ประชาไท | Prachatai3.info |
- กวีประชาไท: ดอกไม้หายไปไหน โดย "วิสา คัญทัพ"
- ท่าเรือน้ำลึกสงขลาฝืนมติ กสม. ชาวบ้านหวั่นผลกระทบถมทะเลเพิ่มขยายท่าเรือ
- “อภิสิทธิ์” ปาฐกถา 13 ปี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ชี้ “วิกิลีกส์” ทำให้การแพร่ข้อมูลไม่พึงประสงค์เกิดได้ตลอด
- สมพร ใช้บางยาง: กระจายอำนาจไม่ใช่แค่คืนอำนาจท้องถิ่น แต่ลึกไปถึงการคืนอำนาจประชาชน
- อบต.บุกมหาดไทย ค้านลดจำนวนสมาชิกสภา อบต.
- ซามีร์ อามิน: ว่าด้วยการปฏิวัติตูนีเซียและการเคลื่อนไหวในอียิปต์
- สลาวอย ชิเชค: มีเหตุผลอะไรที่จะต้องกลัวสปิริตแห่งการปฏิวัติของโลกอาหรับ?
- เวทีพันธมิตรฯ ปรบมือให้ทหารไทยหลังปะทะเขมร "สรรเสริญ" ลั่นไม่กลัวกัมพูชา
- สืบพยานนัดแรก ‘ผู้ออกแบบเว็บ นปช.ยูเอสเอ’ ผู้ต้องหาคดีหมิ่นฯ
- เมื่อ “ทีจี” หนึ่งเหินฟ้า อีก “ทีจี” หัวโหม่งโลก
- ตม.ปลดโซ่คนไข้ชาวพม่าแล้ว ด้าน จนท.แรงงานเตรียมประสานเรื่องต่อใบอนุญาตฯ
- สืบพยานคดี พ.ร.บ.คอมฯ ผอ.ประชาไท นัดแรก
- ใบตองแห้งออนไลน์ : คุกสมความคิด
- พันธมิตรฯ เตรียมแถลงท่าทีห้าโมงเย็น "สนธิ" ลั่นอภิสิทธิ์กลัว พธม. มากกว่าเสื้อแดง
- แฉทางการไทยไม่ยอมให้ จนท.ยูเอ็นเอชซีอาร์ เข้าพบผู้ลี้ภัยโรฮิงยาซึ่งถูกควบคุมตัว
กวีประชาไท: ดอกไม้หายไปไหน โดย "วิสา คัญทัพ" Posted: 04 Feb 2011 01:42 PM PST บทกวี "ดอกไม้หายไปไหน" โดย "วิสา คัญทัพ" แปลจากบทเพลง WHERE HAVE ALL THE FLOWERS GONE โดย Pete Seeger WHERE HAVE ALL THE FLOWERS GONE Where have all the flowers gone? Where have all the young girls gone? Where have all the young men gone? Where have all the soldiers gone? Where have all the graveyards gone?
ดอกไม้หายไปไหน ผ่านมานาน ดอกไม้หายไปไหน แล้วสาวผู้แพรวพรายหายไปไหน เวลานานผ่านพลัดให้กลัดกลุ้ม และทหารทั้งหลายก็หายลับ ซึ่งสุดท้ายหลุมศพถูกกลบสิ้น สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ท่าเรือน้ำลึกสงขลาฝืนมติ กสม. ชาวบ้านหวั่นผลกระทบถมทะเลเพิ่มขยายท่าเรือ Posted: 04 Feb 2011 01:11 PM PST หมอนิรันดร์ชี้ท่าเรือน้ำลึกสงขลา ฝืนมติกรรมการสิทธิฯให้หยุดถมทะเลขยายเขื่อนกันคลื่น ชาวบ้านร้องเรียนอีกหวั่นส่งผลกระทบไปทั้งอ่าว ยกตัวอย่างธรรมสถานหาดแก้วคลื่นซัดเหลือ 2 ไร่หลังสร้างเขื่อนกันคลื่นเมื่อปี 2546 ภาพมุมสูงแสดงที่ตั้งท่าเรือน้ำลึกสงขลา และแสดงแนวเขื่อนกันคลื่นที่มีการต่อขยายเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันตะกอนทับถมบริเวณร่องน้ำเส้นทางเข้าออกของเรือสินค้า(ภาพจากแหล่งเดียวกัน) นายหมัด หมัดอาหลี รองประธานสมาพันธ์ทะเลสาบสงขลา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา ตนและชาวบ้าน 7 คน ได้เดินทางไปพบนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชน กสม. ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในตัวเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อร้องเรียนกรณีการขยายท่าเรือน้ำลึกสงขลา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา “โครงการขยายท่าเรือดังกล่าว จะมีการถมที่สร้างคันเขื่อนในทะเลพื้นที่ 500 ไร่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สัตว์น้ำ การเปลี่ยนทิศทางของกระแสน้ำและกัดเซาะชายฝั่ง โดยขณะนี้เจ้าของโครงการอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นคนในชุมชนในเขตรัศมี 5 กิโลเมตร” นายหมัด กล่าว นายหมัด กล่าวว่า ชาวบ้านและชาวประมงพื้นที่บ้านในพื้นที่ไม่เห็นด้วยกับการทำประชาพิจารณ์เฉพาะในรัศมี 5 กิโลเมตร แต่ควรทำเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นชาวบ้านในพื้นที่ตลอดแนวปากอ่าวทะเลสาบสงขลาตอนล่างด้วย เพราะการถมทะเลสร้างเขื่อนหิน จะส่งผลกระทบต่อทะเลตลอดทั้งปากอ่าว “ท่าเรือน้ำลึกสงขลาตั้งอยู่บริเวณปากร่องน้ำทะเลสาบสงขลาที่เคยกว้าง เมื่อจะมีการถมทะเลอีกก็จะทำให้ปากน้ำทะเลสาบสงขลาแคบลงไปอีก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในจังหวัดสงขลา รวมถึงพื้นที่ของธรรมสถานหาดแก้ว ซึ่งเป็นสันดอนทรายตั้งอยู่ทางทิศเหนือของท่าเรือน้ำลึกสงขลา เคยมีเนื้อที่ 80 ไร่ ตอนนี้ถูกคลื่นกัดเซาะเหลือเพียง 2 ไร่ เนื่องจากการสร้างเขื่อนกันคลื่นยาว 150 เมตร เมื่อปี 2546” นายหมัด กล่าว นายหมัด เปิดเผยต่อไปว่า ตอนนี้กำลังรวบรวมข้อมูลและศึกษาหาลู่ทางที่จะฟ้องศาลปกครอง โดยขอให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายมาให้ความรู้กับชาวบ้าน “เราเคยร้องเรียนไปหลายหน่วยงานแล้ว แต่ไม่เคยได้รับคำตอบ ทำให้ชาวบ้านในตำบลสทิงหม้อ ตำบลหัวเขา ตำบลบางมด ตำบลวัดขนุน ตำบลม่วงงาม อำเภอสิงหนคร และชมรมชาวประมงรอบทะเลสาบสงขลาตอนล่างซึ่งอยู่ในเครือข่ายสมาพันธ์ทะเลสาบ ที่จะได้รับผลกระทบ จึงลุกมาต่อสู้” นายหมัด กล่าว นายแพทย์นิรันดร์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดที่ผ่านมา ได้เข้าตรวจสอบโครงการนี้แล้ว และมีมติให้หยุดดำเนินการสร้างคันเขื่อน แต่หน่วยงานภาครัฐไม่ปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดังนั้น เร็วๆ นี้ คณะอนุกรรมการสิทธิชุมชน ลงไปพูดคุยรับฟังความเดือดร้อนของชาวบ้าน
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
Posted: 04 Feb 2011 12:52 PM PST อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปาฐกถาโอกาสครบรอบ 13 ปี “พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ" ระบุรัฐบาลมุ่งส่งเสริมประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ ส่วน “วิกิลีกส์” เป็นการชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้า แม้ราชการปกปิดข้อมูล แต่การเผยแพร่โดยไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นได้ตลอด จึงต้องทบทวนไม่ให้กระทบต่อความมั่นคง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาเนื่องในงาน "สัมมนาทางวิชาการในโอกาสครบรอบ 13 ปี ของการประกาศใช้พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540" เมื่อ 4 ก.พ. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล (ที่มา: ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล)
ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาลรายงานว่า เมื่อวานนี้ (4 ก.พ.) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษในการ “สัมมนาทางวิชาการในโอกาสครบรอบ 13 ปี ของการประกาศใช้พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540” ผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวรายงานว่า พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 ได้ประกาศใช้มาครบ 13 ปีเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2553 โดยกฎหมายฉบับนี้มีเจตนารมณ์เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสอย่างกว้างขวางในการได้รับทราบเกี่ยวกับการดำเนินงานต่าง ๆ ของรัฐ เพื่อที่ประชาชนจะได้สามารถแสดงความคิดเห็นและใช้สิทธิทางการเมืองได้ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง อันเป็นการส่งเสริมความเป็นรัฐบาลโดยประชาชนมากยิ่งขึ้น ตลอด 13 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของทางราชการได้เร่งรัดการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ เพื่อให้ทุกฝ่ายทั้งภาคประชาชน หน่วยงานของรัฐ มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ทั้งในเรื่องการใช้สิทธิและหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติมาโดยตลอด แต่ยังคงมีปัญหาและอุปสรรคอีกหลายประการในส่วนที่เกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ และโดยเฉพาะความรู้ความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ และการรู้จักใช้สิทธิดังกล่าวโดยใช้กฎหมายฉบับนี้เป็นเครื่องมือ ซึ่งนอกเหนือจากการที่จะต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจต่อเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐให้มีความเข้าใจและมีความพร้อมในการให้บริการข้อมูลแก่ประชาชนแล้ว ยังจะต้องส่งเสริมให้ภาคประชาชนได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของการใช้สิทธิตามกฎหมายด้วย เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานของรัฐทุกแห่ง ได้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ชัดเจน และตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฉบับนี้มากขึ้น คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของทางราชการ โดยสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของทางราชการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จึงได้จัดการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นกับทุก ๆ ฝ่าย ตลอดจนเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณหน่วยงานต้นแบบ และหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการฯ อย่างโดดเด่น จำนวน 15 หน่วยงาน ก่อนกล่าวเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษสรุปสาระสำคัญว่า: พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 เป็นกฎหมายที่มีความตั้งใจที่จะยกระดับธรรมาภิบาลในการบริหารราชการแผ่นดินอย่างแท้จริง ทั้งการคำนึงถึงหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่มุ่งเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งมีผลกระทบกับประชาชนและสังคม หรือในแง่ผู้ที่เข้ามาบริหารงานเชิงนโยบายหรือการบริหารราชการแผ่นดินโดยทั่วไป ก็ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงกับการบริหารงานทางด้านต่าง ๆ ของกิจการในภาครัฐ หรือจะมองในแง่ประสิทธิภาพที่ต้องยอมรับว่าการบริหาร การตัดสินใจในเรื่องใดก็ตาม การมีข้อมูลความรู้ในเรื่องต่าง ๆ อย่างครบถ้วน โปร่งใสรอบด้าน ก็คือหลักประกันที่ดีที่สุด ที่จะทำให้การบริหารงานนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามเป้าหมาย ด้วยเหตุผลนี้ เรื่องการที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ หรือสามารถที่จะได้รับการคุ้มครอง หรือแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลของตนเอง จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมากในแง่ของกระบวนการประชาธิปไตยและในแง่ของธรรมาภิบาล รวมทั้งประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ กฎหมายฉบับนี้จึงได้ถือเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเป็นหลัก และถือว่าการปกปิดหรือการไม่อนุญาตให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารนั้น จะต้องเป็นเรื่องข้อยกเว้น โดยได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้อย่างชัดเจนว่า ข้อยกเว้นที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นมีเหตุผลที่สามารถนำไปใช้อ้างอิงที่ระบุไว้ในกฎหมายอย่างไรบ้าง พร้อมกับมีการตั้งกลไกในแง่การบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ รวมถึง กลไกการรับเรื่องราวที่มีการร้องเรียนจากประชาชนในกรณีไม่สามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ ซึ่งคือคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร 13 ปีที่มีการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ ต้องยอมรับว่าได้ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน การปฏิบัติตามกฎหมาย การมีแนวคำวินิจฉัยตามกฎหมายฉบับนี้ได้ช่วยให้การทำงานของหน่วยงานหลายหน่วยงานต้องอยู่ภายใต้กติกาที่มีความโปร่งใส ประชาชนสามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและได้รับความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการยืนยันว่าเจตนารมณ์และบทบัญญัติของกฎหมายฉบับนี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง อย่างไรต้องยอมรับว่าแม้กฎหมายฉบับนี้จะใช้บังคับมาถึง 13 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาที่หลายหน่วยงานยังคงไม่ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และยังมีทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ และประชาชนอีกจำนวนมากที่ยังขาดความเข้าใจหรืออาจจะมีทัศนคติซึ่งไม่สอดคล้องกับแนวทางหรือเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและหน่วยงานกลไกที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลไกตามกฎหมายฉบับนี้ที่จะต้องมีการดำเนินการแก้ไขต่อไป นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสิ่งสำคัญ 3 ประการที่ทำให้จำเป็นต้องพิจารณาเพื่อปรับปรุงการทำงานตามเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ว่า ประการแรก ต้องยอมรับว่า 13 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีสารสนเทศมีความก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงไปมาก การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจึงมีช่องทาง มีทางเลือกใหม่ ๆ เพิ่มเติมอีกมาก โดยเฉพาะเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์ อินเทอร์เน็ต ซึ่งในช่วงที่มีการดำเนินการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ เกิดขึ้นในภาวะที่สภาวะแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านการสื่อสารไม่เป็นเหมือนกับในปัจจุบัน และขณะนี้โอกาสที่ข้อมูลต่าง ๆ จะถูกเปิดเผยในรูปแบบซึ่งอาจไม่พึงประสงค์ก็เกิดขึ้นอยู่ได้ตลอดเวลา จึงทำให้ต้องมีการทบทวนแนวทางการทำงาน แนวทางการปฏิบัติราชการ โดยการปาฐกถาช่วงนี้ เว็บไซต์เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ ได้รายงานโดยละเอียดในส่วนที่นายอภิสิทธิ์ปาฐกถาช่วงนี้ว่า “ปรากฏการณ์เร็วๆ นี้ กรณีของเว็บไซต์วิกิลีกส์ก็เป็นตัวบ่งบอกว่า หน่วยราชการการปกปิดข้อมูล ไม่ควรที่จะมีการนำมาเผยแพร่ แต่โอกาสที่ข้อมูลที่จะถูกนำออกมาเผยแพร่โดยไม่พึ่งประสงค์ก็สามารถเกิดขึ้นได้ตลอด จึงต้องทำการทบทวนการเผยแพร่ข้อมูลไม่ให้กระทบต่อความมั่นคง ถือเป็นหลักประกันที่ดี” การที่เราสามารถที่จะเผยแพร่ข้อมูลให้มากที่สุดโดยไม่มีผลกระทบต่อเรื่องความมั่นคง หรือความจำเป็น ประสิทธิภาพของงานตามที่ระบุไว้ตามกฎหมายจึงเป็นเรื่องที่จะเป็นหลักประกันที่ดีที่สุด ที่จะทำให้ประชาชนมีความเข้าใจ ไว้เนื้อเชื่อใจการทำงานของภาครัฐ เพราะเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จของการปฏิบัติราชการในปัจจุบัน ฉะนั้นการคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อม ของระบบการสื่อสาร ของเทคโนโลยี ของช่องทางของการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ถือเป็นสิ่งท้าทายที่จะนำกฎหมายฉบับนี้ไปใช้ให้เกิดผลตามเจตนารมณ์ในปัจจุบัน ประการที่สอง ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นยังคงเป็นปัญหาที่หลายหน่วยงานต้องเผชิญ และต้องพยายามที่จะแก้ไข และทำให้การดำเนินงานซึ่งมีข้อครหา หรือมีการกล่าวหานั้นยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งความโปร่งใสในเรื่องของข้อมูลข่าวสาร จะช่วยในเรื่องการลดปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นได้มาก ทั้งในแง่ที่จะเป็นกลไกในการกำกับการปฏิบัติราชการของหน่วยงานต่าง ๆ และในแง่ที่จะทำให้ภาคสังคม ภาคประชาชน สามารถที่จะเข้ามาตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐได้มากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในเรื่องการดำเนินการของภาครัฐ เพื่อป้องกันและลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นจะเป็นลู่ทางสำคัญหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้รัฐบาลมีแนวทางที่จะปรับปรุงกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐ ที่ยังคงประสบปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นค่อนข้างมาก จึงจะต้องอาศัยประโยชน์จากการใช้กลไกหรือวิธีการในการเปิดเผยข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างสามารถรับการตรวจสอบจากประชาชนได้มากยิ่งขึ้น ประการที่สาม การปฏิรูปสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลได้มีการประกาศแผนปฏิรูปและแผนการปรองดอง กฎหมายฉบับนี้ก็เป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งซึ่งได้มีการเรียกร้องอย่างมากที่จะให้มีการปรับปรุง เพราะสื่อสารมวลชนยังยืนยันว่ามีข้อจำกัดในการที่จะใช้กลไกตามกฎหมายฉบับนี้เพื่อที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เพื่อประโยชน์ในการทำงาของสื่อสารมวลชนเอง ซึ่งต้องยอมรับว่าในการติดตามการเสนอข่าวสารของสื่อ หลายครั้งเรามีความรู้สึกว่าทำไมสื่อสารมวลชนไม่เสนอข้อมูลข่าวสารได้ตรงตามความเป็นจริงหรือตามข้อมูลที่ราชการมีอยู่ แต่ปรากฏว่าเป็นเพราะราชการไม่อำนวยความสะดวกให้สื่อเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ จึงต้องไปเสาะแสวงหาข้อมูลจากแหล่งอื่น ซึ่งบางครั้งก็กลายเป็นอ้างว่าเป็นข้อมูลที่มาจากราชการเอง แต่กลับมีความคลาดเคลื่อน อันเป็นตัวอย่างที่เราเห็นอยู่บ่อยครั้งที่เราจะเห็นข่าวสารต่าง ๆ ในลักษณะเช่นนี้ พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการดำเนินการเพื่อที่จะให้เกิดความมั่นใจว่าทิศทางการบริหารราชการแผ่นดินได้เป็นไปตามหลักของธรรมาภิบาล และการเปิดเผยข้อมูล การกระตุ้นให้หน่วยงานต่าง ๆ ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างแท้จริง เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ โดยในด้านหนึ่งขณะนี้เห็นได้ชัดว่า คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ และรัฐบาลมีความพยายามที่จะส่งเสริม สร้างแรงจูงใจให้องค์กรทั้งหลายได้ปฏิบัติตามแนวทางนี้ วันนี้จึงเป็นโอกาสที่ผู้บริหารหน่วยงานของรัฐ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จะได้มีการทบทวนเพื่อปรับปรุงการปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อทำให้การปฏิบัติราชการมีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ มั่นใจว่าทิศทางที่การทำงานของภาครัฐจะต้องเป็นไปในลักษณะของการเปิดเผย โปร่งใส เป็นทิศทางซึ่งไม่ย้อนกลับ จะมีการเดินหน้าต่อไปอย่างชัดเจน และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แนวทางการปฏิบัติราชการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ จึงขอฝากให้ทุกคนที่ได้มีส่วนร่วมได้ผลักดันเรื่องนี้ต่อไปเพื่อสร้างสังคมไทยที่โปร่งใส เป็นสังคมประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง เป็นสังคมที่ภาคประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างรอบรู้และสร้างสรรค์ เพื่อเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบ สร้างนโยบายและสังคมที่ดีสำหรับประเทศชาติและประชาชนต่อไป โดยขอให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลจะส่งเสริมสนับสนุนทิศทางและเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้อย่างต่อเนื่อง
ที่มา: เรียบเรียงจาก [1] นายกฯ ชี้วิกิลีกส์เป็นภัยต่อความมั่นคง สะท้อนโลกยุคไซเบอร์ปกปิดข้อมูลยาก, ASTVผู้จัดการออนไลน์, 4 กุมภาพันธ์ 2554 [2] นายกรัฐมนตรีระบุรัฐบาลมุ่งส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ, ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล, 4/2/2011
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
สมพร ใช้บางยาง: กระจายอำนาจไม่ใช่แค่คืนอำนาจท้องถิ่น แต่ลึกไปถึงการคืนอำนาจประชาชน Posted: 04 Feb 2011 12:00 PM PST หมายเหตุ: เรียบเรียงจาก การปาฐกถาหัวข้อ “ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม โดย อปท. ได้อย่างไร” โดย นายสมพร ใช้บางยาง อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย กรรมการสมัชชาปฏิรูป และประธานคณะกรรมการปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป ระหว่างการประชุม “สมัชชาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป: ภาคเหนือ” ซึ่งจัดที่โรงแรมอิมพีเรียล แม่ปิง จ.เชียงใหม่” เมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2544 ที่ผ่านมา โดยการประชุมดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 ถึง 4 กุมภาพันธ์ โดยคณะกรรมการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ที่มี ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน ร่วมกับ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
000 สมพร ใช้บางยาง กรรมการสมัชชาปฏิรูป และประธานคณะกรรมการปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป
ท่านผู้บริหารท้องถิ่น ทั้งในส่วนที่เป็นผู้บริหารขององค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. ปลัดเทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ท่านสมาชิก ท่านประธานสภา เพื่อนข้าราชการส่วนท้องถิ่น พี่น้องเอกชนที่ได้ร่วมขับเคลื่อนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ ในจังหวัดภาคเหนือ ท่านผู้มีเกียรติที่เข้าร่วม “สมัชชาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป: ภาคเหนือตอนบน” รวมตลอดทั้งท่านที่ได้ฟังการถ่ายทอดสด ผ่านสถานีวิทยุชุมชนทั้งในส่วนที่อยู่ใน จ.เชียงใหม่ และเครือข่ายของวิทยุชุมชนเพื่อความเข้มแข็งทั่วประเทศอีก 300 กว่าสถานีที่เคารพทุกท่าน แต่ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องความเป็นธรรม หรือพูดถึงความเหลื่อมล้ำ ในบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผมขอเรียนถึงที่ไปที่มาของแนวคิดเรื่องการปฏิรูปประเทศไทยในเบื้องต้น
000 แนวคิดเรื่องการปฏิรูปประเทศไทย ไม่ได้เพิ่งมาพูดกันในช่วงปลายปีที่แล้ว ต่อเนื่องจนถึงปีนี้ และจะทำต่อไปอีก 3 ปี ตามกรอบของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ปีที่ออกมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2553 ในความเป็นจริงมีคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งก็เป็นกลุ่มคนที่ประกอบไปด้วยหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ นักการเมือง ข้าราชการที่เกษียณอายุแล้ว และข้าราชการที่ยังรับราชการอยู่ มีนักหนังสือพิมพ์ สื่อมวลชน มีนักคิด นักวิชาการ ได้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และร่วมกันปรึกษาหารือ และต่างคนต่างเห็นตรงกันว่า ณ วันนี้ ประเทศไทยมีปัญหามากมาย ทั้งในเรื่องของ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะปัญหาสังคม การเมือง เราได้ตั้งเวทีคุยกันเรียกว่า “สถาบันทางปัญญา” มีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ได้เป็นผู้สนับสนุนให้มีการพูดคุยกัน มีเวทีพูดคุยกัน เราจัดกันเดือนละ 2 ครั้ง มา 2 ปี เศษๆ แล้ว เราคุยกันมาทั้งหมด 40 กว่าครั้งด้วยกัน เราได้บทสรุปว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น มีเรื่องสำคัญๆ ที่ควรจะได้รับการแก้ไข หรือนำไปสู่การปฏิรูปทั้งหมด 10 ประเด็นปัญหา หรือ 10 เรื่อง เช่น การสร้างจิตสำนึกใหม่ของคนไทยกลับมาสู่ของสังคมรับผิดชอบต่อส่วนรวมมากกว่าส่วนตน เรื่องของความมีระเบียบระเบียบวินัย สังคมของการเรียนรู้ อยู่อย่างมีเหตุผล ไม่ใช่สังคมอารมณ์เช่นทุกวันนี้ การปฏิรูปการศึกษา เรื่องของสิ่งแวดล้อม เรื่องของความยุติธรรม ระบบยุติธรรม ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องของสื่อ และเรื่องอื่นๆ ทั้งหมด 10 หัวข้อ มีอยู่เรื่องหนึ่ง ที่สถาบันทางปัญญา เราได้คุยกันมา 2 ปี กว่า และคิดว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการแก้ไขปัญหาหรือปฏิรูปประเทศไทย ในแนวคิดที่เราทำมาก่อน นั่นก็คือการสร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ถือว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะชุมชนท้องถิ่นคือฐานของประเทศตามวีดีทัศน์ที่ท่านได้ชมไปแล้ว คำว่าชุมชนท้องถิ่น ณ ที่นี้ เราแยกเป็น 2 ส่วนหลักๆ สำคัญ ส่วนแรกแน่นอน ชุมชน คือ ประชาชนทุกคน ไม่ใช่ชุมชนใดชุมชนหนึ่ง หรือไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ท้องถิ่นก็คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 5 รูปแบบปัจจุบัน ก็คือ อบจ. เทศบาล อบต. กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ในส่วนของความเข้าใจ ความคิดที่เราร่วมกันเรื่องชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งนั้น มีองค์ประกอบที่จะมาช่วยหนุนเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง คือส่วนภาคของท้องที่ ภาคของส่วนราชการ ซึ่งเราคงปฏิเสธภาคราชการไม่ได้ เพียงแต่ว่าในแนวคิดของเรา การกระจายอำนาจ ภาคราชการต้องลดบทบาทในฐานะผู้ปฏิบัติ มอบการปฏิบัติในระดับพื้นที่ให้กับท้องถิ่น ข้าราชการกลับมาสู่การเป็นพี่เลี้ยง เป็นผู้ให้คำแนะนำ เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ มีความรู้ อาจมีบทบาทในการกำกับบ้าง ก็คงเพียงในส่วนที่จำเป็น และไม่ควรจะมากเกินกว่าความเป็นอิสระของท้องถิ่น นอกจากนั้นก็มีภาคส่วนอื่นๆ ที่เราปฏิเสธไม่ได้ ในฐานะที่เราดูแลรับผิดชอบท้องถิ่นนั้น ก็ต้องรับผิดชอบผู้ที่จะมามีส่วนเกี่ยวข้องทั้งอยู่ในพื้นที่และส่วนที่จะหนุนเสริมในภายนอก นี่ความหมายที่เรียกว่าชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ที่คุยกันในสถาบันทางปัญญาที่กล่าวมา นี่เป็นการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการสองปีเศษๆ ก็ได้ความคิด ได้บทสรุปตรงนี้มา เรามีหน้าที่บังคับใครไม่ได้ ก็มีแต่เสนอสาธารณะให้ได้รับรู้รับเห็น ให้สังคมได้คิดตาม และถ้าเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่ควรทำร่วมกันหรือทำได้ ก็อยากให้สังคมได้มาขับเคลื่อนร่วมกันเพื่อแก้ไข เราไม่ได้หยุดแค่การคิด ในเรื่องของชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ทางสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ โดยสำนักงานสนับสนุนสุขภาพชุมชน ของ สสส. ได้รับเป็นหน่วยงานที่มาขับเคลื่อนเรื่องของชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งต่อจากแนวคิดของสถาบันทางปัญญา หรือแนวคิดเรื่องการปฏิรูปประเทศไทยที่เราคุยกันมา โดยได้ไปสนับสนุน คัดเลือกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนใหญ่เป็นองค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาล ที่มีศักยภาพ แนวคิดหลักคือชุมชนกับท้องถิ่นต้องไปด้วยกัน เสมือนเป็นเนื้อเดียวกัน นั่นก็คือ ความร่วมมือ ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันรับผิดชอบ ร่วมกันปฏิบัติ ความเป็นเนื้อเดียวกันของท้องถิ่นเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ขณะเดียวกันเราดูหน่วยหนุนเสริมอื่นๆ ดูเรื่องของธรรมาภิบาล ดูเรื่องของศักยภาพของท้องถิ่นนั้นที่มีแหล่งเรียนรู้ให้เพื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นเข้ามาเรียนรู้ สสส. ได้เข้ามาสนับสนุน ในเรื่องของการขยายแนวคิดเรื่องชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งเพื่อฐานของประเทศ ณ ขณะนี้มี 20 แห่ง จาก 1 เป็น 20 จาก 20 เป็น 60 แห่งในระยะเวลา 3 ปี ของแต่ละแห่งเรียนรู้ เราเริ่มต้นที่ อบต.ปากพูน จ.นครศรีธรรมราช เมื่อ 2 ปีที่แล้ว และขยายมาเรื่อย จนปัจจุบันมี 20 แห่ง กำลังจะเริ่มอีก 2-3 แห่ง เป็น 23 แห่ง ที่ จ.เชียงใหม่มี อบต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ และกำลังจะเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่ง หรือทำความร่วมมืออีกแห่งหนึ่ง คือ อบต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ และในภาคเหนือยังมีอีกหลายแห่ง กำลังจะทำความร่วมมือกับเทศบาลตำบลเกาะคา อ.เกาะคา ลำปาง มีที่ จ.พิษณุโลก จ.อุตรดิตถ์ และที่ จ.น่าน ก็กำลังดูอยู่ เราใช้วิธีขยายแบบนี้ ทำไปแล้ว 2 ปี เศษๆ ต่อเนื่องกับแนวคิดเรื่องการปฏิรูปประเทศไทยในส่วนของสถาบันทางปัญญา และจะขับเคลื่อนต่อไป เราเห็นว่าแนวทางนี้ถูกต้อง การได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ทำให้เกิดวิธีคิด การเปลี่ยนแปลง ทั้งในส่วนของ อปท. เอง และภาคประชาชน เห็นได้อย่างชัดเจน ทำให้แนวคิดชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งมีความเป็นไปได้
000 จากแนวคิดเรื่องการปฏิรูปดังกล่าว ก็ต่อเนื่องมาสู่ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน พฤษภาคม ของปี 2553 ที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบ ในเรื่องของการเรียกร้องเดินขบวนเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร และ ต่างจังหวัดบางแห่ง นำมาสู่การสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สิน ต่างๆ มากมาย รวมทั้งภาพลักษณ์ ภาพพจน์ของประเทศในระดับนานาชาติ ตรงนั้นเป็นการตอกย้ำถึงความจำเป็นที่สังคมส่วนใหญ่ สังคมของประเทศ ได้เห็นความสำคัญของการปฏิรูป รวมทั้งรัฐบาล ได้มีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิรูป เมื่อเดือนสิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา นำมาสู่การตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 คณะ คณะแรกคือ คณะกรรมการปฏิรูป มีอดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน คณะนี้ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในหลายๆ ด้าน ส่วนใหญ่จะทำหน้าที่ในเรื่องของการชี้นำ เสนอแนะเชิงนโยบาย ต่อสาธารณะ ต่อรัฐบาล หรือผู้เกี่ยวข้อง สำหรับการนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิรูปการศึกษา เรื่องระบบภาษี เรื่องที่เป็นเรื่องสำคัญๆ รวมทั้งเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ อีกคณะหนึ่ง คือ คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ซึ่งมี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน โดยทำหน้าที่ขับเคลื่อนเชิงปฏิบัติ หรือเชิงสื่อ ออกไปสู่สาธารณะ ทั้งในเชิงประเด็น และเชิงพื้นที่ เพื่อให้ความคิดเรื่องการปฏิรูปเข้าไปสู่ชีวิตจิตใจของคนไทยทุกหมู่เหล่า ทุกกลุ่ม เพื่อจะได้เข้ามาร่วมกันในการปฏิรูปประเทศไทย ในคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป มีผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2 ท่าน เข้ามาเป็นคณะกรรมการด้วย คือคุณนพดล แก้วสุพัฒน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และนายกเทศมนตรีเทศบาลนครพิษณุโลก คุณเปรมฤดี ชามพูนท และผมเป็นกรรมการคนหนึ่งในกรรมการสมัชชาปฏิรูป สองคณะนี้ จะทำงานคู่ขนานกันไป เชิงนโยบาย กับการปฏิบัติหรือเชิงรณรงค์ ถึงแม้จะเกิดขึ้นจากสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีคือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ในหลักการที่เราคุยกัน ตกลงกัน ก็คือ ทั้งสองส่วนนี้หรือการขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปประเทศไทย จะไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่อยู่ผูกติดกับพรรคการเมืองใดหนึ่ง แต่จะผูกติดกับปัญหาของชาติ จะผูกติดกับการช่วยกันระดมให้ทุกคนได้มารับรู้รับทราบ ร่วมกันแก้ไขปัญหาของชาติ ร่วมปฏิรูปประเทศไทยด้วยกัน ในส่วนของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง มาขับเคลื่อนเรื่องชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ก็คือ “คณะกรรมการปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป” มีผมเป็นประธาน มีผู้อำนวยการ สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชนของ สสส. เป็นเลขาฯ คณะกรรมการประกอบไปด้วย ผู้แทนจากสามสมาคม ก็คือสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และในส่วนของตัวแทนของข้าราชการส่วนท้องถิ่นก็ครบทั้ง 3 องค์กร และมีผู้ทรงคุณวุฒิบางท่านมาร่วมเป็นกรรมการด้วย ในคณะกรรมการนี้รับผิดชอบเรื่องของการรณรงค์เรื่องของการกระจายอำนาจ เรื่องของการคืนอำนาจให้ประชาชน เรื่องของการสร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง นำมาสู่การจัดเวทีสมัชชาปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับภูมิภาค 6 ครั้ง และจะนำไปสู่การจัดสมัชชาปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับชาติอีกครั้งหนึ่ง แนวคิดเรื่องการสร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ถึงแม้จะเกิดมาจาก สถาบันทางปัญญา ที่ได้เรียนไปแล้ว ณ วันนี้ มีคณะกรรมการปฏิรูปขึ้นมา 2 คณะ ตามที่ได้กล่าวมา และขับเคลื่อนมาระยะเวลาหนึ่ง บทสรุปที่ตรงกันของ 2 คณะ ก็ยังคงยืนยันว่าการปฏิรูปประเทศไทย จะไปสู่ความสำเร็จได้ ต้องทำให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ถือว่าชุมชนท้องถิ่นคือฐานประเทศ แนวคิดเรื่องของการสร้างพระเจดีย์จากฐาน ที่ได้ชมวีดีทัศน์ไปเมื่อสักครู่นี้ ยังคงได้รับการยืนยันจากทั้ง 2 คณะ และจะขับเคลื่อนในเรื่องนี้ต่อไป ในสวนที่เราจะพูดคุยกัน 2 วันนี้ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่เรียนกับท่านว่า เรื่องของชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง เรื่องของการกระจายอำนาจ หลักใหญ่อยู่ที่การคืนอำนาจให้กับประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศ ไม่ใช่คืนอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อไปใช้อำนาจแต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น อำนาจสูงสุดคืออำนาจของประชาชน ท้องถิ่นคือส่วนที่จะได้รับการกระจายอำนาจจากภาครัฐ เพื่อไปทำหน้าที่ขับเคลื่อนร่วมกับพี่น้องประชาชน ในการดูแลชุมชน ตั้งแต่ปัจเจก ไปสู่ชุมชนที่เล็กและใหญ่ขึ้นไป ไปสู่สังคมระดับชาติ จึงอยากทำความเข้าใจให้ตรงกัน สิ่งที่เราคุยกันคือไม่ใช่แค่เรื่องการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น แต่ในความเป็นจริงลึกไปถึงการคืนอำนาจให้ประชาชนทุกคนด้วย ที่ผ่านมา ในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย เขายังไม่ได้ใช้อำนาจของเขาอย่างเต็มกำลังหรือสิ่งที่ควรจะเป็นในฐานะเจ้าของอำนาจ เฉกเช่นนานาอารยประเทศที่เขาเจริญแล้วในระบอบประชาธิปไตย
000 หัวใจของการทำงาน หรือหลักคิดใหญ่ หรือหลักของแนวคิดเรื่องการปฏิรูปประเทศไทย ทั้งในส่วนของคณะกรรมการปฏิรูปที่ท่านนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน และในส่วนที่ นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป หลักใหญ่ที่เรากำหนดไว้คือ “การสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำ” ถ้าพูดถึงเรื่องนี้ ถ้านึกถึงโดยเผินๆ ก็ดูไม่ค่อยมีความสำคัญ โดยเฉพาะกับสังคมท้องถิ่น อาจจะด้วยความเคยชิน หรือติดยึดระบบนี้ หรืออยู่ในกรอบวิถีไทยๆ มาช้านาน แต่ถ้ากลับมาทบทวน พิจารณาให้ดี จะเห็นว่าความไม่เป็นธรรมหรือความเหลื่อมล้ำทั้งหลายไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวเลย ไม่ได้ไกลทั้งปัญหา และไม่ได้ไกลทั้งหน้าที่ เพราะปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำทางโอกาส โอกาสทางการเมืองการปกครอง โอกาสการมีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ ในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคมเมือง สังคมชนบท คนรวย คนจน ความเหลื่อมล้ำในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา เรื่องของคุณภาพชีวิต สาธารณสุข หรือเรื่องอื่นๆ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ที่เกิดในสังคมไทย หากลองทบทวนดู มันเกิดกับสังคมชนบทอย่างพวกเราทั้งนั้น คือคนฐานล่างทั้งนั้น และคนฐานล่างคือคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะฉะนั้นปัญหาต่างๆ เหล่านี้เกิดใกล้ตัวเรา หลายปัญหาเกิดกับตัวเรา แทบจะทุกปัญหาก็ว่าได้ในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมชนบท ณ วันนี้ ท้องถิ่นเราไม่ว่าจะเป็น อบจ. เทศบาล อบต. ถ้าพูดถึงหน้าที่ หน้าที่หลักของเราคือดูแลเรื่องคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ้าเรามองเฉพาะ อบต. เทศบาลหนึ่ง ก็ดูว่าไม่ว่าจะมีผลกระทบกับสังคม แต่ถ้าเรามองภาพรวม ผูกโยงเป็นองค์รวม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 7,853 องค์กร ไม่ว่าจะเป็นเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยา หากมองอย่างเป็นองค์รวม และผูกโยงกันเข้า ก็คือประเทศไทย เพราะฉะนั้น ณ วันนี้ ท้องถิ่นต้องรับผิดชอบประเทศไทยทุกตารางนิ้ว ดูแลคนทุกคนตั้งแต่เกิดจนตาย อปท. ในเมื่อปัญหาเกิดขึ้นกับคนของเรา ใกล้ตัวเรา เราถึงปฏิเสธไม่ได้ ทั้งในแง่ของปัญหาและบทบาทหน้าที่ ที่ผ่านมาถามว่า เราปฏิเสธหรือเปล่า ก็ตอบได้ว่าไม่ได้ปฏิเสธ แต่ว่าเราอาจจะไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้เชิงระบบ หรือคิดเป็นเรื่องเป็นราว เราอาจจะทำหน้าที่ของเราไป แต่ถ้าพิจารณาแล้วบทบาทหน้าที่ๆ เราทำไป หลายแห่งทำไปแล้ว และได้ทำเป็นอย่างดี แต่ยังมีอีกเยอะที่ยังไม่ได้ทำ
000 ยกตัวอย่าง หนึ่ง การให้โอกาส เพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางโอกาส ท้องถิ่นเรามาจากพี่น้องประชาชน อาสาเข้ามาทำหน้าที่เพื่อประชาชน หลายแห่งพัฒนาไปมาก ในเรื่องของการให้โอกาสกับพี่น้องประชาชนได้มามีส่วนร่วมทุกกระบวนการของการจัดการปัญหาท้องถิ่นก็ว่าได้ อย่างเช่น อบต.นาบัว จ.พิษณุโลก บริหารงานโดยสภาประชาชน ขับเคลื่อนโดยสภาประชาชนเกือบ 100% ตั้งสภาประชาชนขึ้นมา ประกอบด้วยประชาชนในชุมชนนั้นทั้งหมด ทั้งกลุ่มแม่บ้าน ผู้สูงอายุ กำนันผู้ใหญ่บ้าน รวมตลอดถึงสภาองค์กรชุมชน รวมมาเป็นสภาของประชาชน ให้ทุกคนมีส่วนร่วม แต่ละปีให้แต่ละชุมชน แต่ละหมู่บ้านผลัดกันเป็นเจ้าภาพ จัดประชุม ระดมความเห็นว่าปัญหาของสังคมเป็นอย่างไร ชุมชนเป็นอย่างไร อยากเห็นท้องถิ่น หรือ อบต. ทำอะไร ทำเป็นแผนชุมชน เป็นแผนตำบล ไปสู่ข้อบัญญัติของท้องถิ่น เพื่อไปสู่การปฏิบัติ ทำแบบนี้สลับกันไปทุกหมู่บ้านเป็นเจ้าภาพ มีแนวคิดเรื่องการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว และไม่ใช่แค่ที่นาบัว หลายแห่งก็ทำเช่นนี้ วิธีการอาจจะแตกต่างกันไป ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เรื่องของการให้โอกาสพี่น้องประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม คิดว่าเป็นหัวใจของความสำเร็จในการสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ได้อย่างแท้จริง หลายแห่งให้โอกาสถึงขั้นว่า ประชาชนอยากให้มีโครงการใดก่อน โดยการให้ดาวไปติดในโครงการที่ชาวบ้านคิดว่าเขาอยากได้ และให้นำดาวมารวมกัน ดาวไหนมากให้ทำโครงการนั้นก่อน เช่น อบต.หาดสองแคว อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ เป็นต้น การให้โอกาสเช่นนี้ เป็นการสร้างพลังความร่วมมือ ทำให้ความเป็นพลเมืองของคนเกิดขึ้น คือเขาเกิดความรับผิดชอบที่จะมีต่อชุมชนของเขา นับตั้งแต่ตัวเขาจนถึงชุมชน และมีความรับผิดชอบต่อส่วนร่วม คนเราถ้ามีความเป็นพลเมืองเกิดขึ้น ความรู้สึกมีศักดิ์ศรี มีคุณค่าเกิดขึ้นในตัวเขา ผมเชื่อเหลือเกินว่า การที่เขาจะทำอะไรอีกหลายๆ อย่าง ให้สังคม เพื่อชุมชนส่วนรวมจะตามมา ท้องถิ่นจะมีกำลังเพิ่มมากขึ้น ท้องถิ่นทำงานน้อยลง ผู้บริหารทำงานเชิงนโยบาย ตอบสนองต่อชาวบ้านได้ตามภารกิจและหน้าที่ ตามที่อาสาเข้ามา เพราะฉะนั้นจะตรงประเด็น ตรงเป้าด้วย เพื่อแก้ไขปัญหาการปกครองประเทศของเราที่ผ่านมา ที่ไปรวมศูนย์ และไม่สามารถไปแก้ไขปัญหาของประชาชนได้ เรียนว่า เรื่องของการให้โอกาสในการมีส่วนร่วม มีความสำคัญอย่างยิ่ง หลายแห่งทำแล้ว อยากเรียนว่า ท่านโอกาสเขาเถิด พี่น้องประชาชนคือเจ้าของอำนาจอธิปไตยจริงๆ เราอาสาเข้ามา และเราก็เป็นคนในชุมชน ลำพังเราเองคนเดียว สมาชิก หรือข้าราชการท้องถิ่น ด้วยงบประมาณ เครื่องไม้เครื่องมือที่มีอยู่ ไม่ได้มากมายที่จะเพียงพอในการแก้ไขปัญหา เพียงพอที่จะสร้างความสุขให้เกิดขึ้นในชุมชนของเราได้ ถ้าเราใช้กระบวนการเหล่านี้มาขับเคลื่อน จะได้ประโยชน์มหาศาล
000 สอง การจัดสรรทรัพยากร ในเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ท้องถิ่นทำไปมาก อย่านึกว่าเป็นเรื่องไม่มีความสำคัญ ท้องถิ่นเราดูแลพื้นที่ทุกตารางนิ้ว ไม่ได้หมายถึงดินอย่างเดียว มันรวมถึงน้ำ ป่า ทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ มากมาย ทั้งที่อยู่บนดิน ใต้ดิน อากาศ ถ้าเรากลับมาทบทวนดูการใช้ทรัพยากรต่างๆ ที่ผ่านมา จะเห็นว่าทรัพยากรบ้านเราไม่ได้ถูกใช้โดยเจ้าของทรัพยากรคือประชาชน แต่ส่วนใหญ่ทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ แร่ธาตุ หรืออะไรก็แล้วแต่ถูกใช้ไปโดยทุน หรือนายทุนที่มาประกอบธุรกิจ ถ้าถามว่า ในฐานะเจ้าของทรัพยากรเราได้รับประโยชน์อะไรจากการที่ทุนเอาไปใช้ แน่นอนนายทุนลงทุนเพื่อแสวงหากำไร แต่ผู้ที่เป็นเจ้าของถามว่าได้ประโยชน์อะไรบ้าง ทุนนำทรัพยากรไปใช้ ในภาพรวมประชาชนยังจน อยู่อย่างแร้นแค้น ทั้งที่เข่าใช้ทรัพยากรเราไปลงทุน สิ่งที่ทุนไปใช้ สิ่งที่ตอบแทนมาคือ สารพิษ น้ำเสีย นอกจากประโยชน์ไม่คุ้มในฐานะเจ้าของทรัพยากร ยังได้รับผลกระทบด้านร่างกาย จิตใจ เราก็มาตกทุกเรื่องของดินถล่ม น้ำท่วม อยู่ที่พวกเรา สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ถ้าเราไม่คิดตามไม่ทันทุน ไม่รู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบทุน จะนำสังคมฐานล่างไม่ได้ อบต. อบจ. หลายแห่งได้สนับสนุนให้เกิดป่าชุมชน มีกิจกรรมคืนสายน้ำให้แม่น้ำลำคลอง เช่น มีป่าชุมชนที่ อบต.แม่ทา กิ่ง อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้ อปท. หลายแห่งพยายามอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น เรื่องนี้จึงมีความสำคัญส่วนหนึ่งที่ท้องถิ่นสามารถเข้ามาดูแล เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้กลับคืนมา
000 สาม การเพิ่มคุณภาพชีวิต คือการเติมเต็มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการขับเคลื่อนเรื่องกองทุนสุขภาพ ร่วมกับ สปสช. มา 3 ปีเศษ บัดนี้ก้าวหน้าไปมาก ทำให้พี่น้องเข้าถึงระบบสุขภาพดีขึ้น ถึงแม้จะไม่ดีเหมือนคนเมือง เนื่องจากขาดโอกาสมาช้านาน แต่วันนี้ท้องถิ่นเข้ามาทำในเรื่องนี้ถือว่ามีความสำคัญ ในเรื่องการศึกษาที่ท้องถิ่นขาดโอกาสมานาน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ขณะนี้มาดูในเรื่องศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้เป็นอย่างดี เป็นภาพกว้างที่สังคมยอมรับ ท้องถิ่นมีความเข้าใจในบริบทของศูนย์พัฒนาการเด็กเล็กว่าไม่ใช่ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก แต่เป็นศูนย์พัฒนาเด็กที่เป็นการปูพื้นฐานของการพัฒนาคน ซึ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะคนคือทรัพยากรที่สำคัญที่สุด และต้องช่วยกันพัฒนาไปอีก การพัฒนาคนคือหัวใจของการพัฒนาทั้งหลายทั้งปวง นอกจากนี้ อปท. ยังมีเรื่องการจัดการศึกษาในระบบ และนอกระบบ มีการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ เรื่องเหล่านี้เมื่อก่อนไม่ได้รับการสนใจในสังคมไทย แต่บัดนี้ ท้องถิ่นเข้ามาเติมเต็มเรื่องศักดิ์ศรีมนุษย์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ถ้าคิดอย่างเป็นระบบ เป็นภาพรวม ผูกโยงให้เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน ผมยืนยันว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นเรื่องความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ท้องถิ่นเราสามารถขจัดได้ทั้งนั้น ถือเป็นบทบาทโดยตรงของพวกเรา เป็นปัญหาที่เราต้องร่วมกันแก้ไข เพราะเป็นความทุกข์ของพี่น้องประชาชน และตัวของท้องถิ่นเอง ในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การสร้างหลักประกันความมั่นคงของชีวิต หลายแห่งทำได้ดี ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เหมาะกับสังคมชนบท เหมาะกับที่จะอยู่ในสังคมนี้ให้รอด ในการต่อสู้กับทุนนิยม ที่มา สร้างความคุ้มกัน เราอยู่ได้ด้วยขาของเรา การรับผิดชอบต่อส่วนรวม การช่วยเหลือเกื้อกูลเรื่องสวัสดิการสังคม อยากเรียนกับทุกท่านว่า ในการสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ในแนวคิดเรืองการปฏิรูปประเทศไทยที่ตกผลึกมาและจะขับเคลื่อนต่อก็คือ เราให้ความสำคัญกับชุมชนท้องถิ่นจริงๆ ชุมชนท้องถิ่นไม่ใช่แค่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับชุมชน ก็คือภาคประชาชน ที่จะต้องไปเหมือนเนื้อเดียวกัน ถ้าทั้ง 2 ส่วนนี้มีความเป็นเนื้อเดียวกัน ก้าวเดินไปในทิศทางเดียวกัน เชื่อเหลือเกินว่าฐานของประเทศจะมีความเข้มแข็ง ผมยืนยันในแนวคิดเรื่องของการมององค์รวมว่าถ้าท้องถิ่นแต่ละแห่งทำให้เข้มแข็ง และรวมกันทั้ง 7,000 กว่าแห่ง เชื่อว่าฐานของประเทศจะเข้มแข็ง ประเทศชาติจะอยู่ได้ อยู่รอดปลอดภัย อยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืน อยู่อย่างมีความสุข โดยขอฝากข้อคิด แนวคิดไว้กับทุกท่านด้วย และอยากเชิญชวนทุกท่าน ได้ร่วมกันขยายแนวคิด วิธีคิด ไปสู่ผู้บริหาร สมาชิก เพื่อนข้าราชการส่วนท้องถิ่น และพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมาร่วมกันปฏิรูปประเทศไทย สิ่งที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้ที่สำคัญที่สุดคือเราต้องเปลี่ยนวิธีคิด “ปฏิ” คือ “กลับ” และ “ปฏิรูปประเทศไทย” คือ “คิดกับประเทศไทยใหม่” จาก “รวมศูนย์” มาสู่การ “สร้างฐาน” ขอบคุณทุกท่านที่ให้ความร่วมมือกัน ถือว่าทุกท่านเป็นสมาชิกสมัชชาปฏิรูปสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ให้เกิดขึ้นจริงๆ หวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากท่าน เพราะการปฏิรูปประเทศไทยไม่ใช่การพลิกฝ่ามือ ไม่ใช่ใช้เวลาแค่วันสองวัน แต่ใช้เวลายาวนาน ทั้งในแง่ของการปรับเปลี่ยนวิธีคิด และนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้เกิดผลขึ้นจริง ฝากความรู้สึกนึกคิด ความหวังไว้กับทุกท่าน สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
