โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สแกนภารกิจ พล.อ.ประยุทธ์ สับขาหลอก-ยื้อเลือกตั้ง แต่กระหน่ำทัวร์นกขมิ้น

Posted: 11 Feb 2018 06:50 AM PST

แม้กำหนดเลือกตั้งตามโรดแมปจะเลื่อนออกไปอีกหลายเดือนเพราะ สนช. แก้กฎหมายเลือก ส.ส. แต่เมื่อเช็คปฏิทินก็พบว่าหลัง พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศเมื่อตุลาคม 60 ว่าจะจัดเลือกตั้งแน่ๆ ปลายปี 61 ก็พบว่าจนถึงขณะนี้ภารกิจ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงรัดตัว เพราะต้องลงพื้นที่-พบชาวบ้าน-พบกลุ่มการเมือง-ประชุม ครม.สัญจรอย่างสม่ำเสมอ ท่ามกลางกระแสข่าวจัดตั้งพรรคการเมืองรองรับการเปลี่ยนผ่านอำนาจของ คสช

ติดตามการตรวจพื้นที่และประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรีหลังประกาศเมื่อเดือนตุลาคม 2560 ว่าจะจัดการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 แม้ภายหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะผ่านกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จนมีผลเลื่อนปฏิทินเลือกตั้งไปอีกหลายเดือน แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงเดินหน้าลงพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ พร้อมรับปากช่วงสิ้นปีว่า New Year's resolution จะเป็นนายกรัฐมนตรีที่อารมณ์ดีตลอดเวลา แม้มีคนทำให้หงุดหงิดก็จะไม่หงุดหงิดอีกแล้ว

กระหน่ำทัวร์นกขมิ้น พบส่วนราชการ พบประชาชน พบกลุ่มการเมือง

การลงพื้นที่ต่างจังหวัดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 60 ประกาศจัดเลือกตั้ง (คลิกเพื่อชมภาพขนาดใหญ่)

โดยนับตั้งแต่ 10 ต.ค. 2560 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศจัดเลือกตั้ง จนถึงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่แล้ว 14 จังหวัดทั่วประเทศ ในจำนวนนี้เป็นการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร 3 ครั้งที่ จ.สงขลา จ.สุโขทัย และ จ.จันทบุรี และเป็นการประชุมแผนยุทธศาสตร์จังหวัด 2 ครั้ง ที่ จ.กาฬสินธุ์ และ จ.แม่ฮ่องสอน นอกจากนี้ยังมีการตรวจเยี่ยมพื้นที่ประสบอุทกภัย เยี่ยมเยียนประชาชน

และท่ามกลางกระแสข่าวจัดตั้งพรรคการเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจของ คสช. ยังมีรายงานข่าว พล.อ.ประยุทธ์พบกับกลุ่มการเมืองเพื่อหารือทั้งแบบเป็นทางการ และไม่เป็นทางการหลายครั้ง ได้แก่ พบกับกลุ่มอดีต ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา ระหว่างลงพื้นที่น้ำท่วมที่ จ.อ่างทอง เมื่อ 30 ต.ค. 60 พบผู้นำทางการเมืองนำโดยสมศักดิ์ เทพสุทิน ระหว่างลงพื้นที่ จ.สุโขทัย เมื่อ 25 ธ.ค. 60 และล่าสุดพบผู้นำทางการเมืองภาคตะวันออก ซึ่งในจำนวนนี้มีสนธยา คุณปลื้ม แกนนำพรรคพลังชล และอดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ จ.ระยอง ระหว่างประชุม ครม. ที่ จ.จันทบุรี เมื่อ 5 ก.พ. 61

นอกจากนี้ในช่วงปลายปียังมีภาพ พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ถ่ายภาพร่วมกับนักการเมืองกลุ่มตระกูลสะสมทรัพย์ ที่มีฐานการเมืองใน จ.นครปฐมด้วย อย่างไรก็ตาม ท่าทีล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ ในการลงพื้นที่ภาคตะวันออกในสัปดาห์นี้ได้หยอดถามประชาชนในทำนองว่า "รู้หรือยังว่าจะเลือกใคร" แต่ก็ยังคงปฏิเสธข่าวสืบทอดอำนาจ โดยย้ำว่า คสช. มีภารกิจเรื่องการปรองดอง หากนักการเมืองกลุ่มใดเห็นปัญหาขอให้แจ้งรัฐบาล

 

แสกนรายเขตเลือกตั้ง
พล.อ.ประยุทธ์ เข้าพื้นที่ประชาธิปัตย์มากสุด เพื่อไทยรองลงมา

แสดงจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขต เทียบกับพื้นที่ทัวร์นกขมิ้น (หมายเหตุ: เทียบกับการเลือกตั้ง 3 ก.ค. 54) (คลิกเพื่อชมภาพขนาดใหญ่)

และเมื่อพิจารณา 14 จังหวัดที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตระเวนลงพื้นที่นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 60 เทียบกับเขตเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อปี 2554 เท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์ ปูพรมแล้ว 65 เขตเลือกตั้ง โดยเป็นเขตของ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์มากที่สุดคือ 34 ที่นั่งจาก 9 จังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ที่พรรคประชาธิปัตย์เคยได้ ส.ส. ยกจังหวัดอย่างแม่ฮ่องสอน ตราด จันทบุรี นครศรีธรรมราช ตรัง สงขลา และปัตตานี

รองลงมาคือเขตของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย 19 ที่นั่งจาก 4 จังหวัด ในจำนวนนี้มีจังหวัดที่พรรคเพื่อไทยเคยได้ที่นั่ง ส.ส. ยกจังหวัดได้แก่ ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ นอกจากนั้นเป็นเขตของพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กได้แก่ พรรคพลังชลที่ได้ ส.ส. หนาแน่นถึง 6 ที่นั่งจาก 8 เขตในชลบุรี พรรคภูมิใจไทย 3 ที่นั่งจาก 2 จังหวัด คือสุโขทัย และปัตตานี พรรคชาติไทยพัฒนา 2 ที่นั่งจากอ่างทอง และพรรคมาตุภูมิที่ได้ ส.ส. 1 ที่นั่งในปัตตานี

 

ปฏิทินทัวร์นกขมิ้นหลังรับปากจัดเลือกตั้ง

2 ต.ค. 2560 (เวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา) พบโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และแจ้งว่าปีหน้าจะจัดการเลือกตั้งตามโรดแมป

10 .. 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. แถลงหลังประชุมคณะรัฐมนตรีว่าในเดือนมิถุนายน 2561 จะกำหนดวันเลือกตั้ง โดยคาดว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2561 คสช. เตรียมพิจารณาผ่อนปรนการทำกิจกรรมให้กับพรรคการเมือง

 

30 .. 2560 .อ่างทอง

ติดตามการให้ความช่วยเหลือน้ำท่วมที่ จ.อ่างทอง โดยในรายงานของไทยรัฐระบุว่า เมื่อคณะของ พล.อ.ประยุทธ์ มาที่เทศบาลตำบลบางจัก อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง เพื่อมาพบปะประชาชน มีภราดร และกรวีร์ ปริศนานันกุล อดีต ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา และประชาชน 500 คนมาให้การต้อนรับ นอกจากนี้คณะของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังเดินทางไปที่ อบต.โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ด้วย

31 .. 2560 .ขอนแก่น

เยี่ยมประชาชนและช่วยเหลือน้ำท่วมที่ อ.เมือง จ.ขอนแก่น มอบถุงยังชีพที่บ้านบึงสวาง หมู่ 5 ต.บึงเนียม อ.เมือง จ.ขอนแก่น และเยี่ยมผู้ปฏิบัติงานปิดพนังคันดินคลองส่งน้ำชลประทาน 3L - RMC ณ บ้านคุยโพธิ์ หมู่ 6 ต.บึงเนียม อ.เมือง จ.ขอนแก่น

3 .. 2560 .นครศรีธรรมราช

เป็นประธานการประชุมและมอบนโยบายให้แก่ 14 ผู้ว่าราชการจังหวัดของภาคใต้และส่วนราชการ ที่ศูนย์ประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.หูล่อง อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช และสักการะพระบรมธาตุวรมหาวิหารอ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช

20 .. 2560 .ชลบุรี

20 พ.ย. 2560 เป็นประธานตรวจพลสวนสนามทางเรือนานาชาติ งานมหกรรมทางเรือนานาชาติ เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี การก่อตั้งอาเซียน ที่อ่าวพัทยา จ.ชลบุรี

นอกจากนี้ยังเดินทางมารับฟังการบรรยายสรุปการจัดการศึกษาของวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ และการจัดการศึกษาในพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดย พล.อ.ประยุทธ์ ยังนำยานยนต์ไฟฟ้าต้นแบบที่ประดิษฐ์จากนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ มาทดลองขับขี่ก่อนเข้าประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 3/2560 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 22 พ.ย. ด้วย

 

27-28 พฤศจิกายน 2560
ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ จ.ปัตตานี และ จ.สงขลา

27 .. 2560 .ปัตตานี

พบปะประชาชนและเปิดป้าย "ตลาดกลางปศุสัตว์จังหวัดชายแดนภาคใต้" ที่ ต.บางเขา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

ประชุมติดตามงานด้านความมั่นคงและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และพบผู้นำท้องถิ่น ที่กองพลทหารราบที่ 15 ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยมีการรับฟังความคิดเห็นของตัวแทนผู้นำชุมชน จำนวน 42 คน จาก จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จำนวน 5 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำไทยพุทธ ผู้นำกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน และภาคประชาสังคม

เยี่ยมชมพื้นที่เกษตรอุตสาหกรรมแปรรูปโรงงานน้ำมันปาล์ม ณ บริษัท ปาล์มพัฒนาชายแดนใต้

 

ว้ากใส่ไมค์และเหตุสลายชุมนุมชาวบ้านเทพา

อนึ่ง ในรายงานของข่าวสด ที่ตลาดกลางปศุสัตว์จังหวัดชายแดนใต้ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี มีชาวประมงชื่อภรัณยู เจริญ เข้าร้องเรียนนายกรัฐมนตรี ขอให้แก้ไขระเบียบเกี่ยวกับการทำประมงที่กำหนดให้ชาวประมงสามารถออกเรือไปทำประมงได้ 220 วันต่อปี ซึ่งถือว่าน้อยเกินไป ทำให้ประสบภาวะขาดทุน แต่ว่าเขาใช้เสียงอันดังเพื่อแข่งกับเสียงของนายกรัฐมนตรีที่พูดผ่านไมโครโฟน ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบกลับด้วยเสียงดังว่า "ใจเย็นๆ อย่ามาเถียงกับผม พูดดีๆ ก็ได้ ผมพร้อมรับฟังปัญหา อย่ามากดดันรัฐบาล รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่" โดย พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าไปทำความเข้าใจกับชาวประมงผู้นี้และแนะนำให้ไปร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรม

นอกจากนี้ที่ จ.สงขลา เจ้าหน้าที่ตำรวจยังสลายการชุมนุมกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่พยายามเดินทางเข้าพื้นที่ เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านโครงการ ระหว่างการประชุม ครม.สัญจร โดยมีการจับกุมแกนนำ 16 รายด้วย

 

27 - 28 .. 2560 .สงขลา

27 พ.ย. 2560 ในช่วงค่ำ นายกรัฐมนตรีและคณะร่วมประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดภาคใต้ และภาคใต้ชายแดน ที่โรงแรมบีพี สมิหลา บีช อ.เมือง จ.สงขลา โดยเป็นการประชุมแบบ "Working Dinner" ร่วมกับคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้แทนเกษตรกร ภาคใต้และภาคใต้ชายแดน เพื่อหารือเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาภาคใต้และทิศทางการพัฒนาภาคใต้ชายแดน

28 พ.ย. 2560 เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 3/2560 ณ ห้องประชุมศรีวิศวะ อาคารวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อ.เมือง จ.สงขลา

พบปะประชาชน และมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรือที่อยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด 7 จังหวัด (ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส พังงา พัทลุง ระนอง และสุราษฎร์ธานี)

 

8 ธันวาคม 2560 .ตรัง

ตรวจสถานการณ์และช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่ จ.ตรัง ได้แก่

ตรวจสถานการณ์การระบายน้ำแม่น้ำตรัง ณ สะพานคลองช้าง ต.บางรัก อ.เมือง จ.ตรัง

พบประชาชนและมอบถุงยังชีพที่หอประชุมโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ต.บางรัก อ.เมือง จ.ตรัง

ลงเรือเยี่ยมและมอบถุงยังชีพ ณ บ้านคลองช้าง ตำบลนาตาล่วง อ.เมือง จังหวัดตรัง

มอบถุงยังชีพ ณ หอประชุมอาคารอเนกประสงค์ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร ต.ควนธานี อ.กันตัง จ.ตรัง

และ มอบถุงยังชีพ ณ โรงเรียนรัษฎา ตำบลคลองปาง อ.รัษฎา จังหวัดตรัง

ทั้งนี้ไม่มีรายงานการพบกับแกนนำพรรคการเมืองและอดีต ส.ส. ในพื้นที่ มีเพียงรายงานของไทยรัฐเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2560 รายงานว่า ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวขอบคุณที่ พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่และไปติดตามโครงการขุดคลองลัดระบายน้ำแม่น้ำตรัง

 

13 ธันวาคม 2560 กาฬสินธุ์
ลงพื้นที่ตรวจราชการประชุมยุทธศาสตร์จังหวัดกาฬสินธุ์

เยี่ยมชมวิถีชีวิตการทอผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ ณ ศูนย์วัฒนธรรมภูไท หมู่บ้านโพน หมู่ที่ 5 ต.โพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ และมอบเครื่องจักรกลการเกษตร และมอบโค-กระบือ พร้อมกล่าวกับประชาชน ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมผู้ไทย ผ้าไหมแพรวา เฉลิมพระเกียรติฯ ต.โพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์

เยี่ยมชมอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ รับฟังการบรรยายสรุปโครงการ ปล่อยพันธุ์ปลาและปลูกต้นพยอม ณ อ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์

ส่งท้ายเป็นประธานการประชุมสรุปยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดกาฬสินธุ์ ณ อาคารอำนวยการ วิทยาลัยเทคนิคเขาวง ต.กุดสิมคุ้มใหม่ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์

25-26 ธันวาคม 2560
ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ จ.พิษณุโลก และ จ.สุโขทัย

25 .. 2560 จ.พิษณุโลก

สักการะพระพุทธชินราช ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.พิษณุโลก

สักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระสุพรรณกัลยา และปลูกต้นมหาพรหมราชินี ณ กองทัพภาคที่ 3

เยี่ยมชมการดำเนินงานของบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีพิษณุโลก (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน และพบประชาชน ณ บ้านวังส้มซ่า หมู่ที่ 1 ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก

 

25 - 26 ธ.ค. 2560 จ.สุโขทัย

25 ธ.ค. 2560 สักการะพระอจนะ ณ วัดศรีชุม จ.สุโขทัย เยี่ยมชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย พิธีเปิดตลาดวัฒนธรรมและกล่าวกับประชาชน ที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.สุโขทัย

ในรายงานของไทยรัฐระบุว่า คณะของนายกรัฐมนตรีเดินทางต่อไปที่หอประชุมอาคารอนุสรณ์ลายสือไท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.สุโขทัย เพื่อพบปะพูดคุยกับผู้นำท้องถิ่น ประมาณ 50 คน นำโดยสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรองนายกฯ พร้อมอดีต ส.ส.ของจังหวัด โดยการหารือซึ่งกินเวลา 1 ชั่วโมงไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวทำข่าว

สำหรับสมศักดิ์ เทพสุทิน เคยเป็นอดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคภูมิใจไทย ก่อนหน้านี้เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ให้การเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ต้องสังกัดพรรค

26 .. 2560 คณะรัฐมนตรีตักบาตรรับรุ่งอรุณแห่งความสุขร่วมกับประชาชนชาวสุโขทัย ณ วัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และถ่ายรูปเป็นที่ระลึก

พล.อ.ประยุทธ์ ทดลองขับรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าของวิทยาลัยการอาชีพศรีสัชนาลัย ก่อนประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ครั้งที่ 4/2560 ณ ห้องประชุมอาคารวรรณกลาง สถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตสุโขทัย ต.บ้านกล้วย อ.เมือง จ.สุโขทัย

โดยในการแถลงข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ตามรายงานของเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ตอนหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อยากให้ทุกอย่างในปีหน้าเป็นปีแห่งความสำเร็จ เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลง เป็นปีแห่งการเตรียมการไปสู่ประชาธิปไตยที่มีธรรมาภิบาล ซึ่งตรงนี้จะทำฝ่ายเดียวไม่ได้ และหวังว่าทุกคนคงจะร่วมกันอวยพร และร่วมกันกระทำปฏิบัติร่วมกันทั้งกาย วาจา ใจ ลดความขัดแย้งสร้างความปรองดอง อย่าให้ต้องบังคับใช้กฎหมายจนมากเกินไป พร้อมกล่าวสัญญากับทุกคนว่า ในปีหน้าจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่อารมณ์ดีตลอดเวลา ถึงแม้ว่าจะมีคนพยายามจะทำให้หงุดหงิดก็ตาม ก็จะไม่หงุดหงิดตามอีกแล้ว ซึ่งได้สัญญากับตัวเองไว้แล้ว จะพยายามทำให้ดีที่สุด

 

17 มกราคม 2561 .แม่ฮ่องสอน
ลงพื้นที่ตรวจราชการและประชุมยุทธศาสตร์จังหวัดแม่ฮ่องสอน

เป็นประธานสักขีพยานมอบสมุดประจำตัวผู้ได้รับการคัดเลือกให้ทำกินในชุมชน โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน (คทช.) ที่หอประชุมบุญชู ตรีทอง โรงเรียนห้องสอนศึกษา ในพระอุปถัมภ์ฯ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

เยี่ยมชมผลผลิตโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และรับฟังข้อเสนอแนวทางการพัฒนาอาชีพและเพิ่มรายได้ของชาวแม่ฮ่องสอน ณ ศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปายตามพระราชดำริ (ท่าโป่งแดง) ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

เป็นประธานการประชุมยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดแม่ฮ่องสอน ณ ศาลากลางจังหวัดแม่ฮ่องสอน ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

เดินทางไปยังชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง บ้านผาบ่อง ต.ผาบ่อง อ.เมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้คุณธรรมฯ เยี่ยมชมตลาดประชารัฐ คนไทยยิ้มได้  เยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพบ่อน้ำพุร้อนผาบ่อง และสักการะพระธาตุดอยกองมู ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

 

5-6 กุมภาพันธ์ 2561
ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ จ.ตราด และ จ.จันทบุรี

5 ก.พ. 2561 .ตราด

เยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้พิพิธภัณฑ์บริหารจัดการน้ำและป่าชายเลนชุมชนบ้านเปร็ดใน ต.ห้วงน้ำขาว อ.เมือง จ.ตราด นอกจากนี้ยังเดินทางไปเกาะช้าง เพื่อรับฟังข้อเสนอการพัฒนาเกาะช้าง พร้อมพบผู้ประกอบการและชาวบ้านเกาะช้าง ณ ศูนย์รักษาความปลอดภัยทางทะเล กองทัพเรือ (เกาะช้าง) จ.ตราด

อนึ่ง ในช่วงเยี่ยมประชาชนที่บ้านเปร็ดใน พล.อ.ประยุทธ์ ถามชาวบ้านว่า "รู้หรือยังว่าจะเลือกใคร เมื่อพร้อมมีเลือกตั้ง ท่านต้องเลือกให้เป็น รู้หรือยังจะเลือกใคร ไม่รู้เลย แล้วถ้าได้มาแบบเดิม เกิดอะไรขึ้น ผมไม่รู้นะ"

 

5-6 ก.พ. 2561 จ.จันทบุรี

5 ก.พ. 2561 ต่อมาในช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีเดินทางไปสักการะพระบรมราชานุเสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ค่ายตากสิน ต.วัดใหม่ อ.เมือง จ.จันทบุรี

ก่อนเดินทางไปที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติจันทบุรี เพื่อพบกับผู้นำท้องถิ่นภาคตะวันออก ได้แก่ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อดีตสมาชิกวุฒิสภา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้แทนภาคธุรกิจเอกชน ผู้นำศาสนา ผู้นำกลุ่มสตรี นักอนุรักษ์ และนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในภาคตะวันออก โดยบุคคลที่น่าสนใจเช่น สนธยา คุณปลื้ม แกนนำพรรคพลังชล  วิทยา คุณปลื้ม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี ตัวแทนของอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จาก จ.ระยอง ได้แก่ สาธิต ปิตุเตชะ และธารา ปิตุเตชะ

โดยในรายงานของ PPTV สนธยาระบุว่ามาหารือข้อเสนอการพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ หรือ อีอีซี และไม่พูดเรื่องการเมืองเพราะทุกพรรคมีความพร้อมอยู่แล้ว

ขณะที่ เว็บไซต์รัฐบาลไทย รายงานคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ระบุว่า รัฐบาล คสช. เข้ามาวางพื้นฐาน รัฐบาลดำเนินการเรื่องความปรองดองอยู่ ขอให้อย่าคิดว่านายกรัฐมนตรีอยู่เพื่อสืบทอดอำนาจ ขอให้ทุกฝ่ายคุยกันว่าจะทำอย่างไรเพื่อบ้านเมือง อยากให้มองว่าจะเดินหน้าประเทศอย่างไร เรื่องใดที่เป็นปัญหาต้องแก้ไขขอให้บอกมายังรัฐบาล เพื่อทำให้ต่างชาติมีความเชื่อมั่นในการลงทุน พร้อมรับฟังข้อเสนอแนวทางการพัฒนาด้านต่างๆ

ในเวลา 17.30 น. นายกรัฐมนตรีและคณะเดินทางไปเยี่ยมชมวิถีชีวิตชุมชนริมน้ำจันทบูรและวิสาหกิจเพื่อสังคม ต.วัดใหม่ อ.เมือง จ.จันทบุรี และในเวลา 20.30 น. ไปเป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคตะวันออก ณ โรงแรมมณีจันท์ รีสอร์ท ตำบลพลับพลา อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี

6 ก.พ. 2561 นายกรัฐมนตรีสักการะอนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี อ.เมือง จ.จันทบุรี จากนั้นเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2561 ณ อาคารวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี

หลังประชุมคณะรัฐมนตรี ได้พบประชาชนและร่วมพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือผลักดัน เชื่อมโยง และพัฒนาผลไม้ไทย ณ สหกรณ์การเกษตรมะขาม จำกัด อ.มะขาม จ.จันทบุรี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์: ความเปลี่ยนแปลง ในการรับรู้ ‘ความเหลื่อมล้ำ’

Posted: 11 Feb 2018 06:46 AM PST

 

ทุกคนในสังคมไทยทราบกันดีอยู่แล้วว่าความเหลื่อมล้ำของผู้คนในสังคมนั้นมีมานานและทวีสูงมากขึ้น ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในรอบ 10 ปี

ก็เป็นผลมาจากความรู้สึกของผู้คน ที่มีต่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนี้ 

ที่น่าสนใจ ก็คือ ในปัจจุบันนี้ เรายิ่งเห็นการปะทุขึ้นของความรู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำนี้แจ่มชัดขึ้นหากเมื่อใดมีข่าวว่า "คนรวยเอาเปรียบคนจน" หรือ"เอาเปรียบสังคม" ลองไล่เรียงมาดูนะครับ ตั้งแต่แพรวา จนถึงกรณีของเปรมชัย กรรณสูต อันเป็นเหตุการณ์ล่าสุด

ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยจะทวีสูงมากขึ้น เพราะมีความเปลี่ยนแปลงในการรับรู้และให้ความหมายต่อ "ความเหลื่อมล้ำ" เกิดขึ้นอย่างเข้มข้นและลึกซึ้ง

สังคมไทยอยู่กับความเหลื่อมล้ำมานานมากแล้ว จนอาจจะกล่าวได้ว่าสังคมไทยไม่เคยมีความไม่เหลื่อมล้ำ แต่ที่ผ่านมาการรับรู้และให้ความหมาย "ความเหลื่อมล้ำ" ไปในทางของการยอมรับว่าสภาวะเช่นนี้ว่าเป็น "ธรรมชาติ" เป็น"ธรรมดา" ที่มนุษย์ทุกคนทุกสังคมในโลกก็ต้องเป็นไป

คำกล่าวที่เป็นการอธิบายการรับรู้แบบยอมรับนี้ถูกใช้มาโดยตลอด เช่น แข่งเรือแข่งพาย แข่งกันได้ แข่งบุญแข่งวาสนาแข่งไม่ได้ หรือการเปรียบเทียบความไม่เท่าเทียมกันในสังคมด้วยนิ้วมือที่ไม่เท่ากัน

พระยาอนุมานราชธน ปราชญ์แห่งสังคมไทยเคยเขียนไว้ถึงผีที่จะจัดคนให้นอนเท่าเทียมกันแต่ก็ทำไม่ได้ เพราะหากจัดหัวให้เท่ากัน เท้าก็ไม่เท่า หากจัดเท้าให้เท่ากัน หัวก็ไม่เท่า ซึ่งเป็นนัยว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้คนเท่าเทียมกัน

ความไม่เท่าเทียมก่อนหน้านี้ถูกทำให้ลดรูปลงมาเป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคล โดยเฉพาะเป็นเรื่องส่วนตัวที่แก้ไขในชีวิตนี้ไม่ได้ เพราะเราถูกกำหนดมาจากกรรมเก่า (แต่ชาติปางก่อน ) จึงทำให้ผู้คนในสังคมไทยอยู่ในสังคมเหลื่อมล้ำมาได้ยาวนาน

แต่การรับรู้และให้ความหมายว่าความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องส่วนตัวของคน ได้แปรเปลี่ยนไปในหลายรูปลักษณะ ส่งผลต่อสังคมไทยในอนาคตอย่างแน่นอน

ความเปลี่ยนแปลงพื้นฐานที่สุดได้แก่ ความเปลี่ยนแปลงภายในกรอบคิดหลักว่าความเหลื่อมล้ำของชีวิตเป็นของการกำหนดมาแล้วจากกรรม (เก่า)โดยที่คนจำนวนมากเริ่มที่จะไม่ยอมรับการกำหนดของกรรมเก่าทั้งหมดโดยสิ้นเชิงอย่างเดิม 

ดังที่เราเห็นถึงพิธีกรรมใหม่ในการแก้กรรม การสรรหาวิธีการทำบุญแบบใหม่ๆ แปลกๆ เพื่อช่วยลดกรรมเก่าและเสริมสร้างบุญใหม่

ความเปลี่ยนแปลงในการรับรู้และให้ความหมายเช่นนี้ ในด้านหนึ่ง เป็นการรับกรอบคิดเก่ามาช่วยอธิบายปรากฏการณ์ในชีวิต แต่ในอีกด้านหนึ่ง เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการก่อตัวของสำนึกเชิงปัจเจกชนที่เริ่มมีความเชื่อว่าตนเองสามารถกำหนดชีวิตปัจจุบันของตนได้สูงระดับหนึ่ง เพราะเป็นการกำหนดชีวิตตนเองในระดับของการที่สามารถเข้าไปแก้กรรมเก่ามีมาจากชาติที่แล้ว

การเกิดสำนึกเชิงปัจเจกชนแบบใหม่นี้มีส่วนที่เปลี่ยนอย่างสำคัญ ได้แก่ สำนึกเชิงปัจเจกชนแบบใหม่นี้ได้แยกกันระหว่างชีวิตส่วนตัวกับการดำเนินชีวิตทางสังคมทั่วไป แม้ว่าชีวิตส่วนตัวยังคงเชื่อในกรรมเก่าอยู่ (แต่สามารถแก้ได้) แต่ชีวิตทางสังคมกลับเป็นส่วนของการกระทำของมนุษย์เป็นหลัก

การเริ่มเกิดสำนึกเชิงปัจเจกชนที่ชีวิตทางสังคมเป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์เป็นหลักนี้ได้ทำให้เกิดการรับรู้และให้ความหมายของความเหลื่อมล้ำแปรเปลี่ยนไป การมองเห็นและอธิบาย "คนรวย" จะไม่ได้อธิบายด้วยบุญกรรมที่ทำมาเพียงอย่างเดียว แต่จะอธิบายด้วยปัจจัยทางสังคมเศรษฐกิจ

โดยส่วนใหญ่แล้ว การรับรู้และให้ความหมายไปในทำนองว่า "คนรวย" จำนวนมากรวยขึ้นมาได้เพราะเอาไปจากสังคมมากกว่าที่ควรจะได้

ความเหลื่อมล้ำจึงถูกอธิบายพ่วงไปในทำนองว่าเพราะ "คนรวย" เอาเปรียบสังคมต่างหากจึงร่ำรวยขึ้น และลึกลงไปจะให้ความหมายว่ารัฐและกลไกอำนาจรัฐได้เอื้ออำนวยให้ "คนรวย" เอาเปรียบสังคม ดังที่เราจะเห็นการแสดงคิดเห็นของกลุ่มนักวิจารณ์หาความถูกต้อง (PC. Political Correctness ) ที่พร้อมจะแสดงความคิดเห็นอย่างทันทีทันใดหากมีอะไรไปกระทบความสำนึกของพวกเขา

(กลุ่ม PC มักจะไม่อดทนอดกลั้นรอค้นหาความเป็นจริง แต่จะสะท้อนความรู้สึกตนเองในพื้นที่สาธารณะใหม่อย่างฉับพลัน ข้อดีคือทำให้มองเห็นสำนึกของพวกเขาได้ชัดเจนขึ้น แต่ข้อเสียก็คือจะกระโดดเข้าสู่ข้อสรุปตามความรู้สึกตนเองมากกว่าข้อเท็จจริง )

ความเหลื่อมล้ำทางสังคมจึงบาดลึกเข้าในอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนมากขึ้นๆ ยิ่งเมื่อสื่อโซเชียลขยายตัวออกไปมากเท่าไร ความรู้สึกไม่พอใจต่อความเหลื่อมล้ำก็จะขยายตัวลึกซึ้งมากขึ้น

ที่สำคัญ การระบายความรู้สึกที่มีต่อความเหลื่อมล้ำนี้ก็จะส่งผลให้เกิดสภาวะการรวมกลุ่มผู้ที่มีความรู้สึกเหมือนกันนี้ได้กว้างขวางและแนบแน่นขึ้น

ปัญหาอะไรก็ตามที่ถูกเชื่อมโยงเข้ากับความเหลื่อมล้ำทางสังคมก็จะได้รับ"มติโซเชียล" อย่างรวดเร็ว และตกตะกอนความไม่พอใจในระบบที่ส่งเสริมให้เกิดความอยุติธรรมนี้มากขึ้น

การรับรู้และให้ความหมายของความเหลื่อมล้ำที่แปรเปลี่ยนมาจะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในสังคมสูงมากขึ้น

การแสวงหาแนวทางในการแก้ไขหรือบรรเทาความเหลื่อมล้ำทางสังคม จึงไม่ใช่เพียงการแก้ไขทางกายภาพเท่านั้น หากแต่ต้องเข้าไปดูแลในด้านของระบอบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเป็นสำคัญ

แต่รัฐบาลทหารชุดนี้ไม่เข้าใจและมองไม่เห็นประเด็นปัญหานี้ การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ จึงยิ่งตอกย้ำความรู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำมากขึ้น

น่าเป็นห่วงสังคมไทยครับ

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: www.bangkokbiznews.com

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์: วิธีผลิตแรงงานไทยที่กำลังลงเหว

Posted: 11 Feb 2018 06:26 AM PST

 

นายวุฒิชัย กปิลกาญจน์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการการอาชีวศึกษา ในคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงปัญหาของประเทศไทยด้านการศึกษาของไทยที่เชื่อมโยงไปถึงภาคอุตสาหกรรม ตอนหนึ่ง ประมาณว่า หน่วยงานด้านการศึกษาของไทย คือกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้ผลิตบุคลากร ผลิตบุคลากรซึ่งก็คือนักเรียนนักศึกษา ในลักษณะที่ไม่ค่อยตอบสนองต่อตลาดแรงานไทยในปัจจุบันมากนัก กล่าวคือ ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมไทยยังต้องการการแรงงานจำนวนมาก แต่ฝ่ายการศึกษา คือ กรมอาชีวศึกษา ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้ดีพอ ดังนั้นหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอย่างเช่น กระทรวงศึกษาธิการควรเน้นการผลิตบุคลากรเพื่อตอบสนองดีมานด์แรงงานในตลาดแรงงานของไทยให้มากขึ้นส่วนหนึ่งของวิธีการแก้ปัญหาก็คือ การแสวงหาครูอาชีวะเข้ามาและอยู่ในระบบให้มากขึ้น

นัยหนึ่งก็คือ นายวุฒิชัยชี้ปัญหาไปที่ การขาดแคลนครูอาชีวศึกษาของประเทศไทย (https://www.facebook.com/MatichonOnline/videos/10157091930152729/)

สิ่งที่นายวุฒิชัยพูดจริงล่ะหรือ? ในแง่ที่ว่า มันตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมไทยได้จริงฤา?  ถ้าแก้ไขได้  เป็นการแก้ไขสักแต่พอพ้นๆ ตัว หรือเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว แล้วถ้าข้อเสนอของนายวุฒิชัย ตอบโจทย์ก็ดีไป แต่ถ้าไม่ล่ะ?

เพราะสิ่งที่นายวุฒิชัยพูดถึง คือการเน้นการผลิตคนหรือแรงงานเพื่อสนองตอบต่อความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมไทยนั้น เสมือนการเดินย้อนยุคกลับไปเหมือนยุค 3.0 หรือยุคสายพานอุตสาหกรรมแบบเก่า  นี่ก็น่าทำให้นึกภาพ แรงงานในยูนิฟอร์มเดียวกันเข้าแถวยาวรอตอกบัตร ในบางพื้นที่ที่มีโรงงานเยอะๆ เช่น นวนคร ปทุมธานี บางพลี สมุทรปราการ เป็นต้น ซึงผมว่า นั่นมันเป็นภาพเมื่อประมาณ  20-30 ปีที่แล้วกระมัง

เอาให้ชัด บริบทที่นายวุฒิชัยพูดถึงก็คือบริบทความเชื่อมโยงระหว่างการศึกษากับสัมฤทธิ์ผลของมัน หมายความว่า ประเทศไทยกำลังผลิตคนตรงกับตลาดแรงงานหรือไม่ ถ้าผลิตไม่ตรงก็หมายถึงว่า นักเรียนนักศึกษาที่จบออกไป มีสิทธิ์เคว้ง ไร้งานทำ เหมือนที่มันเคยเกิดขึ้นมาแล้วยุคหนึ่งในอดีตจากรั้วมหาวิทยาลัย จากสำนวน "เตะฝุ่น"

นั่นเองเป็นเหตุให้ในปัจจุบัน คนในรัฐบาล ตั้งแต่ท่านผู้นำลงมา พากันตกอกตกใจว่า สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย ผลิตคนออกมาแบบไม่ตอบสนองต่อตลาดแรงงาน จนถึงขั้นมีความคิดจะรื้อสายวิชาศิลป์ (สังคม) เช่น มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี ปรัชญา ศาสนา เป็นต้น ออกไปเสียจากระบบการศึกษาไทย ด้วยเหตุผลที่ว่า เรียนไปก็เท่านั้น ไม่คุ้มทุน เพราะไม่ตอบสนองต่อตลาดแรงงานที่ว่าไปแล้ว ตลาดแรงงานไทยขาดแคลนคนในตำแหน่งงานวิทยาศาสตร์มากกว่าสายสังคมศาสตร์

โดยลืมไปว่า วิชาสายสังคมศาสตร์นั้น เป็นรากฐานของทุกรายวิชา เป็นฐานเป็นหลักในการคิด การวิเคราะห์ การใช้เหตุใช้ผล

ที่สำคัญ คือ การมุ่งผลิตคน หรือแรงงานด้านเทคนิค เพื่อตอบสนองตลาดแรงงานโดยถ่ายนั้น หากมองดูเทรนด์ ของโลกและของประเทศไทยแล้ว มันใช่หรือไม่? ในขณะที่โลกกำลังถูกกลืนาหยเข้าไปอยู่ในยุคปัญญาประดิษฐ์ (AI) โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่กระทำสิ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่รัฐบาลและคนในกระทรวงศึกษาธิการของไทยพยายามจะทำ นั่นคือ เอา AI มาใช้แทนแรงงานหรือแทนคน

ลองนึกภาพดูนะครับ ถ้ากรมอาชีวศึกษามีความพร้อมในการผลิตคนออกมามากๆ ในตอนนี้  แล้ววิธีการผลิต เช่น หลักสูตรการศึกษา ครู เป็นต้น ยังเหมือนเมื่อ 20 ปี่ที่แล้ว ถามว่า คนที่ถูกผลิตออกมาเหล่านี้จะไปทำมาหากินอะไร จะไปอยู่ที่ไหน เพราะเท่าที่ผมสัมผัสกับเจ้าของกิจการโรงงาน ตอนนี้พวกเขาต่างพยายามลดจำนวนแรงงานลงทั้งสิ้น หันมาใช้เทคโนโลยี AI แทน ด้วยเหตุที่ว่าประเมินแล้วคุ้มค่ามากกว่าการใช้แรงงานเป็นไหนๆ ดังนั้น การมุ่งผลิตแรงงานที่กระทรวงศึกษาฯ ไทยทำแบบเดิมๆ เห็นทีจะไม่ตอบโจทย์สายพานการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน

เอาเข้าจริงๆ ถ้ามองจากเทรนด์ของโลก นอกเหนือไปจากเทรนด์สตาร์ทอัพ เทรนด์นวัตกรรมต่างๆ (ที่ไม่ใช่เทรนด์โรงงาน) อีกเทรนด์หนึ่งก็คือ เทรนด์ของการที่มนุษย์หันมาศึกษา และทำความเข้าใจตัวเองมากขึ้น  เช่น เทรนด์สุขภาพกายสุขภาพใจ หรือแม้แต่เทรนด์สุนทรียะ ซึ่งเทรนด์เหล่านี้ เลยพ้นออกไปเสียจากเทรนด์วิทยาศาสตร์เชิงอุตสาหกรรม 3.0 แบบเดิมๆ ผมไม่แน่ใจว่า เราจะผนวกเทรนด์เหล่านี้ให้อยู่ในส่วนของสังคมศาสตร์ที่รัฐบาลปฏิเสธที่จะให้ความสำคัญได้หรือไม่?

และปัญหาอีกประการหนึ่งก็คือ คนในคณะรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้อง แม้แต่ผู้คนในวงการศึกษาไทย ยังติดภาพหรือยังเก็บมโนภาพยุคอุตสาหกรรมแบบ 3.0 เอาไว้อยู่หรือไม่? ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ การผลิตคนในสถานศึกษาอย่างกรมอาชีวศึกษาก็ไม่ต่างจากการผลิตคนเพื่อป้อนโรงงานในยุค 3.0 สมัย 20-30 ปีที่แล้ว ขณะที่ในสมัยนี้โรงงานฯ สเกลใหญ่ก็จริงแต่อาจใช้แรงงานไม่เกิน 5 คนเอาด้วยซ้ำ ซึ่งหากกะเกณฑ์กันแบบที่นายวุฒิชัยพูด การผลิตแรงงานแนวเดิมๆ นี้มิเท่ากับสูญเปล่าดอกหรือ เพราะมันไม่ตอบโจทย์แรงงาน 4.0

หากสิ่งที่ภาครัฐ คือกระทรวงศึกษาธิการ ต้องทำการบ้านเพื่อตอบโจทย์ปัญหาแรงงานในปัจจุบันมากที่สุดก็คือ ทำอย่างไรแรงงานเหล่านี้จึงจะเข้าใจระบบและวิธีคิดแบบ 4.0 เช่น เข้าใจว่าอัตลักษณ์ ความขัดแย้ง ความแตกต่างการแสดงออก สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (Freedom of Speech) ฯลฯ คืออะไร ซึ่งว่าไปแล้วมันก็คล้ายๆ การเรียนปรัชญา

หากเป็นประเทศตะวันตก การทำความเข้าใจถึงความหมายของคำเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องแปลก คนส่วนใหญ่เข้าใจดีถึงความเป็นส่วนตัว ความเป็นตัวของตัวเองและความคาบเกี่ยวระหว่างตัวตน (ปัจเจก) กับสังคม อย่างไร เพราะนี่ไม่ใช่โลกแบบสายพานอุตสาหกรรมเดิมๆ อีกต่อไป

การผลิตและผลิตผล (productivity)  ก็จะออกมาอีกรูปแบบหนึ่งไม่ว่าจะเป็นผลิตผลจากด้านการศึกษาหรือผลิตผลจากอุตสาหกรรมแบบใหม่ (สามารถจินตนาการถึงภาพของซิลิคอนวัลเลย์ในสหรัฐอเมริกา)

ซึ่งก็หมายความว่า ตั้งแต่สถาบันการศึกษาทุกระดับยันผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต้องเปลี่ยนแนวคิด วิธีการและความสัมพันธ์ต่อกัน รับกับโครงสร้างทางสังคมแบบใหม่ สถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยต้องเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง  เป็นเอกเทศตามที่เคยตั้งปณิธานเชิงนโยบายกันไว้แต่เดิม คือ การออกมาเป็นอิสระ เหมือนมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดและคาเนกี้เมล่อน สัมพันธ์กับกลุ่มอุตสาหกรรมซิลิคอนวัลเลย์ยังไงยังงั้น เพราะทั้งสถาบันการศึกษาและบรรษัทอุตสาหกรรมในวัลเลย์ใช้ห้องเรียนเดียวกันมานานหลายปี

และเพราะมหาวิทยาลัยคุณภาพในสหรัฐฯ แห่งนี้ อาศัยหลักการที่ว่า "ศรัทธาเท่านั้นที่ทำให้สถาบันอยู่ได้"

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: นิทานปรัมปรา

Posted: 11 Feb 2018 06:16 AM PST

 

ประทับตราตัวอักษรกลอนวิบัติ
ให้ตรึงแน่นแผ่นดินอสัตย์อสงไขย
ชัยชนะประวัติศาสตร์ชนชาติใด
เผาความจริงจนมอดไหม้ไปกับตา

ข้าจะเล่า ตำนาน นิทานแต่ง
เพื่อโต้แย้ง ความจริง ด้วยอหิงสา
ซัดปลายฉมวกกะซวกวิญญาณ์
เพื่อเปิดเผยโฉมหน้าอันแท้จริง

ตราชูอันตรงเที่ยงยังเอียงข้าง
สิ่งใดบ้างมั่นคงและตรงดิ่ง
เห็นมีแต่กระสุนสวรรค์ที่ลั่นยิง
ช่วงชิงความเป็นคนจากคนไป

อยู่ภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จเผด็จการ
เปลวเพลิงพญามารยังผลาญไหม้
เลาะความรู้สึกนึกคิดและจิตใจ
กักขังหน่วงเหนี่ยวไว้อยู่ในคุก

'เสือดำ' ช้ำตรมขมและขื่น
กระสุนปืนลั่นฟ้าตากระตุก
ถูกปิด ฉากตอน ด้วยท่อนฮุก
แต่คนยิงอาจฟลุคพ้นคุกตาราง

ใช้กฎหมายเป็นเบ็ดตกประชาชน
เล่นกล แบ่งชนชั้น ยืนยันข้าง
ชนชั้นสูงพ้นคุกทุกตาราง
ชนชั้นล่างถูกจับขัง - ฝังใต้ดิน

ประชาชนกระสนกระเสือกการเลือกตั้ง
ด้วยความหวังปีกนกจักผกผิน
กลับถูกอสรสัตว์ตัดปีกบิน
เสรีภาพสูญสิ้นเกินจินตนา

มันผู้ใด 'มีหัวใจ' เอาไปทิ้ง
ขัง - ยิง พิฆาต ตามปรารถนา
เลือดที่ไหลกระเซ็นเซ่นเวลา
อาบ 'นาฬิกา' เรือนทองของผู้ใด

ขอจบอักษรกลอนวิบัติ
แด่แผ่นดินอสัตย์อสงไขย
เวลาค่อยค่อยเคลื่อนคล้อยไป
แต่มิไย นิทานอธรรม ยังดำเนิน...

...........



ในขณะที่โลกกำลังโกลาหลและต่างช่วงชิงพื้นที่บนแคมเรือกลางมหาสมุทร
ฉันเห็นพี่น้องสองคนกำลังทะเลาะกันเรื่องการยิงเกาทัณฑ์
คนนึงบอกจะยิงตรงๆ คนนึงบอกจะยิงโค้งๆ
เพื่อเด็ดหัวพวกอำมาตย์ที่นั่งคุมท้ายเรือ - พาเราล่องไปสู่อนาคตวิบัติ
และขณะเดียวกัน ศัตรูกำลังแสยะยิ้มอย่างมีเลศนัย

จากใจชาวเสรีไทบ้าน และมวลมนุษยชาติ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: พยาน

Posted: 11 Feb 2018 06:05 AM PST

เสาหินแท่งหนาถ้าพูดได้
คงร้องไห้เพ้อบ่นเหมือนคนบ้า
"ฉันคิดถึงเพื่อนพ้องผองประชา
พวกแกมาล้อมกั้นฉันทำไม"

เสาหินแท่งหนาถ้ารู้สึก
คงเคลื่อนไหวอึกทึกเป็นการใหญ่
"รอบระนาบราบเรียบเปรียบลานใจ
แกเป็นใครเที่ยวสุมหญ้าน่าชิงชัง"

เสาหินแท่งหนาถ้าครุ่นคิด
คงสะทกวิตกจริตจิตคลุ้มคลั่ง
"ฉันถูกสร้างให้แทนค่ามหาพลัง
ใครใช้ให้แกคุมขังดังจำเลย"

เสาหินแท่งหนาถ้ารับทราบ
คงจ้วงจาบผรุสวาจาชี้หน้าเอ่ย
"เกียรติยศสูงส่งอันคงเคย
ถูกพวกชาติเอ้อระเหยแกย่ำยี

เสาหินแท่งหนาถ้ายังอยู่
คงมองดูด้วยขึ้งขัดด้วยบัดสี
"เรือนร่าง-ฉันกอปรด้วยสิทธิเสรี

ไม่ใช่ที่ให้ทรชนคนอย่างแก"

 

ที่มาภาพ: Petch Petch

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย #196 จดหมายเหตุฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์

Posted: 11 Feb 2018 04:54 AM PST

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ชานันท์ ยอดหงษ์ พูดคุยกับศิริวุฒิ บุญชื่น นักเอกสารสนเทศหอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดถึงความเป็นของฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2477 และกำเนิดของพื้นที่วิจารณ์การเมืองผ่านขบวนล้อการเมืองและแปรอักษร ซึ่งครั้งหนึ่งในการแปรอักษรงานฟุตบอลประเพณีเมื่อปี 2526ถือเป็นหมุดหมายหนึ่งของการฟื้นฟูพื้นที่ทางการเมืองให้กับปรีดี พนมยงค์ แกนนำคณะราษฎรและผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หลังต้องลี้ภัยการเมืองในทศวรรษ 2490

นอกจากนี้งานฟุตบอลประเพณียังทำหน้าที่อื่นๆ เช่น การป่วนทางวัฒนธรรมอย่างการชูป้ายผ้าแสดงข้อความทางการเมือง รวมทั้งผลิตซ้ำตำแหน่งแห่งที่อันพิเศษของเชียร์ลีดเดอร์ หรือแม้แต่การแปรอักษรที่ด้านหนึ่งล้อเลียนอำนาจกดทับ แต่อีกด้านหนึ่งคนนับพันที่กลายเป็นเพียงไม่กี่พิกเซล แถมยังต้องทำตามคำสั่งอย่างพร้อมเพรียงก็สะท้อนวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยมอยู่ในที

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่

เฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/maihetpraphetthai
หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สวนดุสิตโพลเผยผลสำรวจคนไทยอยากเลือกตั้ง 63.45%

Posted: 11 Feb 2018 12:37 AM PST

สวนดุสิตโพลเผยคนไทยวิตกกังวลเรื่องปัญหาปากท้อง-ค่าครองชีพสูง ร้อยละ 78.32 ขอรัฐบาลเร่งแก้ปัญหา ขณะที่ร้อยละ 63.45 อยากให้จัดการเลือกตั้งตามโรดแมป

 
 
11 ก.พ. 2561 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง "ความวิตกกังวลของคนไทย ณ วันนี้" โดยมีการสำรวจความคิดเห็นจากประชาชน 1,273 คน ระหว่างวันที่ 6-10 ก.พ.2561 พบว่า เรื่องที่ประชาชนมีความกังวลสูงที่สุดอันดับ1  ร้อยละ 78.32 คือ ชีวิตความเป็นอยู่  ปากท้อง เงินไม่พอใช้ รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ค่าครองชีพสูง ของกิน-ของใช้แพง เห็นว่า ควรแก้โดยการประหยัด กินใช้อย่างพอเพียง ทำงานหารายได้เพิ่ม กู้ยืม หมุนเงิน รัฐบาลช่วยเหลือ เร่งแก้ไขปัญหา ฯลฯ 
 
อันดับ 2 ร้อยละ 69.05 คือ เศรษฐกิจตกต่ำ การค้าการลงทุนไม่ดี คนตกงาน ต่างชาติไม่ลงทุน คนไม่มีกำลังซื้อ เห็นว่าควรแก้โดยให้รัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการลงทุน ธนาคารให้กู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ ยกเว้นภาษี เร่งจัดการเลือกตั้ง ฯ
 
อันดับ 3 ร้อยละ 66.46 คือ อุบัติเหตุบนท้องถนน การจราจร เห็นว่า ควรแก้โดยการช่วยกันรณรงค์ กระตุ้นให้เกิดจิตสำนึก ปฏิบัติตามกฎจราจร เมาไม่ขับ ขับรถอย่างมีสติ ไม่ประมาท ฯ
 
อันดับ 4 ร้อยละ 63.45 คือ การเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้งและความขัดแย้ง รวมทั้งการทุจริตคอร์รัปชั่น เห็นว่า ควรแก้โดยรัฐบาลดำเนินการตามโรดแมป จัดการเลือกตั้ง ปฏิรูปอย่างจริงจัง รับฟังความคิดเห็น ทุกฝ่ายร่วมมือกัน ฯ
 
อันดับ 5 ร้อยละ 63.08 คือ โรคภัยไข้เจ็บ สุขภาพอนามัย ค่ารักษาพยาบาลสูง เห็นว่าควรแก้โดยการดูแลสุขภาพ เห็นว่า ควรแก้ด้วยการออกกำลังกาย ไม่เครียดฯ
 
อันดับ 6 ร้อยละ 61.67 คือ หน้าที่การงาน งานที่ทำ ธุรกิจ ค้าขาย รายได้ลด ธุรกิจซบเซา เห็นว่าควรแก้โดยการหาจุดเด่นเพื่อเพิ่มมูลค่า ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น  ฯ
 
อันดับ 7  ร้อยละ 45.17 คือ สิ่งแวดล้อม ป่าไม้ สภาพอากาศ มีคนบุกรุก ทำร้ายสัตว์ป่า อากาศเปลี่ยนแปลง เห็นว่า ควรแก้โดยการกระตุ้นให้ทุกคนมีจิตสำนึก ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์และไม่ทำลาย ฟื้นฟูผืนป่า รัฐเอาจริงเอาจัง ฯ
 
อันดับ 8  ร้อยละ 43.12 คือ คุณภาพการศึกษาไทยที่ยังร้างท้าย มีผลต่อการพัฒนาประเทศ โดยเห็นว่าควรแก้โดยการปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง ปรับโครงสร้างการศึกษา จัดการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ฯ
 
อันดับ 9 ร้อยละ 42.81 คือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม สองมาตรฐาน ใช้ช่องโหว่ของกฎหมายในทางมิชอบ คนรวยกับคนจนแตกต่างกัน เห็นว่า ควรแก้โดยการมีช่องทางร้องเรียน ดำเนินการอย่างจริงจัง มีบทลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเหมาะสม ช่วยกันสอดส่องดูแล ฯ
 
และอันดับ 10 ร้อยละ 40.93 คือ คุณธรรมจริยธรรมของคนในสังคม สังคมเสื่อมโทรม ไม่มีน้ำใจ มีพฤติกรรมรุนแรงขึ้น เห็นว่า ควรแก้โดยการอบรมเลี้ยงดูที่ดี ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมตั้งแต่เด็ก มีแบบอย่างที่ดีให้เห็น ใกล้ชิดศาสนา ฯ 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ 'นโยบายไทยนิยม' ไม่ควรช่วยแบบสงเคราะห์

Posted: 11 Feb 2018 12:22 AM PST

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ระบุ 'นโยบายไทยนิยม' ควรเน้นไปที่การสร้างรายได้ การเข้าถึงปัจจัยการผลิตและการประกอบอาชีพของประชาชน ไม่ควรเป็นการช่วยเหลือแบบสังคมสงเคราะห์หรือเป็นครั้งคราว แต่ต้องสร้างระบบสวัสดิการสังคมที่เข้มแข็งยั่งยืน

 
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (แฟ้มภาพประชาไท)
 
11 ก.พ. 2561 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้แสดงความเห็นต่อผลกระทบของการเลื่อนการเลือกตั้งต่อเศรษฐกิจ ว่าพระราชบัญญัติเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC ที่ผ่าน สนช. จะส่งผลกระตุ้นภาคการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนจากต่างชาติ ขับเคลื่อนการขยายตัวเศรษฐกิจภาคตะวันออกโดยยังมีผลไม่มากนักในระยะนี้โดยจะมีผลทางบวกมากขึ้นหลังการเลือกตั้ง และขอเสนอให้ออกระเบียบและเงื่อนไขเพิ่มเติมด้านสิ่งแวดล้อม การถ่ายโอนเทคโนโลยี สภาพการจ้างงาน และการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งการให้สัมปทานต่างชาติในโครงการขนาดใหญ่ต้องรอบคอบและโปร่งใส
 
ไทยต้องมีมาตรการที่ชัดเจนในเตรียมรับการถ่ายโอนเทคโนโลยีและกระบวนการฝึกอบรมทักษะแรงงานอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ในอนาคต สินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงจะได้เป็นสินค้าที่ไทยผลิตเองได้ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่สินค้าที่ผลิตในประเทศไทยเท่านั้น และ ต้องตระหนักด้วยว่า เราไม่ควรแลกการเติบโตทางเศรษฐกิจอันเป็นผลจากการลงทุนของต่างชาติ กับความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คุณชีวิตของผู้คน ตลอดจนการยอมเป็น "อาณานิคมทางเศรษฐกิจ" ของทุนข้ามชาติโดยที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์อะไร ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่ได้กระจายไปยังประชาชนส่วนใหญ่และกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มทุนขนาดใหญ่และกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น
 
การเปิดเสรีให้ "ทุนขนาดใหญ่ต่างชาติ" เข้ามารับสัมปทาน หรือ ร่วมถือครองความเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เช่น สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง เส้นทางรถไฟและระบบรางในภาคตะวันออก พัฒนาที่ดินของรัฐ โครงการบริหารจัดการนํ้า เป็นต้น ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ รัดกุม และสร้างความสมดุลให้ดี ไม่ให้ "ไทย" ต้องตกเป็นเบี้ยล่างและกลายเป็น "อาณานิคมทางเศรษฐกิจ" ของกลุ่มทุนขนาดใหญ่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การเปิดเสรีการลงทุนของต่างชาติจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนส่วนใหญ่ก็ต่อเมื่อระบบการบริหารประเทศ การให้สัมปทานมีความโปร่งใส มีธรรมาภิบาล มียุทธศาสตร์ที่ดี รักษาดุลอำนาจอย่างเหมาะสมในโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อให้ผลประโยชน์จากการลงทุนกระจายมายังคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่คนไทยกลุ่มเล็กๆหรือทุนขนาดใหญ่ข้ามชาติเท่านั้น
 
ดร. อนุสรณ์ กล่าวต่อว่าโครงการลงทุนส่วนใหญ่ที่จ่อเข้ามาลงทุนใน EEC จะยังรอดูความชัดเจนว่า ไทยจะกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ หากรัฐบาล คสช. ประกาศวันเลือกตั้งให้ชัดเจนจะเป็นผลดีต่อการลงทุน และ ควรเปิดให้ประชาชนและพรรคการเมืองมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ตามปรกติ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและเกิดการตรวจสอบถ่วงดุลในการบริหารประเทศและการกำหนดนโยบาย นอกจากนี้ การเปิดกว้างดังกล่าวยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดวิกฤตการณ์การเมืองรอบใหม่ได้อีกด้วย
 
การเลื่อนการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลอันใดก็ตามย่อมส่งผลกระทบต่อภาคการลงทุนจากการสร้างความไม่แน่นอน และเพิ่มความขัดแย้งทางการเมืองโดยไม่จำเป็นอันบั่นทอนต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน ความน่าเชื่อถือต่อรัฐบาลจะถดถอยลง
 
ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยฯ กล่าวถึง นโยบายไทยนิยม ว่าควรเน้นไปที่การสร้างรายได้ การเข้าถึงปัจจัยการผลิตและการประกอบอาชีพของประชาชน เพิ่มผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขัน ความสามารถในการร่วมมือและบูรณาการกันผ่านระบบสหกรณ์และการรวมกลุ่มในชุมชน
 
ไม่ควรเป็นการช่วยเหลือแบบสังคมสงเคราะห์หรือเป็นครั้งคราว แต่ต้องสร้างระบบสวัสดิการสังคมที่เข้มแข็งยั่งยืน ตนขอเสนอ แนวคิด "ประชาธรรม" ในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มอำนาจให้ประชาชนทางด้านเศรษฐกิจ ลดอำนาจผูกขาด เพิ่มการแข่งขัน ลดความเหลื่อมลํ้าและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การคืนอำนาจให้ประชาชนผ่านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะทำให้เกิดการกระจายอำนาจมากขึ้น การกระจายอำนาจจะเป็นปัจจัยจำเป็นต่อการลดปัญหาความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจ การกระจายตัวของรายได้และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ระบบการเมืองที่ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและมีเสรีภาพจะช่วยลดการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจ และทำให้คนส่วนใหญ่มีส่วนในการกำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ให้ประกัน 'รังสิมันต์ โรม' คดี 'พูดเพื่อเสรีภาพ' ไม่มีเงื่อนไข

Posted: 10 Feb 2018 10:23 PM PST

หลังจากตำรวจนำตัว 'รังสิมันต์ โรม' ออกจากสน.ปทุมวันกลางดึกเพื่อนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.ขอนแก่น ตามหมายจับข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/58 จากเวทีพูดเพื่อเสรีภาพ ตำรวจแจ้งข้อหาและให้รังสิมันต์ประกันตัวด้วยเงิน 1 หมื่นบาท โดยไม่กำหนดเงื่อนไขและนัดส่งตัวให้อัยการทหารขอนแก่นในวันที่ 23 มี.ค. ที่จะถึงนี้

 
ที่มาภาพ: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
 
11 ก.พ. 2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าตำรวจนำตัวรังสิมันต์ โรม นักกิจกรรมกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ไปถึง สภ.เมือง ขอนแก่นในเวลา 7.00 น.แล้วนำตัวเข้าห้องขัง ตามที่รังสิมันต์มีหมายจับศาลทหารข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จากการร่วมกิจกรรมเสวนา "พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน? " ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งแเต่เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2559 ช่วงก่อนหน้าการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในคดีนี้ยังมีผู้ที่ร่วมกิจกรรม 8 ราย ถูกสั่งฟ้องต่อศาลทหารขอนแก่นไปก่อนแล้ว
 
7.30 น. ตำรวจนำตัวรังสิมันต์ออกมาพูดคุยกับพ.ต.อ.จำลอง สุวลักษณ์ ผู้กำกับของสภ.เมือง ขอนแก่น จนกระทั่งประมาณ 9.30 น. พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาและสอบคำให้การรังสิมันต์ ในความผิดข้อหาร่วมกันขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน และพฤติการณ์ของคดีว่าทางเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งว่าจะมีการจัดกิจกรรมที่อาคารจตุรมุข คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 31ก.ค.2559คดี รังสิมันต์ปฏิเสธข้อกล่าวหา
 
ภายหลังแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำแล้วพนักงานสอบสวนนำตัวรังสิมันต์ไปพิมพ์ลายนิ้วมือทำประวัติ จากนั้นได้ทำเรื่องประกันตัว พนักงานสอบสวนให้ประกันตัวด้วยเงินสด 10,000 บาท โดยไม่กำหนดเงื่อนไขการประกันตัว และได้นัดส่งตัวให้อัยการทหารขอนแก่นในวันที่ 23 มี.ค.2561 ซึ่งเป็นวันที่ศาลทหารขอนแก่นนัดตรวจพยานหลักฐานคดีเดียวกันนี้ที่มีจำเลย 8 คนอยู่ในกระบวนการของศาลมาก่อนแล้ว
 
ภายหลังจากได้ประกันตัวรังสิมันต์เดินทางกลับกรุงเทพฯ ทันที
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'วัฒนา' แจงไม่ไปชุมนุมเพราะห่วงพลังบริสุทธิ์ถูกป้ายสี ระบุครั้งหน้าเจอกัน

Posted: 10 Feb 2018 09:52 PM PST

'วัฒนา เมืองสุข' อดีต รมว.พาณิชย์ และแกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊ค แจงเหตุไม่ร่วมชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง ไม่กลัวติดคุกแต่ห่วงพลังบริสุทธิ์ถูกป้ายสี ระบุครั้งหน้าเจอกัน

 
11 ก.พ. 2561 นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ และแกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊คส่วนตัว Watana Muangsook เกี่ยวกับกรณีที่ไม่ออกไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งในกิจกรรมนั้นได้มีการปราศรัยมีเนื้อหาตอนหนึ่งตั้งคำถามว่า "นักการเมืองไปอยู่ที่ไหน ในเวลาที่ประชาชนออกมาเสี่ยง"
 
นายวัฒนา ได้ระบุในเฟสบุ๊คส่วนตัวว่า
 
"ครั้งหน้าเจอกัน"
 
ผมขอขอบคุณน้องๆ ที่เรียกตัวเองว่า "กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย" ที่เป็นแกนกลางนัดชุมนุมคนอยากเลือกตั้งที่ถนนราชดำเนิน พร้อมกับขอตอบคำถามของโรมและทนายอานนท์ที่ถามถึงนักการเมืองว่าไปอยู่ที่ไหนเวลาที่พวกน้องๆ เอาตัวเข้าแลกเสี่ยงคุกเสี่ยงตะราง ว่า ผมเป็นนักการเมืองคนหนึ่งที่ต่อสู้กับเผด็จการมาตลอดและมีคดีความติดตัวไม่น้อยไปกว่าน้องๆ แต่ที่ผมไม่ได้ไปถนนราชดำเนินไม่ได้เกิดจากกลัวคุกหรือตะราง เพียงแต่ไม่ต้องการให้พลังอันบริสุทธิ์ของประชาชนต้องถูกเผด็จการป้ายสีว่ามีการเมืองหนุนหลัง แต่เมื่อพวกน้องเรียกร้อง การชุมนุมครั้งหน้าผมจะไปร่วมอย่างแน่นอน พวกเราจะช่วยกันต่อสู้กับเผด็จการเพื่อเอาอำนาจคืนให้กับประชาชน จากนั้นเอาตัวคนที่ทำกรรมกับประชาชนมาลงโทษ จะไม่ปล่อยให้ใครได้ลอยนวลอย่างแน่นอน ผมให้สัญญาครับ
 
วัฒนา เมืองสุข
11 กุมภาพันธ์ 2561
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกิดเหตุวางระเบิดหลายจุดที่ จ.ปัตตานี

Posted: 10 Feb 2018 09:37 PM PST

11 ก.พ. 2561 มติชนออนไลน์ รายงานว่าเมื่อเวลา 08.30 น. ได้เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดหลายจุดในหลายอำเภอยะหริ่ง จ.ปัตตานี จุดที่ 1.คนร้ายลอบวางระเบิดบริเวณป้ายหน้าโรงเรียน และจุดที่ 2.ทางแยกข้างโรงเรียนยะหริ่ง พื้นที่ ม.2 ต.ยามู อ.ยะหริ่ง รวม 2 จุด
 
จากนั้นเวลา 09.30 น. พื้นที่ อ.ยะรัง รับแจ้งพบเหตุวัตถุต้องสงสัย เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบพบเป็นวัตถุระเบิดชนิดไปป์บอม เหตุเกิดบริเวณ ถ.ยะรัง- ยาบี หมู่ 3 และห่างจากจุดเดิมไปประมาณ 100 เมตร ยังเกิดเหตุระเบิดขนาดเล็กอีก 2 ลูก อีกจุดพื้นที่ ต.เขาตูม บริเวณ หน้ามัสยิด บนเส้นทาง 410 โดยคนร้ายวางระเบิดในตะกร้ารถจักรยานยนต์เป็นลักษณะระเบิดเร่งด่วนขนาดเล็ก รวม 2 จุด มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย
 
เวลา 10.00 น.พื้นที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี คนร้ายลอบวางระเบิดตู้เติมเงิน ตู้โทรศัพท์ สุสาน และบนถนนสายปากน้ำ รวม 4 จุด 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 5-11 ก.พ. 2561

Posted: 10 Feb 2018 09:18 PM PST

เอคเซนเชอร์ตั้งเป้ามีสัดส่วนพนักงานชาย-หญิงสมดุลภายในปี 2025

"อินทิรา เหล่ามีผล" กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจ Resource Operating Group เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันเอคเซนเชอร์มีพนักงานหญิง 150,000 คน หรือเกือบร้อยละ 40 ของพนักงานทั้งหมดทั่วโลก ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทได้ตั้งเป้าหมายและแผนงานที่ทำให้เกิดความเสมอภาคทางเพศ

โดยตั้งเป้าบรรจุพนักงานใหม่ผู้หญิงให้ได้ร้อยละ 40 ในพ.ศ. 2560 ซึ่งทำได้สำเร็จก่อนที่ตั้งเป้าไว้หนึ่งปี พร้อมทั้งสนับสนุนพนักงานหญิงจำนวนร้อยละ 30 ให้ก้าวหน้าไปจนถึงระดับกรรมการผู้จัดการ ภายในพ.ศ. 2559 ขณะเดียวกัน จะเพิ่มสัดส่วนกรรมการผู้จัดการผู้หญิงทั่วโลกให้ถึงร้อยละ 25 ภายในพ.ศ. 2563

"ความหลากหลายจะทำให้ธุรกิจของบริษัทแข็งแกร่งขึ้น มีความสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น ที่สำคัญที่สุดคือ ทำให้โลกนี้น่าอยู่มากขึ้น เมื่อตั้งเป้าหมายใหม่แล้ว บริษัทจึงสื่อสารอันสำคัญนี้ไปถึงพนักงานและลูกค้า เพื่อแสดงเจตจำนงที่มุ่งมั่นในการทำให้โครงสร้างพนักงานเท่าเทียมและสมดุล กัน"

ทั้งนั้น เอคเซนเชอร์ได้ดำเนินการต่าง ๆ เพื่อจูงใจพนักงานหญิง รักษาพนักงาน ส่งเสริมให้ก้าวหน้า และสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนาด้านต่าง ๆ เพื่อให้องค์กรมีโครงสร้างที่สมดุล เสริมสร้างความเสมอภาค อาทิ สนับสนุนพนักงานหญิงระดับอาวุโสให้ก้าวหน้าในสายงานการเงินและบัญชี โดยตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ซึ่งร้อยละ 80 ของผู้หญิงที่เคยเข้าร่วมโครงการพัฒนาความเป็นผู้นำระดับโลก ได้รับการเลื่อนขั้นหรือมีขอบข่ายความรับผิดชอบมากขึ้น

นอกจากนี้ มีการประกาศเจตนารมณ์ด้านความโปร่งใส โดยกำหนดเป้าหมายที่ชี้วัดได้ และเผยแพร่ให้ทราบโดยทั่วกัน เพื่อเพิ่มจำนวนผู้หญิงในบริษัท และยังเผยแพร่สถิติจำนวนและสัดส่วนพนักงานในหลาย ๆ ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย และประเทศกลุ่มอาเซียน

เอคเซนเชอร์ยังริเริ่มโครงการเพิ่มพูนทักษะที่ตลาดต้องการให้แก่ผู้หญิง เช่น โครงการ Women in Technology ที่ช่วยผลักดันให้ผู้หญิงที่มีความสามารถได้พัฒนาและเติบโตในสายอาชีพได้ เร็วขึ้นในฐานะสถาปนิกด้านเทคนิค ซึ่งเป็นสาขาที่ขาดแคลนและตลาดมีความต้องการมาก

ขณะเดียวกัน ได้ร่วมมือกับภาคธุรกิจและภาครัฐ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคทางเพศในที่ทำงาน โดยมีหลายโครงการที่แสดงเจตจำนงสอดคล้องกัน อาทิ The White House Equal Pay Pledge, Paradigm for Parity และ Catalyst CEO Champions for Change

"เราสนับสนุนความหลากหลายในที่ทำงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความสร้างสรรค์และความได้เปรียบเชิงแข่งขัน การพัฒนาไปสู่เป้าหมาย 50 by 25 หรือเพิ่มบทบาทของสตรีในที่ทำงานและในระดับบริหารนั้น เราได้สร้างบรรยากาศที่ทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของที่ทำงาน เป็นที่ที่ทุกคนอยากมาทำงานทุกวัน สามารถเป็นตัวของตัวเอง และแสดงความสามารถได้เต็มที่ ทั้งในด้านการงานและเรื่องส่วนตัว"

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 11/2/2561

รมว.แรงงาน ย้ำนายจ้างไปตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวก่อนเข้าศูนย์ OSS

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานสั่งการให้กรมการจัดหางานเร่งทำความเข้าใจกับนายจ้างเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพของแรงงานต่างด้าวกัมพูชา ลาว เมียนมาว่าให้ไปดำเนินการตรวจสุขภาพ ณ โรงพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดก่อนที่จะเข้ามาดำเนินการในศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) ก่อนแล้วจึงนำใบรับรองแพทย์หรือใบนัดหมายการตรวจสุขภาพมาเป็นหลักฐานยื่นที่ศูนย์ฯ ต่อไป โดยในกรุงเทพมหานครแรงงานต่างด้าวสามารถตรวจสุขภาพได้ในโรงพยาบาล 7 แห่งคือ 1. โรงพยาบาลกลาง 2. โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี 3. โรงพยาบาลเลิศสิน 4. โรงพยาบาลราชวิถี 5. โรงพยาบาลตากสิน 6. โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ 7. โรงพยาบาลวชิระพยาบาล

ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) ได้เปิดให้แรงงาน กัมพูชา ลาวเมียนมา 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 แรงงานในกิจการประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำ ที่พิสูจน์สัญชาติและยังไม่พิสูจน์สัญชาติ ซึ่งบัตรหมดอายุเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 กลุ่มที่ 2 แรงงานที่ผ่านการคัดกรองความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้าง (กลุ่มใบจับคู่) แบ่งเป็นกลุ่มพิสูจน์สัญชาติแล้วและได้รับใบแทนใบอนุญาตทำงานถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 และกลุ่มที่ยังไม่พิสูจน์สัญชาติ มีเพียงใบจับคู่เท่านั้นและได้รับการผ่อนผันให้ทำงานถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 และกลุ่มที่ 3 แรงงานที่ถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ซึ่งใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 31 มีนาคม 2561 มีทั้งกรณีที่พิสูจน์และไม่พิสูจน์สัญชาติ เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ภายในศูนย์ฯ มีขั้นตอนคือ ขั้นตอนที่ 1 จุดคัดกรอง เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเอกสารหากครบถ้วนจะให้บัตรคิว ขั้นตอนที่ 2 กรมการปกครองจัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติ กำหนดเลข 13 หลัก ถ่ายรูปใบหน้า สแกนลายนิ้วมือ ค่าใช้จ่าย 80 บาท ขั้นตอนที่ 3 สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตรวจลงตรา (Visa) ให้อยู่ในราชอาณาจักร ค่าใช้จ่าย 500 บาท ทั้งนี้ หากแรงงานต่างด้าวยังไม่ได้พิสูจน์สัญชาติไม่ต้องดำเนินการในขั้นตอนนี้ ข้ามไปขั้นตอนที่ 3 ได้เลย ขั้นตอนที่ 4 กรมการจัดหางานอนุญาตให้ทำงาน แบ่งเป็น กลุ่มที่ 1 แรงงานประมง : ยังไม่พิสูจน์สัญชาติอนุญาตถึง 30 มิถุนายน 2561 ค่าใช้จ่าย 550 บาท พิสูจน์สัญชาติแล้วอนุญาตถึง 1 พฤศจิกายน 2562 ค่าใช้จ่าย 1,900 บาท กลุ่มที่ 2 ใบจับคู่ : ยังไม่พิสูจน์สัญชาติอนุญาตถึง 30 มิถุนายน 2561 ค่าใช้จ่าย 550 บาท ส่วนพิสูจน์สัญชาติแล้วและใบอนุญาตทำงานเดิมหมด 30 ธันวาคม 2560 จะอนุญาตถึง 31 มีนาคม 2563 ค่าใช้จ่าย 2,225 บาท ส่วนกลุ่มที่ใบอนุญาตทำงานเดิมหมด 31 มีนาคม 2561 จะอนุญาตถึง 31 มีนาคม 2563 ค่าใช้จ่าย 1,900 บาท และกลุ่มที่ 3 บัตรสีชมพู : ยังไม่พิสูจน์สัญชาติอนุญาตถึง 30 มิถุนายน 2561 ค่าใช้จ่าย 325 บาท หากพิสูจน์สัญชาติแล้วอนุญาตถึง 31 มีนาคม 2563 ค่าใช้จ่าย 1,900 บาท ขั้นตอนที่ 5 สำนักงานประกันสังคมขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนให้กับแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในกิจการของนายจ้างที่เข้าประกันสังคมและแรงงานต่างด้าวที่เคยขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนแล้ว กระทรวงสาธารณสุขทำประกันสุขภาพให้กับแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติและผ่านการพิสูจน์สัญชาติ แบ่งเป็น 2 กรณีคือ กรณีที่ 1 ทำงานในกิจการที่เข้าข่ายประกันสังคม และขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน ต้องทำประกันสุขภาพเพื่อคุ้มครองก่อนเกิดสิทธิประกันสังคม 3 เดือน ค่าใช้จ่าย 500 บาท กรณีที่ 2 ทำงานในกิจการไม่เข้าข่ายประกันสังคม (ผู้รับใช้ในบ้าน และกิจการประมง) ทำประกันสุขภาพ 2 ปี ค่าใช้จ่าย 3,200 บาท และขั้นตอนที่ 6 ชำระค่าบริการ (ค่าขึ้นทะเบียนประวัติ , ค่าตรวจลงตรา , ค่าใบอนุญาตทำงาน , ค่าประกันสุขภาพ) และรับบัตรประจำตัว/ใบอนุญาตทำงาน เอกสารที่ใช้คือ นายจ้างเตรียมเอกสารได้แก่ 1. สำเนาบัตรประชาชน 2. สำเนาทะเบียนบ้าน หากนายจ้างเป็นนิติบุคคลใช้สำเนาหนังสือรับรองจดทะเบียนบริษัทและทะเบียนบ้าน 3. ท.บ.1 ส่วนแรงงานต่างด้าว เตรียมเอกสารได้แก่ 1. ใบจับคู่ หรือ บัตรสีชมพู 2. เอกสารที่ประเทศต้นทางออกให้ เช่น CI TD 3. ใบรับรองแพทย์ หรือใบนัดหมายการตรวจสุขภาพ 4. สำเนาบัตรประกันสังคม (ถ้ามี) สำหรับสถานที่ตั้งศูนย์ OSS มี 78 ศูนย์ทั่วประเทศ แบ่งเป็นกรุงเทพมหานคร 2 แห่งคือที่ศูนย์การค้าไอทีสแควร์ หลักสี่พลาซ่า เขตหลักสี่ และอาคารเพชรเกษมทาวเวอร์ เลขที่ 1759/3 ถ.เพชรเกษม เขตบางแค (ใกล้ห้างบิ๊กซี เพชรเกษม) และส่วนภูมิภาค 76 จังหวัดทั่วประเทศ

นายอนุรักษ์ กล่าวเสริมว่า ศูนย์ OSS จะเปิดดำเนินการไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 นี้เท่านั้น ซึ่งตั้งแต่วันที่ 5 – 10 กุมภาพันธ์ 2561 มีแรงงานมาดำเนินการแล้ว 29,420 เป็นกัมพูชา 11,652 คน เมียนมา 14,901 คน ลาว 2,867 คน ทั้งนี้ รมว.แรงงาน กำชับให้นายจ้างรีบพาแรงงานมาดำเนินการที่ศูนย์ OSS ตั้งแต่บัดนี้ อย่ารอให้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 เพราะหากมาในช่วงใกล้หมดเวลาอาจไม่ได้รับความสะดวก รวดเร็ว หากมีผู้มาใช้บริการเป็นจำนวนมาก สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นทื่ 1-10 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 10/2/2561

เครือข่ายประกันสังคมค้านใช้ ม.44 "เลือกตั้ง" บอร์ด สปส.ชุดใหม่

นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวว่า พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2558 ได้ระบุชัดในมาตรา 8 ให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีการร่างเกณฑ์การเลือกตั้ง ซึ่งก็เข้าใจว่าทางกระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กำลังดำเนินการ ซึ่งกรณีที่ทาง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนว่าจะมีการพิจารณาเรื่องนี้ แต่ติดที่ใช้งบถึง 3,000 ล้านบาท ข้อเท็จจริงแล้ว งบดังกล่าวเป็นตัวเลขคร่าวๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยเข้าไปหารือกับทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) ซึ่งกำหนดตัวเลขจากการเลือกตั้งทั่วไปอยู่ที่ประชากรรายละ 87 บาทต่อคน งบประมาณเลือกตั้งทั้งหมดก็น่าจะประมาณ 3,000 ล้านบาท

นายมนัสกล่าวว่า ตัวเลขผู้ประกันตนจริงๆ มีอยู่ที่ 13 ล้านคน ก็จะเท่ากับ 1,131 ล้านบาท ซึ่งตนไม่แน่ใจว่าตัวเลขที่รัฐมนตรีฯให้สัมภาษณ์อาจหมายถึงตัวเลขภาพรวมการเลือกตั้ง หรือมีการคำนวณอย่างไร แต่จริงๆแล้ว ทาง คปค.เสนอทางออก ซึ่งประหยัดงบได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง โดยที่ผ่านมา คปค.ได้ทำหนังสือเสนอไปยัง นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานกรรมการประกันสังคม เกี่ยวกับโมเดลระเบียบการเลือกตั้ง โดยการเลือกบอร์ดครั้งนี้ จะแตกต่างจากบอร์ดชุดเดิม ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งไว้เมื่อปี 2558 ซึ่งหมดวาระไปแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 วาระละ 2 ปี และเดิมกรรมการมีจำนวน 15 คน ฝั่งละ 5 คน ทั้งฝ่ายรัฐ ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง แต่ในกฎหมายใหม่ระบุให้มีทั้งหมด 21 คน ฝ่ายละ 7 คน

ประธาน คปค. กล่าวอีกว่า โดยโมเดลของ คปค.เสนอว่า ให้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง 77 เขต ใช้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดในการดำเนินการ และผู้ประกันตนมีสิทธิออกเสียงได้ 1 เสียง สำหรับการเลือกนั้น จะแบ่งออกเป็นฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายนายจ้าง อย่างฝ่ายลูกจ้างจะทำการเลือกผู้แทนเข้าไปในบอร์ดฯจำนวน 7 คน โดยใช้วิธีคัดเลือกจากพื้นที่แบ่งเป็นขั้นต่ำพื้นที่ไหนมีผู้ประกันตน 150,000 คน ให้มีผู้แทน 1 คนลงสมัครเป็นตัวแทนเข้าบอร์ด ขณะที่นายจ้างให้พิจารณาว่าพื้นที่ไหนมีนายจ้างรวม 5,000 คนให้มีผู้แทน 1 คนเชิง ซึ่งรวมทั้งประเทศจะมีผู้แทนทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้าง ฝ่ายละ 125 คน หลังจากนั้นก็ให้มีการเลือกออกมาให้ได้ฝ่ายละ 7 คน

"ส่วนที่ว่าต้องมีการพิจารณา เพื่อให้ประหยัดงบประมาณ อาจมีข้อเสนอเรื่อง ม.44 แต่งตั้งบอร์ดสปส. อีกครั้งนั้น ทางเราไม่เห็นด้วย เพราะที่ผ่านมาบอร์ดชุดเดิมก็มาจาก ม.44 ซึ่งไม่จำเป็นแล้ว และเราก็มีพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2558 ในม.8 ก็ระบุชัดว่าต้องเลือกตั้ง จึงควรปฏิบัติตามกฎหมาย" นายมนัสกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าใน พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ม.8 ให้มีการจัดทำระเบียบเลือกตั้งภายใน 180 วันแต่จนขณะนี้ยังไม่มี ถือว่าผิดหรือไม่ นายมนัสกล่าวว่า ก็เข้าใจว่าอาจติดปัญหาหลายอย่าง ซึ่งเราก็ไม่อยากต้องไปฟ้องศาลปกครอง แต่เราใช้วิธีในการเจรจากันก่อน ทราบว่ามีการดำเนินการอยู่

ผู้สื่อข่าวถามว่างบการเลือกตั้งใช้จากกองทุนประกันสังคมจะไม่กระทบหรืออย่างไร นายมนัสกล่าวว่า จากที่เคยหารือกันทราบว่าจะใช้งบบริหารจัดการของสำนักงานฯประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการเอามาจากดอกผลของเงินสมทบทั้ง 3 ฝ่าย ซึ่งดอกผลดังกล่าวปกติก็นำมาใช้ในเรื่องของการบริหารจัดการของสำนักงานอยู่แล้ว เช่น เบี้ยประชุม หรือการไปศึกษาดูงานต่างประเทศ ไม่ได้กระทบผู้ประกันตน ในทางกลับกัน การมีการเลือกตั้งเช่นนี้จะส่งผลดีต่อผู้ประกันตน เพราะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เนื่องจากที่ผ่านมาการคัดเลือกกรรมการเข้ามานั่งในบอร์ดฯ ในส่วนของผู้ประกันตนจะมาจากสหภาพแรงงานแห่งละ 1 เสียง ซึ่งถือว่าน้อยเกินไป เพราะบางสหภาพก็อาจมีคนไม่ถึงพันก็มี ดังนั้น การเลือกตั้งจะทำให้ผู้ประกันตนทุกคนมีสิทธิมีเสียงในการเลือกผู้แทนเพื่อมารักษาสิทธิประโยชน์ของตน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 9/2/2561

หนุนนร.-นศ.ทำงานช่วงปิดเทอม มีรองรับกว่า 7,000 อัตรา

วันที่ 8 ก.พ. เวลา 10.30 น. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน เป็นประธานการประชุมเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมการมีงานทำให้นักเรียน นักศึกษา ในช่วงปิดภาคเรียนหรือช่วงว่างจากการเรียน ระหว่างภาครัฐและเอกชน ตามโครงการ "ประชารัฐรวมพลัง สร้างยุวแรงงาน" ณ ห้องประชุมเทียน อัชกุล กรมการจัดหางาน โดยกล่าวว่า การประชุมในวันนี้เป็นการหารือร่วมกับภาครัฐและเอกชน เพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมการมีงานทำให้แก่นักเรียนนักศึกษาในช่วงปิดภาคเรียนหรือช่วงว่างจากการเรียน ระหว่างปลายเดือนก.พ.- พ.ค.ของทุกปี เป็นการส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษาได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เสริมสร้างประสบการณ์การทำงานจริง มีรายได้ระหว่างเรียน จากการประกอบอาชีพที่เหมาะสม สามารถแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองได้ ซึ่งเป็นผลดีต่อเยาวชนและสังคม

โครงการประชารัฐรวมพลัง สร้างยุวแรงงาน เป็นการทำงานในรูปแบบประชารัฐ ที่มีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงแรงงานกับภาคเอกชนและสถานศึกษา นักศึกษาที่จะทำงานได้ต้องมีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป หากทำงานในหน่วยงานราชการ ปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน ไม่รวมเวลาหยุดพัก จะได้รับค่าตอบแทนไม่เกินวันละ 300 บาท ปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมงครึ่งต่อวัน จะได้รับค่าตอบแทนไม่เกิน 150 บาท กรณีทำงานในสถานประกอบการภาคเอกชน กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงไม่ต่ำกว่า ชั่วโมงละ 40 บาท เป็นต้น ซึ่งงานที่สามารถทำได้ต้องเป็นงานที่มีความปลอดภัยและไม่เสี่ยงอันตราย โดยมีสถานที่ที่นักเรียน นักศึกษาไม่สามารถทำงานได้ เช่น สถานที่เล่นการพนัน โรงฆ่าสัตว์ สถานเต้นรำ ร้านอาหารที่มีการจำหน่ายแอลกอฮอล์ เป็นต้น

ได้ประสานกับสถานประกอบการในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดทั่วประเทศแล้วกว่า 400 แห่ง มีตำแหน่งงานรองรับในเบื้องต้นกว่า 7,000 อัตรา แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 1,700 อัตราและต่างจังหวัด 6,000 อัตรา ตำแหน่งงานว่าง ได้แก่ พนักงานต้อนรับ พนักงานบริการ พนักงานจัดเรียงสินค้า แคชเชียร์ เป็นต้น มีกำหนดเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2561 และเมื่อเสร็จสิ้นการทำงานจะได้รับวุฒิบัตรพร้อมกับคู่มือในการปฏิบัติงาน โดยสามารถสอบถามรายละเอียดหรือติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1- 10 หรือ โทรสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2

ที่มา: ข่าวสด, 8/2/2561

แรงงานไทย 1 รายบาดเจ็บจากเหตุแผ่นดินไหวในไต้หวัน

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่กระทรวงการต่างประเทศ น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงความคืบหน้าเหตุแผ่นดินไหวที่เมืองฮวาเหลียน ไต้หวัน ว่า สำนักงานเศรษฐกิจการค้าไทยประจำไทเป รายงานว่ามีแรงงานไทย 1 คน คือนายประเทียม บุนยัง อายุ 46 ปี ประสบอุบัติเหตุแผ่นหินที่ผลิตของโรงงานผลิตแผ่นหินแกรนิตลื่นหล่นทับข้อเท้า ในช่วงที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวระหว่างกำลังทำงานกะกลางคืนของคืนวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา ส่งผลให้กระดูกข้อเท้าร้าว แต่ได้รับการผ่าตัดแล้ว และออกจากโรงพยาบาลเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (8 ก.พ.) โดยนายจ้างให้การดูแลอย่างดี สำหรับยอดผู้ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในไต้หวันล่าสุดมีผู้เสียชีวิต 9 รายเป็นชาวไต้หวันและจีน ได้รับบาดเจ็บ 265 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวต่างชาติ 19 คน ซึ่งรวมถึงคนไทย 1 คน ขณะที่ยังคงมีผู้สูญหายอยู่ระหว่างการค้นหาอีก 62 คน

ที่มา: เดลินิวส์, 8/2/2561

อพท.ชูจ้างงาน'สูงวัย'หนุนท่องเที่ยวชุมชน

นายนาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า หลังจาก อพท.นำเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) ที่ให้ความสำคัญกับการจ้างงานในผู้สูงวัยและผู้พิการเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมมาใช้ประยุกต์กับพื้นที่พิเศษ ได้ร่วมมือกับคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาวิจัยการจ้างแรงงานในพื้นที่พิเศษในปี 2560 เพื่อประเมินผลความสำเร็จ

หากเทียบธุรกิจท่องเที่ยวที่เป็นภาคีเครือข่ายและที่ไม่ได้เป็นภาคีเครือข่าย พบว่า การจ้างแรงงานท้องถิ่นในกลุ่มที่เป็นภาคีเครือข่ายมีอัตราสูง 62.46% หรือเติบโต 33% คิดเป็นจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นจาก 1,095 คน เป็น 1,456 คน เพิ่มขึ้นสวนทางการจ้างงานในพื้นที่ซึ่งไม่ใช่เครือข่ายมีอยู่ในอัตรา 34.25% ลดลง 30% จากที่เคยสูง 5 หมื่นคนในปี 2559 ลดลงเหลือ 4.17 หมื่นคน

หากพิจารณาประเภทแรงงานในพื้นที่พิเศษปีที่ผ่านมาแรงงาน 100 คน มีการจ้างแรงงานท้องถิ่น 34คน ผู้พิการ 1 คน ผู้สูงอายุ 6 คน แต่พื้นที่พิเศษที่เป็นภาคีเครือข่ายมีการจ้างงานท้องถิ่น 62 คน ผู้พิการ 1 คน แต่ผู้สูงอายุจะต่ำกว่าที่ 1 คน

"มีแผนที่ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีส่วนช่วยเสริมแรงงานด้านท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษมากขึ้นในระดับ 5-6% ของผู้สูงอายุทั้งหมด แต่ขึ้นอยู่กับความพร้อมของชุมชนและความเหมาะสมของประเภทกิจกรรมด้วย"

อพท.มองว่าเครื่องมือที่จะใช้ส่งเสริมการทำงานของคนสูงวัยได้คือการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์(ครีเอทีฟทัวริสซึ่ม) นำร่อง 39 กิจกรรม สอดคล้องกับภูมิปัญญาและความเชี่ยวชาญของผู้อาวุโสหรือ ปราชญ์ท้องถิ่น โดยพื้นที่ที่เห็นผลเร็ว เช่น จ.น่าน ที่มีบริบทด้านการท่องเที่ยวในวิถีพุทธบูชา

ในปีนี้ อพท. จะให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนภายใต้แนวคิด"ทัวริสซึ่มฟอร์ออล"หรือการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล นำร่องสร้างแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุผู้พิการที่พัทยา จากการร่วมพัฒนาของภาคธุรกิจเอกชนที่เห็นโอกาส หลังจากนี้ เมื่อ อพท.ได้ผ่านกระบวนการรับมอบให้ขยายการดูแลจากพื้นที่พิเศษ 6 แห่ง เป็น 9 คลัสเตอร์ 38 จังหวัด ได้เข้าไปเตรียมความพร้อมรองรับกลุ่มประชากรเหล่านี้

สำหรับการสำรวจในไทย มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 14 ล้านคน คิดเป็น 17% ภายในปี 2568 จะเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบขณะที่กลุ่มผู้พิการมีกว่า 1.8 ล้านคน

นายธีระสิน เดชารักษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีและอาจารย์ประชุมคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ภาวะการมีงานทำของประชากรสูงอายุของไทยมีค่าเฉลี่ย 38-40% แต่ภาพรวมด้านการจ้างงานผู้สูงอายุภาคท่องเที่ยวมีเพียง 5-6% จึงมีช่องว่างอีกมากให้เร่งพัฒนาศักยภาพหรือหาที่ว่างในตลาดแรงงานส่งเสริมผู้สูงวัยมีส่วนร่วม โดยมี 2 ข้อเสนอแนะสำหรับผู้ประกอบการ คือ หางานให้สอดคล้องกับความเหมาะสมภาวะร่างกายหรือจิตใจของผู้สูงวัย และให้จ้างแบบพาร์ทไทม์ เพราะยืดหยุ่นและลดต้นทุนจากการมีภาระจ้างพนักงานประจำของธุรกิจ

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 9/2/2561

แรงงาน ปั้นรายการทีวีสร้างงาน คล้าย 'เทคมีเอาท์' -ตีแผ่ชีวิตต่างด้าว

เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2561 ที่กระทรวงแรงงาน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวภายหลังเข้าพูดคุยกับ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน ถึงแนวทางการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้งานของกระทรวงแรงงาน และนโยบายของรัฐบาลด้านแรงงานว่า ได้หารือแนวทางการสนับสนุนงานด้านประชาสัมพันธ์ของกระทรวงแรงงาน โดยกรมประชาสัมพันธ์จะเป็นตัวกลางในการบอกกล่าวไปถึงประชาชนที่เป็นแรงงานทั้งในและต่างประเทศ จะต้องปฏิบัติตนอย่างไร ให้สามารถอยู่ในระบบการคุ้มครองดูแลจากรัฐบาล ไม่ถูกละเมิดสิทธิและถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง และการเข้าถึงบริการด้านอื่นๆ

ด้าน พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ทีมโฆษกรัฐบาลได้หารือการขับเคลื่อนการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ด้านแรงงานให้สังคม เพื่อสื่อไปยังประชาชนและพี่น้องแรงงานอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้มีงานออกไปมากมาย อาทิ การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ส่งเสริมการมีงานทำ รวมถึงคนพิการ คนสูงอายุ ตลอดจนส่งเสริมการทำงานพาร์ทไทม์ของนักศีกษาระหว่างปิดภาคเรียน ซึ่งตอนที่ตนเป็น รมว.พัฒนาสังคมฯ ก็ร่วมมือกันในด้านการรับรู้กระบวนการช่วยเหลือทางสังคม ผู้พิการ การก่อสร้างโครงการดินแดง ซึ่งวันนี้สร้างแปลงแรกแล้ว รวมทั้งโครงการบ้านริมคลอง ในคลองลาดพร้าว ทางทีมโฆษกจะมาช่วยเสริมให้สังคมรับรู้มากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ท.สรรเสริญ ได้นำเสนอถึงการผลิตรายการทีวีรูปแบบใหม่ เพื่อประชาสัมพันธ์นโยบายกระทรวงต่างๆ ทางช่องเอ็นบีที โดยเห็นว่ากระทรวงแรงงานมีภารกิจเพื่อการบริหารจัดการแรงงานทั้งไทยและต่างด้าว ซึ่งมีความเกี่ยวข้องทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง จึงต้องประชาสัมพันธ์นโยบายให้ถึงประชาชน โดยการผลิตรายการทีวีในรูปแบบที่ทันสมัยและน่าสนใจ 2 รายการ จะเป็นรายการส่งเสริมให้คนไทยทุกคนมีงานทำ มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น กับรายการที่นำเสนอคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงานต่างด้าว ที่ลงทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งรูปแบบจะเป็นการแข่งขันกลุ่มคนทำงาน ในรูปแบบคล้ายรายการดัง "เทคมีเอาท์ ไทยแลนด์" หรือ "กบนอกกะลา" แต่เป็นการแข่งขันด้านความสามารถในด้านอาชีพ ความรู้ ความสามารถ ซึ่งผู้ชนะจะได้ทำงานกับนายจ้างหรือบริษัทที่เข้าร่วมรายการ

ทั้งนี้นายจรินทร์ จักกะพากษ์ ปลัดกระทรวงแรงงานแสดงความเห็นด้วย และพล.ต.อ.อดุลย์ ได้มอบหมายให้สำนักงานประกันสังคมที่มีเงินกองทุนจำนวนมาก ไปหารือในรายละเอียดกับกรมประชาสัมพันธ์

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 8/2/2561

เผยอาชีพที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง คือโรคความบกพร่องอย่างเรื้อรังในการไหลผ่านของอากาศในระบบทางเดินหายใจ และมักจะแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป อาการที่พบบ่อยได้แก่ มีเสมหะ เหนื่อย อ่อนเพลีย หายใจเสียงวี๊ด และไอ อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเป็นเวลานาน และโดยมากจะแย่ลงเรื่อยๆ ซึ่งสาเหตุของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังนั้น ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่ามีปัจจัยเสี่ยงหลายประการด้วยกัน ได้แก่ การสูบบุหรี่ มลพิษในอากาศ การสูดควันบุหรี่มือสอง พันธุกรรม การติดเชื้อของทางเดินหายใจ และทำงานสัมผัสกับความเสี่ยงที่มีในโรงงานอุตสาหกรรม

อาชีพที่มีความเสี่ยงต่อโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ได้แก่ บุคคลที่ทำงานในเหมืองถ่านหิน โรงงานทอฝ้าย โรงงานทำเซรามิค โรงสีข้าว โรงโม่แป้ง โรงหลอมโลหะ โรงเลื่อยไม้ งานที่เกี่ยวกับสีย้อมต่างๆ ช่างก่อสร้างหรือผสมปูนซีเมนต์ ชาวนา รวมไปถึงพนักงานดับเพลิง ล้วนมีความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าว ดังนั้นประชาชนที่มีอาชีพดังกล่าวข้างต้น ควรดูแลสุขภาพโดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดการสูบบุหรี่ที่ทำให้มีโอกาสเกิดโรคมากขึ้น พร้อมสวมอุปกรณ์ป้องกันก่อนการปฏิบัติงาน และถ้ามีอาการข้างต้นควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาต่อไป

นพ.สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวว่า แนวทางการรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังประกอบด้วย การหยุดสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค และการรักษาประคับประคองตามอาการ โดยการให้ยาขยายหลอดลม การให้ยาลดการอักเสบ/ยาแก้อักเสบกลุ่มสเตียรอยด์ การทำกายภาพบำบัด โดยเลือกวิธีออกกำลังกายให้เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ทำให้ออกแรงใช้งานได้มากขึ้น ไม่เหนื่อยง่าย การฝึกวิธีหายใจออก เพื่อไม่ให้อากาศคั่งค้างอยู่ในปอดมากเกินไป พร้อมกับการดูแลด้านโภชนาการ ให้ผู้ป่วยได้รับพลังงานจากอาหารที่เพียงพอในแต่ละวัน ไม่ให้น้ำหนักลดหรือผอมลงเรื่อยๆ เพราะจะทำให้ยิ่งเหนื่อย

"ผู้ปฏิบัติงานในอาชีพที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เมื่อพบมีอาการเหนื่อย การไอเรื้อรัง มีเสมหะ และมีประวัติของการได้รับสัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงของโรค ควรตรวจสมรรถภาพปอด เพื่อยืนยันการวินิจฉัย หยุดสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค และจะได้รักษาอาการต่อไป แต่เหนือสิ่งสำคัญใด ๆ ทั้งหมดนั้นคือ การป้องกันตนเองก่อนเริ่มต้นปฏิบัติงาน"นพ.สมบูรณ์กล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 7/2/2561

ผู้บริหารชุดใหม่เนชั่นยกเลิกนโยบายเออร์รี่รีไทร์ เล็งปิด นสพ.คมชัดลึก-กรุงเทพธุรกิจ ทำออนไลน์แทน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะผู้บริหารชุดใหม่บริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งขอพบพนักงานในเครือเนชั่น เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2561 ที่ผ่านมา โดยถือเป็นการชี้แจงทิศทางและนโยบายการบริหารงาน ครั้งแรก

ผู้บริหารชุดใหม่ประกอบด้วย 'มารุต อรรถไกวัลวที' ประธานเนชั่น ,นายสมชาย มีเสน เข้าดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เข้ารับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2561

นอกจากนี้ ยังรวมถึง สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ บมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย และนายประกิต ประกิต ชมภูคํา ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ส่วนนายเทพชัย หย่อง อดีตประธานเครือเนชั่น ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง เพราะต้องไปผ่าตัดหัวเข่าไปแล้วก่อนหน้านี้

ทางผู้บริหารชุดใหม่ได้แจ้งต่อพนักงานว่า ในช่วงการดำเนินธุรกิจ 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทเนชั่นฯ แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่าประสบปัญหาขาดทุนหลายพันล้านบาท จึงทำให้บริษัทเนชั่นมีหนี้สินที่ต้องชำระทั้งหมด 1,580 ล้านบาท

โดยสาเหตุการขาดทุนมาจากภาวะถดถอยของสื่อที่ผู้บริโภคหันไปเสพข่าวโซเชียลแทน การบริโภคสื่อประเภทอื่น โดยเฉพาะช่อง NOW 26 ที่ขาดทุนมาโดยตลอด ผู้บริหารชุดใหม่ จึงต้องตัดให้เหลือทีวีเพียงช่องเดียวคือ Nation 22

ทั้งนี้ผู้บริหารชุดใหม่กำลังคิดแผนดำเนินธุรกิจใหม่ โดยจะตัดธุรกิจที่ไม่ก่อให้เกิดกำไรออกไป คือ ธุรกิจที่ประกาศขายไปก่อนหน้านี้ เช่น มหาวิทยาลัยเนชั่น โลจิสติก สื่อสิ่งพิมพ์ ที่ดิน โดยสื่อสิ่งพิมพ์ทั้ง หนังสือพิมพ์คมชัดลึก และหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กำลังพิจารณาว่าจะตัดออกหรือไม่ แต่แม้ตัดออกก็จะหันไปทำสื่อออนไลน์แทนเพื่อให้ยังคงชื่ออยู่

ส่วน ทีวีเนชั่น 22 มีรายได้ 35 ล้านบาทต่อเดือน รายจ่าย 42 ล้านบาทต่อเดือน ต้องวางแผนเพื่อให้รายได้กับรายจ่ายสมดุลกัน ในอนาคตจะมีการนำเนื้อหาข่าวทั้งหมดมาทำอีเว้นท์ และนำอีเว้นท์มาสร้างรายได้อีกที ซึ่งหากดูบริษัทอื่น ก็มีการทำอีเว้นท์เพิ่มเช่นกัน เพราะพึ่งพาการขายโฆษณาคงทำได้ยาก

ผู้บริหารชุดใหม่ตั้งเป้าว่าจะหยุดการขาดทุนได้ในปี 2561 และถ้าทำได้จะทำให้มีกำไรในปี 2562 และยกเลิกนโยบายเออร์รี่รีไทน์พนักงาน เพราะก่อนหน้านี้ได้จ่ายเงินชดเชยไปกว่า 300 ล้านบาท ทำให้คนเก่งๆรั่วไหลไปหมด และทำให้เสียงบประมาณ

ทั้งนี้จะไม่มีนโยบายนำพนักงานเก่าออก แต่อาจจะมีการเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอ เช่น บางคนที่เคยทำสื่อสิ่งพิมพ์ก็หันมาทำออนไลน์แทน แต่จะไม่เปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ แค่เปลี่ยนบทบาท การบริหารงาน เพราะต้องทำให้องค์กรอยู่ได้ก่อน

ส่วนโครงสร้างการทำงาน ผู้บริหารชุดใหม่ยืนยันว่าจะไม่ปรับเปลี่ยนทิศทางการนำเสนอข่าวอย่างแน่นอน ซึ่งก่อนหน้านี้มุ่งแต่เสนอข่าวเพื่อหวังให้เรตติ้งสูง หลังจากนี้จะปรับให้เป็นตามจุดแข็งเดิม ด้วยการเสนอข่าวตามรูปแบบของเนชั่นเดิม

บรรยากาศการพบปะครั้งนี้ ผู้บริหารชุดใหม่เปิดให้ตอบคำถามไม่ชัดเจนเช่นการควบรวมช่องข่าวระหว่างช่อง Spring News กับ Nation TV

ที่มา: VoiceTV, 7/2/2561

ประกันสังคมเผย 1,352 รพ./คลีนิก ในปี 2561 เข้าร่วมบริการทำฟันไม่ต้องสำรองจ่าย

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความสำเร็จของระบบทันตกรรมประกันสังคมแบบ "ไม่ต้องสำรองจ่าย" ว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมา มียอดผู้ประกันตน ใช้บริการแล้วกว่า 1,311,927.00 ครั้ง สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนไปแล้ว 880,981,002.78 ล้านบาท ทั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาสุขภาพในช่องปาก ของผู้ประกันตนรวมถึงความต้องการและความพึงพอใจ ในการเข้ารับบริการกรณีทันตกรรมของผู้ประกันตน

นพ.สุรเดช กล่าวอีกว่า ปัจจุบันได้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีทันตกรรม มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้เพิ่มอัตราค่าบริการทางการแพทย์กรณี อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน ผ่าฟันคุด ให้แก่ผู้ประกันตน เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 900 บาทต่อคนต่อปี (จากเดิม 600 บาทต่อคนต่อปี) สำหรับการขอรับบริการ ทันตกรรมผู้ประกันตนสามารถใช้บัตรประชาชนเป็นหลักฐานเข้ารับบริการกรณีทันตกรรมกับสถานพยาบาล โดยไม่ต้องสำรองจ่ายเงิน วงเงินไม่เกิน 900 บาทต่อคนต่อปี

"และในปี 2561 มีจำนวนสถานพยาบาลเอกชน/คลินิกเข้าร่วมให้บริการจำนวน 1,352 แห่ง รวมถึงสถานพยาบาลรัฐทั่วประเทศ โดยสังเกตป้ายสติ๊กเกอร์ที่ระบุว่า "สถานพยาบาลแห่งนี้ให้บริการผู้ประกันตนกรณีทันตกรรม "ทำฟัน" ไม่ต้องสำรองจ่าย" กรณีผู้ประกันตนเข้ารับบริการกรณีทันตกรรมในสถานพยาบาลที่ไม่ได้ทำความตกลงเรื่องการเบิกจ่าย ผู้ประกันตนสามารถนำหลักฐานประกอบด้วย ใบเสร็จรับเงิน ใบรับรองแพทย์ พร้อมสำเนาสมุดบัญชีธนาคารของผู้ประกันตนมายื่นต่อสำนักงานประกันสังคมพื้นที่ / จังหวัด / สาขาทั่วประเทศ มายื่นขอรับประโยชน์ทดแทนตามกฎหมายประกันสังคมได้ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่เข้ารับบริการที่ระบุไว้ในใบรับรองแพทย์"นพ.สุรเดช กล่าว

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการตามนโยบายการทำงานของ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน ตามกรอบนโยบายเน้นหนัก ประจำปีงบประมาณ 2561 ที่เน้น 11 นโยบายเร่งด่วน 4 นโยบายระดับพื้นที่ 6 นโยบายบริหารการพัฒนา (11+4+6) พร้อมแนวทางในการสร้างการรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจสิทธิประโยชน์ของการประกันสังคม

"รวมทั้งปรับปรุงและเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นป้องกันปัญหาทันตกรรมของผู้ประกันตน จึงขอเชิญชวนผู้ประกันตนหมั่นดูแลสุขภาพในช่องปาก และพบทันตแพทย์อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอปีละอย่างน้อย 1-2 ครั้ง อย่างไรก็ดีหากเกิดปัญหาทันตกรรมกับผู้ประกันตน สำนักงานประกันสังคมพร้อมให้บริการ ทางการแพทย์กรณีทันตกรรมแก่ผู้ประกันตนเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้ารับบริการกรณีทันตกรรม แก่ผู้ประกันตนทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อย่างไม่หยุดนิ่ง ในอนาคตจะมีสถานพยาบาลที่รองรับผู้ประกันตน กรณีทันตกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง"นพ.สุรเดช กล่าว

นพ.สุรเดช กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ถือเป็นภารกิจหลักของสำนักงานประกันสังคม และเป็นการคืนความสุขให้กับผู้ประกันตนตามนโยบายรัฐบาลที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ประกันตน ลูกจ้างให้ได้รับบริการที่ดีและได้รับประโยชน์สูงสุดต่อไป

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 6/2/2561

กสร.ย้ำนายจ้างปฏิบัติตามกฎหมาย ป้องกันและลดอันตรายจากเพลิงไหม้

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกำชับนายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัย ช่วยป้องกันและลดความสูญเสีย กรณีเกิดจากเหตุอัคคีภัยในสถานประกอบกิจการ พร้อมส่งเจ้าหน้าที่สร้างความรู้ ความเข้าใจการปฏิบัติตามกฎหมาย

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า จากข่าวอัคคีภัยที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในสถานประกอบกิจการก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งทรัพย์สิน บางครั้งอาจก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตของลูกจ้างในสถานประกอบกิจการ เพื่อป้องกันและลดความสูญเสียจากเหตุดังกล่าว กสร. จึงขอเตือนสถานประกอบกิจการ นายจ้าง ลูกจ้าง ให้ระวังเหตุเพลิงไหม้ โดยเน้นเฝ้าระวังจุดเสี่ยงภายในสถานประกอบกิจการ เช่น ห้องเก็บของ พื้นที่จัดเก็บสารเคมี สายไฟฟ้าที่ชำรุด เป็นต้น รวมถึงปฏิบัติตามกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2555 อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้นายจ้าง สถานประกอบกิจการ จัดมาตรการและดำเนินการในการป้องและระงับอัคคีภัย เช่น การกำหนดให้มีแผนป้องกันและระงับอัคคีภัย การฝึกซ้อมดับเพลิงและอพยพหนีไฟประจำปี เป็นต้น กรณีนายจ้างฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามก็จะมีความผิดตามกฎหมายโดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ได้สั่งการให้พนักงานตรวจความปลอดภัยลงพื้นที่สร้างความรู้ ความเข้าใจ รวมทั้งให้คำแนะนำแก่นายจ้าง สถานประกอบกิจการในการปฎิบัติตามกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2555 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สถานประกอบกิจการที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 ถึง 10 ศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 1 ถึง 12 หรือที่กองความปลอดภัยแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 0 2448 9128-39

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 6/2/2561

สหภาพฯ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์เชิญประชาชนลงนามสนับสนุนจัดหาขบวนรถแก้ปัญหาความเดือดร้อนผู้ใช้บริการ

5 ก.พ. 2561 ได้มีการแจกจ่ายเอกสารที่ใช้หัวหนังสือจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฟ้า ซึ่งเป็น สหภาพแรงงานของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ระบุถึงปัญหาของขบวนรถที่มีไม่เพียงพอต่อการให้บริการ ส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่ใช้บริการอย่างมาก และเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2556 ที่มีมติเห็นชอบโครงการจัดหารถไฟฟ้าธรรมดา City LINE ของแอร์พอร์ตลิ้งจำนวน 7 ขบวน ดังนั้น สหภาพฯ จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมลงนามสนับสนุนให้มีการจัดหาขบวนรถไฟฟ้าเพิ่ม เพื่อส่งเป็นข้อมูลให้กับทางรัฐบาลได้ตระหนักถึงความพร้อมของผู้ใช้บริการ โดยเอกสารดังกล่าวได้เชิญชวนให้ประชาชนผู้ใช้บริการร่วมลงลายมือชื่อสนับสนุนด้วย

ทั้งนี้ ปัญหาการจัดซื้อขบวนรถแอร์พอร์ตลิงค์ 7 ขบวน วงเงิน 4,000 ล้านบาทที่ยืดเยื้อมานาน โดยนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เคยสั่งการให้มีการเร่งรัดจัดซื้อให้มีขบวนรถหมุนเวียนให้บริการผู้โดยสารอย่างเพียงพอ โดยไม่ต้องรอการเปิดให้เอกชนเข้ามาเป็นผู้ประมูลให้บริการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งล่าสุดผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ประกาศชัดเจนว่าจะมีการนําโครงสร้างพื้นฐานของแอร์พอร์ตลิงค์ปัจจุบันไปรวมอยู่ในโครงการด้วย โดยจะมีการเปิดประมูลโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนแบบ PPP เดือนมีนาคมปีนี้ อย่างไรก็ตาม รฟท.เห็นด้วยกับแนวทางให้มีการเร่งจัดซื้อขบวนรถเข้ามาให้บริการ โดยไม่ต้องรอการประกวดราคาดังกล่าว

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 5/2/2561

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตรัง หารือผู้บริหารโรงงานผลิตถุงมือยาง หลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้

เมื่อวันที่ 5 ก.พ.61 นางจิราพันธ์ จิโรภาส สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ตรัง เปิดเผย "ผู้สื่อข่าว" การเข้าไปดูแลพนักงานของบริษัทไทยกองจำกัดที่เกิดเพลิงไหม้ ว่า พรุ่งนี้จะเดินทางไปที่บริษัทเพื่อหารือกับผู้บริหารของบริษัท ในการดำเนินการส่วนของพนักงานว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร

"จำนวนพนักงานทั้งหมดของบริษัทมีประมาณ 1,100 กว่าคน แยกเป็นพนักงานที่อยู่ในส่วนโกดังสินค้าที่ผลิตแล้วเพื่อเตรียมส่งออก ซึ่งเป็นจุดที่เกิดเพลิงไหม้ประมาณ 200 คน ส่วนที่เป็นการผลิตทราบว่าสามารถดำเนินการผลิตต่อไปได้ ส่วนการผลิตจึงไม่น่าจะกระทบ"

ฉะนั้นส่วนของพนักงานที่โกดังประมาณ 200 คน ก็ต้องหารือกับทางผู้บริหารของบริษัทว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร ซึ่งกรณีอย่างนี้สถานประกอบการสามารถใช้มาตรา 75 เข้ามาดำเนินการ ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 แก้ไขเพิ่มเติม 2551 กรณีเกิดเหตุที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น กรณีไฟไหม้หรือน้ำท่วมที่เป็นเหตุฉุกเฉิน สถานประกอบกิจการอาจจะมีต่อการประกอบกิจการ โดยนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ซึ่งไม่ใช่เหตุสุดวิสัย อาจจะต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน ให้นายจ้างจ่ายเงินให้กับลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันที่ลูกจ้างได้รับก่อนที่จะหยุด ตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่มีงานให้ลูกจ้างทำงาน

ซึ่งหมายความว่าหากนายจ้างประสงค์จะใช้มาตรา 75 ลูกจ้างก็จะได้รับค่าจ้าง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ในช่วงที่หยุดนายจ้างก็มีหน้าที่จ่าย และนายจ้างจะต้องแจ้งให้ทางเจ้าหน้าที่ทราบก่อนที่ให้ลูกจ้างหยุด แต่ขณะนี้ทางสถานประกอบการยังไม่ได้แสดงความประสงค์ว่าจะใช้มาตรา 75 หรือไม่ ก็คงต้องหารือกันพรุ่งนี้ว่าจะดำเนินการอย่างไร

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 5/2/2561

วางเป้าพิสูจน์สัญชาติต่างด้าวแล้วเสร็จก่อนสิ้นเดือน มิ.ย.

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน กล่าวว่า จากคำสั่งของ คสช. ได้สั่งการให้แรงงานต่างด้าวจำนวนเกือบ 2 ล้านคน ขึ้นทะเบียนประวัติและพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จตามกำหนด ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวได้พิสูจน์สัญชาติไปแล้ว 1,187,411 คน ยังคงเหลือที่ยังไม่ได้พิสูจน์สัญชาติอีกกว่า 8 แสนคน อันเนื่องมาจากความล่าช้าในการบริหารจัดการและข้อจำกัดในการดำเนินงานของประเทศต้นทาง

ด้วยเหตุนี้ ครม.จึงมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการพิสูจน์แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้แก่ กัมพูชา ลาว และ เมียนมา ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2561 ซึ่งกระทรวงแรงงานได้จัดทำแผนปฏิบัติการสนับสนุนการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ และดำเนินการออกใบอนุญาตทำงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย หรือ แผนตรีเทพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการให้เกิดความสะดวก ลดระยะเวลา ลดขั้นตอนและดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะดำเนินการ 5 แนวทาง คือ

1.จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ การบริหารจัดการเพื่อการทำงานของคนต่างด้าว 2.จัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการ การทำงานของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยระดับจังหวัด 3.จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวในกรุงเทพมหานคร 2 ศูนย์ และ ระดับภูมิภาคอีก 11 ศูนย์ 4.จัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ในกรุงเทพฯและทุกจังหวัด และ 5.ประสานความร่วมมือกับ เอกอัครราชทูตกัมพูชา ลาว และเมียนมา ในการบริหารจัดการการพิสูจน์สัญชาติให้เกิดประสิทธิภาพ

ที่มา: แนวหน้า, 5/2/2561

"กสร." สั่งจับตากรณี "ฟูจิ ซีร็อกซ์" ในญี่ปุ่นมีนโยบายปรับลดพนักงาน 1 หมื่นคน ด้านบริษัทลูกในไทยอยู่ระหว่างสำรวจ คาดไม่ได้รับผลกระทบ

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีบริษัท ฟูจิ ซีร็อกซ์ (ญี่ปุ่น) มีนโยบายปลดพนักงานจำนวน 10,000 คน ทั้งในและนอกประเทศญี่ปุ่น เพื่อปรับขนาดองค์กรให้มีความเหมาะสมกับธุรกิจ ว่า กสร.ได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยสอบถามไปยังบริษัท ฟูจิ ซีร็อกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ทราบว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจ หน่วยงานที่มีภาวะคนล้นงาน หรือหน่วยงานที่มีลักษณะงานซ้ำซ้อนกัน หากมีบุคลากรที่ซ้ำซ้อนก็จะลดพนักงานและจะไม่รับคนทดแทน ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการสำรวจ คาดการณ์ว่าพนักงานที่มีลักษณะดังกล่าวจะเป็นในส่วนของฝ่ายวิจัยและพัฒนาและในสายการผลิต สำหรับบริษัท ฟูจิ ซีร็อกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีโรงงานผลิตคาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว

อย่างไรก็ตามสั่งการให้พนักงานตรวจแรงงานติดตามสถานการณ์รวมทั้งความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด รวมทั้งชี้แจงข้อกฎหมายให้นายจ้างและลูกจ้างทราบ กรณีมีการเลิกจ้างให้เข้าไปตรวจสอบว่ามีการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้กับลูกจ้างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หากพบว่าบริษัทปฏิบัติไม่ถูกต้องจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือทันที รวมทั้งจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการจัดหางานในการจัดหางานใหม่ทดแทน กรมพัฒนาฝีมือแรงงานกรณีที่ลูกจ้างต้องการฝึกอาชีพและสำนักงานประกันสังคมในการดูแลสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างด้วย

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 5/2/2661

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เคาะ 11 ข้อเสนอสิทธิประโยชน์บัตรทอง สู่การประเมินความคุ้มค่าเพิ่มเข้าถึงการรักษา

Posted: 10 Feb 2018 09:05 PM PST

อนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขฯ สปสช. เคาะ 11 ข้อเสนอสิทธิประโยชน์บัตรทอง สู่กระบวนการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ความจำเป็นและผลกระทบรอบด้าน เพิ่มการเข้าถึงการรักษาอย่างครอบคลุมและทั่วถึง

 
 
11 ก.พ. 2561 นพ.พิทักษ์พล บุณยมาลิก ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่าอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุขฯ มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการกำกับทิศทางเพื่อการเข้าถึงบริการสุขภาพสำหรับประชาชน และพิจารณาบริการสุขภาพที่จำเป็น เหมาะสมและคุ้มค่าด้วยระบบการจ่าย เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพ ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง 15 ปี ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเข้าถึงบริการขยายหลอดเลือดโดยการสวนหัวใจหรือได้รับยาละลายลิ่มเลือดทำให้อัตราตายลดลง
 
ปี 2560 อนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขฯ ได้รวบรวมข้อเสนอในสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพิ่มเติม จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 7 กลุ่ม ประกอบด้วย ผู้กำหนดนโยบาย, ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์, นักวิชาการ, ภาคประชาสังคม, กลุ่มผู้ป่วย, กลุ่มภาคอุตสาหกรรม และกลุ่มประชาชนทั่วไป พร้อมด้วยคณะทำงานภายใต้อนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตการให้บริการสาธารณสุขฯ 4 คณะ มีจำนวน 88 ข้อ และได้ทำการคัดกรองข้อเสนอ ทั้งกรณีซ้ำซ้อนหรือเป็นสิทธิประโยชน์ที่มีอยู่แล้ว ทำให้เหลือ 25 ข้อ
 
ทั้งนี้อนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตการให้บริการสาธารณสุขฯ ได้พิจารณาคัดเลือกกระทั่งเหลือเพียง 11 ข้อ ในเบื้องต้นข้อเสนอสิทธิประโยชน์ต้องไม่ใช่ยาและวัคซีน เนื่องจากมีคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติทำหน้าที่พิจารณาแล้ว และกรณีเป็นเทคโนโลยีใหม่ต้องมีหลักฐานแสดงประสิทธิผล จากนั้นพิจารณาตามหลักเกณฑ์การคัดเลือก คือ จำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคหรือปัญหาสุขภาพ ความรุนแรงของโรคหรือปัญหาสุขภาพ ประสิทธิผลของเทคโนโลยีด้านสุขภาพ การกระจายและความทั่วถึงของการให้บริการ ผลกระทบทางเศรษฐกิจของครัวเรือน ทำให้เกิดภาวะล้มละลาย และความเป็นธรรมทางสังคม ความเหลื่อมล้ำเข้าถึงบริการ
 
นพ.พิทักษ์พล กล่าวว่า ข้อเสนอสิทธิประโยชน์ที่ผ่านการคัดเลือกจากอนุกรรมการฯ จำนวน 11 ข้อ เป็นสิทธิประโยชน์ด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 3 ข้อ และการรักษาฟื้นฟู 8 ข้อ ได้แก่  1.การปลูกถ่ายตับในผู้ป่วยโรคตับแข็งระยะกลางและระยะท้าย 2.การรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนที่เป็นเบาหวานร่วมด้วยการผ่าตัดแบบส่องกล้อง 3.ลิ้นหัวใจเทียม Aortic ชนิดไม่ต้องเย็บสำหรับการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมในผู้สูงอายุ 4.การเบิกจ่ายค่าบำบัดทดแทนไตแบบต่อเนื่อง 5.การเบิกจ่ายเครื่องประสาทหูเทียม 1 ข้าง ไม่เกิน 850,000 บาทให้ครอบคลุมทุกสิทธิ์ 6.สิทธิประโยชน์ในการเบิกจ่ายการทำพลาสมาเฟเรซิส 7.การตรวจทางห้องปฏิบัติการวัณโรคค้นหาผู้ป่วยวัณโรคและวัณโรคดื้อยาด้วยวิธี Molecular assay 8.การรักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับอุดกั้นด้วยเครื่องช่วยหายใจแรงดันบวก 9.ชุดบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัสเชื้อ 10.การฝึกทักษะและฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ และ 11.การค้นกรองพยาธิใบไม้ในตับ
 
"ข้อเสนอสิทธิประโยชน์ทั้ง 11 ข้อนี้ แม้ว่าจะผ่านการคัดเลือกแล้ว แต่ยังต้องผ่านกระบวนการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ การประเมินความจำเป็นและผลกระทบเพื่อกำหนดประเภทและขอบเขตการให้บริการสาธารณสุข โดยมีการนำร่องกระบวนการในปี 2560-2561 เน้นให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมเพื่อความโปร่งใส เรียกว่าเป็นกระบวนการทำงานอย่างมืออาชีพ" อนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข กล่าว
 
นพ.พิทักษ์พล กล่าวต่อว่า ข้อเสนอสิทธิประโยชน์ทั้ง 11 ข้อนี้ ปัจจุบันมีการให้บริการโดยรวมอยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัวอยู่แล้ว แต่กระบวนการนี้จะเป็นการแยกจัดสรรงบประมาณเพื่อจ่ายเพิ่มเติม (Top up) ให้กับโรงพยาบาล สนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงบริการอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างเช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ที่พบผู้ป่วยสูงเป็นอันดับ 4 และมีอัตราเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 3 ของผู้ป่วยมะเร็งที่พบในไทย แต่สามารถรักษาหายได้หากพบในระยะแรกเริ่ม ซึ่ง สปสช.ได้เริ่มสิทธิประโยชน์คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่เริ่มในปีงบประมาณ 2561 นี้ เน้นไปที่กลุ่มเสี่ยงช่วงอายุ 50-70 ปีขึ้นไปและมีประวัติครอบครัวเคยมีผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้ นำมาสู่การกำหนดหลักเกณฑ์เบิกจ่ายเพิ่มเติมให้กับหน่วยบริการ นับเป็นความคุ้มค่าในการลงทุน ทำให้กลุ่มเสี่ยงได้รับบริการคัดกรองอย่างทั่วถึงและเข้าถึงการรักษาในระยะแรกเริ่มเพิ่มขึ้น ลดอัตราการลุกลามที่นำไปสู่ภาวะเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต
 
"ตลอดระยะเวลา 15 ปี ในการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตการให้บริการสาธารณสุขฯ ได้มุ่งมั่นพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้กระบวนการทำงานอย่างมืออาชีพ เพื่อให้ประชาชนผู้มีสิทธิเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างครอบคลุมและทั่วถึง เน้นความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และประโยชน์ที่ประชาชนผู้มีสิทธิ์จะได้รับ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยเดินไปอย่างยั่งยืน" นพ.พิทักษ์พล กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปล่อยตัว 3 แกนนำร้อง คสช.หยุดยื้ออำนาจ-อายัด 'รังสิมันต์ โรม' ดำเนินคดีขอนแก่น

Posted: 10 Feb 2018 06:28 PM PST

หลังยุติชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ส่ง จ่านิว-โรม-ทนายอานนท์ ดำเนินคดี MBK39 ที่ สน.ปทุมวัน ก่อนให้ประกันตัวทั้งหมดรวมทั้ง 'เอกชัย หงส์กังวาน' รายละ 1 แสน แต่ส่ง 'โรม' ไปต่อขอนแก่นเพื่อดำเนินคดี 'พูดเพื่อเสรีภาพ' ช่วงประชามติปี 59

คลิปบรรยากาศหน้า สน.ปทุมวัน ประชาชนยืนรอระหว่างนักกิจกรรม 4 รายที่ถูกดำเนินคดีชุมนุมที่สกายวอล์คแยกปทุมวันเมื่อ 27 ม.ค. ก่อนที่จะได้รับการประกันตัวช่วงกลางดึก แต่ 'รังสิมันต์ โรม' ถูกส่งไป จ.ขอนแก่นต่อเพื่อดำเนินคดี 'พูดเพื่อเสรีภาพ' ช่วงประชามติปี 59

หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมการชุมนุม "หยุดยื้ออำนาจ หยุดยื้อเลือกตั้ง" ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อเวลา 19.45 น. รังสิมันต์ โรม กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ กลุ่มประชาธิปไตยศึกษา และอานนท์ นำภา ทนายความ ได้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จัดรถตู้มารอรับแล้ว ก่อนถูกเจ้าหน้าที่แสดงหมายจับ และนำตัวขึ้นรถตู้ไปยัง สน.สำราญราษฎร์ โดยมี พ.ต.อ.ต่อเกียรติ พรหมบุตร ผกก.สน.สำราญราษฎร์ รับตัวเพื่อไปทำบันทึกการจับกุม

ในรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจทำบันทึกการจับกุม โดยมีทนายความอยู่ร่วมด้วย ทั้งสามคนพบว่าในพฤติการณ์การจับกุมมีการระบุว่าเจ้าหน้าที่ได้ "เข้าจับกุม" ผู้ต้องหา ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ทำให้ทั้งสามคนไม่ยินยอมลงลายมือชื่อในบันทึก และได้บันทึกหมายเหตุไว้ในบันทึกด้วยว่าพฤติการณ์การจับกุมระบุไว้ไม่ถูกต้อง เนื่องจากทั้งสามคนได้เป็นผู้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเอง ไม่ใช่การจับกุม

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวปิยรัฐ จงเทพ หรือ "โตโต้" นักกิจกรรมอีกรายหนึ่งไปที่สน.สำราญราษฎร์ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมตัวการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง โดยเปรียบเทียบปรับ 200 บาท แล้วจึงปล่อยตัวไป

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าบรรยากาศที่หน้า สน.ปทุมวัน มีประชาชนมารอให้กำลังใจ 3 นักกิจกรรมที่จะถูกส่งตัวมาจาก สน.สำราญราษฎร์ ตามหมายจับข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. และมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา จากการชุมนุมเมื่อ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 10 ก.พ. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวเอกชัย หงส์กังวาน มาที่ สน.ปทุมวันแล้ว โดย 3 นักกิจกรรมมาถึง สน.ปทุมวัน เวลาประมาณ 22.00 น.

โดยระหว่างที่มีประชาชนรอผลการดำเนินคดีอยู่ภายนอก สน.ปทุมวัน มีการจุดเทียนล้อมรอบพวงหรีดนาฬิกา และไว้อาลัยให้นักโทษการเมืองด้วย โดยพริษฐ์ ชีวารักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า "ที่จุดเทียนวันนี้เพราะต้องการให้แสงเทียนนำพาให้เห็นทางว่าเราจะทำอย่างไรต่อดีในสภาพที่ประเทศมืดมน เหมือนที่หลวงพ่อโตเคยจุดคบเพลิงกลางวันแสกๆ เพราะท่านก็ไม่รู้ว่าสยามประเทศจะไปทางไหน วันนี้เราจึงมาจุดเทียนเพื่อมองหาอนาคตใหม่ให้กับประเทศไทย"

"ในนามประชาชนไทยทั้งปวง เราขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจในรัฐบาลยุติการดำเนินคดี ถอนข้อกล่าวหา และปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งปวงทันทีเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญและคำประกาศสิทธิมนุษยชนสากล" พริษฐ์กล่าวตอนหนึ่ง

รายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแจ้งด้วยว่า พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน  แจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และข้อหาชุมนุมห่างจากเขตพระราชฐานไม่ถึง 150 เมตร ตามมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ จากเหตุชุมนุมเมื่อ 27 ม.ค. ที่สกายวอล์คแยกปทุมวัน ทั้งสามคนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ขณะที่อานนท์ นำภา ยังมีการโต้แย้งเรื่องการที่ตำรวจไม่ยอมให้คัดถ่ายเอกสารข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าเป็นความผิด เพื่อนำไปใช้จัดทำคำให้การเอาไว้ด้วย

ด้านรังสิมันต์ โรม ยังปฏิเสธการพิมพ์ลายนิ้วมือ ทำให้เจ้าหน้าที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คมช.) ฉบับที่ 24/2549 เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญาด้วย

ต่อมา ตัวแทนนักวิชาการจากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ได้ทำเรื่องยื่นขอประกันตัวผู้ต้องหา ด้วยหลักทรัพย์รายละ 1 แสนบาท รวม 4 แสนบาท ซึ่งรวมนายเอกชัย หงส์กังวาน ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวจากบ้านพักมาตั้งแต่ในช่วงเช้า โดยใช้เงินทุนที่ระดมสำหรับการประกันตัวผู้ต้องหาในคดี MBK39 และพนักงานสอบสวนได้อนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวนนี้ และให้มารายงานตัวอีกครั้งวันที่ 20 ก.พ. 61

เมื่อเวลา 00.49 น. เข้าสู่วันที่ 11 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าพนักงานสอบสวนอนุญาตให้ประกันตัว 4 นักกิจกรรม ได้แก่ อานนท์ นำภา สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และเอกชัย หงษ์กังวาน และรังสิมันต์ โรม ด้วยหลักทรัพย์เงินสดคนละ 100,000 บาท

อย่างไรก็ตามเนื่องด้วยรังสิมันต์ติดคดีเก่าข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 กรณีจัดกิจกรรม 'พูดเพื่อเสรีภาพ' เพื่อรณรงค์เรื่องประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่ จ.ขอนแก่น เมื่อปี 2559 ซึ่งต้องดำเนินคดีที่ศาลทหารขอนแก่น เขาจึงถูกอายัดตัวไปควบคุมตัวที่ สภ. เมืองขอนแก่น อย่างไรก็ตามมีทีมทนายที่จังหวัดขอนแก่นรอดำเนินการเรื่องประกันตัวต่อแล้ว คาดว่ารังสิมันต์จะเดินทางถึงขอนแก่นภายในเช้าตรู่วันนี้

พ.ต.ท. ณรงวิทย์ สุดกังวาล รอง ผกก.จราจร สน.ปทุมวัน ออกมาให้ข้อมูลเรื่องการเดินทางของรังสิมันต์ว่า โรมจะเดินทางตั้งแต่คืนนี้ด้วยรถตู้ และมีรถเจ้าหน้าที่ขับนำ 1 คัน โดยอนุญาตให้รังสิมันต์ใช้โทรศัพท์ได้ตลอดเวลา ส่วนผู้ที่จะเดินทางติดตามรังสิมันต์ไปที่ จ.ขอนแก่นด้วยตัวเองก็สามารถทำได้ ทั้งนี้ทางทนายความและนักวิชาการได้ต่อรองกับทางตำรวจจนสามารถให้มีผู้ติดตามรังสิมันต์ไปในรถคันเดียวกันได้ คือ 'บาส' รัฐพล สุภโสภณ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น