โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

โฆษกศาลยุติธรรมแถลงกรณีการลาออกของประธานศาลอุทธรณ์

Posted: 19 Jul 2017 10:47 AM PDT

19 ก.ค.2560 รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. สืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม แถลงข่าว ที่ห้องประชุม อาคารศาลอาญา ชั้น 12 ว่า สืบเนื่องจาก ศิริชัย วัฒนโยธิน อดีตประธานศาลอุทธรณ์ แถลง ข่าวการลาออกจากราชการศาลยุติธรรม วานนี้ (18 ก.ค.60) โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับศาลยุติธรรมและ องค์กรภายในของศาลยุติธรรม ซึ่งสาธารณชนสมควรที่จะได้รับทราบข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการพิจารณา ดังนี้
 
ประเด็นการไม่ได้รับความเป็นธรรมในการกลั่นกรองเสนอความเห็นของคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อ.ก.ต.) นั้น  โฆษกศาลยุติธรรม  ระบุว่า อ.ก.ต. ประจำชั้นศาลจะประกอบด้วยข้าราชการตุลาการในแต่ละชั้นศาล จำนวน 7 คน รวม 21 คน ล้วนแต่เป็นผู้มีตำแหน่งสำคัญในแต่ละชั้นศาล การดำเนินการกลั่นกรองเสนอความเห็น ของ อ.ก.ต. จะต้องดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมและระเบียบคณะกรรมการศาลยุติธรรม ว่าด้วยองค์ประกอบ หลักเกณฑ์ วิธีการแต่งตั้ง และวิธีดำเนินงานของคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2554 ซึ่งในการปฏิบัติหน้าที่ของ อ.ก.ต. เป็นการประชุมโดยอิสระ เช่น การอภิปราย แสดงความคิดเห็น การออกเสียงลงคะแนน และตีความ ทั้งนี้ อ.ก.ต. ได้แสวงหาข้อเท็จจริงจากพยานที่เกี่ยวข้องกับ ประเด็นความเหมาะสมของ ศิริชัย ในการดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาในด้านการบริหารจัดการ สำนวนคดี และได้ให้โอกาส ศิริชัยชี้แจงถ้อยคำถึง 2 ครั้ง ตลอดจนยังได้ให้โอกาส ศิริชัยเสนอ พยานบุคคลและพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจนสิ้นกระแสความ มิได้เป็นการรวบรัดแต่อย่างใด ซึ่งที่ประชุมออกเสียงลงคะแนนด้วยมติเสียงข้างมากถึง 19 ต่อ 1 ของจำนวนอนุกรรมการที่มาประชุม เห็นว่า ศิริชัย ไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา
 
ประเด็นการพิจารณาลงมติของ ก.ต.ที่ไม่สามารถทบทวนมติได้นั้น โฆษกศาลยุติธรรม ชี้แจงว่า ก.ต. ประกอบด้วย ประธาน ศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ กรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 12 คน ซึ่งเป็น ข้าราชการตุลาการในชั้นศาลฎีกาจำนวน 6 คน ชั้นศาลอุทธรณ์ จำนวน 4 คน และชั้นศาลชั้นต้น จำนวน 2 คน และยังมี ก.ต. อีก 2 คน ซึ่งวุฒิสภาเลือกจากบุคคลที่มิได้เป็นข้าราชการฝ่ายตุลาการ ศาลยุติธรรม บุคคลดังกล่าวล้วนเป็นผู้ทรงเกียรติและดำรงตำแหน่งสำคัญ ไม่มีบุคคลใดที่จะมา แทรกแซงได้ซึ่งในการพิจารณาลงมติของ ก.ต. กระทำโดยเปิดเผยและสามารถตรวจสอบรายงานการประชุม ของ ก.ต. เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวได้อันเป็นหลักประกันแก่ข้าราชการตุลาการทุกคนที่จะได้รับการพิจารณา อย่างเป็นธรรม แม้การดำเนินงานตามมติของ ก.ต. ในเรื่องการเลื่อนตำแหน่งจะไม่สามารถทบทวนได้ แต่ได้มีการกลั่นกรองข้อเท็จจริงจาก อ.ก.ต. จำนวนถึง 21 คน มาแล้ว หลักการดังกล่าวนี้ศาลยุติธรรม ใช้มาอย่างยาวนาน และได้รับการบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ไม่อาจทบทวนความเป็นอิสระ โดยองค์กรอื่นได้ ซึ่งในการออกเสียงลงคะแนนยังปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ 14 ต่อ 0 ของจำนวน ก.ต. ที่เข้าประชุม ไม่เห็นชอบให้ ศิริชัย ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา อีกเช่นกัน (เนื่องจาก ชีพ จุลมนต์ ก.ต. ชั้นศาลฎีกา ออกจากห้องประชุม) และเมื่อ ก.ต.ไม่ให้ความเห็นชอบแล้ว เลขานุการ ก.ต. ก็ต้องเสนอผู้ที่มีอาวุโสลำดับถัดไป ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบ ข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ 2543ต่อไป จึงมิได้เป็นการเสนอชื่อที่มิได้เป็นไปตามลำดับอาวุโสแต่อย่างใด
 
ประเด็นการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในชั้นต้น โฆษกศาลยุติธรรม อธิบายว่า เมื่อข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณา ในชั้น อ.ก.ต. และในชั้น ก.ต. ในเรื่องความไม่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาของ ศิริชัย มีกรณีเป็นที่สงสัยว่าเป็นการกระทำผิดวินัย จึงเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของ ก.ต. ที่จะต้องดำเนินการ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชั้นต้นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้เช่นเดียวกับข้าราชการตุลาการรายอื่น มิฉะนั้น อาจถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งในการสอบข้อเท็จจริงในชั้นต้น ศิริชัย มีสิทธิที่จะเสนอข้อเท็จจริงได้อย่างเต็มที่และหากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ไม่มีมูลเป็นความผิดวินัย คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงก็ต้องเสนอยุติเรื่อง แต่หากมีมูลเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง แม้ ภายหลัง ศิริชัย จะพ้นจากตำแหน่งข้าราชการตุลาการไปแล้ว คณะกรรมการก็ยังสามารถ ดำเนินการทางวินัยสอบสวนหรือพิจารณาลงโทษได้เสมือนผู้นั้นยังมิได้พ้นจากตำแหน่งข้าราชการตุลาการ ตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543
 
ประเด็นไม่มีกฎหมายรับรองตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา นั้น โฆษกศาลยุติธรรม ชี้แจงว่า ตามพระราชบัญญัติระเบียบ ข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ.2543 นอกจากตำแหน่งข้าราชการตุลาการตามที่ระบุไว้ในมาตรา 11 วรรคหนึ่ง เช่น  ตำแหน่งประธานศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ฯลฯ ตามวรรคสองของ มาตราดังกล่าว คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ยังมีอำนาจออกประกาศกำหนดให้มี ตำแหน่งข้าราชการตุลาการที่เรียกชื่ออย่างอื่นอีกได้ และจะเทียบตำแหน่งใดก็ให้กำหนดไว้ในประกาศนั้นด้วย การกำหนดตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา เทียบเท่ากับตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์จึงเป็นการชอบ ด้วยบทบัญญัติของกฎหมายทุกประการ
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิจัยเลือกตั้งสหรัฐฯ พบชุมชนที่ทหารถูกส่งไปตายเยอะเลือกทรัมป์มากกว่าฮิลลารี

Posted: 19 Jul 2017 09:59 AM PDT

เดโมแครตแพ้การเลือกตั้งปี 2559 เพราะอะไรเป็นคำถามที่คนในสหรัฐอเมริกาให้ความสนใจอย่างมากและมีการตั้งสมมติฐานไปหลายแนวทางบางครั้งก็คิดเองเออเอง แต่งานวิจัยล่าสุดชี้ให้เห็นแนวโน้มว่าสิ่งที่ทำให้พรรครีพับลิกันชนะเลือกตั้งครั้งล่าสุดน่าจะเป็นเพราะนโยบายสงครามของสหรัฐอเมริกานั่นเอง

ฮิลลารี คลินตัน และโดนัลด์ ทรัมป์ ระหว่างหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 2016 (ที่มา: แฟ้มภาพ/Gage Skidmore/Wikipedia [1][2])

19 ก.ค. 2560 มีงานวิจัยล่าสุดสำรวจเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในช่วงเดือน ธ.ค. 2559 ที่ศึกษาตัวแปรว่าจำนวนทหารสหรัฐฯ ที่เสียชีวิตผู้มีที่อยู่หรือคนรู้จักในเขตเลือกตั้งต่างๆ มีผลกับการเลือกผู้แทนจากพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคหรือไม่ ผลออกมาว่าในชุมชนที่มีทหารสหรัฐฯ เสียชีวิตมากกว่ามักจะลงคะแนนให้ผู้แทนพรรครีพับลิกันอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ มากกว่าเมื่อเทียบกับชุมชนที่ทหารจากชุมชนของพวกเขาเสียชีวิตน้อยกว่า

การศึกษาเรื่องนี้อาจจะเกี่ยวโยงกับการที่ทรัมป์เคยหาเสียงโดยทำให้ภาพลักษณ์ของตัวเองดูเป็นผู้แทนที่ต่อต้านสงคราม แต่ก็เป็นสิ่งที่เขาไม่ได้ทำจริงหลังจากเป็นประธานาธิบดีแล้ว เทียบกับฮิลลารี คลินตัน ผู้แทนจากพรรคเดโมแครตที่ยังรักษาสภาพที่สหรัฐฯ ยังคงมุ่งทำสงครามอยู่แบบเดิม เช่นในกรณีที่เกิดกับซีเรีย

การวิจัยดังกล่าวมาจากดักลาส คริเนรา ศาตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบอสตัน และฟรานซิส เฉิน ศาตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา พวกเขาทำการเปรียบเทียบระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2555 กับปี 2559 พวกเขาสรุปได้ว่าในพื้นที่ที่มีทหารชาวอเมริกันจากชุมชนนั้นๆ เสียชีวิตสูงกว่าในช่วงที่สหรัฐฯ ไปทำสงครามกับประเทศอื่น 15 ปี ที่ผ่านมาจะหันไปสนับสนุนทรัมป์ในการเลือกตั้งมากกว่า

พวกเขาศึกษาเรื่องนี้โดยมีการควบคุมตัวแปรอื่นๆ อย่างเชื้อชาติ, รายได้ และการศึกษา รวมถึงจำนวนของคนในชนบทและประชากรทหารผ่านศึกที่โดยรวมๆ แล้วจะเอียงไปในทางสนับสนุนทรัมป์ การควบคุมตัวแปรนี้เป็นไปเพื่อให้พิสูจน์ได้ว่าตัวแปรเรื่องการเสียชีวิตของทหารมีผลเป็นไปในทางเดียวกันในเชิงสถิติกับการลงคะแนนหรือไม่

เมื่อพิจารณาดูแล้วแม้แต่ในพื้นที่ชนบทก็พบว่าการลงคะแนนเป็นไปในทางเดียวกับประเด็นนี้คือพื้นที่ที่มีทหารเสียชีวิตจากสงครามมากกว่ามักจะลงคะแนนให้ทรัมป์มากกว่า นี่รวมถึงรัฐที่คะแนนเสียงเหวี่ยงไปมาระหว่างสองพรรคอย่างรัฐวิสคอนซิน เพนซิลวาเนีย และมิชิแกน ก็แสดงให้เห็นสถิติในแบบนี้เช่นกัน จนอาจจะตีความได้ว่าถ้าหากมีทหารถูกส่งไปเสียชีวิตในสงครามน้อยกว่านี้คลินตันก็อาจจะชนะการเลือกตั้งได้

เฉินกล่าวว่าสถิติในเรื่องนี้เป็นมุมมองที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงมากนักในการเลือกตั้งสหรัฐฯ น่าจะเพราะทั้งนักวิชาการและสื่อต่างก็ไม่ใช่กลุ่มคนที่อยู่ใกล้ชิดกับเรื่องการเสียชีวิตจากสงครามมากเท่าครอบครัวหรือชุมชนที่มีสมาชิกเป็นทหารถูกส่งไปในสงคราม ซึ่งมักจะเป็นชุมชนที่ยากจนกว่า อยู่ในพื้นที่ห่างไกลมากกว่าและได้รับการศึกษาน้อยกว่าด้วย และเฉินก็บอกว่าเป็นไปได้ที่โวหารของทรัมป์จะเข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้

อย่างไรก็ตามงานวิจัยของครีเนราและเฉินก็วิเคราะห์ว่าเมื่อพิจารณาการลงคะแนนของชุมชนที่เป็นไปในทางเดียวกับเรื่องการทำสงครามโดยสหรัฐฯ แล้ว ถ้าหากทรัมป์ยังดำเนินนโยบายแบบเดิมคือแบบที่ไม่เบี่ยงเบนสหรัฐฯ ให้อยู่ห่างจากสงครามก็อาจจะส่งผลต่อการเลือกตั้งในปี 2563 ได้

ในขณะที่หลายคนรวมถึงพรรคเดโมแครตมัวแต่โทษว่าสาเหตุที่พรรคเดโมแครตไม่สามารถเข้าถึงชนชั้นแรงงานและผู้มีสิทธิเลือกตั้งในชนบทนั้นมาจากเรื่องอื่นๆ อย่าง การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ นโยบายการค้า หรือความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ แต่งานวิจัยล่าสุดนี้ก็ดูจะชี้ให้เห็นตัวแปรที่สัมพันธ์กัน (correlation) เกี่ยวกับอีกประเด็นหนึ่งคือการก่อสงครามของสหรัฐฯ โดยถึงแม้ว่าจะยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน (causation) มากน้อยแค่ไหน แต่ก็ทำให้เห็นแนวโน้มที่อาจจะเป็นการเตือนให้พรรคเดโมแครตหันมามองเรื่องท่าทีนโยบายการต่างประเทศมากขึ้นได้

 

เรียบเรียงจาก

STUDY FINDS RELATIONSHIP BETWEEN HIGH MILITARY CASUALTIES AND VOTES FOR TRUMP OVER CLINTON, The Intercept, 10-07-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตัดสินคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ประยุทธ์ ด่า 'ไอ้มนัส' เป็นทหารคนเดียวไม่ทำให้กองทัพเจ๊ง

Posted: 19 Jul 2017 08:41 AM PDT

ตัดสินคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาเมื่อปี 2 ปีก่อน ผ่านไปกว่า 10 ช.ม. ศาลอ่านคำพิพากษาไปแล้วกว่า 60 คน 'ประยุทธ์' ด่า 'ไอ้มนัส' เป็นทหารคนเดียวไม่ทำให้กองทัพเจ๊ง 'ฟอร์ตี้ฟายไรต์' ร้อง รบ.ไทย ให้หลักประกันว่าผู้เกี่ยวข้องได้รับการลงโทษ

 

19 ก.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่า ตลอดทั้งวันนี้สื่อมวลชนไทยและต่างประเทศ ต่างให้ความสนใจการตัดสินคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาเมื่อปี 2 ปีก่อน ซึ่งเวลาผ่านไปกว่า 10 ชั่วโมงศาลอ่านคำพิพากษาไปแล้วกว่า 60 คน

ศาลชั้นต้นอยู่ระหว่างอ่านคำพิพากษาคดีการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ซึ่งมีจำเลยทั้งหมด 103 คน จำหน่ายคดี 1 คนเนื่องจากเสียชีวิต คงเหลือจำเลย 102 คน ที่มี บรรจง ปองผล หรือโกจง อดีตนายกเทศมนตรีเมืองปาดังเบซาร์ เป็นจำเลยที่ 1 / ปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล จำเลยที่ 29 / พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก จำเลยที่ 54  ในความผิด 16 ข้อหา ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551, พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2546 ภายหลังโอนคดีจากศาลนาทวีมาพิจารณาคดีที่แผนกคดีค้ามนุษย์ของศาลอาญา

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า อัยการโจทก์มีพยานซึ่งเป็นผู้เสียหายที่อยู่ในค่ายกักกันแคมป์คนงาน ที่เทือกเขาแก้ว ตำบลปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกความถึงการจัดตั้งแคมป์ควบคุมตัวต่างด้าว ชาวเมียนมาร์ บังกลาเทศ และความเป็นอยู่รวมทั้งจำเลยที่ได้ร่วมควบคุมแคมป์ และเป็นผู้จัดเสบียงอาหารและน้ำ ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจัดอาหารไม่เพียงพอ และถูกทำร้ายหากใช้โทรศัพท์ติดต่อญาติภายนอก

นอกจากนี้ ยังมีพยานที่เชื่อมโยงถึงอดีตผู้บริหารทัองถิ่นจังหวัดสงขลาที่เป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ว่า เป็นผู้จัดหาแรงงานในพื้นที่ปาดังเบซาร์ และยังมีหลักฐานที่ตรวจสอบการใช้โทรศัพท์ เชื่อมโยงกับกลุ่มจำเลยในการจัดหาพาหนะขนส่งแรงงานชาวโรฮิงญา และควบคุมเส้นทางขนส่งแรงงาน สงขลา-ระนอง ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์ต่อบุคคลที่อายุ 15-18 ปี และมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ โดยจำเลยบางคนเป็นเจ้าพนักงานซึ่งตามกฎหมายต้องมีโทษเป็น 2 เท่า

ประยุทธ์ ด่า 'ไอ้มนัส' เป็นทหารคนเดียวไม่ทำให้กองทัพเจ๊ง  

คมชัดลึกออนไลน์ รายงาน ปฏิกิริยาของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อกรณีที่ศาลอาญาจะตัดสินชี้ชะตา พล.ท.มนัส และกลุ่มข้าราชการ กับพลเรือนในคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาในวันเดียวกันนี้ด้วย

"แล้วยังไง และผมก็ไม่รู้ว่าการตัดสินของศาลจะมีผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศในเรื่องการค้ามนุษย์แค่ไหน เขาประเมินจากการทำผิดของเจ้าหน้าที่ ถ้าศาลตัดสินอย่างไรก็ตามนั้น ถูกก็คือถูก ผิดก็คือผิด กรณีของพล.ท.มนัส คงเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น มีคนอยู่ในกระบวนการจำนวนมาก ไม่ใช่แค่ไอ้มนัสเพียงคนเดียว ผมไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องกระพี้แบบนี้ คนเดียวหรือแค่ 2-3 คน ต้องไปดูว่าทั้งระบบเป็นอย่างไร การทุจริต การเรียกรับผลประโยชน์ การค้ามนุษย์มีกี่พวก สื่อก็คอยแต่จะตีว่าผู้กระทำความผิดเป็นทหาร อย่าลืมว่าทหารทั้งประเทศมีถึง 4-5 แสนคน ไอ้มนัสเป็นเพียงคนเดียว มันจะทำให้เจ๊งทั้งหมด กองทัพเจ๊งทั้งระบบหรืออย่างไร" พล.อ.ประยุทธ์

คมชัดลึกออนไลน์ รายงานด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีอารมณ์ฉุนเฉียวในระหว่างการตอบคำถามประเด็นดังกล่าว โดยเมื่อตอบคำถามเสร็จก็ได้รีบตัดบทพร้อมเดินออกจากวงสัมภาษณ์ทันทีด้วยสีหน้าโกรธ

ฟอร์ตี้ฟายไรต์ ร้อง รบ.ไทย ให้หลักประกันว่าผู้เกี่ยวข้องได้รับการลงโทษ

ขณะที่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 'ฟอร์ตี้ฟายไรต์' แสดงท่านทีต่อกรณีนี้โดยเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยว่า ควรประกันว่าผู้กระทำความผิดและตัวการร่วม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาและชาวบังคลาเทศ ต้องได้รับการลงโทษ

ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าวในวันนี้ว่า ศาลอาญากรุงเทพฯ แผนกคดีค้ามนุษย์ มีกำหนดอ่านคำพิพากษาในคดีการค้ามนุษย์ครั้งใหญ่สุดของประเทศในวันที่ 19 ก.ค.นี้  แม้ว่าการไต่สวนคดีนี้เป็นความพยายามอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนของทางการไทย ที่จะนำตัวผู้ค้ามนุษย์มาลงโทษ แต่การดำเนินคดีก็เต็มไปด้วยภัยคุกคามที่มีต่อพยาน ล่าม และเจ้าพนักงานสอบสวน นอกจากนี้ ฟอร์ตี้ฟายไรต์ยังได้จัดทำข้อมูลยืนยันว่า ทางการไทยได้ควบคุมตัวชาวโรฮิงญาที่เป็นพยานในคดีนี้ในที่พักพิงแบบปิด ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีอิสรภาพของพวกเขา ทั้งยังมีข้อกล่าวหาว่าพยานในคดีนี้ได้ถูกทำร้ายร่างกาย 

"อาจถือเป็นจุดยุติของการไต่สวนคดีสำคัญอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ก็เป็นเส้นทางที่ขรุขระ ยังไม่ถือเป็น 'การปิดคดี' สำหรับผู้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์" เอมี สมิธ (Amy Smith) ผู้อำนวยการบริหารฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว "ประเทศไทยยังต้องดำเนินการอีกมาก เพื่อประกันให้เกิดความยุติธรรมต่อประชาชนอีกหลายพันคน ซึ่งตกเป็นเหยื่อการแสวงหาประโยชน์อย่างมิชอบ การทรมาน และการสังหารของผู้ค้ามนุษย์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา" 
 
ฟอร์ตี้ฟายไรต์ ระบุว่า ในคดีนี้ทางการจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ 153 คน แต่ถูกฟ้องเป็นจำเลย 103 คน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของรัฐ 21 คน ซึ่งถูกกล่าวหาว่าทำการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาและชาวบังกลาเทศ ซึ่งมาจากประเทศพม่าและบังกลาเทศ เมื่อปี 2558 โดยบางส่วนอาจได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิตหากศาลตัดสินว่ามีความผิด ส่วนผู้ที่ศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตในบริบทของการค้ามนุษย์ อาจได้รับโทษประหารชีวิต
 
จำเลยถูกดำเนินคดีในฐานความผิดที่แตกต่างกัน รวมทั้งการค้ามนุษย์ การทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต การใช้อาวุธปืนหรือสิ่งเทียมอาวุธปืนอื่นๆ อย่างผิดกฎหมาย การกักขังหน่วงเหนี่ยว และฐานความผิดอื่นๆ การดำเนินคดีเกิดขึ้นจากการค้นพบหลุมฝังศพขนาดใหญ่ที่มีศพฝังอยู่ 36 ศพบริเวณป่าเชิงเขาในจังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2558 ศาลอาญากรุงเทพฯ แผนกคดีค้ามนุษย์ มีกำหนดอ่านคำพิพากษาของจำเลยแต่ละคนอย่างน้อยในช่วง 3 วันข้างหน้านี้
 
ฟอร์ตี้ฟายไรต์ได้เฝ้าสังเกตการณ์การไต่สวนคดีนี้อย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ปี 2558 โดยในช่วงต้นปี 2559 คนร้าย 6 คนซึ่งแสดงตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ลักพาตัวและข่มขู่พยานในระหว่างการไต่สวนคดี "พวกเขาทำการข่มขู่และใช้ปืนจ่อหัว" พยานบอกต่อฟอร์ตี้ฟายไรต์ "ผมกลัว...พวกเขาพาผมไปที่ตลาดใกล้กับวัดและปล่อยทิ้งไว้ที่นั่น"
 
ล่ามซึ่งเกี่ยวข้องกับการสอบสวนและการไต่สวนคดีนี้ได้รับการข่มขู่หลายครั้ง แม้จะมีการนำเรื่องนี้ไปแจ้งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ทางการกลับไม่ได้ให้ความคุ้มครองอย่างเพียงพอต่อล่ามเหล่านี้
 
'หม่องหม่อง' ล่ามในการสอบสวนคดีนี้บอกต่อฟอร์ตี้ฟายไรต์ว่า เขาต้องหลบซ่อนตัวและย้ายไปอยู่บ้าน 4 หลังไม่ซ้ำกัน ตลอดช่วงการไต่สวนคดี เนื่องจากมีบุคคลไม่ปรากฏชื่อได้สอบถามถึงสถานที่ทำงานของเขาและโทรศัพท์มาข่มขู่เขาเนื่องจากการที่เขาเกี่ยวข้องกับการไต่สวนคดีนี้
 
"อยากกินอะไรก็หามากินซะ" ผู้โทรศัพท์แจ้งกับหม่องหม่อง "ใกล้จะถึงเวลาของนายแล้ว"
 
ทางการปฏิเสธคำขอของหม่องหม่องที่จะได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นทางการ โดยทางการอ้างว่าเขาไม่ใช่พยาน อย่างไรก็ดี ตำรวจได้ส่งสายตรวจไปสอดส่องดูแลที่บ้านเขาเป็นช่วงๆ
 
ล่ามอีกคนหนึ่งในการไต่สวนคดีนี้ บอกต่อฟอร์ตี้ฟายไรต์ว่า เขาถูกข่มขู่และคุกคามในศาลหลายครั้ง โดยผู้ข่มขู่เป็นจำเลยในคดีนี้ ศาลก็ไม่ได้สั่งให้นำตัวจำเลยซึ่งทำการข่มขู่ออกไปจากห้องพิจารณาแต่อย่างใด ทั้งที่กระบวนการอันควรตามกฎหมายควรครอบคลุมถึงการคุ้มครองพยานและบุคคลอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบริหารงานยุติธรรม ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว
 
ในเดือนมีนาคม 2559 รัฐบาลไทยมีมติคณะรัฐมนตรีให้ความคุ้มครองโดยอัตโนมัติต่อพยาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ดี การปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีนี้ไม่ครอบคลุมถึงพยานซึ่งเป็นชาวโรฮิงญา ซึ่งล้วนแต่ถูกควบคุมตัวอยู่ในที่พักพิงของรัฐบาล
 
พยานคนหนึ่งให้การต่อศาลว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ซ้อมเขาช่วงกลางปี 2558 ระหว่างที่เขาถูกควบคุมตัวในที่พักพิงในจังหวัดสงขลา ส่งผลให้เขายุติการให้ความร่วมมือกับการสอบสวนของตำรวจ เขาแจ้งต่อศาลว่า เขาได้ร้องเรียนเรื่องนี้กับทางการและได้รับแจ้งว่าตำรวจที่ซ้อมเขาจะถูกย้าย 
 
ฟอร์ตี้ฟายไรต์ไม่สามารถยืนยันว่า มีการสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ซึ่งรับผิดชอบต่อการกระทำจริงหรือไม่
 
จากแหล่งข่าวของรัฐบาล ทางการไทยยังคงควบคุมตัวชาวโรฮิงญากว่า 121 คนในที่พักพิงของรัฐบาล ซึ่งทำให้บุคคลมีอิสรภาพที่จำกัดหรือไม่มีเลย
 
เจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการไต่สวนคดีค้ามนุษย์ครั้งประวัติศาสตร์นี้ ยังถูกคุกคามเช่นกัน ดังที่มีรายงานก่อนหน้านี้โดยฟอร์ตี้ฟายไรต์ เมื่อเดือน พ.ย. 2558 พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ หัวหน้าชุดสอบสวนในคดีนี้ ต้องหลบหนีออกจากประเทศไทย หลังจากการพิจารณาคดีเริ่มขึ้นไม่นาน โดยเขาอ้างว่าได้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงขู่ฆ่า พล.ต.ต.ปวีณ ควรจะได้เป็นพยานปากสำคัญในคดีนี้ เพื่อเอาผิดกับเจ้าหน้าที่และจำเลยหลายคน
 
ฟอร์ตี้ฟายไรต์ยังทราบว่า มีพยานคนอื่นอีกอย่างน้อยสองคนในคดีนี้ ซึ่งหลบซ่อนตัวหลังถูกคุกคามเอาชีวิต ในช่วงเริ่มการไต่สวนคดี กระทรวงยุติธรรมได้ให้การคุ้มครองอย่างเป็นทางการกับพยานเพียง 12 คนจากพยานหลายร้อยคนซึ่งมีกำหนดต้องเข้าให้การต่อศาล
 
ฟอร์ตี้ฟายไรต์เห็นว่าปัจจัยเหล่านี้ อาจส่งผลต่อทิศทางของคำพิพากษาและอาจถือเป็นการละเมิดมาตรฐานการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม โดยมาตรฐานการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม กำหนดให้มีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย รวมทั้งได้รับการคุ้มครอง ซึ่งเป็นสิทธิที่ครอบคลุมถึงประชาชนโดยทั่วไปและตัวจำเลยเอง ในระหว่างการไต่สวน ทางการไทยมักกีดกันไม่ให้ผู้สื่อข่าวและผู้สังเกตการณ์เข้าไปในห้องพิจารณาหรือมีการสั่งห้ามจดบันทึก สื่อมวลชนและบุคคลทั่วไปอาจเข้าสังเกตการณ์การพิจารณาคดีได้ โดยต้องรับชมผ่านโทรทัศน์ที่อยู่ในอีกห้องหนึ่ง อย่างไรก็ดี วีดิโอซึ่งมีคุณภาพเสียงและภาพต่ำและมีเสียงรบกวนทำให้ลดประสิทธิภาพในการสังเกตการณ์การพิจารณาคดี
 
ศาลยังอนุญาตให้ พล.ท.มนัส คงแป้น นายทหารอาวุโส ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นจำเลยที่มีอิทธิพลทางการเมืองมากสุดในคดีนี้ รวมทั้งพยานของเขาสามคน สามารถให้การในการพิจารณาคดีลับได้ ทนายฝ่ายจำเลยอ้างว่า พล.ท.มนัส ควรได้รับการพิจารณาคดีแบบปิดลับ เพื่อรักษาความลับทางราชการ ซึ่งอาจถูกเปิดเผยระหว่างการให้การ ในช่วงที่มีการกล่าวหาถึงการละเมิดนั้น พล.ท.มนัส เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ทรงคุณวุฒิของหน่วยทหารพิเศษภายใต้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4
 
กอ.รมน.เป็นหน่วยงานซึ่งรับผิดชอบต่อการปฏิบัติตามนโยบาย 'ผลักดันและส่งต่อ' หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า 'พิทักษ์อันดามัน' ตามนโยบายนี้ ทางการจะดักจับเรืออย่างเป็นระบบและลากจูงเรือที่มีอุปกรณ์ไม่พร้อมเพรียงออกไปสู่ทะเล ซึ่งทำให้ผู้ที่อยู่บนเรือมีความเสี่ยงภัยอย่างมาก ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ 
 
มาตรฐานการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมอนุญาตให้มีการพิจารณาคดีลับ เฉพาะที่เป็นกรณียกเว้น เช่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ เพื่อคุ้มครองชีวิตของบุคคลหรือเพื่อความมั่นคงแห่งชาติในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติยังพบว่า การไต่สวนเหล่านี้ ซึ่งรวมถึงการให้การของบุคคลสาธารณะในห้องพิจารณา ซึ่งไม่อาจรองรับบุคคลภายนอกได้ หรือมีการปิดข้อมูลจากสาธารณะ ถือเป็นการละเมิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคี
 
ข้อ 9 ของกติกา ICCPR ยังประกันสิทธิที่จะมีอิสรภาพและห้ามการควบคุมตัวโดยพลการ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่มีเวลากำหนด รวมทั้งกรณีของบุคคลซึ่งไม่ใช่คนชาติ ผู้ลี้ภัย ไม่ควรถูกควบคุมตัวเนื่องจากสถานภาพการเข้าเมืองของตน
 
กฎหมายระหว่างประเทศยังกำหนดให้มีการคุ้มครองพยาน ข้อ 13 ของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานกำหนดให้รัฐภาคีต้อง "ประกันว่าผู้ร้องทุกข์และพยานได้รับความคุ้มครองให้พ้นจากการประทุษร้ายหรือการข่มขู่ให้หวาดกลัวทั้งปวงอันเป็นผลจากการร้องทุกข์หรือการให้พยานหลักฐานของบุคคลนั้น"  
 
ฟอร์ตี้ฟายไรต์เรียกร้องทางการไทยให้ทำการประเมินอย่างถี่ถ้วนถึงการไต่สวนคดีนี้ เพื่อประกันว่าจะมีการแก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น และผู้ซึ่งทำการข่มขู่และคุกคามพยานและบุคคลอื่น จะถูกลงโทษ และจะมีการเรียนรู้จากบทเรียนนี้ในอนาคต
 
ทางการไทยควรรื้อฟื้นการสอบสวนคดีการค้ามนุษย์ของชาวโรฮิงญาและชาวบังคลาเทศในประเทศไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับบุคคลจำนวนมาก และเกิดขึ้นระหว่างปี 2555-2558 ทั้งนี้โดยการจัดสรรทรัพยากรที่เพียงพอ เพื่อประกันให้การสอบสวนเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์ อย่างเป็นอิสระและอย่างเป็นผล
 
"แม้ว่าความผิดปรกติเหล่านี้อาจไม่ส่งผลให้คำพิพากษาเป็นโมฆะ แต่ก็ทำให้เกิดข้อกังวลว่าการพิจารณาคดีนี้เป็นธรรมและสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศหรือไม่" เอมี สมิธ กล่าว "ประเทศไทยสามารถและควรประกันให้มีการคุ้มครองพนักงานสอบสวน พยาน เจ้าหน้าที่ศาล และสำคัญที่สุดคือการคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์"
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประวิตร โรจนพฤกษ์ รับรางวัลเสรีภาพสื่อนานาชาติ วอนประชาชนอย่ายอมจนไม่เหลือพื้นที่เปิดปาก

Posted: 19 Jul 2017 06:46 AM PDT

คุยกับนักข่าวชื่อดังถึงความหวังต่อสื่อและประชาชนในยุครัฐบาลทหารหลังได้รับรางวัลเสรีภาพสื่อนานาชาติ ระบุ สื่อต้องสร้างความตระหนักเรื่องเสรีภาพสื่อ มาตรา 112 จำกัดเสรีภาพมหาศาล ต้องไม่ให้ความชอบธรรมรัฐบาลทหาร อย่าทำประหนึ่งเป็นรัฐบาลเลือกตั้ง ฝากประชาชนให้รู้ ตนเป็นเจ้าของประเทศ ต้องสู้เพื่อรักษาพื้นที่เสรีภาพก่อนไม่เหลืออะไร ชี้การได้รับรางวัลคือหลักฐานการกดขี่ของ คสช.

เมื่อ 18 ก.ค. 2560 คณะกรรมการคุ้มครองสื่อแห่งมหานครนิวยอร์ก (The Committee to Protect Journalists) มอบรางวัลเสรีภาพสื่อนานาชาติประจำปี 2017 ให้กับนักข่าว 4 คน โดยหนึ่งในนั้นคือ ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสจากข่าวสดอิงลิช ที่ได้รับเกียรติจากทางคณะกรรมการฯ ร่วมกับนักข่าวอีก 3 คนจากแคเมอรูน เม็กซิโก และเยเมน

แถลงการณ์จากคณะกรรมการฯ ระบุว่า นักข่าวทั้ง 4 เป็นผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ของนักข่าวในการค้นหาความจริงท่ามกลางการเผชิญหน้ากับการล่วงละเมิดจากรัฐบาลหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการทำร้าย การขู่ฆ่า หรือการจับกุมคุมขัง

แถลงการณ์ระบุถึงประวิตรว่า เป็น "นักข่าว นักวิพากษ์ และนักรณรงค์ด้านเสรีภาพสื่อ ถูกคุกคามโดยรัฐบาลและถูกคุมขัง 2 ครั้งในช่วงไม่กี่ปีนี้จากการทำข่าวประเด็นการเมืองและสิทธิมนุษยชน" ประชาไทสัมภาษณ์นักข่าวชื่อดังถึงความหวังต่อสื่อมวลชนในฐานะหนึ่งในสถาบันที่กำหนดการรับรู้ของสังคมไทย และต่อประชาชนไทยในช่วงเวลาที่สิทธิและเสรีภาพถูกคุกคามภายใต้รัฐบาลทหาร ที่ประวิตรมองว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้ตนรับรางวัลดังกล่าว

อยากฝากอะไรถึงสื่อมวลชนในฐานะสถาบันหนึ่งที่กำหนดการรับรู้ของสังคม

"เรื่องที่หนึ่ง สื่อก็แสดงความเห็นที่หลากหลาย แต่ว่าน่าเสียดายว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การเลือกข้างของสื่อจนทำให้กลายเป็นสื่อที่ไม่เปิดกว้างต่อความเห็นที่หลากหลาย เรื่องที่สอง กฎหมายมาตรา 112 กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถแก้ได้ในปัจจุบัน สื่อก็ต้องสร้างความตระหนักต่อสาธารณะว่า กฎหมายนี้สร้างข้อจำกัดอย่างมหาศาล ทำให้สังคมไม่สามารถจะพูด แสดง แลกเปลี่ยนความเห็นอย่างถูกต้องตามกฎหมายอย่างเท่ากันต่อสถาบันกษัตริย์ได้ สาม เป็นเรื่องที่น่าเสียดายว่าสื่อจำนวนมาก ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลเผด็จการทหารปัจจุบันเสมือนว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งปรกติ สื่อควรจะตอกย้ำทั้งรัฐบาลทหารและสังคมให้เข้าใจว่ารัฐบาลปัจจุบันถึงแม้จะยึดอำนาจไปแล้วก็ตาม แต่ก็หาได้มีความชอบธรรมไม่ เพราะถ้าสื่อปฏิบัติต่อรัฐบาลปัจจุบันเหมือนกับการรายงานข่าวและตรวจสอบรัฐบาลปรกติ มันก็จะเป็นการให้ท้ายต่อกลุ่มทหารที่คิดที่จะก่อรัฐประหารอีกในอนาคต" ประวิตร กล่าว

แล้วอยากบอกอะไรกับประชาชน ในช่วงเวลาที่สิทธิและเสรีภาพถูกคุกคามเช่นนี้

"ผมว่าประชาชนต้องไม่สิ้นหวัง ต้องพยายามยืนยันและยืนหยัดในสิทธิ์ของตนเอง ถ้าเรายอมไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็จะไม่เหลือที่ที่จะแสดงความคิดเห็นที่เป็นตัวของตัวเอง อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก หลายคนอาจจะถอดใจ เพราะว่า คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ยึดอำนาจ และปกครองโดยการสร้างความกลัวในหมู่ผู้ที่เห็นต่างมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว แต่ผมอยากให้ประชาชนพยายามนึกถึงตนเองว่า ตนเองไม่ใช่แค่ประชาชนหรือประชากร แต่แท้จริงแล้วเป็นพลเมือง เป็นผู้ที่จ่ายภาษีและเป็นเจ้าของประเทศ จึงเป็นหน้าที่ของพลเมืองทุกคนที่จะพยายามรักษาพื้นที่เสรีภาพไม่ว่าเสรีภาพสื่อหรือเสรีภาพการแสดงออกให้มากเท่าที่จะมากได้ ไม่ว่าจะในพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่โซเชียล มีเดีย แล้วก็อยากให้มองการณ์ไกลว่าการต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย มันไม่ได้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาอันสั้น จะเรียกว่าคนทุกยุคทุกสมัยจะต้องออกมารักษาสิทธิ เสรีภาพ แม้แต่ในสหรัฐฯ เองก็มีปัญหา สื่อก็มีปัญหากับรัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ จะเห็นได้ว่าแม้แต่ในสังคมที่มีเสรีภาพสื่อเป็นเรื่องปรกติ เป็นสิทธิที่พึงมีอยู่แล้ว แต่เอาเข้าจริงก็ถูกท้าทายจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่อาจจะมีมุมมองที่ไม่ค่อยสนับสนุนความเห็นต่างในพื้นที่สื่อหรือพื้นที่สาธารณะ"

รางวัลคือหลักฐานของการกดขี่จาก คสช.

ประวิตรได้โพสต์บนเฟซบุ๊กของตนเองเรื่องการได้รับรางวัลที่สะท้อนถึงการขาดเสรีภาพสื่อและเสรีภาพการแสดงออกอย่างแท้จริง ใจความว่า

"เป็นเกียรติยิ่งที่คณะกรรมการคุ้มครองสื่อแห่งมหานครนิวยอร์กมอบรางวัลเสรีภาพสื่อนานาชาติประจำปี 2017 แก่ผม (คณะกรรมการคุ้มครองสื่อเป็นหนึ่งในสององค์กรสำคัญที่ต่อสู้ผลักดันเพื่อเสรีภาพสื่อระดับโลก อีกองค์กรคือกลุ่มนักข่าวไร้พรมแดนแห่งกรุงปารีสที่ผมเคยได้รับการเสนอชิงรางวัลเสรีภาพสื่อรอบสุดท้ายในปี 2015) ขอบคุณทั้งเสียงสนับสนุนชื่นชมและเสียงวิพากษวิจารณ์ด่าเพราะทั้งสองคือเสรีภาพการแสดงออกและไม่ควรมีผู้ใดอยู่เหนือการวิพากษ์วิจารณ์ ขอบคุณข่าวสดอิงลิชและเครือมติชน ขอบคุณบ้านเก่าที่เดอะ เนชั่น

รางวัลนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการขาดเสรีภาพสื่อและเสรีภาพการแสดงออกอย่างแท้จริงในสังคมไทย ไม่ว่าโดยเผด็จการทหาร ม.112 หรือวัฒนธรรมล้าหลังอนุรักษ์นิยมของสื่อและสังคมไทย

ผมตระหนักว่าคงไม่ได้รางวัลนี้หากไม่มีเผด็จการ คสช. คุกคาม แต่ที่สำคัญคือเราจะปฎิบัติตนอย่างไรเมื่อเจออำนาจอันไร้ความชอบธรรมคุกคามละเมิดสิทธิ เมื่อเผชิญกับเผด็จการ คุณจะยอมก้มหัวสยบหรือยืนหยัดเพื่อเสรีภาพ? ปล. มีนักข่าว 4 คนรวมจากทั่วโลกที่ได้รางวัลนี้ในปีนี้"

ต่อกรณีที่ พุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รักษาราชการแทนผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ทำหนังสือรายงานความเคลื่อนไหวของนักวิชาการในการประชุมสัมมนาไทยศึกษาที่ จ.เชียงใหม่เมื่อ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา ว่ามีนักวิชาการ นักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวทางสังคม จำนวน 6 คน ทราบชื่อแล้ว 3 ราย คือ ประจักษ์ ก้องกีรติ ภัควดี วีระภาสพงษ์ และชัยพงษ์ สำเนียง ได้เดินทางมาชูป้าย ข้อความว่า "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ ค่ายทหาร" โดยมีข่าวว่าทหารอาจเรียกนักวิชาการเข้าพบ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) โดยนักข่าวอาวุโสจากข่าวสดอิงลิชได้แสดงความเห็นในเฟซบุ๊กของตนอีกว่า

"วอยซ์ทีวีลงข่าวเรื่องผมได้รับรางวัลเสรีภาพสื่อนานาชาติ จากคณะกรรมการคุ้มครองสื่อแห่งมหานครนิวยอร์ก -ฝากบอก คสช. ด้วยว่าการพยายามเรียกนักวิชาการที่เคลื่อนเรื่อง "เวทีวิชาการมิใช่ค่ายทหาร" รังแต่จะทำให้สโลแกนนี้ดังยิ่งขึ้น -ไม่เชื่อดูรางวัลที่ผมเพิ่งได้รับเมื่อคืนได้ #555 #เสรีภาพ #สื่อ #IPFA #CPJ #เวทีวิชาการมิใช่ค่ายทหาร"

ต่ออนาคตหลังจากได้รับรางวัล ประวิตรกล่าวว่า "จริงๆรางวัลนี้เขาจะเชิญผมไปรับรางวัลและกล่าวสุนทรพจน์กลางเดือน พ.ย. ที่จะถึงนี้ ผมรู้สึกขอบคุณกับเกียรติอันนี้ แล้วก็จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอย่างซื่อสัตย์และดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ อนาคต กลางๆ ไกลๆ หรือไกลกว่านี้ก็คงต้องว่ากันทีหลัง แต่ในตอนนี้ผมรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่ผมจะต้องอยู่ตรงนี้ในฐานะสื่อต่อไป โดยเฉพาะในสภาพที่เผด็จการทหารยังครองอำนาจแล้วก็กดขี่ประชาชน"  

ประวิตรเคยถูกควบคุมตัวไปแบบไม่สามารถติดต่อกับคนอื่นได้เพื่อ 'ปรับทัศนคติ' โดยรัฐบาลทหารถึง 2 ครั้งหลังแสดงความเห็นที่ถูกตีความว่ากระทบกับรัฐบาล คสช. และกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในปี 2558 และ 2559

สำหรับประวัตินักข่าวอีก 3 คนที่ได้รับรางวัลเดียวกันดังที่ปรากฎในแถลงการณ์ มีดังนี้

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ahmed abba

อาห์เมด อับบา (ที่มา: CPJ)

อาห์เมด อับบา - นักข่าวจาก Radio France Internationale's Hausa service ถูกจำคุกในแคเมอรูนเมื่อปี 2558 จากข้อหาว่ามีความเกี่ยวพันกับการก่อการร้าย ถูกตัดสินจำคุก 10 ปีเมื่อต้นปี 2560 จากการทำข่าวประเด็นลัทธิหัวรุนแรง โบโก ฮาราม

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ Patricia Mayorga

แพทริเซีย มาญอร์กา (ที่มา: San Miguel PEN)

แพทริเซีย มาญอร์กา - นักข่าวจากหนังสือพิมพ์ Proceso ในกรุงเม็กซิโก ซิตี ถูกข่มขู่จากการทำข่าวเรื่องความเกี่ยวโยงระหว่างกลุ่มพรรครัฐบาลกับขบวนการอาชญากรรม การบังคับสูญหาย และประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ Afrah Nasser

อัฟราห์ นาสเซอร์ (ที่มา: Afrah Nasser's Blog)

อัฟราห์ นาสเซอร์ - นักข่าวและคนเขียนบล็อกชาวเยเมนที่ติดตามประเด็นเหตุการณ์ความตึงเครียดในเยเมนจากประเทศสวีเดน นาสเซอร์รายงานเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน ประเด็นสตรีและเสรีภาพสื่อ โดยได้ลี้ภัยไปที่สวีเดนเนื่องจากถูกขู่ฆ่า หลังจากเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในช่วงการลุกฮือขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนในปี 2556

พิธีรับรางวัลดังกล่าวนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 15 พ.ย. 2560 ที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท นิวยอร์ก ในเมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับ ‘ตู่ จตุพร’ เมื่อสถาบันทหารไม่เคยปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรม

Posted: 19 Jul 2017 05:44 AM PDT

กลับมาเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงอีกครั้งแม้จะในช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม สำหรับเรื่องของการปฏิรูปกองทัพ หลังจากเมื่อวันที่ 10 ก.ค. ที่ผ่านมา จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้กล่าวผ่านเฟซบุ๊คไลฟ์ หลังจากการมีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) โดยระบุในตอนหนึ่งว่า

"เมื่อกล้าที่จะปฏิรูปตำรวจก็ควรจัดจะให้มีการปฏิรูปทหารเช่นเดียวกัน เพราะเชื่อว่าทหารก็มีปัญหา ทหารก็มีคนดีและคนไม่ดีเหมือนกับทุกหน่วยงาน จึงอยากเห็นการปฏิรูปทหาร ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปทุกหน่วยงานราชการ"

ถึงที่สุดกลายเป็นเรื่องที่ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ต้องออกมาชี้แจงว่า ที่ผ่านมากองทัพได้ปรับตัวเรื่อยมาตามลำดับในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่ภารกิจทางการทหารและภารกิจทางการทหารที่ไม่ใช่สงคราม ขณะที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ออกมาชี้แจงเช่นกันว่า ทุกวันนี้กองทัพก็มีการปฏิรูปตัวเองอยู่แล้ว

ดูเหมือนว่าความเข้าใจเรื่องการปฏิรูปกองทัพ ระหว่างกองทัพกับประธาน นปช. จะมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เมื่อฝ่ายหนึ่งบอกว่ากองทัพมีการปรับตัวตลอดเวลา ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่ากองทัพไม่เคยปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรม ประชาไทมีโอกาสพูดคุยกับกับ จตุพร พรหมพันธุ์ ในฐานะคนที่เคยผ่านเหตุการณ์เดือนพฤษภา 2535 และพฤษภา 2553 รวมทั้งการรัฐประหารสองครั้งหลังสุดในปี 2549 และ 2557

เขายืนยันเช่นเดิม ไม่มีการปฏิรูปอะไรเป็นรูปธรรม แต่ไม่คาดหวังว่า หากมีการปฏิรูปกองทัพเกิดขึ้นจริงจะไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีก ระบุสิ่งที่จะป้องกันการรัฐประหารได้คือการเรียนรู้ถึงหายนะจากการรัฐประหาร พร้อมชี้ยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. อาจกลายเป็นบทเรียนครั้งสำคัญ

00000

ความทรงจำของคุณต่อสถาบันทหารหรือกองทัพเป็นอย่างไร

ผมเป็นคนที่ได้ผ่านเหตุการณ์พฤษภา 2535 และได้เห็นปรากฎการณ์ว่า หลังจากการปราบปรามประชาชนนั้น ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง 2 ชุด ชุดหนึ่งคือชุดที่รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน แต่งตั้ง ชุดที่ 2 คือชุดที่กระทรวงกลาโหมแต่งตั้ง โดยกระทรวงกลาโหมดำเนินการตรวจสอบการใช้กำลังทางการทหาร ส่วนชุดที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาเป็นการตรวจสอบทางการเมืองกับฝ่ายต่างๆ และผมเองเป็นคนหนึ่งที่ได้เข้าไปให้ข้อมูลกับคณะกรรมการที่รัฐบาลเป็นคนตั้ง

ในเบื้องต้น ช่วงแรกแม้จะยังไม่มีผลสอบของกระทรวงกลาโหมออกมา แต่รัฐบาลของนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน ในเวลานั้นได้จัดการย้ายแม่ทัพ นายกองทุกเหล่าทัพ รวมทั้งบรรดาว่าที่แม่ทัพไปประจำการทั้งหมด กว่าที่ผลการสอบสวนโดยกระทรวงกลาโหมจะออกมาก็ใช้เวลาถึง 8 ปี ก่อนหน้านั้นใครก็ตามที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนจะไม่ได้รับการตั้งแต่งขึ้นเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพ หากมีการทักท้วง เว้นแต่บางรายที่มารู้ในตอนหลัง

ทหารได้ว่างเว้นทางการเมืองตั้งแต่ปี 2535 ยาวนานมากจนกระทั่งมาถึงปี 2549 ร่วม 14 ปี เพราะว่าภาพความทรงจำการลุกขึ้นมาต่อสู้ของประชาชนและทุกภาคส่วนในเวลานั้น ทำให้ทหารไม่อยากจะมายุงเกี่ยวกับการเมืองอีก แต่ว่าประเทศไทยก็หนีวงจรอุบาทว์ไม่พ้น ในที่สุดก็มีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ฉะนั้นที่เราพูดเรื่องการปฏิรูปกองทัพหลังจากการที่มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ และเราต้องการให้ทุกองค์กรได้รับการปฎิรูปอย่างพร้อมเพรียงกัน

ในเบื้องต้น ผมไม่ได้มีความคาดหวังว่าการปฏิรูปกองทัพจะเป็นการป้องกันรัฐประหารได้ การป้องกันรัฐประหารที่ดีที่สุดคือการปฏิรูปประชาชน เพราะถ้าประชาชนไม่ห่วงแหนอำนาจของตน เราไม่มีวันที่จะปฏิรูปกองทัพแล้วจะป้องกันไม่ให้เขายึดอำนาจได้ ยกเว้นว่าประชาชนมีภูมิต้านทาน ถามว่าประชาชนจะมีภูมิต้านทานได้อย่างไร ก็ต้องเริ่มต้นจากการกำหนดนักการเมืองที่ดีและจัดการกับนักการเมืองที่ไม่ดี ไม่สร้างเงื่อนไขใดๆ ที่จะให้ทหารเข้ามายึดอำนาจได้ และถ้าใครออกมายึดอำนาจเขาจะต้องมาปกป้องรัฐบาลของเขาอย่างพร้อมเพรียงกัน ถ้าเราสามารถปฏิรูปประชานแบบนี้ได้ เราก็จะป้องกันการรัฐประหารได้ แต่ว่าการปฎิรูปกองทัพในความหมายที่ผมพูดถึงก็คือ การเพิ่มประสิทธิภาพและกระชับองค์กรให้ทำตามหน้าที่คือการป้องกันประเทศ

เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่า กองทัพของไทยไม่ได้มีการปฏิรูปอย่างเป็นเรื่องเป็นราวมายาวนาน เพราะไม่มีใครกล้าที่จะเข้าไปยุ่ง ถึงขนาดว่าหลังจากการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ก็มีการร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2550 ซึ่งกำหนดให้ผู้นำเหล่าทัพ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ปลัดกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มาโหวตว่าจะเลือกใครมาเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพ โดยให้คนเก่าเป็นผู้เสนอ ฉะนั้น รัฐบาลมีอำนาจเสนอได้เพียงตำแหน่งคือปลัดกระทรวงกลาโหม แต่ผู้บัญชาการทุกเหล่าทัพล้วนแต่เป็นคนเดิมเสนอทั้งสิ้น ดังนั้น เห็นได้ชัดเจนว่ารัฐบาลไม่ได้มีส่วนเข้าไปบริหารจัดการกองทัพมาเป็นเวลานานพอสมควร

ผมเองก็อยากจะเห็นว่า การปฏิรูปตำรวจที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ซึ่งมีการนำทหาร นักวิชาการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจมายกเครื่องในการปฏิรูป ซึ่งสถาบันทหารหรือกองทัพก็ควรที่จะมีการปฏิรูปในลักษณะเดียวกัน ในคณะกรรมการที่จะปฏิรูปทหารก็ควรที่จะมีนักวิชาการ ข้าราชการในส่วนอื่นๆ รวมทั้งอดีตนายทหารและนายทหารในปัจจุบัน ผสมกันในลักษณะเดียวกันกับของการปฏิรูปตำรวจ เพื่อที่จะทำให้เห็นว่ากองทัพจะปฏิรูปกันอย่างมีประสิทธิภาพ

เราจะพูดว่าหน่วยงานเรามีการพัฒนาตามลำดับไม่ได้ เพราะทุกหน่วยงานเขาก็มีการพัฒนาตามลำดับเหมือนกัน ฉะนั้น การปฏิรูปในความหมายนี้ก็คือ เรื่องการทำให้กองทัพมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ผมไม่ได้มุ่งหวังว่าจะปฏิรูปเพื่อไม่ให้เขามารัฐประหาร เพราะผมไม่อยากมองโลกสวยเกินไป เราต้องไว้วางใจประชาชน หากประชาขนเขาเห็นภัยของการยึดอำนาจ ผมเชื่อว่า การยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557 จะเป็นเรื่องที่ทรงคุณค่ายิ่งกว่าเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ซึ่งตอนนั้นเราต้องยอมรับความจริงว่า คนยังไม่รู้สึกเห็นภัยและความเดือดร้อนของการรัฐประหาร หลังจาก รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) ยึดอำนาจแล้วให้คุณอานันท์เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี และก็มีการเลือกตั้ง สุดท้ายได้พลเอกสุจินดา เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีคนถัดไป เพียงแค่ 47 วัน และได้นายกอานันท์กลับมาดูแลการเลือกตั้งรอบต่อไปอีกครั้ง ตอนนั้นเศรษฐกิจยังไม่พังพินาศ คนยังไม่ได้เดือดร้อนทางเศรษฐกิจ แต่คนไม่เห็นด้วยทางการเมือง คนต้องการประชาธิปไตย คือตลอดระยะเวลาหลายปีเรายังอยู่ในวงเวียนที่ว่า คนยังไม่ได้ซึมซับความทุกข์จากความหายนะของการยึดอำนาจ ก็มีขบวนการนักศึกษาประชาชนออกมาขับไล่เผด็จการเกิดขึ้นก่อน จนกระทั่งได้นักการเมือง และนักการเมืองถูกยึดอำนาจ คนก็ยังไม่ได้เห็นภัยว่าการรัฐประหารอย่างยาวนานได้ส่งผลร้ายอย่างไร

ฉะนั้น รัฐประหารคราวนี้ ซึ่งอาจจะนานถึง 4 ปี ประกอบกับความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า แล้วรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ คนจะเรียกหาประชาธิปไตย และวันนั้นคนจะมีความรู้สึกว่าเผด็จการได้สร้างความหายนะให้เขาอย่างไรบ้าง และที่สำคัญที่สุดคือ ตลอดระยะเวลาช่วง 10 ปีหลัง เรามีความเห็นที่แตกต่างและถูกปลุกให้เกิดความชิงชังโดยที่ไม่ต้องฟังเหตุผลกัน แบ่งข้างกันโดยไม่รู้จักแยกแยะถูกผิด จนไม่รู้ว่าการปกครองในระบอบประธิปไตยคืออะไร จนคนรู้สึกว่าจะปกครองด้วยระบอบอะไรก็ได้ ฉะนั้น ถ้าคนไม่ซึมซับความทุกข์ ทุกฝ่ายไม่รู้สึกถึงหายนะ บ้านเมืองก็จะวนกลับมาที่เดิมไม่มีอะไรแตกต่าง

หากย้อนกลับไปที่ปี 2535 กองทัพก็ได้ลดบทบาทในทางการเมืองของตัวเองลง แต่ทำไมในช่วงเวลานั้นกลับไม่มีการปฏิรูปกองทัพอย่างเป็นรูปธรรม

นี่คือความจริงของประเทศไทย คนไทยเราอยู่ในสังคมที่เรียกว่า อะไรก็ได้ ก็ดีแล้วนี่ที่กองทัพไม่มีบทบาทในทางการเมือง แต่ก็ไม่มองว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ก็มีพรรคการเมืองเข้ามาบริหารประเทศ ก็มองกันว่าอะไรที่ไม่เดือดในตอนนั้นก็มองข้ามกันไปโดยไม่คิดถึงอนาคตว่าหลังจากนั้นจะเกิดอะไรขึ้น และก็คิดว่าคงไม่มีใครกล้าทำรัฐประหารกันอีกแล้ว ซึ่งสุดท้ายเป็นความคิดที่ผิดพลาด เพราะฝ่ายที่ต้องการโค่นล้มประชาธิปไตยเขาก็ต้องเปลี่ยนวิธีการ พวกหนึ่งทำหน้าที่เปิดประตูทำลายความชอบธรรมของระบอบประชาธิปไตย อีกพวกหนึ่งก็เข้ายึดอำนาจ และเข้ามาบริหารจัดการประเทศ

ผมเองก็เห็นว่า เวลานี้ไม่ใช่ช่วงที่เราเรียกร้องไม่ให้ทหารยึดอำนาจอีก แต่เราต้องเรียกร้องจากประชาชนเมื่อถึงเวลาหนึ่ง แต่ไม่ใช่ตอนนี้ คงต้องให้ประชาชนซึมซับความเดือดร้อนอย่างเท่าเทียมกันเสียก่อน

นั่นหมายความปัจจัยหนึ่งที่จะนำไปสู่การปฏิรูปกองทัพได้จริง มันต้องเกิดขึ้นจากบาดแผลและความเจ็บปวดของประชาชนทุกกลุ่ม

ทุกวันนี้เรากำลังพูดถึงแต่เรื่องของการปฏิรูป ติดกับอยู่กับการปฏิรูป ทั้งที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าปฏิรูปอะไร ทุกหน่วยงานทุกองค์กรต่างถูกปฏิรูปทั้งหมด ฉะนั้น กองทัพเองก็ควรถือโอกาสนี้ปฏิรูปตัวเองไปในคราวเดียวกัน แต่ในส่วนของประชาชนนั้นกาลเวลาจะสอนให้เขาปฏิรูปตัวเองไปตามลำดับ

ผมเชื่อว่าวันหนึ่งเมื่อประชาชนได้ซึมซับประชาธิปไตยในสายเลือดแล้ว เราก็จะมีความมั่นคงทางการเมือง นักการเมืองก็จะมีคุณภาพ ประชาชนก็จะมีคุณภาพ ผมเห็นว่ามันต้องใช้เวลา แต่คงอีกไม่นาน และต้องให้เหตุการณ์นี้กลายเป็นบทเรียนที่ทรงคุณค่า เพราะบางคนก็ยังไม่รู้สึกถึงความทุกข์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ แต่ไม่ได้หมายว่าต่อไปในอนาคตเขาจะไม่รู้สึก

ผมไม่ได้ห่วงว่า รัฐบาลจะอยู่ในอำนาจนานแค่ไหน เพราะการอยู่ในอำนาจนานก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเรื่องที่ดีเสมอไป เวลาที่ลงจากอำนาจบางเวลาเลือกได้ แต่บางเวลาก็เลือกไม่ได้ ฉะนั้นโอกาสนี้ด้วยระยะเวลาการอยู่ในอำนาจที่ยาวนานของ คสช. จะสอนบทเรียนให้กับคนไทยทุกฝ่าย

หากในอนาคต ประเทศไทยมีโอกาสและปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการปฏิรูปกองทัพ ในมุมมองคุณคิดว่ากองทัพควรจะปฏิรูปเรื่องอะไรบ้าง

สิ่งสำคัญที่สุด เราต้องดูกองทัพในต่างประเทศที่เขามีการปฏิรูป ในเรื่องประสิทธิภาพการจัดองค์กรและกำลังพล ซึ่งผู้รู้ในประเทศไทยมีหลายคน เช่น อาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข หรือนักวิชาการส่วนอื่นๆ อดีตนายทหารอย่างพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ฉะนั้น ทั้งทหารในปัจจุบัน อดีตทหาร และนักวิชาการ รวมกระทั่งข้าราชการส่วนอื่นๆ ที่เป็นผู้ชำนาญการก็สามารถศึกษาตัวแบบกองทัพที่เขามีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพในโลกนี้ ประเทศไทยเราก็ต้องคิดรูปแบบให้มันสอดคล้องกับศักยภาพที่เรามีอย่างมีประสิทธิภาพ

ประเทศไทยเราไม่เคยมีการจัดการปฏิรูปกองทัพมาอย่างยาวนาน แม้จะเคยมีแนวคิดในช่วงของพลเอกชวลิต 'จิ๋วแต่แจ๋ว' แต่ก็ไม่ได้มีรูปธรรม ผมไม่ได้บอกว่ากองทัพของเราดี-ไม่ดีอย่างไร แต่เราอยู่ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ ตำรวจยังถูกปฏิรูป แล้วทำไม่ทหารจะไม่ปฏิรูป กองทัพเองก็ควรมีหน้าที่ในการป้องกันประเทศ ควรที่จะมีการยกเครื่องเพื่อให้มีความทัดเทียมกับนานาประเทศอย่างที่พึงจะเป็น ซึ่งไม่ใช่แต่เพียงการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ไม่ใช่แค่เรื่องกำลังพล ซึ่งทุกวันนี้นายพลในประเทศก็มีมากกว่าสหรัฐอเมริกา เรื่องนี้ก็ต้องมาคิดกันว่า เราจำเป็นต้องมีนายพลมากขนาดนี้หรือไม่ หรือเรื่องการบริหารจัดการควรจะเป็นไปอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดความทับซ้อนกัน และสามารถที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือจะต้องย้ายกองทัพ ย้ายค่ายทหารออกจากพื้นที่กรุงเทพฯ หรือไม่ในอนาคตก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดกัน ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลง เวลามันผ่านมายาวนาน มันก็ต้องคิด

และยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องช่วยกันคิด การปฏิรูปก็คือการทำให้รู้ถึงหน้าที่ เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่อย่าไปคิดว่าปฏิรูปเพื่อที่จะไม่ให้เขากลับมาทำรัฐประหารอีก มันเป็นการมองโลกที่สวยเกินจริง สู้มาสร้างให้ประชาชนเขามีความแข็งแรง ไม่ยอมให้ใครมายึดอำนาจอีก นี่แหละคือการอยู่ในโลกของความเป็นจริง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วงเสวนาสื่อสาธารณะ: ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ‘สื่อคุณภาพที่ทุกคนรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของ’

Posted: 19 Jul 2017 04:17 AM PDT

'ศิโรตม์' ชี้ ไทยพีบีเอสยังไม่ตอบโจทย์ เหตุขาดประสบการณ์ทำสื่อในสังคมที่ขัดแย้งยาวนาน แนะต้องเป็นมากกว่าสถานีข่าว เพราะมีงบและเครื่องมือในการเข้าถึงคนมากกว่า ย้ำต้องทำเนื้อหาคุณภาพสร้างความน่าเชื่อถือให้ทุกคนรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของ และไม่ควรมีระบบลิขสิทธิ์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์: นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS)

วงเสวนาเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเชิงสร้างสรรค์ The Creative Forum "วงแชร์ : สังคมไทยประมาณนี้ สื่อสาธารณะประมาณไหน" ร่วมมองอนาคตใหม่สื่อสาธารณะ วันที่ 5 ก.ค. 2560 ณ ไทยพีบีเอส Convention Hall 2 อาคาร D ชั้น 2 ดำเนินรายการโดย หทัยรัตน์ พหลทัพ และ โกวิท โพธิสาร

ถ้าเริ่มต้นด้วยคำถามว่าไทยพีบีเอสทำงานโอเคหรือไม่ คำตอบคือไม่โอเค แต่เป็นไม่โอเคที่เข้าใจได้ เพราะเราทั้งหมดอยู่ในผลของความขัดแย้งโดยที่เราไม่มีภาพรวมว่าเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการและสื่อมวลชน เริ่มต้นด้วยการอธิบายว่าไทยพีบีเอสยังไม่ตอบโจทย์สื่อสาธารณะ เพราะคนที่เข้ามาทำสื่อในรุ่นราวคราวเดียวกันไม่เคยมีประสบการณ์ในช่วงที่สังคมเกิดความขัดแย้งกันยาวนานขนาดนี้ ช่วงที่มีการสลายการชุมนุมปี 2553 ไทยพีบีเอสมีการจัดรายการซึ่งถูกคนจำนวนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์ แม้แพลตฟอร์มของการจัดมีความหลากหลายแต่ด้วยวิธีจัดคนดูรู้สึกถึงการให้น้ำหนักกับบางความเห็นเป็นพิเศษ

"สังคมเป็นแบบนี้ ไทยพีบีเอสควรเป็นแบบไหน ผมไม่คิดว่าจะต้องเป็น open forum เพราะการทำทีวีรูปแบบทอล์กไม่เคยมีคนดูเยอะ เรตติ้งไม่เคยถึง 1 สมมติประเทศเรามีความคิดต่าง 20 ความคิด เราเอาคน 20 คนมาพูด ประเทศไม่เปลี่ยน เพราะจะมีแค่คนกลุ่มเดิมๆ ที่ชอบดูคนเถียงกันไปเถียงกันมาดู" ศิโรตม์กล่าว

เขาให้ความเห็นว่า สิ่งที่ไทยพีบีเอสต้องเป็น คือการทำให้เกิดสถานีข่าวที่คนรู้สึกน่าเชื่อถือ การเปิดพื้นที่ให้ทุกคนทุกกลุ่มก็เป็นทางหนึ่ง แต่สิ่งที่ไทยพีบีเอสมีและคนอื่นไม่มีคือการได้เงินทำงานฟรีมหาศาล (2,000 ล้านบาทต่อปี) ดังนั้นไทยพีบีเอสมีต้นทุนที่สามารถให้กับประเทศนี้ได้มาก และไม่ต้องกังวลเรื่องเงิน จึงสามารถทำสิ่งที่สถานีอื่นทำไม่ได้ แต่กลับเป็นว่าเมื่อพูดถึงไทยพีบีเอสจะนึกถึงรายการทอล์ก ซึ่งเป็นรายการที่ต้นทุนต่ำที่สุด

ศิโรตม์กล่าวต่อว่า ภาพลักษณ์ของไทยพีบีเอสตอนนี้เป็นแค่สถานีโทรทัศน์ ทั้งที่ความจริงไทยพีบีเอสเป็นมากกว่านั้น เพราะมีแผนกสื่อพลเมืองซึ่งในสถานีอื่นไม่มี ในแง่องค์กรจึงมีทรัพยากร งบประมาณ และเครื่องมือที่จะเข้าถึงคนกลุ่มต่าง ๆ ได้ ไทยพีบีเอสไม่ได้เป็นแค่ทีวีแต่มีลักษณะเฉพาะบางอย่าง

"คนที่วิจารณ์ไทยพีบีเอสจำนวนหนึ่งจะชอบวิจารณ์ ซึ่งผมไม่ชอบเลย คือ บอกว่าไทยพีบีเอสไม่มีคนดู ผมรู้สึกเป็นคำวิจารณ์ที่ไม่แฟร์ เพราะคอนเทนต์แบบไทยพีบีเอสต้องไม่มีคนดูอยู่แล้ว ไทยพีบีเอสไม่ได้ทำ the mask singer ไม่ได้ทำแบบพุทธอภิวรรณ (พุทธอภิวรรณ องค์พระบารมี ผู้ดำเนินรายการช่องอมรินทร์ทีวี) ถ้าเอาคอนเทนต์มาวิจารณ์และบอกว่าต้องเปลี่ยน ไม่แฟร์ เนเจอร์ของไทยพีบีเอสไม่จำเป็นต้องมีคนดูมหาศาล แต่ไทยพีบีเอสจำเป็นต้องมีคนทุกกลุ่มดู ความท้าทายในแง่การทำสื่อคือการดึงทรัพยากรทางการเงิน เครื่องมือในการเข้าหาคน แปลงออกมาเป็นสถานีข่าวคุณภาพสูงที่คนเชื่อถือและให้คนรู้สึกว่าเป็นของเขา" ศิโรตม์กล่าว

ศิโรตม์กล่าวต่อว่า บางทีคำวิจารณ์แรงเกินจริง ปีละ 2,000 ล้านคุ้มไหม เปลี่ยนประเทศได้ไหม ไม่รู้จะวัดยังไง เพราะมหาวิทยาลัยเงินเป็นหมื่นล้านก็ไม่ได้ทำให้ประเทศนี้ดีขึ้น จึงไม่ควรเอาคำถามว่ามีเงินเท่านี้แล้วประเทศดีขึ้นไหมเป็นตัวตั้ง แต่ควรกลับไปสู่กฎบัตรพื้นฐานของไทยพีบีเอสว่ามันคืออะไร

"ถ้าใช้โจทย์ 10 ปีไทยพีบีเอสประเทศไม่ได้ดีขึ้น ประเทศหนึ่งประเทศมันไม่ได้ดีขึ้นจากการมีองค์กรหนึ่งองค์กร เหมือนเอาโจทย์ประชาธิปไตยไม่ดีเลิกประชาธิปไตยเถอะ การเลือกตั้งไม่ดีเลิกรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเถอะ สถานีข่าวไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อเปลี่ยนประเทศ แต่มีหน้าที่เป็นสื่อ ค้นหาความจริงให้สังคม ทำให้บริการสื่อเป็นของสาธารณะ ผมไม่อยากถามคำถามแบบนี้ในสถานการณ์แบบนี้ สถานการณ์ที่มีอำนาจพิเศษที่อาจจะยุบไทยพีบีเอสได้ " ศิโรตม์กล่าว

เขายกตัวอย่างเช่นการทำ archive เป็นสิ่งสำคัญแต่ไม่มีใครทำ archive ของสื่อสาธารณะต้องเป็นสมบัติของสาธารณะ ไทยพีบีเอสไม่ควรมีระบบลิขสิทธิ์ ใครอยากใช้ต้องใช้ได้ เงิน 2,000 ล้านมาจากสาธารณะแต่มีลิขสิทธิ์ ตรงนี้ต้องมีคำอธิบาย นอกจากนั้นยังเป็นเรื่องบริหาร กรรมการนโยบายบริหารก็เป็นปัญหา กรรมการได้นำเสนอไทยพีบีเอสต่อสังคมแค่ไหน 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นายกฯ ห่วง นร. นศ. ใช้มือถือบันทึกเสียงแทนจดในห้องเรียนไม่พัฒนาความคิด ความจำ

Posted: 19 Jul 2017 04:03 AM PDT

ห่วง ถ้าจดบันทึกจะช่วยคิด ช่วยจำ ทางปลัด ศธ. ขานรับ กำชับสถานศึกษาเข้มงวดนำมือถือเข้าห้องเรียน ใช้ได้เฉพาะจำเป็น ติดต่อผู้ปกครอง เว็บฯ ศธ. ระบุ แนวทางการเรียนรู้ศตวรรษที่ 21 ต้องมีทักษะด้านสารสนเทศสื่อและเทคโนโลยี และการบริหารจัดการด้านการศึกษาแบบใหม่ 

 
เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2560 สำนักข่าวเดลินิวส์ รายงานว่า ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือ ซุปเปอร์บอร์ดด้านการศึกษา ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน เมื่อเร็วๆ นี้ นายกฯ ย้ำเรื่องการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในสถานศึกษาว่า ให้ดูความพร้อมของโรงเรียนและครูด้วย ควรนำความรู้เรื่องภูมิศาสตร์มาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเรียนการสอนสะเต็มศึกษา (องค์ความรู้ วิชาการของศาสตร์ทั้ง 4 ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์(Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) ที่มีความเชื่อมโยงกันในโลกของความเป็นจริงที่ต้องอาศัยองค์ความรู้ต่างๆ มาบูรณาการเข้าด้วยกันในการดำเนินชีวิตและการทำงาน (ที่มา:steamedthailand.org)) และการประเมินผลผู้เรียนในทุกระดับชั้น ทุกวิชาจะต้องได้รับการประเมินอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้อสอบในการประเมิน ควรเป็นแบบข้อเขียน เพื่อฝึกให้เด็กได้เขียนและคิดวิเคราะห์เป็น และให้นำระบบอีเลิร์นนิ่ง มาใช้ในการจัดการเรียนการสอนสำหรับการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อต่อยอดการเรียนรู้ให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย
 
"นายกฯ เป็นห่วงว่าปัจจุบันการเรียนการสอนในชั้นเรียน นักเรียน นักศึกษา ไม่นิยมจดบันทึก ทั้งที่การจดบันทึกจะช่วยให้เด็กได้คิดและช่วยจำ แต่ผู้เรียนกลับใช้วิธีการนำโทรศัพท์มือถือมาถ่ายรูป บันทึกเสียงแทนการจด ดังนั้น ในส่วนของ ศธ. ผมจะกำชับให้สถานศึกษาทุกระดับ เข้มงวดเรื่องการนำโทรศัพท์มือถือเข้าห้องเรียน ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าการใช้โทรศัพท์มือถือ จะเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา ใช้ได้เฉพาะนอกเวลาเรียนที่มีความจำเป็นในการติดต่อผู้ปกครองเท่านั้น ซึ่งโรงเรียนบางแห่งเข้มงวดในเรื่องนี้อยู่แล้ว" ปลัด ศธ.กล่าว
 
เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ ระบุถึงแนวทางการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ไว้ดังนี้

ศตวรรษที่ 21 สถานการณ์โลกมีความแตกต่างจากศตวรรษที่ 20 และ 19 ระบบการศึกษา ต้องมีการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะความเป็นจริง

ในประเทศสหรัฐอเมริกาแนวคิดเรื่อง "ทักษะแห่งอนาคตใหม่: การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21" ได้ถูกพัฒนาขึ้น โดยภาคส่วนที่เกิดจากวงการนอกการศึกษา ประกอบด้วย บริษัทเอกชนชั้นนำขนาดใหญ่ เช่น บริษัทแอปเปิ้ล บริษัทไมโครซอฟ บริษัทวอล์ดิสนีย์ องค์กรวิชาชีพระดับประเทศ และสำนักงานด้านการศึกษาของรัฐ รวมตัวและก่อตั้งเป็นเครือข่ายองค์กรความร่วมมือเพื่อทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (Partnership for 21st Century Skills) หรือเรียกย่อๆว่า เครือข่าย P21

หน่วยงานเหล่านี้มีความกังวลและเห็นความจำเป็นที่เยาวชนจะต้องมีทักษะสำหรับการออกไปดำรงชีวิตในโลกแห่งศตวรรษที่ 21 ที่เปลี่ยนไปจากศตวรรษที่ 20 และ 19 จึงได้พัฒนาวิสัยทัศน์และกรอบความคิดเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ขึ้น สามารถสรุปทักษะสำคัญอย่างย่อๆ ที่เด็กและเยาวชนควรมีได้ว่า ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม หรือ 3R  และ 4C ซึ่งมีองค์ประกอบ ดังนี้

  • 3 R ได้แก่ Reading (การอ่าน), การเขียน(Writing) และ คณิตศาสตร์ (Arithmetic) และ
  • 4 C (Critical Thinking - การคิดวิเคราะห์, Communication- การสื่อสาร Collaboration-การร่วมมือ และ Creativity-ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงทักษะชีวิตและอาชีพ และทักษะด้านสารสนเทศสื่อและเทคโนโลยี และการบริหารจัดการด้านการศึกษาแบบใหม่ 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วงเสวนา: แนวทางสร้างพลเมืองประชาธิปไตยยังไม่ลงตัว ศาสนา ศีลธรรมนำหน้าไม่พออีกต่อไป

Posted: 19 Jul 2017 02:26 AM PDT

ถกประเด็นการศึกษากับการสร้างประชาธิปไตยและพลเมืองที่ดี นักวิจัยประวัติศาสตร์ชี้ ประวัติศาสตร์ สิ่งแวดล้อมศึกษา พัฒนาความเป็นพลเมืองโลกยั่งยืน เสริมอำนาจพลเมือง ทุกวันนี้ ธรรมาธิปไตย ศีลธรรม ไม่เพียงพอเป็นพลเมืองประชาธิปไตย  คำสอนกับสังคมไทยไปคนละทางทำการศึกษาสร้างพลเมืองติดหล่ม ห้องเรียนต้องสร้างพลเมืองคิดได้ ถามรัฐเป็น อาเซียนควรพัฒนาเศรษฐกิจและยอมรับพหุวัฒนธรรม

เมื่อ 24 มิ.ย. 2560 มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ICIRD มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกลุ่ม Thai Civic Education จัดงานเสวนาสาธารณะหัวข้อ "ประชาธิปไตย การศึกษาและความเป็นพลเมือง" ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  ในช่วงเวลา 13.00-16.00 น. เป็นการนำเสนองานวิจัยการศึกษาพลเมืองในมุมมองประวัติศาสตร์ และแนวทางการศึกษาพลเมืองประชาธิปไตยผ่านบริบทไทยและอาเซียนโดยเชิญวิทยากรจากทั้งชาวไทยและต่างชาติมาร่วมพูดคุยในเรื่องการศึกษาด้านพลเมืองในหลายบริบท

งานช่วงบ่ายมีวิทยากร 4 ท่านได้แก่ อภัยชนม์ สัจจะพัฒนกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม และปฤณ เทพนรินทร์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผศ. อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย และ ผศ.บุน ยี จาสมิน ซีม จากศูนย์การศึกษาแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนานหยาง ประเทศสิงคโปร์

(อ่านข่าวงานช่วงเช้า: เปิดแนวคิดให้เด็กรักชาติแบบคิดเป็น ต้องสร้างนักเรียนขี้สงสัยไม่ใช่พลเมืองเชื่องๆ :วงเสวนา)

นักวิจัยประวัติศาสตร์ชี้  ประวัติศาสตร์ สิ่งแวดล้อมศึกษา พัฒนาความเป็นพลเมืองโลกยั่งยืน เสริมอำนาจพลเมือง

Image may contain: 3 people, people smiling, people sitting and indoor

จากซ้ายไปขวา: ปฤณ เทพนรินทร์ พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ อภัยชนม์ สัจจะพัฒนกุล (ที่มา: Thai Civic Education)

อภัยชนม์กล่าวถึงแนวคิดมากมายที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง และความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและพลโลก ไม่ว่าจะเป็นแนวคิด SDGs Sustainable Development Knowledge Platform การพัฒนาที่ยั่งยืนของ UN  แนวคิดของ NCSS  หรือแม้แต่แผนการศึกษาแห่งชาติ ปี 2560-2579 ก็มีคำรวมๆ ของแนวคิดเหล่านี้อยู่เช่นกัน แต่แนวคิดเริ่มของประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อม เริ่มต้นจากหนังสือ "Silent Spring" หรือ "ฤดูใบไม้ผลิอันเงียบงัน"

อภัยชนม์กล่าวอีกว่า มีประเด็นที่สนใจ 4 มิติ ได้แก่ มิติคุณค่าของทรัพยากรในการยกระดับชีวิต ผลกระทบจากการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ มิตินโยบายรัฐและผลพวงที่ตามมาที่เชื่อมกับเรื่องพลเมืองแบบต่างๆ*  มิติวัฒนธรรมและภูมิปัญญา และมิติของความเป็นธรรมและความเท่าเทียม  ซึ่งทั้ง 4 มิตินำไปสู่การตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์เชิงอำนาจนิยม ที่ไม่มีพื้นที่ให้ประวัติศาสตร์กระแสรองต่างๆ เช่น ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ของสิ่งของ ที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าใจตัวเองและมีอำนาจในตัวเองมากขึ้น ตนคิดว่าจะทำให้วิชาประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลง ต้องเปลี่ยนขึ้นมาจากส่วนล่างจึงจะมีอำนาจมากขึ้น ซึ่งจะต้องทำสองส่วน ได้แก่

  • เปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์การสอนประวัติศาสตร์  ได้แก่ การสอนเรื่องสิ่งแวดล้อมจะต้องสลายพรมแดนของโลกและชีวิต ให้เห็นบริบทที่หลากหลาย  เห็นลำดับเวลา ความเชื่อมโยงและความต่อเนื่องในการเปลี่ยนแปลง    ศึกษาจากหลักฐานที่หลากหลายจากฝ่ายต่างๆ และเรียนด้วยบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย เพื่อสร้างพลเมืองที่มุ่งเน้นความเป็นธรรม
  • เปลี่ยนการเตรียมครูใหม่  มองว่าเจตจำนงของครูนั้นสำคัญ ที่จะทำให้ครูรู้สึกว่าตัวเองเป็นนักการศึกษามากกว่าแค่เป็นข้าราชการ แต่มองเห็นความเป็นอาชีพนักจัดการความรู้ที่ออกแบบ ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ได้ ไม่ใช่ต้องบรรยายตามชุดความรู้ที่ส่วนกลางเตรียมมาให้ มีความเชื่อมั่นในตัวเด็กและดึงศักยภาพที่หลากหลายของเด็กออกมา

อภัยชนม์กล่าวทิ้งท้ายว่า วิชาประวัติศาสตร์มีเพื่อเสริมอำนาจพลเมืองมากกว่าเป็นกลไกของรัฐ และควรทำให้นักเรียนเห็นปฏิสัมพันธ์ของชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่เป็นหัวใจของการสร้างประชาธิปไตยที่มีชีวิต การไม่รู้ประวัติศาสตร์เหมือนใบไม้ที่ร่วงจากต้นโดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของต้นไม้ และ เราไม่สามารถเห็นอนาคตใหม่หากไม่พิจารณาห้วงเวลาในอดีตที่ผ่านมาแล้วได้

ธรรมาธิปไตย ศีลธรรม ไม่เพียงพอเป็นพลเมืองประชาธิปไตย  คำสอนกับสังคมไทยไปคนละทางทำการศึกษาสร้างพลเมืองติดหล่ม

ปฤณกล่าวว่า ประเทศไทยเกิดกระแสความสนใจเรื่อง  การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองขึ้นมา หลังการรัฐประหารตอนปี 2549  และมองว่าการสร้างพลเมืองประชาธิปไตยนั้นเป็นคำตอบของยุคสมัย  ประชาธิปไตยล้มเหลว เพราะคนไม่รู้สิทธิ  หน้าที่ ไม่เข้าใจประชาธิปไตยจึงวุ่นวาย ผู้วิจัยสนใจแนวคิดในการจัดการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองที่เกิดขึ้นในกลุ่มต่างๆ หลังปี 2549 โดยสิ่งที่น่าสนใจที่สุดและเป็นหัวข้อของงานวิจัยชิ้นนี้ คือ  กลุ่มของ ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์และคณะของมหาวิทยาลัยรังสิตที่มองว่าเป็นภาพตัวแทนของกลุ่มอนุรักษ์นิยม ที่เชื่อว่าหากสร้างการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองให้คนเข้าใจประชาธิปไตยได้สำเร็จ สังคมก็จะสงบ

แนวคิดของ อาทิตย์ มองว่าพลเมืองประชาธิปไตยนั้นไม่พอ ต้องมีธรรมาธิปไตยด้วย คือมี ธรรมเป็นใหญ่ จึงจะสร้างสังคมที่ดีงามได้ไปด้วย ต่างกับแนวคิดแบบโลกาธิปไตยที่ยึดเสียงของประชาชนเป็นใหญ่ หรืออัตตาธิปไตยที่เน้นตนเองเป็นใหญ่  ซึ่งปฤณได้ตั้งข้อสังเกตว่าจะเห็นวิธีคิดนี้ซ้ำๆ ในการจัดการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองที่อื่น เช่น วิชา TU 100 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เชื่อว่าสังคมมีปัญหาแบบนี้จะแก้ได้ก็ต้องใช้วิธีของตัวเองแบบนี้เท่านั้น โดยรูปแบบของอาทิตย์ ในการจัดการศึกษาสร้างความเป็นพลเมืองเชื่อมโยงกับหลักธรรมทางพุทธศาสนา เช่น อริยสัจ 4 และแนวคิดของพระพรหมคุณาภรณ์  แม้รูปแบบการสอนจะมีการสอนแบบเรียนรู้ผ่านโครงงาน มีการดูหนังวิเคราะห์หนัง มีการลงพื้นที่ สุดท้ายเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายหลัก คือ การมุ่งเน้นดัดแปลงตัวตนของผู้เรียน  คือ การสอนบอกกล่าวให้เป็นในสิ่งที่ดีที่อยากจะให้เป็น มากกว่าการสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้  ซึ่งจะเห็นผลลัพธ์ที่แนวคิดนี้ต้องการ 3 แบบ ได้แก่ การให้บริการสาธารณะ การดูแลสุขภาพ และดูแลผู้ด้อยโอกาส หรือการทำความดีอย่างที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมองว่าเป็นความดี

ปฤณ มองเห็นความขัดแย้งในตัวเองของการสร้างพลเมืองที่มุ่งเน้นการดัดแปลงตัวตนผู้เรียนมากเกินไป โดยมองว่าปกติการเรียนรู้ต้องประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่สั่งสอนหลักการ และส่วนที่ต้องมีประสบการณ์จริงที่รองรับค่านิยมหรือหลักการที่สอน  แต่บริบทสังคมไทยดูจะยากที่จะบ่มเพาะคุณลักษณะอย่างหลัง เพราะสิ่งที่สั่งสอนไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้เรียนไปเจอ หรือเห็นในสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่  จะเห็นวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่ปฏิเสธหลักการประชาธิปไตยอยู่รอบตัว จนเป็นเรื่องปกติ เช่น การรับน้อง  ซึ่งเป็นข้อจำกัดของโครงสร้างสังคมในการสอนประชาธิปไตย  และมองว่าคนที่ทำเรื่องการสร้างพลเมืองรู้เรื่องนี้ แต่ตระหนักเรื่องนี้น้อยเกินไป สุดท้ายรูปแบบการสอนจึงไปสู่การสอนหลักการมากกว่าพาคนไปเรียนรู้จากทั้ง 2 ด้าน ซึ่งไม่ใช่แค่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมฝ่ายเดียวที่มีปัญหา แม้แต่ตัวเอง หรือฝ่ายประชาธิปไตยเองก็ยังติดในทัศนคติที่ยังต้องสอนหลักการให้เห็นทางออกเพียงแบบเดียว เชื่อว่าเป็นวิธีที่ถูกและละเลยส่วนที่ 2 เช่นกัน

ปฤณกล่าวว่า สุดท้ายไปสู่คำถามท้าทายที่ว่า หนึ่ง เราจะส่งเสริมนามธรรมที่ดีงามได้อย่างไรในรัฐที่มีข้อจำกัดของโครงสร้างสังคมที่คอยขัดขวาง เช่น มีวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด  ผู้มีอำนาจไม่เคยต้องรับผิดชอบความผิดที่ก่อขึ้น สอง จะสร้างสมดุลการสร้างพลเมืองให้มีดุลยภาพระหว่างวิธีการปลูกฝังกล่อมเกลา และสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้จริงขึ้นได้อย่างไร  ซึ่งจะนำไปสู่การคิดถึงแผนระยะยาวในการสอน ทรัพยากรที่ใช้ เช่น คน เวลา และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างพลเมือง เช่น อาจมีพ่อแม่ ครู ผู้บริหารสถานศึกษาที่ต้องมาเกี่ยวข้องด้วย ปฤณกล่าวทิ้งท้ายว่า แม้ข้อท้าทายจะดูเป็นอุดมคติ แต่เชื่อว่ามีความหวังที่จะพัฒนาต่อไปได้

ห้องเรียนต้องสร้างพลเมืองคิดได้ ถามรัฐเป็น อาเซียนควรพัฒนาเศรษฐกิจและยอมรับพหุวัฒนธรรม

Image may contain: 1 person, sitting and indoor

บุน ยี จาสมิน ซีม (ที่มา: Thai Civic Education)

จาสมินกล่าวว่า แนวโน้มของการศึกษาพลเมืองประชาธิปไตย เริ่มจากความเชื่อว่าทุกคนมีอำนาจในร่างกายของตนเองและมอบอำนาจให้ตัวแทนจากอำนาจอธิปไตยไปปกครอง ดังนั้น พลเมืองประชาธิปไตยไม่ใช่เพียงการเชื่อฟังและภักดีกับรัฐ แต่ต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์และมีส่วนร่วมในการพัฒนาผลักดันประเทศไปข้างหน้าได้

การศึกษาพลเมืองประชาธิปไตยนอกเหนือจากความรู้โครงสร้างการเมือง ต้องพัฒนาความเข้าใจเชิงลึกเรื่องหลักการความเท่าเทียมและเสรีภาพว่านำไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไรบ้างทั้งในระดับบุคคล สังคม และสาธารณะ โดยสามารถทำให้พลเมืองประชาธิปไตยมีการตัดสินใจที่เฉียบคมซึ่งเป็นที่มาของความรู้ต่างๆ มากมายและการคิดที่ซับซ้อนเพื่อให้เสรีภาพแก่ทุกคนเท่าที่เป็นไปได้

นักการศึกษาจากประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า ทักษะการตัดสินใจของพลเมือง รวมถึงความรู้และกระบวนการเชิงปัญญาที่นำไปสู่การตัดสินใจ เป็นศูนย์กลางในการเป็นพลเมืองประชาธิปไตย  เทียบเท่าการศึกษาที่ได้รับรู้ว่าเป็นพลเมือง โดยการศึกษาวิชาสังคมศึกษาในหนังสือคู่มือวิจัยพบว่า การสอนพลเมืองได้รับความสนใจน้อยมาก แต่ในกระแสปัจจุบัน  จำเป็นต้องมีประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง มีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างประจักษ์แจ้ง มีรัฐบาล และการเมืองที่มั่นคง พร้อมทั้งการสอนประวัติศาสตร์ พลเมืองประชาธิปไตย จัสมินกล่าวว่า ครูเหมือนเป็นคนที่กรองข้อมูลข่าวสารสู่นักเรียนโดยเน้นการเรียนการสอนแบบปฏิบัติ เช่น การเล่นบทบาทสมมติ การปฏิบัติ หรือ การอภิปรายในชั้นเรียนเกี่ยวกับความเป็นประชาธิปไตย แม้ว่าบริบทของกลุ่มประเทศอาเซียนจะแตกต่างกับตะวันตกในมุมมองของการมองพื้นฐานการเมืองที่เอเชียมองในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมากกว่า แต่ก็สามารถปรับกับบริบทของกลุ่มประเทศเอเชียได้

จาสมินกล่าวทิ้งท้ายว่า อาเซียนควรพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตไปด้วยเพื่อให้ยกระดับคนยากจนภายในระยะสั้น พร้อมทั้งปลูกฝังความแตกต่างหลากหลายเพิ่มไปในวัฒนธรรม และมองโลกในแง่ลบ มากกว่ามองโลกในแง่บวกจนเกินไปว่าเศรษฐกิจโตแล้วจะดี ต้องเผื่อมองด้านลบ คิดถึงการฟองสบู่แตกของเศรษฐกิจด้วย

Image may contain: 1 person, standing

อรรถพล อนันตวรสกุล (ที่มา: Thai Civic Education)

อรรถพล ได้นำเสนอเกี่ยวกับความก้าวหน้าของศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย (Thai civic education) ว่า ขับเคลื่อนด้วยโครงการฝึกหัดครูโดยเน้นทักษะ 4 ด้าน ได้แก่ การรู้เท่าทันการเมืองและประชาธิปไตยศึกษา พหุวัฒนธรรมศึกษา และการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ สิทธิมนุษยชนศึกษา และสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พลเมืองอาเซียน พลเมืองโลกและการเรียนรู้ประวัติศาสตร์กับการสร้างความเป็นพลเมือง

การเรียนรู้ที่สำคัญ ประกอบไปด้วย 3 มิติ ได้แก่ การเรียนรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย การเรียนรู้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่มีความเป็นประชาธิปไตย และการเรียนรู้เพื่อมีส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคม โดยระดับขั้นของความเป็นพลเมืองเริ่มจาก พลเมืองรับผิดชอบแบบตั้งรับ พลเมืองที่รับผิดชอบแบบเฉพาะตัว พลเมืองที่มีส่วนร่วม พลเมืองที่มุ่งเน้นความเป็นธรรมในสังคม  เพื่อนำไปสู่พลเมืองที่มุ่งเน้นความเป็นธรรมเชิงทางสังคมอย่างแข็งขัน

นักการศึกษาจากจุฬาฯ กล่าวอีกว่า ทางองค์กรได้ร่วมมือกับ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.)  เพื่อพัฒนาการเรียนรู้เท่าทันสื่อ โดยเอกสารประกอบการเสวนา ได้กล่าวถึงการเรียนรู้เท่าทันสื่อว่า หลักการ MIDL หรือ Media Information Digital Literacy คือการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิตอล  โดยได้ระบุถึงลักษณะการเป็นพลเมืองประชาธิปไตยไว้ว่า "พลเมืองที่มีสมรรถนะในการเข้าถึงเข้าใจ วิเคราะห์ ตีความ ตรวจสอบและคิดอย่างมีวิจารณญาณ สามารถประเมินประโยชน์ และโทษการเลือกรับ ใช้ประโยชน์ และสร้างสรรค์สื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างอำนาจรัฐ ทุน สื่อ ตลอดจนบริบททางสังคมและเศรษฐกิจ เป็นผู้ที่เคารพสิทธิและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมที่หลากหลายได้อย่างผิดรับผิดชอบ และสามารถใช้สื่อสารสนเทศ และดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการต่อรองอำนาจและสร้างเปลี่ยนแปลงในฐานะพลเมืองประชาธิปไตยยุคดิจิทัล ที่กระตือรือร้นในการมีส่วนร่วมและมุ่งเน้นความยุติธรรมทางสังคมเป็นส่วนสำคัญ" (ที่มา: Thai Civic Education)

*เพิ่มเติมในส่วนของ อภัยชนม์ จากรายงาน  รูปแบบของพลเมือง ( kind of citizen ) ของ Joel Westheimer ซึ่งประกอบไปด้วยพลเมืองสามระดับ ได้แก่

1 พลเมืองที่มีความรับผิดชอบ (personally Responsible Citizen)

2 พลเมืองที่มีส่วนร่วม (Participatory Citizen)

3 พลเมืองที่มุ่งเน้นความเป็นธรรมต่อสังคม (Justice-Oriented Citizen)

ที่มาภาพ:  http://www.mediafire.com/…/11755026_10153371791405873_54738…

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เริ่มพิจารณาคดีนักกิจกรรมฟ้องละเมิดเรียกค่าเสียหาย คสช. เหตุสลายชุมนุมรำลึก 1 ปี รัฐประหาร

Posted: 19 Jul 2017 02:20 AM PDT

เริ่มแล้ว ศาลแพ่งกรุงเทพใต้สืบพยานคดีนักกิจกรรม ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 16 ล้าน เหตุถูกสลายชุมนุมรำลึก 1 ปี รัฐประหาร หน้าหอศิลปฯ กทม. พยานยันเพียงชุมนุมซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ และการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เป็นการละเมิดสิทธิของพวกตน

ภาพเหตุชุมนุมรำลึก 1 ปี รัฐประหาร หน้าหอศิลปฯ กทมเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558

19 ก.ค 2560 วานนี้ (18 ก.ค.60) ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีนัดสืบพยานคดีที่กลุ่มนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 13 คน ได้ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1-3 ในคดีละเมิด เพื่อเรียกค่าเสียหาย และค่าสินไหมทดแทนเรียก 16,468,583 บาท ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จากเหตุเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังควบคุมตัวโจทก์ด้วยความรุนแรง ในระหว่างขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ทำกิจกรรมรำลึกครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร

โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการสืบพยานในวันแรก ว่า โจทก์ผู้ฟ้องคดีขึ้นเบิกความได้ 7 คน แต่การสืบพยานฝ่ายโจทก์บางปากเป็นการทำคำเบิกความยื่นต่อศาลก่อนและส่งให้ฝ่ายจำเลยได้นำไปพิจารณาถามค้านฝ่ายโจทก์การเบิกความ การสืบพยานในศาลวันนี้จึงไม่ได้เป็นการเบิกความต่อศาลในรายละเอียดทั้งหมด

โจทก์ทั้ง 7 คนเบิกความสอดคล้องกันว่าพวกตนเพียงมายืนเฉยๆ ดูนาฬิกาเป็นเวลา 15 นาที และพูดเกี่ยวกับสิ่งที่ คสช. ทำในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมาหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 เนื่องจากเห็นว่าเป็นเพียงกิจกรรมรำลึกจึงมาเข้าร่วมกันจากการเห็นโพสต์เชิญชวนในเฟซบุ๊ก แต่เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุได้ไม่กี่นาทีก็มีเหตุการณ์จับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยไม่มีการแจ้งเตือนก่อนและไม่แจ้งว่าพวกตนกระทำความผิดตามข้อหาใด อีกทั้งยังมีการใช้เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบในการจับกุมผู้ชุมนุม

พวกเขายังเบิกความถึงการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ว่าการจับกุมเป็นการฉุดกระชากไปและถูกนำตัวไปควบคุมเอาไว้ที่สน.ปทุมวันเป็นเวลาประมาณ10ชั่วโมง โดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา

นอกจากนั้นโจทก์บางคนยังได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่เช่นน.ส.ชนกนันท์ รวมทรัพย์ ที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวไปโดยการฉุดกระชากทำให้ได้รับบาดเจ็บที่ขาเป็นแผลเป็น โดยหลังถูกจับกุมเธอไม่ได้รับการปฐมพยาบาลจากเจ้าหน้าที่แม้ว่าจะมีการขอชุดปฐมพยาบาลแล้ว จนกระทั่งถูกนำตัวไปจนถึงสน.ปทุมวัน จึงมีเจ้าหน้าที่นำน้ำเกลือมาให้ทำความสะอาดแผล

ชลธิชา แจ้งเร็ว ที่เบิกความถึงเหตุการณ์ขณะที่ตนถูกจับกุมว่า ตนทราบว่ามีกระแสไฟฟ้ารั่วที่บริเวณเสาไฟบนลานหน้าหอศิลปฯ ด้านที่ใกล้กับถนนพญาไท ไม่ใช่แค่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเท่านั้นที่ทราบแต่นักข่าวและเจ้าหน้าที่เองก็ทราบเรื่องดังกล่าวเช่นกัน แต่เจ้าหน้าที่ได้มีการผลักดันคนที่มาทำกิจกรรมไปทางบริเวณดังกล่าว พวกตนจึงย้ายห่างจากจุดที่มีไฟฟ้ารั่วออกไปราว 10 เมตร แล้วนั่งลงบนลาน แต่ในตอนที่เจ้าหน้าที่ฝ่าวงนักข่าวเข้ามาจับกุม ตนและคนที่นั่งคล้องแขนกันอยู่รู้สึกได้ว่าถูกไฟฟ้าช๊อต ถูกทำร้ายที่สะโพกซ้าย ทำให้ได้รับบาดเจ็บร่างกายซีกซ้ายที่รู้สึกชาและที่แขน

ชลธิชา เบิกความว่าตนยังถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ชายก่อนที่จะมีนักข่าวเข้ามาถ่ายภาพขณะที่ตนกำลังถูกจับกุมจึงมีการเรียกเจ้าหน้าที่ผู้หญิงเข้ามาจับกุมตัวเธอแทน ทนายจำเลยจึงได้ถามในประเด็นนี้ว่าในกิจกรรมดังกล่าวยังมีผู้ที่เข้าร่วมเป็นตุ๊ด หรือกะเทยด้วยจึงอาจจะทำให้เจ้าหน้าที่สับสนใช่หรือไม่ เธอยืนยันว่าต่อให้มีอยู่ เจ้าหน้าที่ก็ไม่มีสิทธิใช้ความรุนแรงในการจับกุม และเจ้าหน้าที่รัฐควรจะมีความเซนซิทีฟในเรื่องความหลากหลายทางเพศด้วย

นอกจากนั้นโจทก์ทั้ง 7 คนทราบว่าในช่วงเกิดเหตุเป็นช่วงที่มีการรัฐประหารอยู่ มีการประกาศใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 และรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 อยู่ แต่การชุมนุมของพวกตนเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวด้วย

ณพัทธ์ นรังศิยา ได้เบิกความประเด็นนี้เอาไว้ว่าตนทราบว่าในช่วงที่เกิดเหตุประเทศไทยมมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 และมีการประกาศใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ซึ่งมีลักษณะเป็นกฎหมายซึ่งห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปอยู่ แต่ตนเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่าสามารถมาชุมนุมแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองได้ เพราะจากที่ตนเล่าเรียนมารัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุด ถ้าหากกฎหมายระดับรองลงมามีเนื้อหาที่ขัดกับรัฐธรรมนูญย่อมใช้ไม่ได้ ซึ่งประกาศคำสั่งของ คสช. ถือว่ามีศักดิ์น้อยกว่ารัฐธรรมนูญ

สาเหตุที่พวกเขาทั้ง 7 มาฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายคนละประมาณ 1,200,000 บาท เพราะเห็นว่าการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่เป็นการละเมิดสิทธิไม่เพียงเฉพาะกับร่างกายแต่ในทางจิตใจด้วย ซึ่งเสรีภาพไม่สมารถตีมมูลค่าเป็นจำนวนเงินได้ อีกทั้งต้องการแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องไม่ละเมิดสิทธิประชาชนแบบนี้อีก

ทั้งนี้ทนายความฝ่ายจำเลยได้มีการถามโจทก์ทั้ง 7คน ในประเด็นที่ว่าบริเวณที่เกิดเหตุอยู่ใกล้กับเขตพระราชฐานหรือไม่ พวกเขาทั้ง 7 คนยืนยันว่าบริเวณที่ตนเองอยู่ขณะเกิดเหตุอยู่ห่างจากวังสระปทุมและไม่ได้อยู่ในเขตพระราชฐาน

การสืบพยานในคดีนี้เป็นการสืบต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อวานนี้ถึงวันศุกร์ที่ 21 นี้ และสืบอีกครั้งในสัปดาห์หน้าตั้งแต่วันที่ 25-28 ก.ค. และในวันที่ 1-2 ส.ค. 2560 โดยจะเป็นการสืบพยานโจทก์ก่อนจนถึงวันที่ 25 ก.ค. พยานที่จะขึ้นเบิกความ เช่น โจทก์ทั้ง 13 คน เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักวิชาการ นักข่าว ผู้สังเกตการณ์จากองค์กร NGO กสม. ส่วนพยานฝ่ายจำเลยจะเริ่มสืบตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค. เป็นต้นไป พยานฝ่ายจำเลยเช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์  พล.ต.วิจารณ์ จดแตง ฝ่ายกฎหมายของ คสช. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวัน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข้อสังเกตเกี่ยวกับปัญหาเชิงโครงสร้าง และประเด็นปัญหาความใจกว้างทางการเมืองในแง่วิธีการ

Posted: 19 Jul 2017 12:27 AM PDT

 

เนื่องจากข้าพเจ้าได้มีโอกาสอ่านบทความ "ความเฉื่อยชาทางการเมืองของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ" และ "ความใจแคบทางการเมืองของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ (บางส่วน)" ข้าพเจ้าเห็นว่าทั้งสองบทความได้จุดประเด็นให้ฉุกคิดได้มากมาย ตลอดจนให้คุณประโยชน์โดยเฉพาะต่อตัวข้าพเจ้าซึ่งเป็นหนึ่งในนิสิตที่กำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ในคณะรัฐศาสตร์เช่นกัน ข้าพเจ้าจึงอยากจะขอบคุณผู้เขียนบทความทั้งสองท่านที่ได้เป็นผู้จัดประกายความคิดของข้าพเจ้ามา ณ ที่นี้ ตลอดจนอยากที่จะร่วมสนทนา เสนอข้อถกเถียง และตั้งข้อสังเกตบางประการเพื่อชี้ให้เห็นถึงประเด็นปัญหาของปัญหาเชิงโครงสร้าง และประเด็นปัญหาของความใจกว้างทางการเมืองในแง่จองวิธีการที่ไม่เกิดประสิทธิผลของการแก้ปัญหาเชิงการเมือง

สืบเนื่องจากบทสรุป และเนื้อหาของตัวบทความ "ความใจแคบทางการเมืองของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ (บางส่วน)" ข้าพเจ้าเห็นว่าสาระสำคัญของข้อโต้แย้งหลัก ๆ ที่ปรากฏในบทความ ยังมีการกล่าวถึงเรื่องความกล้าหาญทางจริยธรรม (Moral Courage) อยู่น้อย ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการวิพากษ์ "ความเฉื่อยชาทางการเมือง" อีกทั้งยังให้ความสำคัญต่อข้อโต้แย้งในเชิงอัตวิสัย (Subjectivity) มากเกินไป (ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่า ข้อคิดเห็นในเชิงภววิสัย (Objectivity) นั้น "อาจมีหรือไม่มีอยู่ก็ได้") ดังเช่นในงานเขียนเรื่อง Violence ของ Slavoj Žižek ที่พยายามชี้ให้เห็นว่าปัญหาเรื่องความรุนแรงนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเชิงอัตวิสัย และภววิสัย

การยกข้อโต้แย้งเชิงทฤษฎีให้กลายไปเป็นเรื่องของอัตวิสัยเพียงอย่างเดียว และถือว่าข้อโต้แย้งในเชิงภววิสัยนั้น "ไม่มีอยู่จริง" เป็นอะไรที่ข้าพเจ้าเห็นว่าน่าเสียดาย หากปัญหาเชิงการเมืองสามารถเกิดขึ้นได้ในทั้งสองรูปแบบ แต่ข้อโต้แย้งสำหรับการนำไปสู่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้นกลับมีได้เพียงรูปแบบเดียว

ปัญหาที่ข้าพเจ้าหมายถึงคือการที่พลเมือง (Active Citizen) หรือแม้กระทั่งนิสิตผู้ที่เรียนวิชาการเมืองในคณะรัฐศาสตร์เองก็ตาม ไม่สามารถรับรู้ สังเกตเห็น และมีความสามรถในการแก้ปัญหาที่แท้จริงซึ่งกำลังขัดขวางพลวัตการเมืองไทยที่กำลังเคลื่อนไปสู่จุดที่เรียกว่า "สังคมอารยะ" ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างเช่นปัญหาหลัก ๆ เรื่องความเหลื่อมล้ำในแง่ต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นทุกวันในสังคมไทย

ข้อสังเกตประการแรกที่ข้าพเจ้าอยากเสนอคือ ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างระบอบอำนาจนิยมซึ่งจะนำมาสู่ความเหลื่อมล้ำนั้น ปราศจากมลทินของปัจเจกจริงหรือ? หากลองสืบเสาะหาปัจจัยโครงสร้างของปัญหาดังกล่าว จะเห็นได้ว่าโครงสร้างปัญหาอันแข็งแกร่งนั้นถูกก่อร่างสร้างเสริมตลอดเวลาด้วยปัจเจกชนแทบทั้งสิ้น ฉะนั้น การตกเป็นเหยื่อของปัจเจกชนในระบบโครงสร้างอันโหดร้ายดังกล่าวจะไม่ถือว่าเป็นความรับผิดชอบของตัวปัจเจกชนเอง และตัวข้าพเจ้าเองเลยหรือ สำหรับการที่จะต้องร่วมกันตระหนักถึงปัญหา และร่วมกันแก้ไขด้วยวิธีการอันมีประสิทธิภาพ

ข้าพเจ้าขอยกตัวอย่างหนึ่งในแนวทางของการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างภายใต้ข้อจำกัดของปัจเจกชนจากงานเขียน On Tyranny ของ Timothy D. Snyder ที่พยายามชี้ให้เห็นว่าปัจเจกชนเองจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบ และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเชิงการเมือง ซึ่งอาจมีจุดเริ่มต้นกกรมวิธีการง่าย ๆ อย่างการสนับสนุนเหตุปัจจัยที่จะนำไปสู่ผลิตผลของคุณประโยชน์สำหรับสังคมส่วนรวม เช่น สนับสนุนองค์กรการกุศลต่าง ๆ มิใช่เพียงแต่ต้องออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยการจัดตั้งกลุ่มเรียกร้องผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว

ข้อสังเกตประการที่สองคือ "วิธีการ" (approach) ในแง่ต่าง ๆ สำหรับการแก้ไขปัญหาเชิงการเมืองนั้นยังขาด "ประสิทธิผล" (effectiveness) อยู่หรือเปล่า? ข้าพเจ้าไม่ปฏิเสธในแง่ที่ว่าข้อจำกัดทางสังคมมีผลกระทบต่อวิธีการในการแก้ไขปัญหาเชิงการเมืองของแต่ละบุคคล แต่ถึงกระนั้น การใช้ข้ออ้างเรื่องข้อจำกัดดังกล่าวมาเป็นตัวกำกับ "วิธีการ" ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นสิ่งที่อันตรายต่อการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง เนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้างดังกล่าวจะเป็นตัวบดบัง "วิธีการ" อันมีประสิทธิผลได้

จริงอยู่ที่ว่าสภาพเศรษฐกิจมีผลเป็นอย่างมากต่อวิถีการดำรงชีวิตของประชาชนในประเทศไทย แต่ผู้ที่มีความกระตือรือร้นย่อมไม่สยบยอมอยู่ภายใต้กรอบดังกล่าวเป็นแน่ อย่างน้อย ๆ ก็อาจจะเริ่มต้นด้วยการสร้างเครือข่ายกลุ่มแรงงาน กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าเพื่อให้กลายเป็นประชาสังคมผลักดันนโยบายทางการเมืองต่อไปได้

หากลองพิจารณาจากประวัติศาสตร์ของประเทศไทย จะเห็นได้ว่า "วิธีการ" ต่าง ๆ ถูกใช้มาหลายครั้งหลายคราด้วยกันจวบจนยุคปัจจุบัน ที่เป็นยุกเรืองรองของเผด็จการอำนาจนิยม คำถามที่ข้าพเจ้าต้องการจะถาม ณ จุดนี้คือ นี่คือประสิทธิผลของ "วิธีการ" ที่สยบยอมต่อข้อจำกัดทางสังคมของผู้เขียนบทความ "ความใจแคบทางการเมืองของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ (บางส่วน)" หมายถึงจริง ๆ น่ะหรือ? และนี่คือประสิทธิผลอันน่าภาคภูมิใจของ "วิธีการอันแตกต่าง" และการยอมรับความแตกต่างดังกล่าวจนนำมาสู่จุดนี้ใช่หรือไม่?

ด้วยคำถามดังกล่าวเหล่านี้เอง ข้าพเจ้าจึงอยากจะนำเอาแก่นหลักของการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาสังคมมาเน้นย้ำให้เห็นอีกครั้งว่า ความกล้าหาญทางจริยธรรม (Moral Courage) นั้นจำเป็นที่จะต้องถูกยึดเป็นหลักสำคัญเสมอ หากขาดแก่นหลักดังกล่าวไป หรือเพียรแต่ยอมรับซึ่งความแตกต่างของวิธีการ และการนิ่งเฉย ข้าพเจ้าเกรงว่าอาจจะต้องวกกลับมาใช้ศัพท์แสงจำพวก "ความเฉื่อยชา" ในการตีความปรากฏการณ์อีกครั้ง

ข้อสังเกตประการสุดท้ายคือ การมีจุดยืนที่แน่นอนท่ามกลางกระแสความคิดเชิงการเมืองอันหลากหลาย ถือเป็นเรื่องที่เรียกได้ว่าใจแคบหรือเปล่า? ข้าพเจ้าจะไม่เหมารวมและด่วนสรุปว่าผู้ที่คอยปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแนวคิดตัวเองตามความรู้ใหม่ที่ได้รับตลอดเวลาว่าเป็นพวกอยู่เป็น ลื่นไหล ไร้จุดยืน หรือด่วนสรุปว่าผู้ที่มีจุดยืนแน่วแน่นั้น หัวแข็ง งมงาย หรือปิดกั้นตัวเองออกจากกระแสองค์ความรู้ ในทางกลับกัน ข้าพเจ้าจะพยายามชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่มีความกระตือรือร้นในจุดยืนทางการเมืองของตนเป็นอย่างมากนั้น บางทีอาจมองว่าผู้ที่มีความกระตือรือร้นในจุดยืนทางการเมืองน้อยกว่า  หรือใช้วิธีการแก้ปัญหาเชิงการเมืองที่เกิดประสิทธิผลน้อยว่า "เฉื่อยชา" และไม่ใช่เพียงเพราะว่าพวกเขาเหล่านั้นใช้ "วิธีการที่แตกต่างกัน" ในการพิจารณาเพื่อวิพากษ์เพียงอย่างเดียว

แน่นอนว่าข้อคิดเห็นดังกล่าวนั้นอาจจัดได้ว่าเป็นเพียงข้อคิดเห็นเชิงอัตวิสัย แต่ผลลัพธ์และประสิทธิผลที่เกิดขึ้นจากวิธีการเหล่านั้นย่อมแสดงให้เห็นในรูปแบบของภววิสัยที่กำลังปรากฏอยู่ในห้วงสังคมไทยปัจจุบัน

สรุปโดยรวมคือ ข้าพเจ้าต้องการจะชี้ให้เห็นว่า การเปิดกว้างต่อความคิดเห็นที่แตกต่างนั้นเป็นสิ่งสำคัญ แต่ถึงกระนั้น "วิธีการที่แตกต่าง" สำหรับการแก้ปัญหาเชิงการเมืองก็ย่อมต้องถูกพิจารณาว่ามีประสิทธิผลหรือไม่ มิใช่เพียงแต่ทำใจให้กว้างพร้อมทั้งก้มหน้ายอมรับว่านั่นคือวิธีการที่แตกต่างซึ่งในบางครั้งอาจไม่เกิดประสิทธิผล หรืออาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสังคมเสียด้วยซ้ำ

ท้ายที่สุดแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่าการจะสร้างสังคมอารยะที่ปราศจากการใช้อำนาจมิชอบ ข่มขู่ คุกคามประชาชน หรือสังคมอุดมปัญญาที่ปราศจากการก่นด่า "สมน้ำหน้า" เมื่อมีการกดขี่กันเกิดขึ้น ย่อมจำเป็นที่จะต้องสร้างจิตสำนึกส่วนรวมของพลเมืองที่กระตือรือร้น และคอยค้นหาวิธีการที่เกิดประสิทธิผลอย่างแท้จริงตลอดเวลา มิใช่เพียงแต่สยบยอมต่อโชคชะตา และใช้ชีวิตอย่างไม่ยี่หระต่อภาวการณ์ทางสังคม มากไปกว่านั้น ข้าพเจ้าอยากเชิญชวนให้ผู้เขียนบทความที่ข้าพเจ้าได้ทำการวิพากษ์ หรือท่านผู้มีความเห็นต่าง และสนใจได้เสนอข้อโต้แย้งถกเถียงอย่างฉันมิตรเพื่อเป็นการกระตือรือร้นแง่หนึ่งในการสร้างสังคมแห่งปัญญาที่ข้าพเจ้าเห็นว่าน่าจะเป็นเป้าหมายหลักของทุก ๆ ท่าน รวมถึงตัวข้าพเจ้าด้วย

 

บรรณานุกรม

Snyder, Timothy. On Tyranny: Twenty Lessons from the Twentieth Century. London: The Bodley Head, 2017.

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์. "กับดักเผด็จการ ทำไมเวลาเผด็จการหมดอำนาจแล้ว ถึงร่วงแรงกว่าประชาธิปไตย? โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์." มติชนออนไลน์. Last modified February 16, 2559. https://www.matichon.co.th/news/39955.

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์. "อำนาจของคนไร้อำนาจ." https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10155183189748210&set=a.10150138244118210.327271.653688209. Last modified April 16, 2560.

ธรณ์เทพ มณีเจริญ. "ความเฉื่อยชาทางการเมืองของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ." ประชาไท. Last modified July 16, 2560. https://prachatai.com/journal/2017/07/72418.

สรวิศ ชัยนาม. Slavoj Žižek : ความรุนแรงและการเมืองเพื่อการปลดปล่อย, 2558 ed. กรุงเทพฯ: ศยาม, 2558.

สิงห์ดำท่านหนึ่ง. "ความใจแคบทางการเมืองของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ (บางส่วน)." ประชาไท. Last modified July 18, 2560. https://prachatai.com/journal/2017/07/72451.

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ชยางกูร ธรรมอัน เป็นนิสิตสาขาวิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประธานาธิบดียอดแย่

Posted: 19 Jul 2017 12:08 AM PDT




ผู้อ่านที่เห็นชื่อเรื่องแล้วคงคิดว่าผมหมายถึงแค่ประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐอเมริกาที่มีเรื่องมีราวให้วิพากษ์วิจารณ์อยู่ทุกวันตั้งแต่รับตำแหน่งและย้อนหลังไปขุดคุ้ยเรื่องราวทั้งที่ตนเองและลูกเขยกับลูกชายได้ก่อไว้ในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยล่าสุดก็คือ โดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ บุตรชายคนโต วัย 39 ปี ได้พบปะกับ นาตาเลีย เวเซล นิตสกายา นักกฎหมายชาวรัสเซียที่อ้างว่าเธอมีข้อมูลส่วนหนึ่งจากรัฐบาลรัสเซียที่จะสร้างความเสียหายให้แก่นางฮิลลารีจะไปมอบให้กับบุตรชายคนนี้ของทรัมป์ โดยการพูดคุยครั้งนั้นมี จาเร็ด คุชเนอร์ บุตรเขยของทรัมป์ และ พอล มานาฟอร์ต ผู้จัดการทีมหาเสียงของทรัมป์ร่วมวงสนทนาด้วย ซึ่งกรณีนี้ก็เป็นหนึ่งในบ่วงรัดคอทรัมป์ให้แน่นขึ้นในกรณีอื้อฉาวที่เกี่ยวกับรัสเซียของเขา กอปรกับผลโพลล่าสุดของวอชิงตันโพสต์กับเอบีซีนิวส์ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2017ที่ผ่านมาชี้ว่าความนิยมของทรัมป์ตกลงมาอยู่ที่ 36 % ซึ่งเท่ากับว่าคนอเมริกันเพียงประประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศเท่านั้นที่ยอมรับการทำหน้าที่ของทรัมป์

อันที่จริงแล้วประธานาธิบดียอดแย่ในสายตาของนักประวัติศาสตร์อเมริกันนับตั้งแต่สหรัฐอเมริกามีประธานาธิบดีมา 45 คนตั้งแต่ปี 1789 จนถึงปัจจุบัน 2017 นั้นมีหลายคน ซึ่งเมื่อดูๆแล้วอาจจะแย่กว่าประธานาธิบดีคนปัจจุบันเสียด้วยซ้ำไป ตัวอย่างเช่น

จอหน์ ไทเลอร์(John Tyler,1790-1862) ได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 10(1841-1845) เพราะประธานาธิบดีคนก่อนหน้าป่วยเป็นปอดบวมเสียชีวิตเพียงหนึ่งเดือนหลังจากเข้ารับตำแหน่ง ด้วยเหตุที่เขายืนกล่าว   สุนทรพจน์ในวันที่เข้ารับตำแหน่งท่ามกลางอากาศที่หนาวเหน็บและมีฝนตกปรอยๆเกือบ 2 ชั่วโมง ไทเลอร์ในฐานะรองประธานาธิบดีจึงเข้ารับตำแหน่งต่อ ผลงานที่นับว่าแย่ของไทเลอร์ก็คือการที่ประกาศให้ รัฐเท็กซัสซึ่งเป็นรัฐขนาดใหญ่ที่เพิ่งเข้าสมัครเป็นรัฐใหม่ของสหรัฐอเมริกาเป็นรัฐที่อนุญาตให้มีทาสได้ ทั้งๆที่ขณะนั้นอยู่ในช่วงของความขัดแย้งในเรื่องนี้อย่างหนักจนเป็นเหตุหนึ่งที่ลุกลามเป็นสงครามกลางเมืองต่อมา

นอกจากนั้นในระหว่างไทเลอร์ดำรงตำแหน่งภรรยาของเขาได้เสียชีวิตลง เขาจึงได้แต่งงานใหม่ซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งเพราะแต่งงานในระหว่างการดำรงตำแหน่ง และแต่งงานกับเด็กสาวที่มีอายุอ่อนกว่าถึง 30ปีและไทเลอร์ก็มีลูกกับภรรยาคนใหม่จำนวนมากเมื่อรวมกับภรรยาคนก่อนแล้วมีถึง 15 คน ซึ่งก็นับว่าเป็นประธานาธิบดีที่มีลูกมากที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกันอีกเช่นกัน แต่การแต่งงานหรือการมีลูกมากนั้นไม่สามารถนับได้ว่าเป็นประธานาธิบดีแย่หรือไม่แย่ ที่แย่คือหลังจากลงจากตำแหน่งปี1845 เขากลับไปทำไร่ที่รัฐเวอร์จิเนียร์โดยมีทาสแรงงานไว้รับใช้ พอเกิดสงครามกลางเมืองเขาไปเข้ากับฝ่ายใต้ที่สนับสนุนการมีทาสเสียอีก

มิลลาร์ด ฟิลมอร์(Millard Fillmore,1800-1874) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 13(1850-1853)ซึ่งเป็นการขึ้นสู่ตำแหน่งแทนพลตรีซัคคารี เทเลอร์(1849-1850)ซึ่งเป็นประธานาธิบดีเพียงปีเดียวก็เสียชีวิต ในขณะที่ ฟิลมอร์ขึ้นสู่ตำแหน่งนั้นสถานการณ์ความขัดแย้งปัญหาเรื่องทาสระหว่างฝ่ายเหนือรุนแรงขึ้น แต่เขากลับ  ลงนามในกฎหมายที่ยอมให้นายทาสไล่ล่าทาสที่หลบหนีขึ้นไปอยู่ในรัฐทางเหนือ ซึ่งรัฐเหล่านั้นมีนโยบายเลิกทาส จึงเกิดมีการตามล่าทาสกันอย่างขนานใหญ่

แอนดรู จอห์นสัน(Andrew Johnson,1808-1875) เขาขึ้นดำรงตำแหน่งแทนประธานาธิบดีคนที่ 17 แทนอับราฮัม ลิงคอล์นที่ถูกฆาตกรรมในปี1865 โดยเขาพยายามขัดขวางในสิ่งที่ลิงคอล์นเคยทำไว้ เช่น การออกกฎหมายที่เรียกว่า Black Codes เปิดทางให้นายทาสในหลายรัฐคงสิทธิ์เหนือทาสอีกต่อไป แทนที่จะต้องปล่อยตัวให้เป็นอิสระ เมื่อรัฐสภาพยายามออกกฎหมายให้สิทธิ์กับอดีตทาสแต่เขากลับใช้อำนาจฝ่ายบริหารในฐานะประธานาธิบดีหยุดยั้ง(veto)กฎหมายเหล่านั้นเสีย

ยูลิซิส เอส แกรนท์ (Ulysses S. Grant,1822-1885) อดีตวีรบุรุษสงครามกลางเมืองของฝ่ายเหนือ เข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 18 (1869-1877) ด้วยคะแนนที่ถล่มทลาย อยู่ในตำแหน่งถึง 2 สมัยแต่กลับบริหารงานไม่เป็นโล้เป็นพาย มิหนำซ้ำยังปล่อยให้คนใกล้ชิดคอร์รัปชันกันอย่างมากมาย

แคลวิน คูลดจ์ (Calvin Coolidge,1872-1933) ขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 30 (1923-1929) ด้วยเหตุที่อดีตประธานาธิบดีวอร์เรน ฮาร์ดิง เดินทางไปอลาสกาเกิดล้มป่วยด้วยอาหารเป็นพิษแล้วเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลันอย่างมีเงื่อนงำ เขาลดภาษีให้คนรวยโดยอ้างว่าเมื่อธุรกิจอุตสาหกรรมเข้มแข็งคนรวยจะช่วยสร้างงานให้คนจนในขณะที่ชาวไร่ชาวนาขนาดกลางและเล็กถูกทอดทิ้งให้ล้มละลาย คูลิดจ์มีชื่อเสียในเรื่องความขี้เกียจ โดยนอนแต่หัวค่ำและตื่นสายโดยใช้เวลาบนเตียงโดยเฉลี่ยคืนละสิบชั่วโมงแล้วยังงีบหลับในตอนกลางวันอีกด้วย

ริชาร์ด นิกสัน(Richard Nixon,1913-1994) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 37(1969-1974) ซึงเป็นผู้ที่มีเรื่องอื้อฉาวมากจนต้องลาออกก่อนที่จะถูกถอดถอน (impeachment) โดยวุฒิสภาอันเนื่องจากคดี "วอเตอร์เกต"คดีฉาวสะท้านโลกที่ใช้วิธีสกปรกเพื่อให้ตนเองชนะเลือกตั้ง เป็นคดีประวัติศาสตร์ที่สะเทือนศรัทธาชาวอเมริกันมากที่สุด เพราะทำลายภาพลักษณ์ทุกอย่างที่สร้างขึ้นมา ตั้งแต่บทบาทตำรวจโลก แนวคิดที่ยึดมั่นในเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน และระบบการปกครองแม่แบบของประเทศประชาธิปไตย ทั้งหมดที่ว่านี้กลายเป็นสิ่งจอมปลอมไปทันทีเมื่อประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสันผู้ชื่อว่าทำประโยชน์ต่อสหรัฐอเมริกามากที่สุดผู้หนึ่ง เช่น ยอมถอนทหารออกจากเวียดนาม ปิดฉากสงครามเย็นกับสหภาพโซเวียต และเปิดความสัมพันธ์กับจีนคอมมิวนิสต์ แท้ที่จริงคือผู้ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น บิดเบือนซุกซ่อนข้อมูล และใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่นเพื่อให้ตนเองพ้นผิด แต่เขาได้รับการยกเว้นโทษในเวลาต่อมาโดยประธานาธิบดีฟอร์ด ขณะที่คนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกว่า 40 คนถูกตัดสินจำคุก ซึ่งมีตั้งแต่รอลงอาญา 1 เดือนจนถึงจำคุก 52 เดือน

จากที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าถึงแม้สหรัฐอเมริกาจะมีประธานาธิบดียอดแย่แค่ไหน แต่ทุกอย่างก็ดำเนินไปตามระบบ ไม่มีใครไปรื้อไปพังระบบเพื่อแก้ปัญหาด้วยวิธีการนอกระบบ ถ้าไม่ดีก็เลือกคนใหม่หรือใช้วิธีถอดถอนออกไป ประชาธิปไตยเป็นเรื่องคนหมู่มากที่ยอมรับและเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างและต้องใช้ความอดทน

คนอเมริกันไม่ชอบทรัมป์ตั้งเกือบ 2 ใน 3 ของทั้งประเทศ แต่ยังไม่เคยได้ยินว่ามีใครเรียกร้องให้ทำรัฐประหารหรือเข้ามารัฐประหารโดยอ้างว่าประชาชนเรียกร้องเหมือนพี่ไทยเราเลย

 

 

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 19 กรกฎาคม 2560

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อุทธรณ์สั่งคุก 2 ปี 'จิตตนาถ ลิ้มทองกุล-พชร สมุทวณิช' ทำวิทยุโทรทัศน์ไม่ได้รับอนุญาต

Posted: 18 Jul 2017 11:47 PM PDT

ศาลอุทธรณ์กลับพิพากษาศาลชั้นต้น สั่งจำคุก 'จิตตนาถ ลิ้มทองกุล-พชร สมุทวณิช' คนละ 2 ปี ทำวิทยุโทรทัศน์ไม่ได้รับอนุญาต พร้อม ปรับ บริษัท ไทยเดย์ ด็อท คอม จำกัด เป็นเงิน 90,000 บาท

เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา  ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อ.1870/2558 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท ไทยเดย์ ด็อท คอม จำกัด, จิตตนาถ ลิ้มทองกุล และพชร สมุทวณิช ผู้บริหารบริษัทฯ เป็นจำเลยที่ 1 - 3 ในความผิดฐานร่วมกันส่งวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์เพื่อให้บริการสาธารณะหรือชุมชนโดยไม่ได้รับอนุญาต ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต หลังจากเดือน ก.ย. 2548 ถึงวันที่ 3 ก.พ. 2549

จำเลยทั้งสามร่วมกันประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ โดยร่วมกันทำการบันทึกรายการภาพและเสียงหรือทำการถ่ายทอดสดรายการตามที่มีกำหนดไว้ในผังรายการแล้วส่งข้อมูลสัญญาณภาพและเสียงผ่านทางสายเคเบิลใยแก้ว ซึ่งเช่าจากบริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เพื่อส่งต่อไปที่เกาะฮ่องกง ประเทศจีน จากนั้นมีการส่งสัญญาณภาพและเสียงต่อไปยังดาวเทียม NSS6 แล้วดาวเทียมส่งข้อมูลสัญญาณภาพและเสียงกลับมาที่ประเทศไทยทางสถานีวิทยุโทรทัศน์เอเอสทีวี ช่องนิวส์วัน ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถซื้อจานรับสัญญาณดาวเทียมเพื่อดูรายการโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย อันเป็นการส่งวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งจำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2559 โดยเห็นว่า พยานโจทก์ที่นำมาเบิกความ รวม 4 ปาก ไม่มีพยานคนใดเบิกความให้ศาลเห็นว่าการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์โดยการส่งภาพและเสียง กระทำความผิดตามพ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2498 พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2530 และ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551

ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์ และวันนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตาม พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2495 มาตรา 3, 5, 17 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกจำเลยที่ 2 และ 3 คนละ 2 ปี และปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 90,000 บาท

ทางนำสืบของจำเลยทั้งสาม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง กรณีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 และ 3 คนละ 1 ปี 4 เดือน และปรับจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 60,000 บาท กับให้ปรับจำเลยทั้งสามเป็นรายวันๆ ละ 2,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2548 - 23 ม.ค. 2549

ทั้งนี้โจทก์หรือจำเลยสามารถยื่นฎีกาได้อีกภายในเวลา 30 วัน

สำหรับ จิตตนาถ ลิ้มทองกุล เป็นลูกชายของ สนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ขณะนี้โดนจำคุกในข้อหาทำเอกสารเท็จ ค้ำประกันกู้เงินธนาคารกรุงไทย กว่า 1,000 ล้านบาท

 

ที่มา : คมชัดลึกออนไลน์และข่าวสดออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารจ่อเรียกนักวิชาการเข้าพบ หลังชูป้าย ‘เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร’

Posted: 18 Jul 2017 11:21 PM PDT

ทหารจ่อเรียก 'ประจักษ์' 'ภัควดี' 'ชัยพงศ์' และอีกสามนักวิชาการเข้าพบ หลังชูป้าย 'เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร' ด้าน 'อนุสรณ์' ชี้ ระบุผิด 'ประจักษ์' ไม่ใช่คนถือป้าย แต่เป็นคนอ่านแถลงการณ์ของ 176 นักวิชาการ 'ปิ่นแก้ว' โต้ 3 นักวิชาการนำเสนอบทความ ไม่ได้หาโอกาสเคลื่อนไหว แจงตลอดงานประชุมมี จนท.นอกเครื่องแบบรุกล้ำพื้นที่ ถ่ายรูป ไม่ขออนุญาต

 

ภาพจากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง - คนส. 

เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รักษาราชการแทนผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ทำหนังสือโทรสารในราชการกรมการปกครอง รายงานต่อปลัดกระทรวงมหาดไทย เรื่องความเคลื่อนไหวของนักวิชาการในการประชุมสัมมนาไทยศึกษา ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ โดยกล่าวว่ามีนักวิชาการ นักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวทางสังคม จำนวน 6 คน ทราบชื่อแล้ว 3 ราย คือ ประจักษ์ ก้องกีรติ ภัควดี วีระภาสพงษ์ และชัยพงษ์ สำเนียง ได้เดินทางมาชูป้ายข้อความว่า 'เวทีวิชาการ ไม่ใช่ ค่ายทหาร' โดยกิจกรรมดังกล่าวเป็นการถือป้ายเพื่อถ่ายภาพและโพสต์ลงสื่อออนไลน์ต่างๆ ของกลุ่ม โดยใช้สถานที่ภายในห้องประชุมสัมมนาและด้านหน้าห้องประชุมเป็นสถานที่ถ่ายภาพ

หนังสือดังกล่าวยังระบุว่า จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาบุคคลเหล่านี้เคลื่อนไหวในนาม 'กลุ่มนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง หรือ คนส.' ที่มีประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นแกนนำและมักเคลื่อนไหวในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านทหารและการรัฐประหาร รวมทั้งเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออก และจะอาศัยจังหวะและโอกาสที่มีการจัดประชุม เสวนา หรือจัดเวทีนานาชาติเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เสมอมา

การดำเนินการของจังหวัดเชียงใหม่ โดยกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) จังหวัดเชียงใหม่ จะได้เชิญนักวิชาการทั้ง 3 คนดังกล่าวเข้ามาพบเพื่อชี้แจง และขอความร่วมมือไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไป

'ปิ่นแก้ว' โต้ สามนักวิชาการนำเสนอบทความ ไม่ได้หาโอกาสเคลื่อนไหว แจงตลอดงานประชุมมี จนท.นอกเครื่องแบบรุกล้ำพื้นที่ ถ่ายรูป ไม่ขออนุญาต

มติชนออนไลน์ สัมภาษณ์ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี นักวิชาการจากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า นี่เป็นจดหมายที่บิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างที่สุด ข้อโต้แย้งรองผู้ว่าฯ จังหวัดเชียงใหม่ มีดังนี้

1.นักวิชาการที่ถูกเอ่ยชื่อทั้งสามคน เป็นผู้เข้าร่วมในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาครั้งที่ 13 ที่จัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ เชียงใหม่ ทั้งสามลงทะเบียนและนำเสนอบทความในงานวิชาการดังกล่าว เช่นเดียวกับนักวิชาการไทยและเทศอีกจำนวนหลายร้อยคน ไม่ได้เป็นพวก "อาศัยจังหวะที่มีการจัดการประชุมมาเคลื่อนไหวตามงานต่างๆ" อย่างที่กล่าวหาแต่อย่างใด

2.ตลอดงานประชุมวิชาการฯ มีทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบหลายคน ถือวิสาสะเข้ามาในงานโดยไม่ลงทะเบียน ถ่ายรูปผู้คน ไม่ได้สนใจเนื้อหาของงานประชุม แต่บันทึกกิจกรรมต่างๆ โดยไม่ได้ขออนุญาตต่อผู้จัดแต่อย่างใด เป็นการรุกล้ำพื้นที่ทางวิชาการในเวทีนานาชาติที่น่าละอายเป็นอย่างยิ่ง

3.ป้าย 'เวีทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร' ที่ติดอยู่หน้าห้องประชุม เป็นการสื่อสารให้กับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างตรงไปตรงมา ให้เคารพเสรีภาพทางวิชาการ และยุติการแทรกแซงกิจกรรมทางปัญญาอย่างไร้เหตุผลเสียที และเป็นการสื่อสารอย่างสันติ นักวิชาการหลายท่าน รวมทั้งดิฉันเอง ก็ถ่ายรูปกับป้ายนี้ เพราะเอือมระอากับพฤติกรรมของทหารและตำรวจเต็มที่

จดหมายเรียกตัวฉบับนี้ของจังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นการละเมิดสิทธิทางวิชาการอย่างถึงที่สุด และเป็นพฤติกรรมที่สมควรถูกประนามเป็นอย่างยิ่ง

'อนุสรณ์' ชี้ ระบุผิดคน 'ประจักษ์' ไม่ใช่คนถือป้าย 'เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร' แต่เป็นคนอ่านแถลงการณ์ของ 176 นักวิชาการ

ขณะเดียวกัน มติชนออนไลน์ สัมภาษณ์ อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และแกนนำเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง กล่าวถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า เป็นความผิดพลาดของทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ ที่ระบุว่ามีนักวิชาการ 6 คนเคลื่อนไหว โดย 3 คนที่เปิดชื่อมาตามภาพที่มีการชูป้ายนั้น ไม่มีอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. อาจารย์ประจักษ์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชูป้าย 'เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร' เลย แม้อาจาย์ประจักษ์จะทำกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง หรือ คนส. แต่อาจารย์ไม่ใช่ระดับแกนนำทำกิจกรรม เป็นเพียงพันธมิตรหรือวิทยากรรับเชิญเข้าร่วมพูดคุยหากมีหัวข้อที่อาจารย์ถนัดเท่านั้น ถือเป็นการผิดพลาดทางข้อเท็จจริง 2 ข้อ

กิจกรรมการอ่านแถลงการณ์เมื่อวาน อาจารย์ประจักษ์เป็นเพียงคนอ่านแถลงการณ์ของ 176 นักวิชาการไทยและต่างประเทศ คู่กับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียอีกคน ซึ่งเนื้อความในแถลงการณ์ก็พูดอย่างตรงไปตรงมา เรื่องสิทธิเสรีภาพของพลเมืองและสิทธิทางวิชาการถูกริดรอนไปอย่างสำคัญ การระบุชื่อนักวิชาการของเจ้าหน้าที่นั้น ถือว่าเป็นการทำงานที่ชุ่ย จับแพะชนแกะ และมั่วมาก การระบุชื่ออาจารย์ประจักษ์ถือเป็นความผิดพลาดร้ายแรง และไม่น่าประหลาดใจ หากหน่วยงานของรัฐจะแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ เรื่องง่ายๆ แค่นี้ยังผิด ซึ่ง คนส. มีเป้าหมายในการปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ และเกี่ยวข้องกับการรวบรวมรายชื่อนักวิชาการออกแถลงการณ์ โดยวันนี้ ถึงแม้ไม่เกี่ยวโดยตรงแต่ถือเป็นหน้าที่ในการปกป้องเสรีภาพของผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ โดยจะมีการกำหนดท่าที หากเจ้าหน้าที่รัฐเชิญนักวิชาการดังกล่าว จะมีการรวมตัวของนักวิชาการไปคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ส่วนตัวเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ไม่น่าจะเรียก ซึ่งวันที่ 19 ก.ค. จะมีการออกแถลงการณ์ยืนยันในหลักการอีกที

"ประเทศนี้มีอะไรที่ไม่สมเหตุสมผลหลายเรื่องอยู่แล้ว มีการพยายามปิดกั้นไม่ให้คนคิดต่างได้แสดงออก มีการพยายามทำให้สังคมดูสงบปกติ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น จะได้เป็นข้ออ้างว่า เมื่อเข้ามาแล้ว ประเทศสงบ ไม่มีความเคลื่อนไหวอะไร ใช้ชีวิตปกติ ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ มันเป็นเพราะคุณบังคับให้เขาใช้ชีวิตแบบนี้ ใครขึ้นมาก็ถูกจับ เราคิดว่ามันไม่ถูก หากมีจดหมายเรียกตัวบุคคลทั้ง 3 จริง เราก็จะรวมตัวกันไปพบ" อนุสรณ์กล่าว

เวลา 12.56 น. (วันนี้) ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นักวิชาการทั้งสาม คือ ประจักษ์ ก้องกีรติ ภัควดี วีระภาสพงษ์ และชัยพงษ์ สำเนียง ยังไม่ได้ถูกเรียกเข้าพบแต่อย่างใด

แถลงการณ์เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) เรื่อง เสรีภาพทางวิชาการและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

กรณีที่มีการลงข่าวในเว็บไซต์มติชนโดยมีเนื้อหาเป็นโทรสารในราชการกรมการปกครองพาดพิงกิจกรรมของเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ในลักษณะที่คลาดเคลื่อนหลายประการ คนส. จึงขอชี้แจงและแสดงจุดยืนดังนี้

1.กรณีการถือป้ายที่มีข้อความว่า 'เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร' แล้วสื่อต่างๆ ถ่ายภาพและนำไปเผยแพร่ในครั้งนี้ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ราชการตีความและกล่าวหาว่าเป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ในการต่อต้านทหารและการทำรัฐประหาร รวมทั้งเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออก อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏข้อบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญที่ห้ามการกระทำดังกล่าวมานั้นเลย

2.การที่เอกสารราชการกล่าวหา ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ว่ามีส่วนในกิจกรรมการชูป้ายที่มีข้อความข้างต้นในวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 เวลา 15.00 น. นั้น เป็นเท็จ เนื่องจาก ผศ.ดร.ประจักษ์ ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์หรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมตามวันและเวลาดังกล่าวแต่อย่างใด นอกจากนี้ ก็เป็นที่ทราบกันอย่างเปิดเผยผ่านสื่อสาธารณะอยู่แล้วว่า คนส. ได้ดำเนินกิจกรรมเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงคัดค้านรัฐประหารในวาระโอกาสต่างๆ เป็นปกติจริง มิได้เป็นการฉวยโอกาสอย่างไร้เกียรติตามที่เอกสารราชการฉบับนี้กล่าวหาแต่อย่างใด

3.คนส. ขอยืนยันว่าการเคลื่อนไหวอย่างสันติวิธีเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกหมู่เหล่า รวมทั้งนักวิชาการ การอ่านแถลงการณ์พร้อมรายชื่อแนบท้ายในวันที่ 17 กรกฎาคม 2560 ในการประชุมนานาชาติไทยศึกษา ครั้งที่ 13 ณ ศูนย์ประชุมและจัดแสดงสินค้านานาชาติ จ.เชียงใหม่ เป็นการยืนยันในหลักการดังกล่าวและแสดงออกซึ่งความห่วงใยของชุมชนนักวิชาการด้านไทยศึกษา ทั้งที่เป็นชาวไทยและนานาชาติที่ต้องการให้รัฐบาลเคารพเสรีภาพทางวิชาการ การแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกของประชาชน รวมถึงการคืนอำนาจให้ประชาชนด้วยการจัดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และยุติธรรม และการปฏิรูปสถาบันต่างๆ ในสังคมไทย อันเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและสิ่งที่รัฐบาลแสดงความจำนงว่าจะดำเนินการ

รัฐบาลจึงสมควรมองผู้เรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็นอย่างสุจริตด้วยท่าทีที่เข้าอกเข้าใจและเป็นมิตร ไม่นำเอาข้อกล่าวหาในเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาใช้เพื่อกลบเกลื่อนความล่าช้าในการคืนประชาธิปไตยให้กับสังคมไทยอีกต่อไป และหากมีการเรียกตัวผู้เกี่ยวข้องกับกิจกรรมข้างต้น คนส. ก็พร้อมจะร่วมไปชี้แจงให้รัฐบาลได้ตระหนักในหลักการดังกล่าวนี้

ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิและเสรีภาพของพลเมือง

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง
19 กรกฎาคม 2560

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น