โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สมานฉันท์แรงงานออก จม.ชวนสมาชิกยึด ก.แรงงาน 1 ธ.ค.นี้

Posted: 30 Nov 2013 12:53 PM PST

เลขาธิการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ออกจดหมายยกเลิกการประชุมประจำเดือน ธ.ค. ชวนสมาชิกร่วมเข้ายึดกระทรวงแรงงาน วันที่ 1 ธ.ค.นี้

1 ธ.ค.2556 เฟซบุ๊ก คณะกรรมการสมานฉันท์ แรงงานไทย ได้โพสต์จดหมายถึงองค์กรสมาชิก เครือข่าย เรื่อง  ยกเลิกการประชุมประจำเดือนธันวาคม และเชิญสมาชิกร่วมเข้ายึดกระทรวงแรงงาน วันที่ 1 ธ.ค.นี้ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ที่ คสรท.266 / 2556

30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

 

เรื่อง ยกเลิกการประชุมประจำเดือนธันวาคม และร่วมเคลื่อนไหว

เรียน องค์กรสมาชิก เครือข่าย ทุกท่าน

 

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ขอยกเลิกการประะชุมประจําเดือนธันวาคม ในวันที่ 1 ธันวาคม 2556 เนื่องจาก เหตุการณ์สถานการณ์การเมืองเปลี่ยนไป โดยกลุ่มผู้ชุมนุม ยกระดับการต่อสู้ เคลื่อนไหวตามจุดต่างๆ กระทรวงแรงงานคือเป้าหนึ่งที่ต้องเคลื่อนไหวไปที่กระทรวงแรงงาน โดยเหตุทั้งหมดนี้ทําให้คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ขอยกเลิกการประชุมดังกล่าว

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จึงขอเชิญพี่น้องสมาชิก และเครือข่ายแรงงาน ทุกท่าน รวมพลรวมพลังเดินทางเข้ายึดกระทรวงแรงงานขอให้พี่น้องแรงงานทุกท่านเดินทางมาเจอกันที่จุดนัดหมาย ในวันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม 2556 เวลา 09.00 น ที่เต้นท์ชุมนุม ที่ถนนราชดําเนิน กทม

 

จึงแจ้งมาเพื่อทราบและโปรดเข้าร่วมเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

 

ขอแสดงความนับถือ

 

(นายยงยุทธ เม่นตะเภา)

เลขาธิการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยุบสภา- ทางออกที่ชอบ เพื่อให้รัฐบาลมีแรงทำ

Posted: 30 Nov 2013 12:24 PM PST

อุณหภูมิการเมืองขณะนี้ ถึงจุดที่ทั้งฝ่ายหนุนและฝ่ายต้านรัฐบาลคิดว่าได้เวลาเดินให้สุดซอยเสียที จนละเลยวิถีทางระบอบประชาธิปไตย ซึ่งถูกออกแบบไว้อย่างน่าทึ่ง ว่าหากขัดแย้ง หรือขาดฉันทามติร่วมในเรื่องสำคัญ ทางออกหนึ่งคือ "ยุบสภา"

ผมคงไม่มีอะไรจะสื่อสารไปยังฝ่ายอนุรักษ์นิยม ซึ่งจ้องล้มรัฐบาลอยู่ทุกขณะ ทุกวิธีการ

ผมเพียงอยากสื่อสารไปยังฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลด้วยกัน ว่าทำไมควรหาทางยุบสภา

1 อย่างที่หลายคน เช่นอาจารย์สมศักดิ์ ได้ย้ำเตือนว่าเวลาสูญเสีย คนที่สูญเสียคือคนธรรมดา มิหนำซ้ำพอได้ชัยชนะชั่วคราว ผู้นำแต่ละฝ่ายมีความสุขกับอำนาจและไม่ยอมเสี่ยงอะไรอีกแล้วเพื่อทำสิ่งที่ดีกว่า (ก่อนมีอำนาจเสี่ยงได้ทุกอย่างแม้ชีวิตผู้คน) การยุบสภาคือการหลีกเลี่ยงการเสียชีวิต อิสรภาพของประชาชน อย่างค่อนข้างมีโอกาสสูงว่าจะสูญเปล่า

2 ผมไม่เชื่อว่าประเทศไทยจะหลีกเลี่ยงการเสียชีวิต อิสรภาพได้ตลอดไป ผมเชื่อลึกๆว่าวันหนึ่งอาจนองเลือดได้อีก เพียงแต่ผมอยากหวังว่าหากต้องนองเลือดอีกรอบ ต้องเป็นรอบที่ฝ่ายประชาธิปไตยมีโอกาสเดินให้สุดซอย ท่ามกลางความชอบธรรมทางการเมืองและหลักการกฎหมาย

หลังไทยรักไทย (จงใจใช้ชื่อเดิม เพื่อบอกว่าผมไม่อาจยอมรับคำตัดสิน) ชนะเลือกตั้งหลังสุด ความชอบธรรมสูงพอที่จะทำอะไรให้ดีขึ้น แต่เขาเลือกและหวังจะรอมชอม เขาไม่ต้องการเสี่ยงอะไรอีกต่อไป แม้แต่การเสี่ยงน้อยเช่นการเอานักโทษการเมืองออกจากคุก

หากยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ฝ่ายประชาธิปไตยต้องกดดันไทยรักไทยให้น้ำหนักเรื่องโครงสร้างการเมืองควบคู่กับเรื่องเศรษฐกิจอย่างชัดเจน หากไทยรักไทยชนะเลือกตั้งเขาจะได้ไม่มีข้ออ้างต่างๆนานาเหมือนครั้งก่อน

ถึงตอนนั้นหากต้องแตกหักทางการเมือง อย่างน้อยฝ่ายประชาชนมีความหวังว่าจะไม่สูญเปล่า เพราะประเด็นของการต่อสู้เพื่อให้ได้มาคือหลักการที่ถูกนำเสนออย่างชัดเจน

หลักการที่ว่า "สู้เพื่อได้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง" ควรเป็นเป้าหมายขั้นต่ำสุดของฝ่ายประชาธิปไตย บทเรียนที่ผ่านมาหลายช่วงให้ข้อคิดว่าเป้าหมายรัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่เพียงพอ ประเทศไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนโครงสร้างการปกครอง รัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

3 สำหรับผมการยุบสภา ไม่ถือเป็นความพ่ายแพ้ นอกจากเชื่อกันว่าเป้าหมายสุดท้ายทางการเมืองคือมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

ผมอยากชวนให้คิดว่า "ยุบสภา" คือวิถีทางปกติคู่กับ "เลือกตั้ง"  บ่อยครั้งรัฐบาลต่างประเทศไม่ได้ทำอะไรผิด เขาเลือกยุบสภาเพื่อถามประชาชน ว่าที่รัฐบาลจะทำนั้นเอาแน่ไหม หากเอาแน่ยืนยันอีกที แล้วจะทำตามนั้น

4 ยุบสภา แล้วไม่มีการเลือกตั้ง? ผมคิดว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมคิดเช่นนั้น แต่เขากล้าทำหรือ? ประวัติศาสตร์ชี้ว่าปิดกั้นไม่ได้นาน แต่ยิ่งต้องปล่อยให้เลือกตั้งเร็วขึ้น สมัยถนอมเกิดตุลา 16 สมัยสุจินดาเกิดพฤษภา 35 สมัยคมช.เกิดพฤษภา 53

หากฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีความเกลียด ความกลัวปิดกั้นสูง จนกระทั่งชั่งน้ำหนักผลเสียที่จะเกิดขึ้นผิดไป นั่นคือการเร่งระดับความชอบธรรมให้ฝ่ายประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ เพียงแต่หากเกิดอีกรอบ อย่าให้สูญเปล่า ต้องหวังให้มากกว่าการได้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ฝ่ายประชาธิปไตยต้องเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างการเมือง รัฐธรรมนูญ อย่างเป็นรูปธรรม


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์: เหนือกว่า(อำนาจ)ตุลาการ

Posted: 30 Nov 2013 12:10 PM PST

ปัญหาผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไทยซึ่งได้ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคมไทยในขณะนี้ จนกระทั่งเหตุการณ์ลุกลามบานปลาย  เนื่องจากประเทศไทยมีความขัดแย้งทางการเมืองอยู่ก่อนแล้ว คู่ขัดแย้งได้ฉวยเอาคำวินิจฉัยดังกล่าวไปใช้ประโยชน์สำหรับฝ่ายตน พร้อมกับคำวินิจ ฉัยนั้นเองได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณชนและนักวิชาการอย่างมาก

การถูกวิพากษ์วิจารณ์ของศาลรัฐธรรมนูญของไทยกรณีคำวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ สมาชิกวุฒิสภา(สว.)มาจากการเลือกตั้งเป็นอันตกไป แบ่งออกเป็น 3 ประเด็นใหญ่ ได้แก่ ประเด็นหนึ่ง คือ การวิจารณ์เหตุผลของคำวินิจฉัยของศาล ประเด็นที่สองคือ การวิจารณ์ที่โยงจากส่วนแรก, ที่มาของตุลาการศาล รัฐธรรมนูญ และประเด็นที่สาม คือ ขอบเขตการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ

ในส่วนของประเด็นแรกนั้นข้อวิจารณ์มุ่งไปที่ความสมเหตุสมผลของคำวินิจฉัย ซึ่งคำวินัยของศาลรัฐธรรมนูญจะต้องยึดโยงกับข้อกฎหมายในรัฐธรรมนูญ โดยระเบียบวิธีการตัดสินของศาลยุติธรรมโดย ปกติทั่วไป ประเด็นที่สองซึ่งเป็นการวิจารณ์ที่ว่าด้วยที่มาของศาลรัฐธรรมนูญและที่มาของ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนเหมือนในอารยะประเทศ  ส่วนประเด็นที่สาม ขอบเขตการใช้อำนาจในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งวิจารณ์กันว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ขยายอาณา เขตการตัดสินเกินไปจากอำนาจของตัวเอง ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการวินิจฉัยกรณีบทบัญญัติ กฎหมายที่ออกมาใหม่ขัดแย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่เท่านั้น คำวินิจฉัยครั้งนี้จึงเป็นการขยาย อำนาจในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกไปจากอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่

ผลของการวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวทำให้เสียงส่วนใหญ่ของสถาบันนิติบัญญัติหรือสภาผู้แทนราษฎรปฏิเสธไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จนกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองใน ประเทศไทยอยู่ในเวลานี้

ผมอยากให้พิจารณาเปรียบเทียบถึงบทบาทหน้าที่และการถ่วงดุลอำนาจ ของอำนาจตุลาการกับอีก 2 อำนาจ คือ อำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหารของสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นประเทศแม่แบบประชาธิปไตยประเทศหนึ่งในโลก บนหลักการพื้นฐานของประเทศที่ปกครองโดย ระบอบประชาธิปไตย ที่มีหลักปรัชญาซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน" หรือประชาชนเป็นใหญ่ ทั้งยังเป็นที่ทราบกันดีว่า ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยไม่ใช่การปกครอง ที่สมบูรณ์แบบแต่เป็นการปกครองที่ดีที่สุดเท่าที่ "วิสัยของมนุษย์"จะนำมาใช้เพื่อการอยู่ร่วมกัน อย่างสันติได้

วิสัยมนุษย์นั้น หมายถึง ธรรมชาติของมนุษย์ปุถุชนผู้ยังมีกิเลส หากเป็นในทางพุทธศาสนาก็ หมายถึงมนุษย์ที่ยังมีโลภ โกรธ หลงอยู่ หลักการเชิงปัญหา คือ ทำอย่างไรมนุษย์ถึงจะอยู่ร่วมกันอย่างมี สันติ ไม่ทำร้ายเบียดเบียนซึ่งกันและกัน กติการ่วมทางสังคมในการอยู่ร่วมกันจึงถูกกำหนดขึ้น มนุษย์ส่วนมากมองว่า การทำตามเสียงส่วนมากน่าจะพอทำให้สังคมอยู่กันอย่างสันติได้ แม้ว่าจะไม่สามารถทำให้เกิดสันติกับทุกส่วนหรือทุกคนในสังคมก็ตาม จนเป็นที่มาของสัญญาประชาคม และกติกาประชาธิปไตย

เหมือน จอห์น ล็อค กล่าวไว้ใน Two Treatises of Government (1689) ว่า อำนาจแท้จริงของผู้ปกครองนั้นมาจากประชาชน  ประชาชนควรจะเป็นผู้ที่ใช้สิทธิของตนเลือกผู้ปกครองขึ้นมา ซึ่งวิธีที่เหมาะสมมากที่สุดได้แก่ การใช้เสียงข้างมากในการตัดสิน เพื่อการอยู่ร่วมกันของชุมชนรัฐอย่างสันติ  ดังนั้นหากรัฐถูกปกครองด้วยเสียงส่วนน้อยก็จะกลายเป็นการปกครองที่ยืนอยู่ตรงกันข้ามกับการปกครองแบบประชาธิปไตย หรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่ง คือ เผด็จการ

มนุษย์ได้ลองผิดลองถูกในเรื่องการปกครองมามาก  ผลจากการลองผิดลองถูกทำให้ผู้คน สังเวยชีวิตจำนวนมากเช่นกัน

ที่จริงมนุษย์รับรู้เรื่องสัญญาประชาคมมาก่อนที่จะเกิดกติกาประชาธิปไตยเสียด้วยซ้ำ เพียงแต่ไม่ชัดเจนเหมือนการลงประชามติอย่างในยุคประชาธิปไตยที่สืบทอดกันมาถึงปัจจุบัน โดยที่ก่อนหน้านั้นแม้แต่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เอง หากผู้นำปกครองรัฐอย่างไม่เป็นธรรม ก็อาจสร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นกับมหาชน จนนำไปสู่การโค่นล้มผู้นำคนนั้นๆโดยประชาชนได้ ซึ่งในประวัติศาสตร์มีให้เห็นมากมาย

รัฐธรรมนูญสหรัฐฯตระหนักถึงปัญหาความขัดแย้งของคนในสังคมรัฐ โดยมีบทเรียนจาก ประวัติศาสตร์ของยุโรป จึงได้จัดระบบดุล 3 อำนาจอย่างเหมาะสม (เท่าที่ทำได้) ในที่นี้จะขอยก ในส่วนของการดุลอำนาจของอำนาจตุลาการมาอธิบาย เปรียบเทียบกับปัญหาการดุลอำนาจของฝ่ายตุลาการ ในเมืองไทย ที่ถูกวิจารณ์ว่ากำลังกลายเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จ (absolute power) หรืออำนาจสูงสุดชนิดใหม่ โดยเฉพาะก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญ

ว่าไปแล้วสร้างความสับสนอยู่ไม่น้อยเมื่อเทียบกับอำนาจตุลาการใน ระบบสากล เพราะศาลรัฐธรรมนูญของไทยถูกเรียกว่า "องค์กรอิสระ" ก็เลยไม่ทราบว่าจะเอาไปไว้ในฝ่ายอำนาจไหนในสามอำนาจ  ซึ่งสำหรับกลไกตามระบอบการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย อำนาจที่สาม คือ อำนาจตุลาการย่อมต้องมีการยึดโยงกับอำนาจของประชาชนหรือตัวแทนของประชาชนไม่มากก็น้อย ฉะนั้นการชื่อว่า "ศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ"  โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญถูกอ้างในฐานะส่วนหนึ่งของอำนาจตุลาการจึงเป็นเรื่องแปลกอย่างหนึ่ง

ในระบบการเมืองสหรัฐฯ ไม่มีการใช้คำว่า องค์กรอิสระที่ชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด หากมีเพียงระบบการดุล 3 อำนาจ คือ นิติบัญญัติ บริหารและตุลาการเท่านั้น เพราะภายใต้กติกาประชาธิปไตย ไม่ควรมีองค์กรใดมีอิสระอย่างถึงที่สุด แต่ทุกองค์กรมีที่มาที่ไปเพื่อคานอำนาจของกันและกัน เพื่อไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้อำนาจเกินขอบเขตหรือใช้อำนาจตามอำเภอใจได้

ระบบตุลาการตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ เป็นอย่างนี้ครับ

หนึ่ง ใช้ระบบการยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง ผู้พิพากษาของศาลสูงถูกแต่งตั้งโดยสภาสูงหรือ วุฒิสภา(ซีเนต) โดยการเสนอชื่อของประธานาธิบดี ในทางปฏิบัติประธานาธิบดีมักจะเลือกบุคคลสังกัดพรรคเดียวกัน มีทัศนะทางการเมืองที่สอดคล้องกัน เนื่องจากการดำรงตำแหน่งผู้ตุลาการหรือผู้พิพากษามีความเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของประธานาธิบดีในด้านกฎหมาย

ขณะเดียวกันอาจเรียกได้ว่าระบบศาลของอเมริกันทุกระดับเกี่ยว ข้องกับการเมืองไม่โดยตรงก็โดยอ้อม ศาลท้องถิ่นในหลายมลรัฐ ผู้พิพากษามาจากการเลือกตั้งโดย ตรงของประชาชน วิธีการนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเชื่อว่าการเลือกตั้งผู้พิพากษาทำให้ประชาชนได้ ใช้สิทธิอย่างเต็มที่ตามแนวทางประชาธิปไตย ด้วยเหตุที่ผู้พิพากษาที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน ย่อมมีจิตสำนึกเหนือกว่าผู้พิพากษาในฐานะเป็นพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งสำหรับวัฒนธรรมอเมริกันแล้ว การไม่ยอมรับผู้พิพากษาในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ประจำของรัฐมีสูงมาก ทำให้เกิดระบบการ พิจารณาคดีที่เรียกว่า "คณะลูกขุน" (Jury)ขึ้น  โดยตำแหน่งเจ้าหน้าที่ผู้พิพากษาเป็นเพียงเครื่องมือในการจัดระบบด้านเทคนิคกระบวนการพิจารณาและเทคนิคทางด้านกฎหมายเท่านั้น

สอง ขอบเขตอำนาจการวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ   ศาลสูงอเมริกันมีหน้าที่ในการพิจารณากฎหมายที่ บัญญัติโดยฝ่ายนิติบัญญัติ(คองเกรส) และฝ่ายบริหาร(รัฐบาล)ว่าขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญหรือไม่เท่านั้น  ไม่ตีความเกินเลยอำนาจของตัวเอง โดยเฉพาะในอำนาจของอีกสองฝ่าย  ดังนั้น ข้อเท็จจริงการตีความของศาลสูงอเมริกัน คือ ศาลสูงมีงานเกี่ยวกับการตีความกฎหมายน้อยมาก ส่วนหนึ่งเพราะมีเรื่องร้องเรียนน้อย อีกส่วนหนึ่ง เพราะขอบเขตของอำนาจศาลในการตีความโดนจำกัด จากส่วนฝ่ายนิติบัญญัติ  ซึ่งเป็นฝ่ายที่สามารถออกฎหมายเพิ่มหรือจำกัดอำนาจการตีความกฎหมาย(บทบาทหน้าที่)ของศาลสูงได้ ยกเว้นแต่ในเรื่องระเบียบข้อบังคับของศาลสูง

กฎหมายรัฐธรรมนูญอเมริกันกำหนดให้ สภานิติบัญญัติมีอำนาจกล่าวโทษผู้พิพากษาได้ หากพบว่าผู้พิพากษาประพฤติตนในทางไม่ชอบในการปฏิบัติหน้าที่ คองเกรสมีอำนาจในการฟ้องร้องเพื่อปลดผู้พิพากษา สมาชิกสภาสูงจะเป็นผู้พิจารณาคดีที่ผู้พิพากษากระทำความผิดทางอาญา ผู้พิพากษาเองจึงต้องระวังความประพฤติในการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากไม่มีสิทธิพิเศษปลอดจากการถูกฟ้องร้อง ถ้าประพฤติตนไม่ชอบ

สาม ผลของคำวินิจฉัยของศาลสูงหรือตุลาการสูงสุด คำสั่งศาลสูงแม้เป็นเรื่องที่ผูกพันกับอำนาจอีกสองฝ่าย แต่คำสั่งและคำพิพากษาของศาลสูงจะใช้ได้บังคับได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยความร่วมมือของฝ่ายอื่น เช่น ฝ่ายบริหาร เป็นต้น ดังนั้น หากฝ่ายอื่นไม่ยอมทำตาม คำสั่งศาลสูงก็ด้อยประสิทธิภาพลง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ค่อยเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น เพราะคำวินิจฉัยของศาลสูง เป็นไปในแง่การตีความในประเด็นที่ขัดกับกฏหมายรัฐธรรมนูญเท่านั้น เช่น การออกกฎหมายใหม่ของมลรัฐต่างๆ ที่ส่วนใหญ่หากมีการฟ้องต่อศาลสูง ก็เป็นเพียงการวินิจฉัยว่าขัดหรือไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้น

 น่าสังเกตด้วยว่า การตัดสินของศาลสูงอเมริกันไม่ก้าวล่วงไปถึงกระบวนการภายในของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร เช่น การลงไปล้วงลึกถึงที่มาของการออกฎหมาย แต่จะพิจารณากฎหมายที่ออกมาแล้วเท่านั้น ว่าขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่เท่านั้น หรือหากเป็นกฎหมายทั่วไปก็จะพิจารณาว่ากฎหมายที่ออกมาโดยรัฐบาลท้องถิ่น (Local law) ขัดกับกฎหมายกลาง(Federal law)หรือไม่ อย่างไร

ที่สำคัญ คือ รัฐธรรมนูญอเมริกันได้วาง ระบบที่เรียกว่า "การแก้ไข" หรือ Amendment ที่หมายถึง การตีความของศาลสูงอเมริกันนั้นอาจถูกลบล้าง(Overrule) ได้ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ, คำวินิจฉัยของศาลจึงไม่ใช่เป็นคำตัดสินสุดท้ายที่จะแก้ไขอะไรไม่ได้อีกต่อไป นอกเหนือไปจากระบบการถ่วงดุลศาลจากประชาชนในเชิงของการยอมรับของสาธารณะหรือ Public Acceptance

Public Acceptance ที่หมายถึง คำตัดสินของศาลจะต้องได้รับการยอมรับและต้องไม่ขัดแย้งกับสาธารณะจนเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งกันในระหว่างหมู่ชนหรือประชาชนโดยทั่วไปอีกด้วย

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การ์ดเสื้อแดงถูกยิงศรีษะบริเวณรามคำแหง 24 แยก 14

Posted: 30 Nov 2013 11:57 AM PST


1 ธค. 2556 - เมื่อเวลา 01.55 น. บริเวณซอยรามคำแหง 24 แยก 14 นิค นอสติทซ์ ช่างภาพอิสระ ชาวเยอรมันได้รายงานว่า ขณะที่กลุ่มการ์ดเสื้อแดงเข้าสำรวจพื้นที่ภายหลังจากที่การปะทะกันระหว่างคนเสื้อแดงกับผู้ชุมนุมฝ่ายต่อต้าน นปช. ยุติลง ได้มีเสียงปืนดังขึ้น 6 นัดและกลุ่มการ์ดเสื้อแดงได้แบกร่างของการ์ดเสื้อแดงที่ไม่ได้สติออกมาจากในซอย และนำส่งขึ้นรถของมูลนิธิร่วมกตัญญู  โดยชายเสื้อแดงไม่ทราบชื่อดังกล่าวมีบาดแผลจากการถูกกระสุนปืนยิงทะลุหมวกกันน็อคเป็นบาดแผลบริเวณศรีษะ 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศอ.รส.ขอกำลังทหารทุกเหล่าทัพหนุน ปฏิบัติการตี 3 ขอปชช.อย่าตกใจ

Posted: 30 Nov 2013 11:38 AM PST

"ประยุทธ์" กำชับไม่ให้ใช้ความรุนแรง ศอ.รส.ขอกำลังทหารทุกเหล่าทัพหนุน เริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ตี 3 ขอประชาชนอย่าตกใจ  พร้อมออกประกาศห้ามเข้าพื้นที่ รอบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทางเดินเชื่อม BTS สยาม-ชิดลม

30 พ.ย.56 มติชนออนไลน์ รายงานว่า พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก  เปิดเผยเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน จากการประเมินสถานะการณ์ ของ ศอ. รส.ล่าสุด   ได้มีการร้องขอกำลังทหารจากกระทรวงกลาโหม  จึงได้สั่งการให้ บก.กองทัพไทยจัดกำลังทหารจากทุกเหล่าทัพ สนับสนุน ศอ. รส.ตั้งแต่1ธค.นี้   สำหรับภารกิจของทหารที่ไปสนับสนุน.  เป็นไปตามกฏขั้นตอนการใช้กำลังของกระทรวงกลาโหม และบก.กองทัพไทย  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา   ผบ.ทบ.จึงได้สั่งการกำชับให้กำลังพลทุกนายที่ออกปฏิบัติหน้าที่ให้ใช้ความระมัดระวัง ไม่ใช้ความรุนแรงใดๆ ลดการเผชิญหน้า คำนึงถึงเกียรติยศศักดิ์ศรี. และความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก ยืนยันภารกิจในการช่วยรักษาความปลอดภัย   สถานที่ราชการเท่านั้น ไม่ได้ร่วมในภารกิจควบคุมหรือสลายฝูงชนกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเด็ดขาด ขอให้ประชาชนทุกฝ่ายระมัดระวังในการเคลื่อนไหว หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงต่อกัน อย่าได้สร้างความเสียหายต่อสถานที่ราชการ ซึ่งเป็นสมบัติของคนไทยด้วยกันทุกคน

ทั้งนี้ ศอ.รส.ได้ขอรับการสนับสนุนกำลังพลจาก ศปก.ทบ. เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย โดยให้เริ่มเคลื่อนย้ายเวลา 22.00 น.ของคืนนี้ (30 พ.ย.) และพร้อมปฏิบัติหน้าที่ 03.00 น. (1 ธ.ค.) ดังนี้

ร้อย รส. (กองร้อยรักษาความสงบ) จำนวน 4 กองร้อย จัดจากกองทัพภาคที่ 1 (ทภ.1) จำนวน 1 กองร้อย จาก ป.21 รอ. (กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 21 รักษาพระองค์) รปภ.สนามบินสุวรรณภูมิ, พล.ม.2 รอ. (กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์) จำนวน 1 กองร้อย จาก ส.พัน 12 รอ. (กองพันทหารสื่อสารที่ 12 รักษาพระองค์) รปภ. ช่อง 5 และ พล.ป. (กองพลทหารปืนใหญ่) จำนวน 2 กองร้อย รปภ. ช่อง 7 และ ช่อง 9 รวมทั้งให้จัด สห. (สารวัตรทหาร) 90 นาย ปฏิบัติหน้าที่สายตรวจร่วมกับตำรวจ

ขณะที่นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เวลา 03.00 น.  วันที่  1  ธันวาคม กำลังทหารจะถูกส่งมาเสริมตำรวจดูแลป้องกันทำเนียบรัฐบาล โดยไม่มีการพกอาวุธ ทั้งนี้ขอให้ประชาชนอย่าตกใจ เพราะทหารแค่ไปเสริมตำรวจดูแลป้องกันสถานที่เท่านั้น ไม่ข้องเกี่ยวกับผู้ชุมนุม

ขณะที่วันเดียวกัน เวลา 19.20น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.อนุชา รมยะนันทน์ รองโฆษก ศอ.รส. แถลงว่า ศอ.รส.ออกประกาศศอ.รส. ให้พื้นที่บริเวณโดยรอบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โรงพยาบาลตำรวจ สถาบันนิติเวช วิทยาลับพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลจุฬา  เป็นพื้นที่ห้ามเข้า โดยบริเวณหน้าสำนักงานตำรวชแห่งชาติ นั้นครอบคลุมบริเวณทางเดินเชื่อมต่อรถไฟฟ้า หรือสกายวอล์คด้วย โดยประชาชนทั่วไปสามารถเดินทางเข้าออกตามปกติ เว้นแต่ บุคคลที่มีลักษณะที่จะสร้างความวุ่นวายและขยายเวลาการ ประกาศปิดถนนรอบทำเนียบรัฐบาล และรอบรัฐสภาทั้ง 14 สายด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นศ.มอ.ปัตตานี แถลงค้านการประกาศท่าทีทางการเมืองของกลุ่มผู้บริหารมหาลัย

Posted: 30 Nov 2013 09:33 AM PST

แถลงการณ์  กลุ่มนักศึกษา มอ.ปัตตานี เสรีประชาธิปไตย
กรณีข้อโต้แย้งต่อแถลงการณ์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ฉบับที่ 2


สืบเนื่องวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556 ที่ประชุมคณบดีได้มีการประชุมในวาระพิเศษ เกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน และได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 2 เพื่อแสดงถึงจุดยืนของมหาวิทยาลัย โดยมีข้อเรียกร้องคือ

1. เรียกร้องให้รัฐบาลและรัฐสภา ยอมรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ

2. คัดค้านการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการใช้กำลังปราบปรามประชาชนที่มาชุมนุม ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด

3. ต่อต้านการทุจริต คอรัปชั่น

4. ต่อต้านการจาบจ้วงดูแคลนสถาบันเบื้องสูง

5. เรียกร้องให้ผู้นำประเทศมีคุณธรรม จริยธรรมในการบริหารประเทศ

6. ให้รัฐบาลและผู้บังคับใช้กฎหมายเคารพสิทธิส่วนบุคคล ของประชาชนที่จะเข้าร่วมการแสดงออกทางการเมือง และบังคับให้กฎหมายอย่างเสมอภาค

7. ให้นายกรัฐมลตรี สภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และสมาชิกสภาเสียงข้างมาก มีส่วนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ขัดต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรม แสดงความรับผิดชอบทางการเมืองอย่างอารยชน

8. สนับสนุนให้มีการปฏิรูปการเมือง ที่การใช้อำนาจรัฐต้องเป็นไปด้วยคุณธรรมตามระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง

ถ้อยแถลงดังกล่าวของมหาวิทยาลัยในข้างต้น ได้สร้างความคับข้องใจให้กับ อาจารย์ นักศึกษาและบุคลากรจำนวนไม่น้อย ในการแสดงท่าทีของมหาวิทยาลัยที่มีต่อวิกฤตการเมืองในปัจจุบัน  โดยข้อเสนอดังกล่าว หาได้ยึดโยงกับความเป็นจริงทางสังคมไม่ หากเป็นแค่นามธรรมยากต่อการปฏิบัติได้จริง อีกทั้งข้อเสนอดังกล่าวก็หาได้เป็นข้อคิดเห็นที่ได้รับความเห็นชอบจากมวลสมาชิกทั้งหมดของมหาวิทยาลัย หากแต่เป็นเพียงข้อเสนอเพื่อสนองต่อทัศนคติหรือรสนิยมทางการเมืองของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ทางกลุ่มนักศึกษา มอ.ปัตตานี เสรีประชาธิปไตย จึงได้ตั้งข้อสังเกตกับถ้อยแถลงการณ์ดังกล่าว ดังนี้

1. การเรียกร้องให้รัฐบาลและรัฐสภา ยอมรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ข้อเสนอดังกล่าวถือว่าใช้ไม่ได้ ด้วยเหตุที่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบควบคุมกระบวนการตลอดจนเนื้อหาของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้าตรวจสอบควบคุมการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งๆ ที่ปราศจากอำนาจตามรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นการสถาปนาอำนาจขึ้นมาเอง อีกทั้งยังเป็นการขยายแดนอำนาจของตนออกไปจนกลายเป็นองค์กรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญและอยู่เหนือองค์กรทั้งปวงของรัฐ มีผลเป็นการทำลายหลักนิติรัฐประชาธิปไตยลง จนก่อให้เกิดสภาวการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสูงสุดเด็ดขาด ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวของมหาวิทยาลัยเป็นการทำลายหลักนิติรัฐ และประชาธิปไตยในระยะยาว

2. คัดค้านการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการใช้กำลังปราบปรามประชาชนที่มาชุมนุม ข้อเสนอดังกล่าวแม้จะเป็นข้อเสนอที่ดีด้วยเหตุที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ควรให้ความรุนแรงกับประชาชน อีกทั้งการชุมชนอย่างสงบก็เป็นการใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งควรเคารพในการแสดงความคิดเห็นของผู้คนเหล่านั้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการชุมนุมดังกล่าวจะอยู่ภายใต้กรอบประชาธิปไตย แต่ถึงกระนั้นกลุ่มนักศึกษาก็มีความเห็นสอดคล้องกับข้อเสนอดังกล่าวเพียงครึ่งเดียว เนื่องด้วยการเรียกร้องดังกล่าวเป็นเพียงการเรียกร้องต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ หาได้รวมไปถึงผู้ชุมนุมไม่ ซึ่งหากติดตามข่าวสารก็จะปรากฏชัดว่าความรุนแรงส่วนใหญ่นั้นเกิดขึ้นจากฝ่ายใด

3. ต่อต้านการหมิ่นเบื้องสูงซึ่งแท้จริงควรเป็นต่อต้านการอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการโจมตีฝ่ายตรงข้ามเสียมากกว่า ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าในห้วงระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งที่สังคมไทยต้องเผชิญนั้นคือความขัดแย้งระหว่าง พลังทางการเมืองกลุ่มต่างๆ อ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการโจมตีฝ่ายตรงข้าม ทำให้เป็นการดึงพระองค์ เข้ามาเกี่ยวพันกับความขัดแย้งทางการเมือง

4. การกล่าวถึงคุณธรรม จริยธรรม นั้นเป็นการเรียกร้องนามธรรมเลื่อนลอย หาได้ยึดโยงกับความเป็นจริงในสังคมไม่ อีกทั้งยังเห็นได้ชัดว่าคนบางกลุ่มในมหาวิทยาลัยยังคงผูกติดอยู่กับฐานคิดประชาธิปไตยแบบชนชั้นนำ ที่มองว่ารัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากเสียงของคนส่วนใหญ่ของประชาชน ขาดคุณธรรมและจริยธรรมทางการเมือง ก็ด้วยเหตุที่ว่าคนกลุ่มนี้ไม่เคารพในความคิดเห็นของคนอื่น และมองคนอย่างไม่เท่าเทียมกันมาโดยตลอด

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กลุ่มนักศึกษา มอ.ปัตตานี เสรีประชาธิปไตย จึงขอให้ถือเสียว่าแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงความคิดเห็นของคณะผู้บริหารและสมาชิกบางส่วนของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งถือเป็นเพียงความคิดเห็นของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น หาได้ถือว่าแถลงการณ์ครอบคลุมความคิดเห็นของสมาชิกทั้งหมดไม่ อีกทั้งยังให้ถือว่าแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นไปในนามของบุคคล ใช่เป็นในนามมหาวิทยาลัย

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มนักศึกษา มอ.ปัตตานี เสรีประชาธิปไตย จึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลดังนี้

1. คัดค้านการใช้ความรุนแรง และการยั่วยุทั้งจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ และฝ่ายผู้ชุมนุม

2. การชุมนุมเรียกร้องควรเป็นไปในวิถีทางการเรียกร้องประชาธิปไตย ใช่เป็นการชุมนุมเพื่อเรียกร้องระบอบการ
ปกครองอื่นที่นอกเหนือออกไปจากระบอบประชาธิปไตย

3. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 ทั้งฉบับ โดยยึดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญประชาชนอย่างแท้จริง หาได้เป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการซ่อนรูปอย่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550

4. ขอให้รัฐบาลคืนอำนาจในการตัดสินใจทางการเมืองกลับไปสู่ประชาชน  เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตย

 

ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง
กลุ่มนักศึกษา มอ.ปัตตานี เสรีประชาธิปไตย

 

 

หมายเหตุ:กลุ่มนักศึกษา มอ.ปัตตานี เสรีประชาธิปไตย ก่อตั้งขึ้นโดยการรวมตัวกันของนักศึกษาที่ทำกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตย และยึดมั่นในหลักการสิทธิมนุษยชน โดยแถลงการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากการไม่เห็นด้วยต่อท่าทีของมหาลัยที่วางตัวไม่เป็นกลางในทางการเมือง แต่กลับเลือกข้างอย่างชัดเจน การกระทำดังกล่าวผิดวิสัยที่สถานศึกษาควรจะเป็น

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกแถลงการณ์วอนทหารอย่ารัฐประหาร

Posted: 30 Nov 2013 09:08 AM PST

30 พ.ย. 2556 - องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ออกแถลงการณ์เรื่อง สถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้



แถลงการณ์องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.)
เรื่อง สถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน

ตามที่ในขณะนี้ได้มีเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งทุกท่านน่าจะทราบกันดีอยู่แล้วนั้น



องค์การนักศึกษามหาวิทยาธรรมศาสตร์ (อมธ.) มีความเห็นว่าประชาชนทุกคนย่อมมีเสรีภาพที่จะแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและความเชื่อของตน และย่อมมีเสรีภาพในการเรียกร้องให้เป็นไปตามที่ตนคิดเห็นหรือเชื่อมั่น แต่การแสดงออกหรือเรียกร้องนั้นก็ไม่ควรจะทำให้หลักการพื้นฐานที่พึงมีเพื่อให้สังคมยังดำรงอยู่และยังดำเนินต่อไปได้ต้องสูญเสียไป ดังเช่นการที่ประชาชนในสังคมจะต้องไม่ถูกประทุษร้าย การที่กลไกของรัฐจะต้องสามารถปฏิบัติงานต่อไปได้ หรือการที่ปัญหาต่างๆ จะต้องถูกแก้ไขตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายต่างๆ ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงหลักพื้นฐานเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

และในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งอย่างรุนแรงเช่นนี้ เป็นธรรมดาที่แต่ละฝ่ายย่อมตัดสินใจกระทำการใดๆ ตามที่ตนเชื่อมั่นว่าถูกว่าควร แต่ถึงกระนั้นเราก็ควรจะตัดสินใจอย่างมีสติ พิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดรอบคอบ ระลึกถึงหลักการที่ถูกต้อง รู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่ากำลังเชื่อในสิ่งใดและเชื่อด้วยเหตุใด มิใช่เพียงเชื่อเพราะรักหรือชอบ เชื่อเพราะเกลียดหรือชัง เชื่อเพราะกลัวหรือเกรงใจ หรือเชื่อเพราะตามๆ กันทั้งที่ยังไม่รู้ ซึ่งเป็นเพียงความเชื่อตามอคติเท่านั้น ไม่อาจแก้ปัญหาใดได้จริง ทั้งยังอาจสร้างปัญหาให้มากขึ้นไปอีก
อมธ. จึงขอเรียกร้องต่อฝ่ายต่างๆ ดังนี้

1. ขอให้กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) หยุดยึดสถานที่ราชการต่างๆ และเปิดทางให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่สามารถเข้าปฏิบัติงานได้ เพราะการปิดสถานที่ราชการนั้นจะทำให้กลไกภาครัฐไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งจะส่งผลเสียโดยตรงต่อประเทศชาติและประชาชน อีกทั้งการยึดสถานที่ราชการนั้นยังเป็นการกระทำผิดกฎหมาย และแม้ว่าในอดีตจะมีการจะมีการชุมนุมยึดสถานที่ราชการก็ไม่เป็นเหตุให้การกระทำในครั้งนี้ชอบธรรมได้

2. ขอให้กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ชุมนุมอยู่ ณ ราชมังคลากีฬาสถาน ให้ตั้งมั่นอยู่ ณ ที่นั้นต่อไป อย่าพยายามเคลื่อนขบวนชุมนุมไปยังสถานที่อื่น และอำนวยความสะดวกให้มหาวิทยารามคำแหงสามารถเปิดทำการได้อย่างเป็นปกติ

3. ขอให้ผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่ายอย่าตั้งขบวนชุมนุมใกล้เคียงกัน เพราะอาจนำไปสู่การปะทะกันได้ และอย่าใช้กำลังประทุษร้ายต่อผู้ชุมนุมฝ่ายตรงข้าม

4. ขอให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ภาครัฐทั้งหลายเข้าปฏิบัติหน้าที่ของตนตามปกติ และไม่อ้างการชุมนุมเป็นเหตุละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หากยังสามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้

5. ขอให้รัฐบาลเป็นฝ่ายริเริ่มแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี และให้ระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในการดูแลผู้ชุมนุม เพราะจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา การปล่อยให้เหตุการณ์ลุกลามไปถึงขั้นสลายการชุมนุมมักนำไปสู่ความรุนแรงอยู่เสมอ

6. ขอให้ทหารทั้งหลายไม่อาศัยโอกาสนี้ก่อการรัฐประหาร

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอดีตไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง และย่อมไม่ใช่ทางออกใดๆ ในทุกเวลา ขอให้ทุกฝ่ายมีสติ ตระหนักรู้ต่อสถานการณ์ ไม่กระทำการใดๆ ให้ความขัดแย้งรุนแรงบานปลายยิ่งขึ้น และคำนึงถึงคุณค่าของการเห็นต่างอย่างสันติและอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน เพื่อบ้านเมืองของเราทุกคน

องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

30 พฤศจิกายน 2556

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มีผู้เสียชีวิต 1 รายจากเหตุปะทะที่รามคำแหง

Posted: 30 Nov 2013 09:02 AM PST

เหตุปะทะระหว่าง ผู้ชุมนุม นปช. กับผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย

30 พ.ย. 2556 - จากเหตุปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกลุ่มต่อต้าน นปช. และผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. ที่บริเวณซอยรามคำแหง 24 และบริเวณด้านหลังมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อเวลา 20.00 - 21.00 น. คืนนี้นั้น (30 พ.ย.) ศอ.รส. และศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) ระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 21 ราย ผู้เสียชีวิตชื่อ ทวีศักดิ์ โพธิ์แก้ว อายุ 21 ปี ถูกกระสุนที่ชายโครงซ้าย  2 นัด

ผู้บาดเจ็บที่มีอาการสาหัสได้แก่ จีระพงษ์ คลองชาตรีพงศ์ อายุ 25 ปี ถูกกระสุนที่ขาขวาเหนือเข่า 1 นัด ฉัตรชัย คำประสงค์ อายุ 23 ปี ถูกกระสุนที่แขนขวา 1 นัด เสน่ห์ จันทร์เกิด อายุ 33 ปี ถูกกระสุนที่แขนขวา 1 นัด นายบุญ รัตนา อายุ 30 ปี ถูกกระสุนที่ด้านหลัง 2 นัด อรรถพล หอมบุปผา อายุ 19 ปี ถูกกระสุนที่ต้นขาซ้าย 2 นัด

ทั้งนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผอ.ศอ.รส. ได้สั่งการให้ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. เข้าไปสืบสวนสอบสวนเพื่อคลี่คลายคดีดังกล่าว

สำหรับเหตุปะทะที่ซอยรามคำแหง 24 ดังกล่าว เกิดขึ้นไม่ไกลจากสนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน พื้นที่ชุมนุมของ นปช. ที่เริ่มนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 30 พ.ย.

ล่าสุดเมื่อเวลา 01.55 น. เข้าสู่วันที่ 1 ธ.ค. หลังกลุ่มการ์ด นปช. เดินสำรวจพื้นที่บริเวณซอยรามคำแหง 24 แยก 14 หลังเหตุปะทะระหว่างกลุ่ม นปช. กับกลุ่มต่อต้าน นปช. ยุติลง ได้เกิดเสียงปืนดังขึ้น 6 นัด ทำให้การ์ด นปช. ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบชื่อ 1 ราย ถูกยิงเข้าที่ศีรษะ โดยถูกนำส่งโรงพยาบาลโดยรถของมูลนิธิร่วมกตัญญู (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) 

 

เมื่อเวลา 17.50 น. วันที่ 30 พ.ย. 56 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เริ่มปิดกั้นถนนรามคำแหง โดยด้านที่อยู่ไกลออกไปคือด้านหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อกันไม่ให้ผู้ชุมนุมต่อต้าน นปช. และผู้ชุมนุม นปช. เผชิญหน้ากัน (ที่มา: เพจ Prachatai)

 

ต่อต้าน นปช. หน้ารามคำแหง บานปลายสู่เหตุปะทะ

โดยก่อนหน้าเหตุปะทะจนมีผู้เสียชีวิตนั้นนั้น ในช่วงเวลา 16.35 น. วันที่ 30 พ.ย. 56 ที่หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้ชุมนุมต่อต้าน นปช. กลุ่มหนึ่ง ประกอบด้วยศิษย์เก่า และนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงกลุ่มหนึ่ง และผู้สนับสนุนกลุ่ม กปปส. มาชุมนุมเรียกร้องให้คนเสื้อแดงยุติการชุมนุมที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน และมอบหนังสือผ่านทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.หัวหมาก และ สน.วังทองหลาง ที่เรียกร้องให้เอาผิดผู้ที่ทำร้ายนักศึกษาหญิง เมื่อคืนวันที่ 29 พ.ย. โดยผู้ชุมนุมเชื่อว่าเป็นการกระทำของคนเสื้อแดง

ทั้งนี้ นปช. ได้ปักหลักชุมนุมที่สนามราชมังคลากีฬาสถานมาตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 56 ภายหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 20 พ.ย. และมีการนัดหมายชุมนุมใหญ่ในวันที่ 30 พ.ย. 56 ก่อนที่ผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส. จะเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ในวันที่ 1 ธ.ค. 56

และในวันที่ 28 พ.ย. ไม่กี่วันก่อนวันที่ 30 พ.ย. ซึ่งเป็นวันนัดหมายชุมนุมใหญ่ของ นปช. ในโลกสังคมออนไลน์ มีการแชร์คลิป ที่ระบุว่าถ่ายวันที่ 27 พ.ย. เป็นภาพชายสามคนถูกทำร้ายและบังคับให้ถอดเสื้อแดงจากกลุ่มคนที่ถือธงชาติไทย บริเวณสะพานที่ซอยมหาดไทย ใกล้กับย่านมหาวิทยาลัยรามคำแหง และราชมังคลากีฬาสถาน นอกจากนี้มีรายงานว่าผู้ชุมนุม นปช. ถูกดักทำร้ายหลังกลับจากการชุมนุมหลายครั้ง และมีกระแสข่าวว่าผู้ชุมนุม นปช. ตามมาดักแก้แค้น ทั้งยังมีการกล่าวหาว่าคนเสื้อแดงกรีดป้ายพ่อขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์แห่งสุโขทัย สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยรามคำแหงด้วย จนทำให้กลุ่มต่อต้าน นปช. ยกเรื่องนี้มาเป็นสาเหตุชุมนุมต่อต้าน นปช. อยู่ที่หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหงในวันที่ 30 พ.ย. ดังกล่าว

ทั้งนี้จากรายงานของมติชนออนไลน์ การชุมนุมต่อต้าน นปช. ที่หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง เกิดเหตุชุลมุนขึ้นในช่วงเย็นหลังจากมีคนขับรถแท็กซี่สีเขียว-เหลือง รับผู้โดยสารเสื้อแดงมุ่งหน้าไปทางสนามราชมังคลากีฬาสถานผ่านบริเวณที่ชุมนุมทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปทำร้าย นอกจากนี้มีการไล่ทุบรถเมล์ ขสมก. ที่รับคนเสื้อแดงโดยสารมาในรถด้วย โดยไล่วิ่งตีรถเมล์ตั้งแต่บริเวณหน้าซอยรามคำแหง 53  จนถึงซอยรามคำแหง 55 โดยรถเมล์มีสภาพกระจกแตกยับเยินเสียหายรอบคัน โดยคนขับรถประจำทางได้นำรถไปจอดที่ สน.หัวหมาก และเข้าแจ้งความกับตำรวจ (ชมภาพในสเตรทไทม์) (คลิปเหตุการณ์ใน Youtube 1, 2 คลืปเหตุการณ์ใน Facebook 3)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พีมูฟระบุผ่าวิกฤติประเทศไทยด้วยการยุบสภาคืนอำนาจประชาชน

Posted: 30 Nov 2013 08:11 AM PST

30 พ.ย. 2556 - ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ออกแถลงการณ์แถลงการณ์ฉบับที่ 40 เรื่อง ผ่าวิกฤติประเทศไทย ยุบสภาคืนอำนาจประชาชน ตัดสินใจเลือกผู้นำประเทศ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 

แถลงการณ์ฉบับที่ 40
เรื่อง ผ่าวิกฤติประเทศไทย ยุบสภาคืนอำนาจประชาชน ตัดสินใจเลือกผู้นำประเทศ


    
ตามที่สถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังตรึงเครียด อันเป็นการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มพลังมวลชนที่ไม่เห็นด้วยกับการบริหารประเทศของรัฐบาล ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มพลังมวลชนที่ออกมาปกป้องรัฐบาล ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์และความชอบธรรมตามความเชื่อของแต่ละฝ่าย ทำให้เกิดสูญญากาศทางการเมือง กิจกรรมต่าง ๆ หยุดชะงักลง ขณะที่มีแนวโน้มนำไปสู่การเผชิญหน้า มีความรุนแรง และจะเกิดการสูญเสียตามมา ซึ่งเรียกได้ว่าเข้าขั้นวิกฤติแล้ว
    
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ในฐานะหุ้นส่วนทางสังคมจึงขอเรียกร้องต่อทุกฝ่าย ให้หาทางออกจากวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้น พวกเราขอเรียกร้อง ดังนี้
    
1. แม้รัฐบาลมีความชอบธรรมในการบริหารประเทศตามวิถีทางของระบอบรัฐสภา แต่การผลักดัน ร่าง พรบ.นิรโทษกรรม ของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ประชาชนจำนวนมาก ไม่อาจยอมรับให้รัฐบาลบริหารประเทศต่อไป และเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรง การล่มสลายของสังคมไทย และแสดงความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น รัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ไม่มีทางเลือกนอกจากการยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่
    
2. ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง พรรคการเมืองทุกพรรค ย่อม เสนอเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ตามแนวทางของตนเอง ทั้งข้อเสนอในการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ และข้อเสนอในการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อขจัดระบอบทักษิณ
    
3. พวกเราเห็นว่า การเลือกตั้ง รวมทั้ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งของสังคมไทย ที่มีรากฐานมาจากความไม่เท่าเทียมกัน และการกดขี่ของรัฐซึ่งเป็นมรดกที่มาจากอดีตได้โดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ทุกฝ่ายต้องอดทนต่อความเปลี่ยนแปลง เหมือนเช่นที่พวกเรา อดทนต่อความอยุติธรรมต่าง ๆ มาเป็นเวลานาน โดยแทบจะยังไม่เคยมีการแก้ไขปัญหาต่างๆอย่างเป็นรูปธรรม
    
4. พวกเราขอปฏิเสธวิถีทางใดๆที่จะใช้อำนาจอื่นๆ ที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แม้ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา จะมีข้อบกพร่องจำนวนมาก แต่ระบอบประชาธิปไตยก็ได้พิสูจน์ให้เห็นจากประวัติศาสตร์และสังคมสมัยใหม่ทั้งหลายว่า เป็นวิถีทางที่เหมาะสมที่สุดในการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข
    
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันในขณะนี้คือการดำรงอยู่ของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย แตกต่างกันเพียงบางแง่มุม ดังนั้นการยุบสภาเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ได้เป็นผู้ตัดสินใจเลือกผู้มาบริหารประเทศ จึงน่าจะเป็นทางออกที่จะนำสังคมไทยออกจากภาวะวิกฤติได้ในขณะนี้

ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
30 พฤศจิกายน 2556
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สัมภาษณ์สมชาย ปรีชาศิลปกุล นิติรัฐ อารยะขัดขืน และการมองให้เห็นความเป็นคน

Posted: 30 Nov 2013 05:10 AM PST

สมชาย ปรีชาศิลปกุล รองศาสตราจารย์ จากคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นนักกิจกรรมทางวิชาการในนามกลุ่มมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เขาเป็นนักวิชาการคนแรกๆ ทีพูดเรื่อง Civil disobedience ที่ต่อมามีการแปลเป็นไทยว่าอารยะขัดขืน และเขาเคยเสนอเล่นๆ ครั้งหนึ่งหลังฝุ่นควันรัฐประหารจางและมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งว่า สำหรับนักวิชาการที่เคยแสดงความเห็นผิดพลาดไปในทางหลักการ ตอนนี้อาจจะหันหน้ามายอมรับผิดและนิรโทษกรรมให้กันและกันเสีย เพื่อร่วมกันเดินหน้าต่อไปและรักษาหลักการประชาธิปไตยเอาไว้

แต่เมื่อสถานการณ์ที่จะหันหน้ามาคุยกันด้วยเหตุด้วยผล ด้วยหลักวิชาดูจะยิ่งห่างไกลออกไป และวันนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงขึ้นอย่างยิ่ง ประชาไทได้พูดคุยกับเขาถึงมุมมองต่อประเด็นหลักนิติรัฐ นิติธรรมที่ต่างก็ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการชุมนุม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นอารยะขัดขืนที่ถูกนำมาอธิบายการเคลื่อนไหวทางการเมืองของทุกฝ่าย ซึ่งเขาเห็นว่าเลยความหมายไปไกลมากแล้ว ข้อเสนอของเขาขณะนี้คือ ยังไม่ต้องพูดอะไรอื่นไกล แค่มองให้เห็นความเป็นคนของคนที่เห็นต่างคิดต่างให้ได้ก่อน บ้านเมืองก็อาจจะคลี่คลายความร้อนระอุลงไปได้ และสารที่สำคัญที่เขาอยากจะสื่อกับผู้ชุมนุมที่ไม่ใช่แกนนำก็คือ ตั้งสติ อย่าเดินตามแกนนำจนละเลยที่จะตั้งคำถาม
 

ประชาไท: คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตอนนี้ถูกนำมาใช้ลดความชอบธรรมของรัฐบาล คุณสุเทพบอกว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่โมฆะไปแล้วเพราะไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาล โดยใช้ตรรกะว่าการไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็เท่ากับไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ รัฐบาลที่ไม่ยอมรับกฎหมายสูงสุดของประเทศก็เป็นรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม อาจารย์มองว่าตรรกะอันนี้ใช้ได้หรือไม่

สมชาย:  ผมคิดว่าตรรกะอันนี้จะเป็นการตัดเอาบางส่วนมา ผมคิดว่าเวลาที่จะพิจารณาปัญหาเรื่องนี้คงต้องคิดถึงที่มันยาวขึ้น อย่างเช่น การที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาใช้อำนาจ ซึ่งมีปัญหามากพอสมควร การที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาแตะในประเด็นเรื่องอำนาจการแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายนิติบัญญัติ ในแง่นี้คือ สามารถถูกตั้งคำถามได้ว่า เอาเข้าจริงศาลรัฐธรรมนูญ ขอบเขตของศาลรัฐธรรมนูญในการทำหน้าที่เรื่องนี้ มีมากน้อยขนาดไหน

ผมคิดว่าเรื่องนี้ถ้าเรามองแล้วตัดเป็นส่วนๆ จะเกิดภาวะที่เราหยิบเอาบางประเด็นมาอ้างเพื่อให้เกิดประโยชน์กับบางฝ่าย เพราะฉะนั้นกรณีนี้ ในแง่หนึ่งต้องมองให้เห็นโครงใหญ่ๆ ทั้งหมดด้วยว่ามีปัญหายังไง

ในทัศนะของผม รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่พยายามจะตรึงอำนาจ พูดง่ายๆ ทำให้อำนาจการเมืองของฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้งต้องอยู่ภายใต้กำกับของฝ่ายที่เรียกว่าอนุรักษ์นิยม ดังนั้นเราจะเห็นบทบาทหน้าที่ของฝ่ายที่ไม่สู้จะสัมพันธ์กับประชาชนเท่าไหร่ เช่น ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. บทบาทองค์กรพวกนี้เห็นได้ชัดว่าพยายามที่จะตรึงให้การเมืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยมยังมีอำนาจเหนืออยู่ ขณะที่เราเห็นแบบนี้สิ่งที่มองก็คือว่า ความพยายามของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง  หรือพูดอีกแบบ คือพยายามที่จะรุกให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในแต่ละจุดๆ โดยที่มีองค์กรเหล่านี้ทำหน้าที่ปกป้องพรมแดนอำนาจของอนุรักษ์นิยมเอาไว้

เพราะฉะนั้น เรื่องนี้ในแง่หนึ่งที่เราจะมอง คงต้องมองการทำหน้าที่ของรัฐธรรมนูญ 2540 หรือปฏิบัติการของรัฐธรรมนูญ 2540 ให้กว้างขวางขึ้นจะทำให้เราเห็นเรื่องนี้ได้ชัดเจนขึ้น

ประชาไท: แต่ข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อไม่ฟังกฎหมาย ความขัดแย้งก็จะไม่จบ เพราะฉะนั้นศาลจึงเป็นองค์กรที่เป็นที่พึ่งหวัง ถ้าศาลชี้ไปทางใดแล้วก็น่าจะรับ

สมชาย: ในแต่ละสังคมควรมีสถาบันที่ยุติความขัดแย้ง แต่ถ้าเราสังเกตสังคมไทยในช่วงหลังปี 2549 สถาบันหรือกระบวนการยุติธรรมมีปัญหามาก เพราะในแง่หนึ่งคำวินิจฉัยขององค์กรที่เป็นผลผลิตของรัฐธรรมนูญ 2550 เราจะพบว่ามีปัญหาอย่างกว้างขวาง

เพราะฉะนั้น ในแง่นี้การบอกให้ยอมรับอำนาจศาล หรือการบอกว่าเมื่อศาลตัดสินแล้วต้องยุติ ผมคิดว่าในแง่หนึ่งมีผลผูกพันที่ต้องปฏิบัติตาม การบอกว่าไม่ยอมรับถ้ามองให้กว้างก็พูดได้ว่าคือ การไม่ยอมรับความชอบธรรม ซึ่งถ้าเป็นเรื่องแบบนี้ผมคิดว่าทุกคนก็พูดได้ แต่ถ้าเมือไหร่ที่เราลุกขึ้นพูดว่าไม่ยอมรับแล้วพากันพยายามจะล้มศาล โดยไม่อาศัยกระบวนการทางกฎหมาย ผมคิดว่าอันนี้เป็นสิ่งที่ไม่ชอบแน่ๆ

ผมคิดสิ่งที่พรรคเพื่อไทยทำ คือไม่ยอมรับ น่าจะนัยของมันคือการไม่ยอมรับความชอบธรรมของคำพิพากษาที่เกิดขึ้น แล้วถามว่ามีกระบวนการอะไรที่จะล้มศาลโดยกระบวนการนอกกฎหมาย ก็ไม่เห็น ผมคิดว่าความพยายามต่างๆ ที่เกิดขึ้น คือก็แก้ไขไปตามอำนาจที่มีตามรัฐธรรมนูญกำหนด

เพราะฉะนั้น การพยายามหยิบบางส่วนหรือบางถ้อยคำมาอธิบาย ผมคิดว่าอันนี้น่าจะมีปัญหาอยู่พอสมควร

ประชาไท: ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญภายใต้วิกฤตการเมืองไทยที่ผ่านมา หลายครั้งคำพิพากษาที่ออกก็จะมีข้อโต้แย้ง อาจารย์คิดว่าองค์กรศาลรัฐธรรมนูญถึงวิกฤตที่ต้องมาทบทวนกันหรือเปล่า

สมชาย: ผมคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญน่าจะเลยวิกฤตไปแล้วนะครับ เราจะพบว่าหลายๆ เรื่องศาลรัฐธรรมนูญตัดสินด้วยคำตัดสินที่ไม่มีตรรกะที่เป็นที่รองรับมากพอสมควร เราจะพบเหตุผลที่ไม่ได้ยึดโยงอยู่บนตรรกะทางกฎหมาย ตั้งแต่กรณีของคุณสมัคร การให้คุณสมัครพ้นไปจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยการอ้างว่าเป็นลูกจ้าง ผมคิดว่าอันนี้ในหลักการทางกฎหมายมันใช้ไม่ได้แน่ๆ นักกฎหมายที่เรียนกฎหมายแรงงานรู้ว่ากรณีคุณสมัครไม่ใช่ลูกจ้าง

เราพบคำตัดสินหลายๆ ครั้งที่เห็นได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผลเพียงพอ จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่า ทำไมในระยะหลายๆ ปีที่ผ่านมา คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ถามว่าศาลรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องมีไหม ผมคิดว่าจำเป็น แต่ทั้งนี้คงต้องอย่างน้อยมีรกระบวนการคัดสรรที่ยึดโย
หรือสัมพันธ์กับประชาชนอยู่ด้วย หรือแม้กระทั่งการตรวจสอบการทำหน้าที่ของศาล คือศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่องค์กรที่อิสระที่คิดจะตัดสินอย่างไรก็ได้ ต้องมีกระบวนการกำกับตรวจสอบ เพื่อยืนยันว่าศาลทำหน้าที่ไปโดยยืนอยู่บนหลักวิชามากกว่าการเข้าข้างทางการเมือง

ถาม: ขณะเดียวกันก็มีความเห็นจากฝั่งที่เข้าอกเข้าใจศาลรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นหน้าที่เป็นศาลทางการเมือง เมื่อเกิดวิกฤตศาลก็ทำหน้าที่พยายามที่จะหาทางออก ประนีประนอมมากที่สุด

สมชาย: ผมคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีหน้าที่ในแง่ของทำหน้าที่ให้เกิดการประนีประนอมทางการเมือง ผมคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญน่าจะทำหน้าที่วินิจฉัยปัญหาข้อขัดแย้งที่วางอยู่บนหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่โดยวางคำวินิจฉัยตามหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญตรงไปตรงมา จะทำให้ข้อขัดแย้งในหลายๆ กรณียุติลง

แต่ผมคิดว่าการพยายามจะทำหน้าที่ผู้ประนีประนอม แต่บนการวินิจฉัยที่ไม่มีเหตุผล ผมคิดว่ากรณีมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ ถ้าตรงไปตรงมา ก่อนหน้านี้นักวิชาการก็ยอมรับว่ายังไงก็ตามศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถรับเรื่องได้โดยตรงตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ก็ถูกวินิจฉัยจนกระทั่งรับได้

ทั้งหมดนี้ จึงทำให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง อย่างน้อยถ้ามีเหตุผลที่ยอมรับกันได้ ผมคิดว่ามันจะให้ความขัดแย้งเบาลงพอสมควร แต่ผลปรากฏว่ายิ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีมากเท่าไหร่ ยิ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น ก็สะท้อนให้เห็นว่าคุณภาพในตัวของคำวินิจฉัยมีอยู่มากน้อยเพียงใด

ถาม: ตอนนี้ทั้งสองฝั่งการเมืองและมวลชนเองก็อ้างเรื่องการยอมรับในกฎหมาย การเรียกหานิติรัฐ นิติธรรมบ่อยๆ แต่ทำไมเข้าใจไม่ตรงกัน

สมชาย: ทั้งสองฝ่ายพยายามช่วงชิง แล้วก็ตีความหลักนิติรัฐ หลักนิติธรรมไปตามจุดยืนและทัศนะอุดมการณ์ของตัวเอง ถ้าเป็นฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลก็พยายามตีความหลักนิติรัฐ นิติธรรม ให้หมายถึงการเคารพคำพิพากษาของศาล ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายเสื้อแดงพยายามตีความนิติรัฐนิติธรรมหมายถึง อำนาจสูงสุดของรัฐสภาในการปรับแก้รัฐธรรมนูญ หรืออำนาจสูงสุดของประชาชน อำนาจสูงสุดของนักการเมืองที่มาจากเลือกตั้งจะต้องเป็นหลัก ซึ่งทั้งสองส่วนนี้เป็นส่วนประกอบซึ่งกันและกัน

ผมคิดว่า ความขัดแย้งทางการเมือง ต่างฝ่ายต่างดึงเอาบางส่วนมาเป็นฐานในการสนับสนุนความชอบธรรมของตัวเอง เพราะฉะนั้นมันถึงเกิดสภาพการณ์ที่ทั้งคู่ก็พูดถึงนิติรัฐ นิติธรรม แต่ปรากฏว่าเป็นการพูดกันคนละส่วนหรือคนละด้าน อันนี้ผมคิดว่ามันเป็นภาวะที่จะนำมาซึ่งความขัดแย้งแน่ๆ

ถาม: ภาวะที่เกิดขึ้นตอนนี้กับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอยู่นี้ความหมายของ civil disobedience ไหม

สมชาย: ถ้าในระยะเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวที่นำโดยคุณสุเทพ จนกระทั่งอย่างน้อยจนกระทั่งวันที่ 24 พฤศจิกายนซึ่งมีการชุมนุมใหญ่ ผมคิดว่าแนวโน้มหลักของการชุมนุมยังเป็นไปในทางที่เรียกว่าสันติวิธี และจะเรียกว่าเป็น civil disobedience ก็ได้

แต่หลังจากวันนั้นมา ผมคิดว่ามีความคลุมเครือเกิดขึ้นและดูเหมือนว่ามีแนวที่จะไม่ใช่ civil disobedience อย่างน้อยใจกลางหลักๆ ของ civil disobedience เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อปรับแก้กฎหมายหรือนโยบายบางอย่าง โดยที่ยังเคารพระบบกฎหมายหรือการปกครองโดยรวมอยู่

บัดนี้ เราเห็นได้ชัดว่าคุณสุเทพกำลังพูดถึงระบอบการปกครองใหม่ จะเป็นอะไรก็ว่ากันอีกเรื่อง แต่อันนี้หมายความว่า พอเป็นแบบนี้ สิ่งที่เรียกว่า civil disobedience มันเป็นการเคลื่อนไหวที่ยังยอมรับความชอบธรรมว่า ระบอบการปกครองเป็นพื้นฐานอยู่แต่อาจจะมีนโยบายหรือกฎหมายบางอย่างที่ไม่ได้เรื่อง ต้องถูกปรับแก้ การเคลื่อนไหวแบบ civil disobedience จึงยอมรับโครงสร้างใหญ่ๆ

ผมเข้าใจว่าข้อเสนอต่างๆ ของคุณสุเทพ ไม่ว่าหลัก 6 ประการที่คุณสุเทพประกาศ ผมคิดว่านำไปสู่การปรับโครงสร้างการปกครองใหม่เลย อันนี้ถ้าถามถึงใจกลางของ civil disobedience ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้มันน่าจะก้าวข้าม civil disobedience ไปแล้ว

ถาม: ตอนนี้ต่างคนต่างตีความความหมายของกฎหมาย ศาล ไปคนละทิศละทาง มันเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตวาทกรรมเพื่อให้เกิดความขัดแย้ง เราจะก้าวข้ามวาทกรรมที่แตกต่างหลากหลายอันนี้ยังไง

สมชาย: ผมมีความเห็นว่า การที่ความขัดแย้งครั้งนี้เกิดขึ้น เราน่าจะให้บทเรียนกับคนที่เป็นแกนนำทั้งสองฝ่ายได้ ผมคิดว่าอย่างน้อย แกนนำในพรรคเพื่อไทยที่พยายามผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ทางพรรคเพื่อไทยกล้าผลัก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยเดินหน้าไป เพราะมองข้ามหัวเสื้อแดง และรวมถึงการมองข้ามหัวคนในสังคมไทยว่าจะไม่ลุกขึ้นมาต่อต้าน

ผมคิดว่าสิ่งที่เสื้อแดงควรทำ คือการให้บทเรียนกับพรรคเพื่อไทยและรวมถึงขบวนการเสื้อแดง มวลชนควรพยายามถอยห่างออกมา การพิทักษ์พรรคเพื่อไทยตอนนี้กับการพิทักษ์ประชาธิปไตยเป็นคนละเรื่องกัน ในขณะเดียวกัน การเคลื่อนไหวที่ตอนนี้กำลังเลยจุดที่ผมคิดว่าเพื่อปรับแก้หรือสร้างพลังอำนาจทางสังคมของฝ่ายต่อต้าน กำลังก้าวไปจุดที่มันเลยเถิดไปมากแล้ว

การเคลื่อนไหวของแกนนำ ไม่ว่าฝ่ายใดก็ตาม ที่มันเลยเถิดไปได้หรือบ้าระห่ำไปได้ เป็นเพราะว่ายังมีมวลชนสนับสนุนอยู่ ข้อเรียกร้องผมคิดว่ามวลชนแต่ละฝ่ายต้องคิดให้มากขึ้น ต้องตั้งสติให้มากขึ้น อันนี้สำคัญ ผมคิดว่ามวลชนเสื้อแดงก็ต้องตระหนักว่าอย่าเดินตามแกนนำอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง ผมคิดว่าการถูกพรรคเพื่อไทยถีบหัวส่งเมื่อ 3-4 อาทิตย์ก่อนในกฎหมายนิรโทษกรรมคงต้องเป็นบทเรียน

ในขณะเดียวกัน สำหรับคนที่เป็นมวลชนนกหวีดก็ต้องตระหนักว่า ข้อเรียกร้องของคุณสุเทพกำลังเดินไปสู่จุดที่เปิดกว้างมากจนไม่รู้ว่าเป็นอะไร เช่น พูดถึงสภาประชาชน รัฐบาลประชาชน ผมคิดว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่มีฐานความชอบธรรมใดๆ รองรับ จะสร้างสภาประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ได้ยังไงก็ไม่ชัดเจน และดูเหมือนว่ายิ่งเดินหน้ายิ่งมีความสุ่มเสี่ยงที่จะให้เกิดความรุนแรงหรือข้อขัดแย้งเกิดขึ้น

ผมคิดว่า มวลชนทั้งสองฝ่ายต้องตั้งสติให้ดี ถ้าจอเรียกร้องหรือประเด็นที่แกนนำเรียกร้องมันเลยเถิดมากเกินไปมวลชนต้องตั้งสติและถอยห่างออกมา ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องที่มวลชนทั้งสองฝ่ายต้องคิดให้มาก ต้องตระหนักให้มาก อย่าเพียงแต่ฟังแล้วเคลื่อนไหวไปตามการชี้นำของแกนนำแต่ละฝ่าย อันนี้อันตรายมาก

ถาม: มีนักกฎหมายขึ้นเวทีให้คำอธิบายสร้างวาทกรรมกับมวลชนไปบ้างแล้ว อาจารย์คิดว่าบทบาทของนักวิชาการกฎหมายตอนนี้ควรจะเป็นยังไง

สมชาย: สิ่งที่นักวิชาการด้านกฎหมายอันแรก คือควรต้องยึดกับหลักการให้มั่นคง ผมคิดว่าจุดยืนทางการเมืองแต่ละคนต่างก็ได้ แต่กับหลักการทางกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย หลักการในเรื่องระบอบรัฐสภา ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่แต่ละคนควรยึดให้มั่น เราอาจจะมีจุดยืน ระบบรัฐสภามันอาจจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไรได้ตามใจเราในชั่วข้ามคืน

ระบอบประชาธิปไตยก็คือเราต้องทนอยู่กับคนที่เราไม่ชอบ สมมติตอนนี้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลไม่ชอบขี้หน้ารัฐบาล สิ่งที่ควรทำคือ ขายาความคิดของตัวเองให้กว้างขวาง ซึ่งรัฐบาลชุดนี้มีผลงานให้วิจารณ์ได้มากมายกว้างขวางเต็มไปหมด ก็พยายามเผยแพร่ความคิดออกไปให้กว้างขวาง ถ้าคิดว่านโยบายจำนำข้าวไม่ดี โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเป็นปัญหาก็ขยายความคิดออกไป แล้วทำให้ตัวเองได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง เลือกตั้งครั้งหน้าก็พยายามทำอย่างนี้

ผมคิดว่าระบบรัฐสภาหรือระบอบประชาธิปไตย ข้อดีคือ เสียงข้างน้อยเปลี่ยนเป็นเสียงข้างมากได้ แต่เราควรจะเปลี่ยนมันด้วยเหตุผล ไม่ควรเปลี่ยนมันด้วยกำลัง ด้วยการใช้อำนาจนอกระบบ ผมคิดว่าสิ่งที่นักกฎหมายตอนนี้ควรทำคือ ยืนอยู่ในหลักการให้มั่นคง คนที่เราไม่ชอบหน้าจะเป็นรัฐบาลก็ได้ แต่ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า เราก็รณรงค์ไป วันหนึ่งเราอาจจะกลายเป็นเสียงข้างมากขึ้นมาก็ได้ ในหลายๆ ประเทศก็เป็นแบบนี้ อเมริกาบางช่วงก็เป็นเดโมแครต บางช่วงก็เป็นรีพับลิกัน พอตกเป็นฝ่ายที่รัฐบาลก็รณรงค์และชี้แจงให้เห็นว่าเราดีกว่าอย่างไร มีเหตุผลกว่าอย่างไร

ถาม: หลังรัฐประหาร 2549 อาจารย์เคยเสนอว่าประเทศไทยเล็กเท่านี้ นักวิชาการก็มีเท่านี้ ใครที่เคยไปสนับสนุนรัฐประหารให้แสดงตัวออกมา แล้วนิรโทษกรรมกันจะได้เดินเข้าสู่หลักการแล้วเดินไปข้างหน้ากันใหม่ ถึงจุดนี้อาจารย์ยังมีข้อเสนอทำนองนี้ไหมสำหรับนักวิชาการที่นำเสนอประเด็นหรือหลักการที่ผิดเพี้ยนไปจากประชาธิปไตย

สมชาย: ถ้าพูดในช่วงเวลานี้คงยาก ผมคิดว่าหลายๆ ท่านตอนนี้อุดมการณ์คงล้นทะลักจนบางทีอาจทำให้หลักวิชาที่เคยยึดเป็นหลัก มันคลอนแคลนไป

สิ่งที่ผมอยากเสนอ คือ ตอนนี้ดูเหมือนเราพยายามมองหาความต่างกันระหว่างแต่ละฝ่าย ฝ่ายที่สนับสนุนกับฝ่ายรัฐบาลพยายามมองหาจุดต่าง ผมคิดว่านอกจากการมองหาจุดต่างซึ่งสร้างความเกลียดชังให้เกิดเพิ่มมากขึ้น ในอีกแง่หนึ่งเราพยายามมองหาความเหมือนกันของทั้งสองกลุ่ม หรือกลุ่มอื่นๆ ด้วยก็ได้ เราก็เป็นคนเหมือนกัน เรามีญาติพี่น้องที่เป็นคนรักเหมือนกัน เราก็เป็นคนที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าตอนนี้พื้นฐานสุดคือ มองอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นคนซึ่งอาจจะคิดไม่เหมือนกับเราให้เป็นคน ยังไงเขาก็เป็นคน เขาอาจจะคิดไม่เหมือนเราก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ในสังคมประชาธิปไตยก็มีคนที่คิดไม่เหมือนเราเต็มไปหมด แต่อย่าทำให้อีกฝ่ายหนึ่งกลายเป็นสิ่งที่ไม่ใช่คน

ตอนนี้ที่น่าเป็นห่วงมากก็คือ การเริ่มมีการปะทะกันของแต่ละฝ่ายเกิดขึ้นในจุดต่างๆ ผมอยากจะเตือนว่า หลังเหตุการณ์พฤษภาปี 2535 มีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับคนเจ็บคนตาย สิ่งที่ผมพบเป็นส่วนใหญ่หลังปี 35 คือ คนที่บาดเจ็บ ล้มตาย คนที่สูญเสียคนรักไป ส่วนใหญ่ก็คือคนธรรมดาๆ สามัญชนอย่างพวกเรานี่แหละ ไม่มีแกนนำคนไหนบาดเจ็บล้มตาย

ถ้าใครคิดว่าอยากเปลี่ยนแปลงประเทศ อยากจะทำให้สังคมดีขึ้นก็ทำ แต่ไม่มีสังคมไหนเปลี่ยนในชั่วข้ามคืน เรามีเวลาอีกเยอะที่จะค่อยๆ ปฏิรูปทุกๆ อย่างให้ดีขึ้น สังคมไทยมีวีรชนและผู้เจ็บปวดมามากพอแล้ว ไม่จำเป็นที่เราจะต้องไปเป็นวีรชนและถูกทอดทิ้งให้เพิ่มขึ้น เรามองกันให้เป็นคน อันไหนที่เราต้องแก้ก็ค่อยๆ แก้ เรามีเวลาอีกเยอะ ค่อยๆ ปรับแก้ สังคมไทยคงไม่ได้พังทลายไปในชั่วข้ามคืนนี้ถ้ารัฐบาลยังไม่ได้ออกไป
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักกิจกรรมกลุ่มเพื่อประชาธิปไตยและความหลากหลายทางเพศเรียกร้องให้มีการเจรจาหาทางออกร่วมกัน

Posted: 30 Nov 2013 04:28 AM PST

30 พ.ย. 2556 - นักกิจกรรมกลุ่มเพื่อประชาธิปไตยและความหลากหลายทางเพศเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ,ผู้บัญชาการเหล่าทัพ, แกนนำมวลชนทุกฝ่าย, สถาบันที่เกี่ยวข้อง และประชาชนชาวไทย โดยระบุว่าจากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบันนับเป็นวิกฤตของประเทศไทยอีกครั้ง เกิดการเรียกร้องทางการเมืองจากประชาชนจำนวนมาก โดยมีหลากฝ่าย หลายความคิด และไม่มีท่าทีของการเจรจาต่อรองเพื่อให้เกิดข้อยุติของความขัดแย้ง ในภาวะที่มืดดำเช่นนี้ มองเห็นเพียงฝุ่นควันของภาวการณ์การใช้อานาจนอกระบบ และความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกันเอง ซึ่งน่ากังวลว่าจะนำไปสู่การละเมิดทางร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สิน ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติใหญ่หลวงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทย

นักกิจกรรมกลุ่มเพื่อประชาธิปไตยและความหลากหลายทางเพศ เชื่อมั่นในระบบการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตย และเชื่อมั่นว่าหนทางที่ยึดในหลักสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด ไม่ถูกครอบงำหรือปลุกปั่น รวมถึงการคำนึงถึงความเป็นปกติสุขของคนทุกกลุ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเสียงข้างน้อยนั้น จะเป็นทางออกที่ยั่งยืนและมั่นคงของสังคมไทย เราจึงขอเรียกร้องให้

1. "รัฐบาล" ไม่ใช้ความรุนแรงในการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกกรณี ประชาชนมีสิทธิในการเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองตามหลักของสิทธิพลเมือง และรัฐบาลพึงใช้วิธีการตามกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน และหลักประชาธิปไตยในการแก้ไขปัญหาอย่างเข้มงวดที่สุด

2. "กองทัพและฝ่ายความมั่นคง" ควรเปิดพื้นที่ให้การแก้ไขปัญหาดำเนินไปตามกระบวนการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ ไม่พึงใช้อำนาจแทรกแซงและ/หรือทำการรัฐประหาร ประเทศไทยได้รับบทเรียนที่เจ็บปวดจากการรัฐประหารมามากพอแล้ว

3. "แกนนำของผู้ชุมนุมทุกฝ่าย" ยึดแนวทางการชุมนุมเรียกร้องด้วยความสงบ ภายใต้กรอบกฏหมาย ไม่ใช้การปลุกระดมจนนำไปสู่ความรุนแรงระหว่างประชาชนกับประชาชน ไม่สร้างบรรยากาศความเกลียดชังระหว่างกันจนอาจก่อวิกฤติสงครามกลางเมืองขึ้นในประเทศได้ในที่สุด

4. "เจ้าหน้าที่ภาคส่วนต่างๆ" ทั้งในส่วนราชการ ตำรวจ ทหาร สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร และสมาชิกวุฒิสภา พึงปฎิบัติหน้าที่ภายใต้กรอบของกฏหมายอย่างเคร่งครัด ไม่สนับสนุนความรุนแรงในทุกกรณี

5. "สถาบันหลักของชาติ" ที่มีบทบาทต่อสังคมไทยรวมถึงสถาบันการศึกษาและนักวิชาการ ควรสนับสนุนการหาทางออกให้แก่สังคมด้วยกระบวนการประชาธิปไตย ไม่ชี้นำไปในทางที่จะบั่นทอนความเป็นประชาธิปไตยของไทย รวมทั้งไม่รับข้อเสนอของฝ่ายใดๆในการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี หรือสภา ที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้ง เช่น การใช้มาตรา 7 หรือการตั้งสภาประชาชนเป็นต้น

6. สุดท้าย ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายมีการเจรจาหาทางออกร่วมกันโดยเร็วที่สุด

ความรุนแรงเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ไม่ว่าในกรณีใด ความพยายามเจรจาและแก้ปัญหาอย่างจริงใจเท่านั้นที่จะทำให้ทุกฝ่ายสามารถหาทางออกร่วมกันได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติประชาชนอย่างแท้จริง กลุ่มเพื่อประชาธิปไตยและความหลากหลายทางเพศ และผู้มีรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล สถาบันที่เกี่ยวข้อง และแกนนำมวลชนทุกฝ่ายที่กล่าวมาในข้างต้น ดำเนินการตามข้อเรียกร้องนี้เป็นกรณีเร่งด่วน  

 

รายชื่อผู้ร่วมลงนามแนบท้ายแถลงการณ์:

1. การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์ นักเขียน

2. ดาราณี ทองศิริ นักกิจกรรมอิสระ

3. อันธิฌา แสงชัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี

4. ศรัทธารา หัตถีรัตน์ นักกิจกรรมสิทธิความหลากหลายทางเพศ กลุ่มวงน้ำชา

5. ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ นักกิจกรรมสิทธิความหลากหลายทางเพศ

6. ชุมาพร แต่งเกลี้ยง มูลนิธิศักยภาพชุมชน, นักกิจกรรมสิทธิความหลากหลายทางเพศ กลุ่มวงน้ำชา

7. ก้าวหน้า เสาวกุล ประชาชน

8. ณฐกมล ศิวะศิลป ประชาชน

9. สุพีชา เบาทิพย์ นักกิจกรรมสิทธิทางเพศ

10. ชุติเดช ยารังษี นักเขียน

11. อัญชลี แก้วแหวน นักกิจกรรมอิสระ กลุ่มวงน้ำชา

12. พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ นักกิจกรรม

13. ธรรศ อับดุลเลาะห์ ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิเดอะพอส โฮมเซ็นเตอร์

14. อัญชนา สุวรรณานนท์ กลุ่มอัญจารี

15. ฤดี จุลกะเศียน ประชาชน

16. ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์

17. ปริญญา เพชรสังฆาต

18. กฤตธีพัฒน์ โชติฐานิตสกุล นักกิจกรรมสิทธิความหลากหลายทางเพศ

19. อังกุศ รุ่งแสงจันทร์ วิศวกร

20. รชฎ บุญประเสริฐ

21. ทวิช พุดดี

22. กาญจนา แถลงกิจ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์

23. ชยุตม์ ศิรินันทไพบูลย์ นักกิจกรรมสิทธิทางเพศ

24. อภิเชษฐ์ ตรงจิตอุทัย

25. วัลลภ บุญทานัง ประชาชน

26. อโนพร เครือแตง บรรณาธิการ สื่ออิสระ www.LovePattaya.com

27. อรรถวุฒิ บุญยวง

28. วรพล มาสแสงสว่าง

29. กฤชวรรธน์ โล่ห์วัชรินทร์

30. บัณฑิต ไกรวิจิตร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

31. พัชรี แซ่เอี้ยว

32. กิตติกา บุญมาไชย

33. ภีรนัฎฐ์ แก้วคำปา

34. ธณัฐพล ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา

35. จิรพงศ์ พลบูรณ์

36. เอกวัฒน์ พิมพ์สวรรค์

37. คำนวร เขื่อนทา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

38. วัฒนา มั่นเจริญ

39. เอนก จันทร์เครือ

40. ณัฎฐณิชา เหล็กกล้า นักศึกษา

41. นวภู แซ่ตั้ง

42. ธนสิษฐ์ ขุนทองพันธ์

43. กิตติพล เอี่ยมกมล

44. คมลักษณ์ ไชยยะ

45. ณัฐพงษ์ บุญธรรม

46. ศรเชียร สาราจารย์

47. กชกมล อนันตกฤตยาธร

48. สาริสา ธรรมลังกา นักศึกษาปริญญาโท สาขาทัศนศิลป์ มช.

49. จุลศักดิ์ แก้วกาญจน์

50. Pricha Kwunyeun M.D.

51. สุวรี เกตุไทย ตัดต่อรายการโทรทัศน์

52. เกตุวสุ เกตุไทย นักศึกษา

53. สุจินต์ เกตุไทย

54. ยุทธพันธุ์ เกตุไทย รับจ้าง

55. อุษณีย์ ตาปิน ผู้ใช้แรงงาน

56. ชมนาท ประสิทธิมนต์

57. สุมาลี โตกทอง

58. รัชนีชล ไชยลังการ์

59. คมธิวัฒน์ เกตุไทย ตัดต่อรายการโทรทัศน์

60. อนุชา วรรณาสุนทรไชย

61. ปราณี ศรีกำเหนิด

62. ชญานนท์ หนูหีต

63. นิพนธ์ อินทฤทธิ์

64. ลือชา กิจบำรุง

65. ภานุพงศ์ ธนะโคตร

66. ธันย์ ฤทธิพันธ์

67. จิฬาชัย พิทยานนท์

68. วรุฒ จักรวรรดิ์

69. ศักดิ์ดา ถวัลย์วรกิจ

70. เขียน ตะวัน

71. ชีวิน จั่นแก้ว

72. ปภังกร ศิริกาญจนภัย

73. พักตร์วิไล สหุนาฬุ

74. ชาญณรงค์ บุญหนุน มหาวิทยาลัยศิลปากร

75. ศักดิ์ชัย บุญมี ข้าราชการบำนาญ

76. สมชาย อดุลเจริญทอง

77. วัชรัสม์ บัวชุ่ม

78. เมธาวี เอกวิภพ ประชาชน

79. เสฎฐวุฒิ ทองมี, นิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

80. จตุรงค์ หิรัญกาญจน์

81. ณญา แซะหมูด

82. ศักดิ์ชัย บุญมี ข้าราชการบำนาญ

83. พริษฐ์ ชมชื่น

84. มิ่ง ปัญหา

85. รักษ์ศักดิ์ ก้งเส้ง

86. วริษฐา นาครทรรพ

87. สุริยาพร เอี่ยมวิจิตร์ นักศึกษา

88. อนุศักดิ์ แซะหมูด

89. อภิเชษฐ์ ตรงจิตอุทัย

90. อุษณีย์ ตาปิน (ผู้ใช้แรงงาน)
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Blognone วอนรัฐคุ้มครองโครงข่ายการสื่อสาร หลังตึกกสท.ถูกตัดไฟ

Posted: 30 Nov 2013 04:25 AM PST

เว็บข่าวไอทีอิสระด้านไอทีออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐวางมาตรการคุ้มครองโครงข่ายการสื่อสารอย่างจริงจัง หลังผู้ชุมนุมปิดตึก CAT และถูกตัดไฟ

30 พ.ย.56 เว็บไซต์ Blognone ซึ่งเป็นเว็บข่าวไอทีอิสระเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ไอที โทรคมนาคม และชีวิตในโลกดิจิทัล ออกแถลงการณ์ เรียกร้องรัฐวางมาตรการคุ้มครองโครงข่ายการสื่อสารอย่างจริงจัง หลังมีกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองล้อมอาคารของบริษัท กสท โทรคมนาคม ที่เขตบางรัก ซึ่งเป็นศูนย์ข้อมูลคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และมีการตัดไฟฟ้าของอาคารจนส่งผลกระทบให้เว็บไซต์จำนวนมากและการสื่อสารหลายช่องทางต้องปิดตัวลง ส่งผลกระทบต่อการสื่อสารภายในประเทศไทย และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง โดยมีรายละเอียดดังนี้

"ตามที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองกลุ่มหนึ่งเข้าล้อมอาคารของบริษัท กสท โทรคมนาคม ที่เขตบางรัก ซึ่งเป็นศูนย์ข้อมูลคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และมีการตัดไฟฟ้าของอาคารจนส่งผลกระทบให้เว็บไซต์จำนวนมากและการสื่อสารหลายช่องทางต้องปิดตัวลง ส่งผลกระทบต่อการสื่อสารภายในประเทศไทย และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง

ถึงแม้เป้าหมายของกลุ่มผู้ชุมนุมจะอ้างแรงจูงใจจากการเคลื่อนไหวในทางการเมือง แต่ระบบคอมพิวเตอร์ เซิร์ฟเวอร์ สายไฟ อุปกรณ์เครือข่ายต่างๆ ในศูนย์ข้อมูลนั้นเป็นเพียงอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีที่ทำให้การสื่อสารข้อมูลถูกส่งผ่านไปได้ เป็น "ท่อที่ไม่มีความคิดทางการเมือง" แต่อย่างใด

เว็บไซต์ไอที Blognone ขอแสดงจุดยืนดังนี้

ขอเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมทางการเมืองหลีกเลี่ยงการบุกรุกหรือการกระทำใดๆ ที่จะกระทบต่อโครงข่ายการสื่อสารของประเทศ โดยไม่เข้าปิดล้อมหรือสร้างความเสียหายต่อหน่วยงานด้านการสื่อสารขนาดใหญ่ทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นของภาครัฐหรือภาคเอกชน ไม่ว่าบุคคลากรของหน่วยงานนั้นๆ จะแสดงจุดยืนทางการเมืองในทิศทางใดก็ตาม

ขอเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐบาลที่เกี่ยวข้อง วางมาตรการคุ้มครองโครงข่ายการสื่อสารอย่างจริงจัง โดยหารือร่วมกันกับตัวแทนของหน่วยงานด้านการสื่อสารทุกแห่งของประเทศไทย

การสื่อสารช่วยให้ทุกคนในสังคมสามารถติดต่อกันได้ และต้องเป็นกลไกลำดับท้ายๆ ที่สังคมจะยอมสูญเสียไปในเหตุการณ์วิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ลักษณะใดก็ตาม"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ออกแถลงการณ์ปกป้องระบอบประชาธิปไตยคัดค้านอันธพาลการเมือง

Posted: 30 Nov 2013 03:38 AM PST

30 พ.ย. 2556 - สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ออกแถลงการณ์ "ปกป้องระบอบประชาธิปไตย คัดค้านอันธพาลการเมือง และการรัฐประหาร" โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้



แถลงการณ์ "ปกป้องระบอบประชาธิปไตย คัดค้านอันธพาลการเมือง และการรัฐประหาร"



ตามที่พรรคประชาธิปัตย์ โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำได้ก่อการชุมนุมทางการเมืองขับไล่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลไม่มีความชอบธรรมในการบริหารประเทศอีกต่อไป นายสุเทพฯ ในฐานะแกนนำได้เรียกร้องให้มีการจัดตั้งสภาประชาชน รัฐบาลประชาชนพร้อมทั้งชี้ทิศทางและเป้าหมายการชุมนุมว่าต้องการสร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่รัฐบาลไม่อาจตอบสนองได้ เพราะการดำเนินงานบริหารประเทศต้องอยู่ภายใต้วิถีทางตามที่รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย นโยบาย ต่างๆได้กำหนดไว้ สำหรับรัฐบาลปัจจุบันก็มาจากการเลือกตั้งและจัดตั้งขึ้นมาตามวิถีทางประชาธิปไตยแบบรัฐสภา การด่วนสรุปว่ารัฐบาลขาดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ พิจารณาแล้วยังไม่เห็นว่ามีมูลเหตุให้ปรักปรำเช่นนั้นได้

โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาลก่อนหน้านี้ที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แห่งพรรคประชาธิปัตย์ ที่ปราบปรามการชุมนุมทางการเมืองของคนเสื้อแดง ปี2553โดยการสั่งยิงด้วยกระสุนจริงโดยนักแม่นปืน สไนเปอร์ มีประชาชนเสียชีวิตเกือบ 100 คน บาดเจ็บร่วม 2000 คน แต่ก็หามีใครสักคนจะกล้าลุกขึ้นมาชี้หน้าประนามว่ารัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะนั้น หมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศส่วนความเห็นของคนเสื้อแดงก็ไม่มีหน่วยงานใดสนใจอยู่แล้วนายสุเทพฯ ยืนยันว่าการชุมนุมของมวลมหาประชาชนของเขานั้นจะไม่ยอมเลิกราแม้รัฐบาลจะยุบสภา ถามว่า แล้วเขาต้องการอะไรกันแน่ ข้อเสนอจัดตั้งสภาประชาชน ถามว่า แล้วจะเอารัฐสภาไปไว้ตรงไหน และเรียกร้องระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นี่เท่ากับเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็คือหัวหน้ากบฎต่อต้านขัดขวางรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และ มีทัศนะคติที่เป็นอันตรายต่ออุดมการณ์แห่งระบอบประชาธิปไตยอย่างยิ่ง เป็นพวกอันพาลไม่เคารพกติกาในทางการเมือง

ทั้งๆ ที่พรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันมาตลอดว่าเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย ส่วนการกระทำนั้นตรงกันข้าม เช่น การบุกยึดสถานที่ราชการเป็นการกระทำที่เรียกได้ว่าเป็นกบฎต่อระบอบประชาธิปไตย อย่างแท้จริงพี่น้องประชาชน ที่รักชาติรักประชาธิปไตย พึงพิจารณาให้เห็นธาตุแท้ แห่งการกระทำที่นำโดยนายสุเทพฯ และพรรคประชาธิปัตย์ ว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนหรือเพื่อสร้างความวุ่นวายในสังคม ให้เกิดเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ เพียงเพื่อประโยชน์ของพวกเขาเองมองประชาชนเป็นเพียงเครื่องมือทางการเมือง เพื่อไต่เต้าเข้ากอดกุมอำนาจรัฐ

ด้วยเหตุดังกล่าว สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ จึงขอแถลงต่อสาธาณชน ว่าเรามีจุดยืนอันแน่วแน่ในการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตยคัดค้านการสร้างเงื่อนไขแห่งความรุนแรงเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มิใช่กระบวนการประชาธิปไตย เช่น การรัฐประหาร คัดค้านการกระทำที่ขัดขวางบั่นทอนการทำงานของรัฐบาลเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพราะประชาธิปไตยเป็นเงื่อนไขพื้นฐานในการพัฒนาสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค ของประชาชนเพราะประชาธิปไตย เป็นกระบวนการพื้นฐานที่ขาดมิได้ในการแก้ไขปัญหาของประชาชนเพราะประชาธิปไตย จึงทำให้ประชาชนมีสิทธิอำนาจในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเราจึงต้องปกป้องระบอบประชาธิปไตยและรัฐบาลภายใต้ระบบนี้ให้มีเสถียรภาพ

แถลง ณ วันที่ 30 พ.ย 2556
สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.)
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

FTA Watch ชี้ก่อนยุบสภาควรแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกระบวนการประชาธิปไตยก่อน

Posted: 30 Nov 2013 03:25 AM PST

30 พ.ย. 2556 - กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงสื่อมวลชนเสนอข้อเสนอทางออกทางการเมือง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ข้อเสนอทางออกทางการเมือง โดย กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)

ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นและอาจแปรไปสู่การเผชิญหน้าและใช้ความรุนแรงระหว่างประชาชนทั้งสองฝ่าย หรือระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐนั้น

1. ทุกฝ่ายควรเคารพเจตนารมย์การเข้าร่วมชุมนุมของประชาชนทั้งสองฝ่าย ทั้งจากฝ่ายแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ต้องการปกป้องรัฐบาที่มาจากการเลือกตั้งและสิทธิในการเลือกตั้ง และคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ที่เรียกร้องการขจัดคอรัปชั่นของนักการเมืองและกลุ่มทุนขนาดใหญ่

เจตนารมณ์ของทั้งสองฝ่ายไม่ควรเป็นคู่ขัดแย้งกันและกัน แต่ควรเป็นหลักการร่วมที่สำคัญของการระบบการเมืองของประเทศ การชุมนุมของทั้งสองกลุ่มเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตย ตราบใดก็ตามที่ไม่มีการเรียกร้องอำนาจนอกระบบ ไม่ทำลายทรัพย์สินของรัฐและเอกชน และเป็นการชุมนุมโดยสันติปราศจากอาวุธ

2. เราขอเรียกร้องให้มีการปฏิรูปและแก้ไขปัญหาที่เป็นรากฐานของความขัดแย้งของสังคมไทย 3 ประการคือ

1) แก้ปัญหาการไม่ยอมรับหรือไม่ไว้วางใจต่อกลไกพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอันได้แก่การถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ  และแนวทางป้องกันปัญหาการแทรกแซงของอำนาจนอกระบบ  

2) แก้ไขปัญหาความเสมอภาคในการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนทุกกลุ่ม กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและเสียงข้างน้อยในกระบวนการประชาธิปไตยทั้งที่เกิดขึ้นในรัฐสภา (การจัดทำกฎหมาย ) และการกำหนดนโยบายสาธารณะ (นโยบายและแผนพัฒนาประเทศ นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ นโยบายและแผนด้านทรัพยากรธรรมชาติ การจัดทำโครงการพัฒนาต่างๆ ฯลฯ)  ตลอดจนการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและชุมชนจัดการตนเอง

3) ขจัดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคมไทย การขจัดและป้องกันปัญหาคอรัปชั่น รวมทั้งการขจัดการผูกขาดและควบคุมตรวจสอบอิทธิพลของกลุ่มทุนและบรรษัทขนาดใหญ่ในการกำหนดนโยบายและผลักดันโครงการที่เอื้อประโยชน์ต่อตัวเอง และสร้างผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่

3. เราเห็นว่าภายใต้สถานการณ์ที่ฝ่ายผู้ชุมนุมได้ยกระดับการชุมนุมเพื่อเข้าไปยึดสถานที่ราชการโดยมีเป้าหมายเพื่อขจัดระบอบทักษิณเป็นหลักโดยมิได้มีข้อเสนอการปฏิรูปทางการเมืองที่ชัดเจน ในขณะฝ่ายรัฐบาลยังคงพยายามรักษาอำนาจในการบริหารประเทศ หรือตัดสินใจยุบสภาโดยไม่ได้แสดงจุดยืนและไม่ได้แสดงเจตนารมย์ที่จะแก้ไขปัญหารากฐานความขัดแย้งทั้ง 3 ประการข้างต้นนั้น  จะไม่สามารถนำพาประเทศไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และการสร้างความเท่าเทียมเป็นธรรมได้อย่างที่ทั้งสองฝ่ายประสงค์

4. ดังนั้น ก่อนประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ต้องดำเนินการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกระบวนการประชาธิปไตย โดยจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีตัวแทนจากรัฐสภา จากกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่าย และจากภาควิชาการ/ภาคประชาสังคม/ภาคสังคมอื่นๆจำนวนเท่าๆกัน เพื่อสร้างรัฐธรรมนูญที่เป็นกติการ่วมที่เป็นไปตามเจตนารมย์  และออกแบบกลไกในรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการปฏิรูปกระบวนการกำหนดและการตัดสินใจนโยบายสาธารณะ  เพื่อให้การแก้ไขปัญหารากฐานทั้ง 3 ประการของสังคมไทยให้ได้อย่างแท้จริง

กรอบเวลาในการยุบสภา การร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ การจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ตลอดจนรายละเอียดอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดประชามติ การให้สัตยาบัน ตามข้อเรียกร้องของหลายฝ่ายให้เป็นไปตามการเจรจาของกลุ่มที่เกี่ยวข้อง

5. เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการยั่วยุ และใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และร่วมกันผลักดันให้เกิดการเจรจาขึ้นโดยเร็ว เพื่อให้สังคมก้าวพ้นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความรุนแรง ที่อาจนำประเทศไปสู่การรัฐประหาร เปลี่ยนการเผชิญหน้ามาเป็นการร่วมวางกติกาทางสังคมร่วมกันของทั้งรัฐสภา ตัวแทนของกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่าย และพลเมืองที่แสดงออกและประสงค์จะมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตประเทศในรูปแบบต่างๆ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้

Posted: 30 Nov 2013 02:21 AM PST

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้

วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ทปอ.ชี้แจง - ข่าวให้ปิดมหาวิทยาลัย 5-10 ธ.ค. ไม่เป็นความจริง

Posted: 29 Nov 2013 01:08 PM PST

รองประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยปฏิเสธข่าวให้มหาวิทยาลัยทั่วประเทศหยุดสอน 5-10 ธ.ค. ขณะที่รามคำแหงของดสอน 3 วัน 29 พ.ย. - 1 ธ.ค. เพื่อดูแลความปลอดภัยและทรัพย์สิน

รามคำแหงงดสอน 3 วัน 29 พ.ย. - 1 ธ.ค. เพื่อรักษาความปลอดภัย

30 พ.ย. 2556 - เมื่อวานนี้ (29 พ.ย. 56) ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้เผยแพร่ประกาศงดการเรียนการสอนตั้งแต่วันนี้ (29 พ.ย.56) จนถึงวันที่ 1 ธ.ค. 56 โดยระบุว่า "ด้วยขณะนี้สถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในสภาวะไม่ปกติ และเพื่อความปลอดภัยของนักศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยจึงขอประกาศงดการเรียนการสอน ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จนถึงวันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม 2556 และเพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถดูแลความปลอดภัยและทรัพย์สินของทางราชการได้"

"มหาวิทยาลัยจึงขอประกาศปิดมหาวิทยาลัยตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอให้บุคลากร นักศึกษา และผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเดินทางออกจากบริเวณมหาวิทยาลัยตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไป ส่วนนักศึกษาที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการสอบตามที่ได้ประกาศไว้ล่วงหน้านี้ ให้ประสานงานกับมหาวิทยาลัยเป็นกรณีๆ ไป จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน"

อย่างไรก็ตามกิจกรรมงานเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน 42 ปีรามคำแหง ในวันที่ 1 ธ.ค. 56 และกิจกรรมพิธีจุดเทียนชัยถวายพระพรของ ม.รามคำแหง ในวันที่ 5 ธ.ค. นี้ ที่ ม.รามคำแหง หัวหมาก จัดขึ้นตามปกติ

 

ที่ประชุมอธิการบดีฯ ปฏิเสธข่าวปิดมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ 5-10 ธ.ค.

ขณะเดียวกันตามที่ สำนักข่าวอิศรา รายงานเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 56 โดยพาดหัวข่าวว่า "ทปอ. "อารยขัดขืน" เล็งสั่งปิดมหาวิทยาลัยทั่วปท.5-10 ธ.ค." เนื้อหาอ้างว่าจะ ทปอ. ทำหนังสือเวียนแจ้งว่าให้ปิดมหาวิทยาลัยทั่วประเทศในวันที่ 5-10 ธันวาคม 2556 นั้น ล่าสุดเมื่อเวลา 19.24 น. เมื่อวันที่ 29 พ.ย. เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ ได้รายงานคำให้สัมภาษณ์ของ เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ในฐานะรองประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ปฏิเสธข่าว ทปอ.ทำหนังสือเวียนแจ้งไปยังมหาวิทยาลัยทั่วประเทศให้ปิดการเรียนการสอนทั่วประเทศในวันที่ 5-10 ธันวาคม 2556 โดยยืนยันว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง ทั้งนี้ ทปอ. จะประชุมหารือสถานการณ์ในวันที่ 2 ธ.ค. นี้ และจะเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อยื่นข้อเสนอในวันที่ 3 ธ.ค.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นายกฯ ให้สัมภาษณ์บีบีซียันรับมือได้ พร้อมเจรจารักษาประชาธิปไตย

Posted: 29 Nov 2013 09:43 AM PST

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีถึงสถานการณ์การเมืองไทยในขณะนี้ ยืนยันรับมือได้ พร้อมเจรจาผู้ชุมนุม ย้ำเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งและประชาธิปไตย และจะให้ไทยอยู่บนเส้นทางนี้

Source : bbcnews

29 พ.ย.2556 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีเป็นภาษาอังกษฤษถึงสถานการณ์การเมืองไทยในขณะนี้ โดยเธอยอมรับว่ามีคนที่ไม่ยอมรับเธอและรัฐบาลของเธอ แต่โปรดถามความห็นประชาชนกลุ่มอื่นๆ และเสียงส่วนใหญ่ที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลนี้ และที่สำคัญเธอย้ำหลายครั้งในการสัมภาษณ์ว่าเธอเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง และรัฐบาลนี้มาจากการเลือกตั้ง และประเทศไทยต้องรักษาระบอบประชาธิปไตย และการเลือกตั้งเอาไว้

ยิ่งลักษณ์ยังแสดงความเชื่อมั่นด้วยว่ารัฐบาลยังรับมือกับความโกลาหนที่เกิดขึ้นโดยใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งผู้สื่อข่าวบีบีซีแย้งว่า แต่ที่ผ่านมาตำรวจทำอะไรไมได้เลย ยิ่งลักษณ์ตอบว่าตำรวจดำเนินไปตามนโยบายตามขั้นตอน ซึ่งขณะนี้เป็นขั้นตอนของการเจรจา และสิ่งที่ต้องระมัดระวังมากก็คือนี่เป็นสถานการณ์ที่ละเอียดอ่อน

ผู้สื่อข่าวบีบีซี ถามต่อไปทำไมจึงไม่เลือกลาออกและกลับไปเป็นนักธุรกิจซึ่งแรงกดดันจะน้อยลงมาก ยิ่งลักษณ์ตอบว่า สิ่งสำคัญของประเทศไทยตอนนี้คือการรักษาระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง และเธอได้อุทิศตนให้กับประเทศนี้เพื่อรักษามันไว้ เพื่อให้ไทยยังคงอยู่บนเส้นทางประชาธิปไตย

ในส่วนของข้อเสนอให้ยุบสภาหรือลาออกนั้น ยิ่งลักษณ์ตอบว่าเธอไม่เลือกวิธีนั้นเพราะไม่แน่ใจว่านี่เป็นสิ่งที่จะทำให้กลุ่มผู้ประท้วงพอใจได้หรือไม่ ฉะนั้นปัญหาเฉพาะหน้าขณะนี้คือ ความวุ่นวานต้องสงบลงก่อน เจรจาและหาทาออกเพื่อเดินไปข้างหน้าต่อไปได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกัน ยิ่งลักษณ์ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็นสั้นๆ โดยเธอกล่าวว่า รัฐบาลพร้อมเปิดการเจรจากับผู้ชุมนุม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลสั่ง 3 แดงถูกยิงตาย 14 พ.ค.53 ไม่ทราบฝีมือใคร

Posted: 29 Nov 2013 08:22 AM PST

ศาลสั่งปิยะพงษ์ กิติวงศ์, ประจวบ ศิลาพันธ์และสมศักดิ์ ศิลารัตน์ ถูกยิงตายสวนลุมและลาน ร.6  วันที่ 14 พ.ค.53 ช่วงสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. แต่ยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

29 พ.ย.2556 ทีมข่าวอาชญากรรม ผู้จัดการออนไลน์  รายงาน ที่ห้องพิจารณา 601 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถ.เจริญกรุง ศาลอ่านคำสั่งคดีหมายเลขดำ ช.3/2556 ที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพ นายปิยะพงษ์ กิติวงศ์ ผู้ตายที่ 1 การ์ดแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายประจวบ ศิลาพันธ์ ผู้ตายที่ 2 ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตภายในสวนลุมพินี และนายสมศักดิ์ ศิลารัตน์ ผู้ตายที่ 3 ซึ่งถูกยองบริเวณลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 6  ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2553

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้ร้องและญาติผู้ตายทั้งสาม ประกอบด้วย ประจักษ์พยาน พยานแวดล้อม และผู้เชี่ยวชาญแล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ระหว่างวันที่ 12 มี.ค.-19 พ.ค. 2553 มีการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ที่บริเวณแยกผ่านฟ้า เพื่อเรียกร้องให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นยุบสภา และจัดการเลือกตั้งใหม่ และได้มีการขยายพื้นที่ชุมนุมไปยังบริเวณราชประสงค์ และถนนเพลินจิต โดยในวันที่ 14 พ.ค. 2553 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารม้าที่ 23 รักษาพระองค์ พร้อมอาวุธปืนปฏิบัติหน้าที่บริเวณถนนพระรามที่ 4 ด้านในสวนสาธารณะลุมพินี และบริเวณฝั่ง สน.ลุมพินี ขณะนั้นมีเสียงปืนดังขึ้นมาในสวนสาธารณะลุมพินี ผู้ตายที่ 1 ได้ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของเพื่อนที่เป็นการ์ด นปช.เข้าไปในพื้นที่สาธารณะสวนลุมพินี โดยระหว่างแยกสำรวจกับเพื่อน มีกระสุนปืนยิงมาที่ผู้ตายที่ 1 ทำให้เสียหลักล้มลง และถูกยิงซ้ำระหว่างหลบหนี จนทำให้ถึงแก่ความตายบริเวณริมสระน้ำด้านหลังหอนาฬิกาภายในสวนสาธารณะลุมพินี จากการตรวจชันสูตรศพพบว่าผู้ตายที่ 1 ถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด.223 นิ้ว หรือ 5.56 มิลลิเมตร ทำลายเส้นเลือดแดงใหญ่บริเวณคอ ส่วนผู้ตายที่ 2 ถึงแก่ความตายโดยถูกยิงด้วยกระสุนปืนไม่ทราบชนิดและขนาด ทะลุหัวใจและตับ ทำให้เสียเลือดมาก พบศพผู้ตายที่ 2 อยู่บริเวณพื้นสนามหญ้าใกล้สระน้ำภายในสวนสาธารณะลุมพินี ห่างจากจุดที่พบศพผู้ตายที่ 1 ประมาณ 100 เมตร โดยทิศทางของกระสุนปืนที่ยิงผู้ตายทั้งสองมาจากฝั่งถนนวิทยุ หรือถนนพระรามที่ 4 ส่วนผู้ตายที่ 3 มีพยานเบิกความว่าขณะผู้ตายที่ 3 ยืนอยู่หน้าลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 ได้ยินเสียงปืนดังจากฝั่งตรงข้าม และเห็นเจ้าหน้าที่ทหารยิง เอ็ม 16 ใส่กลุ่มผู้ชุมนุม ผู้ตายและเพื่อนจึงได้หนีไปหลบหลังอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 ขณะนั้นเพื่อนผู้ตายได้วิ่งไปหลบหลังรถกระบะ และได้ตะโกนเรียกผู้ตายที่ 3 ให้วิ่งตามไป แต่ผู้ตายที่สามไม่ตอบรับ กระทั่งได้ยินเสียงปืนอีกครั้ง เมื่อหันไปพบว่าผู้ตายที่ 3 ถูกยิงเสียชีวิต โดยจากการชันสูตรพลิกศพพบว่าถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด.223 นิ้ว หรือ 5.56 มิลลิเมตร ทำลายสมองขณะยืนอยู่บริเวณลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 ด้านถนนราชดำริ โดยวิถีกระสุนเป็นแนวราบมาจากด้านหน้าพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 ด้านถนนราชดำริ หรือถนนพระรามที่ 4

จึงมีคำสั่งว่าผู้ตายทั้งสามรายถึงแก่ความตายภายในสวนสาธารณะลุมพินี เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2553 โดยผู้ตายที่ 1-2 เสียชีวิตภายในสวนสาธารณะลุมพินี เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายของผู้ตายที่ 1 สืบเนื่องจากบาดแผลกระสุนปืน ขนาด.223 นิ้ว หรือ 5.56 มิลลิเมตร ทำลายเส้นเลือดแดงใหญ่บริเวณคอ ผู้ตายที่ 2 เสียชีวิตเนื่องจากบาดแผลกระสุนปืนไม่ทราบชนิดและขนาดทะลุหัวใจและตับทำให้เสียเลือดมาก โดยวิถีกระสุนมาจากฝั่งถนนวิทยุหรือถนนพระราม 4 แต่ยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ ส่วนเหตุและพฤติการณ์การตายของผู้ตายที่ 3 เนื่องจากกระสุนปืนขนาด .223 นิ้ว หรือ 5.56 มิลลิเมตรทำลายสมองโดยมีวิถีกระสุนมาจากบริเวณด้านหน้าพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 แต่ยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุเทพประกาศควบคุมเบ็ดเสร็จศูนย์ราชการ กสท. ทีโอที- 1 ธ.ค. จะเป็นวันแห่งชัยชนะ

Posted: 29 Nov 2013 06:01 AM PST

เปิดตัว "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" หรือ กปปส. ตั้งเป้ายึดทำเนียบรัฐบาล - สตช. - นครบาล - ที่ตั้งกระทรวง - ศาลากลางทุกจังหวัด 'ด้วยมือเปล่า' และจะประกาศชัยชนะขจัดระบอบทักษิณในวันที่ 1 ธ.ค.

บรรยากาศการชุมนุม และการเปิดตัว "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" หรือ กปปส. ที่ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2556 (ที่มา: Blue Sky Channel)

 

29 พ.ย. 2556 - เมื่อเวลา 19.40 น. ที่ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำผู้ชุมนุมขจัดระบอบทักษิณได้ขึ้นปราศรัย ระบุว่า "มวลมหาประชาชน ผู้รักชาติ รักแผ่นดิน ที่เคารพรักทุกท่าน ทุกเวทีทั่วประเทศไทย และในโลก พวกเราคณะแกนนำของกราบสวัสดีทุกท่าน ด้วยความเคารพเป็นอย่างยิ่ง พี่น้องที่เคารพรักทั้งหลาย เราได้ลุกขึ้นยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ ต่อสู้ร่วมกัน โดยมีเป้าหมายชัดเจนว่า เราจะร่วมกันขจัดระบอบทักษิณให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทย เพื่อที่ประชาชนชาวไทยทั้งหลายจะได้ร่วมกันกำหนดกฎเกณฑ์กติกา แล้วทำการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทย ให้เป็นประเทศไทยในความฝันของทุกคน คือเป็นประเทศไทยที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข นั่นคือความใฝ่ฝันของคนไทยทั้งประเทศขณะนี้ และเราเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า เมื่อขจัดระบอบทักษิณหมดสิ้นไปจากประเทศไทยแล้ว ปวงชนชาวไทยก็จะเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยในฐานะที่เป็นเจ้าของประเทศ ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ที่กระผมได้กราบเรียนพี่น้องประชาชนไปเมื่อคืนนี้"

"สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับมอบอำนาจอธิปไตยไปจากประชาชน แต่ได้ร่วมมือทรยศประชาชนแน่แล้ว ความผิดเป็นที่ปรากฏชัดต่อศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยและพิพากษาบอกกล่าวให้คนทั้งประเทศทั้งโลกว่าฝ่ายรัฐบาลทำผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายรัฐธรรมนูญชัดเจน สภาผู้แทนได้ออกมาปฏิเสธคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ปฏิเสธอำนาจศาลรัฐธรรมนูญซึ่งศาลรัฐธรรมนูญตั้งขึ้น ดำรงอยู่ และมีอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้รัฐบาลไม่เคารพบทบัญญัติศาลรัฐธรรมนูญ และหมดความชอบธรรมตั้งแต่ออกมาดาหน้าปฏิเสธรัฐธรรมนูญ"

"ประชาชนคนไทยทั้งประเทศได้ลุกขึ้นปฏิเสธรัฐบาล เมื่อ 24 พ.ย. มากกว่า 1 ล้านคน นั่นเป็นหลักฐานชัดเจนว่ารัฐบาลนี้นอกจากหมดความชอบธรรมตามกฎหมายแล้ว ยังหมดความชอบธรรมทางการเมืองด้วย เพราะประชาชนเจ้าของอำนาจลุกขึ้นมาบอกว่าไม่เอารัฐบาลนี้แล้ว รัฐบาลนี้ต้องออกไปจากอำนาจไม่มีอำนาจทางกฎหมาย และทางปฏิบัติในการบริหารบ้านเมือง เป็นจังหวะที่ต้องคืนอำนาจให้เจ้าของอธิปไตยตัวจริง ได้เข้ามาจัดการบ้านเมืองให้เรียบร้อย"

"ประชาชนได้ลุกขึ้นแสดงตนต่อต้านระบอบทักษิณอย่างสงบสันติ เรียกว่าอหิงสา ให้รัฐบาลและคนระบอบทักษิณได้คิด ได้ตัดสินใจให้ถูกต้อง แต่ระบอบทักษิณ คนของระบอบทักษิณ ดื้อด้าน ไม่ยอมคืนอำนาจให้ประชาชน ประชาชนพลเมืองดีพวกเราทั้งหลาย ทุกกลุ่ม ทุกสาขาอาชีพ จึงจำเป็นต้องลงมือปฏิบัติการด้วยตัวเอง เพื่อให้ระบอบทักษิณสิ้นไปจากแผ่นดินไทยเด็ดขาดเสียที ในการดำเนินการอย่างนี้ มวลมหาประชาชน จากทุกเครือข่ายทุกองค์กร ทุกกลุ่ม ได้สมัครสมานสามัคคีกันเป็นเลิศ และรวมพลังอย่างเข้มแข็ง ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศไทย"

ผมขออนุญาตแนะนำให้พี่น้องประชาชนคนไทย ได้รู้จัก ได้ทราบ บรรดาผู้ที่เป็นตัวแทนของกลุ่ม เครือข่าย ขององค์กรประชาชนในสาขาอาชีพต่างๆ ที่ได้ร่วมมือร่วมใจเคียงบ่าเคียงไหล่กับพี่น้องประชาชนในการต่อสู้เพื่อขจัดระบอบทักษิณให้พ้นจากแผ่นดินไทยครั้งนี้"

สุเทพกล่าวว่า "ผมจะเริ่มต้นจากกลุ่มบุคคลที่เป็นที่เคารพนับถือของประชาชน ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ ในฐานะที่เป็นนักวิชาการ และก็เป็นผู้ที่มีความสงบเรียบร้อยที่สุดในบ้านเมือง ไม่เคยคิดแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกับฝ่ายไหน แต่เมื่อประเทศมีภัยอย่างนี้ ผู้ทรงภูมิความรู้อย่างนี้เหลืออดทนไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ได้แสดงตนลุกขึ้นกอดคอเคียงข้างประชาชน สู้ร่วมกัน ไม่ได้มาหมดนะครับ ขอเฉพาะตัวแทนมา ซึ่งผมก็จะขออนุญาตแนะนำตามลำดับดังนี้ ท่านแรกก็คือ ศ.ดร.สมบัติ ธํารงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดีนิด้า ท่านที่ 2 อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์ เครือข่ายซีวิคเน็ต ท่านที่ 3 รศ.ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน จากนิด้าเช่นกัน ท่านที่ 4 รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คงสม จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ท่านที่ 5 อาจารย์ชัยวัฒน์ สุรวิชัย นักวิชาการอิสระ อยู่ข้างล่างนี่ครับ ท่านที่ 6 ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ จากนิด้า ท่านที่ 7 ผช.ดร.ทวี สุรฤทธิกุล และท่านที่ 8 รศ.ดร.วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ นี่เป็นผู้แทนของกลุ่มนักวิชาการ อาจารย์ที่เป็นตัวแทนของคนทรงภูมิความรู้ และได้ร่วมต่อสู้กับพี่น้องทั้งหลาย"

"นอกจากนี้ก็จะมีกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ซึ่งวันนี้มีตัวแทนมาอยู่กับเรา 3 ท่านคือ 1.คุณนิติธร ล้ำเหลือ ท่านที่ 2 คือคุณอุทัย ยอดมณี และท่านที่ 3 ก็คือ คุณสุริยะใส กตะศิลา การต่อสู้ของประชาชนคราวนี้ มีสิ่งที่โดดเด่นที่คนทั้งประเทศจะต้องคิด และเข้าใจได้เลยว่า สถานการณ์บ้านเมืองมันเหลืออดเหลือทนแล้ว คนเหล่านี้จึงออกมาทำงานการเมืองครั้งแรกในชีวิตและเป็นครั้งสำคัญ นั่นคือกลุ่มประชาคมนักธุรกิจสีลม เป็นพ่อค้าแม่ขายไม่ยุ่งเรื่องการเมืองกับใคร แต่วันนี้ประเทศมีภัยเพราะระบอบทักษิณทนไม่ไหวแล้ว ออกมาร่วมต่อสู้กับพี่น้องทั้งหลาย มีตัวแทนที่พร้อมขึ้นมาอยู่กับพี่น้องทั้งหลายบนเวทีนี้คือ คุณสาทิตย์ เซกัล และคุณราเชน ตระกูลเวียง นี่เป็นผู้แทนของประชาคมนักธุรกิจสีลม นอกจากนั้น ยังมีเครือข่ายนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย วันนี้ ส่งเลขาธิการคือ คุณพรศักดิ์ ลิ้มบุญประเสริฐ มาอยู่กับพวกเรา แน่นอนครับ ในทุกการต่อสู้ของประชาชนจะมีคนที่ยืนหยัดเป็นกำลังหลักของประชาชนเสมอมาคือ กองทัพธรรม"

"วันนี้มีผู้แทนของกองทัพธรรม ซึ่งจะมียืนยันเจตนารมณ์ในการต่อสู้ร่วมกับพี่น้องประชาชนคือ ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ คุณมั่นแม่น กะการดี มีกองทัพธรรมก็ต้องมีกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ ผู้แทนกองทัพประชาชนวานนี้ ที่มาร่วมยืนอยู่บนเวทีนี้ เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ที่จะต่อสู้กับพี่น้องประชาชนในโค้งสุดท้ายคือ พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ พล.อ.ชูเกียรติ ตันสุวัฒน์ พล.อ.ท.วัชระ ฤทธาคนี คุณสนธิ เตชานันท์ คุณพิเชฐ พัฒนโชติ น.พ ระวี มาดฉมาดล และมีผู้แทนจากเครือข่ายประชาชนปฏิรูปประเทศ 77 จังหวัด คุณสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์"

"การต่อสู้คราวนี้ นอกจากมีเครือข่ายองค์กรต่างๆ แล้ว ยังมีกองกำลังของประชาชนที่สำคัญที่สุด และวันนี้ เมื่อเห็นชาติบ้านเมืองมีปัญหา ประชาชนเดือดร้อน ประเทศเสียหาย คนเหล่านี้ตัดสินใจประกาศตัวร่วมการต่อสู้กับพี่้น้องประชาชน นั่นคือ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ผนึกกำลังกันทุกรัฐวิสาหกิจ 45 รัฐวิสาหกิจด้วยกัน ขณะนี้ ขึ้นเวทีอยู่ราชดำเนินบางส่วนและมีตัวแทนมาขึ้นเวทีที่นี่กับพวกเราบางส่วน ท่านแรกที่ผมแนะนำกับพี่น้องก็คือ คุณคมสัน ทองศิริ เป็นเลขาธิการของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ คุณมานพ เกื้อรัตน์ กรรมการของสมาพันธ์ คุณสาวิทย์ แก้วหวาน และแน่นอนครับ คุณสมศักดิ์ โกศัยสุข นอกจากนั้นยังมีนักสู้ของประชาชนที่เป็นกำลังสำคัญของประชาชน ที่จะร่วมต่อสู้กับเราอย่างถึงที่สุด คุณสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม คุณไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ พี่น้องครับและแกนนำของกลุ่มประชาชนที่เริ่มต้นจากสามเสน ไปราชดำเนินไปกระทรวงการคลัง และมาปักหลักที่ศูนย์ราชการวันนี้"

วันนี้เราต้องกระจายกันอยู่ 3 เวที ทั้งที่ราชดำเนิน ทั้งที่กระทรวงการคลัง ทั้งที่ศูนย์ราชการ มาร่วมอยู่บนเวทีแห่งนี้บางส่วนครับ ที่เหลือคงจะแสดงตัวอยู่ที่ 2 เวทีนั้น ที่อยู่บนเวทีนี้ขณะนี้ก็มี คุณถาวร เสนเนียม คุณชุมพล จุลใส คุณณัฏฐพล ทีปสุวรรณ คุณพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ คุณเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ คุณสกลธี ภัททิยกุล"

ทั้งนี้ แกนนำจากกลุ่มต่างๆ จะร่วมกันเคลื่อนไหวในนาม "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" หรือ กปปส.

หลังจากแนะนำชื่อเครือข่ายใหม่ สุเทพได้กล่าวติดตลกว่า "ชื่อยาวหน่อย แต่ความหมายชัดเจน ชื่อย่อๆ ว่า กปปส. จะเป็นองค์กรกำหนดแนวทางตัดสินใจต่อสู้กับระบอบทักษิณ จัดการให้ระบอบนี้พ้นจากประเทศไทยให้ได้"

สุเทพกล่าวว่า "คณะกรรมการ กปปส. ได้ปรึกษาหารือกัน และได้ตัดสินใจแล้ว กำหนดวันแห่งชัยชนะของมวลมหาประชาชนแล้วครับ ไม่ต้องการให้พี่น้องประชาชนต้องทนทุกข์ทรมานกับการต่อสู้ยาวนานอีกต่อไป คณะกรรมการ กปปส. ได้กำหนดให้ 1 ธันวาคม 2556 คือวันแห่งชัยชนะของมวลมหาประชาชน"

"พี่น้องที่เคารพ พี่น้องผู้รักชาติรักแผ่นดินที่เคารพ ขอได้โปรดสดับ วันแห่งชัยชนะของมวลมหาประชาชน ชัยชนะจะเกิดได้ต้องร่วมแรงร่วมใจกันลงมือขจัดระบอบทักษิณให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทย  เพราะนี่คือปฏิบัติการของพลเมืองดี ปฏิบัติการของมวลมหาประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง เราจึงได้กำหนดแผนการปฏิบัติการที่เป็นไปโดยสันติ โดยสงบ ปราศจากอาวุธ อหิงสาเต็มรูปแบบ การปฏิบัติการของเราเพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์ จึงไม่มีเรื่องของการใช้กำลัง หรือการใช้ความรุนแรงใดๆ ทั้งสิ้น เพราะนี่คือการปฏิบัติของพลเมืองดี ต้องใช้จำนวนคนมากมหาศาล การจะให้พี่น้องทั้งหลายได้เข้ามาร่วมแรงร่วมใจมหาศาล จึงจำเป็นต้องมีการชี้แจงแผนการปฏิบัติการ วันเวลาของปฏิบัติ เพื่อที่พี่น้องประชาชนทั้งหลาย จะได้เข้าร่วมในปฏิบัติการพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ"

สุเทพชี้แจงปฏิบัติการว่าจะเริ่มต้นตั้งแต่คืนวันที่ 29 พ.ย. เป็นต้นไป "เราจะเริ่มลงมือปฏิบัติการตั้งแต่คืนนี้เป็นต้นไปครับ การปฏิบัติการของเรา นับจากคืนนี้เป็นต้นไป คือพี่น้องที่มาชุมนุมพร้อมเพรียงที่นี่หลายหมื่นคน ทำหน้าที่ควบคุมพื้นที่ศูนย์ราชการ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของการปฏิบัติราชการที่นี่ เราได้เดินเท้าจากถนนราชดำเนินมายังศูนย์ราชการที่นี่เป็นระยะทางถึง 17 กม. แล้วมีมวลมหาประชาชนได้เข้ามาร่วมกระบวนมากมายหลายกิโลเมตร และได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากพี่น้องข้าราชการทั้งหลาย พี่น้องข้าราชการได้ตัดสินใจหยุดการปฏิบัติงานมาร่วมการต่อสู้กับมวลมหาประชาชน"

"ข้าราชการที่ยังลังเล ตัดสินใจไม่ได้ พวกเรามวลมหาประชาชนจะรอท่านทั้งปีทั้งชาติต่อไปไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นขอประกาศในนาม กปปส. ว่าตั้งแต่คืนนี้เป็นต้นไป กองกำลังของมวลมหาประชาชนจะควบคุมพื้นที่ศูนย์ราชการแห่งนี้โดยสมบูรณ์ เด็ดขาด และไม่มีการทำงานกันอีก ตั้งแต่วันจันทร์เป็นต้นไป พี่น้องข้าราชการที่เคยมาทำงานที่ศูนย์ราชการแห่งนี้ ไม่ต้องมาทำงานแล้ว อยู่ที่บ้าน ไม่ต้องมาทำงานอีกแล้ว จนกว่าจะได้รับประกาศให้มาทำงาน"

"โดย กปปส. อนุญาตให้มาร่วมปฏิบัติกับพี่น้องประชาชนได้ทุกวัน ตั้งแต่คืนนี้เป็นต้นไป พกสัญลักษณ์ธงชาติ และนกหวีดมาด้วย"

ทั้งนี้ สุเทพปราศรัยว่า จะอนุญาตให้ข้าราชการ 2 หน่วยเข้ามาทำงานในศูนย์ราชการ ได้แก่ข้าราชการสังกัดศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ และข้าราชการของกองทัพไทย

"นอกนั้นไม่ต้องมานะครับ นอนอยู่ที่้บ้าน หรือถ้ามาก็มาร่วมกับขบวนการประชาชน" สุเทพกล่าว และกล่าวต่อไปว่า "นอกจากศูนย์ราชการแห่งนี้ต้องเข้าควบคุมพื้นที่ศูนย์ราชการแล้ว เราจะเข้าไปควบคุมพื้นที่ของ กสท. โทรคมนาคม และบริษัททีโอที มหาชน จำกัด เชื่อว่าทุกอย่างจะเป็นไปโดยเรียบร้อยในวันพรุ่งนี้เช้า เราเลือกดำเนินการวันเสาร์ วันอาทิตย์ เพราะไม่ต้องการให้มีผลกระทบ และไม่ต้องการให้มีการขัดขืนใดๆ เพื่อให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย พี่น้องที่ทำงานใน กสท. และทีโอที ให้การต้อนรับการเดินขบวนของมวลมหาประชาชนตั้งแต่วันแรก และเข้าควบคุมพื้นที่ทั้งสองบริษัท การปฏิบัติงานของเราในวันเสาร์ จะเป็นไปอย่างนี้ ผมและคณะกรรมการแกนนำ จะใช้สถานที่ศูนย์ราชการแห่งนี้เป็นจุดประสานงาน เป็นศูนย์บัญชาการ"

"และทันทีที่เราประกาศ ฝ่ายรัฐบาลคงคิดเตรียมกำลังมาจับกุมพวกเรา เพราะฉะนั้นงานแรกของมวลมหาประชาชน คือรักษาฐานที่มั่นศูนย์ราชการตั้งแต่คืนนี้เป็นต้นไป เมื่อจัดการกับศูนย์ราชการนี้ บริษัท กสท โทรคมนาคม และบริษัท ทีโอที มหาชนจำกัดแล้ว วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม กองกำลังส่วนอื่นของคณะกรรมการประชาชนฯ ก็จะเข้าไปปฏิบัติควบคุมพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจนครบาล กระทรวงศึกษาธิการที่ต้องเข้าไปกำกับตรงนี้ รวมทั้งที่สวนสัตว์ดุสิต หรือเขาดิน เพราะตำรวจตั้งกำลังอยู่ที่นี้ นอกจากนั้นกองกำลังของเราจะเข้าควบคุมพื้นที่กระทรวงแรงงาน เพราะเป็นที่ตั้งของ ศอ.รส. และเราจะเข้าไปควบคุมพื้นที่กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กรมประชาสัมพันธ์ ส่วนกระทรวงการคลัง และสำนักงานงบประมาณนั้น เราควบคุมพื้นที่อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว"

"พี่น้องที่เคารพรักทั้งหลาย เราก็มีความจำเป็นที่ต้องเข้าควบคุมพื้นที่กระทรวงต่างประเทศด้วย พื้นที่ส่วนราชการเหล่านี้ เราได้ให้เครือข่ายต่างๆได้ไปซ้อมการเข้าควบคุมพื้นที่มาแล้วคือ ไปเยี่ยมมาแล้วทั้งนั้น ตอนนี้ถึงคราวปฏิบัติจริง และเข้าควบคุมพื้นที่ทุกกระทรวง ทบวง กรม ให้พี่น้องข้าราชการไม่ต้องมาทำงานอีกแล้ว และขอแจ้งข่าวไปถึงพี่น้องที่ทำงานในรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ไม่ต้องมาทำงานอีกแล้วตั้งแต่วันจันทร์เป็นต้นไป ยกเว้นบริษัทการบินไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัทขนส่ง จำกัด ขสมก. ที่จะทำให้เกิดความเดือดร้อนประชาชน ท่านร่วมกับเราเฉพาะกิจกรรมอื่น แต่ยังคงต้องบริการพี่น้องประชาชนต่อไปครับ" สุเทพกล่าว

สุเทพกล่าวด้วยว่า เมื่อท่านทราบแล้ว สะดวกวันไหนไปที่นั่น ถ้าไปไม่ถูกไปที่เวทีราชดำเนินก่อนทั้งที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือ กปท. หรือ คปท. ไปได้ทุกเวที มีงานให้พี่น้องร่วมทำทุกแห่ง

สุเทพกล่าวว่าที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 30 พ.ย. จะมีการตั้งกระบวนรอไว้ล่วงหน้าแล้ว และเวลานัดหมายคือ เวลา 10.45 น. โดยจะไปที่กระทรวง ทบวง กรมไม่ต้องรอใครชวนใครแล้ว วันนี้ทุกคนพกหัวใจที่ยิ่งใหญ่ พกความรักชาติปฏิบัติการพร้อมกัน

สุเทพกล่าวด้วยว่า นักธุรกิจสีลมจะไปควบคุมกระทรวงพาณิชย์ด้วยตัวเอง และเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมให้ช่วยกันตื่นตัว ระมัดระวัง ช่วยกันเป็นหูเป็นตา ไม่ให้มีการสลายการชุมนุม รวมทั้งเรียกร้องให้ไปยึดพื้นที่ศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด "คนที่ดูหน้าจอ ไม่ต้องอยูที่บ้านแล้ว" สุเทพย้ำ

สุเทพกล่าวด้วยว่า "ตอนบ่ายแก่ๆ ของวันที่ 1 ธ.ค. 2556 เราจะได้มีแถลงการณ์ประกาศชัยชนะขั้นเด็ดขาดของประชาชนด้วยกัน และเวลานั้น ก็จะไม่มีระบอบทักษิณอยู่ในแผ่นดินนี้อีกต่อไป" 

"ต้องกราบเรียน ย้ำ และยืนยันกับพี่น้องทั้งหลายคือ เรายึดหลักการต่อสู้ที่สันติ สงบ และปราศจากอาวุธจริงๆ โปรดออกจากบ้านด้วยมือเปล่า มีรองเท้าผ้าใบ มีเป้ใส่น้ำขวด ไม่ต้องพกอาวุธไป มีหัวใจที่ยิ่งใหญ่พอแล้ว เราทำแค่นี้ โลกจะบันทึกการต่อสู้ของชาวไทยในครั้งนี้"

สุเทพกล่าวติดตลกด้วยว่า "หากมีเจ้าหน้าที่หน่วยจู่โจมกำลังเตรียมขบวนเฮลิปเตอร์ที่จะมาจับกุมแกนนำ พอเขาลงมาก็กอดเขาด้วยความรักอย่างเดียว ไม่ต้องทำร้ายเขา เพราะนั่นคือคนของประชาชน อย่าให้เขาไปทำร้ายประชาชน กอดเอาไว้ด้วยความรัก"

โดยเขาย้ำว่าจะร่วมปฏิบัติการด้วยกันตั้งแต่คืนนี้ วันพรุ่งนี้ และวันที่ 1 ธ.ค. จนกระทั่งเสร็จสิ้นภารกิจ

"พี่น้องไม่ว่าท่านจะมีข้อคิด มีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องปฏิบัติการของมวลมหาประชาชนครั้งนี้ ขอให้คิดว่าเป็นส่วนปลีกส่วนย่อย ให้มุ่งมั่นอย่างเดียวว่าต้องร่วมกันขจัดระบอบทักษิณให้หมดไปให้ได้ นั่นคือเรื่องสำคัญ เรื่องอื่นเรื่องเล็ก ทำอย่างเดียวร่วมแรงกันจัดการกับระบอบทักษิณ ทำด้วยความกล้าหาญ ด้วยหัวใจยิ่งใหญ่ คือหัวใจรักชาติ รักแผ่นดิน คงมีคนตั้งคำถามกับพี่น้อง ไหนจะต่อสู้สันติวิธี ไหนจะอหิงสา การบุกรุกสถานที่ราชการผิดกฎหมายไม่ใช่หรือ พี่น้องต้องยิ้ม และอธิบายเขา 'ทูนหัวไม่ผิดกฎหมายเสียเลยมันคงชนะไม่ได้' ผมไปอ่านตำราอาจารย์ชัยวัฒน์ (สถาอานันท์) แล้ว ท่านเป็นนักสันติวิธี ท่านอธิบายชัดเจนอารยะขัดขืนแม้จะเป็นการทำผิดกฎหมาย ถ้าไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ใช้อาวุธ ไม่หลุดกรอบอารยะขัดขืน และสันติวิธี และจำเป็นต้องทำผิดกฎหมายเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้ได้รับชัยชนะ ไม่ใช่ชัยชนะเพื่อตัวเอง แต่เป็นชัยชนะเพื่อชาติ เพื่อแผ่นดิน เมื่อชนะแล้ว จะดำเนินคดีกับเราก็ยินดี ไม่หนีไปไหน"

"เราไม่ได้ปฏิเสธกฎหมาย เหมือนรัฐบาลปฏิเสธรัฐธรรมนูญ และเราพร้อมรับโทษกระบวนการยุติธรรม ไม่หลบเลี่ยงโดยเด็ดขาด ถึงวันนั้นจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จะสารภาพผิด ศาลลงโทษจำคุกกี่ปีก็แล้วแต่ ประเทศไทยรอดปลอดภัยก็คุ้มแล้วพี่้น้อง นี่คือสิ่งที่เราจะทำ ขอให้ทำใจให้ผ่องแผ้ว แจ่มใส เราไม่ได้ทำเพื่อพรรคการเมือง แต่เราทำเพื่ออนาคตประเทศไทย อนาคตลูกหลาน จะได้เป็นเสรีชน เมื่อเราจัดการระบอบทักษิณเสร็จเรียบร้อย เราจะได้เริ่มเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยด้วยมือของประชาชน ให้ประเทศเราได้ก้าวไปข้างหน้า อย่างประเทศที่มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ไม่มีทุนสามานย์ ไม่มีทุจริต ไม่มีข้าราชการขี้ข้า เป็นรัฐบาลโดยประชาชนแท้จริงเท่านั้น ในฐานะเลขาธิการ กปปส. ขอกราบพระคุณพี่น้องประชาชนชาวไทยที่จะร่วมแรงร่วมกันปฏิบัติการพร้อมกันเพื่อประเทศไทยนับตั้งแต่นาทีนี้เป็นต้นไป" สุเทพกล่าว โดยมวลชนต่างสงเสียงไชโยอย่างอึงมี่

ขณะเดียวกันที่เวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีต ส.ส. ตรัง และแกนนำบนเวทีได้นัดหมายให้ผู้ชุมนุมมาพร้อมกันตั้งแต่เช้า และจะเริ่มเคลื่อนขบวนไปสู่ที่ตั้งสถานที่ราชการต่างๆ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผบ.ทบ.วอนผู้ชุมนุมอย่าบีบทหารเลือกข้าง

Posted: 29 Nov 2013 03:40 AM PST

รองโฆษกกองทัพบก เผยแถลงการณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. วอนผู้ชุมนุมอย่าบีบให้เลือกข้าง ขอทุกฝ่ายหาทางออกอย่างสันติโดยเร็ว หลังคปท.บุกเข้ากองทัพบกเรียกร้องทหารออกมาสนับสนุน

29 พ.ย.2556 หลังจากที่เครือข่ายต้านระบอบทักษิณมีการเรียกร้องและปราศรัยให้กองทัพออกมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวของเครือข่ายมาโดยตลอด จนกระทั้งวันนี้เวลา 12.30 น. ตามรายงานของคมชัดลึกออนไลน์ ระบุว่าผู้ชุมนุม กลุ่มเครือข่ายนักศึกษา ประชาชน ปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายนำโดยนายนิติธร ล้ำเหลือ ที่ปรึกษากลุ่ม คปท.และนายอุทัย ยอดมณี แกนนำกลุ่มคปท. พร้อมด้วยกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งได้รวมตัวกันผลักดันประตูของกองทัพบกจนพังลง โดยทหารกองรักษาการณ์ที่อยู่บริเวณประตูด้านหน้าหลีกเลี่ยงที่จะปะทะกับผู้ชุมนุม จึงทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมากได้ทยอยเดินเท้าเข้ามาภายในกองบัญชาการกองทัพบก พร้อมกับได้นำรถขยายเสียงเข้ามาปราศรัย เพื่อขอยื่นหนังสือเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และกองทัพประกาศจุดยืนต่อชาติศาสนา พระมหากษัตริย์ และเรียกร้องให้ยืนเคียงข้างประชาชน

ล่าสุด เมื่อเวลา 16.30 น. เนชั่นทันข่าว รายงานว่า พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก พร้อมด้วยพ.อ.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกกองทัพบกฝ่ายต่างประเทศ ร่วมกันอ่านคำแถลงการณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยพ.อ.วินธัย กล่าวว่า กองทัพบกยังคงเป็นกองทัพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและประชาชนอยู่เสมอ โดยติดตามสถานการณ์และเตรียมดูแลช่วยเหลือประชาชน หากมีการบาดเจ็บหรือสูญเสียจากสถานการณ์การชุมนุมที่อาจมีแนวโน้มก้าวไปสู่ความรุนแรง กองทัพบกขอให้การชุมนุมของทุกฝ่ายเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยภายใต้กรอบกฎหมาย และอย่าได้พยายามแบ่งฝ่าย หรือดึงกองทัพให้ตกเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะกองทัพบกถือว่าประชาชนทุกคนเป็นคนไทยด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นทั้งรัฐบาล เจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชนทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันแสวงหาทางออกอย่างสันติให้ได้โดยเร็ว

"สำหรับภารกิจงานป้องกันและเทิดทูนสถาบัน กองทัพบกพยายามอย่างเต็มที่ โดยใช้หลักนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ในการดำเนินการจึงอยากให้ทุกฝ่ายไม่ควรนำสถาบันมาเป็นเงื่อนไขในความขัดแย้งทางการเมือง เพราะประชาชนทุกคนคือคนไทยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ด้วยกันทั้งสิ้น หากทุกฝ่ายเร่งปลุกระดมมวลชนให้เกิดอารมณ์ที่รุนแรงหรือไม่พอใจกันในวงกว้าง ต่อไปจะไม่สามารถควบคุมหยุดความรุนแรงได้ โดยเฉพาะช่วงนี้ใกล้ถึงช่วงเดือนแห่งความสุขของคนไทย วันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม อาจทำให้พระองค์ทรงไม่สบายพระทัยได้ ที่คนไทยด้วยกันขาดความสามัคคีต้องมาต่อสู้กันเอง ทหารทุกคนจะอยู่ในบทบาทที่เหมาะสมและไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์ ทุกคนมีความห่วงใยในสถานการณ์อย่างแท้จริง ทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และพลเรือนยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายระเบียบข้อบังคับของทางราชการ อย่าได้มองและมีทัศนคติในเชิงลบต่อเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำงานตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง"พ.อ.วินธัย กล่าว

พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ขอให้ผู้ชุมนุมได้เข้าใจ และขอให้ระมัดระวังในการใช้วาจาที่สุภาพเหมาะสมต่อเจ้าหน้าที่ในแต่ละโอกาสด้วย กองทัพบกคงยึดถือและปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ได้ทรงพระราชทานไว้ เมื่อพ.ค. ปี 2535 อยู่ตลอดเวลา ขอให้ประชาชนทุกคนได้ทำความเข้าใจ ลดความเกลียดชังซึ่งกันและกันทุกพวก ทุกฝ่าย ทุกสี ขอให้สนับสนุนให้ผู้นำของตนร่วมกันหาทางออกให้ได้โดยเร็ว รวมทั้งประชาชนจะต้องไม่ทำร้ายกันเอง สุดท้ายแล้วจะไม่มีใครชนะหรือแพ้ แต่ที่พ่ายแพ้คือประเทศชาติ ส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัยภายในกองทัพบก ยืนยันว่า ดีอยู่แล้ว โดยได้มีการวางมาตรการดูแลเป็นระดับ แต่ที่ผ่านมากลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้มีท่าทีหรือแนวโน้มที่จะมีความรุนแรง หรือพยายามที่จะเข้ามาในพื้นที่ด้านใน แต่ถ้าสถานการณ์เปลี่ยน กองทัพบกก็มีมาตรการในการรองรับด้วยการเพิ่มระดับการรักษาความปลอดภัยเป็นลำดับ แต่บางครั้งการแสดงกำลังอาจจะส่งผลในเชิงทำนองยั่วยุได้ ดังนั้นการดำเนินการใดๆก็ตามจะต้องคำนึงถึงความจำเป็นที่เหมาะสมจริงๆ ทั้งนี้หากสถานการณ์มีแนวโน้มที่เปลี่ยน เราก็จะต้องมีการเพิ่มระดับ โดยเฉพาะความเข้มงวดให้มากขึ้น ส่วนกรณีที่มีการมองว่า กองทัพบกยินยอมให้กลุ่มผุ้ชุมนุมเข้ามาในกองทัพนั้น ทางกองทัพไม่อยากใช้ความรุนแรง และเราไม่ได้มองกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นอริราชศัตรูหรือฝ่ายตรงข้าม แต่เขาคือพี่น้องคนไทย กลุ่มผู้ชุมนุมคือผู้ที่มีความคิดเห็นต่างทางการเมือง ดังนั้นการเข้ามาชุมนุมโดยไม่ใช้ความรุนแรงอาจมีโอกาสเป็นไปได้บ้าง แต่อย่างไรก็ตามต่อไปจะต้องมีความเข้มงวดในการรักษาความปลอดภัย

ผู้สื่อข่าวเนชั่นรายงานว่าภายหลังจากที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้เดินทางกลับในเวลา 14.30 น.นั้น ทางเจ้าหน้าที่ทหารประจำส่วนสนับสนุนกองบัญชาการกองทัพบก (สสน.)ได้ส่งกำลังทหารช่างประมาณ 10นาย เข้ามาซ่อมประตูรั้วด้านหน้ากองทัพบกที่ได้รับเสียหาย โดยมีมวลชนบางส่วนที่สัญจรผ่านด้านหน้าบก.ทบ.เข้ามาช่วยทหารซ่อมประตู พร้อมให้คำแนะนำ เนื่องจากมีอาชีพเป็นช่าง ขณะเดียวกันพื้นที่บริเวณสนามหญ้าด้านหน้าตึกกองบัญชาการที่มีผู้ชุมนุมเดินทางเข้ามานั้น ได้มีเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้ทำลายวัตถุระเบิด (อีโอดี) และเจ้าหน้าที่กองพันสุนัขทหารนำสุนัขทหารเดินสำรวจวัตถุอันตรายในบริเวณดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ยังได้นำรั้วลวดหนามมาวางบริเวณประตูทางเข้า-ออก เพื่อเสริมความปลอดภัยภายในกองทัพบกด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อดีตแกนนำ PNYS แถลงเยาวชนปาตานีไม่เกี่ยวข้องเหตุดักทำร้ายคนเสื้อแดง

Posted: 29 Nov 2013 03:33 AM PST

อดีตรองประธานกลุ่มนักศึกษา PNYS ออกแถลงการณ์ส่วนตัวระบุมีผู้ปล่อยข่าวดักทำร้าย เพื่อทำให้คนเสื้อแดงเข้าใจผิด ยืนยันว่าเยาวชนปาตานีไม่มีวันสนับสนุนฝ่ายที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และความเป็นพลเมืองไทยที่ต้องยอมจำนนกับความไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ตอบโจทย์การต่อสู้ชาวปาตานี

29 พ.ย. 2556 - ตามที่มีข่าวมีกลุ่มวัยรุ่นดักทำร้ายผู้ชุมนุม นปช. บริเวณซอยมหาดไทย หรือรามคำแหง 53 และบริเวณใกล้เคียงสนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถานซึ่งเป็นที่ชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดงนั้น ล่าสุดวันนี้ (29 พ.ย.) ตูแวดานียา ตูแวแมแง อดีตรองประธานฝ่ายการเมืองกลุ่มนักศึกษา PNYS ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา ได้เผยแพร่แถลงการณ์ส่วนตัว "สาส์นจากอดีตกรรมการบริหารกลุ่ม PNYS ปี48 ถึงประชาชนไทยผู้รักประชาธิปไตยทีแท้จริง" ยืนยันว่านักศึกษาชาวมลายูปาตานี ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุดักทำร้ายคนเสื้อแดง โดยเชื่อว่าเป็นเจตนาร้ายของผู้ต้องการสร้างความเข้าใจผิด

ในท้ายจดหมายเขาเชื่อว่าเป้าหมายของนักศึกษาและเยาวชนมลายูปาตานีคือจะต้อง "กำหนดชะตากรรมตนเองด้วยตนเอง" และทิ้งท้ายว่า "เชื่อว่าอำนาจเผด็จการทรราชต้องมีวันหมดไปบนผืนแผ่นดินไทย ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยจงชนะ อำนาจรัฐต้องเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง" โดยรายละเอียดของคำแถลงมีดังนี้

000

สาส์นจากอดีตกรรมการบริหารกลุ่ม PNYS ปี48 ถึงประชาชนไทยผู้รักประชาธิปไตยทีแท้จริง

PNYS เป็นกลุ่มนักศึกษาปาตานีหรือจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งศึกษาอยู่ที่เมืองหลวงเสียส่วนใหญ่ รวมตัวกันบนพื้นฐานของการปกป้องอัตลักษณ์และสิทธิทางการเมืองของภาคประชาชนที่พึงมีพึงได้ตามเจตนารมณ์ของหลักการประชาธิปไตยซึ่งอำนาจการปกครองเป็นของประชาชน มาจากประชาชน โดยประชาชนและนิยามคำว่าชาติคือประชาชนไม่ใช่ชนชั้นปกครอง

ในฐานะที่ผมเป็นอดีตรองประธานฝ่ายการเมือง PNYS ปี 48 รองนายกองค์การนักศึกษาม.รามคำแหงคนที่ 1 ปี 49 และอดีตประธานเครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน ปี 50 ซึ่งเป็นปีที่ขบวนการนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้ผนึกกำลังเคลื่อนไหวอย่างแข็งขันเพื่อต่อต้านความเป็นเผด็จการซ่อนรูปประชาธิปไตยและความเป็นจักรวรรดินิยมสยามของชนชั้นปกครองไทย โดยมีจุดเริ่มต้นการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับประชาชนที่สมรภูมิรบปาตานี ณ มัสยิดกลางปัตตานีเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม - 4 มิถุนายน 2550

จากการที่มีกระแสข่าวว่าพี่น้องจากปาตานีหรือชายแดนใต้มีเอี่ยวในการดักทำร้ายมิตรสหายเสื้อแดงนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในบริเวณย่าน ม.รามคำแหง ซึ่งเป็นบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่การเคลื่อนไหวของมิตรสหายเสื้อแดงนั่นคือ ณ สนามราชมังคลากีฬาสถาน ข้าพเจ้าได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับคณะกรรมการบริหารกลุ่ม PNYS ปัจจุบันแล้ว ปรากฎว่ากระแสข่าวดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จ ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าแหล่งข้อมูลที่ปล่อยกระแสข่าวนี้ มีเจตนาร้ายที่จะทำให้มิตรสหายเสื้อแดงได้ผิดใจและบานปลายจนเกิดความแตกแยกในทางยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวเพื่อดำรงซึ่งหลักการประชาธิปไตยอันมีเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนเป็นตัวกำหนดทิศทางคุณภาพชีวิตของปวงชนชาวไทยในอนาคต

ดังนั้นข้าพเจ้านายตูแวดานียา ตูแวแมแง ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) มีความรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่ระหว่างการเคลื่อนไหวโดยการชุมนุมทางการเมืองอย่างสันติของทั้งฝ่ายที่มีจุดยืนจะโค่นล้มระบอบทักษิณและฝ่ายที่จะปกป้องซึ่งหลักการประชาธิปไตย อยู่ๆ ก็มีการใส่ร้ายป้ายสีพี่น้องนักศึกษาปาตานีหรือชายแดนภาคใต้เกี่ยวข้องกับการซุ่มดักทำร้ายมิตรสหายพี่น้องประชาชนเสื้อแดง และเชื่อมั่นว่ามิตรสหายพี่น้องเสื้อแดงคงไม่คล้อยตามกระแสข่าวที่มีเจตนาร้ายดังกล่าว และเนื่องจากความเป็นนิติรัฐภายใต้การเรียกตัวเองว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้กระทำการอย่างรุนแรงและไร้ซึ่งความเคารพต่อหลักมนุษยธรรมต่อประชาชนชาวปาตานีในท่ามกลางรัฐได้เปิดศึกการสู้รบอย่างเป็นทางการกับขบวนการปฏิวัติแห่งชาติปาตานี (BRN) มาเป็นทศวรรษ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ ไอร์ปาแย บ้านกือทอง บาซาลาแป ปูโละปูโย เป็นต้น จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการยอมรับผิดและลงโทษผู้กระทำผิดโดยรัฐแต่อย่างใด และไม่มีแนวโน้มแม้แต่นิดเดียวถ้าตราบใดเจตจำนงเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนถูกแทรกแซงโดยอำนาจเผด็จการที่ไร้รูปแบบตายตัว ที่เจ้าหน้าที่รัฐจะได้รับการลงโทษตามกฎหมาย จึงไม่แปลกที่ขบวนการนักศึกษา ประชาชนชาวปาตานีไม่มีท่าทีทางการเมืองใดๆ ต่อวิกฤติการณ์ประชาธิปไตยในครั้งนี้ เพราะเจตจำนงการเคลื่อนไหวทางการเมืองของขบวนการนักศึกษา ประชาชนชาวปาตานีได้หมดความศรัทธาต่อประชาธิปไตยไทยแล้ว ความเป็นพลเมืองไทยที่ต้องยอมจำนนกับความไม่เป็นประชาธิปไตย จึงไม่ใช่การตอบโจทย์การต่อสู้ของชาวปาตานี การกำหนดชะตากรรมตนเองด้วยตนเองต่างหากคือโจทย์ของขบวนการนักศึกษาและประชาชนชาวปาตานี

แม้ว่าเราไม่ออกเคลื่อนไหวใดๆเพื่อเป็นการคัดค้านฝ่ายไม่ถูกต้องด้วยเหตุและผลข้างต้น แต่เราก็จะไม่มีวันสนับสนุนฝ่ายที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นประชาธิปไตยแน่นอน เราขอสัญญา หวังว่ามิตรสหายผู้รักประชาธิปไตยที่แท้จริงจะเข้าใจ

ไม่ช้าก็เร็วตราบใดประชาชนยังผนึกกำลังสานสามัคคี มีเอกภาพในเป้าหมาย และแยกมิตรแยกศัตรูได้ชัดเจน เชื่อว่าอำนาจเผด็จการทรราชต้องมีวันหมดไปบนผืนแผ่นดินไทย ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยจงชนะ อำนาจรัฐต้องเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

ด้วยจิตรักประชาธิปไตยและสันติภาพ
ตูแวดานียา ตูแวแมแง
ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มูลนิธิศักยภาพชุมชนชี้ยุบสภาเป็นทางออกสุดท้ายหากรัฐบาลควบคุมสถานการณ์ไม่ได้

Posted: 29 Nov 2013 12:53 AM PST

28 พ.ย. 2556 - มูลนิธิศักยภาพชุมชนและเครือข่ายออกแถลงการณ์ต่อกรณีสถานการณ์ทางการเมือง ฉบับที่ 2 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

นับจากแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ที่มูลนิธิฯ เสนอข้อกังวลจากการต่อต้าน พรบ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาแข่งในเดือนตุลาคม  สถานการณ์ทางการเมืองทวีความร้อนแรง จนนำมาสู่การบุกยึดสถานที่ราชการ ศาลากลางจังหวัด และการตั้งเวทีชุมนุมใหญ่ของทั้งเครือข่ายต้านระบอบทักษิณ และการชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)  ท่าทีของแกนนำ ผู้ชุมนุม และทุกภาคส่วนของสังคม ล้วนแต่เป็นการเพิ่มอุณหภูมิทางการเมือง มีแนวโน้มนำไปสู่ความรุนแรง กลียุค และภาวการณ์รัฐที่ล้มเหลว (Failed State) ในที่สุด เพราะความห่วงใยในบ้านเมืองและความยึดมั่นในระบอบการปกครองรูปแบบประชาธิปไตย มูลนิธิฯและเครือข่าย จึงขอเสนอจุดยืนต่อสถานการณ์และข้อเรียกร้องต่อฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

1. ขอเสนอข้อเรียกร้องต่อผู้ชุมนุมทุกฝ่าย โดยเฉพาะแกนนำในการชุมนุม ให้หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดปลุกระดม ยั่วยุ หรือชี้นำให้เกิดความเกลียดชังระหว่างกลุ่มบุคคลต่างความคิด  หลีกเลี่ยงการเคลื่อนมวลชนเข้าสู่การปะทะเผชิญหน้ากัน ประชาชนทุกคนมีสิทธิในการแสดงออกทางการเมืองตามหลักสิทธิพลเมือง แต่ต้องยึดมั่นในการเคารพความคิดเห็นต่าง เพราะความคิดเห็นที่หลากหลายคือธรรมชาติของประชาธิปไตย และการยอมรับความเห็นต่างยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของกระบวนการประชาธิปไตย

2. มูลนิธิฯและเครือข่าย เห็นว่าในระบอบประชาธิปไตยนั้นจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งให้อำนาจประชาชนในการตัดสินใจและกำหนดแนวทางของตนเอง หากแต่การมีส่วนร่วมนั้นจะต้องอิงอยู่กับหลักการของประชาธิปไตยโดยเฉพาะหลักการพื้นฐานที่ว่า ประชาชนทุกคนมีสิทธิมีเสียงเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างเท่าเทียมกัน ข้อเสนอของแกนนำที่นำเสนอหนทางแก้ไขปัญหาให้กับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเสนอ "รัฐบาลประชาชน" "ศาลประชาชน" หรือ "สภาประชาชน" แกนนำต้องออกมาอธิบายถึงการได้มาซึ่งข้อเสนอดังกล่าวอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดการเข้าใจผิด หรือกล่อมเกลาประชาชนให้กระด้างกระเดื่องต่อประชาธิปไตย ทั้งนี้ข้อเสนอในการก้าวข้ามทางตันของประเทศควรยึดมั่น ในหลักการสากลว่าด้วยกระบวนการประชาธิปไตย หลักนิติรัฐ และรัฐธรรมนูญ  

3. ขอให้ประชาชนทุกกลุ่มมีสติและวิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสาร ทั้งจากสื่อสารมวลชนและการปราศรัยในพื้นที่ชุมนุมเพื่อป้องกันไม่ให้ตกอยู่ภายใต้การปลุกปั่นอันนำไปสู่สถานการณ์ความรุนแรงระหว่างรัฐกับประชาชน และประชาชนต่อประชาชนด้วยกันเอง

4. ขอเรียกร้องให้ กองทัพ องค์กรอิสระ หน่วยงานราชการ สถาบันตุลาการและสถาบันหลักของประเทศ ยึดมั่นในระบอบการปกครองรูปแบบประชาธิปไตย ไม่สนับสนุนหรือใช้อำนาจ ผ่านการรัฐประหาร, หรือการเรียกร้องเสนอผู้นำโดยยก "มาตรา 7"มาใช้  ที่ผ่านมานั้นประเทศไทยเผชิญกับการแก้ไขปัญหาโดยการใช้รัฐประหารมากถึง15 ครั้งซึ่งเกินพอแล้ว ซ้ำร้ายบาดแผลจากการรัฐประหาร 2549 เป็นข้อพิสูจน์ได้ดีว่าการเข้ามาแทรกแซงและแย่งชิงอำนาจอธิปไตยไปจากปวงชนชาวไทยด้วยวิธีการนอกระบบ เพื่อสนองผลประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้นไม่ใช่ทางออก หากเป็นการนำประเทศถอยหลังและทำลายการพัฒนาระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง หากกลุ่มบุคคล องค์กรหรือสถาบัน กำลังมีความคิดที่จะเรียกร้องหรือตระเตรียมการเพื่อที่จะให้เกิดการรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง มูลนิธิฯและเครือข่าย ขอเรียกร้องให้ท่านยุติและจะคัดค้านอย่างถึงที่สุด

5. ทั้งนี้ มูลนิธิฯและเครือข่าย ต้องขอแสดงความชื่นชมต่อความพยายามของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่าย ที่พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการใช้กำลังหรือความรุนแรงเข้าปะทะและสลายการชุมนุม  รัฐบาลและทุกฝ่ายร่วมทั้งผู้ชุมนุมต้องพึงระลึกไว้เสมอว่าการใช้ความรุนแรงนั้นไม่ใช่ทางออกหรือการยุติปัญหา หากเป็นการเติมเชื้อไฟให้กับสถานการณ์การเมือง ณ ขณะนี้ให้ร้อนแรงขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ

6. หากรัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาอย่างถึงที่สุดแล้ว แต่ยังไม่มีท่าทีที่จะยุติ ซ้ำร้ายมีสถานการณ์นำไปสู่การยึดอำนาจจากนอกระบบ ก็ขอให้รัฐบาลแสดงความเป็นผู้นำโดยการยุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชน และใช้เสียงประชามติผ่านการเลือกตั้ง โดยโปร่งใส และยุติธรรมตามหลักการจัดการเลือกตั้งสากล เพื่อการยอมรับของประชาชนทุกฝ่ายรวมทั้งการแสดงออกถึงความเป็นอารยะแก่สายตานานาประเทศ ซึ่งเป็นทางออกของประเทศให้ธำรงไว้การปกครองระบอบประชาธิปไตย

วิกฤตของประเทศครั้งนี้จะนำพาความสูญเสียอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หากทุกภาคส่วนยังคงเมินเฉยต่อการแก้ไขปัญหาและดึงดันต่อสู้ให้ได้มาซึ่งชัยชนะท่ามกลางความรุนแรง  มูลนิธิศักยภาพชุมชนและเครือข่าย จึงขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนที่ได้กล่าวมาเบื้องต้นดำเนินการตามข้อเรียกร้องนี้เป็นกรณีเร่งด่วน



ด้วยความยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย
มูลนิธิศักยภาพชุมชน
29 พฤศจิกายน 2556

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่ม 40 ส.ว.แถลงจี้ยุบสภา

Posted: 29 Nov 2013 12:27 AM PST



29 พ.ย. 2556 - เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่ากลุ่ม 40 ส.ว.นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน นายคำนูณ สิทธิสมาน นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา และน.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพ ร่วมกันแถลงถึงสถานการณ์การเมือง ว่า สถานการณ์ของประเทศในปัจจุบันที่มีประชาชนออกมาชุมนุมนับล้านคนอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน เป็นการเคลื่อนไหวต่อเนื่องตั้งแต่การคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยผลักดันให้นิรโทษกรรมให้กับคดีทุจริตคอรัปชั่น และมีผลต่อเนื่องกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่มาของส.ว.ว่า ประธานรัฐสภา รองประธานรัฐสภา ส.ส.และส.ว. 312 คนได้กระทำการให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเหตุให้ประชาชนชุมนุมเรียกร้องให้แสดงความรับผิดชอบ ทำให้รัฐบาลขาดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นบุคคลในรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้ปฏิเสธไม่ยอมรับคำวินิจฉัยดังกล่าว แสดงให้เห็น ว่า รัฐบาลและบุคคลในพรรคเพื่อไทยจงใจที่จะไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 3 อาจเข้าข่ายการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครอง และเป็นการเพิ่มเติมความรุนแรงของวิกฤตศรัทธาที่มีต่อรัฐบาลให้มากยิ่งขึ้น

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ทางกลุ่ม 40 ส.ว.มีความห่วงใยต่อสถานการณ์เป็นอย่างยิ่ง จึงขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรี 5 ข้อ คือ 1.นายก ฯ ต้องตระหนักว่าประชาชนย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ และประชาชนมีสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยกระทำการต่อต้านด้วยสันติวิธี ซึ่งการกระทำใดๆที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้นรัฐต้องให้ความคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุม ตราบใดที่ยังอยู่ในขอบข่ายรัฐธรรมนูญ 2. นายกฯต้องตระหนักและยอมรับความเป็นจริงว่าปัญหาทางการเมืองของประเทศไทยตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมามีรากฐานของสาเหตุมาจากพฤติการณ์ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ รวมไปถึงพฤติการณ์การสืบทอดอำนาจทางการเมืองของบุคคลในตระกูลชินวัตร นำไปสู่การเมืองระบบตัวแทนที่นายกฯต้องฟังคำสั่งจากบุคคลที่อยู่เบื้องหลัง ปัญหาดังกล่าวได้สะสมต่อเนื่องจนนำไปสู่ปรากฏการณ์การไม่ยอมรับ " ระบอบทักษิณ "

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า 3. การที่นายกฯ ในฐานะส.ส.พรรคเพื่อไทยที่ลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของส.ว.ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า เป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่กลับดึงดันนำร่างดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธย โดยไม่ฟังเสียงทักท้วง กระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่ขอพระราชทานกลับคืน ตลอดจนการไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการที่จะถูกดำเนินคดีในข้อหากบฏ เป็นเหตุให้สังคมตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของรัฐบาลต่อไป นายกฯในฐานะผู้นำรัฐบาลจึงควรต้องแสดงความรับผิดชอบและสร้างมาตรฐานด้านจริยธรรมทางการเมืองด้วยการลาออก หรือการยุบสภา 4.นายกฯในฐานะกำกับดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)ต้องไม่ใช้ดีเอสไอมาสนับสนุนกระบวนการข่มขู่ คุกคามตุลาการ เช่น กรณีที่ประธานรัฐสภา รองประธานรัฐสภา ฟ้องตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คน ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ไม่มีรัฐธรรมนูญและกฎหมายรองรับ และหากดีเอสไอมีการดำเนินการนายกฯจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ และ 5. นายกฯและบุคคลในตระกูลชินวัตรต้องเสียสละ เพื่อประโยชน์และความสงบสุขของประเทศชาติ แม้ว่า อาจจะรู้สึกเจ็บปวดเพียงใดก็ตาม เพื่อให้ชาติผ่านพ้นวิกฤตไปได้ ด้วยการให้สัญญาประชาคม ว่า จะไม่เกี่ยวกับการเมืองไม่ว่าโดยตรง หรือผ่านตัวแทน ทั้งนี้กลุ่ม 40 ส.ว.จะตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ หากพบว่ามีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญจะส่งเรื่องไปยังศาลและองค์กรอิสระให้ตรวจสอบและวินิจฉัยเพื่อให้ระบบการปกครองอยู่ภายใต้หลักนิติรัฐ นิติธรรม และเป็นที่พึ่งของประชาชนต่อไป

นายคำนูณ กล่าวว่า การที่รัฐบาลยังไม่ได้ทูลขอพระราชทานร่างพ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนูญคืนในขณะนี้ สะท้อนว่ายังคงมีการกระทำที่ไม่ยอมรับอำนาจศาล เชื่อว่าจะทำให้กลายเป็นประเด็นที่ทำให้ประชาชนไม่พอใจ โดยในอดีตที่ผ่านมาหากร่างกฎหมายใดที่ขัดหรือแย้งกัน ตามประเพณีปฏิบัติที่มีมานาน นายกฯจะไม่รีรอขอพระราชทานคืนร่างกฎหมายที่มีความผิดพลาด ซึ่งหากยังไม่ดำเนินการก็จะทำให้กระบวนการการตรากฎหมายในรัฐธรรมนูญยังคงเดินต่อไป กล่าวคือ ถ้าสถาบันพระกษัตริย์ไม่ได้คืนกฎหมายภายใน 90 วันรัฐสภาก็สามารถหยิบยกมาพิจารณา และยืนยันเสียงจำนวน 2 ใน 3 ได้ ก็จะทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ศาลวินิจฉัย ว่า มีปัญหายังคงมีอยู่ต่อไป และในขณะนี้ที่ปล่อยให้เรื่องอยู่ในกระบวนการภายในของสถาบันกษัตริย์ เป็นเพียงการแช่แข็งร่างกฎหมายที่มีปัญหาเท่านั้น

"การที่นายกฯ ประกาศว่าพร้อมที่จะเปิดเวทีเจรจานั้น ผมคิดว่า ยังไม่เหมาะสม เพราะนายกฯ ถือเป็นต้นเหตุของปัญหา อย่างไรก็ตามในอดีตจะมีผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเข้ามาช่วยคลีคลายสถานการณ์การเมือง แต่ขณะนี้มองว่า ผู้ใหญ่ซึ่งมี นายกฯ ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้าน ประธาน 3 ศาล และประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อฝ่ายการเมืองไม่ได้รับความไว้วางใจ จึงเห็นว่าประธาน 3 ศาลและประธานองค์กรอิสระฯควรจะเป็นคนกลางเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบัน" นายคำนูณ กล่าว

 

ที่มา: เว็บไซต์เดลินิวส์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Time: สงครามระหว่างสี: ทำไมแดงถึงเกลียดเหลือง

Posted: 28 Nov 2013 11:42 PM PST

รักชาติ วงศ์อธิชาติ แปลบทความ Thailand's Color War: Why Red Hates Yellow จากนิตยสารไทม์ ที่อธิบายแรงจูงใจของการต่อสู้ของกลุ่มเสื้อเหลืองและแดง และมุมมองของนักข่าวต่างชาติที่มีต่อความขัดแย้งทางการเมืองในไทย
 
ทักษิณ ชินวัตร : คนรักหรือคนเกลียด
 
ถ้าจะกล่าวถึงประเทศไทย สำหรับคนภายนอกแล้ว คงจะหนีไม่พ้น หาดทรายที่สวยงาม อาหารรสเลิศ แหล่งช๊อปปิ้งราคาถูก และ ชีวิตยามราตรีที่สุดเหวี่ยง แต่ว่าทำไมหนอบนท้องถนนเกือบทุกๆปี ถึงเต็มไปด้วยผู้ประท้วงด้วยสัญญะของสีต่างๆ พวกเขาต้องการจะโค่นล้มรัฐอย่างนั้นหรือ?
 
หากจะทำความเข้าใจขั้วการเมืองของทั้งสองฝ่ายในไทย ก็ไม่ต้องไปไหนไกล หากแต่มองไปที่บุคคลคนหนึ่ง อดีตนายกรัฐมนตรีผู้หลี้ภัยอยู่ในต่างแดน อดีตนายตำรวจ เจ้าของบริษัทยักษ์ใหญ่ และ นักการเมืองผู้มากความสามารถที่สามารถครองใจคนชนบทได้อย่างมากมาย ทักษิณ ชินวัตร ด้วยเอกลักษณ์ในความเป็นผู้นำที่กล้าท้าชนของเขาก่อให้เกิดศัตรูทางการเมืองอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มคนในกรุงเทพฐานเสียงที่สนับสนุนกลุ่มชนชั้นนำ หรือฝ่ายเสื้อสีเหลือง และการที่ทักษิณถูกขับออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยการรัฐประหารในปี 2549 ก็ทำให้เกิดกลุ่มที่สนับสนุนเขาขึ้นมาเช่นเดียวกัน ซึ่งก็คือฝ่ายเสื้อสีแดงนั่นเอง 
 
สยามเมืองยิ้ม หรือน่าจะเป็น สยาม เมืองแห่งการรัฐประหาร มากกว่า
 
ประเทศไทย เริ่มมีการใช้ระบอบประชาธิปไตยเป็นประเทศแรกๆ ในเอเชีย และมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรครั้งแรกในปี 2476 หลังจากที่ระบอบกษัตริย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกโค่นล้มลง แต่อย่าเพิ่งหลงดีใจไป "สยามเมืองยิ้ม" แห่งนี้ ผ่านการรัฐประหารและถูกปกครองโดยทหารมากกว่าการเลือกตั้งเสียอีก อำนาจของทหารที่ทรงพลังบวกกับองค์ประกอบภายในและโดยรอบสถาบันกษัตริย์ ยังคงเป็นอำนาจหลักที่แข็งแกร่งคงทนอย่างมาก
 
จากสถิติข้อมูลขององค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์  ภายหลังจากการสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปี 2475 ประเทศไทยมีการรัฐประหารถึง 18 ครั้ง มีรัฐบาลทหารปกครองถึง 23 รัฐบาล และมีรัฐบาลที่ถูกครอบงำโดยทหารอีกถึง 9 รัฐบาล
 
โดดเด่น แต่อำมหิต
 
ในปี 2544 จุดเปลี่ยนสำคัญของสังคมการเมืองไทยได้เกิดขึ้น เมื่อทักษิณ ชินวัตร ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ความสำเร็จของรัฐบาลที่เกี่ยวพันกับทหารได้สิ้นสุดลง ชัยชนะของทักษิณ ได้สั่นคลอนกลุ่มผู้ทรงอำนาจในกรุงเทพฯ ทักษิณ ชินวัตร นายตำรวจผู้มาจากเมืองเชียงใหม่ เจ้าของธุรกิจโทรคมนาคม ได้พิสูจน์ตัวเองโดยใช้ความชาญฉลาดทางการเมืองครองใจมหาชนทั้งในตอนที่เป็นผู้สมัครและในตอนที่ได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
 
ในการเป็นนายกรัฐมนตรีปีที่ 5 ของเขา ทักษิณได้ออกนโยบายทางสังคมที่เป็นที่ชื่นชมอย่างมาก เช่นนโยบายสาธารณสุข โครงการเงินช่วยเหลือต่างๆ รวมทั้งโครงการสวัสดิการบ้านเอื้ออาทร ซึ่งพัฒนาความเป็นอยู่ของคนชนบทซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศให้ดีขึ้น รวมถึงเป็นการสร้างฐานเสียงให้ตัวเขาเองด้วย
 
อย่างไรก็ดี ทักษิณนั้นก็มีชื่อเสียงในด้านความโหดร้ายไม่แพ้กัน ในปี 2546 "สงครามยาเสพติด" ของเขานั้น กลายเป็นการฆ่าตัดตอนอย่างรวดเร็ว กว่า 2,500 คนที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติดสูญเสียชีวิตจากนโยบายนี้ โดยที่ไม่มีการสอบสวนใดๆ อีกทั้งเขายังเป็นคนจุดเชื้อไฟความรุนแรงต่อชาวมุสลิมในภาคใต้อีกด้วยในกรณีตากใบ ที่เขาได้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
 
ภายหลังจากชัยชนะอย่างท่วมท้นในปี 2548 ทักษิณก็ถูกกล่าวหาว่ากระทำการทุจริต หลังจากที่ลูกของเขาได้ขายหุ้นในบริษัทที่เขาเคยเป็นเจ้าของถึง 49% ให้กับบริษัทเทมาเส็ก ของสิงคโปร์ การขายหุ้นครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องอื้อฉาวทางการเมืองของเขา หลายคนกล่าวหาเขาหลังจากมีการเปิดเผยสินทรัพย์จากการขายครั้งนี้ว่าเป็นการส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นของต่างชาติ และยังเป็นการเปิดช่องโหว่ในการหลบเลี่ยงภาษีโดยอาศัยลูกๆอีกด้วย 
 
กลุ่มคนเสื้อเหลือง (พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย)
 
ในขณะที่ทักษิณกำลังสร้างกลุ่มอำนาจของตัวเอง ได้มีการรวมตัวโดย กลุ่มชาตินิยมสุดโต่ง กลุ่มกษัตริย์นิยม นักธุรกิจชั้นนำ และกลุ่มชนชั้นกลางในเมือง โดยใช้ชื่อว่ากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยมีเป้าหมายที่จะถอดนายกรัฐมนตรีคนนี้ออกจากตำแหน่ง
 
กลุ่มพันธมิตรฯ นำโดย สนธิ ลิ้มทองกุล และ จำลอง ศรีเมือง  อดีตนายทหารได้ใช้สัญลักษณ์เสื้อสีเหลือง ซึ่งเป็นสีอันเป็นสัญลักษณ์ของความสูงส่งและศักดิ์สิทธ์ และเป็นสีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ผู้เป็นที่รักของคนในชาติ เพื่อสื่อถึงความจงรักภักดีต่อประเทศ และราชวงศ์ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าทักษิณกำลังพยายามจะบ่อนทำลาย
 
การรัฐประหาร ก่อกำเนิดคนเสื้อแดง
 
ในวันที่ 19 กันยายน ปี 2549 ในขณะที่ทักษิณอยู่นิวยอร์คเพื่อไปประชุมผู้นำของยูเอ็น ทหารได้กระทำการรัฐประหารและล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ผู้บัญชาการผู้รับผิดชอบในการรัฐประหารครั้งนี้ให้เหตุผลว่าที่เขาต้องทำการล้มอำนาจของทักษิณนั้นเพื่อสร้างความสามัคคีในชาติและขัดขวางการทุจริตคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นมากมาย
 
ในการยึดอำนาจโดยทหารนั้น กระทำได้โดยอาศัยเพียงแค่การตอบรับจากในวัง ซึ่งทำให้มวลชนคนชนบทและชนชั้นผู้ใช้แรงงานในเมืองที่สนับสนุนทักษิณ เกิดความไม่พอใจ พวกเขาถูกพรากสิทธิ์อันชอบธรรมในคนที่เขาเลือก กลุ่มคนที่สนับสนุนทักษิณได้ตั้งกลุ่มขึ้นมา ชื่อว่ากลุ่ม แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)  หรือกลุ่มคนเสื้อแดง และเริ่มต้นเดินขบวนประท้วง
 
มองดูคนเสื้อแดง
 
ถึงแม้ว่าทักษิณจะถูกปลดออกจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการแล้ว แต่ความศรัทธาในตัวเขาโดยคนต่างจังหวัดนั้นไม่เสื่อมลงตาม หลังจากที่ทหารยึดอำนาจเป็นเวลาเกือบปี การเลือกตั้งในปี 2550 ก็ยังเป็นผลให้กลุ่มของทักษิณขึ้นมาเป็นรัฐบาลใหม่เหมือนเดิม
 
การนำคนในกลุ่มของทักษิณขึ้นมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง เป็นเหตุให้กลุ่มคนเสื้อเหลืองไม่พอใจ และเริ่มต้นเดินขบวนประท้วงตามท้องถนนในปี 2551 ในเดือนตุลาคม ศาลฎีกาซึ่งเชื่อกันว่ามีผลประโยชน์อิงกับฝ่ายทหารและสถาบันฯ ตัดสินให้ทักษิณ ชินวัตร รับโทษจำคุก 2 ปี ในข้อหาทุจริตคอรัปชั่น และทักษิณ ก็ใช้ชีวิตโดยการลี้ภัยตั้งแต่นั้นมา
 
การยึดสนามบินสุวรรณภูมิ
 
กลุ่มคนเสื้อเหลืองได้เริ่มทำการประท้วงรัฐบาลเครือข่ายทักษิณ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี2551 ตั้งแต่นั้นจนถึงสิ้นปี ในช่วงเวลานั้น กลุ่มผู้ประท้วงได้เกิดการปะทะกับกลุ่มคนเสื้อแดงประปรายทั้งในเขตกรุงเทพฯและต่างจังหวัด และในบางแห่งก็มีเหตุการณ์ที่รุนแรงมาก
 
ในวันที่ 25 พฤศจิกายน กลุ่มคนเสื้อเหลือง ได้ทำการประท้วงในแนวทางที่สุดโต่งที่สุด โดยการยึดสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร และตามมาด้วยการยึดสนามบินดอนเมือง ทำให้ในวันถัดมา การบินในสนามบินอันเป็นที่เชื่อมต่อของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ได้หยุดชะงักลง และส่งผลร้ายแรงต่อเนื่องไปทั่วทั้งประเทศ กลุ่มคนเสื้อเหลืองตกเป็นเป้าโจมตีอย่างร้ายแรง จนถึงขนาดที่ต้องมีการกู้ระเบิดที่สนามบินดอนเมืองเลยทีเดียว
 
ในวันที่ 2 ธันวาคม ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยตัดสิทธิ์รัฐบาลของเครือข่ายทักษิณอีกครั้ง และดันให้พรรคคู่แข่งอย่างพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาเป็นรัฐบาล ภายใต้การนำของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในขณะเดียวกันกลุ่มคนเสื้อเหลืองก็ทำการฉลองชัยชนะในการขับไล่กลุ่มอำนาจของทักษิณออกไปจากบทบาททางการเมือง อย่างไรก็ดี การยึดสนามบินอันเป็นหัวใจของประเทศนั้นเป็นการกระทำที่หน้าอับอายมากในทางสาธารณะ และเป็นหนึ่งในการกระทำที่พวกเขาไม่อาจแก้คืนมาได้
 
นองเลือดในกรุงเทพ
 
จากความโกรธแค้นในการรัฐประหาร และการตัดสิทธิ์ทางการเมืองของรัฐบาลที่พวกเขาเลือกมาตามระบอบประชาธิปไตย กลุ่มคนเสื้อแดง ได้ออกมาประท้วงบ้างโดยเริ่มตั้งแต่ปี 2552 ถึงแม้ว่าทักษิณจะลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ เขาก็ยังคงมีบทบาทในการโจมตีนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามและกลุ่มชนชั้นนำในประเทศไทย รวมทั้งยังปลุกระดมกลุ่มที่สนับสนุนเขาให้ออกมาแสดงพลังอีกด้วย การปะทะกันเกิดขึ้นในเดือนเมษายน ปี 2552 ระหว่างกลุ่มคนเสื้อแดงและหน่วยรักษาความปลอดภัยที่ถูกมองว่าเข้าข้างรัฐบาลฝ่ายเสื้อเหลือง การปะทะกันครั้งนี้ทำให้มีคนตายจำนวนหนึ่ง และบาดเจ็บหลายร้อยคน ซึ่งส่งผลให้เกิดการรวมตัวกันอีกครั้งหนึ่งในปีถัดมา
 
ในเดือนมีนาคม ปี 2553 การประท้วงครั้งใหญ่เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร และในเดือนเมษายนความรุนแรงก็เริ่มก่อตัวขึ้น เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรง พลแม่นปืน(สไนเปอร์)ถูกสั่งให้ยิงอย่างอิสระ และหน่วยรักษาความปลอดภัยก็มุ่งเป้าไปที่นักข่าว ในวันที่ 19 พฤษภาคม ทหารได้ทำการถอนรากถอนโคนกลุ่มผู้ประท้วงหลายพันคนที่พยายามตั้งฐานกำลังในเขตใจกลางเมืองหลวง ก่อให้เกิดการบาดเจ็บกว่าสองพันคน และเสียชีวิตกว่า80 คน ความโกลาหลที่ถูกปล่อยให้เกิดขึ้น และระดับความรุนแรงของการสั่งการการสลายการชุมนุมครั้งนี้ ส่งผลสะเทือนอย่างร้ายแรงต่อสาธารณะชน แกนนำคนเสื้อแดงยอมแพ้และมอบตัวเพื่อยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้น
 
นิรโทษกรรมเพื่อทุกคน?
 
ในปี 2554 เมื่อมีการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคตัวแทนของทักษิณ ชินวัตร ได้รับชัยชนะอีกครั้ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณ ได้รับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ ถึงแม้ว่ายิ่งลักษณ์จะอ้างว่าเธอเป็นผู้นำพรรค แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าคนที่มีอำนาจในการควบคุมพรรคแท้ที่จริงคือทักษิณนั่นเอง
 
ในไม่กี่วันที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย ได้เสนอพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม อันเป็นเหตุให้เกิดการถกเถียงกันอย่างมาก กฎหมายนี้จะทำการคุ้มครองทั้งกลุ่มเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ปกป้องรัฐบาลและทหาร จากความผิดทางอาญาที่เกิดขึ้นทั้งหมดในช่วงปัญหาทางการเมืองที่ผ่านมา และมันยังเป็นการปูทางให้ทักษิณกลับมายังประเทศอย่างไร้มลทินได้อีกด้วย  
 
ถึงแม้ว่าจะเป็นคู่แค้นกัน แต่ทั้งกลุ่มเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ก็มีจุดยืนร่วมกันในการต่อต้านพระราชบัญญัติฯนี้ ฝ่ายเสื้อเหลือง ไม่พอใจอย่างแน่นอนที่มันจะทำให้ทักษิณกลับมาได้ และฝ่ายเสื้อแดงก็ไม่พอใจที่พระราชบัญญัติฯนี้จะนิรโทษกรรมให้กับฝ่ายทหารและรัฐบาลที่ทำการสลายการชุมนุมของพวกเขาอย่างรุนแรงจนถึงขั้นสูญเสียชีวิต ในขณะนั้น 
 
 
 
หมายเหตุ: 
 
ความประสงค์ของผู้แปลคือเพื่อต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจถึงความเป็นมาของกลุ่มคนเสื้อสีเหลืองและแดง มูลเหตุและแรงจูงใจในการต่อสู้ของพวกเขา และมุมมองของนักข่าวต่างชาติที่มีต่อความขัดแย้งทางการเมืองในไทย
 
ทั้งนี้ บทความนี้เขียนก่อนที่จะมีการตัดสินถอนร่าง พรบ และก่อนการออกมาประท้วงของม๊อบนกหวีดในตอนนี้ อาจจะเก่าไปแล้ว แต่คิดว่าเป็นประโยชน์สำหรับคนที่เพิ่งกระตือรือร้นเข้ามามีส่วนร่วมและสนใจการเมืองในตอนนี้
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กป.อพช. เสนอ 'ยุบสภา' เพื่อเดินหน้าสู่การปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง

Posted: 28 Nov 2013 11:35 PM PST

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) แถลงการณ์ฉบับที่ 2 เสนอยุบสภาเพื่อผ่าทางตันด้วยการคืนอำนาจให้ประชาชน


29 พ.ย. 2556 - คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 เรื่อง "ยุบสภา เดินหน้าสู่การปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง" โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้



แถลงการณ์ฉบับที่ 2
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
ยุบสภา เดินหน้าสู่การปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง



คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ได้ติดตามวิกฤติการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาและเห็นว่า ท่าที่ จุดยืนและข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องล่าสุดของทุกฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้ง ทั้งรัฐบาล พรรคฝ่ายค้านและกลุ่มพลังมวลชนทุกกลุ่ม จะไม่สามารถนำไปสู่การคลี่คลายปัญหา อีกทั้งจะยิ่งเป็นเงื่อนปมทำให้สังคมไทยก้าวเข้าสู่ทางตัน

ในสภาพการณ์เช่นนี้ กป.อพช. ไม่เห็นหนทางอื่นที่เป็นไปได้ นอกจากรัฐบาลเท่านั้นที่จะเป็นผู้ผ่าทางตันด้วยการคืนอำนาจให้ประชาชน จึงขอเรียกร้องรัฐบาลให้ยุบสภาโดยเร็วที่สุด ด้วยเหตุผล ดังนี้

1. เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบทางเมืองของรัฐบาลต่อการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใช้เสียงข้างมากในการลงมติผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเมื่อช่วงย่ำรุ่งของคืนวันที่ 31 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา และเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองของนักการเมือง พรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทย

2. เพื่อให้สังคมไทยสามารถเดินหน้าต่อไป โดยประชาชนทั้งมวลจะเป็นผู้กำหนดอนาคตทางการเมืองของประเทศไทย อันถือเป็นการเปลี่ยนแปลงตามวิถีทางประชาธิปไตยโดยสันติวิธี ทั้งนี้เพื่อธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย และป้องกันการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตยหรืออาศัยอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ

3. เพื่อเปิดโอกาสให้สังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่การปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง สร้างเวทีเพื่อเปิดพื้นที่และโอกาสให้ทุกสถาบัน ทุกกลุ่มพลังทางการเมือง องค์กรและเครือข่ายของภาคประชาสังคมได้มีข้อเสนอการปฏิรูปการเมืองอย่างเสรีและกว้างขวาง ตลอดจนการลงประชามติในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

กป.อพช. ขอเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมถอนออกจากสถานที่ราชการ ภายหลังจากที่มีการยุบสภาแล้ว หากจะมีการชุมนุมต่อเนื่อง หรือการชุมนุมของกลุ่มใดๆ ก็ตาม ขอให้อยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และดำเนินการควบคุมดูแลให้การปราศรัยในที่ชุมนุมหลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำที่ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง หรือละเมิดสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ที่มีของผู้ที่ถูกพาดพิง และผู้ที่ความเห็นต่าง ทั้งนี้เพื่อช่วยให้วิกฤติการณ์คลี่คลายได้อย่างรวดเร็ว ทันการณ์

ด้วยความสมานฉันท์
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)  
29 พฤศจิกายน 2556
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ดิอิโคโนมิสต์แบนตัวเองรอบ 2 ในเดือน พ.ย.

Posted: 28 Nov 2013 10:57 PM PST

29 พ.ย.2556 ดิอิโคโนมิสต์ นิตยสารวิเคราะห์การเมือง-เศรษฐกิจชื่อดัง ส่งอีเมลแจ้งสมาชิกว่า นิตยสารฉบับวันที่ 30 พ.ย. 2556 จะไม่วางจำหน่ายในประเทศไทย เนื่องจากมีเนื้อหาที่มีความละเอียดอ่อน (sensitive) และอาจส่งผลกระทบกับผู้จัดจำหน่ายในประเทศ

สำหรับดิอิโคโนมิสต์ ฉบับดังกล่าว มีบทความเกี่ยวกับประเทศไทย เรื่อง The exile and the kingdom (ผู้พลัดถิ่นและราชอาณาจักร) ว่าด้วยสถานการณ์การเมืองไทยปัจจุบัน พร้อมเสนอทางแก้ปัญหาว่า รัฐบาล ฝ่ายต่อต้าน และสถาบันกษัตริย์ต้องปรับตัว

ก่อนหน้านี้ เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ดิอิโคโนมิสต์ งดวางจำหน่ายนิตยสารฉบับวันที่ 16 พ.ย. 2556 เช่นกัน โดยในเล่มมีบทความชื่อ "เป่านกหวีด" หรือ "Blowing the whistle" มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองไทย 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายแพทย์จุฬาฯ ปกป้องคุณธรรมจี้นายกลาออก

Posted: 28 Nov 2013 09:23 PM PST



เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2556 ที่ผ่านมาเครือข่ายแพทย์จุฬาฯ ปกป้องคุณธรรม ออกแถลงการณ์จี้นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภาแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก ให้สมาชิกรัฐสภาผู้ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญ 312 คน ออกแถลงการณ์ขอโทษต่อประชาชนและลาออก

โดยรายละเอียดของแถลงการณ์ทั้งหมดมีดังต่อไปนี้

แถลงการณ์ ฉบับที่ 1
เครือข่ายแพทย์จุฬาฯ ปกป้องคุณธรรม


จากการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใช้เสียงข้างมากลงมติผ่านร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตามคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ แต่แทนที่รัฐบาลจะยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และรับฟังเสียงของประชาชนที่แสดงการคัดค้านการกระทำดังกล่าว รัฐบาลกลับแสดงออกอย่างชัดแจ้งที่จะปฏิเสธคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ โดยยินยอมให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดพรรคร่วมรัฐบาลออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับผลตามคำพิพากษาและยังแสดงการคัดค้านต่อต้านคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญอันเท่ากับเป็นการใช้อำนาจบริหารเข้าแทรกแซงอำนาจตุลาการ นอกจากนี้รัฐบาลยังบริหารบ้านเมืองโดยเจตนาเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องมากกว่าประเทศชาติอันเห็นได้จาก

1.กระทำและรู้เห็นเป็นใจให้เกิดรูปแบบเผด็จการเสียงข้างมากในสภาทำให้ระบอบประชาธิปไตยเสียหายอย่างร้ายแรง
                
2.ทำลายระบบคุณธรรมของข้าราชการโดยเน้นการสร้างระบบอุปถัมภ์
                                          
3.มีการทุจริตโครงการขนาดใหญ่ของชาติ เช่น โครงการจำนำข้าว จนก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อระบบการเงินการคลังและเศรษฐกิจของชาติ

เครือข่ายแพทย์จุฬาฯปกป้องคุณธรรมซึ่งประกอบด้วย คณาจารย์แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีหน้าที่ในการถ่ายทอด ปลูกฝัง และบ่มเพาะคุณธรรม จริยธรรม แก่ศิษย์และเยาวชน จึงขอคัดค้านการดำเนินการดังกล่าวของรัฐบาลและขอเรียกร้องด้งนี้

1.ให้รัฐบาลออกแถลงการณ์ขอโทษต่อคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ล่วงละเมิดอำนาจศาลและยุติการกระทำในการใช้อำนาจทางบริหารแทรกแซงอำนาจตุลาการของศาลรัฐธรรมนูญ อีกทั้งออกแถลงการณ์ขอโทษต่อประชาชนที่ได้ดำเนินการต่างๆที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

2. ให้นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภาแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก

3. ให้สมาชิกรัฐสภาผู้ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญ 312 คน ออกแถลงการณ์ขอโทษต่อประชาชนและลาออก

ทั้งนี้เครือข่ายแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จุฬาฯปกป้องคุณธรรมใคร่ขอวิงวอนให้ข้าราชการ ทหาร และตำรวจ โปรดใช้วิจารณญาณในการปฏิบัติต่อพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์และเป็นเจ้าของอำนาจประชาธิปไตยที่แท้จริง ตามคำสั่งของรัฐบาลที่ปัจจุบันหมดความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว                                                               
เครือข่ายแพทย์จุฬาฯปกป้องคุณธรรม
28 พ.ย. 2556


รายชื่อคณาจารย์และบุคลากร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ร่วมลงชื่อให้ความเห็นชอบกับ แถลงการณ์ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 28 พ.ย. 2556เครือข่ายแพทย์จุฬาฯปกป้องคุณธรรม

ประกอบด้วย

ศาสตราจารย์  จำนวน  24   คน                                     
รองศาสตราจารย์  จำนวน   24   คน                                                                         
ผู้ช่วยศาสตราจารย์  จำนวน   12   คน                                                                                
อาจารย์  จำนวน   64   คน                                                                       
บุคลากรสนับสนุน จำนวน    9   คน                                        
รวม 133 คน

รายชื่อ
1.    ศ.นพ.เกรียง ตั้งสง่า
2.    ศ.นพ.สมภพ ลิ้มพงศานุรักษ์
3.    ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ
4.    ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม
5.    ศ.พญฺ.ศิริวรรณ วนานุกูล
6.    ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
7.    ศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ วรรณไกรโรจน์
8.    ศ.ดร.นพ.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล
9.    ศ.นพ.สมรัตน์ จารุลักษณานันท์
10.    ศ.นพ.อภิวัฒน์ มุลินทจินดา
11.    ศ.ดร.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล
12.    ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร
13.    ศ.ดร.พญ.สุรางค์ นุชประยูร
14.    ศ.นพ.อนันต์ ศรีเกียรติขจร
15.    ศ.นพ.พรเทพ เลิศทรัพย์เจริญ
16.    ศ.พญ.อารีรัตน์ สุพุทธิธาดา
17.    ศ.นพ.ประวิตร อัศวานนท์
18.    ศ.พญ.นริสา ฟูตระกูล
19.    ศ.นพ.ชนพ ช่วงโชติ
20.    ศ.นพ.นิมิต เตชไกรชนะ
21.    ศ.นพ.พลภัทร โรจน์นครินทร์
22.    ศ.ดร.นพ.ชุษณา สวนกระต่าย
23.    ศ.นพ.สุเทพ กลชาญวิทย์
24.    ศ.นพ.สิทธิศักดิ์ หรรษาเวก
25.    รศ.น.อ.นพ.เพิ่มยศ โกศลพันธุ์
26.    รศ.พญ.จรุงจิตร์ งามไพบูลย์
27.    รศ.พญ.จันท์ฑิตา  พฤกษานานนท์
28.    รศ.นพ.เกรียงศักดิ์ ประสพสันติ
29.    รศ.พญ.อรนุช เกี่ยวข้อง
30.    รศ.พญ.ดุจใจ ชัยวานิชศิริ
31.    รศ.พญ.กัญญรัตน์ กรัยวิเชียร
32.    รศ.พญ.กฤษณา พิรเวช
33.    รศ.ดร.พญ.จงกลนี  วงศ์ปิยะบวร
34.    รศ.ดร.วิไล อโนมะศิริ
35.    รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์
36.    รศ.นพ.ทรงกลด เอี่ยมจตุรภัทร
37.    รศ.สมรัตน์  เลิศมหาฤทธิ์
38.    รศ.นพ.สมบูรณ์  คีลาวัฒน์
39.    รศ.พญ.วรนุช จงศรีสวัสดิ์
40.    รศ.นพ.ศิริพรชัย ศุภนคร
41.    รศ.พญ.ณัฏฐิยา หิรัญกาญจน์
42.    รศ.ดร.พญ.กัญญา ศุภปีติพร
43.    รศ.นพ.ปิ่น ศรีประจิตติชัย
44.    รศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ
45.    รศ.ดร.สมจิตร์ เอี่ยมอ่อง
46.    รศ.พญ.อาลักษณ์ รอดอนันต์
47.    รศ.จันทนี อิทธิพานิชพงศ์
48.    รศ.ดร.สรันยา เฮงพระพรหม
49.    ผศ.พญ.วิลาวัณย์ พวงศรีเจริญ
50.    ผศ.ดร.นพ.ธัญญพงษ์ ณ นคร
51.    ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร
52.    ผศ.พญ.ปราณี สุจริตจันทร์
53.    ผศ.นพ.มล.กรเกียรติ์ สนิทวงศ์
54.    ผศ.นพ.ณัฐพงษ์ เจียมจริยธรรม
55.    ผศ.พญ.ยุวรีย์ พิชิตโชค
56.    ผศ.นพ.ประเดิมชัย คงคำ
57.    ผศ.นพ.นิพัญจน์  อิศรเสนา ณ อยุธยา
58.    ผศ.พญ.นิทรา ปิยะวิเศษพัฒน์
59.    ผศ.พญ.ศิริพร จันทร์ฉาย
60.    ผศ.นพ.บัณฑูร นนทสูติ
61.    อ.พญ.คุณหญิงมัลลิกา วรรณไกรโรจน์
62.    อ.พญ.วรรณพร เตชไกรชนะ
63.    อ.นพ.ถนอม บรรณประเสริฐ
64.    อ.พญ.ศศิธร ศิริสาลีโภชน์
65.    อ.พญ.รุ่งฤดี ชัยธีรกิจ
66.    อ.นพ.ชูชีพ สหกิจรุ่งเรือง
67.    อ.นพ.วิชัย ลีละวงค์เทวัญ
68.    อ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
69.    อ.นพ.อรรควัชร์ จันทร์ฉาย
70.    อ.นพ.นครินทร์ ศิริทรัพย์
71.    อ.นพ.อานนท์ วรยิ่งยง
72.    อ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ
73.    อ.นพ.อี๊ด ลอประยูร
74.     อ.นพ.นันทิวุฒิ โฆษะปัญญาธรรม
75.    อ.นพ.จรัส วัชรประภาพงศ์
76.    อ.พญ.กอบรัตน์ จิรพัฒนกุล
77.    อ.นพ.ปรก เหล่าสุวรรณ
78.    อ.พญ.สุดารัตน์ สถิตธรรมนิตย์
79.    อ.นพ.นภชาญ เอื้อประเสริฐ
80.    อ.นพ.มนต์สรร อัศวนพเกียรติ
81.    อ.นพ.สุนิสา แสงทองจรัสกุล
82.    อ.พญ.มนัสนันท์ คงวิบูลยวุฒิ
83.    อ.พญ.นลิน โชคงามวงศ์
84.    อ.นพ.มาร์วิน เทพโสพรรณ
85.    อ.นพ.วริตา ชัยอรุณดีกุล
86.    อ.พญ.วิรินทร์ดา ชิรวาณิช
87.    อ.นพ.พฤทธ์ ประพงศ์เสนา
88.    อ.นพ.พัฒนพล เอ็งสุโสภณ
89.    อ.พญ.ปวีณา ภาอาภรณ์
90.    อ.พญ.พิชญา ไพศาล
91.    อ. นพ อรุณชัย. นรเศรษฐกมล
92.    อ.พญ.รภัส พิทยานนท์
93.    อ.พญ.จันทรตรี ดารกานนท์
94.    อ.พญ.มนวสี ปาจีนบูรวรรณ์
95.    อ.พญ.กนิษฐา เหมะวัฒนะชัย
96.    อ.นพ.ชัชวาลย์ เชวงชุติรัตน์
97.    อ.พญ.นฤวรรณ เนินทอง
98.    อ.พญ.วรรษมน จันทรเบญจกุล
99.    อ.พญ.กนิษฐา หุ่นภู่
100.    อ.พญ. รพีพรรณ ไชยอุดม
101.    อ.พญ. เมธารี ปัญญานรกุล
102.    อ.นพ. ภาคภูมิ เจนวงศ์วิโรจน์
103.    อ.พญ. พุธิตา สุนทรจักรพงษ์
104.    อ.พญ. ธนิกา บุญมา
105.    อ.พญ. ปัญจพร นาคภู่
106.    อ.พญ. ธัญสินี แซ่แต้
107.    อ.นพ. ศิรวุฒ ตรีภัทรชยากร
108.    อ.พญ. ภัณฑิลา สิทธิการค้า  
109.    อ.พญ. ลลิดา ก้องเกียรติกุล
110.    อ.พญ. กันทรา แซ่ลิ่ม
111.    อ.พญ. รสินทรา ศิริวัฒน์
112.    อ.พญ. อรภา สุธีโรจน์ตระกูล
113.    อ.พญ. รัมภ์รดา เล็กวุฒิกานต์
114.    อ.พญ. สาริน เล็กชื่นสกุล
115.    อ.พญ. พิชญา ไพศาล
116.    อ.พญ. ฐณิตา ธรรมรักษ์เจริญ
117.    อ.พญ. สุภานัน เลาหสุรโยธิน
118.    อ.พญ. รัชนีกร สงนุ้ย
119.    อ.นพ. ภัทร วิรมย์รัตน์
120.    อ.พญ. อนงค์นาถ ศิริทรัพย์
121.    อ.พญ. ชุติมา ทองนวล
122.    อ.พญ. เพลิน สุตรา
123.    อ.นพ. กรมิษฐ์ ศุภพิพัฒน์
124.    อ.นพ. สุทธิพงษ์ อิทธิพร
125.    ดร.ณภัควรรต บัวทอง
126.    นาย ปรเมศวร์ จิตถนอม
127.    นส.สุนีย์ อำนวยผล
128.    นส.กนกอร เตชะสุนทรกุล
129.    นส.พนัซกร พิทักษ์ชัยวงศ์
130.    นส.ณัฐพัชร สุภานันท์
131.    นส.ณิชามณ แสงเดือน
132.    นส.กาญจนา เทพศร
133.    นางแพรวพรรณ ปราณี

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หนุ่มสาวเกาหลีเหนือ 'ติดซีรีส์' เกาหลีใต้ แต่ต้องแอบดูไม่ให้รัฐบาลรู้

Posted: 28 Nov 2013 09:01 PM PST

ชาวเกาหลีเหนือถูกรัฐบาลห้ามชมสื่อจากต่างประเทศ แต่ในหมู่วัยรุ่นก็มีกระแสแอบดูละครซีรีส์ที่มีการลักลอบนำเข้าผ่านจีน ในรูปแบบสื่อชนิดต่างๆ เช่นดีวีดี หรือแฟลชไดรฟ์ที่ง่ายต่อการหลบซ่อน มีเรื่องชื่อ "Reply 1997" ซึ่งฮิตมากถึงขนาดพวกเขานิยมแสดงท่าทางเลียนแบบตัวละคร


ซีรีส์ Reply 1997
 

28 พ.ย. 2556 สำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชียรายงานว่า คนหนุ่มสาวในประเทศเกาหลีเหนือยุคปัจจุบันกำลังนิยมละครซีรีส์จากโทรทัศน์ของเกาหลีใต้ ซึ่งเคยสร้างกระแสวัฒนธรรมเคป๊อบมาก่อน แต่ต้องใช้วิธีแอบดูจากสื่อที่ลับลอบเอาเข้ามา เนื่องจากเกาหลีเหนือมีบทลงโทษอย่างรุนแรงต่อผู้ฝ่าฝืนข้อห้ามรับชมสื่อต่างประเทศ

แหล่งข่าวจากเกาหลีเหนือกล่าวกับสำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชียว่า ซีรีส์เรื่อง "Reply 1997" ซึ่งผลิตเมื่อปี 2555 เป็นที่นิยมในหมู่คนหนุ่มสาวชาวเกาหลีเหนือมาก จนมีการนำชื่อละครมาล้อเลียนและแสดงท่าทางเลียนแบบตัวละคร โดยมีการลักลอบนำเรื่องนี้เข้าไปในประเทศเกาหลีเหนือผ่านทางจีนในรูปแบบดีวีดีและสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ

ประเทศเกาหลีเหนือมีข้อบังคับอย่างเคร่งครัดในการห้ามสื่อต่างประเทศรวมถึงมีบทลงโทษอย่างหนักอาจถึงขั้นประหารชีวิต โดยห้ามนำทั้งละคร ภาพยนตร์ ดนตรี เข้าไปในประเทศ เนื่องจากไม่ต้องการให้มีการซึมซับอิทธิพลจากต่างชาติ แต่แม้จะมีบทลงโทษ แต่ก็ยังคงมีสื่อบันเทิงเช่น ดนตรีและวิดีโอจากเกาหลีใต้เล็ดลอดผ่านการปิดกั้นของรัฐบาลเกาหลีเหนือเข้าไปได้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ "กระแสเกาหลี" กำลังเป็นที่นิยมในประเทศอื่นๆ ของเอเชีย จากการส่งออกทางวัฒนธรรมของเกาหลีใต้

"Reply 1997" เป็นละครซิทคอมแนววัยรุ่นที่พยายามเรียนรู้ก้าวข้ามไปสู่วัยผู้ใหญ่ (coming-of-age) มีการเล่าเรื่องตัดสลับกันระหว่างช่วงเวลาปัจจุบันกับช่วงเวลา 15 ปีที่แล้วที่ยังอยู่ในวัยเรียน โดยสะท้อนวัฒนธรรมแฟนคลับดาราในเกาหลีช่วงที่กระแสดนตรีเคป๊อบกำลังเป็นที่นิยม

เนื้อหาของ "Reply 1997" พูดถึงชีวิตของตัวละครที่ชื่อซองชีวอน ผู้ทำงานเป็นคนเขียนบทโทรทัศน์ได้ไปงานเลี้ยงรุ่นกับเพื่อนเก่าสมัยเรียนและนึกย้อนไปถึงสมัยเป็นนักเรียนเมื่อ 15 ปีที่แล้วซึ่งกลุ่มเพื่อนของเธอเป็นแฟนคลับนักร้องวงบอยแบนด์ในยุคนั้น

แหล่งข่าวเกาหลีเหนือบอกอีกว่าเรื่องนี้ทำให้คนหนุ่มสาวในเกาหลีเหนือเกิดความรู้สึกร่วมจากการที่พวกเขาสงสัยว่าชีวิตทางฝั่งเกาหลีใต้เป็นอย่างไร เรื่องนี้ดังมากถึงขั้นว่าในกลุ่มเพื่อนบางกลุ่มใครที่ไม่ได้ดูเรื่องนี้จะถือว่าเชย

คนส่วนใหญ่ลักลอบเอาเรื่องนี้เข้าไปในเกาหลีเหนือผ่านทางยูเอสบีแฟลชไดรฟ์ ขนาด 16 กิกะไบต์ ซึ่งมีขนาดเล็กสามารถหลบซ่อนจากทางการได้ง่ายกว่า ซึ่งแฟลชไดรฟ์ที่บรรจุซีรีส์เรื่องนี้ครบทุกตอนจะมีการขายในราคาราว 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 600 บาท) ส่วนดีวีดีจะราคาถูกกว่าขายในราคาราว 10 ดอลลาร์ (ราว 300 บาท)

แหล่งข่าวในจังหวัดยังกังกล่าวว่า ซีรีส์เรื่องนี้มีการแพร่กระจายแลกเปลี่ยนกันอย่างเปิดเผยในหมู่คนหนุ่มสาว จนทำให้การพูดและแสดงท่าทางเลียนแบบตัวละครกลายเป็นกระแสนิยม โดยในเรื่องนี้ยังมีมุกตลกทางภาษาและวัฒนธรรมที่บางครั้งก็มีการขึ้นตัวอักษรอธิบายสิ่งที่มุกตลกอ้างอิงถึง ซึ่งทำให้ผู้ชมในเกาหลีเหนือเข้าใจได้มากขึ้น เนื่องจากภาษาพูดในเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้มีความแตกต่างกันส่วนหนึ่ง หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายมีการแบ่งแยกกันมานานหลายสิบปี

 


เรียบเรียงจาก

North Korean Youth Hooked on Popular TV Series From South, RFA, 27-11-2013
http://www.rfa.org/english/news/korea/tv-show-11262013194642.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แถลงการณ์: พอช.ต้องยืนยันหลักการประชาธิปไตย ไม่เอาอำนาจนอกระบบ

Posted: 28 Nov 2013 05:15 PM PST

ส่วนหนึ่งของเจ้าหน้าที่และคนในขบวนองค์กรชุมชนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ( พอช.) เรียกร้องต่อองค์กรให้ยึดมั่นหลักการประชาธิปไตย ให้การแสดงความเห็นทางการเมืองของตัวบุคคลเป็นอิสระไม่ใช้ชื่อองค์กรและงดเว้นกิจกรรมในนามองค์กร อันจะนำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงต่อการตีความว่าสนับสนุนการเมือง

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

แถลงการณ์
ขบวนองค์กรชุมชนและเจ้าหน้าที่ พอช.ภาคอีสานเพื่อประชาธิปไตย


ฝุ่นควัน เขม่าปืน และการสังหารหมู่ประชาชน ในเหตุการณ์พฤษภา'53 ยังไม่จางหาย ฆาตกรสังหารหมู่ประชาชนยังลอยนวล การตายของวีรชนในเหตุการณ์ดังกล่าว ในที่สุดก็สามารถผลักดันกระบวนการประชาธิปไตย จัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาได้ และได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็นอารยะ ภายใต้วิถีทางประชาธิปไตยที่สากลยอมรับ การที่ฝ่ายต่อต้านจะอธิบายว่า สังคมไทยต้องปกครองโดยใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ไทย หรือแบบคนดีปกครองบ้านเมืองนั้น กล่าวถึงที่สุดแล้วย่อมไม่สามารถจะอธิบายว่า ต้องเชิญฝ่ายอำมาตย์ ศาลหรือทหารออกมาทำการรัฐหารล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ หรือแม้แต่จะมีใครตั้งศาลประชาชนหรือสภาประชาชน โดยแอบอ้างคำว่า "ประชาชน" มาล้มล้างการปกครอง ที่ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน

สถานการณ์ปัจจุบัน มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนกลุ่มต่างๆ ก็เป็นการแสดงออกซึ่งสิทธิ เสรีภาพ ในระบอบการปกครองนี้ ตราบใดที่ยังดำเนินการภายใต้กรอบของกฎหมาย นี่จึงแสดงถึงจุดยืนของกลุ่มต่างๆบนวิถีทาง หลักการ ประชาธิปไตยเดียวกัน หากมีการอ้างทางหลักการของชนชั้นกลางและชนชั้นสูงบ้างกลุ่มมองว่า รูปแบบการปกครองนี้เป็นเผด็จการ ก็เป็นเรื่องทำความเข้าใจยากเสียแล้ว กับประชาชนที่มีสำนึกในเรื่อง สิทธิ เสรีภาพ ทางการเมือง โดยเฉพาะการจะกล่าวหาถึงการมีปัญญาในเรื่องโง่หรือฉลาด เพราะปัจจุบัน ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า คนชั้นกลางและคนชั้นสูงที่มีการศึกษาก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้ ซึ่งคนเหล่านี้ก็คือฝ่ายนักปกครอง นักการศึกษาที่ปกครองประเทศมาอย่างยาวนาน ความไม่เชื่อว่าคนชั้นล่างเลือก ผู้แทนและรัฐบาลของตนเองได้ เพราะพวกเขาขาดการศึกษา ถือเป็นการดูถูกประชาชนและละเมิดต่อหลักการเบื้องต้นของความเป็นมนุษย์และประชาธิปไตยอย่างรุนแรง

กล่าวถึงองค์กรที่ทำงานใกล้ชิดประชาชนทุกกลุ่มทุกสี โดยเฉพาะ "สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน"(พอช.) การจะแสดงความคิดเห็นและจุดยืนทางการเมืองใดๆ ต้องคำนึงถึงหลักการประชาธิปไตยอย่างเคร่งครัดที่สุด เพราะสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนทำงานบนจุดยืน ของคนชั้นล่างที่เรียกว่า "ประชาธิปไตยจากฐานราก" คือเน้นการมีส่วนร่วมของขบวนองค์กรชุมชน เมื่อสถานการณ์ในสังคมมีความแตกต่างๆทางความคิด โดยเฉพาะมีกลุ่มทางการเมืองบางกลุ่มเคลื่อนไหว โดยเสนอข้อเรียกร้อง ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย และเชื้อเชิญกลุ่มอำมาตย์และเผด็จการทหารออกมายึดอำนาจ นำพาประเทศถอยหลังเข้าคลอง ลงเหว เช่นนี้ การที่มีเจ้าหน้าที่หรือขบวนองค์กรชุมชนบ้างส่วน จะร่วมการเคลื่อนไว้กับกลุ่มการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จึงเป็นเรื่องของสิทธิ เสรีภาพส่วนบุคคลเท่านั้น การใช้พื้นที่องค์กร(พอช.)แอบอ้างเพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นประโยชน์กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จึงเป็นสิ่งไม่ถูกต้องและสุ่มเสี่ยงต่อความแตกแยกในองค์กรเป็นอย่างยิ่ง ทางขบวนองค์กรชุมชนและเจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนภาคอีสานเพื่อประชาธิปไตย จึงมีมติร่วมกันดังนี้

1. สถาบันองค์กรชุมชน (พอช.) และขบวนองค์กรชุมชน ต้องแสดงจุดยืน ไม่เอาอำนาจนอกระบบใด ๆ และยืนยันหลักการในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

2. ให้งดเว้นกิจกรรมใด ๆ ในนามสถาบันฯ อันจะนำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงต่อการตีความว่าสนับสนุนการเมืองฝ่ายใด ๆ จนกว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะเป็นปกติตามระบอบประชาธิปไตย

3. การแสดงจุดยืนทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยให้เป็นสิทธิ เสรีภาพส่วนบุคคล ไม่เกี่ยวกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)

เพื่อให้เป็นไปตามหลักการและกระบวนการประชาธิปไตยดังกล่าว ขบวนองค์กรชุมชนและเจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนภาคอีสาน จะร่วมปกปักรักษาและร่วมต่อสู้เรียกร้องกับฝ่ายประชาชนที่รักระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขต่อไป

 

แถลงการณ์เพื่อประชาชนและประชาธิปไตย
วันที่ 28 พ.ย.56
ขบวนองค์กรชุมชนและเจ้าหน้าที่ พอช.ภาคอีสานเพื่อประชาธิปไตย
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สื่อต้องเลือกข้าง?! : คำถามจากนักข่าวภาคสนาม ต่อความสับสนของบทบาทในสถานการณ์ความขัดแย้ง

Posted: 28 Nov 2013 04:47 PM PST

จั่วหัวหมายเหตุตัวโตๆ ก่อนว่า สเตตัสนี้ อาจไม่ถูกใจนักข่าวหลายๆ ท่านผมก็กราบขออภัยล่วงหน้า แต่โปรดถกเถียงกันในเชิงหลักการและเหตุผล ทั้งหมดรวบรวมเอาความรู้สึกนึกคิดต่อบางประเด็นคล้ายๆ กัน จากนักข่าวภาคสนามบางส่วน(ย้ำว่าบางส่วน นับนิ้วดูก็ไม่ถึงสิบคน เพราะผมไม่รู้จักทุกคน และส่วนใหญ่ก็กระจัดกระจายไปตามขบวนดาวกระจายของม๊อบ บ้างหมุนวนมาเจอ บ้างก็ไม่ได้เจอกันเลย) แต่ก็มีความสำคัญ และอยากสะท้อนมุมมองนี้ให้นักข่าวมากพรรษาช่วยตริตรองหาทางออก หรือคนนอกวงการได้เข้าใจบางปัญหาของวิชาชีพสื่อมวลชนในสถานการณ์ความขัดแย้ง

ถ้านักข่าวรุ่นใหม่หมายถึงนักข่าวอายุงานไม่เกิน 5 ปี ผมน่าจะอยู่ในเยอเนเรชั่นกลางเก่ากลางใหม่ ผลงานอาจเทียบไม่ได้กับนักข่าวรุ่นเก่าอายุงานเกิน 15 ปี แต่ถือว่าผมโชคดีที่เติบโตขึ้นมาทำหน้าที่สื่อมวลชนในช่วงที่บ้านเมืองประสบปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และปัญหาภาคใต้ ซึ่งช่วยหล่อหลอมสำนึกบทบาทหน้าที่ของตนกว่าบทท่องจำในหนังสือจริยธรรมและกฏหมายสื่อมวลชนมากนัก

ผมมองว่าเป็นโอกาสไม่ใช่วิกฤต...

แต่มันเป็นโอกาสที่ไม่ง่ายเลยสักนิด สำหรับการเป็นสื่อมวลชนในสังคมที่ถูกแบ่งแยกด้วยสีเสื้อและการเลือกข้างทางการเมือง

มันมีความจำเป็นแค่ไหนที่นักข่าวต้องเลือกข้าง? –ผมอ่านเจอสเตตัสที่น้องนักข่าวภาคสนามของโทรทัศน์ช่องหนึ่งตั้งเอาไว้เมื่อสัปดาห์ก่อน ช่วงที่นักข่าวภาคสนามหลายชีวิตสะท้อนออกมาจุดยืนของตัวเองผ่าน FB  หลังจากที่นักข่าวชื่อดังคนหนึ่งจากช่องมากสีเดินขึ้นเวทีปราศรัย ผม(ซึ่งอยู่ในช่วงพักร้อน ไม่ได้ลงไปทำข่าว) เข้าใจอารมณ์สเตตัสของน้องนักข่าวคนนั้นในขณะนั้นว่า จะทำให้นักข่าวภาคสนามทำงานลำบากมากขึ้น เพราะสถานการณ์มันเริ่มท้าทายให้เลือกระหว่างจุดยืนในบทบาทหน้าที่ และ การเลือกข้างทางการเมือง

  "จำเป็นแค่ไหนที่นักข่าวต้องเลือกข้างทางการเมือง" ผมตั้งคำถามนี้เอาไว้ในใจ ณ ขณะนั้น และท้ายที่สุดชั่วระยะเวลาไม่นาน ก็มีเสียงเรียกร้องให้สื่อออกไปร่วมขบวนปฏิวัติประชาชน มีการโพสต์ข้อความโจมตี สื่อแท้-เทียมในเฟซบุ๊ค ทั้งหมดทั้งมวลมันไม่ได้ต่างไปจากสถานการณ์ม๊อบแดงหลังปี 2549 จนถึงปี 2553 เลยแม้แต่น้อย

"สื่อไม่รักประชาธิปไตย สื่อของเผด็จการ" นั่นคือข้อหาโจมตีสื่อมวลชนในขณะนั้น เป็นข้อโจมตีที่ชวนอึดอัด เพราะสร้างความแตกแยกในแวดวงนักข่าวทั้งภาคสนามและที่นั่งอยู่ในกองบรรณาธิการไม่น้อย ตัดภาพมาในปลายปี 2556 กลางม๊อบปฏิวัติประชาชนที่นำโดยอดีต ส.ส.สุเทพ เทือกสุบรรณ คำครหาไม่ได้แตกต่างกันแม้แต่น้อย

ใครที่เป็นนักข่าวพอจะมองเห็นภาพการทำงานของนักข่าวภาคสนามออก แต่ใครที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงนี้คงยากจะเข้าใจ กล่าวคือนักข่าวภาคสนามได้รับมอบหมายให้ติดตามทำข่าวม๊อบ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของแกนนำ การขับเคลื่อนของม๊อบในแต่ละวันส่งข่าวให้กองบรรณาธิการเผยแพร่ หรือหากเป็นข่าวโทรทัศน์ก็จะนำเสนอประเด็นในข่าวต้นชั่วโมง ข่าวเช้า ข่าวค่ำ หรือช่วงเวลาข่าวของตัวเอง มันจะไม่ยุ่งยากนัก หากเป็นสื่อที่เลือกข้างอย่างชัดเจนแล้วที่จะนำเสนอประเด็นให้ต่อเนื่องในแต่ละวัน แต่สำหรับนักข่าวจากสังกัดที่ไม่ได้ประกาศเลือกข้างออกมา ต้องทำข่าวด้วยจุดยืนของสื่อที่ไม่เลือกข้าง หรือพวกที่ต้นสังกัดมีภาพลักษณ์ของสื่อฝ่ายตรงข้าม จะได้รับความยากลำบากอย่างยิ่ง เช่นการเข้าถึงแกนนำเพื่อติดต่อขอสัมภาษณ์ในภาคสนาม มักจะฝ่าด่านเข้าไปได้ยาก ได้รับการจับตามองเป็นพิเศษจากพวกการ์ด หรือบางทีก็สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งหากแกนนำปลุกเร้ามวลชนจนอารมณ์คุขึ้นมา

ส่วนพวกนักข่าวที่เลือกข้างแล้ว สามารถนั่งกระดิกเท้าหลังเวที รอสัมภาษณ์พิเศษแกนนำคนสำคัญได้อย่างสบายใจ และยังสามารถรู้ประเด็นล่วงหน้าส่งต้นสังกัดก่อนเพื่อน จากความสนิทสนมกับบรรดาแกนนำทั้งหลาย

แต่นักข่าวหลายคน แม้ต้นสังกัดจะมีภาพลักษณ์อย่างไร ในระหว่างข่าวม๊อบที่ต้องมากินอยู่ท่ามกลางมวลชนก็ยังพยายามรักษาจุดยืนของตัวเอง ไม่ส่งข่าวบิดเบือนใดๆ (แต่หากหนังสือพิมพ์เผยแพร่แบบบิดเบือนออกไป นั่นหมายถึงผ่านมือของ บ.ก.หรือกองบรรณาธิการของโต๊ะข่าวแล้ว ไม่ใช่ความรับผิดชอบของนักข่าวภาคสนาม ส่วนโทรทัศน์ข้อเท็จจริงก็ผ่านหน้าจออยู่แล้ว) แต่เมื่อข่าวเผยแพร่ออกไป นักข่าวภาคสนามคือคนแรกที่จะถูกจับตามองจากมวลชนของม๊อบ

แต่ในส่วนของโทรทัศน์ ยังมีองค์ประกอบอื่นที่นำมาซึ่งความยุ่งยากของนักข่าวภาคสนาม นอกจากภาพลักษณ์ของต้นสังกัด ยังมาจาก "นักข่าวเซเลบ" หรือ "ผู้ประกาศ" ที่ทำหน้าที่อยู่หน้าจอ เพราะคนเหล่านี้คือผู้สื่อสารโดยตรงกับประชาชน คนรับสื่อมักจำจดภาพลักษณ์ของคนเหล่านั้นแทนสถานีโทรทัศน์ แทนนักข่าวภาคสนามทุกคน ไม่มีใครรับรู้ว่านักข่าวภาคสนามทำงานหนักแค่ไหนกว่าจะได้ข่าวหรือบทสัมภาษณ์แต่ละชิ้น แต่เมื่อมันถูกอ่านผ่านปาก "ผู้ประกาศเซเลบที่เลือกข้าง" ผู้ชมจะจดจำรับรู้สารนั้นไปอีกรูปแบบ    

นักข่าวสาวรุ่นน้องของผมคนหนึ่งถูกผู้ชุมนุมกระชากแขนถามว่าจะรายงานข่าวบิดเบือนหรือไม่ที่กระทรวงการคลัง 2-3 วันที่ผ่านมา ส่วนอีกคนก็ถูกผู้ชุมนุมเข้ามาข่มขู่ (ใกล้เคียงกับคำว่าคุกคาม)ให้เสนอข่าวการบุกปิดล้อมกระทรวงการคลังดีๆ

ย้อนกลับไปเมื่อการชุมนุมของชาวสวนยางภาคใต้ที่ควนหนองหงษ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราชเมื่อหลายเดือนก่อน ซึ่งม๊อบชาวบ้านก็ถูกมองว่าเป็นฝั่งตรงข้ามรัฐบาล นักข่าวก็ประสบปัญหาเดียวกัน เมื่อนักข่าวสาวรุ่นน้องคนหนึ่งถูกผู้ชุมนุมเข้ามาข่มขู่คุกคามตอนขอสัมภาษณ์ ส่วนเพื่อนนักข่าวอีกคน นัดสัมภาษณ์แกนนำไว้ แต่ผู้ชุมนุมบางรายจะพาไปสถานที่เปลี่ยวแห่งหนึ่งซึ่งอยู่คนละพื้นที่ ดีที่แกนนำบางคนพยายามช่วยเหลือออกมา มิเช่นนั้นคงยากจินตนาการว่าเป็นหรือตาย

นี่คือภาพรวมที่ผมอยากเล่าให้ฟังนอกจากความเหนื่อยยากลำบากที่ต้องลงไปตากแดดตากฝนบนท้องถนนเพื่อเอาข้อเท็จจริงมาให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูล ยังต้องกลายเป็นเหยื่อทางอารมณ์ของผู้ชุมนุมบางกลุ่ม ที่เขาต้องการสะท้อนความรู้สึกไปยังต้นสังกัดหรือผู้ประกาศ "เซเลบ" ไม่กี่คนในประเทศนี้

ผมไม่ได้บอกว่าการเลือกข้างทางการเมืองเป็นสิ่งไม่ดี นั่นเพราะเข้าใจว่า การตื่นตัวทางการเมืองเป็นสำนึกรับผิดชอบของพลเมืองประเทศนี้อยู่แล้ว แต่คนบางหน้าที่ ก็เหมือนนกบางประเภทที่มีปีกแต่ไม่จำเป็นต้องบิน

ชั่วๆ ดีๆ ในสถานการณ์ความขัดแย้ง สื่อมวลชนก็มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการนำพาออกจากวิกฤตได้ แต่นั่นก็ต้องยืนให้มั่นในจุดที่ควรยืน เมื่อไหร่ที่เผลอไผลลงไปร่วมในความขัดแย้งด้วย ยิ่งทำให้วิกฤตรุนแรงบานปลาย

ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรก็ควรเป็นไปอย่างนั้น ปากกา (หรือมือถือ) กล้องถ่ายภาพนิ่งและเคลื่อนไหวเป็นเครื่องมือสำคัญ คำว่า "ประโยชน์ของชาติ" สำหรับสื่อมวลชนจึงไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกข้างทางการเมือง หากเรายึดถือเอาความสัตย์ ยึดมั่นในข้อเท็จจริง มันก็เป็นประโยชน์ของชาติ –ที่หมายความถึงประชาชนในประเทศนี้ทั้งมวล ไม่ต้องขึ้นเวทีปราศรัย ไม่ต้องบริภาษผ่านหน้าจอโทรทัศน์  

แต่นกหวีดที่คล้องอยู่ในลำคอ และผ้าคาดลายธงชาติที่ผูกไว้ตรงหน้าผากของนักข่าว-ผู้ประกาศเซเลบบางคนทำให้นักข่าวภาคสนามทำหน้าที่ยากลำบาก สุ่มเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตอย่างคาดไม่ถึง เอาแค่ปัจจุบันที่สุดขณะนี้ก็คือความอึดอัดหัวใจเป็นที่สุด

เพื่อนนักข่าวของผมบ่นว่า มันคงแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว ปล่อยให้นักข่าวภาคสนามเผชิญปัญหากันตามลำพัง เพราะนอกจากต้นสังกัดเลือกข้างอย่างเด็ดเดี่ยวแล้ว สมาคมนักข่าวฯ ทั้งสององค์กรก็เลือกข้างทางการเมืองไปแล้ว จริยธรรมสื่อมวลชนกลายเป็นคำภีร์เก่าในตู้โชว์โบราณ

วันที่ตึกของสื่อมวลชนช่องหนึ่งถูกปิดล้อม พิธีกรเล่าข่าวถูกม๊อบบังคับให้เป่านกหวีดซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิอย่างรุนแรง ทั้งที่เคยวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของพิธีกรคนดังกล่าวอย่างเข้มข้นมาก่อน แต่เมื่อถึงเวลาปกป้องอย่างเข้มข้นบ้างกลับไม่มีใครทำ จริยธรรมของสื่อมวลชนไม่เลือกที่รักมักที่ชังเป็นแน่ องค์กรสื่อก็ไม่ควรเลือกสื่อให้ปกป้องมิใช่หรือ

หรือจะปล่อยให้มืดบอดเช่นนี้กันต่อไป ใครใคร่หยิบนกหวีดหรือตีนตบไปพร้อมกับสมุดปากกาก็ได้อย่างนั้นหรือ แล้วคนที่อยู่ตรงกลางความขัดแย้งที่ไปหาข้อเท็จจริงได้จากไหน

ตกลงเราเป็น "สื่อ" เพื่อ "มวลชน" หรือเป็นส่วนหนึ่งของมวลชนกันแน่!

 

 

ที่มา: facebook สื่อต้องเลือกข้างทางการเมืองด้วยหรือไม่?! : คำถามจากนักข่าวภาคสนาม ต่อความสับสนของบทบาทหน้าที่ในสถานการณ์ความขัดแย้ง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai