ประชาไท | Prachatai3.info |
- ผมไม่กลัว แต่ผมโกรธ: บันทึกผู้สื่อข่าวผู้ตกเป็นจำเลยคดีประชามติ
- สร้างสะพาน: จะ (ไม่) พูดถึงสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร
- กวีประชาไท: สถานะ สุดท้าย
- หมายเหตุประเพทไทย #150 มองจุฬาใหม่ ทบทวนประวัติมหาวิทยาลัย 100 ปี
- เมื่อคนตาย เราควรฟังเสียงใคร?
- นักเศรษฐศาสตร์ชี้ภาษีที่ดินช่วยท้องถิ่นเก็บภาษีได้ถึง 38,000 ล้าน
- เปิดตัวหนังสือ 'อินเดียมหัศจรรย์' แนะควรศึกษาแม้ขัดแย้งภายในสูง แต่ไร้รัฐประหาร
- ผู้บริโภค จ.สุรินทร์ ผงะพบเหล้าขาวสีฟ้า
- กสม. แจงเงินของ 'ชัยภูมิ' มาจากธุรกิจกาแฟ จี้ผบช.ภาค 5 หากมีหลักฐานก็เปิดต่อสังคม
- เยาวชนสิงคโปร์ผู้วิจารณ์ 'ลีกวนยู' ได้ลี้ภัยในสหรัฐอเมริกาแล้วหลังถูกกักตัว 3 เดือน
- ทรัมป์โทษพรรครัฐบาลที่แล้ว หลังล้มเหลวยกเลิก 'โอบามาแคร์'
- 'ไอซิส’ อ้างเป็นแรงบันดาลใจเหตุโจมตีลอนดอน นักวิเคราะห์เชื่อ จริงๆ กำลัง 'ขาลง'
- นิด้าโพลล์ระบุคน 'กทม.-ปริมณฑล' 46% ไม่รู้จักอูเบอร์ 54.51% อยากให้คัดกรองคนขับแท็กซี่
- คสช.ส่งทหาร-ตร. สกัด อดีต ส.ส.เพื่อไทย เปิดตัวหนังสือจำนำข้าว
- 'จารุพงศ์' แถลง 5 ข้อ โต้ก่อการร้าย-จี้ยกเลิก ม.44
ผมไม่กลัว แต่ผมโกรธ: บันทึกผู้สื่อข่าวผู้ตกเป็นจำเลยคดีประชามติ Posted: 26 Mar 2017 08:59 AM PDT |
สร้างสะพาน: จะ (ไม่) พูดถึงสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร Posted: 26 Mar 2017 08:10 AM PDT
นี่คือพาดหัวข่าว 2-3 ข่าวจากหนังสือพิมพ์ที่หลากหลายในช่วงสองปีมานี้ "นำอังกฤษกลับมาสู่รับผิดชอบต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชน" "สิทธิมนุษยชนคือกฎหมายสำหรับอาชญากร, ชาว Briton 75% กล่าว" "พวกอนุรักษนิยมตั้งมั่นจะทำลายสิทธิมนุษยชนของเขาเอง" แต่ละพาดหัวข่าวเกี่ยวโยงต่อความคำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการตีความปัญหาและทางแก้แตกต่างกัน –แหล่งอำนาจใดควรเป็นแหล่งที่มาของการบังคับใช้กฎหมายของเรา (สหราชอาณาจักรหรือสหภาพยุโรป); ใครใช้หรือคุกคามกฎหมาย (พลเมืองหรืออาชญากร), ใครคือผู้ที่กฎหมายออกแบบให้ได้รับการปกป้องอย่างแท้จริง (ทุกคนหรือแค่ส่วนน้อย) "เราพูดถึงสิทธิมนุษยชนอย่างไร" สร้างความแตกต่างอย่างใหญ่หลวงต่อการรับรู้ ขณะที่พวกเราส่วนใหญ่ทั้งสนับสนุนและทั้งยังไม่ตัดสินใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน สื่อบอกเล่าเรื่องราวที่ต่างไป ในการสำรวจหนังสือพิมพ์บอร์ดชีตและแทบลอยด์ บล็อกการเมือง และสุนทรพจน์ของรัฐสภาจากปี 2013 "สิทธิมนุษยชน" แทบจะไม่เคยถูกใช้ในบริบทด้านบวก ในความเป็นจริง มีบทความเพียง 30% ที่สนับสนุนสิทธิมนุษยชนในสหราชอาณาจักร (ในอังกฤษมีน้อยกว่า 20%) นี่อาจจะไม่ทำให้ใครที่สนใจเรื่องความครอบคลุมของสื่อ (media coverage) เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนอยู่แล้วประหลาดใจ แต่มันน่าสนใจมากขึ้นเมื่อคุณมองไปที่การใช้ "กรอบ" ที่แตกต่าง กรอบคือเรื่องราว ประกอบไปด้วยความคิด ความทรงจำ อารมณ์ และค่านิยมมากมายซึ่งติดมากับแนวความคิดที่สื่อมอบให้ การกำหนดกรอบคือเครื่องมือในการสื่อสารซึ่งเราใช้ (ทั้งโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว) เพื่อปลุกเร้าปฏิกิริยาที่เราต้องการให้เกิดต่อแนวความคิดอย่างเฉพาะเจาะจง ความคิดส่วนมาก (เช่นความคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน) สามารถถูกพูดถึงในแนวทางที่แตกต่างหลากหลายได้มากมายมหาศาล ไม่เพียงแต่เราพบจุดเชื่อมต่อที่ชัดเจนระหว่างกรอบและค่านิยมต่อสิทธิมนุษยชนที่แตกต่างกัน เรายังพบว่า กรอบเรื่องสิทธิมนุษยชนสามารถหันเหความคิดของผู้คนต่อประชาธิปไตยและความมั่นคงของชาติอย่างชี้วัดได้ เราขอให้ประชาชนกว่า 1,500 คน อ่านเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เขียนขึ้นในกรอบที่แตกต่างกันและเติมลงในแบบสอบถามเกี่ยวกับทัศนะทางสังคมของพวกเขา รวมทั้งตอบกลับคำกล่าวเหล่านี้
ในการวิเคราะห์ (ขอได้หากต้องการ) เราค้นพบและทดสอบทั้งหมด 15 กรอบหลัก ต่อไปนี้เราจะยกตัวอย่างเพียงสองกรอบ: กรอบที่ใช้อยู่เป็นปกติ และกรอบที่ได้ผลอย่างมากต่อการกระตุ้นเรื่องสิทธิมนุษยชน |
Posted: 26 Mar 2017 07:43 AM PDT เกิดบน แผ่นดินไทย ไร้สถานะ คนเถื่อน เเละคนไทย ไม่เเตกต่าง เเม้เมื่อครั้ง ยังมี ซึ่งชีวิต ใครเล่า จักสู้ เพื่อรู้ความจริง ทั้งคนเถื่อน คนไทย ใต้อำนาจ เพราะเราต่าง กำเนิด เกิดผิดที่ # RIP ชัยภูมิ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
หมายเหตุประเพทไทย #150 มองจุฬาใหม่ ทบทวนประวัติมหาวิทยาลัย 100 ปี Posted: 26 Mar 2017 07:07 AM PDT กดติดตามรับชมคลิปใหม่ๆ ที่
ในโอกาส 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี และปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ พูดคุยกับ ชัยชาญ ปรางค์ประทานพร ผู้เขียนบทความ "อ่านจุฬาฯ ใหม่: ความเคลื่อนไหวทางภูมิปัญญาของนิสิตในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ" โดยมุมมองจากชัยชาญ เสนอให้ทบทวนเรื่องเล่าของประวัติศาสตร์จุฬาฯ เพราะนอกจากแบบฉบับทางการแล้ว หน้าประวัติศาสตร์จุฬาฯ ยังมีเรื่องราวของผู้คนและบทบาททางการเมืองที่รอการพูดถึงอีกด้วย "จุฬาฯ ก็ยังเป็นจุฬาฯ ในแบบของมันต่อไป เพียงแต่ว่าเราจำเป็นต้องอ่านจุฬาฯ ใหม่ มองจุฬาฯ ใหม่อีกครั้ง ทุกอัตลักษณ์ทุกตัวตนไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ตรงกันข้ามจุฬาฯ มีศิษย์เก่ามากมาย มีอายุยั่งยืนนานมาขนาดนี้ต้องมีส่วนร่วมของคนจำนวนมาก อัตลักษณ์ซึ่งเป็นของร่วมกันจะแสดงออกให้เป็นความมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน คนเป็นหมื่นเป็นพันเหล่านี้จะเป็นเจ้าของจุฬาฯ อย่างเท่าเทียมกันได้อย่างไร" ชัยชาญกล่าวทิ้งท้าย ภาพปก: นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเตรียมร่วมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เมื่อ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 (ที่มา: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ) ชมภาพขนาดเต็มคลิกที่นี่ [1] ภาพปกรูปอื่นๆ การเลือกตั้งสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2518 (ที่มา: หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ชมภาพขนาดเต็มคลิกที่นี่ [2] ภาพรวม 1 และ 2 และภาพกิจกรรมรับน้องในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2517 (ที่มา: หอจดหมายเหตุแห่งชาติและหอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เป็นภาพด้านหลัง ชมภาพขนาดเต็มคลิกที่นี่ [3]
ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่ https://www.facebook.com/maihetpraphetthai หรือ https://www.youtube.com/playlist?list=PLyjd9jzMpO2Xby4FyxWMwY8auIFY01eVQ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 26 Mar 2017 05:30 AM PDT จากเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐได้กระทำการวิสามัญคุณชัยภูมิ ป่าแส ชวนให้นึกถึงเรื่องราวในเหตุการณ์จังหวัดชายแดนใต้ และอยากหยิบยกเล่าถึงเหตุการณ์และประสบการณ์ที่ได้พบเจอ เพื่อเปรียบเทียบในบางประเด็นกับปรากฎการณ์ความตายของคุณชัยภูมิ ป่าแส |
นักเศรษฐศาสตร์ชี้ภาษีที่ดินช่วยท้องถิ่นเก็บภาษีได้ถึง 38,000 ล้าน Posted: 26 Mar 2017 04:11 AM PDT คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ชี้ผลของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทำให้ลดความเสี่ยงทางการคลังได้ในระยะ 3-5 ปี แต่ต้องเริ่มต้นจัดเก็บภายในปีหน้าเป็นอย่างช้า ปีแรกได้ภาษีไม่ต่ำกว่า 38,000 ล้านบาทให้แก่ท้องถิ่น เพิ่มความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำและการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินในไทย 26 มี.ค. 2560 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นต่อผลของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเป็นผลดีอย่างมากต่อการใช้ที่ดินให้มีประสิทธิภาพและเป็นผลบวกต่ออุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ในระยะยาว ส่วนระยะสั้นและระยะปานกลางทำให้ต้นทุนและภาระภาษีของธุรกิจอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นแต่ผลกระทบจะเป็นเช่นใดขึ้นอยู่กับระบบประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ภาษีที่ดินจะทำให้ประเทศลดความเสี่ยงทางการคลังได้ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้าแต่ต้องเริ่มต้นจัดเก็บภายในปีหน้าเป็นอย่างช้า โดยในปีแรกจะทำให้มีรายได้จากภาษีไม่ต่ำกว่า 38,000-40,000 ล้านบาทกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเมื่อบวกกับภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่จะมีรายได้ประมาณ 64,000-65,000 ล้านบาท พระราชบัญญัติที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี พ.ศ. 2560 นี้จะมาแทนที่กฎหมายภาษีโรงเรือน (ซึ่งซ้ำซ้อนกับภาษีเงินได้และขึ้นกับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ) และภาษีบำรุงท้องที่ (มีการลดหย่อนมากและอัตราภาษีถดถอย มีรายได้ภาษีเพียง 700 ล้านบาทต่อปี) ผลกระทบของภาษีต่อกองทุนอสังหาริมทรัพย์จากการประเมินเบื้องต้นยังมีจำกัด กองทุนอสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงแรม น่าจะได้รับผลกระทบจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมากที่สุด เนื่องจากในปัจจุบันโรงแรมจ่ายภาษีโรงเรือนอยู่ต่ำกว่าอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นๆ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ประเภทค้าปลีก ส่วนใหญ่มักจะผลักภาระภาษีให้ผู้เช่าเป็นส่วนใหญ่ เพราะเจ้าของห้างสรรพสินค้าค้าปลีกจะมีอำนาจการต่อรองที่สูงกว่าผู้เช่ารายย่อย ผลกระทบทางภาษีที่กองทุนอสังหาริมทรัพย์ต้องมีภาระจะมาจากภาษีบนพื้นที่ที่ยังไม่มีผู้เช่า กองทุนอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารสำนักงาน เนื่องจากอาคารสำนักงานสร้างใหม่ ปัจจุบันนี้ถือว่ามีน้อย ดังนั้นกองทุนอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารสำนักงานน่าจะไม่มีปัญหาในการผลักภาระให้ผู้เช่าโดยการขึ้นค่าเช่าถ้าภาษีที่เก็บตามระบบใหม่มากกว่าระบบเดิม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชัดเจนในวิธีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินตามกฎหมายใหม่นี้ด้วย ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า การผ่านกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่นี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างรายได้ของรัฐและจัดระเบียบการใช้ที่ดิน ตามหลักการถือว่าเป็นการเปลี่ยนวิธีการคิดภาษีอสังหาริมทรัพย์ตามมูลค่าของสินทรัพย์ซึ่งจากเดิมจะจัดเก็บตามรายได้เป็นหลัก โดยภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 จัดเก็บอยู่ที่ประมาณ 12.5% ของรายได้ ซึ่งเป็นรายได้ของรัฐประมาณ 2 หมื่นล้านบาทต่อปี ในขณะที่ภาษีบำรุงท้องที่จัดเก็บรายได้ต่อปีอยู่ที่ประมาณ 700-800 ล้านบาท เนื่องจากราคาประเมินในการจัดเก็บภาษีโรงเรือน ยังใช้ราคาประเมินของปี 2521 โดยยังไม่ได้มีการปรับขึ้นมาเป็นราคาปัจจุบัน การเปลี่ยนการจัดเก็บภาษีตามมูลค่าของสินทรัพย์แทนการเก็บตามรายได้นั้น นับว่าเป็นระบบการจัดเก็บภาษีเพื่อสนับสนุนให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์นำสินทรัพย์ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ และสร้างรายได้ให้มากที่สุด เนื่องจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเป็นภาษีที่เจ้าของสินทรัพย์ต้องเสียโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ทุกปี แม้ว่าสินทรัพย์นั้นจะทำรายได้มากหรือน้อย อย่างไรก็ตาม ตนมีความห่วงใยว่าในการพิจารณาในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้นรายละเอียดเนื้อหาของกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามที่กระทรวงการคลังเสนอผ่านคณะรัฐมนตรีอาจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากจนไม่เกิดประโยชน์เต็มประสิทธิภาพตามเป้าหมาย หากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ขยายตัวตามเป้าหมายในระดับเฉลี่ย 4% ในช่วงปี พ.ศ. 2558-2563 เนื่องจากการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีความล่าช้ามาประมาณ 1-2 ปี ทำให้ไทยไม่สามารถทำตามกรอบแผนความยั่งยืนทางการคลังได้ (ตามแผนเดิมต้องทำงบประมาณสมดุลปี 2560) และจะทำให้สัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อจีดีพีขึ้นไปแตะระดับสูงสุดได้ ในปี พ.ศ. 2562-63 ได้ โครงสร้างภาษีของไทยนั้นขึ้นอยู่กับฐานรายได้และฐานบริโภคมากเกินไป ขณะที่ภาษีทรัพย์สินเป็นสัดส่วนรายได้ของภาครัฐน้อยมาก หากเราต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นควรลดภาษีบริโภคกระตุ้นการใช้จ่าย ลดภาษีเงินได้เพื่อคนจะได้ขยันทำงานมากขึ้น เพิ่มภาษีทรัพย์สิน (ภาษีที่ดินและภาษีมรดก) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำกระจายความมั่งคั่งและการถือครองที่ดิน เพิ่มภาษีปาบเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและสูญเสียชีวิต รวมทั้งควบคุมพฤติกรรมสมาชิกในสังคม ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า การกระจุกตัวของการถือครองที่ดินในสังคมไทยถือว่าเป็นปัญหาที่อยู่ในระดับรุนแรงมากๆเนื่องจากกลุ่มที่ถือครองที่ดินสูงสุด 20% แรกถือครองที่ดินมากกว่ากลุ่มที่ถือครองที่ดินต่ำสุด 20% ล่างสุดมากถึง 325 เท่า นอกจากนี้กลุ่มที่ถือครองที่ดินสูงสุด 20% แรกนี้ยังถือครองที่ดินคิดเป็น กว่า 80% และ คนที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศนี้ 10% แรกถือครองที่ดินเกือบ 90% ของทั้งประเทศ นอกจากนี้จากผลการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินยังพบว่า มีค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคหรือการกระจายการถือครองที่ดินสูงถึง 0.89 การที่ค่า Gini Coefficient มีค่าสูงเกือบ 0.9 สะท้อนถึงความไม่ธรรมและความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจที่รุนแรง อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามที่กระทรวงการคลังเสนอนั้นมีความเหมาะสม อัตราภาษีภาคเกษตรกรรมจัดเก็บไม่เกิน 0.2% ภาคที่อยู่อาศัยไม่เกิน 0.5% บ้านหลักมูลค่าไม่เกิน 50% ได้รับการยกเว้น ภาษีสำหรับพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมไม่เกิน 2% ภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่เกิน 5% ส่วนการยกเว้นและบรรเทาภาระภาษีตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังนั้นขอให้ลดอำนาจดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ให้น้อยที่สุด ข้อดีของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นภาษีทรัพย์สินประเภทหนึ่งนั้น คือ เป็นภาษีที่มีความเสถียรในการจัดเก็บ เลี่ยงยากและมีศักยภาพสูงในการสร้างรายได้ให้รัฐ มีประสิทธิภาพสูงหากระบบประเมินทรัพย์สินได้มาตรฐาน นอกจากนี้ภาษีที่ดินยังช่วยทำให้การจัดรูปที่ดิน การบริหารจัดการและพัฒนาที่ดินดีขึ้น นอกจากการใช้เครื่องมืออื่นๆ เช่น การมีผังเมืองและระบบโซนนิ่ง การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มมูลค่าที่ดิน กฎหมายการควบคุมการใช้ประโยชน์จากที่ดิน เป็นต้น ดร.