ประชาไท | Prachatai3.info |
- ดีอี-กสทช. เตรียมตรวจสอบ หลังถูกร้องเรียน ปมแอบอ้างคนอื่นไปร่วมโหวต
- 'People Go Network' ขอ จนท.ยุติคดี 'เกษตรกรดอยเทวดา-น.ศ.' หลังให้กำลังใจเดินมิตรภาพ
- หมอมงคลชี้เจตนารวมเงินเดือนในงบรายหัวบัตรทอง ปชช.อยู่ตรงไหน คนทำเพื่อ ปชช.ก็ต้องอยู่ตรงนั้น
- กรธ. เห็นแย้งกฎหมาย ส.ส.- ส.ว. ชงตั้ง กมธ. ร่วม
- ไม่ใช่แค่ พล.อ.ประวิตร คนโหวต 94% ชี้ คสช.ทั้งคณะหมดเวลาแล้ว
- ทำความรู้จักกลุ่ม ‘MBK39’
- MBK39 บางส่วนแอคชั่นหน้า สน.ปทุมวัน ยันพรุ่งนี้มาตามหมายเรียกแน่
- 'นักกฎหมายสิทธิฯ' ร่อน จม.ถึงประธานศาลฎีกา หวังทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุล คสช.
- #NotYourHabibti เผยแพร่เรื่องล่วงละเมิดทางเพศในปาเลสไตน์ด้วย 'พิมพ์ดีด'
- 3 องค์กรแรงงานใหญ่ ร้อง คสช. ยุติคดี 'เดินมิตรภาพ-คนค้านสืบทอดอำนาจ'
- กวีประชาไท: ความตายต่างชนิดในความคิดของชนชั้นกลางรักป่า
- เปิดใจ อุ้ม MBK39 "ขอให้เรื่องนี้จบสิ้นแค่รุ่นเรา อย่าให้รุ่นลูกหลานต้องเผชิญชะตากรรม"
ดีอี-กสทช. เตรียมตรวจสอบ หลังถูกร้องเรียน ปมแอบอ้างคนอื่นไปร่วมโหวต Posted: 07 Feb 2018 08:27 AM PST กระทรวงดีอี และสำนักงาน กสทช. เห็นชอบหนุนคนไทยตระหนักต่
7 ก.พ.2561 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจาย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิ 2. ขอให้ประชาชนวิเคราะห์ข้อเท็ ทั้งนี้ เพื่อให้บ้านเมืองมีความสงบ ไม่นำไปสู่ความขัดแย้งในบ้านเมื
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
'People Go Network' ขอ จนท.ยุติคดี 'เกษตรกรดอยเทวดา-น.ศ.' หลังให้กำลังใจเดินมิตรภาพ Posted: 07 Feb 2018 05:59 AM PST เครือข่ายประชาชน People Go Network ออกแถลงการณ์เรียกร้องต่อเจ้าหน้าที่รัฐยุติการดำเนินคดีกับกลุ่มชาวบ้านดอยเทวดาอันเนื่องมาจากการใช้เสรีภาพ ตาม รธน. พร้อมยกเลิกใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 เคารพต่อการใช้เสรีภาพการแสดงความคิดเห็น-ชุมนุมของประชาชน ภาพซ้าย : กลุ่มชาวบ้านดอยเทวดา ต.สบบง อ.ภูซาง จ.พะเยา ทำกิจกรรมหนุน "We walk เดินมิตรภาพ" เมื่อช่วงกลางวัน วันที่ 5 ก.พ. ก่อนถูกเรียกสอบช่วงค่ำที่ สภ.ภูซาง ภาพขวา : เจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจเรียกกลุ่มชาวบ้านดอยเทวดา สอบกลางดึก (ที่มา: เพจสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ) 7 ก.พ.2561 จากกรณีกลุ่มเกษตรกรบ้านดอยเทวดา ต.สบบง อ.ภูซาง จ.พะเยา และนักศึกษา รวม 14 คน จัดกิจรรมเดินมิตรภาพเพื่อสนับสนุนและให้กำลังใจกลุ่ม People Go Network เมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุทำให้ถูกเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจเรียกตัวไปสอบสวนช่วงดึกของวันเดียวกัน ต่อมาเจ้าหน้าที่ทหารมีการแจ้งความดำเนินคดีต่อชาวบ้านและนักศึกษา รวมทั้งหมด 14 ราย ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมทางการเมือง ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะมีการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาจำนวน 11 ราย ล่าสุดวันนี้ (7 ก.พ.61) เครือข่ายประชาชน People Go Network ออกแถลงการณ์เรียกร้องต่อเจ้าหน้าที่รัฐผู้ใช้อำนาจ ทั้งทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้ยุติการดำเนินคดีกับกลุ่มชาวบ้านดอยเทวดาอันเนื่องมาจากการใช้เสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญทำกิจกรรมโดยชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดโดยทันที เครือข่ายประชาชน People Go Network ยังเรียกร้องให้ ยกเลิกการบังคับใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 และยุติการใช้อำนาจในทางที่เป็นการละเมิด ข่มขู่ คุกคามการใช้เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธของประชาชนทุกกลุ่มทุกประเด็น รวมทั้งขอให้รัฐไทยเคารพต่อการใช้เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธของประชาชนอันชอบธรรมตามที่รัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศรับรองคุ้มครองไว้ ตลอดจนยอมรับว่าสิทธิเสรีภาพดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นและต้องสามารถกระทำได้บนวิถีทางแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยมีรายละเอียดดังนี้ : แถลงการณ์เครือข่ายประชาชน People Go Networkเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีชาวบ้านดอยเทวดาทำกิจกรรมสนับสนุนกลุ่มเดินมิตรภาพและขอให้เจ้าหน้าที่รัฐเคารพและยุติการละเมิดสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็และการชุมนุมของประชาชนทุกกลุ่มสืบเนื่องจากกรณีเมื่อช่วงกลางวันของวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 กลุ่มชาวบ้านเกษตรกรบ้านดอยเทวดา ตำบลสบบง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา 11 คน และนักศึกษาจากจังหวัดเชียงราย 3 คน ได้ร่วมกันทำกิจกรรมภายในชุมชนบ้านดอยเทวดา ถือป้ายข้อความและอ่านแถลงการณ์สนับสนุนให้กำลังใจกิจกรรม "We Walk เดินมิตรภาพ" ของเครือข่ายประชาชน People Go network พร้อมกับเรียกร้องเรื่องกฎหมายเพื่อความเป็นธรรมสำหรับคนจน 4 ฉบับ ได้แก่ ธนาคารที่ดิน ภาษีในอัตราก้าวหน้า สิทธิชุมชน และกองทุนยุติธรรม และมีการเดินเป็นระยะทางประมาณ 500 เมตรภายในหมู่บ้าน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารมาติดตามการทำกิจกรรม จนกระทั่งในช่วงค่ำวันเดียวกันชาวบ้านได้รับแจ้งให้เดินทางไปที่สถานีตำรวจภูธรภูซางอ้างว่า เพื่อทำบันทึกรับทราบว่ากิจกรรมที่กลุ่มทำไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง แต่เมื่อเดินทางไปที่สถานีตำรวจ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทหารตรึงกำลังอยู่โดยรอบกว่า 20 นาย ชาวบ้านและนักศึกษาที่ร่วมกิจกรรมกลับถูกแจ้งข้อกล่าวหาความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งมีนายทหารไปแจ้งความไว้แก่ตำรวจ โดยมีการสอบปากคำชาวบ้านและนักศึกษาตั้งแต่เวลาประมาณตีสามจนถึงช่วงเช้ามืดวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 โดยไม่มีทนายความเข้าร่วมการสอบสวน จนกระทั่งต่อมาเวลาประมาณ 09.30 น. ตำรวจได้นำตัวชาวบ้านและนักศึกษารวม 11 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นเยาวชนอายุ 16 ปีที่มีอาการพิการทางสมอง ไปยังศาลจังหวัดเชียงคำเพื่อขออำนาจศาลฝากขังผู้ต้องหา 10 รายในระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม และศาลจังหวัดเชียงคำมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังโดยตั้งวงเงินประกันตัวผู้ต้องหารายละ 5,000 บาท โดยให้เหตุผลว่าเป็นคดีความมั่นคงจึงต้องมีหลักประกันไว้ ส่วนชาวบ้านอีก 3 คนที่ไม่ได้มาพบตำรวจพร้อมกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นเพียงชาวบ้านที่เดินมาดูการทำกิจกรรม ก็ได้มีการเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาแล้วในวันนี้นั้น เครือข่ายประชาชน People Go Network เห็นว่า การทำกิจกรรมของกลุ่มชาวบ้านดอยเทวดาดังกล่าว ทั้งในส่วนการแสดงออกเพื่อสนับสนุนให้กำลังใจกิจกรรม "We Walk เดินมิตรภาพ" ซึ่งเป็นการชุมนุมสาธารณะโดยชอบด้วยกฎหมายตามที่ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้สามารถทำกิจกรรมได้โดยไม่ถูกปิดกั้นขัดขวาง และการเรียกร้องกฎหมายเพื่อความธรรมของคนจนหรือสิทธิขั้นพื้นฐานในประเด็นต่างๆ นั้นเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของประชาชนและเสรีภาพการชุมนุมโดยชอบธรรมตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 34 และ 44 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อบทที่ 19 และ 21 ให้การรับรองคุ้มครองไว้แก่ประชาชนทุกคน และมีผลบังคับผูกพันต่อการใช้อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ทุกฝ่ายให้ต้องเคารพ รับรอง ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพดังกล่าว เครือข่ายประชาชน People Go Network จึงมีความเห็นว่า การแจ้งความและดำเนินคดีอาญาข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 กับกลุ่มชาวบ้านดอยเทวดาและนักศึกษาที่ร่วมทำกิจกรรมนั้น เป็นการคุกคามละเมิดต่อเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพการชุมนุมของกลุ่มชาวบ้านและนักศึกษาที่ถูกดำเนินคดีอย่างร้ายแรง เป็นการตีความบังคับใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. อย่างกว้างขวางไร้ขอบเขต มาปิดกั้น ขัดขวาง กดทับ และทำให้เกิดความหวาดกลัว จนทำให้การใช้สิทธิเสรีภาพทำกิจกรรมเคลื่อนไหวในประเด็นและรูปแบบต่างๆ ของประชาชนไม่อาจกระทำได้ แม้รัฐธรรมนูญจะให้การรับรองคุ้มครองไว้ อันเป็นการใช้อำนาจที่ขัดต่อหลักนิติธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เครือข่ายประชาชน People Go Network จึงขอเรียกร้องต่อเจ้าหน้าที่รัฐผู้ใช้อำนาจ ทั้งทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1. ขอให้ยุติการดำเนินคดีกับกลุ่มชาวบ้านดอยเทวดาอันเนื่องมาจากการใช้เสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญทำกิจกรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 ทั้งหมดโดยทันที 2. ขอให้ยกเลิกการบังคับใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 และยุติการใช้อำนาจในทางที่เป็นการละเมิด ข่มขู่ คุกคามการใช้เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธของประชาชนทุกกลุ่มทุกประเด็น 3. ขอให้รัฐไทยเคารพต่อการใช้เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธของประชาชนอันชอบธรรมตามที่รัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศรับรองคุ้มครองไว้ ตลอดจนยอมรับว่าสิทธิเสรีภาพดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นและต้องสามารถกระทำได้บนวิถีทางแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เครือข่ายประชาชน People Go Network ณ We Walk เดินมิตรภาพ 7 กุมภาพันธ์ 2561
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
หมอมงคลชี้เจตนารวมเงินเดือนในงบรายหัวบัตรทอง ปชช.อยู่ตรงไหน คนทำเพื่อ ปชช.ก็ต้องอยู่ตรงนั้น Posted: 07 Feb 2018 05:37 AM PST อดีต รมว.สาธารณสุข ชี้ไม่เห็นต้องใช้ปัญญา ประสบการณ์หรือความรู้อะไรมากมายในการพิจารณาแยกหรือไม่แยกเงินเดือนบุคลากรสาธารณสุขจากงบเหมาจ่ายรายหัว เพราะเจตนารมณ์ของระบบต้องการกระจายกำลังคนไปตามจำนวนผู้รับบริการ เงินอยู่ตรงไหน คนทำงานก็ควรอยู่ตรงนั้น 7 ก.พ.2561 รายงานข่าวแจ้งว่า นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ความเห็นถึงการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในประเด็นการแยกเงินเดือนบุคลากรสาธารณสุขออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว โดยระบุว่า ไม่เห็นต้องใช้ปัญญาลึกซึ้งอะไรเลยในการพิจารณาว่าควรแยกหรือไม่แยกเงินเดือน เพราะการกระจายบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขไปตามหน่วยบริการหรือไปตามจำนวนประชากร ล้มเหลวมาโดยตลอด เจตนารมณ์ของผู้วางระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงกำหนดไว้ชัดเจนว่าเงินอยู่ตรงไหนผู้ให้บริการต้องไปอยู่ตรงนั้น พูดง่ายๆ ก็คือกระจายคนไปกับตัวเงิน "จำนวนหัวของประชากรเป็นตัวสร้างงบประมาณให้สถานบริการ แปลว่าตรงนั้นมีความต้องการเขาถึงเอาเงินไปไว้ตรงนั้น เป็นเรื่องตื้นๆ ไม่เห็นต้องใช้ประสบการณ์หรือใช้ความรู้ในการพิจารณามาก คนที่จ้างทำงานอยู่ที่ไหนก็ควรไปอยู่ตรงนั้น ก็ตรงไปตรงมา คุณรับเงินตรงไหนก็ต้องไปตรงนั้น มันไม่มีหรอกถ้าจะเอาเงินจากร้อยเอ็ดแล้วไปทำงานอยู่ปทุมธานี ใครจะเอาเงินมาให้คุณ ไม่เห็นต้องเป็นเรื่องที่ใช้หัวคิดมากมาย" นพ.มงคล กล่าว อดีต รมว.สาธารณสุข กล่าวอีกว่า การรวมเงินเดือนบุคลากรเข้ากับงบเหมาจ่ายรายหัว หลักการคือเงินอยู่ตรงไหนผู้ให้บริการควรไปตรงนั้น ถ้าใครอยากได้ตึกได้เตียงเพิ่มขึ้นต้องอยู่ในงบประมาณที่ตัวเองได้รับ ซึ่งระบบสามารถปรับสมดุลด้วยตัวมันเองได้อยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น ตอนเริ่มโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าใหม่ๆ มีหน่วยบริการที่ได้รับอนุมัติตึกใหม่ ได้วอร์ดใหม่ขอคืนงบมาไม่น้อยกว่า 30 แห่ง เพราะรู้ว่าสิ่งที่ขอมานั้น Over ไปจากจำนวนประชากรที่ตัวเองดูแลอยู่ ในทางกลับกัน หากไม่เอาผู้รับบริการเป็นตัวตั้ง จะกลายเป็นว่าไม่ว่านักการเมืองหรือข้าราชการผู้ใหญ่อยากโยกย้ายใครไปไหนตามใจชอบ ก็จะทำให้ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมในการกระจายคนและทรัพยากรในการให้บริการ เพราะฉะนั้นไม่น่าจะมีข้อสงสัยอีกแล้วในเรื่องเงินเดือนต่างๆ ว่าจะต้องไปตามจำนวนหัวประชากรซึ่งเป็นตัวสร้างงบประมาณให้สถานบริการ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กรธ. เห็นแย้งกฎหมาย ส.ส.- ส.ว. ชงตั้ง กมธ. ร่วม Posted: 07 Feb 2018 05:21 AM PST กรธ.เห็นแย้งกฎหมาย ส.ส. ปมห้ามคนไม่ได้เลือกตั้งเป็นข้าราชการ เรื่องการอนุญาตมีการจัดมหรสพ เรื่องการขยายเวลาลงคะแนน และเรื่องให้มีการลงคะแนนแทนผู้พิการทางสายตา ส่วนกฎหมาย ส.ว. ยังยืนยันให้มี 20 กลุ่มอาชีพ ยันยืนการเลือกไขว้ และไม่เห็นด้วยกรณีแยกผู้สมัครแบบอิสระและนิติบุคคล เตรียมเสนอ สนช. ตั้ง กมธ. ร่วม 7 ก.พ. 2561 ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า อุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า กรธ. มีมติทำความเห็นโต้แย้งร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับให้ สนช.โดยร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีความเห็นแย้ง 4 ประเด็น คือ 1.เรื่องการตัดสิทธิคนไม่ไปเลือกตั้งห้ามเป็นข้าราชการการเมือง 2.เรื่องการจัดมหรสพเพราะจะเป็นปัญหาด้านกำหนดค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร 3.เรื่องเวลาลงคะแนนที่ สนช.แก้เป็นเวลา 07.00-17.00 น.เพราะจะเป็นปัญหากับผู้ปฏิบัติงาน และ 4.เรื่องการลงคะแนนแทนผู้พิการทางสายตา ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. มีความเห็นแย้ง 3 ประเด็น คือ 1.เรื่องการลดกลุ่มผู้สมัคร โดย กรธ.ยืนยันให้มี 20 กลุ่ม ตามผลของการฟังความเห็นของประชาชน 2.เรื่องการแยกประเภทผู้สมัครแบบอิสระและนิติบุคคล กรธ.ไม่เห็นด้วยที่จะแยกประเภท เนื่องจากอาจขัดรัฐธรรมนูญ ในมุมของความหลากหลายและสิทธิของผู้สมัครที่ทุกคนสามารถสมัครเป็น ส.ว.ได้ และ 3.เรื่องวิธีเลือก กรธ. ขอยืนยันเรื่องเลือกไขว้ เพราะจะเป็นวิธีที่ป้องกันการฮั้วลงคะแนนได้ดีกว่าเลือกตรง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ไม่ใช่แค่ พล.อ.ประวิตร คนโหวต 94% ชี้ คสช.ทั้งคณะหมดเวลาแล้ว Posted: 07 Feb 2018 04:25 AM PST ผู้ร่วมโหวตกับแฟนเพจประชาไท 94% หนุน คสช.ควรออกทั้งคณะ ขณะที่ให้ พล.อ.ประวิตร ออกเฉพาะบุคคลมีเพียง 6% หลังกระแสสังคมเรียกร้องให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ออกจากตำแหน่ง หลังจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณีนาฬิกาหรู ซึ่งไม่ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินกับ ป.ป.ช.นั้น ต่อมา พล.อ.ประวิตร ออกมาบอกว่า "ถ้าประชาชนไม่ต้องการผมก็พร้อมที่จะไปจากตำแหน่งนี้" แต่ล่าสุดวันนี้ (7 ก.พ.61) พล.อ.ประวิตร ยืนยันว่าตนเองไม่มีแรงกดดันอะไร อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแค่ พล.อ.ประวิตร เท่านั้นที่ออกมาพูดในทำนองว่า หากประชาชนไม่ต้องการก็พร้อมจะไป เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เคยพูดทำนองนี้เมื่อเกือบ 2 ปีก่อน ประกอบกับ พล.อ.ประยุทธ์ เพิ่งยอมรับว่าเป็น "ช่วงขาลง" นั้น ประชาไท จึงได้โพสต์ถามในเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ประชาไท Prachatai.com' เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่าแท้จริงแล้ว อยากให้ พล.อ.ประวิตร ลาออกเฉพาะบุคคล หรือ อยากให้ คสช. ออกไปทั้งคณะได้แล้ว ผลมีผู้ร่วมโหวตกว่า 7,800 โหวต โดยคนส่วนใหญ่ 94% หรือ ประมาณ 7,300 โหวต ขณะที่มีเพียง 6% หรือ 467 โหวตเท่านั้นที่อยากให้ พล.อ.ประวิตร ออกเพียงลำพัง ส่วนผู้ที่กดหัวใจให้กำลังใจ พล.อ.ประวิตร และ คสช. อยู่ต่อเพื่อสานต่อการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ที่ทำมาเกือบ 4 ปีแล้วอยู่ 17 โหวตด้วยกกัน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 07 Feb 2018 01:57 AM PST หลังจากถูกออกหมายเรียกครั้งที่สอง พร้อมเพิ่มข้อกล่าว 39 บุคคลที่ปรากฏตัวที่สกายวอล์กปทุมวันในวันที่ 27 ม.ค. 2561 รวมเป็นสองข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน
ตามหมายเรียกมีการนัดให้ทุกคนไปรายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนที่ สน.ปทุมวัน ในวันพรุ่งนี้ (8 ก.พ.) โดยพนักงานสอบสวนจะดำเนินการผลัดฟ้องต่อศาล พร้อมขออำนาจศาลฝากขัง ซึ่งหากศาลอนุญาตฝากขัง และไม่อนุญาตให้ประกันตัวแน่นอนว่าพวกเขาต้องถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ
ในจำนวน 39 คน อาจมีหลายคนเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว แต่จำนวนมากกลับเป็นคนที่สปอตไลท์ของสื่อมวลชนส่องไปไม่ค่อยถึง ประชาไทรวบรวมบทสัมภาษณ์ ควาามรู้สึก ความคิดเห็น มุมมองต่อสถานการณ์ของคนธรรมดาที่วันหนึ่งกลายเป็นผู้ต้องหาคดีการเมือง หลายคนระบุชัดว่าตั้งใจไปร่วมชุมนุมทางการเมืองเพราะเห็นว่าเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่บางคนระบุว่าเพียงแค่ไปสังเกตการณ์เพียงเท่านั้น แม้จะมีเหตุผลที่ต่างกันออกไป แต่ความน่าสนใจอาจจะอยู่ที่คำถามว่า อะไรกันที่ทำให้พวกเขาก้าวเดินไปที่สกายวอล์กปทุมวันในวันนั้น คำตอบที่ได้อาจต่างกัน แต่หากขมวดรวมให้เห็นจุดร่วมที่ชัดเจนคือ การปรากฏตัวที่สกายวอล์กไม่ว่าจะไฮปาร์ก ไม่ว่าจะร่วมชุมนุม ไม่ว่าจะไปสังเกตการณ์ ทุกอย่างล้วนเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน อันล่วงละเมิดมิได้ โชคชัย ไพบูลย์รัชตะอายุ 40 ปี เป็นหนึ่งในกลุ่มคนเสื้อแดงที่ไปร่วมชุมนุมมาตลอดระยะเวลา 10 ปีที่มีความขัดแย้งทางการเมือง มีอาชีพทำป้ายไวนิล "วันที่ไปชุมนุมบริเวณสกายวอล์ก แยกปทุมวัน เรามีอาชีพทำป้ายไวนิล ตอนที่ไปชุมนุมเรามักจะเป็นคนทำป้ายไวนิลต่างๆ วันที่ไปชุมนุมตรงสกายวอล์กแยกปทุมวันเราก็ทำป้ายไปยืนถือ เขียนว่า 'หยุดยื้อเลือกตั้ง หยุดยื้ออำนาจ' เราไม่ได้พูดไม่ได้ปราศรัย แค่ยืนถือป้ายเฉยๆ เลย แต่คนอื่นบางคนที่อยู่ใน 39 คน เขาก็ไปยืนเฉยๆ ไม่ได้ถือป้ายด้วยก็โดนในข้อหาเดียวกัน และเราคิดว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย เราแค่ไปเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง จุดประสงค์ที่ออกมาชุมนุมในครั้งนี้คืออยากมาทวงสัญญาที่จะมีการเลือกตั้งที่บิดพลิ้วมาหลายรอบ แล้วคุณก็คอร์รัปชันอย่างโจ่งแจ้ง ไม่มีจรรยาบรรณและความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งที่รัฐบาลประกาศนโนบายปราบคอร์รัปชันเอง และหน่วยงานอิสระก็ไม่ดำเนินการสอบสวน ตอนนี้โดน 2 ข้อหาคือคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 กับ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ทั้งที่เราไปชุมนุมอย่างสงบ เราไม่ได้คิดว่าเราทำผิดกฎหมาย ตอนนี้เราก็คิดว่าจะไปปฏิเสธข้อกล่าวหา แต่เพื่อนก็มีหลายคนที่โดน เราก็ไม่ได้เสียใจอะไร ไปอยู่ข้างในก็คงไม่เหงา ขอเห็นแย้งกับพล.ต.อ.ศรีวราห์ (รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) ที่ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อว่า ถ้าให้ประกันตัวไปแล้วผู้ต้องหาหลบหนีใครรับผิดชอบ เราอยากแย้งเต็มๆ เลยว่า แม้โดนคดี แต่เราไปเรียกร้องการเลือกตั้ง เราจะหนีไปไหน เราก็ต้องอยู่รอเลือกตั้ง มันไม่ใช่คดีร้ายแรงที่จะต้องหลบหนี แล้วหมายเรียกครั้งแรกเราเซ็นรับ วันที่ 31 ม.ค. ไปขอเลื่อนรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 2 ก.พ. เพื่อมาเตรียมหลักทรัพย์ในการประกันตัว แต่พล.ต.อ.ศรีวราห์ไม่อนุญาตให้เลื่อน ไม่อนุญาตไม่ว่า แต่ภายในวันเดียวกันออกหมายครั้งที่สองตามไปที่บ้านอีก ในขณะที่ตัวเราเองยังอยู่ สน. ภายใน 48 ชั่วโมง ออกหมายเรียกถึง 2 ครั้ง และไม่ให้เลื่อน แล้วถ้าครั้งนี้ไม่มารายงานตัวก็สามารถออกหมายจับได้ ทั้งที่ความจริงแล้วประชาชนมีสิทธิขอเลื่อนตั้งแต่หมายเรียกครั้งแรก นี่เหรอที่คุณบอกว่าเป็นไปตามกฎหมาย แล้วล่าสุดจากหลักทรัพย์ประกันตัว 20,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 60,000 บาท ระบอบประชาธิปไตยประชาชนตรวจสอบนักการเมืองได้ มีฝ่ายค้านที่ช่วยตรวจสอบ มีวาระ 4 ปี ถ้ารัฐบาลไม่ดีก็มีวาระของมัน แต่ตอนนี้ทหารฉีกรัฐธรรมนูญแล้วก็เขียนใหม่โดยเราไม่มีส่วนร่วม ตั้งแต่ปี 2535 ที่เราเห็นเป็นต้นมา ประเทศวนอยู่แบบนี้ ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์สักที" มัทนา อัจจิมาอายุ 57 ปี จบรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง "วันแรกที่มีการรัฐประหารปี 57 เราก็ไปที่อนุสาวรีย์ชัยภูมิ ไปถือป้ายต่อต้านเพราะเราไม่ชอบ หลังรัฐประหาร บริษัทที่เราทำงานปิดตัวลงเพราะเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ข้อดีก็คือทำให้เรามีเวลาว่างมากขึ้น ทำให้ไปร่วมกิจกรรมกับกลุ่มต่างๆ ได้ พอมีกลุ่มใดๆ ที่มีแนวโน้มไปทางประชาธิปไตยเราเข้าร่วมหมด ทั้งกับกลุ่มนักศึกษา หรืองานเสวนาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เพราะเราไม่ชอบความไม่เป็นธรรม ที่ไปชุมนุมวันนั้นคือเราไม่ไหวแล้วจริงๆ อยากเลือกตั้งเพราะอยากใช้สิทธิของเราเลือกคนมาบริหารประเทศ เพราะรัฐบาลเผด็จการไม่ให้สิทธเสรีอะไรกับพวกเราเลย อะไรๆก็ใช้แต่มาตรา 44 สิทธิในการออกเสียง สิทธิในการพูดแสดงความคิดเห็นไม่มีเลย คือเขาเลื่อนเลือกตั้งอีกแล้ว มันเป็นเหตุการณ์ที่ยังไงก็ต้องร่วม เราก็ไปยืนถือป้ายเฉยๆ ช่วยน้องๆ เท่าที่ช่วยได้ ไม่ได้โวยวายหรือก่อความไม่สงบ แต่ที่อัดอั้นคือทำไมเราถึงถูกปฏิบัติไม่เท่าเทียมกันกับอีกฝ่ายทั้งที่เขาก็ออกมาชุมนุมเหมือนกัน แล้วค่าประกันตัวจากตอนแรก 20,000 บาท อยู่ดีๆ ก็ขึ้นเป็น 60,000 บาท พอโดนข้อหานี้เราไม่กลัวแต่มีความกังวล เพราะคนในบ้านมีความคิดต่างจากเรา ทุกวันนี้ครอบครัวยังไม่รู้ว่าเราโดนคดี ถ้าเขารู้ว่าเราโดนก็อาจจะมีการห้ามบ้าง แต่เขาคงไม่สามารถห้ามเราได้ เพราะเราออกไปไหนเราก็ไม่ได้บอกใคร เขาก็จะคิดว่าเราไปหาเพื่อน ต้องรอดูวันที่ 8 ก.พ.นี้ว่าศาลจะว่ายังไง เขาจะให้เราเซ็น MoU อะไรไหม เราต้องฟังความคิดเห็นของทนายด้วย เราเคยโดนคดีราชภักดิ์มาก่อนหน้านี้ ก็โดนให้เซ็น MoU ห้ามยุ่งเกี่ยวการเมือง ห้ามออกนอกประเทศ พอเราเซ็นแล้ววันรุ่งขึ้นเรายังออกมาร่วมกับน้องๆ อีก ตอนนั้นก็ไม่ได้รู้สึกกลัวนะ เพราะเราถือว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิด แต่เขาจะให้เราผิดแบบไหนเราไม่รู้ เอกศักดิ์ สุพรรณขันธ์อายุ 59 ปี สนใจการเมืองมานานกว่า 40 ปี ตั้งแต่สมัยยังเรียนมัธยม "ที่ออกมาชุมนุมเพราะต้องการให้รัฐบาลรู้ว่าคุณไม่ทำตามสัญญา เลื่อนแล้วเลื่อนอีก ไม่แฟร์สำหรับประชาชน สนช. ออกกฎหมายที่ยืดเวลาเลือกตั้งออกไปอีก 90 วัน มันไม่ถูกต้อง สนช.