โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: 70 ปีคอมมิวนิสต์ไทย

Posted: 30 Nov 2012 08:52 AM PST

ในประวัติที่เป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ถือว่า วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2485 คือวันก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ถ้านับกันเช่นนี้ 1 ธันวาคม ปีนี้ก็จะเป็นปีครบรอบ 70 ปีของพรรค ความจริงต้องถือว่า พรรคคอมมิวนิสต์ไทยนั้น สิ้นบทบาทในทางสังคมไปนานแล้ว แต่ในทางประวัติศาสตร์และสถานการณ์ปัจจุบัน ถือว่า ยังคงมีประเด็นที่น่าสนใจให้พูดถึงอยู่บ้าง

ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของการที่มีพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นแบบลัทธิมาร์Œกซ์อยู่ที่ว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นองค์กรทางการเมืองที่นำเสนอทางเลือกใหม่แก่สังคมไทยที่ชัดเจนที่สุดในระยะก่อนหน้านี้ เพราะสังคมไทยนั้นเป็นสังคมจารีตประเพณี ผู้คนโดยทั่วไปนั้นถูกครอบงำด้วยความคิดอนุรักษ์นิยมขวาจัด ภายใต้การครอบงำของระบบเจ้าศักดินาและวัฒนธรรมไพร่ฟ้า ทำให้สังคมไทยมีแนวโน้มต่อต้านสิ่งใหม่ และไม่ยอมรับแนวคิดทางการเมืองหรือเศรษฐกิจแบบอื่น

แต่แนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์ก่อให้เกิดความแตกต่าง โดยเฉพาะเรื่องการใช้ลัทธิมาร์Œกซในการวิเคราะห์และอธิบายสังคม ก่อให้เกิดพลังที่จะวิพากษ์สังคมไทยอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ที่ได้ชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยก็เป็นเช่นเดียวกับสังคมอื่นๆ ทั่วโลก คือเป็นสังคมที่มีชนชั้น มีการกดขี่ และเอารัดเอาเปรียบ แนวทางลัทธิมาร์กซไม่เพียงแต่จะอธิบายถึงความไม่เป็นธรรรมของสังคมเท่านั้น ยังได้นำเสนอแนวการวิเคราะห์สังคมที่ว่า สังคมไทยนั้นเป็นแบบกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา และเสนอการวิเคราะห์การกดขี่และมอมเมาของชนชั้นศักดินาไทยอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ ยังอธิบายกำเนิดและพัฒนาการของชนชั้นนายทุนไทย และกรรมกรไทยอีกด้วย การนำเสนอทฤษฎีวิพากษ์และวิเคราะห์สังคมไทยในลักษณะเช่นนี้ ถือเป็นผลสะเทือนส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวแนวทางของพรรค ไม่ว่าจะเป็นแนวทางลัทธิมาร์กซ หรือที่โจมตีกันว่าเป็นแนวทางเหมาเจ๋อตงก็ตาม

นอกจากนี้ พรรคคอมมิวนิสต์ไทยก็ได้มีบทบาทอันก่อให้เกิดคุณูปการในประวัติศาสตร์ไม่น้อย ตั้งแต่สมัยก่อตั้งพรรคที่มีการเคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่นอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ต่อมาในสมัยกบฏสันติภาพ ก็เป็นพลังในการเคลื่อนไหวแนวทางวิพากษ์นโยบายต่างประเทศของไทย ที่ตามอเมริกาอย่างไม่ลืมหูลืมตา และคัดค้านการใช้สงครามในการแก้ปัญหาเกาหลี จากนั้น ในสมัยเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พรรคคอมมิวนิสต์กลายเป็นพลังฝ่ายค้านองค์กรเดียว ที่ต่อต้านเผด็จการมากที่สุด การออกวิทยุเสียงประชาชนเมื่อ พ.ศ.2505 ก็สร้างความเกรี้ยวกราดแก่ชนชั้นปกครองไทยอย่างมาก

จากนั้น ผลสะเทือนสำคัญก็คือ การเคลื่อนไหวปลุกระดมชาวนาให้ลุกขึ้นสู้และจัดตั้งกองทัพปลดปล่อยประชาชน จนก่อให้เกิดขบวนการจับอาวุธต่อต้านชนชั้นปกครองที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย เพราะไม่เคยปรากฏมาก่อนว่าจะมีการลุกขึ้นสู้ทั่วประเทศขนาดใหญ่เช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นกบฏชาวนาในอดีต เช่นกบฏญานพิเชียร สมัยพระมหาธรรมราชา หรือ กบฏผู้มีบญภาคอิสาน สมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีลักษณะการจัดตั้งในท้องถิ่น และสลายอย่างรวดเร็วเมื่อมีการปราบปราม

ต่อมา หลังกรณี 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ก็คือ การจัดตั้งขบวนการปัญญาชนปฏิวัติที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยเช่นกัน ได้มีการระดมทั้งนักศึกษา ปัญญาชนระดับกลาง และคนระดับล่างที่เป็นกรรมกร ชาวนา เข้าสู่องค์กรจัดตั้งมากมายมหาศาลนับแสนคน แม้แต่คณะราษฎร พ.ศ.2475 นั้น ก็จัดตั้งในหมู่ข้าราชการ คนที่มีการศึกษา และปริมาณก็น้อย เทียบไม่ได้เลยกับการจัดตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย

แม้ว่าต่อมาหลัง พ.ศ.2525 กระแสของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยจะเสื่อมอิทธิพลลงอย่างมาก เพราะผลของสถานการณ์สากลและความขัดแย้งภายในขบวนการ แต่ก็ยังต้องถือว่า การต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยที่ผ่านมาแล้ว ได้ส่งผลสะเทือนอย่างมากต่อความตื่นตัวของประชาชน และทำให้ชนชั้นปกครองไทยต้องปรับตัวไปสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น

แต่กระนั้น ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของไทยมีรอยหัก เพราะหลังจากการเกิดขบวนการต่อต้านทักษิณ ชินวัตร และการรัฐประหาร พ.ศ.2549 นำมาซึ่งการปรับตัวและการจัดขั้วทางการเมืองใหม่ เป็นฝ่ายที่สนับสนุนอำมาตยาธิปไตย และฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย ส่วนที่เหลืออยู่ของอดีตพลพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ก็เกิดความแตกแยกภายในกลุ่มเช่นเดียวกัน ส่วนมากของอดีตพลพรรคกลับเข้าร่วมขบวนการเสื้อเหลืองที่ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และกลับสนับสนุนฝ่ายอำมาตยาธิปไตย จนได้รับการขนานนามว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยแบบชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือ ขบวนการคอมมิวนิสต์พิทักษ์อำมาตย์ และพลพรรคส่วนนี้กลับรื้อฟื้นบทบาทการเคลื่อนไหวชัดเจนมากขึ้นในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การเคลื่อนไหวปกป้องศาลรัฐธรรมนูญ จนกระทั่ง การชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามและภาคีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มอดีตสหายเหล่านี้ ก็นำพลพรรคเข้าร่วมอย่างเปิดเผยเช่นกัน

คงต้องอธิบายว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ยังแอบอ้างกองทัพประชาชนในขณะนี้ ได้สิ้นจากรากเหง้าของประวัติศาสตร์อันมีเกียรติของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยแล้ว คุณูปการของการเคลื่อนไหวของอดีตพลพรรคก่อนการรัฐประหาร พ.ศ.2549 ก็เป็นส่วนที่จะต้องเคารพ แต่การเข้าร่วมกับขบวนการเสื้อเหลือง สนับสนุนฝ่ายอำมาตย์ และต่อต้านประชาธิปไตยในขณะนี้คงเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้

จึงเป็นที่น่าเสียดายยิ่งนักที่อดีตพลพรรคเหล่านี้ ได้ทำลายเกียรติประวัติการต่อสู้ในอดีตของตนเองลงเสียแล้ว ไม่ว่าจะเป็นด้วยข้ออ้างใดก็ตาม

 

ที่มา: โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่388 วันที่ 1 ธันวาคม 2555

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐมนตรีที่ดูแลสื่อของรัฐ ไม่ช่วยอะไรนายกฯเลย

Posted: 30 Nov 2012 08:37 AM PST

ผมจั่วหัวด้วยการยกเอาคำพูดของคุณภูมิธรรม เวชยชัย  เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่ปรารภขึ้นในที่ประชุมพรรคเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว  เพราะเห็นด้วยกับคำพูดนี้เกินร้อยเลยครับ โดยเฉพาะในช่วง "ปรากฎการณ์เสธ.อ้าย"  หรือแม้กระทั่งในยุทธการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีก 3 ท่านในระยะที่ผ่านมาไม่กี่วันนี้-นี่เอง

รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มีคุณยิ่งลักษณ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งตั้งขึ้นมาหลังเลือกตั้ง 3 ก.ค. 2554 นั้น เริ่มต้น ก็เอาคุณกฤษณา สีหลักษณ์  ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งมีฐานะระดับคหบดีคนหนึ่งในจังหวัดอุตรดิตถ์ แต่ค่อนข้างจะโนเนมในวงการเมืองมาเป็นรัฐมนตรีที่มีหน้าที่ดูแลสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมประชาสัมพันธ์ ที่มีทั้งสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 และวิทยุทั้งเอเอ็มและเอฟเอ็มหลายสถานีอยู่ในมือ นอกจากนั้นยังกำกับ อ.ส.ม.ท. อันเป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำงานด้ารสื่อวิทยุและโทรทัศน์ เช่นกัน  แต่ว่าสื่อต่างๆเหล่านั้น  ก็ดำเนินการกันเสมือนเป็น " รัฐอิสระ" รัฐมนตรีที่เข้ามากำกับ ดูเหมือนจะไม่มีท่าทีหรือสติปัญญาอันใดที่จะเข้าไปวางนโยบายกำกับทิศทางเพื่อให้พวกเขาปฏิบัติที่พอจะเป็นประโยชน์แก่รัฐบาลใหม่บ้าง   เพราะเราได้เห็นกันอย่างชัดเจนตลอดเวลาว่ารายการของสำนักข่าวทีนิวส์  หรือรายการอื่นๆที่ผลิตออกมาเพื่อมุ่งโจมตีพรรคเพื่อไทย ตีและใส่ร้ายป้ายสี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นการเฉพาะ ทั้งปลุกปั่นในเรื่อง" แผนล้มเจ้า"  ทั้งๆที่ไม่มีมูลแห่งความจริงแม้แต่น้อย แต่สำนักข่าวนั้นได้ทำขึ้นสมัยรัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ  เพื่อสร้างความชิงชังและความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน    เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่เป็นพรรคเพื่อไทยและมีรัฐมนตรีเป็นคนในพรรคเพื่อไทยแล้ว แต่รายการเหล่านั้นที่โจมตีใส่ร้ายพรรคเพื่อไทยหรือโจมตีพ.ต.ท.ทักษิณ ก็ยังดำเนินต่อไป จนเพิ่งได้ยกเลิกไปเมื่อปลายปี 2554 เกือบจะพร้อมๆกับที่มีการปรับปรุงรัฐมนตรีใหม่ และรัฐมนตรี.กฤษณา สีหลักษณ์ ก็หลุดเก้าอี้ไป

ต่อมาเมื่อปรับ ครม.เป็น ยิ่งลักษณ์ 2 รัฐมนตรีที่มาดูแลงานด้านนี้คือนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล  อันเป็นพนักงานเก่าแก่ของกลุ่มบริษัทชินคอร์ป  แต่สื่อของรัฐทั้งหลายก็ดูเหมือนว่า " เคยทำกันมาอย่างไร ก็ทำต่อไปอย่างนั้น" การกระจายเสียงออกข่าวที่ช่วยทำให้รัฐบาลติดลบก็ยังมีให้เราได้ยินกันแทบทุกวัน ส่วนข่าวด้านดีๆมักจะเป็นข่าวของฝ่ายค้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวของบุคคลสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์   ซึ่งเรื่องอย่างนี้ ได้สร้างความไม่พอใจให้กับผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยเป็นอันมาก  โดยเฉพาะทีวีช่อง 11 เมื่อนายกฯไปทำรายการนายกยิ่งลักษณ์พบประชาชน เมื่อนำออกแพร่ภาพ ก็มักจะเกิดปัญหาขัดข้องในการแพร่ภาพอยู่บ่อยมาก ความที่รัฐมนตรีก็ไม่ได้เป็นคนมาจากสายการเมือง จึงดูท่าทางจะไม่ค่อยเข้าใจปัญหาทางการเมือง ไม่กล้าที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลง"แนวความคิด" ของผู้ดำเนินรายการ หรือ กำกับทิศทางไปยังผู้บังคับบัญชาระดับสูงของคนผลิตสื่อในกรมประชาสัมพันธ์หรือ อ.ส.ม.ท. ผลก็ออกมาในลักษณะเดิมๆ คือ ติดนิสัยมาจากรัฐบาลก่อน และดำเนินการเสนอข่าวหรือทำรายการที่ไม่ค่อยจะเอื้อประโยชน์อันใดให้กับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยดังที่เคยเป็นมา

เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์เดินทางมาได้ปีเศษ ก็มีการปรับครม.ใหม่ เป็นยิ่งลักษณ์ 3 เมื่อ 28 ตุลาคม 2555 .และนำคุณศัณศนีย์ นาคพงศ์ มาเป็นรัฐมนตรีดูแลกรมประชาสัมพันธ์ นายวราเทพ รัตนากร มากำกับ อ.ส.ม.ท. แต่ก็แม้ว่าท่านทั้ง 2 จะรับตำแหน่งกันมาร่วม เดือนแล้ว  ก็ดูเหมือนกับว่าจะยังไม่มีนโยบายอะไรใหม่ เพราะเรา-ท่านก็ยังไม่ได้ยินว่าทั้ง 2 ท่านนั้นจะพูดอะไรบ้างในการที่จะปฏิรูปสื่อของรัฐ เพื่อให้ "สอดคล้องกับยุคสมัยและบ้านเมืองที่กำลังเปลี่ยนไปในแนวทางประชาธิปไตย" ทั้งๆที่ในระยะนี้ รัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกรัฐมนตรีกำลังเจอกับการถูกใส่ไคล้ การปั้นน้ำเป็นตัว สาดโคลนเข้าใส่ และรุกโจมตีนายกรัฐมนตรีอย่างบ้าคลั่งทุกทิศทุกทาง จากสื่อเลือกข้างของคู่แข่งขันทางการเมือง อย่างบลูสกาย ทีนิวส์  หรือ เอเอสทีวี  ซึ่งไม่ใช่เท่านั้น หากแต่สื่อ ทีวีที่เรียกตัวเองว่าสื่อสาธารณะที่ยึด ไอทีวี ไปโดยอาศัยอำนาจรัฐประหาร แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น ทีพีบีเอส( TPBS) ก็หาจังหวะและโอกาสเข้าใส่ไคล้-โจมตี ดิสเครดิตทั้งรัฐบาลและนายกฯอยู่เสมอ ในกรณี ปรากฎการณ์เสธ.อ้าย กระทั่งถึงวันเกิด ม็อบเสธ.อ้าย 24 พ.ย. ทีวีช่องนี้ได้แสดงตัวอย่างชัดเจนมากในการเสนอข่าวความเคลื่อนไหวที่แสดงตัวว่าเขายืนอยู่กับฝ่ายที่มุ่งจะ   "โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเสียงข้างมากของประชาชน"

และในเวลาเดียวกัน สื่อของรัฐที่รัฐมนตรีทั้ง 2 ท่านนั้นช่วยกันดูแล ก็ไม่มีบทบาทอันใดที่จะช่วยชี้แจงความจริงให้ประชาชนได้ทราบบ้าง  ในยามที่พวกสื่อเลือกข้างทั้งหลายเสนอข่าวเชิงโปรโมทหรือเชียร์ม็อบกันโครมๆ เมื่อเราเปิดทีวีไปดูสื่อรัฐก็ปรากฎว่ายังเป็นรายการวาไรตี้ หรือปกิณกะอะไรอยู่ก็ไม่รู้ ยิ่งเมื่อม็อบเกิดปะทะกับตำรวจ สื่อหลวงทั้งหลายก็เงียบฉี่ ทั้งๆที่ขณะนั้น สื่อเชียร์ม็อบทั้งหลายเสนอการวิเคราะห์เจาะลึกกันไปต่างๆนาๆเพื่อจะชักนำให้ประชาชนคิดตามกันไปว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐและรัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์มุ่งใช้ความรุนแรงกับประชาชนมากเกินไป มีการสัมภาษณ์ ส.ส.ฝ่ายค้าน หรือผู้คนวงการต่างๆให้ช่วยกันกล่าวโทษประนามรัฐบาล  ยิ่งทางด้านวิทยุนั้นก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะหน่วยงานของรัฐพวกนี้ได้ให้เอกชนสัมปทานไปโปรโมทเพลงโฆษณาโทรศัพท์มือถือหรือสินค้าต่างๆกันไปหมดแล้ว

ดังนั้น หากเราจะหวังฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงจากสื่อของรัฐ เป็นอันหวังไม่ได้เอาเลย !!!

ความจริงนายกรัฐมนตรี ดลอดถึงรัฐมนตรีต่างๆ ดูเหมือนจะพยายามทำงานกันอยู่อย่างแข็งขัน  เพราะยุคนี้ใครๆก็ต้องการจะประชาสัมพันธ์งานของตนเองกันทั้งนั้น  และรัฐบาลก็ทำงานท่ามกลางการตรวจตราควบคุมอย่างเข้มข้นของพรรคฝ่ายค้านและองค์กรอิสระอีกมากมาย  แต่สื่อของรัฐซึ่งควรที่จะช่วยนายกฯในทางนั้นๆบ้าง  กลับยังทำงานกันแบบ " เดิมๆ" ตามทัศนคติเดิมๆ  ซึ่งมีบทบาทน้อยมากที่จะช่วยนายกฯหรือรัฐบาลในการชี้แจงความจริงให้ประชาชนทราบ

แต่ก็จะให้ไปโทษใครล่ะครับ ?   เพราะท่านเหล่านั้นที่ได้รับการแต่งตั้งกันมา ก็ได้รับการ " ประทับตรา" ดี 1 ประเภท 1มาจากพี่น้องในตระกูล " ชินวัตร" กันทั้งนั้น  มิใช่หรือ?

                                        ..........................................................................................

              

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สังคมวิทยาของการจำนำข้าว

Posted: 30 Nov 2012 08:23 AM PST

ปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมามีโอกาสขับรถไปเยี่ยมบัณฑิตอาสาสมัคร ของสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ภาคอีสาน ระหว่างทางตั้งแต่มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ  สิ่งที่เห็นผิดแปลกไปจากทุกครั้งที่ผ่านมาในช่วงฤดูนี้ก็คือ มีรถขนข้าวจอดเรียงรอคิวอยู่หน้าโรงสี และสหกรณ์การเกษตรจำนวนมาก แถวยาวต่อเนื่องหลายร้อยเมตร  แน่นอนว่าปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นจากนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลที่ให้ราคาสูงมากที่สุด อาจถือได้ว่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่สั่งสอนลูกหลานกันมาว่า เราเป็นประเทศส่งออกข้าวที่ใหญ่ที่สุด และมีชาวนาเป็นผู้มีพระคุณที่ทำนาปลูกข้าวให้เรากินด้วยความยากลำบาก มีควายที่ทำงานหนักไถนาให้เรากิน และพวกเราก็รับรู้มาตลอดว่า อาชีพชาวนาเป็นอาชีพยากจน หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน เป็นหนี้เป็นสิน ทุกข์ยากขาดแคลน ไร้การศึกษา แต่มีน้ำใจเอื้ออารีย์ ใสซื่อบริสุทธิ์

ก่อนหน้านี้มีนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ของ นิด้า และธรรมศาสตร์บางส่วน ลงชื่อกันคัดค้านไม่เห็นด้วยกับนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาล โดยให้เหตุผลว่ามีการรั่วไหลของงบประมาณไปในแต่ละขั้นตอนจำนวนมาก และได้ไม่คุ้มเสีย ชนชั้นกลางในเมืองจำนวนมากแสดงความไม่เห็นด้วยต่อนโยบายนี้เช่นกันโดยให้เหตุผลว่า พวกเขาเสียภาษีจำนวนมากเพื่อมาอุ้มชูเด็กที่เลี้ยงไม่รู้จักโต ซึ่งเด็กในความหมายนี้ก็คือ ชาวนา...

