โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

หน่วยความมั่นคงสหรัฐฯ สอดแนมข้อมูลจาก กูเกิล-ยาฮู ด้วยวิธีดักกลางทาง

Posted: 31 Oct 2013 11:05 AM PDT

การเปิดโปงล่าสุดของสโนว์เดน เผยโครงการที่ชื่อ MUSCULAR ซึ่งใช้เครื่องมือสอดแนมข้อมูลของผู้ใช้กูเกิลและยาฮู โดยการดักทำสำเนาข้อมูลที่ตัวเชื่อมระหว่างศูนย์เก็บข้อมูลของบริษัทไอทีกับผู้ใช้ ทำให้กูเกิลและยาฮูออกมาแสดงความไม่พอใจ ด้าน NSA ออกแถลงการณ์ชี้แจง

31 ต.ค. 2556 บริษัทกูเกิลและยาฮูแสดงความไม่พอใจหลังได้รับทราบรายงานข่าวเรื่องที่สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSA) ได้แฮ็กเข้าไปในตัวเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างผู้ใช้กับศูนยข้อมูลทั้งกูเกิลและยาฮู

สำนักข่าววอชิงตันโพสต์ เปิดเผยเรื่องดังกล่าวโดยอ้างข้อมูลจากเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตผู้ทำงานให้กับ NSA รวมถึงการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่บางส่วน ทำให้ทราบว่า NSA ได้ทำการดักข้อมูลจากตัวเชื่อมโยงเพื่อเก็บข้อมูลของผู้ใช้จำนวนมาก รวมถึงข้อมูลของผู้ใช้ชาวอเมริกันเอง

จากเอกสารที่รั่วไหลระบุว่า NSA ได้ใช้เครื่องมือในโครงการที่เรียกว่า MUSCULAR เพื่อทำการเก็บข้อมูลที่ส่งผ่านจากเครือข่ายของกูเกิลและยาฮูไว้ในคลังของสำนักงานที่ฟอร์ดมี้ด โดยมีทั้งข้อมูลตัวอักษร เสียง และวิดีโอ รวมถึงนิยามข้อมูล (metadata) ที่บ่งบอกว่าใครเป็นผู้รับหรือผู้ส่ง โครงการ MUSCULAR ยังได้อาศัยความร่วมมือจาก สำนักงานข่าวกรองอังกฤษ (GCHQ) ซึ่งทั้งสองหน่วยงานใช้วิธีการทำสำเนาข้อมูลที่ถูกส่งผ่านใยแก้วนำแสงระหว่างผู้ใช้กับศูนย์ข้อมูลของสองบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งซิลิคอนวัลเลย์

เดวิด ดรัมมอนด์ หัวหน้าแผนกกฎหมายของกูเกิล แถลงว่าทางกูเกิลรู้สึกไม่พอใจอย่างมากหลังทราบเรื่องนี้ โดยบอกอีกว่าทางกูเกิลมีความกังวลในเรื่องความเป็นไปได้ที่จะถูกสอดแนมมาก่อนจึงพยายามเข้ารหัสข้อมูล (encryption) ในบริการและตัวเชื่อมโยงข้อมูลของกูเกิลมากขึ้น โดยเฉพาะตัวเชื่อมโยงข้อมูลที่ปรากฏในสไลด์เอกสารของ NSA

ดรัมมอนด์ยืนยันอีกว่าพวกเขาไม่ได้ให้รัฐบาลสหรัฐฯ หรือรัฐบาลอื่นๆ เข้าถึงระบบของพวกเขาได้ และพวกเขาไม่พอใจอย่างมากที่รัฐบาลทำการดักข้อมูลจากใยแก้วนำแสงของเครือข่ายพวกเขา เรื่องนี้ทำให้ต้องมีการ "ปฏิรูปอย่างเร่งด่วน"

ส่วนบริษัทยาฮูกล่าวว่าพวกเขามีมาตรการเข้มงวดในการรักษาความปลอดภัยของศูนย์ข้อมูล และพวกเขาไม่เคยให้ NSA หรือหน่วยงานรัฐบาลใดๆ เข้าถึงข้อมูลในศูนย์ได้

ทางด้าน NSA กล่าวในแถลงการณ์ถึงเรื่องนี้ โดยปฏิเสธว่าข้ออ้างที่บอกว่าพวกเขาทำการเก็บข้อมูลประชาชนชาวสหรัฐฯ จำนวนมากด้วยวิธีการนี้ไม่เป็นความจริง

"ทาง NSA ได้ปฏิบัติตามกระบวนการที่มีการรับรองจากรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ในการคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชนชาวสหรัฐฯ โดยทำให้พวกเขามีโอกาสน้อยที่สุดในการตกเป็นเป้าหมายการรวบรวมข้อมูล การนำมาใช้ การเก็บข้อมูล และการแพร่กระจาย" NSA กล่าวในแถลงการณ์

"NSA เป็นองค์กรข่าวกรองต่างประเทศ และพวกเราเน้นการค้นหาข่าวสารภายใต้สถานการณ์โดยมีเป้าหมายเป็นข่าวกรองต่างประเทศที่มีความถูกต้องแม่นยำเท่านั้น" NSA กล่าว

ในส่วนของโฆษก GCHQ กล่าวว่าพวกเขาทราบเรื่องนี้ แต่ไม่ได้แสดงความคิดเห็นใดๆ


นิตยสารอิตาลีเผยพระสันตะปาปาก็เคยถูกดักฟังโทรศัพท์
ก่อนหน้านี้เมื่อวันพุธที่ผ่านมา นิตยสารข่าวพาโนรามาของอิตาลีรายงานข่าวโดยอ้างว่าองค์กรข่าวกรองสหรัฐฯ ลอบดักฟังโทรศัพท์ของอดีตพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 และพระสันตะปาปา ฟรานซิส ที่ 1 ผู้ขึ้นดำรงตำแหน่งต่อ โดยมีการลอบดักฟังบทสนทนาในช่วงประชุมคัดเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่ในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา

พาโนรามาระบุด้วยว่า บทสนทนาของพระสันตะปาปาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการดักฟังโทรศัพท์ 46 ล้านครั้งในอิตาลี ตั้งแต่วันที่ 10 ธ.ค. 2555 ถึง 8 ม.ค. 2556 โดยข้อมูลการโทรศัพท์เหล่านี้ NSA ได้จัดแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ด้านเจตนาของผู้นำ ภัยต่อระบบการเงิน เป้าหมายของนโยบายต่างประเทศ และสิทธิมนุษยชน



เรียบเรียงจาก

NSA statement on Washington Post report on infiltration of Google, Yahoo data center links, Washington Post, 31-10-2013
http://www.washingtonpost.com/world/national-security/nsa-statement-on-washington-post-report-on-infiltration-of-google-yahoo-data-center-links/2013/10/30/5c135254-41b4-11e3-a624-41d661b0bb78_story.html

NSA infiltrates links to Yahoo, Google data centers worldwide, Snowden documents say, Washington Post, 31-10-2013
http://www.washingtonpost.com/world/national-security/nsa-infiltrates-links-to-yahoo-google-data-centers-worldwide-snowden-documents-say/2013/10/30/e51d661e-4166-11e3-8b74-d89d714ca4dd_story.html

Google and Yahoo furious at reports NSA secretly taps data centres, The Guardian, 31-10-2013
http://www.theguardian.com/technology/2013/oct/30/google-reports-nsa-secretly-intercepts-data-links

NSA spied on cardinals before Pope's election, claims Italian magazine Panorama, The Independent, 30-10-2013
http://www.independent.co.uk/news/world/europe/nsa-spied-on-cardinals-before-popes-election-claims-italian-magazine-panorama-8913883.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สุเทพ' เป่านกหวีด ชุมนุมสามเสน ต้านนิรโทษฯ ข้ามวันข้ามคืน

Posted: 31 Oct 2013 11:03 AM PDT

สุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมแกนนำพรรค พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ขึ้นเวทีปราศรัยบริเวณสถานีรถไฟสามเสนประกาศต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ข้ามวันข้ามคืน

31 ต.ค.2556 สำนักข่าวไทย รายงานว่า เวลา 18.00 น. วันนี้ (31 ต.ค.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมแกนนำพรรค อาทิ นายอิสสระ สมชัย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช พร้อมด้วย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ ร่วมเวทีปราศรัยบริเวณสถานีรถไฟสามเสน ช่วงถนนกำแพงเพชร 5 ตัดถนนเศรษฐศิริ มีประชาชนมาร่วมชุมนุมเต็มพื้นที่ ท่ามกลางรถไฟที่วิ่งผ่านเป็นระยะๆ เปิดหวูดส่งเสียงเตือนประชาชน เกรงจะเข้าไปในพื้นที่รางรถไฟ ขณะที่คนบนรถไฟต่างส่งเสียงเชียร์
 
ทั้งนี้ นายสาทิตย์ กล่าวว่า จะอยู่คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมข้ามวันข้ามคืน โดยนายสุเทพจะเป็นผู้มาประกาศความเคลื่อนไหวในเวลา 20.00-20.30 น. และว่า ที่ผ่านมามีอุปสรรคในการจัดเวทีปราศรัย โดยในช่วงจองเต็นท์พร้อมเครื่องเสียง แต่พอถึงเวลาเจ้าของขอคืนเงินมัดจำ อ้างว่าถูกตำรวจข่มขู่ ซึ่งหากเป็นจริงก็ต้องขอประณาม
 
"เราจะต่อสู้จนกว่าจะชนะ เราจะก้าวข้ามความกลัว เอาความยุติธรรมกลับมาสู่บ้านเมืองของเรา ไม่มีความกลัวใดๆ เหลือในใจอีกแล้ว" นายสาทิตย์ กล่าว
 
ด้านนายสุเทพ กล่าวว่า พวกตนไม่มีทางเลือกอื่นในการต่อสู้ยับยั้งร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และเคยประกาศไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าวันไหนที่มีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะเป่านกหวีดเชิญชวนประชาชนมาร่วมคัดค้าน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุเทพได้อ่านแถลงการณ์ที่ได้ประกาศต่อหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่รัฐสภา เมื่อวานนี้ (30 ต.ค.) เป็นภาษาไทย และให้ ส.ส.อ่านเป็นภาษาอังกฤษด้วย
 
สำหรับการปราศรัยบนเวที แกนนำจะสลับกันขึ้นเวที โดยหลังจากนายสาทิตย์ จะเป็นการปราศรัยของนายสุเทพ ตามด้วยนายอิสสระ นายถาวร เสนเนียม นายกรณ์ จาติกวณิช นายวิทยา แก้วภราดัย ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ส.บางส่วน ยังคงติดตามการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อยู่ที่รัฐสภา และจะเดินทางมาสมทบที่เวทีภายหลัง
 
ต่อมาเวลา 19.00 น. นายสุเทพได้เป่านกหวีดร่วมกับประชาชนที่มาร่วมชุมนุม พร้อมประกาศว่าแกนนำชุมนุมในครั้งนี้มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า เราจะต่อสู้ไม่หยุด จนกว่าจะชนะ และจะไม่มีวันถอยมือเปล่ากลับบ้านอีกแล้ว มี 2 ทางเลือกเท่านั้น
 
"ถ้านายกรัฐมนตรีได้ยินเสียงนี้ก็กลับตัว ถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็จะยุติการชุมนุม แต่ถ้านายกรัฐมนตรีไม่ถอน เราจะต่อสู้ด้วยชีวิตของคนไทยทุกคน จนกว่าจะชนะ และขอประกาศว่าเวทีนี้เป็นของประชาชน ไม่ใช่เวทีของพรรคประชาธิปัตย์" นายสุเทพ กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดสดมภ์ ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ - ถ้อยคำรำลึก 7 ปี ป่วนขว้างขวดน้ำ

Posted: 31 Oct 2013 10:44 AM PDT

เปิดสดมภ์ใต้สะพานลอยหน้าไทยรัฐรำลึกนวมทอง เตรียมเปิดอนุสาวรีย์สามัญชนอีกที่ราชประสงค์ แกนนำ นปช.ร่วมหลายคน ยันค้านนิรโทษฯ สุดซอย งานถ้อยคำรำลึก 'พ่อเฌอ'ร่วมอ่านบทกวีด่าทักษิณ แดงไม่พอใจขว้างขวดน้ำ หวิดชุลมุน

31 ต.ค.2556 เวลา 10.00 น. ที่บริเวณสะพานลอย หน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ถนนวิภาวดีรังสิต แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. นำโดยธิดา ถาวรเศรษฐ, จตุพร พรหมพันธุ์, เหวง โตจิราการ และณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จัดพิธีเปิดสดมภ์อนุสรณ์ 'นวมทอง ไพรวัลย์' ในจุดที่นวมทองอาชีพขับแท็กซี่ผูกคอตายใต้สะพานลอยคืนวันที่ 31 ต.ค.2549 โดยมีจดหมายลาตายระบุว่า ต้องการลบคำสบประมาทของ พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษกคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปก.) ที่ว่า "ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้" หลังจากก่อนหน้านี้เขาขับแท็กซี่พุ่งชนรถถังของคณะรัฐประหาร ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าจนบาดเจ็บสาหัสเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2549 เพื่อประท้วงการรัฐประหาร

ทั้งนี้คำว่า สดมภ์ ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 คือ เสาหรือหลัก โดยธิดา กล่าวว่า การเปิดสดมภ์ดังกล่าวเป็นการคาราวะในเจตนารมณ์แรงกล้าในการต่อต้านรัฐประหารของนวมทอง และเป็นหมุดหมายของประชาธิปไตยของสามัญชน นับจาก 2475 อนุสาวรีย์ปราบกบฏ รวมถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

"เราจะสร้างอนุสาวรีย์สามัญชนให้มากขึ้น ที่ต่อไปคือที่ราชประสงค์ เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่สามัญชนจะมีพื้นที่แสดงคุณงามความดี วีรกรรมของสามัญชน สามารถมีพื้นที่สาธารณะในประเทศได้" ธิดากล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประธาน นปช.ได้มอบเงินจำนวน 2 ล้านบาทให้แก่ภรรยานายนวมทอง โดยระบุว่าพจมาน ดามาพงษ์ (อดีตภรรยา พ.ต.ท.ทักษิณ) เป็นผู้มอบให้เนื่องจากครอบครัวไพรวัลย์ถือเป็นผู้สูญเสียจากสถานการณ์การเมืองด้วยเช่นกัน แต่ไม่ได้รับเงินเยียวยาตามเกณฑ์ปกติของรัฐ

ณัฐวุฒิ กล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่ตนภาคภูมิใจอีกวันหนึ่งเพราะเราได้มีอนุสาวรีย์เกียรติยศของประชาชนธรรมดาคนหนึ่งที่มีอาชีพขับรถแท็กซี่ เพียงแต่หัวใจยืนหยัดต่อหลักการประชาธิปไตยของเขานั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าที่ใครจะมองข้ามและปฏิเสธได้

"ถ้าจะหาวีรบุรุษสักคนหนึ่งที่เป็นวีรบุรุษประชาธิปไตย นับจากหลังรัฐประหาร 19 กันยายน ในหัวใจผมมีวีรบุรุษคนเดียว ชื่อ นวมทอง ไพรวัลย์ วันนี้อนุสาวรีย์ประกาศวีรกรรมเขาได้ตั้งตระหง่านขึ้นกลางกรุงเทพมหานคร ในสถานที่ที่เขายุติลมหายใจตัวเอง เพื่อประกาศกับโลกว่านับตั้งแต่วันแรกวินาทีแรกที่วิญญาณชายชื่อนวมทองออกจากร่าง นับจากวันนั้นเขาจะไม่มีวันตาย เขาจะยืนหยัดอย่างสง่างาม" ณัฐวุฒิกล่าว

ณัฐวุฒิ กล่าวด้วยว่า วันนี้จะเข้าไปประชุมสภาในการพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยยืนยันว่าจะยังคงจุดยืนเดิมที่ไม่รับอานิสงส์จาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ รวมทั้งไม่นิรโทษกรรมแกนนำและผู้สั่งการจนเกิดการบาดเจ็บล้มตายของประชาชนแน่นอน ประเด็นนี้ไม่ใช่สถานการณ์ที่คนเสื้อแดงจะเผชิญหน้ากับพรรคเพื่อไทยหรือรัฐบาล แต่เป็นสถานการณ์ที่คนเสื้อแดงเผชิญหน้ากับจุดยืนของตัวเองและจะรักษาจุดยืนนี้

"2 วันก่อนมีเพื่อนมิตรสหายบางคนติดต่อมาให้ผมกลืนเลือด ผมก็บอกไปว่า ผมทำไม่ได้เพราะนั่นมันเป็นเลือดประชาชน" ณัฐวุฒิกล่าว

จตุพร กล่าวถึงการสร้างอนุสาวรีย์ให้สามัญชนว่าเป็นเรื่องยากลำบาก พร้อมทั้งกล่าวว่านวมก่อนที่นวมทองจะกระทำการนั้น ไม่มีใครไม่รู้จักเขา แต่หลังจากที่เขาขับแท็กซี่ชนกับรถถัง มีนายทหารไปดูถูกว่าไม่มีใครตายเพื่ออุดมการณ์ได้ เขาจึงพิสูจน์ให้เห็นว่านิสัยคนไทยฆ่าได้แต่หยามไม่ได้โดยกระทำการให้เห็นเมื่อ 31 ต.ค.49 ดังนั้นวันที่ 31 ต.ค.56 จึงอยากบอกเพื่อนที่อยู่ในสภาว่าจงรู้จักนิสัยของคนไทยที่ฆ่าได้แต่หยามไม่ได้

สำหรับจุดยืนเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมนั้น จตุพร กล่าวว่า นปช.แดงทั้งแผ่นดินมีจุดยืนเดียวคือไม่มีวันที่จะปล่อยฆาตรกรให้ลอยนวลโดยไม่รับผิดชอบการเข่นฆ่าประชาชน พร้อมยืนยันด้วยว่าคนเสื้อแดงไม่ใช่ของตายของพรรคเพื่อไทย เขามีอิสรภาพ เขามีเสรีทางความคิด ถ้าให้เลือกระหว่างจุดยืนที่ถูกต้องกับทำตามพรรคเพื่อไทยนั้น ขอเลือกจุดยืนที่ถูกต้อง

"เราเป็นผู้ปลดปล่อยฆาตรกรเองโดยฝ่ายเรา แล้วเราคิดหรือว่าศาลอาญาระหว่างประเทศเขาจะพิจารณา" จตุพร กล่าวแย้งกรณีที่มีข้อเสนอให้ฟ้องผู้ปราบปรามประชาชนต่อศาลอาญาระหว่างประเทศแทน

ถ้อยคำรำลึก 'นวมทอง ไพรวัลย์'

เวลา 17.00 น. วันเดียวกัน ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอวัว กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย จัดกิจกรรมถ้อยคำรำลึก 'นวมทอง ไพรวัลย์'

จิตวิญญาณประชาธิปไตยเหนือลมหายใจ

ทรงชัย วิมลภัตรานนท์ รักษาการประธานกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย กล่าวว่า 7 ปี แล้วที่ลุงนวมทองได้สละชีพตัวเองเพื่อแสดงให้เห็นว่าชีวิตของเขาไม่สยบยอมภายใต้เผด็จการ และในจดหมายลาตายของเขาก็ฝากไว้ถึงความหวังที่ว่าชาติหน้าจะไม่ได้อยู่ในประเทศที่มีการปฏิวัติรัฐประหารอีก ลุงนวมทองเป็นคนที่รักประชาธิปไตยมากกว่าชีวิตตนเอง ทั้งที่ปกติมนุษย์ทุกคนย่อมรักชีวิตตนเองยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด เพราะไม่ว่าสถานการณ์ใดก็ย่อมเอาตัวหลีกภัยไว้ก่อน แต่ลุงนวมทองได้ประกาศให้เห็นว่าตัวเองเอาชีวิตเป็นเดิมพันได้ ดังนั้นแสดงว่าลุงนวมทองมีเลือดเนื้อจิตวิญญาณประชาธิปไตยเหนือลมหายใจ เหนือชีวิตตนเอง เป็นต้นแบบของนักต่อสู้เพื่ประชาธิปไตย แม้วันนี้เราอาจรู้สึกท้อต่อเหตุการณ์นิรโทษกรรมเหมาเข่ง ก็อยากให้เรานึกถึงลุงนวมทองไว้

หมุดหมายที่ทำให้บางคนมีอุดมการณ์ชัดเจนขึ้น

จอม เพชรประดับ สื่อมวลชนผู้ที่พูดคุยกับลุงนวมทองก่อนเสียชีวิต กล่าวว่าชีวิตลุงนวมทองที่เสียสละไปในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เป็นแรงบรรดาลใจ เป็นหมุดหมายและทำให้ตนเองมีอุดมการณ์ที่ชัดเจนมากขึ้น เพราะการทำงานของสื่อมวลชนก่อนรัฐประการนั้น สื่อเป็นเครื่องมือของอำนาจชนชั้นนำ แต่เมื่อได้พูดคุยกับลุงนวมทองก็ทำให้คิดถึงการเลิกที่จะรับใช้อำนาจชนชั้นนำ

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริงของลุงนวมทองเป็นความหมายอันยิ่งใหญ่ เป็นคุณค่าที่มหาศาล แม้การเสียชีวิตเป็นเรื่องที่ยากจะรับได้ แต่การสูญเสียนี้เป็นพลังต่อพวกเราทุกคน อย่างไรก็ตามในภาวะการต่อสู้ที่ยังไม่สิ้นสุดนี้เชื่อว่าวิญญาณของลุงเฝ้าดูอยู่ว่าการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมที่สมบูรณ์และเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นเข้าใกล้หรือยัง ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายว่าเราจะไปสู่จุดนั้นได้หรือไม่

โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง!

