โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

คนงานผลิตยางรถยนต์ เดินเท้าจากระยองเข้ากรุง ร้องรัฐบาล-รมต.แรงงานแก้ปัญหาโดนปิดงาน

Posted: 01 Feb 2011 10:52 AM PST

คนงานสหภาพแรงงานแม็กซิสฯ พร้อมสหภาพแรงงานฟูจึซึฯ และพนักงานบริษัทพีซีบี เริ่มต้นออกเดินเท้าจากระยองเข้ากรุงเทพฯ หวังร้องรัฐแก้ปัญหานายจ้างปิดงาน คาดใช้เวลากว่า 10 วัน ด้านประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์ฯ ออกโรงย้ำแรงงานเคลื่อนไม่เกี่ยวม็อบพันธมิตรฯ พันเปอร์เซ็นต์

แฟ้มภาพ สหภาพแรงงาน แม็กซิส ประเทศไทย ยื่นข้อเรียกร้องปรับสภาพการจ้างต่อบริษัท แม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัดเมื่อ 22 พ.ย. 53 ล่าสุดพนักงานเตรียมเดินเท้าเข้ากรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือต่อกระทรวงแรงงานและรัฐบาล เรียกร้องการแก้ปัญหานายจ้างประกาศปิดงาน ทั้งที่อยู่ระหว่างการเจรจาปรับสภาพการจ้าง (ที่มาของภาพ: voicelabour.org)

 

วานนี้ (1 ก.พ.54) เมื่อเวลา 05.30 น.พนักงานสหภาพแรงงานบริษัทแม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิตยางรถยนต์ยี่ห้อแม็กซิส ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม อีสต์เทิร์นซีบอร์ด จำนวนกว่า 1,000 คน รวมตัวกันบริเวณหน้าบริษัทฯ ก่อนจะเดินเท้าเข้ากรุงเทพฯ โดยร่วมกับพนักงานสหภาพแรงงานฟูจึซึ เจอร์เนอร์รัล ประเทศไทย และพนักงาน บริษัท พีซีบี เซ็นต์เตอร์ จำกัด เพื่อยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและรัฐบาล เรียกร้องการแก้ปัญหากรณีนายจ้างประกาศปิดงาน ทั้งที่อยู่ระหว่างการเจรจา หลังคนงานรวมตัวกันเรียกร้องโบนัสและเงินเดือนเพิ่ม

นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเมื่อช่วงเย็นวันเดียวกันว่า ขบวนเดินเท้าของกลุ่มแรงงานได้เดินทางถึงวัดหนองค้อ ต.หนองขาม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี แล้ว และจะพักค้างคืนกันที่วัด คาดว่าจะใช้เวลาเดินทางถึงกรุงเทพฯ ราว 10 วัน โดยในวันพรุ่งนี้น่าจะเดินทางไปพักค้างแรมที่ที่ว่าการอำเภอศรีราชา ส่วนเป้าหมายที่จะไปยื่นเรื่องนั้นคาดว่าจะเป็นรัฐสภา เนื่องจากผู้ร่วมขวนมีจำนวนกว่า 2,000 คน การไปที่กระทรวงแรงงานสถานที่อาจไม่เพียงพอ รัฐสภาน่าจะมีสถานที่รองรับคนได้มากกว่า อีกทั้งยังเป็นสถานที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้วย

ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์ฯ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากลุ่มพนักงานสหภาพแรงงานในบริษัทแม็กซิสฯ ประสบปัญหาค่าจ้างและสวัสดิการแรงงานต่ำ จึงได้มีการยื่นข้อเรียกร้องกับผู้บริหารของบริษัท แต่ข้อเรียกร้องกลับถูกยื่นข้อเรียกร้องสวนกลับมา ทำให้การเจรจาที่ผ่านมาล้มเหลว และนายจ้างก็ประกาศปิดงานโดยอ้างว่าเครื่องจักรเสีย แล้วให้คนชุดดำมาดูแลการเข้าออกโรงงาน แต่ภายในโรงงานกลับยังคงมีการผลิตด้วยการจ้างพนักงานเหมาค่าแรงและแรงงานข้ามชาติมาทำงานแทนพนักงานประจำเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในหลายๆ บริษัท ซึ่งเขามองว่าเป็นความต้องการของนายจ้างที่มุ่งเล่นงานเพื่อหวังทำลายสหภาพแรงงาน

ในส่วนข้อเรียกร้องของทางบริษัทฯ ที่กลุ่มแรงงานมองว่าเป็นปัญหาหลักๆ มี 3 ข้อ คือ 1.การเพิ่มช่วงเวลาการทำงานจาก 2 ช่วง เป็น 3 ช่วง ทำให้พนักงานต้องขาดรายได้จากการทำงานล่วงเวลา (ทำโอที) ซึ่งต้องยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่าที่ผ่านมาพนักงานอยู่ได้ด้วยเงินตรงนี้ 2.การยกเลิกเบี้ยผลิต ซึ่งงานในอุตสาหกรรมนี้เป็นงานหนัก การมีเบี้ยผลิตเพื่อให้พนักงานพยายามทำงานตามเป้าที่วางไว้ ที่ผ่านมาพนักงานบางคนก็ยินดีทำงานตรงนี้โดยไม่ยอมพักผ่อน เพื่อที่จะมีรายได้ตรงนี้ เพราะเงินเดือนพนักงานแค่เดือนละ 6-7 พันบาทนั้นไปไม่พอกับการใช้จ่าย และ3.การลดค่าครองชีพ ซึ่งทั้งหลายเหล่านี้กระทบกับรายได้และคุณภาพชีวิตซึ่งพนักงานไม่สามารถยอมให้ได้

นายยงยุทธ กล่าวด้วยว่า การเดินเท้าของแรงงานในครั้งนี้หวังผลที่จะประกาศรายทางถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะพวกเขาถอยไม่ได้อีกแล้ว และต้องการเรียกร้องขอความเห็นใจจากรัฐบาลและรัฐมนตรีที่รับผิดชอบให้เข้ามาช่วยเหลือแก้ปัญหา เพื่อให้แรงงานได้กลับเข้าทำงาน และอาจมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อการแก้ปัญหาโดยเฉพาะ ไม่ใช่วางเชิงไม่ยอมทำอะไร ทั้งที่มีกฎหมายอยู่ในมือ ปล่อยให้แรงงานและนายจ้างเคลียร์ปัญหากันเอง ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลเมินเฉยในการแก้ปัญหา เพราะห่วงการลงทุน แต่จริงๆ แล้วปัญหาการลงทุนอยู่ที่การเมือง หากบ้านเมืองไม่สงบคนก็ไม่กล้ามาลงทุน

“หากรัฐบาลและรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานไม่คุ้มครองแรงงาน เอาใจแต่ระบบทุน อย่างนั้นไม่มีเสียจะดีกว่า” นายยงยุทธกล่าว

ต่อคำถามถึงกระแสข่าวที่ว่าทางกลุ่มจะเดินทางเพื่อมาเข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ชุมนุมอยู่ที่บริเวณสะพานมัฆวาน นายยงยุทธ กล่าวว่า เรื่องนี้ยืนยันพันเปอร์เซ็นต์ว่าการเคลื่อนของกลุ่มแรงงานครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ แต่ยอมรับว่าที่ผ่านมาเรื่องสีเหลือง-แดงเป็นปัญหาของกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวแทบทุกกลุ่ม รวมทั้งขบวนการแรงงานที่มีทั้งคนสีเหลืองและสีแดง อย่างไรก็ตามทางสหพันธ์แรงงานยานยนต์ฯ และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้คุยกันในเรื่องนี้อย่างชัดเจนแล้วว่าจะไม่เอาเรื่องสีมาเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของแรงงาน  

ทั้งนี้ สหภาพแรงงานแม็กซิส ประเทศไทย ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทแม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีพนักงานกว่า 2,500 คน เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2553 จำนวน 20 ข้อ โดยมีการนัดเจรจาครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2553 และเช้าตรู่วันเดียวกันบริษัทได้ประกาศปิดงาน 7 วัน โดยอ้างเครื่องจักรเสียจำเป็นต้องหยุดการผลิตชั่วคราว จากนั้น มีการประกาศปิดงานเนื่องจากข้อเรียกร้องไม่สามารถตกลงกันได้ ในวันที่ 25 ม.ค. 2554

ในวันที่ 25 พ.ย.2553 นายจ้างได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อสหภาพแรงงานจำนวน 3 ข้อ และวันที่ 18 ม.ค.2554 เวลาประมาณ 14.00 น.ตัวแทนนายจ้างได้แจ้งข้อเรียกร้องฉบับใหม่แทนฉบับเก่าที่ถอนข้อเรียกร้องให้กับสหภาพแรงงาน โดยยื่นข้อเรียกร้องเพิ่มเป็น 5 ข้อ ขณะที่การชุมนุมของสหภาพแรงงานแม็กซิสฯ เริ่มตั้งแต่เช้าของวันที่ 22 ม.ค.2554

สำหรับ สหภาพแรงงาน ฟูจึซึ เจอร์เนอร์รัล ประเทศไทย ถูกนายจ้างประกาศปิดงานไม่จ่ายค่าจ้างเนื่องข้อเรียกร้องไม่สามารถตกลงกันได้ ตั้งแต่ 24 ธ.ค.2553 ที่ผ่านมาสหภาพแรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้อง จำนวน 13 ข้อ แต่จนถึงปัจจุบันการเจรจายังไม่เป็นผลสำเร็จ

ส่วนบริษัท พีซีบี เซ็นต์เตอร์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ศรีราชา ต.หนองขาม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรีผลิตแผงวงจรอิเลคทรอนิกส์ ส่งขายให้ต่างประเทศ มีพนักงานทั้งหมด 500 กว่าคน ถูกนายจ้างประกาศปิดงาน ตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค.2554 ที่ผ่านมา เนื่องจากบริษัทเกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากและเสียชีวิต 3 ราย เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ทำให้นายจ้างอ้างประกาศปิดกิจการ โดยไม่จ่ายค่าชดเชยและเงินเดือนค้างจ่าย

 

000

 

แถลงการณ์ ฉบับที่ 6

คนงานแม็กซีสผลิตยางรถยนต์ถูกนายจ้างปิดงานเดินเท้าเข้ากรุงเทพฯ

 

เรียนพี่น้อง ประชาชน, สื่อมวลชน และผู้ใช้แรงงานทุกท่าน

 

บริษัทแม็กซีส อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด ตั้งอยู่ที่ 300/1หมู่ 1 ต.ตาสิทธิ์ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ผลิตยางรถยนต์แบรนด์แม็กซีส นายจ้างเป็นชาวไต้หวัน ตั้งมาได้ 7 ปี ส่งขายในประเทศและต่างประเทศ มีพนักงานประจำทั้งหมดประมาณ 2,500 คน ได้ปิดงานลูกจ้างตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.2553 จนถึงปัจจุบันทำให้พนักงานได้รับความเดือดร้อน สาเหตุที่ปิดงานครั้งนี้เนื่องจากบริษัทฯต้องการลดสวัสดิการของพนักงานลงทำให้พนักงานไม่ยอมบริษัทฯ จึงปิดงาน 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2554 เวลา 10.00 น.มีการเจรจากันแต่ไม่สามารถตกลงกันได้และนายจ้างได้แจ้งปิดงานต่ออีก ตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ.2554 เป็นต้นไป ซึ่งเดิมก็มีการปิดงานอยู่แล้วแต่ต้องมาปิดซ้ำอีกซึ่งเห็นเจตนาชัดเจนว่าบริษัทฯ ไม่มีความจริงใจที่จะหาข้อยุติจนกว่าลูกจ้างยอมให้ลดสวัสดิการลงเท่านั้น ทั้งๆที่ผ่านมาลูกจ้างได้ทำงานให้บริษัทฯมีกำไรขยายโรงงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแต่ผลตอบแทนกลับน้อยนิดทำให้รายได้ที่ได้รับไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย มิหนำซ้ำการหยุดงานที่ผ่านมาบริษัทฯใช้วิธีต่างๆเช่น ล้อมสังกะสีหน้าบริษัทฯเพื่อไม่ให้ลูกจ้างชุมนุม, จ้างชายชุดดำเข้ามาดูแลความปลอดภัยเป็นจำนวนมาก,การจ้างงานราคาถูกเช่นพนักงานเหมาค่าแรง และแรงงานต่างด้าวส่วนมากเป็นชาวเขมรเข้ามาทำงานแทนพนักงานประจำ ซึ่งเป็นการจ้างงานที่เอาเปรียบคนงาน การกระทำเช่นนี้เพื่อต้องการจะลอยแพพนักงานประจำและต้องการจะล้มล้างสหภาพแรงงานที่เป็นองค์กรของลูกจ้างที่เป็นปากเป็นเสียงแทนลูกจ้าง

จากปัญหาที่เกิดขึ้นลูกจ้างได้ไปร้องเรียนกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องแต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ จึงทำให้พนักงานมีมติร่วมกันที่จะเดินเท้าเข้ากรุงเทพฯเพื่อให้รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะรัฐบาลมี นโยบายส่งเสริมการลงทุนและต้องการเห็นคุณภาพชีวิตของคนทำงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ไม่ดูแลลูกจ้างที่ถูกละเมิดสิทธิ ปล่อยให้นายทุนเอารัดเอาเปรียบลูกจ้าง ซึ่งขัดกับนโยบายที่รัฐให้ไว้กับประชาชน

สิ่งที่พนักงานต้องการคือ 1.ให้รัฐใช้อำนาจและมีความจริงใจในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น 2.ให้บริษัทฯ ถอนข้อเรียกร้องเพื่อหาข้อยุติ 3.ให้บริษัทฯ ส่งคนที่มีอำนาจตัดสินใจเข้ามาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น 4.ให้รัฐบาลทบทวน นโยบายที่ส่งเสริมการลงทุน ที่ให้นายจ้างรับแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานโดยอ้างว่าแรงงานไทยขาดแขลน

ดังนั้นสหภาพแรงงานแม็กซิสแห่งประเทศไทยต้องขออภัยพี่น้องที่ไม่สะดวกในการเดินทาง เพราะพวกเรามีความจำเป็นที่ต้องใช้เส้นทางสายนี้ในการเดินเท้าเข้ากรุงเทพฯ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการสนับสนุนในการต่อสู้ในครั้งนี้ เพราะการเรียกร้องของพวกเราในวันนี้เป็นการเดินเพื่อให้รัฐบาลได้ดูแลพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้ไว้กับประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องทำเพื่อประชาชน

 

ด้วยศรัทธา และเชื่อมั่น

สหภาพแรงงานแม็กซิส ประเทศไทย 

 

000

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โรงพยาบาลแจ้งตำรวจจับคนไข้พม่า หลังค้างจ่ายค่ารักษา

Posted: 01 Feb 2011 10:41 AM PST

แรงงานชาวพม่าประสบอุบัติเหตุขณะทำงาน อวัยวะช้ำต้องผ่าตัดลำไส้เพื่อขับถ่ายทางช่องท้อง ซ้ำนายจ้างทิ้งพร้อมหนี้ค่ารักษาร่วม 8 หมื่น ล่าสุดโรงพยาบาลแจ้งตำรวจจับคนไข้ ส่ง ตม. รอผลักดันกลับพม่า ขณะที่นักสิทธิเผยฯ แนวปฏิบัติของ สธ. ปี 51 ระบุให้ยึดหลักมนุษยธรรม - นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลลูกจ้าง ตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน 

"ชาลี" แรงงานชาวพม่า ผู้ป่วยหลังประสบอุบัติเหตุระหว่างทำงานก่อสร้างเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 54 ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา ถูกโรงพยาลแจ้งตำรวจจับ โดยถูกควบคุมตัวที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง รอการส่งกลับประเทศ (ที่มาของภาพ: มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา)

 

โรงพยาบาลแจ้งตำรวจจับคนไข้พม่า หลังค้างจ่ายฯ - ตม. เตรียมเนรเทศกลับ 

กรณีผู้ป่วยซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติจากพม่า ถูกโรงพยาบาลแจ้งตำรวจเพื่อเนรเทศกลับประเทศ หลังถูกนายจ้างส่งตัวเข้ารับการรักษาพยาบาลหลังประสบอุบัติเหตุ ต่อมาถูกนายจ้างทอดทิ้งพร้อมหนี้รักษาพยาบาลกว่า 8 หมื่น ได้รับการเปิดเผยเมื่อวานนี้ (1 ก.พ. 54) โดยมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)

โดยผู้ป่วยที่รอส่งกลับพม่าดังกล่าว ชื่อนายชาลี หรือชื่อตามบัตรอนุญาตทำงานคือชาลี ติยู อายุ 25 ปี สัญชาติพม่า ภูมิลำเนาเดิม หมู่บ้านกับเย่า เมืองจายเมียว ประเทศพม่า เข้าเมืองผิดกฎหมายทางชายแดน จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว

เดิมนายชาลีทำงานกับนายจ้างชื่อนายไก่ (ไม่ทราบชื่อและนามสกุลจริง) ลักษณะงานเป็นงานก่อสร้าง มีลูกจ้างประมาณ 10 คน นายไก่มีที่พักอยู่ ตรงข้ามวัดสุวรณ ถนนลำลูกกา คลองเก้า ปทุมธานี นายชาลีแจ้งว่ามีใบอนุญาตทำงานตั้งแต่ 5 ปีที่แล้วและต่อใบอนุญาตตลอดมา โดยประกันตนกับโรงพยาบาลธัญบุรี คลองหก ซึ่งบัตรประจำตัวปี 2553 เพิ่งหมดอายุเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 54 ที่ผ่านมา

สำหรับเอกสารประจำตัวต่างๆ นายชาลีแจ้งว่าเก็บไว้ที่ที่พักซึ่งเช่าอยู่รวมกับเพื่อนคนงานที่ย่านคลองเก้า หลังประสบอุบัติเหตุไม่ได้กลับไปและเพื่อนคนงานที่พักอยู่ด้วยกันย้ายออกจากห้องพักดังกล่าวทำให้เอกสารทั้งหมดสูญหาย

ก่อนเกิดเหตุประมาณ 2 เดือนครึ่ง นายชาลีได้ไปทำงานกับนายจ้างคนใหม่ ชื่อนายธารา ริตแตง ภูมิลำเนาอยู่ อ.เมือง จ.นนทบุรี โดยที่ไม่ได้แจ้งเปลี่ยนชื่อนายจ้าง โดยนายธารามีที่พักอยู่บ้านเช่าย่านคลองเก้า อ.คูคต จ.ปทุมธานี ลักษณะงานก่อสร้างเหมาช่วง มีคนงานเพียง 3 คน คือตัวนายธาราเอง ภรรยานายธารา และนายชาลี ได้ค่าจ้างวันละ 250 บาท

วันเกิดเหตุ คือเมื่อวันที่ 9 ม.ค.54 ที่ผ่านมา นายธาราพานายชาลีไปรับจ้างก่อปูนที่ไซท์งานของบริษัท NSU supply จำกัด ซึ่งรับเหมาต่อเติมโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูปเครือซีพี ลาดหลุมแก้ว ขณะทำงานเกิดอุบัติเหตุผนังคอนกรีตพังลงมาทับตัวนายชาลีได้รับบาดเจ็บ นายวีรศักดิ์ คำศรี หัวหน้าคนงานบริษัท NSU supply นำตัวส่งโรงพยาบาลปทุมธานี อาการสะโพกด้านซ้ายหัก อวัยวะในช่องท้องได้รับบาดเจ็บรุนแรง ลำไส้ใหญ่แตก กระเพาะปัสสาวะช้ำ ปัสสาวะเป็นเลือด ต้องผ่าตัดลำไส้ใหญ่ ระบายอุจจาระทางหน้าท้องชั่วคราว

กระทั่งวันที่ 25 ม.ค.54 แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ แต่ต้องดูแลถุงถ่ายอุจจาระทางหน้าท้องอีกประมาณ 2 เดือน และต้องกลับมารับการตรวจรักษาเพื่อเย็บปิดหน้าท้องกลับตามเดิม โดยค่ารักษาพยาบาลตกเป็นเงินประมาณ 7-8 หมื่นบาท ไม่มีผู้รับผิดชอบ เนื่องจากหลังเกิดเหตุนายธารา ซึ่งเป็นนายจ้างได้หลบหนีไป โดยทางโรงพยาบาลเห็นว่าอาการของนายชาลีอยู่ในขั้นที่สามารถกลับไปพักรักษาตัวที่บ้านได้แล้วและหากอยู่ต่อไปจะเป็นภาระค่าใช้จ่ายต่อโรงพยาบาลจึงต้องการให้ออกจากโรงพยาบาล หรือดำเนินการเพื่อส่งตัวกลับภูมิลำเนาต่อไป

จากการสอบถามนายชาลีทราบว่านายชาลีไม่มีเงินติดตัวพอที่จะดูแลตัวเองหรือเดินทางไปไหนได้ ทั้งไม่มีญาติพี่น้องอยู่ในประเทศไทย หากจำเป็นต้องออกจากโรงพยาบาลก็จะไปหาเพื่อนคนงานซึ่งพักอาศัยอยู่ย่านชุมชนที่พักคนงานชาวพม่าที่คลองเก้า

กระทั่งเมื่อวันที่ 31 ม.ค. โรงพยาบาลปทุมธานีจึงได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมารับตัวนายชาลี นายชาลีซึ่งยังอยู่ในสภาพเจ็บป่วยและต้องขับถ่ายผ่านถุงอุจจาระทางหน้าท้อง จึงถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่สถานีตำรวจอำเภอเมืองปทุมธานี และได้ถูกส่งตัวไปควบคุมตัวไว้ต่อที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรุงเทพมหานคร ดังกล่าว

โดยมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เปิดเผยว่า ขณะนี้นายชาลี ถูกควบคุมตัวอยู่ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ย่านสวนพลู เพื่อรอการส่งกลับออกไปยังประเทศพม่า

 

เผยแนวปฏิบัติ สธ. ปี 51 ให้ยึด พ.ร.บ.เงินทดแทน นายจ้างต้องจ่าย

หนังสือเลขที่ สธ. 0707.05.1/5099 ลงวันที่ 16 ต.ค. ลงนามโดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้น เรื่อง “ชี้แจงเกี่ยวกับระบบและนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในการให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยหรือตายอันเนื่องมาจากการทำงาน” โดยระบุว่าการให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นเป็นตามหลักมนุษยธรรมและความเสมอภาคในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข และหากมีการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยหรือตายเนื่องมาจากการทำงาน ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้รับการรักษาพยาบาล และให้นายจ้างเป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาล ตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ. 2537 [อ่านเอกสารดังกล่าวที่นี่]

 

อนึ่ง ในสำเนาหนังสือราชการที่ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เผยแพร่แก่สื่อมวลชน ระบุว่า ก่อนหน้านี้ นายสมชาย หอมลออ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) เคยยื่นหนังสือเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 51 เพื่อสอบถาม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น เกี่ยวกับ "ระบบและนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในการให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยหรือตายอันเนื่องมาจากการทำงาน" โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ทำหนังสือเลขที่ สธ. 0707.05.1/5099 เพื่อตอบกลับเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 51

โดยตอนหนึ่งของหนังสือตอบกลับระบุว่า “การช่วยเหลือในเบื้องต้นเป็นไปตามหลักมนุษยธรรมและความเสมอภาคในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข เนื่องจากการประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการอยู่นั้น เป็นการให้บริการรักษาพยาบาลการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยนอกเหนือจากการทำงาน ดังนั้นเมื่อมีการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยหรือตายเนื่องมาจากการทำงานจึงเข้าอยู่ในพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับอำนาจหน้าที่และภารกิจของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน และตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 13 เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้รับการรักษาพยาบาลทันทีตามความเหมาะสมแก่อันตรายหรือความเจ็บป่วยนั้น และให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกิดอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง..." [อ่านเอกสารดังกล่าวที่นี่]

AttachmentSize
หนังสือเลขที่ สธ. 0707.05.1/5099621.15 KB
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

พระราชาจอร์แดนสั่งยุบสภา หลังประชาชนประท้วงรัฐบาล

Posted: 01 Feb 2011 10:18 AM PST

พระราชาอับดุลลา ของจอร์แดนทรงมีพระบรมราชโองการให้มีการยุบสภา หลังจากที่มีการประชาชนออกมาประท้วงตามท้องถนน และยังทรงมอบหมายให้อดีตนายพลกองทัพแต่งตั้งคณะรัฐบาลใหม่

2 ม.ค. 2554 - สำนักพระราชวังประเทศจอร์แดนประกาศว่า พระมหากษัตริย์ของจอร์แดนทรงมีพระบรมราชโองการให้มีการยุบสภา หลังจากที่มีการประชาชนออกมาประท้วงตามท้องถนน และยังทรงมอบหมายให้อดีตนายพลกองทัพแต่งตั้งคณะรัฐบาลใหม่

พระบรมราชโองการของพระราชาอับดุลลา เกิดขึ้นหลังจากทีชาวจอร์แดนประท้วงตามท้องถนนหลายพันราย ซึ่งพวกเขาได้แรงบันดาลใจมาจากการประท้วงขับไล่รัฐบาลในตูนีเซียและเหตุวุ่นวายในอียิปต์ โดยมีการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีซามีร์ ริฟาอี ออกจากตำแหน่งเนื่องจากถูกประณามว่าเป็นผู้ที่ทำให้ราคาอาหารและราคาน้ำมันสูงขึ้น รวมถึงทำให้กระบวนการปฏิรูปประเทศช้าลง

พระราชาอับดุลลายังได้ทรงแต่งตั้งให้ มารูฟ อัล-บากีต เป็นนายกรัฐมนตรีแทนคนเดิม โดยยังไม่มีข้อมูลรายละเอียดมากกว่านี้

 

ที่มา
Jordan's king sacks Cabinet amid street protests, 02-02-2011
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลมุกดาหารสอบพยานคดีเผาศาลากลาง 5 ปาก

Posted: 01 Feb 2011 08:30 AM PST

 
31 ม.ค. 2554 ศาลจังหวัดมุกดาหารนัดสืบพยานโจทก์คดีบุกรุกและเผาศาลากลางเป็นนัดแรก ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 1 จำเลยในคดีนี้ซึ่งตำรวจตามจับกุมตัวได้ทั้งสิ้น 29 คน จากหมายจับ 75 คน  แบ่งเป็นจำเลยในคดีบุกรุก 8 คน คดีบุกรุกและเผา 21 คน ถูกเบิกตัวเข้าห้องพิจารณาคดีเวลาประมาณ 9.30 น. ทั้งนี้ หน้าห้องพิจารณาคดีมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยควบคุมอย่างเข้มงวด โดยไม่อนุญาตให้ญาติและบุคคลภายนอกเข้ารับฟัง

จากนั้น ศาลได้เบิกตัวพยานโจทก์ปากที่ 1 คือ นายวิศิษฐ์ โพธิ์ไทร ขึ้นให้การ นายวิศิษฐ์ เป็นผู้ได้รับมอบอำนาจจากนายบุญส่ง เตชะมณีสถิต ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหารในขณะเกิดเหตุการณ์เผาศาลากลางเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ให้มาแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่มาชุมนุม และทำให้เกิดเหตุวางเพลิงเผาอาคารศาลากลาง ทนายจำเลยในคดีนี้ซึ่งมีทั้งสิ้น 5 คน ประกอบด้วยทีมทนายอาสาของศูนย์ข้อมูลประชาชน (ศปช.) จากสำนักกฎหมายราชประสงค์ และทีมทนายจากพรรคเพื่อไทย  ทำการซักค้านอย่างละเอียด เป็นเวลานาน ทำให้ในช่วงเช้าพยานโจทก์เบิกความได้เพียงปากเดียว

ช่วงบ่าย นางสาวสมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าฯ ขึ้นให้การเป็นปากที่สอง ในวันเกิดเหตุ รองฯสมหมาย ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าฯ ให้มาเจราจากับแกนนำในการชุมนุม  และอยู่ดูแลรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาลากลางตลอดเวลาที่เกิดเหตุจนกระทั่งมีการสลายการชุมนุม และเหตุการณ์กลับสู่ความสงบ การซักค้านโดยทนายจำเลยใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง

พยานปากที่ 3 เป็นนิติกรประจำสำนักงานเทศบาลเมืองมุกดาหาร ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากเทศบาลเมืองมุกดาหารให้มาแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมที่ทำให้ทรัพย์สินของเทศบาลเสียหาย ได้แก่ รถดับเพลิง และรถน้ำ โดยพยานได้แจ้งความตามรายงานที่ได้รับจากฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ไม่ได้เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ ทนายจึงซักค้านเพียงเล็กน้อย  จนถึงเวลา 16.30 น. ศาลเห็นว่าสมควรยุติการเบิกความของพยานโจทก์เพียงเท่านี้ และให้เลื่อนการสืบพยานที่เหลือเป็นนัดต่อไป คือวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2554

เวลา 17.00 น. จำเลยทยอยลงมาจากศาล ทั้งนี้ มีจำเลยที่ยังถูกควบคุมตัวโดยไม่ได้รับการประกันตัวอีก 12 คน ทั้งหมดได้ใช้ช่วงเวลานี้ในการพบปะทักทายญาติพี่น้อง รวมทั้งระหว่างจำเลยด้วยกันที่ส่วนหนึ่งได้รับการประกันตัวออกมา บรรยากาศในการพบปะกันเป็นไปอย่างสบายๆ จำเลยทั้งหมดไม่มีสีหน้าวิตกกังวลแต่อย่างใด 
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"ธาริต" โต้ "อัมสเตอร์ดัม" ใช้เรื่องสัญชาติฟ้องมาร์คไม่ได้

Posted: 01 Feb 2011 07:10 AM PST

"ธาริต" โต้ "โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม" ชี้ฟ้องอภิสิทธิ์เป็นกลยุทธ์ทางการเมือง ต้องการดิสเครดิตรัฐบาล ยันดีเอสไอทำคดีตรงไปตรงมา สาเหตุการเสียชีวิตช่วงชุมนุมเสื้อแดง มี 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นฝีมือแดงฮาร์ดคอร์ เพราะทหาร-ตำรวจไม่ใช้ เอ็ม-79 กลุ่มที่สองเจ้าหน้าที่รัฐอาจเกี่ยวข้อง แต่ตอนนี้ให้ตำรวจชันสูตรใหม่ ส่วนกลุ่มที่สามหลักฐาน-พยานยังไม่ชัด

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานวันนี้ (1 ก.พ.) โดยเผยแพร่ความเห็นของนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีที่นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยื่นฟ้อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องฟ้องศาลอาญาระหว่างประเทศต่อรัฐบาลไทย กรณีรัฐบาลไทยสั่งสลายการชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดง ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 91 ศพว่า ไม่สามารถฟ้องได้ ว่า นายกรัฐมนตรี จะมีสัญชาติเป็นคนประเทศอังกฤษหรือไม่  เพราะการฟ้องร้องจะต้องเป็นการฟ้องรัฐบาล ไม่ใช่ตัวบุคคล ขณะที่ ส่วนตัวไม่เข้าใจว่านำเรื่องดังกล่าวไปผูกโยงสัญชาตินายกรัฐมนตรีได้อย่าง ไร กรณีที่นายโรเบิร์ต อัมเตอร์ดัม ออกมาชี้ถึงประเด็นดังกล่าว เห็นเป็นเพียงกลยุทธทางการเมืองต้องการ ดิสเครดิต นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลเท่านั้น

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และประชาชน ในช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดง ยังกล่าวถึงกรณีนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม อ้างว่าอธิบดีดีเอสไอ เป็นกรรมการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) อาจจะสอบสวนไปตามธงของ ศอฉ.ต้องการว่า ตนขอยืนยันว่าการทำหน้าที่ของดีเอสไอได้ทำตามพยานหลักฐานอย่างตรงไปตรงมา การที่ตนเป็นกรรมการ ศอฉ.จะไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการสอบสวนหรือบิดเบือนเป็นอันขาด เพราะคดีนี้ไม่ได้สอบสวนเพียงลำพังแต่ทำเป็นรูปคณะพนักงานสอบสวน และที่สำคัญมีพนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมสอบสวนด้วย จึงเป็นหลักประกันได้ว่า การสอบสวนจะตรงไปตรงมา ดังนั้นข้อคิดเห็นของนายโรเบิร์ต ตนจึงไม่ขอแสดงความเห็นเพราะรัฐบาลได้มอบกระทรวงต่างประเทศเป็นผู้ชี้แจง ผู้สื่อข่ามถามว่า กรณีที่นายโรเบิร์ต จะนำคดี 89 ศพ ไปฟ้องศาลอาญาระหว่างประเทศ ในฐานะองค์กรรับผิดชอบคดีมองว่าจะทำได้หรือไม่ นายธาริต กล่าวว่า เป็นเรื่องธรรมดาของฝ่ายจำเลยที่ต้องดิ้นรนว่าไม่ได้กระทำความผิด จึงไม่รู้สึกแปลกใจ แต่รองประธานศาลอาญาระหว่างประเทศเคยให้สัมภาษณ์ในประเทศไทยว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ

อธิบดีดีเอสไอ ยังกล่าวถึงกรณีที่นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ระบุว่าการทำสำนวนการสอบสวนของดีเอสไอ หากไม่พบหลักฐานว่าใครเป็นคนฆ่าประชาชนก็จะระบุว่าเป็นฝีมือของคนเสื้อแดง ว่า การกล่าวหาดังกล่าวไม่เป็นความจริง ที่ผ่านมาสำนวนการสอบสวนสาเหตุการเสียชีวิต 89 ศพ ของดีเอสไอสรุปค่อนข้างชัดเจนโดยแยกพฤติการณ์การกระทำความผิดออกเป็น 3 ส่วน กลุ่มแรกมีความชัดเจนว่าเป็นฝีมือของคนเสื้อแดงกลุ่มการ์ดฮาร์ดคอร์ เนื่องจากเป็นการยิงเอ็ม 79 ใส่ทหาร ตำรวจ และประชาชน โดยกลุ่มการ์ดชุดดำ ซึ่งอาวุธเอ็ม 79 ไม่ใช่อาวุธประจำกายของทหารและตำรวจ โดยมีหลักฐานชัดเจนว่าชุดปฏิบัติการในพื้นที่ไม่ได้เบิกใช้เครื่องยิงเอ็ม 79 ในส่วนของการ์ดชุดดำก็ถูกจับกุมดำเนินคดีแล้วจำนวนหนึ่ง

สำนวนคดีกลุ่มที่ 2 เป็นการสรุปสำนวนเบื้องต้นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต จึงได้ส่งสำนวนให้ตำรวจพื้นที่ทำสำนวนชันสูตรพลิกศพใหม่ ซึ่งในที่สุดคดีในกลุ่มที่ 2 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตรวม 13 ศพ อาจมีการนำเสนอให้ศาลไต่สวน สำหรับคดีการเสียชีวิตในกลุ่มที่ 3 ยอมรับว่า ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่ากลุ่มใดเป็นผู้กระทำความผิด เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานและพยานบ่งชี้จึงจะเห็นได้ว่าดีเอสไอไม่ได้สอบสวนโดยไร้พยานหลักฐาน ตามที่นายอัมสเตอร์ดัมกล่าวอ้าง อย่างไรก็ตาม ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบคำแถลงและคำสัมภาษณ์ของนายอัมสเตอร์ดัม อย่างละเอียดแล้ว

ส่วนกรณีที่นายอัมสเตอร์ดัม กล่าวหาว่าการเสียชีวิตของคนเสื้อแดงไม่ได้รับการตรวจสอบตามกระบวนการ ยุติธรรมไทย เพราะหน่วยงานภาครัฐไม่มีอิสระในการทำงาน นายธาริต กล่าวว่า ที่ผ่านมาดีเอสไอสอบสวนด้วยความเป็นอิสระตรงไปตรงมา การสรุปสำนวนสาเหตุการเสียชีวิตโดยแยกออกเป็น 3 กลุ่ม เป็นเครื่องยืนยันถึงความโปร่งใส

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผังเมืองหมดอายุ: อนาธิปไตยในการใช้ที่ดิน

Posted: 01 Feb 2011 06:26 AM PST

ที่มา: คำแถลงของ ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA ฉบับที่ 10/2554: วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554
 

สัญญาณอันตรายที่เป็นอันตรายต่อการวางแผนประเทศชาติก็คือในขณะนี้ผังเมือง 155 ผังที่มีอยู่ในประเทศไทย มีถึง 94 ผังหรือ 61% แล้วที่หมดอายุไปแล้ว  ในประเทศไทยไม่ได้มีผังเมืองทุกเมือง มีเพียง 155 เมืองหรือนครเท่านั้นที่มีผังเมือง และผังเมืองไม่ได้ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ

หากพิจารณาจากตัวเลขเบื้องต้นดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่า มีผังเมืองที่หมดอายุไปเกิน 2 ปี ณ สิ้นปี 2553 (หมดอายุจนถึงสิ้นปี 2551) ถึง 64 ผังจาก 155 ผัง หรือประมาณ 41%  และยังมีผังเมืองที่หมดอายุในปี 2552 อีก 21 ผัง รวมเป็นทั้งหมดถึง 85 ผังจาก 155 ผัง

ปกติผังเมืองเมื่อหมดอายุแล้ว สามารถต่อได้อีก 2 ครั้ง ๆ ละ 1 ปี รวม 2 ปี ผังเมืองที่หมดอายุเกิน 2 ปีก็คือไม่มีการบังคับใช้แล้ว ในพื้นที่นั้น ๆ ภาคเอกชนจะก่อสร้างอะไรก็ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงผังเมืองอีกต่อไป กรณีนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งว่า เมืองจะได้รับการพัฒนาโดยขาดการวางผัง และน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งว่า ประเทศไทยมีผังเมืองแล้ว แต่ก็กลับปล่อยให้หมดอายุไปโดยไม่ทันได้แก้ไข

