โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ไร้เสียงค้าน สนช.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก

Posted: 08 Feb 2018 09:09 AM PST

มติเอกฉันท์ สนช. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกวาระ 2-3 เพื่อให้การใช้ที่ดินภาคตะวันออกเป็นไปอย่างเหมาะสม ด้าน กมธ.ข้างน้อยที่สงวนความเห็น หวั่นการได้มาซึ่งที่ดินของคนต่างชาติ เสี่ยงกระทบเสถียรภาพของเศรษฐกิจและสังคม

8 ก.พ.2561 สำนักข่าวไทย รายงานการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)วันนี้ ว่า มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก วาระ 2 และ 3 โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวสรุปผลการดำเนินการว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้ดำเนินการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่มีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง และได้นำข้อมูลจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาประกอบการพิจารณา โดยร่างพระราชบัญญัตินี้ มีจำนวน 71 มาตรา มีการแก้ไข 49 มาตรา ตัดออกจำนวน 2 มาตรา เพิ่มขึ้นใหม่ 5 มาตรา มีกรรมาธิการสงวนความเห็น 2 มาตรา ซึ่งสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัตินี้ คือ ให้มีกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อให้การใช้ที่ดินภาคตะวันออกเป็นไปอย่างเหมาะสมกับสภาพและศักยภาพของพื้นที่อย่างแท้จริง ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งของประเทศโดยรวม โดยเฉพาะการส่งเสริมให้มีการประกอบพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ทันสมัย สร้างนวัตกรรมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ ให้เกิดความต่อเนื่องและเชื่อมโยงกันทั้งในและนอกเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัยระดับนานาชาติ 

โดย ที่ประชุม สนช.มีมติเอกฉันท์เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ด้วยคะแนน 170 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

 

ก่อนหน้าลงมติ สมาชิก สนช.อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง อาทิ มณเฑียร บุญตัน สมาชิก สนช.อภิปรายในมาตรา 10 เรื่องคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่ยังกังวลเรื่องผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม เพราะการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะทำให้มีการเปิดกว้างและมีบุคคลหลากหลายมากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลเกิดปัญหาด้านสังคมได้ จึงเสนอให้มีการเพิ่มรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสังคมร่วมเป็นกรรมการ เนื่องจากจะช่วยให้ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้

ด้าน วิษณุ ได้ตอบข้อเสนอนี้ว่า คณะกรรมการดังกล่าว กำหนดให้มีรัฐมนตรี ทั้งหมด 11 กระทรวง และได้เพิ่ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเข้ามาแล้ว ซึ่งคณะกรรมาธิการฯได้พิจารณาครบรอบด้าน เชื่อว่า เป็นประโยชน์แก่การกำหนดนโยบายและการดำเนินการเขตพัฒนาพิเศษครอบคลุมแล้ว

ขณะที่ วันชัย ศารทูลทัต สมาชิก สนช.อภิปรายในมาตรา 37 ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญ โดยเห็นว่า ไม่ควรจะอยู่ในอำนาจของกฎหมายฉบับนี้ อีกทั้งควรจะทำการศึกษาและรายงานผลกระทบเพื่อประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมองว่ากระบวนการไม่ได้ช้าที่กฎหมาย แต่จะช้าในกระบวนการประเมินผลสิ่งแวดล้อม 

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯได้ตอบข้อซักถามว่า คณะกรรมาธิการฯไม่ได้มุ่งหมายจะใช้อำนาจการเดินเรือในทุกทาง แต่เพื่อให้การดำเนินการนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และให้เกิดการบูรณาการในการทำงานของภาครัฐ ให้เกิดความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ด้าน เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ สมาชิก สนช.อภิปรายในมาตรา 40 วรรค 2 ที่ระบุว่า ให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการ ประโยชน์ ผลกระทบ และมาตราเยียวยาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนหรือชุมชนที่อาจได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย  โดยตั้งข้อสังเกตว่า หากมีการจัดทำเขตส่งเสริมเขตเศรษฐกิจฯเสร็จสิ้นแล้ว จะไม่มีผู้อยู่อาศัยซึ่งไม่ใช่ผู้ปฏิบัติงานใช่หรือไม่ และจะมีการเคลื่อนย้ายหรือเยียวยาแก่ผู้ที่อาศัยอยู่ก่อนการจัดเขตส่งเสริมเขตเศรษฐกิจฯอย่างไร 

ด้าน สาธิต ชาญเชาวน์กุล กรรมาธิการข้างน้อยที่สงวนความเห็นในมาตรา 48 และมาตรา 49 ได้อภิปรายว่า การได้มาซึ่งที่ดินของคนต่างด้าว และคนต่างด้าวที่มาลงทุน รวมถึงหากกำหนดแยกประเภทของบุคคลที่มีความรู้ความสามารถพิเศษซึ่งเป็นคนต่างด้าว อาจจะส่งผลกระทบให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจและสังคมได้ ทั้งการบิดเบือนและอ้างว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษ เพื่อให้เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จะทำให้เกิดการเก็งกำไรในที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ราคาสูงขึ้น ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้างต่อประเทศระยะยาว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: เหยื่อ................

Posted: 08 Feb 2018 07:46 AM PST


 

เมื่อคนยืนหยัดหลังตรงตั้งฉากกับพื้นโลกแล้ว

การล่าไล่อันน่าระทึกใจกว่าครั้งใด ๆ ในประวัติศาสตร์ก็บังเกิดขึ้น

เหยื่ออันโอชะคือเป้าหมายลำดับแรก

จากหลาวไม้แหลม , ขวานหิน.....สู่พัฒนาการ.......

ขณะที่นักล่าอื่น ๆ มีเขี้ยวเล็บและพละกำลัง

ถ้าไดโนเสาร์ยังไม่สูญพันธุ์ แต่ไม่มีวิวัฒนาการก็คงเป็นเหยื่อ

คนเรียนรู้จักการได้เปรียบและเอารัดเอาเปรียบ

การเหนือกว่าคือเป้าหมายที่อยู่ภายใน

เพิ่อการได้รับชัยชนะในทุก ๆ เรื่อง

เหยื่อได้รับความพ่ายแพ้ไปเรื่อย ๆ

เหยื่อไม่เคยได้รับโอกาสอันเท่าเทียม

เหยื่อเสียเปรียบเสมอ

ท้ายที่สุดแล้วการไล่ล่าคนด้วยกัน

การกดข่มคนด้วยกัน

ให้มีอิสระเสรีได้เท่าที่การเป็นเหยื่อ

จะอนุญาตให้เป็น

ชั่วกัลปาวสาน..........!

                                                        

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: อาลัย...เสือดำ ไก่ฟ้า เก้งไพร ทุ่งใหญ่ฯ

Posted: 08 Feb 2018 07:34 AM PST

เคยวิ่งเล่นเป็นบ้านสถานถิ่น
เคยโบยบินร่อนปีกบางทางกว้างใหญ่
เคยหากินถิ่นเสรีที่พงไพร
แต่แล้วใครรุกรานผลาญชีวิต

ต่างที่ต่างอยู่มิรู้แหล่ง
ต่างแห่งต่างฝ่ายต่างดวงจิต
ต่างตนต่างหวงแหนชีวิต
แต่ต่างอำมหิตมิเท่ากัน

ผู้รุกรานไล่ล่าอย่างสนุก
ผู้บุกรุกเร้าเรือนสะเทือนขวัญ
ผู้มีนามสัตว์ประเสริฐเทิดทูนกัน
กลับห้ำหั่นเดรัจฉานพาลเหลือดี

ค่านิยมสมสะประดับประดา
ค่าราคาเกินกว่าเกินศักดิ์ศรี
ค่าเราจึงอ่อนด้อยน้อยสิ้นดี
เขาราวีถึงที่อยู่หดหู่ใจ

เคยวิ่งเล่นเป็นบ้านสถานถิ่น
เคยโบยบินหากินอยู่อาศัย
เคยอยู่กับแม่พ่อพี่น้องไพร
สุดท้ายตายอย่างเศร้าใจในบ้านเรือน

เคยอยู่กับแม่พ่อพี่น้องไพร
ทว่า...จากนี้ต่อไป
ก็กลับไม่มีเราอีกแล้ว...


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทำไมถึงไม่มีใครทำนโยบายแบบ “30 บาทรักษาทุกโรค” ได้อีกเลย?

Posted: 08 Feb 2018 07:20 AM PST


 

(1) เมื่อ 17 ปีก่อน หลังจากที่คุณทักษิณชนะเลือกตั้งรอบแรกไม่นานนักพ่อผมก็ได้รับคำสั่งให้ไปร่วมเซ็ตระบบหน่วยงานแห่งใหม่ เพื่อจะเป็นสำนักงานเข้ามาทำ "30 บาทรักษาทุกโรค" ให้เกิดขึ้นจริง

ณ เวลานั้น ภายในกระทรวงสาธารณสุข แทบไม่มีใครจินตนาการออกว่า 30 บาท จะรักษาทุกโรคได้อย่างไร

พรรคฝ่ายค้านโจมตีตั้งแต่แรกๆ ที่มีการประกาศโครงสร้างออกมาว่า "30 บาท ตายทุกโรค" ส่วนหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เจ้าของแนวคิด ทีมพรรคไทยรักไทย และเอ็นจีโอที่ร่วมกันตั้งไข่ทำนโยบายนี้ ถูกผู้ใหญ่ในกระทรวงสาธารณสุขนินทารับหลังว่าเป็น "พวกคอมมิวนิสต์"

เวลาผมติดสอยห้อยตามพ่อไปเจอผู้หลักผู้ใหญ่ พ่อก็มักจะถูกถามด้วยความห่วงใยเหมือนกัน ด้วยผู้หลักผู้ใหญ่เหล่านั้น กลัวว่า ข้าราชการตัวเล็กๆ จะตกเป็นเครื่องมือของพวกนักการเมืองผู้เอา "ประชานิยม" มาหาเสียง

โชคยังดีว่าในสมัยนั้น คุณทักษิณยังพอมีเครดิตอยู่บ้าง

(2) หลังจาก พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีผลบังคับใช้ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถูกตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. พ่อก็ย้ายเข้าไปเป็นพวก "ผู้ก่อตั้ง" ทันที โดยมีผลงานเดียวคือทำ "30 บาทรักษาทุกโรค" หรือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เกิดขึ้นจริงให้ได้

ช่วงแรกๆ หมอ-พยาบาล ทั้งหลาย เริ่มประท้วงด้วยการแต่งชุดดำ เผาโลงศพ ขณะที่หมอหลายคน ก็ทนไม่ไหว ตัดสินใจลาออกจากราชการ เนื่องจากต้องรับภาระงานที่หนักขึ้น

เพราะ 30 บาทฯ เปลี่ยนวิธีการบริหารงบประมาณทั้งหมด จากเดิมที่งบประมาณก้อนโตถูกจัดสรรลงมายังกระทรวงสาธารณสุข กลับกลายเป็นงบประมาณ ถูกผันลงมายัง สปสช.แทน

สปสช.ทำหน้าที่เป็น "ผู้ซื้อ" โดยเอาเงินภาษีมาจ่ายแทนประชาชน และโรงพยาบาลทำหน้าที่เป็น "ผู้ให้บริการ" รับเงินจาก สปสช.แทน โดยมีสูตรคำนวณเงินอันซับซ้อน เพราะคิดจากรายหัวประชากรในพื้นที่

เสียงด่าว่าเป็นคอมมิวนิสต์เริ่มหายไป เสียงปรามาสว่า "30 บาท ตายทุกโรค" เริ่มจางลง ส่วนเสียงไม่พอใจจากโรงพยาบาล-บุคลากร โดยเฉพาะจากโรงพยาบาลใหญ่ยังคงอยู่

เช่นเดียวกับ สปสช. ที่ถูกมองเป็นขั้วอำนาจใหม่ และเป็นพวก "ตัวร้าย" ของหมอใหญ่ๆ ในกระทรวง

อาจเป็นเพราะนี่คือ "นวัตกรรมใหม่" ของระบบราชการไทย ที่เงินถูกส่งลงไปหน่วยงานหนึ่ง ส่วนคนทำงาน อยู่อีกหน่วยงานหนึ่ง

ยังไงก็เดาได้อยู่แล้วว่าคนพวกนี้จะซัดกันเข้าสักวัน

(3) ย้อนกลับไป 3-4 ปีก่อน ผมมีเหตุจะต้องข้องเกี่ยวกับการทำข่าวสาธารณสุข ทั้งที่ไม่รู้อะไรเรื่อง 30 บาทฯ มากนัก

กลับกลายเป็นว่า ผมเข้าไปอยู่ท่ามกลางความพยายามครั้งใหญ่ที่จะปฏิรูประบบสาธารณสุขโดยรัฐราชการ เพื่อลดกำลังของ "ขั้วอำนาจใหม่" ลง

หนึ่งในเหตุผลสำคัญก็คือนโยบาย "30 บาทฯ" ถูกบริหารอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้โรงพยาบาลขาดทุน และทำให้ผู้ป่วยหลายคนได้รับการรักษาที่ไม่เต็มร้อย

ขณะที่บุคลากรต้องมาเพิ่มภาระงานหนักขึ้น เพราะต้องทำงานแลกเงิน เพื่อให้ตรงกับเกณฑ์ของผู้ซื้อบริการ ที่ถือเงินไว้

แต่ความพยายามลบล้างก็ทำไม่ได้ง่ายๆ เพราะเมื่อพูดถึงดอกผลของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น นอกจากจะมีงานวิจัยรองรับ มีเครือข่ายต่างประเทศสนับสนุนแล้ว ยังมีประชาชนจำนวนมากที่เคยใช้ประโยชน์ และยังใช้ประโยชน์อยู่คอยเป็นภูมิคุ้มกัน

(4) สาระสำคัญที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือ ตลอด 16 ปีที่ผ่านมา มีคนได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ กระทั่ง "รอดตาย" จากโครงการ เป็นจำนวนมาก

ในระดับนานาชาติ ประเทศไทยถือเป็นต้นแบบให้หลายประเทศเดินตาม ในฐานะประเทศที่ไม่ได้ร่ำรวย แต่สามารถทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้สามารถใช้งานจริงได้

2 ก.พ. 2018 ผมไปนั่งฟังผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก พูดที่กระทรวงการต่างประเทศสรรเสริญโครงการนี้ว่า เป็นก้าวเดินสำคัญที่ทำให้ทั่วโลกเห็นความสำคัญว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สามารถดูแลชีวิตคนจำนวนมหาศาลได้

ประเทศเพื่อนบ้านกำลังเดินตามไทย หลายประเทศในยุโรปก็กำลังเดินตามไทย แม้แต่สหประชาชาติ ยังประกาศให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแบบที่ไทยใช้อยู่เป็น Sustainable Development Goals (SDGs) หรือเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ยูเอ็นสนับสนุนให้เกิด

โครงการ "30 บาทฯ" เป็นเพียงเรื่องเดียวที่ไทย เอาไปขายกับโลกได้ภาคภูมิใจ ว่าเราเป็นผู้นำอย่างแท้จริง และโลกให้การยอมรับ

(5) สำหรับระบบหลักประกันสุขภาพไทย ข้อที่ดีที่สุดก็คือ คนทุกคนสามารถรับการรักษาได้อย่างเท่าเทียมและไม่เสียค่าใช้จ่าย

แต่อีกหลายประเด็นยังต้องตั้งคำถามหนักๆ ว่าจะแก้ยังไงต่อ

ไม่ว่าจะเป็น การที่โรงพยาบาลใหญ่มีผู้รับบริการจำนวนมหาศาล จนบุคลากรรับภาระงานไม่ไหว ระบบสุขภาพปฐมภูมิผ่านสถานีอนามัย ยังไม่สามารถทำงานได้เต็มที่

ความเหลื่อมล้ำระหว่างสิทธิ์รักษาพยาบาลด้วยกัน อย่างสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม, การไม่สามารถดึงโรงพยาบาลเอกชนเข้ามาอยู่ในระบบได้ รวมถึงการที่เงินในระบบไม่พอ และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งกลายเป็นชนวนความขัดแย้งมานักต่อนัก

อย่างไรก็ตาม 16 ปี ของ 30 บาทฯ ได้พิสูจน์แล้วว่า นโยบายนี้สามารถทำได้ และไม่ใช่ประขานิยมมั่วๆ ของนักการเมือง ที่ทำไว้แล้วโดนรัฐบาลต่อมาทิ้งขว้างง่ายๆ หรือมีคดีทุจริตที่ตามมาเป็นกระบุงแบบเรื่องอื่น

ไม่ว่าจะพรรคการเมืองไหนที่เข้ามาเป็นรัฐบาลก็ต้องให้การยอมรับ เพราะรากของโครงการ ยึดไปถึงประชาชนจนแน่น

จนวันนี้ ไม่มีใครที่จะพูดว่า "30 บาท ตายทุกโรค" "30 บาทเป็นภาระ" หรือ ประเทศไทย "ไม่พร้อม" โดยไม่มีเสียงด่าตามหลังมาได้แล้ว

เพราะระบบที่ถูกเซ็ตขึ้นมา เข้มแข็งจนเกินจะล้มไปด้วยคำพูดพล่อยๆ ได้

หากย้อนไป 16 ปีก่อน ทีมก่อตั้ง สปสช.อย่างพ่อ และคนอื่นๆ คงไม่นึกว่า จะมาถึงวันนี้ได้

ต้องขอบคุณทุกคนที่ร่วมกันสร้าง Legacy นี้ไว้ และยังรักษามันไว้ได้อยู่



ปล.อย่างไรก็ตาม ข้อคิดสำคัญของโครงการนี้ก็คือ น่าเสียดายที่การเข็นนโยบายแบบนี้ให้เกิดขึ้นจริง เป็นเรื่องยากมาก เพราะต้องผสานทั้ง ความคิดสร้างสรรค์ พลังทางการเมือง เครดิตของตัวผู้สร้างนโยบาย หลักการที่หนักแน่น งานวิชาการรองรับ ภาคประชาชนที่แอคทีฟ และต้องมีแม้กระทั่งกระบวนท่าบู๊และบุ๋น เพื่อสู้ในสงครามกับนักการเมือง และรัฐราชการ เพื่อรักษานโยบายนี้ไว้

เราจึงไม่เห็น legacy แบบนี้ในนโยบายอื่นอีกเลย..

 


เกี่ยวกับผู้เขียน: สุภชาติ เล็บนาค อดีตผู้สื่อข่าวโพสต์ทูเดย์ ปัจจุบันศึกษาระทับปริญญาโทด้านสื่อสารมวลชนที่ มหาลัยโมนาช ออสเตรเลีย สุภชาติ เป็นบุตรของ นพ.ประจักษวิช เล็บนาค ปัจจุบันเป็นรองเลขาธิการ สปสช.  

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โปรดเกล้าฯ พล.อ.เปรม เปิดงาน 'อุ่นไอรัก คลายความหนาว' 8 ก.พ. – 11 มี.ค.‬นี้

Posted: 08 Feb 2018 07:18 AM PST

ที่มาเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

8 ก.พ.2561 ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ เมื่อ‪เวลา 15.05 น.‬ ที่ พระลานพระราชวังดุสิต พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ มาเปิดงาน "อุ่นไอรัก คลายความหนาว" ซึ่งจัดขึ้นตามที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริที่จะให้ประชาชน ได้มีความสุข ความรื่นเริง และรำลึกถึงวิถีชีวิตที่ผ่านมา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ระหว่างวันที่ ‪8 ก.พ. – 11 มี.ค.‬ ณ พระลานพระราชวังดุสิตและสนามเสือป่า โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมภริยา, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม รวมถึงคณะรัฐมนตรี ในการนี้ คุณใหม่ สิริกิติยา เจนเซ่น พระธิดา ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี สวมชุดไทยย้อนยุค ร่วมงานด้วย

ข่าวสดออนไลน์ รายงานด้วยว่า ตั้งแต่เช้ามีประชาชนแต่งกายด้วยชุดไทยย้อนยุคและผ้าไทย มาร่วมงานจำนวนมาก โดยทุกคนต้องผ่านจุดคัดกรองทั้ง 4 จุด ได้แก่ 1.ริมถนนศรีอยุธยาฝั่งสวนอัมพร ตรงข้าม บช.น., 2.บนทางเท้าข้างสนามเสือป่า ตรงข้าม ทภ.1, 3.บนทางเท้าใกล้โค้ง ปตท.ถนนอู่ทองใน โดยทั้ง 3 จุดจะเปิดให้ประชาชนเข้าตั้งแต่‪เวลา 08.00 น.‬ และจุดคัดกรองที่ 4.บนเกาะกลาง ใกล้ ทภ.1 ถ.ราชดำเนินนอก เปิดให้เข้าในเวลา ‪18.00 น.‬ ทั้งนี้ ประชาชนจะต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนต่อเจ้าหน้าที่ด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ไม่ผ่านการคัดกรองในเรื่องการแต่งกาย ทางเจ้าหน้าที่มีการจำหน่ายเสื้อผ้าบริเวณจุดคัดกรองเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ร่วมงานด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ไผเป็นไผ!

Posted: 08 Feb 2018 07:05 AM PST

 

มันเหลืออดเกินจะทนทุกนาที
ไอ้พวกผีหน้าด้านไร้สมอง
พวกผู้นำบ้านเมืองไอ้ผู้ปกครอง
มันทั้งผองไร้สมรรถนะเจ็บหัวใจ

เข้ามาด้วยปืนอำนาจรัฐประหาร
อยู่นานเพื่อสร้างฐานอำนาจใหม่
เอาประเทศเป็นตัวประกันยำใหญ่
สามปีกว่าประเทศไทยถอยลงคลอง

ซื้อนั่นซื้อนี่กินหัวคิวตามระบบ
เรื่องปราบโกงมันจบนานแล้วพี่น้อง
มันแค่ข้ออ้างตามท่วงทำนอง
ให้สอดคล้องเข้าทำนองปากพาไป

เรือดำน้ำละเมิดสิทธิ์นาฬิกาเสือดำ
มารุมรำตัดสลับช่วงไฮไลต์
ปิดไม่มิดเรื่องริยำชวนปวดใจ
ยำชามใหญ่ประเทศไทยเชิญมาชิม

มันเหลืออดเกินจะทนทุกนาที
เชิญพี่น้องพินิจมองสุดลิ่มทิ่ม
ไผเป็นไผใครหน้าด้านยืนยิ้มกริ่ม
หรือจะปล่อยให้เขาชิมวิญญาณเรา.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดนิทรรศการภาพ ‘เอ็กโซดัสเดจาวู’ สะท้อนปัญหาผู้อพยพลี้ภัย ทำไมยังเกิดซ้ำๆ

Posted: 08 Feb 2018 06:36 AM PST

เปิดนิทรรศการภาพ 'เอ็กโซดัสเดจาวู' ที่ BACC หวังเกิดการตั้งคำถามประเด็นผู้อพยพลี้ภัย ที่คุ้นๆ คล้ายๆ ว่าเคยเกิดขึ้นแล้ว และก็ยังเกิดขึ้นอีก

 
 
 
ค่ำวันที่ 6 ก.พ. 2561 Visioncy หน่วยงานเอกชนด้านศิลปะและวัฒนธรรม ร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR), สถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย, หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร, Asylum Access Thailand และ แอมเนสตี้ อินเตอร์อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดนิทรรศการภาพถ่ายสัญจร 'Exodus Déjà-Vu' ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อนำเสนอปัญหาผู้อพยพลี้ภัยผ่านศิลปะภาพถ่าย โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานผู้ร่วมจัดกล่าวเปิดงาน พร้อมทั้งการนำเสนอภาพถ่ายจากศิลปิน 7 รายและนิทรรศการเสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ของผู้อพยพโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ภายในงานมีผู้ให้ความสนใจจำนวนมากทั้งชาวไทยและต่างประเทศ
 
ตัวแทนจากหน่วยงานผู้ร่วมจัดต่างเน้นว่า ปัญหาผู้อพยพลี้ภัยในภูมิภาคต่างๆ จะแก้ได้ด้วยการตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการจัดการแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างประเทศ ผ่านการทำข้อตกลงความร่วมมือในภูมิภาค ขณะที่ สุเทพ กฤษณาวารินทร์ ตัวแทนช่างภาพ เล่าว่า ผลงานของเขาเป็นภาพถ่ายผู้อพยพลี้ภัยชาวโรฮิงญา โดยใช้เวลาถ่ายตั้งแต่ปี 2552 เพื่อสะท้อนถึงความยากลำบากของชาวโรฮิงญาในการอพยพลี้ภัยจากเมียนมาร์และบังกลาเทศมายังไทยและมาเลเซีย ทั้งยังได้กล่าวถึงปัญหาผู้อพยพลี้ภัยว่าเกิดจากสภาวการณ์โลกที่มีผลจากวิกฤตทางการเมืองและสิ่งแวดล้อม พร้อมเรียกร้องให้นานาชาติตระหนักถึงปัญหาและสร้างความร่วมมือในการแก้ไข โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประเด็นปัญหาผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา และสถานการณ์ผู้ลี้ภัยโดยส่วนใหญ่ยังคงอพยพอย่างผิดกฎหมาย
 
ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับประชาไทถึงที่มาและความสำคัญของงานนี้ว่า อยากให้ผู้คนเกิดการตั้งคำถามต่อปัญหาผู้อพยพลี้ภัย โดยคำว่า Déjà-Vu ในชื่องานนั้นคือสภาวะที่รู้สึกว่าเคยเกิดขึ้นแบบเดียวกันมาก่อนและเกิดขึ้นอีกครั้ง งานนี้จึงต้องการสื่อถึงปัญหาผู้อพยพลี้ภัยว่าจริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาตลอด ไม่ว่าในกัมพูชา หรือซีเรีย และเพื่อเป็นการตั้งคำถามว่าทำไมเรื่องนี้จึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
 
ปิยนุช ยังกล่าวต่อว่าปัญหาผู้อพยพลี้ภัยเกิดมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะถูกนำเสนอออกไปเพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้ ได้ตระหนักถึงปัญหา และมีความเข้าใจต่อผู้อพยพลี้ภัยในฐานะเพื่อนมนุษย์ ผ่านสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพวกเขาไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายที่มีการนำเสนอ หรือข้าวของเครื่องใช้ที่ติดมากับผู้อพยพในการอธิบายเรื่องราวและความรู้สึกผ่านสิ่งของเหล่านั้น
 
นอกจากนิทรรศการภาพถ่ายแล้วยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย เช่น การนำชมนิทรรศการ,วงพูดคุยเสวนา, และกิจกรรมเวิร์กช้อป เพ้นท์เฮนน่า (Henna) โดยนิทรรศการและกิจกรรมจะเปิดให้เข้าร่วม จนถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2561
 
 
ของส่วนตัวของผู้อพยพที่ถูกนำมาแสดง เช่น เสื้อผ้าที่ส่วนใหญ่เป็นชุดประจำชาติ ซึ่งถูกเก็บไว้ในสภาพสมบูรณ์รอโอกาสที่จะได้หยิบขึ้นมาใช้, กระดาษโน้ตที่เขียนเบอร์โทร.ติดต่อ, กำไล, ธนบัตรประเทศต้นทาง 
 
 
สำหรับ อัฐพล ปิริยะ ผู้รายงานเสวนาชิ้นนี้ เป็นนักศึกษาฝึกงานกับประชาไท ประจำปีการศึกษา 2/2560 จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีความสนใจด้าน One Piece, Star Wars, วรรณกรรม, การเมืองวัฒนธรรม และการศึกษา 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จี้ยกเลิก EHIA ฉบับที่กำลังเข้า กก.สิ่งแวดล้อม

Posted: 08 Feb 2018 04:54 AM PST

เครือข่ายไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จี้รัฐบาลยกเลิกรายงาน EHIA ฉบับที่กำลังจะเข้าที่ประชุม กก.สิ่งแวดล้อม ระบุเนื้อหา รัฐไม่สามารถเยียวยาผลกระทบชุมชนจากโรงไฟฟ้าได้
 
 
เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา เวลา 13.00 น. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.),  เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมภาคใต้, เครือข่ายประชาชนภาคใต้ และ เครือข่ายเปอร์มาตามัส(ชายแดนใต้) แถลงข่าวหยุดถ่านหินภาคใต้ ณ ห้อง 203 ตึกกิจกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีตัวแทนจากตัวแทนนักวิชาการ องค์การภาคประชาสังคม และชาวบ้านผู้ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ร่วมกล่าวแถลงการณ์ครั้งนี้ โดยมีประเด็นสำคัญของแถลงการณ์มี 3 ข้อ ได้แก่
 
1. รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องยกเลิกรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรือ EHIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ฉบับที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เนื่องจากในเนื้อหาระบุไม่สามารถเยียวยาผลกระทบชุมชนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินได้
 
2. การจัดทำแผนบริหารนโยบายพลังงานแห่งชาติ (PDP) ฉบับใหม่ จะต้องดำเนินไป บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน มีความรอบคอบและไม่เร่งรัดในกระบวนการ อีกทั้งต้องจัดทำแผนพลังงานทางเลือก เพื่อประโยชน์สุขส่วนรวมของประชาชนทั้งประเทศ
 
3. รัฐบาลต้องสั่งถอนฟ้องดำเนินคดีกับชาวบ้าน 17 คน ที่ถูกดำนินคดีในกรณีเดินทางมายื่นหนังสือให้กับนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ด้วย เนื่องจากการแสดงจุดยืนในการปกป้องสิทธิชุมชนกระทำอย่างสันติ ไม่ได้มีเจตนาสร้างความรุนแรงแต่ประการใด
 
กลุ่มที่แถลงข่าวครั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตถึงการชะลอการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตามที่มีมติกระทรวงพลังงานออกมาเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่าการที่การไฟฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สามารถดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในพื้นที่ได้นั้น เป็นการแสดงความไม่ชัดเจนในการแก้ปัญหา เพราะรัฐสามารถดำเนินการได้ในขณะที่ประชาชนถูกสั่งห้ามไม่ให้ออกมาปกป้องชุมชน 
 
ผู้สื่อข่าวสอบถาม นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณากิจ ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคม เพิ่มเติมถึงความเหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ในประเด็นที่จะเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจประเทศให้พัฒนาได้หรือไม่นั้น สุภัทร อธิบายว่าเป็นความจริงที่การพัฒนาเศรษฐกิจในต่างประเทศมีการใช้อุตสาหกรรมหนักเช่นถ่านหินมาก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นพลังงานสะอาด แต่ในกรณีประเทศไทยจะพบว่าที่ผ่านมาการลงทุนอุตสาหกรรมหนักในพื้นที่ต่างๆ ทั้งกรณีท่าเรือน้ำลึกที่ปากบารา จังหวัดสตูล หรือที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี, กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ หรือกรณีอุตสาหกรรมหนักอื่นทั้งโครงการที่อยู่การดูแลโดยภาครัฐหรือเอกชน ถูกต่อต้านโดยคนในชุมชนมาตลอด ดังนั้นรัฐควรพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมประเด็นการท่องเที่ยวในชุมชนมากกว่าการลงทุนด้านอุตสาหกรรมหนักเนื่องจากกระทบต่อวิถีชุมชน
 
สุภัทร ยังกล่าวต่อว่าหากมีการแก้ไขปัญหาการจัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินผ่านการทำประชาพิจารก็ต้องทำอย่างเป็นระบบ มีการพิจารณาผลกระทบด้านต่างๆ ร่วมกับชุมชนก่อนดำเนินนโยบาย เมื่อได้ข้อตกลงที่เหมาะสมจึงสามารถทำประชาพิจารได้ แต่ในบรรยากาศทางการเมืองระดับประเทศและปัญหาความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้คงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เนื่องด้วยมีบังคับใช้กฏหมาย ทั้งการใช้อำนาจตามมาตรา 44 หรือประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการกดดันสิทธิการแสดงความเห็นของประชาชนต่อนโยบายการพัฒนาของรัฐโดยไม่ผ่านการตกลงร่วมกับประชาชนมาก่อน ทางกลุ่มจึงเห็นว่าการออกมาคัดค้านอย่างสันตินี้เองเป็นสิ่งที่ควรกระทำ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า กลุ่มประชาชนที่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาฯ ยังคงเดินหน้าปักหลักข้างทำเนียบรัฐบาลต่อไปหากไม่มีการตอบรับข้อเสนอจากรัฐบาล โดยกลุ่มประชาชนผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินได้เข้าปักหลักกดดันข้างทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา  เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ให้รัฐบาลยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน มีประชาชนจำนวนมากจากหลากหลายกลุ่มได้เข้าเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง
 
สำหรับ อัฐพล ปิริยะ ผู้รายงานเสวนาชิ้นนี้ เป็นนักศึกษาฝึกงานกับประชาไท ประจำปีการศึกษา 2/2560 จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีความสนใจด้าน One Piece, Star Wars, วรรณกรรม, การเมืองวัฒนธรรม และการศึกษา 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลยกคำร้องฝากขัง 5 'MBK39' ของ พนง.สส. แล้ว

Posted: 08 Feb 2018 04:16 AM PST

(ซ้ายไปขวา) เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล, สุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ, ณัฏฐา มหัทธนา, วีระ สมความคิด และ สมบัติ บุญงามอนงค์ 


8 ก.พ. 2561 เวลา 19.05 น.  ผู้สื่อข่าวรายงานจากศาลอาญากรุงเทพใต้ว่า ศาลได้ยกคำร้องขอฝากขังของ พนง.สส. แล้ว โดยไม่มีเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว

โดยคำสั่งระบุว่า "พิเคราะห์คำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 ของผู้ร้องประกอบคำคัดค้านของผู้ต้องหาทั้ง 5 ตลอดจนข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการไต่สวนแล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้ต้องหาทั้ง 5 มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี โดยผู้ต้องหาทั้ง 5 ไปพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก นอกจากนี้ผู้ต้องหาทั้ง 5 ให้ความร่วมมือในการสอบสวนแก่พนักงานสอบสวนเป็นอย่างดี

"อีกทั้งพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานคือภาพถ่านและภาพวีดีทัศน์ไว้เป็นส่วนใหญ่แล้ว สำหรับพยานบุคคลที่เหลืออีก 5 ปาก ปรากฏว่าล้วนแต่เป็นเจ้าพนักงานทั้งสิ้น ซึ่งผู้ร้องสามารถดำเนินการสอบสวนไปได้โดยไม่มีความจำเป็นต้องขังผู้ต้องหาทั้ง 5 โดยเฉพาะผู้ต้องหาที่ 5 การสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว
 
"ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่าผู้ต้องหาทั้ง 5 จะไปเข้าร่วมการชุมนุมในวันที่ 10 ก.พ.2561 และเกรงว่าจะก่อให้เกิดเหตุอันตรายประการอื่น เป็นเพียงการคาดคะเนของผู้ร้องเท่านั้น กรณีไม่มีเหตุจำเป็นที่จะขังผู้ต้องหาทั้ง 5 ระหว่างสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.87 ต่อไป
 
"จึงให้ยกคำร้อง"

ก่อนหน้านี้ พนง.สส. อ้างเหตุผลในการฝากขังว่า ยังมีพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 5 ปาก รวมถึงยังไม่ได้ประวัติอาชญากรของผู้ต้องหา เป็นคดีมีโทษเกิน 3 ปี และเกรงว่าในวันที่ 10 ก.พ. ผู้ต้องหาจะไปชุมนุม และอาจก่อให้เกิดอันตราย

อนึ่ง ทั้ง 5 คน ประกอบด้วย วีระ สมความคิด, สมบัติ บุญงามอนงค์, เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล, ณัฏฐา มหัทธนา และ สุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ ส่วน รังสิมันต์ โรม, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, อานนท์ นำภา และเอกชัย หงส์กังวาน ได้ประสานขอเลื่อนรับทราบข้อกล่าวหาแล้วเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา

ผู้สืื่อข่าวรายงานว่า ผู้ต้องหาสูงวัยใน MBK39 หลายคน เมื่อเสร็จจากศาลแขวงก็ไปรอเป็นกำลังใจที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ และแยกย้ายกันกลับเมื่อทราบผลคำสั่งศาลดังกล่าว

 

คนส.เผยระดมทุนได้ 1.3 ล้านบาท จะใช้เป็นกองทุนประกันตัวต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า เมื่อเวลา 22.00 น. เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ซึ่งก่อนหน้านี้ประกาศระดมทุนเพื่อประกันตัว MBK39 รวมถึงประกาศว่าจะใช้ตำแหน่งนักวิชาการประกันตัว โพสต์ลงในเพจของกลุ่ม ขอบคุณประชาชนที่ร่วมกันบริจาคเงินและนักวิชาการทุกท่านที่ช่วยกันเตรียมตัวเป็นนายประกัน พร้อมระบุจะนำเงินที่ได้ไปใช้เป็นกองทุนสำหรับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิต่อไป "เงินทุกบาททุกสตางค์ของจำนวนกว่า 1.3 ล้านบาทที่ได้มา จะถูกใช้เป็นกองทุนในการประกันตัวของประชาชนผู้ถูกคุกคามละเมิดสิทธิเสรีภาพในโอกาสต่อไป"

 

อนึ่งตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา ประชาชนและนักกิจกรรมจำนวน 34 คน จากทั้งหมด 39 คนซึ่งถูกแจ้งข้อกล่าวหาจากกรณีการร่วมกิจกรรม "นัดรวมพล ประชาชนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช.เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่สกายวอล์ก ปทุมวัน ได้เดินทางมา สน.ปทุมวัน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ตามหมายเรียกครั้งที่ 2 ก่อนพนักงานสอบสวนจะไปผัดฟ้องต่อศาล และผู้ต้องหาทั้งหมดทยอยเดินทางไปศาลเอง โดยเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจควบคุมตัวไปยังศาลเนื่องจากทั้งหมดมารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ไม่ได้เป็นการจับกุม โดยผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุม ร่วมกันชุมนุมในที่สาธารณะในรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชฐาน และขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 จำนวน 28 คน เดินทางไปศาลแขวงปทุมวัน ส่วนอีก 5 คนที่ถูกแจ้งข้อหา ตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญาร่วมด้วย เดินทางไปที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ เนื่องจากเป็นข้อหาที่มีอัตราโทษสูงกว่า 3 ปี

ต่อมา เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น.เศษ ที่ศาลแขวงปทุมวัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ต้องหา ทั้ง 28 คนกำลังทยอยเดินทางกลับบ้าน เพราะเสร็จกระบวนการแล้ว

คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน อธิบายว่า กระบวนการในวันนี้พนง.สส.ได้มาผัดฟ้องที่ศาลแขวงปทุุมวันเป็นเวลา 6 วัน โดยศาลอนุญาตให้ผลัดฟ้องและไม่มีการฝากขัง และให้ผู้ต้องหากลับบ้านได้เลย และรอ พนง.สส.ติดต่อกลับไปเมื่อส่งฟ้องต่ออัยการ ภายใน 30 วัน ตามกรอบของคดีที่ขึ้นศาลแขวง ทั้งนี้ ไม่มีเงื่อนไขการปล่อยตัวใดๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นอกจาก 28 คนดังกล่าวแล้ว ยังมี นพพร นามเชียงใต้ ซึ่งให้การรับสารภาพ โดยเมื่อไปถึงศาลจึงมีการฟ้องด้วยวาจา และศาลนัดให้มาฟังคำพิพากษาอีกครั้งในวันที่ 8 มี.ค. 

ขณะที่ นพเก้า คงสุวรรณ ผู้สื่อข่าวข่าวสด ซึ่งได้รับสารภาพไปก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 8 มี.ค. เช่นกัน

สำหรับ MBK 39 เป็นชื่อเล่นที่ใช้เรียกกลุ่มผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 39 คนจากการร่วมกิจกรรม "รวมพลคนอยากเลือกตั้งฯ" ที่สกายวอล์คบริเวณห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง (MBK) เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ชื่อ MBK 39 เป็นที่รู้จักและพูดถึงในโซเชียลมีเดีย โดยเป็นการตั้งชื่อล้อไปกับวงไอดอล BNK 48 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปสช. ร่วมขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ

Posted: 08 Feb 2018 03:38 AM PST

สปสช.ร่วมขับเคลื่อน 'ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ' เขตระยองจัดประชุมเจ้าอาวาส 90 วัด มุ่งสร้างสุขภาพดีให้กับพระสงฆ์ ด้วยการดูแลสุขภาพตนเองตามหลักพระธรรมวินัย ดึงชุมชนมีส่วนร่วม พร้อมจัดทำแผนปฏิบัติ 4 ขั้น หนุนกลไกพื้นที่ขับเคลื่อนบรรลุเป้าหมาย ขณะเดียวกันให้ความรู้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อเข้าถึงการรักษา

8 ก.พ.2561 รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ศาลาการเปรียญวัดเนินพระ ต.เนินพระ อ.เมือง จ.ระยอง พระเทพสิทธิเวที เจ้าคณะจังหวัดระยองฝ่ายมหานิกาย เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 สู่การปฏิบัติ พร้อมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในกลุ่มพระสงฆ์ จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 6 ระยอง สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดระยอง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และโรงพยาบาลระยอง โดยได้นิมนต์เจ้าอาวาสทุกวัดทั้งวัดฝ่ายมหานิกายและธรรมยุตจำนวน 90 วัด เข้าร่วม

พระเทพสิทธิเวที กล่าวว่า การประชุมพระสงฆ์ในจังหวัดระยองวันนี้เพื่อเป็นการขับเคลื่อนธรรมนูญพระสงฆ์แห่งชาติให้เป็นรูปธรรมสู่การปฏิบัติ โดยธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ปี 2560 ได้เกิดขึ้นตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5พ.ศ. 2555 เพื่อขับเคลื่อน "พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ" และให้เป็นไปตามมติมหาเถรสมาคมที่ 191/2560 วันที่ 20มีนาคม 2560 ขับเคลื่อน "ธรรมนำโลก" ตามปรัชญาและแนวคิดที่ให้ 1) พระสงฆ์กับการดูแลตนเองตามหลักพระธรรมวินัย2) ชุมชนสังคมกับการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย 3) บทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม   

ทั้งนี้การที่หลายหน่วยงานต่างปรารถนาให้พระสงฆ์สามารถดูแลสุขภาพของตนเองไม่ให้เจ็บป่วย หรือเมื่อเจ็บป่วยสามารถได้รับการรักษาพยาบาลที่รวดเร็ว มีคุณภาพ มาตรฐาน รวมถึงการให้ชุมชนและสังคมรอบวัดมีส่วนร่วมดูแลสุขภาพพระสงฆ์ได้ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย เป็นเรื่องที่ดี ขณะเดียวกันยังให้เจ้าอาวาสได้รับความรู้ในสิทธิการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีความรู้เพื่อนำไปถ่ายทอดไปยังพระลูกวัดและญาติโยมต่างๆได้ถูกต้อง และเมื่อเกิดการเจ็บป่วย สามารถใช้บริการได้อย่างรวดเร็ว  

"ในวันนี้ต้องขอบใจโยมทุกหน่วยงานและทุกคนที่ร่วมขับเคลื่อนธรรมนูญพระสงฆ์แห่งชาติสู่การปฏิบัติเพื่อสุขภาพที่ดี และให้พระสงฆ์ได้รับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม  รวดเร็ว รวมถึงการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคไตวายเรื้อรัง" พระเทพสิทธิเวที เจ้าคณะจังหวัดระยอง กล่าว

ด้าน วิศิษฎ์ ยี่สุ่นทอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 6 ระยอง กล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 6 ระยอง จัดประชุมในวันนี้เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560 สู่การปฏิบัติ ตามที่ สปสช.ได้ลงนามในเจตนารมณ์ร่วมธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560 ก่อนหน้านี้ โดยนิมนต์เจ้าอาวาสวัดในจังหวัดระยอง หรือผู้แทน เพื่อขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพระสงฆ์ ขณะเดียวกันยังเป็นการให้ความรู้ความเข้าใจในสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าและการดูแลสุขภาพ ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เมื่อเกิดการเจ็บป่วยสามารถเข้ารับบริการได้อย่างรวดเร็วตามสิทธิประโยชน์

วิศิษฎ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ได้มีการทำแผนปฏิบัติขับเคลื่อนเพื่อสนับสนุนกลไกระดับพื้นที่ให้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560 ดังนี้

1) จัดทำทะเบียนพระสงฆ์ โดยร่วมมือ พศ., สนบท., มหาเถรสมาคม และเชื่อมกับบัตรสมาร์ทการ์ดพระสงฆ์ คาดว่าจะมีรูปธรรมในเดือนเมษายน  2561 

2) สนับสนุนงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเพื่อดูแลสุขภาพทั่วไป ทั้งการตรวจคัดกรองความเสี่ยงพระสงฆ์ การดำเนินโครงการร่วมกับกรมอนามัย ต่อเนื่องต่อยอดโครงการวัดส่งเสริมสุขภาพ โดยจะเดินหน้าเป็นรูปธรรม วัดผลลัพธ์ในเขตที่สมัครในนำร่องเบื้องต้น

3) จัดทำเมนูกิจกรรมในกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายพระสงฆ์ หน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ทำเป็นโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ดำเนินการในวัดเป้าหมาย หรือสถานศึกษาของสงฆ์ในทุกเขต 

4) สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมจัดทำโครงการกับเครือข่ายพระสงฆ์เพื่อสุขภาวะ โดยดำเนินการเพื่อให้เกิด Health literacy ในพระสงฆ์ และพระสงฆ์กับการเป็นผู้นำสุขภาวะในชุมชน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงานฟรีดอมเฮาส์ ‘เสรีภาพโลกปี 61’ ชี้ปชต.ถดถอยทั่วโลก ไทยคะแนนต่ำต่อเนื่อง

Posted: 08 Feb 2018 02:58 AM PST

ไทยถูกจัดให้เป็นประเทศ 'ไม่เสรี' ได้คะแนนเสรีภาพโลก 31 จาก 100 คะแนนเท่ากับเมียนมาร์และต่ำกว่าหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในรายงานปี 2561 ของฟรีดอมเฮาส์ที่สำรวจพบว่าประชาธิปไตยทั่วโลกกำลังถดถอย ขณะที่จีนและรัสเซียกำลังพยายามแผ่อิทธิพลแนวทางอำนาจนิยมไปยังประเทศต่างๆ


8 ก.พ. 2561 องค์กรฟรีดอมเฮาส์ ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนทำวิจัยด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพทางการเมือง มีสำนักงานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา เปิดเผยรายงานเสรีภาพโลกปี 2561 โดยสรุปสถานการณ์ปี 2560 ว่าประชาธิปไตยเผชิญกับภาวะวิกฤตมากที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา เพราะหลักการพื้นฐานทั้งหลายถูกโจมตีทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นการรับรองเรื่องการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม สิทธิของชนกลุ่มน้อย เสรีภาพสื่อ และหลักนิติธรรม

ฟรีดอมเฮาส์ระบุว่ามี 71 ประเทศที่สถานการณ์ด้านสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพพลเมืองแย่ลง นับว่าแย่ลงติดต่อกันเป็นปีที่ 12 ขณะที่มี 35 ประเทศเท่านั้นที่มีปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ดีขึ้น และแม้แต่สหรัฐอเมริกาเองก็ล่าถอยออกจากบทบาทการเป็นผู้นำและตัวอย่างที่ดีในทางประชาธิปไตยแบบที่เคยเป็นมาตลอด โดยที่แม้แต่ในสหรัฐฯ เอง สิทธิทางการเมืองและเสรีภาพพลเมืองก็ลดน้อยถอยลงอย่างรวดเร็ว

ไมเคิล เจ อบราโมวิตซ์ ประธานของฟรีดอมเฮาส์ระบุว่า "นับตั้งแต่จบยุคสงครามเย็นเป็นต้นมาเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จพ่ายแพ้และเสรีนิยมประชาธิปไตยได้รับชัยชนะในการต่อสู้แห่งครั้งใหญ่ของอุดมการณ์แห่งศตวรรษที่ 20" แต่ในทุกวันนี้กลับเป็นประชาธิปไตยที่อ่อนแรงลง

รายงานของฟรีดอมเฮาส์ระบุว่าประเทศอย่างตุรกีและฮังการีเริ่มถลำลงสู่การปกครองแบบอำนาจนิยมมากขึ้น ส่วนเมียนมาร์ที่แม้จะเริ่มเปิดเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นบ้างตั้งแต่ปี 2553 แต่ในปีที่แล้วก็มีเหตุกวาดล้างเผ่าพันธุ์ที่น่าสะเทือนขวัญ ขณะเดียวกันประเทศที่เคยยิ่งใหญ่ในทางประชาธิปไตยก็มีปัญหาหนักในบ้านตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ การแตกขั้วต่างๆ ปัญหาการก่อการร้าย การทะลักของผู้ลี้ภัย ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดการกลัว "ความเป็นอื่น" มากขึ้น

รายงานยังเน้นพูดถึงเรื่องการเข้ามามีบทบาทนำของฝ่ายขวาทางการเมืองในพื้นที่รัฐสภาหลายประเทศ พรรคการเมืองที่มีฐานอำนาจดั้งเดิมทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาเริ่มได้รับความนิยมลดลง และมีปัญหาในการจัดตั้งรัฐบาล ที่น่าเป็นห่วงไปกว่านั้นคือเรื่องที่คนหนุ่มสาวที่ไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับการต่อต้านเผด็จการมาก่อนอาจจะสูญเสียศรัทธาหรือความสนใจในโครงการด้านประชาธิปไตย เสี่ยงต่อการทำให้รู้สึกเฉยชา

ฟรีดอมเฮาส์ระบุว่าขณะที่ประชาธิปไตยดูถดถอย ประเทศที่เป็นเผด็จการอย่างจีนและรัสเซียก็ฉวยโอกาสนี้ในการกดขี่ข่มเผงภายในมากขึ้นไปพร้อมๆ กับการแผ่ขยาย "อิทธิพลเลวร้าย" ไปยังประเทศอื่น โดยพวกเขามองว่ามีประเทศอื่นๆ ที่เริ่มเอาสองประเทศนี้เป็นแบบอย่างในการไม่เห็นคุณค่าของประชาธิปไตยและไม่ทนกับกลุ่มที่ต่อต้าน การสูญเสียประชาธิปไตยเช่นนี้ไม่เพียงแค่ส่งผลต่อเสรีภาพขั้นพื้นฐานเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงด้วย

"ขณะที่รัฐบาลประชาธิปไตยอนุญาตให้ผู้คนช่วยกันตั้งกฎกติกาที่ผู้คนต้องเคารพร่วมกันได้ และผู้คนมีส่วนร่วมชี้นำทิศทางการใช้ชีวิตและการงานของตนเอง สิ่งนี้จะช่วยรักษาการเคารพสันติภาพ การเล่นในกติกา และการประนีประนอมในวงกว้างกว่านี้ ส่วนเผด็จการนั้นจะออกกฎเกณฑ์ตามอำเภอใจกับพลเมืองแต่ก็ละเลยกฎทุกกฎที่ออกมาเสียเอง ทำให้เกิดวงจรการใช้อำนาจผิดๆ กับการทำให้เกิดความสุดโต่งวนเวียนไปเรื่อยๆ" ฟรีดอมเฮาส์ระบุ

พวกเขายังเผยแพร่คะแนนเสรีภาพของโลกประจำปี 2561 โดยที่ประเทศไทยได้คะแนน 31 คะแนนเท่ากับเมียนมาร์ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วถือว่าน้อยกว่า มาเลเซีย (45 คะแนน) สิงคโปร์ (52 คะแนน) อินโดนีเซีย (64 คะแนน) และฟิลิปปินส์ (62 คะแนน)

ประเทศที่ได้คะแนนสูงสุดอันดับต้นๆ เป็นประเทศแถบสแกนดิเนเวียอย่างฟินแลนด์, สวีเดน และนอร์เวย์ ที่ได้เต็ม 100 คะแนน ประเทศอื่นๆ ที่ได้คะแนนใกล้ๆ กันได้แก่ แคนาดา (99 คะแนน) เนเธอร์แลนด์ (99 คะแนน) ออสเตรเลีย (98 คะแนน) นิวซีแลนด์ (98 คะแนน) เดนมาร์ก (97 คะแนน) ไอซ์แลนด์ (95 คะแนน) สเปน (94 คะแนน) ชิลี (94 คะแนน) อุรุกวัย (98 คะแนน) เป็นต้น รองลงมาคือกลุ่มประเทศยุโรปกลางและสหรัฐฯ (86 คะแนน) กานา (83 คะแนน) มองโกเลีย (85 คะแนน) เป็นต้น

ประเทศที่รั้งท้ายได้แก่ ซีเรียกับซูดานใต้ที่มีสงครามกลางเมืองโดยที่ซีเรียเองประสบปัญหาการสู้รบกันของเผด็จการด้วยซึ่งเป็นประเทศที่ได้ -1 คะแนน ตามมาด้วยเอริเทรียและเกาหลีเหนือซึ่งเป็นประเทศรัฐตำรวจปิดตัวเองจากโลกภายนอก (hermetic police state) ที่อยู่ท้ายตารางถัดจากนั้นคือประเทศฉกฉวยผลประโยชน์ทรัพยากรน้ำมันอย่าง เติร์กเมนิสถาน กับ อิเควทอเรียลกินี และซาอุดิอาระเบียที่เป็นประเทศสมบูรณาญาสิทธิราชย์

สำหรับประเทศไทยนั้นยังคงถูกจัดอยู่ในสถานะ "ไม่เสรี" โดยทำการวัดผลจากตัวชี้วัดต่างๆ ทั้งสิทธิด้านการเมืองและเสรีภาพพลเมือง เช่น เรื่องกระบวนการเลือกตั้ง การมีส่วนร่วมและพหุนิยมทางการเมือง เสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในการจัดตั้งและชุมนุม โดยที่ไทยได้คะแนนแย่ทั้งด้านสิทธิด้านการเมืองและเสรีภาพพลเมือง เสรีภาพสื่อและเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตถูกจัดอยู่ในระดับไม่เสรี

ฟรีดอมเฮาส์ระบุอีกว่าในขณะที่สหรัฐฯ กำลังมีปัญหาในบ้านตัวเองและถกเถียงกันเรื่องลำดับความสำคัญของการต่างประเทศ กลุ่มผู้นำเผด็จการอย่างรัสเซียและจีนก็พยายามบ่อนทำลายประชาธิปไตยประเทศอื่นและแผ่ขยายแนวทางอำนาจนิยมไปเรื่อยๆ ทำลายระบบการเลือกตั้งเช่นวิธีการล็อกผู้ชนะ สื่อก็ถูกครอบงำไปด้วยปากกระบอกเสียงโฆษณาชวนเชื่อรัฐบาลสร้างภาพให้ผู้นำดูมีความรอบรู้ไปทุกเรื่อง และมีการเซ็นเซอร์กับการชักใยให้ส่งเสริมรัฐบาลพร้อมทั้งทำให้ประชาชนสับสนจากการหลอกลวงและปลอมแปลง

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่รัสเซียนำโดยวลาดิเมียร์ ปูติน ชักใยให้เกิดการใช้ข้อมูลเผยแพร่ข้อมูลเท็จช่วงก่อนเลือกตั้งในหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ ฝรั่งเศส และเยอรมนี มีการผูกพันธะกับพรรคการเมืองที่เกลียดกลัวคนนอกทั่วยุโรป ทำการข่มขู่หรือรุกรานเพื่อนบ้าน รวมถึงเป็นแหล่งให้ความช่วยเหลือด้านการทหารทางเลือกสำหรับผู้นำเผด็จการตะวันออกกลาง ฟรีดอมเฮาส์เชื่อว่าเป้าหมายหลักของรัสเซียคือการทำลายรัฐประชาธิปไตยและสถาบันอย่างสหภาพยุโรปที่เชื่อมร้อยรัฐเหล่านี้ไว้ด้วยกัน

ทางด้านจีนนั้น ฟรีดอมเฮาส์มองว่าพวกเขาพยายามสร้างโฆษณาชวนเชื่อและการเซ็นเซอร์เพื่อแผ่ขยายตัวเองโดยอาศัยเครื่องมือทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์เพื่อส่งอิทธิพลต่อประชาธิปไตยในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ บีบให้หลายประเทศส่งผู้ลี้ภัยชาวจีนกลับประเทศตัวเอง ให้ความช่วยเหลือรัฐบาลที่กดขี่ข่มเหงประชาชนในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแอฟริกา ขณะที่รัสเซียเล่นบทเอาชนะโดยการชกใต้เข็มขัดคู่ต่อสู้ แต่จีนดูจะเป็นประเทศที่พยายามทำตัวเป็นผู้นำโลกอย่างจริงจัง




เรียบเรียงจาก

รายงาน Freedom of the World 2018, Freedom House
https://freedomhouse.org/report/freedom-world/freedom-world-2018
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกาหลีใต้เปิดข้อเท็จจริงปราบผู้ชุมนุม 'กวางจู' มีการใช้เฮลิคอปเตอร์ไล่ยิงคน

Posted: 08 Feb 2018 02:17 AM PST

คณะกรรมการของรัฐบาลเกาหลีใต้เปิดเผยเมื่อวันที่ 7 ก.พ. ที่ผ่านมาว่า ในเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยกวางจูเมื่อปี 2523 มีการใช้เฮลิคอปเตอร์ติดปืนยิงใส่ประชาชนจริง ซึ่งถือว่าเป็นอาชญากรรมที่มีความรุนแรงในระดับสังหารหมู่และนับเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ



 
ในเหตุการณ์เมื่อเดือน พ.ค. ปี 2523 ที่เรียกว่าขบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยกวางจู เป็นเหตุการณ์ที่มีประชาชนออกมาชุมนุมต่อต้านเผด็จการทหารของนายพลชุน ดูฮวาน ล่าสุด มีการเปิดเผยจากรัฐบาลเกาหลีใต้ว่ามีการปราบปรามผู้ชุมนุมโดยการใช้เฮลิคอปเตอร์ 500MD และ UH-1H รวมถึงเครื่องบินเจ็ทที่มีระเบิดเตรียมพร้อมเป็นกำลังเสริม

หลังจากการสืบสวนเป็นเวลานาน 5 เดือนโดยคณะกรรมการเฉพาะกิจที่ตั้งโดยกระทรวงกลาโหมภายใต้รัฐบาลมุนแจอินของเกาหลีใต้ทำให้ได้ข้อสรุปดังกล่าว คณะกรรมการนี้มีทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ อัยการ ข้าราชการราว 30 ราย และกรรมการฝ่ายพลเรือน 9 ราย พวกเขาสืบสวนเก็บข้อมูลโดยการทบทวนเอกสารราว 620,000 หน้าและสัมภาษณ์คนมากกว่า 120 คน

แม้ว่าจะยังไม่มี "หลักฐานระดับชี้ขาด" ว่ามีคำสั่งโดยตรงมาจากผู้นำทหารในการใช้เฮลิคอปเตอร์สั่งยิงผู้ชุมนุม แต่ก็มีคำให้การจากผู้เห็นเหตุการณ์จำนวนมากชี้ให้เห็นว่ามีการสังหารผู้คนด้วยอาวุธปืนเฮลิคอปเตอร์จริงในวันที่ 21 พ.ค. - 27 พ.ค. 2523 ที่พื้นที่ใกล้กับที่ว่าการจังหวัดช็อลลาใต้ ซึ่งเป็นกองบัญชาการของผู้ชุมนุมในท้องถิ่น

โดยมีหลักฐานก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่ามีรอยกระสุนที่ชั้น 10 ของอาคารที่ว่าการจังหวัด โดยมีการตั้งสมมติฐานว่าน่าจะมาจากอาวุธปืนกล M60 ที่ติดอยู่กับเฮลิคอปเตอร์ UH-1H หรือไม่ก็เป็นกระสุนของปืนยาว M16

มีสมมติฐานความเป็นไปได้อีกอย่างหนึ่งคือการใช้กระสุนปืนวัลแคนยิงจากเฮลิคอปเตอร์โจมตีคอบร้า จากการที่มีอดีตนักบิน 4 นาย ให้การไว้ว่าพวกเขาได้รับคำสั่งให้วางกำลังในกวางจูเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2523 ด้วยเฮลิคอปเตอร์ AH-1J Cobra พร้อมกระสุนวัลแคน 500 นัด

คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงประกาศว่ากองทัพภายใต้กฎอัยการศึกยิง "เตือน" ใส่ประชาชนทั่วไปในวันที่ 21 พ.ค. จากเฮลิคอปเตอร์ พวกเขากระทั่งยิงใส่พลเมืองที่ไม่มีอาวุธโดยตรง การกระทำเช่นนี้ถือเป็นการกระทำที่บ้าบิ่น ไร้มนุษยธรรม เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความป่าเถื่อน โหดร้าย และเป็นอาชญากรของปฏิบัติการปราบปรามการลุกฮือของประชาชน

นอกจากนี้คณะกรรมการยังพูดถึงกรณีการยิงจากเฮลิคอปเตอร์ในวันที่ 27 พ.ค. ว่าเป็นการโจมตีประชาชนโดยมีการไตร่ตรองไว้ล่วงหน้าและวางแผนไว้ซับซ้อน โดยเป็นการโจมตีใส่ประชาชนที่อาวุธคาลวินไรเฟิลและอาวุธทั่วไปอื่นๆ ซึ่งทางคณะกรรมการระบุว่าเป็น "การสังหารหมู่ประชาชนจำนวนมาก"

ปฏิบัติการทางทหารในครั้งนั้นยังมีการเตรียมพร้อมเครื่องบินรบ F-5 และ A-37 ที่บรรทุกระเบิด MK-82 เอาไว้เตรียมพร้อมในอีกสองเมืองด้วย อย่างไรก็ตามยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าเครื่องบินสองลำดังกล่าวเตรียมเอาไว้ทิ้งระเบิดใส่เมืองกวางจู

จากการที่ข้อมูลเอกสารและหลักฐานอื่นๆ ยังมีจำกัด ทำให้คณะกรรมการเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายพิเศษสำหรับการสืบหาความจริงในประวัติศาสตร์โศกนาฏกรรมนี้ อีกทั้งยังเรียกร้องให้รัฐเกาหลีใต้และกองทัพขอโทษประชาชนเนื่องจากปฏิบัติการในครั้งนั้นไร้มนุษยธรรมและเป็นอาชญากรรมที่ยอมรับไม่ได้

มีการประเมินว่าประชาชนในกวางจูราว 200,000 คนจากประชากรของเมือง 750,000 คน เข้าร่วมการลุกฮือต่อต้านรัฐบาลในครั้งนั้น โดยที่มีการวางกำลังทหารมากกว่า 20,000 นาย ออกมาปราบปรามผู้เรียกร้องประชาธิปไตย โดยขบวนการนี้เริ่มแรกมาจากกลุ่มนักศึกษา หลังจากกลุ่มนักศึกษาถูกกองทัพทุบตีและจับกุมก็ทำให้พลเมืองธรรมดาทั่วไปจำนวนมากออกมาร่วมกับการชุมนุม พอมีเหตุการณ์ที่ทหารยิงใส่ประชาชนมือเปล่า ทำให้มีบางส่วนเริ่มติดอาวุธตัวเองเป็นกองกำลังประชาชนเพื่อปกป้องคุ้มครองประชาชนด้วยกันเอง

เหตุการณ์ในกวางจูมีผู้เสียชีวิตราว 200 ราย บาดเจ็บราว 1,000 ราย ตามการประเมินของทางการ แต่ก็มีบางส่วนประเมินว่าผู้เสียชีวิตน่าจะราว 1,000 - 2,000 ราย

 

 

เรียบเรียงจาก

Military's helicopter shooting during 1980 Gwangju Democratization Movement confirmed, Korea Herald, 07-02-2018

http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20180207000309

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลยะลาเริ่มสืบพยานคดีเรียกค่าเสียหายปมทหารพรานยิงเยาวชนวัย 15 ปี ตาย คาสวนยางหลังบ้าน

Posted: 08 Feb 2018 02:05 AM PST

ศาลจังหวัดยะลาสืบพยาน โจทก์และจำเลย คดีมารดามะกอเซ็ง ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกองทัพบกและสำนักนายกฯ กรณี มะกอเซ็ง เยาวชนอายุ 15 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงเสียชีวิตเมื่อปี 55

ภาพจากเว็บไซต์ศาลจังหวัดยะลา

8 ก.พ.2561 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งว่า เมื่อวันที่ 6 และ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดยะลาออกนั่งพิจารณานัดสืบพยานโจทก์และจำเลยคดีหมายเลขดำที่ พ.52/2560 หรือคดีคอรีเยาะ มะมิง  เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดยะลา เรียกค่าเสียหายจากกองทัพบก จำเลยที่ 1 และสำนักนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ทหารพรานที่กระทำละเมิดต่อชีวิต มะกอเซ็ง ลาแซ บุตรชายอายุเพียง 15 ปี ของคอรีเยาะ โดยเจ้าหน้าที่ทหารพรานได้ใช้อาวุธปืนยิงมะกอเซ็ง จนเสียชีวิต เหตุเกิดเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2555 ที่บริเวณสวนยางพาราหลังบ้านพักอาศัยของครอบครัวผู้ตาย ต.บาโร๊ะ อ.ยะหา จ.ยะลา 

โดยเมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา ฝ่ายโจทก์ได้นำพยานเข้าเบิกความต่อศาลจำนวน 3 ปาก ได้แก่ คอรีเยาะ มารดาของมะกอเซ็ง ผู้ตาย และประจักษ์พยานผู้อยู่ในเหตุการณ์อีก 2 ปาก เมื่อพยานโจทก์ทั้งสามปากเบิกความต่อศาลจนแล้วเสร็จ ทนายโจทก์แถลงหมดพยาน ต่อมาวันที่ 7 ก.พ. 2561 ทนายจำเลยได้นำพยานขึ้นเบิกความต่อศาล จำนวน 7 ปาก ได้แก่ เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานผู้ตรวจอาวุธและกระสุนปืน เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานผู้ตรวจเขม่าดินปืน เจ้าหน้าที่ทหารชุดปฏิบัติการปิดล้อมจุดเกิดเหตุ ในวันเกิดเหตุจำนวน 2 ปาก และผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพ เมื่อพยานจำเลยเบิกความต่อศาลจนแล้วเสร็จ

ทนายจำเลยแถลงต่อศาลจะนำพยานขึ้นเบิกความต่อศาลอีก 3 ปาก ได้แก่ พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพ เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานผู้ตรวจดีเอ็นเอ และผู้แทนคดีจำเลยที่ 2 (สำนักนายกรัฐมนตรี) แต่พยานทั้งสามปากติดราชการไม่สามารถเดินทางมาเบิกความต่อศาลในวันดังกล่าวได้ จึงขอเลื่อนสืบพยานจำเลยไป 1 นัด

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น ศาลจึงเลื่อนนัดสืบพยานจำเลยเป็นวันที่ 21 มี.ค.นี้ เวลา 09.30 น. - 16.30 น.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ณัฏฐา มหัทธนา 1 ใน ‘MBK39’ ยันไม่ประกันตัว หากศาลยกคำร้องคัดค้านการฝากขัง

Posted: 08 Feb 2018 01:17 AM PST


ณัฏฐา มหัทธนา (กลางภาพ)

วันนี้ (8 ก.พ.) เป็นวันที่ 'MBK39' กลุ่มประชาชนและนักกิจกรรมผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาจากกรณีการร่วมกิจกรรม "นัดรวมพล ประชาชนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช.เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่สกายวอล์ก ปทุมวัน จะไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ปทุมวัน ตามหมายเรียก ฉบับที่ 2 ของตำรวจ ในจำนวนนี้ มี 9 คน ซึ่งถูกข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน รวมถึงกระทำผิดมาตรา 116 'ยุยงปลุกปั่น' ตามประมวลกฎหมายอาญา

ณัฏฐา มหัทธนา เป็น 1 ในนั้น

คืนก่อนการเข้ารับฟังข้อกล่าวหา ประชาไทสัมภาษณ์ 'ณัฏฐา' เมื่อเธอเปิดเผยว่า หากศาลยกคำร้องคัดค้านการฝากขังของจำเลย จะ 'ไม่ขอประกันตัว' เนื่องจากเห็นว่า กระบวนการทั้งหมด 'ไม่ปกติ'

 

การถูกตั้งข้อกล่าวหาครั้งนี้ผิดปกติอย่างไร?

การถูกตั้งข้อหา อัยการสั่งฟ้อง และต้องประกันตัว มันค่อนข้างเป็นกระบวนการปกติไปแล้วสำหรับคนที่โดนคดีในยุค คสช. แต่ในขั้นที่เรากำลังโดนยังไปไม่ถึงขั้นนั้นด้วยซ้ำไป เป็นแค่ขั้นรายงานตัวยังไม่เริ่มกระบวนการสอบสวน ถ้าจะฝากขังไม่ให้ประกันตอนนี้ก็ค่อนข้างละเมิดชัดเจน

เราโดนข้อหาเหมือนคนอื่นคือผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 แล้วก็เพิ่มมาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นด้วยซึ่งเพิ่มความร้ายแรงของคดี ปกติถ้าเราไปรายงานตัวตามหมายเรียก ก็ชัดเจนว่าไม่มีเจตนาหลบหนี พอไม่มีเจตนาหลบหนีก็ไม่มีเหตุให้ฝากขัง เขาก็จะขอสอบสวนซึ่งเราก็สามารถขอให้การเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 20 วัน ก็พิมพ์ลายนิ้วมือแล้วแยกย้ายกลับบ้านได้ นี่เป็นแบบปกติ

แต่ถ้าไม่ปกติก็อาจมีเงื่อนไขอื่นที่ทำให้เกิดการฝากขังได้ เช่น ผู้ต้องหาพยายามหลบหนีหรือผู้ต้องหาอาจมีอิทธิพลไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ เช่น คดียาเสพติด หรือผู้ต้องหาเป็นบุคคลอันตราย ซึ่งเราไม่เข้าเงื่อนไขข้อไหนเลย ถ้าเราถูกฝากขังจริง จะอธิบายกับสังคมยังไงว่าเราสมควรจะถูกฝากขัง และเรารู้สึกเหมือนถูกปล้นถ้าจะต้องจ่ายเงินประกันในขั้นตอนนี้ เพราะยังไม่ถึงขั้นตอนการสืบสวนด้วยซ้ำ เราก็จะปฏิเสธไม่ประกันตัว

เรารู้ว่าสิ่งที่เขาทำมันไม่ถูกตามกฎหมาย เราศึกษาข้อกฎหมาย รู้ว่าเงื่อนไขอะไรบ้างจะฝากขังในขั้นตอนการรายงานตัวแบบนี้ได้ ทั้งที่เรามีเจตนามารายตัวตั้งแต่ครั้งแรก (2 ก.พ.) มารายงานตัวตรงเวลาทั้งที่เราได้หมายศาลไม่ถึง 24 ชม. แต่พอไปถึงทนายแจ้งเราว่าทางพนักงานสอบสวนบอกว่าถ้ารายงานตัววันนี้จะมีการขอฝากขัง แล้วเราต้องเตรียมเงินประกันตัว เตรียมเอกสารประกันตัวเยอะเหมือนกัน ทนายจึงแนะนำทั้งกลุ่มที่เตรียมไปรายงานตัววันนั้นว่าให้ใช้สิทธิขอเลื่อนการรายงานตัว เลยมีการทำหนังสือขอเลื่อนการรายงานตัวตรงหน้า สน.ตรงนั้นเลย แล้วทนายก็เอาไปยื่นกับตำรวจ อันนี้คือตามสิทธิปกติของผู้ต้องหาทุกอย่าง

สิ่งที่เกิดขึ้นคือตำรวจไม่รับรู้การขอเลื่อนนี้ แล้วรอง ผบ.ตร.ศรีวราห์ เดินทางมาที่สน.ด้วยตัวเอง และไม่ได้คุยกับทนาย แต่เดินขึ้นห้องประชุมไป ทนายนั่งรออยู่ 4 ชั่วโมง เห็นความผิดปกติและคิดว่านั่งรอต่อไปไม่ได้อะไร ทนายจึงยื่นหนังสือขอเลื่อนการรายงานตัวของเรากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก่อนที่ทนายจะเดินออกมา เจ้าหน้าที่ตำรวจยังฝากหมายเรียกครั้งที่ 2 มาให้เรา ซึ่งการออกหมายเรียกครั้งที่ 2 หมายความว่าเราไม่ได้มาตามหมายเรียกครั้งแรก และไม่มีการแจ้งบอกก่อน ก็จะเห็นชัดเจนว่ามันมีการละเมิดมาตั้งแต่ต้นทางแบบนี้ ซึ่งหมายเรียกครั้งที่ 2 ระบุให้เราไปรายงานตัวในวันที่ 8 ก.พ. ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่เราระบุขอเลื่อนรายงานตัวไปในหมายเรียกครั้งแรก จึงเห็นชัดว่าเจตนาของเขาคือเผื่อครั้งที่ 2 เราเกิดเดินทางไปไม่ได้ หรือเราจะขอเลื่อนอีกแล้วเขาไม่ให้เลื่อน ก็จะเป็นเหตุให้เขาออกหมายจับได้ เจตนาเขาชัดเจนมาตลอดว่าอยากจะทำอะไรกับกลุ่มของพวกเรา

 

หากตำรวจขอฝากขังแล้วจะทำยังไง?

คาดว่าตำรวจจะขอฝากขัง เขาก็จะเอาเราไปที่ศาล ศาลจะถามเราว่าเราจะคัดค้านไหม เราก็จะบอกคัดค้าน พอคัดค้านศาลจะไต่สวนทั้งสองฝ่าย ดูเหตุผล แล้วศาลก็จะตัดสินว่าจะยกคำร้องของตำรวจหรือยกคำร้องของเรา สิทธิของเราก็คือขอประกันตัว ซึ่งเราก็จะไม่ขอประกันตัว

เพราะรู้สึกว่ามันถูกละเมิดไปแล้ว ถ้าเราขอประกันตัวก็เท่ากับเรายอมรับการที่เขาอนุมัติฝากขังเรา แต่ถ้าศาลยกคำร้องของตำรวจก็อาจแสดงให้เห็นได้ว่ากระบวนการยุติธรรมในระบบปกติยังคงดำเนินอยู่

ถ้าเราต้องถูกฝากขังจริง อย่างน้อยสิ่งที่เราคาดหวังคือ สังคมก็ต้องแปลกใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น กระบวนการยุติธรรมมันเป็นยังไง ตามปกติต้องเป็นยังไง แล้วเราโดนอะไร จะเกิดการรับรู้ขึ้นว่าเกิดอะไรขึ้นในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมันใจว่าเกิดขึ้นแน่ๆ สื่อมวลชนก็ต้องค้นหาแล้วเอามาเขียน ก็จะเกิดความรู้ เกิดปัญญาขึ้นในสังคม สิ่งที่เกิดกับเราก็คือเกิดกับสังคมนั้นแหละ เพราะมันคือกระบวนการยุติธรรมที่เราใช้ร่วมกัน ส่วนอะไรที่เกิดขึ้นอีกก็นอกเหนือการควบคุมของเราแล้ว ก็คงจะไม่คาดเดา
 

ไม่คิดว่าอยู่ข้างนอกจะทำอะไรได้มากกว่าอยู่ข้างใน?

ต้องถามว่าทำอะไร ในเมื่อตั้งแต่แรกของกระบวนการยุติธรรมเราโดนแบบนี้ แน่นอนว่าถ้ายื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัวก็จะต้องเจออะไรที่ถูกละเมิดในขั้นต่อไป คือการขอประกันจะเป็นการรับประกันว่าเราจะถูกละเมิดในขั้นต่อไปแน่ๆ ตัวอย่างเช่น ตั้งเงื่อนไขต่างๆ เกี่ยวกับการประกันตัว ไม่ให้เราทำนู่นทำนี่ทำนั่น ซึ่งไม่มีความสมเหตุสมผล เพราะตามกฎหมายผู้ต้องหาต้องถูกปฏิบัติเสมือนเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ เพราะยังไม่ได้ตัดสินว่าเราผิด ดังนั้นไม่ว่าเป็นการตั้งเงื่อนไขพิเศษกับเรา ไม่ว่าเป็นการเอาเงินประกันเราไป ไม่ว่าเป็นการฝากขังเราโดยมิชอบ ก็ล้วนแต่เป็นการลงโทษเราทั้งที่เรายังไม่ได้ทำอะไรผิด เป็นเรื่องของการยืนยันหลักการล้วนๆ
 

บอกคนใกล้ชิด-ครอบครัวว่ายังไง?

ไม่ได้บอกในเชิงเทคนิคแบบนี้ ให้เขารับรู้แค่ว่ามีคดีแบบนี้เกิดขึ้น คดีค่อนข้างจะนอน-เซ้นส์ ประเทศปกติคดีร้ายแรงขนาดนี้เขาไม่มาตั้งข้อหากับแอคชั่นที่เราทำหรอก เพราะมันไม่ได้มีอะไรเป็นภัยต่อสังคม ก็จะเล่าให้เขาฟังตามข้อเท็จจริง เขาก็รู้ว่าคนโดนตั้งข้อหามันมีความเป็นไปได้ที่จะถูกขังคุกอยู่แล้ว แต่เราก็บอกเขาว่าเราประเมินว่ามันจะไม่เกิดขึ้นเนื่องจากเราไม่ใช่ฝ่ายผิด แต่ก็บอกเขาว่าถ้าเกิดขึ้นก็จะเป็นแค่ชั่วคราวนะ ไม่นานหรอก ซึ่งกับลูกเราก็บอกแบบนี้ เขาก็ไม่กังวล มันอยู่ที่ท่าทีของเราด้วย ท่าทีของเราก็ไม่ได้แกล้งพูด เพราะเรารู้สึกว่าความเป็นไปได้ที่เราจะมีอิสรภาพอยู่มันเยอะกว่าการถูกขังมากนัก เราเชื่อว่าศาลต้องมีวิจารณญาณที่เป็นปกติอยู่พอสมควร โดยเฉพาะช่วงต้นสุดของคดีแบบนี้ มันไม่ได้มีอะไรที่ซับซ้อน หรือมีช่องทางที่บิดพลิ้วได้ ถ้าบิดพลิ้วก็เป็นเรื่องที่ชัดเจน ซึ่งจะตอบคำถามสังคมยังไง ประเมินแล้วว่าศาลจึงไม่น่าจะฝากขังเรา

 

กังวลหรือกลัวไหม?

ไม่เลย เราคิดในรายละเอียดแล้ว พอคิดในรายละเอียดแล้วไม่มีอะไรให้กังวล พูดง่ายๆ เราเชื่อมั่นว่ารองผบ.ตร.ศรีวราห์ไม่สามารถสั่งศาลได้ พอมันจับจุดตรงนี้ได้ มันก็ค่อนข้างมั่นใจมาก และนี่ไม่ใช่ศาลทหาร แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีความเป็นไปได้เลย เพราะเราอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการ ความเป็นไปได้ในทางร้ายก็ยังมีเหลืออยู่ แม้แต่ตำรวจก็รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง เราพร้อมที่จะวัดใจเพราะเรารู้ว่ามันคุ้มที่จะวัด เราอยากรู้

 

หากต้องถูกฝากขังจริงๆ อยากบอกอะไร?

อยากบอกให้สังคมเวลาเจอเรื่องอะไรมากระทบ ไม่ว่าจะเรื่องดีหรือเรื่องร้าย พยายามตั้งคำถามกับมันเพื่อให้ได้ความรู้จากสิ่งนั้น เช่น ถ้าเราถูกฝากขัง คุณรู้ว่าเราเป็นใครทำอะไรมาบ้าง ขณะที่เราเดินเข้าคุก คุณอาจมีคำถามว่าทำไม แล้วขั้นตอนมันเป็นยังไง นับจากวันนี้อยากให้สังคมนี้ขับเคลื่อนด้วยความรู้ นี่คือสิ่งหนึ่งที่พยายามทำมาตลอดในฐานะที่เป็นครูด้วย การต่อสู้ต้องขับเคลื่อนด้วยความรู้ แล้วมันจะเกิดภาพของการต่อสู้แบบใหม่ ทุกคนที่คุ้นชินกับภาพจำเดิมมักจะกลัวว่าพอมีความขัดแย้งปุ๊บ เดี๋ยวมันจะต้องจบด้วยการปะทะ การสูญเสีย จบด้วยเรื่องแย่ๆ แต่เมื่อไหร่ที่สังคมเราเปลี่ยนแนวทาง เป็นสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยความรู้ มีรากฐานของปัญญาไม่ว่าจะทำอะไร พอขัดแย้งปุ๊บต้องมีการค้นหาเหตุผล แล้วคุยกันอย่างสังคมที่มีวุฒิภาวะ เพราะฉะนั้นความขัดแย้งนี้ไม่จำเป็นต้องจบด้วยภาพเดิม ด้วยความรุนแรง มันสามารถเป็นการต่อสู้ที่สร้างสรรค์มากกว่านั้นได้ อยากให้เราเปลี่ยนวัฒนธรรม ไม่ใช่เห็นข่าวอะไรปุ๊บตกใจ รีแอคด้วยอารมณ์อย่างเดียว แต่อยากให้หาความรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ข้อมูลรายละเอียดมันเป็นยังไง ใครทำถูกใครทำผิด เราจะรู้จากตรงนั้น เมื่อไหร่ที่เรามีความรู้ การขับเคลื่อนมันจะทั้งสงบ สันติ และมีพลัง อันนี้คือสิ่งที่เราต้องการและเราลงทุนในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยความรู้ขึ้นมา เพราะมันต้องมีการตั้งคำถามแน่ๆ และต้องมีการหาคำตอบ

 

แล้วถ้าสังคมยิ่งเกิดความหวาดกลัว?

ถ้าสังคมเราจะมีศักยภาพแค่นั้นมันก็ช่วยไม่ได้ มันก็ไม่ได้เสียอะไรมากกว่าที่เป็นอยู่เลย เพราะทุกวันนี้สังคมเราก็อยู่ในความหวาดกลัวอยู่แบบนี้ มันต้องมีสักเหตุการณ์หนึ่งที่กระตุกได้ และทำให้คุณรู้สึกได้ว่ามันไม่โอเค แล้วคุณอยากจะลงมือเปลี่ยนมัน ไม่งั้นก็กลัวไปอย่างสะเปะสะปะอย่างที่เป็นมาตลอด ถูกขู่ก็กลัว ก็จะเห็นว่าเราก็ถูกขู่ เราถูกขู่ออกสื่อด้วยซ้ำไป โดยรองผบ.ตร.คนนี้ แล้วทำไมเราถึงไม่กลัว ก็เพราะเราถูกขู่ปุ๊บ เราไปหาความรู้ พอเราไปหาความรู้เราก็รู้แล้วว่าคนที่จะจบด้วยปัญหาไม่น่าใช่เรา ทุกอย่างที่เขาทำกับเราแล้วมันมิชอบ เราเตรียมฟ้องกลับหมด และถ้าตามเรื่องนี้ทุกคนก็จะเข้าใจ คุ้นเคยกับกระบวนการตามกฎหมาย และรู้สิทธิของตัวเอง



 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฝากขัง? แกนนำ MBK39 ลุ้นประกัน อีก 28 คนไม่ฝากขังกลับบ้านแล้ว

Posted: 08 Feb 2018 01:02 AM PST

15.15 น. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความให้ข้อมูลว่า ตอนนี้พนักงานสอบสวนได้ทำเรื่องขออำนาจศาลฝากขังแล้ว พร้อมทำคำร้องคัดค้านการประกันตัวด้วย กระบวนการหลังจากนี้ศาลจะพิจารณาไต่สวนฝากขังต่อไป ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลว่าจะอนุญาตให้ฝากขังหรือไม่ และจะให้ประกันตัวหรือไม่

ขณะที่ที่ศาลแขวงปทุมวัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ต้องหา 28 คนกำลังทยอยเดินทางกลับบ้าน เพราะเสร็จกระบวนการแล้ว

คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน อธิบายว่า กระบวนการในวันนี้พนง.สส.ได้มาผลัดฟ้องที่ศาลแขวงปทุุมวันเป็นเวลา 6 วัน โดยศาลอนุญาตให้ผลัดฟ้องและไม่มีการฝากขัง และให้ผู้ต้องหากลับบ้านได้เลย และรอ พนง.สส.ติดต่อกลับไปเมื่อส่งฟ้องต่ออัยการ ภายใน 30 วัน ตามกรอบของคดีที่ขึ้นศาลแขวง ทั้งนี้ ไม่มีเงื่อนไขการปล่อยตัวใดๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นอกจาก 28 คนดังกล่าวแล้ว ยังมี นพพร นามเชียงใต้ ซึ่งให้การรับสารภาพ โดยเมื่อไปถึงศาลจึงมีการฟ้องด้วยวาจา และศาลนัดให้มาฟังคำพิพากษาอีกครั้งในวันที่ 8 มี.ค.  

ขณะที่ นพเก้า คงสุวรรณ ผู้สื่อข่าวข่าวสด ซึ่งได้รับสารภาพไปก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 8 มี.ค. เช่นกัน 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น