ปานจิต จันทรา กวีมีเชิงอรรถ กล่าวว่า "ประกาศ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวชน ไม่ใช่ของอภิสิทธิชนอำมาตยาธิปไตย ไม่ใช่ของกองทัพหรือคณะบุคคลใด แต่เป็นของประชาไท เสรีชน เราไม่เอานายกพระราชทาน รัฐบาลแห่งชาติก็ไม่สน นายกต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน สามัญชนเท่านั้นจัดตั้งรัฐบาล จะต่อต้านฆาตรกรทรราชย์และคว่ำบาตรคณะรัฐประหาร โค่นอำมาตยาธิปไตยล้มเผด็จการ อภิบาลประชาธิปไตยให้มั่นยืน โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง(ซ้ำ)"

ไม้ขีดก้านแรกของการกลับมาอยู่ข้างประชาธิปไตย

จอม นักร้องวงไฟเย็น กล่าวว่า แต่ก่อนเขาเป็นเสื้อเหลือง แต่ลุงนวมทองเป็นเหมือนไม้ขีดก้านแรกที่ทำให้เปลี่ยนมาอยู่ข้างประชาธิปไตย

"7 ปี ที่เลยผ่าน เป็นวันวานกาลสมัย

ดาวดวงที่ร่วงไป หมุนฟ้าใหม่ให้พรุ่งพราย

ดับชีพ มิดับชื่อ จะฉุดยื้อจนล้มหาย

สองมือจะสู้ตาย ไม่อยู่ใต้กระบอกปืน

หนึ่งคนชนกองทัพ เขาโขกสับจึงขัดขืน

นวมทองจึงหยัดยืน เป็นเชื้อฟืนสุมกองไฟ

ไม้ขีดจึงถูกจุด เพลิงจึงผุดโหมลุกไหม้

ก้านแรกจุดกองไฟ จารึกไว้ชื่อนวมทอง

ก้านแรกจุดกองไฟ จารึกไว้ชื่อนวมทอง"

 

ไม่พอใจ 'พ่อเฌอ' อ่านบทกวีด่าทักษิณ ขว้างขวดน้ำใส่

สุวรรณา ตาลเหล็ก จากกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เจ้าภาพจัดงานรำลึก กล่าวว่า ระหว่างการอ่านบทกลอนของพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พ่อของสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือเฌอ หนึ่งในผู้ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อพ.ค.53 มีเหตุชุลมุนเกิดขึ้นเนื่องจากผู้ฟังไม่พอใจบทกลอนซึ่งมีเนื้อหาด่าทักษิณ ชินวัตร ในเรื่องนิรโทษกรรม อย่างไรก็ตาม ในฐานะเจ้าภาพได้แจ้งแต่ต้นว่า ในงานครั้งนี้เป็นงานรำลึกนวมทอง ไพรวัลย์ คนที่มามีทั้งสนับสนุนและคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ทุกคนมีสิทธิเห็นต่างได้ไม่ว่ากัน  แต่ระหว่างพันธ์ศักดิ์อ่านบทกวี มีการแสดงความไม่พอใจและมีการขว้างขวดน้ำ จากนั้นมีการขว้างกระป๋องมาบนเวที ท่ามกลางคนบางส่วนที่พยายามห้ามปราม หลังจากจบการอ่านกวี ตนเองในฐานะพิธีกรได้กล่าวขอโทษผู้ที่ไม่พอใจ และพยามยามชี้แจงว่าขบวนการประชาธิปไตยทุกคนมีสิทธิคิดต่าง แต่กลุ่มคนเสื้อแดงด้านนอกก็ยังรู้สึกไม่พอใจ มีคนเข้าไปพยายามอธิบาย จนคนบางส่วนกลับเข้ามาร่วมงานจนจบ

"ช่วงนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ เรื่องสุดซอย เหมาเข่ง ก็เป็นธรรมดาที่จะมีการกระทบกระทั่งกัน คนเสื้อแดงในกลุ่มหลายคนมีอารมณ์ร่วมที่ไปว่าทักษิณ แต่คนอีกกลุ่มก็พยายามห้ามปราม ในฐานะคนทำงานกลุ่มมันทำให้เราเห็นว่า ถึงที่สุดคงต้องพยายามทำงานความคิด และระมัดระวังในประเด็นอ่อนไหว แต่ต้องไปถึงเป้าหมายให้คนไม่ยึดติดตัวบุคคล ต้องอดทนเรื่องความเห็นต่างให้มากกว่านี้ ถ้าไม่ได้ยืนในบทเจ้าภาพคงพูดแรงกว่านี้ เพราะในขณะที่เรียกร้องประชาธิปไตย แต่กลับไม่อดทนกับความเห็นต่างเลย ไม่ให้คนอื่นพูดในสิ่งที่ไม่อยากฟังเลยมันไม่ได้ ไม่ต่างอะไรกับเผด็จการ แต่ตรงนี้ก็เป็นเรื่องยาก เพราะคนเสื้อแดงมาจากการก้าวกระโดดทางการเมือง มาจากการที่คนที่คุณรักถูกกระทำ เวลาหนึ่งก็ลืมเขาไปเพราะเพื่อนคุณถูกฆ่าตาย  แต่พอผ่านไปซักพักหนึ่งคุณก็มาปกป้องคนที่คุณรัก การก้าวกระโดดนี้ทำให้ความตั้งมั่น ความหนักแน่น การเปิดกว้างยังไม่พอ เรื่องนี้อันตรายสำหรับการขับเคลื่อนไปข้างหน้า ไม่อย่างนั้นก็เท่ากับที่ทำกันที่ผ่านมานั้นสูญเปล่า" สุวรรณากล่าว

 

 
 

วิดีโอคลิปบางส่วนของเหตุชุลมุนที่เกิดขี้น โดย Prainn Rakthai เจ้าของวิดีโอบรรยายถึงเหตุชุลมุนดังกล่าวว่ามีผู้ขวางขวดน้ำใส่เวที หลังพันธ์ศักดิ์อ่านบทกวีเกี่ยวกับทักษิณ รวมทั้งมีการยุยงให้ใช้ความรุนแรงด้วย

 

ภาพบรรยากาศงานเปิดสดมภ์นวมทอง :

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ : นับถอยหลังพรรคเพื่อไทย

Posted: 31 Oct 2013 10:27 AM PDT

เคยสงสัยมาก่อนหน้านี้แล้วว่า ความเป็นพันธมิตรระหว่างเครือข่ายทักษิณกับขบวนการประชาธิปไตย และนักวิชาการฝ่ายก้าวหน้าจะพัฒนาไปได้ยั่งยืนเพียงใด แต่จากปัญหาการนำเสนอเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่งในสัปดาห์ที่ผ่านมา น่าจะเป็นสัญญาณว่า ความเป็นพันธมิตรนี้น่าจะใกล้ถึงวาระสิ้นสุดแล้ว

ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ.2548 เมื่อพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เสียงข้างมากของประชาชนสนับสนุน แต่องค์กรทางสังคมและนักวิชาการฝ่ายก้าวหน้าส่วนใหญ่ไม่สนับสนุน เหตุผลและความชอบธรรมของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณจึงตกต่ำลงอย่างมาก และกระบวนการนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการรับรองความชอบธรรมของการรัฐประหารกันยายน พ.ศ.2549 ในฐานะวิธีการยุติระบอบทักษิณ

แต่กระนั้น ความไม่ชอบธรรมยิ่งกว่าของการก่อรัฐประหาร และวิธีการอันเหลวไหลของขบวนการฝ่ายขวาและอำนาจตุลาการหลังจากนั้น ช่วยทำให้เกียรติภูมิของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ฟื้นคืนมาใหม่ และกระบวนการต่อสู้ในระยะ 6 ปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดลักษณะพันธมิตรระหว่างฝ่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณกับขบวนการประชาธิปไตย กระบวนการต่อสู้ร่วมกันนี้พัฒนามาตั้งแต่ พ.ศ.2550 โดยมีเป้าหมายในการต่อสู้กับระบอบอำมาตยาธิปไตย และต้องถือว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้แสดงบทบาทที่เป็นประโยชน์ในการต่อสู้ตามสมควร ในกระบวนการนี้ ทำให้พลังฝ่ายก้าวหน้ากลายมาเป็นแนวร่วมอย่างหลวมกับฝ่ายทักษิณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาฃีวะ ใช้วิธีการอันไม่ชอบธรรมขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี และใช้วิธีการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนเพื่อรักษาอำนาจในเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ.2553 และยังใช้อำนาจในการจับกุมและดำเนินคดีคนเสื้อแดงนับพันคน ติดตามมาด้วยการไล่ฟ้องและจับกุมผู้บริสุทธิ์ด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 วิธีการเหล่านี้จึงเป็นการยากที่นักวิชาการที่รักษาความเป็นธรรมทั้งหลายจะยอมรับ

การล่มสลายแห่งความชอบธรรมของรัฐบาลอภิสิทธิ์ และการเสื่อมถอยขององค์กรฝ่ายขวา เช่น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้สร้างน้ำหนักให้กับฝ่ายพรรคเพื่อไทย ชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2554 อันนำมาซึ่งการจัดตั้งรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นอกเหนือจากเป็นเพราะความนิยมต่อ พ.ต.ท.ทักษิณที่ยังคงอยู่ในหมู่ประชาชนแล้ว ยังมาจากการโอบอุ้มของฝ่ายนักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตย ที่ต้องการเห็นการฟื้นฟูประชาธิปไตยอันแท้จริงในสังคมไทย ชัยชนะของพรรคเพื่อไทย จึงกลายเป็นชัยชนะที่เป็นธรรม เป็นชัยชนะร่วมกันของฝ่ายทักษิณและขบวนการประชาธิปไตย แต่เป็นความพ่ายแพ้ครั้งสำคัญของฝ่ายอำมาตย์และพลังฝ่ายจารีตในสังคมไทย

ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นหลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศแล้ว เพราะรัฐบาลกลับปล่อยปละอย่างมากในนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน ยอมจำนนต่อศาลอยุติธรรม และพินอบพิเทาฝ่ายจารีตนิยมจนเกินงาม แต่กรณีที่เป็นที่วิจารณ์อย่างมากก็คือ การละเลยไม่สนใจพี่น้องคนเสื้อแดงที่ถูกดำเนินคดีและติดคุก ทั้งจากคดีการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้เมื่อ พ.ศ.2553 และคดีตามมาตรา 112 ทั้งที่คนเหล่านี้ คือมวลชนที่ต่อสู้เพื่อพรรคเพื่อไทยมาแล้วทั้งสิ้น ความไม่สนใจเช่นนี้ ทำให้กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยต้องเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อพรรคเพื่อไทยให้มีการปล่อยนักโทษการเมือง เช่น ข้อเรียกร้องเรื่องการนิรโทษกรรมประชาชนของฝ่ายนิติราษฎร์ และการชุมนุมหมื่นปลดปล่อยเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2556 เป็นต้น

กระบวนการเหล่านี้จึงนำมาซึ่งการที่ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ และ ส.ส.เพื่อไทยกลุ่มหนึ่ง ต้องนำเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเมื่อเดือนมีนาคม ทีผ่านมา โดยมีเนื้อหาให้นิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองทุกฝ่ายทั้งฝ่ายเสื้อแดงและเสื้อเหลือง แต่ยกเว้นแกนนำและผู้สั่งการ ประชาชนคนเสื้อแดงจำนวนมากก็สนับสนุนร่างนี้ ด้วยความหวังที่ว่าจะเป็นช่องทางในการปล่อยนักโทษการเมืองให้ได้โดยเร็ว และพรรคเพื่อไทยก็มีมติสนับสนุน ดังนั้น ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ จึงได้ผ่านการรับหลักการวาระแรก ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยคะแนนเสียง 300 ต่อ 124 เพื่อผ่านขั้นตอนไปสู่การตั้งกรรมาธิการพิจารณาในวาระที่สอง

แต่ปรากฏว่า การพิจารณาในขั้นนี้ กรรมาธิการเสียงข้างมากได้ยอมรับการแปรญัตติของนายประยุทธ ศิริพานิชย์ โดยเปลี่ยนเนื้อหาทั้งหมดของร่างเดิม ไปใช้ร่างใหม่ที่นิรโทษกรรมทุกฝ่ายรวมทั้งแกนนำ ซึ่งหมายถึงทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สุเทพ เทือกสุบรรณ และฝ่ายทหาร และที่ร้ายแรงยิ่งกว่านั้น คือ มีการเติมให้ยกเว้นการนิรโทษเหยื่อมาตรา 112 ด้วยข้ออ้างก็คือ การช่วยนำ พ.ต.ท.ทักษิณกลับบ้าน และสร้างความสมานฉันท์เพื่อเริ่มต้นใหม่ประเทศไทย การแปรญัตติเช่นนี้จึงเรียกกันว่าเป็นกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง และเป็นที่ต่อต้านอย่างมากจากกลุ่มเสื้อแดง นปช. ขบวนการประชาธิปไตย และ นักวิชาการฝ่ายก้าวหน้า แต่ฝ่ายพรรคเพื่อไทยก็ยังคงดึงดันที่จะเดินหน้าในญัตตินิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งต่อไป โดยไม่ฟังเสียงคัดค้าน

ปัญหาสำคัญในขณะนี้ก็คือ ฝ่ายพรรคเพื่อไทยยังไม่สามารถที่จะเสนอเหตุผลอันชอบธรรมอันใดเลย ที่จะอธิบายได้ว่าเหตุใดขบวนการประชาธิปไตยจะต้องยอมรับในมาตรการนิรโทษกรรมลักษณะนี้ ข้ออ้างที่ว่า มีความจำเป็นต้องนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูก แต่ก็สามารถทำได้ง่ายโดยการล้มล้างผลพวงรัฐประหาร ไม่จำเป็นต้องเอามาพ่วงในกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน การอ้างว่า ต้องนิรโทษกรรมให้เสมอภาคกันตามมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญ แต่การยกเว้นเหยื่อมาตรา 112 ก็ชี้ให้เห็นว่าข้ออ้างนี้เป็นเรื่องไร้สาระ ถ้าจะอ้างว่าต้องรีบนิรโทษเพื่อเอาพี่น้องออกจากคุก ก็อธิบายได้ว่า ขบวนการประชาธิปไตยที่ต่อต้านการนิรโทษแบบเหมาเข่ง ก็ไม่ได้คัดค้านเรื่องการปล่อยนักโทษการเมืองเลย ฝ่ายรัฐบาลพรรคเพื่อไทยต่างหากที่สามารถช่วยนักโทษการเมืองได้ตลอดเวลา โดยการออกพระราชกำหนดหรือใช้มาตรการอื่น แต่ที่ผ่านมาไม่เคยคิดจะทำ และที่ดูตลกกว่านั้น คือ ฝ่ายนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพท้าทายเสมอว่าไม่ต้องนิรโทษกรรมให้กับพวกตน และฝ่ายผู้บัญชาการทหารก็ไม่เคยยอมรับว่า ได้กระทำความผิด แต่ด้วยเหตุใดกฎหมายเหมาเข่งจึงไปนิรโทษกรรมให้พวกเขาทั้งหมด เหตุผลเรื่องความปรองดองภายในชาติอาจจะฟังดูดี แต่คงต้องอธิบายเรื่องการจัดการความยุติธรรมต่อประชาชนที่เสียชีวิตและบาดเจ็บในเหตุการณ์เมษายนและพฤษภาคม พ.ศ.2553 ถ้าจะให้นิรโทษกรรมฆาตกรแล้วเลิกแล้วต่อกันเฉยๆ คงไม่ได้

การผลักดันร่างนิรโทษกรรมเหมาเข่งได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างหนักในขบวนการฝ่ายเสื้อแดง และก่อให้เกิดการแยกชัดระหว่างมวลชนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยในทุกเงื่อนไช กับพลังฝ่ายประชาธิปไตย และนักวิชาการฝ่ายก้าวหน้าที่ไมอาจยอมรับการนิรโทษกรรมแบบนี้ได้

เครือข่ายทักษิณและพรรคเพื่อไทยอาจจะไม่สนใจ และประเมินว่า ต่อให้ผลักดันการนิรโทษกรรมหน้าตาอย่างนี้ พรรคก็ยังชนะเลือกตั้งสมัยหน้าอยู่นั่นเอง โดยไม่ต้องอาศัยพวกนักวิชาการและพลังประชาธิปไตย ในที่นี่จะขอบอกว่า ถ้าหากไม่รับฟังและยังดึงดันนิรโทษกรรมเหมาเข่ง ก็จะสิ้นความชอบธรรมเพราะเรื่องเหมาเข่งเป็นเรื่องไร้หลักการทางการเมือง แต่ถ้าหากถอยเรื่องเหมาเข่งแล้วไม่ยอมนิรโทษกรรมประชาชน ให้ชาวบ้านติดคุกต่อไป ก็เป็นเรื่องอมหิตของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

การตัดสินใจในเรื่องนี้กลายเป็นระเบียบวาระอันสำคัญ ถ้าตัดสินใจผิดพลาดก็จะเป็นจุดเริ่มต้นนับถอยหลังของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เพราะจะเกิดลักษณะที่พรรคได้คะแนนเสียงแต่ปราศจากความชอบธรรม สถานการณ์ทางการเมืองไทยจึงวังเวงยิ่งนัก

 

 

ที่มา โลกวันนี้วันสุข

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“ภาวะภัยทางศีลธรรมในทางการเมือง” เสียงกระซิบอันแผ่วเบาถึงหูพรรคเพื่อไทย

Posted: 31 Oct 2013 09:54 AM PDT

ตลอดระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจ สังคม และ การเมืองไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จนกระทั่งหลังปี พ.ศ.2549 และ ปี พ.ศ.2553 เป็นต้นมา ได้มีงานศึกษาที่เสนอชุดความรู้คำอธิบายการเมืองไทยสมัยใหม่จำนวนมาก ซึ่งอธิบายคนกลุ่มใหม่ในสังคมไทยที่ต้องพื้นที่ทางการเมืองหรือเรียกตามอภิชาต สถิตนิรามัย และ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ว่ากลุ่ม "ชนชั้นกลางระดับล่าง"

กลุ่มคน "ชนชั้นกลางระดับล่าง" มีประวัติศาสตร์การพัฒนาตัวตนขึ้นมาจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2520 ที่เกิดความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเศรษฐกิจขนานใหญ่ คือ การปรับเปลี่ยนจากเกษตรกรเต็มเวลา เป็นเกษตรกรแบบบางส่วน หรือ ทำงานเกษตรไปด้วยทำอย่างอื่นไปด้วย อาจเรียกได้ว่า คนในเศรษฐกิจนอกระบบ (informal sector) แต่กระนั้นพวกเขาก็ไม่มีพื้นที่ทางการเมืองเลย จนกระทั่งมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้จัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจใหม่ ให้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจในการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหาภาค รวมถึงสร้างนโยบายประชานิยมให้เป็นจริง ทำให้ "ชนชั้นกลางระดับล่าง" เลือกพรรคไทยรักไทยเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการเข้าถึงพื้นที่ทางการเมือง[1]

ดังนั้นแล้วเมื่อพรรคไทยรักไทยเป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองหนึ่งของ "ชนชั้นกลางระดับล่าง" ก็เท่ากับว่า การล้มกระดานหรือยึดเครื่องมือทางการเมืองของพวกเขาด้วยการรัฐประหารปี พ.ศ.2549 ไม่มีผลใดๆ เลย เพราะอย่างไรเสีย "ชนชั้นกลางระดับล่าง" ก็ยังคงอยู่และเลือกเครื่องมือทางการเมืองที่ทำให้พวกเขามีพื้นที่ทางการเมือง หากแต่พรรคไทยรักไทย หรือ พรรคเพื่อไทยกลับไม่คิดว่าตนเองเป็นเพียงเครื่องมือของ "ชนชั้นกลางระดับล่าง" คิดว่าตนเองคือผู้ให้กำเนิด "คนเสื้อแดง" เลยไม่ทันระวังย่างก้าวทางการเมือง ไม่ระวัง 1 คือ ใช้นโยบายประชานิยมแบบล้นเกิน เพราะคงคิดว่านโยบายประชานิยมเป็นเส้นเลือดใหญ่เชื่อมต่อพรรคและ "คนเสื้อแดง" อย่างเหนียวแน่น ไม่ระวัง 2 คือ เชื่อว่า "คนเสื้อแดง" มีวัฒนธรรมทางการเมือง หรือ ความคิดทางการเมืองเหมือนกับพรรค จนนำไปสู่ความเชื่อผิดๆ ที่ว่าหากพรรคเพื่อไทยนำ "คนเสื้อแดง" ก็จะตาม

พรรคเพื่อไทยในฐานะเครื่องมือทางการเมืองของ "คนเสื้อแดง" คงไม่สามารถทำอะไรให้มากไปกว่าการฟังเสียง "คนเสื้อแดง" ซึ่งก็ไม่ได้มีแค่กลุ่มเดียว เพราะแดงนั้นมีหลายเฉด[2] ดังนั้นการเสนอ "นิรโทษกรรมแบบยกเข่ง" จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลเป็นอย่างยิ่ง เพราะในเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ.2553 "คนเสื้อแดง" จำนวนหนึ่งที่เสียสละชีวิต บางส่วนอยู่ในเรือนจำ เขาไม่ได้แลกชีวิตและอิสรภาพของเขาเพื่อความอยู่รอดของพรรคเพื่อไทย แต่เขาอุทิศชีวิตและอิสรภาพให้กับ "ประชาธิปไตย" และพื้นที่ทางการเมืองของพวกเขาต่างหาก

