โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

'ยิ่งลักษณ์' สวน 'ประยุทธ์' ยันไม่ใช่แค่เตรียมการ แต่ยึด-ถอนเงินในบัญชีตนไปแล้ว

Posted: 26 Jul 2017 12:27 PM PDT

พล.อ.ประยุทธ์ ยันยังไม่มีการยึดทรัพย์ ยิ่งลักษณ์ ทวีตแจง ไม่ใช่แค่อยู่ขั้นตอนการเตรียมการ แต่ได้ยึดและถอนเงินในบัญชีตนไปแล้ว ขณะที่ศาลปกครองส่งหมายให้ก.คลัง - กรมบังคับคดีชี้แจงยึดทรัพย์

 

26 ก.ค. 2560 จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ชี้แจงกรณีที่กรมบังคับคดีได้อายัดบัญชีของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำนวน 12 บัญชี ในคดีโครงการรับจำนำข้าวนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นการเตรียมการของเจ้าหน้าที่ เพราะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินอยู่แล้ว เพื่อรองรับคำตัดสินของศาลที่จะออกมา ไม่เช่นนั้นเจ้าหน้าที่จะถูกกล่าวหาว่าไม่ทำอะไร ซึ่งขณะนี้ยืนยันว่ายังไม่มีการยึดทรัพย์ ทั้งนี้ได้สั่งให้กรมบังคับคดีชี้แจงข้อเท็จจริงด้วย รวมถึงให้ระมัดระวังการให้ข้อมูล เพราะไม่เช่นนั้นอาจถูกมองว่าเป็นการไปกลั่นแกล้ง ยิ่งลักษณ์ 

ต่อมา ยิ่งลักษณ์ ได้รีทวีตผ่าน @PouYingluck สั้นๆ ว่า "ไม่ใช่แค่อยู่ขั้นตอนการเตรียมการนะคะ แต่ได้ยึดและถอนเงินในบัญชีดิฉันไปแล้วค่ะ"

ศาลปกครองส่งหมายให้ก.คลัง –กรมบังคับคดีชี้แจงยึดทรัพย์ยิ่งลักษณ์

ขณะที่ เทอดพงศ์ คงจันทร์ รองโฆษกศาลปกครอง กล่าวถึงกรณีที่ทนายความ ยิ่งลักษณ์ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาบังคับการอายัดทรัพย์สินของยิ่งลักษณ์ จากกรณีที่กระทรวงการ คลัง ส่งรายการบัญชีธนาคารของ ยิ่งลักษณ์ ให้กรมบังคับคดีทำการอายัดทรัพย์ว่า ก่อนหน้านี้ทราบว่าทาง ยิ่งลักษณ์ผู้ฟ้องคดียื่นขอให้ศาลขอคุ้มครองชั่วคราวจากการถูกกระทรวงการคลังผู้ถูกฟ้องคดีส่งบัญชีให้กรมบังคับคดีอายัดเงินฝากในบัญชีธนาคารกรุงเทพ 7 บัญชี โดยไม่ได้เเจ้งยอดเงิน  ศาลพิจารณาคำร้องของ ยิ่งลักษณ์เเล้ว  มีคำสั่งให้กระทรวงการคลังผู้ถูกฟ้องคดี เเละกรมบังคับคดีชี้เเจงรายละเอียดต่อศาลภายใน 15 วัน   โดยมีการส่งหมายไปตั้งเเต่วันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา

รองโฆษกศาลปกครอง กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่ให้กระทรวงการคลังเเละกรมบังคับคดีชี้เเจงจะเป็นประเด็นถึงเหตุผลที่ไปยึดบัญชีเพิ่มเติมดังกล่าว พร้อมความจำเป็นอย่างไร ที่จะต้องทำการยึดทรัพย์ของ ยิ่งลักษณ์มา รวมถึงรายละเอียดกระบวนการในการยึดทรัพย์ของกรมบังคับคดี ซึ่งคาดว่า ทั้งกระทรวงการคลัง เเละกรมบังคับคดีจะรวบรวมข้อมูลส่งมาภายในช่วงกลางเดือนสิงหาคมตามกำหนด 15 วัน หลังจากได้หมายศาล

ที่มา : สำนักข่าวไทย และทวิตเตอร์ @PouYingluck

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปลัดแรงงาน 'ย้ำ' นายจ้างที่มีแรงงานข้ามชาติผิด ก.ม. ลงทะเบียนได้ถึง 7 ส.ค.นี้

Posted: 26 Jul 2017 06:47 AM PDT

ยอดศูนย์รับแจ้ง 2 วัน นายจ้าง 24,168 ราย ลูกจ้าง 74,396 ราย กทม.มากสุด การเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างปลอดภัย ครม.ไฟเขียวร่าง ปฏิญญาร่วม CLMVT ด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างปลอดภัย สำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านแรงาน CLMVT ครั้งที่ 2

26 ก.ค.2560 รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงานแจ้งว่า ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงานเปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวและสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 9 ณ ศูนย์การค้า IT Square หลักสี่พลาซ่า วันนี้ (26 ก.ค. 60) ว่า "ขอเชิญชวนนายจ้างที่มีลูกจ้างไม่มีใบอนุญาตทำงาน ไม่มีเอกสารอะไรเลย ช่วงนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่จะช่วยกันจัดระบบแรงงานต่างด้าว โดยสามารถมาแจ้งได้ที่ศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวทั่วประเทศทั้ง 100 แห่ง ตั้งแต่วันนี้ – 7 สิงหาคม 2560 ซึ่งนายจ้างสามารถมายื่นเอกสารที่ศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว ว่ามีลูกจ้างอยู่กี่คน แล้วรับใบนัดหลังจากนั้นวันที่ 8 สิงหาคม – 6 กันยายน 2560 ให้นายจ้างพาลูกจ้างมาตรวจสอบคัดกรองความสัมพันธ์การเป็นนายจ้าง-ลูกจ้างจากนั้นจะเป็นขั้นตอนของการพิสูจน์สัญชาติจากประเทศต้นทาง การตรวจลงตรา (Visa) การตรวจโรค และการออกใบอนุญาตทำงาน(Work Permit)เพราะฉะนั้น ช่วงนี้นายจ้างต้องรีบมาจัดการให้ลูกจ้างที่เป็นแรงงานต่างด้าว สามารถทำงานได้อย่างถูกกฎหมายตามระยะเวลาที่กำหนด สำหรับกรณีเปลี่ยนนายจ้างหรือ ขอโควต้าใหม่ที่จะนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามบันทึกข้อตกลง (MOU) ยังสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ได้ตลอดเวลาแต่ไม่ต้องรีบมาดำเนินการในช่วงนี้ เพราะอาจจะเกิดความล่าช้าขึ้นได้

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า สำหรับศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว IT Squareยังไม่พบรายงานปัญหาหรืออุปสรรคแต่อย่างใด เจ้าหน้าพร้อมให้บริการอย่างรวดเร็ว สามารถรองรับผู้มาลงทะเบียนได้ 2,000 คน/วัน ส่วนข้อมูลการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวทั้ง 100 ศูนย์ ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2560 - วันนี้ เวลา 14.00 น. มีผู้มาลงทะเบียน นายจ้างกว่า 30,000 คน ลูกจ้างกว่า 100,000 คน ซึ่งจังหวัดที่มีผู้มาลงทะเบียนมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร รองลงมา คือ เชียงใหม่ 

เผยยอดศูนย์รับแจ้ง 2 วัน นายจ้าง 24,168 ราย ลูกจ้าง 74,396 ราย กทม.มากสุด

นอกจากนี้ อนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เผยว่า ศูนย์เฉพาะกิจเพื่ออำนวยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ศฉต.) กระทรวงแรงงาน ได้รายงานผลการปฏิบัติงานประจำวันที่ 25 ก.ค.60 ซึ่งเป็นวันที่สองของการเปิดศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว ทั่วประเทศ 100 ศูนย์ โดยเป็นศูนย์รับแจ้งใน กทม. 11 ศูนย์ และส่วนภูมิภาค 89 ศูนย์ พบว่า ตัวเลขสะสม(ข้อมูลวันที่ 25 ก.ค. ณ เวลา 17.00 น.) มีนายจ้างมาใช้บริการแล้ว 24,168 ราย แยกเป็นนายจ้างที่มาขอรับบริการที่ศูนย์ฯ 21,256 ราย และนายจ้างที่ยื่นคำขอลงทะเบียนออนไลน์ 2,912 ราย ลูกจ้างต่างด้าว 74,396 คน แยกเป็นแรงงานต่างด้าวที่ลงทะเบียนที่ศูนย์ฯ 69,655 คน และขอลงทะเบียนออนไลน์ 4,740 คน แรงงานต่างด้าวที่มีการยื่นคำขอจ้าง 3 สัญชาติ ได้แก่ เมียนมา 46,058 คน กัมพูชา 17,791 คน และลาว 10,520 คน รวมทุกสัญชาติ 74,396 คนเมื่อจำแนกตามประเภทกิจการ 3 อันดับแรก ได้แก่ เกษตรและปศุสัตว์ 17,238 คน กิจการก่อสร้าง 11,573 คน และจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม 7,374 คน

อนันต์ชัย กล่าวต่อว่า ศูนย์รับแจ้งฯ ที่มีการยื่นขอจ้างคนต่างด้าวมากที่สุด 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 17,989 คน เชียงใหม่ 3,661 คน ปทุมธานี 3,554 คน นครปฐม 3,333 คน และราชบุรี 2,516 คน ทั้งนี้ จากรายงานผลการดำเนินงานให้บริการนายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างด้าว 3 สัญชาติทั่วประเทศ ยอดสะสมระหว่างวันที่ 23 มิ.ย. - 25 ก.ค.60 พบว่า มีนายจ้าง/สถานประกอบการมาใช้บริการแล้ว 658,589 ราย แยกเป็น การขอโควตา 393,113 ราย ขอใบอนุญาตทำงาน 96,401 ราย ขอต่อใบอนุญาตทำงาน 13,536 ราย ขอเปลี่ยนนายจ้าง 51,111 ราย ขอเพิ่มท้องที่การทำงาน 29,241 ราย แจ้งออกจากงาน 54,981 ราย และขอหนังสือรับรองออกนอกพื้นที่ 20,206 ราย นอกจากนี้ ยังพบว่ามีแรงงานต่างด้าวที่เดินทางกลับประเทศต้นทางแล้ว 34,056 ราย ส่วนผลการให้บริการสายด่วนกรมการจัดหางาน 1694 ระหว่างวันที่
23 มิ.ย. - 24 ก.ค.60 พบว่า มีผู้ใช้บริการ 22,367 ราย ส่วนใหญ่จะสอบถามเรื่องการขออนุญาตทำงาน รองลงมาการเปลี่ยนนายจ้าง และการเพิ่มท้องที่การทำงาน ตามลำดับ

กระทรวงแรงงาน จึงขอเชิญชวนนายจ้างที่มีการใช้แรงงานต่างด้าวเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีเอกสารให้รีบมาดำเนินการที่ศูนย์ฯ ซึ่งเปิดให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุด 100 ศูนย์ทั่วประเทศ หรือยื่นผ่าน www.doe.go.th ตั้งแต่บัดนี้ - 7 ส.ค.60 เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนและทันตามเวลาที่กำหนด สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694

ครม.ไฟเขียวร่าง ปฏิญญาร่วม CLMVT ด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างปลอดภัย 

เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลรายงานว่า คณะรัฐมนตรีมี (ครม.) มติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงาน เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบต่อ (ร่าง) ปฏิญญาร่วม CLMVT ด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างปลอดภัย สำหรับ การประชุมระดับรัฐมนตรีด้านแรงาน CLMVT ครั้งที่ 2 2. มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นผู้ให้การรับรองปฏิญญาร่วม CLMVT ด้าน การเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างปลอดภัย สำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านแรงาน CLMVT ครั้งที่ 2 และ  3. หากมีความจำเป็นต้องแก้ไข (ร่าง) ปฏิญญาร่วม CLMVT ดังกล่าว ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย และไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้ กระทรวงแรงงาน ดำเนินการ ได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง

สาระสำคัญของร่างปฏิญญาร่วมฯ ซึ่งกลุ่มประเทศ CLMVT ให้ความสำคัญในด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างปลอดภัย ดังนี้

                1. เพิ่มพูนความร่วมมือเพื่อการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างปลอดภัย รวมถึงระบบการจัดการการเคลื่อนย้ายแรงงาน

                2. ส่งเสริมการข้ามแดนและการจ้างงานโดยถูกกฎหมายผ่านข้อตกลงทวิภาคี

                3. แก้ไขสาเหตุของปัญหาของการเคลื่อนย้ายแรงงานแบบไม่ปกติและแรงงานที่ไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นระบบ

                4. สร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนทั่วไป คนหางาน คนงาน นายจ้าง หน่วยงานจัดส่งแรงงานเอกชน รวมถึงหน่วยงานผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องในประเด็นการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างปลอดภัย

                5. พัฒนาหลักสูตรสำหรับการอบรมก่อนการเดินทางเพื่อให้ความรู้และเตรียมความรู้พื้นฐาน เช่น สัญญาจ้างแรงงาน ภาษา วัฒนธรรม และประเพณี และกฎหมายและข้อห้ามในประเทศปลายทาง เป็นต้น

                6. ส่งเสริมให้ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบและส่งเสริมให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างปลอดภัยจากประเทศต้นทางมายังประเทศปลายทาง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้ซื้อเรือดำน้ำจีน ไม่ขัด รธน. - ไม่รับคำร้อง 'เรืองไกร'

Posted: 26 Jul 2017 02:23 AM PDT

ผู้ตรวจการแผ่นดินยุติการพิจารณาเรื่องซื้อเรือดำน้ำจากจีน เหตุไม่มีได้ขัดรัฐธรรมนูญ การจัดซื้อไม่เข้าข่ายหนังสือสัญญาที่ต้องเสนอสภาฯ  พร้อมกับไม่รับคำร้อง 'เรืองไกร' ปมขอให้ส่งเรื่องให้ศาล รธน.วินิจฉัยว่า พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.ตราขึ้นโดยชอบหรือไม่ ชี้ เรื่องการตรากฎหมาย ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ 

 

26 ก.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า รักษ์เกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และ 2550 ขัดรัฐธรรมนูญ  เพราะองค์ประชุมไม่ครบ  ตามที่ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ยื่นคำร้อง เนื่องจากเป็นเรื่องของกระบวนการตรากฎหมาย ไม่เกี่ยวกับเนื้อหากฎหมาย ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงไม่อยู่ในอำนาจที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะดำเนินการได้ จึงมีมติไม่รับคำร้องของผู้ร้องเรียนไว้พิจารณา  

รักษเกชา กล่าวว่า  นอกจากนี้ คำร้องที่มีผู้ร้องเข้ามาเกี่ยวกับกระบวนการตรากฎหมายฉบับต่างๆ เพื่อขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ถ้าไม่มีอะไรแตกต่าง ก็อาจจะมีผลคำวินิจฉัยออกมาในรูปแบบเดียวกัน แต่ต้องรอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาก่อน เช่น  พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 และ  พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 พ.ศ. 2550 รวมถึง ร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และร่าง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ด้วย 

ยุติการพิจารณาปมซื้อเรือดำน้ำจีน ระบุไม่ขัด รธน.

ส่วนผลการตรวจสอบโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ S-26T ระหว่างกองทัพเรือกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามคำร้องของ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ นั้น รักษเกชา แถลงว่า ไม่พบเหตุผิดปกติ หรือ มีการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ จึงมีมติให้ยุติเรื่องดังกล่าว  

รักษ์เกชา กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำ ซึ่งมีการก่อหนี้ผูกพัน วงเงิน 13,500 ล้านบาท ได้มีการขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ใช้บังคับแล้ว โดยเสนอ ครม.พิจารณาตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2559 จึงเป็นการดำเนินการตามมาตรา 23 วรรค 3 ของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว จึงถือว่าชอบด้วยวิธีการงบประมาณ 

"ส่วนมติคณะรัฐมนตรี วันที่  18 เมษายน พ.ศ.2560 เป็นการรับทราบและเห็นชอบ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ก่อนดำเนินการเท่านั้น อีกทั้ง การจัดซื้อดังกล่าวยังเป็นไปตามยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพการป้องกันประเทศ ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2537 โดยมีการปรับปรุงโครงการให้สอดคล้องกับสถานการณ์มาโดยลำดับ จึงมิได้เป็นการสร้างภาระแก่ประเทศชาติ หรือประชาชนโดยไม่จำเป็น หรือเกินสมควรแต่อย่างใด" รักษ์เกชา กล่าว  

รักษ์เกชา กล่าวว่า  สำหรับกรณีที่ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำถือเป็นหนังสือสัญญา ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนหรือไม่นั้น คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า ไม่มีลักษณะเป็นสัญญา ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 178 เนื่องจากเป็นข้อตกลงจัดสร้างเรือดำน้ำ เป็นการทำสัญญาซื้อขายเชิงพาณิชย์ ในทำนองเดียวกับการทำสัญญาระหว่างเอกชนกับเอกชน  จึงไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน  อีกทั้ง กรณีนี้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะดำเนินการได้ เนื่องจากเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีที่จะพิจารณาว่า จะเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่  

ที่มา : สำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาทนายฯ เดินหน้าแก้ไขปัญหาไร้สัญชาติ สิทธิอาศัยและได้รับที่ทำกิน กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย

Posted: 26 Jul 2017 01:00 AM PDT

อนุฯสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ สภาทนายฯ พบว่ามีเด็กชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จำนวนมากยังคงไร้สัญชาติ เผยเตรียมวางแผนกับภาคีเครือข่าย แก้ปัญหาไร้สัญชาติ สิทธิอาศัยและได้รับที่ทำกิน อย่างเป็นระบบ โดยเริ่มจากเด็กก่อน

26 ก.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พบว่ามีเด็กชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี จำนวนมากยังคงไร้สัญชาติ โดยสืบเนื่องจากการที่สภาทนายความ ได้ลงพื้นที่เพราะได้รับการประสานจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโป่งลึก ที่อยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแม่เพรียง เพื่อให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษาในด้านกฎหมายแก่คณะครูและผู้ปกครองของเด็กไร้สัญชาติที่อยู่ในความดูแลของศูนย์เด็กเล็ก เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการไร้สัญชาติซึ่งรวมถึงการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร์และการแจ้งเกิดย้อนหลัง

สมนึก ตุ้มสุภาพ ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติฯ สภาทนายความ กล่าวว่า หลังจากที่คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติฯ ได้ลงพื้นที่และให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายแก่ชาวบ้านบางกลอยหลายครั้ง ซึ่งรวมถึงครั้งนี้และเมื่อครั้งเป็นทนายความในคดีที่ชาวบ้านฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรณีที่กรมอุทยานฯ เผาขับไล่ชาวบ้านในพื้นที่แก่งกระจาน พบว่า พื้นทีในหมู่ 1 บ้านบางกลอย และ หมู่ 2 บ้านโป่งลึก ในเขตอำเภอแก่งกระจานมีชาวกะเหรี่ยงอีกจำนวนมากที่ยังตกเป็นคนไร้สัญชาติ ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนหรือเอกสารประจำตัว ทั้งๆ ที่ชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้าน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงก็เกิดและทำกินอยู่ที่พื้นที่แห่งนี้มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ก่อนที่จะมีระบบทะเบียนราษฎรและก่อนที่จะมีการประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ทำให้ชาวบ้านซึ่งรวมถึงเด็กไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ เป็นบุคคลที่เปราะบาง ไร้ตัวตน ไร้การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจากรัฐและสังคม

"ชาวบ้านให้ความสำคัญกับสิทธิอาศัยและการมีสิทธิได้รับที่ทำกิน ทั้งนี้เพราะชาวกะเหรี่ยงมีความผูกพันกับผืนป่าและพื้นที่ โดยมีวัฒนธรรมในการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืนและเป็นอัตลักษณ์ แต่รัฐมักจะมองว่าชาวบ้านเหล่านี้ไม่ใช่คนไทยจึงไม่สมควรได้รับสิทธิ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญและระบบกฎหมายที่เคารพสิทธิชุมชน สิทธิเด็ก และสิทธิมนุษยชน การแก้ปัญหาของพื้นที่นี้จึงต้องทำงานควบคู่กันระหว่างการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาสถานการณ์ไร้สัญชาติ และการช่วยให้ชาวบ้านได้รับสิทธิต่างๆ อันรวมถึงสิทธิอาศัยและได้รับที่ทำกิน โดยคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติฯ สภาทนายความ วางแผนที่จะทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ภาคประชาสังคม ชาวบ้าน หน่วยงานรัฐและองค์การระหว่างประเทศต่างๆ ในเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ โดยเริ่มจากเด็กก่อน" สมนึก กล่าว

ในปี พ.ศ.2553 ประเทศไทยได้ถอนข้อสงวนข้อ 7 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กซึ่งระบุว่าเด็กทุกคนมีสิทธิในการได้รับการจดทะเบียนเกิดเพื่อแก้ไขปัญหาการไร้สัญชาติ มีการแก้ไขกฎหมายการทะเบียนราษฎรหลายฉบับเพื่อรับรองสิทธิในทะเบียนเกิดสำหรับเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทย และมีความพยายามในการระบุสถานภาพการไร้สัญชาติของเด็กนักเรียน อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติยังพบปัญหาและอุปสรรคมากมาย อันเกิดจากการสร้างแนวปฏิบัติที่ยุ่งยากซับซ้อนให้แก่เจ้าหน้าที่และขาดการเข้าถึงและเข้าใจวิถีชีวิตของชนกลุ่มน้อยและชาวต่างชาติที่มีความเปราะบาง จึงยังทำให้เด็กจำนวนมากยังไม่มีเอกสารแสดงตัวตนและตกเป็นคนไร้สัญชาติ แม้จะผ่านมาแล้วถึง 7 ปีหลังจากไทยถอนข้อสงวนในเรื่องดังกล่าว

นอกจากนี้ประเทศไทยยังรับโครงการ I Belong ของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นเอชซีอาร์ เพื่อหยุดยั้งการสภาวะการไร้สัญชาติภายในปี พ.ศ. 2567 ซึ่งจากสถิติของยูเอ็นเอชซีอาร์พบว่ามีประชากรอีก 10 ล้านคนทั่วโลกที่ตกเป็นผู้ไร้สัญชาติ และประมาณสี่แสนกว่าคนเป็นคนไร้สัญชาติในประเทศไทย 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พบอัตราสหภาพแรงงานต่อสถานประกอบการลด สวนทางปัญหาแรงงานสัมพันธ์พุ่ง

Posted: 26 Jul 2017 12:30 AM PDT

พบอัตราสหภาพแรงงานต่อสถานประกอบกิจการลดลงเรื่อย ๆ จากอัตรา 407.79 ต่อ 100,000 แห่งในปี 2556 เหลือเพียง 396.34 ต่อ 100,000 แห่งในปี 2559 อัตราการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานก็ลดลงเหลือ 6.99% แต่อัตราการเกิดปัญหาแรงงานสัมพันธ์กลับพุ่งสูงขึ้น ที่มาภาพประกอบ: Clker-Free-Vector-Images (CC0)

จาก รายงานสถานการณ์และการเตือนภัยด้านแรงงาน ไตรมาส 4/2559 ของกระทรวงแรงงาน (ข้อมูลปรับปรุง ณ เดือน ก.พ. 2560) พบข้อมูลที่น่าสนใจในด้านแรงงานสัมพันธ์ ในไตรมาส 4/2559 อัตราสหภาพแรงงานต่อสถานประกอบกิจการ 100,000 แห่ง ลดลงอยู่ที่ 396.34 ขณะที่อัตราการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานต่อลูกจ้างทั้งหมดลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 7.19 ในไตรมาส 3/2559 เป็นร้อยละ 6.99

ในด้านนายจ้าง อัตราสมาคมนายจ้างต่อสถานประกอบกิจการ 100,000 แห่งอยู่ที่ 87.34 ชะลอตัวจากไตรมาส 3/2559 อยู่ที่ 88.23 อย่างไรก็ตาม ยังเป็นอัตราส่วนที่แตกต่างกันมากระหว่างด้านนายจ้างกับลูกจ้าง แต่เมื่อเปรียบเทียบการจัดตั้งองค์กรนายจ้างและลูกจ้างกับจำนวนสถานประกอบกิจการเพื่อวิเคราะห์ภาวะการแรงงานสัมพันธ์ที่ดีพบว่าจำนวนสหภาพแรงงานเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว 1 แห่ง จำนวนสมาคมนายจ้างมีจำนวนเท่ากับไตรมาสที่แล้ว ขณะที่จำนวนสถานประกอบกิจการเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้วจาก 360,425 แห่ง เป็น 364,081 แห่งหรือเพิ่มขึ้น 3,656 แห่ง

ด้านการเกิดปัญหาแรงงานสัมพันธ์พบว่าอัตราการเกิดปัญหาแรงงานสัมพันธ์ต่อสถานประกอบกิจการ 100,000 แห่งอยู่ที่ 22.80 ขยายตัวจากไตรมาส 3/2559 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 14.98 แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 30.43 เมื่อจำแนกประเภทของปัญหาแรงงานสัมพันธ์พบว่าปัญหาแรงงานสัมพันธ์เกิดจากข้อพิพาทแรงงานมากกว่าข้อขัดแย้งแรงงาน กล่าวคืออัตราการเกิดข้อขัดแย้งต่อสถานประกอบกิจการ 100,000 แห่งอยู่ที่ 10.99 ขณะที่อัตราการเกิดข้อพิพาทแรงงานต่อสถานประกอบกิจการ 100,000 แห่ง อยู่ที่ 11.81 ทั้งนี้ปัญหาแรงงานสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นกระทรวงแรงงานสามารถดำเนินการให้มีการยุติข้อเรียกร้องได้ด้วยระบบทวิภาคีในอัตราร้อยละ 54.17 ของจำนวนสถานประกอบการที่มีการแจ้งข้อเรียกร้องทั้งหมด

ส่วนในด้านสวัสดิการแรงงาน พบอัตราการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเรื่องสวัสดิการแรงงาน อยู่ที่ร้อยละ 2.58 แสดงให้เห็นว่าแรงงานยังคงได้รับการจัดสวัสดิการแรงงานตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม สวัสดิการแรงงานนอกเหนือกฎหมายคุ้มครองแรงงานเป็นสิ่งที่ต้องมีการส่งเสริมให้กว้างขวางและทั่วถึง ซึ่งพบว่ามีสถานประกอบกิจการเพียงร้อยละ 2.53 และลูกจ้างเพียงร้อยละ 6.65 ที่ได้รับการส่งเสริมการจัดสวัสดิการแรงงานนอกเหนือกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

ดัชนีตัวเลขสหภาพแรงงานลด-ปัญหาแรงงานสัมพันธ์เพิ่ม

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาตัวเลขอัตราสหภาพแรงงานต่อจำนวนสถานประกอบกิจการ 100,000 แห่ง จากไตรมาส 4/2556 ถึง ไตรมาส 4/2559 พบว่าอัตราสหภาพแรงงานต่อจำนวนสถานประกอบกิจการลดลงจาก 407.79 ต่อ 100,000 แห่ง เหลือเพียง 396.34 ต่อ 100,000 แห่ง รวมถึงอัตราการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานต่อจำนวนลูกจ้างทั้งหมดก็ลดลงจากไตรมาส 4/2556 ถึง ไตรมาส 4/2559 จากร้อยละ 7.53 เหลือเพียงร้อยละ 6.99

ซึ่งสวนทางกับอัตราการเกิดปัญหาแรงงานสัมพันธ์ต่อจำนวนสถานประกอบกิจการ 100,000 แห่ง พบว่าเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/2556 ถึงไตรมาส 4/2559 จาก 13.98 ต่อ 100,000 แห่ง พุ่งขึ้นสูงเป็น 22.80 ต่อ 100,000 แห่ง เช่นเดียวกับอัตราการเกิดข้อพิพาทต่อจำนวนสถานประกอบกิจการ 100,000 แห่ง จากไตรมาส 4/2556 ถึงไตรมาส 4/2559 จาก 5.31 ต่อ 100,000 แห่ง พุ่งขึ้นสูงเป็น 11.81 ต่อ 100,000 แห่ง ในด้านอัตราการเกิดข้อขัดแย้งต่อจำนวนสถานประกอบกิจการ 100,000 แห่ง พบว่าเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/2556 ถึงไตรมาส 4/2559 จาก 8.67 ต่อ 100,000 แห่ง พุ่งขึ้นสูงเป็น 10.99 ต่อ 100,000 แห่ง รวมทั้งอัตราการเกิดข้อเรียกร้องต่อสถานประกอบกิจการ 100,000 แห่ง พบว่าเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/2556 ถึงไตรมาส 4/2559 จาก 35.24 ต่อ 100,000 แห่ง พุ่งขึ้นสูงเป็น 72.51 ต่อ 100,000 แห่ง

แต่กระนั้นกลับพบว่าอัตราการยุติข้อเรียกร้องโดยระบบทวิภาคีกลับลดลงจากไตรมาส 4/2556 ถึงไตรมาส 4/2559 จากร้อยละ 69.84 เหลือเพียงร้อยละ 54.17

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักวิชาการชําแหละภาษาในการสร้าง 'ความหวังในความลวง' ยุคประเทศไทย 4.0

Posted: 26 Jul 2017 12:02 AM PDT

นักวิชาการ ม.ทักษิณ วิจารณ์การสร้างอุปลักษณ์ ยุคประเทศไทย 4.0 เนื่องในวันภาษาไทย ชี้ดูแคลนพลเมือง เส้นทางโรดแมปเลื่อนเปลี่ยนไปมาสะกดให้ประชาชนเชื่อ-มีความหวังในความลวง แนะเปิดพื้นที่ให้ประชาชน มีสิทธิเสรีภาพ สร้างคำ ความคิดเชิงอุปลักษณ์ ได้อย่างอิสระเสรี มีหลักประกันคุ้มครอง ปกป้องที่เพียงพอปราศจากการละเมิด

รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.สงขลา

26 ก.ค.2560 รายงานข่าวแจ้งว่า รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.สงขลา และเป็นนักวิชาการที่เกาะติดการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในภาคใต้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แถลงในประเด็น การใช้ภาษาไทยกับการเมือง : การอุปลักษณ์และความแย้งย้อน ยุคประเทศไทย 4.0 หรือ Thailand 4.0 เมื่อวันที่ 26 ก.ค. ที่ผ่านมา เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 29 ก.ย. ของทุกปี

รศ.ดร.ณฐพงศ์ แถลงว่า ในท่ามกลางกระแสและการตื่นตัวอย่างขนานใหญ่ของสังคมและประชาชนทั่วไป ต่อการดำเนินนโยบายทางการเมืองและการริเริ่มนโยบายพัฒนาประเทศเพื่อพัฒนา เปลี่ยนผ่านประเทศไทย จากวิกฤตการทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ไปสู่  "ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ภายใต้รูปแบบการขับเคลื่อนที่เรียกว่า ประเทศไทย 4.0 หรือ Thailand 4.0 นั้น ภาษาไทยมีบทบาทสำคัญในการสื่อสาร สร้างอุดมการณ์และการขับเคลื่อนเชิงนโยบายประเทศไทย 4.0  และนโยบายอื่นๆที่เกี่ยวเนื่อง ซ่อนเงื่อนโยงใยไม่สิ้นสุด ผ่านการสร้างอุปลักษณ์ หรือ Metaphor ที่ไม่เป็นเพียง  ถ้อยคำเปรียบเทียบที่แล่นวูบ เท่านั้น แต่เต็มไปด้วยศิลปะ ชั้นเชิงของการประดิษฐ์ประดอยภาษา ที่เกิดจากสร้างความคิดเชิงอุปลักษณ์ หรือ Conceptual Metaphor อันหลายหลาก ภายใต้วิธีคิด วิธีการ กระบวนการ และการปฏิบัติการทางการเมืองที่ลึกซึ้ง และแยบยล กระทั่งกลายเป็น คำอุปลักษณ์ที่ดำรง ผลึกแน่นในการรับรู้และสามัญวิถีของผู้คนในสังคมนั้น โดยกลไกรัฐเชิงสถาบันและโครงสร้างอำนาจ ที่ทำให้ปราศจากการตั้งคำถาม การปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออก การรับรู้ข้อมูล ข้อเท็จจริง รวมทั้งการข่มขู่ คุกคาม จับกุม คุมขัง จ้องจับ ทำให้หวาดกลัวด้วยกลไกอำนาจรัฐทั้งที่เปิดเผยและปิดเร้นอำพราง ดังเช่น คำอุปลักษณ์ว่าด้วย การคืนความสุข จากการเสียสละเข้ามาเพื่อปฏิรูปประเทศ การร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อปราบโกง กวาดล้างการคอรัปชั่น การสร้างความสามัคคีปรองดอง ยุทธศาสตร์ชาติ และอนาคตประเทศไทย" เป็นต้น

รศ.ดร.ณฐพงศ์ กล่าวต่อว่า การใช้ภาษาเพื่อประกอบสร้างความคิดเชิงเชิงอุปลักษณ์ มีแนวโน้มจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายรูปแบบและวิธีการ โดยไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้อง ชอบธรรม ทำให้หลุดจากกรอบความรับผิดชอบทางจริยธรรม ผลประโยชน์ส่วนรวม และความเป็นประชาธิปไตย การอุปลักษณ์ ความสุขและการคืนความสุข ให้ประเทศไทย ที่เป็นการหยิบยื่นความสุขฝ่ายเดียวในนามของความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย และการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ พร้อมๆกับการดึงประชาชนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง หยิบยื่นความสุขเพื่อสถาปนาอำนาจนำและทำให้ประชาชน กลุ่มต่างๆ ในสังคม เชื่องและเซื่องซึมอยู่ในความสุขที่ตายตัว ทั้งที่ความสุขนั้นมีความหมายที่ซับซ้อน หลายหลากมิติ ทั้งในแง่ความสุขจากการสรรค์สร้างของปัจเจกบุคล และประชาชน พลเมือง ในกิจการสร้างสุข ท่ามกลางการมีชีวิตสาธารณะที่ผูกพันเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมสร้างสังคมส่วนรวม

การอุปลักษณ์รัฐธรรมนูญให้เท่ากับเป็นประชาธิปไตยทว่ารัฐธรรมนูญที่ถือเป็นกฎหมายสูงสุดในการจัดโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจของผู้คน การรับรองสิทธิเสรีภาพ การจัดสรรทรัพยากร และการกำหนดทิศทางการบริหารราชการแผ่นดิน ให้บรรลุเป้าหมายอันตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม ธำรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ในหลักการประชาธิปไตย ความเป็นนิติธรรม และนิติรัฐ กลับมีเนื้อหาที่ไม่สะท้อนความเป็นประชาธิปไตย  ขาดการยึดโยงกับประชาชน การเปิดช่องให้อำนาจรัฐราชการเข้ามามีบทบาทในระบบรัฐสภา การลิดรอนระบบการตรวจสอบ ควบคุม และถ่วงดุลอำนาจระหว่างสถาบันในระบอบประชาธิปไตย พร้อมเชิดชูความโดดเด่นด้วยมายาภาพอันเก่าก่อน คือ การการต้านโกง อันเป็นการตอกตรึงและย้ำความทรงจำอันเลวร้ายของผู้คนที่มีต่อนักการเมืองเพียงกลุ่มเดียว ทั้งที่การทุจริตคอรัปชั่นเกิดขึ้นในแทบทุกอณูของสังคม การใช้มาตรฐานจริยธรรมที่คลุมเครือ การปฏิรูปในนามของคนดี ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างอนาคต 20 ปี และคงไว้ซึ่งอำนาจพิเศษ ตามมาตรา 44

ประเทศไทย 4.0 หรือ Thailand 4.0 ที่กำลังเดินไปตามการทิศทางพัฒนา สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน นั้น รศ.ดร.ณฐพงศ์  กลาาวว่า กลายมาเป็นคำอุปลักษณ์ที่ติดหูติดตาประชาชนมากที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา ด้วยภาษาและถ้อยคำใหม่ๆ เช่น นวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัล เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เกษตรอุตสาหกรรม ฯลฯ ที่ถูกนำมาใช้เพื่อปลุกปลอบ สร้างระบบปฏิบัติการให้สังคมยินยอมพร้อมใจเปล่ง คำดั่ง "นกแก้วนกขุนทอง"  

เพราะการพัฒนาภายใต้วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ดังกล่าว แม้กำหนดเป้าหมายไว้ที่การขับเคลื่อนสู่ความ  "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" แต่กลับให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมโลกและอุตสาหกรรมข้ามชาติ โดยละเลยหรือไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความเป็นธรรม ความเสมอภาค สิทธิเสรีภาพ แต่อย่างใด ดังสะท้อนจากการริเริมโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษและระเบียงเศรษฐกิจ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานสมัยใหม่ นโยบายทวงคืนผืนป่า นโยบายประชารัฐ เป็นต้น

สำหรับเส้นทางสู่การเลือกตั้ง หรือ โรดแมป (Road Map) ที่ได้ประกาศต่อสาธารณชนมาอย่างต่อเนื่องนั้น รศ.ดร.ณฐพงศ์  วิจารณ์ว่า กลับไม่มีความแน่นอนมากนัก ในแง่ระยะเวลาที่นำไปสู่การจัดการเลือกตั้ง แต่มีความชัดเจนในแง่การใช้คำเป็นเกมส์ภาษา หรือ Language Game เพื่อปักหลักรักษาพื้นที่อำนาจทางการเมืองบนฐานความชอบธรรมจากการทับถมซากปรักหักโดยผู้ร้ายตลอดกาลอย่างนักเลือกตั้ง และการตั้งคำถามอันชาญฉลาด 4ข้อเชิญชวนประชาชนส่งความคิดเห็นยังศูนย์ดำรงธรรม เพื่อรวบรวมให้กระทรวงมหาดไทยเพื่อส่งต่อให้นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตั้งคำถามแบบไม่ประสงค์คำตอบหรือมีคำตอบในใจอยู่แล้ว ภายใต้ฐานคติ ความคิด ความเชื่อที่ฝังจำต่อนักการเมืองหรือนักเลือกตั้ง ที่สำคัญคือการดูแคลนประชาชน พลเมืองจะไม่สามารถใช้เจตจำนงได้อิสรเสรีและเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองได้อย่างมีคุณภาพในพื้นที่และปริมณฑลทางการเมือง จึงเป็นความชอบธรรมที่จะเข้ามายึดกลับคืน ขณะถือไพ่เหนือกว่าของรัฐ ชนชั้นนำ โดยที่เส้นทาง ตารางเวลาหรือโรดแมป ที่กำหนดและเลื่อนเปลี่ยนไปมา ทำหน้าที่เสมือนเครื่องมือในการ สะกดและควบคุมให้ประชาชนเชื่อและมีความหวังในความลวง   

การใช้ภาษาไทยกับการเมือง รศ.ดร.ณฐพงศ์ กล่าวสรุป ว่าภาษาไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือในการสื่อสารอย่างผิวเผิน เท่านั้น แต่คืออำนาจในการสร้าง กำกับ ตอก ตรึง ควบคุม อำพราง ความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ ความรู้ ความจริง โดยเฉพาะการปฏิบัติการและการโฆษณาทางการเมือง ด้วยวิธีการที่เรียกว่าการอุปลักษณ์ถ้อยคำจากการประกอบสร้างความคิดเชิงอุปลักษณ์ ที่มีความหลากวิธีการมากขึ้นไปเรื่อยๆ ผ่านการโฆษณาชวนเชื่อ บทเพลง บทกวี ภาพยนตร์บันเทิง วาไรตี้ เป็นต้น

ในอีกด้านหนึ่งนับวันความคิดและการประกอบสร้างความคิดเชิงอุปลักษณ์ ยิ่งทวีสร้างความย้อนแย้งให้แก่สังคมมากขึ้นไปเงาตามตัว  เพราะคำเหล่านี้ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกับการปฏิบัติ ทำให้เกิดการผลิตซ้ำความสัมพันธ์แบบคู่ตรงข้ามระหว่าง ภาษากับการปฏิบัติของผู้พูดหลายกรณี อาทิ พอเพียงกับซื้ออาวุธ ประชาธิปไตยกับวุฒิสมาชิกแต่งตั้งเลือกนายกรัฐมนตรี ฯลฯ การมุ่งสร้างอุปลักษณ์ทางการเมือง แม้จะเป็นการรุก กรุยทาง สร้างความชอบธรรมในการดำรงอยู่ การละเมิดสิทธิ บิดประชาธิปไตย และประชาชนให้อยู่ในปกครองแบบกระชับหรือกำกับแน่น ด้วยกฎหมายอันชอบหรือมิชอบ กระนั้นในทางกลับกันประชาชน พลเมือง ก็ไม่ได้นิ่งงันหรือยอมจำนนโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่จะมีปฏิบัติการ สร้างการเคลื่อนไหวตอบโต้ด้วยการสร้างชุดคำและการประกอบสร้างความคิดอุปลักษณ์เพื่อขจัดความแย้งย้อนด้วยไปพร้อมๆกัน

เพราะในด้านหนึ่งประเทศไทย 4.0 หรือ Thailand 4.0 อันเกิดจากการมุ่งสร้างอุปลักษณ์ทางการเมืองจะถูกบันทึกไว้ และประชาชนก็พร้อมที่จะรื้อค้น ถอดถอน นำกลับมาตรวจสอบ โต้ตอบ และเทียบเคียง กับพฤติกรรมและการปฏิบัติของผู้สร้างอุปลักษณ์ได้อย่างทันท่วงที และไม่สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายๆอีกไป การนี้จึงสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งและการเผชิญหน้ารอบใหม่ในอนาคตอันใกล้

รศ.ดร.ณฐพงศ์ มีข้อเสนอและทางออกด้วยว่า ในวันนี้จึงอยู่ที่การเปิดพื้นที่ให้ประชาชน พลเมือง และกลุ่มองค์กรต่างๆ ในสังคม มีสิทธิ เสรีภาพ ในการปฏิบัติการสร้างคำ ความคิดเชิงอุปลักษณ์ ได้อย่างอิสระ เสรี มีหลักประกันคุ้มครอง ปกป้องที่เพียงพอ ปราศจากการละเมิดใดๆต่อผู้ปรารถนา ร่วมสร้างอนาคตประเทศไทย และแสดงออกบนหลักการพื้นฐานและสิทธิมนุษยชนสากล ที่สำคัญที่สุดคือ การทำให้การเลือกตั้ง ในฐานะคำอุปลักษณ์และความคิดเชิงอุปลักษณ์ที่ถึงพร้อมการยอมรับของอารยะสังคมกลับคืน สังคมไทยโดยเร็วที่สุด 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น