกินสองวาระ และประธานกรรมการกฤษฎีกาดำรงตำแหน่งไม่ให้เกินสามวาระ
 
คณะ วิจัยเสนอให้กำหนดความเป็นอิสระของกรรมการกฤษฎีกาควบคู่กับความรับผิดชอบ เนื่องจากคณะกรรมการกฤษฎีกามีแนวโน้มที่จะใช้ดุลพินิจกำหนดเนื้อหาของกฎหมาย ดังนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาควรมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย อย่างฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติในระดับหนึ่ง เช่น อาจให้คณะรัฐมนตรีมีส่วนร่วมพิจารณาคัดเลือกรายชื่อกรรมการกฤษฎีกาได้ด้วย
 
 
                               
                                ไพโรจน์  พลเพชร                                           ปกป้อง  จันวิทย์
 
บวรศักดิ์แย้ง ข้อเสนอวิจัยบั่นทอนความเป็นอิสระของกฤษฎีกา
ศ.ดร.บวร ศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า วิจารณ์ถึงงานวิจัยชิ้นนี้ว่า งานวิจัยชิ้นนี้ไม่สนใจปัญหาจากฝ่ายบริหารเลย ทั้งที่ในความเป็นจริงสำคัญกว่าปัญหาจากฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ฝ่ายบริหารเป็นผู้ที่ใช้กฎหมายจริงและเกิดผลโดยตรงกับประชาชน
 
นอก จากนี้ ในงานวิจัยนี้ยังพบว่าการจัดทำกฎหมายมักใช้เวลานานที่ขั้นตอนของกฤษฎีกา กล่าวคือร่างกฎหมายไปตกอยู่ที่กฤษฎีกานานเฉลี่ย 26 เดือน ซึ่งศ.ดร.บวรศักดิ์เห็นว่าก็คงจะเป็นเรื่องจริง แต่ความช้าไม่ได้เป็นสิ่งเสียหาย เพราะเรื่องบางเรื่องถ้าเร็วจะเสียหาย ความเร็วหรือความช้าของกฎหมาย ในตัวของมันเองไม่ได้บอกอะไร
 
นอก จากนี้ ข้อเสนอของงานวิจัยที่ให้คณะรัฐมนตรีร่วมพิจารณาคัดเลือกบุคลากร กำหนดวาระการทำงาน และกำหนดให้อายุกรรมการไม่เกิน 70 ปีนั้น ศ.บวรศักดิ์เห็นว่า ข้อเสนอลักษณะนี้คณะรัฐมนตรีชอบมากเพราะจะได้เอาพวกตัวเองมาใส่ และถ้ากำหนดอายุไม่เกิน 70 ปีจะทำให้มีคนจำนวนหนึ่งในสามพ้นตำแหน่งทันที แต่แนวทางนี้จะกระทบกับความเป็นอิสระในการให้ความเห็นทางกฎหมาย และมีผลทางการเมืองต่อไป
 
"ข้อเสนอที่นำไปสู่การสุด โต่งทางใดทางหนึ่ง ผมคิดว่าผู้วิจัยต้องทบทวน" ศ.บวรศักดิ์กล่าว และยกตัวอย่างหนึ่งที่กฤษฎีกาแก้ไขกฎหมายให้ดีขึ้น เช่นกรณีการจัดทำกฎหมายส่งเสริมการกีฬาอาชีพ ที่ภาคการเมืองเสนอให้กำหนดว่า การจะเป็นนักกีฬาอาชีพต้องมีใบอนุญาตจากกระทรวงการกีฬาเสียก่อน ซึ่งเป็นหลักการที่คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่สองรับไม่ได้ จึงแก้ไขใหม่ ซึ่งเรียกได้ว่า เป็นร่างที่เมื่อเสนอเข้าไปเป็นไก่ แต่ปรับแก้ออกมาเป็นช้าง นอกจากนี้ ศ.ดร.บวรศักดิ์เห็นว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาควรมีส่วนเข้าไปช่วยแต่ละกระทรวงร่างกฎหมายตั้งแต่ขั้นตอน แรกที่เริ่มร่างกฎหมายมากกว่า
 
ทั้งนี้ ศ.ดร.บวรศักดิ์เห็นด้วยที่งานวิจัยนี้เสนอให้สร้างกลไกให้ประชาชนเข้าถึง กระบวนการติดตามกฎหมาย และเสนอว่าควรใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลของหน่วยงาน ต่างๆ อย่างครบถ้วนและเป็นระบบ
 
ไพโรจน์ชี้ คนในภาครัฐรับผิดชอบต่อรัฐธรรมนูญต่ำ
ไพโรจน์ พลเพชร คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า กฎหมายส่วนใหญ่ในประเทศไทยผลิตโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งสำนักงานกฤษฎีกามีน้ำหนักในการแก้ไขกฎหมายอย่างมาก เวลาพิจารณากฎหมายในสภา ก็มีผู้แทนจากกฤษฎีกาเป็นหลักในการชี้แจง ถือเป็นผู้มีอิทธิพลตัวจริง อำนาจของกฤษฎีกาคืออำนาจทางความรู้ ซึ่งมีมากกว่าคนอื่นๆ ในการเสนอกฎหมาย
 
ไพโรจน์เห็น ว่า แม้จะมีความพยายามเปลี่ยนวิสัยทัศน์เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ดูเหมือนว่าการปรับตัวของหน่วยงานผลิตกฎหมายอย่างสภาเป็นไปอย่างค่อนข้าง ล่าช้า
 
"ผมเห็นด้วยว่าความล่าช้าไม่ได้บอกว่าดีหรือ ไม่ดี แต่เมื่อมันจำเป็น กฎหมายมันก็ต้องเร่งออก ใครจะบอกว่าอันไหนสำคัญอันไหนไม่สำคัญ" ไพโรจน์กล่าว
 
ขณะ ที่คนของภาครัฐกุมบทบาทหลักในการผลิตกฎหมาย แต่ไพโรจน์ก็เห็นว่า ความรับผิดชอบต่อรัฐธรรมนูญของคนในภาครัฐมีน้อยมาก กล่าวคือ แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดว่า รัฐบาลต้องออกกฎหมายลูกตามรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่จนบัดนี้กฎหมายลูกหลายฉบับก็ยังไม่ออก และก็ไม่มีรัฐบาลใดรับผิดชอบ ไพโรจน์จึงเสนอให้รัฐบาลต้องมีแผนนิติบัญญัติที่ชัดแจ้งและเปิดเผย เพื่อให้ประชาชนจะได้ติดตามได้
 
ไพโรจน์เสนอด้วยว่า ให้กำหนดแนวทางให้กฤษฎีกาต้องรับฟังความเห็นจากประชาชนตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องแก้ไขอะไรเลย
 
ร่างกฎหมายประชาชน 15 ปี มี 3 ฉบับ
สำหรับ การผลักดันกฎหมายหนึ่งๆ นั้น ยังมีอีกช่องทางคือการให้ประชาชนเสนอได้ด้วยตัวเอง ผ่านการระดมรายชื่อหนึ่งหมื่นชื่อ ซึ่งเป็นกลไกที่มีมา 15 ปี แล้ว ผศ.ปกป้องพบว่า ที่ผ่านมามีร่างกฎหมายจากประชาชนเสนอเข้าสู่รัฐสภาทั้งสิ้น 37 ฉบับ แต่มีจำนวน 17 ฉบับที่ถูกตีความว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์ ทำให้กฎหมายตกไปไม่ได้รับการพิจารณา อีก 5 ฉบับตายไปในชั้นสภา อาจเพราะสภาไม่รับหลักการ หรือเปลี่ยนสภา หรือยกเลิกรัฐธรรมนูญ มีร่างกฎหมาย 1 ฉบับที่วุฒิสภาไม่รับหลักการ อีก 11 ฉบับค้างอยู่ในกระบวนการ ส่วนร่างกฎหมายที่ประชาชนมีส่วนร่วมเสนอและได้ประกาศบังคับใช้แล้วมีเพียง 3 ฉบับเท่านั้น 
 
เมื่อดูระยะเวลาของการผลักดันร่าง กฎหมายประชาชน พบว่าขั้นตอนที่ภาคประชาชนใช้จัดทำร่างและระดมรายชื่อให้ครบอย่างน้อยหมื่น ชื่อนั้นใช้เวลาเฉลี่ยฉบับละ 343 วัน เมื่อส่งเข้าสภาแล้วสภาใช้เวลาตรวจสอบเอกสารเฉลี่ยฉบับละ 359 วัน เมื่อเข้าสู่ชั้นพิจารณากฎหมายแล้วใช้เวลาในสภาเฉลี่ย 468 วัน 
 
สิ่ง ที่ค้นพบในการศึกษานี้คือ ปัญหาของการเสนอกฎหมายภาคประชาชนนั้นไม่ใช่เรื่องการตื่นตัวที่จะมีส่วนร่วม ของภาคประชาชน หรือเนื้อหาและคุณภาพของกฎหมาย ปัญหาสำคัญที่พบในการจัดทำร่างกฎหมายประชาชน คือ กระบวนการภาคประชาชนมีภาระทั้งการล่ารายชื่อ และเผชิญความยากลำบากที่ต้องจัดทำร่างกฎหมายทั้งฉบับ ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งที่มีหน้าที่สนับสนุน ก็ทำงานเชิงรับมากกว่าเชิงรุก
 
"ข้อเสนอเบื้องต้น เพื่อยกระดับการมีส่วนร่วม คือให้ยกเลิกการใช้ทะเบียนบ้าน (การระดมหนึ่งหมื่นชื่อต้องใช้ทั้งสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน ประกอบ – iLaw) ยกเลิกการบังคับให้ประชาชนต้องเสนอร่างทั้งฉบับ แต่ให้มีองค์กรช่วยงานวิชาการ เช่น คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย สภาพัฒนาการเมือง ควรให้ภาครัฐเพิ่มบทบาทช่วยประชาสัมพันธ์ร่างกฎหมายที่ภาคประชาชนกำลังรวบ รวมรายชื่อ รวมถึงรับภาระค่าใช้จ่ายบางส่วน เช่น ค่าถ่ายเอกสาร" ผศ.ปกป้อง หนึ่งในคณะวิจัยกล่าว
 
ผศ.ปกป้อง เสริมว่า ในการระดมชื่อเพื่อเสนอกฎหมายนั้น ปัจจุบันประชาชนอาจเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งระหว่างการระดมรายชื่อเพื่อเสนอ กฎหมายด้วยการจัดการเองทั้งหมด หรือจะขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งช่วยระดมรายชื่อให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันก็ได้นั้น งานวิจัยชิ้นนี้เสนอให้เพิ่มทางเลือก โดยให้ภาคประชาชนสามารถใช้ทั้งสองช่องทางพร้อมๆ กันได้ นอกจากนี้ ยังควรกำหนดกรอบเวลาที่เหมาะสมให้รัฐสภาทำงาน หากรัฐสภาไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมายไหน ก็ควรนำร่างกฎหมายนั้นเข้าสู่การลงประชามติ
 
นอกจาก นี้ คณะวิจัยยังเสนอข้อเสนอใหม่ที่ว่า นอกจากสิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนแล้ว ประชาชนควรมีสิทธิในการเข้าชื่อเพื่อยับยั้งการออกกฎหมายได้ด้วย
 
ความจริงใต้รัฐธรรมนูญ ประชาชนไม่สามารถผลักดันกฎหมายได้จริง
ไพโรจน์ พลเพชร คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายกล่าวเสริมถึงอุปสรรคของการร่างกฎหมายภาคประชาชนว่า หากเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินต้องให้รัฐบาลเห็นชอบเสียก่อน หรือหากภาคประชาชนเสนอกฎหมายใดแล้วภาครัฐไม่ได้เสนอแข่งด้วย ร่างนั้นก็ต้องค้างในสภา ซึ่งหมายความว่า ประชาชนไม่สามารถริเริ่มเสนอกฎหมายได้เองจริง ต้องรอให้รัฐบาลเสนอกฎหมายด้วย ทั้งที่เจตนารมณ์ของประชาชนในการเสนอกฎหมายคือการบอกว่ากฎหมายนั้นมีความจำ เป็นและเป็นประโยชน์
 
นอกจากนี้ เมื่อเข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภา ยังต้องใช้ร่างกฎหมายของรัฐบาลเป็นหลักในการพิจารณา และร่างของรัฐบาลกับ ร่างของพรรคการเมืองอื่นมีแนวโน้มจะคล้ายคลึงกันอยู่แล้ว ซึ่งเนื้อหาแตกต่างกับร่างของภาคประชาชน ทำให้ร่างของประชาชนมีแนวโน้มจะถูกตัดมาก
 
ด้านสารี อ๋องสมหวัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เล่าว่า การเสนอร่างกฎหมายภาคประชาชนนั้น หากว่าเรื่องนั้นๆ ไม่มีร่างกฎหมายของรัฐบาล กฎหมายของภาคประชาชนก็ตกไป สารีเสนอว่าการเสนอกฎหมายของประชาชนควรให้ประชาชนเสนอได้โดยไม่จำเป็นต้อง ให้มีร่างของรัฐบาล

 

ที่มา: TDRI เปิดผลวิจัยชี้กฤษฎีกาจำกัดอำนาจตัวเอง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาสวัต บุญศรี: เมื่อรายการทางทีวีเสนอเรื่องสามจังหวัดชายแดนใต้

Posted: 04 Jul 2012 08:08 AM PDT

เมื่อตีสิบกล้านำเสนอประเด็นสามจังหวัดชายแดนใต้ ก็คงต้องบอกว่ากล้าไม่น้อยที่นำเสนอประเด็นนี้ แต่เอาเข้าจริงก็ยังผิวเผินและไม่มีอะไรใหม่สักเท่าใดนัก ซึ่งหากย้อนดูรายการทีวีไทย มีน้อยมากที่กล้าพูดถึงและคำถามที่ลึกกว่าปรากฏการณ์ก็ยิ่งหาได้ยาก

คืนวันอังคารที่ 3 กรกฎาคม 2555 รายการตีสิบได้นำเสนอเรื่องราวของร้อยเอก ‘ผู้กองฝ้าย’ ที่ต้องสูญเสียเท้าซ้ายไปขณะปฏิบัติงานกู้ระเบิดในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทางรายการเชิญทั้งเจ้าตัว ผู้บังคับบัญชา มาร่วมสัมภาษณ์ ต้องยอมรับว่าตัวร้อยเอกท่านนี้มีฐานกำลังใจดีและมองโลกในแง่บวกเป็นพื้นชีวิต ทำให้เราอดยิ้มไม่ได้แม้ว่าเขากำลังเล่าเรื่องเหตุการณ์เสียเท้าซ้ายไปตลอดชีวิตก็ตาม

นอกจากสัมภาษณ์ รายการยังนำเอาคลิปเหตุการณ์จริงทั้งของผู้กองฝ้ายและเหตุการณ์ระเบิดอื่น ๆ มาให้ได้ชม เรียกอารมณ์สะเทือนขวัญได้อย่างยิ่ง ก่อนจะต่อด้วยการโชว์อุปกรณ์กอบกู้ระเบิดต่าง ๆ ทั้งรองเท้ากันระเบิดที่มีอยู่คู่เดียวทั้งประเทศ ไปถึงชุดกู้ระเบิดอันแสนเทอะทะแต่จำเป็นยิ่งในการรักษาชีพ

เมื่อชมรายการจบผู้เขียนเองก็มีคำถามในใจมากมาย เลยลองเปิดหน้าเวบไซต์กระทู้สังคมออนไลน์สำรวจความคิดเห็นของผู้ชมว่าเป็นไปในทิศทางใด กระทู้หนึ่งในเวบไซต์พันทิปอุดมไปด้วยคำถามไม่ว่าจะเป็นเรื่องรองเท้ากันระเบิดทำไมถึงมีคู่เดียวเอย เรื่องงบประมาณที่ได้ปี ๆ หนึ่งไม่น้อยแต่กลับไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้ ไปจนถึงเรื่องความคุ้มค่าของค่าตอบแทนแก่นายทหารชั้นประทวนและสัญญาบัตรว่ามากพอหรือไม่

ภาพรวมความรู้สึกของผู้ชมหลังจากเทปนี้ออกอากาศออกมาทิศทางเดียวกันคือสงสารทหาร รู้สึกว่าทหารนั้นมีชีวิตความเป็นอยู่ที่เสี่ยงชีวิต พร้อมกับสรรเสริญการเสียสละของพวกเขา แต่ก็มีบ้างที่ออกมากล่าวว่าอย่าเชื่อในสิ่งที่เห็นในทีวีมากนัก

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสงสารนั้นมาพร้อมกับความรู้สึกเกลียดชังต่อผู้ก่อเหตุ ทางรายการเองก็ใช้คำว่า ‘ผู้ร้าย’ เรียกแทนกลุ่มก่อความไม่สงบในช่วงแนะนำรายการ การรับรู้ของคนไทยส่วนใหญ่ต่อเหตุการณ์รุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ มีผู้ก่อการร้ายวางระเบิดฆ่าพระและประชาชนผู้บริสุทธิ์เพื่อหวังแบ่งแยกดินแดน

แม้จะถือว่าตีสิบกล้าไม่น้อยที่นำเสนอประเด็นนี้ แต่เอาเข้าจริงก็ยังผิวเผินและไม่มีอะไรใหม่สักเท่าใด นัก หากย้อนดูรายการทีวีไทย มีน้อยมากที่กล้าพูดถึงเหตุการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมากอยู่ในรายการข่าว ซึ่งไม่ว่าจะเป็นช่วงเช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำ ดึก ก็มักนำเสนอการรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อเกิดระเบิดขึ้นที่ใดก็จะรายงานสภาพเหตุการณ์ ผู้ถูกกระทำคือชาวบ้านตาดำ ๆ ที่อาศัยในละแวกนั้น ไม่ก็เจ้าหน้าที่กอบกู้ระเบิดที่ปฏิบัติภารกิจพลาด แต่อะไรคือปมปัญหากันแน่, แท้ที่จริงใครคือผู้ที่เป็น ‘เหยื่อ’ หรือแม้แต่ทหารไทยกำลังสู้อยู่กับใคร คำถามเบื้องต้นเหล่านี้แทบไม่เคยมีการกล่าวถึงเลย จะมีบ้างก็ในรายการสนทนาสัมภาษณ์ซึ่งก็มีนาน ๆ ที

เมื่อคำถามสำคัญไม่เคยถูกนำมาเสนอและหาคำตอบอย่างต่อเนื่อง สภาวะการรับรู้ของผู้ชมต่อเหตุการณ์นี้จึงมีลักษณะซ้ำเดิมไปเรื่อย ๆ ไม่มีใครรู้ปมปัญหาแท้จริง รู้แต่ว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่ชวนให้รู้สึกอยากนิยามว่าโจรใต้ทำการวางระเบิดตามสถานที่ต่าง ๆ แล้วมีคนเสียชีวิตมากมาย การนำเสนอเช่นนี้เมื่อซ้ำเข้า ๆ ในที่สุดมันก็กลายเป็นชุดความจริงชุดหนึ่งที่คนยอมรับและใช้ในการตัดสินปรากฎการณ์

ลองคิดกลับกันว่าหากคนไทยส่วนใหญ่มีความรู้ทางประวัติศาสตร์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้รู้ว่าหัวเมืองต่าง ๆ ของสยามในยุคนั้นถูกปฏิบัติอย่างไรบ้าง หรือการถูกกระทำโดยรัฐไทยจนเกิดภาวะสองหรือสามมาตรฐานในเขตพื้นที่สามจังหวัดชายแดนจนทำให้คนในพื้นที่เกิดความไม่พอใจอย่างสูงแต่ต้องทนเก็บไว้นั่นเป็นอย่างไร ภาพและรูปแบบการนำเสนอคงไม่ออกมามีแค่เพียงชุดความจริงเพียงแบบหรือสองแบบเหมือนทุกวันนี้

ไม่รู้เป็นการคาดหวังมากไปหรือเปล่าที่อยากให้สื่อทีวีอันเป็นสื่อที่มีคนรับสารคอยชมเยอะที่สุดยกระดับผลงานเรื่องเกี่ยวกับชายแดนภาคใต้ให้เข้มข้นกว่านี้ ผู้เขียนเองเชื่อว่าลึก ๆ แล้วตัวคนทำสื่อโดยเฉพาะสายข่าวนั้นรู้เรื่องเบื้องลึกเบื้องหลังดี เพียงแต่ไม่กล้าพูดหรือนำเสนออาจด้วยกลัวเหยียบตาปลาเสียก่อน

ลองจินตนาการถึงวันที่สื่อไทยพูดเรื่องภาคใต้อย่างจริงจังและเปิดอก เปิดชุดข้อมูลต่าง ๆ ถกเถียงไปถึงรากปัญหาจริง ๆ น่าจะเป็นนิมิตรหมายอันดีในการเข้าใจต่อปมปัญหาจริง ๆ แม้จะยังแก้ไม่ได้ในสิบปีแต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่อย่างน้อย ๆ คนก็ได้ปรับเปลี่ยนทัศนคติกันไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย

คงต้องรอวันนั้นมาถึง ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นวันไหนนะครับ!!!

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาทนายค้าน จังหวัดตากห้ามแรงงานข้ามชาติเดินทาง ชี้ขัดหลักสิทธิมนุษยชน

Posted: 04 Jul 2012 07:45 AM PDT

คณะอนุกรรมการสิทธมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ได้แถลงคัดค้านหนังสือสั่งการจังหวัดตาก กรณีให้แรงงานข้ามชาติเดินทางได้เฉพาะที่มีหนังสือรับรองการเปลี่ยนสถานที่ทำงานเท่านั้น เป็นการจำกัดสิทธิการเดินทาง ขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งไม่เป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบตลอดจนนโยบายของรัฐที่บัญญัติไว้

4 ก.ค. คณะอนุกรรมการสิทธมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ได้แถลงคัดค้านหนังสือสั่งการจังหวัดตาก กรณีให้แรงงานข้ามชาติเดินทางได้เฉพาะที่มีหนังสือรับรองการเปลี่ยนสถานที่ทำงานเท่านั้น เป็นการจำกัดสิทธิการเดินทาง ขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งไม่เป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบตลอดจนนโยบายของรัฐที่บัญญัติไว้

เนื่องด้วยจังหวัดตาก โดยนายมงคล สัณฐิติวิฑูร รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ปฏิบัติหน้าที่ราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด ได้มีหนังสือสั่งการลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 ให้เจ้าหน้าที่ ณ ด่านตรวจห้วยหินฝน อำเภอแม่สอด ตรวจสอบเอกสารการเดินทางของแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการผ่อนผันจัดทำทะเบียนประวัติ (ทร. 38/1) และแรงงานที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติมีหนังสือเดินทาง ว่าหากจะผ่านด่านดังกล่าวจะต้องมีหนังสือรับรองการเปลี่ยนนายจ้าง หรือสถานที่ทำงานด้วย ทำให้แรงงานจำนวนมากไม่สามารถเดินทางผ่านด่านได้

คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ โดยนายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการ ฯ ได้ทำหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คัดค้านหนังสือสั่งการดังกล่าว และให้ยกเลิกหนังสือในทันทีโดยให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกฎหมาย และมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีหลักเกณฑ์ควบคุมการเดินทางของกลุ่มนี้อยู่แล้ว

ทั้งนี้ตามกฎหมาย แรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ และมีหนังสือเดินทางถือเป็น ผู้เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย มีสิทธิเดินทางภายในราชอาณาจักร ตามกฎหมายระยะเวลาที่วีซ่ากำหนด โดยไม่ต้องขออนุญาต ส่วนแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการผ่อนผันจัดทำทะเบียนประวัติ (ทร.38/1) มีสถานะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในพื้นที่ควบคุม คือจังหวัด เพื่อทำงานได้ตามระยะเวลาที่รัฐกำหนด การออกนอกพื้นที่ควบคุมต้องขออนุญาตจาก ผู้ว่าราชการจังหวัดเฉพาะ 6 กรณี คือ

1. เพื่อปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ
2. เพื่อเป็นพยานศาล
3. ได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวน
4. มีหนังสือเรียกจากหน่วยงานของรัฐในสังกัดกระทรวงแรงงาน
5. เพื่อรักษาพยาบาล
6. ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนสถานที่ทำงาน

ส่วนกรณีคนรับใช้ในบ้านสามารถเดินทางติดตามนายจ้างไปทำหน้าที่รับผิดชอบ ออกนอกจากจังหวัดได้โดยไม่ต้องขออนุญาต

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ฯ กล่าวว่า “หนังสือคำสั่ง และแนวปฏิบัติของจังหวัดตาก ไมเป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และระเบียบ และแนวปฏิบัติของรัฐ ซึ่งมีแนวทางการดำเนินการเป็นแนวเดียวกันทั้งประเทศ จังหวัดตากไม่มีอำนาจเป็นอิสระที่จะกระทำนอกเหนือจากที่กำหนด จึงใคร่เรียกร้องให้จังหวัดตากยกเลิกหนังสือสั่งการ และแนวปฏิบัติที่ผิดกฎหมายทันที และปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นอาจต้องรับผิดหากมีความเสียหายเกิดขึ้น และอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานเจ้าหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วย”

ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 26 มิ.ย. เครือข่าย Migrant Rights Promotion Working Group (MRPWG) เปิดเผยว่าได้รับเรื่องร้องเรียนจากองค์กรพัฒนาเอกชนและกลุ่มแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ อ.แม่สอด ว่าขณะนี้แรงงานต่างด้าวที่ถือหนังสือเดินทางชั่วคราวและมี VISA ไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่แม่สอดได้ และทางเครือข่ายได้ตรวจสอบข้อมูลก็พบว่ามีแรงงานจำนวนมากที่ถูกยับยั้งการเดินทางออกนอกพื้นที่อำเภอแม่สอด ณ ด่านตรวจบ้านห้วยหินฝน ทั้งๆ ที่มีหนังสือเดินทางและ VISA

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ASEAN Weekly: การคืนสู่อุษาคเนย์ของสหรัฐอเมริกา

Posted: 04 Jul 2012 03:57 AM PDT

 

 

ASEAN Weekly โดยพงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ และดุลยภาค ปรีชารัชช สัปดาห์นี้ ช่วงแรก ติดตามการเมืองมาเลเซีย ที่แม้จะยังไม่มีการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปอย่างเป็นทางการ แต่ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านก็เริ่มเข้าหาฐานผู้สนับสนุนของตน โดยนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นาจิป ราซัก ได้จัดการพบปะกับคนขับรถแท็กซี่ในกัวลาลัมเปอร์ พร้อมจัดประชานิยมชุดใหญ่สัญญาว่าจะ "เลิกทาส" แท็กซี่ ด้วยการเปลี่ยนระบบการออกใบอนุญาตขับแท็กซี่จากเดิมที่ออกให้เฉพาะบริษัทหรืออู่รถ มาเป็นออกใบอนุญาตขับแท็กซี่ให้กับคนขับโดยตรง โดยจะเป็นการตัดตอนภาระการผ่อนใบอนุญาตของคนขับแท็กซี่กับอู่รถแท็กซี่ นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยังแจกคูปองมูลค่า 525 ริงกิต ให้กับคนขับแท็กซี่ 70,000 คันทั่วประเทศ เพื่อนำไปเปลี่ยนยางรถยนตร์ชุดใหม่

ขณะที่ฝ่ายค้านมาเลเซียอย่างกลุ่มรณรงค์ปฏิรูปการเลือกตั้งสะอาด หรือ "เบอร์เซะ" ที่ในที่สุดก็เข้าไปยังจตุรัสเมอเดก้าสำเร็จ หลังจากเมื่อเมษายนที่ผ่านมาที่ถูกตำรวจขัดขวางไม่ให้เข้าไปชุมนุม แต่ล่าสุดก็สามารถเข้าไปได้โดยอาศัยการสมัครวิ่งมาราธอน ซึ่งเส้นชัยอยู่ที่จตุรัสเมอเดก้า

นอกจากนี้ติดตามข่าวกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่รายงานประจำปี จัดอันดับประเทศไทยอยู่ในประเทศที่ต้องจับตามองเรื่องการค้ามนุษย์

ส่วนช่วงที่สอง ติดตามสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ ที่ฟิลิปปินส์เข้าไปตั้งโรงเรียนในเกาะปัก-อะซา หรือเกาะแห่งความหวัง ซึ่งเป็นเกาะที่อยู่ในพื้นที่ของหมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งหลายชาติในอาเซียนและจีนอ้างกรรมสิทธิ์ ขณะเดียวกันเวียดนามก็จัดการประท้วงบริษัทจีนที่พยายามจะเข้ามาพัฒนาแหล่งพลังงานในพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ถึง 9 จุด

และส่งท้ายด้วยการวิเคราะห์สถานการณ์การกลับเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของกองเรือสหรัฐอเมริกา กับอาจารย์ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้วิเคราะห์แผนการปรับโยกกำลังเข้ามาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของสหรัฐอเมริกา และความเป็นไปได้ในการกลับมาวางกำลังทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาในหลายพื้นที่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อเผชิญหน้ากับอิทธิพลของจีน พร้อมวิเคราะห์เรื่องนาซ่า-อู่ตะเภา เกี่ยวอะไรกับยุทธศาสตร์นี้หรือไม่

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พม่าทักท้วงหลังทางการไทยให้รางวัลกองทัพรัฐฉานร่วมปราบยาเสพติด

Posted: 04 Jul 2012 02:33 AM PDT

ทางการพม่าทักท้วงไทยกรณีมอบรางวัลปราบยาเสพติดให้กองทัพรัฐฉาน SSA เผย แทรกแซงภายใน แถมแสดงท่าไม่พอใจไทยประกาศตั้งค่าหัวผู้นำกลุ่มติดอาวุธในพม่าเอี่ยวยาเสพติด 

สำนักข่าวฉาน รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวของหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยว่า เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา สถานทูตพม่าประจำประเทศไทยได้ทักท้วงมายังกระทรวงการต่างประเทศของไทย กรณีทางการไทยมอบรางวัลร่วมปราบปรามยาเสติดให้สภากอบกู้รัฐฉาน RCSS กองทัพรัฐฉาน SSA ภายใต้การนำของพล.ท.เจ้ายอดศึก

"เจ้าหน้าที่สถานทูตพม่าได้ทักท้วงมายังกระทรวงต่างประเทศไทยด้วยวาจา ไม่ได้ทักท้วงมาเป็นเอกสารอย่างเป็นทางการ เนื้อหาถ้อยคำนัยว่าทางการไทยแทรกแซงกิจการภายในพม่า" เจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคง ระบุ

เจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงคนเดิมเผยด้วยว่า ก่อนหน้านี้ ทางการพม่ายังแสดงท่าทีไม่พอใจกรณีที่ทางการไทยประกาศตั้งค่าหัว 3 บุคคลในพม่าเมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา ข้อหาเกี่ยวข้องยาเสพติด ซึ่งประกอบด้วย 1.จายหน่อคำ 2. พลตรีนะคันมวย ผู้นำกะเหรี่ยง DKBA และ นายยี่เซ ผู้นำกองกำลังอาสาสมัคร โดยเจ้าหน้าที่ทางการพม่าระบุ ทางการไทยควรประสานหารือกับรัฐบาลพม่าก่อนจะประกาศเรื่องนี้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทางการไทยโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ได้มอบรางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ในด้านการรณรงค์ ส่งเสริมในการป้องกันต่อต้านอาชญากรรมและยาเสพติดเพื่อความมั่นคงแห่งปี  “คนดี คิดดี ทำดี สังคมดี ตามรอยพระยุคคลบาท”รางวัล “อินทรีทอง Award” ครั้งที่ 1 ประจำปี 2555 เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก วันที่ 26 มิ.ย. ของทุกปี

พิธีมอบรางวัลจัดขึ้น ณ สโมสรบุณยะจินดา (ดุริยางค์ตำรวจ) กองสวัสดิการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถ.แจ้งวัฒนะ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี  มีพล.อ พิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนตรี เป็นประธานมอบในพิธีมอบรับรางวัล ซึ่งผู้ได้รับมอบรางวัลมีทั้งบุคคล องค์กร และหน่วยงานต่างๆ

ขณะที่สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS (Restoration Council of Shan State) องค์กรการเมืองกองทัพรัฐฉาน SSA (Shan State Army) ภายใต้การนำของพล.ท.เจ้ายอดศึก ได้รับรางวัลดังกล่าวด้วย ในฐานะเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการต่อต้านยาเสพติด ประเภทเครือข่ายความร่วมมือการข่าวเพื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ด้านพล.ท.เจ้ายอดศึก กล่าวว่า ได้ทราบข่าวทางการพม่าทักท้วงทางการไทยเรื่องมอบรางวัลให้สภากอบกู้รัฐฉาน RCSS อยู่ และมีหลายฝ่ายถามเรื่องนี้แต่ไม่ได้พูดอะไรได้มาก จริงๆ แล้วตนก็ไม่ทราบมาก่อนว่า RCSS/SSA จะได้รับรางวัลดังกล่าว ซึ่งเมื่อทราบเรื่องแจ้งมาว่าให้ไปรับรางวัลตนยังงงอยู่เลย

"ในฐานะผู้นำ RCSS/SSA ได้ดำเนินตามนโยบายปราบปรามยาเสพติด เนื่องจากเป็นหน้าที่ เพราะยาเสพติดเป็นภัยต่อมนุษยชาติ ซึ่งตนไม่เคยหวังที่จะได้รับรางวัล ส่วนที่ทางการไทยได้มอบรางวัลให้นั้นเข้าใจว่าเป็นการรับรองการทำความดีของ RCSS/SSA ซึ่งถือเป็นสิ่งดีและยินดีเป็นอย่างยิ่ง" พล.ท.เจ้ายอดศึก กล่าว

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สภากอบกู้รัฐฉาน RCSS กองทัพรัฐฉาน SSA ถูกร้องขอให้ลบภาพและข่าวการได้รับรางวัล “อินทรีทอง Award” ออกจากเว็บไซท์ไตฟรีดอม (www.taifreedom.net) ซึ่งเป็นเว็ปไซท์ของ RCSS/SSA แล้ว

 
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

 


 

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘จาตุรนต์’ ทวีต: ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไรก็ไม่เป็นธรรม

Posted: 04 Jul 2012 02:01 AM PDT

ผมมีประเด็นที่หวังว่าจะพูดเพียงสั้นๆ แต่เป็นประเด็นที่น่าจะสำคัญอยู่พอสมควร

คือ ผมเห็นว่าไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยกรณีมาตรา 68 ออกมาทางใด ก็ไม่มีความเป็นธรรมจากศาลรัฐธรรมนูญ  เพราะศาลรัฐธรรมนูญกำลังขัดรัฐธรรมนูญเสียเองอย่างต่อเนื่อง

การที่ศาลรัฐธรรมนูญทำผิดรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่รับคำร้องโดยตรงก็ดี  สั่งประธานสภาฯให้ชะลอการลงมติก็ดี ล้วนเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น

ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญยังสั่งให้ ส.ส. ส.ว.ชี้แจงตามที่พลตรีจำลองกับพวกร้องเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญ ก็ขัดรัฐธรรมนูญอีก

การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่ต้องเป็นอิสระ ส่วนการแสดงความคิดเห็น ออกเสียงลงมติ ลงคะแนนมีเอกสิทธิ์คุ้มครอง

ผู้ใดจะนำไปฟ้องร้องในทางใดๆ ไม่ได้ เว้นแต่เป็นการหมิ่นประมาทบุคคลภายนอกถ่ายทอดผ่านสื่อ การไปถือว่าส.ส. ส.ว.เป็นผู้ถูกร้องก็ผิดอีก

ที่สำคัญกว่านั้นในวันที่ 5-6 กรกฎาคมนี้ ศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะทำผิดรัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรงต่อไป ด้วยการพิจารณาตรวจสอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งๆ ที่ไม่มีอำนาจ

ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเพียงการตรวจสอบร่าง พ.ร.บ.หรือ พ.ร.ก.ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่เท่านั้น ไม่มีอำนาจตรวจสอบร่างรัฐธรรมนูญ การร่างรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภา 

ศาลรัฐธรรมนูญจึงกำลังกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดหลักประชาธิปไตย หลักการแบ่งแยกอำนาจ และขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างร้ายแรง ไม่ควรที่ใครจะเคารพนับถือ

ดังนั้นไม่ว่าจะวินิจฉัยออกมาอย่างไร แม้แต่จะวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ขัดมาตรา 68 ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังขัดรัฐธรรมนูญอยู่ดีที่ก้าวก่ายอำนาจรัฐสภา

ไม่ว่าจะวินิจฉัยอย่างไร ผลเลวร้ายที่จะตามมาก็คือ ต่อไปนี้ศาลรัฐธรรมนูญอยากจะตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขั้นตอนใดก็ได้ จะสั่งให้หยุดเสียเมื่อไรก็ได้

เท่ากับว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้เอาอำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญไปเป็นของตนแล้ว ทำลายความเป็นประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้ง

จึงต้องย้ำว่า ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไรก็ไม่เป็นธรรม จะหวังความเป็นธรรมจากศาลรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้ ผู้รักประชาธิปไตยไม่อาจยอมรับการกระทำของศาลรัฐธรรมนูญได้

ที่ผมแสดงความเห็นมานี้ ไม่ได้กดดันศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใดเลย เพราะผมไม่ได้บอกว่าต้องวินิจฉัยอย่างนี้ หรืออย่าวินิจฉัยอย่างนั้น มิฉะนั้นจะอย่างโน้น

แต่ผมกำลังบอกว่า ศาลรัฐธรรมนูญกำลังทำผิดทั้งกระบวนการ และการวิจารณ์ของผมก็ไม่ได้หวังต่อผลการวินิจฉัยของศาลในทางใดทางหนึ่ง

แต่ก็อยากให้สังคมไทยช่วยกันเตือนสติตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหลายให้หยุดการกระทำที่ผิดอย่างร้ายแรงนี้เสีย ถึงแม้จะหวังผลได้น้อยมากเต็มทีก็ตาม

คงต้องขอฝากประชาชนผู้รักประชาธิปไตย รักความเป็นธรรมและห่วงใยบ้านเมืองช่วยกันติดตามเรื่องนี้  และช่วยกันคิดรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นด้วยครับ

ข้อสรุปวันนี้ การปล้นอำนาจอธิปไตยไปจากประชาชนจะเกิดผลที่เป็นธรรมไม่ได้เป็นอันขาดครับ

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวบ้านพนางตุง แจงข้อมูล “ผอ.โฉนดชุมชน” ร้องมหา’ลัยฟ้องไล่ที่

Posted: 04 Jul 2012 01:15 AM PDT

ผอ.โฉนดชุมชน ลงพื้นที่โฉนดชุมชนบ้านใสกลิ้งและบ้านท่าช้าง ต.พนางตุง ชาวบ้านแจงปัญหา “มหาวิทยาลัยทักษิณ” ไล่ที่ ทั้งที่เป็นที่ดินชาวบ้านแต่ถูกประกาศเขตสาธารณะประโยชน์ทับซ้อน ซ้ำมีคดีฟ้องชาวบ้านอีก 3 คดี

 

เมื่อวันที่ 3 ก.ค.55 สำนักงานโฉนดชุมชน นำโดย นายทัศพันธ์ พงษ์เภตรา ผู้อำนวยการสำนักงานโฉนดชุมชน ลงพื้นที่บ้านใสกลิ้งและบ้านท่าช้าง ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เพื่อสำรวจและตรวจสอบพื้นที่โฉนดชุมชนบ้านใสกลิ้งและบ้านท่าช้าง เนื้อที่ 1,022 ไร่ มีประชากรอยู่ในพื้นที่ 123 ครัวเรือน ซึ่งทางเครือข่ายรักษ์แผ่นดินทุ่งสระ สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ได้ยื่นขอให้สำนักงานโฉนดชุมชนพิจารณาจัดโฉนดชุมชน โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน

นางเนิม หนูบูรณ์ กรรมการโฉนดชุมชนบ้านใสกลิ้งและบ้านท่าช้าง กล่าวว่า ชาวบ้านทำนาในพื้นที่ดังกล่าวมานานนับร้อยปีแล้ว ต่อมา พ.ศ.2528 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศเขตสาธารณะประโยชน์ทับซ้อนพื้นที่ชาวบ้าน หลังจากนั้น พ.ศ.2533 มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ขอใช้พื้นที่สร้างคณะของมหาวิทยาลัย ชาวบ้านเข้าใจว่าความเจริญจะเข้าชุมชน ลูกหลานจะได้เรียนใกล้บ้าน จึงยกที่นาส่วนหนึ่งให้ มหาวิทยาลัยได้สร้างอาคาร โดยไม่รอให้กระทรวงมหาดไทยอนุญาตให้ใช้พื้นที่ตามกฎหมาย ทั้งนี้ผลคือ การก่อสร้างได้ทำลายระบบน้ำชลประทาน เพื่อกันแนวเขตมหาวิทยาลัย ทำให้น้ำท่วมในปี พ.ศ.2539 ซ้ำยังขาดน้ำทำนาและเลี้ยงสัตว์ ทำให้ชาวบ้านรู้สึกผิดหวัง และเจ็บแค้น

นางเนิม ให้ข้อมูลต่อมาว่า ในช่วงปี พ.ศ.2551-2552 ชาวบ้านได้ร้องเรียนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผลคือ กสม. มีมติเมื่อวันที่ 24 เม.ย.52 ให้มหาวิทยาลัยยุติการก่อสร้างใดๆ จนกว่าจะได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่ให้ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมาย โดยเคารพต่อสิทธิชุมชน และสิทธิองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ และให้มหาวิทยาลัยดำเนินการก่อสร้างวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชนเฉพาะพื้นที่ที่มีการก่อสร้างไปแล้วเท่านั้น โดยให้เทศบาลพนางตุงดูแลพื้นที่สาธารณะประโยชน์ต่อไป

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยไม่ได้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของ กสม. แต่อย่างใด ยังคงเดินหน้าก่อสร้างอาคารเพิ่มเติม พร้อมทั้งปักป้ายประกาศห้ามชาวบ้านเข้าไปทำกินในที่ดินดังกล่าว และฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้านในข้อหาทำลายทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย จำนวน 3 คดี 20 กว่าราย

นางสายัญ ดำมุสิก สมาชิกพื้นที่โฉนดชุมชนบ้านใสกลิ้งและบ้านท่าช้าง กล่าวว่า ตนเองถูกมหาวิทยาลัยทักษิณ แจ้งความดำเนินคดีอาญาข้อหารบกวนทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วตนได้รับที่ดินผืนนี้มาจากพ่อ มหาวิทยาลัยต่างหากที่มาบุกรุกที่ดินของชาวบ้าน มหาวิทยาลัยมาแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้านได้อย่างไรในเมื่อเขาไม่ได้มีสิทธิตามกฎหมาย

“ในวันนี้รู้สึกยินดีที่สำนักงานโฉนดชุมชนลงพื้นที่รับฟังความเป็นจริง ทำให้มีความหวังว่าความยุติธรรมยังมีอยู่จริง” นางสายัญกล่าวแสดงความเห็นต่อการลงพื้นที่ของผู้อำนวยการสำนักงานโฉนดชุมชน 

ด้านนายทัศพันธ์ พงษ์เภตรา ผู้อำนวยการสำนักงานโฉนดชุมชน กล่าวว่า สำนักงานโฉนดชุมชนลงพื้นที่โฉนดชุมชนบ้านใสกลิ้งและบ้านท่าช้างเพื่อสำรวจและตรวจสอบพื้นที่ ตามที่เครือข่ายได้ยื่นเรื่องแสดงเจตจำนงขอจัดทำโฉนดชุมชน วันนี้ได้จัดเก็บข้อมูลสมบูรณ์แล้ว หลังจากนี้จะตรวจเช็คข้อมูล และรวบรวมข้อมูลให้คณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) พิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ นโยบายโฉนดชุมชนเป็นนโยบายที่ภาคประชาชน นำโดยเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เสนอต่อรัฐบาลชุดที่แล้ว เพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาทในที่ดินของรัฐ และได้รับการบรรจุเป็นนโยบายรัฐบาล มีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน มีการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน และจัดตั้งสำนักงานโฉนดชุมชน รวมทั้ง มีการพิจารณาคัดเลือกพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน 55 พื้นที่ โดยหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ได้ส่งมอบพื้นที่ให้สำนักงานโฉนดชุมชนบริหารจัดการร่วมกับชุมชน 2 พื้นที่ ต่อมารัฐบาลชุดปัจจุบันได้มีนโยบายสานต่อโฉนดชุมชน โดยแต่งตั้ง นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ เป็นประธานคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จรรยา ยิ้มประเสริฐ: “เจาะลึกและตีแผ่ขบวนการพาคนไทยมาเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดน ฟินแลนด์”

Posted: 04 Jul 2012 12:01 AM PDT

 

หลังจากได้ทำการรณรงค์ช่วยเหลือคนเก็บเบอร์รี่ชาวไทยที่เสียหายจากสวีเดนและฟินแลนด์นับตั้งแต่ปี 2552 และเดินทางศึกษาและพูดคุยกับคนงานและครอบครัวผู้เสียหายที่ 9 จังหวัดที่อีสานในปี 2552 เจรจากับรัฐบาลไทย เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานไทย รวมทั้ง CEOs ของบริษัทเบอร์รี่ และข้าราชการที่เกี่ยวข้องที่สวีเดนและฟินแลนด์หลายครั้งนับตั้งแต่นั้นมา

อีกทั้งเดินทางพบกับคนท้องถิ่น สื่อมวลชน ที่ฟินแลนด์และสวีเดน และเยี่ยมคนงานตามแคมป์หลายแคมป์ที่ฟินแลนด์ใปี 2553 จนถ่ายทอดออกมาเป็นสารคดี 3 เรื่อง และข้อเขียนทั้งขนาดสั้นและขนาดยาวอีกหลายชิ้น

เมื่อถึงฤดูกาลเบอร์รี่ปี 2555 ผู้เขียนจึงคิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเขียนรายงานฉบับยาวชิ้นนี้ออกมา เพื่อให้สังคมไทยและสังคมโลกตระหนักถึงสภาพความเป็นจริงของอุตสาหกรรมพาคนไปเก็บเบอร์รี่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุ่งนำสภาพงาน สภาพปัญหาและความเสี่ยงต่างๆ ที่คนงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทย ซึ่งเป็นเกษตรกรจากที่ราบสูงจากภาคอีสานเป็นส่วนใหญ่จะต้องเผชิญและแบกรับอย่างละเอียดมากขึ้น

รายงานชิ้นนี้มุ่งให้คนเก็บเบอร์รี่เตรียมรับสถานการณ์อย่างที่มันเป็นจริง ไม่ใช่อยู่กับความฝันถึงเงินแสน และเชื่อมั่นว่าความตั้งใจจะทำงานหนัก จะอดทน จะทำให้พวกเขาได้เงินกลับบ้าน

และเพื่อจะทำให้เรื่องราวความเสียหายจากคนไทยจากวิถีค้าแรงงานข้ามชาติไม่ถูกปล่อยให้เลือนหายไป กลายเป็นคนไม่มีตัวตน พร้อมกับการโหมประชาสัมพันธ์ขายฝันเบอร์รี่ในฤดูกาลใหม่ที่กำลังมาถึงเช่นนี้กันต่อไป … ปีแล้วปีเล่า…

และเพื่อบอกว่า จนถึงบัดนี้ความเสียหายของเกษตรกรไทยที่ต่อเนื่อมาหลายปีรวมกันหลายร้อยล้านบาท กับการค้าฝันเสี่ยงโชคเบอร์รี่ป่า ก็ยังไม่มีใครรับผิดชอบ เช่นเดียวกับคนงานที่ถูกค้าไปทำงานยังประเทศอื่นๆ อีกมากมายหลายพันหลายหมื่นคน ที่ราคาความเสียหายของพวกเขาไม่เคยได้รับการเยียวยา หรือใส่ใจจากกลไกรัฐไทย

************


เกริ่นนำ

  • “ถ้าอยู่เมืองไทยแล้วขยันเช่นไปที่สวีเดน เรารวยกันทุกคน”
  • “บอกเพื่อนๆ ให้ขยัน ให้อดทน แม้ลูกเดียวก็ต้องเก็บ เพราะมันคือเงิน”
  • “เราจ้างตัวเองมาลำบาก”
  • “ก็เครียดกันทุกคนละครับ กลัวไม่ลุหนี้”
  • ฯลฯ

ถ้อยคำจากผู้เสียหายหรือไม่ได้เงินตามที่คาดหวังไว้จากการเดินทางมาเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดนและฟินแลนด์เหล่านี้สะท้อนออกจากจากคนงานหลายคนที่ได้พบเจอนับตั้งแต่ปี 2552

เมื่อใกล้เวลาฤดูกาลเก็บเบอร์รี่ ผู้เขียนมักจะนึกถึงหน้าตาของอดีตคนงานเบอร์รี่หลายร้อยคนที่รวมประท้วงด้วยกันมา นึกถึงมิตรภาพและการต้อนรับอันอบอุ่นเมื่อไปเยี่ยมพวกเขาที่บ้านในหลายจังหวัดที่อีสาน

นึกถึงดวงตาเศร้าเจ็บปวดและสูญเสียศักดิ์ศรีตัวตน แห่งความเป็นคนงานไทยที่ขยัน อดทน และซื่อสัตย์ ที่พ่ายแพ้ต่อฤดูกาลที่เขตโลกเหนือ

ได้เห็นผลพวงจากน้ำพักน้ำแรงเบอร์รี่ ทั้งรถเกี่ยวข้าว ร้านขายของชำ และบ้านที่มีแต่โครงเพราะขาดทุนจากการไปครั้งที่ 3 จนไม่มีเงินสร้างต่อจนเสร็จ

ได้เห็นการหย่าร้าง การแยกทางกันทำมาหากิน การเจอแฟนใหม่เพราะเบอร์รี่

หลายคนที่เคยไปทำงานเมืองนอกบอกว่าการทำงานเก็บเบอร์รี่ป่าที่สวีเดนและฟินแลนด์ เป็นงานที่โหดที่สุด

นึกถึงแก้วและครอบครัวที่นครพนม แก้วและพี่น้องทั้งสี่คน (ผู้ชายหมด) ดิ้นรนไปทำงานเมืองนอกในเกือบทุกประเทศตั้งแต่สิงคโปร์ช่วงต้นทศวรรษ 2530 ตามมาด้วยมาเลเซีย ใต้หวัน เกาหลี และเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดน

เงินส่วนใหญ่ที่ได้มาถูกใช้ไปกับการจ่ายคืนเงินกู้ค่านายหน้า และจ่ายค่าเดินทางของพี่น้องคนต่อไป และครั้งต่อไป จนบัดนี้ผ่านไปร่วมสองทศวรรษพวกเขาก็ยังต้องดิ้นรนเพื่อไปเมืองนอกหรือเพื่อสร้างชีวิตในประเทศ

แก้วถึงกับใช้ เงินที่เหลือทั้งหมดจากใต้หวันที่เขาเพิ่งเดินทางกลับมาหลังครบสัญญาสองปี จำนวน 50,000 บาท เป็นทุนจ่ายค่านายหน้า 86,000 บาท เพื่อไปเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดนในปี 2552

เมื่อเราไปเยี่ยมเขาและครอบครัว รวมทั้งเพื่อนที่เสียหายกลับมาที่นครพนม เราเห็นแก้วมีความสุขท่ามกลางชีวิตกลางทุ่งอันงดงาม บ่อปลา บ่อกบ แปลงพริกผักนิดหน่อย ที่สร้างรายได้ในช่วงฤดูกาลให้แก้วเป็นพันบาท บอกกับเราว่า “ถ้าอยู่เมืองไทยแล้วขยันเช่นไปที่สวีเดน เรารวยกันทุกคน” แก้วบอกว่าไม่ไปอีกแล้วเมืองนอก

ที่อุบลฯ เราพบพี่ประมวลและภรรยา พร้อมครอบครัว ครอบครัวนักการเมืองท้องถิ่น ที่หวังเพียงได้พากันไปเมืองนอก และมีเงินเหลือเก็บบ้าง พี่ประมวลไปกับภรรยา และต้องกู้หนี้ยืมสินร่วมสองแสนบาท ทำให้สองเดือนกับความหวังทำชีวิตผลิกผันและพังทลาย

ชีวิตผู้ที่เคยได้รับการยอมรับนับถือในชุมชน เมื่อล้มเหลวกลับมา และมีภาระหนี้ที่ต้องมาชดใช้ พวกเขาเสียศูนย์ ต้องเริ่มต้นสร้างทำกำลังใจให้ตัวเอง และกู้คืนชื่อเสียงและศักดิ์ศรี

ผู้เขียนไม่เคยลืมครอบครัวปรานีที่แก้งค้อ ในการอยู่ศูนย์กลางตัวแทนเก็บเบอร์รี่ ทุกปีครอบครัวของเธอจะถูกกระตุ้นว่าต้องเสี่ยง น้องชายไปก่อนกลับมาไม่ได้เงินและบอกทุกคนว่าสภาพงานเป็นอย่างไร แต่ก็ห้ามแรงกระตุ้นจากความอยากเสี่ยงไม่ได้ ปีต่อมาปรานีไปเก็บพร้อมกับสามี เผอิญเป็นปี 2552 ที่ทั้งสวีเดนและฟินแลนด์คราคร่ำไปด้วยคนเก็บเบอร์รี่ชาวไทย “ไปที่ไหนก็ปะหน้ากันตลอด” ปรานีและสามีเสียหายกลับมาพร้อมหนี้กว่าแสน

สามีต้องหลีกเจ้าหนี้ไปทำงานก่อสร้าง ทิ้งปรานีดูแลพี่สาวที่ป่วย ลูกที่เล็ก และอยู่กับครอบครัวที่ทุกระทมข์จากความล้มเหลวแห่งการล่าฝัน ท่ามกลางเรื่องเล่ายั่วยุแห่งผู้ที่ประสบความสำเร็จไม่กี่คนแต่เรื่องราวกลับได้รับการจดจำและขยายกว้างขวางไปใหญ่โต เพื่อสร้างแรงดึงดูดให้คนอื่นๆ บินเข้าสู่มือนักค้าแรงงาน

ความเป็นสวีเดน และฟินแลนด์ ประเทศที่ขึ้นชื่อว่าร่ำรวย และพัฒนา เป็นแรงจูงใจหนึ่ง เพราะถือได้ว่ามาเที่ยวเมืองนอก ประเทศโลกเหนือที่ร่ำรวย ค่าแรงสูง ธรรมชาติงาม และผู้คนจิตใจดี

สำหรับคนที่ศึกษาและติดตามการถูกหลอกและถูกค้าฝันไปทำงานเมืองนอกของคนไทยมากกว่า 2 ทศวรรษ  การนำอาหารที่พระเจ้ามอบให้ที่มีฤดูกาลอันจำกัด เพื่อสองเดือนนี้ เข้าข้นทุกรสชาติแห่งชีวิตคนทำงานเมืองนอกตามไปด้วยเช่นกันตามเงื่อนไขระยะเวลาที่จำกัด กับต้นทุนค่าใช้จ่ายเท่ากับการทำสัญญาไปทำงานประเทศใต้หวัน 2 ปี

 

ทำความรู้จักกับเบอร์รี่ป่า

ในเขตภาคเหนือคาบเกี่ยวเขตอาร์คติดไล่ตั้งแต่แคนาดา มาสแกนดิเนเวีย (นอร์เวย์ สวีเดน และฟินแลนด์) ไปยังรัสเซีย และญี่ปุ่น จะเป็นแหล่งของเบอร์รี่ป่า หลากหลายชนิด แต่ชนิดที่คนนิยมทาน และต่อมาพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมคือ  cloud berry, lingon berry, blueberry และ crow berry เป็นต้น ซึ่งเป็นไม้พุ่มเตี้ยติดพื้น ที่จะพากันฟื้นตัวเมื่อน้ำแข็งละลาย และจะค่อยๆ ออกผลให้เก็บกินได้ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมจนถึงต้นเดือนตุลาคมของทุกปี

เบอร์รี่ป่าเหล่านี้มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก เรียกกันว่าเป็นของขวัญจากพระเจ้าเพื่อชดเชยสภาพอากาศที่เลวร้ายให้คนและสัตว์ที่อยู่เขตอาร์คติก และนับตั้งแต่มีการพัฒนาการค้าเบอร์รี่ป่าเป็นลำเป็นสัน และมีโรงงานแปรรูปหลายโรงเปิดที่ภาคเหนือของสวีเดนและฟินแลนด์ ความต้องการเบอร์รี่ป่าในตลาดโลก เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยประเทศนำเข้าสำคัญได้แก่ญี่ปุ่น จีน อิตาลี เป็นต้น เพื่อนำมาผลิตยาบำรุงสายตา วิตามิน เครื่องดื่ม อาหาร และอุปกรณ์เสริมความงามต่างๆ

เป็นประเพณีมาช้านานของคนในพื้นที่ที่นี่ คือ ทั้งครอบครัวจะพากันไปเก็บเบอร์รี่มาแช่แข็งไว้เพื่อบริโภคในครอบครัวทั้งปี ทั้งทานสดและทำแยมต่างๆ  นอกจากนี้มันก็เป็นอาหารของพวกหมี ลีห์ และกวางเรนเดียร์ และสัตว์ป่าต่างๆ ด้วย  หมีก็จะเก็บเบอร์รี่เหล่านี้กินเพื่อเป็นอาหารตุนในระหว่างฤดูจำศีลตลอดช่วงหิมะอันหนาวเย็นกว่า 5 เดือนของทุกปี

นอกจากการเก็บตามธรรมชาติแล้ว ในจีน โปร์แลนด์ และแคนาดา เป็นต้น ได้มีการพัฒนาฟาร์มบลูเบอร์รี่ เพื่อส่งออกกันอย่างเป็นลำเป็นสัน ซึ่งเบอร์รี่ฟาร์มจะลูกใหญ่กว่า แต่รสชาติไม่อร่อยเท่าเบอร์รี่ป่า

เพื่อนที่นี่บอกว่า “การเจอแหล่งเบอร์รี่ป่าและเห็ดดก ถือเป็นความลับที่เป็นมรดกตกทอดในครอบครัว” ก่อนออกจากบ้านไปดงเบอร์รี่ ถึงขนาดต้องแอบบออกจากบ้าน ไม่ให้เพื่อนบ้านรู้กันทีเดียว

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดใดที่จะเกิดการไม่กินเส้นกัน กลั่นแกล้งกัน ระหว่างคนเก็บเบอร์รี่เจ้าถิ่นกับคนเก็บเบอร์รี่ชาวไทย เพราะการแย่งแหล่งเบอร์รี่ดก

และก็ไม่ใช่เรื่องประหลาดใจที่คนเก็บเบอร์รี่ชาวไทยเจ้าเก่าจะขับรถกันวันละ 200-300 กม. เพื่อเดินทางจากแคมป์ ไปยังแหล่งเบอร์รี่ดกที่ตัวเองคุ้นเคย

ผลผลิตของเบอร์รี่จะขึ้นอยู่กับฤดูกาลและคาดการณ์ลำบากว่าจะมากน้อยขนาดไหน จนกว่าจะเห็นดอก ซึ่งก็เป็นช่วงกลางเดือนมิถุนายน และถ้าปีไหนเกิดอาการเปลี่ยนและหนาวจัดในช่วงดอกออก ก็จะส่งผลเสียหายต่อปริมาณของเบอร์รี่ด้วย (เช่นกรณีปีที่เสียหายมากๆ ในปี 2552 ที่คนไทยต้องกลับบ้านมือเปล่าหรือพร้อมหนี้สินกันหลายพันคน)

การพาคนงานจากต่างประเทศเข้าไปเก็บเบอร์รี่

จุดเริ่มต้นของการพาคนต่างชาติเข้ามาเก็บเบอร์รี่ที่สแกนดิเนเวียร์ โดยเฉพาะที่ตอนเหนือของสวีเดนและฟินแลนด์  เริ่มจากการท่ีหญิงไทยที่มาแต่งงานกับคนสวีเดนหรือฟินแลนด์ เชิญชวนของญาติให้มาเที่ยวและมาเก็บเบอร์รี่ 2 เดือนในช่วงหลังปักดำและระหว่างรอฤดูเก็บเกี่ยว เมื่อช่วงต้นทศวรรษที่ 2530

แต่ด้วยเห็นรายได้อยู่ข้างหน้า โดยไม่ได้คิดค่านายหน้าอะไร เพียงแค่ญาติจ่ายค่าตั๋วและค่าใช้จ่ายกันมาเอง พอเห็นได้เงินเยอะ คนมาเก็บก็เลยลุยเก็บเบอร์รี่กันมากกว่ามาเที่ยว และพอได้เงินกลับเมืองไทยกัน ข่าวก็แพร่สะพัด หญิงไทยที่แต่งต่างชาติในพื้นที่ก็คิดหาประโยชน์ด้วย โดยการทำตัวเป็นนายหน้าจัดการเส้นทางและเก็บค่าหัวคิว อีกทั้งให้ยืมเงินดอกเบี้ยสูงเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมทั้งเก็บค่าใช้จ่ายเรื่องบ้าน อาหาร และรถเช่าคนเก็บเบอร์รี่ด้วย

เมื่อความโลภคนไม่เท่ากัน  วิถีนี้ก็ถูกเปิดโปงและร้องเรียนจากคนงานที่เสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา

บริษัทแปรรูปและส่งออกเบอร์รี่ที่เริ่มเคยชินกับวิถีการทำงานราวกับทาส ไม่หยุดพักทั้งวันทั้งคืนของคนไทย ก็เลยลุกขึ้นมาต่อรองและจัดการระบบเอง แต่ไม่ได้ทำเอง อาศัยความเป็นผู้ซื้อรับประกันตัวแทนนายหน้า และอาศัยเงินหนา จัดซื้อโรงเรียนและรีสอร์ทเก่า รวมทั้งรถเก่าไว้รองรับคนงาน หารายได้เพิ่มด้วย แต่ในราคาที่คุมระหว่างกัน

ด้วยวิถีนี้ อุตสาหกรรมเบอร์รี่ในฐานะสมาคมผู้ซื้อร่วมกับบรรษัทจัดเก็บและขายเบอร์รี่ที่ตั้งตามมา จึงสามารถต่อรองโควต้านำเข้าคนเก็บจากต่างประเทศโดยเฉพาะอาศัยตัวแทนชาวไทยที่ชำนาญการและมีความเชี่ยวชาญเรื่องการพาแรงงานไปต่างประเทศมาช่วยหาคนและจัดการเรื่องการเดินทาง

เกษตรกรในที่ราบสูงของไทยจึงพากันเดินทางมาเก็บเบอร์รี่ในวีซ่า “นักท่องเที่ยวจ้างงานตัวเอง หรือนักท่องเทียวนายจ้างตัวเอง”

จากไม่ถึงร้อยคนในปีที่เริ่มเปิด (2548) ก็พุ่งสูงขึ้นเป็นร่วมหมื่นคนในปี 2552 จนตกลงมาอยู่ที่ระดับ 6-7,000 คนในปัจจุบัน (ไม่รวมตัวเลขที่เดินทางมากับระบบญาติเหมือนเดิม ที่มีการคุ้มเข้มเรื่องวีซ่ามากขึ้น และต้องพิสูจน์ว่าเป็นญาติกันจริงๆ อีกประมาณปีละ 3,000 คน)

ส่งผลให้จำนวนเบอร์รี่ในอุตสาหกรรมแปรรูปและส่งออกเบอร์รี่ ที่เก็บโดยคนไทยเพิ่มขึ้นจาก 15% ในปี 2546 เป็น 80% ในปี 2552  และการเติบโตของอุตสาหกรรมเบอร์รี่ของทั้งสองประเทศ

หลังจากปัญหาวิกฤติเบอร์รี่ปี 2552 เมื่อคนเก็บเบอร์รี่ชาวไทยขายทุนกันเป็นจำนวนมาก สภาแรงงานที่สวีเดน และสหภาพแรงงานคอมมูนอล และสาธารณชน ได้กดดันให้รัฐบาลสวีเดนใช้ระบบสัญญาจ้างงานที่มีฐานค่าจ้างขั้นต่ำ และเงื่อนไขการทำงานสับดาห์ละ 40 ชั่วโมง ระบบสัญญาจ้างงานนี้เปิดให้ทั้งนายจ้างที่เป็นบริษัทสวีเดน (คนเก็บต้องถูกหักภาษีเงินได้ 25%) และบริษัทที่ประเทศไทยพามา (ได้รับการยกเวันภาษี) และระบบการจ้างงานนี้ใช้ครั้งแรกในปี 2553 (ระบบสัญญานี้ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก กรุณาอ่านเพิ่มเติมได้ที่ “รายงานการต่อสู้ของคนงานเก็บเบอรี่ยังไม่จบ”)

สำหรับฟินแลนด์ยังคงใช้ระบบ “วีซ่านักท่องเที่ยวนายจ้างงานตัวเอง” อยู่  แต่รัฐจะเข้ามาสอดส่องดูแลมากขึ้นเรื่องคุณภาพการกินอยู่ และการขาดทุนของคนงาน และมีการต่อรองกันเรื่องการสร้างหลักประกันไม่ให้คนงานรับภาระความเสี่ยงและความเสียหายฝ่ายเดียวมากขึ้น (ในปี 2555 กระทรวงต่างประเทศฟินแลนด์ คาดการณ์ว่าจะมีคนเก็บเบอร์รี่มาฟินแลนด์ รวมทั้งคนงานฟาร์มเกษตร 12,000 คน เป็นคนไทย 3,000 คน (ดู Wonders in Finnish Forests)

กระนั้นก็ตาม นับตั้งแต่วิกฤติเบอร์รี่ปี 2552 ผลเบอร์รี่ไม่แน่นอน และคนที่จะได้เงินแบบถูกหวยและแจ็คพ๊อตแบบเก่าเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้นเรื่อยๆ

“ฤดูกาลเบอรี่ปี 2553 ที่สวีเดนเริ่มร้อนแรง ตั้งแต่ช่วงต้นฤดู เมื่อมีการนำเสนอข่าวการประท้วงนายหน้า ของคนงานจีน 120 คน ในวันที่ 6 สิงหาคม ตามมาติดๆ ด้วยข่าวการประท้วงของคนงานเวียดนาม 70 คน ที่แปร ความโกรธแค้นไปสู่หัวหน้าแคมป์ ด้วยการทุบตีและขังพวกหัวหน้าไว้ในห้อง เมื่อต้องเผชิญกับความกดดันที่ไม่รู้ว่า จะไปหาเงินที่ไหนมาใช้หนี้ที่กู้มาจ่ายค่านายหน้าเพื่อเดินทางมาสวีเดน คนเวียดนาม 150 จากจำนวน 290 คน ตัดสินใจหนีวีซ่าอยู่ต่อในยุโรปในฐานะคนงานผิดกฎหมาย

หนี้สินจากค่านายหน้าที่กู้ยืมมาสวีเดนของพวกเขาสูงถึง 60-100,000 บาท ซึ่งต้องทำงานกันเป็นปีหรือสองปี กว่าจะใช้หนี้เหล่านี้ได้หมด

บริษัทจัดหางาน (ในนามบริษัทอาหารและเครื่องดื่ม) เกือบทุกบริษัทต่างก็มีคดีฟ้องร้องข้อหาหลอกลวง และฉ้อโกงกันโดยถ้วนหน้า  ในโฉมหน้าของนักฉ้อโกงคนจนที่ไร้ซึ่งการคุ้มครองใดๆ  กลไกภาครัฐต่างๆ กลับยังคง ให้การสนับสนุนบริษัทเหล่านี้ในการนำพาหรือสั่งนำเข้าเกษตรกรที่ยากจนให้เดินทางมายังยุโรปกันต่อไป”

การต่อสู้ของคนงานเก็บเบอรี่ในสวีเดนยังไม่จบ, ธันวาคม 2553

ลำดับขั้นตอนการหาคนงาน

เมื่อหมดฤดูกาล บริษัทที่ฟินแลนด์จะต้องทำรายงานรายได้ของคนเก็บเบอร์รี่ให้กระทรวงต่างประเทศ และยื่นความจำนองของโควต้าคนเก็บเบอร์รี่ในฤดูกาลถัดไป โดยสถานทูตจะดูว่ามีคนขาดทุนกันมากน้อยแค่ไหน และบริษัทมีคำอธิบายว่าอย่างไรบ้าง ทุกบริษัทต้องพยายามทำให้ยอดการขาดทุนในรายงานน้อยที่สุด เพื่อจะได้รับโควต้าในปีต่อไป

ในระหว่างการตระเวณพูดคุยกับสาย หัวหน้าและคนงานเมื่อปี 2553 มีการพูดถึงกันว่าแต่ละบริษัทจะมีวิถีการทำบัญชีแสดงตัวเลขค่าใช้จ่ายต่ำเกินจริง และการจ่ายเงินสูงเกินจริง โดยรวมจำนวนเงินที่ต้องจ่ายค่าบริการต่างๆ ให้กับตัวแทนในประเทศไทยและทีมงานที่ถูกนำมาดูแลคนงานเข้าไปด้วย จึงทำให้ยอดเฉลี่ยรายได้สูงขึ้น แต่การจ่ายจริงจะไปกระจายต่อจากบัญชีที่เมืองไทย ซึ่งไม่ได้มีการรายงานโดยละเอียด ซึ่งนี่เป็นเพียงคำกล่าวที่ยังไม่เห็นมีการทำรายละเอียดการตรวจสอบเรื่องนี้ที่ชัดเจน เพื่อมันยืนยันถึงคำกล่าวนี้ ซึ่งจะทำได้ก็ต้องดูทั้งยอดเงินเข้าบัญชีจริง และเงินจ่ายให้คนงานจริงที่เมืองไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากในการตรวจสอบ

ข้ันตอนการจัดหาคนเก็บเบอร์รี่ที่พอแบ่งได้อย่างสังเขปคือ


1.   ธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ บริษัทแปรรูปและส่งออกเบอร์รี่ (5-6 บริษัท) และบริษัทเก็บและขายเบอร์รี่ (4-5 บริษัท) ยื่นความจำนงขอโควต้าใหม่ (สถานทูตจะอนุมัติประมาณเดือนมีนาคม)

2.   บริษัทจะแจ้งรายชื่อตัวแทนบริษัทไปยังสถานฑูตที่ประเทศเพื่อเป็นผู้ติดต่อเรื่องการยื่นขอวีซ่าให้คนงาน

3.   นับตั้งแต่ฤดูกาลเก็บยังไม่สิ้นสุด ตัวแทนบริษัทจะเชิญชวนคนเก็บให้มาใหม่ และในเดือนพฤศจิกายน ถึงธันวาคม จะเริ่มเปิดประชาสัมพันธ์อีกรอบ พร้อมทั้งให้สายเริ่มหาคนงาน

4.   กุมภาพันธ์ เริ่มประเมินในระดับหนึ่งถึงจำนวนคนเก็บ เริ่มระดมเงินค่าใช้จ่าย โดยในปัจจุบัน บริษัทผ่านทางตัวแทนนายหน้าจะอำนวยความสะดวกด้วยการหาเงินกู้หรือคำประกันเงินกู้ให้

5.   ขั้นตอนที่ 5-6 จะทำไปด้วยกันคือ หาคน และเจรจาเงินกู้และการเตรียมเงินต่างๆ

6.   มิถุนายน ฝึกอบรมโดยบริษัทและกระทรวงแรงงานครึ่งวัน

7.   ต้นเดือนกรกฎาคม คนงานที่มาเก็บสตอร์เบอร์รี่ตามฟาร์มระหว่างรอฤดูเก็บเบอร์รี่เริ่มออกเดินทาง

8.  ปลายเดือนกรกฎาคม คนงานทั้งหมดทยอยออกเดินทาง

9.  สิ้นเดือนกันยายนและต้นเดือนตุลาคม คนงานทยอยเดินทางกลับ

 

ค่าใช้จ่าย

ตัวเลขค่าใช้จ่ายนี่เป็นปัญหามากพอสมควร  เพราะเงินร้อยหรือสองร้อยยูโร (ห้าพันหรือแปดพันบาท) มีความหมายต่อเส้นการขาดทุนและกำไร โดยเฉพาะเมื่อต้องทำตัวเลขเล่านี้ให้หน่วยงานรัฐรับทราบด้วย เพราะถ้าเวลาลงเป็นเอกสารถึงหน่วยงานรัฐระบุว่าต้นทุนคนงานคนละ  3,200 ยูโร จึงมีความหมายมาก เพราะเส้นแบ่งการขาดทุน จะถูกปรับลงมาจากตัวเลขจริงมาเป็นค่าเฉลี่ย 3,200 ยูโร

ฝ่ายตัวแทนและบริษัทเบอร์รี่ก็จะพยายามแทงตัวเลขค่าใช้จ่ายให้ต่ำ โดย(อาจจะ) ไม่รวมค่าใช้จ่ายส่วนตัวอื่นๆ ไว้ในรายงานให้กับรัฐทั้งหลาย

จากการคุยกับคนงานจำนวนมาก และคำนวณจากค่าใช้จ่ายจริงที่รู้กันอยู่แล้ว (โดยเฉพาะที่แคมป์) มันชัดเจนว่าค่าใข้จ่ายจริงแต่ละคนจะไม่ต่ำกว่า 3,500 ยูโร  ซึ่งตัวแปรสำคัญคือ 1) การเสียค่านายหน้าเยอะกว่าปกติ เพราะถูกสายกินหลายทอด 2) ค่าน้ำมันรถวิ่งหาป่าเบอร์รี่ที่ต้องจ่ายเอง 3) ค่าใช้จ่ายในการเตรียมการมา ทั้งซื้ออุปกรณ์ ยา และอาหารแห้ง และ4) ค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารเสริม เครื่องดื่ม และบัตรโทรศัพท์ที่ฟินแลนด์และสวีเดน ซึ่งแน่นอนว่าแพงกว่าค่าครองชีพที่เมืองไทยหลายเท่า

นอกจากนี้ก็ยังมีตัวแปรเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอยู่ในระดับ 40 บาทต่อยูโร ไม่ใช่ 45-46 ยูโรเช่นเมื่อสี่ห้าปีที่ผ่านมา)

นั่นหมายความว่าตัวเลขคนที่กลับบ้านมือเปล่า อาจจะลดลงเป็นจำนวนสูงเป็นร้อยเป็นพันคนได้ทีเดียว .. นี่เป็นมายาภาพ เรื่องค่าใช้จ่าย รายได้ และการรายงานรัฐ อีกเรื่องหนึ่งที่รัฐจำต้องรู้เท่าทัน

โดยเฉพาะเมื่อเริ่มมีการวางเป้าหมายว่ายอดรับได้ว่าไม่เสียหายไม่ให้ควรเกิน 10-20% การปรับลดตัวเลขต่ำกว่าจริง 300 ยูโร ก็จะลดจำนวนผู้สูญเสียได้เยอะ (ในกรณีปีที่มีการเสียหายเยอะ และเก็บไม่ได้ตามเป้าคุ้มทุน)

ตารางค่าใช้จ่ายต่างๆ จากการรวบรวมและพูดคุยกับบริษัท นายหน้าและคนงาน

รายการใช้จ่าย สวีเดน (บาท) ฟินแลนด์ (บาท)
การเตรียมการและการเดินทาง    
ค่านายหน้าและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

 

ค่าบริการให้กับบริษัทตัวแทนตามข้อกำหนดที่บอกกับรัฐ

75,000 59,000- 67,000
ลงรายละเอียดที่จ่ายให้ตัวแทนบริษัท    
- ค่าวีซ่า 12,500 3,000
-ค่าบริการให้กับบริษัทตัวแทน    
- ค่าตั๋ว (ต่ำสุด-สูงสุด) 39,000-48,000 39,000-48,000
- ค่ารถเดินทางที่ประเทศเบอร์รี่ 7,700 5,000
- ค่าประกันภัย 2,300 2,300
- ค่าบริการนายหน้า 4,500 – 13,500 8,700 – 17,000
ค่านายหน้าที่จ่ายเองเพิ่มเติม 3,000 – 25,000 3,000 – 12,000
ค่าดอกเบี้ย 3% ต่อ 70,000 บาท x 3 เดือน 6,500 6,500
ค่าฝึกอบรม 700 – 1,000 700 -1,000
ค่ารถจากหมู่บ้าน-กรุงเทพฯ ไปกลับ 2,000 2,000
ค่าเตรียมการเฉลี่ย (ยา อุปกรณ์ กระเป๋า อาหารแห้ง) 3,000 5,000
รวมค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาเก็บเบอร์รี่ 84,000 – 109,500 71,500 – 76,500
ค่าใช้จ่ายที่ต่างประเทศ    
ค่าที่พัก + ค่าอาหาร + ค่ารถ

 

- สวีเดน วันละ 800 บาท x 75 วัน

- ฟินแลนด์ วันละ 720 บาท x 75 วัน

60,000 54,000
ค่าน้ำมัน (ลิตรละ 60 บาท) ตามระยะทาง เฉลี่ยคนละ 6,500 – 12,500 6,500 – 12,500
ค่าขนม บัตรโทรศัพท์ (อาทิตย์ละ 20 ยูโร = 800 บาท/อาทิตย์ ส่วนใหญ่คนงานจะเบิก) 6,500 6,500
รวมค่าใช้จ่ายที่ต่างประเทศ 73,000 -79,000 67,000 -73,000
รวมค่าใช้จ่ายทั้งฤดู (บาท) 155,000 – 180,500 138,500 – 149,500
รวมค่าใช้จ่ายทั้งฤดู (ยูโร  – 40 บาท = 1 ยูโร) 3,850 – 4,500 3,462 – 3,730

 

ระบบฟินแลนด์

การเจรจาต่อรองเพื่อกดดันให้กลุ่มสมาคมและอุตสาหกรรมผู้ซื้อเบอร์รี่ ร่วมรับผิดชอบดูแลคนงานเก็บเบอร์รี่ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง เมื่อสวีเดนปรับสู่วิถีสัญญาการจ้างงาน มีเงินเดือนแน่ชัด

แต่ที่ฟินแลนด์ยัง ใช้ระบบ “วีซ่านักท่องเที่ยวนายจ้างตัวเอง” อยู่ ทั้งๆ ที่ความจริงทุกคนก็รู้ว่าคนงานเก็บเบอร์รี่เหล่านี้ ไม่มีใครเป็นนายจ้าง และก็ไม่ได้เป็นนักท่องเที่ยวด้วย

ทั้งนี้สถานทูตฟินแลนด์จะกำหนดวีซ๋า ให้แต่ละบริษัทที่ฟินแลนด์ที่ขอมาและอนุมัติให้ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดกรณีความเสียหาย ทางรัฐบาลฟินแลนด์ได้มีมาตราการและเงื่อนไขให้บริษัททำตาม อาทิ เรื่องการเตรียมการเรื่องที่พัก รถยนต์ และการจัดเก็บค่าบริการและค่าหัวคิว รวมทั้งระบบประกันสุขภาพและอุบัติเหตุต่างๆ

ระบบนี้ยอมรับว่าความเสี่ยงเป็นของคนเดินทางมาเก็บเอง เพราะถือว่ามาเก็บเบอร์รี่ป่า อาหารสาธารณะที่ใครๆ ก็เก็บได้  แม้ว่าจะตระหนักกันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่ามันมีปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะเมื่ออาหารสาธารณะอยู่ในพื้นที่ส่วนบุคคล ก็นำมาซึ่งปัญหาการเก็บไม่ได้ และส่งผลถึงปัญหากับคนท้องถิ่น และการต่อต้านจากสมาคมคนเก็บเบอร์รี่ท้องถิ่นไปด้วย

จนมีการออกกฎระเบียบเข้มงวดกับคนเก็บเบอร์รี่ชาวต่างประเทสมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเรื่องการไม่เก็บในพื้นที่ส่วนบุคคลใกล้บ้านเรือน การเปิดปิดประตูเมื่อเข้าไปยังเขตกวางเรนเดียร์ และในปี ปี 2555 คนงานเก็บเบอร์รี่ต่างชาติจะไม่ได้รับอนุญาตให้เก็บ cloud berry (หมากเหลือง) เนื่องจากเป็นเบอร์รี่ป่าที่มีราคาแพงและคนท้องถิ่นเก็บกันมาก

ทั้งนี้หมากเหลืองถือเป็นรายได้ที่สำคัญสำหรับหลักประกันว่าจะไม่ขาดทุน และแม้ว่าการจัดเก็บจะยากลำบาก คนเก็บเบอร์รี่ต่างต้องการเก็บหมากเหลืองกันทั้งนั้น

สหภาพคนทำงานต่างประทศ และนักการเมืองที่ห่วงใยปัญหาค้าแรงงาน สหภาพแรงงาน นักกิจกรรมเยาวชน นักวิชาการ ศิลปินที่ฟินแลนด์ จึงได้ผลักดันมาต่อเนื่องให้ธุรกิจเบอร์รี่ร่วมรับผิดชอบความเสี่ยงด้วยการ โดยจ่ายค่าเดินทางให้คนเก็บเบอร์รี่ หรือจัดบริการที่พัก อาหารและรถยนต์ให้คนงานโดยไม่คิดมูลค่า

แต่การเจรจาก็ยังไม่มีข้อยุติ

กระนั้น ก็ตามสื่อและสาธารณชนที่ฟินแลนด์ติดตามปัญหาคนเก็บเบอร์รี่มากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าคนงานไทยเสียหายจากฟินแลนด์ จนต้องตัวกันประท้วงเรียกร้องความรับผิดชอบจากสมาคมผู้ค้าเบอร์รี่ในปีนี้ ก็แน่นอนว่าจะได้รับการสนับสนุนและหนุนช่วยจากสหภาพแรงงานและสาธารณชนที่นี่ อย่างแน่นอน

บริษัทรับซื้อเบอร์รี่ 6 บริษัทได้ลงนามข้อตกลงเกี่ยวกับฤดูกาลเก็บเบอร์รี่ปีนี้ ซึ่งเป็นข้อตกลงให้คนเก็บเบอร์รี่ระมัดระวังไม่เข้าไปรบกวนการล่าและไล่ตอนฝูงกวางเรนเดียร์ บริษัทจะสั่งห้ามคนเก็บเบอร์รี่ไม่ให้เข้าไปอยู่ในเส้นทางเรนเดียร์ และสอนให้คนเก็บเบอร์รี่ให้ความเคารพต่ออุสาหกรรมเรนเดียร์ อาทิ ปิดประตูเข้าป่าเรนเดียร์ทุกครั้ง ให้เก็บเบอร์รี่ห่างใกล้จากบ้านประชาชน ตลอดจนห้ามเก็บ cloud berry (หมากเหลือง) และห้ามวิ่งบนถนนที่เป็นเส้นทางส่วนบุคคล

ทั้งนี้เพื่อป้องกันการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างคนงานเก็บเบอร์รี่และเจ้าถิ่น ซึ่งปีที่แล้วคนเก็บเบอร์รี่มาจากไทยและยูเครน (New rules for foreign berry-pickers in Lapland)

ระบบสวีเดน

ด้วยขนาดของคนเก็บเบอร์รี่สูงกว่าที่ฟินแลนด์ และมีคนงานประท้วงจนเป็นปัญหาทุกปี สหภาพ ภาคประชาชนและรัฐบาล จึงเจรจากับสมาคมพ่อค้าเบอร์รี่ได้สำเร็จให้หันมาใช้ระบบสัญญาจ้างงานแทนระบบการให้บริษัทไทยนำคนงานเข้ามาเก็บเบอร์รี่ตามข้อผ่อนปรนพิเศษเรื่องการจ้างงาน

ระบบสัญญาจ้างงานเริ่มนำมาใช้ครั้งแรกในปี 2553 ซึ่งสหภาพแรงงานคอมมูนอลของสวีเดนต้องร่วมแสตมป์รับรองสัญญาของแต่ละบริษัทด้วย  โดยสัญญาจะระบุระยะเวลา เงินเดือน และชั่วโมงการทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง แต่ไม่มีรายละเอียดเรื่องการจ่ายเงินล่วงเวลา โดยคนงานจ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาและอยู่กินด้วยตัวเอง

ถ้าเป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาและเงินเดือน เดือนละ 80,000 บาท คนงานจะไม่เหลือเงินเก็บบ้านเกินสองหมื่นบาท

ถือว่าไปทำงานและไปเที่ยวสวีเดน

แต่ความเป็นจริง ไม่มีคนเก็บเบอร์รี่คนใดยอมไปทำงานด้วยสัญญานี้ เพราะพวกเขาก็รู้ว่าจะไม่มีเงินเหลือ บริษัทต่างๆ จึงทำสัญญาฉบับสองระหว่างกันเอง หรือทำสัญญาปากเปล่ากับคนเก็บเบอร์รี่ว่า ถ้าเก็บได้ตามเป้าแล้วจะคำนวณเงินให้ตามกิโลกรัมที่เก็บได้เกิน หรือไม่ก็บอกว่า จะรับซื้อเบอร์รี่ที่เก็บได้ในช่วงวันหยุดและคำนวณเป็นเงินเพิ่มเติมจากเงินเดือน

แต่กรณีของคนงานลอมโจ้แบร์ 156 คนในปี 2553 ได้แสดงให้เห็นว่า สัญญาปากเปล่าเหล่านี้ไม่ได้ปฏิบัติตาม และเมื่อความเสียหายเกิดขึ้น พวกคนงานก็ยังต้องรับภาระความเสียหายเอง

ในวิถีสัญญานี้ นายหน้าชาวไทยบอกว่า บริษัทที่พาคนงานไปทั้งไทยและสวีเดน ได้ประโยชน์สูงสุด เพราะได้เบอร์รี่มากขึ้น และจ่ายน้อยลง และคนงานก็ยังเป็นผู้รับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่อยู่เหมือนเดิม

สัญญานี้จึงไม่สะท้อนความจริงของอุตสาหกรรมและกระบวนการทำงานของคนงาน และทำให้คนงานเก็บเบอร์รี่เก่าและเก่งที่คุ้นเคยกับสวีเดน จะเริ่มหันมาเดินทางไปกับเครือญาติมากขึ้น หรือหันเหทิศทางมายังฟินแลนด์

แต่ระบบสัญญาแบบสวีเดนจะมีประโยชน์กับคนที่ไม่เคยเก็บเบอร์รี่มาก่อนเช่นกัน เพราะถ้าเก็บไม่ได้ เก็บไม่เก่ง ก็จะไม่ขาดทุนเป็นแสนเหมือนอดีตที่ผ่านมา อาจจะขาดทุนหมื่นสองหมื่นบาท หรือเสมอตัว

คนงาน 156 คนที่ถูกนายจ้างเชิดเงินหนีไปหมด จนต้องประท้วงเพื่อค่าจ้างค้างจ่าย, ตุลาคม – ธันวาคม 2553

สภาพการทำงานเก็บเบอร์รี่ป่า (กลางเดือนกรกฎาคม – สิ้นเดือนกันยายน)

เดือนกรกฎาคม – คนงานที่มาเก็บสตอเบอร์รี่จะถูกส่งไปยังฟาร์มต่างๆ โดยทำอาหารกินเอง และได้ค่าแรงตามจำนวนกิโลกรัมที่เก็บได้ หรือรับค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายแรงงาน   แต่รายได้ก็ขึ้นอยู่กับขนาดฟาร์ม ไม่แน่นอน และด้วยต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเอง ทำให้งานนี้เป็นงานเสริมรายได้จากเบอร์รี่ป่า

กลางเดือนกรกฎาคมถึงสิ้นเดือน เป็นช่วงเก็บลักกะ หรือที่คนงานไทยเรียกหมากเหลือง และภาษาอังกฤษ เรียกว่า cloud berry  ซึ่งเป็นการเก็บที่ยากลำบากมากที่สุด ต้องเก็บด้วยมมือ ต้องใส่บู๊ต และมุ้งคลุมหัวกันยุงเดินลุยหนองเก็บตลอดวัน (ยุงเขตเหนือของฟินแลนด์ขึ้นชื่อมากในความชุมและร้าย และจะจู่โจมแบบฝูงผึ้ง – คนที่แพ้มากๆ ถึงขนาดต้องเข้าโรงพยาบาลกันทุกปี) 

ด้วยความยากลำบากในการหาแหล่งและเดินเก็บ ทำให้่จะได้จำนวนกันไม่มากนักต่อวัน ราคาซื้อต่อ กก. จึงสุงที่สุด จะตกอยู่ที่ 8-10 ยูโร/กก. วันหนึ่งเก็บกันได้ไม่กี่กิโล) 
ช่วงนี้คนงานจะออกจากแคมป์ตั้งแต่ตีสองและกลับเข้าแคมป์ห้าทุ่มเที่ยงคืน (จะเป็นช่วงที่พวกเขาพักผ่อนน้อยมาก)

อาทิตย์สุดท้ายของเดือนกรกฎา จนถึงกลางเดือนกันยายน จะเป็นช่วงฤดูการเก็บบลูเบอร์รี่ที่เป็นที่รู้จักกันดี ซึ่งที่ฟินแลนด์เรียกว่า มูสติกา และคนงานไทยเรียกหมากดำ นับตั้งแต่คนงานไทยมาเก็บเบอร์รี่ป่าเป็นลำเป็นสัน ราคาบลูเบอร์รี่จะอยู่ระหว่าง 1.5 -2.3 ยูโร/กก.

ช่วงนี้คนงานจะออกจากแคมป์ประมาณตีสามตีสี่ และกลับเข้าแคมป์สี่ห้าทุ่ม คันล่าสุดที่กลับเข้าแคมป์ที่ผู้เขียนประสบด้วยตัวเองคือห้าทุ่มครึ่ง (และได้เห็นพวกเขาออกจากแคมป์ตอนตีสี่)

พอต้นเดือนกันยายนจนถึงสิ้นสุดฤดู ก็จะเริ่มเก็บ Lingon berry ฟินแลนด์เรียกปุลักกะ และคนงานไทยเรียกหมากแดง ราคาซื้อจะอยู่ระหว่าง 80 เซ็นต์ – 1.3 ยูโร/กก. เป็นเบอร์รี่ที่มีเยอะที่สุด และเก็บจำนวนกิโลต่อวันได้สุงสุด

ช่วงนี้อากาศจะหนาวเย็นและเริ่มสว่างช้า คนงานจะออกจากแคมป์ตี 5 หรือ 6 โมงเช้า สายสุด 7 โมงเช้า และช่วงทุ่มหรือสองทุ่มก็ทยอยกลับแคมป์

พอปลายเดือนกันยายน ก็เริ่มหนาวมาก บางปีหิมะตก ก็จะไม่ค่อยมีให้เก็บแล้ว นอกจากคนทรหดจริงๆ

คนงานจะทยอยเดินทางกลับบ้านในช่วงปลายเดือนกันยาและตลอดสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม

คนงานกลุ่มนี้นำโดยคนเก็บเก่าคนที่เคยได้เงินกลับบ้านปีละหลายหมื่น แต่ในปี 2553 ทั้งทีมขาดทุนทุกคนและยังต้องกลับไปใช้หนี้ค่านายหน้าอีกคนละหมื่นหรือสองหมื่นบาท

 

 

สภาพปัญหา

เรื่องการไม่ได้ผักผ่อน ทำงานหนัก และอุบัติเหตุ

เนื่องจากการนอนรวมกันบนเตียงสองชั้น ในห้องที่แน่นและอับเพราะไม่มีการเปิดหน้าต่างกันเลย เนื่องด้วยอากาศหนาวเย็น ในขณะที่เวลานอนกันวันละไม่กี่ชั่วโมง และมักจะต้องออกจากแคมป์กับเพื่อนๆ เนื่องจากคนงาน 4-8 คน จะต้องแขร์รถยนต์คันเดียวกัน

คนที่นอนหลับยากจึงจะมีปัญหาเรื่องเสียงและไฟรบกวนจากเพื่อนๆ ร่วมห้องได้

คนงานทุกคนอยู่ในสภาพอิดโรย ส่วนใหญ่ก็อาศัยหลับไปในระหว่างอยู่บนรถ แต่คนขับรถหลับไม่ได้ และก็เก็บเบอร์รี่เหมือนคนอื่นๆ เช่นกัน (คนขับรถจะได้รับสิทธิไม่ต้องจ่ายค่าน้ำมัน)

การหาแหล่งเบอร์รี่ป่า คนขับทั้งหลายและลูกทีมจะต้องช่วยกันอ่านแผนที่และขับรถตามแผนที่ตระเวณทั่วเขตป่าเขา ในรัศมีหลายร้อยตารางกิโลเมตร เพื่อหาแหล่งเบอร์รี่ที่อยู่กระจายทั่วพื้นที่

ด้วยเหตุนี้ เรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนเกิดขึ้นทุกปี จนพิการ แขน ขาหัก ทั้งเนื่องจากการทำงานหนัก พักผ่อนน้อย จนคนขับหลับใน เผลอ หรือขับรถชนกวางและลีห์ ซึ่งเป็นสัตว์ที่จะวิ่งข้ามถนนบ่อยๆ ในพื้นที่ป่าเหล่านั้น

ครอบครัวเกษตรกรฟินแลนด์ที่ภาคเหนือที่อยู่ใกล้แคมป์คนงาน ที่เราไปพักค้างคืนด้วย เล่าว่า รถคนงานขับชนรั้วบ้านเขาพัง แต่พอสอบถามคนงานก็ทราบว่าคนขับหลับในเพราะนอนเพียงสองชั่วโมงเมื่อคืน เขาไม่เอาเรื่องคนงาน และก็เล่าให้ผู้เขียนฟังด้วยความสะท้อนใจว่า “พอหัวหน้าคนไทยเดินทางมาถึง แทนที่จะถามห่วงใยอาการของคนงาน กลับสนใจแต่รถว่าเสียหายแค่ไหน

เกษตรกรฟินน์ครอบครัวนี้บอกว่า ดีใจที่มีคนงานมาเก็บเบอร์รี่ ทำให้เมืองไม่เงียบเหงา และพวกเขายังไม่ช่วยบริษัทที่มาเช่าโรงเรียนในชุมชนเป็นที่พักคนงานยกลังเบอร์รี่ลงจากรถเก็บไว้ที่แคมป์เพื่อรอรับคนงานเลย

พร้อมทั้งบอกว่าสงสารคนงาน เพราะสภาพการดูแลและใส่ใจคนงานของบริษัทเหล่านี้ไม่ดีเท่าไร และบางคนในชุมชนที่เข้าใจ ก็พยายามไปเยี่ยมและพูดคุยกับคนงานแต่ก็ทำไม่ได้ เพราะคุยกันไม่รู้เรื่อง และก็หาโอกาสเจอคนงานยากมากเนื่องจากคนงานจะออกจากแคมป์แต่มืดและกลับถึงแคมป์ดึก  ไปหาตอนกลางวันก็ไม่เจอใคร

อาการเจ็บไข้ได้ป่วยโดยเฉพาะไอ ไข้ และปวดเมื่อยตามเนื้อตัว

การทำงานที่ต้องเดินลุยหนอง ขึ้นเขา ข้ามเขา แบกถังเบอร์รี่ลงจากเขาบางครั้งก็หลายกิโลเมตร และในระหว่างเก็บต้องก้มๆ เงยๆ ตลอดทั้งวัน รวมทั้งอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศหนาวเย็น และฝนตกบ่อยๆ (โดยในเดือนแรกคนงานบอกว่า “ตกเกือบทุกวัน”) แต่พวกเขากลับสวมใส่เสื้อผ้าบาง ทั้งนี้คนงานบอกว่า “พอเริ่มเก็บเบอร์รี่มันก็จะร้อนแล้ว”  ทำให้สภาพร่างกายต้องปรับเปลี่ยนอุณหภูมิตลอดเวลา คนงานจึงจะมีปัญหาปวดเมื่อยเนื้อตัวกันทุกคน และเป็นหวัด เป็นไข้ต่ำ ไอและจามกันมาก  และถ้าคนหนึ่งเป็นก็จะลามติดคนงานคนอื่นๆ ได้ด้วยเพราะนอนห้องเดียวกัน

ทุกแคมป์ที่ไปเยี่ยม ไม่มีห้องปฐมพยาบาลหรือห้องพักคนงานที่ป่วยให้แยกไปนอน แม้จะมีคนงานเป็นร้อยคนก็ตาม ทำให้ไม่สามารถแยกคนป่วยออกจากคนงานทั่วไปได้ – นอกจากส่งไปโรงพยาบาลซึ่งก็มักจะไม่ใช่การนอนรักษายาว และไม่มีใครอยากนอนโรงพยาบาลเกิน 1 หรือ 2 วัน

นอกจากนี้คนงานที่ลุยเก็บหมากเหลืองก็จะเจอยุง โดนต่อยกันทุกคน ถ้าคนแพ้ก็จะหน้าบวมเป่ง หรือขนาดต้องเข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล

เรื่องการลื่นล้มเป็นเรื่องปกติของสภาพการทำงานที่เกือบทุกคนอาจจะต้องพบพาน

อีกปัญหาหนึ่งคือเรื่องบู๊ทกัดเท้า เพราะพวกเขาต้องสวมใส่รองเท้าบู๊ทเดินทั้งวัน ผ่านไปเดือนหนึ่งก็เท้าก็จะเริ่มระบมและเล็บขบ หรือเล็กหายเพราะการถูไถกับบู๊ทตลอดเวลา คนงานจำนวนไม่น้อย  กลับบ้านด้วยสภาพเล็กเท้ากุด และใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ในการคืนสภาพเดิม

การกินยาปฏิชีวนะมากเกินไป

เนื่องจากการเจ็บป่วยถึงขนาดนอนพักเป็นเรื่องที่ไม่มีคนงานคนใดปรารถนา เพราะนอกจากไม่ได้เงินแล้ว ยังต้องเสียเงินค่าใช้จ่ายประจำวันที่แคมป์ด้วย ทำให้คนงานทุกคนจะกินยากันมาก ทั้งยาแก้ไข้ แก้หวัด แก้ไอ แก้ปวดท้อง  และยาคลายกล้ามเนื้อ เพื่อแก้ปวดเมื่อย ที่หอบหิ้วกันมาจากเมืองไทยกัน กินเกือบทุกวันราวกับกินลูกอมตลอดฤดูกาล

ไม่สบายก็จะเร่งกินยาหรือให้หมอฉีดยา เพื่อจะกลับไปเก็บเบอร์รี่ต่อ

ความเครียด

 

ไม่เก็บเบอร์รี่ 1 วันติดลบ 2-3,000 บาท

ความเครียดจึงเป็นเรื่องที่คนงานต้องอยู่กับมันตลอดเวลา บางแคมป์เข้มงวดมากขนาดไม่ส่งเสริมให้คนงานคุยกัน หรือไปเยี่ยมเยียนหากัน ส่วนใหญ่ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ คนงานบางคนจะแอบซื้อเบียร์และเหล้าว๊อดก้ามาแอบดื่มกัน

ยิ่งถ้ายังเก็บไม่ได้มาก ทุกคนก็จะเครียดกันมาก คนงานบอกว่า “ไม่มีเวลาดูความสวยงามอะไรเลย นอกจากเห็นลูกเบอร์รี่เป็นเงินเท่านั้น”

มันเป็นสภาพการทำงาน 2 เดือนที่โหดร้ายป่าเถื่อนที่สุดเท่าที่ผู้เขียนเคยเห็นมา พวกเขาต้องทำงานตั้งแต่ตีสามตีสี่ จนถึงสี่ห้าทุ่มเกือบทุกวัน งานที่คนเก็บเบอร์รี่ที่ฟินแลนด์บอกว่า “โหดแต่มันเป็นงานของเราเอง”

นี่คือสภาพของ “นักท่องเที่ยวนายจ้างงานตัวเอง” ที่ระบุในคำนิยามของคนเก็บเบอร์รี่ชาวต่างชาติ ที่มาฟินแลนด์ แต่พวกเขาที่ไม่สามารถเป็นนายจ้างตัวเอง หรือเป็นนักท่องเที่ยวได้เลยแม้แต่วันเดียว (ยกเว้นก่อนกลับ จะมีการพาคนงานแวะดูเสื้อผ้ามือสองและซื้อมือถือโนเกีย (ซึ่งคนงานบอกว่าเป็นของแท้คุณภาพดีกว่าโนเกียที่ประเทศไทย)

คนงานส่วนใหญ่จะถูกพาจากสนามบิน ไปยังเขตเบอร์รี่ที่อยู่ทางตอนเหนือจากเมืองหลวงของสองประเทศหลายร้อยกิโลเมตร และถูกนำส่งสนามบิน โดยที่ไม่มีโอกาสได้เห็นโฉมหน้า สต๊อกโฮม เมืองหลวงของสวีเดน และเฮลซิงกิเมืองหลวงของฟินแลนด์ แม้แต่น้อย นอกจากเห็นผ่านทางกระจกรถยนต์

อาหารการกิน

การยืนกิน นั่งยองๆ กิน กินกันอย่างเร่งรีบ กินอาหารมือละอย่างหรืออย่างมาก 2 อย่าง อาศัยเหยาะพริกน้ำปลาไปเยอะๆ ก็กินกันได้แล้ว หรือกระทั่งเดินกินไปด้วย พร้อมเก็บเบอร์รี่ไปด้วย เป็นสภาพที่พวกเขาบอกว่าเรามาทำงาน ไม่ได้มากิน ต้องอดทนเอา

เรื่องอาหารก็เป็นปัญหามากเช่นกัน ทั้งเรื่องกินไม่เป็นเวลา กินอาหารซ้ำไปซ้ำมาไม่กี่ชนิดตลอดฤดูกาลส่วนมากทำจากไก่ ขาหมู แฮม ไข่ และผักไม่กี่ชนิด หลักๆ คือ กระหล่ำปลี แครอท แตงกวา และมันฝรั่ง และเนื่องจากคนงานต้องพกอาหารไปทานในป่าถึง 2 ม้ือคือมื้อเช้ากับมื้อเที่ยง กว่าจะได้ทานกัน อาหารก็เย็นจัดแล้ว คนงานที่รู้จักสภาพป่า จึงหาอาหารเสริมจากเห็ดป่าและพุงสัตว์ที่ทิ้งไว้โดยคนล่าสัตว์ และก่อกองไฟต้มทำกันในป่า แต่การก่อกองไฟในป่าก็เป็นกฎข้อห้าม คนงานจึงต้องลักลอบทำกัน ถ้าแคมป์รู้ก็จะถูกตักเตือน

หรืออีกวิธีการหนึ่งที่พอช่วยได้ คือ การเอาน้ำร้อนจากแคมป์ใส่กระติกน้ำร้อนเอาไปชงมาม่ากินในป่า

คนงานส่วนใหญ่จึงจะมีน้ำหนักลดมาก ตั้งแต่ 2-3 กก. ถึงขนาด 10-20 กก. ทีเดียว สามีที่มากับภรรยา พูดแซวว่า พาเมียมาลดน้ำหนัก  – ใครอยากให้ภรรยาลดน้ำหนักต้องพามาเก็บเบอร์รี่”

ความขัดแย้งกับคนท้องถิ่น

ที่ฟินแลนด์เนื่องจากอาหารป่าอันได้แก่ เบอร์รี่ป่า และเห็ดต่างๆ ถึือเป็นทรัพย์สินสาธารณะ ที่ใครจะเก็บก็ได้ แต่เมื่อมีการจัดทำธุรกิจเพื่อเก็บอาหารป่าเหล่านี้ ความตึงเครียดและคำถามจึงเกิดขึ้นจากสาธารณชนต่อบริษัท และท่าที่ที่ไม่เป็นมิตรของคนฟินน์บางคนก็เลยมายังคนเก็บเบอร์รี่ชาวไทยด้วย ที่ต้องเข้าพื้นที่ป่า และพื้นที่กวางเรนเดียร์ที่ทำคอกล้อมไว้หลวมๆ ทั่วพื้นที่

คนเก็บเบอร์รี่จึงต้องระวังท่าทีไม่เป็นมิตรทั้งหลาย และต้องอดทนและหลีกเลี่ยงการปะทะกับคนท้องถิ่น ความรุนแรงยังอยู่ในระดับ ถูกไล่ออกจากพื้นที่ ปล่อยยางรถยนต์ ให้หมาไล่ หรือยิงปืนขู่ แต่ไม่ใช่คนท้องถิ่นจะโหดร้ายกันทุกคน คนท้องถิ่นจำนวนไม่น้อยก็รู้ว่าคนเก็บเบอร์รี่มาทำงานที่พวกเขาไม่ทำแล้ว และรู้สภาพความยากลำบากในงานนี้เป็นอย่างดี จึงส่งผ่านความห่วงใยและมิตรภาพมาให้กับคนงานไทย อีกทั้งยังทักทายและยิ้มให้ รวมทั้งให้คำแนะนำเรื่องเบอร์รี่บ้างก็มี

ในปี 2555 (ตามที่อ้างแล้วข้างบน) จึงมีการออกกฎที่คุมเข้มมากขึ้นเรื่องพื้นที่ที่ให้คนเก็บเบอร์รี่จากต่างชาติเข้าไปเก็บได้ ทั้งต้องอยู่ห่างจากบ้านเรือนชาวบ้าน ชุมชน ดูแลปิดรั้วเมื่อเข้าไปในพื้นที่ป่ากวางเรนเดียร์ และห้ามเก็บ cloud berry ซึ่งเป็นเบอร์รี่ที่คนท้องถิ่นเก็บกันมาก และราคาแพงที่สุด เป็นต้น

มายาภาพ

มีคนว่างงานที่สวีเดนและฟินแลนด์ประเทศละกว่าสามแสนคน ที่อยู่กินด้วยเงินว่างงานจากภาษี และที่ภาคเหนือของฟินแลนด์มีคนว่างงานถึง 25% แต่ไม่มีใครยอมทำงานเก็บเบอร์ รี่ ต้องนำเข้าจากประเทศไทย ที่ยอมจ่ายค่าใช้จ่ายแสนแพงเพื่อเงินไม่กี่หมื่นบาท หรือกว่าครึ่งบางปีต้องกลับบ้านมือเปล่า และต้องไปใช้หนี้นาย หน้าที่กู้เงินต่ออีก

ไม่ใช่คนท้องถิ่นไม่ต้องการเก็บเบอร์รี่ แต่เมื่ออุตสาหกรรมกลายเป็นอุตสาหกรรมข้ามชาติ ผูกโยงกับกลไกตลาดโลก และพึ่งพิงคนงานต่างชาติในการเก็บ ราคาเบอร์รี่ถูกลงมาก จนคนท้องถิ่นบอกว่าไม่คุ้มค่าเหนื่อย และกอรปกับร้านค้ารับซื้อรายย่อยก็ปิดกิจการไปหมด เพราะสู้กับพ่อค้าเบอร์รี่ยักษ์ใหญ่ไม่ได้ สัดส่วนของเบอร์รี่ที่เก็บโดยคนท้องถ่ินในตลาดจึงลดลงเรื่อยๆ และสัดส่วนของเบอร์รี่ในอุตสากรรมที่เก็บโดยคนไทยจึงสูงขึ้นจนถึงระดับ 80% นับตั้งแต่ปี 2552

พวกตัวแทนที่ต้องพึงสายและคนเก็บเบอร์รี่เก่าในการช่วยหาคน จะดูแลเอาใจพวกสายและคนเก็บคนเก่ามากพอสมควร และจะให้ให้พวกขาเก่าเดินทางก่อน 2 อาทิตย์ เพื่อเก็บหมากเหลือง (cloud berry) ซึ่งเป็นตัวที่ทำกำไร (และมีอายุเก็บแค่ 2 อาทิตย์) แต่ปีนี้ที่ฟินแลนด์ ห้ามคนไทยเก็บตัวนี้แล้ว (ผู้เชียนเจอกับแชมป์เก็บ cloud berry เจ้าถิ่นเมื่อปีที่แล้ว (2554)  บอกว่าถ้าเจอคนไทยมาเก็บหมากเหลืองในบริเวณใกล้เคียง ใครจะประกันว่าจะไม่มีอุบัติเหตุปืนลั่น)

เทคนิค กลไกง การปิดบังความจริง หรือพูดความจริงไม่หมดคือความเชี่ยวชาญของขบวนการค้าแรงงานไปทำงานต่างประเทศของไทย

ต้องเป็นประเทศที่โหดร้ายและไม่รักประชาชนจริงๆ ถึงยอมปล่อยให้คนของตัวเองมาถูกเอาเปรียบที่ต่างแดนมากมายเช่นนี้ . .

คนงานเวียดนาม และคนงานจีน มาปีเดียวก็เข็ดประท้วงกันทั้งสองประเทศ เพราะคิดว่ามาเก็บเบอร์รี่ฟาร์ม แต่พอต้องมาเดินเก็บตามป่าและงานยากลำบากเช่นนั้น ก็ประท้วงกันทันทีถึงขนาดจับหัวหน้าแคมป์ขังและทุบตีทำร้าย

นอกจากนี้พวกเขายังมีคดีหนีวีซ่าอยู่ยุโรปต่อด้วย ทำให้การขอวีซ่าจากจีนและเวียดนามเข้มงวดกว่าไทย และรัฐบาลของทั้งสองประเทศก็ไม่ส่งเสริมเพราะมีข่าวคนถูกหลอกจ่ายค่าบริการและค่าใช้จ่ายสูงเกินไปกับการทำงานระยะสั้น

แต่นายหน้าและสายคนไทยเชี่ยวชาญกว่ามากเรื่องการทำ “ตลาดค้าฝัน” แลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันหลายทอดจากสมาคมผู้ซื้อเบอร์รี่ มาสู่บริษัทเก็บเบอร์รี่ สู่ตัวแทนชาวไทย สู่สายและคนงานเก่า จนมาสู่เกษตรกรที่ราบสูง ที่ได้รับข้อมูลคลาดเคลื่อนและการโฆษณาเกินจริง จนยอมเดินทางมาเก็บเบอร์รี่

มายาภาพที่ไม่เคยมีการสำรวจอย่างจริงจัง มีแต่เพียงคำพูดลมปากว่า “คนโน้นได้แสน คนนี้ได้หลายหมื่น” โดยไม่รู้ว่า “คนโน้น” “คนนี้” คือใคร และมีกี่คนกันแน่

ตามที่ประเมินจากการคุยกับผู้เสียหายหลายร้อยคน นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ต่างก็ประเมินว่าคนเสียหายมีมากกว่าครึ่ง

มายาภาพเรื่องมาทำงานประเทศที่ให้การคุ้มครองแรงงานสูง

กฎหมายแรงงาน กฎหมายการดูแลผู้ว่างาน และและระเบียบเกี่ยวกับการทำงานในประเทศสวีเดนและฟินแลนด์นั้นคุ้มครองประชากรของตัวเองสูงมากที่สุดในโลก และคนงานเกือบทั้งประเทศเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานต่างๆ สหภาแรงงานจะมีทนายของตัวเองช่วยเหลือสมาชิกฟ้องร้องนายจ้างกรณีถูกละเมิดสิทธิ ทำให้การคิดจะเอาเปรียบคนงานในประเทศตัวเองเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะถ้าคนงานนั้นเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน

ธุรกิจเบอร์รี่ระยะสั้น ถ้าต้องการได้เบอร์รี่มาก และกำไรงาม จึงทำตามประเทศทั่วไป คือการพาคนงานต่างชาติเข้ามาเก็บ ซึ่งเป็นคนงานต่างชาติที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ดังนั้นการคุ้มครองสิทธิพวกเขาจึงถูกทำให้ยืดหยุ่นไปกับผลประโยชน์ของประเทศสวีเดนและฟินแลนด์ ที่ได้กำไรจากอุตสาหกรรมกรรมที่กำลังเติบโตนี้ ที่เป็นอุตสาหกรรมที่จ่ายภาษีให้รัฐบาลที่นี่

สส. ท่านหนึ่งที่เราไปพบที่ภาคเหนือของฟินแลนด์บอกว่า บริษัทเบอร์รี่คือผู้บริโภคไฟฟ้าสูงที่สุดในเมือง และจ่ายภาษีคิดเป็น 37% ของภาษีที่จัดเก็บได้ในเมืองนั้นที่ดูแลคนว่างงานถึง 25% (เราทราบกันแล้วว่า 80% ของเบอร์รี่จัดเก็บโดยคนงานไทยที่ไม่ได้ประโยชน์จากภาษีเหล่านี้เลย)

ด้วยความซับซ้อนแห่งผลประโยชน์ที่ประเทศเบอร์รี่ได้รับ ทำให้ความคุ้มครองแรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานแรงงานในประเทศเหล่านี้จำต้องยืดหยุ่นตามผลประโยชน์ไปด้วย

ในช่วงการไปพบปะกับเกษตรกรและเยาวชนที่ภาคเหนือของฟินแลนด์ หลายคนสงสารคนงานและอยากช่วยเหลือคนงานไทย

 

ชั่วโมงการทำงานที่หายไปจากการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายที่สวีเดนและฟินแลนด์

ทำงานวันละ 12-20 ชั่วโมง ห้ามป่วย ป่วยห้ามพัก ถ้าต้องพักห้ามเกิน 1 วัน. นี่คือวิถีการทำงานตลอดฤดูกาลเก็บเบอร์รี่

อาจจะเปรียบเทียบได้ว่าคนงานเหล่านี้ทำงานวันละ 2 กะ 3 กะ ตามชั่วโมงการทำงานปกติ 8 ชั่วโมงต่อกะ อย่างต่อเนื่องและยาวนานติดต่อกัน 2 เดือน

ลองนึกสภาพดูก็แล้วกันว่า พวกเขาจะมีสภาพเช่นไรในการทำงานที่ไม่ได้พักผ่อนเลยต่อเนื่องยาวนานเช่นนี้!

ผู้เขียนได้พยายามนำเสนอเรื่องสภาพการทำงานตามจริงของคนงานเบอร์รี่ที่รับฟังจากคนงานหลายร้อยคน  และทำข้อมูลชั่วโมงการทำงานจริงของคนงานลอมโจ้แบร์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐจ่ายค่าทำงานล่วงเวลา แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเงื่อนไขนี้ไม่ได้ระบุไว้ในสัญญาจ้างงาน

มายาภาพเรื่องหอบเงินกลับบ้านกันไม่ไหว

ผู้ซื้อเบอร์รี่บอกว่า คนงานได้เงินเยอะมาก จนเกรงว่าจะหอบเงินกลับบ้านไม่ไหว

ฤดูกาลเบอร์รี่นั้นสั้นและต้องเก็บให้ได้มากที่สุด แน่นอนธุรกิจเบอร์รี่อยากได้เบอร์รี่มากที่สุด เท่าที่จะมากได้ และไม่มีปัญหาในการซื้อเลย แต่นี่ไม่ใช่การเก็บเบอร์รี่ในฟาร์ม มันเป็นการเก็บในป่าที่เบอร์รี่อยู่กระจาย และจะมีดกเป็นจุดๆ แล้วแต่จะหาเจอกัน ดังนั้นรายได้จึงขึ้นอยู่กับโชค ฤดูกาลของปีนั้น และความพยายามทำงานต่อเนื่องได้ยาวนานของคนเก็บ

เมื่อประเมินจากข้อมูลได้รับจากคนงานที่พบทั้งจากการลงไปเยี่ยมที่ทั้งแคมป์ และที่บ้านในอีสาน (มีบันทึกไว้ในสารคดีที่เกี่ยวข้องถึง 3 เรื่อง) พอจะสรุปกลุ่มคนที่ “ได้หรือเสีย” จากงานเก็บเบอร์รี่ดังนี้

  1. กลุ่มที่ 1 ตัวแทนนายหน้าที่ได้รับใบรับรองจากบริษัทเบอร์รี่ให้ติดต่อกับสถานฑูตเพื่อการทำเรื่องขอวีซ่าต่างๆ (ประมาณ 20-30 คน) จะได้ค่าบริการ ค่าเงินพิเศษต่างๆ และผลตอบแทนจากบริษัทเบอร์รี่ (ซึ่งไม่แน่ชัดว่ามีอะไรบ้าง เพราะทั้งบริษัทและตัวแทนต่างก็บอกว่าไม่ได้ประโยชน์อันใดเลยระหว่างกัน – ราวกับเป็นการทำกิจกรรมการกุศลกันเลยทีเดียว)
  2. กลุ่มที่ 2 ลูกทีมที่มาดูแลคนงานกับตัวแทนนายหน้า (แคมป์ละ 3-4 คน (หัวหน้าแคมป์ พ่อครัว/แม่ครัว ช่างยนต์ และคนชั่งเบอร์รี่หรือล่าม) มีรวมกันสองประเทศ น่าจะไม่ต่ำกว่า 100 คน จะได้เงินเหมาทั้งฤดูประมาณ 60-000 – 80,000 บาท ยกเว้นช่างที่อาจจะได้เยอะกว่านั้น)
  3. กลุ่มที่ 3 สายและคนเก็บเก่า ถ้าหาคนงานมาได้เยอะ สายพวกนี้ก็จะลดค่าใช้จ่ายส่วนตัวไปได้มาก ทำให้กลุ่มนี้อาจจะไม่ได้มากกว่าคนงานใหม่ หรือถ้าขาดทุนก็จะไม่ขาดมากนัก กลุ่มนี้น่าจะมีประมาณ 40% ่ของคนงานเก็บเบอร์รี่ทั้งหมด (ประมาณ 2,000 คน)
  4. กลุ่มที่ 4 คนเก็บใหม่ จะเปลี่ยนหน้ามาเรื่อยๆ ปีละประมาณ 60% หรือปีละไม่ต่ำกว่า  4,000 – 5,000 คน เป็นกลุ่มเสี่ยง และส่วนใหญ่ก็จะมาครั้งเดียว ปีต่อมาก็จะหาเหยื่อจากชาวบ้านหมู่บ้านใหม่ไปเรื่อยๆ  (เมื่อรวมตลอดหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มคนงานใหม่เหล่านี้น่าจะเป็นเกษตรกรที่อาจจะสูงถึงสองหมื่นคนทีเดียว … ที่มาครั้งเดียวก็ตัดสินใจไม่มาอีกแล้ว)
  5. กลุ่มคนเก็บที่มาด้วยตัวเอง ประมาณการไม่ได้ว่ามีเท่าไร แต่ไม่น่าจะต่ำกว่าฤดูกาลละ 2,000 – 3,000 คน ทั้งสองประเทศ

ทั้งนี้ บริษัทเบอร์รี่ทั้งสองประเทศจะมีตัวแทนในประเทศไทย โดยตัวแทนเหล่านี้จะทำเรื่องเจรจาโควต้า เจรจาเงินกู้จากผู้ปล่อยเงินกู้ในท้องถ่ิน (ทั้งจากตำรวจ พ่อค้ารายใหญ่ ทำให้คนงานเบี้ยวยากมาก)

แก้งค้อจุดใหญ่สุด (ตัวแทนอยู่ที่นี่กันหมด) จะเป็นจุดระดมเงินกู้ท้องถิ่นให้คนมาเก็บเบอร์รี่ปีละหลายร้อยล้านบาท 

สายและคนเก่าเป็นคนที่ไปหาคนเป็นส่วนใหญ่และมักไม่ให้ข้อมูลที่แท้จริง เพราะหวังหลอกให้คนมาเก็บเบอร์รี่กับตน – ระบบการจัดการเมืองไทยจึงเป็นแบบนี้ ที่ทำให้หาคนป้อนอุตสาหกรรมเก็บเบอร์รี่ได้ตลอด

ระบบนี้โยงใยมาเฟียท้องถิ่น และสายสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่กระทรวงแรงงาน สถานฑุตสวีเดนและฟินแลนด์และบริษัทเบอร์รี่ที่สวีเดนและฟินแลนด์ ซึ่งมีประมาณ 10 บริษัท

คนงานที่เสียหายจากเบอร์รี่ปี 2552 บอกว่าได้กลับมาสามแสน คือ “แสนสาหัส แสนทุกข์ยาก และแสนลำบาก”

สรุป

จนบัดนี้คดีฟ้องร้องค่าเสียหายจากฤดูกาลปี 2552 ก็ยังไม่จบ คดีฟ้องร้องยังอยู่ในศาล และความเสียหายครั้งนั้นมูลค่าหลายร้อยล้านบาท ที่ต้องแบกรับกันเองในหมู่นักแสวงโชคเกษตรกรไทย (ดูสารดคดี วิกฤติบลูเบอร์รี่ 2552)

ผลจากการร่วมต่อสู้กับคนทำงานต่างประเทศมายาวนาน การร่วมต่อสู้กับคนงานคนงานเก็บเบอร์รี่ร่วม 500 คน ในปี 2552 ได้นำมาสู่การจัดตั้ง “สหภาพคนทำงานต่างประเทศ” เมื่อปี 2552 โดยที่จรรยา ยิ้มประเสริฐ ได้รับเลือกเป็นประธานสหภาพฯ แต่การประชุมใหญ่สหภาพคนทำงานต่างประเทศ ยังไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากปัญหาการเมืองในประเทศไทย

เมื่อเห็นความละโมภของคนมากมายกับอาหารสวรรค์ที่ธรรมชาติให้มากับฤดูกาลอันแสนสั้นเพียงช่วงเวลา แค่2 เดือน และเห็นเกษตรกรไทยที่ไร้สวัสดิการสังคมใดๆ ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ราวกับแมงเม่าบินเข้ากองไฟ  แล้วมันเศร้าสะเทือนใจยิ่งนัก

ภาพที่เห็นจากของอุตสาหกรรมเบอร์รี่ คือมันได้เปิดเผยตัวตนแห่งความละโมภ เห็นแก่ตัว อย่างเข้มข้นที่สุดของคนจำนวนไม่น้อย ในระยะเวลาอันแสนสั้น และภายใต้ข้อจำกัดของธรรมชาติที่รุนแรงที่สุด

จากการตระเวณเยี่ยมคนงานที่กลับบ้านใน 9 จังหวัดที่ภาคอีสานในปี 2552  และตระเวณไปเยี่ยมคนงานที่ประเทศฟินแลนด์ใน 9 แคมป์ เมื่อปี 2553 ผู้เขียนมีข้อสรุปแบบไม่เกรงใจกระทรวงแรงงานและรัฐบาไทยว่า “ต้องเป็นประเทศที่ไม่รักคนของตัวเองแม้แต่น้อย ถึงยอมให้เกษตรกร และคนยากคนจนในประเทศตัวเอง ระดมเงินออกจากอีสาน และประเทศไทยปีละหลายร้อยล้าน เพื่อมาสร้างกำไร และพัฒนาธุรกิจเบอร์รี่ในประเทศร่ำรวยเช่นสวีเดน และฟินแลนด์ โดยที่รัฐไทยแทบจะไม่มีมาตรการดูแลและต่อรองผลประโยชน์ให้คนของตัวเองเลย”

การต่อรองเพื่อคุ้มครองคนงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทยกลับกระทำจากนักสหภาพ นักกิจกรรมฟินแลนด์ สวีเดน และไทย ที่ทนเห็นคนเก็บเบอร์รี่ชาวไทยถูกเอาเปรียบ ได้รับการปฏิบัติแย่กว่านักโทษ และทำงานราวกับทาสตลอดฤดูกาลนี้

การส่งออกแรงงานไปต่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาความยากจน เป็นเรื่องยอมรับได้ และหลายประเทศ ทั้งเกาหลีใต้ ใต้หวัน โปร์แลนด์ ตุรกี ก็เป็นประเทศส่งออกแรงงานพร้อมๆ กับไทยในยุคปี 70′s แต่ทำไมประเทศเหล่านั้นสามารถพัฒนาและสร้างชาติได้  หลังจากต้องพึงพิงเงินจากแรงงานเพียงไม่นาน และก็หยุดการส่งออกแรงงาน หันกลับมาพัฒนาคุณภาพคนและคุณภาพแรงงานในประเทศ กลายเป็นประเทศส่งออกกนักธุรกิจแทน

แต่ไทยกว่า 40 ปีแล้วก็ยังไม่ยุติ ยิ่งเลวร้ายจนกลายเป็นประเทศต้นแบบของการพัฒนาธุรกิจค้าแรงงานข้ามชาติที่ “ผิดกฎหมาย” ให้ “ถูกกฎหมาย ” อย่างเป็นล้ำเป็นสัน

เป็นธุรกิจกินเปล่า บนการขูดรีดค่าบริการจากหยาดเหงื่อแรงงานคนงาน อย่างน้อย 40-50% ของเงินเดือนที่ประมาณการว่าจะได้ตามสัญญาจ้างงาน

ต้นตอที่แก้ไม่ได้เพราะมาเฟีย ข้าราชการจัดหางาน และนักการเมือง (โดยเฉพาะภาคอีสาน) ที่ร่ำรวยจากการหากินแบบนี้มามากกกว่า 40 ปี ยังไม่ยอมหยุดสร้างความมั่งคั่งบนความเจ็บปวดของคนอีสาน

 มีนักการเมืองอีสานคนใดบ้าง ที่ไม่โยงใยขบวนการค้าแรงงานไทยไปต่างประเทศ?

จะตรวจสอบกันอย่างไรถึงความสัมพันธ์ของข้าราชการเก่าหรือระดับสูงของกระทรวงแรงงานกับสายสัมพันธ์บริษัทจัดหางาน 2-300 บริษัทที่ให้อนุญาตจัดหางาน พร้อมข้ออ้างเสมอต้นเสมอปลายว่า “กระทรวงไม่มีกำลังและศักยภาพในการจัดส่งแรงงานเอง” 

กระทรวงแรงงานในส่วนกรมการจัดหางานมีเจ้าหน้าที่เยอะที่สุดหลายพันคน กลับไม่มีศักยภาพ …!?

จะแก้ปัญหาการถูกหลอกแรงงาน ต้องยุติการให้อนุญาตบริษัทจัดส่ง และใช้รูปแบบเจรจาแบบ “รัฐต่อรัฐ” ในทุกงานที่ต้องผ่านกระทรวงแรงงาน

วิธีการจัดการแรงงานแบบนักค้าแรงงานข้ามชาติของไทยเป็นเครื่องมือสำคัญ

เกือบทุกบริษัทรับซื้อเบอร์รี่ ไม่ได้จ้างคนฟินแลนด์แม้แต้คนเดียวในการดูแลและอำนวยความสะดวกคนไทยตลอดฤดูกาล  (ยกเว้นบริษัทหนึ่งทีี่บอกว่าจ้างคนฟินแลนด์หนึ่งคนให้ทำงานควบคู่กับตัวแทน ประเทศไทย) นอกนั้นถ้าไม่ใช่สามีชาวฟินน์หรือชาวสวีเดน กับภรรรยาคนไทยดูแลจัดการแคมป์ตามมีตามชอบ ก็จะวางภาระการจัดการแคมป์ให้กับตัวแทนและลูกทีมที่ขนมาจากเมืองไทยทั้งสิ้น

แต่ตัวแทนเหล่านี้ก็คือนายหน้า ลูกทีมเกือบทุกคนก็คือคนตระเวณเชิญชวนคนมาเก็บเอร์รี่และเก็บค่าหัวคิว หลายคนเป็นคนต้องปล่อยเงินกู้ให้คนเก็บเบอร์รี่ด้วย  อำนาจการจัดการแคมป์หลังรอยยิ้มแบบไทย จึงเป็นกลไกที่สำคัญที่ทำให้คนเก็บเบอร์รี่ชาวไทยไม่กล้าแหกคอกเหมือนคนชาติอื่น และระดับการคุมคนงานจากตัวแทน สู่หัวหน้าแคมป์ สู่หัวหน้าคันรถ สู่คนเก็บเบอร์รี่   จึงมีพลังสูงมาก เป็นอำนาจที่กดทับอย่างเงียบงัน และไม่มีคนงานคนใดกล้ามีปากเสียง

อาหารจากสวรรค์ ที่ถูกกลไกทุนเสรีนิยมเห็นเป็นช่องทางค้ากำไรอย่างงาม เมื่อคนในประเทศแพงเกินไปกับการจ้างงานที่สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการรับซื้อจากคนในท้องถิ่นในราคาที่ไม่สร้างแรงจูงใจมากพอให้คนท้องถิ่นเก็บเบอร์รี่มาขาย ก็เปรียบไม่ได้กับการทำตลาดค้าฝันกับคนจนในประเทศโลกใต้ ที่เถ้าแก่เบอร์รี่บอกว่า “หอบเงินหมื่นเงินแสนกลับบ้านไม่ไหวแน่”

แน่นอนมีคนไทยได้ประโยชน์และไม่เสี่ยง โดยเฉพาะตัวแทนนายหน้า พนักงานดูแลคนงานตามแคมป์ต่างๆ สายที่หาคนมาได้เกินค่าเดินทาง คนงานเก่า และคนงานใหม่ที่เกาะกลุ่มอยู่กับคนงานเก่าที่เก่งๆ ประมาณการณ์ว่าคนกลุ่มนี้ ที่มากันต่อเนื่องเกือบทุกปีหรือปีเว้นปี น่าจะประมาณ 2-3,000 คน แต่ผลประโยชน์ไม่เข้าใครออกใคร …และกำไรของพวกเขาอยู่บนความเสี่ยงและความเสียหายของเพื่อนร่วมชาติคนเก็บเบอร์รี่ที่มาใหม่ และคนเก่าที่ตัดสินใจเลิกลาหลังจากมาครั้งสองครั้งแล้วได้ไม่คุ้มเหนื่อย  – ซึ่งเมื่อรวมกันตลอดหลายปีก็เป็นจำนวนหลาพันคนหรือกว่าหมื่นคนทีเดียว

อุตสาหกรรมเบอร์รี่ทำตลาดกับคนไทยในทุกระดับ โดย CEO ของทุกบริษัทเดินสายมาเมืองไทยเกือบทุกปี เพื่อมาขายฝันด้วยตัวเอง ทั้งตัวแทนนายหน้าส่งสายหลายสิบคน ไปตระเวณขายฝันยังทุกหมู่บ้านที่ชาวบ้านอยู่กันแบบเซ็งกะตายในทุกฤดูร้อน ไร้น้ำทำการเกษตร

หมู่บ้านหนึ่งมีบทเรียนความล้มเหลว และไม่ไปอีกแล้ว ก็ตระเวณหาหมู่บ้านใหม่ต่อไป เมื่อคนในหลายพื้นที่ภาคอีสานไม่ค่อยสนใจขึ้นเรื่อยๆ ก็ขึ้นไปค้าฝันคนที่ภาคเหนือ และตอนนี้เริ่มลงไปเชิญชวนคนที่ประจวบ ชุมพร และภาคใต้

เมื่อเรื่องราวความสูญเสียหลายร้อยหลายพันแพร่กระจาย นักค้าฝันก็อัดฉีดมากขึ้นกับเรื่องราวหลอกลวง รวมทั้งระดมเงินกู้กันขนานใหญ่ เพื่อใช้ลงทุนค่าใช้จ่ายล่วงหน้าให้คนงาน

ในทุกฤดูเบอร์รี่ตัวแทนนายหน้าต้องระดมเงินกู้จากตำรวจ พ่อค้า และคนปล่อยเงินกู้ท้องถิ่น (รวมทั้งเงินส่งไปปล่อยกู้จากน้องสาวพี่สาวจากสวีเดนและฟินแลนด์) เพื่อนำพาคน 6-,000 – 8,000 คน  ไปสวีเดนและฟินแลนด์ เมื่อเฉลี่ยต่อหัว 70,000 บาท ก็เท่ากับขนเงิน 420-560 ล้านบาทออกจากอีสานทุกฤดู เพื่อไปเสี่ยงโชคที่สวีเดนและฟินแลนด์  โดยเฉพาะ ชัยภูมิ ขอนแก่น อุดรธานี เพชรบูรณ์ และนครราชสีมา หลายร้อยล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยเงินกู้อย่างน้อยร้อยละ 3  ทำกำไรกันอย่างเห็นๆ ในช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 2-3 เดือน

พวกนายทุนเงินกู้ได้เงินต้นและดอกเบี้ยคืนครบก่อนคนงาน …

จากบทเรียนตลอดสองสามปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ 2552 ยอดเฉลี่ยเมื่อหักออกจากผู้เสียหาย คงเหลือเพียงนำเงินกลับเข้าประเทศคนละไม่ถึง 20,000 บาท เมื่อลองคำนวณคร่าวๆ คือ  120 – 160 กว่าล้านบาท โดยที่ 3% จะถูกหักเป็นค่าดอกเบี้ย 13-17 ล้านบาท ทำให้นำเงินกลับสู่ครอบครัวอีสานต่อฤดูกาลโดยรวมแล้วอาจจะแค่ 120-150 ล้านบาท

แต่เกษตรกรที่รักของไทยเหล่านี้หลายพันคน ทำงานกันอย่างหนักจริง ทุกวัน เดินป่าเดินเขาวันละหลายสิบกิโลเมตร เก็บเบอร์รี่ป้อนอุตสาหกรรมเบอร์รี่เฉลี่ยคนละกว่า 2,000 – 3,000  กิโลกรัม

ทำงานกันจนไม่ได้มีโอกาสเรียนรู้และชื่นชมความเจริญและความสวยงามของประเทศเจ้าบ้าน ไม่รู้สักนิดว่าระบบดูแลประชาชนของประเทศนี้เป็นอย่างไรบ้าง ไม่เคยมีการบอกเล่าให้คนงานฟังว่าคนของประเทศนี้ได้รับการดูแลจากรัฐบาลดี เยี่ยมเช่นไร ทำให้แม้จะมีคนว่างงานประเทศละกว่า 300,000 คน แต่ก็ไม่มีใครสักคนยอมทำงานเก็บเบอร์รี่ ต้องมาระดมคนไทยไม่กี่พันคนไปเก็บ พร้อมค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายกันเองในอัตราสูงลิบลิ่ว

ทุกคนบอกเพียงอดทน ขยัน ห้ามขี้เกียจ ไม่มืดไม่กลับแคมป์

ศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจของเกษตรกรไทยจำนวนไม่น้อยถูกทำลายไปด้วยระยะเวลาอันนั้นนี้

ความเจ็บป่วยทางร่างกายจากการหักโหมที่ต้องใช้เวลาฟื้นฟูนับเดือน (แต่เขาก็ไม่มีเวลา เพราะเมื่อมาถึงไทยก็ลงเกี่ยวข้าวกันทันที)

และทุกปีจะมีทั้งอุบัติเหตุและบางปีมีการเสียชีวิต

อาหารจากพระเจ้า ที่มาพร้อมกับฤดูกาลอันแสนสั้นและหฤโหด บีบเร่งให้ทุกผู้คนที่อยากได้ประโยชน์จากมัน อัดฉีดความละโมภไปกับฤดูกาล จนยอมทำงานหนักเจียนตายเช่นนี้

นายทุนและธุรกิจเบอร์รี่จะอยู่ได้ทั้งปีจากงานหนักเพียงสองสามเดือน และมีเบอร์รี่ในสต๊อกให้แปรรูปได้ปีหรือสองปีข้างหน้า

แต่คนงานเก็บเบอร์รี่ที่ยอมทำงานหนักสองเดือน กลับไม่ได้มีหลักประกันว่าเงินที่ได้จะทำให้พวกเขาอยู่ได้ทั้งปีจากรายได้ มิหนำซ้ำต้องแบกรับความเสี่ยงและความเสียหายมากที่สุด และอาจจะต้องกลับมาใช้หนี้เป็นปีหรือหลายปี

ด้วยสภาพการทำงานที่หฤโหด อยู่ด้วยความตึงเครียด และกดดันสูง รวมทั้งเรื่องราวความสูญเสียที่แพร่ะสะพัดไปทั่ว ณ ขณะนี้นอกจากคนไทยแล้ว ไม่มีใครยอมเก็บเบอร์รี่แบบถวายชีวิตเช่นคนไทย

คนฟินแลนด์พูดกับผู้เขียนบ่อยๆ ว่า “นักโทษในเรือนจำที่นี่ได้รับการปฏิบัติและดูแลยิ่งกว่าคนงานไทยเสียอีก”

ธุรกิจเบอร์รี่ เป็นที่รับรู้กันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าอยู่ในสภาพความกดดันสูง แต่มักจะมองมันในแง่ที่ว่า ความกดดันเป็นแรงชับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้คนงานเก็บเบอร์รี่ได้มากกกว่าคนชาติอื่นๆ ที่ไม่ต้องเจอกับแรงกดดันเรื่องค่าใช้จ่ายสูง เงินกู้และดอกเบี้ยมากเท่ากับคนงานไทยหรือคนที่เดินทางไปเก็บจากเอเชีย ดังนั้นธุรกิจนี้ มองความกดดันเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ของอุตสาหกรรมเก็บเบอร์รี่ป่า (มองว่าฤดูกาลแค่สองเดือนกว่า ถ้าไม่เร่งเก็บก็เก็บไม่ได้มาก)

สุดท้ายความโลภ ก็เอาชนะความรู้สึกผิดชอบเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน

คำแนะนำสำหรับผู้ที่เดินทางมาเก็บเบอร์รี่ปี 2555

เพื่อทำให้เรื่องเบอร์รี่มีตัวแปรแห่งความ “เฮง หรือ ซวย” ที่เกิดได้จากหลายด้าน ทั้งจากฤดูกาล โชคเจอดงเบอร์รี่ดก  และความเพียรและอดทน และทำให้วิถึการพนันเสี่ยงมาเก็บเบอร์รี่โดยเฉพาะที่ฟินแลนด์ ที่ยังเป็นระบบการเล่มไฮโล “แทงได้-แทงเสีย”  อาจจะ “แทงแสนได้แสน” หรือ “แทงแสนเสียหายแสน” ไม่กลายเป็นทุกข์อันใหญ่หลวงของคนงานและครอบครัวที่เมืองไทย

เราไม่แนะนำให้ท่านเอาชีวิตมาเสี่ยงกับอุบัติเหตุ เสียสุขภาพจิต หรือเจ็บไข้ได้ป่วย จึงแนะนำว่าอย่าหักโหม ทำงานวันละไม่ต้องเกิน 12 ชั่วโมง นอนพักผ่อนเอาแรงให้เต็มที่ทุกวัน หยุดวันอาทิตย์เพื่อเรียนรู้ธรรมชาติและวิถีชีวิตของเจ้าบ้านคนท้องถ่ินบ้าง

สำหรับสวีเดน ท่านก็ไม่ต้องทำงานเกินสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง เพราะเงินเดือนที่ท่านได้รับคำนวณตามฐานการทำงานแค่สัปดาห์ละ 40 ชั่วโมงเท่านั้น ใช้ช่วงวันหยุดเที่ยวดูเมือง พักผ่อน และนอนหลับให้เต็มที่

การกินยาปฏิชีวนะติดต่อยาวนานมีผลเสียเยอะกับตับไต ขอให้ปรึกษาแพทย์เรื่องปริมาณการใช้ยาต่างๆ ก่อนซื้อยามาทานเอง

หญิงที่หวังมาหาแฟนคนต่างชาติ โอกาสเจอหนุ่มต่างชาติน้อยมากกว่าเจอหนุ่มชาวไทยในแคมป์เบอร์รี่ แทนที่จะได้หนุ่มต่างชาติ ท่านอาจจะโชคดีได้หนุ่มไทยกลับบ้านไปฝากครอบครัว

ขอให้ทำใจไว้ตั้งแต่ก่อนมาเลยว่า ถือว่าได้มาเมืองนอก ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เสียหายสักสามสี่หมื่นก็ถือว่ายังจ่ายเงินเที่ยวเมืองนอกถูกอยู่ เพื่อจะได้ไม่กดดันและเครียดและบีบให้ตัวเองทำงานราวกับทาส

ขอให้ทุกคนอย่าซวย และประสบแต่ความเฮงในปี 2555!

ถ้าเจอปัญหาและต้องการความช่วยเหลือ ติดต่อสหภาพคนทำงานต่างประเทศ โดยอีเมลมาที่ ACT4DEM@gmai.com หรือโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย + 66 (0)2 933 9492

**********

ข้อมูลเพิ่มเติม

ลิงค์สารคดี

วิกฤติบลูเบอรรี่สวีเดน 2552

ภาษาไทย http://vimeo.com/15454115 and https://www.youtube.com/watch?v=0MZG0fdQzv8&feature=channel&list=UL
English  http://vimeo.com/12489782

เรื่องเล่าจากคนอีสาน 39 คนที่สวีเดน

https://www.youtube.com/watch?v=T5POTxIhNpo

คนเก็บเบอร์รี่ที่ฟินแลนด์

ภาษาไทย http://vimeo.com/26918621 and https://www.youtube.com/watch?v=nBTXblZz2K0&feature=channel&list=UL

English http://vimeo.com/27191024

**********

รายงาน

รูปภาพและคำบรรยายเกี่ยวกับคนงานเก็บเบอร์รี่ที่ฟินแลนด์และสวีเดน

รายงาน “เจาะลึกและตีแผ่-ขบวนการพาคนไทยมาเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดนและฟินแลนด์”

เจาะลึกและตีแผ่ ขบวนการพาคนไทยมาเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดนและฟินแลนด์” –

รายงานการต่อสู้ของคนงานเก็บเบอรี่ยังไม่จบ 

รายงาน การต่อสู้ของคนงานเก็บเบอรี่ในสวีเดนยังไม่จบ –

*************

งานศึกษาภาคภาษาอังกฤษที่ค้นเจอ

Swedish Works Environment Authority, An information leaflet from the Swedish Work Environment, Authority for anyone who wishes to work as a berry picker in Sweden, 2011

Charles Woolfson1, Christer Thörnqvist2, Petra Herzfeld Olsson3, Forced Labour in Sweden? The Case of Migrant Berry Pickers , A Report to the Council of Baltic Sea States Task Force on Trafficking in Human Beings: Forced Labour Exploitation and Counter Trafficking in the Baltic Sea Region.

SwedWatch, Sweden mistreats illegal berry pickers, Sweden, 2011

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วันชาติของสหรัฐอเมริกา เนื้อหาคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกามีว่าอย่างไร

Posted: 03 Jul 2012 11:45 PM PDT

วันนี้ (4 ก.ค.55) กว่า 236 ปีของการประกาศเอกราชของสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ.1776 จึงขอยกบางตอนของคำประกาศเอกราชมาไว้ ณ ที่นี้

000

เราให้การยอมรับในความจริงที่แน่แท้ในตัวเองว่า มนุษย์ทุกคนเกิดเกิดมาเสมอภาคเท่าเทียมกัน เราได้รับสิทธิและเสรีภาพจากพระเจ้าผู้สร้างอันมิอาจถูกพรากไปได้ ได้แก่ สิทธิในชีวิต อิสรภาพ และสิทธิที่จะแสวงความสุข และเพื่อธำรงรักษาซึ่งสิทธิดังกล่าว เราจึงต้องจัดตั้งรัฐบาลที่ประกอบด้วยประชาชน เพื่อใช้อำนาจปกครองอย่างเป็นธรรมโดยความยินยอมของประชาชนผู้อยู่ใต้ปกครอง และเมื่อใดที่รัฐบาลไม่ว่าในรูปแบบใดกลายเป็นอุปสรรคทำลายเป้าประสงค์ดังกล่าว นั่นย่อมเป็นสิทธิของประชาชนที่จะเปลี่ยนแปลงหรือล้มล้างรัฐบาลนั้น เพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่และวางรากฐานหลักการดังกล่าวขึ้นใหม่ และจัดระเบียบอำนาจในรูปแบบตามที่จะเห็นสมควรว่าเป็นประโยชน์ได้มากที่สุดต่อความปลอดภัยและความสุขของประชาชนโดยมีหลักความสง่างามเป็นเงื่อนไขกำหนดว่ารัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นมาอย่างยาวนานไม่ควรจะต้องถูกเปลี่ยนแปลงเพราะสาเหตุเพียงเล็กน้อยชั่วครั้งชั่วคราว เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาได้สอนเราแล้วว่า มนุษย์จะต้องทนทุกข์ทรมานเพียงใดเพื่อแก้ไขสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้้น หากว่าความเลวร้ายที่ยังพอทำเนาก็ย่อมดีกว่าการล้มล้างรูปแบบการปกครองที่ถือปฏิบัติกันมายาวนาน

แต่เมื่อใดที่ผู้ปกครองมีความประพฤติมิชอบและการล่วงละเมิดสิทธิติดต่อกันยาวนาน อันแสดงให้เห็นได้ว่ามีเป้าประสงค์ที่จะบั่นทอนการปกครองอันจะนำไปสู่การปกครองแบบเผด็จการอย่างสมบูรณ์ นั่นย่อมเป็นสิทธิและหน้าที่ของประชาชนที่จะกำจัดรัฐบาลเช่นนั้นและจัดให้มีผู้ปกครองใหม่เพื่อความมั่นคงของประชาชนในวันข้างหน้า

โดยที่ดินแดนแห่งนี้ ได้อดทนอดกลั้นต่อความทุกข์ทรมานดังกล่าวมาแล้ว และบัดนี้ เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งยวดแล้วที่จะต้องเปลี่ยนแปลงการปกครองเดิม เป็นเวลาต่อเนื่องตลอดมา ในประวัติศาสตร์ของกษัตริย์องค์ปัจจุบันแห่งเกาะบริเตนใหญ่ เป็นประวัติศาสตร์ของความเจ็บปวดรวดร้าวและการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่า อันมีเป้าประสงค์เพื่อจัดตั้งระบอบเผด็จการอย่างสมบูรณ์เหนือดินแดนแห่งนี้

เพื่อพิสูจน์ความจริงดังกล่าว จึงจำต้องเปิดเผยให้โลกรู้ความจริงดังนี้กษัตริย์องค์นี้ ได้ปฏิเสธไม่ให้ความเห็นชอบเพื่อออกกฎหมาย ทั้งที่เป็นประโยชน์และความจำเป็นของประชาชนโดยส่วนรวม

กษัตริย์องค์นี้ ได้ห้ามมิให้ผู้ว่าการรัฐของประองค์ผ่านกฎหมายที่มีความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วน แต่ให้ระงับไว้จนกว่าพระองค์จะเห็นชอบ และไม่เคยสนใจใยดีที่จะพิจารณาให้ความเห็นชอบกฎหมายดังกล่าวแต่อย่างใด

กษัตริย์องค์นี้ ได้ปฏิเสธไม่ให้ความเห็นชอบกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ในเขตดินแดนใหม่ เว้นแต่ประชาชนเหล่านั้นจะสละสิทธิ การมีตัวแทนในรัฐสภา อันเป็นสิทธิมีค่าสูงสุดประเมินไม่ได้ ซึ่งเป็นที่หวาดหวั่นแก่พวกทรราชย์อย่างยิ่ง

กษัตริย์องค์นี้ ได้เรียกประชุมสภา ณ สถานที่อันไม่ปกติ ไม่สะดวกสบาย ห่างไกลจากที่เก็บบันทึก เพื่อเป้าประสงค์จะบั่นทอนอำนาจของประชาชนให้จำยอมตามความประสงค์ของพระองค์

กษัตริย์องค์นี้ ได้ยุบสภาครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อยืนยันเป้าประสงค์อย่างแข็งขันที่จะเป็นทรราชย์ล่วงละเมิดอำนาจของประชาชน

กษัตริย์องค์นี้ ได้ปฏิเสธตลอดมาที่จะให้มีการเลือกตั้งใหม่ ภายหลังจากที่พระองค์ได้ประกาศยุบสภาครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้ง ๆ ที่อำนาจนิติบัญญัติได้กลับมาสู่ประชาชนและพร้อมใช้สิทธินั้นได้ ทำให้ประชาชนและรัฐทั้งหลายต้องตกอยู่ภายใต้อันตรายจากการรุกรานภายนอกและความไม่สงบภายในประเทศ

กษัตริย์องค์นี้ ได้ขัดขวางการบริหารงานยุติธรรมด้วยการปฏิเสธไม่ให้ความเห็นชอบต่อกฎหมายจัดตั้งอำนาจตุลาการ
กษัตริย์องค์นี้ ทำให้ผู้พิพากษาขึ้นตรงต่อพระองค์เพียงผู้เดียว

กษัตริย์องค์นี้ ได้จัดตั้งหน่วยงานใหม่ ๆ และส่งเจ้าหน้าที่จำนวนมากมาที่นี่ เพื่อทำลายประชาชนของพวกเรา และแสวงหาประโยชน์ตามอำเภอใจของพวกเขา

กษัตริย์องค์นี้ ได้กำหนดให้กองทัพเป็นอิสระและเหนืออำนาจของประชาชน

กษัตริย์องค์นี้ ได้ร่วมมือกับทรราชย์อื่น ๆ เพื่อกำหนดให้พวกเราอยู่ภายใต้เขตอำนาจแปลกแยกจากเรา และไม่รับรองกฎหมายของพวกเรา แต่ให้ความเห็นชอบแก่กฎหมายของกษัตริย์เอง ทั้งนี้ เพื่อวางกำลังกองทัพขนาดใหญ่ไว้กับเรา เพื่อปกป้องพวกกษัตริย์จากการพิจารณาคดีและการลงโทษผู้กระทำผิดที่เป็นพวกกษัตริย์ได้ล่วงละิเมิดต่อประชาชนของพวกเรา เพื่อตัดขาดการค้าของเรากับโลกภายนอก เพื่อบังคับเก็บภาษีจากเราโดยปราศจากความยินยอมของผู้แทนเรา เพื่อตัดโอกาสเราในการพิจารณาคดีโดยคณะลูกขุน เพื่อนำเราส่งข้ามทะเลไปอังกฤษเพื่อไต่สวนดำเนินคดีในสิ่งที่พวกเราไม่ได้กระทำผิด เพื่อล้มล้างระบบเสรีของกฎหมายอังกฤษในดินแดนข้างเคียง และจัดตั้งรัฐบาลของตนเพื่อขยายอาณาเขต และใช้กฎหมายเบ็ดเสร็จอย่างเดียวกันกับอาณานิคมแห่งนี้ เพื่อขจัดกฎบัตรของเรา ล้มล้างกฎหมายอันทรงคุณค่าของเราและเปลี่ยนแปลงรากฐานจากรูปแบบการปกครองของเรา เพื่อยับยั้งระบบนิติบัญญัติของเราเอง และประกาศอำนาจนิติบัญญัติของเขาที่จะออกฎหมายบังคับแก่พวกเราทุกกรณี

กษัตริย์องค์นี้... ได้เผาบ้านเมืองของเราและทำลายชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนพวกเรา

กษัตริย์องค์นี้ ได้ส่งกองทัพขนาดใหญ่เพื่อนำมาซึ่งความตาย ความสูญเสีย และระบอบเผด็จการ ซึ่งได้เกิดขึ้นจากสถานการณ์อันโหดร้ายทารุณแม้จะเทียบกับในยามป่าเถื่อนที่สุด กษัตริย์องค์นี้ จึงไม่หลงเหลือไว้ซึ่งความน่าเลื่อมใสใด ๆ ในฐานะประมุขแห่งอารยะหลงเหลืออยู่

กษัตริย์องค์นี้ ได้บังคับประชาชนเป็นแรงงานบนเรือในทะเลหลวงเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพต่อต้านประเทศชาติของตนเอง ทำให้ประชาชนเหล่านีั้น ต้องกลายเป็นผู้เข่นฆ่าเพื่อนร่วมชาติของตนเอง และเพื่อนร่วมศาสนาของตนเอง และต้องยินยอมจำนนต่อกษัตริย์องค์นี้ ด้วยมือของตนเอง

ในทุก ๆ ขั้นตอนของการกดขี่เหล่านี้ พวกเราได้ร้องขอให้มีการแก้ไขเยียวยาและปราณีต่อพวกเราในระดับที่สุดก็เพียงพอ ตลอดเวลา คำร้องขอพวกเราครั้งแล้วครั้งเล่าได้รับเพียงการตอบสนองในรูปของความเสียหายต่อพวกเรายิ่งกว่าเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า กษัตริย์องค์นี้ มีพฤติกรรมเฉกเช่นทรราชย์ จึงไม่เหมาะสมที่จะเป็นปกครองเสรีชนอีกต่อไป

ดังนี้แล้ว พวกเราเหล่าตัวแทนของของสหรัฐอเมริกาได้มารวมตัวกัน ณ สภาคองเกรส เพื่ออุทธรณ์ต่อศาลยุติืธรรมสูงสุดแห่งโลก เพื่อแสดงความถูกต้องแห่งเจตนารมณ์ของพวกเราในนามประชาชน และโดยประชาชน จึงเผยแพร่ประกาศอิสรภาพอย่างเด็ดเดี่ยวมันคงว่า ดินแดนแห่งนี้ เป็นดินแดนแห่งอิสรภาพ และมีเสรีภาพ ไม่ขึ้นต่อราชบัลลังก์อังกฤษอีต่อไป ความสัมพันธ์ทางการเมืองทั้งปวงระหว่างสหรัฐอเมริกาและรัฐบาลแห่งเกาะอังกฤษ สิ้นสุดลงโดยสิ้นเชิง

ดินแดนสหรัฐแห่งนี้ มีความเป็นอิสระและสรี มีอำนาจเต็มในการที่เข้าสู่สงคราม ทำความตกลงสันติภาพ เข้าร่วมกุล่มกับประเทศต่าง ๆ เจรจาการค้า และดำเนินการทั้งหลายอื่นเฉกเช่นรัฐอิสระ พึงมีสิทธิทำได้ และเพื่อสนับสนุนคำประกาศนี้ด้วยความหนักแน่นมั่นคงสูงสุดภายใต้ความคุ้มครองของพระเจ้า พวกเราจึงให้คำปฏิญาณร่วมกันด้วยชีวิตของเรา อนาคตของพวกเรา และเกียรติยศสูงสุดของพวกเรา

ณ สภาคองเกรส 4 กรกฎาคม ค.ศ.1776 ประกาศโดยฉันทนามติแห่งสหรัฐอันประกอบด้วย 13 มลรัฐแห่งอเมริกา

000
IN CONGRESS, JULY 4, 1776
The unanimous Declaration of the thirteen united States of America

When in the Course of human events it becomes necessary for one people to dissolve the political bands which have connected them with another and to assume among the powers of the earth, the separate and equal station to which the Laws of Nature and of Nature's God entitle them, a decent respect to the opinions of mankind requires that they should declare the causes which impel them to the separation.

We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal, that they are endowed by their Creator with certain unalienable Rights, that among these are Life, Liberty and the pursuit of Happiness.[Ed.] — That to secure these rights, Governments are instituted among Men, deriving their just powers from the consent of the governed, — That whenever any Form of Government becomes destructive of these ends, it is the Right of the People to alter or to abolish it, and to institute new Government, laying its foundation on such principles and organizing its powers in such form, as to them shall seem most likely to effect their Safety and Happiness. Prudence, indeed, will dictate that Governments long established should not be changed for light and transient causes; and accordingly all experience hath shewn that mankind are more disposed to suffer, while evils are sufferable than to right themselves by abolishing the forms to which they are accustomed. But when a long train of abuses and usurpations, pursuing invariably the same Object evinces a design to reduce them under absolute Despotism, it is their right, it is their duty, to throw off such Government, and to provide new Guards for their future security. — Such has been the patient sufferance of these Colonies; and such is now the necessity which constrains them to alter their former Systems of Government. The history of the present King of Great Britain is a history of repeated injuries and usurpations, all having in direct object the establishment of an absolute Tyranny over these States. To prove this, let Facts be submitted to a candid world.

He has refused his Assent to Laws, the most wholesome and necessary for the public good.

He has forbidden his Governors to pass Laws of immediate and pressing importance, unless suspended in their operation till his Assent should be obtained; and when so suspended, he has utterly neglected to attend to them.

He has refused to pass other Laws for the accommodation of large districts of people, unless those people would relinquish the right of Representation in the Legislature, a right inestimable to them and formidable to tyrants only.

He has called together legislative bodies at places unusual, uncomfortable, and distant from the depository of their Public Records, for the sole purpose of fatiguing them into compliance with his measures.

He has dissolved Representative Houses repeatedly, for opposing with manly firmness his invasions on the rights of the people.

He has refused for a long time, after such dissolutions, to cause others to be elected, whereby the Legislative Powers, incapable of Annihilation, have returned to the People at large for their exercise; the State remaining in the mean time exposed to all the dangers of invasion from without, and convulsions within.

He has endeavoured to prevent the population of these States; for that purpose obstructing the Laws for Naturalization of Foreigners; refusing to pass others to encourage their migrations hither, and raising the conditions of new Appropriations of Lands.

He has obstructed the Administration of Justice by refusing his Assent to Laws for establishing Judiciary Powers.

He has made Judges dependent on his Will alone for the tenure of their offices, and the amount and payment of their salaries.

He has erected a multitude of New Offices, and sent hither swarms of Officers to harass our people and eat out their substance.

He has kept among us, in times of peace, Standing Armies without the Consent of our legislatures.

He has affected to render the Military independent of and superior to the Civil Power.

He has combined with others to subject us to a jurisdiction foreign to our constitution, and unacknowledged by our laws; giving his Assent to their Acts of pretended Legislation:

For quartering large bodies of armed troops among us:

For protecting them, by a mock Trial from punishment for any Murders which they should commit on the Inhabitants of these States:

For cutting off our Trade with all parts of the world:

For imposing Taxes on us without our Consent:

For depriving us in many cases, of the benefit of Trial by Jury:

For transporting us beyond Seas to be tried for pretended offences:

For abolishing the free System of English Laws in a neighbouring Province, establishing therein an Arbitrary government, and enlarging its Boundaries so as to render it at once an example and fit instrument for introducing the same absolute rule into these Colonies

For taking away our Charters, abolishing our most valuable Laws and altering fundamentally the Forms of our Governments:

For suspending our own Legislatures, and declaring themselves invested with power to legislate for us in all cases whatsoever.

He has abdicated Government here, by declaring us out of his Protection and waging War against us.

He has plundered our seas, ravaged our coasts, burnt our towns, and destroyed the lives of our people.

He is at this time transporting large Armies of foreign Mercenaries to compleat the works of death, desolation, and tyranny, already begun with circumstances of Cruelty & Perfidy scarcely paralleled in the most barbarous ages, and totally unworthy the Head of a civilized nation.

He has constrained our fellow Citizens taken Captive on the high Seas to bear Arms against their Country, to become the executioners of their friends and Brethren, or to fall themselves by their Hands.

He has excited domestic insurrections amongst us, and has endeavoured to bring on the inhabitants of our frontiers, the merciless Indian Savages whose known rule of warfare, is an undistinguished destruction of all ages, sexes and conditions.

In every stage of these Oppressions We have Petitioned for Redress in the most humble terms: Our repeated Petitions have been answered only by repeated injury. A Prince, whose character is thus marked by every act which may define a Tyrant, is unfit to be the ruler of a free people.

Nor have We been wanting in attentions to our British brethren. We have warned them from time to time of attempts by their legislature to extend an unwarrantable jurisdiction over us. We have reminded them of the circumstances of our emigration and settlement here. We have appealed to their native justice and magnanimity, and we have conjured them by the ties of our common kindred to disavow these usurpations, which would inevitably interrupt our connections and correspondence. They too have been deaf to the voice of justice and of consanguinity. We must, therefore, acquiesce in the necessity, which denounces our Separation, and hold them, as we hold the rest of mankind, Enemies in War, in Peace Friends.

We, therefore, the Representatives of the united States of America, in General Congress, Assembled, appealing to the Supreme Judge of the world for the rectitude of our intentions, do, in the Name, and by Authority of the good People of these Colonies, solemnly publish and declare, That these united Colonies are, and of Right ought to be Free and Independent States, that they are Absolved from all Allegiance to the British Crown, and that all political connection between them and the State of Great Britain, is and ought to be totally dissolved; and that as Free and Independent States, they have full Power to levy War, conclude Peace, contract Alliances, establish Commerce, and to do all other Acts and Things which Independent States may of right do. — And for the support of this Declaration, with a firm reliance on the protection of Divine Providence, we mutually pledge to each other our Lives, our Fortunes, and our sacred Honor.

— John Hancock

New Hampshire:
Josiah Bartlett, William Whipple, Matthew Thornton

Massachusetts:
John Hancock, Samuel Adams, John Adams, Robert Treat Paine, Elbridge Gerry

Rhode Island:
Stephen Hopkins, William Ellery

Connecticut:
Roger Sherman, Samuel Huntington, William Williams, Oliver Wolcott

New York:
William Floyd, Philip Livingston, Francis Lewis, Lewis Morris

New Jersey:
Richard Stockton, John Witherspoon, Francis Hopkinson, John Hart, Abraham Clark

Pennsylvania:
Robert Morris, Benjamin Rush, Benjamin Franklin, John Morton, George Clymer, James Smith, George Taylor, James Wilson, George Ross

Delaware:
Caesar Rodney, George Read, Thomas McKean

Maryland:
Samuel Chase, William Paca, Thomas Stone, Charles Carroll of Carrollton

Virginia:
George Wythe, Richard Henry Lee, Thomas Jefferson, Benjamin Harrison, Thomas Nelson, Jr., Francis Lightfoot Lee, Carter Braxton

North Carolina:
William Hooper, Joseph Hewes, John Penn

South Carolina:
Edward Rutledge, Thomas Heyward, Jr., Thomas Lynch, Jr., Arthur Middleton

Georgia:
Button Gwinnett, Lyman Hall, George Walton
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จนท.ควบคุมตัว นักศึกษา มนร. ตั้งข้อหาระเบิดสะพาน

Posted: 03 Jul 2012 03:08 PM PDT

 

เจ้าหน้าที่จากหน่วยเฉพาะกิจจังหวัดนราธิวาส 36 เข้าควบคุมตัว กรรมการสมาพันธ์นิสิตนักศึกษานราธิวาส พร้อมตั้งข้อหาระเบิดสะพาน

18.00 น. วานนี้ (2 ก.ค.) นายแวสะมะแอ ยูมะโซ นักศึกษามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และกรรมการสมาพันธ์นิสิตนักศึกษานราธิวาส  ถูกเจ้าหน้าที่จากหน่วยเฉพาะกิจจังหวัดนราธิวาส 36 เข้าควบคุมตัวจากที่บ้านและนำตัวไปยังหน่วยเฉพาะกิจจังหวัดนราธิวาส 36

โดยกระบอกเสียงนักศึกษาชายแดนใต้ ซึ่งเป็นองค์กรส่วนหนึ่งของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า นายแวสะมะแอ ยูมะโซ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตั้งข้อหา วางระเบิดทีสะพานบ้านน้ำแบ่ง ม.6 ต.ไพรวัน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส  และองค์กรกระบอกเสียงนักศึกษาใต้ฯ ยังได้ยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่า ในวันเกิดเหตุนั้นมีผู้เห็นผู้ถูกจับกุมอยู่ทีโรงเรียนตายุลอิสลาม อ.บาเจาะ จ.นาธิวาส ซึ่งเป็นโรงเรียนที่นายแวสะมะแอ เป็นอาจารย์สอนอยู่

ทั้งนี้เหตุระเบิดทีสะพานบ้านน้ำแบ่ง ที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ดังกล่าวนั้น ตามรายงานของข่าวสด (http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROd01ERXdOekkzTURZMU5RPT0=) ระบุว่า เกิดขึ้นเมื่อเวลา 11.40 น. วันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา พ.ต.อ. เสน่ห์ จรรยาสถิต ผกก.สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส รับแจ้งเหตุคนร้ายจุดชนวนระเบิดรถจักรยานยนต์บอมบ์ดักสังหารทหารพราน สังกัดกรมทหารพรานที่ 11 ที่บริเวณหัวสะพานบ้านน้ำแบ่ง ม.6 ต.ไพรวัน มีทหารพรานและชาวบ้านบาดเจ็บหลายราย จึงรุดตรวจสอบพร้อม พ.ต.ท.สมบูรณ์ คงแดง สว.นปพ.จ.นราธิวาส พ.ต.ท.กระจ่าง รักษ์ณรงค์ หน.กองพิสูจน์หลักฐาน 

ที่เกิดเหตุอยู่บริเวณเชิงสะพานพบซากรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้าดรีม ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ดัดแปลงติดพ่วงข้างถูกแรงระเบิดพังไม่มีชิ้นดี เศษชิ้นส่วนกระจายเต็มถนน จากการตรวจสอบอย่างละเอียดยังพบชิ้นส่วนถังแก๊สหุงต้ม รวมถึงไปซากชิ้นส่วนของวิทยุสื่อสารกระจายปะปนอยู่ด้วย ห่างออกไปประมาณ 300 เมตร พบรถโดยสารยี่ห้อยี่ห้อฮีโน่ สีเขียวอ่อนทะเบียน 31-3189 กทม. ของบ.วีนัสทัวร์ จก. สภาพกระจกหน้าและข้างซ้ายแตกละเอียด ตัวถังด้านหน้าและด้านซ้ายยังถูกสะเก็ดระเบิดเป็นรูพรุน ใกล้กันพบรถพ่วงบรรทุกปูนซีเมนต์ผง 18 ล้อ สีขาว ทะเบียน 80-5308 นราธิวาส ของ บ.อี. แอนส์ซี ดีเวลลอปเม้นท์ จก. บริเวณกระจกหน้าแตกและบริเวณตัวถังด้านซ้ายถูกสะเก็ดระเบิดได้รับความเสียหาย ส่วนผู้บาดเจ็บมีทั้งสิ้น 14 ราย ทั้งทหารและพลเรือน ส่วนใหญ่ถูกเศษกระจกบาด

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :
จยย.บอมบ์ ถล่มบัสทหาร http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROd01ERXdOekkzTURZMU5RPT0=

 


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น