ประชาไท | Prachatai3.info |
- "ไตรรงค์" เผย "ฮุนเซน" บอกไม่มี "ทวิภาคี" อีกต่อไป-อาจยื่นให้ศาลโลกรื้อฟื้นคำพิพากษา
- นักข่าวพลเมือง: ชาวบ้านที่ลานพระรูป เจรจาคืบ รบ.รับนำปัญหาเร่งด่วนเข้า ครม. 22 นี้
- จำลองชี้ชุมนุมจะสำเร็จหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่จำนวน สำคัญที่คุณภาพผู้ชุมนุม
- เสวนา: ไทย-อินโด-มาเลย์ เผยประสบการณ์สื่ออินเทอร์เน็ตถูกปิดกั้น
- ศาลไม่ให้ประกัน ‘ดา ตอร์ปิโด’
- นักข่าวพลเมือง: ชาวบ้านเดินหน้าเจรจาฝ่ายการเมือง วอนสั่งระงับสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล
- นักข่าวพลเมือง: แผนจ่ายค่าลอดใต้ถุน บ.โปแตซ รอบ 2 กร่อย กลุ่มอนุรักษ์ฯ เย้ยชาวบ้านรู้ทัน
- รายงานเสวนา “ฝ่าวิกฤตชายแดนไทยเขมร”
- สำเนียงเสียงจาก"คีตาญชลี"...แด่ชุมชนมัฆวานผู้กระหายสงคราม?
- ภาคประชาสังคมฟ้องตั้ง กก.วัตถุอันตราย ไม่ชอบด้วย กม.-ส่อผลประโยชน์ทับซ้อน ศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉิน 23 ก.พ.นี้
- ธงชัย วินิจจะกูล: ปัญหาไทย-กัมพูชา คือปัญหาของ ‘ฝ่ายเจ้า’ ไทย
- กรุงเทพฯ: ศูนย์กลางความขัดแย้ง
- ศาล ปค.สูงสุด ชี้คำสั่ง กทม.ยกเลิกตำแหน่งกำนัน-ผญบ.ชอบแล้ว
- คนทำงาน ตปท. เสนอเพิ่มมาตรการลงโทษบริษัทหลอกลวง
- นักข่าวพลเมือง: กลุ่มอนุรักษ์อุดรฯรณรงค์เปิดโปงแผนจ่ายค่าลอดใต้ถุนของเอพีพีซี
"ไตรรงค์" เผย "ฮุนเซน" บอกไม่มี "ทวิภาคี" อีกต่อไป-อาจยื่นให้ศาลโลกรื้อฟื้นคำพิพากษา Posted: 17 Feb 2011 12:08 PM PST "ไตรรงค์" พบ "ฮุนเซน" ในการประชุมสุดยอดธุรกิจไทย-กัมพูชาครั้งที่ 1 ประจำปี 2554 ระบุ นายกฯ กัมพูชายันไม่มี "ทวิภาคี" อีกต่อไป และอาจยื่นให้ศาลโลกรื้อฟื้นคำพิพากษาปราสาทพระวิหาร (17 ก.พ.54) ผู้สื่อข่าว "มติชน" รายงานจากกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ว่าเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี และนายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าพบสมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา โดยนายไตรรงค์และคณะได้เดินทางไปยังกรุงพนมเปญ เพื่อเข้าเยี่ยมคารวะสมเด็จฯฮุน เซน และจัดกิจกรรมการประชุมสุดยอดธุรกิจไทย-กัมพูชาครั้งที่ 1 ประจำปี 2554 นายไตรรงค์ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าร่วมหารือกับสมเด็จฯฮุน เซน ว่า ทั้งสองฝ่ายหารือในเรื่องการค้าระหว่างไทยและกัมพูชา จากนั้นสมเด็จฯฮุน เซน ได้หยิบยกปัญหาเขตแดนมาหารือ โดยฝากไปยังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ว่ากัมพูชามีเจตนารมณ์ที่จะยุติความขัดแย้งชายแดนระหว่างกัน ร่วมแสวงหาหลักหมุดชายแดนโดยพร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำของยูเอ็นเอสซีที่ให้ หยุดยิงเป็นการถาวรและเจรจาทวิภาคี แต่สิ่งที่ต้องการของสมเด็จฯฮุน เซน คือน่าจะมีสักขีพยานในการเจรจา สักขีพยานจะมาจากสมาชิกทุกชาติของอาเซียน หรือเป็นประธานอาเซียนก็ได้ และสมเด็จฯฮุน เซน ไม่ต้องการเห็นสงครามคำพูดระหว่างกัน ด้านสมเด็จฯฮุน เซน แถลงถึงสถานการณ์ไทย-กัมพูชา ตอนหนึ่งว่า การประชุมสองฝ่ายระหว่างไทยกับกัมพูชาได้ยุติลง ต่อไปจะไม่มีการประชุมทวิภาคีอีกแล้ว การประชุมครั้งต่อไปต้องมีฝ่ายที่สาม จะต้องมีประธานอาเซียนซึ่งปัจจุบันเป็นอินโดนีเซีย ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เป็นการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ผู้ไปนั่งประชุมคือบุคคลที่สามแล้ว สมเด็จฯฮุน เซน กล่าวต่อว่า อาเซียนไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องชายแดนไทย-กัมพูชาได้ อาเซียนทำได้เพียงขัดขวางไม่ให้สองคนทะเลาะกัน ยูเอ็นเอสซีไม่มีบทบาทแก้ไขให้ปัญหามันจบสิ้นได้ แต่กัมพูชายังมีทางเดินของตัวเอง โดยจะฟ้องไปยังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice-ICJ) หรือศาลโลก ให้พิจารณารื้อฟื้นคำพิพากษาในคดีปราสาทพระวิหาร เมื่อปี 2505 อีกครั้ง เพื่อยุติข้อขัดแย้งในปัญหาเส้นพรมแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาอย่างชัดเจน
ที่มา: มติชนออนไลน์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
นักข่าวพลเมือง: ชาวบ้านที่ลานพระรูป เจรจาคืบ รบ.รับนำปัญหาเร่งด่วนเข้า ครม. 22 นี้ Posted: 17 Feb 2011 11:45 AM PST ผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาที่ดินทำกินอยู่อาศัย-คนจน ซึ่งชุมนุมอยู่บริเวณพระบรมรูปทรงม้าเป็นวันที่ 2 ยื่น 7 ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ ด้านนายกฯ-เจ้ากระทรวงที่เกี่ยวข้อง รับสั่งการต่อ 22 กรณี ส่วนประเด็นเร่งด่วน อาทิ เปิดเขื่อนปากมูล จะนำเข้า ครม. 22 ก.พ.นี้ วันนี้ (17ก.พ.54) กลุ่มชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากปัญหาที่ดินทำกินที่อยู่อาศัยและคนจนทั่วประเทศ ในนาม “ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม” อันประกอบด้วย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.), เครือข่ายสลัม 4 ภาค, สมัชชาคนจน (กลุ่มเขื่อนปากมูล) และเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คป.สม.) ได้ปักหลักชุมนุมที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าเป็นวันที่ 2 เพื่อให้รัฐบาลเร่งเจรจาและหาแนวทางการแก้ไขปัญหา ในเวลา14.00 น. ตัวแทนจากขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม แถลงข่าวระบุข้อเรียกร้อง 7 ข้อ เพื่อให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ เช่น กรณีที่มีมติการแก้ไขปัญหาในระดับอนุกรรมการให้นำเรื่องเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีมติภายในวันที่ 22 ก.พ.54 กรณีเรื่องโฉนดชุมชนซึ่งล่าช้าเนื่องจากติดขัดด้วยข้อกฎหมายและระเบียบของหน่วยงานต่างๆ ให้รัฐบาลเร่งรัดดำเนินการแก้ปัญหาโดยด่วน กรณีคดีความคนจนเรื่องที่ดิน ทรัพยากร และการเรียกร้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญให้พิจารณาสั่งไม่ฟ้อง ถอนฟ้อง และระงับการบังคับคดี อีกทั้งกรณีเร่งด่วนอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างกระบวนการแก้ไขปัญหาโดยยังไม่มีข้อยุติ รัฐบาลต้องเปิดให้มีการเจรจาเป็นรายกรณีกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อยุติโดยเร็วที่สุด จากนั้นเวลาประมาณ 16.00 น.ตัวแทน 56 คนจากกลุ่มปัญหาต่างๆ ในขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ได้เดินทางไปร่วมเจรจากับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยมีรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ผลการเจรจาในเบื้องต้น มีข้อสรุปแนวทางการแก้ปัญหาว่า จากกรณีที่ให้มีการสั่งการทันที 22 กรณี ที่คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหามีข้อยุติแล้ว จะมีการสั่งการให้ดำเนินการตามมติคณะอนุกรรมการฯ สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี 6 กรณีเพื่อขอให้มีมติ จะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 22 ก.พ.นี้ เช่น กรณีเปิดเขื่อนปากมูล 5 ปี พร้อมเงินชดเชยกว่า 600 ล้านบาท และกรณีการจัดทำกองทุนหมุนเวียนในการจัดการที่ดินในการจัดตั้งโฉนดชุมชน ส่วนข้อเสนอในเรื่องการคุ้มครองสิทธิอยู่อาศัยในที่ดินทำกินเดิม โดยไม่มีการจับกุม ข่มขู่ คุกคาม จนกว่ากระบวนการแก้ปัญหาจะแล้วเสร็จ โดยเฉพาะชาวบ้านที่อยู่ในเขตป่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบเพื่อนำไปดำเนินการต่อ สำหรับเรื่องโฉนดชุมชน มีข้อเสนอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ คือ (1) ชุมชนที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.)35 ชุมชน ให้ดำเนินการส่งมอบพื้นที่เพื่อจัดทำโฉนดชุมชน (2) ชุมชนที่ผ่านการตรวจสอบให้เร่งนำเข้าสู่การพิจารณาของ ปจช. (3) ชุมชนที่ยื่นเอกสาร และมีการตรวจสอบเอกสารแล้ว ให้ถือว่าเป็นชุมชนที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่อาศัยทำกินได้ โดยอยู่ภายใต้มติองค์กรชุมชน และมี ครม.รับรอง ให้เข้าครม.วันที่ 22 ก.พ.54 (4) ปรับแก้ระเบียบสำนักนายกที่เป็นอุปสรรค พร้อมไปกับการจัดทำ พ.ร.บ.โฉนดชุมชน และจะมีการทำ MOU ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการ ปจช.ว่าจะไม่มีการข่มขู่คุกคาม หรือดำเนินคดี (5) คดีความทางอาญา ให้มีมติ ครม.ผ่อนผันให้สามารถทำกินได้ตามวิถีชีวิตปกติ และให้มีมติ ครม.ยกเลิกอำนาจทางปกครองในการดำเนินคดีและบังคับคดีเรียกค่าเสียหายในทางแพ่ง (คดีฟ้องร้องเรื่องโลกร้อน) (6) ให้รัฐฯ นำร่องโดยสนับสนุน “กองทุนหมุนเวียนในการจัดการที่ดิน” ในการจัดตั้งโฉนดชุมชน ทั้งนี้ ข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมทั้งหมด 7 ข้อ ที่ประชุมรับข้อเสนอทั้งหมด โดยในการเจรจานายอภิสิทธิ์ กล่าวยอมรับว่า นโยบายโฉนดชุมชนมีปัญหาอุปสรรค์ในการบังคับใช้ ซึ่งหากหน่วยงานราชการ ที่เกี่ยวข้องต่างๆ พบปัญหาขอให้รายงานมาเพื่อที่รัฐบาลจะได้นำไปแก้ไข อีกทั้งให้คณะกรรมการกลุ่มย่อยที่ประชุมในวันเดียวกันนี้ เร่งจัดทำข้อสรุปของแต่ละกลุ่มเพื่อนำเข้า ครม.ร่วมทั้งเรื่องที่ต้องการให้มีการสั่งการจากฝ่ายนโยบายเพื่อการแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตาม จากการเจรจามีหลายกรณีที่ยังไม่มีความคืบหน้า เช่น กรณีความขัดแย้งเรื่องที่ดินในการดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ดินสาธารณะประโยชน์ในการดูแลของกระทรวงมหาดไทย และกรณีที่ดินทำกินบนหาดราไวย์ของชาวเลซึ่งถูกนายทุนอ้างสิทธิถือครองตามเอกสารสิทธิ์ โดยที่หลายกรณีมีการนัดพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งในสัปดาห์หน้า
กรอบหลักการและแนวทางการแก้ไขปัญหา 1. หลักการในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยึดถือหลักการสิทธิเกษตรกรและสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยให้ยอมรับว่าเกษตรกรรายย่อยและคนจนมีสิทธิ์ในการเข้าถึงที่ดิน โดยชุมชนสามารถอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินของชุมชนได้ตามปกติสุข มีสิทธิได้รับการพัฒนาสาธารณูปโภคสาธารณูปการขั้นพื้นฐาน ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีพ ตลอดจนสิทธิในการได้รับการบริการ ส่งเสริมสนับสนุนและการช่วยเหลือจากรัฐอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม จนกว่ากระบวนการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติ 2. เรื่องที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ อนุกรรมการหรือคณะทำงาน เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหา และคณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือคณะทำงานเหล่านั้น ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาจนได้ข้อยุติแล้ว ให้รัฐบาลสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ปฏิบัติตามในทันที ในกรณีที่ปัญหาที่ได้ข้อยุติแล้ว แต่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณารายละเอียดของหน่วยงานหรือกระบวนการแก้ไขปัญหาหยุดชะงัก ก็ให้รัฐบาลเร่งรัดสั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๗ วัน 3. เรื่องที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ อนุกรรมการหรือคณะทำงาน เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหา และคณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือคณะทำงานเหล่านั้น ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาจนได้ข้อยุติแล้ว และมีความจำเป็นต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ก็ให้รัฐบาลดำเนินการนำเข้าสู่ การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ในวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ 4. เรื่องการดำเนินการจัดให้มีโฉนดชุมชนตามระเบียบสำนักนายก ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.๒๕๕๓ ซึ่งปัจจุบันดำเนินการด้วนความล่าช้า อันเกิดจากการติดขัดกับกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิม จึงขอให้รัฐบาลเร่งรัดดำเนินการ ดังต่อไปนี้ ๔.๑ ชุมชนที่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบ ของคณะกรรมการประสานงานจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) แล้ว จำนวน ๓๕ ชุมชน ให้รัฐบาลสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการส่งมอบพื้นที่ให้แก่ชุมชนเพื่อนำไปบริหารจัดการภายใต้หลักการโฉนดชุมชนตามมติคณะกรรมการฯ (ปจช.) 5. กรณีคดีคนจน เรื่องที่ดินทรัพยากร และการเรียกร้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ๕.๑ คดีที่อยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน ให้พนักงานสั่งไม่ฟ้อง 6. ให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะกระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นข้อพิพาทเรื่องที่ดิน ทรัพยากร และสิทธิการชุมนุมเรียกร้องตามรัฐธรรมนูญ ต้องมีการตรวจสอบพิสูจน์การได้มาซึ่งเอกสารสิทธิ์ ที่นำมาเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องต่อกัน ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ รวมทั้งให้ศาลใช้วิธีการเดินเผชิญสืบในพื้นที่พิพาท โดยต้องให้ความสำคัญกับพยานหลักฐานอื่น เช่น หลักฐานทางสังคมมานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ชุมชนฯลฯ เพื่อให้คนจนเข้าถึงกระบวนการพิจารณาคดีและได้รับความเป็นธรรม ในการต่อสู้ทางคดีมากขึ้น 7. กรณีปัญหาของเครือข่ายที่อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหากับรัฐบาลและยังไม่มีข้อยุติ รวมทั้งกรณีเร่งด่วน (ตามเอกสารแนบ) รัฐบาลต้องจัดให้มีกระบวนการแก้ไขปัญหา โดยเปิดการเจรจาเป็นรายกรณีกับรัฐมนตรี และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ให้ได้ข้อยุติโดยเร็วที่สุด สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
จำลองชี้ชุมนุมจะสำเร็จหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่จำนวน สำคัญที่คุณภาพผู้ชุมนุม Posted: 17 Feb 2011 11:21 AM PST ยันพันธมิตรฯ ไม่มีเส้น ลั่นให้รัฐบาลเลือกระหว่างสลายชุมนุมกับลาออก พร้อมเสนอ ทุกปีซ้อมรบอยู่แล้ว แค่ย้ายไปใกล้ชายแดน ให้กัมพูชารู้ว่ามีกำลังทางอากาศมากกว่าเป็นร้อยเท่า ด้านปานเทพยันเลยเวลาดีเบตกับรัฐบาลแล้ว แต่เสนอให้อภิปรายออกสื่อคนละเวลา ฟากละ 3 ชม. ส่วนกรณี “วีระ สมความคิด” ตัดสินใจขออภัยโทษ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแม่ที่อายุมากเป็นห่วงบุตรชาย จำลองลั่นการชุมนุมจะสำเร็จหรือไม่ อยู่ที่คุณภาพของผู้ชุมนุม ประเด็นเรื่องการมีชาตินิยมแบบระราน พล.ต.จำลองกล่าวว่า เราไม่ได้มีชาตินิยมแบบระราน เขา (กัมพูชา) ต่างหากที่มาระรานเรา เขามายึดดินแดน แต่เราไม่ได้ผลักดันออกไป ปล่อยไว้จนเกิดเรื่อง 7 คนไทยถูกจับ ถ้ายังไม่ทำอะไรจะเกิดเหตุตามมาได้ ส่วนกรณีของนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง พล.ต.จำลองกล่าวว่า เป็นมิตรเก่าที่ไปรับงานรัฐบาล เขาก็ให้โฆษณา ให้ทำรายการ ต่อกรณีที่นายกฯ บอกว่าพันธมิตรฯ มีทิฐิมาก ไม่ยอมมาเจรจากัน พล.ต.จำลองกล่าวว่า เจรจาหลายครั้งแล้วก็ล้มเหลวมาตลอด อยากให้นายกฯ ทำหน้าที่ของตนที่ดีกว่ามาเจรจา แต่ถ้าต้องการเจรจาอีกก็ทำได้ แต่ไม่ใช่การมาโต้วาทีกัน ต้องเจรจาและถ่ายทอดไปทุกช่อง ให้ทุกฝ่ายได้พูด โดยพูดทีละฝ่าย ที่ผ่านมาเจรจากันหลายครั้ง ประชุมลับก็มี ออกทีวีก็มี แต่สุดท้ายนายกฯ ก็โกหกมาโดยตลอด อยากให้เอาเวลาไปแก้ไขปัญหาดีกว่า ยันพันธมิตรฯ ไม่มีเส้น มาของเราเดี่ยวๆ พล.ต.จำลองกล่าวว่า ตอนนี้เราเสียดินแดนไปแล้ว และจะเสียดินแดนอีกมหาศาล ถ้ารัฐบาลไม่ทำอะไร ปัญหาก็จะตามมา เราติดตามเรื่องนี้มาตลอด 1 ปีกว่า ซึ่งไม่มีครั้งไหนที่มีปัญหากระทบกับประเทศชาติใหญ่เท่าครั้งนี้ ส่วนที่มีข้อสังเกตว่าทำไมไม่ใช้กลไกรัฐสภาในการแก้ไขปัญหา พล.ต.จำลองกล่าวว่า ถ้าใช้ได้จริงเราใช้ไปแล้ว ในปี 2535 ตนคัดค้านการสืบทอดอำนาจในสภาแต่ใช้ไม่ได้ผลจึงต้องออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนน กองทัพมีแสนยานุภาพต้องใช้ให้เหมาะสม เป็นกำลังอำนาจในการต่อรอง สำหรับจุดยืนของพันธมิตรฯ 3 ข้อนั้น พล.ต.จำลองกล่าวว่า ต้องการให้นายกฯ ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกมรดกโลก เลิกเอ็มโอยู 2543 และให้ผลักดันกัมพูชาออกไป แต่ที่ชุมนุมก็ได้ยกระดับเป็นขับไล่รัฐบาล และเมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่มีการปะทะกัน ก็มีข้อเรียกร้องเพิ่มเติมคือ ขอให้ทำลายถนนที่กัมพูชาสร้างเข้ามาในดินแดนไทย และต้องตัดเส้นทางผ่านของยุทธปัจจัยต่างๆ เช่น น้ำมัน และอาหาร ถ้ารัฐบาลยุบสภาแล้วจะเป็นอย่างไร พล.ต.จำลองกล่าวว่า ยุบสภาหรือไม่ยุบสภาไม่เกี่ยว เราต้องการให้ทำหน้าที่ปกป้องแผ่นดิน ถ้ายุบสภาแล้วพรรคไหนมา ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนก็ต้องทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของไทย การชุมนุมครั้งนี้แพ้ไม่ได้ เพราะจะประเทศไทยเสียดินแดน ถ้าแพ้ก็หมายถึงเราทุกคนแพ้ บ้านเมืองแพ้ ประเทศแพ้ ซึ่งสะเทือนไปถึงพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงทศพิธราชธรรม แต่เราต้องเสียดินแดนภายใต้รัชกาลของพระองค์ การชุมนุมครั้งนี้ต้องชนะอย่างเดียว พล.ต.จำลอง ได้ยกเนื้อร้องเพลงชาติไทย ที่ว่า “ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่ สละเลือดทุกหยาดเพื่อชาติพลี...” จึงจำเป็นต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ และถ้าเหตุการณ์ไทยกับกัมพูชาจะบานปลายไปสู่สงคราม ก็เป็นเพราะนายกฯ ไม่ทำอะไร ถ้านายกฯ ทำตามข้อเสนอของเราปัญหาก็จบ ส่วนถ้าจะเอากฎหมายมาบังคับใช้ตนยอมรับ จะติดคุกติดตะรางเพื่อการต่อสู้ครั้งนี้ก็ไม่เป็นไร ตนไม่เคยโวยวาย เพราะคิดว่าต้องทำเพื่อชาติ ถ้าจะต้องติดคุกก็ติดไป และได้ย้ำว่าการต่อสู้ครั้งจะแพ้ไม่ได้ ล่าสุด จำลองยันยังไม่เคลื่อน แต่ให้รัฐบาลเลือกระหว่างสลายชุมนุมกับลาออก โดย พล.ต.จำลอง กล่าวถึงแนวทางการชุมนุมเกี่ยวกับการเคลื่อนขบวนออกไปกดดันตามสถานที่ราชการว่า ยังอยู่ในแผนการ แต่อย่าใจร้อน โดยคณะกรรมการรวมพลังปกป้องแผ่นดินจะมีการหารือเพื่อประเมินสถานการณ์โดยตลอดว่า ทำอย่างไรการชุมนุมได้ผลดียิ่งขึ้น ซึ่งไม่สามารถกำหนดเวลา หรือสถานที่ในตอนนี้ได้ อย่างไรก็ตาม เห็นว่า การกดดันในพื้นที่นี้รัฐบาลก็ลำบากอยู่แล้ว พยายามกดดันกลั่นแกล้งเราโดยตลอด ส่วนกรณีหมายเรียกจากทางตำรวจนั้น ตนยังไม่ได้รับ พล.ต.จำลอง กล่าวอีกว่า รัฐบาลมีทางเลือก 2 ทาง คือ ลาออกไป หรือสลายการชุมนุม ซึ่งนักการเมืองยอมเลือกทางที่จะสลายเราอยู่แล้ว เพราะต้องการอยู่ในอำนาจนานๆ แต่ขอยืนยันว่า ไม่ได้มาชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาล เมื่อรัฐบาลไม่ออกมาทำหน้าที่ปกป้องแผ่นดินตามที่ภาคประชาชนได้ให้เวลามามากแล้ว ผู้ชุมนุมก็ออกความเห็นว่าให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออก เมื่อไม่รับผิดชอบเราก็ชุมนุมอยู่เช่นนี้ และถ้ารัฐบาลลาออกไป เราก็ต้องอยู่ให้แน่นอนว่าจะมีผู้มาทำหน้าที่ปกป้องแผ่นดินแล้ว เราจึงจะยุติการชุมนุม ขณะนี้จึงยังไม่สามารถกำหนดเวลาได้ “เราอยู่กันมาเป็นวันที่ 24 ด้วยความเรียบร้อย ซึ่งรัฐบาลมีความจำเป็นที่ต้องการให้เราออกมาจากที่นี่ ไม่เช่นนั้นรัฐบาลก็ต้องเป็นฝ่ายไป เพราะอยู่ด้วยกันไม่ได้แล้ว เนื่องจากเรานำเรื่องจริงมาเปิดโปงมีการถ่ายทอดไปทั่วประเทศ และต่างประเทศ รัฐบาลจึงยอมไม่ได้” พล.ต.จำลอง กล่าว เสนอให้ซ้อมรบใกล้ชายแดน ให้กัมพูชารู้กำลังทางอากาศ ในส่วนการเปิดเวทีนำเสนอข้อมูลที่มีสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย พล.ต.จำลอง กล่าวว่า เหตุใดเราจึงจะไปทำเรื่องที่ล้มเหลวมาแล้วซ้ำอีก พันธมิตรฯจึงเสนอวิธีที่ให้ความเป็นธรรมสองฝ่าย โดยใช้เวลาเท่ากันในเวลาเดียว ซึ่งคนที่จะมาทำหน้าที่ซักถามต้องมีความเป็นกลางไม่อคติ เช่น นักวิชาการที่รับจ้างรัฐบาล 7.1 ล้านบาท มาซักถามเรา ลั่นเลยเวลาดีเบตแล้ว แต่ใช้วิธีผลัดกันออกสื่อคนละ 3 ชั่วโมงแทน ดังนั้นเราจึงเสนอให้ฝ่ายรัฐบาลและภาคประชาชนได้ใช้เวลาของตัวเองเต็มที่ 3 ชั่วโมง คนละวัน โดยที่ไม่ต้องมีใครมาแย้ง โดยสมาคมนักข่าวฯ ควรจัดบุคคลที่เป็นกลางปราศจากอคติ ไม่ใช่ผู้ที่มีประสบการณ์ความรู้แต่มีอคติ รวมทั้งต้องเป็นบุคคลที่ไม่มีผลประโยชน์จากภาครัฐทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่าประชาชนได้ประโยชน์จากข้อมูลที่แท้จริง โดยให้ภาคประชาชนที่มีความเห็นขัดแย้งดับรัฐบาลได้มีพื้นที่สื่ออย่างเต็มที่ ชี้วีระตัดสินใจขออภัยโทษเพราะแม่ที่อายุมากเป็นห่วงบุตรชาย นายปานเทพ กล่าวว่า นายฮุนเซน คงใช้วิธีการบีบคั้นจิตใจ นายวีระ และ น.ส.ราตรี ให้ยอมสารภาพว่าอยู่ในดินแดนกัมพูชา ทั้งที่ทั้งคู่ไม่ยอม และไม่รับว่าอยู่ในพื้นที่กัมพูชา ที่สำคัญศาลกัมพูชาเป็นเรื่องการเมืองที่นายฮุนเซนจะสั่งการอย่างไรก็ได้ ไม่เป็นที่ยอมรับในเวทีสากล ดังนั้น จะสู้อย่างไรก็ไม่มีทางชนะ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลที่ต้องออกมาตรการกดดันที่ชัดเจนให้กัมพูชาทำตามที่ได้ตกลงกันไว้ เมื่อถูกบังคับให้กล่าวเท็จยอมรับว่าอยู่ในดินแดนกัมพูชา โดยใช้ข้อแลกเปลี่ยนว่ามิเช่นนั้นจะต้องถูกจำคุก 6 ปี หรือ 8 ปี เป็นการบังคับขู่เข็ญโดยแท้ อย่างไรก็ตาม เราเห็นใจ นายวีระ และ น.ส.ราตรี ที่ยืนหยัดการต่อสู้ด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง แต่เพราะคุณแม่ของนายวีระก็อายุมากแล้ว เกิดความเป็นห่วงบุตรชาย จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นายวีระตัดสินใจ โดยที่รัฐบาลไทยไม่ช่วยเหลือใดๆ แม้แต่เรื่องง่ายๆ อย่างการแปลคำพิพากษา หรือการทำงานของทนาย ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล เป็นการกลั่นแกล้งคนไทยที่เจตนาดีในการพิสูจน์ว่า ราษฎรไทยถูกกัมพูชารุกที่จริง เป็นการสำแดงอำนาจทางศาลเหนือดินแดนไทย ซึ่งรัฐบาลต้องมีมาตรการช่วยเหลือมากกว่านี้ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เสวนา: ไทย-อินโด-มาเลย์ เผยประสบการณ์สื่ออินเทอร์เน็ตถูกปิดกั้น Posted: 17 Feb 2011 11:01 AM PST เสรีภาพอินเทอร์เน็ตไทยเข้าขั้นเลวร้าย ตัวกลางถูกกดดัน อินโดนีเซีย เผชิญกลุ่มเคร่งศาสนา มาเลเซียเจอสารพัดกฎหมายควบคุมสื่อ 17 ก.พ.54 ศูนย์นโยบายสื่อมวลชนไทย คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับเครือข่ายพลเมืองเน็ต และซีป้า (Southeast Asia Press Alliance – SEAPA) จัดเสวนา “เสรีภาพอินเทอร์เน็ตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: แนวคิดใหม่ อุปสรรคใหม่ (A Public Forum on Internet Freedom in Southeast Asia: New Frontier, New Barrier)” ที่ห้อง 210 ตึกมหาจุฬาลงกรณ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สุภิญญา กลางณรงค์, สตีเวน กัน บรรณาธิการบริหารมาเลเซียกินี และเมกิ มาจิออโน เจ้าหน้าที่พันธมิตรสื่อเสรี (AIJ) ร่วมอภิปรายหัวข้อ “การเมืองดิจิตอลทศวรรษหน้า : การปิดกั้นอินเทอร์เน็ตและเสรีภาพในการแสดงความเห็น (Southeast Asia’s Digital Politics in next Decade : Implications for Internet Censorship and Freedom of Expression)”
ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา มีการปิดกั้นเว็บไซต์เป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีการปิดกั้นเว็บไซต์ YouTube.com เป็นเวลานาน และช่วงปีที่ผ่านมามีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่งผลให้เสรีภาพอินเทอร์เน็ตไทยเลวร้ายลงกว่าปี 2549 ที่มีการใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ ทางการปิดกั้นเว็บไซต์โดยไม่รอคำสั่งจากศาล พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งเร่งออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็เป็นกฎหมายที่ไม่สมบูรณ์ เมื่อบังคับใช้จึงเห็นความผิดพลาด และความไม่ชัดเจน โดยปรกติการปิดกั้นเว็บไซต์ในประเทศไทยต้องขอคำสั่งจากศาล แต่งานวิจัยพบว่า มีการปิดกั้นยูอาร์แอลกว่า 70,000 ยูอาร์แอล โดยไม่มีคำสั่งจากศาลแต่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ไอซีที) มีคำสั่งให้จับตาตัวแทนผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) จำนวน 125 ราย ซึ่งให้บริการในประเทศไทย ขณะที่ ISP ร้องเรียนว่าไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนว่าจะปิดกั้นเว็บไซต์ใด แต่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กลับลงโทษผู้ให้บริการ ตัวอย่างเช่น กรณีของจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ซึ่งเสี่ยงต่อการติดคุก 50 ปี จากการนับจำนวนยูอาร์แอลที่ถูกกำหนดโทษ คดีของประชาไทจึงบ่งชี้อนาคตได้ว่า ISP จะต้องรับผิดชอบมากน้อยเพียงใด ซึ่ง ISP เป็นเพียงตัวกลางที่ให้ข้อมูลข่าวสารไหลผ่าน เปรียบเหมือนคนส่งจดหมาย เมื่อ ISP หรือตัวกลางเจออุปสรรคเช่นนี้ อาจตัดสินใจลดความเสี่ยงโดยการปิดตัวเอง ซึ่งในขณะที่ประชาไทเปิดเวทีให้ประชาชนได้แสดงออกซึ่งความคิดเห็น เว็บบอร์ดอื่นๆ กลับปิดตัวลง การควบคุมเนื้อหาทางอินเทอร์เน็ต ควรมีมาตรฐานบางอย่างที่ประนีประนอม ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ISP ไม่ต้องมีความรับผิดชอบ แต่อาจใช้วิธีการสอดส่องกันเองแทนการตื่นตระหนกของรัฐบาลและการลงโทษอย่างรุนแรง ประเทศไทยผ่านวิกฤติมาหลายครั้ง การที่ผู้คนได้แสดงความคิดเห็นเพื่อระบายความในใจ จะทำให้รู้สึกดีขึ้นในภาวะที่เกิดวิกฤติ การที่รัฐบาลวิตกกังวลต่อการที่มีผู้แสดงความคิดเห็นทางอินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก ว่าจะกระทบต่อความมั่นคง ปีที่แล้วมีผู้แสดงความคิดเห็นในอินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นการคัดค้านการยุบสภาตามข้อเรียกร้องของ นปช. ผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางที่สนับสนุนรัฐบาล เหตุใดรัฐบาลจึงเกิดความกลัว รัฐบาลควรเปลี่ยนนโยบายเสียใหม่ เพราะการปิดกั้นนั้นไม่ได้ผล ประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนผ่าน หลายฝ่ายตื่นตระหนกง่าย จึงเกิดปฏิกิริยาสุดโต่ง ทำให้เกิดการต่อสู้กันระหว่างขั้วต่างๆ ถ้ามองจากมุมของรัฐบาล อาจจะไม่ง่ายที่จะวางกรอบของเสรีภาพอินเทอร์เน็ต ขั้วของฝ่ายอำนาจนิยมอาจโจมตีรัฐบาลว่าไม่ปิดเว็บไซต์ และหากรัฐบาลปิดกั้นเว็บไซต์ก็อาจมีแรงต้านจากขั้วเสรีนิยมที่มีจำนวนมากขึ้นทุกที ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะคนรุ่นใหม่ ทิศทางข้างหน้า ประเทศไทยกำลังเดินมาถึงทางแยก วันหนึ่งหากมีคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ในอนาคตอันใกล้เราไม่สามารถยับยั้งการใช้อินเทอร์เน็ตได้ และปัจจุบันมีคนใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้น ที่สุดแล้วรัฐบาลไทยจะเดินนโยบายตามแบบรัฐบาลจีน หรือใช้รูปแบบที่ยืดหยุ่นตามแบบของประเทศประชาธิปไตย ประเทศไทยอยู่ในจุดที่ไม่สามารถถอยหลังกลับได้แล้ว ฮิลลารี่ คลินตัน กล่าวว่า อินเทอร์เน็ตไม่ได้ทำอะไร แต่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นโดยคน อินเทอร์เน็ตคือการเชื่อมโยงให้เข้าถึงกัน วัฒนธรรมอินเทอร์เน็ตคือการแบ่งปัน ยิ่งแบ่งปันมากข้อมูลข่าวสารก็แพร่กระจายไปได้มาก ขอให้รัฐบาลไทยโชคดี และฉลาดพอที่จะทำเรื่องนี้ และสามารถผ่านเรื่องนี้ไปได้ ที่สุดแล้วประเทศไทยน่าจะพบทางของตัวเอง และเป็นตัวอย่างของภูมิภาคนี้
