โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ: 10 ฐานรากของประเทศ พิมพ์เขียวของประเทศไทย

Posted: 02 Apr 2012 12:36 PM PDT

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวปาฐกถาระหว่างงาน "จับมือรวมพลัง ออกแบบประเทศไทย" ที่อิมแพค ชี้ต้องหยุดใช้คนจนหาเสียง แต่ต้องเอาจริงกับโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม แล้วให้ความเป็นธรรมกับพี่น้องประชาชนทั้งเรื่องทรัพยากร ทั้งเรื่องสิทธิ เพื่อเดินหน้าประเทศต่อไป 

หมายเหตุ: เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 55 ที่อิมแพค เมืองทองธานี มีการจัดงาน "จับมือรวมพลัง ออกแบบประเทศไทย" โดยเว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ รายงานว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “10 ฐานรากของประเทศ พิมพ์เขียวของประเทศไทย” มีรายละเอียดดังนี้

พี่น้องชาวประชาธิปัตย์ พี่น้องประชาชนที่เคารพรักทุกท่านครับ ประมาณ 1 ชั่วโมงที่ผ่านมา เราจะได้ยินตัวแทนของพี่น้องประชาชนที่ไม่ใช่ตัวแทนในระบบของพรรคการเมืองได้แสดงออกถึงความห่วงใยประเทศชาติบ้านเมืองได้มีข้อเสนอแนะในการที่จะเดินหน้าออกแบบประเทศไทยกันต่อไป ผมอยากให้พวกเราปรบมือให้กำลังใจทั้งผู้แทนทั้ง 8 กลุ่ม ตลอดจนพี่น้องประชาชนที่สละเวลามาร่วมในการทำสมัชชาทั้ง 8 กลุ่มอีกครั้งหนึ่งครับ (เสียงปรบมือ)

วันนี้ที่เราบอกว่าเราจะมาจับมือรวมพลังออกแบบประเทศไทย ทำไมต้องมาออกแบบกันใหม่ เราเห็นชัดเจนครับว่า ถ้าเราปล่อยสภาพของการเมืองและบ้านเมืองเป็นไปอย่างทุกวันนี้ อนาคตข้างหน้าที่เรามองเห็นจะมีแต่ปัญหา มีแต่ความทุกข์ ความเดือดร้อน เห็นไม๊ครับว่าการเมืองที่ยึดอยู่กับเรื่องของผลประโยชน์ การเมืองที่ไม่ได้ทำเพื่อประชาชน สุดท้ายมันเป็นวงจรที่กลับมาทำร้ายประชาชน

การเมืองที่เป็นการเมืองผูกขาด การเมืองที่ไม่สุจริต มีเครื่องมือใหม่ ๆ เสมอครับ ที่กำลังสร้างปัญหาให้กับบ้านเมือง เราต้องก้าวให้พ้นครับ วันนี้เครื่องมือหนึ่งที่เราต้องก้าวให้พ้นคือสิ่งที่เรียกว่า “ประชานิยม” ต้องก้าวให้พ้นตรงนี้ให้ได้ครับ

ประชานิยม ที่เป็นนโยบายที่ไม่ยั่งยืน ประชานิยม ที่เป็นนโยบายที่มีไว้เพื่อประโยชน์ของนักการเมืองในการหาคะแนนเสียง ไม่ได้แก้ปัญหาให้กับประชาชน คนที่อวดอ้างว่าแก้ไขปัญหาให้กับคนยากคนจน กลับกลายเป็นคนที่ทำให้หนี้สินของประชาชน และครัวเรือนเพิ่มมากที่สุดในประวัติศาสตร์

วงจรนั้นกำลังกลับมาอีกแล้วครับ ที่จะ “แดงทั้งแผ่นดิน” คือบัญชีของทุกครัวเรือนที่รายจ่ายสูงกว่ารายได้ เราต้องหยุด เราต้องพอกับสิ่งเหล่านี้ เราต้องก้าวข้ามให้พ้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องมาออกแบบเพื่อสร้าง “พิมพ์เขียวประเทศไทย” เราทำได้ครับ

ไม่ใช่เฉพาะที่เราเห็นเมื่อวานนี้ ไม่ใช่เฉพาะที่เราเห็นเมื่อสักครู่นี้ แต่เห็นไม๊ครับ ในช่วงภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ก็ใครล่ะครับ แต่พี่น้องประชาชนที่มีจิตอาสาทั้งหลายที่ทำให้เราผ่านพ้นภัยพิบัตินั้นมาได้ นั่นคือพลังของพี่น้องประชาชนที่เราจะใช้

ผมคงไม่สามารถสรุปสิ่งที่เป็นข้อเสนอ สิ่งที่เป็นการสะท้อนปัญหาได้ครบถ้วนทุกกลุ่มหรอกครับ แต่ผมบอกว่า วันนี้เป็นวันเริ่มต้น ผมเพียงแต่จะเสนอกรอบความคิดในการสร้างพิมพ์เขียวประเทศไทย ที่เรากำลังจะออกแบบ โดยขอเสนอว่า เราต้องวาง 10 ฐานราก เลข 10 เลขดีนะครับ แต่ 10 ฐานราก ผมกลัวว่าจะจำยาก ก็บังเอิญครับ ภรรยาเป็นนักคณิตศาสตร์ 10 นั้นเท่ากับ 4 + 3 + 2 + 1 ผมเสนอ 4 ฐานรากสังคม 3 ฐานรากเศรษฐกิจ 2 ฐานรากการเมืองเพื่อนำให้ประเทศไทยเป็น 1 ในอาเซียน

4 ฐานรากทางสังคมที่จะต้องเป็นฐานรากสำคัญของประเทศไทยที่เรากำลังออกแบบ ผมขอเริ่มจากคำว่า “สังคมอบอุ่น ปรองดอง” แต่เอากันชัด ๆ ก่อนนะครับว่า ปรองดอง แปลว่าอะไร

ปรองดอง เป็นสิ่งที่ผมเป็นคนเริ่มต้นในวันที่เป็นนายกรัฐมนตรี ปรองดองคือการที่ต้องการให้คนไทยรวมกันเป็นหนึ่งเดียว แม้จะมีความแตกต่างทางความคิด พรรคประชาธิปัตย์จะเดินหน้าการสนับสนุนการปรองดองที่รวมคนไทยเป็นหนึ่งทั้งที่มีความแตกต่างทางความคิดแน่นอน แต่ปรองดองสร้างไม่ได้ ด้วยการบังคับ ด้วยการใช้เสียงข้างมาก ด้วยการข่มขู่ ด้วยการใช้อำนาจ และอย่าให้ใครปล้นคำว่าปรองดองไปใช้บังหน้า เพื่อล้างผิดให้กับคนโกง

ปรองดองต้องเริ่มจากสังคมที่อบอุ่นครับ และวันนี้ฐานรากสำคัญที่สุดในสังคมที่อบอุ่น เราต้องเริ่มต้นจากสถาบันครอบครัว ทำไมต้องกลับมาที่สถาบันครอบครัว เพราะวันนี้ครับ ปัญหาสังคม ปัญหาการศึกษา ปัญหาอีกหลายต่อหลายปัญหา ไปจนถึงอาชญากรรม ยาเสพติด เป็นเพราะเราปล่อยให้สถาบันครอบครัวในประเทศ ค่อย ๆ เสื่อมถอย ถึงขั้นที่จะล่มสลาย เรามีเด็กที่กำลังเติบโตมาโดยไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ มากขึ้น ๆ ตลอดเวลา เรามีเด็กที่โตขึ้นมาเป็นวัยรุ่นไม่พร้อมที่จะมีครอบครัว แต่ที่สุดมีลูก สุดท้ายนี่คือที่มาของปัญหาสังคมมากมาย และความอ่อนแอในประเทศของเรา ฐานรากนี้เป็นฐานรากสำคัญที่พรรคประชาธิปัตย์จะจับมือกับพี่น้องประชาชนเพื่อสร้างสังคมที่อบอุ่นให้ได้ ต่อยอดจากนโยบายหลายอย่างที่เราได้ทำมา

รัฐบาลประชาธิปัตย์ทุกยุค ทุกสมัยครับ ต้องการสร้างโอกาสให้กับลูกหลานเรา ทำนโยบายเรื่องการศึกษา แต่ไม่ได้พูดเฉพาะเรื่องการเรียน ใครล่ะครับ เริ่มต้นโครงการ “นมโรงเรียน” โครงการอาหารกลางวัน และรัฐบาลที่แล้ว เอาจริง เอาจังมาก บอกว่า เด็กเล็กต้องได้รับการดูแล ส่งเสริมให้มีสถานดูแลเด็กเล็กในสถานประกอบการ และสถานที่ทำงานต่าง ๆ ฐานรากนี้สำคัญเพื่อที่จะเป็นภูมิคุ้มกันและการป้องกันปัญหาอื่น ๆ มากมายที่จะตามมา ผมเชื่อมั่นครับว่า ถ้าเราทำให้ครอบครัวอบอุ่น สังคมอบอุ่นปรองดอง ชุมชนของเราจะมีความสงบสุข สังคมของเราจะมีความเข้มแข็งและจะเป็นฐานรากที่สำคัญที่สุดของประเทศที่เรากำลังจะร่วมออกแบบกัน นั่นคือข้อที่ 1 ในส่วนของสังคม

ส่วนที่ 2 ครับ เราต้องวางฐานรากให้เกิดสังคมเรียนรู้ หรือสังคมแห่งการเรียนรู้ เรื่องนี้ เราจะเห็นว่าพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มที่มาสมัชชา ให้ความสำคัญมาก เมื่อวานผมเดินเยี่ยม ทุกห้อง ยังแปลกใจ นึกว่าเวลาไปพบกับกลุ่มที่บอกว่าเป็นกลุ่มธุรกิจจะคุยกันเรื่องธุรกิจ ไม่ใช่ครับ เริ่มต้นคุยกันบอก เริ่มที่เรื่องการศึกษา การเรียนรู้ ผมเดินไปกลุ่มคนทำงานอิสระก็ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา เดินไปเกือบทุกห้องเขาบอกว่าการศึกษาการเรียนรู้ สำคัญ ประชาธิปัตย์ยังทำงานไม่เสร็จครับ ที่จริงทำงานมาตั้งแต่บอกว่า เรียนฟรี 6 ปี ทำจนถึง 15 ปี มีกองทุนกู้ยืมให้ สนับสนุนเรื่องการศึกษาและเด็กอีกหลายแนวทาง แต่ก็ยังไม่พอ วันนี้ต้องเดินหน้าในเรื่องของคุณภาพ เราจะปล่อยให้คะแนนโอเน็ต เอเน็ต มันต่ำลงทุกปี ๆ ๆ ไม่ได้ เราจะปล่อยให้เด็กที่เรียนจบมา ปรากฎว่ามีทักษะไม่ตรงกับความต้องการของระบบเศรษฐกิจ ตกงานต่อไปไม่ได้ การปฏิรูปการศึกษาที่เราทำมาทุกครั้ง ตั้งแต่สมัยรัฐบาลของท่านนายกฯ ชวน มาจนถึงรัฐบาลที่แล้ว เริ่มต้นวางรากฐานไว้ แต่ที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จเพราะไม่มีคนทำต่อ วันนี้เราต้องทำต่อให้ได้ และเราต้องจับมือ ร่วมมือกันสร้างเครือข่าย เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และผมเห็นด้วยกับหลายท่านที่ขึ้นมาบนเวทีนี้ที่บอกว่า การศึกษาวันนี้ไม่ใช่เฉพาะเรื่องวิชาการ แต่ต้องให้ทักษะในเรื่องชีวิต คุณธรรม จริยธรรม สร้างพลเมืองที่เข้มแข็งของสังคมไทย และประเทศไทย พร้อมๆ  ไปกับความรู้

สำคัญที่สุดครับ วันนี้การศึกษาสายอาชีพ จะต้องได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจัง ต้องไม่ถูกทอดทิ้ง ต้องไม่ถูกละเลย ผมเสียใจครับว่า นโยบายของรัฐบาลวันนี้บอกให้ 15,000 บาท แต่ให้เฉพาะคนจบปริญญา ในระบบราชการวันนี้ ช่องว่างระหว่างคนจบปริญญากับการจบสายอาชีพเงินเดือนอาจจะต่างกันถึงเดือนละ 6,000 บาท ซึ่งไม่ถูกต้องครับ

เราต้องการสังคมที่คนเรียนรู้ว่ามีทักษะ สอดคล้องกับความต้องการของประเทศอย่างเป็นธรรม และกระบวนการเรียนรู้ไม่ได้สิ้นสุดลงเมื่อออกจากโรงเรียนหรือสถานศึกษา เดินหน้าสร้างสภาวะแวดล้อมให้คนทุกกลุ่ม ทุกวัย สามารถเรียนรู้ได้ และเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งของประเทศต่อไป

ฐานรากที่ 3 ทางสังคมที่สำคัญ คือสังคมสวัสดิการครับ สังคมสวัสดิการต้องทำอย่างต่อเนื่อง ประชาธิปัตย์เราพยายามให้ทุกฝ่ายตระหนักว่า หลายสิ่งหลายอย่างเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้า เบี้ยคนพิการถ้วนหน้า รักษาฟรี ปรับระบบการรักษาสุขภาพหรือหลักประกันสุขภาพต่าง ๆ ให้เกิดความเป็นธรรม ให้เกิดความสอดคล้องมากขึ้นตามความเป็นจริง สิ่งเหล่านี้ต้องเดินหน้า และไม่ใช่เอาสิ่งเหล่านี้มาเป็นเรื่องต่อรองในเรื่องของการสนับสนุน ไม่สนับสนุนรัฐบาล ไม่ใช่เป็นบุญคุณของรัฐบาลใด แต่ต้องเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานสวัสดิการของทุกคน

ไม่ต้องเอาเรื่องเหล่านี้มาเล่นการเมือง มาเล่นเรื่องการตลาด ผมเรียกร้องเฉพาะหน้าเลยครับ รักษาฟรีแล้วอย่ากลับไปเก็บ 30 บาท เพียงเพราะให้มันเป็นยี่ห้อ 30 บาท

นี่เป็นฐานรากที่เป็นความแตกต่างสำคัญที่สุดกับการต่อสู้กับปัญหาของประชานิยม เพราะถ้าเราสามารถทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิ เป็นระบบ นั่นเท่ากับเรากำลังเพิ่มเสรีภาพความมั่นคงให้กับชีวิตคนไทยทุกคน และเราจะต้องเดินหน้าเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และประชาธิปัตย์รวมทั้งพี่น้องประชาชนที่จะมาร่วมกับเรา จะคิดและสร้างสังคมสวัสดิการแบบยั่งยืน เราไม่ได้บอกว่าสังคมสวัสดิการเกิดขึ้นได้เพราะมีเงินจากรัฐบาลมาแจกครับ แต่เห็นไม๊ครับว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์ ได้เริ่มต้นวางรากฐานว่า พี่น้องประชาชนต้องมีเงินออมมากขึ้น เราส่งเสริมกองทุนสวัสดิการชุมชน สมทบเงินเข้า เราออกกฎหมายกองทุนเงินออมแห่งชาติ เพื่อที่จะให้มันเป็นรากฐานรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต และที่สำคัญที่สุด เราเริ่มต้นกระบวนการดึงแรงงานทั่วประเทศที่ยังเหลืออีก 20 กว่าล้านคนเข้ามาสู่ระบบประกันสังคม สิ่งเหล่านี้ต้องเดินหน้าต่อไปเป็นรากฐานสำคัญของสังคมสวัสดิการ

ฐานรากที่ 4 ทางสังคมครับ คือเราจะต้องร่วมกันสร้างขึ้นมา คือสังคมที่เป็นธรรม วันนี้ เราได้ยินเสียงจากพี่น้องประชาชน จากหลากหลายกลุ่มมาก ที่ยังเข้าไม่ถึงทรัพยากรบ้าง เข้าไม่ถึงสิทธิบ้าง ถูกเลือกปฏิบัติบ้าง สังคมที่เราปรารถนาจะเห็น ที่จะเป็นธรรมนั้น เราต้องแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง ผมไม่อยากเห็นประเทศไทยมีคนที่ไร้ที่ทำกิน ไร้ที่อยู่อาศัยอีกต่อไป ประชาธิปัตย์เคยทำงานเรื่องปฏิรูปที่ดินมาจนถึงโฉนดชุมชน จนกระทั่งเริ่มตั้งธนาคารที่ดิน และเตรียมที่จัดเก็บภาษีที่ดินและทรัพย์สินให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม นั่นยังเป็นสิ่งที่เราต้องการออกแบบระบบความเป็นธรรมในประเทศต่อไป และผมแปลกใจครับ รัฐบาลที่อ้างคนจนตลอดเวลา กลับล้มเลิกแผนที่จัดเก็บภาษีทรัพย์สินและที่ดิน อย่างที่คุณกรณ์ เคยเสนอเอาไว้ ไม่มีเหตุผล

ผมต้องใช้คำว่า หยุดใช้คนจนหาเสียง แต่ต้องเอาจริงกับโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม แล้วให้ความเป็นธรรมกับพี่น้องประชาชนทั้งเรื่องทรัพยากร ทั้งเรื่องสิทธิ เพื่อเดินหน้าประเทศของเราต่อไป นั่น 4 ฐานรากทางสังคม

มาทางเศรษฐกิจบ้าง ฐานรากที่ 1 ครับ ก็กลับมาอยู่ที่ภาคการเกษตร เราต้องมีเกษตรเข้มแข็ง ผมไม่ต้องการเห็นมันสำปะหลังมาเทอยู่หน้าสภา ผมไม่ต้องการเห็นสัปปะรดกองอยู่ที่ถนนเพชรเกษม ผมไม่ต้องการเห็นพี่น้องประชาชนจะเป็นชาวนา ชาวไร่ ต้องขนผลิตภัณฑ์ของตนเอง หวังที่จะไปเข้าโครงการจำนำแล้วถูกโกง โกงน้ำหนัก โกงความชื้น โกงปริมาณ โกงทุกอย่าง และผมไม่ต้องการเห็นประเทศไทย เสียแชมป์ ผู้ส่งออกข้าว เพราะนโยบายที่ผิดพลาดอย่างนโยบาย “จำนำพืชผล”

เราไม่มาออกแบบให้ประเทศไทย กลับมาเป็นประเทศที่เกษตรเข้มแข็ง เกษตรกรประกอบอาชีพแล้วมีกำไร แล้วทำอย่างเป็นระบบ ทำโดยไม่มีการทุจริต และทำแล้วอาหารไทย เกษตรไทย แข็งขันได้ทั่วโลก เอานโยบายประกันรายได้กลับมาครับ

แล้วเดินหน้าส่งเสริมเรื่องการเพิ่มมูลค่าเพิ่มเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์การเกษตรของเราเพื่อแข่งขันในตลาดโลกให้ได้ เพราะนี่จะเป็นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุดในประเทศ ผมยืนยันว่า ถ้าพี่น้องเกษตรกรไทย มีรายได้ดี มีความมั่นคง เศรษฐกิจไทยก็จะไปดี และมีความมั่นคงอย่างแน่นอนครับ

ฐานรากทางเศรษฐกิจ ฐานรากที่ 2 คือเศรษฐกิจนวัตกรรม อาจจะฟังดูยาก แต่ความจริงตรงนี้ประชาธิปัตย์ได้เริ่มต้นไว้แล้วจากเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Creative Economy รัฐมนตรีอลงกรณ์ พลบุตร ทำงานอย่างเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้มาก ผมกำลังจะบอกว่า ประเทศไทยวันนี้เศรษฐกิจไทยวันนี้อย่าหวังแข่งขันด้วยค่าแรงที่ต่ำ อย่าหวังแข่งขันจากการที่ทำหน้าที่ในการประกอบชิ้นส่วนที่นำเข้ามาแล้วก็ส่งออกไป แต่ต้องสร้างรายได้บนความคิด สร้างรายได้โดยไม่ไปกินทุนที่เป็นทรัพยากรของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติ หรือทรัพยากรทางด้านอื่น ๆ ซึ่งหมายความว่าหลายเรื่องที่พี่น้องประชาชนที่ร่วมสมัชชานำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพัฒนาทักษะ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันได้เสรีมากขึ้น และที่สำคัญก็คือไม่ว่าจะเป็นการต่อยอดการเรียนรู้ในเรื่องของการวิจัย และพัฒนา นี่คือหัวใจของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคต และเราจะต้องทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมแข่งขันในเรื่องนี้ได้ เป็นเศรษฐกิจนวัตกรรมอย่างแท้จริง

ฐานรากทางเศรษฐกิจที่ 3 ครับ ผมสรุปว่าประเทศไทยสีเขียว เพราะวันนี้ประเทศไทย สังคมไทยเราก็มีความรับผิดชอบต่อมวลมนุษยชาติ ต่อปัญหาโลกร้อน ต่อปัญหาการทำลายระบบนิเวศน์ การพัฒนาเศรษฐกิจของเราต่อไปนี้ จะต้องเป็นมิตรกับทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศน์ ต้องไม่มีปัญหาหมอกควันจากการเผาป่า ต้องไม่มีการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมแล้วพี่น้องประชาชนเจ็บป่วยจากมลพิษ เราต้องมาช่วยกันออกแบบมาตรการนโยบาย ออกแบบสังคม ออกแบบประเทศให้เป็นสีเขียวอย่างแท้จริง

ผมได้หารือกับหลายท่านในพรรคครับ มูลนิธิควง อภัยวงศ์ จะเป็นผู้ขับเคลื่อนในเรื่องของการปลูกป่าเอาจริง เอาจังกับเรื่องนี และจะช่วยป้องกันปัญหาภัยพิบัติ และน้ำท่วมได้ด้วย แล้วเราจะต้องมีนโยบายเศรษฐกิจ นโยบายอุตสาหกรรมที่คำนึงถึงเรื่องของความเป็นมิตรกับทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง พลังงานทดแทนก็ดี การนำเอาเทคโนโลยีที่สะอาดก็ดี มาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของเรา จะเป็นฐานรากที่สำคัญของเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และประเทศไทยที่เราอยากจะเห็น

4 ฐานรากสังคม 3 ฐานรากเศรษฐกิจ ก็มาสู่ 2 ฐานรากทางการเมือง ฐานรากทางการเมืองที่สำคัญข้อแรก คือการเมืองเสรี การเมืองเสรีเริ่มต้นจากความเชื่อมั่นในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และประชาธิปไตย ต้องอยู่ในจิตใจของทุกคน ไม่ใช่เสื้อคลุมที่ซ่อนคนที่มีใจเป็นเผด็จการ

ประเทศประชาธิปไตย ที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงทั่วโลก การเมืองเสรี เสรีอย่างไร เสรีในการเปิดกว้างให้คนแสดงความคิดเห็น ใช้สิทธิ์ เคารพซึ่งกันและกัน ไม่ใช่การเมืองที่ลากกันด้วยเสียงข้างมากอย่างเดียว ไม่อยากฟัง ไม่ยอมฟัง ก็ปิดอภิปราย ไม่อยากฟัง ไม่ยอมฟัง คิดปิดอภิปรายไม่ทัน ก็ปิดไมค์ ไม่มีประชาธิปไตยในโลกที่ไหนเป็นแบบนี้ แล้ววันนี้ผมก็ขอขอบคุณผู้แทนของสมัชชา กลุ่มผู้ทำงานอิสระ ยืนขึ้นหน่อยสิครับ

พูดตรงประเด็นที่สุด เรื่องปัญหาความเป็นกลางในสังคม

ความเป็นกลาง หรือไม่เป็นกลาง ไม่ได้วัดกันที่ว่าอยู่ข้างไหน ความเป็นกลางไม่เป็นกลางอยู่ที่ว่า “คุณอยู่กับความจริงหรือไม่” ดีก็คือดี ชั่วก็คือชั่ว การบอกว่าคนชั่ว ไม่ชั่ว ไม่ได้เป็นกลาง

ผมจึงเรียกร้องว่าวันนี้ถ้าการเมืองจะเสรี พื้นที่สื่อต้องเปิด และผู้ที่ประกอบวิชาชีพทุกคน ต้องกล้าหาญที่จะเสนอความจริง เราไม่มีทางจะมีการเมืองเสรี และมีฐานรากทางการเมืองที่แข็งแกร่งได้ถ้าสิทธิ เสรีภาพอย่างนี้ ถูกจำกัด เดินหน้าเพื่อให้การเมืองของเรานั้น เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เราจึงจะสามารถผลักดันแนวคิด พิมพ์เขียวของประเทศทั้งเรื่องเศรษฐกิจ และสังคมได้ เพราะถ้าเราปล่อยให้มีการผูกขาดการเมือง มันก็ย้อนกลับไปการเมืองเพื่อนักการเมือง การเมืองเรื่องผลประโยชน์ การเมืองเรื่องช่วงชิงอำนาจ แล้วก็อ้างประชาชนเป็นเพียงเบี้ยในกระดาน

การเมืองนี้ ที่เป็นการเมืองเสรี ต้องร่วมกันสร้างและเราต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มา ต้องต่อสู้ร่วมกันให้ได้มา พลังของพวกเราทุกคนจะมีความสำคัญมาก ในภาวะที่เขาพยายามปิดกั้นทุกช่องทาง และผมยืนยันครับ พวกเราทุกคนในพรรคประชาธิปัตย์หลายคนเป็นห่วงเป็นใย บอกสู้ได้หรือเปล่า เขามีทุกสิ่งทุกอย่าง ปิดกั้นทุกสิ่งทุกอย่าง ผมบอกว่าพวกผมที่ยืนกันอยู่ตรงนี้ ไม่มีใครกลัว และไม่มีใครถอยแน่นอน

มิฉะนั้นพวกเราไม่ยืนมา 66 ปี ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของการกดขี่ และรูปแบบของเผด็จการที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ฐานรากที่สำคัญข้อที่ 2 ทางการเมืองครับ คือ รัฐต้องโปร่งใส ยุติธรรม

วันนี้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น รุนแรงมากขึ้นโดยลำดับ ผมอยากจะย้ำครับว่าแม้แต่ภาคธุรกิจ เอกชนวันนี้ เขาตื่นขึ้นมาแล้ว เขาสร้างเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นแล้ว แต่เขาต้องการการสนับสนุนจากประชาชน วันนี้รัฐกำลังจะใช้เงินมากมายมหาศาล โครงการหลายแสนล้าน หรืออาจจะเป็นล้านล้าน เพราะรัฐบาลนี้กู้เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์

สมัยรัฐบาลที่แล้ว โครงการแก้ปัญหาน้ำท่วม ถ่ายรูปมาให้ดูหมดครับ จะไปฟื้นฟูที่ไหน ด้วยเงินเท่าไหร่ ขึ้นเวปไซต์ตรวจสอบได้ ร้องเรียนมาได้ วันนี้เราเรียกร้องว่า รัฐบาลต้องทำเช่นเดียวกับโครงการฟื้นฟูแก้ปัญหาน้ำท่วม และลงทุนในเรื่องของน้ำท่วม และโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดทุกโครงการ เพราะทุกบาท ทุกสตางค์เป็นภาระของพี่น้องประชาชน

วันก่อนผมหลงดีใจ เขาบอกว่ามีเวปไซต์ที่จะให้ดูว่าโครงการของรัฐบาลอยู่ที่ไหนอย่างไร อนุมัติไปแล้วเท่าไหร่ ผมเข้าไปครับ เสร็จแล้วเขาก็ขอผู้ใช้กับรหัสผ่าน ซึ่งเขาก็ไม่ให้ แล้วก็ไม่บอกด้วยว่าจะไปเอาอย่างไร รัฐที่ไม่โปร่งใส ไม่มีทางเป็นรัฐที่ให้ความเป็นธรรมกับพี่น้องประชาชนได้

พวกเราทุกคนต้องเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานในการรับรู้ข้อมูลก่อน นั่นเป็นเพียงขั้นแรก และเมื่อได้ข้อมูลแล้ว เรานี่แหละครับ ทุกคนต้องเป็นหูเป็นตาว่า ที่บอกว่าจะมาทำถนน ที่บอกจะมาขุดลอก ที่บอกจะมาทำแหล่งน้ำ ทำจริง อย่างที่ว่า สมราคาหรือไม่ ถ้าเราจับมือกันอย่างนี้ ผนึกกำลังกันอย่างนี้ เราจึงจะสร้างรัฐที่โปร่งใสได้ แต่โปร่งใสอย่างเดียวไม่พอครับ ผมใช้คำว่า โปร่งใส และยุติธรรม

การบังคับใช้กฎหมาย เป็นปัญหาที่สังคมไทยมีปัญหามาโดยตลอด ที่ต้องออกแบบกันใหม่เพราะเราต้องหลุดพ้นจากปัญหา หรือจุดอ่อนตรงนี้ของสังคมไทยให้ได้ และเราไม่มีทางหลุดพ้นได้หรอกครับ ถ้าเราตั้งเป้าว่าใครทำผิด ไม่เป็นไร มีอำนาจเมื่อไหร่ มาล้างผิดได้ อย่างนี้ไม่ได้ครับ

เราต้องรักษากฎหมาย ความถูกต้อง เพื่อให้เกิดความยุติธรรม ต้องไม่มี “2 มาตรฐาน” 2 มาตรฐานไมได้แปลว่า เวลาผมแพ้คดีเป็น 2 มาตรฐาน ไม่ใช่ครับ ถ้าคดีชนะก็ไม่เป็นไร ถ้าคดีแพ้เป็น 2 มาตรฐาน อย่างนั้นไม่ใช่คำนิยามของ 2 มาตรฐาน

2 มาตรฐานคือ ต้องให้ระบบกฎหมายเดินไปตามข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายอย่างตรงไป ตรงมา ถ้าใครใช้กฎหมายแล้วบอกคนเป็นพวกหลุดคดี ใครอยู่ฝ่ายตรงข้ามต้องถูกกลั่นแกล้ง สังคมจะไม่มีความยุติธรรม และจะไม่มีความสงบสุข รากฐานทางการเมืองที่สำคัญจึงต้องเป็นรากฐานทางการเมืองที่รัฐโปร่งใส ยุติธรรม เพื่อประโยชน์สุข ของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน

4 ฐานรากสังคม 3 ฐานรากเศรษฐกิจ 2 ฐานรากทางการเมืองครับ วันนี้ต้องทำให้เรามาสู่ 1 ฐานรากของการที่ประเทศไทยจะต้องเป็นศูนย์กลางอาเซียน

วันนี้ขออนุญาตครับ มีเลขาธิการอาเซียนมาอยู่กับเราตรงนี้ครับ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ครับ ใกล้ครบวาระแล้วครับ ครบแล้วก็จะไม่ไปไหนใช่ไม๊ครับ มาออกแบบประเทศไทย กับพี่น้องคนไทย เราจะต้องเป็นศูนย์กลางอาเซียน เพราะเราตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางของอาเซียน จับมือกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลาย พัฒนาเชื่อมโยง ทางโลจิสติกส์ ทางการขนส่ง ทางการคมนาคม ตามแนวทางที่จะผลักดันให้ 10 ประเทศในอาเซียน เป็น 1 ประชาคม

ถนนหาทางนี่ครับ ที่จะต้องทำเราได้เริ่มต้นโครงการต่าง ๆ เอาไว้มากมาย จะเปิดประตูทางตะวันตกออกสู่ทวาย นั่นก็เป็นสิ่งที่เราเริ่มต้นไว้ จะเชื่อมโยงไปทางอินโดจีน ตามแนวการพัฒนาตะวันออก ตะวันตก ทั้งที่มาผ่านทางตอนล่าง ก็คือกัมพูชา แลเวียดนาม หรือทางตอนบน ที่มี 4 แยกอินโดจีน อยู่ที่พิษณุโลกไปลาว และเวียดนาม ต้องมีการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยง ลดต้นทุนต่าง ๆ เชื่อมโยงทางพลังางนให้เราสามารถใช้ศักยภาพของเครือข่ายทางพลังงานของ 10 ประเทศร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น พัฒนาระบบขนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รถไฟความเร็วสูง ที่เราเป็นผู้เริ่มต้นในการเจรจาดึงจีนเข้ามาร่วม เพื่อเชื่อมตั้งแต่ตอนใต้ของประเทศจีน ไปสู่สิงคโปร์

สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราจะต้องช่วยกันออกแบบและผลักดันเพื่อให้ประเทศไทยนั้นได้ประโยชน์สูงสุดจากการเป็นที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียน และจากการที่เราเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน ที่จะเกิดขึ้น ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปีข้างหน้า

4 – 3 – 2 – 1 บวกกันได้ 10 เป็น 10 ฐานราก ที่เราจะต้องใช้ในการร่วมกันออกแบบประเทศไทยเพื่อสร้างพิมพ์เขียวใหม่

วันนี้เราเริ่มต้นแล้วครับ แต่เรายังต้องทำงานกันอีกหนัก หลังจากวันนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากปิดสมัยประชุมสภา ซึ่งผมไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เขาจะปิดสักทีนะครับ หลังจากปิดสมัยประชุมสภา ผม และเพื่อน ๆ พรรคประชาธิปัตย์ จะออกไปทั่วทุกภูมิภาค ทำสมัชชากับประชาชนทุกกลุ่ม

หยิบปัญหาทุกปัญหา เอามาคิดทุกความคิดมาร้อยเรียงกันบนฐานราก 10 ข้อนี้ สร้างพิมพ์เขียวประเทศไทยด้วยกัน และตั้งใจว่าภายในเดือน สิงหาคม พิมพ์เขียวประเทศไทย ฉบับใหม่เสร็จ

ผมยืนยันว่า ประชาธิปัตย์ทำเรื่องนี้โดยลำพังไม่ได้ ประชาธิปัตย์จะทำเรื่องนี้ เคียงข้างพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มและทุกสีด้วย

เพื่อเดินหน้าประเทศไทยต่อไป ผมไม่ต้องการเห็นความล้มเหลว ที่เกิดขึ้นจากการเมืองอีกต่อไป นอกจากสถานการณ์ปัญหาการเมืองเฉพาะหน้า ความไม่ถูกต้องที่เราต้องต่อสู้ และจะต่อสู้อย่างเข้มแข็งแล้ว เราต้องเตรียมตัวของเราครับ เพราะเวลาไม่คอยประเทศไทย โลกไม่คอยประเทศไทย เราต้องก้าวเดินตั้งแต่วินาทีนี้

เราจะรอให้ประชาคมอาเซียนเกิด เราจะรอให้เรากลายเป็นสังคมผู้สูงอายุไปแล้ว เราจะรอให้ทั่วโลกเขาเดินหน้า ก้าวหน้าไป แล้วเราจะวนเวียนอยู่กับการเมืองเพื่อนักการเมือง มันไม่มีอนาคตสำหรับลูกหลานเราแบบนั้น ดังนั้นวันนี้ครับ ผมขอขอบคุณทุกท่านอีกครั้งหนึ่งที่ได้มาร่วมในกระบวนการที่สำคัญยิ่งของงานของพรรคประชาธิปัตย์จากวินาทีนี้ไป และเชิญชวนพวกเราครับ จับมือรวมพลัง ออกแบบประเทศไทยให้เป็นประเทศไทยที่สงบ ร่มเย็น เพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชนคนไทย ทุกคนครับ ขอบคุณครับ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผู้เชี่ยวชาญระบุยังไม่ใช่เวลา "ออง ซาน ซูจี" เปลี่ยนพม่า

Posted: 02 Apr 2012 12:02 PM PDT

เสวนา "อนาคตประชาธิปไตยพม่าหลังการเลือกตั้งที่ มธ. ท่าพระจันทร์ “ดุลยภาค ปรีชารัชช” เตือนแม้ซูจีจะได้ที่นั่งทั้งหมดแต่ก็ไม่มีที่ทางในโครงสร้างทางการเมืองอยู่ดี เพราะเสียงในสภายังน้อย-แม้จ่อขึ้นแท่นเลือกตั้งซ่อม พร้อมแนะจับตาบทบาท "ซูจี" ระยะยาว สร้างคอนเนคชั่น-ฐานอำนาจลุ้นเลือกตั้งปี 58 ด้าน “ชาญวิทย์ เกษตรศิริ” ชี้กระแสประชาธิปไตยไม่น่าไหลย้อนกลับ ส่วน “สุภัตรา ภูมิประภาส” ตั้งคำถาม แท้จริงแล้ว ซูจีจะได้ดอกผลจากการเลือกตั้งคราวนี้มากเพียงใด

เมื่อวานนี้ (2 เม.ย.) โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาสาธารณะในหัวข้อ อนาคตประชาธิปไตยพม่าหลังการเลือกตั้ง

โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตคณบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า การเลือกตั้งซ่อมพม่าเมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา นับเป็นข่าวดีในแง่การเปลี่ยนแปลงในพม่าเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ต้องระวังว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจเป็นไปอย่างฉาบฉวย เพื่อให้ประเทศตะวันตกยกเลิกการคว่ำบาตรพม่าเท่านั้น

เขามองว่า พม่าอาจจะสร้างประชาธิปไตยและการปรองดองได้ เพราะระยะ 50 ปีที่ผ่านมา น่าจะสอนให้ชนชั้นนำได้เรียนรู้ถึงบทเรียนทางประวัติศาสตร์ว่าไม่สามารถฝืนกระแสความเปลี่ยนแปลงในโลกได้ ประกอบกับการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนส่วนใหญ่มีเพิ่มขึ้นมาก ทำให้ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะพยายามกีดกันอองซาน ซูจี ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายประชาธิปไตยมากเท่าใด เธอก็ยังได้รับชัยชนะอยู่ดี

“ผมคิดว่า กระแสภายในไม่น่าให้เผด็จการดำเนินการต่อไปอย่างที่ดำเนินการต่อไปได้ บวกกับกระแสของโลกาภิวัฒน์หรือ Global Politics มันไม่อนุญาตแล้ว มันกลับไปไม่ได้แล้ว” ชาญวิทย์กล่าว และเสริมว่า แม้แต่กองทัพเองก็ไม่ได้รับการสนับสนุนมากเท่าแต่ก่อน

อดีตอธิการบดีม.ธรรมศาสตร์ ยังชี้ด้วยว่า ข่าวการเลือกตั้งของพม่าไม่ค่อยได้รับความสำคัญในสื่อมวลชนกระแสหลักภาษาไทยมากนัก ถึงแม้ว่าไทยจะแบ่งปันชายแดนกับพม่าและมีปัญหาหลายด้านร่วมกันอย่างมาก นี่จึงเป็นสาเหตุที่ไทยอยู่ในอันดับล่างๆ ในแง่ของการรับรู้การตื่นตัวเรื่องอาเซียน

ดุลยภาค ปรีชารัชช ผู้เชี่ยวชาญพม่า และอาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า การเลือกตั้งซ่อมเมื่อวันอาทิตย์ทีผ่านมา เป็นหนึ่งในการวางแผนสถาปัตยกรรมทางการเมืองของพม่าที่วางไว้เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งซ่อมในปี 2010 การตั้งรัฐสภาและประธานาธิบดีในปี 2011 และการเลือกตั้งซ่อมในปีนี้ ซึ่งจะปูทางอนาคตไปสู่การเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ในปี 2013 การเป็นประธานอาเซียนในปี 2014 และการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2015

ทั้งนี้ ดุลยภาคตั้งข้อสังเกตว่า การจัดการเลือกตั้งในครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากแรงกดดันจากภาคประชาสังคมและประชาคมนานาชาติต่างประเทศ หากแต่เป็นความริเริ่มโดยชนชั้นนำทหารของพม่า ซึ่งได้กำหนดโครงสร้างทางการเมืองไว้เรียบร้อยแล้ว และเล็งเห็นถึงผลประโยชน์ที่จะได้จากการปรับยุทธศาสตร์ กล่าวคือ การได้เป็นประธานอาเซียนอย่างภาคภูมิ การผ่อนคลายแรงกดดันจากนานาชาติ รวมถึงการเปิดการลงทุนจากต่างชาติที่มีความชอบธรรมมากกว่าแต่ก่อน

เขาชี้ว่า ผลคะแนนที่มีการรายงานข่าวว่าพรรคเอ็นแอลดีชนะอย่างถล่มทลายนั้น ต้องรำลึกว่าผลคะแนนที่ออกมานั้นยังไม่เป็นทางการจึงอาจเปลี่ยนแปลงได้ และวิเคราะห์ต่อว่า สถานการณ์หลังจากนี้มีความเป็นไปได้หลายด้าน โดยถ้าหากเป็นไปตามคะแนนที่ออกมาจริง ก็จะทำให้ชาติตะวันตกยกเลิกการคว่ำบาตรตามที่รัฐบาลพม่าปรารถนา แต่ขณะเดียวกัน พรรค USDP ซึ่งได้รับชัยชนะถล่มทลายเมื่อปี 2010 อาจรู้สึกว่าถูกหักหน้า อย่างไรก็ตาม หากผลคะแนนทางการออกมาและพบว่าพรรคเอ็นแอลดีแพ้ ต่างชาติก็อาจจะไม่ยุติการคว่ำบาตร ทำให้มองว่ารัฐบาลพม่าไม่น่าจะให้สถานการณ์ออกมาในทิศทางนี้

ดุลยภาคมองว่า ทางที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด คือรัฐบาลอาจจะยอมให้เอ็นแอลดีชนะการเลือกตั้งราว 30 ที่นั่ง และที่นั่งที่เหลือยกให้กับพรรค USDP เพื่อผลักดันให้ซูจีสามารถเข้าไปนั่งในสภา และผ่อนคลายบรรยากาศทางการเมือง ในขณะเดียวกันก็ยังรักษาความชอบธรรมของพรรครัฐบาลให้อยู่ได้

ทั้งนี้ พรรคการเมืองห้าพรรคหลักๆ ที่ลงแข่งการเลือกตั้งนัดนี้ ได้แก่พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) พรรคพลังแห่งประชาธิปไตย (NDF) พรรคเอกภาพแห่งชาติ (NUP) และพรรคประชาธิปไตยแห่งชาติไทใหญ่ (SNDP) โดยหากดูจากเขตการเลือกตั้งโดยรวมแล้ว พื้นที่การแข่งขันจะกระจุกอยู่ที่คนพม่าอาศัยอยู่มาก มีเก้าอี้ในบริเวณรัฐฉานไม่กี่ที่นั่งเท่านั้น โดยดุลยภาคมองว่า หากดูจากสถิติการเลือกตั้งซ่อมในปี 2010 แล้ว พรรคเอ็นแอลดี น่าจะได้ที่นั่งมากในพม่าตอนล่าง เช่น เมียวดี รัฐมอญ รัฐกะเหรี่ยง เป็นต้น ในขณะที่ในพื้นที่พม่าตอนบน เช่น เมืองเนปิดอว์ มัณฑะเลย์ พรรค USDP น่าจะได้รับชัยชนะเนื่องจากเป็นเขตที่อยู่อาศัยของข้าราชการ และชาวบ้านในชนบทที่ยังมีทัศนคติทางการเมืองแบบไพร่ฟ้า

ส่วนในพื้นที่ในเขตชาติพันธุ์คือรัฐฉาน เมื่อวิเคราะห์จากสถิติปี 2010 จะเห็นว่า พรรคที่ได้รับคะแนนเป็นอันดับหนึ่ง คือพรรค USDP ตามมาด้วยพรรคฉานและพรรคโกกั้ง ซึ่งเป็นพรรคของกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งคู่ จึงต้องน่าจับตาว่าพรรคเอ็นแอลดีจะสามารถเจาะพื้นที่ตรงนี้ได้มากน้อยแค่ไหน

ในส่วนของอนาคตทางการเมืองของนางอองซาน ซูจี ดุลยภาคชี้ว่า จำเป็นต้องดูสถาปัตยกรรมทางการเมืองของพม่าด้วย เพราะจะเห็นว่าในส่วนของสภาประชาชนและสภาชนชาติ จะมีทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้งในสัดส่วนแต่งตั้งร้อยละ 25 เลือกตั้งร้อยละ 75

ทั้งนี้ เขาชี้ว่า มีองค์กรหนึ่งในโครงสร้างทางการเมืองที่สะท้อนว่าชนชั้นนำยังกุมอำนาจทางการเมืองอย่างแน่นหนา คือ สภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ ที่ประกอบไปด้วยผู้นำทางการเมือง เช่น ประธานาธิบดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ และรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย

“ตรงนี้เป็นตัวสะท้อนว่าระบอบอำนาจนิยมไม่หายไปไหน เพราะทหารควบคุมกลไกเสียส่วนใหญ่ในสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ และอย่าลืมว่า ต่อให้พม่าจะเลือกตั้งและมีการพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยก็ตามแต่ แต่รัฐธรรมนูญ 2008 ให้อรรถาธิบายชัดเจนว่า เมื่อใดที่ผบ.สส. เห็นสมควร มองว่าบ้านเมืองสับสนวุ่นวายไร้ระเบียบ ผบ.สส. สามารถประกาศสภาวะฉุกเฉินได้ และประธานาธิบดีต้องถ่ายโอนอำนาจให้กับ ผบ. สส. ปกครองประเทศ เพราะฉะนั้นพม่าจะเป็นประชาธิปไตย แต่ถ้ามันจะตีกันระสำระส่าย กองทัพสามารถแทรกแซงการเมืองได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย” ดุลยภาคกล่าว

เขามองว่า แม้ว่าการเข้าไปในสภาของซูจีอาจยังไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในระยะใกล้ๆ นี้ แต่ในระยะยาว อาจจะทำให้เธอช่วยสะสมเครือข่ายและอำนาจในสภาสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2015 ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น การปรับนโยบายของประธานาธิบดีเต็งเส่งที่มาทางสายพิราบมากขึ้น เสนอนโยบายประชานิยม และขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ อาจทำให้เขาได้รับความนิยมจากประชาชนไม่ต่างจากนางซูจีเองก็เป็นได้ นอกจากนี้ แง่ของทายาททางการเมืองที่จะมารับช่วงต่อ ก็ยังเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่พรรคเอ็นแอลดีและฝ่ายค้านอื่นๆ จำต้องเผชิญด้วย

 

สุภัตรา ภูมิประภาส สื่อมวลชนอิสระ มองว่า การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ ถึงแม้ว่าอาจทำให้ซูจีได้เข้าไปมีที่นั่งในสภาก็จริง แต่เธอก็จะเปลี่ยนสถานะจาก “นักเคลื่อนไหวทางการเมือง” มาเป็น “นักการเมือง” ซึ่งหมายความว่าเธอจะได้ไม่ได้อภิสิทธิ์บางอย่างที่เคยได้ เช่นการเลี่ยงไม่ตอบคำถามหรืออธิบายบางอย่างต่อสื่อมวลชน ทั้งนี้ สุภัตราอภิปรายถึงการเมืองหลังการเลือกตั้งโดยดูจากกลุ่มปัญหา 6 ด้าน ได้แก่

1.    ปัญหานักโทษการเมือง โดยข้อมูลจากองค์กร Assistance Association for Political Prisoners (Burma) ล่าสุดระบุว่า ยังคงมีนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ 952 ในจำนวนนี้ มีจำนวน 487 คนที่ครอบครัวทราบว่าถูกคุมขังอยู่ที่ไหน ส่วนที่เหลือไม่รู้ชะตากรรม สุภัตราชี้ว่าปัญหานักโทษการเมืองเป็นภาระประการใหญ่ที่ซูจีไม่อาจปฏิเสธ เพราะนี่ก็เป็นเงื่อนไขหลักที่พรรคเอ็นแอลดีประกาศบอยคอตต์การเลือกตั้งเมื่อปี 2010 และต่อมาเมื่อซูจีได้รับการปล่อยตัว เรื่องนี้จึงภาระที่หนักอึ้งของเธอที่จะถูกคาดหวังจากสาธารณะ

2.     เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ซูจีได้เคยหาเสียงช่วงเลือกตั้ง รวมถึงการแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมอื่นๆ ที่สหประชาชาติชี้ว่าละเมิดสิทธิอีก 11 ฉบับ ซึ่งอันนี้จะเป็นภาระอีกอย่างที่หนักอึ้งของเธอเพราะความเป็นไปได้ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญมีน้อยมาก เพราะต่อให้พรรคชนะได้ที่นั่งทั้งหมด ก็ยังคิดเป็นร้อยละ 7 ของทั้งรัฐสภาเท่านั้น และถึงแม้ว่ารวมกับพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ ก็เป็นไปไม่ได้อยู่ดี เพราะรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่าการแก้รัฐธรรมนูญต้องมีเสียงเห็นชอบอย่างน้อยร้อยละ 75

นอกจากนี้ ซูจีก็ยังยืนยันว่า เธอจะไม่เข้าร่วมเป็นรัฐบาล เพราะมีข่าวว่ารัฐบาลได้เตรียมที่นั่งพิเศษให้เธอไว้ คาดว่าจะเป็นกระทรวงที่เกี่ยวกับทางสังคม อย่างไรก็ตาม หากเธอไม่ยอมเข้าร่วม ในขณะที่ประธานาธิบดีเต็งเส่งยังคงดำเนินนโยบายประชานิยม ก็อาจไม่มีโอกาสได้สร้างผลงานและอาจทำให้ไม่สามารถไปแข่งขันได้เมื่อถึงการเลือกตั้งปี 2015

3.    ปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ โดยกลุ่มชาติพันธุ์ 12 กลุ่มได้รวมเป็นสภาสหพันธรัฐชาติสหภาพพม่า (UNFC) เพื่อเจรจากับรัฐบาล ที่ผ่านมา รัฐบาลสามารถเจรจาข้อตกลงหยุดยิงได้สำเร็จกับกองกำลังชนชาติว้า, กองกำลังพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติของรัฐฉานภาคตะวันออก และกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ แต่ที่ยังอยู่ปะทะกันอยู่คือ กองกำลังอิสระคะฉิ่น กองกำลังไทใหญ่ส่วนเหนือ และกองกำลังกะเหรี่ยงแห่งชาติ

ทั้งนี้ สุภัตรามองว่า แม้ว่าจะมีความหวังว่าเธอสามารถเป็นตัวกลางในการเจรจา แต่ทำได้ดีไหมนั่นคือคำถาม เพราะสิ่งที่กลุ่มชาติพันธ์เรียกร้องมาตลอดคือ ความเสมอภาค การปกครองแบบสหพันธรัฐ และวัฒนธรรมของตนเอง ไม่ว่าผู้ปกครองจะเป็นใครก็ตาม เมื่อสภาพการเมืองเปิดมากขึ้น ทำให้ความจำเป็นในการมีตัวกลางเจรจาเช่นนางซูจี ไม่มีความจำเป็นมากเท่าใดนัก

4.    เศรษฐกิจ การคว่ำบาตรของชาติตะวันตกนั้นส่งผลกระทบต่อประชาชนมากกว่าผู้นำทหารมาก ฉะนั้นเมื่อพม่าเปิดประเทศ แน่นอนว่าเม็ดเงินที่ไหลเวียนก็จะส่งผลดีขึ้นต่อประชาชน ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลพม่าเพิ่งผ่านกฎหมายการลงทุนของพม่าที่บังคับให้เอกชนต้องใช้แรงงานพม่า และออกกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เอื้อการลงทุนจากต่างชาติ ฉะนั้นการเข้ามาของเม็ดเงินต่างชาติจะไหลเข้ามาอย่างฉุดไม่อยู่ พรรคเอ็นแอลดีเองก็ไม่อาจปล่อยให้หน้าที่นี้เป็นแต่เพียงของรัฐบาลอย่างเดียว มิเช่นนั้นก็ไม่มีผลงานเป็นของตัวเองเช่นกัน

5.    สื่อมวลชน โดยเจาะจงเฉพาะสื่อลี้ภัยเช่น มิซซิม่า นิวส์ (Mizzima news) เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า (Democratic Voice of Burma) หรือนิตยสารอิระวะดี เมื่อเดือนที่ผ่านมาบรรณาธิการและนักข่าวของสื่อเหล่านี้สามารถกลับเข้าประเทศได้เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี และได้ไปพูดคุยกับรัฐมนตรีกระทรวงสื่อสาร คณะกรรมการเซ็นเซอร์สื่อ ซึ่งพวกเขาก็ได้รับอนุญาตให้เข้าไปรายงานข่าวในประเทศได้ แต่ได้รับสัญญาณว่าให้รายงานอย่างประนีประนอมกับรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ก็นับเป็นความพยายามของประเทศที่ถือว่ามีเสรีภาพสื่อต่ำที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

6.    ประชาสังคม ที่จริงแล้วมีพลเมืองพม่าที่แอคทีฟทางการเมืองอยู่ในเมืองไทยเยอะ โดยเฉพาะปัญญาชนจากรุ่น 8888 (การประท้วงนำโดยกลุ่มนักศึกษาในเดือนสิงหาคม 1988) บางส่วนก็ได้ลี้ภัยไปยังประเทศที่สามแล้ว แต่ส่วนที่ยังอยู่ในประเทศก็ยังคงถูกจองจำในคุก และเมื่อการเมืองพม่าเปิดมากขึ้น ปัญญาชนก็ยิงเป็นที่ต้องการเนื่องจากขาดมากไม่ว่าจะในฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายของพรรคเอ็นแอลดี เพราะมหาวิทยาลัยในพม่าถูกปิดลงตั้งแต่ปี 1988 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป ภาระในชีวิตหรืออุดมการณ์ของนักศึกษาในรุ่นนั้นก็เปลี่ยนไปตามอายุ จึงคาดว่าคงใช้เวลาอีกนานที่ภาคประชาสังคมจะสามารถเข้าไปมีสวนร่วมในการปฏิรูปประเทศได้อย่างจริงจัง

"ขอสรุปว่า จากการสังเกตการณ์ เห็นว่าอนาคตของพม่าจะเป็นสายน้ำที่ไม่ไหลกลับ แต่ไม่แน่ใจว่า พรรคของซูจี จะได้ดอกผลจากตรงนี้แค่ไหน ก็ต้องติดตาม" สุภัตรากล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลย้อนปมผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จี้ปฏิรูป ยกต้นแบบฝรั่งเศส

Posted: 02 Apr 2012 11:54 AM PDT

 

เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 55 เสวนาบาทวิถีหน้าศาลอาญาของกลุ่มปฏิญญาหน้าศาลหยิบประเด็น “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร?” มาแลกเปลี่ยนในมุมมองของทนายผู้ว่าความคดีเสื้อแดง อาคม ศิริพจนารถ  ทนายนักสิทธิมนุษยชน, ภาวิณี ชุมศรี ผู้มีประสบการณ์ว่าความคดีความรุนแรงภาคใต้ และเหยื่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, เจียม ทองมาก ซึ่งติดคุกในคดีปล้นทรัพย์เซ็นทรัลเวิลด์มานาน 1 ปี 6 เดือน ก่อนศาลชั้นต้นยกฟ้อง

อาคม  ศิริพจนารถ เท้าความว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประกาศใช้ในปี 2548 เพื่อใช้บริหารสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความรุนแรงให้กลับสู่ความสงบโดยเร็ว  แต่การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของคนเสื้อแดงทั่วโลกก็รู้ว่าชุมนุมด้วยมือเปล่า ซึ่งผิด พ.ร.บ.จราจรเท่านั้น โทษปรับอย่างสูง 1,000 บาท การที่อภิสิทธิ์อ้างว่าเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงและเขาต้องรักษากฎหมายเป็นข้ออ้างที่ผิด  คนเสื้อแดงชุมนุมเป็นเดือนไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรง แต่ทุกครั้งที่รัฐบาลขอคืนพื้นที่ กระชับพื้นที่ต้องมีคนตาย การสั่งให้ทหารเรือนหมื่นพร้อมอาวุธสงครามและรถถังออกมาในเมืองหลวงนั้นยากต่อการควบคุม คุณควบคุมให้ทหารยิงเอ็ม 16 ตั้งแต่หัวเข่าลงไปไม่ได้หรอก นั่นหมายความว่ารัฐบาลมีเจตนาฆ่าประชาชน

ทนายอาคมเสนอว่า ควรมีการรวบรวมรายชื่อ เสนอให้พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลทำการทบทวนและตรวจสอบการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ว่ามีเหตุที่สมควรหรือไม่  และเมื่อมีคนเสียชีวิตแล้ว ทำไมจึงไม่ยกเลิก

เจียม ทองมาก เล่าเหตุการณ์ในวันที่ 19 พ.ค.53 หลังแกนนำประกาศสลายการชุมนุม มีระเบิดลงหลังเวที ต่างคนต่างหนีกระจัดกระจาย เวลานั้นความเป็นความตายอยู่ในที่เดียวกัน เราจะทราบได้อย่างไรว่าที่ไหนจะปลอดภัย ตนเองหนีลูกปืนที่ไล่ยิงอย่างหมาเข้าไปในเซ็นทรัลเวิลด์ ไม่ได้คิดเข้าไปลักทรัพย์ ตอนนั้นคิดแค่ว่าจะได้เห็นหน้าลูกอีกไหม ไม่ได้แตะต้องของในห้าง ตนเองคลานลงไปถึงชั้นล่างสุด ได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่ตำรวจแสดงตัว จึงร้องขอความช่วยเหลือ แต่พอออกมา ตำรวจให้นั่งลงแล้วนอนคว่ำ เอาเชือกมัดมือไพล่หลัง แล้วจับคอเสื้อตนเองขึ้น โดยหัวเข่าตำรวจกดหน้าขาทั้งสองข้างของตนเองไว้  มือข้างหนึ่งจับปืนอยู่ตลอดเวลา มีลูกกระสุนปืนซึ่งทราบจากศาลว่าเป็นเอ็ม 60 สะพายอยู่  แล้วขู่ถามว่าปืนอยู่ไหน เธอเป็นผู้หญิงต้องรู้ว่าปืนอยู่ไหน ตนเองตอบว่าไม่ทราบ คนเสื้อแดงหลายคนที่ถูกฉุดกระชากออกมาแล้วซ้อม บ้างก็ถูกไฟช็อต  ได้แต่นั่งมองกันอย่างปวดร้าว จากนั้นก็ถูกจับไปติดคุกแล้วยัดข้อหา ถูกย่ำยีหัวใจในเรือนจำ ที่อยู่ได้เพราะต้องการสู้เพื่อความบริสุทธิ์ของตัวเอง

ภาวิณี ชุมศรี  อธิบายถึงตัว พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่าในกรณีที่มีสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ภัยธรรมชาติ หรือความมั่นคงต่อรัฐ รัฐธรรมนูญให้อำนาจฝ่ายบริหารคือ นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ให้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยมีมาตรการพิเศษมาจัดการกับปัญหาในช่วงนั้นได้เป็นการชั่วคราว เช่น ปิดสื่อ ห้ามใช้เส้นทาง ห้ามออกนอกเคหสถาน  ดังนั้นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต้องมีเหตุ ซึ่งในวันที่ 7 เมษายน รัฐบาลอภิสิทธิ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งกฎหมายให้ทำได้หากมีการประทุษร้ายหรือก่อการร้าย และให้อำนาจมากขึ้น เช่น เรียกให้มารายงานตัว หรือควบคุมตัวได้ 30 วัน  รัฐบาลอภิสิทธิ์ประกาศโดยอ้างเหตุมีการยุยงปลุกปั่น ทำให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง  ประเด็นปัญหาคือ เหตุเหล่านั้นมีอยู่จริง หรือร้ายแรงพอที่จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงหรือไม่ เป็นการก่อการร้ายหรือแค่ใช้สิทธิในการชุมนุมและแสดงความคิดเห็น  นอกจากนี้ ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไม่มีใครตรวจสอบได้  เพราะนายกฯ ประกาศแล้ว ไม่ต้องรายงานต่อรัฐสภา ตุลาการก็เข้าไปตรวจสอบไม่ได้ จึงง่ายมากที่ฝ่ายบริหารจะใช้อำนาจโดยบิดเบือนกฎหมาย  เช่น กรณีปิดเว็บไซต์ประชาไท  ศอฉ.ให้เหตุผลว่าจะทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้นอีก  และเนื่องจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินตัดอำนาจศาลปกครอง   ทางประชาไทจึงต้องฟ้องร้องต่อศาลแพ่ง ซึ่งเป็นศาลยุติธรรม และมีอุดมการณ์ต่างจากศาลปกครอง  ศาลปกครองมีอุดมการณ์ในการตรวจสอบการใช้อำนาจบริหารของรัฐว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ศาลยุติธรรมพิจารณาแค่ว่าการใช้อำนาจเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ ไม่ได้พิจารณาว่าการใช้อำนาจนั้นชอบหรือไม่ชอบ  ดังนั้น ในกรณีประชาไทศาลจึงยกฟ้องโดยไม่มีการสืบพยาน และให้เหตุผลว่า ศอฉ.มีอำนาจในการปิดเว็บไซต์  ไม่ได้พิจารณาว่ามีเหตุที่เพียงพอในการปิดหรือไม่ ศอฉ.ทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติในกระบวนการยุติธรรมไทย

ทนายนักสิทธิฯ กล่าวอีกว่า อำนาจอีกอันหนึ่งของ พ.ร.ก. คืออำนาจในการจับและควบคุมตัวบุคคลได้โดยไม่ต้องมีหลักฐานว่ากระทำความผิด เพียงแต่เป็นผู้ต้องสงสัยว่าจะทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน  ประเด็นปัญหาก็คือ กรณี บก.ลายจุด และคนเสื้อแดงที่ถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.ก. และขยายระยะเวลาควบคุมตัว โดยที่ไม่ได้เป็นตัวแปรว่าจะทำให้สถานการณ์ฉุกเฉินมากขึ้น ดังนั้น การควบคุมตัวดังกล่าวจึงเป็นการจำกัดสิทธิที่มากเกินไป และง่ายต่อการที่เจ้าหน้าที่รัฐจะใช้อำนาจควบคุมตัวตามอำเภอใจ  นอกจากนี้ การฝ่าฝืน พ.ร.ก.ยังมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ในช่วงแรกที่มีการจับกุม ศาลก็ตัดสินจำคุก 2 ปี ถึงแม้จะมีการรับสารภาพและลดโทษเหลือ 1 ปี ก็ถือว่าเป็นโทษที่สูงมากสำหรับประเทศประชาธิปไตย อีกทั้ง ไม่มีการรอลงอาญา และไม่ได้ประกันตัว  ซึ่งไม่ได้สัดส่วนกับโทษ   ดังนั้น พ.ร.ก.ฉุกเฉินจึงเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารโดยแท้   รัฐบาลสามารถอ้างได้ว่าการชุมนุมเป็นภัยต่อความมั่นคง ทั้งๆ ที่เป็นความมั่นคงของรัฐบาลเอง ไม่ใช่รัฐ  รัฐบาลก็ประกาศใช้กฎหมาย ใช้อำนาจในการสลายการชุมนุม จำกัดสิทธิ ทำให้คนกลัว ดำเนินคดี ทำร้ายร่างกาย ถามว่าการที่คนออกมาชุมนุมแล้วใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างนี้มันได้สัดส่วนกันหรือไม่ พอสมควรแก่เหตุหรือไม่  เช่นเดียวกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงต่อเนื่องกันมากว่า 6 ปี แล้ว โดยการขยายระยะเวลา 27 ครั้ง อ้างเหตุผลเหมือนเดิมทุกอย่าง  อำนาจตาม พ.ร.ก.อย่างเดียวที่รัฐใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ อำนาจในการจับกุมและควบคุมตัว 30 วัน  จากนั้นก็ซ้อมเพื่อให้ได้ข้อมูลข่าวสารและคำรับสารภาพ  แล้วนำไปดำเนินคดีอาญา  ไม่ได้ใช้เพื่อคุ้มครองความสงบสุขของประชาชน  สุดท้าย คดีเหล่านั้น 70-80% ศาลยกฟ้อง  ศาลจึงได้ตระหนักว่าไม่ควรออกหมายควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ง่ายๆ  การใช้อำนาจเช่นนี้แก้ไขปัญหาความไม่สงบก็ไม่ได้  เป็นเพียงการใช้อำนาจที่มากขึ้นกว่าปกติเท่านั้น

ทนายภาวิณี กล่าวสรุปว่า แม้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะให้อำนาจแก่รัฐบาล แต่การใช้อำนาจต้องเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย คือพอสมควรแก่เหตุ เท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญของสิทธิเสรีภาพของบุคคลไม่ได้   และการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในปี 53 ต้องมีการพูดคุยให้ชัดเจนว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  หากชัดเจนว่าไม่ชอบ ก็ต้องเป็นบรรทัดฐานว่าไม่ควรมีการใช้ต่อไป  แต่ ณ ปัจจุบันยังไม่มีการตั้งคำถามและทำให้ชัดเจนว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินกับผู้ชุมนุมชอบหรือไม่ชอบแค่ไหน อย่างไร  ถ้าเป็นเช่นนี้ก็มีแนวโน้มว่ารัฐบาลจะใช้อำนาจในการละเมิดสิทธิประชาชนได้อีก  แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายความมั่นคง 3 ฉบับ คือ กฎอัยการศึก พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน   ควรจะต้องมีการยกเลิกหรือแก้ไขในบางฉบับ และมีกฎหมายที่บูรณาการใหม่ มีมาตรการใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น  กฎหมายความมั่นคงในฝรั่งเศส ซึ่งให้ประกาศใช้ได้ 12 วัน เกินกว่านั้นต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ให้รัฐสภาตรวจสอบความจำเป็น  และประชาชนสามารถไปฟ้องศาลปกครองได้ เพื่อให้ศาลปกครองตรวจสอบว่าการใช้อำนาจถูกต้องหรือไม่

อ.สุดา รังกุพันธ์ ผู้ดำเนินรายการกล่าวเน้นถึงความต้องการของคนเสื้อแดงที่ต้องการเห็นการปฏิรูปกฎหมายความมั่นคงอย่างชัดเจน เพื่อที่ประชาชนจะไม่ต้องเผชิญอาชญากรรมโดยรัฐอีก  จากนั้น ผู้เข้าร่วมการเสวนากว่า 50 คน ร่วมกันกล่าวคำปฏิญญาประจำวันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน 2555 “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 53 ต้องไม่มีผลทางกฎหมาย ปล่อยนักโทษการเมือง ผู้ประกาศใช้ต้องได้รับโทษ“  และยืนไว้อาลัยให้นายสุรชัย นิลโสภา อดีตผู้ต้องขังคดียิง ฮ.ซึ่งศาลยกฟ้อง แต่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา

กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลจะจัดกิจกรรมเสวนาบาทวิถี หน้าศาลอาญารัชดา ทุกวันอาทิตย์ เพื่อรณรงค์ให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และปล่อยตัวนักโทษการเมือง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตำรวจจับ "ปราโมทย์ นาครทรรพ" ข้อหาปิดสุวรรณภูมิ

Posted: 02 Apr 2012 11:12 AM PDT

ตำรวจส่งฟ้องอัยการ - เจ้าตัวปฏิเสธทุกข้อหา ก่อนได้รับการปล่อยตัว ขณะที่อัยการเตรียมนัดแกนนำพันธมิตรฯ 48 รายฟังคำสั่งเมษายนนี้

มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 เมษายน เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามเข้าควบคุมตัวนายปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการคนสำคัญของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นักเขียนของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและผู้ต้องหาในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในเหตุการณ์ปิดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง เมื่อปี 2551 ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ขณะเดินทางกลับจากต่างประเทศ และนำตัวไปทำการสอบสวนที่กองปราบปรามแล้ว

ต่อมา เมื่อเวลา 15.00 น. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก  พนักงานสอบสวนกองปราบปรามนำตัวนายปราโมทย์มาส่งให้อัยการฝ่ายคดีอาญา พร้อมสำนวนการสอบสวนเพิ่มเติมข้อหาฝ่าฝืนพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งของหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน

น.ส.พวงทิพย์ บุญสนอง ทนายความ ระบุว่า นายปราโมทย์ได้ให้การปฏิเสธกับพนักงานสอบสวนทุกข้อหาแล้ว และเดินทางกลับได้โดยไม่ต้องยื่นประกันใหม่กับอัยการอีก ส่วนกลุ่มพันธมิตรฯ ทั้งหมด 46 คนที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญาสั่งให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาเพิ่มเติมขณะนี้คงเหลือนายการุณ ใสงาม อดีต ส.ว. เพียงคนเดียวเท่านั้น โดยการพิจารณาสำนวนอัยการนัดฟังคำสั่งประมาณเดือนเมษายนนี้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“กรรมการปฏิรูป” แนะแก้ “กฎหมายที่ดิน” ยกฉบับ สางปัญหา “คดีคนจน”

Posted: 02 Apr 2012 10:50 AM PDT

“เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์” เรียกร้องภาคประชาชนเข้าชื่อเดินหน้าแก้ไขความไม่เป็นธรรม ตัวแทนชาวบ้านสะท้อนปัญหาระบบกฎหมายสร้างความเหลื่อมล้ำ ด้านกรมคุ้มครองสิทธิฯ เผยปี 2554 ชาวบ้านเข้าขอความช่วยเหลือกว่า 3,800 ราย

 
 
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา สำนักงานปฏิรูปเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “คดีที่ดิน ว่าด้วยคนจน เหยื่อของการเข้าถึงที่ดิน” ในเวทีสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 2 โดยมีผู้ร่วมเสวนาจากตัวแทนภาครัฐ และภาคประชาชน
 
 
แนะการแก้ปัญหา ต้องแก้ไขกรอบกฎหมายเดิมๆ
 
นายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ กรรมการปฏิรูปและอนุกรรมการปฏิรูปที่ดิน ฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และน้ำ กล่าวว่าคดีที่ดินเริ่มเป็นปัญหาตั้งแต่ปี 2530 เนื่องจากนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า มีการเปิดตลาดเสรี ทำให้ที่ดินกลายเป็นที่ต้องการขึ้นในทันที มีการซื้อขายเก็งกำไร จนทำให้ประชาชนที่ไม่มีข้อมูล รู้ไม่เท่าทัน ถูกแย่งที่ดินทำกิน จนเกิดเป็นปัญหาคดีความ ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้นพบว่ามีคดีอยู่ระหว่างการพิพากษากว่า 800 คดี ซึ่งคงเป็นเพียง 1 ใน 100 ของคดีทั้งหมด ที่เป็นผลมาจากกระบวนการของระบบทุนนิยม
 
“จำนวนคดีที่เพิ่มขึ้น การบังคับคดี การจำคุก ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำความผิด เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรม และการพิพากษาคดี เพราะตามกระบวนการศาลจะรับฟังพยานเอกสาร มากกว่าพยานบุคคล ดังนั้นแม้ชาวบ้านจะยืนยันว่าอยู่มานานกว่า ก็ไม่มีน้ำหนัก ดังนั้นกว่าร้อยละ 90 คดีที่ดิน คนจนจึงแพ้คดี และมีหลายคดีที่ถูกตัดสินพิพากษาให้ย้ายออก โดยไม่ได้รับการเยียวยา ดังนั้นกรมคุ้มครองสิทธิจะต้องทำหน้าที่มากขึ้น”
 
นายเพิ่มศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ตามความจริงประเทศไทยมีที่ดินเพื่อใช้ในภาคเกษตร 110 ล้านไร่ และประเทศเรามีเกษตรกร 5.8 ล้านครอบครัว ดังนั้นหากแบ่งสรรกันจะได้ครอบครัวละ 20 ไร่ แต่ความจริงกว่าร้อยละ 70 ต้องเช่าทื่ดินของเอกชน
 
“การแก้ไขในเรื่องนี้จะต้องมีการแก้ไขกรอบกฎหมายเดิมๆ ทบทวนประมวลกฎหมายที่ดินทั้งหมดตั้งแต่มาตรา 6 เรื่องการครอบครองเป็นต้น รวมทั้งภาคประชาชนเองก็ควรลุกขึ้นมารวบรวมรายชื่อ เพื่อยื่นเสนอกฎหมายแก้ปัญหาเรื่องที่ดินที่ไม่เป็นธรรม” กรรมการปฏิรูปกล่าว
 
 
ชี้ปัญหาที่ดินทำกินกระจุกตัว คนจนกว่า 60 ล้านคนยังไร้ที่ทำกิน
 
ด้านประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คดีที่ดินมีความขัดแย้งอยู่ 2 ประเภท คือความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้าน และความขัดแย้งระหว่างรัฐกับเอกชน ซึ่งทำให้ชาวบ้านกว่า 1 ล้านครอบครัวต้องประสบปัญหาถูกฟ้องร้องว่าอาศัยอยู่ในพื้นที่บุกรุก โดยจากการสำรวจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเมื่อปี 2550 ที่รายงานต่อคณะรัฐมนตรี พบว่ามีคดีความเกี่ยวกับการบุกรุกที่ดิน บุกรุกพื้นที่ป่า ทั้งหมด 6,711 คดี หรือถูกจับกุมวันละ 19 ราย ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และถูกพนักงานของรัฐฯ คิดค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 150,000 บาทต่อไร่ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้โลกร้อน กลับไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ
 
“เมื่อก่อนทุกคนทำกินบนที่ดินสาธารณะ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงก็นำสู่ความต้องการครอบครองอย่างเป็นปัจเจก เกิดการค้าขายที่ดิน ทำให้เกิดการกระจุกตัว โดยกว่าร้อยละ 80 อยู่ในความครอบครองของคนเพียงล้านคน แต่อีกกว่า 60 ล้านคน ยังไม่มีที่ดินทำกิน ซึ่งหากไม่มีระบบและมีกระบวนจัดการที่ดี คนไทยทุกคนควรมีที่ดินเฉลี่ยคนละ 2 ไร่” ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยกล่าว
 
 
ชาวบ้านสะท้อนระบบยุติธรรม ระบบกฎหมาย สร้างความเหลื่อมล้ำ
 
ขณะที่นายสนิท แซ่ซั่ว ตัวแทนชุมชนชาวเลอูรักลาโว้ย บ้านหาดราไวย์ ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากกรณีปัญหาเรื่องที่ดิน กล่าวว่า ชาวเลอูรักลาโว้ยมีประวัติศาสตร์ยาวนาน และเป็นผู้บุกเบิกเกาะภูเก็ต แต่ปัจจุบันเราถูกกดขี่ และถูกฟ้องร้องเรื่องบุกรุกที่ดินจนถูกฟ้องร้อง ซึ่งตนไม่เข้าใจว่าเหตุใดชาวบ้านถึงถูกรังแก เพราะเราอยู่แบบสันโดษ เรียบง่าย และเราคงไม่มีเงินที่จะไปต่อสู้หรือจ่ายเป็นค่าประกันใดๆ
 
ขณะที่นายดิเรก กองเงิน ประธานกลุ่มปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนบ้านโป่ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ กล่าวย้ำว่า “ในสังคมไทยที่ระบุว่าให้ความสำคัญในเรื่องเกษตรกรรม แต่ไม่เคยหันมามองภาคเกษตรกรรมอย่างแท้จริง เพราะที่ดินทำกินของเกษตรกรส่วนใหญ่ทุกวันนี้กลายเป็นของนายทุน
 
“เมื่อมีการฟ้องร้องคดีนายทุนก็มีเอกสารสิทธิ์ ส่วนชาวบ้านมีแค่พยานบุคคล ซึ่งกฎหมายไม่รับฟัง ทั้งๆ ที่ ที่ดินเหล่านั้นเคยเป็นของชาวบ้านมาตั้งแต่อดีต”นายดิเรกกล่าว
 
 
กรมคุ้มครองสิทธิฯ เผยปี 2554 ชาวบ้านกว่า 3,800 ราย เข้าขอความช่วยเหลือ
 
ด้านนางนงภรณ์ รุ่งเพชรวงศ์ ผู้อำนวยการกองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐก็มีมาตรการในการช่วยเหลือสำหรับชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดี โดยสถิติเมื่อปี 2554 มีผู้เข้าขอรับการ ช่วยเหลือจากกรมคุ้มครองสิทธิ์กว่า 3,800 ราย ทั้งในเรื่องการให้คำปรึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์เพราะไม่ทราบถึงการครอบครองที่ดินและส่วนใหญ่ยากจน รายได้น้อย”
 
นอกจากนี้มีได้จัดตั้งกองทุนยุติธรรมเพื่อช่วยเหลือประชาชนในเรื่องค่าใช้จ่ายของการดำเนินคดี เช่น กรณีการประกันตัว ขอค่าจ้างทนายความ การตรวจสอบทรัพย์สินตารางวัดพื้นที่ ค่าเดินทางไปขึ้นศาล การย้ายที่อยู่หากเกรงว่าไม่ปลอดภัยระหว่างการพิจารณาคดี เป็นต้น
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กสทช.เผย ร่างระเบียบฯ ไกล่เกลี่ยฉลุย! เชื่อเพิ่มประสิทธิภาพระงับข้อพิพาทโทรคมนาคม

Posted: 02 Apr 2012 10:13 AM PDT

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กสทช. แจงความคืบหน้าการปรับปรุงและพัฒนากลไกระงับข้อพิพาทด้านกิจการโทรคมนาคมเผยยกร่างระเบียบ กสทช.ฯ แล้วเสร็จเตรียมเสนอ กทค.พร้อมเร่งสร้างความเข้าใจ-เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ

ตามที่แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการส่งไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา ได้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม และได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในด้านนี้ ให้มีการพัฒนาและปรับปรุงระบบจัดการเรื่องร้องเรียนและการระงับข้อพิพาทโดยการไกล่เกลี่ย รวมถึง กสทช.โดย คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้กำหนดกรอบภารกิจในปี 2555 ให้มีการปรับปรุงและพัฒนากลไกระงับข้อพิพาทด้านกิจการโทรคมนาคมให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงการวางระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้วย

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกฎหมาย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบูรณาการและปรับปรุงกฎหมายและระเบียบด้านโทรคมนาคม เปิดเผยว่า เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และกรอบภารกิจของ กทค. จึงมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงระหว่างสำนักงาน กสทช. กับ สำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งหนึ่งในสาระสำคัญของบันทึกข้อตกลง ก็คือ ให้สำนักงานศาลยุติธรรมช่วยสนับสนุนการวางระบบการระงับข้อพิพาทโดยการไกล่เกลี่ย จึงเป็นผลให้คณะผู้บริหารของสำนักงาน กสทช.ไปศึกษาดูงาน ณ สำนักระงับข้อพิพาทของสำนักงานศาลยุติธรรม และศูนย์ไกล่เกลี่ยของศาลแพ่ง รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการในเรื่องไกล่เกลี่ยมาอย่างต่อเนื่อง
 
และเพื่อให้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในด้านนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจึงได้มีการยกร่างระเบียบ กสทช.ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมและผู้ใช้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. .... โดยได้มีการพิจารณาในชั้นของคณะอนุกรรมการบูรณาการและปรับปรุงกฎหมายฯ ในการประชุมหลายครั้ง ก่อนที่จะนำเสนอให้ที่ประชุม กทค.พิจารณาต่อไป ตามที่ได้มีการนำเสนอการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
 
ความคืบหน้าล่าสุดในเรื่องนี้ ดร.สุทธิพล กล่าวว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบูรณาการและปรับปรุงกฎหมายฯ ได้มีการพิจารณาร่างระเบียบดังกล่าวที่มีการแก้ไขปรับปรุงหลายครั้งจนเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้มีการพิจารณากันอย่างรอบด้าน อีกทั้งยังได้กำหนดบทบาทและวิธีปฏิบัติในกระบวนการไกล่เกลี่ยไว้อย่างชัดเจน โดยเน้นที่จะสร้างความเป็นธรรมให้กับคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะทำให้การระงับข้อพิพาทเป็นประโยชน์ต่อคู่กรณีและกระบวนการพิจารณาของ กสทช. เพราะการไกล่เกลี่ยนอกจากจะเป็นผลให้ข้อพิพาทเสร็จสิ้นไปได้โดยความรวดเร็วแล้ว ยังเป็นผลให้ข้อพิพาทระงับลงด้วยความพอใจของคู่กรณีด้วยกันทั้งสองฝ่าย และจะเป็นส่วนสำคัญในการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อคู่กรณี
 
สำหรับสาระสำคัญของร่างระเบียบไกล่เกลี่ยฉบับนี้ คือ กรอบการบังคับใช้จะใช้เฉพาะการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมและผู้ร้องเรียนตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 และประกาศ กทช.เรื่องกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการ โดยสำนักงาน กสทช.จะเป็นผู้ดำเนินงานธุรการที่เกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยดังกล่าว โดยจะจัดให้มีทะบียนรายชื่อผู้ไกล่เกลี่ย ซึ่งเป็นผู้ชำนาญเฉพาะด้านจากภายนอก และอาจเป็นพนักงานของสำนักงานก็ได้
 
ร่างระเบียบฯ ยังกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้ไกล่เกลี่ยรวมถึงลักษณะต้องห้าม ทั้งนี้ทะเบียนผู้ไกล่เกลี่ยจะมีอายุ 2 ปี และอาจขอขึ้นทะเบียนได้อีก  ในการแต่งตั้งผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนั้นให้สำนักงานแต่งตั้งจากผู้ที่ขึ้นทะเบียนรายชื่อไว้ โดยคำนึงถึงลักษณะของข้อร้องเรียนและความเหมาะสมของผู้ไกล่เกลี่ย เว้นแต่คู่กรณีประสงค์ร่วมกันที่จะเลือกบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ย
 
ดร.สุทธิพล กล่าวด้วยว่า ร่างระเบียบฯ นี้ยังเปิดช่องทางให้มีการคัดค้านผู้ไกล่เกลี่ยได้ หากปรากฏข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางของผู้ไกล่เกลี่ย รวมทั้งยังได้กำหนดจริยธรรมสำหรับผู้ไกล่เกลี่ยไว้ด้วย ทั้งนี้การเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยจะต้องเป็นความสมัครใจของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย โดยมีการกำหนดวิธีการไกล่เกลี่ยเป็นขั้นตอนที่ชัดเจน ตลอดจนเหตุแห่งการสิ้นสุดกระบวนการไกล่เกลี่ย นอกจากนี้ยังมีส่วนที่เกี่ยวกับการรักษาความลับของข้อมูลในการไกล่เกลี่ย ซึ่งเนื้อหาในร่างระเบียบนี้สอดคล้องกับกติกาไกล่เกลี่ยของหน่วยงานต่างๆ และสอดคล้องกับกติกาสากลอีกด้วย
           
“การจัดทำร่างระเบียบการไกล่เกลี่ยดังกล่าวจึงเป็นทางเลือกของคู่กรณีที่จะมีส่วนร่วมกันในการยุติข้อพิพาทบนพื้นฐานความสมัครใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย ในขณะเดียวกันร่างระเบียบฯ นี้หากนำมาใช้ก็เปรียบเสมือนการเพิ่มท่อระบายขึ้นมาอีกหนึ่งท่อเพื่อระบายเรื่องร้องเรียนด้านโทรคมนาคมที่เข้ามาสู่การพิจารณาในลักษณะคอขวดให้ได้รับการระบายออกไปจากสาระบบได้อย่างรวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรมต่อคู่กรณี”
 
ดร.สุทธิพล กล่าวว่า นี่คือตัวอย่างหนึ่งของความมุ่งมั่นที่จะพัฒนากลไกระงับข้อพิพาทด้านโทรคมนาคมของ กสทช.ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเริ่มจากการจัดให้มีกลไกไกล่เกลี่ย ซึ่งคงจะต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนากลไกด้านอื่นๆ เช่น พัฒนากระบวนการรับเรื่องร้องเรียน พัฒนากระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ฯลฯ ให้มีความรวดเร็วมากขึ้น และถึงแม้ว่าในอนาคต เมื่อบริการโทรคมนาคมมีการเติบโตมากขึ้น จนอาจส่งผลให้ปริมาณเรื่องร้องเรียนเข้าสู่การพิจารณาของ กสทช.มากขึ้นก็ตาม แต่เมื่อเราสร้างท่อระบายรองรับไว้อย่างนี้แล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ต่อการบริหารจัดการเรื่องร้องเรียนให้เสร็จสิ้นไปตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
 
กรรมการ กสทช. กล่าวด้วยว่า แม้จะได้ข้อสรุปในชั้นของคณะอนุกรรมการบูรณาการฯ แล้ว แต่กระบวนการจัดทำระเบียบไกล่เกลี่ยยังไม่แล้วเสร็จ เพราะยังมีขั้นตอนที่สำคัญ คือจะต้องนำเสนอให้ที่ประชุม กทค.พิจารณา และเมื่อผ่านการพิจารณาของ กทค.แล้ว ก็ยังจะต้องเร่งสร้างความเข้าใจและเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป โดยเรื่องนี้จะดำเนินการด้วยความรอบคอบเพื่อให้ระเบียบไกล่เกลี่ยฉบับนี้เป็นประโยชน์ต่อการระงับข้อพิพาททางด้านโทรคมนาคมอย่างแท้จริงและเป็นธรรม
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จม.จากคุก: เรื่องของผู้ก่อการร้ายหมายเลข1 คดี M79 เชียงใหม่-กรุงเทพฯ

Posted: 02 Apr 2012 09:53 AM PDT

หมายเหตุ - จดหมายจากผู้ต้องหาคดียิง M79 หลายจุดในจังหวัดเชียงใหม่-กรุงเทพฯ ระหว่างและหลังสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 โดยถูกจับกุมตัวในวันที่ 21 พ.ย.53 และนำมาแถลงข่าวในวันที่ 23 พ.ย.53 เขาถูกคุมขังตั้งแต่นั้น โดยตระเวนไปขึ้นศาลหลายจังหวัด จากการสอบถามผู้ต้องขังเขาระบุว่าในวันจับกุมเขาไม่ได้รับอนุญาตให้พบญาติและทนาย หากจะติดต่อต้องรับสารภาพ จึงยอมรับสารภาพในชั้นสอบสวน ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาคดีในชั้นศาล โดยในเว็บไซต์ศาลอาญาระบุความผิดในข้อหาร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนฯ

 

หน้าแรกจดหมายของวัลลภ
 

ตัวผมเกิดและเติบโตขึ้นมาจากครอบครัวชาวนาครอบครัวหนึ่ง ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือ ในครอบครัวของผมเรามีกันทั้งหมด 5 คน คือ พ่อ แม่ และลูกๆ ทั้ง 3 ตัวผมเป็นลูกคนสุดท้ายของครอบครัวนี้ ชีวิตของทุกๆ คนในครอบตัวต้องต่อสู้และดิ้นรนหนีความยากจนของครับครัว ตัวผมเองก็ได้รับรู้ถึงความลำบากของทุกคนในครอบครัวมาโดยตลอด พวกเราทั้ง 5คนจึงได้แต่หวังว่าซักวันหนึ่งเราต้องมีนายกรัฐมนตรี หรือพรรคการเมืองพรรคหนึ่งที่หันมาสนใจและห่วงใยชาวนาและคนจนอย่างจริงๆ บ้าง จนผมได้ศึกษาจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัด เพื่อลดภาระของครอบครัว ผมจึงตัดสินใจเข้าสมัครเป็นทหารด้วยวัยเพียง 18 ปีเพื่อที่จะปกป้องประเทศและประชาชนจากอริราชศัตรู เพราะผมเชื่อว่าทหารไทยคือหทารของประชาชน และในช่วงที่ผมปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ชายแดนไทย-พม่า ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่อยู่นั้น ประเทศไทยได้มีการหาเสียงเพื่อเลือกตั้ง โดยผมได้ให้ความสนใจพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ชื่อพรรค “ไทยรักไทย” พรรคนี้ได้เสนอนโยบายพรรคหลายอย่าง ทั้งกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท, บัตรประกันสุขภาพ (บัตร30บาท), ปลดหนี้ IMF, สินค้า OTOP กับโครงการ 4 ปีซ่อม 4 ปีสร้าง และอื่นๆ อีกหลายโครงการ ซึ่งแต่ละโครงการพรรคนี้ไม่น่าจะทำได้ เพราะที่ผ่านมา ผมเคยเห็นและเคยได้ยินแต่รัฐบาลที่มีแต่ลมปาก พูดได้แต่ทำไม่ได้ แต่ผมก็ได้สนับสนุนพรรคไทยรักไทย

หลังการเลือกตั้งผ่านไป พรรคไทยรักไทยก็ชนะการเลือกตั้ง โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้นำรัฐบาลและเป็นนายกรัฐมนตรี และพรรคไทยรักไทยได้พิสูจน์ให้ผมได้เห็นว่า เขาสามรถทำได้จริงตามนโยบายที่เขาเคยให้ไว้กับประชาชน นโยบายของเขาจับต้องได้และสัมผัสได้จริงๆ  เขาได้พัฒนา ชาวไร่ ชาวนาและคนยากจนให้มีอาชีพ และโอกาสเท่าเทียมกับคนอื่นๆ ในสังคม ส่วนครอบครัว พี่ชายคนโตได้มีกิจการเป็นของตนเอง ส่วนพี่ชายคนกลางของผมได้เรียนจบวิศวกรรมตามที่เขาหวังไว้ ซึ่งทำให้ผมเชื่อมันและศรัทธาในพรรคไทยรักไทยมากขึ้น ผมจึงมั่นใจว่าพรรคไทยรักไทยสามารถนำพาประเทศไทยให้หลุดพ้นจากคำว่า ประเทศกำลังพัฒนา และพาไปให้เท่าเทียมประเทศอื่นซักที ผมจึงสนับสนุนพรรคไทยรักไทยเรื่อยมา

และเมื่อผมปลดประจำการมา ผมก็ได้กลับมาทำงานที่บ้าน มาหาเงินและใช้ความสุขกับครอบครัว พรรคไทยรักไทยทำให้ครอบครัวผมที่เคยยากจนกลับมามีทุกอย่างเหมือนครอบครัวอื่น ทำให้ผมเชื่อว่า “นี่แหละคือการเลือกตั้งของประชาชนที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ประชาขนได้เลือกนายกรัฐมนตรีและพรรคการเมืองที่สนใจและดูแลจริงๆ” ผมจึงภาวนาให้พรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลนานๆ และแล้วสิ่งที่ผมกลัวมากที่สุดก็เกิดขึ้น 19 กันยายน 2549 คณะ คมช.ได้ทำการรัฐประหารขึ้นอีกครั้งในเมืองไทย หลังจากการรัฐประหารในเมืองไทยได้ห่างหายไปถึง 14 ปี (พ.ศ.2535-2549) ซึ่งเป็นการกระทำของทหารที่อ้างว่า “ทหารคือข้าของประชาชน” แต่สิ่งที่เขาทำ เขาได้ทำลายรัฐบาลที่ประชาชนรักที่สุด เขาได้ทำลายประเทศ ฉีกรัฐธรรมนูญ ทำลายประชาธิปไตย ผมซึ่งเคยเป็นทหารจึงไม่พอใจกับการรัฐประหารครั้งนั้น ผมจึงเริ่มติดตามการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร ในปี 2551 เพื่อหาข้อมูลทุกอย่างจนทำให้ผมได้รู้ความจริง ว่ากลุ่มพันธมิตรหลอกประชาชน เพียงแค่หวังประโยชน์ของตนเอง โดยไม่คำนึงถึงประชาชนที่พวกเขาจ้างมาว่าจะได้รับความเดือดร้อนขนาดไหนกับการชุมนุมในครั้งนี้ ผมจึงมั่นใจในพรรคไทยรักไทยมากขึ้น (ช่วงนั้นคือพรรคพลังประชาชน) ผมจึงตัดสินใจเดินหน้าเข้าสู่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างเต็มตัวในต้นปี 2552 ผมจึงได้ขยายกลุ่มและใช้ความรู้ของผมที่ผมรวบรวมมาสร้างกลุ่มขึ้น โดยการเปิดโทรทัศน์ช่องเสื้อแดงและเข้าร่วมชุมนุมตามจังหวัดต่างๆ และได้สมัครเป็นการ์ดของจังหวัด ติดตามการปราศรัยของคุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, คุณจตุพร พรหมพันธ์, พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล, อาจารย์สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และคุณกัญญาภัคร มณีจักร มาโดยตลอดจน

ถึงช่วงที่เกิดเหตุการณ์เมษาเลือดในช่วงเดือนเมษายน 2552 ผมได้ติตามข่าวสารและเก็บภาพเพื่อมาวิเคราะห์เรื่องราวทั้งหมดเกี่ยวกับอาวุธของทหารที่ใช้ยิ่งประชาชน ผมจึงทราบว่า “ทหารยิงประชาชน” จริงๆ โดยการใช้กระสุนจริง ยิงประชาชนไม่ได้ใช้กระสุนปลอมเหมือนที่รัฐบาลประชาธิปัตย์หรือทหารอ้างต่อสื่อ ผมและกลุ่มจึงไม่พอใจ จึงได้เริ่มเคลื่อนไหวมากขึ้น โดยการเข้าร่วมชุมนุมในทุกๆ ที่เพื่อคอยดูแลความปลอดภัยของพี่น้องคนเสื้อแดง และในวันที่ 11 มีนาคม 2553 พี่น้องคนเสื้อแดงทั้งประเทศได้พิสูจน์ให้ผมเห็นถึงความรัก ความสามัคคี และพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอีกครั้ง ทุกคนมาจากทุกพื้นที่ในประเทศไทยเพื่ออกมาต่อสู้กับรัฐบาลโจรและอำนาจเถื่อน ที่มาปล้นรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยของเราไป คนพวกนี้ต้องการเพียงอำนาจ เงิน และการเอื้อประโยชน์ให้พวกเดียวกัน ตัวผมไม่เคยเสียใจกับสิ่งที่ผมทิ้งมา ทั้งงาน บ้าน และครอบครัวที่แสนอบอุ่น เมื่อผมได้เห็นพี่น้องคนเสื้อแดงออกมาสู้กันมากมายเช่นนี้ ถึงแม้การต่อสู้ของพวกเราและ นปช.จะจบลงแบบไม่สวย แต่เราก็ไม่แพ้และจะไม่มีวันแพ้ ถึงแม้ว่าพวกเราจะมีประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญจอมปลอมมาถึง 80 ปี (พ.ศ.2475-2555) แต่ผมก็เชื่อว่าทุกคนยังพร้อมจะสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยแบบเต็มใบและเพื่อประเทศที่เป็นของประชาชนอีกครั้ง

หลังจากการสลายการชุมนุมในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ผมต้องหาเงินมาเพื่อทดแทนในส่วนที่ครอบครัวสูญเสียไป ผมจึงเปิดร้านขายเสื้อผ้าในกรุงเทพฯ เพื่อเก็บเงินไว้ต้อนรับการเกิดมาของลูกสาวคนที่  ผมต้องหาเงินมาเพื่อทดแทนในส่วนที่ครอบครัวสูญเสียไป ผมจึงเปิดร้านขายเสื้อผ้าในกรุงเทพฯ เพื่อเก็บเงินไว้ต้อนรับการเกิดมาของลูกสาวคนที่ 3 ในวันที่ 22 สิงหาคม 2553 โดยผมตั้งใจว่าจะเก็บเงินไว้ให้พวกเขาจำนวนหนึ่ง เพื่อที่ผมจะได้เข้าร่วมการต่อสู้อีกครั้ง แต่แล้วผมก็ต้องหมดอิสรภาพลงในวันที่ทุกคนกำลังมีความสุขกับประเพณีลอยกระทงในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2553 ผมถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมในขณะเติมน้ำมันเพื่อกลับบ้านในเขตท้องที่สายไหม กรุงเทพมหานคร ในข้อหาก่อการร้ายที่ DSI ตั้งให้และข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ผมถูกส่งตัวไปดำเนินคดีที่จังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่นั้นมา ผมอยากรู้ว่าทำไมหรือ คนที่เขาออกมาชุมนุมเรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยเพื่อทวงอำนาจคืนสู่ประชาชน ทำไมต้องเอาอาวุธออกมาไล่ยิง ไล่ฆ่าพวกเขาด้วย นี่หรือทหารของประชาชน ทำไมต้องยัดข้อหาให้พวกเขาทั้งๆ ที่ไม่มีความผิด และจะกลั่นแกล้งผมไปถึงไหน

ปัจจุบันผมต้องย้ายเรือนจำมาทั้งหมด 8 เรือนจำแล้ว และกำลังจะย้ายไปเรือนจำที่ 9 ผมไม่ได้เจอครอบครัวมานานมากแล้ว จะมีก็แต่พี่น้องคนเสื้อแดงเท่านั้นที่คอยเยี่ยม คอยห่วง ภรรยาของผมที่ผมทั้งรักและห่วงก็มาจากผมไปเพียงแค่คำว่า “ไม่อยากเป็นเมียผู้ก่อการร้าย” คนเสื้อแดงและพวกผมผิดหรือเพียงแค่ต้องการประชาธิปไตย กลับต้องกลายเป็นกบฏ เป็นผู้ก่อการร้ายกันทุกคน ปัจจุบันลูกสาวคนโตผม 10 ขวบแล้ว คนกลาง 7 ขวบ คนสุดท้อง 2 ขวบแล้ว ผมเชื่อว่าทุกๆ คนคิดถึงผม ซึ่งก็ไม่ต่างจากที่ผมคิดถึงเขา เมื่อไหร่ที่ลูกคนเล็กพูดได้ เขาคงจะถามคุณย่าของเขาว่า “พ่อหนูไปหน พ่อหนูคือผู้ก่อการร้ายจริงหรือ” แต่อย่างน้อย สวรรค์ก็มีตา เราได้พรรคเพื่อไทยของเรากลับมาอีกครั้ง เขาต้องกลับมาเพื่อสานต่อทุกคำสัญญาที่เขาให้กับประชาชนไว้ และเมื่อนั้นผมเชื่อว่า “ฟ้าหลังฝนย่อมสดใสกว่าเสมอ”

มีคนถามผมว่า ผมท้อไหม ถอดใจไหม ผมตอบได้เลยว่า “ไม่” ผมพร้อมที่จะสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ไปพร้อมทุกคนเสมอ ถึงอนาคตข้างหน้า ผมจะต้องสูญเสียอะไรไปมากกว่านี้ก็ตาม ผมไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง และก็เชื่อว่าทุกๆ คนก็ไม่ได้ทำเพื่อตัวเองเหมือนกัน แต่พวกเราทุกคนทำเพื่อลูกหลานของเรา เพื่อประเทศของเรา เพื่อทุกคนที่เรารัก ต่อให้การต่อสู้ครั้งหน้าผมต้องบาดเจ็บล้มตาย ผมก็ยอม ผมไม่อยากให้การหลอกลวงจอมปลอมทั้งหมดต้องตกไปเป็นภาระของรุ่นลูกรุ่นหลานของพวกเรา ผมขอให้สัญญา “ตราบใดถ้าคนเสื้อแดงทุกคนยังพร้อมที่จะต่อสู้ร่วมกันเช่นนี้ เราจะไม่มีคำว่าแพ้อย่างแน่นอน”

(ข้อความถึงลูก) นานแล้วนะที่เราจากกันมา พ่อไม่ได้ทิ้งทุกๆ คนไปไหน พ่อไม่ได้อยากเป็นวีรบุรุษ พ่อไม่ได้ต้องการการยกย่อง พ่อไม่ได้ต้องการเหรียญกล้าหาญใดๆ แค่ซักวันหนึ่ง เมื่อพวกหนูโตขึ้น หนูจะเข้าใจว่าสิ่งที่พ่อทำมันยิ่งใหญ่แค่ไหน หนูจะรู้ว่าเพราะอะไรพวกพ่อต้องออกมาต่อสู้เพื่อปกป้องประเทศนี้ พวกหนูทั้ง 3 คน อย่าได้น้อยใจหรือเสียใจที่ไม่ได้เติบโตมาใสอ้อมกอดพ่อ พ่อเชื่อว่าการจากกันครั้งนี้ใช่จากกันชั่วนิรันดร์ แต่เป็นเพียงแค่การจากเพียงชั่วครู่เท่านั้น พ่ออยากให้หนูรู้ว่าครั้งหนึ่งพ่อก็เคยรู้สึกเหมือนหนู พ่อทนกับการดูถูกเหยียดหยามมามาก เพื่อการนี้พ่อึงต้องดิ้นรนเพื่อหลีกหนีความจน พ่อต้องการคนที่เขาพัฒนาคนจน ทำเพื่อประชาชนได้จริงๆ ของเพียงลูกๆ ของพ่อเป็นคนดี ตั้งใจเรียน เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ช่วยกันพัฒนาบ้านเมือง หนูอย่าได้ดูถูกคนที่เขาด้อยกว่า ให้หนูมองทุกๆ คนว่าเท่าเทียมกับเรา หนูจะได้ไม่รู้สึกเด่นหรือด้อยกว่าคนอื่นเขา พ่อเชื่อว่าอีกไม่นาน พ่อคงได้กลับไปอยู่กับลูกๆ ขอให้หนูหลับฝันดี แล้วซักวันพ่อจะกลับคุ้มครองลูกๆ เอง

สุดท้ายนี้ ผมอยากขอบคุณพี่น้องเสื้อแดงทุกคนที่คอยติดตามถามไถ่ ทุกข์- สุข อย่างไร คอยให้กำลังใจในช่วงที่ต้องขึ้นศาลฯ ทั้งๆ ที่รู้ว่าการเดินทางในแต่ละครั้งนั้นก็ลำบากแสนลำบาก แต่ทุกคนก็ไป ขอบคุณทุกกำลังใจ ขอบคุณพี่ๆ คดี 112 ทั้งพี่สมยศ, พี่สุรภักดิ์, อาจารย์สุรชัยที่คอยให้คำปรึกษาและดีกับผมเสมอมา ทำให้ผมอดทนมาได้ถึงวันนี้ ผมจะอดทนต่อไป เพื่อจะได้ไปต่อสู้ร่วมกับทุกๆ คนอีกครั้ง

 

ผมศรัทธาในการต่อสู้ของทุกๆ คน

วัลลภ พิธีพรม

16 มีนาคม 2555

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดแผนใต้ ‘ศูนย์กลางน้ำมัน-ปิโตรเคมี’ ทางเลือกผุดโรงกลั่น‘นคร-ปัตตานี’

Posted: 02 Apr 2012 08:27 AM PDT

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 1 เมษายน 2555 ที่ห้องประชุมอาคารวิจัย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช สถาบันวิจัยและพัฒนา หน่วยวิจัยพลังงานหมุนเวียน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นศูนย์ประสานงานจังหวัดนครศรีธรรมราช เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา และองค์กรเครือข่าย จัดเสวนา “ปัญหาพลังงาน...ทำไมจึงกลายเป็นปัญหาของท้องถิ่น” โดยมีผู้เข้าร่วมจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ชุมพร และตรัง ประมาณ 300 คน

ดร.อาภา หวังเกียรติ หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต บรรยายในหัวข้อ “เส้นทางจากโลกถึงท้องถิ่น: ความซับซ้อนและความไม่เป็นธรรมในธุรกิจพลังงาน” นำเสนอว่า รายงานฉบับสมบูรณ์ ธันวาคม 2553  “แนวทางการพัฒนาภาคใต้โดยใช้ผลิตผลในพื้นที่เสริมสร้างอุตสาหกรรมพลังงานและอุตสาหกรรมต่อเนื่องเป็นตัวนำร่อง” ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระบุถึงแนวทางการพัฒนาภาคใต้ พ.ศ. 2553-2575 โดยเปรียบเทียบประมาณการการระบายมลสารจากการพัฒนาโครงการ SSB และแผนแม่บทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 3 ที่มาบตาพุด การพัฒนาทรัพยากรการเกษตร: เชื่อมโยงปาล์มนํ้ามันกับอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ทรัพยากรสินแร่ : ปิโตรเคมีจากก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ

รายงานการศึกษาฉบับดังกล่าวระบุถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานและอุตสาหกรรมต่อเนื่องผนวกกับการพัฒนาทรัพยากรท้องถิ่นว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันในภาคใต้ จะเป็นหัวหอกสำคัญในการพัฒนาทั้งภาคใต้และประเทศไทยโดยรวม โรงกลั่นน้ำมันในภาคใต้จะช่วยปูทางและส่งเสริมการพัฒนาภาคใต้ให้เป็นศูนย์กลางการค้านํ้ามันและปิ โตรเคมี (Oil & petrochemicals hub) รวมทั้งช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ อีกมาก ทั้งนี้โรงกลั่นน้ำมันในภาคใต้จะทำให้มีความต้องการใช้ Land Bridge ซึ่งจะเป็นเส้นทางการขนส่งน้ำมันโดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา

โรงกลั่นน้ำมันที่จะพัฒนาในภาคใต้จะเรียกว่า โรงกลั่นนํ้ามัน SSB (Southern Seaboard Refinery) ตามรายงานฉบับสมบูรณ์ ธันวาคม พ.ศ. 2551โครงการศึกษาความเหมาะสมการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้พิจารณาพื้นที่ทางเลือกและศักยภาพของพื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมที่ครอบคลุมทั้งด้านการยอมรับของท้องถิ่น ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และด้านวิศวกรรมและต้นทุนการพัฒนา ซึ่งมี 2 พื้นที่ทางเลือก ได้แก่ ทางเลือกที่ 1 บริเวณบ้านคอเขา ตำบลทุ่งปรัง อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ขนาดพื้นที่โครงการ 11,500 ไร่ ทางเลือกที่ 2 บริเวณบ้านคลองดินถึงบ้านปากน้ำปากดวด ตำบลกลาย อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ขนาดพื้นที่โครงการ 12,600 ไร่ โดยมีพื้นที่น่าสนใจคือ ทุ่งนเรนทร์ ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี

สำหรับการลงทุนโรงกลั่นน้ำมัน SSB ซึ่งจะเริ่มดำเนินการผลิตในปีพ.ศ. 2561 ที่กำลังการผลิต 950 kBD ต้องการเงินลงทุนประมาณ 518,500 ล้านบาท จะสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยปีละประมาณ 873,000 ล้านบาท คิดเป็นกำไรพื้นฐานปีละประมาณ 94,000 ล้านบาท ซึ่งต้องนำเข้าน้ำมันดิบประมาณปีละ 779,000 ล้านบาท และมีผลตอบแทนการลงทุนเบื้องต้น (Return on investment, ROI) เฉลี่ยที่ 16-20% หรือเท่ากับ Gross refining margins (GRMs) ที่ 9.50-11.50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล (ราคาน้ำมันDubai ที่ 75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เรียนรู้ ‘ฮอด’ ชุมชนเก่าแก่ บทเรียนก่อนและหลังกำเนิดเขื่อนภูมิพล (ตอน 5 )

Posted: 02 Apr 2012 07:40 AM PDT

 

“ชาวบ้านเมื่อก่อนนั้นไม่ใครกล้าขัดขว้างรัฐ เพราะอยู่กับความกลัว
ไม่เหมือนสมัยนี้ ต้องมีการทำประชาวิจารณ์ ว่าผลที่จะเกิดขึ้นนั้นดีหรือไม่ดี เมื่อก่อนนั้นไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องผลเหล่านี้ว่าดีหรือไม่ดี
และชาวบ้านเองก็ไม่ได้มีส่วนร่วมอะไรเลย”

 

 

เรียนรู้ ทบทวนอดีต สิทธิในการดำรงอยู่อยู่ที่ไหน?
มีการวิเคราะห์กันว่า นับจากที่มีการสร้างเขื่อนภูมิพล จนเริ่มเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 เป็นต้นมา ได้สร้างความภาคภูมิใจแก่คนไทยทั้งประเทศ เนื่องจากลักษณะของเขื่อนเป็นเขื่อนคอนกรีตโค้งเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย และเอเชียอาคเนย์ และยังถือว่าเป็นเขื่อนอันดับ 8 ของโลกอีกด้วย โดยทุกคนรับรู้กันดีจากการประชาสัมพันธ์ของรัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นั่นคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.รวมทั้งสื่อมวลชนทั่วไปว่า เขื่อนภูมิพลได้สร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศอย่างมากมายมหาศาล โดยทาง กฟผ.ได้ติดตั้งกระแสไฟฟ้า ทำให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนภูมิพลมีกำลังการผลิตติดตั้งทั้งสิ้น 779.2 เมกกะวัตต์ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2545 นอกจากนั้นยังสามารถให้ประโยชน์ในด้านชลประทานแก่พื้นที่ถึง 10 ล้านไร่ต่อปี

โดยอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนจุน้ำได้มากถึง 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร เนื้อที่ผิวน้ำประมาณ 300 ตารางกิโลเมตร ความยาวของลำน้ำจากเขื่อนถึงอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นระยะทาง 207 กิโลเมตร

นอกจากประโยชน์ทางด้านพลังงานไฟฟ้าและชลประทานแล้ว เขื่อนภูมิพลยังเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืดที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งด้วย

แน่นอน ในสายตาของ กฟผ.หรือภาครัฐ ภาพลักษณ์ของ ‘เขื่อน’ จึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์ทางการพัฒนา ถึงขนาดมีกล่าวกันไว้ว่าเขื่อน คือยาวิเศษขนานเดียวสำหรับการแก้ปัญหา น้ำท่วม ภัยแล้ง และการขาดแคลนพลังงาน

อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้ที่ทำการศึกษาผลกระทบเรื่องเขื่อน รวมไปถึงชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นทางตอนเหนือของเขื่อน ได้ออกมาพูดและเรียกร้องอยู่อย่างต่อเนื่องว่า เขื่อนก็มีผลกระทบมหาศาลเช่นกัน      และมีผู้ศึกษาเรื่องนี้ ได้จำแนก ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเป็นกลุ่มใหญ่ๆได้ 2 ประเภท คือ ผลกระทบทางด้านภูมิประเทศและผลกระทบทางด้านภูมิสังคม

โดยทางด้านภูมิประเทศ ในเชิงบวก นักสร้างเขื่อนก็จะมองและเชื่อว่าเป็นการแก้ปัญหาในเรื่องของปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง มีการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในยามที่จำเป็น เป็นตัวที่คอยกันน้ำไม่ให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก และยังสามารถกันตลิ่งไม่ให้พังจากการกัดเซาะของน้ำ

แต่ในขณะเดียวกัน เขื่อนก็มีผลในด้านลบเช่นเดียวกัน นั่นคือ เป็นการตัดไม้ทำลายป่าเพราะการสร้างเขื่อนต้องใช้พื้นที่เป็นจำนวนมาก ทำให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์เป็นอย่างมาก และเนื่องจากเขื่อนเป็นการสิ่งก่อสร้างขวางลำน้ำ ทำให้น้ำที่ไหลมาสะสมในพื้นที่เหนือเขื่อน จนเป็นผลให้ที่ดินบริเวณเหนือเขื่อนถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ซึ่งที่ดินเหล่านั้นส่วนมากเป็นป่า ธรรมชาติและแหล่งต้นน้ำลำธาร ซึ่งถือได้ว่าเป็นที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นการที่น้ำท่วมขังในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ จะทำให้สูญเสียทรัพยากรดินตามไปด้วย

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงพื้นที่ท้ายเขื่อนพบว่า แร่ธาตุที่รักษาสมดุลของ ระบบนิเวศ ไม่สามารถมาสู่พื้นที่ท้ายน้ำได้ เนื่องจากถูกกักโดยเขื่อนส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อนขาดความอุดมสมบูรณ์ด้วยเช่นกัน

ยังมีการศึกษาพบว่า มีการสูญเสียสัตว์ป่าในการสร้างเขื่อนในตอนเริ่มต้นจำนวนมากอีกด้วย

เมื่อปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พื้นที่สูง เช่น ภูเขาจะกลายเป็นเกาะ แก่ง ซึ่งการดำรงชีวิตของสัตว์ป่ามักเคยชินกับพื้นที่เดิม และเมื่อปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้นเรื่อย หากหนีไม่ทันก็จะล้มตาย หากหนีทันก็จะถูกล้อมรอบในพื้นที่จำกัด และเมื่อพื้นที่ถูกตัดขาดออกจากกัน ทำให้ไม่สามารถผสมพันธุ์ข้ามฝูงได้ และการผสมพันธุ์ในฝูงเดียวกันทำให้ รุ่นต่อไปมีลักษณะด้อยและอ่อนแอ

ซึ่งนั่นหมายถึงการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศในแหล่งน้ำ   เนื่องจากในระบบนิเวศเดิม พันธุ์ปลาที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำ จะเป็นปลาที่ดำรงชีพในแหล่งน้ำไหล แต่เมื่อสร้างเขื่อนแล้วเสร็จนั้นปลาที่ชอบระบบนิเวศอ่างเก็บน้ำซึ่งเป็นแหล่งน้ำนิ่ง สามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ปลาที่ชอบระบบนิเวศที่มีน้ำไหลก็จะลดปริมาณทำให้ระบบนิเวศในแหล่งน้ำเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งปลาบางชนิดอาจสูญพันธุ์ไปจากแหล่งน้ำนั้นเลยก็ได้

เมื่อมองด้านภูมิสังคม นักสร้างเขื่อน ก็จะบอกว่า เขื่อนสามารถสร้างพลังงานไฟฟ้า ซึ่งถือว่าเป็นสาเหตุหลักเลยก็ว่าได้ และผลที่เกิดตามมาก็คือ สามารถเป็นแหล่งท่องเทียว พักผ่อนหย่อนใจได้ และยังเป็นการส่งเสริมอาชีพใหม่กับราษฎร เช่น ประมง การเกษตร ตัวอย่างจากเขื่อนภูมิพล ว่ากันว่า ราษฎรในพื้นที่สามารถมีอาชีพ เสริมด้านการประมงได้ เป็นอย่างดี ในรอบ 36ปีที่ผ่านมา ราษฎรในท้องถิ่น สามารถจับปลาได้ทั้งสิ้น 25 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 160 ล้านบาท อีกทั้งมีการพูดถึงกันบ่อยว่า เขื่อนภูมิพลยังช่วยทำให้ระบบการชลประทานดีขึ้นโดยสามารถปล่อยน้ำไปช่วยราษฎรในพื้นที่จังหวัดตาก กำแพงเพชร และบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งสองข้างทาง รวมเนื้อที่ประมาณ 7.5 ล้านไร่ ให้มีการชลประทานที่ดี สามารถเพิ่มผลผลิตได้

แต่เมื่อมองให้ลึกและกว้าง ทำให้เรามองเห็นปัญหาที่มาจากเขื่อน ว่าส่งผลกระทบในด้านลบเช่นเดียวกัน นั่นคือ เขื่อนส่วนมากจะสร้างขึ้นระหว่างหุบเขาตรงที่ลำน้ำไหลผ่าน เขื่อนเหล่านี้มีขนาดใหญ่โตมาก สันเขื่อนอาจสูงถึงสามร้อยกว่าเมตร ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นกำแพงยักษ์กั้นลำน้ำเอาไว้ ทำให้น้ำค่อยๆ เอ่อท่วมบริเวณหน้าเขื่อน ซึ่งกว่าที่น้ำจะเต็มเขื่อนอาจใช้เวลานานกว่า 3-4 ปีขึ้นไป และเมื่อน้ำเต็มเขื่อนบริเวณหน้าเขื่อนก็จะกลายเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ ทำให้น้ำในเขื่อนท่วมพื้นที่ริมน้ำข้างเคียงเป็นบริเวณกว้าง

แน่นอนว่า ในขณะที่ผลิตกระแสไฟฟ้าได้เป็นปริมาณมากมายมหาศาล แต่เนื่องจากเขื่อนมีขนาดใหญ่ระดับน้ำเหนือเขื่อนที่ขึ้นสูงทำให้ที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน ถูกน้ำท่วม จึงจำเป็นต้องอพยพ สูญเสียที่ดินทำกิน พื้นที่ป่าไม้ และสูญเสียอาชีพที่พึ่งพิงกับทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งอาชีพประมงและการพึ่งพาอาศัยทรัพยากรจากป่า การเก็บหาของป่า ซึ่งเป็นฐานเศรษฐกิจของชาวบ้านและชุมชน ซุปเปอร์มาเก็ตของคนจนถูกทำลายไปจากการสร้างเขื่อน ฐานทรัพยากรของชาวบ้านและชุมชยถูกทำลายไป

ถึงแม้จะมีการช่วยเหลือจากรัฐบาลโดยการจัดหาที่อยู่ และที่ทำกินให้ใหม่ โดยมากเป็นการย้ายถิ่นฐาน ไปในบริเวณที่ใกล้กับชุมชนอื่น ก็ทำให้เกิดความรู้สึก แปลกแยก ออกจากสังคมใหม่ และพื้นที่ทำกิน ที่ได้รับมาใหม่อาจ ไม่เหมาะสมต่อการทำกินประเภทเดิม เช่น สภาพที่ดิน แหล่งน้ำ นอกจากนี้ยังทำให้ สภาพวัฒนธรรม ดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไปด้วย

ซึ่งถ้านับมูลค่าของความสูญเสีย ไม่ว่าเรื่องของลักษณะภูมิประเทศ ภูมิสังคม สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต วัฒนธรรมของผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนนั้น ถือว่ามีมูลค่ามากมายมหาศาลจนประเมินค่าไม่ได้

นั่นจึงไม่แปลกใจเลยว่า เมื่อต้นปี พ.ศ.2555 ที่ผ่านมา เหตุใดถึงมีข่าวออกมาว่า ชาวบ้านรวมกลุ่มประท้วงเขื่อนภูมิพล เรียกร้องค่าชดเชยน้ำท่วมให้เห็นอีกครั้ง

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา ชาวบ้านฮอด ได้รวมตัวกับชาวบ้านจากอำเภอดอยเต่า ซึ่งประกอบด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และนายก อบต. รวมทั้งเกษตรกรและผู้ได้รับผลกระทบใน อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ จำนวนนับ 1,000 คน เดินทางด้วยรถยนต์เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องค่าชดเชยน้ำท่วม ต่อผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ว่าน้ำในเขื่อนภูมิพลเอ่อล้นท่วมบ้านเรือนชาวบ้านหลายร้อยครัวเรือน และพื้นที่การเกษตรเสียหายหนัก ซึ่งได้เรียกร้องขอให้เขื่อนภูมิพล ต้องจ่ายตามความเสียหายพืชไร่ต่อต้น ไม่ใช่ต่อไร่

นายทนงศักดิ์ วีระ ประธานกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการกักเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลได้กล่าวว่า หลังจากเกิดวิกฤติน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 ที่ผ่านมา มาทำให้สวนลำไย มะม่วง ไร่ข้าวโพด นาข้าว และพื้นที่การเกษตร ใน อ.ดอยเต่า และ อ.ฮอด ซึ่งถูกน้ำที่ล้นจากการกักเก็บน้ำของเขื่อนภูมิพลเข้าท่วมจนได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง นอกจากนี้ บ้านเรือนประชาชนใน ต.ท่าเดื่อ และ ต.บ้านตาล หลายร้อยครัวเรือน ยังถูกน้ำท่วมอีกด้วย

นอกจากนี้ น้ำในทะเลสาบดอยเต่าที่อยู่เหนือเขื่อนภูมิพล มีปริมาณสูงสุดในรอบ 5 ปี ส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรเสียหายมาก ทางผู้ได้รับผลกระทบ จึงเรียกร้องให้ทางเขื่อนภูมิพลและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชดเชยค่าเสียหายให้ชาวบ้านตามความเป็นจริง โดยขอให้ทางเขื่อนภูมิพลและ กฟผ. จ่ายเงินให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับการจ่ายในปี พ.ศ. 2545 และ 2549 ซึ่งจ่ายเป็นค่าเสียหายพืชสวนต่อต้น ไม่ใช่จ่ายตามมติ ครม.เมื่อเดือน ส.ค.2554 ที่ผ่านมา ที่ให้จ่ายเป็นไร่ เนื่องจากน้ำท่วมดอยเต่าและฮอด นั้นเป็นผลมาจากการกักเก็บน้ำของเขื่อนภูมิพลไม่ใช่จากภัยพิบัติเหมือนที่อื่น

“แต่ผลที่ได้ออกมา คือ มีการบอกว่าจะช่วยเหลือและออกมาสำรวจเรื่องของความเสียหายอยู่  แต่เขาจะมีการชดเชย จ่ายเป็นไร่ โดยการอิงมติคณะรัฐมนตรี ที่เกิดความเสียหาย แต่ชาวบ้านก็ตอบไปอีกว่า  สาเหตุน้ำท่วมนั้นไม่เกี่ยวกับเรื่องของภัยพิบัติ แต่เป็นการท่วม เพราะว่า การกักเก็บน้ำของเขื่อนเกินพิกัด  เกินค่าความสูงของระดับน้ำ” นายจงกล โนจา รองนายก อบต.ฮอด ซึ่งเป็นตัวแทนชาวบ้านตำบลฮอด บอกเล่าให้ฟัง

ทั้งนี้ นายจงกล โนจา ได้สรุปประเด็นไว้ว่า ความเสียหายจะมีอยู่ 2 ประเด็น คือ หนึ่ง เป็นเรื่องเขื่อนมีการกักเก็บน้ำปริมาณที่มาก ทำให้เกิดปริมาณน้ำที่เอ่อล้นท่วมขึ้นมา นั้นมีระยะเวลาของน้ำท่วมที่ยาวนาน และสอง เป็นเรื่องของความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัย ในเรื่องของฟ้าฝน ที่ทำให้เกิดน้ำไหลหลากมาก น้ำล้นตลิ่งมาก

ชาวบ้านฮอดถกประเด็นปัญหาที่เกิดจากเขื่อน
พร้อมเรียกร้องหาทางออกร่วมกัน 
ปัจจุบัน ชาวบ้านฮอดเริ่มถกประเด็นปัญหาที่เกิดจากเขื่อนกันมากขึ้น เพื่อหาข้อสรุปข้อเรียกร้องในการแก้ไขปัญหาและหาทางออกร่วมกัน แน่นอน ว่านอกจากปัญหาน้ำท่วมแล้ว ยังมีอีกหลายๆ ปัญหาที่ทับซ้อนรอการแก้ไขอยู่

ปัญหาเรื่องที่ดิน  พื้นที่ทำการเกษตร และการส่งเสริมอาชีพ เป็นปัญหาที่ชาวบ้านในพื้นที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

นายจงกล  โนจา รองนายก อบต.ฮอด บอกว่า ยังมีปัญหาที่ต้องการเรียกร้องและฝากไปยังองค์กรหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการช่วยเหลือแก้ไข ก็คือ ปัญหาเรื่องของการถือครองที่ดิน  พื้นที่ทำการเกษตร ซึ่งเรื่องของการถือครองที่ดินแบบยั่งยืนนั้นยังไม่มีเลย

“นอกจากนั้น ปัญหาเรื่องของความไม่มั่นคงในอาชีพ ในส่วนของชาวบ้านเอง เริ่มยากจนมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2545 เพราะสาเหตุเกิดจากน้ำท่วมลำไย ลำไยตาย ชาวบ้านต้องลงทุนในการเริ่มต้นปลูกลำไยใหม่ 5 ปี กว่าจะได้ผลผลิต พอเก็บได้ 2-3 ปี จนถึงช่วงของปีพ.ศ. 2549 น้ำท่วมอีก ไม้ก็ตายอีก ชาวบ้านก็เกิดความยากจน หมดเนื้อหมดตัว เพราะน้ำท่วมต้นลำไย ที่ต้องลงทุนในการเริ่มปลูกกันใหม่ แต่พอจะได้เริ่มผลผลิต น้ำก็เกิดท่วมซ้ำ เงินที่ลงทุนที่ผ่านมาก็สูญหมด”

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านเองก็พยายามหันมาทบทวนบทบาทของตนเอง หันไปมองวิถีชีวิตในอดีตที่หายไป เพื่อค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่กำลังเผชิญกันอยู่

“ในเรื่องของระบบเหมืองฝาย  จากเดิมนั้น มีการเอาน้ำจากที่สูงลงมาที่ต่ำ  โดยนำเอาน้ำมาจากลำห้วย  แต่ช่วงหลังชาวบ้านก็มองความเหมาะสม  ประกอบกับชาวบ้านเองก็อาจจะมักง่ายก็ได้ขอสูบพลังไฟฟ้าจากกรมชลประทานมา ก็เลยทำให้ลืมฮีตฮอยอันเก่า เหมืองเก่าเดิมก็ไม่ใช้ เพราะว่าสูบพลังไฟฟ้าง่ายกว่า  ถ้าจะมาขุดลอก ลางขี้เหมืองก็ใช้ระยะทาง 12 กิโลเมตร ของเส้นทางที่เอาน้ำเหมืองมาใช้ อีกส่วนหนึ่ง ก็คือ ช่วงที่สูบพลังไฟฟ้าเข้ามา  รัฐก็จ่ายให้ 75%  ชาวบ้านสมทบ 25%  ชาวบ้านเลยถือว่าได้จ่ายน้อย”

ในขณะที่หลายคน บอกว่า ในสมัยก่อน มีต้นน้ำ มีป่าไม้มาก แต่เดี๋ยวนี้ป่าไม้เริ่มหมด ธรรมชาติก็เริ่มแห้งแล้ง

“สมัยก่อนคนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนน้ำในเส้นห้วยแม่ฮอด มีน้ำไหลตลอดทั้งปี  แต่ตอนหลังก็มีการเข้ามาของพี่น้องม้ง ที่เข้ามาทำมาหากินในพื้นที่ต้นน้ำ น้ำก็เลยไม่ไหล  เมื่อก่อนนั้น น้ำจากต้นน้ำมีการไหลตลอดทั้งปี และมีการทำเหมืองฝายธรรมชาติ แต่ตอนนี้ทำไม่ได้ เพราะว่าน้ำไม่เพียงพอ เพราะว่าทรัพยากรธรรมชาติเริ่มหมด”

เช่นเดียวกับ นายจงกล โนจา บอกว่า เพราะถ้ามองถึงความรู้สึกของตัวเอง และมองย้อนหลัง  มองไปข้างหน้า  ณ วันนี้ ชาวบ้านเองแทบจะพึ่งตนเองไม่ได้เลย  รอพึ่งพาจากภาครัฐ รอให้มาช่วยอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม ในวงแลกเปลี่ยนของชาวบ้าน มีเรื่องหนึ่ง ที่ชาวบ้านกำลังให้ความสำคัญและให้ความสนใจในขณะนี้ นั่นคือทำอย่างไรถึงจะเรียกร้องสิทธิทำกินนั้นคืนกลับมา โดยเฉพาะการเรียกร้องค่าชดใช้ความเสียหายที่เกิดจากเขื่อน

แน่นอน ย่อมมีคำถามจากสังคมทั่วไปไปต่างๆ นานาว่า ทำไมถึงมาพูดถึงผลกระทบจากเขื่อนภูมิพลในช่วงนี้ ทำไมถึงออกมาเรียกร้องสิทธิในห้วงเวลานี้ ทั้งๆ ที่เขาสร้างเขื่อนกันมานานกว่า 50มาแล้ว?!

“ก็คนเฒ่าสมัยก่อนนั้นกลัว ใครมาบอกก็เชื่อก็ไปกัน  คนที่มีเงินก็มาซื้อเอาไร่เอานาเราไปเสีย  แต่เราก็ได้มาก็กินก็จ่ายกันไปอย่างนั้น ถ้าเป็นรุ่นเดี๋ยวนี้ ก็อาจจะไม่ได้สร้างเขื่อน จะมีการเดินขบวนประท้วง แต่รุ่นนั้นคนเฒ่าสมัยก่อนนั้นเกิดความกลัว  แต่รัฐบาลก็มาพูดว่าเราจะได้มีแสงสว่าง  คนเฒ่าเมื่อก่อนก็เลยยอมเซ็น ลงชื่อ ลงนาม  ก็เลยเกิดการสร้างเขื่อนภูมิพล” ตัวแทนชาวบ้านบอกเล่าให้ฟัง

“ชาวบ้านเมื่อก่อนนั้นไม่ใครกล้าขัดขว้างรัฐ เพราะอยู่กับความกลัว ไม่เหมือนในยุคประชาธิปไตย  เหมือนสมัยนี้ ต้องมีการทำประชาวิจารณ์ ว่าผลที่จะเกิดขึ้นนั้นดีหรือไม่ดี  เมื่อก่อนนั้นไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องผลเหล่านี้ว่าดีหรือไม่ดี และชาวบ้านเองก็ไม่ได้มีส่วนร่วมอะไรเลย”

“ดูตัวอย่างจากกรณีแก่งเสือเต้น ที่มีการคิดจะสร้างกันหลายยุคหลายสมัย หลายรัฐบาล ก็ไม่สามารถที่จะสร้างได้ เพราะว่าชาวบ้านมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น  มีการทำประชาวิจารณ์ในท้องถิ่น แต่สมัยนั้นไม่มีการทำเรื่องของการประชาคมประชาวิจารณ์อะไรเลย  เพราะว่าในสมัยก่อน รัฐบาลอยากจะทำอะไรก็ทำไป ชาวบ้านไม่มีสิทธิที่จะโต้”

“ที่ผ่านมา ชุมชนเรามีการถูกเลี้ยงมาอย่างดี เขาไม่อยากให้ชุมชนเข้มแข็ง โดยการจัดสิ่งต่างๆเข้ามาให้ แทนที่ชาวบ้านจะมีการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น ก็แตกกันอีก  นี่คือ ความฉลาดของหน่วยงานรัฐที่ไม่อยากพูด...”

นั่นเป็นเสียงของชาวบ้านจากฮอด ที่ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน

ใช่ ในห้วงเวลานี้ ชาวบ้านจากหลายๆ พื้นที่เริ่มรวมตัวกัน เพื่อหาทางเรียกร้องสิทธิอันพึงมีพึงได้โดยเฉพาะสิทธิในที่ดินที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกินดั้งเดิม อันเป็นผืนดินถิ่นเกิดมาตั้งแต่ยุคโบราณ ยุคบรรพบุรุษของพวกเขานั้นกลับคืนมา

“ใช่ แต่ถ้าเราจะฟื้นขึ้นอีกครั้ง จะให้เวนคืนที่ดินนี้ เพราะฉะนั้น พวกเราต้องพร้อม เหมือนจะเข้าป่าล่าเสือ ก็ต้องดันลูกกระสุนให้เต็มแรง พร้อมทั้งความรู้ของคนเราต้องพร้อม ก็คงจะทำได้ เพราะฉะนั้น เราต้องเตรียมลูกปืนให้เต็ม เตรียมคนให้พร้อม”

นั่นเป็นวงสนทนาแลกเปลี่ยนของชาวบ้านในพื้นที่ตำบลฮอด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ ในวงสนทนาเริ่มมีการระดมความเห็นกันหลายด้านเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจ ไม่ว่าเรื่องการค้นหารากเหง้า ประวัติศาสตร์ชุมชน การดำรงชีวิต กฎหมายรัฐธรรมนูญ ข้อบัญญัติท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากร รวมไปถึงการเรียกร้องสิทธิและให้องค์กรที่เกี่ยวข้องและสร้างผลกระทบต่อชุมชนให้รับผิดชอบในปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน



ที่มาข้อมูล :
บันทึกเวทีเสริมความมั่นใจทางกฎหมายข้อบัญญัติท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากร,21 ธันวาคม 2554 ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลฮอด อำเภอฮอด  จังหวัดเชียงใหม่

ผลกระทบจากการสร้างเขื่อน http://benchapon.blogspot.com/

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: 
เรียนรู้ ‘ฮอด’ ชุมชนเก่าแก่ใกล้ล่มสลาย? บทเรียนก่อนและหลังกำเนิดเขื่อนภูมิพล (ตอน 1)
เรียนรู้ ‘ฮอด’ บทเรียนก่อนและหลังกำเนิดเขื่อนภูมิพล (ตอน 2)
เรียนรู้ ‘ฮอด’ ชุมชนเก่าแก่ บทเรียนก่อนและหลังกำเนิดเขื่อนภูมิพล (ตอน 3)
เรียนรู้ ‘ฮอด’ ชุมชนเก่าแก่ บทเรียนก่อนและหลังกำเนิดเขื่อนภูมิพล (ตอน 4)

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รอบโลกแรงงานประจำเดือนมีนาคม 2555

Posted: 02 Apr 2012 07:35 AM PDT

 3 โรงงานแบรนด์กีฬาดังกดขี่แรงงานบังกลาเทศ

 
5 มี.ค. 55 - หนังสือพิมพ์ ดิ ออบเซิร์ฟเวอร์ในอังกฤษ รายงานว่า แรงงานบังกลาเทศที่โรงงานผลิตเสื้อผ้ากีฬาให้แก่ยี่ห้อพูม่า ไนกี้ และอาดิดาส ซึ่งทั้งหมดเป็นสปอนเซอร์กีฬาโอลิมปิกลอนดอนที่จะเปิดฉาก 27 กรกฎาคม ถูกล่วงละเมิดทางร่างกาย ทั้งถูกทุบตี ด่าทอและคุกคามทางเพศ
 
ดิ ออบเซิร์ฟเวอร์ ร่วมกับองค์กรการกุศล "วอร์ ออน วอนท์" ออกรายงานเชิงสืบสวนระบุว่า แรงงานสองในสามที่ถูกสัมภาษณ์ ที่โรงงานผลิตสินค้าให้พูม่าแห่งหนึ่ง อ้างว่าเคยถูกซ้อม ตบตีและทึ้งผม ด้านแรงงานหญิงจำนวนมากที่โรงงานผลิตสินค้าให้แก่อาดิดาส อ้างว่าพวกเธอถูกบังคับให้ถอด "ดุพัตตา" หรือผ้าคลุมที่ใช้ปกปิดช่วงหน้าอก และแรงงานที่ผลิตเสื้อผ้าให้แก่สามยี่ห้อดัง ต้องทำงานยาวนานชั่วโมงโดยได้รับค่าแรงต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
อาดิดาส เป็นผู้สนับสนุนชุดกีฬาโอลิมปิกให้แก่ทีมชาติอังกฤษที่ออกแบบโดยสเตลลา แมคคาร์ตนีย์ ส่วนไนกี้ เป็นสปอนเซอร์ให้แก่ทีมชาติสหรัฐ จีน เยอรมนี และรัสเซีย ขณะที่พูม่าเป็นสปอนเซอร์ให้แก่เจ้าลมกรดจาเมกา ยูเซน โบลต์ และทีมชาติจากหลายประเทศ
 
นายเกรก มัตทิตต์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายขององค์กร วอร์ ออน วอนท์ กล่าวว่า หากบริษัททั้งหลายต้องการได้รับประโยชน์จากการเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนทีมนักกีฬาและโอลิมปิก จะต้องรับประกันว่า แรงงานได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม
 
ชิลีเดินขบวนวันสตรีสากล จบ “เดือด” ผู้ชุมนุมปะทะตำรวจวุ่น
 
8 มี.ค. 55  - การเดินขบวนรถรงค์สิทธิสตรีในกรุงซันติอาโก เมืองหลวงชิลี เนื่องในวันสตรีสากล ลงเอยด้วยเหตุชุลมุน เมื่อผู้ประท้วงปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจล กระทั่งมีการทุบกระจกร้านค้า และวางเพลิงเผาเฟอร์นิเจอร์
นักเคลื่อนไหวชาวชิลีมากกว่า 10,000 คน ร่วมเดินขบวนไปตามท้องถนนในย่านธุรกิจของกรุงซันติอาโก โดยเรียกร้องความเท่าเทียมทางสังคมของสตรี    
 
กลุ่มผู้เข้าร่วมครั้งนี้ประกอบไปด้วยกลุ่มสหภาพแรงงาน และนักสิทธิสตรี ซึ่งมีการเสนอข้อเรียกร้องให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการเมือง และยึดเก้าอี้ ส.ส. ในรัฐสภาให้มากยิ่งขึ้น   
   
เหตุการณ์เป็นไปด้วยความสงบจนกระทั่งมีกลุ่มผู้ประท้วงพยายามเคลื่อนย้ายรั้วกั้นที่ตั้งอยู่รอบทำเนียบประธานาธิบดี จึงเริ่มมีการปะทะกับตำรวจ
 
ทางการยิงแก๊สน้ำตาและปืนแรงดันน้ำใส่มวลชน ในขณะที่ผู้ประท้วงบางรายเข้าทุบกระจกร้านค้า และจุดไฟเผาเฟอร์นิเจอร์
 
ทั้งนี้ ผู้ประท้วงยังระบุว่า สถาบันด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมในชิลี ล้วนสนับสนุนให้ผู้ชายเป็นใหญ่ และส่งเสริมความไม่เท่าเทียมทางเพศ
 
กฎหมายแรงงานใหม่ในพม่าที่ให้สิทธิ์พนักงานก่อตั้งสหภาพแรงงาน และจัดการนัดหยุดงาน มีผลบังคับใช้แล้ว
 
11 มี.ค. 55 - หนังสือพิมพ์ นิวไลต์-ออฟ เมียนมาร์ ของรัฐของพม่า รายงานเมื่อวานนี้ว่า กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคบใช้เมื่อวันศุกร์ และว่ากระทรวงแรงงานของพม่า จะควบคุมดูแลการนำกฎหมายฉบับนี้ไปใช้ในทางปฏิบัติ
 
ประธานาธิบดีเต็งเส่งแห่งพม่า ลงนามรับรองกฎหมายฉบับนี้ เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ในฐานะส่วนหนึ่งของการปฏิรูปต่างๆ หลังช่วงหลายทศวรรษของการกดขี่
 
กฎหมายฉบับนี้จะอนุญาตให้พนักงานก่อตั้งสหภาพแรงงานที่มีสมาชิกอย่างน้อย 30 คน และจัดการนัดหยุดงาน หากพวกเขาแจ้งล่วงหน้า 14 วัน และให้รายละเอียดต่างๆ อย่างการนัดหยุดงานจะดำเนินไปกี่วัน จะมีพนักงานกี่คนเข้าร่วม และจะนัดหยุดงานในลักษณะใด
 
นายจ้างที่ไล่พนักงานออกฐานนัดหยุดงาน หรือเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน จะต้องระวางโทษจำคุก 1 ปี และปรับอีก 1 แสนจ๊าต หรือ 125 ดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 3,820 บาท
 
ส่วนพนักงานที่จัดการนัดหยุดงานโดยผิดกฎหมายต้องระวางโทษจำคุก 1 ปี และปรับอีก 3 แสนจ๊าต หรือ 38 ดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 1,161 บาท
 
สเปน..เดินขบวนประท้วงการปฏิรูปแรงงาน
 
12 มี.ค. 55 - ชาวสเปนหลายพันคนเดินขบวนผ่านท้องถนนใจกลางกรุงมาดริด เพื่อประท้วงการปฏิรูปด้านแรงงานใหม่ที่เข้มงวด และการปรับลดการใช้จ่าย
 
การเดินขบวนเป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุมของพลังมวลชน ตามเมืองต่างๆ 60 เมืองทั่วประเทศสเปนเมื่อวานนี้ ตามข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานที่สำคัญต่างๆของประเทศ เพื่อประท้วงการปฏิรูปและมาตรการคว่ำบาตรต่างๆที่เพิ่งผ่านการอนุมัติ
การปฏิรูปซึ่งเพิ่งผ่านความเห็นชอบของรัฐบาลเมื่อเดือนที่แล้ว และได้รับการยืนยันจากรัฐสภาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา จะปรับลดค่าใช้จ่ายในการปลดพนักงานออก และผ่อนคลายเงื่อนไขที่พนักงานจะถูกปลดออก
 
แบรนด์ดังเรียกร้องกัมพูชาหาตัวคนผิดเหตุยิงแรงงาน
 
12 มี.ค. 55 - บริษัทสินค้าชื่อดังจากต่างชาติแสดงความวิตกกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ก.พ. เมื่อมือปืนคนหนึ่งยิงปืนใส่กลุ่มแรงงานหลายพันคนที่กำลังชุมนุมประท้วงเรียกร้องสภาพการทำงานที่ดีขึ้นตามโรงงานต่างๆ ในจ.สวายเรียง
 
ขณะเดียวกัน นายจุก บันดิธ ผู้ว่าการเมืองบาเว็ต ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐระบุว่าเป็นผู้ต้องสงสัย ได้ถูกย้ายออกจากตำแหน่งเมื่อสัปดาห์ก่อน แต่ยังไม่ถูกจับกุมตัวและไม่ทราบที่อยู่ที่แน่ชัดในตอนนี้ 
  
"ระหว่างเกิดเหตุจลาจล แรงงานหญิง 3 คนของบริษัท Kaoway Sports ที่ผลิตสินค้าให้กับพูม่า ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บ" บริษัทสินค้าแบรนด์ดัง ที่รวมทั้ง บริษัท American Eagle Outfitters บริษัท The Jones Group และบริษัท Columbia Sportswear ได้ร่วมลงนามระบุในเอกสารฉบับหนึ่งที่ส่งไปยังกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา เมื่อวันที่ 9 มี.ค. และเนื้อความในเอกสารยังได้เรียกร้องให้ทางรัฐบาลกัมพูชาดำเนินการสืบสวนอย่างเต็มรูปแบบ และจับกุมตัวผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่ทำให้แรงงานได้รับบาดเจ็บ
 
หลังจากปัญหาถูกปิดเงียบในช่วงแรก จนกระทั่งสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลระบุว่านายจุก บันดิธ จะถูกนำตัวเข้าสอบปากคำเกี่ยวกับเหตุการณ์ยิงกลุ่มผู้ประท้วง
 
"ศาลออกหมายเรียกนายจุกให้เข้าให้การในวันที่ 16 มี.ค.นี้" อัยการศาลจ.สวายเรียง กล่าว
 
ทั้งนี้อุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นแหล่งรายได้หลักจากต่างชาติของประเทศและมีการจ้างงานแรงงานมากกว่า 300,000 คน ที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานหญิง และความตึงเครียดระหว่างพนักงานและเจ้าของกิจการเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2553 เมื่อแรงงานหลายหมื่นคนผละงานประท้วงจนกระทั่งรัฐบาลต้องเข้ามามีส่วนและจัดการเจรจาหารือกับบริษัทผู้ผลิต.
 
ชาวสวิสหยั่งเสียง "ไม่เอาวันหยุดเพิ่ม" หลังผลลงประชามติเห็นด้วยถึง 66.5%
 
12 มี.ค. 55 - ประชาชนชาวสวิตเซอร์แลนด์ปฏิเสธข้อเสนอจากทางการในการมีวันหยุดประจำปีเพิ่ม หลังผลการลงประชามติปรากฏว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ขอมีวันหยุดเพิ่ม
 
โดยแผนดังกล่าว เสนอให้ผู้ใช้แรงงานทั่วไปสามารถหยุดได้ถึง 6 สัปดาห์ต่อปีจากเดิม 4 สัปดาห์  ขณะที่ภาคธุรกิจออกมาเตือนว่า หากเกิดขึ้นจริงจะส่งผลต่อภาคธุรกิจอย่างใหญ่หลวง  ทั้งนี้ผลการลงประชามติพบว่า ผู้ออกเสียงร้อยละ 66.5 ปฏิเสธแผนดังกล่าว ขณะที่ร้อยละ 33.5 ยอมรับแผนดังกล่าว โดยทำเนียบรัฐบาลที่กรุงเบิร์น เผยว่า มีประชาชนออกมาใช้สิทธิที่ร้อยละ 45
 
นอกจากนั้น ทางการเมืองเจนีวา ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศ ได้จัดให้มีการลงประชามติ เพื่ออนุมัติให้มีการควบคุมการชุมนุมประท้วงอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น  โดยกฎใหม่จะยินยอมให้มีการปรับผู้กระทำผิดสูงถึง 100,000 ฟรังค์ หากไม่ขอยื่อเรื่องเพื่อจัดการประท้วงล่วงหน้าหรือพบว่ามีการกระทำผิดกฎใดๆ  โดยมีผู้ลงคะแนนเสียงเห็นด้วยถึงร้อยละ 55
 
ด้านสมาคมนายจ้างสวิส (เอสบีเอ) ออกมาแสดงความยินดีต่อผลดังกล่าว โดยระบุว่า ผู้ลงคะแนนเริ่มตระหนักแล้ววว่า บางเรื่องที่ดูเหมือนจะดีในตอนแรก แต่เมื่อมองอย่างใกล้ชิด กลับมีข้อเสียจำนวนมาก ทั้งนี้ หากแผนดังกล่าวได้รับการตอบรับ ฝ่ายนายจ้างจากภาคธุรกิจกว่า 300,000 แห่งทั่วประเทศ จะต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายด้านแรงงานเพิ่มอีกราว 6,000 ล้านฟรังค์สวิส (ปะมาณ 198,000 ล้านบาท)
 
สวิตเซอร์แลนด์มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบสมาพันธรัฐ ฉะนั้นแต่ละรัฐจะมีรัฐธรรมนูญ กฎ และกติกาเป็นของตนเอง ถ้าเป็นเรื่องของชุมชนก็จะมีการทำประชามติเฉพาะในเมืองหรือในรัฐนั้นๆ ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประชาชนทั้งประเทศ ก็จะทำประชามติร่วมกัน ด้วยระบบสหพันธรัฐทำให้เปิดโอกาสให้ทำประชามติได้บ่อยครั้ง แยกย่อยออกไป ดังนั้น การลงประชามติถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยของสวิตเซอร์แลนด์
 
โดยชาวสวิสจะมีส่วนในการร่วมลงประชามติหากว่ารัฐบาลต้องการแก้หรือเปลี่ยนแปลงกฎหมาย งบประมาณ หรือประเด็นอื่นๆ หากว่ามีประชาชนมากกว่า 100,000 คนร่วมลงชื่อ หากเห็นว่าเรื่องดังกล่าวควรมีการพิจารณา
 
"ดิสนีย์" เล็งจ้าง "ทหารผ่านศึก" กว่า 1,000 คนเข้าทำงาน
 
14 มี.ค. 55 - ดิสนีย์เปิดเผยเรื่องดังกล่าวในงานประชุมประจำปีผู้ถือหุ้น ที่เมืองแคนซัส ซิตี้  ซึ่งมีการเปิดตัวโครงการ "ฮีโรส์ เวิร์ค เฮียร์" (Heroes Work Here) และจะลงทุนในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หรือเอ็นจีโอ เพื่อจัดการฝึกอบรมและบริการด้านต่างๆให้กับเหล่าทหารผ่านศึก
 
ความเคลื่อนไหวดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่ทหารผ่านศึกจำนวนหนึ่งที่ไปประจำอยู่ในต่างแดน กำลังจะเดินทางกลับสหรัฐฯ และกลับมาใช้ชีวิตแบบพลเรือน หลังจากสหรัฐ ลดบทบาททางทหารในอัฟกานิสถาน
 
ดิสนีย์เผยว่า  จะจ้างทหารผ่านศึกของกองทัพสหรัฐฯ อย่างน้อย 1,000 คน เข้าร่วมงานในอีก 3 ปีข้างหน้า นายโรเบิร์ต ไอเกอร์ ประธานดิสนีย์ กล่าวว่า จะมีทหารสหรัฐฯทั้งหญิงและชาย ที่เคยเสียสละตนเองให้ประเทศชาติ ที่กำลังจะกลับมาใช้ชีวิตแบบพลเรือน นี่จึงทำให้ดิสนีย์ต้องออกมาสนับสนุนให้พวกเขาได้มีงานทำต่อไป ซึ่งรวมไปถึงการสนับสนุนครอบครัวของทหารเหล่านั้น
 
ดิสนีย์  ระบุด้วยว่า การสนับสนุนครั้งนี้ ถือเป็นดัชนีชี้วัดว่า ชาวโลกจะเคารพและจริงใจกับเหล่าทหารมากน้อยแค่ไหน จากการที่พวกเขาเสียสละเพื่อประเทศชาติมาโดยตลอด
 
การจ้างงานครั้งนี้ จะครอบคลุมหลายบริษัทในเครือของวอลท์ ดิสนีย์ ที่รวมถึง สถานีโทรทัศน์กีฬาอีเอสพีเอ็น, ช่องดิสนีย์-เอบีซี เทเลวิชัน กรุ๊ป, ดิสนีย์ คอนซูเมอร์ โปรดักส์, เดอะ วอลท์ ดิสนีย์ สตูดิโอส์ และดิสนีย์ พาร์ค แอนด์ รีสอร์ท
 
กระทรวงแรงงานสิงคโปร์เผยอัตราว่างงานปี 2554 ต่ำสุดในรอบ 14 ปี
 
15 มี.ค. 55 - กระทรวงแรงงานสิงคโปร์เปิดเผยว่า อัตราว่างงานของสิงคโปร์ดีขึ้น โดยในเดือนม.ค. อัตราว่างงานในภาพรวมลดลงเหลือ 2% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดรอบ 14 ปี ขณะที่ตลาดแรงงานตึงตัว ส่วนอัตราว่างงานของประชากรสิงค์โปรอยู่ที่ 3% ในเดือนเดียวกัน
 
สำหรับการจ้างงานในไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเป็น 37,600 ตำแหน่ง เมื่อเทียบกับ 31,900 ตำแหน่งในไตรมาสก่อน ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการจ้างงานในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลอง โดยอัตราการจ้างงานตลอดทั้งปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 3.9% เป็น 122,600 ตำแหน่ง
 
กระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า การจ้างงานท้องถิ่นเพิ่มขึ้น 1.9% ในปี 2554 ต่ำกว่าตัวเลขในปี 2553 ซึ่งขยายตัว 2.9% เนื่องมาจากการเติบโตที่ชะลอตัวลงของจำนวนประชากรสิงค์โปร์ และประชากรที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่มีงานทำแล้ว
 
การจ้างงานชาวต่างชาติที่อยู่ในสิงค์โปร์เพิ่มขึ้น 7.6% ในปี 2554 เมื่อเทียบกับจำนวนที่เพิ่มขึ้น 5.7% ในปี 2553 ซึ่งตอบรับกับความต้องการแรงงานที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ขณะที่ในเดือนธ.ค. มีชาวต่างชาติที่ถูกจ้างงาน 1.2 ล้านคน คิดเป็น 32.8% ของการจ้างงานทั้งหมด
 
ด้านความสามารถในการผลิตของภาคแรงงานในไตรมาส 4 ลดลง 0.4% หลังจากปรับตัวสูงขึ้น 2% ในไตรมาส 3 และตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ความสามารถในการผลิตของภาคแรงงานสูงขึ้น 1% หลังเคยปรับตัวสูงมากถึง 11% ในปี 2553
ทั้งนี้ ความสามารถในการผลิตของภาคแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้นปานกลางเป็นผลจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่ชะลอตัวลง ขณะที่มีการสร้างงานอย่างแข็งแกร่ง สำนักข่าวซินหัวรายงาน
 
สหภาพแรงงานในโปรตุเกสเริ่มผละงานประท้วงครั้งใหญ่ เพื่อต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาล
 
22 มี.ค. 55 - สหภาพแรงงานในโปรตุเกสทั้งภาคการขนส่ง และรักษาความสะอาดตาม ท้องถนน ร่วมผละงานประท้วงครั้งใหญ่ในรอบ 4 เดือน เพื่อต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดและนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยการผละงานประท้วงจะมีขึ้นเป็นเวลา 24 ชั่วโมงในวันนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการขนส่ง คาดว่าจะมีการผละประท้วงในกรุงลิสบอน และในอีกหลายเมืองใหญ่ด้วย.
 
ตำรวจกับผู้ประท้วงปะทะกันในโปรตุเกส
 
23 มี.ค. 55 - ตำรวจและผู้ประท้วงชาวโปรตุเกส ได้ปะทะกันอันเนื่องมาจากมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลและการปฏิรูปด้านแรงงาน โดยเป็นพวกที่แตกกลุ่มออกจากคนที่ไปเข้าร่วมการชุมนุมที่กรุงลิสบอน และมีผู้สื่อข่าว 2 คน จากสำนักข่าว 2 แห่ง ถูกเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงทำร้าย เมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาด้วย
 
สื่อออนไลน์ส เช่น จอร์นัล เด โนติเซียส ได้เผยแพร่ภาพที่แสดงให้เห็นว่า ผู้สื่อข่าวหญิงชาวโปรตุเกส ที่ทำงานให้กับสำนักข่าว AFP ถูกเจ้าหน้าที่ตีด้วยกระบอง ส่วนสำนักข่าวลูซ่า ของทางการโปรตุเกส ได้ประท้วงที่ตำรวจเอากระบองตีช่างภาพในสังกัดคนหนึ่ง หลังจากเขานอนลงกับพื้นและบอกว่าเป็นผู้สื่อข่าว ซึ่งต่อมาเขาได้ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลและกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาที่จะดำเนินการทางกฎหมายต่อไป
 
ด้านโฆษกหญิงของกรมตำรวจ เปิดเผยว่า ได้มีการปะทะกันไม่รุนแรงนัก ระหว่างตำรวจกับช่างภาพและผู้ประท้วงที่ต่างก็ได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย และผู้ประท้วงที่ปะทะกับตำรวจอยู่ระหว่างถูกควบคุมตัว
 
มีประชาชนหลายหมื่นคน ได้ออกไปประท้วงต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาล เมื่อวันพฤหัสบดี แต่ได้มีกลุ่มที่แตกออกไปเป็นกลุ่มย่อย ๆ ปะทะกับตำรวจที่กรุงลิสบอนและปอร์โต บางคนขว้างปาสิ่งของเข้าใส่ตำรวจ และขว้างไข่ใส่ธนาคารในกรุงลิสบอนด้วย
 
ผู้นำของสหภาพการค้า CGTP ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ระบุว่า การประท้วงต่อต้านรัฐบาล ถูกจัดขึ้นที่ 35 เมืองใหญ่ และผลกระทบจากการประท้วงครั้งนี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับภาคการขนส่ง การให้บริการรถไฟใต้ดินในกรุงลิสบอนถูกปิด ส่วนการให้บริหารรถไฟใต้ดินในเมืองปอร์โตและเรือโดยสารข้ามแม่น้ำทากัส ในกรุงลิสบอน เกือบจะเป็นอัมพาต
 
การให้บริการรถไฟและรถประจำทาง ถูกรบกวนอย่างหนัก สนามบินยังคงให้บริการ แต่มีการจราจรติดขัดในกรุงลิสบอน และอีกหลายเมือง ถนนหลายสายเต็มไปด้วยขยะการให้บริการไปรษณีย์หยุดชะงัก แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาล โรงเรียนและระบบยุติธรรม
 
ภายใต้แผนการปฏิรูปของรัฐบาล จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยเฉพาะจะทำให้ผู้ว่าจ้างสามารถจ้างหรือปลดพนักงานได้ง่ายขึ้น รวมทั้งตัดวันพักร้อนของลูกจ้างของรัฐและรายจ่ายต่าง ๆ ของรัฐบาล
 
นายกรัฐมนตรีเปรโด ปาสซอส โคเอลโฮ กำลังพยายามจะทำให้ได้ตามเงื่อนไขที่สหภาพยุโรป หรือ อียู และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF กำหนดไว้ หลังจากยอมอนุมัติเงินช่วยเหลือแก่โปรตุเกส จำนวน 78,000 ล้านยูโร หรือกว่า 3 ล้านล้านบาท ขณะที่รัฐบาลโปรตุเกส คาดว่า ตัวเลขการว่างงานในปัจจุบันที่อยู่ที่ 14 เปอร์เซ็นต์ จะยังคงเพิ่มสูงขึ้นขณะที่ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจหดไปอยู่แค่ 3.3 เปอร์เซ็นต์ ในปีนี้
 
ค่าแรงงานในจีนที่สูงขึ้นกำลังเป็นปัญหาของบริษัทอเมริกัน
 
24 มี.ค. 55 - สหรัฐซึ่งเคยร้องเรียนเรื่องค่าแรงงานถูกในจีนกระทบต่อการผลิตในประเทศมาหลายทศวรรษ ขณะนี้กำลังประสบปัญหาผลกระทบจากค่าแรงงานในจีนปรับสูงขึ้น
 
บริษัทอเมริกันพากันย้ายฐานการผลิตไปจีนเพื่อหาประโยชน์จากแรงงานราคาถูกทำให้บริษัทมีกำไรจำนวนมาก แต่ขณะนี้มีสัญญาณแล้วว่าสิ่งเหล่านี้กำลังจะหมดไป ไนกี้ ผู้ผลิตรองเท้ากีฬายักษ์ใหญ่ของสหรัฐแจ้งเมื่อวันพฤหัสบดีว่า ไตรมาสนี้มีกำไรมากกว่าไตรมาสก่อน แต่ราคาหุ้นของบริษัทเมื่อวันศุกร์กลับลดลง นักลงทุนลดมูลค่าบริษัทลง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 31,000 ล้านบาท) เพราะกำไรเบื้องต้นของบริษัทลดลง เนื่องจากค่าจ้างแรงงานในจีนสูงขึ้นและต้นทุนวัสดุแพงขึ้น
 
นักวิเคราะห์ของบริษัทการลงทุนเตือนว่า ค่าจ้างในจีนมีแต่จะปรับขึ้นไปเรื่อย ๆ นับจากนี้ ซึ่งจะเป็นเรื่องใหญ่และปัญหาในระยะยาว ค่าแรงในเขตอุตสาหกรรมทางตอนใต้ของจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อปีก่อน และร้อยละ 11 ในปีก่อนหน้านั้น ล่าสุดทางการนครเซี่ยงไฮ้ประกาศจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกร้อยละ 13 เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานและแรงงานก่อเหตุประท้วง
นักวิเคราะห์ชี้ว่า บริษัทอเมริกันที่ลงทุนในจีนเหลือทางเลือกไม่กี่อย่างคือ ยอมรับผลกำไรที่ลดลง ผลักภาระไปให้ผู้บริโภค หรือหาทางลดต้นทุนค่าแรง หลายบริษัทเริ่มมองหาแหล่งผลิตเสริมเช่น ภาคตะวันตกของจีน ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียเพื่อกระจายฐานการผลิต โดยไม่ละทิ้งตลาดจีนที่มีกำลังการซื้อสูง.
 
รัฐบาลอิตาลีอนุมัติมาตรการปฏิรูปแรงงาน มุ่งหนุนศก.-ตลาดแรงงานฟื้นตัว
 
24 มี.ค. 55 - รัฐบาลอิตาลีอนุมัติมาตรการปฏิรูปแรงงานแล้วในช่วงค่ำวานนี้ตามเวลาไทย และจะยื่นต่อรัฐสภาเพื่อลงมติในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้านี้ โดยมาตรการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังตกอยู่ในภาวะชงักงัน ให้มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นและเพื่อลดอัตราว่างงาน
 
ภายใต้มาตรการปฏิรูปแรงงานฉบับใหม่นี้ รัฐบาลอิตาลีจะสนับสนุนให้บริษัทเอกชนลงทุนในด้านการฝึกฝนบุคลากร และมีคำสั่งให้บริษัทเอกชนทำสัญญาจ้างงานระยะยาวสำหรับพนักงาน ขณะเดียวกันก็จะใช้บทลงโทษบริษัทที่พยายามจะทำสัญญาจ้างงานในระยะสั้น
 
นายเอลซา ฟอร์เนโร รมว.แรงงานอิตาลีเชื่อมั่นว่า มาตรการปฏิรูปแรงงานจะสามารถสร้างงานให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน อันเป็นผลมาจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ
 
การอนุมัติมาตรการปฏิรูปแรงงานของอิตาลีมีขึ้นไม่นานหลังจากคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจยุโรปจะหดตัวลงราว 0.3% ในปี 2555 ตรงข้ามกับที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะขยายตัว 0.5% เนื่องจากเศรษฐกิจอิตาลีและสเปนมีแนวโน้มหดตัวลง 1.3% และ 1% ตามลำดับ
 
เฟซบุ๊คเตือนนายจ้างห้ามขอพาสเวิร์ดผู้สมัครงาน
 
24 มี.ค. 55 - เอริน เอแกน หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายและความเป็นส่วนตัวของเฟซบุ๊ค บริษัทเครือข่ายสังคมออนไลน์ยอดนิยม ได้ออกมาเตือนบรรดานายจ้าง มิให้ขอพาสเวิร์ดเข้าดูบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊คของผู้สมัครงาน หรือพนักงานในองค์กร เนื่องจากถือเป็นการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวทั้งของผู้ใช้และเพื่อนผู้ใช้บัญชีนั้น พร้อมขู่จะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ละเมิดนโยบายห้ามแชร์พาสเวิร์ด ที่บริษัทยึดมั่นมานาน
 
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ผู้สมัครงานจำนวนหนึ่งได้รับการร้องขอให้เปิดเผยพาสเวิร์ดบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊คในระหว่างสัมภาษณ์งาน เพื่อให้ว่าที่นายจ้าง ได้เข้าไปตรวจสอบปูมหลังของพวกเขาได้
 
เอแกน กล่าวเตือนว่า นายจ้างอาจถูกกล่าวหาได้ว่าเลือกปฏิบัติ หากพิสูจน์ได้ว่านายจ้างตัดสินใจไม่จ้างงาน หลังเห็นข้อมูลส่วนตัวจากเฟซบุ๊คผู้สมัคร เช่น รสนิยมทางเพศ หรือการเป็นสมาชิกของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
 
"ในฐานะผู้ใช้ คุณไม่ควรจำยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลการสื่อสาร เพียงเพื่อจะได้งาน และในฐานะเพื่อนของผู้ใช้คนนั้น ก็ไม่ควรจะต้องมากังวลว่า ข้อมูลส่วนตัวและการสื่อสาร จะถูกนำไปเปิดเผยแก่คนที่คุณไม่รู่จักและไม่ประสงค์จะแบ่งปัน เพียงเพราะผู้ใช้คนนั้นอยากได้งาน"หัวหน้าฝ่ายนโยบายของเฟซบุ๊คกล่าว
 
ทั้งนี้ การห้ามแชร์พาสเวิร์ด เป็นหลักการพื้นฐานของหลักปฏิบัติในโลกออนไลน์ ซึ่งนอกจากความวิตกด้านการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวแล้ว ยังถือเป็นความเสี่ยงด้านความปลอดภัยด้วย
 
ด้านแอนดรูว์ นอยส์ โฆษกของเฟซบุ๊ค กล่าวว่า การที่นายจ้างขอพาสเวิร์ดจากผู้สมัครงาน ไม่ใช่เรื่องถูกต้องอย่างแน่นอน แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีแผนจะดำเนินการทางกฎหมายกับนายจ้างคนใด แต่บริษัทกำลังหารือกับผู้กำหนดนนโยบายและผู้ถือหุ้น เพื่อช่วยปรับปรุงคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ให้รัดกุมมากขึ้น
 
ฝรั่งเศสเผยยอดว่างงานสูงสุดรอบกว่า 12 ปี
 
27 มี.ค. 55 - จำนวนคนว่างงานในฝรั่งเศส เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกันในเดือนก.พ.สู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2542 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความพยายามของประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซีในการลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัย ที่ 2 ในการเลือกตั้ง 2 รอบในเดือนเม.ย.และพ.ค.
 
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานฝรั่งเศสบ่งชี้ว่า จำนวนคนหางานที่ขึ้นทะเบียนในฝรั่งเศสเพิ่มขึ้น 6,200 รายในเดือนก.พ. สู่ 2.868 ล้านคน โดยเพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเทียบรายเดือน และ 6.2% เมื่อเทียบรายปี
 
ข้อมูลของกระทรวงแรงงานฝรั่งเศส เป็นตัวบ่งชี้การจ้างงานในประเทศที่มีการรายงานบ่อยที่สุด แม้ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) หรือแสดงอัตราการว่างงานของจำนวนผู้หางานทำเมื่อเทียบกับจำนวนแรงงานทั้งหมด
 
พนง.สนามบินเยอรมนีประท้วง ยกเลิกกว่า 400 เที่ยวบิน
 
27 มี.ค. 55 - สายการบินลุฟธันซ่า แห่งชาติเยอรมนี ต้องทำการยกเลิกเที่ยวบินกว่า 400 เที่ยวในวันนี้ จากเดิมกว่า 1800 เที่ยว ขณะที่สายการบินแอร์ เบอร์ลิน ต้องยกเลิกเที่ยวบิน ไปเกือบ10 เที่ยว หลังจากพนักงานภาคพื้นดินในสนามบินแฟรงเฟริ์ต และอีกหลายสนามบินในเมืองใหญ่ทั่วเยอรมนี เช่น มิวนิค ดุสเซนดอฟ โคโลญจน์ เบอร์ลิน สตุตการ์ต พร้อมใจกันผละงานประท้วง ส่งผลให้ผู้เดินสารตกค้างจำนวนมาก
 
การนัดผละงานประท้วงมีขึ้นจากการที่พนักงานภาคพื้นดินที่อยู่ในกลุ่มของสหภาพแรงงาน Verdi ไม่พอใจเงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทน ในการทำงาน โดยพวกเขาต้องการเรียกร้องให้สหภาพขึ้นค่าจ้างให้พนักงาน 3.3 % ภายใน 24 เดือนข้างหน้า ซึ่งการเจรจารอบใหม่ระหว่างพนักงานและผู้บริหาร มีกำหนดในวันพุธและพฤหัสบดีนี้
 
ก่อนหน้านี้ การผละงานประท้วงเรียกร้องค่าจ้างการตอบแทนที่สนามบินแฟรงก์เฟิร์ต เมื่อเดือนที่แล้ว ทำให้ต้องยกเลิกเที่ยวบินหลายร้อยเที่ยว คิดเป็นมูลค่าความเสียหายหลายล้านยูโร
 
เลขาธิการ OECD ชื่นชมอิตาลีคืบหน้าปฏิรูปตลาดแรงงาน
 
28 มี.ค. 55 - นายอังเกล กูร์เรีย เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) แสดงความยินดีกับรัฐบาลอิตาลีในการริเริ่มการประชุมรัฐสภาเพื่อหารือเกี่ยวกับโครงการปฏิรูปตลาดแรงงาน
 
นายกูร์เรียกล่าวในรายงานว่า "โครงการปฏิรูปตลาดชุดใหม่นี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้รัฐบาลจัดการปัญหาหลักในตลาดแรงงานอิตาลี พร้อมกันนี้นายกูร์เรียยังเน้นย้ำว่า การปฏิรูปตลาดแรงงานดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมแผนงานอื่น ๆ เช่น การปรับระบบเงินบำนาญ และการปฏิรูปให้เกิดการแข่งขัน
 
นอกจากนี้เลขาธิการ OECD ยังเสริมด้วยว่าการปฏิรูปนี้ "จะช่วยกระตุ้นการสร้างงานในประเทศอิตาลี ลดอัตราการว่างงาน และเสริมสร้างการเติบโตเศรษฐกิจในระยะยาว"
 
เมื่อสัปดาห์ก่อน รัฐบาลอิตาลีให้ความเห็นชอบโครงการปฏิรูปตลาดชุดใหม่ที่ประเทศตั้งตารอมานาน และจะนำโครงการดังกล่าวส่งต่อให้รัฐสภาพิจารณา ทั้งนี้การปฏิรูปตลาดแรงงานเปลี่ยนจากการให้ความสำคัญกับการปกป้องตำแหน่งงานมาเป็นการปกป้องตลาดแรงงาน และพาดพิงปัญหาภายในตลาดแรงงานอิตาลีที่มีมานานแล้ว ซึ่งรวมถึงปัญหาอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานหญิงที่ต่ำและปัญหาการว่างงานที่เกิดขึ้นมายาวนาน สำนักข่าวซินหัวรายงาน
 
ลาวขีดเส้นตาย 31 มี.ค. แรงงานต่างชาตินับหมื่นขึ้นทะเบียน
 
28 มี.ค. 55 - ทางการลาวได้กำหนดเส้นตายให้แรงงานต่างชาตินับหมื่นๆ คนที่ทำงานในลาวอย่างผิดกฎหมายได้ไปขึ้นทะเบียนกับกรมแรงงาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมภายในวันที่ 31 มี.ค.ศกนี้ มิเช่นนั้นจะถูกลงโทษตามกฎหมาย
 
ในขณะที่มีชาวลาวกว่า 200,000 คน ไปขายแรงงานในประเทศเพื่อนบ้าน ก็ยังมีชาวต่างชาติอีกกว่า 20,000 คน ทำงานอย่างผิดกฎหมายในลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นพนักงานลูกจ้างของบริษัทธุรกิจหรือในสถานประกอบการต่างๆ
จนถึงปีที่แล้วมีชาวต่างชาติทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตไปขึ้นทะเบียนเพียง 4,351 คนเท่านั้น สำนักข่าวสารปะเทดลาวรายงานอ้างการเปิดเผยของนายคำขัน พินสะหวัน อธิบดีกรมแรงงาน
 
สถานประกอบการใดที่ไม่นำแรงงานต่างชาติไปขึ้นทะเบียนตามวันที่กำหนด "จะต้องโทษปรับหรือโทษสถานอื่นๆ ตามข้อกำหนดของนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 136 และ ประกาศของกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมฉบับที่ 5418" นายคำขันกล่าว
 
สื่อทางการรายงานก่อนหน้านี้ว่าชาวต่างชาติที่ทำงานในลาวอย่างผิดกฎหมายมากที่สุดเป็นชาวจีน ชาวเวียดนาม ชาวไทย ตามลำดับ นอกจากนั้นยังมีพลเมืองของประเทศอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง รวมทั้งจากมาเลเซีย พม่าและบังกลาเทศ ด้วย
ปัจจุบันลาวมีแรงงานในวัยทำงานอายุระหว่าง 16-65 ปี จำนวน 3.7 ล้านคนจากประชากรทั้งหมดประมาณ 6 ล้าน แรงงานส่วนใหญ่คือ 76.6% อยู่ในภาคการเกษตรและป่าไม้ 15.6% ในภาคบริการ มีเพียง 7.8% ที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่ลาวตั้งเป้าเปลี่ยนเศรษฐกิจที่พึ่งพาการเกษตรเป็นหลักให้ประเทศอุตสาหกรรมผลิตสินค้าส่งออก
คิดเป็นจำนวนตัวเลข ปัจจุบันมีแรงงานกว่า 300,000 คน ทำงานในภาคธุรกิจแขนงต่างๆ และ เกือบ 167,100 คนทำงานในภาครัฐบาล นายคำหล่า ลอลอนสี ประธานศูนย์กลางสหพันธ์กรรมบาลลาวเปิดเผยบตัวเลขเหล่านี้ ระหว่างการประชุมใหญ่ผู้แทนทั่วประเทศในเดือน ก.ย.2554
 
กฎหมายของลาวสงวนตำแหน่งงานเกือบทุกประเภทให้แก่ประชาชนลาว แต่อนุญาตให้ธุรกิจแขนงต่างๆ สามารถนำเข้าแรงงานที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือ ตำแหน่งที่ขาดแคลนได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากทางการ.
 
รบ. "ฮ่องกง" ชนะอุทธรณ์ แม่บ้านต่างด้าวชวดสิทธิ์พำนักถาวร
 
29 มี.ค. 55 - บีบีซี รายงานว่า รัฐบาล ฮ่องกง ชนะอุทธรณ์ ขอยกเลิกคำตัดสินของศาลซึ่งระบุว่าแม่บ้านต่างด้าวมีสิทธิ์พำนักอยู่ในฮ่องกงได้อย่างถาวร
 
เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ศาลสูงฮ่องกงกล่าวว่า การปฏิเสธไม่ให้แม่บ้านต่างชาติมีสิทธิ์พำนักในฮ่องกงขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากกฎหมายฮ่องกงระบุว่า ชาวต่างชาติมีสิทธิ์พำนักได้อย่างถาวรหากอยู่ในฮ่องกงครบ 7 ปี
รัฐบาลฮ่องกงยื่นอุทธรณ์ตอบโต้ เนื่องจากเกรงว่าแม่บ้านต่างชาติกว่า 100,000 คนจะได้รับสิทธิ์ดังกล่าวความเคลื่อนไหวดังกล่าวสืบเนื่องมาจากคดีของ เอบานเคลีน บาเนา บาเยโคส์ แม่บ้านชาวฟิลิปปินส์
 
ศาลอุทธรณ์กล่าวในคำพิพากษาว่า การตัดสินใจมอบสถานะผู้พำนักถาวรให้แก่ชาวต่างชาติขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของรัฐบาล
ด้าน มาร์ค ดาลีย์ ทนายของบาเยโคส์ กล่าวว่า เขาอาจยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาของฮ่องกงต่อไป
 
สเปนเดินเครื่องผละงานประท้วง ค้านแผนปฏิรูปแรงงาน-มาตรการรัดเข็มขัด
 
29 มี.ค. 55  - แรงงานสเปนเริ่มผละงานประท้วงใหญ่เป็นเวลา 24 ชั่วโมง วันนี้ (29 มี.ค.) เพื่อคัดค้านกฎหมายฉบับใหม่ที่ช่วยให้สถานประกอบการเลิกจ้างแรงงานได้ง่ายขึ้น ในช่วงที่อัตราการว่างงานสูง และมาตรการรัดเข็มขัดมีผลบังคับใช้
วันนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีการประท้วงใหญ่ต่อต้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี มาริอาโน ราฮอย เพียง 3 เดือน หลังจากราฮอยได้รับเลือกตั้งด้วยคำมั่นสัญญาที่จะแก้ปัญหาอัตราว่างงานที่สูงเฉียด 23 เปอร์เซ็นต์ และคืนเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจสเปน
 
ตั้งแต่ช่วงเช้า ตำรวจสเปนจับกุมผู้ประท้วงไปแล้ว 58 ราย และยังเกิดเหตุปะทะประปราย มีผู้บาดเจ็บเล็กน้อยจำนวนหนึ่ง กระทรวงมหาดไทยสเปนเปิดเผย
 
สหภาพแรงงาน อูเคเต (UGT) และเซเซโอโอ (CCOO) ต่างเรียกร้องการประท้วงทั่วประเทศใน 100 เมือง และประณามกฎหมายปฏิรูปแรงงานที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ซึ่งช่วยให้สถานประกอบการจ่ายเงินชดเชยสำหรับการปลดพนักงานน้อยลง และสามารถลดค่าแรงได้สะดวกขึ้น
 
รัฐบาลอนุรักษนิยมของพรรคป๊อบปูลาร์ ปาร์ตี้ อธิบายว่า กฎหมายฉบับใหม่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับแก้ปัญหาอัตราการว่างงาน 22.85 เปอร์เซ็นต์ ของสเปน ซึ่งมีการประเมินว่าอาจถึง 24.3 เปอร์เซ็นต์ ภายในปีนี้
 
อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ชุมนุมอาจมีไม่มากนัก เนื่องจากรัฐบาลมีข้อตกลงกับสหภาพแรงงานว่า ระหว่างการผละงานประท้วง รถบริการสาธารณะอย่างน้อย 1 ใน 3 ต้องให้บริการตามปกติ และอีกสาเหตุหนึ่ง ผู้คนอาจลังเลที่จะผละงาน เพราะจะทำให้สูญเสียค่าแรงสำหรับวันนี้ไป
 
ในวันศุกร์ (30) รัฐบาลสเปนมีกำหนดอนุมัติงบประมาณประจำปี 2012 พร้อมทั้งมาตรการรัดเข็มขัดฉบับใหม่ที่จะช่วยลดการขาดดุลให้เหลือ 5.3 เปอร์เซ็นต์ จากปีที่แล้วซึ่งสูงถึง 8.51 เปอร์เซ็นต์ แม้ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ประกาศมาตรการรัดเข็มขัดมูลค่า 8,900 ล้านยูโร และขึ้นภาษีที่จะหารายได้เข้ารัฐอีก 6,300 ล้านยูโร ไปแล้วก็ตาม
 
"แอปเปิล-ฟ็อกซ์คอนน์" พบ"ละเมิดสิทธิแรงงาน"จริง ยืดอกรับเตรียมรื้อระบบครั้งใหญ่
 
29 มี.ค. 55 - ผู้ตรวจสอบความเป็นธรรมด้านแรงงานของแอปเปิล ออกรายงานสภาพการทำงานของโรงงานฟ็อกซ์คอนน์ ในจีนละเมิดสิทธิแรงงานอย่างร้ายแรงหลายประการ ขณะที่แอปเปิลให้คำมั่นจัดการปัญหาต่างๆโดยเร็ว
 
ขณะที่แอปเปิลเปิดเผยวานนี้ (29 มี.ค.) ว่า  ยินดีทำงานร่วมกับฟ็อกซ์คอนน์ ผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ของแอปเปิล อาทิ ไอโฟนและไอแพด เพื่อจัดการปัญหาค่าจ้างและปัญหาการละเมิดสภาพการทำงานที่โรงงานหลายแห่งในจีน  โดยฟ็อกซ์คอนน์เตรียมประกาศการจ้างงานเพิ่มอีกหลายหมื่นตำแหน่ง เพื่อลดการทำงานล่วงเวลา และเพื่อปรับปรุงข้อบังคับด้านความปลอดภัยในการทำงาน  รวมถึงปรับปรุงสวัสดิการด้านที่อยู่อาศัย และเรื่องอื่นๆ
 
ผู้ตรวจสอบของสมาคมเพื่อความเป็นธรรมด้านแรงงาน (เอฟแอลเอ) ซึ่งเป็นองค์กรที่ตรวจสอบการทำงานของบริษัทของสหรัฐฯในต่างประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เผยแพร่รายงานที่มีเนื้อหาเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ เกี่ยวกับสภาพการทำงานภายในโรงงานของบริษัทฟ็อกซ์คอนน์  ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของแอปเปิล อิงค์ ยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมไอทีของสหรัฐฯ
 
ทั้งนี้ รายงานหลายสิบหน้ากระดาษ ที่ทำการศึกษาโรงงาน 3 แห่งของฟ็อกซ์คอนน์ รวมถึงเจ้าหน้าที่และพนักงานรวม 35,000 คน บ่งชี้ว่า ฟ็อกซ์คอนน์ ละเมิดสิทธิด้านแรงงานที่สำคัญหลายประการ รวมทั้งการทำงานล่วงเวลาที่มากเกินกว่าจะยอมรับได้ ค้างค่าแรง และเงินเดือน ไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน
 
รายงานของเอฟแอลเอ ซึ่งเป็นกลุ่มเฝ้าระวังที่แอปเปิล จ้างมาตรวจสอบบัญชีและตรวจสอบซัพพลายเออร์ในต่างประเทศ ที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี ระบุว่า พนักงานมากกว่าร้อยละ 60  ได้รับค่าแรงไม่เพียงพอกับความจำเป็นขั้นพื้นฐาน รายได้เฉลี่ยแต่ละเดือน ตามโรงงานเหล่านี้ อยู่ที่ 2,257 หยวน ในเมืองเฉิงตู หรือประมาณ 10,000 บาท จนถึง 2,872 หยวน หรือประมาณ 13,000 บาท ในเมืองกวนหลัน อีกทั้งในช่วงที่มียอดการผลิตสูงสุด พนักงานยังต้องทำงานมากกว่า 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์โดยเฉลี่ย
 
คณะตรวจสอบของเอฟแอลเอ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระด้านแรงงาน ได้เดินทางไปยังประเทศจีน เมื่อเดือนที่แล้ว โดยไปที่โรงงานของฟ็อกซ์คอนน์ ในเมืองเสิ่นเจิ้น หรือที่รู้จักกันในชื่อ ฟ็อกซ์คอนน์ ซิตี้ เพื่อตรวจสอบตามความสมัครใจของแอปเปิล และออกรายงานในขั้นแรกครอบคลุมโรงงาน 3 แห่ง คือ กวนหลัน หลงฮัว และเฉิงตู
 
เอฟแอลเอ ได้สอบถามความเห็นพนักงาน 35,000 คน ของโรงงานดังกล่าว เกี่ยวกับสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ ที่รวมทั้งค่าชดเชยและค่าแรง รวมถึงการไปตรวจสอบบริเวณโรงงาน หอพัก และสถานที่อื่นๆด้วย
 
ด้านฟ็อกซ์คอนน์ ยินยอมให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และพร้อมจะแก้ไขความผิดด้านการละเมิดสิทธิด้านแรงงาน โดยหนึ่งในความเคลื่อนไหวที่สำคัญคือ จะปฏิบัติตามกฎหมายด้านแรงงานอย่างเต็มที่เกี่ยวกับชั่วโมงการทำงานของโรงงานในจีน ให้เหลือเพียง 49 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งรวมการทำงานล่วงเวลาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม  2013  ที่จะทำให้ฟ็อกซ์คอนน์ ต้องจ้างแรงงานเพิ่มเป็นพิเศษอีกหลายหมื่นคน เพื่อมาผ่อนภาระให้กับพนักงานที่ทำงานหนักอยู่ในปัจจุบัน
 
(ที่มาเรียบเรียงจาก: มติชนออนไลน์, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, ประชาไท, สำนักข่าวไทย, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, สำนักข่าวอินโฟร์เควสท์)
 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดโฉมหน้า 2 ผู้ต้องสงสัยขับคาร์บอมบ์ถล่มลีการ์เด้นส์

Posted: 02 Apr 2012 07:24 AM PDT

เผยเครือข่ายคนร้ายโยงใยครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ตรวจสอบพบคาร์บอมบ์ 3 คัน มีประวัติออกปฏิบัติการโชกโชน แม่ทัพ 4 แฉคนร้ายกะถล่มหลายจุด แต่ทำได้จริงแค่ 3 แห่ง  

 

โฉมหน้าผู้ต้องสงสัย มือคาร์บอมบ์ ลี การ์เดนส์ หาดใหญ่ ที่กล้องวงจรปิดภายในชั้นใต้ดินของโรงแรมบันทึกภาพไว้ได้

 

เมื่อเวลาประมาณ 14.30 น. วันที่ 2 เมษายน 2555 ที่หน้าเฟซบุ๊ก Charoon Thongnual มีการนำภาพจากกล้องวงจรปิด (CCTV) ที่แสดงภาพภายในชั้นจอดรถยนต์ใต้ดินโรงแรม ลี การ์เดนส์ พลาซ่า ก่อนเกิดเหตุคาร์บอมบ์เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 ออกมาเผยแพร่ โดยมีคำบรรยายกำกับว่า .. เผยโฉมหน้าผู้ต้องสงสัย มือคาร์บอมบ์ ลี การ์เดนส์ หาดใหญ่ กล้องวงจรปิดภายในชั้นใต้ดินของโรงแรมสามารถบันทึกภาพไว้ได้ ขณะที่เดินขึ้นจากลานจอดรถบริเวณชั้นบี 4 ซึ่งเป็นบริเวณใกล้เคียงกับจุดที่เกิดระเบิด และเดินย้อนออกจากห้างบริเวณทางลงลานจอดรถ โดยชายทั้ง 2 คนสูงประมาณ 170 เซนติเมตร สวมกางเกงยีนส์ เสื้อแจ๊คเก็ตสีดำ สวมหมวกแก๊ปอำพรางใบหน้า รองเท้าผ้าใบ เดินออกจากลานจอดรถ เวลาประมาณ 10.13 น. ของวันเกิดเหตุ

พ.ต.อ.กฤษฎา แก้วจันดี ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองยะลา เปิดเผยว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ทราบเส้นทางที่กลุ่มคนร้ายนำรถยนต์คันก่อเหตุเข้ามาก่อเหตุกลางเมืองยะลาแล้ว และพอจะทราบกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องบ้างแล้ว สำหรับรถยนต์คันที่ก่อเหตุตรวจสอบพบว่า เป็นรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า รุ่นไทเกอร์ สีขาว หมายเลขทะเบียน บง 3171 ยะลา ของบริษัท ยะลาไพบูรย์กิจ จำกัด ที่ถูกคนร้าย 2 คน ใช้อาวุธปืนจี้ชิงไป จากหน้าบ้านเลขที่ 691 ถนนสิโรรส อำเภอเมืองยะลา เมื่อวันที่ 20 มีนาค 2555 จากนั้นคนร้ายได้นำไปประกอบเป็นระเบิด นำมาก่อเหตุคาร์บอมบ์จุดที่ 2 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555

พ.ต.อ.กฤษฎา เปิดเผยต่อไปว่า สำหรับระเบิดคาร์บอมบ์จุดแรก เป็นรถยนต์กระบะยี่ห้ออีซูซุ รุ่นโกลด์ซีรีส์ คาดว่าเป็นคันเดียวกับที่คนร้ายใช้ก่อเหตุบุกยิงฐานปฏิบัติการกองอาสารักษาดินแดนตำบลกาลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ก่อนหน้านี้ ทางหน่วยข่าวความมั่นคงได้แจ้งเตือนทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ให้ตรวจสอบเพ่งเล็งรถยนต์ทั้ง 2 คันอย่างละเอียดแล้ว

เผยสายสัมพันธ์กลุ่มคนร้าย
รายงานข่าวจากหน่วยงานความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้แจ้งว่า กลุ่มคนร้ายที่ก่อเหตุในจังหวัดยะลา และอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นคนร้ายกลุ่มเดิมที่เคยสลายกลุ่มไปแล้ว แต่กลับมารวมตัวกันได้อีกครั้ง สามารถเชื่อมโยงกันได้ทั้ง 3 จังหวัด และติดต่อประสานการปฏิบัติงานร่วมกันได้

ส่วนกลุ่มที่ปฏิบัติการลอบวางระเบิดคาร์บอมบ์ในจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 จากหลักฐานพบว่า เป็นกลุ่มนายสาหูดิน โต๊ะเจ๊ะมะ แกนนำก่อเหตุรุนแรงระดับสั่งการ นายซัยฟุลลอฮ หรือซัยฟุลดิน ซาฟรุ ผู้ต้องหาคดีความมั่นคง สำหรับนายซัยฟุลดินเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับนายไฟศอล หะยีสะมะแอ ผู้ต้องหาคดีลอบวางระเบิดสนามบินหาดใหญ่

นอกจากนี้ ยังมีทีมจากอำเภอธารโต จังหวัดยะลา มีนายอับดุลเลาะ ปูลา ผู้ต้องหาคดีลอบวางระเบิด นายมะซอเร ดือราแม ผู้ต้องหาลอบวางระเบิดในจังหวัดปัตตานี เพื่อนนายอับดุลเลาะ ปูลา ผู้ต้องสงสัยทั้งหมดสามารถเชื่อมโยงกันได้ โดยจัดประชุมวางแผนกันที่บ้านไบท์ ตำบลบุดี อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ก่อนเกิดเหตุประมาณ 1 สัปดาห์ กรณีเหตุที่ศูนย์การค้า ลี การ์เดนส์ พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา การข่าวระบุเป็นฝีมือนายมะซอเร ดือราแม ที่ผลิตระเบิดขับรถยนต์คันดังกล่าวไปจอดที่ศูนย์การค้า ลี การ์เดนส์ด้วยตัวเอง

แม่ทัพ 4 ยันตอบโต้ปราบยาเสพติด–น้ำมันเถื่อน
พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาค 4 เปิดเผยว่า ในแต่ละจุดที่เกิดเหตุ ผู้ก่อเหตุจัดกลุ่มคนลงทำงาน 5–6 คน แต่ยังไม่มีข้อสรุปว่าเหตุการณ์ทั้งหมดมีความเชื่อมโยงกัน เนื่องจากยังมีประเด็นภัยแทรกซ้อน ถ้าเร่งสรุปอาจทำให้ประเด็นเบี่ยงเบนได้ ทั้งนี้ฐานข่าวระบุว่า มีการวางแผนก่อเหตุหลายจุดพร้อมกัน แต่จากการควบคุมพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ ทำให้คนร้ายก่อเหตุได้เพียง 2 – 3 จุดเท่านั้น เชื่อว่าคนร้ายหวังตอบโต้เจ้าหน้าที่ที่เข้าไปเข้มงวดปราบปรามยาเสพติดและจับกุมน้ำมันเถื่อน ซึ่งเป็นท่อน้ำเลี้ยงของกลุ่มก่อความไม่สงบ รวมทั้งต้องการแสดงศักยภาพ ความมีตัวตน และต้องการควบคุมมวลชนไม่ให้เอาใจออกห่าง โดยไม่สนใจว่าเป็นการทำร้ายผู้บริสุทธิ์ ถือเป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมอย่างยิ่ง

รัฐบาลมาเลย์เตือนอย่ามาภาคใต้
ดาโต๊ะ ซรี อานิฟาห์ บิน ฮัจญี อามาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซีย ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 ว่า ชาวมาเลเซียทุกคนควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังภาคใต้ของไทย หากไม่มีธุระ การประชุม หรือการหารือข้อตกลงใดๆ ที่สำคัญจริงๆ จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

ทั้งนี้ เหตุระเบิดที่โรงแรมลีการ์เด้นพลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ มีผู้เสียชีวิตเป็นชาวมาเลเซีย 1 ราย ผู้บาดเจ็บเป็นชาวมาเลเซีย 27 ราย

 

0 0 0

แถลงการณ์มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

ประณามผู้ก่อเหตุระเบิดสร้างความเสียหายต่อชีวิตผู้บริสุทธิ์และทรัพย์สินเสียหาย โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ไม่นำพาแนวทางสันติ เรียกร้องทุกฝ่ายร่วมประณาม แสดงจุดยืนต่อต้านความรุนแรงในทุกรูปแบบ

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 ได้เกิดเหตุการณ์การก่อเหตุความรุนแรงขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายแห่ง สร้างความเสียหายต่อชีวิตผู้บริสุทธิ์และทรัพย์สินเสียหายมากมายใหญ่หลวง ที่จังหวัดยะลาเกิดเหตุ ระเบิดด้วยรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ประกอบถังแก๊สจำนวนสามครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 11 ราย บาดเจ็บ 78 ราย ในย่านธุรกิจร้านค้าของอำเภอเมือง จังหวัดยะลา รวมทั้งเหตุระเบิดห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในอำเภอเมืองหาดใหญ่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บกว่า 100 ราย

ผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายทั้งหมด เป็นผู้บริสุทธิ์ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธใดใด การกระทำดังกล่าวสมควรถูกประณาม และขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันแสดงจุดยืนต่อต้าน การใช้ความรุนแรงของผู้ก่อเหตุที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ซึ่งรวมถึงเหตุระเบิดที่อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี เป็นเหตุให้รองผู้กำกับการสถานีตำรวจแม่ลานบาดเจ็บ

เหตุการณ์ภายในวันเดียวสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินอีกมากมาย ทั้งไม่มีผู้ใดแสดงความรับผิดชอบ และเหตุแห่งการก่อเหตุในครั้งนี้ ซึ่งอาจมีเป้าประสงค์เพื่อ ประโยชน์ทางการเมือง แต่กลับเป็นการทำลายระบบเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน และนักท่องเที่ยวต่อประเทศไทยอย่างไร้คุณธรรม

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอประณามผู้ใช้ความรุนแรงการก่อเหตุร้ายโหดร้าย มุ่งประสงค์ต่อผู้บริสุทธิ์ และสร้างความเสียหายต่อสาธารณะ และขอให้ผู้ก่อเหตุร้ายยุติการสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์อย่างผิดกฎหมาย การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมที่สร้างความหวาดกลัว และความไม่ปลอดภัยต่อสาธารณะชน การใช้ความรุนแรงที่มุ่งเน้นสร้างความวุ่นวาย และไม่แสดงจุดยืนการก่อเหตุและการเรียกร้องทางการเมืองแต่ประการใด

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บและผู้ได้รับความเสียหายจากความรุนแรงดังกล่าวทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์ และขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือต่อผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็วและเหมาะสม อันเป็นการเยียวยาความเสียหาย และความรู้สึกทางจิตใจของผู้ประสบเหตุดังกล่าว

นอกจากนี้ รัฐยังมีภาระหน้าที่ในการปรับปรุงแก้ไขมาตรการความปลอดภัยใหม่ มาตรฐานสร้างความน่าเชื่อถือต่อสาธารณชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธที่เกิดขึ้น ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ มีแนวโน้มในการใช้วัตถุระเบิด หรือการใช้ถังบรรจุก๊าซที่ทำให้ระเบิดอานุภาพรุนแรง ทั้งนี้ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ มีความอดทนอดกลั้น ต่อการยั่วยุและสร้างความแตกแยกระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ และปฏิบัติหน้าที่สืบสวนสอบสวนนำคนผิดมาลงโทษตามกฎหมาย เคารพต่อหลักการของกฎหมายสิทธิมนุษยชน และการใช้เครื่องมือด้านวิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายแสดงจุดยืนต่อต้านความรุนแรงในทุกรูปแบบ ร่วมมือกันสร้างมาตรการเพื่อให้ยุติวงจรรุนแรง ซึ่งหมายถึงการเปิดพื้นที่เพื่อการเจรจายุติการใช้ความรุนแรง การเปิดพื้นที่ประชาธิปไตยรับฟังแนวทางทางการเมืองแก้ไขปัญหาความขัดแย้งจากผู้ที่เห็นต่าง เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้ประชาชนให้ได้ในที่สุด

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คะแนนเลือกตั้งซ่อมรัฐฉานล่าสุด เอ็นแอลดี-เสือเผือกแบ่งกันนำพรรคละเขต

Posted: 02 Apr 2012 07:20 AM PDT

สำนักข่าวฉานรายงานผลคะแนนเลือกตั้งซ่อมรัฐฉาน โดยที่เขตล่าเสี้ยว พรรค NLD คะแนนสูสีกับพรรค SNDP ของไทใหญ่ แต่พรรคไทใหญ่ยังคงมีคะแนนนำ ส่วนที่กะลอ พรรค NLD คะแนนทิ้งห่างพรรครัฐบาล USDP แต่ยังคงรอผลคะแนนจากอีกหลายหน่วยเลือกตั้ง

 สำนักข่าวฉาน (SHAN) ซึ่งได้ติดตามการเลือกซ่อมในรัฐฉาน เมื่อ 1 เม.ย. ซึ่งมีการเลือกตั้ง 2 เขต จาก 45 เขตทั่วพม่านั้นล่าสุดเมื่อเช้าวันนี้ (2 เม.ย.) สำนักข่าวฉานได้รายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ มีรายละเอียดดังนี้ 

โดยเขตพื้นที่รัฐฉานภาคเหนือ มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองล่าเสี้ยว ครอบคลุมพื้นที่ 5 เมือง ประกอบด้วย เมืองล่าเสี้ยว เมืองแสนหวี เมืองสี่ป้อ เมืองไหย๋ และเมืองต้างยาน เขตนี้มีการเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาชนชาติแทนที่นั่งของ ดร.จายหมอกคำ ที่ถูกแต่งตั้งเป็นรองประธานาธิบดีคนที่ 2

โดยการเลือกตั้งรอบนี้เป็นพื้นที่แย่งชิงของผู้สมัคร 5 พรรค ได้แก่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy - NLD)  พรรคประชาธิปไตยแห่งชาติไทใหญ่ (Shan Nationalities Democratic Party - SNDP)  หรือพรรคเสือเผือก พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party หรือ USDP)  หรือพรรคจ้านไข่เย ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ] พรรคพัฒนาชนชาติลาหู่ (Lahu National Development Party - LNDP) และพรรคโกก้างเพื่อประชาธิปไตยและเอกภาพ (Kokang Democracy and Unity Party - KDUP) 

โดยผลการนับคะแนนเขตรัฐฉานภาคเหนือโดยรวม พรรค SNDP ไทใหญ่มีคะแนนนำอยู่อันดับหนึ่ง โดยที่เมืองล่าเสี้ยว มีหน่วยเลือกตั้ง 62 หน่วย นับคะแนนแล้วพรรค NLD ได้ 20,535 คะแนน พรรค SNDP ได้ 10,148 คะแนน พรรค USDP ของรัฐบาลได้ 7,834 คะแนน พรรค KDUP ได้ 5,488 คะแนน และพรรค LNDP ได้ 938 คะแนน

ที่เมืองไหย๋ มีหน่วยเลือกตั้ง 45 หน่วย พรรค SNDP ได้ 9,050 คะแนน พรรค NLD ได้ 2,971 คะแนน และพรรค USDP ได้ 2,731 คะแนน อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า การคะแนนโดยรวมจากหน่วยเลือกตั้งอื่นๆ ทั้งในเมืองต้างยาน เมืองสี่ป้อ และเมืองไหย๋ พรรค SNDP ไทใหญ่ ยังคงนำพรรค NLD ซูจี อยู่

ส่วนผลการเลือกตั้งซ่อมเขตพื้นที่รัฐฉานภาคใต้ มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองกะลอ เขตเลือกตั้งนี้ครอบคลุมพื้นที่ 3 เมือง ได้แก่เมืองกะลอ เมืองอ่องปาน และเมืองไฮโห มีผู้สมัคร 5 พรรคลงแข่ง ได้แก่พรรค NLD พรรค SNDP พรรค USDP พรรคองค์กรแห่งชาติปะโอ (Pa-O National Organization Party - PNO) และพรรคเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Party) ซึ่งเป็นพรรคของฝ่ายสนับสนุนนายพลเนวิน 

สำหรับผลการนับแคคที่เมืองกะลอ พรรค NLD กวาดคะแนนท่วมท้น โดยที่เมืองกะลอ ซึ่งมีหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด 131 หน่วย พรรค NLD ได้ 43,943 คะแนน พรรค USDP ได้ 17,905 คะแนน พรรค PNO ได้ 10,258 คะแนน พรรค NUP ได้ 1,711 คะแนน ขณะที่พรรค SNDP ได้ 607 คะแนน

 
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์

Posted: 02 Apr 2012 07:12 AM PDT

ที่ต้องขอพระราชทานอภัยโทษ ไม่ใช่เพราะอากง "แพ้" ต่อความผิดที่ถูกคนกล่าวหา แต่จริงๆ แล้ว "แพ้" ต่อความอยุติธรรมในสังคมไทย

2 เม.ย. 2555

ทนายเผย ‘อากง’ ถอนอุทธรณ์ เตรียมขอพระราชทานอภัยโทษ

Posted: 02 Apr 2012 03:41 AM PDT

 

2 เม.ย.2555 นายอานนท์ นำภา ทนายความของนายอำพล (สงวนนามสกุล) หรือ อากง ผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 ที่ถูกพิพากษาจำคุก 20 ปี ให้ข้อมูลว่า ในพรุ่งนี้ (3 เม.ย.) จะดำเนินการยื่นถอนอุทธรณ์ในคดีดังกล่าว เนื่องจากเจ้าตัวต้องการจะขอพระราชทานอภัยโทษ ประกอบกับอายุมากและเป็นโรคประจำตัว

อานนท์ กล่าวอีกว่า ส่วนคดีของนายธันย์ฐวุฒฺ (สงวนนามสกุล) ผู้ออกแบบเว็บไซต์ นปช.ยูเอสเอ และเป็นผู้ต้องขังคดีหมิ่นอีกคนนั้นก็มีความประสงค์ที่จะขอถอนอุทธรณ์ด้วยเช่นเดียวกันเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ต้องการทราบผลคำสั่งขอประกันตัวในชั้นศาลฎีกาเสียก่อน ซึ่งทนายได้ยื่นเรื่องไปกว่าเดือนแล้ว และกำลังดำเนินการติดตาม

ทั้งนี้ นายอำพลถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.53 และถูกคุมขังสองเดือนก่อนศาลจะอนุญาตให้ประกันตัว แต่หลังนายอำพลไปรายงานตัวเพื่อรับทราบคำสั่งฟ้องของอัยการเมื่อวันที่ 18 ม.ค.54 ศาลก็ไม่อนุญาตให้ประกันตัวอีกจนถึงปัจจุบัน แม้จะมีการยื่นขอประกันตัวอีกหลายครั้ง ด้วยเหตุที่ว่าเกรงจำเลยจะหลบหนี ส่วนการพิพากษานั้นในวันที่ 23 พ.ย.54 ศาลได้ตัดสินจำคุกนายอำพล 20 ปี จากการส่งข้อความสั้น (SMS) เข้าข่ายหมิ่นสถาบันไปยังเลขานุการส่วนตัวในอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในช่วงกลางปี 2553 ซึ่งมีการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงและนายอภิสิทธิ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วนนายธันย์ฐวุฒินั้นถูกจับกุมและคุมขังตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย.53 และศาลตัดสินจำคุก 13 ปี ยื่นประกันตัวแล้วหลายครั้งแต่ศาลไม่อนุญาต

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เตรียมแจง พรบ.ยา ฉบับประชาชน เหตุบริษัทยาผวา

Posted: 02 Apr 2012 03:02 AM PDT

นักวิชาการด้านยา พร้อมชี้แจงประโยชน์ของร่าง พรบ.ยา ฉบับประชาชน ต่อ กมธ.สาธารณสุขพฤหัสนี้ เผย บริษัทไม่ยอมเปิดเผยโครงสร้างราคายา ผวาถูกบังคับให้แฉมูลค่าการส่งเสริมการขายยา

2 เม.ย. 55 ตามที่มีรายงานข่าวมาเป็นระยะว่า อุตสาหกรรมยาข้ามชาติพยายามเข้าไปล็อบบี้ในหลายส่วนของรัฐสภาเพื่อขัดขวางร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ.... (ฉบับประชาชน) ไม่ให้ผ่านกระบวนการพิจารณาของสภาฯ นั้น ล่าสุดในวันพฤหัสบดีที่ 5 เม.ย.นี้ เวลา 9.30 น. คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาฯจะได้เรียกผู้เกี่ยวข้องไปให้ความเห็น โดยเน้นประเด็นความไม่พอใจที่ทางสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) หยิบยกขึ้นมา คือการควบคุมการโฆษณาและส่งเสริมการขายยา และการกำหนดหลักเกณฑ์ให้บริษัทยาต้องแจ้งข้อมูลโครงสร้างราคายา ที่มีสาระปรากฏอยู่ในร่าง พ.ร.บ.ยาของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และของภาคประชาชน

ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวว่า ในวันพฤหัสนี้พร้อมที่จะไปชี้แจงต่อ กมธ.สาธารณสุขในฐานะผู้เสนอกฎหมาย เพราะ พ.ร.บ.ยาฉบับที่ใช้ในปัจจุบัน พ.ศ.2510 เป็นกฎหมายสาธารณสุขฉบับหนึ่งที่มีการใช้มาเป็นเวลานานกว่า 40 ปี มีการแก้ไขปรับปรุงเพียงเล็กๆน้อยๆ 4 ครั้งเท่านั้น ทำให้บทบัญญัติหลายส่วนไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี องค์ความรู้ด้านยา การพัฒนาของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การกำหนดมาตรฐานสากล การขยายตัวทางการค้าและอุตสาหกรรมเกี่ยวกับยา  อันจะส่งผลให้การคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภคไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร 

“กพย. ได้ทำงานร่วมกับนักวิชาการ นักวิชาชีพ เครือข่ายผู้ป่วย และเครือข่ายผู้บริโภคปรับปรุงกฎหมายให้ทันสถานการณ์ สอดคล้องกับสากล ซึ่งถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะคุ้มครองผู้บริโภค หากมีประเด็นไหนที่ฝ่ายใดรู้สึกไม่เข้าใจหรือมีข้อวิพากษ์ก็ควรหารือเพื่อนำไปสู่การพัฒนาร่วมกันตามกระบวนการขั้นตอนทางกฎหมาย ซึ่งการที่ กมธ.สาธารณสุขเชิญทุกฝ่ายเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นโอกาสที่ได้อธิบายให้เข้าใจ โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างราคายา ซึ่งเดิมการขึ้นทะเบียนตำรับยาไม่ต้องมีการคำนวณแยกต้นทุนราคายา แต่ในร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ระบุว่า ให้ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้ซื้อเพื่อจำหน่าย หรือผู้นำเข้าเพื่อจำหน่าย ต้องแสดงราคายา วัตถุประสงค์ เพื่อให้ทราบต้นทุนและกำไรของยาชนิดนั้นๆ เพราะที่ผ่านมามีการอ้างว่าต้นทุนราคายาสูงเนื่องจากต้องใช้งบประมาณในการวิจัยสูง แต่ความจริงแล้วยาบางประเภทต้นทุนอยู่ที่ค่าโฆษณาและค่าการส่งเสริมการขายยาเป็นส่วนใหญ่ ส่วนประเด็นการควบคุมการส่งเสริมการขายยานี้ก็เป็นที่ปฏิบัติในระดับสากล เนื่องจากพบว่าบริษัทยามีการใช้งบประมาณในการส่งเสริมการขายยารูปแบบต่าง ๆ  ใช้งบจำนวนหนึ่ง สำหรับการปฏิสัมพันธ์กับแพทย์ ดังนั้น บริษัทยาจำเป็นต้องแจกแจงรายละเอียดว่าใช้เงินกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับแพทย์อย่างไร เพื่ออะไร เช่น การให้ของขวัญ พาท่องเที่ยวต่างประเทศ เชิญประชุมวิชาการ เป็นต้น เพราะสุดท้ายภาระตกที่งบประมาณของประเทศและประชาชนที่อาจจะถูกจูงใจให้ใช้ยาเกินจำเป็น”

ทางด้านนางสาวสุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์กล่าวว่า “ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับประชาชนนั้น ได้มีการทำงานวิชาการและรับฟังความคิดเห็นมาอย่างถ้วนถี่ สอดคล้องกับนโยบายแห่งชาติด้านยา และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ตามที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้ประกาศ เมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมาว่า หลังจากทำเรื่อง เจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวแล้ว จะลดการใช้ยาฟุ่มเฟือย เพิ่มการเข้าถึงยาจำเป็น

“เราทราบดีว่า ตอนนี้บริษัทยาพยายามรุกอย่างหนักเพื่อคัดค้านเรื่องนี้ทั้งในทางลับและทางแจ้ง แต่ประชาชนก็เฝ้าระวังเรื่องนี้อย่างแข็งขันเช่นกัน เพราะนี่เป็นเรื่องชีวิต ความเป็นความตาย ร่าง พ.ร.บ.นี้มีประโยชน์เพื่อทำให้มีการเปิดเผยโครงสร้างราคายาอย่างแท้จริง และไปขจัดการส่งเสริมการขายยาที่ขาดคุณธรรมที่อุตสาหกรรมยาจำนวนหนึ่งปฏิบัติอย่างชาชิน เราขอชื่นชมกมธ.สาธารณสุขที่เปิดรับฟังความเห็นเรื่องนี้อย่างเปิดเผย แม้ว่าก่อนหน้านี้จะถูกล็อบบี้ในทางลับให้ขัดขวาง พรบ.นี้หลายครั้งแล้วก็ตาม ซึ่งเราอยากให้กำลังใจ กมธ.สาธารณสุขของทั้งสองสภาให้ปลอดอิทธิพลบริษัทยาและ เป็นที่พึ่งของประชาชน

ทั้งนี้ เจตนารมณ์ ของ ร่าง พรบ.ยา ฉบับประชาชน ที่สำคัญ 2 ประการ คือ 1) คุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชนให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับ เท่าทันกับปัญหาและสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ และ 2) ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยาภายในประเทศให้เข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองได้ทั้งในยามปกติและในภาวะคับขันเพื่อให้ประเทศมีความมั่นคง ด้านยาและสุขภาพ 

ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ประชาชน จะได้รับจาก ร่าง พ.ร.บ. ยา พ.ศ. ...ฉบับประชาชน ได้แก่ 1) การมีกลไกที่จะทำให้ราคายาเป็นธรรมต่อประชาชน  ป้องกันการค้ากำไรเกินควร 2) กำหนดสิทธิของประชาชนที่จะรู้ชื่อสามัญทางยา ของยาที่ตนเองใช้ 3) คุ้มครองประชาชนให้ได้รับบริการด้านยาจากเภสัชกรอย่างแท้จริง ไม่ให้ผู้ไม่รู้มาสร้างความเสี่ยงกับประชาชนอีกต่อไป 4) กำหนดสิทธิของประชาชนที่จะได้รับการชดเชยความเสียหายจากการใช้ยาโดยรวดเร็ว 5) มีกลไกจัดหายาจำเป็น เช่น  ยากำพร้า ที่ไม่มีเอกชนสนใจทำการตลาด รวมทั้งการจัดหายาในภาวะวิกฤต ภัยพิบัติ 6) ปรับปรุงระบบการขึ้นทะเบียนตำรับยาของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็ง 7) มีกลไกในการกำกับดูแลการส่งเสริมการขายยาและการโฆษณาที่เหมาะสม 8) การใช้มาตรการทางปกครอง เป็นเครื่องมือใหม่ที่จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเหมาะสมกับสภาวะการณ์ที่หลากหลาย

 



 

ข้อมูลเพื่อการสร้างความเข้าใจในการสนับสนุน
ร่าง พระราชบัญญัติยา พ.ศ.... (ฉบับประชาชน)
ปรับปรุงครั้งที่ 1 วันที่ 8 มีนาคม 2554

 

ปัจจุบันมีการเสนอ ร่าง พระราชบัญญัติยา พ.ศ.... อยู่ 2 ฉบับ คือ

1.1 ร่าง พระราชบัญญัติยา พ.ศ.... (ฉบับประชาชน) ปรับปรุงครั้งที่ 1 วันที่ 8 มีนาคม 2554 ซึ่งร่วมจัดทำโดย มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา (มสพ.) มูลนิธิเภสัชชนบท (มภช.) กลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.) หน่วยปฏิบัติการวัจัยเภสัชศาสตร์สังคม จุฬาฯ (วจภส.) แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จุฬาฯ (คคส.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ชมรมเภสัชชนบท แผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา จุฬาฯ (กพย.) และมูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม (มภส.) ได้ยื่น 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอกฎหมายฉบับนี้ต่อรัฐสภาแล้ว อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายชื่อ

 1.2 ร่าง พระราชบัญญัติยา พ.ศ.... (ฉบับ กระทรวงสาธารณสุข) ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 10) และส่งกลับไปยังกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่ พ.ศ.2552 แล้ว แต่ยังไม่มีการส่งให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่พิจารณา

ร่าง พระราชบัญญัติยา พ.ศ.... (ฉบับประชาชน)

การยกร่าง พรบ.ยา ฉบับประชาชน มีที่มาจากการศึกษาวิจัยทางด้านวิชาการ การรวบรวมปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาของประเทศไทย ประเทศต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้น ตลอดจนการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในสภาวะแวดล้อมการเปิดตลาดเสรีทางการค้าทั้งในระบบพหุภาคีและทวิภาคี ระบบกฎหมายด้านยาและกลไกการบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของประเทศต่างๆ รวมทั้งคิดค้น สังเคราะห์กลยุทธ์ วิธีการ เครื่องมือใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย โดยนักวิชาการหลายสาขาทั้งด้านเภสัชศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคมศาสตร์ ผู้มีประสบการณ์ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในองค์ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ทั้งในระดับภูมิภาค ระดับชาติ ระดับนานาชาติ ความเห็นจากกลุ่มผู้ป่วย ความเห็นจากภาคประชาสังคม โดยเจตนารมณ์ของ ร่าง พรบ ยา ฉบับประชาชน สำคัญ ๒ ประการ คือ

๑. คุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชนให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับ เท่าทันกับปัญหาและสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้

๒. ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยาภายในประเทศให้เข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองได้ทั้งในยามปกติและในภาวะคับขันเพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงด้านยาและสุขภาพ

จาก เจตนารมณ์ข้างต้น ร่าง พรบ ยา ฉบับประชาชน ได้มีบทบัญญัติใหม่ๆ ที่แตกต่างจาก พรบ.ยา พ.ศ.๒๕๑๐ ซึ่งใช้มานานกว่า ๔๐ ปีอย่างสิ้นเชิง โดยบทบัญญัติใหม่จะสามารถทำให้เจตนารมณ์เกิดผลเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีที่มาจาก ๓ แนวทางหลัก ได้แก่ งานศึกษาวิจัยของต่างประเทศและการศึกษาวิจัยของประเทศไทย ชุดความรู้ ประสบการณ์ของผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งทำงานในระดับนานา ชาติ ระดับชาติและระดับท้องถิ่น การวิเคราะห์ผลกระทบต่อประชาชนไทยจากการเปิดตลาดการค้าเสรีภายใต้ข้อตกลง ทั้งระดับทวิภาคีและพหุพาคี โดยมีศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมมือพัฒนาร่างกฎหมายยา ฉบับประชาชน ดังนั้น เพื่อให้เข้าใจสาระของกฎหมายว่า ประชาชนจะได้อะไรจากร่าง พรบ. ยา ฉบับประชาชน จึงขอกล่าวโดยย่อ ทั้งประโยชน์โดยตรงและทางอ้อม ดังนี้

๑. ราคายาเป็นธรรมต่อประชาชนป้องกันการค้ากำไรเกินควร

ตัวอย่างจริงที่เคยเกิดขึ้นแล้ว คือ ยาต้านไวรัสเอดส์ เคยกำหนดราคาขายกว่า ๒๐,๐๐๐ บาทต่อคนต่อเดือน ต่อมาองค์การเภสัชกรรมได้ผลิตออกจำหน่าย กำหนดราคาเพียง ๑,๒๐๐ บาท ต่อคนต่อเดือน ราคาแตกต่างกันกว่า ๑๕ เท่า ในช่วงเวลาที่องค์การเภสัชกรรมยังไม่ได้ผลิตยาดังกล่าวออกมาจำหน่าย ผู้ป่วยเอดส์จำนวนมากไม่สามารถซื้อยาราคาแพงมารักษาตนเองได้ เราจึงเห็นปรากฏการณ์ ตายเป็นใบไม้ร่วงเพราะหมดหนทางเข้าถึงยา เนื่องจากปล่อยให้มีการกำหนดราคาของ สินค้าคุณธรรมซึ่งเป็นรปัจจัยสี่ของมนุษชาติได้ตามอำเภอใจจนเกิดผลกระทบต่อชีวิตประชาชน

๒. สิทธิของประชาชนที่จะรู้ชื่อยาสามัญที่ตนเองใช้

การปกปิดชื่อยาที่ประชาชนต้องบริโภค มักมีข้ออ้างว่า หากประชาชนรู้ชื่อยาแล้ว จะไปซื้อหามารับประทานเอง ไม่เข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ แท้จริงแล้ว คำกล่าวอ้างมีเบื้ยงหลัง คือ ต้องการผูกมัดให้ผู้ป่วยต้องมารับการรักษากับตนเอง และสามารถกำหนดราคายาที่จะเก็บจากผู้ป่วยได้โดยอิสระ เพราะผู้ป่วยไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นยาชื่อสามัญอะไร สิทธิของประชาชนที่จะรู้ชื่อยาสามัญที่ตนเองใช้ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน แม้แต่ประชาชนที่อยู่ในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เข้ารับการรักษาโดยไม่ต้องจ่ายเงิน ก็มีสิทธิที่จะรู้ว่าตนเองต้องรับประทานยาอะไร เพราะหากมีการแพ้ยา ก็สามารถแจ้งชื่อยาที่ตนใช้หรือนำซองยาที่มีชื่อยาสามัญ ให้สถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษา ได้รักษาอย่างถูกต้องทันการณ์ได้

๓. ประชาชนได้รับบริการด้านยาจากผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม

ในมาตรฐานทัดเทียมกับประชาชนของประเทศที่มีระบบบริการด้านเภสัชกรรมได้พัฒนาแล้ว โดยการปรับเปลี่ยนจาก ร้านขายยาเป็น สถานบริการเภสัชกรรม ซึ่งเป็นสถานที่ให้บริการประชาชนด้านยาโดยผู้ประกอบวิชาชีพด้านเภสัชกรรม ที่จะวิเคราะห์ความจำเป็นในการใช้ยาของประชาชน หรือผู้รับบริการ การคัดเลือกยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยหรือผู้รับบริการตามหลักวิชาการ การวิเคราะห์ใบสั่งยาเพื่อความปลอดภัยและประสิทธิผลในการบำบัด รักษา การส่งมอบยาในภาชนะที่เหมาะสมพร้อมฉลากที่ครบถ้วน คำแนะนำในการใช้ยาที่จำเป็นถูกต้องและครบถ้วน คำเตือนอันตรายจากการใช้ยาเฉพาะราย รวมถึง การให้บริการด้านการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค เช่น เป็นสถานที่ประชาชนสามารถปรึกษาการอดบุหรี่ การอดเหล้า การควบคุมนํ้าหนัก การออกกำลังกาย โภชนาการที่เหมาะสมกับวัย เช่น เด็กอ่อน เด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ การนวดตนเอง การกดจุดเพื่อบรรเทาอาการ สมุนไพรประจำบ้าน การจัดการลดความเครียด การให้คำแนะนำเรื่องผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง โดยไม่ตกเป็นเหยื่อของการโฆษณา เป็นต้น ทั้งนี้ สถานบริการเภสัชกรรมต้องดำเนิการตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานทางวิชาการ เรียกว่ามาตรฐาน การบริการเภสัชกรรมที่ดี

ประชาชนสามารถไปพบเภสัชกรในสถานบริการเภสัชกรรม ในเรื่องส่งเสริมสุขภาพ ขอคำปรึกษา คำแนะนำด้านสุขภาพ มิใช่เพียงเพราะต้องการซื้อยามาบริโภคอีกต่อไป และในกรณีที่ต้องได้รับยา ก็จะได้รับตามความจำเป็น และเภสัชกรต้องจัดการตามหลักวิชาการ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค

๔. สิทธิของประชาชนที่จะได้รับการชดเชยความสียหายจากการใช้ยาโดยรวดเร็ว

การแพ้ยาถึงขั้นเสียชีวิต หรือพิการ เช่น ผิวหนังลอกทั้งตัวเหมือนไฟลวก หรือตาบอด หรือเจ็บป่วยรุนแรงต้องเข้ารับการรักษาตัว มีทั้งที่เป็นข่าวและไม่ปรากฏเป็นข่าว ผู้เคราะห์ร้ายจากการใช้ยา มักจะไม่สามารถเรียกร้องให้ใครมาชดเชยความเสียหายได้ เพราะต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ว่าใครเป็นผู้ละเมิดทำให้ตนเองเสียหาย ซึ่งเกินกว่าความสามารถของประชนชนผู้ใช้ยาโดยทั่วไป ดังนั้นในร่าง กฎหมายยา ฉบับประชาชน ถือว่า ประชาชนคนไทย ต้องได้รับการดูแล เยียวยา บรรเทาความเสียหาย เมื่อได้รับเคราะห์กรรมจากการใช้ยา แม้จะไม่ใช่ความผิดพลาดของผู้ใดก็ตาม โดยใช้กลไกการพิจารณาเป็นคดีผู้บริโภค ซึ่งจะมีความรวดเร็ว เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

๕. ยาจำเป็นเฉพาะกรณี

ยากำพร้าซึ่งจำเป็นต่อผู้ป่วย ในภาวะคับขัน มีวิกฤตภัยพิบัติ เช่น โรคระบาดรุนแรงและจะทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมากและมีโอกาสจะเสียชีวิต พิการรุนแรงได้ หรือมีโรคที่เกิดกับประชาชนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น ทำให้ไม่มีผู้ประกอบการรายใดประสงค์จะผลิต หรือนำเข้ายาจำเป็น เพราะไม่สามารถทำกำไรได้ตามความต้องการของภาคธุรกิจ จึงต้องมีกลไกทำให้ ประเทศต้องไม่ขาดแคลนยาจำเป็นเหล่านั้น มีปริมาณเพียงพอต่อความจำเป็นในการใช้ของประชาชน และมีวิธีการทำให้ประชาชนเข้าถึงยาได้อย่างรวดเร็ว

๖. ปรับปรุงระบบการขึ้นทะเบียนตำรับยาของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็ง

โดยมีบทบัญญัติที่ทำให้ประเทศไทย ต้องไม่มี ตำรับยาที่ไม่มีประสิทธิผลในการรักษา ไม่มีตำรับยามากมายหลายหมื่นตำรับ ดังเช่นปัจจุบันนี้ ต้องไม่มีตำรับยาที่ไม่มีประโยชน์ต่อการสาธารณสุขของประเทศไทย ต้องไม่มีตำรับยาที่โครงสร้างราคายาที่ไม่สมเหตุผล ไม่คุ้มค่า หรือขายในราคาไม่ยุติธรรม และที่สำคัญคือ กฎหมายบังคับให้หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบเรื่องการขึ้นทะเบียนตำรับยา ต้องรับผิดชอบการทบทวนทะเบียนตำรับยา โดยมีระบบการทะเบียนการทบทวนตำรับยาประจำปีเพื่อให้ประชาชนมั่นใจทั้งในประสิทธิผลของยาและความปลอดภัยในทุกทะเบียนตำรับยา

๗. การส่งเสริมการขายยาและการโฆษณา

กิจกรรมการส่งเสริมการขายและการโฆษณา ในทางธุรกิจถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจขยายตัวและเติบโต เพราะเป็นกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดการบริโภคสินค้าของประชาชนให้มากขึ้น แต่ ยาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่สมควรส่งเสริมให้เกิดการบริโภคโดยไม่จำเป็น ดังนั้น เพื่อให้เกิดการใช้ยาที่เหมาะสมของประชาชน ตลอดจนสำนึกของผู้มีสิทธิสั่งใช้ยา จึงต้องมีบทบัญญัติที่จะกำกับดูแลการส่งเสริมการขายยาและการโฆษณาที่เหมาะสม ไม่ให้ส่งเสริมการบริโภคยาโดยไม่จำเป็น และประการสำคัญ การส่งเสริมการขายยาและการโฆษณา เป็นต้นทุนที่ผู้ประกอบธุรกิจจะผลักให้เป็นภาระของผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้ราคาสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น

๘. การใช้มาตรการทางปกครอง

มาตรการทางปกครอง เป็นเครื่องมือใหม่ที่จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเหมาะสมกับสภาวะการณ์ที่หลากหลาย เช่น การภาคทัณฑ์ การตำหนิโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน การปรับทางปกครอง การจำกัดการประกอบการ เพิ่มเติมจากกฎหมายเดิมที่มีการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ

ที่กล่าวข้างต้นเป็นเพียงประโยชน์บางส่วนที่ประชาชนจะได้รับจาก ร่าง พระราชบัญญัติยา ฉบับประชาชน ซึ่งขอนำเสนอให้เข้าใจโดยง่าย จากร่างกฎหมาย ฉบับเต็มกว่า ๑๒๐ มาตรา ได้จากเว็บไซต์แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ที่ www.thaihealthconsumer.org และเว็บไซต์ แผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนระบบยา (กพย.) ที่ www.thaidrugwatch.org

ดาวน์โหลดร่าง พรบ. ยาฉบับประชาชน (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 วันที่ 8 มีนาคม 2554)
http://www.thaidrugwatch.org/download/draft_revise_1_drug_act_8-03-54.pdf 

0 0 0

ความเข้าใจผิดในสาระสำคัญบางเรื่อง

ในช่วงนี้มีการเผยแพร่ข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ให้คัดค้าน ร่าง พระราชบัญญัติยา พ.ศ.... โดยไม่ระบุว่าเป็นฉบับใด ในเรื่องนิยามของ ยาที่ต้องจ่ายตามใบสั่งยาและ ยาที่ต้องจ่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพซึ่งพบใน ร่าง พระราชบัญญัติยา พ.ศ.... (ฉบับ กระทรวงสาธารณสุข) มาตรา ๔ ดังนี้

ยาที่ต้องจ่ายตามใบสั่งยา หมายความว่า ยาที่ห้ามจ่ายโดยไม่มีใบสั่งยาของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยประเภทเวชกรรมไทย และผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาอื่นตามทีกำหนดโดยพระราชกฤษฏีกาซึ่งออกตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ

ยาที่ต้องจ่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพ หมายความว่า ยาที่ไม่ใช่ยาที่ต้องจ่ายตามใบสั่งยา และต้องจ่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ผู้ประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัด ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาอื่นตามทีกำหนดโดยพระราชกฤษฏีกาซึ่งออกตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ

มสพ. คคส. กพย. และคณะ จึงเห็นควรชี้แจงเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน

 

 

 

AttachmentSize
ร่าง พระราชบัญญัตยา พ.ศ...(ฉบับประชาชน) ปรับปรุงครั้งที่ 1 วันที่ 8 มีนาคม 2554.pdf653.25 KB
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น