ก็มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ดังนั้นมันเหมือนคุณสัญญากับประชาชนไว้แล้วแต่ไม่ทำตาม ถ้าเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยเราด่านายกฯได้ แต่พอเป็นรัฐบาล คสช. ถามว่าด่าได้ไหม เขาด่าประชาชนอีกต่างหาก ตะคอกประชาชนอีกต่างหาก เหมือนเขาเหนือกว่าเรา เขาทำอะไรโดยที่ไม่ได้ถามเรา บางครั้งก็ใช้มาตรา 44 ออกกฎหมายโดยไม่ได้ผ่านการอภิปราย เหมือนเป็นคำสั่ง เราทำอะไรก็ไม่ได้ เราถึงอยากเลือกตั้ง เลือกพรรคที่มีนโยบายตรงใจเรา การเมืองมันเกี่ยวข้องในทุกอณู สินค้ามีราคาแพง ภาษีขึ้น ฯลฯ ทุกอย่างมันเกี่ยวกับการเมืองทั้งนั้น เพราะมันเป็นเรื่องของนโยบายที่เราต้องมีส่วนร่วม มีสิทธิเลือก อย่างกรณี 30 บาทรักษาทุกโรค ของทักษิณ ชาวบ้านเลือก แต่ทำไมนโยบายรักษาฟรีของอภิสิทธิ์ชาวบ้านถึงไม่เลือก เพราะการรักษาฟรีทำให้ชาวบ้านรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นคนไข้อนาถา เหมือนมาขอเขารักษา ไม่สามารถมีสิทธิมีเสียงกับหมอหรือพยาบาลได้ ในขณะที่จ่าย 30 บาท ชาวบ้านรู้สึกว่าตัวเองได้จ่ายเงินไปแล้ว เพราะฉะนั้นก็จะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้มีสถานะด้อยกว่าหมอหรือพยาบาล ที่เราออกมาชุมนุมวันนั้น เราไปยืนนิ่งเฉยๆ ไม่มีการตะโกนโหวกเหวกโวยวาย ที่เราโดนอาจเพราะออกมาร่วมชุมนุมค่อนข้างบ่อย ตำรวจนอกเครื่องแบบก็จำหน้าได้ เขาก็เคยถ่ายรูปเรา ที่เขาใช้ข้อหานี้คิดว่าเขาต้องการให้เราหวาดกลัว แต่เราไม่กลัว พอโดนข้อหาเราก็เฉยๆ กลางคืนก็นอนหลับ หลับยันสว่างปกติ เพื่อนที่ไม่เข้าใจก็จะบอกว่า กูบอกมึงแล้วๆ พูดกันปากต่อปากแล้วก็พากันหวาดกลัว ไม่อยากออกมา จริงๆ ถึงเวลาแล้วที่จะออกมา สมมติถ้าเราไม่ออกไปชุมนุม เราก็ไม่เดือดร้อน แล้วเงินในกระเป๋าก็ยังอยู่ แต่พอเราออกมาเคลื่อนไหว ค่าใช้จ่ายเราก็ต้องออกเอง แต่ที่ออกไปชุมนุมเพราะคิดว่า ถ้ามีแต่คนเกี่ยงกัน คุณออกไปสิ คุณออกไปสิ มันไม่ได้ มันต้องเริ่มที่ตัวเรา เราถึงต้องออกมาเรื่อยๆ เพราะเราคิดว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัว ถ้าทุกคนเอามือซุกหีบมันก็จะไม่เกิดอะไรขึ้น เราทำไม่ได้" อ้อมทิพย์ เกิดผลานนท์นิสิตปี 2 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย "ปกติก็สนใจกิจกรรมแบบนี้อยู่แล้วก็เลยแวะเวียนมา ประเด็นเรื่องเลือกตั้งเป็นเรื่องที่คนสนใจและเป็นผลประโยชน์ของประเทศ เราไม่พอใจกับการเข้ามาของ คสช. อยู่แล้ว ถือเป็นการแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับ คสช. อยากแสดงให้เห็นว่าประชาชนไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่หลายกลุ่มที่ต้องการการเลือกตั้ง วันนั้นเราแค่ยืนคุยกับเพื่อนเฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรเลย เป็นครั้งแรกที่โดนข้อหา ก็รู้สึกงงๆ เพราะวันนั้นไม่ได้ทำอะไรจริงๆ แต่อาจเป็นเพราะเราเคยมีชื่อทำกิจกรรมมาก่อน (ล่าชื่อต้าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่) รู้สึกไม่ยุติธรรมมากๆ ที่ถูกตั้งข้อหา พอโดนแล้วก็ไม่ได้กลัว แต่มีเครียดนิดหน่อย เพราะเราหยุดทำกิจกรรมทางการเมืองไปนานแล้ว หันไปทำกิจกรรมละครที่เราชอบมากกว่า แต่ก็ไม่ได้กลัว ไม่ใช่เรื่องที่จะมากลัวต่อรัฐบาลที่มาปล้นสิทธิประชาชนไป อย่างการทำละครมันก็มีทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่การทำละครมันเป็นกิจกรรมคนละแบบกับการออกมาชุมนุมแบบนี้ เรามองว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองมันสามารถทำได้ในหลายรูปแบบ ไม่ใช่แค่การออกมาประท้วง การเข้าไปในกลุ่มศิลปวัฒนธรรมก็เป็นการเคลื่อนไหวประเภทหนึ่ง แต่มันเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ในการใช้อีกมุมหนึ่งเพื่อให้คนตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศ แล้วมันก็เป็นสิ่งที่เราชอบ การเมืองมันเกี่ยวข้องกับทุกอย่างในชีวิตเราอยู่แล้ว คนที่รู้จักบางคนเขาอาจมองว่าการเมืองเป็นเรื่องของรัฐบาล แต่จริงๆ มันมีคนให้คำนิยามว่าการเมืองเป็นเรื่องการจัดการผลประโยชน์ระหว่างรัฐกับประชาชน ซึ่งมันหมายความว่าเป็นผลประโยชน์ของทุกคน ทุกคนในประเทศมีส่วนเกี่ยวข้อง ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของการเมือง มันเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิต เช่น รัฐออกนโยบายเกี่ยวกับเศรษฐกิจ มันก็มีผลกับการใช้เงินในชีวิตประจำวันเรา หรือนโยบายเกี่ยวกับการศึกษา เราที่เป็นนิสิตนักศึกษาก็ได้รับผลกระทบในทางหนึ่ง ไม่ว่านโยบายออกมาแบบไหน แม้เราจะคิดว่ามันไม่เกี่ยวข้องกับเรา มันห่างไกลจากเรา แต่สุดท้ายมันก็จะกระทบกับเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง สิ่งที่กระทบกับเราตอนนี้ก็คือเรื่องเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุม การตั้งข้อหากับผู้ชุมนุมส่งผลกระทบต่อเพื่อนๆ เราด้วย เราอาจจะเห็นมุกตลกบ่อยๆ ว่า อย่าไปพูดนะเดี๋ยวโดนจับ ชอบกินอะไรเดี๋ยวเอาข้าวผัด โอเลี้ยงไปฝาก มันเป็นการสร้างความคิดว่าเราไม่ควรพูดอะไรเกินเลยกว่าที่เขากำหนด เพราะเราจะเดือดร้อนได้ ซึ่งบางเรื่องจริงๆ เราสามารถพูดได้อย่างอิสระ แต่การใช้อำนาจของ คสช. จับกุมนักศึกษาหรือคนทั่วไป ส่งผลให้คนที่เหลือเขามีความรู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องอันตราย น่ากลัว ไม่อยากไปยุ่ง ทำให้สำนึกทางการเมืองยิ่งน้อยลง แทนที่คนรุ่นใหม่จะเข้ามามีบทบาทในประเทศ พัฒนาไปในทางที่ตัวเองต้องการ แต่ก็ถดถอยไปเรื่อยๆ จนวนเข้าลูปเดิม คือการที่การจัดการ ออกนโยบาย ถูกคิดขึ้นมาจากส่วนบน ส่วนกลาง ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจได้ขนาดนั้น แต่พอเราโดนข้อหา เท่าที่คุยกับเพื่อนเขาก็ไม่ได้พูดว่ากลัว แต่ออกจะไม่พอใจ คสช. มากกว่า เพื่อนที่คุยด้วยก็ไม่ใช่เพื่อนที่ทำกิจกรรมอย่างเดียว จะมีเพื่อนที่ปกติไม่ได้ทำกิจกรรม แต่ก็รู้สึกว่าสิ่งที่เราและคนอื่นโดนไม่ใช่เรื่องที่จะต้องเอามาเล่นงานทางการเมือง เขาก็เลยไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นค่อนข้างมาก เหมือนกับการที่เราโดนข้อหาทำให้เพื่อนที่อาจจะไม่ได้สนใจการเมืองหันมาสนใจและรู้สึกไม่พอใจกับสถานการณ์นี้และรัฐบาล คสช. ก็หวังว่าการที่เราโดนแบบนี้อาจเป็นสิ่งดีก็ได้ที่ทำให้คนหันมาตระหนักปัญหามากขึ้น" อรัญญิกา จังหวะอายุ 22 ปี นิสิตคณะประมง ปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ "เราแวะผ่านไป แล้วก็ไปเจอพวกรุ่นน้อง รุ่นพี่ แล้วก็ป้าๆ ที่รู้จักกัน ก็ไปทักทายยืนคุยปกติ แล้วก็เจออาจารย์เราก็ทักทายธรรมดา พอเขาเสร็จแล้วเราก็กลับ ก็แค่ไปสังเกตการณ์ แต่ตอนแรกเราว่าจะไม่ไป แต่พอดีว่ามีน้องที่เรารู้จักเขาไปเราก็เลยแวะไปหาน้อง ก่อนหน้านี้เราก็เคยโดนจับเพราะกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ไปจัดกิจกรรมวันที่ 24 มิถุนายน 2559 ก็ถูกตำรวจจับไปครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนั้นเราเป็นคนจัด แต่ครั้งนี้เราแค่ไปยืนสังเกตการณ์อยู่ห่างๆ ที่เราอยากไปครั้งนี้ก็เพราะมันมีรุ่นน้องที่รู้จักซึ่งเขามาจากต่างจังหวัดไป เราก็แค่อยากไปคุยกับน้องเฉยๆ แล้วพอมาถึงตอนนี้เราโดนแจ้งข้อกล่าวหา เราว่ามันไม่แฟร์อะ คือเราแค่มายืนดูเฉยๆ หรือแม้แต่การออกมาเรียกร้องหรือแสดงความคิดเห็นแล้วโดนคดีเราก็ไม่เห็นด้วย เพราะมันเป็นเสรีภาพและเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในประเทศประชาธิปไตยอยู่แล้ว แต่ออกมาแค่นี้แล้วโดนจับมันก็เป็นการใช้อำนาจที่ละเมิดสิทธิของประชาชนเกินไป กับสิ่งที่กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยเรียกร้อง คัดค้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. เราก็เห็นด้วย เพราะการเข้ามาของ คสช. ตั้งแต่เริ่มมันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราอยู่ในประเทศประชาธิปไตย การทำรัฐประหารมันก็ผิดหลักการอยู่แล้ว ไม่ควรอยู่ได้นานถึงขนาดนี้ ไม่ควรเข้ามาตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ วันที่ 31 ม.ค. เราก็เพิ่งรู้ว่ามีคนโดนคดีเพิ่ม แล้วก็เห็นรายชื่อตัวเอง ก็เลยโทรไปบอกที่บ้านไว้ก่อนว่าจะมีหมายไปที่บ้าน จากนั้นตำรวจเขาก็ไปที่บ้าน แล้วก็มาถามว่าพ่อแม่เรามีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้เราออกมาร่วมทำกิจกรรมอะไรหรือเปล่า แล้วก็ถามถึงน้องเราที่เรียนพยาบาลอยู่ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องอะไรด้วยหรือเปล่า คือเราว่ามันเป็นการละเมิดเรามากเกินไป เราโดนแจ้งข้อกล่าวหามันก็ควรเป็นเรื่องเฉพาะตัวเรา แต่เขาไปถามหาคนอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง เรารู้สึกว่ามันเป็นการคุกคามเรากับครอบครัวเราด้วย แล้วมันยิ่งทำให้เรามีปัญหากับที่บ้าน คือครอบครัวเราก็กังวลว่าเราจะเรียนไม่จบ จะเจอปัญหาอยู่แล้ว การที่เขาทำแบบนี้อีกมันก็ยิ่งทำให้เราคุยกับที่บ้านยากขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วเราก็ไม่ได้ทำอะไรผิดเลย" คุณภัทร คะชะนาอายุ 23 ปัี นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง "จริงๆ วันนั้นเสร็จจากไปดู BNK 48 ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ผมก็แค่แวะมาที่สกายวอล์กปทุมวันเพราะรู้ว่าเขามีกิจกรรมกัน ผมก็แค่อยากมาดูว่ามีคนมากันเยอะไหม เราก็ยืนอยู่วงนอก แล้วก็เดินไปเดินมา ไม่ได้เข้าไปใกล้ตรงที่นักข่าวอยู่กันเยอะๆ เจอเพื่อนก็เดินไปคุยกับเพื่อน พอเจอเพื่อนก็แค่ยืนคุยกันบรรยากาศเป็นไง คนมาเยอะดีนะ เขาทำอะไรกันบ้าง แค่นี้เอง ส่วนสาเหตุที่เราไปที่นั่นก็เพราะรู้สึกว่า มันเป็นวันแรกของปีนี้ที่มีการออกเรียกร้องการเลือกตั้ง เพราะก่อนหน้านี้ก็มีการแก้ไขกฎหมายทำให้การเลือกตั้งอาจจะเลื่อนออกไปอีก เราก็อยากรู้ว่าจะมีคนมาเยอะไหม แล้วเราเองก็สนใจเรื่องพวกนี้อยู่แล้วก็แค่เดินไปดู
ส่วนสิ่งที่มีการเรียกร้องเรื่องการเลือกตั้งเราก็เห็นด้วย แต่มันไม่ใช่แค่เรื่องนี้เรื่องอย่างเดียวมันยังมีเรื่องการสืบทอดอำนาจอยู่ด้วย เพราะว่ารัฐบาลเขาก็วางแนวทางในการสืบทอดอำนาจของตัวเอง การเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก็เพื่อที่จะทำให้ตัวเองได้ประโยชน์มากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งหน้า
ในวันนั้นเหมือนมีสันติบาลคนหนึ่ง เขาจำหน้าผมได้แล้วก็ถ่ายรูปผมไป ตรงนี้แหละที่อาจจะทำให้เราถูกออกหมายเรียก จนถึงวันนี้ผมก็ยังสับสนอยู่นะว่าตัวเองโดนได้อย่างไร เราก็ยังงงกับชีวิต แค่ไปดูเฉยๆ ก็โดน เราพยายามอยู่ห่างๆ แล้ว แต่สุดท้ายการเมืองก็วิ่งมาหาเรา เข้ามาส่งหมายถึงที่บ้านด้วย แล้วยิ่งโดนเพิ่มข้อกล่าวหาด้วยเราก็งง หนักเข้าไปอีก" กันต์ แสงทองอายุ 30 ปี อดีตอาจารย์พิเศษคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา
"เรารู้ว่าจะมีการชุมนุมวันนั้น แต่ที่เราไปเราไม่ได้ตั้งใจจะไปชุมนุมด้วยแต่เราตั้งใจจะไปถ่ายรูปเก็บไว้ เน้นเป็นภาพข่าวส่วนใหญ่ เพื่อที่จะเอาไปขายต่อได้ นี่คือจุดประสงค์หลัก ซึ่งไม่ใช่ครั้งนี้ครั้งเดียว เราก็ทำแบบนี้มาหลายครั้งแล้ว ซึ่งก็ไม่ได้ไปถ่ายแค่กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย กลุ่มอื่นๆ มีกิจกรรมอะไรเราก็ไปหมด การเก็บรูปในสถานการณ์แบบนี้มันหาได้ยาก เพราะเป็นสถานการณ์ที่มีการท้าทายอำนาจรัฐเผด็จการ วันนั้นเราก็ไม่ได้ไปมีบทบาทอะไร เรื่องการเคลื่อนไหว เรื่องกิจกรรมเราถอยมาเยอะแล้ว เพราะเราต้องเรียนหนังสือ แล้วช่วงนี้เราทำวิทยานิพนธ์ด้วย เราไม่มีเวลาไปร่วมกิจกรรมอะไรกับใครมาก เราถอยออกมามากพอสมควร แต่ก็ยังคุยกันอยู่ในฐานะเพื่อน แต่ไม่มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมหรืออะไรต่างๆ หน้าที่หลักตอนนี้คือการเขียนวิทยานิพนธ์ เพื่อที่จะเรียนจบโท ที่จุฬาฯให้ได้แค่นั้นเอง ส่วนประเด็นที่กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยใหม่ออกมาเรียกร้อง จริงๆ เราอยู่ในพื้นที่ของการทำงานวิชาการมากกว่า เราเห็นด้วยบางประเด็น บางเรื่องเราก็มีคำถาม แต่ในแง่ของสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในการเคลื่อนไหวเรียกร้องต่างๆ เราเห็นด้วยทั้งหมด แต่ในเชิงเนื้อหาที่ทางกลุ่มได้ให้สัมภาษณ์ หรือไฮปาร์กเราก็ยังมีคำถามในบางประเด็น แล้วเราก็ต้องเอามาถกกับอาจารย์ในคลาสเรียน แต่สิทธิในการแสดงออกเราไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ ในทางอุดมการณ์ทางการเมืองเราไปทางเดียวกับเขา แต่เราก็จัดว่าตัวเองว่าเราไม่ใช่แกนนำ ไม่ใช่มวลชน เราเป็นแค่ประชาชนทั่วไปที่สนใจเราก็ไปดู เราเข้าใจได้ว่ารัฐตอนนี้มันได้ตั้งอยู่บนหลัก Rule of Law มันอ้างเพียงแต่ว่าคุณทำผิดกฎหมาย ใช่ผมทำผิดกฎหมาย แต่เขาไม่เคยพูดเรื่องของหลักนิติรัฐว่า รัฐจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้มากขนาดไหน รัฐพูดอยู่อย่างเดียวว่าเราทำผิดกฎหมายทั้งที่รัฐธรรมนูญก็ออกมาแล้ว รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ก็ยังมีการใช้อำนาจอื่นๆ ไปละเมิดประชาชนอยู่ ตรงนี้เราคิดว่าในทางวิชาการมันคือการขัดกันกับรัฐธรรมนูญ คุณประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่แล้ว แต่ก็ยังใช้อำนาจในรัฐธรรมนูญเก่าอยู่ เขายังใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ได้อยู่ ทุกวันนี้เท่ากับว่าเราไม่สามารถจะยืนอยู่บนหลักการอะไรได้เลย สิ่งที่เราเจอคือสองข้อกล่าวหา ซึ่งเราว่ามันเป็นการกลั่นแกล้งกันมากกว่า พูดให้แรงๆ มันเป็นการกวนตีนของรัฐ แล้วผลกระทบที่เราจะต้องเจอคือปัญหาด้านเวลา เพราะหลังจากนี้เราต้องไปลงพื้นที่ไปฝังตัวอยู่ในชุมชนเป็นเดือนๆ เพื่อที่จะเขียนวิทยานิพนธ์ แต่ถ้าเราต้องมารายงานตัวกับศาลบ่อยๆ มันจะทำให้เกิดปัญหาทั้งเรื่องการเดินทาง แล้วมันกำหนดเวลาทำงานยาก"
*ขอบคุณภาพบางส่วนจาก เครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
MBK39 บางส่วนแอคชั่นหน้า สน.ปทุมวัน ยันพรุ่งนี้มาตามหมายเรียกแน่ Posted: 06 Feb 2018 11:32 PM PST สมาชิก MBK 39 จำนวนหนึ่งมาชูป้าย "8 กุมภาพันธ์ เรามาแน่" หน้า สน.ปทุมวัน แสดงสัญลักษณ์ว่ามารับฟังข้อกล่าวหาในวันพรุ่งนี้แน่นอน ปัดให้สัมภาษณ์สื่อ หวั่นมีผลต่อการรับฟังข้อกล่าวหาพรุ่งนี้ 7 ก.พ. 2561 ที่หน้าสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน กลุ่มผู้ถูกกล่าวหาจากการเข้าร่วมกิจกรรม 'รวมพลคนอยากเลือกตั้ง' ที่บริเวณสกายวอล์กหน้าหอศิลปะและวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ ที่จัดขึ้นในวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา หรือที่รู้จักกันในชื่อ MBK 39 จำนวนหนึ่งมาเรียงตัวกันชูป้ายใจความว่า "8 กุมภาพันธ์ เรามาแน่" ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ป้าย "8 กุมภาพันธ์ เรามาแน่" มีนัยว่า ผู้ถูกกล่าวหาจะมารับฟังข้อกล่าวหาในวันพรุ่งนี้ตามหมายเรียกครั้งที่ 2 แน่นอน กลุ่มผู้มาร่วมชูป้ายวันนี้ไม่ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเนื่องจากเกรงว่าจะมีผลกระทบกับการรับฟังข้อกล่าวหาในวันพรุ่งนี้ ล่าสุด กรณีสกายวอล์กมีผู้ถูกหมายเรียกจาก สน.ปทุมวันเป็นจำนวนทั้งสิ้น 39 คน มี 9 คนที่ถูกกล่าวหาในข้อหาผิด พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ ความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 116 และข้อหาร่วมกันขัดขืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 อีก 30 คนแต่เดิมถูกตั้งข้อกล่าวหาตามความผิด พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ แต่ว่าตอนนี้มีบางคนที่มีข้อหาขัดขืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ด้วย กลุ่มผู้ถูกข้อกล่าวหาได้รับหมายเรียกให้มารายงานตัวแล้วหนึ่งครั้งในวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา แต่ทางทนายความได้ทำเรื่องขอเลื่อนรับฟังข้อกล่าวหา แต่ทาง สน. ไม่ให้เลื่อน ทั้งยังออกหมายเรียกครั้งที่สองให้มารับฟังข้อกล่าวหาในวันที่ 8 ก.พ. ตามกระบวนการทางกฎหมายนั้น ถ้าผู้ถูกกล่าวหาไม่มารับฟังข้อกล่าวหาในวันพรุ่งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถออกหมายจับได้ เมื่อวานนี้ (6 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หมายเรียกครั้งที่ 2 ได้มาถึงผู้ถูกกล่าวหากลุ่ม MBK 39 บางคนแล้ว ที่เห็นตอนนี้มีของสงวน คุ้มรุ่งโรจน์ โชคชัย ไพบูลรัชตะและอ้อมทิพย์ เกิดผลานันท์ โดยมีข้อหาร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อย เพิ่มเข้ามา แต่เดิมมีเพียงข้อหาความผิดตาม พระราชบัญญัติ การชุมนุมสาธารณะ ว่าด้วยการร่วมกันชุมนุมสาธารณะในรัศมีหนึ่งร้อยห้าสิบเมตรจากวังของพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป เมื่อวานนี้ นพเกล้า คงสุวรรณ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวข่าวสด หนึ่งใน 39 ผู้ถูกกล่าวหาในคดีขัดคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 และ พรบ.ชุมนุมฯ ได้โพสท์เฟสบุ๊กรายงานว่าตนได้เข้าไปรับฟังข้อกล่าวหาที่ สน.ปทุมวันแล้ว โดยพนักงานสอบวนสวนนำตัวนพเกล้าไปที่ศาลเพื่อส่งฟ้องต่ออัยการ ซึ่งนพเกล้าปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และอัยการเองก็ยังไม่สั่งฟ้อง เพียงแต่ให้พนักงานสอบสวนไปทำสำนวนมาใหม่ พนักงานสอบสวนจึงทำเรื่องผลัดฟ้องเพื่อกลับไปทำสำนวนใหม่ และฝากขังที่ศาลแขวงปทุมวัน นพเกล้าจึงใช้หลักทรัพย์จำนวน 30,000 บาทประกันตัวออกมา และต้องไปรายงานตัวที่ศาลทุกๆ 6 วัน เมื่อวานนี้ ณัฏฐา มหัทธนา พิธีกรโทรทัศน์และอาจารย์ หนึ่งใน 9 ผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาผิด พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ ความผิดตามมาตรา 116 หรือที่รู้จักกันในชื่อข้อหา 'ยุยงปลุกปั่น' และข้อหาร่วมกันขัดขืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 จากการเข้าร่วมกิจกรรมรวมพลคนอยากเลือกตั้ง ได้ประชาสัมพันธ์การระดมทุนเพื่อเป็นเงินประกันแก่กลุ่ม MBK 39 ผู้ต้องการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองในการระดมทุนประกันตัวกลุ่ม MBK39 สามารถโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ธ.ไทยพาณิชย์ ชื่อบัญชี นางสาวชลิตา บัณฑุวงศ์ และ/หรือ นางสาวไอดา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา หมายเลขบัญชี 264-271845-1 สำหรับชื่อ MBK 39 เป็นชื่อเล่นที่ใช้เรียกกลุ่มผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 39 คนดังกล่าว ล้อไปกับชื่อวงไอดอล BNK 48
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
'นักกฎหมายสิทธิฯ' ร่อน จม.ถึงประธานศาลฎีกา หวังทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุล คสช. Posted: 06 Feb 2018 11:03 PM PST สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนออกจดหมายถึงประธานศาลฎีกาและเลขาธิการ สนง.ศาลยุติธรรม หวังทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องชอบธรรมของ ประกาศ คำสั่ง คสช. และเรียกเงินประกันตัวให้เหมาะสมกับประชาชนที่ถูก คสช.เล่นงาน
7 ก.พ.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกาและเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ในฐานะสถาบันที่ใช้อำนาจตุลาการ หนึ่งในอำนาจอธิปไตยในระบอบประชาธิปไตย เป็นที่พึ่งของประชาชน โดยการอำนวยความยุติธรรม และทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องชอบธรรมของการกระทำของฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะบรรดาประกาศ คำสั่ง หรือกฎหมายที่ออกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันเป็นบทบาทและคุณค่าสำคัญของสถาบันตุลาการตามหลักนิติธรรมและนิติรัฐ ในการสร้างสมดุลระหว่างการใช้อำนาจรัฐจำกัดสิทธิประชาชน กับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นบทบาทที่ศาลพึงกระทำเพื่อให้สมกับเจตนารมณ์แห่งสถาบันตุลาการที่สังคมและประชาชนเชื่อถือไว้วางใจ พร้อมทั้งขอให้ศาลใช้ดุลพินิจในการปล่อยชั่วคราวเป็นหลัก จากกรณีประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลทหารแล้วถูดำเนินคดี โดยการเรียกหลักประกันให้เป็นไปตามความเหมาะสมเพื่อให้ประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งพึงได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ได้เข้าถึงความยุติธรรมและสามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ รายละเอียดจดหมาย : จดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกาและเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมในฐานะสถาบันที่ใช้อำนาจตุลาการ หนึ่งในอำนาจอธิปไตยในระบอบประชาธิปไตยเผยแพร่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับแต่มีการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีการออกประกาศ คำสั่ง และกฎหมายที่จำกัดลิดรอน ตลอดจนละเมิดสิทธิประชาชนจำนวนมาก และเป็นที่รับรู้โดยทั่วกันว่ารัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้ คสช. พยายามอาศัยอำนาจศาล ผลักภาระให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งต่างๆ ออกมาในทางจำกัดลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน รูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจน เช่น ในหลายกรณีพนักงาสอบสวนสามารถใช้ดุลพินิจปล่อยตัวผู้ต้องหาโดยไม่มีประกันได้ แต่พนักงานสอบสวนกลับเลือกที่จะใช้ดุลพินิจนำตัวผู้ต้องหาไปฝากขังต่อศาล อันเป็นการผลักภาระให้ศาล รวมถึงเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนที่จะต้องหาหลักประกันมายื่นต่อศาลเพื่อให้ตนเองได้รับอิสรภาพระหว่างการสอบสวนและต่อสู้คดี หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ของรัฐอาศัยอำนาจศาลในการสร้างเงื่อนไขต่างๆ ให้ประชาชนต้องปฏิบัติตาม โดยมีความมุ่งหมายเพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือการมีส่วนร่วมของประชาชน ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน ประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลทหารซึ่งครองอำนาจมาเกือบสี่ปีแล้ว รวมถึงเรียกร้องสิทธิและการมีส่วนร่วมในประเด็นต่างๆ ถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเอาผิดดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก และขั้นตอนอันดับแรกที่ถือได้ว่าเป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือโดยมีเจตนาเพื่อสร้างภาระให้กับประชาชน คือการนำตัวไปขออำนาจศาลฝากขัง สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนจึงมีความห่วงกังวลอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการใช้ดุลพินิจในการอนุญาตให้ฝากขังของศาล ตลอดจนดุลพินิจในการกำหนดวงเงินประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตลอดจนข้อบังคับประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียกประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2548 ซึ่งให้ศาลใช้ดุลพินิจในการปล่อยชั่วคราวเป็นหลัก และการเรียกหลักประกันให้เป็นไปตามความเหมาะสมเพื่อให้ประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งพึงได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ได้เข้าถึงความยุติธรรมและสามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ แต่บางกรณีมีข้อมูลปรากฏว่าศาลบางแห่งกลับใช้ดุลพินิจในการกำหนดวงเงินประกันตัวสูงกว่าที่ข้อบังคับประธานศาลฎีกาฯ ให้อำนาจไว้ นอกจากนี้กรณีที่ใช้ตำแหน่งบุคคลเป็นประกัน ศาลส่วนใหญ่กลับวางแนวปฏิบัติว่าผู้ใช้ตำแหน่งประกันตัวต้องเป็นบิดา มารดา หรือญาติพี่น้องของผู้ต้องหาหรือจำเลย ทั้งที่โดยความเป็นมนุษย์แล้วมีความสัมพันธ์ในทางอื่นที่ซับซ้อนกว่านั้น แต่แนวปฏิบัติส่วนใหญ่ของศาลกลับปฏิเสธไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ซึ่งกรณีดังกล่าวผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้การใช้ตำแหน่งบุคคลเป็นช่องทางหรือโอกาสที่เท่าเทียมให้ประชาชนที่มีฐานะยากจนหรือไม่ไม่มีทรัพย์สินเพียงพอจะประกันตัวสามารถได้รับการปล่อยชั่วคราวได้ ดังนั้น สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในภาวะที่บ้านเมืองเกิดช่องว่างแห่งความสมดุลของอำนาจ ประชาชนถูกจำกัด ลิดรอนวิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานโดยไม่ชอบธรรม สถาบันตุลาการย่อมอยู่ในตำแหน่งแห่งที่อันเหมาะสมที่สุดที่จะเป็นที่พึ่งของประชาชน โดยการอำนวยความยุติธรรม และทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องชอบธรรมของการกระทำของฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะบรรดาประกาศ คำสั่ง หรือกฎหมายที่ออกโดย คสช. อันเป็นบทบาท/คุณค่าสำคัญของสถาบันตุลาการตามหลักนิติธรรม/นิติรัฐ ในการสร้างสมดุลระหว่างการใช้อำนาจรัฐจำกัดสิทธิประชาชน กับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นบทบาทที่ศาลพึงกระทำเพื่อให้สมกับเจตนารมณ์แห่งสถาบันตุลาการที่สังคมและประชาชนเชื่อถือไว้วางใจ ด้วยความเชื่อมั่นในความยุติธรรม สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
#NotYourHabibti เผยแพร่เรื่องล่วงละเมิดทางเพศในปาเลสไตน์ด้วย 'พิมพ์ดีด' Posted: 06 Feb 2018 10:55 PM PST ในปาเลสไตน์มีนักกิจกรรมหญิงอายุ 21 ปี คนหนึ่งที่ให้พื้นที่หญิงปาเลสไตน์พูดถึงการล่วงละเมิดทางเพศในนาม #NotYourHabibti (#ไม่ใช่หวานใจของคุณ) ซึ่งมีมาก่อนกระแส #MeToo นอกจากนี้เธอยังใช้วิธีการที่ต่างกันโดยการใช้เครื่องพิมพ์ดีดแทนการโพสต์ลงโซเชียลมีเดียโดยตรง ซึ่งเครื่องพิมพ์ดีดเป็นทั้งสัญลักษณ์และสิ่งที่ผูกโยงชาวปาเลสไตน์ไว้ด้วยกัน และการได้รับฟังกันและกันนอกโลกโซเชียลก็ทำให้ผู้หญิงรู้สึกสื่อถึงกัน-ส่งเสริมกันและกันได้มากขึ้น ช่วงบ่ายวันอาทิตย์ ยาสมีน มยาลลี นักกิจกรรมสิทธิสตรีชาวปาเลสไตน์-อเมริกันจะมาอยู่ที่ใจกลางเมืองรามัลลาห์ เมืองหลวงชั่วคราวของเขตเวสต์แบงค์ คุณจะพบเธอนั่งอยู่หน้าพิมพ์ดีดสีดำที่เธอบอกว่ามันเป็นสัญลักษณ์ที่ชาวปาเลสไตน์รู้จักดี เพราะเครื่องมือที่ชาวอิสราเอลใช้อนุญาตให้ชาวปาเลสไตน์เข้าออกประเทศได้คือเครื่องพิมพ์ดีด แต่เครื่องพิมพ์ดีดของมยาลลีไม่ได้มีไว้ให้อนุญาตเช่นนั้น มันคือเครื่องมือที่ใช้รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดกับผู้หญิงในเขตพื้นที่ชาวปาเลสไตน์ในนาม #NotYourHabibti ที่แปลว่า "ไม่ใช่หวานใจของคุณ" เธอชวนให้ผู้หญิงทลายกำแพงข้อห้ามออกมาแชร์เรื่องราวที่เธอเคยประสบมาได้ หลังจากนั้นเธอจะนำเรื่องราวเหล่านี้ไปนำเสนอในโซเชียลมีเดียเพื่อให้เสียงของพวกเธอมีคนได้ยิน และไม่ทำให้พวกเธอรู้สึกโดดเดี่ยว "สำหรับฉันแล้ว การพิมพ์เรื่องราวของผู้หญิงแต่ละคนเป็นหนทางที่อนุญาตให้พวกเธอเริ่มออกเดินไปบนท้องถนนได้อย่างอิสระอีกครั้ง" มยาลลีกล่าว หลังจากที่สื่อนิวยอร์กไทม์เผยแพร่เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศในวงการฮอลลิวูดเมื่อ ต.ค. ที่ผ่านมา จนเกิดเป็นกระแส #MeToo ที่คนออกมาเปิดเผยเรื่องราวของตัวเองทั่วโลก ในปาเลสไตน์และในตะวันออกกลางก็มีผู้หญิงอยากออกมาพูดเรื่องนี้เช่นกัน มยาลลีกล่าวว่ามีผู้หญิงเข้ามาหาเธอเพราะต้องการพื้นที่ปลอดภัยและพื้นที่ในการได้รับการสนับสนุน เธอหวังว่าจะนำโครงการของเธอเข้าไปในพื้นที่สาธารณะต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัย หรือคาเฟ่ได้ เธอบอกว่าการเคลื่อนไหว #MeToo ที่ใช้แฮชแท็กอยู่หลังหน้าจออาจจะทำให้รู้สึกเชื่อมโยงความรู้สึกกับผู้หญิงได้ไม่ดีเท่า ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกยกระดับกันและกันมากเท่า โครงการ #NotYourHabibti ยังมีมาก่อนหน้า #MeToo โดยเริ่มจากการวาดสโลแกนลงบนเสื้อยืดและเสื้อแจ็กเก็ตที่ตัดเย็บโดยผู้หญิงทั่วเวสต์แบงค์และฉนวนกาซา ซึ่งในเวลาไล่เลี่ยกันหลังจากนั้นก็มีกระแส #MeToo เกิดขึ้น เธอจัดงานอีเวนต์แบบนี้มาหลายงานแล้วและยังคงวางแผนจัดต่อในอีกปีถัดไป เอ็มมา ยาคอบส์ นักศึกษาชาวอังกฤษที่ใช้ชีวิตในอิสราเอลมา 9 เดือน บอกว่ามยาลลีเป็น "สัญลักษณ์ของความหวังในอนาคต" ว่าความเท่าเทียมจะเกิดขึ้นได้ในปาเลสไตน์ อย่างไรก็ตามมีคนคิดเห็นโต้ตอบในเรื่องของ #NotYourHabibti ต่างออกไป หลายคนที่เดินผ่านไปมาไม่สนใจหญิงอายุ 21 ปีที่เต็มไปด้วยรอยสักและเครื่องพิมพ์ดีดผู้นี้ มีบางคนที่รู้สึกแปลกใจกับความคิดนี้และบอกกับเธอว่าการล่วงละเมิดทางเพศไม่เป็นปัญหาสำหรับที่นั่น หรือบางครั้งแม้กระทั่งผู้หญิงเองที่บอกให้ยอมทนต่อเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามมีบางคนที่นั่งลงพูดคุยกับเธอบอกว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเธอบ้าง หรือบางส่วนก็เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับสมาชิกครอบครัวพวกเธอเอง หลายคนแสดงออกด้วยความกลัวหรือความสะเทือนใจที่ไม่สามารถนำตัวผู้ก่อเหตุเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ มีบางเรื่องที่ฟังดูน่าตะลึงมาก เช่น มัลก์เพื่อนของมยาลลีเล่าว่ามีกรณีที่ผู้หญิงรายหนึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศในขณะที่เธอเดินทางมาที่บูธของมยาลลี มีตำรวจอยู่ที่นั่นแต่ก็ไม่ทำอะไร และถึงแม้ว่าจะมีแรงต้านแม้แต่จากผู้หญิงด้วยกันเองที่ยังขาดความเข้าใจเรื่องความรุนแรงทางเพศ แต่มัลก์ก็บอกว่ามันทำให้มีการพูดคุยในเรื่องนี้มากขึ้น มีผู้ชายบางคนที่แสดงออกว่าเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น เช่น ชายอายุ 80 ปีรายหนึ่งบอกว่าก่อนหน้านี้พวกเขามองผู้หญิงเป็น "ของเล่น" หรือเป็น "สิ่งของ" แต่ในตอนนี้พวกเขาเห็นผู้หญิงเป็นส่วนหนึ่งของสังคม หรือเด็กชายอายุ 8 ปี ที่พูดในเชิงส่งเสริมสิทธิของแม่และน้องสาวของเขา มยาลลีเปิดเผยอีกว่าเรื่องราวที่เธอได้ยินยังสะท้อนให้เห็นการขาดทรัพยากรทางสังคมในพื้นที่ปาเลสไตน์ ไม่ว่าจะเป็นฮอตไลน์สายด่วนที่ให้คำปรึกษาคนที่คิดจะฆ่าตัวตาย และการให้คำปรึกษาสำหรับเหยื่อที่ถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงแนวคิดฝังรากทางสังคมที่ทำให้ผู้หญิงต้องแบกรับภาระเรื่อง "เกียรติยศ" แม้ว่าเธอจะถูกกระทำก็ตาม นอกจากนี้ สภาพการเมืองก็เอื้อให้ชาวอิสราเอลใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงปาเลสไตน์โดยเฉพาะกับนักกิจกรรมและนักโทษการเมือง ขณะเดียวกันจำนวนตัวเลขการใช้ความรุนแรงทางเพศในปาเลสไตน์เองก็ถูกบันทึกไว้น้อยทำให้เกิดภาพลวงตาว่าไม่มีปัญหาเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อห้ามทางวัฒนธรรมหรือ Taboo ที่ทำให้มีการพูดถึงเรื่องนี้น้อยด้วย ส่งผลให้ผู้ก่อเหตุน้อยรายที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ถึงแม้ว่าประเด็นการที่ปาเลสไตน์ถูกกดขี่จากการยึดครองของอิสราเอลจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่มยาลลีก็มองว่าไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้ประเด็นนี้มากลบเกลื่อนปัญหาอื่นๆ ทำให้พวกมันถูกกวาดไปไว้ใต้พรม นอกจากการรับฟังเรื่องราวของผู้หญิงแล้ว มยาลลียังจัดให้มีกลุ่มให้ความช่วยเหลือสำหรับผู้เข้าร่วมจำนวนหนึ่งด้วย สำหรับข้อความทั้งหลายของ #NotYourHabibti นั้นมยาลลีวางแผนจะเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียและพิมพ์ออกมาเผยแพร่ตามพื้นที่สาธารณะต่างๆ รอบรามัลลาห์ #NotYourHabibti ในทวิตเตอร์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
3 องค์กรแรงงานใหญ่ ร้อง คสช. ยุติคดี 'เดินมิตรภาพ-คนค้านสืบทอดอำนาจ' Posted: 06 Feb 2018 10:26 PM PST สภาองค์การลูกจ้างฯ สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ และกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ ออกแถลงการณ์ ร้อง คสช.ยุติการดำเนินคคดีกับกลุ่มเดินมิตรภาพทั้งหมด รวมทั้งกลุ่มนักศึกษา ประชาชนที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง 39 คน โดยไม่มีเงื่อนไข 7 ก.พ.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย (สศกท.) สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย (สพท.) และกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง (กสรก.) ซึ่งมีสมาชิก 145 สหภาพแรงงาน ออกแถลงการณ์ เรียกร้องต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)และรัฐบาล ยุติการดำเนินคคดีกับกลุ่มเดินมิตรภาพทั้งหมด รวมทั้งกลุ่มนักศึกษา ประชาชนที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง 39 คน โดยไม่มีเงื่อนไขใด ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3 /2558 โดยเร็ว รวมทั้งให้ยกเลิกกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ ของประชาชน คือ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558, คำสั่ง คสช. ม.44 ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2560 พร้อมทั้งเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งโดยเร็ว ภายในเลือกตั้งปีนี้ เพื่อคืนอำนาจอธิปไตยให้กับปวงชนชาวไทย รายละเอียดแถลงการณ์ : แถลงการณ์ สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย (สศกท.) สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย (สพท.) กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง (กสรก.)เรื่อง ยุติการคุกคามละเมิดสิทธิประชาชนและคืนอำนาจอธิปไตยให้ปวงชนชาวไทยโดยเร็วพี่น้องประชาชน ผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลาย เมื่อประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการทหารเต็มรูปแบบ จากการยึดอำนาจของประชาชนไปเกือบ 4 ปี ด้วยคำที่ว่า "คืนความสุขให้กับประชาชน" แต่ไม่เป็นตามที่สัญญาไว้ แต่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำอย่างน่าใจหาย โดยเฉพาะผลผลิตภาคเกษตร ข้าว ยางพารา ชาวประชาพากันร้องเรียน การทำสวน การทำไร่ การทำประมงยังอยู่ไม่ได้ ผู้ใช้แรงงานได้รับผลกระทบด้วยการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช้หลักเกณฑ์เดิมที่ต้องเท่ากันทั่วประเทศ ประกันสังคมขยายอายุการรับเงินชราภาพจาก 55 ปี เป็น 60 ปี กองทุนสำรองเลี้ยงชีพถูกทำลายหลักการที่ให้สมทบฝ่ายละเท่ากัน การปราบทุจริตคอรัปชั่น จัดการไม่ได้ในกลุ่มพวกพ้องตัวเอง ทั้งเรือดำน้ำ นาฬิกาหรู สังคมยังกังขา ด้านการศึกษา การสาธารณสุข ประชาชนขาดการดูแล รัฐพยายามทำลายระบบประกันสุขภาพ รัฐมีแต่เก็บภาษีเพิ่มกับประชาชน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 คำสั่ง คสช. ม.44 เป็นปัญหาอุปสรรคต่อประชาชน ผู้ใช้แรงงาน ในการเรียกร้องระดับนโยบาย กลุ่มใด ฝ่ายใด ผู้ใด ที่มีความเห็นต่าง คสช.ไม่รับฟัง แต่กลับตั้งข้อกล่าวหา ทำการปราบ จับกุม คุมขัง รัฐบาล ของคสช.ได้กระทำการในสิ่งที่รัฐบาลทั่วไปไม่ทำกัน โดยเฉพาะการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3 /2558 ที่จับกุม กับกลุ่มนิสิตนักศึกษา ประชาชนผู้รักความเป็นธรรม ที่เข้าร่วมกิจกรรม "นัดรวมพลประชาชนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช." เรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว และการเดินมิตรภาพเพื่อปกป้องหลักประกันสุขภาพและพัฒนาให้เป็นระบบรัฐสวัสดิการ แม้ว่าศาลปกครองมีคำสั่งห้ามปิดกั้น ขัดขวาง แต่ก็มีการจับกุมแกนนำ และบุคคลที่สนับสนุน ซึ่งเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรอง เป็นกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ซึ่งประเทศไทยมีพันธะกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย (สศกท.) สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย (สพท.) กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง (กสรก.) สมาชิก 145 สหภาพแรงงาน จึงเรียกร้องต่อ หัวน้า คสช. และรัฐบาล ดังนี้ 1. การใช้สิทธิเสรีภาพ - ให้ยุติการดำเนินคคดีกับกลุ่มเดินมิตรภาพทั้งหมด รวมทั้งกลุ่มนักศึกษา ประชาชนที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง 39 คน โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น - ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3 /2558 โดยเร็ว รวมทั้งให้ยกเลิกกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ ของประชาชน คือ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 คำสั่ง คสช. ม.44 ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2560 2. การเมือง - ให้จัดการเลือกตั้งโดยเร็ว (เลือกตั้งปีนี้) เพื่อคืนอำนาจอธิปไตยให้กับปวงชนชาวไทย จึงแถลงให้ทราบโดยทั่วกัน อำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎรทั้งหลาย 7 กุมภาพันธ์ 2561
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กวีประชาไท: ความตายต่างชนิดในความคิดของชนชั้นกลางรักป่า Posted: 06 Feb 2018 09:59 PM PST
รักสัตว์ป่าเพราะป่าให้ชีวิต ชนชั้นกลางบางคนอยู่บนโน้น รักชีวิตจึงรักสัตว์ปกป้องป่า บางชีวิตถูกฆ่าไม่น่าเศร้า? ต่างกันตรงความตายต่างชนิด
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เปิดใจ อุ้ม MBK39 "ขอให้เรื่องนี้จบสิ้นแค่รุ่นเรา อย่าให้รุ่นลูกหลานต้องเผชิญชะตากรรม" Posted: 06 Feb 2018 06:09 PM PST อ้อมทิพย์ เกิดผลานันท์ หนึ่งในผู้ต้องหาจากกรณีกิจกรรมคนอยากเลือกตั้ง โพสต์เฟสบุ๊คบอกเล่าเหตุการณ์และความรู้สึกจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัว ประชาไทคิดว่าเป็นสาระที่ควรเผยแพร่จึงขอนำมาบันทึกไว้ ณ ที่นี้ ตอนแรกก็ไม่คิดจะโพสต์จนกว่าเรื่องวันที่ 8 จะเสร็จ แต่คิดไปคิดมา โพสต์ดีกว่า แหะๆ อยู่ดีๆ เราก็ได้เดบิวต์เป็น #mbk39 โดยไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่ในวันที่ 27 มกราคมเราไม่ได้ทำอะไรเลย เราอยู่ตรงนั้นก็จริง แต่ไม่ได้ทำอะไร ซึ่งสันนิษฐานว่าตำรวจน่าจะได้ชื่อจากการทำกิจกรรมเมื่อปีก่อน เลยโดนเรียกด้วย อันที่จริงเราหันหลังให้กับการทำกิจกรรมทางการเมืองมา 1 ปีแล้ว นับตั้งแต่เรื่อง พ.ร.บ. คอมฯ เมื่อปีก่อน แล้วมาทำละครอย่างต่อเนื่อง ตลอดเวลาที่ทำละครเรามีความสุขมาก ในที่สุดก็ได้ทำสิ่งที่ชอบเสียที แต่ก็มีเหตุให้กลับไปข้องแวะกับการเมืองอีกจนได้ เหตุผลที่เลิกทำกิจกรรมมีหลายอย่าง อย่างที่สำคัญที่สุดคงเป็นเรื่องความชอบ ถ้ารู้จักกันคงจะทราบว่า เราปฏิเสธตลอดว่าเราไม่ได้ชอบการเมืองหรือไม่อยากเรียนรัฐศาสตร์ แต่ในเมื่อเราเป็นประชาชนและอยู่ในฐานะที่ทำอะไรบางอย่างได้ เราจึงเลือกทำ อีกเรื่องที่สำคัญคือความพร้อมทางจิตใจ ซึ่งอันนี้คงต้องโทษฮอร์โมนในตัวเราเอง มันส่งผลให้เราเครียดมากจนยุ่งกับเรื่องพวกนี้ไม่ได้อีก นอกจากนี้ เรารู้สึกบ่อยครั้งว่าการทำกิจกรรมการเมืองหลายครั้งเราทุ่มเทเวลามาก แต่กลับกลายเป็นว่าสภาพแวดล้อมภายในมันไม่เอื้อให้ทุกคนได้รับความยุติธรรมเท่ากันอย่างที่มันควรจะเป็น คนทำงานก็ทำงานไป คนได้รับเครดิตก็ได้รับต่อไป ไม่มีทีท่าจะเปลี่ยนแปลง หลายครั้งที่เราน้อยใจ เพราะเทใจให้แค่ไหนก็ไม่มีตัวตน เป็นเพียงแค่เครื่องจักรที่รับใช้อุดมการณ์เท่านั้น ซึ่งเหตุผลดังกล่าวอาจส่งผลให้เราเกิดอาการเครียดจัด บวกกับฮอร์โมนที่แกว่งไปมา เราจึงต้องกินยาจนถึงทุกวันนี้ สำหรับใครที่คิดว่าเรากลัว เราไม่กลัว และไม่เคยกลัวเผด็จการ เพียงแต่การเป็นสมาชิก #mbk39 มันทำให้เราต้องกลับไปหาสิ่งที่เราพยายามหนีมาตลอด เราเคยคิดว่าจะได้ใช้ชีวิตสงบๆ ทำละคร แต่กลับกลายเป็นว่าไม่อาจฝืนสิ่งที่เรียกว่าการเมืองได้ มันอึดอัดใจ ลำบากใจ ทรมานใจ เราไม่คิดจะทอดทิ้งการเคลื่อนไหว แต่มันมีหลายปัจจัย และสิ่งนี้ไม่ใช่ทางที่เราชอบ มีอีกหลายวิธีที่สามารถทำได้ เรายังเป็นประชาชน เรายังต้องรับผิดชอบประเทศนี้อยู่ หลังจากเรื่องนี้จบ หวังว่าจะได้อยู่เงียบๆ มีละครเล่น ได้กลับไปสวิส อีกอย่างหนึ่งที่อยากบอกคือ มีคนหลายคนที่มีความฝัน แต่ความฝันต้องมาจบลงด้วยปัญหาทางการเมือง ตาย บาดเจ็บ สูญหาย สูญเสียอุดมการณ์ ไม่มีวันได้ live เพราะต้อง survive มันน่าเศร้า เราไม่อยากให้มันเกิดขึ้นอีก สุดท้ายนี้ มาร่วมให้กำลังใจ #mbk39 ในวันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ เวลา 09.00 ที่สน. ปทุมวัน หลังตลาดสามย่าน (ใกล้ๆ คณะนิเทศฯ เลย) ขอให้เรื่องนี้จบสิ้นแค่รุ่นเรา อย่าให้รุ่นลูกหลานต้องเผชิญชะตากรรมเช่นนี้อีกเลย ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ อนาคตของประเทศอยู่ในมือพวกเราทุกคน อยากให้มันดีขึ้น เราทำได้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google, 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น