เมกิ มาจิออโน (Megi Margiono) ผมอยากแบ่งปันประสบการณ์ของอินโดนีเซีย เราไม่ได้เจออุปสรรคเฉพาะแต่รัฐบาล เรายังเจอกลุ่มอนุรักษ์นิยมทางศาสนา ซึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลควบคุมอินเทอร์เน็ตมากขึ้น รัฐบาลจะเซ็นเซอร์ภาพลามกอนาจารบนอินเทอร์เน็ตและดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อคุ้มครองเด็ก ซึ่งความจริงแล้วจำนวนการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อดูภาพลามกมีอยู่ไม่มาก คนส่วนใหญ่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อติดตามข่าวสาร และเพื่อใช้เฟซบุ๊ก ดังนั้นความตื่นตระหนกของรัฐบาลต่อการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อดูภาพลามกจึงเป็นเรื่องไม่จริง 10 ปีที่ผ่านมานี้ ผู้คนหันมาสนใจข่าวสารบ้านเมืองมากขึ้น แต่กลุ่มเคร่งศาสนายังคงข้ออ้างเดิมๆ คือภาพลามกอนาจารอยู่ตลอดเวลา ปีที่แล้วมีเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ ปปช. 2 คนโดนตำรวจจับกุมและตั้งข้อหาทุจริต มีผู้ใช้เฟซบุ๊กกว่า 1 ล้านเรียกร้องให้ปล่อยตัวเจ้าหน้าที่ทั้งสองคน อีกกรณีหนึ่ง ผู้หญิงคนหนึ่งถูกโรงพยาบาลเรียกค่าปรับเป็นเงินจำนวนสูงมาก มีการรณรงค์บนอินเทอร์เน็ตเพื่อขอบริจาคเงินเหรียญ ปรากฏว่าจำนวนเงินที่ได้รับบริจาคมามีจำนวนสูงกว่าค่าปรับของโรงพยาบาลมาก กระทรวงไอซีทีของอินโดนีเซีย เสนอกฎหมายควบคุมเว็บไซต์ลามกและการดูหมิ่นศาสนา มีการตั้งกลุ่มรณรงค์บนเฟซบุ๊ก เพื่อต่อต้านกฎหมายฉบับนี้ มีผลทำให้รัฐบาลยอมเลื่อนการออกกฎหมายฉบับนี้ออกไป รัฐมนตรีไอซีทีซึ่งมาจากพรรคอนุรักษ์นิยมบอกว่า มีเว็บไซต์ลามกอนาจารมากกว่า 1 พันล้านหน้า และยังมีเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาลบหลู่ศาสนา จึงจำเป็นต้องมีการควบคุม กลุ่มเคร่งศาสนาบอกว่ารัฐบาลควรเซ็นเซอร์ภาพลามก เนื่องจากเป็นอันตรายยิ่งกว่าลูกระเบิดเสียอีก และยังบอกว่าเฟซบุ๊กเป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมายอิสลาม เพราะทำให้คนประพฤติผิดศีลธรรม และมีผู้ใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางในการขายบริการทางเพศ รวมไปถึงบอกว่าอเมริกาใช้อินเทอร์เน็ตในการรุกรานทางวัฒนธรรม และอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือของ CIA ในการคุกคามอิสลาม อีกมุมหนึ่งของอินโดนีเซีย มีการเรียกร้องเสรีภาพบนอินเทอร์เน็ต เช่น กลุ่มสื่อมวลชน เพราะอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการแสดงออกถึงเสรีภาพ โดยไม่ต้องการการควบคุม ในภาคธุรกิจเกี่ยวกับ ISP บอกว่าต้องลงทุนสูงมากเพื่อกรองข้อมูลซึ่งจะทำให้ต้นทุนของพวกเขาสูงขึ้น ส่วนเอ็นจีโอบอกว่าการกรองข้อมูลนั้นจะไม่ได้ผลและให้ผลไม่คุ้ม กลุ่มสิทธิมนุษยชนบอกว่า อินเทอร์เน็ตเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการได้รับข้อมูลข่าวสาร กฎหมายควบคุมอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ มีบทลงโทษรุนแรง กำหนดโทษจำคุก 6 ปี และหากเป็นการลบหลู่ศาสนาอาจมีโทษจำคุกถึง 16 ปี ในอินโดนีเซีย การเขียนข้อความยั่วยุให้คนเกลียดชัง อาจมีโทษทางอาญา และเรามีกฎหมายกำหนดให้มีการกรองข้อมูลอินเทอร์เน็ต และมีกฎหมายลักษณะเดียวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ของไทย ซึ่งมีโทษหนักมากกับการก่ออาชญากรรมคอมพิวเตอร์ นักข่าวใช้อินเทอร์เน็ตในการส่งข่าวสาร และอินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางในการรณรงค์ทางสังคมต่างๆ ตามความเห็นของผม อินเทอร์เน็ตไม่ได้มีพลังอำนาจอะไร แต่ผู้ที่ใช้มันคือประชาชน เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเพิ่มอำนาจให้กับประชาชน สตีเวน กัน (Steven Gan) เราเริ่มทำมาเลเซียกินี ปี 1999 (พ.ศ.2542) มีนักข่าว 4 คน ถึงตอนนี้เรามีนักข่าว 15 คน และเสนอข่าวเป็น 4 ภาษา เพราะเรามีหลากหลายชาติพันธุ์ มาเลเซียกินีมีลักษณะค่อนข้างพิเศษคือ ผู้อ่านต้องจ่ายค่าสมาชิกปีละประมาณ 1,500 บาท เพื่อเข้ามาอ่านข่าว ในมาเลเซีย มีการควบคุมสื่ออยู่ 2 ระดับ คือ การใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และการเป็นเจ้าของสื่อ การเป็นเจ้าของสื่อ เป็นประเด็นที่สำคัญมากในมาเลเซีย เพราะเรามีสื่อกระแสหลักที่พรรคการเมืองเป็นเจ้าของและเป็นผู้ควบคุม การมีสื่อต้องมีใบอนุญาต ซึ่งรัฐบาลจะเป็นผู้ออกให้แบบปีต่อปี แต่การใช้กฎหมายต่อไปนี้ทำให้การควบคุมสื่อมีประสิทธิภาพมากกว่า กฎหมายความลับทางราชการ เป็นกฎหมายที่โบราณมาก ทำให้รัฐบาลขาดความโปร่งใส ในสมัยนายกฯ มหาเธร์ ได้แก้กฎหมายให้มีโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า 1 ปีโดยไม่สามารถจ่ายเป็นเงินค่าปรับได้ ทำให้สื่อทำงานได้ยากลำบากมาก เพราะเอกสารราชการมีแต่ตราประทับเอกสารลับ กฎหมายความมั่นคงภายใน ให้อำนาจทางการจับกุมคุมขังใครก็ได้นาน 2 ปี และสามารถคุมขังต่อไปได้เรื่อยๆ ไม่มีข้อจำกัด การหมิ่นศาล หรือการดูหมิ่น ไม่นานมานี้มีกฎหมาย 35 ฉบับที่ปิดกั้นเสรีภาพสื่อ รัฐเป็นผู้ผูกขาดความจริงผู้เดียว จนกระทั่งมหาเธร์เปิดพื้นที่ไซเบอร์ขึ้นและให้สัญญาว่าจะไม่มีการปิดกั้นอินเทอร์เน็ต สิ่งเดียวที่ผมสนับสนุนมหาเธร์คือเรื่องนี้ มาเลเซียกินีจึงฉกฉวยโอกาสโดยใช้ช่องทางนี้ในการตั้งสื่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งไม่ต้องมีใบอนุญาต และสามารถตั้งตัวเองเป็น content provider แต่รัฐบาลก็สามารถใช้กฎหมายอื่นๆ เช่น กฎหมายความมั่นคง ซึ่งมีมาตั้งแต่ 1948 โดยใครยุยงปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยกระหว่างชาติพันธุ์ต่างๆ หรือการตั้งคำถามหรือการดูหมิ่นภูมิบุตราจะถูกกฎหมายนี้เล่นงาน 10 ปีมานี้ เราถูกคุกคาม 2 ครั้ง ครั้งแรกปี 2003 จากการนำเสนอจดหมายของผู้อ่าน ซึ่งเขียนล้อเลียน UMNO Youth ทำให้ตำรวจบุกมาที่สำนักงานของเรา สิ่งแรกที่ตำรวจทำคือ ให้ทุกคนถอยออกมาจากคอมพิวเตอร์ ห้ามแตะต้องคอมพิวเตอร์ และตำรวจต้องการรู้อีเมลของผู้ที่เขียนจดหมายฉบับนั้น ซึ่งเราบอกว่าให้ไม่ได้เพราะเราสัญญาว่าจะปกป้องผู้เขียน แม้เขาจะใช้ชื่อปลอมก็ตาม เพราะเนื้อหาสำคัญกว่าตัวผู้เขียน เรายืนกรานกับตำรวจว่าจะไม่ให้ชื่อผู้เขียนอย่างเด็ดขาด ตำรวจจึงยึดเอาคอมพิวเตอร์ไปทั้งหมด ตำรวจที่มาเป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่าง ไม่มีความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เลย ทีแรกเขาจะเอาจอไปด้วย และให้นักข่าวเขียนชื่อลงบน CPU เครื่องที่แต่ละคนใช้ ขณะนั้นเป็นเวลาบ่ายโมงและมีฝนตก ตำรวจใช้เวลาอยู่ประมาณ 4 ชั่วโมง เราจึงมีเวลาโทรเรียกเพื่อนนักข่าวมาทำข่าวให้ จากนั้น 5 โมงเย็นเราก็จัดแถลงข่าว ค่ำวันนั้น จากการสื่อสารกันโดยเอสเอ็มเอส มีการชุมนุมประท้วงและมีพรรคฝ่ายค้าน ภรรยานายอันวา อิบราฮิม มาให้กำลังใจกับมาเลเซียกินี ด้วย ปรกติตำรวจจะไม่ยอมให้มีการประท้วง แต่น่าแปลกใจที่เขาอนุญาต ต่อมาเราก็ได้คอมพิวเตอร์คืน และ 2 ปีต่อมาก็มีการถอนข้อหาทั้งหมด มาเลเซียกินี เคยรายงานข่าวการประท้วงของชาวมุสลิมต่อชาวฮินดู ซึ่งไปสร้างวัดฮินดูในพื้นที่ของอิสลาม เรานำเสนอภาพวิดีโอของการนำหัววัวมาใช้ในการประท้วง ซึ่งทำให้ชาวฮินดูไม่พอใจมาเลเซียกินีอย่างมาก รัฐบาลมีคำสั่งให้ถอดวิดีโอนั้นออกไป แต่เราไม่ยอม เพราะเป็นการนำเสนอข้อเท็จจริง รัฐบาลมีความพยายามจะให้สื่อออนไลน์ หรือบล็อกเกอร์ต้องขอใบอนุญาต ซึ่งเป็นการจำกัดเสรีภาพของเรา ยังมีกฎหมายอีกฉบับหนึ่งซึ่งรัฐบาลกำลังเตรียมการอยู่ และเราจะทำการต่อต้านต่อไป
หมายเหตุ : การเสวนาในหัวข้อ “Internet Politics : Lesson learnt from Egypt to Prachatai.com” ประชาไทจะนำเสนอในตอนต่อไป สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
Posted: 17 Feb 2011 10:21 AM PST
17 ก.พ.54 หลังศาลอุทธรณ์สั่งยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ตัดสินโทษ 18 ปีแก่นางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ในข้อหาหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยสั่งให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเสียก่อนว่าการพิจารณาคดีปิดลับ นั้นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ล่าสุด วันนี้ (17 ก.พ.) นายประเวศ ประภานุกูล ทนายความของดารณีพร้อมนายกิตติชัย ชาญเชิงศิลปกุล ได้ทำเรื่องขอประกันตัวอีกครั้ง โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 1 ล้านบาท แต่ศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่า "พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ความผิดตามฟ้องมีอัตราโทษสูง ตามพฤติการณ์แห่งคดีและลักษณะการกระทำนำมาซึ่ง ความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ ประกอบกับศาลอาญาและศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมาแล้ว ทุกครั้งโดยให้เหตุผลไว้ชัดแจ้ง ในชั้นนี้ เห็นว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยอาจหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง แจ้งคำสั่ง ศาลให้จำเลยและผู้ขอประกันทราบ" ทั้งนี้ ทนายความระบุว่า จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งอีกเร็วๆ นี้
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
นักข่าวพลเมือง: ชาวบ้านเดินหน้าเจรจาฝ่ายการเมือง วอนสั่งระงับสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล Posted: 17 Feb 2011 10:16 AM PST เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลเตรียมยื่นเจรจาฝ่ายการเมืองอีกรอบ ยันต้องสั่งระงับการก่อสร้าง เหตุทำคนเดือดร้อนกว่า 6,000 คน หลังผลเจรจารอบแรก ฝ่ายอุตสาหกรรมยืนกรานไม่มีสิทธิระงับ ทำได้เพียงลงตรวจสอบในพื้นที่ก่อนจัดตั้งกรรมการแก้ปัญหา สืบเนื่องจากกรณีที่เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากบริษัทโรงไฟฟ้าชีวมวล อันประกอบด้วยชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของบริษัทพลังงานสะอาดดี 2 จำกัด บ้านไตรแก้ว ต.เวียงเหนือ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย บริษัท จัสมิน กรีน เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นเนอร์จี จำกัด บ้านน้อยสนาม ต.รัตนบุรี อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ บริษัท สหโคเจนกรีน จำกัด สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ บ้านหนองปลาขอ ต.ป่าสัก อ.เมือง จ.ลำพูน บริษัท โรงไฟฟ้าบ้านตาก จำกัด บ้านวังไม้สร้าง ต.ตากออก อ.บ้านตาก จ.ตาก บริษัท พลังงานสะอาดทับสะแกจำกัด บ้านทุ่งยาว ต.ห้วยยาง อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ และบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด บ้านคำสร้างไชย ต.ท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี ได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อให้ยกเลิกใบอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้า และเร่งแก้ไขปัญหาการทำประชาคมที่ไม่โปร่งใส การข่มขู่เอาชีวิตแกนนำชาวบ้าน การปะทะกันระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐ ผลกระทบเรื่องฝุ่นละออง และการแย่งชิงน้ำกับประชาชน แต่ไม่สามารถรอคำตอบได้เนื่องจากบริษัทได้เร่งดำเนินงานโดยไม่สนใจการคัดค้านของชาวบ้าน จึงต้องเข้าร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ (P Move) เพื่อกดดันให้รัฐบาลเปิดเวทีเจรจาหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยปักหลักชุมนุมบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา ล่าสุด เวลา 16.00 น. ของวันนี้ (17 ก.พ.53) รัฐบาลได้เปิดเวทีเจรจากับตัวแทนกลุ่มผู้เดือดร้อนจากนโยบายการพัฒนาของรัฐ ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มพีมูฟ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการพูดคุยก่อนจะแยกกลุ่มคุยตามประเด็นความเดือดร้อน ซึ่งในประเด็นโรงไฟฟ้าชีวมวลมีนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง ผู้อำนวยการสำนักงานโรงงานอุตสาหกรรมรายสาขา 5 กรมโรงงานอุตสาหกรรมร่วมเจรจา โดยใช้เวลาในการเจรจาร่วม 4 ชั่วโมง จึงแล้วเสร็จ น.ส.สดใส สร่างโศรก ตัวแทนเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากบริษัทโรงไฟฟ้าชีวมวล กล่าวภายหลังการเจรจาว่า ข้อเสนอในการเจรจาของเครือข่ายฯ คือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีคำสั่งระงับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเอาไว้ก่อน และขอให้มีการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน รวมทั้งเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางเพื่อตรวจสอบและหาแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมและกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้คำตอบว่าจะลงไปตรวจสอบพื้นที่ภายใน 2 อาทิตย์ แต่ทางเครือข่ายขอให้ดำเนินการภายใน 1 อาทิตย์ น.ส.สดใส กล่าวว่า ในส่วนของการตั้งคณะกรรมการ ทางกรมโรงงานฯ ยืนยันว่าไม่สามารถตั้งได้จนกว่าจะมีการลงตรวจสอบในพื้นที่ ส่วนการระงับการก่อสร้างนั้น ทางกรมโรงงานฯ ยืนกรานว่าไม่สามารถทำได้ ทำให้ทางเครือข่ายตัดสินใจดำเนินการยื่นเรื่องขอคุยกับนายกฯ อีกครั้งเพื่อให้ฝ่ายการเมืองมีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าไว้ก่อน เนื่องจากตอนนี้มีประชาชนกว่า 6,000 คน ใน 6 จังหวัด กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
นักข่าวพลเมือง: แผนจ่ายค่าลอดใต้ถุน บ.โปแตซ รอบ 2 กร่อย กลุ่มอนุรักษ์ฯ เย้ยชาวบ้านรู้ทัน Posted: 17 Feb 2011 09:44 AM PST
วันนี้ (17 ก.พ.54) เวลา 08.00 น. ณ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ บริษัท เอเชีย โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) บ้านหนองตะไก้ ต.หนองไผ่ อ.เมือง จ.อุดรธานี ได้ดำเนินการจัดเวทีจ่ายค่าลอดใต้ถุน ครั้งที่ 2 ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตซจังหวัดอุดรธานี ในขอบเขตพื้นที่ ต.โนนสูง ต.หนองไผ่ อ.เมือง และ ต.นาม่วง ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี ตามที่บริษัทฯ ได้ทำการประชาสัมพันธ์เอาไว้ โดย “ค่าลอดใต้ถุน” นี้เป็นค่าตอบแทนพิเศษให้กับผู้มีกรรมสิทธิ์ที่ดินเหนือเหมืองไร่ละ 1,000 บาท แต่ปรากฏว่า มีชาวบ้านมารับค่าลอดใต้ถุนกันอย่างบางตา ประมาณ 30 ราย น้อยกว่าการจ่ายค่าลอดใต้ถุนในครั้งแรกถึงเท่าตัว ที่มีชาวบ้านมารับค่าลอดใต้ถุน จำนวน 64 ราย โดยแหล่งข่าวภายในบริษัทเอพีพีซี กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า วันนี้มีชาวบ้านในพื้นที่โครงการเหมืองฯ มารับค่าลอดใต้ถุนจากบริษัทฯ จำนวนน้อยกว่าครั้งแรก ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการออกมารณรงค์ของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ด้านนายบุญเลิศ เหล็กเขียว แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ซึ่งได้เข้าไปสังเกตการณ์เวทีการจ่ายค่าลอดใต้ถุนของบริษัทฯ ในครั้งนี้ด้วย ได้กล่าวว่า ตั้งแต่เช้าเป็นต้นมา เห็นคนมารับเงินค่าลอดใต้ถุน ไม่น่าจะถึงสามสิบคน บรรยากาศภายในบริษัทก็เงียบเหงาเป็นอย่างมาก ที่เป็นเช่นนี้สามารถชี้ให้เห็นว่าชาวบ้านในพื้นที่โครงการเหมืองโปแตซ ที่มีจำนวนหลายพันครอบครัวไม่ได้เห็นด้วยกับบริษัท ถือได้ว่าการรณรงค์ของกลุ่มเกิดผลสำเร็จ เพราะสามารถสร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้านในพื้นที่ได้เข้าใจถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของบริษัท แต่ถึงอย่างไร กลุ่มก็จะยังเดินหน้าสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับคนในพื้นที่ในเรื่องปัญหาและผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โปแตซต่อไป ทั้งนี้ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้รณรงค์ให้ข้อมูลชาวบ้านในพื้นที่เมื่อวานนี้ (16 ก.พ.) โดยสื่อสารผ่านเอกสารใบปลิว และการปราศรัยให้ข้อมูลผ่านรถติดเครื่องกระจายเสียง ซึ่งมีเนื้อหาเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีการจ่ายค่าลอดใต้ถุนของบริษัทฯ ว่าไม่มีความชอบธรรม พยายามจะใช้เงินเป็นเครื่องมือในการผลักดันโครงการเหมืองฯ จึงทำให้ชาวบ้านในพื้นที่รับรู้และเข้าใจถึงการกระทำของบริษัทฯ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เมื่อถึงเวลาประมาณ 10.00 น. บรรยากาศภายในบริษัทฯ ชาวบ้านได้ทยอยเดินทางกลับ และเจ้าหน้าที่บริษัทฯ ได้ช่วยกันจัดเก็บสถานที่ เพื่อเลิกงานก่อนกำหนดการที่วางไว้ โดยเดิมที บริษัทฯ ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีชาวบ้านมาร่วมงานกันเป็นจำนวนมาก จึงได้ทำการจัดเตรียมสถานที่ มหรสพ ดนตรี และหมอลำ แต่กลับตาลบัตรชาวบ้านมารับค่าลอดใต้ถุนกันน้อยเกินคาด บริษัทฯ จึงต้องปิดงานก่อนกำหนดการที่วางไว้
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
รายงานเสวนา “ฝ่าวิกฤตชายแดนไทยเขมร” Posted: 17 Feb 2011 07:33 AM PST สุรชาติ บำรุงสุขเสนอ 13 ประเด็นข้อเท็จจริงก่อนตัดสินใจจะ “รบเขมร” หรือจะ “พัฒนาร่วมกัน” ธงชัย วินิจจะกูลชำแหละอุดมการณ์ “เสียดินแดน” พร้อมชี้ปัญหาการเมืองภายในของไทยคือรากปัญหาที่แท้จริงกรณีพิพาทเขาพระวิหาร 17 ก.พ. 2554 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการ "รัฐศาสตร์ภาคประชาชน ครั้งที่ 1" หัวข้อ "ฝ่าวิกฤตชายแดนไทยเขมร" ณ ห้องประชุมมาลัยหุวนันท์ ตึก 3 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.สุรชาติ บำรุงสุข และศ.ธงชัย วินิจจะกูล ดำเนินการเสวนาโดย รศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
สุรชาติ บำรุงสุข ตอนเรียน สปช. ความทรงจำเรื่องรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 ว่าจำอะไรได้บ้าง เข้าใจว่ามีความทรงจำเหลืออยู่น้อยมาก สปช.พูดถึงการเสียดินแดนแบบผิวเผินมาก คนที่เรียน สปช.แล้ว เข้าใจการเผชิญกับลัทธิอาณานิคมหรือไม่ การกล่อมเกลาโดยการเรียน สปช.นั้น ทำให้เราไม่ค่อยรู้เรื่อง คนไทยรุ่นหลังลืมไปแล้วว่า ปราสาทพระวิหารถูกตัดสินไปแล้วในปี 2505 ผมไม่ได้เดินขบวนครั้งแรกช่วง 14 ตุลา ชีวิตครั้งแรกของการอยู่ในม็อบของผมคือภายใต้คำสั่งของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หากเราไล่เรียงประวัติศาสตร์ พูดแบบตัดตอน ฝรั่งเศสเข้ามาและได้ไซ่ง่อน ค.ศ.1859 แล้วเริ่มขยายอิทธิพลสู่ลำน้ำโขง หลายส่วนที่ขยายเข้าไปก็ปะทะกับเจ้าพ่อท้องถิ่นหรือคนมีอำนาจรัฐอยู่ในท้องถิ่นหลัก 3 ราย รายหนึ่งโพกผ้าบนศีรษะอยู่สาละวิน รายหนึ่งอยู่ตรงกลาง อีกรายหนึ่งคือเจ้าพ่อเหงียน พอเข้าช่วงรัชกาลที่ 3 ไซ่ง่อนแตก เหลือเจ้าพ่อรายใหญ่รายเดียวอยู่ลุ่มเจ้าพระยา เมื่อเผชิญกับเจ้าพ่อแห่งปารีส สิ่งที่ฝรั่งเศสรู้สึกว่าเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวคือ สยาม ซึ่งเข้าไปมีอิทธิพลต่อพื้นที่ต่างๆ ในวิกฤตการณ์ ร.ศ.116 หรือปี 1896 ในวิกฤตการณ์ปากน้ำ เรือรบฝรั่งเศส 2 ลำแล่นผ่านแนวป้องกันของสยาม แต่โชคดีที่สยามยิงโดนเรือนำร่องของฝรั่งเศส แต่เรือรบ 2 ลำยิงไม่โดน ถ้ายิงเรือรบ 2 ลำจม ป่านนี้เราอาจได้พูดภาษาฝรั่งเศสกันทั้งประเทศ ถ้าท่านอ่านหนังสือพิมพ์เก่าๆ ในปี 1893 พูดได้เลยว่า สยามถ้าไม่เป็นของฝรั่งเศสก็ต้องเป็นของอังกฤษ หลัง 1893 ตอนเราเรียน สปช.ไม่พูดอะไรเลย รู้แต่ว่าพอเราจ่ายสตางค์จนหมดท้องพระคลังกรณีพระยอดเมืองขวาง ฝรั่งเศสยอมถอยไปยึดจันทบุรี สุดท้ายก็ทำข้อตกลงพ่วงเรียกว่า อนุสัญญา 1904 แนวคิดสมัยใหม่ของความเป็นรัฐ มีความคิดชุดหนึ่งคือ รู้ว่าอำนาจอธิปไตยสิ้นสุดตรงไหน เรื่องเส้นเขตแดนเริ่มพูดในอนุสัญญา 1904 ต่อมาสยามต้องป้องกันตัวเอง เราไม่มีอาวุธ ผลจากวิกฤตการณ์ปากน้ำ ทำให้เรารู้ว่ารบยาวไม่ได้ ความหวังของสยามจบลงเพราะอังกฤษไม่ช่วย สยามต้องช่วยตัวเอง รัชกาลที่ 5 จึงตัดสินใจครั้งสำคัญว่า สยามต้องเป็นรัฐเหมือนยุโรป ต้องมีเส้นเขตแดน เพื่อว่าฝรั่งเศสรุกเข้ามาจะได้ยืนยันได้ว่า ฝรั่งเศสรุกเข้ามาในดินแดนสยามแล้ว รัชกาลที่ 5 ตัดสินใจแลกแผ่นดินสยามกับฝรั่งเศส 3 แลก 3 แลกด่านซ้าย ตราด และส่วนในของเกาะกูด-แหลมสิงห์กับมณฑลพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ เมื่อตกลงแลกแล้วก็มีเรื่องใหญ่ตามมา ต้องปักปันเขตแดน นำไปสู่การตีพิมพ์แผนที่ซึ่งเป็นแผนที่แนบท้ายสัญญาปักปันปี 1907 ตีพิมพ์แผนที่ปี 1908 ที่ปารีส ผมถามว่า ประเด็นที่หนึ่ง ตกลงท่านยอมรับไหมเรามีอนุสัญญา 3 ฉบับ กับ 1 แผนที่ปักปัน ในหลวงรัชกาลที่ 5 ท่านให้สัตยาบันข้อ 1 ของอนุสัญญาว่า ให้ใช้แนวสันปันน้ำ แต่ในข้อ 3 ระบุว่าให้ใช้คณะกรรมการร่วมในการตัดสิน “ผมเรียกการตัดสินใจเช่นนี้ว่าพระราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ 5” แต่เมื่อตกลงแล้วมันมีเรื่องใหญ่ตามมาก็คือต้องปักปันเขตแดน เพราะไม่รู้ว่าจุดสิ้นสุดอิทธิพลของสยามกับฝรั่งเศสอยู่ตรงไหน นั่นหมายความว่าหลัง ค.ศ. 1907 เราได้ปักปันเขตแดน และแผนที่ดังกล่าวตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1908 ที่ปารีส ผมเปิดประเด็นพื้นฐานให้ท่านเห็นว่ากรณีเขตแดนไทย-กัมพูชาประกอบด้วย 3 สัญญา/อนุสัญญา และ 1 แผนที่ ท่านรับหรือไม่ แต่ในหลวงของเราได้ให้สัตยาบันต่อสัญญาและอนุสัญญาทั้งสามฉบับ และเมื่อให้สัตยาบันแล้วปัญหาอยู่ในอนุสัญญา ค.ศ. 1904 ให้ใช้สันปันน้ำ แต่ในปี ค.ศ. 1908 ให้ใช้เส้นเขตแดนที่คณะกรรมการขีดเส้น ประเด็นที่สอง ถ้าเราไม่ยอมรับว่าการปักปันเกิดขึ้นจริง และเชื่อว่าเป็นการดำเนินการอย่างเป็นเอกเทศของเจ้าหน้าที่ของฝรั่งเศส นั่นเป็นแต่เพียงความทรงจำที่ไม่ชัดเจน เรามักเรียกแผนที่นี้ว่าแผนที่แบนาร์ แต่ฝ่ายไทยมีพลเอกหม่อมชาติเดชอุดมร่วมด้วย คือเป็นกรรมการผสม เพราะฉะนั้นข้อถกเถียงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ว่าการปักปันเป็นการดำเนินการโดยเอกเทศนั้นไม่จริง เพียงแต่ผมไม่เข้าใจว่าทำไมเรียกว่าแผนที่แบนาร์ ทำไมไม่เรียกว่าแบร์นา-เดชอุดม หรือเดชอุดม-แบนาร์ เพื่อสร้างจินตรนาการที่ชัดเจนว่าการปักปันนั้นดำเนินการโดยคณะกรรมการผสมของทั้งสองฝ่าย ประเด็นที่สาม รับหรือไม่รับแผนที่ นี่เป็นปัญหาใหญ่ เพราะแนวพรมแดนตั้งแต่ พ.ศ.2496 นั้น แนวพรมแดนจากเหนือสุดถึงจังหวัดตราด เมื่อปักปันแล้วตัดออกเป็นส่วนๆ เป็น 11 ส่วนหรือ 11 ระวาง เมื่อแบ่งออกเป็น 11 ระวาง แผนที่ตีพิมพ์เสร็จปี ค.ศ. 1908 รัฐบาลสยามส่งสัญญาณขอให้ตีพิมพ์เพิ่มอีก 50 ชุด ในจำนวนนี้เก็บไว้ที่สถานทูตไทยที่ปารีส 2 ชุด จากนั้น เก็บไว้ที่สถานทูตไทยประจำกรุงลอนดอน และกรุงวอชิงตัน ส่งกลับกรุงเทพฯ 44 ชุด เพราะฉะนั้นคำขอโดยจดหมายของรัฐบาลไทยในเดือน เม.ย. 1908 ถือเป็นการยอมรับว่าสยามยอมรับการปักปันเขตแดนแล้ว ฉะนั้นเวลาที่ท่านได้ยินว่าไม่รับแผนที่ 1 ต่อ 200,000 คือแผนที่ชุดนี้แหละ ประเด็นที่สี่ เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว มีนักวิชาการอาวุโสบอกว่ารัฐบาลไทยรับแผนที่บางระวาง และไม่รับบางระวาง พูดต่อหน้าทีวี คำตอบคือเป็นไปไม่ได้ เพราะถ้ารับจะต้องรับแนวเส้นเขตแดนทั้งแนว ฉะนั้นปัญหาตรงนี้ต้องยอมว่าเราจะเอายังไงเกี่ยวกับตัวเราเอง ประเด็นที่ห้า มีคนพูดเรื่องเอกสารลับและแผนที่ลับ ความตกลงระหว่างสยามกับฝรั่งเศสไม่ใช่ดาวินชี่โค้ดนะครับ มันเป็นไปไม่ได้ ความตกลงนั้นทำโดยเปิดเผย ความตกลงลับมีไหม คำตอบคือมีแต่ไม่เกี่ยวกับการปักปันเขตแดน ทั้งหลายทั้งปวงกลับมาที่เดิม คือ 3 สัญญา/อนุสัญญาบวก 1 แผนที่ ประเด็นที่หก ฝรั่งเศสแพ้สงครามเดียนเบียนฟู ทำให้กัมพูชาได้เอกราช ผลพวงจากการก่อตั้งเอกราชของกัมพูชา ซึ่งบางพื้นที่กัมพูชามองว่าสยามได้ส่งตัวแทนเข้าไปครองครอง โดยปี พ.ศ. 2501 - 2502ตกลงกันไม่ได้ก็จูงมือกันขึ้นศาลโลก ศาลตัดสินในวันที่ 15 มิ.ย. 05 โดยความเห็น 9 ต่อ 3 ลงความเห็นว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในเขตอธิปไตยกัมพูชา ยอมรับไหมว่าศาลโลกตัดสินแล้ว ถ้าไม่ยอม ตกลงคำตัดสินปี 05 คืออะร เมื่อไม่ยอมก็นำไปสู่ปัญหาข้อที่ 7 ประเด็นที่เจ็ด คนรุ่นใหม่ ไม่คุ้นกับเรื่องเขตแดน จนกระทั่ง 4 ก.ค. 2505 จอมพลสฤษดิ์ต้องออกมาพูดว่าไทยต้องยอมรับเพราะไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ระยะห่างหลายเดือนเพราะอะไร ผมคิดว่าเพราะมีความพยามที่จะไม่รับมติศาลโลก เมื่อเรารับแล้ว เราต้องทำรายงานกลับไปที่ UNSC ว่ารัฐบาลที่กรุงเทพฯได้ดำเนินการอย่างไรบ้าง เราดำเนินการ 1 ต้องชักธงไตรรงค์ลงจากหน้าผาที่เขาพระวิหาร 2 ต้องคืนโบราณวัตถุบ้าง 2-3 ชิ้น ตกลงมีพื้นที่รอบตัวปราสาทไหม ผมเรียนท่านก่อนว่ารัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ตัดสินใจชัดเจนว่าตัวปราสาทมีพื้นที่กำกับ ครม. ปี 2505 ลากเส้นกำกับตัวปราสาทเขาพระวิหาร เพราะเราต้องส่งรายงานกลับไปที่ UNSC วันนี้ถ้าเราไม่ทะเลาะกันอย่างนี้ เราก็เปิดแผนที่แล้วใช้มติครม. ปี 2505 แต่มันเกิดข้อโต้แย้งในคนรุ่นปัจจุบันที่สะพานมัฆวาน ว่ากัมพูชาได้แต่ตัวปราสาท แต่พื้นที่แม้แต่ใต้ตัวปราสาทก็เป็นของไทย แต่ท่านต้องเข้าใจก่อนว่ารัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ขีดเส้นแล้ว ประเด็นที่แปด นักกฎหมายท่านหนึ่งอธิบายว่า กรณีปราสาทพระวิหารไม่ต่างกับกัมพูชาลืมโทรศัพท์มือถือไว้บนโต๊ะของไทย ผมเข้าใจว่าตีความแบบนี้ไม่ได้ เพราะมีความต่างระหว่างสังหาและอสังหาริมทรัพย์ และ ครม. ยุคจอมพลสฤษดิ์ได้ดำเนินการขีดเส้นไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ คุณถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สมัยนั้นได้สงวนสิทธิไว้ แต่คำตัดสินของศาลโลกถือเป็นการสิ้นสุดไม่มีการอุทธรณ์หรือฎีกา แต่เปิดโอกาสให้มีการสงวนสิทธิ์ แต่ตามหลักกฎหมายมีการสงวนสิทธิ์ใดบ้างที่คงอยู่ชั่วฟ้าดินสลาย โดยหลักแล้วต้องถือหลัก 10 ปี นั่นหมายความว่าการสงวนสิทธิ์ดำรงอยู่ตั้งแต่ปี 05-15 แต่ต้องใช้สิทธิที่สงวน แต่ถ้าไม่เคยใช้แปลว่าสละสิทธิ์ สองต้องมีหลัฐานใหม่ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาล ดังนั้นผมคิดว่าต้องยอมรับว่าสิ้นสุดแล้ว เพราะเราไม่เคยแสดงหลักฐานใหม่ที่มีนัยยะต่อการเปลี่ยนแปลงคำตัดสินของศาล ประเด็นที่เก้า มีคนโต้แย้งว่า มณฑลบูรพาจนถึงปัจจุบันยังเป็นของไทย โดยข้อเท็จจริงสงคราม ไทย-ฝรั่งเศส เริ่มปี พ.ศ.2483 กำลังรบของไทยรุกข้ามแดน มีการชัดธงที่ช่องจอม สุดท้ายญี่ปุ่นเข้ามาไกล่เกลี่ย เราไปยุติสงครามกันที่กรุงโตเกียว ผลของการไกล่เกลี่ยของญี่ปุ่นแล้วเราได้อนุสัญญาโตเกียว 2484 เราได้พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ ถ้าไปอ่านหนังสือจะบอกว่า เราได้พระวิหารคืนมาแล้ว ประเด็นที่ 10 MOU 2543 เมื่อปัญหาผ่านมาทั้งหมด เราทำความตกลงที่เป็นบันทึกช่วยจำ หรือ เอ็มโอยู 43 ท่านไปอ่านเลย ว่าคือกรอบของการทำความตกลงงาถ้าในอนาคตประเทศไทยและกัมพูชามีปัญหาขอพิพาทเกิดขึ้น เอกสารที่ใช้ คืออนุสัญญา และสัญญา 3 ฉบับ ที่ผมเรียนท่านมาแต่ต้น มีเกินกว่านั้นไหม ไม่มี เพราะฉะนั้นถ้าท่านจะเลิกหรือไม่เลิก MOU 2543 หลักเหล่านี้หายไปไหม ก็ไม่หายไปไหน แต่ถ้าท่านจะเลิกเอ็มโอยู ท่านจะเลิกโดยที่รัฐภาคีไม่ยอมรับไม่ได้ เพราะในทางระหว่างประเทศเราจะเป็นรัฐที่ไม่น่าเชื่อถือ ประเด็นที่ 11 มีแผนที่ที่ถูกอ้างบ่อยมากคือแผนที่ 1 ต่อ 50,000 หรือ L7017 และ L7916 เป็นแผนที่ยุทธการไม่ใช่แผนที่เพื่อการปักปันเขตแดน โดยพื้นฐานแล้วไม่สามารถนำมาใช้อ้างในความตกลงระหว่างประเทศ เพราะเป็นแผนที่สำหรับภารกิจทางทหาร ดังนั้นถ้าท่านตัดสินใจว่าจะไม่ยอมรับการปักปันแผนทีแบนาร์ แต่มายอมรับ L7017 แต่ท่านต้องตัดสินใจด้วยความระมัดระวังว่านี่ไม่ใช่แผนที่ที่ใช้ปักปัน และไม่เคยได้รับการให้สัตยาบันจากฝ่ายใดทั้งสิ้น ประเด็นที่ 12 ตกลงวันนี้พื้นที่ทับซ้อนคืออะไร ก็คือพื้นที่เขตแดน ตามที่คณะกรรมการปักปันได้ทำไว้ในปี ค.ศ. 1907 ถ้าถือเส้นเขตแดนตามคณะกรรมการปักปัน ค.ศ. 1904 เส้นเขตแดนอยู่ที่หน้าผาของพระวิหาร แต่ ค.ศ. 1907 ศาลโลกรับข้อสาม เพราะรัฐบาลที่กรุงเทพฯ รับแผนที่แล้ว ดังนั้นรอยเหลื่อมที่หน้าผาตามแนวสันปันน้ำ ส่วนต่างตรงนี้แหละคือพื้นที่ทับซ้อน นั่นหมายความว่าเราต้องทำใจพอสมควร เพราะในปีพ.ศ. 2505 กัมพูชาไม่ได้ฟ้องเส้นเขตแดน เพราะเราจะยุ่งกว่านี้ นั่นหมายความว่า ถ้าเรายอมให้เป็นพื้นที่ทับซ้อนง่ายกว่า แต่วันนี้มันเป็นปัญหาการเมืองที่ใหญ่เกินไปแล้วล่ะ ถ้า12 ข้อทำใจรับไม่ได้เลย ก็มาสู่ข้อ 13 คือไปรบที่ภูมิซรอล คือไม่ยอมรับอะไรเลย ต้องกลับไปอ่านประวัติศาสตร์ใหม่เลยนะ เพราะรัฐบาลแต่ละช่วงดำเนินการด้วยนความละมุนละม่อม เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาใหญ่จนรัฐบาลไทยถูกกำหนดจากปัจจัยภายนอกดังที่เคยเป็นมาแล้วเมื่อปี 2505
ผมมีสี่ประเด็นใหญ่ที่ผมคิดว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ผมจะพูดสามประเด็นอีกประเด็นอาจารย์สุรชาติพูดไปแล้ว สี่ประเด็นนี้คือสาเหตุของการปะทุขึ้นของความขัดแย้ง ประด็นที่ 1 ความสัมพันธ์ระหว่างความคิดเรื่องการเสียดินแดน ลัทธิชาตินิยมไทยแต่ต้นแยกไม่ออกกับความเชื่อผิดๆ ผมเพิ่งเขียนลงประชาไท มีคนอ่านบอกว่าอ่านไม่รู้เรื่อง ซึ่งจริงๆ แล้วผมก็พูดไม่ค่อยรู้เรื่องด้วย ประเด็นที่ 2 เป็นเรื่องเกี่ยวกับกรอบกว้างๆ คือความรู้ทั่วๆ ไป ที่จำเป็นจำนวนหนึ่งที่ใช้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการแบ่งเขตแดน ประเด็นที่ 3 ที่ผมคิดว่าเกี่ยวข้อง คือเรื่องเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับเขาพระวิหารทั้งหมด ประเด็นที่ 4 ความขัดแย้งไทยกัมพูชาไม่ใช่เรื่องเขตแดนใดๆ ทั้งสิ้น แต่มันคือการเมืองไทย นี่คือเรื่องใหญ่มากคือช้างทั้งตัวอยู่ในห้องแต่เราทำเป็นไม่เห็น ตราบใดที่เราไม่ยอมตระหนักว่ามีช้างอยู่ในห้องก็จะรบกันไปอีกไม่รู้กี่ร้อยยก มีเหตุผลที่คนอ่านงานผมไม่รู้เรื่องส่วนหนึ่งคือภาษาไทยผมไม่ดี อีกส่วนคือขัดกับความคิดความเชื่อที่มีอยู่ก่อน ที่เราเกิดมาโตมาด้วยความเชื่อว่าเราเสียดินแดนทั้งนั้นแล้วจู่ๆ ก็มีคนมาบอกว่าเราไม่ได้เสียดินแดน ยกตัวอย่างเช่นคุณเห็นพาวเวอร์พอยท์ที่เผยแพร่กันปี ค.ศ. 2005-2006 เรื่องเราเสียดินแดน 14 ครั้ง ถามว่าคุณมีหลักฐานไหม ไม่มี แต่มันสอดคล้องกับความคิดความเชื่อที่มีอยู่แล้ว แต่ถ้าผมบอกว่าเราไม่เคยเสีย ผมก็จะถูกถามว่ามีหลักฐานหรือเปล่า เมื่อสองปีก่อนมีหนังสือเล่มหนึ่ง โดยอาจารย์รามคำแหง เขียนคำนำยาวเหยียดว่าตัวเลขการเสียดินแดนไม่ใช่ 14 แต่มี 12 ผมให้เพิ่มก็ได้ว่าเราเสียดินแดนมาก่อนที่จะที่จะมีคนไทยอีก ประเทศไทยเสียดินแดนมาตั้งแต่ก่อนมีประเทศไทยอีก ความคิดเรื่องการเสียดินแดนเป็นส่วนหนึ่งของชาตินิยมในหลายประเทศในเอเชีย เป็นการก่อรูปก่อร่างขึ้นมาโดย แอนโธนี รีด เพิ่งออกหนังสือออกมา พูดถึงชาตินิยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเรื่องที่รัฐถูกทำให้อายอย่างแสนสาหัส ชาตินิยมของอาเจะห์ แอนตี้ชวา จีน มีวันน่าละอายแห่งชาติอย่างเป็นทางการเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีนี้ มีการดีเบตในที่สาธารณะว่าเขาถูกรังแกมากบ่อยเหลือเกิน เกาหลีก็มี ไม่ใช่เพื่อจะประจานตัวเอง แต่เพื่อปลุกเร้าชาตินิยม ของเรามีการเสียดินแดนเป็นการปลุกเร้า เราเรียนมาแต่เด็กๆ ว่าไทยเป็นชาติที่น่าภูมิใจไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้น ผมไม่แย้ง แต่มันมีอีกด้าน ที่ไม่ใช่แค่น่าภูมิใจ แต่อีกด้านหนึ่งเราก็บอกว่าเราถูกรังแกๆ เราเสียดินแดน ทั้งหมดเป็นเรื่องความเชื่อ เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องความเชื่อ ถ้าเลยไปกว่านี้ผมก็ต้องบอกว่าเราเป็น Semi-Colonial มันพิสูจน์กันไม่ชัดเจน แต่สังคมไทยเลือกเชื่อมาร้อยกว่าปีแล้ว ชาตินิยมไทยที่ผมเสนอในหนังสือ ความเป็นไทยและชาตินิยมไทย ถือกำเนิดมาพร้อมกับการถูกคุกคาม ถือกำเนิดมาพร้อมความรู้สึกว่าเราถูกรังแก ลัทธิเสียดินแดนค้ำจุนความเป็นไทยเอาไว่อย่างสำคัญ อันนี้คือความภูมิใจว่าเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นอยู่คู่กับการเสียดินแดนมาตลอด นี่เป็นความเจ็บปวดของ “เจ้า” กรุงเทพฯ ความเจ็บปวดของเจ้ากรุงเทพฯ ก็ไม่ได้พูดเรื่องการเสียดินแดน แต่หมายถึงการเสียพระเกียรติยศ เพราะดินแดนมีไปๆ มาๆ แต่มาหยุดเมื่อรัฐสมัยใหม่นี่เองคือต้นศตวรรษ 20 เขาถึงเรียกว่าระบบอธิปไตยเหนือดินแดน แต่ระบบนี้ในตะวันตกได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งมาจนกระทั่งค่อนข้างยุติในสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ไม่เด็ดขาดจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเริ่มลงตัว การได้มาเสียไปในระบบเมืองขึ้นหรือระบบประเทศราช เป็นเรื่องปกติ เสียพระเกียรติยศ แปลว่าไม่น่าเสียไปเลย ไม่ใช่เรื่องการเสียสิ่งที่เป็นของเราแต่ผู้เดียว คนที่เสียที่สุด เสียวันยังค่ำ คือบรรดาประเทศราชเหล่านั้น คือรัฐเขมร หลวงพระบาง เวียงจันทน์ แต่เรากลับใช้ทัศนะปัจจุบันทั้งๆ ที่อายุประมาณ 100 ปีเอง ระบบความสัมพันธ์ของรัฐสมัยก่อนไม่ใช่แบบนี้ รัฐสมัยโบราณเป็บรัฐแบบเจ้าพ่อ ความสัมพันธ์มันไม่ได้ตายตัว มันขึ้นกับความความสามารถแต่ละช่วง เราเชื่อแผนที่สุโขทัยอย่างที่เราเห็นในตำราเรียนประวติศาสตร์ตอนเด็กๆ เราเชื่อเรื่องแผนที่ว่าไทยมีอาณาเขตเท่านั้นเท่านี้ เราต้องเชื่อตรงนั้นก่อน การเสียดินแดนเป็นการอาศัยทัศนะของเจ้ากรุงเทพฯ ที่เที่ยวเคลมว่าประเทศนั้นเป็นของตัว ทั้งๆ ที่เจ้าสยามรู้เป็นอย่างดีว่าประเทศเหล่านั้นไม่ได้ขึ้นกับประเทศสยามแต่เพียงผู้เดียว เป็นดินแดนซ้อนทับ ในทางลัทธิความเชื่อของเรามีดินแดนซ้อนทับอยู่เต็มไปหมด ที่คนไทยเชื่อว่าเป็นของเรา ด้วยการเอาความคิดแบบคนสมัยใหม่ร้อยกว่าปีหลัง การเสียดินแดนเหล่านั้นจึงเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระ และอีกร้อยกว่าปีก็ไม่หยุด เอาล่ะ แต่ถ้าอยากเชื่อแบบนั้น ผมมีให้เชื่ออีก คือถ้าเราเชื่อว่าคนไทยเสียดินแดนสมัยเทือกเขาอัลไต เสียดินแดนครั้งที่ 2 เราเสียรัฐอ้ายลาว จากนั้นเสียน่านเจ้าทั้งหมด แล้วในแผนที่สุโขทัย เราครองสิงคโปร์ตั้งแต่สิงคโปร์ยังไม่ตั้งเลย แต่สิงคโปร์ไม่เคยเอ่ยถึงสยามเลย ครั้งที่ 5-6 เราเสียมลายูตั้งแต่อยุธยา แล้วเราเสียหัวเมืองมอญทั้งหมดด้วยนะ ถ้าเราเชื่อเรื่องมักกะโท การเสียเกาะหมาก จริงๆ เป็นครั้งที่ 7 แล้วอาจารย์ที่รามคำแหงบอกเสีย 12 ครั้ง จริงๆ เราเสียมากกว่านั้นนะ ใครช่วยไปบอกพันธมิตรฯ หน่อยว่าเราเสียประเทศจีนทั้งประเทศเลย หลวงวิจิตรวาทการเจ้าพ่อชาตินิยมยังให้เราเสียดินแดนแค่ห้าครั้งเอง แต่สมัยนี้ชาตินิยมยิ่งกว่าหลวงวิจิตรฯ ลัทธิเสียดินแดนวางอยู่บนพื้นฐานความคิดความเชื่อที่ผิดๆ แต่ความเชื่อของเจ้ากรุงเทพฯ เริ่มมีพลังเมื่อมีหลวงวิจิตร เอาความเจ็บปวดของเจ้ากรุงเทพฯ มาเป็นความเจ็บปวดของคนไทย ยิ่งนานเรายิ่งเสียดินแดนเพิ่ม และถ้าคุณเชื่อผม เราก็เสียดินแดนไป 20 ครั้ง ทั้งหมดเป็นลัทธิความเชื่อที่ไม่มูลทางประวัติศาสตร์ แต่ว่าลัทธิเสียดินแดนมีอิทธิพลมหาศาล ความเจ็บปวดของ ร.ศ. 112 มีอิทธิพลมหาศาล ถ้าคุณไปอ่านหนังสือพิมพ์ พ.ศ. 2483 ระยะต้นก่อนเกิดสงครามอินโดจีน ที่ไป “เอาเขมรคืน” ถ้าคุณอ่านหนังสือพิมพ์ การปลุกเร้าอ้างกลับไปที่ รศ. 112 เกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ ลูกศิษย์ผมค้นพบว่าแม้แต่คณะราษฎรเคยแตกหักกับคณะเจ้า แต่ไม่เคยแตกหักเรื่องการเสียดินแดน ผลของการ “บุกไปเอาเขมร” ตอนนั้นคืออะไร หลักหมายที่สำคัญมากของสงครามอินโดจีน คืออนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ใครเคยเข้าไปอ่านรายชื่อทหารตรงฐานอนุสาวรีย์ไหม คงจะยากนะเพราะการจัดการจราจรแบบนั้น คุณต้องเสี่ยงตายเพื่อเข้าไปดูความหมายของอนุสาวรีย์ชัยฯ พิธีกรรมเดียวที่ทำการรำลึกถึงทหารในสงครามอินโดจีนคือวันทหารผ่านศึก อนุสาวรีย์ชัยฯ ถูก generic ให้ใช้กับอะไรก็ได้ แต่จริงๆ คือเป็นอนุสาวรีย์ชัยที่แพ้ คือต้องการลบความทรงจำเกี่ยวกับทรงครามอินโดจีนซะ ประเด็นต่อมา เรื่องการตีเส้นเขตแดน การที่อาจารย์บางท่านบอกว่าปัญหาเส้นเขตแดนทุกวันนี้เป็นมรดกของอาณานิคม ถูกต้องไม่เถียงเลย แต่อยู่กับท่าทีของด้วย เพราะถ้าบอกว่าเป็นเรื่องฝรั่งทำ เราไปยอมรับมันได้ยังไง ถ้าอย่างนั้นชาติไทยทั้งชาติก็เป็นมรดกของอาณานิคม ชาติไทยทั้งชาติที่มีเส้นเขตแดนเพราะอาณานิคม จะทิ้งไหม ทำไมเกลียดตัวกินไข่เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง ถามว่าถ้าจะทิ้งมรดกอาณานิคมกรณีเขาพระวิหาร แล้วทำไมเราไม่ทิ้งเส้นเขตแดนทั้งประเทศล่ะ เส้นเขตแดนของไทยมีปัญหาตลอดทุกพรมแดน หากจะรบกันสามารถรบได้แทบทุกจุดกับเพื่อนบ้านรอบประเทศไทย รวมทั้งมาเลเซียด้วย เอาไหมครับ ถ้าอยากรู้ว่าจะรบตรงไหนได้บ้าง ตรงไหนบ้างที่มีปัญหาจัดการลำบากเหลือเกินมาถามผมได้ ผมลิสต์มาให้บางส่วนแล้วถ้าอยากได้ เพราะว่าพรมแดนที่ยุคอาณานิคมทิ้งไว้มันเข้ากันไม่ได้กับระบบความสัมพันธ์กับรัฐแบบโบราณ ยกตัวอย่างง่ายๆ รอบประเทศไทย มีแม่น้ำเป็นเส้นแบ่งเขตแดน แต่เดิมคนเขาอยู่สองฟากแม่น้ำร่วมวัฒนธรรมกันทั้งนั้นแหละ เส้นเขตแดนทั้งหลายคุณตัดกลางชุมชนที่วัฒนธรรมเดียวกัน แต่มันหนีไม่พ้นที่เขาจะติดต่อสัมพันธ์เพราะเขาเป็นชุมชนวัฒนธรรมเดียวกัน มีอะไรอีกที่เส้นเขตแดนมีปัญหา สันปันน้ำไง เส้นเขตแดนที่เราเชื่อว่าใช้พรมแดนภูมิศาสตร์แล้วจะหมดปัญหา ถามสามัญสำนึกง่ายๆ ว่าสภาพภูมิศาสตร์มันเปลี่ยนไหม ร่องน้ำลึกเปลี่ยนไหม ถ้าอยากจะรบไปที่ จ.ระนองได้ ไปดูว่าร่องน้ำลึกเปลี่ยนไหม อยากหาเรื่องไหมล่ะ เส้นเขตแดนแนว จ.ตาก มีช่วงหนึ่งใช้สันปันน้ำ เขาให้วัวเดิน ถามว่าวัวเดินตรงกับสันปันนำไหม ทำยังไงในกรณีที่สันปันน้ำมีหลายเทือก เขารับเทือกเขาที่น้ำลงไปรวมกันเป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่สุด ถามว่าสันปันน้ำเปลี่ยนไหม มีกรณีรบกันที่บ้านร่มเกล้า ไทย-ลาวตายไปร่วมห้าร้อยกว่าคน สนธิสัญญา ค.ศ. 1904 และ ค.ศ. 1907 นอกจากระวางที่พูดถึงกัมพูชายังระบุการแบ่งเขตแดนกับลาวด้วยโดยจุดที่รบกันที่บ้านร่มเกล้า ใช้แม่น้ำเหืองเป็นเส้นพรมแดน สนธิสัญญาให้ใช้แม่น้ำเหืองช่วงที่เกี่ยวข้องกับภูเมี่ยง การเดินสำรวจเพื่อตีเส้น เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1908 เกือบ 1 ปีหลังจากลงนามไปแล้ว จึงพบว่าตรงนั้นแม่น้ำเหืองแยกเป็นสองสาย เกิดปัญหา แต่ก่อนเรียกเหืองใหญ่ กับเหืองน้อย และปี ค.ศ. 1984 ก็พบว่าน้ำเหืองสองสายนั้นสายหนึ่งแห้งขอด อีกสายหนึ่งเปลี่ยนชื่อ แต่ไหลลงมาจากภูสอยดาว แค่นี้ก็ปวดหัว ขนาดไทยและลาวไม่มีปัญหาว่ารับหรือไม่รับ MOU ผ่านไปหลายปี แม่น้ำเปลี่ยนสายเปลี่ยนชื่อ ไทยกับลาวรบกัน ถ้าถามผมตอบได้ไหม ผมตอบไม่ได้ นี่คือตัวอย่างพรมแดนธรรมชาติ ทำไมไม่มีที่ไหนในโลกกำหนดให้สันปันน้ำเป็นเส้นเขตแดน การตกลงให้สันปันน้ำต้องตามมาด้วยแผนที่ทั้งหมด เพราะสันปันน้ำเองที่อยู่ในสนธิสัญญาไม่ใช่ตัวบอกเส้นเขตแดน ในหนังคนล่าจันทร์ ที่ตามบทนั้นอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุลข้ามแดนมาจากลาว เมื่อผ่านแม่น้ำเหืองมาแล้วก็ก้มลงจูบแผ่นดิน ผมสงสัยว่าอาจารย์เสกสรรค์ก้มลงจูบแผ่นดินไทยหรือเปล่า สันปันน้ำมันไม่ได้ตายตัว สันปันน้ำประเภทปล่อยวัวเดินตรงแม่น้ำสาละวิน สยามยุคนั้นยกให้อังกฤษ เป็นของขวัญเพราะสมัยก่อนดินแดนไม่ได้น่าหวงแหนทุกตารางนิ้ว เขามอบให้อังกฤษเพื่อไมตรี ฉะนั้นเขตแดนในเรื่องเหล่านี้ จึงเป็นเรื่องเทคนิค อยากรบก็รบได้ทั่วประเทศไทยเลย ถ้าอยากรบก็มีอีกเยอะ ไล่ได้ทุกรัฐบาล แต่ถ้าไม่อยากรบ และนี่เป็นเรื่องเทคนิค ปล่อยให้เจ้าหน้าที่เทคนิคเขาดำเนินการเถอะ และปล่อยให้รัฐบาลที่สัมพันธ์ดีต่อกันดำเนินการ ผมถามว่าถ้าได้ 4.6 ตารางกิโลเมตรกลับมาก็ต้องรบกันไป อย่ารีบไปตัดสินเลย เดี๋ยวเราก็รบไปก็รบมาเพื่อแผนที่ที่ไม่มีทางสมบูรณ์เหมือนกรณีของลาว ที่รบกันไปกันมาเพราะภูเขาเปลี่ยนที่แม่น้ำเปลี่ยนสาย
ผมมีสองสามประเด็น หนึ่งเรามีรัฐโบราณ ไม่ใช่ไม่มีดินแดนเลย ไม่มีพรมแดน แต่มีวิธีคิดอีกชุดคือถ้าเราไม่เอาตัวเรายืนอยู่ตรงกลาง ถ้าเราเอาความสัมพันธ์แบบโบราณ แบบเจ้าพ่อก็ไม่ใช่ว่าไม่เข้มข้น รบกันจริง เมืองต่างๆ มีอิทธิพลต่ออาณาจักร ไม่ใช่แค่ว่าเมืองสองสามฝ่ายฟ้า เมืองบางเมืองจำเป็นต้องถูกทำให้ล่มสลายเพื่อให้อาณาจักรบางอาณาจักรอยู่ได้ เช่น กรณีไทยรบพม่า เราให้ความสำคัญตลอดเวลา ประวัติศาสตร์จะหมกมุ่นแต่เรื่องการเขียนสงครามไทยพม่าให้ชัดเจนที่สุดทั้งๆ ที่จริงๆ ไทยรบพม่าไม่นาน แต่ถ้าให้เขียนประวัติศาสตร์ชุดเดียวกัน เขียนเรื่องไทยรบเขมร หรือไทยรบลาว ถ้าเราไม่เขียนประวัติศาสตร์ ในชุดแบบนี้ ไทย-ล้านนา ไทย-เขมร ไทย-ปัตตานี เราจะไม่เข้าใจตัวเรา ว่าเราอยู่ได้ด้วยการสร้างอำนาจเหนือประเทศเหล่านั้น เราไม่มีตัวตนเราหรอกถ้าเราไม่จัดการเขมร เราไม่เคยจัดการพม่า เราบุกพม่ากี่ครั้ง เราไม่กล้ายอมรับความจริงว่า ความยิ่งใหญ่ของอยุธยาดำรงอยู่ได้โดยการทำให้เขมรอ่อนแอตลอดเวลา เรามีแต่ชุดไทยพม่าที่กำหนดวันกองทัพไทย เรามีชุดความจำเรื่องความน่าละอายอยู่ที่พม่า แต่การจัดระบบศักดินาหัวเมืองทั้งหมดเป็นเพราะเขมร เราจัดการเขมรตลอดเวลา ผมไม่คิดว่าการเกิดขึ้นของกรุงเทพฯ เพราะต้องการป้องกันพม่า แต่เป็นความสัมพันธ์ที่มีกับเขมร เพราะเป็นเมืองที่อยู่ใกล้เราที่สุด เพราะฉะนั้นชุดความคิดนี้เป็นชุดความคิดที่เราต้องระวัง นี่เป็นเรื่องที่ใหญ่คือวิธีการที่เราเขมร เป็นการมองแบบพยายามพัฒนาตัวเราให้เป็นมหาอำนาจ เราคิดว่าถ้าเจรจาทวิภาคีมันเสร็จเราแน่ คือคิดว่าเมื่อเรามีอำนาจแล้วเราจะกำหนดอะไรก็ได้ เป็นวิธีคิดแบบสัจจนิยม เชื่อว่าเรามีกำลังเราจะเอาอะไรให้เป็นผลประโยชน์แห่งชาติเราก็ทำได้ เพราะมันไปซ้อนกับชาตินิยมโบราณ โดยหลงไปในยุคเก่า โดยลืมไปแล้วการเมืองระหว่างประเทศเราอ่อนมาก มันไม่ใช่เกมคอมพิวเตอร์นะครับที่จะมีการรบอย่างเดียว มันต้องมีนโยบายต่างประเทศด้วย เรื่องพรมแดน ทุกที่มีระยะยืดหยุ่นหมด ระบบพรมแดนสมัยใหม่ที่ว่ามีเส้นแดนเส้นเดียวนั้นไม่จริง ทุกที่มีเส้นสองเส้นเสมอ ไทย-พม่า คุณต้องมีประตูเข้าสองประตู ในการปฏิบัติการจริง มันยืดหยุ่นทั้งสิ้น ที่โรงเกลือ คลองลึก คนไทยชอบเรียกว่า No Man’s Land แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ คุณข้ามพรมแดนไป แต่คุณยังไม่ต้องปั๊มพาสปอร์ตเข้าเขมรนั้นเอง เพราะเขาร่นพื้นที่ให้ พรมแดนมันไม่ใช่จินตนาการแค่อยู่กรุงเทพฯ แล้วออกไปรบ ปัญหาพรมแดนเหมือนเล่นลาวกระทบไม้ มันยืดหยุ่น และมันคือโอกาสทางเศรษฐกิจ ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ใช่ไม่รู้ แต่ละพื้นที่ในแต่ละพรมแดนมันมีปฏิบัติการ การไปรบกันเพื่อเอาดินแดนมันไม่ได้จบในตัวเอง
ต้องพูดถึงเส้นเขตแดนทางภูมิศาสตร์ กรณีแม่นำเหืองเป็นกรณีที่ชัด เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่เทคนิคลงพื้นที่ไม่รู้จะตัดสินอย่างไร ของจริงอีกชุดหนึ่งคือดอยลัง พื้นที่ประมาณ 32 ตารางกิโลเมตร ถ้าท่านขึ้นสันเขาก็จะเห็นธงไทยและธงพม่าปักสลับ ทหารทั้งสองฝ่ายก็อยู่ได้ พื้นที่ 491 ที่ชุมพร ตชด. ไทยพม่า ตกเย็นก็เตะตะกร้อด้วยกัน แนวชายแดนดานลาว ทหารที่เป็นลูกศิษย์ผมเล่าให้ฟังว่าพอช่วงเที่ยงทหารไทยขึ้น ฮ. เข้าตัวเมือง ทหารลาวก็ฝากซื้อของ พอ ฮ.กลับ ทหารลาวก็จะเข้ามาช่วยขนของ มีเส้นเขตแดนไหมครับ ปัญหาคือผมคิดว่าคนที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ใช่เส้นเขตแดนอาจจะคิดแบบหนึ่ง แล้วประชาคมในชายแดนจริงๆ ล่ะ อีกประเด็นหนึ่งคือ ผมคิดว่าปัญหาจินตนาการของยุคสมัยไม่ใช่เรื่องใหญ่ ผมคิดว่าปัญหาในช่วงหลังเกิดจากจินตนาการร่วมสมัยแล้วไปกำหนดอดีต ตัวอย่างหนึ่งคือปัญหาเรื่องการเสียกรุง ผมตั้งคำถามว่าจริงหรือไม่ที่มีสงครามไทยรบพม่า ท่านว่าจริงหรือไม่ คำถามที่สอง ประเทศไทยถือกำเนิดขึ้นเป็นประเทศเมื่อไหร่ ถ้าเราโดยละเอียด คือ หลัง ค.ศ. 1909 เมื่อเราปักปันเขตแดนชุดสุดท้ายกับอังกฤษ สุดท้ายที่ปักปันคือเส้นเขตแดนไทย-มาเลเซีย นั่นคือความเป็นประเทศไทยที่สมบูรณ์ ถ้าอย่างนั้นเสียกรุงไม่ใช่เสียเอกราช เพราะคำถามอีกมุมหนึ่งคือ พม่าเสียเอกราชเมื่อไหร่ พม่าเป็นประเทศหลังประกาศเอกราชจากอังกฤษ เพราะสมัยนั้น สงครามจะระบุว่ารบกับเจ้ากรุงหงสาวดี เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเห็นจากหนังสุริโยทัย หรือสมเด็จพระนเรศวร ผมคิดว่าพระนเรศวรไม่ได้ประกาศเอกราช ถ้าท่านเชื่อเรื่องเอกราช ท่านอธิบายปัญหาพิษณุโลกไม่ได้ ท่านต้องบอกว่าหัวหน้ากบฏใหญ่คือพระธรรมราชา ถ้าท่านคิดได้ว่าการเสียกรุงไม่ใช่การเสียเอกราช อย่าเอาอดีตไปกำหนดผลประโยชน์ของชาติ ต้องเอาเรื่องปัจจุบันกำหนดปัจจุบัน ปัญหาใหญ่ของสยามคือปัญหากัมพูชา แต่ผมคิดว่าต้องคิดอีกมุมหนึ่งว่ากัมพูชาเป็นญาติผู้ใหญ่ของสยาม สยามเป็นฉบับถ่ายสำเนาของกัมพูชา อ.นครหลวง อยู่นอกเกาะอยุธยา ถ้าท่านเป็นกองทัพจากหงสาวดีรุกเข้าประชิดท่านข้ามแม่น้ำไม่ได้ เพราะมีแม่น้ำกั้น แต่ทำไม จ. อยุธยา มี อ.