โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

'ปานเทพ' ยันพันธมิตรฯ ไม่เกี่ยวกับกลุ่ม 'วีระ'

Posted: 03 Jan 2011 11:32 AM PST

ชี้มาร์คไฟเขียว “พนิช” พิสูจน์พื้นที่หลังชาวบ้านสระแก้วร้องเรียนไม่สามารถเข้าทำกินในที่เอกสารสิทธิได้ ยันไม่เกี่ยวกลุ่ม "วีระ" นัดชุมนุมที่สระแก้ว ด้านกำนันโนนหมากมุ่นจวก "7 คนไทย" ทำขาดแรงงานกัมพูชาข้ามมารับจ้างตัดอ้อย-เกี่ยวข้าว เหตุกองกำลังบูรพาปิดชายแดนหลังมีเรื่อง

 
จากกรณีที่มีคณะคนไทย 7 คน อาทิ นายวีระ สมความคิด นายตายแน่ มุ่งมาจน นายแซมดิน เลิศบุตร และนายพนิช วิกฤติเศรษฐ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น ได้ข้ามแดนบริเวณหลักเขตแดนที่ 46 บ้านภูมิโจกเจย (บ้านโชคชัย) ต.โอเบยเจือน อ.โจรว จ.บันเตียเมียเจย (บ้านใต้มีชัย) ตรงข้ามฝั่งไทยบริเวณ บ้านหนองจันทร์ ต.โนนหมากมุ่น อ.โคกสูง จ.สระแก้ว และถูกทหารรักษาชายแดนที่ 503 ของกัมพูชา ควบคุมตัวเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 53 และถูกตั้งข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และบุกรุกพื้นที่ทหารโดยไม่ได้รับอนุญาต
 
ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 3 ม.ค. ระบุคำให้สัมภาษณ์ของ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ ซึ่งกล่าวยืนยันว่า มีการประสานงานจาก นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร ที่อ้างอิงคำสั่งของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ขอให้พันธมิตรฯ ร่วมลงพื้นที่พิสูจน์อธิปไตยบริเวณปราสาทพระวิหาร โดยได้ติดต่อมายัง นายเทพมนตรี ลิมปพยอม เมื่อวันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมา แต่ทางพันธมิตรฯ เกรงว่า จะไม่ปลอดภัยจึงปฏิเสธไป ภายหลัง นายพนิช ได้ประสานงานไปยัง นายวีระ สมความคิด แกนนำเครือข่ายกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ หลังมีปัญหาข้อร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่ จ.สระแก้ว ว่า ไม่สามารถที่จะเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิได้ ทำให้มีการลงพื้นที่ใน จ.สระแก้ว จนถูกทางกัมพูชาควบคุมตัว
 
สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติที่ จ.สระแก้ว วันพรุ่งนี้ นายปานเทพ กล่าวว่า ถือว่าเป็นสิทธิ์ของผู้ชุมนุม ในส่วนของพันธมิตรฯ นั้น ไม่ได้ร่วมเคลื่อนไหวกับเครือข่ายนี้มาตั้งแต่ต้น แต่แนวทางที่จะดำเนินการ คือ การนำข้อเท็จจริงมาเปิดเผย เพราะเชื่อว่า คนไทยทั้ง 7 คน ไม่ได้รุกล้ำอธิปไตยกัมพูชา ส่วนการชุมนุมของพันธมิตรฯในวันที่ 25 มกราคม ยังคงเป็นการแสดงจุดยืนเดิมในการคัดค้านบันทึกข้อตกลงไทย-กัมพูชา ปี 2543 และการผลักดันชาวกัมพูชาออกจากพื้นที่
 
ขณะที่นายสง่า สิทธิพล กำนันตำบลโนนหมากมุ่น อ.โคกสูง จ.สระแก้ว กล่าวว่าชาวบ้านเขตตำบลโนนหมากมุ่น ได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบจากการที่มีคนไทยถูกเขมรจับ โดยได้สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านในพื้นที่ หลังจากกองกำลังบูรพาสั่งปิดจุดชายแดนห้ามคนไทย-เขมร ลักลอบข้ามแดน ทำให้ชาวไร่ที่ทำไร่อ้อยกว่า 2 หมื่นไร่ และชาวนาที่มีนาข้าวกว่า 1,500 ไร่ ไม่มีแรงงานเขมรเข้ามารับจ้างเกี่ยวข้าวและตัดอ้อย
 
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 17.40 น. นายสมบูรณ์ ทองบุราน แกนนำกลุ่ม "คนไทยหัวใจรักชาติ" ได้เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว พร้อมยื่นเรียกร้องว่าขอให้มีการช่วยเหลือคนไทยทั้ง 7 คนที่ ที่ถูกทหารกัมพูชาจับตัวไป พร้อมทั้งขอนำกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ ประมาณ 500 คน เข้าไปถ่ายรูปที่หลักเขตที่ 46 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหา
 
ขณะที่ทหารจากกองพันป้องกันชายแดน 503 ของกัมพูชา ตรึงกำลังห่างจากชายแดนประมาณ 200 เมตรในลักษณะแบ่งกลุ่มละ 20-30 นาย มีอาวุธสงครามครบมือ
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

5 วันอันตรายตายอีก 47 ยอดรวมพุ่ง 281 ศพ บาดเจ็บสะสม 3,091 ราย

Posted: 03 Jan 2011 11:10 AM PST

ศปถ.สรุปอุบัติเหตุ 5 วัน ในช่วง 7 วันระวังอันตราย มีผู้เสียชีวิต 281 อุบัติเหตุรวม 2,881 ครั้ง ลพบุรีครองแชมป์ผู้เสียชีวิตสูงสุด ส่วนเชียงรายแชมป์อุบัติเหตุและเจ็บสะสมมากสุด รถจักรยานยนต์เกิดอุบัติเหตุสูงสุด สาเหตุจากเมาแล้วขับ

 
วานนี้ (3 ม.ค.54) นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2554 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 2 มกราคม 2554 เป็นวันที่ 5 ของการรณรงค์ในช่วง 7 วันระวังอันตราย พบว่าเกิดอุบัติเหตุรวม 408 ครั้ง ลดลงจากปี 2553 (421 ครั้ง) 13 ครั้ง ร้อยละ 3.09 ผู้เสียชีวิต 47 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2553 (41 คน) 6 คน ร้อยละ 14.63
 
ผู้บาดเจ็บ 435 คน ลดลงจากปี 2553 (460 คน) 25 คน ร้อยละ 5.43 สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 35.29 รองลงมา ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 22.79 
 
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 5 วัน (วันที่ 29 ธ.ค.2553-2 ม.ค. 2554) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,881 ครั้ง ลดลงจากปี 2553 (2,931 ครั้ง) 50 ครั้ง ร้อยละ 1.71 ผู้เสียชีวิตรวม 281 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2553 (279 คน) 2 คน ร้อยละ 0.72 ผู้บาดเจ็บรวม 3,091 คน ลดลงจากปี 2553 (3,185 คน) 94 คน ร้อยละ 2.95
 
จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสูด ได้แก่ เชียงราย 103 ครั้ง, จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ ลพบุรี 12 คน, จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 110 คน
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-กฎอัยการศึก ของขวัญปีใหม่บนรอยแผลที่ชายแดนใต้

Posted: 03 Jan 2011 10:46 AM PST

 
ไม่รู้ว่าเป็นขอขวัญปีใหม่ สำหรับคนในอำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี หรือไม่ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติยกเลิกการประกาศใช้พระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และประกาศกฎอัยการศึก ในพื้นที่ ในการประชุมเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา เพราะเหตุไม่สงบโดยภาพรวมในชายแดนใต้ก็ไม่ลดความรุนแรงลง นอกจากปริมาณเท่านั้น แต่คุณภาพของการก่อเหตุแต่ละครั้งยังมีมากขึ้นเช่นเดิม
 
สำหรับการยกเลิกกฎอัยการศึกนั้น คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สภากลาโหมพิจารณา หลังจากนั้น จะนำพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2550 มาบังคับใช้แทน เหมือนกับที่ประกาศใช้แล้วในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ จะนะ เทพา นาทวีและสะบ้าย้อย
 
นอกจากนี้คณะรัฐมนตรี ยังเล็งที่จะยกเลิกในอีก 3 พื้นที่ คือ อำเภอกาบัง, อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส  
 
ที่ผ่านมาหลังจากเกิดเหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 รัฐได้มีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ถึง 3 ฉบับ ในการแก้ปัญหาในพื้นที่ ร่วมกับการใช้ประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้น
 
กฎหมายพิเศษทั้ง 3 ฉบับประกอบด้วย พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 พระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือที่เรียกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือที่เรียกว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ
 
 
กฎอัยการศึก
 
การประกาศกฎอัยการศึก มีขึ้นหลังเหตุการณ์ปล้นปืนที่กองพันทหารพัฒนาที่ 4 อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 โดยแม่ทัพภาคที่ 4 ในสมัยนั้นเป็นผู้ประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี ยะลาและ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา
 
การประกาศกฎอัยการศึก เป็นการให้ทหาร มีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในเรื่องการยุทธ การระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนต้องปฏิบัติตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร
 
เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย 7 วัน เพื่อการสอบถามหรือตามความจำเป็นของทางราชการทหาร ซึ่งในการควบคุมตัวดังกล่าว ทหารเรียกว่าการเชิญตัว ผู้ที่ถูกควบคุมตัวคือผู้ที่ถูกเชิญตัว และไม่ต้องมีหมายใดๆ เพียงแต่มีเหตุสงสัยก็สามารถตรวจค้นหรือควบคุมตัว
 
การเชิญตัวดังกล่าว ไม่ได้ระบุสถานที่ควบคุม แต่เจ้าหน้าที่จะนำตัวไปยังที่ตั้งหน่วยเฉาะกิจหรือหน่วยทหารในพื้นที่ เมื่อสอบถามแล้ว หายสงสัยก็จะปล่อยตัวกลัว แต่ถ้ายังสงสัยอยู่ ก็จะควบคุมตัวต่อไปโดยใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
 
 
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
 
การใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ได้จะต้องมีการประกาศ “ภาวะฉุกเฉิน”
 
ภาวะฉุกเฉิน หมายความว่า สถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน หรือมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา ฯลฯ
 
การประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี โดยการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ครั้งละไม่เกิน 3 เดือน แต่สามารถขยายเวลาได้อีกครั้งละไม่เกิน 3 เดือน
 
โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นผู้ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดฉบับนี้ ซึ่งหมายความว่า ซึ่งผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ก็คือ แม่ทัพภาคที่ 4
 
การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีขึ้นตั้งแต่ช่วยปลายปี 2548 ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ต่อมารัฐบาลได้ประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึกในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2552 โดยให้ใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แทน
 
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้กำหนดข้อมาตรการไว้ทั้งหมด 6 ข้อ แต่ในพื้นที่มีการใช้เพียงข้อเดียว คือ ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
 
ในการดำเนินงานตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายปกครอง ตำรวจ และทหาร ทำงานร่วมกัน นั่นคือการสนธิกำลัง
 
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการจับกุม ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย ออกคำสั่งเรียกคนมารายงานตัว ยึดและตรวจค้น เป็นต้น
 
ในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย และการตรวจค้น เจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะต้องขอออกหมายควบคุมตัวจากศาล เรียกหมายว่า หมาย ฉฉ. 
 
อำนาจในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย ได้ครั้งละ 7 วัน ไม่เกิน 4 ครั้ง เพื่อซักถาม ซึ่งการขอขยายเวลาในการควบคุมตัวต่อก็ต้องของอนุญาตจากศาลด้วยเช่นกัน
 
สถานที่ควบคุมตัว ต้องเป็นสถานที่ที่กำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจำ ซึ่งในระเบียบปฏิบัติของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดฉบับนี้ ได้กำหนดสถานที่ควบคุมตัวไว้ 2 แห่ง ได้แก่
 
ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ (ศสฉ.) ตั้งอยู่ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี หรือ อาร์ท รีสอร์ท (ตั้งชื่อเพื่อให้เหมือนสถานที่พักผ่อน) อีกแห่งคือ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจแห่งชาติ ส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนตำรวจภูธร9 อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
 
หากผู้ถูกควบคุมตัวไม่ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีก็ต้องปล่อยตัว แต่หากถูกตั้งข้อ เจ้าหน้าที่ก็จะส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินตามกฎหมายปกติ คือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเมื่อถูกตั้งข้อหาแล้ว ผู้ถูกควบคุมตัวจะเปลี่ยนสถานะเป็นผู้ต้องหาทันที
 
 
ประมวลกฎหมายอาญา/วิธีพิจารณาความอาญา
 
พนักงานสอบสวน (ตำรวจ) มีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ที่สถานีตำรวจเพียง 48 ชั่วโมง เพื่อสอบปากคำเท่านั้น หลังจากนั้นจะเป็นดุลพินิจของศาล โดยพนักงานสอบสวนจะขอจากศาล เพื่อฝากขังผู้ต้องหาได้ครั้งละ 12 วัน ไม่เกิน 7 ครั้ง
 
แต่ถึงที่สุดแล้วในชั้นก่อนฟ้อง เจ้าหน้าที่รัฐจะมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาเต็มที่ 84 วัน
 
ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้ที่ถูกควบคุมตัวตั้งแต่กฎอัยการศึก 7 วัน จากนั้น ถูกควบคุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 30 วัน ช่วงสอบปากคำ 2 วัน และช่วงฝากขังอีก 84 วัน รวมเวลาที่ถูกควบคุมตัว 123 วัน
 
บางครั้งการปิดล้อมตรวจที่ทำให้มีผู้ถูกควบคุมตัวหลายคน ซึ่งบางคนที่ไม่มีหมายให้ควบคุม เจ้าหน้าจะอ้างกฎอัยการศึกทันที เพื่อให้สามารถควบคุมตัวใน 7 วัน
 
ข้อหาที่รัฐตั้งกับผู้ต้องหาคดีความมั่นคง มักเป็นข้อหาร้ายแรงประเภทก่อการร้าย กบฏแบ่งแยกดินแดน อั้งยี่ซ่องโจร ฯลฯ ทำให้เมื่อคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรม ศาลมักใช้ดุลพินิจไม่ให้ประกันตัว ทำให้ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ถูกคุมขังนานหลายปีกว่าคดีจะสิ้นสุด
 
สถิติที่รวบรวมโดยศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) (รายงานโดยโต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา    วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553) พบว่า ตลอด 6 ปีของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (มกราคม 2547 ถึง ธันวาคม 2552) มีคดีความมั่นคงที่นำขึ้นสู่ศาลและมีคำพิพากษาแล้ว 216 คดี จำเลย 415 คน ศาลตัดสินลงโทษ 130 คดี จำเลย 211 คน ยกฟ้อง 86 คดี จำเลย 204 คน 
 
ตัวเลขคดีที่ศาลยกฟ้อง 86 คดี จากทั้งหมด 216 คดี เท่ากับสัดส่วน 39.8%
 
สถิติของสำนักงานศาลยุติธรรมภาค 9 เฉพาะปี 2552 (1 มกราคม-31 ธันวาคม2552) พบว่า คดีจากทุกศาลใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีคดีความมั่นคงเข้าสู่ศาลทั้งสิ้น 190 คดี จำหน่าย 3 คดี พิพากษาแล้ว 23 คดี ลงโทษเพียง 5 คดี แต่ยกฟ้องมากถึง 18 คดี และมีคดีคงค้าง 164 คดี ยอดคดีคงค้างนี้ มีผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงถูกคุมขังในเรือนจำนับถึงสิ้นปี 2552 มากถึง 548 คน
 
นายนิพนธ์ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ รองประธานคณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร และเป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามงบภาคใต้ ให้สัมภาษณ์โดยโต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 ว่า ข้อมูลจากสำนักงานศาลยุติธรรมภาค 9 มีสถิติคดีในรอบปี 2550-2551 พบว่า ศาลมีคำพิพากษาคดีความมั่นคง 60 คดี ลงโทษจำคุกเพียง 20 คดี แต่ยกฟ้องมากถึง 40 คดี หรือคิดเป็น 66% ซึ่งนับว่าสูงมากจริงๆ และน่ากังวลอย่างยิ่ง
 
“สาเหตุที่คดียกฟ้องจำนวนมาก น่าจะมาจาก 2 สาเหตุ สำคัญได้แก่ 1.ตัวจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องจริง แต่เจ้าหน้าที่ไปจับคนเหล่านั้นมาลงโทษในลักษณะเหวี่ยงแหจับกุม หรือจับแพะ ซึ่งเคยเกิดขึ้นในอดีต 2.ผู้ต้องหาอาจเป็นคนกระทำความผิดจริง แต่ไม่มีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอมายืนยัน”
 
 
พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ
 
การประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะให้ผู้ที่หลงผิดหรือกระทำผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ รายงานตัวเพื่อเข้ารับการฝึกอบรมแทนการถูกดำเนินคดี
 
คณะรัฐมนตรีจะมีมติมอบหมายให้ กอ.รมน.เป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรนั้นภายในพื้นที่และระยะเวลาที่กำหนดได้
 
พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีสาระสำคัญอยู่ที่มาตรา 21 คือ ให้ผู้ที่ก่อเหตุเพราะหลงผิด หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ให้เข้ารับการอบรม ตามหลักสูตรที่กำหนด เป็นเวลา 6 เดือน ในสถานที่ที่กำหนด โดยการยินยอมของผู้ต้องหา จากนั้นให้ระงับคดี โดยถือว่าบุคคลเหล่านี้ไม่เคยกระทำความผิด
 
ในมาตรา 21 ระบุว่า สำหรับผู้ที่จะรายงานตัวเข้ารับการอบรม ต้องให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนการสอบสวนของผู้ต้องหาพร้อมความเห็นให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในพิจารณา ถ้าผู้อำนวยการเห็นด้วย ให้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นของผู้อำนวยการให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องต่อศาล 
 
หากเห็นสมควรศาลอาจสั่งให้ส่งผู้ต้องหานั้นให้ผู้อำนวยการเพื่อเข้ารับการอบรม ณ สถานที่ที่กำหนดเป็นเวลาไม่เกินหกเดือนและปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นที่ศาลกำหนด
 
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการใช้มาตรา 21 ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ยังไม่ได้บังคับใช้จริง เนื่องจาก กอ.รมน.ยังไม่ได้ออกระเบียบ ข้องบังคับหรือแนวปฏิบัติออกมา จึงทำให้มีผู้ที่ต้องการรายงานตัวเพื่อเข้ารับการอบรมตามมาตรา 21 ของกฎหมายฉบับนี้แทนการถูกดำเนินคดีจำนวนหนึ่ง ยังไม่กล้าออกมารายงานตัว เพราะอาจถูกจับกุมดำเนินคดีได้
 
ดังนั้น การเปิดโอกาสให้ผู้มีความคิดต่างจากรัฐได้มีช่องทางแสดงความคิดเห็นเพื่อร่วมในการแก้ปัญหา ตามนโยบายของ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (ผอ.กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า) ตามช่องทางนี้จึงยังไม่เกิดขึ้น
 
ความคืบหน้าล่าสุด คือการให้สัมภาษณ์ของนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่ระบุว่า หลังปีใหม่จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อประกาศฐานความผิดที่เข้าข่ายตามมาตรา 21 โดยผู้ที่จะเข้ามารายงานตัว ต้องไม่ใช่ความผิดอุกฉกรรจ์ และเป็นโทษที่เกิดขึ้นจากการก่อเหตุในพื้นที่ประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เท่านั้น
 
 
ภาพรวมการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษในชายแดนใต้
 
ปัจจุบันในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการประกาศใช้อำนาจกฎอัยการศึกกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ใน 33 อำเภอ 
 
ฝ่ายความมั่นคงระบุว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ทำให้ผู้บริสุทธิ์ได้รับผลกระทบ ในขณะที่ประชาชนส่วนหนึ่ง รวมทั้งองค์กรสิทธิมนุษย์ชน เชื่อว่า การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน สร้างความเดือดร้อน และความไม่พอใจให้กับคนในพื้นที่ และเชื่อว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่สามารถสร้างความสงบให้เกิดขึ้นได้
 
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการใช้อำนาจกฎอัยการศึกกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใน มีปัญหามากมาย โดยเฉพาะมาตรการปิดล้อมและตรวจค้น เนื่องจากมีการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยจำนวนมาก จนทำให้มีการร้องเรียนจำนวนมาก โดยเฉพาะการร้องเรียนไปยังมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของสงขลา
 
สถิติเรื่องร้องเรียน ระหว่างปี 2547จนถึงเดือนพฤษภาคม 2553 มีทั้งหมด 1,753 เรื่อง มีทั้งที่เป็นคดีและไม่เป็นคดี โดยมีข้อร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกอบด้วย ถูกปิดล้อม ตรวจค้น 309 เรื่อง เชิญตัวตามกฎอัยการศึก 39 เรื่อง ถูกจับซ้ำซาก 22 เรื่อง ถูกซ้อมทรมาน 74 เรื่อง รวมทั้ง กรณีเยาวชน นักเรียน นักศึกษาถูกควบคุมตัว ทรัพย์สินสูญหายระหว่างถูกตรวจค้น เป็นต้น
 
กรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในระหว่างการใช้กฎหมายพิเศษเหล่านี้ ที่เป็นข่าวอื้อฉาวมากที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา คือ การเสียชีวิตระหว่างการควนคุมตัวในค่ายอิงคยุทธบริหาร ของนายสุไลมาน แนซา ผู้ต้องสงสัยชาวอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2553 ในท่าแขวนคอ 
 
แต่การตรวจสอบการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ทหารระหว่างการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย ก็แทบเป็นไปไม่ได้ เนื่องจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ระบุว่าการซักถามผู้ต้องสงสัยต้องมีทนายความหรือญาติร่วมฟังด้วย รวมทั้งการอ้างระเบียบห้ามเยี่ยมภายใน 3 วันแรกของเจ้าหน้าที่
 
กรณีของสุไลมาน แนซา ไม่ใช่การเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่เพียงรายเดียว เพราะก่อนหน้านั้นยังมีอีกหลายคน เช่น นายยาการียา ปะโอมานิ เสียชีวิตระหว่างการค้นย้าย ซึ่งคดีนี้มีการไต่สวนการตายในชั้นศาล 
 
เช่นเดียวกับการตายของนายยะผา กาเซ็ง ในหน่วยเฉพาะกิจที่ 30 (ฉก.30) จังหวัดนราธิวาส คดีนี้ได้ผ่านการไต่สวนการตายในชั้นศาลแล้ว โดยศาลจังหวัดนราธิวาส มีคำสั่งว่า นายยะผา ตายที่ฐานปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 ตั้งอยู่ที่วัดสวนธรรม หมู่ที่ 2 ตำบลรือเสาะออก อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2551 เนื่องจากผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกาย แต่ชั้นไต่สวนมูลฟ้องในคดีอาญา ศาลให้ไปฟ้องจำเลยต่อศาลทหาร
 
นั่นยังไม่นับการบาดเจ็บจากการซ้อม ทรมานระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐอีกหลายกรณี ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว ซึ่งกรณีการซ้อมทรมานระหว่างการควบคุมตัว กลายเป็นประเด็นหลักในการเรียกร้องให้มีการยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษเหล่านี้ในพื้นที่ ทั้งจากองค์กรพัฒนาเอกชน ทนายความ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
 
แม้ในช่วงหลังๆ มานี้การร้องเรียนเรื่องการปิดล้อมตรวจค้นน้อยลง แต่มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้รับการร้องเรียนในลักษณะที่หลากหลายมากขึ้น เช่น การถูกควบคุมตัวซ้ำซาก หมายถึงครั้งแรกถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก ครั้งที่สองถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.ก. หรือ ถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซ้ำ ซึ่งอาจเป็นหมายเดิม 
 
ตามด้วย กรณีการถูกอายัดตัวในข้อหาใหม่ หลังได้รับการปล่อยตัวแล้ว อาจโดยคำพิพากษายกฟ้องหรือศาลสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว แทนที่จะถูกดำเนินคดีในข้อหาทั้งหมดพร้อมกัน และการถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งที่ผู้ถูกควบคุมมีหมายจับอยู่แล้ว แทนที่จะส่งดำเนินคดีทันที นอกจากนี้ยังมีเรื่อง การร้องเรียนกรณีถูกบังคับให้เข้ารับการฝึกอบรม เป็นต้น
 
ในบางกรณียังมีเรื่องที่จำเลยบางคนที่ได้รับการปล่อยตัวแล้ว อาจโดยคำพิพากษายกฟ้องหรือได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว แต่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ได้แจ้งให้หน่วยงานอื่นๆทราบ ทำให้บางครั้งยังถูกเจ้าหน้าที่ทหารที่ตั้งด่านตรวจควบคุมตัวไว้อีก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะยังมีรายชื่อเป็นผู้ต้องสงสัยอยู่ ทำให้ต้องเสียเวลาตรวจสอบกลับไปยังฝ่ายตำรวจ กว่าจะทราบว่า ได้รับการปล่อยตัวแล้ว
 
ไม่เพียงการร้องเรียนต่อมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมเท่านั้น ในส่วนของเจ้าหน้าที่เองก็มีปัญหาเช่นกัน
 
อดีตนายตำรวจคนหนึ่งในศูนย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนใต้ (ศชต.) บอกว่า ในการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่เคยถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯมาก่อน มีปัญหามาก เนื่องจากระหว่าการควบคุมตัว มีการสนธิกำลังสามฝ่าย คือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ และทหาร แต่เมื่อคดีขึ้นสู่ศาล เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารที่ร่วมปฏิบัติการ โดยเฉพาะจากนอกกองทัพภาคที่ 4 ไม่ยอมมาเป็นพยาน โดยอ้างคำสั่งผู้บังคับบัญชาต้นสังกัด จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ น้ำหนักการฟ้องร้องจำเลยลดลง
 
ส่วนผลกระทบจากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในส่วนของผู้ได้รับผลกระทบ ก็คือความเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิระหว่างการถูกควบคุมตัวแล้ว เนื่องจากหน่วยงานอื่นไม่สามารถตรวจสอบระหว่างการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ได้ ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถที่จะฟ้องศาลปกครอง เพื่อเอาผิดเจ้าหน้าที่ได้ เนื่องจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำหนดไว้ว่า ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่า ด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
 
อีกทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐด้วยเช่นกัน
 
นั่นคือภาพรวมของของการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเป็นของขวัญให้คนชายแดนใต้ได้หรือไม่ ตราบเท่าที่บาดแผลจากกฎหมายพิเศษเหล่านี้ ยังคงเป็นหนองเน่าคาอยู่ 
 
แต่อย่างน้อยก็น่าจะเป็นสัญญาณเริ่มต้นที่ดีว่า พื้นที่ไม่สงบที่ถึงขั้นต้องใช้ยาแรงอย่างกฎหมายพิเศษเหล่านี้ ค่อยๆ ลดพื้นที่ลง 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: เปิดบันทึก ศอ.บต.ความเห็นต่อ "กฎหมายพิเศษ" ที่ชายแดนใต้

Posted: 03 Jan 2011 10:11 AM PST

ภาพรวมการบังคับใช้กฎมายพิเศษในชายแดนภาคใต้ มาตรการทดแทนหากยกเลิก และผลกระทบ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-กฎอัยการศึก ข้อเสนอแนะ “สมควรยกเลิก” จากศอ.บต.

 
มติยกเลิกการประกาศใช้พระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) และประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี ของคณะรัฐมนตรีมี เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2553 ดูจะเป็นอีกก้าวหนึ่งของการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้กฎหมายพิเศษเหล่านี้ได้กลายเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่อย่างรุนแรงก็ตาม
 
ดังนั้น การยกเลิกกฎหมายเหล่านี้ รัฐจึงต้องมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจมากพอสมควร ซึ่งต่อไปนี้ เป็นเนื้อหาสำคัญในบันทึกข้อความของสำนักงานบริหารงานยุติธรรม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 ที่มีส่วนทำให้รัฐบาลตัดสินใจยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึกในบางพื้นที่
 
บันทึกข้อความดังกล่าวจัดทำโดยนายกิตติ สุระคำแหง ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานยุติธรรม เสนอต่อผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผอ.ศอ.บต.) เพื่อเสนอต่อรัฐบาล โดยใน 3 ประเด็น อันประกอบด้วย
 
กระบวนการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบัน มาตรการทดแทน หากจะมีการยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และรายละเอียดเกี่ยวกับการควบคุมตัวตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และมาตรการเยียวยา ซึ่งเป็นเนื้อหาที่น่าสนใจ สรุปได้ดังนี้
 
000
 
กฎหมายพิเศษในชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย
 
พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เริ่มประกาศใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 และได้มีการขยายเวลาการประกาศใช้เรื่อยมา
 
ปัจจุบันมีการขยายระยะเวลาการประกาศใช้เป็นครั้งที่ 22 มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2553 และสิ้นสุดในวันที่ 19 มกราคม 2554 
 
พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ประกาศใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เต็มพื้นที่ทุกอำเภอ รวมทั้งในเขตพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย
 
เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2553 ได้มีประกาศการยกเลิกการใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 แทน
 
 
มาตรการตรวจค้นและการควบคุม
 
มาตรการตรวจค้นและการควบคุมตัวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มี 2 กรณี คือ
 
ใช้ตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือฝ่ายพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับการยุทธ การระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อย ฝ่ายพลเรือนต้องปฏิบัติตามความต้องการของฝ่ายทหาร
 
ฝ่ายทหาร มีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น หรือกักบุคคล ที่สงสัยว่า เป็นราชศัตรู หรือเป็นบุคคลที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติ หรือคำสั่งของฝ่ายทหารไว้สอบถามได้ ไม่เกิน 7 วัน โดยไม่ต้องขออำนาจศาล และไม่ต้องมีหมายศาลในการควบคุมตัว สถานที่ที่ใช้ในการควบคุมตัว แล้วแต่ทหารจะกำหนด และไม่มีการปล่อยตัวชั่วคราว
 
ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อนายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่ใด ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุม และควบคุมตัว บุคคลที่สงสัยว่าเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุน 
 
โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัย แต่ต้องขออนุญาตศาลควบคุมตัวครั้งแรกไม่เกิน 7 วัน นับแต่วันจับกุม ถ้าจำเป็นให้ขยายเวลา ควบคุมครั้งละไม่เกิน 7 วัน รวมแล้วไม่เกิน 30 วัน 
 
กล่าวคือ การจับกุมตัวบุคคลต้องสงสัย จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขออนุญาตจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย โดยจะดำเนินการได้ต่อเมื่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ฝ่ายตำรวจ และฝ่ายปกครองทั้ง 3 ฝ่าย มีความเห็นตรงกัน เว้นแต่เป็นกรณีจำเป็นและเร่งด่วน
 
สถานที่ที่ใช้ในการควบคุมตัว จะต้องเป็นสถานที่ที่มีการประกาศ และไม่ใช่สถานีตำรวจ หรือเรือนจำ เช่น ศูนย์พิทักษ์สันติ หรือศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ส่วนการขอปล่อยตัวชั่วคราว (การประกันตัว) ไม่สามารถทำได้เช่นกัน
 
 
การตรวจค้นและการจับกุม ควบคุมตัวในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา 
 
ในพื้นที่อำเภอจะนะ นาทวี เทพา และสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ปัจจุบัน ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2552 ถึง 30 พฤศจิกายน 2553 เพื่อป้องกันปราบปราม ระงับ ยับยั้ง ในกรณีที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร แต่ยังไม่มีความจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยคณะรัฐมนตรีจะกำหนดให้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เป็นผู้ใช้อำนาจในพื้นที่และระยะเวลาที่กำหนด
 
ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.รมน.) โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจออกข้อกำหนดต่างๆ ได้แก่ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหรืองดการปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใด 
 
รวมทั้ง ห้ามเข้าหรือให้ออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่ที่กำหนดในห้วงเวลาที่กำหนด ห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน และห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด ห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือใช้ยานพาหนะ
 
ในการปฏิบัตินี้ ผอ.รมน. และพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ ผอ.รมน. มอบหมาย เป็นพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และร่วมเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งการดำเนินคดีตามกฎหมายฉบับนี้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
 
ดังนั้น การตรวจค้น และการจับกุมตัวบุคคลใดๆ ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาในปัจจุบัน จึงต้องมีหมายจับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เว้นแต่เป็นความผิดซึ่งหน้า หรือเหตุอื่นตามที่กฎหมายกำหนด
 
ส่วนการควบคุมตัวที่สถานีตำรวจได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง หากจะทำการควบคุมตัวต่อ จะต้องนำผู้ถูกจับไปยังศาลเพื่อขออนุญาตควบคุมตัวต่อ โดยศาลเป็นผู้ออกหมายขัง ณ เรือนจำ หรือสถานที่อื่นที่ศาลกำหนด 
 
ทั้งนี้ ศาลอาจออกหมายขังได้ไม่เกินครั้งละ 12 วัน รวมแล้วไม่เกิน 84 วัน ตามอัตราโทษที่กฎหมายกำหนด 
 
ส่วนการตรวจค้นนั้น ห้ามทำการค้นในที่รโหฐาน โดยไม่มีหมายค้น เว้นแต่  ปรากฏความผิดซึ่งหน้าในที่รโหฐาน หรือเหตุอื่นตามที่กฎหมายกำหนด
 
 
ผลกระทบของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 
 
จากผลการศึกษาวิจัย โดยสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2552 สรุปว่า เจ้าหน้าที่รัฐผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่เห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกฉินฯ เป็นเครื่องมือที่จำเป็นในการควบคุม และป้องปรามการเกิดสถานการณ์ความไม่สงบ และประเมินว่า ประสบผลสำเร็จในการตรึงสถานการณ์ไม่ให้รุนแรงกว่าที่เป็นอยู่
 
แต่ในขณะเดียวกัน กลุ่มผู้นำศาสนา เอ็นจีโอและกลุ่มประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกจับกุมตัว กลับเห็นว่าการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ล้มเหลวในการสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน 
 
การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกฉินฯ ยังส่งผลกระทบในด้านลบ คือ การใช้อำนาจเกินขอบเขต การละเมิดสิทธิมนุษยชน และสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนผู้บริสุทธิ์
 
อย่างไรก็ตาม จากผลการวิจัยดังกล่าว พบว่า ผลกระทบแง่ลบ ที่เกิดจากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่วนมาก เกิดจากปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่ได้เกิดจากตัวบทกฎหมายอย่างชัดเจน 
 
อาทิ ปัญหาความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติหน้าที่และการประสานงานที่ไม่สอดคล้อง ส่งผลต่อผู้ต้องสงสัย ในกรณีการถูกออกหมายจับและมีชื่อติดค้างอยู่ตลอด เนื่องจากหมายจับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่มีอายุความ หรือปัญหาเชิงเทคนิค 
 
อย่างเช่น ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการถูกเรียกตัวมาสอบถาม สอบสวน และถูกปิดล้อมตรวจค้นภายใต้กฎอัยการศึกโดยไม่มีหมายศาล แต่ชาวบ้านหลายฝ่ายที่ได้รับผลกระทบในส่วนนี้เข้าใจว่า เป็นผลมาจาก การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 
 
ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงมองว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผลกระทบโดยตรงกับความรู้สึกและจิตใจของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่ไม่รู้ และไม่เข้าใจกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะเข้าใจผิดคิดว่า รัฐใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มากเกินไป เป็นต้น 
                             
การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ข้อดี คือ
- เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน ของพนักงานสอบสวน ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด
 
- เป็นการใช้อำนาจ โดยการเพ่งเล็งไปที่ผู้กระทำการอันก่อให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ถือเป็นเพียงผู้ต้องสงสัย หากผ่านกระบวนการซักถามแล้ว ไม่ปรากฏว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดใดๆ ก็จะได้รับการปล่อยตัวกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ โดยไม่จำเป็นต้องถูกดำเนินการตาม ป.วิ.อาญา ซึ่งจะทำให้ต้องเสียเวลาและถูกควบคุมตัวนานกว่า
 
- ประชาชนส่วนใหญ่ จะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เนื่องจากได้รับการคุ้มครองความปลอดภัย จากเจ้าหน้าที่รัฐที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้สะดวก รวดเร็วขึ้น และกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบถูกจำกัดความเคลื่อนไหว ทำให้โอกาสในการก่อเหตุร้าย กระทำได้ยาก
 
- เป็นช่องทางในการเปิดโอกาสให้ผู้หลงผิดได้ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ โดยไม่ต้องหวาดระแวงว่าจะถูกกดดันจากแนวร่วมกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ 
 
ข้อเสีย
- การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้ฝ่ายตรงข้ามใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีรัฐบาลและทำลายความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมของรัฐ
 
- เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และอาจส่งผลกระทบในด้านลบ คือ การใช้อำนาจเกินขอบเขต การละเมิดสิทธิมนุษยชน และสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนผู้บริสุทธิ์ 
 
- เป็นการยอมรับว่าสถานการณ์การก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงมีความรุนแรง ซึ่งจะส่งผลกระทบในทางเศรษฐกิจ สังคม และการลงทุน
 
การใช้กฎอัยการศึก
ข้อดี คือ
- ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ที่อยู่ในสถานการณ์ หรือสภาวะสงคราม หรือการจลาจล หรือมีเหตุอันจำเป็น เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ปราศจากภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
 
ข้อเสีย
-เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ทหารและเป็นการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ
 
-เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
 
ความเห็นต่อกรณีหากมีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึก
 
ข้อดี
- การละเมิดสิทธิเสรีภาพจะน้อยลง
 
ข้อเสีย
- การดำเนินการกับผู้ต้องสงสัยกระทำได้ยากขึ้น 
 
 
ข้อเสนอแนะกรณียังไม่สมควรยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึก 
 
จากการประเมินผลกระทบโดยสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบว่า เจ้าหน้าที่มีความเห็นเกี่ยวกับการใช้ พ.ร.ก.ฉุกฉินฯ สามารถดำเนินการด้านการป้องกันปราบปรามได้อย่างสะดวก รวดเร็ว 
 
ประกอบกับ สถานการณ์ปัจจุบัน ยังคงมีการก่อเหตุร้ายอย่างต่อเนื่อง การให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าว จึงยังมีความจำเป็น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้อำนวยความปลอดภัยแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
แต่อย่างไรก็ตาม จากผลการวิจัยดังกล่าวข้างต้น พบว่า ผลกระทบแง่ลบ ที่เกิดจากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่วนมาก เกิดจากปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่ได้เกิดจากตัวบทกฎหมายอย่างชัดเจน
 
ดังนั้น หากจะมีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวต่อไป สมควรจะต้องมีมาตรการรองรับเพิ่มเติม และให้ผู้เกี่ยวข้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ดังนี้
 
1) การใช้อำนาจตรวจค้น และการจับกุม เห็นควรให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย มีมาตรการในการกลั่นกรองอย่างรอบคอบ และระมัดระวังมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบด้านความรู้สึกประชาชนในการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ และความรู้สึกถูกคุกคามความสงบสุขจากเจ้าหน้าที่รัฐ
 
2) จากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในหลายพื้นที่ พบว่า ประชาชนกับเจ้าหน้าที่ยังมีความหวาดระแวงต่อกันสูงมาก
 
ทั้งนี้ อาจสืบเนื่องมาจากการสับเปลี่ยนกำลังพลบ่อยเกินไป และเจ้าหน้าที่ทหารส่วนใหญ่เป็นคนนอกพื้นที่ ไม่เข้าใจและไม่คุ้นเคยกับประเพณี วัฒนธรรมและประชาชนในพื้นที่ มีการส่งต่อข้อมูลกัน โดยที่ไม่มีเวลาในการตรวจสอบข้อเท็จจริง
 
ดังนั้น จึงเห็นควรรีบปรับปรุงแก้ไขระบบการจัดกำลังพล โดยให้มุ่งเน้นกำลังพลในพื้นที่  และเป็นกองกำลังประจำถิ่น ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว ซึ่งจะทำให้กระบวนการใช้อำนาจโดยขาดการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะหมดไป
 
3) ให้ความสำคัญ และมีนโยบายที่เข้มงวด จริงจังกับการทำความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่ทุกคน ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย
 
ให้รับรู้ถึงเจตนารมณ์ และวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการบังคับใช้กฎหมาย ภายใต้กรอบนโยบายการเมืองนำการทหาร และยุทธศาสตร์พระราชทานเข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา และมีมาตรการลงโทษที่เด็ดขาด รวดเร็วกับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายที่กระทำการใดๆ เกินขอบเขตอำนาจหน้าที่โดยมิชอบ
 
4) ให้ความสำคัญกับการพัฒนากองกำลังประจำถิ่นในชุมชน เช่น อส. ชรบ. เป็นต้น เพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง และเมื่อพื้นที่ใดมีความสามารถในการปกป้อง คุ้มครองตนเองได้ ก็ให้มีการยกเลิกกฎหมายพิเศษในชุมชน  เพื่อให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ชุมชนอื่น
 
5) ให้ความรู้และทำความเข้าใจกับประชาชน เกี่ยวกับเหตุผลความจำเป็นในการประกาศใช้กฎหมายพิเศษ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และส่งเสริมให้เกิดความร่วมมืออย่างจริงจังระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน บนพื้นฐานของการอำนวยความปลอดภัย และการอำนวยความเป็นธรรมที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน
 
6) เห็นสมควรผลักดันในเชิงนโยบาย เพื่อให้มีบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอน เช่น พนักงานสอบสวน อัยการ ศาล และทนายความ ที่มีความเชี่ยวชาญ และชำนาญการเป็นพิเศษ เพื่อทำหน้าที่เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากอาชญากรรมในพื้นที่มีความสลับซับซ้อน เกี่ยวโยงเป็นกระบวนการและเป็นองค์กรปิดลับ
 
รวมทั้งการพัฒนาวิทยาการและบุคลากรด้านนิติวิทยาศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีความทันสมัย มีประสิทธิภาพสูง ตลอดจนให้ความสำคัญกับมาตรการคุ้มครองพยาน และการเยียวยาผู้รับผลกระทบในกระบวนการยุติธรรมอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมทุกฝ่าย
 
7) เห็นควรให้ กยต. (คณะกรรมการนโยบายและอำนวยการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้) นำร่างหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เสนอคณะรัฐมนตรี
 
ทั้งนี้ เพื่อประกาศเป็นหลักเกณฑ์ในการให้ความช่วยเหลือผู้ถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้ได้รับการชดเชย ช่วยเหลือ ในอัตราวันละ 350 บาท โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่เริ่มมีการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการแสดงออกให้เห็นถึงความจริงใจของรัฐบาลในการพยายามแก้ไขปัญหา และการคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญควบคู่กันไปด้วยในเวลาเดียวกัน
 
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เริ่มประกาศใช้ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อ 20 กรกฎาคม 2548 จำนวนผู้ที่เคยถูกควบคุมตัว ประมาณ 5,313 คน วงเงินงบประมาณหากมีการชดเชยย้อนหลัง ประมาณ 30 ล้านบาทเศษ
 
 
ข้อมูลผู้ถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากศูนย์พิทักษ์สันติ
การปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2548 – 31 ตุลาคม 2553 (06.00 น.)

ยะลา

ปัตตานี

นราธิวาส

รวม
การควบคุมตัว

921

465

663

2,049
การปล่อยตัว

777

303

496

1,576
การดำเนินคดี

133

159

165

457
คงเหลือ

11

3

2

16
 
ข้อมูลผู้ถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์
ปี

จำนวน (คน)

2548

25

2549

134

2550

1,968

2551

653

2552

377

2553

107

รวม

3,264
 
 
ข้อเสนอแนะกรณีสมควรยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึก
 
เนื่องจากความเห็นของประชาชนในพื้นที่มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการขยายเวลากับการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่เป็นมุสลิม ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ไม่เห็นด้วย
 
แต่ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่รัฐ ฝ่ายทหาร ฝ่ายตำรวจ และชุมชนชาวไทยพุทธส่วนใหญ่ ก็ยังเห็นว่า ควรจะใช้กฎหมายนี้ในพื้นที่ต่อไป
 
ประกอบกับการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีจุดอ่อนในแง่การสร้างเงื่อนไขในการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสิทธิมนุษยชน ดังนั้น จึงมีข้อควรพิจารณา คือ
 
1)  หากรัฐบาลจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐมีความจำเป็นที่จะต้องนำกฎหมายพิเศษอื่นมาบังคับใช้ในพื้นที่ เช่น กฎอัยการศึก และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เป็นต้น 
 
โดยระยะแรก ควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงผลกระทบ รวมทั้งมีการปรับปรุงโครงสร้างการทำงานของ กอ.รมน. ให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย และสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
 
2)  พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ไม่ได้อาศัยกระบวนการศาลยุติธรรมอย่างเต็มที่ และถูกมองในแง่ลบจากประชาชนในการยุติความรุนแรง จึงเห็นควรให้ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 
 
ทั้งนี้ เพราะว่าพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในแห่งราชอาณาจักร แม้จะมีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  แต่การดำเนินคดี ใดๆ อันเนื่องมาจากกฎหมายดังกล่าว ให้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม และไม่ได้ให้อำนาจพิเศษแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย
 
3) รัฐบาลสามารถกำหนดพื้นที่บางพื้นที่เพื่อเป็นการนำร่องทดลองการยกเลิกกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมทั้งพื้นที่ที่จะมีการนำเอา พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาใช้
 
ทั้งนี้ หากพื้นที่ใด กลับมีความรุนแรงมากขึ้น รัฐบาลสามารถประกาศยกเลิกกฎหมายบางฉบับ ในบางพื้นที่ และสลับกับการประกาศใช้กฎหมายบางฉบับในบางพื้นที่ เพื่อให้มีความสอดคล้อง เหมาะสมกับสถานการณ์เป็นการเฉพาะในแต่ละพื้นที่ แต่ละช่วงเวลาดังกล่าวได้ โดยไม่จำเป็นต้องประกาศกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งเพียงฉบับเดียวเต็มพื้นที่
 
4) จากสภาพปัญหาที่ผ่านมา พบว่า การบังคับใช้กฎหมายใดๆ เป็นการชั่วคราวนั้น จะมีปัญหาด้านการรับรู้ และความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการนำกฎหมายมาใช้ จึงทำให้เกิดข้อพิพาทบาดหมางระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐผู้บังคับใช้กฎหมาย กับประชาชนผู้ถูกบังคับใช้กฎหมาย 
 
ส่งผลให้เกิดอคติและหวาดระแวงต่อกัน และทำให้กฎหมายถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการใช้อำนาจกับประชาชน ไม่ใช่เป็นเครื่องมือในการรักษาความสงบเรียบร้อยให้กับประชาชน ดังเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมาย 
 
ดังนั้น หากจะมีการนำ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สมควรที่จะต้องมีระยะเวลาในการเตรียมความพร้อม รวมทั้งการชี้แจง ทำความเข้าใจให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้ชัดเจนเสียก่อน
 
โดยในระยะแรกยังไม่สมควรยกเลิกกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในทันที รวมทั้งให้มีกระบวนการเผยแพร่ความรู้และการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) โดยตรงด้วย
 
5) การดำเนินการตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ควรมีการพัฒนาบุคลากรและบทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอย่างเป็นระบบ เช่น บุคลากรในองค์กรตำรวจ อัยการ และศาลยุติธรรม
 
รวมทั้งผู้ที่จะเป็นพนักงานและเจ้าหน้าที่ของ กอ.รมน. ที่จะร่วมเป็นพนักงานสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
 
6) ส่งเสริมความรู้และความเข้าใจร่วมกันของเจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่าย ที่เกี่ยวกับความมั่นคง ต่อแนวคิดการเมืองนำการทหาร การจัดการในสังคมพหุวัฒนธรรม การจัดการความขัดแย้ง และสันติศึกษาในกระบวนการยุติธรรม
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นิธิ เอียวศรีวงศ์: กองทัพกับการเมืองไทย (2)

Posted: 03 Jan 2011 08:57 AM PST

 
นอกจากกองทัพแล้ว ใครเป็น "หุ้นส่วน" ในการเมืองไทยในปัจจุบันบ้าง?
 
ผมคิดว่ามีดังต่อไปนี้คือ อำนาจนอกระบบ, ทุน อันประกอบด้วยทุนธนาคาร, ทุนอุตสาหกรรม และทุนธุรกิจ บางส่วนของกลุ่มนี้อาจต้องรวมถึงนโยบายของมหาอำนาจตะวันตกด้วย เพราะถึงอย่างไรก็เชื่อมโยงกัน, ข้าราชการพลเรือนหรือเทคโนแครต (แต่นักเศรษฐศาสตร์บางท่านก็บอกว่าราชการไทยไม่เหลือเทคโนแครตอีกแล้ว) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการบริหารรัฐ จึงอาจต่อรองทางการเมืองได้สูง เพราะสามารถทำให้ผู้ได้อำนาจรัฐกลายเป็นง่อยไปได้ง่ายๆ, เทคโนแครตที่อยู่นอกระบบราชการก็มีบทบาทอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะอยู่ในตลาดหุ้น, มหาวิทยาลัย, หรือบริษัทเอกชน
 
คนเหล่านี้มีช่องทางในการ "ส่งเสียง" ของตน ทั้งที่เป็นคำพูดและการกระทำได้มาก ผมจึงขอรวมปัญญาชนไว้ในกลุ่มนี้ด้วย, คนชั้นกลาง ส่วนใหญ่คือพวกที่เป็นคนงานคอปกขาว พวกนี้เริ่มมีบทบาทอย่างเห็นได้ชัดมาตั้งแต่ 14 ตุลา และกลุ่มสุดท้ายคือสื่อ จะนับกลุ่มนี้ว่าอยู่ในกลุ่มทุนธุรกิจก็ได้ เพื่อสื่อในทุกวันนี้ล้วนเป็นการประกอบธุรกิจล้วนๆ ไปแล้ว แต่ผมนึกถึงคนทำงานสื่อ ซึ่งที่จริงก็คือคนงานเสื้อขาวประเภทหนึ่ง แต่เป็นพวกที่มีโอกาส "ส่งเสียง" มากกว่าคนงานเสื้อขาวธรรมดามาก และเสียงที่ส่งออกมาก็อาจไม่ตรงกับนายทุนเจ้าของสื่อเสมอไป, และแน่นอนมีกองทัพอยู่ด้วย
 
ต่อไปผมอยากพูดถึง "พลวัต" ของการเมืองไทย ที่มาจากการขยับขับเคลื่อนของ "หุ้นส่วน" หรือ "พันธมิตร" ของกองทัพ จะเห็นได้ว่าแต่ละกลุ่มที่ยกข้างบนนั้น ต่างเผชิญความเปลี่ยนแปลงในสังคม และทำให้ต้องขยับขับเคลื่อนปรับเปลี่ยนบทบาททางการเมืองของตนไปอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นความสัมพันธ์กับกองทัพจึงต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย
 
อำนาจนอกระบบก็เหมือนกองทัพ กล่าวคือไม่ได้ลอยอยู่ต่างหากออกไปจากระบบการเมือง และหาได้มีอำนาจเด็ดขาดเหนือการเมืองไม่ ยังต้องอาศัยการผูก "พันธมิตร" กับกลุ่มอื่นๆ เหมือนกัน หากไม่ร่วมมือกับกลุ่มอื่นแล้ว การเมืองก็อาจเปลี่ยนไปในทางที่ไม่พึงประสงค์ได้ เช่นรัฐประหารใน พ.ศ.2520 เป็นผลให้เกิดรัฐบาลที่พยายามประนีประนอมกับกลุ่ม "หุ้นส่วน" ต่างๆ มาก "เกินไป" จนอาจจะทำให้เสียดุลแห่งอำนาจในช่วงนั้นไปได้ ต้องรอกว่าการจัดระบบจะเข้าที่เข้าทางมากขึ้นในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จึงเป็นที่วางใจแก่อำนาจนอกระบบได้
 
ผลจากการที่ทักษิณ ชินวัตร สามารถตั้ง ผบ.ทบ.ได้เอง บวกกับความแตกร้าวใน "สาย" ต่างๆ ของกองทัพหลังจากนั้น ย่อมกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพและอำนาจนอกระบบ เพราะจำเป็นต้องถือข้างสายใดสายหนึ่งจนได้ เท่ากับเข้าไปอยู่ในความแตกร้าวของกองทัพเอง กองทัพเคยแตกร้าวมาแล้ว แต่อำนาจนอกระบบไม่จำเป็นต้องถือข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างออกหน้า และไม่ว่าผลที่สุดสายใดจะขึ้นก็ไม่ถึงกับคุกคามสถานะของอำนาจตนเองนัก สถานการณ์จึงดูคล้ายกับช่วงที่เกิดความพยายามจะยึดอำนาจในเหตุการณ์ที่เรียกว่า "เมษาฮาวาย" ขึ้นใหม่
 
สถานะของทุนในพื้นที่ทางการเมืองในช่วงนี้ อาจถือได้ว่ามีความมั่นคง ไม่ว่าจะออกหัวหรือออกก้อย ทุนก็ยังสามารถคุมการเมืองในระดับที่น่าพอใจ ทุนให้การอุดหนุนพรรคการเมืองทุกพรรคอยู่แล้ว และถึงจะมีการรัฐประหารโดยกองทัพ ทุนก็คงร่วมด้วยมาแต่ต้น และอย่างไรเสียทุนย่อมเข้าถึงคณะรัฐประหารได้อย่างแน่นอน ทุนจึงไม่เป็นปัญหาแก่กองทัพ และกองทัพก็ไม่เป็นปัญหาแก่ทุน
 
ทุนไม่กลัวเสื้อแดง ตราบเท่าที่แกนนำเสื้อแดงเป็นนักการเมืองในระบบ แต่น่าวิตกแก่ทุนมากกว่าก็คือเสื้อแดงอาจเปลี่ยนแกนนำไปสู่แกนนอน เพราะ "ความเป็นธรรม" ที่แกนนอนเรียกร้องดูจะมากกว่าทักษิณ "ความเป็นธรรม" ประเภทนั้นแหละที่ทุนไม่อยากเห็น แต่ถึงอย่างไรกองทัพในฐานะ "พันธมิตร" ก็น่าจะเอาอยู่ แม้จะเอาอยู่แบบเฉิ่มๆ บ้างเช่นจับรองเท้าแตะ และจับเสื้อยืดก็ตาม
 
ผมจะไม่พูดถึง "หุ้นส่วน" อื่นๆ อีก เพราะในช่วงนี้ ลักษณะความสัมพันธ์กับกองทัพคงไม่เปลี่ยน ยกเว้นแต่จะเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้น ที่ทำให้ "พันธมิตร" เหล่านี้ต้องปรับเปลี่ยนท่าทีต่อกองทัพอย่างฉับพลัน เช่นเกิดเหตุการณ์ประเภทพฤษภามหาโหด สื่อย่อมเปลี่ยนท่าทีของตนเองทันที
 
ความสัมพันธ์กับกองทัพที่มีพลวัตสูงก็คือกลุ่ม "คนชั้นกลาง" เพราะที่จริงแล้วสัดส่วนของพื้นที่ทางการเมืองที่คนชั้นกลางช่วงชิงมาได้นั้น ไม่เกี่ยวอะไรกับกองทัพ ตรงกันข้ามด้วยซ้ำที่กองทัพกลับไปหดพื้นที่นี้ลง
 
อย่างไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่าคนชั้นกลาง ไม่ว่าในสังคมใดก็ตาม ย่อมมีความหลากหลายอย่างมาก หลากหลายในแง่ผลประโยชน์, จินตนาการ, ระบบคุณค่า, วัย, รวมทั้งชาติพันธุ์และศาสนาด้วย ในระยะประมาณ 20 ปีมานี้ คนชั้นกลางขยายตัวขึ้นอย่างมากและรวดเร็วในสังคมไทย และทำให้คนชั้นกลางยิ่งมีความหลากหลายสูงขึ้น และด้วยเหตุดังนั้นคนชั้นกลางจึงไม่เป็น "พันธมิตร" ทางการเมืองที่ดีของกลุ่มใดเลย ผิดจากเมื่อช่วง 14 ตุลา ซึ่งยังมีคนชั้นกลางจำนวนน้อย และมีความหลากหลายน้อย (ส่วนใหญ่เป็นหรือจะเป็นคนงานคอปกขาว) หลายกลุ่มจึงมาร่วมเป็น "พันธมิตร" กับคนชั้นกลาง เพื่อโค่นล้มผู้นำกองทัพออกไป
 
พื้นที่ทางการเมืองของคนชั้นกลางระดับบนได้รับประกันค่อนข้างมั่นคงในระบบการเมือง แต่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก คนชั้นกลางต้องการขยายพื้นที่ให้กว้างขวางขึ้น เพื่อจะได้สามารถกำกับควบคุมการเมืองได้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ (ประชาธิปไตยทางตรง, รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน, นายกฯพระราชทาน, ความเสมอภาค, การเลือกตั้งเป็นตัวตัดสินเด็ดขาด ฯลฯ)
 
แต่คนชั้นกลางกลุ่มนี้ แม้ได้เรียกร้องการเลือกตั้งมานาน แต่ที่จริงแล้วกลับไม่ชำนาญในระบบเลือกตั้งมากนัก มาพบว่าระบบเลือกตั้งไม่ประกันความมั่นคงในพื้นที่ทางการเมืองของตนนัก เพราะนักการเมืองซึ่งไม่ได้เป็นตัวแทนของคนชั้นกลางระดับนี้สักเท่าไร แต่มีความเชี่ยวชาญกับกลไกการเลือกตั้งมากกว่า สามารถเก็บเกี่ยวคะแนนเสียงส่วนใหญ่ไว้ในมือได้ คนชั้นกลางแทบจะสูญเสียพื้นที่ทางการเมืองในระบบไปโดยสิ้นเชิง ถึงมีสื่อในมือ แต่รัฐบาล ทรท.ก็พิสูจน์ให้เห็นว่า สามารถจัดการกับสื่อได้ ปัญญาชนที่เคยยืนอยู่กับคนชั้นกลางกลายเป็นตัวตลกของทักษิณ คนชั้นกลางกลุ่มนี้จึงรู้สึกหมดตัวทางการเมือง
 
ไม่น่าแปลกอะไรที่พวกเขาหันกลับไปสนับสนุนกองทัพให้เข้ามามีบทบาททางการเมือง เพื่อถ่วงดุลนักการเมือง แม้แต่เรียกร้องให้กองทัพยึดอำนาจเสียเลย ก็ไม่แปลกอะไร เพราะการยึดอำนาจเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะสร้างระบบแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพได้ ปราศจากฐานความชอบธรรมที่แข็งแกร่ง คนชั้นกลางกลุ่มนี้ย่อมมีอำนาจต่อรองกับกองทัพเพิ่มขึ้น
 
ตรงกันข้ามกับคนชั้นกลางกลุ่มนี้ คือคนชั้นกลางที่เกิดใหม่และอยู่ในระดับต่ำกว่า (ทั้งในเชิงรายได้, ความมั่นคง, การศึกษา, และช่วงชั้นทางสังคม) การเมืองในระบบเลือกตั้งเป็นหนทางเดียวที่จะให้คนกลุ่มนี้ มีและขยายพื้นที่ทางการเมืองของตนได้ จึงเป็นธรรมดาที่คนกลุ่มนี้ย่อมหวาดระแวงและไม่ไว้ใจกองทัพซึ่งขัดขวางผลของการเลือกตั้งอยู่เสมอ คนชั้นกลางระดับล่างเหล่านี้มีจำนวนมากจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น จึงเป็นฐานคะแนนเสียงใหญ่ของนักการเมืองทั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่น นอกจากนี้ในปัจจุบันก็ชัดเจนว่า คนชั้นกลางระดับล่างเป็น "ตลาด" ที่สำคัญของสื่อ ไม่ใช่ชาวบ้านนอกที่ไม่เคยดูข่าวหรืออ่านหนังสือพิมพ์ อย่างสมัยก่อนอีกต่อไป
 
ไม่แต่เป็นเพียงฐานคะแนนเท่านั้น คนชั้นกลางระดับล่างเหล่านี้ยังเป็นฐานอำนาจต่อรอง ที่นักการเมืองอาจใช้กับกองทัพได้ด้วย นักการเมืองในระบบไม่อาจถูกขจัดออกไปง่ายๆ ด้วยอำนาจรัฐประหารอย่างที่เคยเป็นมา อย่างน้อยก็มีคนชั้นกลางระดับล่างที่ต่อต้านอย่างแข็งขัน สายสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับคนชั้นกลางกลุ่มนี้ก็นับว่าน่าสนใจ การขยายพื้นที่ของกองทัพในการเมืองดังที่เป็นอยู่ขณะนี้ ทำให้ทั้งสองฝ่ายกลับต้องร่วมแรงร่วมใจกันอย่างเหนียวแน่น แต่ไม่ได้หมายความว่านักการเมืองจะสามารถชี้นำคนชั้นกลางระดับล่างได้ตลอดไป ในสถานการณ์ที่มีทางเลือกทางการเมืองมากกว่านี้ คนชั้นกลางระดับล่างเสียอีกที่น่าจะชี้นำนักการเมืองได้มากกว่า
 
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดแก่ตัวละครต่างๆ เหล่านี้ ทำให้กองทัพอยู่ในฐานะลำบากพอสมควร อำนาจทางการเมืองที่กองทัพครอบครองอยู่เวลานี้ มี "พันธมิตร" ที่เอาจริงเอาจังด้วยเพียงกลุ่มเดียว คือคนชั้นกลางระดับบน ซ้ำยังอาจไม่พร้อมเพรียงกันนักด้วย การจัดสรรอำนาจเช่นนี้ทำให้อำนาจต่อรองของกองทัพกับนักการเมืองลดลงไปเรื่อยๆ ด้วย ในระยะแรกอาจมีมาก แต่นานวันไป อย่างไรเสียนักการเมืองก็ต้องโอนอ่อนต่อเสียงเรียกร้องของสังคม ไม่มากก็น้อย ในที่สุดก็ไม่สามารถตามใจกองทัพได้ตลอดไป ดังเช่นการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินด้วยความลังเลใจของกองทัพในครั้งนี้เป็นต้น (ต่อรองกันจนเป็นการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง)
 
ในขณะที่ "หุ้นส่วน" ที่ดูเหมือนเป็น "พันธมิตร" ด้วยนั้น ก็วางใจไม่ได้ (ทุน, สื่อ, ปัญญาชน, เทคโนแครต, ข้าราชการพลเรือน ฯลฯ) อย่างดีก็เพียงยอมให้กองทัพมีส่วนแบ่งทางการเมืองไม่มากไปกว่านี้ หรืออาจต้องการให้น้อยกว่านี้ด้วย เพราะภาวะผู้นำทางการเมืองที่กองทัพแสดงออกแต่ละครั้งนั้นดูจะไร้เดียงสาเกินไป
 
เพราะหาความชอบธรรมยากขึ้นที่จะรักษาพื้นที่ทางการเมืองเอาไว้ คงเป็นเหตุผลสำคัญที่กองทัพต้องเน้นอุดมการณ์ "รักษาราชบัลลังก์" อย่างหนักและดังที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ปราศจากศัตรูที่ชัดเจนเช่นสมัยที่ยังมี พคท.อยู่ น่าสงสัยว่าอุดมการณ์นี้จะเพียงพอหรือไม่ ที่จะรักษา "พันธมิตร" ไว้ได้นานๆ
 
โดยนัยยะของบทความนี้ ก็เห็นแล้วว่าบทสรุปของผมก็คือ "หุ้นส่วน" ทางการเมืองทุกรายย่อมเป็นตัวละครอิสระ มีความต้องการของตนเอง มีผลประโยชน์ของตนเอง และมีเป้าหมายทางการเมืองของตนเอง ไม่สอดคล้องกับ "หุ้นส่วน" รายอื่นในทุกกรณีไป แต่ก็อาจร่วมมือกันเฉพาะกิจ เพื่อบรรลุเป้าหมายของแต่ละฝ่ายที่ไม่ขัดแย้งกันได้ ชนะแล้วก็ยังต้องมาต่อรองจัดสรรกันใหม่ทุกครั้งไปด้วย จึงไม่มีใครเป็นเครื่องมือของใครอย่างสยบราบคาบเด็ดขาด
 
 
ที่มา: มติชนออนไลน์ วันที่ 03 มกราคม พ.ศ.2554
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สัมภาษณ์ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์: ‘วิกฤต’ รอบใหม่จะยิ่งรุนแรง

Posted: 03 Jan 2011 08:11 AM PST

วิเคราะห์แนวโน้มสังคมไทยปี 2554 จากประสบการณ์ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เมื่อความขัดแย้งยังไม่ถูกแก้ให้ตรงจุด วิกฤตใหม่ๆ จะเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ปัญหาที่ยังตอบไม่ได้คือการปะทุของวิกฤตรอบใหม่จะเป็นแบบไหน แล้วประชาธิปไตยไทยจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

 
ภาพรวมประเทศไทย
 
สิ่งที่จะเห็นได้ชัดเจนคือ ความขัดแย้งระหว่างตัวระบบการเมืองกับประชาชนซึ่งแสดงออกด้วยความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2552-2553 ในรูปการใช้กำลังทหารของรัฐหลายครั้ง ในปี 2554 ความขัดแย้งนี้จะยังคงมีอยู่ต่อไป เพราะประชาชนจำนวนมากไม่พอใจระบบการเมืองทั้งหมดเรื่องที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของเสียงส่วนใหญ่ และความพยายามของตัวระบบการเมืองเองในการปรับตัวเพื่อตอบสนองคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะหลังจากมีการปราบปรามกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน หรือกลุ่มคนเสื้อแดงในปี 2553 ผ่านการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปต่างๆ เห็นได้ชัดเจนว่าล้มเหลวและไม่ได้ผล
 
การทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยชุดของ นพ.ประเวศ วะสี หรือนายอานันท์ ปันยารชุน หรือคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มี ดร.คณิต ณ นคร เป็นประธาน รวมทั้งคณะกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ในด้านหนึ่งก็ยังไม่พบผลงานที่มีความคืบหน้า ในอีกด้าน ข้อเสนอในหลายเรื่องของคณะกรรมการเหล่านี้รัฐบาลไม่ได้แสดงท่าทีว่าจะปฏิบัติตาม นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกทีรัฐบาลจะทำแบบนี้ เพราะคณะกรรมการพวกนี้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเฉพาะหน้ามาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว 
 
ขณะที่ความพยายามของรัฐบาลในการชะลอความขัดแย้งผ่านการแก้ปัญหาด้วยวิธีการปฏิรูปต่างๆ ดูเหมือนว่าไม่ค่อยได้รับการตอบสนองจากสังคม รัฐบาลเองก็เหมือนไม่เข้าใจด้วยว่าวิธีเดียวที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐบาล หรือระหว่างประชาชนกับระบบการเมืองทั้งระบบในเวลานี้ได้ต้องมีการปฏิรูปสังคมอย่างกว้างขวางจริงๆ ที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่ได้พยายามทำอย่างเต็มที่ ที่ทำไปบ้างก็ดูช้าหรือไม่ก็น้อยเกินไป ฉากที่จะเกิดขึ้นในปี 2554 คือความขัดแย้งระหว่างประชาชนส่วนใหญ่กับระบบการเมืองจะมีไม่เปลี่ยนแปลง
 
แนวโน้มที่ 2 ที่น่าสนใจที่จะเกิดขึ้นปี 2554 คือ ตัวระบบการเมืองข้างในมีความพยายามในการปรับตัวอย่างไรบ้างเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้ ในรอบปี 2552-2553 สิ่งที่เราเห็นตัวระบบการเมืองทั้งระบบไม่มีความพยายามปรับตัวเพื่อแก้ปัญหา ในทางตรงกันข้ามกลับมีความพยายามจะให้ระบบการเมืองรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่คนกลุ่มเดียวมากขึ้น เราจะเห็นกรณีการแต่งตั้งผู้บัญชาการทหารบก และการจัดทำบัญชีโยกย้ายนายทหาร เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการพยายามทำให้อำนาจทางการเมืองกับอำนาจทางทหารกระชับเป็นปึกแผ่นกัน และใช้ความเป็นปึกแผ่นของกองทัพเป็นฐานอำนาจทางการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งแนวโน้มจะเป็นต่อไปในปี 2554
 
ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในปี 2554 ก็คือว่า สภาพของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่จะต้องมีการยุบสภาและมีการเลือกตั้ง โอกาสที่รัฐบาลชุดนี้จะกลับมาเป็นรัฐบาลใหม่ยังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง ภายใต้บริบทแบบนี้สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ กองทัพจะกลายเป็นสถาบันที่มีอำนาจเข้มแข็งที่สุดในปี 2554 โดยปริยาย นี่คิดว่าเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์อยู่ในอำนาจในช่วงปี 2553 ได้ คือได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ พอถึงปี 2554 สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ เมื่อกองทัพมีความเข้มแข็งจนอาจไม่จำเป็นต้องฟังเสียงรัฐบาลเหมือนในช่วงที่ผ่านมา ตรงนี้จะสร้างปัญหาการเมืองชุดใหม่ขึ้นมาอย่างแน่นอน
 
แนวโน้มที่ 3 ที่จะเกิดขึ้นคือ การปรับตัวของพรรคการเมืองต่างๆ เป็นที่น่าสนใจว่าในปี 2552-2553 ที่ผ่านมาเห็นได้ว่าความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมืองมารวมศูนย์อยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย แต่แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในปี 2554 คือฝั่งพรรคเพื่อไทยจะดำเนินการทางการเมืองอย่างไรในแบบที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างประชาธิปไตยให้มากที่สุด ตรงนี้เป็นประเด็นที่ดูแล้วยังไม่มีความชัดเจนเท่าไร ในกรณีฝั่งพรรคเพื่อไทยการพูดถึงการปฏิรูปสถาบันการเมืองต่างๆ หลังจากถูกสลายการชุมนุมในปี 2553 แทบไม่ได้เล่นบทอะไรในการที่จะผลักดันให้เกิดการปฏิรูประบบการเมืองหรือปฏิรูปกองทัพอย่างเป็นรูปธรรม หรือถ้ามีก็เรียกว่าน้อยมาก
 
สิ่งที่อาจเป็นเรื่องอันตรายด้วยซ้ำไปในอนาคตก็คือว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้า แม้พรรคเพื่อไทยมีความเป็นไปได้ที่จะชนะจากแรงเหวี่ยงที่ประชาชนมีความนิยมต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่ต้องยอมรับว่า พ.ต.ท.ทักษิณออกจากเวทีการเมืองไป 5 ปีแล้ว ส่วนพรรคเพื่อไทยไม่สามารถพัฒนาให้เป็นสถาบันการเมืองที่จะผลิตนโยบาย หรือมีผู้นำที่เป็นทางเลือกของระบบการเมืองทั้งระบบได้ เรื่องนี้จึงยังไม่แน่นอน และพรรคประชาธิปัตย์ก็มีโอกาสสูงที่จะชนะมากกว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เพราะเป็นรัฐบาลนานกว่า มีผลงานมากกว่า ถึงแม้ตัวผู้นำจะไม่ได้รับความนิยมเท่า พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ใช่ผู้นำในระบบแล้ว จึงไม่ใช่ประเด็นอีกต่อไป
 
แนวโน้มที่น่าคิดคือเสียงของคนส่วนใหญ่คราวนี้ที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยจะมียุทธศาสตร์ทางการเมืองอย่างไรในการต่อสู้เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยในสถานการณ์แบบนี้ หลังจากแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านมาเราเห็นได้ชัดเจนว่าไม่ค่อยเน้นเรื่องประชาธิปไตยมากเท่ากับเน้นเรื่องการประนีประนอมกับชนชั้นนำเดิม ในปี 2552-2553 พรรคเพื่อไทยหรือฝ่ายประชาธิปไตยประสบความสำเร็จกว่าในเรื่องการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพราะสามารถอ้างว่าตัวเองเป็นเสียงส่วนใหญ่ที่ชนะการเลือกตั้งแต่ไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่แนวโน้มแย่ที่สุดที่อาจเกิดในปี 2554 คือพรรคเพื่อไทยไม่ชนะเลือกตั้ง ส่วนฝ่ายที่ชนะก็ไม่ได้เน้นเรื่องการปฏิรูปประชาธิปไตยเท่ากับการประนีประนอมกับคนชั้นนำเดิม
 
ตรงนี้จะเป็นปัญหาของระบบการเมืองในอนาคตมากขึ้น กลายเป็นระบบการเมืองที่ทุกอย่างในปี 2554 จะล็อกกันหมดคือ ด้านหนึ่งมีกองทัพที่เข้มแข็งเป็นปึกแผ่นมากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ขณะที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจนในการผลักดันประชาธิปไตยให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างระบบการเมืองกับประชาชนจะยิ่งถ่างกว้างขึ้น ถ้าพูดอีกแง่หนึ่งเป็นวิกฤตของระบบการเมืองที่จะขยายตัวขึ้น ปี 2552-2553 เห็นว่าวิกฤตการณ์นี้นำไปสู่การจลาจล การชุมนุม และนำไปสู่การใช้กำลังของรัฐอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ปี 2554 วิกฤตการณ์เดิมจะยังมีอยู่ และยังมีวิกฤตใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาอีก แต่ปัญหาที่ยังตอบไม่ได้คือการปะทุของวิกฤตรอบใหม่จะเป็นแบบไหน
 
 
ปัญหาระบบนิติธรรม
 
กระบวนการยุติธรรมในปี 2554 จะมีปัญหาเรื่อง 2 มาตรฐานเหมือนเดิม และไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น ในแง่หนึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2549 ที่การตัดสินของศาลหลายเรื่องมีความคลุมเครือและอธิบายไม่ได้ ปัญหาแบบนี้หนักขึ้นในปี 2553 เพราะในกรณีหลังปี 2549 ความไม่พอใจที่คนมีต่อระบบเกิดจากความเชื่อว่ามีพลังอื่นนอกเหนือระบบยุติธรรมเข้ามาแทรกแซงจนระบบไม่สามารถทำงานอย่างตรงไปตรงมา ขณะที่ปี 2553 หลักฐานอะไรหลายๆ อย่างที่ปรากฏผ่านสื่อหรือเว็บไซต์ต่างๆ ทำให้คนจำนวนไม่น้อยเห็นว่าปัญหาของตัวองค์กรอย่างศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เกิดจากการแทรกแซงของพลังภายนอก แต่ตัวองค์กรเองก็มีปัญหาภายในเต็มไปหมด ความเชื่อถือที่คนมีต่อตัวระบบจึงน้อยลงกว่าเดิม
 
โดยตัวองค์กรแบบนี้ไม่มีโอกาสที่จะปฏิรูปตัวเองได้อยู่แล้ว ถ้าไม่เกิดพลังสังคมจำนวนมากเข้ามากดดัน เพียงแต่ว่าขณะนี้เสียงเรียกร้องของสังคมให้มีการปรับองค์กรหรือทำให้องค์กรมีลักษณะตอบสนองมากขึ้นไม่ถูกรับฟัง ปัญหาที่จะเป็นประเด็นมีอยู่ข้อเดียวคือ ทำอย่างไรให้ความไม่พอใจที่มีต่อองค์กรเหล่านี้ยกระดับเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบันได้ ตรงนี้น่าสนใจ ซึ่งจุดนี้ยังไม่เกิด จริงๆ คนที่มีศักยภาพทำให้เกิดเรื่องนี้ได้มากที่สุดคือสถาบันการเมือง และพรรคเพื่อไทยน่าจะเป็นองค์กรที่ทำบทบาทตรงนี้ แต่ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยอยู่ในสภาพที่ระมัดระวังในการพูดเรื่องนี้มากเกินไป ส่งผลให้โอกาสที่จะเปลี่ยนจึงยังไม่เกิดขึ้น
 
 
การเคลื่อนไหวภาคประชาชน
 
สิ่งที่จะเกิดกับการเคลื่อนไหวของภาคประชาธิปไตยในปี 2554 ในแง่หนึ่งเป็นผลมาจากการต่อสู้ในปี 2553 ซึ่งแต่เดิมกลุ่มคนเสื้อแดงมีความหลากหลายทางความคิดมาก แยกเป็นฝ่ายที่มาชุมนุมเพื่อสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ฝ่ายที่ไม่ชอบการรัฐประหาร ไม่ชอบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองค์มนตรีและรัฐบุรุษ หรือฝ่ายที่คิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบการเมืองแบบใหม่ก็มี ความคิดเหล่านี้ได้โอกาสแสดงออกในช่วงที่กลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมด้วยการผ่านสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2553 คือการถูกปราบขนานใหญ่โดยที่ฝ่ายรัฐไม่แสดงความรับผิดชอบ จะยิ่งผลักผู้ชุมนุมจำนวนมากในช่วงปี 2553 ให้มีลักษณะถึงรากถึงโคนมากขึ้น ไม่ใช่แค่ชุมนุมเพราะชอบ พ.ต.ท.ทักษิณหรือพรรคเพื่อไทยเท่านั้น
 
ปรากฏการณ์สำคัญตอนนี้คือมีการตั้งคำถามถึงระบบการเมืองทั้งระบบมากขึ้น และปี 2554 แนวโน้มการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงจะมีการพูดถึงองค์กรนำแบบที่ นปช. อาจไม่ใช่ศูนย์กลางองค์กรเดียวเหมือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้า นปช. ไม่แสดงให้ผู้ร่วมชุมนุมในปี 2553 เห็นว่าสามารถเป็นหัวหอกในการเรียกร้องประชาธิปไตยได้อย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะเงื่อนไขที่คนจำนวนมากถูกปราบและไม่ได้รับความเป็นธรรม ถ้า นปช. ไม่สามารถเล่นบทบาทนี้ได้อย่างชัดเจน การคิดถึงองค์กรนำแบบใหม่อาจจะมีมากขึ้น และความคิดในการตั้งคำถามถึงระบบการเมืองทั้งระบบในปี 2554 จะยิ่งรุนแรงมากขึ้น
 
สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือวิกฤตการณ์การเมืองมีโอกาสยกระดับไปสู่สิ่งที่รุนแรงมากขึ้นกว่าปี 2553 สิ่งที่สำคัญที่สุดในปี 2553 คือคนจำนวนมากไม่มีความเชื่อมั่นต่อสถาบันการเมืองหรือสถาบันการปกครองอื่นๆ ต่อไป ความเชื่อมั่นของคนไทยที่มีต่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์โดยเฉลี่ยแย่อยู่แล้ว ความเชื่อในสถาบันนิติบัญญัติความก็ไม่ได้มากขึ้น สถาบันศาลเป็นสิ่งที่คนเชื่อถือน้อยลง ส่วนกองทัพอยู่ในสภาพคล้ายๆ กัน ในปี 2554 ความเชื่อถือในสถาบันหลักทั้งหมดจะเสื่อมลงอย่างรุนแรง จึงน่าเป็นห่วงว่ารูปแบบของวิกฤตการเมืองที่จะปะทุขึ้นจะเป็นรูปแบบไหน เพราะคนเสื้อแดงที่ใช้วิธีการชุมนุมกลับจบลงด้วยการถูกปราบ คำถามคือแล้วเขาจะออกมาต่อสู้ด้วยวิธีการอะไร
 
การยกระดับของความขัดแย้งที่รุนแรงแบบนี้ผลักให้มวลชนมีความคิดในลักษณะถอนรากถอนโคนมากขึ้น ถ้ามีคนจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าการชุมนุมไม่ใช่วิธีการต่อสู้ที่ได้ผลอีกต่อไป ถือเป็นแนวโน้มที่อันตราย ในแง่นี้ การที่รัฐบาลตัดสินใจใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมในปี 2553 เป็นเรื่องที่ผิดพลาดที่สุด เพราะรัฐบาลทำให้คนจำนวนมากเห็นว่าการต่อสู้ทางการเมืองผ่านวิธีการสันติทำงานไม่ได้ เรื่องนี้ผิดมากที่สุด เพราะไม่ว่าจะเกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ ทำให้ระบบการเมืองสามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยสันติวิธี ซึ่งปี 2553 รัฐไม่ได้สื่อสารแบบนี้กับประชาชน ตรงนี้เป็นเรื่องน่าเสียดายมาก
 
ส่วนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในส่วนของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่มีนายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นแกนนำนั้น ฯโดยตัวเองจะไม่มีความหมายอะไร เพราะในปี 2552-2553 จะเห็นว่ากลุ่มพันธมิตรฯเหมือนถูกประวัติศาสตร์กวาดลงเวทีไปแล้วชนิดไม่เหลือซาก ยกตัวอย่างการชุมนุมครั้งสุดท้ายของกลุ่มพันธมิตรฯ คนตั้งคำถามว่าชุมนุมไปเพื่ออะไร ในแง่หนึ่งกลุ่มพันธมิตรฯมีปัญหาตั้งแต่เริ่มเรียกร้องมาตรา 7 และสนับสนุนการรัฐประหาร เพราะอุดมการณ์ของกลุ่มพันธมิตรฯ ขัดแย้งกับระบอบประชาธิปไตย 
 
กลุ่มพันธมิตรฯ มีพลังทางการเมืองตั้งแต่แรกเพราะความช่วยเหลือจากชนชั้นนำบางกลุ่มที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ในแง่นี้กลุ่มพันธมิตรฯ เป็นแค่หุ่นเชิดของชนชั้นนำทุกกลุ่มที่ไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไรกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างไร ซึ่งมีทั้งชนชั้นนำในระบบการเมืองและนอกระบบการเมือง มวลชนจำนวนมากของกลุ่มพันธมิตรฯ มาจากผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่รู้จะเอาชนะ พ.ต.ท.ทักษิณอย่างไรในการต่อสู้แบบปรกติ นอกจากนี้ยังมีกองทัพหรือชนชั้นนำกลุ่มอื่นๆ ที่ใช้กลุ่มพันธมิตรฯเป็นเครื่องมือในการล้ม พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งในสถานการณ์แบบปัจจุบันนี้ คนเหล่านี้ไม่มีเหตุที่จะสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ อีกต่อไป กลุ่มพันธมิตรฯ ในปี 2554 มีแนวโน้มจะเป็นตัวตลกในประวัติศาสตร์มากขึ้น ชุมนุมในเรื่องที่ไม่มีเหตุผลมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา
 
มวลชนของกลุ่มพันธมิตรฯ ยิ่งนานจะยิ่งน้อยลง รวมทั้งการสนับสนุนจากชนชั้นนำด้วย เพราะชนชั้นนำที่เคยสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ มีคนที่ทำงานให้เขาได้ดีกว่าอยู่แล้วในปัจจุบัน จึงไม่จำเป็นต้องสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ อีกต่อไป ปัญหานี้จึงอยู่ที่ผู้นำกลุ่มพันธมิตรฯ ว่าจะเข้าใจหรือไม่ว่าบทบาทในทางประวัติศาสตร์ของตัวเองจบลงไปแล้วตั้งแต่ปี 2549 และองค์กรของตัวเองก็อยู่ในสภาพที่ล้มละลาย การตั้งพรรคการเมืองใหม่เป็นดัชนีของความล้มเหลว เพราะพรรคการเมืองใหม่แทบไม่ได้เสียงใน กทม.เลย ตรงนี้เป็นดัชนีบอกทุกอย่างอยู่แล้วว่าการสนับสนุนที่คน กทม.ให้กลุ่มพันธมิตรฯ เป็นเรื่องชั่วคราวและเกิดขึ้นบนเงื่อนไขการเมืองเฉพาะหน้า คือการขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น
 
 
 
ที่มา: นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 292 วันที่ 1 – 7 มกราคม พ.ศ.2554 หน้า 18-19 คอลัมน์ ฟังจากปาก โดย กิตติพิชญ์ ยิ่งวรการสุข ต่อมาผู้ถูกสัมภาษณ์ ได้ปรับปรุงเนื้อหาบางส่วนให้ชัดเจนมากขึ้น และส่งให้ประชาไทเผยแพร่ซ้ำอีกครั้ง
 
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

การแก้แค้น และการชดใช้ !!!

Posted: 03 Jan 2011 06:08 AM PST

ในอดีตการแก้แค้นเป็นอำนาจของมนุษย์ เพื่อใช้มันปกป้องสิทธิของตนเอง จนเมื่ออำนาจนั้นกลายมาเป็นของรัฐ แล้วที่รัฐเป็นผู้ลงมือซะเอง หากประชาชนคิดจะแก้แค้น ควรแก้แค้นใครดี?

 
“การแก้แค้น” เป็นก้าวแรกของหลักแห่งความยุติธรรม
 
ตั้งแต่โบราณกาลเมื่อมีการก่ออาชญากรรมขึ้น – ผู้เสียหาย หรือครอบครัว ย่อมมีสิทธิที่จะแก้แค้น
 
แม้การแก้แค้นจะต้อง “ฆ่า” ให้ตายไปตามกัน ให้สาสมกัน ก็ยังกระทำกันได้ (ในกรณีที่บุคคลนั้นเป็นผู้ก่อฆาตกรรม) 
 
ทั้งไม่มีการแบ่งแยกว่า “อะไรเป็นความผิดที่ตั้งใจ” และ “อะไรเป็นความผิดที่ไม่ตั้งใจ” เพราะถือคติว่า “เมื่อมีการฆ่าคนตาย ต้องมีการแก้แค้น อย่างเดียว” และเรื่องจะยุติแค่นั้น จะไม่มีการกระทำการแก้แค้นตอบโต้กันอีก - - การแก้แค้นจึงเป็นความยุติธรรม และความถูกต้อง!!!
 
ยิ่งเป็นอาชญากรรมระหว่างกลุ่มชน ยิ่งต้องมีการแก้แค้นกัน มันเป็นการแสดงพลังของหมู่คณะ ทำให้ศัตรูขยาดกลัว เพราะถ้ายอมให้อีกกลุ่ม กระทำกับคนในกลุ่มตนได้ ก็อาจจะถูกข่มเหง-รังแก ไม่มีวันที่สิ้นสุด
 
เมื่อมีคนในกลุ่มหนึ่ง ไปฆ่าคนอีกกลุ่มหนึ่ง – สมาชิกในกลุ่มคนที่ถูกฆ่า จะต้องหาทางเอาตัวฆาตกรคนนั้น มาลงโทษให้ได้ แล้วคนในกลุ่มที่มีสมาชิกเป็นฆาตกร จะรับผิดชอบต่อเหตุที่เกิดขึ้นอย่างไร?
 
แต่ขณะเดียวกัน สำหรับคนบางกลุ่ม “อาชญากรรมของพวกพ้อง” อาจไม่ถือว่าเป็นความผิด หรือกลับเห็นว่าเป็นความดีด้วยซ้ำไป!!!
 
สัญชาตญาณในการคุ้มครองภัยที่จะเกิดขึ้นกับตนเอง หรือภัยของหมู่คณะเป็นสิ่งที่ท้าทาย ทำให้ต้องคิดหาทางแก้แค้นให้จงได้ เพราะความรักในหมู่คณะ, เพราะการปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่ม, ก็คือการปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขานั่นเอง (ยิ่งมีความเชื่ออื่นๆ มาประกอบ ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกร่วมรุนแรงมากยิ่งขึ้น - เช่น มีเหตุทำให้ “คนที่เขารัก” ต้องระหกระเหิน ต้องพลัดพรากจากครอบครัว จากหมู่คณะ – การแก้แค้น เพื่อเป็นการตอบแทนคนที่เขารัก ยิ่งมิอาจหลีกเลี่ยง!!!)
 
การแก้แค้น-ล้างแค้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนสิ่งที่มนุษย์เรียกว่ากฎหมาย – เป็นกฎที่ยิ่งใหญ่กว่า ศักดิ์สิทธิ์กว่ากฎศีลธรรม
 
การแก้แค้นนอกจากเป็นไปเพื่อการลงโทษแล้ว ยังเป็นการขู่ให้คนเกรงกลัว และป้องกันไม่ให้มีการทำร้ายกันอีก
 
ข้อเท็จจริงก็คือ “การแก้แค้นเป็นอำนาจของมนุษย์ เพื่อใช้มันปกป้องสิทธิของตนเอง”
 
ในยุคสมัยต่อๆ มา “ผู้เสียหาย” มีทางเลือกมากขึ้น, การแก้แค้นแบบ “ตาต่อตา-ฟันต่อฟัน” แบบดั้งเดิม เริ่มลดความสำคัญลง มีการชดใช้สิ่งของที่คนชอบ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย สิ่งของมีค่า-เงินทอง เพื่อชดใช้มูลค่าความเสียหาย ทดแทนการแก้แค้น
 
แต่วิธีการชดใช้นี้ เป็นการลงโทษจริงหรือ – หรือเป็นอุบายลดความโกรธแค้น – หรือเป็นการพยายามทำให้ผู้เสียหายเกิดความโลภ หรือเป็นเพียงวิธีปกป้องผู้กระทำความผิด ให้รอด (ชีวิต) จากการถูกแก้แค้น? - หรือเพื่อมิให้มีการแก้แค้น (จองเวร) กันต่อไป???
 
กระทั่งกำเนิด “รัฐ” – รัฐที่เป็นผู้สั่ง-เป็นผู้บังคับ-เป็นผู้ลงโทษ, ให้ผู้ที่กระทำความผิด ต้องชดใช้ความเสียหาย ตามกฎหมายที่รัฐเป็นผู้กำหนดไว้ – จากอำนาจการแก้แค้นที่เคยเป็นของบุคคล – และถัดมาเป็นของหัวหน้าเผ่า 
 
บัดนี้ อำนาจนั้นกลายมาเป็นของรัฐ - รัฐจึงเป็นผู้ควบคุม มิให้ประชาชนทำการแก้แค้นต่อกัน เพราะการแก้แค้นต่อกันระหว่างประชาชน จะทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และความไม่มั่นคงปลอดภัยของบ้านเมือง???
 
และแล้ววันเวลา ก็เดินมาถึงยุคสมัย ที่ “รัฐเป็นผู้ลงมือแก้แค้นซะเอง!!!”
 
...
 
ถ้าจะมีคำถามสักคำถาม - คำถามนั้นคือ “ถ้าประชาชน คิดจะแก้แค้น – จะแก้แค้นใครดี !!!” (ต้องสรุปให้ได้ก่อนว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด - เกิดจากข้อพิพาทของประชาชนต่อประชาชน หรือเกิดจากประชาชนกลุ่มหนึ่ง กับรัฐ-รัฐหนึ่ง !!!)
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พม่าจี้กลุ่มหยุดยิง "เมืองลา" ถอนกำลังทหารแนวหน้า

Posted: 03 Jan 2011 05:09 AM PST

กองทัพพม่าจี้กลุ่มหยุดยิงเมืองลา NDAA ถอนกำลังทหารที่ตั้งฐานอยู่ในพื้นที่แนวหน้า อ้างรุกล้ำออกนอกพื้นที่ ด้าน NDAA บ่ายเบี่ยงแจงขอตรวจสอบก่อน

 
มีรายงานจากแหล่งข่าวชายแดนจีนว่า กองทัพรัฐบาลทหารพม่าได้แจ้งขอให้กองกำลังสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตย หรือ กลุ่มหยุดยิงเมืองลา (NDAA-National Democratic Alliance Army) ที่มีกองบัญชาการอยู่ที่เมืองลา รัฐฉานภาคตะวันออกติดชายแดนจีน ถอนกำลังทหารที่ไปตั้งฐานอยู่ในพื้นที่แนวหน้าใกล้กับเมืองฝัน ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองยอง โดยอ้างว่ารุกล้ำออกนอกพื้นที่ เกรงจะเกิดปัญหากระทบกระทั่งของทหารทั้งสองฝ่าย
 
ทั้งนี้ คำแจ้งขอของฝ่ายพม่าดังกล่าวมีขึ้นเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดย พ.อ.ขิ่น หม่อง ทวย ผอ.สำนักงานจี 1 จากกองทัพภาคสามเหลี่ยม บก.เมืองเชียงตุง พร้อมคณะและทหารรวม 23 คน ได้ถือโอกาสขณะเดินทางกลับจากการประชุมกับเจ้าหน้าที่ของจีน ที่เมืองฮาย เขตสิบสองปันนา มาแวะที่เมืองลาและขอพบเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ NDAA โดยกล่าวขอให้ทาง NDAA ถอนกำลังทหารออกจากฐานดังกล่าวซึ่งเป็นฐานเพิ่งตั้งขึ้นได้ไม่นาน
 
อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มหยุดยิง NDAA ได้ปฏิเสธคำขอของฝ่ายพม่าดังกล่าว โดยเจ้าซานเป่อ รองประธานที่ 1 และเจ้าขุนส่างหลู่ รองประธานที่ 2 ของ NDAA พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่รวม 7 คน ที่ทำหน้าที่รับหน้าพบเจ้าหน้าที่ฝ่ายพม่าได้กล่าวบ่ายเบี่ยงว่า ทาง NDAA จะขอทำการตรวจสอบพื้นที่ตั้งฐานนั้นก่อน
 
กองกำลังสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตย NDAA (National Democratic Alliance Army) หรือ กลุ่มหยุดยิงเมืองลา เป็นอดีตแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์พม่า CPB (Communist Party of Burma) หลังแยกตัวจาก CPB ในปี 2532 ได้เจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่า และได้รับสิทธิ์ครอบครองพื้นที่ในภาคตะวันออกของรัฐฉานติดกับชายแดนจีน เรียกเขตปกครองพิเศษที่ 4
 
ปัจจุบันกองกำลัง NDAA มีกำลังพลราว 4,500 นาย มีนายจายลืน หรือ หลินหมิ่งเสียน เป็นผู้นำสูงสุด ซึ่งตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา กองกำลัง NDAA ได้ถูกรัฐบาลทหารพม่ากดดันแปรสภาพเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน BGF เช่นเดียวกับกลุ่มหยุดยิงอื่นๆ
 
 
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/
 
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@ksc.th.com หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แพร่คลิป ‘พนิช’ ชี้นายกฯ อาจรู้ก่อนข้ามเขตกัมพูชา

Posted: 03 Jan 2011 04:37 AM PST

คลิป "พนิช" โทรให้ประสานงานเลขานายกฯ ถูกมือดีเผยแพร่ผ่านทางยูทิวป์ ชี้อาจรู้เห็นการลงพื้นที่ชายแดนข้อพิพาท ขณะ "ทีวีไทย" ตีข่าวคลิปที่กัมพูชายึดได้จาก 7 คนไทย ถูกนำออกอากาศในกัมพูชาแล้ว ด้าน "สุเทพ" รับ คลิป "พนิช" ทำช่วยเหลือลำบาก

วันนี้ (3 ม.ค.54) มีการเผยแพร่คลิปวีดีโอภาพนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ ผ่านทางยูทิวป์จำนวน 2 ชิ้น ยาว 0.38 และ 1.36 นาที 

โดยคลิปความยาว 0.38 นาที เป็นภาพการพูดคุยระหว่างนายพนิชและคณะ กับหญิงชาวบ้านที่พูดภาษากัมพูชา จากนั้นนายพนิชได้โทรศัพท์รายงานสถานการณ์โดยกล่าวว่า เราข้ามเข้ามาแล้ว กำลังพยายามไปที่หมุดที่ 46 ซึ่งอยู่ในฝั่งไทย แต่มันเป็นพื้นที่ที่ทางกัมพูชาเขายึดไว้ 
 
ส่วนคลิปความยาว 1.36 นาที เป็นภาพขณะนายพนิชกำลังเดินเท้า และพูดคุยกับคนที่ร่วมคณะมาว่าให้บอก "คิว"ให้รอ อย่าเพิ่งเข้ามา เผื่อมีอะไรจะได้ประสานได้ จากนั้นราวนาทีที่ 1.13 นายพนิช โทรศัพท์คุยกับคนปลายสายที่ชื่อ "คิว" ให้รายงานเลขานายกฯ ว่า ขณะนี้ได้ข้ามเข้าเขตพื้นที่ประเทศกัมพูชาแล้ว
 
"โทรไปบอกสมเกียรติเลขาท่านนายกหน่อยนะ เพราะเดี๋ยวเราจะคุยกับนายกฯ เอง แต่ไม่เป็นไร บอกสมเกียรติหน่อยว่า เราข้ามมาที่เขตกัมพูชาแล้ว เดี๋ยวถ้าเกิดมีอะไรจะได้ประสานเข้าไปหน่อย บอกเขาหน่อย เพราะว่าเราเข้ามาเขตพื้นที่กัมพูชาแล้ว แต่อย่าให้ใครรู้นะ เพราะมีนายกฯ รู้อยู่คนเดียว" นายพนิชกล่าวในคลิปวีดีโอ
 
คลิปดังกล่าว ถูกเผยแพร่ หลังจากที่นายพนิช นายวีระ สมความคิด แกนนำเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ พร้อมคณะคนไทยรวมทั้งสิ้น 7 คน ถูกทางการกัมพูชาจับกุมตัวไป เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2553 ที่ผ่านมา ด้วยข้อหามีการรุกล้ำดินแดน
 
 
  คลิปความยาว 0.38 นาที
 
 
  คลิปความยาว 1.36 นาที
 
ขณะที่สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย รายงานข่าวเกี่ยวกับคลิปภาพดังกล่าวว่า ทางทีวีไทยได้รับคลิปภาพความยาวประมาณ 5 นาที ที่ทางการกัมพูชายึดจากกลุ่มคนไทย 7 คนที่ถูกจับกุม ซึ่งคลิปนี้ถูกถ่ายทอดออกอากาศในกัมพูชาไปแล้ว พร้อมทั้งระบุด้วยว่าคนไทยท้าทายให้กัมพูชาจับกุม 
 
ผู้สื่อข่าวทีวีไทยรายงานด้วยว่า คลิปภาพเริ่มต้นที่ ภาพเหตุการณ์ที่นายวีระ พานายพนิช ไปที่หลักเขตแดนไทย-กัมพูชา ที่นายวีระระบุว่า เดิมเป็นที่นาของคนไทย แต่ถูกกัมพูชายึดครอง หลังจากยึดถือแผนที่ 1 ต่อ 200,000 หลังจากนั้นคณะของนายวีระและนายพนิช รวม 7 คน ได้เดินเท้าเข้าไปในดินแดนที่กัมพูชายึดครอง ทั้งๆ ที่รู้ว่าเข้าไปแล้วจะถูกทางการกัมพูชาจับกุมตัว และก็เป็นไปตามคาดการณ์ เมื่อทหารกัมพูชากลุ่มหนึ่งได้ควบคุมคนกลุ่มนี้ทั้ง 7 คน แต่ในภาพไม่พบว่ามีการใช้เครื่องพันธนาการแต่อย่างใด
 
 คลิปความยาว 4.56 นาที ที่เผยแพร่ในยูทิวป์ ซึ่งคาดว่าเป็นคลิปอันเดียวกับที่เผยแพร่โดยทีวีไทย
 
 
"สุเทพ" รับคลิป"พนิช"ทำช่วยเหลือลำบาก
เนชั่นทันข่าว รายงานว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวว่า ขณะนี้ได้รอกระทรวงต่างประเทศ รายงานความคืบหน้ากรณีการช่วยเหลือ 7 คนไทย และควรรอขั้นตอนภายในของทางกัมพูชาก่อน นายสุเทพยังกล่าวว่า พร้อมคุยกับนายกรัฐมนตรี ฮุนเซน หากทุกอย่างชัดเจน 
 
สำหรับเรื่องคลิปวีดีโอ นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ที่ถูกเผยแพร่ออกมา นายสุเทพ ยอมรับว่าทำให้การช่วยเหลือยากลำบาก หากคลิประบุเช่นนั้นเท่ากับว่าผิดเพราะล้ำดินแดนกัมพูชา และต้องรอกระบวนการยุติธรรมตัดสิน แต่ก็จะขอใช้ความสัมพันธ์ที่ดีของ 2 ประเทศไปเจรจา
 
ขณะที่นางพัชรีภรณ์ วิกิตเศรษฐ์ ภริยานายพนิช กลับจากกัมพูชาแล้ว หลังจากบินไปพบ 7 คนไทย แต่ปฏิเสธให้สัมภาษณ์ โดยให้เหตุผลว่าไม่สะดวก 
 
 
บรรดาญาติมิตรเข้าเยี่ยม 7 คนไทยที่ถูกกัมพูชากักตัว
วันเดียวกันนี้ สำนักข่าวไทย รายงานว่า ครอบครัวของ 7 คนไทยที่ถูกทางการกัมพูชากักตัวไว้ที่เรือนจำเพรซอว์ ในกรุงพนมเปญ ข้อหาเข้าประเทศโดยผิดกฎหมาย และรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ทหารของกัมพูชาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม เดินทางถึงเรือนจำเพรซอว์ เพื่อเข้าเยี่ยมผู้ต้องหาแล้ว โดยรายงานระบุว่าครอบครัวไม่ได้กล่าวอันใดต่อผู้สื่อข่าวหลังเข้าพบผู้ต้องหา และไม่มีรายงานด้วยว่าครอบครัวของผู้ต้องหาจะยังคงอยู่ในกัมพูชาเพื่อเข้าเยี่ยมผู้ต้องหาอีกครั้งก่อนกลับประเทศไทยหรือไม่
 
 
"บัวแก้ว" วอนคนไทยหัวใจรักชาติอย่าชุมนุม ชี้ส่งผลเสียต่อการเจรจา
ขณะที่มติชนออนไลน์ รายงานว่า นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเมื่อวันที่ 3 ม.ค.ถึงความคืบหน้าในการให้ความช่วยเหลือว่า ทางกระทรวงการต่างประเทศกำลังเร่งให้ความช่วยเหลือเต็มที่ แต่ช่วงนี้ยังทำอะไรไม่ได้มาก เพราะติดวันหยุดปีใหม่ อย่างไรก็ตาม ขอเรียกร้องไปยังกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ ที่เตรียมเข้าไปในพื้นที่ จ.สระแก้ว เพื่อกดดันกัมพูชาให้หยุดการชุมนุม เพราะจะส่งผลเสียต่อการเจรจาให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากกัมพูชาจะมองว่าไทยกำลังใช้การเมืองกดดัน โดยขณะนี้ต้องยึดเรื่องการช่วย 7 คนไทยเป็นอันดับแรก ส่วนเรื่องการพิสูจน์เขตแดนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งมีคณะกรรมการเจรจาอยู่แล้ว เพราะการพิสูจน์ต้องใช้เวลานานเป็นปี การที่ 7 คนไทยถูกจับไม่ได้หมายความว่าไทยต้องเสียดินแดน
 
ด้านนายชุมพล ลีลานนท์ ผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) จังหวัดพะเยา กล่าวว่า กรณีที่ได้มีคนไทย 7 คน ถูกประเทศกัมพูชาจับกุมไปเมื่อเร็วๆ นี้ และกำลังจะถูกส่งขึ้นศาลของกัมพูชา โดยที่ทางการกัมพูชาอ้างว่ารุกล้ำเข้าพื้นที่ของประเทศตนเอง ขณะเดียวกันทางด้านคนไทยที่ถูกจับได้ยืนยันว่าไม่ได้รุกล้ำเข้าไปแต่อย่างใด ตรงนี้ข้อเท็จจริงเป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยจะต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงโดยเร็ว ที่สำคัญคนไทยในฐานะผู้ต้องสงสัยควรได้รับการประกันตัวให้ออกมาสู้คดี ซึ่งรัฐบาลไทยต้องเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือโดยด่วน ทั้งนี้ ทาง พธม.พะเยาจะทำหนังสือยื่นถึงรัฐบาลผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เพื่อให้กำลังใจแก่ 7 คนไทยที่ถูกจับ พร้อมทั้งเร่งให้รัฐบาลทำงานช่วยเหลือคนไทยออกมาจากคุกของกัมพูชาให้เร็วที่สุด
 
"สิ่งที่ผมเป็นห่วงคือ หากปล่อยนานไปอาจกลายเป็นประเด็นที่ถูกนำไปโยงสู่การเมือง ซึ่งไม่ยุติธรรมสำหรับคนไทยทั้ง 7 คน แต่จะอย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองหรือเรื่องใดก็ตาม ก่อนอื่นคนไทยกลุ่มนี้จะต้องได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยโดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการช่วยด้วยสัมพันธ์ลึกซึ้งส่วนตัวของบุคคลทางการเมืองหรือกระบวนการทางทูตระหว่างประเทศก็ต้องเร่งมือ และเรื่องนี้ พธม.พะเยาจะตามติดอย่างใกล้ชิดต่อไป" นายชุมพลกล่าว
 
 
ชาวอำเภอโคกสูงกว่า 500 คน ค้านพธม.ชุมนุม
เนชั่นทันข่าว รายงานว่า วันนี้ (3 ม.ค.54) เวลา 10.00 น.ได้มีกลุ่มชาวบ้านในเขตพื้นที่อำเภอโคกสูง จ.สระแก้ว กว่า 500 คน ใช้รถอีแต็ก อีแต๋น พร้อมด้วยรถปิคอัพ และรถยนต์ 6 ล้อ จำนวนกว่า 80 คัน บรรทุกประชาชนมาชุมนุมกันที่หน้าที่ว่าการอำเภอโคกสูง จ.สระแก้ว เพื่อคัดค้านพร้อมเตรียมการสกัดกั้น กลุ่ม พธม.ที่จะเดินทางมาประท้วงกัมพูชา กรณีจับ 7 คนไทย เพื่อบีบให้ปล่อยตัว ที่บริเวณชายแดนบ้านหนองจาน ต.โนนหมากมุ่น อ.โคกสูง จ.สระแก้ว โดยมี นางกอง แก้วประทีป อายุ 60 ปี ราษฎร หมู่ที่ 5 ต.โนนหมากมุ่น อ.โคกสูง จ.สระแก้ว เป็นแกนนำ โดยมี นายยุทธนา นุชนารถ นายอำเภอโคกสูง พ.ต.อ.สุบิน บุญเล็ก ผกก.สภ.โคกสูง นำกำลัง ตำรวจและ อส.มาดูแลรักษาความปลอดภัย 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ เป็นชาวอำเภอโคกสูง ที่ได้รับความเดือดร้อน จากปัญหา 7 คนไทยที่ถูกเขมรจับ จนทำให้ กกล.บูรพา สั่งปิดช่องทางชายแดน ทำให้ชาวไร่อ้อย และชาวนา ในพื้นที่เดือดร้อนไม่มีแรงงานเขมรเข้ามารับจ้าง อีกทั้งอ้างว่า 7 คนไทยเป็นคนนอกพื้นที่แต่มาสร้างปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยมีการเรียกร้องให้ชาวบ้านทั้งหมดออกสกัดกั้นกลุ่ม พธม.ที่จะเข้ามาพื้นที่ชายแดน ไม่ให้เข้ามาในพื้นที่
หลังจากชุมนุมที่หน้าที่ว่าการอำเภอโคกสูง ประมาณ 2 ชม.กลุ่มชาวบ้านทั้งหมดได้แยกย้ายไปอยู่ตามจุดตรวจอุบัติเหตุ ตามเส้นทางเข้าหมู่บ้านหนองจาน และเส้นทางที่จะเข้าสู่ชายแดน อ.โคกสูง จ.สระแก้ว ทุกเส้นทาง 
 
ส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่ม พธม.เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. ได้มีแกนนำ พธม.อำเภออรัญประเทศ ได้นำเวทีขนาดใหญ่ มาตั้งที่บริเวณตลาดเทศบาล 2 ทางเข้าตลาดโรงเกลือ บ้านคลองลึก ต.อรัญประเทศ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ซึ่งอยู่ห่างจากสถานกงสุลกัมพูชา ประจำประเทศไทย บริเวณสามแยกโคกสะแบง ประมาณ 200 เมตร
โดย นายอัมรินทร์ ยี่เฮง แกนนำ พธม.อรัญประเทศ เผยว่า ได้รับคำสั่งจาก แกนนำ พธม.ใน กทม.ให้จัดตั้งเวที ที่บริเวณตลาดเทศบาล 2 ทางเข้าตลาดโรงเกลือ ซึ่ง กลุ่ม พธม.จาก กทม.จะมาขึ้นปราศรัย ในเย็นวันนี้ 
 
ต่อมา พ.อ.มล.ประวีร์ จักรพันธ์ ผบ.ฉก.กรม.ทพ. 12 กกล.บูรพา และ พ.ต.ท.เสกสรร วัฒนพงษ์ สวญ.สภ.คลองลึก ได้เดินทางมาเจรจากับแกนนำ พธม.ที่นำเวทีมาตั้งที่ตลาดเทศบาล 2 ให้รื้อเวที เนื่องจากเกรงจะเกิดปัญหาแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวตลาดโรงเกลือ อีกทั้งยังใกล้สถานกงสุลกัมพูชา เกรงปัญหาจะบานปลาย ซึ่งจากการเจรจาแกนนำ พธม.อรัญประเทศ จึงยอมรื้อเวที ในเวลาต่อมา
 
ส่วนบริเวณสถานกงสุลกัมพูชา ประจำประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสามแยกโคกสะแบง บ้านคลองลึก ต.อรัญประเทศ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ยังคงเปิดทำการปกติ โดย พ.ต.ท.เสกสรร วัฒนพงษ์ สวญ.สภ.คลองลึก และ ร.อ.ชาญ ว่องไวเมธี ผบ.ร้อย ทพ. 1206 ฉก.กรม.ทพ. 12 กกล.บูรพา ส่งกำลัง จนท.ตร.และทหารพราน เข้าไปดูแลและรักษาความปลอดภัย บริเวณโดยรอบสถานกงสุล กว่า 20 นาย พร้อมกันนี้เตรียมจัดชุดปราบจลาจล จำนวน 1 กองร้อย มาดูแลรักษาความปลอดภัยด้วย
 
 
หมายเหตุ: มีการแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อเวลา 22.40 น.

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ธิดาเตรียมยื่นคำร้องขอประกันตัว 7 แกนนำ นปช.พรุ่งนี้

Posted: 03 Jan 2011 04:01 AM PST

รักษาการประธานปช. เตรียมให้ทนายทำเรื่องขอประกันตัว 7 แกนนำวันพรุ่งนี้ ขณะที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ยันค้านประกันตัว แกนนำ นปช.ยกเว้น 'ก่อแก้ว' และ 'นพ.เหวง'

 
วันนี้ (3 ธ.ค.54) นางธิดา ถาวรเศรษฐ รักษาการประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (4 ม.ค.) ตนและทนายความ เตรียมแถลงข่าวเรื่องการยื่นคำร้องขอประกันตัวชั่วคราว 7 แกนนำ นปช. ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โดยในช่วง 11.00 น. และจะมีการแถลงรายละเอียดให้ทราบ ที่สมาคมทนายความ ถนนราชดำเนิน 
 
จากนั้นในช่วงบ่ายจะนำคำร้องในการขอปล่อยตัวชั่วคราวพร้อมหลักทรัพย์ที่เตรียมไว้ เพื่อยื่นต่อศาลอาญารัชดา ให้มีการพิจารณาให้การประกันตัว ซึ่งผลของการยื่นประกันตัวจะเป็นอย่างไรนั้น คงจะต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล
 
ด้าน นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ กล่าวว่า หลังจากที่ทนายความ นปช. จะยื่นขอประกันตัว 7 แกนนำ นปช. นั้น ตามคำขั้นตอนศาล จะมีการสอบถามมาทางดีเอสไอ ว่าจะยื่นคัดค้านการประกันตัวหรือไม่ ซึ่งดีเอสไอเคยให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า หากมีการยื่นประกันตัว 7 แกนนำ นปช. ดีเอสไอ จะมายื่นคัดค้านการประกันตัวอย่างแน่นอน ยกเว้น นายก่อแก้ว พิกุลทอง และ น.พ.เหวง โตจิราการ 2 แกนนำนปช. 2 คนเท่านั้น ที่ดีเอสไอ จะไม่คัดค้านการประกันตัว
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“องอาจ” เผยกฎหมายคุ้มครองสื่อฯ เข้าครม. 4 ม.ค.นี้

Posted: 03 Jan 2011 01:53 AM PST

“องอาจ” เผย ที่ประชุม ครม.จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน 4 ม.ค.นี้ ให้สื่อมีเสรีภาพเสนอข่าว ไม่อยู่ภายใต้ราชการ หรือเจ้าของกิจการ แต่ต้องไม่ขัดต่อจริยธรรมวิชาชีพ ชี้สื่อฯ ถูกละเมิดสิทธิ สามารถยื่นเรื่องร้องเรียน-บรรเทาความเสียหายได้

 
วันนี้ (3 ม.ค.54) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันที่ 4 มกราคมนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... ซึ่งเป็นร่างที่ผ่านองค์กรผู้ประกอบวิชาชีพสื่อรวมตัวกันยกร่าง ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 บัญญัติให้ลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือสื่อมวลชนอื่น ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าว และแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดของตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าของกิจการ แต่ต้องไม่ขัดต่อจริยธรรมของการประกอบอาชีพ และมีสิทธิ์จัดตั้งองค์กรเพื่อปกป้องสิทธิ เสรีภาพ และความเป็นธรรม และมอบให้นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนจะบรรจุในระเบียบวาระของรัฐสภาต่อไป
 
นายองอาจ กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีอยู่ 7 หมวด ด้วยกันคือ 1.การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน 2.จริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน 3.คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน 4.สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน 5.การวินิจฉัยเรื่องร้องเรียน 6.มาตรการส่งเสริมมาตรฐาน ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และ 7.โทษทางปกครอง 
 
นายองอาจ กล่าวด้วยว่า สำหรับในเรื่องจริยธรรม ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ได้บัญญัติให้มีรายละเอียดอย่างน้อย 5 ข้อคือ 1.การเสนอข่าวเพื่อประโยชน์สาธารณะ 2.การเสนอความจริงด้วยความถูกต้องและครบถ้วนรอบด้าน 3.การให้ความเป็นธรรมต่อผู้ตกเป็นข่าว 4.การเคารพสิทธิมนุษยชน ของผู้ที่เกี่ยวข้องในข่าว 5.การซื่อสัตย์ สุจริตต่อวิชาชีพสื่อมวลชน และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
 
“การจัดทำข้อบังคับเรื่อง จริยธรรม เป็นเรื่องที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จะจัดทำกันขึ้นมาเอง โดยผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ขณะเดียวกัน หากผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนได้รับความเสียหายจากการละเมิดสิทธิ์ ก็สามารถยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการ และในระหว่างการพิจารณา คณะกรรมการอาจสั่งให้ใช้มาตรการคุ้มครองผู้ถูกละเมิดสิทธิ์ เป็นการชั่วคราว เพื่อบรรเทาความเสียหายก็ได้” นายองอาจกล่าว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบวิชาชีพสื่อไทย มักประสบปัญหาจากการถูกแทรกแซงจากผู้มีอำนาจตลอดเวลา โดยล่าสุด สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล ยังได้ตั้งฉายานายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เคยถูกมอบหมายให้ดูแลงานด้านสื่อ ว่า "กริ๊ง..สิงสื่อ" จากพฤติกรรมระหว่างการชุมนุมทางการเมือง ที่มักโทรศัพท์สายตรงไปยังกองบรรณาธิการ-สถานีโทรทัศน์ เพื่อชี้นำและกำหนดทิศทางในการนำเสนอประเด็นข่าว
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กังขา เจ้าหน้าที่สังเวยหลังบึ้มปาดี “หุ่นยนต์ด้อยคุณภาพ-บอมบ์สูทหมดอายุ”

Posted: 02 Jan 2011 10:02 PM PST

ปมบึ้มสุไหงปาดีรับปีใหม่ส่อวุ่น หลังเจ้าหน้าที่ฯ พลีชีพคาชุดป้องกันระเบิด สงสัยประสิทธิภาพต่ำซ้ำรอย “จีที 200” บิ๊กสีกากีแจงหุ่นยนต์กู้บึ้มเสียจึงต้องเข้าไปในรัศมีทำลายล้าง แต่ยังตอบไม่ได้ทำไมถึงขั้นตายคาที่ “คนอีโอดี” แฉเอง บอมบ์สูทหมดอายุ-หุ่นยนต์ด้อยคุณภาพ

 
เหตุระเบิดรับปีใหม่ที่ ต.ปะลุรู อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส เมื่อเช้าวันเสาร์ที่ 1 ม.ค.2554 กำลังตกเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง เมื่อตรวจสอบพบว่า เจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้ทำลายล้างวัตถุ หรือ อีโอดี เสียชีวิตคาชุดป้องกันระเบิดหรือ "บอมบ์สูท" ทั้งๆ ที่น่าจะบรรเทาแรงระเบิดได้ ขณะที่หุ่นยนต์ที่ใช้เก็บกู้ก็เสีย ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องสังเวยชีวิต
 
โดยเหตุระเบิดรับปีใหม่เกิดขึ้นเมื่อเวลา 07.45 น.วันที่ 1 ม.ค.2554 ร.ต.อ.หมัดอูเซ็ง เหมาะสะนิ ร้อยเวร สภ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส รับแจ้งว่าเกิดระเบิดที่บริเวณริมถนนตรงข้ามร้านขายผักเลขที่ 820/4 ถนนฉัตรวาริน เขตเทศบาลตำบลปะลุรู อ.สุไหงปาดี จึงรีบนำกำลังรุดไปตรวจสอบ พร้อมด้วย พ.ต.อ.พีระพล ณ พัทลุง ผู้กำกับการ สภ.สุไหงปาดี นายจำนัล เหมือนดำ นายอำเภอสุไหงปาดี พ.ต.ท.จันที แจ่มจันทร์ หัวหน้ากองพิสูจน์หลักฐาน จ.นราธิวาส และเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด หน่วยปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส (นปพ.บก.ภ.จว.นราธิวาส)
 
ในที่เกิดเหตุพบศพตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) สวมชุดบอมบ์สูท นอนจมกองเลือดอยู่ข้างรถจักรยานยนต์ที่ล้มคว่ำอยู่ ทราบชื่อคือ ด.ต.กิตติ มิ่งสุข อายุ 50 ปี เป็นเจ้าหน้าที่หน่วยเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิดสังกัดกองร้อย ตชด.447 บ้านเจาะวา อ.สุไหงปาดี โดยร่างกายของ ด.ต.กิตติ แหลกเหลวเพราะอานุภาพของระเบิด ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บมีทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สุไหงปาดี อาสารักษาดินแดน (อส.) ประจำที่ว่าการอำเภอสุไหงปาดี และประชาชน รวม 10 ราย พลเมืองดีช่วยกันนำส่งโรงพยาบาลไปก่อนแล้ว
 
จากการตรวจจุดเกิดเหตุโดยละเอียด พบเศษซากชิ้นส่วนของระเบิดแสวงเครื่องที่คนร้ายประกอบใส่ไว้ในกล่องเหล็ก น้ำหนักประมาณ 5 กิโลกรัม จุดชนวนด้วยโทรศัพท์มือถือ กระจายเกลื่อนพื้นถนน แรงระเบิดยังทำให้บ้านเรือนของประชาชนได้รับความเสียหายเล็กน้อยจำนวน 2 หลังด้วย
 
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เดินทางไปดูอาการผู้ได้รับบาดเจ็บที่โรงพยาบาล และพบว่า จ ส.ต.กฤษดา ทองโอ ผู้บังคับหมู่งานจราจร (ผบ.หมู่ จร.) สภ.สุไหงปาดี ทนพิษบาดแผลไม่ไหว เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 นาย ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บที่เหลืออีก 9 คน อาการไม่สาหัสมากนัก ประกอบด้วย ร.ต.อ.วรวิเชียร คงถม หัวหน้าชุดอีโอดี ตชด.447 ด.ต.เจริญ โต๊ะหมอ เจ้าหน้าที่ชุดอีโอดี ส.ต.อ.ศราวุธ ชูภักดี ผบ.หมู่งานป้องกันและปราบปราม สภ.สุไหงปาดี อส.อุสตาแม ยือละ อส.ธีระศักดิ์ สะแลแม ทั้งคู่เป็น อส.ประจำที่ว่าการอำเภอสุไหงปาดี ด.ช.รุสดี เจ๊ะอาแว น.ส.รุสดียา อาแวกะจิ นายอนันต์ ทองหลอด และ นายรอปีอาม อารง
 
สอบสวนพยานผู้เห็นเหตุการณ์ทราบว่า ก่อนเกิดเหตุมีชายวัยรุ่น 2 คนขี่รถจักรยานยนต์ไปจอดใกล้ๆ ร้านขายผัก แล้วนำวัตถุต้องสงสัยใส่ในตะกร้าวางไว้ริมถนนตรงข้ามร้านขายผักอย่างมี พิรุธ จึงรีบโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ
 
จากนั้น ร.ต.อ.วรวิเชียร ได้นำชุดกลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด (อีโอดี) ตชด.447 มาถึง และ ด.ต.กิตติ ผู้ตาย ได้สวมชุดบอมบ์สูทเข้าตรวจสอบวัตถุต้องสงสัย โดยมี จ.ส.ต.กฤษดา เข้าสังเกตการณ์ จังหวะนั้นเองคนร้ายที่แฝงตัวอยู่ในละแวกจุดเกิดเหตุ ได้ใช้โทรศัพท์มือถือกดจุดชนวนระเบิดจนเกิดระเบิดขึ้นเสียงดังสนั่นหวั่นไหว ทำให้ ด.ต.กิตติ เสียชีวิตคาที่ ส่วน จ.ส.ต.กฤษดา ได้รับบาดเจ็บสาหัสและไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล เบื้องต้นตำรวจสันนิษฐานว่าเป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบที่มุ่งก่อ เหตุร้ายช่วงเทศกาลปีใหม่ตามที่หน่วยข่าวเคยแจ้งเตือนเอาไว้
 
 
บิ๊ก ตร.แจงหุ่นยนต์เก็บกู้เสีย
 
การเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่อีโอดีคาชุด "บอมบ์สูท" และการไม่ใช้หุ่นยนต์กู้ระเบิดเข้าปฏิบัติงาน จนเกิดความสูญเสียขึ้น ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในหมู่เจ้าหน้าที่ด้วยกันเองที่ตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของบอมบ์สูท เนื่องจากทุกคนเข้าใจว่าเมื่อสวมใส่แล้วสามารถป้องกันและบรรเทาแรงระเบิดได้ อย่างน้อยก็ระดับหนึ่ง
 
พล.ต.อ.วิเชียร์ พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองผบ.ตร. และ พล.ต.ท.พีระ พุ่มพิเชฏฐ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ได้เดินทางลงพื้นที่ด้วยตนเอง จากการตรวจสอบพบว่าหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดเกิดขัดข้อง ทำให้ ด.ต.กิตติ เข้าไปเก็บกู้เอง โดยสวมชุดบอมบ์สูท ซึ่งระหว่างการเก็บกู้นั้นเกิดระเบิดขึ้น ทำให้ ด.ต.กิตติ เสียชีวิตทันที และสะเก็ตระเบิดยังไปโดน จ.ส.ต.กฤษดา ซึ่งอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 80 เมตรเสียชีวิตด้วย แสดงว่าวัตถุระเบิดมีอานุภาพร้ายแรงมาก
 
 
ยังมึนสาเหตุตายคา "บอมบ์สูท"
 
ขณะที่ พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผบช.ศชต.) ตอบข้อถามของผู้สื่อข่าวกรณีเจ้าหน้าที่สวมชุดป้องกันระเบิด (บอมบ์สูท) แล้ว แต่ไม่สามารถป้องกันได้ ว่า ในเบื้องต้นยังไม่สามารถตอบได้ ต้องรอการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญก่อนว่าเป็นเพราะเหตุใด
 
อนึ่ง ประสิทธิภาพของอุปกรณ์ป้องกันระเบิด เคยถูกตั้งคำถามมาแล้วกรณีเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด จีที 200 ซึ่งเจ้าหน้าที่นำไปใช้งานแล้วเกิดความผิดพลาด ตรวจหาวัตถุระเบิดไม่พบ จนเกิด "คาร์บอมบ์" ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2552 และเกิดระเบิดในตลาดสด อ.เมืองยะลา ในวันที่ 16 ต.ค.ปีเดียวกัน กระทั่งมีการจัดทดสอบเครื่อง จีที 200 และพบว่าไม่มีประสิทธิภาพในการตรวจหาระเบิดได้ กระทั่งรัฐบาลต้องสั่งเลิกใช้ในที่สุด
 


อีโอดีแฉเอง “บอมบ์สูท” หมดอายุ-หุ่นยนต์ด้อยคุณภาพ
 
ด้านนายตำรวจประจำหน่วยเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิดรายหนึ่ง ซึ่งปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาหลายปี กล่าวว่า เหตุระเบิดที่ ต.ปะลุรู อ.สุไหงปาดี เจ้าหน้าที่ได้ทำตามขั้นตอนการเก็บกู้ทุกประการ ไม่ได้ประมาท แต่ที่เกิดความผิดพลาดครั้งใหญ่ เพราะคนร้ายกำหนดเป้าสังหารเป็นชุดอีโอดี
 
"ก่อนจะเกิดระเบิด เจ้าหน้าที่ตำรวจกับทหารเข้าไปสังเกตการณ์ก่อนแล้ว 2 ครั้ง แต่คนร้ายไม่กดจุดชนวน กระทั่งชุดอีโอดีเข้าไปจึงกดระเบิด ฉะนั้นคนร้ายจึงมีเป้าที่ชุดอีโอดี และระเบิดที่คนร้ายใช้ก็มีน้ำหนักถึง 5 กิโลกรัม และยังเป็นระเบิดแรงสูงที่หมายเอาชีวิตด้วย"
 
ต่อข้อถามถึงชุด "บอมบ์สูท" ที่เจ้าหน้าที่อีโอดีสวมใส่ เหตุใดจึงไม่สามารถรักษาชีวิตเอาไว้ได้ นายตำรวจนักกู้ระเบิด กล่าวว่า ชุด "บอมบ์สูท" ชุดนี้ผลิตเมื่อปี ค.ศ.2004 ตามหลักแล้วอายุการใช้งานที่มีประสิทธิภาพจะอยู่ที่ 5 ปี ชุดนี้ถ้าพูดตรงๆ คือหมดอายุแล้ว
 
"ที่ตัวบอมบ์สูทจะมีรหัสเขียนเอาไว้ ตัวนี้เป็นอีโอดี 8 แต่เพื่อนๆ บางหน่วยได้อีโอดี 9 กันแล้ว เมื่อชุดบอมบ์สูทใช้งานนานเกินไป จะทำให้ประสิทธิภาพการป้องกันต่ำลง อย่างไรก็ดี ชุดบอมบ์สูทจะสามารถป้องกันระเบิดได้ที่น้ำหนัก 1.5 ปอนด์ แต่ระเบิดที่คนร้ายใช้ครั้งนี้หนักเกือบ 3 ปอนด์ (5 กิโลกรัม) และยังเป็นดินระเบิดแรงสูง ประกอบกับหุ่นยนต์เก็บกู้ที่ใช้ทำงานก็ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะผลิตจากสถาบันการศึกษาภายในประเทศ ต่างจากหุ่นที่ผลิตจากอเมริกาที่มีคอมพิวเตอร์ควบคุม ทั้งหมดจึงกลายเป็นช่องว่างทำให้เกิดความสูญเสียอย่างมหันต์" นายตำรวจนักกู้ระเบิด ระบุ
 
 
เทพาก็ป่วน-ลอบบึ้มทหารพรานเจ็บ 3
 
ก่อนหน้านั้น เมื่อเวลา 21.00 น.วันที่ 31 ธ.ค. เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดบริเวณหลุมขยะข้างร้านขายก๋วยเตี๋ยว ในท้องที่บ้านควนตีหมุน หมู่ 7 ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ทำให้มีทหารพรานได้รับบาดเจ็บ 3 นาย คือ อาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) ชัชวาล ศรีปราชญ์ อส.ทพ.วรชัย ฉายแสง และ อส.ทพ.สุรัช สุสมแก้ว โดยทั้งหมดสังกัดกองร้อยทหารพรานที่ 4213 กรมทหารพรานที่ 42 และได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย
 
ทั้งนี้ เหตุเกิดขณะทหารพรานทั้งหมดกำลังตั้งจุดตรวจจุดสกัดบนถนนสายบ้านตาแปด-บ้าน ควนตีหมุน แล้วได้รับแจ้งว่าเกิดเหตุคนร้ายลอบเผายางรถยนต์ จึงจัดกำลังเดินเท้าไปตรวจสอบ ระหว่างทางถูกดักระเบิดได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยดังกล่าว เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบ
 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นวัตกรรมใหม่ ผลักไสให้กลับแล้วรับเงิน

Posted: 02 Jan 2011 09:01 PM PST

ในช่วงปลายปี 2553 ข่าวที่ร้อนแรงไม่แพ้การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ เห็นจะได้แก่กรณีที่กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานกำหนดให้นายจ้างที่ใช้แรงงานสามสัญชาติ ได้แก่ พม่า ลาวและกัมพูชาต้องหักเงินค่าจ้างจากลูกจ้างเพื่อนำส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งกฎกระทรวงมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา

แรงงานกลุ่มที่ต้องควักกระเป๋าจ่ายเงิน ได้แก่แรงงานข้ามชาติที่ทำงานประเภทคนรับใช้ในบ้านและกรรมกร รวมทั้งหมด 4 กลุ่ม กลุ่มใหญ่สุดได้แก่ แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน 3 สัญชาติซึ่งเดิมเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย แต่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่และทำงานเป็นรายปี ต่อมาคือกลุ่มที่รับการพิสูจน์สัญชาติและมีใบอนุญาตทำงานหรือเข้ามาตามข้อตกลงระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (MOU)

อีกสองกลุ่มคือแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านติดพรมแดนไทย เข้ามาโดยใช้เอกสารแทนหนังสือเดินทาง และได้รับอนุญาตให้ทำงานชั่วคราวหรือตามฤดูกาลในท้องที่ติดชายแดน และสุดท้ายคือกลุ่มคนต่างด้าวที่ถูกเนรเทศตามกฎหมายและได้รับการผ่อนผันให้ประกอบอาชีพระหว่างรอการเนรเทศ

ทั้งนี้ กำหนดการจัดเก็บเงินเป็นระยะเวลา 6 เดือน ลูกจ้างสัญชาติพม่าและสัญชาติลาวเดือนละ 400 บาท รวมทั้งสิ้น 2,400 บาท ลูกจ้างสัญชาติกัมพูชาเดือนละ 350 บาท รวมทั้งสิ้น 2,100 บาท ที่น่าสังเกตคือหากสถานประกอบการนำส่งเงินเข้ากองทุนไม่ครบ 6 เดือน นายจ้างต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน แต่ไม่มีโทษทางอาญาคือปรับหรือจำคุกแต่อย่างใด

เหตุที่กฎหมายอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติทำงานในประเทศไทยรวมแล้วไม่เกิน 4 ปี จากนั้นต้องเว้นวรรคกลับประเทศของตน 3 ปี จึงจะกลับเข้ามาทำงานในไทยอีกครั้ง เนื่องด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงที่ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2551 มาตรา10 กำหนดให้คนต่างด้าวที่มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรไทยต่อเนื่องไม่น้อยกว่า5ปีและมีคุณสมบัติอื่นตามที่กฎหมายกำหนดสามารถขอแปลงสัญชาติเป็นไทย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องป้องกันไม่ให้คนต่างด้าวตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยมากเกินไป

แนวคิดของรัฐเดิมเห็นว่าการผลักดันส่งกลับแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองเป็นภาระที่ต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมาก ในการรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ทั้งค่าอาหาร ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ฯลฯ กระทรวงแรงงานจึงจัดตั้งกองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร(Repatriation Fund) ตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 เพื่อมีทุนหมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่าย โดยแรงงานต้องเสียเงินเองและขอรับคืนเมื่อเดินทางกลับ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ชี้แจงว่าหลายประเทศทำกันอยู่

คาดว่ากระทรวงแรงงานจะมีเงินเข้ากองทุนกว่า 2,000 ล้านบาทจากจำนวนแรงงานหลบหนีเข้าเมือง 3 สัญชาติที่ได้รับผ่อนผันให้อาศัยและทำงานเพื่อรอการส่งกลับปัจจุบันประมาณ 932,255 คน (ข้อมูลเดือนตุลาคม 2553 สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน)

สำหรับอัตราเรียกเก็บเงินจำนวน 2,100-2,400 บาท ประกอบด้วยค่าจัดทำทะเบียน (ถ่ายรูป พิมพ์ลายนิ้วมือ) ค่ารถ ค่าอาหาร(ตามอัตราของกระทรวงการคลัง) ที่ควบคุมตัวรอส่งกลับและค่าโดยสาร(ตามอัตราของกรมการขนส่งทางบก) ที่อุตส่าห์รวมค่าความเสี่ยงของน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปด้วย และคำนวณหาค่าเฉลี่ยจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

วิเคราะห์เฉพาะค่าโดยสาร ใครที่เคยนั่งรถโดยสารประจำทางไปที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตากคงทราบว่าแม้เดินทางไปกลับย่อมจะเสียเงินไม่เกิน 1,000 บาท ส่วนเงินสองพันกว่าบาทสามารถแปรเปลี่ยนเป็นค่าบัตรโดยสารเครื่องบินไปถึงกรุงย่างกุ้งได้เลย ซึ่งน่าคิดว่าพาหนะที่จะนำพาผู้โดยสารไปถึงจุดหมายที่ชายแดนจะเป็นรถบัสวีไอพีหรือเป็นรถสองแถวที่ขนผู้โดยสารอัดแน่นแบบที่เคยเห็นกันจนชินตา

วิธีคิดในเรื่องการควบคุมตัวและส่งกลับนี้สะท้อนความคิดของผู้มีอำนาจว่าแรงงานเหล่านี้ต่อให้เป็นแรงงานที่พิสูจน์สัญชาติเข้าเมืองถูกกฎหมายแล้วก็ตาม ก็ยังเป็นเสมือนผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยที่กระทำผิด จึงต้องกักตัวไว้ตรวจสอบจนสิ้นสงสัย ไม่ต่างจากแรงงานข้ามชาติหลายพื้นที่ที่พิสูจน์สัญชาติแล้วก็ยังคงถูกรีดไถอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม ภาระเฉพาะหน้าขณะนี้คือการต้องนำส่งเงินค่าธรรมเนียมงวดแรกภายในวันที่ 15 มกราคม 2554 มองอย่างเห็นใจฝ่ายลูกจ้างจะพบว่าช่วงต้นปีเป็นช่วงที่ต้องต่ออายุใบอนุญาตทำงานจะต้องเสียเงินอยู่แล้วอย่างน้อย 3,800 บาท ส่วนหนึ่งนายจ้างสำรองจ่ายและหักค่าจ้างภายหลัง ส่วนหนึ่งก็ถูกหักค่าจ้างไว้ล่วงหน้าแล้วจึงเท่ากับซ้ำเติมแรงงานราคาถูกที่หาเช้ากินค่ำให้ต้องรับภาระเพื่อให้ได้เป็นแรงงานถูกกฎหมายตาม “หน้าที่” มิหนำซ้ำช่วงนี้แรงงานข้ามชาติต้องเสียเงินทำหนังสือเดินทางชั่วคราว ยื่นขอใบอนุญาตทำงาน กองทุนส่งกลับฯ ถูกหักเงินประกันสังคมร้อยละ5ทุกเดือนเฉียดเป็นเงินหมื่น ในอนาคตยังมีค่าธรรมเนียมการทำงานและการจ้างคนต่างด้าว (levy)จ่อคิวรอเก็บเป็นรายต่อไป

เมื่อการจะยกระดับเป็นแรงงานถูกกฎหมายกลับมีต้นทุนสูง ย่อมสวนทางกับเหตุผลของผู้ประกอบการที่จ้างแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากประสบภาวะขาดแคลนแรงงานและต้องการลดต้นทุนการจ้างให้ต่ำที่สุด หากมีค่าใช้จ่ายมากก็เท่ากับผลักให้นายจ้างจำต้องหันไปเลือกใช้แรงงานหลบหนีเข้าเมืองที่“เสียเงินเบี้ยบ้ายรายเดือน”เพียงครั้งเดียวแต่ประหยัดต้นทุนกว่าหลายเท่า

หันไปมองฝ่ายนายจ้างบ้าง เริ่มต้นปี 2554 ก็ต้องจ่ายค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ส่วนใหญ่ยอมรับและเข้าใจได้ แต่เมื่อมาเจอของขวัญปีใหม่เป็นค่าธรรมเนียมส่งกลับฯ สองพันกว่าบาท ดูจะเป็นสิ่งที่ "มาเร็ว" และ"เคลมเร็ว"ไปหน่อย ด้วยนายจ้างส่วนใหญ่ยังปรับตัวไม่ทัน แม้กรมการจัดหางานได้ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อโทรทัศน์ประชาสัมพันธ์ (ช่อง 11) แต่ยังถือว่าไม่แพร่หลายเท่าที่ควร

ดังนั้น ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในเดือนธันวาคมที่ผู้ประกอบการทั้งในจังหวัดระนอง และสมุทรสาคร ประกอบด้วยหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมการประมง ชมรมต่างๆ ฯลฯที่ร่วมมือร่วมใจกันยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดจึงเป็นเรื่องที่คาดหมายได้ว่าต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยแถลงการณ์ของสองจังหวัดล้วนสอดคล้องกันว่าการเก็บค่าธรรมเนียมเป็นภาระต่อนายจ้างและลูกจ้าง อันอาจส่งผลให้ต้องหันไปใช้แรงงานนอกระบบแทน สุดท้ายจึงใช้มาตรการจากหนักไปหาเบาคือเสนอให้พิจารณายกเลิก ทบทวนหรือชะลอการนำส่งเงินออกไปสักระยะ

ปรากฏการณ์คัดค้านการเก็บค่าธรรมเนียมส่งกลับคนต่างด้าวจากฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างนับว่าเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่เริ่มต้นจากคนหัวอกเดียวกันย่อมเห็นใจกัน ลำพังเพียงเสียงของลูกจ้างต่างชาติอาจไม่มีความหมายนัก แต่เมื่อรวมกับเสียงของนายจ้างที่หนักแน่นและสั่นสะเทือนย่อมดังไปถึงผู้มีอำนาจ

ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่าแรงงานข้ามชาติควรเป็นผู้รับภาระจ่ายเงินค่าส่งกลับตนเอง แต่เห็นว่า"การกลับ"น่าจะเป็นไปโดยง่าย สะดวกและราคาถูกกว่า"การอยู่" โดยอัตราเรียกเก็บควรอยู่บนฐานที่สมเหตุสมผล สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและเป็นธรรม สำหรับแรงงานข้ามชาติ เงิน 2,000 กว่าบาทนั้นอาจถือว่าไม่เหลือบ่ากว่าแรงเมื่อเทียบกับค่านายหน้าหลักหมื่นที่จ่ายตอนเข้ามาเมืองไทย ตราบที่ต้องอดทนเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเองและคนข้างหลัง แม้จะเป็นเพียง“แรงงานราคาถูก”ให้คนไทยใช้และผลักไสเมื่อหมดอายุการใช้งาน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เศรษฐกิจทุนนิยมกับการดูดกลืนทางสังคม

Posted: 02 Jan 2011 07:52 PM PST

ความเจริญเติบโตของการค้า เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดพลวัต กลายเป็นพลังขับดันที่พลิกโฉมระบบเศรษฐกิจ และสังคมของโลกโดยเฉพาะตะวันตกกลายเป็นมหาอำนาจจวบจนปัจจุบัน...

ความก้าวหน้าทางความคิด และระบบเศรษฐกิจยังเจริญรุดหน้าไม่หยุดยั้ง หลังจากมีการค้นพบโลกใหม่ ศูนย์กลางการค้าในยุโรปเริ่มขยายตัวเข้าสู่ยุโรปตะวันตก เช่น ประเทศฮอลันดา อังกฤษและฝรั่งเศส   สินค้าต่าง ๆ จากตะวันออกและโลกใหม่ พากันหลั่งไหลเข้าสู่ตลาดในยุโรป   การค้าที่เติบโตขึ้นส่งผลให้เริ่มมีการคิดทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจแบบใหม่ที่ให้ผลประโยชน์สูงขึ้น พร้อมกันนั้นได้ส่งผลให้เกิดชนชั้นกลางในยุโรปเพิ่มจำนวนมากขึ้น เหล่านี้เองได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายหลายประการเพื่อสนองตอบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ    พัฒนาการและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของยุโรป มีผลอันเนื่องมาจากแนวคิด “จักรวรรดินิยม” (imperialism)   ที่เป็นปัจจัยในการสนับสนุน โดยนำจักรวรรดินิยมมาอธิบายและพรรณนาถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการเมือง ระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศด้อยพัฒนา รวมทั้งปัญหาความด้อยพัฒนาของประเทศโลกที่สาม

ซึ่งเดิม คำว่า “จักรวรรดินิยม” มักใช้เรียกนโยบายต่างประเทศของรัฐหรือพฤติกรรมการกระทำของรัฐที่มุ่งแผ่ขยายอำนาจและดินแดน หรือมุ่งแผ่อิทธิพลออกไปเหนือดินแดนอื่นในลักษณะที่เป็นการสร้างจักรวรรดิขึ้นมา โดยเริ่มใช้กันทั่วไปในประเทศอังกฤษตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1870    ต่อมาเมื่อมีการแผ่ขยายอำนาจของจักรวรรดิอังกฤษเพื่อเป็นการแข่งขันและตอบโต้ต่อการขยายอิทธิพลของฝรั่งเศสและเยอรมันจักรวรรดินิยมจึงมีความหมายไปในแง่ของการแข่งขันกันระหว่างประเทศมหาอำนาจในยุโรปซึ่งมุ่งแสวงหาอาณานิคมและเขตอิทธิพลในทวีปอาฟริกาและดินแดนอื่นๆ โดยอ้างวาทกรรม “การสร้างอารยะธรรม”เพื่อการแผ่ขยายอารยะธรรมของชนผิวขาวที่ถือว่ามีลักษณะเหนือกว่าชนผิวอื่นๆ ในด้านชาติพันธุ์   ด้านวัตถุ ด้านวัฒนธรรม ไปยังประชาชนที่ด้อยกว่าในดินแดนที่ล้าหลัง ซึ่งมีลักษณะของการเข้าไปมีอำนาจครอบครองหรือครอบงำสังคมอื่น

อย่างไรก็ตามปัจจุบัน “จักรวรรดินิยม” หมายถึงการที่ประเทศหนึ่งหรือกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเข้าไปใช้อำนาจครอบงำประเทศอื่นหรือคนกลุ่มอื่นโดยวิธีการที่ทำให้ผู้ครอบงำได้รับประโยชน์ แต่ผู้ที่ถูกครอบงำนั้นเสียประโยชน์ และในบรรดาการครอบงำทั้งหลายนั้นการครอบงำทางด้านเศรษฐกิจกลายเป็นปัญหาความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุด[i]

Hilferding นักทฤษฏีมาร์คซิสม์ ชี้ให้เห็นว่าการรวมตัวของทุนอุตสาหกรรมกับทุนธนาคารส่งผลให้เกิดทุนการเงิน เพื่อสนับสนุนทุนผูกขาดด้านอุตสาหกรรม และเมื่อได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมจากรัฐอย่างใกล้ชิด ทำให้ทุนผูกขาดด้านอุตสาหกรรมและด้านการเงินได้ขยายตัวและเติบโตภายในประเทศอย่างรวดเร็ว แต่ไม่สามารถลดต้นทุนการผลิตได้   ดังนั้นจึงต้องมีดินแดนใหม่ๆ เพื่อส่งออกสินค้าและบริการไปยังต่างประเทศ และแสวงหาวัตถุดิบในการลงทุนรวมทั้งระบายผลผลิต การขยายตัวออกไปของกลุ่มประเทศทุนนิยมที่พัฒนาแล้ว จึงเกิดจากความจำเป็นในการลดต้นทุนและแสวงหากำไรสูงสุดของนายทุนผูกขาด   Hobson[ii] นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ (ค.ศ. 1858-1940) ได้อธิบายที่มาของการครอบงำของอังกฤษ ว่าเกิดจากการผลิตได้สูงขึ้นอันเนื่องมากจากการพัฒนาเทคโนโลยี ส่งผลให้การบริโภคไล่ตามการผลิตไม่ทัน การกระจายความมั่งคั่งไม่เท่าเทียมกัน ทำให้คนส่วนใหญ่มีอำนาจซื้อต่ำการบริโภคจึงอยู่ในระดับต่ำ จึงจำเป็นต้องยักย้ายถ่ายเทไปที่อื่น เพื่อต้องการแสวงหาตลาดระบายสินค้าอุตสาหกรรมและการลงทุน[iii]  เป็นไปตามหลักการค้าเสรี(Free Trade)

การก่อตัวของโครงสร้างเศรษฐกิจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางการค้า อุตสาหกรรม และเกษตรกรรม การพัฒนาเทคโนโลยีทั้งทางการเกษตรและอุตสาหกรรมส่งผลให้การผลิตมีผลผลิตส่วนเกินมากขึ้น สินค้าผลิตเพื่อจำหน่ายเพิ่มทวีมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจในยุโรปและส่งผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจสังคม และ การเมือง ทั่วโลก อิทธิพลของลัทธิเสรีนิยมทางเศรษฐกิจของ Adam Smith (1776 ตรงกับ พ.ศ. 2319 ) ได้ผลักดันให้เกิดนโยบายทุนนิยมเสรีไปทั่วโลก ต่อมา ค.ศ. 1867 (ตรงกับ พ.ศ. 2410 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4) Karl Marx[iv] ได้นำเสนอ Das Capital จนแพร่กระจายเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดกระแสต่อต้านทุนนิยม ซึ่งตามทัศนะของมาร์คไม่เห็นด้วยกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เพราะเชื่อว่าโครงสร้างเศรษฐกิจซึ่งถูกกำหนดโดยวิถีการผลิต จะเป็นตัวกำหนดโครงสร้างรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคม จึงให้ความสำคัญกับแรงงานมนุษย์ในฐานะที่เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต การสร้างมูลค่าต่างๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเสียเปรียบของผู้ใช้แรงงานเกิดจากระบบทุนนิยมที่กำหนดให้ผู้ใช้แรงงานขายแรงงานของตนราคาถูกแก่เจ้าของทุนซึ่งจะนำไปทำกำไรขึ้นเรื่อยๆ แรงงานจึงเป็นเครื่องมือสร้างความมั่งคั่งให้กับนายทุนในการสร้างมูลค่าส่วนเกิน (surplus value) 

เมื่อพัฒนาการของทุนนิยมเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง การพัฒนาทั้งด้านการผลิต เทคโนโลยี การสื่อสาร เป็นไปอย่างรวดเร็ว กลุ่มทุนอุตสาหกรรมในประเทศอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากการพัฒนาดังกล่าวได้สะสมทุน ขยายการผลิต และขยายตลาดออกไปทั่วโลก และพัฒนาไปจนถึงขั้นหนึ่งก็ต้องการสร้างระบบตลาดโลกขึ้นมากลายเป็น “บรรษัทข้ามชาติ” ทำให้โลกทั้งโลกเป็นตลาดอันเดียวกัน ระบบทุนนิยมโลกได้ก้าวสู่ขั้นเป็นทุนการเงินที่รวมทุนธนาคาร และกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เข้าไว้ด้วยกัน มีอำนาจและอิทธิพลเหนือรัฐ จนกระทั่งเข้าไปมีบทบาทในการกำหนดนโยบายทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่เรียกกันว่านโยบายสาธารณะในประเทศอุตสาหกรรม จนกล่าวได้ว่ารัฐบาลประเทศอุตสาหกรรมเองก็เริ่มถูกครอบงำโดยบรรษัทข้ามชาติ ขณะเดียวกันยังได้ขยายบทบาทเข้าไปครอบงำทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง   ในประเทศอื่นๆ อีกด้วย

อาทิ กรณีของการค้ากล้วยในประเทศกลุ่มลาตินอเมริกาที่ต้องการขอขึ้นภาษีกล้วยที่ส่งออก โดยประเทศผู้ส่งออกกล้วยหลายประเทศเห็นว่า การส่งออกที่ผ่านมาไม่ได้มีการขึ้นภาษีมาเป็นเวลานานกว่า 20 ปีมาแล้ว ทั้งๆ ที่ภาวะเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ราคาของสินค้าที่นำเข้าจากประเทศกลุ่มอุตสาหกรรมได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้ที่แท้จริงของประเทศผู้ส่งออกกล้วยลดลง 60 เปอร์เซ็นต์ และโดยเฉพาะประเทศฮอนดูรัสและปานามารายได้จากการส่งออกไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งมาจากการส่งออกกล้วย จึงได้รวมตัวกันเรียกร้องขอขึ้นภาษีการส่งออกกล้วยจำนวน 1 เหรียญสหรัฐต่อกล้วยทุกๆหนึ่งลังที่ส่งออก[v]  

การเรียกร้องได้ถูกปฏิเสธจากบริษัทค้ากล้วยแห่งสหรัฐอเมริกาตลอดมา เนื่องจากบริษัทมีอำนาจในการควบคุมระบบตลาดและมีอำนาจต่อรองสูง ซึ่งบริษัทยักใหญ่ดังกล่าวได้แก่ ยูไนเต็ดแบรนด์ (United Brands) แคสเติลแอนด์คุ๊ก (Castle and Cooke) และเดลมอนเต้ (Del Monte) บริษัททั้งสามได้ควบคุมการตลาดและการจัดจำหน่ายถึง 90 เปอร์เซ็นต์   จึงได้หยุดการตัดกล้วยอย่างกะทันหัน รวมทั้งปล่อยให้กล้วยจำนวนถึง 145,000 เครือเน่าตายคาต้น สุดท้ายแม้จะต่อรองกันได้แต่ต้องจ่ายสินบนแก่เจ้าหน้าที่ระดับสูง และก็ไม่ใช่ราคาตามที่เรียกร้อง พร้อมกันนั้นใน ค.ศ. 1975 สหประชาชาติได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาปัญหาดังกล่าวพบว่า[vi] “ประเทศผู้ผลิตกล้วยทั้งหลายมีรายได้ลดลงจำนวนมาก ประชาชนผู้ยากไร้จำนวนมหาศาลไม่มีอำนาจต่อรอง ประกอบกับเผด็จการทหารซึ่งเป็นตัวแทนของชนชั้นนำที่มั่งคั่งได้ปกครองประเทศในละตินอเมริกาส่วนใหญ่เกือบตลอด 30 ปีที่ร่วมมือกับบริษัทของอเมริกาและประเทศกลุ่มทุนนิยมปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตน”

กรณีประเทศกัวเตมาลาในทศวรรษที่ 1950 บริษัทยูไนเต็ดแบรน (United Brands) ต่อมาเปลี่ยนเป็น บริษัทยูไนเต็ดฟรุ๊ต (United Fruit) ได้ถือครองที่ดินเพื่อใช้ทำธุรกิจด้านการเกษตรเป็นจำนวน 2ใน3 ของที่ดินทั้งประเทศ รวมทั้งได้ผูกขาดระบบการเดินรถไฟในการขนส่งสินค้ากล้วยทั้งประเทศ   ต่อมาในปี ค.ศ. 1945 เมื่อมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี นายจาโคโบ อาร์เบนส์ (Jacobo Arbenz)ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ โดยได้ริเริ่มนโยบายปฏิรูปที่ดินและเกษตรกรรม เพื่อให้ผูยากจนสามารถมีที่ดินทำกินเป็นของตน กลายเป็นชนวนสร้างความไม่พอใจให้บริษัทยูไนเต็ดฟรุ๊ต (United Fruit)ซึ่งมองว่าบริษัทถูกคุกคาม จึงได้ล็อบบี้รัฐบาลไอเซนฮาวร์ (Eisenhower) ให้เข้าไปแทรกแซง หลังจากนั้นสหรัฐอเมริกาได้ส่งหน่วยสืบราชการลับซีไอเอ (C I A ) เข้าไปปฏิบัติการโค่นล้มรัฐบาลประธานาธิบดีจาโคโบ อาร์เบนส์ และจัดตั้งรัฐบาลเผด็จการขึ้นมาแทน[vii]  

นอกจากนั้นบรรษัทข้ามชาติยังอาศัยองค์กรข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารโลก แกตต์ หรือ ไอเอ็มเอฟ กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดในการเข้าไปครอบงำในระบบเศรษฐกิจของนานาชาติ เข้าไปมีบทบาทกดดันและปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจการเมืองของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งเข้าไปผลักดันองค์กรข้ามชาติดังกล่าว ให้ดำเนินกิจกรรมที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มบรรษัทข้ามชาติในการครองโลก ด้วยการสร้างรัฐบาลโลกหรือองค์การปกครองโลกส่งผลให้รัฐชาติทั้งหลายจำต้องยอมสูญเสียอำนาจอธิปไตยของตนในระดับหนึ่งเพื่อให้ประเทศต่างๆพึ่งพากันมากขึ้น ภายใต้มายาภาพของคำว่า “การค้าเสรี หรือการพัฒนา และตลอดจนคำว่าโลกาภิวัตน์” ตามวาทกรรมที่มหาอำนาจกำหนดขึ้น นอกจากนั้นยังต้องเปิดพรมแดนของตนเพื่อการค้าและการลงทุนให้เป็นเสรี รวมทั้งจำต้องยอมสูญเสียอำนาจบางประการเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ

ธนาคารโลก และ ไอเอ็มเอฟ ได้เข้าไปมีบทบาทในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยการให้เงินกู้เพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศตามแนวทางที่มหาอำนาจกำหนด เช่น การสร้างความเจริญเติบโตเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม อันนำมาสู่การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ สังคมแตกสลาย และสร้างความยากจนให้แก่ประชาชนทั่วโลก ส่วนแกตต์ก็กลายเป็นเครื่องมือในการทำหน้าที่สร้างเงื่อนไขทางการค้าเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ประเทศอุตสาหกรรมขณะที่ทางหนึ่งก็เอารัดเอาเปรียบประเทศกำลังพัฒนา เช่น การกำหนดมิให้ประเทศสมาชิกสร้างเงื่อนไขในการกีดกันทางการค้าต่อกัน ส่งผลให้สินค้าของประเทศอุตสาหกรรมที่มีทั้งทุนและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เหนือกว่าสามารถยึดครองตลาดประเทศของกำลังพัฒนาได้โดยสะดวกขึ้น และเมื่อมีการกำหนดนโยบายภาครัฐในการพัฒนาประเทศตามแนวทางขององค์กรข้ามชาติเหล่านี้จะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ตกอยู่ภายใต้สภาพการครอบงำและควบคุมของประเทศอุตสาหกรรมโดยสิ้นเชิง ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย ประชาชนเกิดความยากจนขึ้นอย่างรุนแรง สภาพความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชนขยายกว้างยิ่งขึ้นตามลำดับอันเนื่องมาจากวาทกรรมแห่งการพัฒนา และเมื่อเชื่อมโยงบทบาทขององค์กรเหล่านี้เข้าด้วยกันจะพบว่า องค์กรดังกล่าวแท้จริงแล้วคือเครื่องมือของทุนนิยมในการแสวงหาผลประโยชน์ และดูดซับทรัพยากรจากประเทศที่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำ 


การครองโลกของบรรษัทข้ามชาติ

โลกาภิวัตน์เป็นวาทกรรมในการครองโลกของมหาอำนาจ เพื่อเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์และการขูดรีดทางเศรษฐกิจ มีการใช้กระบวนการต่างๆ ทุกวิถีทางทั้งการบีบบังคับทางเศรษฐกิจ การแทรกแซงทางการเมือง กระทั่งการใช้กำลังทางทหาร ผลักดันให้โลกทั้งโลกต้องใช้กฎกติกาเดียวกันและคิดเหมือนกัน เพื่อเป้าหมายในทางเศรษฐกิจระบบทุนนิยม การที่นักเศรษฐกิจมองว่าระบบเศรษฐกิจไม่ขึ้นและไม่ครอบคลุมกับระบบกายภาพอื่น ๆเข้าไว้ในระบบเศรษฐกิจเพราะทุนนิยมได้แยกระบบเศรษฐกิจออกจากการฝังตัวในระบบสังคม แต่เมื่อระบบทุนนิยมแยกกระบวนการทางเศรษฐกิจออกมาจากการฝังตัวในระบบสังคมทำให้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดที่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุดเป็นหลักเติบโตขึ้น และเมื่อถึงจุดหนึ่งระบบตลาดก็ได้ดูดกลืนระบบสังคมให้เข้ามาฝังอยู่ในระบบเศรษฐกิจ โลกาภิวัตน์จึงเป็นเพียงวาทกรรม ในการดูดกลืนสังคมเท่านั้น ซึ่งการดูดกลืนดังกล่าวมี4 ลักษณะกล่าวคือ[viii]

 

ลักษณะที่หนึ่ง ระบบตลาดทำให้สิ่งต่างๆ ที่โดยธรรมชาติไม่มีสภาพเป็นสินค้า กลายเป็นสินค้า นั่นคือ (1)แรงงาน (มนุษย์ไม่ควรเป็นสินค้า เพราะมนุษย์เป็นระบบกายภาพที่รองรับตลาดเพียงเป็นปัจจัยในการผลิตเท่านั้น  แต่เมื่อมนุษย์กลายเป็นวัตถุที่เป็นสินค้าในตลาด ซึ่งย่อมหมายถึงทำลายทิ้งได้เท่ากับมนุษย์และตลาดกำลังทำลายตัวเอง)  (2)ที่ดิน (ที่ดินหรือธรรมชาติเป็นระบบกายภาพที่รองรับตลาดเช่นกันและเป็นระบบกายภาพที่เป็นรากฐานการดำรงอยู่ของมนุษย์อันเป็นปัจจัยการผลิตขั้นพื้นฐานแต่กลายเป็นสิ่งที่กำหนดราคาซื้อขายกันได้) และ(3)เงิน (เพราะเงินเป็นแค่สิ่งสมมติ เป็นแค่เครื่องมือในการแลกเปลี่ยนเมื่อเงินกลายเป็นสินค้า ทำให้ระบบตลาดในปัจจุบันไม่เอื้อให้เกิดการผลิตจริงแต่ไปทุ่มเทให้กับการเก็งกำไรหรือแสวงหาสิ่งสมมติในการค้าขายเงิน หวังประโยชน์ส่วนต่างจากค่าของเงิน)

ลักษณะที่สอง เมื่อทั้งแรงงาน ที่ดิน และเงิน กลายเป็นสินค้าโลกาภิวัตน์จึงก้าวไปสู่การทำให้กิจกรรมอื่นๆของมนุษย์ที่ไม่เคยและไม่ควรเป็นสินค้า กลายเป็นสินค้าไปด้วย นั่นคือ การศึกษาสาธารณสุข สวัสดิการ วิทยาศาสตร์ สุขภาพอนามัยของสิ่งมีชีวิต วัฒนธรรม เพศสัมพันธ์แม้กระทั่งรหัสพันธุกรรม เป็นต้นจนทำให้มนุษย์สมัยใหม่มีแนวโน้มจะตัดสินทุกสิ่งทุกอย่างด้วยมุมมองทางเศรษฐกิจ เช่นคุณค่าของวัฒนธรรมจะมีหรือไม่ต้องวัดกันที่การขายได้หรือไม่ได้ในแง่ของการท่องเที่ยวดังที่พูดกันติดปากว่าท่องเทียวเชิงวัฒนธรรมเป็นต้น 

ลักษณะที่สาม โลกาภิวัตน์ทำให้กาละและเทศะกลายเป็นสินค้า กาละที่กลายเป็นสินค้า มีอาทิเช่นการเก็งกำไรค่าเงิน การซื้อขายสินค้าล่วงหน้า การประกันราคา การบริหารความเสี่ยงพันธบัตร ตราสารอนุพันธ์ ฯลฯโดยรวมคือตลาดซื้อขายล่วงหน้า ซึ่ง เป็นการทำกำไรจากเหตุการณ์ที่จะเกิดหรือไม่เกิดในอนาคตเทศะที่กลายเป็นสินค้า มีอาทิเช่นการโยกย้ายเงินทุนจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งในพริบตาการย้ายสถานประกอบการจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่งเรื่อย ๆ ฯลฯ สถานที่ที่มีการโยกย้ายเงินเข้าออกจะมีผลต่อระบบเศรษฐกิจของรัฐทั้งนี้ดูจากตลาดหลักทรัพย์เป็นสำคัญ

การเคลื่อนย้ายของเงินละเงินทุนได้สลายความสำคัญของทั้งเวลาและสถานที่ เนื่องจากเป็นการเคลื่อนย้ายที่เกิดขึ้นทันทีทันใดและเกิดขึ้นพร้อมๆ กันผ่านระบบเครือข่ายอิเล็กโทรนิกส์ ทุนในรูปของเงินได้สลายเส้นแบ่งในสองระดับที่ทำให้ทุนในรูปของเงินเคลื่อนย้ายโดยไม่หยุดนิ่งไปยังแหล่งที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า และทุนในรูปของเงินเลิกสนใจการลงทุนในภาคการผลิตจริง แต่หันไปลงทุนในภาคเก็งกำไรแทน สามารถเคลื่อนย้าย ส่งต่อหรือไหลผ่านไปตามช่องทางการสื่อสารจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งของโลกโดยไม่ต้องคำนึงถึงเขตแดนของประเทศ เงินจึงสามารถทำให้สรรพสิ่งสูญเสียคุณลักษณะเชิงรูปธรรมเหลือไว้แต่คุณลักษณะด้านนามธรรมเท่านั้นix] 

ลักษณะสุดท้ายคือการครองความเป็นใหญ่ในการกำหนดนโยบายของทุกสังคมทำให้แง่มุมของชีวิตทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับสากลต้องยอมรับโครงสร้างของตลาดในระบบทุนนิยมต้องยอมปรับรื้อสถาบันหรือองค์การดั้งเดิมทั้งหมดของตนเพื่อตอบรับกับข้อเรียกร้องของตลาดไม่ว่าข้อเรียกร้องนั้นจะมีเหตุผลหรือไม่ก็ตาม กล่าวง่าย ๆ คือโลกาภิวัตน์ได้เข้าไปครอบงำกระบวนการคิดและจุดยืนทางจริยศาสตร์ของมนุษย์เกือบทุกรูปแบบ

การดูดกลืนระบบสังคมให้เข้าไปฝังอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ทำให้พฤติกรรมของคนในสังคมปัจจุบันถูกกระตุ้นด้วยการบริโภคที่ไม่มีขอบเขตจำกัดกลไกของสถาบันทางสังคมก็ตกอยู่ภายใต้การกระตุ้นของระบบเศรษฐกิจอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด ทำให้สังคมกลายเป็นเพียงระบบย่อยๆที่ฝังอยู่ในระบบเศรษฐกิจเท่านั้น   ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ทางด้านสังคมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าปัญหาเด็กวัยรุ่น อาชญากรรม ยาเสพย์ติด ความรุนแรงทางเพศ ฯลฯที่เราเรียกว่า ปัญหาทางสังคม นอกจากนั้นยังส่งผลให้ แรงงาน ที่ดินและเงิน ที่เคยเป็นเพียงปัจจัยในการผลิต กลายเป็นสินค้าที่ซื้อหากันในทางการค้า การดูดกลืนระบบสังคมให้เข้าไปฝังอยู่ในระบบเศรษฐกิจดังกล่าวนี้เอง ที่เป็นปัญหาในระบบเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดการต่อต้านและต่อสู้ขั้นพื้นฐานทางชนชั้น ซึ่งมิใช่เป็นการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นในทางเศรษฐกิจเท่านั้นแต่ได้ขยาบขอบเขตเป็นการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยแรงงาน ที่ดินและเงินออกจากการเป็นสินค้า  รวมทั้งเริ่มมีการต่อสู่ที่เป็นรูปธรรมให้หลุดพ้นจากการครอบงำทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์ต่อการอยู่รอดของมวลมนุษย์โดยส่วนรวม

................................................................................................................................................................

อ้างอิง



[i]อนุสรณ์ ลิ่มมณี. ทฤษฎีเศรษฐกิจการเมืองยุคปัจจุบัน. กรุงเทพฯ. มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2545 : 132-143
[ii]Hobson ,J.A. 1972 The Economic Taproot of Imperialism . pp 1-17 in Kenneth E. Boulding   and Tapan Mukerjee (eds) Economic Imperialism Ann Arbor : The University of Michigan press
[iii] Hobson , J.A. 1965   Imperialism: A Study Ann Arbor : The University of Michigan Press. pp 19-30,72-77,80-85 
[iv]ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. ลัทธิเศรษฐกิจการเมือง . กรุงเทพฯ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย., 2546 : 142  146
[v]ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์.ทฤษฏีพึ่งพาและเทววิทยาแห่งการปลดปล่อย.กรุงเทพฯ.สำนักพิมพ์มูลนิธิวิถีทรรศน์. 2544 :115-117
[vi]ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์.ทฤษฏีพึ่งพาและเทววิทยาแห่งการปลดปล่อย.กรุงเทพฯ.สำนักพิมพ์มูลนิธิวิถีทรรศน์. 2544 :118-119
[vii] Annette Fuentes and Barbara   Ehrenreich. Women in the Global Factory (Boston: South End Press) , 1987,  p 42
[viii]ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร.ความเปราะบางของโลกหลังยุคสงครามเย็น . กรุงเทพฯ.รัฐศาสตร์สาร. 2547 ปีที่ 25ฉบับที่ 2 :30-34
[ix] ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร.ความเปราะบางของโลกหลังยุคสงครามเย็น . กรุงเทพฯ.รัฐศาสตร์สาร. 2547 ปีที่ 25ฉบับที่ 2 :35-40

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีตีนแดง-เล่ ท่าเสา:การเผชิญหน้ากันของปัญญาชน

Posted: 02 Jan 2011 05:53 PM PST

ในวันที่สัจจะถูกทำให้แตกเป็นเสี่ยงๆ
ทุกสิ่งดูคล้ายจะเกิดขึ้นเอง
จนยากจะแยกแยะออกว่า
โดยธรรมชาติ  หรือจากการสร้าง
ของแท้หรือเลียนแบบ

ปัญญาชนหลั่งไหลมารวมกัน
พูดคุย ดื่มกิน
คำทักทายในอดีตเลือนหายไป
ความรู้สึก ความทรงจำ จืดจางลง
พร้อมกับอุดมการณ์ ความคิด และความรัก
ที่อาจจะเคยมี และเคยรับใช้ประชาชน

วิศวกรที่เชี่ยวชาญ
ย่อมสามารถออกแบบเครื่องยนต์กลไกทุกชิ้นส่วน
ให้ทำงานสอดประสานกัน ราบเรียบ ลื่นไหว ไม่สะดุด
จนยากที่จะสังเกตว่า
เชื้อเพลิงหรือพลังงานที่เติมลงไป ไร้คุณภาพ

ในวันที่ปัญญาชนเติมพลังทางความคิดให้แก่หมู่ชน
หากเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญ
หมู่ชนกลุ่มนั้นยากจะแยกแยะออกว่า
มีคุณภาพเพียงใด
หรือเต็มไปด้วยสารปนเปื้อนทางความคิด
เนื่องแต่จิตใจของผู้ออกแบบปนเปื้อนไปก่อนแล้ว

หากแต่สัจจะคือสัจจะ
ความจริงคือความจริง
ย่อมทนทานต่อการทุบตี เฆี่ยนโบยบีฑา
จนวันหนึ่ง ผู้ทุบตีเหนื่อยล้าและตายจากไปเอง
ในวันนั้น ปัญญาชนจะหลั่งไหลมารวมกันอีกครั้ง
ณ ตรงจุดที่สัจจะยืนหยัดอยู่

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น