สาเหตุส่วนหนึ่งที่ผังเมืองหมดอายุและยังไม่มีการต่อนั้น ในขณะนี้เป็นช่วงที่ราชการส่วนกลางให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำผัง เมืองเอง แต่หากปล่อยไว้เนิ่นนานออกไป ผลเสียอาจจะเกิดขึ้นกับการไม่มีระเบียบในการพัฒนาเมืองในอนาคต

ประวัติการผังเมืองในประเทศไทยนั้น มีความลุ่ม ๆ ดอน ๆ พอสมควร โดยประเทศไทยเริ่มมีพระราชบัญญัติการผังเมืองและผังชนบท พ.ศ. 2495 แต่ก็ยังไม่เคยมีผังเมืองเกิดขึ้นจนปี 2500 ได้มีการวางผังเมืองกรุงเทพมหานคร แต่ก็ไม่สามารถประกาศใช้ได้เลย ยกเว้นในหัวเมืองอื่นจนกระทั่งถึง พ.ศ. 2535 จึงมีผังเมืองกรุงเทพมหานครฉบับแรก และจัดทำเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ในรายละเอียดผังเมืองรวมที่หมดอายุไปในปีต่าง ๆ ได้แก่:

พ.ศ. 2544 ผังเมืองรวมเมืองห้วยยอด ตรั

พ.ศ. 2546 ผังเมืองรวมเมืองบ้านบึง ชลบุรี,  ผังเมืองรวมเมืองประจวบคีรีขันธ์,  ผังเมืองรวมเมืองราชบุรี

พ.ศ. 2547 ผังเมืองรวมเมืองกระบี่,  ผังเมืองชุมชนบางปะกง ฉะเชิงเทรา,  ผังเมืองชุมชนพิกุลทอง เมือง นราธิวาส,  ผังเมืองรวมเมืองหัวหิน ประจวบคีรีขันธ์,  ผังเมืองรวมเมืองปัตตานี,  ผังเมืองรวมเมืองบ้านโป่ง ราชบุรี,  ผังเมืองรวมเมืองลำพูน,  ผังเมืองรวมเมืองสิงห์บุรี

พ.ศ. 2548 ผังเมืองรวมเมืองพล ขอนแก่น,  ผังเมืองบริเวณอุตสาหกรรมและผังเมืองชุมชนแหลมฉบัง ชลบุรี,  ผังเมืองรวมเมืองชุมพร

พ.ศ. 2549 ผังเมืองรวมเมืองขอนแก่น,  ผังเมืองรวมเมืองบ้านไผ่,  ผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่,  ผังเมืองรวมเมืองแม่สอด ตาก,  ผังเมืองรวมเมืองปากพนัง นครศรีธรรมราช,  ผังเมืองชุมชนจุฬาภรณ์ นครศรีธรรมราช,  ผังเมืองรวมเมืองนครสวรรค์,  ผังเมืองชุมชนคูคต ปทุมธานี,  ผังเมืองรวมเมืองปราจีนบุรี,  ผังเมืองรวมเมืองบางมูลนาก พิจิตร,  ผังเมืองรวมเมืองหล่มสัก เพชรบูรณ์,  ผังเมืองรวมเมืองแพร่,  ผังเมืองรวมเมืองแม่ฮ่องสอน,  ผังเมืองรวมเมืองเบตง ยะลา,  ผังเมืองรวมเมืองโพธาราม ราชบุรี,  ผังเมืองรวมเมืองศรีสะเกษ,  ผังเมืองรวมเมืองสกลนคร,  ผังเมืองรวมเมืองสุพรรณบุรี,  ผังเมืองรวมเมืองหนองคาย

พ.ศ. 2550 ผังเมืองรวมเมืองท่าเรือพระแท่น กาญจนบุรี,  ผังเมืองรวมเมืองกาญจนบุรี,  ผังเมืองรวมเมืองกันตัง ตรัง,  ผังเมืองรวมเมืองตาคลี นครสวรรค์,  ผังเมืองรวมเมืองสุไหงโก-ลก นราธิวาส,  ผังเมืองรวมเมืองนราธิวาส,  ผังเมืองชุมชนตากใบ นราธิวาส,  ผังเมืองรวมเมืองน่าน,  ผังเมืองรวมเมืองกบินทร์บุรี ปราจีนบุรี,  ผังเมืองรวมเมืองชะอำ เพชรบุรี,  ผังเมืองรวมเมืองยะลา,  ผังเมืองรวมเมืองลำปาง,  ผังเมืองรวมเมืองอรัญประเทศ สระแก้ว,  ผังเมืองรวมเมืองหนองแค สระบุรี,  ผังเมืองรวมเมืองสองพี่น้อง สุพรรณบุรี,  ผังเมืองรวมเมืองอ่างทอง,  ผังเมืองรวมเมืองป่าโมก,  ผังเมืองรวมเมืองอำนาจเจริญ

พ.ศ. 2551 ผังเมืองรวมเมืองท่าใหม่ จันทบุรี,  ผังเมืองรวมเมืองนครปฐม,  ผังเมืองรวมเมืองนครพนม,  ผังเมืองรวมเมืองนางรอง บุรีรัมย์,  ผังเมืองรวมเมืองแกลง แ ระยอง,  ผังเมืองรวมจังหวัดเลย,  ผังเมืองรวมสมุทรปราการ,  ผังเมืองรวมเมืองกระทุ่มแบน สมุทรสาคร,  ผังเมืองรวมเมืองบ้านนาสาร สุราษฎร์ธานี, ผังเมืองชุมชนเกาะพะงัน สุราษฎร์ธานี,  ผังเมืองรวมเมืองหนองบัวลำภู,  ผังเมืองรวมเมืองลับแล อุตรดิตถ์

พ.ศ. 2552 ผังเมืองรวมเมืองกาฬสินธ์,  ผังเมืองรวมเมืองจันทบุรี,  ผังเมืองรวมเมืองสิงห์ อุทัยธานีและชัยนาท,  ผังเมืองชุมชนปากน้ำหลังสวน ชุมพร,  ผังเมืองรวมเมืองหลังสวน ชุมพร,  ผังเมืองรวมเมืองตราด,  ผังเมืองรวมเมืองตาก,  ผังเมืองรวมเมือง นครศรีธรรมราช,  ผังเมืองรวมเมืองบุรีรัมย์,  ผังเมืองรวมเมืองสายบุรี ปัตตานี,  ผังเมืองรวมเมืองตะกั่วป่า พังงา,  ผังเมืองรวมเมืองตะพานหิน พิจิตร,  ผังเมืองรวมเมืองมหาสารคาม,  ผังเมืองชุมชนตะพง ระยอง,  ผังเมืองรวมเมืองบ้านหมี่ ลพบุรี,  ผังเมืองรวมเมืองสงขลา,  ผังเมืองรวมเมืองสมุทรสงคราม,  ผังเมืองรวมเมืองอัมพวา สมุทรสงคราม,  ผังเมืองรวมเมืองสุราษฎร์ธานี,  ผังเมืองรวมเมืองพุนพิน สุราษฎร์ธานี,  ผังเมืองรวมเมืองสิงห์ (ชัยนาท) – เมืองท่าซุง (อุทัยาธานี)

พ.ศ. 2553 เมืองพัทยา ชลบุรี,  ผังเมืองรวมเมืองบัวใหญ่ นครราชสีมา,  ผังเมืองรวมเมืองทุ่งสง นครศรีธรรมราช,  ผังเมืองรวมเมืองปทุมธานี ปทุมธานี,  ผังเมืองชุมชนบางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์,  บริเวณอุตสาหกรรมและผังเมืองชุมชนเมือง บ้านฉาง บ้านค่าย  ระยอง,  ผังเมืองรวมเมืองลพบุรี เมือง ลพบุรี,  ผังเมืองรวมเมืองสะเดา สงขลา,  ผังเมืองชุมชนช่องเม็ก อุบลราชธานี

AREA แถลงที่ 10/2554 นี้ จึงถือเป็นการเตือนภัยต่อโอกาสที่จะเกิดอนาธิปไตยในการใช้ที่ดินอัน เนื่องมาจากการไม่มีผังเมืองในขณะนี้  การพัฒนาเมืองที่ไร้ระเบียบจะสร้างปัญหาในระยะยาวแก่ประเทศชาติ  และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าภาวะขณะนี้จะได้รับการแก้ไขโดยเร็ว และให้ทุกพื้นที่มีผังเมือง กำกับและวางแผนการใช้ที่ดินให้มีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม

 

หมายเหตุ: ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เคยจัดทำ AREA แถลง ฉบับที่ 19/2552: 13 กรกฎาคม 2552 เรื่อง “วิกฤติผังเมืองไทย: อนาธิปไตยในการใช้ที่ดิน”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลกัมพูชาตัดสินจำคุก “วีระ สมความคิด” 8 ปี

Posted: 01 Feb 2011 05:12 AM PST

ศาลกัมพูชาตัดสินจำคุก "วีระ สมความคิด"  8 ปี ปรับ1.8 ล้านเรียล ส่วน "ราตรี พิพัฒนาไพบูลย์" ถูกตัดสินจำคุก 6 ปี ปรับ 1.2 ล้านเรียลจาก 3 ข้อหา โดยไม่รอลงอาญา และนำตัวเข้าเรือนจำทันที

ศาลกัมพูชาตัดสินจำคุก "วีระ - ราตรี" ไม่รอลงอาญา

วันนี้ (1 ก.พ. 54) เมื่อเวลา 19.00 น. ศาลชั้นต้นกัมพูชานัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่นายวีระ สมความคิด แกนนำเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ และเลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอรัปชั่น (คปต.) และนางราตรี พิพัฒนาไพบูลย์ เป็นจำเลย โดยถูกตั้ง 3 ข้อหา คือ เข้าเมืองผิดกฎหมาย เข้าพื้นที่ทหารโดยไม่ได้รับอนุญาต และ ประมวลข้อมูลอันเป็นภัยต่อการป้องกันประเทศ หรือ จารกรรมข้อมูล

โดยศาลกัมพูชาตัดสินคดีจำคุก นาย วีระ สมความคิด 8 ปี ปรับ 1 ล้าน 8 แสนเรียล และตัดสินจำคุก นางราตรี 6 ปีปรับ 1 ล้าน 2 แสนเรียล ไม่รองลงอาญา โดยเจ้าหน้าที่ได้คุมตัวทั้ง 2 คนกลับเข้าเรียนจำเปรยซอว์ทันที

มีรายงานด้วยว่า พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อนประชาธิปไตย ไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลกัมพูชา และพร้อมต่อสู้จนถึงที่สุด

ก่อนหน้านี้ ระหว่างการไต่สวนในช่วงเช้า ทั้งสองคนยืนยันปฏิเสธข้อหาจารกรรมข้อมูล โดยเฉพาะนายวีระยืนยันต่อศาลว่าถูกจับในดินแดนไทย ส่วนกล้องวิดีโอเป็นของเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ ใช้บันทึกการทำงาน

 

ศาลอาญายกฟ้อง หลังสันติอโศกฟ้อง มาร์ค และ 3 รัฐมนตรี ละเว้นปฏิบัติหน้าที่

วันเดียวกัน มติชนออนไลน์รายงานว่า ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลมีคำสั่งให้ยกฟ้องในคดีที่ ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ และนายตายแน่ มุ่งมาจน กลุ่มสันติอโศก สองในกลุ่ม 7 คนไทยที่ถูกประเทศกัมพูชาจับกุม เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ร่วมกันกระทำการใดๆ เพื่อให้ราชอาณาจักรตกไปอยู่ใต้อธิปไตยของรัฐต่างประเทศ กรณีพิพาทเรื่องที่ดินชายแดนไทย-กัมพูชา

โดยศาลพิจารณาคำฟ้องแล้วเห็นว่า โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น ที่มีอำนาจพิพากษาได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 275 วรรคหนึ่ง จึงให้ยกฟ้อง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สนนท.-องค์กรเครือข่าย ชุมนุมหนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในอียิปต์

Posted: 01 Feb 2011 03:08 AM PST

 

วันนี้ (1 ก.พ.54) เมื่อเวลาประมาณ 12.30 น.ที่บริเวณหน้าอาคารสรชัย สุขุมวิท 63 ที่ตั้งสถานทูตอิยิปต์ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และองค์กรสมาชิก, สหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน (สนนอ.), กลุ่มเสรีปัญญาชน, กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และเครือข่ายขบวนการประชาธิปไตยอื่นๆ ได้รวมตัวกันเพื่อแสดงพลังให้กำลังใจและสนับสนุนประชาชนชาวอียิปต์ในการโค่นล้มระบอบเผด็จการ ของประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค (Hosni Mubarak) และต่อต้านการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนชาวอียิปต์ที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการชุมนุมของกลุ่มนักกิจกรรมในวันนี้มีผู้เข้าร่วมราว 50 คน ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยมีการการกล่าวปราสัย กิจกรรมการแสดงล้อเลียนการเมือง การอ่านแถลงการณ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เป็นที่สนใจของผู้ที่สัญจรไปมาในบริเวณดังกล่าว โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาประจำการเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยประมาณ 20 นาย 

ทั้งนี้ ในส่วนแถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า พวกเรานักศึกษา ประชาชนไทยกลุ่มๆ ต่างที่มาในวันนี้ มาเพื่อสนับสนุนเจตจำนงเสรีของพี่น้องประชาชนอียิปต์ที่เรียกร้องประชาธิปไตย เป็นเวลาหลายสิบปีที่ประชาชนอียิปต์ต้องทนทุกข์แสนสาหัสเป็นเวลายาวนานจากการปกครองที่กดขี่ของผู้นำเผด็จการภายใต้การสนับสนุนของมหาอำนาจตะวันตก อีกทั้งยังมีการขูดรีดทางเศรษฐกิจ ประชาชนครึ่งค่อนประเทศมีรายได้ไม่พอยังชีพ ขณะที่คณะผู้ปกครองประเทศและเครือข่ายกลับร่ำรวยมหาศาล คนเหล่านั้นเป็นอภิสิทธิ์ชนเพียงหยิบมือเดียวที่เสวยสุขบนความทุกข์ยากของคนอียิปต์ ทั้งๆ ที่ประเทศอียิปต์มีศักยภาพทางเศรษฐกิจตลอดจนทรัพยากรมากมายเพียงพอจะหล่อเลี้ยงคนทั้งประเทศให้อยู่ได้อย่างไม่อดอยาก

“การปฏิวัติในอียิปต์และในอีกหลายประเทศที่กำลังดำเนินไปในขณะนี้ อันมีจุดเริ่มต้นมาจากการปฏิวัติดอกมะลิในตูนิเซีย เป็นสายธารการปฏิวัติประชาธิปไตยของโลกอีกระลอกในศตวรรษนี้ โลกจะจดจำผู้ที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยทุกคนในนามของประชาชนที่มีเจตจำนงเสรีที่ร่วมกันปลดปล่อยมนุษยชาติให้หลุดพ้นจากการกดขี่อย่างไร้ความปราณี สายธารประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติประชาธิปไตยนี้จะไหลบ่าไปยังทุกที่ที่มีการกดขี่ เหล่าเผด็จการทุกรูปแบบในโลกนี้ไม่ว่าจะนำโดยประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี กษัตริย์ หรือจะมีหน้าตาเป็นเช่นไรก็ตาม จงดูตัวอย่างไว้เถิดว่า “จุดจบ” ของผู้ที่กดขี่ขูดรีดประชาชนนั้นเป็นเช่นใด” แถลงการณ์ระบุ

แถลงการณ์ระบุถึงข้อเรียกร้องว่า ให้ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก และคณะลงจากอำนาจโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข เพื่อยุติความรุนแรง ยุติความสับสนวุ่นวายปั่นป่วน และเปิดทางให้ชาวอียิปต์ตัดสินใจอนาคตด้วยตัวของเขาเอง ความเปลี่ยนแปลงในประเทศอียิปต์เป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าการชุมนุมครั้งนี้ไม่ได้มีการติดต่อยื่นหนังสือและเอกสารใดๆ ต่อทางสถานทูตอียิปต์ เพียงเป็นการทำกิจกรรมเพื่อร่วมเรียกร้อง และแสดงความเห็น รวมทั้งการให้กำลังใจประชาชนชาวอียิปต์ ทั้งนี้กิจกรรมดำเนินไปจนกระทั้งเวลาประมาณ 14.30 น. ผู้ร่วมชุมนุมก็ได้แยกย้ายกันเดินทางกลับ

ประมวลภาพโดย: Kratik

 

  

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อัมสเตอร์ดัมยันอภิสิทธิ์ยังถือสัญชาติอังกฤษ เรียกร้องแถลงข้อเท็จจริงสลายชุมนุมเสื้อแดง

Posted: 01 Feb 2011 03:00 AM PST

สำนักงานกฎหมายอัมสเตอร์ดัม แอนด์ เปรอฟ ของนายโรเบิร์ต อัมเสตอร์ดัมยันนายกรัฐมนตรีไทยยังคงถือสัญชาติอังกฤษ ระบุหากสละสัญชาติต้องทำการแถลงเมื่อบรรลุนิติภาวะ พร้อมเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ชี้แจงข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำฟ้องคดีต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ

วันนี้ (1 ก.พ. 54) นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความกลุ่ม นปช. แถลงที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เรียกร้องให้อภิสิทธิ์ชี้แจงข้อเท็จจริงในคำฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ

โดยคำแถลงระบุว่า เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา ทนายความที่ได้รับมอบอำนาจจากกลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งเป็นกระบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทย ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court หรือ ICC) เกี่ยวกับการกระทำของรัฐบาลไทย ที่ถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมในระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมปีที่แล้ว และในวันนี้ทนายความของกลุ่มคนเสื้อแดงได้เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชี้แจงข้อเท็จจริงที่ระบุไว้ในรายงานฉบับดังกล่าว

“บรรดาเหยื่อของการใช้กำลังสลายการชุมนุมจำนวนมากมายได้รอคอยอย่างอดทนนานถึงเก้าเดือน เพื่อที่จะฟังคำตอบของอภิสิทธิ์ แต่อภิสิทธิ์กำลังตอบคำถามอย่างกำกวม โดยอ้างข้อกฎหมายว่าไม่มีความรับผิดชอบใดๆ ตามกฎหมายระหว่างประเทศ” โรเบิร์ท อัมสเตอร์ดัม ทนายความของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการหรือ นปช. กล่าว “ครอบครัวชาวไทยนับพันครอบครัวต้องสูญเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากนโยบายของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ และขณะนี้เป็นเวลาที่เหมาะที่สุดที่นายกรัฐมนตรีจะออกมายอมรับผิดและพูดถึงความจริงของเรื่องราวที่เกิดขึ้น”

หลังจากที่มีการยื่นคำฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งเปิดเผยแผนการใช้กำลังทางทหารในการฆาตกรรมแกนนำการชุมนุม นปช. และกลั่นแกล้งจับกุมและกล่าวโทษกลุ่มแกนนำ นปช. ปฏิกิริยาของรัฐบาลต่อคำฟ้องดังกล่าว กลับมุ่งไปที่ประเด็นข้อกฎหมายที่ทำให้ศาลอาญาระหว่างประเทศมีอำนาจพิจารณาคดีนี้ คือการที่นายอภิสิทธิ์มีสัญชาติอังกฤษ และจนถึงขณะนี้นายอภิสิทธิ์ก็ยังไม่ปฏิเสธแต่ประการใดว่าตนไม่มีสัญชาติอังกฤษ ซึ่งตามกฎหมายสัญชาติของอังกฤษ ปี 1948 อภิสิทธิ์จะคงถือสัญชาติอังกฤษตลอดชีวิตจนกว่าจะได้มีการสละสัญชาติอังกฤษ

“ไม่มีประเทศใดในโลกนี้ที่นายกรัฐมนตรีจะยังสามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ ท่ามกลางข้อกล่าวหาว่าเขาละเมิดกฎหมายอาญาโดยก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ แถมยังไม่มีความกล้าแม้แต่ที่จะออกมาโต้แย้งว่าตนเองบริสุทธิ์” อัมสเตอร์ดัมกล่าว

“นับแต่วินาทีที่เรายื่นฟ้องต่อศาล ICC เราได้เปิดช่องแห่งแสงสว่างท่ามกลางบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวที่อภิสิทธิ์สร้างขึ้น” อัมสเตอร์ดัมกล่าว “มีพยานและผู้รู้เห็นเหตุการณ์ที่กล้าเปิดเผยตัวมากขึ้น และข้อเรียกร้องของเราต่อผู้คนในกองทัพให้นำพยานหลักฐานของการกระทำความผิดของรัฐบาลอภิสิทธิ์มาเปิดเผยได้รับการตอบสนองมากขึ้น ตอนนี้ประชาชนคนไทยเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่า ความยุติธรรมสามารถเกิดขึ้นได้จริง ไม่ว่าจะที่ศาล ICC หรือที่ใดก็ตาม และวิธีคิดที่เปลี่ยนไปครั้งนี้ มีแต่จะขยายตัวขึ้นท่ามกลางการใช้แทคติคสกปรกของนายกรัฐมนตรีรายนี้”

และหลังจากที่วานนี้ (31 ม.ค.) นายนายโรเบิร์ต อัมเสตอร์ดัม ได้แถลงถึงความคืบหน้าว่าทางสำนักงานกฎหมายอัมสเตอร์ดัมแอนด์เปรอฟได้ดำเนินการฟ้องร้องรัฐบาลไทยต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ กรณีการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ซึ่งแม้ว่าประเทศไทยจะยังมิได้เป็นภาคีศาลอาญาระหว่างประเทศ แต่ทางสำนักงานกฎหมายอัมสเตอร์ดัมแอนด์เปรอฟอ้างเหตุว่าอภิสิทธิ์เป็นพลเมืองสหราชอาณาจักรโดยการเกิด ซึ่งสหราชอาณาจักรเป็นภาคีและและอนุวัตรตามธรรมนูญกรุงโรมแล้วว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศแล้ว

โดยสำนักงานกฎหมายอัมสเตอร์ดัมแอนด์เปรอฟ อ้างอิงตัวกฏหมายสัญชาติอังกฤษ ปี 1984 ซึ่งมาตรา 4 ระบุว่า บุคคลใดที่เกิดในสหราชอาณาจักรหลังวันที่กฏหมายนี้มีผลใช้บังคับ บุคคลนั้นย่อมได้สัญชาติอังกฤษ เว้นแต่เป็นบุตรของบุคลต่างชาติที่ได้รับเอกสิทธิ์ทางการทูต หรือเป็นบุตรของบุคคลต่างชาติที่ถือว่าเป็นศัตรูของราชอาณาจักร

ทั้งนี้ ทางสำนักงานฯ ระบุว่า นายอภิสิทธิ์ ได้สัญชาติอังกฤษโดยการเกิด และหากจะสละสัญชาติอังกฤษ ต้องทำเมื่อตอนบรรลุนิติภาวะตามมาตรา 19 ซึ่งระบุว่าบุคคลที่ถือสัญชาติอังกฤษและถือสัญชาติของรัฐต่างชาติ ต้องทำการประการสละสัญชาติ และตราบเท่าที่ยังไม่มีการประกาศดังกล่าว บุคคลนั้นยังถือเป็นพลเมืองอังกฤษ

ดังนั้น ตามกฏหมายอังกฤษ อภิสิทธิ์จะมีสัญชาติอังกฤษอยู่จนกว่าจะมีการสละสัญชาติ

ท้ายคำแถลงระบุว่า สนใจสามารถอ่านและดาวน์โหลดข้อมูลและวีดีโอของเหตุการณ์และถ้อยคำเบิกความของพยานผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บได้จาก http://www.thaiaccountability.org และสำเนาคำฟ้อง ICC และเอกสารประกอบอยู่ที่ http://www.robertamsterdam.com/thailand

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กลุ่มคนไทยไร้สัญชาติขอบคุณ “สาทิตย์” ช่วยผ่าน พ.ร.บ.สัญชาติ

Posted: 01 Feb 2011 01:04 AM PST

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการแก้ไข พรบ.สัญชาติ เอื้อคนไทยพลัดถิ่นด้านภาคตะนาวศรีของพม่า และเกาะกงของกัมพูชาได้คืนสัญชาติไทย ขณะที่กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นได้มอบดอกไม้แสดงความขอบคุณกับ รมต.สำนักนายกฯ "สาทิตย์" เผยผู้ได้ประโยชน์ตกราว 2 หมื่นคน โดยเตรียมส่งกฤษฎีกา และยื่นเข้าสภาผู้แทนฯ ต่อไป

ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า เมื่อวันนี้ (1 ก.พ. 54) เวลา 13.40 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการ แก้ไข ร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อแก้ปัญหาให้คนไทยพลัดถิ่น ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ภายใน 2 สัปดาห์

ด้าน เดลินิวส์ รายงานว่า ที่ตึกบัญชาการ กลุ่มคนไทยไร้สัญชาติประมาณ 10 คน ได้รวมตัวกันเข้ามอบดอกไม้เพื่อแสดงความขอบคุณแด่ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติผ่าน ร่าง พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่...พ.ศ...โดยนายสาทิตย์ ให้สัมภาษณ์ว่า ครม.ได้มีมติแก้ไขร่าง พ.ร.บสัญชาติ โดย 1 เป็นครั้งแรกที่ได้เพิ่มนิยามความหมายคำว่า คนไทยพลัดถิ่น ว่า เป็นคนไทยที่ต้องตกอยู่ในบังคับต่างประเทศ อันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตเป็นเวลานาน ซึ่งระยะเวลานานแค่ไหนนั้น จะกำหนดในกฎกระทรวงอีกครั้ง 2 กำหนดคณะกรรมการรับรองสัญชาติ โดยมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน มีผู้ทรงคุณวุฒิจากนักวิชาการด้านสัญชาติเป็นกรรมการ  3 คนที่ได้รับการรับรองสัญชาติจากคณะกรรมการ จะถือว่า ได้สัญชาติไทยโดยการเกิด จะเพิกถอนสัญชาติมิได้ และบุตรที่เกิดจากผู้ได้รับรองสัญชาติตาม พ.ร.บ.แก้ไขดังกล่าว ก็ถือว่า ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดเช่นกัน
              
นายสาทิตย์ กล่าวต่อว่า ผู้ที่ได้ประโยชน์จาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือประชาชนในแถบ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ระนอง เกาะกง และในพื้นที่อื่นบ้าง ทั้งสิ้นประมาณ 1-20,000 คน ทั้งนี้ ครม.ได้ส่งร่าง พ.ร.บ.สัญชาติให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบอีกครั้ง และให้ส่งกลับมายัง ครม.ในวันที่ 15 ก.พ. จากนั้นจึงเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยสามารถเร่งในชั้นการพิจารณาของกรรมาธิการได้ และเชื่อว่า กฎหมายจะผ่านโดยเร็ว เพราะทุกพรรคเห็นชอบ วุฒิสภาก็เห็นชอบ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิชาการ รัฐบาล และภาคประชาชนคนไทยพลัดถิ่น.

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เครือข่ายองค์กรด้านการศึกษา ออกหนังสือร้องปัญหาระบบรับตรงมหาวิทยาลัย

Posted: 01 Feb 2011 12:47 AM PST

1 ก.พ. 2554 - เครือข่ายเยาวชนเพื่อการศึกษาไทย ชมรมค่านิยมเพื่อสร้างชาติ เครือข่ายพ่อแม่เยาวชนเพื่อการปฏิรูปการศึกษา สมาคมเครือข่ายผู้ปกครองแห่งชาติ สภาธรรมาภิบาล เครือข่ายผู้ปกครองเพื่อความเป็นธรรมทางการศึกษา ออกหนังสือถึงประธานที่ประชุมอธิการบดี แห่งประเทศไทย ศ.ดร.ประสาท สืบค้า และ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ เรื่อง " วิกฤติเนื่องจากการรับตรง และแอดมิชชั่น" ซึ่งมีเนื้อหาแบบเดียวกัน

ในหนังสือทั้ง 2 ฉบับร้องเรียนให้เห็นถึงปัญหาความเดือดร้อนของนักเรียนและผู้ปกครองที่เกิดจากระบบการรับตรงของมหาวิทยาลัย ซึ่งที่ประชุมอธิการบดีทั่วประเทศเป็นผู้ตั้งเกณฑ์โดยไม่ได้มีการเปิดรับความคิดเห็น ทำให้เกิดดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างนักเรียนที่จนกับรวย และทำให้มหาวิทยาลัยต่างๆ รับนักเรียนได้ไม่ครบตามแผนการสร้างบุคคลากรของชาติ

ทางกลุ่มองค์กรภาคประชาชนด้านงานการศึกษาจึงขอเสนอแนวทางแก้ปัญหาดังนี้ หนึ่งคือ ให้มีการรับร่วมกันพร้อมกันโดยใช้องค์ประกอบเดียวกันและใช้การสอบเดียวกัน โดยให้แต่ละคณะตกลงเรื่ององค์ประกอบของตนเองและส่งตัวแทนไปช่วยออกข้อสอบกลาง สอง กรณีเห็นไม่ตรงกันในเรื่ององค์ประกอบ ให้ใช้องค์ประกอบต่างกันได้แต่ต้องใช้การสอบเวลาเดียวกัน สาม หากตกลงไม่ได้ทั้งเรื่ององค์ประกอบและคุณภาพข้อสอบก็ให้ใช้องค์ประกอบต่างกันได้ แต่ทั้ง 3 กรณีควรมีการรับสมัครและการสอบร่วมกัน พร้อมกัน และมีศูนย์สอบอยู่ต่างจังหวัดทั่วประเทศ

นอกจากนี้ทางกลุ่มองค์กรภาคประชาชนด้านการศึกษายังขอให้มองเห็นปัญหาในระบบแอดมิชชั่นกลาง โดยให้ปรับเปลี่ยนไปใช้ระบบเอ็นทรานซ์ เปลี่ยนเป็นแนวคิดวิเคราะห์มากขึ้นแต่ต้องมีมาตรฐานไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา สัดส่วนของวิชาเน้นความสำคัญเข้มเฉพาะสาขานั้นๆ ในมหาวิทยาลัย เนื่องจาก องค์ประกอบเดิมทั้งปี 2548  และ  2552  ดังกล่าวทำให้ได้เด็กไม่ตรงสาขาคณะ

เนื้อหาในหนังสือฉบับเต็มมีดังนี้

 


            เครือข่ายเยาวชนเพื่อการศึกษาไทย  ชมรมค่านิยมเพื่อสร้างชาติ  เครือข่ายพ่อแม่เยาวชนเพื่อการปฏิรูปการศึกษา สมาคมเครือข่ายผู้ปกครองแห่งชาติ สภาธรรมาภิบาล เครือข่ายผู้ปกครองเพื่อความเป็นธรรมทางการศึกษา
             
                                                                      1 กุมภาพันธ์  2554

เรื่อง             วิกฤติเนื่องจากการรับตรง  และแอดมิชชั่น
กราบเรียน     ฯพณฯ    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  นายชินวรณ์   บุณยเกียรติ 
                        ประธานที่ประชุมอธิการบดี แห่งประเทศไทย  ศ.ดร.ประสาท สืบค้า 

เนื่องจากขณะนี้เป็นที่รับทราบโดยทั่วไปอย่างแน่ชัดแล้วว่าการรับตรงของมหาวิทยาลัยต่างๆ (เพื่อหลีกเลี่ยงการไม่ได้เด็กตรงตามสาขาคณะในระบบแอดมิชชันที่ ที่ประชุมอธิการบดีทั่วประเทศเป็นผู้ตั้งเกณฑ์  โดยมิไดเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อดีข้อเสียของระบบทำให้เกิดปัญหาหลากหลายประการ)  ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับนักเรียน,ผู้ปกครอง และโรงเรียน ทำให้นักเรียนทิ้งห้องเรียนไปกวดวิชาเพื่อให้มีความรู้จนครบม.4-5-6 เพราะการสอบเป็นการสอบทั้งเนื้อหาของ ม.4-5-6 ในขณะที่โรงเรียนเพิ่งจะสอนให้ได้แค่ม.4-5เท่านั้น ทำให้คุณภาพการศึกษาของชาติตกต่ำ ทำให้เกิดดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างนักเรียนที่จนกับรวย และทำให้มหาวิทยาลัยต่างๆรับนักเรียนได้ไม่ครบตามแผนการสร้างบุคคลากรของชาติ ดังนั้นกลุ่มองค์กรภาคประชาชนที่ติดตามงานด้านการศึกษาจึงขอเสนอแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวดังนี้

1.ให้มีการรับร่วมกัน,พร้อมกันโดยใช้องค์ประกอบเดียวกันและใช้การสอบเดียวกัน
โดยให้คณะต่างๆของมหาวิทยาลัยต่างๆตกลงกันให้ได้ว่า  ในแต่ละคณะนั้นจะใช้องค์ประกอบใด เพื่อให้เป็นที่พอใจร่วมกันและให้ใช้ข้อสอบกลางเดียวกันในการคัดเลือก โดยให้คณะต่างๆของแต่ละมหาวิทยาลัยส่งบุคคลากรไปช่วยสทศ.ออกข้อสอบ เพื่อให้ได้ข้อสอบมาตรฐานตามที่ต้องการ

2.ให้มีการรับร่วมกัน,พร้อมกันโดยใช้องค์ประกอบต่างกันแต่ใช้การสอบเดียวกัน
ในกรณีที่คณะเดียวกันของต่างมหาวิทยาลัยเห็นไม่ตรงกันในเรื่ององค์ประกอบในการคัดเลือกก็ให้ใช้องค์ประกอบที่แตกต่างกันได้แม้จะเป็นคณะเดียวกัน แต่จะต้องใช้การสอบเวลาเดียวกัน

3.ให้มีการรับร่วมกัน,พร้อมกันโดยใช้องค์ประกอบต่างกันและใช้การสอบต่างกัน
ในกรณีที่คณะที่เหมือนกันตกลงกันไม่ได้เรื่ององค์ประกอบและคุณภาพข้อสอบ ก็ให้ใช้องค์ประกอบต่างกันและใช้การสอบที่ต่างกันได้ (มีการสอบหลายรูปแบบ)

ทั้งสามกรณี การรับสมัคร และการสอบต้องมารับร่วมกันและพร้อมกัน   โดยทางไปรษณีย์ หรืออีเมลล์  และมีศูนย์สอบอยู่ต่างจังหวัดทั่วประเทศ อย่างทั่วถึง หรือช่องทางของโรงเรียนเหมือนวิธีการสอบแบบเอ็นทร้านซ์

อีกประการหนึ่ง ในปัญหาระบบแอดมิชชั่นกลาง น่าจะมีการปรับเปลี่ยนโดยเร่งด่วน เช่นหันไปใช้ระบบเอ็นทร้านซ์ แต่เปลี่ยนแนวข้อสอบเป็นคิดวิเคราะห์ให้มากขึ้น  เช่นเดียวกับ GAT PAT แต่ค่าใช้จ่ายให้น้อยลง  ต้องมีมาตรฐานข้อสอบที่ไม่ใช่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา   สัดส่วนของวิชาเน้นความสำคัญเข้มเฉพาะสาขานั้นๆในมหาวิทยาลัย  เนื่องจาก องค์ประกอบเดิมทั้งปี ๒๕๔๘  และ  ๒๕๕๒  ดังกล่าวทำให้ได้เด็กไม่ตรงสาขาคณะและ ทำให้ฉุดคุณภาพการศึกษา  ดังผลการสอบมาตรฐานการศึกษาชาติ  และการวิจัยไอคิวเด็ก  เกรดเฉลี่ยของเด็กที่เข้าด้วยระบบแอดมิชชั่น  รวมทั้งการสร้างภาระแก่ผู้ปกครองและเยาวชน รวมทั้งครูผู้สอน ฯลฯ  ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ
 
ปัญหาทั้งหมดจึงจำเป็นที่อธิการบดี ทั่วประเทศ ร่วมแสดงความรับผิดชอบ ในเกณฑ์แอดมิชชั่นที่อธิการบดีเป็นผู้กำหนดขึ้นมาเอง  ที่มีปัญหาตั้งแต่เริ่มประกาศใช้ และ หาทางแก้ปัญหาที่หมักหมมมานาน  โปรดพิจารณาด้วยความเมตตาธรรม และรับผิดชอบต่อเยาวชนอนาคตของประเทศ  และผู้ปกครองที่ถูกระบบกระทำ ด้วยหลักธรรมาภิบาลและหลักวิชาการทางการแพทย์
  
นอกจากนั้นน่าจะเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึง และรวบรวมข้อมูลผลวิจัยต่างๆที่มีการศึกษาไว้แล้ว ทั้งของสมาชิกวุฒิสภา  ชุดคณะอนุกรรมาธิการศึกษา ONET ANET ในคณะกรรมาธิการ คุ้มครองสิทธิ คุณสมชาย  แสวงการ ให้เสร็จภายในหนึ่งเดือน
 
จึงใคร่ขอกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาโดยเร่งด่วน   เพื่อให้ทันการรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2555   และขออนุญาตให้ผู้ปกครอง  และ เยาวชนเข้าพบเพื่อพูดคุยและปรึกษาหารือ ในระบบดังกล่าว

                                                                                                       ด้วยความนับถืออย่างสูง

ลงชื่อ 
นายอำนวย  สุนทรโชติ 
พท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี
นายคมเทพ  ประภายนต์    
นอ. บัญชา  รัตนาภรณ์    
นายพรพัฒน์ รังสิโย        
นายเรืองศักดิ์ เจริญผล

 


 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น