นครหลวงอยู่ข้างนอก หรือว่ากษัตริย์ศรีอยุธยารับเอาวัฒนธรรมขแมร์เข้ามา เพราะคำว่านครหลวงคือนครวัดนครธม เรารับวัฒนธรรมขแมร์ วันนี้ท่านนึกไม่ออกไปวัดพระแก้ว ท่านจะเห็นการจำลองนครวัดไว้ในวัดพระแก้ว ผมคิดว่าสภาพทางวัฒนธรรมแบบนี้มีการทับซ้อนกัน เส้นเขตแดนเป็นเส้นเขตแดนของรัฐจริง แล้วอีก 4 ปีเราจะเป็นอาเซียน คือในปี ค.ศ. 2015 เราจะมีอาการคล้ายอียู หรือสหภาพยุโรปมากขึ้นนั่นหมายความว่าเส้นเขตแดนจะลดความสำคัญลง เช่นเยอรมนี-ฝรั่งเศส เคยรบกันสมัยสงครามโลก เนเธอร์แลนด์-เบลเยี่ยม มีร้านกาแฟเปิดคร่อมเส้นเขตแดน คำถาม เมื่อร้านกาแฟตั้งคร่อมเส้นเขตแดนเบลเยี่ยม-เนเธอร์แลนด์ ตกลงจ่ายภาษีให้รัฐไหน ท่านอาจเลือกจ่ายภาษีให้กับรัฐที่เก็บต่ำกว่า แต่เขาใช้หลักว่าดูจากประตูอยู่ทิศไหนจ่ายภาษีให้ประเทศนั้น ตัวอย่างประเภทนี้มันนำไปสู่ประเด็นที่ผมเคยเสนอปี พ.ศ.2551 ว่าให้เปลี่ยนพื้นที่ความขัดแย้งให้เป็นพื้นที่พัฒนาร่วม ซึ่งผู้ที่ดำเนินการเช่นนี้คนแรกคือพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ และต่อมาคือคุณทักษิณ ชินวัตร และสองรัฐบาลก็จบด้วยเหตุเดียวกันคือรัฐประหาร ถ้าเราตัดประเด็นทักษิณ ชาติชายทิ้ง ผมมีทางเลือก ไปศาลไหม หรือสองเจรจราแบบพหุภาคี เราชัดเจนว่าไม่เอา พูดตลอดว่าไม่เอา เพราะในอดีตการเจรจาแบบพหุภาคีเป็นจุดจบคืออนุสัญญาโตเกียว คือเราต้องคืน และก็ถ้าเป็นการเจรจาหลายฝ่ายสุดท้ายอาจถูกพาขึ้นศาล หรือสุดท้าย เปลี่ยนพื้นที่ขัดแย้งเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม เรามีพื้นที่ JDA ที่ภาคใต้ ยุติด้วยการทำความตกลงว่าพื้นที่ทับซ้อนนั้นเปลี่ยนเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม นอกจากนี้ยังมีกรณีที่กองทัพเรือสามารถทำความตกลงร่วมกับเวียดนามในการลาดตระเวนได้ ถือเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง ร่วมฉลองมรดกโลกร่วมกับพี่น้องในพนมเปญ ถ้าเราทำใจไม่ได้ ปัญหามีอย่างเดียวคือขึ้นศาลเมื่อไหร่ ถ้าไม่อยากขึ้นศาลถ้าเราหันมาพัฒนาร่วมกัน เส้นทางท่องเที่ยวใหญ่ในภูมิภาค ถ้าเราทำเส้นทางทัวร์ปราสาทหินในไทยกัมพูชาและลาว เราจะได้พื้นที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ใหญ่มาก เราสามารถพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยว โรงแรม และพี่น้องอิสานจะฝึกพูดภาษาอังกฤษ ถ้าท่านคิดอย่างนี้ได้ เราจะพัฒนาได้ แต่ถ้าคิดอย่างนี้ไม่ได้ เราจะกลับไปเหมือนก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่อีก 4 ปีที่จะเป็นอาเซียนเราจะทำอย่างไร โจทย์ชุดนี้มีปัญหาทับซ้อนกับเรื่องอนาคต อีก 4 ปี แม้แต่จุฬาฯ ก็อาจจะต้องคิดใหม่ ตลาดแรงงาน คนจะข้ามแผ่นดินเสรี สมาคมวิชาชีพไทยเริ่มทำแล้วนะครับ ดัชนีของหมอจากอาเซียน ไม่ใช่หมอไทย ไม่ใช่พยาบาลไทยอีกต่อไป และปัญหาหนึ่งจะหายไป นั่นคือปัญหาแรงงานข้ามชาติจะหมดไปโดยอัตโนมัติ พูดง่ายๆ ตำรวจไทยจะไม่ต้องไล่จับโรฮิงยาอีกต่อไป ปัญหาวันนี้ท่านต้องเตรียมนะครับ อีก 4 ปี โจทย์ชุดนี้อย่างไรก็หนีไม่พ้น แต่ถ้าวันนี้ยังดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบนี้ก็ลำบาก ความล้มเหลวของการทูตครั้งนี้สะท้อนความล้มเหลวของภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทุกมหาวิทยาลัย
อีกประการคือ ไทยเป็นเขมรแค่ไหน ไมเคิล ไรท์ สันนิษฐานว่าราชสำนักอยุธยาพูดเขมรกัน ตัวอย่างที่สองคือ อิทธิพลของเขมรในวัฒนธรรมไทย คุณคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับภาษาไทยถ้าเราคืนคำว่า ก็ ให้กับเขมร คำเดียว เราพูดกันมาสองชั่วโมงกว่าราวกับว่าปัญหาเกิดจากเรื่องพรมแดน ทุกคนในโลกนี้รู้อยู่ว่าปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะการเมืองไทย พูดง่ายๆ ว่าถ้าความสัมพันธ์ดี ก็จะเกิดการพัฒนาร่วม เช่นไทย-มาเลเซีย ซึ่งเป็นพรมแดนที่สั้นที่สุดซึงแก้ปัญหาแบ่งเขตแดนไม่ได้จบลงที่การพัฒนาร่วม ย้อนกลับไปสมัยอยุธยา ถ้าพรมแดนเป็นมิตร เขาเรียกว่า ทางเงินทางทอง ผมคิดว่าถึงวันนี้เราน่าจะเข้าใจเหตุของวิกฤตการณ์ได้ดีกว่าเดิม ในความเห็นของผม ปัญหากัมพูชามันเป็นโรคหรืออาการของปัญหาอื่น ในที่นี้คือโรคที่เกิดกับการเมืองไทย โรคนี้เกิดจากสองปัจจัยขัดแย้งกัน ปัจจัยที่หนึ่งคือเศรษฐกิจสังคมไทยโดยเฉพาะภาคชนบทเปลี่ยนไปมากแล้ว แต่คนชั้นนำไทยไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงนี้ นักเรียนทางรัฐศาสตร์เข้าใจง่ายๆ ว่าเมื่อระบบเศรษฐกิจสังคมเปลี่ยน ระบบการเมืองต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับกลุ่มชนชั้นและกลุ่มผลประโยชน์ที่ เปลี่ยนแปลง ใน 2-3 ทศวรรษถ้าไม่ปรับตัวก็จะเกิดปัญหา ความหวาดกลัวนี้จะเหลวไหลแค่ไหน ก็ไปเถียงกัน แต่ปัญหาคอขาดบาดตายของฝ่ายเจ้า ฉุดกระชากลากถูกทั้งประทศลงไปได้ นี่คือช้างตัวเบ้อเริ่มที่อยู่ในห้อง นี่คือเหตุบาดหมางไทย-กัมพูชา แล้วเรื่องใหญ่คือเรื่องช้างที่อยู่ในห้องนี้ ยังไม่รู้จะเอากลับไปอยู่ในสวนสัตว์ตามปกติได้อย่างไร ปัญหาที่หมักหมมในขณะนี้ ไม่สามารถแก้ไขได้โดยย้อนเวลาหมุนนาฬิกากลับ หรือพูดอีกอย่างคือเศรษฐกิจสังคมชนบทไม่มีทางกลับไปเป็นอย่างสิบหรือยี่สิบ ปีก่อนหน้าแล้ว มีทางออกทางเดียวคือปรับระบบการเมือง ถ้าหากปัญหาที่เป็นเรื่องคอขาดบาดตายในหมู่ฝ่ายเจ้ากระทบกระเทือนถึงขนาด ฉุดรั้งระบบการเมืองทั้งหมด ต้องจัดการให้ปัญหาฝ่ายเจ้าอยู่ในขอบเขตของตนเอง ความไม่รับผิดชอบจนกระเทือนคนอื่นทั้งหมด สุดท้ายแล้วอย่าว่าแต่จะเป็นปัญหาต่อระบบการเมืองเลย แต่จะเป็นปัญหาของระบบฝ่ายเจ้าด้วย ส่วนการฝันหวานว่าจะมีอีกคนมาแทน คุณคิดดีๆ การเปลี่ยนคนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ คุณกำลัง Open the Pandora Box คือจะมีปัญหาเรื่องการสืบราชสมบัติถ้าเปลี่ยนกฎเกณฑ์ เพราะถ้าคุณเปิดกล่องอันนี้ มันจะกลับย้อนไปปลายอยุธยา การที่ยืนยันว่าจะไม่เปลี่ยนมันมีเหตุผลอยู่ และมีเหตุผลที่ควรจะเข้าใจด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าจะวิพากษ์วิจารณ์ จะเที่ยวปรารถนาดีหรือปรารถนาร้ายต้องคิดดีๆ แต่มีทางออกทางหนึ่ง ในเมื่อปัญหาที่เป็นปัญหาคอขาดบาดตายกลับเป็นปัญหาของระบบการเมืองทั้งหมด ต้องจัดการไม่ให้กระทบสังคมไทย ตราบใดที่ฝ่ายเจ้าไม่กระทำการให้กระทบกระเทือนกับสังคมไทย ท่านจะแก้ปัญหาอย่างไรก็เชิญ แต่หากยังทำอย่างหลายปีที่ผ่านมาที่กระทำต่อสังคมไทย การแก้ปัญหาอย่างไรก็กระเทือนทั้งนั้น ทางออก...ผมเรียนว่าไม่มีทางออกนอกจากฝ่ายเจ้าต้องประนีประนอม ผมไม่ได้พูดในทางสุดกู่สุดขั้วเพราะสารภาพว่าผมไม่อยากเห็น มีนักเรียนคนหนึ่งพูดถึงกรณีปฏิวัติฝรั่งเศสอย่างชื่นชม ถ้าไม่อยากเห็นภาวะนั้น เสียงนี้ถึงฝ่ายเจ้ากรุณาประนีประนอม จะประนีประนอมไม่ง่ายแต่เงื่อนไขหนึ่งคือต้องไม่ “Too little, Too late” ข้อผิดพลาดของคณะกรรมปฏิรูปหกร้อยล้านคือการพยายามแตะปัญหาทุกปัญหายกเว้น ปัญหาที่ควรจะแตะ แค่เรื่องเดียว ปลดล็อกระบบการเมือง กรรมการปฏิรูปหกร้อยล้านหลีกเรื่องการเมืองอย่างถึงที่สุด สิ่งที่ท่านพูดจึงไม่ผิด แต่มันไม่มีทางผิด ในภาษาวิชาการเราจะมีคำอีกคำว่า “ไม่รู้ทำทำไม” เช่น รีเสิร์ชว่าคนไทยโตขึ้นทุกวัน คนไทยพูดโกหก ไม่รู้จะทำวิจัยไปทำไม ต้องประนีประนอมเพื่อเปิดประตูให้ความอึดอัดให้ลงมาอยู่ในกรอบ ไม่อยู่ในจุดที่ Too little, Too late ผมคิดว่ากุญแจที่จะไขไปสู่การประนีประนอม แต่ผมค่อนข้างเชื่อว่าเขาไม่ฟัง แต่ผมเชื่อว่าน้อยกว่านี้ไม่ได้ คือ การมาคุยกันอยู่ในกรอบที่ไม่เกิดปัญหา โดยยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
สำเนียงเสียงจาก"คีตาญชลี"...แด่ชุมชนมัฆวานผู้กระหายสงคราม? Posted: 17 Feb 2011 06:40 AM PST "...หากฉันเป็นนก จะร้องขับขาน กล่อมดวงวิญญาณผู้กระหายสงคราม
14 กุมภาพันธ์ 2554 เสียงขับร้องบทเพลงดังขึ้นในเวลาประมาณ 19.30 น. บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ เบื้องหน้าเต็มไปด้วยหนุ่มสาวนักกิจกรรม นิสิต นักศึกษา ที่ยืนเป็นวงล้อมรอบเครื่องหมายแห่งสันติภาพ ซึ่งบรรจงสร้างขึ้นมาด้วยดอกกุหลาบนับร้อยดอกจากฝีมือชาวไทย ชาวต่างชาติและหนุ่มสาวและผู้สัญจรผ่านไปมาบริเวณหน้าหอศิลป์ฯ ในบรรยากาศแห่งวันวาเลนไทน์ "วันแห่งความรัก" โดยร่วมกันจัดขึ้นในนามกลุ่มไม่เอาสงคราม ต้องการสันติภาพ ในก่อนช่วงเวลาก่อนจะแยกย้าย เกิดไอเดียการร้องเพลงร่วมกันเพลงใดกันสักเพลงหนึ่ง เพื่อความรัก เพื่อสันติภาพเหนือเส้นสมมติแห่งเขตแดนไทย-กัมพูชา พวกเราจึงเลือกเพลง "เสียงจากคีตาญชลี" ในวงการนักกิจกรรมทางสังคม นักกิจกรรมนักศึกษา หรือวงการ"เด็กค่าย" คงไม่มีใครคนไหนจะไม่รู้จักเพลง "เสียงจากคีตาญชลี" จากวงคีตาญชลีเป็นแน่ เพราะเป็นเพลงที่เนื้อหาดี มีความหมายลึกซึ้ง และไพเราะเสนาะหู เป็นเพลงแนว"เพื่อชีวิต"ตามความหมายโดยแท้จริงของวรรณกรรมแห่งเสียงเพลง ในการออกค่ายต่างๆ ของนิสิตนักศึกษาก็มักจะหยิบยกมาร้อง มาเล่น มาสอนน้องๆ ให้ได้รู้จักเพลงนี้กันเสมอๆ
และเช่นกัน ในกิจกรรมต้านสงครามไทย-กัมพูชาที่จัดขึ้นครั้งนี้ ผู้ร่วมกิจกรรมได้ร่วมกันตกลงเลือกใช้เพลงที่มี"เนื้อหา"ต่อต้านสงคราม สร้างความรัก ความงดงาม โดยไม่แบ่งแยกถิ่นฐานอาศัย ที่ทุกคนสามารถร้องร่วมกันได้มากที่สุด ลงที่เพลง "เสียงจากคีตาญชลี" จากเนื้อหาแห่งการ"ไม่สนับสนุนสงคราม"อย่างจับใจ ในวรรคท่อนฮุกของเพลง "...หากฉันเป็นนก จะร้องขับขาน กล่อมดวงวิญญาณผู้กระหายสงคราม ให้อยู่ด้วยความรัก อยู่ด้วยความงดงาม ด้วยความละ โลภ โกรธ หลง"
ในราวปีพ.ศ. 2523-2524 อ๊อด สมศักดิ์ อิสมันยี และ ริน สุรินทร์ อิสมันยี สองสามีภรรยาชาวเพชรบุรี เดิมใช้ชื่อว่า วง"สายทิพย์" ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นชื่อ"วงคีตาญชลี"ซึ่งมีความหมายว่า "คารวะด้วยเสียงเพลง" ได้ออกอัลบั้มแรก ในชื่ออัลบั้ม เสียงจากคีตาญชลี และมีเพลงแรกของอัลบั้มชื่อเดียวกันนั่นเอง สำหรับเพลง"เสียงจากคีตาญชลี" เนื้อหาหลักๆ ของงานวรรณกรรมดนตรีชิ้นนี้ สื่อออกมาอย่างเรียบง่ายและสวยงาม ในทัศนะแห่งการ"ไม่อยากให้เกิดสงคราม" "สงคราม" ซึ่งเกิดขึ้นจากน้ำมือของชนชั้นปกครองไม่กี่คน "สงคราม" ซึ่งสร้างความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินให้กับชนชั้นรากหญ้ากรรมาชีพรวมถึงเหล่าทหารชั้นผู้น้อยแนวหน้าที่ถูกส่งไปรับใช้ใน"ศึกสงครามที่ไม่ได้ก่อ"
...จากวันนั้นจนถึงวันนี้ บทเพลง "เสียงจากคีตาญชลี" ยังคงรักษาเจตนารมณ์แห่งอุดมการณ์ "ต่อต้านสงคราม" มาอย่างมั่นคงและไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ทว่า.. หลังจากร้องเพลงจบ เพื่อนนักกิจกรรมรายหนึ่ง แจ้งว่า เมื่อวานนี้(วันที่13 ก.พ. 54) เจ้าของบทเพลงนี้(วงคีตาญชลี) เขาขึ้นร้องเพลง...บนเวทีพันธมิตรฯหน้าทำเนียบ...นะ เหมือนอะไรบางอย่างมันแทรกตัวขึ้นจากท้องมาจุกอยู่ตรงคอ หลังจากที่ได้ทราบข่าวว่าศิลปินกลุ่มนี้ สนับสนุนพันธมิตรฯ ...ตลอดเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ..คนกลุ่มนี้มิใช่หรือ? ที่พาคณะไปกัน 7 คน บุกข้ามเขตกัมพูชาไปหาหน่วยทหารฝั่งเขา ให้เขาจับ ? ยังไม่รวมประโยคยอดฮิตติดหูของส.ส.ประชาธิปัตย์ท่านหนึ่งที่เดินทางไปด้วยว่า "กำลังจะข้ามไปเขมรแล้ว ห้ามบอกใครนะ เรื่องนี้นายกฯ รู้คนเดียว" จนในที่สุดก็ถูกจับทั้งคณะ เป็นเรื่องเป็นราวกันต่อมา ..คนกลุ่มนี้มิใช่หรือ? ที่ก่นด่า ยั่วยุนายกประเทศเพื่อนบ้าน จงเกลียดจงชัง หาประเด็นความคลั่งชาติมาปลุกปั่นให้เกิดข้อพิพาทอยู่ตลอดเวลา ..คนกลุ่มนี้มิใช่หรือ? ที่ถูกชาวบ้านในเขตชายแดน อ.กันทรลักษ์ขับไล่ไสส่งออกนอกพื้นที่เพราะทำให้พวกเขาต้องเดือดร้อน ..คนเหล่านี้มิใช่หรือ? ที่เรียกร้องแกมบังคับให้รัฐบาลและกองทัพไทย "ทำสงคราม" กับประเทศกัมพูชา
เมื่อก่อนเคยคิดมาเสมอว่า วงดนตรีต่างๆที่เกิดขึ้นในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน ในช่วงยุคค้นหาของเหล่านักศึกษาและเสรีชน จะเกิดขึ้นเพื่อรับใช้อุดมการณ์เสรี อุดมการณ์ฝ่ายซ้าย ที่มุ่งเปลี่ยนแปลงสังคมให้เกิดความเท่าเทียม หลากหลายกวี บทประพันธ์ เนื้อหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเพลงยุคนั้นต่างถูกตั้งเป็นแนวทางแสวงหาอันใสซื่อบริสุทธิ์ของหนุ่มสาวผู้ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม หมายรวมถึงเนื้อหาของเพลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากผลงานของวง"คีตาญชลี"ด้วย เคยเชื่อมาเสมอว่าบทเพลงเหล่านั้นคือบทเพลงแห่งอุดมการณ์ฝ่ายซ้าย บทเพลงเพื่อรับใช้ประชาชนผู้ถูกกดขี่ และเคยเชื่อมาเสมอว่าศิลปินที่แต่งเพลงเหล่านั้น มีหัวใจและอุดมการณ์เสรีเพื่อรับใช้ประชาชนผู้แสวงหาความเป็นธรรมจากระบบระบอบที่กดขี่
http://www.manager.co.th/vdo/defaultrun.aspx?NewsID=5540000020760 ในกลางดึกคืนวันที่ 13 ก.พ. 2554 ภาพและเสียงของวง "คีตาญชลี" ปรากฎอยู่บนหน้าจอมอนิเตอร์ถ่ายทอดสดเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เสียงประกาศของ สุรินทร์ อิสมันยี (ริน คีตาญชลี) ดังกึกก้อง "เพื่อเป็นกำลังใจให้กับคุณวีระและคุณราตรี และทหารเพื่อนทหารหาญของเราที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ชายแดนนะคะ" (นาทีที่ 3.15) หลังจากนั้นจึงเริ่มร้องบรรเลงเพลง.. "บรรพบุรุษของไทยแต่โบราณ ปกบ้านป้องเมืองคุ้มเหย้า..." ...คือบทเพลงพระราชนิพนธ์"เราสู้" ซึ่งเป็นหนึ่งในสามของเพลงปลุกใจฝ่ายขวาที่ถูกนำมาใช้กับการต่อสู้การเมืองที่ได้รับความนิยมสูงสุด พร้อมจบด้วยถ้อยคำปราศัยสวยหรูหลังจบเพลง ริน คีตาญชลี: ขอให้อย่าได้จัดฉาก อย่าได้สร้างภาพ ขอให้ความปลอดภัยมีแก่พี่น้องเราจริงๆ (นาทีที่7.29) อ๊อด คีตาญชลี: มันแปลกอยู่อย่างนะครับ ไม่รู้ เราก็อยู่ในสถานการณ์นี้มานาน คนที่เคยดีๆ พอมาจวนตัวแล้ว ก็จะเปลี่ยนไปทุกที (นาทีที่7.47) จากงานเขียนของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งได้ค้นคว้าข้อมูลอย่างละเอียดเกี่ยวกับประวัติเพลงนี้และได้ตีพิมพ์ไว้ในบทความ เราสู้: เพลงพระราชนิพนธ์การเมืองกับการเมืองปี 2518-2519 มีอยู่ตอนหนึ่งว่า.. "เพลงพระราชนิพนธ์ “เราสู้” นี้เป็นเพลงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงระบายความในพระราชหฤทัยของพระองค์ท่านที่ทรงได้รับการข่มขู่จาก “ภัยแดง” ที่มุ่งร้ายต่อเอกราชและอธิปไตยของประเทศอยู่ในขณะนี้ ว่าจะล้มล้างพระบรมราชจักรีวงศ์ให้สูญสิ้นไปจากผืนแผ่นดินไทย แต่ก็มิได้ทรงหวาดหวั่นพรั่นพรึง ทรงยืนยันที่จะประทับอยู่สู้ภัยร่วมกับประชาชนพสกนิกรของท่านจนพระองค์สุดท้าย จะไม่ทอดทิ้งประชาชนไปจากผืนแผ่นดินไทยเป็นอันขาด" สันติ ลุนเผ่ 30 มกราคม 2519 หนังสือพิมพ์ดาวสยาม และขอยกข้อความตอนท้ายของงานเขียนวิชาการชิ้นนี้ระบุว่า "แน่นอนว่า การที่ “เราสู้” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ย่อมมีความหมายมากกว่าเพลงปลุกใจทั่วไป สำหรับ ดาวสยาม และกลุ่มพลังฝ่ายขวาอื่นๆ (กระทิงแดง, ลูกเสือชาวบ้าน, นวพล) ทุกครั้งที่ได้ยิน, ร้อง หรือเพียงแต่นึกถึงเพลงนี้ในใจ ย่อมสามารถรู้สึกได้ว่าสิ่งที่พวกเขากำลังทำนั้นไม่เพียงแต่ถูกต้อง แต่เป็นพระราชประสงค์ – พระราชบัญชา – โดยตรง และแม้ในหลวงจะทรงมีพระราชดำรัสที่เป็นต้นกำเนิดของเพลงมาตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2518 หรือกระทั่งทรง “ปรุ” กลอนที่เขียนจากพระราชดำรัสเป็น ส.ค.ส. ออกพระราชทานในวงจำกัด แต่การคงอยู่ในใจ, การพร้อมใช้ (ready-to-use) ของเพลงย่อมสูงกว่า – และด้วยเหตุนี้จึง “มีพลัง” กว่า – พระราชดำรัสร้อยแก้วหรือกลอนธรรมดามาก" สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เพลง"เราสู้" ยังคงถูกหยิบใช้ในโอกาสต่อๆ มาเป็นระยะในกระบวนการต่อสู้ของกลุ่มฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยมและเหล่ารอยัลลิสต์ภายในประเทศ และในครั้งนี้ก็ถูกหยิบยกกลับมาใช้อีกครั้งโดยวงดนตรีซึ่งครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยเชื่อว่าเขาต่อสู้บนอุดมการณ์"ฝ่ายซ้าย"ร่วมกับขบวนการประชาธิปไตยของประชาชน ในนามวง"คีตาญชลี" ซึ่งแปลว่า"คารวะด้วยเสียงเพลง" ...หากแต่วันนี้เสียงขับขานบทเพลง"เราสู้" คงมิใช่การคารวะกับประชาชนผู้ถูกกดขี่ การคารวะกับอุดมการณ์ฝ่ายซ้าย หรืออุดมการณ์ประชาธิปไตยใดๆ แล้วสิ้น คงเหลือก็แต่ชื่อและเรื่องราวแห่งอุดมการณ์ในครั้งก่อนเก่า วันนี้ ณ เวทีพันธมิตรฯ วงดนตรีที่ชื่อ"คีตาญชลี" ร้องเพลงปลุกใจต่อเนื่องกันถึง 3 เพลง ได้แก่ เพลง เราสู้ (นาทีที่ 3.15) เพลง นักรบชายแดน (นาทีที่9.36) และเพลงนกเขาเถื่อน 4(แต่งเนื้อร้องใหม่เพื่อการทวงคืนเขาพระวิหาร) (นาทีที่15.07) คงไม่มีสิ่งใดที่จะสื่อออกมาได้ชัดเจนจากสามเพลงเหล่านี้ได้มากไปกว่าการ"สนับสนุนให้เกิดสงครามไทย-กัมพูชา"
...ขึ้นชื่อว่า"ซ้าย"ก่อนอื่นคุณต้องมองเห็นประชาชนทุกคน"เท่าเทียมกัน" หากนักปฏิวัติฝ่ายซ้ายจักประกาศเรียกร้องสงคราม คงมีเพียงแค่"สงครามชนชั้น"เพื่อปฏิวัติโค่นล้มอำนาจชนชั้นปกครองผู้กดขี่ สร้างเสรีให้เหล่าประชาชนชั้นกรรมาชีพ หาใช่การประกาศเรียกร้อง"สงครามชาติพันธุ์"ซึ่งเป็นเพียงความต้องการของผู้มีอำนาจในชนชั้นปกครองแต่นำพามาซึ่งความหายนะของเหล่าชนชั้นกรรมาชีพทุกๆ ชาติพันธุ์ กิจกรรมต้านสงครามของกลุ่มไม่เอาสงคราม ต้องการสันติภาพ ในวันวาเลนไทน์ปีนี้ บริเวณหน้าหอศิลป์ฯ กรุงเทพฯ เราเลือกหยิบยกเพลง "เสียงจากคีตาญชลี" ขึ้นมาร้องเป็นเพลงปิดงานร่วมกัน "...หากฉันเป็นนก จะร้องขับขาน กล่อมดวงวิญญาณผู้กระหายสงคราม ให้อยู่ด้วยความรัก อยู่ด้วยความงดงาม ด้วยความละ โลภ โกรธ หลง"
ตัวผู้เขียนมั่นใจว่าเราเลือกหยิบยกเพลงต่อต้านสงคราม ที่ตรงตาม "เนื้อหา" และ "อุดมการณ์" แห่งบทประพันธ์ในเนื้อร้องของเพลง"เสียงจากคีตาญชลี" ขึ้นมาร้องนี้ เรายึดมั่นในอุดมการณ์แห่ง"ตัวบทเพลง" หากแต่วันนี้เมื่อเวลาผ่านไป"เจ้าของบทเพลง"กลับมีการกระทำอันย้อนแย้งในอุดมการณ์แห่งตนเมื่อกว่า 30 ปีก่อน โดยการร่วมกับคนกลุ่มหนึ่งผลิตซ้ำแนวคิดชาตินิยม อนุรักษ์นิยม และเหยียดชาติพันธุ์อื่น เพื่อสนับสนุนความชอบธรรมในการ "ทำสงคราม" กับประเทศเพื่อนบ้านที่ชื่อ "กัมพูชา" อุดมการณ์ล้านล้อมกล่อมบรรเลง สำเนียง..เสียงจาก คี ตาญชลี ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบประวัติเพลง"เราสู้"จากเว็บงานวิชาการของอ.ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
000000000 ชื่อบทความเดิม: สำเนียงเสียงจาก"คีตาญชลี" ฤๅเสียงดนตรีเลือกที่จะร้องขับขาน เลือกปลุกจิตเร้าใจกล่อมดวงวิญญาณ แด่ชุมชนมัฆวานผู้กระหายสงคราม ? สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
Posted: 17 Feb 2011 02:33 AM PST ศาลปกครองรับคำฟ้ององค์กรภาคประชาสังคม กรณีแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตรายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย นัดไต่สวนฉุกเฉิน 23 ก.พ.นี้ เพื่อพิจาณาคำร้องคุ้มครองชั่วคราวห้ามกรรมการจำนวน 4 คนทำหน้าที่ในคณะกรรมการวัตถุอันตราย
วันนี้ (17 ก.พ.54) ตัวแทนจากมูลนิธิชีววิถี และมูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดเผยความคืบหน้าการฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2554 กรณีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวัตถุอันตรายตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ฉบับปรับปรุงแก้ไข พ.ศ. 2551 อย่างชัดเจน อันเนื่องมาจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 4 คนมิได้มาจากองค์การสาธารณะประโยชน์ตามที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวระบุไว้ โดยเฉพาะ 2 คนเป็นตัวแทนธุรกิจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชรายใหญ่และกลุ่มธุรกิจเคมี สภาอุตสาหกรรม โดยนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ และนางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้รับมอบอำนาจจากมูลนิธิทั้งสองแจ้งว่า ขณะนี้ศาลปกครองกลางได้รับคำฟ้องขององค์กรภาคประชาสังคมแล้ว โดยศาลจะนัดไต่สวนฉุกเฉินตามคำขอคุ้มครองชั่วคราวของผู้ฟ้องคดี ให้ศาลมีคำสั่งห้ามกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 4 คน ทำหน้าที่ในคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยได้นัดไต่สวนในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 13.30 น. ที่ศาลปกครองกลาง ชั้น 2 ห้องไต่สวน 1 โดยมีตัวแทนจากมูลนิธิชีววิถี มูลนิธิบูรณะนิเวศ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมการไต่สวน ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องขององค์กรภาคประชาสังคมคือ ขอให้มีการเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีและถอดถอนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเฉพาะรายชื่อที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย จำนวน 4 รายชื่อ และให้กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทดแทนกรรมการที่ถูกเพิกถอน โดยเปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดีและองค์การสาธารณะประโยชน์อื่นๆ ที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายบัญญัติ ได้ส่งตัวแทนเพื่อคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในด้านการคุ้มครองสุขภาพอนามัย ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านการเกษตรกรรมยั่งยืน และด้านการจัดการปัญหาวัตถุอันตรายในท้องถิ่นภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา เพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ เนื่องจากการแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง จะส่งผลกระทบต่อการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่จะมีการจดทะเบียนใหม่ทั้งหมดภายในเดือนสิงหาคมนี้ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ธงชัย วินิจจะกูล: ปัญหาไทย-กัมพูชา คือปัญหาของ ‘ฝ่ายเจ้า’ ไทย Posted: 17 Feb 2011 01:49 AM PST (17 ก.พ. 54) ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน ร่วมเสวนา “ฝ่าวิกฤตชายแดนไทยเขมร” ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุ ปัญหาความสัมพันธ์ไทยกัมพูชา เป็นปัญหาการเมืองไทยและเป็นปัญหาที่มาจาก “ฝ่ายเจ้า เปรียบเหมือนช้างอยู่ในห้อง แต่ไม่ยอมรับว่ามีช้างอยู่จึงแก้ปัญหาไม่ได้ ชี้ หาก “ฝ่ายเจ้า” ไม่สามารถแก้ปัญหาของตัวเองได้ และฉุดกระชากสังคมไทยให้เป็นปัญหาไปด้วย จะทำให้ฝ่ายเจ้าต้องเผชิญปัญหาในท้ายที่สุด ฉะกรรมการปฏิรูปแตะทุกเรื่องยกเว้นเรื่องที่ควรแตะ “ทุกคนในโลกนี้รู้อยูว่าปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะการเมืองไทย พูดง่ายๆ ว่าถ้าความสัมพันธ์ดี ก็จะเกิดการพัฒนาร่วม เช่นไทย-มาเลเซีย ซึ่งเป็นพรมแดนที่สั้นที่สุดซึ่งแก้ปัญหาแบ่งเขตแดนไม่ได้จบลงที่การพัฒนาร่วม ถ้าย้อนกลับไปสมัยอยุธยา ถ้าพรมแดนเป็นมิตร เขาเรียกว่า ทางเงินทางทอง” นักวิชาการประวัติศาสตร์ผู้นี้กล่าวต่อไปด้วยว่า รากของปัญหาที่ไทยขัดแย้งกับกัมพูชาคือเรื่องการเมืองไทยซึ่งเกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจการสังคมที่พัฒนาไปในขณะที่ปัจจัยทางการเมืองยังไม่ปรับตัว รายละเอียดของการเสวนาดังนี้ 000 ผมคิดว่าถึงวันนี้เราน่าจะเข้าใจเหตุของวิกฤตการณ์ได้ดีกว่าเดิม ในความเห็นของผม ปัญหากัมพูชามันเป็นโรคหรืออาการของปัญหาอื่น ในที่นี้คือโรคที่เกิดกับการเมืองไทย โรคนี้เกิดจากสองปัจจัยขัดแย้งกัน ปัจจัยที่หนึ่งคือเศรษฐกิจสังคมไทยโดยเฉพาะภาคชนบทเปลี่ยนไปมากแล้ว แต่คนชั้นนำไทยไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงนี้ นักเรียนทางรัฐศาสตร์เข้าใจง่ายๆ ว่าเมื่อระบบเศรษฐกิจสังคมเปลี่ยน ระบบการเมืองต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับกลุ่มชนชั้นและกลุ่มผลประโยชน์ที่เปลี่ยนแปลง ใน 2-3 ทศวรรษถ้าไม่ปรับตัวก็จะเกิดปัญหา ในการเปลี่ยนแปลงนี้เขาได้รู้ว่าระบบการเลือกตั้งมันดีสำหรับเขา แน่นอนไม่มีระบบการเมืองที่ดีที่สุดสะอาดไปหมด คนที่แสวงหาระบบนั้นต่างหากที่โง่ มันเป็นไปไม่ได้ไม่ว่าที่ไหน ครั้งล่าสุดที่อเมริกามีการเลือกตั้ง ก็ยังมีมาเฟีย มีคอร์รัปชั่น มีนักการเมืองสามานย์ แต่ถ้าเรายอมรับว่าระบบเลือกตั้งไม่มีทางที่สมบูรณ์สุดขีด แต่เป็นระบบที่เอื้อประชาชน เป็นระบบที่สะท้อนผลประโยชน์ที่ต่างกันแล้วนำมาแลกกันได้อย่างสันติ ระบบการเมืองไทยต้องเปลี่ยนเพราะระบบเศรษฐกิจสังคมเปลี่ยนไปแล้ว แล้วเมื่อกำลังเคลื่อนไปก็ถูกขัดจังหวะอย่างแรง เหตุที่ระบบการเมืองไม่ยอมเปลี่ยนตามอย่างดื้อดึงสาเหตุใหญ่ที่สุดคือการกลัวว่านักการเมืองจะมาเป็น King Maker คำกล่าวอ้างว่าทักษิณจะมาเป็นประธานาธิบดี เป็นคำโกหก แต่คำกล่าวอ้างนี้แสดงความกลัวจาก “ฝ่ายเจ้า” ย้ำว่า “ฝ่ายเจ้า” ซึ่งเป็นพหูพจน์และรวมหลายคนที่ไม่ใช่เจ้า ไม่เชื่อไปถามคุณเปรม (ติณสูลานนท์) ว่าคิดว่าตัวเองเป็นฝ่ายเจ้าหรือไม่ ความหวาดกลัวนี้จะเหลวไหลแค่ไหน ก็ไปเถียงกัน แต่ปัญหาคอขาดบาดตายของฝ่ายเจ้า ฉุดกระชากลากถูกทั้งประทศลงไปได้ นี่คือช้างตัวเบ้อเริ่มที่อยู่ในห้อง นี่คือเหตุบาดหมางไทย-กัมพูชา แล้วเรื่องใหญ่คือเรื่องช้างที่อยู่ในห้องนี้ ยังไม่รู้จะเอากลับไปอยู่ในสวนสัตว์ตามปกติได้อย่างไร ปัญหาที่หมักหมมในขณะนี้ ไม่สามารถแก้ไขได้โดยย้อนเวลาหมุนนาฬิกากลับ หรือพูดอีกอย่างคือเศรษฐกิจสังคมชนบทไม่มีทางกลับไปเป็นอย่างสิบหรือยี่สิบปีก่อนหน้าแล้ว มีทางออกทางเดียวคือปรับระบบการเมือง ถ้าหากปัญหาที่เป็นเรื่องคอขาดบาดตายในหมู่ฝ่ายเจ้ากระทบกระเทือนถึงขนาดฉุดรั้งระบบการเมืองทั้งหมด ต้องจัดการให้ปัญหาฝ่ายเจ้าอยู่ในขอบเขตของตนเอง ความไม่รับผิดชอบจนกระเทือนคนอื่นทั้งหมด สุดท้ายแล้วอย่าว่าแต่จะเป็นปัญหาต่อระบบการเมืองเลย แต่จะเป็นปัญหาของระบบฝ่ายเจ้าด้วย ส่วนการฝันหวานว่าจะมีอีกคนมาแทน คุณคิดดีๆ การเปลี่ยนคนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ คุณกำลัง Open the Pandora Box คือจะมีปัญหาเรื่องการสืบราชสมบัติถ้าเปลี่ยนกฎเกณฑ์ เพราะถ้าคุณเปิดกล่องอันนี้ มันจะกลับย้อนไปปลายอยุธยา การที่ยืนยันว่าจะไม่เปลี่ยนมันมีเหตุผลอยู่ และมีเหตุผลที่ควรจะเข้าใจด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าจะวิพากษ์วิจารณ์ จะเที่ยวปรารถนาดีหรือปรารถนาร้ายต้องคิดดีๆ แต่มีทางออกทางหนึ่ง ในเมื่อปัญหาที่เป็นปัญหาคอขาดบาดตายกลับเป็นปัญหาของระบบการเมืองทั้งหมด ต้องจัดการไม่ให้กระทบสังคมไทย ตราบใดที่ฝ่ายเจ้าไม่กระทำการให้กระทบกระเทือนกับสังคมไทย ท่านจะแก้ปัญหาอย่างไรก็เชิญ แต่หากยังทำอย่างหลายปีที่ผ่านมาที่กระทำต่อสังคมไทย การแก้ปัญหาอย่างไรก็กระเทือนทั้งนั้น ทางออก...ผมเรียนว่าไม่มีทางออกนอกจากฝ่ายเจ้าต้องประนีประนอม ผมไม่ได้พูดในทางสุดกู่สุดขั้วเพราะสารภาพว่าผมไม่อยากเห็น มีนักเรียนคนหนึ่งพูดถึงกรณีปฏิวัติฝรั่งเศสอย่างชื่นชม ถ้าไม่อยากเห็นภาวะนั้น เสียงนี้ถึงฝ่ายเจ้ากรุณาประนีประนอม จะประนีประนอมไม่ง่ายแต่เงื่อนไขหนึ่งคือต้องไม่ “Too little, Too late” ข้อผิดพลาดของคณะกรรมปฏิรูปหกร้อยล้านคือการพยายามแตะปัญหาทุกปัญหายกเว้นปัญหาที่ควรจะแตะ แค่เรื่องเดียว ปลดล็อกระบบการเมือง กรรมการปฏิรูปหกร้อยล้านหลีกเรื่องการเมืองอย่างถึงที่สุด สิ่งที่ท่านพูดจึงไม่ผิด แต่มันไม่มีทางผิด ในภาษาวิชาการเราจะมีคำอีกคำว่า “ไม่รู้ทำทำไม” เช่น รีเสิร์ชว่าคนไทยโตขึ้นทุกวัน คนไทยพูดโกหก ไม่รู้จะทำวิจัยไปทำไม ต้องประนีประนอมเพื่อเปิดประตูให้ความอึดอัดให้ลงมาอยู่ในกรอบ ไม่อยู่ในจุดที่ Too little, Too late ผมคิดว่ากุญแจที่จะไขไปสู่การประนีประนอม แต่ผมค่อนข้างเชื่อว่าเขาไม่ฟัง แต่ผมเชื่อว่าน้อยกว่านี้ไม่ได้ คือ การมาคุยกันอยู่ในกรอบที่ไม่เกิดปัญหา โดยยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
หมายเหตุ
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
กรุงเทพฯ: ศูนย์กลางความขัดแย้ง Posted: 17 Feb 2011 01:33 AM PST
กรุงเทพฯ ไม่ได้เป็นเพียงศูนย์กลางอำนาจรัฐ แต่กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของอำนาจทุกอย่าง ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ โดยที่อำนาจทั้งหมดนั้นมีลักษณะรวมศูนย์อยู่ที่ “เสียง” ไม่ได้หมายความว่ากรุงเทพฯ คือ “เสียงส่วนใหญ่” หรือเป็นตัวแทนของเสียงส่วนใหญ่ของคนในประเทศนะครับ แต่กรุงเทพฯ คือ “เสียงที่ดังกว่า” แต่เสียงที่ดังกว่าก็ไม่ได้หมายความอีกนั่นแหละว่าเป็นเสียงที่มีเหตุผลดีกว่า เที่ยงตรงกว่า ชอบธรรมมากกว่า เพียงแต่ว่าเป็นเสียงที่มีโอกาสส่งผ่านหรือสะท้อนผ่านสื่อต่างๆ มากกว่า แล้วก็มีวัฒนธรรมของการขยันแข่งกัน “ส่งเสียง” อยู่ตลอดเวลา เสียงที่ดังกว่าดังกล่าวมันมีฐานอำนาจรัฐ อำนาจทุน อำนาจจารีต อำนาจทางศีลธรรม การศึกษา อำนาจในฐานะเจ้าของสื่อ ความได้เปรียบในการเข้าถึงสื่อ ฯลฯ รองรับอยู่อย่างหนาแน่น แต่ระยะเวลากว่า 5 ปี มานี้ เสียงของคนต่างจังหวัด คนชนบท คนสามจังหวัดภาคใต้ คนตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา คนชั้นล่าง คนกลุ่มน้อย คนชายขอบของสังคม การเมือง เศรษฐกิจ คนชายขอบของคนชั้นกลางในเมืองและของสื่อ เริ่มดังแทรกขึ้นมามากขึ้นๆ ในสื่อทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี สื่อออนไลน์ ฯลฯ ในขณะที่สื่อฟรีทีวี หนังสือพิมพ์ นิตยสารยักษ์ใหญ่ในประเทศยังเป็นกระบอกเสียงของ “เสียงที่ดังกว่า” อย่างคงเส้นคงวา! เสียงที่ดังแทรกขึ้นเรื่อยๆ นั้นกำลังตะโกนบอกว่า เสียงที่ดังกว่าของกรุงเทพฯ คือ “เสียงแห่งความขัดแย้ง” พวกคุณคือ “ศูนย์กลางของความขัดแย้ง” เพราะมันคือเสียงแห่งคำพิพากษาตัดสินทุกเรื่องต่อเพื่อนมนุษย์และบรรทัดฐานทางสังคม-การเมืองทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เช่น โง่-ฉลาด ถูก-ผิด ดี-ชั่ว รัก-ไม่รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เอา-ไม่เอารัฐบาลที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือกมาแล้ว แก้-ไม่แก้รัฐธรรมนูญ เอา-ไม่เอา “การเลือกตั้ง” กระทั่งเอา-ไม่เอาสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน ฯลฯ
แต่ “เสียงที่ดังกว่า” หาได้เข้าใจว่าพวกเขาคือศูนย์กลางของความขัดแย้งไม่ พวกเขายังดันทุรังว่า พวกเขาคือผู้ทรงภูมิปัญญา ทรงศีลธรรม ทรงไว้ซึ่งความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มีหน้าที่ช่วยให้เพื่อนร่วมชาติหายโง่ตลอดไป ประชาชนส่วนใหญ่ที่เลือกรัฐบาลที่มีนโยบายที่พวกเขาเห็นว่าเป็นประโยชน์ ต้องสูญเสียโอกาสที่จะขับเคลื่อนให้รัฐบาลที่พวกเขาเลือกให้ทำประโยชน์แก่พวกเขามากขึ้นๆ วิถีชีวิตของผู้คนตามแนวชายแดนขาดอิสรภาพที่จะดูแลตนเอง ไม่มีอำนาจที่จะไม่เอาสงคราม เสียงที่ดังกว่า (แม้ว่าเป็นเสียงส่วนน้อย) บอกไม่เอารัฐบาลที่ประชาชนเลือก หรือบอกว่าไม่ต้องเลือกตั้ง หรือบอกว่าต้องรบกับเพื่อนบ้าน ดูเหมือนว่ามันง่ายกว่าที่ฝ่ายผู้ใช้อำนาจรัฐหรือกลไกอำนาจรัฐต้องทำตาม แต่เสียงของประชาชนส่วนใหญ่ที่ออกมาขอการเลือกตั้ง บอกว่าไม่เอาสงคราม ดูเหมือนว่า “ผู้ใช้อำนาจ” (ไม่ใช่เจ้าของอำนาจ) ไม่เคยได้ยิน แต่ “ผู้ใช้อำนาจ” ไม่ได้ยินเสียงของคนส่วนใหญ่ ยังพอเข้าใจได้ว่านั่นเป็นอาการ “บ้าอำนาจระยะสุดท้าย” แต่สื่อฟรีทีวี หนังสือพิมพ์ นิตยสารยักษ์ใหญ่ ที่ไม่ได้ยินแถมยังทำตัวเป็นหางเครื่องของพวกบ้าอำนาจระยะสุดท้ายนี่สิ เป็นพฤติกรรมที่ยากจะเข้าใจได้จริงๆ! เห็นไหมครับ “เสียงที่ดังกว่า” (เช่น หมอประเวศ วะสี) บอกว่าต้องทำ “แผนที่คน” ต้องยกย่องความรู้ในตัวคนมากกว่าความรู้ในตำรา การยกย่องความรู้ในตัวคนจะทำให้ทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมและเคารพกันและกันมากขึ้น อ้าว! แล้วทำไมคุณมองไม่เห็นว่า “ประชาธิปไตย” ก็มีอยู่ “ในตัวคน” ทีเสื้อเหลืองมาชุมนุมไล่รัฐบาลที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือกคุณยกย่องว่านั่นเป็นปรากฏการณ์ “มหาวิทยาลัยมัฆวาน” เป็นมหาวิทยาลัยที่สอนประชาธิปไตยภาคประชาชนแก่สังคมที่ดีที่สุด แต่ทีคนเสื้อแดงมาชุมนุมไล่อำมาตย์ ไม่เอาอำนาจเผด็จการจารีต คุณกลับบอกว่ามาเพราะจน ถูกหลอกมา ถูกซื้อ ถูกจ้าง ฯลฯ แล้วคุณก็อาสามาปฏิรูปประเทศเพื่อแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรม แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้พวกเขา (จะได้ไม่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย?) แต่จะแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรม แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้พวกเขาได้อย่างไรครับ ในเมื่อคุณไม่เคยสนทนาปราศรัยกับพวกเขาในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียมเลย คุณมองพวกเขาในฐานะเป็นคนเหมือนคุณไหม เห็นประชาธิปไตยในคนอย่างพวกเขาไหม แล้วเหตุใดจนป่านนี้คุณไม่เคยวิพากษ์ฝ่ายที่ก่อตั้ง “มหาวิทยาลัยมัฆวาน” เลย พูดก็พูดเถอะ เสียงที่ดังกว่าบางส่วนก็ไม่ใช่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม เคยยกย่องประชาธิปไตยชุมชน เรียกร้องให้ประชาชนมีอิสระในการปกครองตนเอง แต่ดันบอกว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ทางแก้ปัญหา ไม่วิจารณ์พวกเดียวกันที่กดดันให้รัฐบาลรบกับเพื่อนบ้าน ไม่เรียกร้องให้รัฐฟังเสียงของชาวบ้านที่เดือดร้อนตามแนวชาวแดนที่ตะโกนจนเสียงแหบแห้งอ่อนระโหยว่า “ไม่เอาสงคราม!!!” เห็นไหมครับ “เสียงที่ดังกว่า” ของกรุงเทพฯ ไม่ว่าเสียงของราษฎรอาวุโส สื่อกระแสหลัก นักวิชาการดารา ม็อบผูกขาดความรักชาติ ผูกขาดความสูงส่งทางปัญญาและศีลธรรม เอาเข้าจริงพวกเขาก็ได้แต่เทศนา และพิพากษาตัดสินประชาชนส่วนใหญ่ พวกเขาไม่เคยสัมผัสปัญหาจริงๆ ไม่รู้สึกรู้สาต่อความเดือดร้อนของชาวบ้านจริงๆ ความสามารถจริงๆ ที่พวกเขามีคือ ความสามารถสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งแตกแยกที่ไม่มีวันสิ้นสุด! ปากก็ว่าประชาธิปไตยต้องมีจริยธรรม ประชาชนต้องมีศักดิ์ศรี ต้องมีอิสระปกครองตนเอง แต่มองไม่เห็น “ประชาธิปไตยในตัวคน” ไม่เคารพเจตจำนงของประชาชนที่ต้องการการเลือกตั้งและประชาธิปไตย และไม่ได้ยินเสียงเรียกร้องของประชาชนที่เดือดร้อนตามแนวชายแดนที่ปฏิเสธสงคราม เสียงที่ดังกว่าของกรุงเทพฯ จึงเป็นมาเฟียประชาธิปไตย เป็นศูนย์กลางของความขัดแย้ง และสร้างเงื่อนไขความเดือดร้อนแก่ประชาชนทุกภูมิภาค! สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ศาล ปค.สูงสุด ชี้คำสั่ง กทม.ยกเลิกตำแหน่งกำนัน-ผญบ.ชอบแล้ว Posted: 17 Feb 2011 12:27 AM PST ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ยกฟ้อง อดีตผู้ใหญ่บ้านฟ้องเพิกถอนคำสั่ง กทม.ชี้ ประกาศยกเลิกตำแหน่งกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ใน กทม.ชอบแล้ว และการไม่จัดเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ไม่ถือเป็นการละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ วานนี้ (16 ก.พ.54) ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลางให้ยกฟ้องกรณีนายเฉลิมพล สุทธิเกษมศานต์ อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 แขวงบางขุนเทียน เขตจอมทอง กทม. ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กรณีขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 17 ม.ค.43 และลงวันที่ 27 ก.ย.47 ที่เกี่ยวกับการให้ยกเลิกตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านในเขตกรุงเทพมหานคร ในส่วนที่ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้พ้นจากตำแหน่ง หรือครบวาระไปแล้ว และขอให้มีคำสั่งให้กรุงเทพมหานคร สั่งให้มีการเลือกตั้ง ตำแหน่งต่างๆ ดังกล่าวในเขตกรุงเทพมหานครแทนตำแหน่งที่ว่างทั้งที่พ้นจากตำแหน่งหรือครบวาระภายหลังจากมีประกาศกรุงเทพมหานครลงวันที่ 17 ม.ค.43 และลงวันที่ 27 ก.ย.47 ทั้งนี้ คดีดังกล่าว นายเฉลิมพล เห็นว่า ตนเองได้รับความเสียหาย จากการที่ 3 ผู้ว่าฯ กทม.ในเวลานั้น คือ นายพิจิตต รัตตกุล นายสมัคร สุนทรเวช และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้มีประกาศกรุงเทพมหานครให้ยกเลิกตำแหน่งต่างๆ ดังกล่าวในเขตกรุงเทพมหานคร และเมื่อยังไม่ถึงวันที่ 30 ก.ย.48 ที่ประกาศกรุงเทพมหานคร ระบุให้ยกเลิกตำแหน่งต่างๆ เหล่านี้ โดยให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ตามกฎหมายว่าด้วยการปกครองท้องที่พ้นจากตำแหน่งทันที แต่พอตำแหน่งต่างๆ นี้ว่างลงเช่นตนเองเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 แขวงบางขุนเทียนครบวาระ 5 ปีในวันที่ 5 ก.ค.46 กทม.และผู้ว่าฯ กทม.ก็กลับไม่มีการจัดให้มีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง จึงถือเป็นการละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล ส่วนที่ศาลปกครองสูงสุดเห็นควรยกฟ้อง ระบุว่า ศาลเห็นว่า การออกประกาศทั้ง 2 ฉบับ เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และชอบด้วยกฎหมายแล้ว อีกทั้งมีจุดมุ่งหมายที่จะยกเลิกตำแหน่งต่างๆ ดังกล่าวโดยมีผลใช้บังคับกับผู้ดำแหน่งดังกล่าวทุกคนในเขต กทม.ไม่ใช่บังคับใช้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งคนใดคนหนึ่ง จึงไม่ขัดกับหลักความเสมอภาคที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ สำหรับที่นายเฉลิมพลอ้างว่า กทม.และผู้ว่าฯ กทม.ไม่จัดให้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 แขวงบางขุนเทียน รวมทั้งแทนผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ดังกล่าวที่พ้นจากตำแหน่งไปถือเป็นการละเลย เห็นว่า เมื่อประกาศ 2 ฉบับชอบด้วยกฎหมายแล้ว ดังนั้น เมื่อนายเฉลิมพล และบุคคลอื่นที่ดำรงตำแหน่งต่างๆ ดังกล่าว พ้นจากตำแหน่งแล้ว กทม.ไม่ดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ก็ไม่ถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายให้ต้องปฏิบัติแต่อย่างใด ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
คนทำงาน ตปท. เสนอเพิ่มมาตรการลงโทษบริษัทหลอกลวง Posted: 16 Feb 2011 11:31 PM PST คนงานไทยที่เคยไปทำงานต่างประเทศเสนอเพิ่มมาตรการลงโทษบริษัทหลอกลวงแรงงาน ขึ้นบัญชีดำบริษัทหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องทางเครือข่ายเส้นทางทางการเงินต่างๆ ไม่ให้สามารถกลับมาทำธุรกิจจัดหางานได้อีก ส่วน ขรก.แรงงานต้องมีการตรวจสอบ ไม่ให้เกี่ยวข้องธุรกิจจัดหางาน เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 54 ที่ผ่านมา โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยได้จัดเวทีระดมความคิดเพื่อจัดทำข้อเสนอร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ในส่วนของแรงงานไทยไปต่างประเทศ ที่เทศบาลตำบลหนองไผ่ อ.หนองหาน จ. อุดรธานี โดยมีอดีตคนงานไทยที่เคยไปทำงานต่างประเทศในเขตภาคอีสานเข้าร่วมเวทีเสวนา สุธาสินี แก้วเหล็กไหล โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย ได้นำเสนอปัญหาการค้าแรงงานไทยไปต่างประเทศในปัจจุบัน โดยเล่าถึงความคืบหน้ากรณีการฟ้องร้องของแรงงานไทยกับบริษัทจัดหางานในกรณีของสวีเดน สเปน ที่กำลังอยู่ในชั้นศาล ส่วนกรณีของโปแลนด์ที่บริษัทจัดหางานกำลังยื่นอุทธรณ์คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานอยู่ ทั้งนี้สุธาสินี ได้อธิบายถึงความสำคัญของวิธีการจัดส่งคนไปทำงานต่างประเทศ ตาม พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน นั้นมันมี 5 ช่องทาง (1. กรมการจัดหางานส่งไป (ไม่เสียค่านายหน้า) 2.เดินทางไปกับบริษัทจัดหางาน (เสียค่านายหน้า) 3. เดินทางไปทำงานด้วยตัวเอง (ไม่เสียค่านายหน้า) 4.นายจ้างในประเทศไทยพาคนงานไปทำงาน (ไม่เสียค่านายหน้า) 5.นายจ้างในประเทศไทยพาคนงานไปฝึกงาน (ไม่เสียค่านายหน้า) ซึ่งคนงานที่จะไปทำงานต่างประเทศมักจะไม่ทำการศึกษาวิธีการต่างๆ ทำให้ถูกหลอกลวงได้ง่าย ในช่วงบ่ายของการเสวนาได้มีการระดมความคิดเพื่อจัดทำข้อเสนอ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานข้ามชาติ (ฉบับคู่ขนาน) ในส่วนแรงงานไทยไปต่างประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาการหลอกแรงงานไทยไปต่างประเทศ โดยปัญหาการเก็บค่าหัวคิวเกินจริงนั้นคนงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศเสนอว่าควรให้ยกเลิกบริษัทจัดหางานเอกชนและให้รัฐจัดส่งแทน ตั้งเป็นหน่วยงานด้านการจัดส่งคนไทยไปทำงานต่างประเทศ มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราที่ต่ำ จัดเก็บเข้ารัฐไม่ต้องเข้ากระเป๋าเอกชน ซึ่งจะเป็นการตัดช่องทางการหลอกลวงคนงานได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่สุด นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้มีการปฏิรูปกองทุนเงินทดแทน ทั้งด้านระยะเวลาการครอบคลุมเมื่อคนงานกลับมายังประเทศไทยแล้วเกิดอาการเจ็บป่วย (เสนอให้ยืดเวลาออกไปอีก 6 เดือน) มีการจ่ายเงินให้กับคนงานอย่างเหมาะสม รวมถึงการขยายสิทธิประโยชน์ให้มากกว่าเดิม การปรับปรุงเรื่องระยะเวลาของกระบวนการทางกฎหมาย คนงานมิสิทธิยื่นคัดค้านการอุทธรณ์ของบริษัทจัดหางานได้ และเสนอให้คดีหลอกลวงแรงงานเป็นคดีพิเศษที่มีการสืบสวนสอบสวนในระยะเวลาที่เป็นธรรมแก่คนงาน มีการตรวจสอบข้าราชการของกระทรวงแรงงาน ในเรื่องของความสัมพันธ์กับบริษัทจัดหางาน ไม่ว่าจะเป็นเครือญาติ ตัวแทน และเส้นทางการเงินต่างๆ โดยคนงานเสนอว่าข้าราชการกระทรวงแรงงานจะต้องไม่มีความสัมพันธ์กับธุรกิจจัดหางานโดยเด็ดขาด และข้อเสนอบทลงโทษแก่บริษัทจัดหางานที่มีการหลอกลวงคนงาน ควรเป็นบทลงโทษที่หนักคือขึ้นบัญชีดำบริษัทหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องทางเครือข่ายเส้นทางทางการเงินต่างๆ ไม่ให้สามารถกลับมาทำธุรกิจจัดหางานได้อีก สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
นักข่าวพลเมือง: กลุ่มอนุรักษ์อุดรฯรณรงค์เปิดโปงแผนจ่ายค่าลอดใต้ถุนของเอพีพีซี Posted: 16 Feb 2011 07:09 PM PST กลุ่มอนุรักษ์อุดร300คน รณรงค์ต้านเหมืองโปแต๊ซ ระบุบริษัทจ่ายเงินค่าลอดใต้ถุนให้ชาวบ้านไม่ถูกต้องสร้างความขัดแย้งในชุมชน ท้าบริษัทชี้แจงนโยบายว่าเหมื 16 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 09.00 น. ณ วัดบ้านหนองนาเจริญ ต.หนองไผ่ อ.เมือง จ.อุดรธานี ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้ ขบวนรณรงค์ของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้เริ่มเคลื่อนจากบ้านหนองนาเจริญไปยังบ้านหนองตะไก้ ซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์ประชาสัมพันธ์ของบริษัทฯ แล้วเดินทางไปยัง ต.โนนสูง ผ่านถนนมิตรภาพ เข้าสู่ ต.ห้วยสามพาด และสิ้นสุดที่ ต.นาม่วง อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี ระหว่างการรณรงค์ไปยังแต่ละชุมชนนั้น แกนนำได้สลับกันปราศรัยให้ข้อมูลบนรถกระจายเสียง และมีชาวบ้านจำนวนหนึ่งเดินแจกเอกสารให้ข้อมูลข้อเท็จจริงต่อความไม่ชอบธรรมของการประชาสัมพันธ์จ่ายค่าลอดใต้ถุนของบริษัทฯ โดยชาวบ้านในพื้นที่เมื่อได้รับทราบถึงข้อเท็จจริงแล้วได้ให้ความสนใจเป็นอย่างดี พร้อมทั้ง ซักถามข้อสงสัยต่อการกระทำดังกล่าวของบริษัทฯจากชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯด้วย นางมณี บุญรอด รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่ ด้าน นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์สิ่ นายสุวิทย์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “กรมอุตสาหกรรมพื้ ผู้สื่อข่าวได้รายงานว่า เมื่อกิจกรรมรณรงค์ของชาวบ้านสิ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น