เวลานักเศรษฐศาสตร์ หรือคนเมืองออกมาพูดว่านโยบายไม่ดี รั่วไหล มีการคอรัปชั่น สูญเสีย ไม่ได้ประโยชน์ สิ่งที่อ้างถึงมักจะเป็นตัวเลขงบประมาณ  ราคา  ปริมาณข้าว และหลักเกณฑ์ปฏิบัติของการจำนำ  เรื่อยไปถึงปริมาณความต้องการของตลาดโลก แต่ที่น่าแปลกมากๆ คือ เราไม่เคยไปถามชาวนา หรือสนใจข้อมูลของชาวนาเพื่อนำมาอ้างอิง เป็นเหตุผลว่าเราควรเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ แม้มีข่าวว่าชาวนาท้า  "ดีเบต"  กับอาจารย์มหาวิทยาลัย อาจารย์มหาวิทยาลัยก็ดูเหมือนจะไม่เอาด้วย โดยให้เหตุผลทำนองว่าพูดกันคนละภาษา...

ไปอีสานคราวนี้จึงได้ถือโอกาสไปคุยกับชาวนาด้วยความตั้งใจที่จะฟังเสียงที่ไม่ใคร่จะได้ยิน นอกจากปรากฏการณ์รถขนข้าวต่อคิวยาวเหยียดเพื่อรอจำนำข้าวแล้ว ยังพบว่าหมู่บ้านในเขตเทศบาลที่มีถนนคอนกรีตตัดผ่านภายในหมู่บ้าน ได้กลายเป็นลานตากข้าวเรียงรายไปตลอดทาง  ยังไม่นับรวมถนนลาดยางตามหมู่บ้านนอกเขตเทศบาล

ที่น่าสนใจมากก็คือใน เขตเทศบาล บ้านหลังใหญ่ รูปทรงสวยงามสมัยใหม่ มีรั้วรอบแข็งแรงยังประกอบอาชีพ "ทำนา" หมู่บ้านที่ผมไปเยี่ยมบัณฑิตอาสาสมัคร  อยู่ในตำบลเปือย อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ ภายในหมู่บ้านมีไฟฟ้า ประปา ถนนคอนกรีต และร้านค้า ทุกอย่างพร้อมสมบูรณ์มองไม่เห็นความกันดารยากลำบาก  โดยทั่วไปก็คาดเดาได้ว่าคนในหมู่บ้านไม่น่าจะมีอาชีพหลักทำนา แต่ที่น่าแปลกมากเมื่อพบว่าทุกบ้านนำข้าวเปลือกมาวางตากแดดไล่ความชื้น เพื่อเตรียมนำไปจำนำกับโรงสีหน้าหมู่บ้าน

จากการพูดคุยพบว่า คนในหมู่บ้านประกอบอาชีพหลากหลาย ส่วนหนึ่งเป็นข้าราชการ ครู  เจ้าหน้าที่เทศบาล และหน่วยราชการอื่น ๆ มีอีกหลายบ้านที่ค้าขาย และขับแท็กซี่ในกรุงเทพฯ ระหว่างเดินสำรวจจึงพบรถแท็กซี่หลายคันจอดอยู่หน้าบ้าน นอกจากนั้นยังทราบว่ามีบ้าน 2 หลังที่เป็นเจ้าของอู่แท็กซี่ในกรุงเทพด้วย แต่ที่น่าสนใจยิ่งก็คือ "บ้านทุกหลังทำนา" ทำมานานแล้ว ทำมาก่อนที่จำมีนโยบายจำนำข้าว และดูเหมือนทุกคนจะบอกกับใคร ๆ อย่างมั่นใจว่า คนในหมู่บ้านนี้ทำนากันทั้งหมู่บ้าน ทำนาเป็นอาชีพหลัก และมีจิตวิญญาณของความเป็นชาวนา "ถึงจะทำแล้วขาดทุนก็ต้องทำ เพราะเราเป็นชาวนา"  ผมถามว่า ถ้ามีคนให้เลิกอาชีพทำนา แล้วหาอาชีพอื่นเช่นค้าขายที่ได้รายได้มากกว่าจะเปลี่ยนอาชีพมั้ย  "โอ้ย แม่ทำมาหมดแล้ว แต่ก่อนก็ไปขายผ้าในกรุงเทพ แต่ก็กลับมาทำนา"   "ในหมู่บ้านมีค้าขายหลายบ้าน แต่ทุกบ้านก็ยังทำนา" 

ประโยคเหล่านี้ทำให้ผมคิดได้ว่า  ในแวดวงวิชาการ เรานิยามอาชีพด้วยรายได้หลัก และเวลาใช้ไปกับการทำงานส่วนใหญ่ใช้ไปกับงานอะไร จะถือว่านั่นคืออาชีพหลัก  แต่สำหรับชาวบ้านไม่ใช่ อาชีพหลักเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขทางสังคมมากมาย เป็นประสบการณ์ เป็นรากเหง้าของบรรพบุรุษ เป็นพื้นที่ทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์มากมาย ทั้งโรงสี ร้านค้าปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ธกส. เพื่อนบ้านที่มาลงแรงเกี่ยวข้าวร่วมกัน เรื่อยไปถึงนโยบายพรรคการเมือง และนักการเมือง ทั้งท้องถิ่นและระดับชาติ  จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ภาษาทางวิชาการและภาษาของชาวบ้าน ชาวนา จึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เมื่อไรก็ตามที่ผมพานักศึกษาไปชนบท  ชาวบ้านมักจะบอกว่าอาชีพหลักของเขาคือทำนา ทั้งที่หาหลักฐานเชิงประจักษ์แบบใด ๆ แล้วก็ไม่อาจเชื่อได้ว่า รายได้จากการทำนาเป็นรายได้หลัก และยิ่งทำนาครั้งเดียวในรอบ 1 ปี ยิ่งทำให้ตัดสินใจไม่ได้ว่า ตกลงอาชีพหลักของชาวบ้านคืออะไรกันแน่  เมื่อเรานิยามแบบในตำราโดยไม่ได้สนใจคำนิยามแบบชาวบ้าน

เมื่อการทำนาเป็นวิถีชีวิต เป็นอะไรที่มากกว่าอาชีพในนิยามของนักวิชาการ นโยบายรับจำนำข้าว จึงมีความหมายต่อชาวนามากกว่าการเพิ่มรายได้ อย่างที่เราไม่สามารถจะเข้าถึงความหมายแบบนั้นได้เลย ถ้าเราไม่ได้เป็นชาวนา  หน้าโรงสีที่รับจำนำข้าวหลายแห่ง ปรากฏป้ายหาเสียงของ ส.ส. ประจำเขต ประกาศตัวว่าสนับสนุนนโยบาย  มีการสวมทับนโยบายให้ชาวบ้านเข้าใจว่า การจำนำข้าวที่ทำให้ราคาข้าวสูงขึ้นมากเช่นนี้ คือนโยบาย "ประกันราคา"  ชาวบ้านหลายที่โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์จึงสับสนเรียก นโยบายจำนำข้าวว่า "ประกันราคาข้าว"  นี่เป็นภาพสะท้อนเล็ก ๆ ว่า การทำนา ไม่ใช่มีเพียงมิติทางด้านเศรษฐศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียว

ในมิติทางสังคมนโยบายนี้ส่งผลอย่างมากจนแทบคาดไม่ถึง เมื่อชาวบ้านบอกว่า บรรดาข้าราชการครูในหมู่บ้าน เข้าโครงการเกษียนอายุก่อนกำหนด เพื่อมาทำนา "ขยันกว่าเราอีก ตื่นแต่เช้ามาเกี่ยวข้าว" ชาวนาเริ่มถามลูก ๆ หนุ่มสาวที่ไปรับจ้างในกรุงเทพว่า อยากกลับมาทำนามั้ย จะได้อยู่กับพ่อแม่  ชาวนาสองสามีภรรยาบอกกับผมว่า ถ้าน้องพร (บัณฑิตอาสาสมัคร) จะมาทำนาอยู่ที่นี่ยินดีจะแบ่งที่นาให้เลย "ไม่อยากให้กลับอยากหาผู้บ่าวให้"   นี่คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ชาวนาไม่ใช่อาชีพที่เป็นเด็กเขลา ไร้ราคา หิวกระหายเงิน และถูกหมิ่นแคลนว่าใช้แรงงานอีกต่อไป  ข้าราชครูที่ลงมือทำนาด้วยตนเองทั้งที่ก่อนหน้าต้องการจะหนีอาชีพนี้เพื่อไปหางานที่สบายกว่า นั่งโต๊ะ และเป็นเจ้าคนนายคน ลาออกจากการเป็นครูเพื่อมาทำนา เพราะความดึงดูดใจของราคาข้าวที่สูงมาก   ตอนผมลงพื้นที่แถว บางปะหัน อยุธยา คนวัยหนุ่มสาวทำงานโรงงานลงทุนให้พ่อแม่ช่วยดูแลทำนาให้  โดยจ้างในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ ไถ หว่าน ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ชาวนาที่นั่นบอกผมว่า "เราทำนาด้วยโทรศัพท์มือถือ" เพราะทุกขั้นตอนมีการรับเหมาช่วง มีชาวบ้านผู้ประกอบการเดินทางมาเสนองานรับจ้างเหมาจากจังหวัดสุพรรณบุรี  ราคาข้าวดีทำให้การใช้เทคโนโลยีคุ้มค่ามากขึ้นเพราะได้ผลผลิตจำนวนมาก  เมื่อชาวนามีรายได้มากขึ้น ธกส. จะมีเจ้าหน้าที่สินเชื่อมาเสนอให้ชาวนากู้เงิน "เขาบอกว่าถ้าไม่กู้จะเสียเครดิต คราวหน้าถ้าจำเป็นต้องกู้จะได้วงเงินกู้น้อย"  ไม่รู้จะเอาเงินมาทำอะไรแต่ก็ต้องไปกู้ช่วยเขา (ธกส.) นี่อาจเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึงสำหรับคนที่เคยหมิ่นเหยีดชาวนา ตอนรัฐบาลเสนอนโยบายบัตรเครดิตเกษตรกร ที่มองว่า เกษตรกรจะเบี้ยวหนี้ แต่ในทางตรงข้ามกลุ่มชาวนาเกษตรกรเหล่านี้ กลายเป็นลูกหนี้ชั้นดี ที่เจ้าหน้าที่ธนาคารมาเสนอวงเงินให้กู้ 

ขณะที่คนเมืองกำลังมองชาวนาด้วยความดูแคลนว่า "เลี้ยงไม่โต" และบอกให้ชาวนาหันมาปลูกข้าวอินทรีย์ปลอดสารพิษ มีชีวิตความเป็นอยู่แบบพอเพียง ละเลิกอบายมุข  และถือศีลอดเหล้า งดบุหรี่ มีคุณธรรมในขณะที่ทำนา เพราะข้าวที่ออกมาจะเป็น ข้าวมีศีลธรรมติดมาด้วย 

ในสังคมชนบท ชาวนากำลังยกสถานะทางสังคมขึ้นมาเทียมหน้าเทียมตาข้าราชการในท้องถิ่น เป็นลูกหนี้ชั้นดีของ ธกส. เป็นผู้บริโภคในตลาดสินค้า และบริการจากการจับจ่ายใช้สอย และเริ่มอยากจะให้ลูกหลานที่ไปทำงานในกรุงเทพกลับมาทำนา ทั้งยังบอกด้วยว่า เสียเงินส่งให้ไปเรียน เรียนจบแล้วก็ไปเป็นลูกจ้างเขา เงินไม่พอใช้ก็มาขอแม่ (ที่เป็นชาวนา) รู้แบบนี้ให้มาเป็นชาวนายังดีกว่า...

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผลกระทบของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 103/1 ต่อระบบกฎหมายอาญาของประเทศไทย

Posted: 30 Nov 2012 07:49 AM PST

บทความนี้ ข้าพเจ้านายธงทอง นิพัทธรุจิ[1] เขียนขึ้นโดยสุจริตใจ เพื่อต้องการให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ โดยได้รับคำแนะนำให้เขียนบทความในประเด็นนี้ จากท่าน ส.ส. ดร. พีรพันธุ์ พาลุสุข ซึ่งได้ฟังการอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 27 พฤษจิกายน 2555 อันมีประเด็นข้อถกเถียงเกี่ยวด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ได้กล่าวไว้ในบทความนี้ จึงขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างสูง ณ โอกาสนี้  

จากการที่ในปัจจุบันพบว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2554 มาตรา 103/1[2] กำหนดปิดปากให้ถือว่าผู้กระทำความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 100[3] ต้องถือว่ามีความผิดและถูกลงโทษฐาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา อาทิเช่น ตามบทบัญญัติมาตรา 157[4] ฯลฯ ด้วย ซึ่งมีอัตราโทษทางอาญา[5] ร้ายแรงกว่าที่บัญญัติไว้ ในบทบัญญัติมาตรา 100 ประกอบมาตรา  122[6] แห่งกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแต่เดิม

กรณีนี้ ทำให้เกิดความ น่าห่วงกังวลในระบบกฎหมายอาญาของไทย เนื่องจาก ลักษณะการบังคับแห่งกฎหมายอาญาบทมาตราใหม่นี้ อาจเกิดปัญหาความไม่สอดคล้องกับโครงสร้างความรับผิดในทางกฎหมายอาญา ในกรณี ที่แม้ว่า จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะมิได้มีอำนาจหน้าที่โดยตรง และสามารถใช้อำนาจนั้นเพื่อการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบต่อหน้าที่ราชการ อันถือเป็นองค์ประกอบความผิดภายนอก (Actus Reus หรือ Guilty Act) แห่งความผิดอาญาตามที่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157  เพราะจำเลยที่เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี บางกรณี อาจมีเพียงอำนาจในการกำกับ โดยทั่วไป ในหน่วยงานของรัฐบางแห่ง แต่ไม่สามารถเอื้อมมือไปถึงการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเอื้อประโยชน์ได้ เนื่องจาก ประโยชน์ของส่วนรวมอาจมีการแยกกันอยู่ออกต่างหาก หรือมีการจัดการ ที่แยกออกต่างหากจากประโยชน์ส่วนบุคคล[7]

ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่สามารถเข้าไปแทรกแซง สั่งการ ในกิจการทั่วไป ของหน่วยงานทางการคลัง ซึ่งสังกัดอยู่ในธนาคารแห่งประเทศไทยได้ เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยมีความเป็นอิสระ เพราะมีคณะกรรมการภายใน ที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีถือเป็นกรรมการอยู่ด้วย[8]  เป็นผู้ควบคุม ดูแล โดยกิจการทั่วไป และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้กำกับ ดูแล  มิใช่นายกรัฐมนตรี[9] แต่เมื่อมาตรา 103/1 มีผลทำให้นายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการสั่งการ ควบคุม โดยตรง กับกิจการภายในหน่วยงานของรัฐ ที่มีความเป็นอิสระ ต้องมารับผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้วย ทั้งที่การกระทำไม่ครบองค์ประกอบความผิดในบทมาตรานี้ เพราะขาดองค์ประกอบภายนอกเรื่องอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่อยู่ในบังคับแห่งข้อห้ามตาม มาตรา 157 ซึ่งตามปกติแล้วการขาดองค์ประกอบภายนอกส่งผลในทางกฎหมายให้ถือว่าผู้กระทำความผิดไม่มีความผิดเพราะพิจารณาจากความเป็นจริง[10] ดังตัวอย่างทั้งที่ ศาลฎีกาได้เคยวางบรรทัดฐานแห่งกฎหมายไว้โดยชัดเจน ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3278/2524 ว่า"กรณีจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ เฉพาะแต่ตามหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรง ตามที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่นั้นๆ เท่านั้น" (และคำพิพากษาศาลฎีกาที่  1005/2549 ได้วินิจฉัยไปในทำนองเดียวกัน) จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงส่งผลทำให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 103/1 เป็นกฎหมายที่ไม่มีความเป็นธรรม และอาจสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นในสังคมขึ้นไทยได้

ข้าพเจ้าจึงขอตั้งข้อสังเกตถึงผลกระทบของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบ ปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 103/1 แยกพิจารณาได้เป็น 3 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ 1 ในกรณี คดีคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีแดงที่ 1/2550 ศาลฎีกาได้ตัดสินถึงที่สุดแล้วว่า ฯพณฯ พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี (ท่านที่ 23 ของประ เทศไทย) ไม่มีความผิดและไม่ต้องรับโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และ 157[11] เพราะการลงนาม ยินยอมตามระเบียบให้ภริยาโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ได้มาจากการประมูลโดยการประกวดราคา อันเป็นสาธารณะ และไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่ามีการฮั๋วประมูลนั้น หาใช่เป็นการกระทำในตำแหน่งหน้าที่ของ ฯพณฯ ทักษิณ แม้ว่า ศาลในคดีนี้ จะได้ลงโทษ ฯพณฯ ทักษิณ ตามข้อหาความผิดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100 ก็ตาม ความผิดอาญาของ ฯพณฯ ทักษิณ ตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 152 และ 157 จึงระงับไปเพราะศาลได้พิพากษาว่า ฯพณฯ ทักษิณ บริสุทธิ์ แล้ว ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 บัญญัติว่า "สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ดังต่อไปนี้ … (4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง"

ประเด็นที่ 2 กรณีความผิดของผู้อื่น นอกจากประเด็นที่ 1 ซึ่งได้เกิดขึ้นก่อนมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 103/1 นั้น ผู้กระทำ

ความผิดย่อมไม่ต้องรับผิดในทางกฎหมายอาญา ตามที่มาตรา 103/1 กำหนด เพราะหลักประกันในทางกฎหมายอาญา (Legality) ว่า "เมื่อไม่มีกฎหมาย ก็ไม่มีความผิด และไม่มีโทษ" ("nullum crimen, nulla poena, sine lege" หรือ Ex post Facto) ซึ่งได้บัญญัติรับรองในประเทศไทยโดยชัดเจน ปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 39 ความว่า "บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้น บัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายอาญาที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดมิได้" และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 บัญญัติว่า "บุคคลจักต้องรับโทษในทางกฎหมายอาญา ก็ต่อเมื่อได้กระทำการ อันกฎหมายที่ใช้ในขณะนั้น บัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้…"

หลักประกันในทางกฎหมายอาญานี้ ถือเป็นเอกลักษณ์หรือหลักสำคัญของกฎหมายอาญาประการหนึ่ง ที่ได้รับการยอมรับจากนานาอาริยประเทศ เดิมเป็นความคิดในทางการเมืองที่ต้องการจะจํากัดอํานาจรัฐมิให้ละเมิดสิทธิพลเมือง อาทิเช่น ในรัฐธรรมนญูแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ค.ศ.1776 ได้บัญญัติว่า "ห้ามมิให้รัฐออกกฎหมายอาญาให้มีผลย้อนหลังเป็นโทษ" (U.S. Constitution Section 9 Paragraph 3  "No bill of Attainder or ex post facto law shall be passed") นอกจากนี้ ในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี หลักประกันในทางกฎหมายอาญานี้ มีความสอดคล้องกับหลักนิติรัฐ (Rechtsstlichkeitsprinzip)[12] ที่มีหลักย่อยเกี่ยวกับ "หลักการคุ้มครองความเชื่อถือ หรือความไว้วางใจโดยสุจริตของประชาชน (Vertrauensschutzprinzip) อันถือเป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่มีรากฐานมา จาก "หลักว่าด้วยความมั่นคงแน่นอนของกฎหมาย" (Der Grundsatz der Rechtssicherheit)[13] และในรัฐธรรมนูญ แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี "The Basic Law" (Grundgesetz-GG) ได้วางหลักว่า กฎหมายต้องได้รับความ เห็นชอบขององค์กรนิติบัญญัติอันมาจากการเลือกตั้งของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย[14]และต้องอยู่ในหลักประกันในทางกฎหมายอาญา (The Principle  of Legality) โดยในมาตรา 103 II แห่งรัฐธรรมนูญเยอรมนี ได้วางหลักว่า "การกระทำจะถูกลงโทษได้ก็ต่อเมื่อมีการให้ความหมายแห่งการกระทำที่จะถูกลงโทษ โดยกฎหมาย ลายลักษณ์อักษรก่อนการกระทำนั้นได้เกิดขึ้น"ซึ่งเหตุผลในการที่จะต้องให้กฎหมายมีความชัดเจนแน่นอนไม่มีผลย้อน หลังเป็นโทษแก่จำเลยนั้น ก็เพื่อให้ประชาชน ผู้ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายได้มีโอกาสรู้ล่วงหน้าว่าการกระทำหรือไม่กระทำ ของตนนั้น มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดหรือไม่ เพื่อประกัน "เสรีภาพ" ของประชาชนในการกระทำได้ทุกอย่าง ที่กฎหมายไม่ห้าม ดังที่คำพิพากษาฎีกาที่ 1/2489 ได้อธิบายไว้ว่า เสรีภาพ ก็คือ การที่ประชาชนทุกคนภาย ใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย มีสิทธิที่จะทำ จะพูด จะเขียน อย่างไรก็ได้ ถ้าในขณะที่ทำ ที่พูด ที่เขียนนั้น ไม่มีกฎหมายห้ามและกำหนดโทษไว้[15]

ดังนั้น การที่ในกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 103/1 กำหนดให้ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 100 ต้องถือว่า มีความผิดและต้องรับโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ อาทิเช่น ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ทั้งที่มีองค์ประกอบภายนอกที่แตกต่างจากกับมาตรา 100 จึงไม่มีผลย้อนหลังเป็นโทษ แก่ผู้กระทำความผิดละเมิดต่อมาตรา 100 ก่อนหน้ามีการประกาศใช้มาตรา 103/1 ในปีพ.ศ. 2554 เพราะหลัก "กฎหมายอาญาไม่มีผลย้อนหลังเป็นโทษ"

ประเด็นที่ 3. เมื่อการลงโทษในทางกฎหมายอาญาที่ยุติธรรมต้องเหมาะสมแก่อาชญากรรม (Lets punishment fit to the crime)  และการพิจารณาถึงภยันตรายที่จะเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการกำหนดบทกฎหมายอาญาไว้ลงโทษต้องคำนึงถึง "ความสัมพันธ์ของความเกี่ยวข้องของภยันตราย" และ "ความเข้มข้นของความเป็นไปได้ของภยันตราย"[16] ด้วย แต่ตามที่บทกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 100 ในปัจจุบัน กำหนดห้ามมิให้นายกรัฐมนตรี (ซึ่งมีอำนาจในการ กำกับ โดยทั่วไป กับส่วนราชการทั่วราชอาณาจักร ดังความในมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534) เข้าเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญากับหน่วยงานของรัฐ อาจเป็นการจำกัดตัดสิทธิขั้นพื้นฐานโดยปราศจากเหตุอันสมควร และไม่เกิดความเป็นธรรมสอดคล้องความสามารถในการกระทำอาชญากรรมเอื้อประโยชน์อันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม และภยันตรายจากการนั้น ที่กฎหมายต้องการจะป้องกันและปราบปรามอย่างแท้จริง เพราะในบางหน่วยงานของรัฐ มีคณะกรรมการภายในที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการของหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งเป็นอิสระจากทางฝ่ายการเมืองอยู่แล้ว จนทำให้ในความเป็นจริง ผลประโยชน์ส่วนรวมอยู่แยกต่างหาก โดยมีการจัดการที่ไม่ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ จนเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นไม่อาจเอื้อมไปถึง (arm's length) การกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของรัฐในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่อาจเข้าไปแทรกแซง สั่งการ หรือดำเนินการเพื่อให้ได้ล่วงรู้ข้อมูลกิจการภายใน โดยเฉพาะเจาะจง ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อมาใช้เป็นประโยชน์ในการประกอบอาชญากรรมได้ อันส่งผลให้ภยันตรายแห่งการกระทำอาชญากรรมดังกล่าว ไม่มีทางเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง   ดังนั้น หากจะกำหนดให้นายกรัฐมนตรีที่มีความผิดตามมาตรา 100 แห่งกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตนี้ ต้องมีความผิดในฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา อีกด้วย ก็สมควรปรับปรุงแก้ไขมาตรา 100 ให้มีมาตรฐานสอดคล้องกับภยันตรายของอาชญากรรมที่ได้เกิดขึ้นจริง มากกว่านี้ เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานให้กับบุคคลว่า "จะไม่ถูกลงโทษในข้อหาความผิดซึ่งมีองค์ประกอบถึงสิ่งที่ตนไม่ได้กระทำ"

 




[1] น.บ., น.บ.ท., (สมัย 58), น.ม. ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร

  บทความนี้เป็นวรรณกรรมของข้าพเจ้าโดยเฉพาะ คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ไม่เกี่ยวข้องด้วย

[2]  พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 103/1 กำหนดว่า "ความผิดที่บัญญัติไว้ในมาตรา 100 ให้ถือเป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย"

[3] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 และครั้งที่ 2 พ.ศ. 2554 มาตรา 100 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดดำเนินกิจการดังต่อไปนี้ (1) เป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี (2) เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่เข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกับกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี…"

[4] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 บัญญัติว่า "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

[5] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 บัญญัติว่า "โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดมีดังนี้ (1) ประหารชีวิต (2) จำคุก (3) กักขัง (4) ปรับ (5) ริบทรัพย์…"

[6] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 และครั้งที่ 2 พ.ศ. 2554 มาตรา 122 มีความว่า "เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติ มาตรา 100 … ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

[7] หนังสือชื่อ Managing Conflict of Interest in the Public Sector (A TOOLKIT) ซึ่งจัดพิมพ์ โดย OECD PUBLISHING (สำนักพิมพ์ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) เมื่อปี ค.ศ. 2005 ได้อธิบายไว้ในหน้า 19 ความตอนหนึ่งว่า "The Public Official will have a conflict of interest, unless the private interest is disposed of, or is in fact being managed independently – at arm's length" ข้าพเจ้าขอแปลข้อความนี้เป็นภาษาไทยว่า "การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นเกิดขึ้นได้ เว้นแต่ ผลประโยชน์ส่วนบุคคลได้รับการจัดการที่แยกต่างหากจากประโยชน์ส่วนรวม, หรือในความเป็นจริงนั้นผลประโยชน์ส่วนรวม อยู่แยกต่างหาก โดยมีการจัดการที่ไม่ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ จนเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นไม่อาจเอื้อมไปถึง (arm's length) การกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์"

[8] พระราชบัญญัติธนาคารพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2478  มาตรา 15 บัญญัติว่า  "ให้คณะกรรมการประกอบด้วยผู้ว่าการ รองผู้ว่าการ และกรรมการอีกไม่น้อยกว่าห้านาย เป็นผู้ควบคุมและ ดูแลโดยทั่วไป ซึ่งกิจการของธนาคารแห่งประเทศไทย  ให้ผู้ว่าและรองผู้ว่าการ เป็นประธานและรองประธานแห่งคณะกรรมการ โดยตำแหน่งตามลำดับ"

[9] พระราชบัญญัติธนาคารพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2478  มาตรา 14 บัญญัติว่า "ให้รัฐมนตรี (ว่าการกระทรวงการคลัง) มีอำนาจและหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการของธนาคารแห่งประเทศไทย"

[10] โปรดดู เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาค 1 บทบัญญัติทั่วไป, แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 10, (กรุงเทพมหานคร: พลสยาม, 2551), หน้า 146.

[11] โปรดดู คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขแดงที่ อม. 1/2550 หน้า 36-37.

[12] โปรดดู คณิต ณ นคร, กฎหมายอาญา ภาคทั่วไป,   ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพมหานคร: วิญญูชน, 2547), หน้า 59.

[13] โปรดดู มานิตย์ วงศ์เสรี, "หลักการคุ้มครองความเชื่อถือหรือความไว้วางใจโดยสุจริตของประชาชน (Vertrauensschutzprinzip),"วารสารวิชาการ

ศาลปกครอง ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 (มกราคม -เมษายน) 2551: 40.

[14] The German Constitution Article 20 (Basic institutional principle; defense of the constitution order) "(2) All state authority is derived from the people. It shall be exercised by the people though election and other votes and though specific legislative, executive and judicial bodies."

[15] สถิตย์ ไพเราะ, "เหตุใดจึงออกกฎหมายให้มีผลย้อนหลังเป็นโทษต่อบุคคลไม่ได้," รพี 51 (กรุงเทพมหานคร: ยงพลเทรดดิ้ง, 2551), หน้า 57.

[16] โปรดดู J. Feinberg, Harm to Others ch.5 cited in Andrew Ashworth, Principle of Criminal Law, Fifth Edition, (New York :Oxford University Press, 2006), p. 31.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดตัว ‘คกก.องค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน’ หลังดัน กม.15 ปี ไม่คืบ

Posted: 30 Nov 2012 03:13 AM PST

ชี้ป้องกันปัญหาซ้ำซากผู้บริโภคอย่างไรไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ เร่งผลักดันองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นกลไกใหม่ในการสร้างความเข้มแข็งผู้บริโภค

 
 
วันนี้ (30 พ.ย.55) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมภาคีเครือข่าย เปิดตัวคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ผ่านเวทีสาธารณะ "15 ปี ที่ผลักดันองค์การอิสระ เมื่อไม่มีกฎหมาย ผู้บริโภคควรทำอะไร" ณ โรงแรมที เค พาเลซ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน ประกอบด้วยตัวแทนองค์กรผู้บริโภค 72 จังหวัด แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ และหน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์
 
ชี้ปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภคซ้ำซาก เป็นแรงผลักของภาคประชาชน
นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล กรรมการองค์การอิสระฯ ในฐานะผู้แทนเขต กล่าวว่า จากการที่เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคได้ร่วมกันรณรงค์ผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มาเป็นเวลากว่า 15 ปี ตั้งแต่กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ.2540 ถึงฉบับปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็ยังไม่คลอดออกมา และมีท่าทีจะทำให้เป็นกฎหมายที่พิกลพิการทำงานไม่ได้ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจึงได้ร่วมกันจัดให้มีคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน จากการคัดเลือกกันเอง ขึ้นเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.55
 
นางสุภาพร กล่าวถึงเหตุผลด้วยว่า ปัจจุบันผู้บริโภคยังประสบปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภคซ้ำซากที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย ไม่ว่าความไม่ปลอดภัยจากการโดยสารรถสาธารณะต่างๆ การเอาเปรียบผู้บริโภคจากการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมการเงินต่างๆ ความเหลื่อมล้ำของบริการสุขภาพหลายมาตรฐาน ความไม่รับผิดชอบของผู้ให้บริการฟิตเนสจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก 
 
'ดร.เดือนเด่น' เผย 3 เรื่องร้องเรียนหลัก ด้านการเงิน การธนาคาร
ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ กรรมการองค์การผู้บริโภคฯ ในฐานะผู้เชียวชาญด้านการเงิน การธนาคาร กล่าวว่า จากการพิจารณาเรื่องร้องเรียนในรอบปีที่ผ่านมา พบว่าเรื่องที่ร้องเรียนกว่าร้อยละ 80 กระจุกตัวที่ 3 เรื่อง เรื่องแรกเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมในการใช้บริการการเงิน ว่ามีอัตราค่าบริการที่สูงเกินควร หรือ มีการเก็บค่าบริการในอัตราที่ไม่ได้มีการแจ้งล่วงหน้า เช่นในกรณีของการเก็บค่าธรรมเนียมในการถอนเงินจากตู้ ATM หรือค่าธรรมเนียมในการติดตามหนี้ซึ่งบางรายแจ้งว่าสูงถึง 2,000 บาท ในประเด็นนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยควรกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องต้องแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมในการใช้บริการทุกครั้งก่อนที่จะมีการใช้บริการ เช่น ในกรณีของการถอนเงิน ตรวจสอบยอดเงินในบัญชี หรือ โอนเงินผ่านตู้ ATM เป็นต้น มิฉะนั้นแล้ว ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะปฏิเสธที่จะจ่าย
 
นอกจากนี้แล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยควรส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์แข่งขันกันในการกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับบริการทางการเงินต่างๆ ที่แตกต่างกัน โดยการยกเลิกอัตราเพดานของค่าธรรมเนียมซึ่งกลายเป็นเครื่องมือที่ผู้ประกอบการใช้ในการกำหนดค่าธรรมเนียมร่วมกันโดยไม่ผิดกฎหมายแข่งขันทางการค้า
 
เรื่องที่สองที่มีการร้องเรียนเข้ามามากคือ กรณีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ หรือ เงินผ่อนของ Non-bank ที่สูงเกินควร ในประเด็นนี้ ควรมีการพิจารณาว่าจำเป็นต้องมีการกำหนดอัตราเพดานของเงินผ่อนเหล่านี้หรือไม่ แต่อย่างน้อย ธนาคารแห่งประเทศไทยควรกำหนดให้มีการโฆษณาอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง เนื่องจากธุรกิจที่ให้บริการผ่อนชำระค่าสินค้าหลายแห่งมีการคำนวณดอกเบี้ยจากวงเงินต้นตลอดระยะเวลาการผ่อน แม้ในทางปฏิบัติได้มีการจ่ายเงินต้นไปบางส่วนแล้วจากงวดการชำระ ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงสูงกว่าที่โฆษณาและที่แจ้งให้ลูกค้าทราบอย่างมาก จึงถือได้ว่าเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค
 
เรื่องที่สาม คือ การทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม ผู้ร้องเรียนหลายรายแจ้งว่าถูกข่มขู่ หรือถูกประจานโดยผู้ที่ทวงหนี้โทรไปที่ทำงาน ในประเด็นนี้รัฐบาลควรผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.การติดตามทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม พ.ศ. .... ซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก ครม.เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2555 เพื่อที่แก้ไขปัญหา อนึ่ง ปัญหาดังกล่าวส่วนมากเกิดจากการที่ผู้ร้องเรียนผิดนัดในการชำระหนี้บัตรเครดิต ซึ่งสะท้อนว่าสังคมไทยมีปัญหาในการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเกินความสามารถในการจ่าย ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยควรพิจารณาแนวทางในการกำกับวงเงินบัตรเครดิตเพื่อให้สอดคล้องกับขีดความสามารถในการจ่ายของผู้ถือบัตรมากขึ้น
 
'ผศ.ประสาท' จี้แก้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 ล้าสมัย
ผศ.ประสาท มีแต้ม ในฐานะกรรมการองค์การอิสระฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสาธารณะ กล่าวถึงปัญหาด้านพลังงานในมิติการที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภคทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ผู้บริโภคต้องรับภาระอย่างไม่เป็นธรรม จากข้อเท็จจริงพบว่าค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของคนไทยนั้นสูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ที่ได้รับ คือ ในปี 2554 ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสูงถึง 19% ของจีดีพี ในขณะที่เมื่อ 25 ปีก่อนอยู่แค่ร้อยละ 7 เท่านั้น ดังนั้นแนวโน้มการใช้พลังงานในอนาคตอาจจะสูงมากกว่านี้อีก 
 
ขณะเดียวกันเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปี 50 ได้กำหนดไว้ว่าให้ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งก็คือพลังงานที่ได้จากดวงอาทิตย์ เช่น แสงแดด ลม ชีวมวล ซึ่งใช้แล้วไม่มีวันหมด แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ตอบสนองเจตนารมณ์ตามนั้น แต่กลับสนับสนุนให้กลุ่มพ่อค้าพลังงานฟอสซิลซึ่งได้แก่ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินซึ่งสามารถผูกขาดและรวมศูนย์ได้ง่าย พลังงานฟอสซิลไม่เพียงแต่มีน้อย และราคาแพงขึ้นทุกขณะเท่านั้น แต่ยังได้สร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจ ระบบนิเวศน์ และมีการจ้างงานจำนวนน้อย ฯลฯ
 
ดังนั้น สิ่งที่ต้องเร่งรณรงค์ให้ผู้บริโภคได้ตระหนักและมีความเข้าใจมากขึ้น คือ ให้รัฐทำตามนโยบายการมีส่วนร่วมของประชาชน และแก้กฎหมายที่เกี่ยวกับกิจการไฟฟ้าซึ่งมีสาระสำคัญเพียง 3 ข้อ คือ 1) ให้ประชานชนทั่วไปที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ให้สามารถขายไฟฟ้าได้ก่อนผู้อื่น 2) ไม่มีระบบมีโควตาและไม่จำกัดจำนวน เป็นสัญญาระยะยาว 20-25 ปี และ 3) ค่าใช้จ่ายที่อาจสูงขึ้นบ้างต้องถือว่าภาระของผู้บริโภคทุกคน
 
นอกจากนี้ ผศ.ประสาท ยังเสริมว่า ต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 ซึ่งล้าสมัย ไม่มีธรรมาภิบาลและเอื้อประโยชน์ให้บริษัทรับสัมปทานมากเกินไป กล่าวคือผลประโยชน์ที่รัฐไทยได้รับอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
 
'สุรีรัตน์ ร้องรัฐสร้างหลักประกันสุขภาพที่เป็นธรรม มีมาตรฐาน คุณภาพเดียวกัน
นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา กรรมการองค์กรผู้บริโภคฯ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสุขภาพ กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพของสังคมไทยยังมีปัญหาในเรื่องมาตรฐาน และความเท่าเทียมกัน ในสังคม เช่น ผู้ประกันตนในประกันสังคมต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง แล้วยังได้รับสิทธิประโยชน์การบริการสุขภาพที่ด้อยกว่าคนกลุ่มอื่นที่ไม่ต้องจ่าย ซึ่งเป็นความไม่เป็นธรรม และไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่บัญญัติฯ ไว้ว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุข ที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน" 
 
นางสาวสุรีรัตน์ ระบุถึงข้อเสนอ ดังนี้ 1.ให้รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบบริหารจัดการการเงินการคลังเพื่อหลักประกันสุขภาพ สำหรับประชาชนทุกคน 2.ให้รัฐบาลดำเนินการให้สำนักงานประกันสังคมยกเลิกการเก็บเงินจากผู้ประกันตนในส่วนค่ารักษาพยาบาล โดยนำเงินสมทบแต่ละเดือนจากผู้ประกันตนและนายจ้าง ไปสมทบในกองทุนบำนาญชราภาพและการชดเชยการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคในฐานะพลเมืองที่อาศัย ทำงาน จ่ายภาษีในสังคมไทย ให้มีหลักประกันสุขภาพที่เป็นธรรม ครอบคลุม มีมาตรฐานและคุณภาพเดียวกัน
 
'รัศมี' ชี้ปัญหาการผลิตสินค้าที่มีแร่ใยหิน-ฟิตเนส ละเมิดสิทธิผู้บริโภค
นางรัศมี วิศทเวทย์ ในฐานะกรรมการองค์การอิสระฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านสินค้าและบริการทั่วไป กล่าวถึงกรณีปัญหาผู้บริโภคจากสินค้าและบริการทั่วไปว่า กรณีรูปธรรมสองเรื่อง คือ ปัญหาการยกเลิกการนำเข้าและการผลิตสินค้าที่มีแร่ใยหินตามมติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ 12 เมษายน 2554 ยังไม่สามารถดำเนินการได้จริง และหน่วยงานหลักที่มีอำนาจกำหนดการห้ามนำเข้าแร่ใยหินและการห้ามหรือควบคุมการผลิตสินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน คือกระทรวงอุตสาหกรรม กลับย้อนไปจ้างมหาวิทยาลัยทำงานวิจัยในเรื่องดังกล่าว ทั้งๆ ที่แร่ใยหินถูกห้ามใช้ในหลายประเทศ รวมทั้งมีคำเตือนจากองค์การอนามัยโลกแล้ว ว่าเป็นสาเหตุของมะเร็งเยื่อหุ้มปอดและปัญหาสุขภาพอื่นๆ
 
ดังนั้น ผู้บริโภคจึงต้องสร้างทางเลือกให้ตัวเองโดยไม่สนับสนุนสินค้าที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ เพื่อไม่เพิ่มความเสี่ยงด้านสุขภาพตน แต่ที่สำคัญต้องช่วยผลักดันให้ยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินโดยพลังของผู้บริโภค ซึ่งขณะนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งผลักดันองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคให้เกิดขึ้นโดยเร็วเพื่อเป็นกลไกในการทำสร้างความเข้มแข็งให้ผู้บริโภค
 
ขณะที่ปัญหาการใช้บริการสถานออกกำลังกายบริษัทแคลิฟอร์เนียฟิตเนส ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ ที่ปิดกิจการหลายสาขา และละเมิดสิทธิผู้บริโภคนั้น คณะกรรมการฯ ได้รวบรวมข้อมูลจากผู้เสียหาย และหวังว่า ดีเอสไอจะรับเรื่องนี้ไว้เป็นคดีพิเศษ และผู้บริโภคต้องเท่าทันว่า การทำสัญญาออกกำลังกายควรทำระยะสั้น และบริษัทจะทำสัญญาเกินหนึ่งปีไม่ได้เพราะผิดกฎหมาย และจากการศึกษาในต่างประเทศ พบว่า ธุรกิจบริการฟิตเนส มีมาตรการทางกฎหมายควบคุมการเอารัดเอาเปรียบ และดูแลความปลอดภัยของผู้บริโภค ดังนั้น คณะกรรมการฯ กำลังจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อไป 
 
'จิราพร' เผยเตรียม (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การคุ้มครองผู้บริโภค ฉบับองค์กรผู้บริโภค
รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ในฐานะกรรมการองค์การอิสระฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ และประธานคณะกรรมการองค์การอิสระฯ ได้กล่าวว่า จากสารพันปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภค คณะกรรมการฯ จึงจัดให้มีการ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การคุ้มครองผู้บริโภค ฉบับองค์กรผู้บริโภคขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือของการทำงานของเครือข่ายผู้บริโภคเพื่อจัดการกับปัญหาต่างๆ อย่างเป็นระบบ ดังนั้น กระบวนการจัดทำและการได้มาซึ่งยุทธศาสตร์ตามหลักวิชาการและการมีส่วนร่วมที่แท้จริงของเครือข่ายผู้บริโภคจึงมีความสำคัญ ท่านอาจารย์เดือนเด่น จากทีดีอาร์ไอ จึงเป็นแม่งานที่สำคัญของงานนี้ และเวทีวันนี้เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้วิพากษ์ (ร่าง) แผนนี้ 
 
วิสัยทัศน์ของงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค คือ การให้ "ผู้บริโภคไทยรู้สิทธิที่ตนพึงมีพึงได้ และได้รับการคุ้มครองสิทธินั้นๆ" โดยมีพันธะกิจสำคัญ คือ 1) สร้างความเข้มแข็งแก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับสิทธิที่ตนพึงมีพึงได้ 2) ผลักดันให้รัฐมีนโยบาย กฎหมาย หรือ มาตรการในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค 3) แก้ไขหรือเยียวยาปัญหาของผู้บริโภคโดยองค์กรภาคประชาชน สามารถเติมเต็มงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคได้ ทั้งนี้ในแต่ละภารกิจได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์, กลยุทธ์/วิธีการ แยกตามสาขา, ดัชนีชี้วัดผลการดำเนินงาน แยกเป็นดัชนี ผลผลิต (output) และผลลัพธ์ (outcome)
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลถอนประกัน ‘ก่อแก้ว พิกุลทอง’ กรณีข่มขู่ศาลรัฐธรรมนูญ

Posted: 30 Nov 2012 03:05 AM PST

30 พ.ย.2555 เวลา15.30น.ศาลได้มีคำสั่งเพิกถอนการประกันตัวของนายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. ส่วนสส.พรรคเพื่อไทยแกนนำ นปช. อีก 4 คนรอด ทั้งนี้ศาลเพิ่มเงื่อนไขห้ามขึ้นเวที ยุยงปลุกปั่น ห้ามออกนอกประเทศ

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 10.15 น.ที่ผ่านมาศาลได้นัดสอบถามการเพิกถอนคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราวกลุ่ม ส.ส.พรรคเพื่อไทย แกนนำ นปช.จำเลยคดีก่อการร้ายรวม 6 คน คือ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ นพ.เหวง โตจิราการ นายก่อแก้ว นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย ซึ่งเป็น สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย  นายการุณ หรือเก่ง โหสกุล สส.กทม. พรรคเพื่อไทย และนายภูมิกิติหรือ พิเชษฐ์ สุขจินดาทอง โดยเฉพาะนายก่อแก้ว ถูก นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ และสำนักงานเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ ยื่นคำร้องและส่งพยานวัตถุแผ่นซีดีการให้สัมภาษณ์สื่อต่างๆ ต่อศาลเพื่อชี้ให้เห็นว่ามีกระทำผิดเงื่อนไขการประกัน  เนื่องจากนายก่อแก้ว มีพฤติการณ์ข่มขู่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 และเสนอให้ตัดงบประมาณศาลรัฐธรรมนูญ

ภายหลังการเบิกความจำเลยทั้งหมด ในกรณีของนายก่อแก้วนั้น ศาลเห็นว่าให้เพิกถอนคำสั่งการประกันตัว เพราะไม่แน่ใจในกรณีที่ว่าหากปล่อยตัวไปจะมีการพูดยุยงปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งอาจนำมาสู่ความวุ่นวายทางการเมืองอีก และนายก่อแก้วอยู่ในสถานะ ส.ส. และเป็นแกนนำเสื้อแดง เมื่อกล่าวเช่นนั้นในขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังมีคำวินิจฉัยก็อาจจะทำให้ประชาชนเข้าใจได้ว่านายก่อแก้วกำลังข่มขู่ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลจึงเห็นว่าควรเพิกถอนชั่วคราวนายก่อแก้วจนกว่าจะมีค่ำสั่งเป็นอย่างอื่น

ส่วนแกนนำคนอื่นๆ นั้น ที่ศาลอนุญาตให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวมาก่อนหน้านี้ ซึ่งต่างกันทั้งเงื่อนเวลาและเงื่อนไข จึงเห็นสมควรให้มีการกำหนดเงื่อนไขใหม่คือการปล่อยตัวชั่วคราวในครั้งนี้ ห้ามกระทำการใดๆ ที่เป็นไปในลักษณะดูหมิ่น ปลุกปั่น ยุยง กระทบกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี และเดินทางออกทนอกราชอาณาจักรจนกว่าจะได้รับอนุญาต

จากนั้นนายก่อแก้ว พิกุลทอง ได้ถูกควบคุมตัวไว้ที่ห้องควบคุมผู้ต้องขัง บริเวณใต้ถุนศาลอาญา เพื่อเตรียมนำตัวเข้าไปควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยคาดว่าจะมีการนำตัวนายก่อแก้วไปควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ เหมือนกับกรณีเจ๋ง ดอกจิก ต่อไป

 

 

ที่มา: เว็บไซต์คมชัดลึก ไทยรัฐ ASTV-ผู้จัดการ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ค่าแรง 300 มีผลทั่วประเทศ 1 ม.ค.นี้

Posted: 30 Nov 2012 03:02 AM PST

30 พ.ย.55 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่  ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 7) ซึ่งประกาศโดยนายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงานและประธานกรรมการค่าจ้าง ระบุ วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2555 

ประกาศระบุว่า ด้วยคณะกรรมการค่าจ้างได้มีการประชุมศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่นตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2554 และมีมติเห็นชอบให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อใช้บังคับแก่นายจ้างและลูกจ้างทุกคน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 79 (3) และมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 คณะกรรมการค่าจ้างจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกข้อ 3 - ข้อ 32 ของประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน
พ.ศ. 2554

ข้อ 2 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยบาท ในท้องที่จังหวัดกระบี่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด ตาก นครนายก นครพนม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ นราธิวาส น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา พังงา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ พะเยา มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยะลา ยโสธร ร้อยเอ็ด ระนอง ระยอง ราชบุรี ลพบุรี ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สงขลา สตูล สมุทรสงคราม สระแก้ว สระบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อ่างทอง อุดรธานี อุทัยธานี อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ

ข้อ 3 ประกาศคณะกรรมการค่าจ้างฉบับนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556 เป็นต้นไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สาวตรี สุขศรี: บทเรียนจากคำพิพากษายกฟ้องคดี 112 (คดีสุรภักดิ์)

Posted: 30 Nov 2012 02:22 AM PST

เกริ่นนำ

หลายคนที่ติดตามสถานการณ์หรือสังเกตการณ์กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทยอยู่ คงรู้สึกสงสัย หรือตั้งคำถามในใจว่า เป็นไปได้ด้วยหรือที่การยกฟ้องจำเลยในคดีมาตรา 112 จะเกิดขึ้นได้ใน พ.ศ.นี้ ภายหลังพบว่าในเช้าวันที่ 31 ตุลาคม 2555 ณ ศาลอาญา รัชดา [1] ผู้พิพากษาออกนั่งบัลลังก์แล้วอ่านคำพิพากษาให้ยกฟ้องคดี ซึ่งมีนายสุรภักดิ์ (สงวนนามสกุล) เป็นจำเลย ด้วยข้อหาตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และ มาตรา 3, 14, 17 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (ต่อไปจะเรียกว่า คดีสุรภักดิ์) ด้วยเหตุผลว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ ยังมีความสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรค 2  

หากจะกล่าวกันจริง ๆ แล้ว ในบรรดาคดีที่จำเลยถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  (โดยจะมีข้อหาอื่น เช่น ข้อหาตามพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ 2550 ด้วยหรือไม่ก็ตาม) ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา คดีสุรภักดิ์ไม่ใช่คดีแรกที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลย เพราะ...


 

คดีนพวรรณ (ต) หรือที่บางคนรู้จักในชื่อ "คดี Bento" ศาลชั้นต้น (อ.599/2554) ก็มีคำพิพากษายกฟ้องเช่นกัน ด้วยเหตุผลทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่สามารถสืบพิสูจน์จนสิ้นสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด [2]  แต่สาเหตุที่ทำให้คดีสุรภักดิ์อยู่ในความสนใจมากกว่าคดี Bento อาจเป็นเพราะว่า คดีที่ตัดสินหรือสิ้นสุดลง (โดยศาลไม่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด) ไปก่อนหน้าคดีสุรภักดิ์  ซึ่งล้วนแล้วแต่มีสามัญชนเป็นจำเลย และได้รับความสนใจจากสาธารณะชน อาทิ คดีดา ตอร์ปิโด [3], คดีสุวิชา (ท่าค้อ) [4], คดีบุญยืน [5], คดีธันย์ฐวุฒิ (หนุ่ม นปช.) [6], คดีโจ กอร์ดอน [7], คดีจีรนุช (ประชาไท) [8] โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คดีอำพล (อากง SMS) [9]  ทุกคดีล้วนแล้วแต่มีคำพิพากษาลงโทษจำเลย หรือจำเลยถอดใจไม่สู้คดี และหันไปขอพระราชทานอภัยโทษทั้งสิ้น กระทั่งคดีมาตรา 112  คดีล่าสุดที่พึ่งตัดสินไปเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2555 (ภายหลังคดีสุรภักดิ์) หรือคดีอุทัย (แจกใบปลิว) [10] ศาลก็พิพากษาลงโทษจำเลยเช่นกัน แม้จะให้รอลงอาญาไว้ก็ตามที ดังนั้น ผลของคดีสุรภักดิ์จึงมีความน่าสนใจยิ่ง ว่าในช่วงที่ประเทศไทยตกอยู่ในบรรยากาศของการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างมากชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน ในบรรยากาศของการกล่าวหากันด้วยข้อหา "ล้มเจ้า" หรือในบรรยากาศที่มีการปะทะกันทางความคิดของมวลชนฝ่ายหนึ่งที่เรียกร้องให้ยกเลิก หรือแก้ไขมาตรา 112 กับอีกฝ่ายหนึ่งที่ห้ามแตะต้องมาตรานี้โดยเด็ดขาด แล้วเหตุใดจำเลยในคดีประเภทนี้จึงได้รับการพิพากษายกฟ้อง

กล่าวในทางกฎหมายอาญานั้น การพิพากษายกฟ้องด้วยเหตุผลว่า โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายที่มี "ภาระการพิสูจน์" ไม่สามารถพิสูจน์ให้ศาลเห็นจนสิ้นสงสัยได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด ถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากการที่ศาลจะพิพากษาลงโทษอาญา ซึ่งเป็นโทษที่รุนแรงและกระทบกับสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างมากได้ จำเป็นต้องมีข้อเท็จจริงยืนยันได้ว่าบุคคลผู้นั้นเป็นผู้กระทำความผิดที่แท้จริง หรือการกระทำของเขาเป็นความผิดโดยไม่มีเหตุยกเว้นความผิด หรือยกเว้นโทษ (มาตรา 185 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) หากยังมีเหตุอันควรสงสัยอยู่ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำจริงหรือไม่ ศาลจำเป็นต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลย กล่าวคือ ยกฟ้องจำเลยไป สอดคล้องกับสุภาษิตกฎหมายที่ว่า "ปล่อยคนผิดสิบคนดีกว่าจับ หรือลงโทษผู้บริสุทธิ์เพียงคนเดียว"  อย่างไรก็ตาม ได้ปรากฏว่าการพิจารณาและพิพากษาคดีมาตรา 112 ในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คดีอากง SMS  ซึ่งมี นายอำพล ตั้งนพกุล (เสียชีวิตไปแล้วขณะอยู่ในเรือนจำ)  กลับถูกตั้งคำถามอย่างมากจากสังคม ว่าการบังคับใช้กฎหมายของศาลเป็นไปตาม "หลักการ" ดังกล่าวหรือไม่ ทั้งนี้เพราะจำเลยในคดีนี้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ใช้โทรศัพท์มือถือส่งข้อความสั้น (SMS) ที่เข้าข่ายหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ โดยไม่มีประจักษ์พยาน ในขณะที่พยานแวดล้อมกรณีเองก็มีจำนวนไม่มาก และไม่น่าจะมีน้ำหนักเพียงพอ  แต่ศาลก็ยังพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยถึง 20 ปี ท่ามกลาง "ความสงสัย" หลายข้อที่แม้แต่ตัวคำพิพากษาเองก็ไม่สามารถอธิบายให้กระจ่างแจ้งได้ แน่นอนว่า ด้วยผลของคำพิพากษาของคดีอำพล ได้ก่อกระแสต่อต้านและสร้างความไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนที่ติดตามคดีประเภทนี้อยู่  รวมทั้งเคลือบแคลงในอุดมคติ ทัศนคติ อคติ กระทั่งความเป็นอิสระในการใช้ดุลพินิจของทั้งผู้พิพากษา อัยการ และพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบคดีมาตรา 112  ในฐานะที่ผู้เขียนติดตามคดีประเภทนี้มาบ้าง รวมทั้งได้รับรู้ถึงแนวคิด และขั้นตอนการต่อสู้ในคดีสุรภักดิ์ ซึ่งเป็นคดีที่มีประเด็นทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ด้วย จึงเห็นควรวิเคราะห์แนวทางการต่อสู้คดี รวมทั้งบทบาทและการทำหน้าที่ของฝ่ายที่เกี่ยวข้องถอดไว้เป็นบทเรียน หรือกรณีศึกษาต่อไป        

อนึ่ง บทเรียนชิ้นนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับบทบัญญัติมาตรา 112 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องอัตราโทษที่รุนแรงเกินไปและขัดกับหลักความได้สัดส่วน  ไม่เปิดโอกาสให้ผู้พิพากษาใช้ดุลพินิจกำหนดโทษได้ตามความเหมาะสมแห่งความเสียหาย และความร้ายแรง ในขณะที่กลับเปิดโอกาสให้ใครก็ได้เป็นผู้กล่าวโทษ ทั้งยังไม่มีบทมาตราใดอนุญาตให้จำเลยพิสูจน์ถึงการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสุจริตที่ยังอยู่ในกรอบแห่งรัฐธรรมนูญ และแนวทางประชาธิปไตย  นอกจากนี้ ผู้เขียนยังไม่เห็นด้วยกับลักษณะการบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้โดยไม่คำนึงถึงสิทธิในการต่อสู้คดีของผู้ต้องหาหรือจำเลย ด้วยการไม่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับการประกันตัว โดยอ้างว่าเป็นความผิดต่อความมั่นคง หรือการละเลย ย่อหย่อนในการแจ้งสิทธิแก่ผู้ต้องหา เพราะพฤติการณ์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ไม่เป็นไปตามหลักแห่งวิธีพิจารณาความอาญาที่ "ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเขาเป็นผู้กระทำความผิด" (Presumption of Innocence) อย่างไรก็ตาม ณ เวลาปัจจุบัน ที่กฎหมายมาตรานี้ยังไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไข ผู้เขียนยังคงเห็นว่า หากข้อความที่เผยแพร่เข้าข่ายเป็นความผิดจริงตามองค์ประกอบความผิด ซึ่งได้รับการตีความภายใต้อุดมการณ์ประชาธิปไตย รวมทั้งฝ่ายผู้กล่าวหามีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้อย่างแน่ชัดว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดจริง ไม่ใช่การกลั่นแกล้งฟ้องกัน หรือใช้มาตรานี้เป็นเครื่องมือทางการเมือง และไม่ใช่กรณีที่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมไม่มีทางเลือกอื่นใดอีกแล้ว นอกจากต้องลงโทษ บุคคลดังกล่าวก็ควรต้องรับผิดตามมาตรานี้ แต่ในอัตราโทษที่เหมาะสมกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง

ข้อเท็จจริงแห่งคดี [11]

จำเลย คือ นายสุรภักดิ์ (สงวนนามสกุล) มีอาชีพโปรแกรมเมอร์ และมีบริษัทรับเขียนโปรแกรมสำหรับสำนักงานต่าง ๆ ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 โดยข้อมูลจากศาลอาญาระบุว่า นายสุรภักดิ์ ถูกประชาชนรายหนึ่งกล่าวโทษกับพนักงานสอบสวนว่าเป็นเจ้าของอีเมล dorkao@hotmail.com และน่าจะเป็นคนเดียวกับเจ้าของเฟซบุคที่ตั้งชื่อเพจว่า "เราจะครองแผ่นดินโดทำรัฐประหาร"  และเขียนข้อความที่อาจเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ เผยแพร่ในเพจดังกล่าวจำนวน 5 ข้อความ ต่างวันและเวลากัน อันเป็นความผิด 5 กรรม ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ก็ได้รับแจ้งเบาะแสจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอีกรายหนึ่งว่า พบถ้อยคำดังกล่าวเช่นกันโดยน่าจะมีนายสุรภักดิ์ เป็นผู้สร้างหน้าเฟซบุคนี้ ตำรวจจากหน่วยงานปอท. จึงเข้าจับกุมนายสุรภักดิ์ในวันที่ 2 กันยายน 2554 เวลาประมาณ 14.00 น.  ตามที่อยู่ที่ได้รับแจ้งมา พร้อมเบาะแส รวมทั้งยึดของกลาง อันได้แก่  เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค 1 เครื่อง, แอร์การ์ด 1 อัน, ซิมการ์ดของบริษัททูมูฟ 2 อัน, ซิมการ์ดวันทูคอล 1 อัน, แผ่นซีดีบรรจุในกระเป๋าซีดี 52 แผ่น, โมเด็มเร้าท์เตอร์ 1 เครื่อง, คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ 1 เครื่อง และ แผงวงจรไฟฟ้า 1 ตัว  ซึ่งเป็นของนายสุรภักดิ์เองไปตรวจพิสูจน์ 

ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ และนับตั้งแต่สุรภักดิ์ถูกเจ้าหน้าที่จับกุม ก็ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยไม่เคยได้รับอนุญาตให้ประกันตัวเลย จนกระทั่งศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในวันที่ 31 ตุลาคม 2555  รวมระยะเวลาที่ถูกควบคุมตัวทั้งสิ้นราวหนึ่งปีกับอีกหนึ่งเดือน ในชั้นพิจารณาจำเลยยื่นคำให้การโดยปฏิเสธคำฟ้องโจทก์ตลอดข้อกล่าวหา และยื่นบัญชีระบุพยานเป็นพยานบุคคล 3 ปาก หนึ่งในนั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ 1 ปาก ในขณะที่พยานหลักฐานที่ฝ่ายโจทก์นำมาพิสูจน์ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น นอกจากพยานบุคคลแล้ว ยังประกอบด้วยพยานเอกสารอีกหลายฉบับ แต่มีฉบับสำคัญๆ คือ 

1) เอกสารภาพถ่ายหน้าจอ (Screen shot) ข้อความที่เขียนในเฟซบุคจำนวน 5 ข้อความ 
2) เอกสารจากบริษัทไมโครซอฟท์ซึ่งฝ่ายโจทก์อ้างว่า แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างเลขหมายประจำเครื่องคอมพิวเตอร์ (IP Address) ของจำเลย กับบัญชีผู้ใช้อีเมล dorkao@hotmail.com จนทำให้ทราบว่าเป็นบุคคลคนเดียวกัน รวมทั้ง Log File ที่บันทึกวันเวลาการลงทะเบียนเข้าใช้งานอีเมลดังกล่าว 
3) เอกสารประกอบรายงานการตรวจพิสูจน์คอมพิวเตอร์โดยพนักงานสอบสวน และ 
4) เอกสารที่โจทก์อ้างว่าแสดง "ข้อมูล" การเข้าใช้ทั้งอีเมล dorkao@hotmail.com และการลงทะเบียนเข้าใช้เฟซบุค "เราจะครองแผ่นดินโดยทำรัฐประหาร" ซึ่งบันทึกอยู่ในแฟ้มเก็บบันทึกชั่วคราว (Temporary Internet File) ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลย

แนวทางการต่อสู้คดี และข้อค้นพบสำคัญ

คดีนี้ทนายจำเลยไม่ต่อสู้ในประเด็น "เนื้อหา" ของข้อความจำนวน 5 ข้อความที่ถูกกล่าวโทษเลย เนื่องจากเห็นว่าเป็นข้อความที่เข้าองค์ประกอบเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ จริง จึงไม่มีประเด็น หรือความจำเป็นต้องกล่าวถึงเนื้อหาดังกล่าวซ้ำอีก แนวทางหลักในการต่อสู้คดีนี้จึงมุ่งเน้นที่ปัญหาว่า "จำเลย เป็นผู้เขียนหรือโพสต์ข้อความดังกล่าวในเฟซบุคจริงหรือไม่"  ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ซึ่งทนายความโดยคำแนะนำของพยานผู้เชี่ยวชาญพบว่า พยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์มีปัญหาเรื่อง "ความแท้จริง" หรือมี "ข้อพิรุธทางเทคนิค" หลายส่วน รวมทั้งใช้วิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ได้มาตรฐานการตรวจพิสูจน์ทาง "นิติคอมพิวเตอร์" (Computer Forensics) จนกลายเป็นสาเหตุให้เกิดความสงสัยแก่ศาล และพิพากษายกฟ้องจำเลยในท้ายที่สุด 

ประเด็นสำคัญ และข้อพิรุธด้านเทคนิคต่าง ๆ มีดังนี้ 
    

1)  ไม่มีความชัดเจนว่า จำเลยเป็นเจ้าของ หรือเป็นผู้ใช้อีเมล  dorkao@hotmail.com  ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นอีเมลของผู้เขียนข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามที่ฟ้องจริงหรือไม่  

2) วิธีการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์โดยเจ้าพนักงานในคดีนี้ ไม่ได้มาตรฐานตามหลักนิติคอมพิวเตอร์ จึงขาดความน่าเชื่อถืออย่างยิ่ง 

3) ข้อมูลที่ถูกอ้างว่าพบในเครื่องคอมพิวเตอร์ของกลาง มีพิรุธ หรือไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้  ทั้งในแง่ของจำนวนไฟล์ที่ค้นพบ และระยะเวลาการคงอยู่ของไฟล์ดังกล่าว 

4)  เฟซบุค มีนโยบายไม่อนุญาตให้บันทึกการใช้งานไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้  จึงย่อมเป็นไปไม่ได้เลย ที่โจทก์จะค้นพบไฟล์การใช้งานดังกล่าว แล้วนำมาอ้างว่าเก็บบันทึกอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลย

ทั้งนี้ รายละเอียดต่าง ๆ รวมทั้งภาพประกอบเพื่ออธิบาย "ข้อพิรุธทางเทคนิค" ทั้ง 4 ข้อ อยู่ใน "บทเรียนขนาดยาว"  หากท่านใดสนใจศึกษา สามารถคลิกเพื่อดาวน์โหลดได้ที่นี่ บทเรียนจากคำพิพากษายกฟ้องคดี 112 (คดีสุรภักดิ์) หรือที่ท้ายประกาศนิติราษฎร์ฉบับนี้

ข้อวิเคราะห์บทบาท และการทำหน้าที่ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับคดี 

ศาล หรือองค์คณะผู้พิพากษา


ปฏิเสธได้ยากว่า อุดมการณ์ ทัศนคติ ระดับความเป็นกลาง รวมทั้งความกล้าหาญในวิชาชีพของผู้พิพากษา มีผลอย่างมากต่อการพิจารณาคดีที่จำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ฯ ตามมาตรา 112  เพราะหากผู้พิพากษาผู้มีอำนาจพิจารณา และพิพากษาคดียังใช้และตีความมาตรา 112 ภายใต้แนวคิด และอุดมการณ์การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเป็นของพระมหากษัตริย์ ผู้ใดมิอาจกล่าวถึง หรือวิพากษ์วิจารณ์ได้เลย ย่อมทำให้ มิเพียงแต่การดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 112 เท่านั้นที่จะเป็นความผิด  หากแต่ยังขยายความอย่างกว้างขวางจนทำให้เพียงการพูดถึงในลักษณะที่ "ไม่เคารพ" หรือ "ไม่จงรักภักดี" (อย่างเพียงพอ) รวมทั้ง การวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของพระมหากษัตริย์ฯ ในขอบเขตและความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ ถูกถือเป็นความผิดไปด้วย ซึ่งย่อมไม่ใช่ความมุ่งหมาย หรือเจตนารมณ์ของมาตรา 112  ที่ถูกตราขึ้นในยุคของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อุดมการณ์และทัศนะคติราชาชาตินิยม หรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ดังกล่าว นอกจากถือเป็น "สิ่งที่ไม่ถูกต้อง" และไม่สอดคล้องกับระบอบการปกครองในปัจจุบันแล้ว ยังไม่เป็นมิตรกับสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอีกด้วย

ทัศนคติ และอุดมการณ์เช่นว่านี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มักถูกสะท้อนออกมาในรูปของการเขียนคำพิพากษา ผ่านถ้อยคำเยินยอพระเกียรติ เทิดทูนอย่างมาก หรือสื่อเป็นนัยว่าใครก็มิอาจแตะต้องหรือกล่าวถึงสถาบันฯ ได้เลยไม่ว่าในทางใด กระทั่งเชิงตำหนิติเตียนจำเลยว่า เป็นผู้ไม่สำนึกในบุญคุณแผ่นดิน หรือขาดความจงรักภักดี ทั้ง ๆ ที่ ถ้อยคำที่สื่อถึงความนึกคิด หรืออารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้ ไม่ควรปรากฎอยู่ได้เลยใน "คำตัดสินที่อาศัยหลักกฎหมาย" โดยผู้พิพากษาที่กล่าวอ้างกับสังคมเสมอมาว่าเป็นผู้ "สิ้นแล้วซึ่งอคติ" นอกเหนือจากถ้อยคำในสำนวนหรือคำพิพากษาแล้ว ในบางคดีผู้พิพากษายังถูกตั้งคำถามถึงอคติส่วนตัว จากบรรดาผู้สังเกตการณ์คดีทั้งชาวไทย และต่างประเทศด้วย ต่อการไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยประกันตัวในเกือบทุกกรณี การสั่งตัดพยานฝ่ายจำเลยจนส่งผลต่อการแพ้ชนะในคดี  รวบรัดตัดตอนการพิจารณา และที่ร้ายแรงที่สุดก็คือ พิพากษาโดยไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมาย 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาต่าง ๆ ในส่วนของศาลและผู้พิพากษานี้ ย่อมไม่อาจกล่าวได้อย่างเหมารวมไปเสียทุกคดี เพราะการพิจารณาคดีประเภทนี้ในบางคดี ไม่เฉพาะแต่คดีสุรภักดิ์เท่านั้น ผู้พิพากษาหลายคนก็ได้ทำหน้าที่พิจารณาไปตามสำนวน และรับฟังพยานหลักฐานทั้งโจทก์ และจำเลยอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน จริงอยู่ที่ว่า ผู้พิพากษาที่มีอคติเป็นผู้พิพากษาที่ต้องถูกตำหนิได้ แต่การตำหนิผู้พิพากษาโดยที่ผู้ตำหนิก็ตกอยู่ภายใต้อคติของตัวเองที่มีต่อผู้พิพากษาอย่างเหมารวม ย่อมถือเป็น "สิ่งไม่ถูกต้อง" เฉกเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ยังอาจทำให้ผู้ตำหนิมองไม่เห็นหรือมองข้าม "ข้อบกพร่อง" ในการสู้คดีอันเนื่องจากเหตุอื่น ๆ ไปด้วย  ไม่ว่าจะเป็น ความหนักแน่นเพียงพอของพยานหลักฐานฝ่ายจำเลยเอง  ความรู้ความเชี่ยวชาญของพยานผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้ความสามารถ ความแม่นยำในข้อกฎหมาย ประสบการณ์ รวมทั้งความขยันขันแข็งในการตระเตรียมคดีของทนายความฝ่ายจำเลย

ย้อนกลับมาที่ประเด็นทัศนคติของบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรม ควรต้องทราบด้วยว่า แม้ในคดีสุรภักดิ์จะไม่ได้มีการต่อสู้ในเรื่องถ้อยคำหรือเนื้อหาของข้อความที่ถูกกล่าวอ้างว่าผิดมาตรา 112  เลย หรือกล่าวอีกอย่างว่าเป็นการต่อสู้กันด้วย "ปัญหาเชิงเทคนิค" ล้วน ๆ แต่ประเด็นในเรื่อง "ทัศนคติต่อการบังคับใช้มาตรา 112"  ก็ยังปรากฏให้เห็นในคดีนี้ได้อย่างน่าสนใจ เพราะทนายความสามารถเลือกจังหวะ และรูปแบบการนำเสนอเรื่องนี้ได้อย่างเหมาะสม ดังปรากฏตอนหนึ่งในระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งทนายความฝ่ายจำเลยถามพยานผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ซึ่งรับราชการทหารว่า  "ทำไมอาจารย์จึงมาเป็นพยานในคดีนี้ ?"  พยานผู้เชี่ยวชาญ ตอบคำถามดังกล่าวไว้ทำนองว่า  



ด้วยหน้าที่การงานของผมซึ่งเป็นทหาร ผมเองย่อมต้องมีความจงรักภักดีในสถาบันฯ  สำหรับผม ความจงรักภักดีในสถาบันฯ มีหลายรูปแบบ แต่ผมไม่เห็นด้วยเลยกับการจงรักภักดี แบบที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน อย่างเช่น กลุ่มล่าแม่มด หรือกลุ่มที่อ้างตัวว่าเทิดทูนสถาบันฯ อื่น ๆ ที่ไล่ล่าฟ้องร้องคนที่ตัวเองสงสัยว่าหมิ่นสถาบันฯ โดยหลายครั้งไม่ทราบข้อกฎหมาย ไม่มีข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่เพียงพอ  ในขณะที่ผู้ที่ถูกฟ้องได้รับความเดือดร้อนทันที  และเมื่อได้รับความเดือดร้อน ย่อมไม่พอใจในตัวสถาบันฯ เป็นธรรมดา และไม่ใช่เฉพาะผู้ที่ถูกฟ้องเท่านั้น ญาติของผู้ที่ถูกฟ้องก็อาจไม่พอใจสถาบันฯ ไปด้วย และเราไม่รู้หรอกว่า ความไม่พอใจในสถาบันฯ ดังกล่าวนั้นจะขยายไปมากมายเพียงใด หน้าที่ของผมในครั้งนี้  ก็คือ การช่วยค้นหาความจริง เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้แก่ผู้ต้องสงสัย ซึ่งผมถือว่าเป็นวิธีการปกป้องสถาบันฯ รูปแบบหนึ่ง

บทเรียนหนึ่งที่อาจถอดได้จากคดีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เชื่อว่า จำเลย หรือผู้ถูกกล่าวหาไม่ใช่ผู้กระทำความผิด แต่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าทุก ๆ ฝ่ายที่รับผิดชอบคดี มักพิจารณาโดยติดอยู่ในกรอบคิดบางอย่างที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็คือ การต่อสู้คดีประเภทนี้ จำเป็นต้องมีการเน้นย้ำ และสอบทานอุดมการณ์ และทัศนคติของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับคดีเสมอ ในจังหวะและด้วยวิธีการที่เหมาะสม ทั้งนี้  เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้พิพากษาตัดสินคดีอย่างมีอคติ หรือตัดสินคดีเพียงเพื่อรับใช้อุดมการณ์ที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยของตนเอง หรือของผู้อื่น  หรือหากในที่สุดแล้ว แม้ผู้พิพากษาผู้รับผิดชอบคดีนั้นจะไม่เคยสนใจหรือละอายใจต่อความมีอคติของตน รวมทั้งไม่เคยคิดว่าอุดมการณ์ที่ไม่เป็นมิตรกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนเป็นเรื่องที่มีปัญหาต้องแก้ไข การทำคดีในลักษณะที่คอยกระตุ้นเตือนให้เห็นถึงพิษภัยของการตีความมาตรา 112  อย่างเกินเลยออกไป ซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็คือภัยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เอง ก็น่าจะทำให้ผู้พิพากษานั้นไม่อาจตัดสินลงโทษจำเลยได้โดยง่าย หรืออย่างไม่มีเหตุผลที่หนักแน่นเพียงพอมารองรับการตัดสินใจของตน

ทนายความฝ่ายจำเลย

เนื่องจากระบบการพิจารณาคดีอาญาในประเทศไทยเป็น "ระบบกล่าวหา" (accusation system) กล่าวคือ เป็นระบบที่แยกองค์กรสอบสวนฟ้องร้องคดี กับองค์กรพิจารณาพิพากษาคดี ออกจากกันอย่างชัดเจน อีกทั้งฐานะของผู้ถูกกล่าวหา หรือจำเลยก็เปลี่ยนจาก "วัตถุ" แห่งการถูกซักฟอก หรือเป็น "กรรม" ในคดีอาญามาเป็น "ผู้ร่วม" ในการเสนอ และค้นหาความจริงในคดี จำเลยจึงย่อมได้รับสิทธิต่าง ๆ ที่จะต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ [12]  ดังนั้น บทบาทของทนายความ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง แม้อาจไม่ได้มีมากเท่ากับระบบกล่าวหาแบบที่มีลูกขุนก็ตาม คดีมาตรา 112  เป็นคดีที่มีความยากลำบากโดยตัวเอง เพราะดังกล่าวไปแล้วว่า คดีประเภทนี้มิอาจจบลงได้เพียงแค่การต่อสู้กันในเรื่อง "องค์ประกอบของความผิด" แบบคดีโดยทั่วไปเท่านั้น  แต่ยังต้องสู้กับอุดมการณ์ และทัศนคติของผู้พิพากษา รวมทั้งวัฒนธรรมความเชื่อ ความเข้าใจของคนในสังคมด้วย เช่นนี้ ทนายความจึงนอกจากต้องเป็นผู้มีประสบการณ์สูงในการต่อสู้คดี มีความแม่นยำในหลักกฎหมาย  มีความชัดเจนในการกำหนดประเด็นต่อสู้ รวมทั้งมีความกล้าหาญที่จะยืนยันความถูกต้อง แล้ว ยังต้องมีความทนทานต่อเสียงกดดันจากสังคมทั่วไปด้วย กล่าวเฉพาะสำหรับคดีสุรภักดิ์ หรือคดีที่มีประเด็นทางเทคนิค หรือเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ทนายความยังจำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ และบริการต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ตพอสมควรอีกโสตหนึ่ง

จริงอยู่ที่ว่าประเด็นทางเทคนิคที่ซับซ้อนมาก ๆ คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพยานผู้เชี่ยวชาญ แต่ความรู้พื้นฐานของทนายความยังคงมีความสำคัญ  เพราะทนายความคือคนที่ต้องวิเคราะห์สำนวน และตัดสินใจว่าประเด็นใดที่จะมีผลทางกฎหมาย หรือเป็นประโยชน์กับคู่ความฝ่ายตน ทนายความต้องสามารถถามคำถามพยานผู้เชี่ยวชาญได้อย่างชัดเจน ตรงประเด็น และสื่อความหมาย หรือสิ่งที่ต้องการให้ศาลรู้ได้ว่าคำถามที่ถามนั้นต้องการตอบโจทย์อะไร และมีความเกี่ยวพันอย่างไรกับคดี เพื่อให้ศาลสามารถเข้าใจและจดบันทึกเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาได้อย่างไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน  ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทนายความจำเป็นต้องทำการบ้าน และเตรียมคดีในระดับที่มากกว่าคดีปกติ หรือจำเป็นต้องขอคำปรึกษา หรือกระทั่งแนวคำถามจากพยานผู้เชี่ยวชาญ 

วิธีการต่อสู้ในคดีพื้นฐานทั่วไป หลาย ๆ กรณี เป็นเรื่องต้องห้าม หรือไม่ควรทำอย่างยิ่งในคดีเทคโนโลยี อาทิเช่น การถามคำถามวกวนไปมากับคู่ความ หรือพยานของฝ่ายตรงข้ามโดยคาดหวังว่าอีกฝ่ายอาจเผลอตอบในสิ่งที่เข้าตัว หรือเป็นประเด็นที่สำคัญแก่คดีออกมาเอง หรือการพยามปิดบังอำพรางสิ่งที่ฝ่ายตัวเองต้องการรู้เอาไว้ เพราะเกรงว่าทนายของคู่ความฝ่ายตรงข้ามจะเดาออก  แล้วหาทางต่อสู้หรือแก้ต่างได้ เนื่องจาก สิ่งเหล่านี้ในที่สุดแล้ว อาจทำให้ผู้พิพากษาไม่เข้าใจไปด้วย ซึ่งย่อมเป็นผลเสียอย่างยิ่งต่อฝ่ายผู้ถามเอง และข้อสำคัญที่ทนายความในคดีเทคโนโลยี ต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ก็คือ การสรุปรวบยอด หรือขมวดประเด็นในตอนท้ายสุดของการถามคำถาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเทคนิค ให้ศาลเข้าใจได้ว่า  ที่ถามมาทั้งหมดนั้น แสดงให้เห็นถึงสิ่งใด หรือต้องการทำลายน้ำหนักพยานหลักฐานของอีกฝ่ายในเรื่องใด เป็นต้น 

พยานหลักฐาน พยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์  และพยานผู้เชี่ยวชาญ

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าคดีเกี่ยวกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ หรือเทคโนโลยีสารสนเทศจำนวนมาก หรือโดยส่วนใหญ่เป็นคดีที่มักไม่มี "ประจักษ์พยาน" (Eyewitness) ซึ่งหมายถึง พยานบุคคลที่ได้รู้เห็นหรือสัมผัส (perceive) กับข้อเท็จจริงหรือเหตุการณ์ที่มาเบิกความด้วยตนเองโดยตรง ทั้งนี้ไม่ว่าจะรู้เห็นมาด้วยประสาทสัมผัสประเภทใดก็ตาม ดังนั้น ข้อยืนยันแบบแน่นอนถ่องแท้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดจึงแทบเป็นไปมิได้เลย คดีลักษณะนี้จึงจำเป็นต้องอาศัย "พยานแวดล้อมกรณี" (Circumstantial Evidence) หรือ "พยานแวดล้อม" เป็นสำคัญ กล่าวคือ พยานหลักฐานที่มุ่งพิสูจน์ข้อเท็จจริง ซึ่งมิได้เป็นประเด็นพิพาทในคดีโดยตรง หากแต่ใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริงอื่น ๆ ที่จะช่วยบ่งชี้ได้ว่าข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นพิพาทนั้นน่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ หรือถ้าเกิดขึ้นแล้วใครน่าจะเป็นผู้กระทำการนั้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยหลักสำคัญที่เกี่ยวกับการพิจารณา และพิพากษาคดีอาญาที่ว่า ในคดีอาญานั้นต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้กล่าวหา หรือจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเขาเป็นผู้กระทำความผิด ซึ่งความผิดนั้นจะต้องได้รับการพิสูจน์จนสิ้นสงสัยด้วย (All defendants in criminal cases are presumed to be innocent until proven guilty beyond a reasonable doubt) อันเป็นหลักที่ปรากฏในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามมาตรา 227 ความว่า 

"ศาลมีดุลยพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำความผิดจริง และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น
    เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำความผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย" 

ดังนั้น แม้คดีที่เกิดขึ้นจะแสวงหาประจักษ์พยานได้ยาก แต่ก็มิได้หมายความโดยอัตโนมัติว่า คดีประเภทนี้ ศาลสามารถพิพากษาลงโทษจำเลยได้ แม้ยังปรากฏข้อสงสัยอยู่ คดีลักษณะนี้ต้องอาศัยพยานแวดล้อมที่เพียงพอแน่นหนาจริง ๆ หรือที่มิอาจโต้แย้งได้ และเพื่อให้เกิดการอำนวยความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง ฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจึงต้องใช้ความรู้ความสามารถ และความพยายามในการแสวงหา  วิเคราะห์ และรับฟังพยานหลักฐานต่าง ๆ มากกว่าในคดีปกติธรรมดา อาทิ ผู้พิพากษาควรต้องเปิดโอกาสให้มีการสืบพยานแวดล้อมประเภทต่าง ๆ ที่น่าจะเกี่ยวข้องกับคดีอย่างกว้างขวางและเท่าเทียม แม้อาจทำให้ดูเหมือนล่าช้าไปบ้าง อนุญาตให้มีการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้าสืบโดยตรงไม่ใช่แค่เพียงสืบจากสำเนา หรือ  Print out  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ต้องมีการแสดงให้เห็นถึงวิธีการทำงาน หรือระบบการประมวลผลของอุปกรณ์เหล่านั้น  กระทั่งความเป็นไปได้ในกรณีที่ข้อมูลซึ่งนำมาเป็นพยานอาจถูกแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือสร้างขึ้น ฯลฯ  ในขณะที่ฝ่ายโจทก์เองก็ต้องหาพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือเพียงพอ ที่สามารถบ่งชี้ได้อย่างแน่นหนาว่าจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกันกับผู้กระทำความผิด แม้จะไม่มีประจักษ์พยานผู้พบเห็นขณะกระทำความผิดก็ตาม  ซึ่งในที่นี้อาจหมายถึง พยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงถึงตัวผู้เป็นจำเลยได้ตามสมควร  หรือพยานที่แสดงพฤติกรรมของจำเลยที่เกี่ยวกับการใช้งานคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น 

สำหรับคดีสุรภักดิ์ มีประเด็นที่น่าสนใจยิ่ง ก็คือ ผู้พิพากษาอนุญาตให้ฝ่ายจำเลยนำคอมพิวเตอร์ประกอบการสืบพยานในชั้นพิจารณาได้ ในขณะที่ศาลในคดี 112 และพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ คดีอื่น ๆ ที่ผ่านมา ศาลมักไม่อนุญาตให้ทำเช่นนั้น ด้วยเหตุผลทำนองว่า ไม่ว่าประเด็นในคดีจะมีความซับซ้อนเพียงใด คู่ความก็ต้องหรือควรสามารถอธิบายให้ศาล รวมทั้งคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเข้าใจได้โดยใช้ "ปากเปล่า" ซึ่งถือเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนอย่างมาก ทั้งนี้ เพราะประเด็นเกี่ยวกับเทคโนโลยี ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจเฉพาะทาง เพียงการอธิบายปากเปล่านั้น หากเทคนิคไม่ซับซ้อนมากก็ "อาจ" พอทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจได้ แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น นอกจากการอธิบายด้วยถ้อยคำเพียงอย่างเดียวจะไม่ทำให้เห็นภาพใด ๆ ได้แล้ว ยังทำให้น้ำหนักของพยานที่กล่าวอ้างนั้นถูกลดทอนลง ในขณะที่ศาลเองเมื่อไม่เข้าใจก็พร้อมที่จะไม่เชื่อในพยานหลักฐานนั้น ซึ่งย่อมกระทบต่อการอำนวยความยุติธรรม  

อนึ่ง เนื่องจากพยานส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมดในคดีประเภทนี้ (รวมทั้งคดีนี้) เป็นพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีปัญหาในเรื่องของการตีความหมาย ความน่าเชื่อถือ และความอ่อนไหวของตัวพยานหลักฐาน กล่าวคือ ลบ สร้างใหม่  แก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงได้ง่ายดาย และรวดเร็ว การสืบพิสูจน์พยานอิเล็กทรอนิกส์จึงมีความจำเป็น หรือแทบมิอาจหลีกเลี่ยงได้ที่จะต้องอาศัยการแปลความหมาย และการตรวจสอบ หรือยืนยันความถูกต้องแท้จริงจาก พยานผู้เชี่ยวชาญ (Expert witness) เสมอ ซึ่งในทางกฎหมายถือเป็น "พยานบุคคล" ประเภทหนึ่ง ที่มาเบิกความในลักษณะของการ "แสดงความเห็น" โดยอาศัยความรู้ความสามารถ หรือประสบการณ์ของตนต่อข้อมูลหรือประเด็นแห่งคดี ทั้งนี้ มิใช่ในฐานะที่ตนได้พบเห็นเหตุการณ์มา แต่เป็นเพราะคดีนั้นมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ หรือวิทยาการเฉพาะทาง  โดยพยานผู้เชี่ยวชาญอาจให้ความเห็นเป็นถ้อยคำด้วยการเบิกความต่อหน้าศาลเลย หรือทำเป็นเอกสารความเห็นก็ได้ [13]  โดยนอกจากหลักฐานในเรื่องคุณวุฒิ การศึกษา ประสบการณ์ทำงาน และความรู้ความเชี่ยวชาญแล้ว คำพยานผู้เชี่ยวชาญจะมีน้ำหนักอย่างยิ่งก็ต่อเมื่อ ได้แสดงให้ศาลเห็นว่า พยานผู้เชี่ยวชาญที่นำเข้าสืบนั้นไม่ว่าจะมาจากฝ่ายโจทก์ หรือจำเลย มีความเป็นกลาง ไม่มีอคติ หรือกระทั่งสนิทสนมคุ้นเคยกับคู่ความมาก่อน โดยวิธีการหนึ่งที่อาจช่วยสะท้อนให้ศาลเห็นได้ ก็คือ การให้ตอบคำถามที่เกี่ยวกับทัศนคติของพยานผู้เชี่ยวชาญที่มีต่อคดีความนั้น ๆ ก่อนเริ่มสืบพยาน

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ากังวลว่า แม้พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 จะประกาศใช้บังคับมาแล้วกว่า 5 ปี แต่พนักงานสอบสวนผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในระดับที่ถือได้ว่าเป็น "ผู้เชี่ยวชาญ" จริง ๆ นั้นยังมีจำนวนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนคดีความประเภทนี้14  ในฝั่งฟากของเอกชนเอง แม้อาจมีจำนวนมากกว่า แต่ก็หาไม่ได้ง่ายนัก หรือมิเช่นนั้นก็ต้องมีค่าใช้จ่ายสูง ในขณะที่ตามกฎหมาย รวมทั้งแนวนโยบายแห่งรัฐไทยไม่เคยมีการสนับสนุนค่าใช้จ่าย หรือช่องทางการเข้าถึง "พยานผู้เชี่ยวชาญ" ให้แก่ฝ่ายจำเลย ซึ่งนั่นอาจหมายความว่า  พยานผู้เชี่ยวชาญที่นำมาสืบในคดีจำนวนไม่น้อย ในที่สุดแล้วอาจมีความรู้ความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่ถึงมาตรฐานของความเชี่ยวชาญ ฉะนั้น "การพิสูจน์ถึงความเชี่ยวชาญ" ของพยานผู้เชี่ยวชาญที่อีกฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้าง ในคดีเทคโนโลยี จึงนับเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง ในคดีสุรภักดิ์นั้น ทนายความฝ่ายจำเลยขอให้พยานผู้เชี่ยวชาญฝ่ายโจทก์  ให้ความเห็นหรือยืนยันต่อศาลว่า  เครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้สามารถเก็บบันทึกข้อมูลการใช้งาน (Cache File) เว็บไซต์เฟซบุค ไว้ในพื้นที่บันทึกชั่วคราว (Temporary File) ได้หรือไม่  ปรากฎว่าพยานผู้เชี่ยวชาญฝ่ายโจทก์ยืนยันว่าสามารถเก็บบันทึกได้  แต่เมื่อพยานผู้เชี่ยวชาญฝ่ายจำเลย สามารถใช้คอมพิวเตอร์แสดงให้ศาลเห็นได้ว่า เฟซบุคไม่ Cache ไฟล์ (ดังอธิบายไว้ในบทเรียนขนาดยาว) จึงกลายเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า พยานผู้เชี่ยวชาญที่ฝ่ายโจทก์อ้างมา มีปัญหาในเรื่องของ "ความเชี่ยวชาญ" ซึ่งย่อมกระทบต่อความน่าเชื่อถือของการให้ถ้อยคำของพยานนั้นเองโดยอัตโนมัติ

บทสรุป

แม้ในที่สุดแล้ว คำพิพากษายกฟ้องของศาลในคดีสุรภักดิ์ จะไม่ได้ตอบโจทก์ใด ๆ ทั้งสิ้นเกี่ยวกับปัญหาของตัวบทบัญญัติ รวมทั้งการบังคับใช้มาตรา 112  เนื่องจากไม่มีการสืบสู้กันในประเด็นความหมายของถ้อยคำ หรือเพื่อยืนยันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในอันที่จะกล่าวถึง หรือกระทั่งวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โดยสุจริต หรือในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ  แต่การตัดสินยกฟ้องคดีดังกล่าวท่ามกลางกระแสการเทิดทูนสถาบัน ฯ อย่างเกินพอดีในปัจจุบัน ภายใต้เงื่อนไขที่ไร้ข้อกังขาว่า "ถ้อยคำ" ที่ถูกฟ้องนั้นเป็นความผิดหรือไม่  ย่อมถือเป็นก้าวสำคัญอันน่ายินดี ทั้งยังทำให้ประชาชนมองเห็นแสงสว่างรำไรว่า "หลักกฎหมาย" สำคัญหลายข้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักที่ว่า  "ต้องพิสูจน์จนสิ้นสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด" นั้น ยังคง "ใช้การ" ได้อยู่บ้างในกระบวนการยุติธรรมไทย              

Montesquieu  เคยกล่าวว่า  "There is no crueler tyranny than that which is perpetuated under the shield of law and in the name of justice."  (ไม่มีความเลวร้ายใดที่จะยิ่งไปกว่า ความเลวร้ายที่ได้กระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย หรือในนามของกระบวนการยุติธรรม) หากเรามองว่าทั้งตัวบทบัญญัติมาตรา 112  เอง การบังคับใช้  รวมทั้งอุดมการณ์ ทัศนคติของคนในกระบวนการยุติธรรม ณ ปัจจุบัน เป็นอุปสรรคในการแสวงหาความจริง หรือกระทบเลยเถิดไปถึงกระบวนการสร้างประชาธิปไตย อุปสรรคนี้ย่อมไม่น่ากลัว หรือยากที่จะฟันฝ่าไปได้เลย หากเราเองยึดมั่นในหลักนิติรัฐประชาธิปไตย รวมทั้งมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการช่วยกันแสวงหาความยุติธรรมให้กับบุคคลที่โดนคดีประเภทนี้ ดังที่ใครบางคน เคยกล่าวว่า "Obstacles are those frightful things you see when you take your eyes off your goals" (อุปสรรค คือ สิ่งที่น่าตกใจ ก็ต่อเมื่อคุณไม่ได้มองไปที่จุดหมายปลายทาง).  

----------------------------------
เชิงอรรถ

  1. ดูคำพิพากษาได้ที่ http://prachatai.com/journal/2012/10/43413
  2. ดูรายละเอียดคดีนี้ใน http://freedom.ilaw.or.th/th/case/27, https://www.facebook.com/serithai.net/posts/324251984254044
  3. ดูรายละเอียดคดี และคําพิพากษาใน http://prachatai.com/journal/2011/12/38334
  4. ดูรายละเอียดคดี และคําพิพากษาใน http://prachatai.com/journal/2009/04/20601
  5. ดูรายละเอียดคดี และคําพิพากษาใน http://lmwatch.blogspot.com/2009/04/blog-post_2270.html
  6. ดูรายละเอียดคดี และคำพิพากษาใน http://prachatai.com/journal/2011/03/33552
  7. ดูรายละเอียดคดี และคําพิพากษาใน http://prachatai.com/journal/2011/10/37320
  8. ดูรายละเอียดคดี และคําพิพากษา ใน http://prachatai.com/journal/2012/05/40757
  9. ดาวน์โหลดคําพิพากษาได้ที่ http://prachatai.com/sites/default/files/Ampon.pdf
  10. ดูรายละเอียดคดี และคําพิพากษานี้ ใน http://prachatai.com/journal/2012/11/43892
  11. ดูรายละเอียดของคดีใน http://ilaw.or.th/node/1363
  12. ณรงค์ ใจหาญ, หลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เล่ม 1, กรุ งเทพฯ : วิญญูชน, 2555, หน้า 28.
  13. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 243 "ผู้ใดโดยอาชีพหรือมิใช่ก็ตาม มีความเชี่ยวชาญในการใด ๆ เช่น ในทางวิทยาศาสตร์ ศิลปะ ฝีมื อ พาณิชยการ การแพทย์ หรือ กฎหมายต่างประเทศ และซึ่งความเห็นของผู้นั้นอาจมีประโยชน์ในการวินิจฉัยคดี ในการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา อาจเป็นพยานในเรื่องต่าง ๆ เป็นต้นว่า ตรวจร่างกายหรือจิตของผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือจําเลย ตรวจลายมือทําาการทดลองหรือกิจการอย่างอื่นๆ 

    ผู้เชี่ยวชาญอาจทําความเห็นเป็นหนังสือก็ได้แต่ต้องส่งสําเนาหนังสือดังกล่าวให้ศาล และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งทราบ และต้องมาเบิกความประกอบหนังสือนั้น เว้นแต่มีเหตุจำเป็นหรือคู่ความไม่ติดใจซักถามผู้เชี่ยวชาญนั้น ศาลจะให้รับฟังความเห็นเป็นหนังสือดังกล่าวโดยผู้เชี่ยวชาญไม่ต้องมาเบิกความประกอบก็ได้

    ในกรณีที่ผู้เชี่ยวชาญต้องมาเบิกความประกอบ ให้ส่งสําาเนาหนังสื อดังกล่าวต่อศาลในจําานวนที่เพียงพอล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนวันเบิกความ เพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมารับไป

    ในการเบิกความประกอบ ผู้เชี่ยวชาญจะอ่านข้อความที่เขียนมาก็ได้"
  14. สาวตรี สุขศรี/ ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ/ อรพิณ ยิงยงพัฒนา, อาชญากรรมคอมพิวเตอร์?: งานวิจัยหัวข้อ ผลกระทบจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําาความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และนโยบายของรัฐกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น, 2555, หน้า 114 – 117.

คลิกที่ชื่อเรื่อง หรือลูกศรเล็ก เพื่อดาวน์โหลด "บทเรียนขนาดยาว" 


 

ที่มา: ประกาศนิติราษฎร์ ฉบับที่ 39 http://www.enlightened-jurists.com/blog/73

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘วันความหลากหลายทางเพศ’ จี้ออกกฎหมายรับรองสถานภาพชีวิตคู่ LGBT

Posted: 30 Nov 2012 01:57 AM PST

กรรมการสิทธิฯ ร่วมกับหลายองค์กร ร่วมรณรงค์กำจัดอคติทางเพศ เนื่องในวันสิทธิความหลากหลายทางเพศโดยจัดเวทีสาธารณะ 'ก้าวต่อไปของสิทธิมนุษยชนกับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ'

 
ภาพจาก: http://sapaan.org/
 
29 พ.ย.2555 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สมาคมฟ้าสีรุ้ง เครือข่ายเพื่อกะเทยไทย มูลนิธิธีรนาถกาญจนอักษร มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ กลุ่มสะพาน และกลุ่มบ้านเราแสนสุขใจ ร่วมจัดงานสัมมนาเรื่อง "ก้าวต่อไปของสิทธิมนุษยชนกับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ" โดยมีวิทยากรจากแวดวงวิชาการ ทหาร และผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่เสมอภาคกันในทางเพศเข้าร่วมแลกเปลี่ยนต่อประเด็นดังกล่าว
 
กำเนิดวันสิทธิความหลากหลายทางเพศ
 
จากกรณีที่ "สามารถ มีเจริญ" ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนข้อความในใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกิน (แบบ สด. 43) ใบสำคัญสำหรับคนจำพวกที่ 4 (แบบ สด. 5) และใบสำคัญ (แบบ สด. 9) ในส่วนที่ระบุว่าตน "เป็นโรคจิตถาวร" ซึ่งเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความมนุษย์และทำให้เสื่อมเสียหรืออับอาย เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2549
 
และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า สามารถเป็นผู้มีเพศกำเนิดเป็นชายแต่เลือกดำเนินชีวิตเพศหญิง (เรียกกันโดยทั่วไปว่าสาวประเภทสองหรือกะเทย) ศาลปกครองกลางจึงพิพากษาเพิกถอนใบสำคัญดังกล่าวของนายสามารถ เฉพาะในส่วนที่ระบุข้อความว่า "เป็นโรคจิตถาวร" และแก้ไขเป็น "ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด" เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2554[i]
 
นับว่าเป็นการพัฒนาไปอีกขั้นในเรื่องการยอมรับของสังคมต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ทางเครือข่ายความหลากหลายทางเพศจึงได้ถือเอาวันที่ 29 พ.ย.ของทุกปีเป็น "วันสิทธิความหลากหลายทางเพศ"
 
บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศกับการคัดเลือกทหารเกณฑ์
 
พันเอกไตรจักร์ นาคะไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองการสัสดี กระทรวงกลาโหม อธิบายเรื่องใบรับรองผลการตรวจคัดเลือกเข้ารับราชการทหารของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศว่า ปัจจุบันจะไม่จัดผู้ที่มีเพศกำเนิดเป็นชายแต่เลือกดำเนินชีวิตเพศหญิง เป็นบุคคลจำพวกที่ 4 หรือจำพวก "พิการ ทุพพลภาพ หรือ มีโรคที่ไม่สามารถรับราชการทหารได้" เหมือนแต่ก่อน แต่จะกลายเป็นบุคคลจำพวกที่ 2 หรือจำพวก "ไม่สมบูรณ์ดีแต่ไม่ถึงกับทุพพลภาพ"
 
ไตรจักร์กล่าวด้วยว่า บุคคลจำพวกที่ 2 ไม่ถือว่าเป็นโรคที่ขัดต่อการรับราชการทหารแต่อย่างใด และยังต้องเข้ารับราชการทหารอีกด้วย ถ้าบุคคลจำพวก 1 หรือคนจำพวกร่างกายสมบูรณ์ดีนั้นมีไม่เพียงพอ
 
คำนำหน้านามและบาดแผลที่เริ่มจางหาย
 
สิริลดา โคตรพัฒน์ หรือ ดาเป็นบุคคลที่มีอวัยวะเพศกำกวม (Intersex) ขณะที่เกิดมีอวัยวะเพศทั้งชายและหญิง โดยแพทย์ระบุว่าเป็นเพศชาย จึงได้แจ้งเกิดว่าเป็นเพศชาย แต่ตลอดระยะเวลาที่คำนำหน้าของดาเป็น "ด.ช. หรือ นาย" นั้น ดากลับมีวิถีทางเพศอย่างเพศผู้หญิง และยังได้ผ่าตัดเป็นเพศหญิงแล้ว นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ดาถูกล้อเลียน ถูกล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกหลายประการ ดายังเล่าให้ฟังว่ายังเคยเกือบถูกข่มขืนถึง 3 ครั้ง
 
แต่บาดแผลก็เริ่มจางหาย เมื่อในที่สุดดาได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพร้อมด้วยใบรับรองแพทย์ที่วินิจฉัยยืนยันอัตลักษณ์ทางเพศ เพื่อขอให้เปลี่ยนคำนำหน้านามจาก "นาย" เป็น "นางสาว" ซึ่งก็สำเร็จด้วยดีจากความร่วมมือกันระหว่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาจติกับกรมการปกครอง
 
อย่างไรก็ตาม ดาและเครือข่ายความหลากหลายทางเพศยังมีเป้าหมายต่อไปอีก คือการผลักดันให้มีการอนุญาตให้ผู้ที่มีเพศภาวะไม่ตรงกับเพศกำเนิดก็ต้องเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อได้เช่นเดียวกัน
 
อคติทางเพศที่สะท้อนผ่านการรับบริจาคเลือด
 
สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ เล่าถึงครอบครัวหนึ่งซึ่งมีลูกอยู่ 4 คน ต่อมาพบว่าลูกคนหนึ่งติดเชื้อ HIV ทั้งๆ ที่ไม่มีใครในบ้านติดเชื้อ HIV เลย พอย้อนกลับไปดูก็พบว่ามีพฤติการณ์ที่โอกาสได้รับเชื้ออยู่ คือการรับบริจาคเลือด ซึ่งเป็นเลือดจากสภากาชาดไทย ที่การรับบริจาคเลือดจากสถากาชาดไทยยังมีความเสี่ยงอยู่ เพราะชุดน้ำยาตรวจหาเชื้อ HIV สามารถตรวจพบเชื้อได้เฉพาะในผู้ที่ติดเชื้อมาแล้ว 16-22 วัน หมายความว่าถ้ามีผู้ได้รับเชื้อมาเพียง 2 วันก็จะไม่สามารถตรวจพบได้ว่าติดเชื้อมาแล้ว
 
สุภัทรา กล่าวด้วยว่า การคัดกรองผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อ HIV ในขั้นต้นจะมีการให้กรอกแบบฟอร์มซึ่งมีคำถามทำนอง "ท่านมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันหรือไม่" ซึ่งเธอแสดงความคิดเห็นว่ามันไม่ได้อะไรจากการถามคำถามแบบนี้ ทำไมไม่ถามว่า "ภายใน 1 เดือน ท่านมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวยถุงยางหรือไม่" คำถามแบบนี้จะมีประสิทธิภาพในการคัดกรองมากกว่าการใช้คำถามที่มีอคติทางเพศ ซึ่งได้ตีตราแบบเหมาเข่งว่าคนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้เป็นผู้มีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อ HIV และได้นำไปสู่การเลือกปฏิบัติในอีกหลายมิติ เช่นล่าสุดก็มีการไม่รับบริจาคเลือดจากกลุ่มชายรักชาย
 
กฎหมายรับรองสถานะชีวิตคู่จะนำไปสู่การยอมรับของสังคม
 
ช่วงบ่ายของการสัมมนา "ก้าวต่อไปของสิทธิมนุษยชนกับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ" เป็นการนำเสนอปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายการสมรสและข้อเสนอกฎหมายรับรองสถานะชีวิตคู่ โดยมีผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย ทินกิจ นุตวงษ์ นักวิจัยอิสระ, รณภูมิ สามัคคีคารมย์ นักวิชาการประจำศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล, ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ กลุ่มสะพาน, ไพศาล ลิขิตปรีชากุล มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ
 
ในเวทีดังกล่าวมีการระบุว่ากฎหมายของไทยกำหนดให้คู่สมรสต้องเป็นชายกับหญิงเท่านั้น ทำให้ครอบครัวของผู้ที่มีเพศทางสรีระเหมือนกันไม่ได้รับการยอมรับในการใช้ชีวิตคู่ และมองว่าเป็นเรื่องอับอายและกลัวว่าจะไม่มีลูกให้สืบสกุล ซ้ำยังด่าว่า เสียดสี หรือบังคับให้บวชซึ่งถือว่าเป็นการทำร้ายจิตใจอย่างรุนแรง นำไปสู่ความรุนแรงอย่างกว้างขวางจากบุคคลรอบตัว การล่วงละเมิดทางเพศ ทุบตีหรือทำร้ายจนเสียชีวิตก็มีให้เห็นบ่อยครั้งในหน้าสื่อ
 
และการที่ไม่สามารถแต่งงานกันได้นี้ก็ทำให้ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางกฎหมายและทางสังคมจากการเป็นคู่สมรสได้ เช่น สิทธิในผลประโยชน์จากการทำประกันภัย สิทธิในกรณีคู่สมรสเป็นข้าราชการ การแบ่งทรัพย์สินกันตามกฎหมายครอบครัว
 
การรณรงค์กฎหมายรับรองสถานภาพชีวิตคู่จึงไม่เพียงช่วยรับรองชีวิตคู่ของ LGBT เท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นกลไกทางสังคมประการหนึ่งที่ช่วยทำลายอคติ สร้างความรู้ความเข้าใจที่ดีขึ้นในตัวตนทางเพศของ LGBT[ii]  นอกจากนี้ต้องมีมาตรการทางสังคมอื่นๆ เพื่อสร้างความยอมรับของคนในสังคมต่อการใช้ชีวิตคู่ของ LGBT ซึ่งปัจจุบันมีการวางแนวทางปฏิบัติไว้แล้ว แต่ยังไม่มีคณะทำงานที่ชัดเจนและหลากหลาย
 
 
 
 

[i] ข่าวศาลปกครอง ครั้งที่ 49/2554 อ่านฉบับเต็มได้ที่ http://www.admincourt.go.th/attach/news_attach/2011/09/press13092554.pdf
 
[ii] "สถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่มีความหลากหลายทางเพศที่มีความก้าวหน้า" เอกสารประกอบการสัมมนา

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐสภาดัทช์ยกเลิกกม. 'หมิ่นพระเจ้า'

Posted: 30 Nov 2012 12:48 AM PST

ด้วยการนำของพรรคลิเบอรัลในสภาเนเธอร์แลนด์ ได้ผ่านมติยกเลิกกฎหมายที่ทำให้การหมิ่นศาสนาเป็นอาชญากรรม โดยระบุว่ากฎหมายดังกล่าวที่มีตั้งแต่ทศวรรษ 1930 ไม่เหมาะสมสำหรับศตวรรษที่ 21 อีกต่อไป 

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 55 - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า รัฐสภาดัทช์ได้อนุมัติวาระให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นศาสนา ทำให้ผู้สนับสนุนด้านเสรีภาพในการแสดงออกต่างยินดีกับความเคลื่อนไหวนี้ และเป็นการยืนยันสิทธิของผู้ที่ต่อต้านศาสนาอิสลามในการวิพากษ์วิจารณ์ 
 
สมาชิกสภาส่วนใหญ่ในรัฐสภาดัทช์ ระบุว่า กฎหมายหมิ่นศาสนามิได้มีความจำเป็นแล้วในศตวรรษที่ 21 นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวก็ยังไม่ได้ถูกใช้มาเป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษ 
 
การมีมติให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นศาสนา ซึ่งมีมีตั้งแต่สมัยทศวรรษ 1930 เกิดขึ้นได้ด้วยความสนับสนุนของพรรคลิเบอรัลที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภา ในขณะที่เมื่อปี 2008 นั้นเคยมีความพยายามในการยกเลิกกฎหมายนี้ แต่ถูกคัดค้านจากพรรคอนุรักษ์นิยมคริสเตียน และพันธมิตร จึงไม่สามารถยกเลิกได้สำเร็จ 
 
ความสนใจต่อประเด็นดังกล่าวในรัฐสภา เกิดขึ้นหลังจากเมื่อปี 2011 มีกรณีอื้อฉาวของส.ส. พรรคขวาจัด เกแอร์ท วิลเดอรส์ ที่ถูกยกฟ้องหลังจากถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาปลุกปั่นยุยงให้เกิดความเกลียดชังและการเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิม ผู้พิพากษายกฟ้องว่า การเปรียบเทียบศาสนาอิสลามกับลัทธิฟาสซิสม์ เป็นเรื่องที่ "ยอมรับได้" และอนุญาตให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ต่อไป ถึงแม้ว่ามันจะเป็นการดูหมิ่นมุสลิมก็ตาม 
 
เหล่านักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทั่วโลก ต่างแสดงความยินดีต่อการยกเลิกกฎหมายนี้ อย่างไรก็ตาม ส.ส. พรรคคริสเตียน เอสจีพี ที่มีจุดยืนทางอนุรักษ์นิยม ก็กล่าวว่า การตัดสินใจดังกล่าว เป็น "การสูญเสียเสาหลักทางศีลธรรมและสัญญานของวิกฤติทางจิตวิญญาน" 
 
อย่างไรก็ตาม ภายใต้กฎหมายดัทช์ การดูหมิ่นเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพระมหากษัตริย์ของประเทศ ยังถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย 
 
นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิชี้ว่า หลายๆ ประเทศในยุโรปยังมีกฎหมายหมิ่นศาสนาที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก ในบางประเทศ ก็ได้ใช้กฎหมายอื่นๆ แทนกฎหมายดังกล่าว ซึ่งทำให้การสร้างความเกลียดชังทางศาสนาเป็นเรื่องผิดกฎหมายแทน
 
ในประเทศอังกฤษ ได้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นศาสนาแล้ว โดยใช้พ.ร.บ. การสร้างความเกลียดชังทางเชื้อชาติและศาสนาแทนในปี 2007 กฎหมายดังกล่าวมีบทลงโทษสูงสุด 7 ปีและการปรับไม่จำกัดจำนวนสำหรับการสร้างความเกลียดชังทางศาสนา 
 
ประเทศไอร์แลนด์ กลับนำกฎหมายหมิ่นศาสนามาใช้ใหม่ในปี 2010 แทนที่จะยกเลิก โดยกฎหมายดูหมิ่นฉบับใหม่ของไอร์แลนด์ ระบุว่า การแสดงออกหรือการตีพิมพ์ที่มีเนื้อหาหมิ่นศาสนา เป็นความผิดด้วยการปรับสูงสุด 25,000 ยูโร 
 
ถึงแม้ว่าในยุโรป กฎหมายดังกล่าวจะไม่ค่อยได้ใช้นานนับทศวรรษแล้ว แต่ก็ยังมีบางประเทศที่ยังมีการตั้งข้อหาเรื่องการสร้างความเกลียดขังทางศาสนาอยู่ 
 
ในโปแลนด์ การดูหมิ่นต่อความรู้สึกทางศาสนาถือว่าเป็นอาชญากรรมเช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะไม่มีกฎหมายหมิ่นศาสนาโดยเฉพาะก็ตาม การถูกตั้งกล่าวหาด้วยกฎหมายดูหมิ่นศาสนาหลายกรณี ได้นำมาซึ่งความสนใจจากสื่อมวลชนตลอดหลายปีที่ผ่านมา 
 
นอกจากนี้ ในปี 2008 ศาลประเทศฟินแลนด์ ได้ตัดสินจำคุกนักเคลื่อนไหวฝ่ายขวาจัดที่ชื่อ เสปโป เลห์โต เป็นเวลา 2 ปีและอีก 4 เดือน จากการดูหมิ่น การยุยงให้เกิดความเกลียดชังทางเชื้อชาติ และการหมิ่นศาสนาอิสลาม 
 
 
ที่มา: แปลจาก Netherlands to abolish blasphemy law 
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'นางแบบมีสิทธิ์ไหมคะ' เมื่อนางแบบทวงสิทธิ์ในฐานะคนทำงาน

Posted: 29 Nov 2012 11:21 PM PST

คนส่วนใหญ่อาจเห็นว่านางแบบเป็นอาชีพที่ดูหรูหรา แต่ในสหรัฐฯ ยังมีการกดขี่เอารัดเอาเปรียบคนทำงานในฐานะตัวแทนเรือนร่างในอุดมคตินี้อยู่ ตั้งแต่กรณีถูกบังคับให้อดอาหารเพื่อ 'ความผอมที่ผิดปกติ' ถูกบังคับถ่ายนู้ด ไปจนถึงกรณีใช้เสื้อผ้าแทนค่าจ้าง ซาร่า ซิฟฟ์ นางแบบผู้จัดตั้งองค์กรสหพันธ์นางแบบนำเสนอความเห็นต่อ BBC


29 พ.ย. 2012 - สำนักข่าว BBC นำเสนอความคิดเห็นของซาร่า ซิฟฟ์ นางแบบอเมริกัน โดยถอดความจากรายการวิทยุของสถานี Radio Four ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์อุตสาหกรรมนางแบบแฟชั่นเรื่องการกดขี่ที่ไม่เป็นธรรม

ซาร่า ซิฟฟ์ เป็นนางแบบและนักทำสารคดี ผู้ก่อตั้งสหพันธ์นางแบบ (Model Alliance) ซึ่งเป็นองค์กรที่เน้นทำงานเป็นปากเสียงให้กับนางแบบและพัฒนาสภาพการทำงานที่ดีขึ้น

ซาร่า กล่าวว่าผู้คนมักมองว่านางแบบเป็นงานที่เลิศหรู และเวลาที่คนเรานึกภาพของคนที่มีสภาพการทำงานแย่ ก็คงไม่นึกถึงนางแบบ แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น

ซาร่าเล่าประสบการณ์ว่าเธอได้เป็นนางแบบตั้งแต่อายุ 14 เมื่อมีแมวมองช่างภาพมาเจอเธอที่โรงเรียน เธอบอกว่ารู้สึกโชคดีและสนุกกับงาน ทำให้เธอสามารถใช้เงินส่งตัวเองเรียนจบจากโรงเรียนได้

"ส่วนใหญ่แล้วงานนี้สนุกมาก ดังนั้นฉันจึงไม่มีเหตุผลที่จะพูดให้ร้ายอุตสาหกรรมนางแบบที่ให้กับฉันมากขนาดนี้" ซาร่ากล่าว

"แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ฉันตัดสินใจว่าฉันไม่สามารถเงียบเฉยต่อเรื่องการกดขี่อย่างเป็นระบบที่ฉันกับเพื่อนร่วมงานเจอมากับตัวเองได้อีกต่อไป" ซาร่ากล่าว

ซาร่าเล่าว่าเธอเคยทำภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับประสบการณ์ของนางแบบชื่อเรื่อง 'Picture Me' เผยแพร่ในปี 2010 เธอถ่ายทำด้วยกล้องขนาดเล็กตามที่ต่างๆ รวมถึงแฟชั่นโชว์ เพื่อบันทึกเบื้องหลังวงการโมเดลทั้งในแง่ดีและในแง่ไม่ดี

เรื่องราวเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศเป็นเรื่องเกิดขึ้นเป็นปกติในวงการนี้ ซาร่ากล่าว เธอยกตัวอย่างกรณีของผู้หญิงคนหนึ่งที่รับงานกับช่างภาพที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในวงการแฟชั่น ช่างภาพคนนั้นสั่งให้เธอถอดเสื้อออก หลังจากนั้นเขาเองก็ถอดเสื้อและบอกให้เธอแตะต้องร่างกายเขาในเชิงกามารมณ์

ภาพยนตร์สารคดีเรื่องดังกล่าวนำเสนอนางแบบผ่านเลนส์กล้องในอีกมุมมองหนึ่ง ซึ่งบางครั้งก็ทำให้ผู้ชมอย่างเราๆ พูดไม่ออก


ร่างกายใต้บงการของภาพลักษณ์

ในบทความของ BBC ยังได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องการที่นางแบบกลายเป็นตัวแทนภาพลักษณ์ของเรือนร่างและน้ำหนักตัว มีนางแบบร่างบางแบบผิดปกติเดินอยู่บนเวทีดาดดื่น นอกจากนี้แล้วอุตสาหกรรมแฟชั่นยังได้อาศัยแรงงานเด็กในการเดินแบบเนื่องจากเด็กมีเรือนร่างผอมแบบที่พวกเขาต้องการ

"เด็กอายุ 13 จะมีหุ่นหอมแห้งเหมือนไม้ค้ำถั่วก็เป็นเรื่องปกติ แต่กับผู้หญิงที่โตแล้ว ที่มีสะโพกและหน้าอก เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ และไม่ควรจะมีใครอยากให้เป็นเช่นนั้น" ซาร่ากล่าว

"แล้วฉันก็คิดว่า พวกเราควรจะถามตัวเองว่าทำไมมันต้องกลายเป็นภาพลักษณ์ในอุดมคติด้วย ทำไมเราต้องชื่นชมภาพลักษณ์ผิดเพี้ยนของเด็กผู้หญิงที่ยังเล็ก ไร้ประสบการณ์ และบอบบางด้วย" ซาร่ากล่าว

ซาร่าเล่าว่ามีอาการที่เรียกว่าปีเตอร์แพนซินโดรม (อาการของคนที่ไม่อยากโตเป็นผู้ใหญ่) ในโลกแฟชั่น เมื่อนางแบบเริ่มแก่ตัวขึ้น ก็จะเริ่มเผยให้เห็นการเติบโต พวกเขาจะถูกสั่งให้ไดเอทอย่างหนักหลายต่อหลายครั้ง ไม่เช่นนั้นแล้วพวกเราจะถูกทิ้งและถูกแทนที่โดยนางแบบที่เด็กกว่า

"พวกเราไม่ได้รับอนุญาตให้โตเป็นผู้ใหญ่" ซาร่ากล่าว

ซาร่าเล่าถึงกรณีของซูเปอร์โมเดลเพื่อนของเธอที่ชื่อเอมี่ เลมอนส์ ที่เริ่มเข้าสู่วงการตั้งแต่อายุ 12 ปี ก้าวขึ้นสู่สถานะซูเปอรืโมเดลโดยการขึ้นหน้าปกนิตยสาร Vogue ของอิตาลี่ด้วยวัยเพียง 14 ปี และสามปีต่อมาเธอก็เริ่มอ้วนขึ้น เอเย่นต์ในนิวยอร์กก็แนะนำให้เธอทานข้าวพองแผ่น (Rice Cake) แค่วันละ 1 แผ่น และถ้าหากยังไม่สำเร็จก็ให้ลดเหลือแค่วันละครึ่งแผ่น

จากนั้นเอมี่ก็คิดได้ เธอบอกกับซาร่าว่า "พวกเขาบอกให้ฉันเป็นโรคชอบอดอาหาร (anorexic) อย่างตรงไปตรงมา"

"โดยส่วนตัวแล้วฉันคิดว่าควรมีแต่คนเป็นผู้ใหญ่เท่านั้นที่ได้รับงานเดินแบบเสื้อผ้าของผู้ใหญ่" ซาร่ากล่าว


จ่ายด้วยเสื้อผ้า

ซาร่าบอกว่าเรื่องที่สำคัญในตอนนี้คือสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ของนางแบบ เธอเล่าว่าขณะที่เธอออกทัวร์ฉายภาพยนตร์ Picture Me มีนางแบบพากันออกมาเล่าเรื่องราวของตนเอง ในขณะที่คนส่วนมากคิดว่านางแบบรายได้ดี แต่นางแบบส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รับค่าตอบแทนมากนัก

"มีบางรายบอกว่าพวกเธอเสียเงินเก็บของตนเองให้กับเอเย่นส์ฉ้อฉล มีอีกหลายคนที่ถูกบังคับให้ถ่ายนู้ดโดยที่ไม่ได้ต้องการ" ซาร่ากล่าว

ซาร่าเล่าว่า ในนิวยอร์ก ดีไซน์เนอร์หลายคนไม่ได้จ่ายเป็นเงินให้นางแบบแต่ใช้วิธีแลกเปลี่ยนการทำงานกับเสื้อผ้า ซึ่งการทำเช่นนี้ไม่ถือว่าผิดกฏหมาย เนื่องจากนางแบบถือว่าเป็นผู้รับจ้างอิสระ ไม่ใช่ลูกจ้าง ดังนั้นกฏหมายค่าแรงขั้นต่ำถึงไม่จำเป็นต้องถูกนำมาใช้

"แต่คุณคงไม่สามารถจ่ายค่าเช่าได้ด้วยเสื้อ และมันก็เป็นสิ่งที่คั่งค้างฝังรากลึกเกี่ยวกับการที่แบรนด์บางแบรนด์ที่มีความมั่งคั่งและมีอำนาจในโลกแฟชั่นได้จ้างคนตัวเล็กตัวน้อยแล้วไม่สามารถเกื้อหนุนทางการเงินให้พวกเขาได้" ซาร่ากล่าว เธอบอกอีกว่านางแบบที่เธอพูดคุยด้วยบอกว่าชอบงานของพวกเธอ แต่ก็ไม่ได้ชอบความไม่เป็นธรรมและบางครั้งก็ปฏิบัติต่อพวกเธออย่างผิดกฏหมาย


มองนางแบบในฐานะมนุษย์

จากความคิดของซาร่าที่คิดว่าพวกเธอควรรวมตัวกันเพื่อที่จะมีพลังเข้มแข็งกว่าปัจเจกบุคคล ในเดือน ก.พ. 2012 เธอจึงก่อตั้งสหพันธ์นางแบบ (Model Alliance) ขึ้นด้วยความช่วยเหลือจากสถาบันกฏหมายแฟชั่นของวิทยาลัยกฏหมายฟอร์ดแฮม ซึ่งเป็นองค์กรสำหรับนางแบบที่ทำงานในอุตสาหกรรมแฟชั่นอเมริกัน

เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ไม่นานหลังจากที่ซาร่าเข้าพบกับกองบรรณาธิการของ Vogue นิตยสารฉบับนี้ในทั้ง 19 ประเทศก็ยอมตกลงว่าจะไม่จ้างงานคนอายุต่ำกว่า 16 หรือคนที่ดูมีปัญหาพฤติกรรมการทานอาหารผิดปกติ (eating disorder) ซึ่งซาร่าบอกว่าเป็นก้าวที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมนางแบบ

ซาร่ากล่าวว่าองค์กรของเธอได้จัดให้มีระบบการร้องทุกข์ และมีการทำงานกับกลุ่มผู้นำในอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสทางการเงินของเอเจนซี่ และจัดตั้งนโยบายความเป็นส่วนตัวหลังเวที ที่ นิวยอร์กแฟชั่นวีคส์ เพื่อไม่ให้เกิดกรณีช่างภาพบุกรุกขณะที่นางแบบเปลี่ยนเสื้อผ้า

"พวกเรายังต้องก้าวต่อไปอีกไกล" ซาร่ากล่าว เธอบอกว่าทางองค์กรกำลังทำงานเรื่องการคุ้มครองทางกฏหมายสำหรับนางแบบเด็กในสหรัฐฯ การตั้งนโยบายต้องมีการบอกล่วงหน้าและมีการยินยอมจากนางแบบหากมีการถ่ายภาพนู้ด และส่งเสริมให้นางแบบมีคุณภาพชีวิตที่ดี

"ภาพถ่ายนางแบบกระจายไปทั่ววัฒนธรรมของเรา และเราคงไม่สามารถส่งเสริมภาพลักษณ์ของสุขภาพทีดีได้หากไม่เริ่มต้นที่การปกป้องหน้าตาของธุรกิจนี้เสียก่อน" ซาร่ากล่าว "ฉันรู้ว่าแฟชั่นเป็นเรื่องของการหลบหนีจากโลกความจริง และคนส่วนใหญ่อาจไม่คำนึงถึงสิ่งเหล่านี้เวลาที่เปิดผ่านหน้านิตยสาร"

"แต่การแก้ปัญหาการกดขี่ต้องเริ่มจากการมองนางแบบด้วยเลนส์ที่ต่างออกไป ไม่ใช่ด้วยภาพลักษณ์ที่ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่สมควรได้รับสิทธิ์และการคุ้มครองเช่นเดียวกับคนทำงานอื่นๆ" ซาร่ากล่าว


เรียบเรียงจาก
Viewpoint: Do models need more rights?, BBC, 29-11-2012
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยูเอ็นลงมติรับรอง 'ปาเลสไตน์' เป็น 'รัฐ' แล้วด้วยเสียงขาดลอย

Posted: 29 Nov 2012 10:44 PM PST

สมัชชาใหญ่สหประชาชาติลงนามรับรองปาเลสไตน์เป็นสถานะ "รัฐผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ใช่สมาชิก" แล้วด้วยเสียง 138-9 ในขณะที่สหรัฐฯ และพันธมิตรไม่สนับสนุนการรับรองครั้งนี้และชี้ว่าต้องเจรจาทวิภาคีกับอิสราเอลเท่านั้น  

ที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ลงมติรับรองเลื่อนสถานะของปาเลสไตน์จากผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ใช่รัฐ เป็นรัฐผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ใช่สมาชิก ซึ่งเป็นสถานะเดียวกับนครรัฐวาติกัน ด้วยคะแนนเสียง 138 ต่อ 9 เสียง และมีประเทศที่ไม่ลงคะแนนมากถึง 41 เสียง ส่งผลให้ปาเลสไตน์ได้รับการรับรองสถานะเป็นรัฐชาติอย่างเป็นทางการ หลังจากการดำเนินการทางการทูตยาวนานหลายสิบปี

สำหรับประเทศที่ไม่ยินยอมลงคะแนนเสียงรับรองปาเลสไตน์ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อิสราเอล แคนาดา สาธารณรัฐเช็ค ปานามา และประเทศหมู่เกาะในแปซิฟิก ได้แก่ เกาะมาร์แชล ไมโครนีเซีย นาวรู และพาเลา  ขณะที่อังกฤษและเยอรมนี พันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯในยุโรป ไม่ได้ออกเสียงในการลงมติครั้งนี้ 
 
แผนภาพแสดงประเทศที่ลงมติสนับสนุนการเป็นรัฐของปาเลสไตน์ (สีเขียว)
ประเทศที่งดออกเสียง (สีดำ) และไม่สนับสนุน (สีแดง) (ที่มา: เว็บไซต์ Avaaz.com)
 
การรับรองปาเลสไตน์เป็นรัฐอย่างเป็นทางการ สร้างความดีใจให้กับชาวปาเลสไตน์ทั่วประเทศ โดยประชาชนที่ออกมาชุมนุมบนท้องถนนในกรุงรามัลลาห์ เมืองหลวงของปาเลสไตน์ เพื่อเฝ้ารอผลการลงมติตั้งแต่เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา ต่างโห่ร้องแสดงความยินดีและร่วมเฉลิมฉลองการเป็นรัฐของประเทศกันอย่างคึกคัก
  
ขณะที่นายมาห์มูด อับบาส ประธานาธิบดีปาเลสไตน์ ได้กล่าวหลังจากการลงมติครั้งประวัติศาสตร์นี้ว่า การรับรองปาเลสไตน์โดยสหประชาชาติ เป็นหนทางสุดท้ายในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์แบบ Two-State Solution หรือหลักการยอมรับในความเป็นรัฐของทั้งสองฝ่าย หลังจากตลอดการเจรจาแบบทวิภาคีกับอิสราเอลที่ผ่านมา รัฐบาลอิสราเอลและสหรัฐฯ ไม่เคยยอมรับปาเลสไตน์ในฐานะรัฐชาติ
 
ส่วนทางด้านของอิสราเอล ก็ออกมาตอบโต้การเลื่อนสถานะของปาเลสไตน์อย่างรุนแรง โดยนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ยืนยันว่าความขัดแย้งระหว่างสองประเทศ จะต้องแก้ไขผ่านการเจรจาแบบทวิภาคเท่านั้น ไม่ใช่ผ่านเวทีของสหประชาชาติ การที่ปาเลสไตน์เรียกร้องความเป็นรัฐผ่านสหประชาชาติ จึงถือเป็นการละเมิดสนธิสัญญาที่ให้ไว้กับอิสราเอล และอิสราเอลจะต้องตอบโต้การกระทำครั้งนี้อย่างแน่นอน
 
เช่นเดียวกับนางซูซาน ไรซ์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำสหประชาชาติ ที่ออกมาเรียกร้องให้ปาเลสไตน์และอิสราเอลหารือกันเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว และกล่าวหาว่าการเคลื่อนไหวผ่านสหประชาชาติของปาเลสไตน์ เป็นการกระทำโดยพลการแต่เพียงฝ่ายเดียว
 
ขณะที่นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ยืนยันว่าการได้สถานะรัฐชาติของปาเลสไตน์ จะไม่ส่งผลดีใดๆ ต่อกระบวนการสันติภาพในตะวันออกกลาง
 
ก้าวใหญ่ที่สำคัญ
 
ทั้งนี้ ชาวปาเลสไตน์ได้พยายามให้สหประชาชาติรับรองปาเลสไตน์ให้เป็นรัฐในพื้นที่เวสต์แบงค์ ฉนวนกาซา และเยรูซาเล็มตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อิสราเอลยึดครองตั้งแต่ปี 1976 
 
บาร์บาร่า เพลตต์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีกล่าวว่า ในขณะที่การรับรองนี้ ถูกมองว่าเป็นก้าวที่สำคัญของปาเลสไตน์ในการได้เป็นรัฐ แต่การโหวต "รับรอง" ยังมีผลทางการทูตด้วย เนื่องจากมันจะอนุญาตให้ประชาชนชาวปาเลสไตน์มีส่วนร่วมในการพูดคุยเรื่องต่างๆ ในสหประชาชาติ และพัฒนาโอกาสในการเข้าร่วมองค์การต่างๆ ของสหประชาชาติ เช่น ศาลอาญาระหว่างประเทศ
 
ในปีที่แล้ว นายอับบาสได้ขอให้สภาความมั่นคงสหประชาชาติรับรองปาเลสไตน์ให้เป็นรัฐ แต่ถูกคัดค้านโดยสหรัฐอเมริกา ส่วนช่วงต้นดือนที่ผ่านมา เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในการไม่มีบทบาทมากเท่าที่ควรในการยุติความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ในรอบที่ผ่านมา และการหยุดยิงกับอิสราเอล 
 
ขบวนการฟาตาห์ของเขา ที่มีที่ตั้งอยู่ในเขตเวสต์แบงค์ ขัดแย้งและแตกกันกับขบวนการฮามาสที่ปกครองฉนวนกาซา 
 
ในขณะที่นายกรัฐมนตรีของกาซา อิสมาเอล ฮานิเยห์ กล่าวในแถลงการณ์ที่ส่งให้บีบีซีว่า การสนับสนุนของกลุ่มฮามาส อยู่บนพื้นฐานของกฎที่ไม่ยอมรับผู้ยึดครอง และสิทธิของชาวปาเลสไตน์ในการกลับสู่มาตุภูมิของตนเอง
 
 
ที่มา:  แปลและเรียบเรียงจากเว็บไซต์บีบีซี และวอยซ์ทีวี
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวไทใหญ่จัดประชุมหารือแนวทางสันติภาพเป็นครั้งแรกที่พม่า

Posted: 29 Nov 2012 06:28 PM PST

หลังขัดแย้งทางการเมืองมาหลายสิบปีในรัฐฉาน ล่าสุดองค์กรภาคประชาชน ผู้แทนจาก 3 พรรคการเมืองและ 4 กองกำลังทหารในรัฐฉานได้จัดประชุมที่ย่างกุ้งเพื่อหารือเรื่องความสมานฉันท์และสันติภาพ มีการเชิญรัฐมนตรีเจรจาสันติภาพของพม่า "อ่อง มิน" มาร่วมเปิดงานด้วย โดยตัวแทนกล่าวเปิดงานย้ำว่าจะสมานฉันท์ได้ "การพูดกับการกระทำต้องสอดคล้องกัน"

ที่มาของภาพ: S.H.A.N./Hla Maung Hswe

องค์กรภาคประชาชนจากรัฐฉาน เปิดเผยว่าระหว่างวันที่ 26-28 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุม Royal Rose นครย่างกุ้ง ประเทศพม่าองค์กรชุมชนไทใหญ่ ชมมรมศิลปวัฒนธรรม สื่อสายแปน ก๋อไต และเครือข่ายปฏิบัติงานผู้หญิงไทใหญ่ได้ร่วมกันจัดงานประชุมสัมมนา "การสร้างความสมานฉันสู่สันติภาพ ในรัฐฉาน สหภาพพม่า" โดยมีผู้แทนจากพรรคการเมือง 3 พรรค กองกำลังทหาร 4 กองกำลัง องค์กรภาคประชาชน 11 ที่เคลื่อนไหวทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมกับผู้แทนประชาชน 42 เมืองจากรัฐฉาน รวมถึงนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ 17 คน มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 170 คน

ตลอดทั้งการสัมมนา 3 วัน ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับเชิญมา นำเสนอถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างความสมานฉันท์เพื่อสันติภาพอย่างแท้จริง เนื่องจากสถานการณ์ ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังอยู่ช่วงการเจรจาสันติภาพ ซึ่งองค์กร ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้นำเสนอ ประเด็นต่างๆ ที่ประชาชนชาวไทใหญ่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นด้าน ศิลปวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองตลอดระยะเวลา 50 ปี โดยได้นำเสนอสรุปเป็นรายงาน 23 ฉบับ และได้จัดกลุ่มย่อยๆ แลกเปลี่ยนประเด็นที่ได้นำเสนอทั้งหมด

นอกจากนั้นก่อนการประชุมคณะจัดงาน ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนตามเมืองต่างๆในรัฐฉาน  เกี่ยวกับ การเจรจาหยุดยิง และกระบวนการสันติภาพ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ศิลปวัฒนธรรม การปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และสิทธิมนุษยชน เพื่อในเสนอในที่ประชุม

ตลอดการประชุมสัมมนา ผู้เข้าร่วมทั้งหมด ได้แสดงออกถึง ความจำเป็นที่จะต้องหยุดปัญหาความขัดแย้ง สร้างสันติภาพอย่างแท้จริง รวมทั้งได้แสดงความกังวลถึงการไม่ถอยหลังกลับเข้าสู่ความขัดแย้ง ทุกๆคนมีต้องแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของภาคประชาชน รวมทั้งสนับสนุน ซึ่งกันและกัน ในการลงพื้นที่ ปฏิบัติงานในทุกระดับในกระบวนการสู่สันติภาพ

"การสร้างความสมานฉันท์ ไม่ได้ซื้อมาด้วยเงิน ไม่ได้ทำด้วยการเสแสร้งภายนอก ต้องแสดงออกมาด้วยความจริงใจ ถึงจะทำได้ หากพูดสั้นๆ ก็คือ การพูด กับ การกระทำต้องสอดคล้องกัน" ศาสตราจารย์ เชอรี นางหอมเหล็ก ได้กล่าวพิธีเปิดสัมมนา

ในวันเปิดสัมมนาวันที่ 26 พ.ย. นั้น เจ้าเสือแท่น ประธานพรรคการพัฒนาแห่งรัฐฉาน (SSPP) เจ้าขุนทุนอู ประธาน พรรคสันนิบาตประชาธิปไตยรัฐฉาน (SNLD) พรรคประชาธิปไตยชาติพันธ์รัฐฉาน (SNDP) พรรคเพื่อการพัฒนาแห่งไตแดง (TNDP) สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) กองกำลังพันธมิตรประชาธิปไตย รัฐฉานตะวันออก (เขตปกครองพิเศษเมืองลา - NDAA) ได้ส่งตัวแทนมาร่วมกล่าวเปิดงาน โดยมีรัฐมนตรีจากสำนักงานประธานาธิบดี ผู้แทนการเจรจาสันติภาพของรัฐบาลพม่า อ่อง มิน มาร่วมกล่าวเปิดงาน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai