โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

แม่กมลเกดชวดไปสภาสูงอังกฤษเหตุวีซาไม่ผ่านระบุถูกผู้มีอำนาจแทรกแซง

Posted: 31 Jan 2011 12:55 PM PST

วีซาแม่กมลเกดไม่ผ่าน เหตุผลเงินน้อย ชวดไปให้ปากคำ "สภาสูง"ประเทศอังกฤษ ระบุถูกผู้มีอำนาจรัฐแทรกแซงคุกคามวิถีชีวิต รัฐบาลไทยไม่เคารพหลักสิทธิมนุษยชน

31 ม.ค.2554 จากกรณีที่ สภาสูง (House of Lord) ประเทศอังกฤษ ได้เชิญตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากเหคุการณ์การใช้กำลังทหารในการสลายการชุมนุมจากเหตุการณ์ 10 เมษายน - 19 พฤษภาคม 2553 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 ณ ประเทศอังกฤษ นั้น นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ  น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม ได้กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีเดินทางไปให้ข้อมูลการเสียชีวิตของบุตรสาวและผู้เสียชีวิตอีกกว่า 90 ศพต่อสภาสูง ประเทศอังกฤษ ว่าหลังจากที่ตัวได้ติดตามเรื่องการขอวีซ่าจากสถานฑูตอังกฤษว่า ทางสถานทูตอังกฤษไม่อนุมัติคำร้องขอวีซ่าดังกล่าว ทำให้ตนและลูกชาย คือนายณัทพัช อัคฮาด ไม่สามารถเดินทางไปให้ปากคำถึงข้อเท็จจริงและผลกระทบต่อครอบครัวผู้สูญเสียจากการใช้ความรุนแรงโดยรัฐบาลได้

นาง พะเยาว์ กล่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่สถานฑูตได้ให้เหตุผลว่าตนและบุตรชายมีเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารจำนวนไม่เพียงพอทำให้ทางสถานฑูตไม่สามารถออกวีซา ให้ได้  นางพะเยาว์กล่าวต่อว่า ตนไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รับการพิจารณาจากทางสถานทูตอังกฤษ เพราะเชื่อว่าจะต้องถูกฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐแทรกแซงขัดขวางขวาง เพราะไม่ต้องการให้ข้อเท็จจริงกรณีการตายของลูกสาวของตน และการเสียชีวิตและบาดเจ็บนี้ออกไปเผยแพร่ประจานภายนอกประเทศ  การที่ตนได้รับหนังสือเชิญจากสภาสูง ประเทศอังกฤษ แต่ก็ยังไม่ได้รับ วีซา ตามคำขอถือเป็นรูปธรรมที่ทำให้เห็นปัญหาของการแทรกแซงได้เป็นอย่างดี เธอยังระบุเพิ่มเติมว่าในปัจจุบันไม่ว่าเธอจะเดินทางไปที่ไหนก็ตามจะมีคนแปลกหน้าคอยติดตามเธอตลอด ทำให้เธอเกิดความรู้สึกตึงเครียดกดดันเป็นอย่างมาก

สำหรับสาเหตุที่เธอพยายามที่จะเดินทางไปให้ปากคำในต่างประเทศนั้นเธอให้เหตุผลว่าเนื่งจากในประเทศไทยไม่มีใครเคารพในหลักสิทาธิมนุษยชนแล้ว ไม่มีใครเป็นนักสิทธิมนุษยชนแล้ว มีการสังหารลูกสาวของเธอซึ่งเป็นพยาบาลอาสากำลังช่วยผู้บาดเจ็บ ซึ่งไม่มีใครในโลกนี้เขาทำกัน แต่ก็ไม่มีใครคนใดออกมาทักท้วงประจานการตัดสินใจการใช้ความรุนแรงของรัฐบาล เธอจึงต้องพยายามที่จะออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับลูกสาวของเธอในต่างประเทศ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เบเนดิก แอนเดอร์สัน: มองอนาคตการเมืองไทยผ่านสายตาคนนอก

Posted: 31 Jan 2011 12:26 PM PST

“เบเนดิก แอนเดอร์สัน” อภิปรายที่ ม.เชียงใหม่ มองการเมืองไทยผ่านลักษณะของ “คณาธิปไตย” พร้อมตัวชี้วัดคณาธิปไตยจาก “ถ้อยคำ” และ “คนรับใช้” ข้อสังเกตเรื่องคนเสื้อแดงจากภูมิภาคของเจ้าพ่อและฝ่ายซ้าย บทบาทชนชั้นกลาง ทิ้งท้ายด้วยความเปลี่ยนแปลงของสถาบันกษัตริย์ยุโรป

เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 54 ที่ ห้องประชุม ศ.ดร.มล. ตุ้ย ชุมสาย อาคาร HB7 ชั้น 8 อาคาร HB7 มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และสาขาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดการเสวนาหัวข้อ “มองอนาคตการเมืองไทยผ่านสายตาคนนอก” มีผู้อภิปรายคือ ศาสตราจารย์ เบเนดิก แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) โดย “ประชาไท” แปลและเรียบเรียงบางส่วนซึ่งเป็นการอภิปรายของเบเนดิก มีรายละเอียดดังนี้

 

เรื่องเล่าของแท็กซี่ การต่อสู้ทางการเมืองระหว่างจีนในเมืองไทย

เบเนดิก เริ่มการอภิปราย ผ่านการเล่าเรื่องการสนทนาของเขากับคนขับรถแท็กซี่ว่า เมื่อช่วง 10 เดือนก่อนว่า เขาต้องขึ้นรถแท็กซี่ในเวลาตี 5 เพื่อเดินทางไปสนามบินหนองงูเห่า ซึ่งเบเนดิกพบกับคนขับรถแท็กซี่ซึ่งเป็นคนจีนจากเยาวราช เกิดเมืองไทย พูดภาษาไทยกลางได้พอสมควร

เบเนดิกถามคนขับรถแท็กซี่ว่า เขารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการเมืองไทย ชายขับรถแท็กซี่ตอบว่า รักทักษิณมาก เนื่องจากทักษิณเป็นคนจีนแคะ (ฮากกา) คนจีนแคะมีความกล้าหาญ มีเกียรติ และอุดมคตินิยม และเป็นผู้นำการก่อกบฏต่อราชวงศ์ชิง คือกบฏไท้ผิง ส่วนสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นจีนไหหลำ ชอบโกหกและงี่เง่า อภิสิทธิ์เป็นคนจีนฮกเกี้ยนและเวียดนาม ฮกเกี้ยนดูถูกคนอื่น และรู้สึกว่าฉลาดกว่าคนอื่น ส่วน […] คนแต้จิ๋ว เป็นนกสองหัวไม่น่าไว้วางใจ 100% ชายขับแท็กซี่บอกว่า เมืองไทยครั้งนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างจีนแคะ แต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน ไหหลำ เบเนดิกกล่าวกับคนขับแท็กซี่ว่าเหมือน 3 ก๊ก คนขับแท็กซี่บอกว่าจริง

เบเนดิก เล่าต่อว่า เมื่อถามถึงคนไทย ชายขับแท็กซี่ชาวจีนกล่าวว่า คนไทยไม่คิดมาก สบายๆ สนุกๆ ไม่เข้าใจการเมือง เบนถามว่า หมายความว่า คนไทยไม่มีบทบาททางการเมืองหรือ คนขับแท็กซี่บอกว่ามีบ้างเล็กๆ น้อยๆ

เบเนดิก กล่าวว่า สำหรับผมหากพูดแบบซีเรียส ก็เป็นเรื่องน่าคิดน่าฟังอยู่ที่ว่าคนที่กรุงเทพฯ มุงดูสิ่งที่เกิดขึ้นในหน้าหนังสือพิมพ์ด้วยสายตาที่ต่างกันมาก แต่ก็เป็นเรื่องน่าสนใจ

 

คณาธิปไตย และ ประชาธิปไตยครึ่งใบ

เบเนดิกอภิปรายต่อไปว่า ขอยกตัวอย่างจากงานของ อาจารย์เกษียร (เตชะพีระ) หนึ่งในนักเรียนที่ดีที่สุดของผม เคยอธิบายเรื่อง “Semi-Democracy” (ประชาธิปไตยครึ่งใบ) คือ 50% เป็นประชาธิปไตย คือถ้าคุณกล่าวว่า 50% ประชาธิปไตย แสดงว่ามีอีก 50% ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย-ต่อต้านประชาธิปไตย และรัฐอื่นๆ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเมืองไทย ทั้งหมดนี้เป็น ประชาธิปไตยครึ่งใบ เช่นกัน

รัฐเหล่านี้ทั้งหลาย ไม่ใช่แค่เมืองไทย ถูกควบคุมโดย “Oligarchy” หรือ คณาธิปไตย” โดยคณาธิปไตยเหล่านี้เชื่อมต่อเข้าด้วยกันผ่านการเป็นเครือญาติ มีการส่งสมาชิกครอบครัวเข้าไปในวงราชการ และวงการธุรกิจ ส่งลูกเรียนในโรงเรียนเดียวกัน มีการแต่งงานระหว่างเครือญาติ และมีผลประโยชน์ร่วมกันหลายด้าน พวกเขาไม่ได้แข่งกันเอง และพวกเขายอมให้คนนอกเข้ามาร่วมวงได้บ้าง แต่ไม่ถึงกับเข้ามาเปลี่ยนแปลงหลักการสำคัญของเรื่องวัฒนธรรม หรือวิธีคิดของคณาธิปไตย

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ พวกเขาจะไม่นำประเด็นเรื่องกิจกรรมทางเพศไปโจมตีคณาธิปไตยด้วยกันเอง เช่น จะไม่มีทางไปบอกหนังสือพิมพ์ว่าในหมู่คณาธิปไตยบางคนมีแฟนหลายคน นอกจากนี้ในหากพวกคณาธิปไตยจะแข่งขันกัน พวกเขาจะอยู่บนสิ่งที่ตกลงร่วมกันด้วย

ในเรื่องการจัดองค์กรฝ่ายค้าน เป็นเรื่องที่ง่ายและเป็นความเคลื่อนไหวที่เร็วมากที่ ส.ส. จะย้ายจากพรรคอื่นสู่พรรคอื่น โดยไม่มีบทลงโทษ ดูได้ในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทย ที่จะมี ส.ส. จะย้ายจากพรรคหนึ่งไปพรรคหนึ่งอย่างรวดเร็ว ซึ่งต่างจากฝรั่งเศส อังกฤษ หรือสหรัฐอเมริกา เพราะพรรคการเมืองในประเทศนั้นมีอายุยาวนานมาก เราสามารถพิจารณาได้จากกรณีของเนวิน (ชิดชอบ) ที่เคยเป็นมือขวาของทักษิณ และกลายเป็นมือซ้ายของอภิสิทธิ์

เมื่ออินโดนีเซียมีการเลือกตั้งเสรี ภายหลังการล่มสลายของระบอบซูฮาร์โต ผมได้พบกับผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกาด้านกฎหมายการเลือกตั้ง ผมได้กล่าวกับเขาว่า “นี่นักข่าวต่างบอกว่า เป็นสิ่งที่สวยงามมาก ที่อินโดนีเซียกำลังมุ่งไปสู่กระบวนการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง คุณเห็นว่าอย่างไร” ผู้เชี่ยวชาญคนดังกล่าว บอกว่า เขาได้ให้คำแนะนำมาแล้ว 35 ประเทศ ในรอบ 15-20 ปี เกี่ยวกับเรื่องกฎหมายการเลือกตั้ง และได้ให้คำแนะนำแก่รัฐบาลอินโดนีเซีย แต่กฎหมายเลือกตั้งนี้แย่สุด เท่าที่ผมเคยเห็นมา” ผมถามเขาว่า “นี่อุบัติเหตุหรือ” เขาตอบว่า “ไม่ พวกเขาต้องการแบบนั้น ต้องการกฎหมายแบบนั้นเพื่อเป็นหลักประกันว่าคณาธิปไตยจะยังคงแข็งแกร่ง ถ้ามีกฎหมายเลือกตั้งที่เข้มแข็ง ประชาชนก็จะโค่นพวกเขา”

 

ถ้อยคำของคณาธิปไตย

เบเนดิกอภิปรายถึงแนวทางอื่นสำหรับพิจารณาเรื่องคณาธิปไตย โดยกล่าวว่า บางประเด็นน่าสนใจ บางคนอาจจะสนใจทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็คือเพ่งความสนใจไปที่สิ่งที่คณาธิปไตยชอบพูด สิ่งที่คณาธิปไตยจะพูดเสมอก็คือคำว่า “Give” ไม่แน่ใจว่าจะใช้คำไทยที่ดีที่สุดเรียกว่าอะไรดี คำที่เห็นในภาษาที่ใช้ หรือ สุนทรพจน์ในที่สาธารณะของคณาธิปไตยก็คือ ผู้นำจะทำเหมือนคุณปู่คุณตาให้ของขวัญที่ดีแก่หลาน เช่น จะให้การศึกษาฟรีแก่เด็ก มีเงินประกันราคาพืชผลแก่เกษตรกร ทำระบบสัญญาณเตือนภัยสึนามิ ให้ทุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ มอบคอมพิวเตอร์ให้โรงเรียน แจกผ้าห่มให้กับกลุ่มชาติพันธุ์

ขณะที่ในสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษ ประชาชนจะรู้สึกดูแคลนและรู้สึกแปลกๆ ถ้าเกิดประธานาธิบดีโอบามาออกทีวีและพูดว่าผมจะให้งานทำ 1 ล้านตำแหน่งแก่พวกคุณ นี่เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ ถ้าคุณไปลอนดอน ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะจินตนาการว่าจะเห็นนายกรัฐมนตรีพูดว่า ผมจะมอบโครงการสาธารณสุขที่ดีให้แก่พวกคุณ

ภาษาของคณาธิปไตยจะกล่าวด้วยถ้อยคำที่ดีมากๆ สิ่งนี้เองสะท้อนถึงแนวคิดของคณาธิปไตย ซึ่งอยู่บนรากฐานของระบบศักดินา

ทุกครั้งที่ได้ยินสมาชิกของคณาธิปไตยแบบไทยกล่าวปราศรัย ขอให้สังเกตถ้อยคำซึ่งแสดงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและประชาชน

ไม่เพียงแค่ประเทศไทย แม้แต่ในอินโดนีเซียช่วงปี 1950 ผู้นำทางการเมืองที่นำการต่อสู้เพื่อเอกราชก็ใช้ถ้อยคำทำนองว่า “ประชาชนยังคงโง่ ไม่ใช่เพราะประชาชนโง่โดยธรรมชาติ แต่เพราะพวกเขาไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาช่วงอาณานิคม ดังนั้นต้องหยุดความโง่” แต่วันนี้ 60 กว่าปีหลังได้รับเอกราช คณาธิปไตยอินโดนีเซียก็ยังพูดแบบเดิมว่า “ประชาชนแย่มาก ประชาชนยังคงโง่” แม้จะผ่านมา 60 ปีแล้ว แนวคิดของคณาธิปไตยก็นี้คือ “ถ้าประชาชนโง่ แสดงว่าประชาชนจะโง่เสมอ ประชาชนโง่ตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้นเป็นสิทธิของคณาธิปไตยที่จะปกครอง”

 

คนรับใช้: ดัชนีชี้วัดคณาธิปไตย

เนเนดิกกล่าวต่อไปว่า ในปี 1910 หรือเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ประชากร 1 ใน 3 หรือร้อยละ 30 ของคนวัยทำงานในเมืองนิวยอร์ก เป็นคนทำงานบ้าน คนขับแท็กซี่ พี่เลี้ยงเด็ก คนทำสวน แต่อีก 20 ปีต่อมา หรือ 80 ปีที่แล้ว ทำให้คนกลุ่มนี้ลดลงจำนวนมาก และหายไป ในกระบวนการทำให้เป็นอุตสาหกรรม (industrial civilization) เริ่มมีการประดิษฐ์อุปกรณ์ทำความสะอาด และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ทำให้การทำความสะอาด ทำครัว ง่ายขึ้น เร็วขึ้น และสะอาดขึ้น ดังนั้นภรรยาแบบอเมริกันควรจะทำงานพวกนี้เองได้ แต่สิ่งนี้ไม่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งมาเลเซีย ทั้งสิงคโปร์ แม้ในบ้านของชนชั้นกลาง “กระฎุมพี” จะมีอุปกรณ์ทำงานบ้าน ที่ทำงานได้สะดวกขึ้น แต่ก็ยังมีคนใช้

คำถามคือ ทำไม? ก็เพราะ จากงานวิจัยบางชิ้นในอินโดนีเซีย ผมไม่แน่ใจว่ามีการวิจัยในเมืองไทยหรือไม่ คำตอบคือ เป็นที่ชัดเจนมากว่าแนวคิดแบบ “คณาธิปไตย” ถูกเพาะหว่านอยู่ในความคิดของชนชั้นกลาง ถ้าคุณไม่มีคนรับใช้ ก็ไม่ใช่คนชั้นกลางจริง คนรับใช้กลายเป็นสัญลักษณ์ของบ้านแบบศักดินาแบบเก่า คนรับใช้ไม่ได้เป็นสมาชิกจริงๆ ของบ้าน คนรับใช้สามารถถูกไล่ออกจากงานได้ง่ายๆ หรือถูกปฏิบัติอย่างไม่ดีนัก

ผมเคยอยู่คอนโดชนชั้นกลางย่านฝั่งธนบุรี มีคนอาศัยในคอนโด 250 คน ทุกๆ ปีใหม่ ผมให้ของขวัญแก่ยาม แม่บ้าน และคนในสำนักงาน เพื่อแสดงความยกย่อง ผมคิดว่าทำในสิ่งที่เป็นธรรมเนียมไทยมากๆ แต่พบว่าไม่มีใครในคอนโดให้อะไรแก่คนที่ดูแลคอนโดให้สะอาดเลย หรือไม่แม้แต่จะถามชื่อแม่บ้าน คนไทยมีลำดับชั้นในการเรียกคนเยอะ นายจ้างไม่ชอบเรียกลูกจ้างว่าน้อง และจะฉุนมากถ้าลูกจ้างเรียกนายจ้างของตัวเองว่าพี่

นี่เป็นสิ่งที่น่าสนใจในภาษาไทย เพราะในภาษาอังกฤษเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ที่จะเรียกขานต่อกันว่า “Brother” และเป็นคำที่นิยมทางการเมือง ซึ่งหมายถึงมีความเป็นญาติกัน และแสดงความเท่าเทียมกัน แต่เป็นเรื่องยากมากในการเรียกกันว่า “Brother” แบบไทย ภาษาไทยคือ พี่ชาย น้องชาย หรือ พี่สาว น้องสาว ผมรู้ว่าซึ่งไม่มีคำที่จะใช้เรียกขานอย่างเท่าเทียมกัน เพราะคำว่าพี่น้องถ้าไม่แปลว่าบางคนสูงกว่า ก็แปลว่าบางคนต่ำกว่า นี่เป็นมาตรฐานของแนวคิดแบบชนชั้นกลาง

แม้แต่ในมหาวิทยาลัย แม้แต่การเรียกขานเพื่อนร่วมงาน เพื่อนในชั้นเรียน ยังพบผู้คนเรียกขานกันว่า “ท่าน” ซึ่งในศตวรรษที่ 21 ยังคงพบการใช้คำแบบนี้กันอีก

 

คนเสื้อแดงจากภูมิภาคของเจ้าพ่อ และ ฝ่ายซ้าย

เบเนดิก ให้ข้อสังเกตต่อผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ คือ นปช. ว่า ผมรู้สึกประหลาดใจว่า ถ้าคุณได้มีส่วนร่วมในการชุมนุมใหญ่ครั้งแรกของคนเสื้อแดง[น่าจะหมายถึงการชุมนุมปี 2552 – ประชาไท] ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่มาจากภาคอีสาน แต่ละกลุ่มจะมีป้ายที่บอกว่ามาจากขอนแก่น อุดรธานี และมีน้อยมากที่จะเป็นคนหนุ่มสาว ผู้คนที่มาอายุ 40 ถึง 50 ปี หรือมากกว่านั้น ซึ่งในประวัติศาสตร์ไทยถ้ามีการชุมนุมใหญ่ มักจะเป็นเด็กวัยรุ่น หนุ่มสาว นักศึกษา

คนที่ร่วมการชุมนุมมาจากภูมิภาคที่สภาพการทำงานแย่ที่สุด และอยู่ในพื้นที่ๆ วัฒนธรรมเจ้าพ่อเข้มแข็ง  

เบเนดิกอภิปรายต่อไปว่า ถ้าผมจำได้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1930 อีสานเป็นภูมิภาคของฝ่ายซ้าย ในยุคเสรีไทย ก็เป็นฐานของเสรีไทย และสามารถดูในการเลือกตั้งเสรี ซึ่งมีการจัดการเลือกตั้งในปี 1975 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม และก่อน 6 ตุลาคม ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนั้น มีมากกว่า ส.ส.ฝ่ายซ้าย หรือนักกิจกรรมได้รับการเลือกตั้งจากอีสาน โดยผมจำได้ดีถึงเด็กหนุ่มคนหนึ่ง อายุราว 23 ถึง 24 ปี เป็น ส.ส. ที่ได้รับเลือกมาจาก จ.ยโสธร ซึ่งเขาหาเสียงโดยใช้จักรยาน

และเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) มีความเข้มแข็งในพื้นที่ และในพื้นที่เองก็เผชิญประสบการณ์การปราบปรามจากทหารและตำรวจ ผู้คนที่อายุน้อยมากๆ ที่เติบโตในภาคอีสานในช่วงทศวรรษที่ 1970 ต่างมีประสบการณ์ที่เลวร้ายในการถูกปราบปราม ดังนั้น พคท. ดูจะช่วยอะไรได้มากกว่ารัฐบาลในปี 1977 ที่มีแนวทางอนุรักษ์นิยม

เบเนดิกยังกล่าวด้วยว่า คนจากภาคอีสานไปอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ แม้แต่ในไชน่าทาวน์ก็ไม่น่าเชื่อว่ามีคนอีสานอยู่ในไชน่าทาวน์มากขึ้นๆ และเมื่อคุณมองดูโทรทัศน์ก็จะเห็นสาวสวยผิวคล้ำจากอีสาน บ้างเป็นลูกครึ่ง ซึ่งนี่ก็เป็น new trend ของกรุงเทพฯ

 

บทบาทอันสันสนของชนชั้นกลาง และสัตว์ประหลาดในอนาคตการเมืองไทย

เบเนดิกอภิปรายต่อไปว่า คำถามต่อมาคือ อะไรคือบทบาทของชนชั้นกลาง ถ้าคุณดูที่การพัฒนาขนานใหญ่โดยนักเขียน พระ สถาปนิก พวกนักคิดทางสังคม นักปรัชญา ในช่วงทศวรรษ 1920 พวกเขาล้วนเติบโตมาจากพื้นเพชนชั้นกลาง และจำเป็นที่จะต้องจดจำด้วยว่า ชนชั้นกลางเองยังมีบทบาทอย่างสูงในหมู่ชนชั้นอภิสิทธิ์ พวกคุณควรจะต้องจำด้วยว่า ชนชั้นกลางนี่เองได้ทำลายปารีสคอมมูนในปี 1871 และมีคนจำนวนมากถูกประหารชีวิตโดยพวกกระฎุมพี

นี่สิ่งที่เป็นภาพแตกต่างอย่างมากกับไทย ก็คือ “อะไรเป็นสิ่งที่ชนชั้นกลางไทยสมัยใหม่อุทิศเอาไว้” เวลาผมคิดเกี่ยวกับประเทศไทย ผมไม่เคยได้ยินมาก่อนว่ากรุงเทพฯ มีนักประพันธ์ที่เยี่ยม ประเทศไทยสมัยใหม่ผลิตนักบวชที่ยิ่งใหญ่ นักปรัชญาที่ยิ่งใหญ่ สถาปนิกที่ยิ่งใหญ่ ผมไม่แน่ใจ แต่เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากว่า คนที่เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ระดับโลก ได้รางวัลปาล์มทองคำจากเมืองคานส์ “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” มาจาก จ.ขอนแก่น ไม่ได้มาจากกรุงเทพฯ

ซึ่งกระฎุมพีควรจะชื่นชมเขา แต่ตามประสบการณ์บอกผมว่า กระฎุมพีในเมืองไทยบอกว่าไม่เคยได้ยินชื่ออภิชาติพงศ์ หรือไม่ได้ดูภาพยนตร์ของเขาที่ถูกเซ็นเซอร์มาก่อน เมื่อผมถามนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในชั้นเรียนว่ามีใครรู้จักอภิชาติพงศ์บ้าง ก็มีประมาณ 20% ถามว่าใครเคยดูภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์บ้างก็มีประมาณ 4 คน

กระฎุมพีบางกอก ชอบอะไรที่เป็นสากล แต่แนวทางที่ชนชั้นกลางกรุงเทพฯ คิดเกี่ยวกับสากลก็คือ พวกเขาดูหนังขยะฮอลลีวูดทุกอาทิตย์ ดูหนังกำลังภายใน กินอาหารดีๆ ใช้จ่ายแพงๆ ช่วงวันหยุด ชอบปิ้ง และยากที่จะหาอาคารสมัยใหม่ที่ดูสวยงาม ในกรุงเทพฯ และคุณจะสามารถเห็นสถาปัตยกรรมซึ่งออกแบบโดยชาวเขมร

ชนชั้นกลางสนับสนุนการเดินขบวนเมื่อ 14 ตุลาคม ชนชั้นเดียวกันนี้เองที่เคยสนับสนุนทักษิณ และต่อมาหันมาต่อต้านทักษิณ และขณะนี้สนับสนุนพันธมิตรฯ คือไม่มีแนวคิดที่ชัดเจนที่จะบอกว่าควรทำอย่างไรกับประเทศนี้ เป็นการยากที่จินตนาการถึงอนาคตของประเทศนี้ ซึ่งก็เหมือนกับที่คนขับรถแท็กซี่ชาวจีนบอกผม

ส่วนแนวทางที่จะเกิดขึ้นในการเมืองไทย ผมนึกถึงคำกล่าวที่มีชื่อเสียง ของนักมาร์กซิสต์ชาวอิตาลี อันโตนิโอ กรัมชี่ (Antonio Gramsci) กล่าวว่า “คนเก่าก็ปฏิเสธที่จะตาย คนใหม่ก็ต่อสู้ที่จะเกิด ในที่สุดก็เกิดสัตว์ประหลาดขึ้นมา” (“When the old refused to die, and the new is struggling to be born, then monster will appear.”) ถ้าคุณคิดถึงในอนาคตของการเมืองไทย ก็คือสิ่งเก่ากำลังจะตาย และสิ่งใหม่ยังไม่พร้อมจะเกิดขึ้น

 

สถาบันกษัตริย์ในยุโรป และหนังสือพิมพ์แทบลอยด์

ในช่วงท้าย เบเนดิก อภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์ในยุโรปว่า ในช่วงเริ่มต้นของศตวรรษที่ 19 สถาบันกษัตริย์ในยุโรปถูกกดดันจากสังคมมาก และถูกวิจารณ์ในหนังสือพิมพ์แทบลอยด์ ตามธรรมเนียมในยุโรปสถาบันกษัตริย์ถือเป็นมนุษย์พิเศษ แบบพระเจ้าของคริสต์ศาสนา มีอำนาจแม้แต่จะรักษาโรคเพียงใช้มือแตะยังคนป่วย แต่พฤติกรรมการใช้เวทย์มนต์รักษาโรคเช่นว่านี้ยุติเมื่อต้นศตวรรษที่ 18 เมื่อมีการพัฒนาเรื่องการแพทย์ แนวคิดเรื่องสถาบันกษัตริย์แบบไสยศาสตร์ในยุโรปเริ่มเสื่อมถอย ขณะที่แนวคิดเรื่องสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญกลายเป็นแนวคิดที่มีความสำคัญกว่า

สถาบันกษัตริย์ในยุโรปยังต้องปรับตัวให้เข้ากับแนวคิดเรื่องชาติ (Nationality) และสร้างปัญหาให้กับสถาบันกษัตริย์ในจักรวรรดิใหญ่ๆ ซึ่งมีความแตกต่างทางเชื้อชาติอย่าง จักรวรรดิรัสเซีย ฮังการี บริติช ว่าพวกเขาจะมีเชื้อชาติอะไรเนื่องจากกษัตริย์มาจากพระเจ้า สถาบันกษัตริย์ในยุโรปต้องปรับเข้ากับความเปลี่ยนแปลงในยุโรป มีความคาดหวังว่า พระราชา พระราชินี ในยุโรปจะต้อง “เรียบร้อย” และสิ่งที่สำคัญกว่านั้น ในยุโรปเริ่มเชื่อว่าถ้าราชวงศ์หมดอำนาจ จะไม่สามารถแทนที่ด้วยราชวงศ์อื่น จะไม่มีราชวงศ์อื่นแล้ว ราชวงศ์นี้จึงเป็นราชวงศ์สุดท้าย

ในช่วงปี 1911 ถึง 1921 ระบบกษัตริย์ในรัสเซีย จีน ออสเตรีย-ฮังการี ออตโตมาน เยอรมนี ล้วนถูกยุบเลิกไป เหลือแต่ราชวงศ์ของอังกฤษ และในอังกฤษถ้าหากถามว่าใครเป็นกษัตริย์ที่ดีที่สุด คนอังกฤษจะมีคำตอบแต่พระชาชินี ซึ่งมีฐานะเป็นประมุข ไม่ใช่พระราชินีที่เป็นพระชายาของกษัตริย์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กธ.เล็งของบกว่าหมื่นล้าน แจงใช้สานต่องานให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐ-เข้าถึง ปชช.

Posted: 31 Jan 2011 09:44 AM PST

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เผยแผนงบปี 2555 เตรียมขอหมื่นล้าน เพิ่มงบจากเดิมเกินเท่าตัว แจงสานต่ออีกหลายโครงการ ทั้งพัฒนาศูนย์วัฒนธรรมฯ หนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ด้วย

นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการจัดทำแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 ของ วธ.เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดย วธ.จะเสนอของบประมาณต่อสำนักงบประมาณ จำนวน 10,137 ล้านบาท แบ่งเป็น สำนักปลัด วธ.จำนวน 2,509 ล้านบาท กรมการศาสนา (ศน.) 489.5 ล้านบาท กรมศิลปากร 3,116 ล้านบาท กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) 1,137 ล้านบาท สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) 740.8 ล้านบาท สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (สบศ.) 1,370.6 ล้านบาท ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร 99.5 ล้านบาท หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) 674.6 ล้านบาท ซึ่งวธ.จะขอเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ประมาณ 5,000 ล้านบาท 
 
นายนิพิฏฐ์ กล่าวต่อไปว่า โครงการต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2554 ที่ วธ.จะสานต่อมีหลายโครงการ อาทิ โครงการพัฒนาศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยให้เป็นพื้นที่บริการทางวัฒนธรรมระดับนานาชาติ ในส่วนของอาคารที่ทำการกระทรวงวัฒนธรรม โครงการลานบุญลานปัญญา ของ ศน.ที่ปรับมาเป็นโครงการเข้าวัดวันอาทิตย์ โครงการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) สำหรับโครงการใหม่มีหลายโครงการเช่นกัน เช่น โครงการเทศกาลศิลปวัฒนธรรมอาเซียน และ โครงการดนตรีเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างชาติ เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การดำเนินการเช่าพื้นที่อาคารทรัพย์สิน สะพานพระราม 8 เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการของ สศร. โครงการเมืองสโลวทาวน์ การปรับปรุงภาพลักษณ์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศของกรมศิลปากร เป็นต้น
 
“ในปีงบประมาณนี้ ตนคาดหวังว่า วธ. จะได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 6 พันล้าน จากเดิมที่ได้เรารับอนุมัติจากสำนักงบประมาณกว่า 5 พันล้านบาท ซึ่งจากการประชุมหารือกับผู้บริหาร วธ. ได้มีการประเมินโครงการหลักๆ ของหน่วยงานต่างๆ ที่ได้ดำเนินการในปีที่แล้ว ตนเห็นว่า จะต้องมีการปรับเปลี่ยนบางโครงการ เพื่อให้การทำงานของ วธ.มีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่สำคัญควรมีการคิดโครงการใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานวัฒนธรรมให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้นด้วย” รมว.วัฒนธรรม กล่าว
 

ที่มา: เนชั่นทันข่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยฯ เตรียมพบ กสม.หารือร่วมกรณีรัฐบาลไทยปฏิเสธสิทธิฯ ผู้ขอลี้ภัยและผู้ลี้ภัย

Posted: 31 Jan 2011 09:07 AM PST

 
วันนี้ (1 ก.พ.53) เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค (Asia Pacific Refugee Rights Network หรือ APRRN) เตรียมจะเข้าพบและยื่นหนังสือต่อ ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในวันที่ 3 ก.พ.2554 เวลา 13.30 น.พร้อมหารือร่วมในประเด็นเรื่องความกังวลของเครือข่ายฯ หากรัฐบาลยังคงปฏิเสธสิทธิมนุษยชนของผู้ขอลี้ภัยและผู้ลี้ภัยต่อไป รายละเอียดปรากฏก่อนหน้านี้ในแถลงการณ์แสดงความกังวลเรื่องการกักกันผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยสัญชาติปากีสถานในประเทศไทย ลงวันที่ 20 ธ.ค.53
 
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ก็ได้ยื่นหนังสือขอเข้าพบ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอปรึกษาประเด็นข้อห่วงใยเดียวกันมาแล้ว
 
ทั้งนี้ จากสรุปข้อเท็จจริงเพื่อเผยแพร่ของเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ระบุว่า จากเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.53 ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองได้เข้าจับกุมกลุ่มผู้ขอลี้ภัยและผู้ลี้ภัยชาวปากีสถานซึ่ง นับถือศาสนาอิสลามนิกายอะห์มาดีจำนวนกว่า 86 คน ผู้ซึ่งได้เข้ามาในประเทศไทยเพื่อเพื่อแสวงหาความคุ้มครองจากการประหัตประหารในประเทศปากีสถาน
 
ภัยประหัตประหารต่อผู้เชื่อนิกายอะห์มาดีในประเทศปากีสถานนั้นรุนแรงอย่างยิ่งและก่อการอย่างเป็นระบบตลอดมา อนึ่งประเทศปากีสถานเป็นเพียงรัฐเดียวที่มีประกาศอย่างเป็นทางการว่า ผู้เชื่อนิกายอะห์มาดีมิใช่ชาวมุสลิมและสามารถถูกประหัตประหารได้ ดังนั้น บุคคลเหล่านี้จึงถูกคาดโทษจากการปฏิบัติตามศาสนาของตนซึ่งเป็นการขัดต่อสิทธิมนุษยชนอย่างชัดแจ้ง บุคคลเหล่านี้ได้เข้ามาในประเทศไทยเพื่อเพื่อแสวงหาความคุ้มครองจากการประหัตประหารในประเทศปากีสถาน และได้ลงทะเบียนเพื่อเข้ารับการพิสูจน์สถานะผู้ลี้ภัย ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ในประเทศไทย
 
ในกลุ่มของผู้ที่ถูกกักกันตัวมีผู้เยาว์ประมาณ 30 ราย ผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 10 ราย เป็นจำนวน 14 ราย นอกจากนี้ ยังมีหญิงตั้งครรภ์ 9 เดือน จำนวน 1 คน รวมถึงบุคคลอื่นๆ ซึ่งมีโรคประจำตัว อาทิเช่น โรคความดันสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และ โรคระบบทางเดินหายใจ
 
จากรายงานล่าสุด ทางเครือข่ายได้รับรายงานมาว่า ผู้ถูกกักกันจำนวนประมาณ 36 คนได้ถูกผลักดันกลับไปยังประเทศปากีสถานแล้ว ซึ่งขัดต่อหลักการไม่ผลักดันกลับตามกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ซึ่งมีใจความสำคัญว่า รัฐจะไม่ขับไล่หรือผลักดันผู้ลี้ภัย  ไม่ว่าจะโดยลักษณะใดๆ ไปยังชายเขตแห่งดินแดน ซึ่ง ณ ที่นั้น ชีวิตหรืออิสรภาพของผู้ลี้ภัยอาจได้รับการคุกคาม ด้วยสาเหตุทางเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ สมาชิกภาพของกลุ่มสังคมเฉพาะหรือความคิดเห็นทางการเมือง
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สภาพม่าเปิดประชุมวันแรก ทั่วโลกเตรียมจับตาผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

Posted: 31 Jan 2011 08:28 AM PST

 

วันนี้ (31 ม.ค.) เป็นครั้งแรกที่ประเทศพม่าจัดการประชุมสภาสมัยแรก นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งครั้งล่าสุดไปเมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติว่าขาดความชอบธรรมโดยสิ้นเชิง

รายงานข่าวระบุว่า การประชุมในระบบสองสภาดังกล่าวส่งผลให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของพม่ามีผลบังคับใช้ และส่งผลให้การปกครองตามกฎของรัฐบาลทหารพม่าที่ดำเนินมานานกว่า 50 ปี สิ้นสุดลง
 
อย่างไรก็ดี มีนักวิเคราะห์กล่าวว่า อำนาจที่แท้จริงในพม่ายังอยู่ในมือของกลุ่มนายพลกลุ่มเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ทั้งนี้ 1 ใน 4 ของที่นั่งในสภาของพม่า ถูกสงวนไว้ให้กับสมาชิกของกองทัพ
 
การประชุมสภาดังกล่าว เริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลา 08.55 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือเวลา 09.25 น. ตามเวลาในประเทศไทย โดยมีสมาชิกทั้งจากสภาสูงและสภาล่างเข้าร่วมประชุมครบทุกคน และทางการไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนต่างชาติเข้าไปร่วมสังเกตการณ์หรือถ่ายภาพอาคารรัฐสภาที่สร้างขึ้นใหม่ในกรุงเนปิดอว์ หลังมีการย้ายเมืองหลวงมาจากย่างกุ้งเมื่อปี 2548 
 
นอกจากนี้นักการทูตก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป และตำรวจตั้งเครื่องกีดขวางปิดกั้นถนนหลายสายที่มุ่งสู่อาคารรัฐสภาโดยมีเจ้าหน้าที่เฝ้ารักษาการ รวมทั้งมีการตรวจหาระเบิดที่อาจซุกซ่อนในรถยนต์ที่แล่นเข้าสู่รัฐสภา 
 
นักการเมืองที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งใหม่ ส่วนใหญ่มาจากพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (ยูเอสดีพี) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทหารชุดปัจจุบัน และกลุ่มทหารที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล
 
พรรคยูเอสดีพี ได้รับคะแนนเสียงถึง 77% จากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด ซึ่งหลายฝ่ายประณามว่าเป็นเป็นชัยชนะที่ได้มาจาก "การข่มขู่" และการฉ้อโกง และส่วนหนึ่งเกิดจากการบอยค็อตต์ของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางออง ซาน ซูจี
 
ส่วนสภาท้องถิ่นใน 14 เขตที่ได้รับการเลือกตั้งพร้อมกัน ก็เปิดประชุมแล้วในวันนี้เช่นกัน และพรรคยูเอสดีพีก็คว้าที่นั่งมากที่สุดในการเลือกตั้งทั้งสามสภา
 
สำหรับงานแรกของสมาชิกสภาชุดใหม่คือ การเสนอชื่อผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีพม่า ซึ่งหลังจากนั้นจึงจะเป็นที่ชัดเจนว่า บุคคลใดจะเป็นผู้กุมอำนาจพม่าหลังจากนี้
 
 
ที่มา: เรียบเรียงจาก มติชนออนไลน์ และ เนชั่นทันข่าว
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กก.วุฒิสภา จี้เรียกรมต.ไอซีที-ผู้เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูล กรณี ศอฉ.ให้ปิดเว็บไซต์

Posted: 31 Jan 2011 07:58 AM PST

เจ้าหน้าที่ไอซีทีเข้าแจงข้อมูล กก.วุฒิสภา กรณี ศอฉ.ให้ปิดเว็บไซต์ช่วงชุมนุม มี.ค.-พ.ค.2553 แต่แจงไม่เคลียร์ แถมเผยไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบ เจอวุฒิฯ จี้ประชุมครั้งหน้าให้ รมว.ไอซีที –ผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล พร้อมนำเอกสารคำสั่งจาก ศอฉ.มาด้วย

 
วันนี้ (31 ม.ค.54) เมื่อเวลา 13.30 น.ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการเพื่อติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา มีนายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ เป็นประธาน เพื่อพิจารณารับฟังข้อเท็จจริงในนโยบายของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ในการกำกับ ติดตาม ควบคุมการดำเนินกิจการสื่อออนไลน์หรือเว็บไซต์ ในช่วงเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเดือน มี.ค.-พ.ค.2553 และหลังเหตุการณ์การชุมนุม โดยไอซีทีมอบหมายให้นายวินัย อยู่สบาย ผู้อำนวยการสำนักกำกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และดร.สุนทรีย์ ธนารักษ์ศิริถาวร นักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ มาชี้แจงแทน 
 
นายจิตติพจน์ซักถามว่า ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. มีการปิดสื่อออนไลน์ และมีการเซ็นเซอร์จำนวนมาก บางส่วนถูกปิดด้วยอำนาจ พ.ร.ก.ว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) มีรายละเอียดอย่างไร ปิดโดยอำนาจของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) จำนวนเท่าไหร่ ปิดโดยอาศัยอำนาจตามมาตราใด กฎหมายใด 
 
นายวินัย ชี้แจงว่า ช่วงการชุมนุมทางสำนักกำกับฯมีภารกิจต้องเฝ้าติดตามสื่อออนไลน์ต่างๆ ช่วงเวลาดังกล่าวมีการปิดสื่อโดยใช้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยอาศัยการรวมอำนาจจาก พ.ร.บ.หลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มีหน่วยงานคอนสกรีนเว็บไซต์ เมื่อได้เว็บไซต์ ที่ทำผิดก็รวบรวมนำเข้าสู่การพิจารณาของศาล เพื่อปิดกั้นการเผยแพร่ ซึ่งมีจำนวนมาก แม้ในปัจจุบัน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้ยกเลิกไปแล้ว แต่เท่าที่ตรวจสอบยังมีการปิดกั้นอยู่ ซึ่งกระทรวงไอซีทีก็ได้พิจาณาเรื่องนี้ แต่กระทรวงฯไม่มีอำนาจในการเปิดให้เผยแพร่ เนื่องจากเป็นอำนาจ ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ปิดกั้น 
 
ดังนั้นเท่าที่ทราบถ้าต้องการให้เปิดเว็บที่ถูกปิด ต้องมีผู้ร้องขอต่อศาลให้ทำการเปิด ในส่วนที่ไอซีทีสั่งปิดจะอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 20 กรณีทำผิดในลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของประชาชน เช่น เรื่องการเผยแพร่คลิป การตัดต่อคลิป ที่เห็นชัดว่ามันมีการขัดต่อศีลธรรมอันดี เรื่องภาพโป๊ลามก รวมถึงการโพสต์ข้อความรุนแรง ซึ่งไอซีทีเคยปรึกษาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ว่าข้อความไหนเข้าข่ายหมิ่นเหม่สถาบัน ซึ่งประเภทนี้ต้องเน้นมาก ไอซีทีจะไม่ปิดโดยไม่มีเหตุผล แต่ในส่วนของการเมืองไอซีทีจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง โดยสถิติของการปิดในเดือน มี.ค.- เม.ย. มี 9,000 ยูอาร์เอล รวมทุกเว็บไซต์ที่ทำผิด โดยในเดือน เม.ย.-พ.ค. แทบไม่ได้ปิดเว็บไซต์เลย 
 
ส่วนการปิดเว็บไซต์โดยใช้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตนไม่มีข้อมูล แต่ส่วนหนึ่งปิดกั้นโดยใช้อำนาจ ศอฉ. และอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานเข้ามาเป็นทีมงานตรวจสอบ ไม่ได้ใช้เครื่องมือจากไอซีทีโดยตรง โดยความผิดที่เกิดขึ้นทาง ศอฉ.ได้นำเรื่องขึ้นสู่ศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งปิด
 
ทั้งนี้มีรายงานว่า กรรมการฯ หลายคน อาทิ นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหา ในฐานะรองประธานฯ ได้ถามย้ำว่าทาง ศอฉ.มีการร้องขอให้ปิดเว็บไซต์กี่ครั้ง แล้วทางกระทรวงทำตามหรือไม่ ใครเป็นผู้พิจารณา ใช้หลักเกณฑ์อะไร และปิดโดยคำสั่งศาลหรือคำสั่งของ ศอฉ.เอง ซึ่งนายวินัย กล่าวว่า ข้อมูลส่วนนี้ในวันนี้คงไม่ได้รายละเอียดมาก ตนจะส่งข้อมูลให้ทีหลัง เนื่องจากงานด้านนี้อยู่ในความรับผิดชอบของอีกท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นทีมงานที่รับทราบการขอมาจาก ศอฉ.ให้มีการปิดเว็บไซต์ 
 
ทำให้นายจิตติพจน์ กล่าวสวนทันทีด้วยน้ำเสียงไม่พอใจว่า เอาเป็นว่าในการประชุมครั้งหน้า ตนจะเชิญ รมว.ไอซีที รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงอีกครั้ง เพื่อจะได้รับรู้ข้อเท็จจริงมากกว่านี้ เพราะจากเอกสารที่ตนได้รับมีเว็บไซต์จำนวนมากถูกสั่งปิดโดยคำสั่ง ศอฉ.โดยไม่ได้ร้องขอคำสั่งจากศาล ดังนั้น เพื่อไม่ให้เสียเวลาของทั้ง 2 ฝ่าย เราจะไม่ประชุมเรื่องนี้ต่อ แม้นายวินัย จะกรุณามาแล้ว แต่นายวินัย ไม่ได้รับผิดชอบโดยตรง ข้อมูลบางอย่างยังมีคลาดเคลื่อนจากความจริง ดังนั้นขอให้การมาประชุมในครั้งหน้า นำข้อมูลที่เป็นเอกสารคำสั่งจาก ศอฉ.มาให้ด้วย
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทหารยึดอุปกรณ์นักข่าวอัลจาซีรา-เพื่อนบล็อกเกอร์ตามหา จนท.กูเกิลในอียิปต์

Posted: 31 Jan 2011 07:33 AM PST

ทหารยึดอุปกรณ์ 6 นักข่าวอัลจาซีราก่อนปล่อยตัว หลังคุมตัวนาน 3 ชม. ชุมชนออนไลน์ช่วยตามหาคนหายผ่านกูเกิล สเปรดชีตส์ ด้านชาวบล็อกเกอร์ตามหาเพื่อนซึ่งเป็น หน.ฝ่ายการตลาด กูเกิล ที่หายตัวไป

เมื่อเวลา 15.44 น. ตามเวลาในอียิปต์ (หรือประมาณ 21.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) ไลฟ์บล็อกของสำนักข่าวอัลจาซีรารายงานว่า ผู้สื่อข่าวอัลจาซีรา 6 คนซึ่งถูกทหารควบคุมตัวไว้เมื่อประมาณ 3 ชั่วโมงก่อนหน้านี้ได้รับการปล่อยตัวแล้ว แต่ถูกยึดกล้องถ่ายรูป แลปท็อปและโทรศัพท์มือถือไป

ไลฟ์บล็อกของสำนักข่าวอัลจาซีรารายงาน ในโลกออนไลน์มีความพยายามตามหาผู้ที่หายตัวไปในการประท้วงดังกล่าว โดยผู้ใช้ทวิตเตอร์ช่วยกันเผยแพร่กูเกิล สเปรดชีตส์ (บริการใช้งานซอฟต์แวร์สำนักงานของกูเกิล) ซึ่งรวบรวมชื่อของผู้ที่เชื่อว่า หายตัวไป พร้อมสถานที่ที่มีผู้พบเห็นพวกเขาครั้งล่าสุด และเบอร์โทรติดต่อของบุคคลใกล้ชิด โดยเอกสารนี้เปิดให้ทุกคนเข้าถึงได้ ทั้งนี้ เมื่อลองเข้าดู พบมีผู้ใช้จากทั่วโลกกว่า 6,000 คนเข้ามาดูในหน้าดังกล่าว

ขณะที่ในเว็บไซต์ http://globalvoicesonline.org ซึ่งเป็นชุมชนออนไลน์ของบล็อกเกอร์ซึ่งเขียนเกี่ยวกับบล็อกและสื่อพลเมือง จากทั่วโลก มีรายงานที่เขียนโดย จิลเลียน ซี.ยอร์ก ระบุว่า เวล โกนิม (Wael Ghonim)บล็อกเกอร์ชาวอียิปต์และหัวหน้าฝ่ายการตลาด สำนักงานกูเกิล ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งใช้ชื่อ @Ghonim ในทวิตเตอร์ ที่ไปร่วมชุมนุมประท้วงด้วย ได้ขาดการติดต่อตั้งแต่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา

โดยล่าสุด (เวลา 2.05 น.ของวันที่ 31 ม.ค.) ฮาบิบ ฮาดเดด หรือผู้ใช้ทวิตเตอร์ @habibh เพื่อนของเวล ยังคงทวีตขอความช่วยเหลือ ระบุว่า ยังไม่สามารถหาตำแหน่งที่อยู่ของเวลได้ และขอให้ช่วยกันเรียกร้องไปยังผู้มีอำนาจทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ให้ช่วยหาเวลด้วย

ก่อนหน้านี้ เวล โกนิม ได้ทวีตแสดงเจตจำนงค์ที่จะเข้าร่วมการประทวงในวันที่ 25 ม.ค. ว่า แม้จะมีเสียงเตือนจากญาติและเพื่อนๆ แต่เขาก็จะไปที่นั่น และถามด้วยว่ามีใครจะไปที่นั่นอีกบ้าง

ในวันที่ 26 ม.ค. ซึ่งเว็บไซต์ทวิตเตอร์ถูกปิด เวล ได้ทวีตข้อความแสดงความไม่พอใจต่อการเซ็นเซอร์ดังกล่าวว่า "รัฐบาลที่เกรงกลัวเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ควรจะไปปกครองเมืองในฟาร์มวิลล์ (เกมในเฟซบุ๊ก) ไม่ใช่ปกครองประเทศอย่างอียิปต์" โดยข้อความนี้ของเขามีผู้รีทวีตจำนวนมาก


ข้อความแสดงความไม่พอใจต่อการเซ็นเซอร์ของรัฐบาลอียิปต์ ของ @Ghonim

 


 


แปลและเรียบเรียงจาก

http://globalvoicesonline.org/2011/01/31/egypt-ฟon-twitter-the-search-for-wael-ghonim/

http://blogs.aljazeera.net/middle-east/2011/01/30/live-blog-311-egypt-protests
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อภิสิทธิ์ยันถือสัญชาติไทย โต้ไม่ใช่มอนเตรเนโกร

Posted: 31 Jan 2011 05:57 AM PST

อภิสิทธิ์เตรียมแถลงข่าวโต้ “โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม” กรณีสลายการชุมนุมปี 53 เย้ยเป็นทนายรับจ้างมาทำคดี พร้อมปัดข่าวคณิตขอถอนตัว คอป.– ส่วนเรื่องประกัน นปช. รัฐบาลบังคับศาลไม่ได้

 
อภิสิทธิ์อัดอัมสเตอร์ดัมรับจ้างมาทำ ลั่นถือสัญชาติไทยไม่ใช่มอนเตรเนโกร
 
ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า วันนี้ (31 ม.ค.2554) เวลา 14.00 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่ถึงกรณีที่นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยื่นฟ้องศาลอาญาระหว่างประเทศให้ดำเนินการ กรณีที่มีการสลายการชุมนุมของกลุ่มนปช.เมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 ว่า เป็นการรับจ้างมาทำ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศกำลังดำเนินการอยู่ และคาดว่าคงจะมีการแถลงข่าวเรื่องการยื่นฟ้องดังกล่าว
 
ส่วนการที่นายอัมสเตอร์ดัมระบุว่า นายกรัฐมนตรีถือพาสปอร์ตสัญชาติอังกฤษ ซึ่งจะทำให้สามารถยื่นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศได้นั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “ผมสัญชาติไทยครับ ไม่มีสัญชาติมอนเตรเนโกร”
 
 
ปัดข่าวคณิตถอนตัว คอป. - เรื่องประกัน นปช.รัฐบาลบังคับศาลไม่ได้
 
สำหรับกรณีที่นายคณิต ณ นคร คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.-19 พ.ค. 2553 จะขอถอนตัว เพราะไม่ได้รับความร่วมมือจากตำรวจและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายกรัฐมนตรี กล่าวปฏิเสธข่าวว่า คงไม่ใช่เช่นนั้น เพราะได้มีการกำชับไปแล้ว
 
เมื่อถามถึงทางออกในการให้ประกันตัวแกนนำ นปช. โดยเทียบกับกรณีของนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำเครือข่ายประชาชนไทยคนไทยรักชาติ ที่มีข้อหาเดียวกันแต่ศาลให้ประกันตัวนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องถามศาล อย่างกรณีของแกนนำ นปช. 2 รายรัฐบาลก็ไม่ได้คัดค้านการประกันตัว และที่ผ่านมาก็ดำเนินการในส่วนของคนที่ไม่ใช่แกนนำ ซึ่งประกันตัวออกมาได้ 10 กว่าคน และกำลังดำเนินการอีก 20 กว่าคน เป็นดุลพินิจของศาล รัฐบาลไม่สามารถบังคับศาลได้ ดังนั้นไม่ใช่เรื่องจริงที่จะบอกว่าฝ่ายตุลาการต้องดำเนินการตามฝ่ายบริหาร พร้อมกล่าวย้ำว่า รัฐบาลต้องทำตามกระบวนการยุติธรรมและกระบวนการประชาธิปไตยเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
 
 
อัมสเตอร์ดัมแถลงข่าวในญี่ปุ่น ลั่นส่งฟ้องศาลโลก “อภิสิทธิ์” สังหารหมู่คนเสื้อแดง
 
วันเดียวกันนี้ (31 ม.ค.2554) มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 31 มกราคม นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความเจ้าของสำนักงานกฎหมายอัมสเตอร์ดัม แอนด์ เปรอฟ ได้วิดีโอลิงค์จากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มายังห้ององค์การสื่อสารมวลชนเพื่อประชาธิปไตย ชั้น 5 ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว ชี้แจงการยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ทำให้ประชาชนเสียชีวิต 91 ศพในเหตุการณ์สลายการชุมนุมในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553 ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ
 
นายโรเบิร์ต ระบุว่า ได้ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เมื่อวันที่ 31 มกราคม ในคดีการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ใช้อาวุธจริงและอุปกรณ์ที่กองทัพใช้ในการสงคราม และผู้เชี่ยวชาญที่ถูกฝึกฝนเป็นทีมสไนเปอร์กว่า 150 คน ที่มีการระบุชัดเจนว่าบุคคลเหล่านี้มาในลักษณะของมือที่ 3 และเป็นการลับภายใต้ชื่อ คนชุดดำ เพื่อประหัตประหารประชาชนและลอบสังหารแกนนำคนเสื้อแดง กลายเป็นการสังหารหมู่ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย โดยผู้มีบารมีที่เป็นผู้จัดตั้งกองทัพและรัฐบาลขึ้นมาหลังการรัฐประหาร 2549 ได้วางแผนและปรับเครื่องมือของกองทัพ มาใช้ปราบปรามประชาชน ผ่านการชี้นำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.
 
ด้าน Voice TV รายงานว่า นายอัมสเตอร์ดัมเปรียบเทียบการสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. คล้ายกับเหตุการณ์รุนแรงที่ประเทศอียิปต์ในปัจจุบัน จากการฆาตกรรม การจับกุมผู้คน และความพยายามในการแทรกแซงพยานหลักฐาน เพื่อใส่ความทางอาญาต่อผู้ชุมนุม 
 
คำแถลงของ นายอัมสเตอร์ดัม ยังอ้างคำให้การของพยาน รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญ นายโจ เรย์ วิตตี้ ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องการควบคุมฝูงชน และเคยสังกัดหน่วยปฏิบัติการพิเศษของสำนักงานตำรวจแห่งนครลอสแอลเจิลลีส ที่ระบุว่า การปฏิบัติการของกองทัพบกไทย เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เป็นการปฏิบัติการทางทหาร ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อการสังหารพลเรือนผู้บริสุทธิ์เพื่อจะได้ปราบปรามผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช.
 
ทนายความชาวแคนาดาผู้นี้ชี้แจงต่อว่า ส่วนกรณีระเบิดสังหารทหารกลุ่มหนึ่ง เมื่อวันที่ 10 เมษายน ปีเดียวกันนั้น อาจเป็นเรื่องที่ฝ่ายทหารก่อขึ้นเอง เพื่อเป็นข้ออ้างในการยิงปืนเข้าใส่กลุ่มประชาชนโดยฝ่าฝืนกฎการใช้กำลังของกองทัพ
 
นายอัมสเตอร์ดัม ยังกล่าวด้วยว่า การยื่นคำร้องครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก ที่มีความพยายามรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานอย่างครบถ้วนและเป็นระบบมากที่สุด เพื่อชี้ให้เห็นว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยความจงใจก่อให้เกิดความรุนแรงจนเกินกว่าที่จะรับได้ จึงต้องการคำตอบและต้องมีผู้รับผิดชอบ‎​ก่อนหน้านี้
 
 
 
ชูประเด็น "อภิสิทธิ์" มีสัญชาติอังกฤษ
 
นายโรเบิร์ต กล่าวด้วยว่า เขาได้นำประเด็นที่นายอภิสิทธิ์ ถือสัญชาติอังกฤษ เพราะเกิดที่ประเทศอังกฤษในปี 1967 มาใช้ในการยื่นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศด้วย เนื่องจากอังกฤษ เป็นประเทศที่ให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรมของศาลอาญาระหว่างประเทศแล้ว ซึ่งตามกฎหมายสามารถดำเนินคดีกับผู้ที่มีสัญชาติของประเทศที่ให้สัตยาบันได้ทันที
 
นายโรเบิร์ต ระบุว่า ในกฎหมายของอังกฤษปี 1948 มาตรา 4 ระบุว่าคนที่เกิดหลังจากนั้นจะได้รับสัญชาติอังกฤษโดยอัตโนมัติ แล้วก็ต้องมาดูว่าการถอนสัญชาติตัวเองนั้นเกิดหลังกระทำความผิดหรือไม่ และถามประชาชนชาวไทยว่า เป็นไปได้อย่างไรที่จะปล่อยให้ฆาตกรมือเปื้อนเลือดที่สังหารประชาชนของตนเองอย่างโหดเหี้ยม ลอยนวลเป็นนายกอยู่ต่อได้อีก
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแถลงข่าวและถ่ายทอดสดครั้งนี้ มีนักวิชาการเสื้อแดง อาทิ นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธาน นปช., ร.ศ.จารุพรรณ กุลดิลก, ศ.สุดา รังกุพันธุ์ เป็นล่ามผู้แปลภาษา โดยมีการติดตั้งจอโปรเจ็คเตอร์ 3 จุด และมีคนเสื้อแดงมารับฟังการแถลงข่าวและถ่ายทอดสดอย่างคับคั่ง 
 
ส่วนแนวร่วมคนเสื้อแดงที่ไม่ได้เดินทางไปที่ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว สามารถรับชมการถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเชียเน็ตเวิร์ค สำหรับคำร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ มีการนำขึ้นเผยแพร่ในเว็บไซต์ http://robertamsterdam.com/thai/ ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับคำให้การของประจักษ์พยานของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอยู่ในเว็บไซต์ www.thaiaccountability.org 
 
 
ที่มา: เรียบเรียงจาก ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล  Voice TV และมติชนออนไลน์  
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีตีนแดง: เดินทางไกล

Posted: 31 Jan 2011 04:52 AM PST

 

เดินทางไกล
 
ชีวิตเมื่อมีที่มา
ความตายจึงมีที่ไป
ออกเดินทางเถิดพี่น้อง
ดวงวิญญาณจงกู่ตะโกนก้อง
เราน้อมส่งพี่น้องเดินทางไกล...
โอ...โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม
 
แสวงสัจจะตลอดนิจกาล
ประจานฆาตกรโฉดจารึกไว้ในประวัติศาสตร์
อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ
อาชญากรรมที่คล้ายเกินเอื้อมอาจ
ขอน้อมส่งพี่น้องเดินทางไกล...
โอ...โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม
 
ชีวิตเมื่อมีที่มา
ความตายจึงมีที่ไป
ความตายหาได้สิ้นสุดบนท้องถนน
ความตายแสวงสัจจะไม่จำกัดชั่วอายุคน
ขอน้อมส่งพี่น้องเดินทางไกล...
โอ...โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม.
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“อหิงสา-สันติ” แบบสันติอโศก

Posted: 31 Jan 2011 04:29 AM PST

 
แม้คณะสงฆ์ไทยจะไม่ยอมรับว่าสมณะสันติอโศกเป็น “พระสงฆ์ไทย” แต่ในทรรศนะของผู้เขียนสมณะสันติอโศกคือพระสงฆ์ในพุทธศาสนา เพราะที่จริงแล้วพระสงฆ์ในพุทธศาสนานั้นมีหลายนิกาย หากมองไปที่ข้อวัตรปฏิบัติ เราอาจกล่าวได้ว่าสมณะสันติอโศกคือพระสงฆ์ในพุทธศาสนาอีกนิกายหนึ่งที่ต่างจากคณะสงฆ์ไทย 
 
บทบาทที่ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างของสันติอโศกคือ บทบาททางการเมือง ในทัศนะของสันติอโศกพุทธศาสนากับการเมืองไม่อาจแยกจากกัน เพราะสันติอโศกมองว่าพุทธศาสนาเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์สุขของสังคม การเมืองก็คืองานเสียสละเพื่อประโยชน์สุขของสังคม
 
แต่อย่างไรก็ตาม แม้หลักการอาจถูก เจตนาอาจถูก แต่การกระทำโดยอ้างหลักการและเจตนาที่ถูกนั้น จำเป็นต้องมองอย่างจำแนกแยกแยะ
 
พระพุทธองค์เคยตรัสว่า สิ่งที่พระองค์รู้มีมากมายเหมือนใบไม้ในป่า แต่สิ่งที่พระองค์นำมาสอนเพื่อนมนุษย์มีเพียงส่วนน้อยเทียบได้กับใบไม้ในกำมือ สิ่งที่พระพุทธองค์รู้และนำมาสอนนี้คือความจริงที่เป็นประโยชน์แก่การดับทุกข์ในชีวิตและสังคม หรือความจริงที่เอื้อให้เกิดสันติภาพในจิตใจและสันติภาพทางสังคม
 
สันติภาพทางจิตใจเชื่อมโยงกับการปฏิบัติตามหลักศีลธรรมเชิงปัจเจก สันติภาพทางสังคมสัมพันธ์กับการปฏิบัติตามศีลธรรมเชิงสังคม พูดอีกอย่างว่าศีลธรรมเชิงปัจเจกมุ่งสร้าง “คนดี” ที่มีความพ้นทุกข์เป็นเป้าหมายชีวิต ส่วนศีลธรรมเชิงสังคมมุ่งวาง “ระบบที่ดี” ในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ หากคิดจากระบบศีลธรรมสองส่วนนี้เราไม่อาจสรุปได้ว่า ถ้าปัจเจกแต่ละคนเป็นคนดีแล้วสังคมจะดีเอง เพราะความเป็นสังคมที่ดีต้องการ “ระบบที่ดี” รองรับอย่างมีนัยสำคัญ
 
และหากพิจารณาอย่างละเอียดจะพบว่า พุทธศาสนาให้ความสำคัญกับ “ระบบ” มากว่า “ตัวบุคคล” เช่น ก่อนที่พระพุทธองค์จะปรินิพพาน พระองค์ไม่ได้เฟ้นหาตัวบุคคลที่เป็นคนดีที่สุดมาเป็นศาสดาปกครองคณะสงฆ์แทน แต่ให้พระธรรมวินัยหรือระบบที่วางไว้ดีแล้วเป็นศาสดาแทน
 
หมายความว่า แม้ในสังคมสงฆ์อาจจะมีทั้งพระดีและพระไม่ดี แต่หากสังคมสงฆ์สามารถรักษาระบบที่ดีคือพระธรรมวินัยเอาไว้ได้ เคารพหลักการทางพระธรรมวินัยเหมือนเคารพพระศาสดา สังคมสงฆ์และพุทธศาสนาจะยังคงอยู่อย่างมั่นคง ถ้าพระพุทธองค์ให้พุทธศาสนาขึ้นอยู่กับตัวบุคคลพุทธศาสนาคงไม่อยู่มาได้ถึงทุกวันนี้
 
คำถามคือ เมื่อสันติอโศกอ้างพุทธศาสนาเป็นหนึ่งเดียวกับการเมือง สันติอโศกอ้างในมิติใด? มิติเชิดชูตัวบุคคลหรือเชิดชูหลักการ ภาพลักษณ์การเป็นคนดีมีศีลธรรมของพลตรีจำลอง ศรีเมืองก็ดี ภาพลักษณ์ความเป็นพระอริยบุคคลของสมณะสันติอโศกที่ถูกยกชูขึ้นมาก็ดี ล้วนแต่บ่งบอกว่าสันติอโศกเชิดชูอะไร
 
ยิ่งการออกมาต่อสู้เพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยเรียกร้องหรือยอมรับรัฐประหาร ยิ่งเห็นได้ชัดว่า วาระทางการเมืองของสันติอโศกให้น้ำหนักเรื่อง “ตัวบุคคล” มากกว่าการปกป้อง “หลักการ” 
 
จึงทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เวลาสันติอโศกชูเรื่อง “อหิงสา-สันติ” นั้น ชูในฐานะเป็นหลักการที่ต้องปฏิบัติอย่างเป็นสากลแก่เพื่อนมนุษย์ทุกคน หรือชูในฐานะเป็น “เครื่องมือ” ต่อสู้ทางการเมืองเท่านั้น
 
ผู้เขียนแปลกใจมากเมื่อเห็นพลตรีจำลอง เรียกร้องให้ทหารใช้กฎอัยการศึกจัดการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์เมื่อปี 53 และกดดันให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้มาตรการทางทหารกับประเทศกัมพูชาอยู่ในขณะนี้ 
 
เพราะในความขัดแย้งทางการเมืองปี 53 คนกิเลสหนาอย่างเราๆ ต่างเรียกร้องไม่ให้รัฐบาลใช้ความรุนแรง และต่อปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา แม้แต่นักศึกษาชาวกัมพูชาที่มาเรียนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษยังเรียกร้องให้ใช้วิธีเจรจาอย่างเคารพความเท่าเทียมในความเป็นคนหรือศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมระหว่างชาติ 
 
แต่บุคคลซึ่งมีภาพลักษณ์เคร่งครัดศีลธรรม ชูอหิงสา-สันติ มาตลอด กลับเสนอทางออกที่ยอมรับความเป็นไปได้ของสถานการณ์ที่อาจเกิดการปะทะตามแนวชายแดน หรือความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดสงครามระหว่างประเทศ
 
เวลาที่ชาวอโศกอ้างว่า ความเป็นพระสงฆ์หรือความเป็นชาวพุทธไม่ได้ขึ้นอยู่กับการยอมรับหรือไม่ยอมรับของกฎหมายคณะสงฆ์ แต่ขึ้นอยู่กับการประพฤติปฏิบัติ ย่อมเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้น
 
แต่เมื่อดูการประพฤติปฏิบัติที่เป็นมาและเป็นอยู่ที่ต้องการเอาชนะทางการเมืองตาม “ความเชื่อ” ของฝ่ายตนมากกว่าการให้ความสำคัญกับการปกป้องชีวิตประชาชน และการปกป้องสันติภาพในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
 
ความเป็นชาวพุทธที่เคร่งครัดจึงน่ากังขาอย่างยิ่ง และอหิงสา-สันติ ก็ดูเหมือนจะถูกแทนที่ด้วยการปั่นความขัดแย้ง และการใช้ความรุนแรงอย่างเกินจำเป็น!  
 
 
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนรายวัน 31 มกราคม 2554
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปิยบุตร แสงกนกกุล: เกี่ยวกับรายงานของอัมสเตอร์ดัม

Posted: 31 Jan 2011 03:55 AM PST

"This case represents a historic opportunity for international justice to confront governments who deploy their militaries to use violence against their own citizens."

Robert Amsterdam

จากการอ่านรายงานของโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ที่ใช้ประกอบการเสนอคำร้องไปยังศาลอาญาระหว่างประเทศในวันนี้

ผมขอสรุปประเด็นสำคัญและความเห็นของผมในเบื้องต้น ดังนี้

ในความเห็นของผม รายงานของอัมสเตอร์ดัมทั้งหมด อาจแบ่งได้ ๓ ส่วนใหญ่ๆ คือ

ส่วนแรก ความเป็นมาของการเกิดขึ้นของเสื้อแดง

ตั้งแต่รัฐประหาร ๑๙ กันยา "ตลก"ภิวัตน์ รัฐธรรมนูญ ๕๐ เป็นคุณต่อพวกเอสตาบลิชเมนท์ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การคุกคามเสรีภาพ และการสลายชุมนุม

ส่วนที่สอง การสังหารหมู่เมษายน พฤษภาคม ๕๓ เข้าองค์ประกอบความผิดอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

ส่วนนี้เป็นเรื่องข้อเท็จจริงที่ปรับให้เข้ากับฐานความผิดอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ส่วนนี้ เขารวบรวมพยานหลักฐานไว้ได้ดีมาก มีพยานผู้เชี่ยวชาญชื่อ Joe Ray Witty เป็นอดีตทหารอเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาวุธ และสไนเปอร์ มีพยานผู้เห็นเหตุการณ์อีกหลายคน (ดูพยานทั้งหมดที่ภาคผนวก)

ส่วนที่สาม เรื่องนี้อยู่ในเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศได้อย่างไร

ส่วนนี้เป็นเรื่องเขตอำนาจศาล อย่างที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยได้ลงนามใน Rome Statute แต่ไทยไม่ได้ให้สัตยาบัน (ราทิฟาย) Rome Statute นี้

ดังนั้น โดยปกติแล้ว ศาลอาญาระหว่างประเทศย่อมไม่สามารถรับคำร้องกรณีประเทศไทยได้

อย่างไรก็ตาม อัมสเตอร์ดัมเสนอว่ามี ๒ ช่องทาง ได้แก่

 

ช่องทางแรก
ไอซีซีต้องเปิดกระบวนการสืบสวนสอบสวนไต่สวนในกรณีนี้ในเบื้องต้น เพื่อรอให้วันหนึ่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติลงมติให้ไอซีซีมีเขตอำนาจในกรณีนี้ตามมาตรา ๑๓ (บี) (เหมือนซูดาน)

ช่องทางที่สอง
ในกรณีที่ไอซีซีไม่มีเขตอำนาจอันเนื่องมาจากรัฐไม่ให้สัตยาบัน ไอซีซีอาจมีเขตอำนาจได้ใน ๒ กรณี

กรณีแรก มาตรา ๑๒ (๒) (เอ) ความผิดนั้นเกิดในดินแดนของรัฐภาคี ภาษากฎหมายเราเรียกว่า เขตอำนาจทางพื้นที่ (ratione loci)

กรณีที่สอง มาตรา ๑๒ (๒) (บี) ถ้าบุคคลผู้ถูกกล่าวหานั้นเป็นพลเมืองของรัฐภาคี ภาษากฎหมายเราเรียกว่า เขตอำนาจทางบุคคล (ratione personae)

ไอซีซีในคดีเคนยาเคยวางหลักเรื่องนี้ไว้แล้ว

กรณีไทย สามารถฟ้องอภิสิทธิ์ได้ เพราะอภิสิทธิ์เป็นพลเมืองสหราชอาณาจักรโดยการเกิด ซึ่งสหราชอาณาจักรเป็นภาคีและราทิฟายอนุสัญญากรุงโรมแล้ว

(ดูรายงานหน้า ๑๑๓)

นอกจากนี้ในรายงานยังเน้นย้ำให้ไอซีซีได้ตระหนักถึงสถานการณ์เฉพาะของไทย ได้แก่ ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามักมีการนิรโทษกรรมให้คนสังหารหมู่ประชาชนเสมอ ดังเห็นได้จาก ๖ ต.ค. ๑๙ และ พ.ค. ๓๕, ความไม่เป็นกลางและอิสระของศาลไทย, กระบวนการสอบสวนของดีเอสไอ (รายงานหน้า ๑๑๙ เป็นต้นไป)

ในส่วนนี้อาจารย์ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิชเคยเขียนในประกาศนิติราษฎร์ ฉบับที่ ๗ ไว้ ดังนี้

"... อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า ศาลอาญาระหว่างประเทศอาจมีเขตอำนาจเหนือคดีที่รัฐนั้นมิได้เป็นภาคีศาลอาญาระหว่างประเทศก็ได้ หากผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดอาญาร้ายแรงแม้จะมิได้เป็นคนที่มีสัญชาติของรัฐที่เป็นภาคีของศาลอาญาระหว่างประเทศก็ตาม แต่อาชญากรรมร้ายแรงได้กระทำขึ้นบนดินแดนของรัฐที่เป็นภาคีของศาลอาญาระหว่างประเทศ ศาลอาญาระหว่างประเทศก็มีเขตอำนาจได้ หรือในกรณีกลับกัน อาชญากรรมได้กระทำโดยคนที่มีสัญชาติของรัฐที่เป็นภาคีของศาล แม้ว่าอาชญากรรมนั้นจะกระทำขึ้นบนดินแดนหรือในประเทศที่มิได้เป็นภาคีของศาลก็ตาม ศาลอาญาระหว่างประเทศก็มีเขตอำนาจ หรือกรณีสุดท้าย ทั้งผู้กระทำความผิดก็มิได้มีสัญชาติของรัฐที่เป็นภาคีศาลอาญาหรืออาชญากรรมร้ายแรงได้กระทำขึ้นในดินแดนที่มิได้เป็นรัฐภาคีศาลอาญา ศาลอาญาก็สามารถมีเขตอำนาจได้หากคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติเสนอเรื่องให้อัยการสอบสวน"

(เน้นข้อความโดยผมเอง)
...

ข้อสังเกตของผม

การที่ไอซีซีจะรับฟ้องหรือไม่นั้น ก็อาจสำคัญเหมือนกัน และแม้นว่าหากไอซีซีไม่เอาด้วย แต่ประเด็นทางการเมืองที่สำคัญกว่า มี ๓ ข้อ

ข้อแรก การกดดันไปที่ไอซีซีว่าจะตัดสินใจทำอย่างไร อย่างน้อยจะเข้ามาไต่สวนเบื้องต้นรอไว้ก่อนมั้ย เพื่อว่าวันนึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะอนุญาตให้ไอซีซีมีเขตอำนาจ (เหมือนซูดาน) แน่นอนไทยเส้นใหญ่มาก คณะมนตรีฯคงไม่ยอม แต่อย่างน้อย การกดดันขอให้ไอซีซีเข้ามาตรวจสอบก่อนก็น่าจะเป็นการดีมาก

ข้อสอง รายงานชิ้นนี้ เป็นการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานไว้เสร็จหมดแล้ว หากไอซีซีน็อคด้วยการไม่รับเพราะอ้างว่าไม่มีเขตอำนาจเพราะไทยไม่ราทิฟาย ก็เป็นการผลักลูกบอลกลับไปที่รัฐบาลไทยให้ราทิฟายโดยเร็ว

ข้อสาม ประเด็นสังหารหมู่ถูกโหมกระพือไปทั่วโลก นับเป็นความชาญฉลาดของบ๊อบแท้ๆที่เลือกญี่ปุ่นเป็นที่แถลงข่าว ช่วยไม่ได้ไทยดันไม่ฉลาดไปห้ามเขาเข้าเมืองไทยเอง

...

 

สิ่งที่น่าจับตาต่อไป

๑. รัฐบาลไทยและอภิสิทธิ์จะว่าอย่างไร กรณีเขตอำนาจศาลไอซีซีแบบ ratione personae อภิสิทธิ์อาจปฏิเสธว่าตนไม่ได้ถือสัญชาติอังกฤษแล้ว? เพราะผมค่อนข้างมั่นใจว่า กรณีนี้อัมเสตอร์ดัมเขาเก็บความลับได้ดีมาก เพิ่งมาเปิดเอาวันนี้ รัฐบาลไทยคงมึนไปหลายวัน

๒. เอสตาบลิชเม้นท์ไทย จะทำอย่างไร? เงียบ? ล็อบบี้สหรัฐอเมริกา? ล็อบบี้คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ? หรือรัฐประหาร?
 

 

ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่นี่
http://www.scribd.com/doc/47833346/Red-Shirts-Application-to-the-International-Criminal-Court-to-Investigate-Crimes-against-Humanity-in-Thailand

ดาวน์โหลดเอ็กเซคิวทีฟ ซัมมารี ได้ที่นี่
http://www.thaiaccountability.org/wp-content/uploads/2010/12/Executive-Summary-Final.pdf

เว็บไซต์ที่ทีมงานของอัมสเตอร์ดัมจัดทำขึ้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะ
http://www.thaiaccountability.org/

ดาวน์โหลดคำร้องฉบับภาษาไทย ได้ที่นี่
 
 
หรืออ่านได้ที่
 

หมายเหตุ: ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนบันทึกนี้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของเขา ประชาไทเห็นว่าน่าสนใจจึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ซ้ำ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สนนท.-องค์กรเครือข่าย ชวนร่วมกิจกรรมต่อต้านการปราบปรามประชาชนในอียิปต์ พรุ่งนี้

Posted: 31 Jan 2011 03:43 AM PST

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) พร้อมเครือข่ายขบวนการประชาธิปไตยนัดผ่านเฟซบุ๊ก ชวนรวมตัวหน้าสถานทูตอียิปต์ ร่วมแสดงพลังให้กำลังใจและสนับสนุนประชาชนชาวอียิปต์ในการโค่นล้มระบอบเผด็จการในอียิปต์ เที่ยงพรุ่งนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (31 ม.ค.54) ว่า สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และองค์กรสมาชิก, กลุ่มเสรีปัญญาชน, กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และเครือข่ายขบวนการประชาธิปไตยอื่นๆ ตั้งหน้ากิจกรรม “สนับสนุนชาวอียิปต์โค่นระบอบเผด็จการ ต่อต้านการปราบปรามประชาชน” ในเฟซบุ๊ก (http://www.facebook.com/event.php?eid=150615394991762&ref=mf)

หน้าเฟซบุ๊กดังกล่าวระบุการนัดหมายรวมตัวตั้งแต่เวลา 12.30-14.00 น.ในวันที่ 1ก.พ.54 หน้าตึกลาส์ คอลินนาส์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานทูตอียิปต์ เพื่อแสดงพลังให้กำลังใจและสนับสนุนประชาชนชาวอียิปต์ในการโค่นล้มระบอบเผด็จการ ของบประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค (Hosni Mubarak) วัย 83 ปี และต่อต้านการปราบปรามประชาชนชาวอียิปต์ ที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย 

อีกทั้งยังมีการเชิญชวนนักศึกษา และประชาชนเข้าร่วมการแสดงพลังสนับสนุนการต่อสู้เพื่อโค่นล้มระบอบเผด็จการ โดยขอให้สวมใส่เสื้อแดงมาร่วม โดยกิจกรรมในพรุ่งนี้ประกอบด้วย การแสดงละครล้อเลียนการเมือง การอ่านแถลงการณ์ภาษาไทยและภาษาอังกฤษก่อนยื่นให้สถานทูตอียิปต์ประจำประเทศไทย อีกทั้งจะมีการปราศรัยโดยตัวแทนขององค์กรผู้จัดงานด้วย

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางผู้จัดได้เปลี่ยนแปลงสถานที่จัดกิจกรรม ไปที่สถานทูตอียิปต์ อาคารสรชัย - ซอยสุขุมวิท 63 ถ.สุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ

 

 
 
แถลงการณ์สนับสนุนชาวอียิปต์โค่นระบอบเผด็จการ ต่อต้านการปราบปรามประชาชน
 
พวกเรานักศึกษา ประชาชนไทยกลุ่มๆ ต่างที่มาในวันนี้ มาเพื่อสนับสนุนเจตจำนงเสรีของพี่น้องประชาชนอียิปต์ที่เรียกร้องประชาธิปไตย เป็นเวลาหลายสิบปีที่ประชาชนอียิปต์ต้องทนทุกข์แสนสาหัสเป็นเวลายาวนานจากการปกครองที่กดขี่ชั่วช้าเลวทรามของผู้นำเผด็จการภายใต้การสนับสนุนของมหาอำนาจตะวันตก
 
ไม่เพียงแต่การกดขี่อันโหดร้ายทารุณเท่านั้น หากแต่การขูดรีดทางเศรษฐกิจก็เลวร้ายถึงขีดสุด ประชาชนครึ่งค่อนประเทศมีรายได้ไม่พอยังชีพ ขณะที่คณะผู้ปกครองประเทศและเครือข่ายของพวกเขากลับร่ำรวยมหาศาล คนเหล่านั้นเป็นอภิสิทธิ์ชนเพียงหยิบมือเดียวที่เสวยสุขบนความทุกข์ยากของชาวอียิปต์ทั้งมวล ทั้งๆที่ประเทศอียิปต์มีศักยภาพทางเศรษฐกิจตลอดจนทรัพยากรมากมายเพียงพอจะหล่อเลี้ยงคนทั้งประเทศให้อยู่ได้อย่างไม่อดอยาก
 
การปฏิวัติในอียิปต์และในอีกหลายประเทศที่กำลังดำเนินไปในขณะนี้ อันมีจุดเริ่มต้นมาจากการปฏิวัติดอกมะลิในตูนิเซีย เป็นสายธารการปฏิวัติประชาธิปไตยของโลกอีกระลอกในศตวรรษนี้ โลกจะจดจำผู้ที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยทุกคนในนามของประชาชนที่มีเจตจำนงเสรีที่ร่วมกันปลดปล่อยมนุษยชาติให้หลุดพ้นจากการกดขี่อย่างไร้ความปราณี สายธารประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติประชาธิปไตยนี้จะไหลบ่าไปยังทุกที่ที่มีการกดขี่ เหล่าเผด็จการทุกรูปแบบในโลกนี้ไม่ว่าจะนำโดยประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี กษัตริย์ หรือจะมีหน้าตาเป็นเช่นไรก็ตาม จงดูตัวอย่างไว้เถิดว่า “จุดจบ” ของผู้ที่กดขี่ขูดรีดประชาชนนั้นเป็นเช่นใด
 
พวกเราประณามเผด็จการที่สั่งฆ่าประชาชนอียิปต์ พวกเราเรียกร้องให้ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก และคณะลงจากอำนาจโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข เพื่อยุติความรุนแรง ยุติความสับสนวุ่นวายปั่นป่วน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเปิดทางให้พี่น้องชาวอียิปต์ทั้งมวลตัดสินใจอนาคตด้วยตัวของเขาเอง ความเปลี่ยนแปลงในประเทศอียิปต์เป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไป
 
พวกเรา ขอสดุดีพี่น้องประชาชนในประเทศตูนิเซีย อียิปต์ อัลจีเรีย เยเมน จอร์แดน ฯลฯ ที่ได้เสียสละชีวิตเลือดเนื้อต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความยุติธรรม พวกเขาได้ประกาศให้โลกรู้ว่า ไม่มีผู้ใดอีกแล้วในโลกนี้ที่จะมีพลังยิ่งใหญ่ไปกว่า “ประชาชน”
 
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และองค์กรสมาชิก,
กลุ่มเสรีปัญญาชน, กลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย
1 กุมภาพันธ์ 2554
หน้าสถานทูตอียิปต์ประจำประเทศไทย
 
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทหารไทยเจ็บ 2 หลังปะทะทหารพม่าที่ อ.พบพระ

Posted: 31 Jan 2011 02:42 AM PST

ทหารพม่าข้ามแม่น้ำเมยเข้าไทยเตรียมล้อมโจมตีทหารกะเหรี่ยงดีเคบีเอ แต่เกิดปะทะกับทหารไทย ฝ่ายทหารไทยโดนเอ็ม 79 ใส่รถยนต์ฮัมวี่ติดปืนกล พลทหารเจ็บ 2 นาย ด้านทหารพม่าล่าถอยไป

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานวันนี้ (31 ม.ค.54) ว่า เมื่อเวลาประมาณ 22.00 น.ของวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา ทหารพม่าจำนวนมากข้ามแดนมาฝั่งไทย พร้อมอาวุธครบมือที่บริเวณปากห้วยแม่หม้าย ห่างจากหมู่บ้านมอเกอร์ไทย ต.พบพระ อ.พบพระ จ.ตาก ประมาณ 1 กิโลเมตร จึงแจ้งให้ทหารร้อย ร.1743 ทราบและนำกำลังพร้อมรถยนต์ฮัมวี่เดินทางไปตรวจสอบ เมื่อทหารพม่าเห็นจึงใช้อาวุธเครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 ยิงใส่รถยนต์ฮัมวี่ติดปืนกลของทหารไทย ทำให้พลทหารเบญจพล เผ่ากันทา และพลทหารวินัย ดำรง ได้รับบาดเจ็บที่แขนขวาทั้งสองคน รถได้รับความเสียหาย ยางรถระเบิด ทหารที่เหลือจึงระดมยิง ส่งผลให้กองกำลังทหารพม่าที่ลักลอบข้ามแดนมาล่าถอยไป จากนั้นจึงนำพลทหารที่ได้รับบาดเจ็บส่ง รพ.พบพระ ก่อนจะถูกนำตัวส่งมารักษาที่ รพ.แม่สอด

ส่วนสาเหตุที่ทหารพม่าลักลอบข้ามแดนมาเพื่อต้องการนำกำลังเข้าโอบล้อมโจมตีทหารกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย หรือ ดีเคบีเอ หลังมีการต่อสู้กันมาตลอดทั้งวัน

 

ที่มา: เว็บไซต์ไทยรัฐ, 31 มกราคม 2554, 09:30 น. 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เขตแดนของเราเพื่อนบ้านอาเซียนของเรา (1): ชายแดนพื้นที่วัฒนธรรมข้ามพรมแดนรัฐชาติ

Posted: 31 Jan 2011 02:32 AM PST

 
การพูดถึงรัฐชาติในแง่ของความเป็นหนึ่งเดียวจึงเป็นเรื่องที่ล้าสมัย ในบริบทของโลกาภิวัฒน์ที่โลกทั้งใบมีลักษณะข้ามชาติมากขึ้น... การดำรงอยู่ร่วมกันในความหลากหลายของชาติพันธ์ การเลื่อนไหลของผู้คน สินค้า วัฒนธรรมข้ามพรมแดนของรัฐชาติ ที่เราปฏิเสธไม่ได้ คำถามก็คือเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร
 
000
 
ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ ปาฐกถาพิเศษในงานโครงการฝึกอบรม "เขตแดนของเรา เพื่อนบ้านอาเซียนของเรา" ณ โรงแรมเซ็นทารา ดวงตะวัน เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มกราคม 2554ที่ผ่านมา โดยชี้ให้เห็นถึงความสลับซับซ้อนของพื้นที่ที่เรียกว่าชายแดน ในมิติของประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการนิยามความหมาย ทั้งจากส่วนกลางและผู้คนบริเวณชายแดน
 
.......................................................................
 
ผมไม่ค่อยมีความรู้เรื่องเขตแดนเท่าไหร่ ฉะนั้นผมจะพูดเรื่องชายแดนที่ผมพอรู้บ้าง ผมจะพูดเกี่ยวกับงานวิจัยที่ทำในมช. ไม่ได้ไปทำข้ามประเทศ แต่ข้ามฝากเหมือนกัน ประเด็นแรกที่อยากแลกเปลี่ยน คือ เรื่องความหมาย โดยปกติแล้วเมื่อเราพูดถึงชายแดน เรามักจะใช้คำอยู่ 2 คำ ชายแดนถ้าเป็นภาษาทางการของอเมริกันสมัยก่อนจะใช้คำว่า Frontier ตลอด ซึ่งหมายถึงพื้นที่ชายขอบริมอารยธรรม คนอเมริกันจะไปบุกรุกพวกอินเดียแดง ก็จะบอกว่าไปในพื้นที่ Frontier เป็นพื้นที่ชายขอบที่ไม่มีคนอยู่ซึ่งจริงๆมันมี 
 
อีกคำหนึ่งที่ใช้คือ พรมแดน หรือ border เวลาเราใช้ border เราหมายถึง เส้นที่ขีดแบ่งระหว่างรัฐชาติ เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดถึงชายแดน เราพูดถึงพรมแดนทางภูมิรัฐต่างๆ พูดง่ายๆก็คือ พูดถึงพรมแดนของรัฐต่างๆ ก่อนอื่นเราต้องเขาใจก่อนว่า เมื่อพูดถึงชายแดนมันเป็นโครงสร้างทางการเมือง มันเป็นภาพสะท้อนจินตนาการของชนชั้นนำที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัย แต่ในบางยุคเขตแดนของเราอยู่เบตง เพราะผู้นำเราอยากยึดเขา บางครั้งชายแดนมันก็ยืดหดได้แล้วแต่ผู้นำแต่ละยุคสมัยจะจินตนาการอย่างไร 
 
พอมาถึงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อรัฐชาติหรือจินตนาการของลุงเบน (Benedict Anderson-ผู้ถอด) เกิดขึ้น ดูเหมือนว่า nation state หรือรัฐชาติ มันอยู่ลอยๆไม่ได้ ต้องมีพื้นที่ ฉะนั้นอำนาจเหนือพื้นที่ อธิปไตยมันจึงทำให้พรมแดน มีนัยยะสำคัญขึ้นมา อ. ธงชัย (ธงชัย วินิจจะกูล-ผู้ถอด) คิดเรื่อง Geo body แล้วก็บอกว่าการขีดเส้นแนวชายแดนหรือพรมแดนลงบนแผนที่อย่างชัดเจน ทำให้รัฐชาติดูสูงส่ง และสามารถสถาปนาอำนาจอธิปไตยทางการเมืองในโลกสมัยใหม่ได้
 
แต่ว่าในทางปฏิบัติ ไม่ว่าพรมแดนจะถูกวาดบนแผนที่อย่างชัดเจนเพียงใด ไม่ว่าจะมีหลักปักปันเขตแดนมั่นคงสักเพียงใด ไม่ว่าจะมีด่านตรวจคนเข้าเมืองมากน้อยขนาดไหน จะมีกรมศุลกากรเรียงรายคอยเก็บภาษีสักเท่าไร จะมีหอคอยสังเกตการณ์ตามแนวชายแดนสักกี่แห่ง ชาวบ้านก็จะมองข้ามนัยสำคัญของพรมแดนและชายแดน ชาวบ้านใช้ประโยชน์จากพรมแดนในรูปแบบที่ผู้เขียนแผนที่ไม่ได้คาดคิดหรือออกแบบเอาไว้ กองกำลังปฏิวัติหรือบางคนอาจเรียกว่ากองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อยก็ผลุบโผล่อยู่ตามแนวชายแดน อยู่หลังพรมแดนเพื่อหลีกเร้นการไล่ล่าของกองกำลังรัฐบาล ในขณะเดียวกันก็แสวงหาความคุ้มครองในองค์อธิปัตย์อีกฝากฝั่งหนึ่ง
 
ชนชายแดนที่อยู่ริมชายแดน ก็ฉกฉวยโอกาสในการค้าขายกับเพื่อนบ้าน ทั้งสินค้าที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย บางครั้งการหาที่ดินทำการเกษตร เมื่อไม่มีในฝั่งของเขาก็ข้ามมาฝั่งของเรา ไม่มีงานก็ข้ามมาหางานรับจ้างอีกฝากหนึ่งทำ ไปซื้อสินค้าก็ได้ถ้าได้การบริการที่ดีกว่า ไม่ได้หมายความว่าเขามาใช้บริการจากเราฝ่ายเดียว แต่คนไทยจำนวนไม่น้อยข้ามไปใช้บริการทางฝั่งลาวสมัยที่ฝรั่งเศสปกครองลาวอยู่เพื่อไปโรงพยาบาลเยอะมาก ถ้าดูประวัติศาสตร์แล้วเราใช้บริการเพื่อบ้านไม่น้อยกว่าที่เพื่อนบ้านใช้กับเรา ประเด็นก็คือว่าการดำรงอยู่ร่วมกันของคนหลายกลุ่มตรงบริเวณชายแดน และการใช้ประโยชน์จากพรมแดนในรูปแบบที่หลากหลาย ส่งผลให้พื้นที่ชายแดนแต่ละแห่งมันมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ และมีพลวัตรทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง
 
โดยปกติแล้วในทางวิชาการเวลามีการศึกษาชายแดน มันต้องเป็นงานของกฎหมายและรัฐศาสตร์เป็นหลัก อะไรก็ตามเมื่อเกี่ยวกับกฎหมายและรัฐศาสตร์ มันมักจะยุ่ง เพราะมักจะไม่ได้เข้าใจพื้นฐานความเข้าใจมนุษย์ ผมเป็นนักมานุษยวิทยา
 
แต่ว่าในช่วง 20-30ปีที่ผ่านมามีคนอพยพย้ายถิ่นมากขึ้น เมื่อมีแรงงานอพยพมากขึ้นก็ได้รับความสนใจมากขึ้น เราก็จะมองว่า เราเป็นเป้าหมายของการอพยพ แต่เราก็ไม่ได้มองว่า คนไทยอพยพไปทำงานนอกบ้านเราเยอะมาก เป็นหลายแสนคนต่อปี เรามักจะมองว่าพม่า ลาว มาทำงานบ้านเราเยอะ แต่ประเด็นก็คือว่างานศึกษาที่ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการย้ายถิ่นข้ามพรมแดน จะเป็นเรื่องของผู้ลี้ภัยหรืองาน แรงงานอพยพ มักจะเป็นงานมานุษยวิทยา ซึ่งเป็นงานที่เน้นทำความเข้าใจกับบริบททางประวัติศาสตร์ และก็เน้นผลกระทบของพรมแดนต่อชีวิตและวัฒนธรรมมากกว่ามิติ ทางกฎหมาย ฉะนั้นนักมานุษยวิทยาจึงให้ความสนใจของการต่อสู้ ดิ้นรน ปรับตัวของคน ตลอดจนพลวัตรของแนวชายแดนซึ่งเกิดจากการปรับเปลี่ยนนโยบายรัฐ เราเชื่อว่าถ้าเราทำความเข้าใจกับผลกระทบทางสังคมทีมีต่อผู้คนที่อยู่ชายขอบจากการขีดเส้นแบ่งพรมแดน โดยเน้นศึกษาระยะยาว มิติ ทางประวัติศาสตร์ และเน้นมุมมองจากศูนย์กลางและชายขอบไปพร้อมกัน เราจะทำความเข้าใจชายแดนได้ดีขึ้น
 
ขอพูดถึงคอนเซ็ปต์ (concept) ตอนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลตะวันตก มีความสับสนเกี่ยวกับคำศัพท์ชายแดนอยู่พอสมควร โดยปกติแล้วเราใช้คำอยู่ 3 คำ คือคำว่าชายแดน (Frontier) พรมแดน (border) และขอบเขต (boundary) ประเทศทางตะวันตกใช้คำเหล่านี้แตกต่างกันพอสมควร อเมริกานิยมใช้คำว่า frontier ในขณะที่อังกฤษ หรือประเทศยุโรปนิยมใช้คำว่า border หรือ boundary
 
ดูจากคำว่า boundary ก่อน คำว่าขอบเขตมักจะใช้ในพิธีทางการทูตในการเจรจาเพื่อกำหนดแนวพรมแดนระหว่างรัฐอย่างชัดเจน ในขณะเดียวกันขอบเขตก็บ่งบอกความหมายของความแตกต่างทางชาติพันธ์ ความแตกต่างทางชาติพันธ์ของคนกลุ่มต่างๆ
 
เราใช้พรมแดน เป็นเส้นแนวเขตระหว่างรัฐชาติ ในขณะที่ชายแดน จะมีนัยยะบ่งบอกถึงการขยายดินแดน หรืออารยธรรมเข้าไปที่รกร้างว่างเปล่า
 
แต่ทั้งหมดนี้เพื่อให้เข้าใจเท่านั้นเอง ผมจึงเสนอนอว่าให้ใช้คำเดียว คือ พรมแดน (border) ใช้มันในลักษณะแตกต่างกันตามลักษณะ คือ 1) พรมแดนภูมิรัฐศาสตร์ (Geo-political-border) 2)พรมแดนชาติพันธ์ (Ethnic border) 3) พรมแดนวัฒนธรรม ( culture border) ซึ่งจะช่วยทำให้เราสับสนน้อยลง
 
เวลาที่เราพูดถึงพรมแดนทางภูมิรัฐศาสตร์ เราจะพูดถึงอำนาจรัฐ ซึ่งที่มีการตะโกนให้ใช้กำลังทางทหารกัน เป็นมุมมองจากภูมิรัฐศาสตร์ และเป็นมุมมองแบบเก่าๆ ถ้าเพื่อเราหันมามองทางพรมแดนทางชาติพันธ์ หรือพรมแดนทางวัฒนธรรม เราจะมองเห็นว่า พรมแดนที่เกิดจากชาติพันธ์ มันเกิดจากความรู้สึกเป็นพวกผองเครือญาติ มันเกิดจากใช้ภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ใกล้กัน มันเกิดจากรากทางวัฒนธรรมเดียวกัน หรือ สืบทอดสายเดือดจากกลุ่มบรรพชนเดียวกัน รวมไปถึงการสร้างตัวตน หรืออัตลักษณ์ของกลุ่มที่แยกออกไปผ่านการสร้างสำนึกทางประวัติศาสตร์ แต่ในขณะเดียวกันเมื่อเกิดรัฐชาติขึ้นมาพรมแดนทางชาติพันธ์ หรือพรมแดนทางวัฒนธรรมมักจะถูกซ้อนทับและกลบเกลื่อนด้วยพรมแดนของรัฐชาติ เพราะฉะนั้นประเด็นเราต้องพยายามแยกแยะให้ดี จึงเป็นประเด็นหลักที่ผมอยากจะนำเสนอในวันนี้ก็คือการซ้อนทับระหว่างพรมแดนของรัฐและพรมแดนทางวัฒนธรรม
 
เมื่อดูแผนที่จะพบกลุ่มใหญ่ คือไทใหญ่ ไทลือ ถ้าดูพรมแดนวัฒนธรรมไทใหญ่ จะพบว่ากินพื้นที่ตั้งแต่จีนทางตอนใต้, รัฐฉานและทางภาคเหนือของไทย หรือพรมแดนวัฒนธรรมของไทลื้อซึ่งถ้าดูประวัติศาสตร์ ลื้อจะทำการค้าครอบคลุมถึงพม่า และบางส่วนของลานนา คือ เชียงคำ เชียงแสน พะเยา เชียงใหม่ ลำพูน บางส่วนของแม่ฮ่องสอน แต่เมื่อเกิดพรมแดนรัฐชาติซึ่งมันเกิดทีหลัง มันเกิดการขีดเส้นแบ่งพื้นที่ แต่พื้นที่พวกนี้มันไม่อาจะขวางกั้น การไปมาหาสู่ การติดต่อ ขนบธรรมเนียมประเพณีแบบเดียวกัน ไม่อาจจะขวางกั้นการไปมาหาสู่ของผู้คนที่มีมาอย่างยาวนานได้
 
อยากจะยกตัวอย่างพื้นที่ เชียงแสน เชียงแสนเป็นเมืองที่มีอายธรรมเก่าแก่ ในทางตอนเหนือ เป็นเมืองที่พม่า กับลานนาต่างแก่งแย่งเพื่อครอบครองขึ้นอยู่กับยุคสมัยว่าใครจะได้ครอบครอง แต่ประเด็นสำคัญก็คือว่า เชียงแสน เป็นบ้านของผู้คนหลากหลายมาก ไม่ได้มีแต่คนลื้อ ไทใหญ่ หรือพม่า แต่ยังมีกลุ่มชาติพันธ์อีกกว่า 10 กลุ่ม และก็เป็นพื้นที่ที่ผู้คนถูกกวาดต้อนมาตั้งถิ่นฐาน หรืออพยพทำการค้าขายมาตั้งแต่โบราณ แต่เมื่อปี 2518 เมื่อคอมมิวนิสต์ลาวประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบบสังคมนิยม ลาวปิดประเทศ ทำให้ชายแดนไทยกับลาวเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น ทำให้เราเห็นความหวาดระแวงกันของรัฐทั้งสอง การเดินข้ามชายแดนเกิดความเข้มงวดมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้คนจะเลิกเดินทาง คนก็ยังเดินทางไปมาอยู่ แต่พอสงครามสิ้นสุดลงเราจะเห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า เชียงแสนจึงกลายเป็นเมืองท่า จีนขนสินค้ามาป้อนเราทางเชียงแสนอยู่ตลอดเวลา เกิดการเลื่อนไหลไปมาของผู้คน สินค้าและวัฒนธรรมข้ามพรมแดนของรัฐชาติ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า พรมแดนของรัฐชาติเริ่มยืดหยุ่นมากขึ้น ถ้าไปดูพรมแดนของเชียงแสน จะพบว่าข้ามง่ายมาก จะข้ามไปต้นผึ้ง หรือข้ามไปเล่นการพนัน ข้ามง่ายมาก เพราะ เขาอยากจะสนับสนุนให้ข้ามไปเพื่อผลประโยชน์
 
เมื่อใดก็ตามที่พื้นที่ชายแดนรัฐชาติ ถูกซ้อนทับด้วยการเป็นพื้นที่การค้า ความสัมพันธ์ทางสังคมจะเริ่มซับซ้อนมากขึ้น และพรมแดนของรัฐชาติจะเริ่มยืดหยุ่นมากขึ้น
 
อยากเทียบให้เห็นอีกเมือง คือ พื้นที่เชียงของ ซึ่งเป็นพื้นที่บ้านของผู้คนมากมายหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นลื้อ ลาว ไทเขิน ขมุ ม้ง มูเซ่อ เย้า ผู้คนก็ข้ามไปมา เป็นญาติกัน โดยเฉพาะคนลื้อ มีประเพณีที่ต้องไปเยี่ยมไหว้กันเป็นประจำ เชียงของโตในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 เมื่อน่านเรืองอำนาจขึ้นในล้านนา เพราะว่าน่านเป็นเมืองของคนลื้อ เป็นเมืองท่าสำคัญ มีการกวาดต้อนผู้คนจาก 12 ปันนาไปอยู่น่านและข้ามไปหลวงพระบางด้วย เพราะฉะนั้นผู้คนแทบนี้ก็จะเป็นญาติพี่น้องกันไปหมด และยังเป็นจุดผ่านสำคัญของการค้าในอดีต จึงทำให้การหลั่งไหลของผู้คนเยอะมาก
 
แต่พอถึงปิดพรมแดนในปี พ.ศ.2518 รัฐชาติเริ่มพัฒนาตัวขึ้นอย่างเข้มแข็ง เริ่มเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างฝั่งไทยกับฝั่งลาว เพราะฉะนั้นเมื่อเปิดพรมแดนอีกครั้งในสมัยคุณชาติชาย ก็จะเห็นความแตกต่างของสองฝากฝั่งลำน้ำโขงเป็นอย่างมาก ปัจจุบันนี้เชียงของจึงเป็นพื้นที่ที่ทำการค้า ส่งน้ำมันไปลาว โดยผ่านท่าเรือที่เชียงของ ขากลับก็มีการส่งถ่านหินเข้ามา ในขณะเดียวกันสิ่งที่แตกต่างออกไป คือชาวบ้านสองฝั่งยังค้าขายกันอยู่ มีการค้าข้ามพรมแดนเยอะมาก มีจุดจอดเรือที่ไม่ใช่เป็นท่าใหญ่ อีก 3-4 แห่งที่ชาวบ้านใช้ข้ามไปข้ามมา และแม่ค้ามีบทบาทสำคัญมากในการติดต่อการค้า ขายนำสินค้าจากฝั่งไทยไปขายที่ลาว ในทำนองเดียวกันถ้าต้องการแรงงานหักข้าวโพด แม่ค้าก็จะเป็นผู้ติดต่อแรงงานให้ ฉะนั้นผู้คนแถบนั้นติดต่อค้าขายโดยไม่เคยคิดว่าแม่น้ำโขงเป็นพรมแดน แต่ใช้ความเป็นชาติพันธ์ ความเป็นญาติพี่น้องในการติดต่อระหว่างกัน
 
แต่ถ้าถามว่าพรมแดนของรัฐชาติมีผลไหม ก็มี เพราะมีการแบ่งแยกเป็นลื้อจีน ลื้อลาว ลื้อไทย และมีการบลั๊ฟกันบ้าง แต่โดยหลักใหญ่แล้วก็จะใช้ความเป็นพี่น้องมากกว่า ผู้คนก็ยังทำมาหากินกับแม่น้ำโขง เวลามีงานศพ ผู้คนจากอีกฝั่งหนึ่ง (ถ้าเป็นญาติกัน) ก็จะมาช่วยงาน
 
ถ้าเราเปรียบเทียบเชียงแสนกับเชียงของ ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่ามีความแตกต่างกันอยู่ในความเป็นเมืองชายแดนด้วยกัน คือ เชียงของจะทำการเกษตรเข้มข้น ยังมีสวนส้ม ทุ่งข้าวโพด แต่เชียงแสนจะเปลี่ยนไปเป็นเมืองท่า ทำการค้าขายเป็นส่วนมาก พรมแดนก็เลยยืดหยุ่นมากขึ้น ในขณะที่เชียงของ พรมแดนมีความยืดหยุ่นอยู่แล้ว (เพราะยังไงก็ปิดเขาไม่ได้) แต่ในขณะเดียวกันทั้งสองฝากฝั่งของเมืองชายแดนเหล่านี้ ความเป็นชาติพันธ์ พรมแดนทางวัฒนธรรม ยังมีความสำคัญในชีวิตประจำวัน การต่อรองทางการค้าผ่านความเป็นชาติพันธ์ยังคงดำเนินไปย่างเข้มข้น แม้ว่าพ่อค้าจีนจะเข้ามาทำลายการค้าหลายอย่างไป แต่การค้าหลายอย่างยังใช้ความเป็นชาติพันธ์ เช่นการค้าวัว ควาย จากฝั่งจีน ลาวเข้ามาในฝั่งไทย
 
สิ่งที่อยากเสนอจากในสิ่งที่ได้พูดมาทั้งหมดคือ มันมีนัยอย่างไรต่อรัฐชาติ ถ้าเราดูชายแดนให้ดี เราจะเห็นว่ารัฐชาติแม้ว่าจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จในระดับหนึ่ง ในการนิยามความหมายที่ศูนย์กลาง (กรุงเทพ) แต่ในบริเวณชายขอบ เช่น ตามพรมแดนหรือบริเวณชายแดน รัฐชาติไม่เคยสถาปนา อำนาจของตนเองได้อย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์
 
ในทางตรงกันข้าม ความเข้าใจหรือการนิยามความหมายของพรมแดนและความเป็นท้องถิ่น มันมีหลายแบบซ้อนทับกันอยู่ เพราะฉะนั้นมันมีความหมายชายแดนตามนัยของรัฐ มันมีความหมายนัยของชนชายแดน แม้ว่าในบริเวณชายแดนเราจะเห็นอำนาจรัฐถูกแสดงอย่างมหาศาล มีการนำเทคนิควิธีในการแสดงอำนาจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการลาดตระเวน ตรวจบัตรประชาชน การใช้กองกำลังทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน แต่ในความเป็นจริงแล้วอำนาจรัฐชาติไม่ครอบคลุม เวลาเราไปชายแดนจะเห็นว่ากรมศุลกากรพูดอย่างหนึ่ง ตำรวจพูดย่างหนึ่ง ทหารพูดอย่างหนึ่ง ไม่เคยตรงกัน
 
ตรงนี้มันทำให้ชายแดนเป็นพื้นที่ซึ่งอำนาจมีความซับซ้อน ยุ่งเหยิง กำกวมและขัดแย้งกัน ถ้าเมื่อไหร่ที่เราเอาศูนย์กลางเป็นใหญ่ เราจะเห็นได้ว่าอำนาจ ตามแนวชายแดนนั้นยุ่งเหยิง กำกวม แต่ถ้าเราเข้าใจชาวบ้าน เราจะเห็นได้ว่า มันมีความเป็นระเบียบแบบแผน ของชนชายแดน
 
นอกจากนั้นแล้วในโลกของการเคลื่อนย้ายของสินค้า ผู้คนและวัฒนธรรมข้ามพรมแดนของรัฐชาติอย่างมากมายมหาศาล ทำให้รัฐชาติถูกลดทอนความสำคัญลงไปเรื่อยๆ ซึ่งรัฐชาติไม่ได้หายไปไหน แต่รัฐชาติมีความเป็น พหุลักษณ์ หรือมีลักษณะข้ามชาติ multi-culturalism กล่าวคือ มีลักษณะการดำรงอยู่ของผู้คนหลากหลายวัฒนธรรมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เพราะฉะนั้นการพูดถึงรัฐชาติในแง่ของความเป็นหนึ่งเดียวจึงเป็นเรื่องที่ล้าสมัย ในบริบทของโลกาภิวัฒน์ที่โลกทั้งใบมีลักษณะข้ามชาติมากขึ้น
 
อีกประเด็นหนึ่งก็คือว่า ในพื้นที่ชายแดนทุกแห่งหนทั่วโลก เราเริ่มจะเห็นการหลั่งไหลของทุนข้ามชาติเข้ามาในท้องถิ่น การหลั่งไหลของทุนข้ามชาติเข้ามาในท้องถิ่นในบริเวณชายแดน มันส่งผลให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในบริเวณพื้นที่ชายแดนนั้น ซ้อนทับ และเลื่อนไหลมากขึ้น อันนี้อยู่นอกเหนืออำนาจของรัฐชาติที่จะไปควบคุม
 
นอกจากนั้น เราจะเห็นได้ว่าชายแดนเป็นพื้นที่การแย่งชิงอำนาจในการนิยามความหมายของสถานะพลเมือง
 
เราพยายามไปใช้การกีดกันสิทธิ โดยพยายามบอกว่า ไม่ใช่ "ไทย" กีดกันคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ในบริบทของโลกที่ดึงคนเข้ามาร่วมกัน ที่อินเดีย เขาให้คนอินเดียที่อยู่ที่ไหนก็ได้ในโลก เข้าเมืองได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า เป็นกลวิธีที่แยบยลมากในการดึงคนกลับมาลงทุน จีนใช้มา 30 ปีแล้ว ตั้งแต่ยุคเติ้งเสียวผิ้ง เติ้งพูดว่า "จีนอยู่ที่ไหนเป็นจีน ไม่ว่าจะเป็นแซ่อะไร กลับมาเถอะกลับมาลงทุนในแผ่นดินแม่"
 
นอกจากนี้ชายแดนยังเป็นพื้นที่ของการปรับเปลี่ยนจุดเผชิญหน้า ระหว่างคนกลุ่มต่างๆ อย่างคนข้ามมาฝั่งไทยเพื่อจะมาซื้อบัตรที่สูง เพื่อเปลี่ยนสถานะภาพของตนเอง ขณะเดียวกัน ชายแดนก็เป็นพื้นที่ของการสร้างและนำเสนอตัวตนที่หลากหลาย คนไทใหญ่ที่เข้ามาบ้านเรา เอาวัฒนธรรมมานำเสนอ และบอกว่าเขาไม่ใช่คนอื่น เขาก็คือลูกหลาน เป็นการนำเสนอตัวตนเพื่อที่จะบอกว่า ไทใหญ่กับไทยเป็นพี่น้องกัน
 
ในขณะเดียวกันชายแดนเป็นพื้นที่ที่อาจความขัดแย้งทางวัฒนธรรมและอำนาจ ถ้าเมื่อไหร่เกิดกระบวนการรวมศูนย์อำนาจของรัฐชาติ เพราะการรวมศูนย์รัฐชาติกีดขวางและท้าทายความเป็นหนึ่ง เมื่อไหร่ที่คุณไปชายแดน แล้วประกาศว่ากูเป็นหนึ่งเดียว เป็นไทยหมด ปัญหาจะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพราะพรมแดนเป็นพื้นที่ของความหลากหลาย ซึ่งมัยขัดกับหลักธรรมชาติ ขัดกับวิถีชีวิตของผู้คน ขัดกับผลประโยชน์ ขัดกับศาสนา
 
ประเด็นสุดท้ายที่อยากจะนำเสนอ คือ ชายแดนเป็นพื้นที่ ซึ่งผู้คนเจรจาต่อรองอยู่ตลอดเวลา เสมือนรั้วบ้านที่ถูกรื้อสร้างอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นคุณจะจัดการชายแดนคุณต้องให้คนท้องถิ่นมีส่วนร่วมด้วย เพราะเขารู้ว่ารั้วของเขาอยู่ตรงไหน รั้วก็ไม่จำเป็นต้องเป็นหลักที่เท่าไหร่เท่านั้น รั้วของวัฒนธรรมมันใหญ่กว่ารัฐชาติ
 
จากทั้งหมดนี้ มีข้อคิดจากชายแดนให้ชวนคิดกันต่อ คือ การดำรงอยู่ร่วมกันในความหลากหลายของชาติพันธ์ การเลื่อนไหลของผู้คน สินค้า วัฒนธรรมข้ามพรมแดนของรัฐชาติ ที่เราปฏิเสธไม่ได้ คำถามก็คือเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร ถ้าเรายอมรับข้อเท็จจริงตรงนี้ เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะบอกว่าชายแดนเป็นพื้นที่ของความยืดหยุ่นในหลายลักษณะ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะนิยามความยืดหยุ่นนี้อย่างไร
 
อุดมการณ์ชาตินิยมที่เน้นความเป็นหนึ่งเดียวเป็นอันตรายมากต่อผู้คนชายแดน มันลิดรอนวิถีชีวิตของชนชายแดน อันนี้ไม่ต้องพูดถึงว่ามันเป็นอันตรายต่อทั้งประเทศเพราะถ้าชายแดนมีปัญหามันจะครอบคลุมทั้งประเทศ(โดยเฉพาะการเกิดสงคราม ความเป็นชายแดนจะไปทั่วประเทศ) จึงขอเสนอว่า ชายแดนควรเป็น space of exception เป็นพื้นที่พิเศษ น่าจะทำได้ (ขนาดประเทศจีนที่เราบอกว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ใช้ space of exception เยอะมาก เช่นฮ่องกง เซิ่นเจิ่น) และการเป็นพื้นที่พิเศษจะทำให้ได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การค้าและการเมือง ทำให้สามารถยืดหยุ่นนโยบาย และไม่ใช่เฉพาะชายแดนที่มีปัญหา ชายแดนที่ยังไม่มีปัญหาก็ใช้ได้
 
สุดท้ายเราควรจะเรียนรู้เรื่องพื้นที่ของการจัดการร่วม (Co management) รัฐชาติและหน่วยงานของรัฐควรเลิกเป็นพระเอกและฟังคนที่ชายแดนให้มากขึ้น ชายแดนควรเป็นพื้นที่ของการจัดการร่วม (Co management) การจัดการพื้นที่ควรเป็นการจัดการขององค์กรท้องถิ่น องค์การค้า และหน่วยงานของรัฐ ไปจนถึงข้ามไปเป็นการจัดการร่วมระหว่างประเทศ รูปแบบจะเป็นอย่างไรแล้วแต่ ในพื้นที่ แต่ละพื้นที่ก็ไม่ควรมีระบบการจัดการที่เหมือนกัน
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถาปัตยกรรมของอินเทอร์เน็ต: ลักษณะและนัยต่อความรับผิด

Posted: 31 Jan 2011 02:29 AM PST

เมื่อโลกล่วงเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 อินเทอร์เน็ตก็ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตสำหรับคนส่วนใหญ่ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กที่ชอบเล่นเกมออนไลน์ คนหนุ่มสาวที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่หลักในการรับรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ไปจนถึงคนเฒ่าคนแก่ที่มีความสุขกับการได้กลับมาพบปะพูดคุยกับเพื่อนเก่าอีกครั้งผ่านเฟซบุ๊ค

ยิ่งอินเทอร์เน็ตกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราเท่าไร เราก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะมองไม่เห็นความซับซ้อนเชิงโครงสร้างและความเรียบง่ายเชิงหลักการของอินเทอร์เน็ต และการที่เราได้อ่านข้อความบนหน้าเว็บเพจ (web page) แทบจะในทันทีที่เราเรียกดู ก็ทำให้เราไม่ฉุกใจคิดว่ามีผู้เกี่ยวข้องกี่ราย มีอะไรเกิดขึ้นบ้างก่อนที่เนื้อหาบนหน้าเว็บจะเดินทางมาถึงสายตาของเรา

ชาญชัย ชัยสุขโกศล ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายอย่างรวบรัดชัดเจนในรายงานเรื่อง “อำนาจเชิงโครงสร้างของเทคโนโลยี: ศึกษากรณีอินเทอร์เน็ตไทย ช่วงก่อนรัฐประหาร 2549” ว่า การที่เราได้อ่านหรือพิมพ์เนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตนั้น มีผู้รับผิดชอบจำนวนมากในเครือข่าย ซึ่งเราอาจแบ่งได้เป็น 3 ชั้น ได้แก่

(1) ชั้นโครงข่ายพื้นฐาน (Network Infrastructure) ได้แก่ โครงข่ายโทรคมนาคม, วงจรเช่า (leased line / circuit), สายส่งสัญญาณ/สายโทรคมนาคม (transmission / telecommunication line), เกตเวย์อินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ (International Internet Gateway: IIG) ทำหน้าที่คล้ายชุมสายโทรศัพท์ (สำหรับการสื่อสารแบบโทรศัพท์) สำหรับโทรออกต่างประเทศ, ชุมสายแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตในประเทศ (National Internet Exchange: NIX)

(2) ชั้นช่องทางเข้าถึงอินเทอร์เน็ต (Internet Access) ประกอบด้วยบริการหลักๆที่เกี่ยวข้อง 3 ประเภท ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISPs), บริการเว็บโฮสติ้ง (webhosting) หรือรับฝากเว็บไซต์ และศูนย์ข้อมูล (Data Center) ซึ่งให้บริการรับฝากเครื่องเว็บเซิร์ฟเวอร์ และ

(3) ชั้นเนื้อหาอินเทอร์เน็ต (Internet Content) ซึ่งประกอบด้วยเว็บไซต์, เว็บบอร์ด, เว็บบล็อก (weblog), ทีวีออนไลน์, วิทยุออนไลน์, เว็บเครือข่ายสังคม (social network site) ฯลฯ

อาจารย์ชาญชัยสรุปต่อไปว่า การที่เราสามารถเข้าถึงเนื้อหาอินเทอร์เน็ตหนึ่งๆ (เช่น เว็บไซต์แห่งหนึ่ง) ได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีชนิดต่างๆ มากมายมหาศาลที่เชื่อมต่อกันเป็นระบบเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตขนาดใหญ่ และทำงานร่วมกันในการรับส่งข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ ดังนี้ (ดูตารางประกอบ)

(1) เราเองจะต้องเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ต โดยล็อกอินผ่านระบบการให้บริการช่องทางการอินเทอร์เน็ต (ISP) รายหนึ่ง จากนั้นจึงส่งข้อมูลคำสั่ง ว่าต้องการเปิดเว็บใดไปยังเครื่องเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ในที่นี้จะเรียกว่า “บิต” (bit) ซึ่งเป็นเลขฐานสอง อันเป็นรูปแบบพื้นฐานที่สุดของภาษาคอมพิวเตอร์) (2) บิตคำสั่งดังกล่าวจะถูกส่งผ่านโครงข่ายโทรคมนาคมพื้นฐานเชื่อมต่อภายใน ประเทศทั้งที่เป็นแบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (ADSL) หรือระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วต่ำ (PSTN) รวมทั้งระบบโครงข่ายเอทีเอ็มหรือสายเช่า (lease line) ประเภทต่างๆ เพื่อเรียกข้อมูลจาก (3) คอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ที่ทำหน้าที่เป็นเว็บโฮสติ้ง ซึ่งถ้าเป็นเว็บใหญ่ก็จะตั้งอยู่ที่ (4) ศูนย์ข้อมูล (Data Center) ซึ่งให้บริการรับฝากเครื่องเซิร์ฟเวอร์ด้วย ถ้าข้อมูลเนื้อหาอินเทอร์เน็ตไม่ได้อยู่ที่ระบบให้บริการอินเทอร์เน็ตนั้นๆ บิตคำสั่งขอข้อมูลดังกล่าวก็จะต้องวิ่งขึ้นไปที่อื่น กรณีเว็บนั้นๆอยู่ภายในประเทศ (เช่น pantip.com เป็นต้น) บิตคำสั่งจะวิ่งไปที่ (5) ชุมสายอินเทอร์เน็ตภายในประเทศ เพื่อวกกลับลงมาสู่ (6) ระบบให้บริการอินเทอร์เน็ตของรายอื่น ซึ่งเชื่อมต่อกับ (7) เว็บโฮสติ้งเครื่องที่เก็บข้อมูลของ (8) เว็บไซต์ตัวที่ต้องการเข้าถึง แต่ถ้าเว็บไซต์นั้นๆอยู่ต่างประเทศ (เช่น youtube.com เป็นต้น) คำสั่งขอข้อมูลก็จำเป็นจะต้องวิ่งไปที่ (9) เกตเวย์อินเทอร์เน็ตเข้า/ออกระหว่างประเทศ เพื่อวิ่งต่อโดยผ่าน (10) สายใยแก้วนำแสงภาคพื้นดินไปที่ (11) สถานีรับส่งดาวเทียม หรือ (12) ที่จุดเชื่อมต่อสายเคเบิลใต้น้ำ เพื่อออกสู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตของโลกต่อไป เมื่อได้พบเซิร์ฟเวอร์ที่ตั้งของเว็บไซต์นั้นๆ แล้ว บิตข้อมูลเนื้อหาของเว็บไซต์นั้นๆ ก็จะถูกส่งให้วิ่งย้อนกลับยังเครือข่าย อุปกรณ์ต่างๆ ตามที่วิ่งมา (กรณีนี้เป็นเพียงตัวอย่างพื้นฐาน กรณีจริง จะมีเทคนิคอีกมากมาย เพื่อลดความล่าช้าของการวิ่งหาข้อมูล เช่น ระบบพร็อกซี่เซิร์ฟเวอร์ที่ติดตั้งไว้ตามอุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น)
 

โครงสร้างของอินเทอร์เน็ตในมิติต่าง ๆ
(คลิกเพื่อดูรูปขนาดเต็ม)
 

จากตารางด้านบนจะเห็นว่า การทำงานอะไรก็ตามของอินเทอร์เน็ตนั้นมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหรือเครื่องที่เรามองไม่เห็น การที่เราได้อ่านเนื้อหาบนเว็บเพจหน้าไหนก็ตาม (รวมทั้งบทความที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้ด้วย) จำต้องอาศัย “ตัวกลาง” จำนวนมาก ตั้งแต่ผู้เขียนเนื้อหา (อย่างเช่นผู้เขียนบทความนี้) เว็บมาสเตอร์ (webmaster) ผู้ดูแลเว็บ ผู้ให้บริการโฮสติ้งซึ่งเป็นเจ้าของคอมพิวเตอร์ที่เก็บบทความนี้ไว้ให้ดู ไปจนถึงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ที่ท่านจ่ายค่าบริการเพื่อเชื่อมต่อเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

ในเมื่อการนำส่งเนื้อหาบนเว็บเพจสู่สายตาคนอ่านมีตัวกลางที่เกี่ยวข้อง จำนวนมากและหลากหลายประเภท ผู้บังคับใช้กฎหมายจึงต้องใช้ความระมัดระวังและความเชี่ยวชาญค่อนข้างมากในกระบวนการพิสูจน์ว่า เนื้อหาบนเว็บไซต์ที่ผิดกฏหมายนั้นมี “ตัวกลาง” คนไหนที่มี “เจตนา” หรือ “ยินยอม” ให้สร้างเนื้อหาดังกล่าวบ้าง

ลองสมมติว่าคุณเช่าบ้านพักอยู่แถวชานเมือง วันดีคืนดีมีคนมือบอนมาพ่นข้อความกล่าวหานักการเมืองชื่อดังบนกำแพงบ้าน มีคนถ่ายรูปเอาไว้ได้และอัพโหลดรูปขึ้นเว็บบอร์ดชื่อดังแห่งหนึ่งก่อนที่คุณจะลบทัน สมาชิกเว็บบอร์ดหลายคนเข้ามาวิพากษ์วิจารณ์อย่างสนุกสนานและส่งรูปนั้นต่อไป เป็นอีเมลลูกโซ่ รวมทั้งก็อปปี้รูปนั้นไปโพสบนเว็บอื่น นักการเมืองผู้ตกเป็นเป้าเข้ามาพบรูปถ่ายข้อความบนกำแพง รีบสั่งให้ทนายหาตัวตนของคนมือบอนเพื่อแจ้งจับในข้อหาหมิ่นประมาท

ถ้านักการเมืองรายนั้นไปแจ้งความขอให้ตำรวจจับคุณด้วย โดยอ้างว่าคุณ “ยินยอม” ให้คนมือบอนหมิ่นประมาทเขาเพราะไม่ได้ทำความสะอาดกำแพงอย่างทันท่วงที คุณย่อมรู้สึกว่าข้อกล่าวหาข้อนี้ไม่เป็นธรรม คำถามข้อต่อไปคือ ถ้าใช้เหตุผลแบบนี้ นักการเมืองคนนั้นก็อาจใช้เหตุผลทำนองเดียวกันแจ้งความจับเจ้าของบ้านที่ให้คุณเช่า (ในฐานะเจ้าของกำแพงที่ตีพิมพ์ข้อความหมิ่นประมาท) เจ้าของเว็บบอร์ดที่เปิดให้คนเข้ามาโพสรูปถ่ายได้อย่างเสรี (ในฐานะเจ้าของสื่อที่เผยแพร่เนื้อหาหมิ่นประมาท) รวมไปถึงบริษัทโฮสติ้งที่โฮสเว็บบอร์ดนั้นๆ (ในฐานะเจ้าของพื้นที่ของสื่อที่เผยแพร่เนื้อหาหมิ่นประมาท)

การฟ้อง “ตัวกลาง” ต่างๆ ในกรณีสมมติข้างต้นฟังดูไม่เป็นธรรมอย่างไร การฟ้องร้อง “ตัวกลาง” ต่างๆ กรณีเกิดเนื้อหาผิดกฎหมายบนอินเทอร์เน็ตก็ไม่เป็นธรรมฉันนั้น เนื่องจากการทำงานของอินเทอร์เน็ตต้องพึ่งพาอาศัยตัวกลางจำนวนมาก ลำพังการปรากฏเนื้อหาที่เจ้าหน้าที่มองว่าผิดกฎหมาย ไม่ได้แปลว่าตัวกลางต่างๆ “เจตนา” หรือ “ยินยอม” ที่จะให้เนื้อหานั้นปรากฏ

ในเมื่อสถาปัตยกรรมของอินเทอร์เน็ตมีตัวกลางที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก และการทำงานของตัวกลางเหล่านั้นก็จำเป็นต่ออินเทอร์เน็ต กฎหมายอินเทอร์เน็ตที่เป็นมาตรฐานสากลจึงคุ้มครองตัวกลางเป็นพื้น คือตั้งสมมติฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ ไม่ใช่เพ่งเล็งว่าสมรู้ร่วมคิดกับผู้กระทำผิด กล่าวคือ เจ้าหน้าที่จะไม่แจ้งจับตัวกลางในข้อหาเจตนาหรือยินยอมให้มีเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย จนกว่าจะพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่ามีเจตนาจริงๆ เช่น สมมติว่าเจ้าหน้าที่เคยแจ้งเว็บมาสเตอร์ให้ลบเนื้อหาที่แสดงหลักฐานให้เห็น แล้วว่าผิดกฎหมายอย่างชัดเจน ภายใน 7 วันตามที่กฎหมายกำหนด แต่เว็บมาสเตอร์ไม่ยอมทำตาม เป็นต้น (ปัจจุบันกฏหมายไทยยังไม่มีขั้นตอนในการแจ้งลบเนื้อหาผิดกฏหมาย)

นอกจากจะต้องทำความเข้าใจว่าอินเทอร์เน็ตเดินได้ด้วยตัวกลางจำนวนมากแล้ว เราก็ยังต้องทำความเข้าใจด้วยว่า บริการต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตแตกต่างจากบริการนอกเน็ตอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น เว็บบอร์ด (web board) คือการสื่อสารสองทางระหว่างผู้ใช้เน็ตด้วยกัน ไม่ใช่ “สื่อมวลชน” แบบดั้งเดิมที่ต้องมีกองบรรณาธิการคอยกรองเนื้อหา ก่อนตีพิมพ์ เว็บบอร์ดไหนที่เนื้อหาถูกกรองก่อน เว็บบอร์ดนั้นก็จะไม่ได้รับความนิยม เพราะผู้ใช้เน็ตอยากสื่อสารกันเองโดยที่ไม่มีใครมาเซ็นเซอร์ก่อนตีพิมพ์ การเซ็นเซอร์หรือปิดกั้นทำได้ หลังจากที่เนื้อความที่สื่อสารกันปรากฏบนเว็บแล้วเท่านั้น

ผู้ดูแลเว็บบอร์ดขนาดใหญ่ที่ได้รับความนิยมสูงมาก อย่างเช่น pantip.com เปรียบเสมือน “พิธีกร” ในงานเลี้ยง ผู้คอยดูแลให้การสนทนาระหว่างแขกเหรื่อเป็นไปอย่างราบรื่น หรือเป็น “โอเปอเรเตอร์” ผู้ทำหน้าที่สับสายโทรศัพท์ มากกว่าจะเป็น “บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา” ของสื่อสิ่งพิมพ์

พิธีกรในงานเลี้ยงไม่ควรต้องร่วมรับผิดเวลาที่แขกในงานกระทำความผิด ฉันใด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด เจ้าของเว็บบอร์ด เจ้าของเว็บไซต์ที่เปิดให้ใครก็ได้เป็นเจ้าของเว็บบอร์ด บริษัทโฮสติ้ง และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ก็ไม่ควรต้องร่วมรับผิดเวลาที่ผู้ใช้เน็ตโพสเนื้อหาที่ผิดกฏหมายฉันนั้น.

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://thainetizen.org/node/2594

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper