โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

นักข่าวพลเมือง: ชุมนุมลานพระรูปฯ ยันปักหลักต่อ หลัง ครม.เลื่อนพิจารณา “กรณีปากมูน”

Posted: 22 Feb 2011 12:17 PM PST

ขบวนการประชาชนฯ เคลื่อนจากลานพระบรมรูปทรงม้าไปทำเนียบ เกาะติด ครม.พิจารณาปัญหา เตรียมพร้อมปักหลักยาวต่อ หลังมติ ครม.อนุมัติงบกองทุนธนาคารที่ดิน-บ้านมั่นคงคนไร้บ้าน แต่โฉนดชุมชนเพียงรับทราบ ส่วนเปิดเขื่อนปากมูลให้นำเรื่องกลับไปศึกษาอีกครั้ง 

 
 
 
 
 
สืบเนื่องจาก ตัวแทนจากกลุ่มปัญหาต่างๆ ในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ (P Move) ซึ่งปักหลักชุมนุมอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้ร่วมเจรจากับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2554 โดยที่ประชุมเห็นชอบให้นำเรื่องเร่งด่วนที่มีข้อยุติแล้วเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) 4 เรื่อง ได้แก่ 1.ดำเนินการตามมติของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล โดยการเปิด 5 ปี และฟื้นฟูเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ 2.การอนุมัติงบประมาณ 52.7 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของคนไร้บ้าน 3.การอนุมัติงบประมาณ 167 ล้านบาท กรณีโครงการนำร่องธนาคารที่ดินภาคเหนือ 5 หมู่บ้าน และ 4.กรณีการดำเนินการจัดให้มีโฉนดชุมชน
 
วันนี้ (22 ก.พ.54) เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น.ขบวน ขปส.จำนวน 5,000 คน ได้เดินทางจากสถานที่ชุมนุมไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามการนำผลการเจรจากับนายกรัฐมนตรี เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.โดยในการประชุมมี 2 เรื่องที่ผ่านการพิจารณา คือ โครงการนำร่องกองทุนธนาคารที่ดินภาคเหนือ และบ้านมั่นคงของคนไร้บ้าน แต่เรื่องโฉนดชุมชน ที่ประชุมเพียงเห็นชอบ แต่ยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้
 
ส่วนกรณีการแก้ปัญหาเขื่อนปากมูล นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม.ว่า จากกรณีที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องผู้ชุมนุมเขื่อนปากมูล ให้เปิดเขื่อนเป็นเวลา 5 ปี จากเดิมให้เปิด 4 เดือนปิด 8 เดือน ที่ประชุม ครม.ไม่มีมติ โดยนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน และรัฐมนตรีที่สนใจเสนอความเห็นต่อที่ประชุม ครม.อีกครั้ง
 
นายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ซึ่งร่วมชุมนุมกับกลุ่มพีมูฟ กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังที่ในวันนี้ ครม.มีมติเห็นชอบเพียง 2 เรื่อง คือกรณีคนไร้บ้าน และกรณีโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน สำหรับอีก 2 เรื่องถือว่ารัฐบาลยังไม่กล้าตัดสินใจ โดยกรณีโฉนดชุมชนนั้นการที่คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ ไม่มีผลในทางปฏิบัติ และไม่มีผลต่อการส่งมอบพื้นที่โฉนดชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่รับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย ส่วนกรณีปากมูลนั้น มีจะมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.อีกครั้งในวันที่ 8 มี.ค.นี้ ทั้งที่เรื่องนี้มีข้อมูลผลการศึกษาของคณะกรรมการที่มี นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ชัดเจนแล้ว แต่ติดขัดที่การเมืองภายในพรรคประชาธิปัตย์เอง
 
“เมื่อเป็นเช่นนี้เราต้องชุมนุมยืดเยื้อ โดยอาจจะอยู่ยาวจนกว่าจะสามารถแก้ปัญหากรณีปากมูลและโฉนดชุมชนแล้วเสร็จ นอกจากนี้ยังมีกรณีอื่นๆ เช่น เรื่องคดีความ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพย์ เรื่องเหมืองแร่ และโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งจะมีการประสานให้มีการเจรจากับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องภายในสัปดาห์นี้ โดยในวันพรุ่งนี้จะมีการประชุมกับกระทรวงมหาดไทย” นายประยงค์กล่าว
 
ด้าน ดร.นฤมล ทับจุมพล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาเรื่องปากมูนเป็นปัญหาเรื่องการเมือง ไม่ใช่ปัญหาวิชาการ เป็นเรื่องวิธีคิดที่ว่าการเปิดเขื่อนเป็นการลดระดับน้ำ การปิดเขื่อนเป็นการเพิ่มระดับน้ำ ซึ่งสะท้อนการมองปัญหาเรื่องความแห้งแล้ง การกลัวภัยแล้ง ตอนนี้น้ำโขงแห้งเร็ว เมื่อเปิดเขื่อนทำให้น้ำแห้งเร็ว แต่ว่าเรื่องนี้ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมมาแล้ว ที่ผ่านมารัฐกลัวว่าน้ำไม่พอก็เก็บน้ำไว้ ก็ปิดเขื่อน แต่เมื่อฝนตกไม่กี่ครั้งก็เกิดน้ำท่วม ปีที่ผ่านมามีปัญหาน้ำท่วม เป็นปัญหาการจัดการระบบชลประทาน เป็นประเด็นทางด้านการเมือง ไม่ใช่เรื่องเทคนิค
 
“รัฐบาลต้องมีความรับผิดชอบ ปัญหาที่เกิดขึ้นรัฐเป็นคนก่อปัญหาก็ต้องรับผิดชอบ การจ่ายค่าชดเชยเป็นการแสดงความรับผิดชอบของรัฐ ประเด็นปากมูนเป็นประเด็นการเมือง ความเรื่องความกล้าหาญทางการเมือง เพราะด้านวิชาการเพียงพอแล้ว” ดร.นฤมลแสดงความเห็น
 
ทั้งนี้ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เป็นการรวมตัวของเกษตรกรและคนจนเมืองที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมและได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาประเทศ ประกอบด้วย 4 เครือข่าย คือ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.), เครือข่ายสลัม 4 ภาค, สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล, และเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) โดยมีข้อเรียกร้องให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรม การยอมรับสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิความเป็นมนุษย์
 
 
 
แถลงการณ์ ฉบับที่ ๘
พิสูจน์ความจริงใจรัฐบาล ๔ กรณีปัญหาต้องยุติ
และเร่งเปิดการเจรจาสางปัญหาอีก ๔๐๐ กรณีปัญหาโดยเร็ว
 
๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ประชาชนผู้ไม่ได้รับความเป็นจากนโยบายการพัฒนา ทั้งคนจนจากชนบทและคนจนเมืองที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือได้รับผลกระทบอันเลวร้ายจากนโยบายการพัฒนาประเทศ ประกอบด้วยกลุ่มคนจน 4 เครือข่าย3 กรณีคือ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย, เครือข่ายสลัม 4 ภาค, สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล, และเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง ชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้พิบูลมังสาหาร อุบลราชธานี กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวลและคัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อุบลราชธานี จำนวนทั้งสิ้น ๖,๐๐๐ คน ได้ออกเดินทางจากภูมิลำเนา มารวมตัวกันปักหลักอยู่บริเวณหน้าลานพระรูปทรงม้า กรุงเทพมหานคร ในนามของ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) เพื่อทางถามและเร่งรัดให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ค้างคามายาวนาน
 
และต่อมาในวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ได้มีการเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการขึ้นที่รัฐสภา ระหว่างตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมกับรัฐบาลโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน การเจรจาดังกล่าวเป็นการหาข้อสรุปในกรณีปัญหาเบื้องต้น ซึ่งสามารถหาข้อยุติได้ ๔ กรณีปัญหา จากทั้งหมด จำนวน ๔๐๐ กรณีปัญหา ซึ่งปัญหาที่ยุติและพร้อมที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรีเพียง ๔ กรณีปัญหา
 
ดังนั้น วันนี้จึงเป็นเพียงบทพิสูจน์ความจริงใจของรับบาลว่า ๔ กรณีปัญหาที่เข้าสู่การพิจารณาในการประคณะรัฐมนตรี จะต้องได้รับความเห็นชอบ เพราะหากปัญหาใด ปัญหาหนึ่งไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี พวกเราก็ไม่สามารถไว้วางใจรับบาลได้ว่า กรณีปัญหาที่เหลืออีกกว่า ๔๐๐ กรณีปัญหาจะได้รับการแก้ไข
 
อย่างไรก็ตาม พวกเราขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ก็เห็นความตั้งใจของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในการผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหา หากติดขัดเฉพาะรัฐมนตรีบางคนในรัฐบาล
 
ดังนั้นเพื่อก้าวข้ามความล่าหลังของรัฐมนตรีบางคน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี จักต้องแสดงความเป็นผู้นำในการปราบพยศ รัฐมนตรีบางคน เพื่อนำพาสังคมไปสู่ความก้าวหน้า ตามเจตนารมณ์ ที่ประกาศไว้ ว่า ประชาชนต้องมาก่อน
 
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ขอยืนยันว่า ๔ กรณีปัญหาที่เข้าสู่การพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ จะต้องได้รับความเห็นชอบตามข้อตกลงระหว่างพวกเรากับรับบาล และเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการ เพื่อแก้ไขปัญหาอีก ๔๐๐ กรณีปัญหาให้ยุติโดยเร็ว
 
คนจนทั้งผองพี่น้องกัน
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สหภาพ อสมท. จี้ตรวจสอบ "สุรพล นิติไกรพจน์" จวกไม่โปร่งใส-ขาดหลักธรรมาภิบาล

Posted: 22 Feb 2011 09:34 AM PST

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ อสมท เข้ายื่นหนังสือให้นายกฯ สอบการบริหารงานของ ประธานกรรมการและ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อ้างขาดความโปร่งใส ไม่มีธรรมาภิบาล กรณีต่อสัญญาช่อง 3 10 ปีเรียกผลตอบแทน 2 พันล้าน - ทรูค้างจ่ายค่าตอบแทนเพิ่ม 6.5% ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย และกรณีจัดหาวัสดุด้วยวิธีพิเศษในวงเงิน 24 ล้าน

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)  นำโดยนางอรวรรณ ชูดี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.อสมท. ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ตรวจสอบการบริหารงานภายใต้การกำกับของนายสุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการ บมจ.อสมท. และนายธนวัฒน์ วันสม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท.ที่อาจมีพฤติกรรมการปฏิบัติหน้าที่ไม่รักษาผลประโยชน์ของบริษัทฯ ไม่โปร่งใส ขาดหลักธรรมาภิบาล และประสิทธิภาพในการทำงาน จนส่งผลกระทบต่ออนาคตขององค์กร

ทั้งนี้ การยื่นหนังสือให้ตรวจสอบการทำงานของนายสุรพลกับนายธนวัฒน์ครั้งนี้ เป็นผลมาจากการนัดหารือพนักงาน บมจ.อสมท.เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา จนได้ขอยุติร่วมกันว่าจำเป็นต้องยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรีในฐานะกำกับการ บริหารราชการแผ่นดินพิจารณาตรวจสอบ และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายใน บมจ.อสมท.ดังนี้ 1. มีการปฏิบัติหน้าที่ไม่โปร่งใส ไม่รักษาผลประโยชน์ของ บมจ.อสมท.จากกรณีการกำกับดูแลคู่สัญญาสัมปทานช่อง 3 ที่ต่อสัญญาไปอีก 10 ปี โดยได้รับค่าตอบแทนคงที่ตลอดอายุสัญญาจำนวน 2,002 ล้านบาท ขณะที่ประธานกรรมการ  บมจ.อสมท.เจรจาขอให้ช่อง 3 ชดเชยค่าเสียหายจำนวน 405 ล้านบาท แต่ยังมีข้อโต้แย้งจากบุคคลภายนอก กรรมการบมจ.อสมท.ส่วนหนึ่ง จนเกรงว่าท้ายที่สุดจะทำให้ บมจ.อสมท. จะเสียผลประโยชน์ รวมถึงกรณีการให้บริษัททรูวิชั่นส์มีโฆษณาตามมติคณะกรรมการ บมจ.อสมท.ซึ่งมีการระบุให้จ่ายค่าตอบแทนเพิ่มเป็นเงินร้อยละ 6.5 ของรายได้ ก่อนหักค่าใช้จ่าย แต่จนถึงขณะนี้ บมจ.อสมท.ยังไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ

อีกทั้งกรณีการจัดหาวัสดุด้วยวิธีระบบพิเศษ เทเลพรีเซนซ์ ระยะเวลา 24 เดือนในวงเงิน 24 ล้านบาท โดยอ้างถึงการไปดูงานของกรรมการ บมจ.อสมท.ที่มีบริษัท ซีสโก้ ซีสเตมส์ สหรัฐอเมริกา ทำให้มีการตั้งเรื่องจัดหาอุปกรณ์ดังกล่าวด้วยวิธีพิเศษ อ้างว่ารองรับการสื่อสารประชุมทางไกลกับบุคคลสำคัญที่ทำเนียบรัฐบาล และรัฐสภา ทั้งที่ บมจ.อสมท. มีรถถ่ายทอดสัญญาณดาวเทียมและห้องส่งที่พร้อมรองรับภารกิจต่างๆ อยู่แล้ว

2. การบริการที่ขาดหลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส สร้างความแตกแยกภายในองค์กร มีการล้วงลูกการบริหาร การปรับปรุงโครงสร้างองค์กร แต่ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของพนักงาน โดยเฉพาะความพยายามผลักดันให้มีการบรรจุผู้บริหารสัญญาจ้าง โดยจะให้ลูกจ้างสัญญาจ้างใน บมจ.อสมท.เฉพาะ 3 ตำแหน่งคือ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน (ซีเอฟโอ) และผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานตรวจสอบภายใน ซึ่งไม่มีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแห่งใดทำเช่นนี้ เป็นการปิดกั้นโอกาสในการสรรหาบุคลากรมืออาชีพในตำแหน่งหลักได้อย่างเปิด กว้าง และสอดคล้องกับความจำเป็นทางธุรกิจ และยังเป็นการบั่นทอนขวัญกำลังใจพนักงานในการเติบโตตามสายงาน

นอกจากนี้ยังมีการจ้างบริษัทปรับปรุงโครงสร้างองค์กรซึ่งมีความพยามปิดกั้น การมีส่วนร่วมจากสหภาพฯ ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากพนักงาน อีกทั้งระหว่างนี้ได้มีการใช้อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานหลายระดับโดยไม่ ผ่านสำนักทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งมีการแต่งตั้งบุคคลใกล้ชิดกรรมการผู้อำนวยการใหญ่มาดำรงตำแหน่ง รักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักเลขานุการบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เนื่องจากคณะกรรมการ บมจ.อสมท.ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ ประเมินผลงานของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่

3. ขาดประสิทธิภาพเชิงบริหาร กระทบต่ออนาคตขององค์กร มีความล่าช้าในการเตรียมแผนรองรับ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ไม่มีความชัดเจนเรื่องแผนงานของธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะการจัดซื้ออุปกรณ์จำนวนหลายร้อยล้านบาท แผนการเช่าสัญญาดาวเทียมมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท ทั้งที่คาดว่าจะมีกำไรเพียงปีละ 20 ล้านบาทเท่านั้น

นายอภิสิทธิ์ กล่าวกับตัวแทนสหภาพที่เข้ายื่นหนังสือตอนหนึ่งว่า ขอให้สหภาพฯ รวบรวมประเด็นปัญหาเข้ามา เรื่องไหนที่คิดว่าไม่โปร่งใสเสนอมา และตนจะส่งเรื่องไปยังรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ เพื่อทำหนังสือถึงผู้บริหาร อสมท.และประธานบอร์ด อสมท.เพื่อให้ชี้แจงข้อกล่าวหาต่างๆ ทั้งเรื่องของค่าโฆษณาของทรูวิชั่น ไปเจรจาความเสียหายให้ประธานบอร์ดชี้แจง ที่ไปเรียกค่าเสียหายจากช่อง 3 คืออะไร พร้อมกับยืนยันว่า เรื่องของการจัดหาวัสดุพิเศษระบบเทเล พรีเซนซ์ ไม่เกี่ยวสำนักนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นเรื่องที่สำนักนายกฯ มีโครงการนี้อยู่แล้ว เพียงแต่อยู่ที่การศึกษาความคุ้มค่าระหว่างการเช่าหรือซื้อมา ไม่เกี่ยวกันเป็นเรื่องที่ ผอ.อสมท.ต้องชี้แจงกับทางสหภาพฯ.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"สมคิด เลิศไพฑูรย์" เผยบังคับ นศ.มธ. เรียน TU100 ให้มีจิตสำนึกรักประเทศชาติ

Posted: 22 Feb 2011 08:57 AM PST

อธิการบดีธรรมศาสตร์เผยปี'54 เตรียมให้ นศ.มธ.ทั้งหมดเรียน TU 100 "ความเป็นพลเมืองกับความรับผิดชอบต่อสังคม" 3 หน่วยกิต รวม 48 ชั่วโมงต่อเทอม เผยอยากให้ นศ. ทำกิจกรรมเพิ่มมากขึ้นจะได้มีประสบการณ์ชีวิต ไม่อยากให้เรียนแต่ในห้องเรียน

ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวไทยโพสต์ เมื่อ 21 ก.พ. นี้ว่่า ในปีการศึกษา 2554 นี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จะกำหนดให้นักศึกษา มธ.ทั้งหมดต้องเรียนวิชา TU100 หรือวิชาความเป็นพลเมืองกับความรับผิดชอบต่อสังคม จำนวน 3 หน่วยกิต เป็นเวลา 48 ชั่วโมง/เทอม เพื่อให้นักศึกษาได้รู้ว่าตนเองต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมด้วย ไม่ใช่ต่อตนเองเท่านั้น รวมถึงให้มีจิตสำนึกในการรักประเทศชาติ

อธิการบดี มธ.กล่าวต่ออีกว่า โดยวิชาดังกล่าวปรับปรุงมาจากวิชาพื้นฐานทั่วไปซึ่งจะสอนเรื่องประวัติศาสตร์ทั่วไป มาเน้นให้นักศึกษาได้ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งนักศึกษาจะเป็นผู้กำหนดตัวกิจกรรมเอง อาทิ การรณรงค์ลดการสูบบุหรี่ การป้องกันยาเสพติด เป็นต้น ทั้งนี้ตนอยากให้นักศึกษาได้ออกมาทำกิจกรรมเพิ่มมากขึ้นเพื่อจะได้มีประสบการณ์ชีวิต ไม่อยากให้นักศึกษาเรียนแต่ในห้องเรียนเท่านั้น

“ที่ผ่านมา มธ.ได้ทดลองสอนวิชาความเป็นพลเมืองให้กับนักศึกษาจำนวนหนึ่งไปแล้วเป็นเวลา 2 ปี ปีละ 12 ชั่วโมง และได้ผลที่น่าพอใจคือนักศึกษามีความกระตือรือร้นในเรื่องการทำกิจกรรมเพื่อ สังคมมากขึ้น ซึ่งผมเห็นว่าการส่งเสริมเรื่องดังกล่าวถือเป็นหน้าที่สำคัญของมหาวิทยาลัย โดยที่ผ่านมามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ยังไม่ได้ลงมาดูเรื่องนี้อย่างจริงจัง” ศ.ดร.สมคิดกล่าว

ศ.ดร.สมคิดกล่าวต่อไปว่า นอกจากต่อไป มธ.จะเปิดช่องทางให้เด็กที่ชอบทำกิจกรรมหรือเด็กที่มาจากโรงเรียนทางเลือก สามารถเข้าเรียนใน มธ.ได้ โดยตั้งเป้าจะเปิดรับปีละประมาณ 20-30 คน เพื่อให้เด็กที่ชอบทำกิจกรรมเหล่านี้เป็นเชื้อสร้างสรรค์กิจกรรมใน มหาวิทยาลัยต่อไป.

 

ที่มา: เรียบเรียงจาก ไทยโพสต์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บุหงารายานิวส์: ปิดล้อมนราฯ ค้นบ้านผู้ผลิตสื่อทางเลือก

Posted: 22 Feb 2011 08:24 AM PST

เจ้าหน้าที่สนธิกำลังล้อมหมู่บ้านนาดา รือเสาะ นราธิวาส ค้นบ้านหลายหลัง แต่ไม่พบผู้ต้องส่งสัย อาวุธ หรือสิ่งผิดกฎหมายใดๆ พร้อมกันได้ตรวจค้นบ้านผู้ผลิตสื่อทางเลือกพีสมีเดีย และตรวจดีเอ็นเอ

เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 54 เวลา 13.00 น. เจ้าหน้าที่ได้สนธิกำลังปิดล้อมหมู่บ้านนาดา ม.3 ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เพื่อตรวจค้นบ้านต้องสงสัย ขณะเดียวกันนั้นได้ตรวจค้นบ้านของผู้ผลิตสื่อทางเลือก เครือข่ายอาสาสมัครสื่อสันติภาพชายแดนใต้ (Southern Peace Media SPM)หรือพีสมีเดีย และได้ตรวจดีเอ็นเอ แต่ไม่พบผู้ต้องสงสัย อาวุธ หรือสิ่งผิดกฎหมายใดๆ

นายเฟาซี ผู้ผลิตสื่อทางเลือก เครือข่ายอาสาสมัครสื่อสันติภาพชายแดนใต้ (Southern Peace Media SPM) เล่าว่า เหตุที่ทำให้บ้านตัวเองถูกค้น เพราะว่าญาติออกไปข้างนอกและได้ล็อคประตูบ้านด้านนอก ตัวเองซึ่งเพิ่งกลับจากการทำงาน ได้นอนพักอยู่ในบ้านหลังดังกล่าว ทำให้เจ้าหน้าที่มองว่ามีพิรุด จึงทำการตรวจค้นบ้านผมทันที และตอนนั้นกำลังนอนอยู่ ตกใจมากที่เห็นเจ้าหน้าพกปื้นเข้ามาในบ้านตัวเอง

"ทางเจ้าหน้าที่ได้สอบถามผมทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการทำงานว่า ทำงานอะไรอยู่ ที่ไหน ทำงานให้กับใคร องค์กรอะไร เป็นเวลานานกว่า 30 นาที พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ได้ค้นในกระเป๋าทำงานของผม ซึ่งมีคอมพิวเตอร์พกพา(โน็ตบุก) กล้องวีดีโอ และอีกมาก จากนั้นก็ได้พาตัวผมเพื่อให้เจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์ตรวจ อีกบ้านหนึ่ง ทำให้ผมรู้สึกเหมือนกับว่า เหมือนเป็นผู้ต้องหา แต่ผมเองก็เข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ตรงนั้น"

จากการสอบถามชาวบ้านในหมู่บ้านนาดา นายเฟาซี กล่าวว่า ชาวบ้านต่างรู้สึกไม่พอใจ กับการที่เจ้าหน้าที่ได้ตรวจค้นบ้านที่ไม่มีเจ้าของบ้านและได้เอา กรรไกรตัดเหล็ก มาตัดกุญแจ และงัดประตูบ้าน หลายหลังอีกด้วยกัน และต่างพูดตรงกันว่า การเข้าตรวจค้นหมู่บ้านครั้งนี้ ดูน่ากลัวมากกว่าทุกครั้ง

เครือข่ายอาสาสมัครสื่อสันติภาพชายแดนใต้ Southern Peace Media (SPM หรือ Peace Media) เป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสื่อภาพและเสียง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นสื่อทางเลือกที่นำเสนอสารคดีผ่านเว็บไซต์ http://www.southernpeacemedia.tv/

ที่มา: http://www.bungarayanews.com/news/view_news.php?id=556
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวสตูลจี้ มอ.7วันยุติ PRปากบารา เตรียมร้องเรียน‘สภามหาวิทยาลัย’

Posted: 22 Feb 2011 08:18 AM PST

กลุ่มคัดค้านเผยภายใน7วันมอ.ไม่ยุติPRท่าเรือปากบารา เตรียมยื่นร้องเรียน‘สภามหาวิทยาลัย’ ชาวบ้านจังหวัดสตูลประมาณ 100 คน ถกรศ.ดร.ธนิยา เกาศล ผู้จัดการโครงการฯและคณะ สดผ่านวิทยุชุมชน ไม่ได้คำตอบ

ชาวบ้านจังหวัดสตูลถกมอ.ยุติประชาสัมพันธ์ท่าเรือปากบารา พร้อมถ่ายทอดสดผ่านวิทยุ

เมื่อเวลา 13.30 น.ของวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ มีการประชุมเจรจาระหว่าง รศ.ดร.ธนิยา เกาศล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นผู้จัดการโครงการงานติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมและประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน ระยะก่อนการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราระยะที่ 1 จังหวัดสตูลและคณะประมาณ 10 คน กับชาวบ้านจังหวัดสตูลประมาณ 100 คน โดยมี รศ.ผดุงยศ ดวงมาลา รองอธิการบดีฝ่ายศิษย์เก่าและชุมชนสัมพันธ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานในการประชุม มีถ่ายทอดสดผ่านวิทยุชุมชน www.healthyradio.org และสถานีวิทยุ มอ. 88.00 MHz.

นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี หนึ่งในแกนนำเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล เปิดเผยว่า ถ้าหากภายใน 7 วัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ไม่มีความชัดเจนในยุติการประชาสัมพันธ์โครงการฯ ทางชาวบ้านจังหวัดสตูลจะยื่นหนังสือต่อสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์,สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา(กนอ.),กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตามลำดับขั้น เพื่อยุติการประชาสัมพันธ์โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จนถึงที่สุด

“มอ.ควรยกเลิกสัญญายุติการประชาสัมพันธ์โครงการฯซึ่งเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้กับกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เพราะโครงการนี้เป็น 1 ใน 11 ประเภทโครงการรุนแรง รวมถึงการทำ EIA มีจุดพร่องหลายประเด็นปัญหา ทั้งกำลังอยู่ในการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” นายวิโชคศักดิ์ กล่าว

รศ.ผดุงยศ ดวงมาลา รองอธิการบดีฝ่ายศิษย์เก่าและชุมชนสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ขอเวลาในการหารือพิจารณากับทีมนักวิชาการคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อหาแนวทางว่าจะดำเนินการ อย่างไร ต่อไป หลังจากที่ได้รับข้อมูลโครงการจากชาวบ้านมากขึ้น

“มอ.ยืนยันจะปลูกฝังนักศึกษาและอาจารย์ของมหาวิทยาลัยทำหน้าที่ด้านบทบาททางวิชาการปฏิบัติตามปณิธานของพระราชบิดา สมเด็จพระมหิตลาธิเบต อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกโดยขอให้ถือประโยชน์ส่วนตน เป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ เป็นกิจที่หนึ่ง” รศ.ผดุงยศ กล่าว
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โพลของ ปชป. เผยอภิสิทธิ์คะแนนพุ่ง มีความซื่อสัตย์-มีความเป็นผู้นำ-เป็นคนตั้งใจทำงาน

Posted: 22 Feb 2011 07:20 AM PST

ผลสำรรวจความนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ระบุ ประชาชนเชื่อมั่นในตัวนายกรัฐมนตรีสูงขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ความเป็นผู้นำ และความตั้งใจในการทำงาน ในพื้นที่ภาคอีสาน ภาคเหนือ ประชาชนให้ความนิยมพรรคมากขึ้น ประชาชนตอบรับนโยบายพรรคหลายเรื่อง โดยจะรอจังหวะเพื่อไทยปล่อยแคมเปญหาเสียงก่อน จากนั้นพรรคจะปล่อยตาม

มติชนออนไลน์ รายงานวันนี้ (22 ก.พ.) ว่า รายงานข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แจ้งเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ว่า นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบายเพื่อการเลือกตั้ง ปชป.ได้เรียกประชุมทีมโฆษก ปชป. ที่ ปชป.เมื่อบ่ายวันเดียวนี้ (21 กุมภาพันธ์) เพื่อเตรียมวางยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้ง ทั้งนี้ นายกอร์ปศักดิ์ได้นำผลการสำรวจคะแนนความนิยม (โพล) ภายในของพรรคมาแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบด้วย ว่า ประชาชนเชื่อมั่นในตัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี สูงขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ความเป็นผู้นำ และความตั้งใจในการทำงาน ซึ่งจุดนี้จะส่งผลดีต่อคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ นอกจากนี้ ยังพบว่าในพื้นที่ภาคอีสาน ประชาชนให้ความนิยม ปชป.มากขึ้น เช่นเดียวกับภาคเหนือที่กระแสนิยมดีขึ้นอย่างมาก

"ประชาชนให้การตอบรับนโยบายของพรรคหลายอย่าง อาทิ โครงการประกันรายได้พืชผลทางการเกษตร แต่มีนโยบายอื่นที่ยังไม่เข้าตาประชาชน จึงต้องมีการรณรงค์กันมากขึ้น สำหรับห้วงเวลาที่เหมาะสมในการปล่อยแคมเปญรณรงค์หาเสียงจะรอดูจังหวะการ ปล่อยแคมเปญของพรรคเพื่อไทย (พท.) ก่อน" แหล่งข่าวอ้างคำพูดของนายกอร์ปศักดิ์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ซาอุฯ อาจยกเลิกนำเข้าแม่บ้านฟิลิปปินส์-อินโด

Posted: 22 Feb 2011 03:16 AM PST

ซาอุฯ อาจยกเลิกนำเข้าแม่บ้านฟิลิปปินส์-อินโด เตรียมนำเข้าแรงงานจากชาติอื่นทดแทน หลังทั้งสามประเทศยังมีข้อพิพาทเรื่องการละเมิดสิทธิคนงานแม่บ้าน

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 54 สื่อในตะวันออกกลางเปิดเผยว่าราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบียกำลังพิจารณาการนโยบายการหยุดนำเข้าแม่บ้านจากประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย เนื่องจากทั้งสองประเทศยังคงจี้ให้รัฐบาลซาอุฯ รับผิดชอบเรื่องการละเมิดสิทธิแม่บ้านจากทั้งสองประเทศ

เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว รัฐบาลอินโดนีเซียได้กดดันทางการซาอุดีอาระเบียสอบสวนรายงานที่ว่า มีแม่บ้านหญิงชาวอินโดนีเซียที่ทำงานบ้านให้ครอบครัวชาวซาอุโดนนายจ้างฆ่าปาดคอแล้วนำศพไปทิ้งกองขยะ รวมถึงกรณีทรมานแม่บ้านอื่นๆ โดยกรณีเหล่านี้เกิดหลังจากรายงานของกลุ่มฮิวแมนไรต์วอตช์ที่ระบุว่า คนงานรับใช้ตามบ้านในตะวันออกกลางหลายประเทศถูกนายจ้างทารุณทำร้าย ล่วงละเมิดทางเพศ ใช้งานเยี่ยงทาส หรือถูกกระทำรุนแรงล่วงเลยไปจนถึงการฆาตกรรม

ทางการของซาอุฯ เปิดเผยว่ากำลังอยู่ในช่วงเจรจานำเข้าแม่บ้านจากประเทศต่างๆ เพื่อชดเชยแม่บ้านจากฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ไม่ว่าจะเป็นจากเอธิโอเปีย, อินเดีย, เนปาล, ศรีลังกาและเอริเทรีย ทั้งนี้ปัจจุบันมีแม่บ้านกว่า 1 ล้านคนจากประเทศอินโดนีเซีย ประเทศในเอเชียและแอฟริกาทำงานในประเทศซาอุดิอาระเบีย สำหรับฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นประเทศส่งออกแม่บ้านรายใหญ่ที่สุดในโลก จากข้อมูลในปี 2009 พบว่ามีแรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศ ซึ่งมีอยู่ราว 9 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 10 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานทำงานบ้าน ส่งเงินกลับประเทศมาให้ญาติๆ หรือเพื่อการลงทุนในด้านต่างๆ มากถึง 17,300 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)

อนึ่งนอกจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์แล้ว ทางการซาอุดิอาระเบียเคยยกเลิกการนำเข้าแรงงานจากประเทศไทยสืบเนื่องมาจากกรณีเพชรซาอุฯ

คนทำงานบ้านในตะวันออกกลาง


แรงงานแม่บ้านชาวฟิลิปปินส์ในประเทศจอร์แดน (ที่มาภาพ: AP Photo by Mohammad abu Ghosh)

เมื่อปี 2010 แม่บ้านชาวศรีลังกาคนหนึ่งเป็นข่าวตรึกโครมไปทั่วโลก เมื่อเธอถูกนายจ้างซาอุดีอาระเบียทรมานด้วยการทิ่มตะปูและเข็มรวม 24 เล่มตามร่างกายของเธอ ส่วนในประเทศเลบานอนสถานการณ์การล่วงละเมิดสิทธิคนทำงานบ้านก็หนักหน่วงมิใช่น้อย แม่บ้านลูกสองชาวบังกลาเทศวัย 26 ปี เล่าถึงชีวิต 5 เดือนที่ทำงานในเลบานอนว่านายจ้างของเธอในกรุงเบรุตลงโทษด้วยการช็อตไฟฟ้า โบยด้วยโซ่และเข็มขัดหนัง บางครั้งยังใช้เตารีดนาบเธอก็มี ร้ายกว่านั้นเธอถูกข่มขืนด้วย "เด็กสาวบังกลาเทศ 95% ที่เธอเคยพบ ต่างเล่าว่าพวกเธอถูกข่มขืนในที่ทำงาน แต่ไม่กล้าปริปากบอกครอบครัวเพราะความกลัว เลือกจะอดทนและก้มหน้ารับชะตากรรมแทน

สภาชาวเนปาลในเลบานอนเปิดเผยถึงสถิติน่าตกใจเมื่อปีที่แล้วว่าเด็กสาวเนปาลที่ไปทำงานเป็นแม่บ้านในเลบานอนในปี 2009 แล้ว ฆ่าตัวตายไปถึง 15 คน ด้วยความเครียดเรื่องเงินกับได้รับความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ ขณะที่ตัวเลขจากกระทรวงแรงงานเลบานอนระบุว่า ปัจจุบันมีสาวใช้ต่างชาติทำงานในเลบานอนราว 2 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นชาวศรีลังกา เอธิโอเปีย ฟิลิปปินส์และเนปาล หากรวมสาวใช้ทุกชาติ มีสาวใช้ฆ่าตัวตายในดินแดนตะวันออกกลางแห่งนี้ ประมาณ 100 คนนับจากปี 2007

ที่มาข่าวบางส่วน:

Saudi may ban maids from Philippines, Indonesia (emirates247.com, 21-2-2011)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

151 นักวิชาการ ลงชื่อหนุน “พีมูฟ” ชี้ข้อเสนอ ปชช.เป็นหัวใจปฏิรูปสังคม

Posted: 22 Feb 2011 02:38 AM PST

วานนี้ (21 ก.พ.54) เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ ออกจดหมายเปิดผนึก หนุนข้อเรียกร้อง ของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ (P Move) พร้อมแนะรัฐบาลแสดงความจริงใจ เร่งแก้ไขปัญหา โดยได้แนบรายชื่อนักวิชาการที่ร่วมสนับสนุนข้อเรียกร้องของ ขปส.จำนวน 151 รายชื่อมาด้วย

จดหมายดังกล่าวระบุ ความเห็นและเสนอแนะ 3 ข้อ คือ 1.ให้รัฐบาลแสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหา ตามข้อเรียกร้องของ ขปส.ในประเด็นเรื่องการปฏิรูปที่ดิน การปฏิรูปการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การยอมรับสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิความเป็นมนุษย์
 
2.รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญกับปัญหาและข้อเรียกร้องของภาคประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาอย่างเร่งด่วน เพราะการแก้ไขปัญหาประชาชนเป็นหัวใจและรากฐานสำคัญของการปฏิรูปสังคมไทย และ 3.การชุมนุมเรียกร้องของ ขปส.เป็นการชุมนุมเรียกร้องตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องได้รับการคุ้มครองและดูแลจากรัฐบาล โดยไม่บิดเบือนไปเป็นประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง
 
“เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ จะประสานงานกับนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อร่วมกันผลักดัน การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ในเชิงนโยบายและปัญหารูปธรรมเฉพาะหน้า ตามที่ได้มีการศึกษาและมีผลทางวิชาการรองรับต่อไป” จดหมายระบุ
 
ทั้งนี้ จดหมายดังกล่าวมีเนื้อหาดังนี้
 
  
 
 
จดหมายเปิดผนึก
เรื่อง เรียกร้องให้รัฐบาลแก้เร่งแก้ไขปัญหาประชาชนและสนับสนุนข้อเรียกร้องของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)

ตามที่ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ซึ่งเป็นขบวนการขององค์กรเกษตรกรและคนจนเมืองที่ได้รับผลกระทบอันจากนโยบายการพัฒนาประเทศ อันประกอบด้วย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย, เครือข่ายสลัม 4 ภาค, สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล, และเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง ชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้พิบูลมังสาหาร อุบลราชธานี กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวลและคัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อุบลราชธานี ได้ชุมนุมเรียกร้องให้มีการปฏิรูปที่ดิน การปฏิรูปการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิความเป็นมนุษย์ และการยอมรับสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคมนั้น
 
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นล้วนเป็นผลพวงมาจากการพัฒนาที่บิดเบี้ยว ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความต้องการของชุมชนท้องถิ่น อันนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำ ความไม่ยุติธรรมและไม่เท่าเทียมในสังคม
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ จึงมีความเห็นและเสนอแนะ ดังนี้
 
1. เรียกร้องให้รัฐบาลได้แสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหา ตามข้อเรียกร้องของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ในประเด็นเรื่องการปฏิรูปที่ดิน การปฏิรูปการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การยอมรับสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิความเป็นมนุษย์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์อันมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา ตามที่ได้ประกาศนโยบายการปฏิรูปสังคม
 
2. รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญกับปัญหาและข้อเรียกร้องของภาคประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาอย่างเร่งด่วน เพราะการแก้ไขปัญหาประชาชนเป็นหัวใจและรากฐานสำคัญของการปฏิรูปสังคมไทย
 
3. การชุมนุมเรียกร้องของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) เป็นการชุมนุมเรียกร้องตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องได้รับการคุ้มครองและดูแลจากรัฐบาล โดยไม่บิดเบือนเจตนารมณ์ในการชุมชนเป็นประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง
 
อนึ่ง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ จะประสานงานกับนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อร่วมกันผลักดัน การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ในเชิงนโยบายและปัญหารูปธรรมเฉพาะหน้า ตามที่ได้มีการศึกษาและมีผลทางวิชาการรองรับ ต่อไป
 
                        เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคม และองค์กรชุมชนภาคใต้
21 กุมภาพันธ์ 2554
 
 
 
AttachmentSize
รายชื่อนักวิชาการที่ร่วมสนับสนุนข้อเรียกร้องของ ขปส.จำนวน 151 รายชื่อ171 KB
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

“จักรภพ” ระบุจับ “สุรชัย” ส่อ ปชต.ไทยก้าวสู่ยุคมืด แนะเสื้อแดงสู้ต่อ หลังแกนนำได้ประกันตัว

Posted: 22 Feb 2011 02:02 AM PST

“จักรภพ เพ็ญแข” ออกแถลงการณ์ เรื่อง การจับกุมนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และการให้ประกันตัวแกนนำ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ระบุพร้อมร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริง และให้ยกเลิกมาตรา 112 ชี้เป็นอุปสรรค์ต่อระบอบประชาธิปไตย

 
เว็บไซต์ Internet Freedom เผยแพร่แถลงการณ์ โดย จักรภพ เพ็ญแข ลงวันที่ 22 ก.พ.54 ระบุเนื้อความดังนี้
 
 000
 
แถลงการณ์ จักรภพ เพ็ญแข เรื่อง การจับกุมนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์
และการให้ประกันตัวแกนนำ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน
 
ในนามขบวนการปฏิวัติประชาธิปไตยไทย ผมขอประณามการตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และการจับกุมตัว นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ประธานแดงสยาม หลังการปฏิบัติภารกิจทางการเมืองเมื่อคืนวันจันทร์ที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๔ พฤติกรรมดังกล่าว สวนทางกับหลักประชาธิปไตยสากลทุกประการ ทั้งในเนื้อหากฎหมายอันเกี่ยวพันกับสถาบันกษัตริย์ และในการดำเนินการจับกุมด้วยบุคคลนอกเครื่องแบบด้วยอาวุธครบมือ เราถือว่า นี่คือการประกาศความเป็นศัตรูอย่างชัดแจ้งกับประชาชน ความหวังใดๆ ที่เราจะได้ประชาธิปไตยที่แท้ภายใต้ระบอบศักดินา-อำมาตยาธิปไตยเช่นที่เป็นอยู่นี้ได้ดับลงแล้วอย่างสิ้นเชิง
 
นี่มิใช่ “รุ่งอรุณแห่งความยุติธรรม” หากคืออัสดงคตแห่งระบอบประชาธิปไตยไทย หรือเป็นช่วงตะวันตกดินก่อนเข้าสู่ช่วงกาฬปักษ์อันมืดมิด
 
ความยินดีที่ได้เห็นแกนนำ นปช.ฯ ทั้ง ๗ คนได้รับการประกันตัว จึงถูกถ่วงดุลด้วยการจับกุมตัว นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และเหยื่อการเมืองในระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จของไทย ขอให้มวลชนจงรวมตัวกันยืนหยัดในอุดมการณ์ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอันแท้จริงต่อไป โดยไม่เห็นแก่เศษเนื้อข้างจานหรือสินบนทางการเมืองที่ไร้ความหมายใดๆ
 
นอกจากนั้น ให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ อันเป็น “ฐานความผิด” ของนายสุรชัยฯ และของบุคคลอื่นๆ อีกมากมายรวมทั้งตัวผมเอง ลงโดยสิ้นเชิง มาตรานี้ของประมวลกฎหมายอาญาได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างโฉดชั่ว และเป็นภูเขาที่ขวางกั้นมิให้ระบอบประชาธิปไตยอันแท้จริงเกิดขึ้นได้ หากกฎหมายมาตรานี้และอื่นๆ ในลักษณะนี้ยังดำรงอยู่ สังคมไทยจะกลายเป็นสนามรบและจะเกิดความรุนแรงทางการเมืองอีกในไม่ช้า
 
ขอให้มวลชนตาสว่างผู้เป็นนักปฏิวัติ ร่วมเดินทางสายสำคัญนี้ต่อไป ผมขอปวารณาตัวเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการปฏิวัติประชาธิปไตยไทย ขอให้แกนนำทุกท่านที่พรั่งพร้อมต่อการเดินไกล เช่น คุณพลท เฉลิมแสน ผู้ประสานภารกิจ ช่วยเป็นเรี่ยวแรงภายในประเทศ ให้แก่มวลชนที่รักยิ่งของเราอย่างมั่นคงและศรัทธา
 
 
ขอกราบพี่น้องประชาชนจากหัวใจของผม
 
นายจักรภพ เพ็ญแข
 
ที่มา: เว็บไซต์ Internet Freedom 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เจ้าของโวยเตรียมแจ้งความเอาเรื่อง เหตุ "โฉนด" โผล่ขอรับเงินค่าลอดใต้ถุนจากบริษัททำเหมืองโปแตส

Posted: 22 Feb 2011 01:17 AM PST

เปิดโปงขบวนการหลอกเอาโฉนดในพื้นที่เหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ชาวบ้านเผยไม่เคยไปยื่นเอกสารขอรับเงินค่าลอดใต้ถุน แต่กลับได้รับเช็ค ด้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ชี้เป็นแผนเจ้าหน้าที่ฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ของบริษัทฯ หวังเงินเจ้าของโครงการฯ

 
อุดรธานี : เมื่อวันที่ 22 ก.พ.54 ผู้สื่อข่าวรายงานจากพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานีว่า ได้มีเจ้าของที่ดินนำซองเอกสารของบริษัทเอเชีย โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) เพื่อให้ไปรับเงินค่าลอดใต้ถุนมาเปิดเผยกับผู้สื่อข่าว ซึ่งในซองเอกสารมีรายละเอียดประกอบด้วย เอกสารประชาสัมพันธ์การมอบค่าลอดใต้ถุน, หนังสือแจ้งผลการตรวจสอบกรรมสิทธิ์ในที่ดินในพื้นที่เขตประทานบัตรแก่เจ้าของที่ดิน, หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และเช็ครับเงินของธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด พร้อมลายเซ็นผู้บริหารระดับสูงของเอพีพีซีลงนามสั่งจ่ายเช็ค
 
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากบริษัทเอพีพีซีได้ดำเนินการจ่ายค่าลอดใต้ถุน ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตซจังหวัดอุดรธานี ในขอบเขตพื้นที่ 2.6 หมื่นไร่ครอบคลุม ต.โนนสูง ต.หนองไผ่ อ.เมือง และ ต.นาม่วง ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี ตามที่บริษัทฯ ได้ทำการประชาสัมพันธ์เอาไว้ โดยมีการจัดพิธีมอบเงินไปแล้ว 2 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 6 ม.ค. และ 17 ก.พ. ที่ผ่านมา ที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์บริษัทฯ
 
จากกรณีดังกล่าวพบว่ามีเจ้าของที่ดินตัวจริงไปรับเงินค่าลอดใต้ถุนเป็นจำนวนน้อย แต่กลับมีผู้แอบอ้าง หรือสวมสิทธิ์ในที่ดินบางแปลงเพื่อไปขอรับเงินค่าลอดใต้ถุนจากบริษัทฯ ดังเช่นกรณีนี้เป็นต้น
 
โดยแหล่งข่าวซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินตัวจริง (เจ้าตัวขอสงวนชื่อ) ได้เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า เมื่อสองวันที่ผ่านมาได้มีญาติของตนนำเช็คมาให้พร้อมบอกว่าตนได้รับเงินค่าลอดใต้ถุนจากบริษัทฯ และให้รีบนำเช็คไปขึ้นเงินที่ธนาคารตามเช็คจำนวน 26,920 บาท ซึ่งเมื่อได้ยินดังนั้นก็งงเพราะว่าตนไม่เคยไปยื่นเอกสารเพื่อขอรับเงินค่าลอดใต้ถุนกับบริษัทเลย แล้วอยู่ๆ จะมีรายชื่อไปขอรับเงินกับบริษัทฯ ได้อย่างไร
 
“แม่ไม่ไปเอาเงินอย่างแน่นอนเพราะแม่ไม่เอาเหมืองและไม่เห็นด้วยกับวิธีการจ่ายค่าลอดใต้ถุนของบริษัทฯ ซึ่งถ้าไปรับเงินเขาก็เท่ากับเรายินยอมขายที่นาของเราไปให้เขาเพียงไร่ละ 1,000 บาท แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากเหมืองและอยู่กับเราไปจนชั่วลูกชั่วหลาน”
 
แหล่งข่าวยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ญาติคนดังกล่าวได้วนเวียนมาคะยั้นคะยอให้ตนนำเช็คไปขึ้นเงิน ซึ่งถ้าหากไม่ไปรับเงินเขาก็จะไปเอาเอง ดังนั้นตนจะต้องไปแจ้งความเอาไว้ก่อน
 
“ที่ดินแม่มี 27 ไร่ ให้เขาเช่าทำนา และให้น้องชายช่วยดูแล ซึ่งปีที่แล้วเขาก็มาขอยืมโฉนดที่ดิน โดยบอกว่าจะเอาไปขึ้นทะเบียนรับเงินประกันราคาข้าว จึงคิดได้ว่าเขาน่าจะฉวยโอกาสจังหวะนี้แล้วเก็บเอกสารโฉนดที่ดินของแม่ไว้ หรือไม่ก็ไปขอค้นเอากับผู้ใหญ่บ้าน หรือหน่วยงานที่รับขึ้นทะเบียนประกันราคาข้าว”
 
ด้านนางมณี บุญรอด รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า เป็นไปตามที่กลุ่มอนุรักษ์ฯ คาดการและได้ให้ข้อมูลกับชาวบ้านว่าการปักหมุดรังวัดเขตเหมืองแร่ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งดังที่ บริษัทฯ และ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวอ้าง หากแต่จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะบริษัทฯ ใช้เงินมาเป็นเหยื่อล่อชาวบ้าน และเพื่อให้ได้รายชื่อชาวบ้านไปสนับสนุนก็ยิ่งจะใช้แผนสกปรกมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย
 
“ช่วงนี้พบว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ของบริษัทฯ ซึ่งทำงานในพื้นที่ ใช้ชีวิตอย่างหรูหรามากขึ้นบางคนกำลังต่อเติมบ้านใหม่ บางคนก็มีรถเก๋งขับจากที่เคยขับมอเตอร์ไซด์ธรรมดา เพราะการไปขอรับเงินค่าลอดใต้ถุนทำได้ง่ายมาก คือใครไปยื่นขอรับก็ได้ ถึงแม้ไม่ใช่เจ้าที่ดินขอเพียงมอบอำนาจให้”
 
นางมณียังกล่าวอีกว่า เจ้าของโครงการฯ กำลังถูกหลอกให้โปรยเงินลงมา เพราะกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการจัดเวทีจ่ายเงินค่าลอดใต้ถุนทั้งสองครั้ง มีผู้ไปรับจริงๆ เป็นจำนวนน้อย แต่ที่เหลืออีกจำนวนมากที่บริษัทฯ อ้างตัวเลขว่ามากกว่าร้อยรายนั้น อยากถามว่าเงินจำนวนนี้ใครได้รับไป จึงอยากท้าให้บริษัทฯ เปิดเผยข้อมูลรายชื่อผู้ที่ไปยื่นความประสงค์รับค่าลอดใต้ถุนทั้งหมด
 
“ไม่รู้ว่าจะมีรายชื่อดิฉันหรือแกนนำคนอื่นๆ ติดไปด้วยไหม” นางมณีกล่าวด้วยอารมณ์ขัน พร้อมเสียงหัวเราะ
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กลุ่มความหลากหลายทางเพศไทย – พม่าเรียกร้องให้ยุติ การเลือกปฏิบัติต่อเพศที่สาม

Posted: 22 Feb 2011 01:10 AM PST

เมื่อวันอาทิตย์ (20 ก.พ.) ที่ผ่านมา นักเคลื่อนไหวที่เป็นกลุ่มความหลากหลายทางเพศทั้งชาวไทยและพม่ากว่า 500 คน เดินขบวนในย่านไนท์บาซาร์ ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยเรียกร้องให้มีการยุติการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มความหลากหลายทางเพศโดยการเดินขบวนในลักษณะนี้เริ่มมีขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550

นางนฤมล ปาลวัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้เป็นประธานเปิดงานเดินขบวน ด้านหญิงที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศชาวพม่าที่เข้าร่วมเดินขบวนด้วยกล่าวว่า เธอหวังว่า ผู้คนทั่วไปจะเข้าใจว่า กลุ่มความหลากหลายทางเพศก็เหมือนคนทั่วๆ ไป ควรมีสิทธิเท่าเทียมเหมือนกับคนทั่วไป

อ่องเมียวมิ้น ผู้อำนวยการ สถาบันการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชนแห่งพม่า (Human Rights Education Institute of Burma) กล่าวว่า ในพม่าเอง มีการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างกว้างขวาง และพวกเขาก็ยังไม่มีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก

“ในพม่า ทางการไม่อนุญาตให้คนจำนวน 5 คน รวมตัวกัน สถานการณ์ในพม่ายิ่งแตกต่าง รัฐบาลพม่าหวาดกลัวมากกับคำว่า "สิทธิ" ดังนั้นพวกเขาจึงไม่มีทางที่จะยอมให้มีการประท้วงเกิดขึ้นโดยเด็ดขาด” อ่องเมียวมิ้นกล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม นักเคลื่อนไหวพม่ากล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สังคมพม่าเริ่มให้การยอมรับและเข้าใจกลุ่มรักเพศเดียวกันมากขึ้นบ้างแล้ว โดยยกตัวอย่างเช่นกลุ่มแนวร่วมนักศึกษาพม่าเพื่อประชาธิปไตย หรือ ABSDF (All Burma Student Democratic Front) ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาที่จับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลพม่าเคยระบุไว้ว่า การรักเพศเดียวกันถือเป็นการก่ออาชญากรรม แต่ต่อมาในปี 2541 กฎข้อบังคับนี้ก็ถูกยกเลิกไป หรือแม้แต่องค์กรสันนิบาตผู้หญิงแห่งพม่า (Burmese Women’s Union) เอง ขณะนี้ก็รับผู้หญิงที่เป็นกลุ่มความหลากหลายทางเพศเข้าทำงานและรับเข้าเป็นสมาชิกแล้วเช่นกัน

(ที่มา: Mizzima 21 ก.พ.53)

-------------------------------------------------------------

แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์twitter.com/salweenpost

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“โรงไฟฟ้าบัวสมหมาย” ความสมหมายของ “โจรไพร”

Posted: 22 Feb 2011 01:02 AM PST

 
“ใครเป็นคนออกใบอนุญาต และใช้เหตุผลอะไร ในการออก งานวิจัยการศึกษาผลกระทบทางสุขภาพนี้สามารถนำไปถอดถอนใบอนุญาตได้หรือไม่”
 
นี่คือคำถามของ “ปลัดสัมฤทธิ์” นายสัมฤทธิ์ พัชราภรณ์ ปลัดอำเภอสว่างวีระวงศ์ ซึ่งเข้าประชุมแทนนายอำเภอสว่างวีระวงศ์ หลังสิ้นสุดการนำเสนอรายงานผลการศึกษาการประเมินผลกระทบทางสุขภาพกรณีโรงไฟฟ้าชีวมวล (แกลบ) ของบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด ที่บ้านคำสร้างไชย อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี โดยทีมศึกษาจากมูลนิธินโยบายสุขภาวะและนักวิจัยชุมชน เมื่อวันที่ ๑ ก.พ. ๒๕๕๔ ต่อคณะทำงาน ชี้แจงข้อมูลและรับฟังความ คิดเห็นของประชาชนต่อการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าเชื้อเพลิง ชีวมวล (แกลบ) ของบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด โดยนายชาตรี ดิเรกศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นประธาน
 
ผลการศึกษาที่นักวิชาการและชาวบ้านร่วมกันวิจัยที่ทำเอา “ปลัดสัมฤทธิ์” ต้องตั้งคำถามก็เนื่องจากข้อมูลที่นำเสนอนั้นลึกยิ่งกว่าลึก เนื่องจากเป็นผลงานวิจัยที่ใช้มิติอย่างชาวบ้าน แต่กอปรด้วยระเบียบวิธีวิจัยอันรัดกุมของนักวิชาการ ดังตัวอย่าง ด้านเศรษฐกิจชุมชน พบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ผลผลิตที่สำคัญ ได้แก่ มะม่วงหิมพานต์ ข้าว ปอและมันสำปะหลัง มีรายได้รวม ๓๒,๘๙๙,๕๐๐ บาท การเลี้ยงสัตว์ มีการเลี้ยงไก่ไข่จำนวน ๓๙ โรงเรือนและวัว ควายมีรายได้รวมด้านปศุสัตว์ ๒๖๐ ล้านบาท รายได้รวมทั้งด้านเกษตรและปศุสัตว์ ๒๙๒ ล้านบาทต่อปี มีการจ้างงานในภาคการเกษตร ๓๔๙ คน
 
นอกจากนี้ ยังมีเศรษฐกิจที่ไม่ได้นับเป็นตัวเงิน คือ การจับสัตว์ตามธรรมชาติ ซึ่งทำได้ตลอดทั้งปี เช่น แมลง ไข่มดแดง ปู ปลา หอย กบ หนู เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ หากได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าทั้งจากฝุ่นละออง การใช้น้ำ และเสียง จะทำให้ผลผลิตลดลงร้อยละ ๕ หรือ ๑๔.๖ ล้านบาทต่อปี กลุ่มเสี่ยงที่สำคัญคือกลุ่มเลี้ยงไก่ไข่ เพราะบริษัทพันธุ์ไก่จะไม่ส่งไก่ให้เลี้ยง ทำให้ไม่มีอาชีพและต้องเป็น “หนี้ ธกส.” กว่า ๗๐ ล้านบาท เพราะทุกเจ้าล้วนเอาที่ดินไปจำนองเพื่อสร้างโรงเรือน ตกรายละ ๑.๘ ล้านบาท
 
คณะวิจัยยังนำเสนอรายได้ที่ชุมชนจะได้รับ เมื่อโรงไฟฟ้าเดินเครื่อง ตัวเลขอยู่ที่ ๑๒ ล้านบาทต่อปี จากผลประโยชน์ ๔ ประเภท คือ ๑) กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ขายเต็มกำลัง คือ ๙ เมกะวัตต์ คิดเป็นพลังงานที่ผลิต ๗๘,๘๔๐,๐๐๐ หน่วยต่อปี จะมีเงินเข้ากองทุน ๗๘๘,๔๐๐ บาทต่อปี ๒) บริษัทจะแบ่งรายได้จากการขายร้อยละ ๑ ให้กับชุมชน ถ้าบริษัทขายไฟได้ ๖๐ ล้านบาทต่อปี ส่วนแบ่งของชุมชนอยู่ที่ ๖๐๐,๐๐๐ บาทต่อปี ๓) ส่วนองค์การบริหารส่วนตำบลท่าช้างมีรายได้จากภาษีโรงเรือน ที่ดิน และเครื่องจักร ร้อยละ ๑๒.๕ ของเงินได้ คิดเป็นเงินเสียภาษีประมาณ ๗.๕ ล้านบาทต่อปี และ ๔) ชาวบ้านประมาณ ๕๐ คนอาจมีรายได้จากการจ้างแรงงาน โดยค่าแรงขั้นต่ำ และผู้ทำการค้า รายได้รวมอยู่ที่ ๓,๑๒๐,๗๕๐ บาทต่อปี (โปรดดูตาราง)
 
มิติทางสิ่งแวดล้อม เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่ในร่องฝนชุก ทำให้พื้นที่ป่าเป็นป่าเต็งรังและป่าดิบแล้ง บริเวณริมห้วยมีพืชพรรณหายาก เช่นหม้อข้าวหม้อแกงลิง พบในบริเวณคำเสือหล่ม ทางทิศตะวันออกของบ้านคำสร้างไชย เป็นชนิดพืชพื้นราบซึ่งเป็นชนิดที่ขึ้นใกล้กับระดับน้ำทะเล (๐-๑๐๐๐เมตร) ชอบน้ำสะอาด แสงมาก ชอบชื้นไม่ชอบแฉะ อากาศไหลเวียน ซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ทำให้สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) บรรจุรายชื่อบัญชีอนุรักษ์ของอนุสัญญาไซเตส ส่วนทรัพยากรน้ำ มีสายน้ำรอบชุมชน ๔ สาย คือ ห้วยคำนกเปล้า ห้วยคำเสือเต้น วังปอแดง และห้วยหมาก ทั้งหมดไหลลงสู่แม่น้ำมูล และเนื่องจากเดิมเป็นเขตป่าอุดมสมบูรณ์ จึงทำให้น้ำผิวดินหรือมีน้ำซับ ที่เรียกว่า “คำ” หรือ “ซำ” มีถึง ๒๕ แห่ง ส่วนด้านพันธุ์สัตว์ ได้แก่ สัตว์น้ำ เช่น ปลากัด กุ้ง หอย ปลาหมอ ปลาดุก ปู ปลาซิว ปลาขาว ปลาไหล สัตว์ป่า เช่น นกกะปูด เหยี่ยว กระรอก กระแต ค่าง นกเอี้ยง กิ้งก่าบ้าน
 
ที่สำคัญ ดินแถบนี้มีสภาพเป็นดินทราย เมื่อ “บัวสมหมาย” ขุดบ่อน้ำเพื่อใช้ในโรงงานวันละ ๑,๓๐๐ ลูกบาศก์เมตรหรือ ๔๖๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อปี ขนาดยังขุดไม่แล้วเสร็จ ผลกระทบก็เกิดขึ้นทันตา คือ แหล่งน้ำซับทั้ง ๒๕ แห่งไหลไปรวมกันที่บ่อของ “บัวสมหมาย” ที่ชัดเจน คือ คุ้มคำหัวงัว บ้านคำสร้างไชย น้ำประปาไหลกะปิดกะปอย ไม่อยากจินตนาการถึงในระยะยาวจะส่งผลอย่างไรต่อชุมชน
 
มิติทางสังคม ผลกระทบด้านสังคมเกิดมลพิษทางเสียงจากการขุดบ่อน้ำและถมที่ที่บริเวณโรงไฟฟ้า ผสมผเสกับการเกิดความขัดแย้งกันระหว่างชาวบ้านที่เอาโรงไฟฟ้า โดยฝันลมๆ แล้งๆ ว่าจะได้เข้าทำงานและได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูก กับชาวบ้านที่คัดค้าน จนทำให้เกิดความเครียดกันทั้งหมู่บ้าน จากหมู่บ้านที่มีความรักสามัคคีและร่วมมือร่วมใจกันพัฒนา จนทำให้ผู้ใหญ่บ้านได้รับรางวัล “แหนบทองคำ” กลับต้องมาแตกแยกกันชนิดไม่มองหน้า ไม่เผาผี ผู้ใหญ่เครียด พลอยทำให้เด็กๆ เครียดตามที่เห็นผู้ใหญ่ทะเลาะกัน และกลุ่มเด็กก็รวมอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบด้านสุขภาพกลุ่มแรกๆ ร่วมกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยหอบหืด โรคหลอดลมอักเสบ คนพิการร่างกายอ่อนแอ ที่มีจำนวนถึง ๕๘๖ คน นี่ยังไม่รวมที่หมู่บ้านแถบนี้เป็นหมู่บ้านในโครงการหมู่บ้านสายใยรักแห่งครอบครัวในพระอุปถัมภ์ฯ พระเจ้าวรวงค์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ถึง ๒ หมู่บ้าน คือ บ้านใหม่สารภี และบ้านหนองเลิงนา
 
และไม่นับรวม... ที่นักวิชาการมูลนิธินโยบายสุขภาวะที่ประเมินผลกระทบทางสุขภาพ พบว่า ที่ตั้งของโรงไฟฟ้าอยู่ในชุมชนและมีชุมชนล้อมรอบ ระยะ ๒ กิโลเมตรมีชุมชนถึง ๖หมู่บ้าน รวมทั้งโรงเรียนห้วยนกเปล้า สำนักงานวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต ๔ และศูนย์วิจัยพืชไร่ และในระยะ ๓–๑๐ กิโลเมตร จะมีชุมชนล้อมรอบ จำนวน ๑๘ หมู่บ้าน
 
นอกจากนี้โรงงานยังตั้งอยู่ในที่ที่สูงที่สุดของหมู่บ้านและห่างจากลำห้วยคำนกเปล้าเพียง ๓๐๐ เมตร นอกจากนี้ โรงสีข้าวที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ อ.พิบูลมังสาหาร และ อ.วารินชำราบ ระยะทาง ๒๐-๒๕ กิโลเมตร ซึ่งต้องมีการขนส่งแกลบเพื่อใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า และผลกระทบจะเกิดขึ้นทั้ง ๒ ช่วง คือ ช่วงก่อสร้างและช่วงเดินเครื่องเดินระบบ มีทั้ง ด้านฝุ่นละออง ด้านน้ำ และด้านการขนส่ง โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองที่แพร่กระจาย อันเป็นปัญหาหนักอกของชาวร้อยเอ็ด เจ้าของเม็ดพุพองในรัศมีทำการของโรงไฟฟ้า “บัวสมหมาย” ซึ่งไม่ว่าหน้าร้อน ฝนหรือหนาว ไม่ว่าจะเป็นฤดูใด ชาวบ้านที่อยู่รายรอบโรงไฟฟ้าเป็นต้องรับกรรมโดยถ้วนหน้า เพราะกระแสลมในทุกฤดูที่พัดจากทิศทางแตกต่างกันจะนำฝุ่นละอองไปบรรณาการโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง
 
“ใครเป็นคนออกใบอนุญาต และใช้เหตุผลอะไร ในการออก งานวิจัยการศึกษาผลกระทบทางสุขภาพนี้สามารถนำไปถอดถอนใบอนุญาตได้หรือไม่”
 
คำถามของ “ปลัดสัมฤทธิ์” ประโยคนี้ ยังไม่มีใครตอบ แต่เพียงสัปดาห์เดียวนับจากวันนำเสนอผลการวิจัย คือ วันที่ ๘ ก.พ. ๒๕๕๔ นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง ตัวแทนของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ชี้แจงถึงกรณีที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ออกใบอนุญาตให้ “บัวสมหมาย” ให้สร้างโรงไฟฟ้ากลางหมู่บ้าน กลางหัวใจของชาวบ้าน ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและคณะปฏิรูปประเทศไทย ว่า การวินิจฉัยออกใบอนุญาตได้ใช้ พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.๒๕๓๕
 
โดยโรงไฟฟ้าของบัวสมหมายฯ จัดอยู่ในโรงงานจำพวกที่ ๓ คือ โรงงานประเภทที่การประกอบกิจการอาจก่อให้เกิดปัญหามลภาวะสิ่งแวดล้อมโรงงาน หรือก่อเหตุเดือดร้อนอันตรายต่อประชาชน จำเป็นต้องมีการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด เจ้าของกิจการจะต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตก่อน และมีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับทำเลสถานที่ตั้งโรงงาน ดังนี้ ๑.ห้ามตั้งโรงงานทุกประเภท ในบริเวณบ้านจัดสรรเพื่อการพักอาศัย อาคารชุดพักอาศัย บ้านแถวเพื่อการอาศัย ๒.สถานที่ตั้งโรงงานต้องอยู่ห่างจากเขตติดต่อสาธารณสถาน ได้แก่ โรงเรียน หรือสถาบันการศึกษา วัด หรือศาสนสถาน โรงพยาบาล โบราณสถาน และสถานที่ทำการของหน่วยงานของรัฐไม่น้อยกว่า๑๐๐ เมตร
 
แปลไทยเป็นไทย คือ เมื่อโรงไฟฟ้าของบริษัท บัวสมหมายฯ เข้าเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด คือ ไม่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม ตึกแถว ก็เพียงพอแล้วที่กรมโรงงานจะออกใบอนุญาตให้ “บัวสมหมาย” ว่าแล้ว ตัวแทนกรมโรงงานฯ ก็สะบัดมีดโกน “ไม่พอใจเชิญไปฟ้อง... ศาลปกครอง”
 
เป็นที่รู้ๆ กันว่า กระแสพลังงานทดแทน พลังงานสะอาด พลังงานเขียว พลังงานชีวมวล กำลังขึ้นหม้อมาแรงโหนกระแสโลกร้อน แต่นายทุนก็คือนายทุน ไม่ว่าจะกระทำกิจกรรมที่มีคุณต่อโลกเพียงใด พวกเขาก็ยังไม่ทิ้งสัญชาตญาณเดิม คือ กำไรสูงสุด เพื่อประหยัดค่าการลงทุน โรงไฟฟ้าชีวมวล โดยเฉพาะที่ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงจะไม่สร้างโรงไฟฟ้าในเมืองใหญ่อันเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม และตึกแถว ตามกฎหมาย - พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.๒๕๓๕ แน่นอน... พวกเขาต่างมุ่งสู่ชนบท ที่ๆ มีข้าว มีโรงสี มีแกลบ มีทุกสิ่งทุกอย่างที่โรงไฟฟ้าชีวมวลและนายทุนต้องการ ขาดแต่เพียงหมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม และตึกแถว
 
หมู่บ้านในชนบททั่วไทยต่างอยู่อาศัยกันมานับศตวรรษ มีโครงสร้างและความสัมพันธ์ของชุมชนที่เหนียวแน่น มีจารีต วัฒนธรรม ประเพณี มีประวัติศาสตร์ ซึ่งต่างจากหมู่บ้านจัดสรร หรือคอนโด ที่อยู่กันอย่างหลวมๆ และไม่อาจเรียกได้ว่าชุมชนเสียด้วยซ้ำ แต่กฎหมายกลับให้ความคุ้มครอง ถ้าเงื่อนไขของกฎหมายเป็นเช่นนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายเลยก็ได้ จะต่างอะไรกับที่กำหนดเงื่อนไขว่า ... ห้ามล่าวาฬในเขตภูดอย
 
ข้าราชการผู้เป็นข้าแผ่นดิน และผู้รับใช้ประชาชน มิใช่เพียงแต่ “สมศักดิ์ จันทรรวงทอง” เท่านี้ดอก ที่เย่อหยิ่งกับประชาชนโดยอ้าง “กฎหมาย” ซึ่งก็คือ พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕ กฎหมายศักดิ์ระดับชั้น ๓ – ๔ นี้ยังเป็นดาบผุๆ ที่ข้าราชการทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องกับพลังงานเงื้อง่าเป็นโจรไพรในวิกลิเก โดยไม่เคยสำเหนียกเลยว่า การศึกษาวิจัยที่ชาวบ้านอุตส่าห์บากบั่นลงแรงลงใจ เสียสละ ผละภาระเลี้ยงดูครอบครัว มาร่วมกับนักวิชาการทำการศึกษาเป็นเวลาถึง ๓ เดือน ก็อยู่ภายใต้กฎหมายแห่งประเทศนี้เช่นกัน คือ พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ มาตรา ๑๑ ที่บัญญัติว่า บุคคลหรือคณะบุคคลมีสิทธิได้รับรู้ข้อมูล คำชี้แจงและเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐ ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของตนหรือของชุมชนและแสดงความเห็นของตนในเรื่องดังกล่าว
 
และดาบผุๆ เยี่ยงพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.๒๕๓๕ หรือจะเทียบได้กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และบรรดา “โจรไพร” ในคราบข้าราชการที่ชอบนักชอบอ้างกฎหมายนั้น กลับไม่หันมามองเงาตัวเองว่ากระทำการอันผิดกฎหมายหรือไม่ กรณีออกใบอนุญาตการสร้างโรงงานไฟฟ้าแกลบให้แก่ “บัวสมหมาย” โดยละเมิดรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๗ และ มาตรา ๒๘๗ ที่ไม่ให้ชาวบ้านในท้องถิ่นมีสิทธิมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และตัดสินใจโดยไม่ได้แจ้งข้อมูลรายละเอียดโครงการไฟฟ้าแกลบฯ ให้แก่ชาวบ้านทราบก่อน
 
ตราบใดที่ “บัวสมหมาย” ยังไม่สมหมาย และ “โจรไพร” ยังไม่อิ่มเอมและสมใจ พวกเขาก็ยังจะเงื้อง่าดาบผุๆ รกหูรกตา “เครือข่ายชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล” เยี่ยงนี้แล
 
เครือข่ายชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ได้เข้าร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นขบวนการของเกษตรกรและคนจนเมืองที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือได้รับผลกระทบอันเลวร้ายจากนโยบายการพัฒนาประเทศ ประกอบด้วยกลุ่มคนจน ๔ เครือข่าย ๓ กรณี คือ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เครือข่ายสลัม ๔ ภาค สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล และเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง ชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้พิบูลมังสาหาร อุบลราชธานี จำนวนทั้งสิ้น ๖,๐๐๐ คน โดยมี มีเป้าหมายเพื่อก่อให้เกิดการปฏิรูปที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และความเป็นธรรมทางสังคม และมีพันธกิจ ๓ ประการคือ การกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรม สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิความเป็นมนุษย์
 
                                                                        ---------------------
 
หมายเหตุ
 
เครือข่ายชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล เป็นการรวมตัวของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล เมื่อวันที่ ๑๓-๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ จาก ๖ พื้นที่คือ จังหวัดเชียงราย อุบลราชธานี ตาก ลำพูน ประจวบคีรีขันธ์ สุรินทร์ ซึ่งได้รับความเดือดร้อน ดำเนินโครงการประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าชีวมวลโดยใช้ แกลบ เศษไม้ วัสดุทางการเกษตร เป็นเชื้อเพลิงในการผลิต ด้วยกำลังการผลิตตั้งแต่ ๐.๙๙ - ๙.๙ เมกกะวัตต์ ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงไม่เข้าข่ายหลักเกณฑ์การศึกษาผบกระทบสิ่งแวดล้อม ที่มีข้อกำหนดที่มีกำลังผลิต ๑๐ เมกกะวัตต์ ขึ้นไปโดยจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลกลางหมู่บ้าน ซึ่งมีบ้านเรือนประชาชนล้อมรอบ และใกล้เคียงสถานที่ราชการ ซึ่งการดำเนินการของโรงไฟฟ้าชีวมวลแต่ละแห่ง เป็นการดำเนินการที่ไม่มีเปิดเผยข้อมูลด้านลบและด้านบวก ชุมชนไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ และบางพื้นที่ไม่รับฟังการทำประชาคมหมู่บ้าน มติสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และได้มีการขอให้มีการขอออกใบอนุญาต การก่อสร้างโรงงาน และการผลิตไฟฟ้า อย่างไม่เป็นธรรมและไม่โปร่งใส รวมทั้งได้ก่อให้เกิดผลกระทบในชุมชน ไม่มีความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจ
 
โดยมีที่ตั้งในแต่ละพื้นที่ดังนี้
 
“เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากบริษัทโรงไฟฟ้าชีวมวล” อันประกอบด้วยชาวบ้านจาก ๖ จังหวัดได้แก่
๑.โรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท พลังงานสะอาดดี 2 จำกัด บ้านไตรแก้ว ต.เวียงเหนือ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย
๒.โรงไฟฟ้าบริษัทบัวสมหมายไบโอแมส จำกัด บ้านสว่างวีระวงศ์ ต.ท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี
๓.โรงไฟฟ้าบริษัท สหโคเจนกรีน จำกัด สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ อยู่หมู่ที่ ๕ บ้านหนองปลาขอ ต.ป่าสัก อ.เมือง จ.ลำพูน
๔.โรงไฟฟ้าบริษัทพลังงานสะอาดทับสะแกจำกัด บ้านหมู่ที่ ๓ บ้านทุ่งยาว ต.ห้วยยาง อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์
๕.โรงไฟฟ้าบ้านตาก จำกัด อยู่ที่หมู่ ๑๑ บ้านวังไม้สร้าง ต.ตากออก อ.บ้านตาก จ.ตาก
๖.โรงไฟฟ้า บริษัท บริษัท จัสมิน กรีน เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นเนอร์จี จำกัด อยู่ที่หมู่ที่ ๑๐ บ้านน้อยสนาม ต.รัตนบุรี อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์
 
เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เครือข่ายชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล เข้าร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ซึ่งเป็นขบวนการของเกษตรกรและคนจนเมืองที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือได้รับผลกระทบอันเลวร้ายจากนโยบายการพัฒนาประเทศ ประกอบด้วยกลุ่มคนจน ๔ เครือข่าย ๓ กรณี คือ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เครือข่ายสลัม ๔ ภาค สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล และเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง ชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้พิบูลมังสาหาร อุบลราชธานี จำนวนทั้งสิ้น ๖,๐๐๐ คน โดยมี มีเป้าหมายเพื่อก่อให้เกิดการปฏิรูปที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และความเป็นธรรมทางสังคม โดยมีพันธกิจ ๓ ประการคือ การกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรม สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิความเป็นมนุษย์
 
 
ความไม่คุ้มค่าในการลงทุน


ตารางที่ เปรียบเทียบผลกระทบด้านเศรษฐกิจของชุมชนใกล้พื้นที่โครงการโรงไฟฟ้า
 
รายการ

อัตรา

จำนวนเงิน (บาทต่อปี)

ผลประโยชน์ที่ชุนชนและอบต.จะได้รับ

 

 

1. กองทุนพัฒนาไฟฟ้า

1 สตางค์ต่อหน่วยที่ขายได้

788,400

2. ส่วนแบ่งรายได้

ร้อยละ 1 ของรายได้

600,000

3. ภาษีโรงเรือน ที่ดิน และเครื่องจักร

ร้อยละ 12.5 ของเงินได้

7,500,000

4. รายได้จากการจ้างงาน 50 คน

171 บาทต่อวันต่อคน

3,120,750

รวม

 

12,009,150

ผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร

 

 

1. ด้านการเกษตร


1,600,000

2. ด้านการปศุสัตว์

ลดลงร้อยละ 5

13,000,000

รวม

 

14,600,000
 
 
ด้านการจ้างแรงงานในชุมชน พบว่ามีการจ้างแรงงานในภาคการเกษตรประมาณ 349 คน คิดจากร้อยละ 5 จำนวนประชากร 2,257 คน เนื่องจากพบว่าในชุมชนมีการจ้างงานทุกวัย ไม่จำกัดวุฒิ และอายุ ทุกช่วงวัยสามารถทำงานรับจ้างในชุมชนได้ เช่น เด็กและผู้สูงอายุ รับจ้างเก็บเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เก็บไข่ไก่ เป็นต้น แต่โรงงานบริษัทบัวสมหมาย แจ้งว่าจะมีการจ้างแรงงาน 26 คน ซึ่งใน 6 หมู่บ้านชาวบ้านไม่มีความสามารถเข้าทำงานได้เพราะต้องอาศัยแรงงานที่มีทักษะและความรู้เฉพาะด้าน และยังเสี่ยงต่อการตกงาน เนื่องจากผลกระทบต่ออาชีพที่มีอยู่ในชุมชน ดังตาราง 3- 4
 
ตาราง 3- 4 เปรียบเทียบการจ้างงาน ของบริษัทบัวสมหมาย กับ งานที่มีอยู่ในชุมชน 6 หมู่บ้าน
 
การจ้างงาน

ตำแหน่ง

จำนวนคน

วุฒการศึกษา

หมายเหตุ

บริษัทบัวสมหมาย มีการจ้างคนงาน 26 คน

ยาม

2

ไม่จำกัด

ประกาศ สนง.อุตสาหกรรม 21 พย 51.

 

คนสวน

1

ไม่จำกัด

 

 

พนังงานในโรงงาน

23 คน

ปริญญาตรีสาขาการไฟฟ้าและอิเลคโทนิค

ในชุมชนไม่มีคนเรียนสาขานี้

รวม

 

26 คน

 

 

การจ้างแรงงานในชุมชน

 

 

 

 

ด้านการเกษตร
คนวัยทำงาน

รับจ้างเก็บเม็ดมะม่วงหิมพานต์
 

ไม่จำกัด สมาชิกทุกคนในครอบครัว
113 คน

ไม่จำกัดวุฒิและอายุ

เด็ก วัยกลางคน ผู้สูงอายุก็ทำได้ (คิด 5 % ของประชากร)

 

รับจ้างขุดมัน

ไม่จำกัด สมาชิกทุกคนในครอบครัว
79 คน

ไม่จำกัดวุฒิ

(คิด 5 % ของ วัยแรงงาน ทั้งชายและหญิง)

 

รับจ้างดำนา เกี่ยวข้าว

ไม่จำกัด สมาชิกทุกคนในครอบครัว
79 คน

ไม่จำกัดวุฒิ

(คิด 5 % ของ วัยแรงงาน ทั้งชายและหญิง)

ด้านปศุสัตว์

 

 

 

 

โรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ ๓๙ โรง มีคนงาน อย่างน้อย ๒ คน

ดูแลโรงเลี้ยงไก่
 

ไม่จำกัด สมาชิกทุกคนในครอบครัว 78 คน

ไม่จำกัดวุฒิ

วัยแรงงาน ทั้งชายและหญิง

 

เก็บไข่ (ลูกหลาน)

 

 

เด็กๆจะช่วยพ่อแม่ทำงานและได้รับค่าขนมไปโรงเรียน

รวม

 

349 คน

 

 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คนกรุงหนุนฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล

Posted: 22 Feb 2011 12:57 AM PST

กรุงเทพโพลล์ เผยผลสำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลพบว่า ประชาชน ร้อยละ 65.9 เห็นว่าฝ่ายค้านควรยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางรัฐบาลในช่วงเวลานี้ อยากให้อภิปรายประเด็นปัญหาเศรษฐกิจ-ซักฟอกสุเทพ เทือกสุบรรณมากที่สุด

22 ก.พ. 2554 ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เผยผลสำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลพบว่า ประชาชน ร้อยละ 65.9 เห็นว่าฝ่ายค้านควรยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางรัฐบาลในช่วงเวลานี้ โดยให้เหตุผลว่า ต้องการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และต้องการให้รัฐบาลชี้แจงในเรื่องต่างๆ อย่างชัดเจน

ในขณะที่ประชาชน ร้อยละ 34.1 เห็นว่าไม่ควรยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจในช่วงเวลานี้ โดยให้เหตุผลว่า บ้านเมืองในขณะนี้มีความวุ่นวายพออยู่แล้ว ไม่อยากให้รัฐบาลเสียเวลาในการทำงาน และการเลือกตั้งใหม่ใกล้ถึงแล้ว

ทั้งนี้เมื่อถามเฉพาะผู้ที่ระบุว่าควรยื่นอภิปราย ฯ ในช่วงเวลานี้พบว่า เรื่องที่ต้องการให้มีการอภิปรายมากที่สุดคือ เรื่องเศรษฐกิจและปากท้องประชาชน เช่น น้ำมันปาล์มขาดตลาด และค่าครองชีพที่สูงขึ้น (ร้อยละ 84.2) รองลงมาคือ เรื่องการทุจริตคอร์รัปชันโครงการต่างๆ เช่น บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด การประมูลสินค้าเกษตร การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ร้อยละ 72.6) และเรื่องความมั่นคงของประเทศ เช่น ปัญหาพิพาทตามแนวชายแดน ไทย - กัมพูชา ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ร้อยละ 71.6) ตามลำดับ

ส่วนรัฐมนตรีที่เห็นว่าควรถูกอภิปรายมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง (ร้อยละ 78.2) รองลงมา คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี (ร้อยละ 71.0) นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ร้อยละ 51.3) นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ร้อยละ 43.4) และนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ร้อยละ 34.9) ตามลำดับ

อย่างไรก็ตามประชาชนร้อยละ 54.1 ไม่เชื่อมั่นว่า ฝ่ายค้านจะสามารถอภิปรายซักฟอกรัฐบาลได้อย่างชัดเจนตรงประเด็นโดยมีข้อมูล หลักฐาน ที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือเพียงพอ ขณะที่ร้อยละ 45.9 ระบุว่าเชื่อมั่น

สำหรับความเชื่อมั่นต่อฝ่ายรัฐบาลนั้น ประชาชนถึงร้อยละ 72.6 ไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะสามารถชี้แจง และตอบกระทู้ของฝ่ายค้านได้อย่างชัดเจน โดยมีข้อมูลหลักฐานมาแก้ต่างได้อย่างมีน้ำหนักน่าเชื่อถือเพียงพอ มีเพียงร้อยละ 27.4 เท่านั้น ที่ระบุว่าเชื่อมั่น

ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1. ความคิดเห็นต่อการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในช่วงเวลานี้

- เห็นว่าฝ่ายค้านควรยื่นญัตติฯ ในช่วงเวลานี้ ร้อยละ 65.9
(โดยให้เหตุผลว่า ต้องการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ต้องการให้รัฐบาลชี้แจงในเรื่องต่างๆ อย่างชัดเจน เช่น ราคาสินค้าที่มีราคาแพงขึ้น ความไม่โปร่งใสในโครงการต่างๆ ความวุ่นวายไม่สงบของบ้านเมือง ฯลฯ)
- เห็นว่าฝ่ายค้านไม่ควรยื่นญัตติฯ ในช่วงเวลานี้ ร้อยละ 34.1
(โดยให้เหตุผลว่า บ้านเมืองในขณะนี้มีความวุ่นวายพออยู่แล้ว ไม่อยากให้รัฐบาลเสียเวลาในการทำงาน การ
เลือกตั้งใหม่ใกล้ถึงแล้ว ฯลฯ )

2. เรื่องที่ต้องการให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล (ถามเฉพาะผู้ที่ตอบว่าควรยื่นญัตติอภิปรายฯ ในช่วงเวลานี้)

- เรื่องเศรษฐกิจและปากท้องประชาชน (ปัญหาสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น น้ำมันปาล์มขาดตลาด และค่าครองชีพที่สูงขึ้น) ร้อยละ 84.2
- เรื่องการทุจริตคอร์รัปชันโครงการต่างๆ (เช่น บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด, การประมูลสินค้าเกษตร, การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง) ร้อยละ 72.6
- เรื่องความมั่นคงของประเทศ (เช่น ปัญหาพิพาทตามแนวชายแดน ไทย – กัมพูชา, ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้) ร้อยละ 71.6
- เรื่องปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร (เช่น ปัญหาหนี้สิน, ที่ดินทำกินและราคาพืชผลการเกษตร) ร้อยละ 58.1
- เรื่องปัญหาสังคม เช่น ปัญหายาเสพติด, ปัญหาอาชญากรรม ร้อยละ 57.0
- เรื่องการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ร้อยละ 49.3
- อื่นๆ อาทิ การเตรียมการป้องกันภัยพิบัติต่างๆ เรื่อง 3G ปัญหาหนี้นอกระบบ ฯลฯ ร้อยละ 3.2

3. รัฐมนตรีที่ควรถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ (ถามเฉพาะผู้ที่ตอบว่าควรยื่นญัตติอภิปรายฯ ในช่วงเวลานี้)

- นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ร้อยละ 78.2
- นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ร้อยละ 71.0
- นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร้อยละ 51.3
- นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร้อยละ 43.4
- นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร้อยละ 34.9
- นายชวรัตน์ ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร้อยละ 34.0
- นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร้อยละ 33.3
- นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร้อยละ 21.0
- นายจุติ ไกรกฤษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร้อยละ 17.7
- คนอื่นๆ อาทิ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร้อยละ 2.8 

4. ความเชื่อมั่นที่มีต่อฝ่ายค้าน ว่าจะสามารถอภิปรายซักฟอกรัฐบาลได้อย่างชัดเจนตรงประเด็นโดยมีข้อมูล หลักฐาน ที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือเพียงพอ พบว่า

- ไม่เชื่อมั่น ร้อยละ 54.1
(โดยระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย ร้อยละ 10.9 และไม่ค่อยเชื่อมั่น ร้อยละ 43.2)
- เชื่อมั่น ร้อยละ 45.9
(โดยระบุว่า เชื่อมั่นมากที่สุด ร้อยละ 9.0 และเชื่อมั่นค่อนข้างมาก ร้อยละ 36.9)

5. ความเชื่อมั่นที่มีต่อฝ่ายรัฐบาล ว่าจะสามารถชี้แจง ตอบกระทู้ของฝ่ายค้านได้อย่างชัดเจน โดยมีข้อมูลหลักฐานมาแก้ต่างได้อย่างมีน้ำหนักน่าเชื่อถือเพียงพอ พบว่า

- ไม่เชื่อมั่น ร้อยละ 72.6
(โดยระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย ร้อยละ 21.9 และไม่ค่อยเชื่อมั่น ร้อยละ 50.7)
- เชื่อมั่น ร้อยละ 27.4
(โดยระบุว่า เชื่อมั่นมากที่สุด ร้อยละ 3.2 และเชื่อมั่นค่อนข้างมาก ร้อยละ 24.2)

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์ สำรวจโดยใช้การสุ่มตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณล ในระหว่างวันที่ 18 – 20 กุมภาพันธ์ 2554 ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-Stage Sampling) โดยสุ่มจากเขตการปกครองชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอก จำนวนทั้งสิ้น 25 เขต ได้แก่ เขตคลองเตย คลองสามวา ดอนเมือง ดุสิต ทวีวัฒนา ทุ่งครุ บางกอกน้อย บางขุนเทียน บางเขน บางนา บางพลัด บางรัก บึงกุ่ม ปทุมวัน ประเวศ ป้อมปราบฯ พญาไท พระนคร ภาษีเจริญ ราชเทวี ลาดกระบัง สวนหลวง สะพานสูง สาทร และสายไหม และจังหวัดในเขตปริมณฑล ได้แก่ นนทบุรี และปทุมธานี ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 1,035 คน เป็นเพศชายร้อยละ 51.5 และเพศหญิงร้อยละ 48.5

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คนกรุงหนุนฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล

Posted: 22 Feb 2011 12:56 AM PST

กรุงเทพโพลล์ เผยผลสำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลพบว่า ประชาชน ร้อยละ 65.9 เห็นว่าฝ่ายค้านควรยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางรัฐบาลในช่วงเวลานี้ อยากให้อภิปรายประเด็นปัญหาเศรษฐกิจ-ซักฟอกสุเทพ เทือกสุบรรณมากที่สุด

22 ก.พ. 2554 ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เผยผลสำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลพบว่า ประชาชน ร้อยละ 65.9 เห็นว่าฝ่ายค้านควรยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางรัฐบาลในช่วงเวลานี้ โดยให้เหตุผลว่า ต้องการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และต้องการให้รัฐบาลชี้แจงในเรื่องต่างๆ อย่างชัดเจน

ในขณะที่ประชาชน ร้อยละ 34.1 เห็นว่าไม่ควรยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจในช่วงเวลานี้ โดยให้เหตุผลว่า บ้านเมืองในขณะนี้มีความวุ่นวายพออยู่แล้ว ไม่อยากให้รัฐบาลเสียเวลาในการทำงาน และการเลือกตั้งใหม่ใกล้ถึงแล้ว

ทั้งนี้เมื่อถามเฉพาะผู้ที่ระบุว่าควรยื่นอภิปราย ฯ ในช่วงเวลานี้พบว่า เรื่องที่ต้องการให้มีการอภิปรายมากที่สุดคือ เรื่องเศรษฐกิจและปากท้องประชาชน เช่น น้ำมันปาล์มขาดตลาด และค่าครองชีพที่สูงขึ้น (ร้อยละ 84.2) รองลงมาคือ เรื่องการทุจริตคอร์รัปชันโครงการต่างๆ เช่น บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด การประมูลสินค้าเกษตร การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ร้อยละ 72.6) และเรื่องความมั่นคงของประเทศ เช่น ปัญหาพิพาทตามแนวชายแดน ไทย - กัมพูชา ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ร้อยละ 71.6) ตามลำดับ

ส่วนรัฐมนตรีที่เห็นว่าควรถูกอภิปรายมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง (ร้อยละ 78.2) รองลงมา คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี (ร้อยละ 71.0) นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ร้อยละ 51.3) นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ร้อยละ 43.4) และนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ร้อยละ 34.9) ตามลำดับ

อย่างไรก็ตามประชาชนร้อยละ 54.1 ไม่เชื่อมั่นว่า ฝ่ายค้านจะสามารถอภิปรายซักฟอกรัฐบาลได้อย่างชัดเจนตรงประเด็นโดยมีข้อมูล หลักฐาน ที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือเพียงพอ ขณะที่ร้อยละ 45.9 ระบุว่าเชื่อมั่น

สำหรับความเชื่อมั่นต่อฝ่ายรัฐบาลนั้น ประชาชนถึงร้อยละ 72.6 ไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะสามารถชี้แจง และตอบกระทู้ของฝ่ายค้านได้อย่างชัดเจน โดยมีข้อมูลหลักฐานมาแก้ต่างได้อย่างมีน้ำหนักน่าเชื่อถือเพียงพอ มีเพียงร้อยละ 27.4 เท่านั้น ที่ระบุว่าเชื่อมั่น

ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1. ความคิดเห็นต่อการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในช่วงเวลานี้

- เห็นว่าฝ่ายค้านควรยื่นญัตติฯ ในช่วงเวลานี้ ร้อยละ 65.9
(โดยให้เหตุผลว่า ต้องการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ต้องการให้รัฐบาลชี้แจงในเรื่องต่างๆ อย่างชัดเจน เช่น ราคาสินค้าที่มีราคาแพงขึ้น ความไม่โปร่งใสในโครงการต่างๆ ความวุ่นวายไม่สงบของบ้านเมือง ฯลฯ)
- เห็นว่าฝ่ายค้านไม่ควรยื่นญัตติฯ ในช่วงเวลานี้ ร้อยละ 34.1
(โดยให้เหตุผลว่า บ้านเมืองในขณะนี้มีความวุ่นวายพออยู่แล้ว ไม่อยากให้รัฐบาลเสียเวลาในการทำงาน การ
เลือกตั้งใหม่ใกล้ถึงแล้ว ฯลฯ )

2. เรื่องที่ต้องการให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล (ถามเฉพาะผู้ที่ตอบว่าควรยื่นญัตติอภิปรายฯ ในช่วงเวลานี้)

- เรื่องเศรษฐกิจและปากท้องประชาชน (ปัญหาสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น น้ำมันปาล์มขาดตลาด และค่าครองชีพที่สูงขึ้น) ร้อยละ 84.2
- เรื่องการทุจริตคอร์รัปชันโครงการต่างๆ (เช่น บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด, การประมูลสินค้าเกษตร, การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง) ร้อยละ 72.6
- เรื่องความมั่นคงของประเทศ (เช่น ปัญหาพิพาทตามแนวชายแดน ไทย – กัมพูชา, ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้) ร้อยละ 71.6
- เรื่องปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร (เช่น ปัญหาหนี้สิน, ที่ดินทำกินและราคาพืชผลการเกษตร) ร้อยละ 58.1
- เรื่องปัญหาสังคม เช่น ปัญหายาเสพติด, ปัญหาอาชญากรรม ร้อยละ 57.0
- เรื่องการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ร้อยละ 49.3
- อื่นๆ อาทิ การเตรียมการป้องกันภัยพิบัติต่างๆ เรื่อง 3G ปัญหาหนี้นอกระบบ ฯลฯ ร้อยละ 3.2

 

 

 

 

 

3. รัฐมนตรีที่ควรถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ (ถามเฉพาะผู้ที่ตอบว่าควรยื่นญัตติอภิปรายฯ ในช่วงเวลานี้)

- นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ร้อยละ 78.2
- นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ร้อยละ 71.0
- นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร้อยละ 51.3
- นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร้อยละ 43.4
- นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร้อยละ 34.9
- นายชวรัตน์ ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร้อยละ 34.0
- นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร้อยละ 33.3
- นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร้อยละ 21.0
- นายจุติ ไกรกฤษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร้อยละ 17.7
- คนอื่นๆ อาทิ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร้อยละ 2.8

 

 

 

 

 

 

4. ความเชื่อมั่นที่มีต่อฝ่ายค้าน ว่าจะสามารถอภิปรายซักฟอกรัฐบาลได้อย่างชัดเจนตรงประเด็นโดยมีข้อมูล หลักฐาน ที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือเพียงพอ พบว่า

- ไม่เชื่อมั่น ร้อยละ 54.1
(โดยระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย ร้อยละ 10.9 และไม่ค่อยเชื่อมั่น ร้อยละ 43.2)
- เชื่อมั่น ร้อยละ 45.9
(โดยระบุว่า เชื่อมั่นมากที่สุด ร้อยละ 9.0 และเชื่อมั่นค่อนข้างมาก ร้อยละ 36.9)

5. ความเชื่อมั่นที่มีต่อฝ่ายรัฐบาล ว่าจะสามารถชี้แจง ตอบกระทู้ของฝ่ายค้านได้อย่างชัดเจน โดยมีข้อมูลหลักฐานมาแก้ต่างได้อย่างมีน้ำหนักน่าเชื่อถือเพียงพอ พบว่า

- ไม่เชื่อมั่น ร้อยละ 72.6
(โดยระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย ร้อยละ 21.9 และไม่ค่อยเชื่อมั่น ร้อยละ 50.7)
- เชื่อมั่น ร้อยละ 27.4
(โดยระบุว่า เชื่อมั่นมากที่สุด ร้อยละ 3.2 และเชื่อมั่นค่อนข้างมาก ร้อยละ 24.2)

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์ สำรวจโดยใช้การสุ่มตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณล ในระหว่างวันที่ 18 – 20 กุมภาพันธ์ 2554 ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-Stage Sampling) โดยสุ่มจากเขตการปกครองชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอก จำนวนทั้งสิ้น 25 เขต ได้แก่ เขตคลองเตย คลองสามวา ดอนเมือง ดุสิต ทวีวัฒนา ทุ่งครุ บางกอกน้อย บางขุนเทียน บางเขน บางนา บางพลัด บางรัก บึงกุ่ม ปทุมวัน ประเวศ ป้อมปราบฯ พญาไท พระนคร ภาษีเจริญ ราชเทวี ลาดกระบัง สวนหลวง สะพานสูง สาทร และสายไหม และจังหวัดในเขตปริมณฑล ได้แก่ นนทบุรี และปทุมธานี ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 1,035 คน เป็นเพศชายร้อยละ 51.5 และเพศหญิงร้อยละ 48.5

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลให้ประกันตัว 7 แกนนำ ห้ามปลุกม็อบ-ออกนอกประเทศ

Posted: 21 Feb 2011 11:41 PM PST

ศาลอาญา รัชดา มีคำสั่งให้ประกันตัว 7 แกนนำ นปช. พร้อมแนวร่วมอีก 1 คน โดยมีเงือนไขห้ามปลุกปั่นการชุมนุมและห้ามออกนอกประทศ โดยวางหลักทรัพย์คนละ 6 แสนบาท

วันนี้ (22 ก.พ.53) เวลาประมาณ 14 .30 น.ผู้พิพากษาศาลอาญาให้ประกัน 7 แกนนำ นปช.มีเงื่อนไข ห้ามปลุกปั่น ห้ามออกนอกประเทศ หลังจากการอ่านคำพิพากษาอนุญาตให้ประกันตัว กลุ่มคนเสื้อแดงต่างแสดงความดีใจ จากนั้น กลุ่มคนเสื้อแดงจะร่วมกันเดินทางไปรับ 7 แกนนำที่เรือนจำ

นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ ทนายความแกนนำ นปช. กล่าวว่า การฟังคำสั่งในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ไม่ได้เบิกตัวจำเลยทั้ง 8 คนมาศาล แต่จะรอฟังคำสั่งที่เรือนจำ หากศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว จะปล่อยตัวที่เรือนจำต่อไป 

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญาได้ไต่สวนคำร้องที่ 7 แกนนำ นปช. ประกอบด้วย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นพ.เหวง โตจิราการ นายก่อแก้ว พิกุลทอง นายนิสิต สินธุไพร นายขวัญชัย ไพรพนา นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย นายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก และนายภูมิกิติ หรือพิเชษฐ์ สุจินดาทอง แนวร่วม นปช. ยื่นคำร้องขอประกันตัว โดยทั้ง 8 คน ถูกเบิกตัวจากเรือนจำมาร่วมฟังการพิจารณาการไต่สวนด้วย
 
ก่อนหน้านี้ ศาลได้ไต่สวนพยาน ประกอบด้วย พล.ต.ต วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 (ผบก.น.1) นายโสภณ ธิติธรรมพฤกษ์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพ นายวีระ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช. นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ ( คอป.) และพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ริเริ่มโครงการเดินสายปรองดอง ขณะที่พนักงานอัยการโจทก์ไม่คัดค้านการยื่นประกันตัวของ น.พ.เหวง และนายก่อแก้ว
 
"วีระ" เบิกความ ให้ประกันแกนนำ ช่วยสร้างความปรองดอง
 
วานนี้ (21 ก.พ.) นายวีระ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ขึ้นเบิกความปากที่สาม เล่าจุดเริ่มต้น เป้าหมายการชุมนุมเรียกร้องรัฐบาลยุบสภา ไม่ชอบธรรมบริหารบ้านเมือง โดยตอนหนึ่งเขากล่าวต่อศาลเชื่อว่า หากให้ประกันแกนนำนปช.จะสร้างความปรองดองได้ บ้านเมืองสงบสุข และเชื่อ 7 แกนนำ นปช.จะทำตามสิ่งที่ให้คำมั่นต่อศาล

ก่อนนี้ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น.1 พยานปากแรกในการยื่นขอประกันตัว 7 แกนนำ ระบุว่าช่วงชุมนุมคนเสื้อแดงที่ผ่านมาได้รับความร่วมมืออย่างดี ตรวจสอบในที่ชุมนุมก็ไม่พบอาวุธแต่อย่างใด

ด้าน นายโสภณ ธิติธรรมพฤกษ์ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพ เบิกความปากที่สอง ระบุว่า แกนนำ นปช.ประพฤติดีให้ความร่วมมือ ขณะที่บางคนป่วยหนักต้องส่งสถานพยาบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีคนเสื้อแดงมาให้กำลังใจอย่างคับคั่งระหว่างฟังการไต่สวนขอประกันตัว ต้องนั่งเก้าอี้เสริมบางส่วนนั่งพื้นในห้องพิจารณาคดี 704 ที่รองรับคนได้ 300 ที่นั่ง สำหรับการดูแลรักษาความปลอดภัยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดกำลังรักษาการณ์ดูแล เรียบร้อยอย่างแน่นหนา พร้อมตรวจสอบคนที่ผ่านเข้าออกห้องพิจารณาคดี

'สนั่น' ให้ปากคำเป็นพยานขอประกันตัว 7 แกนนำ

ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เมื่อเวลา 13.00 น. นายคณิต ณ นคร ประธาน คอป.และ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางเพื่อเป็นพยานตามหมายเรียกที่ 7 แกนนำ นปช.ยื่นคำร้องขอประกันตัว

โดยนาย คณิต ประธาน คอป. กล่าวก่อนขึ้นเบิกความว่า การปล่อยตัวชั่วคราว แกนนำ นปช.ทั้งเจ็ดเป็นดุลพินิจของศาล ซึ่งหากแกนนำยังไม่ได้รับอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวในวันนี้ ก็ไม่ถือเป็นอุปสรรคต่อแผนปรองดอง แม้ว่าที่ผ่านมาตนเองได้เสนอแนวทางให้มีการปล่อยตัวแกนนำ นปช. มาโดยตลอดก็ตาม

ด้าน พลตรีสนั่น กล่าวว่า เดินทางไปพบแกนนำ นปช.ทั้งเจ็ดคนในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และแกนนำทั้งหมดก็ให้ความร่วมมือต่อแผนการปรองดองเป็นอย่างดี อย่างไรก็ดี หากแกนนำได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวก็จะทำให้แนวโน้มการปรองดองเป็นไปในทาง ที่ดีขึ้น และถือเป็นทางเดียวที่จะยุติความขัดแย้งทางการเมืองได้ แต่ถ้าแกนนำยังไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ก็จะพยายามเดินหน้าแผนปรองดองต่อไป

ศาลนัดฟังคำสั่งประกันตัว 7แกนนำ นปช. 22ก.พ.

ล่าสุด ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก กำหนดนัดฟังคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว 7 แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มเสื้อแดงหรือไม่ พรุ่งนี้ (22 ก.พ.) เวลา 14.00 น.สำหรับแกนนำ นปช.ทั้ง 7 คน ประกอบด้วย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นพ.เหวง โตจิราการ, นายก่อแก้ว พิกุลทอง, นายนิสิต สินธุไพร, นายขวัญชัย ไพรพนา, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย และนายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก ซึ่งทั้งหมดตกเป็นจำเลยในคดีร่วมกันก่อการร้าย

โดยวันนี้ (21 ก.พ.) เจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คุมตัวแกนนำ นปช.ทั้ง 7 คน ที่ตกเป็นจำเลยในคดีร่วมกันก่อการร้าย เดินทางมาศาลอาญา เพื่อเข้าไต่สวนกรณียื่นคำร้องขอประกันตัว โดยมีนางธิดา ถาวรเศรษฐ ภรรยา นพ.เหวง และประธาน นปช.นำกลุ่มภริยา และบุตรธิดาของเหล่าแกนนำคนอื่นๆ พร้อมพี่น้องเสื้อแดงจำนวนหนึ่งเข้าให้กำลังใจ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น