ด้านหนึ่งพรรคเพื่อไทยต้องไม่อ้างความ "สงบทางการเมือง" เพื่อกลบเกลื่อนหรือเล่นซ่อนแอบกับความรุนแรงทางการเมืองอีกต่อไป เพราะไม่เช่นนั้นเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง แบบ เดือนตุลา 2516 – 2519, 2535 และ 2553 ก็จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้[3] เพราะ การนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งเปรียบเสมือนการสร้าง  Moral Hazard หรือ "ภาวะภัยทางศีลธรรมในทางการเมือง" การนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งนั้นเหมือนกับการสร้างหลักประกันว่า ผู้นำทางการเมืองที่สั่งการจนก่อให้เกิดความรุนแรงสามารถรอดจากการดำเนินคดีและกระบวนการยุติธรรมได้ในอนาคต




[1] สังเคราะห์จาก อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, "การเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์", [แหล่งข้อมูลออนไลน์] แหล่งที่มา http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/attachak/20110527/392611/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C.html (เข้าสู่ระบบวันที่ 31/10/2556)

[2] จะเห็นได้ว่ามีเสื้อแดง 2 กลุ่มที่เห็นด้วยและคัดค้านการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง หรือ สุดซอย เช่น แดงแบบ เฉลิม อยู่บำรุง โปรดดู "เฉลิมออกรพ.หนุนนิรโทษกรรมสุดซอย", [แหล่งข้อมูลออนไลน์] แหล่งที่มา http://www.posttoday.com/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87/256073/%E0%B9%80%E0%B8%89%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%9E-%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%97%E0%B8%A9%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%8B%E0%B8%AD%E0%B8%A2 (เข้าสู่ระบบวันที่ 31/10/2556), "แดงปทุมฯ-ญาติวีรชนบุกเพื่อไทยหนุนนิรโทษกรรมสุดซอย", [แหล่งข้อมูลออนไลน์] แหล่งที่มา http://breakingnews.nationchannel.com/home/read.php?newsid=700083 (เข้าสู่ระบบวันที่ 31/10/2556)  อีกด้านหนึ่งคือกลุ่ม ไม่เห็นด้วยนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง และ สุดซอย โปรดดู "นปช.แดงเชียงใหม่-แดงเสรีชนลำพูน ชุมนุมค้านนิรโทษกรรมเหมาเข่ง" [แหล่งข้อมูลออนไลน์] แหล่งที่มา http://prachatai.com/journal/2013/10/49436 (เข้าสู่ระบบวันที่ 31/10/2556)

[3] สังเคราะห์ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, "หยุดการบิดเบือนกฎหมายนิรโทษกรรม หยุดการตระบัดสัตย์ของพรรคเพื่อไทย", [แหล่งข้อมูลออนไลน์] แหล่งที่มา http://thaipublica.org/2013/10/against-the-amnesty-bill/ (เข้าสู่ระบบวันที่ 31/10/2556)

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

NBTC Policy Watch: 2 ปี กับธรรมาภิบาล กสทช.

Posted: 31 Oct 2013 09:07 AM PDT

วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2556 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 4 คน คือ พันเอกเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ นายสุทธิพล ทวีชัยการ พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร และนายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ โดยมีนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เป็นตัวแทน ได้ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาทกับนักวิชาการและสื่อมวลชน 2 ราย คือ นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และนางสาวณัฎฐา โกมลวาทิน บรรณาธิการข่าวรายการ "ที่นี่ Thai PBS" ด้วยข้อหาว่าจำเลยมีเจตนาประสงค์ร้ายในการบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยการขยายระยะเวลาคืนคลื่น 1800 MHz จนเป็นเหตุให้ กสทช. ทั้ง 4 คน เสียชื่อเสียงทั้งที่เป็นบุคคลที่มีเกียรติประวัติที่ดีไร้เรื่องด่างพร้อยตลอดมา และยังทำให้สำนักงาน กสทช. ในฐานะองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่จัดสรรและกำกับดูแลเพื่อผลประโยชน์สาธารณะ เสียหายจากการถูกมองว่าเป็นองค์กรที่ขาดความโปร่งใสและทุจริตต่อหน้าที่

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลหรือเจตนารมณ์อะไรก็ตาม การกระทำดังกล่าวย่อมส่งผลต่อการทำงานของกลไกตรวจสอบภายนอกสำคัญ 2 กลไก คือ นักวิชาการและสื่อมวลชน ซึ่งทำให้การตรวจสอบการทำงานขององค์กรสาธารณะโดยรวมอ่อนแอลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  โดยผลกระทบดังกล่าวจะยิ่งเลวร้ายมากขึ้นหากระบบธรรมาธิบาลภายในของ กสทช. เองยังทำงานได้ไม่ดีเพียงพอ

รายงานฉบับนี้มุ่งตรวจสอบและตั้งคำถามกับระบบธรรมาภิบาลของ กสทช. ใน 5 มิติด้วยกัน นั่นคือ 1) การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ 2) กระบวนการจัดทำและกำหนดนโยบาย 3) กระบวนการรับฟังความคิดเห็น 4) การรับและจัดการเรื่องร้องเรียนของประชาชน และ 5) การใช้งบประมาณ โดยหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการตรวจสอบนั้นอ้างอิงจากข้อบังคับด้านธรรมาภิบาลในกฎหมาย ซึ่งถือเป็นหลักเกณฑ์ขั้นต่ำที่ กสทช. ต้องปฏิบัติตาม และหลักธรรมาภิบาลสากลขององค์กรสาธารณะ ซึ่งอาจเป็นหลักปฏิบัติที่อยู่นอกเหนือจากข้อกำหนดที่เป็นลายลักษณ์อักษรในกฎหมาย ทว่าเป็นหลักการที่องค์กรสาธารณะควรปฏิบัติเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการทำงาน และแสดงความรับผิดรับชอบต่อสาธารณะ

 

1. การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ

การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะถือเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปสามารถติดตามและตรวจสอบการทำงานของ กสทช. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเป็นการพิสูจน์ความโปร่งใสในการทำงานของ กสทช. เอง โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการกำหนดนโยบายและการจัดสรรงบประมาณ กสทช. ต้องให้ความสำคัญกับทั้งการเปิดเผยข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลที่จะช่วยพิสูจน์ความโปร่งใสในการทำงานของ กสทช. แม้จะไม่ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายก็ตาม

อย่างไรก็ดี เมื่อตรวจสอบข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงาน (www.nbtc.go.th) พบว่า กสทช. ล้มเหลวในการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะตามเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ดังนี้

 

กสทช. และสำนักงาน กสทช. ไม่สามารถเปิดเผยรายงานการประชุมพร้อมทั้งผลการลงมติของที่ประชุมให้สาธารณชนรับรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ภายในระยะเวลา 30 วัน ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 24 (ดูล้อมกรอบด้านล่าง) ในพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (พ.ร.บ. องค์กรฯ) โดยจากการตรวจสอบเว็บไซต์ของสำนักงาน กสทช. ในวันที่ 31 ตุลาคม 2556 พบว่า รายงานการประชุมของคณะกรรมการกิจการเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ที่ตีพิมพ์ล่าสุดเป็นของวันที่ 8 กรกฎาคม 2556 (ล่าช้าเกือบ 4 เดือน) และรายงานการประชุมของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ที่ตีพิมพ์ล่าสุดคือวันที่ 29 สิงหาคม 2556 (ล่าช้า 2 เดือน) นอกจากนั้น รายงานการประชุมที่เผยแพร่บางครั้งยังไม่ได้เปิดเผยผลการลงมติในรายบุคคลและไม่ได้บันทึกการให้เหตุผลในการโหวตสนับสนุนหรือคัดค้านตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เช่น การลงมติรับรองแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่

มาตรา 24 การปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. กสท. และ กทค. ในเรื่องใดที่เกี่ยวข้องหรือมีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ ต้องกระทําโดยมติของที่ประชุม และต้องเปิดเผยรายงานการประชุมพร้อมทั้งผลการลงมติของที่ประชุมทั้งรายบุคคลและทั้งคณะให้สาธารณชนทราบผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของสํานักงาน กสทช. และโดยวิธีการอื่นที่เหมาะสมตามที่ กสทช. ประกาศกําหนด

ข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในรายงานการประชุมเรื่องใดมีลักษณะตามที่กฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการกําหนดมิให้ต้องเปิดเผยก็ได้ กสทช. อาจมีมติมิให้เปิดเผยข้อมูลเฉพาะในส่วนนั้นได้

การเปิดเผยรายงานการประชุมพร้อมทั้งผลการลงมติตามวรรคหนึ่ง ต้องดําเนินการภายในระยะเวลาไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ได้มีการลงมติ เว้นแต่มีเหตุจําเป็นให้ขยายเวลาออกไปได้อีกไม่เกินสิบห้าวัน แต่ต้องแสดงเหตุผลและความจําเป็นที่ต้องขยายเวลาไว้ด้วย

 

- กสทช. และสำนักงาน กสทช. ไม่เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยฉบับเต็มที่ว่าจ้างให้หน่วยงานภายนอกดำเนินการผ่านทางเครือข่ายสารสนเทศ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  59 (5) ใน พ.ร.บ. องค์กรฯ (ดูล้อมกรอบด้านล่าง) ทั้งที่รายงานผลการศึกษาบางฉบับถูกนำมาใช้อ้างในการกำหนดนโยบาย เช่น งานศึกษาการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ 2.1 GHz ที่ว่าจ้างคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้จัดทำ และภายหลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงข้อเสนอในการกำหนดราคาตั้งต้นที่ต่ำกว่าราคาประเมินค่อนข้างมาก หรืองานศึกษาการกำหนดราคาตั้งต้นการประมูลคลื่นความถี่โทรทัศน์ดิจิทัลธุรกิจโดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งไม่มีการเปิดเผยวิธีการได้มาซึ่งตัวเลข อีกทั้งเมื่อ กสท. ตัดสินใจลดสัดส่วนช่องข่าวจากร้อยละ 75 เหลือร้อยละ 50 ซึ่งย่อมส่งผลต่อการกำหนดราคาประเมินตั้งต้น แต่กลับไม่มีการอ้างกลับไปที่งานศึกษาชิ้นดังกล่าวเลย นอกจากนั้น ยังมีกรณีที่ กสทช. ว่าจ้างให้หน่วยงานภายนอกศึกษาแต่ไม่นำผลการศึกษามาใช้ เช่น การศึกษาข้อเสนอการแบ่งช่องโทรทัศน์สาธารณะ หรือการศึกษาประสบการณ์การกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อกำกับดูแลเนื้อหาของสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ในกรณีเช่นนี้ กสทช. ก็ควรเปิดเผยเพื่อให้สาธารณะรู้ว่าเหตุใดจึงไม่นำข้อเสนอในการศึกษามาใช้อ้างในการกำหนดนโยบาย

มาตรา 59 ให้สำนักงาน กสทช. เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. ให้ประชาชนทราบทางระบบเครือข่ายสารสนเทศ หรือวิธีการอื่นที่เห็นสมควร โดยอย่างน้อยต้องเปิดเผยข้อมูล ดังต่อไปนี้

(1) ใบอนุญาตประกอบกิจการของผู้ได้รับใบอนุญาตทุกราย พร้อมทั้งเงื่อนไขที่กำหนด (มี)

(2) รายได้ของสำนักงาน กสทช. ตามมาตรา 65 เป็นรายเดือนโดยสรุป (มีแต่เผยแพร่ล่าช้า)

(3) รายจ่ายสำหรับการดำเนินงานของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. เป็นรายเดือนโดยสรุป (มีแต่เผยแพร่ล่าช้า)

(4) รายละเอียดของอัตราค่าตอบแทนกรรมการ กสท. กทค. อนุกรรมการ และที่ปรึกษาต่างๆ เป็นรายบุคคล (มีแต่ไม่ได้ระบุเป็นรายบุคคล)

(5) ผลการศึกษาวิจัยและผลงานอื่นๆ ที่ว่าจ้างให้หน่วยงานภายนอกดำเนินการ (ไม่มี)

(6) รายการเรื่องร้องเรียน ความคืบหน้าและผลการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภค และผู้รับใบอนุญาตและจำนวนเรื่องที่ยังค้างพิจารณา (มีแต่ยังไม่ให้รายละเอียดเพียงพอ)

(7) รายละเอียดของผลการจัดซื้อจัดจ้างของสำนักงาน กสทช. และสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง (มีแต่เผยแพร่ล่าช้า)

 

นอกเหนือจากความล้มเหลวในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายแล้ว กสทช. ยังไม่เปิดเผยข้อมูลที่แม้ไม่ได้บังคับไว้ในกฎหมาย แต่ก็มีความสำคัญต่อการกำหนดนโยบายและช่วยพิสูจน์ความโปร่งใสในการทำหน้าที่ อาทิเช่น

 

- กสทช. ไม่เปิดเผยรายงานการประชุมของคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ซึ่งคณะอนุกรรมการเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการนำเสนอความเห็นทางนโยบายให้กับที่ประชุม กสทช. กสท. และ กทค. ก่อนที่จะมีการลงมติรับรองและออกเป็นประกาศ การไม่เผยแพร่รายงานของคณะอนุกรรมการทำให้สังคมไม่สามารถตรวจสอบถึงที่มาที่ไปและความเห็นของคณะอนุกรรมการต่อข้อเสนอทางนโยบายที่เกี่ยวข้องได้ ตัวอย่างเช่น

o คณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz (3G) เสนอให้กำหนดเพดานการประมูลคลื่นความถี่ไว้ที่ 20 MHz เพื่อให้เกิดการแข่งขันประมูลในกรณีที่มีผู้เข้าร่วมประมูลเพียง 3 ราย (เพราะมีคลื่นในการประมูล 45 MHz และมีแนวโน้มสูงมากที่จะมีเข้าประมูลเป็นผู้ประกอบการรายเดิมเพียง 3 ราย) แต่ภายหลังเมื่อ กทค. มีมติให้ลดเพดานการประมูลคลื่นความถี่เหลือ 15 MHz (ซึ่งนำไปสู่การไม่แข่งขันประมูล) เหตุผลของคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าวกลับไม่ได้รับการเปิดเผย และไม่มีการส่งเรื่องกลับไปให้ที่ประชุมอนุกรรมการฯ พิจารณา

o คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการอนุญาตและกำกับดูแลกิจการบริการดาวเทียมสื่อสาร มีความเห็นแตกต่างกันในประเด็นที่ว่า ผู้ให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียมถือเป็นกิจการโทรคมนาคมที่ใช้คลื่นความถี่หรือไม่ เพราะหากเป็นการใช้คลื่น กสทช. ต้องดำเนินการให้ใบอนุญาตผ่านวิธีการประมูลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 45 ของ พ.ร.บ. องค์กรฯ เท่านั้น การตีความดังกล่าวมีนัยสำคัญต่อการแข่งขันให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียมในอนาคต (จากที่ผูกขาดโดยไทยคมมาตลอด) ดังนั้น การเปิดเผยรายงานการประชุมจะช่วยให้สาธารณชนรับทราบถึงเหตุผลของทั้งผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านอย่างรอบด้าน

o คณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่วิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า 1800 บางคนเคยเสนอในที่ประชุมให้เร่งประมูลคลื่น 1800 MHz ก่อนวันหมดสัญญาสัมปทาน พร้อมให้เหตุผลสนับสนุน ทว่า กสทช. กลับเลือกที่จะขยายระยะเวลาคืนคลื่นออกไป ดังนั้น การเปิดเผยรายงานการประชุมย่อมทำให้สาธารณชนรับทราบเหตุผลที่รอบด้านเกี่ยวกับการตัดสินใจทางนโยบายดังกล่าว

o คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ กสทช. บางครั้งมีความเห็นที่ขัดกับแนวทางการกำหนดนโยบายของ กสทช. เช่น คณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวมีความเห็นว่าไม่สามารถขยายระยะเวลาในการคืนคลื่น 800 MHz ได้ด้วยเหตุผลทางกฎหมาย ซึ่งเป็นกรณีที่มีลักษณะเดียวกับการขยายระยะเวลาคืนคลื่น 1800 MHz (แต่ กสทช. กลับเลือกไม่ส่งให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายให้ความเห็น) การเผยแพร่รายงานของอนุกรรมการฯ จะช่วยให้สังคมรับทราบถึงปัญหาทางกฎหมายในกรณีขยายระยะเวลาคืนคลื่น 1800 MHz

 

- กสทช. ไม่เปิดเผยรายงานหรือเอกสารสำคัญเกี่ยวกับข้อเสนอเชิงนโยบายที่สำนักงาน กสทช. เป็นผู้จัดทำ ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้มีข้อบังคับทางกฎหมายให้ตีพิมพ์รายงานหรือเอกสารของสำนักงานฯ เหมือนกรณีที่จ้างหน่วยงานภายนอกตามมาตรา 59 ทว่าข้อมูลดังกล่าวก็มีความสำคัญต่อการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย เช่น รายงานผลการศึกษาและข้อเสนอแนะในการเตรียมความพร้อมสำหรับคลื่น 1800 ที่สำนักงานเป็นผู้จัดทำ ได้ทำข้อเสนอหลายชุดเพื่อให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาตกรณีหมดอายุสัมปทานคลื่น 1800 MHz เป็นไปอย่างราบรื่นโดยไม่ต้องขยายระยะเวลาคืนคลื่นออกไป การเปิดเผยรายงานดังกล่าวจะช่วยให้สังคมสามารถตรวจสอบได้ว่า ทางเลือกของ กทค. ในการขยายระยะเวลาคืนคลื่น 1800 MHz ภายหลังหมดอายุสัมปทานไปอีก 1 ปีนั้น เป็นทางเลือกที่เหมาะสมหรือไม่เมื่อเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่นๆ

 

2. กระบวนการจัดทำนโยบาย

กระบวนการจัดทำนโยบาย (policy process) ถือเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดตัวเนื้อหาของนโยบาย (policy content) ว่าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรและเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของใคร ซึ่งตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี กระบวนการดังกล่าวควรมีลักษณะโปร่งใส ดึงการมีส่วนร่วมรอบด้าน และตั้งอยู่บนฐานของความรู้ อย่างไรก็ดี กระบวนการจัดทำนโยบายของ กสทช. ตลอดช่วงระยะเวลา 2 ปี มีปัญหาหลักๆ ดังนี้

 

- ที่ผ่านมา กระบวนการคัดเลือกอนุกรรมการที่ถือเป็นกลไกสำคัญในการนำเสนอชุดนโยบายทำขึ้นผ่านระบบโควตามากกว่าระบบคุณสมบัติ กล่าวคือ คณะกรรมการ กสทช. จะได้รับโควตาในการแต่งตั้งอนุกรรมการ โดยคณะกรรมการ กสทช. ที่รับผิดชอบงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงจะได้รับสัดส่วนโควตาในการแต่งตั้งอนุกรรมการมากกว่าคณะกรรมการคนอื่น ผลที่เกิดขึ้นคือ

o คณะอนุกรรมการบางส่วนขาดคุณสมบัติที่เหมาะสม โดยเฉพาะในแง่ของประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับงานโดยตรง อาทิเช่น อนุกรรมการกำกับดูแลด้านผังและเนื้อหารายการมีสัดส่วนเป็นผู้รับราชการตำรวจหลายคน ซึ่งไม่น่าจะเหมาะสมทั้งในแง่ความรู้และสุ่มเสี่ยงที่จะให้ความเห็นต่อการกำกับดูแลเนื้อหาในเชิง "เซ็นเซอร์" มากกว่าการกำกับดูแลกันเองตามแนวทางสากล นอกจากนั้น สำนักงาน กสทช. เองก็ไม่ได้ตีพิมพ์ประวัติการทำงานและการศึกษาของคณะกรรมการ พร้อมเหตุผลในการคัดเลือก ให้สังคมได้ตรวจสอบ

o ในบางกรณี คณะอนุกรรมการอาจเป็นเพียง "ตรายาง" สำหรับรับรองข้อเสนอที่ถูกส่งมาจากสำนักงานหรือคณะกรรมการ กสทช. (อาจเพราะขาดความรู้ที่เพียงพอหรือเข้ามาผ่านระบบเครือข่ายของคณะกรรมการเอง) ซึ่งบ่อยครั้งมักถูกใช้เป็นข้ออ้างสร้างความชอบธรรมให้กับ กสทช. เมื่อนโยบายบางอย่างถูกวิจารณ์จากสังคม ว่าการดำเนินนโยบายของ กสทช. ได้ผ่านการกลั่นกรองจากอนุกรรมการ "ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก" แล้ว เช่นกรณีการประมูลคลื่น 2.1 GHz ที่ กสทช. บางคนอ้างอยู่บ่อยครั้งว่าข้อเสนอที่ถูกวิจารณ์นั้นเป็นข้อเสนอของอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ซึ่งบางกรณีก็ไม่เป็นเช่นนั้น เช่นกรณีการลดเพดานถือครองคลื่นจาก 20 MHz เหลือ 15 MHz จนนำไปสู่ข้อวิจารณ์ว่าไม่ทำให้เกิดการแข่งขันประมูล ก็ไม่ได้เป็นข้อเสนอของอนุกรรมการ)

o คณะอนุกรรมการบางส่วนอาจมีผลประโยชน์ขัดแย้งกับนโยบายที่ตนมีส่วนตัดสินใจ ตัวอย่างเช่น คณะอนุกรรมการการจัดทำแผนการปรับเปลี่ยนระบบการรับส่งวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล มีองค์ประกอบที่มาจากตัวแทนของสถานีโทรทัศน์รายเดิมและตัวแทนจากหน่วยงานรัฐอยู่ค่อนข้างมาก แต่กลับ 1) มีอำนาจให้ความเห็นและผลักดันหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ฯ (ทั้งที่ควรเป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการส่งเสริมการแข่งขันฯ) 2) มีอำนาจในการให้ความเห็นต่อแนวทางการออกอากาศคู่ขนานสำหรับกิจการสาธารณะ ซึ่งให้ช่อง 5 ช่อง 11 และ TPBS ได้ "สิทธิ" ออกอากาศคู่ขนาน (ทั้งที่ตัวแทนจากช่องดังกล่าวก็นั่งอยู่ในอนุกรรมการฯ ด้วย) 3) มีมติเห็นชอบต่อข้อเสนอในการแบ่งประเภทเนื้อหาของช่องทีวีสาธารณะตามวัตถุประสงค์เฉพาะ ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นการล็อคสเป็คให้กับหน่วยงานรัฐ อีกกรณีหนึ่งคือ คณะอนุกรรมการการประสานงานการบริหารคลื่นความถี่เพื่อความมั่นคงของรัฐฯ ซึ่งมีกรรมการที่มาจากหน่วยงานความมั่นคงของรัฐนั่งอยู่หลายคน แต่กลับมีอำนาจในการกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิขอใบอนุญาตทีวีสาธารณะประเภทความมั่นคง

 

- กสทช. มักหลีกเลี่ยงการออกประกาศหรือคำสั่งที่จะช่วยให้เกิดความชัดเจนและโปร่งใสในการใช้ดุลยพินิจของ กสทช. (ซึ่งนั่นหมายถึงการลดการใช้อำนาจผ่านดุลยพินิจส่วนตัวของ กสทช. เอง) เช่น การปฏิเสธการออกหลักเกณฑ์ในการประกวดคุณสมบัติโทรทัศน์ดิจิทัลสาธารณะ ซึ่งจะช่วยวางกรอบในการใช้ดุลยพินิจให้กับ กสทช. ว่าอะไรถือเป็นคุณสมบัติของความเป็นสื่อสาธารณะ หรือในบางกรณีมีการออกประกาศหรือคำสั่งที่ช่วยวางกรอบการใช้ดุลยพินิจของ กสทช. แต่กลับปฏิเสธที่จะนำไปรับฟังความเห็นสาธารณะตามที่กฎหมายกำหนด โดยอ้างว่าเป็นระเบียบที่ใช้ภายในเท่านั้น ทั้งที่การรับฟังความคิดเห็นจะช่วยเพิ่มความโปร่งใสในการออกนโยบายดังกล่าว เช่น ระเบียบ กสทช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การพิจารณาความจำเป็นการใช้คลื่นความถี่และกำหนดระยะเวลาในการใช้คลื่น ซึ่งมีความสำคัญต่อการนำคลื่นที่เคยถือครองโดยหน่วยงานรัฐกลับมาจัดสรรใหม่ในระบบใบอนุญาต

 

- เมื่อมีความเห็นต่างในเรื่องฐานอำนาจทางกฎหมายหรือการตีความกฎหมายที่เกี่ยวพันกับการกำหนดนโยบาย คณะกรรมการ กสทช. มักหลีกเลี่ยงการส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กสทช. หรือคณะกรรมการกฤษฎีกาทำความเห็น เช่น การตีความฐานอำนาจทางกฎหมายของ กสทช. ในการขยายระยะเวลาคืนคลื่น 1800 MHz หรือการตีความว่าระเบียบ กสทช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การพิจารณาความจำเป็นการใช้คลื่นความถี่และกำหนดระยะเวลาในการใช้คลื่น จำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นตาม พ.ร.บ. องค์กรฯ หรือไม่

 

3. การรับฟังความคิดเห็น

การรับฟังความคิดเห็นเป็นกระบวนการที่ถูกกำหนดไว้ในมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรฯ (ดูล้อมกรอบด้านล่าง) เพื่อดึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไปอย่างรอบด้านก่อนที่จะประกาศใช้นโยบายที่มีความสำคัญของ กสทช. อย่างไรก็ดี กระบวนการรับฟังความเห็นสาธารณะของ กสทช. ที่ผ่านมามีปัญหาด้านธรรมาภิบาลอยู่หลายด้าน ดังนี้

มาตรา 28 ให้ กสทช. จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไปเพื่อนำความคิดเห็นที่ได้มาประกอบการพิจารณาก่อนออกระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่ง เกี่ยวกับการกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ที่มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปและเกี่ยวข้องกับการแข่งขันในการประกอบกิจการหรือมีผลกระทบต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ โดยต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมา เหตุผล ความจำเป็น และสรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับเรื่องที่จะรับฟังความคิดเห็น ตลอดจนประเด็นที่ต้องการรับฟังความคิดเห็น ทั้งนี้ ระยะเวลาในการรับฟังความคิดเห็นต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวัน เว้นแต่ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือมีความจำเป็นเร่งด่วน กสทช. อาจกำหนดระยะเวลาในการรับฟังความคิดเห็นให้น้อยกว่าระยะเวลาที่กำหนดได้

 

- การรับฟังความคิดเห็นถูกวิจารณ์ว่าเป็นเพียงพิธีกรรมตามกฎหมายมากกว่าจะรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เห็นต่างอย่างแท้จริง อีกทั้งการชี้แจงต่อความคิดเห็นของสำนักงาน กสทช. ก็มักเป็นคำอธิบายสำเร็จรูปที่ไม่ให้รายละเอียดหรือมีธงคำตอบไว้ล่วงหน้า อาทิเช่น ประกาศดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมายแล้ว หรือประกาศดังกล่าวคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะแล้ว และในหลายกรณี การเปลี่ยนแปลงนโยบายหลังการรับฟังความคิดเห็นก็มักสอดคล้องกับตามความต้องการของภาคธุรกิจมากกว่า เช่น การลดเพดานการถือครองคลื่นจาก 20 MHz เหลือ 15 MHz ในการประมูลคลื่น 2.1 GHz หรือการลดสัดส่วนเนื้อหาช่องรายการประเภทข่าวจากร้อยละ 75 เหลือร้อยละ 50

 

- ในกระบวนการจัดทำนโยบาย นอกจากการจัดตั้งอนุกรรมการขึ้นมาให้ความเห็นแล้ว สำนักงาน กสทช. ไม่ได้จัดให้มีการรับฟังความเห็น "เชิงรุก" หรือการพยายามรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียรอบด้านก่อนที่จะมีการออกประกาศเพื่อรับฟังความเห็นตามกฎหมาย โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงแต่อาจไม่มีทรัพยากรมากพอในการนำเสนอความเห็นเชิงรุกเหมือนภาคเอกชน ซึ่งมักจ้างนักล็อบบี้มาประจำอยู่ที่สำนักงาน กสทช. เช่น ในกระบวนการจัดทำประกาศเนื้อหาต้องห้ามในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กสทช. ไม่ได้ดึงการมีส่วนร่วมจากองค์กรสื่อ องค์กรวิชาชีพ หรือภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้น ในบางกรณี กสทช. ใช้ความพยายามและทรัพยากรไปกับการรับฟังความเห็นของภาคธุรกิจมากกว่าภาคประชาสังคม เช่นกรณีการจัดทำนโยบายเกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล โดยข่าวที่ปรากฏออกมาส่วนมากคือ กสทช. เดินสายพบกับผู้ประกอบการ ในขณะที่ กสทช. กลับไม่เคยสำรวจความเห็นของสาธารณชนว่าต้องการรับชมเนื้อหารายการแบบไหน หรือสำรวจตลาดว่าเนื้อหาที่เป็นประโยชน์สาธารณะแบบไหนที่ตลาดไม่ทำงาน

 

- รูปแบบของเอกสารที่เผยแพร่สำหรับการรับฟังความเห็นจะเป็น "ร่างประกาศ" ทางการ ซึ่งใช้ภาษากฎหมายและนำเสนอชุดนโยบายที่ผ่านการคัดเลือกมาแล้ว รวมถึงอาจมีเอกสารชี้แจงถึงหน้าที่ตามกฎหมายของ กสทช. ในการออกประกาศ ทว่าเอกสารเหล่านั้นไม่ได้ให้ความสำคัญถึงประเด็นปัญหา ข้อดีข้อเสียของทางเลือกต่างๆ เหตุผลที่ใช้ในการตัดสินใจเลือกแนวทางนั้นๆ องค์ความรู้ที่ใช้สนับสนุนการตัดสินใจ รวมถึงคำถามสำคัญที่ต้องการระดมความเห็น ซึ่งแตกต่างจากเอกสารการรับฟังความเห็นขององค์กรกำกับดูแลหลายแห่ง เช่นในกรณีของ Ofcom ที่จะเริ่มจากประเด็นปัญหาพร้อมทั้งให้ข้อมูลและองค์ความรู้สนับสนุนถึงการตัดสินใจต่างๆ และทิ้งคำถามที่ต้องการให้สาธารณะร่วมตัดสินใจ

 

4. การรับและจัดการเรื่องร้องเรียนของประชาชน

กลไกการรับและจัดการเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพนอกจากจะช่วยคุ้มครองประชาชนทั้งในฐานะผู้บริโภคและพลเมืองแล้ว ยังช่วยสร้างบรรทัดฐานในการคุ้มครองประชาชนให้กับผู้ได้รับใบอนุญาตทั้งในกิจการโทรคมนาคมและกิจการวิทยุโทรทัศน์ อย่างไรก็ดี กลไกในการรับและจัดการเรื่องร้องเรียนของ กสทช. ที่ผ่านมาขาดประสิทธิภาพและความชัดเจนในเชิงกระบวนการดังนี้

 

- กสทช. ไม่สามารถจัดการเรื่องร้องเรียนส่วนมากภายใต้กรอบระยะเวลาในกฎหมาย นั่นคือ 30 วันหลังจากรับเรื่องร้องเรียน จากรายงานผลการดำเนินงานเรื่องร้องเรียนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2556  ของกลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม พบว่า เรื่องร้องเรียนที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการทั้งหมด 1,574 เรื่องนั้น มีเพียง 207 เรื่องที่ยังอยู่ภายในระยะเวลา 30 วันตามกฎหมาย หรือร้อยละ 13 เท่านั้น ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 87 เป็นเรื่องที่ดำเนินการมาแล้วเกิน 30 วัน โดยร้อยละ 54 เป็นเรื่องที่ดำเนินการมาแล้วเกินกว่า 120 วัน และถ้าดูเฉพาะสถิติของปี 2555 และ 2556 ที่ กสทช. ชุดปัจจุบันได้ดำเนินงานมา พบว่า ในปี 2555 จากเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 2,265 เรื่อง มีเรื่องที่ยังค้างอยู่ 429 เรื่องทั้งที่เวลาล่วงเลยมาเกินกว่า 30 วันเป็นเวลานาน ส่วนในปี 2556 (ถึงเดือนกรกฎาคม) จากเรื่องร้องเรียน 1,586 เรื่อง มีเรื่องที่ค้างอยู่ 1,088 เรื่อง สถิติดังกล่าวสะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพของกลไกจัดการเรื่องร้องที่เป็นอยู่ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากกระบวนการซ้ำซ้อนที่ต้องส่งเรื่องกลับไปยังบริษัทผู้ให้บริการก่อน และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เรื่องร้องเรียนสุดท้ายต้องส่งให้ กทค. เป็นผู้พิจารณาทั้งหมด

 

- กลไกในการรับและจัดการเรื่องร้องเรียนในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ยังขาดกระบวนการที่ชัดเจน (จากการตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์ของสำนักงาน กสทช. เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2556 พบว่า กลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์นั้นไม่ได้ให้ข้อมูลใดๆ ถึงขั้นตอนและกระบวนการในการจัดการเรื่องร้องเรียนที่ชัดเจนเหมือนในกิจการโทรคมนาคม) โดยที่ผ่านมา ข้อร้องเรียนในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่ปรากฏเป็นข่าวมักเป็นการร้องเรียนโดยตรงกับทาง กสท. ซึ่งขัดต่อแนวทางการสนับสนุนการกำกับดูแลกันเองและการกำกับดูแลร่วมในมาตรา 39 และ 40 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และยังไม่ได้มีการออกหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนถึงแนวทางการแทรกแซงการออกอากาศ ซึ่งต้องกำหนดรายละเอียดไว้ล่วงหน้า เนื่องจากเป็นการใช้อำนาจที่ถือเป็นการละเว้นหลักการด้านสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ

 

5. การใช้งบประมาณ

การใช้งบประมาณขององค์กรของรัฐตามหลักธรรมาภิบาลที่ดีนั้นจะต้องโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และตรงตามภารกิจขององค์กร กสทช. ถือเป็นองค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญที่ได้รับการจัดสรรรายได้ในการดำเนินงานของตนเอง โดยรายได้หลักมาจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบการและค่าธรรมเนียมหมายเลข ส่วนรายได้ที่เหลือจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจะต้องส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดินเพื่อใช้ในการบริหารประเทศต่อไป ดังนั้นความโปร่งใสและประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณของ กสทช. จึงเกี่ยวพันกับงบประมาณของประเทศชาติด้วย

รายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2555 แจกแจงงบประมาณรายจ่ายของ กสทช. ในปี 2555 ตามที่ปรากฏในตารางด้านล่าง

รายการ ผลการใช้จ่าย
1. รายจ่ายสำหรับการดำเนินงานของ กสทช. และสำนักงาน กสทช.
1.1 ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร
1.2 ค่าใช้จ่ายในการจัดการและบริหารองค์กร
1.3 ครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง
1.4 รายจ่ายอื่น 
2,423,398,848.14
942,893,251.49
889,721,353.10
377,138,680.38
213,645,563.17
2. ค่าภาระต่างๆ ที่จำเป็น 904,092,477.06
3. เงินจัดสรรเข้ากองทุน 75,000,000
4. เงินงบกลางกรณีฉุกเฉินและจำเป็น 80,000,000
งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 3,482,491,325.20

 

โดยในหมวดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของสำนักงานในปี 2555 ประมาณ 1,425 ล้านบาท (ไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร) ค่าใช้จ่ายสูงสุดตามลำดับปรากฏตามตารางด้านล่าง

รายการ ผลการใช้จ่าย
1. เงินบริจาคและการกุศล 238,093,070.19
2. ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ 206,572,073.54
3. ค่าจ้างเหมาบริการอื่นๆ 137,126,701.40
4. ค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ 113,669,692.47
5. ค่าจ้างที่ปรึกษา 108,840,275.79

 

จากการตรวจสอบข้อมูลการใช้งบประมาณรายจ่ายและผลการจัดซื้อจัดจ้างของ กสทช. ตามที่มีการรายงานในเว็บไซต์ พบข้อสังเกตการใช้งบประมาณที่อาจไม่ตรงกับหลักธรรมาภิบาลดังนี้

 

- งบประมาณในบางรายการยังไม่ถูกแจกแจงให้ชัดเจนในรายละเอียดว่าเป็นงบประมาณสำหรับทำอะไร เช่น หมวดเงินภาระต่างๆ ที่จำเป็น ซึ่งคิดเป็นเงินถึง 904 ล้านบาท แต่กลับไม่มีการแจกแจงออกมาเป็นรายการ เช่นเดียวกับกรณีของหมวดเงินงบกลางฉุกเฉินและจำเป็น 80 ล้านบาท นอกจากนั้น ในรายการเงินบริจาคและการกุศล ซึ่งคิดเป็นงบรายจ่ายสูงสุดในหมวดค่าดำเนินการของสำนักงาน กสทช. ก็จำเป็นต้องอธิบายว่าเหตุใดองค์กรอิสระของรัฐจึงต้องใช้เงินสำหรับบริจาคและการกุศลสูงถึงขนาดนี้ เพราะงบประมาณที่เหลือจากการใช้จ่ายก็จะต้องส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดินต่อไปอยู่แล้ว

 

- งบค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศในปี 2555 อยู่ที่ประมาณ 206 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นงบประมาณที่คิดเป็นสัดส่วนค่อนข้างสูงของงบดำเนินการของ กสทช. ตัวเลขที่สูงดังกล่าวสอดคล้องกับข่าวการดูงานต่างประเทศของ กสทช. บางคนและกลุ่มผู้ติดตามที่ปรากฏให้เห็นในสื่อบ่อยครั้ง กสทช. ควรต้องแสดงความโปร่งใสด้วยการเปิดเผยงบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ทั้งหมดแยกเป็นรายบุคคล และต้องชี้แจงให้กับสาธารณชนทราบว่า การเดินทางไปต่างประเทศนั้นมีความจำเป็นอย่างไร ได้เรียนรู้อะไรบ้าง และได้นำความรู้เหล่านั้นมาใช้ในการทำงานอย่างไร

 

- งบค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ในปี 2555 อยู่ที่ประมาณ 113 ล้านบาท (ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในการจัดงานสำหรับการประชาสัมพันธ์) ซึ่งมีข้อน่าสังเกตดังนี้

o งบประชาสัมพันธ์ที่ใช้สำหรับภารกิจตามกฎหมาย เช่น การประชาสัมพันธ์เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ นับเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับงบประชาสัมพันธ์ที่ใช้ไปกับการซื้อพื้นที่สื่อเพื่อให้ข้อมูลด้านเดียวของ กสทช. โดยเฉพาะเพื่อแก้ต่างให้กับจุดยืนทางนโยบายขององค์กรเพียงด้านเดียว หรือโจมตีผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ กสทช.

o งบประชาสัมพันธ์บางส่วนถูกใช้ไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เช่น การใช้งบไปกับการซื้อปกนิตยสารบางฉบับ (ทำให้ใช้งบเยอะโดยไม่จำเป็นและเป็นการโฆษณาภาพลักษณ์มากกว่าให้ข้อมูลกับสาธารณะ) หรือการใช้งบจำนวนมากไปกับการประชาสัมพันธ์ในสื่อที่มีผู้อ่านไม่มากและไม่น่ามีค่าโฆษณาแพงถึงขนาดนั้น เช่น ใช้งบประชาสัมพันธ์ในหนังสือพิมพ์ Telecom Journal เป็นเงิน 1,000,000 บาท

o การที่องค์กรอิสระของรัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสื่อใช้งบประชาสัมพันธ์เพื่อซื้อพื้นที่สื่อให้ข้อมูลด้านเดียวนั้น เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมและขัดแย้งกับบทบาทหน้าที่ของตน ซึ่งถือเป็นตลกร้ายอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่า กทค. และสำนักงาน กสทช. ฟ้องหมิ่นประมาทคุณณัฏฐา โกมลวาทิน ด้วยข้อหาว่าออกอากาศรายการโดยให้ข้อมูลด้านเดียว รวมถึง กสทช. ออกร่างประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งเนื้อหาส่วนหนึ่งบังคับให้ผู้ผลิตเนื้อหาต้องนำเสนอความเห็นที่ "รอบด้านและสมดุล" ทว่า กสทช. เองกลับใช้งบประชาสัมพันธ์เพื่อให้ข้อมูลเพียงด้านเดียว

 

- การจัดซื้อจัดจ้างที่มีงบประมาณเกินกว่า 1,000,000 บาท ซึ่งโดยปกติแล้วต้องใช้วิธีการสอบราคาหรือวิธีประกวดราคา กลับใช้ "วิธีพิเศษ" เป็นส่วนใหญ่แทน ทั้งที่จริง วิธีพิเศษนั้นเป็นข้อยกเว้นสำหรับกรณีเฉพาะเท่านั้น  ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นความไม่โปร่งใสในกระบวนจัดซื้อจัดจ้างของ กสทช.

 

บทสรุป

การตรวจสอบระบบธรรมาภิบาลในมิติต่างๆ ข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเผยข้อมูล การกำหนดนโยบาย การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ การจัดการเรื่องร้องเรียน และการใช้งบประมาณ สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวด้านธรรมาภิบาลของ กสทช. ซึ่งยังขาดความโปร่งใสและการรับผิดรับชอบต่อสังคมภายนอกที่ดีเพียงพอ ดังนั้นเมื่อกลไกภายในของ กสทช. ยังไม่สามารถพิสูจน์ถึงธรรมาภิบาลที่ดีได้ การฟ้องกลไกตรวจสอบภายนอกอย่างนักวิชาการและสื่อมวลชนก็ยิ่งจะทำให้ระบบตรวจสอบการทำงานของ กสทช. อ่อนแอลง

ในฐานะองค์กรสาธารณะและเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจในการจัดการทรัพยากรสาธารณะที่มีมูลค่ามหาศาลอย่างคลื่นความถี่ และใช้งบประมาณสาธารณะในการบริหารจัดการองค์กรหลายพันล้านบาทต่อปี คุณความดีของสำนักงานและคณะกรรมการ กสทช. คงไม่ได้ขึ้นอยู่กับชื่อเสียงเกียรติประวัติส่วนบุคคลดังที่ถูกอ้างในคำฟ้องของกรรมการ กสทช. ทั้ง 4 คน หากแต่ขึ้นอยู่กับระบบธรรมาภิบาลที่ต้องมีความโปร่งใส ดึงการมีส่วนร่วมจากสังคม ขับเคลื่อนนโยบายด้วยองค์ความรู้ และสร้างกลไกที่พร้อมจะแสดงความรับผิดรับชอบกับภายนอก

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ กสทช. ยังไม่ได้พิสูจน์ให้สังคมเห็นได้ดีเพียงพอ

 

เชิงอรรถ:

  1. การฟ้องดังกล่าวอาจเข้าข่ายกรณีที่เรียกว่า SLAPP (A Strategic Lawsuit Against Public Participation) นั่นคือการฟ้องที่มุ่งให้เกิดการเซ็นเซอร์ การคุกคาม และการปิดปากผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ด้วยการสร้างภาระต้นทุนในการเข้าสู่กระบวนการทางการกฎหมายให้กับผู้วิพากษ์วิจารณ์จนกระทั่งเลือกที่จะหยุดหรือไม่วิพากษ์วิจารณ์เสียแต่ต้น
  2. รายงานฉบับนี้มีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลภายในของ กสทช. (ซึ่งสะท้อนถึงระดับความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ดีพอ) ซึ่งอาจทำให้รายงานฉบับนี้ไม่สามารถหาข้อสรุปต่อประเด็นธรรมาภิบาลในบางมิติได้ อย่างไรก็ดี รายงานฉบับนี้ได้ตั้งคำถามและข้อสงสัยถึง กสทช. และยินดีอย่างยิ่งที่จะปรับปรุงเนื้อหาในรายงาน หาก กสทช. เปิดข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งอาจนำไปสู่การแก้ไขหรือถกเถียงทางวิชาการต่อไป
  3. ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจ้างโดยวิธีพิเศษในระเบียบคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยการพัสดุ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นศ.ใต้ ค้าน ร่างนิรโทษฯ ฉบับกรรมาธิการ ชี้ขัดหลักการ สร้างความขัดแย้ง ดันร่างฯวรชัย

Posted: 31 Oct 2013 08:54 AM PDT

เครือข่ายกล้าคิดซึ่งประกอบจากนักกิจกรรมนักศึกษาจาก7สถาบันการศึกษา ภาคใต้ ชี้เพื่อไทยดันนิรโทษทักษิณเกิดวิกฤติ วอนรัฐบาลยันหลักการร่างวรชัย ไม่นิรโทษแกนนำ-ผู้สั่งการ นิรโทษนักโทษทางความคิด ม.112 ปลดล็อคทักษิณโดยการล้มล้างผลพวงรัฐประหาร แก้ รธน.309

แถลงการณ์ร่วมเครือข่ายกล้าคิด สร้างมิตร สร้างประชาธิปไตย


สืบเนื่องจากการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเพื่อไทยในวันที่ 29  ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา มีวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน โดยหลังการประชุมได้มีมติว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล  จะลงมติในทิศทางเดียวกัน  เพื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ตามที่กรรมาธิการเสียงข้างมาก ซึ่งมีใจความสำคัญอยู่ในมาตราที่ 3 ซึ่งบัญญัติว่า

"ให้บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112"

จากมาตรา 3 เดิมที่มีเนื้อหาครอบคลุมบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการแสดงออกทางการเมือง ที่มีห้วงเวลาตั้งแต่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 โดยไม่รวมถึงการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ซึ่งการเปลี่ยนสาระสำคัญของ พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฯ ดังกล่าว  เป็นการจงใจแก้ไขเพิ่มเติมและบิดเบือนสาระสำคัญของร่างเดิม ที่ผ่านความเห็นชอบของสภาในวาระแรก เพียงเพื่อฉวยโอกาส ช่วยเหลือ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ทั้งยังเป็นการนิรโทษกรรมฯ ครอบคลุมแกนนำทุกฝ่าย ทั้ง นปช. และ พันธมิตร และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ การนิรโทษกรรมฯ ให้กับผู้สั่งการและเจ้าหน้าที่ ในเหตุการณ์สลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53 ซึ่งต่อมาทั้ง พ.ต.ท. ทักษิณ และสมาชิกพรรคเพื่อไทยบางคน ก็ออกมาแก้ต่างการกระทำดังกล่าว อย่างสวยหรูว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการ Set Zero การเมืองไทย แล้วให้ประชาชนและผู้สูญเสียทำใจยอมรับกับการ Set Zero ดังกล่าว อีกทั้งยังกล่าวว่า ร่างนิรโทษกรรมเดิมที่ผ่านความเห็นชอบของสภาในวาระแรกนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 ที่บัญญัติถึงความเสมอภาคกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน

ด้วยเหตุดังกล่าวกลุ่มกล้าคิดฯ  จึงมีความคิดเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับกรรมาธิการเสียงข้างมากดังต่อไปนี้

ประการแรก การอ้างหลักความเสมอภาค ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 ดังกล่าวเป็นการอ้างที่ไร้น้ำหนักโดยสิ้นเชิง เนื่องจากมีการละเว้นบุคคลที่ต้องโทษในคดีอาญา มาตรา 112 ซึ่งก็เป็นทราบกันว่าผู้ที่ต้องคดีดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองหลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยา 49 อีกทั้งการยังมีการแก้เนื้อหา

ประการที่สอง ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับกรรมาธิการเสียงข้างมากทำให้บุคคลทุกฝ่าย ทุกระดับชั้นพ้นไปจากความผิดที่ได้กระทำ  จะส่งผลให้สังคมไทยไม่ได้เรียนรู้อะไรจากการสูญเสียอันเนื่องมาจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าว  และโดยเฉพาะแกนนำ และผู้มีอำนาจสั่งการต้องมีส่วนรับผิดชอบจากการสูญเสียที่เกิดขึ้น

ประการที่สาม แม้พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลจะมีเสียงข้างมากในรัฐสภาที่มาจากระบอบประชาธิปไตยก็ตาม แต่ก็ใช่แค่คะแนนเสียงในรัฐสภาเท่านั้น หากยังต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจตามมาจากประเด็นดังกล่าวด้วย ซึ่งกรณีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับกรรมาธิการเสียงข้างมากนั้นเป็นที่ประจักษ์ว่ากำลังสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง

ด้วยเหตุที่กล่าวมาข้างต้นเครือข่ายกล้าคิด สร้างมิตร สร้างประชาธิปไตย มีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับกรรมาธิการเสียงข้างมาก และเรียกร้องให้ใช้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับ วรชัย เหมะตามที่ได้ผ่านความเห็นจากของสภาในวาระแรกแล้ว ด้วยเหตุผล 2ประการคือ

ประการแรก ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับ วรชัย เหมาะ ที่นิรโทษเฉพาะประชาชนทุกสีเสื้อยกเว้นแกนนำ ผู้สั่งการให้เคลื่อนไหว ผู้สั่งการและเจ้าหน้าที่ ในเหตุการณ์สลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53 อีกทั้งยังครอบคลุมไปถึงบุคคลที่ต้องโทษในคดีอาญา มาตรา 112

ประการที่สอง สำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถือว่าเป็นผู้ถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรมอันเนื่องจากผลพวงการทำรัฐประหาร จึงควรให้ความเป็นธรรมโดยลบล้างผลพวงการทำรัฐประหาร แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกเลิกมาตรา 309 จึงจะเป็นการช่วยเหลือ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรอีกทั้งยังเป็นการ Set Zero การเมืองไทย อย่างถูกต้อง

ด้วยความเคารพ

เครือข่ายกล้าคิด สร้างมิตร สร้างประชาธิปไตย
31 ตุลาคม 2556

 

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

 

หมายเหตุ

เครือข่ายกล้าคิด สร้างมิตร สร้างประชาธิปไตย เกิดขึ้นครั้งแรกในปีพ.ศ.2553ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยนักศึกษาที่มีความสนใจทางด้านประชาธิปไตย ซึ่งมีวัตถุประสงค์

1)เพื่อส่งเสริมให้ให้นักศึกษา เยาวชนคนหนุ่มสาว และสมาชิก ได้มีความรู้ความเข้าใจ เคารพ และยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

2)เพื่อผลิตนักศึกษา เยาวชนคนหนุ่มสาวในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อันนำมาซึ่งการรับใช้สังคมบนแนวทางและหลักการที่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย

3)เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษา เยาวชนคนหนุ่มสาว ตระหนักสำนึกรักประชาชนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันในฐานะผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

ซึ่งต่อมาแนวความคิดของกลุ่มก็ได้รับการตอบรับจากนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆในภาคใต้ได้แก่มหาวิทยาลัยลงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยลงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาราชมงคลศรีวิชัย

แถลงการณ์ชิ้นนี้เกิดจากการพูดคุยกันระหว่างแกนนำกลุ่มของแต่ละมหาวิทยาลัย จากนั้นแต่ละมหาวิทยาลัยก็เข้าสู่การพูดคุยในมหาวิทยาลัยของตน จากนั้นแกนนำของแต่ละมหาวิทยาลัยก็นำเอาสรุปประเด็นของการพูดคุยจากมหาลัยของตนมาคุยกันในระดับแกนนำอีกครั้ง ซึ่งทุกคนต่างมีมติร่วมกันว่า จะออกแถลงการณ์เพื่อคัดค้านประเด็นดังกล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มติ สธ.อนุมัติบรรจุ พนง.สาธารณสุข 80% จากลูกจ้างชั่วคราว 140,000 คน

Posted: 31 Oct 2013 08:42 AM PDT

ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพนักงานกระทรวงสาธารณสุข อนุมัติกรอบอัตรากำลังพนักงานกระทรวงสาธารณสุขจากการจ้างลูกจ้างชั่วคราวทั้งหมด 140,000 คน โดยมีมติให้จัดกรอบอัตราจ้างร้อยละ 80 ของจำนวนพนักงานกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการทั้งหมด คาดจ้างเป็นพนักงานได้เกือบทั้งหมด ถ้าไม่มีการจ้างเพิ่มขึ้นอีก


31 ต.ค. 2556 เว็บไซต์ Hfocus รายงานว่า นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข หรือพกส. ว่า จากการประชุมคณะกรรมการบริหารพนักงานกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2556 ซึ่งมีนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นรองประธาน และมีตัวแทนของลูกจ้างตัวแทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกระดับ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ตัวแทนจากกรมวิชาการทุกกรมร่วมประชุม ที่ประชุมมีมติอนุมัติกรอบอัตรากำลังพนักงานกระทรวงสาธารณสุขจากการจ้างลูกจ้างชั่วคราวทั้งหมด 140,000 คน ซึ่งก่อนหน้านี้จ้างโดยไม่มีกรอบอัตรากำลัง แต่จากนี้ไปจะมีกรอบอัตรากำลังการจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุข โดยคิดตามภาระงาน จำนวนประชากร และโอกาสที่จะพัฒนาหน่วยงานเพื่อบริการประชาชน

โดยมีมติให้จัดกรอบอัตราจ้างร้อยละ 80 ของจำนวนพนักงานกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการทั้งหมด เพื่อใช้คนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่นโรงพยาบาลแห่งหนึ่งมี 177 คนหากคิดตามกรอบร้อยละ 80 จะเหลือลูกจ้าง 142 คนหากสถานบริการใดต้องการขอกรอบเกินร้อยละ 80 ขึ้นไปให้ขออนุมัติเพิ่มเติมที่คณะกรรมการบริหารเขตบริการสุขภาพนั้นๆ และได้อนุมัติกรอบอัตรากำลังการจ้างให้สถานพยาบาลที่สังกัดกรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต ซึ่งทำข้อมูลมาเรียบร้อยก่อนหน่วยงานอื่น สามารถดำเนินการบรรจุและสั่งจ้างได้ทันทีมีผลย้อนหลัง 1 ตุลาคม 2556

นายแพทย์วชิระกล่าวต่อว่าในเรื่องกรอบวงเงินการจ้างได้มีมติเมื่อการประชุมครั้งที่แล้วว่า จะให้เพิ่มวงเงินร้อยละ 10 จากฐานการจ้างลูกจ้างชั่วคราวเดิมเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 เมื่อคิดกรอบอัตรากำลังคู่กับกรอบวงเงิน ตัวอย่างลูกจ้างชั่วคราวในสังกัดกรมสุขภาพจิตและกรมการแพทย์จ้างเต็มกรอบสามารถเพิ่มการจ้างได้ในวงเงินร้อยละ 7 ซึ่งไม่เกินร้อยละ 10 ซึ่งหน่วยงานอื่นๆ น่าจะทำได้คล้ายๆ กัน ในภาพรวมทั้งกระทรวงจะใช้เงินบำรุงเป็นเงินเดือนค่าจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มจากเดิม 15,000 ล้านบาทต่อปี รวมไม่เกิน 16,500 ล้านต่อปี และภายใน 2 ปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะสามารถจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มขึ้นปีละ 7,500 คนจากเงินบำรุงเพื่อทดแทนพนักงานกระทรวงสาธารณสุขสายวิชาชีพ 24 สายงานที่บรรจุเป็นข้าราชการ ระหว่างพ.ศ.2556-2558 รวมจำนวน 22,500 คน ซึ่งมั่นใจว่าจะได้รับอนุมัติจาก กพ. และ ครม. เนื่องจากมีการจัดทำระบบการพัฒนากำลังคนไว้สมบูรณ์แบบ จะทำให้ลูกจ้างชั่วคราวสามารถได้รับการจ้างเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ได้เกือบทั้งหมดถ้าไม่มีการจ้างเพิ่มขึ้นอีก

นายแพทย์วชิระกล่าวต่อไปว่าเงินค่าจ้างของพนักงานกระทรวงสาธารณสุข และลูกจ้างชั่วคราวที่ยังไม่ได้รับการจ้าง จะได้รับไม่น้อยกว่าเดิมที่เคยได้หรือได้รับมากกว่าเดิมซึ่งเป็นไปตามจำนวนลูกจ้าง หากมีจำนวนมาก วงเงินค่าจ้างจะเพิ่มในสัดส่วนที่น้อย แต่ไม่น้อยกว่าเดิมแน่นอน

สิ่งที่จะได้มากกว่าเดิมคือเรื่องของสวัสดิการ ทั้งเรื่องความมั่นคงมีการต่อสัญญาจ้างทุก 4 ปี ย้ายได้ การลาศึกษาต่อ มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลูกจ้างชั่วคราวที่ผ่านการประเมินแต่ยังบรรจุไม่ได้ จะให้ทำสัญญาจ้างรายปีโดยระบุว่า ให้ได้รับเงินเดือนโดยใช้เงินบำรุงและวงเงินไม่น้อยกว่าเดิมเช่นกัน โดยจะให้ทุกเขตทำสัญญาจ้างโดยเร็วที่สุดให้เสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน และมีผลย้อนหลัง 1 ตุลาคม 2556

 

ที่มา: เว็บไซต์ Hfocus

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทีดีอาร์ไอ: ปัญหาการคอร์รัปชั่นในประเทศไทย

Posted: 31 Oct 2013 08:05 AM PDT

ในปัจจุบัน การคอร์รัปชั่นเป็นภัยคุกคามอย่างหนึ่งของมนุษย์ มันไม่เพียงทำลายทั้งชีวิตความเป็นอยู่และชุมชนของผู้คน แต่มันยังทำให้ประชาชนเกิดความเจ็บแค้น ซึ่งจะนำไปสู่สังคมที่ไม่มีเสถียรภาพและเต็มไปด้วยความขัดแย้งรุนแรง

จากการจัดทำดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่น (Corruption Perception Index) ไม่มีประเทศใดในโลกที่ขาวสะอาดหมดจด และสองในสามของประเทศในโลกได้คะแนนความโปร่งใสน้อยกว่า 50 (จากคะแนนเต็ม 100) อันบ่งชี้ว่าการคอร์รัปชั่นกำลังเป็นปัญหาร้ายแรง

ประเทศไทยก็หนีปัญหาดังกล่าวไม่พ้น และดูเหมือนว่าสภาพปัญหาจะหนักหน่วงรุนแรงขึ้นทุกวัน โดยจากการสำรวจ Global Corruption Barometer 2013 พบว่านักลงทุนจากต่างประเทศกังวลกับปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศไทยมากที่สุด ขณะที่คนไทยหนึ่งในหกคนยอมรับว่าเคยจ่ายสินบน  [1]

ขณะเดียวกัน การคอร์รัปชั่นก็ส่งผลเสียต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย โดยมีการคาดการณ์ว่าการคอร์รัปชั่นสร้างความเสียหายให้กับประเทศราว 1 แสนล้านบาทต่อปี และมันยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศสูญเสียการลงทุนจากต่างประเทศราว 6,000 ล้านบาทในช่วงปี 2550-2555  [2]

 

สถานการณ์การคอร์รัปชั่นในประเทศไทย

การคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาเรื้อรังในระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย แม้จะมีความพยายามลดความรุนแรงของปัญหา แต่ก็ยังไม่มีมาตรการใดที่แก้ไขปัญหาได้จริง  จากการจัดทำดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่น (Corruption Perception Index) โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ (Transparency International) เมื่อปี 2555 ประเทศไทยได้คะแนนความโปร่งใสเพียง 37 จากคะแนนเต็ม 100 ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 88 จาก 174 ประเทศที่ทำการสำรวจ

นับตั้งแต่มีการจัดทำดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นในปี 2538 คะแนนความโปร่งใสของประเทศไทยแทบไม่ดีขึ้น โดยในปี 2538 ประเทศไทยได้คะแนนความโปร่งใสเพียง 2.79 จากคะแนนเต็ม 10 ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.33 ในปี 2539 และค่อนข้างคงที่ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา  เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียน คะแนนความโปร่งใสของไทยอยู่ในระดับใกล้เคียงกับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ และต่ำกว่ามาเลเซียเล็กน้อย ขณะที่สิงคโปร์ได้คะแนนความโปร่งใสสูงกว่าไทยมาโดยตลอด 

ข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ ประเทศที่สามารถก้าวขึ้นเป็นประเทศกำลังพัฒนาขั้นสูง (graduated developing economies) เช่น เกาหลีใต้และไต้หวัน ต่างก็มีพัฒนาการด้านความโปร่งใสอย่างเห็นได้ชัด โดยเกาหลีใต้ได้คะแนนความโปร่งใสเพิ่มขึ้นจาก 4.29 ในปี 2538 เป็น 5.6 ในปี 2555 ส่วนไต้หวันได้คะแนนความโปร่งใสเพิ่มขึ้นจาก 5.08 ในปี 2538 เป็น 6.1 ในปี 2555 [3]

 

ภาพที่ 1 ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นของประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ

ในช่วงปี 2538-2555

* ปี 2555 เป็นปีแรกที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศปรับคะแนนเต็มจาก 10 เป็น 100
บทความนี้จึงแปลงคะแนนในปีดังกล่าวเป็นคะแนนเต็ม 10 เพื่อเปรียบเทียบกับปีอื่นๆ

ที่มา: Transparency International (1995-2012)

 

คอร์รัปชั่นกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ

รายงานดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ (Index of Economic Freedom) ซึ่งจัดทำโดย Heritage Foundation (2013) ระบุว่าหลักนิติรัฐ (rules of law) มีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยตัวชี้วัดหนึ่งที่สะท้อนหลักนิติรัฐ คือตัวชี้วัดด้านเสรีภาพจากการคอร์รัปชั่น (freedom from corruption) ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่น (Corruption Perception Index) 

ผลจากแบบจำลองพบว่าตัวชี้วัดด้านเสรีภาพจากการคอร์รัปชั่นนี้มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัว (GDP per capita) [4] รายงานฉบับดังกล่าวสรุปว่า ในกรณีของประเทศกำลังพัฒนา หลักนิติรัฐเป็นเสรีภาพทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดในการวางรากฐานเพื่อสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ  ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจอยู่เหนือกว่าค่าเฉลี่ยรวมทั้งโลกเล็กน้อย (ดูภาพที่ 2) แต่ตัวชี้วัดด้านเสรีภาพจากการคอร์รัปชั่นกลับอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรวมทั้งโลกมาโดยตลอด (ดูภาพที่ 3) การคอร์รัปชั่นจึงเป็นสิ่งที่ฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย

 

ภาพที่ 2 ดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจของไทย (2004-2013)

ที่มา: Heritage Foundation (2013)

 

ภาพที่ 3 ตัวชี้วัดด้านเสรีภาพจากการคอร์รัปชั่นของไทย (2004-2013)

ที่มา: Heritage Foundation (2013)

 

คอร์รัปชั่นกับการแข่งขันทางเศรษฐกิจ

ปัญหาการคอร์รัปชั่นส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศเช่นกัน โดย World Economic Forum ได้จัดทำ The Global Competitiveness Report 2013-2014 ซึ่งสำรวจความเห็นของนักธุรกิจทั่วโลกเกี่ยวกับปัญหาในการประกอบธุรกิจในประเทศต่างๆ  จากการสำรวจความเห็นเกี่ยวกับปัญหาในประเทศไทย พบว่าร้อยละ 20.2 ของนักธุรกิจมีความเห็นว่าการคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาสำคัญอันดับแรก รองลงมาคือความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลและความไม่ต่อเนื่องของนโยบาย โดยตัวชี้วัดต่างๆ ที่เกี่ยวกับปัญหาการคอร์รัปชั่นของไทยนั้นต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งโลกแทบทั้งสิ้น (ดูตารางที่ 1)

ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 37 จากทั้งหมด 148 ประเทศ ใน The Global Competitiveness Index 2013-2014 (ได้ 4.5 คะแนนจากคะแนนเต็ม 7 ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากข้อมูลของปี 2011-2012 และ 2012-2013) โดยรายงานระบุว่าบริการสุขภาพและการศึกษา ซึ่งเป็นสองเสาหลักของความสามารถในการแข่งขัน จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เนื่องจากไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการแพร่เชื้อเอชไอวีสูงที่สุดภายนอกแอฟริกา ขณะที่จำนวนผู้ได้รับการศึกษาระดับสูงและคุณภาพของการศึกษาระดับสูงก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำ  

 

ตารางที่ 1 ตัวชี้วัดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการคอร์รัปชั่น
ใน The Global Competitiveness Report 2013-2014

ตัวชี้วัด คะแนนเฉลี่ยรวมทั้งโลก
(คะแนนเต็ม 7)
คะแนนของไทย
(คะแนนเต็ม 7)
ลำดับที่
(จาก 148 ประเทศ)
งบประมาณภาครัฐที่เบี่ยงเบนไปยังเอกชนหรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ อันเนื่องมาจากการคอร์รัปชั่น 3.5 2.7 101
มาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมือง 3.1 2.0 127
รายจ่ายที่ไม่ปกติและการติดสินบน 4.1 3.8 77
การเอื้อประโยชน์แก่เอกชนที่มีสายสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่รัฐ 3.2 2.8 93
ประสิทธิภาพของการใช้จ่ายภาครัฐ 3.2 2.7 107
ความโปร่งใสของผู้กำหนดนโยบายภาครัฐ 4.2 3.9 93
ความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4.3 3.5 109

ที่มา: World Economic Forum (2013)

 

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการ "คู่มือประชาชนรู้ทันคอร์รัปชั่นและการแสวงหาผลประโยชน์" โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย คณะผู้วิจัยประกอบด้วย ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผศ. ปกป้อง จันวิทย์ คุณอิสร์กุล อุณหเกตุ คุณศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์ คุณกิตติพงศ์ สนธิสัมพันธ์ และคุณสาโรช ศรีใส สนับสนุนการวิจัยโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

เปิดอ่านต้นฉบับได้ที่ : http://tdri.or.th/tdri-insight/corruption-problem-in-thailand/

 

อ้างอิง:

  1. "Graft scares away foreign investors," Bangkok Post, 12 October 2013, www.bangkokpost.com.
  2. Ibid.
  3. ปี 2555 เป็นปีแรกที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศปรับคะแนนเต็มจาก 10 เป็น 100 บทความนี้จึงแปลงคะแนนในปีดังกล่าวเป็นคะแนนเต็ม 10 เพื่อเปรียบเทียบกับปีอื่นๆ
  4. ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (coefficient of correlation) ระหว่างตัวชี้วัดด้านเสรีภาพจากการคอร์รัปชั่นกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวที่ปรับด้วยอํานาจซื้อแล้ว (Purchasing Power Parity: PPP) เท่ากับ 0.80 โดยมีค่า R2 เท่ากับ 0.64
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คำอธิบายเพิ่มเติมจากนิติราษฎร์ ไม่เอานิรโทษเหมาเข่ง

Posted: 31 Oct 2013 06:50 AM PDT

ฟื้นข้อเสนอลบล้างผลพวงรัฐประหาร และนิรโทษกรรม ย้ำต้องแยกออกจากกันไม่ใช่เหมาเข่งรวมกันใน พ.ร.บ. นิโทษกรรม เสนอแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้โหวตเอาร่างฯ วาระ 1 มาพิจารณา หรือตั้งกรรมาธิการเต็มสภาเพื่อพิจารณาวาระ 2 ใหม่

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อ่านแถลงการณ์นิติราษฎร์ ต่อร่างนิรโทษกรรม ท่ามกลางผู้ฟังจำนวนมาก ที่ห้องประชุม LT1 คณะนิติศาสตร์ มธ. ยันร่างฯ นิรโทษกรรมมุ่งหมายเฉพาะประชาชน การแก้ไขร่างฯ ของสภาที่ขยายไปยังเจ้าหน้าที่รัฐขัดต่อเจตนารมณ์ของร่างฯ ดังกล่าว และขัดรธน. พร้อมย้ำแนวทางลบล้างผลพวงรัฐประหาร

อ่านแถลงการณ์และข้อเสนอที่นี่

จากนั้นได้อธิบายรายละเอียดเพิ่มเติม โดยแบ่งเป็น 3 ประเด็นหลักคือ

ประเด็นแรก ปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของความชอบด้วยพระราชบัญญัติ
วรเจตน์อธิบายว่า ขังบังคับสภานั้น กำหนดให้การพิจารณากฎหมายมี 3 วาระ  ในวาระที่ 2 นั้นเปิดโอกาสให้ส.ส. แปรญัตติว่าจะแก้ไขอะไรอย่างไร ประเด็นก็คือว่า ร่างฯ นี้ของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ตามที่ทราบกันว่าแทนที่จะจำกัดกรอบการนิรโทษกรรมเอาไว้เฉพาะกับประชาชนที่ถูกสลายการชุมนุม กลับมีการแก้ไขไปรวมบุคคลอีกจำนวนหนึ่งเข้ามา โดยรวมเอาเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นผู้บังคับบัญชา สั่งการต่างๆ และยังไปรวมเอาบรรดาคดีที่มีการฟ้องคดีไปโดยคตส. คือคดีของทักษิณ ชินวัตรและคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องมา เหตุผลที่คณะกรรมาธิการฯให้ก็คือ เพราะเกรงว่าถ้านิรโทษเฉพาะประชาชนจะขัดกับหลักความเสมอภาคของรัฐธรรมนูญ จึงไปรวมเอาทุกคนเข้ามาหมดอ้างว่าเป็นการปฏิบัติกับทุกคนเหมือนกัน

"แต่เหตุผลนี้ถ้าดูแล้วจะไม่มีน้ำหนักอะไรเลย เพราะสาระสำคัญของแต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน ประชาชนคือนิรโทษทุกสีไม่ว่าเหลืองแดง แต่กรณีที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐนั้นมีสารถสำคัญต่างไป เพราะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ยิ่งเป็นคดีที่เกี่ยวกับคตส. ยิ่งไม่เกี่ยว เป็นการเอามาอ้างเพื่อให้ครอบคลุมไปถึง"

วรเจตน์กล่าวว่าตามระเบียบการประชุมสภา นั้น การแก้ไขร่างฯ จะไปขัดกับหลักการที่ลงไว้ในวาระหนึ่งไม่ได้ เพราะถ้าจะไปเขียนใหม่ให้ครอบคลุมต้องเสนอกฎหมายเข้ามาใหม่ ไม่ใช่มาสอดระหว่างทาง เป็นหลักทั่วไปที่คนไมเรียนกฎหมายก็เห็นได้ แต่เมื่อสภาเห็นว่าไม่ขัด ก็ถามว่าจะขัดกับอะไร

นิรโทษขัดกับรธน. อย่างไร
วรเจตน์อธิบายเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้นายโภคิณ พลกุลอธิบายว่า การแปรญัตติขยายการนิรโทษให้ครอบคลุมเจ้าหน้าที่รัฐว่าขัดเฉพาะข้อบังคับ  แต่ นิติราษฎร์เห็นว่า การขัดหลักการนี้ขัดรัฐธรรมนูญด้วย ตามรธน. 153 ซึ่งบัญญัติว่า "การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือร่างพระราชบัญญัติต่อไปตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา แล้วแต่กรณี" หมายความว่ารัฐธรรมนูญให้การรับรองข้อบังคับการประชุมสภาไว้ การที่สภาฝ่าฝืนข้อบังคับการประชุมสภาจึงเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญด้วย

ประเด็นสำคัญอีกประการคือ ถ้าตีความว่านี่เป็นเรื่องขัดข้อบังคับการประชุมสภาจะยกเว้นก็ได้ ก็จะเกิดปัญหาว่าขัดกับวัตถุประสงค์ของการตรากฎหมายที่แบ่งเป็นสามวาระ เพื่อไม่ให้สภาที่เป็นเสียงข้างมากทำอะไรก็ได้ตามใจ 

นิรโทษแบบไม่เสมอภาค คือนิรโทษที่ไม่รวม 112
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อภิปรายต่อไปว่า สำหรับร่างฯ นิรโทษกรรมที่สภามาขยายให้ครอบคลุมเจ้าหน้าที่รัฐโดยอ้างความเสมอภาค วรเจตน์กล่าวว่า การที่ร่างฯ ดังกล่าวระบุว่า การนิรโทษนั้นไม่รวมการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อันนี้ต่างหากที่ขัดกับรัฐธรรมนูญเรื่องความเสมอภาค รู้ได้ อย่างไรว่าคนที่ทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้นไม่เกี่ยวเนื่องกับแรงจูงใจทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง การชุมนุมทางการเมือง เพราะถ้าเข้าข่ายก็ควรปล่อยตัวไป โดยเขาย้ำว่าคนทำผิดโทษอาญามาตรา 112 ควรได้รับโอกาสในการนำมาพิจารณาเพื่อนิรโทษกรรมเท่าเทียมกับความผิดอาญาฐานอื่น

ประเด็นที่ 2 ปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมาย
ปิยบุตร แสงกนกกุล อธิบายเพิ่มเติมว่า ร่างฯ นิรโทษกรรมจะมีปัญหาในขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมาย เพราะมีหลายคนทีอยู่ในหลายขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม เมื่อมีการนิรโทษทุกขั้นตอนจะยุติ แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นก็เมื่อเพนักงานแต่ละขั้นตอนจะต้องเผชิญกับการพิจารณาขอแต่ละองค์กรที่ใช้กฎหมายไม่เหมือนกัน เช่น ขั้นสอบสวน ขั้นอัยการ ขั้นศาล ซึ่งเห็นไม่ตรงกันได้ ไม่ต้องไปคิดไกลถึงตอนประกาศใช้เพราะขนาดคนร่างฯ ยังเห็นไม่ตรงกันเลยว่าคดีอะไรเกี่ยวบ้าง เห็นชัดเจนตรงกันมีกรณีเดียวคือ 112

"ปัญหาอยู่ที่ตัวคนร่างฯ เป็นคนใช้กฎหมายหรือเปล่า คนใช้กฎหมายนั้นคือพนักงานสอบสวย อัยการ ศาล แต่ถ้าเขาใช้กฎหมายเห็นไม่ตรงกับคนร่างฯ จะทำอย่างไร นี่จึงเป็นปัญหาว่า การเขียนกฎหมายต้องเขียนให้ชัด"

กรณีที่มีการพูดถึงศาลอาญาระหว่างประเทศว่า การประกาศใช้พ.ร.บ.นิรโทษทำให้เปิดทางไปสู่การนำผู้สั่งการสลายการชุมนุมไปยังศาลอาญาระหว่างประเทศนั้นปิยบุตรอธิบายว่าไทยยังไม่ได้ทำทั้งสองเรื่องทั้งให้สัตยาบัน และยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือไปกระทุ้งให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมาดำเนินคดี แต่ไทยยังไม่ได้ทำและไม่มีอิทธิพลในการล็อบบี้ไม่ว่าในขั้นตอนใดๆ

สำหรับข้อเสนอของนิติราษฎร์นั้น ตอนที่เสนอเรื่องลบล้างผลพวงการรัฐประหารเมื่อปี 2554 จากนั้นเงียบหายไป เขาขอย้ำข้อเสนออีกครั้ง คือเรื่องลบล้างผลพวงการรัฐประหาร คือคดีต่างๆที่ไปเกี่ยวพันกับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และอีกเรื่องคือนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมผู้แสดงออกทางการเมืองอันเกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง

ทั้งนี้ข้อเสนอนิติราษฎร์ที่เคยเสนอเกี่ยวกับการล้มล้างผลพวงของการรัฐประหารและการนิรโทษกรรมานั้น เรื่องหนึ่งใช้ช่องทางทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ แล้วต้องมีหมวดหนึ่งที่ลบล้างผลพวงการรัฐประหาร แล้วไปออกเสียงประชามติ เพื่อมาลบล้างบรรดาคำพิพากษาและบรรดาการกระทำขององค์กรต่างๆ อันสืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร

อีกเรื่องคือเรื่องนิรโทษกรรม ซึ่งนิติราษฎร์เสนอให้ทำในรัฐธรรมนูญ 2550 เลย แต่ข้อเสนอทั้งสองนั้นอายุสั้น แต่วันนี้นิติราษฎร์จะชุบชีวิตข้อเสนอใหม่

"พูดง่ายๆ ว่าคดีคุณทักษิณที่เริ่มจากคตส. ไม่เป็นธรรม แต่เราไม่นิรโทษกรรม เราแค่ลบล้างคำพิพากษา นั่นหมายความว่า ถ้าหน่วยงานใดเห็นว่าทักษิณคอร์รัปชั่นจริง ก็ไปริเริ่มคดีกันใหม่ภายใต้กระบวนการปกติที่ไม่มี คตส. นี่คือการลบล้างผลพวงการรัฐประหาร"

อีกประเด็น คือการเสนอให้ประกาศความเสียเปล่าของ มาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญปี 2549 เพื่อให้เกิดผลว่าไม่มีการทำนิรโทษกรรมการรัฐประหาร คนที่ทำรัฐประหารจะถูกดำเนินคดีได้ แต่ข้อเสนอนี้คนที่เสนอให้ปรองดองเหมาเข่งจะกล้าทำหรือไม่

ปิยบุตรย้ำว่านิติราษฎร์เสนอสองเรื่องแยกกัน ไม่ได้มาปนกันในพ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับเดียว

ประเด็นที่ 3 ย้ำข้อเสนอใช้รัฐธรรมนูญนิรโทษ
สาวตรี สุขศรี อธิบายถึงข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ที่เคยเสนอไว้เมื่อ 13 มกราคม ที่ผ่านมา คือข้อเสนอว่าด้วยการนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมทางการเมืองจากการรัฐประหาร และการขจัดความขัดแย้ง โดยมีรายละเอียดดังนี้

ข้อเสนอดังกล่าว เสนอการนิรโทษกรรมแก่ผู้ชุมนุมทางการเมืองซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหารปี 2549 และไม่เกี่ยวกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยสาวตรีย้ำว่า คณะนิติราษฎร์ ไม่เห็นด้วยอย่างสิ้นเชิงต่อการปรองดองโดยนิรโทษกรรมให้ทุกฝ่าย เพราะทำให้การกระทำหรือการสั่งการของผู้มีอำนาจ ไม่ได้รับการพิสูจน์ นี่จึงนำมาสู่ข้อเสนอการแก้ไขเพิ่มเติมรธน. เพื่อนิรโทษกรรมการกระทำใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร 2549 โดยมีช่วงระยะเวลาระหว่าง 19 กันยายน 2549 มาจนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 เหตุที่เลือกวันนี้ เพราะเป็นวันที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ในขณะนั้น สั่งยุบสภา จึงเห็นว่าสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนั้นเริ่มคลี่คลาย

กฎหมายร่างรธน. ของนิติราษฎร์ เสนอแยกกลุ่มบุคคลที่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม ออกจากกันเป็นสี่กลุ่ม โดยมีหลักการสำคัญดังนี้

ไม่นิรโทษกรรมให้จนท.รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม ตั้งแต่ 2549 เป็นต้นมา การกระทำใดๆ โดยเจ้าหน้าที่รัฐ หากกเป็นความผิดตามกฎหมาย ถือว่ายังเป็นความผิดตามกฎหมาย และต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามปกติ ถามว่าขัดต่อหลักเสมอภาคหรือไม่ นี่เป็นเรื่องที่มีสาระสำคัญแตกต่างกัน จนท.รัฐ เป็นผู้ถืออำนาจรัฐ ในขณะที่ผู้ชุมนุมเป็นเพียงผู้กระทำ การไม่นิรโทษกรรมให้จนท. รัฐ จึงไม่ได้ขัดต่อหลักเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ

หากนิรโทษ จะเป็นการตอกย้ำบรรทัดฐานว่า หากจนท.รัฐ ทำอะไรกับประชาชนในวันข้างหน้า ไม่ต้องรับผิดก็ได้ ในที่นี้ ข้อเสนอหมายถึงทั้งเจ้าหน้าที่รัฐทั้งระดับสั่งการและปฏิบัติการ ไม่สมควรที่จะได้รับการนิรโทษกรรม เนื่องจากตามระบบกฎหมายปกติ จนท. รัฐยังมีกฎหมายที่ยกเว้นโทษให้เขาได้ เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 70 บอกว่า จนท.พนักงาน หากว่าปฏิบัติตามผู้บังคับบัญชา และเชื่อโดยสุจริต ถ้าเกิดความเสียหาย จะได้รับการยกเว้นโทษ แต่จนท.รัฐต้องพิสูจน์ว่าเขาเชื่อเช่นนั้นจริงหรือไม่ แต่การสั่งฆ่าพลเมือง ยังไงเสียก็ไม่ชอบด้วยกม. เมื่อไม่ชอบด้วยกม. ก็เท่ากับว่า จนท. รัฐจะไม่สามรถอ้างอิงมาตรานี้เพื่อยกเว้นโทษให้กับตนเองได้

อาจมีบางกรณีที่จนท. รัฐสามารถอ้างเพื่อต่อสู้การกระทำของตนเองได้ คือมาตรา 17 ของพรก. ฉุกเฉิน ซึ่งระบุให้พนักงานเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง อาญา วินัย เนื่องจากการกระทำเพื่อระงับความผิดตามกฎหมาย หากว่าเหมาะสมและไม่เกินแก่เหตุ แต่ไม่ตัดสิทธิจากการถูกเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานราชการ การนิรโทษกรรมจึงไม่จำเป็นสำหรับจนท.รัฐ

ทางนิติราษฎร เสนอให้มีการนิรโทษกรรมประชาชนทันที โดยแยกประชาชนออกเป็นสี่กลุ่ม ตามประเภทความผิด ได้แก่

1. บุคคลทั่วไปที่มีความผิด ไม่ว่าจะเข้าร่วมชุมนุมหรือไม่ แต่ได้รับความผิดฐานฝ่าฝืน พรก. ฉุกเฉินหรือพ.ร.บ. ความมั่นคง ซึ่งได้ประกาศในช่วงการเดินขบวนและชุมนุมประท้วงหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ให้นิรโทษให้ทันที ไม่ว่าจะอยู่ในชั้นไหนก็ต้องปล่อยตัวทันที

2 ผู้เข้าร่วมเดินขบวนและผู้ขุมนุมในพื้นที่ทางการเมืองที่มีการประกาศพรก.ฉุกเฉินและพ.ร.บ. ความมั่นคง และมีการกระทำผิดทางอาญา ต้องได้รับนิรโทษกรรมโดยอัตโนมัติ แต่ต้องเป็นความผิดลหุโทษ คือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน ปรับห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปี

3. กรณีผู้ชุมนุมทางการเมืองตามพื้นที่ตามข้อสอง แต่เป็นการกระทำที่มีความผิดอาญาที่มีโทษสูง เช่นทำร้ายร่างกาย เผาทรัพย์ เสนอว่ายังไม่ได้รับนิรโทษกรรมทันที แต่จะได้นิรโทษต่อเมื่อมีการพิสูจน์ว่า การกระทำดังกล่าวมีเหตุจูงใจทางการเมือง ทั้งนี้ เสนอให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยด้วยต่างหาก

4 เป็นคนที่ร่วมชุมนุม หรืออาจไม่ร่วมก็ได้ แต่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น หรือถูกกล่าวหาแต่มีข้อสงสัยว่ามีเหตุจูงใจทางการเมือง ที่อาจเป็นการแสดงความคิดเห็นก็ได้ ไม่ต้องลงมือกระทำ แต่เป็นการพูด การแสดงออกที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ก็อยู่ในข่ายที่อาจจะได้รับนิรโทษกรรม

ทั้งนี้ การนิรโทษกรรมจะต้องไม่ขัดกับพันธกรณีที่ไทยไปลงนามหรือให้สัตยาบันไว้ด้วย จึงสำคัญว่า จะไม่รวมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนเรื่องแกนนำ ทางนิติราษฎร์มองว่าแยกกันยาก ฉะนั้นเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนที่ชุมนุม จึงไม่ได้แยกเอาไว้ จึงเน้นเรื่องแรงจูงใจทางการเมืองเป็นหลัก

อีกประการหนึ่งที่สำคัญที่คณะนิติราษฎร์เสนอเป็นการแก้ไขรธน. เพราะการนิรโทษกรรมครั้งนี้ มีความสลับซับซ้อนมากกว่าครั้งอื่นๆ มีการปล่อยทอดเวลาออกไป มีหลายคนอยู่ในชั้นศาล บางคนถูกจำคุก บางคดีอยู่ในชั้นอัยการ หลายคดีมีความหลากหลายต่างกันออกไป การให้นิรโษกรรมรวมไปเลยโดยไม่มีการแยกแยะจึงไม่อาจทำได้ และต้องแบ่งเป็นประเภทต่างๆ

สาวตรีอธิบายว่า ปกติแล้ว การให้ออกเป็นกฎหมายร่างรัฐธรรมนูญ ต้องใช้รายชื่อประชาชนหมื่นคน แต่ถ้าเป็นร่าง พรบ. ต้องใช้รายชื่อห้าหมื่นคน และอาจถูกตีตกด้วยว่าไม่เข้าข่ายมาตรา 3 และมาตรา 5 เพราะไม่เข้าข่ายกับสิทธิเสรีภาพประชาชน กระบวนการจึงจะรวดเร็วกว่าการทำเป็นร่างพรบ.

นอกจากนี้ การแก้ไขเพิ่มเติมรธน. ใช้พิจารณาเป็นสภาเดียว ไม่ต้องเป็นสามวาระเหมือนพ.ร.บทั่วไป จึงมองว่า ถ้าเสนอเป็นร่างรธน.ทำให้กระบวนการเหล่านี้รวดเร็วกว่า เพียงแต่การแก้ไขรธน. ต้องใช้เสียงข้างมากพิเศษ

นิติราษฏร์ยังรระบุว่า การทำเป็นร่างรธน. เพราะต้องมีการตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยข้อขัดแย้ง จะเป็นผู้วินิจฉัยว่า บุคคลในคดีต่างๆ มีแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งองค์กรดังกล่าวต้องมีอำนาจเสมือนเป็นองค์กรตามรธน. มีอำนาจเสมอภาค ผูกพันเท่าศาลและองค์กรอื่นๆ ถ้าออกเป็นพ.ร.บ. แล้วให้องค์กรดังกล่าวมีอำนาจเท่าเทียมกับศาล จะขัดกับหลักรธน. จึงความจำเป็นต้องออกมาเป็นร่างแก้ไข รธน. นี่คือเหตุผลว่าทำไมต้องออกมาเป็นเช่นนี้

ทั้งนี้ ข้อเสนอของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อขัดแย้งดังกล่าว ประกอบด้วย บุคคลห้าคน โดยมีที่มาเชื่อมโยงจากประชาชน ได้แก่
1. บุคคลที่ได้รับเลือกจากคณะรัฐมนตรีหนึ่งคน
2. จากสส. สองคน หนึ่งคนมีและไม่มีตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี
3. ศาลผู้พากษา หรืออดีตผู้พิพากษา เลือกโดยรัฐสภา
4. พนง. อัยการ หหรืออดีตพนง.อัยการ เลือกโดยรัฐสภา

เฉพาะหน้า ให้โหวตเอาร่างฯ วาระ 1 มาพิจารณา หรือไม่ก็ตั้งกรรมาธิการเต็มสภา
วรเจตน์กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน ร่างฯ ที่กรรมาธิการได้แก้ไข นั้นขัดกับกระบวนการตรากฎหมาย ขัดกับข้อบังคับการประชุมสภา ซึ่งมีสถานะในทางรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะมีความเห็นทางกฎหมายต่างกันอยู่ เพราะฉะนั้นสถานะของเรื่องนี้ ถ้าปล่อยต่อไป อย่างน้อยมันมีความสงสัย ว่าต้องเถียงกันว่าเป็นเรื่องขัดกฎหมายระดับไหน ซึ่งเขาเห็นว่าถ้าเห็นปัญหาแบบนี้จะเดินหน้าต่อไปทำไม เพราะร่างฯ นี้มีคนแย้งมาแล้วว่าขัดหลักการ และหลายคนก็เห็นเหมือนเขาว่าเป็นปัญหาทางรัฐธรรมนูญ แทนที่จะปล่อยไปแล้วที่สุดก็มีคนเอาเรื่องไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ

"เราอยากให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามายุ่งเรื่องนี้หรือครับ ถ้าเรารู้แล้วว่ามันมีประเด็นแบบนี้ขึ้นมา ทำไมเราไม่แก้ไขมัน มันยังกลับลำได้เพื่อให้เดินทางไปให้ถูกต้องตามหลักการ ผมไม่อยากเห็นคนที่อยู่ในฝ่ายก้าวหน้าทะเลาะกันโดยไม่จำเป็น เขาเสนอว่า สภาควรจะไม่รับร่างฯ ของกรรมาธิการวิสามัญเสีย และมีคนเสนอญัตติในสภาว่าร่างฯ ของกรรมาธิการวิสามัญฯ ขัดกับหลักการไหม ถ้าขัด ให้ยกเลิกเสียแล้วเปิดทางให้มีการตั้งกรรมาธิการเต็มสภา ก็จะสามารถกลับไปใช้ร่างฯ แรกเป็นฐานได้ กลับไปหาร่างฯ ที่นิรโทษให้กับประชาชนเท่านั้น"

"แต่ถ้าสภาฯ รู้สึกว่าการแก้ปัญหาแบบนิติราษฎร์เสนอมันตรงไปหน่อยทำให้คนเสียหน้า ก็ยังแก้ได้อีกทางหนึ่ง โดยการที่สภาฯ ใช้การแปรญัตติกลับไปหาร่างฯ แรกโหวตให้กับร่างฯ แรกได้" วรเจตน์เสนอทางออก

"ความยุติธรรมที่ใครคนหนึ่งจะได้นั้น ไม่ควรจะได้บนความอยุติธรรมที่มีต่อคนอื่น ในส่วนของคุณทักษิณ ต้องคืนความเป็นธรรมให้กับเขา แต่อย่างที่ว่าการคืนต้องบรรลุวัตถุประสงค์สำหรับคนที่ข้องใจอยู่ ก็เปิดโอกาสให้เขาได้พิสูจน์ตัวเองตามกระบวนการที่ยุติธรรม แต่การเอามารวมกับการนิรโทษกรรมจากการสลายการชุมนุมมันไม่ถูก ก็ต้องเดินไปตามทางที่ถูก ที่บอกกันนี่ก็เป็นการบอกกันฉันมิตรเลย เพื่อให้เดินไปตามทางประชาธิปไตย"

วรเจตน์กล่าวด้วยว่าในส่วนของนิติราษฎร์เห็นว่าร่างฯ ของวรชัยยังมีปัญหา แต่มีหลักการแน่นอนว่านิรโทษเฉพาะประชาชน ส่วนเรื่องการเกี๊ยเชี๊ยะต่อรองนั้นวรเจตน์เห็นว่าไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนจะต้องไปสนใจ แต่สิ่งที่ประชาชนจะต้องทำคือผลักดันสิ่งที่ควรจะเป็น

เขากล่าวเพิ่มเติมกรณีที่มีกระแสว่าหากมีการแก้มาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญแล้วจะเป็นการลบล้างผลพวงของการรัฐประหารว่า ในความเป็นจริงไม่ได้ง่ายดายเช่นนั้น เพราะมาตรา 309 นั้นรับรองการกระทำที่ต่อเนื่องมาจากการรัฐประหาร โดยรับรองว่าชอบไปตลอดกาล แต่ 309 นั้นไม่มีผลต่อคดีต่างๆ

ซึ่งนิติราษฎร์นั้นเสนอให้ใช้อำนาจของประชาชนให้ประกาศให้มาตรา 37 ของรธน. ปี 2549 เสียไปไม่มีผลทางกฎหมาย โดยการลบล้างนี้ เปิดโอกาสให้กลับไปดำเนินคดีได้ แต่อาจจะมีคนบอกว่าแบบนี้จะไม่เป็นธรรมกับทักษิณ เพราะต้องถูกดำเนินคดีสองครั้ง แต่ก็เป็นการเปิดโอกาสให้ดำเนินคดีที่ถูกต้องเป็นธรรม หรือจะนิรโทษกรรมเขาไปเลย

โดยเหตุที่ทักษิณถูกโค่นอำนาจด้วยการรัฐประหาร 19 กันยายน และมีประเด็นเทคนิคทางกฎหมายตามมาเยอะแยะไปหมด การแก้ปัญหาให้ทักษิณไม่สามารถทำได้โดยกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่ง เพราะมันเชื่อมโยงกับระบบกฎหมายทั้งระบบ เพราะต่อให้มีการนิรโทษกรรมจริง ก็ยังมีข้อโต้แย้งต่อไปในอนาคตกันในภายภาคหน้าได้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรุงเทพโพลล์เผยนักเศรษฐศาสตร์เชื่อเศรษฐกิจไทย 3-6 เดือนปรับตัวดีขึ้น

Posted: 31 Oct 2013 06:18 AM PDT

นักเศรษฐศาสตร์เชื่อมั่น เศรษฐกิจไทยใน 3-6 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้นจากปัจจุบัน แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะอยู่ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เปราะบาง และผันผวนตามปัจจัยต่างๆ ที่มากระทบ
 
31 ต.ค.2556 ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 29 แห่ง จำนวน 61 คน เรื่อง "ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยใน 3-6 เดือนข้างหน้า" โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 24 – 30 ต.ค.ที่ผ่านมา สรุปได้ว่า ค่าดัชนีสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักเศรษฐศาสตร์ที่มีต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนหน้า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยโดยรวมจะยังคงอยู่ในสถานะที่อ่อนแอก็ตาม
 
ปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นคือ การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ การใช้จ่ายและการลงทุนจากภาครัฐ ส่วนการบริโภคภาคเอกชนจะยังคงเป็นปัจจัยหน่วงการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้าอยู่ สำหรับภาคส่งออกและการลงทุนภาคเอกชน แม้มีความเชื่อมั่นว่าจะมีการปรับดีขึ้นในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้าแต่ก็จะไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง
 
ดังนั้นจึงสรุปว่าเศรษฐกิจไทยในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้นจากปัจจุบัน การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะอยู่ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เปราะบาง และผันผวนตามปัจจัยต่างๆ ที่มากระทบ สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าดัชนีต่างๆ มีดังนี้
 
1.ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 36.99 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการสำรวจครั้งก่อนหน้าที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับ 34.40 จุด แต่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในสถานะอ่อนแอ เป็นผลมาจากปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 4 ใน 5 ปัจจัยอยู่ในสถานะอ่อนแอประกอบด้วย การบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน การส่งออกสินค้า การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ตามลำดับ ส่วนปัจจัยการท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นปัจจัยเดียวที่นักเศรษฐศาสตร์เชื่อมั่นว่ายังคงอยู่ในสถานะแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องนับจากเดือนเมษายน 2555
 
2.ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ในระดับ 59.12 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการสำรวจก่อนหน้า และเป็นระดับที่สูงกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปัจจุบัน และเมื่อมองออกไปในอีก 6 เดือนข้างหน้า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ในระดับ 71.69 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนหน้าค่อนข้างมากและเป็นระดับที่สูงกว่า 50 หมายความว่า นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นและมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบัน โดยได้รับผลดีจากปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกปัจจัยที่จะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะปัจจัยด้านการท่องเที่ยวจากต่างประเทศและการใช้จ่ายของภาครัฐ
 
หมายเหตุ: รายงานผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ฉบับนี้ เป็นการสำรวจความเห็นส่วนตัวของนักเศรษฐศาสตร์ซึ่งมิได้สื่อถึงแนวนโยบายขององค์กรที่นักเศรษฐศาสตร์สังกัดอยู่แต่อย่างใด
 
 
 ทั้งนี้ รายละเอียดของผลสำรวจดังมีต่อไปนี้
 
ภาพที่ 1 ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทย (จำแนกตามดัชนี)
 
 
 
ตารางที่ 1 ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน
 
ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
2554
2555
2556
ต.ค.
ม.ค.
เม.ย.
ก.ค.
ต.ค.
ม.ค.
เม.ย.
ก.ค.
ต.ค.
 1) การบริโภคภาคเอกชน
46.77
32.39
48.31
50.00
59.23
68.97
68.10
21.31
17.80
 2) การลงทุนภาคเอกชน
48.36
20.71
44.07
46.67
51.52
55.08
62.28
21.31
28.81
 3) การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
54.03
45.71
57.14
51.69
46.21
61.40
59.82
43.33
45.61
 4) การส่งออกสินค้า
66.39
20.00
36.21
23.77
11.36
24.58
19.49
13.11
13.56
 5) การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
54.03
23.24
50.85
55.74
57.58
73.73
73.73
72.95
79.17
ดัชนีรวม
53.92
28.41
47.31
45.57
45.18
56.75
56.68
34.40
36.99
 
หมายเหตุ: ค่าดัชนีจะมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100 โดย
 
ค่าดัชนีเท่ากับ 50 หมายถึง นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นว่าปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่ในสถานะปกติ (สำหรับสถานะปัจจุบัน)  หรือหมายถึง นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับ เดิม/ไม่เปลี่ยนแปลง (สำหรับการคาดการณ์ในอีก 3 และ 6 เดือนข้างหน้าเปรียบเทียบกับปัจจุบัน)
 
ค่าดัชนีสูงกว่า 50 หมายถึง นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นว่าปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่ในสถานะแข็งแกร่ง (สำหรับสถานะปัจจุบัน) หรือหมายถึง นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับ ดีขึ้น (สำหรับการคาดการณ์ในอีก 3 และ 6 เดือนข้างหน้าเปรียบเทียบกับปัจจุบัน)
 
ค่าดัชนีต่ำกว่า 50 หมายถึง นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นว่าปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่ในสถานะอ่อนแอ (สำหรับสถานะปัจจุบัน) หรือหมายถึง นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับ แย่ลง (สำหรับการคาดการณ์ในอีก 3 และ 6 เดือนข้างหน้าเปรียบเทียบกับปัจจุบัน)
 
 
ตารางที่ 2 ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยใน 3 เดือนข้างหน้า
(เปรียบเทียบกับปัจจุบัน)
 
ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
2554
2555
2556
ต.ค.
ม.ค.
เม.ย.
ก.ค.
ต.ค.
ม.ค.
เม.ย.
ก.ค.
ต.ค.
 1) การบริโภคภาคเอกชน
45.08
62.14
56.03
57.63
50.78
61.61
50.00
30.83
45.00
 2) การลงทุนภาคเอกชน
42.24
69.57
58.62
51.72
41.41
52.59
51.82
31.90
51.69
 3) การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
71.19
71.64
75.00
70.34
57.38
66.36
67.59
49.14
64.66
 4) การส่งออกสินค้า
31.36
54.41
65.79
42.37
30.16
55.36
34.82
32.50
55.08
 5) การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
47.41
59.29
56.78
58.33
56.15
63.79
50.00
63.11
79.17
ดัชนีรวม
47.46
63.41
62.44
56.08
47.18
59.94
50.85
41.50
59.12
 
 
ตารางที่ 3 ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยใน 6 เดือนข้างหน้า
(เปรียบเทียบกับปัจจุบัน)
 
ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
2554
2555
2556
ต.ค.
ม.ค.
เม.ย.
ก.ค.
ต.ค.
ม.ค.
เม.ย.
ก.ค.
ต.ค.
 1) การบริโภคภาคเอกชน
48.25
68.84
62.28
55.21
49.11
61.76
50.00
50.00
61.21
 2) การลงทุนภาคเอกชน
44.07
81.82
67.31
55.00
48.15
56.73
62.04
45.54
70.18
 3) การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
70.00
75.00
75.93
61.82
60.83
70.41
81.13
60.71
79.09
 4) การส่งออกสินค้า
25.44
62.12
67.59
44.23
37.50
64.15
47.92
47.27
67.80
 5) การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
37.96
73.19
68.10
62.73
48.39
66.04
56.48
72.81
80.17
ดัชนีรวม
45.14
72.19
68.24
55.80
48.80
63.82
59.51
55.27
71.69
 
 
ตารางที่ 4 ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจใน 3-6 เดือนข้างหน้า
 
 
3 เดือนข้างหน้า
6 เดือนข้างหน้า
ปัจจัยขับเคลื่อนที่เชื่อมั่นว่า
จะดีขึ้น
เมื่อเทียบกับปัจจุบัน
การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
การส่งออกสินค้า
การลงทุนภาคเอกชน
การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
การลงทุนภาคเอกชน
การส่งออกสินค้า
การบริโภคภาคเอกชน
ปัจจัยขับเคลื่อนที่เชื่อมั่นว่า
จะทรงตัว
เมื่อเทียบกับปัจจุบัน
-ไม่มี-
-ไม่มี-
ปัจจัยขับเคลื่อนที่เชื่อมั่นว่า
จะแย่ลง
เมื่อเทียบกับปัจจุบัน
การบริโภคภาคเอกชน
-ไม่มี-
 
 
รายละเอียดในการสำรวจ
 
วัตถุประสงค์: เพื่อสำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์ต่อสถานะทางเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันและทิศทางในอนาคตอีก 3 และ 6 เดือนข้างหน้า
 
กลุ่มตัวอย่าง: เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่สำเร็จการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในสาขาเศรษฐศาสตร์ (กรณีสำเร็จการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์เฉพาะปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือปริญญาเอก อย่างใดอย่างหนึ่ง จะต้องมีประสบการณ์ในการทำงานด้านวิเคราะห์/วิจัย/หรืองานที่เกี่ยวข้องที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถด้านเศรษฐศาสตร์อย่างน้อย 5 ปีจนถึงปัจจุบัน) ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ จำนวน 29 แห่ง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารธนชาต ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บริษัททริสเรทติ้ง บริษัทหลักทรัพย์ เอเชียพลัส บริษัทหลักทรัพย์เคจีไอ บริษัทหลักทรัพย์ฟิลลิป บริษัทหลักทรัพย์ภัทร บริษัทหลักทรัพย์เคเคเทรด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ  สำนักวิชาการจัดการมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร สำนักวิชาเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ คณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ 
 
วิธีการรวบรวมข้อมูล: การสำรวจนี้เป็นการวิจัยโดยการเลือกตัวอย่างประชากรโดยไม่อาศัยหลักความน่าจะเป็น (Non-probability sampling) แต่ละหน่วยตัวอย่างที่จะได้รับการเลือก จึงเป็นการเลือกตัวอย่างประชากรแบบเจาะจง (Purposive sampling) และดำเนินการรวบรวมข้อมูลโดยการส่งแบบสอบถามออนไลน์ไปยังนักเศรษฐศาสตร์ในหน่วยงานที่กำหนดภายในระยะเวลาที่กำหนด
 
ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล: 24 – 30 ตุลาคม 2556
 
วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ: 31 ตุลาคม 2556
 
ข้อมูลรายละเอียดของกลุ่มตัวอย่าง
 
 
จำนวน
ร้อยละ
ประเภทของหน่วยงานที่กลุ่มตัวอย่างทำงานอยู่
 
 
หน่วยงานภาครัฐ
31
50.8
หน่วยงานภาคเอกชน
20
32.8
สถาบันการศึกษา
10
16.4
รวม
61
100.0
เพศ         ชาย
34
55.7
         หญิง
27
44.3
รวม
61
100.0
อายุ          18ปี – 25 ปี
1
1.6
26 ปี – 35 ปี
19
31.1
         36 ปี – 45 ปี
20
32.8
         46 ปีขึ้นไป
21
34.5
รวม
61
100.0
การศึกษา   ปริญญาตรี
4
6.6
         ปริญญาโท
41
67.2
         ปริญญาเอก
16
26.2
รวม
61
100.0
ประสบการณ์ทำงานรวม
 
 
       1-5 ปี
10
16.4
       6-10 ปี
14
23.0
       11-15 ปี
9
14.8
       16-20 ปี
10
16.4
       ตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป
18
29.4
รวม
61
100.0
 
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงานเสวนา:“14 ตุลา" ยังจะมีอะไรให้ศึกษาอีก?

Posted: 31 Oct 2013 03:35 AM PDT

ประจักษ์ ก้องกีรติ ชี้ประเด็นความสัมพันธ์และความขัดแย้งของชนชั้นนำกับบทบาทของกลุ่มทุนและชนชั้นกลางยังเป็นสิ่งที่ไม่ได้ศึกษาในเหตุการณ์เดือนตุลากับ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ชี้ฝ่ายก้าวหน้าไม่อ่านงานฝ่ายขวา คงคิดว่าฝ่ายขวาไม่มีปัญญาชน เสนอศึกษาเพิ่ม ปัญญาชนและชุดอุดมการณ์ขวาจัด

31 ต.ค.2556 มีการเสวนาหัวข้อ "14 ตุลา ยังจะมีอะไรให้ศึกษาอีกหรือ?" จัดโดย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เนื่องในโอกาสเปิดตัวหนังสือ 'แล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ : การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ' ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 ตึกอเนกประสงค์ มธ.

ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ถ้ามอง 14 ตุลา เป็นจิ๊กซอว์หนึ่งที่สำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ ยังมีอะไรให้ศึกษาอีกมาก แต่ต้องเริ่มจากการพยายามทำลายกรอบโครงสร้างการศึกษาประวัติศาสตร์แบบเดิม หรือพล็อตแบบเดิม ที่มีพระเอกกับผู้ร้าย มีการเล่าเสมอในลักษณะขาว-ดำ ซึ่งการเขียนประวัติศาสตร์แบบนี้เป็นกรอบจำกัดทำให้ไม่เข้าใจความซับซ้อนของ สิบสี่ตุลา และเหตุการณ์อื่นๆ ด้วย

ประจักษ์ กล่าวว่า หลัง 2475-2516 ผู้ร้ายคือทหารหรือกองทัพ ไม่ว่า นายพลคนไหน ถูกมองเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกันหมด งานเขียนจำนวนมากถูกผลิตออกมาในกรอบว่าทำอย่างไรจะกันทหารออกจากการเมือง โดยไม่มองว่า โจทย์ไม่ใช่ทหารยึดอำนาจ แต่เป็นเรื่องคณะราษฎรของทหารกับฝ่ายเจ้า เมื่อมองทหารเป็นผู้ร้าย ทำให้มองไม่เห็น ผิดฝาผิดตัว ทั้งที่เป็นการต่อสู้ที่ซับซ้อนของกลุ่มคนหลายกลุ่ม และหลัง 2516 ก็เปลี่ยนเป็นหมดยุคทหาร มีนักเลือกตั้งมาคุมอำนาจ ผู้ร้ายคือนักการเมืองและนักเลือกตั้ง บวกกับชาวชนบทที่โง่ ไม่รู้จักประชาธิปไตยและขายเสียง

การเล่าประวัติศาสตร์ แบบ"โยนบาป" ทำให้มีกลุ่มคนอีกหลายกลุ่มลอยนวล ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นกลุ่มที่มีบทบาทมากในการก่อรูปประวัติศาสตร์ไทยและชิงอำนาจกับกลุ่มอื่น ตราบใดยังไม่เปลี่ยนพล็อต และมองว่าแต่ละช่วงมีกลุ่มคนไหนบ้างที่ต่อสู้กันอย่างซับซ้อน ร่วมมือ หักหลังกันอย่างไร เมื่อนั้นจะไม่เห็นประวัติศาสตร์ไทยที่แท้จริง เพราะไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร เช่น กลุ่มเจ้านาย ที่ยังมีอำนาจหลัง 2475 มาแล้ว บางครั้งจับมือทหารบางช่วง บางครั้งหักหลังกันเอง แค่พลวัตรสองกลุ่มก็ไม่เคยถูกศึกษาอย่างจริงจังในประวัติศาสตร์ไทย

ถ้าจะเข้าใจความรุนแรงทางการเมืองทั้งสี่ครั้งในสังคมไทย (14 ตุลา/ 6 ตุลา/ พ.ค.35/ พ.ค.53) ว่าทำไมเกิดขึ้นได้บนท้องถนน ต้องเข้าใจความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำสองกลุ่มนี้ ที่มันมีความร่วมมือและความขัดแย้งที่ต่างกันไปในทั้ง4เหตุการณ์

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา มีตัวละครหลายตัวหรือชนชั้นนำหลายกลุ่มที่ไม่ถูกศึกษา หรือกันออกไปจากการศึกษาทางการเมือง อาทิ บทบาทของชนชั้นกลางก่อน 14 ตุลา มีบทความของ เบน แอนเดอสัน เรื่องบ้านเมืองของเราลงแดง โดยพูดถึงชนชั้นกลางหรือชนชั้นกลางระดับล่าง คอปกขาวนักวิชาชีพ แรงงาน ว่ามีส่วนร่วมในการปลี่ยนแปลง 14 ตุลา ด้วย เป็นฐานทางสังคมที่ก่อให้เกิดขบวนการที่เห็น แต่ทุกวันนี้ยังไม่มีงานศึกษาว่าพวกเขาเป็นใคร มาจากไหน คิดอะไร ทำไมออกมาเคลื่อนไหวกับนักศึกษา เมื่อไม่เข้าใจบทบาทชนชั้นกลางดีพอ หลัง 14 ตุลา จน 6 ตุลา จึงอธิบายอะไรไม่ได้เท่าไหร กลายว่า มีคำอธิบายว่าชนชั้นกลางหนุนนักศึกษา จน นักศึกษาเอียงซ้าย จึงถอนไป และมาหนุนขวาแทน ซึ่งในเชิงรูปธรรมไม่เคยรู้เลยว่าคือใคร ย้ายข้างจริงไหม

โยงถึงการเมืองปัจจุบัน กลุ่มคนที่ถูกเรียก สลิ่ม ชนชั้นกลางโลกสวย น่าสนใจว่า คือใคร เหมือนชนชั้นกลางก่อน 14 ตุลาคม2516 หรือ ก่อน 6 ตุลาคม 2519 หรือไม่

นอกจากนี้ ยังขาดงานเรื่องความแตกแยกในกองทัพ ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญมากและทำให้เหตุการณ์สิบสี่ตุลาเกิดขึ้นได้ แต่เรารู้น้อยมาก ยังต้องศึกษา ว่าแตกกันแค่ไหน ใครแตกกับใครบ้าง ยังมีตัวละครที่ยังไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลนี้ ยอมให้ข้อมูลตายไปกับตัวเอง เช่นเดียวกับเหตุการณ์  19 กันยายน 2549

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม2516 ลับลวงพราง ไม่แพ้ เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แต่ในเหตุการณ์ 14 ตุลา ยังไม่มีใครไปขุดว่าใครขัดแย้งใครบ้าง ระหว่างรอยัลลิสต์กับทหาร และทหารกับทหารแตกแยกกันยังไง รอยัลลิสต์ที่มาต่อสาย นักศึกษา จนแกนนำส่วนหนึ่งของนักศึกษาได้ไปเข้าเฝ้า มีบทบาทยังไง เป็นใครบ้าง

ช่วง 11 วันจาก 6- 15 ต.ค.2516 ช่วงชุลมุนยังไม่รู้ข้อเท็จจริงเลยว่า ใครทำอะไร ตัดสินใจอย่างไร ทำไมถนอม-ประภาส ต้องออกนอกประเทศ เหตุใดจึงเกิดการปะทะขึ้นในเช้าสิบสี่ตุลา นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนักธุรกิจชั้นนำ เจ้าสัว นายธนาคาร ที่ไม่รู้ว่า ตอนนั้นอยู่ฝ่ายไหน มีบทบาทยังไง เป็นไปไม่ได้ที่จะวางตัวเฉยตอนที่ นักศึกษา มาเดินขบวน  การพยายามหาข้อเท็จจริงเหล่านี้ ถ้าทำได้จะเป็นคุณูปการใหญ่หลวง

ขณะที่ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น นักวิจัย Political & Social Change มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ย้ำว่ายังมีเรื่องต้องศึกษาต่อไป โดยเสนอหัวข้อใหญ่สองหัวข้อคือ การศึกษาประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองของการพิมพ์และอ่านหนังสือวารสารและหนังสือพิมพ์ก้าวหน้าหลัง 14 ตุลาและหลัง 6 ตุลา และ ปัญญาชนและอุดมการณ์ขวาจัด

โดยไทเรล ขยายความว่า เรื่องของปัญญาชนและอุดมการณ์ขวาจัด ยังมีการศึกษาไม่มากพอ ทั้งนี้คิดว่าเป็นความผิดพลาดของฝ่ายก้าวหน้าที่ไม่อ่านงานของฝ่ายขวา เพราะคงมองฝ่ายขวาไม่ใช่ปัญญาชน

ไทเรล ยกตัวอย่าง ธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งไม่ใช่นายกฯ ที่มาจากระบอบประชาธิปไตยโดยตรง แต่ก็เขียนงานออกมาหลายเล่มจนปัจจุบัน ที่ห้องสมุด มธ. มีทั้งสิ้น 85 ชิ้น ในช่วงต่อต้านคอมมิวนิสต์ ธานินทร์ได้เขียนหนังสือต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ เขียนถึงสถาบันกษัตริย์และประชาธิปไตย หลังยุคต้านคอมมิวนิสต์ ธานินทร์ก็เขียนหนังสือจริยธรรมกับคนดี และที่น่าสนใจมากคือ ใช้นามปากกาเขียนเรื่องสั้นเกี่ยวกับผีด้วย

ไทเรลบอกว่า น่าคิดมากว่า ธานินทร์ก็มองตัวเองเป็นปัญญาชน ในคำนำหนังสือ การใช้กฎหมายป้องกันคอมมิวนิสต์ ยาว 400 กว่าหน้า ระบุว่าเขียนเพื่อบุคคลทั่วไปและนักศึกษามหาวิทยาลัย ไม่ใช่เฉพาะสำหรับนักกฎหมาย หรือตำรวจ โดยเขียนถึงแนวคิดของสายสังคมนิยม รวมถึงสถานการณ์ของแต่ละประเทศที่เปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว และมีความหวาดกลัวว่า เจ้าของที่ดิน นายทุน จะถูกสังหาร หากเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์ด้วย

ไทเรลชี้ว่า นอกจากธนินทร์แล้ว ยังมีปัญญาชนขวาจัดอีกหลายคนที่ควรจะได้อ่านงานเขียนของพวกเขาอย่างละเอียด เพื่อทำความเข้าใจ

"การเขียนประวัติศาสตร์สิบสี่ตุลาเพิ่งเริ่มต้น ไม่ใช่เป็นประวัติศาสตร์ที่เสร็จสมบูรณ์ ยังมีอีกหลายหัวข้อที่ควรจะทำ" ไทเรลกล่าว


 

 

หมายเหตุ: พบกับรายงานฉบับเต็มได้ที่นี่เร็วๆ นี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

Posted: 31 Oct 2013 02:47 AM PDT

"ความยุติธรรมที่ใครคนหนึ่งจะได้นั้น ไม่ควรจะได้บนความอยุติธรรมที่มีต่อคนอื่น ในส่วนของคุณทักษิณ ต้องคืนความเป็นธรรมให้กับเขา แต่อย่างที่ว่าการคืนต้องบรรลุวัตถุประสงค์สำหรับคนที่ข้องใจอยู่ ก็เปิดโอกาสให้เขาได้พิสูจน์ตัวเองตามกระบวนการที่ยุติธรรม แต่การเอามารวมกับการนิรโทษกรรมจากการสลายการชุมนุมมันไม่ถูก ก็ต้องเดินไปตามทางที่ถูก ที่บอกกันนี่ก็เป็นการบอกกันฉันมิตรเลย เพื่อให้เดินไปตามทางประชาธิปไตย"

31 ต.ค.56 กล่าวในแถลงนิติราษฎร์ว่าด้วยนิรโทษกรรม

“สุดซอย” สะท้อนอะไร?

Posted: 31 Oct 2013 01:34 AM PDT

                                                                             
  
ผู้เขียนขอออกตัวก่อนว่า มิปรารถนาพรบ.นิรโทษกรรมสุดซอยด้วยเหตุผลคือไม่ต้องการล้างผิดให้กับ"ฆาตกร"  แต่จากการเป็นคนนอกที่เฝ้ามองและเฝ้าเชียร์ขบวนการเสื้อแดงอยู่ห่างๆและเอาใจช่วยเสมอรวมทั้งเป็นคนหนึ่งที่เลือกพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งที่ผ่านมา จะดีจะชั่วด้วยเหตุผลเดียวคือ ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร เป็นเหตุผลเดียวที่ยังคงเลือกเพื่อไทยแม้จะกล้ำกลืนฝืนทนกับพฤติกรรมห่วยๆ ทัศนะแย่ๆของบุคลากรทั้งหลายทั้งแหล่ที่ออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองที่ไม่ค่อยจะได้เรื่อง หรือหลงทิศผิดทางกันก็บ่อย

ผู้เขียนถือว่า  การเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับพรรคการเมือง ทักษิณ  และคนจำนวนมากมีจุดร่วมเดียวกันคือต้านอำนาจนอกระบบและผลพวงของการรัฐประหาร และคิดแทนใครหลายๆคนที่ออกไปสู้รบ บาดเจ็บ ล้มตาย รวมทั้งถูกจับกุมคุมขังว่าเขาและเธอเหล่านั้นมีจุดร่วมทางความคิดเช่นเดียวกัน และเป็นการตาย บาดเจ็บ เพื่อให้เกิดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพื่อให้เกิดอำนาจรัฐที่เราบอกใครต่อใครในเวลานั้นได้เต็มปากเต็มคำว่า เป็นรัฐบาลที่เราเลือกมากับมือและได้รับชัยชนะท่วมท้นให้เป็นรัฐบาล ถึงขนาดพูดกันว่าเลือกกี่ครั้งกี่ครั้งก็ยังได้เป็นรัฐบาล

หลังได้เป็นรัฐบาลแล้ว การเดินทางของคนเสื้อแดงกับรัฐบาลต่างประนีประนอมและประคองซึ่งกันและกันบางครั้งทุลักทุเล บางคราวพูดไม่ออก ประชาชนจำนวนมากรู้และเข้าใจ อำนาจโครงสร้างส่วนบนของสังคมไทย เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อื้ออึง แต่มีกฎหมายคอยปิดกั้น และไล่ล่ากลุ่มคนที่เห็นต่าง ความเป็นรัฐบาลในโครงสร้างเก่า จึงเลือกที่จะไม่แตะบ่วงที่รัดคอผู้คน อาจเพราะกลัวว่าบ่วงจะมารัดคอตัวเอง

มาจนถึงเวลานี้ มี พรบ.นิรโทษกรรม"สุดซอย"เกิดขึ้น ด้วยความเป็นกองเชียร์ดีเด่นมาตลอดจึงแอบคิดเอาว่า เฮ้ยสงสัยจะโยนหินถามทาง หยั่งกระแสเช็คเรตติ้งหรือเปล่านะ แหย่แล้วค่อยถอย ซึ่งเป็นทริคที่ใช้มาตลอด สู้ๆ ถอยๆ ถอยๆ สู้ๆ แต่ล่วงเลยมาจนวันนี้ที่รัฐสภากำลังอภิปรายพรบ.กันอย่างดุเดือด ผู้เขียนหวั่นๆว่าสงสัยงานนี้คนอยู่แดนไกลสั่งลุยเองซะล่ะมั้ง  จนอดรู้สึกหดหู่ใจแทนพี่น้องเสื้อแดงจำนวนหนึ่งที่เป็นกาลิเลโอเดินทางไปไกลแล้ว ที่ว่าคนอยู่แดนไกลและบรรดาพลพรรคเลือกที่จะแลกเลือดเนื้อของเสื้อแดง เกี๊ยเซี๊ยะกับอำนาจนอกระบบเพื่อที่จะให้เรื่องแล้วๆกันไป และตัวเองจะได้กลับบ้าน  ถ้าเหตุการณ์จะจบลงแบบนั้น  ในฐานะกองเชียร์ดีเด่นเสื้อแดง จึงอยากแสดงความห่วงใยและฝากการแลกเปลี่ยนต่อไปดังนี้

ปรากฎการณ์"สุดซอย"สำหรับผู้เขียนสะท้อนให้เห็นว่า

1.โครงสร้างการเมืองไทยมันไม่เปลี่ยนแปลงไปเท่าไหร่นัก รัฐบาลที่ว่าเราคิดว่าเป็นรัฐบาลของประชาชนจำนวนกว่า 15 ล้านเสียงที่เลือกเข้าไปพูดให้ถึงที่สุด ก็ขี้ขลาดเกินกว่าจะเป็นผู้นำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอำนาจในแง่ของการขยายพื้นที่สิทธิ เสรีภาพทางความคิด การแสดงออกทางการเมือง การเห็นต่าง รวมทั้งไม่สามารถปกป้องผู้คนที่ออกมาต่อสู้เพื่อให้พวกตนได้เป็นรัฐบาลได้

2.เมื่อโครงสร้างการเมือง และอำนาจทางการเมืองไม่เปลี่ยน ปรากฏการณ์สุดซอยจึงเกิดขึ้นและเป็นผลลัพธ์ของการตกลงกันทางอำนาจของชนชั้นนำ  สู้กันแล้วเมื่อไม่มีฝ่ายใดชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เรื่องที่จะเอาผิดกันก็ให้จบๆเรื่องกันไป ผู้เขียนคิดว่า เราอาจจะได้เห็นใครบางคนกลับบ้านและกลับมาอย่างเป็นผู้เรียบร้อยนั่งพับเพียบหมอบกราบกันเลยทีเดียวเชียว 

3.ผู้เขียนคิดว่า คงมีหลายคนที่รู้สึกว่าการต่อสู้ที่ผ่านมาของเรามันสูญเปล่า ขมขื่น ผิดหวัง ผู้เขียนอยากให้กำลังใจว่ามันไม่ได้สูญเปล่าเลย การต่อสู้ที่ผ่านมามีคุณูปการมากในสังคมไทย เรามีกาลิเลโอมากขึ้น  และเกิดการตระหนักว่าศักดิ์ศรีของคนจน คนชนบท คนหาเช้ากินค่ำมันมีค่าและทัดเทียมกับพวกผู้ลากมากดี คนชั้นกลางที่รังเกียจนักการเมือง และมีคุณปการอื่นๆอีกมากมายที่เรารู้และนึกถึงได้เองในใจ  เช่นเดียวกันกับเรา"รู้"และจดจำได้ว่าใครคือ"ฆาตกร"

ท้ายสุด ผู้เขียนไม่ได้โน้มเอียงไปในทางที่เอาปรากฏการณ์นี้มาก่นด่านักการเมือง แต่อยากให้ตระหนักและระมัดระวังในการต้องสัมพันธ์กับบุคคลากรเหล่านั้น คำว่า ไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร เป็นคำพูดที่จริงเสมอในแวดวงคนที่ทำงานและคุ้นเคยกับ"นักการเมือง"  ผู้เขียนยังคงยืนยันว่า ถึงแม้นักการเมืองแบบไทยๆจะเป็นสปีชี่ส์พิเศษที่พลิกไปพลิกมาได้ตามความผันแปรของอำนาจ และการอยู่รอด แต่เราก็ยังต้องยืนยันในการมีอยู่ของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ที่เราสามารถก่นด่า วิจารณ์  รวมทั้งเลือกได้ ถอดถอนได้  และเมื่อตระหนักถึง"ความแสบ"ของพวกเขาเหล่านั้นในปรากฏการณ์สุดซอยครั้งนี้ พึงระลึกด้วยว่า อำนาจนอกระบบ "แสบกว่า"หลายต่อหลายเท่านัก

ไม่ว่า"สุดซอย"จะนำมาซึ่งการ"สุดทาง"ของทักษิณ เพื่อไทย และเสื้อแดง หรือไม่ก็ตาม ผู้เขียนขอเสนออย่างอ่อนน้อมต่อพี่น้องเสื้อแดงว่า ใช้เวลานี้มาทบทวนและจัดวางความสัมพันธ์ และกำหนดการเคลื่อนไหวไปข้างหน้าในเชิงให้บทเรียนต่อกันและกันบ้างจะดีไหม    และท้ายที่สุดอีกครั้ง ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อญาติของผู้เสียชีวิต ผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ  ผลของการต่อสู้ได้ถูกจารึกไว้ในการรับรู้ของผู้คนแล้ว  การถูกเอามาฉวยใช้เกิดจากความสามานย์ของคนที่ใจหยาบช้าเท่านั้น

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คดีสลายเสื้อแดงปี 53 อัยการเลื่อนนัดส่งฟ้อง ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ ส่วน ป.ป.ช. มีมติไต่สวนคดีฯ ต่อ

Posted: 31 Oct 2013 12:32 AM PDT

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ เข้ารับทราบข้อกล่าวหา คดีสลายการชุมนุมเสื้อแดง เม.ย.-พ.ค.2553 โดยอัยการเลื่อนนัดส่งฟ้อง ไปเป็นวันที่ 12 ธ.ค.56 ด้าน ป.ป.ช.มีมติไต่สวนคดีสลายชุมนุมปี 53 ต่อ เหตุ รธน. บัญญัติไว้ เป็นอำนาจของ ป.ป.ช.

31 ต.ค.2556 ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า วันนี้ที่สำนักงานอัยการคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด เวลา 08.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ  ส.ส.สุราษฎร์ธานี อดีตรองนายกฯ และอดีต ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เดินทางเข้าพบ นายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และนายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อรับทราบคำสั่งฟ้องของนายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุด

จากที่มีคำสั่งฟ้อง นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 84, 90 และ 288 จากกรณีสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.เมื่อปี 2553

หลังรับทราบคำสั่งฟ้องเสร็จ ทนายความของผู้ต้องหาทั้ง 2 ได้ขอเลื่อนการสั่งฟ้องออกไป เนื่องจากอยู่ในสมัยประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อัยการจึงเลื่อนส่งฟ้องและนัดส่งฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพต่อศาลอาญา ไปเป็นวันที่ 12 ธ.ค.56 เวลา 10.00 น.ต่อไป
 
 
ป.ป.ช. มีมติไต่สวนคดีสลายชุมนุม ปี 53 ต่อ
 
วันเดียวกัน (31 ต.ค.2556) ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายวิชา มหาคุณ โฆษก ป.ป.ช. แถลงว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ออกหนังสือ แถลงมติให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีการร้องให้ถอดถอนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีพฤติการณ์ส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่ง หน้าที่ราชการในการสั่งใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.เมื่อปี 2553 ตาม รธน.มาตรา 271
 
ทั้งนี้ รธน.มาตรา 250(1) และ 272 ประกอบพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา19(1) และมาตรา 63 บัญญัติให้ ป.ป.ช. เท่านั้นมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงและจัดทำรายงานเสนอต่อวุฒิสภา คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงไม่อาจยุติการไต่สวนได้
 
ถึงแม้อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในข้อหาร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล จากกรณีที่ ศอฉ.มีคำสั่งใช้กำลังเจ้าหน้าที่ในการขอคืนพื้นที่ จากการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ระหว่างเดือน เม.ย.-พ.ค.2553
 
ส่วนกรณีคำร้องให้ดำเนินคดีอาญากับผู้กล่าวหาทั้งสอง ว่าผิดต่อประมวลกฎหมายอาญา ให้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตนั้น รธน.มาตรา 250(2) ประกอบพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 19(2)(4) และมาตรา 66 บัญญัติเป็นอำนาจหน้าที่กรรมการป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนไม่ว่า ไม่ว่าเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือความผิดที่เกี่ยวข้องกัน  ซึ่งรธน.ก็ไม่ได้กำหนดข้อห้ามมิให้กรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาเรื่องกล่าวหาดังกล่าว ที่เป็นประเด็นเดียวกัน กับที่ศาลประทับรับฟ้อง หรือ มีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเด็ดขาดแล้ว ดังเช่น การตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐ 
 
ซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยิ่งกว่านั้น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ยืนยัน ถึงอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในมาตรา 24 ว่าในเรื่องฟ้องคดีอาญา สำหรับการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ผู้ต้องหาทั้ง 2 จึงอยู่ในอำนาจ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่จะดำเนินการไต่สวนและอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพียงศาลเดียวเท่านั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวต่อไป
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai