โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เสวนากาแฟกับรังสิมันต์ โรม: สิ่งที่เราไม่เคยทำภายใต้ระบอบ คสช. คือการลงถนน

Posted: 23 Feb 2018 10:39 AM PST

คุยกับรังสิมันต์ โรม หลังประกาศเคลื่อนไหวใหญ่วาระครบ 4 ปีรัฐประหาร ถามชัดๆ เลื่อนเลือกตั้งแค่ 3 เดือนทำไมรอไม่ได้ ทำไมถึงอยากเลือกตั้งนักหนา ทำไมเรียกร้องให้นักการเมืองมาสู้ด้วย และทำไมถึงเชื่อมั่นกับการเมืองบนท้องถนน

เริ่มต้นปี 2561 ได้ไม่ถึงเดือนความเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกรั้วรัฐสภาก็ดูจะกลับมาคึกคักกันอีกครั้ง หลังจากบรรยากาศการเมืองไทยตกอยู่ภายใต้ภาวะอึมครึมมาปีกว่า วันที่ 27 มกราคม ปีนี้ประชาชนหลักร้อยนัดรวมตัวที่สกายวอล์คปทุมวัน หลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติผ่านวาระ 3 ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยกำหนดให้กฎหมายมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศลงในราชกิจานุเบกษา 90 วัน นั่นหมายความว่า การเลือกตั้งที่ ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารสัญญาเอาไว้ว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. 2561 อาจจะเลือนออกไปอีก 3 เดือน

การลงมติของ สนช. ในครั้งนั้นให้เหตุผลโดยอ้างความห่วงใยว่า การจัดตั้งพรรคการเมืองที่ต้องเริ่มตนทำระบบสมาชิกพรรคการเมืองกันใหม่อาจจะเสร็จสิ้นไม่ทันเวลา จึงเห็นว่าจำเป็นต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อน แต่แท้จริงแล้วต้นเหตุที่ทำให้การเลือกตั้งไม่อาจจะเกิดขึ้นในเดือน พ.ย. 2561 อาจอยู่ที่การไม่ยอมปลดล็อคให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ คำสั่งที่บังคับให้พรรคการเมืองไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองเช่นการจัดประชุมพรรค หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมตัวสู่การเลือกตั้ง เป็นคำสั่งที่ออกมาโดยหัวหน้าคสช.

ความกลัวว่าจะเตรียมเลือกตั้งไม่ทัน แต่กลับไม่ยอมปลดล็อคพรรคการเมือง แล้วเลือกที่จะขยายเวลาเลือกตั้งออกไป ดูจะเป็นสิ่งที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลกันสักเท่าไหร่นัก และในขณะที่การเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไปเรื่อยๆ คสช. สนช. กรธ. และองค์กรต่างๆ ที่ถูกตั้งขึ้นโดยอำนาจของคณะรัฐประหารก็ยังคงอยู่ต่อไป พร้อมๆ กับเงินเดือนที่มาจากภาษีของประชาชน ยังไม่นับรวมค่าเสียทางโอกาส และค่าเสียเวลาหรือค่าเสียอนาคต  ที่ไม่อาจคำนวนเป็นตัวเลขได้ ท่ามกลางภาวะชงเอง กินเอง เสียงๆ หนึ่งก็ดังออกมา "คสช. ออกไป"

แม้พันเอกบุรินทร์ ทองประไพ  นายทหารพระธรรมนูญ จะพยายามทำให้เสียงที่ดังขึ้นอีกครั้งเงียบลงโดยการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมทั้งหมด 39 คน ขณะที่พลตำรวจเอก ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บังคับบัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะพยายามทำหน้าที่รักษากฎหมายอย่างแข็งขันโดยกำชับให้พนักงานสอบสวนในคดีดังกล่าว ยื่นคำร้องของฝากขังแกนนำทั้ง 7 คนต่อศาล แต่สิ่งที่ตามมาคือการยกคำร้องขอฝากขัง และตามมาด้วยการชุมนุมครั้งที่ 2 ในวันที่ 10 ก.พ. ที่มีประชาชนมาร่วมชุมนุมหลักพัน หลักจากนั้นหนึ่งสัปดาห์ รังสิมันต์ โรม หนึ่งในแกนนำที่จัดการชุมนุมประกาศเดินหน้าการชุมนุมต่อไป ทั้งระบุว่าจะมีการชุมนุมใหญ่ในช่วงเดือนพฤษภาคม ในวาระครบรอบ 4 ปีการรัฐประหารของ คสช.

นี่คือครั้งแรกหลังจากรัฐประหารเป็นต้นมาที่มีการประกาศชุมนุมทางการเมืองต่อต้าน คสช. ที่มีระยะเวลานานข้ามคืน มีหลากหลายคำถามเกิดขึ้นทั้งจากคนที่เห็นด้วยกับจุดยืนของกลุ่มที่ออกมาเรียกร้องการเลือกตั้งในเวลานี้ และคำถามจากผู้ที่ไม่เห็นด้วย ประชาไทหยิบคำถามที่ลอยอยู่เหล่านั้นมาหาคำตอบกับรังสิมันต์ ผ่านบทสนทนาเคล้ากลิ่นชา และกาแฟ

"ผมชอบบทสนทนาแบบนี้ว่ะ" รังสิมันต์ พูดขึ้นก่อนที่เราจะถามคำถามแรกจบ "คิดซะว่าผมป็นพี่ดี้ก็แล้วกัน" เราตอบก่อนถามต่อ

0000000

ประชาไท: ดูเหมือนว่าตอนนี้จะมีการขยับโรดแมปการเลือกตั้งออกไปอีกไม่เกิน 3 เดือนจากเลือกตั้งประมาณเดือน พ.ย. 2561 ไปเป็นเลือกตั้งไม่เกิน ก.พ. 2562 ซึ่งดูจะเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ทำไมถึงรู้สึกว่ายอมไม่ได้

รังสิมันต์: มีอะไรรับประกันได้บ้างว่ามันจะเลื่อนแค่ 3 เดือนจริง ตอนนี้ไม่มีอะไรรับประกันได้เลยว่าเราจะมีการเลือกตั้งตามที่เขาสัญญาไว้ ประเด็นตอนนี้มันไม่ใช่เรื่องของเวลา แต่มันเป็นเรื่องที่คนจำนวนมากเริ่มหมดความอดทนกับการที่อยู่ต่อไปโดยที่ไม่รู้ว่าตกลงแล้วประเทศนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป และการที่เราไม่มีหลักประกันตรงนี้เลยมันทำให้คนอดคิดไม่ได้ว่าตกลงแล้วเราจะมีเลือกตั้งไหม ประเด็นของเรื่องมันจึงไม่ใช่แค่ขอเลื่อนไปอีก 3 เดือนแล้วยอมไม่ได้ แต่มันอยู่ตรงที่สรุปแล้วเราจะมีหรือไม่มีเลือกตั้งกันแน่ และถ้ามีการเลือกตั้งมันจะเป็นการเลือกตั้งแบบไหน

การที่เราออกมาเรียกร้องครั้งนี้ก็เพียงต้องการให้มันชัดเจนว่า การเลือกตั้งมันต้องเกิดขึ้นปีนี้ เพราะมันเป็นสิ่งที่คุณประยุทธ์เองก็สัญญาเอาไว้ และมันเป็นการสัญญาที่แตกต่างจากการสัญญาครั้งอื่นๆ เพราะคนคาดหวังกับคำสัญญานี้สูง และตอนนี้ก็ไม่เหลือเหตุผลอะไรแล้วที่จะผิดสัญญาอีก เงื่อนไขต่างๆ มันแทบจะหมดสิ้นไปแล้ว ดังนั้นนี้คือเหตุผลที่คนออกมาเรียกร้องกันเพราะคุณประยุทธ์ได้สัญญาไว้แล้ว มันเป็นการทวงสัญญา

สำหรับผมเวลาสัญญาอะไรกับใครไว้มันเป็นเรื่องสำคัญมาก แล้วนี่คือคนระดับผู้นำ คุณสัญญาอะไรว่ะ คุณเปลี่ยนตลอดเวลา แล้วมันไม่มีสถานการณ์อะไรที่เอามาอ้างได้อีกแล้ว 3 เดือนที่ว่าจะเลื่อนไปมันเลื่อนจากการที่ สนช. แก้กฎหมายการบังคับใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ถามจริงๆ เถอะว่าคิดว่าคนจะเชื่อเหรอว่า คสช. ไม่สามารถควบคุมสภาได้ ไม่มีใครเชื่อหรอก ฉะนั้น 3 เดือนที่จะขยับออกไปมันไม่เป็นเหตุเป็นผล ไม่รู้มันเลื่อนจากอะไร แล้วถ้าครั้งนี้เลื่อนได้โดยไม่มีสาเหตุ แล้วทำไมในอนาคตจะเลื่อนอีกไม่ได้ สำหรับคนที่เป็นประชาชนมันเข้าใจไม่ได้หรอก 

หลายคนในประเทศนี้ยังห่วงว่าหากมีการเลือกตั้งเร็วเกินไปอาจจะทำให้บ้านเมืองกลับไปวุ่นวายอีก

ผมเข้าใจว่าคนเรามีสิทธิที่จะกลัวว่าบ้านเมืองเราในอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่คำถามต่อไปที่ต้องถามควบคู่กันคืออยู่กันต่อไปแบบนี้เรามีอนาคตเหรอ เรากลัวว่าจะอนาคตมันจะเกิดอะไรขึ้น เราเลยเลือกที่จะอยู่แบบที่ไม่มีอนาคต มันไม่เมคเซนต์ และมันไม่แฟร์กับคนรุ่นใหม่

พวกผมเกิดมาเกิดมาเราไม่ได้อยู่กับความขัดแย้ง ตอนเสื้อแดงเสื้อเหลือง ผมยังเรียนมัธยมอยู่เลย ยังเล่นการด์ยูกิกับเพื่อน คำถามง่ายๆ คือ ทำไมเราต้องรับมรดกความขัดแย้งของคนรุ่นเก่า และด้วยความที่คนรุ่นเก่า เขากลัวว่าอนาคตมันจะไม่ดี ดังนั้นคนรุ่นใหม่ก็จะต้องกลัวว่าอนาคตมันจะไม่ดีด้วย อย่างนั้นเหรอ สำหรับผมมันไม่ใช่ ผมคิดว่าอนาคตมันดีได้ ด้วยกำลังของคนรุนใหม่เราสมารถที่จะสร้างอนาคตของเราได้ ใครที่ไม่พร้อมจะที่ก้าวไปด้วยกันก็ไม่เป็นไร แต่ไม่ใช่คุณมาห้ามไม่ให้เราเดินไปหาอนาคตไง

ผมเพิ่งอายุ 25 ผมต้องอยู่กับประเทศนี้อีกนานนะ สมมติว่าอายุ 60 ผมตาย ผมต้องอยู่กับมันอีก 35 ปี ฉะนั้นผมก็ควรมีสิทธิกำหนดว่าอนาคตที่ผมต้องการคืออะไร ผมจะไม่ยอมให้คนแก่ๆ ที่อีกไม่นานจะต้องลาจากโลกนี้ ซึ่งเป็นคนที่หวาดกลัวอนาคต มาใช้วิธีการควบคุมเรา มาทำให้คนรุ่นเราต้องหวาดกลัวอนาคตไปด้วย

สำหรับผมไม่กลัวอนาคต ผมเชื่อมั่นว่าประชาชนชาวไทยสามารถทำให้อนาคตของประเทศนี้มันดีได้ ผมเชื่อว่ากำลังความสามารถของคนรุ่นใหม่เราสร้างประเทศนี้ให้น่าอยู่ได้

แต่มีบางคนยังเชื่อว่าการสร้างอนาคตที่ดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับระบอบการเมือง แม้ตอนนี้เราอยู่ในภายใต้รัฐบาลของคณะรัฐประหาร แต่รัฐบาลก็กำลังปฏิรูปในหลายๆ เรื่อง และยังมีช่องทางต่างๆ ที่รัฐจัดไว้ให้เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมเสนอความคิดเห็น

มันต้องแยกกัน เอาอย่างนี้ก่อน เรื่องเศรษฐกิจอย่างไรมันก็มีความเกี่ยวข้องกับการเมือง ประเทศที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยก็พิสูจน์อะไรหลายๆ อย่างว่า มันไปไม่รอดหลายคนที่ชอบยกตัวอย่างจีน หรือสิงคโปร์ ขอโทษนะนั่นคือประเทศส่วนน้อย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจะเป็นแบบนั้นได้

ในส่วนของเรื่องสิทธิทางการเมือง การปกครอง เวลาบอกว่ารัฐบาลมีการรับฟัง ผมไม่มีคิดว่าการรับฟังนั้นจะมีความหมายนะ คืออย่างแรกเลยเราตั้งถามว่าเขารับฟังจริงๆ หรือเปล่า ถ้ารับฟังจริงๆ คงไม่มีการจับกุมกันเกิดขึ้น คงไม่มีการดำเนินคดีเกิดขึ้น วันนี้ผมอายุ 25 ปี ผมมี 7 คดี ถ้าลงโทษสูงสุดทุกคดีผมมีโทษทั้งหมด 32 ปีมากกว่าอายุผมตอนนี้อีก นี่คือการรับฟังใช่ไหม

คำถามอีกข้อหนึ่งที่ต้องถามคือที่ว่ามีการรับฟัง มันเพียงพอใช่ไหม ผมคิดว่าไม่ เพราะสุดท้ายแล้ว คสช. รัฐบาล ก็มีดุลยพินิจที่จะฟังหรือไม่ฟังก็ได้ หรืออาจจะฟังๆ ไปแต่ไม่ทำตาม ประเด็นมันไม่ใช่เรื่องที่ว่าฟังหรือไม่ฟัง แต่มันเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับความเปลี่นเปลี่ยนของโลก เขาควรจะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรง ในการพัฒนาประเทศในการกำหนดอนาคตของประเทศได้ ซึ่งในวันนี้มันไม่มีโอกาสที่จะทำอะไรได้เลย

ยกตัวอย่างง่ายๆ สนช. บางคนมารับตำแหน่งต้องมีคนช่วยกันห่าม นี่เหรอคนแบบนี้เหรอที่จะเป็นคนกำหนดอนาคตของพวกเรา คนแบบทหารเกษียณแล้วซึ่งพูดคำหยาบคายตลอด คนแบบนี้เหรอที่จะมาเป็นคนที่ดูแลพวกเรา ผมคิดว่าประเทศมันเดินหน้าต่อไปแบบนี้ไม่ได้ บางคนบอกว่าเราไม่สามารถปล่อยให้ประเทศนี้พังไปต่อหน้าต่อตา ผมไม่เห็นด้วยเพราะตอนนี้ประเทศเราพังไปต่อหน้าต่อตาของพวกเราแล้ว มันพังไปตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 ในความเห็นผมวันนี้เราไม่ได้ต้องการแค่หยุดไม่ให้มันพังไปต่อหน้าต่อตา แต่เราต้องสร้างมันใหม่จากซากหรักหักพังที่มันได้พังลงไป

วันนี้คนรุ่นใหม่ต้องเป็นกำลังสำคัญในการก้าวข้ามความขัดแย้ง ต้องเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสังคมใหม่ขึ้นมาให้ได้ ถ้าเรายังมัวไปยึดติดกับความขัดแย้งของคนรุ่นไหนก็ไม่รู้ประเทศนี้ไม่มีทางมีอนาคต ทางเลือกของคนรุ่นใหม่มีสองทางเราจะหวาดกลัวอนาคตเหมือนกับ Old Generation หรือเราจะสร้างสังคมใหม่แล้วก้าวไปด้วยกัน นี่คือทางเลือกของพวกเรา และหนทางเดียวที่จะเริ่มสร้างอนาคตได้คือ ต้องเอาพลเอกประยุทธ์ และ คสช. ออกไปให้ได้ มีการเลือกตั้ง ไม่มีการสืบทอดอำนาจ นี่คือการเริ่มต้นทำลายกำแพงและทำให้สังคมมันเดินหน้าต่อไปได้ แน่นอนมันจะเต็มไปด้วยขวากหนาม ไม่มีการโปรยกลีบดอกกุหลาบ ไม่มีสังคมไหน ไม่มีประเทศไหนที่การเปลี่ยนแปลงมันราบรื่น สิ่งที่จะต้องเจอจะมีแต่ความท้าทาย ถ้าเราเข้มแข็งพอ ถ้าเรามีพลังมากพอ เราจะฝ่าฟันมันไปได้ ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่ผมเรียกร้องกับคนรุ่นใหม่เสมอคือ มันถึงเวลาที่เราจะต้องทิ้งคนที่อยู่กับความหวาดกลัวอนาคตไป ถ้าเราไม่ทิ้งเราเดินหน้าไม่ได้ ซึ่งคนเหล่านั้นต้องเลือกว่าจะถูกทอดทิ้งหรือตามพวกเรามา 

นั่นแปลว่าการเลือกตั้งจะเป็นจุดเริ่มต้น ของการสร้างอนาคตที่ดีกว่า แต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ก็วางรากฐานของอนาคตอีกแบบไว้เหมือนกัน อนาคตที่คาดหวังว่าจะสร้างขึ้นมาจะทำได้จริงๆ เหรอ

ผมคิดว่าถึงที่สุดแล้วเราเป็นใคร เราเป็นประชาชนเราไม่ได้มีกำลัง ไม่ได้มีอาวุธ พูดง่ายๆ คือเรามีแค่ สองมือเปล่า กับเสียงที่ดังหน่อย การเปลี่ยนแปลงมันต้องไปทีละขั้นตอน เราจะพูดถึงเรื่องอื่นได้อย่างไร ในเมื่อเลือกตั้งเรายังไม่ได้เลย จะให้เราพูดถึงเรื่องการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ในเวลานี้เหรอ ทั้งที่เราจะเอาใครไปร่างยังไม่รู้เลย สุดท้ายมันเป็นเรื่องที่จะตามมาหลังเลือกตั้ง ผมยอมรับว่ากลไกรัฐธรรมนูญมีปัญหา ผมเป็นคนหนึ่งที่รณรงค์โหวตโนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จริงๆ รัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้อยู่นี้ก็เป็นคนละฉบับกับที่ลงประชามติ แต่ผมไม่อยากพูดถึงรายละเอียด แต่เอาเป็นว่าผมไม่เห็นด้วยกับสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้แน่ๆ มันก็ต้องแก้กันไป เพียงแต่ว่าขั้นตอนนั้นมันจะเป็นกระบวนการต่อไป มันต้องอาศัยพลังของภาคประชาชน ในความหมายที่ว่า เราอาจจะต้องตั้ง สสร. หรือเปล่า? อันนี้ผมไม่รู้ ก็ขึ้นอยู่กับอนาคตว่าเราจะเอายังไงกับวิธีการที่จะออกจากระบบนี้อย่างถาวร

ดังนั้นพันธกิจหรือพันธกรณีของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตมันจะต้องตอบโจทย์ตรงนี้  ดังนั้นทำไมผมจึงเรียกร้องให้นักการเมืองมาสู้กับภาคประชาชน เพราะถ้านักการเมืองไม่มาสู้กับประชาชน ประชาชนจะรู้ได้ไงว่ามีพันธกิจเหล่านี้ที่คอยขจัดระบอบเหล่านี้ออกไป ผมไม่อยากให้เรามาซ้ำรอยกับในอดีตที่ว่า สุดท้ายเราสู้เราเอาเผด็จการ คสช. ออกไป สุดท้ายเราก็กลับมาสู่ระบอบเดิม ดังนั้นนี่คือเหตุผลว่าทำไมผมถึงเรียกร้องให้นักการเมืองหรือคนที่จะลงเลือกตั้งมาสู้ด้วยกันกับพวกเรา นี่คือช่วงเวลาที่ประชาชนจะได้รีวิวพวกคุณ จะได้ดูว่าพวกคุณจะตอบสนองพันธกิจของประชาชน ในวันนี้ที่เขาต้องการออกจากระบอบแบบนี้ให้ได้

สำหรับผม ผมจะไม่มีวันเลือกนักการเมืองที่ไม่ออกมาสู้กับพวกเรา ไม่จำเป็นต้องมาในนามของพรรคการเมือง มาในนามส่วนตัวก็ได้ ถ้าไม่มาคุณจะไม่ใช่นักการเมืองของประชาชนอีกต่อไป เพราะว่าคุณไม่ได้มีพันธกิจเดียวกับประชาชนที่เขาต้องการออกจากระบอบแบบนี้ คุณไม่ได้เป็นคนที่พร้อมจะเดินหน้าไปกับคนรุ่นใหม่ คุณไม่ได้พร้อมที่จะสร้างอนาคตร่วมกัน ดังนั้นคุณก็อาจจะต้องเป็นคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ถ้าคุณไม่เดินหน้าไปกับเรา

การไปชวนนักการเมืองออกมาเคลื่อนไหวด้วย ไม่กลัวเหรอว่าจะถูกมองว่าได้รับท่อน้ำเลี้ยง หรือถูกมองว่าการเคลื่อนไหวไม่บริสุทธิ์เพราะมีนักการเมืองหนุนหลัง

สำหรับผมนักการเมืองก็คือประชาชน ผมไม่เชื่อว่าใครจะมา dominate มาควบคุมความคิดนะ บางคนชอบบอกว่าเรื่องรับตังค์ บ้านผมก็ไม่ได้จนขนาดนั้น อย่างแรกคือดูถูกกันมากเลย อันที่สอง ผมให้เงินคุณแสนนึง ให้ผมไปติดคุก โดนคดีโทษสูงสุด 32 ปี เป็นคุณเอาไหมละ ? มันไม่มีใครเอาหรอก

ผมเกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง ถ้าผมคิดว่าไม่ต้องทำอะไรก็ได้ เรียนจบ นิติฯ ธรรมศาสตร์ ไปทำงาน เงินเดือน 3-4 หมื่นขั้นต้นก็น่าจะพอได้ แต่ผมรู้สึกว่าชีวิตเรามันแค่นั้นเหรอ ผมตั้งคำถามกับตัวเองตลอดเวลาว่า ตกลงแล้วเราเกิดมาเราได้อภิสิทธิ์จำนวนมากจากสังคม สังคมจ่ายเงินให้ธรรมศาสตร์ จากภาษีประชาชน แล้วผมได้เรียนมหาวิทยาลัยที่ขึ้นชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ แล้วผมไม่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ต่อเงินภาษีของคนยากคนจนที่เขาเสียภาษีอะไรอย่างนั้นเลยหรอ ผมทำใจไม่ได้ เราควรทำบางอย่าง

แล้วมากไปกว่านั้นในอนาคตถ้าลูกหลานของผมไม่ได้โชคดีขนาดนั้น ถ้าเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ แล้วมันไม่มีสวัสดิการอะไรเลย แล้วใครจะดูแลเขา ผมไม่อยากจะทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง สังคมมันต้องไปด้วยกัน แต่ว่ารัฐบาล คสช. ไม่อนุญาตให้เราเป็นแบบนั้น ไม่อนุญาตให้สังคมมันเดินหน้า วันนี้เราต้องพูดว่า คสช. ขโมยอนาคตของเราทุกคน เราต้องการอนาคตของเราคืน

เราถึงต้องการการเลือกตั้งเพื่อนับหนึ่ง วันนี้เรายังไม่ถึงหนึ่งนะ ติดอยู่ที่ศูนย์ อาจจะติดลบด้วยซ้ำไป ใครจะบอกว่าผมรับเงิน ผมไม่แคร์ แต่นักการเมือง ถ้าท่านไม่เข้ามาท่านจะเสียกว่าผมด้วย เพราะท่านไม่ได้สู้เพื่อประชาชน ดังนั้นผมคิดว่า มันถึงเวลาแล้วที่เราต้องร่วมมือร่วมใจกัน วันนี้มันไม่มีคนอื่น มันมีแค่ คสช. กับประชาชน 

ถึงจะยังไม่มีนักการเมืองคนไหนออกมา แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมาทั้งประชาธิปัตย์ เพื่อไทย หรือพรรคอื่นๆ ก็พยายามที่จะเร่งรัดให้มีการเลือกตั้งอยู่เรื่อยๆ เท่านี้ไม่พอเหรอ

โทษนะคือผมเข้าใจ แถลงการณ์ผมก็ออกได้ ผมโพสต์ฟซบุ๊กได้ แต่มันไม่พอไง คือถึงที่สุดประชาชนนี่เสี่ยงนะ เสี่ยงมากๆ เลยนะ ในการที่จะเอาระบอบของเขาคืนมา นักการเมืองแค่ออก statement แล้วก็จบ สำหรับผมมันไร้สาระ วันนี้มันไม่เหลือวิธีการไหนแล้ว สำหรับผมไม่เชื่อวิธีการอื่นแล้ว ผมรู้สึกว่าเราทำมาทุกอย่างแล้ว พิสูจน์กันมาเยอะมาก เราลองใช้กลไกทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้ประเทศเรามันเดินหน้าอีกครั้ง แต่ว่ามันไม่ได้ผล เหลือวิธีเดียวที่เรายังไม่เคยทำ คือลงถนน ดังนั้นผมจึงคิดว่า นักการเมือง หรือใครก็แล้วแต่ ควรลงมาสู้กับประชาชน ทวงสิทธิของประชาชนคืนมา แล้วคุณจะได้รับการยอมรับจากประชาชน ไม่มาก็ไม่เลือกในปีหน้า ถ้าปีหน้ามีเลือกตั้งผมก็จะไม่เลือกเขา แล้วผมก็ขอเชิญชวนให้ประชาชนไม่เลือกคนเหล่านี้ด้วย

ทำไมถึงเชื่อมั่นกับการเมืองบนท้องถนน ถ้าดูจากประวัติศาสตร์การเมืองไทย 14 ตุลา 2516 ที่เราบอกว่าเป็นชัยชนะของประชาชนเอาเข้าจริงแล้วเผด็จการออกไปไม่ใช่เพราะพลังประชาชนล้วนๆ แต่มีพลังอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย 6 ตุลาคม 2519 ก็ชัดเจน พฤษภาคม 2535 ก็ชัดเจนว่ามันจบได้ด้วยอะไร ปี 2549 กลุ่มพันธมิตรออกมาไล่ทักษิณสุดท้ายจบตรงที่กองทัพออกมารัฐประหาร ปี 2553 นปช. ออกมาไล่อภิสิทธิ์จบลงด้วยเลือดกับความตาย ปี 2557 กปปส. ออกมาไล่ยิ่งลักษณ์สุดท้ายจบลงด้วยศาลรัฐธรรมนูญ และการรัฐประหาร คือจะเห็นได้ว่ามันไม่ได้จบที่ถนน แต่มีพลังอื่นๆ เข้ามาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเสมอ

ใช่ ผมเห็นด้วยว่ามันต้องอาศัยพลังทุกภาคส่วน แล้วถ้าเราจะพูดในตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา บางคนอาจจะเรียกว่ามันเป็นความล้มเหลวหรืออะไรก็แล้วแต่นะ มันก็เป็นความสำเร็จระดับหนึ่งไหม อย่างน้อยๆ มันเป็นการสร้างพื้นที่เพื่อให้เป็นจุดเริ่มต้นของอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งอันนี้คือสิ่งเดียวกัน คือตอนนี้เราไม่มีเสรีภาพอะไรเลย อย่างน้อยๆ ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ก็ได้เอาเผด็จการออกไปก่อน ให้มันมีพื้นที่ของเสรีภาพในการแสดงออก ในการพูด ในการทำอะไร

เพียงแต่ว่าเราก็ต้องยอมรับว่าถัดไปจากประชาชน ภาคส่วนอื่นมันมีปัญหา แล้วมันไม่ค่อยจะถูกแตะต้องหรือว่าพูดถึงมากเท่าที่ควร มันทำให้ภาคส่วนเหล่านี้กลายเป็นแดนสนธยา ไม่ได้รับการแก้ไข ผมยกตัวอย่างเช่น 'กองทัพ' เรามีปัญหากับกองทัพมาโดยตลอด แต่เราก็ไม่เคยเข้าไปแก้ไขจนถึงรากของปัญหาจริงๆ ว่าตกลงแล้วมันคืออะไร เราอาจจะเอาเผด็จการออกไปในช่วงเวลาหนึ่ง แต่กองทัพก็ยังเป็นเหมือน 'รัฐซ้อนรัฐ' ที่อยู่ในอำนาจตลอดเวลา แล้วคอยควบคุมบ้านเมืองอยู่ตลอดเวลา อันนี้คือสิ่งที่มันเป็นไป แต่ว่าวันนี้สิ่งหนึ่งที่เราอาจจะต้องพูดกันให้ชัดก็คือว่า หลังจากมีการเลือกตั้ง บุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในระดับรัฐสภา ที่จะต้องทำต่อไปคือการจัดการองคาพยพต่างๆ ของ คสช. ของกองทัพหรืออะไรก็แล้วแต่ ให้มันสูญสลายไปด้วย ดังนั้นเริ่มต้นเวลาเราพูดจาก 1-100 เราจะต้องนับ 1 ก่อน วันนี้ภาคประชาชนต้องนับ 1 ด้วยการเลือกตั้ง จากนั้นเราถึงจะไปทีละเสต็ป เป็น 2-3-4 จนถึงความฝันที่มันเป็น 100 มันถึงจะเกิดขึ้น เราไม่อาจไม่ที่ 100 โดยที่ไม่มี 1 หรือ 2 ผมถึงย้ำว่าการเลือกตั้งมันเป็นแค่จุดเริ่มต้น

คิดว่ามันจะมีการกดดันให้มีการเลือกตั้งในปีนี้ได้จริงๆ เหรอ กับพลังของประชาชนที่จะออกมา

ทำไมละ มันต้องมีสิ ผมนึกไม่ออกว่ามันจะไม่มีได้ไง 

ยกตัวอย่างเรื่องคุณประวิตร นาฬิกาเรือนนึงสิบกว่าล้าน สื่อทุกช่องทุกสำนัก เล่นข่าวนี้หมด ผู้คนพูดถึงทั่วบ้านทั่วเมือง แต่สุดท้ายก็ยังอยู่เหมือนเดิม ปปช. ก็เลื่อนแถลงข่าว สรุปคือตอนนี้ก็รอ รออะไรก็ไม่รู้

เพราะมันไม่มีภาคประชาชนออก มาอย่างขนานใหญ่ไง ผมถึงบอกไง ในด้านหนึ่งมันก็เป็นการยืนยันสิ่งที่ผมพูดหรือเปล่า ว่าการที่สื่อเล่นทุกอย่าง คนพูดกันทั่วบ้านทั่วเมืองมันไม่พอ โพสต์เฟซบุ๊กไม่พอ ลงหนังสือพิมพ์ไม่พอ แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่เคยทำใน 4 ปีที่ผ่านมาภายใต้ระบอบ คสช. คือ การลงถนน คือการที่ประชาชนออกมาแสดงพลังกันอย่างต่อเนื่อง แล้วเอาจริงเอาจังกับมัน ไม่ใช่แค่เชิงสัญลักษณ์อีกต่อไป แต่มันคือความหนักแน่นของข้อเรียกร้องว่าเราต้องการอะไรกันแน่ ถ้าไม่มีข้อเรียกร้อง ที่เราเรียกกันไปไม่ได้ เราก็ไม่ยอม สู้ต่อไป ตราบใดที่ประชาชนหนักแน่นแบบนี้ จำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แบบนี้ ผมคิดว่าความหวังที่เราจะเห็นการเลือกตั้ง มันจะเกิดขึ้นปีนี้ มีแน่ๆ

ดังนั้นเงื่อนไขอยู่ที่ประชาชน ประชาชนเอาด้วยกับผม เรามีลุ้น แต่ถ้าประชาชนไม่เอาด้วย สมมติว่าผมยกตัวอย่าง วันที่ 24  (24 ก.พ. 2561) ที่จะถึง ประชาชนมากันหลักร้อย โอกาสที่เราจะเห็นประชาธิปไตยเกิดขึ้น หมายถึงจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปีนี้ ก็ยาก ตอนนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเราต้องการพลังจากทุกภาคส่วน มาร่วมด้วยช่วยกันสู้ ช่วยกันทำ ผมอาจจะยืนอยู่บนรถไฮปาร์คพูด แต่ผมคนเดียวไม่พอ ผมไม่ได้เก่งมาจากไหน ผมก็แค่สู้เท่าที่ผมสู้ได้ ผมต้องการให้ทุกคนมาร่วมด้วยช่วยกันสู้ วันนี้ผมเอาตัวเขาเสี่ยง เพราะผมเชื่อว่าผมจะทำได้ อย่างน้อยๆ ผมเชื่อว่าผมได้ประโยชน์จากแผ่นดินนี้มาเยอะ แล้วผมต้องการตอบแทนแผ่นดินที่ผมอยู่ ผมรักประเทศไทย ผมรักประเทศไทยมากกว่าที่หลายคนได้ตราหน้าเอาไว้ ดังนั้นผมจะพยายามทำทุกวิถีทางให้แผ่นดินนี้ กลายเป็นแผ่นดินของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน มันเป็นแผ่นดินที่มีเสรีภาพ มันต้องมีความเท่าเทียมกัน มันจะต้องมีความยุติธรรมให้กับทุกคน และที่สำคัญเลยคือจะต้องมีประชาธิปไตย เพื่อเป็นหลักยืนยันว่าสามสิ่งข้างต้นมันจะเกิดขึ้นได้จริง

โรมเรียกร้องให้ประชาชนออกมาบนท้องถนน คำว่าประชาชนของโรมหมายถึงใคร ?

ก็หมายถึงทุกคน

แต่ว่าถ้าเราดูจากคนที่ที่ไปร่วม ปฏิเสธไม่ได้ว่า มวลชนเกือบ 80% เป็นคนที่เคยร่วมกับกลุ่มคนเสื้อแดงมาก่อน เป็นคนที่ออกมาคัดค้านรัฐประหารในช่วงแรกๆ

ผมอาจจะตาบอดสีก็ได้นะ แต่ผมเห็นแค่ สามสี น้ำเงิน ขาว และแดง ผมเห็นแค่นี้ ผมไม่เห็นสีอื่น ทุกคนมีสามสีนี้ ผมไม่สนใจว่าใครจะเคยมีประวัติความเป็นมายังไง สิ่งที่ผมสนใจมีเพียงแค่เรื่องเดียว เราจะทำเพื่อประเทศชาติของเรา คือการเอาสิทธิของประชาชนกลับคืนมา นั่นคือการเลือกตั้ง

โรมชวนคนทุกฝ่ายมา แต่ก็เคยถูกโจมตี ป้ายสี จากคนอีกฝั่ง...

ผมว่าไม่มีคนอีกฝั่งนึงนะ ผมคิดว่าผมไม่ได้เป็นฝ่ายตรงข้าม แต่ถ้าถามว่าผมเป็นขั้วตรงข้ามกับใคร ผมเป็นขั้วตรงข้ามกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผมเป็นขั้วตรงข้ามกับพลเอกประวิตร ถ้าใครรู้สึกว่าคุณเป็นขั้วตรงข้ามกับสองคนนี้ กับ คสช. เราคือพวกเดียวกัน สำหรับผมไม่มีขั้วตรงข้ามอย่างอื่น

เข้าใจว่ามีการนัดชุมนุมใหญ่ เดือนพฤษภาคม 3 คืน 4 วัน ข้อเรียกร้องในการชุมนุมใหญ่คืออะไร

เหมือนเดิม แต่ผมไม่ปฏิเสธว่าข้อเรียกร้องอาจจะเปลี่ยน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข คือถึงที่สุดเราก็ไม่ได้อยากจะไปถึงจุดนั้น ถ้า คสช. กำหนดวันเลือกตั้งและการันตีให้ประชาชนรู้สึกมั่นใจได้ว่า เราจะมีการเลือกตั้ง ไม่สืบทอดอำนาจอีก แต่ก็เหมือนที่หลายคนคิดไว้ว่า คสช. ก็คงไม่ทำ เราก็คงต้องเดินหน้าต่อไป ผมก็ตั้งคำถามไปกับ คสช. คุณมาอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งคุณก็รู้ดี คุณอยากจะไปแบบไหน คุณอยากจะไปแบบดีๆ ลงจากอำนาจเอง หรือคุณจะไปอย่างที่ประชาชนไล่ ถ้าคุณไปแบบที่ประชาชนไล่ ก็เสี่ยงกันหน่อย

มีความมั่นใจแค่ไหน เพราะที่ผ่านมาทางกลุ่มไม่เคยมีการจัดชุมนุมใหญ่ มีความพร้อมแค่ไหนที่จะชวนคนมาร่วมเสี่ยงด้วย

ความพร้อมของเรามันอาจจะไม่ใช่แค่ผม มันเป็นความพร้อมของประชาชนที่จะถามว่า เราพร้อมไหมถ้าประเทศนี้มันไม่มีอนาคต เราพร้อมไหมถ้าเรามีลูกหลานแล้วต้องมารับมรดกแบบนี้จากเรา เราพร้อมไหมกับการที่จะให้คนกลุ่มหนึ่งทุจริตคอรัปชั่น เกื้อกูลให้กับญาติพี่น้อง สามารถเปิดธุรกิจในค่ายมีนาฬิกา 25-26 เรือน ถ้าเราคิดว่าเราพร้อมแบบนี้ พร้อมที่จะให้เขาอยู่แบบนี้ อยู่บ้านก็ได้

หรือถ้าใครไม่เห็นด้วยกับวิธีการผมไปทำอย่างอื่นก็ได้ ผมไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยตรงกันทั้งหมด เพียงแต่ว่าอย่างที่ผมย้ำไปว่าเราไม่มีวิธการอื่น ผมถึงบอกว่าเราจะต้องรวมพลังกันเป็นหนึ่ง เพื่อสู้ไปด้วยกัน แต่ถามว่าในด้านหนึ่งผมก็ต้องบอกทุกท่านอย่างแฟร์ๆ ว่า เสี่ยงไหม เสี่ยงแน่นอน แล้วผมก็คิดว่าคนที่เข้ามาร่วมเขาก็ประเมินแล้วว่าเสี่ยง ผมไม่ได้เป็นเจ้าของมวลชน ผมคิดว่าชาวบ้าน พี่น้องประชาชนที่มาร่วมด้วยกันทั้งวันที่ 27 มกราคม วันที่ 10 กุมภาพันธ์ และตอนนี้เริ่มมีประชาชาออกมาแสดงพลังในหลายๆที่ เชียงใหม่ นครปฐม ราชบุรี โคราช สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าพี่น้องประชาชนที่มาร่วม เขาก็รู้ดีว่ามันเสี่ยง เขาก็รู้ว่าเมื่อเทียบกับสิ่งที่เขาต้องแลก ในแง่ของอนาคต อยู่แบบไม่มีอนาคต มันก็คุ้ม ไม่ใช่คุ้มในแง่ของการชั่งน้ำหนัก สำหรับผมเราไม่สามารถเอาอนาคตประเทศ มาชั่งน้ำหนักกับสองมือ สำหรับผมประเทศชาติสำคัญที่สุด สำหรับผมอนาคตของประเทศชาติเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่มีคุณค่า ไม่มีสิ่งอื่นใด สามารถเทียบอนาคตของประเทศชาติได้เลย เพราะมันไม่ได้หมายถึงวันนี้พรุ่งนี้ แต่มันหมายถึง 5 ปี 10 สิบหรืออาจจะตลอดไป แม้กระทั่งเราสิ้นลมหายใจไปแล้ว สิ่งที่เราทำวันนี้มันก็อาจจะยังคงอยู่ ดังนั้นอนาคตของประเทศชาติมันจึงเป็นสิ่งที่นิ่งใหญ่และสำคัญ ดังนั้นผมจึงทำทุกทางเท่าที่สติปัญญาจะนึกออกได้ ความเสี่ยงมี แต่สำหรับผมยังไงก็ลุยต่อ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหภาพแรงงานตำรวจสโลเวเนียผละงานประท้วงขอเพิ่มค่าจ้าง

Posted: 23 Feb 2018 08:16 AM PST

ที่ต่างประเทศตำรวจก็มีสหภาพแรงงาน และออกเรียกร้องสิทธิบ่อยครั้ง ล่าสุดสหภาพแรงงานตำรวจสโลเวเนียผละงานประท้วงขอขึ้นค่าแรงพร้อมกับพนักงานภาครัฐอื่น ๆ

ที่มาภาพประกอบ: facebook.com/radivoj.urosevic

เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2561 เจ้าหน้าตำรวจในลุบยานาเมืองหลวงของประเทศสโลเวเนีย ได้ประท้วงเรียกร้องการขึ้นค่าจ้างราวร้อยละ 15 นอกจากนั้นยังมีการหยุดงานของพนักงานภาครัฐเพื่อกดดันภาครัฐจะตามมาในสัปดาห์เดียวกัน

เจ้าหน้าตำรวจที่ประมาณ 200 คน ได้ออกมาทำการผละงานประท้วงช่วงสั้น ๆ ด้านนอกที่ทำการรัฐบาลด้วยการเป่านกหวีดและชูป้ายภาพนายมิโร เซราร์ นายกรัฐมนตรี ที่ยกมือขึ้นปิดหูของเขาทั้งสองข้าง เพื่อสื่อถึงว่ารัฐบาลไม่ยอมรับฟังเสียงความต้องการของพวกเขา

การประท้วงในหนึ่งวันต่อสัปดาห์ของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานรัฐ ลักษณะนี้มีมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 สัปดาห์ เป็นการเรียกร้องการเพิ่มค่าจ้าง ท่ามกลางการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ขยายตัวเพิ่งขึ่นร้อยละ 3.9 ในปีนี้และร้อยละ 4.4 จากปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากการส่งออกและการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น

แต่ทางตรงกันข้ามกลุ่มธุรกิจรวมไปถึงหอการค้า ได้ออกมาเตือนถึงการเพิ่มสูงมากเกินของค่าจ้าง จะส่งผลเสียไปยังการลงทุนและการเติบโตของเศรษฐกิจ ทั้งยังนำไปสู่การเก็บภาษีที่สูงขึ้นอีกด้วย

รัฐบาลซ้ายกลางของสโลเวเนียได้ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ว่า การเรียกร้องค่าจ้างที่มากขนาดตามที่เจ้าหน้าที่รัฐเรียกร้องนั้น เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ข้อเรียกร้องนั้นไม่ได้พิสูจน์ว่าจะสามารถสร้างผลประโยชน์ได้จริง และยังเป็นการเป็นภัยต่อความมั่นคงทางการคลัง

รัฐบาลต้องการจะลดงบประมาณเกินดุลให้เหลือ 0.4 ของจีดีพีภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งก่อนนี้หน้าสโลเวเนียมีตัวเลขงบขาดดุลอยู่ที่ 0.8 ของจีดีพีในปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันราดิวอย ยูโรเซวิซ ประธานสหภาพแรงงานตำรวจ ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกให้ค่าต่ำเกินไป สิ่งที่พวกเขาควรจะได้รับควรมากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อสะท้อนกับจำนวนชั่วโมงที่พวกเขาทำงานจริง ๆ

"ค่าเฉลี่ยของค่าจ้างรายเดือนของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น อยู่ที่ประมาณ 1,400 ยูโร เราเรียกร้องให้ค่าเฉลี่ยของค่าจ้างอยู่สูงขึ้นอีก 200 ถึง 220 ยูโร"

 

ที่มาเรียบเรียงจาก
Slovenian police start run of public sector pay strikes (channelnewsasia.com, 12/2/2018)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยะลา : จนท.ไม่ทราบหน่วย คุมตัว ปธ.เครือข่ายผดุงธรรม

Posted: 23 Feb 2018 05:20 AM PST

วัรตานี เผย จนท.ไม่ทราบหน่วย คุมตัว ประธานเครือข่ายผดุงธรรม คุมตัวที่ค่ายวังพญา พรุ่งนี้ญาติเตรียมเยี่ยม โดยยังไม่ทราบสาเหตุ ด้าน โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยันว่าไม่ทราบเรื่อง แต่จะดำเนินการตรวจสอบ

 

23 ก.พ.2561  เฟสบุ๊คแฟนเพจ 'Wartani' หรือ วัรตานี สื่อท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนใต้ รายงานว่า วันนี้ เวลา 15:40 น มีเจ้าหน้าที่ไม่ทราบหน่วยงานได้ควบคุมตัว ไอมาน หะเด็ง ประธานเครือข่ายผดุงธรรม หรือ (Justice for Peace ; JOP) ซึ่งเจ้าหน้าที่ฯได้คุมตัว ที่ร้านวีดาตขายผ้ากลูบง ถ.วิฑูรอุทิศ 1 ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งเป็นร้านของไอมานและภรรยา โดยมีการปิดล้อม ตรวจค้น และควบคุมตัว เอาไปที่ค่ายทหาร โดยตอนนี้ยังไม่ทราบว่าถูกควบคุมตัวด้วยสาเหตุใด

ไอมาน เคยเป็นอดีตจำเลยในคดีความมั่นคง เเละได้สู้คดีจนศาลได้ยกฟ้องได้รับความบริสุทธิ์ หลังจากได้รับอิสรภาพ ได้รวมตัวกันตั้งเครือข่ายผดุงธรรม เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้ กฏหมายในคดีความมั่นคง เเละได้ช่วยให้ความรู้เรื่องกฏหมายให้กับชาวบ้าน

วัรตานี ระบุว่า การคุมตัวประธานเครือข่ายผดุงธรรม ทำให้เกิดคำถามในวงภาคประชาสังคม ว่าการคุกคามภาคประชาสังคมในครั้งนี้รัฐทำถูกเเล้วหรือไม่

วอยซ์ออนไลน์ รายงานเพิ่มเติ่มว่า อายุบ เจ๊ะนะ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส.) เปิดเผยกับ 'วอยซ์ออนไลน์' ว่า ครอบครัวของ ไอมาน ตามไปที่ฐานปฏิบัติการตือเบาะ หน่วยเฉพาะกิจยะลาที่ 16 ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา แต่ไม่พบไอมาน จึงได้ประสานงานกับศูนย์ทนายความในพื้นที่เพื่อให้ช่วยติดตามหาตัวไอมานต่อไป

อย่างไรก็ตาม พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยืนยันว่าไม่ทราบเรื่องการควบคุมตัวบุคคลในพื้นที่ และไม่ทราบว่าไอมานเป็นใคร แต่จะดำเนินการตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่ในฐานปฏิบัติการที่ถูกกล่าวถึงอีกครั้งหนึ่ง 

เมื่อเวลา 23.00 น. เฟสบุ๊คแฟนเพจ "Wartani" รายงานว่า ไอมานถูกควบคุมตัวอยู่ที่กรมทหารพรานที่ 41 ต.วังพญา อ.รามัน จ.ยะลา หลังจากเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจที่ 12 ยะลา ได้ส่งตัวไปที่สถานีตำรวจภูธรจังหวัดยะลา

ลำดับเหตุกาณ์กรณีการควบคุมตัว

จากการเล่าเรื่องของภรรยาไอมานเปิดเผยว่า เมื่อเวลา 15.40 น. ขณะที่ไอมานกำลังรับประทานอาหารอยู่ที่โต๊ะทำงาน มีเจ้าหน้าที่ทหารปรากฏตัวที่ร้านวีดาตขายผ้ากลูบง ซึ่งเป็นร้านขายเสื้อผ้าของไอมานและครอบครัว โดยเจ้าหน้าที่ได้ถามหาถึงบุคคลที่ชื่อไอมาน

หลังทราบถึงตัวเจ้าของชื่อดังกล่าวเจ้าหน้าได้ทำการจับกุม พร้อมตรวจค้นสิ่งผิดกฎหมายภายในร้านโดยใช้เวลาประมาณ 1 ชม. แต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ไอมานขอติดต่อหาทนายความ แต่เจ้าหน้าที่ทหารไม่อนุญาตโดยแจ้งว่า ตนมีสิทธิที่จะไม่ให้โทรหาใครก็ตาม เพราะพวกตนใช้อำนาจกฎอัยการศึก

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้พาตัวไอมานไปยังหน่วยเฉพาะกิจที่ 12 อ.เมือง จ.ยะลา พร้อมยึดโทรศัพท์ส่วนตัวรวมสามเครื่อง รถจักรยานยนต์ ฮอนด้าดรีม 1 คัน และเสื้อผ้าบางส่วนของไอมานและครอบครัวไปด้วย

เวลา 16.45 น. ภรรยาไอมานที่เพิ่งคลอดลูก 1 เดือน ได้ออกตามหาตัวสามีตามที่เจ้าหน้าที่ทหารได้แจ้งสถานที่ควบคุมตัวไว้ แต่เมื่อไปถึงปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งว่าไอมานไม่ได้ถูกควบคุมตัวในที่ดังกล่าว ภรรยาไอมานจึงตัดสินใจไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรจังหวัดยะลาพร้อมลงบันทึกประจำวัน

หลังจากนั้นไม่นานเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งกับภรรยาไอมานว่าทราบถึงสถานีควบคุมตัวของไอมานแล้ว อีกสักครู่ทางเจ้าหน้าที่ทหารจะนำตัวมาที่สถานีตำรวจฯ

กระทั่งเวลา 18.30 น. เจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยเฉพาะกิจที่ 12 จ.ยะลา ไดนำตัวไอมานมาพบภรรยาที่สถานีตำรวจฯ ซึ่งรออยู่ก่อนหน้าแล้ว โดยไอมานได้เผยต่อภรรยาของตนว่า เป็นการซัดทอดจากผู้ถูกควบคุมตัวก่อนหน้านี้กรณีเหตุระเบิดตลาดสดพิมลชัย ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ทหารได้นำตัวไอมานไปควบคุมตัวที่กรมทหารพรานที่ 41 ต.วังพญา อ.รามัน จ.ยะลา พร้อมแจ้งให้ภรรยาไอมานไปเยี่ยมในวันพรุ่งนี้ 

แก้ไขเพิ่มเติม 2.40 น. 24 ก.พ.2561

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มหาดไทยจับมือ สปสช.หนุน อปท.เร่งขับเคลื่อน 3 กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น

Posted: 23 Feb 2018 04:41 AM PST

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จับมือ สปสช.จัดประชุมขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น หนุน อปท.เดินหน้าดูแลสุขภาพประชาชน ภายใต้ 3 กองทุนบัตรทอง
 
23 ก.พ.2561 รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ ที่โรงแรมเซ็นทราฯ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  ได้ร่วมกันจัดการประชุมพัฒนาความร่วมมือในการสนับสนุนการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพ ในระดับท้องถิ่น โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งผู้แทนสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย สมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาพันธ์ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ผู้แทนสาธารณสุขจังหวัด นักวิชาการ และสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข เข้าร่วมงาน จำนวน 400 คน
 
ธนา ยันตรโกวิท รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวว่า การดำเนินงานเพื่อดูแลสุขภาพประชาชน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยเฉพาะท้องถิ่นที่เป็นกำลังสำคัญทำให้เกิดการเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ในฐานะหน่วยงานหลักในพื้นที่ ซึ่งภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ดำเนินงานกองทุนเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการะบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น 3 กองทุน คือ 1.กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กองทุนสุขภาพตำบล) 2.กองทุนระบบดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง (Long Term Care: LTC) และ 3.กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นระดับจังหวัด เพื่อส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมดำเนินการจัดบริการสาธารณสุขในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมุ่งหวังให้ประชาชน มีบทบาทดูแลสุขภาพตนเอง ครอบครัว ชุมชน สภาพแวดล้อมและสังคมโดยรวมอย่างยั่งยืน
 
ทั้งนี้จากการดำเนินงาน 3 กองทุน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถนำมาบริหารจัดการเพื่อบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามกรอบการดำเนินงานบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมตามความพร้อม ความเหมาะสม และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้ รวมถึงตามความแตกต่างของปัญหาสาธารณสุขในแต่ละพื้นที่ ทั้งยังเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแนวทางการทำงานแบบประชารัฐที่ภาครัฐกับประชาชนต้องมาร่วมกันคิดร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์
 
 "ความสำเร็จของการดำเนินงานทั้ง 3 กองทุนเพื่อบรรลุเป้าหมาย ต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อดูแลสุขภาพพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และ อปท. ผู้มีบทบาทสำคัญในพื้นที่ การประชุมในวันนี้เชื่อว่าจะนำไปสู่ความร่วมมือด้วยดีในการพัฒนาและสนับสนุนการดำเนินงานของทั้ง 3 กองทุน ให้เกิดประสิทธิภาพ" รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าว
 
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช.  กล่าวว่า สปสช. และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีความร่วมมือสนับสนุนการจัดระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ปี 2549 ได้ร่วมผลักดันท้องถิ่นเข้าร่วมดำเนินกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันมี อบต.และเทศบาลเข้าร่วมจำนวน 7,736 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 99.50 และได้ขยายสู่กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นระดับจังหวัด ขณะนี้มี อบจ. เข้าร่วมจำนวน 42 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 55.26 และกองทุนระบบดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง มี อบต. และเทศบาลเข้าร่วมจำนวน 4,274 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 54.97
 
สำหรับการดำเนินงานของ 3 กองทุน ที่ผ่านมามี อปท.เข้าร่วมดำเนินการจัดบริการสาธารณสุขในชุมชนบรรลุผลสำเร็จในระดับหนึ่ง เพื่อการดำเนินงานกองทุนเป็นไปอย่างครอบคลุม ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จำเป็นต้องมีการร่วมพัฒนาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานของทั้ง 3 กองทุนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นผลที่จะได้จากการประชุมในครั้งนี้
 
"เจตนารมณ์ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มุ่งให้ประชาชนผู้มีสิทธิกว่า 48 ล้านคน เข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขอย่างครอบคลุมและทั่วถึง โดยมีระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งในมาตรา 47 ได้ระบุถึงความร่วมมือกับ อปท. ในฐานะหน่วยงานหลักที่ใกล้ชิดกับชาวบ้านในพื้นที่และการสนับสนุนจัดระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น ด้วยงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา จากความร่วมมืออันดีโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้เกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ทั้งการรักษาพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค และฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ รวมถึงการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง และการประชุมในครั้งนี้จะยิ่งก่อให้เกิดการประสานการทำงานที่ดีร่วมกันเพื่อร่วมดูแลสุขภาพประชาชน" เลขาธิการ สปสช. กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ยืนยังเซ!

Posted: 23 Feb 2018 04:32 AM PST

 

พูดถึงรัฐใครเดือดเราเพื่อนกัน

เห็นทุกวันจิตตกนรกตรงหน้า

วันทั้งวันใจระริกจนแทบบ้า

ต้องหลับตานั่งนิ่งเยียวยาใจ

 

หนีก็หนีไม่เคยพ้น

อดทนก็แทบจะไม่ไหว

ทุกเรื่องทุกประเด็นขัดเคืองใจ

อยากหลบไปอยู่ป่าพระธุดงค์

 

รัฐประหารเข้ามาเพื่อสะสาง

แค่ข้ออ้างทำไม่ได้ไม่ประสงค์

ยึดอำนาจสร้างฐานความมั่นคง

ดึงประเทศลงหุบเหวทุกข์ระทม

 

ทำไม่ได้ไม่เข้าใจอะไรซักอย่าง

มีแต่สร้างบาดแผลเพิ่มหมกเม็ดถม

คืนความสุขแท้ที่จริงทุกคนตรม

ทุกวันขมทุกคืนขื่นยืนยังเซ

 

พูดถึงรัฐใครเศร้าเราเพื่อนกัน

หลับตาฝันถึงคืนวันแสงหันเห

มวลประชาทนไม่ไหวลุกฮือเฮ

เลิกลังเลกล้าแข็งขืนอยุติธรรม.

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: นักฉวยโอกาส!

Posted: 23 Feb 2018 04:21 AM PST

 

นักฉวยโอกาส !

เจ้าดำริจะสร้างชาติให้ยิ่งใหญ่

ชูธงธรรมดำรงค์ซึ่งธงไทย

ยึดอำนาจอธิปไตยไปถือครอง

 

เจ้ากำหนดกฏเกณ์เป็นเวรวรรค

อ้างหลักศีลธรรมความถูกต้อง

ใช้ปลายมีดขีดเส้นเป็นครรลอง

แล้วให้คนทั้งผองสนองมัน

 

เจ้าอุกอาจขลาดเขลาเบาปัญญา

เที่ยวปิดหู ปิดตา ไล่ฆ่าหั่น

ละเลงแผ่นดินด้วยอยุติธรรม์

จนบ้านเมืองข้างนอกนั้นหัวเราะเยาะ

 

นักฉวยโอกาส

ยุคแห่งทรราชนั้นแสนเปราะ

เมื่อสำนึกแหลมคมบ่มเพาะ

มันอาจแตกกระเทาะทลายทับ

 

เจ้าฉกชิงวิ่งราวจากชาวประชา

ก็สำเหนียกเสียด้วยว่าต้องแตกดับ

ประวัติศาสตร์ ภายภาคหน้า คณานับ

จะจดจารเจ้าไว้กับ อัปยศ !

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยูนิเซฟชี้เด็กโรฮิงญากว่า 7.2 แสนในเมียนมาร์-บังกลาเทศ อยู่ในอันตรายจากไซโคลน-ความรุนแรง

Posted: 23 Feb 2018 03:38 AM PST

ยูนิเซฟชี้เด็กชาวโรฮิงญากว่า 720,000 คนในเมียนมาร์และบังกลาเทศตกอยู่ในอันตรายจากพายุไซโคลนและความรุนแรง

ที่มาภาพ UNICEF/UN0147322/Brown

23 ก.พ.2561 องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย แจ้งว่า องค์การยูนิเซฟเรียกร้องให้มีการเร่งช่วยเหลือเด็กชาวโรฮิงญากว่า 720,000 คน ที่กำลังถูกคุกคามจากฤดูพายุไซโคลนที่ใกล้จะมาถึงในบังกลาเทศ และจากเหตุการณ์ความรุนแรงและการถูกลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานในเมียนมาร์

จากรายงาน LIVES IN LIMBO: No End in Sight to the threats facing Rohingya children ซึ่งเผยแพร่ในวาระครบรอบหกเดือนของการอพยพของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาไปยังภาคใต้ของบังกลาเทศ ยูนิเซฟระบุว่า ฤดูพายุไซโคลนที่กำลังใกล้เข้ามา อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมภายในค่ายอพยพของผู้ลี้ภัยซึ่งขาดสุขอนามัยอยู่แล้ว และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดโรคระบาดต่างๆ ซึ่งอาจทำให้คลินิก ศูนย์การเรียนรู้และบริการสำหรับเด็กต่าง ๆ อาจจำเป็นต้องปิดลง

รายงานยังกล่าวอีกว่า มีเด็กชาวโรฮิงญาประมาณ 185,000 คนยังตกค้างอยู่ในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมาร์ ซึ่งกำลังหวาดผวากับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น และในบังกลาเทศ ขณะนี้มีเด็กผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญารวมประมาณ 534,000 คนจากการอพยพที่ผ่านมา

"ขณะนี้เด็กชาวโรฮิงญาประมาณ 720,000 คน กำลังติดกับ ไปไหนไม่ได้ – ไม่ว่าจะถูกล้อมไปด้วยเหตุการณ์ความรุนแรง หรือต้องอพยพหนีภัยอยู่ในเมียนมาร์ หรือติดอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่แออัดยัดเยียดในบังกลาเทศ เพราะพวกเขากลับบ้านไม่ได้เช่นกัน นี่เป็นวิกฤติการณ์ที่เราไม่สามารถแก้ไขได้ในเวลาอันสั้น อาจต้องใช้เวลาหลายปีหากพวกเราไม่ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ" มานูเอล ฟอนเทน ผู้อำนวยการฝ่ายภัยพิบัติฉุกเฉินของยูนิเซฟ กล่าว

รายงานระบุว่า ชาวโรฮิงญาถูกขับไล่จากบ้านและชุมชนที่ตนอาศัย ถูกทอดทิ้ง ติดอยู่ในสถานที่ยากแค้น ไม่มีที่ไป ถูกลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐาน ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับภัยคุกคามต่อสุขภาพและชีวิต

ยูนิเซฟได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลพม่ายุติการใช้ความรุนแรงในทันที และแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในรัฐยะไข่ ทั้งในด้านการลิดรอนเสรีภาพในการเดินทางของชาวโรฮิงญา การเข้าไม่ถึงบริการด้านสาธารณสุขและการศึกษา ตลอดจนการดำรงชีวิตที่ยากลำบากที่สุด  รายงานยังระบุว่า การคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของชาวโรฮิงญาเป็นสิ่งที่จะช่วยให้พวกเขากลับบ้านเดิมในเมียนมาร์ได้

"พวกเขาจะไม่กลับบ้านจนกว่าจะมีการรับประกันความปลอดภัย ได้สัญชาติ สามารถส่งลูกหลานไปเรียนหนังสือเพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าได้" ฟอนเทน กล่าว

นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 ยูนิเซฟและองค์กรอื่น ๆ ไม่สามารถเดินทางเข้าถึงพื้นที่หลายแห่งในรัฐยะไข่ ทำให้การให้ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นไปอย่างยากลำบาก ยูนิเซฟได้ออกมาเรียกร้องให้เปิดพื้นที่อย่างไม่มีข้อจำกัดโดยด่วน เพื่อให้การช่วยเหลือเข้าถึงเด็กทุกคน นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหาในระยะยาวเพื่อลดความขัดแย้งและเพื่อความสงบสุขในสังคม

สำหรับในบังกลาเทศ รัฐบาลกำลังดำเนินการป้องกันภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น โดยชุมชนกำลังให้การช่วยเหลือเด็กกว่า 79,000 คน ในขณะเดียวกัน ยูนิเซฟกำลังเร่งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เด็กชาวโรฮิงญาที่อพยพหนีภัย ทั้งในด้านการจัดหาแหล่งน้ำสะอาด การสร้างห้องน้ำหลายพันห้อง และสนับสนุนโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์ โรคหัดและโรคอื่น ๆ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“รัฐ” กับการศึกษารัฐไทย: ไชยันต์ รัชชกูล | กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด | วรเจตน์ ภาคีรัตน์

Posted: 23 Feb 2018 02:47 AM PST

การอภิปรายจากเวทีเสวนา "รัฐ" กับการศึกษารัฐไทย ไชยันต์ รัชชกูล ชวนตั้งคำถามเมื่อต้องทำการศึกษา "รัฐไทย" กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด เสนอประวัติศาสตร์ "รัฐไทย" กับบริบทโลก เพราะเหตุใดคนที่อยู่ในสาขาวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจึงต้องศึกษาเรื่องรัฐ ขณะที่ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ชี้ว่ารูปแบบของรัฐ เป็นคำตอบสุดท้ายที่ไม่มีใครคิดถึงแต่ต้น

ในการเสวนา "รัฐ" กับการศึกษารัฐไทย เมื่อวันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ห้องประชุมสีฟ้า ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มีผู้อภิปรายประกอบด้วย ไชยันต์ รัชชกูล คณะรัฐศาสตร์และคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยาผู้เขียน "อาณานิคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์" (The Rise and Fall of the Thai Absolute Monarchy) ซึ่งตั้งข้อสังเกตต่อแนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์ รวมทั้งการศึกษาเกี่ยวกับ "รัฐไทย

ขณะที่ กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนThe Rise and Decline of Thai Absolutism อภิปรายเรื่องเหตุใดคนที่อยู่ในสาขาวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจึงต้องศึกษาเรื่องรัฐ

และ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองจากมุมกฎหมาย พร้อมเสนอว่าเรื่องรูปแบบรัฐไทย เป็นคำตอบสุดท้ายที่ในแวดวงนักกฎหมายไม่เคยคิดกับเรื่องนี้เลยตั้งแต่ต้น

โดยการอภิปรายเป็นส่วนหนึ่งของการเสวนาวิชาการชุด "สะท้อนย้อนคิดสังคมศาสตร์ ศาสตร์สังคม" ครั้งที่ 1 จัดโดย คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Critical mind ในการศึกษารัฐไทย
ไชยันต์ รัชชกูล

 

อันนี้พูดจากใจ ตอนที่เกิดรัฐประหารเมื่อสามปีก่อน ผมบอกว่ารัฐไทยมันก็อย่างนี้ จะให้มันมากไปกว่านี้หรือ คิดอย่างนั้นได้ก็ปลงว่าต้องเตาะแตะไปเช่นนี้ แต่นี่ก็เตาะแตะมาสามสี่ปีแล้ว ความใจเย็นมันจึงหายไป การประชุมครั้งนี้คงจะมีส่วนที่เราจะได้เห็นว่า เราอาจต้องมาทุ่มการศึกษาเรื่องรัฐไทยให้จริงจังมากกว่านี้

 

ผมเรียนปริญญาตรีโดยไม่เคยเข้าใจคำว่า critical (วิพากษ์) อาจารย์ หนังสือว่ายังไงก็ต้องตามนั้น เป็น mind set (ชุดความเชื่อที่ส่งผลต่อพฤติกรรม) ตอนเรียน พอมาเรียนทางสังคมศาสตร์ก็เชื่อตามนั้นไปหมด ตัวอย่างอันหนึ่งคือ หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มี 10 กว่าเล่มทุกเล่มพูดเหมือนกันหมดว่า ประเทศไทยเป็นกรณียกเว้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของตะวันตก เก่งกล้าสามารถ เราเป็นนักเรียนจะไปเถียงยังไง ในคำนำ อ.วรเจตน์ พูดถึงรัฐกันชนว่าสยามเป็นรัฐกันชนระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส เรื่องนี้เราก็ฟังกันเรื่อยมา แต่รัฐกันชนเป็นยังไง มันมีเขตกันชนระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ คือ เส้นขนานที่ 38 แค่ 4 กิโลเมตรแล้วถ้าสองประเทศบีบมาจริงต้องการรัฐกันชนกว้างเท่าไทยเชียวหรือ เราก็ไม่ได้ตั้งคำถาม เราน่าจะถามต่อไปว่า สนธิสัญญา ทั้งที่จริงมันเป็น declaration (คำประกาศ) ซึ่งก็ระบุเพียงแต่ว่า ขออย่าให้ทั้งฝรั่งเศสหรืออังกฤษให้มีกองกำลังเข้าไปบริเวณนั้นและพื้นที่อยู่เชียงของ ติดจีน เป็นบริเวณนิดหนึ่งที่มีการตกลงกัน ไม่ใช่ไทยทั้งประเทศ แต่เราก็รับกันเรื่อยมาเรื่องแนวคิดรัฐกันชน

คำประกาศนั้นเกิดปี ค.ศ. 1896 พอปี ค.ศ. 1904 อังกฤษฝรั่งเศสรักกันดีมาก เพราะเยอรมันกำลังผงาดขึ้นในเวทีโลก อะลุ่มอล่วยกัน ฉะนั้น ไม่เห็นมีความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษที่ทำให้สยามรักษาเอกราชไว้ตามที่พูดกัน ความจริงฝรั่งเศสไม่มีน้ำยาตั้งแต่นโปเลียนแพ้ ดังนั้น ในการศึกษา หน่วยของการวิเคราะห์เราเอาแค่ไหน เอาเฉพาะสยามประเทศหรือ เอาเฉพาะในกรุงเทพฯ หรือ เอาเฉพาะผู้ปกรองหรือ เราไม่เอาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือประวัติศาสตร์โลกหรือ ถ้าเรามองประวัติศาสตร์ยุโรปจะทำให้เราไม่ต้องเถียงกันอีกเลยเพราะฝรั่งเศสไม่มีความหมายมากมายเท่าที่เราคิดว่าเขาเป็น แสดงว่าเราให้ความสำคัญฝรั่งเศสเกินจริง

กลับมาที่ประเด็นว่าผมไม่เข้าใจคำว่า critical พอเรียนมากขึ้น รู้มากขึ้นก็รู้สึกว่าทำไมมุสาแบบนี้ พูดดำเป็นขาว หรือเป็นคุณสมบัติของคนไทย มันไม่มีเค้าความเป็นจริงเลยในหลายเรื่อง การศึกษาเรื่องรัฐตอนหลังยิ่งไปมากกว่านั้น การเรียนสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์สำคัญที่ being critical กว่าผมจะเข้าใจคำนี้ก็ประมาณตอนปลายจะเรียนไม่จบปริญญาโท ครูผมบอกว่า you must be critical, you must elaborate your point. เขาไล่ผมกลับหลายครั้ง "being critical" สำคัญมากต่อการไม่เชื่ออะไรเลย ผมเคยพูดกับนิสิตนักศึกษาทีเล่นทีจริง ถ้าเขาบอกว่าอะไรสักอย่าง ขอให้นักศึกษาพลิกกลับให้ตรงกันข้าม พูดแบบนี้ก็เกินไปแต่มันมีประเด็น

ที่พูดอย่างนี้เพื่อบอกว่าเดี๋ยวนี้ทางสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ก้าวไปถึงว่าต้อง deconstruct (ถอดรื้อ) งานที่ศึกษาเรื่องรัฐมันต้อง deconstruct ไหม เราควร deconstruct เรื่องอะไร มีสองแนวใหญ่ คือ

1. แหล่งข้อมูล ต้องดูกันใหม่ แต่เราจะสำรวจหลักฐานได้ยังไงในเมื่อสิบเล่มพูดเหมือนกันหมด เราจะคิดเป็นอื่นได้อย่างไร

2. แนวคิดทฤษฎี ในส่วนแนวคิดทฤษฎีที่มีอยู่ คณะรัฐศาสตร์ของเราศึกษาเรื่องรัฐก็จริง แต่ศึกษาเรื่องการบริหารงานของรัฐ ถามว่าแล้วเราจะศึกษาอะไร ผมเป็นผู้นิยมมาร์กซ์ (Marxist) มันมีการพูดจนถึงตอนนี้ว่าเราไม่มีทฤษฎีว่าด้วยรัฐในแนวมาร์กซ์ ที่มีอยู่บ้างก็เป็นแนวการต่อสู้ในงานเขียนของเลนิน แต่ไม่ใช่เชิงวิชาการ ส่วนที่มาร์กซ์พูดถึงรัฐก็มีบ้างในงานของเขาแต่ไม่เขียนตรงๆ การศึกษาเรื่องรัฐมันเป็นเรื่องใหญ่ เป็นสถาบันที่ใหญ่มากและสำคัญมาก แต่เราไม่มีความรู้เรื่องนี้ เรามีแนวคิดทฤษฎีที่จะศึกษาเรื่องรัฐน้อยมาก ไม่นานนี้มีงาน Studies of Thai State : The State of Thai Studies ของเบน แอนเดอร์สัน เป็นงานรีวิวที่ดีมาก เขาบอกว่าน่าเสียดายที่เราไม่มีทฤษฎีเกี่ยวกับรัฐไทย นักรัฐศาสตร์ทุกมหาวิทยาลัยจะพูดถึงลักษณะของรัฐ เช่น มีพื้นที่ มีเขตแดน มีกฎหมาย มีอำนาจส่วนกลาง คำนิยามแบบนี้มาจากเวเบอร์ มันโอเคถ้าเราคิดว่ารัฐมันมีอยู่แล้ว แต่เราไม่มีคำอธิบายเรื่องการก่อตัวของรัฐ

สำหรับงานของ อ.กุลลดา พบว่าเราอ่านหนังสือเล่มเดียวกันหลายเล่ม และเล่มหนึ่งที่น่าสนใจซึ่ง อ.กุลลดาเองก็โควทหลายจุดคือ Charles Tilly เป็นงานสำคัญมาก เป็นทฤษฎีที่ศึกษาเรื่องรัฐ แต่ก็มีข้อจำกัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งเขาพูดถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของรัฐในยุโรป มันเป็นปัญหาของเรา เราไม่สามารถพึ่งหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งไม่ว่ามันจะวิเศษเพียงใดก็ตาม เรายังไม่มีงานที่ศึกษาการก่อตัวของรัฐไทย หากจะใช้ประเด็นของคาร์ล มาร์กซ์ เขาก็ดูเรื่องชนชั้น ในแง่การดูโครงสร้างของรัฐมันต้องดูคู่กับโครงสร้างของชนชั้น แต่มันก็ไม่เป็นกระจกส่องกันขนาดนั้น เพราะแต่ละโครงสร้างมีพลวัตรของตัวเอง มันจึงเป็นเรื่องที่เราต้องคิดในแต่ละกรณี class structure เป็นเงื่อนไข เป็นสภาพแวดล้อม เป็นตัวกำหนดบางส่วนในบางเวลาของ state structure และกลับกัน state structure ก็เป็นเงื่อนไข เป็นสภาพแวดล้อมที่เป็นตัวกำหนดในบางช่วงเวลาของ class structure

ในประเด็นแรกเรื่องแหล่งข้อมูล ปรากฏว่า นี่ก็เป็นปัญหาใหญ่ ไม่ได้หมายความว่า แหล่งข้อมูลที่ปรากฏตั้งใจจะมุสา แปลงข้อมูล แต่ปัญหาก็คือ ที่เขาบันทึกมันเป็นความรับรู้ของเขา ใครเป็นคนบันทึก ทางประวัติศาสตร์ก็สนอกันว่าต้องระวัง แต่ถึงระวังอย่างไรถ้ามันเข้าหัวเราโดยไม่ต้องตั้งคำถามมันก็รับว่าเป็นความเป็นจริงเช่นนั้น ยกตัวอย่าง เมืองประเทศราช หมายความว่าประเทศนั้นเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสยาม อันนี้ชนชั้นนำกรุงเทพฯ คิดใช่ไหม คนที่นั่นเขาคิดอย่างนั้นไหมในสมัยนั้น คนเชียงใหม่ คนปัตตานี ฯลฯ ผมคิดว่าเขาไม่ได้รู้สึกแบบนั้นแม้กระทั่งปัจจุบัน และยังมีอีกหลายคำที่เป็นเช่นนี้ พอหนังสือว่าอย่างนั้น เราก็ถือเป็นเช่นนั้นราวกับว่าประเทศไทยมีแล้ว ผมคิดว่านี่คือหัวใจของปัญหาของการศึกษาเรื่องรัฐไทย

เราเคยได้ยินบ่อยๆ ว่า ปัญหาของนักรัฐศาสตร์ก็คือ ไม่มีมิติทางประวัติศาสตร์ ทีนี้มิติทางประวัติศาสตร์คืออะไร การศึกษาทางประวัติศาสตร์มันแก้ปัญหาไหม เราศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ไทยราวกับว่าประเทศไทยมีอยู่เช่นนี้นานแล้ว อันนี้คือหัวใจเลยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศหรือเปล่า พูดอย่างนี้ไม่ได้จงเกลียดจงชังประเทศนี้ ความเป็นประเทศใหม่ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ประเทศไหนๆ ก็ใหม่หมดเลย เยอรมันเป็นประเทศเมื่อ 1871 นี่เอง ใกล้ๆ กับของไทยเลย เมื่อก่อนไม่ได้เป็นประเทศ ประเทศที่เหมือนเก่าแก่มากอย่างโรมก็เพิ่งปี 1861 ที่เป็นประเทศอิตาลี เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นปัญหาคนทางเหนือกับคนทางใต้เขาหมันไส้กัน ประเทศอื่นๆ ก็เข้าลักษณะนี้หมด เพราะการเป็นประเทศไม่ใช่จู่ๆ ขึ้นมาเป็น การมีเส้นเขตแดนขึ้นมาก็เป็นการแบ่งสองส่วน แต่มันก็เป็นช่วงเดียวกันหมด เป็นช่วงของการเกิด "รัฐชาติ" แม้ผมจะไม่ค่อยชอบคำนี้นัก ประเทศที่เป็นประเทศแรกของโลกที่อ้างว่าเป็นรัฐชาติ คือ อังกฤษ ประเทศไทยเป็นประเทศใหม่เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ฉะนั้น การมีรัฐเกิดขึ้นไม่ได้เกิดเดี่ยวๆ มันต้องเป็น system of states คือเป็นช่วงเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ไล่ตั้งแต่อินเดีย อิร่าน อิรัก ทำให้เราต้องมาศึกษากันใหม่ถึงความใหม่และการเตาะแตะขยับเดินจนสร้างเป็นรัฐ เนื่องจากเป็นองค์กรที่ใหญ่มากและสำคัญมากอย่างยิ่ง มันใช้เวลาและมีความยุ่งเหยิง ปั่นป่วน ของขบวนการสร้างรัฐ

อันนี้พูดจากใจ ตอนที่เกิดรัฐประหารเมื่อสามปีก่อน ผมบอกว่ารัฐไทยมันก็อย่างนี้ จะให้มันมากไปกว่านี้หรือ คิดอย่างนั้นได้ก็ปลงว่าต้องเตาะแตะไปเช่นนี้ แต่นี่ก็เตาะแตะมาสามสี่ปีแล้ว ความใจเย็นมันจึงหายไป การประชุมครั้งนี้คงจะมีส่วนที่เราจะได้เห็นว่า เราอาจต้องมาทุ่มการศึกษาเรื่องรัฐไทยให้จริงจังมากกว่านี้

 

ประวัติศาสตร์ "รัฐไทย" กับบริบทโลก
เส้นทางการปฏิรูปหรือปฏิวัติ
กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด

 

จุดนั้นทำให้ค้นพบว่า ลัทธิชาตินิยมไม่ได้สร้างสมัย ร.6 แต่เกิดในสมัย ร.5 เป็นลัทธิที่ต้องการให้ประชาชนเป็นผู้ผลิต มีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งแตกต่างกับลัทธิชาตินิยมที่เกิดขึ้นในสมัย ร.6 อย่างสิ้นเชิง รัฐสมัยใหม่ก็เลยได้สร้างคอนเซ็ปท์เรื่องชาติ (nation) ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในสมัย ร.5 ปรากฏในแบบเรียนต่างๆ โดยเฉพาะหนังสือธรรมจริยา การทำให้คนตระหนักในความรู้สึกเป็นชาติเพื่อทำให้คนเป็นผู้ผลิตให้ระบบเศรษฐกิจ

 

หัวข้อ "รัฐไทย" เป็นหัวข้อที่ใช้เวลาเกือบตลอดชีวิตวิชาการในการศึกษา ผู้เชิญตั้งประเด็นมา 3 ประเด็น คือ 1.เหตุใดคนที่อยู่ในสาขาวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจึงศึกษาเรื่องรัฐ 2.ดิฉันใช้วิธีการศึกษาอย่างไร 3.กรณีของรัฐไทย ความเป็นรัฐสมัยใหม่สมบูรณ์แล้วหรือยัง

ตอนที่อยู่ในภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต้องเรียนทฤษฎีหลักๆ โดยเฉพาะทฤษฎีสัจนิยม ซึ่งถือ "รัฐ" เป็นตัวตนอันหนึ่งที่จะไปมีปฏิสัมพันธ์กับตัวตนอื่นๆ ในระบบโลก แต่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับตัวตนนี้ของรัฐ แล้วก็ยังมีข้อสรุปอีกว่า รัฐมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นไปตามกฎซึ่งเป็นสัจธรรมเลยว่า รัฐก็มีผลประโยชน์และแสวงหาอำนาจเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ตรงนี้เป็นคำอธิบายที่มีพลังมาก แต่มันคงไม่ใช่แค่นั้น เราต้องทำความรู้จักกับรัฐให้มากกว่านี้ จึงสมัครเรียนวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ LSE แต่เขาไม่รับก็เลยต้องเฉไปที่ SOAS และท้ายที่สุดได้เรียนสาขาวิชา Politics and Economics พอจบปริญญาโทต้องทำปริญญาเอกในปี 1975 ตอนนั้นประเด็นสำคัญคือ การก่อตัวของความคิดและขบวนการชาตินิยมในสังคมไทย โดยอยากเข้าใจต้นกำเนิดของลัทธิชาตินิยมในสังคมไทย โดยทั่วไปเข้าใจกันว่าเกิดขึ้นในรัชกาลที่ 6 จึงต้องทำงานค้นคว้าในช่วงนั้น อันที่จริงตอนเริ่มทำวิทยานิพนธ์ได้รับแรงบันดาลใจจากงานอ.อคิน รพีพัฒน์ ที่พูดเรื่องระบบอุปถัมภ์ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ เกิดความสงสัยมากว่าระบบอุปถัมภ์ยังมีไหมและเป็นอย่างไรในสังคมปัจจุบันแต่ไม่สามารถค้นหาคำตอบนี้ได้ จึงมาที่ลัทธิชาตินิยม ครูตั้งคำถามว่า เธออยากจะคุยกับคนเป็นหรือคนตาย ก็คิดหนักอยู่นานเหมือนกันแล้วเลือกว่าคุยกับคนตายดีกว่า เพราะไม่มีการถามตอบ ครูก็เลยบอกให้เข้าไปในหอจดหมายเหตุ

โดยใช้เวลาฝังตัวในนั้นและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับรัชกาลที่ 6 ท่านได้สร้างขบวนการชาตินิยมที่สำคัญคือ กองเสือป่า รัชกาลที่ 6 สร้างเสือป่าขึ้นเพื่อรับมือกับปัญหาสำคัญในระบบราชการ ท่านเคยพูดว่า "เป็นผู้น้อยต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ ต้องมีวินัย ต้องจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์" แต่เราก็ไม่เห็นชัดๆ ว่าปัญหาที่ท่านในฐานะกษัตริย์ต้องเผชิญคืออะไร เมื่อไม่สามารถอธิบายได้ ดิฉันก็เลิกทำ แล้วกลับมาเมืองไทยแล้วฝังตัวในหอสมุดแห่งชาติ โดยคิดว่าต้องหาคำตอบจากสมัยรัชกาลที่ 5 แทนแม้คนจะบอกว่าคนทำเยอะมากแล้ว แต่คิดว่าต้องทำเพื่อตอบคำถามของตนเอง

จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ การพบว่าระบบราชการสมัยใหม่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากของรัฐสมัยใหม่ ความพยายามเข้าใจปัญหาระบบราชการได้พาไปสู่ข้อสรุปว่าคงต้องศึกษา state formation (การก่อตัวของรัฐ) ด้วย จนเข้าใจว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการเปลี่ยนเข้าสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ คำถามคือเปลี่ยนจากอะไร ในเชิงทฤษฎีพูดกันว่ารัฐสมัยใหม่คือรัฐที่เรียกว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แล้วก่อนหน้านั้นเป็นอะไร นักประวัติศาสตร์ไทยบอกว่าก่อนหน้านั้นเราเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งไม่เห็นด้วย จริงๆ คิดว่ามันเป็นรัฐศักดินาแล้วก็เป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งเป็นรัฐสมัยใหม่ ก่อนจะไปสู่รัฐชาติ ครูบอกถ้าเธอเขียน "รัฐศักดินา" เธอไม่จบแน่ สุดท้ายยอมเรียกว่า "รัฐก่อนสมัยใหม่" ในวิทยานิพนธ์

วิธีการศึกษาเรื่องรัฐสมัยใหม่ของไทยมี 2 วิธีด้วยกัน คือ ไปอ่านรัฐสมัยใหม่ของประเทศอื่น ดิฉันเริ่มศึกษารัฐในยุโรปตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษกับฝรั่งเศส จนกระทั่งเขียนเป็นตำราออกมา อีกแบบหนึ่งคือ ค้นเอกสารประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะจากกองจดหมายเหตุแห่งประเทศไทย ปัญหาสำคัญคือ อะไรเป็นตัวผลักดันให้เกิดรัฐสมัยใหม่ขึ้นมาได้ คำตอบที่พบก็คือ เศรษฐกิจเป็นตัวกำหนด แต่ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจภายในเท่านั้น เรายังเห็นการค้าขายข้ามพรมแดนด้วย เลยสนใจระบบทุนนิยมโลก ทฤษฎีระบบโลก การก่อตัวของระบบทุนนิยมที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับรัฐไทย ถึงตอนนี้คำตอบที่พอใจก็คือ อังกฤษเข้ามาทำการค้ากับไทยในสมัย ร.5 และเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เราเปลี่ยนรัฐจากรัฐศักดินามาเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ พอดีกับเอกสารที่ค้นพบจากหอสมุดแห่งชาติก็บอกเช่นนั้น ทำให้มั่นใจว่าพลังที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงรัฐคือ พลังทางเศรษฐกิจ ทำให้อวดดีเถียงกับนักวิชาการคนอื่นว่า ไม่ใช่สงครามสร้างรัฐ (war makes state) แต่เป็นเศรษฐกิจสร้างรัฐ (economics makes state)

จุดนั้นทำให้ค้นพบว่า ลัทธิชาตินิยมไม่ได้สร้างสมัย ร.6 แต่เกิดในสมัย ร.5 เป็นลัทธิที่ต้องการให้ประชาชนเป็นผู้ผลิต มีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งแตกต่างกับลัทธิชาตินิยมที่เกิดขึ้นในสมัย ร.6 อย่างสิ้นเชิง รัฐสมัยใหม่ก็เลยได้สร้างคอนเซ็ปท์เรื่องชาติ (nation) ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในสมัย ร.5 ปรากฏในแบบเรียนต่างๆ โดยเฉพาะหนังสือธรรมจริยา การทำให้คนตระหนักในความรู้สึกเป็นชาติเพื่อทำให้คนเป็นผู้ผลิตให้ระบบเศรษฐกิจ

ต่อไปก็ต้องอธิบายว่า รัฐสมบูรณาญาสิทธิ์มีช่วงอายุที่น้อยมาก ต้นรัชกาลที่ 5 ปลายศตวรรษที่ 19 ยังไม่ถึงกลางศตวรรษที่ 20 ก็ไปเสียแล้ว จึงต้องอธิบายว่ามันไปอย่างง่ายๆ ด้วยเหตุผลอะไร เราพบว่ามันเกี่ยวข้องกับระบบราชการ เพราะสมาชิกในระบบราชการคือคนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านระบบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ระบบราชการสมัยใหม่ก่อให้เกิดความไม่พอใจในหลายระดับในหมู่ชนชั้นนำด้วยกันเอง นั่นคือ พระมหากษัตริย์กับเสนาบดี และที่มีเรื่องกันมากก็คือลูกของท่านเอง ที่สำคัญระบบราชการสมัยใหม่ยังสร้างความไม่พอใจให้ข้าราชการชั้นกลางที่เป็นคนที่ได้รับการศึกษา ผ่านระบบการศึกษาสมัยใหม่ที่ ร.5 สร้างขึ้นมา คนพวกนี้ไม่พอใจเพราะระบบอุปถัมภ์ การเติบโตของระบบราชการทำให้ข้าราชการรุ่นใหม่รู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต การต่อสู้ให้ได้เลื่อนฐานะในระบบเป็นเรื่องลำบากเพราะยังเอาชาติตระกูลมาเป็นเงื่อนไขในการเลื่อนตำแหน่งด้วย ความไม่พอใจในระบบราชการทำให้เกิดกระแสชาตินิยมอีกกระแสหนึ่งขึ้นมา กระแสอันใหม่เสนอว่า ความจงรักภักดีนั้นควรมีต่อชาติ ไม่ใช่ต่อพระมหากษัตริย์ แนวความคิดนี้เป็นแรงผลักดันสำคัญให้เกิดเหตุการณ์ 2475 ขึ้นมา

ในการศึกษาเรื่องรัฐนี้นอกจากจะได้ประโยชน์จากคำอธิบายเรื่องระบบทุนนิยมโลกแล้ว ดิฉันก็ยังได้ประโยชน์จากทฤษฎี Critical International Political Economy ของ Robert Cox ด้วย เขาอธิบายโดยเอารัฐไปอยู่ตรงกลางระหว่างสองพลังคือ พลังทางสังคม (Social Forces) กับระเบียบโลก (World Orders) มันจึงเป็นทฤษฎีที่ให้ความสำคัญกับพลังต่างๆ ที่อยู่ภายในรัฐ และพลังที่เหนือรัฐขึ้นไปหรือก็คือระบบโลกด้วย Cox เป็นคนที่ทำให้คำเหล่านี้แพร่หลาย ระบบโลกที่มีอังกฤษเป็นศูนย์กลางเรียก Pax Britannica ส่วนระบบโลกที่มีอเมริกาเป็นศูนย์กลางเรียก Pax Americana นอกจาก Cox จะทำให้เห็นส่วนต่างๆ ของระบบทั้งหมดยังให้ความสนใจกับการสร้างอุดมการณ์นำหรืออำนาจนำเพื่อซับพอร์ตทั้งระบบโลกและระบบรัฐด้วย ตอนที่ได้อิทธิพลจากความคิดค็อกซ์ทำให้เข้าใจกระบวนการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งได้ดีขึ้น เรามองว่า ร.4 ทำสนธิสัญญากับอังกฤษ แต่จริงๆ แล้วมี 2 กลุ่มเป็นอย่างน้อยที่ขัดแย้งกันอยู่ คือกลุ่มที่อยากให้ทำสนธิสัญญา กับกลุ่มที่ไม่อยากให้ทำสนธิสัญญา เพราะฐานของผลประโยชน์ของสองกลุ่มนี้แตกต่างกัน ผลประโยชน์ของพวกที่ไม่ต้องการให้ทำสนธิสัญญา คือ ขุนนางที่คุมเจ้าภาษีนายอากร เพราะสนธิสัญญานี้จะมารื้อระบบภาษีอากรของไทยทั้งหมดเนื่องจากอยากให้เราทำการค้าเสรี หากใครสนใจอยากหาหัวข้อทำวิทยานิพนธ์ประเด็นที่น่าศึกษาคือ โครงสร้างของภาษีอากรก่อนและหลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง หากทำให้เห็นเป็นภาพที่ชัดเจนขึ้นมาคงมีประโยชน์มาก แต่ต้องบ้าๆ แบบดิฉันคือต้องจมกับกองเอกสารเป็นเวลานาน

ถึงตอนนี้จึงพบว่าตัวเองสามารถกลับมามีที่ทางในวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ เป็นติ่งๆ ของทฤษฎีที่เรียกว่า International Political Economy แต่ไม่ได้สอนแบบกระแสหลักที่มักเน้นเรื่อง Finance ดิฉันให้ความสนใจกับ Social Forces, State, World Order พอมีที่ทางบ้างแต่ก็ไม่อาจนับได้ว่าดีนัก เพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่จะพูดเรื่อง Security ดิฉันเป็นคนเดียวที่พูดเรื่องทุนนิยมในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากพื้นฐานทางทฤษฎีไม่ว่า IPE หรือ World System และการอ่านงานของ Marxist บางคน เช่น Perry Anderson ที่อธิบายพัฒนาการของรัฐ ฯลฯ เหล่านี้เป็นฐานของการสร้างคำอธิบายที่เกี่ยวกับรัฐไทยในสมัยรัชกาลที่ 5

อย่างไรก็ตาม คณะรัฐศาสตร์พบว่าความรู้ของดิฉันไม่ค่อยเป็นประโยชน์กับเขาเท่าไร ดิฉันก็ตะเกียกตะกายในวิชาเลือกต่างๆ ทั้งหมดนี้ทำให้รู้สึกว่า ไม่ได้ทำหน้าที่ครูที่ทรงพลังในสาชาวิชารัฐศาสตร์ จึงหันไปทำวิจัย โดยเรื่องรัฐไทยกับ Pax Americana ได้ทุนจากธนาคารแห่งประเทศไทยทำให้สามารถไปดูเอกสารที่ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสได้ เรื่องนี้กำลังจะตีพิมพ์เร็วๆ นี้ อีกเรื่องหนึ่งคือ รัฐไทยกับเสรีนิยมใหม่ ดูบทบาทหรือสถานะของรัฐไทยในระบบเศรษฐกิจโลกที่มีชื่อว่า ลัทธิเสรีนิยม เงื่อนเวลาตั้งแต่ 1980 ถึงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ งานวิจัยชิ้นนี้ก็กำลังจะพิมพ์ออกมาเช่นกัน

อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้เกิดความสนใจในการตั้งคำถามเกี่ยวกับรัฐไทยต่อมา เนื่องจากเขียนหนังสือเรื่อง วิวัฒนาการของรัฐอังกฤษและฝรั่งเศสไว้ โดยสิ้นสุดที่อังกฤษเกิดการปฏิบัติและฝรั่งเศสเกิดการปฏิวัติ ซึ่งมันเหลื่อมกันในเรื่องเงื่อนเวลาคือ การปฏิวัติของอังกฤษเกิดปี 1688 ที่เรียกว่าการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (glorious revolution) การปฏิบัติฝรั่งเศสเกิดปี 1789 หนังสือพิมพ์มาหลายครั้งและขายหมดแล้ว เลยดำริกันว่าจะพิมพ์ใหม่แล้วเอาอังกฤษกับฝรั่งเศสมาเจอกัน เพราะศตวรรษที่ 18 อังกฤษกับฝรั่งเศสทำสงครามกันหลายครั้งแล้วยุติลงที่การประชุมที่เรียกว่า Congress of Vienna ตั้งใจจะจบที่ตรงนั้นพูดถึงสถานะสงครามระหว่างสองประเทศ แต่พออ่านหนังสือใหม่ก็ค้นพบว่ามีงานศึกษาเรื่องรัฐ คือ งานของ Michael Mann ชื่อ The Sources of Social Power เขาศึกษาละเอียดมาก เข้าใจว่ามี 4 volumes ขยายวิธีวิเคราะห์ว่า การเข้าใจพื้นฐานอำนาจของรัฐมีความเข้าใจนอกเหนือไปจากระบบเศรษฐกิจ แต่ยังมีสถานะของ geopolitics ของแต่ละรัฐ, อุดมการณ์ความเชื่อของรัฐ และยังมีองค์ประกอบของตัวผู้นำด้วย ในหนังสือของเขาศึกษารัฐในยุโรปเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เปิดหูเปิดตาจนต้องไปอ่านการเมืองอังกฤษในศตวรรษที่ 18

แล้วก็เลยเกิดคำถามที่ขอให้ท่านไปคิดต่อ ถ้าเข้าใจว่า glorious revolution คือ อำนาจของกษัตริย์ถูกจำกัดโดยรัฐสภา กษัตริย์ไม่สามารถออกกฎหมายเก็บภาษีใหม่ๆ โดยไม่ปรึกษารัฐสภา จนกระทั่งอังกฤษก็มีระบบที่เรียกว่า parliamentary democracy ซึ่งเราเห็นกันในปัจจุบัน แต่พอไปศึกษาประวัติศาสตร์อังกฤษในศตวรรษที่ 18 นั้นพบว่า เป็นการจำกัดอำนาจกษัตริย์เฉพาะเรื่องการเงินและภาษีอากร แต่พระมหากษัตริย์ในศตวรรษที่ 18 ในกรณีอังกฤษนั้นยังคงเป็นศูนย์กลางของการเมือง พระองค์แต่งตั้งเสนาบดีที่พระองค์พึงพอใจ ต้องรอนานกว่าศตวรรษ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษถึงจะกลายมาเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐสภาไม่ใช่จากพระมหากษัตริย์ เมื่อในกรณีของอังกฤษต้องใช้ช่วงเวลาเกินศตวรรษ มันก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นให้เราต้องคิดต่อในการเข้าใจวิวัฒนาการทางการเมืองของไทยยุคหลัง 2475 ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลของอังกฤษหลัง glorious revolution เขาเรียกว่า parliamentary monarchy มีความคล้ายคลึงไหมกับการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตรงนี้อาจต้องคิดต่อ

เราเห็นการปะทะกันระหว่างระบบเก่ากับระบบใหม่ ความพยายามรักษาอำนาจของระบบเก่า อาจมองได้จากการที่ระบบประชาธิปไตยของเรายังมีวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง ซึ่งก็เป็นตัวแทนของอำนาจเก่าที่คงอยู่ บางครั้งที่เราคิดว่าเราเป็นประชาธิปไตย เพราะพลังของ Nation ที่มีอำนาจขึ้นมาทำให้ได้เห็นเรื่อง ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง แล้วก็ยังยื้อกันอยู่กับแต่งตั้งและเลือกตั้ง อีกประเด็นทีได้จาก Michael Mann คือ รัฐสมัยใหม่เกิดควบคู่มากับทุนนิยม เขาไม่สนใจระบบโลก ซึ่งดิฉันก็มีคำถาม อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล บอกว่ารัฐไทยหลังสนธิสัญญาเบาว์ริ่งเปลี่ยนเป็นรัฐทุนนิยม ซึ่งดิฉันไม่เห็นด้วย ใช้เวลานานมากเถียงกับอาจารย์เก่งกิจ กิตติเรียงลาภ ว่าเราจะเริ่มต้นการเกิด "ทุนนิยม" ที่ไหน เราเริ่มเห็นความเป็นทุนนิยมเมื่อเราอเมริกามาบอกให้เรามีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแล้วก็เปิดรับการผลิตในแบบอุตสาหกรรมและทดแทนการนำเข้า หรือเป็นทุนนิยมมากขึ้นเมื่อญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนหลัง Plaza Accord จุดเริ่มต้นอยู่ตรงไหน ต้องยอมรับว่า อย่างน้อยหลัง 2475 เราเริ่มมีการผลิตเป็นแบบอุตสาหกรรมทุนนิยมที่รัฐเป็นผู้นำ เริ่มเกิดรัฐวิสาหกิจ และผู้ที่มีบทบาทในการตัดสินใจนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญคือ ชนชั้นนำในระบบราชการ ไม่ใช่พระมหากษัตริย์อีกต่อไป เรื่องนี้ก็ยังถกเถียงกันได้

อีกประเด็นคือเรื่องรัฐชาติ ดิฉันถือว่า คำว่ารัฐชาตินั้นเกิดขึ้นในปี 2475 เมื่ออำนาจอธิปไตยของรัฐย้ายจากองค์พระมหากษัตริย์มาสู่ประชาชน อยากชี้ให้เห็นนิดหนึ่งว่า คำว่า รัฐชาติ เกิดขึ้นมาในช่วงหลังการได้รับเอกราช รัฐอาณานิคมต่างๆ เมื่อได้รับเอกราชก็กลายเป็นรัฐชาติ ในกระบวนการรับเอกราชมันได้มีการโอนถ่ายอำนาจอธิปไตยมาสู่ nation ในกรณีของรัฐไทยอำนาจอธิปไตยไม่ได้อยู่ที่เจ้าอาณานิคมแต่อยู่ที่พระมหากษัตริย์ จึงต้องมองว่า 2475 คือกระบวนการที่อำนาจอธิปไตยได้ถ่ายจากองค์พระมหากษัตริย์มาที่ nation หรือประชาชน ทำให้เรามีความเป็นรัฐชาติ

ฉะนั้น การศึกษาเรื่องรัฐยังไม่สมบูรณ์ ถ้าเรายังมองว่าความเป็นสมัยใหม่ของรัฐไทยต้องทำอีกเยอะ รัฐไทยขณะนี้มีลักษณะไม่แตกต่างไปจากรัฐยุโรปคือ อังกฤษและฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 มากเท่าไหร่นัก เรื่องของ class และ nation ควรต้องได้รับความสนใจให้มากกว่านี้ แล้วจะศึกษาในรูปแบบไหน ดิฉันก็เสนอว่า เรื่องความเป็น nation ความเป็น class มันไม่ใช่อย่างเดียวกันแต่มันไปด้วยกัน ถ้าคนจำนวนหนึ่งในสังคมไทยเรียกร้องว่าตนมีสิทธิที่จะลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง ถือว่านี่คือการแสดงออกซึ่งความเป็น nation ความเป็นเจ้าของประเทศของคนไทย ในขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงในชนบท เราได้เห็นงานของนักวิชาการหลายคนที่เห็นการก่อตัวของชนชั้นใหม่ในชนบท ซึ่งพ้นจากความเป็นชนชั้นล่างมาเป็นระดับที่อาจเรียกว่า ไม่ถึงกับ bourgeoisie แต่เป็น petite bourgeoisie หรือกระฎุมพีน้อย สิ่งที่ค้นพบจากการอ่านระยะหลังของประวัติศาสตร์ยุโรปคือข้อเสนอที่บอกว่า พลังที่สำคัญที่สุดในการปฏิวัติฝรั่งเศสนั้นไม่ใช่ กระฎุมพี แต่เป็น กระฎุมพีน้อย คนระดับช่างฝีมือ คนที่เป็นพ่อค้ารายย่อย ฯลฯ คนเหล่านี้มีข้อเรียกร้องที่ก้าวหน้ามากที่สุดหรือถึงราก (radical) มากที่สุดในการปฏิวัติฝรั่งเศส เรากำลังมีชนชั้นแบบนี้ขึ้นรึเปล่าในสังคมไทย แล้วข้อเรียกร้องเรื่องสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมาจากคนเหล่านี้รึเปล่า คงต้องศึกษากันต่อไป

สุดท้ายเมื่อศึกษาประวัติศาสตร์อังกฤษในปลายศตวรรษที่ 18 พบว่าอังกฤษมีองค์ประกอบหลายอย่างที่คล้ายคลึงกับฝรั่งเศส แล้วอังกฤษก็มีโอกาสจะเกิดการปฏิวัติขึ้นในระยะเวลาดังกล่าวด้วย แต่ในที่สุดอังกฤษก็เลือกการปฏิรูปแทนการปฏิวัติ แต่อยากขอสรุปสุดท้ายว่า เงื่อนไขความสำเร็จของการปฏิรูปของอังกฤษมีหลายประการด้วยกัน แต่ที่สำคัญที่สุดคือ อังกฤษมีทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจภายใน และการเติบโตของเศรษฐกิจในฐานะที่เป็นจักรวรรดิด้วย แล้วยังมีอุบัติเหตุทางประวัติศาสตร์คือ พระมหากษัตริย์ทรงพระประชวร ทำให้คนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปลายศตวรรษที่ 18 มีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมีบทบาทเหนือพระมหากษัตริย์ นี่เป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้แปลว่าเราต้องมีอย่างนั้น เราจะเลือกปฏิรูปหรือปฏิวัติเป็นเรื่องต้องดูกันต่อไป

 

รูปแบบของรัฐ
คำตอบสุดท้ายที่เราไม่เคยคิดถึงแต่ต้น
วรเจตน์ ภาคีรัตน์

 

การก่อรูปของรัฐไทยไม่เคยปล่อยให้ดินแดนต่างๆ มีอิสระแล้วรวมกันแบบหลวมๆ ขึ้นมาตั้งหรือตั้งในรูปของมลรัฐตั้งแต่แรก หากเราดูการขยายอำนาจของกรุงเทพฯ ที่เป็นการผนวกเอาส่วนต่างๆ มาเป็นเนื้อเดียวกันกับกรุงเทพฯ

 

ในการศึกษาเรื่องรัฐ วัตถุของการศึกษาคือตัวรัฐซึ่งศึกษาได้หลายมิติ ทั้งประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและรวมถึงกฎหมายมหาชนด้วย แต่ละมิติก็มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป โดยพื้นฐานผมเป็นนักกฎหมาย เวลาที่พูดถึงเรื่องรัฐก็นึกรัฐในแง่สถาบันที่สำคัญในทางกฎหมายมหาชน ข้อถกเถียงเกี่ยวกับรัฐในทางกฎหมายก็จะผิดแผกไปจากวิชาสาขาอื่น วิธีการศึกษาก็ต่างเหมือนกัน นักกฎหมายไทยยังหมกมุ่นกับประเด็นว่ารัฐไทยเป็นนิติบุคคลหรือไม่ สามารถถูกฟ้องคดีได้หรือเปล่า ยังอยู่กันตรงนั้น และบ้านเราในแง่กฎหมายอาจแปลกประหลาดกว่าที่อื่น เราทำให้บรรดาองคาพยพของรัฐ กระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ มีสภาพเป็นบุคคลที่ถูกฟ้องคดี ในขณะที่ความเป็นนิติบุคคลของรัฐดูเหมือนไม่ได้ใช้ในทางปฏิบัติในระบบกฎหมายไทย

แม้ว่ารัฐจะมีฐานะเป็นวัตถุที่ศึกษาในหลายสาขาวิชาก็ตาม แต่จะบอกว่ามันไม่เกี่ยวพันกันเลยก็คงไม่ได้ แน่นอนว่า วิชาประวัติศาสตร์กับรัฐศาสตร์อาจดูเกี่ยวพันกันมากกว่ากฎหมายมหาชน อ.ไชยันต์ (รัชชกูล) ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญว่า เราไม่สามารถทำความเข้าใจรัฐได้หากไม่เห็นแง่มุมทางประวัติศาสตร์หรือการผันแปรเปลี่ยนแปลงหรือการก่อตัวขึ้นของรัฐ คำกล่าวนี้อาจใช้ได้เหมือนกันกับกฎหมายมหาชนหรือประวัติศาสตร์กฎหมาย เราอาจไม่เข้าใจสภาพของกฎเกณฑ์หรือกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ถ้าเราไม่เห็นว่ารัฐไทยที่อยู่ในปัจจุบันฟอร์มตัวขึ้นมาอย่างไร

ตอนอ่านหนังสือ อ.ไชยันต์ เรื่อง อาณานิคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผมได้ความกระจ่างหลายประเด็นในแง่การรู้จักรัฐไทยดียิ่งขึ้น เพราะมีการพูดถึงการก่อรูปของรัฐไทยสมัยใหม่ หนึ่งในประเด็นนั้นคือเรื่อง กำนันผู้ใหญ่บ้าน หลายคนสงสัยว่าปัจจุบันเรามีระบบการปกครองท้องถิ่นแล้ว แต่ทำไมระบบกำนันผู้ใหญ่บ้านยังมีอยู่ แล้วระบบกำนันผู้ใหญ่บ้านเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เราจะไม่เข้าใจฟังก์ชันของมัน ถ้าไม่เห็นการขยายอำนาจของรัฐกรุงเทพฯ ออกสู่ดินแดนต่างๆ ซึ่งในตอนนั้นมีสภาพเป็นอิสระหรือกึ่งอิสระจากกรุงเทพฯ อยู่ โดยมีกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นข้อต่ออำนาจจากส่วนกลางลงไปเชื่อมกับคนในท้องถิ่น ปัจจุบันความจำเป็นของกำนันผู้ใหญ่บ้านอาจไม่เหมือนในอดีต แต่เราพบว่าการเลิกตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นเรื่องยากเย็นมาก

โดยเหตุที่ในวงนี้พูดเรื่องรัฐไทยเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการก่อตัวของรัฐไทย ผมอยากขอร่วมวงด้วยโดยพูดจากพื้นฐานของนักฎหมาย เราคงทราบว่ารัฐสมัยใหม่เกิดขึ้นมาไม่นานมาก กรณีของไทยเพียงร้อยกว่าปี ตอนที่ อ.ไชยันต์พูดถึงเยอรมัน เยอรมันเป็นรัฐสมัยใหม่หรือรวมชาติสำเร็จในปี 1871 ช้ากว่าที่อื่นในยุโรป ข้อสังเกตคือ ตอนเยอรมันรวมประเทศขึ้นมาเขาไม่ได้ดึงอำนาจหรือขยายอำนาจจากส่วนกลางไปครอบคลุมดินแดนอื่นทั้งหมด แต่เขาให้ราชอาณาจักรปรัสเซียรวมรัฐต่างๆ เข้ามาแล้วก็คงรูปของความเป็นสหพันธรัฐเอาไว้จนปัจจุบันแม้ว่าจะผ่านความผันผวนทางประวัติศาสตร์มาก็ตาม

ลักษณะของรัฐสมัยใหม่ ความสำคัญอันหนึ่งคือ มีเขตแดนแน่นอน ต่างจากในอดีตที่เขตแดนอาจไม่แน่นอนเพราะอำนาจผูกโยงกับตัวบุคคลมากกว่าเส้นเขตแดน แล้วเขตแดนของรัฐไทยสมัยใหม่มีความแน่นอนเกิดขึ้นเมื่อไร เรามักถูกทำให้เข้าใจว่ามีมานานแล้ว ประจักษ์พยานหลักฐานอันหนึ่งคือเพลงปลุกใจที่ใช้กัน ผมนึกถึงเพลงปลุกใจที่ชนะการประกวดเมื่อปี 2488 เพลงบ้านเกิดเมืองนอน มีเนื้อความตอนหนึ่งว่า "ก่อนนี้มีเขตแดนนับว่ากว้างใหญ่ ได้ไว้พลีเลือดเนื้อแลกเอา" , "อยู่กินบนท้องถิ่นกว้างใหญ่ ชาติไทยนั้นเคยใหญ่ในบูรพา" เนื้อความชวนให้เราเข้าใจไปได้ว่า ไทยมีสภาพเป็นรัฐชาติที่มีเขตแดนแน่นอนนานแล้วและกว้างใหญ่ไพศาล ความเข้าใจแบบนี้ไปด้วยกันอย่างดีกับอุดมการณ์ในการสร้างชาติหรือรัฐสมัยใหม่ที่ต้องการดึงเอาบุคคลที่มีความหลากหลายแตกต่างกันทางเชื้อชาติให้มีศูนย์รวมอยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง แม้จะไม่ตรงกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ก็ตาม

ผมจึงเข้าใจเวลา อ.ไชยันต์เรียกร้องให้ไปดูหลักฐาน ในทางวิชาการเป็นแบบนั้นแต่คำสอนเรื่องรัฐชาติบ้านเราไม่ได้มีสภาพพรรณนาถึงข้อเท็จจริงแต่มีประเด็นอุดมการณ์ปะปนอยู่ ถูกผลิตซ้ำและส่งต่อไปในแบบเรียน ความยากของการถอดรื้อไอเดียแบบนี้จึงอยู่ที่การหาพยานหลักฐานและการตีความหลักฐานต่างๆ ซึ่งอาจเป็นภารกิจของนักประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์มากกว่านักกฎหมาย แต่นักกฎหมายก็อาจเอาองค์ความรู้นั้นมาใช้ประโยชน์ในการทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ทีนี้ถ้าจะอธิบายว่ารัฐเกิดขึ้นได้อย่างไร มีทฤษฎีในทางวิชาการจำนวนมากเคลมว่าถูกต้องที่สุดในการอธิบายกำเนิดของรัฐสมัยใหม่ แต่ทฤษฎีต่างๆ ไม่น่าจะเคลมได้โดยทฤษฎีใดทฤษฎีเดียวว่าถูกต้องที่สุด เพราะการทำความเข้าใจรัฐเป็นการทำความเข้าใจจากมุมมองที่กลับไปมองอดีต บางทีมันอาจมีปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน การใช้หลายทฤษฎีอาจทำให้เรามองเห็นลักษณะของรัฐมากยิ่งขึ้น แต่ถ้ามีความขัดแย้งกันก็อาจต้องเลือกเอาทฤษฎีที่สอดรับกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากที่สุด

ถ้าเราเห็นการก่อรูปของรัฐไทยสมัยใหม่มาร้อยกว่าปี สิ่งที่น่าสนใจต่อไปอีก คือ ทำไมเราอยู่ในรัฐที่เป็นรูปแบบแบบทุกวันนี้ ในทางกฎหมายเรียกว่าเป็นรัฐเดี่ยว ไม่ได้มีรัฐอื่นๆ รวมกันในรูปสหพันธรัฐ ใช่หรือไม่ที่เป็นผลจากการฟอร์มตัวร้อยกว่าปีก่อนแล้วยังส่งผลต่อเนื่องจนปัจจุบัน ความเข้มข้นของการรวมศูนย์อำนาจเห็นได้ชัด ในเชียงใหม่มีการต่อสู้ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เหมือนกรุงเทพฯ ทำไมไม่ประสบความสำเร็จ ทำไมบ้านเราถือกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง เราตอบคำถามนี้โดยย้อนกลับไปดูการฟอร์มตัวหรือการเกิดขึ้นของรัฐไทย ผมเคยคิดเหมือนกัน ร.5 เคยเสด็จประพาสยุโรป ตอนนั้นรวมชาติแล้ว กษัตริย์ปรัสเซียเป็นกษัตริย์ของเยอรมันเวลานั้น แต่รัฐอื่นๆ หรือมลรัฐอื่นๆ ก็มีกษัตริย์ของเขา ไม่ได้มีการขจัดกษัตริย์ของแต่ละมลรัฐ แต่ถือว่ากษัตริย์ปรัสเซียเป็นจักรพรรดิของเยอรมัน ระบบแบบนี้หมดไปเมื่อเยอรมันแพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เป็นการสิ้นสุดระบบกษัตริย์ในเยอรมันในทุกมลรัฐ ความน่าสนใจคือ ในบ้านเรามันน่าจะไม่เคยมีประเด็นเรื่องนี้เลย การก่อรูปของรัฐไทยไม่เคยปล่อยให้ดินแดนต่างๆ มีอิสระแล้วรวมกันแบบหลวมๆ ขึ้นมาตั้งหรือตั้งในรูปของมลรัฐ ตั้งแต่แรก หากเราดูการขยายอำนาจของกรุงเทพฯ ที่เป็นการผนวกเอาส่วนต่างๆ มาเป็นเนื้อเดียวกันกับกรุงเทพฯ

ในหนังสือเล่มนี้ของ อ.ไชยันต์ ชอบข้อสังเกตบางเรื่องในภาคผนวกที่ชี้ให้เห็นว่า เอาเข้าจริงเมื่อร้อยกว่าปีก่อนดินแดนที่อยู่ในอาณัติของกรุงเทพฯ มันอาจจะไม่ใช่แบบรูปขวานที่เราเห็น แต่มันน้อยกว่านั้น อันหนึ่งที่น่าสนใจ คือการให้ดูจากพระอิสริยยศของเจ้าฟ้าต่างๆ ที่เป็นโอรสธิดาในรัชกาลที่ 5 โอรสธิดามีการตั้งเป็นเจ้าทรงกรม แล้วทรงกรมพระนามเจ้าฟ้าชั้นเอกตามชื่อเมืองเอก เช่น นครสวรรค์ พิษณุโลก เจ้าฟ้าชั้นโทจะทรงกรมตามชื่อหัวเมืองชั้นโท และพระองค์เจ้าจะทรงกรมตามชื่อเมืองทั่วไปตามลำดับ ยกตัวอย่างเช่น กรมหลวงสงขลานครินทร์ กรมขุนชัยนาทนเรนทร กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ฯลฯ ถ้าเราเห็นชื่อเมืองที่ตั้งเป็นเจ้าทรงกรม อ.ไชยันต์ตั้งข้อสังเกตว่า เมืองที่เอามาตั้งพระนามและยศเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในเส้นทางคมนาคมทางน้ำ เป็นเส้นทางที่อำนาจของกรุงเทพฯ ขยายไปถึง เราไม่เห็นเจ้าทรงกรมเชียงใหม่ ลำปาง หรือลำพูน อาจสะท้อนว่าในเวลานั้นอำนาจที่นิ่งแล้วในทางเขตแดนอาจเป็นไปตามนี้ ในแง่นี้เราอาจกล่าวได้ว่า เราไม่มีไอเดียของการฟอร์มรัฐในรูปแบบสหพันธรัฐเลยตั้งแต่ต้น มันเป็นรูปแบบของรัฐเดี่ยว

ความเป็นรัฐเดี่ยวของรัฐไทย ลองดูจากการให้คุณค่าในทางกฎหมาย เราจะเห็นการให้น้ำหนักความสำคัญแบบนี้ อ.กุลลดาบอกว่า รัฐชาติมันเกิดขึ้นเมื่ออำนาจอธิปไตยเปลี่ยนมือตอน 2475 ความจริงในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว 2475 ซึ่งผมมักเรียกว่า ปฐมรัฐธรรมนูญ ฉบับวันที่ 27 มิถุนายน 2475 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ถูกลืม มาตรา 1 เขียนว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย มาตรา 1 เป็นการให้คุณค่าที่สำคัญที่สุดของรัฐนั้น แล้วเราคงทราบว่าต่อมามันมีการต่อรองระหว่างคณะเจ้ากับคณะราษฎรจนเป็นรัฐธรรมนูญฉบับบที่ 2 ถ้าไปดูมาตรา 1 จะเขียนว่า สยามประเทศเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ ซึ่งการเขียนแบบนี้สืบเนื่องมาจนปัจจุบัน ในขณะที่กฎเกณฑ์เรื่องอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรก็หายไปไม่กลับมาอีก แล้วต่อมาเปลี่ยนมาเป็น อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย และในรัฐธรรมนูญสองสามฉบับหลังก็เขียนว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แปลว่า ความหมายเรื่องเจ้าของอำนาจรัฐถูกลดทอนความสำคัญลงเมื่อเทียบกับรูปแบบของรัฐ

ประเด็นนี้ไม่ได้จบเพียง 2475 แต่ยังต่อเนื่องจนปัจจุบัน รัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ตอนนี้กำหนดเรื่องการห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญเอาไว้ซึ่งรับมาจากรัฐธรรมนูญ 2540 ในมาตรา 215 ของรัฐธรรมนูญปัจจุบันเขียนว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองของรัฐจะกระทำมิได้ จริงๆ การเขียนอันนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจเรื่องรัฐและรูปแบบของรัฐอยู่ไม่ว่าในทางรัฐศาสตร์หรือกฎหมายมหาชนก็ตาม

การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐคืออะไร การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขคืออะไร ผมพูดเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะอ.กุลลาพูดถึงเรื่องของอังกฤษว่าเป็น parliamentary monarchy มันจะเหมือนการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขไหม ในความเห็นผม ผมคิดว่าไม่ใช่ ผมอาจจะบอกไม่ได้ว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยเนื้อหานั้นมีเนื้อหาอะไรบ้าง แต่ว่าผมพอจะบอกได้อย่างมั่นใจว่า ไม่เท่ากับ parliamentary monarchy แบบของอังกฤษแน่ๆ หรืออย่างน้อยคนอังกฤษก็ไม่น่าจะไม่เข้าใจแบบนั้น อะไรเป็นหลักฐานหรือข้อพิสูจน์

เมื่อ 19 กันยายน 2549 มีการทำรัฐประหาร คณะรัฐประหารเขาเรียกชื่อตัวเองว่า คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เรียกย่อๆ ว่า คปค. แล้วภายหลังก็เปลี่ยนเป็น คมช. ชื่อภาษาอังกฤษเขียนตรงตามนี้ แต่ในเวลาต่อมามีการเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษเพราะการมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ห้อยท้ายอยู่ทำให้ชาวต่างชาติไม่เข้าใจ ในที่สุดจึงบีบให้เปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษ แต่ชื่อภาษาไทยไม่ได้เปลี่ยน ด้วยเหตุนี้อาจพอบอกได้ว่าชาวต่างชาติไม่เข้าใจและไม่ตรงกับสิ่งที่เรียกว่า parliamentary monarchy แต่ว่าจะแตกต่างอะไรบ้างนั้นอาจจะต้องอภิปรายและวิเคราะห์กันอีกส่วนหนึ่ง

รัฐไทยสมัยใหม่ที่ก่อรูปขึ้นมาโดยการขยายอำนาจไปผนวกเอาส่วนอื่นขึ้นมาเป็นรัฐเดี่ยว จริงๆ แล้วในแง่ที่รัฐธรรมนูญเขียนเรื่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นมนุษย์ มันแสดงให้เห็นถึงความสับสนบางอย่างเหมือนกัน ระหว่างรูปแบบของรัฐกับการจัดรูปการปกครอง คือ เราพูดถึงรูปแบบของรัฐ มันขึ้นอยู่กับว่าเราเอาอะไรเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง ถ้าเอาประมุขเป็นเกณฑ์ในโลกนี้ก็มีอยู่สองรูปแบบใหญ่ๆ คือ รัฐที่เป็น monarchy (ราชอาณาจักร) หรือรัฐที่มีกษัตริย์เป็นประมุขอันหนึ่ง ซึ่งบ้านเราอยู่ในกลุ่มนี้ กับอีกอันคือรัฐที่เป็น republic หรือสาธารณรัฐ แต่ถ้าเราใช้ลักษณะของโครงสร้างอำนาจเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง มันก็มีสองประเภทใหญ่เหมือนกัน คือ รัฐเดี่ยว กับรัฐรวม หรือโดยทั่วไปคือ สหพันธรัฐ จริงๆ อีกแบบคือสมาพันธรัฐ แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว ซึ่ง form (รูปแบบ) 2 แบบนี้มัน mix (ผสม) กันได้ เมื่อเอา 2 อันนี้มารวมกันก็จะก่อเกิดรัฐอีก 4 ประเภทคือ 1.สหพันธรัฐที่มีกษัตริย์เป็นประมุข ในอดีตปรากฏขึ้นในจักรวรรดิเยอรมัน ในปี 1781 ในปัจจุบันมีในบางประเทศ เช่นประเทศในเครือ commonwealth เบลเยียม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 2.สหพันธรัฐที่เป็นสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุข มีประเทศแบบนี้อยู่เยอะในโลกนี้ อมเริกา เยอรมัน 3.รัฐเดี่ยวและมีกษัตริย์เป็นประมุข บ้านเราจัดอยู่ในกลุ่มนี้ 4.รัฐเดี่ยวที่เป็นสาธารณรัฐ เช่น ฝรั่งเศส

ต้องเข้าใจว่าความเป็นรัฐเดี่ยวของแต่ละที่มีการกระจายอำนาจเข้มอ่อนแตกต่างกัน รัฐไทยถือเป็นรัฐเดี่ยวที่มีการรวมศูนย์อำนาจค่อนข้างเข้มข้น คนอาจบอกว่าเรามี อบต. อบจ. แต่มันเป็นการกระจายอำนาจแบบเจือจาง แต่ขณะที่บางรัฐเขากระจายอำนาจมากกว่าเรา เขาไม่ถึงขั้นเป็นสหพันธ์ แต่เป็นแคว้นซึ่งมีอำนาจในการจัดการปกครองตนเองมากขึ้น มากกว่าราชการส่วนภูมิภาคแบบที่เราใช้

เราพอกล่าวได้ว่า กำเนิดของรัฐไทยที่เกิดมาร้อยกว่าปี มันมีการเชื่อมต่อหรือมีอุดมการณ์ที่ฝังไว้อย่างเข้มข้น ในแง่รูปของรัฐเห็นได้เลยว่าเป็นรัฐเดี่ยว มหาดไทยอาจไม่ค่อยยินดีนักที่จะกระจายอำนาจลงไป คำถามง่ายมากเลย คือ ทำไมมีแต่ กทม. หรืออาจพัทยา ที่เลือกตั้งผู้บริหารเองได้ ทำไมเขตอื่นเลือกไม่ได้ ไม่แน่ใจว่าเป็นความกังวลหรือความกลัวของชนชั้นปกครองเองหรือเปล่าที่รู้สึกว่าต้องผนวกให้เข้าสู่ส่วนกลางให้เข้มข้นเอาไว้ เพราะการเลือกผู้บริหารเองอาจเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่สิ่งอื่นหรือไม่ อันนี้เป็นเรื่องชวนคิดต่อ

ประเด็นก็คือ การทำความเข้าใจรัฐไทยในอดีต ไม่ใช่เรื่องทางประวัติศาสตร์ล้วนๆ หรือไม่มีประโยชน์ในการทำความเข้าใจสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การมองปัจจุบันมองขาดจากอดีตไม่ได้ มันมีปัจจัยที่ส่งถึงกันเสมอ เพียงแต่เราจะมองเห็นประเด็นหรืออิทธิพลที่ส่งถึงกันมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนั้นๆ ที่จะบอกว่าประเด็นไหนยังส่งผลถึงปัจจุบัน ความเป็นรัฐเดี่ยวยังส่งผลอยู่มาก เนื่องจากภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ที่ให้คุณค่ากับเรื่องนี้เป็นพิเศษ เราถึงมีมาตราว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรหนึ่งเดียวจะแบ่งแยกมิได้ จริงๆ การกระจายอำนาจไม่ใช่การแบ่งแยก การกระจายอำนาจทำได้โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญด้วย มันแค่กระจายให้คนท้องถิ่นเลือกผู้บริหารได้เอง เลือกผู้ว่าได้เอง ซึ่งมันก็จะสลายการปกครองส่วนภูมิภาคทิ้งไป มีแต่ส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น แต่ยังอยู่ในรูปแบบรัฐเดี่ยวอยู่ แต่ถ้าถึงขั้นเป็นมลรัฐขึ้นมาก็เป็นปัญหาทางรัฐธรรมนูญแล้ว เพราะรัฐธรรมนูญบอกว่าแบ่งแยกไม่ได้ ผมอยากตั้งข้อสังเกตอยู่เหมือนกันเพราะในตำราหรือการสอนในบ้านเรามีสิ่งที่ไม่ match อยู่นิดหน่อยคือ รัฐศาสตร์เริ่มต้นอธิบายองค์ประกอบของรัฐ มีดินแดน มีประชากร มีอำนาจอธิปไตย มีรัฐบาลอะไรประมาณนี้ อาจอิงกับกฎเกณฑ์กฎหมายระหว่าประเทศด้วย มันก็ถูกถ้าเรามองรัฐเอกราชทั้งหลาย แต่ถ้าดูพวกสหพันธรัฐจะมีปัญหานิดหน่อยเพราะมลรัฐขาดอำนาจอธิปไตยแต่เขามีอำนาจรัฐ ถามว่าแบบนี้เขาเป็นรัฐไหม มุมมองของกฎหมายมหาชน เราถือว่าเขาเป็นรัฐ เพราะเขามีกฎหมายของเขาเอง มีสภาของเขาเอง มีรัฐบาลของเขาเอง มีศาลของเขาเอง ในอเมริกาหรือเยอรมันก็เป็นแบบนี้ การปกครองมีสองชั้น ฉะนั้น ระบบการปกครองแบบสหพันธรัฐจะมีความซับซ้อนกว่าและมีการถ่วงดุลกันทั้งในแนวนอนและในแนวตั้ง ในแนวนอนถ่วงดุลกันผ่าน องค์กรบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ส่วนในแนวตั้งเขาถ่วงกันระหว่างสหพันธ์ มลรัฐ และท้องถิ่น ขณะที่รัฐเดี่ยวการถ่วงดุลอำนาจในแนวตั้งจะน้อยกว่า

คำถามเหลือแต่เพียงว่า การฟอร์มตัวร้อยกว่าปีมานี้ มันฟอร์มจนเข้มข้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อีกแล้วหรือเปล่า หรือมันยังมีความผันแปรในทางประวัติศาสตร์ได้อีก อันนี้ผมไม่ค่อยแน่ใจเท่าไร เราอาจต้องมองพัฒนาการนี้ไปด้วยกัน และการผันแปรของรัฐมันมักเกินชั่วอายุคนคนหนึ่ง ยกเว้นจังหวะนั้นมาถึงพอดี

สุดท้ายอยากขอโควทหนังสือ อ.ไชยันต์นิดหน่อย ในช่วงท้ายของหนังสือมีการพูดถึงรัฐในระบบทุนนิยมรอบนอกและลักษณะเชิงวิเคราะห์และวิถีการทำงานในสยามไว้น่าสนใจ ในหน้า 168 พูดถึงประมวลกฎหมาย

การประมวลกฎหมายดำเนินไปเพราะการจัดตั้งสถาบันบังคับใช้กฎหมาย เช่น กรมตำรวจ กรมอัยการ กรมราชทัณฑ์ น่าสังเกตว่าเชื้อพระวงศ์อยู่เหนือกฎหมายของคนทั่วไป พวกเขามีศาลของตัวเองที่อยู่ภายในกระทรวงวัง กระทรวงนี้รับงบประมาณร้อยละ 12 ของงบประมาณทั้งหมด ในปี 1911, 1912 และเรียกได้ว่าเป็นโลกจำลองขนาดย่อมของรัฐบาลทั้งประเทศสำหรับราชวงศ์ ภายในนั้นมีพระคลังข้างที่ ศาลรับสั่ง กรมตำรวจวัง กรมมหรสพ และอื่นๆ สมาชิกราชสำนักที่มีชีวิตที่อยู่ดีกินดีจึงมีชีวิตที่แยกขาดจากส่วนอื่นของสังคมภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เจ้าและขุนนางสามารถอยู่เหนือกฎหมาย แต่กระนั้นก็ยังถือหลักกฎหมายและความสงบเรียบร้อยเป็นสูงสุดได้ ซึ่งแทบไม่น่าประหลาดใจเนื่องจากชนชั้นปกครองกุมอำนาจรัฐโดยตรง และการมีสองมาตรฐานในสังคมที่แบ่งแยกชนชั้นชัดเจนนั้นไม่ได้ดูเหลวไหล หากมองตามการใช้เหตุผลในยุคสมัยนั้น

คำถามก็คือ ข้อความแบบนี้ สมมติปรากฏในอีกร้อยปีข้างหน้าแล้วมองมันในยุคสมัยของเรา มันยังใช้ได้ไหม หนังสือนี้อาจไม่ต้องเปลี่ยนแปลงคำอธิบายใดเลยหรือไม่ หรือต้องถูกเปลี่ยนแปลง 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตุลาการธิปไตย #6 เมื่อการใช้ศาลทหารกับพลเรือนถูกทำให้เป็นเรื่องปกติในสังคมไทย

Posted: 23 Feb 2018 02:20 AM PST

นพพล อาชามาส เล่าช่วงเวลาการใช้ศาลทหารกับพลเรือน กว่า 40 ปีที่ถูกใช้พิจารณาคดีจนเป็นภาวะปกติ ควรถูกมองในฐานะเครื่องมือทางการเมืองระบอบอำนาจนิยม ระบุหากต้องการปลอดรัฐประหารต้องยุติการใช้ศาลทหารกับพลเรือน

คลิปการนำเสนอหัวข้อ  "ประวัติศาสตร์การเมืองของการบังคับใช้ศาลทหารต่อพลเมืองในประเทศไทย" โดย นพพล อาชามาส 

นพพล อาชามาส เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูล ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

18 ก.พ.2561 ในการเสวนาวิชาการ "ตุลาการธิปไตย ศาล และรัฐประหาร" จัดที่ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ช่วงหนึ่งเป็นการเสนอบทความ "ประวัติศาสตร์การเมืองของการบังคับใช้ศาลทหารต่อพลเมืองในประเทศไทย" โดย นพพล อาชามาส เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูล ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ศึกษาเรื่องกระบวนการใช้ศาลทหารกับพลเรือน นับตั้งการปฏิวัติ 2475 จนถึงการรัฐประหารในปัจจุบัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ในความเป็นจริงแล้วการใช้ศาลทหารกับพลเรือนไม่ได้เกิดขึ้นในสภาวการณ์ไม่ปกติ แต่ถูกทำให้เป็นปกติไปแล้วในสังคมไทย

1,720 คดีที่พลเรือนขึ้นศาลทหาร หลัง รปห. 57 ถึง พ.ย.59

นพพล เริ่มจากการอธิบายว่า ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่จะไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับประชาชนถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ซึ่งจริงๆ แล้วศาลทหารเคยใช้ดำเนินคดีกับประชาชนในอดีต โดยงานชิ้นนี้ต้องการจัดวางเครื่องมือทางการเมืองคือศาลทหาร ลงไปในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ว่ามีบริบทความเป็นมายังไงบ้าง

นพพล ชี้ให้เห็นถึงสถิติในสถานการณ์ปัจจุบันว่า สถิติพลเรือนขึ้นศาลทหารตั้งแต่หลังรัฐประหารจนถึงเดือนพฤศจิกายน ปี 2559 กรมพระธรรมนูญ (ต้นสังกัดของศาลทหาร) มีคดีรวมอย่างน้อย 1,720 คดี จำเลยอย่างน้อย 2,177 คน ถึงแม้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะมีคำสั่งยุติการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารแล้ว แต่คดีจำนวนมากก็ยังไม่สิ้นสุด คดีที่อยู่ในศาลทหารก็ยังคงถูกพิจารณาในศาลทหารต่อไป หลายคดีเป็นไปอย่างล่าช้า ศาลทหารจึงยังจะต้องพิจารณาคดีของพลเรือนไปอีกนาน

แย้งประยุทธ์ ชี้ศาลทหารต่างจากศาลอื่นๆ

นพพลนำเสนอคำชี้แจงเกี่ยวกับการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร ดังเช่นที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ชี้แจงว่าศาลทหารก็เหมือนกับศาลธรรมดา การใช้ศาลทหารเพราะเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ ทำให้ต้องใช้จัดการเพื่อให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย

เขามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการชี้แจงนี้ว่า จากข้อโต้แย้งที่ว่า "ศาลทหารก็เหมือนกับศาลอื่นๆ" จากรายงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนหลายชิ้น ชี้ให้เห็นว่าศาลทหารมีกระบวนการหลายอย่างที่แตกต่างจากศาลพลเรือน ซึ่งจำกัดสิทธิของจำเลยในการเขาถึงกระบวนการยุติธรรม และอีกประเด็นที่บทความชิ้นนี้พยายามทำความเข้าใจคือ ศาลทหารถูกใช้ในสถานการณ์ไม่ปกติจริงรึเปล่า หรือมันถูกใช้มาจนเป็นปกติไปแล้ว

นพพล อ้างถึงอดีต ส.ส. คนหนึ่งซึ่งกล่าวไว้ในการประชุมสภาเมื่อปี 2539 ว่า "เวลาปฏิวัติครั้งใด คณะปฎิวัติจะใช้วิธีกำราบประชาชนให้อยู่ในความสงบโดยใช้วิธีประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ แล้วอาศัยประกาศคณะปฏิวัติกำหนดให้ศาลพลเรือนเป็นศาลทหารในเวลาไม่ปกติ ซึ่งวิธีพิจารณาความของศาลเหล่านี้เมื่อมีสภาพเป็นศาลทหารแล้ว การพิจารณาเป็นการพิจารณาความพิเศษ ไม่มีทนายความ ไม่มีการอุทธรณ์ ฎีกา ซึ่งเป็นวิธีที่คณะปฏิวัติใช้ทุกสมัยที่มีการปฏิวัติ"

ดังนั้นบทความที่ทำจะมีข้อเสนอ 2 ประเด็นหลัก คือ หนึ่ง-การบังคับใช้ศาลทหารต่อพลเรือนหรือการใช้ศาลพิเศษที่แยกออกมาจากศาลยุติธรรมปกติมาดำเนินคดีต่อพลเรือน ไม่ใช่ปัญหาทางนิติศาสตร์เท่านั้น แต่เป็นการดำเนินการทางการเมืองอย่างหนึ่งในฐานเทคนิควิธีในการปราบปรามจัดการฝ่ายตรงข้ามในทางการเมือง รวมถึงการควบคุมสังคม สถาปนาระบอบการปกครอง

สอง-ศาลทหารเป็นกลไกทางการเมืองที่คณะปฏิวัติในอดีตหลายชุดใช้ควบคุมอำนาจทางการเมือง โดยมักเกิดขึ้นในลักษณะที่คณะรัฐประหารต้องการควบคุมอำนาจในระยะยาว และต้องการควบคุมสังคมอย่างเข้มข้น ศาลทหารถูกบังคับใช้กับพลเรือนในรูปแบบต่างๆ กันจนแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติ

"ศาล" และ "กฎหมาย" ในระบอบอำนาจนิยม

นพพล กล่าวถึงหนังสือเรื่อง Rule by Law: The Politics of Courts in Authoritarian Regimes โดย Tom Ginsburg ซึ่งศึกษาศาลและการใช้กฎหมายในระบอบอำนาจนิยมในหลายประเทศ โดยอธิบายหน้าที่ของศาลในระบอบอำนาจนิยมว่า คือการใช้ควบคุมสังคมและปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง รวมถึงสร้างความชอบธรรม ใช้เป็นข้ออ้างในการกระทำตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม โดยมีรูปแบบการจัดตั้งความหน่วยมั่นคงพิเศษขึ้นมาเพื่อใช้พิจารณาคดีบางประเภท ภายใต้ข้ออ้างของการเข้าไปรักษาความสงบเรียบร้อย แต่นำไปสู่การจัดการฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง โดยมีตัวอย่างในประเทศละตินอเมริกาหลายประเทศในทศวรรษ 1970 มีการใช้ศาลทหารเพื่อปราบปรามฝ่ายซ้ายหรือนักกิจกรรมทางสังคม

ส่วนในประเทศไทยจากการศึกษาพบว่าสามารถแบ่งลักษณะการใช้ศาลทหารกับพลเรือนได้เป็น 2 ระยะ

ระยะหนึ่ง ช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อันเป็นบริบทช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร์ และฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่พยายามจะช่วงชิงอำนาจคืน ในตอนนั้นรัฐบาลมีประกาศใช้ศาลพิเศษต่อกรณีกบฏที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นซึ่งมีประมาณ 4 ครั้ง

ลักษณะการใช้ศาลพิเศษจะมีการจัดตั้งแยกออกมาผ่านการออกพระราชบัญญัติโดยสภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจพิจารณาคดีเฉพาะที่กำหนดเป็นกรณี แต่มีอำนาจพิจารณาไม่ว่าผู้ต้องหาเป็นพลเรือนหรือทหาร และมีอำนาจพิจารณาคดีในทุกส่วนกฎหมาย และนำวิธีพิจารณาแบบศาลทหารมาใช้ จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ฏีกา และไม่สามารถแต่งตั้งทนายได้ ตุลาการศาลมีสัดส่วนเป็นทหารค่อนข้างมาก เช่น กรณีกบฏบวรเดชปี 2476 มีการพิจารณาจำเลยทั้งหมดประมาณ 600 คน กบฏนายสิบปี 2478 แม้มีจำเลยไม่มากแต่มีคนถูกตัดสินประหารชีวิต 1 ราย โดยมีระยะเวลาพิจารณาคดีเพียง 1 เดือน

เมื่อ จอมพล ป. พิบูลสงครามขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี มีความขัดแย้งทางการเมือง ในปี 2481 ก็มีการประกาศใช้ศาลพิเศษอีกครั้งหนึ่ง มีผู้ถูกดำเนินคดีประมาณ 51 คน ประหารชีวิต 8 คน

จากการประกาศศาลพิเศษ เมื่อมีการรื้อฟื้นอำนาจฝ่ายอนุรักษ์นิยม เกิดการบัญญัติกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2489 บัญญัติข้อห้ามในหมวดตุลาการ การตั้งศาลขึ้นใหม่พิจารณาคดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะจะทำมิได้ บทบัญญัตินี้ได้ถูกบัญญัติในรัฐธรรมนูญต่อไปเกือบทุกฉบับจนถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 ดังนั้นรูปแบบการประกาศใช้ศาลพิเศษกับพลเรือนจึงไม่เกิดขึ้นอีกหลังจากนั้น และรูปแบบการใช้ศาลทหารจึงเริ่มต้นขึ้น

ศาลทหารในบริบทของสงครามโลกครั้งที่สองน่าจะเป็นครั้งเดียวที่ใกล้เคียงกับการใช้ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ ในความหมายว่ามีสถานการณ์การรบหรือสงครามเกิดขึ้นจริงๆ จึงมีความจำเป็นต้องประกาศใช้ศาลทหาร โดยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองมีการประกาศกฎอัยการศึกหลังญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก มีการให้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือน

ระยะที่สอง คือศาลทหารที่ใช้กับพลเรือนเ เริ่มต้นครั้งแรกหลังรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ปี 2501 หลังจากนั้น รัฐประหารในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน ก็มีลักษณะใกล้เคียงกับยุคจอมพลสฤษดิ์

เมื่อจอมพลสฤษดิ์รัฐประหาร มีการออกคำสั่งหรือประกาศของคณะรัฐประหาร เพื่อให้พลเรือนขึ้นศาลทหารในความผิดตามที่กำหนด พบว่าสมัยนั้นมีการใช้ศาลทหาร 2 รูปแบบด้วยกัน

หนึ่ง-การให้ศาลทหารภายใต้กระทรวงกลาโหมพิจารณาพิพากษาความผิดบางประเภทโดยตรง เช่น ความเป็นคอมมิวนิสต์ ผู้ต้องหาในคดีนี้สามารถถูกควบคุมตัวได้โดยไม่มีกำหนด คำสั่งนี้นำไปสู่การควบคุมตัวผู้แสดงความคิดเห็นทางการเมือง นักเคลื่อนไหว นักกิจกรรมฝ่ายซ้ายจำนวนมาก มีการจับกุมทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 1,000 คน และถูกควบคุมในศาลทหารหลายร้อยคน และไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ฏีกา ไม่สามารถแต่งตั้งทนาย หลายคดีมีการยกฟ้องหลังถูกคุมขังไป 6-7 ปี เช่น คดีของจิตร ภูมิศักดิ์ แต่ก็ไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ หลายกรณีมีการถอนฟ้อง จึงเห็นได้ชัดเจนว่าถูกขังไว้เพื่อไม่ให้ทำกิจกรรมทางการเมือง

สอง-การประกาศให้ศาลยุติธรรมทำหน้าที่เป็นศาลทหาร พิจารณาคดีความผิดบางประเภท ซึ่งมีคนตั้งข้อสังเกตว่าประเทศไทยอาจเป็นประเทศเดียวที่มีระบบแบบนี้ มีความผิดหลายประเภท เช่น ความผิดเกี่ยวกับเพศ ร่างกาย ทรัพย์ ยาเสพติด จากการระบุความผิดเหล่านี้จะเห็นได้ว่าในสมัยจอมพลสฤษดิ์พยายามเข้ามาจัดการเรื่องอาชญากรรม ศาลทหารรูปแบบนี้จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ฏีกา ไม่สามารถแต่งตั้งทนายได้เช่นกัน

ในช่วงปี 2516 ยุคจอมพลถนอมก็ใช้ประกาศเหล่านี้เช่นเดียวกับจอมพลสฤษดิ์ มีกรณีที่พลเรือนขึ้นศาลทหารจากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

หลังรัฐประหารปี 2519 ก็มีประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหารอีกครั้ง แบ่งเป็นสองรูปแบบเหมือนเดิม คือศาลทหารพิจารณาคดีคอมมิวนิสต์ ศาลยุติธรรมที่ทำหน้าที่ศาลทหารพิจารณาคดีตามประกาศแนบท้ายคำสั่ง เช่น คดี 6 ตุลา 8 แกนนำนักศึกษาถูกจับกุมนำขึ้นศาลทหาร แต่ต่อสู้คดีไม่เสร็จเนื่องจากมีพ.ร.บ.นิรโทษกรรมในปี 2521

สมัยรัฐบาลพลเอกเปรม (ปี 2523-2531) ได้ออกพ.ร.บ. แก้ไขคำสั่งและปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน คือให้ยกเลิกประกาศแนบท้ายความผิดบางส่วนที่ประกาศให้ศาลยุติธรรมทำหน้าที่เป็นศาลทหาร แต่ยกเว้นความผิดในหมวดพระมหากษัตริย์ ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ และความผิดต่อสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ จนกระทั่งในทศวรรษ 2530 มีข้อมูลว่ายังมีคดีบางส่วนที่ถูกดำเนินคดีในศาลยุติธรรมที่ทำหน้าที่เป็นศาลทหาร

แนะหากให้สังคมไทยปลอดรัฐประหาร ต้องยับยั้งอำนาจศาลทหารดำเนินคดีต่อพลเมืองทุกรูปแบบ

นพพล ได้สรุปว่า ดังนั้นจะเห็นว่าช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2501-2539 ก่อนมีการประกาศยกเลิกศาลพลเรือนทำหน้าที่เป็นศาลทหารในเวลาไม่ปกติและที่ให้ศาลทหารพิจารณาคดีซึ่งเกี่ยวกับความผิดอันเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นระยะเวลาเกือบ 40 ปีที่มีภาวะศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีของศาลพลเรือน ถ้านับรวมจนถึงปัจจุบัน จึงแทบจะเรียกได้ว่าศาลทหารถูกใช้พิจารณาคดีกับพลเรือนเป็นภาวะปกติ ไม่ใช่ภาวะไม่ปกติตามที่มีการอธิบาย ภาวะที่ไม่มีการใช้ศาลทหารกับพลเรือนอาจเป็นภาวะพิเศษไปด้วยซ้ำ

การใช้ศาลทหารต่อพลเรือนอาจเป็นเครื่องมือทางการเมืองของคณะรัฐประหารอีกหากมีการเกิดขึ้นในอนาคต หรือแม้แต่คสช. เองอาจมีการประกาศกลับมาใช้อีกหากมีสถานการณ์ใดเกิดขึ้น ดังนั้นศาลทหารจึงควรถูกมองในฐานะเครื่องมือทางการเมืองหนึ่งในระบอบอำนาจนิยม การให้ประเทศไทยปลอดจากรัฐประหารจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องคิดเรื่องการยุติ ยับยั้งการให้อำนาจศาลทหารในการดำเนินคดีต่อพลเมืองไทยทุกรูปแบบ

ตุลาการธิปไตย ศาลและรัฐประหาร

ทั้งนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) และคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรมทางวิชาการ "ตุลาการธิปไตย ศาลและรัฐประหาร" โดยเป็นส่วนหนึ่งในชุดการเสวนาวิชาการ "ประเทศไทยไม่ทำงาน" (Dysfunction Thailand) ของเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง จัดที่ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2560 สนับสนุนโดยสถานทูตอังกฤษ สถานทูตแคนาดา และมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ จากเยอรมนี 

เยาวลักษณ์ อนุพันธุ์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ชี้แจงความเป็นมาว่า "ศูนย์ทนายฯ นอกจากเป็นองค์กรให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแล้วยังรวบรวมบันทึกข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลังรัฐประหาร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในยุคนี้ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง การปฏิรูป การแก้ไข การเยียวยา"

"จากการทำงานรวบรวมข้อเท็จจริงต่างๆ เรามีข้อมูลอยู่จำนวนหนึ่ง ที่ทำให้เห็นว่าครั้งนี้คสช.ไม่ได้ใช้อำนาจทหารเพียงลำพัง แต่มีการใช้กระบวนการทางกฎหมาย ทั้งประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. กฎหมายปกติ กระบวนการยุติธรรม และอำนาจตุลาการที่เข้ามารับรองการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารของคสช. ละเมิดและจำกัดสิทธิของประชาชน ทำให้สถานการณ์ขณะนี้ทั้งประชาชนธรรมดา นักข่าว นักวิชาการ ทนาย ก็สามารถตกเป็นผู้ต้องหาได้โดยไม่รู้ตัว"

นอกจากนั้นหลังรัฐประหารยังมีประกาศใช้ศาลทหารกับพลเรือน แม้ภายหลังคสช.จะยกเลิกการใช้ศาลทหารกับพลเรือนในวันที่ 12 กันยายน 2559 แต่ก็ยังมีคดีของประชาชนที่ยังดำเนินการที่ศาลทหารอยู่ เช่น คดีเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก คดีประชามติ ในช่วงสิงหาคม 2559

"เราจึงเห็นว่าควรทำงานร่วมกับนักวิชาการ เพื่อเปิดมุมมองว่าเบื้องหลังข้อเท็จจริงและเหตุการณ์มันเกิดอะไรขึ้น โดยร่วมมือกับนักวิชาการสถาบันต่างๆ เป็นที่มาของการนำเสนอบทความ 5 บท และภาพรวมของรัฐประหาร และศาล"

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ส่งตัว 'แซม โสกา' กลับกัมพูชา สะท้อนสถานะผู้ลี้ภัยที่อ่อนแอและความสัมพันธ์รัฐที่ชื่นมื่น

Posted: 22 Feb 2018 11:06 PM PST

กรณีที่ทางการไทยจับกุม แซม โสกา นักเคลื่อนไหวแรงงานเมื่อวันที่ 5 ม.ค.61 แล้วส่งกลับไปให้กัมพูชาเมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่ผ่านมา สร้างความกังวลให้และข้อกังขากับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายองค์กร และมีการคาดการณ์ว่า เป็นดีลลับระหว่าง ฮุน เซน กับรัฐบาลทหารไทย ในการแลกเปลี่ยนผู้ลี้ภัยทางการเมือง

ภาพ ซ้าย : แซม โสกา นักเคลื่อนไหวแรงงาน, ภาพขวา : ฮุน เซน หารือทวิภาคี กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อ 9 ต.ค.59 (ที่มาภาพเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล)

การทำงานร่วมกันของตำรวจไทยกับกัมพูชาในการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศที่เกิดขึ้นโดยฉุกละหุก นับตั้งแต่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม แซม โสกา ในวันที่ 5 ม.ค. 2561 และส่งตัวกลับในวันที่ 8 ก.พ. 2561 ใช้ระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือนกว่า ในระหว่างนี้ ทนายความของแซม โสกา ได้ยื่นคำร้องขออุทธรณ์ข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และพยายามให้มีบันทึกว่าเธอปฏิเสธที่จะเดินทางกลับกัมพูชา แต่สุดท้าย แซม โสกาก็ถูกส่งตัวกลับ

แม้ บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การส่งตัว แซม โสกา กลับประเทศ เป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ของไทย และเป็นความร่วมมือระหว่างตำรวจทั้งสองประเทศ และเชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการพิจารณาเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบแล้วว่าการส่งตัว แซม โสกา กลับไปกัมพูชา จะไม่เป็นภัยต่อบุคคลดังกล่าว แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่า แซม โสกา ถูกศาลกัมพูชาพิพากษาลับหลังว่าเธอมีความผิดข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน และปลุกปั่นยุยงเพื่อสร้างความแตกแยก มีโทษจำคุก 2 ปี จากกรณีที่มีวิดีโอของเธอขว้างรองเท้าใส่ป้ายที่มีภาพของ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรี และเฮง สัมริน ประธานสภา

เหตุการณ์นี้ทำให้เครื่องหมายคำถามตัวโตว่าทางการไทยมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยทางการเมืองมากน้อยขนาดไหน เพราะขนาดผู้ลี้ภัยที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของ UNHCR ที่สะท้อนว่าชีวิตของบุคคลนั้นจะอยู่ในภาวะอันตรายหากอยู่ในประเทศต้นทางก็ยังถูกส่งกลับ แล้วผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาจำนวนมากในไทยที่ไม่มีสถานะผู้ลี้ภัยจะต้องเผชิญชะตากรรมอย่างไร แม้ไทยไม่ได้ผูกพันกับอนุสัญญานานาชาติเรื่องการรับผู้ลี้ภัย แต่จารีตประเพณีระหว่างประเทศเรื่องการไม่ส่งตัวผู้ที่หนีภัยอันตรายจากประเทศต้นทางกลับไปก็ยังเป็นที่ผูกพันกับไทยและกัมพูชาในฐานะสมาชิกของประชาคมโลก

แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า ประเทศไทยตระหนักเป็นอย่างดีว่า แซม โสกาได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัย แต่ก็ยังส่งตัวเธอกลับไปกัมพูชา ซึ่งมีความเสี่ยงที่เธอจะได้รับโทษจำคุกเนื่องจากการแสดงความเห็นทางการเมือง "เป็นเรื่องน่าเศร้าแม้จะไม่น่าประหลาดใจที่รัฐบาลทหารเอาอกเอาใจรัฐบาลเผด็จการเพื่อนบ้าน แต่พวกเขาก็ไม่ควรกระชับความสัมพันธ์ต่อกันโดยเอาผู้ลี้ภัยมาเป็นเหยื่อ"

ผู้ลี้ภัยกัมพูชาหลบมาไทยจำนวนมาก

แหล่งข่าวจากองค์กรที่ช่วยเหลือทางกฎหมายกับผู้ลี้ภัย ให้ข้อมูลกับประชาไทว่า สถานการณ์ของกัมพูชาค่อนข้างเข้มมากขึ้นหลังมีข่าวที่สภาผ่านกฎหมายให้ยุบพรรคฝ่ายค้านเมื่อปลายปีที่แล้ว ทำให้มีผู้ลี้ภัยกัมพูชามาไทยจำนวนมาก

ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีในอนุสัญญาผู้ลี้ภัยกับทางข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) จึงไม่ได้เป็นประเทศที่รับผู้ลี้ภัยให้มาตั้งถิ่นฐานในประเทศได้ถาวร เป็นเพียงประเทศทางผ่านไปยังประเทศที่สามเท่านั้น ทางเลือกของผู้ลี้ภัยในไทยภายใต้กระบวนการการขอสถานะเป็นผู้ลี้ภัยจึงมีอยู่สองทาง หนึ่ง เดินทางกลับประเทศที่ออกมา สอง ขอสถานะผู้ลี้ภัยแล้วรอไปอยู่ที่ประเทศที่สาม แหล่งข่าวรายเดิมระบุว่า กระบวนการในการที่ผู้ลี้ภัยจะขอสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR ตั้งแต่แรกเริ่มจนไปสุดกระบวนการก็ใช้เวลา 1-2 ปี หากไม่ติดขัดในขั้นตอนใด หากได้รับการปฏิเสธและจะอุทธรณ์ก็ต้องใช้เวลามากกว่าเดิม

การอาศัยอยู่ในประเทศทางผ่านอย่างไทยมีแรงกดดันต่อผู้ลี้ภัยหลายประการ ผู้ลี้ภัยบางกลุ่มเข้ามาโดยผิดกฎหมาย เช่น เข้ามาตามช่องทางธรรมชาติ และจะมีกลุ่มที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมาย ก็คือเข้ามาด้วยวีซ่านักท่องเที่ยวแต่ว่าอยู่เกินระยะเวลาที่กำหนด นอกจากนั้น การที่ไทยบังคับใช้ พ.ร.ก. การบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ทำให้นายจ้างตื่นตัวเรื่องการพิสูจน์สัญชาติของลูกจ้างต่างด้าวมากขึ้นก็ทำให้ผู้ลี้ภัยมีความเสี่ยงต่อการถูกตรวจพบมากขึ้น โดยเฉพาะกรณีที่เข้าเมืองและทำงานอย่างผิดกฎหมาย ไม่สามารถมีเอกสารที่จะใช้พิสูจน์สัญชาติได้

ผู้ลี้ภัยไทยในกัมพูชา หวั่น ถูกส่งกลับไทย เพราะดีลแลกตัว

ในขณะที่ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยในกัมพูชาคนหนึ่ง นามสมมติ สมชาย บอกกับประชาไทว่า สถานการณ์ผู้ลี้ภัยไทยในกัมพูชายังไม่มีการเปลี่ยนแปลง คือผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รับการรับรองดูแลจากรัฐหรือมีสถานะผู้ลี้ภัยที่รับรองโดยรัฐบาลกัมพูชา สามารถอยู่ในกัมพูชาไปได้เรื่อยๆ หากไม่ได้ทำผิดกฎหมายหรือก่อความวุ่นวาย เขากล่าวว่า รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่นักเคลื่อนไหวกัมพูชาถูกประเทศไทยส่งกลับ "ผมก็รู้สึกเขินๆ อายๆ ว่า เรามาแอบที่นี่ได้ แต่คนเขมรที่ไปแอบที่ไทยกลับถูกส่งกลับ ถ้าเราไปอยู่ที่อื่น ความรู้สึกตรงนี้คงจะไม่มี"

สมชายหลบมาอาศัยที่กัมพูชาเพราะถูกกล่าวหาว่า ละเมิดมาตรา 112 หรือ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อถามว่า การที่กัมพูชาออกกฎหมายหมิ่นฯ เองยิ่งทำให้สมชายรู้สึกกลัวว่าจะถูกส่งกลับไทยหรือไม่ เขาตอบว่า "ก็อาจจะเกี่ยวก็ได้ ก็คาดไว้ห้าสิบห้าสิบว่าเขาจะใช้อันนี้เป็นข้อต่อรองแลกเปลี่ยนผู้่ลี้ภัยทั้งสองฝ่ายหรือเปล่า แต่ก็ได้ยินว่า กฎหมายนี้รัฐบาลกัมพูชาเอาไว้ใช้กับนักกิจกรรมกัมพูชามากกว่า"  

เขากล่าวต่อว่า สถานการณ์นี้ยิ่งบีบให้เขาต้องเร่งหาทางลี้ภัยไปประเทศที่สาม เพราะไม่อยากถูกส่งกลับไทย

ส่วนผู้ลี้ภัยไทยที่ไม่ขอระบุชื่ออีกคนซึ่งไม่ต้องการลี้ภัยไปประเทศที่สาม กล่าวว่า ถ้ามีการส่งตัวกลับก็ยินดีเข้าสู่กระบวนการ ถือว่ายังคงอยู่ในกระบวนการต่อสู้ การออกมาอยู่ข้างนอกไม่ได้หมายความว่ายุติการต่อสู้ การถูกส่งตัวกลับก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้อยู่ดี

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความอยู่รอดของท่านผู้นำ(ทหาร) จากอดีตสู่ปัจจุบันจากปัจจุบันสู่อดีต

Posted: 22 Feb 2018 07:48 PM PST

การเมืองภายในประเทศในปัจจุบัน เต็มไปด้วยกระแสของการเรียกร้องประชาธิปไตย ตั้งแต่การล้มรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทำให้กระแส Hero of Politic มาแรงซึ่งกระแสนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วและโด่งดังมากในสมัยรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี พ.ศ. 2501-2506 ซึ่งในขณะนั้นประชาชนนิยมชมชอบในตัว  จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์มากและจอมพลจอมพลสฤษดิ์เองก็เปรียบตัวเองเป็นเหมือนดาราภาพยนตร์ มีการโปรโมตและลงพื้นที่พบปะประชาชนอย่างแพร่หลาย

กล่าวได้ว่าในยุคนั้นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สามารถโน้มทัศนะคติของประชาชนให้นิยมในตัวทหารได้ และก็ทำสำเร็จมากด้วยทำให้ขณะนั้นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์มีบารมีและอำนาจมากในประเทศ ประชาชนนิยมในตัวจอมพลจอมพลสฤษดิ์ เพราะสามารถโค้นอำนาจจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งประชาชนมองว่าเป็นเผด็จการลงได้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงเหมือนกับอัสวินที่ขี่ม้าขาวมาเพื่อช่วยประชาชน ทำให้คนในสมัยนั้นิยมชมชอบในตัวจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์มากถึงแม้ลึกๆ จะเป็นการปกครองที่เป็นเผด็จการก็ตาม ด้วยทัศนะคติแบบนี้จึงได้รับการถ่ายทอดผ่านสังคมไทยจนถึงปัจจุบัน ทำให้ประชาชนชอบอำนาจที่เด็ดขาดแบบเผด็จการ และปฏิเสธการมีอยู่ของประชาธิปไตย

ย้อนมาในการรัฐประหารปี 2557 ก็เช่นกันกระแสความต้องการเผด็จการทหารกลับมาในสังคมไทย เป็นการแส Hero of Politic ที่ประชาชนอดทนกับระบอบประชาธิปไตยไม่ได้อีกต่อไป จึงจำเป็นต้องหาระบบใหม่ที่รวดเร็วและทันใจกว่า ดังนั้น ในปัจจุบันเราจึงพูดได้ไม่เต็มปากว่าเราเกลียดหรือไม่ชอบเผด็จการในเมือเราเองที่เป็นคนกวักมือเรียกเผด็จการให้เข้ามาปกครองประเทศตั้งแต่แรก

 

ทำไมทหารต้องยุ่งเกี่ยวทางการเมือง

ในปัจจุบันเราจะเห็นการมีบทบาทในสังคมค่อนข้างมาก และยิ่งปัจจุบันนี้ก็ยิ่งมากกว่าเดิม ในทัศนะคติส่วนใหญ่ มองว่าทหารคือผู้ที่ต้องคอยดูแลความเรียบร้อย และรักษาความปลอดภัยของประเทศ ในปัจจุบันผมมองว่าหน้าที่ของทหารเริ่มที่จะแปรเปลี่ยนไปมากพอสมควร ในต่างประเทศที่พัฒนาแล้วมีบ้างที่ทหารจะมีหน้าที่ในการเข้ามาดูแลความเรียบร้อย โดยเฉพาะทางการเมืองน้อยครั้งที่จะมาเล่นการเมืองด้วยตนเอง แต่ในสังคมไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน สังคมไทยถูกรัฐประหารถึง 13 ครั้งนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ถือว่ามีความถี่มากทีเดียวในสังคมที่เรียกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตย และการรัฐประหารส่วนใหญ่ทหารก็จะขึ้นมาเป็นรัฐบาลเสียเอง สิ่งนี้เองการเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของสังคมไทย เป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่ยังต้องการทหารในมีส่วนร่วมทางการเมือง แทนที่จะกันออกไปเมื่อรัฐประหารเสร็จสิ้นและคืนอำนาจในประชาชนดังเช่นประเทศที่พัฒนาแล้ว วัฒนธรรมทางความคิดที่ต้องการทหาร ทำให้สร้างกระบวนการทางความคิดให้กับกองทัพว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองจึงเป็นหน้าที่ของทหารที่ต้องยุติปัญหา ซึ่งก็ถูกต้องส่วนหนึ่งที่ทหารต้องเข้ามาควบคุมเหตุการณ์ความรุนแรงของบ้านเมือง แต่คำถามอยู่ที่ว่าเหตุใดการเข้ามาของทหารจึงต้องล้มรัฐธรรมนูญล้มรัฐบาล และกระบวนการทางประชาธิปไตย และขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาลด้วยตนเอง

การศึกษาทางการเมืองไทยจำต้องเพื่มตัวแปรสำคัญคือกองทัพไว้ด้วย โดยเฉพาะคณะรัฐศาสตร์ทั่วประเทศที่ศึกษาเรื่องการเมือง ควรจะมีวิชาที่ศึกษากองทัพโดยเฉพาะ เพราะเห็นได้ว่ากองทัพหรือทหารมีอิทธิพลทางการเมืองไทยนับว่ามากพอสมควรตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การศึกษาการเมืองไทยจึงไม่ควรละเลยบทบาทของกองทัพ เพราะกองทัพเปรียบเหมือนกับขั้วการเมืองหนึ่งในระบบการเมือง

 

ประชาชนต้องการทหารจริงหรือ?

หากจะมองในบริบทและบทบาทของกองทัพอย่างเดียวเห็นจะไม่สมควร จึงต้องกลับมามองที่ประชาชนบ้าง ย้อนกลับไปในเหตุการณ์การการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีการเปลี่ยนประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งในคณะนั้นมีสถาบันพระมหากษัตริย์มีอำนาจสูงสุด ไปสู่ระบอบที่เรียกไม่เต็มปากว่าระบอบประชาธิปไตย ซึ่งในอำนาจอธิปไตยแก่ประชาชนเสมอกัน ซึ่งต่อมามีการตั้งคำถามถึงการเกิดขึ้นของกระแสเปลี่ยนแปลการปกครอง 2475 มีวาทกรรมทางการเมืองตั้งคำถามต่อคณะราษฎรสมัยนั้นว่า "ชิงสุกก่อนห่าม" ทางการเมืองหรือไม่ รีบเปลี่ยนแปลงไปรึปล่าวเพราะสังคมในสมัยนั้นอาจจะยังไม่พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง

เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง 2475 มีนัยยะทางการเมืองและจุดอ่อนที่สำคัญของคณะราษฎรคืออย่างแรก เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง 2475 มีนัยยะที่สำคัญคือการที่ผู้มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำคณะปฎิวัตินั้นส่วนใหญ่ประกอบด้วยข้าราชการ ตำรวจ ทหารทั้งสิ้นน้อยนักที่จะเป็นคนธรรมดา และจุดอ่อนของคณะราษฐรคือการขาดความร่วมมือจากประชาชนส่วนใหญ่ การปฎิวัติทั้งหมดกระทำโดยตำรวจทหาร ทำให้เป็นจุดอ่อนที่ถูกโจมตีในระยะเวลาต่อมา โดยนัยยะของคณะราษฎรที่ประกอบด้วยข้าราชการ ตำรวจ ทหารนี้เอง เป็นภาพลักษณ์ที่สำคัญให้กับประชาชนในสมัยนั้นและระยะเวลาต่อมา เป็นการสร้างความชอบธรรมให้ทหารในการเข้ามามีบทบาททางการเมืองในระยะเวลาต่อมา และเมื่อคณะราฎรยังมีอำนาจในการเมืองในระยะเวลาที่สั้นไปในการที่จะพัฒนากระบวนการและวิธีคิดให้ประชาชนมีการคิดและแสดงออกแบประชาธิปไตย ประชาธิปไตยไม่ได้ตกผลึกทางความคิดแก่สังคม และเมื่อคณะราษฎรบริหารประเทศได้ไม่ถึง 10 ปี ประเทศก็กลับไปสู่ระบอบที่ทหารเป็นใหญ่นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประชาชนจึงไม่มีเวลาที่จะซึมซับความเป็นประชาธิปไตยมากพอ จะซึมซับก็แต่ระบอบเผด็จการทหารเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะข้ออ้างที่เผด็จการทหารชอบใช้ คือ ความไม่พร้อม ความไม่รู้ และยังไม่ถึงเวลาในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย จึงเป็นการโฆษณาที่สำคัญทำให้สังคมเชื่อ และรับรู้มาจนถึงปัจจุบัน

สังคมไทยจึงสร้างทัศนะคติทางการเมืองที่ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ได้ให้ความหมายไว้ว่า "เป็นสังคมที่คนไม่อดทนต่อระบอบประชาธิปไตย" โดยชอบความรวดเร็วและเด็ดขาดของเผด็จการมากกว่า ดังเช่นเหตุการณ์ทางการเมืองไทยหลายๆ เหตุการณ์ที่คนออกมาเรียกร้อง และกวักมือเรียกทหารเมื่อเการเมืองมีปัญหาหรือไม่ชอบบุคคลทางการเมืองบางคนพรรคการเมืองบางพรรค ไม่รอให้กระบวนการทางประชาธิปไตยที่ต้องมีการเลือกตั้งทุก 4 ปี ได้ดำเนินไป จึงเป็นการเรียกเสือเข้าบ้านโดยแท้

 

ทหารมีหน้าที่ถือปืนหรือถือไมค์หาเสียงกันแน่?

จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันสังคมไทยนั้นต่างเคยชินกับการรัฐประหารและการฉีกรัฐธรรมนูญกันอยู่แล้ว ทำให้ทหารจำต้องเปลี่ยนลูกเล่นใหม่ทางการเมือง ซึ่งจะได้ไม่ทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายและพร้อมกับสร้างภาพลักษณ์ผู้นำทางการเมืองของทหารมากขึ้น

ทหารพยายามปรับตัวเองและพยายามสร้างภาพลักษณ์ให้มีคุณลักษณะไม่ต่างจากนักการเมือง เช่น ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการนำระบบไฮปาร์คของอเมริกามาใช้ สมัยจอมพลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีการเดินสายพบปะประชาชนมากขึ้นในชนบท สมัยพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ มีการชูนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชามีการสร้างรายการคืนความสุขโฆษณาผลงานรัฐบาลต่อประชาชน มีการแต่งเพลงฯลฯซึ่งนับว่าแปลกใหม่มากในสังคมปัจจุบัน หรือแม้แต่การประกาศว่าตัวเองเป็นนักการเมืองก็เคยพูดมาแล้ว

ทั้งหมดนี้ ทำให้เห็นว่าทหารต้องปรับตัวและเรียนรู้ให้เข้ากับสังคมปัจจุบันมากที่สุด แต่สิ่งที่ทหารไม่จำเป็นต้องเรียนรู้เลย คือวัฒนธรรมการรัฐประหาร หากท่านลองไปศึกษาการเมืองไทยในอดีตตั้งแต่การรัฐประหารของจอมพล ป. พิบูลสงครามเรื่อยมาจนกระทั้งรัฐประหารปี 2557 นั้นบทบาทการรัฐประหารแทบจะไม่เปลี่ยนเลย มีการกระทำที่เหมือนกัน เช่น ต้องมีการฉีกรัฐธรมนูญและร่างใหม่ มีการขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาลด้วยตนเอง มีกฎหมายที่ให้อำนาจพวกตนเองสูงสุด มีการสืบทอดอำนาจ แม้การทั้งคณะรัฐประหารยังมีชื่อที่คล้ายคลึงกัน เช่น คณะ รสช. ปี 2534 กับ คสช. ปี 2557

ดังนั้นทหารจึงมีตำราการรัฐประหารที่เพียบพร้อมอยู่แล้ว ว่าต้องทำอย่างไรในการรัฐประหารและร้อยละ 95 ก็ทำรัฐประหารได้สำเร็จ ทหารจึงไม่จำเป็นต้องเรียนรู้มากในการรัฐประหาร แต่สิ่งที่กองทัพหรือทหารต้องเรียนรู้และมักจะไม่สำเร็จคือการบริหารประเทศ ทหารเมื่อขึ้นมามีอำนาจแล้วไม่มีประสบการณ์ในการบริหารและส่วนมากก็จะล้มเหล้ว ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไปเมื่อรัฐประหารสำเร็จจะเห็นได้ว่าคณะรัฐประหารส่วนใหญ่จะทำให้ประเทศมีปัญหามากมายนับจากขึ้นมามีอำนาจ และส่วนใหญ่ก็มีทางลงที่ไม่สวยหรูนักจะมีน้อยคนที่ได้ขึ้นชื่อว่าขึ้นสวยลงสวย ส่วนใหญ่ลงจากอำนาจไม่สวยทั้งนั้น จึงกล่าวได้ว่าทหารนั้นต่างรู้แต่การรัฐประหารแต่ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรหากรัฐประหารสำเร็จและได้ขึ้นเป็นผู้นำประเทศ

 

อำนาจปลายกระบอกปืน

การที่คนเราได้สิ่งได้มาง่ายและได้มาด้วยอำนาจตนเองต่างก็ไม่รู้คุณค่าสิ่งที่ตนเองได้มาทั้งนั้น เป็นหลักตรรกะง่ายๆ การขึ้นมามีอำนาจของทหารก็เช่นกัน อำนาจทางการเมืองที่ทหารได้มานั้นก็ล้วนมาจากอำนาจปลายกระบอกปืนที่กดท้ายทอยประเทศเอาไว้ เป็นอำนาจที่ที่ทหารใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งการปกครองสูงสุด ไม่ได้เป็นอำนาจที่ได้มาจากระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเลือกเข้ามาและมอบอำนาจให้บริหารประเทศ จึงทำให้ทหารไม่เห็นคุณค่าจากประชาชน เพราะไม่ใช่สิ่งที่ทำให้ตนมีอำนาจ ประชาชนไม่ได้ใหญ่ที่สุดในความคิดของกองทัพและทหาร

เมื่อมองจากประวัติศาสตร์การเมืองไทย ทหารไม่เคารพประชาชน เริ่มจากสิ่งง่ายๆ คือ การแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกของประชาชนต่อรัฐบาลถูกควบคุม เช่น สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร พลเอกสุจินดา คราประยูร หรือแม้แต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาในปัจจุบัน ทหารไม่เคารพในสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ใช้อำนาจอันมิชอบควบคุมคนส่วนใหญ่ และไม่ฟังเสียงจากประชาชน ซึ่งในอดีตอาจเหมาะสมกับสังคมในขณะนั้นที่ต้องการให้สังคมมีความสงบเรียบร้อยเพื่อป้องกันภัยจากภายนอก แต่ปัจจุบันไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปที่จะปิดปากปิดตาประชาชน

แต่ผมเองก็แอบเห็นข้อดีอยู่บ้างในการที่ทหารควบคุมความคิดความเห็นของประชาชน เพราะส่วนหนึ่งก็ทำให้สังคมเริ่มเข้าใจความหมายและความสำคัญของสิทธิแสะเสรีภาพตนเองมากขึ้น ผ่านการชุมนุมและประท้วงต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้และพัฒนาสังคมประชาธิปไตยต่อไป ในเมื่อทหารไม่ได้ได้อำนาจจากประชาชนจึงเป็นการสร้างกระบวนการคิดว่าไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้นต่อประชาชน และ "เมื่อประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจสิทธิขาดของท่าน ท่านก็ฆ่า" ดังเช่นเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความรุนแรงที่นำไปสู่ความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภาทมิฬ ล้วนแล้วเป็นเหตุการณ์ที่ทหารจับปืนขึ้นยิงประชาชนแทนที่จะปกป้อง "มันจะไม่ดีกว่าหรือครับที่แม้การเมืองจะไม่สงบมีผู้นำที่ไม่ใช่ทหาร มีการชุมนุมและประท้วงเพื่อขับไล่ถึงแม้จะทำให้บ้านเมืองไม่สงบแต่ก็ไม่นำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงอย่างใหญ่หลวงเหมือนการปกครองของทหาร และไม่มีการสูญเสียชีวิตของประชาชน(น้อยกว่า) ดีกว่าการที่ต้องมาไล่เผด็จการทหารที่มันจะจับปืนมายิงเราเมื่อไรก็ไม่รู้" อำนาจที่จะได้ในการปกครองประเทศของทหารไม่ใช่อำนาจสิทธิทางการเมืองของประชาชน มีก็แต่อำนาจความตายจากปลายกระบอกปืน

 

ถอดบทเรียนในอดีตสู่ ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จะเห็นได้ว่าการขึ้นมาสู่อำนาจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นั้นเป็นการขึ้นมามาอำนาจของกองทัพครั้งล่าสุดนับตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันายายน 2549 จะเห็นได้ว่าการเมืองช่วงปี 2550 -2557 นั้นลุกล้มคลุกคลานพอสมควร จึงเป็นช่องทางอันนำไปสู่การรัฐประหาร โดยเฉพาะปี 2557 ที่ประชาชนเริ่มเบื่อหนายนักการเมืองและการเมืองมีท่าทีจะนำไปสู่ความรุนแรงระหว่าง นปช และ กปปส จึงเหมือนเป็นช่วงเวลาที่หอมหวานและประจวบเหมาะของการเข้ามาของกองทัพ จนกระทั้งเกิดการรัฐประหารขึ้น ประชาชนจำนวนมากมีความยินดีที่ทหารยึดอำนาจและมีประชาชนจำนวนไม่น้อย ได้นำดอกไม้และพวงมาลัยให้แก่ทหาร จึงนับเป็นช่วงเวลาประสบความสำเร็จของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ คสช. ที่เหมือนเป็น Hero ของประชาชนมายุติความขัดแย้ง ยำเตือนถึงทัศนะคติทางความคิดลึกๆของประชาชน ว่าไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานการเมืองจะพัฒนาไปมากแค่ไหน แต่ก็ยังต้องการเผด็จการทหารอยู่ดี แต่ระยะเวลาต่อมาพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะก็ได้เริ่มแสดงความเป็นทหารออกมาด้วยการบริหารที่ย่ำแย่ ประกอบกับการพยายามปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน และการคอรัปชันอันเน่าเหม็นของรัฐบาลผ่านโครงการต่างๆ นำไปสู่การมีอยู่ของรัฐบาล Hero ของประชาชน ในระยะปีสองปีมานี้ก็ได้มีกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยมากขึ้นจากประชาชนในสังคม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้จะพยายามทำตัวให้เป็นนักการเมืองและออกนโยบายประชานิยมต่างๆ แต่ก็ล้มเหลวย้ำเตือนหน้าที่ของทหารมากขึ้นว่าไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมืองในระยะยาว ประกอบกับสื่อปัจจุบันที่พัฒนาไปไกลทำให้ทหารไม่สามารถตามทันและควบคุมไว้ได้ดังเช่นอดีต ประกอบกับพี่ใหญ่ร่วม ครม. ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเองก็เริ่มส่งกลิ่นการคอรัปชั่นมากขึ้น แต่รัฐบาลก็ไม่ยอมเรียนรู้บทเรียนจากอดีตที่ได้จากการพยายามบริหารของทหารที่มักล้มเหลว และถูกต่อต้านและขับไล่จากประชาชน แม้ว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาจะมาอย่างอัสวินขี่ม้าขาวฮีโร่ของประชาชน ก็อาจมีจุดจบเหมือนสุนัขข้างถนนถูกขับไล่จากสังคมได้ เช่น จอมพล ถนอม กิตติขจร หรือ พลเอก สุจินดา คราประยูร ที่ถูกสังคมต่อต้านและขับไล่ เผด็จการทหารในประเทศไทยไม่เรียนรู้การคืออำนาจให้กับประชาชนและอยู่อย่างรัฐบุรุษ เพียงขึ้นมายุติความขับแย้งผมเชื่อว่าหากสังคมทหารเรียนรู้ที่จะคืออำนาจแก่ประชาชน ไม่คิดสืบทอดอำนาจ จะได้รับความนิยมจากประชาชนมิใช่น้อย กลับมาที่รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีเรื่องเสื่อมเสียมากกว่าที่สังคมจะรับได้ แต่ก็ยังลุแก่อำนาจไม่ยอมคืนอำนาจอธิปไตยให้แก่ประชาชนเป็นผู้กำหนดอนาคตประเทศด้วยตนเอง ยังคงเดินหน้าด้วยปลายกระบอกปืนอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้เรียนรู้ที่จะยอมคืนอำนาจเมื่อสังคมต้องการ "ผมขอฟังธงอย่างแน่นอนว่าหากยังคงดื้อดึงต่อไป จะจบไม่สวยอย่างแน่นอน เพราะท่านและคณะของท่านลืมอำนาจสูงสุดของประเทศนี้เสียแล้วคืออำนาจจากประชาชน"

 

จากที่ได้กล่าวมาแล้วดังข้างต้น จะเห็นความสัมพันธ์ของทหารในการเมืองไทย ที่มีความสัมพันธ์อย่างเหนียวแน่น และเปรียบเหมือนองค์กรทางการเมืององค์การหนึ่ง มีการสร้างวัฒนธรรมของทั้งประชาชน และทหารในทางการเมือง จึงทำให้เกิดการแทรกแซงทางการเมืองหลายครั้งของทหาร ฉีกรัฐธรรมนูญอันได้มาจากประชาชนและเขียนรัฐธรรมนูญที่เป็นเผด็จการเปิดช่องให่สืบทอดอำนาจต่อไป การเมืองไทยจึงเต็มไปด้วยการรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญหมุนวนอยู่ซ้ำๆ เป็นการปิดกั้นการพัฒนาไปสู่สังคมที่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนในประเทศขาดการพัฒนาทางการเมือง เพราะต้องถูกทั้งการปิดกั้นจากทหารและปิดกั้นจากความคิดทางสังคม

สังคมแห่งฮีโร่ทางการเมืองจึงเป็นสังคมที่เพ้อฝัน หามิได้ในการเมืองปัจจุบันเพราะในระบบการเมืองนั้นเป็นการตอบแทนผลประโยชน์ซึ่งกันและกันอย่างเหมาะสมที่สุด จึงไม่ใช่สังคมที่ดีทั้งหมดมีทั้งฝ่ายที่ได้เปรียบและเสียเปรียบแต่หากสังคมเป็นประชาธิปไตย ผลประโยชน์ก็สามารถต่อรองกันได้ แต่ในสังคมเผด็จการเรามิอาจคิดหรือแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้มากนัก ก็อย่าได้พูดเรื่องผลประโยชน์เลย แม้ทหารหลายคนขึ้นมามีอำนาจล้วนอ้างความเป็นประชาธิปไตยของรัฐบาลตน ไม่มีการสืบทอดอำนาจ และสัญญาจะมีการเลือกตั้งโดยเร็ววัน แต่จากประวัติศาสตร์การเมืองไทยหากได้ศึกษาจะพบว่าล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องโกหกของผู้นำเผด็จการทหารเพียงเพื่อให้ความหวังและซื้อเวลาเท่านั้นเอง

และถึงแม้ว่าอาจจะมีคำกล่าวว่าการเลือกตั้งไม่ได้ยืนยันการเป็นประชาธิปไตย แต่ก็ต้องถือว่าการเลือกตั้งเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่ทำให้ประชาชนมีสิทธิในการเลือกและมีสิทธิทางการเมืองที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย สำหรับวิธิการแก้ปัญหาสังคมไทยภายใต้เผด็จการทหาร ผมจะยังไม่ขอกล่าวไว้ในที่นี้ แต่จะเขียนไว้ในบทความถัดไป

และท้ายที่สุดนี้ผมยังมีความหวังที่สังคมจะมีเจตนาในการพัฒนาประชาธิปไตยและหวังว่าผู้นำทหารในกองทัพในอนาคต จะมีคนที่มีความคิดเรื่องสิทธิพื้นฐานของประชาชน และชี้แนวทางและหน้าที่ของทหารที่ควรจะเป็น ผมเชื่อว่าผู้นำทหารที่มีทัศนะคติแบบนี้ในกองทัพมีมากอยู่ เพียงแค่ไม่มีอำนาจเท่านั้นเอง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คณะกรรมนโยบายสุขภาพแห่งชาติ โดยใคร เพื่อใคร?

Posted: 22 Feb 2018 07:12 PM PST


 

จากร่างแผนการปฏิรูประบบสุขภาพปี 2560-2564  หลังการปิดประตูคุยกันเองของคณะกรรมการทีมีใจเสนานิยม ครั้งที่ 3 ที่นำโดย ประธาน นพ.เสรี ตู้จินดา และคณะที่เลือกสรรมาโดย คสช. ที่ปราศจากตัวแทนภาคประชาชน เพราะเป็นแผนปฏิรูปประเทศ ที่มีหลักคิดที่เห็นประชาชนเป็นเพียงเป้าหมายการพัฒนา ซึ่งเป็นความคิดที่ล้าหลังของกระบวนการพัฒนาอย่างสูงที่ทำให้ขาดการมีส่วนร่วม ขาดการเคารพซึ่งสิทธิของประชาชนในการดูแลสุขภาพตนเอง รอเพียงการรับบริการจากผู้ให้บริการ ผลของระบบบริการคงได้ผลลัพธ์ที่ล้มเหลวเหมือนเดิม

เมื่อเป้าหมายมองประชาชนเป็นเพียงแค่ผลลัพธ์ กระบวนการจัดทำแผนปฏิรูปประเทศ จึงทำโดยกลุ่มและเครือข่ายผู้ให้บริการ ขาดการมีส่วนร่วม และความเป็นเจ้าของของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่วันนี้ถือเป็นปัจจัยสำเร็จที่รับรู้กันทั่วไป นับเป็นความล้าหลังของเครือข่ายราชการที่ยังอาจหาญมากำหนดแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการปฏิรูปโดยพวกพ้อง เพื่อพวกพ้องเท่านั้น โดยมีแผนด้านต่างๆ ตามภาพประกอบ

โดยขอเสนอตัวอย่างรูปธรรมความล้มเหลวของแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข  ดังต่อไปนี้

1. การปฏิรูปการกำหนด และติดตามนโยบาย (policy and regulators)

ก. การกำหนดให้มีคณะกรรมนโยบายสุขภาพแห่งชาติ (National Health Policy Board : NHPB) หรือเรียกง่ายๆ ว่า ซุปเปอร์บอร์ด องค์ประกอบของคณะกรรมการ 80-20 แต่ไม่ระบุองค์ประกอบ จะทำให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมได้อย่างไร โดยคาดว่าคงเต็มไปด้วยตัวแทนจากภาคราชการ และกลุ่มผู้ใกล้ชิดที่มีที่มีหลักคิดแบบเสนานิยม และนิยมการสงเคราะห์คนยากจนอนาถามากกว่าการพัฒนาประเทศให้เป็นรัฐสวัสดิการเพื่อประชาชน เหมือนคณะกรรมการชุดอื่นๆที่ผ่านมา เช่น คณะกรรมการด้านการแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ จึงมีความสุ่มเสี่ยงอย่างสูงต่อการตัดสินใจที่ขาดการคำนึงและการรับฟังที่เปิดกว้างจริงใจ รอบคอบจากทุกภาคส่วน  จึงมีข้อเสนอที่เหมาะสมกว่า โดยที่ประเทศไทยมีกฎหมาย พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติอยู่แล้ว ในกฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีองค์ประกอบครอบคลุมทุกภาคส่วน (ไม่ใช่กรรมการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ) ครบถ้วนอยู่แล้ว น่าจะเหมาะสม ชัดเจนกว่า การไปรอ ยกร่างกฎหมายใหม่ตามที่ระบุในแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข

 

ข. การปรับโครงสร้างกระทรวงสาธารณสุขก็ขาดความชัดเจนในการปฏิรูประบบราชการให้เหมาะสม มีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อนบทบาทของกระทรวงฯที่เป็นทั้งผู้กำกับติดตามนโยบาย และเป็นผู้จัดบริการ (เจ้าของ รพ.) ไปด้วย ทำให้การกำกับติดตามไม่จริงจังอย่างที่ควรจะเป็น เกิดพฤติกรรมที่เกรงใจเพื่อนผองน้องพี่มากกว่าประชาชน และการกระจายอำนาจสู่เขต และชุมชนจริงหรือไม่  หรือเป็นเพียงมายาคติโฆษณาชวนเชื่อต่อประชาชน  ทั้งๆที่ความเป็นจริงนั้นเป็นเพียงการถ่ายโอนภารกิจจากส่วนกลางสู่เขต โดยที่ปลัดกระทรวงฯ ก็ยังสามารถสั่งการ  และให้คุณให้โทษผู้แก่ตรวจราชการกระทรวงได้ดั้งเดิม 

2. การปฏิรูปผู้จัดซื้อบริการ (purchasers) ที่ขาดการกำหนดโครงสร้างที่สมดุลเป็นธรรม เสี่ยงต่อการกำหนดทิศทางนโยบายที่มุ่งเน้นความเห็นแบบเสนานิยม และการสงเคราะห์คนยากจนอนาถามากกว่ารัฐสวัสดิการเพื่อประชาชน มองการจัดบริการสุขภาพให้ประชาชนเป็นภาระของประเทศ ไม่ใช่การลงทุนเพื่อประชาชน แต่กับพวกพ้องกลับมองว่าเป็นสวัสดิการ ร่วมไปถึงการร่วมจ่าย ณ จุดบริการที่เสี่ยงต่อการเข้าถึงไม่บริการ ที่เปรียบได้กับการตอกลิ่มทิ่มแทงเพิ่มช่องว่างความเหลื่อมล้ำให้มากยิ่งขึ้น

3. การปฏิรูปผู้จัดบริการ (providers)

ก. การปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิที่ขาดการมีส่วนร่วมของผู้จัดบริการที่หลากหลาย เหมาะสมกับบริบทที่ต่างๆ ของแต่ละพื้นที่ และกลุ่มประชาชนทั้งจากภาครัฐนอกกระทรวงสาธารณสุข และเอกชน   รวมไปถึงภาคประชาชนที่เป็นผู้รับผลงานที่แท้จริงจากบริการปฐมภูมิที่ดีมีคุณภาพถึงประชาชนได้จริง มิใช้มีแค่เพียงต้นแบบที่ยึดติดภาพของกระทรวงแบบเดิมๆ อยู่ร่วมไปถึงการเสริมพลัง เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นและชุมชนเข้ามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ และติดตามประเมินผลมากขึ้น ที่จะต่อยอดเสริมความเป็นเจ้าของระบบสุขภาพของชุมชน ลดการนำของระบบราชการจากคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ที่จะมีบทบาทได้อย่างแท้จริง

ข. การพัฒนาอัตรากำลังที่ขาดรายละเอียดในการกระจายบุคลากรที่เป็นธรรม ลดระบบอุปถัมภ์ และเชื่อมโยงกับการปฏิรูประบบราชการที่เป็นรูปธรรม มุ่นเน้นประสิทธิภาพของระบบที่แท้จริง

ดังนั้นหากให้ประเทศไทยเดินหน้าได้จริง ต้องหยุดคิดว่าประเทศไทยเป็นของพวกคุณเท่านั้น  แต่เป็นของคนไทยทุกคนที่จะดำเนินการปฏิรูปประเทศไปด้วยกันเพื่ออนาคตที่ดีของลูกหลานสืบไป

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น