โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

เผยผลทดสอบคนไทยใช้เน็ตได้เร็วเพียง 71% จากคำโฆษณา

Posted: 08 Feb 2011 01:09 PM PST

สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม และสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย เผยผลสำรวจการทดสอบคุณภาพอินเทอร์เน็ตทั้งประเทศ พบใช้ความเร็วเพียงร้อยละ 71 จากคำโฆษณา ส่วนความเร็วอัพโหลดอยู่ร้อยละ 10 โดยผู้ใช้งานส่วนใหญ่ความเร็วดาวโหลดอยู่ที่ 4 Mbps ส่วนการอัพโหลดยังอยู่ 512 Kbps

เมื่อวันที 7 ก.พ. ที่ผ่านมา นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) กล่าวว่า สบท. ร่วมกับสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย เปิดเผยถึงผลทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตผ่านทางเว็บไซต์ www.speedtest.or.th ในโครงการสำรวจและทดสอบคุณภาพความเร็วอินเทอร์เน็ตปีที่ 2

โดยพบว่า ตลอดปี พ.ศ. 2553 ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม ที่ผ่านมา มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเข้าทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตรวม 5,286,196 ครั้ง เฉลี่ย 14,483 ครั้งต่อวัน ซึ่งพบว่า คุณภาพอินเทอร์เน็ตจากการทดสอบในภาพรวมของทั้งประเทศ มีความเร็วดาวน์โหลดอยู่ที่ร้อยละ 71 และความเร็วอัพโหลดเพียงร้อยละ 10 จากความเร็วอินเทอร์เน็ต 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอัตราการทดสอบที่ได้ปริมาณคุณภาพอินเทอร์เน็ต 100 เปอร์เซ็นต์ตรงตามคุณภาพอินเทอร์เน็ตที่โฆษณานั้น พบว่ามีปริมาณไม่มากนักในแต่ละผู้ให้บริการ

สำหรับการทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตแต่ละผู้ให้บริการมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ทีโอที ประมาณร้อยละ 26 และยังเป็นวงจรอินเทอร์เน็ต ที่มีความเสถียรสูงสุดด้วย ทรูประมาณร้อยละ 25 และทรีบรอดแบนด์ร้อยละ 13 โดยจังหวัดที่ประชาชนทดสอบมากที่สุดคือ กรุงเทพมหานคร กว่า 800,000 ครั้ง ส่วนจังหวัดที่มีผู้ทดสอบน้อยที่สุดคือ จังหวัดอำนาจเจริญประมาณ 3,600 ครั้ง

ด้าน พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน รองอธิบดี ดีเอสไอ และ นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กล่าวว่า แนวโน้มการใช้งานบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพิ่มมากขึ้น จากการที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็ว 4 Mbps เข้าทดสอบมากถึง 15% รองลงมาเป็น 3 Mbps ที่ 8% และ 6 Mbps ที่ 7% ส่วนความเร็วมาตรฐานเดิมที่ 2 Mbps มีผู้เข้าทดสอบเพียง 2% แต่ทั้งนี้ยังมีจำนวนข้อมูลที่ไม่มีการระบุความเร็วถึง 55%

"ความเร็วในการดาวน์โหลด สามารถทำได้เฉลี่ยที่ 71% จากค่าดาวน์โหลดที่โฆษณากัน ขณะที่ค่าอัปโหลดทำได้เพียง 10% จากที่โฆษณาไว้เท่านั้น"

การวิเคราะห์ความเร็วดาวน์โหลดในช่วง 4 Mbps ของ 3 เจ้าใหญ่ ไล่ตั้งแต่ทรูมีผู้ใช้ที่ทดสอบได้ในช่วง 4 Mbps ถึง 38% และมีมากกว่า 3.5 Mbps ถึง 48% ส่วนทีโอที ความเร็วเฉลี่ยสูงสุดของผู้ใช้บริการ 4 Mbps อยู่ที่ 3.5 Mbps ซึ่งถ้ารวมผู้ใช้ที่มีความเร็วสูงกว่า 3.5 Mbps มีเพียง 15% เท่านั้น ขณะที่ 3BB มีผลทดสอบใกล้เคียงกับของทรู ถ้านับค่าเฉลี่ยตั้งแต่ 3.5 Mbps ขึ้นไปมีถึง 48%

ส่วนความเร็วอัปโหลดส่วนใหญ่ทั้ง 3 รายหลัก จะอยู่ที่ประมาณ 512 Kbps เป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าจะมีความเร็วในการดาวน์โหลด 2, 3, 4 และ 6 Mbps ก็ตาม ส่วนภาพรวมในปี 2554 คาดว่าจะมีการปรับค่าอัปโหลดให้ขึ้นมาอยู่ที่ 1 Mbps มากขึ้น

ผู้ใช้งานส่วนใหญ่รู้จัก Speedtest.or.th มากขึ้น รวมถึงมีการพัฒนาส่วนเสริมของเว็บเบราว์เซอร์ทุกราย ไม่ว่าจะเป็น Internet Explorer, Firefox, Chrome และ Safari และมีการเปิดระบบสมาชิก ให้สามารถย้อนดูผลการทดสอบย้อนหลัง เพื่อช่วยวิเคราะห์ประมวลผล หรือนำไปใช้เป็นหลักฐานในการร้องเรียน จากความเร็วอินเทอร์เน็ตได้

"สำหรับคนที่สมัครเป็นสมาชิก ทางสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย จะมีการนำสมาชิกมาจับฉลากแจกไอแพด เป็นการตอบแทนผู้ที่เข้ามาใช้งาน ขณะเดียวกันผู้ทำเว็บไซต์ ที่ต้องการนำระบบไปติดตั้งที่เซิร์ฟเวอร์ก็สามารถติดต่อเข้ามาเพื่อร่วม โครงการลุ้นรับไอแพดด้วยเช่นเดียวกัน"
 

ที่มา: เรียบเรียงจาก สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม
  

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“มาร์ค” แจงใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปิดล้อมบุกรุกสถานที่ราชการ

Posted: 08 Feb 2011 10:28 AM PST

เริ่มใช้ พ.ร.บ.มั่นคง 7 เขตใน กทม. 9 – 23 ก.พ. นี้ มี ผบ.ตร. คุม “มาร์ค” ยกวินิจฉัยศาลปกครอง การปิดถนนเกินเลยการชุมนุมตามขอบเขต รธน. แล้ว ย้อน พธม.ท้าให้จับ แปลว่าต้องการให้เกิดความขัดแย้ง แถม พธม. เคยต่อว่าเมื่อกลุ่มอื่นปิดถนน รับมีคนในรัฐบาลติดต่อแกนนำ พธม. แต่จะเจรจาหรือไม่คงไปบังคับ พธม. ไม่ได้

ปณิธานเผย ครม.เห็นชอบ พ.ร.บ.มั่นคงฯ คุม 7 เขตใน กทม. เริ่ม 9 ก.พ.

ศูนย์ข่าวทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า วันนี้ (8 ก.พ.54) เวลา 14.15 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบประกาศพ.ร.บ.ความมั่งคงภายในราชอาณาจักร 7เขตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 9-23 กุมภาพันธ์ 2554 ได้แก่ เขตพระนคร เขตวัฒนา เขตประทุมวัน เขตดุสิต เขตป้องปราบศัตรูพ่าย เขตวังทองหลาง และเขตราชเทวี ทั้งนี้เพื่อดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ดังกล่าว โดยในช่วงบ่ายของวันนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่อกำหนดแผนในการปฏิบัติรวมถึงการจัดตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ (ศอรส.) ต่อไป

 

มาร์คเผยใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ป้องกันไม่ให้เกิดการปิดล้อม-บุกรุกสถานที่ราชการ

ต่อมาเมื่อเวลา 17.50 น. ที่สภาความมั่งคงแห่งชาติ ศูนย์ข่าวทำเนียบรัฐบาลรายงานว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. ว่า การประกาศพื้นที่และห้วงเวลาดังกล่าวนั้น อย่างที่ทราบขณะนี้มีมวลชนที่ชุมนุมแล้ว 3-4 กลุ่ม ซึ่งบางครั้งก็มีประกาศเรื่องการยกระดับการชุมนุม และบางทีก็มีการพูดบุกสถานที่ราชการ เพราะฉะนั้นรัฐบาลก็มีหน้าที่ที่ต้องดูแลความสงบเรียบร้อย

เครื่องมือของการใช้กฎหมายความมั่นคงก็เพื่อป้องกันและป้องปรามและระงับเหตุที่จะลุกลามไปสู่ความไม่สงบและป้องกันการกระทำที่ไม่ถูกกฎหมาย และ กอ.รมน.ได้ประชุมและจัดตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) โดยมี พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. เป็นประธาน ซึ่งมีอำนาจในการประกาศข้อกำหนดในรายละเอียด เบื้องต้นที่สอบถามทาง ผบ.ตร. บอกว่าการดูแลรัฐสภาและทำเนียบเป็นเป้าหมายแรกในการใช้เครื่องมือตรงนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาบุกรุกและปิดล้อมที่ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ

 

ยกวินิจฉัยศาลปกครอง การปิดถนนเกินเลยขอบเขต รธน. แล้ว

และที่สำคัญการปิดถนนขณะนี้ซึ่งตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองก็ระบุแล้วว่า เกินเลยขอบเขตการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญโดยจะให้มีการสัญจรได้โดยไม่กระทบการชุมนุม ส่วนการปิดถนนเมื่อไรเวลาใดนั้นจะหารือกันเป็นรูปธรรมให้ชัดเจนก่อน โดยก็จะขอความร่วมมือจากทุกกลุ่มที่ชุมนุมว่าการชุมนุมเราไม่ได้ห้าม แต่ปิดถนน 24 ชม. มันเกินกว่าเหตุไม่ได้มีความจำเป็นขนาดนั้นไม่เช่นนั้นการดำเนินการยืดเยื้อเรื่อยๆ ก็จะมีการดำเนินการในลักษณะเดียวกันสุดประชาชนจะเดือดร้อนมากดังนั้นขณะนี้ควรใช้เหตุใช้ผลกัน ตนไม่สบายใจที่ไปปลุกระดม ทำนองว่าการประกาศพื้นที่จะมีการใช้กำลังปราบปรามอะไรมากมายนั้นไม่ใช่ สิ่งที่ต้องการอย่าชุมนุมในลักษณะที่ผิดกฎหมาย

 

วอนผู้ชุมนุมร่วมมือ ยันไม่เหมือนภาวะฉุกเฉิน

ส่วนที่เกรงว่าผู้ชุมนุมอาจจะมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่เพราะไม่ให้ความร่วมมือนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็อยากให้ผู้ชุมนุมร่วมมือและอยากขอเหตุผลว่าทำไมร่วมมือกันไม่ได้ เราไม่ได้ห้ามสิทธิชุมนุมแต่เราต้องให้ประชาชนไม่ได้รับความเดือดร้อนหากจริงใจต่อส่วนรวมก็ต้องพูดคุยกันได้

ต่อข้อถามว่าการประกาศพ.ร.บ.ความมั่นคงเหมือนกับทำให้ประเทศตกอยู่ในภาวะฉุกเฉิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ถือว่ายังไม่ได้ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉิน แต่เป็นช่องโหว่ของกฎหมายที่มีอยู่ปัจจุบันระหว่างกฎหมายปกติกับกฎหมายที่หลายประเทศมีกันอย่างกฎหมายการชุมนุมในที่สาธารณะประเทศไทยยังไม่มี ทั้งนี้การประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเป็นการให้อำนาจในการจัดระเบียบมากขึ้นในการชุมนุมและเคลื่อนไหว

 

ย้อน พธม.ท้าให้จับ แปลว่าต้องการให้เกิดความขัดแย้ง รับมีการติดต่อแกนนำ พธม.

ส่วนกรณีที่ทางแกนนำพันธมิตรฯ ท้าให้ทางตำรวจจับกุม นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สรุปแล้วเราจะชุมนุมเคลื่อนไหวเพื่อแสดงออก หรือต้องการให้เกิดความขัดแย้งรัฐบาลไม่ต้องการที่จะให้มีความขัดแย้งแต่ต้องการรักษากฎหมาย กลุ่มที่เคลื่อนไหวนี้เองก็เคยต่อว่าคนกลุ่มอื่นเวลาที่มีการดำเนินการปิดถนน ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลได้ประกาศไปเพื่อให้แต่ละฝ่ายแสดงบทบาทของตัวเองไป ไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องท้าทายเพื่อให้เกิดความขัดแย้งและรุนแรงขึ้น แต่ต้องถามว่าเหตุใดจึงไม่สามารถอำนวยความสะดวกและปฏิบัติตามกฎหมายให้ประชาชนได้ใช้เส้นทางสาธารณะบางส่วนให้เดินทางได้

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวปฏิเสธกรณีที่แกนนำพันธมิตรฯระบุว่ารัฐบาลไม่เคยติดต่อเพื่อหาข้อยุติว่า ไม่จริง แต่มีการพูดคุยกันระหว่างแกนนำรัฐบาลและแกนนำพันธมิตรฯ และคงไม่ได้บอกว่าติดต่อพูดคุยกับแกนนำคนใด ส่วนถ้าหากแกนนำพันธมิตรฯไม่ยอมเจรจาหากรัฐบาลติดต่อไปอีกนั้นถ้าไม่เจรจาก็บังคับพันธมิตรฯไม่ได้

 

เปรยถ้าแก้ รธน. ผ่านจะหารือกับ กกต. เรื่องเลือกตั้ง

ต่อข้อถามว่าการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ในวันที่11 ก.พ.จะทำให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจเรื่องแนวทางๆ การเมืองง่ายขึ้นหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้ได้เรียนแล้วว่าเป็นข้อยุติย่างใดอย่างไรถือว่าจบกติกาเงื่อนไขเลือกตั้ง และถ้ารัฐธรรมนูญผ่านก็จะหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้งในเรื่องการเตรียมการ

สำหรับความเป็นไปได้เรื่องการยุบสภาฯ เพราะสาเหตุการเคลื่อนไหวของการชุมนุมของสองสีเสื้อนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงไม่เกี่ยวกัน เพราะการใช้สิทธิในการชุมนุมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างไรก็ตามการประกาศเงื่อนเวลาตามพ.ร.บ.ความมั่นคงไม่เกี่ยวกับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญและการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณกลางปี แต่เกี่ยวข้องกับการประกาศการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มต่างๆมากกว่า ส่วนกรณีที่ ส.ว.จะยื่นญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลก็มีหน้าที่ไปชี้แจง

 

ที่มา: เรียบเรียงจาก ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล [1], [2]

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: ข้อเท็จจริงสวนป่าคอนสาร กรณีการสร้างศูนย์ธรรมรัศมี

Posted: 08 Feb 2011 08:31 AM PST

 
 
 
 
 
บทนำ
 
สืบเนื่องจากปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดิน กรณีสวนป่าคอนสาร อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ระหว่างชาวบ้านกับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ที่ยืดเยื้อมานาน ตั้งแต่ปี พ.. 2521 เป็นต้นมา นั้น  
 
กรณีดังกล่าว ออป. ได้ขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ แล้วดำเนินการปลูกสร้างสวนป่ายูคาลิปตัส ตามเงื่อนไขการสัมปทานทำไม้ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม เนื้อที่ทั้งสิ้น 4,401 ไร่ ทำให้ชาวบ้านสูญเสียที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย จำนวนกว่า 277 ราย
 
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะทำงานระดับพื้นที่ ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2548 พบว่า สวนป่าคอนสารได้ปลูกสร้างทับที่ดินทำกินของราษฎรจริง และมีมติให้ยกเลิกสวนป่าคอนสาร และนำพื้นที่มาจัดสรรให้กับราษฎรที่เดือดร้อน  และในวันที่ 28 ธันวาคม 2550 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีรายงานผลการละเมิดสิทธิออกมาว่า การกระทำของกรมป่าไม้ และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ในการปลูกสร้างสวนป่าคอนสาร ทำให้ผู้ร้องได้รับความเดือดร้อน ไม่มีที่ดินทำกิน ทั้งที่ผู้ร้องได้ครอบครองทำประโยชน์มาก่อนสวนป่าคอนสาร ซึ่งเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิในที่ดินและทรัพย์สินของผู้ร้อง ขณะที่การแก้ไขปัญหาที่ล่าช้าของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ก็เป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ร้อง คณะอนุกรรมการฯจึงได้กำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหา และมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดังนี้
 
1. ให้รัฐบาลมีคำสั่งยกเลิกสวนป่าคอนสาร ตามมติคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีสวนป่าคอนสาร เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2548 ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับรายงานฉบับนี้
 
2. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการพัฒนาระบบการผลิตและการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืนให้แก่ผู้ร้อง โดยสนับสนุนให้ชุมชนร่วมกับหน่วยงานของรัฐ จัดทำแผนการจัดการและใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมทั้งการจัดเป็นป่าชุมชน ภายใน 90 วัน นับจากวันที่ยกเลิกสวนป่าคอนสาร
 
นอกจากนี้ วันที่ 29 ธันวาคม 2551 ที่ประชุมประชาคมตำบลทุ่งพระ โดยนายวิชัย พลอยปัทมวิชิต กำนันตำบลทุ่งพระเป็นประธานการประชุม มีการพิจารณากรณีปัญหาสวนป่าคอนสาร ซึ่งผลการประชุมประชาคมตำบลทุกหมู่บ้านมีมติให้ยกเลิกสวนป่าคอนสาร และให้ดำเนินการจัดสรรที่ดินให้กับราษฎรผู้เดือดร้อน พร้อมกันนี้ ในระหว่างการแก้ไขปัญหาจนกว่าจะได้ข้อยุติ ให้ราษฎรผู้เดือดร้อนสามารถเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ได้ จำนวนเนื้อที่ 1,500 ไร่
 
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีมติของหน่วยงานต่างๆดังกล่าวข้างต้น สวนป่าคอนสารยังไม่มีการยกเลิกตามมติที่กล่าวมา อีกทั้งเจ้าหน้าที่ออป.ยังคงดำเนินกิจกรรมในพื้นที่เช่นปกติ กระทั่ง วันที่ 17 กรกฎาคม 2552 ชาวบ้านผู้เดือดร้อนจึงเข้าปักหลักในบริเวณพื้นที่พิพาท และถูกออป. ฟ้องขับไล่ในเวลาต่อมา
 
ในการนี้ เพื่อให้เห็นอีกด้านหนึ่งของการใช้ประโยชน์ในพื้นที่พิพาทสวนป่าคอนสาร จึงขอนำเสนอกรณีการสร้างวัดศูนย์ธรรมรัศมี ในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อเปรียบเทียบกับการดำเนินการของออป.ต่อชาวบ้านในพื้นที่อย่างไม่เป็นธรรม กระทั่งเกิดการเดินเท้าทางไกลจากคอนสาร ถึงกรุงเทพฯ อยู่ในขณะนี้
 
ธรรมรัศมี : ที่มาอันคลุมเครือ
 
ศูนย์ธรรมรัศมีก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2541 ภายหลังการเรียกร้องต่อสู้ของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาสวนป่าคอนสารในช่วงปี พ.ศ. 2539 – 2540 โดยชาวบ้านเรียกร้องให้มีการยกเลิกสวนป่าคอนสาร แล้วนำที่ดินมาจัดสรรให้กับราษฎรผู้เดือดร้อน
 
ในเดือนตุลาคม 2539 นายณรงค์  สุกกรี ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ได้มีหนังสือมายังผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ว่าปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินระหว่างออป.กับราษฎรเป็นปัญหาเรื้อรัง ซึ่งไม่อาจแก้ไขโดยการยกที่ดินให้กับราษฎรได้ แต่คณะกรรมการออป. เห็นชอบให้ออป. ใช้แนวทางในโครงการปลูกสร้างสวนป่าเพื่อการพัฒนาชนบท โดยมีหลักการคือ
 
1.)   ให้เกษตรกรผู้ประสงค์เข้าร่วมโครงการสมัครเข้าเป็นสมาชิกโครงการหมู่บ้านป่าไม้
2.)           ออป.จัดสรรพื้นที่สวนป่าให้สมาชิกฯ ปลูกสร้างสวนป่า ดูแล ป้องกัน บำรุงรักษา และใช้เป็นที่ทำกินได้ทุกปีตลอดไป และทำบันทึกข้อตกลงแบบ contract farming  กันไว้เป็นหลักฐาน
3.)           สมาชิกฯ เป็นฝ่ายลงแรง ปลูก บำรุง ดูแลป้องกันรักษาสวนป่า ออป. เป็นฝ่ายลงทุน และให้การสนับสนุนด้านความรู้ เทคโนโลยี เครื่องมือ อุปกรณ์
4.)           เมื่อมีผลประโยชน์จากสวนป่าก็นำมาแบ่งปันในสัดส่วนที่เหมาะสม และเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย คือสมาชิกและ ออป.
 
ต่อมา วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2540  นายเชาวนเลิศ  ไทยานนท์  ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ มีหนังสือถึงนายอำเภอคอนสาร เรื่องการพิจารณาแก้ขปัญหาราฎรเรียกร้องขอที่ดินปลูกป่าคืนจาก ออป. ตามที่อำเภอคอนสารหารือจังหวัดว่า หากอำเภอแต่งตั้งคณะทำงานระดับพื้นที่เพื่อทำการสำรวจจัดแบ่งพื้นที่ที่ดินตามข้อตกลงที่ได้ทำไว้กับราษฎรแล้ว จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และขอให้จังหวัดแจ้งผลการพิจารณาให้อำเภอทราบภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2540 นั้น
 
ปัญหาดังกล่าว ออป.ได้มีหนังสือแจ้งให้จังหวัดทราบตามที่คณะกรรมการ ออป. ได้ให้ความเห็นชอบ ใช้แนวทางโครงการปลูกสร้างสวนป่าเพื่อการพัฒนาชนบท ดังนั้น การที่อำเภอจะแต่งตั้งคณะทำงาน เข้าไปดำเนินการสำรวจพื้นที่ เพื่อจัดทำข้อมูลแผนผังการแบ่งพื้นที่ตามจำนวนราษฎรที่ต้องการที่ดินทำกินรายละ 5 ไร่ไปก่อนนั้น จังหวัดได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นไปตามแนวทางที่ออป.ได้แจ้งให้ทราบข้างต้น จึงให้อำเภอดำเนินการให้แล้วเสร็จ และแจ้งให้จังหวัดเพื่อรายงาน ออป.พิจารณาจัดแบ่งพื้นที่ให้ราษฎรทำกินต่อไป
 
ต่อมา นายโกมล  รื่นจิตร ประธานกรรมการบริหารส่วนตำบลทุ่งพระ ได้จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายคือ การขอใช้พื้นที่สวนป่าสร้างศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิต
ศูนย์ปฏิบัติธรรม การจัดสรรที่ดินให้กับครอบครัวที่ไม่มีที่ดินรายละ 1 ไร่ การจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยว และศูนย์ตลาดพานิชย์ของเกษตรกรในท้องถิ่น
 
นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2541 เป็นต้นมา ผู้รับผิดชอบโครงการ เช่น นายโกมล รื่นจิตร และนายประเทือง บังประไพ ก็ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม แผนการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับประชาชนที่เดือดร้อนจากการปลูกสร้างสวนป่าของ ออป. กลับไม่มีการดำเนินการกระทั่งปัจจุบัน
 
สถานภาพธรรมรัศมีในปัจจุบัน
 
สถานภาพของศูนย์ธรรมรัศมีในปัจจุบัน สามารถพิจารณาได้ในหลายมิติ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดการที่ดินสวนป่าของออป. และผลประโยชน์ของคนในชุมชน ท้องถิ่น โดยในด้านกายภาพ  ศูนย์ธรรมรัศมีในปัจจุบันได้ยกระดับเป็น “วัดธรรมรัศมี”  มีพระสงฆ์และชีจากต่างจังหวัดเข้ามาอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง โดยมีการสร้างศาลาวัด ซึ่งเป็นถาวรวัตถุขนาดใหญ่ พร้อมกับกุฏิ และบ้านพักรับรอง จำนวนประมาณ 15 หลัง มีเนื้อที่ประมาณ 240 ไร่ สภาพโดยทั่วไปในบริเวณวัดจะเป็นไม้ธรรมชาติ จำพวกประดู่ แดง ตะแบก ผสมกับต้นยูคาลิปตัสที่ออป.ปลูกสร้างในแปลงปลูกปี พ.ศ. 2523
 
ด้านสถานภาพในทางกฎหมาย นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2541 เป็นต้นมา ที่มีการก่อสร้างวัดธรรมรัศมี ยังไม่พบว่ามีการตกลงหรืออนุญาตใช้พื้นที่ดังกล่าว กระทั่งในวันที่ 22 ตุลาคม 2552 ได้มีคำขอเข้าร่วมโครงการการแก้ไขปัญหาที่พักสงฆ์ในพื้นที่ป่าไม้ โดยพระอาจารย์อนรรม  คุณวุฑโฒ ภูมิลำเนาบ้านเลขที่ 20 หมู่ที่ 6 ตำบลผาสุก อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ขอยื่นคำขอ เนื้อที่ 50 ไร่ โดยอาณาเขตแต่ละด้านกำหนดพิกัด GPS อย่างชัดเจน แต่จากการคำนวณพิกัดดังกล่าวพบว่ามีเนื้อที่ประมาณ 29 ไร่ ในขณะที่ทำประโยชน์จริง กว่า 240 ไร่ ทั้งนี้ ยังไม่พบว่าได้รับการอนุญาตจากอธิบดีกรมป่าไม้แต่อย่างใด
 
หากนับเวลาย้อนหลังจากปีพ.ศ. 2552 กลับไปถึงช่วงปี พ.ศ. 2541 ที่วัดธรรมรัศมีเข้าใช้พื้นที่สวนป่าคอนสาร จะเห็นว่า กว่า 12 ปีผ่านมา เป็นการเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่อย่างผิดเงื่อนไขทุกประการ พร้อมกับมีการทำลายต้นไม้ธรรมชาติ และสร้างถาวรวัตถุขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน มีการก่อสร้างบ้านพักรับรองขนาดใหญ่จำนวนหลายหลัง พร้อมกับติดป้ายหน้าบ้าน เช่น บ้านศรชัย  เป็นต้น บางหลังมีการก่อสร้างคล้ายอาคารพานิชย์ขนาด 2 ชั้น ทั้งนี้ หากนำมาพิจารณาเทียบเคียงกับระเบียบในการขอใช้ประโยชน์เพื่อก่อสร้างวัดหรือที่พักสงฆ์ ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 จะพบว่า สามารถขอใช้ประโยชน์ได้ไม่เกิน 15 ไร่ ระยะเวลาตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 30 ปี รวมทั้ง ข้อตกลงในการทำไร่ในเขตสวนป่าของออป. ที่กำหนดเงื่อนไขไว้จำนวน 11 ข้อ เช่น ต้องปลูกพืชไร่ ต้องไม่ปลูกสิ่งก่อสร้างถาวร เป็นต้น แต่สิ่งที่ธรรมรัศมีดำเนินการตลอดช่วงที่ผ่านมา กลับเป็นไปในลักษณะตรงกันข้าม และไม่มีใครสามารถทำอะไรได้ นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงพิจารณาถึงสภาพการีมีส่วนร่วมของคนในชุมชนท้องถิ่น จะพบว่า ชาวบ้านในละแวกตำบลทุ่งพระ มีส่วนในการเข้าร่วมกิจกรรมกับสถานที่แห่งนี้น้อยมาก โดยส่วนใหญ่จะเป็นคนต่างจังหวัดที่มีฐานะทางเศรษฐกิจเข้ามาใช้พื้นที่เพื่อประกอบกิจกรรมต่างๆ
 
สรุป
 
กล่าวโดยสรุป ปรากฏการณ์ และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในกรณีวัดธรรมรัศมี หากนำมาเทียบเคียงกับปัญหาพิพาทที่ดินระหว่าง ออป. กับชาวบ้านผู้เดือดร้อนในกรณีสวนป่าคอนสาร ซึ่งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน แต่ มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ กระบวนการแก้ไขปัญหากรณีนี้ มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงครบถ้วนสมบูรณ์แล้วว่า ออป.ปลูกสร้างสวนป่าทับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของราษฎรจริง ให้ยกเลิกสวนป่า แล้วนำที่ดินมาจัดสรรแก่ราษฎรผู้เดือดร้อนต่อไป แต่จนถึงขณะนี้ ออป.ยังไม่ดำเนินการใดๆทั้งสิ้น มิหนำซ้ำ ยังฟ้องขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ ภายหลังการเข้าพื้นที่ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมา ในขณะที่วัดธรรมรัศมีกลับไม่มีการดำเนินการใดๆ ทั้งๆที่บริเวณวัดทั้งหมด ก็คือที่ดินทำกินเดิมของชาวบ้านมาก่อน และการใช้ประโยชน์ผิดเงื่อนไขทุกประการ
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สภาการ นสพ.ห่วงการนำเสนอข่าวข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา

Posted: 08 Feb 2011 08:19 AM PST

สภาการ นสพ.ออกแถลงการณ์ ห่วงใยการนำเสนอข่าวและภาพของสื่อกรณีข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา โดยขอให้รับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชน สร้างสรรค์ หาทางแก้ปัญหาข้อพิพาท ความขัดแย้งอย่างสันติวิธี

8 ก.พ. 54 - สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง ข้อห่วงใยต่อการนำเสนอข่าว และภาพข่าวของสื่อมวลชน   กรณีข้อพิพาทชายแดนและการใช้กำลังทหารระหว่างไทย-กัมพูชา

แถลงการณ์ ระบุว่าสืบเนื่องจากเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างทหารไทยและทหารกัมพูชา อันเนื่องมาจากข้อพิพาทเรื่องพื้นที่ทับซ้อนบริเวณใกล้ปราสาทพระวิหาร เป็นผลให้กำลังพลและพลเรือนของทั้งสองประเทศต้องเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ จำนวนมากนั้น เหนือสิ่งอื่นใดเหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ของพี่น้องประชาชนบริเวณชายแดนของสองประเทศซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อพิพาท ความขัดแย้งดังกล่าว ขณะเดียวกันสื่อมวลชน ไม่ว่าหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ ฯลฯ ต่างได้พยายามทำหน้าที่เกาะติดรายงานข่าวความเคลื่อนไหวเหตุการณ์ที่เกิด ขึ้นอย่างใกล้ชิด เนื่องเพราะเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบถึงชีวิตและความเป็นอยู่ของพี่น้อง ประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 โดยมีข้อห่วงใยต่อการนำเสนอข่าวและภาพข่าวของเพื่อนร่วมวิชาชีพสื่อมวลชน ดังนี้

1.  ขอให้เพื่อนร่วมวิชาชีพสื่อมวลชน ไม่ว่าหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ ฯลฯ ได้ทำหน้าที่ของตนด้วยความรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชน โดยการเสนอข่าวและภาพข่าว ตลอดจนการแสดงความคิดเห็นต้องเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ แสวงหาหนทางการแก้ปัญหาข้อพิพาท ความขัดแย้งอย่างสันติวิธี

2. ขอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการตัดสินนำเสนอประเด็นข่าวและภาพข่าวได้ ตระหนักถึงความอ่อนไหว และให้ความระมัดระวังอย่างยิ่งยวดต่อผลกระทบทางด้านความมั่นคง ซึ่งอาจเป็นการเปิดเผยจุดยุทธศาสตร์ หรือยุทธวิธีทางการทหารให้กับฝ่ายตรงข้ามนำไปใช้ประโยชน์โดยไม่ตั้งใจได้

3. ในการนำเสนอข่าว ตลอดจนการแสดงข้อคิดเห็นใด ๆ โดยผ่านทางบทสัมภาษณ์ บทความ หรือทางอื่นใด ขอให้หลีกเลี่ยงการใช้ภาษา หรือการแสดงท่าทีที่เป็นการดูถูกดูหมิ่น เหยียดหยาม ก่อให้เกิดความเกลียดชังระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ

4. ขอเรียกร้องให้ผู้นำทั้งสองประเทศ ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทชายแดน แสดงความจริงใจที่จะร่วมกันยุติปัญหาความขัดแย้งให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้กลไกการแก้ปัญหาที่มีอยู่ หันหน้ามาพูดคุย เจรจาเพื่อหาข้อยุติอย่างสร้างสรรค์และยึดมั่นในสันติวิธี โดยยึดผลประโยชน์และความสงบสุขของพี่น้องประชาชนสองประเทศเป็นที่ตั้ง

5.  สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองที่มีอยู่ในขณะนี้ แม้เป็นการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญที่พึงกระทำได้ แต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบสิทธิของผู้อื่น อีกทั้งไม่ควรกระทำการใด ๆ ที่เป็นการยั่วยุให้ปัญหาข้อพิพาทลุกลามบานปลายมากขึ้น เนื่องเพราะสันติวิธีเท่านั้น  คือหนทางยุติปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน

สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ขอแสดงความชื่นชมต่อการตระหนักในบทบาทหน้าที่ของเพื่อนร่วมวิชาชีพสื่อมวลชน ทุกแขนง ในการนำเสนอข่าวและภาพข่าวด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม และยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง ขณะเดียวกัน ขอให้กำลังใจแก่ทหารหาญและผู้ปฏิบัติงานด้านความมั่นคงทุกท่านที่ต่างทุ่มเท สรรพกำลังด้วยความเสียสละในการทำหน้าที่ปกปัก พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งอธิปไตยแห่งดินแดน ทำให้ประชาชนที่อยู่แนวหลังต่างรู้สึกซาบซึ้งและอุ่นใจในการทำหน้าที่สมกับ เป็นรั้วของชาติอย่างแท้จริง

ท้ายที่สุดนี้ สภาการหนังสือพิมพ์ฯ  หวังว่า ข้อพิพาทดินแดนของไทย-กัมพูชา จะสามารถหาข้อยุติได้โดยเร็ววันบนพื้นฐานของการเจรจาและสันติวิธี เพื่อให้ความสงบสุขของพี่น้องประชาชนตามแนวชายแดนของทั้งสองประเทศกลับคืนมา โดยไม่ต้องได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสจากผลกรรมที่ตนเองไม่ได้เป็นผู้ก่อขึ้น.

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แถลงการณ์ สนนท. “สงครามไม่ใช่คำตอบ”

Posted: 08 Feb 2011 08:16 AM PST

เมื่อวันที่ 7 .. 54 ที่ผ่านมา สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ออกแถลงการณ์ต่อสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา “สงครามไม่ใช่คำตอบ” ชี้สงครามครั้งนี้ไม่อาจมอบความเป็นวีรบุรุษให้แก่ผู้ใดนอกจากเหยื่อของความคลั่งชาติเท่านั้น

 

แถลงการณ์สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยต่อสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา
สงครามไม่ใช่คำตอบ
 
ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 เป็นต้นมา สถานการณ์พื้นที่ทับซ้อนชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณปราสาทพระวิหารและพื้นที่ใกล้เคียงก็ได้ดำเนินมาถึงจุดแตกหัก เมื่อเกิดการปะทะกันระหว่างทหารไทยและกัมพูชา ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนบริสุทธิ์ที่อาศัยอยู่ในเขตอำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ ประชาชนชาวกัมพูชา และทหารของทั้งสองประเทศ
 
แม้ว่าขณะนี้ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ สถานการณ์การสู้รบจะดูคลี่คลายลงบ้าง หลังจากการเจรจาถึง 2 ครั้งระหว่างกองทัพไทยและกัมพูชา แต่ก็ใช่จะเป็นเครื่องยืนยันว่าการสู้รบจะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะในขณะที่รัฐบาลซึ่งได้เฝ้าย้ำมาตลอดว่าแนวทางสันติ และการเจรจาคือทางออกของข้อพิพาทนี้ ก็ไม่เคยสามารถใช้การเจรจาให้เกิดประสิทธิภาพได้อย่างจริงจัง และไม่สามารถยับยั้งการะปะทะให้เกิดขึ้นแม้เพียงสักครั้งเดียว
 
ก่อนหน้านี้ ทั้งชาวไทยและกัมพูชาต่างก็มีชีวิตเป็นปกติสุขบนพื้นที่ทับซ้อน การค้าชายแดนเป็นไปอย่างปกติ แม้แต่เจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในแนวชายแดนก็มีความอลุ่มอล่วยให้กัน สงครามครั้งนี้จึงเป็นสงครามที่คนไทยไม่อยากให้เกิดขึ้นโดยเฉพาะคนในพื้นที่ หากคนในพื้นที่ขัดแย้งกัน ยังจะพอเป็นชนวนในการปะทะที่สมเหตุสมผลกว่า แต่สงครามครั้งนี้ไม่มีเหตุอันควรใดๆเลย นอกจากกระแสคลั่งชาติที่รัฐบาล และคนไทยบางกลุ่มสร้างขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งต่างจากความรักชาติ ที่ปรารถนาจะเห็นชาติของตนสงบสุข รุ่งเรือง เป็นที่ยอมรับ และเป็นที่รักของประเทศเพื่อนบ้าน คนที่รักชาติจึงมุ่งประสานประโยชน์มากกว่าการกีดกัน มุ่งเจรจามากกว่าสู้รบ พื้นที่เพียงไม่ถึงห้าตารางกิโลเมตร ย่อมไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้คนรักชาติต้องเอาชาติอันเป็นที่รักของตนไปยุ่งเกี่ยวกับความรุนแรงเช่นนี้
 
การปะทะครั้งนี้คือความรุนแรงที่รัฐก่อ วาระซ่อนเร้นของเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องที่ประชาชนไทยไม่อาจเพิกเฉยได้ หากการปะทะรุนแรงขึ้น สถานการณ์อาจถูกยกระดับกลายเป็นสงคราม ผู้ไม่หวังดีอาจใช้เงื่อนไขจากการปะทะนำไปสู่การก่อรัฐประหาร ประกอบกับภาพความเป็นวีรบุรุษของทหารอาจช่วยลดแรงต้านจากประชาชน แต่แม้ว่าจะมีทหารเสียชีวิต พวกเขาก็เป็นวีรบุรุษที่เราไม่อาจชื่นชมด้วยรอยยิ้ม สงครามครั้งนี้ไม่อาจมอบความเป็นวีรบุรุษให้แก่ผู้ใดนอกจากเหยื่อของความคลั่งชาติเท่านั้น
           
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) จึงขอเสนอทางออกของปัญหา ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด และเป็นวิธีเดียวกันกับที่รัฐบาลเน้นย้ำอยู่เสมอ เป็นขั้นตอนดังนี้
 
1.    ตัดบทบาททหารออกจากความขัดแย้ง โดยถอนทหารจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด ไทยควรแสดงความจริงใจในการยุติความรุนแรงโดยเป็นผู้ถอนทหารออกก่อน ไม่จำเป็นว่าจะต้องรอให้กัมพูชาถอนก่อน และต้องให้สัญญาว่าข้อพิพาทเรื่องดินแดนในครั้งนี้จะไม่มีทหารเข้ามาเกี่ยวข้องอีก
2.    รัฐบาลชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อประชาชนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว
3.    ใช้วิธีเจรจาทางการทูต  รัฐบาลไทยและกัมพูชาควรร่วมโต๊ะถกปัญหาให้ลุล่วงด้วยกัน โดยนำหลักฐานที่แต่ละฝ่ายมีมาชี้แจงให้เข้าใจ เมื่อได้ข้อตกลงเรื่องดินแดนแล้ว จึงหาทางสร้างประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่ดังกล่าว
4.    รัฐบาลและกองทัพควรเปิดเผยความจริงที่เกิดขึ้นให้กับประชาชนไทยทราบมากกว่านี้ เพราะการปิดหรือบิดเบือนข่าวไม่ทำให้อะไรดีขึ้น
 
เหตุการณ์ครั้งนี้ จะมองจากมุมไหนก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นก้าวที่ผิดพลาดของกองทัพและรัฐบาลไทย ที่ปล่อยให้ยานพาหนะทางการทหารของไทยรุกล้ำเข้าไปในเขตแดนกัมพูชาก่อน ไม่ว่าจะด้วยความพลั้งเผลอหรือเจตนาก็ตาม ความเสียหาย และโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นเพราะพื้นที่ทับซ้อนเพียง 4.6 ตารางกิโลเมตรนี้ จะต้องได้รับการชดใช้อย่างดีที่สุดเท่าที่รัฐบาลไทยจะทำได้ ในฐานะประชาชนที่รับรู้เหตุการณ์อยู่ภายนอก เราเสียใจ กังวล และห่วงใยพี่น้องประชาชนพลเรือน และทหารด้วยความจริงใจ เราเห็นภาพบ้านถูกไฟไหม้ โรงเรียนเสียหาย เห็นพื้นดินยุบเป็นหลุมใหญ่เพราะแรงของหัวจรวด และปืนใหญ่ เราเห็นเด็กวิ่งร้องไห้ด้วยความหวาดกลัวระเบิดที่ดังอยู่ข้างหลัง เราเสียดายความสัมพันธ์อันดีของไทยและกัมพูชาที่ต้องมาขาดสะบั้นลง และเสียดายงบการทหารมหาศาลที่มาจากภาษีของประชาชนถูกนำไปใช้ในการก่อศัตรูกับประเทศเพื่อนบ้าน ทุกวันที่การปะทะดำเนินไป เราได้แต่หวังว่าเมื่อไหร่เหตุการณ์อันเลวร้ายจะจบลงเสียที
 
 
เพื่อความผาสุกของคนไทย สงครามไม่ใช่คำตอบ!
 
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)
7 กุมภาพันธ์ 2554
 





สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กรณีล่ามโซ่นายชาลี ดียู ว่าด้วยการบังคับใช้กฎหมาย : สถานะของระเบียบกับรัฐธรรมนูญ

Posted: 08 Feb 2011 06:31 AM PST

แม้การทรมาน การปฏิบัติและการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) จะไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทยแล้วก็ตาม  แต่ยังคงไม่เป็นที่รับรู้ในหมู่ประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐมากนัก ทั้งที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๒ ได้รับรองสิทธิในชีวิตและร่างกาย และสิทธิที่จะไม่ถูกทรมานการทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม ซึ่งสอดคล้องและเป็นไปตามอนุสัญญาฯ ดังกล่าวซึ่งไทยเป็นภาคีและมีผลบังคับใช้ให้ต้องปฏิบัติตามพันธกรณีเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 เป็นต้นมา

รูปแบบของการทรมาน การปฏิบัติหรือลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  นอกจากการทำร้ายร่างกายและจิตใจให้รับสารภาพด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งที่ทำให้ปรากฏร่องรอยตามร่างกายและไม่ปรากฏร่องรอยตามร่างกาย เช่น การใช้น้ำหยดลงบนศรีษะอยู่ตลอดเวลา  การบังคับให้ร่างกายอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถขยับเขยื้อนได้เป็นเวลานานจนกล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บ  เป็นต้น  ยังมีรูปแบบอื่นที่ถือเป็นการทรมาน  การปฏิบัติและการลงโทษโดยย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่น การจำตรวนนักโทษไว้ตลอดเวลา  การคุมขังอยู่ในสถานที่ที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขอนามัย  การไม่ได้รับการรักษาพยาบาล หรือการขังเดี่ยว เป็นต้น    

กรณีของนายชาลี ดียู ชาวพม่าซึ่งประสบอุบัติเหตุจากการทำงานได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งมีสถานะเป็นแรงงานข้ามชาติมีสิทธิอาศัยชั่วคราวและได้รับอนุญาตให้ทำงานตามกฎหมาย แต่เนื่องจากเอกสารสูญหาย  จึงถูกควบคุมตัวและส่งไปรักษารักษาอาการบาดเจ็บที่โรงพยาบาลตำรวจ เจ้าหน้าที่ได้ล่ามโซ่นายชาลีไว้โดยอ้างว่ามีระเบียบกำหนดไว้  และเกรงว่านายชาลีจะหลบหนี แม้ภายในห้องของโรงพยาบาลจะมีลูกกรงเหล็กซึ่งมีลักษณะเป็นที่คุมขังอยู่แล้วก็ตาม

ต่อมามูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาได้เข้าให้การช่วยเหลือและประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอให้ปลดโซ่ที่ล่ามไว้กับเตียง เพราะนายชาลีไม่อยู่ในสภาพที่จะหลบหนีได้และต้องได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง  นอกจากนี้  ยังต้องการใช้สิทธิเรียกร้องจากกองทุนเงินทดแทนด้วย ต่อมาเจ้าหน้าที่จึงยอมปลดโซ่นายชาลี

แม้นายชาลีจะเป็นแรงงานข้ามชาติ  มิได้ถือเป็น “ปวงชนชาวไทย”  แต่ย่อมได้รับการคุ้มครองในฐานะที่เป็นมนุษย์  เพราะรัฐธรรมนูญฯคุ้มครองสิทธิในชีวิตร่างกายและศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคน มิได้คุ้มครองเฉพาะประชาชนไทยเท่านั้น  และข้อเท็จจริงยังปรากฏชัดว่านายชาลีไม่อยู่ในสภาพที่จะหลบหนีหรือทำอันตรายต่อผู้ใดได้  การล่ามโซ่จึงเป็นมาตรการและการปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรม ไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเป็นมาตรการที่เกินจำเป็น ขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ และอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานฯ

การบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายโดยอ้างถึงระเบียบหรือแนวปฏิบัติต่างๆ ที่เป็นไปในทางจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้มีฐานะเหนือกว่าหลักการพื้นฐานการคุ้มครองปกป้องสิทธิรัฐตามธรรมนูญ โดยการตีความและการบังคับใช้กฎหมายลำดับรองเป็นไปที่ไม่ต้องคอยสำรวจตรวจตราว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่  เท่ากับว่าการใช้และการตีความกฎหมายถูกทำให้เป็นอิสระจากเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ ก่อให้เกิดปัญหาการใช้และการตีความกฎหมายที่ลักลั่น  ไม่สอดคล้องกันทั้งระบบ  และเป็น “อัตวิสัย” ของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่มีอำนาจตีความและบังคับใช้กฎหมาย

ลักษณะดังกล่าวข้างต้นเป็นสาเหตุหนึ่งของการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ การกระทำในลักษณะดังกล่าว ไม่เฉพาะกรณีของนายชาลี ดียู  แรงงานข้ามชาติชาวพม่าเท่านั้น  แต่ยังเป็นปัญหาอย่างมากในสังคมไทย  ดังนั้น  เมื่อรัฐธรรมนูญยังมิได้ถูกนำมาบังคับใช้หรืออ้างอิงก็มิพักต้องเอ่ยถึงหลักการหรือการปฏิบัติตามอนุสัญญาหรือกติการะหว่างประเทศใดๆ อีกต่อไป      

ท้ายที่สุด  หากเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมยังใช้และตีความกฎหมายลำดับรองโดยไม่คำนึงถึงหลักการต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญฯ แล้ว  รัฐธรรมนูญคงเป็นเพียงกฎหมายสูงสุดที่อยู่บนพานและมีสถานะด้อยกว่ากฎหมายลำดับรอง ระเบียบหรือแนวปฏิบัติต่างๆ ในแง่การบังคับใช้

ในทางกลับกันหากการบังคับใช้กฎหมายที่คำนึงถึงหลักการต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญประกอบการใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ ย่อมทำให้กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบมากขึ้นเป็นลำดับ
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ฟ้องศาลปกครองเพิกถอน กก.ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวัตถุอันตราย

Posted: 08 Feb 2011 06:14 AM PST

เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 54 ที่ผ่านมา นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี (BioThai) แถลงภายหลังการฟ้องต่อศาลปกครองว่า การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวัตถุอันตรายตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวัน 9 พฤศจิกายน 2553 ขัดกับเจตนารมณ์ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ปรับปรุงแก้ไข พ.ศ.2551 อย่างชัดแจ้ง เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการแต่งตั้งจำนวน 4 ใน 10 คนไม่ได้มีคุณสมบัติและที่มาตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยมีจำนวน 2 คนถูกแต่งตั้งจากสมาคมวิชาชีพที่มิได้เป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ด้านการคุ้มครองสุขภาพอนามัย และองค์การสาธารณประโยชน์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และยิ่งไปกว่านั้นยังมีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 คนซึ่งมาจากบริษัทธุรกิจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชรายใหญ่ และตัวแทนจากกลุ่มธุรกิจเคมี จากสภาหอการค้า ทั้งๆ ที่กฎหมายกำหนดให้มีการแต่งตั้งจากองค์การสาธารณประโยชน์ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน และองค์การสาธารณประโยชน์ด้านการจัดการปัญหาวัตถุอันตรายในท้องถิ่น

“การดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่เป็นตัวแทนของบริษัทซินเจนทาซึ่งเป็นบริษัทที่นำเข้าสารเคมีการเกษตรรายใหญ่ของไทยจะทำลายกลไกการควบคุมและจัดการเรื่องสารเคมีและวัตถุอันตราย ทั้งในส่วนของการรับขึ้นทะเบียน การเพิกถอนวัตถุอันตราย และการพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากวัตถุอันตราย ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย เนื่องจากระหว่างดำรงตำแหน่งอาจเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนในการปฏิบัติหน้าที่ได้ ไม่เท่านั้นยังขัดกับเจตนารมณ์ พ.ร.บ.วัตถุอันตรายที่สร้างเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการกำกับนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะของประชาชนด้วย”

นายวิฑูรย์กล่าวต่อว่าปัจจุบันสถานการณ์สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอยู่ในขั้นวิกฤตแล้วทั้งแง่มุมตัวเลขเกษตรกรผู้เจ็บป่วยและพืชผักผลไม้ที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป (EU) เนื่องจากมีการตรวจพบสารเคมีเกษตรตกค้างเกินค่ามาตรฐาน (MRLs) ในพืชผักผลไม้มากครั้งที่สุดในโลก

ถูกตรวจพบสารเคมีเกษตรตกค้างเกินค่ามาตรฐาน และมีจำนวนครั้งที่ตรวจพบมากที่สุดในโลก

ด้านนางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า การยื่นฟ้องต่อศาลปกครองครั้งนี้ได้ร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2553 เฉพาะส่วนที่มีมติแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในลำดับที่ 6 ถึง 9 คือ นางศุภวรรณ ตันตยานนท์, นางสาวสุมล ปวิตรานนท์, นายปกรณ์ สุจเร และนายสุมิดา บุรณศิริ และให้กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวัตถุอันตรายทดแทนกรรมการที่ถูกเพิกถอน โดยเปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดี และตัวแทนองค์การสาธารณประโยชน์อื่นๆ ที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายบัญญัติส่งตัวแทนเพื่อคัดเลือกเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในด้านการคุ้มครองสุขภาพอนามัย ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านการเกษตรกรรมยั่งยืน และด้านการจัดการปัญหาวัตถุอันตรายในท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ปรับปรุงแก้ไข พ.ศ.2551 ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

“ผู้ฟ้องคดียังได้ร้องขอต่อศาลได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา ห้ามมิให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ จำนวน 4 คน ทำหน้าที่ในคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ จนกว่าศาลจะมีคำตัดสินชี้ขาดด้วย” นางสาวเพ็ญโฉมกล่าว

 ทั้งนี้ความคืบหน้าล่าสุด สำนักงานศาลปกครองกลางได้รับเอกสารฟ้องไว้พิจารณาแล้ว ตามคดีหมายเลขดำที่ 390/2554 โดยหากถ้าศาลเห็นว่ากรณีนี้เป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องคุ้มครองฉุกเฉินจะดำเนินการไต่สวนภายในหนึ่งสัปดาห์หลังรับฟ้อง แต่หากไม่ใช่กรณีเร่งด่วนจะดำเนินการพิจารณาโดยใช้ระยะเวลาประมาณหนึ่งเดือน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กรรมการสิทธิชี้แนะแนวทางช่วยเหลือเหยื่อปะทะชายแดน

Posted: 08 Feb 2011 05:54 AM PST

กรรมการสิทธิชี้แนะแนวทางช่วยเหลือเหยื่อปะทะชายแดน ระยะสั้น-ยาว แนะควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษในการฟื้นฟู เยียวยา สภาพจิตใจหลังเหตุด้วย

8 ก.พ. 54 - ตามที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดน อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ และมีแนวโน้มที่ต้องเฝ้าระวังในบางจังหวัดชายแดน เช่น  จังหวัดสุรินทร์ สระแก้ว และอุบลราชธานี คณะอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และความเสมอภาคของบุคคล ขอแสดงความชื่นชมหน่วยงานภาครัฐและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ระดมความร่วมมือ ทั้งในด้านการอพยพ  จัดหาที่พักที่ปลอดภัย  อาหาร และสิ่งจำเป็นสำหรับการอุปโภค บริโภคได้เป็นอย่างดีแล้ว แต่คณะอนุกรรมการฯ ยังคงมีข้อห่วงใยและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในส่วนของกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ กลุ่มเด็ก สตรี ผู้สูงอายุและคนพิการ ในการนี้ นางวิสา เบ็ญจะมโน  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และความเสมอภาคของบุคคล กล่าวว่า  การดำเนินการช่วยเหลือควรคำนึงถึงเรื่องดังต่อไปนี้

๑. ในระยะสั้น สิ่งของเครื่องใช้ที่มอบให้แก่ผู้ประสบความเดือดร้อน นอกเหนือจากสิ่งจำเป็นเฉพาะหน้าแล้ว  ยังคงต้องคำนึงถึงความจำเป็นและความต้องการสำหรับการดำรงชีวิตประจำวันของกลุ่มเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และคนพิการ เป็นกรณีพิเศษ เช่น ยารักษาโรคยาประจำตัว ซึ่งอาจเกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ นมกล่อง นมผงและขวดนม  ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อทารก และเด็กอ่อน  ผ้าอนามัยและของใช้ที่จำเป็นส่วนตัว  รวมถึงระบบสุขอนามัยของกลุ่มบุคคลดังกล่าว

๒. ในระยะยาว ในการฟื้นฟู ปรับสภาพแวดล้อม พื้นที่ทำกิน  ที่อยู่อาศัย ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะพยายามดำเนินการอย่างเต็มที่  แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าว ควรคำนึงถึงพื้นที่นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว อาทิ สถานที่รวมตัวเพื่อประกอบอาชีพและกิจกรรมทางสังคมอื่นๆของกลุ่มแม่บ้าน  ศูนย์เด็กเล็ก  ชมรมผู้สูงอายุ  เป็นต้น  

๓. ควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษในการฟื้นฟู เยียวยา สภาพจิตใจผู้ประสบ ความเดือดร้อนอย่างต่อเนื่อง  นอกเหนือจากการสนับสนุนการช่วยเหลือด้านวัตถุและสิ่งของจำเป็น

ทั้งนี้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง  ควรจัดระบบบริหารจัดการการช่วยเหลือ  เยียวยาอย่างเข้าถึงทุกกลุ่มคนอย่างเหมาะสมและเพียงพอ 
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทหารพม่าปะทะทหารคะฉิ่น ตาย 1

Posted: 08 Feb 2011 05:42 AM PST

8 ก.พ. 54 - ข้อตกลงหยุดยิงเป็นเวลากว่า 17 ปี ระหว่างทหารพม่าและกองทัพเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independence Army - KIA) ต้องขาดสะบั้นลงเมื่อเช้าวันจันทร์ (7 ก.พ.) วานนี้ หลังทหารพม่าเปิดฉากยิงทหารคะฉิ่นก่อน และต่อมาทำให้ทั้งสองฝ่ายปะทะกัน จนเป็นเหตุให้ทหารพม่ายศพันโท 1 รายเสียชีวิต และยังมีทหารพม่าอีก 7 รายได้บาดเจ็บสาหัส ขณะที่ไม่มีรายงานความสูญเสียของทหาร KIA

ขณะที่เหตุปะทะกันครั้งนี้เกิดขึ้นในพื้นที่กองพลที่ 3 ของ KIA ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองบาหม่อ รัฐคะฉิ่น และห่างจากชายแดนจีนไม่ถึง 20 กิโลเมตร

“ทหาร KIA ได้เตือนทหารพม่าไม่ให้เข้ามาในเขตควบคุมของตน นับตั้งแต่ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายแย่ลงนับตั้งแต่ปี 2552 จากสาเหตุที่รัฐบาลพม่ายื่นข้อเสนอให้ KIA เป็นกองกำลังรักษาชายแดน (Border Guard Force) ภายใต้กองทัพพม่า และวันนี้ ( 7 ก.พ.)กับระเบิดที่ KIA ฝังไว้รอบเขตพื้นที่ของตนได้ระเบิดขึ้น หลังจากที่ทหารพม่าพยายามเข้ามาในเขตของ KIA และหลังจากนั้น จึงเกิดการปะทะกันขึ้นระหว่างทั้งสองฝ่ายเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ก่อนที่จะมีรายงานว่า พันโท ยินต่วย ผู้บัญชาการกองพันที่ 15 ของพม่า เสียชีวิตจากเหตุปะทะ” แหล่งข่าวกล่าว

 ทั้งนี้  มีรายงานด้วยว่า ทั้งสองฝ่ายต่างเพิ่มกำลังทหารเข้ามาประจำในพื้นที่และเตรียมพร้อมสู้รบ ด้านสำนักข่าวคะฉิ่นอย่าง The Kachin News Group เปิดเผยว่า เหตุการณ์ปะทะกันครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เพิ่งมีการจัดงานครบรอบ 50 ปี ของการก่อตั้งกองทัพคะฉิ่นเพียงไม่กี่วัน และก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 3 – 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทหารพม่าได้พยายามกีดกันไม่ให้ชาวคะฉิ่นไปร่วมงานดังกล่าว ที่จัดขึ้นที่เขตหม่าจ่าหย่าง ซึ่งเป็นฐานทัพสำคัญของ KIA อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ก็เกิดเหตุตึงเครียดระหว่างทั้งสองฝ่ายมาแล้วหลายครั้ง

(สำนักข่าว The Kachin News Group / Irrawaddy  7 ก.พ.54)

แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์http://twitter.com/salweenpost

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักสิทธิชี้อายัดตัวแรงงานข้ามชาติ ไม่ถูกต้อง

Posted: 08 Feb 2011 05:05 AM PST

นักสิทธิชี้อายัดตัวแรงงานข้ามชาติพม่าที่เคยถูกล่ามโซ่ไม่ถูกกฎหมาย เพราะใบอนุญาตยังไม่หมดอายุ

8 ก.พ. 54 -  นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าวฯ และนายสมชาย หอมละออ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ได้เข้าเยี่ยมนายชาลี ดียู แรงงานข้ามชาติพม่า  อายุ 28 ปี ที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน  ซึ่งถูกอายัดตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ที่เพิงถูกปลดโซ่

นายอนุรักษ์  ทศรัตน์ แจ้งว่า จากการตรวจสอบของกระทรวงแรงงานพบว่า พบชื่อนายชาลีในฐานข้อมูลใบอนุญาตทำงาน และใบอนุญาตทำงานของนายชาลียังไม่หมดอายุ จึงได้นำเอกสารจากฐานข้อมูลมาเพื่อให้นายชาลียืนยันตัวบุคคล  เพื่อทางกระทรวงแรงงานจะดำเนินการออกใบแทนใบอนุญาตทำงานแทนใบอนุญาตทำงานที่สูญหาย โดยให้มีการมอบอำนาจเจ้าหน้าที่กฎหมายของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาดำเนินการแทนนายชาลี เพื่อต่อใบอนุญาตทำงานภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ตามปกติ นายอนุรักษ์รับว่าจะประสานสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อปล่อยตัวนายชาลีต่อไป เนื่องจากใบอนุญาตยังไม่หมดอายุ มสพ. เเจ้งว่า ระหว่างที่นายชาลีรักษาตัวที่โรงพยาบาลเดิมไม่มีการประสานงานตรวจสอบสถานะใบอนุญาตทำงานของนายชาลี  จึงทำให้นายชาลีถูกจับและถูกส่งไปรอการผลักดันกลับเพราะเข้าใจว่าไม่มีใบอนุญาตทำงาน และเป็นคนเข้าเมือผิดกฎหมาย

ขณะนี้นายชาลีกำลังรับการผ่าตัดเพื่อรักษากระดูกสะโพก และยังอยู่ภายใต้การอายัดตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ

นางสาว ญาดา หัตถธรรมนูญ ผู้ช่วยเลขาธิการ มสพ.  กล่าวว่า “เมื่อตรวจสอบข้อมูลพบแล้วว่าใบอนุญาตทำงานไม่หมดอายุ ดังนั้นการควบคุมตัวนายชาลี ตั้งแต่วันที่  31 มกราคม  2554 ถึงขณะนี้ โดยที่เข้าใจผิดว่านายชาลีไม่ได้ขึ้นทะเบียนแรงงานนั้น   ปรากฏว่านายชาลีไม่มีความผิด การควบคุมตัวจึงเป็นการควบคุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท: คุณตอบแทนแผ่นดินเกิดแล้วหรือยัง ?

Posted: 08 Feb 2011 04:48 AM PST

เสียงสาปแช่ง-ชิงชัง ได้ยินชัดหรือไม่
ปล่อยให้เมืองอ้างว้างได้อย่างไร
ไม่มีหัวจิตหัวใจ,หรือเจตนา ...!

หรือนี่คือการรับผิดชอบขั้นสูงสุด
เกินกว่าความเข้าใจของมนุษย์ไร้เดียงสา
เพียงร้องขอความเป็นธรรมอันธรรมดา
ระเบิดบาปกระสุนบ้าก็ถาถม

กี่หน้าประวัติศาสตร์ที่ถูกผลิตซ้ำ
สังเวยโศกนาฏกรรมในหลุมหล่ม
กลัวโลกแหลกเป็นจุลเพราะทุนนิยม
หรือกลัวความเป็นจริงสังคมจะรับรู้

การทับซ้อนของบรรทัดประวัติศาสตร์
เพียงเพื่อประคองเอกราชของกฏหมู่
กอดอำนาจพิทักษ์แต่หลักกู
บังคับคนให้เชิดชูขึ้นหอคอย

คุณตอบแทนประชาชนแล้วหรือยัง ???
ใช่..สร้างจริยธรรมเบียดบังความเสื่อมถอย
อ้างบุญคุณ,การร้องขอผู้รอคอย
แล้วปล่อยให้ประชาชนต้องทนทุกข์

ประชาชนต่างตอบแทนแผ่นดินเกิด
ใครเป็นหุ่นเชิดให้คุณเสวยสุข
หน้าประวัติศาสตร์หน้านี้---มันกลียุค
ใจทุกดวงจึงถูกปลุกเพื่อเปลี่ยนแปลง

หลังหน้าประวัติศาสตร์กดขี่---และกลียุค
ประชาชนจักทวงความสุขจนสาแก่ใจ !

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สภาทนายความจี้รัฐแก้ขบวนการค้ามนุษย์โรฮิงยา

Posted: 08 Feb 2011 04:40 AM PST

สภาทนายความทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข ปัญหาชาวโรฮิงยาซึ่งเดินทางมาทางเรือที่เริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้นในปัจจุบันโดย เน้นการดำเนินการกับขบวนการค้ามนุษย์

8 ก.พ. 54 - ตามที่ได้มีชาวโรฮิงยา เดินทางโดยทางเรือ เข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่สมัยนั้นใช้วิธีการผลักดันออกนอกน่านน้ำไทย  ซึ่งกลับทำให้มีจำนวน ชาวโรฮิงยา เข้ามาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก  เนื่องจากสามารถเล็ดลอดเข้ามาใหม่ เพื่อเดินทางไปทำงานยังประเทศมาเลเซียได้

นายสุรพงษ์  กองจันทึก  ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ  แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ  ความกล่าวว่า

“คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ได้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายแก่ชาวโรฮิงยาเหล่านี้ จนใน   เดือนมกราคม ๒๕๕๒ ได้มีการจับกุมชาวโรฮิงยา ๗๘  คน นำขึ้นสู่กระบวนการยุติธรรมจน ศาลจังหวัดระนอง พิพากษาความผิด และส่งมาให้อยู่ในการดูแลของสำนักงานตำรวจตรวจ คนเข้าเมือง ต่อมาในวันที่  ๑๗  กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ชาวโรฮิงยา ซึ่งมาจากประเทศบังคลาเทศ ๒๘ คน ได้เดินทางกลับประเทศบังคลาเทศ หลังจากมีการจับกุมกลุ่ม ๗๘ คน ดังกล่าว ก็ไม่ปรากฏชาวโรฮิงยา เดินทางผ่านน่านน้ำไทยอีกเลย ตั้งแต่มกราคม ๒๕๕๒ เป็นต้นมา”

แต่ในปี ๒๕๕๔ พบว่ามีกลุ่มเรือมนุษย์ชาวโรฮิงยา เดินทางผ่านทะเลอันดามัน และเข้ามาในน่านน้ำอาณาเขตของประเทศไทย อีกครั้ง โดยจากรายงานสื่อมวลชน ในวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๔ มีการจับกุมและควบคุมเรือมนุษย์ชาวโรฮิงยาจำนวน ๙๑ คน ในพื้นที่ชายทะเลจังหวัดตรัง  ต่อมาวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๔ ได้จับกุมและควบคุมเรือมนุษย์ชาวโรฮิงยา อีกจำนวน ๖๗ คน ในพื้นที่เกาะสาหร่าย จังหวัดสตูล และล่าสุดในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ จับกุมและควบคุมเรือมนุษย์ชาวโรฮิงยาจำนวน ๓๓ คน ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน   สภาทนายความ  ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ,เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความ มั่นคงของมนุษย์, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ,ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหากลุ่มผู้เดินทางโดยเรือชาวโรฮิงยา  ๓  ข้อ ได้แก่

๑. รัฐบาลต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงของชาวโรฮิงยา แต่ละคนโดยละเอียด เพื่อจำแนกการจัดการให้ถูกต้องตามกฎหมายและหลักมนุษยธรรมโดย

๑.๑  หากพบว่ามีการเจ็บป่วย ต้องให้การช่วยเหลือ รักษา ตามจรรยาบรรณและหลักมนุษยธรรม
๑.๒ หากพบว่าเป็นผู้อพยพแสวงหาที่ลี้ภัย ต้องให้หน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยเข้ามาช่วยเหลือดูแล
๑.๓ หากพบว่าเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ หรือขบวนการค้าแรงงาน ต้องให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ ดูแล

๒. รัฐบาลโดยเฉพาะสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท้องที่ และกองทัพเรือ ต้องไม่ผลักดัน  ชาวโรฮิงยาโดยผิดกฎหมาย  เนื่องจากขัดต่อหลักการระหว่างประเทศ  คือ การผลักดันกลับไป             สู่ความตาย ( Non Refoulement ) ซึ่งห้ามผลักดันไปสู่อันตรายที่มีความเสี่ยงต่อชีวิต และร่างกาย  นอกจากนี้การผลักดันส่งกลับของผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ตามมาตรา  ๕๔ พระราชบัญญัติ            คนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ ทำได้เฉพาะชาวพม่า ลาว และกัมพูชา ที่รับสารภาพเท่านั้น หากเป็นสัญชาติอื่นต้องนำขึ้นสู่ศาลเพื่อพิจารณาตัดสิน

๓. รัฐบาลต้องดำเนินการกับขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงยา อย่างจริงจัง  ซึ่งเป็นองค์กรอาชญากรรมค้ามนุษย์ มีเครือข่ายทั้งใน และต่างประเทศ  เนื่องจากพบว่าชาวโรฮิงยาเหล่านี้มีขบวนการนายหน้าชักนำ และมีการจ่ายเงินจำนวนมาก  ขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงยาที่มีกลุ่มบุคคลหลายสัญชาติร่วมกันโดยมีเป้าหมาย ที่ประเทศมาเลเซีย

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า  “หน่วยงานรัฐต้องจริงจังกับการแก้ไขปัญหานี้ และไม่เพียงผลักดันออกไปเหมือนที่ผ่านมา เพราะเป็นการช่วยเหลือสนับสนุนขบวนการค้ามนุษย์  เนื่องจากขบวนการนี้จะไปเก็บเข้ามา และใช้ประเทศไทยทางบก เป็นทางผ่านไปประเทศมาเลเซีย  โดยเจ้าหน้าที่รัฐไม่รับรู้ โดยอ้างว่าผลักดันไปแล้ว และจะมีกลุ่มใหม่เข้ามาให้ผลักดันอีกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด  จึงควรเก็บข้อมูล และกัน      ชาวโรฮิงยาเหล่านี้ เป็นพยาน เพื่อดำเนินการกับขบวนการค้ามนุษย์เหล่านี้อย่างจริงจัง”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กรุงเทพฯ โพลล์: คนเชื่อความขัดแย้งลุกลามเพราะกัมพูชายั่วยุ

Posted: 08 Feb 2011 04:32 AM PST

8 ก.พ. 54 - ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ  (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทย – กัมพูชา ลุกลามจนเกิดเหตุการณ์ปะทะกันขึ้นนั้น ร้อยละ 26.4 มองว่าเกิดจากการยั่วยุของฝ่ายกัมพูชา รองลงมาร้อยละ 25.6 เกิดจากรัฐบาลไทยขาดเอกภาพในการทำงาน  ร้อยละ 21.4 มองว่าเป็นเพราะการเดินเกมที่ผิดพลาดของรัฐบาลไทย และร้อยละ 12.8 มองว่าเกิดจากความเคลื่อนไหวกดดันของกลุ่มพันธมิตร ตามลำดับ

สำหรับความพึงพอใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ประชาชนส่วนใหญ่พอใจการทำหน้าที่ของกองทัพในการปกป้องรักษาแผ่นดินไทย (พอใจร้อยละ 67.5) แต่ไม่พอใจการทำหน้าที่ของรัฐบาลในการแก้ปัญหาข้อพิพาทบริเวณพื้นที่ทับซ้อน (ไม่พอใจร้อยละ 80.2) และการชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับทราบและเข้าใจ (ไม่พอใจร้อยละ 74.9) ส่วนการเตรียมพร้อมในการอพยพและดูแลชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมีกลุ่มผู้ที่ระบุว่าพอใจและไม่พอใจในสัดส่วนใกล้เคียงกัน (พอใจร้อยละ 50.6 ไม่พอใจร้อยละ 49.4)

เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพและความพร้อมของกองทัพไทยในการรับมือกับปัญหาความขัดแย้งที่อาจลุกลามบานปลาย พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 67.4 ระบุว่าเชื่อมั่นค่อนข้างมากถึงมากที่สุด  ส่วนความเชื่อมั่นในศักยภาพด้านการเจรจาของกระทรวงการต่างประเทศเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้ง ส่วนใหญ่ร้อยละ 75.3 ระบุว่าไม่ค่อยเชื่อมั่นถึงไม่เชื่อมั่นเลย

สำหรับสิ่งที่อยากให้รัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ ทำมากที่สุดในขณะนี้เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทย – กัมพูชา พบว่า อันดับแรกต้องการให้รัฐบาลเปิดโต๊ะเจรจากับกัมพูชา ร้อยละ 46.6  รองลงมาให้เร่งชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสหประชาชาติ (UN) ร้อยละ 25.3   และให้อาเซี่ยนมาเป็นคนกลางแก้ปัญหา ร้อยละ 10.4  ทั้งนี้ มีเพียงร้อยละ 6.0 ที่ต้องการให้ใช้กำลังทหารเข้าต่อสู้จนรู้แพ้รู้ชนะ
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ท้อง แท้ง และท้องใหม่ : สิ่งที่เจ้าหน้าที่ตรวจโรงงานมองไม่เห็น

Posted: 07 Feb 2011 09:33 PM PST

ปรากฏการณ์ท้อง แท้งและท้องใหม่ในสถานที่ทำงานได้เกิดขึ้นกับแรงงานหญิงซึ่งเป็นกำลังหลักของอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดข้อสงสัยตามมา คือ

1. แท้งอันเนื่องมาจากการทำงานหรือไม่

2. นายจ้างมีปฏิกิริยาต่อปัญหาการแท้งของพนักงานหญิงอย่างไร

3. กระบวนการทำงานในโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีลักษณะอย่างไร ส่งผลต่อการเกิดภาวะแท้งมากน้อยเพียงใด

4. แรงงานหญิงได้รับการปฏิบัติจากนายจ้างอย่างไร เมื่อตั้งครรภ์

การนำเสนอประเด็นสุขภาพและความปลอดภัยของแรงงานหญิงในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมานี้มีเหตุผลสำคัญ คือ การคำนึงถึงความเสี่ยง/อันตรายถึงชีวิตของผู้หญิงที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการทำงานที่สัมผัสกับสารเคมีในการผลิต (Chemical concentration) ไม่ว่าจะเป็นการท้องแล้วแท้ง หรืออาการแพ้สารเคมีในที่ทำงาน  และประเด็นดังกล่าวทำให้ผู้เขียนสนใจกระบวนการผลิตว่ามีความปลอดภัยต่อคนงานผู้ผลิตหรือไม่ รวมไปถึงการตรวจสอบความรับผิดชอบของนายจ้างเมื่อเกิดปัญหาสุขภาพในสถานที่ทำงาน

ทั้งนี้เนื่องจากมีคำพูดทางสื่อว่า “การดูแลสุขภาพและความปลอดภัยต้องเริ่มต้นที่ตัวเอง” นั้นอาจไม่เป็นความจริง ทัศนะเช่นนี้เน้นการแก้ปัญหาระดับปัจเจกบุคคลที่ต้องกลายเป็นภาระและค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล แทนที่จะเป็นการเรียกร้องให้รัฐและนายจ้างรับผิดชอบดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของแรงงาน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม เพราะรัฐมีหน้าที่ดูแลประชาชนและนายจ้างได้กำไรจากการทำงานของแรงงาน ที่ควรนำกลับมาลงทุนสร้างสวัสดิการด้านสุขภาพให้แก่แรงงาน และป้องกันอันตรายจากการทำงาน

เมื่อได้ไปสอบถามพนักงานฝ่ายผลิตจำนวนหนึ่งของบริษัทผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ แผ่นวงจรพิมพ์ ตัวกรองฝุ่นในฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ที่ตั้งอยู่ในเขตภาคกลาง ภาคอีสานและภาคตะวันออก ในปี 2552-2553  ที่จ้างกำลังแรงงานตั้งแต่หนึ่งพันถึงสี่หมื่นคน ทำงานวันละ 12 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 60 ชั่วโมง หยุดงานเดือนละ 4-5 วัน ทำให้เห็นสภาพการทำงานที่สามารถส่งผลต่อสุขภาพของแรงงานหญิง ที่รัฐจำเป็นต้องดูแลเอาใจใส่สิทธิของแรงงาน โดยเฉพาะผู้หญิงให้มากขึ้น

ปรากฏการณ์การท้องแล้วแท้ง และท้องใหม่

ด้วยลักษณะงานที่ต้องสัมผัสกับสารเคมีเป็นประจำ เช่น คาร์บอน ตะกั่วดิบ ตะกั่วผสมดีบุกกับทองแดง แอลกอฮอล์ (Isopropyl Alcohol-IPA) น้ำยาทำความสะอาด Flux อะซิโตน (Acetone) น้ำยา NMP (N-Methyl-2-pyrrolidone) สารทำให้เย็น (coolant) ฝุ่นในห้องคลีนรูม ทั้งรังสีจากแสงเลเซอร์ จนเกิดอาการแพ้ตามผิวหนัง ระคายเคืองบนใบหน้า วิงเวียนศีรษะ อาเจียน เป็นหวัด  การนั่งทำงานหลายชั่วโมงติดต่อกัน จนเกิดอาการปวดหลัง และเกิดปรากฏการณ์การแท้งขึ้น  โดยไม่มีการตรวจสอบสาเหตุอย่างจริงจังและไม่มีการสรุปสาเหตุให้พนักงานทุกคนรับทราบ  กลายเป็นเรื่องกระอักกระอ่วนของพนักงานหญิงเพราะฝืนทนอยู่กับสภาพการทำงานกับสารเคมี การนั่งนาน ใช้สายตาเพ่ง ฯลฯ จนเจ็บป่วยโดยไม่เรียกร้องอะไรจากนายจ้าง  และถ้าหากทนไม่ได้ ก็จะมีทางออกเดียวคือ ลาออกไป 

แผนกที่ใช้สารเคมีในการผลิตชิ้นส่วนฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ได้แก่ แผนกผลิตหัวอ่าน (slider fabrication) แผนกประกอบไดร์ฟ (Head drive assembly) แผนกซ่อมชิ้นงาน (rework) แผนก Hand Load แผนกประกอบแผงวงจรพิมพ์ (PCB) ลงเครื่อง แผนกประกอบบอร์ด PCB เปล่า ห้องคาร์บอน เตรียมวัตถุดิบ แผนกบำรุงรักษาเครื่องจักรในการผลิต (tooling) เป็นต้น

คนงานหญิงคนหนึ่งกล่าวว่า ในขณะที่ตนทำงานในบริษัทผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟแห่งหนึ่งในเขตจังหวัดอยุธยา หลักการปฏิบัติต่อคนงานหญิงที่ตั้งครรภ์ คือ คนงานต้องแจ้งให้หัวหน้าทราบเมื่อตั้งครรภ์ ภายใน 3 เดือน เพื่อที่จะคัดแยกคนงานหญิงให้ออกมาทำงานนอกสายการผลิต (นอกไลน์) และทำงานเบาในสถานที่ๆ จัดให้  เช่น จัดทำเอกสาร จัดห้องประชุม ช่วยงานสำนักงาน ซึ่งตนเห็นว่า เป็นหลักปฏิบัติที่ช่วยป้องกันอันตรายจากสารเคมีในห้องคลีนรูมที่เต็มไปด้วยฝุ่นจากสารเคมีที่มองไม่เห็น อย่างไรก็ตาม รายได้ของคนงานหญิงที่ตั้งครรภ์จะลดลงถึงครึ่งหนึ่ง (ประมาณ 5,000 บาท/เดือน)

ที่แย่กว่านั้น คือ คนงานในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือคนหนึ่งเล่าว่า คนงานหญิงที่ตั้งครรภ์กำลังอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงอันตรายจากการทำงาน  ดังเห็นได้จากการเขียนความเห็นเสนอแนะลงในกล่องรับความคิดเห็นของบริษัท  ที่ซึ่งบริษัทไม่เคยตอบกลับมา  ข้อเสนอแนะของคนงานนั้นมีใจความว่า 

- ขอให้ผู้บริหารจัดพื้นที่ทำงานสำหรับคนท้องโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันไม่ให้คนงานอื่นเดินชนคนท้องที่สวมใส่ชุดทำงานคล้ายหมี (smog) ที่สามารถปิดบังการตั้งครรภ์ได้  เพราะเคยเกิดเหตุการณ์เดินชนคนงานที่ท้อง ถูกนำส่งโรงพยาบาล และแท้งในเวลาต่อมา

- ควรให้คนงานหญิงเข้างานสายขึ้น จากเดิมที่ต้องเข้างานตั้งแต่เวลา 6.00 และเลิกงานเวลา 14.00 น. เป็นเวลา 6 วัน/สัปดาห์ ได้สร้างความลำบากในการดำเนินชีวิตของพวกเขา คือ ต้องตื่นแต่เช้าประมาณ 4.30 น. ออกจากบ้านมารอรถรับ-ส่ง เวลา 04.50 น. และรถมารับตรงเวลาคือ 05.10 น. มาถึงโรงงานเวลา 05.30 น. และเหลือเวลารับประทานอาหารเช้าเพียง 30 นาที ก็เข้างานเวลา 6 โมง  แต่บริษัทผ่อนปรนให้เข้าสาย 30 นาทีเท่านั้น   เมื่อคำนึงถึงสภาพของคนท้องที่ใช้ชีวิตประจำวันอย่างยากลำบาก ทั้งเจ็บป่วยบ่อย  จึงเสนอให้ผู้บริหารผ่อนปรนเวลาเข้างาน เป็นเวลา 8.00 น. และเลิกงานเวลา 17.00 น. เพื่อป้องกันการเบียดเสียดกับคนงานปกติด้วย

ข้อเสนอดังกล่าว สะท้อนสภาพการทำงานของคนงานที่ตั้งครรภ์ คือ

1. ระบบการแจ้งว่าท้องไม่มีหลักปฏิบัติชัดเจน  คนงานบางคนแจ้งว่าท้องแล้ว แต่ผู้บริหารไม่คัดแยกให้ทำงานนอกไลน์ให้ชัดเจน และผู้บริหารปล่อยให้ทำงานในไลน์ในขณะที่ท้องแก่  บางคนไม่แจ้งว่าท้องเพราะต้องการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานปกติ ทำงานกะดึก (18.00-06.00 น.) และทำงานในวันหยุด เนื่องจากต้องการคงรายได้เอาไว้ ประมาณเดือนละ 10,000 บาท หากทำงานเพียงวันละ 8 ช.ม. (6.00-14.00 น.) จะได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ วีคละ 2,000 กว่าบาท หรือประมาณ 5,000 บาท/เดือน  โดยไม่ได้เบี้ยขยันเหมือนบริษัทอื่น

2. เกิดปัญหาสุขภาพภาวะเจริญพันธุ์ตามมา เช่น การแท้งในที่ทำงานโดยไม่สืบหาสาเหตุ  คนงานคนหนึ่งตั้งครรภ์ 3 เดือนแจ้งต่อผู้บริหาร แต่ยังถูกใช้ให้ทำงานในไลน์ตามปกติ เพียงแค่ไม่ต้องยกของหนัก แต่ยังคงสัมผัสกับสารเคมี  ตัวอย่างเช่น

แผนกผลิตหัวอ่าน มีการใช้แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ IPA 100% เช็ดตัวงาน (ชิพ) และผสมน้ำยาชนิดอื่นให้เจือจางเพื่อเช็ดทำความสะอาดเครื่องจักรด้วย  ทั้งยังมีการใช้เครื่องยิงแสงเลเซอร์ไปยังหัวอ่าน  ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายได้  นอกจากนี้เพื่อนร่วมงานของคนงานที่ให้สัมภาษณ์ตั้งครรภ์ 7 เดือนและยังคงทำงานอยู่ในไลน์การผลิตเช่นเดียวกัน  อีกรายหนึ่งอายุราว 29 ปี ท้องแล้วแท้งในเดือนที่ 7  เนื่องจากไม่ได้แจ้งหัวหน้างานให้ทราบว่าท้องตั้งแต่ต้น และทำงานเหมือนคนงานปกติ แต่ในเวลาต่อมาคนงานรายนี้ตั้งครรภ์อีกเป็นครั้งที่ 2 (เมื่อปลายปี 2553)   อีกรายหนึ่งคลอดลูกออกมาผิดปกติ เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล เด็กทารกอยู่ในห้องไอซียู เป็นกรณีที่ร้ายแรงกรณีหนึ่ง ซึ่งยังไม่ทราบว่ามีชะตากรรมเช่นไร

คำบอกเล่าของคนงาน มีอีกว่า คนงานหญิงบางรายท้องเมื่ออายุมากแล้ว เช่น รายหนึ่งท้องในขณะอายุ 43 ปี   การท้องในขณะอายุมากเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนงานยังคงอดทนทำงานในสภาพเช่นนี้ต่อไป โดยไม่กล้าเสนอให้ผู้บังคับบัญชาปรับปรุงสภาพการทำงานของตนเอง  เพราะถ้าหากถูกเลิกจ้างจะทำให้หางานทำยากมากเพราะคนงานสูงอายุมักไม่เป็นที่ต้องการของโรงงาน
คนงานคนเดียวกันเล่าอีกว่า ตนท้องอยู่ราว 3 เดือนก็แท้ง ก่อนหน้าได้แจ้งให้หัวหน้าว่ากำลังท้อง 2 เดือน และถูกย้ายไปทำงานส่องกล้องแทนการทำงานกับสารเคมี  อย่างไรก็ตาม ตนคาดว่า ลักษณะการทำงานที่ต้องนั่งนานเกินไปจนเกิดอาการปวดเมื่อย บวกกับประสบอุบัติเหตุเล็กน้อยในขณะที่ท้อง 2 เดือน แต่ไม่พบว่ามีความผิดปกติอะไร หลังจากที่ไปพบแพทย์แล้ว  ต่อมาประมาณ 1 เดือนเกิดอาการปวดท้องในที่ทำงานและแท้งในห้องน้ำของบริษัท  และเข้าพักรักษาพยาบาลเป็นเวลา 3 วันจึงกลับมาทำงานใหม่  โดยไม่มีการขอให้หัวหน้างานสืบสาเหตุของการแท้งแต่อย่างใด และผู้บริหารไม่ได้ไถ่ถาม และตรวจสอบการแท้งในสถานที่ทำงานเลย

3. เจ้าหน้าที่จากกรมแรงงานได้เข้าไปตรวจสอบโรงงาน  แต่ไม่เคยพบปะพูดคุยกับคนงานฝ่ายผลิต ยกเว้นคณะกรรมการสวัสดิการของโรงงานที่มีคนงานเป็นกรรมการ และเจ้าหน้าที่สำนักงานเท่านั้น  จึงมีคนงานเสนอให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปดูแลสอบถามสารทุกข์สุขดิบของคนงานฝ่ายผลิตบ้าง โดยเฉพาะคนงานที่กำลังตั้งครรภ์

กระบวนการผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ : ยิ่งเร่งผลิตยิ่งเสี่ยงอันตราย

การผลิตในห้องคลีนรูม (ห้องผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แบบปิดขนาดใหญ่ที่มีการควบคุมจัดการฝุ่นและสิ่งปนเปื้อนที่มาจากการใช้สารเคมีในการผลิต) จะมีการวัดฝุ่น (particles) ที่เกิดจากการใช้สารเคมีให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย  ทว่าแม้ฝุ่นจะมองไม่เห็นและมีไม่มากหากเทียบกับพื้นที่การผลิต  แต่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมขนาดใหญ่ ที่ต้องใช้เวลาในการขับออกและฟื้นฟูร่างกาย  ในความเป็นจริงคนงานมีเวลาพักผ่อนน้อย ทำงานหลายชั่วโมงติดกัน สามารถก่อให้เกิดผลกระทบในระยะยาวได้  สารเคมีร้ายแรง เช่น สารตะกั่วทำให้ภาวะการเจริญพันธุ์ของหญิงผิดปกติได้  อีกทั้งหากเป็นช่วงของการเร่งผลิต คนงานจะต้องทำงานกับสารเคมีเข้มข้นยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดอาการแพ้เพราะตะกั่วมีกลิ่นเหม็น เมื่อนำไปอบความร้อนจนสุก บางรายเจ็บคอจากการบัดกรีตะกั่ว   ส่วนสารเคมีบางประเภท เช่น IPA ก็เช่นเดียวกัน คือมีกลิ่นฉุน และถูกใช้บ่อยในช่วงของการเร่งผลิต จนทำให้คนงานแพ้ มีสิวเขลอะ แสบคอ แสบจมูก เมา วิงเวียน Coolant ทำให้แสบหน้า เป็นหวัด ไอ และปวดหัว  หรือแม้แต่การทำงานที่ต้องผูกสายดินไว้กับข้อมือของคนงานที่อนุญาตให้มีกระแสไฟฟ้าสถิตย์ผ่านร่างกายสู่ดินตลอดเวลาที่ทำงาน ก็สามารถส่งผลกระทบต่ออัตราการเต้นของหัวใจได้ คนงานเล่าว่า สายดินบางเครื่องไม่ได้มาตรฐาน เก่า ชำรุด และไม่ส่งเสียงเตือนเมื่อไฟเกินในขณะทำงาน ซึ่งอาจทำให้คนงานถูกไฟดูดได้

แม้ว่า โดยปกติคนงานจะต้องสวมชุดป้องกันสิ่งปนเปื้อน อุบัติเหตุและอันตรายจากการทำงาน แต่เมื่อมีการเร่งผลิตคนงานจำต้องถอดเครื่องมือบางชิ้นเพื่อความสะดวกในการทำงานมากขึ้น เช่น บางรายถอดผ้าปิดจมูกเพราะหายใจไม่ออก บางรายถอดแว่นเพราะลมหายใจตีขึ้นแว่น ทำให้เกิดควันขาว มองไม่ค่อยเห็น หรือสวมหน้ากากถึง 3 ชั้นเพื่อป้องกันกลิ่นของ IPA แต่ก็ยังแสบจมูก เพราะมีการใช้อย่างเข้มข้น

ในส่วนของความรับผิดชอบของบริษัท บริษัทไม่มีแนวทางปฏิบัติในการรับมือกับปัญหาสุขภาพของคนงานในระยะยาว มีเพียงแต่สวัสดิการตรวจสุขภาพประจำปีและการรักษาพยาบาลอาการเจ็บป่วยเฉพาะหน้า  และให้สิทธิตามบัตรประกันสังคม  ทำให้ภาระตกอยู่ที่คนงาน ซึ่งหากพบว่าตนเจ็บป่วยเรื้อรัง ก็มักจะลาออกจากงานและกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านต่างจังหวัด และทำให้คุณภาพชีวิตต่ำลง

ผู้ใช้แรงงานและครอบครัวเป็นผู้แบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นจากปัญหาสุขภาพในระยะยาว เช่น เป็นโรคนิคมฯ โรคบิสสิโนซิส (โรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้าย) (อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล 2546) และชุมชุนยังต้องเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมส่งผลต่อสุขภาพด้วยเช่นกัน  ประเทศไทยซึ่งเป็นทั้งแหล่งผลิตและแหล่งทิ้งขยะสารพิษ กลับไม่มีมาตรฐานการคุ้มครองแรงงานให้ปลอดภัยจากสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรม   และยิ่งก่อให้เกิดช่องว่างมาตรฐานความเป็นอยู่ระหว่างแรงงานผู้มีรายได้น้อยกับคนรวย และเป็นปัญหาระดับประเทศตามมา นั่นคือ ช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางด้านคุณภาพชีวิต และปัญหาความยุติธรรม

สิ่งที่ต้องทำในเฉพาะหน้านี้ คนงานหญิงกล่าวย้ำด้วยความเป็นห่วงสถานการณ์ว่า เจ้าหน้าที่ตรวจโรงงานต้องไปตรวจสอบสภาพการทำงานของคนงานหญิง โดยเฉพาะที่กำลังตั้งครรภ์และที่เกิดปัญหาการแท้งในสถานที่ทำงาน โดยลงไปพูดคุย สอบถาม สัมผัสกับการทำงานของคนงานฝ่ายผลิต เพื่อหาทางแก้ไขอย่างทันท่วงที อย่าปล่อยให้มีข่าวเล่าซุบซิบกันภายในโรงงานว่า “ท้องแก่ยังแท้งได้” และอย่าปล่อยให้คนงานหญิงเผชิญชะตากรรมอย่างโดดเดี่ยว เพราะที่ๆ ที่เธออยู่ แทบไม่มีใครกล้าท้าทาย และเรียกร้องความยุติธรรมจากนายจ้าง ทุกอย่างดำเนินไปตามปกติ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นในดินแดนอันลึกลับ ที่ขาดการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง

------------------------------------------------

แหล่งอ้างอิง

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์. (2550)
http://www.dbd.go.th/corpsearch2/corptop100_profit.phtml?type=5
อาชนัน เกาะไพบูลย์. เครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ของไทย: นัยต่อการ
พัฒนาอุตสาหกรรม.หนังสือรายงานการสัมมนาทางวิชาการ ประจำปี 2552 เรื่อง “การบริหารโลกาภิวัตน์ :ประสบการณ์ของภาคอุตสาหกรรมไทย” จัดโดย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันพุธที่ 22 กรกฎาคม 2552
อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล. (2546)  โรคจากการทำงาน สารพิษและสิ่งแวดล้อมที่พบบ่อยและการป้องกัน (น.
56-67). ใน สมบุญ สีคำดอกแค (บรรณาธิการ) คู่มือแรงงานและชุมชน “การเฝ้าระวังโรคจากการทำงานสารพิษ และสิ่งแวดล้อม”.  กรุงเทพฯ : สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย
สัมภาษณ์คนงานผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ กันยายน 2552-มกราคม 2554
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คปร.เปิด 5 มาตรการ ปฏิรูปที่ดินเพื่อภาคเกษตร

Posted: 07 Feb 2011 05:52 PM PST

คปร.เสนอแผนจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร กำหนดเพดานถือครองที่ดินเกษตรไม่เกิน 50 ไร่ต่อครัวเรือน เผยต้องดึงที่ดินไม่ใช้ประโยชน์จากมือ แลนด์ลอร์ด-หน่วยราชการ-นักการเมือง พร้อมใช้ภาษีก้าวหน้าให้เกิดการคายที่ดิน

 
 
วันที่ 7 ก.พ.54 เมื่อเวลา 15.00 น.ที่บ้านพิษณุโลก คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ซึ่งมีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน จัดแถลงข่าวเรื่อง “ข้อเสนอการปฏิรูปการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร” พร้อมออกแถลงการณ์คณะกรรมการปฏิรูป ระบุข้อเสนอ 5 ข้อ โดยมีสาระสำคัญดังนี้ 1.ให้มีการจำกัดเพดานการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรไว้ไม่เกิน 50 ไร่ต่อครัวเรือน เพื่อลดการกระจุกตัวของการถือครองที่ดิน 2.ให้มีการจัดระบบข้อมูลการถือครองที่ดิน เพื่อการเกษตรทั้งประเทศเป็นข้อมูลสาธารณะ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์และเกิดความเป็นธรรม 3.ให้จัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตรขึ้น เพื่อทำหน้าที่จัดซื้อที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือที่มีการถือครองล้นเกินมาจัดสรรให้เกษตรกรที่ขาดแคลนที่ดินทำกิน
 
4.ให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินเกษตรกรรมในอัตราก้าวหน้า เพื่อลดแรงจูงใจในการสะสมที่ดินไว้โดยไม่ทำประโยชน์ โดยผู้ที่มีที่ดินขนาดต่ำกว่า 10 ไร่ ให้เสียภาษีในอัตราต่ำร้อยละ 0.03 ที่ดิน 10 – 50 ไร่ เสียภาษีร้อยละ 0.1 และสำหรับที่ดินที่เกินจาก 50 ไร่ให้เสียภาษีอัตราก้าวหน้าสูงร้อยละ 5 และ 5.ให้มีการกำหนดเขตการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรขึ้นมาอย่างชัดเจน โดยกำหนดให้ผู้ถือครองที่ดินดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ทำการเกษตรด้วยตนเองเท่านั้น
 
นายอานันท์ กล่าวว่า ปัญหาต่างๆ ในสังคมไทยทั้งการขาดโอกาสและความเหลื่อมล้ำ ล้วนมีสาเหตุมาจากต้นตอเดียวกันคือโครงสร้างสังคมที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะปัญหาความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรที่ดินทำกินนั้นเป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่ง ซึ่งส่งผลกระทบทางลบผูกโยงกับปัญหาอื่นๆ อีกหลายประการ เพราะที่ดินซึ่งเป็นปัจจัยในการผลิต ได้กลายมาเป็นสินค้าในตลาดที่มีการเก็งกำไร และกระจุกตัวอยู่กับคนกลุ่มเล็กๆ เพียงบางกลุ่ม
 
“เรื่องนี้ไม่ใช่การบังคับ ยืนยันว่าการกำหนดเพดานถือครองที่ดิน 50 ไร่ ไม่ได้ต้องการให้มองว่าคนที่มีที่ดินเกิน 50 ไร่ เป็นคนไม่ดี เป็นคนเลวจนต้องบังคับเอาที่ดินออกมา แต่จะมีวิธีการที่จะอะลุ่มอล่วยในการจัดการ และต้องแน่ใจด้วยว่าที่ดินที่นำออกมาจัดสรรจะต้องถูกนำไปใช้เพื่อการเกษตรอย่างแท้จริง” นายอานันท์แจง
 
 
แนะระงับการจับกุม-ดำเนินคดี บรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า
 
ส่วนปัญหากรณีพิพาทคดีความเรื่องที่ดินของเกษตรกรกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน นายอานันท์กล่าวว่า ทางคณะกรรมการปฏิรูปมีข้อเสนอเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า โดยให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบระงับการจับกุมและการดำเนินคดีประชาชนไว้ก่อน จนกว่าจะมีการหาทางออกหรือจนกว่าจะมีการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกิน อีกทั้ง ในกระบวนการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร ภาคประชาชนควรเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน
 
นายอานันท์ระบุรายละเอียดข้อเสนอ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ1.คดีที่ดินที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้วขอให้มีการพักโทษ ลดโทษ และคุมประพฤติ โดยให้ผู้ต้องโทษกลับไปอยู่ดูแลครอบครัว ทำการเกษตรเลี้ยงครอบครัวในที่ดินเดิม 2.คดีที่ดินอยู่ระหว่างการพิจารณา ขอให้มีการจำหน่ายคดีชั่วคราว อนุญาตให้เกษตรกรผู้ต้องหาและครอบครัวอยู่อาศัยทำกินในที่ดินเดิมจนกว่าการแก้ไขปัญหาตามนโยบายของรัฐบาลจะแล้วเสร็จ 3.กรณีปัญหาที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เนื่องจากยังมีชุมชนที่อยู่ในเขตป่าอย่างผิดกฎหมายจำนวนมากที่อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาตามนโยบายของรัฐบาล จึงสมควรระงับการดำเนินการใดๆ ที่เป็นการเพิ่มความเดือดร้อนและความรุนแรงกับคนจน
 
 
หวังประชาชน-สื่อร่วมผลักดัน ให้นักการเมืองหยิบไปทำนโยบาย
 
นายอานันท์ กล่าวด้วยว่า ข้อเสนอดังกล่าวของคณะกรรมการปฏิรูปไม่ได้เป็นประกาศ แต่มุ่งเปิดประเด็นที่สังคมควรรับรู้ ติดตาม ศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม และมีพื้นที่ในการถกเถียงต่อประเด็นนั้นๆ ทั้งนี้ พื้นฐานการปฏิรูปจะปรากฏผลเมื่อเป็นฉันทามติของประชาชน ดังนั้นทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการช่วยกันคิดช่วยกันทำ ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปนั้นเสนอต่อสาธารณะเพื่อการผลักดันต่อของภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน ในส่วนรัฐบาลจะมีการแจ้งให้รับทราบ แต่จะนำไปดำเนินการหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของรัฐบาล เพราะไม่สามารถไปบังคับรัฐบาลได้
 
“เรื่องนี้คณะกรรมการปฏิรูปไม่ใช่คนทำ แล้วแต่นักการเมืองหรือรัฐบาลจะเป็นคนหยิบไปทำเมื่อเห็นว่าประชาชนสนใจ แต่หากประชาชนเงียบไม่สนใจ เรื่องนี้มันก็จะเงียบไป” นายอานันท์กล่าว
 
ต่อคำถามถึงเรื่องข้อเสนอในประเด็นอื่นๆ ที่จะมีต่อไป ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการปฏิรูปได้จัดทำข้อเสนอในเรื่องเหมืองแร่ใต้ดิน และวิธีจัดสรรงบประมาณลักษณะใหม่ให้ลงไปในพื้นที่โดยตรงใกล้แล้วเสร็จ และยังมีเรื่องการปฏิรูปการศึกษา คุณภาพชีวิตคนเมือง และแรงงานที่มีการจัดทำไปถึงร้อยละ 70 ทั้งนี้ กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะเสนอในเรื่องใดก่อน
 
อย่างไรก็ตามปัญหาความไม่เป็นธรรมเป็นประเด็นในระยะยาว หากจะมีการเลือกตั้งครั้งไม่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าทางคณะกรรมการปฏิรูปอาจต้องรีบเร่งในการทำข้อเสนอ โดยเฉพาะในประเด็นใหญ่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยหวังว่าประเด็นที่นำเสนอจะถูกพัฒนาไปเป็นนโยบายของพรรคการเมืองและรัฐบาลในอนาคตได้
 
 
“เพิ่มศักดิ์” แจงกรณีจำกัด 50 ไร่ต่อครัวเรือน
 
ด้านดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ หนึ่งในกรรมการปฏิรูป กล่าวว่า กลุ่มบุคคลที่จะต้องนำพื้นที่ดินนำมาจัดสรรนั้นมี 3 กลุ่ม คือ 1.เจ้าของที่ดินที่ถือครองขนาดใหญ่ อาจจะเป็นบริษัทเอกชนไม่ว่าจะเป็นรายย่อยรายเดี่ยวหรือบุคคลที่ถือครองที่ดินไว้เป็นจำนวนมาก 2.ส่วนราชการที่กันที่ดินเอาไว้แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร และ 3 คือนักการเมืองที่ถือครองที่ดินจำนวนมาก ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่จะต้องคายที่ดินออกมา
 
ส่วนกรณีการจำกัดการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรไม่เกิน 50 ไร่ต่อครัวเรือน ดร.เพิ่มศักดิ์ ชี้แจงว่า เป็นตัวเลขที่เหมาะสมเพราะครอบคลุมระดับการผลิตทุกระดับทั้งในการเกษตรกรรมเพื่อยังชีพในการรักษาวิถีชีวิตเกษตรกร และเพียงพอต่อการทำการเกษตรเพื่อการค้า อีกทั้งจากการศึกษาพบว่า พื้นที่ 50 ไร่ นี้ครอบคลุมเพียงพอในการปลูกพืชเกษตรทุกประเภท เช่น พืชไร่ ต้นยาง และปาล์ม ฯลฯ โดยสามารถทำการค้าได้คุ้มกับการลงทุน นอกจากนั้นอัตราดังกล่าวเคยเป็นเพดานที่เคยกำหนดใน พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ทั้งนี้ หลักการสำคัญคือผู้ที่จะมาถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรต้องเป็นผู้ที่ใช้ประโยชน์จริง
 
นอกจากนั้น การเสนอมาตรการทางภาษีจะเป็นตัวแปรในการตัดสินใจอีกทางหนึ่ง โดยการศึกษาพบว่า สำหรับผู้ที่ถือครองที่ดินมากกว่า 50 ไร่ แต่ปล่อยทิ้งร้าง การเสียภาษีอัตราก้าวหน้าร้อยละ 5 จากราคาประเมินกลางของกรมที่ดิน ถือเป็นอัตราที่ไม่จูงใจให้ผู้ถือครองที่ดินเก็บไว้ให้เช่า เนื่องจากรู้สึกว่าไม่คุ้มค่า หากเก็บที่ดินไว้เพื่อทำกำไร
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น