โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

"พล.ต.ท.อัมพร" ชี้บาดแผลกระสุนของนักข่าวญี่ปุ่นใกล้เคียงปืน 3 แบบ

Posted: 28 Feb 2011 01:43 PM PST

ธาริตแจง "ดีเอสไอ" ขอ "พล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา" ช่วยชันสูตรผู้เสียชีวิตจากการชุมนุม ยันขณะนี้ยังไม่พบเศษตะกั่วในร่างนักข่าวญี่ปุ่น เพียงแต่อาจถูกยิงจากปืน 3 แบบ และในที่เกิดเหตุไม่มีการเก็บหลักฐาน "ประยุทธ์" เผยมีหน่วยทหารไทยที่ใช้อาก้า แต่อยู่ชายแดน ใน กทม. ไม่ใช้แล้ว ด้าน ผบ.พล.ร.2 รอ.เผยทหารที่มาสลายการชุมนุมใช้เอ็ม 16 และทราโว

ธาริตแจงขออดีต ผบ.พิสูจน์หลักฐานตำรวจช่วยชันสูตรผู้เสียชีวิตจากการชุมนุม

มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วานนี้ (28 ก.พ.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ และ พล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา อดีตผู้บัญชาการ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ และที่ปรึกษาดีเอสไอ แถลงชี้แจงกรณีการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น ว่า ดีเอสไอได้ขอความร่วมมือ พล.ต.ท.อัมพร ให้เข้ามาตรวจสอบผลการชันสูตรศพผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) อย่างละเอียดอีกครั้ง ในส่วนผู้เสียชีวิต 13 ราย ซึ่งก่อนหน้านี้ดีเอสไอสรุปสำนวนเบื้องต้นว่าอาจมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตและได้ส่งสำนวนกลับไปให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) สอบสวนเพิ่มเติม รวมถึงผลการตรวจสอบล่าสุดจาก พล.ต.ท.อัมพร ดีเอสไอได้ส่งมอบให้ตำรวจนครบาลไปประกอบการพิจารณาแล้ว อย่างไรก็ตาม การที่ดีเอสไอออกมาเปิดเผยเรื่องดังกล่าวไม่ได้มีเจตนาที่จะซักฟอกคดีให้ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

 

ยันดีเอสไแทำงานตรงไปตรงมา ไม่ได้สร้างสถานการณ์

นายธาริตกล่าวว่า คดีของนายฮิโรยูกิก่อนหน้านี้มีพยานบุคคลเพียงปากเดียวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ ตำรวจและเข้าร่วมชุมนุม นปช. ให้ข้อมูลว่าอยู่ใกล้ตัวนายฮิโรยูกิ ขณะถูกยิงแต่ไม่รู้ว่ามาจากทิศทางใด แต่เชื่อว่ามาจากทหาร อย่างไรก็ตาม นายฮิโรยูกิถูกยิงขณะกำลังหันหน้าไปถ่ายภาพแนวทางทหาร แต่ด้านหลังทหารก็มีกลุ่มผู้ชุมนุม ดังนั้น ช่วงเกิดเหตุต้องถือว่ามีทั้งสองฝ่ายที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องในการเสียชีวิต ซึ่งก่อนหน้านี้ผลการชันสูตรไม่ได้ระบุอาวุธที่ทำให้เสียชีวิต เพียงแต่ระบุว่าเป็นกระสุนปืนที่มีความเร็วสูง การตรวจสอบของ พล.ต.ท.อัมพร จึงถือเป็นการสอบเพิ่มเติม เพื่อให้คดีมีความรอบคอบมากขึ้น

"ผมรู้สึกลำบากใจตอนที่เจ้าหน้าที่ให้รายละเอียดกับตัวเองถึงผลการตรวจ สอบใหม่ว่าผลออกมาอย่างนี้แล้วจะทำอย่างไร ดังนั้น สิ่งใดที่เข้ามาเพิ่มเติมก็ต้องทำอย่างตรงไปตรงมา ดีเอสไอไม่ได้ต้องการสร้างสถานการณ์ใดๆ ทั้งสิ้น" นายธาริตกล่าว

 

"พล.ต.ท.อัมพร" เผยยังไม่พบเศษตะกั่วในร่างนักข่าวญี่ปุ่น

ด้าน พล.ต.ท.อัมพรกล่าวว่า ได้วิเคราะห์จากรายงานการชันสูตรพลิกศพของแพทย์ในทุกๆ คดี คดีไหนที่ยืนยันได้ว่า ควรจะโดนยิงด้วยอาวุธปืนขนาดอะไร ตนก็จะยืนยันให้ และมีหลายรายที่ไม่สามารถยืนยันได้ สำหรับรายนี้ค่อนข้างชัดเจนเพราะว่าบาดแผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางโตกว่าแผล ในส่วนอื่นๆ ทั้งหมด และตามองค์ประกอบที่ควรจะเป็น ถ้าเป็นกระสุนความเร็วสูงขนาดเล็ก ตลอดทางวิ่งของบาดแผลภายในร่างกายกระสุนจะแตกกระจายออกและทิ้งร่องรอยเศษตะกั่วเอาไว้ ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า LEAD SNOW STORM แต่สำหรับรายนี้ได้รับการยืนยันจากแพทย์ผู้ผ่าว่าไม่มี LEAD SNOW STORM และบาดแผลทางกระสุนเข้าและบาดแผลทางกระสุนออกก็มีขนาดใกล้เคียงกัน และโตกว่ากระสุนที่ชาวบ้านคิดกันว่าเป็นกระสุนที่นายฮิโรยูกิถูกยิง

 

สรุปอาจบาดแผลจากกระสุนใกล้เคียงกับปืน 3 แบบ คือ อาก้า - 05 NATO - และเซกาเซ่

"สรุปว่า นายฮิโรยูกิถูกยิงด้วยกระสุนปืนที่มีขนาดใกล้เคียงกับบาดแผล คือ ประมาณไม่น้อยกว่า 7 มิลลิเมตร ซึ่งที่มีใช้กันอยู่ในภูมิภาคแถบนี้มากๆ มีอยู่ 2-3 แบบ คือ ปืน AK 47, ปืน 05 NATO และปืนเซกาเซ่ (SKS) ซึ่งมีขนาดเท่ากันหมด คือ 7.62 มิลลิเมตร รายละเอียดก็มีเท่านี้ไม่มีอะไรมากกว่านี้ ประกอบกับหัวกระสุนทะลุผ่านไป ผมไม่ได้เห็นหัวกระสุน และก็ทราบว่าในที่เกิดเหตุเก็บไม่ได้ด้วย ทุกอย่างก็ได้แค่สรุปจากบาดแผลกระสุนปืนเท่านั้น" พล.ต.ท.อัมพรกล่าว

 

"ประยุทธ์" เผยมีหน่วยทหารไทยที่ใช้อาก้า อยู่ที่ชายแดน แต่ใน กทม. ไม่มีใช้แล้ว

ขณะเดียวกัน เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ซึ่งกล่าวถึงผลสรุปอย่างไม่เป็นทางการของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า หากดีเอสไอระบุอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น ตนจะทราบได้อย่างไร เพราะเป็นเรื่องของดีเอสไอ ซึ่งหน่วยทหารที่ใช้อาวุธปืนอาก้ามีใช้เฉพาะที่ชายแดน ในพื้นที่ กทม.ไม่มีใช้อยู่แล้ว เมื่อถามว่าหากผลสรุปว่าเป็นอาวุธปืนอาก้าสบายใจหรือไม่ เพราะทหารจะได้ไม่ถูกกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์กล่าวย้อนถามว่า แล้วเรื่องนี้มันจบหรือยัง ยุติแล้วหรือยัง เมื่อเรื่องยังไม่จบก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย เพราะขณะนี้เองยังไม่จบ พูดกันไปพูดกันมา เมื่อเช้าก็มีคนออกมาโต้ตอบเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าไม่ใช่อาวุธปืนอาก้า ดังนั้น ต้องไปหาข้อเท็จจริงให้จบเสียก่อนแล้วค่อยมาว่ากัน ตอนนี้ไม่มีใครผิดใครถูก อย่างไรก็ตาม หน่วยทหารไม่จำเป็นต้องออกมาชี้แจง หากจะให้ชี้แจงก็เชิญมาเราพร้อมจะชี้แจงตามกฎหมาย ดังนั้นขณะนี้ต้องให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

 

ผบ.พล.ร.2 รอ. รับทหารใช้เอ็ม 16 เอ 2 และปืนจากอิสราเอล

ด้าน พล.ต.วลิต โรจนภักดี ผบ.กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) ในฐานะผู้คุมกำลังเข้าปฏิบัติการขอคืนพื้นที่บริเวณสี่แยกคอกวัว กล่าวว่า ในเหตุการณ์หน่วยทหารที่เข้าขอคืนพื้นที่จากผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อ ต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่บริเวณสี่แยกคอกวัว ยืนยันว่าไม่มีการใช้อาวุธปืนอาก้าของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน ทหารจาก พล.ร.2 รอ.ไม่มีอาวุธปืนอาก้า มีใช้แค่อาวุธปืนเอ็ม 16 เอ 2 เท่านั้น ที่เป็นอาวุธประจำกาย ส่วนกองพลทหารราบที่ 9 (พล.ร.9) ก็ใช้เฉพาะปืนทาโวร์เท่านั้น

เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ ยังรายงานเพิ่มเติมโดยระบุว่าขณะที่จากการตรวจสอบข้อมูลจากกองทัพบก พบว่า นอกจากอาก้าที่มีประจำการในหน่วยทหารพรานแล้ว ยังมีการเบิกจ่ายไปใช้กับหน่วยปกติ ในปัจจุบันมีประจำการรวมทั้งหมด 2 หมื่นกระบอก ในส่วนของทหารพราน เป็นปืนในอัตราที่ยังใช้เป็นอาวุธประจำกายของทหารพรานบริเวณชายแดน ในขณะที่หน่วยปกติ จะถือเป็นปืนนอกอัตรา ซึ่งเบิกจ่ายไปเพื่อใช้ฝึกทหารเกณฑ์ หน่วยละ 5-10 กระบอก และกระสุนที่ใช้จะมีการจัดซื้อทุก 2 ปี ซึ่งจากข้อมูลพบว่าหน่วยทหารราบมีการเบิกจ่ายกระสุนเพื่อการฝึกทุกปี

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สื่อใหม่ สังคมใหม่ การเมืองใหม่?

Posted: 28 Feb 2011 12:58 PM PST

ตามทฤษฎีการสื่อสาร หากเทคโนโลยีสื่อเปลี่ยน ลักษณะของการสื่อสารก็จะเปลี่ยนตาม ท้ายที่สุดก็จะส่งผลให้ระดับสังคมเปลี่ยนไปด้วย “Dk_toM” จึงส่งบทความมาตั้งคำถามว่า การเกิดขึ้นของ “สื่อใหม่” นั้นจะส่งผลอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะในส่วนของ “สังคมและการเมือง”

ชื่อของแม็คลูฮาน (Mcluhan) อาจไม่เป็นที่คุ้นหูนักสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับในแวดวงวารสารศาสตร์แล้ว ชื่อของเขาถือเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะนักทฤษฎีสื่อสารมวลชนคนสำคัญ โดยเฉพาะกับคำกล่าวของเขาที่ว่า “เพียงแค่ตัวสื่อก็เป็นสารแล้ว” (Medium is the Message)

ในแบบจำลองการสื่อสารพื้นฐานนั้น ถือว่าการสื่อสารต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย 4 อย่างคือ ผู้ส่งสาร (Sender) สาร (Massage) สื่อ (Medium) และผู้รับสาร (Reciever) โดยสื่อนั้นจะทำหน้าที่เป็นช่องทางในการส่งและลำเลียงสารจากผู้ส่งสารไปยังผู้รับสาร แต่สำหรับแม็คลูฮานแล้ว สื่อหาได้ทำหน้าที่เป็นเพียงช่องทางไม่ แต่ยังส่งผลถึงตัวเนื้อหาสาร รวมถึงตัวผู้ส่งสารและผู้รับสารอีกด้วย หากเทคโนโลยีสื่อเปลี่ยนไปแล้ว ลักษณะของการสื่อสารก็จะเปลี่ยนตาม และท้ายที่สุดก็จะส่งให้ในระดับสังคมเปลี่ยนไปด้วย แนวคิดนี้ในวงวิชาการวารสารศาสตร์ถือเป็นส่วนหนึ่งของ “ทฤษฎีเทคโนโลยีสื่อสารเป็นตัวกำหนด” (Communication Technology Determinism)

ตัวอย่างที่มักถูกอ้างถึงคือ เมื่อกูเตนเบิร์กคิดค้นแท่นพิมพ์โลหะแบบเรียงพิมพ์ได้ในปี ค.ศ.1456 ทำให้การเผยแพร่ข้อมูลหรือหนังสือเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น เป็นผลให้ระบบรวมศูนย์อำนาจที่คริสตจักรแต่เดิมต้องล่มสลายลง

คำถามที่น่าสนใจก็คือ หากลักษณะสื่อที่เปลี่ยนไปส่งผลกระทบต่อสังคมแล้ว การเกิดขึ้นของ “สื่อใหม่” นั้นจะส่งผลอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะในส่วนของ “สังคมและการเมือง”

คำว่า “สื่อใหม่” นี้แม้ในปัจจุบันนี้จะยังไม่มีขอบเขตการนิยามที่แน่ชัด แต่เป็นที่เข้าใจกันทั่วไปว่าหมายถึงสื่อดิจิตอล [1] ซึ่งเป็นสื่อที่สามารถแสดงผลเป็นเลขฐานสองคือ 0 กับ 1 ได้ (Numerical Representation) โดยสื่อดิจิตอลที่ถือว่ามีบทบาทและอิทธิพลในการสื่อสารมากที่สุดในปัจจุบัน ก็คือสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นสื่อที่เกิดขึ้นในเครือข่ายการเชื่อมต่อระหว่างคอมพิวเตอร์แบบหนึ่งที่เรียกว่า “อินเทอร์เน็ต”

จากจุดกำเนิดเพื่อการวิจัยทางการทหาร เมื่อ ปี ค.ศ.1969 ก่อนจะเปิดเอกชนให้เข้าใช้ได้ในปี ค.ศ.1988 เพียงชั่วระยะเวลาแค่ 2 ทศวรรษ อินเทอร์เน็ตได้กลายมาเป็นสื่อหนึ่งที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดและทรงอิทธิพลอย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการพัฒนาแนวคิด Web 2.0 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ ที่เปลี่ยนแปลงเว็บไซต์ที่เป็นการสื่อสารทางเดียว (อ่านได้อย่างเดียว) มาเป็นเว็บไซต์ที่ผู้ใช้มีส่วนร่วมสามารถโต้ตอบกับผู้ให้บริการหรือระหว่างผู้ใช้ด้วยกันเองได้ ซึ่งต่อมาได้พัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นบริการ Web Service หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นกระดานข่าว (Web board) ห้องสนทนา (Chartroom) บล็อก (Blog) รวมไปถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) ทั้งหลายแหล่

คุณสมบัติสำคัญของสื่อออนไลน์นอกจากความรวดเร็วแล้ว ก็คือการที่ทำให้ผู้ส่งสารสามารถทำการ “สื่อสารมวลชน” (Mass Communication) ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยตัวกลางอย่าง “สื่อมวลชน” (Mass Media) อีกต่อไป เราสามารถส่งสารอะไรก็ที่อยากส่งไปยังผู้รับจำนวนมากได้ ในขณะที่ถ้าเป็นสื่อมวลชน สารของเราอาจถูกคัดทิ้งได้ด้วยเหตุผลด้านข้อจำกัดพื้นที่ข่าวหรือนโยบายของสื่อนั้นๆ

ขณะเดียวกันอินเทอร์เน็ตยังทำให้ผู้ใช้เกิดความ “กล้า” ในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น เพราะคิดว่าปลอดภัย ไม่มีผลต่อชีวิตจริง เนื่องจากไม่มีใครรู้ว่าเราเป็นใคร หรือหากต้องการจะรู้ก็ไม่ง่ายนัก ลักษณะเช่นนี้เมื่อผนวกรวมกับการที่รัฐยังไม่สามารถเข้ามาควบคุมได้อย่างเต็มที่ เหมือนสื่อประเภทอื่นๆ เนื่องจากยังก้าวไม่ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของอินเทอร์เน็ต เหล่านี้ทำให้อินเทอร์เน็ตกลายเป็นสื่อที่ทรงพลังและส่งผลถึงสังคมในแง่ต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ “สังคมและการเมือง”

ผลที่ว่ามีทั้งที่ดีและไม่ดี ส่วนดีคือสื่อออนไลน์ทำให้ข้อมูลข่าวสารไม่ถูกจำกัดการรับรู้ผ่านสื่อมวลชน (ซึ่งควบคุมโดยรัฐ) อีกต่อไป เกิดข้อมูลทางเลือกใหม่ๆ มากมาย ทั้งยังเสริมสร้างช่องทางในการแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วม จนหลายฝ่ายกล่าวว่านี่จะเป็นอีกแรงผลักดันหนึ่งในการพัฒนาสังคมและประชาธิปไตย แต่ขณะเดียวกันด้วยความรวดเร็วของสื่อชนิดนี้ ก็ทำให้ผู้ใช้มุ่งแสดงออกอย่างรวดเร็ว จนขาดการพิจารณาไตร่ตรองสารอย่างรอบคอบ กลายเป็นปัญหาตามมาในหลายๆ กรณี

ด้านสื่อมวลชนเองก็จะประสบปัญหาด้านความน่าเชื่อถือ เนื่องจากถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของรัฐ (ที่น่าขันคือสื่อมวลชนเองก็โจมตีสื่อใหม่เหล่านี้ว่าไม่มีความน่าเชื่อถือ เพราะขาดความเป็น “มืออาชีพ”) นอกจากนี้การที่สื่อมวลชนต้องนำเสนอสารแบบ “โดยรวม” เพื่อตอบสนองมวลชนที่หลากหลายให้มากที่สุด ทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่ายังตอบสนองความต้องการเฉพาะของพวกเขาได้เพียงพอ จึงเกิดการรวมกลุ่มในสังคมออนไลน์มากขึ้น ซึ่งก็ทำได้โดยสะดวก เพราะอินเทอร์เน็ตช่วยทลายข้อจำกัดด้านระยะทางไปให้ แต่ก็เกิดผลข้างเคียงคือ คนมุ่งจะฝังตัวเองอยู่กับเฉพาะกลุ่ม และไม่รับข้อมูลข่าวสารจากนอกกลุ่มอีกเลย จนสุดท้ายอาจลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม และหลายครั้งที่ความขัดแย้งนี้หลุดออกมาในโลกแห่งความเป็นจริงด้วย

ไม่ว่าจะดีหรือร้ายอย่างไร ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อใหม่อย่างอินเทอร์เน็ตก็ได้ทำให้เกิดสังคมและการเมืองแบบ “ใหม่” และมีทีท่าว่าความเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่หยุดลงง่ายๆ เพราะผลสถิติของ www.internetworldstats.com ซึ่งรวบรวมสถิติการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลก พบว่าในปี ค.ศ. 2010 มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกประมาณ 1,966 ล้านคน แม้จะคิดเป็นแค่ร้อยละ 28.7 ของประชากรทั้งโลกที่มีเกือบ 7 พันล้านคน แต่เมื่อเทียบกับสถิติเมื่อปี ค.ศ. 2000 ที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพียงประมาณ 360 ล้านคน จะพบว่าจำนวนผู้ใช้เพิ่มสูงขึ้นอย่างพุ่งพรวดภายในเวลาแค่ 10 ปี และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นแบบนี้ไปเรื่อยๆ อันจะทำให้อินเทอร์เน็ตเพิ่มบทบาทในการสื่อสารมากขึ้น และเปลี่ยนสังคมและการเมืองมากยิ่งขึ้น

คำถามคือ “เราจะรับมือกับความ “สิ่งใหม่ๆ” ที่จะเข้ามาในอนาคตนี้อย่างไร”

 

หมายเหตุ: [1] นอกเหนือจากสื่อดิจิตอลแล้ว ในบางครั้งยังมีการรวมเอาสื่ออย่างวิทยุชุมชน เคเบิลทีวีท้องถิ่น และทีวีดาวเทียม เข้าเป็นสื่อใหม่ด้วย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไว้อาลัยเพื่อนผู้ป่วยโรคบิสซิโนซิส

Posted: 28 Feb 2011 12:34 PM PST

สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ขอไว้อาลัยให้กับการจากไปของพี่ทองใบ หนูมั่น ด้วยอายุ 61 ปี ขอให้หลับให้สบายเถอะนะ พี่ทองใบ หนูมั่น พี่เหนื่อยมามากแล้วกับการต่อสู้คดีที่ยืดเยื้อยาวนานถึง 15 ปีและอาการเจ็บป่วยด้วยโรคบิสซิโนซิสปอดเสื่อมสมรรถภาพตลอดชีวิต

หลังจากที่พี่ทองใบได้รับเงินชนะคดีที่ศาลฎีกาพิพากษา ร่วมกับเพื่อนๆ 37 คนเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2553 ที่ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากโรงงานทอผ้า พี่ทองใบก็ป่วยออดๆแอดๆ เป็นหวัดไอตลอด

งาน 15 ปีคดีทอผ้า ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ พี่ทองใบ ก็ไม่ได้มาทราบว่าป่วย และได้จบชีวิตลงอย่างสงบด้วยหัวใจล้มเหลว เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2554 ญาติตั้งศพสวดพระอภิธรรมบำเพ็ญกุศล ที่วัดบางเดื่อ จังหวัดปทุมธานี ตั้งแต่วันที่ 27-2 มีนาคม 2554และจะทำการฌาปนกิจศพในวันพฤหัสที่ 3 มีนาคม 2554 เวลา 15.00 น.

สามีของพี่ทองใบที่เป็นโรคเบาหวานจนต้องตัดขา ที่พี่ทองใบยังมีชีวิตอยู่ พี่เขาก็จะเป็นห่วงเป็นใยสามีของแก ดูแลสามีของแกอย่างดีมาตลอด วันนี้เราได้ยินสามีของพี่ทองใบแกพูดอย่างเศร้าโศกเสียใจว่า จัดงานทำให้เขาดีๆ นะ เพราะมันเป็นเงินของเขาที่ได้มาจากการชนะคดี

พี่ทองใบ หนูมั่น เป็นผู้หญิงชาวบ้านธรรมดาๆ คนหนึ่งที่ต้องขายแรงงานมาเลี้ยงจุนเจือครอบครัวและส่งลูกทั้ง 2 คนของแกเรียนจนจบ แกเข้าโรงงานทอผ้าตั้งแต่อายุ 11 ปี โดยป้าจำเนียรเป็นคนฝากเข้าพี่ทองใบ ทำงานอยู่แผนกปั่นด้ายโรง 3 เป็นพนักงานประเภท ก สายเขียว มีหน้าที่ลงด้ายเอาใส่ลัง หลังเขนไปส่งแผนกโอโตคอนเนอร์ พอป่วยยื่นเรื่องเข้ากองทุนเงินทดแทนและเป็นหนึ่งจากเกือบ 200 คนที่ถูกนายจ้างฟ้องเพิกถอนคำวินิจฉัยของกองทุนเงินทดแทน และฟ้องศาลว่า ไปป่วยจากการทำงานเช่นเดียวกับเพื่อนคนงานอื่นๆ อีกโดยคดีนี้ศาลยกฟ้องนายจ้าง เชื่อว่าคนงานป่วยจากการทำงานจริง ต่อมาพี่ทองใบ ก็ตัดสินใจเข้าร่วมรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ 37 คนเป็นโจทก์ฟ้องโรงงาน เพื่อเรียกค่าเสียหายที่สูญเสียสมรรถภาพปอดและไม่สามารถทำงานอะไรได้อีกต่อไป ต้องลาออกมาอยู่กับบ้านช่วยสามีขายต้นไม้ประดับระยะหนึ่งก็ต้องเลิกทำ เพราะทำไม่ไหว

ตลอดระยะเวลาของการต่อสู้พี่ทองใบเป็นสมาชิกที่ดีมากคนหนึ่ง แกไม่เคยท้อแท้เป็นผู้สนับสนุนและผู้ตามที่ดี กับการร่วมต่อสู้กับกลุ่มผู้ป่วยมาด้วยดีตลอด คำพูดที่ได้ยิน พี่แกพูดด้วยทุกครั้งเมื่อถามแก แกก็จะตอบอย่างสม่ำเสมอ พี่เหนื่อยมากเภา หายใจไม่ค่อยออก เดินไม่ค่อยไหว เมื่อไหร่คดีจะตัดสินสักที พี่จะไปไม่ไหวแล้ว แต่ทุกนัดที่มีการประชุมหรือทำกิจกรรมของกลุ่ม พี่ทองใบ ก็จะเป็นสมาชิกที่ดี มาร่วมกิจกรรมไม่ค่อยขาด โดยมาคู่กับป้าเนียรเสมอ นอกเสียจากว่า วันไหนมาไม่ไหว ก็จะบอกว่าแย่ไม่สบายพี่ทองใบจะเป็นคนพูดน้อย ไม่เคยมีปัญหากับใครเลย พี่ทองใบจะเป็นสมาชิกที่ดี

สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ และเพื่อนๆ คนป่วยทุกคนที่ต่างจะพึ่งรู้สึกยินดีที่ได้รับชัยชนะ กลับต้องมารู้สึกเศร้าสลดใจเสียใจอย่างมาก ไม่นึกเลยว่าพี่ทองใบ จะต้องมาจากพวกเราไปไวอย่างนี้ โดยไม่มีวันกลับซึ่งพี่ก็ยังไม่ได้ใช้เงินของพี่เลย ถ้าชาติหน้ามีจริง เภาขอให้พวกเราได้มาพบเจอกันเป็นเพื่อนกันอีก แต่ขอให้มาพบเจอกันด้วยรอยยิ้มที่เป็นคน มีสุขภาพอนามัยแข็งแรงดี ไม่ต้องมาเจ็บป่วยเรื้อรังทุกข์ทรมานเพราะการต้องสูญเสียปอดไปอย่างนี้อีกเลยนะ

หลับให้สบายเถอะนะจ้ะพี่ทองใบ หนูมั่น ต่อไปนี้ พี่ไม่ต้องมาทนหายใจ เหนื่อยหอบอย่างพวกเราอีกต่อไปแล้ว พี่ไม่ต้องห่วงอะไรแล้ว คดีก็ชนะแล้ว สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ที่พวกเราพยายามทุ่มเท สละทั้งแรงกายแรงใจทุนทรัพย์เท่าที่ผ่านมากำลังจะสำเร็จ เพื่อความหวังที่จะป้องกันพี่น้องลูกหลานผู้ใช้แรงงานของเราจะได้ไม่ต้องมาสูญเสียสุขภาพอย่างพวกเรา เภากำลังจะร่วมยกร่างสถาบันฯนี้กับกระทรวงแรงงาน ในวันที่ 3 มีนาคมที่จะถึงนี้แล้ว จะพยายามทำอย่างเต็มที่ให้สมกับเจตนารมณ์ของพี่ทองใบและเพื่อนๆทุกคน ขอให้ดวงวิญญาณของพี่ทองใบ จงไปสู่สุคติด้วยเทอญ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ค้าน “ซูเปอร์สกายวอล์ก” หวั่นผลาญภาษี

Posted: 28 Feb 2011 12:04 PM PST

"นายกสมาคมต้านสภาวะโลกร้อน" ออกแถลงการณ์ถึงผู้ว่า กทม. ตั้งข้อสังเกตโครงการทางเดินลอยฟ้า 50 กิโลเมตร ใช้งบตกกิโลเมตรละ 300 ล้าน สูงกว่าโครงการที่กำลังก่อสร้างกว่า 5 เท่า เตือนให้ระวังทัศนอุจาด แนะจัดระเบียบทางเท้า ติงทำไมปล่อยให้พ่อค้าแม่ค้ามายึดแทนที่คนกรุงเทพ 5.7 ล้าน จะได้ใช้สัญจร

หมายเหตุ: เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2554 นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ออกแถลงการณ์ ถึง ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเรื่อง “คัดค้าน กทม.ผุดทางเดินลอยฟ้า: นโยบายผลาญภาษีประชาชน” โดยมีรายละเอียดของแถลงการณ์ดังนี้

 

แถลงการณ์สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
ถึง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
คัดค้าน กทม.ผุดทางเดินลอยฟ้า : นโยบายผลาญภาษีประชาชน

กรณีที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่า กทม. ได้ออกมาเปิดตัวโครงการว่า กทม.มีแผนก่อสร้างโครงข่ายทางเดินลอยฟ้า หรือซูเปอร์สกายวอล์ก (Super Sky Walk) ระยะทางรวม 50 กม. เพื่อให้คนกรุงเทพฯมีทางเดินลอยฟ้าที่ไม่มีสิ่งกีดขวาง โดยจะแบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกมีระยะทาง 16 กม. วงเงินค่าก่อสร้างประมาณ 5,200 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนมี.ค.นี้ ใช้เวลาก่อสร้าง 18 เดือน กำหนดแล้วเสร็จปี 2555 และระยะที่สองมีระยะทาง 32 กม. วงเงินค่าก่อสร้าง 10,000 ล้านบาท คาดจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2555 แล้วเสร็จปี 2557

และต่อมานายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯกทม.ออกมาแจงเพิ่มเติมว่า หลังจากที่ กทม. เปิดตัวโครงข่ายซูเปอร์สกายวอล์กหรือทางเดินลอยฟ้าระยะทางรวมกว่า 50 กม.ทั่วพื้นที่กทม.เพื่อความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทางของประชาชนสู่ระบบขนส่งมวลชนต่าง ๆ แล้วนั้น ล่าสุด กทม.ได้ขยายผลโครงข่ายดังกล่าว โดยได้รับความร่วมมือกับภาคเอกชนในการลงทุนก่อสร้างทางเดินเท้าลอยฟ้าเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ซึ่งขณะนี้มีกลุ่มผู้ประกอบการย่านราชประสงค์และประตูน้ำ ศูนย์การค้าแพลทินัมตอบรับข้อเสนอลงทุนเอง 100% โดยจะมีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ในช่วงเดือน พ.ค.นี้ เบื้องต้นรูปแบบทางเดิน จะเชื่อมโยงตั้งแต่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสชิดลม ผ่านแยกราชประสงค์มุ่งหน้าไปยังคลองแสนแสบ ถนนราชดำริ ต่อเนื่องไปจนถึงศูนย์การค้าแพลทินัม รวมระยะทางประมาณ 500 เมตรนั้น

สมาคมฯ มีข้อสังเกตว่าการก่อสร้างทางเดินลอยฟ้าระยะทาง 50 กม. ของ กทม.ใช้งบประมาณค่อนข้างสูง หรือเฉลี่ยกิโลเมตรละกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งหากเปรียบเทียบข้อมูลการก่อสร้าง จะเห็นว่าบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างทางเดินลอยฟ้าใต้แนวเส้นทางรถไฟฟ้าช่วงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-แบริ่ง รวมระยะทาง 17 กม. ใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยกิโลเมตรละ 58.82 ล้านบาทเท่านั้น แต่ทางเดินลอยฟ้าใหม่นี้ทำไมแพงกว่าถึง 5 เท่า และเงินที่นำมาใช้ก่อสร้างเป็นเงินจากภาษีของประชาชน ไม่ใช่เงินส่วนตัวของนายสุขุมพันธ์หรือของนายธีระชน ที่คิดอยากจะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ ที่สำคัญโครงการผลาญเงินดังกล่าวสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินดังกล่าวแล้วหรือไม่อย่างไร

ประเด็นปัญหาที่ยกมาวิพากษ์ในวันนี้ นอกจากจะเรื่องงบประมาณที่สูงเกินเหตุแล้ว แต่ขอตั้งข้อสังเกตอีกประการถึงความเหมาะสมของการสร้างทางเดินลอยฟ้าในพื้นที่เมืองว่าเหมาะสมแล้วหรือไม่ ประการใด เหตุใดจึงจ้องแต่จะเพิ่มสิ่งก่อสร้างที่เป็นอุจจาดทัศน์ (Visual Pollution) ให้กับเมืองกรุงเทพฯเข้าไปอีก ทำไมไม่กลับไปจัดการทางเดินเท้าที่เป็นสมบัติสาธารณะของคนไทยและคนกรุงเทพฯ ทุกคนให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ ทำไมปล่อยให้มีแม่ค้า-พ่อค้าแผงลอย ทั้งตัวจริงตัวปลอม มายึดพื้นที่ทางเท้าเต็มกันไปหมดทั้งบ้านทั้งเมืองล่ะครับ แถมยังเอื้อประโยชน์ให้กับรัฐบาลในโครงการประชาวิวัฒน์ในการขยายจุดผ่อนผันเพิ่มให้กับกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้เพิ่มเข้าไปอีกกว่า 280 จุดอีก ขอถามหน่อยว่าพื้นที่สาธารณะทางเท้าเหล่านี้เป็นของนายสุขุมพันธ์หรือของนายธีระชนหรือของนายกรณ์หรือของนายอภิสิทธิ์หรืออย่างไร

ปัญหาดังกล่าว กทม.หมดปัญหาที่จะแก้ไขปัญหาทางเท้า ก็เลยยึดทางเท้าซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ของคนกรุงเทพฯทั้ง 5.7 ล้านคนไปประเคนให้กับพ่อค้าแม่ค้าไม่ถึง 10,000 รายได้สร้างประโยชน์และผลกำไรมาจ่ายเทศกิจหรือกทม.ในรูปของค่าธรรมเนียมเท่านั้นหรือ ขอถามหน่อยว่าสิทธิของคนกรุงเทพฯส่วนใหญ่ที่เขาต้องใช้ทางเท้าในการสัญจรไปมาหายไปไหน แล้วเขาเหล่านั้นเสียภาษีให้ กทม.ไปเพื่อการใด

แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 43 ระบุไว้ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพ การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน เมื่อโครงการดังกล่าวอยู่ในข้อยกเว้น กทม.จึงไม่มีอำนาจที่จะกระทำโครงการดังกล่าวได้แต่อย่างใด

นอกจากนั้นในหมวดที่ว่าด้วยหน้าที่ของชนชาวไทย มาตรา 74 ยังระบุไว้ชัดเจนว่าบุคคลผู้เป็นข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ มีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวมอำนวยความสะดวกและให้บริการแก่ประชาชนตามหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี แล้วการที่ กทม.ทำโครงการนี้นั้นเป็นการรักษาผลประโยชน์ต่อส่วนรวมตรงไหน

แต่สิ่งที่กทม.กำลังดำเนินการอยู่นี้ท้าทายต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเป็นอย่างยิ่ง ถือว่าเป็นการเอาสมบัติสาธารณะมามอบให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลหรือเอกชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้แสวงหาประโยชน์ หรือเพื่อผลประโยชน์ของเอกชน ให้กับบริษัทห้างร้านสรรพสินค้า เพื่อให้ลูกค้าสะดวกในการเดินเข้ามาใช้บริการธุรกิจของตนฝ่ายเดียว หรือประโยชน์ของพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ที่ได้ใจต่อกลุมผู้ค้าฝ่ายเดียว แต่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนและเสียหายให้เกิดขึ้นกับประชาชนผู้ใช้ทางเท้าอันเป็นสมบัติสาธารณะอย่างชัดแจ้ง

ประเด็นดังกล่าว สมาคมฯเห็นว่ากทม. ดำเนินงานตามนโยบายที่ขัดต่อกฎหมาย ขาดกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างถนนคนเดินลอยฟ้าเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด ส่วนถนนทางเดินเท้าด้านล่างที่มีอยู่ก็จะถูกนำไปจัดสรรให้กับพ่อค้า-แท่ค้าแผงลอยได้ใช้ประโยชน์กันเต็มบ้านเต็มเมือง และกทม.ก็จะใช้เป็นข้ออ้างว่าไม่มีทางเดินเท้าที่โล่งเดินสบายบนทางเท้าเดิม ๆ ให้ประชาชนเดินได้ จึงต้องตั้งงบประมาณที่แสนแพงมาก่อสร้างหรือจัดทำทางเท้าลอยฟ้าให้เต็มบ้านเต็มเมืองเต็มไปหมดได้อีก ที่สำคัญการทำทางเดินเท้าลอยฟ้าดังกล่าวถือว่าเป็นส่วนหนึ่งหรือส่วนขยายของระบบขนส่งมวลชน ซึ่งต้องเขียนไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เสียก่อน แต่เมื่อสมาคมฯตรวจสอบแล้วไม่มีปรากฏหรือเขียนไว้เลย จึงเข้าข่ายผิดต่อ พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 โดยตรง ซึ่งไม่สามารถกระทำได้โดยทันที

สมาคมฯ จึงใคร่เรียนมายังผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและรัฐบาล เพื่อทบทวนหรือยุติโครงการทั้ง 2 ดังกล่าวเสียหรือดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อน หาก กทม.เพิกเฉยและยังคงจะดำเนินโครงการทั้งสองนี้ต่อไป สมาคมฯไม่มีหนทางอื่นใดที่จะยุติโครงการดังกล่าวได้ นอกจากการพึงกระบวนการศาลปกครองเท่านั้น

 

ประกาศมา ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2554

นายศรีสุวรรณ จรรยา
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประกัน 6 จำเลยข้อหาก่อการร้าย ศาลเลื่อนตรวจพยานหลักฐาน 11 ก.ค.

Posted: 28 Feb 2011 08:15 AM PST

 
28 ก.พ.54 เวลา 9.00 น. ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดตรวจหลักฐาน คดีหมายเลขดำ อ.2542/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวีระ มุสิกพงศ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) , นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ , นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย , น.พ.เหวง โตจิราการ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) , นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย กับพวกซึ่งเป็นแนวร่วม นปช. รวม 19 คน เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย และมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้น กระทำการเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินและก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก และฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
 
ทั้งนี้ แกนนำได้รับการประกันตัวออกไปก่อนแล้ว และจำเลยที่เหลือมาศาลครบทั้ง 8 คน (แกนนำประกันตัวออกไปก่อนแล้ว 7 ราย ยกเว้นเพียงนายจตุพร พรหมพันธ์ จำเลยที่ 2 และนายการุณ โหสกุล จำเลยที่ 9 เนื่องจากยังอยู่ในสมัยการประชุมสภาผู้แทนราษฎรจึงได้เอกสิทธิ์ ตามมาตรา 131 วรรค 3 ทีมทนายความร้องขอเปลี่ยนตัวองค์คณะผู้พิพากษาและห้องพิจารณาคดีเพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปอย่างเปิดเผย ศาลจึงอนุญาติให้เปลี่ยนจากห้อง 904   มาเป็นห้องพิจารณาคดี 704 ศาลมีคำสั่งเลื่อนการพิจารณาคดีเป็นวันที่ 11 ก.ค.54 หลังจากเลื่อนมาแล้ว 4 ครั้ง เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีความชัดเจนเรื่องของพยานและหลักฐาน และทนายฝ่ายโจทย์ขอรวมคดีให้พิจารณาคดีเป็นคดีเดียวกันเพิ่มอีก 4 คดี
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาคบ่ายทนายความยื่นขอประกันตัวแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ ทั้งหมด 8 ราย แต่ได้รับการประกันตัวเพียง 6 ราย เนื่องจากอีก 2 รายหลักทรัพย์ยังไม่พร้อม ทั้ง 6 รายใช้หลักทรัพย์วางเป็นจำนวนคนละ 600,000 บาท ได้แก่ นายสุขเสก พลตื้อ จำเลยที่ 12 นายจรัญ ลอยพูล จำเลยที่ 13 นายชยุต ใหลเจริญจำเลยที่ 15  นายสุรชัย เทวรัตน์ จำเลยที่ 17  นายยงยุทธ ท้วมมี จำเลยที่ 19 นายเจ็มส์ สิงสิทธิ์ (จำเลยคดีเลขที่อ.0757/2554) ขณะที่ทนายจะยื่นประกันตัวจำเลยอีก 2 คนอีกครั้งคือ นายสมบัติ มากทอง จำเลยที่ 16 และนายอำนาจ อินทโชติ จำเลยที่ 14
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พีมูฟจี้ ก.ทรัพย์ฯ ทบทวนหลักคิดและแนวทางการดำเนินงานของตนเอง เร่งหามาตรการดำเนินการ 17 พื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน

Posted: 28 Feb 2011 05:23 AM PST

เมื่อวันที่ 27 .. 54 ที่ผ่านมาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 12 เรื่อง กระทรวงทรัพยฯ ต้องทบทวนหลักคิดและแนวทางการดำเนินงานของตนเองเร่งหามาตรการดำเนินการ 17 พื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนโดยมีเนื้อหาดังนี้

 

 

แถลงการณ์ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ฉบับที่ 12

 

กระทรวงทรัพยฯ ต้องทบทวนหลักคิดและแนวทางการดำเนินงานของตนเอง

เร่งหามาตรการดำเนินการ 17 พื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน”

 

เมื่อวันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 13.00 น. ที่ผ่านมา ได้มีการเจรจาเปิดเจรจาอีกรอบ ระหว่างผู้แทนของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมกับผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 2 อาคารเทียมคมกฤส กรมป่าไม้ ซึ่งวัตถุประสงค์ในการเจรจารอบนี้คือการ หาแนวทางและข้อสรุปในประเด็นเรื่อง การนำ 17 พื้นที่ ที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยฯ ซึ่งมีนายสุวิทย์ คุณกิตติ มาดำเนินการเป็นพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน แต่เวทีประชุมกลับถูกทำให้บิดเบือนด้วยเล่ห์เหลี่ยมของกระทรวงทรัพฯ ว่า “เป็นการประชุมหารือ เพื่อพิจารณาตรวจสอบความเหมาะสมของพื้นที่ ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” ซึ่งในท้ายที่สุดได้ข้อสรุปเพียงว่า

 

1.     ให้ อส.ปม.ทช.เร่งรัดสำรวจข้อมูลประกอบด้วย

1.1) สภาพพื้นที่ สภาพป่า (อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมดหรือบางส่วน) ความลาดชัน ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ การใช้ประโยชน์ที่ดินที่ผ่านมา ภาระผูกพันต่างๆ เช่น สวนป่า พื้นที่ดำเนินคดี และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สถานภาพทางกฎหมาย เศรษฐกิจ สังคม การดำเนินการตามกฎหมายที่ผ่านมา การจับกุมดำเนินคดีทางอาญา  การดำเนินคดีทางแพ่ง และการรื้อถอนตามมาตรา  22 แห่ง พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 และมาตรา  24 แห่ง พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 เพื่อประกอบการพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ในการประชุมในครั้งต่อไป

1.2) ปัญหาอุปสรรค และประเด็นสำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การต่อต้านจากกลุ่มบุคคลอื่นในพื้นที่

2.     เนื่องจากการดำเนินการตามมติที่ประชุมดังกล่าว เป็นเรื่องละเอียดอ่อนจึงให้มีการรายงานผลที่ชัดเจน หากหน่วยงานใดสรุปผลการดำเนินการแล้วเสร็จ ให้รายงานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทราบโดยด่วน

 

จากมติที่ประชุมในข้างต้น ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ชี้ชัดว่า แท้จริงแล้ว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ได้ สนใจ จริงใจ เข้าใจ และใส่ในปัญหาคนยากคนจนสักกี่มากน้อย ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา เจ้ากระทรวงทรัพยฯ จึงทำตัวเหมือนไม่รู้สารู้สม ว่าชาวบ้านเรียกร้องต้องการให้แก้ปัญหาอะไรบ้าง กระทั่งการประชุมครั้งล่าสุดนี้ สิ่งที่กระทรวงทรัพยฯ กระทำการคือ การเตรียมแผนเพื่อต่อต้านและขัดขวางการดำเนินนโยบายโฉนดชุมชนในพื้นที่เขตป่า และขัดขวางการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลตามที่ได้กล่าวไว้ในข้อ 1 และ 2 ข้างต้น ซึ่งแน่นอนว่า หากยึดตามกฎเกณฑ์ดังกล่าวเป็นข้อปฏิบัติแล้ว หลายพื้นที่คงไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงทรัพยฯ ทบทวนหลักคิด และแนวทางการดำเนินงานของตนเอง ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาของคนจนที่แท้จริง อีกทั้งคณะรัฐบาลชุดใหญ่ ต้องอย่านิ่งเฉย ทำตัวเหมือนทองไม่รู้ร้อน แต่ควรมีมาตรการ มีคำสั่งอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดให้กระทรวงทรัพยฯ รวมถึงกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาคนจนให้แล้วเสร็จในเร็ววัน

 

คนจนทั้งผองพี่น้องกัน

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

27  กุมภาพันธ์ 2554

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“2012” ประเทศไทย

Posted: 28 Feb 2011 04:12 AM PST

มีปัญหาคณิตศาสตร์ที่น่าสนใจในปัจจุบันกลุ่มหนึ่ง คือ ระบบซับซ้อน (complex system) ผมจะมาแนะนำในภาษาของตนเองที่ไม่ใช่ผู้ชำนาญการ เพื่อนำเรื่องนี้เข้าสู่ปัญหาสังคมการเมืองไทยในปัจจุบัน โดยเริ่มจากตัวอย่างแรกของระบบประเภทนี้ คือ ระบบเคออส (chaotic system) ที่เป็นระบบเคลื่อนที่ชนิดหนึ่ง ซึ่งบางครั้งมีกลไกการเคลื่อนที่แบบง่ายๆ แต่กลับก่อให้เกิดผลการเคลื่อนที่อย่างสลับซับซ้อน กล่าวคือ ถึงแม้ว่าจะพยายามติดตั้ง (set) ให้ระบบประเภทเดียวกันเริ่มต้นเคลื่อนที่ให้คล้ายกันมากเพียงใด แต่ความแตกต่างเล็กน้อยที่จุดเริ่มต้นจะก่อให้เกิดผลพวงที่แตกต่างกันอย่างมากตามมา เช่น การเคลื่อนที่ของกระแสน้ำ สามารถเกิดการปั่นป่วน (turbulence) ได้หลายรูปแบบ, ระบบภูมิอากาศ ที่การก่อกวนระบบเล็กน้อยก็สามารถก่อให้เกิดผลขนาดใหญ่ เช่น พายุ เป็นต้น ที่เรียกกันว่า ผลของปีกผีเสื้อ (butterfly effect)

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ แฟรกทอล (fractal) ซึ่งเป็นระบบรูปร่างเรขาคณิตชนิดหนึ่ง ที่อาจมีกฎเกณฑ์ในการประกอบรูปร่างที่ไม่ซับซ้อน แต่กฎเกณฑ์เหล่านั้นจะก่อให้เกิดแบบแผนในลักษณะที่ว่า เมื่อมองจากภาพใหญ่ก็เห็นแบบแผนชนิดหนึ่ง และเมื่อมองจากส่วนย่อย ก็จะเห็นแบบแผนลักษณะเดียวกันหรือคล้ายกัน ซึ่งไม่ว่าจะใช้แว่นขยายส่องไปถึงส่วนย่อยระดับใด ก็จะยังคงเห็นแบบแผนลักษณะนั้นอยู่ เช่น กะหล่ำดอก (cauliflower หรือ broccoli) ไม่ว่ามองภาพดอกกะหล่ำทั้งหัว หรือหักกิ่งเล็กๆ ของดอกกะหล่ำออกมา ก็จะยังคงเห็นรูปร่างในแบบแผนเดียวกัน

และถ้าระบบแฟรกทอล มีการเคลื่อนไหวแบบเคออส ล่ะ ก็จะสามารถก่อกำเนิดแบบแผนใหม่ๆ หรือความสัมพันธ์ใหม่ๆ ขึ้นมาได้มาก ที่เรียกว่า การอุบัติขึ้น (emergence) ถึงแม้ว่าในระดับจุลภาคมีกลไกเกาะเกี่ยวหรือความสัมพันธ์กันแบบง่ายๆ แต่ก็สามารถก่อกำเนิดแบบแผนใหม่ๆ ในระดับมหภาค ที่สามารถส่งผลต่อทั้งระบบอย่างมหาศาล เปรียบได้กับ มดแดงตัวเล็กๆ แต่ละตัว ที่เรียบง่าย ทำอะไรได้น้อย แต่เมื่อรวมกันเป็นล้านตัวก็สามารถเกาะเกี่ยวกันสร้างสะพาน สร้างรัง ขนย้ายเหยื่อขนาดใหญ่ หรือบ่อนเซาะตึกทั้งตึกได้ (ขอขอบคุณผู้ที่แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องนี้กับผม)

ผมกำลังกล่าวถึง ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเริ่มยกตัวอย่างจาก เวบบอร์ด ซึ่งเป็น “โลกเสมือนจริง” ที่ให้แต่ละคนเข้ามาแชร์แลกเปลี่ยนกัน -> เมื่อเวบบอร์ดบางแห่งมีคนนิยม ก็มีคนสร้าง เวบท่า ขึ้นมารวบรวมเวบบอร์ดยอดฮิตหลายๆ อัน -> เมื่อระบบเครือข่ายเครื่องคอมพิวเตอร์เติบโตขึ้น ก็มีพื้นที่ให้ทุกๆ คนสร้างเวบบอร์ดของตนเอง -> เมื่อระบบ search engine เติบโตขึ้น ก็มีพื้นที่ให้เกิดเวบที่สามารถนำ “เวบบอร์ด” ของทุกๆ คนมาเชื่อมต่อกัน นั่นก็คือ เครือข่ายสังคมออนไลน์ (social network) เช่น Facebook นั่นเอง -> . . .

กลไกพลวัตของระบบนี้ก็คือ เมื่อที่แห่งใดมีคนนิยม ทุกคนก็พร้อมไปผูกติด (link) เกิดปม (node) ต่างๆ ขึ้น บางปมเล็ก บางปมใหญ่ และปมใหญ่ๆ ก็ค่อยๆ เติบโตขึ้น แล้วสร้างปมเล็กๆ ต่อๆ มาอีก เมื่อมีเหตุให้ปมใหญ่ยุบตัวลง ทุกคนก็พร้อมที่จะไป link กับปมใหญ่อื่นๆ เหมือนกับโรงเรียนฮอกวอร์ทส์ในนิยายและภาพยนตร์เรื่อง แฮร์รี พอตเตอร์ ที่บันไดและเส้นทางต่างๆ ในโรงเรียนเคลื่อนไหวได้ เปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ตลอดเวลา เครือข่ายสังคมออนไลน์เปรียบได้กับลวดลายของใบไม้ ในระดับเล็ก ปมต่างๆ ก็มีเครือข่ายเชื่อมโยงกัน และในระดับใหญ่ ปมใหญ่ๆ ก็มีเครือข่ายเชื่อมโยงกัน ดังนั้นถ้าเราเริ่มต้นจากปมเล็กปมหนึ่ง ต้องการเชื่อมต่อไปยังปมที่ยังไม่เคยเข้าไป ใช้เพียงแค่ “3 ต่อ” เท่านั้น กล่าวคือ ผ่านเพียงแค่ไม่กี่ links ก็สามารถเข้าถึงปมที่แปลกที่สุด radical ที่สุดได้ และระบบซับซ้อนนี้ก็พร้อมแล้วที่จะอุบัติสิ่งต่างๆ ขึ้นและส่งผลต่อระบบทั้งหมดอย่างมหาศาล!!

หลายสิบปีที่ผ่านมา “รัฐ” ควบคุมคนโดยใช้อุดมการณ์ แปรเป็นรูปธรรมผ่าน ระบบวินัย เช่น ประเพณี ธรรมเนียม กฎหมาย มีเจ้าหน้าที่ ตำรวจ กองทัพ ใช้อำนาจหน้าที่พิทักษ์รักษา รวมถึงการโฆษณาชวนเชื่อทางอุดมการณ์ ผ่านสื่อ สิ่งพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ และการปลูกฝังการศึกษา ให้ทุกคนในสังคมก็ช่วยกันพิทักษ์ปกป้องควบคุมกันเอง แต่บัดนี้การอุบัติตัวอย่างรวดเร็วของเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่การปิดกั้นเป็นไปได้ยากและไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ สิ่งเก่าๆ เริ่ม leak ทรุดตัวลง แม้แต่หลักการต่างๆ พื้นฐานต่างๆ และสถาบันต่างๆ ที่เคยมั่นคงยืนยงก็อ่อนยวบ ยุบตัวลง

นับตั้งแต่ขบวนการเสื้อแดงฟื้นตัวหลังจากที่กลไกจัดตั้งต่างๆ ถูกทำลายลงในช่วง 19 พ.ค. 2553 ก็เกิดภาพขบวนการที่ชัดเจนขึ้นว่าเป็น “ขบวนการไร้หัว” เปรียบเสมือนกับ “เครือข่ายใยแมงมุม” (ขอขอบคุณผู้เสนอคำและ concept เหล่านี้) ที่มีปมชนิดต่างๆ เป็นตัวปั๊มพลังมวลชนกระจายอยู่ทั่วโครงตาข่าย ผู้ที่เข้ามา เช่น ใส่เสื้อมายืน ก็อาจเป็นเพราะรับไม่ได้กับสองมาตรฐาน แต่ภายในไม่กี่ต่อ (links) ก็สามารถเข้าถึงส่วนที่ radical ที่สุดได้ หลายปีที่แล้วมีสถานีวิทยุชุมชน แต่ถึงทุกวันนี้ ใครๆ ก็สามารถตั้งสถานีวิทยุของตนเองได้ เช่น สถานีวิทยุอินเตอร์เนต แล้วการสนับสนุนมาจากไหน ก็สามารถมาจากทั้งเครือตาข่าย แกนนำนปช. มีความหมายน้อยลง กล่าวคือ มีบทบาทแค่คอยจัด event ขึ้น ให้ทุกคนมาแสดงพลังของตนเอง ส่วนพรรคเพื่อไทย แม้ว่าในปัจจุบัน “ไร้หัว” ที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วกัน แต่ก็มีฐานมวลชนที่แน่นแฟ้นใหญ่โตนัก ถ้ามองในอีกด้านหนึ่งของโลก การเมืองในประเทศตะวันออกกลางที่ผูกขาดอำนาจโดยกลุ่มชนชั้นนำบางกลุ่มมานานนับ 20-30 ปี ก็ถูกเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ก่อให้เกิดการสั่นกระเพื่อมทั่วทั้งตะวันออกกลาง (link ที่น่าสนใจ: AlJazeeraEnglish, Empire - Social networks, social revolution: http://www.youtube.com/watch?v=441HJTSUpXw)

อนึ่ง ผมไม่ได้คิดว่า การเปลี่ยนสถานะการเคลื่อนไหวของขบวนการเสื้อแดงเกิดจากเครือข่ายสังคมออนไลน์มีบทบาทสำคัญเพียงประการเดียว เพราะแม้แต่ชนบทรากฐานของเสื้อแดงก็เปลี่ยนแปลงอย่างมากเช่นกัน เช่น จากเกษตรกรรายย่อยเปลี่ยนไปเป็นอุตสาหกรรมของการทำการเกษตร แรงงานสามารถเคลื่อนย้ายทั่วประเทศและทั่วโลก การเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ เป็นต้น ซึ่งไม่สามารถมีกลุ่มใดหาข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำต่างๆ ได้โดยง่าย ส่วนที่เปลี่ยนช้าที่สุดกลับเป็นกลุ่มชนชั้นกลาง ปัญญาชน ที่มีชีวิตค่อนข้างมั่นคงและได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมน้อย

การเปลี่ยนแปลงที่เหมือนแผ่นดินไหวทรุดยวบลงในภาพยนตร์เรื่อง “2012” และในปี 2012 ก็จะยิ่งเปลี่ยนแปรไปมากกว่านี้ ในมุมมองผม ระบบพื้นหลังต่างๆ ไม่ได้พังทลายสูญหายไป แต่เป็นการเปลี่ยนแปร (transformation) ไปต่างหาก เช่น จาก A เป็น B ประชาชนก็ยังเป็นกลุ่มเดิมหรือคนเดิม แต่เปลี่ยนความสัมพันธ์แบบใหม่ โดยประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวจะสร้างรากฐานใหม่ๆ ขึ้นมาเอง บางคนเคยมองเห็นแต่แบบ A ไม่เคยพิจารณาแบบ B จึงรู้สึกว่าพังทลายไป หากสถาบันต่างๆ ต้องการอยู่รอดและยังคงนำบทบาท ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างมากหรือสิ้นเชิงเพื่อปรับให้เข้ากับระบบใหม่แบบ B แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์ตามปกติจะเป็น การเปลี่ยนแปลงแบบแทนที่ ก็ตาม เช่น เมื่อถางป่าทิ้ง ก็มีพืชบุกเบิกอย่างหญ้าคาขึ้น แต่ต่อมาก็มีไม้พุ่ม เช่น ต้นตะขบขึ้นแทนที่หญ้าคา แล้วป่าใหญ่ก็ค่อยเข้ามาแทรกและแทนที่ป่าตะขบ พืชรุ่นเดิมไม่สามารถเติบโตขึ้นเป็นพืชรุ่นใหม่ แต่ถ้าพืชรุ่นเดิมต้องการนำบทบาท มีแต่ต้องวิวัฒนาการแบบพืชรุ่นใหม่

แล้ว “การปฏิวัติของประชาชน” ล่ะ? ซึ่งเป็น concept ที่สามารถก่อให้เกิดความรุนแรง เช่น ระดับขั้นต้น คือ การปราบปราม มาถึงทุกวันนี้แล้ว ก็ทำได้แต่หนุนเข้าไปเพื่อให้พลังอย่างใหม่ขยายตัวจนสุดทางหรือถึงขีดจำกัด ของมัน โดยช่วยกันส่งผ่านข้อมูลและวิจารณ์ๆๆ บทบาทของทุกฝ่าย เพื่อให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างสันติวิธีมากที่สุด เพราะถ้ายังห่างไกลจากสถานะคู่คี่ก้ำกึ่ง หรืออยู่ในระดับที่ยังปราบปรามได้ การปราบปรามก็สามารถมีต่อไป ก็จะยิ่งเกิดความรุนแรง แต่ถ้าเลยจากสถานะคู่คี่ก้ำกึ่งจนมิอาจปราบปรามกันได้แล้ว ทุกฝ่ายก็จะปรับตัวกับยุคสมัยใหม่

และในระดับขั้นต่อไป เช่นว่า “ภายหลังการปฏิวัติประชาชน” (แค่สมมุตินะครับ) หลายท่านกังวลถึงการ “การพิทักษ์การปฏิวัติ” ในทำนองว่าอาจเกิดการทำลาย “ฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติ” เพื่อพิทักษ์ concept การปฏิวัติให้คงอยู่ ซึ่งเป็นด้านกลับของ “การล่าแม่มด” ผมคิดว่ายุคสมัยนี้ ไม่มีใครสามารถสร้างทฤษฎีพิมพ์เขียวหรืออุดมการณ์หรือความศรัทธาเช่นนั้นได้ ต่อให้มีใครทำได้ สิ่งต่างๆ เช่น “Facebook” จะทำให้มันล้าสมัยไปภายใน 2 ปี ดังนั้นเมื่อถึงตอนนั้น “คนเสื้อแดง” ก็กลับไปทำมาหากินครับ (ขอบคุณสำหรับผู้ที่เสนอทัศนะทำนองนี้แลกเปลี่ยนกับผม)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลสั่งปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังแดงมุกดาหาร เพิ่มอีก 6

Posted: 28 Feb 2011 12:45 AM PST

นักโทษคดีเผาศาลากลางมุกดาหารได้รับอิสรภาพตามหลังแกนนำอีก 6 ทีมทนายอาสาเตรียมยื่นประกันที่เหลือ โดยญาติๆ หวังจะได้ข่าวดี

สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังการได้รับอิสรภาพของแกนนำ นปช. ทั้ง 7 คน จากการที่ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ล่าสุดศาลจังหวัดมุกดาหารมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องขังคดีเผาศาลากลางอีก 5 คน เนื่องจากผู้ต้องขังมีอาการทางประสาท จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่เหมาะสม ศาลจึงอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อให้ผู้ต้องขังไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลจิตเวชนครพนม

ทั้งนี้ ผู้ต้องขังคดีการเมืองในเรือนจำมุกดาหารซึ่งส่วนใหญ่ถูกขังมานานกว่า 8 เดือน มีความเครียด และอาการทางประสาท มีผู้ต้องขัง 8 คน แล้วที่ถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลจิตเวช นครพนม ดังนั้น ทาง รพ.จิตเวชนครพนมจึงส่งแพทย์มาตรวจผู้ต้องขังที่ยังเหลืออยู่ในเรือนจำอีก 12 คน เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา และพบว่าเกือบทุกคนควรส่งไปรักษาตัวที่ รพ.จิตเวชนครพนม เพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ดังนั้น ทางเรือนจำมุกดาหารจึงทยอยส่งผู้ต้องขังออกมาตรวจยัง รพ.มุกดาหาร เพื่อให้แพทย์มีความเห็นส่งตัวไปรักษาที่ จ.นครพนม และเพื่อให้เป็นผลดีต่ออาการ และการรักษาตัวของจำเลย ญาติและทีมทนายจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่แพทย์มีความเห็นดังกล่าว ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมทนายอาสาของศูนย์ข้อมูลประชาชนฯ (ศปช.) ได้ยื่นขอประกันต่อศาล จำนวน 6 คน โดยเป็นการยื่นหลังจากที่แกนนำ นปช.ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว 5 คน ซึ่งทั้งหมด ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกัน

ด้านทีมทนายของ ศปช. นำโดย ทนายอานนท์ นำภา จากสำนักกฎหมายราษฎรประสงค์ เปิดเผยเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2554 ว่า ผู้ต้องขังที่ยังถูกควบคุมตัวอีก 6 คน ซึ่งมีความเครียด และอาการทางประสาทเช่นเดียวกัน ทีมทนายจะยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวทั้งหมดภายในสัปดาห์นี้ เพื่อให้ออกมาพักรักษาตัวอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ญาติๆ ตั้งความหวังว่า ศาลจะให้ความเป็นธรรมเช่นเดียวกับจำเลยคนอื่นๆ

โดยจำเลย 6 คน ที่ได้ประกันตัวสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แก่ นายทวีศักดิ์ แข็งแรง นายสมัคร ลุณริลา นายทองดี ชาธิพา นายสมคิด บางทราย นายบุญเทียน รูปสะอาด นายประครอง ทองน้อย

ส่วนจำเลยอีก 6 คน ที่ทนายเตรียมยื่นประกันได้แก่ นายไมตรี พันธ์คูณ นายจันที แสนลา นายณัฐวุฒิ พิกุลศรี นายวิชัย อุสุพันธ์ นายไพรวัลย์ พรเพ็ชร และนายทินวัฒน์ เมืองโคตร

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พราหมณ์นำแดงภูพานชุมนุม ด้านณัฐวุฒิโฟนอินขอบคุณ

Posted: 28 Feb 2011 12:23 AM PST

ณัฐวุฒิ” โฟนอินเวทีเสื้อแดงที่ภูพาน ลั่นเดินหน้าประกันผู้ต้องขังเสื้อแดงตามต่างจังหวัดอาทิตย์นี้ ด้าน “เหวง” ก้มกราบบนเวที ขอบคุณคนเสื้อแดงที่ช่วยให้ได้รับอิสรภาพ 

เมื่อ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา กลุ่ม นปช.สกลนคร และชมรมคนรักสกล นำทีมโดยนายศักดิ์ระพี พรหมชาติ พราหมณ์เสื้อแดง และประธาน นปช.สกลนคร จัดเวที “รวมพลคนภูพาน ต้านเผด็จการ” ณ สนามข้างห้างบิ๊กซี จ.สกลนคร มีคนเสื้อแดงจากอำเภอต่างๆ ในสกลนคร และจากจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ กาฬสินธุ์ มุกดาหาร นครพนม เดินทางมาร่วมเวทีอย่างคับคั่ง

ในช่วงค่ำนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้โฟนอินเข้ามาที่เวที โดยกล่าวทักทายและขอบคุณคนเสื้อแดงที่มาชุมนุมอยู่ที่เวที และเขายังกล่าวว่าในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ จะเริ่มดำเนินการเรื่องการประกันตัวพี่น้องที่อยู่ในเรือนจำจังหวัดต่างๆ ส่วนแกนนำและพี่น้องที่ยังหลบหนีหมายจับของ ศอฉ. อยู่ทั้งในและต่างประเทศ ก็จะได้ประสานงานมามอบตัวสู้คดี ก่อนการครบรอบ 1 ปี ของเหตุการณ์ 10 เมษายน

ช่วงดึก มีพิธีบายศรีสู่ขวัญให้แก่ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. ที่เดินทางมาร่วมเวทีพร้อมนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ และนายจตุพร พรหมพันธ์

โดยหลังจากประชาชนจำนวนมากที่มาร่วมเวทีนำด้ายมาผูกให้กับแกนนำแล้ว นพ.เหวงได้กล่าวปราศรัยว่า ถ้าไม่มีการต่อสู้ของคนเสื้อแดงอย่างไม่ขาดสาย และการนำพาการต่อสู้ของนางธิดา และนายจตุพร แล้ว เขาและแกนนำทั้ง 7 อาจติดคุกอยู่ถึง 10 ปี ดังนั้น นับตั้งแต่ก้าวแรกที่ออกจากเรือนจำเขาตั้งใจไว้ว่าจะมากราบขอบพระคุณพี่น้องทั้งหลาย

หลังจากนั้น นพ.เหวง ได้ก้มลงกราบบนพื้นเวที และได้กล่าวว่ายังมีภารกิจในการยืนหยัดเคียงข้างคนเสื้อแดงทั่วประเทศและทั่วโลกต่อสู้ให้ได้ประชาธิปไตยที่แท้จริงคืนมา และกล่าวย้ำถึงสิ่งที่แกนนำที่ได้รับการปล่อยตัวออกมาจะช่วยทำคือ เร่งดำเนินการให้มีการประกันตัวพี่น้องเสื้อแดงที่ยังถูกคุมขังอยู่ทั่วประเทศ โดยจะเริ่มยื่นประกันตัวพี่น้องในเรือนจำอุดรธานี 25 คน ในวันจันทร์ที่ 28  ก.พ.นี้ และเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในเหตุการณ์เดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553 รวมทั้งเร่งดำเนินการนำผู้ที่สั่งการเข่นฆ่าประชาชนมารับโทษตามกฎหมายทั้งในและต่างประเทศ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เกิดเหตุระเบิดในย่างกุ้ง เจ็บ 8

Posted: 28 Feb 2011 12:09 AM PST

เกิดเหตุระเบิดย่านอินเส่ง กลางนครย่างกุ้ง ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 8 คน นับเป็นเหตุระเบิดในอดีตเมืองหลวงครั้งแรกในรอบปี 54

เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่ย่านอินเส่ง เขตนครย่างกุ้งเมื่อเย็นวานนี้ (27 ก.พ.) เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 8 คน รวมถึงมือวางระเบิดด้วย ในจำนวนนี้มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส 1 คน โดยในจำนวนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ มีเด็กหญิงอายุ 3 ขวบและเด็กชายอายุ 13 ขวบรวมอยู่ด้วย ซึ่งขณะนี้ทั้งหมดกำลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล

ด้านเจ้าหน้าที่เปิดเผยว่า ระเบิดจุดชนวนขึ้นในกระเป๋าถือของชายคนหนึ่ง หลังจากที่เขาได้วางกระเป๋าลงข้างตัวและกำลังซื้อของ ซึ่งทางการพม่าเชื่อว่า ชายคนนี้น่าจะเป็นมือวางระเบิด โดยหลังจากเกิดเหตุ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทั้งหมดถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลใกล้เคียง และทางการพม่าได้เพิ่มกำลังรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดทันทีในพื้นทีเกิดเหตุ

ขณะที่เหตุระเบิดเมื่อเดือนเมษายนของปีที่แล้วที่เกิดขึ้นในย่างกุ้ง ถือเป็นเหตุระเบิดโจมตีที่รุนแรงที่สุดในรอบ 5 ปี ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 10 คน และได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 170 คน เนื่องจากเหตุระเบิดในครั้งนั้น เกิดขึ้นในช่วงที่มีการจัดฉลองเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ในพม่า ซึ่งมีประชาชนนับพันเข้าร่วมงาน

(สำนักข่าว AFP 28 ก.พ. 54)

 

แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊ค http://www.facebook.com/Salweenpost และทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พันธมิตรฯ ยอมคืน 2 ช่องการจราจรแล้ว

Posted: 28 Feb 2011 12:04 AM PST

"พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ" นำกำลังตำรวจรุกคืนช่องการจราจรจากพันธมิตรฯ บริเวณถนนราชดำเนินนอกฝั่งกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมจับชายหญิงพกปืน .38 พร้อมเครื่องกระสุนคารถซีวิค "จำลอง" เชื่อต่อไปรัฐบาลอาจสลายการชุมนุม

ตำรวจขอคืน 2 ช่องจราจรจากพันธมิตรฯ

เช้าวันนี้ (28 ก.พ. 54) ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์นำกำลังตำรวจในสังกัดกองปราบปราม ตำรวจภูธรภาค 2 ตำรวจภูธรภาค 7 รวม 4 กองร้อย ขอคืนพื้นที่ถนนราชดำเนินนอก โดยขอคืนพื้นผิวการจราจรจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งปักหลักชุมนุมอยู่ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ด้านหน้ากระทรวงศึกษาธิการ หรือบริเวณแยกสวนมิกสักวัน

โดยตำรวจได้ขอคืนพื้นผิวการจราจรบนถนนคู่ขนานถนนราชดำเนินนอกฝั่งกระทรวงศึกษาธิการ 2 ช่องทางเท่านั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้เครื่องขยายเสียงชี้แจงการทำงานและไม่ได้ใช้ อาวุธในการเข้าขอคืนพื้นที่ แต่อย่างใด

โดยใช้เวลาในการเข้าขอคืนพื้นที่เพียง 30 นาที ก็สามารถเปิดการจราจรถนนคู่ขนานได้ก่อนนำแผงเหล็กมาปิดกั้น กลางถนนระหว่างถนนราชดำเนินนอกกับกลุ่มผู้ชมุนุมเพื่อกั้นไม่ให้เข้าพื้นที่บริเวณถนนคู่ขนาน ก่อนเปิดการจราจรบริเวณถนนคู่ขนานในเวลา 06.15 น.

อย่างไรก็ตามภาย หลังการเข้าขอคืนพื้นที่ พบชายหญิงคู่หนึ่งขับรถเก๋งฮอนด้าซีวิค ออกจากด้านหลังเวที โดยมีพิรุธ เจ้าหน้าที่ตรวจชุดปะฉะดะ ของกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 จึงขอตรวจค้นพบอาวุธปืนขนาด .38 พร้อมเครื่องกระสุนปืนจำนวน 2 นัด พร้อมปลอกกระสุนปืนที่ใช้แล้วจำนวน 3 นัด

 

จำลองอัดแทนที่รัฐบาลจะลาออก กลับเลือกสลายการชุมนุม

ด้าน เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ระบุว่าพันธมิตรฯ ยอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดการจารจรเข้าในพื้นที่การชุมนุมว่า ตนยืนยันไม่ได้เป็นการยินยอม เพราะที่ผ่านมาเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมาร้องขอเพื่อเปิดการจราจร ตนก็ปฏิเสธกลับไปทุกครั้ง พอมาวันนี้ตำรวจใช้กำลังเปิดการจราจรเข้ามา แม้เราไม่ยินยอม แต่เมื่อผู้มีอำนาจต้องการก็ทำได้ทั้งนั้น โดยตนก็บอกกับผู้ชุมนุมไม่ให้มีพฤติกรรมรุนแรงต่อต้าน เพราะตำรวจต้องมาทำหน้าที่ตามที่รัฐบาลสั่งมา หากไม่ทำตามก็อาจจะต้องถูกลงโทษหรือโยกย้าย

“รัฐบาลใช้อำนาจบังคับให้ตำรวจต้องทำเช่นนี้ นี่ถือเป็นระยะแรกของการสลายการชุมนุม ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เกินคาดหมาย เพราะรัฐบาลยอมให้เราอยู่ที่นี่แล้วเปิดโปงความจริงต่อไปไม่ได้อีกแล้ว ก่อนหน้านี้รัฐบาลมีทางเลือกหลายทางโดยการทำตามที่ประชาชนส่วนมากเสนอ 3 ข้อเรียกร้องเพื่อรักษาดินแดน รัฐบาลก็ไม่ทำ เมื่อประชาชนเรียกร้องให้ลาออกไปก็ไม่ทำอีก และเลือกที่จะสลายการชุมนุมของประชาชนแทน” พล.ต.จำลองกล่าว

 

เชื่อเปิดทีวีประชาธิปัตย์ เพราะทนไม่ได้เจอเอเอสทีวีเปิดโปง

พล.ต.จำลองกล่าวอีกว่า รัฐบาลขณะนี้เดือดร้อนหนักจนจะอยู่ไม่ได้ ถึงเวลาต้องเลือกว่าประชาชนผู้ปกป้องแผ่นดินหรือรัฐบาลผู้ขายแผ่นดิน ล่าสุดมีการประกาศเปิดสถานีโทรทัศน์ของพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากทนไม่ได้ที่เอเอสทีวีเปิดโปงความล้มเหลวของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขณะนี้ประชาชนทั่วประเทศมีความไม่พอใจในการทำหน้าที่ของรัฐบาล ซึ่งตนก็ได้ประกาศไว้ว่าเมื่อตำรวจมากลั่นแกล้งพี่น้องที่อยู่ในที่ชุมนุม พี่น้องที่อยู่ทั่วประเทศก็อย่าเพิ่งออกมามาก ขอให้ผลัดเปลี่ยนกันมาตามปกติ เพราะในที่สุดแล้วเมื่อถึงเวลารัฐบาลจะเป็นผู้เป่านกหวีดเอง โดยการทำให้ประชาชนเจ็บช้ำน้ำใจมากกว่านี้ และเมื่อถึงเวลานั้นก็จะรู้กันเองว่าจะไปที่ไหน

 

โต้เรื่องจับคนพกอาวุธ เป็นความพยายามสร้างเรื่องสลายการชุมนุม

ส่วนการจับกุมผู้ต้องสงสัยพกพาอาวุธ พล.ต.จำลองกล่าวว่า เป็นเรื่องโกหก อาจเป็นความพยายามสร้างเรื่องเพื่อให้กิดความชอบธรรมในการสลายการชุมนุม แต่ตนขอยืนยันว่าตลอด 35 วันของการชุมนุมที่นี่มีกฎเคร่งครัดในการห้ามนำอาวุธ ของมึนเมา ยาเสพติด และคนเมาเข้ามาในพื้นที่ โดยเมื่อตำรวจขอเข้ามาตรวจอาวุธในพื้นที่ เราก็ยินดีให้เข้ามา แล้วก็พบมีดเพียง 1 เล่มเท่านั้น แล้วก็มีการดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยที่พันธมิตรฯ จะไม่ให้การช่วยเหลือ เนื่องจากทำผิดกฎที่ตั้งไว้ ตนยังบอกอีกว่า หากตำรวจต้องการเข้ามาค้นอีกเมื่อไรก็ยินดี แต่พอมาวันนี้ตำรวจจะลำบาก เพราะเมื่อเปิดพื้นที่ให้รถสัญจรผ่าน แล้วเกิดเหตุใดๆ ขึ้น คนก็จะสงสัยว่าก่อนตำรวจเข้ามาก็ไม่เห็นเกิดเหตุอะไรเลย

“ต่อจากนี้ตำรวจต้องมีหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด เพราะเมื่อเปิดให้รถวิ่งผ่านแล้วไม่มีการตรวจค้นโดยละเอียด หากเกิดเหตุตำรวจต้องรับผิดชอบ เนื่องจาก 35 วันที่ผ่านมาไม่มีเหตุรุนแรงใด นับจากวันนี้หากเกิดอะไรขึ้นรัฐบาลและตำรวจต้องรับไปเต็มๆ” พล.ต.จำลองกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากมีผู้ชุมนุมมากขึ้นจะมีการยึดพื้นที่คืนจาก ตำรวจหรือไม่ พล.ต.จำลองกล่าวว่า ยังไม่ได้คิดถึงตรงนั้น โดยยืนยันว่าเราต้องอดทน ไม่วิตก เพราะรู้ว่าตำรวจทำตามหน้าที่ ส่วนจะมีการขยายรุกคืบของตำรวจหรือไม่นั้น ต้องไปถามตำรวจเอง แต่อยากให้คิดว่ากลั่นแกล้งคนไทยด้วยกันเหมาะสมแล้วอย่างนั้นหรือ เมื่อเช้าตนยังขอร้องไม่ให้ตำรวจรื้อห้องน้ำ เพราะสร้างจากเงินบริจาคของประชาชน และหากทำลายทิ้งผู้ชุมนุมจะไปใช้บริการที่ใด

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุรพศ ทวีศักดิ์: เรื่องเล่า “ศีลธรรมอำมหิต”

Posted: 27 Feb 2011 11:38 PM PST

จำได้ว่าราวสองปีที่แล้ว มีพระจากวัดใหญ่แห่งหนึ่งแถวประทุมธานีมาเสนอโครงการเกี่ยวกับการจัดอบรมศีลธรรมโลกหรืออะไรสักอย่าง เสร็จแล้วผู้บริหารก็ให้มาคุยกับผม เมื่อพระท่านเล่ารายละเอียดให้ฟังว่ากิจกรรมในโครงการจะต้องมีการซื้อหนังสือธรรมะ มีค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบ มีการนำนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมกับทางวัดเป็นครั้งๆ ซึ่งทั้งหมดนั้นสรุปได้ว่าจำเป็นต้องบังคับหรือเกณฑ์นักศึกษาเข้าร่วมโครงการ โดยทางมหาวิทยาลัยจะต้องรับผิดชอบในการจัดการทั้งหมดนั้นให้ด้วย (ส่วนค่าใช้จ่ายอาจจะต้องให้นักศึกษาออกเงินเอง แต่ถ้าเข้าร่วมในระยะนี้ทางวัดก็มีโปรโมชั่นจัดส่วนลดเรื่องค่าใช้จ่ายให้)

ผมฟังท่านเล่าจบ ก็ตอบท่านไปตามตรง (คือผมไม่ชอบพูดอะไรอ้อมค้อม) ว่า “ผมไม่เห็นด้วยกับการบังคับหรือเกณฑ์เด็กเข้าร่วมกิจกรรมมอบรมศีลธรรม เรื่องแบบนี้ควรปล่อยให้เป็นความสมัครใจของเด็กเอง ทางวัดอาจจะติดโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์โครงการแล้วก็ให้เด็กเขาติดต่อสมัครเข้าร่วมโครงการเองจะดีกว่า”

พอผมพูดจบสังเกตเห็นว่า พระท่านแสดงสีหน้าไม่ค่อยพอใจ และพูดขึ้นว่า “ถ้าคิดแบบโยมโครงการของวัดก็คงทำไม่สำเร็จ อาตมาไปมาหลายที่ก็ได้รับความร่วมมือจากผู้บริหารของสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นอย่างดี เขายอมเกณฑ์เด็กเข้าร่วมกิจกรรม เพราะเขารู้ว่าในที่สุดมันก็จะเกิดผลดีแก่ตัวเด็กโดยตรง โยมก็รู้ว่าเด็กสมัยนี้เป็นอย่างไร จะให้เขาสนใจศาสนาเองคงเป็นเรื่องยาก อาตมาอยากถามว่าการบังคับเด็กให้ทำความดีนี่มันผิดตรงไหน”

ผมรู้สึกว่าบรรยากาศการสนทนากำลังตึงเครียด แต่ก็ยังตอบพระไปว่า “ผมเข้าใจว่าการบังคับเด็กให้ทำความดีนี่ผิดหลักการของพุทธศาสนาครับ ผมอาจจะเข้าใจผิดก็ได้ คือผมไม่เคยพบหลักฐานว่าพระพุทธเจ้าหรือพระสงฆ์สาวกบังคับให้ใครทำความดี หรือกะเกณฑ์ให้ใครๆ มาศึกษาปฏิบัติธรรม คนที่สนใจเขาก็เข้ามาหาพระพุทธเจ้าเอง เมื่อเขาฟังพระพุทธเจ้าแสดงธรรมหรือสนทนากับพระองค์แล้ว เขาเห็นว่าข้อคิดนั้นมีเหตุผลเขาก็นำไปปฏิบัติ เคยมีด้วยซ้ำไปครับที่มีคนนับถือศาสนาอื่นมาฟังธรรมแล้วเลื่อมใสจะเปลี่ยนมานับถือพระรัตนตรัย แต่พระพุทธเจ้ากลับเตือนให้เขาทบทวนการตัดสินใจ แสดงว่าพระองค์ไม่กระหายลูกศิษย์ใช่ไหมครับ โดยเฉพาะการศึกษาปฏิบัติธรรมในสมัยนั้นก็ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ด้วย ไม่มีบรรยากาศของการหมอบกราบฟังพระเพื่อที่จะเชื่อโดยไม่ต้องโต้แย้งเหมือนสมัยนี้”

คำพูดของผมยิ่งไปเพิ่มบรรยากาศการสนทนาให้ตึงเครียดมากขึ้น ผมรู้สึกว่าการสนทนากับพระวันนี้ไม่มีบรรยากาศของความสงบเย็นเลย หลังจากนิ่งไปพรรคหนึ่งพระท่านก็เป็นฝ่ายสรุปการสนทนาว่า “เอาล่ะถ้าโยมจะมีทิฐิอย่างนั้น ก็เป็นเรื่องของโยม อาตมาถือว่าวันนี้ได้ทำหน้าที่ของตนเองแล้วคือเอาบุญมาฝากโยม ...หมดธุระแล้วอาตมาต้องขอตัวกลับก่อนนะ”

พระท่านกล่าวลาด้วยท่าทีที่สงบสำรวม แต่เป็นท่าทีสงบสำรวมที่ทำให้ผมรู้สึก “เย็นยะเยียบ” ผมไม่เข้าใจความหมายของคำว่า “เอาบุญมาฝากโยม” และหากผมเห็นต่างจากพระผมจำเป็นต้องกลายเป็น “คนบาป” ด้วยหรือ เมื่อพระมาขอความร่วมมือในการทำโครงการอบรมศีลธรรม เรามีสิทธิจะให้ความร่วมมือหรือไม่ก็ได้ไม่ใช่หรือ พระไม่ควรจะแสดงออกถึงการอ้าง “อำนาจทางศีลธรรม” มาบังคับเราให้ร่วมมือ หรือเพื่อใช้เราไปบังคับให้เด็กเข้าร่วมกิจกรรมอบรมศีลธรรมอีกต่อหนึ่ง (โดยเฉพาะเมื่อเด็กต้องออกค่าใช้จ่ายจำนวนไม่น้อย)

และเมื่อเร็วๆ นี้ มีนักศึกษาจากชุมรมพุทธศาสนามาบอกกับผมว่า พวกเขาต้องการให้มหาวิทยาลัยจัดรถตู้พร้อมทั้งเบี้ยเลี้ยงให้คนขับรถ เบี้ยเลี้ยงให้สมาชิกชมรมที่ไปทำกิจกรรมซึ่งเขาได้รับเชิญไปอบรมความรู้ทางพุทธศาสนาที่หน่วยงานราชการแห่งหนึ่งแถวจังหวัดสุรินทร์ ผมถามว่าค่าใช้จ่ายพวกนี้ทางหน่วยงานที่เขาเชิญเราไปควรเป็นผู้รับผิดชอบมิใช่หรือ

และบังเอิญอ่านในโครงการมีเขียนไว้ในวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งว่า “เพื่อนำคำสอนที่แท้จริงของพุทธศาสนากลับมาสู่สังคมไทยและเป็นการปฏิบัติตามพระปฐมบรมราชโองการของในหลวง “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

ผมเลยลองถามเพื่อจะร่วมแลกเปลี่ยนว่า “เรามั่นใจได้อย่างไรว่า จะนำคำสอนที่แท้จริงของพุทธศาสนากลับมาสู่สังคมไทย” แต่คำตอบที่ได้ต้องทำให้ผมถึงกับอึ้ง คือ “ถ้าอาจารย์อยากรู้อาจารย์ต้องมาเรียนกับพวกผม” ผมเลยถามต่อว่า “แล้วอะไรคือคำสอนที่แท้จริงของพุทธศาสนา” เขาตอบว่า “คำสอนที่แท้จริงคือปรมัตถสัจจะเป็นคำตอบเดียวของพระพุทธเจ้า”

คำตอบนี้ทำให้ผมนึกถึงเมื่อปีก่อน มีนักศึกษาคนหนึ่งในชมรมนี้ ชวนผมไปฟังอาจารย์ฆราวาสที่พวกเขานับถือซึ่งเปิดบ้านของตัวเองสอนอภิธรรมที่ชะอำ ผมถูกรบเร้าอยู่หลายครั้งจึงลองไปฟังดู แต่พอได้ฟังเขาบรรยายว่า “ศาสนาคริสต์เอาปรมัตถธรรมไปจากพุทธศาสนา เมื่ออเล็กซานเดอร์มหาราชยกทัพมาโจมตีอินเดียแล้วเอาปรมัตถธรรมจากพุทธศาสนาไป ให้โมเสสซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมนำไปบรรจุไว้ในศาสนาคริสต์”

ผมถามว่าที่เขาเล่ามาเขาอ้างอิงหลักฐานอะไร และปรมัตถธรรมอะไรของพุทธศาสนาที่ถูกนำไปบรรจุไว้ในศาสนาคริสต์ แต่คำตอบของเขาคลุมเครือมาก ผมจึงติงว่าคำอธิบายแบบนี้มันเป็นการ “จับแพะชนแกะ”

ทว่า “ลีลา” การพูดของเขาชวนให้คนที่อาจไม่มีพื้นความรู้ด้านพุทธศาสนาดีพอเคลิบเคลิ้มและหลงเชื่อได้ว่าเขาคือผู้รู้จริง สไตล์ของเขาคือใช้วิธีอธิบายไปข่มคนอื่นๆ ไปว่า พระทุกวันนี้สอนพุทธศาสนากันผิดๆ แม้แต่พุทธทาสก็เข้าใจอภิธรรมไม่ถูกต้อง เป็นต้น หลังจากนั้นผมก็ไม่ไปฟังอาจารย์คนนี้อีกเลย พยายามอธิบายแง่มุมอื่นๆ ของความเป็นพุทธศาสนาให้นักศึกษากลุ่มที่ไปเป็นศิษย์ของอาจารย์ผู้นี้ที่มาตั้งชมรมของพวกเขาเอง แต่ไม่เป็นผล พวกเขา “ปิดประตูความคิด” อย่างสนิท ใครที่เห็นต่างจากที่อาจารย์ของพวกเขาสอนล้วนแต่เข้าใจพุทธศาสนาผิดหรือไม่รู้จริงทั้งสิ้น

หลังจากการสนทนาจบลงด้วยข้อสรุปว่า หน่วยงานที่เชิญไปเป็นวิทยากรควรรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ดูเหมือนว่านักศึกษาชมรมดังกล่าวไม่ค่อยพอใจนัก พวกเขาบอกว่าพวกเขากำลังทำตามแนวทางของในหลวงคือ “จะปกครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” โดยพวกเขาจะนำคำสอนที่แท้จริงของพุทธศาสนากลับมาแก้ปัญหาสังคมไทย พวกเขาทำงานด้วยความเสียสละ ถ้ามหาวิทยาลัยจะไม่สนับสนุนก็ไม่เป็นไร

ผมเองก็เข้าใจเจตนาดีของนักศึกษาชมรมพุทธศาสนาดังกล่าวดี อยากจะช่วยแต่มหาวิทยาลัยไม่มีงบประมาณที่ตั้งไว้ในแผน

แต่ที่รู้สึกสะเทือนใจก็คือว่า สังคมเรามีการปลูกฝังเรื่องทางศีลธรรมกันมาอย่างไร ทำไมคนที่คิดว่าตัวเองกำลังทำกิจกรรมอะไรในนามพุทธศาสนา ในนามของการทำเพื่อในหลวง จึงคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำจะต้องถูกโดยไม่มีข้อโต้แย้ง และเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการสนับสนุนเสมอ ใครไม่เห็นด้วยหรือไม่ให้การสนับสนุนคือคนผิด หรือเป็นคนที่ไม่เข้าใจ ไม่เห็นคุณค่าของการส่งเสริมศีลธรรม ที่สำคัญคนเหล่านี้เขาประเมินตัวเองจากกอะไรจึงถึงกับกล้าสรุปว่า พวกเขาคือผู้จะนำศีลธรรม นำปัญญาที่ถูกต้องกลับมาสู่สังคม

ทั้งที่จริงๆ แล้ว สิ่งที่เขากำลังจะทำและคิดว่าดีแก่สังคมมันอาจไม่ดีอย่างเขาคิดก็ได้ เหมือนกับที่มีการอ้างธรรมนำหน้า อ้างความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เพื่อสร้าง “อำนาจทางศีลธรรม” ไปกดข่มฝ่ายที่เห็นต่างจนทำให้เกิดปัญหาต่อการเปลี่ยนผ่านสังคมไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยดังที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้

แล้วการอ้างศีลธรรม อ้างความดีงามต่างๆ บางครั้งมันก็แสดงให้เห็นถึงความใจแคบ มีนัยของการใช้อำนาจบังคับคนอื่นๆ รวมทั้งอาจ อำมหิต” ต่อเพื่อนมนุษย์ที่มีความคิดเห็น มีอุดมการณ์แตกต่างอย่างเลือดเย็น!

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper