โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

คนไทยหัวใจรักชาติลั่นหากคดี 7 คนไทยไม่คืบ เคลื่อนพลปิดด่านอรัญฯ

Posted: 12 Jan 2011 05:24 AM PST

12 ม.ค. 54 - เวลา 11.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ แถลงว่า  ในเวลา 14.00 น.  ทางเครือข่ายฯ จะไปยื่นหนังสือต่อสำนักงานกาชาดสากลประจำประเทศไทย เพื่อขอให้ปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลคุ้มครองสิทธิพลเมืองระหว่างประเทศให้ 7 คนไทยที่ถูกคุมขัง และเครือข่ายฯ ขอประกาศยกระดับการต่อสู้ โดยนัดระดมรวมพลในวันที่ 13 มกราคมเพื่อกดดันรัฐบาลให้เร่งช่วยเหลือ 7 คนไทย หากไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทางเครือข่ายฯ อาจเคลื่อนขบวนไปที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เพื่อปิดด่านโดยจะปิดเส้นทางเข้า-ออกตามแนวชายแดน เพื่อตรวจสอบการขนสินค้าผิดกฎหมาย ยาเสพติด แรงงานเถื่อน

น.1 เตรียม ตร.1กองร้อยดูแล

พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 เปิดเผยถึงมาตรการการควบคุมดูแลกลุ่มมวลชนเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลออกมารับผิดชอบ เนื่องจากไม่พยายามช่วยเหลือคนไทย ทั้ง 7 คน ที่ถูกทางการกัมพูชาจับกุมในข้อหารุกล้ำดินแดนกัมพูชา ทั้งนี้ทางเครือข่ายได้ประกาศยกระดับการชุมนุม ในวันที่ 13 ม.ค.นี้ ที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลนั้น ทางด้าน พล.ต.ต.วิชัย กล่าวว่า ได้จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จำนวน 1 กองร้อย เพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเต็มที่ ขณะที่การข่าวระบุว่า จะมีมวลชนจากกองทัพธรรมทั่วประเทศ เคลื่อนขบวนเข้ามาสมทบเพื่อร่วมชุมนุม โดยเชื่อว่า เจ้าหน้าที่จะสามารถควบคุมดูแลสถานการณ์ความเรียบร้อยได้

อย่างไรก็ตาม พล.ต.ต.วิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายฯ ถือเป็นสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งตลอดระยะเวลาช่วงที่มีการชุมนุมนั้น จนถึงขณะนี้ ยังไม่พบว่ามีการกระทำผิดกฎหมายแต่อย่างใด

กต.เผย “วีระ” ยังไม่ให้การขอล่ามจากสถานทูตฯ ไทยแทนล่ามศาล

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงความคืบหน้ากรณี 7 คนไทยถูกจับกุมตัวอยู่ที่กัมพูชา ว่า ล่าสุดมีรายงานความคืบหน้าที่ศาลกัมพูชาไต่สวน นายวีระ สมความคิด และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ในข้อหาพยายามประมวลข่าวสารซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อการป้องกันประเทศ เสร็จสิ้นแล้ว โดย นายวีระ ไม่ได้ให้การใด ๆ กับศาลกัมพูชา ให้เหตุผลว่าจะให้การเฉพาะผ่านทางล่ามที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ จัดหาให้เท่านั้น โดยทางสถานทูตฯ ยินดีจัดหาให้  แต่ติดอยู่ที่กฎระเบียบของศาลกัมพูชาที่ปกติจะใช้ล่ามของทางศาล อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นทางสถานทูตฯ ได้ยื่นขออนุญาตดำเนินการเรื่องดังกล่าวแล้ว แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับทางศาลกัมพูชาเป็นผู้พิจารณา สำหรับ น.ส.ราตรี กำลังตรวจสอบข้อมูล ยังไม่ได้รับรายงานว่าได้ให้การกับศาลหรือไม่ ส่วนคนไทยอีก 5 คน ต้องดูอีก 2 วันว่า จะมีความคืบหน้าในการประกันตัวหรือไม่

เมื่อถามว่า ต้องตั้งทนายความเพิ่มเติมสำหรับช่วย นายวีระ และ น.ส.ราตรี ที่ถูกตั้งข้อหาใหม่หรือไม่  นายชวนนท์  กล่าวว่า คงต้องหารือกับทนายความว่าจะจัดหาทนายเพิ่มเติมหรือไม่ เพราะเป็นผู้รู้ดีที่สุด เนื่องจากอยู่ในห้องไต่สวนด้วย เมื่อถามว่า แนวโน้มการให้ความช่วยเหลือดีขึ้นหรือไม่  นายชวนนท์ กล่าวว่า กำลังเร่งรัดตามกระบวนศาลให้เร็วที่สุด เมื่อมีคำตัดสินคดีแล้ว รัฐบาลของสองประเทศจะได้เจรจาช่วยเหลือให้มีการปล่อยตัว 7 คนไทย ส่วนแนวทางที่จะมีการแลกตัวผู้ต้องหานั้น เป็นแนวทางที่เคยปฏิบัติมาแล้วในอดีต แต่ครั้งนี้จะใช้วิธีการนี้หรือไม่ ยังไม่อยากให้นำไปผูกโยงเพราะต้องดูคำพิพากษาก่อนว่าดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่งขั้นตอนนี้ยังคิดไปไม่ถึง  แต่หากผลคำพิพากษาออกมาแล้วสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การแลกเปลี่ยน และถ้าทำได้ก็จะเป็นทางออกอีกทางหนึ่ง

เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีข่าวระบุ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  กล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จุดที่ 7 คนไทยถูกจับนั้นเป็นพื้นที่ของประเทศไทยว่า เป็นรายงานข่าวที่คลาดเคลื่อน  นายกษิต ไม่เคยพูดเช่นนั้น เพียงแต่รายงานความคืบหน้าการเจรจาให้การช่วยเหลือ 7 คนไทย และสภาพความเป็นอยู่ 7 คนไทยในเรือนจำ เปรย ซอร์ เท่านั้น อย่างไรก็ตามการสู้คดีขณะนี้สาระหลักคงไม่ใช่การพิสูจน์เขตแดนว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นของใคร แนวทางการต่อสู้ ยังยืนยันเป็นการพลัดหลงไปในเขตที่กัมพูชาดูแลอยู่

ส่วนกรณีกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่ง นายชวนนท์ กล่าวว่า สิ่งที่กระทรวงต่างประเทศทำไปไม่มีอะไรแอบแฝง หรือไปเข้าข้างฝ่ายกัมพูชา ทุกคนต่างพยายามหาทางออกอย่างเต็มที่ ขอให้ใช้ความเข้าใจในการทำงานร่วมกัน  ส่วนกรณีกลุ่มดังกล่าวจะชุมนุมปิดล้อมด่านอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เห็นว่าเป็นสิทธิของผู้ชุมนุม  กระทรวงการต่างประเทศจะไม่ไปพูดอะไร หรือข่มขู่ว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวจะมีผลอย่างไร เนื่องจากการพิจารณาคดี 7 คนไทย ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลกัมพูชา แต่ถ้าไม่มีปัจจัยภายนอกแทรกซ้อน การช่วยเหลือคงเป็นไปได้อย่างราบรื่น

ศาลเขมรไต่สวนวีระเสร็จแล้วคุมกลับเรือนจำทันที

ทั้งนี้ศาลกรุงพนมเปญ กัมพูชา ใช้เวลาเพียง 1.30 ชม. ไต่สวน "วีระ สมความคิด" ในข้อหาจารกรรมข้อมูลเสร็จสิ้นแล้ว ก่อนนำตัวกลับไปควบคุมที่เรือนจำเพรซอว์ทันที พร้อมไต่สวน "ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์" ต่อในข้อหาเดียวกัน ด้าน "การุณ ใสงาม-ณัฐพร โตประยูร" ที่ปรึกษากฎหมายจากเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ ได้เดินทางมายังบริเวณศาล แต่คลาดกับ "วีระ" ที่ถูกคุมกลับเรือนจำไปแล้ว โดย "การุณ" เผยว่าเตรียมยื่นถอนข้อหาจารกรรมข้อมูลต่อไป

นักท่องเที่ยว-พนันผวาปิดด่าน งดข้ามแดนอรัญฯเข้าเขมร

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่ด่านพรมแดนอรัญประเทศ บริเวณจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้วยังคงเปิดด่านตามปกติ ตั้งแต่เวลา 07.00-20.00 น. แต่จำนวนนักท่องเที่ยวไทยลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะกรุ๊ปทัวร์ไปนครวัด-นครธม จ.เสียมราฐ ประเทศกัมพูชา หายไปกว่า 60% ขณะที่นักพนันซึ่งข้ามแดนไปยังบ่อนในฝั่งปอยเปต ที่ปกติจำนวนมากวันละกว่า 3,000 คน ก็ลดลงเหลือประมาณ 1,000 คน

สอบถามผู้เกี่ยวข้องหลายคนให้ ข้อมูลว่าหลังเกิดเหตุกัมพูชาจับ 7 คนไทย และมีการแจ้งข้อหาเพิ่มแก่ 2 คนไทยทำให้นักท่องเที่ยวและนักพนันคนไทยวิตกกังวล ว่าจะส่งผลกระทบความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา ถึงขั้นปิดพรมแดน

พ.ต.ท. เบญจพล รอดสวาสดิ์ รอง ผกก.ตม.สระแก้ว กล่าวว่า ด่านพรมแดนอรัญประเทศ ยังคงเปิดปกติ แต่มีนักท่องเที่ยวชาวไทยไปกัมพูชาน้อยลง รวมทั้งนักพนัน เนื่องจากเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวลดลงกว่า 60% ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงเดินทางผ่านเข้า-ออกปกติ เช่นเดียวกับชาวเขมรที่เข้ามาค้าขายในตลาดโรงเกลือ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ประชา สัมพันธ์ตลอดว่าด่านพรมแดนยังเปิดตามปกติ

ขณะที่บรรยากาศในฝั่ง กัมพูชานั้น ส่วนใหญ่ยังติดตามข่าวกรณี 7 คนไทยอย่างคึกคัก โดยบางส่วนเปิดเผยว่า ช่วงนี้ชาวกัมพูชาในตลาดปอยเปตรู้สึกเครียดมาก โดยเฉพาะผู้ค้าขายในตลาดโรงเกลือ และส่งสินค้าเข้าไทย นอกจากนั้น เมื่อรู้กัมพูชาแจ้งข้อหาเพิ่มกับ 2 คนไทย ยิ่งเครียด พร้อมวิตกกังวลจะทำให้เพิ่มความบาดหมางมากขึ้น และอาจนำไปสู่การตอบโต้จนต้องปิดด่าน

“ยะใส” จี้ รบ.ร้อง UN ปกป้องพลเมือง หวั่น 64 ล้านตกเป็นจำเลยรุกล้ำเขมร

ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) กล่าวถึงท่าทีของรัฐบาลไทยต่อการให้ความช่วยเหลือ 7 คนไทยซึ่งถูกเขมรจับกุมตัวและอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีว่า จนป่านนี้รัฐบาลไทยในฐานะที่ต้องทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองพลเมืองของตัวเอง ยังไม่ได้ทำหน้าที่ปกป้องพลเมืองไทยที่ถูกกำลังต่างชาติควบคุมตัวไปขึ้นศาล ทั้งที่ 7 คนไทยได้ทำหน้าที่ในฐานพลเมืองไทย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 71 บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศ รักษาผลประโยชน์ของชาติ และปฏิบัติตามกฎหมาย ฉะนั้น รัฐบาลจะต้องมีมาตรการเพื่อเป็นการปกป้องพลเมืองของตัวเองที่ชัดเจนและมี ศักดิ์ศรีมากกว่านี้
      
นายสุริยะใสกล่าวว่า จริงๆ แล้ววิกฤตครั้งนี้รัฐบาลไทยสามารถแปรเป็นโอกาสดีๆ ได้หลายอย่าง เช่น ยกเลิก MOU 43 รื้อกรอบเจรจาข้อตกลง JBC หรือจัดระเบียบพื้นที่ที่มีข้อพิพาท และประชาชนกัมพูชารุกล้ำมาฝั่งไทย ก็น่าจะทำได้ การนิ่งเฉยหรือใช้ท่าทีตั้งรับเท่ากับเรายอมรับคำตัดสินของศาลกัมพูชา และยอมรับว่า 7 คนไทยรุกล้ำดินแดนกัมพูชาจริง ซึ่งจะส่งผลเสียเปรียบในระยะยาว หากกัมพูชาใช้คำพิพากษาของศาลเป็นบรรทัดฐานเพื่อปกป้องประชาชนชาวกัมพูชาที่ รุกล้ำดินแดนไทย หรือรุกคืบเอาพื้นที่พิพาทอีกหลายพื้นที่ ทั้งๆ ที่เป็นของประเทศไทยนายสุริยะใสกล่าวว่า
      
“ที่สำคัญกัมพูชาอาจยกระดับนำเอาคำพิพากษาของศาลร้องต่อยูเอ็น เพื่อให้ยูเอ็นเข้ามาเป็นเจ้าภาพแก้ปัญหาเรื่องนี้ ถึงตอนนั้นประเทศไทยและคนไทยทั้ง 64 ล้านคนจะตกเป็นจำเลย ไม่ใช่แค่ 7 คนไทยเท่านั้น เพราะท่าทีที่เป็นทางการของรัฐบาลไทยยังไม่ปรากฏต่อสาธารณะมีเพียงความเห็น ส่วนตัวของผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น หากเป็นเช่นนี้ถ้ามีการยกข้อพิพาทเรื่องนี้ไปให้สหประชาชาติหรือ UN ระงับข้อพิพาท ประเทศไทยก็จะเสียเปรียบหรือเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ซ้ำรอยกรณีปราสาทพระวิหาร เพราะเราไม่ได้ยืนยันอย่างเป็นทางการต่อประชาคมโลกว่าจุดที่ 7 คนไทยถูกจับนั้นเป็นดินแดนฝั่งประเทศไทย”
      
นายสุริยะใสยังได้เรียกร้องว่าให้ทางการไทยควรจะทำหนังสือประท้วง กัมพูชาต่อสหประชาชาติ หรือออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนในเรื่องนี้ไว้ก่อน การใช้ท่าทีตั้งรับแบบนี้เป็นท่าทีที่ไม่อาจปกป้องดินแดนไทยในพื้นที่พิพาท อีกหลายๆ พื้นที่ได้อย่างแน่นอน

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: มติชนออนไลน์, สำนักข่าวไทย, ไทยรัฐ, สำนักข่าวไทย, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“ธาริต” ยื่นศาลขอถอนประกัน “จตุพร”

Posted: 12 Jan 2011 03:31 AM PST

“ธาริต” ยื่นศาลขอถอนประกัน “จตุพร” ขณะที่ “จตุพร” เข้าคิวยื่นคัดค้านการขอถอนประกันทันที สะกิดถามจะต้องถูกถอนประกันอีกสักกี่ครั้ง ศาลนัดพร้อมคู่ความ ในวันที่ 20 ม.ค.นี้

ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

12 ม.ค. 54 - ที่ศาลอาญา  นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้ายื่นคำร้องต่อศาลอาญาด้วยตนเอง เป็นครั้งที่ 3 เพื่อขอถอนประกันนายจตุพร พรหมพันธุ์  ส.ส.พรรคเพื่อไทย แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)  ผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย  โดยนายจตุพร ได้เดินทางมาถึงศาลก่อนนายธาริต เพื่อรอยื่นคัดค้านการถอนประกันทันที

นายธาริต กล่าวว่า การยื่นขอถอนประกันนายจตุพร วันนี้ (12 ม.ค.) ดีเอสไอ เตรียมพยานไว้เบื้องต้น 2 ปาก คือตนในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีก่อการร้าย และพ.ต.ท.ถวัล มั่งคั่ง พนักงานสอบสวนคดีก่อการร้าย  พร้อมเบิกความต่อศาล และได้เตรียมหลักฐานการเคลื่อนไหวและคำพูดของนายจตุพร เมื่อวันที่ 9-10 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่พนักงานสอบสวนมีความเห็นว่าอาจกระทบกระเทือนต่อการสอบสวนและการดำเนินคดี ของศาล  มีการข่มขู่พนักงานสอบสวนและศาล

ด้านนายจตุพร ซึ่งยื่นขอคัดค้านคำร้องขอเพิกถอนประกันของดีเอสไอทันที  ให้สัมภาษณ์ ยืนยันว่า ไม่ได้ทำผิดเงื่อนไขการประกันตัวของศาล  โดยเฉพาะการต่อโทรศัพท์ถึงพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือการพูดถึงนายธาริต ว่า เป็นข้าราชการซี 10 ก็เป็นข้อเท็จจริงปกติ ไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับคดี การเดินทางมาศาลวันนี้ เพราะเห็นว่าถูกคุกคามเสรีภาพ  และอยากถามนายธาริต ว่า ในช่วงปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตนจะต้องถูกยื่นถอนประกันอีกกี่ครั้ง และหากเปิดสภาเมื่อใด ตนจะอภิปรายในสภาซึ่งพรรคเพื่อไทยพร้อมให้เวลาตนพูดเต็มที่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทันทีที่นายธาริต ยื่นคำร้องต่อศาลขอถอนประกันตัวนายจตุพร นายจตุพรได้ยืนเข้าแถวต่อจากนายธาริต เพื่อยื่นคัดค้านคำร้องของดีเอสไอทันที และสะกิดถามนายธาริต ด้วยว่า จะต้องถูกถอนประกันอีกสักกี่ครั้ง ซึ่งนายธาริต ตอบว่า ทำตามหน้าที่ นายจตุพรมีหน้าที่อย่างไรก็ทำไป จะยื่นถอนประกันกี่ครั้งขึ้นกับการกระทำของนายจตุพร ไม่ได้ขึ้นกับนายธาริต สำหรับการยื่นคำร้องขอถอนประกันนายจตุพร ครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 3 ที่อธิบดีดีเอสไอยื่นคำร้องด้วยตนเอง แต่ถือเป็นครั้งที่ 4 ที่ดีเอสไอยื่นคำร้องต่อศาลขอถอนประกันนายจตุพร โดยครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่นายจตุพร เดินทางมาพบนายธาริต ด้วยตนเอง

ทั้งนี้ศาลนัดพร้อมคู่ความ ในวันที่ 20 ม.ค.นี้ เวลา 10.00 น. ซึ่งในวันดังกล่าว เป็นวันเดียวกันกับที่ ศาลได้นัดไกล่เกลี่ยคู่ความในคดีที่ นางวรรษมล เพ็งดิษฐ์ ภรรยานายธาริตฟ้องหมิ่นประมาทนายจตุพร กรณีกล่าวหา นางวรรษมล เรียกรับเงินเคลียร์คดีเลี่ยงภาษี และคดีที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพมหานคร ฟ้องหมิ่นประมาท นายจตุพร กรณีกล่าวหา นางรสนา เชิญตำรวจกับดีเอสไอ ไปเคลียร์คดีพันธมิตรฯ ปิดสนามบินด้วย

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไทย, สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ดอกเตอร์กิตติมศักดิ์ ดอกเตอร์ห้องแถว และดอกเตอร์ประเทศโลกที่สาม

Posted: 12 Jan 2011 02:31 AM PST

 

ประเด็นปัญหาของมาตรฐานการศึกษาไทยในปัจจุบันก็คือ การที่เรามีดอกเตอร์กิตติมศักดิ์ ดอกเตอร์ห้องแถว และดอกเตอร์โลกประเทศโลกที่สามอยู่เกลื่อนเมืองจนแทบจะเดินชน กันตาย ซึ่งไม่รู้ว่าอันไหนจริง อันไหนเสมือนจริงและอันไหนเก๊ ผมในฐานะอาจารย์ในหลักสูตรดอกเตอร์ด้วยกันกับเขาคนหนึ่ง จึงอยากจะร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย ดังนี้

ดอกเตอร์กิตติมศักดิ์

ปัญหาที่ถกเถียงในเรื่องนี้ก็คือว่าคนที่ได้ปริญญาเอกปริญญาเอกกิตติมศักดิ์ใช้ ดร. นำหน้าชื่อได้หรือเปล่า มีทั้งบอกว่าใช้ได้กับที่บอกว่าใช้ไม่ได้ โดยที่คนที่บอกว่าใช้ได้ให้เหตุผลว่า ก็เขาได้ปริญญาเอกแล้วต้องใช้ได้ซิ ส่วนคนที่บอกว่าไม่ได้ก็ให้เหตุผลว่าเขาไม่ได้จบปริญญาเอก จริง ๆ เป็นการให้ในฐานะผู้เชี่ยวชาญหรือเป็นเกียรติเท่านั้น จึงไม่สมควรที่จะใช้คำว่า “ดอกเตอร์

คำว่าปริญญากิตติมศักดิ์นั้น มาจากภาษาลาตินว่า honoris causa ad gradum เป็นสิ่งที่ได้จากผลงานที่เกี่ยวกับทางวิชาการ ถือเป็นสิ่งประดับตัวบุคคล เพราะปกติแล้วการจะได้ปริญญาต้องไปสอบเข้าและเรียนเป็นเวลาหลายปี ส่วนปริญญากิตติมศักดิ์มักจะเป็นการให้จากสถาบันศึกษาแก่ผู้รับ โดยปริญญาที่ให้อาจจะเป็นปริญญา ตรี โท หรือเอก ซึ่งที่พบบ่อยสุดคือปริญญาเอก โดยวันรับปริญญาจะเป็นวันที่ทำพิธีกันอย่างเอิกเกริกเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ที่ได้รับ และมหาวิทยาลัยที่ให้ก็จะได้ประโยชน์ในแง่ที่ได้คนที่มีชื่อเสียงมาเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย ทำให้มหาวิทยาลัยมีชื่อออกไปสู่สังคม และ เป็นการเพิ่มเครือข่ายของมหาวิทยาลัยเอง ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิคนแรกที่ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ คือ Lionel Woodville ปี ๑๔๗๐ ของ Oxford

ปริญญากิตติมศักดินั้นมักจะมอบให้พร้อมกับพิธีประสาทปริญญาโดยทั่วไป และในต่างประเทศผู้รับมักจะได้รับเชิญให้กล่าวคำปราศรัยด้วยในงานรับปริญญาเพื่อแสดงภูมิหรือ “กึ๋น”ของตนเอง ซึ่งการกล่าวคำปราศรัยนี้มักจะเป็นจุดเด่นของงาน โดยปกติแล้วทางมหาวิทยาลัยจะเสนอชือผู้จะได้รับหลายคน ซึ่งชื่อเหล่านี้จะผ่านการกลั่นกรองจากกรรมการมหาวิทยาลัย เพื่อพิจารณาความเหมาะสม โดยผู้มีชื่อรับเลือกมักจะไม่ทราบว่าทางมหาวิทยาลัยได้เสนอชื่อตนเอง จนกว่าจะได้รับเลือกเป็นทางการ และปกติแล้วการเลือกผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์นี้ถือเป็นความลับอย่างมาก ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มว่าผู้ได้รับกลายเป็นพวกคนดัง เช่น นักการเมือง ข้าราชการระดับสูง นักธุรกิจใหญ่ นักแสดง ฯลฯ แทนที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือผู้ทรงคุณวุฒิเช่นในอดีต

คำว่า ปริญญากิตติมศักดิ์หรือ honorary degree นี้ แท้จริงแล้วเป็นการประสาทหรือให้เป็นตัวปริญญาจริง ๆ ตามหลักเกณฑ์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งต่างจากปริญญาที่ต้องเรียนมา (earned degree) โดยทางมหาวิทยาลัยยกเว้นการใช้เวลาศึกษาในห้องเรียน วิจัย การต้องเข้าชั้นเรียน หรือ ผ่านการสอบ เพราะผู้ที่ได้รับการยกเว้นที่ว่านี้ เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ มีชื่อเสียงและเป็นปราชญ์ในสาขานั้นๆ จึงได้รับการยกเว้นตามความต้องการของมหาวิทยาลัย แต่ในปัจจุบันความหมายเดิมค่อยๆเปลี่ยนความหมายไป ปริญญากิตติมศักดิ์กลายเป็นปริญญาที่ไม่เท่ากับปริญญาที่ต้องเรียนต้องสอบมา ซึ่งหมายความว่าของเดิมนั้นให้คนเก่งจริงๆ ฉะนั้น ปริญญากิตติมศักดิ์จึงมีศักดิ์ศรีมาก แต่ปัจจุบันไม่ได้มีความหมายเช่นนั้นแล้ว

แม้ว่าปริญญาเอกหรือดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ที่ทางมหาวิทยาลัยจะให้ปริญญาีเป็น DSc, DLitt, ฯ ซึ่งมักจะหมายความว่าแม้จะใ้ห้เป็นแบบกิตติมศักดิ์ก็ตาม แต่ปริญญาเหล่านี้ ( DSc, DLitt ฯ) สามารถจะได้จากการศึกษาเล่าเรียนเช่นกัน คือ ทำการศึกษาเพื่อให้่ได้ปริญญาจริง ๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหราชอาณาจักร โดยสามารถยื่นผลงานการทำวิจัย ซึ่งมักจะทำอยู่หลายปี และผลงานนี้ มีผลต่อวงการวิชาการสาขาวิชานั้นเป็นอย่างมาก โดยทางมหาวิทยาลัยจะตั้ง กรรมการศึกษาผลงาน และรายงานผลการตัดสินให้ทางมหาวิิทยาลััยว่าจะให้ผ่านได้รับปริญญาที่ว่าหรือไม่ โดยปกติผู้เสนอเข้ารับปริญญามักจะเกี่ยวข้องกับสาขานั้นๆ เช่น เป็นอาจารย์สอน หรือ จบมาและดีเด่นอยู่หลายปี

มีหลายมหาวิทยาลัยที่พยายามให้มีความแตกต่างระหว่างดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ( Univ หรือ Doctor of the University') กับดุษฎีบัณฑิตธรรมดา โดยให้เห็นถึงความแตกต่างของสองขั้ว คือ ฝ่ายให้ปริญญากิตติมศักดิ์แก่ผู้มีชื่อเสียง กับ ฝ่ายที่ให้แก่ผู้ที่มีความรู้จริง

ผู้ได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์โดยปกติแล้วจะไม่ใช้คำนำหน้าว่า 'doctor หรือ ดร.' แต่หาก ผู้ที่ได้รับนั้นได้มาเพราะมีความสามารถในสาขานั้นจริงๆ ก็อาจจะเหมาะสมที่จะใช้เป็นคำนำหน้า ชื่อของตนเอง ในหลายๆประเทศ เช่น United Kingdom, Australia, New Zealand, and United States ถือว่าการใช้ doctor หรือ ดร. ของผู้ได้ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์เป็นการ ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะได้มาโดยทางใดก็ตาม มีข้อยกเว้นอยู่คนเดียว คือ ในสหรัฐอเมริกาที่ Benjamin Franklin ซึ่งได้รับดุษฎีบัณฑิตจาก University of St. Andrews ในปี ๑๗๕๙ และ University of Oxford ในปี ๑๗๖๒ จากการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้น เขาจะอ้างถึงตนเองว่า "Doctor Franklin."

ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ อาจจะใช้ตัวย่อต่อท้ายชื่อได้ แต่ต้องให้เป็นที่ชัดเจนว่าเป็นกิตติมศักดิ์ โดยเพิ่มคำว่า "honorary" หรือ "honoris causa" หรือ"h.c." เข้าไปในวงเล็บ และในหลายประเทศ ผู้ได้รับดุษฎีบัณฑิต อาจจะใช้คำนำหน้าว่า doctor โดยใช้คำย่อว่า Dr.h.c. หรือ Dr.(h.c.). ในบางครั้งอาจจะใช้ Hon ก่อนปริญญาว่า Hon DMus.

ในปัจจุบันนี้เนื่องจากมีความยุ่งยากสับสนเรื่องดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยหลายๆแห่งพยายามแยกออกเพื่อให้ชัดเจนโดยให้ดุษฎีบัณฑิตใช้ LLD หรือ Hon.D. เท่านั้น แทน Ph.D. และมีหลายมหาวิทยาล้ย รวมทั้งมหาวิทยาล้ยเปิดใช้ Doctorates of the University (D.Univ.) และใช้ Ph.D หรือ Ed.D สำหรับปริญญาเอกที่ได้จากการศึกษาเล่าเรียน

สำหรับของไทยเรานั้น สกอ.ได้มีหนังสือ ที่ ศธ.๐๕๐๖(๒) ว/๕๐๕ ลงวันที่ ๑๗ ธ.ค. ๒๕๕๒ เรื่อง การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปริญญากิตติมศักดิ์ โดยระบุว่า คำนำหน้าว่า ดร. ใช้เฉพาะกับผู้ศึกษาจบระดับปริญญาเอก มิได้รวมถึงปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์หรือพูดง่าย ๆ ผู้ที่ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ใช้คำว่า ดร. ไม่ได้ ซึ่งผมไม่เห็นด้วยนัก ผมคิดว่าหากอยากจะเรียกดอกเตอร์ก็เรียกไปเพราะเป็นรับรู้กันโดยทั่วไปแล้วว่าคำเรียกขานดอกเตอร์ใช้กับคนที่ได้รับปริญญาในระดับดุษฎีบัณฑิตหรือแพทย์ศาสตร์บัณฑิต(Medical Doctor-M.D.) ซึ่งเขาก็ได้รับดุษฎีบัณฑิตมาแล้วเช่นกันถึงแม้ว่าจะเป็นกิตติมศักดิ์ก็ตาม แต่ต้องใช้ว่า “ดร.(กิตติมศักดิ์)”เพราะจะเป็นการชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นกิตติมศักดิ์ แต่หากเป็นดอกเตอร์กิตติมศักดิ์แล้วไปพิมพ์นามบัตรหรือเรียกตนเองว่าว่าดอกเตอร์เฉยๆก็ถือได้ว่าอยู่ในข่ายหลอกลวงประชาชน ปลิ้นปล้อน คบไม่ได้ ฯลฯ ดังเหตุผลที่ผมยกตัวอย่างจากต่างประเทศ มาข้างต้นนั้นเอง

ที่สำคัญก็คือในนานาอารยประเทศทั้งหลายคำว่าดอกเตอร์นั้นส่วนใหญ่เขาจะเอาไว้ใช้เรียกผู้ที่เป็นแพทย์เสียเป็นส่วนใหญ่ เห็นมีแต่พี่ไทยเราเท่านั้นแหละครับที่นิยมใช้คำว่าดอกเตอร์นำหน้าชื่อตัวเองทั้งดอกเตอร์ธรรมดาและ ดอกเตอร์กิตติมศักดิ์ จนมีเรื่องเล่าว่าในเครื่องบินโดยสาร ลำหนึ่งมีคนป่วยฉุกเฉิน แอร์โฮสเตสประกาศว่ามีใครเป็นดอกเตอร์(หมอ)บ้าง ปรากฏว่าพี่ไทยเรายกมือกันตั้งหลายคนเล่นเอาแอร์โฮสเตสเป็นงงไปเลย



ดอกเตอร์ห้องแถว

สมัยก่อนเราเคยได้ยินแต่เพียงว่ามีอยู่ในเมืองนอกที่คนมีสตางค์ส่งลูกหลานไปชุบตัวแล้ว ได้ปริญญากลับมาโดยไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงแต่ไปติดต่อแล้วเสียสตางค์ให้แก่มหาวิทยาลัยที่มีลักษณะเป็นห้องแถวมีกิจการขายใบปริญญาบัตรเป็นการเฉพาะ แต่ในปัจจุบันนี้ในประเทศไทยได้มีมหาวิทยาลัยดังกล่าวมาตั้งสาขากันอยู่ทั่วไป

ที่สำคัญก็คือมีมหาวิทยาลัยไทยเราเองที่เปิดการเรียนการสอนในลักษณะนี้ มีการขยายสาขาไปทั่วประเทศ เข้าลักษณะ “จ่ายครบ จบแน่” ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะหมายความถึงมหาวิทยาลัยเอกชนที่ไม่ได้มาตรฐาน ดังตัวอย่างที่ว่ามีการรับนักศึกษาปริญญาเอกเพียงแต่ลงทะเบียนและจ่ายเงิน ๖๐๐,๐๐๐ บาท รอให้เวลาใกล้ ๒ ปี ค่อยไปสอบปากเปล่ากับอาจารย์เพียง ๔ คน และก่อนไปสอบจะคนมาช่วยสอนให้พูดด้วย มิหนำซ้ำยังมีการขึ้นชื่อผู้ทีมีชื่อเสียงต่างๆหรือตำแหน่งสูงๆในวงราชการว่าเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยตนอีกด้วย (อย่าให้ยกตัวอย่างเลยครับเดี๋ยวเคืองกันเปล่าๆ)

ดอกเตอร์ประเทศโลกที่สาม

คำว่าดอกเตอร์ประเทศโลกที่สามนี้เป็นคำที่ใช้เรียกขานบรรดาดอกเตอร์ทั้งหลายที่แม้ว่าจะจบจากมหาวิทยาลัยของรัฐก็ตาม แต่เป็นหลักสูตรที่เปิดสอนไม่เป็นไปตามที่มาตรฐานกำหนด เช่น จะต้องมีอาจารย์จบวุฒิปริญญาเอก หรือ เป็นรองศาสตราจารย์จำนวนเท่านั้นเท่านี้ หรือหากไม่มีจริงๆก็ต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านตามคุณวุฒิที่กำหนด แต่ก็ไม่เป็นไปตามนั้น หรือมีการละเลยมาตรฐานขั้นต่ำในระดับความรู้ภาษาอังกฤษของนักศึกษา เป็นต้น และโดยส่วนใหญ่กรรมการในสภามหาวิทยาลัยเหล่านั้นบางคนก็เป็นกรรมการหลายแห่งจนไม่มีเวลามาเอาใจใส่ในเรื่องนี้ หรือถึงแม้จะพยายามเอาใจใส่ก็ไม่ได้ข้อมูลอยู่ดี ซึ่งเรื่องเหล่านี้มีคดีไปถึงศาลปกครองแล้ว เพียงแต่ยังไม่ปรากฏเป็นข่าวแพร่หลายไปในวงกว้างเท่านั้นเอง

ฉะนั้น ผู้ที่อยากได้คำว่า “ดร.”โดยไม่อยากยุ่งยากเสียเวลาและเสียเงินเป็นแสนเป็นล้าน ผมขอแนะนำให้ไปยื่นเรื่องขอเปลี่ยนชื่อที่อำเภอเป็น “ดร”(อ่านว่า”ดอน”แปลว่า พ่วงหรือแพ)เป็นชื่อแรก และใช้ชื่อเดิมเป็นชื่อรอง เสียเงินไม่กี่สิบบาทก็มีคำว่า”ดร”เช่นกันเพียงแต่ไม่แต่ไม่มีจุด (.)เท่านั้นเอง

 
 

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๔

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นายทุนเดินหน้าทำรีสอร์ท 700 ไร่ เหตุศาลยกคำขอคุ้มครองฯ ป่าชายเลนพังงา

Posted: 12 Jan 2011 02:22 AM PST

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2553 ศาลปกครองนครศรีธรรมราช มีคำสั่งยกคำขอคุ้มครองชั่วคราว ให้เอกชนทำประโยชน์ในที่ดิน น.ส.3 ก ที่ออกทับซ้อนป่าชายเลนบ้านในไร่  ต.นาเตย   อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา จำนวน 7 แปลง รวม 59.02 ไร่ ต่อไปได้  ตามคดีหมายเลขดำที่ 39/2553 ระหว่าง นายบัณฑิต  หลีบำรุง ที่ 1 กับพวกรวม 46 คน ผู้ฟ้องคดี กับ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพังงา สาขาท้ายเหมือง ที่ 1 กรมที่ดิน ที่ 2 ผู้ถูกฟ้องคดี นางศิระภา  วาระเลิศ  ผู้ร้องสอด

ศาลให้เหตุผลว่า ในพื้นที่ป่าชายเลนดังกล่าว ผู้ร้องสอดได้ถมดิน ปลูกต้นมะพร้าว และต้นปาล์มไว้  และมีโครงการที่จะทำรีสอร์ทในที่ดินทั้งหมดรวม 700 กว่าไร่ ที่ดินดังกล่าวจึงมีสภาพเปลี่ยนไปจากป่าชายเลนแล้ว การห้ามมิให้เอกชนดำเนินการก่อสร้าง เปลี่ยนแปลง หรือทำประโยชน์ใดๆ ในพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อชะลอหรือระงับการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ป่าชายเลนไว้ จึงไม่มีผลใดๆ ที่จะป้องกันมิให้ป่าชายเลนที่ถูกเปลี่ยนแปลงสภาพไปโดยการถมดินและปลูกต้นไม้จะถูกชะลอหรือระงับการเปลี่ยนแปลงไปจากสภาพเดิมได้ ประกอบกับการมีคำสั่งดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ของผู้ร้องสอด ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1373 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ จึงยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวตามที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 46 ได้ร้องขอมาใช้กับคดีนี้

นายสงกรานต์  ป้องบุญจันทร์  ทนายความเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า คดีนี้สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 ตัวแทนชาวบ้านยื่นฟ้องคดีต่อศาลขอให้เพิกถอน น.ส.3 ก ที่ออกทับซ้อนที่ดินป่าชายเลน จำนวน 7 แปลง รวม 59.02 ไร่ เนื่องจากป่าชายเลนดังกล่าวเป็นอู่ข้าว อู่น้ำและแหล่งป้องกันมรสุมของชุมชนบ้านในไร่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ไม่เคยมีใครเข้าไปทำประโยชน์เป็นการส่วนตัว ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน จึงได้รับความเดือดร้อนจากการเข้ามาทำประโยชน์ โดยเปลี่ยนสภาพป่าชายเลนเป็นที่ราบเพื่อทำรีสอร์ท ชาวบ้านจึงรวมตัวกันต่อสู้ คัดค้าน ไม่ให้เอกชนเข้ามาทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตั้งแต่ปี 2547 เพื่อปกป้องรักษาป่าชายเลนไว้ให้ลูกหลาน  โดยในการฟ้องได้มีการขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วไม่ให้มีการปลูกไม้ยืนต้นหรือก่อสร้างในพื้นที่ดังกล่าว  เพราะหากปล่อยให้มีการดำเนินการย่อมทำให้การฟื้นฟูสภาพป่าชายเลนเป็นไปได้ยากกว่าสภาพที่เป็นอยู่  แต่ศาลไม่เห็นด้วยกับเรา “ท่านเห็นว่าเมื่อมันเปลี่ยนสภาพไปแล้วก็ไม่มีเหตุต้องคุ้มครอง”  ทั้งที่เราเห็นว่าแม้ปัจจุบันมันเปลี่ยนสภาพไปแต่ก็ยังสามารถฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพเดิมได้  แต่หากปล่อยให้สร้างสิ่งก่อสร้างถาวรย่อมมีเป็นการยากที่จะฟื้นฟูให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้   ซึ่งทีมทนายจะได้ปรึกษากันว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กองทัพพม่าจัดพิธีรับทหาร SSA วางอาวุธ

Posted: 12 Jan 2011 02:17 AM PST

มีรายงานจากแหล่งข่าวว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วานนี้ (11 ม.ค.) กองทัพพม่าได้จัดพิธีต้อนรับการสวามิภักดิ์วางอาวุธของอดีตทหารสายพรรคคอมมิวนิสต์พม่าจำนวน 38 นาย พร้อมอาวุธครบมือ ที่ภายในบริเวณสนามฟุตบอลเมืองดอยแหลม ของรัฐฉาน โดยทหารที่วางอาวุธทั้งหมดสวมชุดเครื่องแบบทหารกองกำลังไทใหญ่ SSA กลุ่มของพล.ท.เจ้ายอดศึก ซึ่งในพิธีมีข้าราชการและประชาชนเข้าร่วมราว 3,000 คน

ทั้งนี้ กองกำลังทหารที่วางอาวุธให้กับกองทัพพม่าครั้งนี้ทราบว่า มีนายยะ หรือ จายหม่องละ เป็นผู้บังคับบัญชา ทั้งหมดอ้างเป็นทหารกองกำลังไทใหญ่ SSA (Shan State Army) โดยพล.ท.ซานอู แม่ทัพภาคตะวันออก (ตองจี) ของพม่าเป็นประธานในพิธีต้อนรับ พร้อมกับมีการมอบเงินและสิ่งของให้กับเหล่าทหารที่วางอาวุธเป็นสิ่งตอบแทน

จากการสอบถามพล.ท.เจ้ายอดศึก ผู้นำกองกำลังไทใหญ่ SSA ทราบว่า นายยะ เป็นทหารในกองกำลัง SSA จริง โดยเขาได้นำกำลังทหารเข้าร่วม SSA เมื่อราวปี 2547–2548 อยู่ในสังกัดกองพลน้อยที่ 759 ภายใต้การบังคับบัญชาพ.ต.คำแลง เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่รัฐฉานตอนใต้

พล.ท.เจ้ายอดศึก เปิดเผยว่า นายยะ เป็นเพียงนายทหารคุมกำลังส่วนหนึ่งซึ่งไม่มีหน้าที่หรือตำแหน่งสำคัญใดๆ เนื่องจากตั้งแต่เขานำกำลังเข้าร่วม SSA ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งกองทัพ ดั้งนั้นกองทัพจึงไม่ได้มอบตำแหน่งและหน้าที่ใดๆ กระทั่งเขาได้นำกำลังไปเข้าร่วมกองกำลังอาสามัครใต้กำกับของกองทัพพม่าเมื่อเดือนที่ผ่านมา

ตามประวัติของนายยะ เป็นอดีตนายทหารกองกำลังว้าสายพรรคคอมมิวนิสต์พม่า CPB หลังกองกำลังว้าแยกตัวออกจากพรรคคอมมิวนิสต์พม่า เขาได้นำกำลังเข้าร่วมกองทัพเมืองไตย MTA ของขุนส่า และต่อมาได้เข้าร่วมกองทัพแห่งชาติรัฐฉาน SSNA (Shan State National Army) ภายใต้การนำของเจ้ากานยอด จากนั้นได้แยกตัวไปตั้งเป็นกองกำลังอาสาสมัครอยู่ใต้การควบคุมของกองทัพพม่า หลังก่อเหตุยิงทหารพม่าเสียชีวิตได้นำกำลังเข้าร่วมกองกำลังไทใหญ่ SSA

อย่างไรก็ตาม การวางอาวุธให้กับทหารพม่าของอดีตทหารในสังกัดกองกำลังไทใหญ่ SSA ครั้งนี้ทราบว่า เจ้ามหาจ่า หัวหน้ากองกำลังอาสาสมัครหัวเมือง (อดีตที่ตั้งบก.กองทัพเมืองไตย MTA ของขุนส่า) เจ้าของบริษัท SSS ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานให้

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รัฐบาลพม่าสั่งย้ายวัด 60 แห่ง ไปอยู่ที่อื่น

Posted: 12 Jan 2011 02:14 AM PST

12 ม.ค. 54 - พระสงฆ์พม่าเปิดเผยว่า ขณะนี้ วัด 60 แห่ง ที่ตั้งอยู่ตรงถนน ลูคินทา ริมฝั่งแม่น้ำพะโค เมืองทาคีตา ภาคตะวันออกของกรุงย่างกุ้งกำลังถูกรัฐบาลพม่าสั่งย้ายไปอยู่ที่เมืองฉ่วยปิ่นตา เมืองที่ตั้งอยู่บริเวณชานเมืองของกรุงย่างกุ้งไกลออกไป ซึ่งจะทำให้พระสงฆ์จำนวน 1, 500 รูป ที่ประจำอยู่ตามวัดทั้ง 60 แห่ง ต้องย้ายออกจากพื้นที่ไปด้วย ด้านชาวบ้านเชื่อ การสั่งย้ายวัดในครั้งนี้ น่าจะเชื่อมโยงเกี่ยวกับที่พระสงฆ์เข้าร่วมประท้วงเมื่อปี 2550 ที่ผ่านมา

ด้านพระสงฆ์เชื่อว่าวัดที่ถูกสั่งย้ายจะถูกทำลายลง โดยรัฐบาลพม่าจะสร้างถนนและขยายถนนให้กับท่าเรือทหารขึ้นมาแทนพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของวัด ซึ่งโครงการดังกล่าว รัฐบาลได้รับเงินสนับสนุนช่วยเหลือจากบริษัททู เทรดดิ้ง( Htoo Trading) ของนายเตซะ และบริษัทยูซานา ของนายเทมิ้น ซึ่งนักธุรกิจทั้งสองคนล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลพม่า

ขณะที่พบว่า วัดทั้งหมดนั้นต่างเป็นวัดที่มีชื่อเสียงและเป็นที่เคารพสักระของพุทธศาสนิกชนทั่วไป โดยยังมีศูนย์การเรียนรู้ การศึกษาและคลินิกชุมชน ที่ให้การรักษาฟรีแก่ผู้ป่วยรวม 10 แห่ง ที่ตั้งอยู่ตามวัดทั้ง 60 แห่ง ได้รับคำสั่งให้ย้ายออกจากในพื้นที่ด้วยเช่นกัน 

“มีการคาดเดาว่า รัฐบาลจะย้ายวัดไปอยู่ที่อื่นตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่เราเพิ่งเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงก็ตอนที่มีเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่เทศบาลและเจ้าหน้าที่จากบริษัท ทู เทรดดิ้ง เข้ามาถ่ายรูปและมาสำรวจในพื้นที่ หากโครงการของรัฐบาลเดินหน้าจริง อาจจะมีสวนสาธารณะและโรงแรมฉ่วยฮินทา ผุดขึ้นมาแทนบนที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของวัด แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่ได้ยินการเคลื่อนไหวใดๆของโครงการดังกล่าว มีเพียงพระสงฆ์เท่านั้นที่ถูกสั่งให้ย้ายออกจากวัด” พระสงฆ์จากวัดเซทาวันกล่าว

ด้านพระสงฆ์อีกรูปเปิดเผยว่า หากวัดต้องย้ายไปอยู่ที่ใหม่ที่รัฐบาลจัดไว้ให้ เชื่อว่า พระสงฆ์จะได้รับความยากลำบากอย่างมากขึ้น เนื่องจากในพื้นที่ใหม่ที่รัฐบาลจัดไว้ให้นั้น ตั้งอยู่ชานเมืองและห่างไกลจากชุมชน ขณะที่พระสงฆ์จำเป็นต้องพึ่งการถวายและการใส่บาตรจากพุทธศาสนิกชน โดยพระสงฆ์ยังเชื่ออีกว่า รัฐบาลพม่าจะไม่จ่ายเงินชดเชยและเงินสนับสนุนสร้างวัดแห่งใหม่

ทั้งนี้ระหว่างการประท้วงของพระสงฆ์เมื่อปี 2550 เจ้าหน้าที่ทหารพม่าได้พยายามเข้าบุกค้นวัดต่างๆที่ตั้งอยู่บนถนน ลูคินทา แต่ถูกชาวบ้านขัดขวางและเผชิญหน้ากับชาวบ้านแทน ซึ่งในเหตุการณ์ครั้งนั้น มีชาวบ้านรายหนึ่งต้องเสียชีวิต แต่ท้ายที่สุดแล้ว ทหารพม่าสามารถเข้าโจมตีวัดต่างๆได้ จากการช่วยเหลือของทหารเรือที่ประจำการอยู่ที่ท่าเรือใกล้ๆ บนแม่น้ำพะโค

แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์http://twitter.com/salweenpost

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สื่อเผย ครม. จ่ายงบลับ 500 ล้าน แก้ปมพิพาทไทย-กัมพูชา "กลาโหม" ปัด ไม่ลับเป็นเงินค้างเก่า

Posted: 12 Jan 2011 01:26 AM PST

สื่อเผย ครม.จ่ายงบลับ 500 ล. รับมือหากปมไทย-เขมรเลวร้าย เผย "กัมพูชา" เรียกร้องปล่อย 60 นักโทษแลก "กลาโหม" ปัด ไม่ลับแต่เป็นเงินค้างเก่าไว้รองรับสถานการณ์ชายแดน

12 ม.ค. 54 - เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานความคืบหน้าการช่วยเหลือ 7 คนไทยที่ถูกจับกุมข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมายและเข้าเขตทหารโดยไม่ได้รับอนุญาต แหล่งข่าวจากที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 11 มกราคม แจ้งว่า ครม.ใช้เวลาประมาณ 20 นาทีในการรับฟังรายงานสรุปสถานการณ์และความก้าวหน้าการช่วยเหลือ 7 คนไทย โดยนายกษิตกล่าวรายงานมีใจความตอนหนึ่งว่าเป้าหมายสูงสุดในการทำงานในเรื่อง นี้คือการทำให้ 7 คนไทยได้รับการปล่อยตัวและเดินทางกลับประเทศ โดยให้ความช่วยเหลือดูแลเท่าเทียมกันทุกคน ไม่มีเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการหาข้อมูล การจัดหาทนายความต่อสู้คดี การยื่นขอประกันตัว การอำนวยความสะดวกให้ญาติเดินทางไปเยี่ยมที่กัมพูชา ฯลฯ
 
แหล่งข่าว อ้างคำพูดนายกษิตรายงานอีกว่า สำหรับสภาพความเป็นอยู่ของ 7 คนไทยในเรือนจำเปรยซอร์ไม่ค่อยดีเท่าไร เนื่องจากเรือนจำค่อนข้างเก่า แต่กำลังใจยังดีอยู่ หลังได้เจอญาติๆ เมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา

"ขณะนี้มีความพยายามเจรจาในทุกระดับเพื่อช่วยเหลือ แม้กระทั่งการเจรจาแลกเปลี่ยนตัวนักโทษของ 2 ประเทศที่ถูกตั้งข้อหาในระดับเดียวกัน โดยไทยและกัมพูชาเคยทำความตกลงเบื้องต้นไว้ว่าจะปล่อยตัวนักโทษฝ่ายละ 4 คน ซึ่งฝ่ายกัมพูชาได้ปล่อยตัวนักโทษชาวไทยครบทั้ง 4 รายแล้ว แต่ฝ่ายไทยปล่อยตัวนักโทษกัมพูชาคืนไปเพียง 1 ราย และกำลังจะปล่อยในเร็วๆ นี้อีก 1 ราย เนื่องจากมีขั้นตอนภายในค่อนข้างมาก" แหล่งข่าวอ้างคำพูดนายกษิต
 
แหล่งข่าวกล่าวอ้างคำพูดนายกษิตว่า ต้องยอมรับว่าเมื่อมีคดี 7 คนไทย ทางกัมพูชาได้ยื่นข้อเสนอต่างๆ เข้ามามากมาย และเข้ามาเรื่อยๆ การปล่อยตัวแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา 60 คนที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ไทย ก็อาจจะเป็นเรื่องหนึ่งที่จะมีการพิจารณา

"ส่วนการพิจารณาคดี 7 คนไทยของศาลกัมพูชา คาดว่าศาลจะตัดสินภายในสัปดาห์นี้ ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ขอให้มั่นใจว่าได้เตรียมแนวทางในการดำเนินการไว้หมดแล้ว สิ่งที่ผมพูดวันนี้เป็นเรื่องภายใน ขอความกรุณาอย่าออกไปให้ข่าว ไอ้ประเภทแหล่งข่าวกล่าวว่านี่ไม่ควรมีแล้ว เพราะทำให้เราทำงานยากขึ้น" แหล่งข่าวกล่าวอ้างคำพูดนายกษิต
 
ขณะที่นายอภิสิทธิ์กล่าวใน ครม. ว่า พื้นที่ดังกล่าวมีปัญหาพิพาทกันมากว่า 30 ปีแล้ว แต่มีการออกเอกสารสิทธิให้ประชาชนครอบครองพื้นที่ไทยเกือบทั้งหมด มีการส่งนายอัษฎา ชัยนาม ประธานคณะกรรมการเขตแดนร่วม (จีบีซี) ไปสำรวจพื้นที่ซ้ำอีกรอบแล้ว
 
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ครม.อนุมัติงบลับจำนวน 500 ล้านบาทให้กระทรวงกลาโหม เพื่อเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ด้านความมั่นคงที่อาจเกิดขึ้นบริเวณปราสาท พระวิหาร ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา

"กลาโหม" ปัดงบ 500 ล้านไม่ใช่ "งบฯลับ" แต่เป็นเงินค้างเก่าไว้รองรับสถานการณ์ชายแดน

เมื่อวันที่ 12 มกราคม ที่กระทรวงกลาโหม พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 11 มกราคม อนุมัติงบลับให้กระทรวงกลาโหมจำนวน 517 ล้านบาท เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ชายแดนไทยกับประเทศกัมพูชา ว่า งบดังกล่าวเป็นงบกลางของรัฐบาล ที่กองทัพได้รับอนุมัติมา ไม่ใช่งบลับ โดยกองทัพขอไว้เพื่อกรณีฉุกเฉินและเหตุจำเป็นในการรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาด คิด และอาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนด้านตะวันออก ขอยืนยันว่า เป็นงบที่ใช้เป็นเบี้ยเลี้ยงกำลังพล ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และการปฏิบัติการต่างๆ โดยเบิกใช้ทั้ง 3 เหล่าทัพ

เมื่อถามว่า แสดงว่าสถานการณ์ด้านไทย-กัมพูชาไม่น่าไว้วางใจจึงต้องของบประมาณเพิ่ม พ.อ.ธนาธิปกล่าวว่า ไม่ใช่ แต่เป็นงบประมาณที่ขออนุมัติต่อเนื่องจากปีที่แล้ว แต่บังเอิญประจวบเหมาะกับข้อพิพาทที่เกิดขึ้น กองทัพขออนุมัติจาก ครม.แต่ได้เลื่อนวาระมาหลายครั้งแล้ว เพิ่งจะได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา ส่วนสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ทางกองทัพได้ประสานงานพูดคุยหารือกันตลอดเวลา

เมื่อถามว่ากลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติจะเคลื่อนการชุมนุมไปที่บริเวณ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว พ.อ.ธนาธิปกล่าวว่า เป็นหน้าที่ของกองกำลังบูรพา และผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วที่ต้องหารือกัน หากการชุมนุมไม่ส่งผลกระทบและไม่มีความวุ่นวาย ก็สามารถชุมนุมได้ ที่ผ่านมาก็ต้องขอบคุณผู้ชุมนุมที่ปฏิบัติตามข้อตกลงของผู้ว่าราชการจังหวัด

อัพเดทเพิ่มเติม 18.40 น.

ที่มาข่าว: มติชนออนไลน์
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กรรมการสิทธิฯ จี้รัฐบาลช่วย 7 คนไทย

Posted: 12 Jan 2011 01:15 AM PST

12 ม.ค. 54 - จากกรณีคนไทย ๗ คน ถูกทหารกัมพูชาจับกุมบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ออกแถลงการณ์มีเนื้อหาดังต่อไปนี้

กรณีคนไทย ๗ คน ถูกทหารกัมพูชาจับกุมบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา

ตามที่ปรากฏข่าวกรณีคนไทย ๗ คนถูกเจ้าหน้าที่ของกัมพูชาจับกุมบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ใกล้หลักเขตแดนที่ ๔๖ เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นกรณีที่สาธารณชนให้ความสนใจอย่างมาก และต้องการให้มีการตรวจสอบหรือแสวงหาข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้ความจริงปรากฏ ประกอบกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีดังกล่าว โดยขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อพิทักษ์สิทธิของคนไทยทั้ง ๗ คน และดำเนินการให้รัฐบาลหรือกระทรวงการต่างประเทศพิทักษ์สิทธิคนไทยทั้ง ๗ คน นั้น

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมการเคารพและการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยการปฏิบัติหน้าที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของชาติและประชาชนประกอบด้วยนั้น เห็นว่ากรณีที่เกิดขึ้นมีความอ่อนไหวอย่างยิ่งเพราะส่งผลกระทบต่ออธิปไตยและเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลและประชาชนทั้งของประเทศไทยและกัมพูชาโดยทางตรงและทางอ้อม จึงขอแสดงความห่วงใยต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้

๑. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการอย่างรอบคอบ และปกป้องสิทธิและเสรีภาพของคนไทยทั้ง ๗ คนตามหลักสิทธิมนุษยชน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองอย่างเคร่งครัด เนื่องจากความไม่ชัดเจนของแนวเขตแดนไทย-กัมพูชาย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในการเดินทางโดยเสรีของบุคคล ในการประกอบอาชีพ และสิทธิในทรัพย์สินของประชาชนไทย-กัมพูชาที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว

๒. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอแสดงความห่วงใยต่อคนไทยทั้ง ๗ คนที่ถูก    จับกุมบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา และขอให้รัฐบาลไทยดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจังในการ  ดูแลสวัสดิภาพของคนไทยที่ถูกจับกุม โดยต้องดำเนินการตามข้อ ๑ ให้เกิดความชัดเจนในเรื่องแนวเขตแดนไทย-กัมพูชา และระหว่างรอการพิสูจน์และรับรองแนวเขตแดนโดยทั้งสองฝ่าย ขอให้รีบส่งคนไทยทั้ง ๗ คนกลับประเทศไทยโดยเร็ว  ในระหว่างการดำเนินการข้างต้น ขอให้รัฐบาลดูแลให้คนไทยทั้ง ๗ คนได้รับการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมในการพิจารณาคดีตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง   อาทิ สิทธิในการได้รับการประกันตัวในระหว่างการพิจารณาคดี สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม สิทธิที่จะได้รับความสะดวกเพียงพอแก่การเตรียมการในการต่อสู้คดีและติดต่อทนายความที่ตนเลือกได้ สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีโดยไม่ชักช้าเกินความจำเป็น ตลอดจนการอำนวยความช่วยเหลือ เช่น ล่าม เป็นต้น

๓. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอให้รัฐบาล โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งการดำเนินการเพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับข้อพิพาทเขตแดนไทย-กัมพูชา โดยทั้งสองฝ่ายจะต้องเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้ปัญหาขยายวงกว้าง อันจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาระหว่างกัน และส่งผลกระทบต่อสิทธิในการดำรงชีวิตอย่างปกติสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนไทยและกัมพูชา

๔. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติย้ำถึงเจตนารมณ์ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ที่มุ่งประสงค์ให้รัฐบาลประเทศต่างๆ พัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน และร่วมมือกันในการส่งเสริมให้มีการเคารพสิทธิมนุษยชน อันเป็นรากฐานของเสรีภาพ ความเป็นธรรม และสันติภาพ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้ความสำคัญในกรณีดังกล่าว และจะดำเนินการ    ติดตาม ตรวจสอบ ข้อเท็จจริงและความคืบหน้าในการดำเนินการของรัฐบาลและหน่วยงานที่      เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งรายงานให้สาธารณชนทราบเป็นระยะๆ ต่อไป

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

๑๒ มกราคม ๒๕๕๔

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น