อนุสรณ์ ยังวิเคราะห์อีกว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราที่เหมาะสมยังทำให้ระบอบประชาธิปไตยระดับฐานรากมีความเข้มแข็งมากขึ้นเพราะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีงบประมาณไปพัฒนาพื้นที่ สามารถทบทวนและยกเลิกภาษีโรงเรือนที่ล้าสมัยมีอัตราสูงเกินไปได้ หรือ ยกเลิกภาษีบำรุงท้องที่ที่มีความไม่แน่นอนในอัตราการจัดเก็บ และหากมีการใช้เงินจากภาษีที่ดินอย่างไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่โปร่งใสย่อมทำให้ประชาชนในพื้นที่และผู้มีสิทธิเลือกตั้งตรวจสอบได้ง่าย นอกจากนี้ยังสามารถนำเงินรายได้จากภาษีมาพัฒนาประเทศด้านต่างๆซึ่งน่าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 200,000 ล้านบาท หรือนำเงินงบประมาณมาจัดตั้งธนาคารที่ดิน และ โฉนดชุมชนนำมาแจกให้ชาวบ้านที่ไม่มีที่ทำกินได้ต่อไป ดร. อนุสรณ์ ได้เสนอให้มีการขยายสิทธิในการซื้อขายสิทธิในการเช่าที่ดินของต่างชาติ 50 ปีเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการทำธุรกรรม หรือให้มีการซื้อขาย สิทธิในการเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ (Leasehold) เป็นการเพิ่มมูลค่าให้สิทธิการเช่าซื้อ เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจโดยรวมโดยเฉพาะโครงการคอนโดหรูที่มีอุปทานส่วนเกินอยู่จำนวนมากในขณะนี้ ข้อเสนอทางด้านนโยบายเรื่องนี้เพื่อให้สอดคล้องกับที่ดินในยุคโลกาภิวัตน์และการเปิดเสรีการลงทุนด้วย การเปิดช่องในการทำธุรกรรมซื้อขายดังกล่าวจะช่วยดึงอุปสงค์จากทั่วโลกมาขับเคลื่อนให้ธุรกิจอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตลาดอสังหาริมทรัพย์หรือที่ดินของไทยควรเปิดกว้างตามกระแสโลกาภิวัตน์มากยิ่งขึ้น ระบบการเงินและนวัตกรรมทางการเงินก็มีการหลากหลายและซับซ้อนขึ้น จากเดิมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือที่ดินเป็นการซื้อขายแลกเปลี่ยนกรรมสิทธิ์กันและสิทธิในการใช้ประโยชน์แบบพื้นฐานจากอสังหาริมทรัพย์ แต่เวลานี้ มีทั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) มีทั้ง กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust-REIT) อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องมีระบบและกลไกในการกำกับไม่ให้เงินทุนต่างประเทศที่ไหลเข้ามาเก็งกำไรจนก่อให้เกิดภาวะฟองสบู่และการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ไม่ตั้งอยู่บนฐานของความสามารถในการผลิตหรือไม่สะท้อนความต้องการหรืออุปสงค์ที่แท้จริง นอกจากนี้ควรมีการศึกษาเพื่อจัดเก็บ Betterment Tax จากที่ดินและโครงการต่างๆที่ได้ประโยชน์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐโดยตรงโดยเฉพาะที่ดินตลอดแนวระบบราง โดยเก็บเฉพาะมูลค่าส่วนเพิ่มอันเป็นผลมาจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจหรือการอนุญาตให้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยมูลค่าที่เพิ่มขึ้นคำนวณจากส่วนต่างของมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลง ทรัพยากรที่ดินมีจำกัดและเกี่ยวข้องกับประเด็นทางด้านสังคม ความมั่นคง สิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากประเด็นทางเศรษฐกิจและการลงทุน จึงควรพัฒนาระบบการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากที่ดินได้โดยไม่ให้กรรมสิทธิ์เด็ดขาดขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรที่ดินและแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าและพื้นที่สาธารณะ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เปิดตัวหนังสือ 'อินเดียมหัศจรรย์' แนะควรศึกษาแม้ขัดแย้งภายในสูง แต่ไร้รัฐประหาร Posted: 26 Mar 2017 03:07 AM PDT เปิดตัวหนังสือ "อินเดียมหัศจรรย์" เปิดมุมมองต่ออินเดียใหม่ 'คริส เบเกอร์' แนะไทยควรศึกษาประชาธิปไตยอินเดีย เหตุมีความขัดแย้งภายในเยอะมาก แต่ทหารก็ไม่ใช้กำลังล้มระบอบประชาธิปไตย ระบุประวัติศาสตร์อินเดียไม่ได้มีชุดเดียว มีมานานและยิ่งใหญ่กว่าประเทศอินเดีย ไทยนำแนวคิดมาประยุกต์ใช้ได้ เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ได้จัดงานเสวนาและเปิดตัวหนังสือ "อินเดียมหัศจรรย์" ที่บ้านไทยจิมทอมป์สัน โดยมี คริส เบเกอร์ นักเขียนและนักวิจัยอิสระ วีระ ธีรภัทรานนท์ นักจัดรายการวิทยุชื่อดัง สาวิตรี เจริญพงษ์ อาจารย์จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชษฐ์ ติงสัญชลี อาจารย์จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นวิทยากร และกาญจนี ละอองศรี เป็นผู้ดำเนินรายการ แนะควรศึกษาประชาธิปไตยอินเดีย ชี้คนมองการมีสิทธิเสียงทำให้ชีวิตดีคริส เบเกอร์ กล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจในการศึกษาอินเดียในปัจจุบันคือ ปัจจัยที่ทำให้ประเทศที่ใหญ่ และมีความแตกต่างทางอัตลักษณ์สูงมากยังคงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยได้อย่างยาวนานตั้งแต่ได้รับเอกราช ถึงวันนี้ก็ประมาณกว่า 70 ปี เวลาที่คนไทยบอกว่าไม่เอาประชาธิปไตย เรายังไม่พร้อม แต่ในอินเดียนั้นมีความขัดแย้งภายในเยอะมาก ทหารก็ไม่ใช้กำลังล้มระบอบประชาธิปไตย เป็นเรื่องจริงที่วรรณะและความเหลื่อมล้ำในคุณภาพชีวิตสูง ยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสังคมอินเดียอยู่มาก แต่ประชาชนอินเดียเข้าใจว่า ตราบใดที่พวกเขามีสิทธิ์และมีเสียง มันจะเป็นประโยชน์ พวกเขาจะมีช่องทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ซึ่งปัจจุบัน ถือได้ว่า ปัญหาต่างๆในสังคมอินเดียได้รับการพัฒนามาไม่มากก็น้อยเมื่อนับจากจุดเริ่มต้น คริส เบเกอร์ กล่าวในงานว่า Basham มีเจตจำนงในการเขียนหนังสือเล่ม เพื่อให้คนอ่านที่อยู่ในโลกตะวันตกรับรู้ว่า วัฒนธรรม อารยธรรมอินเดียไม่ได้ด้อยกว่าอารยธรรมทั้งหลายในโลกตะวันตก เช่น กรีก โรมัน เพราะว่าสมัยก่อนมีวรรณกรรมหลายชุดที่กดวัฒนธรรมอินเดียให้ดูด้อยกว่าอารยธรรมตะวันตก แต่หนังสืออินเดียมหัศจรรย์มีเนื้อหาถึงแค่สมัยก่อนที่ศาสนาอิสลามจะเข้ามามีอิทธิพลในอินเดียเมื่อศตวรรษที่ 12 – 13 การเข้ามามีบทบาทในอนุทวีปที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความเชื่อ ส่งผลสะเทือนจนถึงปัจจุบันในหลายมิติ เช่น ในรัฐอุตตรประเทศที่เลือกตั้งแล้วได้ผู้ว่าการรัฐที่นับถือศาสนาฮินดูที่มีแนวคิดต่อต้านชาวมุสลิม ในประเทศที่ปัจจุบัน โดย วีระ กล่าวเสริมถึงประเทศอินเดียด้วยว่า มีผู้นับถือศาสนาอิสลามมากที่สุดในโลก ประเทศอินเดีย ≠ อารยธรรมอินเดีย ชี้ปรัชญาการปกครองอาจนำมาใช้กับไทยได้สาวิตรี กล่าวว่า อินเดียในการรับรู้ของคนไทยยังถูกมองข้ามในหลายเรื่อง ในแง่ของพื้นที่ อารยธรรมอินเดียกระจายตัวไปไกล กินพื้นที่กว้างขวางกว่าดินแดนที่เป็นอินเดียในปัจจุบัน อารยธรรมอินเดียที่เก่าแก่ที่สุดเองก็ไม่ได้อยู่ในอินเดียแล้ว ในแง่วัฒนธรรม อินเดียมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นภาษา ศาสนา วัฒนธรรม ในขณะเดียวกันความแตกต่างนั้นก็สามารถนำมาจำแนกตามคุณลักษณะที่มีร่วมกันได้ ในแง่การปกครอง สาวิตรี กล่าวว่า การเล่าประวัติศาสตร์ตามเส้นเวลาของราชวงศ์ต่างๆ เช่น คุปตะ เมารยะ ทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจว่านั่นคือปริมณฑลการปกครองทั้งหมดของอินเดียซึ่งแท้ที่จริงไม่ใช่ ยังมีอาณาจักรอีกมากมายที่ไม่ปรากฏในบทเรียน เพียงแต่การบอกเล่าประวัติศาสตร์ของพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่มากในสมัยหนึ่ง แล้วต่อมามีการรวมตัวกันเป็นประเทศนั้นมีความลำบากพอสมควร วีระ กล่าวว่า การเขียนประวัติศาสตร์อินเดียมีจุดแบ่งคือ ก่อนได้รับเอกราช และหลังได้รับเอกราช โดยประวัติศาสตร์ก่อนช่วงได้รับเอกราชจะหมายรวมไปถึงพื้นที่นอกเหนือจากอินเดียปัจจุบัน ตั้งแต่อัฟกานิสถาน ปากีสถาน บังกลาเทศ ไปถึงพม่าทีเดียว วีระ ให้ความเห็นด้วยว่า หนังสืออินเดียมหัศจรรย์ บทที่ 4 ที่ว่าด้วย รัฐ ชีวิต ความคิดทางการเมือง น่าอ่านที่สุด เพราะศิลปะการปกครองอินเดียโบราณไม่เหมือนกับตะวันตกตรงที่อินเดียไม่มีการผลิตทฤษฎีการเมือง แต่อินเดียเขียนออกมาเป็นหลักการปกครอง เช่น ราชธรรม คัมภีร์อรรถศาสตร์ ในสังคมไทย พุทธราชา ธรรมราชาก็มีที่มาจากหลักคิดดังกล่าว โคลงโลกนิติ มีต้นทางจากราชธรรม และตนเห็นว่าอาจจะเอามาใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันในไทยหลายๆ เรื่องได้ด้วยซ้ำ สำหรับหนังสือ "อินเดียมหัศจรรย์" นั้น แปลมาจากหนังสือ "The Wonder that was India" เขียนขึ้นโดย Arthur Llewellyn Basham (A.L. Basham) มีใจความเกี่ยวกับอารยธรรมอินเดียหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดทางการเมือง ศาสนาและลัทธิทางความเชื่อ ศิลปะ ภาษาและวรรณคดี ในเล่มยังมีภาพถ่ายของงานศิลปะต่างๆที่ปัจจุบันถูกทำลายทิ้งไปแล้ว ทั้งนี้ สถานทูตอินเดียประจำประเทศไทย ให้เงินทุนสนับสนุนในการจัดทำหนังสือเป็นจำนวนถึง 350,000 บาท
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ผู้บริโภค จ.สุรินทร์ ผงะพบเหล้าขาวสีฟ้า Posted: 26 Mar 2017 01:03 AM PDT ผู้บริโภค จ.สุรินทร์ ผงะพบเหล้าขาวสีฟ้า ไม่กล้าดื่มกลัวจะมีผลกระทบต่อร่างกาย รีบนำส่งคืนร้าน ระบุไม่เคยพบเจอมาก่อน วอนโรงงานผลิตใส่ใจความสะอาดและชี้แจง 26 มี.ค. 2560 นักข่าวพลเมืองรายงานว่า นายนพคุณ พิมพ์เสน อายุ 37 ปี เจ้าของร้านโชว์ห่วย ชื่อร้าน "นิวกันเอง" ตั้งอยู่ เลขที่ 71 ม.11 บ.ไพรพยัคฆ์ ต.เทพรักษา อ.สังขะ จ.สุรินทร์ ได้โทรศัพท์แจ้งกับนักข่าวพลเมืองประจำ จ.สุรินทร์ ว่า สุราขาว ขวดเล็กยี่ห้อดังยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งมีโรงงานผลิตอยู่ในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ มีความแปลประหลาด คือมีน้ำน้ำสุราเป็นสีฟ้า ซึ่งปกติแล้วจะเป็นน้ำใส ๆ แตกต่างจากเหล้าขาวหรือสุราปกติที่มีจำหน่ายอยู่ทั่วไป หลังจากลูกค้ารายหนึ่ง ทราบชื่อคือนายอนุวัตน์ ภาวิสิทธิ์ อายุ 24 ปี อยู่บ้านเลขที่ 30/1 ม.8 บ.ตาพราม ต.เทพรักษา อ.สังขะ จ.สุรินทร์ ซื้อไปดื่มเมื่อช่วงเช้าเวลา 08.30 น.ที่ผ่านมา ก่อนนำกลับบ้านไปและเปิดเพื่อจะดื่มแต่กลับพบว่าเป็นน้ำสีฟ้า มีกลิ่นฉุนกว่าเหล้าขาวทั่วไป จึงนำกลับมาเปลี่ยนขวดคืน นักข่าวพลเมืองจึงเดินทางลงพื้นที่ยังร้านนิวกันเอง เลขที่ 71 ม.11 บ.ไพรพยัคฆ์ ต.เทพรักษา อ.สังขะ จ.สุรินทร์ พบสุราขาวขวดดังกล่าว และได้ให้เจ้าของร้านเทพิสูจน์ดูพบว่า น้ำสุราเป็นสีฟ้าคราม และมีกลิ่นฉุนกว่าเหล้าขาวปกติ ซึ่งนายนพคุณ พิมพ์เสน เจ้าของร้านนิวกันเอง ได้เก็บไว้ให้เจ้าหน้าที่ของโรงงานสุราดังกล่าวเข้ามาตรวจสอบอีกครั้ง ซึ่งเจ้าของร้านได้มีการใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกภาพแล้วส่งผ่านโปรแกรมไลน์ เพื่อให้ จนท.ของโรงงานผลิตสุราดูแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อ ระบุว่าจะเดินทางมาตรวจดูสุราขาวด้วยตนเองและจะรับผิดชอบเปลี่ยนขวดให้ นายอนุวัตน์ ภาวิสิทธิ์ อายุ 24 ปี ลูกค้าที่ซื้อเหล้าขาว กล่าวว่าเมื่อเช้าตนมาซื้อไปดื่มกับเพื่อน ๆ พอเปิดฝาขวดเทลงแก้ว กลับพบว่าเป็นสีฟ้า จึงชิมดูและดมดู พบว่ามีรสชาติฉุนกว่าเหล้าขาวทั่วไป และกลัวจะเป็นอันตรายจึงนำมาคืนที่ร้าน ซึ่งทางร้านได้เปลี่ยนขวดใหม่ให้ ตนอยากให้โรงงานผลิตมีความพิถีพิถันในการผลิต ให้มีความสะอาดกว่าขวดนี้ด้วย นายนพคุณ พิมพ์เสน เจ้าของร้านนิวกันเอง กล่าวว่าเหล้าขาวดังกล่าวลูกค้าเอามาคืนหลังพบว่าเป็นสีฟ้าจึงไม่กล้าดื่ม ไม่เหมือนเหล้าขาวทั่วไปที่เป็นน้ำใส ๆ ตนไม่เคยเห็นเหล้าสีแบบนี้มาก่อน จึงถ่ายรูปส่งไลน์ไปให้เจ้าหน้าที่ของโรงงานดู เขาจะมาตรวจสอบดูและเปลี่ยนขวดให้ ตนกลัวว่าจะเป็นอันตรายกับลูกค้าจึงอยากให้ ลงมาตรวจสอบและชี้แจงว่าเกิดจากอะไร เกิดจากขวดที่ไม่ได้ล้างหรือว่าเกิดจากอะไร ลูกค้าผู้บริโภคจะได้สบายใจ นายเชาวลิต จิตสะอาด อายุ 32 ปี ลูกค้าทั่วไป อยู่บ้านเลขที่ 10 บ.ทับทิมสยาม ต.เทพรักษา อ.สังขะฯ กล่าวว่า ครั้งแรกในชีวิตที่พบเหล้าขาวสีนี้ รู้สึกแปลกใจ ตนอยากให้บริษัทผลิตใส่ใจในการผลิต เพราะคนบริโภคต้องการอนามัย ผู้บริโภคไม่กล้าดื่มกลัวจะมีผลกระทบต่อร่างกาย อยากให้ดูแลความสะอาดและอนามัยให้ดีกว่านี้ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กสม. แจงเงินของ 'ชัยภูมิ' มาจากธุรกิจกาแฟ จี้ผบช.ภาค 5 หากมีหลักฐานก็เปิดต่อสังคม Posted: 26 Mar 2017 01:00 AM PDT กสม.ลงพื้นที่ วิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ ระบุเงินมาจากการทำธุรกิจกาแฟเพื่อสุขภาพ ทำให้บัญชีมีเงินเข้ามาบ่อยๆ แต่ไม่ถึงหลักหมื่น ชี้ ผบช.ภาค 5 หากมีหลักฐานก็ขอให้เปิดเผยข้อมูลต่อสังคม อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและการเมืองพร้อมด้วย เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสถานะบุคคล สิทธิกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ลงพื้นที่บ้านของชัยภูมิ หลังมีผู้ร้องเรียน (ที่มาภาพ เว็บไซต์ กสม.) 26 มี.ค.2560 สืบเนื่องจากเหตุการณ์ทหารวิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา มีข้อสงสัยเกี่ยวกับพฤติการณ์การเสียชีวิตของชัยภูมิจากทั้งทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร รวมไปถึงพยานในเหตุการณ์หลายปาก (อ่านที่นี่) ซึ่งเมื่อวันที่ 22 มี.ค.ทีผ่านมา เดลินิวส์ รายงานคำแถลงของผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 พล.ต.ท.พูลทรัพย์ ประเสริฐศักดิ์ ผบช.ภ.5 ตอบโต้กระแสในโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดย ผบช.ภ.5 ระบุตอนหนึ่งว่า ชัยภูมิ ผู้ตายทุกคนบอกว่าเรียนอยู่ม.4 อายุ 17 ปี แต่ในบัตรประจำตัวที่เราพบเกิด 2539 อายุ 21 ปี กลุ่มโลกโชลเซียลก็พยายามโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐให้เห็นว่ากระทำต่อเด็ก แต่ความจริงเขาอายุ 21 แล้ว อีกทั้งเส้นทางการเงินของ ชัยภูมิ ก็ไม่ธรรมดา มีเงินจำนวนมากโอนเข้าทุกอาทิตย์ ซื้อรถเงินสด ไม่มีการโอน รถดังกล่าวเป็นของนางแสงหล้า ผู้ต้องหาคนสำคัญในคดีค้ายาเสพติดที่กำลังหลบหนีอยู่ในพื้นที่ อีกทั้ง ชัยภูมิ ก่อนตาย 1 วันก็พาสาว 4 คนพร้อมเพื่อนชาย 1 คนไปเลี้ยงเที่ยว กินใช้จ่ายเงินหนาตลอดเวลา ถามว่าเด็กอายุขนาดนี้ ไม่มีงานทำ พ่อเสียชีวิต แม่สติไม่สมประกอบ ไม่มีงานทำ พี่ชายก็เป็นผู้ค้ายาเสพติดรายสำคัญมีชื่อในบัญชีดำ เด็กอายุขนาดนี้เอาเงินที่ไหนมาใช้จ่ายแบบฟุ่มเฟือย แม้ฉากหน้าจะเป็นนักอนุรักษ์ และอื่นๆ แต่หลังฉากก็เป็นอีกอย่าง อยากให้ทุกคนได้เห็นความจริง ชัยภูมิ นั้นเคยถูกตำรวจล่อซื้อยา มีหลักฐานครบทุกอย่างแต่หลบหนีการจับกุมไปได้ และในคดีนั้นทางตำรวจกำลังรวบรวมพยานหลักฐานและกำลังจะออกหมายจับอยู่แล้ว โลกโชเชียลทุกอย่างใช่จะเป็นความจริงเสม อขอให้ประชาชนเสพสื่อออนไลน์แบบมีสติ ให้ความเป็นธรรมต่อเจ้าหน้าที่ด้วย ขณะที่วานนี้ (25 มี.ค.60) อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและการเมืองพร้อมด้วย เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสถานะบุคคล สิทธิกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ลงพื้นที่บ้านของชัยภูมิ หลังมีผู้ร้องเรียน โดยข่าวสดออนไลน์ รายงาน ความเห็นของ เตือนใจ ซึ่ง เตือนใจ เปิดเผยหลังลงพื้นที่ว่า จากการพูดคุยกับผู้ใหญ่บ้าน ทราบว่าชัยภูมิ เป็นเด็กกตัญญูต่อแม่ พ่อเลิกไปตั้งแต่เด็ก ตอนนี้ก็หาเงินมาให้พ่อเลี้ยงกับแม่ เด็กมีพรสวรรค์ แต่งเพลงทำกิจกรรม ต้องการให้เด็กลาหู่ห่างไกลยาเสพติด และรักความเป็นลาหู่ และสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่พิสูจน์มาไม่น้อยกว่า 5 ปี เสียดายที่ถูกวิสามัญ ในฐานะอนุกก.สิทธิ์ฯ ด้านชาติพันธ์ อยากให้สังคมไทยให้ความเป็นธรรม ไม่มองเหมารวมว่าคนชาติพันธุ์ต้องเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ในแต่สังคมก็มีคนดีและคนไม่ดี ชัยภูมิพยายามทำให้เห็นว่าเยาวชนต้องไกลจากยาเสพติด เตือนใจ กล่าวอีกว่า ข้อมูลที่ได้ พบว่า ชัยภูมิ ทำธุรกิจกาแฟเพื่อสุขภาพ ร่วมกับพี่ที่อุปการะเขา ดังนั้นบัญชีของเขาจะมีเงินเข้ามาบ่อยๆ แต่ไม่ถึงหลักหมื่น เป็นแค่หลักพัน เป็นรายได้จากการขายกาแฟ แต่ถ้าผบช.ภาค 5 มีหลักฐานก็ขอให้เปิดเผยข้อมูลต่อสังคม ส่วนเรื่องระเบิดคนในพืนที่ก็ไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้เรื่องมาก่อน ดังนั้นเรื่องเอาระเบิดไปปาคงไม่น่าถูกต้อง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เยาวชนสิงคโปร์ผู้วิจารณ์ 'ลีกวนยู' ได้ลี้ภัยในสหรัฐอเมริกาแล้วหลังถูกกักตัว 3 เดือน Posted: 26 Mar 2017 12:54 AM PDT ศาลคนเข้าเมืองของสหรัฐฯ ในชิคาโกตัดสินเมื่อวันศุกรที่ผ่านมา (24 มี.ค.) อนุญาตให้เอมอส ยี บล็อกเกอร์เยาวชนชาวสิงคโปร์ลี้ภัยในสหรัฐฯ ได้ ฐานที่เขาถูกตัดสินให้มีความผิดเพียงเพราะแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ศาลลงความเห็นให้ยีผู้ที่ปัจจุบันอายุ 18 ปี เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากกรณีที่ศาลสิงคโปร์เคยตัดสินให้ยีมีความผิด 2 ข้อหาคือ แสดงออกต่อสาธารณะรวมถึงการแสดงออกทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไปในทางที่หยาบโลนหรืออนาจารและทำร้ายจิตใจชาวคริสต์ ยีเคยโพสต์คลิบแสดงความยินดีต่อการเสียชีวิตของอดีตผู้นำที่ได้รับการนับถือว่าเป็นบิดาแห่งชาติของสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2558 ในคลิบของเขาวิจารณ์ลีกวนยูว่าแสร้งทำเหมือนสิงคโปร์เป็นประชาธิปไตยแต่จริงๆ แล้วปิดกั้นสื่อและโฆษณาชวนเชื่อชาตินิยม ฟ้องร้องคนที่วิจารณ์ตัวเองให้เข้าคุกหรือล้มละลายอีกทั้งเปรียบเทียบลีกวยยูกับพระเยซู ในเดือน ธ.ค. ปี 2559 มีเหตุการณ์ที่ยีถูกควบคุมตัวโดยหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองของสหรัฐฯ หลังเขาเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกาด้วยวีซ่านักท่องเที่ยว แต่ถูกควบคุมตัวในขั้นตอนสกรีนลำดับที่สอง เมื่อเขาแจ้งเจ้าหน้าที่ควบคุมชายแดนสหรัฐอเมริกาว่าต้องการลี้ภัย ผู้พิพากษา ซามูเอล โคล ตัดสินว่าการฟ้องร้องดำเนินคดี การกักขัง และการปฏิบัติไม่ดีจากทางการสิงคโปร์ด้วยฐานเรื่องการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของยี รวมถึงการเรียกยีว่าเป็น "เยาวชนผู้ต่อต้านทางการเมือง" นั้นมีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าเป็นการลงโทษด้วยเหตุผลทางการเมือง ซึ่งขัดกับความเห็นของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิที่ปิดกั้นไม่ให้ยีได้รับสิทธิลี้ภัยด้วยเหตุผลว่ารัฐบาลสิงคโปร์ลงโทษยีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซานดรา กรอสแมน ทนายความจากเบเธสดา รัฐแมริแลนด์ กล่าวว่า การตัดสินของผู้พิพากษาในครั้งนี้สนับสนุนสิทธิของปัจเจกในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของตัวเอง และเป็นการตัดสินที่แสดงให้เห็นความสำคัญว่าระบบยุติธรรมที่เป็นอิสระมีส่วนสำคัญต่อประชาธิปไตยที่ใช้การได้ ยีถูกคุมขังหลายครั้ง โดยสองครั้งแรกเขาถูกคุมขังในสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม คดีความของเขาอยู่ภายใต้การติดตามอย่างใกล้ชัดจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนและสหประชาชาติ ทำให้เกิดการถกเถียงเรื่องการเซนเซอร์กันในสิงคโปร์ ยีถูกคุมขังอีกครั้งหนึ่งหลังเดินทางมาถึงสหรัฐฯ โดยอยู่ในเรือนจำดอดจ์เคาน์ตี รัฐวิสคอนซิน จากข้อมูลของเว็บไซต์บริการด้านคนเข้าเมืองและการขอสิทธิพลเมืองสหรัฐฯ ระบุว่าผู้ที่ถูกระบุให้เป็นผู้ลี้ภัยจะได้รับอนุญาตให้ทำงานในสหรัฐฯ ได้ และอาจจะมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือทางการเมืองหรือความช่วงเหลือทางการแพทย์
เรียบเรียงจาก US judge grants Amos Yee's asylum request, The Straits Times, 25-03-2017
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ทรัมป์โทษพรรครัฐบาลที่แล้ว หลังล้มเหลวยกเลิก 'โอบามาแคร์' Posted: 26 Mar 2017 12:39 AM PDT 1 สัปดาห์หลังพยายามหารือนำ "กฎหมายบริการทางสาธารณสุขของอเมริกัน" มาใช้เพื่อยกเลิกฉบับเดิมที่มักถูกเรียกว่า "โอบามาแคร์" แต่ผลปรากฏ พรรครีพับลิกันจำต้องยอมรับความพ่ายแพ้เมื่อไม่ได้รับเสียงสนับสนุนมากพอในการโหวตกฎหมายนี้ ทำให้พวกเขาถอนร่างออกมาจากการพิจารณาแทนการปล่อยให้โดนโหวตค้านจนแพ้ วันที่ 25 มี.ค. 2560 หลังจากความพ่ายแพ้ โดนัลด์ ทรัมป์ ก็แถลงจากสำนักงานโดยกล่าวโทษพรรคเดโมแครตซึ่งเป็นพรรครัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ว่าเป็นตัวทำให้ไม่สามารถออกกฎหมายสวัสดิการสุขภาพแบบใหม่ ""กฎหมายบริการทางสาธารณสุขของอเมริกัน" (American Health Care Act) ของเขาเองที่จะกำจัดสวัสดิการยุคโอบามา หรือ Obamacare อันเป็นหนึ่งในความสำเร็จสำคัญของรัฐบาลที่แล้วได้ ทรัมป์ยังกล่าวอ้างว่านักการเมืองพรรคเดโมแครตเป็นพวก "ขี้แพ้" เพราะพวกนั้น "เป็นเจ้าของโอบามาแคร์ร้อยทั้งร้อย" ด้วย อย่างไรก็ตามทรัมป์หลีกเลี่ยงที่จะด่าว่าโฆษกสภาจากพรรครีพับลิกันอย่างพอล ไรอัน และปฏิเสธไม่ยอมตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงนโยบายสวัสดิการสุขภาพ แต่หันไปพูดถึงกรปฏิรูปภาษีแทน ทรัมป์ยังพูดอีกว่า "พวกเราได้เรียนรู้อะไรมากมาย พวกเราได้เรียนรู้มากมายเรื่องความภักดี" มีการประเมินก่อนหน้านี้แล้วว่าพรรครีพับลิกันบางส่วนก็มีท่าทีแข็งขืนต่อต้านกฎหมายสาธารณสุขใหม่ของทรัมป์ ไรอันเองก็เคยเข้าพบทรัมป์ด้วยตัวเองเพื่อบอกว่าการลงมติครั้งนี้จะไม่สามารถล้ม "โอบามาแคร์" ได้ นิวยอร์กไทมส์ระบุถึงเรื่องนี้ว่าเป็นการที่เหล่าผู้นำพรรครีพับลิกันกำลังเผชิญการแข็งข้อจากพวกอนุรักษ์นิยมและพวกสายกลางในพรรครีพับลิกันเองซึ่งการไม่สามารถผ่านร่างกฎหมายใหม่ในครั้งนี้ถือเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่สำหรับทรัมป์ในฐานะประธานาธิบดี ก่อนหน้านี้รัฐบาลพรรครีพับลิกันแสดงท่าทีต้องการยุบโอบามาแคร์มาตั้งแต่สามเดือนที่แล้ว แต่ความแตกแยกรอยใหญ่ในพรรคก็ทำให้ความพยายามนี้ไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตามทรัมป์ยังแสดงความคิดเห็นว่าโอบามาแคร์จะทำลายตัวมันเองจนทำให้พวกพรรคเดโมแครตต้องกลับเข้ามาหาเขาเพื่อขอร้องให้ร่วมมือกันในการออกกฎหมายสวัสดิการหรือแผนสวัสดิการ "ที่ยอดเยี่ยม" ในแบบของเขา อย่างไรก็ตามนิวยอร์กไทมส์ระบุว่าสาเหตุที่กฎหมายสวัสดิการใหม่ของทรัมป์ไม่สามารถผ่านร่างได้เป็นเพราะสายอนุรักษ์นิยมในพรรครีพับลีกันไม่พอใจ พวกเขาต้องการให้ลดค่าใช้จ่ายการประกันและต้องการล้มข้อกำหนดของรัฐบาลกลางเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพ แต่ร่างสวัสดิการสุขภาพใหม่ของทรัมป์ก็เป็นแค่การเอาใจอนุรักษ์นิยมอีกกลุ่มหนึ่ง โดยที่เป็นร่างที่ถูกวิจารณ์จากทั้งสายเสรีนิยม สายกลาง และสายอนุรักษ์นิยมที่คิดอีกแบบหนึ่ง ขณะที่ร่างกฎหมายของทรัมป์มีการยกเลิกการเก็บภาษีคนที่ไม่ได้มีประกันสุขภาพ แบบมาตรฐานการประกันสุขภาพของรัฐบาลกลาง ลดเงินช่วยเหลือการซื้อประกันสุขภาพเอกชนและตั้งเพดานการใช้เงินกับระบบเมดิเคท (ระบบประกันสุขภาพสำหรับคนรายได้น้อย) ทำให้จากเดิมที่รัฐบาลกลางมีโครงการที่ครอบคลุมประชาชนรายได้ต่ำมากกว่า 70 ล้านคน อาจจะถูกตัดงบประมาณไปจำนวนมาก เหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านประกันสุขภาพจากทุกสายการเมืองต่างวิจารณ์ร่างนี้กันไปคนละมุม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ระดับเครดิตภาษีของร่างกฎหมายสวัสดิการฉบับใหม่จะทำให้ไม่มีเงินมากพอจ่ายสวัสดิการ การจำกัดระบบคุ้มครองสุขภาพโดยเท่าเทียมกัน การตัดคนสุขภาพดีออกจากการประกันสุขภาพที่อาจจะทำให้เกิดสภาพราคาในตลาดประกันสุขภาพสูงขึ้นทำให้ทางเลือกลดลง อีกทั้งการจำกัดช่วงเวลาของเมดิเคทให้มีจุดสิ้นสุดยังอาจจะทำให้คนจนชาวอเมริกันสูญเสียสวัสดิการสุขภาพ
เรียบเรียงจาก Donald Trump blames Democrats for stunning failure to repeal Obamacare, The Guardian, 25-03-2017 In Major Defeat for Trump, Push to Repeal Health Law Fails, New York Times, 24-03-2017 ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
'ไอซิส’ อ้างเป็นแรงบันดาลใจเหตุโจมตีลอนดอน นักวิเคราะห์เชื่อ จริงๆ กำลัง 'ขาลง' Posted: 26 Mar 2017 12:05 AM PDT วันที่ 25 มี.ค. 2560 หลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญที่สะพานเวสต์มินสเตอร์และหน้าอาคารรัฐสภาในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มก่อการร้ายไอซิสก็ออกมากล่าวชื่นชมการก่อเหตุของชายที่ชื่อคาลิด มาซูด อายุ 52 ปี หลังจากที่เขาก่อเหตุรุนแรงด้วยการขับรถไล่ชนผู้คนบนทางเท้าผ่านสะพานเวสต์มินสเตอร์ แล้วบุกใช้มีดไล่แทงเจ้าหน้าที่ตำรวจในลานอาคารรัฐสภาก่อนที่เขาจะถูกตำรวจยิงเสียชีวิต จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 5 ราย กลุ่มก่อการร้ายไอซิสออกมาอ้างเมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่ผ่านมาว่าพวกเขามีความเกี่ยวข้องกับเหตุก่อการร้ายในลอนดอนโดยอ้างว่าพวกเขาเป็นแรงบันดาลใจ นิตยสารไทมส์ระบุว่าสาเหตุที่กลุ่มไอซิสอ้างเช่นนี้เพราะว่าจริงๆ แล้วไอซิสในดินแดนของพวกเขาเองกำลังล่มสลายไม่ว่าจะจากปฏิบัติการของกองทัพอิรัก ปฏิบัติการทางอากาศของสหรัฐฯ หรือในซีเรียเองไอซิสก็ไม่ได้เป็นกองกำลังที่มีอำนาจเหนือดินแดนแบบที่เคยมี ไอซิสอ้างว่ามาซูดเป็นหนึ่งใน "ทหาร" ขอพวกเขา อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ตำรวจทางการอังกฤษเปิดเผยว่ามาซูดเป็นคนที่เกิดในอังกฤษ เคยมีประวัติอาชญากรรมมาก่อนรวมถึงคดีที่เกี่ยวข้องกับอาวุธ หน่วยงานข่าวกรองของทางการอังกฤษเคยสืบสวนว่ามาซูดน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มหัวรุนแรงแต่ก็ถูกระบุว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงต่ำในการก่อเหตุ โดยที่ชื่อเดิมของมาซูดคือ เอเดรียน รัสเซลล์ เอล์มส์ นอกจากนี้ยังมีนามแฝงอื่นๆ แต่ก็ถูกมองว่า "อยู่นอกวง" ในสายตาของทางการอังกฤษ มาซูดเคยถูกตัดสินให้มีความผิดในหลายคดี เขาถูกตัดสินให้มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์มาตั้งแต่อายุ 18 ปี และเคยถูกตัดสินให้มีความผิดฐานมีอาวุธมีดในครอบครองเมื่อปี 2546 อีกทั้งยังมีคดีเกี่ยวกับการก่อเหตุสร้างความไม่สงบและคดีทำร้ายร่างกายด้วย มาซูดใช้ชีวิตยู่ในอังกฤษจนถึงช่วงวัยรุ่นและเพิ่งมาเปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลามทีหลัง เขาเคยเดินทางไปเป็นคนสอนภาษาอังกฤษที่ซาอุดิอาระเบียในปี 2548 กลับมาอยู่ในซัสเซ็ก ประเทศอังกฤษในปีถัดจากนั้นและกลับไปอยู่ในซาอุฯ อีกในปี 2551-2552 แล้วจึงกลับมาอยู่อังกฤษ มาซูดมีภาพลักษณ์ภายนอก "ดูเหมือนคนรักครอบครัวธรรมดาทั่วไป" และแสดงออกทางศาสนา เหตุโจมตีดังกล่าวนอกจากจะทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 5 รายแล้วยังมีผู้คนได้รับบาดเจ็บ 50 ราย มี 31 ราย ต้องเข้าโรงพยาบาล นอกจากมาซูดแล้วยังมีคนอื่นๆ ที่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องถูกจับกุมอีก 8 ราย ไทมส์ตั้งข้อสังเกตอีกว่าเหตุการณ์รุนแรงในลอนดอนครั้งนี้ยังมีลักษณะแตกต่างจากการโจมตีของไอซิสในอดีตที่มีความซับซ้อนกว่า ชาร์ลี วินเทอร์ นักวิเคราะห์จากศูนย์นานาชาติเพื่อการศึกษาการทำให้เป็นพวกหัวรุนแรงและความรุนแรงทางการเมืองในลอนดอนกล่าวว่า พวกไอซิสไม่สามารถขายชื่อของพวกเขาได้อีกเท่ากับตอนปี 2557-2558 การก่อเหตุในอิรักและซีเรียก็ลดลงโดยพวกเขามัวแต่เน้นการสู้รบมากกว่า วินเทอร์บอกว่าพวกไอซิสต้องพยายามทำตัวเหมือนมีแรงขับเคลื่อนและแสดงให้เห็นราวกับว่ายังมีความเกี่ยวข้องกับโลกและสร้างความเสียหายให้โลกได้ เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษกล่าวต่อประชาชนหลังเกิดเหตุการณ์นี้ว่า มันคือการโจมตีประชาชนในโลกเสรีทุกคน แต่ชาวอังกฤษก็ควรแสดงการต่อต้านขัดขืนด้วยการดำเนินชีวิตประจำวันของตัวเองต่อไป ขณะที่ซาดิค ข่าน นายกเทศมนตรีลอนดอนกล่าวว่า ผู้ก่อการร้ายจะไม่ประสบความสำเร็จในการทำให้ชุมชนหันมาสู้รบกันเอง และบอกว่าประชาชนชาวลอนดอนยังเคารพในความแตกต่างและอยู่ร่วมกันต่อไปโดยไม่ยอมอ่อนข้อให้ผู้ก่อการร้ายมาเปลี่ยนวิถีชีวิตของพวกเรา
เรียบเรียงจาก ISIS Is Claiming Attacks Abroad Because It's Losing Its Empire, Time, Jared Malsin, 23-03-2017 Police unravel multiple aliases of Westminster terrorist Khalid Masood, The Guardian, 24-03-2017 Isis claims responsibility for London attack that killed at least three victims, The Independent, 24-03-2017 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
นิด้าโพลล์ระบุคน 'กทม.-ปริมณฑล' 46% ไม่รู้จักอูเบอร์ 54.51% อยากให้คัดกรองคนขับแท็กซี่ Posted: 25 Mar 2017 11:20 PM PDT "นิด้าโพลล์ล์" เผยผลสำรวจพบคน กทม.-ปริมณฑล ส่วนใหญ่ 46% ไม่รู้จักอูเบอร์และไม่เคยใช้บริการ 41.20% รู้จักแต่ไม่เคยใช้บริการ 75.51% ชี้แท็กซี่ปัจจุบันมีปัญหา 54.51% ระบุว่าควรมีการคัดกรอง การอบรม การมอบใบอนุญาตที่เป็นลักษณะวิชาชีพเฉพาะกลุ่ม อย่างเคร่งครัด ไม่ใช่ใครก็สามารถขับรถแท็กซี่ได้ 26 มี.ค. 2560 ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพลล์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "เสียงสะท้อนของประชาชน กรณีรถแท็กซี่และรถอูเบอร์ แท็กซี่ (Uber Taxi)" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 23 - 25 มีนาคม 2560 จากประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร และ ปริมณฑล กระจายทุกระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้บริการรถแท็กซี่และรถอูเบอร์ แท็กซี่ (Uber Taxi) ปัญหาที่พบเจอ และข้อเสนอแนะต่อการแก้ไขปัญหาคุณภาพ การให้บริการรถแท็กซี่สาธารณะทั่วไป การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็น จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลักของนิด้าโพลล์ จากการสำรวจเมื่อถามถึงการเคยใช้บริการรถแท็กซี่สาธารณะทั่วไปของประชาชน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 78.08 ระบุว่า เคยใช้บริการรถแท็กซี่สาธารณะทั่วไป ขณะที่ ร้อยละ 21.92 ระบุว่า ไม่เคยใช้บริการรถแท็กซี่สาธารณะทั่วไปทั้งนี้ ปัญหาที่ประชาชนเคยพบเจอ เมื่อใช้บริการรถแท็กซี่สาธารณะทั่วไป พบว่า ประชาชนที่เคยใช้บริการรถแท็กซี่สาธารณะทั่วไปส่วนใหญ่ ร้อยละ 75.51 ระบุว่า เคยพบปัญหาการใช้บริการ ขณะที่ ร้อยละ 24.49 ระบุว่า ไม่เคยพบปัญหาการใช้บริการ โดยในจำนวนผู้ที่เคยพบเจอปัญหานั้น ส่วนใหญ่ ร้อยละ 82.50 ระบุว่า เป็นการปฏิเสธผู้โดยสาร จากการสอบถามเชิงลึก เกี่ยวกับจำนวนที่ถูกรถแท็กซี่สาธารณะทั่วไปปฏิเสธโดยประมาณต่อการเรียกใช้บริการ 1 ครั้ง พบว่า ถูกปฏิเสธเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3.5 คัน และถูกปฏิเสธมากที่สุด 20 คัน ปัญหาการใช้บริการรถแท็กซี่ที่พบเจอ รองลงมา ร้อยละ 29.99 ระบุว่า เป็นปัญหาสภาพรถเก่า ไม่สะอาด แอร์ไม่เย็น มีกลิ่นเหม็น ร้อยละ 28.09 ระบุว่า ขับอ้อมเส้นทาง ร้อยละ 25.64 ระบุว่า ผู้ขับขี่พูดจาไม่สุภาพ มีกิริยาที่ไม่ดีกับผู้โดยสารหรือผู้ใช้รถใช้ถนน ร้อยละ 21.85 ระบุว่า เป็นการขับรถเร็ว เบรคกะทันหัน ฝ่าไฟแดง จอดรถในที่ห้ามจอด ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร ฯลฯ ร้อยละ 20.90 ระบุว่า เป็นการโกงมิเตอร์ คิดราคาแพงเกินกว่าที่กำหนด ร้อยละ 16.15 ระบุว่า ผู้ขับขี่ไม่ชำนาญเส้นทาง ร้อยละ 14.65 ระบุว่า ผู้ขับขี่ไม่ทอนเงินค่าโดยสาร ร้อยละ 9.09 ระบุว่า ผู้ขับขี่มีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ เข้าข่ายการก่ออาชญากรรม ร้อยละ 6.38 ระบุว่า ผู้ขับขี่ไล่ผู้โดยสารลงกลางทางและร้อยละ 4.61 ระบุอื่นๆ ได้แก่ ถามเรื่องส่วนตัว เปิดวิทยุเสียงดัง พูดเรื่องการเมือง ไม่กดมิเตอร์ ผู้ขับขี่ต้องการราคาเหมาจ่าย รูปบัตรประจำตัวผู้ขับขี่ไม่ตรงกัน และกินอาหารบนรถ สำหรับข้อเสนอแนะของประชาชนเกี่ยวกับการปรับปรุงการให้บริการรถแท็กซี่สาธารณะทั่วไป พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.51 ระบุว่า ควรมีการคัดกรอง การอบรม การมอบใบอนุญาตที่เป็นลักษณะวิชาชีพเฉพาะกลุ่ม อย่างเคร่งครัด ไม่ใช่ใครก็สามารถขับรถแท็กซี่ได้ รองลงมา ร้อยละ 43.03 ระบุว่า ควรมีหน่วยงานสุ่มตรวจคุณภาพการให้บริการรถแท็กซี่อยู่เป็นประจำ ร้อยละ 33.91 ระบุว่า ควรบังคับใช้กฎหมายและบทลงโทษที่เคร่งครัด กับผู้ขับขี่รถแท็กซี่ที่กระทำผิด ร้อยละ 28.28 ระบุว่า ควรแก้ไขเรื่องร้องเรียนต่างๆ ให้จริงจัง ร้อยละ 24.59 ระบุว่า ควรเพิ่มบทลงโทษผู้ขับขี่รถแท็กซี่ที่กระทำผิด ร้อยละ 23.98 ระบุว่า ควรกำหนดราคาที่เป็นธรรม เหมาะสม และไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรถแท็กซี่และผู้โดยสาร ร้อยละ 3.69 ระบุ อื่นๆ ได้แก่ ผู้ขับขี่ควรปรับปรุงตนเองในการให้บริการ เช่น ไม่ควรปฏิเสธรับผู้โดยสาร การแต่งกาย การรักษาความสะอาด และหน่วยงานควรจำกัดปริมาณรถแท็กซี่ รวมไปถึงการจัดพื้นที่ หรือโซนนิ่งโดยแบ่งพื้นที่ ในการให้บริการ และการแบ่งระดับรถที่ให้บริการ, ควรปรับปรุงด้วยการนำแอพพลิเคชันเรียกรถแท็กซี่มาใช้ และให้เป็นไปมาตรฐานเดียวกัน และร้อยละ 10.66 ไม่ระบุ เมื่อถามถึงการรู้จักและการเคยใช้บริการ รถอูเบอร์ แท็กซี่ (Uber Taxi) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.00 ระบุว่า ไม่รู้จัก และไม่เคยใช้บริการ รองลงมา ร้อยละ 41.20 ระบุว่า รู้จัก แต่ไม่เคยใช้บริการ และร้อยละ 12.80 ระบุว่า รู้จักและเคยใช้บริการ สำหรับข้อกังวลหรือปัญหาที่ประชาชนเคยพบเจอ เกี่ยวกับการให้บริการ รถอูเบอร์ แท็กซี่ (Uber Taxi) พบว่า ประชาชนที่รู้จักรถอูเบอร์ แท็กซี่ (Uber Taxi) ส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.67 ระบุว่า มีข้อกังวลหรือปัญหาเกี่ยวกับการให้บริการ รถอูเบอร์ แท็กซี่ (Uber Taxi) ขณะที่ ร้อยละ 45.33 ระบุว่า ไม่มีข้อกังวลหรือปัญหาเกี่ยวกับการให้บริการ รถอูเบอร์ แท็กซี่ (Uber Taxi) ซึ่งในจำนวนผู้ที่มีข้อกังวลหรือปัญหาเกี่ยวกับการให้บริการนั้น ส่วนใหญ่ ร้อยละ 20.59 ระบุว่า เป็นความปลอดภัยของผู้โดยสาร เพราะผู้ขับขี่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบ และการอบรม และไม่มีใบอนุญาตตามกฎหมายข้อบังคับของกรมการขนส่งทางบก รองลงมา ร้อยละ 10.52 ระบุว่า ผู้ขับไม่ชำนาญเส้นทาง ร้อยละ 9.63 ระบุว่า ราคาแพงกว่ารถแท็กซี่ปกติทั่วไป ร้อยละ 9.33 ระบุว่า บางครั้งเรียกรถแล้วไม่มารับหรือใช้เวลานานในการเดินทางมารับผู้โดยสาร ร้อยละ 9.19 ระบุว่า เป็นการรับผิดชอบของบริษัท Uber หากกรณีเกิดความเสียหาย ร้อยละ 8.89 ระบุว่า รถอูเบอร์ แท็กซี่ (Uber Taxi) มีให้บริการจำนวนน้อยกว่ารถแท็กซี่ปกติทั่วไป ร้อยละ 8.00 ระบุว่า เป็นการแย่งลูกค้า หรือมีเกิดข้อกรณีพิพาทกันกับรถแท็กซี่ปกติทั่วไป แท็กซี่ปกติทั่วไปเสียลูกค้าและรายได้ ร้อยละ 7.70 ระบุว่า เป็นความปลอดภัยในการชำระเงินค่าโดยสารด้วยบัตรเครดิต ร้อยละ 0.44 อื่นๆ ได้แก่ สภาพของรถยนต์ที่นำมาใช้ และมาตรฐานในการให้บริการ และร้อยละ 11.11 ไม่ระบุ เมื่อถามถึงการตัดสินใจของประชาชนหากต้องเลือกใช้บริการระหว่าง "รถแท็กซี่สาธารณะทั่วไป แต่ต้องเสี่ยงกับปัญหาคุณภาพการให้บริการ" กับ "รถอูเบอร์ แท็กซี่ (Uber Taxi) ที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ มีการบริการที่ดี แต่มีราคาค่าโดยสารที่แพงกว่า" พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.81 ระบุว่า ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ความเร่งด่วน ค่าใช้จ่ายและความจำเป็น รองลงมา ร้อยละ 30.07 ระบุว่า จะเลือกใช้รถแท็กซี่ปกติทั่วไปแบบเดิม และยอมเสี่ยงกับปัญหาคุณภาพการให้บริการ ร้อยละ 25.19 ระบุว่า จะเลือกใช้รถอูเบอร์ แท็กซี่ (Uber Taxi) ที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ มีการบริการที่ดี แต่ มีราคาค่าโดยสารที่แพงกว่า และ ร้อยละ 1.93 ไม่ระบุ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
คสช.ส่งทหาร-ตร. สกัด อดีต ส.ส.เพื่อไทย เปิดตัวหนังสือจำนำข้าว Posted: 25 Mar 2017 11:02 PM PDT ทหาร-ตร. บุกสวนรถไฟห้ามอดีต ส.ส.เพื่อไทย เปิดตัวหนังสือ "ทำลายจำนำข้าว แต่ฆ่าชาวนา" อ้างคำสั่ง คสช. ท้ายสุดต้องแจกหนังสือ "เส้นทางสามัญชนคนชื่อ สมคิด เชื้อคง" ให้กับสื่อมวลชนแทน ไทยรัฐออนไลน์รายงานเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่า ที่สวนวชิรเบญจทัศ(สวนรถไฟ) อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย อาทิ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ นายสุรสาล ผาสุข อดีต ส.ส.สิงห์บุรี นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี นายสุชาติ ลายน้ำเงิน อดีตส.ส.ลพบุรี และนายนิยม ช่างพินิจ อดีต ส.ส.พิษณุโลก เตรียมแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ "ทำลายจำนำข้าว แต่ฆ่าชาวนา" แต่เจ้าหน้าที่ทหารจากกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) และตำรวจ สน.บางซื่อ ได้เข้าควบคุมเพื่อดูแลพื้นที่ขอให้ยุติกิจกรรมดังกล่าว พร้อมปิดประกาศหน้าร้านอาหารที่จะทำการแถลงข่าว โดยเป็นประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ระบุข้อ 12 ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. และประกาศของ สน.บางซื่อ และสวนวชิรเบญจทัศ ที่ระบุว่าสวนสาธารณะเป็นสถานที่สำหรับให้ประชาชนทั่วไปออกกำลังกาย ไม่อนุญาตให้มีการจัดกิจกรรมหรือการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับการเมือง โดย พ.ต.อ.เศกสิทธิ์ สุภาอ้วน ผกก.สน.บางซื่อ ได้ชี้แจงต่ออดีตส.ส.พรรคเพื่อไทยว่า ไม่สามารถอนุญาตให้จัดการแถลงข่าวได้ เพราะถือเป็นกิจกรรมทางการเมือง และเนื้อหาของหนังสืออาจเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม ด้านนายสมคิด กล่าวว่าตนพร้อมปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ ยืนยันว่าเนื้อหาในหนังสือไม่มีเจตนาสร้างขัดแย้งในสังคม แต่ต้องการอธิบายประโยชน์ที่ชาวนาจะได้รับจากโครงการรับจำนำข้าว และชี้แจงข้อเท็จจริงในโครงการที่ถูกบิดเบือน รวมทั้งการสัมภาษณ์ชาวนาในหลายพื้นที่เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวเท่านั้น ไม่มีเนื้อหากระทบต่อรัฐบาล และคสช. อย่างไรก็ตามเมื่อเจ้าหน้าที่ขอร้องมา ตนก็พร้อมให้ความร่วมมือ ขณะที่นายยุทธพงษ์ กล่าวว่า หนังสือดังกล่าวมีเนื้อหา 434 หน้าจำหน่ายราคา 250 บาท เดิมทีตั้งใจจะนำหนังสือมาแจกจ่ายต่อสื่อมวลชน เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ แต่ไม่รู้ว่าเนื้อหาของหนังสือมีส่วนใดขัดต่อคำสั่งหัวหน้าคสช.เพราะเกี่ยวข้องกับความเดือดร้อนของชาวนาโดยตรง วันนี้ชาวนาเดือนร้อน พวกตนจึงคิดว่าจะนำเงินจากการขายหนังสือไปช่วยชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากราคาข้าวตกต่ำ เขาไม่มีเงินไปจ่าย ธกส. อย่างไรก็ตามยืนยันว่าจะมีการนำหนังสือดังกล่าวออกจำหน่ายต่อไป เพราะได้จัดพิมพ์มาแล้ว โดยจะมีการนำออกจำหน่ายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังการเจรจานายสมคิดได้แจกหนังสือชื่อ "เส้นทางสามัญชนคนชื่อ สมคิด เชื้อคง" ให้กับสื่อมวลชนแทนจากนั้นอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยทั้งหมดได้แยกย้ายและเดินทางกลับ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
'จารุพงศ์' แถลง 5 ข้อ โต้ก่อการร้าย-จี้ยกเลิก ม.44 Posted: 25 Mar 2017 10:12 PM PDT 'จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ' แถลงในนามองค์การเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ปฏิเสธข้อกล่าวหาก่อการร้าย จี้รัฐยกเลิกใช้อำนาจ ม.44 26 มี.ค. 2560 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ เผยแพร่แถลงการณ์ของนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการ องค์การเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ซึ่งระบุว่าแถลง ณ วันที่ 24 มีนาคม พุทธศักราช 2560 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้ฝ่ายปฏิบัติการจิตวิทยา หรือฝ่ายไอโอ ของหน่วยทหารออกข่าวประสานกันตามเครือข่ายที่จัดตั้งไว้ เพื่อสร้างสถานการณ์ รวบบุคคลที่เห็นต่างทางการเมืองทุกคนทุกกลุ่มเข้าด้วยกัน โดยป้ายสีว่า เป็นผู้ก่อการร้าย สร้างความไม่สงบให้กับประเทศไทย ดังที่ปรากฏชัดในปัจจุบันนี้นั้น องค์การเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาที่ถูกใส่ร้ายป้ายสี โยงองค์การเสรีไทยฯ ให้เป็นองค์การผู้ก่อการร้ายและขอยืนยันความจริงต่างๆ เกี่ยวกับเป้าหมายและการดำเนินงานขององค์การฯ ดังต่อไปนี้ ปฐมบทของการก่อตั้งองค์การเสรีไทยฯ เป็นเพราะเราไม่ยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหารที่ได้มาจากการสร้างสถานการณ์ปั่นปวนทางการเมืองโดยกลุ่มบุคคลในเครือข่ายเผด็จการไทย เรายืนยันที่จะต่อสู้เรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเสรีตามระบอบการปกครองตามหลักการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง การที่ คสช. ออกคำสั่งต่างๆ หลังการยึดอำนาจและยังเลวร้ายหนักขึ้นในวันนี้ จนถึงกับมีการอ้างกฎหมายรัฐธรรมนญมาตรา 44 ที่อุปโลกน์ให้หัวหน้า คสช. มีอำนาจล้นแผ่นดิน สามารถส่งให้กำจัดสิทธและเสรีภาพของประชาชนอยางกว้างขวางและไร้วงจำกัดนั้น เป็นสิ่งที่เราไม่ยอมรับมาโดยตลอด และจะขอต่อต้านจนกว่าจะมีการยกเลิกการจำกัดสิทธเสรีภาพในการแสดงออก แล้วให้ทุกคนมีสิทธเท่าเทียมเสมอภาคกันและอยู่ร่วมกันบนหลักนิติรัฐและการเคารพสิทธิมนษยชนอย่างมีภราดรภาพได้ อนึ่ง ขอประกาศว่า องค์การเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ได้ยึดมั่นและต่อสู้ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์สำคัญ ๆ ดังนี้ 1. รัฐบาลไทยจะตองเคารพสิทธิมนุษยชนทั้งโดยพฤตินัยและนิตินัย ตามข้อผูกพันทุกเรื่องที่รัฐไทยได้ลงนาม รับพันธสัญญาไว้กับองค์การสหประชาชาติ 2. รัฐไทยต้องถูกสถาปนาให้ใช้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่แท้จริง อันเป็นการปกครองที่อำนาจเป็นของประชาชน ใช้โดยตัวแทนที่ได้รับฉันทานุมติจากปวงชน และทำเพื่อพิทักษ์ รักษาและอำนวยประโยชน์แก่ปวงชนทุกกลุ่มในชาติ โดยประกันสิทธิและเสรีภาพของทุกคน บนความเสมอภาค การเคารพ-กฎหมาย และการเคารพเสียงข้างมากของปวงชน 3.องค์การเสรีไทยฯ สนับสนุนระบบคุณธรรมและต่อต้านระบบอุปถัมภ์ที่ใชการแต่งตั้งแทนการเลือกตั้งและใช้กฎหมู่หรือ "อภินิหารทางกฎหมาย"แทนระบบนิติรัฐ-นิติธรรม กล่าวคือ ระบอบเผด็จการไทยวันนี้ ใช้ระบบอุปถัมภ์แต่งตั้งคนของเครือข่ายเผด็จการขึ้นใช้อำนาจของปวงชน แทนระบบคุณธรรม ที่ส่งเสริมคนดีมีความรู้และความสามารถให้ได้มีโอกาสบริหารประเทศชาติ เพื่อประโยชน์ของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง 4. รัฐบาลจากการรัฐประหาร จะต้องยกเลิกการใช้อำนาจตามมาตรา ๔๔ ซึ่งไปละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ระบุไว้ ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration for Human Rights) เกือบทุกมาตรา ในจำนวน 30 มาตราที่องค์การสหประชาชาติประกันไว โดยการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ป่าเถื่อนถึงขั้นสังหารหมู่ประชาชนผู้ต่อต้านระบอบเผด็จการ ได้เกิดขึ้นซ้ำซาก นับแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 6 ตุลาคม 2519 พฤษภาคม 2535 เมษายน-พฤษภาคม 2553 และวันนี้การจ้องกดขี่ ข่มขู่ และใช้ความรุนแรงรูป แบบต่าง ๆ ต่อประชาชน กำลังจะกลับมาและจะทวีความรุนแรงขึ้นอย่างน่ากลัวยิ่ง 5.รัฐบาลเผด็จการทหารจะต้องเร่งคืนอำนาจให้แก่ปวงชนชาวไทย โดยการจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมโดยเร็วที่สุด เพื่อไมให้ความขัดแย้งและเสียหายต่อประเทศชาติบานปลายจนยากจะแก้ไขโดยสันติ ทั้งนี้ ในฐานะองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนที่ไมแสวงกำไร องค์การเสรีไทยฯ ได้ยึดหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยเป็นเป้าหมายและวิธีการ โดยถือสันติวิธี ใช้ความรู้และความจริง ตลอดจนอาศัยการรวมตัวกันของคนไทยทั่วโลก บนความชอบธรรมของเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่ถูกรัฐบาลเถื่อนปล้นอำนาจและผลประโยชน์ โดยเราถือว่า เมื่อปวงชนในประเทศไม่สามารถใช้กำลังหรือความรุนแรงต่อต้านเผด็จการที่ยึด อำนาจได้เบ็ดเสร็จ เราก็ต้องอดทนและให้โอกาสผู้ถืออำนาจรัฐทำงานจนถึงที่สุดและใช้นโยบายโลกล้อมประเทศและการให้ความรู้กับพี่น้องร่วมชาติมาโดยตลอด และหวังว่า ทุกฝ่ายจะร่วมมือกันในฐานะพี่น้องร่วมชาติ ในการนำพาประเทศพ้นจากความขัดแย้งอันถึงจุดใกล้วิกฤตินี้โดยเร็ว ก่อนที่จะสายเกินไป ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น