ประชาไท | Prachatai3.info |
- นักข่าวพลเมือง: ชุมนุมลานพระรูป จัดเสวนาจวกบทบาท อ.อ.ป. - ตัวแทนกรรมการปฏิรูปขึ้นเวทีให้กำลังใจ
- การเมืองอินเตอร์เน็ต : บทเรียนจากอียิปต์ถึงประชาไทดอทคอม
- โรงงานผลิตภาษา (แห่งชาติ) ของราษฎรอาวุโส.!!!
- บันทึกเมษา-พฤษภา 53: การยกระดับของความรุนแรง ความกลัว การป้องกันตนเอง และความโกรธ
- โวยนิตยสาร 'สารคดี' ทำสกู๊ป 'ปตท.' แฝงโฆษณา บก.รับพร้อมปรับ
- ไทบ้านปากมูน ลั่น ปักหลักใกล้ทำเนียบจนกว่ารัฐบาลจะทำตามสัญญา
- สำนักประชาสัมพันธ์เชียงใหม่ จัดคอนเสิร์ตใหญ่ "เพื่อแรงงานอพยพ”
- กวีตีนแดง: ดาบนั้นคืนสนอง
- อนุสรณ์ อุณโณ:บาปทางวัฒนธรรม
- คลิปวีดีโอ:“สันติภาพไร้พรมแดน หยุดสงครามไทย-กัมพูชา”
นักข่าวพลเมือง: ชุมนุมลานพระรูป จัดเสวนาจวกบทบาท อ.อ.ป. - ตัวแทนกรรมการปฏิรูปขึ้นเวทีให้กำลังใจ Posted: 18 Feb 2011 10:40 AM PST ผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาที่ดินทำกินอยู่อาศัย-คนจน ชุมนุมต่อเนื่องวันที่ 3 จัดเวทีการศึกษาบทบาท อ.อ.ป. ย้ำควรยุบแล้วนำที่ดินมาจัดสรรให้ชาวบ้านทำกิน ด้านเพิ่มศักดิ์ชี้ยุบ อ.อ.ป.ให้ที่ดินไปอยู่ในมือกรมป่าไม้ ต้องไปติดหล่มการพิสูจน์สิทธิ์ แนะข้อเสนอต้องไปให้พ้นกฎหมายป่าไม้ สืบเนื่องจากการการชุมนุมต่อเนื่องของกลุ่มชาวบ้านกว่า 5,000 คน ในขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ P Move ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.), เครือข่ายสลัม 4 ภาค, สมัชชาคนจน (กลุ่มเขื่อนปากมูล) และเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คป.สม.) ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อให้รัฐบาลเร่งเจรจาและหาแนวทางการแก้ไขปัญหา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา วันนี้ (18 ก.พ.54) เมื่อเวลา 10.00 น. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) จัดเสวนา “บทบาทองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) กับบริบทสังคมไทยปัจจุบัน” โดยมี ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ นักวิชาการด้านนิเวศวิทยา หนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูป นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) นางสาวพรพนา ก๊วยเจริญ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ และนางสุนี ไชยรส อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมเสนอความคิดเห็น รวมทั้งมีการนำเสนอบทเรียนการต่อสู้จากในพื้นที่ โดยตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีข้อพิพาทกับ อ.อ.ป.ในกรณีสวนป่าคอนสาร จ.ชัยภูมิ กรณีสวนป่าหนองเยาะ จ.สุรินทร์ และกรณีสวนป่าพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี นางอรนุช ผลภิญโญ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานกล่าวถึงการจัดเวทีครั้งนี้ว่า นอกจากเป็นการให้ข้อมูลและสร้างความเข้าใจแก่พี่น้องในที่ชุมนุม ยังมีความต้องการที่จะสื่อสารให้สังคมรู้ว่าบทบาทของ อ.อ.ป.ไม่มีประโยชน์ต่อสังคม เนื่องจากไม่สามารถทำเงินรายได้ให้แก่ประเทศชาติ และต้องใช้เงินปีละถึง 1,200 ล้านบาทในการโอบอุ้ม อ.อ.ป.ที่ไม่ก่อให้เกิดผลกำไร อีกทั้งยังสร้างปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนในกรณีความขัดแย้งเรื่องที่ดินทำกิน ดังนั้นจึงสมควรที่สังคมจะรับรู้ข้อมูลเหล่านี้ ส่วน อ.อ.ป.ก็ไม่ควรมีอยู่อีกต่อไป นางอรนุช กล่าวต่อมาถึงข้อมูลของสำนักงานวิจัย พัฒนา และสารสนเทศ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ที่ระบุว่า องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้มีพื้นที่สวนป่าทั่วประเทศในความดูแลทั้งสิ้น 1.1 ล้านไร่ 124 สวนป่า ตรงนี้หากมีการยกเลิกทั้งหมด จะมีที่ดินสำหรับ นำมาจัดสรรให้ประชาชนได้ทำอยู่ทำกิน ซึ่งในส่วนข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหากรณีพิพาทที่ดินสวนป่าของชาวบ้าน ก็คือการให้ยุบ อ.อ.ป.และคืนที่ดินให้กรมป่าไม้ เพื่อที่ให้ชาวบ้านเข้าไปจัดการใช้ประโยชน์ที่ดินในรูปโฉนดชุมชน ด้าน ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ กล่าวถึงข้อเสนอเรื่องการให้ยุบ อ.อ.ป.ว่า อาจไม่มีผลอะไรกับพี่น้องชาวบ้านผู้ประสบปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน เพราะการโอนไปให้กรมป่าไม้ดูแลพื้นที่ ชาวบ้านอาจมีปัญหาการขอเข้าไปจัดการพื้นที่ไม่ต่างกัน เนื่องจากในส่วนของกรมป่าไม้ก็มีปัญหาในเรื่องการพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดิน ตามมติ ครม.30 มิ.ย.41 ซึ่งในส่วนนี้เสนอว่าควรหาแนวทางที่จะหลุดพ้นจากกฎหมายของกรมป่าไม้ เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านเจอกับปัญหานี้มานาน ดังนั้นการมีข้อเสนอก็ควรให้พ้นจากปัญหานี้ด้วยในคราวเดียว โดยหาก อ.อ.ป.ยุติบทบาทลง การจัดการที่ดินจะแบ่งเป็น 2 เงื่อนไข คือ หากเป็นที่ดินที่ชาวบ้านอยู่มาก่อนประกาศเขตพื้นที่ก็ให้มีสิทธิในการจัดการพื้นที่ได้เลย ส่วนพื้นที่ที่ยังไม่สามารถระบุได้ก็ให้ดำเนินการออกโฉนดชุมชนรองรับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ “ในขณะนี้การออกโฉนดชุมชนโดยรัฐบาลนั้นเลี่ยงพื้นที่ในเขตป่า ซึ่งหากข้อเสนอของชาวบ้านไม่หลุดพ้นจากกรอบกฎหมายป่าไม้ ชาวบ้านก็ต้องต่อสู้กันต่อไปอีกเรื่อยๆ” ดร.เพิ่มศักดิ์กล่าว ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวต่อมาในส่วนข้อเสนอว่า ที่ผ่านมาเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าการขีดเส้นเขตป่าในอดีตไม่ชอบ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งชาวบ้านควรมาร่วมกันวางแผนการใช้ที่ดินใหม่ และออกกฎหมายฉบับใหม่ที่มีอำนาจเหนือกฎหมายป่าสงวน เพราะในส่วนข้อเสนอการแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่นั้น ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภานั้น ซึ่งใช้เวลานานและอาจไม่ได้ผลตามความต้องการของชาวบ้าน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในปัจจุบันแต่ละกระทรวงต่างพยายามปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ดังนั้นในส่วนภาคประชาชนจึงควรต้องมีข้อเสนอให้มีการพูดคุยร่วมกัน และผลักดันให้มีการข้อมูลการถือครองที่ดินเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำคัญในการจัดการที่ดิน ส่วนนางสุนี ไชยรส อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ความเห็นในเวทีเสวนาว่า การเรียกร้องให้แก้ปัญหาของสวนป่าเป็นการแก้ไขปัญหาของทุกคน และจากรายงานของคณะกรรมการสิทธิ์ฯ ก่อนหน้านี้ สามารถสรุปปัญหาได้ 2 เรื่อง คือ 1.การจัดทำโครงการใดๆ ไม่มีการฟังเสียงของประชาชน 2.เมื่อประชาชนออกมาเรียกร้องแล้วปัญหามักไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งตรงนี้หากไม่มีการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้าน ก็จะทำให้เกิดการลุกฮือขึ้นมาเรียกร้องได้อีกเรื่อยๆ จากนั้นเวลาประมาณ 11.00 น. นายพงศ์โพยม วาศภูติ ในฐานะตัวแทนคณะกรรมการปฏิรูป ได้เดินมาเยี่ยมกลุ่มผู้ชุมนุม และขึ้นเวทีพูดคุยเพื่อถ่ายถอดข้อเสนอของกรรมการปฏิรูปที่มีต่อรัฐบาล จำนวน 6 ข้อ ในเรื่องการจำกัดขนาดการถือครองที่ดิน 50 ไร่ การจัดระบบข้อมูลการถือครองที่ดินให้เป็นข้อมูลสาธารณะ การระงับการจับกุมดำเนินคดีกับคนจนในข้อหาบุกรุกที่ดินของรัฐและที่ดินเอกชน จากนั้น ตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมได้ยื่นข้อเรียกร้องที่จัดทำให้รัฐบาล ยื่นให้ตัวแทนคณะกรรมการปฏิรูป นายพงศ์โพยม กล่าวว่า ข้อเสนอในการแก้ปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมสอดคล้องกับแนวทางของคณะกรรมการปฏิรูปที่ได้จัดทำข้อเสนอต่อสังคมโดยรวมไว้ อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาจะไปหวังความสำเร็จโดยมุ่งที่รัฐบาลอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องอาศัยการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่โดยพี่น้องต้องร่วมกันในการแก้ปัญหาด้วย หลังจากการชุมนุมเสร็จสิ้น อยากให้ชาวบ้านนำข้อเสนอที่มีทั้งของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และคณะกรรมการปฏิรูปกลับไปศึกษาต่อ เพื่อขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ต่อไป ส่วนกิจกรรมช่วงค่ำของวันนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมได้ร่วมทำพิธีวัน “มาฆบูชา” โดยมีการจุดเทียน สวดมนต์ และกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย ต่อหน้าพระพุทธรูปที่อัญเชิญมา ทั้งนี้ เพื่ออำนวยพรให้การต่อสู้ของพี่น้องบรรลุผลสำเร็จตามเจตนารมณ์ จากนั้นเป็นการแสดงทางวัฒนธรรม โดยพี่น้องเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ทำการแสดงกลอนมโนราห์ “คดีโลกร้อน” พี่น้องจากกรณีสวนป่า อ.อ.ป.และสวนป่ายูคาฯ ทำการแสดงหมอลำพื้นบ้าน ต่อด้วยการแสดงดนตรีโดยเครือข่ายศิลปินเพื่อสิ่งแวดล้อมโดยการนำของวสันต์ สิทธิเขตและคณะ ทั้งนี้ เมื่อเย็นวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมาผู้แทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมได้เดินทางเข้าพบ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่รัฐสภาเพื่อเจรจาหาแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งประกอบด้วย กรณีปัญหาที่ได้ข้อยุติในคณะกรรมการต่างๆ ที่ต้องสั่งการโดยทันที 22 กรณีปัญหา และปัญหาที่ต้องนำเข้าพิจารณาเพื่อลงมติคณะรัฐมนตรีจำนวน 6 กรณี ประกอบด้วย กรณีโครงการนำร่องธนาคารที่ดินภาคเหนือ 5 หมู่บ้าน, กรณีสวนป่าคอนสาร ชุมชนบ่อแก้ว จ.ชัยภูมิ, กรณีบ้านห้วยหวาย จ.เพชรบูรณ์, กรณีปากห้วยโป่ง จ.ชัยภูมิ, กรณีคนไร้บ้าน และกรณีเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานีโดยการเจรจามีข้อสรุปว่า กรณีที่รัฐบาลรับปากจะผลักดันเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 22 ก.พ.2554 มี 3 กรณี คือ กรณีจัดตั้งกองทุนที่ดินจำนวน 167 ล้านบาท, โครงการบ้านมั่นคงแก่คนไร้บ้าน จำนวน 52 ล้านบาท และการเปิดเขื่อนปากมูล 5 ปี พร้อมเงินชดเชยแก่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 600 ล้านบาท ผลตอบการเจรจาดังกล่าว สร้างความไม่พอใจให้ให้กับกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมบางกลุ่ม และได้มีการเขียนป้ายผ้าระบายความรู้สึก นอกจากนั้นในส่วน ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมก็ได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 4 “หากรัฐบาลยังมีอำนาจ ต้องแสดงศักยภาพ ดำเนินการแก้ไขปัญหาคนจน” ระบุเนื้อหาดังนี้ แถลงการณ์ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ฉบับที่ 4 “หากรัฐบาลยังมีอำนาจ ต้องแสดงศักยภาพ ดำเนินการแก้ไขปัญหาคนจน” 16.00 น. ของวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา ผู้แทนของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จำนวน 56 คน ได้เดินทางเข้าพบนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อเจรจาหาแนวทางแก้ไขปัญหาตามกรอบหลักการ แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ได้ยื่นต่อทางรัฐบาลไปก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย กรณีปัญหาที่ได้ข้อยุติในคณะกรรมการต่างๆ ที่ต้องสั่งการโดยทันที 22 กรณีปัญหา และปัญหาที่ต้องนำเข้าพิจารณาเพื่อมีความเห็นในคณะรัฐมนตรีจำนวน 6 กรณี หลังการประชุมหารือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า “ไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน” ผลการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาในภาพรวมเป็นไปอย่างไม่น่าพอใจ มีเพียงบางกรณีปัญหาเท่านั้นที่รัฐบาลรับปากจะผลักดันเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 อาทิเช่น กองทุนแก้ปัญหาที่ดินใน จ.เชียงใหม่และ จ.ลำพูน จำนวน 167 ล้าน , โครงการบ้านมั่นคงคนไร้บ้าน จำนวน 52 ล้าน, และการเปิดเขื่อนปากมูนถาวร แต่ทั้งนี้ไม่รับปากว่าจะผ่านความเห็นชอบหรือไม่ อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้ว ผลการเจรจาส่วนใหญ่ยังไม่มีความคืบหน้า และชัดเจนเป็นที่น่าพอใจ เป็นเพียงการรับปากในที่ประชุมของรัฐบาลว่าจะดำเนินการตามข้อเสนอ แต่ก็ยังไม่สามารถมั่นใจได้ว่า รัฐบาลจะดำเนินการไปตามที่ได้รับปากไว้ เนื่องด้วยไม่มีหลักประกันใดๆ ที่เป็นข้อยืนยันว่ารัฐบาลจะดำเนินการตามนั้น เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความจริงใจของรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาของคนจนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งผลักดันประเด็นเร่งด่วนเข้า ครม. เพื่อขอมติในวันอังคารที่จะถึงนี้ รวมถึงประเด็นปัญหาอื่น ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จะเฝ้าติดตามการดำเนินงานของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด ด้วยความรักและสมานฉันท์ในหมู่พี่น้องคนจน ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม 18 กุมภาพันธ์ 2554 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||
การเมืองอินเตอร์เน็ต : บทเรียนจากอียิปต์ถึงประชาไทดอทคอม Posted: 18 Feb 2011 09:48 AM PST ตัวแทนคณะกรรมการปกป้องสื่อ หรือ CPJ เล่าเรื่องการใช้สื่อออนไลน์รณรงค์ทางการเมืองในอียิปต์ ระบุรัฐบาลอียิปต์ปิดกั้นเสรีภาพออนไลน์แบบไม่มีกฎหมายรองรับ สฤนี อาชวานันกุล กรรมการเครือข่ายพลเมืองเน็ต ตั้งข้อสังเกตคดีผอ. ประชาไท ชี้ให้เห็นว่าขาดกระบวนการและขั้นตอนในการบังคับใช้ พรบ. คอมพิวเตอร์ 17 ก.พ.54 ศูนย์นโยบายสื่อมวลชนไทย คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับเครือข่ายพลเมืองเน็ต และซีป้า (Southeast Asia Press Alliance – SEAPA) จัดเสวนา “เสรีภาพอินเตอร์เน็ตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : แนวคิดใหม่ อุปสรรคใหม่ (A Public Forum on Internet Freedom in Southeast Asia : New Frontier, New Barrier)” ที่ห้อง 210 ตึกมหาจุฬาลงกรณ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สฤณี อาชวานันทกุล จากเครือข่ายพลเมืองเน็ต และแดนนี่ โอเบรียน จาก CPJ (Committee to Protect Journalists) ร่วมอภิปรายหัวข้อ “การเมืองอินเตอร์เน็ต : บทเรียนจากอียิปต์ถึงประชาไทดอทคอม (Internet Politics : Lesson learnt from Egypt to Prachatai.com)”
แดนนี่ โอเบรียน (Danny O’Brien) ผมคงไม่สามารถวิเคราะห์การเมืองของอิยิปต์ได้อย่างลึกซึ้ง เนื่องจากผมเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเมืองมากมายนัก สถานการณ์ทางการเมืองในตูนิเซียและอิยิปต์มีพัฒนาการที่รวดเร็วมาก และเราไม่ทราบว่าจะก้าวไปถึงไหนอย่างไร CPJ เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดผ่านทางอินเตอร์เน็ต มีสัญญาณบ่งชี้บางอย่าง ผมคุยกับผู้เชี่ยวชาญของ CPJ ในภูมิภาคแอฟริกา เราเห็นว่าอิยิปต์กำลังจะเปลี่ยนแปลง การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ จะมีความตึงเครียด ถึงเราจะเห็นว่ารัฐบาลของประเทศต่างๆ มีวิธีที่หลากหลายในการปิดกั้นอินเตอร์เน็ต แต่ความจริงแล้วไม่ได้มีอะไรแตกต่างกันเลย เราพอจะแยกแยะได้ระหว่างการควบคุมและการปล่อยเสรีอินเตอร์เน็ต อิยิปต์ไม่มีการควบคุมอินเตอร์เน็ต แต่ใช้การข่มขู่คนที่โพสต์ข้อความ อิยิปต์เป็นประเทศแรกที่มีการจับบล็อกเกอร์ขังคุก และต่อมาก็เพิ่มความสลับซับซ้อนมากขึ้น ตำรวจจะมุ่งไปที่ตัวบล็อกเกอร์ที่ไม่มีแรงสนับสนุนจากประชาชนและประชาคมโลก หากบล็อกเกอร์คนใดพูดถึงเรื่องความยากจนของอิยิปต์ ก็มีสิทธิที่จะโดนข่มขู่ได้ การควบคุมโดยใช้ตำรวจลับจึงมีแสนยานุภาพมากกว่า และรัฐบาลอิยิปต์ยังใช้วิธีการดึงเอาบรรดาผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต หรือ ISP เข้ามาเป็นพวกอีกด้วย สัญญาณบ่งชี้ที่เราพบ ประการแรกคือ ประมาณพฤศจิกายนปีที่แล้ว รัฐบาลอิยิปต์เริ่มกดดันบริษัทโทรศัพท์มือถือ และควบคุมไม่ให้มีการส่งเอสเอ็มเอสคราวละมากๆ สิ่งที่ผมต้องการเน้นในที่นี้คือ มีการกระทำโดยที่ไม่ต้องอาศัยเครื่องมือทางกฎหมายเลย รัฐบาลอิยิปต์สามารถปิดกั้นอินเตอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็วโดยการกดดันไปที่ ISP หรือตัวกลาง ประเทศที่มีการควบคุมอินเตอร์เน็ตอย่างแข็งขัน ก็คือประเทศที่มีการควบคุม ISP อย่างแข็งขัน ในฐานะนักเทคโนโลยี กรณีของอิยิปต์ทำให้ตระหนักว่าเราต้องคุ้มครองตัวกลางให้ไม่ต้องรับแรงกดดันทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งต้องเพิ่มประสิทธิภาพให้กับตัวกลางเหล่านั้นมากขึ้น กูเกิ้ลใช้ความพยายามในการรณรงค์เสรีภาพในอิยิปต์ ซึ่งเป็นคุณอย่างใหญ่หลวง ขณะที่บริษัทโทรศัพท์มือถือกลับไม่มีปากมีเสียง อีกกรณีหนึ่งคือ Noor Group เป็น ISP รายเดียวที่ไม่ยอมปิดให้บริการในอิยิปต์ บางคนพูดว่าที่ยังให้บริการอยู่นั้น เพราะว่าเกี่ยวข้องกับการให้บริการสถาบันการเงินซึ่งมีเป็นจำนวนมาก แต่ผมเองไม่เชื่อคำพูดนี้สักเท่าใด ถ้าตัวกลางกล้าลุกขึ้นยืนหยัดต่อต้านในช่วงที่สถานการณ์สับสนวุ่นวาย เราต้องปกป้องตัวกลางไม่ให้ได้รับโทษ เมื่อเทียบกับจีน ซึ่งรัฐบาลควบคุมอินเตอร์เน็ตอย่างเข้มข้นมาก รูปแบบที่ใช้คือการสั่งให้บริษัทผู้ให้บริการหรือ ISP เหล่านั้นต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง ถ้าหากไม่ทำก็จะถูกเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งผมคิดว่านั่นเป็นการคุกคามต่อเสรีภาพบนอินเตอร์เน็ต
ก่อนจะพูดถึงกรณีของจีรนุช (เปรมชัยพร) มีความเห็นคือ ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เรื่องเสรีภาพบนอินเตอร์เน็ตกับความรับผิดชอบนั้น ปัญหาคือหน่วยงานของรัฐมักพยายามเรียกร้องความรับผิดชอบโดยการดึงเอาเสรีภาพไป รัฐบาลไทยจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ว่าการเซ็นเซอร์นั้นไม่ใช่วิธีการเดียวที่จะใช้ในควบคุมเสรีภาพบนอินเตอร์เน็ต หลายคนพูดถึงข้อความที่ทำให้เกิดความเกลียดชัง (Hate speech) เพราะเป็นการทำลายประเทศไทย โดยเฉพาะข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งความจริงแล้วมันขึ้นอยู่กับว่าใครจะเป็นคนตีความ ข้อสังเกตจากคดีของจีรนุช บทเรียนประการแรก คือ 1) การดำเนินคดีนั้น ขาดกระบวนการและขั้นตอนในการบังคับใช้ พรบ.คอมพิวเตอร์ คุณจีรนุชถูกตั้งข้อหาภายใต้มาตรา 15 ของ พรบ.คอมพิวเตอร์ คือการส่งเสริม ยินยอมให้มีการกระทำผิด ซึ่งอัยการหมายถึงการยอมให้มีคนมาโพสต์ข้อความบนเว็บบอร์ด ซึ่งไม่มีการนิยามหรือความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมาย รัฐบาลมองว่าทุกคนต้องรับผิดหมด คณะกรรมการที่ไอซีทีตั้งขึ้น ก็ไม่มีความชัดเจนว่ามีอยู่ก่อนที่จะมีข้อความเหล่านี้หรือไม่ หน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการเป็นอย่างไร และยังขาดความเข้าใจในลักษณะของอินเตอร์เน็ต และอีกหลายๆ อย่าง เช่น การเจอไฟล์เสียงในคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจจะเป็น cookie เจ้าหน้าที่ก็สรุปว่าเป็นเจตนา การมีไฟล์เสียงไม่ได้หมายความว่ามีความตั้งใจเซฟไฟล์เพื่อจะนำไปใช้ต่อ 2) สังคมไทยยังไม่มีการถกเถียงกันมากพอ ขณะที่รัฐบาลก็ไม่มีความชัดเจนในการควบคุม และยังขาดความเข้าใจซึ่งทำให้ทุกอย่างย่ำแย่ลงไปอีก เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความเห็นส่วนตัวในการตัดสินว่าอะไรเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ซึ่งอาจไม่ถูกต้องเสมอไป หากถามแต่ละคนก็จะได้ความเห็นที่ไม่เหมือนกัน จึงต้องมีนิยามที่ระบุชัดเจนว่าอันไหนจึงจะถือว่าเป็นอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ 3) สื่อมวลชนไทยไม่สนใจที่จะทำข่าวเรื่องคุณจีรนุชเลย ส่วนใหญ่คนที่ไปฟังการพิจารณาคดีเป็นชาวต่างประเทศ อาจเพราะเป็นเรื่องยากและเป็นเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งเป็นเรื่องความอ่อนไหว สำหรับพวกเราที่รณรงค์เรื่องนี้ ต้องพยายามทำให้สื่อมวลชนเข้าใจว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เฉพาะเรื่องหมิ่นฯ เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของเสรีภาพสื่อมวลชนและเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่สื่อมวลชนจะต้องสนใจ ดังนั้นเราต้องรณรงค์ให้สื่อมวลชนกระแสหลักมาร่วมรณรงค์ในเรื่องนี้ด้วย หากคุณมีเว็บไซต์ข่าวและเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็น และเว็บมาสเตอร์มีความเสี่ยงที่จะถูกจับกุม เป็นเรื่องง่ายมากที่ใครจะเข้ามาโพสต์ข้อความอะไร ซึ่งเราคงไม่มีเวลามานั่งลบข้อความเหล่านั้น ดังนั้นก็เลือกวิธีที่จะปิดเว็บบอร์ดไปเลย คดีนี้ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ก็จะมีผลต่อสื่อมวลชนด้วย วันที่ 15 มีนาคมนี้ จะมีการตัดสินคดีของ นปช.ยูเอสเอ อยากให้ผู้สื่อข่าวติดตามคดีนี้ เพราะเป็นเรื่องของตัวกลางใน พรบ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 เรื่องภัยคุกคามต่อความมั่นคง มีคำถามที่ตั้งไว้กับตัวเองด้วยว่า อะไรคือเสรีภาพ และอะไรคือภัยต่อความมั่นคง สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||
โรงงานผลิตภาษา (แห่งชาติ) ของราษฎรอาวุโส.!!! Posted: 18 Feb 2011 09:05 AM PST
ได้อ่านบทความล่าสุด – โครงการ “ทำแผนที่คน” (Human Mapping)[1] จาก “โรงงานผลิตภาษา (แห่งชาติ)” ของราษฎรอาวุโส แกเขียนอธิบายความว่า “...การ ทำแผนที่คนไทยทั้งประเทศก็จะไม่ยาก สามารถทำได้เสร็จภายใน 6 เดือน เรามีหมู่บ้าน ประมาณ 80,000 หมู่บ้าน เรามีมหาวิทยาลัยกว่า 100 แห่ง มีนักศึกษารวมกันหลายแสนคน สามารถส่งนักศึกษาไปทำแผนที่คนไทยได้ในทุกหมู่บ้าน” “...ชาวบ้านนั้นจมปลักอยู่กับความต่ำต้อย ความไม่มีเกียรติ ความไม่มีคุณค่า เป็นคนไม่มีความรู้สมัยใหม่ ถูกดูถูกเสียจนดูถูกตัวเอง – ครั้นมีคนสมัยใหม่เช่นนักศึกษา หรือคนที่จบปริญญามานั่งฟัง มานั่งขุดความรู้ความชำนาญที่ฝังลึกอยู่ในตัวเรา – ตามปรกติชาวบ้านไม่ค่อยได้พูด ได้แต่ฟังคนอื่นที่มีอำนาจมากกว่า มีความรู้มากกว่า มีเงินมากกว่า” “บัด นี้มีคนที่เคยสมมติว่าเหนือกว่า มานั่งฟังด้วยความเคารพ และเห็นคุณค่าในสิ่งที่เขารักเขาชอบเขาถนัด ที่มีอยู่ในตัวเขาจริงๆ เขาจึงมีความสุขขึ้นมาท่วมท้น ที่รู้สึกมีเกียรติ (เป็นครั้งแรกในชีวิต) รู้สึกภูมิใจในตัวเอง...” “...ความ เห็นใจ และการอยากทำเพื่อเพื่อนมนุษย์ เป็นธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ ทุกคน ที่ว่าทุกคนล้วนแต่มีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีอยู่ในหัวใจ” “ถ้ามีแต่มายาคติเข้ามาขวางกั้น เช่น ฐานะ อำนาจ กฎหมาย กฎ ระเบียบ เงิน รูปแบบ เมล็ดพันธุ์แห่งความดีไม่มีโอกาสได้งอกงาม” “...ถ้า เราทำทุกพื้นที่ทั่วประเทศ คนไทยทุกคนจะกลายเป็นคนมีเกียรติมี ศักดิ์ศรีมีความมั่นใจในตัวเอง การเคารพศักดิ์ศรี และคุณค่าของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เป็นศีลธรรมพื้นฐานของสังคม...” “เนื่อง จากความรู้ในตัวคนมีฐานอยู่ในวัฒนธรรม วัฒนธรรมคือวิถีชีวิตร่วมกัน จะทำให้การศึกษาเชื่อมกับวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตร่วมกัน เมื่อใดการศึกษาเชื่อมกับชีวิต และการอยู่ร่วมกันจะเกิดเรื่องใหญ่มาก คือ เกิดการอภิวัฒน์ประเทศไทยทุกด้าน” “...ก่อน คุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2554 ท่านคุยกับผมหลายครั้ง - ครั้งหนึ่ง ผมแนะนำเรื่องใหญ่ๆ ไป 4 เรื่องเรื่องหนึ่งคือการทำแผนที่คนไทย หรือ Human Mapping ตามที่กล่าวถึงนี้ ท่านเป็นคนปัญญาไวเข้าใจทันที แต่การเป็นนายกรัฐมนตรีก็คงทำให้ท่านยุ่งเกิน เลยไม่ได้ทำ - หวังว่านายกฯอภิสิทธิ์จะไม่ยุ่งเกิน!” … ผมชอบย่อหน้าสุดท้ายของราษฎรอาวุโส คนนี้จริง ๆ – นี้แหละที่เขาเรียกว่า “เขี้ยวจริง ๆ – เขี้ยวของจริง” ใครที่คิดจะทำ proposal ขอทุนทำงานวิจัย, ลองอ่านโครงการ “ทำแผนที่คน-อภิวัฒน์ประเทศไทย” ฉบับนี้เป็นตัวอย่าง (แต่ถ้าคิดจะไปของทุนจาก “สสส.” หรือ “สมัชชาปฏิรูป 600 ล้าน” ที่แกดูแลอยู่ – ถ้าคุณไม่ใช่ [NGO] สีเดียวกัน-ก็หมดสิทธิ์!!!) ราษฎรอาวุโส-หัวหน้าโรงงานผลิตภาษา (แห่งชาติ) – ผู้ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป 600 ล้าน (คสป.), เป็นคณะกก.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) - ล่าสุดยังดูแลอีก 14 องค์กรที่อยู่ภายใต้ คสป. เช่น องค์กรปกครองท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป, สภาองค์กรชุมชน และสภาผู้นำชุมชนเพื่อการปฏิรูป (มีนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นประธาน,สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน-พอช.), เครือข่ายประชาคมเพื่อการปฏิรูป, เครือข่ายผู้ใช้แรงงานและคนจนเมืองเพื่อการปฏิรูป (อ.ณรงค์ฯ ดูแล), เครือข่ายพลังสตรีเพื่อการปฏิรูป, เครือข่ายพลังเยาวชนเพื่อการปฏิรูป, เครือข่ายผู้พิการเพื่อการปฏิรูป, เครือข่ายผู้ด้อยโอกาสเพื่อการปฏิรูป, เครือข่ายภาคธุรกิจกับการปฏิรูป, เครือข่ายอุดมศึกษาเพื่อการปฏิรูป, เครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป (มีนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นประธาน), คณะกก.จัดสรรทรัพยากรเพื่อความเป็นธรรม, คณะกก.ความยุติธรรมกับการปฏิรูป, คณะกก.การสื่อสารเพื่อการปฏิรูป [2] - - เยอะแยะจนน่าเวียนหัว. แต่อย่าเพิ่งมึนงง เพราะนี้คือเรื่องของงบประมาณ, เงินทั้งนั้น - พรรคพวก (NGO) ของตัวเองทั้งนั้น ที่เกี่ยวข้อง (กับงบ-เงินเหล่านี้) !!! เงิน 600 ล้าน ที่ได้มาเพื่อปฏิรูปประเทศ เพื่อคนไทยจะได้ปรองดองกัน มันแค่เรื่องจิ๊บ ๆ – ยังต้องใช้เงินอีกเป็น 1,000 ล้าน เพื่อให้คนฝ่ายหนึ่ง (คนสีเสื้อหนึ่ง) เอาเงินภาษีของผู้คนในประเทศ, ไปทำโครงการปฏิรูปประเทศ-ให้คนรักกันปรองดองกัน? “ปรองดอง” เริ่มต้นที่ใครดี - ก็เริ่มต้นที่ตัวคุณนั่นแหละ – เริ่มต้นที่เงินงบประมาณ ที่คุณถืออยู่นั้นแหละ “แค่คิดกลับกัน” คุณ ลองแบ่งปันเงินงบประมาณ ให้กับคนอีกสีเสื้อหนึ่ง, ให้เขาไปทำงานวิจัย, ให้เขาทำกิจกรรม, ให้เขาทำสื่อ, แล้วเอาผลงานที่ได้ มาเปรียบเทียบกับข้อมูล ที่มาจากอีกฝ่ายหนึ่ง – คุณก็จะเห็นภาพว่าจะปรองดองกันอย่างไร-ต่อไป? แต่เรื่องแบบนี้ “หัวหน้าโรงงานผลิตภาษา” (แห่งชาติ) กลับคิดไม่เป็น.??? นอกจากตัวหัวหน้าโรงงานแล้ว ยังมี “ทีมงานอีกหลายคน” – อย่าให้เอ่ยชื่อเลย (แม้แต่ตัวหัวหน้า ผมยังไม่อยากเอ่ยชื่อ) พวกคุณจะประดิษฐ์คำพูดอะไรออกมาก็ได้, แต่ถ้ามันไม่ได้ออกมาจาก “หัวใจ” มันก็แค่ วิธีการทำมาหากินแบบหนึ่ง ก็เท่านั้นเอง.!!! อ้างอิง [1] http://www.prachatai3.info/journal/2011/02/33152 [2] http://community.isranews.org/politic/680-2010-07-29-10-10-02.html
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||
บันทึกเมษา-พฤษภา 53: การยกระดับของความรุนแรง ความกลัว การป้องกันตนเอง และความโกรธ Posted: 18 Feb 2011 07:51 AM PST
หมายเหตุต้นฉบับ : งานเขียนในลักษณะ “บันทึก” ชิ้นนี้ ถูกเขียนขึ้นหลังวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 (ราว 1 เดือน) สำหรับประกอบการจัดทำรายงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธีสาหรับสังคมไทยในศตวรรษที่ 21 (ดูรายละเอียดของรายงานของคณะกรรมการบางส่วนได้ใน http://matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1297770830&grpid=01&catid=&subcatid= ) แน่นอนที่สุด “คนเสื้อแดง” บางส่วนอาจจะไม่ชอบ และค่อยข้างมีลักษณะส่วนตัวอยู่บ้างก็ตาม แต่เห็นว่าอาจจะมีบางด้านที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการเคลื่อนไหวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงอนุญาตนำเสนอในที่นี้ หาก ““บันทึก” นี้มีประโยชน์อยู่บ้าง ผู้เขียนขออุทิศให้กับพี่น้องเสื้อแดงที่เสียชีวิต บาดเจ็บ และพยายามทุกวิถีทางที่จะปกป้องรักษาชีวิตของคนอื่น
1.ฐานะของผู้เขียน สำหรับการเคลื่อนไหวของ “คนเสื้อแดง”นั้น ผู้เขียนได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในหลายฐานะ คือ 1) ในฐานะของนักศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ที่พยายามติดตามและศึกษาขบวนการเคลื่อนไหว-ไม่เฉพาะการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงเท่านั้น-ในมิติต่างๆ รวมทั้งประเด็นข้อเถียงที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเห็นว่า ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม-ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม-เป็นปรากฎการณ์ที่สะท้อนปัญหาและเป็นพลังที่สำคัญที่จะผลักดันสังคมการเมืองไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง 2) ในฐานะผู้สนับสนุนและเห็นอกเห็นใจคนเสื้อแดง ก่อนจะเกิดขึ้นของขบวนการเคลื่อนไหว“คนเสื้อแดง” ผู้เขียนเป็นสมาชิกของ “เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร” ที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 การแทรกแซงทางการเมืองของผู้ที่ไม่มีสิทธิอำนาจ รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 และได้ยุติบทบาทที่เป็นทางการหลังจากนั้น ดังนั้น ด้วยจุดยืนดังกล่าว จึงสนับสนุนความเห็นและข้อเรียกร้องของขบวนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงในด้านที่วิพากษ์วิจารณ์-ต่อต้านการแทรกแซงทางการเมืองของผู้ที่ไม่มีสิทธิอำนาจ หรือตามคำนิยามของพวกเขาว่า “อำมาตย์” และรู้สึกเห็นอกเห็นใจเมื่อพวกเขาและการเคลื่อนไหวของพวกเขาถูกลดทอนทำให้ไม่มีความหมายทางการเมือง ดูถูกดูแคลน เหยียดหยาม ด้วยวิธีการต่างๆ รวมทั้งถูกใช้ความรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา 3) ในฐานะผู้ปฏิบัติงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี ที่ผู้เขียนเข้าใจว่า มีเป้าหมายสูงสุด คือ ต้องการให้ความขัดแย้งหรือการต่อสู้ที่เกิดขึ้นอยู่บนวิถีทางของสันติ โดยในฐานะหลังนี้ ผู้เขียนได้รับมอบหมายจากอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ให้ติดตามการเคลื่อนไหว เข้าร่วมสังเกตการณ์ในที่ชุมนุมหรือการดำเนินกิจกรรมของคนเสื้อแดง เพื่อรายงานข้อมูล-ข้อเท็จจริง วิเคราะห์สถานการณ์ หรือแนวโน้มต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้งอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมายเป็นการเฉพาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง เพื่อป้องกัน ยุติความรุนแรงที่จะอาจจะเกิดขึ้นได้ และทำให้ความขัดแย้งดำเนินไปอยู่บนวิถีทางของสันติ 2. ก่อน 10 เมษายน 2553 : แรงกดดันจากภายในขบวนการเคลื่อนไหว หลังเหตุการณ์ “สงกรานต์เลือด” ในปี 2552 ที่การชุมนุมของคนเสื้อแดงถูกสลายด้วยความรุนแรง และภาพความเป็น “ผู้ร้าย” และ “ผู้ใช้ความรุนแรง” ถูกทำให้เป็นภาพตัวแทนของคนเสื้อแดง แม้หลายส่วนจะคาดหมายกันว่า เหตุการณ์ดังกล่าว ความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับในเมืองหลวงครั้งนั้น จะนำมาสู่ความถดถอยของขบวนการเคลื่อนไหว แต่สิ่งที่เกิดขึ้น กลับตรงกันข้าม กล่าวคือ “สงกรานต์เลือด” ได้สร้างความรู้สึกคับแค้นใจ และ “สองมาตรฐาน” ในการปฏิบัติของฝ่ายต่างๆ ต่อการชุมนุมของเขาเมื่อเปรียบเทียบกับการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น และรอคอยการกลับมาใหม่อีกครั้ง ขณะเดียวกัน ในแง่ขององค์กรการเคลื่อนไหว มีการพยายามสรุปบทเรียน จัดกิจกรรมย่อยๆ รวมทั้งการทำงานในระดับพื้นฐานในพื้นที่ ผ่านการจัดตั้ง-ฝึกอบรมแกนนำย่อยและมวลชนในต่างจังหวัดมากขึ้น เพื่อเตรียมการสำหรับการต่อสู้ครั้งใหม่ ซึ่งส่งผลใน 2 ประการที่สำคัญคือ เกิดการขยายตัวของมวลชนคนเสื้อแดง และเมื่อเข้าใจว่าองค์กรมีการจัดการ มีระบบ มีความเข้มแข็งมากขึ้น ก็ทำให้ผู้เข้าร่วมมีความเชื่อมั่นในการต่อสู้มากขึ้น ในการชุมนุมใหญ่ในเดือนมีนาคม 2553 ได้มีการลดระดับข้อเรียกร้องจากเดิมที่มุ่งเป้าไปที่การต่อสู้ โค่นล้ม “อำมาตย์” มาเป็นเป้าหมายระยะสั้นคือ “ยุบสภา” เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยในการเตรียมการเคลื่อนไหวเพื่อระดมคนเพื่อการชุมนุมใหญ่ในต่างจังหวัดนั้น แกนนำได้ประกาศในลักษณะที่สร้างความคาดหวังกับผู้เข้าร่วมชุมนุมไว้สูงมาก คือ ในระดับเป้าหมาย คือ การชุมนุมที่แตกหักกับรัฐบาล "ไม่ชนะ ไม่เลิก" (คล้ายกับพันธมิตรฯ) โดยการระดมคนให้ได้มากที่สุด คือ 1 ล้านคน โดยส่วนหนึ่งคาดหมายว่า การระดมคนเข้าร่วมได้มาก จะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการที่จะนำไปสู่ผลที่คาดหมายไว้ และแม้ในการเริ่มต้นชุมนุมใหญ่จริงในวันที่ 14 มีนาคม 2553 จะมียอดผู้เข้าร่วมชุมนุมจริงน้อยกว่าเป้าที่ตั้งไว้ แต่กล่าวได้ว่า เป็นการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดนับตั้งแต่มีการเคลื่อนไหวมา (มากกว่าช่วงเดียวกันในปี 2552) ด้วยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมมีความคาดหวังต่อการเคลื่อนไหวที่สูงมาก รวมทั้งมาตรการในการเคลื่อนไหวที่จะนำไปสู่เป้าหมายนั้นด้วย แต่ในอีกทางหนึ่ง จากการบอกเล่าของแกนนำ[ระดับรองๆลงมา] นอกจากการเตรียมคน หรือการวางแผนการเคลื่อนขบวน จัดการการชุมนุมใหญ่ที่กรุงเทพฯแล้ว ไม่ได้มีการวางแผน ขั้นตอน จังหวะก้าว รองรับการเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบแต่อย่างใด ดังนั้นการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นหลังจากการระดมเข้ามาถึงกรุงเทพฯ จึงมีลักษณะเป็นการ “คิดแบบรายวัน” ขึ้นอยู่กับสถานการณ์มากกว่าจะมีการจัดวางเป็นขั้นตอน-จังหวะ รวมทั้งการกำหนดว่าจากเป้าหมายสูงสุดที่ตั้งไว้ ได้แค่ไหน-ระดับไหน (ต่ำกว่าข้อเรียกร้องที่ตั้งไว้) จะเรียกว่าเป็นความสำเร็จและยอมรับได้ หลังจากการมาชุมนุมตามที่ได้นัดหมายกัน และแกนนำได้ประกาศเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาภายใน 24 ชั่วโมง ในวันที่ 15 มีนาคม 2553 ผู้ชุมนุมเดินทางไปที่กรมทหารราบที่ 11 เพื่อเรียกร้องให้นายกฯ ยุบสภา และเดินทางกลับโดยทันที 16 มีนาคม 2553 เจาะเลือดแล้วนำไปเทที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์ 17 มีนาคม 2553 นำเลือดเหลือไปเทที่หน้าบ้านนายกรัฐมนตรี และ 20 มีนาคม 2553 แห่ขบวนที่ใหญ่ที่สุด ทั่วกรุงเทพฯ นำโดยรถมอเตอร์ไซต์และรถยนต์ส่วนตัวนับหมื่นคัน คือ ราว 1 สัปดาห์ หลังจากการเริ่มการชุมนุม ที่แกนนำไม่ได้มีมาตรการในการกดดันรัฐบาลอย่างจริงจังตามความเห็นของผู้เข้าร่วมและไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ภายใน 1 สัปดาห์อย่างที่แกนนำได้ประกาศไว้ก่อนหน้านั้น แรงกดดันจากผู้ชุมนุมความที่เกิดจากความคาดหวังที่สูงที่ตั้งไว้ก่อนหน้านั้นกลับมากดดันผู้นำการชุมนุม กล่าวคือ ผู้ร่วมชุมนุมบางส่วนได้วางแผนการเข้าร่วมการเคลื่อนไหวครั้งนี้ไว้ประมาณ 1 สัปดาห์เท่านั้น และคิดว่าแกนนำจะมีมาตรการในการกดดันที่สูง รู้แพ้รู้ชนะอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้น กลับแตกต่างออกไป คือ รู้สึกว่ามาตรการวิธีการต่างๆ นั้น ไม่ใช่การต่อสู้อย่างจริงจังและไม่สามารถที่จะนำไปสู่ผลแพ้ชนะได้ บางคนรู้สึกว่าแกนนำไม่ได้นำพวกตนมา “ต่อสู้” อย่างที่ประกาศไว้ข้างต้น เพราะวิธีการและมาตการในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่ได้สร้างแรงกดดันต่อรัฐบาล หรือไม่ได้ใช้มวลชนจำนวนมากให้เป็นประโยชน์สูงสุด ดังนั้น มวลชนจำนวนหนึ่งจึงรู้สึกไม่พอใจ และมีบางกลุ่มในภาคเหนือนัดประชุมกลุ่มย่อยและตัดสินใจเดินทางกลับบ้าน ขณะที่บางส่วนแกนนำจากส่วนกลางต้องไปเคลียร์เพื่อทำความเข้าใจกับผู้ชุมนุม ถึงแม้จะมีกลุ่มหรือคนที่เดินทางกลับบ้านด้วยเหตุความไม่พอใจต่อแกนนำจำนวนไม่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับการเดินทางกลับเพื่อสับเปลี่ยนกำลังของคนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด แต่ความรู้สึกไม่พอใจในกลุ่มผู้ชุมนุมก็พบเห็นได้จำนวนมากจากการที่ไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวังที่ถูกสร้างขึ้นก่อนหน้านั้น แม้ว่าการเคลื่อนขบวนในวันที่ 20 มีนาคม 2553 ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างดีจาก “คนกรุงเทพ” จะมีส่วนช่วยในด้านอารมณ์ความรู้สึกอยู่บ้างก็ตาม บางคนถึงกับบ่นว่า “กูออกมาสู้โว้ย ไม่ได้ออกมานั่งๆนอนๆ ในที่ชุมนุมเฉยๆ” โดยแกนนำจำนวนหนึ่งก็รับรู้ถึงความรูสึกไม่พอใจนี้ และพยายามที่จะเข้าไปพูดคุย ทำความเข้าใจกับแกนนำหรือกลุ่มย่อยๆ ดังกล่าว แรงกดดันนี้ มาจากการสร้างความคาดหวังที่สูงเกินไปของแกนนำในช่วงระหว่างการระดมคนเพื่อเข้าร่วมการชุมนุมใหญ่ และความกระตือรือร้นที่อยากจะต่อสู้ให้รู้แพ้ชนะของผู้เข้าร่วมเอง ที่เก็บสะสมมาตั้งแต่การถูกสลายการชุมนุมใหญ่เมื่อสงกรานต์ปี 2552 ซึ่งทั้งสองนี้มีผลซึ่งกันและกัน และการประเมินสถานการณ์หรือความสามารถของตนเอง “สูงเกินไป” หรือประเมินฝ่ายตรงกันข้ามต่ำ โดยแกนนำท่านหนึ่งได้วิเคราะห์ในการประชุมย่อยกับนักกิจกรรมที่เข้าร่วมสนับสนุน ก่อนการมีการเจรจากับฝ่ายรัฐบาล (28-29 มีนาคม 2553) ว่า สาเหตุที่เป็นนี้เพราะมวลชน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของขบวนการเสื้อแดง ไม่มีประสบการณ์การเคลื่อนไหวมาก่อน - ต่างกับคนที่มีประสบการณ์ในยุคของเขา ที่มีแนวโน้มที่จะเข้าใจ การวิเคราะห์ที่ดี ไม่มีลักษณะอัตวิสัยจนมากเกินไป-ทำให้อยากรบเร็วชนะเร็ว และเสนอว่า นักกิจกรรมที่เข้าร่วมหากมีโอกาสควรจะมีส่วนในการเข้าไปพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้เข้าร่วมชุมนุมว่า แม้เราจะมีข้อเรียกร้องในระดับให้ยุบสภาก็ตาม แต่คู่ต่อสู้ของเรานั้นมีความเข้มแข็งมาก ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ยากลำบากในการได้รับชัยชนะอย่างรวดเร็ว และต้องดำเนิกการเคลื่อนไหวต่อสู้อย่างอดทนและไม่สุ่มเสี่ยงจนมากเกินไปเพราะจะทำให้ถูกปราบปรามได้ง่าย ปัญหาเรื่องความคาดหวังที่ตั้งไว้สูง ความเข้าใจต่อการเคลื่อนไหว และความไม่พอใจต่อมาตรการการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมที่เห็นว่าไม่สามารถที่จะนำไปสู่เป้าหมายได้ แสดงออกอย่างชัดเจนในช่วงที่มีการเจรจาระหว่างแกนนำกับรัฐบาลในระหว่างวันที่ 28-29 มีนาคม 2553 แม้ว่าด้านหนึ่ง พวกเขาจะแสดงออกว่าไม่พอใจที่ในเวทีการเจรจา ตัวแทนของพวกเขาไม่สามารถที่จะมีการพูดถึงประเด็นปัญหาต่างๆได้เต็มที่และเสียเปรียบในทางเชิงชั้นกับฝ่ายรัฐบาล แต่ด้านที่สำคัญมากคือ พวกเขาเห็นว่าการเจรจาเป็นการประนีประนอม ต่อรองเรื่องเวลา และไม่สามารถที่จะนำไปสู่เป้าหมายได้ โดยมีการกระจายและติดสต็กเกอร์ที่จัดทำขึ้นโดย “แดงปิ่นเกล้า” ในที่ชุมนุมว่า “เลิก... เจราจา ยุบสภาทันที” และผู้ชุมนุมเห็นด้วย ตบมืออย่างกึกก้องกับข้อเสนอของจตุพร พรหมพันธุ์ บนเวทีปราศรัยในคืนวันที่ 28 มีนาคม 2553 ว่า หากการเจรจาในวันที่ 2 ไม่เกิดประโยชน์อะไรหรือเป็นอย่างเช่นในวันที่ผ่านมา การเจรจาในวันที่ 2 นั้นก็จะเป็นวันสุดท้าย และผลที่เกิดขึ้นตามมาก็เป็นดังตามที่คาดไว้ จตุพร พรหมพันธุ์ ได้ตัดบท ขอยุติการเจรจาลงเท่านั้น (ขณะที่วีระ มุสิกะพงศ์ แสดงให้เห็นว่า ต้องการเปิดช่องทางในการเจรจาไว้สำหรับในอนาคต) แม้ว่าในตอนหลังจะมีการเปิดเผยว่า ได้รับสัญญาณจากเวทีการชุมนุมโดยณัฐวุฒิ ใสเกื้อ ก็ตาม แม้ว่าการยุติการเจรจาจะเกิดขึ้นผ่านแกนนำ และแกนนำมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจดังกล่าวก็จริง แต่กล่าวได้ว่า ความไม่พอใจของผู้ชุมนุมต่อมาตรการดังกล่าวมีอิทธิพลหรือมีส่วนผลักดันเรื่องนี้ไม่น้อย ดังที่เห็นได้จากการที่แกนนำต้องออกมาทำความเข้าใจ ชี้แจงกับผู้เข้าร่วมการชุมนุมหลายครั้ง เป็นเรื่องที่ค่อนข้างปกติสำหรับการจัดการชุมนุม ไม่เฉพาะของคนเสื้อแดงเท่านั้น สิ่งที่ผู้นำหรือผู้จัดการชุมนุมต้องเผชิญไม่ใช่เฉพาะฝ่ายต่อต้านการเคลื่อนไหวหรือฝ่ายตรงกันข้ามเท่านั้น แต่รวมทั้งการจัดการบริหารอารมณ์ความรู้สึกและความคาดหวังของผู้เข้าร่วมการชุมนุมด้วย นั่นคือ ต้องพยายามหามาตรการที่สร้างแรงกดดันต่อฝ่ายตรงกันเพิ่มขึ้นหรือยกระดับมาตรการในการกดดันนั่นเอง เมื่อการเคลื่อนไหวเฉพาะที่ได้ดำเนินการมาแล้ว มีแนวโน้มว่าส่งผลสะเทือนหรือสร้างแรงกดดันได้ไม่มากนัก และแนวโน้มที่สำคัญในส่วนนี้คือ การหันไปใช้วิธีการที่เป็นการท้าทายหรือขัดขวางระบบการเมืองปกติ (disruptive action) มากขึ้น เพื่อที่จะดึงให้ผู้มีอำนาจทางการเมืองเข้ามาทำการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ในขณะเดียวกัน ก็มีแนวโน้มความสุมเสี่ยงในการที่จะถูกดำเนินการตามกฎหมาย (กรณีที่ผิดกฎหมาย) หรือถูกปราบปรามได้ด้วยเช่นกัน การระดมคนเพื่อ “เคลื่อนขบวนใหญ่” ในวันวันเสาร์ที่ 20 มีนาคม 2553 เพื่อรณรงค์ออกไปทั่วกรุงเทพฯ นั้น กล่าวได้ว่า เป็นการผสมผสานกันแบบกล้าๆกลัวๆ ของแกนนำระหว่างความต้องการที่จะยกระดับมาตรการการเคลื่อนไหว “ขัดขวางกรุงเทพฯ” กับ “การรณรงค์” เพื่อชี้แจงกับประชาชน ซึ่งแม้จะมีผลดีในทางจิตวิทยาต่อผู้ชุมนุมก็ตาม แต่ก็ไม่อาจที่จะตอบสนองเป้าหมายในการกดดันต่อรัฐบาลได้ เนื่องจากแม้การเคลื่อนขบวนใหญ่ซึ่งใช้เวลาตั้งแต่เริ่มต้นจนจบร่วม 8 ชั่วโมง ซึ่งได้เข้าไปขัดขวางการใช้ชีวิตปกติของคนกรุงเทพที่ขบวนเคลื่อนผ่านก็แต่เป็นระยะเวลาสั้นๆ หรือเพียงหนึ่งวันเท่านั้น ขณะที่ในอีกสัปดาห์ต่อมา แกนนำได้ประกาศระดมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 27 มีนาคม 2553 โดยไม่ได้แจ้งเป้าหมายของการเคลื่อนไหวหรือรายละเอียดของกิจกรรมล่วงหน้า บอกเพียงแต่ว่าจะมีการลงมติเกี่ยวกับ “มาตการปลดแอกรัฐไทยออกจากอำนาจทหาร” โดยในวันดังกล่าว นปช. ได้เคลื่อนขบวน 8 สาย ไปกดดันแคมป์ทหารรอบพื้นที่ชุมนุมจำนวน 8 จุด ให้ถอนกำลังกลับหน่วย กรมกองของตน ถึงแม้ว่ากิจกรรมดังกล่าวจะประสบความสำเร็จ โดยทหารทุกจุดจะยอมถอนกำลังออกจากที่ตั้งทั้งหมด (ยกเว้นในทำเนียบรัฐบาล) แต่ก็ไม่สามารถที่จะนำไปสู่เป้าหมายดังที่ประกาศหรือโฆษณาได้แต่อย่างใด ท้ายที่สุด หลังจากการยุติการเจราจา การยกระดับของการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลก็เกิดขึ้น ตามตรรกะของมัน โดยหันไปใช้วิธีการขัดขวางท้ายระบบการเมืองปกติ (disruptive action) ที่มีลักษณะสำคัญมาก ในวันที่ 3 เมษายน 2553 โดยการเข้าไปครอบครอง-ยึดพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์และบริเวณโดยรอบ อันเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ เป็นพื้นที่ในการชุมนุม ซึ่งวิธีการดังกล่าวนั้นไม่ใช่เป็นเพียงการท้าทาย-ขัดขวางต่อรัฐบาลเท่านั้นแต่เป็นการขัดขวางชีวิตของเมืองหลวงและคนกรุงเทพฯจำนวนหนึ่ง 3. 10 เมษายน 2553 : ความรุนแรงและผลกระทบต่อการชุมนุมภาพรวม การเคลื่อนขบวนไปปักหลักชุมนุมอย่างยืดเยื้อที่แยกราชประสงค์อีกจุดหนึ่ง แน่นอนที่สุดย่อมสร้างแรงกดดันให้กับรัฐบาลมากขึ้น แม้ว่าจะทราบภายหลังว่า การตัดสินใจดังกล่าวของแกนนำในเรื่องนี้ไม่ได้มีการปรึกษาหารือหรือตัดสินใจอย่างรอบคอบมาก่อน (ทราบว่า ตอนแรกตั้งใจจะไปปักหลักเพียง 1 วันที่มีการเคลื่อนขบวนออกไปเท่านั้น และการตัดสินใจปักหลักยืดเยื้อเกิดขึ้นในภายหลัง ตอนเย็นของวันนั้น) แต่ผู้ชุมนุมที่ต้องการให้สร้างแรงกดดันกับรัฐบาลมากขึ้นส่วนใหญ่สนับสนุนมาตการดังกล่าว เห็นว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่ได้ยึดกุมหัวใจทางเศรษฐกิจและการค้าของคนกรุงเทพ และบีบให้รัฐบาลต้องตัดสินใจ มีการตอบสนองอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ขณะเดียวกัน สิ่งที่ตามมาของมาตรการในลักษณะนี้คือ การเผชิญหน้าและความเสี่ยงของความเป็นไปได้ของการถูกปราบปรามที่มากยิ่งขึ้นไปด้วย ซึ่งมาพร้อมกับความตึงเครียดในการชุมนุม โดยทันที หลังจากผู้ชุมนุมได้ไปปักหลักที่แยกราชประสงค์ สถานการณ์เริ่มตึงเครียดมากขึ้น รัฐบาลได้ออกประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่เนื่องจาก “การชุมนุมที่แยกราชประสงค์เป็นจุดสำคัญซึ่งส่งผลกระทบ ต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ” และมีการเรียกร้องให้กลับมาชุมนุมที่ผ่านฟ้าเพียงจุดเดียว และตามมาโดยการสร้างแรงกดดันและเผชิญหน้าระหว่างผู้ชุมนุมกับจากเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจและทหารโดยตลอดในบริเวณรอบๆ พื้นที่ชุมนุมและจุดอื่นที่มีการเคลื่อนขบวนออกไป ก่อนเที่ยงของวันที่ 10 เมษายน 2553 เมื่อมีข่าวว่าจะมีการสลายการชุมนุมอย่างแน่นอนแล้ว (หลังจากมีข่าวลือมาหลายวัน) ผู้เขียนกับเพื่อนต้องตัดสินใจว่าจะเดินทางไปที่จะใดเพราะไม่ทราบอย่างแน่นอนว่ารัฐบาลจะเข้าทำการสลายที่ราชประสงค์หรือผ่านฟ้า-ราชดำเนินหรือทั้งสองที่ แม้ว่าก่อนหน้านั้นรัฐบาลจะประกาศว่าต้องการขอพื้นที่ราชประสงค์คืนและยินยอมให้มีการจัดการชุนมุมที่ผ่านฟ้า-ราชดำเนินได้ ผู้เขียนกับเพื่อนเกือบ 20 คน ตัดสินใจเดินทางไปที่ผ่านฟ้า-ราชดำเนิน เพราะไม่เชื่อข้ออ้างของรัฐบาลเรื่องการขอพื้นที่ราชประสงค์คืน (ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริง เป้าหมายจะต้องเป็นราชประสงค์ ไม่ใช่ผ่านฟ้า-ราชดำเนิน) และด้วยเหตุผลอื่นที่มากกว่าข้อเรียกร้องการยุบสภาที่อีกฝ่ายยินยอมไม่ได้ เนื่องจากเชื่อว่าการยุบสภาเป็นเพียงข้อเรียกร้องหรือขั้นตอนไปสู่อย่างอื่น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องปราบปราม-กำราบขบวนการดังกล่าวตั้งแต่ต้น อย่างที่เคยพยายามดำเนินการมาแล้วตั้งแต่การชุมนุมหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ 22 กรกฎาคม 2550 และสงกรานต์เลือด 2552 และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างการชุมนุมใน 2 พื้นที่ การชุมนุมที่ผ่านฟ้า-ราชดำเนินมีลักษณะที่ง่ายต่อการปราบปรามกว่า เนื่องจากมีผู้ชุมนุมน้อยกว่า มีพื้นที่กว้าง มีทางเข้าออกเคลื่อนกำลังได้หลายทาง และมีความเสี่ยงต่อการเสียหายน้อยกว่า การประเมินของพวกเราถูกต้อง เมื่อเดินมาถึงผ่านฟ้า-ราชดำเนินราวเที่ยงวัน พวกเราไปรวมตัวกันที่แนวของทหารที่แยกจปร. ทางขึ้นสะพานพระราม 8 จุดนี้ ยังไม่มีการปะทะ แต่พบว่า นอกจากทหารที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่จะมีโล่และกระบอง ปืนที่ใช้ยิงกระสุนยางแล้ว ก็ยิงมีอาวุธร้ายแรงอย่างเช่นปืน M 16 ด้วย ในจุดนี้ ผู้ประชุมพยายามเอารถยนต์ รั้วเหล็ก และตัวเองไปขวางทหาร และพยายามขอร้องไม่ให้ปราบปรามประชาชน ขณะที่ทหารที่อยู่บนรถเครื่องเสียงก็ประกาศให้ผู้ชุมนุมสลายการชุมนุมเนื่องจากเป็นการกระทำผิดกฎหมาย พวกเราอยู่ในจุดดังกล่าวได้สักพักหนึ่ง ก็ได้ยินเสียงปืนดังถี่รั่ว จำนวนมาก จากอีกด้านหนึ่ง คือ บริเวณทำเนียบรัฐบาล ผู้เขียนและเพื่อนอีกส่วนหนึ่งจึงวิ่งไปที่จุดที่มีเสียงปืน ระหว่างทางซึ่งไม่ได้ไกลมากนัก มีรถเตอร์ไซต์หลายคันนำผู้รับได้รับบาดเจ็บวิ่งสวนเข้ามา บางคนศรีษะแตกและมีรอยบวมขนาดใหญ่ บางคนมีบาดแผลแตกและรอยบวมขนาดใหญ่ที่ร่างกาย (ซึ่งทราบต่อมาภายหลังว่า เป็นบาดแผลที่เกิดจากกระสุนยาง) เมื่อไปถึงหน้าสหประชาชาติ ใกล้สะพานมัฆวาน ผู้เขียนเห็นผู้ชุมนุมพยายามใช้ขวดน้ำ สิ่งของไม้ ก้อนอิฐ ที่อยู่บริเวณนั้นขว้างไปยังแนวของเจ้าหน้าที่ และขณะที่มีการยิงปืนและแก็สน้ำตาจากแนวของทหารอย่างต่อเนื่อง ผู้เขียนใช้ผ้าที่เตรียมไว้ชุมน้ำเพื่อปิดจมูก และวิ่งเข้าไปหลบวิถีกระสบยางที่เชิงสะพานและพยายามถ่ายรูปไว้ ผู้ชุมนุมที่อยู่ด้านหน้าสุดวิ่งกลับมาหาน้ำล้างหน้าบรรเทาพิษจากแก็สน้ำตา เมื่อเสียงปืนหยุด ผู้ชุมนุมก็จะเข้าไปหาเจ้าหน้าที่ ขว้างปาสิ่งของ เช่น ขวดน้ำ ก้อนหิน แม้กระทั่งสาก หรือครก จาน กะละมัง สิ่งที่หาได้บริเวณนั้น ใส่เจ้าหน้าที่อีก และเมื่อเสียงปืนดังขึ้น ก็จะถอยและวิ่งหาที่หลบ เป็นอย่างนี้อยู่หลายครั้ง ราวเกือบหนึ่งชั่วโมง ครั้งหลังสุด เมื่อเสียงปืนหยุดลง ผู้ชุมนุมเดินเข้าไปหาเจ้าหน้าที่ซึ่งยังปักหลักอยู่บางส่วนโดยไม่มีอาวุธอย่างอื่นนอกจากโล่และกระบอง และพยายามผลักดันในเชิงขอร้องว่า อย่าทำร้ายประชาชน ประชาชนไม่มีอาวุธ และให้กลับเข้าไป แต่ก็มีกลุ่มผู้ชุมนุมอีกบางส่วนซึ่งเป็นคนหนุ่มที่รู้สึกโกรธแค้น พยายามเข้าไปทำร้าย ทุบตีเจ้าหน้าที่ แต่กลุ่มการ์ดและผู้ชุมนุมส่วนใหญ่พยายามล็อคตัวหรือกันเอาไว้เพื่อไม่ให้เข้าถึงหรือขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่อีก จนในที่สุด เจ้าหน้าที่ถูกผลักดันให้เข้าไปอยู่ในทำเนียบรัฐบาลและบริเวณหลังแยกมิสกวัน ผู้ชุมนุมเล่าว่า ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ทหารได้ตั้งแนวและเข้ามาสลายการชุมนุมถึงบริเวณหน้าสหประชาชาติแล้ว แต่พวกเขาพยายามสกัด ต่อต้านการสลายจนเจ้าหน้าที่ต้องถอยร่นออกไป หลังจากการปะทะยุติในจุดนี้ยุติลง ผู้ชุมนุมได้นำปลอกกระสุนปืน M 16 และกระสุนปืนที่ยังมีหัวกระสุนอยู่อีกจำนวนหนึ่งแสดงให้ผู้สื่อข่าวถ่ายรูป เพื่อให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้กระสุนยางเพียงอย่างเดียวอย่างที่อ้างกัน หลังจากการปะทะยุติลงสักพักหนึ่ง พวกเรามานั่งพักอยู่หน้ากองทัพบก เพื่อรอดูสถานการณ์และเช็คข่าวว่าฝ่ายรัฐบาลและทหารจะเอาอย่างไรกับการชุมนุมต่อ และได้รับข่าวว่าอย่างไรเสียรัฐบาลจะสลายการชุมนุมให้ได้ภายในตอนเย็น ราวเกือบสี่โมง พวกเราเดินมาที่หน้ากระทรวงเกษตรฯ พบป้า 2 สองคนจากภาคอิสาน อายุรวมกันน่าจะมากกว่า 120 ปี ที่แม้จะตกอยู่ในอาการหวาดกลัว แต่ก็ยังทำหน้าที่ของตนคือ เตรียมข้าวเหนียวและปลาแห้ง และแจกจ่ายให้กับผู้ชุมนุมที่ผ่านไปมา พร้อมกับด่าทอ สาปแช่งรัฐบาลและทหารที่เข้าทำการสลายการชุมนุม พวกเราได้อาหารมื้อแรกของวันจากป้าทั้งสองคนนั้น หลังจากทานอาหารเสร็จ ผู้เขียนได้รับยินประกาศบนเวทีว่า มีกำลังทหารมาประชิดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและสี่แยกคอกวัว จึงเดินไปที่จุดดังกล่าว เมื่อไปถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พบรถหุ้มเกราะและทหาร พร้อมอาวุธครบมือตั้งอยู่ที่ตรงถนนทางด้านขวาของอนุสาวรีย์ ในซอยหน้าโรงเรียนสตรีวิทย์ ขณะที่ผู้ชุมนุมได้ยืน-นั่งขวางไม่ให้ทหารเคลื่อนออกมาจากซอยได้ บางคนที่อยู่ด้านหน้าได้ถือพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถและชูขึ้นเพื่อให้ทหารเห็น ราว 5 โมงเย็น เฮลิคอปเตอร์ที่บินวนอยู่ไม่สูงนัก ได้ทิ้งแก็สน้ำตาลงมาที่อนุสาวรีย์หลายรอบ เมื่อมีแก็สน้ำตาตกลงมา ผู้ชุมนุมจะวิ่งกระจายกันหลบแก็สน้ำตา บางคนก็หากะละมังหรือถังมาครอบไว้ เมื่อควันน้อยลงผู้ชุมนุมก็กลับมาที่อนุสาวรีย์ใหม่ เพื่อบล็อกทหารไว้เหมือนเดิม นอกจากนั้นที่เวทีสะพานผ่านฟ้าก็ถูกแก็สน้ำตาเหมือนกัน ในเวลาใกล้เคียงกัน ทางเวทีผ่านฟ้า โดยคุณวิสา คัญทัพ ได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมมารวมตัวกันอย่างสงบหน้าเวทีเพื่อความปลอดภัย พร้อมประกาศว่าหากต้องการจับกุมแกนนำก็ให้เข้ามาจับกุมได้ที่เวทีโดยจะไม่ทำการต่อสู้ขัดขืน เพื่อป้องกันการสูญเสีย ผู้เขียนและเพื่อนอีกจำนวนหนึ่งที่กระจัดกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ นัดไปรวมตัวกันที่สี่แยกคอกหัว ซึ่งกำลังทหารตั้งอยู่อีกจุดหนึ่ง ในซอยฝั่งถนนข้าวสาร ห่างจากสี่แยกราว 100 เมตร และหาซื้ออาหารรับประทานเพื่อเตรียมตัวรองรับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไป พวกเราแซวกันเองว่า “ฉลาดว่ะ” ที่มาอยู่ตรงจุดนี้ เพราะน่าจะปลอดภัยที่สุด เนื่องจากหากเกิดการปราบปรามอีกรอบหนึ่งจุดนี้คงไม่หนักมากเพราะมีชาวต่างประเทศอยู่ด้วยจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม พวกเราเชื่อกันว่า การปราบปรามของฝ่ายทหารจะไม่ยุติลงเท่านี้ จึงปักหลักกันอยู่บริเวณนั้น หลังเคารพเพลงชาติราว 45 นาที ทหารที่นั่งอยู่ถูกสั่งเสียงดังมากให้ลุกขึ้นจัดแถวเตรียมพร้อม ผู้ชุมนุมเห็นดังนั้นก็ได้ส่งเสียงบอกคนอื่นๆ ให้มาตั้งแถวรับ โดยมีการนำแผงเหล็กมากั้น ต่อด้วยตัวผู้ชุมนุมที่ตั้งแถวเป็นแนวหน้ากระดานเพื่อผลักดันกับเจ้าหน้าที่ มีการนำรถกระบะเข้ามาอยู่ด้านหลังอีกแนวหนึ่ง ผู้เขียนกระโดดขึ้นรถยนต์เพื่อถ่ายรูป ขณะที่เพื่อนอีกส่วนหนึ่งเข้าไปอยู่แถวหน้าเพื่อผลักดันกับทหาร ขณะเดียวกัน ผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งได้นำไม้ขนาดความยาว 1-1.5เมตร มาแจกจ่ายกันเพื่อต่อสู้-ป้องกัน อีกไม่กี่นาทีต่อมา ทหารเริ่มขยับเข้ามาหาแถวผู้ชุมนุมและเกิดการผลักดันกัน ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่ด้านหลังเริ่มขว้างสิ่งของ เช่น ขวด ก้อนหิน ไม้ เข้าใส่แนวของทหาร ของพวกนี้จำนวนหนึ่งก็โดนผู้ชุมนุมด้วยกันเองด้วย และเกิดเหตุการณ์ชุลมุนขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้แถวหน้าของผู้ชุมนุมต้านไว้ไม่ไหวและแตกในที่สุด และมีการข้วางปา ปะทะ ผลักดันกันไปมาอีกช่วงหนึ่ง ก็เกิดเสียงปืนดังขึ้น แม้จะมีการการยิงจากฝั่งเจ้าหน้าที่ แต่ผู้ชุมนุมส่วนมากที่อยู่บริเวณนั้นก็ไม่กลัว พยายามใช้สิ่งของที่มีอยู่ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ เช่น ไม้ อิฐบล็อกที่ปูทางเท้า รวมทั้งระเบิดเพลิง โมโลต๊อบที่ทำขึ้นเอง ขว้างใส่ทหารที่บุกเข้ามา และใช้ไม้ไล่ตีกลับไป และเมื่อมีการยิงกลับมาอย่างหนักก็ถอยร่นกลับมา เหตุการณ์เป็นอยู่อย่างนี้ราวครึ่งชั่วโมง เพื่อนของผู้เขียนได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางและอีกหนึ่งคนเป็นตะคริว พวกเราจึงถอยออกมาปฐมพยาบาลด้านหน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา หลังจากนั้นผู้เขียนก็สังเกตว่าเสียงปืนก็เปลี่ยนไป และมีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บถูกหามออกมาอย่างต่อเนื่อง และพวกเราก็เข้ามาหลบและพักอยู่ด้านในอนุสรณ์สถาน พวกเรารู้ว่านั่นคือ กระสุนจริง และภาวะแบบนั้นพวกเราไม่กล้าที่จะเข้าไปอยู่ในแนวปะทะอีกแล้ว ถึงแม้ว่าพวกเราซึ่งเป็นนักกิจกรรมจะเคยเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ในการสลายการชุมนุมหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยเผชิญหน้ากับวิธีการสลายการชุมนุมอย่างนี้มาก่อน แต่มีคนเสื้อแดงอีกจำนวนหนึ่งกล้า ด้วยเหตุผลที่หลายคนพูดคุยกันและการประกาศระดมกำลังคนมายังจุดต่างๆ ก่อนจะเกิดเหตุความรุนแรงในตอนค่ำว่า มา “ปกป้อง” พี่น้องเรา ซึ่งหมายถึง ผู้ชุมนุมที่เหลือ จากการปราบปรามของทหาร ในการสลายการชุมนุมปกติของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้ามาสลายการชุมนุมของชาวบ้านกลุ่มต่างๆ ที่พวกเราเคยเข้าร่วม อย่างกรณีสมัชชาคนจน สิ่งที่เจอก็คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมโล่และกระบอง การเผชิญหน้า-การตั้งแนวผลักดันกับเจ้าหน้าที่ในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ไม่น่ากลัวเท่าไหร่ สิ่งที่รู้แน่นอนคือ อย่างมากที่สุดหากจะได้รับบาดเจ็บก็จะเป็นในลักษณะที่ไม่รุนแรงมากนัก เช่น ถูกตีหัวแตก แขน-ขาหัก มีเจ้าหน้าที่น้อยคนนักที่จะตีพวกเราอย่างรุนแรงด้วยความโกรธแค้น บางคนก็ตีไม่หนักมากเพื่อให้กลัว ให้แตกแถว หรือผลักให้ล้มเสียมากกว่า ขณะที่พวกเขาก็รู้ว่าตัวเองจะไม่ถูกทำร้ายอย่างรุนแรงเช่นเดียวกันเพราะพวกเขาเห็นว่าผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธแต่อย่างใด ด้านบนของอนุสรณ์สถานกลายเป็นที่หลบกระสุนพวกเราและผู้เข้าร่วมชุมนุมอื่นๆ เกือบร้อยคน ขณะที่มองออกไปที่สี่แยกก็เห็นร่างของผู้ชุมนุมถูกหามมาส่งที่รถพยาบาลคนแล้วคนเล่า สักพักใหญ่ก็มีรุ่นน้องที่ธรรมศาสตร์วิ่งมาบอกว่าเห็นคนชุดดำราว 5-6 คน พร้อมอาวุธเดินเข้ามาในกลุ่มผู้ชุมนุม เสียงปืนยังดังขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะ รวมทั้งระเบิดดังขึ้นด้วย พวกเรายังปักหลักอยู่ที่เดิม นานมากขนาดไหนไม่รู้ จนกระทั่งได้ยินเสียงประกาศจากเวทีว่ามีการเจราจาหยุดยิง และขอให้ทุกฝ่ายหยุดยิง หลังจากนั้น เสียงปืนจึงหยุดลง เมื่อเหตุการณ์ความรุนแรงยุติลง ผู้เขียนและผู้ชุมนุมอื่น ได้เดินไปดูที่จุดเกิดเหตุ ดูรอยเลือด รอยกระสุนตามรถ ผนังอาคารต่างๆ พร้อมกับการเล่าเรื่องของผู้อยู่ในเหตุการณ์ให้กับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ฟัง คืนนั้น ผู้เขียนและเพื่อนๆ นอนที่บริเวณด้านบนของอนุสรณ์สถาน เพื่อรอดูเหตุการณ์ เพราะไม่มีใครแน่ใจว่าจะอะไรขึ้นอีกในคืนนั้น เพราะในประเทศนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ แม้จะรู้ว่าตัวเองอาจจะไม่สามารถที่จะช่วยเหลืออะไรได้เลยก็ตาม หลังจากเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 สิ่งที่เกิดขึ้น สำหรับผู้ชุมนุม คือ (1) ความเชื่อที่ว่ารัฐบาลและผู้มีอำนาจ ต้องการปราบปราม-กำจัดคนเสื้อแดงนั้นถูกทำให้เป็นจริง ไม่มีใครเชื่ออีกแล้วว่าพวกเขาจะไม่ถูกปราบปรามอย่างรุนแรงอีก และตามมาด้วยความกลัวและความหวาดระแวงต่อการปราบปราม (2) ความโกรธแค้นชิงชังต่อรัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่รุนแรงมากขึ้น (3) ความต้องการที่จะแก้แค้น เอาคืนให้กับเพื่อนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งในที่นี้มิได้หมายถึง การฆ่าเพื่อล้างแค้น แต่หมายถึง การเอาผู้ที่กระทำผิดมาลงโทษ และสืบสานเจตนารมณ์ของเพื่อนผู้เสียสละ นั่นคือ การมุ่งไปสู่เป้าหมายที่เรียกร้องให้ได้ 4. หลัง 14 พฤษภาคม 2553 หลังจากเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 การชุมนุมที่ผ่านฟ้าถูกย้ายไปรวมกันที่ราชประสงค์ทั้งหมดในวันที่ 14 เมษายน แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ฝ่ายผู้ชุมนุมกลับเป็นฝ่ายตั้งรับเป็นด้านหลัก คือ ถูกจำกัดการเคลื่อนไหว มีลักษณะถูกปิดล้อมในด้านต่างๆ เกิดเหตุความรุนแรง และการเผชิญหน้ารอบๆ ที่ชุมนุม ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือ การพยายามป้องกันการปราบปราม เช่น สร้างป้อมปราการ-ด่านขึ้นมาโดยใช้ยางรถยนต์และไม้ไผ่ 6 จุดทุกแยกที่สามารถเข้าสู่แยกราชประสงค์ได้ เพื่อป้องกันการเข้าสลายการชุมนุมของทหาร ในวันที่ 20 เมษายน 2553 หรือการที่ผู้ชุมนุมในต่างจังหวัดหรือจังหวัดรอบนอกพยายามขัดขวางการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ของกำลังตำรวจหรือทหาร ขณะที่ผู้ชุมนุมจำนวนมากที่อยู่ตามจุดต่างๆ ล้วนมีอาวุธประจำกาย คือ ไม้ไผ่ปลายแหลมกันแทบทุกคน และสถานการณ์การชุมนุมก็ยิ่งตึงเครียดมากขึ้น คือ ต้องคอยระวังว่าเจ้าหน้าที่จะเข้ามาสลายการชุมนุมตอนไหน เมื่อรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีประกาศ Road Map ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2553 ผู้เขียนภาวนาขอให้ผู้นำตัดสินใจรับข้อเสนอของรัฐบาลโดยทันที โดยไม่ต้องสนใจรายละเอียดปลีกย่อยในเรื่องอื่นแต่อย่างใด แค่ได้ข้อยุติเรื่องการเลือกตั้งใหม่ก็น่าจะเพียงพอต่อการยุติการชุมนุม เพราะเชื่อว่านี่เป็นโอกาสที่จะหลีกเลี่ยงการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นอีกหากไม่เป็นเช่นนั้น ในช่วงนี้ ในตอนกลางคืน หลายครั้งที่ผู้เขียนไปนอนที่บริเวณแยกศาลาแดงซึ่งเป็นจุดที่ล่อแหลมและตึงเครียดมากที่สุด และมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยในช่วงนี้ผู้ชุมนุมที่อยู่ในจุดดังกล่าว ในตอนกลางคืน แทบจะไม่ได้นอน และตื่นตระหนกต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยรอบตลอดเวลา รัฐบาลได้ทำการปิดล้อมที่ชุมนุมและใช้ความรุนแรงนับตั้งแต่ค่ำของวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 ในวันที่ 14 เมษยน 2553 ตอนเที่ยง ผู้เขียนอยู่ในกลุ่มช่างภาพ-นักข่าว ที่แนวหลังของทหาร บริเวณสถานีรถไฟฟ้าสวนลุมพินี หน้าอาคารลุมพินีพาร์ควิว ซึ่งก่อนที่ทหารจะมาตั้งตรงนี้ พวกเขาได้เข้าสลายการชุมนุมที่แยกวิทยุก่อน และผลักดันให้ผู้ชุมนุมถอยไปอยู่บริเวณใต้สะพานลอย ปากซอยงามดูพลี โดยทหารใช้ปืน (ในเบื้องต้นเข้าใจว่าเป็นกระสุนยาง) ยิงไปที่กลุ่มผู้ชุมนุมเรื่อยๆ เพื่อผลักดันให้ถอยห่างออกไป ขณะที่ผู้ชุมนุมได้จุดพลุขนาดเล็กมายังแนวทหาร และยิงหนังสติ๊กตอบโต้เป็นบางครั้ง มีรถพยาบาลวิ่งมารับผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่งไปส่งโรงพยายาบาล ผู้เขียนเดินตามหลังแนวของทหารไปถึงปากซอยงามดูพลี ขณะที่ผู้ชุมนุมก็ถอยออกไปเรื่อยๆ ให้ห่างแจกแนวของทหารราว 150 เมตร และตอบโต้กับทหารเป็นระยะๆ ระหว่างทางผู้เขียนเดินเก็บปลอกกระสุนที่ตกอยู่ตามพื้น พบว่า ไม่ได้มีแค่กระสุนยางที่ใช้กับปืนลูกซองเท่านั้น แต่รวมถึงกระสุนปืน M 16 ด้วย นอกจากจุดนี้แล้ว ผู้เขียนได้ยินเสียงปืนดังขึ้นเป็นระยะตั้งแต่ตอนเช้าบริเวณสวนลุมพินี ผู้เขียนออกจากจุดดังกล่าวในตอนค่ำ กลับมาติดตามข่าวการปะทะ พบว่ามีประชาชนที่รวมตัวกันรอบพื้นที่ชุมนุมเนื่องจากเข้าไปในราชประสงค์ไม่ได้และถูกยิงได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก และได้ออกไปสำรวจจุดต่างๆ โดยรอบ ในวันต่อมา 15 มีนาคม 2553 ผู้เขียนและเพื่อนนักกิจกรรม ร่วมกับครูประทีบ อึ๊งทรงธรรม ฮาตะ และ สนนท. ได้ตัดสินใจจัดตั้งเวทีชุมนุมขึ้นที่บริเวณสามแยกตลาดคลองเตย (และในวันต่อมา ได้ประสานกับกลุ่มเพื่อนให้ช่วยจัดตั้งเวทีการชุมนุมในลักษณะเดียวกัน ในจุดที่มีผู้ชุมนุมมารวมตัวกันรอบแยกราชประสงค์ คือ หน้าพรรคเพื่อไทย-แยกสามย่าน, ใต้ทางด่วนดินแดง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นต้น) เพื่อเป้าหมายที่เป็นทางการ คือ เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน แต่สิ่งที่พวกเรามีอยู่ในใจ คือ เราหวังว่า การจัดการชุมนุมอย่างสันติในรอบนอกในลักษณะนี้จะส่งผลให้ 1) สนับสนุนการชุมนุมที่ราชประสงค์ คือ ทำให้ฝ่ายปราบปราม รัฐบาล เห็นว่านอกจากมีผู้ชุมนุมที่ราชประสงค์แล้ว ยังมีการชุมนุมอย่างสงบและสันติรอบๆอีกด้วย เพื่อสร้างแรงกดดันต่อฝ่ายรัฐบาล ทำให้การตัดสินใจใช้ความรุนแรงเข้าไปสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์เป็นเรื่องที่ยากลำบากมากขึ้น 2) ลดการสูญเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บของผู้ชุมนุมที่จะเดินเข้าไปเผชิญหน้ากับทหาร หรือพยายามที่จะฝ่าวงล้อมของทหารที่ปักหลักอยู่ตามจุดต่างๆ เพื่อเข้าไปรวมตัวและช่วยเหลือเพื่อนๆที่อยู่ในราชประสงค์ ซึ่งการกระทำเช่นนั้นมีแต่เจ็บและตายเท่านั้นดังที่เกิดขึ้นในวันที่ผ่านมา พวกเราเดินทางไปรวมตัวกันที่สามแยกตลาดคลองเตยในตอนเย็น เมื่อผู้ชุมนุมที่รวมตัวอยู่แถวนั้น (จำนวนหนึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นคนขับแท็กซี่) เห็นและทราบว่าครูประทีปและทีมงานจะมาจัดตั้งเวทีปราศรัยและชุมนุมในจุดดังกล่าว พวกเขาตบมือโห่ร้อง แสดงความดีอกดีใจ ที่พวกเขาจะได้มีผู้นำในการเคลื่อนไหว เนื่องจากก่อนหน้านี้ พวกเขารวมตัวกันอย่างไร้การนำและไม่รู้ว่าควรจะทำอย่างไรดีกับสถานการณ์ดังกล่าว พวกเราใช้รถกะบะสี่ล้อเป็นเวทีปราศรัยเล็กๆ สิ่งแรกที่ต้องพยายามที่จะทำก็คือ การพยายามชี้แจงวัตถุประสงค์ของการชุมนุมอย่างสงบและสันติ ไม่มีอาวุธ และที่สำคัญ คือ โน้มน้าวให้เห็นว่าการกระทำอย่างนี้จะช่วยเพื่อนที่ราชประสงค์ได้อย่างไร ดีกว่าสถานการณ์เมื่อ 2 วันที่แล้ว และลดการสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างไร โดยในคืนแรก (15 สิงหาคม 2553) มีผู้ชุมนุมที่บริเวณตลาดคอลงเตยไม่มากนัก ขณะที่ส่วนหนึ่งไปรวมตัวกันที่บริเวณใต้ทางด่วนพระราม 4 เหมือนที่เคยเป็นมาก่อนหน้านั้น การรักษาความปลอดภัย ที่ไร้อาวุธ และไม่ต่อสู้ ภารกิจที่ผู้เขียนได้รับในคืนวันนั้น คือ การจัดระบบรักษาความปลอดภัยในการชุมนุม มีพื้นที่ต้องรับผิดชอบคือ ด้านซ้าย ตั้งแต่สี่แยกคลองคลองเตยมาถึงเวทีปราศรัยชุมนุมซึ่งเป็นสามแยกตรงป้อมตำรวจ ทางด้านหน้า ถึงโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ ขณะที่ทางด้านขวา ไปถึงหน้าทางเข้าชุมชนเทพประทาน ห่างจากเวทีประมาณ 150 เมตร เหตุที่พวกเราจำกัดพื้นที่รับผิดชอบในการชุมนุมเนื่องจากไม่ทราบว่าใครเป็นใครในสถานการณ์ดังกล่าว และกำจัดการเคลื่อนไหวในลักษณะที่สันติ ปราศจากอาวุธเท่านั้น ทั้งนี้ มีผู้สมัครมาเป็นการ์ดอาสาจำนวนราว 100 คน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากผู้เข้าร่วมชุมนุมทั่วไปและอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่มากนัก มาจากการ์ด นปช. ที่ไม่สามารถที่จะกลับเข้าไปในพื้นที่การชุมนุมได้ เมื่อผู้เขียนชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจวัตถุประสงค์ทั่วไปของการจัดการชุมนุมอย่างละเอียดอีกครั้ง การ์ดอาสาทุกคน เข้าใจดีและเห็นชอบด้วย แต่เมื่อถึงขั้นตอนของการปฏิบัติในการรักษาความปลอดภัยที่การ์ดทุกคนจะต้องไม่มีอาวุธ และหากเจ้าหน้าที่จะเข้าทำการจับกุมหรือสลายการชุมนุม แกนนำจะยอมให้จับกุม และการ์ดจะต้องไม่ต่อสู้หรือขัดขืน หน้าที่ของการ์ดมีหน้าที่เพียงตรวจตรา รักษาความเรียบร้อยของการชุมนุม ตรวจตราอาวุธ และอำนวยความสะดวกต่างๆ เท่านั้น การ์ดอาสาบางส่วนที่เป็นการ์ด นปช. เริ่มตั้งคำถามหรือสงสัยกับวิธีการปฏิบัติดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า เขาไม่สามารถที่จะทำอย่างนั้นได้ หากไม่มี “เครื่องมือ” [ไม่ได้หมายถึงอาวุธอย่างปืนหรือระเบิดแต่อย่างใด แต่หมายถึง พวกไม้ เหล็กหรือประทัดยักษ์ พลุ เป็นต้น] ไว้ต่อสู้หรือป้องกันการก่อกวนจากฝ่ายตรงกันข้าม อย่างน้อยก็ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งกลัว หรือยื้อเวลาหากมีการเข้าสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ ผู้เขียนไม่มีคำอธิบายที่ดีนักในเรื่องนี้ แต่พยายามเน้นย้ำถึงเป้าหมายว่าไม่ได้ต้องการมาต่อสู้กับทหาร แต่ต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการปราบปรามประชาชน และการไม่ต่อสู้และไม่มีอาวุธนั้น มีความเป็นไปได้ที่จะสูญเสียน้อยกว่ากรณีแรกหากเกิดการปราบปราม และหากจะเกิดอะไรขึ้นให้มาแจ้งกับทางด้านเวที พวกเรา “แกนนำ” จะไปอยู่ด้านหน้า และไม่ทอดทิ้งกัน จะเกิดอะไรขึ้นก็ให้เกิดด้วยกัน ขอให้เชื่อมั่นต่อกัน ในอีกวันถัดมา ทั้งที่สี่แยกคลองเตยและหน้าโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ ถูกปิดด้วยยางรถยนต์ เปิดให้รถวิ่งเข้าออกได้ช่องทางเดียว ครูประทีปได้รับการข้อร้องจากชาวบ้านที่อาศัยแถวนั้นให้เปิดถนนทั้งหมด และนำยางรถยนต์ออกไป เพราะพวกเขากลัวว่าจะมีการเผาเกิดขึ้น พวกเราประชุมกัน เห็นว่าควรจะเอายางรถยนต์ออกทั้งหมด เพราะต้องการให้รถผ่านไปมาสะดวกในตอนกลางวันและไม่ต้องการให้พื้นที่ชุมนุมที่คลองเตยเป็นเหมือนราชประสงค์ไปอีกที่หนึ่ง คือ มีป้อมค่ายเหมือนสถานที่สู้รบทำสงครามมากกว่าพื้นที่ชุมนุมอย่างสันติ เพราะเห็นว่าสถานที่การชุมนุมมีผลต่อหรือกำหนดความเข้าใจต่อการชุมนุมของผู้ชุมนุมเองและฝ่ายอื่นๆ เข้าใจว่าในตอนเย็นครูประทีปได้ไปคุยกับการ์ดในจุดดังกล่าวแล้ว แต่ยางรถยนต์ก็ไม่ถูกย้ายออกแต่อย่างใด ผู้เขียนจึงเข้าไปพูดคุยกับพวกเขาใหม่อีกครั้ง โดยพวกเขายืนยันว่า หากให้เอาออกไปทั้งหมดพวกเขาคงช่วยงานอีกไม่ได้ เพราะนอกไม่ให้มี “เครื่องมือ” อะไรสักอย่างไว้ป้องกันตัวเองแล้ว ก็ยังจะเอาที่กำบังออกอีก หากถูกโจมตีหรือก่อกวนพวกเขาก็จะตกเป็นเป้านิ่ง ในที่สุดก็ตกลงกันได้ว่า ให้ย้ายยางรถยนต์มาไว้ที่ตรงมุมหนึ่งของถนนเพื่อไว้เป็นที่พัก กำบังตนเอง และจะไม่มีการเผายางรถยนต์อย่างเด็ดขาด เนื่องจากจะทำให้ชาวบ้านที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้นซึ่งเป็น “พวกเรา” ได้รับความเดือดร้อน ทั้งนี้จริงๆแล้ว ผู้เขียนก็ไม่รู้จริงๆ ว่า คนที่อยู่แถวไหนเป็นพวกไหนกันแน่ ถึงแม้จะมีเพื่อนแถวนั้น บอกว่าส่วนใหญ่เป็นเสื้อแดงหรือสนับสนุนเสื้อแดง แต่มั่นใจว่าการหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง หรือดำเนินการที่จะส่งผลกระทบต่อผู้คนที่อยู่แถวนั้น เป็นเรื่องที่ดีที่สุดสำหรับการชุมนุม ตลอดการชุมนุม 4-5 วัน ในฐานะผู้ที่ทำหน้าที่ประสานงานกับการ์ดอาสา ผู้เขียนได้รับแต่ข่าวเรื่องการเคลื่อนของกองกำลังทหารเข้ามาสลายการชุมนุม การเข้ามาของฝ่ายตรงกันข้ามเพื่อทำการก่อกวนต่างๆ จากการ์ด และการตื่นตระหนกของพวกเขาต่อเรื่องดังกล่าวตลอดเวลา แม้ว่าทางการ์ดที่ทำหน้าที่ลาดตระเวนจะไม่ได้แจ้งหรือรายงานเรื่องดังกล่าวก็ตาม แต่ผู้เขียนก็ทำได้เพียงแต่ชี้แจงเขาว่ามีหน่วยลาดตระเวนอยู่รอบนอกแล้ว และขอให้ทำหน้าที่เพียงรักษาความปลอดภัยอยู่ในที่ตั้งเท่านั้น การจัดการ ควบคุมควบคุมการชุมนุมบนเวทีปราศรัย หลังจากวันแรก เมื่อทราบข่าวว่า มีการตั้งเวทีปราศรัย-ชุมนุมที่แยกคลองเตยโดยครูประทีปและคณะ ก็มีผู้มาร่วมชุมนุมเพิ่มขึ้นทุกวัน ดังนั้น สิ่งที่ต้องเน้นย้ำกันทุกวันในตอนค่ำซึ่งเป็นช่วงที่มีผู้เข้าร่วมชุมนุมมากที่สุดก็คือ การต่อสู้ในแนวทางสันติวิธี และแนวทางในการปฏิบัติที่ไม่ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่และไม่มีอาวุธ โดยผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่ทำหน้าที่ในการอธิบายเรื่องนี้บนเวที และแนวทางปฏิบัติต่างๆ ในการชุมนุม รวมทั้งอันตรายและการสูญเสียที่เกิดขึ้นเนื่องจากการเข้าไปในแนวปะทะ และแม้กระทั่งเรื่องของการทำงานของสันติวิธีและความเป็นไปได้ของความสูญเสียที่น้อยกว่าหรือความปลอดภัยที่มีมากกว่าโดยเปรียบเทียบ พวกเราอาจจะอธิบายได้ไม่ดีนัก แต่ดูเหมือนว่าพวกเขาจะเห็นด้วยกับพวกเราและอยู่กับที่บริเวณที่ชุมนุมเป็นหลัก ระหว่างพัก เมื่อผู้เขียนเข้าไปคุยกับผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่ง อย่างน้อยเขาก็บอกว่า รู้สึกว่าปลอดภัย ไม่อันตรายมาก เมื่อมาร่วมชุมนุมกับเรา และการกระทำอย่างนี้ก็เป็นการสนับสนุนพี่น้องที่ราชประสงค์ และไม่เห็นด้วยกับการ “ฝ่าเข้าไปที่ราชประสงค์ให้พวกมันยิง” ขณะเดียวกัน บนเวทีปราศรัย แน่นอนที่สุด เมื่อมีเวทีตั้งขึ้น ก็มีนักปราศรัย “ขาจร” ก็มาขอขึ้นเวทีจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นการยากที่จะปฏิเสธ แต่พวกเราก็ตระหนักว่า คนเหล่านี้ต่างกับเราก็คือ พวกเราเป็นผู้จัดการชุมนุม อยู่กับการชุมนุมตลอด และต้องรับผิดชอบต่อผู้ชุมนุมที่เข้าร่วมกับเรา ขณะที่บางคนอาจจะปราศรัย “เอามัน” แสดงความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว กล้าต่อสู้ แล้วก็จากไป ดังนั้น สำหรับคนที่เราไม่สนิทหรือไม่รู้จักมาก่อนว่า เป็นใคร หรือ มีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร ทางทีมงานก็จะช่วยกันพยายามอธิบายเป้าหมายให้ทราบ และขอร้องในประเด็นสำคัญคือ อย่าปลุกระดม สร้างความโกรธแค้นมากเกินไป และชวนประชาชนฝ่าแนวเข้าไปที่ราชประสงค์ รวมทั้งการเผา-ทำลายทรัพย์สินต่างๆ แต่ผู้ปราศรัยบางคนก็ “หลุด” บ้างเหมือนกัน [อาจจะตั้งใจหรือไม่ไม่อาจทราบได้] พิธีกรต้องคอยตัดบทหรือแก้ไขชี้แจงทันที รวมทั้งการพยายามเน้นย้ำเรื่องการใช้ความรุนแรงว่าจะสร้างปัญหาเรื่องความชอบธรรมให้กับขบวนการเคลื่อนไหว ง่ายต่อการปราบปรามและสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียมากขึ้น หากเกิดอะไรขึ้นขออย่าให้ทำลายทรัพย์ของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะที่อยู่แถวที่ชุมนุม เพราะไม่เพียงแต่พวกเขาจะเป็นพี่น้องของพวกเรา แต่มันไม่เกิดประโยชน์อะไรสำหรั สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||
โวยนิตยสาร 'สารคดี' ทำสกู๊ป 'ปตท.' แฝงโฆษณา บก.รับพร้อมปรับ Posted: 18 Feb 2011 06:58 AM PST 18 ก.พ.54 ประชาไทได้รับจดหมายเปิดผนึกจำนวน 2 ฉบับจากฐิตินันท์ ศรีสถิต คอลัมนิสต์นิตยสารสารคดี พร้อมคำชี้แจงจากนายสุวัฒน์ อัศวไชยชาญ บก.นิตยสารสารคดี โดยเนื้อหาในจดหมายฉบับที่ 1 ระบุถึงความสงสัยบางประการเกี่ยวกับบทความที่ชื่อ “ปตท. กับความความหลากหลายทางชีวภาพ” ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสารสารคดี ฉบับ 311 ประจำเดือนมกราคม 2554 หน้า 90 – 108 ซึ่งเมื่อพลิกอ่านเนื้อหาภายในเล่มกลับพบว่า สกู๊พิเศษดังกล่าวไม่ปรากฏชื่อผู้เขียนและช่างภาพ ซึ่งแตกต่างจากสารคดีพิเศษก่อนหน้านี้ และแตกต่างจากธรรมเนียมปฏิบัติอันเคร่งครัดของนิตยสารสารคดี "ความไม่ปกติดังกล่าว ทำให้ดิฉันซึ่งไม่ได้จบด้านนิเทศศาสตร์หรือวารสารศาสตร์ เริ่มลังเลถึงที่มาที่ไปและสถานภาพแท้จริงของสารคดีพิเศษชิ้นนี้ ทั้งยังรู้สึกคลางแคลงใจกระทั่งเกิดคำถามว่า หรือนี่จะเป็นช่องทางใหม่ที่เปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนใช้พื้นที่ของนิตยสารซึ่งเน้นเรื่องความถูกต้องและน่าเชื่อถือของข้อมูลเป็นสำคัญ เพื่อประโยชน์ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ด้านบวก โดยมิต้องระบุข้อความ 'พื้นที่โฆษณา' แต่อย่างใด" จดหมายเปิดผนึกที่เขียนโดย ฐิตินันท์ ศรีสถิต ระบุ อย่างไรก็ตามในจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 2 ของผู้เขียนคนเดียวกัน ได้อ้างคำชี้แจงของ บก.สารคดีที่มีต่อจดหมายฉบับที่ 1 ว่า ในการทำโฆษณาของบริษัทต่างๆ ปัจจุบันอาจแบ่งเป็นได้ 3 รูปแบบครับคือ หน้าโฆษณาขายสินค้าตรงๆ ซึ่งทางเจ้าของสินค้าจะทำ AD หน้าโฆษณามาเอง ระยะหลังมีน้อยลงเรื่อยๆ รูปแบบที่ 2 คือหน้าโฆษณาแบบ Advertorial คือโฆษณาแบบมี “เรื่องเล่า” ซึ่งระยะหลังบริษัทหรือเจ้าของสินค้าหรือเอเจนซี่งมักให้ทางนิตยสารเป็นผู้จัดทำให้ด้วย หรือช่วยปรับแก้เรื่องที่เขาทำมาพอประมาณให้เข้ากับแต่ละนิตยสาร ซึ่งเป็นที่นิยมมากที่สุดในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีรูปแบบที่ 3 คือสนับสนุนให้ทางนิตยสารทำสกู๊ปที่เกี่ยวข้องกับบริษัท โดยเปิดให้นิตยสารเลือกประเด็นการทำสกู๊ปได้ตามความถนัด มีสาระน่ารู้น่าสนใจ เป็นประโยชน์กับผู้อ่าน และทางบริษัทให้ความเห็นชอบในประเด็นที่นิตยสารจะจัดทำ บก.สารคดี ยอมรับด้วยว่า การจัดทำสกู๊ปเรื่อง 'ปตท.กับความหลากหลายทางชีวภาพ' ดังกล่าว เป็นการทำงานในแบบที่ 3 และชี้แจงด้วยว่า "หากการนำเสนอยังมีจุดที่ทำให้ผู้อ่านเกิดความสับสน ก็ขอน้อมรับข้อท้วงติงเพื่อนำไปปรับปรุงการทำงานต่อไปให้รอบคอบ และมีความชัดเจนยิ่งขึ้น” ทั้งนี้ฐิตินันท์ ศรีสถิต ได้ตอบรับคำชี้แจงของ บก.สารคดี โดยยอมรับข้อจำกัดในการทำนิตยสารว่า โฆษณาเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้นิตยสารยืนหยัดอยู่ได้ แต่ที่น่าจะสำคัญไม่แพ้กันก็คือจุดยืนของนิตยสารในเลือกรับเงื่อนไขของการลงโฆษณา "กรณีที่เกิดขึ้น แม้ดิฉันจะยังไม่แน่ใจว่า เส้นบางๆ ที่ขีดคั่นความแตกต่างของการระบุหรือไม่ระบุชื่อผู้เขียนและช่างภาพลงในบทความที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเอกชนคืออะไร" และยังได้เสนอความเห็นถึงนิตยสารสารคดีด้วยว่า การไม่ระบุชื่อผู้เขียนและช่างภาพซึ่งเป็นทีมงานของนิตยสารสารคดีลงในบทความ ทำให้ “ปตท. กับความความหลากหลายทางชีวภาพ” ขยับเข้าใกล้หน้าโฆษณาแบบ Advertorial ที่ไม่ปรากฏข้อความ “พื้นที่โฆษณา” และอาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจคลาดเคลื่อนไปเจตนาที่แท้จริงของนิตยสาร นอกจากนี้ การนำเสนอโฆษณาที่มีสถานภาพคลุมเครือ ว่าจะเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์องค์กรรูปแบบAdvertorial ก็ไม่ใช่ จะเป็นเนื้อหาของนิตยสารก็ไม่เชิง อาจส่งผลกระทบถึงภาพลักษณ์ของนิตยสารซึ่งเน้นเรื่องความถูกต้องและน่าเชื่อถือของข้อมูลมาโดยตลอด ในท้ายจดหมายของเจ้าของจดหมายระบุด้วยว่า ในฐานะคอลัมนิสต์ประจำนิตยสารสารคดีคนหนึ่ง จึงขอยุติการทำหน้าที่คอลัมนิสต์ประจำนิตยสารสารคดีไว้เพียงเท่านี้ ด้านสุวัฒน์ อัศวไชยชาญ บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี ได้ตอบจดหมายดังกล่าว และชี้แจงให้ผ่าน 'ประชาไท' ว่า นิตยสารสารคดีต้องขอแสดงความเสียใจที่คุณฐิตินันท์ตัดสินใจยุติการทำหน้าที่คอลัมนิสต์ลง และได้แต่ยอมรับกับการตัดสินใจดังกล่าว และกรณีนำเสนอเรื่อง “ปตท. กับความหลากหลายทางชีวภาพ” นิตยสารสารคดีไม่เคยมีความตั้งใจ หรือมีเจตนาสร้างความสับสน หรือมีเป้าหมายใดๆ ในการนำเสนอเรื่องที่เป็นการหลอกลวงผู้อ่าน โดยยอมรับว่าอาจมีข้อจำกัดใยทางปฏิบัติซึ่งทำให้เกิดปัญหาอยู่บ้าง ซึ่งได้ประชุมกับฝ่ายกองบรรณาธิการ และฝ่ายโฆษณาเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจนยิ่งขึ้นแล้ว โดยยืนยันที่จะรักษาความถูกต้องและความน่าเชื่อถือไว้ตลอดไป "หากกรณีนี้ผู้อ่านเห็นว่านิตยสารสารคดีได้สร้างความสับสนมีผลหนักหนาสาหัสเพียงใด ก็ย่อมมีสิทธิ์ตัดสิน ทางนิตยสารสารคดีขอน้อมรับทุกความคิดเห็นไว้เป็นบทเรียนในภาคปฏิบัติ และพยายามก้าวเดินต่อไปอย่างดีที่สุด"
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now | ||||||||
ไทบ้านปากมูน ลั่น ปักหลักใกล้ทำเนียบจนกว่ารัฐบาลจะทำตามสัญญา Posted: 18 Feb 2011 04:50 AM PST ชาวบ้านปากมูนผ่อนคลายมากขึ้น หลังรัฐบาลรับปากจะเร่งพิจารณาเปิดเขื่อน ชดเชยที่ดินทำกิน ตามที่อนุกรรมการแก้ไขปัญหานำเสนอแนวทางไว้ แต่ลั่น ยังปักหลักหน้าทำเนียบต่อ รอดูว่ารัฐบาลจะทำตามที่สัญญากับชาวบ้านหรือไม่ และจนกว่าจะมีมติ ครม. อย่างเป็นทางการ สืบเนื่องจากกรณีที่ชาวบ้านซึ่งได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล ที่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ซึ่งสูญเสียวิถีชีวิตเพราะไม่สามารถหาปลาได้ ไม่มีที่ดินทำกิน และไม่ได้รับการเยียวยาผลกระทบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งๆ ที่ผ่านมาได้มีการศึกษาของอนุกรรมการแก้ไขปัญหา จนได้ข้อยุติให้มีการชดเชยที่ดินทำกิน และเปิดเขื่อนปากมูนถาวร ทำให้ชาวบ้านตัดสินใจเข้าร่วมกับเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาของรัฐ ในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ (P Move) เพื่อกดดันให้รัฐบาลเปิดเวทีเจรจาหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม น.ส.สมภาร คืนดี แกนนำชาวบ้านปากมูนกล่าวกับผู้สื่อข่าวในวันนี้ (18 ก.พ.54) ว่า เมื่อวานนี้ (17 ก.พ.53) รัฐบาลได้เปิดเวทีเจรจากับตัวแทนกลุ่มผู้เดือดร้อนจากนโยบายการพัฒนาของรัฐ ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มพีมูฟ ซึ่งในประเด็นเขื่อนปากมูนมีนายสาทิต วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายรัฐมนตรี เป็นประธานในการพูดคุย โดยชาวบ้านมีข้อเสนอให้รัฐบาลเร่งนำข้อสรุปของอนุกรรมการแก้ไขปัญหา 2 ชุด เข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีทันที่ และให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พ.ค.50 หลังจากใช้เวลาเจรจาร่วม 4 ชั่วโมง ได้ข้อสรุปว่ารัฐบาลจะนำข้อสรุปของอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีภายในสัปดาห์หน้า ส่วนการยกเลิกมติ ครม. นั้น หากมีมติ ครม. ใหม่ มติ ครม. เดิมก็จะถูกยกเลิกไปโดยอัตโนมัติ น.ส.สมภาร กล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงแม้การเจรจาจะได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่ชาวบ้านปากมูนจะยังคงปักหลักอยู่บริเวณหน้าลานพระบรมรูปทรงม้าต่อไป เพื่อติดตามว่าจะรัฐบาลจะดำเนินการตามที่รับปากไว้หรือไม่ และจนกว่าจะมีมติ ครม. ออกมาอย่างเป็นทางการ
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||
สำนักประชาสัมพันธ์เชียงใหม่ จัดคอนเสิร์ตใหญ่ "เพื่อแรงงานอพยพ” Posted: 18 Feb 2011 04:40 AM PST สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 เชียงใหม่ จัดคอนเสิร์ต “สานวัฒนธรรมพื้นบ้าน…เพื่อแรงงานอพยพ” หวังสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบแรงงานอพยพ เผยมีการแสดงดนตรีจากศิลปินไทใหญ่ “จายเจิงหาญ” นางจินตนา สิงห์สุรเมธ ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในวันเสาร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2554 สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 กำหนดจัดคอนเสิร์ต “สานวัฒนธรรมพื้นบ้าน...เพื่อแรงงานต่างด้าว” ตามโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านกฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง 3 สัญชาติ ประจำปี 2554 โดยในปีนี้ เน้นการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทุกรูปแบบทั้งสื่อวิทยุ โทรทัศน์และสื่อกิจกรรม เพื่อเป็นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติกฎหมายและระเบียบต่างๆ ของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับแรงงานอพยพ จายเจิงหาญ ศิลปินไทใหญ๋ ทั้งนี้ ภายในงานชมการแสดงพิธีเปิดชุด “สานสัมพันธ์ 2 วัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนา – ไทใหญ่” การแสดงดนตรีจากศิลปินไทใหญ่ที่มีชื่อเสียง “เจิงหาญ” การให้ความรู้ความเข้าใจ "รอบรู้เรื่องแรงงานต่างด้าว” จากวิทยากรสำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ และจะมีการร่วมตอบคำถามปัญหาแรงงานต่างด้าวโดยพิธีกรไทใหญ่ที่มีชื่อเสียง พร้อมรับของรางวัลมากมาย โดยงานนี้เปิดให้ประชาชนเข้าชมฟรี และจะมีการถ่ายทอดเสียงทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงใหม่ ระบบ A.M. 1476 KHz เริ่มถ่ายทอดเสียงตั้งแต่เวลา 20.30 น. ผู้สนใจสามารถไปร่วมงานได้ตั้งแต่เวลา 18.00 - 23.00 น. ณ ลานสำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 เชียงใหม่ ต.ช้างคลาน อ.เมืองเชียงใหม่ -------------------------------------------------------- ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่ "คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||
Posted: 18 Feb 2011 01:09 AM PST ย่ำสอง นาฬิกา คืนฟ้าเปลี่ยว แสงจันทร์เสี้ยว เกี่ยวคว้าง กลางคืนเศร้า ลมโศกหวน ทวนกิ่งไม้ ร้างใบเงา หัวใจเจ้า ชิต บุศย์ เฉลียว ช่างเดียวดาย
สองสี่เก้าแปด กุมภา วันที่สิบเจ็ด ภิกษุเนตร เทศน์ปลอบขวัญ อกสั่นไหว ถึงเวลา อาหาร มื้อสุดท้าย แตะต้องได้ กลิ่นความตาย ในสายลม
มิทันเอ่ย คำใด ในคืนนั้น ลานประหาร น้ำตานอง กองเลือดถม สี่นาฬิกา ยี่สิบ นาทีระทม ความขื่นขม จมแน่น เต็มแผ่นดิน
เพื่อปกปิด แผ่นฟ้า ด้วยฝ่ามือ ประนมถือ ธูปดอกไม้ ด้ายสายสิญจน์ สามนักโทษ ประหาร หน้ากองดิน เตรียมป่ายปีน สู่สวรรค์ ชนชั้นแพะ
เพชรฆาต จ่อยิงลง ตรงหัวใจ กระสุนรัว เป็นเส้นสาย ย้ำลายแผล ร่างแหลกเหลว มือขาดหาย ยอมพ่ายแพ้ สละร่าง สังเวยแด่ เมืองทมิฬ
ธรณี นี่นี้ เป็นพยาน หากเราผิด ท่านประหาร เสียให้สิ้น เอาใบตอง รองมิให้ เลือดต้องดิน ให้แร้งกา จิกร่างกิน จนสิ้นใจ
แหละธรณี นี่นี้ เป็นพยาน เราบ่ผิด ท่านประหาร ด้วยดาบไหน ขอดาบนั้น คืนสนอง ทุกชาติไป ความตายไหน ใครคนก่อ ขอย้อนคืน
ขอจารึก รอยแค้น อย่างแน่นหนัก ส่วนรอยรัก มิอาจปัก หักใจฝืน มิเหลือแล้ว รอยอาลัย ให้กัดกลืน ขอหยัดยืน ถางทาง สร้างโลกใหม่
จะเจ็บจำ ไปถึง ปรโลก กี่รอยโศก มิรู้ร้าง จางหาย จะเกิดอีก สักกี่ฟ้า มาตรมตาย ก็อย่าหมาย ว่าจะให้ หัวใจเรา
(จะเกิดอีก สักกี่ฟ้า มาตรมตาย ก็อย่าหมาย ว่าจะได้ หัวใจเรา)
หมายเหตุ บทกวีนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากข้ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||
Posted: 17 Feb 2011 11:56 PM PST ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของสังคมไทยคือการมักทึกทักว่าตัวเองมีความสูงส่งกว่าสังคมอื่น และก็มักปฏิบัติต่อสังคมและวัฒนธรรมอื่นอย่างไม่สู้ให้เกียรติหรือถึงขั้นดูแคลน ฉะนั้น แทนที่จะเห็นอกเห็นใจโดเรม่อนที่ตกนรกและได้รับความทุกข์ทรมานในกระทะทองแดงในจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถวัดแห่งหนึ่งโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่ สังคมไทยโดยเฉพาะที่ผ่านทางสื่อกระแสหลักจึงสนใจว่าการกระทำดังกล่าวจะสร้างความเสื่อมเสียให้กับพุทธศาสนาและประเพณีจิตรกรรมฝาผนังในเขตพุทธาวาสหรือไม่อย่างไรเสียมากกว่า สังคมไทยที่คิดว่าตัวเองสูงส่งกว่าสังคมอื่นส่วนหนึ่งมีชนชั้นนำอยู่เบื้องหลัง เพราะในการเผชิญกับความแตกต่างและความเปลี่ยนแปลง ชนชั้นนำสยามพยายามรักษาสถานะนำของตนไว้ด้วยการอ้างอิงกับแหล่งความชอบธรรมเช่นพุทธศาสนา โดยนอกจากคติธรรมราชา จักรวาลวิทยาเป็นอีกคติทางพุทธศาสนาที่ชนชั้นนำสยามอาศัยในกระบวนการดังกล่าว เช่น หลังสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ วัดสุทัศน์ฯ ถูกสร้างขึ้นเพื่อหมายความให้กรุงเทพฯ ในฐานะเมืองหลวงแห่งใหม่เป็นศูนย์กลางของจักรวาล ผู้ปกครองกรุงเทพฯ จึงมีสถานะเป็นผู้ปกครองจักรวาลไปด้วยในตัว ขณะที่วัดสุทัศน์ฯ เองก็เป็นการจำลองจักรวาลซึ่งมีโบสถ์เป็นสัญลักษณ์แทนเขาพระสุเมรุในฐานะศูนย์กลางของจักรวาลชุดดังกล่าว นอกจากนี้ คติจักรวาลวิทยาในเขตพุทธาวาสยังมักแสดงออกผ่านทางจิตรกรรมฝาผนัง โดยเฉพาะบริเวณหลังองค์พระประธาน ซึ่งองค์ประกอบหลักของภาพเป็นเขาพระสุเมรุเสริมด้วยสวรรค์ชั้นต่างๆ รวมทั้งมหาสมุทรและนรกภูมิที่อยู่เบื้องล่าง โดยมีเทวดา มนุษย์ และสิ่งที่ต่ำกว่ามนุษย์กระจายอยู่ตามบริเวณต่างๆ ตามแต่ความละเอียดของจิต จิตรกรรมฝาผนังเหล่านี้ไม่เพียงแต่แสดงออกซึ่งคติจักรวาลวิทยาแบบพุทธ หากแต่ยังชี้ให้เห็นถึงอคติทางพงศ์พันธุ์รวมทั้งศาสนาที่แฝงฝังอยู่ในสังคมไทยในเวลาเดียวกัน อาทิ บริเวณมหาสมุทรที่มีความโกลาหลและมีคนลอยคอจะจมแหล่ไม่จมแหล่มักแทรกด้วยภาพของคนชาติต่างๆ ที่สยามมีความสัมพันธ์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นชาวตะวันตก ชาวจีน หรือ “แขก” ซึ่งดูแล้วชวนสมเพช ไม่สง่างาม โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับเหล่าเทวดาที่เหาะเหิรอยู่ด้านบน นอกจากนี้ ภาพจิตรกรรมฝาผนังบริเวณอื่นไม่ว่าจะเป็นผนังโบสถ์หรือคอสองก็วางอยู่บนคติเดียวกัน โดยในเขตกำแพงเมืองและโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือในเขตพระราชวังมักประกอบด้วยภาพชนชั้นปกครองที่วาดขึ้นอย่างวิจิตรบรรจงและอยู่ในท่วงท่าที่งามสง่า ขณะที่นอกเขตกำแพงเมืองซึ่งมักติดป่าเขานอกจากประกอบด้วยคนสยามยังประกอบด้วยคนชาติอื่นๆ อาทิ มอญ กระเหรี่ยง ฯลฯ ซึ่งคนต่างชาติต่างภาษาเหล่านี้หลายกรณีอยู่ในอากัปกริยาที่น่าดูแคลนหรือไม่ก็ชวนขบขัน การถ่ายทอดคติจักรวาลวิทยาแบบพุทธในจิตรกรรมฝาผนังจึงเป็นกลวิธีในการเสริมสร้างสถานะนำของชนชั้นปกครองโดยมีการดูแคลนคนชาติ (รวมถึงศาสนา) อื่นเป็นฉากหลัง ชนชั้นนำสยามกระทำการดังกล่าวโดยชูความเป็นศาสนาแห่งเหตุผลและสัจธรรมของพุทธศาสนา กระเหรี่ยงเป็นชาวป่าชาวเขา ล้าหลัง งมงาย เพราะนับถือผีและสิ่งเหนือธรรมชาติ ไม่อาจเทียบได้กับพุทธปรัชญาที่ชนชั้นนำสยามนับถืออยู่ได้ การแสดงความดูแคลนหรือขบขันกระเหรี่ยงในจิตรกรรมฝาผนังจึงไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร ในทำนองเดียวกัน แม้ฝรั่งจะดูล้ำหน้าในเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่นั่นก็เป็นเพียงโลกียธรรม ซึ่งเทียบไม่ได้กับโลกุตรธรรมในพุทธศาสนา ในด้านหนึ่งชนชั้นนำสยามจึงชื่นชมความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ฝรั่งนำเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นกล้องดูดาวหรือยาปฏิชีวนะ แต่ในอีกด้านชนชั้นนำสยามก็คิดว่าตัวเองมีปัญญาเหนือกว่าฝรั่ง (หรือในทางกลับกันคือคิดว่ามีความคิดเป็น “วิทยาศาสตร์” มากกว่าฝรั่ง) เพราะว่าพวกตนไม่เชื่อในพระเจ้าซึ่งเป็นเรื่องงมงายไม่ต่างอะไรกับการนับถือผีหรือสิ่งเหนือธรรมชาติของชาวป่าชาวเขา ภาพฝรั่งพากันแหวกว่ายตะเกียกตะกายในมหาสมุทรบริเวณฐานเขาพระสุเมรุจึงชี้ให้เห็นสถานะที่ต่ำกว่าของฝรั่งเหล่านี้ในสายตาของชนชั้นนำสยามที่อาศัยพุทธปรัชญาเป็นแหล่งอ้างอิง นอกจากในปริมณฑลศาสนา ความสำคัญตัวว่าสูงส่งกว่าสังคมหรือคนชาติอื่นยังแสดงออกในจินตนาการทางการเมืองของชนชั้นนำสยามอย่างสำคัญ อาทิ ในการนำพาสยามไปสู่ความทันสมัยหรือ “ความศิวิไลซ์” เทียบเท่า “นานาอารยะประเทศ” ชนชั้นนำวาดภาพตัวเองเป็นผู้ชักรอกชาวสยามให้พ้นขึ้นมาจากหุบเหวผ่านทางความปรีชาสามารถและความวิริยะอุตสาหะของตนในการทำนุบำรุงการทหาร การศึกษา กสิกรรม และหัตถกรรมของประเทศ โดยมีประเทศเพื่อนบ้านเช่น เขมร ญวน พม่า แขก ชะเง้อดูอยู่ข้างล่างและแสดงความปรารถนาจะขึ้นพ้นหุบเหวขึ้นมาบ้าง ในทำนองเดียวกัน ในการสร้าง “มหาอาณาจักรไทย” ชนชั้นปกครองประดิษฐ์และชู “ความเป็นไทย” ที่แยกไม่ออกจากพุทธศาสนา ควบคู่ไปกับการเบียดขับหรือกลืนกลายคนชาติ ภาษา และศาสนาอื่นในประเทศ อาทิ นอกจากภาษามลายูถิ่น มลายูมุสลิมถูกห้ามไม่ให้สวมโสร่งและหมวกกะปิเยาะเมื่อไปสถานที่ราชการ ไม่นับรวมการที่พวกเขาต้องแสดงความเคารพต่อพระพุทธรูปที่ถูกนำมาประดิษฐานในสถานที่ราชการและโรงเรียน ซึ่งขัดแย้งกับหลักการของศาสนาอิสลามอย่างยิ่ง กุศโลบายทางการเมืองเหล่านี้ส่งผลกระทบในวงกว้างและได้หยั่งรากลึกลงในสังคมไทยโดยรวมและสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน การเรียกร้องให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติก็ดี การมองชนกลุ่มน้อยต่างๆ ว่ามีความงมงายก็ดี หรือแม้กระทั่งความไม่สามารถเข้าใจมลายูมุสลิมในเขตชายแดนภาคใต้ของคนไทยจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงของกุศโลบายเหล่านี้ที่มักจัดวางชนชาติ ภาษา วัฒนธรรม และความเชื่อที่แตกต่างให้อยู่ในสถานภาพที่ต่ำกว่า ฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่เข้าใจได้หากจิตรกรจะชี้แจงว่าการแทรกภาพโดเรม่อนเข้ามาในจิตรกรรมฝาผนังจะไม่สร้างความเสื่อมเสียให้กับพุทธศาสนาหรือประเพณีการเขียนภาพพุทธประวัติในอุโบสถ เพราะเป็นการอาศัยตัวการ์ตูนในการดึงดูดเด็กให้มีความสนใจในพุทธศาสนาและเข้าใจในกฎแห่งกรรมเพิ่มมากขึ้น เขาหมายความจิตรกรรมฝาผนังเป็นพุทธบูชา และการที่โดเรม่อนตกนรกหมกไหม้และถูกได้รับความทุกข์ทรมานอยู่ในกระทะทองแดงก็สืบเนื่องมาจากบาปกรรมที่โดเรม่อนก่อไว้ ส่วนบาปกรรมที่ว่าจะเป็นอะไรดูจะไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่พุทธบูชาในลักษณะดังกล่าวเป็นสิ่งที่ต้องทบทวน เพราะวางอยู่บนอคติทางพงศ์พันธุ์รวมทั้งศาสนาอย่างมาก โลกใบนี้ประกอบด้วยสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย มีความเชื่อและความเคารพศรัทธาไม่เหมือนกัน จึงไม่สามารถอวดอ้างว่าสังคมวัฒนธรรมใดเหนือกว่าสังคมวัฒนธรรมอื่นได้ การแทรกภาพโดเรม่อนในนรกและกระทะทองแดงจึงไม่เพียงแต่ทำลายจินตนาการของเด็ก หากแต่ยังเป็นการละเมิดกติกาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติบนโลกใบนี้ที่วางอยู่บนการเคารพในความแตกต่างหลากหลาย หากพุทธศาสนาจะเสื่อมก็คงไม่ใช่เพราะแปดเปื้อนด้วยความบริสุทธิ์ของโดเรม่อน หากแต่เป็นเพราะพุทธศาสนามักถูกหยิบใช้เป็นแหล่งอ้างอิงในการสำคัญตนว่าเหนือกว่าสังคมและวัฒนธรรมอื่นของสังคมไทยไม่ว่าจะโดยชนชั้นปกครองหรือคนทั่วไป ที่มา: ตีพิมพ์ในหนังสือรายสัปดาห์ มหาประชาชน (ฉบับประจำวันที่ 28 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ 2554) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||
คลิปวีดีโอ:“สันติภาพไร้พรมแดน หยุดสงครามไทย-กัมพูชา” Posted: 17 Feb 2011 10:58 PM PST 16 ก.พ.54 เวลา 17.00 น. ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน กลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมทางสังคม ร่วมกันจัดงานดนตรี “สันติภาพไร้พรมแดน หยุดสงครามไทย-กัมพูชา” โดยกลุ่มดังกล่าวประกอบไปด้วย กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย, กลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน, กลุ่มสลึง มหาวิทยาลัยมหิดล, ชมรมอนุรักษ์ฯ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, กลุ่มประกายไฟ, กลุ่ม FAN (Friend for Activist Network), สถาบันต้นกล้า, กลุ่มรองเท้าแตะและกลุ่มไม่เอาสงคราม ต้องการสันติภาพ กิจกรรมมีการจัดแสดงภาพถ่ายผลกระทบจากการสู้รบบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา และการรณรงค์ยุติสงคราม มีการแสดงดนตรี ขับร้องเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสงครามและสันติภาพ สลับกับการพูดคุย การอ่านบทกวี และการแสดงละครโดยกลุ่มประกายไฟการละคร
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น