โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

'เพื่อไทย' ขอโทษ ปม 'เรืองไกร' ชี้นักศึกษาล้อการเมืองฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช

Posted: 05 Feb 2018 10:38 AM PST

เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ส่งจดหมายเปิดผนึก ยันพรรคไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของ จนท.ในปัจจุบัน ในการตั้งข้อกล่าวหาต่อประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง ซึ่งถือเป็นการคุกคามและละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน 

แฟ้มภาพประชาไท

5 ก.พ.2561 จากกรณีปรากฎเป็นข่าวว่า เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคเพื่อไทย ออกมาแสดงความเห็นถึงการออกหมายเรียกเพื่อจะดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่สกายวอล์ก 39 คน และที่กระทรวงกลาโหม 40 คน นั้น ว่า ส่วนหนึ่งของการดำเนินคดีมาจากการใช้ข้อกฎหมายจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองในที่ใดๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ดังนั้นในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งมีกิจกรรมทางการเมืองในลักษณะทำหุ่นและแปรอักษรล้อทางการเมืองด้วย จึงน่าจะเข้าข่ายเป็นการชุมนุมทางการเมืองที่ฝ่าฝืนข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ด้วยนั้น

ล่าสุด ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงพี่น้องประชาชน ผ่านเฟสบุ๊คแฟนเพจ 'Phumtham Wechayachai' กรณีมีการคุกคามการใช้สิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชนและมีความพยายามจะดำเนินคดีต่อประชาชน ,นิสิต นักศึกษา ,คณาจารย์และกลุ่มประชาสังคมบางส่วนที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา 

เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ในการตั้งข้อกล่าวหาต่อประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง ซึ่งถือเป็นการคุกคามและละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน 

ภูมิธรรม กล่าวด้วยว่า สำหรับกรณีที่มีสมาชิกของพรรคเพื่อไทยได้แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างและขัดต่อเจตนารมณ์ของพรรค จึงขอโทษและอภัยต่อเหตุการณ์ที่กระทบจิตใจประชาชน พร้อมยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยจะยังคงยึดมั่นและยืนหยัดในหนทางการต่อสู้เพื่อสิทธิประชาธิปไตยของประชาชนตลอดไป

รายละเอียดจดหมายของ ภูมิธรรม 

จดหมายเปิดผนึกถึงพี่น้องประชาชน

เรียนพี่น้องประชาชน นิสิต นักศึกษา และผู้รักประชาธิปไตยทุกท่าน
 
กรณีที่มีการคุกคามการใช้สิทธิ เสรีภาพของพี่น้องประชาชน และมีความพยายามจะดำเนินคดีต่อประชาชน นิสิต นักศึกษา คณาจารย์และกลุ่มประชาสังคมบางส่วนที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
 
ผมขอยืนยันอย่างหนักแน่นว่า การใช้สิทธิ เสรีภาพโดยสงบ ปราศจากความรุนแรง ตามกรอบของรัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักสิทธิพลเมืองที่สามารถกระทำได้ และผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการดำเนินการของฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐในปัจจุบัน ที่พยายามจะยัดเยียดความผิดและตั้งข้อกล่าวหากับกลุ่มประชาชน นิสิต นักศึกษา คณาจารย์ที่ใช้สิทธิ เสรีภาพในประเด็นต่างๆ ต่างกรรม ต่างวาระในช่วงหลายๆ วันที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการคุกคามและละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ซึ่งแสดงออกอย่างสงบและเปิดเผยตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฏหมายสูงสุดของประเทศให้การคุ้มครองเอาไว้
สำหรับการแสดงออกของนิสิตนักศึกษาและขบวนพาเหรดล้อการเมืองในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ จากกระแสข่าวตามสื่อต่างๆ อ้างว่าได้มีความพยายามดำเนินการตรวจสอบและสกัดกั้นเป็นอย่างมากจากกลุ่มผู้มีอำนาจในปัจจุบันซึ่งกระแสสังคมจากภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ต่างร่วมกันแสดงความคิดเห็นทัดทาน และไม่เห็นด้วยกับการพยายามเข้ามาแทรกแชงการดำเนินกิจกรรมของนิสิต นักศึกษาดังกล่าว เพราะถือเป็นละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกของนิสิต นักศึกษา
 
ผมได้ติดตามดูขบวนพาเหรดและกิจกรรมในวันดังกล่าว เห็นว่าขบวนพาเหรดของ นิสิต นักศึกษาทั้ง 2 มหาวิทยาลัย เป็นการแสดงออกอย่างบริสุทธิ์ สร้างสรรค์ และถือเป็นการใช้เสรีภาพการแสดงออกตามกรอบของกฏหมาย ที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติและรองรับไว้อย่างถูกต้องโดยไม่มีผลกระทบใดๆ ที่เป็นปัญหาหรือเป็นผลเสียหายต่อประเทศและสังคมแต่อย่างใด
 
ตรงข้ามกลับเป็นการกระทำที่สะท้อนจุดยืน และความคิดของนิสิต นักศึกษาทั้ง 2 สถาบัน ที่มีความรับผิดชอบและห่วงใยต่อประเทศชาติอย่างน่าชื่นชมยิ่ง กิจกรรมดังกล่าวต้องถือเป็นกิจกรรมที่ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้เป็นแบบอย่างในการปลุกจิตสำนึกพลเมืองให้เยาวชนของชาติมีความตื่นรู้ในปัญหาบ้านเมืองและเรียนรู้ในการใช้เสรีภาพในการแสดงออกให้เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองในพื้นที่สาธารณะอย่างสร้างสรรค์โดยเปิดเผย
 
ผมจึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการกระทำหรือพฤติกรรมใดๆ ที่จะคัดค้าน/ขัดขวางหรือกล่าวหา ที่ส่งผลกระทบในทางลบต่อกลุ่มคนหรือกลุ่มเยาวชน นิสิต นักศึกษาของชาติ ไม่ว่าจะในงานฟุตบอลประเพณีหรือในพื้นที่งานอื่นๆ ที่ได้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น 
 
ผมคัดค้านการตั้งข้อกล่าวหาต่อกลุ่มประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยและเรียกร้องให้รัฐคืนการเลือกตั้งให้กลับมาดังเดิมตามที่เคยประกาศไว้
 
เรียกร้องให้รัฐยุติการตั้งข้อกล่าวหาต่อกลุ่มประชาชนทุกกลุ่มที่ได้แสดงออกตามสิทธิ เสรีภาพที่พึงมีที่กฏหมายรัฐธรรมนูญได้ให้ความคุ้มครองเอาไว้
 
สำหรับกรณีที่มีสมาชิกบางท่านของพรรคเพื่อไทยได้แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างและขัดต่อเจตนารมณ์ดังกล่าวข้างต้นของพรรค ถือเป็นการกระทำและความคิดเห็นส่วนบุคคลของสมาชิกท่านนั้นๆ และพรรคจะได้ทำความเข้าใจกับสมาชิกพรรคท่านนั้นต่อไป
 
ผมในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ขอแสดงความเสียใจและขอโทษต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอันก่อให้เกิดความรู้สึกที่กระทบต่อจิตใจที่เป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของท่าน และขอยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยจะยังคงยึดมั่นและยืนหยัดในหนทางการต่อสู้เพื่อสิทธิประชาธิปไตยของประชาชนตลอดไป
 
ด้วยจิตคารวะและยึดมั่น
ในการต่อสู้เพื่อสิทธิประชาธิปไตย
 
ภูมิธรรม เวชยชัย
เลขาธิการพรรคเพื่อไทย
5 กุมภาพันธ์ 2561

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหาร-ตำรวจเรียกสอบกลางดึก หลังชาวบ้านภูซางหนุนเดินมิตรภาพ

Posted: 05 Feb 2018 10:23 AM PST

เจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจเรียกชาวบ้านดอยเทวดา อ.ภูซาง จ.พะเยา สอบกลางดึกที่ สภ.ภูซาง หลังชาวบ้านจัดกิจกรรมเชียร์ "We walk เดินมิตรภาพ" พร้อมชูป้ายหนุนปฏิรูปที่ดิน-ผลักดันกฎหมายเพื่อคนจน

เจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจเรียกกลุ่มชาวบ้านดอยเทวดา ต.สบบง อ.ภูซาง จ.พะเยา สอบกลางดึกหลังพบจัดกิจกรรมหนุน "We walk เดินมิตรภาพ" (ที่มา: เพจสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ)

กลุ่มชาวบ้านดอยเทวดา ต.สบบง อ.ภูซาง จ.พะเยา ทำกิจกรรมหนุน "We walk เดินมิตรภาพ" เมื่อช่วงกลางวัน วันที่ 5 ก.พ. ก่อนถูกเรียกสอบช่วงค่ำที่ สภ.ภูซาง (ที่มา: เพจสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ)

เมื่อช่วงค่ำวานนี้ (5 ก.พ.) เจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหารเข้าพื้นที่บ้านดอยเทวดา ต.สบบง อ.ภูซาง จ.พะเยา เพื่อเรียกชาวบ้านไปสอบสวนที่ สภ.ภูซาง อ.ภูซาง จ.พะเยา หลังชาวบ้านกลุ่มหนึ่งจัดกิจกรรมสนับสนุน "We walk เดินมิตรภาพ" ในช่วงกลางวัน

โดยกลุ่มชาวบ้านที่ดอยเทวดา ร่วมกันถือป้าย อ่านแถลงการณ์ให้กำลังใจและสนับสนุนกิจกรรม "We walk เดินมิตรภาพ" พร้อมกับเรียกร้องเรื่องกฎหมายสำหรับคนจน 4 ฉบับ อาทิเรื่องธนาคารที่ดิน ภาษีในอัตราก้าวหน้า

ตอนหนึ่งตัวแทนชาวบ้านได้อ่านแถลงการณ์ระบุว่า "กลุ่มเกษตรกรบ้านดอยเทวดาขอสนับสนุนการเดินมิตรภาพ เดินไปหาเพื่อน เดินไปหาอนาคตในประเด็นต่างๆ เช่น หนึ่ง กฎหมาย 4 ฉบับเพื่อคนจน ภาษีอัตราก้าวหน้า ธนาคารที่ดิน สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ กองทุนยุติธรรม สอง บัตรประกันสังคม บัตรประกันสุขภาพ สาม สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ทั้งนี้กลุ่มเกษตรกรบ้านดอยเทวดาขอร่วมเดิน We walk เดินมิตรภาพ เพื่อเสนอแนวทางต่อสังคม ด้วยจิตคารวะ กลุ่มเกษตรกรบ้านดอยเทวดา"

ต่อมาในช่วงบ่าย รายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 5-6 นาย มายังบ้านของชาวบ้านรายหนึ่งที่ร่วมกิจกรรม พร้อมกับพูดคุยเรื่องการไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบก่อนการทำกิจกรรม อ้างว่าจะได้เข้ามารักษาความปลอดภัย และเกรงจะมีมือที่สามเข้ามาแทรกแซง หรือสอดแทรกเรื่องการเมือง เจ้าหน้าที่ยังขอรายชื่อและเบอร์ติดต่อของชาวบ้าน

และยังมีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบประมาณ 6-7 นาย ติดตามเข้าไปหาชาวบ้านที่ร่วมกิจกรรมด้วย โดยระบุว่ามาตรวจสอบกิจกรรมที่อาจจะเป็นการกระทบความมั่นคง

จากนั้นเวลาประมาณ 19.00 น. ชาวบ้าน 2 ราย ได้รับโทรศัพท์จากผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ติดต่อให้เดินทางไปที่ สภ.ภูซาง เพื่อเซ็นเอกสารรับทราบเรื่องการจัดกิจกรรมช่วงกลางวัน

โดยเวลาประมาณ 19.30 น. กลุ่มชาวบ้านและนักกิจกรรมที่เข้าไปร่วมกิจกรรมจำนวน 9 ราย ได้เดินทางไปที่ สภ.ภูซาง โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจรออยู่แล้ว

โดยรายงานของเพจสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือระบุว่าการสอบสวนเกิดขึ้นในช่วงค่ำ โดยแยกสอบชาวบ้านที่ถือป้าย และทีมทนายในพื้นที่ นอกจากนี้มีนายอำเภอภูซางมาสอบถามเหตุการณ์ด้วย โดยเท่าที่รายงานข่าวในขณะนี้ (6 ก.พ. เวลา 00.30 น.) ยังไม่มีการแจ้งข้อหา โดยรายละเอียดจะแจ้งต่อไป
 
สำหรับพื้นที่บ้านดอยเทวดา เป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน โดยมีข้อพิพาทกับบริษัทเชียงคำฟาร์ม จำกัด ซึ่งฟ้องบุกรุกชาวบ้านในคดีแพ่งรวม 8 คดี ขณะที่ศาลเริ่มนัดไกล่เกลี่ยคู่ความในเดือนมิถุนายน 2559 (อ่านรายละเอียดในเว็บไซต์ประชาธรรม)
 
ทั้งนี้ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว 'เดินมิตรภาพ' ตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. ที่ผ่านมา ให้ตำรวจดูแลกิจกรรมการเดินมิตรภาพ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มิให้กระทำการใด ๆ ที่มีลักษณะเป็นการปิดกั้น ขัดขวาง ในการใช้เสรีภาพการชุมนุม จนถึงวันที่ 17 ก.พ.
 
อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ให้ความร่วมมือ เช่นเมื่อวันที่ 1 ก.พ. เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองใน อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา เข้ามาบอกกับขบวนเดินมิตรภาพให้นอนพักที่วัดโนนมะกอกได้ 1 คืน จากที่เคยขอเจ้าอาวาสวัดนอนพักได้ 3 คืน และกรณีล่าสุดคือทหาร-ตำรวจเรียกกลุ่มชาวบ้านที่ จ.พะเยา เรียกสอบหลังพบจัดกิจกรรมหนุนการเดินมิตรภาพดังกล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ศูนย์ทนายสิทธิฯ' ร้องรัฐยุติดำเนินคดี ไม่ว่ากลุ่มต้าน-หนุนประวิตร

Posted: 05 Feb 2018 08:53 AM PST

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ร้อง จนท.รัฐ ยุติการดำเนินคดีต่อผู้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบตามที่รัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศรับรอง เคารพการใช้สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชน ชี้จำเป็นและต้องสามารถกระทำได้บนวิถีทางแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

5 ก.พ.2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดี ต่อผู้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ โดยระบุถึงกรณี เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา มีกลุ่มประชาชนออกมาชุมนุมถือป้ายให้กำลังใจและสนับสนุน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ บริเวณหน้ากระทรวงกลาโหม ซึ่งภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน. พระราชวังได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ชุมนุม ต่อมาวันที่ 5 ก.พ.2561 อดุลย์ ธรรมจิตต์ หนึ่งในผู้ชุมนุมได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สน.พระราชวัง เพื่อรับข้อกล่าวหาว่าเข้าร่วมการชุมนุมเกิน 5 คน โดยไม่รับอนุญาตตามคำสั่ง หัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และชุมนุมในเขตรัศมีไม่เกิน 150 เมตร จากเขตพระราชฐาน ตามมาตรา 7 ประกอบกับมาตรา 27 พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ  พ.ศ. 2558 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า บนพื้นฐานของการบังคับใช้กฎหมายโดยไม่เลือกปฏิบัติ รัฐไทย ในฐานะภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ICCPR) ต้องผูกพันต่อการใช้อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการไปในทางเคารพ รับรอง ปกป้อง และคุ้มครองซึ่งเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งกำหนดไว้ในข้อบทที่ 21 ของกติกาดังกล่าว และที่ได้รองรับไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560  มาตรา 44
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงมีความเห็นต่อการดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลซึ่งใช้เสรีภาพชุมนุมตามที่ปรากฏรายละเอียดในข้างต้น ดังนี้ 1. ในปัจจุบันพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 เป็นกฎหมายหลักซึ่งบัญญัติลักษณะการใช้เสรีภาพในการชุมนุมในที่สาธารณะ และอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานรัฐในการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้สิทธิดังกล่าว โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า กฎหมายชุมนุมสาธารณะนั้นจำกัดการใช้สิทธิในการชุมนุมของประชาชนเกินความจำเป็นและไม่ได้สัดส่วนจนกระทบต่อสาระสำคัญแห่งการใช้สิทธินั้น ซึ่งรวมถึงมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย
 
2. การดำเนินคดีด้วยข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12. และพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ที่เกิดขึ้นกับบุคคลทั่วไปอย่างกรณีข้างต้นตลอดจนการชุมนุมของเครือข่ายประชาชน People Go และกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง (MBK 39) เป็นผลจากการที่เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายเห็นว่า เป็นการชุมนุมที่มีลักษณะมั่วสุมหรือเป็นการชุมนุมทางการเมือง ทำให้ขอบเขตของการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้เสรีภาพชุมนุมที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศ กลายเป็นเสรีภาพที่ขึ้นอยู่กับอำเภอใจของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายว่าจะใช้ดุลพินิจตีความการชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมทางการเมืองหรือไม่ หรือเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ต้องแจ้งการชุมนุมตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558
 
3.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ได้มีข้อสังเกตเชิงสรุปต่อรายงานตามวาระฉบับที่สองของประเทศไทยในเดือนมีนาคม 2560 ที่ผ่านมาว่า ไทยควรจะประกันและคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และหลีกเลี่ยงการจำกัดใด ๆ ที่ไม่สอดคล้องตามหลักเกณฑ์การเลี่ยงพันธกรณีของข้อ 4 ของ ICCPRโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรงดเว้นจากการควบคุมตัวบุคคลที่ใช้สิทธิของตนโดยไม่ได้เป็นเหตุให้เกิดความเสี่ยงอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงแห่งชาติหรือความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุด้วยว่า ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจและบุคคลากรที่เกี่ยวข้อง ยุติการดำเนินคดีต่อผู้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบตามที่รัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศรับรองทุกกรณี และเรียกร้องให้รัฐไทยเคารพการใช้สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชน ตลอดจนยอมรับว่าสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิที่จำเป็นและต้องสามารถกระทำได้บนวิถีทางแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ญาติคนตายจากเหตุสลายชุมนุม นปช.ปี 53 ร้องอัยการสูงสุดเร่งรัดส่งฟ้องคดี

Posted: 05 Feb 2018 05:49 AM PST

ญาติผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม นปช. ปี 53 ร้องอัยการสูงสุดเร่งรัดส่งฟ้องคดี และนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ หลังคดียังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร ทั้งที่มีคำสั่งศาลชี้ชัดว่า 
ส่วนใหญ่พบว่าผู้เสียชีวิตถูกกระสุนปืนจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทหาร 

 

5 ก.พ.2561 ข่าวสดออนไลน์และไทยโพสต์ รายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 10.00 น. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ โชคชัย อ่างแก้ว ทนายความ พร้อมกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ปี 2553 มายื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด(อสส.) ขอให้ติดตามและสอบถามความคืบหน้าในคดีสลายการชุมนุม เนื่องจากทราบว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการบางส่วนแล้ว โดยมี โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้รับหนังสือ

โชคชัย กล่าวว่าในฐานะทนายของญาติผู้เสียชีวิต ยื่นหนังสือขอให้อสส. เร่งรัดฟ้องคดีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในการสลายการชุมนุม ซึ่งเดิมดีเอสไอเคยมีความเห็นสมควรสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ แต่ภายหลังศาลชี้ว่าคดีอยู่ในอำนาจคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
 
โชคชัย กล่าวว่า แต่เรื่องนี้ยังมีผู้เกี่ยวข้องอื่นที่เป็นผู้กระทำความผิดด้วย เช่น ผู้ที่ลงมือกระทำ และผู้สั่งการระดับปฏิบัติงาน ซึ่งตนทราบว่าคดียังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร ยังไม่มีการส่งตัวฟ้องหรือสั่งฟ้องผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดดังกล่าว จึงมายื่นหนังสือต่ออสส. โดยในคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพที่ศาลเคยมีคำสั่งแล้ว ส่วนใหญ่พบว่าผู้เสียชีวิตถูกกระสุนปืนจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งพนักงานสอบสวนจะต้องสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิด อย่างในเหตุการณ์ที่วัดปทุมวนาราม ก็ปรากฏตัวผู้กระทำความผิดชัดเจน เราจึงขอให้ดำเนินการเพราะเหตุการณ์นี้ผ่านมา 8 ปีแล้ว ถือว่านานมาก
 
ต่อคำถามที่ว่าดีเอสไอสรุปสำนวนเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องบางส่วนให้อัยการแล้วใช่หรือไม่ นั้น โชคชัย กล่าวว่า ทราบว่าดีเอสไอดำเนินการในเรื่องนี้และสรุปสำนวนส่งให้อัยการแล้ว การเสียชีวิตของผู้ชุมนุมมีจำนวนมากในหลายพื้นที่ ในรายละเอียดที่ดีเอสไอสรุปสำนวนของเจ้าหน้าที่คนใดบ้างนั้น ทางทนายและญาติก็ยังไม่ทราบรายละเอียดว่ามีความเห็นควรสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องใครบ้าง แต่ยืนยันว่าเหตุการณ์มีผู้กระทำความผิดชัดเจน และทหารที่ปฏิบัติการอยู่ขณะนั้นก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ซึ่งจะมีผู้เกี่ยวข้องในหลายระดับ เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนจะต้องสืบไปถึงผู้สั่งการและผู้ลงมือกระทำ ตอนนี้เราทราบว่ามีการสอบสวน และมีข่าวในทางที่ทำให้ญาติผู้เสียชีวิตรู้สึกกังวลในคดี
 
โชคชัย กล่าวว่า ในส่วนของอภิสิทธิ์และสุเทพ ศาลฎีกาชี้ว่าเป็นอำนาจของ ป.ป.ช. ที่ต้องส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทางญาติได้ไปยื่นเรื่องติดตามบ้างแล้ว รอการแจ้งตอบกลับของป.ป.ช.ว่าเรื่องถึงไหนแล้ว และทางญาติยังไม่ทราบว่า ป.ป.ช.ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนขึ้นมาแล้วหรือไม่
 
ด้าน รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า จากที่ทนายความระบุเรื่องมีอยู่หลายที่ ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าสำนวนอยู่ในชั้นใด แต่เมื่อได้รับคำร้องเร่งรัดคดีในวันนี้ จะนำเรียนอสส. ถ้าเรื่องใดที่อยู่ในอำนาจของอสส. ตนจะส่งให้อสส.ขอให้เร่งรัดในคดีตามที่มีคำร้องมา เราจะติดตามความคืบหน้าเพื่อแจ้งให้ทนายและญาติผู้เสียชีวิตทราบ ส่วนหากสำนวนยังไม่มาถึงอัยการ เราจะเรียนผู้บังคับบัญชาว่าจะมีทางใดที่จะให้ความเป็นธรรมได้บ้าง นโยบายของอสส. หากมีคำร้องมาเราจะต้องตอบได้ทุกเรื่อง หากดีเอสไอส่งสำนวนมาจริง คดีนี้จะเข้าสู่สำนักงานอัยการคดีพิเศษ
 
ต่อกรณีคำถามว่าใช้เวลาตรวจสอบนานหรือไม่ว่า สำนวนจากดีเอสไอส่งเข้ามาถึงอัยการแล้วหรือไม่ นั้น รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดกล่าวว่า ถ้าสำนวนอยู่ที่อัยการ ใช้เวลาวันเดียวก็ตรวจสอบได้แล้ว ปัญหาคือมีสำนวนเข้ามาแล้วหรือไม่ และถ้ามีสำนวนเข้ามาแล้ว เราสามารถแจ้งญาติผู้เสียชีวิตได้ว่าคดีอยู่ในขั้นตอนไหน
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปรับ 3 พัน แท็กซี่ร่วมเชียร์‘พล.อ.ประวิตร’ หน้ากลาโหม ผิด พ.ร.บ.ชุมนุม

Posted: 05 Feb 2018 04:33 AM PST

ผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ศาลสั่งปรับ 6 พันบาท คำรับสารภาพลดกึ่งหนึ่งเหลือ 3 พันบาท คนขับแท็กซี่ ร่วมชุมนุมให้กำลังใจ พล.อ.ประวิตร หน้ากระทรวงกลาโหม 

5 ก.พ.2561 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า วันนี้ เมื่อเวลา 09.00 น. ที่สน.พระราชวัง อดุลย์ ธรรมจิตต์ อายุ 54 ปี ชาวกทม. อาชีพขับแท็กซี่ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมชุมนุมหน้ากระทรวงกลาโหม เพื่อแสดงการสนับสนุนและเป็นกำลังใจต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้เดินทางเข้ามอบตัวต่อ ร.ต.อ.เทวินทร์ พิกุลทอง รองสารวัตรพนัก (สอบสวน) สน.พระราชวัง โดยมี พ.ต.อ.ชยุต มาร์ยาต รอง ผบก.น.1 และ พ.ต.อ.ธนกฤต ไชยจารุวุฒิ ผกก.สน.พระราชวัง ร่วมสอบสวนว่า บุคคลดังกล่าวเป็นบุคคลตามที่มีภาพปรากฏยืนชูป้ายในวันชุมหน้ากระทรวงกลาโหมหรือไม่

รายงานข่าวระบุด้วยว่า จากการสอบสวน อดุลย์ ได้ให้การสารภาพว่า ในวันดังกล่าวตนได้ได้เดินทางไปใหว้ศาลหลักเมือง พอไหว้เสร็จก็ออกมาพบว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมให้กำลังใจ พล.อ.ประวิตร ตนจึงเข้าร่วมชุมนุมดังกล่าวจริง เนื่องจากตนได้ชื่นชอบ พล.อ.ประวิตร เป็นการส่วนตัว ส่วนภาพที่มีสื่อมวลชนนำเสนอเป็นตัวเองยืนชูป้ายนั้น ได้เอามาจากกลุ่มผู้ชุมนุมคนหนึ่ง ซึ่งตนอ่านดูแล้วข้อความไม่มีความรุนแรงอะไร แต่หลังจากตนเห็นภาพตนเองและทราบข่าวจากสื่อต่างๆ ว่าการเข้าร่วมชุมดังกล่าวผิดกฎหมาย โดยยอมรับว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงเดินมามอบตัวเพื่อแสดงความเจตนาความบริสุทธิ์ใจ ต่อพนักงานสอบสวนในวันนี้

ทั้งนี้พนักงานสอบสวนได้ แจ้งข้อหา"กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมเกิน 5 คน โดยไม่รับอนุญาต ตามคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ชุมนุมในเขตพื้นที่ห่างไม่เกิน 150 เมตร จากเขตพระราชฐาน ตามมาตรา 7 ซึ่งมีอัตราปรับไม่เกิน 10,000 บาท โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน" จากนั้นทางพนักงานสอบสวนได้นำตัวผู้ต้องหาไปส่งฟ้องศาลแขวงดุสิต เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ศาลจึงมีคำพิพากษาว่า จำเลยทำผิดตามฟ้อง ลงโทษปรับ 6 พันบาท คำรับสารภาพเป็นประโยชน์ลดกึ่งหนึ่งเหลือ 3 พันบาท

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์และกรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ร้องอียูช่วยแก้ปัญหา ชมฝรั่งเศสประกาศยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน

Posted: 05 Feb 2018 04:04 AM PST

เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ยื่นสหภาพยุโรป ขอให้ช่วยดำเนินการเพื่อคลี่คลายปัญหาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และสารถึงประธานาธิบดีฝรั่งเศส  ขอบคุณ ประกาศยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดในประเทศ

5 ก.พ.2561 รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ เมื่อเวลา 11.00 น. ดิเรก เหมนคร และคณะผู้แทนเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ได้เดินทางเข้าพบผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เพื่อขอให้ช่วยดำเนินการคลี่คลายปัญหาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และพบผู้แทนสถานฑูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เพื่อสารแสดงความขอบคุณถึงประธานาธิบดีฝรั่งเศส กรณีประกาศยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดในประเทศฝรั่งเศส

รายลเอียดหนังสือ 2 ฉบับ :

เครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน

73 หมู่ที่ 6 ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา 90150

 

ที่พิเศษ 4 /2561             

วันที่ 5 กุมภาพันธ์  2561

 

เรื่อง ขอให้ช่วยดำเนินการเพื่อคลี่คลายปัญหาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

เรียน สหภาพยุโรป

ตามที่เครือข่ายคนสงขลา – ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ได้ขึ้นมาเมืองหลวงในครั้งนี้ เพราะเราต้องการที่จะเรียกร้องกับรัฐบาล และท่านนายกฯประยุทธ์ 2 เรื่อง คือ

·       รัฐบาลควรสั่งยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

·       รัฐบาลต้องยุติการดำเนินคดีกับพวกเราทั้งหมด 17 คน

ทั้งนี้ยังได้มีคำถามที่อยากให้รัฐบาลตอบอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ

§  รัฐบาลจะอพยบพวกเราที่เป็นประชาชนอยู่ในพื้นที่จำนวน  240 ครัวเรือนนี้ไปไว้ที่ไหน และท่านจะสั่งให้มีการรื้อถอนมัสยิด วัด โรงเรียนปอเนาะ และกุโบร์(สุสาน) ของพวกเรา อันเป็นสิ่งแสดงถึงความเป็นรากฐานของชุมชนพวกเราออกไปกระนั้นหรือ ?

§  ท่านจะปล่อยให้มีการใช้กระบวนการที่ไม่ชอบ ไม่เป็นธรรมที่ กฟผ.และบริษัทที่ปรึกษา ได้นำมาใช้ในการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA. ในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เสมือนเป็นการฝืนบังคับพวกข้าพเจ้าให้ยอมรับ จนกระบวนการเหล่านี้ดำเนินไปอย่างที่ไม่สนใจในคำทักท้วงใดๆ โดยเฉพาะนักวิชาการที่ต่างออกมาชี้ว่ากระบวนการศึกษาดังกล่าวไม่ได้มาตรฐานตามหลักวิชาการ แล้วท่านยังจะรับรองกระบวนการดั่งกล่าวนี้ต่อไปกระนั้นหรือ ?

§  การสั่งให้มีการสลายการเดินอย่างสงบ สันติ และอหิงสา เพื่อไปยื่นหนังสือให้กับท่านถือเป็นความผิดกระนั้นหรือ ? ท่านถึงได้สั่งให้มีการจับกุมและดำเนินคดีกับพวกเราจำนวน 17 คน

โอกาสนี้จึงได้เดินทางมายื่นหนังสืออันเป็นข้อเรียกร้อง และบอกเล่าถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นให้กับรัฐบาลได้รับทราบตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมา และได้นั่งรอคำตอบอยู่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลจนถึงขณะนี้ หากแต่ยังไม่คำตอบอันเป็นที่พอใจ ดังนั้นการเดินทางมาขอพบเจ้าหน้าที่ของสหภาพยุโรป หรือ EU. ในวันนี้ ก็เพื่อที่จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สื่อสารถึงความทุกข์ร้อนที่กำลังจะเกิดขึ้นกับพวกเราให้สังคมภายนอกได้รับรู้ พร้อมกันนี้จึงขอเสนอแนวทางเพื่อจะนำไปสู่การดำเนินการช่วยเหลือต่อไป ดังนี้

1.      ขอให้ติดตามนโยบายการบริหารจัดการพลังงานของประเทศไทยว่าเป็นไปตามที่ได้ตกลงกันไว้ในคราวที่มีการประชุมเรื่องการลดสภาวะโลกร้อนที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ. 2558 ซึ่งรัฐบาลไทยไทยโดยนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ร่วมลงนามในครั้งนั้นด้วย

2.      ขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ได้เกิดขึ้นแล้วกับพวกเรา 2 เรื่อง คือ เรื่องที่อยู่อาศัย และที่ทำกิน ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกำลังขอใช้สถานที่ก่องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาบนพื้นที่เกือบ 3,000 ไร่ นั้น จะเป็นการอพยบ และโยกย้ายชุมชนครั้งใหญ่ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมาของประเทศไทย จึงเป็นการละเมิดสิทธิในการอยู่อาศัยอย่างรุนแรง  และเรื่องที่สองคือ การจับกุม และสั่งดำเนินคดีกับพวกเราที่ออกมาเดินเพื่อไปยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรี ที่ท่านเดินทางมาประชุมที่จังหวัดสงขลาเมื่อปลายปีที่แล้วนั้นถือเป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิในการแสดงออกของประชาชนด้วยหรือไม่ อย่างไร ทั้งที่การกระทำดังกล่าวคือการออกมาปกป้องชุมชน และที่อยู่อาศัยที่ทำกินของพวกเราอย่างเปิดเผย

3.       ช่วยเปิดพื้นที่สาธารณะ หรือเป็นกลไกการประสานงานเพื่อให้มีการพูดคุยระหว่างผู้ได้รับผลกระทบ กับรัฐบาล เพื่อให้มีการสื่อสารปัญหา ข้อเท็จจริงและร่วมกันคิดหาทางออกต่อเรื่องนี้อย่างเหมาะสมต่อไป ตลอดถึงการได้ใช้โอกาสนี้ในการสื่อสารกับสาธารณะชนให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้างทั้งภายใน และภายนอกประเทศ

การมีโอกาสได้เข้าพบ และนำเสนอปัญหาให้กับผู้แทนสหภาพยุโรปได้รับรู้ในวันนี้ ถือเป็นโอกาสอันสำคัญที่จะทำให้พวกเราได้รับข้อเสนอแนะ และแนวทางที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นนี้ต่อไป จึงขอขอบคุณไปถึงผู้บริหารของท่านในโอกาสนี้ด้วย

จึงเรียนมาเพื่อทราบ และพิจารณาดำเนินการต่อไป

ขอแสดงความนับถือ

(ดิเรก  เหมนคร)
เครือข่ายคนสงขลา – ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

 

สารแสดงความขอบคุณ

ถึง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส

กรณี ประกาศนโยบายยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดในประเทศฝรั่งเศส

ตามที่นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้ประกาศในที่ประชุมเมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในงาน เวิลด์อีโคโนมิก ฟอรัม 2018 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว "ประเทศฝรั่งเศสจะปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่ทั้งหมดภายในปี 2021" อีก 3 ปีข้างหน้า ถือเป็นความกล้าหาญชาญชัยของผู้นำรุ่นใหม่ อันถือเป็นสิ่งที่สังคมโลกจะต้องร่วมกันสดุดียกย่อง และจะต้องยึดแนวทางนี้เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในประเทศต่างๆต่อไป ทั้งนี้แนวทางดังกล่าวนั้นถือว่าสอดคล้องกับประชาคมโลกที่ได้ร่วมกันประกาศที่จะลดกิจกรรม หรือโครงการที่จะทำให้บรรยากาศของโลกร้อนมากไปกว่านี้ ในการประชุมคอป 21 ที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา

เครือข่ายคนสงขลา – ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาในภาคใต้ ที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ซึ่งพวกเราเห็นว่าเป็นการดำเนินการที่ขัดแย้งกับข้อตกลงที่รัฐบาลไทยได้เคยไปทำข้อตกลงไว้ในการประชุมในครั้งนั้นด้วย

ดังนั้นแล้วเราเห็นว่าการประกาศดังกล่าวนั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์ให้ผู้นำทั่วโลกได้ยอมรับ และเข้าใจร่วมกันว่าการผลิตพลังงานไฟฟ้าไม่จำเป็นต้องใช้เชื่อเพลิงจากถ่านหินเท่านั้น หากแต่ยังมีทางออกและทางเลือกอื่นที่ดีกว่า ดังที่ท่านประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้แสดงวิสัยทัศน์ต่อเรื่องนี้ออกมาให้เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกัน ซึ่งไม่เพียงแค่การทำให้ประเทศของท่านอยู่ในบรรยากาศที่บริสุทธิ์เท่านั้น แต่ท่านกำลังจะช่วยให้โลกใบนี้สะอาดบริสุทธิ์ขึ้นด้วยเช่นกัน  พวกเราในนามเครือข่าย และในนามของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้หลายจังหวัดที่กำลังประสบชะตากรรมเดียวกัน และอาจจะรวมถึงประชาชนไทยทั้งประเทศด้วย  เราจึงขอสนับสนุนและขอยกย่องในความกล้าหาญของท่านมาในโอกาสนี้

ขอแสดงความเคารพ นับถือ

(ดิเรก  เหมนคร)

เครือข่ายคนสงขลา – ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผยปี 60 มีผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อมทั่วโลกถูกสังหารรวม 197 ราย

Posted: 05 Feb 2018 03:28 AM PST

ข้อมูลจากองค์กรสิ่งแวดล้อมโกลบอลวิตเนสส์ (Global Witness) แสดงให้เห็นว่าในปี 2560 ที่ผ่านมามีคนที่ถูกสังหารเพราะปกป้องสิ่งแวดล้อมรวม 197 ราย ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกป้องผืนดินของตัวเอง ผู้พิทักษ์สัตว์ป่า หรือปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ เฉลี่ยแล้วมีนักสิ่งแวดล้อมถูกสังหารสัปดาห์ละเกือบ 4 คน

2 ก.พ. 2561 เดอะการ์เดียนและโกลบอลวิตเนสส์ร่วมกันนำเสนอเรื่องนี้เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับคนต่อสู้ด้านสิ่งแวดล้อม โดยจากการสำรวจของพวกเขาระบุว่าจำนวนผู้เสียชีวิตรวม 197 รายนี้เพิ่มขึ้นมาเป็น 4 เท่าเทียบกับการสำรวจในครั้งแรกเมื่อปี 2545 แสดงให้เห็นว่าระบบเศรษฐกิจโลกแบบทุกวันนี้กลายเป็นสาเหตุพื้นฐานให้เกิดความรุนแรงต่อนักสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร
 
เบน เลทเธอร์ นักรณรงค์อาวุโสของโกลบอลวิตเนสส์กล่าวว่าสถานการณ์ในเรื่องนี้ยังคงวิกฤต ถ้าหากชุมชนยังไม่สามารถมีส่วนร่วมตัดสินใจในเรื่องการใช้ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติของตัวเองได้อย่างจริงจัง คนที่พูดเรื่องนี้ออกมาดังๆ ก็จะยังถูกคุกคาม ถูกคุมขัง และถูกขู่ฆ่า
 
กระนั้นพวกเขาก็ยังพอมีความหวังมากขึ้นบ้างจากการที่ผู้คนในโลกมีความตระหนักรู้ในเรื่องนี้มากขึ้น และมีการผลักดันให้บรรษัทข้ามชาติมีความรับผิดชอบมากขึ้นและให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาการลอยนวลไม่ต้องรับผิด
 
ข้อมูลของโกลบอลวิตเนสส์ระบุอีกว่าการสังหารส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าของประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะในลาตินอเมริกา โดยมีอุตสาหกรรมการขุดเจาะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการสังหารเมื่อนับจากสถิติแล้ว โดยข้อมูลระบุว่ามีคนที่ถูกสังหารจากความขัดแย้งเหมืองแร่รวม 36 รายในปี 2560 เนื่องจากมีความต้องการวัตถุดิบก่อสร้างมากขึ้นในระดับโลก
 
มีการยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับครอบครัวยาดาฟในอินเดียที่มีสมาชิกครอบครัว 3 รายถูกสังหารเมื่อเดือน พ.ค. 2560 เพราะพวกเขาพยายามปกป้องไม่ให้มีการขุดทรัพยากรทรายออกไปจากตลิ่งของหมู่บ้านจัตปุระของพวกเขา อีกกรณีหนึ่งในตุรกีมีคู่รักเกษียณอายุ 2 คน ถูกยิงที่บ้านตัวเองหลังจากพวกเขาชนะคดีทำให้มีการปิดเหมืองหินที่จะนำไปใช้สร้างโรงแรมหรูและอนุสรณ์สถาน ความกระหายทรัพยากรเหมืองแร่ยังทำให้เทือกเขาแอนดิสกลายเป็น "สมรภูมิ" ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนพื้นเมืองต่างๆ กับเจ้าของเหมืองแร่ในเปรูและโคลอมเบีย
 
ธุรกิจการเกษตรยังเป็นอีกหนึ่งในแรงขับดันให้เกิดความรุนแรงจากการที่ซูเปอร์มาร์เก็ตมีความต้องการถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม อ้อย และเนื้อ สูงขึ้น ทำให้ต้องมีการรุกล้ำทำไร่ในพื้นที่ชุมชนต่างๆ จุดที่มีการสังหารสูงมากคือในพื้นที่แอมะซอน ประเทศบราซิล ที่มีผู้ถูกสังหาร 46 ราย ในโคลอมเบียก็มีการสังหารเนื่องจากเหตุเรื่องความขัดแย้งที่ดินจนมีผู้เสียชีวิต 32 ราย ความขัดแย้งในโคลอมเบียเพิ่มสูงขึ้นหลังจากมีการตกลงสันติภาพกับกลุ่มกบฏฟาร์ค (FARC) ในปี 2558 จนทำให้เกิดสูญญากาศทางอำนาจในพื้นที่ที่ฟาร์คเคยปกครองมาก่อน
 
ในเปรูก็มีเหตุชาวนา 6 คนถูกสังหารโดยแก๊งอาชญากรที่ต้องการได้ที่ดินของพวกเขาในราคาถูกแล้วขายให้กับธุรกิจน้ำมันปาล์มในราคาแพงๆ ประเทศอื่นๆ ที่มีความรุนแรงจากแก๊งอาชญากรคือเม็กซิโกและฟิลิปปินส์ซึ่งฟิลิปปินส์มีผู้เสียชีวิต 41 ราย กลายเป็นประเทศที่มีการสังหารผู้คุ้มครองสิ่งแวดล้อมสูงที่สุดในเอเชีย ปัจจัยสำคัญยังมาจากการขยายผลปราบปรามผู้คนโดยประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต เช่น ในกรณีที่ทหารฟิลิปปินส์สังหารหมู่ชาวลูมาดที่ทะเลสาปเซบูเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2560
 
ข้อมูลของโกลบอลวิตเนสส์ระบุต่อไปว่าในกรณีของแอฟริกานั้นภัยส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มคนล่าสัตว์และค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย โดยเฉพาะในคองโกที่มีอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ถูกลอบสังหารเมืองเดือน ก.ค. 2560 ในประเทศแทนซาเนียก็มีนักอนุรักษ์ชื่อดังที่ถูกสังหารหลังจากถูกขู่ฆ่า
 
อย่างไรก็ตามโกลบอลวิตเนสส์เชื่อว่าอาจจะมีตัวเลขผู้ถูกสังหารมากกว่านี้ที่ไม่ได้รับการรายงานไว้ รวมถึงมีกรณีการข่มเหงรังแกหรือคุกคามในแบบอื่นๆ นอกจากการสังหาร ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกายหรือการใช้กฎหมายลงโทษ เช่นกรณีนักสิ่งแวดล้อมเอกวาดอร์ถูกขว้างหินทะลุกระจกแล้วมีคนตะโกนขู่ฆ่าเธอ
 
จากการสำรวจขององค์กรความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมแอตลาสระบุว่ามีกรณีความขัดแย้งด้านที่ดินและสิ่งแวดล้อมรวม 2,335 กรณี และจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
 
มีความน่ากังวลว่าเหตุความรุนแรงที่ผ่านมาส่วนใหญ่ไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ก็มีบางประเทศที่พัฒนาการดีขึ้นจากตัวเลขความรุนแรงลดลงถึงแม้ว่านักกิจกรรมจะยังอยู่ในสภาพเสี่ยงภัย กลุ่มภาคประชาสังคมและสถาบันระดับนานาชาติเองก็ขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการร่วมกันของ 116 องค์กรในฟิลิปปินส์ที่ล่ารายชื่อเพื่อประกาศว่า "การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมไม่ใช่อาชญากรรม" กลุ่มชุมชนชนพื้นเมืองก็ได้เข้าร่วมพูดถึงปัญหาตัวเองในเวทีเกี่ยวกับโลกร้อนและต่อสหประชาชาติ
 
อีกทั้งหลังจากกรณีการเสียชีวิตของเบอร์ตา คาเซเรส ธนาคารเพื่อการพัฒนาของเนเธอร์แลนด์ (FMO) ประกาศว่าความปลอดภัยของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาในการตัดสินใจลงทุนในอนาคต จอห์น น็อกซ์ ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมก็เรียกร้องให้รัฐบาลเล็งเห็นถึงปัญหาวัฒนธรรมการลอยนวลไม่ต้องรับผิด และบอกว่าสื่อมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความโปร่งใส
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Almost four environmental defenders a week killed in 2017, The Guardian, 02-02-2018
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เตรียมยกศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีเป็นศูนย์ความร่วมมือ WHO ด้านยาต้านพิษ

Posted: 05 Feb 2018 02:58 AM PST

ผอ.ใหญ่องค์การอนามัยโลก เยี่ยมชม 'ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี' จัดระบบช่วยผู้ป่วยเข้าถึงยาต้านพิษ พร้อมชื่นชมไทยส่งยาต้านพิษรักษาผู้ป่วยไนจีเรีย เป็นการช่วยเหลือเพื่อมนุษยชน พร้อมหนุนยกเป็น 'ศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลกด้านยาต้านพิษ' ต้นแบบประเทศอื่นพัฒนาระบบการเข้าถึงยา 

5 ก.พ.2561 รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ศูนย์พิษวิทยา รามาธิบดี เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา เวลา 11:30 น. ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Dr.Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก, พญ.พูนาม เคตราปาล ซิงห์ (Dr.Poonam Singh) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก (WHO-SEARO) และคณะผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก พร้อมด้วย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานในการจัด "ระบบเพื่อเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษและเซรุ่มแก้พิษงู" ของ "ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี" คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งร่วมดำเนินการกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกได้อยู่ระหว่างกระบวนการดำเนินการเพื่อให้ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีเป็นร่วม "ศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลกด้านยาต้านพิษ" จากผลงานด้านการพัฒนาระบบการเข้าถึงยากำพร้า ไม่เพียงแต่ดูแลผู้ป่วยในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังดูแลผู้ป่วยในประเทศเพื่อนบ้าน ล่าสุดช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้มีการจัดส่งยาต้านพิษโบทูลินัมแอนตีท็อกซิน (Botulinum antitoxin)ไปยังประเทศไนจีเรีย เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ได้รีบพิษจากโบทูลินัมท็อกซิน (Botulinum toxin)

ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า การที่ประเทศไทยได้ช่วยเหลือผู้ป่วยไนจีเรียที่ได้รับพิษโบทูลินัมท็อกซิน นับเป็นการช่วยชีวิต ถือเป็นเรื่องที่ดี เป็นการช่วยเหลือเพื่อมนุษยชน โดยเป็นผลจากการพัฒนาระบบการเข้าถึงยากำพร้าที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งนี้มองว่าควรมีการพัฒนาต่อยอด โดยองค์การอนามัยพร้อมสนับสนุนเพื่อให้ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีร่วมเป็นศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลกด้านยาต้านพิษ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการขององค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ด้าน นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ผลงานที่เกิดขึ้นมาจากการจัดระบบเพื่อเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษและเซรุ่มแก้พิษงู ทั้งในด้านบริหารจัดการ การจัดเก็บและการจัดส่ง เบื้องต้นเป็นการเริ่มต้นในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงยา จากการทำงานของศูนย์พิษวิทยาฯ และ สปสช.ร่วมกันอย่างใกล้ชิด ผลที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ดูแลผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมการรักษาผู้ป่วยทั้งประเทศ รวมถึงยังช่วยเหลือผู้ป่วยในประเทศที่ขาดแคลนที่จำเป็นต้องได้ยาต้านพิษได้

ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี กล่าวว่า เนื่องจากผู้อำนวยการใหญ่องค์กาอนามัยโลกได้เดินทางมาร่วมประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2560 จึงขอมาดูงานที่ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีด้วย จากกรณีที่ไทยสามารถจัดส่งโบทูลินัมแอนตีท็อกซินไปช่วยเหลือผู้ป่วยไนจีเรียได้ ทำให้อยากมาเยี่ยมชมระบบด้วยตนเองว่าเราทำงานกันอย่างไร เพราะจากที่องค์การอนามัยโลกได้ประสานความร่วมมือไปหลายประเทศ แต่ไทยสามารถให้การช่วยเหลือได้โดยเร็ว

ส่วนที่ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีจะร่วมเป็นศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลกด้านยาต้านพิษนั้น ศ.นพ.วินัย กล่าวว่า อยู่ระหว่างกระบวนการขององค์การอนามัยโลกและคงมีการส่งเจ้าหน้าที่มาประเมินศักยภาพก่อน นอกจากจะเกิดความร่วมมือการช่วยเหลือด้านยาต้านพิษแล้ว ประเทศไทยยังเป็นต้นแบบการพัฒนาระบบเพื่อเข้าถึงยาต้านพิษให้กับประเทศต่างๆ ได้ ทั้งนี้ยาต้านพิษเป็นยากำพร้าที่มีความขาดแคลน และไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาทั่วโลก แต่จากความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และสภากาชาดไทย ทำให้สามารถจัดการหากำพร้าเหล่านี้และกระจายให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้ 

"ดีใจที่ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีมาถึงวันนี้ อย่างน้อยก็มีคนเห็นประโยชน์ ที่ผ่านมาเราทำงานกันหนักมาก ไม่เคยถามหารางวัล เพียงแต่คิดว่าได้ทำสิ่งที่มีประโยชน์และมีคุณค่าให้กับประชาชน และวันนี้ที่ได้รับเกียรติให้ร่วมเป็นศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกก็รู้สึกภูมิใจ ทำให้เจ้าหน้าที่มีกำลังใจทำงานต่อไป" ศ.นพ.วินัย กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กอ.รมน. จัดอบรมเครือข่ายข่าวภาคประชาชน 18 จังหวัดในเดือน ก.พ.-มี.ค.

Posted: 05 Feb 2018 12:20 AM PST

โฆษก กอ.รมน. เผย จัดอบรมเพื่อพัฒนาขีดความสามารถเครือข่ายข่าวภาคประชาชน สร้างจิตสำนึกคนในประเทศเรื่องผลกระทบภัยคุกคามต่อความมั่นคง เดือน ก.พ.-มี.ค.จัดอบรม 18 จังหวัด ชวนประชาชนกดไลค์ ติดตามเพจ '007 สายข่าวความมั่นคง' 

 
5 ก.พ. 2561 มติชน รายงานว่า  พล.ต.พีรวัชฌ์ แสงทอง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวว่า กอ.รมน. จัดให้มีการอบรมเครือข่ายข่าวภาคประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อความมั่นคงในพื้นที่ เพื่อขยายเครือข่ายข่าวภาคประชาชนจัดให้มีมวลชนที่เป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง สามารถปฏิบัติงานเป็น "เครือข่ายข่าวประชาชน" เพื่อขยายและพัฒนาขีดความสามารถของเครือข่ายข่าวภาคประชาชน ที่เป็นส่วนสำคัญในการช่วยสนับสนุนข้อมูลข่าวสารต่อทางราชการ โดยเฉพาะด้านงานการข่าวเพื่อเฝ้าระวังป้องกันการก่อเหตุที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกิจกรรมยังเป็นการสร้างจิตสำนึกของคนในประเทศ ให้ตระหนักต่อผลกระทบจากภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ และสร้างความร่วมมือในการให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการข่าวกรองอย่างมีประสิทธิภาพ พื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, ปทุมธานี, นนทบุรี, สมุทรสงคราม, สมุทรปราการ, ระยอง, ปราจีนบุรี, ลพบุรี, ชลบุรี, สุโขทัย, กำแพงเพชร, ตาก, กาญจนบุรี, อุบลราชธานี, ศรีสะเกษ, สุรินทร์, บุรีรัมย์ และนครราชสีมา
 
กอ.รมน. ได้เชิญประชาชนที่สนใจ เข้าร่วมเป็นเครือข่ายข่าวภาคประชาชนทางสื่อออนไลน์ ด้วยการกดไลค์และติดตามเพจ 007 สายข่าวความมั่นคง
 

กอ.รมน. 101: มาจากไหน มีบทบาท-อำนาจอะไรบ้าง

เว็บไซต์ของ กอ.รมน. ระบุว่า กอ.รมน. คือองค์กรที่แปรสภาพมาจากกองอำนวยการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (กอ.ปค.) ใน พ.ศ. 2516 แต่ยังคงสืบต่อความรับผิดชอบในภารกิจป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ต่อไป เมื่อเวลาผ่านไปและภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์มีน้อยลงจึงได้ปรับบทบาทให้มีภารกิจด้านการป้องกัน ปราบปรามยาเสพติด จัดระเบียบและเสริมความมั่นคงชายแดน การพัฒนาเพื่อความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ การแก้ปัญหาชนกลุ่มน้อยและผู้หลบหนีเข้าเมือง การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี ปฏิบัติงานด้านการข่าวและปฏิบัติการจิตวิทยา (ปจว.)

พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ระบุให้สถานะของ กอ.รมน. เป็น "ส่วนราชการรูปแบบเฉพาะ" ใต้การบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.รมน.) และมีผู้บัญชาการทหารบกเป็นรอง ผอ.รมน.

กอ.รมน.กทม. เป็นหน่วยย่อยในระดับจังหวัดของ กอ.รมน. โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ  ดำรงตำแหน่ง ผอ.รมน.กทม. (ผู้ว่าฯ ใน พ.ร.บ. หมายรวมถึงผู้ว่าฯ กทม. ที่มีที่มาของการดำรงตำแหน่งจากการเลือกตั้ง ต่างจากจังหวัดต่างๆ ที่มาจากการแต่งตั้ง) ขึ้นตรงกับ กอ.รมน.ภาค ที่มีแม่ทัพภาคเป็น ผอ.รมน.ภาค มีหน้าที่รับผิดชอบความมั่นคงภายในราชอาณาจักรในเขตพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพภาค โดยหน่วยปฏิบัติงานระดับภูมิภาคนั้นเป็นหน่วยงานผสมระหว่างพลเรือน ตำรวจ ทหาร ทั้งที่เป็นอัตราประจำและช่วยราชการ

มาตรา 7 ของ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายใน ให้ กอ.รมน. มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

  1. ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินแนวโน้มของสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามด้านความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และรายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

  2. อำนวยการในการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ให้มีอำนาจหน้าที่เสนอแผนและแนวทางในการปฏิบัติงานและการดำเนินการต่อ ครม.

  3. อำนวยการ ประสานงาน และเสริมการปฏิบัติของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามแผนและแนวทางในการปฏิบัติงานตามข้อ 2 โดย ครม. จะมอบหมายให้ กอ.รมน. มีอำนาจในการกำกับการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐตามที่ ครม. กำหนดด้วยก็ได้

  4. เสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักในหน้าที่ที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ สร้างความรักสามัคคีของคนในชาติ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและความสงเรียบร้อยของสังคม

  5. ดำเนินการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ หรือตามที่ ครม. สภาความมั่นคงแห่งชาติหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย

กอ.รมน. ปรากฏตามหน้าข่าวบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งเครือข่ายความมั่นคง หรือการปฏิสัมพันธ์กับชุมชนในลักษณะต่างๆ ซึ่งสามารถนิยามในภาพรวมได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่หน่วยงานความมั่นคงเข้าไปปฏิบัติการในกิจการพลเรือน

กอ.รมน.งัดม.44 บุกค้นบ้านอดีต กมธ.ร่างรธน.50 หิ้วตัวสอบ มทบ.43 ทุ่งสง

ชัดเจน กอ.รมน. พร้อมนำมวลชนหนุน กรธ.ทำความเข้าใจร่าง รธน.

กอ.รมน. จัดตั้งเครือข่ายข่าวภาคประชาชนสอดส่องภัยความมั่นคง

กอ.รมน. แจ้งความ 'จ่าประสิทธิ์' ปราศรัยหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ทหารไล่รื้อชุมชนคลองไทรฯ จี้ย้ายออกใน 7 วัน–องค์กรสิทธิฯ ระหว่างประเทศ ร้อง DSI คุ้มครอง

พวงทอง ภวัครพันธุ์: 'มวลชนจัดตั้ง' ของทหารในยุคต้านประชาธิปไตย เมื่อพวกเขาอยู่รอบตัวเรา

สุรชาติ บำรุงสุข: บทบาทที่ไม่หายไปของ กอ.รมน. และการเกิดขึ้นของอุดมการณ์ต่อต้านการเมือง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'กลาโหม' ยัน 'ประวิตร' ยังมีกำลังใจทำงาน เอกชัยมอบผลสำรวจ ปชช.หนุนให้ออก

Posted: 04 Feb 2018 11:31 PM PST

โฆษกกระทรวงกลาโหม ยัน พล.อ.ประวิตร ยังมีกำลังใจและสุขภาพแข็งแรงดี มีจิตใจเข้มแข็ง หนักแน่นและมั่นคง ที่จะทุ่มเทปฏิบัติหน้าที่ ด้าน เอกชัย มอบผลสำรวจ ปชช.หนุนให้ออก

5 ก.พ.2561 ภายหลังกระแสเรียกร้องให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกจากตำแหน่งหลังประเด็นสงสัยของสังคมเรื่องนาฬิกาหรูจำนวนมาก พร้อมทั้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร ถ้าประชาชนไม่ต้องการ ตนก็พร้อมที่จะไปจากตำแหน่งนี้ 

ล่าสุดวันนี้ พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวถึง การแสดงความคิดเห็นกันในสังคมประชาธิปไตย ถือเป็นมุมมองที่ทุกฝ่ายต้องเคารพ เปิดกว้างรับฟังด้วยใจเป็นกลาง และพิจารณาร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ รอบด้าน เชื่อว่าทุกคนต่างมีประสบการณ์และบทเรียนร่วมกันมาแล้ว ความพยายามยับยั้งชั่งใจกันด้วยเหตุผล จะทำให้เราสามารถผ่านความยากลำบากนี้ไปด้วยกัน

พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า ขอให้เชื่อมั่นร่วมกันว่า กองทัพยังเป็นเอกภาพและมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน ที่จะทำหน้าที่หลักประกันความมั่นคงของประเทศเคียงข้างประชาชน พร้อมทั้งขอยืนยันว่า พล.อ.ประวิตร ยังมีกำลังใจและสุขภาพแข็งแรงดี มีจิตใจเข้มแข็ง หนักแน่นและมั่นคง ที่จะทุ่มเทปฏิบัติหน้าที่ เป็นแกนหลักในการดูแลความมั่นคงของประเทศและรักษาความปลอดภัยของสังคมต่อไป

พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า โดยระหว่าง 5-7 ก.พ. 61 พล.อ.ประวิตร มีภารกิจสำคัญเดินทางไปร่วมประชุมกับ รมว.กห.ประเทศต่างๆในอาเซียน ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือกันดูแลความมั่นคงของภูมิภาคร่วมกัน และเมื่อเดินทางกลับมาถึง ใน 7 ก.พ. 61 เวลา 1400 มีกำหนดการต้อนรับการเข้าเยี่ยมคำนับของ พล.อ.Joseph F. Dunford Jr. ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วม กองทัพสหรัฐอเมริกา ณ ศาลาว่าการกลาโหม เพื่อหารือประเด็นความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และความร่วมมือทางทหารระหว่างไทยและสหรัฐ

เอกชัย มอบผลสำรวจ ประชาชนหนุนให้ออก

ขณะที่ เมื่อเวลา 10.00 น.ที่ผ่านมา รายงานข่าวระบุว่า เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมทาง การเมือง เดินทางมาที่กระทรวงกลาโหม เพื่อมอบผลโพลล์อินเตอร์เน็ตที่มีคนลงคะแนนเสียงสนับสนุนให้ พล.อ.ประวิตร ลาออกจากตำแหน่ง มามอบให้กับ พล.อ.ประวิตร โดยบรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีสารวัตรทหาร / ทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบดูแลอย่างใกล้

เอกชัย บอกว่า วันนี้นำผลโพลล์จากไทยพีบีเอส ซึ่งมีคนโหวตมากกว่า 2 แสนคน และผลโพลของเพจดราม่าแอดดิค ที่มีคนโหวต กว่า 1 แสนคน ซึ่ง 2 สำนักนี้มีคนโหวตจำนวนมาก มีความน่าเชื่อถือ จึงต้องการมอบให้ พล.อ.ประวิตร พิจารณา ทั้งนี้ไม่ได้กำหนดว่า พล.อ. ประวิตร ควรจะลาออกเมื่อไหร่ แต่เจ้าตัวได้พูดผูกมัดตัวเองเอาไว้ว่า ถ้าประชาชนไม่ต้องการก็พร้อมจะไปจากตำแหน่ง ซึ่งก็ไม่ทราบว่าจะพลิกลิ้นอีกหรือไม่ 

ที่มา เนชั่นทีวี และ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รองผู้ว่าโคราชฯ ยันจังหวัดไม่ขวางเดินมิตรภาพใช้สิทธิเสรีภาพ พร้อมอำนวยความสะดวก

Posted: 04 Feb 2018 10:20 PM PST

เข้ายื่นหนังสือเหตุไม่สบายใจ สืบเนื่องกรณี อ.โนนสูง เมื่อผู้ใหญ่บ้าน-ปลัดอำเภอไม่ให้ 'We Walk' ค้างที่วัดเกินหนึ่งคืนทั้งที่เจ้าอาวาสอนุญาตแล้ว รองผู้ว่าฯ โคราช ระบุ ไม่ได้ห้ามทำกิจกรรม อาจเป็นเพราะเจ้าหน้าที่เกร็ง ทำตัวไม่ถูก สั่งประสานอำเภอรายทางให้อำนวยความสะดวกแล้ว ติดขัดอะไรให้โทร.หาได้โดยตรง

 

เอกชัย อิสระทะ ตัวแทน We Walk ยื่นหนังสือให้มุรธาธีร์ รักชาติเจริญ รองผู้ว่าฯ จ.นครราชสีมา

5 ก.พ. 2561 ทีมเดินมิตรภาพเข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เพื่อขอให้ดูแลอำนวยความสะดวก ให้ทีมเดินมิตรภาพทั้งตลอดเส้นทางการเดินและการใช้สถานที่เพื่อทำกิจกรรมระหว่างพักผ่อน โดยปราศจากการคุกคามจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองด้วย 

การยื่นหนังสือในวันนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 เมื่อทีมเดินมิตรภาพ ติดต่อขอเข้าพักค้างคืนที่วัดโนนมะกอก ตำบลดอนหวาย อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา เป็นเวลา 3 คืน และทางเจ้าอาวาสของวัดอนุญาตแล้ว แต่ต่อมามีผู้ใหญ่บ้าน และปลัดอำเภอเข้าพูดคุยกับทางวัดว่า ไม่อนุญาตให้พัก 3 คืน จะให้พักได้แค่คืนเดียวเท่านั้น เพราะ "ผู้ใหญ่คุยกันแล้ว" แต่ไม่ได้ระบุว่า ผู้ใหญ่คือใคร ซึ่งทำให้ทีมเดินมิตรภาพต้องย้ายที่นอนและรู้สึกไม่ปลอดภัยในระหว่างการทำกิจกรรม

ฝ่ายปกครอง อ.โนนสูง ห้ามเดินมิตรภาพนอนวัด แม้ศาลปกครองออกมาตราคุ้มครองแล้วก็ตาม

นายเอกชัย อิสระทะ ตัวแทนทีมเดินมิตรภาพที่มายื่นหนังสือ กล่าวว่า วันนี้เดินทางมายื่นหนังสือเนื่องจากข้อกังวลใจของทีมเดินมิตรภาพที่ถูกข่มขู่คุกคาม และไม่ได้เข้าพักที่พักตามที่วางแผนไว้ ทั้งที่ตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 กำหนดให้เรามีสิทธิได้รับการอำนวยความสะดวก และยังมีคำสั่งจากศาลปกครองให้คุ้มครองเราในการทำกิจกรรมครั้งนี้ด้วย

"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเขตอำเภอโนนสูง ทำให้พวกเราไม่สบายใจ เราขอพักที่วัดสักสามคืนเพื่อปรับสภาพของทีมและจัดชุดครัวให้เรียบร้อย ทางเจ้าอาวาสก็ไม่มีปัญหา แต่กลับมีคนมาที่กุฏิแล้วบอกว่า ตกลงกันแล้วจะให้พักหนึ่งคืนทำไมถึงให้สามคืน ทางผู้ใหญ่บ้านและปลัดอำเภอเหมือนจะเข้ามาดูแลความสงบ แต่ไม่อาจทำให้ความสงบเกิดขึ้นได้" เอกชัยเล่า

"เมื่อมีการพูดถึงผู้ใหญ่ข้างบน เราจึงสงสัยว่า หมายถึงผู้ว่าราชการจังหวัดใช่หรือไม่ จึงเข้ามาขอพบและพูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดว่า ขอให้เราทำกิจกรรมต่อได้ตามปกติอีกหลายวันกว่าจะเดินพ้นเขตของจังหวัดนครราชสีมา" เอกชัยกล่าว

เนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาติดภาระกิจในวันนี้ ไม่สามารถมารับหนังสือเองได้ จึงมอบหมายให้นายมุรธาธีร์ รักชาติเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัด มาเป็นตัวแทนของจังหวัดเพื่อรับหนังสือ

นายมุรธาธีร์ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นเรื่องเจ้าหน้าที่บางคนที่เกร็งๆ แล้วก็ปฏิบัติไม่ถูกมากกว่า หวังว่าจะไม่ติดใจอะไรกัน ทางจังหวัดไม่ได้ห้ามการทำกิจกรรม เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของทุกคนที่จะทำกิจกรรมโดยสงบสันติได้ ทางจังหวัดพร้อมจะช่วยอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ ที่ผ่านมาเป็นห่วงเพียงแต่เรื่องการจราจร เพราะบนถนนมิตรภาพนั้นรถวิ่งเร็ว ต้องกำชับให้หน่วยงานต่างๆ และตำรวจดูแลการจราจรให้ปลอดภัย

รองผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวอีกว่า ตอนนี้ได้ประสานไปยังอำเภอรายทางที่จะเดินผ่านในช่งวเวลาที่เหลือแล้วเพื่อให้ช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องสุขภาพอนามัย เรื่องห้องน้ำ คงไม่จำเป็นต้องทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรอีกครั้ง แต่หากมีข้อติดขัดให้โทรศัพท์ติดต่อมายังตนโดยตรงได้เลยทันที พร้อมกับได้แลกหมายเลขโทรศัพท์กับทีมเดินมิตรภาพไว้ด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: 10 กุมภา เลือก..อนาคต

Posted: 04 Feb 2018 09:15 PM PST

 

เราจะอยู่อย่างไรในอนาคต
แอกกฏชนชั้นนำค้ำหนักหัว
เงียบเฉยอยู่เป็นเห็นแก่ตัว
หรือกลัวไม่กล้าแม้จะคิด

เราจะอยู่อย่างขี้ขลาดถูกกวาดล้าง
หลบข้างทางก้มหัวกลัวยัดผิด
ปล่อยให้โจรรุมยำกำหนดทิศ
ปล่อยชีวิตเฉื่อยชาเหมือนประชด

เราจะนิ่งเฉยดูหมู่นักศึกษา
รอจนกว่าเข้าคุกทุกคนหมด
หรือเพราะเจ็บครั้งนั้นร้าวรันทด
เรี่ยวแรงลดหัวใจสิ้นไฟลุก

เราจะรอฝั่งตรงข้ามสำนึกผิด
กล้ำกลืนพิษเผด็จการผลาญสนุก
เหล่านกหวีดวอดวายตายหมดยุค
รู้รสทุกข์ปวดร้าวเช่นเรารับ

เราจะเลือกทางเดินเผชิญหน้า
หรือจมล้าในอดีตจนติดกับ
ความสูญเสียที่ผ่านมาคณานับ
เกินบังคับลุกตื่นขึ้นสู้รบ

"เราจะฝากความหวังในมือใคร??
คนรุ่นใหม่หรือวัยเฒ่าเหล่าซากศพ"
10 กุมภา หาคำตอบคิดครอบครบ
เดินไปพบพร้อมหน้า....เลือก"อนาคต"

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์: 'เอไอ'มาแล้วจะเหลืออะไร?

Posted: 04 Feb 2018 08:54 PM PST

 

ต่อจากยุคดิจิตัลหรือยุค 4.0 คือยุคอะไรมีใครรู้บ้าง?

บางคนบอกว่า คือยุค AI (Artificial Intelligence) หรือ "ยุคปัญญาประดิษฐ์" ซึ่งก็อาจจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ ในเมื่อองค์กรทั้งขนาดเล็ก กลางและใหญ่ ต่างพากันทยอยปรับตัวหันมาใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์กันมากขึ้น ดังองค์กรขนาดใหญ่อย่างธนาคารพาณิชย์ของไทยเริ่มดำเนินการกันอยู่ในขณะนี้ด้วยการโละพนักงานและยุบสาขาทิ้ง

นี่นับเป็นความเปลี่ยนแปลงของ"ธุรกิจเสือนอนกิน"ของไทยขนานใหญ่ เห็นชัดอย่างเป็นรูปธรรม แม้ในเวลาที่ธุรกิจประเภทนี้ยังมีผลประกอบการกำไรอย่างมหาศาลต่อปีอยู่ก็ตาม

แน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ในอเมริกาที่มีเทรนด์เทคโนโลยีที่ล้ำหน้าไปกว่าไทย หากปัญหาที่ไทยเราควรย้อนดูตัวเองก็คือ ภาพรวมในด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจและด้านสังคมของเราในอนาคตควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งนั่นหมายความว่าเราควรเตรียมตัวรับสถานการณ์ในอนาคตข้างหน้าอย่างไรด้วย ในยุค AI ดังกล่าว

หลายคน รวมถึงรัฐบาลอาจมองไม่ออกว่า AI ส่งผลกระทบอะไรบ้างในอนาคต ที่สำคัญเราเตรียมตัวรับมือกับมันอย่างไร ในด้านไหนบ้าง

เมื่อเทคโนโลยีที่มีศักยภาพเกินสมองหรือความคิดและเกินกว่ากำลังกายของมนุษย์ถูกนำมาทดแทน ทำให้คุณค่าในทางเศรษฐกิจของมนุษย์ต้องพลอยอ่อนด้อยลงไปด้วยอย่างแน่นอน มิเช่นนั้นคงไม่มีการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้แทนคน ซึ่งก็หมายความว่าแรงงานคนมีความสำคัญน้อยลงตามลำดับ

นัยสำคัญของการลดหรือโละพนักงานขององค์กรต่างๆแล้วเสริมด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แทนคนก็คือ มีแนวโน้มของการที่คนหรือแรงงานเดิมจะต้องตกงานมากขึ้น

คำถามก็คือ แล้วอะไรของคนล่ะ ที่วิเศษหรือดีกว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ คำถามทำนองนี้นับว่ามีมานานหลายปีในสังคมอเมริกัน เพราะนับวันพวกเขายิ่งเห็นความก้าวไกลของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มากขึ้นทุกวัน ชนิดที่แม้แต่เดี๋ยวนี้ปัญญาประดิษฐ์ยังสามารถจับความคิดหรือความรู้สึกของคนได้ด้วยซ้ำ

ปัญญาประดิษฐ์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกวงการ ไล่ตั้งแต่วงการศึกษาตลอดถึงวงการอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะในวงการศึกษาในอเมริกาเองที่เป็นฐานของทุกวงการเองได้ตั้งคำถามว่า "ตอนนี้มนุษย์มีอะไรดีกว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์" หากเมื่อได้คำตอบแล้ว ก็จะสามารถกำหนดจุดเพื่อสร้างฐานการพัฒนาการศึกษาได้ถูกต้องและถูกทาง

หลังเกิดซิลิคอนวัลเลย์ได้ไม่นาน วงการศึกษาอเมริกันเจอเข้ากับตอใหญ่เช่นกัน  มหาวิทยาลัยในเบย์แอเรีย ซาน ฟรานซิสโก 2-3 แห่ง ได้ลงมือสำรวจและวิจัยอย่างจริงจังถึงปัญหาและผลกระทบต่อการเรียนการสอนของครูและเด็กนักเรียน โดยเฉพาะเมื่อนักเรียนหลายคนไม่เคยเข้ามหาวิทยาลัย หรือบางคนเข้ามหาวิทยาลัยแล้วแต่เรียนไม่จบ โดยที่นักเรียนเหล่านั้นได้กลายเป็นผู้ประสบความสำเร็จในชีวิต สร้างนวัตกรรมหรือ AI แบบดีเลิศเสียด้วยซ้ำ ภาวการณ์เช่นนี้มีให้เห็นมากมายในอเมริกา

แน่นอนว่า มันส่งผลกระทบต่อการวางระบบการเรียนการสอนของครูและฝ่ายจัดการศึกษาที่ตอนต่อมาได้เน้นการให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางอย่างมีนัยสำคัญ ครูเป็นแค่ผู้ประคับประคองและออกแบบโครงการหรือโครงงานให้นักเรียนทำ และคอยดูผลว่ามันจะออกมาอย่างไร

ประเด็นสำคัญที่กลายมาเป็นหัวใจของระบบการศึกษาอเมริกันเลยก็คือ "ความสามารถของผู้เรียนคือทักษะในการคิดวิเคราะห์" ซึ่งผู้บริหารการศึกษาอเมริกันเชื่อว่าระบบเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ไม่สามารถมีให้ได้  การคิดวิเคราะห์ของผู้เรียนคือศักยภาพของมนุษย์ที่จะนำไปต่อยอดวิทยาการแขนงต่างๆ รวมทั้งแขนงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นั่นแหละ

น่าสังเกตว่าผู้สอน หรือครู หรือผู้บริหารการศึกษาของไทยสนใจการคิดวิเคราะห์ได้ของนักเรียนไทยกันมากน้อยขนาดไหน เพราะการวิเคราะห์ได้คือตัวก่อกำเนิดนวัตกรรมในสาขาต่างๆ  

มีใครสามารถจะเข้าใจได้บ้างว่า ความขัดแย้งหรือเห็นไม่ลงกันระหว่างเด็กนักเรียนกับครู เป็นสาเหตุที่ทำเกิดนวัตกรรมที่มาจากการคิดวิเคราะห์ที่ต่างกันระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน

ในโลก 4.0 จึงต้องทำใจเสมอเลยว่า ผู้เรียนกับผู้สอนมีฐานแห่งความรู้เสมอกัน

ปัญหาคือ แล้วบทบาทของผู้สอนควรเป็นอย่างไร?

ในการพูดให้กำลังใจนักเรียน ที่โรงเรียนย่านไทสัน คอนเนอร์ รัฐเวอร์จิเนียคราวหนึ่ง บารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีอเมริกันกล่าวว่า ครูคอยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ไม่ใช่คนสอน ไม่ใช่คนที่คอยป้อนความรู้ให้กับเด็ก ซึ่งที่จริงมันก็คือ ครูเท่ากับคนทำหน้าที่ต่อจิ๊กซอว์ให้กับเด็ก ครูควรเป็นผู้ดูมากว่าผู้ให้โอวาท ท่ามกลางข้อมูลที่ล้นทะลักและปัญญาประดิษฐ์ที่หลากหลายจำนวนมาก

และดังที่กล่าวไปแล้ว ระบบปัญญาประดิษฐ์มีข้อด้อยตรงที่ไม่สามารถวิเคราะห์ได้แบบมนุษย์ ถูกป้อนหรือโปรแกรมให้รับคำสั่งแบบทื่อๆ เพียงอย่างเดียว

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าระบบปัญญาประดิษฐ์นั้นถูกพัฒนาก้าวไกลออกไปมากขึ้น แม้จนถึงขณะนี้มันได้ถูกนำมาใช้งานแทนแรงงานคนมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็แสดงว่า โครงสร้างขององค์กรแบบเดิมๆ กำลังถูกทยอยเปลี่ยนนับแต่นี้

ยิ่งในเมืองไทยเมื่อสถาบันการเงินขนาดใหญ่หลายๆ แห่งเริ่มขยับก็จะเห็นได้ชัดมากขึ้นว่า ความต้องการแรงงานมนุษย์น้อยลงตามลำดับ ระบบปัญญาประดิษฐ์ถูกนำมาทดแทนแรงงานคน ปัญหาที่ตามมาคือ แรงงานคนตกงาน ตามด้วยภาวะเศรษฐกิจของประเทศระส่ำ โดยที่แรงงานที่ผลิตออกมาจากสถานศึกษาเอง ก็ยังเป็นแบบเดิม ไร้อัตลักษณ์ ไร้การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพราะไม่สามารถคิดวิเคราะห์ด้วยตัวเองได้

เราอาจจะเห็นภาพแรงงานแบบ 3.0 เดินเข้าแถวอย่างเป็นระเบียบ เข้าโรงงานอุตสาหกรรมที่มีสายพานการผลิตแบบเดิมๆ เหมือนเมื่อสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยที่หาเฉลียวใจไม่ว่า โรงงานอุตสาหกรรมในปัจจุบันนั้น ได้นำเอาระบบปัญญาประดิษฐ์มาใช้กันส่วนใหญ่แล้ว ความต้องการแรงงานมนุษย์จึงเหลือน้อยกว่าเมื่อก่อนมาก ระบบสายพานการผลิตเช่นปัจจุบัน Man Power แทบไม่มีความจำเป็นเลย โลกอนาคตอนุญาตให้โรงงานแม้ขนาดใหญ่เพียงใดก็ตามมีมนุษย์ทำงานแค่ 4-5 คนเท่านั้น

ปัญหาคือ เราพร้อมที่สอนคนให้คิดวิเคราะห์เป็น อันเป็นสิ่งเดียวที่คนเหนือกว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แล้วหรือยัง?

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: เธอขี้ขลาด เธอหวาดกลัว

Posted: 04 Feb 2018 08:41 PM PST

เธอหวาดกลัวสายลมเกรี้ยวกราดกล้า
กลัวนัยยะ แห่งภาษาอันสื่อสาร
เธอไม่บริสุทธิ์โดยวิญญาณ
จึงมุ่งระรานจิตเสรี

ห้ามชุมนุมศึกษาหาความรู้
อย่าเชิดชูเสรีภาพทุกท้องที่
ไม่ต้องสร้างศิลปะร่ายบทกวี
จงอัดอั้นอยู่อย่างนี้ต่อปีไป

เธอหวาดกลัวปัญญาประชาชน
จึงไม่ยอมรับความเป็นคนของใครได้
ฉ้อและฉลทรัพย์สินมากเท่าใด
ยังไม่พอ ปล้นหัวใจ! ปล้นปัญญา!

เธอกลัวว่าประชาชนจะเกรี้ยวกราด
แปรอักษร จุฬา-ธรรมศาสตร์ จะกู่กล้า
เธอไม่มีหัวใจ – ไร้วิญญาณ์
ขลาดเกินกว่าจะปกครองประชาชน!

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Sport Day อยู่ที่ใจใช่บังคับ: เศรษฐศาสตร์ มช ต้นแบบการทำกิจกรรมด้วยความสมัครใจ

Posted: 04 Feb 2018 08:21 PM PST


 

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2561 มหา'ลัยเชียงใหม่มีการจัดกิจกรรม Sport Day ประจำปีการศึกษา 2560 ซึ่งหลายๆคณะมีการเข้าร่วมกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็น การแข่งขันกีฬา และที่น่าสนใจคือ การแข่งขัน แสตนด์เชียร์ สันทนาการ เชียร์ลีดเดอร์ ตั้งแต่เวลา 05.00-22.00 น. ซึ่งแสดงถึงศักยภาพและการแข่งขันของแต่ละคณะ มีการส่งกิจกรรมจากแต่ละคณะเข้าร่วมเพื่อสนับสนุนกิจกรรมของทางส่วนกลาง แต่ก็มีบางส่วนที่คิดชิงดีชิงเด่นอยากเอาชนะแย่งกันเป็นที่1 โดยไม่คำนึงว่านักศึกษาปี1 ว่าเต็มใจไปมากน้อยเพียงใด

การจัดกิจกรรมดังกล่าวแม้ว่าเป็นกิจกรรมที่ดูสร้างสรรค์ แต่ก็เป็นการบังคับให้นักศึกษาบางคนต้องเข้าซ้อมแสตนด์เป็นเวลา 1เดือนเต็มๆ ถ้าไม่มาก็ต้องถูกหักคะแนนกิจกรรม จนโดนตัดรุ่นในที่สุด บางคณะก็ซ้อมตั้งแต่เวลาประมาณ 16.00 น.จนถึง 21-22.00 น. บางคนก็เต็มใจที่จะเข้า แต่ลองนึกถึงคนที่ไม่เต็มใจก็ต้องทนฝืน ยอมจำนนกับระบบที่สร้างแรงกดดัน แต่น้อยคนที่จะกล้าออกมาปฏิเสธกับระบบที่เป็นอยู่

ส่วนเชียร์ลีดเดอร์และสันทนาการก็มีการซ้อมกันมาตลอดและซ้อมกันมาอย่างหนักเช่นเดียวกัน

ซึ่งในการจัดกิจกรรมกีฬาต่างๆ ส่วนใหญ่เชียร์ลีดเดอร์ก็จะมีความโดดเด่น ชุดราคาแพงเสื้อผ้าหน้าผมต้องพร้อม ส่วนแสตนด์ก็ต้องอดทนกับการนั่งร้องเพลงตากแดดตากลม

และกิจกรรมในครั้งนี้มีเรื่องที่น่าสนใจนั่นคือนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ชั้นปีที่ 1 ไม่มีการเข้าร่วมการแข่งขันแสตนด์มีเพียงสันทนาการ และ เชียร์ลีดเดอร์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ได้รับอิสระภาพในการเลือกที่จะเข้าร่วมกิจกรรมตามความสมัครใจ แม้จะถูกมองว่าขาดความร่วมมือ แต่ผู้เขียนมีความเห็นว่าเป็นวิธีการที่ดีมากกว่าการบังคับ 

อภิบาล สมหวัง นักศึกษามหา'ลัยเชียงใหม่ มีความเห็นว่า "กิจกรรมพวกนี้มันเป็นกิจกรรมที่สำคัญเป็นหน้าเป็นตาของมหา'ลัยเชียงใหม่ คล้ายกับการไปงานบอลของจุฬาธรรมศาสตร์ ทำให้มหา'ลัยได้ประโยชน์ร่วมกับมันไปโดนปริยาย  มหา'ลัยเชียงใหม่ มีมาตรฐานการแข่งขันในการสอบเข้าสูง ส่วนสำคัญเพราะพวกกิจกรรมรับน้องขึ้นดอย Sport Day Spirit night และก็เพราะมหา'ลัยได้ประโยชน์อะไรบางอย่างจากงานพวกนี้ ทำให้เกิดสภาวะการเพิกเฉยต่อกระบวนการความรุนแรงในช่วงก่อนจนถึงวันงาน เพื่อยอมให้ภาพวันงานออกมาสวยงามเป็นจุดขายให้มหา'ลัยรับทาสรุ่นต่อไป"

"พอมันสั่งสมเข้านานๆ ไม่มีคนมาจัดการกับปัญหาความรุนแรง ก็ทำให้รุ่นพี่สถาปนาคิดว่ามันเป็นความดีที่สังคมยอมรับได้ และกลายเป็นความรุนแรงที่แสนปกติ"

ท้ายนี้ทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ตามความสมัครใจ โดยแท้จริงแล้วกิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่ดีถ้าไม่มีการบังคับ และต้องคำนึงว่าการแบ่งเวลาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะวัยเล่าเรียนการให้ความสำคัญกับเรื่องทางวิชาการเป็นสำคัญมากกว่า หากลองรวมเวลาซ้อมเตรียมงานจะแสดงให้เห็นว่าต้องสูญเสียเวลาอันมีค่านั้นไปเท่าไร โดยเฉพาะคนที่มีความตั้งใจจะทำอย่างอื่นแต่ต้องยอมจะนนต่อระบบและรุ่นพี่อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้

                                 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น