อบต.บุกมหาดไทย ค้านลดจำนวนสมาชิกสภา อบต. Posted: 04 Feb 2011 11:41 AM PST ตัวแทนสมาชิกสภา อบต. และผู้บริหารทั่วประเทศชุมนุมที่ มท. ร้องทบทวนเรื่องขึ้นค่าตอบแทน - ค้านการลดจำนวนสมาชิก อบต. จากบ้านละ 2 เหลือ 1 คน "บุญจง" โยนพิจารณาค่าตอบแืทนเป็นเรื่องคณะกรรมการกระจายอำนาจที่นายกฯ เป็นประธาน ส่วนการแก้กฎหมายเพื่อลดจำนวนสมาชิก อบต. หากเรื่องเข้าสภาตนจะไปค้านเอง ด้านสมาชิก อบต. ยอมสลายตัวแม้ยังไม่พอใจผลเจรจา เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ข่าวสด รายงานว่า เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 3 ก.พ. ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รองประธานสภาอบต. สมาชิกสภาอบต. และ เลขานุการสภา อบต.จากทั่วประเทศ จำนวน 1,400 คน นำโดย นายจุฬา มีบุญรอด นายกสมาคมสมาชิกสภา อบต. เดินทางมายังกระทรวงมหาดไทย เพื่อยื่นหนังสือต่อนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย เพื่อเรียกร้องให้มหาดไทยทบทวนการปรับปรุงแก้ไขค่าตอบแทนให้กับผู้บริหาร อบต. และเรียกร้องไม่ให้แก้ไขกฎหมายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่จะลดสมาชิกอบต.จากหมู่บ้านละ 2 คน เหลือหมู่บ้านละ 1 คน ระหว่างการหารือ ประธานสภา อบต. มีท่าทีไม่พอใจและอภิปรายถึงการขึ้นค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม โดยระบุว่าที่มหาดไทยอ้างว่าค่าตอบแทนนายก อบต. สูงกว่าประธานสภา อบต. เพราะมีภารกิจที่มากกว่านั้น ขอยืนยันว่าภารกิจในพื้นที่ ประธานสภา อบต.ก็ไม่ได้มีน้อยไปกว่านายก อบต.เช่นกัน ด้านนายบุญจง กล่าวว่า เวลามีปัญหาจึงควรมาคุยกัน เพราะหากเป็นเช่นนี้ประชาชนจะตำหนิว่าเราทำเพื่อตัวเอง การขึ้นค่าตอบแทนก็ไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยทั้งหมด เพราะเป็นเรื่องของคณะกรรมการกระจายอำนาจที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และการจะขึ้นค่าตอบแทน ก็เป็นเรื่องของกรมบัญชีกลางและสำนักงบประมาณ ส่วนตำแหน่งเลขาฯ อบต. หากใครไม่พอใจก็ให้ลาออกไปเพราะเด็กจบใหม่ที่จะมาทำงานมีจำนวนมาก ส่วนเรื่องการแก้ไขกฎหมาย อบต. นายบุญจงชี้แจงว่า ขอให้เข้าใจตรงกันว่า วินาทีนี้ กฏหมายยังไม่เข้าสภา เดิมแนวคิดนี้ไม่ใช่ของกระทรวงมหาดไทย อีกทั้งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ก็ไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว แต่เป็นเรื่องที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้เสนอ ทั้งนี้ตนขอยืนยันว่า ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ไม่เห็นด้วย เพราะฉะนั้นไม่ต้องหนักใจ หากกฎหมายเข้าสู่สภาจะส่งคนเข้าไปเป็นกรรมาธิการด้วย เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วย หลังหารือกว่า 1 ชั่วโมง นายบุญจง ลงมาที่ลานอเนกประสงค์ ชี้แจงกับกลุ่ม อบต. แต่ยังไม่เป็นที่พอใจ และระบุว่าคำตอบของนายบุญจงไม่ชัดเจน แกนนำที่เข้าหารือกับนายบุญจง ระบุว่า หากนายบุญจง รับปากแล้วก็เชื่อว่าจะต้องดำเนินการ จากนั้นตัวแทนสมาชิก อบต. และผู้บริหารจึงได้สลายตัว สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ซามีร์ อามิน: ว่าด้วยการปฏิวัติตูนีเซียและการเคลื่อนไหวในอียิปต์ Posted: 04 Feb 2011 11:14 AM PST เกี่ยวกับซามีร์ อามิน ศาสตราจารย์ ซามีร์ อามิน (Samir Amin) เกิดที่ไคไรเมื่อในปี 1931 และได้รับการศึกษาจากโรงเรียนฝรั่งเศสที่นั่น เขาได้รับปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองจากปารีส ประเทศฝรั่งเศส เช่นเดียวกับปริญญาจากสถาบันสถิติและสถาบันศึกษาการเมืองชั้นสูง เมื่อกลับประเทศได้เข้าทำงานในสังกัดฝ่ายวางแผนเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลนัสเซอร์ สำหรับอาชีพทางวิชาการ เขาได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ในฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 1966 และดำรงตำแหน่งประธานของสถาบันเพื่อการพัฒนาและวางแผนทางเศรษฐกิจ แผนกอาฟริกันของสหประชาชาติระหว่าง 1970-1980 และตั้งแต่ปี 1980 ดำรงตำแหน่งประธานของสำนักงานอาฟริกันของ Third World Forum องค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยและถกเถียงประเด็นต่างๆ ปัจจุบันยังเป็นประธานของ World Forum for Alternatives
1.สัมภาษณ์ซามีร์ อามิน ว่าด้วยการปฏิวัติตูนีเซีย เผยแพร่เป็นภาษาอารบิคในนิตยสาร Aydinlik Magazine ที่มาของภาษาอังกฤษ: http://democracyandclasstruggle.blogspot.com/2011/02/samir-amin-on-tunisian-revolution.html (เผยแพร่วันที่ 1 ก.พ. 54) ศาสตราจารย์ซามีร์ อามิน นักคิดฝ่ายซ้าย นักเศรษฐศาสตร์และนักเขียนที่มีชื่อเสียง ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับ Aydinlik Magazine เกี่ยวกับเหตุการณ์ในตูนีเซีย รวมทั้งแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเยือนอเมริกาของนายหูจิ่นเทาและนโยบายในปัจจุบันของจีน มีใจความสำคัญดังต่อไปนี้
ขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชน AYDINLIK: คุณตีความการเคลื่อนไหวในตูนีเซียอย่างไร? SAMIR AMIN: เราต้องทำความเข้าใจเหตุการณ์ของตูนีเซียในฐานะการลุกฮือของขบวนการประชาชนที่มีพลังมาก เป็นการลุกฮือครั้งใหญ่ ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของประชาชนของประเทศนี้ในหลายพื้นที่รวมทั้งเมืองหลวงออกมาตามท้องถนนเป็นเวลา 45 วันและยังคงทำอย่างนั้นต่อไป พวกเขาประท้วงและถึงแม้จะมีการปราบปรามก็ไม่ยอมหยุด การเคลื่อนไหวครั้งนี้มีทั้งมิติการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ระบอบของปธน.เบน อาลีคือหนึ่งในรัฐตำรวจที่โหดเหี้ยมที่สุดในโลก ชาวตูนีเซียหลายพันคนถูกสังหาร จับกุมและทรมาน แต่เพื่อนรักมหาอำนาจตะวันตกกลับไม่ยอมปล่อยให้ข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นที่รู้จัก ประชาชนตูนีเซียจึงเรียกร้องประชาธิปไตยและการเคารพสิทธิของพวกเขา ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมนั้นมีอิทธิพลกับการลุกฮือของประชาชน ตูนีเซียประสบกับการพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วของการว่างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งของกลุ่มวัยรุ่น รวมทั้งคนหนุ่มสาวที่มีการศึกษา คุณภาพชีวิตของประชากรส่วนใหญ่ก็ต่ำลงถึงแม้ธนาคารโลกและหน่วยงานระหว่างประเทศจะปลาบปลื้มกับการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของประเทศก็ตาม ความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้นตอบคำถามนี้ รวมทั้งอิทธิพลขององค์กรผู้มีอิทธิพลก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ ระบบนั้นถูกบริหารเพื่อประโยชน์เกือบจะเฉพาะของครอบครัวเบน อาลีและองค์กรที่เกี่ยวข้อง มีอีกแง่หนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวที่ถือว่าสำคัญมาก อิทธิพลอิสลามไม่ได้มีผลนักกับการลุกฮือนี้ ตูนีเซียนั้นที่จริงแล้วเป็นรัฐฆราวาส (secular state) ประชาชนสามารถแยกศาสนาออกจากการเมืองได้สำเร็จ มันเป็นปัจจัยที่สำคัญและช่วยส่งเสริมมาก มีคำกล่าวว่าเบน อาลีได้ปกป้องประเทศจากกลุ่มมุสลิมคลั่งศาสนา เขาใช้ข้ออ้างนี้ได้ผลมาเป็นเวลาหลายปี จริงๆ แล้วไม่ใช่เบน อาลีแต่เป็นประชาชนที่ปกป้องประเทศจากพวกคลั่งศาสนาเหล่านี้ ข้อเท็จจริงว่าทหารนั้นไม่ได้อยู่ตรงข้ามประชาชนช่วยเพิ่มกำลังให้แก่ประชาชนบนท้องถนน รัฐบาลเบน อาลีสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับตำรวจไม่ใช่ทหาร นี่คือเหตุผลว่าทำไมตำรวจจึงมีบทบาทสำคัญในการปราบปรามในหลายเหตุการณ์ในอดีต
มันจึงไม่ง่ายที่จะสถาปนาประชาธิปไตยและระบอบฆราวาสในตูนีเซีย AYDINLIK: ใครหรืออำนาจฝ่ายไหนนำการเคลื่อนไหวครั้งนี้? AMIN: ผมอยากจะเน้นอีกครั้งว่าการเคลื่อนไหวนี้ไม่ได้เป็นของคนกลุ่มไหนโดยเฉพาะ มันเป็นการเคลื่อนไหวใหญ่ของประชาชน ไม่มีต่างชาติประเทศหรือกลุ่มไหนอยู่เบื้องหลัง มันเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมโดยเนื้อแท้ อย่างไรก็ตาม มันจำเป็นต้องพูดว่ามหาอำนาจตะวันตกพยายามจะสร้างอิสลามทางเลือกและพยายามจะสนับสนุนการเคลื่อนไหวแบบนี้เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดทางเลือกของประชาธิปไตยที่แท้จริง พวกเขาได้เริ่มต้นทำมันแล้วโดยนำภาษาของ “ซาอุดิอารเบีย” เข้ามาใช้ในประเทศอีกครั้งอย่างที่มีการวิจารณ์กันในกลุ่มประชาชน มันยากมากที่จะพยายามคาดเดาว่าอนาคตของประเทศจะไปทางไหน ที่แน่ก็คือการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยและระบอบฆราวาสไม่ง่าย ลองนึกภาพที่ดีที่สุด คือเกิดรัฐบาลประชาธิปไตยที่สนับสนุนโดยประชาชน (และไม่มีอะไรเป็นหลักประกันอย่างแน่นอนว่าจะเกิดขึ้น) รัฐบาลที่ว่าจะต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมที่ว่า จะเชื่อมโยงกระบวนการประชาธิปไตยเรื่องการจัดการด้านการเมืองกับความรุดหน้าทางสังคมอย่างไร? มันไม่ง่ายเพราะ “ความสำเร็จ” ของตูนีเซียในช่วงที่ผ่านมาตั้งอยู่บนปัจจัยสามเรื่อง คือ การย้ายฐานอุตสาหกรรมเบาจากยุโรปเข้ามา การท่องเที่ยวและการอพยพโยกย้ายถิ่นจำนวนมากไปประเทศลิเบีย ช่องทางทั้งสามตอนนี้ถึงจุดอิ่มตัวและเริ่มที่จะสวนทางกลับด้วยซ้ำ นโยบายมหภาคแบบไหนที่จะถูกนำมาแทนที่? ไม่ง่ายที่จะหาคำตอบสำหรับประเทศเล็กที่บอบบางและมีทรัพยากรน้อย (ไม่มีน้ำมัน!) ความเป็นหนึ่งเดียวและความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาจะกลายเป็นทางเลือกที่มีความสำคัญ มหาอำนาจตะวันตกจะทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยไม่สำเร็จเพื่อที่จะสร้างเงื่อนไขที่เอื้อประโยชน์แก่ “อิสลามทางเลือก” จอมปลอมที่ถูกเรียกว่า “สายกลาง (moderate)”
จีนจะไม่ยอมยกเลิกนโยบายแบบของตน AYDINLIK: ประธานาธิบดีจีนหูจิ่นเทาได้พบกับนายโอบามาที่วอชิงตัน ก่อนเดินทางไปสหรัฐฯ นายหูจิ่นเทาพูดว่า “ระบบที่ถูกครอบงำโดยสกุลเงินดอลลาร์เป็นผลผลิตของอดีต” คุณมีความเห็นอย่างไร? AMIN: จีนอาจจะยิ้มแย้มให้พวกอเมริกันแต่พวกเขาจะไม่มีทางประณีประนอมในเรื่องนโยบาย ฝ่ายที่ได้เปรียบในการพบปะกันระหว่างประธานาธิบดีทั้งสองคนคือ หูจิ่นเทาตามที่คาดหมายกัน จีนไม่ยอมอ่อนข้อในเรื่องการจัดการค่าเงินหยวนของตนอย่างอิสระ เงินดอลลาร์ที่ควบคุมระบบการเงินระหว่างประเทศก็จะใกล้สิ้นอายุขัยของมันไม่ช้าก็เร็ว คนจีนตระหนักเรื่องนี้ดี แต่ในระหว่างนี้จีนจะไม่เสนอให้สร้างสกุลเงินโลกทางเลือกขึ้นมาใหม่ (จีนเข้าใจดีว่ามันยังไม่ถึงเวลาสุกงอมและก็ยังคงเป็นแค่เรื่องเพ้อฝัน) ตอนนี้จีนทุ่มเทให้กับการสร้างพันธมิตรในภูมิภาคที่เป็นอิสระและพึ่งตนเอง จีนจะพยายามหาคำตอบที่เป็นไปได้สำหรับความท้าทายนี้ คือ ผลักดันข้อตกลงระดับภูมิภาคในเอเชียและลาตินอเมริกา ไม่ใช่ในระดับโลก
2. การเคลื่อนไหวในอียิปต์ แปลจาก The Movement in Egypt: The US realigns, Movements in Egypt: The US realigns, Samir Amin, Pambazuka News, 2011-02-02, Issue 515 http://www.pambazuka.org/en/category/features/70615 หมายเหตุ: ศาสตราจารย์ซามีร์ อามินได้เขียนบทความวิเคราะห์ถึงบทบาทและท่าทีและสหรัฐฯ ต่อการเคลื่อนไหวที่กำลังเกิดขึ้น รวมทั้งอิทธิพลของกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของประวัติศาสตร์อียิปต์ เผยแพร่ในเว็บของสำนักข่าว Pambazuka เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2554 โดยมีเนื้อหาดังนี้
อียิปต์คือหมุดหมายสำคัญของแผนการณ์ครอบครองโลกของสหรัฐฯ รัฐบาลวอชิงตันจะไม่ยอมทนต่อความพยายามใดๆ ของอียิปต์ที่จะขยับออกไปจากการควบคุมโดยสมบูรณ์ของสหรัฐฯ ซึ่งก็เป็นที่ต้องการของอิสราเอลเพื่อที่จะสานต่อการสร้างอาณานิคมส่วนที่ยังคงเหลือจากปาเลสไลน์ นี่เป็นเป้าหมายที่เฉพาะของรัฐบาลอเมริกาในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบ “การเปลี่ยนผ่านอย่างนุ่มนวล (soft transition)” มองในแง่นี้ อเมริกาอาจเห็นว่าประธานาธิบดีมูบารัคควรลาออก รองประธานาธิบดีที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งนายโอมาร์ โซไลมาน หัวหน้าของหน่วยข่าวกรองของกองทัพอาจเข้ามารับหน้าที่ ที่ผ่านมา กองทัพระมัดระวังมากที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการปราบปรามซึ่งเป็นการรักษาภาพพจน์ของตน นายบาราดัยเข้ามาในจุดนี้ เขายังคงเป็นที่รู้จักจากภายนอกประเทศมากกว่าในอียิปต์แต่ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ในเวลาไม่ช้า เขาเป็น “เสรีนิยม” คนหนึ่งที่ไม่มีแนวคิดเรื่องการบริหารจัดการเศรษฐกิจมากไปกว่าปล่อยให้ดำเนินไปอย่างที่มันเป็นและเขาไม่สามารถเข้าใจว่าเรากำลังอยู่ที่จุดเริ่มต้นของความหายนะทางสังคม เขาเป็นนักประชาธิปไตยในความหมายว่าเขาต้องการ “การเลือกตั้งอย่างแท้จริง” และการเคารพกฎหมาย (หยุดจับกุมและทรมาน ฯลฯ) แต่ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น มันไม่ใช่จะเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะยอมร่วมมือในการเปลี่ยนผ่านที่พูดถึง แต่กองทัพและข่าวกรองจะไม่ยอมปล่อยอิทธิพลครอบงำของตนในการนำสังคม นายบาราดัยจะยอมรับจุดนี้ได้หรือไม่? ในเรื่องของ “ความสำเร็จ” และ “การเลือกตั้ง” กลุ่มมุสลิมบราเตอร์ฮู้ด [Moslem or Muslim Brotherhood ขบวนการเคลื่อนไหวข้ามชาติและองค์กรการเมืองฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศอาหรับ: ผู้แปล] จะกลายเป็นกำลังหลักในสภา อเมริกายินดีรับจุดนี้และรับรองว่ากลุ่มนี้เป็นพวก “สายกลาง” นั่นหมายถึงว่านอนสอนง่าย ยอมรับวิถีทางสยบยอมต่อสหรัฐฯ และปล่อยให้อิสราเอลมีอิสระในการรุกรานปาเลสไลน์ต่อไป นอกจากนี้ กลุ่มมุสลิมบราเธอร์ฮู้ดยังพึงพอใจกับระบบ “ตลาด” ที่พึ่งพาภายนอกอย่างเต็มที่แบบที่เป็นอยู่ จริงๆ แล้ว พวกนี้ก็ยังเป็นหุ้นส่วนในชนชั้นนำ “พ่อค้าคนกลาง” [จากคำว่า compradore มีความหมายถึงพวกที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของบริษัทธุรกิจต่างชาติภายในประเทศและอาจหมายถึงพวกพ่อค้าชาวจีนที่หากำไรจากส่วนต่างของราคาสินค้า: ผู้แปล] พวกเขามีจุดยืนที่ต่อต้านการผละงานของชนชั้นแรงงานและการต่อสู้ของชาวนาเพื่อที่จะรักษาสิทธิในที่ดินของตน แผนของสหรัฐฯ สำหรับอียิปต์นั้นคล้ายกับโมเดลของปากีสถานมาก คือ ส่วนผสมระหว่างอิสลามการเมืองและหน่วยข่าวกรองของกองทัพ กลุ่มมุสลิมบราเธอร์ฮู้ดอาจจะถ่วงดุลกับนโยบายนี้โดยวางตัวแบบ “ไม่เป็นสายกลาง”ต่อพวกคริสเตียนในอียิปต์ [อามินใช้คำว่า Copts หมายถึงชนกลุ่มน้อยทางศาสนากลุ่มใหญ่ที่สุดในอียิปต์ มีพื้นเพดั้งเดิมในประเทศอียิปต์ตั้งแต่สมัยโรมัน มีจำนวนประชากรน้อยแต่มีความมั่งคั่งและเป็นเจ้าของทรัพย์สินจำนวนมาก ปัจจุบันมีการรวมตัวเป็นองค์กรและเครือข่ายข้ามชาติ: ผู้แปล] ระบบแบบนี้จะสามารถให้กำเนิด “ประชาธิปไตย” ได้หรือไม่? ส่วนการเคลื่อนไหวนั้นเป็นของคนหนุ่มสาวในเมือง โดยเฉพาะพวกที่มีจบการศึกษาสูงแต่ไม่มีงานทำ ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มของชนชั้นกลางที่มีการศึกษาและพวกที่เชื่อในประชาธิปไตย ระบอบการปกครองใหม่อาจจะเปิดช่องให้กลุ่มนี้ได้บ้าง เช่นเพิ่มตำแหน่งงานในหน่วยงานของรัฐ แต่ก็ไม่น่าจะได้มากเท่าใด แน่นอนว่าการณ์อาจจะเปลี่ยนแปลงไปถ้าหากการเคลื่อนไหวของชนชั้นแรงงานและชาวนามีบทบาทมากขึ้น แต่ก็ดูเหมือนกับว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ และตราบที่ระบบเศรษฐกิจถูกจัดการไปตามกฎเกณฑ์ของ “เกมโลกาภิวัตน์” ปัญหาที่เป็นต้นเหตุของการเคลื่อนไหวประท้วงทั้งสิ้นก็ไม่อาจจะได้รับการแก้ไขจริง
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
สลาวอย ชิเชค: มีเหตุผลอะไรที่จะต้องกลัวสปิริตแห่งการปฏิวัติของโลกอาหรับ? Posted: 04 Feb 2011 09:24 AM PST หมายเหตุ: แปลโดย "KK @ Iskra" จากบทความ “Why fear the Arab revolutionary spirit?”, Slavoj Zizek, the Guardian, Tuesday 1 February 2011 09 00 GMT
สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยสำหรับการลุกสู้ในตูนีเซียและอียิปต์ คือ การไม่ปรากฏตัวของแนวคิดมุสลิมเคร่งศาสนา ในวิถีแห่งของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแบบทางโลกที่ดีที่สุดนั้น คือ การที่ประชาชนเพียงลุกสู้เพื่อต่อต้านระบอบการปกครองที่กดขี่ การคอร์รัปชั่นและความยากจน รวมถึงการเรียกร้องเสรีภาพและความคาดหวังว่าเศรษฐกิจของพวกเขาจะดีขึ้น ความคิดที่สิ้นหวังในมนุษย์ของพวกเสรีนิยมในโลกตะวันตกได้ถูกพิสูจน์แล้วว่าผิด ความคิดสิ้นหวังของพวกเสรีนิยมเชื่อว่า มีเพียงชนชั้นนำเสรีนิยมวงแคบๆเท่านั้นที่เข้าใจประชาธิปไตย ส่วนมวลชนส่วนใหญ่นั้นจะออกมาต่อสู้ทางการเมืองได้ก็เพียงอาศัยการปลุกระดมผ่านความคิดทางศาสนาและความคิดชาตินิยมเท่านั้น คำถามที่สำคัญคือ จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป? ใครจะเป็นผู้ได้รับชัยชนะในทางการเมือง? เมื่อรัฐบาลชั่วคราวถูกตั้งขึ้นในตูนีเซีย มันได้กีดกันฝ่ายมุสลิมและพวกฝ่ายซ้ายหัวก้าวหน้าออกไป ปฏิกิริยาของพวกเสรีนิยมอวดดีก็คือ “ดีแล้ว เพราะพวกนี้ [ทั้งพวกมุสลิมและพวกฝ่ายซ้าย - ผู้แปล] มีพื้นฐานที่เหมือนกัน นั่นคือ เป็นพวกเผด็จการรวมศูนย์แบบสุดโต่งทั้งคู่” – คำถามคือ เราสามารถสรุปได้ง่ายๆ อย่างนั้นหรือไม่? จริงหรือที่ความเป็นปฏิปักษ์ในระยะยาวที่แท้จริงไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มมุสลิมและฝ่ายซ้าย? แม้ว่าในบางช่วงเวลาที่เมื่อทั้งสองพวกนี้ร่วมกันต่อต้านระบอบการเมืองใดระบอบหนึ่งแล้ว หลังจากที่ได้รับชัยชนะ เราก็จะพบว่า การร่วมมือกันก็จบสิ้นลง และทั้งสองกลุ่มก็หันมาสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย และออกจะดุเดือดยิ่งกว่าเมื่อครั้งร่วมกันโค่นล้มศัตรูตัวเดียวกันเสียอีก พวกเราไม่ได้เป็นพยานต่อการต่อสู้อย่างเอาเป็นเอาตายแบบที่ว่าภายหลังจากที่มีการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในอิหร่านหรอกหรือ? สิ่งที่ผู้สนับสนุน Mousavi หลายแสนคนสะท้อนออกมาก็คือ ความฝันของมวลมหาประชาชนว่าด้วยการปฏิวัติของโคไมนี นั่นคือ เสรีภาพ และความยุติธรรม แม้ว่าจะเป็นความเพ้อฝันแบบอุดมคติ แต่มันก็นำไปสู่การระเบิดขึ้นอย่างคาดเดาไม่ได้ของพลังแห่งการสร้างสรรค์ทางการเมืองและสังคม การทดลองจัดองค์กรในหลายรูปแบบ และการถกเถียงอภิปรายทางการเมืองอย่างกว้างขวางในหมู่นักศึกษาและคนธรรมดา ภาพการเผยตัวอย่างแท้จริงนี้ได้เปิดให้เราเห็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เราไม่เคยได้ยินเสียงมาก่อน พลังเหล่านี้ค่อยๆกลั่นตัวขึ้นผ่านการยึดการควบคุมทางการเมืองคืนจากชนชั้นปกครองอิสลาม และนี่คือ ช่วงเวลาหนึ่งที่ทุกสิ่งทุกอย่างอาจเกิดขึ้นได้ เราไม่ควรละเลยองค์ประกอบทางสังคมของขบวนการต่างๆ แม้แต่ในกรณีของขบวนการเคร่งศาสนาที่ชัดเจนที่สุด ในขณะที่ทาลีบันมักจะถูกนำเสนอว่าเป็นกลุ่มมุสลิมที่เคร่งศาสนาที่ปกครองสังคมด้วยความชั่วร้ายรุนแรง แต่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี 2009 ที่พวกเขาสามารถยึดพื้นที่ Swat valley ในปากีสถาน นิวยอร์กไทม์ส รายงานว่า พวกเขากำลังสร้าง “การต่อสู้ทางชนชั้นที่ใช้โอกาสของรอยปริแตกระหว่างชนชั้นเจ้าที่ดินที่ร่ำรวยกลุ่มเล็กๆกับชาวนาไร้ที่ดิน ” หากนี่เป็นการ “หาประโยชน์” จากสภาพอันเลวร้ายของชาวนา ทาลีบันก็กำลังสร้างสรรค์อะไรบางอย่างที่ นิวยอร์กไทม์ส เรียกว่า “การส่งสัญญาณเตือนภัยต่อปากีสถาน ที่ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเป็นสังคมแบบฟิวดัลอยู่” ปัญหาก็คือ อะไรล่ะที่ทำให้พวกเสรีนิยมประชาธิปไตยในปากีสถานและสหรัฐฯทำในสิ่งเดียวกันคือ นั่นคือ การไม่ “หาประโยชน์” โดยการเข้าไปช่วยเหลือชาวนาไร้ที่ดินเหล่านั้น? หรือว่าฝ่ายเจ้าที่ดินในปากีสถานคือพันธมิตรโดยธรรมชาติกับพวกเสรีนิยม? ข้อสรุปที่เลี่ยงไม่ได้ก็คือ กระแสการก่อตัวของความคิดอิสลามหัวรุนแรงมักจะเป็นด้านกลับของการเสื่อมถอยไปของฝ่ายซ้ายที่ไม่ยึดศาสนาเป็นแนวในการต่อสู้ในประเทศมุสลิมทั้งหลาย ในขณะที่อัฟกานิสถานถูกวาดภาพให้เป็นประเทศคลั่งศาสนาอิสลามแบบสุดขั้ว จะมีใครระลึกได้บ้างหรือไม่ว่า เมื่อ 40 ปีก่อน ประเทศนี้เคยมีวิถีการต่อสู้ที่ไม่อ้างอิงความคิดทางศาสนาที่เข้มแข็งมากแห่งหนึ่ง หรือแม้แต่การที่ประเทศนี้มีพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีบทบาทสำคัญในการยึดอำนาจรัฐที่เป็นอิสระจากสหภาพโซเวียต? แล้ววิถีทางที่ไม่อิงกับศาสนาเช่นว่านั้นมันหายไปไหน? และนี่เป็นโอกาสสำคัญที่การทำความเข้าใจเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในตูนีเซียและอียิปต์ (รวมถึงเยแมน และ หรือแม้แต่ – หวังว่า - ซาอุดิอาระเบีย) จากพื้นฐานความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ดังที่กล่าวไปแล้ว หากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นถูกแช่แข็งเพื่อให้ระบอบเก่ารอดชีวิตอยู่ได้ด้วยการปะแป้งแต่งหน้าใหม่ให้มีความเป็นเสรีนิยมเล็กๆน้อยๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ ปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรงของกระแสคลั่งศาสนา หากต้องการปกป้องมรดกทางความคิดแบบเสรีนิยมให้อยู่รอดได้ในสถานการณ์เช่นนี้ พวกเสรีนิยมต้องสนับสนุนฝ่ายซ้ายหัวก้าวหน้าอย่างไม่มีเงื่อนไข กลับมาที่อียิปต์ ปฏิกิริยาแบบฉวยโอกาสที่ไร้ความละอายและอันตรายที่สุดก็คือ คำกล่าวของ โทนี่ แบลร์ ดังที่รายงานโดยซีเอ็นเอ็น ว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งจำเป็น แต่มันควรจะเป็นย่างก้าวแห่งการเปลี่ยนแปลงที่มีเสถียรภาพ [การพูดเช่นนี้หมายความว่า - ผู้แปล] การเปลี่ยนแปลงที่มีเสถียรภาพในอียิปต์วันนี้มีความหมายอย่างเดียวก็คือ การประนีประนอมกับฝ่ายมูบารัคโดยการเปิดให้ชนชั้นปกครองหลายกลุ่มเข้ามาสู่แวดวงของอำนาจได้เพิ่มขึ้น นี่คือสาเหตุที่เราต้องสรุปว่า การเปลี่ยนผ่านแบบสันติในปัจจุบันซึ่งมีความหมายเท่ากับการกำจัดฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาลคือสิ่งที่น่าขยะแขยง และที่สำคัญ มูบารัคเองก็คือคนที่ทำให้การเปลี่ยนผ่านอย่างสันติดังที่ว่าไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้จริง ทันทีที่มูบารัคส่งทหารไปปราบปรามผู้ประท้วง เราจะเห็นทางเลือกที่มีอยู่ชัดขึ้นมาทันที คือ เราจะเอาการเปลี่ยนแปลงแบบลูบหน้าปะแป้งเล็กๆ น้อยๆ โดยที่ทุกอย่างยังคงอยู่เหมือนเดิม หรือ เราจะสร้างการแตกหักอย่างแท้จริง นี่คือ ช่วงเวลาของความจริง เราไม่สามารถอ้างได้อีกแล้ว ดังที่เราเคยอ้างมาก่อนในกรณีของแอลจีเรียว่า การปล่อยให้มีการเลือกตั้งแบบอิสระโดยแท้มีค่าเท่ากับการให้อำนาจแก่ฝ่ายมุสลิมเคร่งศาสนา ความกังวลอีกประการของพวกเสรีนิยมก็คือ การที่ไม่มีอำนาจทางการเมืองในลักษณะที่เป็นองค์กรที่จะเข้าปกครองสังคมภายหลังจากที่มูบารัคพ้นจากอำนาจ แน่นอน มันไม่มี (แต่) สาเหตุเกิดจากมูบารัคใช้ทุกวิถีทางที่จะลดทอนและผลักไสฝ่ายตรงข้ามทุกกลุ่มให้อยู่ชายขอบให้มากที่สุด เพื่อที่ผลของมันจะได้ออกแบบที่ อกาธา คริสตี ตั้งชื่อนิยายของเธอว่า ดังนั้น มันจึงไม่มีอะไรเลย การให้เหตุผลของพวกเสรีนิยมที่ปกป้องมูบารัคก็คือ การให้เหตุผลที่ย้อนกลับไปทำลายมูบารัคเอง นั่นคือ ไม่จะเอามูบารัค หรือจะเอาความวุ่นวาย ความดัดจริตของพวกเสรีนิยมในโลกตะวันตกเด่นชัดจนไม่สามารถจะปกปิดได้อีกต่อไป พวกเขาสนับสนุนประชาธิปไตยอย่างออกนอกหน้าในที่สาธารณะ แต่ในขณะปัจจุบันที่ประชาชนกำลังลุกขึ้นต่อสู้กับทรราชในนามของเสรีภาพและความยุติธรรมแบบทางโลก ที่ไม่ใช่การอ้างอิงแนวคิดทางศาสนา พวกเขากลับหวาดกังวลต่อสิ่งที่เกิดขึ้น คำถามคือ ทำไมถึงต้องหวาดระแวง ทำไมถึงไม่เข้าร่วมต่อสู้เพื่อเสรีภาพในเมื่อโอกาสมาถึงแล้ว? ณ เวลานี้ คำขวัญเก่าของ เหมา เจ๋อตุง มีความสำคัญอย่างยิ่ง นั่นคือ “เมื่อความโกลาหลอันใหญ่หลวงเกิดขึ้นภายใต้สรวงสวรรค์ – นี่ละคือสถานการณ์ที่ดีที่สุดของเรา” ต่อคำถามที่ว่า มูบารัคควรจะไปไหน? ขณะนี้คำตอบแสนจะชัดเจน นั่นคือ ไปกรุงเฮก [ขึ้นศาลโลก – ผู้แปล] หากจะมีผู้นำคนใดควรไปนั่งที่นั่นในเวลานี้ คนนั้นก็คือ มูบารัค
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เวทีพันธมิตรฯ ปรบมือให้ทหารไทยหลังปะทะเขมร "สรรเสริญ" ลั่นไม่กลัวกัมพูชา Posted: 04 Feb 2011 08:34 AM PST ทหารกัมพูชายิงสกัดหลังทหารไทยประชิดวัดแก้วสิกขาคีรีสวายเรียะ ก่อนลุกลามเป็นการปะทะ กัมพูชาแถลงสามารถจับทหารไทยได้ 5 นาย ทำลายรถถัง 2 คัน ขณะที่มีกระสุนปืนใหญ่ตก "บ้านภูมิซรอล" ได้รับความเสียหาย ชาวบ้านเสียชีวิต 1 ราย "สรรเสริญ แก้วกำเนิด" ลั่นทหารไทยตอบโต้สมน้ำสมเนื้อและไม่กลัวกัมพูชา ด้านเวทีพันธมิตรฯ รายงานข่าวปะทะสลับปราศรัยเป็นระยะ "อมรเทพ" เรียกร้องทหารรุกต่อ
ไทย-กัมพูชาปะทะ กระสุนปืนใหญ่ตกบ้านภูมิซรอล ชาวบ้านดับ 1 เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานว่า เมื่อเวลา 15.15 น. วันนี้ (4 ก.พ.) เกิดเหตุทหารไทยยิงปะทะกับทหารกัมพูชา บริเวณบ้านภูซรอล ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ โดยเบื้องต้นทราบว่าขณะทหารไทยยกกำลังประชิดวัดแก้วสิกขาคีรีสวายเรียะ ซึ่งทหารกัมพูชาควบคุมพื้นที่อยู่ ทำให้ทหารกัมพูชาเปิดฉากยิง ทำให้เกิดเกิดการปะทะกันระหว่าง 2 ฝ่าย โดยเบื้องต้นพบศพนายเจริญ ผาหอม อายุ 59 ปี ถูกกระสุนปืนใหญ่ของกัมพูชา เสียชีวิตอยู่ในหมู่บ้านภูมิซรอล โดยนางสดศรี ผาผอม ภรรยานายเจริญ กล่าวว่า เมื่อเวลา 15.00 น. มีเจ้าหน้าที่มาบอกชาวบ้านเตรียมตัวอพยพหรือหาที่หลบ แต่ไม่คาดคิดว่าเหตุการณ์จะรุนแรงขนาดนี้ เวลา 17.00 น.มีกระสุนปืนใหญ่ของฝ่ายทหารกัมพูชายิงเข้ามาตกในพื้นที่หมู่บ้านชุมชนของ ต.เสาธงชัย อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังตกลงบริเวณโรงเรียนบ้านภูซรอล ทำให้อาคารได้รับความเสียหาย และจุดใกล้ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เสาธงชัยด้วย พล.ท.ธวัชชัย สุมทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2 เปิดเผยว่า ทหารเขมรได้เปิดฉายยิงทหารไทยก่อนโดยมีลูกกระสุนปืนใหญ่มาตกในฝั่งไทยกว่า 10 ลูก อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้อพยพชาวบ้านในจุดเกิดเหตุไปอยู่ในที่ปลอดภัยแล้ว หลังมีลูกกระสุนของฝ่ายกัมพูชาตกลงมาในหมู่บ้านโนนเจริญ บ้านภูซรอล บ้านโนนดู่
"สรรเสริญ" ลั่นทหารไทยตอบโต้สมน้ำสมเนื้อและไม่กลัวกัมพูชา ขณะที่ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก แถลงว่า ตรวจสอบทราบว่า เวลา 15.15 น. ได้มีประสุนมาตกใกล้ๆ กับที่วางกำลังของทหารไทยบริเวณภูมะเขือ ทหารจึงยิงตอบโต้กลับไป หลังจากนั้นกองกำลังของกัมพูชาได้ยิงกระสุนนานาชนิดเข้ามา เราจึงยิงตอบโต้กลับไปแบบสมน้ำสมเนื้อ ตลอดระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. อยู่ระหว่างเจรจากับนายทหารระดับสูงของกัมพูชา เพื่อควบคุมการปะทะและให้จบสิ้นโดยเร็ว ขอแจงว่าเราไม่ได้อ่อนด้อยกว่ากัมพูชา ทหารไทยมีความพร้อมและมั่นใจในการดูแลพื้นที่ พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า ทหารไทยที่ถูกจับตัวอยู่ขณะนี้ทราบว่าทหารของเรายังอยู่ในจุดประสานงาน ขณะที่เกิดควันที่วัดแก้วฯ คาดว่ามาจากสะเก็ดระเบิด อย่างไรก็ตามมีทหารไทยบาดเจ็บเล็กน้อย 2 นาย เนื่องจากถูกสะเก็ดระเบิด ทางด้านสุรินทร์ยังไม่มีเหตุการณ์อะไร ผู้บังคับบัญชาพยายามติดต่อกันและเจรจา แต่ยืนยันว่าเราไม่ได้กลัวกัมพูชาแต่อย่างใด นอกจากนี้มีข้อมูลทหารที่ได้รับบาดเจ็บทราบชื่อ ส.อ.ธีรวัฒน์ ศรีวรินทร์ จ.ส.อ.มงคล พลเยี่ยม อาสาสมัครทหารพรานดำรง พรมโอตร จ.ส.ต.นิรัตน์ งามสูงเนิน และ อาสาสมัครทหารพรานสุวรรณ ก่อแก้ว ซึ่งมทั้งหมดได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ด้าน พล.อประยุทธิ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. กล่าวว่า เกิดจากความเข้าใจผิดอะไรบ้างอย่าง โดยมีเสียงปืนดังตามแนวชายแดน ทหารที่ตรึงกำลังอยู่ได้ยิงเตือนกลับไป แต่ไม่ได้มุ่งหมายชีวิตต่อมาทหารทั้ง 2ฝ่ายได้มีการเจรจาและหยุดยิง ส่วนการแก้ไขปัญหาต้องใช้การเจรจาเป็นไปตามขั้นตอนการทะเลาะเบาะแว้งไม่เกิดประโยชน์กับใคร
ผู้อำนวยการโรงเรียนภูมิซรอลเผยโรงเรียน-บ้านเรือนได้รับความเสียหาย ด้านนายบุญรวน พงษาปาน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านภูมิซรอล กล่าวว่า ขณะนี้รั้วด้านหน้าโรงเรียนพังทั้งแถบ และเกิดหลุมขนาดใหญ่ 2 หลุมขึ้น ประชาชนที่อยู่ในหมู่บ้านภูมิซรอลไฟไหม้ถึง 4 หลังคาเรือน ทำให้ชาวบ้านต้องอพยพออกจากพื้นที่อย่างเร่งด่วน และบางส่วนช่วยกันดับไฟหลังลูกปืนใหญ่ตกใส่บ้านและพบชาวบ้านเสียชีวิต 1 รายชื่อ นายเจริญ ผาหอม
กัมพูชาแถลงจับกุมทหารไทยได้ 5 นาย ทำลายรถถังได้ 2 คัน ด้านนายเขียว หันหะริธ โฆษกรัฐบาลกัมพูชา แถลงว่า มีการปะทะกันจริง ส่วนสื่อของกัมพูชาได้รายงานข่าวว่า ขณะนี้ทหารกัมพูชาสามารถจับกุมทหารไทยได้ 5 นาย และสามารถทำลายรถถังของฝั่งไทยอีกอีก 2 คัน
พันธมิตรปรบมือ "อมรเทพ" เรียกร้องทหารรุกต่อ ขณะที่การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งปักหลักติดต่อกันเป็นวันที่ 11 ที่เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ นั้น ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการชุมนุมว่า เมื่อเวลา 22.50 น. นายรัชต์ชยุตม์ ศิรโยธินภักดี หรือชื่อเดิมคืออมรเทพ อมรรัตนานนท์ โฆษกบนเวที ได้กล่าวถึงการปะทะระหว่างทหารไทยกับกัมพูชาว่า ทหารกัมพูชาเสียชีวิต 2 ราย บ้านของชาวบ้านภูมิซรอลพัง 10 หลัง ที่ทำการ อบต.เสาธงชัย ได้รับความเสียหาย มีข่าวในพื้นที่ด้วยว่าชาวบ้านที่สูญเสียหัวขาด โดนปืนใหญ่ เป็นความสูญเสียที่ชาวไทยต้องจดจำ พี่น้องทหารหาญจะหยุดแค่นี้หรือ จะรุกคืบต่อ หรือจะตั้งโต๊ะคุยยืดเยื้อเป็น 10 ปี นอกจากนี้ได้มีการนัดหมายให้ผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ เตรียมปักหลักพักค้างในวันที่ 5 ก.พ. ด้วย โดยช่วงเย็นแกนนำจะมีมติว่าจะปฏิบัติมาตรการใดต่อ ส่วนนายอำนาจ พละมี โฆษกบนเวทีอีกคน ได้บอกผู้ชุมนุมให้ปรบมือให้ทหาร และให้ผู้ชุมนุมส่งเสียงโห่ให้ทหารที่จะตั้งโต๊ะคุยกัน ในเวลา 23.28 น. นายศรันยู วงศ์กระจ่าง ได้ขึ้นแสดงดนตรีบนเวทีการชุมนุมพันธมิตรฯ และได้นำเพลง "แผ่นดินของเรา" ที่นายสันติ ลุนเผ่ นักร้องฝ่ายอนุรักษ์นิยมมาร้อง สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
สืบพยานนัดแรก ‘ผู้ออกแบบเว็บ นปช.ยูเอสเอ’ ผู้ต้องหาคดีหมิ่นฯ Posted: 04 Feb 2011 07:48 AM PST 4 ก.พ.54 ที่ศาลอาญา รัชดา ห้องพิจารณาคดี 904 มีการสืบพยานนัดแรกในคดีหมายเลขดำที่ อ.1986/2553 ที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ยคดีอาญา10 เป็นโจทก์ฟ้อง นายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล อายุ 37 ปี เป็นจำเลยในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ มาตรา 14,15 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 คดีดังกล่าวมีนายอานนท์ นำภา เป็นทนายจำเลย และภายในห้องพิจารณาคดีมีผู้สนใจเข้ารับฟังการสืบพยานจนเต็มห้อง โดยในวันนี้ (4 ก.พ.) เป็นการสืบพยานโจทก์ ได้แก่ พ.ต.ต.พิพัฒน์ เฉวงราษฎร์ เจ้าหน้าที่จากชุดสืบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ส่วนพยานโจทก์ปากที่ 2 ได้แก่ พ.ต.อ.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้กำกับการกลุ่มงานสนับสนุนคดีเทคโนโลยี มีหน้าที่สืบสวนปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับทางเทคโนโลยี ทั้งสองเบิกความถึงขั้นตอนการดำเนินการก่อนจับกุมตัว หลังจากพบเห็นข้อความและภาพที่เข้าข่ายความผิดในเว็บไซต์ นปช ยูเอสเอ ดอทคอม ในวันที่ 13 มี.ค.และ 1 มี.ค. จึงลองสุ่มไปที่ผู้ให้บริการรายหนึ่ง คือบริษัท ทริปเปิ้ลทรี บรอดแบรนด์ ก็พบมีผู้ใช้ซึ่งคาดว่าเป็น admin ที่เข้ามาใช้บริการในการเชื่อมต่อไปยังเว็บไซต์ จากนั้นจึงนำ IP address ที่ปรากฏไปขอข้อมูลจากบริษัทอีกครั้งโดยขอข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ของวันที่ 30-31 มี.ค.53 ซึ่งพบว่า IP address ดังกล่าวเข้าเว็บไซต์ผ่านระบบ File transfer protocol หรือ FTP ทำให้เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็น admin และสอบถามบริษัทจนทราบว่าเจ้าของ IP address นั้นคือนายธันย์ฐวุฒิ จากนั้นจึงไปตรวจสอบยังคอนโดนายธันย์ฐวุฒิ ก่อนขอหมายค้นและหมายจับจากศาลไปจับกุมตัว ซึ่งพบว่านายธันย์ฐวุฒิอยู่กับบุตรชายวัย 10 ปี อีก 1 คน จึงนำตัวไปสอบสวนที่สถานีตำรวจ อย่างไรก็ตาม เมื่อนำคอมพิวเตอร์ของกลางไปตรวจสอบแล้วไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับข้อความหมิ่นดังกล่าว ทั้งนี้ พยานไม่ได้ตรวจสอบการจราจรคอมพิวเตอร์ย้อนหลังไปในวันที่ 13 มี.ค.และ 1 มี.ค.ตามฟ้อง เพราะเชื่อว่า admin ต้องเป็นผู้ดูแลระบบทั้งหมด และไม่ได้ตรวจสอบ IP address ที่ปรากฏข้อความเข้าข่ายความผิดในกระทู้อื่นๆ อีกกว่า 10 กระทู้เช่นกัน นอกจากนี้พยานยอมรับว่าผู้ดูแลระบบ หรือ admin สามารถมีได้หลายคนหากทราบรหัสผ่านหรือ password แต่ไม่ทราบว่าผู้ดูแลระบบของเว็บไซต์ นปช ยูเอสเอ ดอทคอม มีกี่คน และไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของ ทราบเพียงว่า Server อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ศาลอ่านรายงานกระบวนพิจารณา และนัดสืบพยานโจทก์ต่อในวันที่ 9 ก.พ. ในส่วนที่เหลือ โดยฝ่ายจำเลยได้รับข้อเท็จจริงว่า นายธงทอง จันทรางศุ นายไตรรัตน์ สุวรรณวลัยกร และ ดร.ชลธิชา สุดมุข จากราชบัณฑิตยสถาน ให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวนตามคำให้การพยาน โจทก์ไม่ติดใจสืบพยานดังกล่าว รวมทั้งไม่ติดใจสืบพนักงานผู้ตรวจพิสูจน์คอมพิวเตอร์ของกลางด้วย จากนั้นในวันที่ 10 และ 11 ก.พ.จะเป็นการสืบพยานจำเลย ทั้งนี้ นายธันย์ฐวุฒิ หรือนามแฝง “เรดอีเกิ้ล” ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ดูแลเว็บไซต์ www.norporchorusa.com และ www.norporchorusa2.com และถูก พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) พล.ต.ต.เกรียงศักดิ์ อรุณศรีโสภณ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ปอท.) นำกำลังเข้าจับกุม เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ห้องพักในเขตบางกะปิ กทม.พร้อมยึดคอมพิวเตอร์และของกลางหลายรายการ จากนั้นถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เมื่อ “ทีจี” หนึ่งเหินฟ้า อีก “ทีจี” หัวโหม่งโลก Posted: 04 Feb 2011 07:47 AM PST หมายเหตุ: ฉบับภาษาอังกฤษตีพิมพ์ในเดอะเนชั่น, 4 กุมภาพันธ์ 2554 http://www.nationmultimedia.com/2011/02/04/life/The-truth-about-discrimination-30147884.html
ข่าวสายการบินพีซีแอร์เปิดรับสมัครผู้หญิงข้ามเพศเป็นแอร์โฮสเตสกลายเป็นประเด็น โด่งดังไปทั่วโลกเมื่อสัปดาห์ก่อน แม้ว่าคนไทยจำนวนมากจะรู้สึกยินดีที่พวกเธอเหล่านั้นได้รับการยอมรับให้ทำ งานเคียงข้างแอร์โฮสเตสและสจ๊วตอื่นๆ แต่คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ได้คิดเรื่องนี้ให้รอบด้าน เพราะหากว่าคิดให้ครบถ้วนกระบวนความแล้ว น่าจะมีความรู้สึกเหมือนถูกตบหน้ามากกว่า เนื่องจากข่าวนี้ได้ทำลายความเชื่อที่ว่าประเทศไทยเป็นสวรรค์ของผู้มีความ หลากหลายทางเพศลงอย่างสิ้นเชิง ลองคิดดูว่าหาก “ประเทศไทยเปิดกว้างต่อ ‘เพศที่สาม’อย่างเต็มที่” ตามที่เชื่อกัน แล้วทำไมการที่สายการบินหนึ่งไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงข้ามเพศถึงกลายเป็น หัวข้อข่าวใหญ่ได้ ถ้าประเทศไทย “ยอมรับ” ผู้มีความหลากหลายทางเพศจริงๆ แล้ว หน่วยงานราชการและบริษัทเอกชนต่างๆ ก็น่าจะรับพวกเธอเข้าทำงานอยู่แล้วอย่างปกติใช่หรือไม่ ความจริงก็คือ ผู้หญิงข้ามเพศหรือกะเทยนั้น แม้ว่าจะเห็นกันอยู่ทั่วไป แต่กลับถูกสังคมส่วนใหญ่มองว่ามีความบกพร่องทางจิตหรือหนักยิ่งกว่านั้นคือ ถูกหาว่าผิดศีลธรรม คำถามที่ควรถูกถามก็คือ เมื่อประตูโอกาสบานหนึ่งเปิดออก ยังมีอีกกี่บานที่ถูกปิดกระแทกใส่หน้ากะเทยหรือคนรักเพศเดียวกันที่เปิดเผย ตนเอง ธัญญรัศม์ จิราภัทร์ภากร หรือ ฟิล์ม ผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นแอร์โฮสเตสข้ามเพศคนแรกอย่างเป็นตัวของตัวเองเล่า ให้ฟังว่า “ตอนแรกก็คิดว่า เค้าคงรับสมัครไปอย่างนั้น แต่คงไม่เรียกตัวมาทำงานจริงๆ เหมือนหลายๆ ที่ที่เคยไปสมัครมา” ประสบการณ์ของฟิล์มนั้นไม่ได้ผิดแปลกไปจากสิ่งที่ผู้หญิงข้ามเพศจำนวนมาก ประสบ วันนี้ผู้เขียนเองเพิ่งได้ยินเรื่องของเกย์คนหนึ่งถูกกดดันให้ลาออกจากงาน หลังจากเปิดเผยตัวให้เจ้านายได้รู้ เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่เกิดแบบสุ่มสี่สุ่มห้า แต่แสดงให้เห็นถึงอคติที่มีอยู่อย่างเป็นระบบในสังคมไทย ในขณะที่พีซีแอร์ทะยานสู่ความเป็นที่รู้จักในชั่วข้ามคืน สายการบินอื่นๆ กลับให้ความเห็นต่อกรณีนี้อย่างเอาหัวโหม่งโลก บางสายการบินพูดได้อย่างหน้าตาเฉยว่าไม่ได้เลือกปฏิบัติต่อ “สาวประเภทสอง”แต่ไม่มีนโยบายจ้างคนเหล่านั้น (อ้างอิงจากข่าวนี้ในข่าวสด) ผู้พูดเช่นนี้ควรลองพูดประโยคเดียวกันนี้ออกมาดังๆ ต่อหน้าสื่อ โดยแค่เปลี่ยนคำว่า “สาวประเภทสอง” เป็น “ผู้หญิงอายุเกิน 35” หรือ “ผู้มีเชื้อชาติจีน” รับรองว่าศาลปกครองจะหัวกระไดไม่แห้งด้วยคดีฟ้องร้องเลือกปฏิบัติ ที่น่าอดสูใจที่สุด คือ การบินไทย สายการบินแห่งชาติ ที่ “แหล่งข่าวระดับสูง” ให้เหตุผลว่า ผู้หญิงข้ามเพศจะมีปัญหาในการทำงานเมื่อต้องผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองใน บางประเทศ แต่นั่นก็เป็นข้ออ้างโหลยโท่ย เพราะมีประเทศอีกมากมายหลายประเทศที่ไม่มีปัญหากับความหลากหลายทางเพศ ดังนั้น การบินไทยสามารถที่จะให้ผู้หญิงข้ามเพศปฏิบัติหน้าที่ในเส้นทางไปยังประเทศ เหล่านั้นหรือเส้นทางภายในประเทศ ไม่ใช่ปฏิเสธไม่รับอย่างสิ้นเชิงโดยไม่ดูความสามารถเสียก่อน นับเป็นเรื่องขำไม่ออกที่การบินไทยมีรหัสสายการบินว่า TG แต่กลับไม่เป็นมิตรต่อบุคคลข้ามเพศทั้งหลายซึ่งในภาษาอังกฤษเรียกว่า ทรานสเจนเดอร์ หรือตัวย่อ TG เช่นกัน บ่อยครั้งที่เราได้ยิน ว่า มีชายรักชายหรือหญิงรักหญิงทำงานในการบินไทยจำนวนมาก แต่ก็ไม่เคยได้ยินว่าการบินไทยให้สิทธิประโยชน์ต่อพนักงานเหล่านี้และคู่ ชีวิตของพวกเขาอย่างเท่าเทียมกับคู่ชีวิตต่างเพศแต่อย่างใด การที่ “แหล่งข่าวระดับสูง” ของการบินไทยอ้างถึงวัฒนธรรมองค์กรแบบอนุรักษ์นิยมยิ่งน่าสมเพช หากการบินไทยอนุรักษ์ค่านิยมโบราณจริงๆ ก็น่าจะเปลี่ยนไปทำธุรกิจเดินเส้นทางเกวียนจะดีกว่า เพราะธุรกิจการบินนั้นไม่ใช่ธุรกิจอนุรักษ์นิยมมาแต่แรก ตัวอย่างเช่น ผู้เขียนไม่เคยเห็นว่า การบินไทยจะอ้างความเป็นอนุรักษ์นิยมแต่อย่างใด เมื่อต้องบินเหนือวัดวาอารามต่างๆ ทั่วประเทศ พร้อมๆ ไปกับเท้าผู้โดยสาร 300 คู่กับส้วมอีกจำนวนหนึ่ง (ถ้าการบินไทยวางแผนเส้นทางการบินเพื่อหลีกเลี่ยงวัดวาอารามที่มีอยู่ทั้งหมดในประเทศ ก็เป็นเรื่องที่ไม่เคยมีใครได้ยินมาก่อน) ความจริงคือ การบินไทย ก็เหมือนกับสังคมไทยส่วนใหญ่ ที่จะอ้างความเป็นอนุรักษ์นิยมวัฒนธรรมเก่าแก่ เมื่อสอดคล้องกับอคติของตน แต่ก็พร้อมที่จะเลิกอนุรักษ์ได้ทันทีที่สะดวก ประเทศไทยไม่อายที่จะโปรโมตการท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการด้วยการใช้คาบาเรต์ กะเทยพัทยามาโฆษณาหากิน แต่กลับไม่เคยมีหน่วยงานรัฐไปถามความทุกข์ยากเดือดร้อนของคนเหล่านี้ ไม่มีกฎหมายรับรองการแปลงเพศ ไม่มีแม้แต่การสนับสนุนให้ความรู้เรื่องการใช้ยาหรือฮอร์โมนอย่างปลอดภัย ไม่ต้องพูดไปถึงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการแปลงเพศ ซึ่งรัฐบาลในหลายประเทศถือเป็นสวัสดิการรัฐ ถ้าการบินไทยมีความสามารถที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านความปลอดภัยในการบินได้ การบินไทยก็ต้องมีความสามารถในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด ของประเทศได้เช่นกัน เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 30 ห้ามการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมทั้งด้วยเหตุแห่งอายุและเหตุแห่งเพศ ซึ่งคุ้มครองคนทุกวัยและทุกเพศ รวมถึงผู้หญิงข้ามเพศ หญิงรักหญิง ชายรักชาย กะเทย คนข้ามเพศ ทุกคน ควรใคร่ครวญเสียใหม่ก่อนที่จะอุดหนุนบริษัทใดๆ ก็ตามที่เห็นพวกเราไม่ใช่มนุษย์ที่เท่าเทียม แต่เป็นแค่กระเป๋าตังค์ใบหนึ่ง ส่วนในระหว่างนี้ คงเป็นการนับถอยหลัง เพราะไม่ช้าก็เร็วต้องมีผู้หญิงข้ามเพศ หรือแม้แต่ผู้หญิงอายุเกิน 35 ถูกปฏิเสธจากการบินไทยแล้วเอาเรื่องไปฟ้องศาลปกครอง หวังว่าการบินไทยจะมีทนายและประชาสัมพันธ์เก่งๆ ไว้รอแก้ต่างเมื่อถึงเวลานั้น สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ตม.ปลดโซ่คนไข้ชาวพม่าแล้ว ด้าน จนท.แรงงานเตรียมประสานเรื่องต่อใบอนุญาตฯ Posted: 04 Feb 2011 06:59 AM PST มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เผย ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองได้ประสานให้ปลดโซ่คนไข้ชาวพม่าที่ รพ.ตำรวจแล้ว ด้านผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าวฯ ชี้กรณีแรงงานพม่าป่วยและไม่สามารถไปต่อใบอนุญาตแรงงานถือเป็นเหตุสุดวิสัย ยันจะสืบค้นข้อมูลในระบบ และส่งเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือเรื่องต่อใบอนุญาต "ชาลี" แรงงานชาวพม่า ผู้ป่วยหลังประสบอุบัติเหตุระหว่างทำงานก่อสร้างเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 54 ซึ่งเมื่อวันที่ 31 ม.ค. ถูกโรงพยาลแจ้งตำรวจจับ ถูกควบคุมตัวที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และส่งไปรักษาที่ รพ.ตำรวจ โดยถูกโซ่ล่ามไว้นั้น ล่าสุดได้รับการประสานให้ปลดโซ่แล้ว ขณะที่ จนท.กระทรวงแรงงานเตรียมช่วยเหลือเรื่องต่อใบอนุญาตทำงาน ซึ่งหมดอายุช่วงที่กำลังพักรักษาตัว (ที่มาของภาพ: มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา)
จากกรณีที่นายชาลี หรือชาลี ดียู เเรงงานข้ามชาติชาวพม่าซึ่งประสบอุบัติเหตุจากการทำงานจนได้รับบาดเจ็บสาหัสถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลจังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2554 โดยที่นายจ้างและกองทุนเงินทดเเทนก็ไม่ยอมรับผิดชอบค่าใช่จ่ายใด กระทั่งต่อมาเมื่อวันที่ 31 มกราคม โรงพยาบาลได้เเจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับนายชาลี และคุมไว้ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และต่อมานำไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ โดยอยู่ภายในห้องขังและถูกล่ามโซ่ไว้กับเตียงผู้ป่วยตลอดเวลานั้น ทำให้มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาร้องเรียนไปยังผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจเเห่งชาติและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ ให้ดำเนินการปลดโซ่ล่ามนายชาลี โดยล่าสุด (4 ก.พ.) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า พล.ต.ท.วิบูลย์ บางท่าไม้ ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้ยืนยันว่า ได้ประสานงานไปยังผู้กำกับการตำรวจนครบาลปทุมวันเพื่อให้ปลดโซ่ล่ามแรงงานรายนี้แล้ว ทั้งนี้จะนำเรื่องนี้ไปหารือและกำชับการทำงานของเจ้าหน้าที่ ในการพิจารณาความเหมาะสมเป็นรายบุคคล พล.ต.ท.วิบูลย์ ชี้แจงว่า การควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือผู้กระทำผิด รวมทั้งแรงงานต่างด้าวที่มีโอกาสหลบหนี ตามระเบียบโรงพยาบาลตำรวจจะนำไปรักษาในโซนควบคุมตัว ที่จะต้องมีพันธนาการ ซึ่งมีระเบียบว่าต้องมีพันธนาการเพื่อป้องกันการหลบหนี หรือป้องกันการทำร้ายแพทย์พยาบาลที่เข้าไปดูแล นอกจากนี้ทางมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ได้ขอให้มีการต่อใบอนุญาตทำงานของนายชาลี เนื่องจากบัตรของนายชาลีเพิ่งหมดอายุเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 54 ช่วงที่นายชาลีกำลังพักรักษาตัว โดยนายอนุรักษ์ ทศรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าวโครงการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า แม้ว่าในขั้นตอนการขอต่อใบอนุญาตทำงานจะไม่มีระเบียบข้อบังคับการยกเว้นและผ่อนผันที่ชัดเจน กรณีมีเหตุสุดวิสัย กรณีการเจ็บป่วย แต่ว่าขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งแรงงานชาวพม่ารายนี้ถือเป็นเหตุสุดวิสัย ไม่มีเจตนาไม่ต่อใบอนุญาต แต่อยู่ระหว่างเข้ารับการรักษาอาการเจ็บป่วย หลังจากนี้จะสืบค้นข้อมูลในระบบ เพราะเอกสารเดิมหาย และส่งเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือเรื่องการต่อใบอนุญาตภายในสัปดาห์หน้าโดยสำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว ได้ขยายเวลาการต่อใบอนุญาตแรงงานต่างด้าวออกไปจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ จากเดิมที่ครบกำหนดเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา เนื่องจากต้องการให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาอยู่ในระบบให้ถูกต้องมากที่สุด เพื่อควบคุมดูแลได้ง่ายหากเกิดปัญหา สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
สืบพยานคดี พ.ร.บ.คอมฯ ผอ.ประชาไท นัดแรก Posted: 04 Feb 2011 05:41 AM PST จีรนุช เปรมชัยพร ผอ.ประชาไท ขึ้นศาลในการสืบพยาน ปากแรกไม่จบ นัดสืบต่ออังคารหน้า ศาลสั่งย้ายห้องพิจารณาเนื่องจากผู้สังเกตการณ์ไทย-เทศเข้าฟังกว่า 40 คน เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 701 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์สืบพยานโจทก์ปากแรก ในคดีอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการและผู้ดูแลเว็บบอร์ดประชาไท เป็นจำเลยในความผิดตามมาตรา 15 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 เพราะไม่ได้ลบข้อความในเว็บบอร์ดที่เข้าข่ายขัดต่อกฎหมายดังกล่าว โดยทีมทนายจำเลยประกอบด้วยนายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ นายรัษฎา มนูรัษฎา และนายธีรพันธ์ พันธ์คีรี นายอารีย์ จิวรรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักกำกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) พยานโจทก์ปากแรก เบิกความถึงกรณีพบข้อความเข้าข่าย ดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 จำนวน 10 กระทู้ทั้งจากการแจ้งโดยประชาชน ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และหน่วยข่าวกรอง รวมถึงตรวจพบด้วยตนเอง และขั้นตอนในการดำเนินการปิดกั้นหน้าเว็บนั้นๆ ผ่านการขอความร่วมมือจากไอเอสพี ผู้ดูแลเว็บ จากนั้นจึงรวบรวมข้อมูลเพื่อขออำนาจศาล และทำหนังสือถึงผู้บังคับบัญชาการตำรวจแห่งชาติเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดต่อไป ช่วงบ่าย นายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ทนายจำเลยซักค้านถึงเกณฑ์การพิจารณาข้อความที่เข้าข่ายความผิดหมิ่นสถาบันฯ กระบวนการในการพิจารณา และการดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่โพสต์ข้อความเข้าข่ายหมิ่นสถาบันฯ ต่อมา เวลาประมาณ 16.00น. ศาลเห็นว่า ยังมีคำถามซักค้านอีกมาก จึงมีคำสั่งเลื่อนการสืบพยานโจทก์ไปเป็นวันที่ 8 ก.พ. เวลา 9.00-16.30 น. สำหรับบรรยากาศในการเข้าฟังการสืบพยาน มีเจ้าหน้าที่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงสถานทูตต่างประเทศส่งผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์พร้อมด้วยผู้แปลภาษากว่า 40 ราย ผู้พิพากษาจึงให้ย้ายห้องพิจารณาคดีจากห้อง 703 ไปที่ห้อง 701 ซึ่งเป็นห้องขนาดใหญ่กว่าแทน อย่างไรก็ตามผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์มีปัญหาในการรับฟังการสืบพยานช่วงเช้า เนื่องจากไมโครโฟนเสียงเบา ทำให้ผู้ร่วมสังเกตการณ์ไม่ค่อยได้ยินเสียงการพิจารณาคดี จนกระทั่งช่วงบ่าย เมื่อทนายแจ้งแก่เจ้าหน้าที่จึงแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ทั้งนี้ผู้สังเกตการณ์และผู้แปลภาษาส่วนใหญ่ยืนยันว่าจะมาฟังการพิจารณาคดีนัดต่อๆ ไปด้วย
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ใบตองแห้งออนไลน์ : คุกสมความคิด Posted: 04 Feb 2011 03:21 AM PST เปล่า ไม่ได้เยาะเย้ยวีระ สมความคิด โห ใครจะบังอาจเยาะเย้ยวีรชนของชาติ ผู้ยอมพลีอิสรภาพเพื่อทวงคืนผืนแผ่นดินไทย จนมีคนยกชั้นเล่าขานเปรียบเทียบตำนานพระยอดเมืองขวาง เอ้า พูดจริงๆ ถึงจะมีความเห็นต่างอย่างไร ชอบหน้าหรือไม่ชอบหน้า ถ้าเรายังมีใจเป็นธรรม ก็ต้องเห็นว่าวีระ ไม่ได้รับความยุติธรรมจากตุลาการภิวัตน์กัมพูชา แค่เดินเข้าไปในเขตที่เขมรยึดครอง (ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาปักปันว่าเป็นเขตแดนของใครแน่) แค่เนียะ ทำไมโดนข้อหาจารกรรมติดคุกตั้ง 8 ปี ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องเรียกร้องให้รัฐบาลไทยต่อสู้ ประท้วง เจรจา ต่อรอง หรือทำอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อเอาตัววีระกับราตรีกลับมาให้ได้ นี่ไม่ใช่เรื่องชาตินิยมนะครับ แต่เป็นเรื่องความยุติธรรม เป็นเรื่องชีวิตและสิทธิเสรีภาพของบุคคล ไม่ว่าใครจะมองเป็นวีรชนหรือเป็นตัวอะไรก็ตาม เขาควรได้รับความยุติธรรม ส่วนไอ้เรื่องเส้นแบ่งเขตแดน หรือ MOU ปี 43 เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ปชป.กับ พธม.ไปเถียงกันเอง ขี้เกียจฟัง แต่ที่บอกว่า “สมความคิด” เพราะคำตัดสินของตุลาการภิวัตน์เขมร ได้ผูกปมยุ่งเหยิงให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ จน “สมความคิด” ของคนอย่างน้อย 2 ส่วน หนึ่งก็คือ พวกพ้องของวีระที่มาเย้วๆ อยู่สะพานมัฆวาน ซึ่งได้ “ยกระดับการต่อสู้” ตามที่ตั้งเป้าไว้ สองก็คือ ฮุนเซ็นที่นั่งดูหัวร่อชอบใจ เตรียมเอาอิสรภาพของวีระเป็นเครื่องมือต่อรองอะไรซักอย่าง ถ้าเป็นรัฐบาลอื่น เราคงกระอักกระอ่วนที่จะบอกว่า เฮ้ย เมริงต้องเอาตัววีระกะราตรีกลับมาให้ได้ เพราะการกดดันรัฐบาลก็เท่ากับไปเข้าทางพวก “สมความคิด” ที่มี hidden agenda แต่ในเมื่อรัฐบาลนี้ติดหนี้บุญคุณพันธมิตรฯ ติดหนี้บุญคุณวีระ ที่ช่วยไล่รัฐบาลสมัคร-สมชาย จนตัวเองได้เสวยอำนาจ มันจึงเป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องสางปมหาทางออกให้ได้ ถ้าไม่สามารถเอาตัววีระ-ราตรี กลับมาได้ เมริงก็สมควรถูกหอกข้างแคร่คืนสนอง สิ่งที่เราเห็นในหน้าหนังสือพิมพ์ 2-3 วันนี้จึงเป็นการช่วงชิงพื้นที่ข่าว ไล่บี้กันระหว่างรัฐบาลกับพันธมิตร ในเรื่องความรับผิดชอบต่อวีระ สมความคิด ซึ่งฝ่ายรัฐบาลพยายามเด้งเชือกไม่ยอมเข้ามุม เช่น อภิสิทธิ์ดักคอว่าอย่าเอามาเป็นเงื่อนไขทางการเมือง เทพเทือกย้อนว่า พันธมิตรโกรธใครกันแน่ระหว่างรัฐบาลไทยกับเขมร อันที่จริงทั้งคู่ก็พูดถูก ถ้าดูจากพฤติกรรมพันธมิตร แต่ความเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกันมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่สมัยยึดทำเนียบยึดสนามบิน จนมาส่ง ส.ส.เดินไปให้เขมรจับร่วมกับวีระ จะปัดสวะพ้นตัวง่ายๆ ได้อย่างไร ถ้าช่วยวีระกลับมาไม่ได้ ก็หนีความรับผิดชอบไปไม่พ้นแน่นอน มาร์คอ้างไม่ได้หรอกว่า พนิช วิกิตเศรษฐ์ ไม่ได้ร่วมหัวจมท้ายกับวีระ คนระดับนักเรียนนอก เดินทางไปพื้นที่สุ่มเสี่ยงโดยมีผู้ร่วมคณะชื่อ “ตายแน่ มุ่งมาจน” มันควรจะมีอีคิว มีความเฉลียว มีลางสังหรณ์มั่งว่าจะเกิดอะไรขึ้น เป็นเราๆ ท่านๆ แค่ฉิ่งฉับทัวร์ไปทอดกฐิน ถ้าเจอคนชื่ออย่างนี้ ก็คงไล่ลง (ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ อิอิ) เช่นกัน มาร์คจะทำอย่างไรถ้าพันธมิตรปีนรั้วบุกทำเนียบ ประกาศภาวะฉุกเฉินหรือ ก็ตอนนั้นผู้นำฝ่ายค้านเคยอภิปรายในสภาคัดค้านรัฐบาลสมัครประกาศภาวะฉุกเฉินปราบม็อบเสื้อเหลืองยึดทำเนียบมาแล้ว นี่คือเรื่องสนุกในการยืนดูพวกไร้หลักการเผชิญหน้ากับพวกไร้หลักการ ขณะเดียวกัน ถ้ามองในด้านพันธมิตร ก็พบว่ามี agenda อย่างไม่สามารถ hidden จนเป็นที่แจ่มแจ้งแดงแจ๋ ถ้าไม่เกรงใจวีระ ตอนรู้ข่าวว่าคุก 8 ปี คงมีบางคนอยากจุดประทัดฉลองตรุษจีน เพราะมันทำให้พันธมิตรมีเงื่อนไขยึดสะพานมัฆวานต่อไปอีกอย่างน้อย 30 วันตามระยะเวลาที่วีระต้องยื่นอุทธรณ์ เพียงแต่ พธม.วันนี้ไม่เหมือนวันนั้น คือยิ่งอยู่นานยิ่งร่อยหรอทั้งกำลังพล เสบียงกรัง หมดท่อน้ำเลี้ยง จึงยื่นข้อเสนอที่ไม่อาจปฏิบัติได้อีกตามเคย คือขีดเส้นให้ช่วยวีระใน 3 วัน ครบ 3 วันแล้วไง จะมีน้ำยามาทำอะไรขวัญใจจริตนิยม ผมยังมองไม่เห็น เห็นแต่มีข่าวลือเรื่องรัฐประหาร ซึ่งน่าจะมีคนคิดจริงคิดจัง แต่ไม่น่าเชื่อว่าเป็นไปได้ พูดเรื่องรัฐประหาร ผมสอบถามดูแล้ว พวกที่เชื่อเป็นตุเป็นตะเขาอ้างว่า อำมาตย์ใหญ่วิตกกังวลความเติบใหญ่เข้มแข็งของขบวนการเสื้อแดง ที่กำลัง “ตาสว่างทั้งแผ่นดิน” โดยเชื่อว่าไม่จบแน่ และไม่พอใจว่าอภิสิทธิ์ทำงานมา 2 ปีไม่ได้ผล ต้องทำรัฐประหารกวาดล้างปราบปรามกันขนานใหญ่ นอกจากนี้ อำมาตย์ยังกลัวว่าพรรคประชาธิปัตย์จะแพ้พรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง ถ้าพรรคเพื่อไทยได้อันดับ 1 แต่ไม่ถึงครึ่ง แล้ว ปชป.ไปจับมือกับพรรคร่วมตั้งรัฐบาล ก็จะเป็นเหตุให้เสื้อแดงเคลื่อนไหวกล่าวหาว่ามีการตั้งรัฐบาลในค่ายทหารอีก แกนนำ ปชป.ต้องวิ่งเข้าหากันขาขวิด ให้ความมั่นใจว่าถ้าแก้รัฐธรรมนูญสูตร 375-125 ผ่าน ปชป.จะได้มาร่วม 240 คน ฟังดูมันก็น่าเชื่อนะครับ เมื่อผสานกับข่าวลือที่ว่า พลเอกเปรมไปเพชรบูรณ์กับหน้าแหลมฟันดำ ซึ่งสามารถเอามาโยงกันเป็นคู่ๆ เปรม-จำลอง ประสงค์-ประพันธ์ คูณมี สองคนหลังนั่งบัญชาการอยู่ในม็อบ โดยแกนนำพันธมิตรหน้าเดิมๆ อย่างพี่พิภพ น้องยะใส อ.สมเกียรติ สมศักดิ์ แทบไม่มีบทบาท แม้แต่สนธิก็ยังมาพูดๆ แล้วกลับ อาจจะมีแค่ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ที่ดูเสมือนเป็นตัวเชื่อมระหว่างสนธิกับม็อบ นอกกระนั้นคนที่มีบทบาทก็เช่น พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ พลเรือเอกบรรณวิทย์ เก่งเรียน (ซึ่งไปอยู่ที่ม็อบเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ สาเหตุที่ไม่มาม็อบพันธมิตร ต้องไปค้นคำพูดของสนธิ ลิ้ม ย้อนหลัง ว่าเขาด่ากันไว้อย่างไรบ้าง) ซึ่งพัวพันกับบ้านสี่เสาทั้งสิ้น แต่เอาเข้าจริง ข่าวนี้จริงหรือเปล่า ไม่ใช่แค่หน้าแหลมฟันดำออกมาปฏิเสธ ข่าวสายทหารก็ยืนยันว่าไม่จริง วันนั้นพลเอกเปรมไปคนเดียว กับบรรดานายทหารเช่น ผบ.สส. เสธ.ทหาร (ไม่ใช่เสธ.ทบ.ด้วย) แต่ไม่รู้ว่าใครเอาข่าวมาปล่อยกับจตุพร พรหมพันธุ์ คำถามคือทหารที่ไหนจะทำรัฐประหาร ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เอาด้วย ปัจุจบันทหารมีอำนาจบารมีชี้นกเป็นไม้ ชี้ไม้เป็นนก จะตั้งกองพล ม.3 พล ร.7 ตั้งงบผูกพัน 10 ปี 1 ล้านล้าน จะซื้อรถถังยูเครน จะซื้ออาวุธอะไรไม่มีใครวิพากษ์วิจารณ์ ไม่มีใครกล้าหือ ท้องอิ่มพุงกางโดยยังสามารถวางฟอร์มสุภาพบุรุษในเฟซบุค ไม่ต้องออกหน้ามาให้ชาวบ้านด่าเหมือนนักการเมือง นี่คือสถานภาพที่ทหารมีความสุขที่สุดแล้ว ทำไมจะต้องขับรถถังออกมาหาเหาใส่หัว เอาตัวเป็นหนังหน้าไฟ ทำรัฐประหารให้สมความคิดพวกพันธมิตร ซึ่งเผลอๆ ตอนนี้ทหารอาจจะเกลียดพันธมิตรไม่น้อยกว่าเสื้อแดง เพราะจิกหัวด่าทหารทุกวัน แต่พวกเชื่อข่าวรัฐประหารเขาก็เถียงว่า ถึงเวลามี “ใบสั่ง” ประยุทธ์ก็ต้องทำ “ไอ้ตู่” ของ พธม.อีกนั่นแหละ อ้างว่าคนที่จะทำคือ พลเอก ด.ซึ่งคงหมายถึง พล.อ.ดาวพงษ์ รัตนสุวรรณ เสนาธิการทหารบก พวกเชื่อข่าวรัฐประหารเขาอ้างว่า อำมาตย์ต่อสายตรงถึงดาวพงษ์ ให้วางแผนเตรียมการ ดาวพงษ์ขึ้นเป็น เสธ.ทบ.เพราะเป็นเพื่อนประยุทธ์ มีผลงานปราบม็อบเสื้อแดง ทั้งเป็นคนกว้างขวาง คบหาได้ทุกฝ่าย แม้แต่ทหารแตงโม ว่ากันว่าประยุทธ์ให้สัญญาเพื่อน ปีสุดท้ายจะขยับขยายไปเป็น ผบ.สส.เปิดช่องให้เพื่อนที่เกษียณพร้อมกันได้เป็น ผบ.ทบ.แม้คนวงในยังไม่มั่นใจว่า ถึงตอนนั้นดาวพงษ์จะโดนดาวรุ่งรายใหม่ๆ เบียดจนเป็นดาวร่วงหรือเปล่า แต่ก็เป็นไปได้ยากที่ดาวพงษ์จะทำรัฐประหารโดยพลการเพราะกำลังหลักอยู่ในมือ “บูรพาพยัคฆ์” ต้องทำความเข้าใจกันด้วยนะครับว่าฉายา “บูรพาพยัคฆ์” กับ “วงศ์เทวัญ” ซึ่งหมายถึงทหารกรุงเทพฯ มันมีที่มาที่ไป “วงศ์เทวัญ” หมายถึงพวกลูกท่านหลานนาย จบ จปร.ออกมาแล้วก็รับราชการอยู่ในกรุงเทพฯสะดวกสบาย เที่ยวเตร่กินเหล้าจีบสาวตามผับทุกคืน (ลูกบิ๊กบางรายเขาเล่าว่า สมัยจีบเมียที่ทำงานการบินไทย ยังเคยเอา ฮ.ไปขับโชว์ข้างตึกการบินไทย) ส่วน “บูรพาพยัคฆ์” คือพวกหน้าเหี้ยมอยู่ชายแดน ออกลาดตระเวณทุกวัน ฉะนั้นเวลาวัดกำลังหรือวัดใจกัน พวก “วงศ์เทวัญ” เนี่ยสู้ “บูรพาพยัคฆ์” หรือพวกทหารพล 9 พลร่มป่าหวายไม่ได้หรอก ฉายาก็บอกชัดเจนแล้ว ใครที่หวังให้ทหาร “วงศ์เทวัญ” โค่น “บูรพาพยัคฆ์” คงต้องช่วยปลุกพระกันหนักหน่อย คำถามข้อใหญ่ก็คือ ทำไมพวกอำมาตย์มันฉลาดนักวะ รัฐประหาร 49 ทำให้เกิดเสื้อแดงเป็นล้านๆ ยังคิดจะทำรัฐประหารอีก อยากให้เสื้อแดงท่วมบ้านท่วมเมืองหรือไง โลกยุคนี้ใครมันจะยึดอำนาจเผด็จการจัดระเบียบประเทศอยู่ได้อย่างที่ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ พูด (เพื่อนร่วมรุ่น พล.อ.สุรยุทธ์ อดีตกบฎ 26 มีนา 2520 ร่วมกับเสธ.หนั่น ลูกน้องพล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ที่รัฐประหารแพ้โดนยิงเป้า) ยิ่งกว่านั้น ถ้าดูกระแสของพันธมิตรวันนี้ จะเห็นว่ามีแต่ถูกคนกรุงคนชั้นกลางด่า ไม่ต่างจากม็อบเสื้อแดง ที่ถูกด่าว่ามันจะม็อบไปทำไมทำให้ผู้คนเขาเดือดร้อน หยุดทำให้บ้านเมืองวุ่นวายได้แล้ว จะได้อยู่สงบๆ กันเสียที เรื่องอ้างชาตินิยมก็เปล่าประโยชน์ เสียดินแดนหรือ แค่ 4.6 ตารางกิโลเมตรคนชั้นกลางไม่ได้แยแสหรอก (เกี่ยวไรกับกรู กรูกำลังผ่อนบ้านหรู 100 ตารางวา) แต่ตอนนั้นที่ตามแห่กันไปเรื่องปราสาทพระวิหารก็เพราะเกลียดสมัคร เกลียดทักษิณ ตอนนี้คอยดูสิ พอแม่ทัพภาค 2 เสนอให้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกร่วมกัน คนกรุงคนชั้นกลางก็จะแซ่ซ้อง ส่งเสริมการท่องเที่ยว เงินทองไหลมา 4.6 ตารางกิโลเมตรจะเป็นของใครก็ช่าง ขอให้เป็นสนามการค้า บนพื้นฐานของกระแสเช่นนี้หรือที่จะทำรัฐประหาร ถ้าทหารจะทำก็ต้องกวาดจับหมดทั้งแกนนำเสื้อเหลืองเสื้อแดง จับสนธิ จำลอง ประพันธ์ ไม่เว้นกระทั่งพิภพ ยะใส ใส่คุกรวมกับจตุพร ปิด ASTV ปิดเว็บไซต์ ปิดวิทยุชุมชน ฯลฯ แล้วประกาศว่าอีกปีค่อยเลือกตั้งใหม่ อย่างนั้นถึงจะสะใจคนชั้นกลาง ว่าจะได้สงบสุขเสียที แต่ต่อไปก็โวย เพราะมันจะกระทบการค้าการลงทุน ดัชนีตลาดหุ้น ราคาทองคำที่เก็งกำไรกันอยู่ทุกอย่าง อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุดผมก็ต้องจนปัญญาเมื่อเถียงกับพวกเชื่อรัฐประหาร เพราะเขาบอกว่าผมคิดแบบมีหลักการ แต่พวกที่ทำรัฐประหารมันคิดเหมือนเราที่ไหน ย้อนไปดูปี 49 ใครจะเชื่อว่ามันกล้าทำ ทั้งที่ใกล้เลือกตั้งอยู่แล้ว เออ ถ้าพูดแบบนี้ผมก็เถียงไม่ออกเหมือนกัน ก็มีอย่างเดียวว่าขออวยพรให้รีบๆ ทำ กรูละเบื่อเต็มทีแล้ว จะได้แตกหักรู้แดงรู้น้ำเงินกันไปซะเลย ถ้ารัฐประหารจริงก็ไม่มีปัญหาหรอกครับ แต่ถ้าไม่มีรัฐประหารนี่สิ มีปัญหา ว่าลุงจำลองจะหาทางกลับบ้านไปอาบน้ำ 5 ขันได้ไง พันธมิตรจะมีชีวิตทางการเมืองต่อไปอย่างไร ในเมื่อด่าเขาไปทั่ว ทำลายแนวร่วมซะหมด (วันก่อน น้องนุ่งที่ไทยโพสต์เล่าให้ฟังว่า คนอ่านโทรมาด่าลูกชายสนธิ ลิ้ม สายแทบไหม้) ผมฟังสนธิด่า “ผู้ดี” แล้วโคตรสะใจ ขออนุญาต quote “ผมมีความรู้สึกอบอุ่นกับพ่อแม่พี่น้อง เพราะว่าพวกเรามันชนชั้นเดียวกัน พวกเรามันคนหาเช้ากินค่ำ พวกเรามันเป็นคนที่ยินด้วยลำแข้งตัวเอง พวกเราไม่มีเส้น ไม่มีวงศ์สกุลเก่าๆ ไม่ได้จบอีต้ม ไม่ได้จบออกซ์ฟอร์ด ไม่ได้จบบ้าบอคอแตก ไม่ได้เป็นลูกเจ้าพระยา ผมถึงบอกว่าวันนี้เป็นวันที่ผมกลับบ้านของผมจริงๆ เพราะว่าผมกลับมาหาพี่น้องที่แท้จริงครับ ผมเคยทบทวนตัวเองพี่น้อง ว่าทำไมเวลาเราสู้กับทักษิณนั้น มีคนเข้ามาร่วมเราเยอะแยะไปหมด พอเหตุการณ์ผ่านมาเรื่อยๆ ผมคิดอย่างนี้ของผมมานานแล้ว แต่ผมไม่พูด ไหนๆ ก็วันนี้แล้ว ถึงขั้นที่เรียกว่าเราไม่ต้องเผาผีกันแล้ว จะเล่าความในใจให้ฟัง ที่ต้องพูดเช่นนี้เพราะว่า ทักษิณนั้น เป็นอันตรายต่อสถานภาพของชนชั้นบางชนชั้นในสังคมไทย ด้วยเหตุนี้เขากลัวว่า ถ้าทักษิณใหญ่ขึ้นมาครองประเทศ ชนชั้นอภิสิทธิ์ต่างๆ ที่มีอภิสิทธิ์ ที่มีสกุลใหญ่ๆ ที่มีหม่อมหลวง หม่อมราชวงศ์ที่มีร่วมชุมนุมกับเรา จะโดนทักษิณทำลายไป แต่ความที่เป็นผู้ดีตีนแดงตะแคงตีนเดิน ก็ไม่กล้าลุกขึ้นมาสู้ทักษิณ พอมาเจอลูกเจ๊กบ้าคนหนึ่งขึ้นมา ขอโหนหน่อยๆ เข้าใจหรือยังพี่น้อง พี่น้องเริ่มเห็นภาพหรือยัง พอมีไอ้คนจบมาจากอีต้ม มาเป็นตัวแทน กระดูกกระเดี๊ยวอ่อนละทวยไปหมด โอ๊ย..เทพบุตรของฉัน เทพบุตรของฉัน เทพบุตรของฉัน ทำอะไรก็ไม่ผิด ทำอะไรก็ไม่ผิด ตดก็หอม ขี้ก็หอม” คือฟังแล้วขำนะครับ โดนพวกผู้ดีทิ้งขว้างเป็นนั่งร้าน โอดครวญน่าสงสาร แต่ตอน “ไพร่” ออกมาก็ด่าเขา น่าสังเกตว่า “รังสีอำมหิต” ระหว่าง ปชป.กับพธม.เริ่มร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่อุ้มไชยวัฒน์-สมบูรณ์ ออกมาจากร้านสุกี้ แล้วก็มาจับการุณ ใสงาม ทั้งที่เพิ่งลงเครื่องกลับจากไปช่วยวีระ สมความคิด (เสียดายสารวัตรจ๊าบ นี่ถ้าน้องเขยยังอยู่ คงเปลี่ยนเป้ารถระเบิด) ถึงแม้ปากหล่อๆ ของมาร์คยังจริตว่าพันธมิตรทำเพื่อผลประโยชน์ชาติ แต่ท่าทีทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า ปชป.ไม่ยอมให้หือ ซึ่งถ้ามองย้อนไปตั้งแต่แรก ตอนที่วีระโดนทหารเขมรจับ แล้วรัฐบาลรีบบอกว่าโดนจับในเขตเขมร ก็น่าจะเป็นเรื่องของไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ รัฐบาลรู้อยู่แล้วว่าพันธมิตรมี hidden agenda อย่างไร สถานการณ์จากนี้ไปมองเห็นได้ชัดเจนว่า ถ้าไม่มีรัฐประหาร พันธมิตรก็มีแต่ย่อยกับยับ กลับบ้านไม่ถูก และมีแต่ถูก ปชป.บดขยี้ให้ไม่เหลือซาก แต่ขณะเดียวกัน พันธมิตรก็มี “พลังแฝง” อยู่ไม่น้อย ที่จะใช้ตอบโต้ ซึ่งหลายเรื่องก็เป็นสิ่งดี อย่างเช่นที่ขู่จะแฉเรื่องการนำเข้าน้ำมันปาล์ม หรือที่คณะกรรมาธิการสอบทุจริต วุฒิสภา โดยรสนา โตสิตระกูล, คำนูณ สิทธิสมาน, ไพบูลย์ นิติตะวัน ออกมาระบุว่า รัฐบาลปัจจุบันกับอดีตโกงไม่ต่างกัน (สร้างเงื่อนไขดีมากเลยนะเนี่ย) ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องน่าสนุก ที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะได้พันธมิตรเป็น “แนวร่วมด้านกลับ” คือไม่มีทางร่วมกันได้แต่ช่วยทำลายพวก “ผู้ดีตีนแดง” กระหนาบข้างประชาชนชาวไพร่ ในสถานการณ์วันนี้ ฝ่ายประชาธิปไตยไม่มีอะไรจะต้องกลัวรัฐประหาร ถ้าใครทำจริง ก็มีแต่พังกับพัง เพราะคนกรุงคนชั้นกลางไม่เอาด้วย ไม่เหมือนปี 49 ถ้ามีคนที่จะทำรัฐประหาร ก็ทำได้ในเงื่อนไขเดียว คือประกาศว่าเป็นกลางจริง ต้องการล้างความอยุติธรรมและความไม่เป็นประชาธิปไตยทั้งหมดที่เป็นผลสืบเนื่องจากรัฐประหารปี 49 นิรโทษกรรม หรือล้างมลทิน เสมือนกลับไปตั้งต้นใหม่ เสนอแนวทางปฏิรูปอำนาจต่างๆ ให้มีสมดุลแห่งอำนาจ แล้วใช้เวลาเลือกตั้งเร็วที่สุดใน 3-6 เดือน แต่นั่นเพ้อฝันครับ ไม่มีใครทำอย่างนั้นได้หรอก ไม่มีใครเป็นกลางได้จริง ไม่มีใครเป็นเทพเจ้าที่จะคิดอะไรทำอะไรได้สมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะคนที่กุมกำลังอาวุธ ประชาธิปไตยไม่สามารถงอกจากการรัฐประหาร ประชาธิปไตยมีแต่ต้องเติบโตจากการตื่นตัวต่อสู้ของประชาชน การเคลื่อนไหวของเสื้อแดงที่จะมีขึ้นในวันที่ 13 ก.พ.จึงไม่ควรที่จะต้องสนใจเงื่อนไขว่า จะเกิดรัฐประหารหรือไม่ ไม่ควรเคลื่อนไหวเพราะอยากให้เกิดรัฐประหาร (จะได้แตกหักเร็วๆดี) หรือกลัวรัฐประหารจนไม่เคลื่อนไหว คือถ้าจะเคลื่อนไหวก็ควรเป็นเรื่องที่มีเหตุผล มีประโยชน์ รู้ประมาณ เป็นตัวของตัวเอง อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด ที่ต้องพูดส่งท้ายก็เพราะกลัวพวกอยากเร่งไฟให้เกิดรัฐประหาร จะไปสร้างเงื่อนไข เหมือนช่วงพฤษภา 53 ที่หลายคนอยากยั่วยุให้มันเกิดเสียเร็วๆ แต่พอมันไม่เกิด ไม่มีรัฐประหาร แล้วเป็นไง ก็เสียหายเอง คอยดูพันธมิตรเดินซ้ำรอยเป็นแมงเม่าหลังทำเนียบดีกว่าครับ ถ้าอยากช่วยก็เอาบันไดไปบริจาค แล้วถอยมาหาที่เหมาะๆ นั่งดู (เอ้า ลุย ปตท.เลย รสนา-ฮา) ใบตองแห้ง
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
พันธมิตรฯ เตรียมแถลงท่าทีห้าโมงเย็น "สนธิ" ลั่นอภิสิทธิ์กลัว พธม. มากกว่าเสื้อแดง Posted: 04 Feb 2011 01:14 AM PST เพราะคนที่มาร่วมกับ พธม. เป็นคนที่มีปัญญา เอาความจริงมาเปิดเผย เสื้อแดงมีแต่โกหก มาชุมนุมมีแต่จะทำให้อภิสิทธิ์ได้คะแนนเพิ่ม ลั่นพร้อมอ้าแขนต้อนรับแม่ยก ปชป. ถ้ากลับใจมาร่วม พธม. แนะปิดชายแดนและเคลื่อนกำลังพลประชิดชายแดนเพื่อตอบโต้กรณี 7 คนไทยถูกจับ ถ้าไม่ปล่อยใน 24 ชม. ให้มีเรื่องทันที เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 21.45 น. วานนี้ (3 ก.พ.) นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ขึ้นปราศรัยที่เวทีสะพานมัฆวานรังสรรค์ กล่าวว่า เป็นนักหนังสือพิมพ์มา 40 กว่าปี จนอายุ 63 ปีแล้ว ได้ผ่านมาหลายรัฐบาล ยังไม่เห็นรัฐบาลไหนที่โหดเหี้ยมอำมหิตเท่ารัฐบาลนี้ เพราะไม่มองคนไทยเป็นคนด้วยกัน มองแค่เป็นฐานเสียงที่เขาจะหลอกลวงเท่านั้น มีคนถามตนว่าทำไมนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลัวการชุมนุมของพันธมิตรฯ มากกว่าเสื้อแดง ตนก็ตอบว่า เพราะถ้าเสื้อแดงชุมนุมเพิ่ม 1 วัน นายอภิสิทธิ์ได้คะแนนเพิ่ม 1 วัน แต่ถ้าพันธมิตรฯ ชุมนุมเพิ่ม 1 วัน นายอภิสิทธิ์เสียคะแนนเพิ่ม 1 วัน นั่นเพราะคนที่มาร่วมกับพันธมิตรฯ มีแต่คนที่มีปัญญา และเราเอาแต่ความจริงมาเปิดเผย ส่วนพวกเสื้อแดงมีแต่โกหก ถ้ามาชุมนุมก็มีแต่ทำให้นายอภิสิทธิ์ได้คะแนนเพิ่ม เพราะฉะนั้นนายอภิสิทธิ์จึงลากเสื้อแดงให้ชุมนุมที่ราชประสงค์นานๆ และต้องการสร้างภาพว่าเป็นคนรักสันติ ประนีประนอม จึงเชิญพวกคางคกทั้งหลายไปนั่งคุยกันออกทีวี แต่ถ้าแน่จริงควรจะเชิญนายประพันธ์ คูณมี นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ หรือใครก็ได้ในพันธมิตรฯ ไปคุยออกทีวี แต่นายอภิสิทธิ์จะคุยแต่กับพวกคางคก เพราะเอาชนะได้ไม่ยาก ขณะที่พวกเราที่มาชุมนุมเอาปัญญามา เอาข้อมูลมาจับโกหกนายอภิสิทธิ์ ยิ่งเวลาผ่านไป หลายๆ คนที่เคยเป็นแม่ยกนายอภิสิทธิ์กลับมาฟังเรา ซึ่งเราพร้อมต้อนรับ ถ้ากลับตัวกลับใจมาเห็นแก่ชาติบ้านเมือง นายสนธิกล่าวต่อว่า รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ยังอำมหิตเรื่องการคอร์รัปชัน การทำมาหากินจากการขึ้นราคาน้ำมันปาล์ม ซึ่งทำให้นักการเมืองที่ลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มเข้ามาขายได้ผลประโยชน์มา แบ่งกัน อำมหิตต่อมา เรื่อง 7 คนไทยที่ถูกเขมรจับกุม เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.ถ้าเรามีนายกฯ ที่รักชาติรักคนไทย จะต้องเรียกรัฐมนตรีกลาโหม รัฐมนตรีต่างประเทศมา แล้วให้เรียกทูตเขมรมาพบแล้วให้แจ้งนายฮุนเซนให้ปล่อยคนไทยภายใน 24 ชั่วโมง เพราะคนไทยอยู่บนดินแดนที่เป็นของไทย ถ้านายฮุนเซนตอบกลับมาว่าเป็นดินแดนเขมร นายกไทยก็ต้องตอบว่านั่นคือเดินแดนไทย อย่ามาเถียง ถ้าพูดกันไม่รู้เรื่อง นายกฯ ที่ทำงานเป็นต้องสั่งปิดพรมแดนทันที บ่อนการพนันปิดให้หมด ไม่ให้คนไทยไปเล่น นายฮุนเซนจะเสียค่าต๋งจากบ่อนการพนันช่วงปีใหม่หลายร้อยล้าน และเคลื่อนกำลังทหารเข้าไปประชิดชายแดน แล้วบอกว่าถ้าไม่ปล่อยใน 24 ชั่วโมง มีเรื่องทันที นายสนธิกล่าวต่อว่า นายกฯ คนนี้นอกจากไม่ทำตามเราพูดแล้ว ยังให้ รมว.กลาโหม และคนใกล้ชิดไปบอกว่าคนไทยอยู่บนพื้นที่เขมร แล้ววันนี้ เมื่อศาลเขมรพิพากษาก็สะท้อนว่าเขาใช้อธิปไตยทางศาลเหนือดินแดนที่ไม่ใช่ของเขา เท่ากับนายกฯ คนนี้ยกดินแดนไทยตรงนั้นให้เขมรไปแล้ว จะมาถามทำไมว่าจะให้ทำยังไง นอกจากนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่ไปดูการพิจารณาคดีของศาลกัมพูชายังพูดออกมาว่า นายกฯ ไทยไม่เคยช่วยเหลือเลย แล้วยังบอกว่านายวีระ สมความคิด รักชาติมากกว่านายอภิสิทธิ์ เพราะในการให้การในศาล นายวีระพูดตลอดว่ายืนอยู่บนแผ่นดินไทย นายสนธิกล่าวต่อว่า เรื่องราคาน้ำมันปาล์ม เทอร์มินัล 3 สนามบินสุวรรภูมิ รถไฟฟ้าสีต่างๆ ที่มีข้อครหาเรื่องคอร์รัปชั่นนั้นเป็นความจริง มีการแบ่งสรรปันส่วนกันกับพรรครภูมิใจไทยมาให้ประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทยจึงอยู่ยงคงกระพันในรัฐบาลชุดนี้ ทุกโครงการมีส่วนแบ่งทั้งนั้น ไม่เช่นนั้นจะย้ายดอนเมืองไปสุวรรณภูมิทำไม นายกฯ ก็ทำเป็นคัดค้านโดยการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ พอคนลืมก็ปล่อยผ่าน ให้ทำมาหารับประทานต่อไป นายสนธิกล่าวว่า นอกจากทุจริตแล้วยังไม่เป็นธรรมาภิบาล นายอภิสิทธิ์เคยพูดสักคำหรือไม่ กรณีที่นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คือเจ้าของบริษัท ซิโน-ไทย แม้ว่าอาจจะโอนหุ้นออกไปแล้วแต่คนบริหารคือนายอนุทิน ชาญวีรกูล ลูกชาย บริษัทชิโน-โทยเมื่อก่อนแทบจะล้มละลาย แต่ขณะนี้นี้ร่ำรวยมหาศาล แทบทุกโครงการเป็นของบริษัทนี้ทั้งนั้น โดยมารยาท ถ้านายอภิสิทธิมีธรรมาธิบาล ต้องพูดกับนายชวรัตน์หรือกระทรวงมหาดไทยว่า อย่าให้ชิโน-ไทยประมูลได้ เพราะมันดูอัปลักษณ์ พ่อเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ลูกเป็นเจ้าของบริษัทที่ได้โครงการไปหมด ล่าสุดนายอนุทินเพิ่งซื้อคเรื่องบินส่วตัว นายอนุทินคือตัววุ่นวายที่วิ่งเต้นทางการเมือง และเป็นผู้บริหารซิโน-ไทยไปด้วย อย่างนี้ทำไมนายอภิสิทธิ์ไม่พูดบ้าง แล้วมาบอกว่าตัวเองโปร่งใส และชอบถามว่า “ผมได้อะไร” นายสนธิกล่าวต่อว่า คำว่ารัฐบาลที่ระยำตำบอนยังเบาเกินไปสำหรับรัฐบาลชุดนี้ เราเคยเด่ารัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ว่ารัฐบาลสัตว์นรก รัฐบาลนี้ต่างอะไรกับรัฐบาลสมัคร หรือนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มิหนำซ้ำยังอำมหิตกว่า ตรงที่หลอกให้คนไทยเข้าใจว่าเป็นวิญญูชน ที่แท้ก็เป็นวิญญูชนจอมปลอม นายสนธิยังได้เปรียบเทียบว่าถ้าพันธมิตรฯ คือ ก๋วยเจ๋ง ที่ไปฝีกวิชามาเพื่อต่อต้านการรุกรานของพวกมองโกลแล้ว นายอภิสิทธิ์ ก็คือ เอี้ยคัง ที่ไปเป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าชายมองโกล แล้วมาทำลายราชวงศ์ซ้อง ส่วนเรื่องตำนานปาท่องโก๋ที่เคยเล่าเมื่อวันก่อน ถ้าเป็นเมืองไทยต้องทำปาท่องโก๋ที่มีหลายชิ้น มีนายอภิสิทธิ์-แม่ทัพภาคที่ 2-นายกษิต ภิรมย์-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และแถมนายศิริโชค โสภา รวม 6 ชิ้น ให้มี 6 หัวประกบกันแล้วเราก็กัดกินพร้อมกันเลย นายสนธิกล่าวอีกว่า ตั้งแต่ปี 2549 จนวันนี้ เวลาผ่านไปเร็วเหมือนโกหก คนที่มาวันนี้เป็นพลังบริสุทธิ์จริงๆ ไม่มีการแอบแฝง ไม่มีการห้อยโหน เป็นคนที่รักชาติรักแผ่นดิน ไม่ได้รักประชาธิปัตย์ หรือถ้ารักก็รักชาติมากกว่า ใครที่ยังงมงายกับประชาธิปัตย์อยู่ ก็เพราะว่ารักประชาธิปัตย์มากกว่าชาติ ที่รับไม่ได้อย่างยิ่งก็คือมีผู้ใหญ่บางคนในพรรคประชาธิปัตย์ ลับหลังก็บอกว่าไม่เห็นด้วยกับนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ แต่เมื่อมีการลงมติพรรคก็ยกมือตามเขา อ้างว่ามติพรรคเป็นอย่างนั้นต้องทำตาม คนบางคนกำลังยิ่งใหญ่มากที่สุราษฎร์ธานี เอานิ้วจิ้มลงไปตรงไหนก็จะโดนที่ดินที่นักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ไปยึดที่ หลวงมา ให้ระวังเวรกรรมไม่มาถึงเฉพาะตัวเอง แต่จะถึงชาติตระกูลลูกหลานของตัวเองด้วย อีกไม่นานเกินรอ คนพวกนี้ไม่รู้ว่าชีวิตนี้มีแต่ความว่างเปล่า เวลาผ่านไปเร็วเหมือนโหก ไม่ทันไร นายสมัครก็เสียชีวิตแล้ว นายสมชายก็ไม่ได้นั่งเก้าอี้นายกฯ อีกไม่นานพวกที่กำลังยิ่งใหญ่ทั้งหลายต้องล่มสลายกันหมด ล่าสุดวันนี้ (4 ก.พ.) ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณีที่ พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2 เสนอให้มีการยื่นขึ้นทะเบียนมรดกโลกร่วมกับกัมพูชา พร้อมแบ่งพื้นที่การบริหารจัดการในลักษณะ 50 : 50 รวมทั้งกรณีที่รัฐบาลไทยมีแนวคิดในการนำสถูปคู่ สระตราว และภาพสลักนูนต่ำ บริเวณใกล้เคียงปราสาทเขาพระวิหารไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกในอนาคตว่า เป็นเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขหยุดยั้งการละเมิดอธิปไตยของไทยได้แม้แต่น้อย เนื่องจากโบราณสถานทั้ง 3 แห่งไม่มีความเกี่ยวพันกับแผนบริหารจัดการมรดกโลกปราสาทพระวิหาร โดยพื้นที่ในแผนบริหารที่กัมพูชายึดถืออยู่นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องการบริเวณ สถูปคู่ หากแต่นำพื้นที่วัดแก้วสิขาคีรีสวาระ เพื่อเป็นจุดในการสร้างถนนตัดผ่านขึ้นไปสู่ตัวปราสาทเขาพระวิหาร ส่วนแนวคิดที่จะขึ้นทะเบียนมรดกโลกร่วมกันนั้นไม่สามารถทำได้แล้วในขณะนี้ เพราะทะเบียนปราสาทพระวิหารที่ขอขึ้นเป็นมรดกโลกนั้นถือโดยกัมพูชาฝ่ายเดียว ซึ่งหากมีความคิดนำส่วนอื่นที่เป็นของไทยแท้ไปขึ้นทะเบียนร่วมก็เหมือนกับ มอบดินแดนให้กัมพูชามากขึ้น ดังนั้น ความพยายามขึ้นทะเบียนมรดกโลกในช่วงนี้เพื่อหวังแก้ปัญหานั้นไม่สามารถทำได้ เพราะจะทำสำเร็จหรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่ปราสาทพระวิหารจะมีการพิจารณาในเดือน มิ.ย.54 นี้ และหากต้องการให้มีการขึ้นทะเบียนร่วมเพื่อแก้ไขปัญหานั้น ก็ต้องให้กัมพูชาถอนทะเบียนที่ขึ้นค้างอยู่ในคณะกรรมการมรดกโลกเสียก่อน ซึ่งก็ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะสมเด็จฯ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ใช้ประเด็นนี้ในการหาเสียงการเมืองในประเทศ โฆษกการชุมนุมฯ กล่าวต่อว่า ในการยกระดับการชมุนุมนั้นจะมีการเปิดโปงรัฐบาลว่านอกจากไม่ปกป้องดินแดน แล้วยังมีการโกง การทุจริตอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะคนในพรรคประชาธิปัตย์ที่ทำตัวเป็นคนสะอาด ซึ่งจะใช้เวทีนี้กระชากหน้ากากคนเหล่านี้ออกมา เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ตนได้พูดเรื่องน้ำมันปาล์มไปแล้ว ส่วนในวันนี้ (4 ก.พ.) จะหยิบยกประเด็นการทุจริตข้าวมาพูด โดยนายกฯ อภิสิทธิ์ เกี่ยวข้องโดยตรงในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ทั้งนี้ ในช่วง 12.00 น. กลุ่มเยาวชนพันธมิตรฯ ในนามกลุ่ม Facepad ได้เดินทางไปแจกใบปลิว 33 ประเด็นถามตอบปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณย่านธุรกิจสีลม และในเวลา 13.30 น. แกนนำพันธมิตรฯ รุ่น 1 และรุ่น 2 จะประชุมหารือร่วมกันที่บ้านพระอาทิตย์ ก่อนจะมีการแถลงข่าวในเวลา 17.00 น. ที่บริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ ที่มา: เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ [1]. [2] สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
แฉทางการไทยไม่ยอมให้ จนท.ยูเอ็นเอชซีอาร์ เข้าพบผู้ลี้ภัยโรฮิงยาซึ่งถูกควบคุมตัว Posted: 04 Feb 2011 12:48 AM PST ฮิวแมนไรท์วอซแฉทางการไทยไม่ยอมให้ จนท.สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติเข้าพบผู้ลี้ภัยโรฮิงยาที่ถูกเจ้าหน้าที่ไทยจับหลังแล่นเข้าฝั่งไทย กลุ่มสิทธิมนุษยชนเป็นห่วงหากไทยจะส่งชาวโรฮิงยากลับพม่า เนื่องจากทางการพม่าอาจกดขี่ซ้ำ แนะทำตามมาเลเซียที่อนุญาติให้ จนท.ยูเอ็นเข้าพบผู้ลี้ภัย มีรายงานว่าทางการไทยยังไม่ยอมให้หน่วยงานของสหประชาชาติหรือยูเอ็นเข้าพบกับชาวมุสลิมโรฮิงยาจำนวนกว่า 200 คน ที่ถูกทางการไทยจับกุมตัวก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมกราคมและเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานเพิ่มเติมว่า ยังไม่มีท่าทีที่แน่ชัดว่า ทางการไทยจะตัดสินใจอนุญาตให้ยูเอ็นเข้าพบกับชาวมุสลิมโรฮิงยาหรือจะส่งผู้อพยพทั้งหมดกลับพม่า ขณะที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนเป็นห่วงหากไทยจะส่งชาวโรฮิงยากลับพม่า เนื่องจากอาจถูกทางการพม่ากดขี่ซ้ำ ทั้งนี้ มีชาวมุสลิมโรฮิงยาจำนวน 158 คน ถูกจับตัวเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังทั้งหมดได้นำเรือแล่นเข้ามาในฝั่งไทย ด้านจังหวัดระนองและจังหวัดตรัง และต่อมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางการไทยสามารถจับกุมชาวมุสลิมโรฮิงยาได้อีกกลุ่ม จำนวน 68 คน โดยขณะนี้ชาวโรฮิงยาทั้ง 68 คน กำลังถูกควบคุมตัวอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต และถูกนำตัวมาสอบสวนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันพุธ (2 ก.พ.) ที่ผ่านมา ด้านกลุ่มฮิวแมนไรท์วอชรายงานว่า ทางการไทยยังบ่ายเบี่ยงไม่ให้หน่วยงานของยูเอ็นอย่างสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR เข้าพบและสัมภาษณ์ชาวมุสลิมโรฮิงยาที่ถูกจับ ทั้งนี้ กลุ่มสิทธิมนุษยชนได้เรียกร้องให้ทางการไทยอนุญาตให้กลุ่มสิทธิมนุษยชนเข้ามาสัมภาษณ์และให้ความช่วยเหลือแก่ชาวโรฮิงยา เพื่อดูว่า ชาวโรฮิงยาที่ถูกจับมีคุณสมบัติที่ควรจะได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัยหรือไม่ หรือมีความต้องการที่จะได้รับการคุ้มครองจากหน่วยงานสากลหรือไม่ ด้านนายริชาร์ด ซอลลอม จากองค์กรแพทย์เพื่อสิทธิมนุษยชน (Physicians for Human Rights) กล่าวถึงในเรื่องนี้ว่า “คนไร้รัฐอย่างชาวมุสลิมโรฮิงยาหนีออกจากพม่า จากปัญหาการกดขี่ข่มเหงในฐานะชนกลุ่มน้อยและจากปัญหาความขัดแย้งทางศาสนา พวกเขาสมควรที่จะถูกยอมรับในฐานะผู้ลี้ภัย ไทยมีความจำเป็นที่ควรทำตามประเทศมาเลเซียที่อนุญาตให้กลุ่ม UNHCR เข้าถึงผู้ลี้ภัย เพื่อประกันว่า ผู้ลี้ภัยได้รับความยุติธรรมและได้รับการประเมินที่ซื่อสัตย์” นายริชาร์ด ซอลลอม ยังกล่าวเพิ่มติมว่า ชาวโรฮิงยาส่วนใหญ่ หากอยู่ในพม่าก็จะมีชีวิตที่ถูกกดขี่ข่มเหง และหลังจากที่พวกเขาตัดสินใจที่จะหนีออกมาจากบ้านเกิด พวกเขาก็สมควรที่จะได้โอกาสในเรื่องเสรีภาพ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2552 กองทัพเรือของไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์และถูกกล่าวหาว่า ลอยแพชาวโรฮิงยากลางน่านน้ำสากล (Irrawaddy /DVB 3 ก.พ.54)
แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊ค http://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น