โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ตร.อายัดตัว 'แหวน-วาสนา' ต่อ หลังได้ประกันตัวคดีปาระเบิดศาล

Posted: 24 Jul 2017 10:03 AM PDT

หลัง 'ทนายวิญญัติ' ระบุศาลทหารอนุญาติปล่อยตัวชั่วคราว 4 ผู้ต้องหา คดีปาระเบิดศาล ตีราคาคนละ 5 แสนบาท ล่าสุด ตร. อายัด แหวน พยานปากเอก 6 ศพวัดปทุมฯ และ วาสนา เพื่อดำเนินคดีอีก ด้านวิญญัติคาดเป็นเรื่องของคดีเดิม 

24 ก.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 16.56 น. วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและเลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะสาธษรณะระบุว่า วันนี้ (24 ก.ค.60) ทีมทนาย สกสส. ได้ใช้ความพยายามหาหลักทรัพย์เพื่อยื่นคำร้องขอประกัน 4 จำเลย คดีปาระเบิดศาลอาญาเหตุเกิดเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2558 โดยถูกทหารจับกุมตัวอ้างว่าร่วมกันก่อการร้าย เป็นอั้งยี่และซ่องโจร ซึ่งจำเลยถูกคุมขังมากว่า 2 ปี

กระทั่งวันนี้ ศาลทหารกรุงเทพ ได้พิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว จึงมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ระหว่างพิจารณาคดีวันนี้ 4 คน โดยมีเงื่อนไข ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ตีราคาคนละ 500,000 บาท จำเลยที่ได้รับการปล่อยตัว ประกอบด้วย 1. ณัฏฐธิดา มีวังปลา  2. วาสนา บุษดี 3. ณัฎฐพัชร์ อ่อนมิ่ง และ 4. ณเรศ อินรโสภา โดยจะมีการปล่อยตัวค่ำวันนี้
 
ต่อมา 21.07 น. ผู้ใช้เฟซบุ๊ก 'Noppakow Kongsuwan' โพสต์วิดีโอคลิปรายงานสถานการณ์บริเวณหน้าทัณฑสถานหญิงกลางว่า โดยระบุว่า ณัฏฐธิดา โดนอายัดตัวต่อในคดี มาตรา 112 โดยถูกนำตัวตัวไปยังกองปราบปราม ขณะที่ วาสนา  ถูกอายัดตัวไปยัง สน.โชคชัย 
 
ส่วนณัฎฐพัชร์ กับ ณเรศ นั้น ถูกปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว
ภาพ ณเรศและณัฎฐพัชร์ ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพและทัณฑสถานหญิงกลาง (ที่มาภาพ Banrasdr Photo)
 
วิญญัติ กล่าวด้วยว่า ทั้ง 2 คนถูกอาญัติตัว น่าจะเป็นเรื่องของคดีเดิม หรือความผิดกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท 
การอาญัติตัวแบบนี้เข้าข่ายการใช้ดุลยพินิจที่มิชอบ เราจะพิจารณาเรื่องพฤติการณ์สิ่งที่เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจต่อไป จริงๆ มันไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะการประกันตัวก็เป็นเรื่องยากลำบากอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามตนจะตามไปที่กองปราบกับ สน.โชคชัยสี่ 
 
สำหรับ ณัฏฐธิดา หรือแหวน นั้น ก่อนถูกดำเนินคดี เธอเป็นที่รู้จักในฐานะพยานปากสำคัญในคดี 6 ศพวัดปทุมวนาราม เนื่องจากเป็นพยาบาลอาสาอยู่ในเต๊นท์เดียวกับผู้ตาย โดยอยู่ห่างจาก กมนเกด อัคฮาด หนึ่งในผู้เสียชีวิตเพียง 5 เมตร 

ล่าสุดเมื่อเวล 0.24 น. วันที่ 25 ก.ค.60 วิญญัติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเพิ่มเติมว่า ณัฏฐธิดา หรือ แหวน ถูกปล่อยตัวตามหมายปล่อย ลงวันที่ 24 ก.ค.60 แล้วถูกเจ้าหน้าที่เรือนจำหญิงกลาง ทำหนังสือแจ้งให้ตำรวจกองปราบปรามมารับตัว แหวน ถูกอายัดตัวเพื่อดำเนินคดี ตาม ป.อ.มาตรา 112 ซึ่งมีการออกหมายจับไว้ ตั้งแต่ 19 มี.ค. 2558 เบื้องต้นทราบว่า พฤติการณ์ที่อ้างการกระทำความผิดจากการโพสต์ข้อความใน LINE เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2558 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อยู่ภายหลังจากถูกควบคุมตัวโดยทหารแล้ว ตั้งแต่ 11 มี.ค. 2558 คำถามคือเป็นการโพสต์ข้อความโดยผู้ใด

ส่วนกรณีของ วาสนา บุษดี ถูกอายัดตัวเช่นกัน ตำรวจสน.โชคชัย 4 มารับตัว แต่ทีมทนายยืนยันว่า คดีนี้มีการฟ้องดำเนินคดีไปแล้ว จากพฤติการณ์คดีเดียวกัน แต่มีการแยกฟ้อง 2 คดี ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย เรายืนยันต่อตำรวจว่า การจับตัวครั้งนี้ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการดำเนินคดีซ้ำ

วิญญัติ ระบุด้วยว่า พรุ่งนี้ ทีมทนายจะติดตามทั้ง 2 คน ให้ความช่วยเหลือต่อไป โดยแหวนถูกขังไว้ที่กองปราบปราม ส่วนวาสนาถูกขังที่ สน.โชคชัย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อธิบดีกรมป่าไม้ ถกร่วมกับชาวบ้านภาคอีสาน เร่งแก้ไขเดือดร้อนจากนโยบายทวงคืนผืนป่า

Posted: 24 Jul 2017 06:43 AM PDT

อธิบดีกรมป่าไม้ ยันนโยบายทวงคืนผืนป่าต้องการจำกัดนายทุน แต่อาจเกิดข้อผิดพลาดส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ย้ำจะเร่งลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อแก้ไขปัญหา ด้านชาวบ้านยันให้ยกเลิกทวงคืนผืนป่า ให้ยุติการบังคับ ข่มขู่ หรือการดำเนินการที่ส่งผลกระทบต่อความสุขของประชาชน

วานนี้ (23 ก.ค.60) เวลาประมาณ 09.30 – 14.30 น. ณ ห้องประชุมสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 (ขอนแก่น) ชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ ในฐานะตัวแทนรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมประชุมหารือเพื่อรับทราบข้อมูลเพหาแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของประชาชนในพื้นที่พิพาทที่ดินในเขตป่าภาคอีสาน โดยมี ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน(คปอ.) ตัวแทนเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิ์สกลนคร และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน) รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหา

โดย ตัวแทนองค์กรชาวบ้านผู้เดือดร้อนเสนอให้เร่งพิจารณาแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โดยมีข้อเสนอเรียกร้องของชาวบ้านคือ ยกเลิกนโยบายทวงคืนผืนป่า ให้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างชาวบ้านผู้เดือดร้อน กับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถือครองทำประโยชน์ที่ดิน และในระหว่างกระบวนการแก้ไขปัญหา ให้ยุติการดำเนินคดีความ และยุติการข่มขู่ คุกคาม หรือการดำเนินการใดๆที่ส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อน และให้ชาวบ้านสามารถทำประโยชน์ที่ดินได้อย่างโดยปกติสุข

ในการนี้ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า เป้าหมายของนโยบายทวงคืนผืนป่า คือจัดการกับนายทุน แต่อาจเกิดข้อผิดพลาดบ้าง ทำให้ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน นอกจากนี้อธิบดีกรมป่าไม้กล่าวแสดงความกังวลใจและห่วงใยกรณีที่ชาวบ้านถูกดำเนินคดี รวมทั้งย้ำว่าจะเร่งลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหา

ผู้สื่อข่าว ได้รับรายงานว่า การประชุมอย่างเร่งด่วนครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าในภาคอีสาน ร่วมออกแถลงการณ์ให้ ยกเลิก "นโยบายทวงคืนผืนป่า" ทั่วประเทศ เนื่องจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล มีความบกพร่องและมีความผิดพลาดในการเลือกปฏิบัติ อาทิเช่น การโค่นตัดยางพารา การดำเนินการจับกุมและดำเนินคดีกับชาวบ้าน รวมทั้งขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นได้นำมาสู่ความเดือดร้อนกับประชาชนจำนวนมากทั้งในด้านเศรษฐกิจ และความมั่นคงในการถือครองทำประโยชน์ที่ดิน

ทั้งนี้ อธิบดีกรมป่าไม้ จึงได้มอบหมายให้หัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพร ประสานกับองค์กรชาวบ้าน เพื่อเข้าร่วมประชุมหารือเพื่อรับทราบข้อมูลและเพื่อร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของประชาชน 

ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ โพสต์สรุปผลการประชุมจากในเฟซบุ๊ก 'Chainarong Sretthachau' ในลักษณะสาธารณะโดยมีรายละเอียดดังนี้

สรุปประเด็นการแก้ปัญหา ในการประชุมร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายการทวงคืนผืนป่า โดย นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ เป็นประธาน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคม 2560 ณ ห้องประชุมสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 (ขอนแก่น)

แนวทางในการดำเนินการฯ

1. การสืบค้น , เก็บข้อมูล , คัดแยก , ติดตาม (โดยคณะทำงานร่วมฯ)

2. ลงพื้นที่ดูข้อเท็จจริงร่วมกัน (ร่วมพิจารณาข้อมูล วันที่ 8 สิงหาคม 2560)

3. การเชื่อมต่อในระดับนโยบาย และเชื่อมต่อประสานงานระหว่างหน่วยงาน

4. ให้ใช้คำสั่งที่ 66/2557 พิจารณาโดยละเอียดถี่ถ้วนในทุกกรณี

ประเด็นที่ 1 (กรมอุทยาน)

อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น , เลย , ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำหนาว อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์

ข้อเสนอ

1. ต้องการให้ใช้แผนงานการบริหารจัดการทรัพยากรแบบเดิม คือโครงการจอมป่าฯ

2. ให้หน่วยงานกันพื้นที่ทำกิน และชุมชนออกจากการที่จะผนวกพื้นที่เพิ่มเติมของอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน (นัดหมายคณะกรรมการร่วมฯลงตรวจสอบพื้นที่ วันที่ 5 สิงหาคม 2560)

หน่วยงานรับผิดชอบ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช , กรมป่าไม้

ประเด็นที่ 2 (กรมอุทยานฯ)

อุทยานแห่งชาติไทรทอง อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ

สภาพปัญหา

1 จากการทวงคืนฯ มีการจับกุมดำเนินคดีเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2558 (จำนวน 19 คดี)

2. ชาวบ้านเกิดความวิตกกังวลต่อการสู้คดี

3. ชาวบ้านประสบปัญหาการเข้าใช้พื้นที่ทำกินเดิมเพราะถูกทางอุทยานฯปลูกป่าทับพื้นที่ทำกิน

4. อุทยานฯให้ชาวบ้านยินยอมคืนพื้นที่โดยที่ชาวบ้านไม่สมัครใจ

ข้อเสนอ

1. ให้ประสานช่วยเหลือด้านคดีถ้าพิสูจน์ว่าเป็นผู้ยากไร้จริง ตามลำดับความเร่งด่วน

2. ให้ชะลอการดำเนินการปลูกป่าทับพื้นที่ทำกิน เพื่อให้ชาวบ้านได้ทำกินต่อไปก่อนเพื่อลดผลกระทบ

ประเด็นที่ 3 (กรมอุทยานฯ)

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้ง อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ

สภาพปัญหา

1. การประกาศทับซ้อนที่ทำกินชาวบ้าน

ข้อเสนอ

1. ให้ดำเนินการใช้แนวเขตการผ่อนปรนที่ได้รับการตรวจสอบรังวัดแล้วระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ที่ร่วมกับประชาชนตรวจสอบมาเป็นเขตผ่อนปรน ในการแก้ปัญหาการทับซ้อน

ประเด็นที่ 4 (กรมอุทยานฯ)

อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก จังหวัดสกลนคร กาฬสินธุ์ และอุดรธานี

สภาพปัญหา

1. การประกาศเขตอุทยานทับซ้อนที่ทำกินชาวบ้าน

2. เมื่อปี 2559 มีการตรวจยึดแปลงยางพารา ของนางจันทาฯ และดำเนินคดีบุตรชาย และตัดฟันแปลงยางพาราจำนวน 18 ไร่

3. มีการตรวจยึดและเตรียมตัดฟันแปลงยางพารา บ้านสมสวัสดิ์ ตำบลผาสุก อำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี

ข้อเสนอ

1. ให้ดำเนินการแก้ปัญหาและเยียวยาความเสียหายจากการตัดฟันยางพาราและการดำเนินคดีแปลงยางพารานางจันทาฯ และบุตรชาย

2. ให้ยึดแนวทางการแก้ปัญหาโดยใช้แนวทางของคณะทำงานแก้ไขปัญหาเครือข่ายไทบ้าน

ผู้ไร้สิทธิสกลนคร ของจังหวัดสกลนคร

ประเด็นที่ 5 (กรมป่าไม้)

ป่าสงวนแห่งชาติดงชมภูพาน ดงกระเฌอ อ.ภูพาน จ.สกลนคร

สภาพปัญหา (บ้านจัดระเบียบ)

1. มีการตรวจยึดจับกุมดำเนินคดี และดำเนินการตัดฟันแปลงยางพารา ของชาวบ้าน

2. มีการปลูกป่าทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน (ไร่มันสำปะหลัง)

3. ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปทำกินในที่ทำกินเดิมได้ตามปกติสุข

ข้อเสนอ

1. ให้ประสานสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ถูกดำเนินคดีไปแล้ว และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพักโทษผู้ถูกคุมขังในคดี 7 ราย

2. ให้ประสานสำนักนายกรัฐมนตรีในการช่วยเหลือด้านขบวนการยุติธรรมตามข้อเท็จจริงกรณีของนาย สิน เงินภักดี และนางสุรัตน์ ศรีสวัสดิ์

3. ให้ใช้แนวทางการแก้ปัญหาที่ดินทำกินที่ได้เสนอผ่าน ทสจ.จังหวัดสกลนคร ถึง กรมป่าไม้

ประเด็นที่ 6 (กรมป่าไม้)

ป่าสงวนแห่งชาติภูพาน อ.สามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์

สภาพปัญหา

1. มีการดำเนินคดีตั้งแต่ปี 2546 และคดีเป็นที่สิ้นสุดแล้วในปี พ.ศ. 2549 และท้องถิ่นได้เก็บภาษี ภบท. 5 มาโดยตลอด ต่อมาในปี พ.ศ. 2557 มีการตัดฟันยางพารา 1 ราย และติดป้ายประกาศไม่ให้เข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินจำนวน 4 ราย

2. ถูกทำลายทรัพย์สินและอาสิน 5 ราย

3. ไม่สามารถเข้าไปทำกินในที่ทำกินเดิมได้ตามปกติสุข

ข้อเสนอ

1. ช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ถูกตัดฟัน

2. ยุติการตัดฟันในแปลงยางพาราของราษฎรทั้ง 4 ราย

3. ให้ชาวบ้านได้ทำกินต่อไป

ประเด็นที่ 7 (กรมป่าไม้)

ป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ต.ห้วยยาง อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ

สภาพปัญหา

1. มีการปลูกสร้างสวนป่าทับที่ดินทำกิน ตั้งแต่ปี 2528 จำนวน 394 ราย

ข้อเสนอ

1. ให้ช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการปลูกสร้างสวนป่าและถูกผลักดันให้อพยพจากที่ดินเดิม

2. ให้มีการคัดแยกราษฎรจากจำนวน 394 ราย ที่ได้รับความเดือดร้อน เพื่อดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาเป็นลำดับแรก

ประเด็นที่ 8 (กรมป่าไม้)

ป่าจำแนกตามมติคณะรัฐมนตรี ป่าเตรียมการฯหมายเลข 10 ตำบล ถ้ำวัวแดง อ.หนองบัวแดง จ. ชัยภูมิ

สภาพปัญหา

1. มีความไม่ชัดเจนในการจำแนกเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน

2. ชาวบ้านไม่สามารถเข้าทำกินในที่ดินได้ตามปกติสุข

ข้อเสนอ

1. ให้จำแนกและสอบสวนสิทธิผู้มีคุณสมบัติให้สามารถทำกินในพื้นที่ทำกินเดิมได้

ประเด็นที่ 9 (กรมป่าไม้)

สวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ

สภาพปัญหา

1. โครงการหมู่บ้านรักษ์ป่าประชารักษ์สัตว์ ปลูกสร้างสวนป่าทับที่ทำกินของราษฎร (36 ราย 850 ไร่)

ข้อเสนอ

1. ให้ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ทำกินในพื้นที่ 850 ไร่ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี

ที่ 216/2557 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ตามแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรโดยชุมชน ซึ่งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ได้มีมติรับรองแล้ว เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2560

ประเด็นที่ 10 (อ.อ.ป.)

สวนป่าคอนสาร ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ

สภาพปัญหา

1. มีการปลูกสร้างสวนป่าทับที่ดินทำกินของราษฎร เมื่อ พ.ศ. 2521

2. ราษฎรที่กลับเข้าไปทำกินในที่ดินทำกินเดิมเมื่อปี พ.ศ. 2552 ถูกดำเนินคดี (31 ราย)

คดีแพ่ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา

ข้อเสนอ

1. ให้ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ทำกินในพื้นที่เดิม ตามแนวทางคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 216/2557 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรโดยชุมชน ซึ่งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ได้มีมติรับรองแล้ว เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2560

2. ในกรณีผู้ถูกดำเนินคดี ให้ยึดแนวทางตามข้อตกลงเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2554 ที่ระบุว่า

1) จะไม่เร่งรัดบังคับคดี

2) เห็นชอบในการจัดหาที่ทำกิน 1500 ไร่ ให้ราษฎรผู้เดือดร้อน

3) แก้ไขข้อกำหนดในการใช้ประโยชน์สวนป่าของ ออป. ให้เป็นที่ยอมรับด้วยกัน 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาค ปชช. โวยแก้ ก.ม.สิ่งแวดล้อม ยัดไส้ ม.44 ไฟเขียวเอกชนทำโครงการก่อน EIA ผ่าน

Posted: 24 Jul 2017 02:05 AM PDT

เครือข่ายประชาชนฯ ร้องกระทรวงทรัพย์ฯ ค้านแก้ ก.ม. สิ่งแวดล้อม ฉบับใหม่ ยัดม.44 อนุญาตให้เอกชนดำเนินโครงการก่อน EIA ผ่าน อัดไม่เป็นไปตาม รธน. ม.77 ขาดการรับฟัง ระยะเวลาแสดงความคิดเห็นสั้น ช่องทางมีเพียงแค่เว็บไซต์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (24 ก.ค.60) เมื่อเวลา 9.30 น. ที่หน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยมีตัวแทนประกอบด้วย ประสิทธิ์ชัย หนูนวล สมนึก จงมีวศิน สุวิทย์ กุหลาบวงค์ และสุภาภรณ์ มาลัยลอย อ่านแถลงการณ์และมีการแสดงเชิงสัญลักษณ์ กรณีการแก้ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ ซึ่งเป็นกฎหมายแม่ของประกาศกระทรวงว่าด้วยการจัดทำรายงานอีไอเอ

เวลาประมาณ 10.10 น. ตัวแทนได้เข้าเจรจากับ สุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและคณะ เกี่ยวกับการแก้ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ซึ่งเป็นปัญหาอยู่ในหลายพื้นที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เช่น กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กรณีท่าเรือน้ำลึกปากบารา เป็นต้น เนื่องจากกระบวนการจัดทำ EIA ไม่ดำเนินการอย่างถูกต้อง จนก่อให้เกิดความขัดแย้งหลายกรณี

โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

1. มาตรา 44 ที่ใช้ออกคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 9/2559 คือการอนุญาตให้เอกชนเข้ามาดำเนินการตามโครงการก่อนที่ EIA จะผ่าน ได้ถูกนำมาบัญญัติไว้ในร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับใหม่)

กลุ่มเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนจึงเสนอให้ตัดมาตรา 53 วรรค 4 ออกจากร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม แห่งชาติ พ.ศ. .... หรือก็คือเป็นวรรคที่นำคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 9/2559 มาบัญญัติไว้ เปิดช่องดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนผู้รับดำเนินการตามโครงการหรือกิจการ ไปพลางก่อนได้ในระหว่างที่รอผลการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือ อันเป็นการเข้าข่าย ละเมิดรัฐธรรมนูญตามมาตรา 58 ที่กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียของประชาชนก่อน อันเป็นการลดทอนไม่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติ ตามกระบวนการขั้นตอนของ EIA ตามหลักป้องกันไว้ก่อน (Precautionary Principle)

2. กระบวนการจัดทำ EIA ไม่เป็นไปตามมาตรา 77 กฎหมายทุกฉบับต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง ขาดการรับฟัง ระยะเวลาแสดงความคิดเห็นสั้น ช่องทางมีเพียงแค่เว็บไซต์ ไม่เหมาะกับกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ ไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อประกอบการรับฟังความคิดเห็น

โดยมาตรา 77 กำหนดให้ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 ได้กำหนดแนวทางให้หน่วยงานรัฐดำเนินการตราร่างพระราชบัญญัติตามหลักการที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำของการรับฟังความคิดเห็นไว้ว่า ให้หน่วยงานรัฐเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์อย่างน้อย 15 วัน ผลปรากฏว่าหน่วยรัฐจำนวนมากเร่งดำเนินการนำร่างกฎหมายเปิดรับฟังความคิดเห็นด้วยหลักเกณฑ์ขั้นต่ำดังกล่าว โดยไม่สนใจว่าจะเป็นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างแท้จริงหรือไม่

การรับฟังความคิดเห็นของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. .... ที่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมา เป็นการขาดการรับฟังความคิดเห็นก่อนกระบวนการร่างกฎหมาย โดยที่รัฐเป็นผู้ร่างกฎหมายอยู่ฝ่ายเดียว และนำมารับฟังความคิดเห็นเมื่อร่างกฎหมายทั้งฉบับเสร็จเรียบร้อยแล้ว และด้วยระยะเวลาแสดงความคิดเห็นที่สั้น ช่องทางการแสดงความคิดเห็นที่แคบ ตลอดจนไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อประกอบการรับฟังความคิดเห็นในด้านต่างๆ เช่น สภาพปัญหาและสาเหตุของปัญหาของกฎหมายดังกล่าว  หลักการอันเป็นสาระสำคัญของกฎหมายที่จะตราขึ้น ความจำเป็นที่ต้องตรากฎหมายขึ้นเพื่อแก้ปัญหานั้น  ประเด็นที่จะรับฟังความคิดเห็นหรือร่างพระราชบัญญัติที่จะรับฟังความคิดเห็น

ดังนั้นกระบวนการร่างกฎหมายพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ..... ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วนั้น สะท้อนถึงความไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย และไม่เป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญมาตรา 77

3. การลดทอนคำว่า "ดำเนินการ" ในรัฐธรรมนูญ ให้เหลือเพียงแค่ "โครงการหรือกิจการ" ในร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับใหม่) และโครงการใดจัดทำ EIA และ EHIA ผ่านแล้ว โครงการที่มีลักษณะคล้ายกันจะได้รับยกเว้นไม่ต้องทำ EIA และ EHIA อีก

ตามที่มาตรา 58 ของรัฐธรรมนูญกำหนดให้การดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ดำเนินการ อันจะมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญ ของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบ ต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ

แต่ตามมาตรา 50 ของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ... กำหนดว่า กรณีที่โครงการหรือกิจการประเภทหรือขนาดใดหรือที่จะจัดตั้งขึ้นในพื้นที่ใด มีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและได้รับความเห็นชอบแล้ว และเป็นมาตรฐานที่สามารถใช้กับโครงการหรือกิจการประเภทหรือขนาดเดียวกันหรือในพื้นที่ลักษณะเดียวกันนั้น และรัฐมนตรีสามารถประกาศกำหนดให้โครงการหรือกิจการ ในทำนองเดียวกันถือปฏิบัติโดยได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็ได้ ตลอดจนการให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจอนุญาตตามกฎหมายนำมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดไว้สำหรับโครงการหรือกิจการที่ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปกำหนดเป็นเงื่อนไขในการสั่งอนุญาตหรือต่ออายุใบอนุญาต โดยให้ถือเป็นเงื่อนไขที่กำหนดตามกฎหมายในเรื่องนั้นด้วย

ซึ่งการกำหนดเพียงโครงการหรือกิจการเท่านั้นซึ่งถือเป็นการลดทอนสิ่งที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้แคบลง อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งไม่ครอบคลุมถึงการดำเนินการของรัฐที่อาจเกิดผลกระทบขึ้น อีกทั้งยังขาดรายละเอียดในการกำกับการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งเป็นการเขียนอำนาจลอยไว้ โดยไม่มีการกำหนดให้ชัดเจน ควรจะมีการออกกฎหมายลูกเพื่อรองรับหลักเกณฑ์ต่างๆ และต้องกำหนดรายละเอียดเงื่อนไข เพื่อกำกับการใช้อำนาจรัฐไว้ เพื่อที่จะสามารถใช้สิทธิกระบวนการทางศาลตรวจสอบได้ หากว่าไม่เป็นไปตามที่กฎหมายแม่บทกำหนดไว้ เช่น

- การไม่เปิดเผยรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้ชุมชนได้รับทราบ ซึ่งต้องกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการพิจารณารายงาน EIA ว่าต้องเปิดเผยรายงานให้ชุมชนได้รับทราบด้วย

- มีการหลบเลี่ยงการทำ EIA เช่น กรณีโรงไฟฟ้าชีวมวลนั้นกำหนดขนาดที่ต้องจัดทำ EIA อยู่ที่ขนาด 10 เมกะวัตต์ แต่กลับพบว่าบริษัทผู้ประกอบการหลบเลี่ยงการทำ EIA โดยยื่นขออนุญาต เป็นขนาด 9.9 เมกะวัตต์ เพื่อหลบเลี่ยงการจัดทำ EIA

ดังนั้น มาตรา 50 ของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. .... จึงเป็นการบัญญัติที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ

4. ระบบของการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม นอกจาก EIA และ EHIA ควรเพิ่ม SEA ด้วย

ระบบของการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตอนนี้มีเพียงแค่ 2 ระบบคือ การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
( Environmental Impact Assessment- EIA ) และ กระบวนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ( Environmental Health Impact Assessment – EHIA )

ภาคประชาชนเห็นว่า ควรมีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment - SEA ) ที่เป็นการประเมินศักยภาพและข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะสามารถช่วยให้เห็นถึงความเหมาะสมกับพื้นที่และเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่ โดยลักษณะของโครงการพัฒนาต้องสอดคล้องกับ SEA ของแต่ละพื้นที่และการเกิดขึ้นของโครงการจะต้องมีการประเมินเชิงยุทธศาสตร์ก่อนว่าสอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่หรือไม่ หากว่าสอดคล้องจึงค่อยมีการจัดทำรายงาน EIA/EHIA หากไม่สอดคล้องต้องไม่ดำเนินการโครงการนั้น

5. องค์กรบริหารจัดการระบบประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมควรแยกเป็นหน่วยงานอิสระหรือหน่วยงานกลาง ไม่ใช่การว่าจ้างโดยเจ้าของโครงการตามที่ปฏิบัติในปัจจุบัน เพราะจะทำให้เกิด conflict of interest (ผลประโยชน์ขัดกัน) โดยมีหลายกรณีที่บริษัทผู้ถูกจ้างให้มาทำ EIA จะได้รับค่าจ้างครบเมื่อ EIA ผ่านเท่านั้น

ในส่วนของคณะกรรมการผู้ชำนาญการในการพิจารณาอนุมัติรายงาน จะต้องมีองค์ประกอบที่เท่าเทียมกันระหว่างภาค รัฐ ภาค วิชาการ แล ะชุมชนผู้ได้รับผลกระทบ และอาจมีคณะกรรมการผู้ชำนาญการในระดับพื้นที่ เช่น คณะกรรมการผู้ชำนาญการในระดับจังหวัด

 

 

ประสิทธิ์ชัยหนึ่งในแกนนำกล่าวว่า ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการที่ต้องบอกว่าล้าหลัง การคิดจะเอามาตรา 44 มาใส่ไว้ในพ.ร.บ. ก็ล้าหลัง ถ้าสมมติเป็นร่างพ.ร.บ. ของกระทรวงอุตสาหกรรมก็อาจจะไม่แปลกใจ แต่มันเป็นร่างของกระทรวงสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีหน้าที่รักษาสิ่งแวดล้อม แต่ก็เอาสิ่งที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมาบรรจุไว้ในกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในการเจรจาระหว่างเครือข่ายฯ กับตัวแทนกระทรวงทรัพย์ฯ สุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ รองปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ รับปากว่าจะรับข้อเสนอดังกล่าวไว้พิจารณา

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ก่อนหน้านี้สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ แจ้งเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ห้ามชุมนุมที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุขัด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ให้ตัวแทนยื่นหนังสือแทน แต่ผู้จัดยังยืนยันจัดกิจกรรมตามเดิม

AttachmentSize
170723-แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน.pdf357.74 KB
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

'ปฏิรูปกองทัพ' คือทำให้กองทัพอยู่ภายใต้การควบคุมของพลเรือน

Posted: 24 Jul 2017 01:55 AM PDT

นักวิชาการระบุ กองทัพไทยไม่เคยอยู่ภายใต้การควบคุมของพลเรือน แต่มุ่งแทรกแซงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ขัดหลักการประชาธิปไตย แนะสังคมต้องสร้างนิยามการปฏิรูปกองทัพให้ชัด กันทหารอ้างว่าปฏิรูปอยู่แล้ว แต่ต้องปฏิรูปเพื่อให้เป็นกองทัพภายใต้การควบคุมของพลเรือน

ไม่นานนี้พลเอกปิแอร์ เดอ วิลลิเยร์ วัย 60 ปี ประธานคณะเสนาธิการทหารฝรั่งเศส ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่พอใจที่รัฐบาลของเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสจะตัดงบประมาณของกระทรวงกลาโหมลงถึง 850 ล้านยูโร หรือประมาณ 32,926 ล้านบาท เนื้อข่าวยังกล่าวอีกว่า ในการโต้เถียงกันระหว่างพลเอกปิแอร์และมาครงต่อหน้าคณะเสนาธิการทหาร มาครงกล่าวกับพลเอกปิแอร์ว่า "ผมเป็นนายคุณ"

ตัดกลับมาที่ประเทศไทย ไม่มีทางที่เราจะจินตนาการบทสนทนาเช่นนี้ได้ ไม่มีทางที่นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนจะกล้าพูดกับผู้นำเหล่าทัพดังที่มาครงพูด และถ้าใครกล้าทำ จุดจบคงเดาได้ไม่ยาก

เรื่องนี้สะท้อนอย่างชัดเจนว่า ประเทศที่ประชาธิปไตยลงหลักปักฐานอย่างแน่นหนามั่นคง ทหารและกองทัพต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ขณะที่ประเทศไทย รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกลับต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลของกองทัพ ครั้นเมื่อถามหาการปฏิรูป กองทัพกลับบอกว่ากองทัพมีการปฏิรูปอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว เพราะการปฏิรูปที่กองทัพพูดถึงนั้น เป็นการปฏิรูปการจัดองค์กรและการจัดซื้ออาวุธ หาใช่การปฏิรูปกองทัพเพื่อเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด

เพราะในระบอบประชาธิปไตย กองทัพต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลพลเรือน นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งต้องมีสิทธิพูดต่อหน้าผู้บัญชการเหล่าทัพได้ว่า "ดิฉัน/ผม เป็นนายคุณ"

ทหารในสังคมประชาธิปไตยควรมีหน้าที่่อะไร?

ภาณุวัฒน์ พันธุ์ประเสริฐ อาจารย์ประจำสำนักวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ทำการศึกษาประเด็นกองทัพภายใต้การควบคุมของพลเรือน กล่าวกับประชาไทยว่า ถ้าพิจารณาตามแนวคิดของซามูเอล ฮันติงตัน นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ระบุหน้าที่ของทหารว่า ประการแรก ทหารในสังคมระบอบประชาธิปไตยควรมีหน้าที่ในการป้องกันประเทศ ประการที่ 2 ทหารควรมีหน้าที่ในการดูแลรักษาความมั่นคงภายใน ทหารในระบอบประชาธิปไตยจึงมีหน้าที่ 2 อย่างและไม่ควรมีหน้าที่เกินจากนี้ และเมื่อใดที่ทหารในสังคมไหนทำภารกิจหน้าที่ที่เกินกว่า 2 อย่างนี้ ก็เป็นสัญญาณไม่ดีและเกิดคำถามว่า ทหารกำลังก้าวก่ายหน้าที่ของคนอื่นหรือภาระของหน่วยงานอื่นหรือไม่

"คำว่า ทหารภายใต้การควบคุมของพลเรือน คือสภาวะที่เป็นอุดมคติ หมายความว่าในความเป็นจริงอาจไม่ได้เป็นแบบนี้ หรือเป็นได้ค่อนข้างยาก แต่เป็นหลักการหรือเป้าหมายที่ควรจะไปให้ถึง ตามหลักการของประชาธิปไตย ทหารควรมีฐานะไม่ต่างจากหน่วยงานราชการทั่วไป ความหมายคือถ้าหากหน่วยงานราชการ อย่างกระทรวง ทบวง กรม ไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตนเอง ต้องทำงานภายใต้คำสั่งของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทหารก็ควรจะทำแบบเดียวกัน คือไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตนเอง ไม่สามารถมีอิสระที่จะตัดสินใจกระทำการใดๆ ที่อยู่นอกเหนือขอบเขตฐานะหน้าที่ของตนและอยู่นอกเหนือขอบเขตคำสั่งของรัฐบาลพลเรือน"

ภาณุวัฒน์ ขยายความว่าทหารในสังคมประชาธิปไตยควรเป็นแขนขาของรัฐบาลพลเรือนในการเลือกตั้ง กองทัพไม่ต่างจากหน่วยงานราชการปกติทั่วไป แต่ในความเป็นจริงอาจจะพูดได้ยากว่า ทหารจะต้องอยู่ภายใต้พลเรือนอย่างเด็ดขาด สมบูรณ์ทั้งหมด เพราะทหารก็ต้องการมีวัฒนธรรม มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีของตัวเอง จึงส่งผลให้ทหารไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของพลเรือนไปเสียทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ในหลักการกว้างๆ ทหารย่อมยึดถือความเป็นใหญ่ของพลเรือน แม้ว่ารัฐบาลพลเรือนได้มอบอำนาจบางส่วนให้ทหาร แต่ในทางหลักการ หากอำนาจในส่วนที่่รัฐบาลพลเรือนยกให้ทหารนั้นยังถูกเรียกคืนได้ก็ยังถือว่าพลเรือนเป็นใหญ่อยู่

แทรกแซงกองทัพ เรื่องจริงหรือมายาคติ?

แต่ในสังคมไทย เมื่อถึงฤดูโยกย้ายทหาร หากรัฐบาลพลเรือนเข้าไปข้องเกี่ยวกับการโยกย้ายมักถูกโจมตีว่าแทรกแซงกองทัพ กลายเป็นวาทกรรมที่ชวนให้เข้าใจผิดในสังคมไทยว่ารัฐบาลพลเรือนไม่มีสิทธิเข้าไปยุ่งกับการโยกย้ายภายในกองทัพ ซึ่งประเด็นนี้ภาณุวัฒน์เห็นว่า

"ตามหลักการแล้ว ควรทำได้ การจัดองค์กรภายในกองทัพถือเป็นเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลพลเรือนควรมีอำนาจสูงสุดที่ทำได้ในการแต่งตั้งโยกย้ายต่างๆ ในกรณีประเทศไทย ผมเชื่อว่าทหารไทยจะมีคำกล่าวอ้างของตัวเองที่บอกว่า ทหารย่อมรู้จักกันเองดีที่สุด ทหารไทยหลายท่านค่อนข้างยึดถือกับเรื่องความสามารถพอสมควร เขาจะพูดกันตรงๆ ว่า ใครเก่ง ใครไม่เก่ง เขาจึงรู้สึกว่าต้องเป็นคนในกองทัพเอง ถึงจะรู้ว่าใครเหมาะสม ทั้งนี้ก็รวมถึงเรื่องปัจจัยอื่นๆ เช่น การเอื้อผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน หรือการมีระบบอุปถัมภ์ที่มีผลต่อการแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งเราก็ทราบกันพอสมควร ดังนั้น การพูดว่ารัฐบาลแทรกแซงกองทัพ ในแง่หนึ่งอาจมองว่าเป็นการปกป้องตัวกองทัพเอง เป็นการรักษาความเป็นอิสระของกองทัพไว้ในแง่ของการแต่งตั้งโยกย้ายภายใน

"ผมเชื่อว่าในหลักการเรื่องความเป็นใหญ่ของพลเรือน อย่างน้อยควรมีการตกลงหรือประนีประนอมกันระหว่างรัฐบาลกับกองทัพอยู่แล้ว ในประเทศอื่นๆ กองทัพควรเป็นผู้เสนอขึ้นมาว่า ใครมีความเหมาะสมอย่างไร แต่ในประเทศไทย มีเรื่องความต้องการคุมกำลัง โดยเฉพาะที่กองทัพไทยเคยมีประวัติในการคุมอำนาจ ในการทำรัฐประหาร เราก็บอกได้ว่าประเทศไทยต้องมีความสนใจมากเป็นพิเศษ ว่าใครจะขึ้นสู่ตำแหน่งไหนในกองทัพ"

กองทัพไทยไม่เคยอยู่ภายใต้การควบคุมของพลเรือน

ภาณุวัฒน์อธิบายอีกว่า ในมุมมองแบบอนุรักษ์นิยม มองว่าการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยต้องเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบระเบียบหรือมีความวุ่นวายให้น้อยที่สุด ซึ่งทำให้มองว่าทหารต้องก้าวเข้ามาเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยระหว่างการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง เพราะถ้าในกระบวนการเปลี่ยนผ่านทหารไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวอาจจะเกิดความสับสนวุ่นวายขึ้นในสังคม อันเนื่องมาจากกลุ่มต่างๆ แย่งชิงอำนาจกัน

ทว่า มุมมองนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง เพราะเท่ากับมองว่าการเมืองต้องมาจากบนลงล่าง ต้องมีองค์กรที่แข็งแกร่งมาใช้อำนาจเผด็จการเพื่อดูแลประเทศ ซึ่งในกรณีของไทย มุมมองเช่นนี้ได้กลายเป็นธรรมเนียม เป็นวัฒนธรรมไปแล้ว การแย่งชิงอำนาจทางการเเมืองตั้งแต่หลัง 2475 เป็นการใช้กำลัง ใครคุมกำลังทหารได้ย่อมมีแต้มต่อทางการเมือง รวมถึงผลประโยชน์ สิทธิประโยชน์ อำนาจพิเศษต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการถือครองกำลังทหาร

"สิ่งแรกที่ต้องทำคือ อธิบายความหมายของการปฏิรูปกองทัพให้ชัดเจน และทำให้แพร่หลายในสังคมให้ได้มากที่สุด ความหมายคือการปฏิรูปกองทัพให้เป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตย ไม่ได้หมายถึงการปฏิรูปแบบที่ทหารไทยพูดกัน"

อีกหนึ่งแนวคิดที่ใช้อธิบายการแทรกแซงของกองทัพคือรัฐบาลพลเรือนมีประสิทธิภาพการทำงานต่ำ ซึ่งภาณุวัฒน์ตั้งคำถามกลับว่า หรือจริงๆ แล้ว การที่ประเทศไทยอยู่สภาพนี้เพราะไม่เคยเอื้อให้มีรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งมั่นคง แต่กลับมีกลไกบางอย่างมาแทรกแซงตลอดเวลาหรือไม่

"ถ้าเรากลับไปกรณีรัฐบาลทักษิณ ช่วงที่ทักษิณมีอำนาจ ทำไมเขาต้องไปแตะทหาร ทำไมต้องไปยุ่งเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้าย มีการผลักดันทหารบางคนขึ้นสู่อำนาจ มีการตั้งญาติผู้พี่อย่าง พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก รวมไปถึงเรื่องเพื่อนเตรียมทหารรุ่น 10 แปลว่าทักษิณก็มีความเข้าใจโครงสร้างทางอำนาจของสังคมไทยว่า ถ้าเขาจะอยู่ในอำนาจได้ เขาต้องคุมทหารได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากว่า ทักษิณซึ่งประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง ตั้งแต่ครั้งแรกในปี 2544 แต่ก็ยังคงต้องมีความพยายามคุมกองทัพ กลายเป็นว่าเราก็ยังอยู่ในสภาพที่กองทัพไม่เคยหายไปไหนในทางการเมือง

"เอาเข้าจริง สังคมไทยไม่เคยปล่อยให้รัฐบาลประชาธิปไตยได้เติบโตขึ้นมาด้วยตัวเองจริงๆ ยิ่งพอสมัยหลังทักษิณก็ยิ่งเห็นได้ชัด ตั้งแต่รัฐบาลสมัคร (สุนทรเวช) สมชาย (วงศ์สวัสดิ์) อภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) จนถึงยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) กลายเป็นว่าทุกรัฐบาลจะต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกองทัพโดยตลอด"

ดังนั้น จึงพูดว่ากองทัพไทยไม่เคยอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลพลเมืองเลย

"ถ้าเราจะฟันธงว่าอยู่หรือไม่อยู่ ก็ต้องบอกว่าไม่อยู่ ทหารไม่เคยมองตัวเองว่าควรอยู่ภายใต้หลักความเป็นใหญ่ของพลเรือนโดยแท้จริง ถ้าเราไปถามทหาร เขาก็จะบอกว่า เขาก็เคารพหลักการนี้ เขามีความเข้าใจเป็นอย่างดีว่าความเป็นใหญ่ของพลเรือนคืออะไร เขาจะอ้างตลอดว่า กองทัพก็ควรอยู่ภายใต้การควบคุมของพลเรือน แต่พอถามว่า แล้วมันเป็นเรื่องจริงขนาดไหน เขาก็จะเริ่มมีข้อยกเว้น สุดท้ายพอมาประเด็นการเกิดวิกฤตในบ้านเมือง ทหารก็มีหน้าที่ต้องเข้ามาควบคุมสถานการณ์ต่างๆ เมื่อเรากลับไปดูเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย ถ้าหากรัฐบาลพลเรือนไม่สามารถควบคุมเรื่องนี้ได้อย่างเต็มที่ก็แปลว่า หลักความเป็นใหญ่ของพลเรือนก็มีไม่เต็มที่ ไม่ว่าจะทั้งในสถานการณ์ปกติหรือพิเศษ"

ปฏิรูปกองทัพคือการปฏิรูปให้เกิดการควบคุมกองทัพโดยพลเรือน

เมื่อถามว่าแล้วจะปฏิรูปกองทัพกันอย่างไร ภาณุวัฒน์แสดงทัศนะว่า

"ต้องเริ่มจากการสร้างความเข้าใจที่ตรงกันก่อนว่า อะไรคือการปฏิรูปกองทัพ เนื่องจากที่ผ่านมากองทัพไทยมักจะอ้างว่ามีการปฏิรูปต่อเนื่องตลอดเวลา หากไม่นิยามให้ชัดเจน กองทัพจะอ้างได้ ทั้งที่การปฏิรูปในความหมายของกองทัพคือการจัดองค์กร การจัดซื้ออาวุธใหม่ๆ

"สิ่งแรกที่ต้องทำคือ อธิบายความหมายของการปฏิรูปกองทัพให้ชัดเจน และทำให้แพร่หลายในสังคมให้ได้มากที่สุด ความหมายคือการปฏิรูปกองทัพให้เป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตย ไม่ได้หมายถึงการปฏิรูปแบบที่ทหารไทยพูดกัน ถ้าพูดแบบฝ่ายซ้ายสมัยก่อนก็คือ ต้องช่วงชิงความหมายของคำว่า ปฏิรูปกองทัพในหลักการประชาธิปไตย และต้องบอกว่า สิ่งนี้ช่วยส่งเสริมความเป็นใหญ่ของพลเรือนและการควบคุมกองทัพโดยพลเรือน อันนี้เป็นสิ่งที่อย่างน้อยเราพอทำได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน"

นอกจากกองทัพจะอ้างว่าตนเองมีการปฏิรูปอยู่แล้ว อีกข้อสังเกตหนึ่งคือกองทัพพยายามขยายบทบาทของตัวเองให้มากขึ้น ภาณุวัฒน์ กล่าวว่า เรื่องนี้ทำให้กองทัพกำหนดประเด็นต่างๆ เป็นเรื่องความมั่นคง แล้วเมื่อเรื่องใดถูกกำหนดว่าเป็นเรื่องความมั่นคงก็เป็นเรื่องที่ทหารที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง ทั้งที่เรื่องความมั่นคงไม่ใช่เรื่องที่ทหารจะเกี่ยวข้องอยู่ฝ่ายเดียว แต่เป็นเรื่องของพลเรือนด้วย

ประการต่อมา ภาณุวัฒน์เสนอว่า ต้องพิจารณากระบวนการปฏิรูปกองทัพว่าเป็นกระบวนการที่ใครควรทำ ถ้าบอกว่ารัฐบาลพลเรือนควรเป็นใหญ่เหนือกองทัพ กระบวนการปฏิรูปนี้ประชาชนควรจะมีส่วนร่วมแค่ไหน ควรเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาชนผ่านการเลือกตั้งหรือเปล่า ควรมีพรรคการเมืองที่หาเสียงอย่างชัดเจนว่าจะเข้ามาปฏิรูปกองทัพหรือไม่ สมมติถ้าประชาชนสามารถเลือกรัฐบาลที่ต้องการปฏิรูปกองทัพจะช่วยแก้ปัญหาที่บอกว่าประชาชนมีส่วนร่วมหรือเปล่าได้ เพราะประชาชนตัดสินใจผ่านกาารเลือกตั้งดังกล่าวเข้ามาแล้ว

อีกอย่างหนึ่งต้องทำความเข้าใจว่า การปฏิรูปกองทัพไม่ใช่ความพยายามทำให้กองทัพอ่อนแอ การปฏิรูปกองทัพคือความพยายามเอากองทัพมาอยู่ใต้การปกครองของพลเรือนตามหลักประชาธิปไตย เป็นคนละเรื่องกับการทำให้ทหารอ่อนแอ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ ไม่อย่างนั้นกองทัพจะมีข้ออ้างว่า ปฏิรูปกองทัพแล้วจะทำให้กองทัพอ่อนแอ ซึ่งเป็นคนละประเด็นกัน

เริ่มปฏิรูปกองทัพบนความเป็นจริง

"ประเทศไทยสามารถทำอะไรได้บ้าง เราต้องพิจารณาเรื่องหลักความเป็นจริง บางทีถ้าเราต้องการเริ่มปฏิรูป เราก็อาจทำได้ แต่อาจจะหวังไม่ได้ว่ามันจะเกิดขึ้นได้จริง อุบัติเหตุทางการเมืองหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันอาจมีผลมากกว่าที่จะทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีขึ้นหรือเอื้อต่อการปฏิรูปกองทัพ หากเรามองย้อนกลับไปในเหตุการณ์ในประเทศไทย พฤษภาทมิฬปี 2535 ทำให้เกิดช่องว่างและโอกาส เป็นสภาวะที่ทหารมีภาพลักษณ์ตกต่ำมาก สมมติว่ามีเหตุการแบบนั้นอีก ก็อาจเป็นช่องทางให้พลังของประชาชนหรือฝ่ายประชาธิปไตยได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทในการกำหนดทิศทางของประเทศได้มากกว่านี้ ในอินโดนีเซีย ระบอบเผด็จการซูฮาโตที่ล้มไปก็เพราะอุบัติเหตุทางการเมืองแบบนี้ สภาพทางเศรษฐกิจที่รุนแรงจนทำให้ประชาชนออกมาปฏิเสธระบอบเผด็จการและบทบาทของทหาร อันนี้เป็นการพยายามมองโลกในแง่ของความเป็นจริง

"ถามต่อไปว่า หากไม่มีเหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้น ไม่มีโอกาสหรือช่องทางให้ฝ่ายประชาธิปไตยขึ้นมาปฏิรูปได้ เราอาจจะต้องเริ่มจากเรื่องที่เราพอมองเห็นหรือจับต้องได้ เช่น การเรียกร้องให้มีการลงโทษหรือเรียกร้องให้มีผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรงหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีกองทัพเกี่ยวข้อง เช่น เหตุการณ์ปี 2553 กรณีตากใบ คือทำไมจึงยังมีวัฒนธรรมการลอยนวล วัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิดอยู่ นี่ก็อาจเป็นเรื่องหนึ่งที่เราพอจะทำได้ เรียกร้องให้สังคมไทยอย่าลืมเรื่องเหล่านี้ ให้เกิดบรรยากาศการหาคนมาลงโทษหรือรับผิดชอบให้ได้"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช. เปิดแอป 'กันกวน' ปิดกั้นเบอร์รบกวน คุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัว

Posted: 24 Jul 2017 01:21 AM PDT

กสทช. เปิดตัว แอปพลิเคชัน "กันกวน" เพื่อคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ ด้วยการปิดกั้นเบอร์โทรศัพท์ที่โทรเข้ามารบกวนก่อให้เกิดความรำคาญ เช่น การกลั่นแกล้ง การขายตรง การขายประกัน และการติดตามทวงหนี้

24 ก.ค.2560 รายงานข่าวจาก สำนักสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) แจ้งว่า ฐากร ตัณฑสิทธิ์  เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ได้จัดทำแอปพลิเคชัน "กันกวน" เพื่อคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ด้วยวิธีการปิดกั้นเบอร์โทรศัพท์ที่โทรเข้ามารบกวนก่อให้เกิดความรำคาญ เช่น การกลั่นแกล้ง การขายตรง การขายประกัน และการติดตามทวงหนี้

สำหรับวิธีการใช้งาน ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้จาก  App Store  และ Play Store ผ่านการ Search "กันกวน" เมื่อทำการดาวน์โหลด และติดตั้งเรียบร้อยแล้ว ระบบจะให้กรอกข้อมูลยืนยันตัวตนผู้ใช้งาน เพื่อเป็นการป้องกันการกลั่นแกล้งกรณีแจ้งระงับเบอร์ และใช้เป็นฐานข้อมูลในการตรวจสอบข้อมูลทั้งผู้แจ้งให้ปิดกั้นเบอร์ และผู้ถูกปิดกั้นเบอร์

ฐากร  กล่าวว่า  แอปพลิเคชันกันกวน เป็นการสร้างความร่วมมือจากผู้ใช้ในการนำเสนอข้อมูลจากการโทรรบกวนร่วมกัน โดยประชาชนเสมือนตำรวจออนไลน์ในการตรวจสอบ แบ่งปันข้อมูล และปกป้องสิทธิจากการรบกวนดังกล่าว 

"แอปพลิเคชันกันกวนจะเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ช่วยป้องกันความเป็นส่วนตัวของประชาชน กรณีมีการโทรศัพท์เข้ามาขายของ หรือขายประกัน หากมีการรายงานเบอร์เข้ามายังสำนักงาน กสทช. ผ่านระบบ หน่วยตรวจสอบก็จะเช็คว่าหมายเลขนั้นมีผู้ร้องเรียนเข้ามามากจริงหรือไม่ ก่อนปิดกั้นเบอร์ เพื่อคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ" ฐากร กล่าว

ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า แอปพลิเคชันกันกวน จะแบ่งระบบการจัดการออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเรียกว่า บัญชีสีขาว (White list) แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ White list ที่สามารถปิดกั้นได้ เช่น การขายที่ไม่พึงประสงค์ การขายประกัน ขายสินเชื่อ และขายตรง ซึ่งต้องมีการลงทะเบียนเข้าระบบแอปพลิเคชันกันกวน เพื่อให้ประชาชนทราบถึงเลขหมายที่มีการโทรเข้า และเลือกรับสายได้ สำหรับ White list ที่ไม่สามารถปิดกั้นได้ แต่สามารถโทรได้ในช่วงเวลาตามที่กฏหมายกำหนด เพื่อไม่ให้เกิดการรบกวนแก่ประชาชน เช่น การติดตามทวงหนี้ ทวงถามการชำระเงินจากผู้ประกอบการด้านการสื่อสาร สถาบันการเงิน ธุรกิจประกัน และธุรกิจบัตรเครดิต

ส่วนที่ 2 เรียกว่า บัญชีสีดำ (Black list) สำหรับเบอร์ที่สร้างการรบกวน เกินเวลาที่กำหนด โดยสำนักงาน กสทช. จะทำการรวบรวมเบอร์โทรศัพท์ที่รบกวน ส่งไปให้ผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมทุกค่าย เพื่อตรวจสอบและตักเตือน   

ทั้งนี้ แอปพลิเคชันกันกวน คือหนึ่งในแอปพลิเคชันของงานด้านกิจการโทรคมนาคม โดยจากนี้จะมีการทยอยเปิดตัวแอปพลิเคชัน เช่น แอปพลิเคชัน 3 ชั้น และ Speedcheck ให้ประชาชนร่วมกำกับกิจการโทรคมนาคม 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิพากษา 22 กลุ่มฅนรักบ้านเกิดฯ ผิดกฎหมายจราจร คดีสร้างกำแพงใจ รอกำหนดโทษ 1 ปี

Posted: 24 Jul 2017 12:50 AM PDT

ศาลพิพากษา 22 ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย ทำผิดกฎหมายจราจร กรณีก่อสร้างกำแพงใจ กีดขวางเส้นทางสัญจรเข้าออกเหมืองแร่ทองคำ รอกำหนดโทษ 1 ปี

24 ก.ค. 2560 แฟนเพจฟซบุ๊กเหมืองแร่เมืองเลย รายงานว่า เวลา 09.00 น. ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ร่วมฟังคำพิพากษา คดีชาวบ้าน 22 คน ถูกฟ้องในข้อกล่าวหาว่าร่วมกันกระทำความผิดฐานร่วมกันก่อสร้างสิ่งกีดขวางบนทางหลวงสาธารณะและสร้างสิ่งกีดขวางบนพื้นผิวจราจรในลักษณะที่น่าจะทำให้เกิดอันตรายต่อยานพาหนะโดยไม่ได้รับอนุญาต

สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อปี 2556 ชาวบ้านได้ร่วมกันก่อสร้าง "กำแพงใจ" ถึง 3 ครั้ง เพื่อแสดงออกถึงการคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำ และเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งน้ำลำธาร และวิถีชีวิตของชุมชน ทั้งนี้การสร้างกำแพงใจเป็นมติร่วมกันของชาวบ้าน เพื่อป้องกันรถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกิน 15 ตัน และรถบรรทุกสารเคมีอันตราย

ส. รัตนมณี พลกล้า นักกฏหมายจากศูนย์ข้อมูลชุมชน ทนายความจำเลยในคดีสรุปคำพิพากษาว่า วันนี้ศาลมีคำพิพากษาว่ากลุ่มชาวบ้านทั้ง 22 คน มีความผิด ตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 38, 39, 71 และ 72 แต่ให้รอกำหนดโทษ 1 ปี

"นั่นหมายความว่าไม่มีการลงโทษอะไร ไม่ได้เป็นการรอลงอาญา แต่หากภายใน 1 ปีนี้พบว่ามีการกระทำความผิด หรือถูกลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมในคดีอื่นๆ ความผิดในครั้งนี้จะถูกนำมาพิจารณาว่าจะมีบทลงโทษอย่างไร" ส. รัตนมณี อธิบาย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างกำแพงใจ 3 ครั้ง แต่ก็ถูกทำลายทั้ง 3 ครั้งด้วยกัน ดังนี้ กำแพงใจครั้งแรกสร้างขึ้นในวันที่ 7 ก.ย. 2556 แต่ในวันที่ 19 ก.ย. 2556 ได้มีบุคคลที่ปิดบังใบหน้าพร้อมอาวุธครบมือได้เข้ามาทำลายกำแพงดังกล่าว

วันที่ 22 ก.ย. 2556 ชาวบ้านได้มีมติรวมกันให้ก่อสร้างกำแพงใจขึ้นมาใหม่เป็นครั้งที่ 2 ต่อมาในวันที่ 11 ต.ค. 2556 ได้มีพนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวงร่วมกันรื้อทำลายกำแพงใจของชาวบ้าน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 100 นายให้การคุ้มกัน

ต่อมาชาวบ้านได้ประชุมปรึกษาหารือกันสุดท้ายมีมติให้สร้างกำแพงใจครั้งที่ 3 ขึ้นในวันเดียวกันนั้นเอง (11 ต.ค. 2556) จากนั้นกำแพงแห่งนี้ได้ถูกทำลายลงเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2557 โดยนายทหารและอดีตนายทหารได้นำชายฉกรรจ์ 200 กว่านาย ปิดบังใบหน้า พร้อมอาวุธครบมือได้เข้ามาทำร้ายและกักขังชาวบ้าน จากนั้นได้ทำลายกำแพงใจของชาวบ้าน เปิดทางให้นำรถบรรทุกพ่วงเข้าไปขนแร่จากเหมืองออกไปจากพื้นที่

การสร้างกำแพงทั้ง 3 ครั้ง นำมาซึ่งการฟ้องร้องดำเนินคดีกับกลุ่มชาวบ้านถึง 6 คดี เรียกค่าเสียหาย 270 ล้านบาท

สำหรับคดีในวันนี้ ชาวบ้านถูกบริษัทและองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวงฟ้องร้องในข้อหาร่วมกันสร้างสิ่งกีดขวางบนทางสาธารณะและผิวจราจรน่าจะเป็นอันตรายต่อยานพาหนะโดยไม่ได้รับอนุญาต รวม 22 คน (บางคนเป็นการกระทำการซ้ำ) ตามวันที่เกิดเหตุ ดังนี้

1.เหตุเกิดในวันที่ 7 ก.ย. 2556 ข้อหา ร่วมกันสร้างสิ่งกีดขวางบนทางสาธารณะและผิวจราจรน่าจะเป็นอันตรายต่อยานพาหนะโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 38, 39, 71 และ 72 สั่งฟ้องชาวบ้าน 16 คน

2.เหตุเกิดวันที่ 22 ก.ย. 2256 ข้อหา ร่วมกันสร้างสิ่งกีดขวางบนทางสาธารณะและผิวจราจรน่าจะเป็นอันตรายต่อยานพาหนะโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 38, 39 ,71 และ 72 สั่งฟ้องชาวบ้าน 9 คน

3.เหตุเกิดวันที่ 11 ต.ค. 2256 ข้อหา ร่วมกันสร้างสิ่งกีดขวางบนทางสาธารณะและผิวจราจรน่าจะเป็นอันตรายต่อยานพาหนะโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 38, 39, 71 และ 72 สั่งฟ้องชาวบ้าน 9 คน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ส่งจดหมายร้องเรียนโรงงานน้ำตาล-โรงไฟฟ้าใกล้แหล่งน้ำ ถึง สผ.

Posted: 23 Jul 2017 11:59 PM PDT

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง ส่งจดหมายถึง สผ. ระบุข้อกังวลของการเตรียมสร้างโรงงานน้ำตาล-โรงไฟฟ้าชีวมวลใกล้แหล่งน้ำ และชุมชน ชี้ประชาชนในพื้นที่ไม่เคยรับรู้ข้อมูลมาก่อน หวั่นปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2560 กลุ่มอนุรักษ์อนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ร่วมกันเขียนจดหมายถึงสำนักแผนนโยบายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อสื่อสารให้หน่วยงานรับผิดชอบรับทราบถึงข้อกังวลที่ชาวบ้านเป็นห่วงต่อพื้นที่ซึ่งจะมีโรงงานน้ำตาล 20,000 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ที่มีแผนจะสร้างใกล้แหล่งน้ำและชุมชน

สมัย คดเกี้ยว กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง กล่าวว่า เป็นอีกครั้งหนึ่งของกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง ที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกันในการเขียนจดหมายถึง สผ. เพื่อเป็นการบอกกล่าวข้อกังวลต่อโรงงานอุสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ และยังเป็นห่วงถึงการแย่งชิงทรัพยากรน้ำจากลำเซบาย การเขียนจดหมายถึง สผ. ในครั้งนี้ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อ่านข้อกังวลของประชาชนในพื้นที่ เพราะในการพิจารณาอนุญาติก่อสร้างโรงงานอุตสหกรรม สผ. จะต้องมีข้อมูลที่เป็นจริงจากพื้นที่ด้วย ซึ่งหวังว่าหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบหรือเกี่ยวข้องจะเข้าใจเจตนาของกลุ่ม

นวพร เนินทราย เลขากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย กล่าวว่า เป็นคนหนึ่งที่เขียนจดหมายถึง สผ. เพื่อต้องการบอกว่าไม่ต้องต้องการโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ใกล้ชุมชน และมีความกังวลในการแย่งชิงทรัพยากรน้ำจากลำน้ำเซบาย เนื่องจากหมู่บ้านมีการใช้น้ำจากลำเซบายในการทำน้ำประปา และทำการเกษตรเป็นหลัก เมื่อมีโรงงานเข้ามาจะส่งผลกระทบกับชุมชนโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการแย่งชิงทรัพยากร วิถีชุมชนที่เปลี่ยนไป สุขภาพของคนในชุมชน ปัญหาแรงงานต่างถิ่น สารพิษจากการปลูกอ้อยตกค้างในดิน ส่งผลให้พืชชนิดอื่นได้รับผลกระทบได้ นอกจากนี้ ก่อนที่จะมีโครงการนี้ขึ้น ประชาชนในพื้นที่ไม่ทราบเลยว่าจะมีตั้งโรงงานอุตสาหกรรมใกล้ชุมชน มาทราบตอนที่มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1  แล้ว เป็นการปิดบังข้อมูลข่าวสารต่อชุมชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จึงเป็นเหตุให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับชุมชน ทั้งนี้ ทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง ได้รวบรวมจดหมายบางส่วนของกลุ่มเพื่อเตรียมส่งให้ สผ. แล้วในวันที่ 23 ก.ค.

ด้านสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีสาน กล่าวว่า ตามที่บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และบริษัท มิตรผลไบโอ พาวเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตน้ำตาลทรายดิบ และพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล มีแผนในการจะก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ในพื้นที่ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ โดยได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นแล้ว 2 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2559 และวันที่ 10 มี.ค. 2560 ซึ่งทั้งสองเวทีมีชาวบ้านทำหนังสือคัดค้านการจัดเวทีทั้งสองครั้ง เนื่องจากไม่มีการให้ข้อมูลรายละเอียดโครงการ ข้อดี ข้อเสีย ผลกระทบในภาพรวมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ให้ประชาชนผู้เข้าร่วมได้เข้าใจในตัวโครงการก่อนที่จะเข้าร่วมให้ความเห็นในเวที และทั้งสองเวทีมีการกำหนดผู้เข้าร่วมกีดกันไม่ให้ผู้ที่สนใจเข้าไปแสดงความคิดเห็นบางส่วนไม่ให้เข้าร่วมในเวที จึงเป็นการจัดเวทีที่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียได้เข้าร่วมความคิดเห็นอย่างครอบคลุมผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการ

สิริศักดิ์ กล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2560 ทางบริษัทฯ ได้มาจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความเข้าใจกับเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและชุมชนในโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท มิตรผลไพโอ พาวเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัดอีกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาตนได้ติดตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นทั้งสามครั้ง เห็นว่าในปัจจุบันประชาชนในพื้นที่ และทางกลุ่มยังไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนของโครงการที่จะมาดำเนินการในพื้นที่รวมถึงกระบวนการขั้นตอนทั้งหมดของหน่วยงานรัฐที่จะมาดำเนินการในพื้นที่ และสิทธิของประชาชนชุมชนในการมีส่วนร่วมในกระบวนการขั้นตอนต่างๆ และไม่มีความชัดเจนว่าการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น และบางครั้งยังทำกระบวนการไม่ถูกต้องด้วยซ้ำไป

สิริศักดิ์ มองว่า การเขียนจดหมาย ถึง สผ. ครั้งนี้เพื่อสะท้อนให้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้รับรู้ข้อกังวลของชาวบ้านผู้มีส่วนเสียจากการจะดำเนินโครงการอุสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่ด้วย โดยเฉพาะ

1.ประเด็นการให้ข้อมูลกับชาวบ้านในรัศมี 5 กิโลเมตรที่มีส่วนเสียไม่ครอบคลุมก่อนจะมีแผนดำเนินการก่อสร้างโรงงานอุสาหกรรมถึงขั้นตอนและกระบวนการสร้าง บ่งบอกถึงการการไม่เปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงให้ชาวบ้านได้รับทราบตั้งแต่ก่อสร้างเลย

2. ประเด็นการแย่งชิงทรัพยากรน้ำไปใช้ในกระบวนการอุตสาหกรรม ซึ่งในพื้นที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้น้ำจากลำเซบาย ในกระบวนการผลิตน้ำประปา และการเกษตร

3.สภาพพื้นที่ของ อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับกับทำการเกษตรในการปลูกพืชสวนผสม เช่น ทำนา ปลูกผัก เป็นต้น ตามนโยบายของจังหวัดเมืองยโสธรเกษตรอินทรีย์ และจังหวัดอำนาจเจริญตามนโยบายเมืองธรรมเกษตร ซึ่งไม่ใช่พื้นที่จะเหมาะกับปลูกพืชเชิงเดี่ยว

4.ไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย เนื่องจากมองจากกระยวนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาประชาชนที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น จึงสะท้อนให้เห้นถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้มีส่วนเสียไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมตามกระบวนการทางกฏหมายที่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

และมีข้อเสนอดังนี้ 1.ให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงและกระบวนการขั้นตอนการอนุมัติอนุญาตรวมทั้งสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการดำเนินโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล  2. ให้บริษัท คอลซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่รับจ้างศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นใหม่ เริ่มตั้งแต่เวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 เนื่องจากกระบวนการในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาขาดความชอบธรรม 3.รัฐจะต้องให้ชาวบ้านที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการดำเนินโครงการน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล ในรัศมี 5 กิโลเมตร เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เริ่มต้นในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

(คลิป) เสวนา จากบัตรทองสู่บัตรอนาถา? ปัญหา-ทางออก โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค

Posted: 23 Jul 2017 09:57 PM PDT

เวทีเสวนาชี้ 'คนไทยต้องมีฉันทามติหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า' ลดความเหลื่อมล้ำ เผยหลังค่ารักษาแพงจากนโยบายเมดิคัลฮับ คนชั้นกลางหันมาใช้บัตรทองมากขึ้น ระบุคนชั้นกลางต้องใช้สิทธิบัตรทอง ช่วยจี้รัฐบาลพัฒนาระบบให้มีมาตรฐานคุณภาพ และไม่หายไปจากประเทศ

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ พรรคใต้เตียง มธ. ร่วมกับคณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) จัดเวทีเสวนาวิชาการ หัวข้อ 'จากบัตรทองสู่บัตรอนาถา? ปัญหาและทางออกของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค' ว่าด้วยแนวคิดเบื้องหลังของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 หรือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ปัญหาที่พบตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ความคิดเห็นต่อการแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้ และเสนอทางออกร่วมกันเพื่อช่วยให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายั่งยืนต่อไป โดยมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นพ.วินัย สวัสดิวร อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อนันต์ เมืองมูลไชย ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทยและแกนนำกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เป็นวิทยากร และ อธึกกิต แสวงสุข คอลัมนิสต์ 'ใบตองแห้ง' ดำเนินรายการ

จากซ้ายไปขวา อนันต์ เมืองมูลไชย,  วิโรจน์ ณ ระนอง, ชลน่าน ศรีแก้ว, วินัย สวัสดิวร และอธึกกิต แสวงสุข

สำนักข่าว Hfocus รายงานว่า ดร.วิโรจน์ เริ่มต้นวิเคราะห์สถานการณ์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า แม้ว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยจะได้รับการชื่นชนจากองค์กรต่างประเทศ แต่ที่ผ่านมากลับไม่เคยมีฉันทามติชัดเจนต่อการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งในเรื่องการร่วมจ่าย การเข้าถึงและความเท่าเทียมในการรักษาภายใต้ระบบของประชากรในทุกกลุ่ม รวมถึงมาตรฐานและคุณภาพการรักษาพยาบาล ซึ่งเหล่านี้เป็นปัญหาตั้งแต่เมื่อ 15 ปีที่แล้ว และยังดำเนินมาจนถึงขณะนี้

ผอ.วิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร ทีดีอาร์ไอ กล่าวด้วยว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปัญหาที่สำคัญคือคนชั้นกลางซึ่งมีประมาณร้อยละ 20 ของประชากรประเทศและเป็นกลุ่มที่มีเสียงดัง ไม่อยากมาใช้ระบบนี้ และมองว่าไม่มีคุณภาพและมาตรฐาน ทั้งยังไม่อยากให้มีการจัดเก็บภาษีเพื่อนำไปสนับสนุน ทำให้ขาดแรงผลักดันที่จะนำไปสู่การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้มีมาตรฐาน ประกอบกับรัฐบาลไม่เพิ่มเติมงบประมาณสู่ระบบ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหามาตรฐานบริการมากขึ้น ขยายความเหลื่อมล้ำในระบบบริการสุขภาพ และในที่สุดการบริการในระบบจะเสื่อมถอยและระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศก็จะหายไป รวมถึงนโยบายดึงคนไข้ต่างชาติเข้ารักษาพยาบาลในประเทศ ที่ทำให้ค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลในประเทศเพิ่มสูงขึ้นจะยิ่งทำให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้น

"ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามดึงคนไข้ต่างชาติเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศมากขึ้น มีกำลังซื้อมหาศาลเข้ามา โดยเราปล่อยให้คนไข้ต่างชาติเข้ามาอย่างเสรี แต่กลับทำให้ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 5-6 ปีมานี้ ส่งผลให้คนชั้นกลางที่เคยคิดว่า 30 บาทตายทุกโรค จะไม่ใช้บริการ 30 บาท แต่เมื่อไม่สบายและเข้ารักษา รพ.เอกชนมีชื่อเสียง แต่หลังเสียค่าใช้จ่ายเดือนละหลายแสน ที่สุดต้องวิ่งกลับมาใช้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดังนั้น วันนี้คนชั้นกลางซึ่งไม่ใช่เศรษฐี ควรหันกลับมาร่วมสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เกิดความยั่งยืนแทน" ดร.วิโรจน์ กล่าวและว่า ทั้งนี้การที่จะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีมาตรฐานและคุณภาพ จากงานวิจัยระบุว่า รัฐบาลต้องเพิ่มงบเหมาจ่ายรายหัวเป็น 2 เท่าของปัจจุบัน ดร.วิโรจน์ กล่าว พร้อมระบุว่า ส่วนสาเหตุที่ยังต้องมี สปสช. เพราะต้องมีผู้ทำหน้าที่ซื้อบริการแทนประชาชน เพื่อทำหน้าที่ส่งเสียงและคัดง้างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แทนประชาชน แต่ด้วยระบบบริการปัจจุบันร้อยละ 90 เป็นของ สธ. ทำให้ทั้ง 2 หน่วยงานต้องพึ่งพากัน ไม่สามารถทำหน้าที่ได้เต็มที่

นพ.วินัย กล่าวว่า ขณะนี้มองไม่ออกว่าอนาคตระบบหลักประกันสุขภาพนี้จะเป็นอย่างไร ซึ่งการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ขณะนี้ยืนยันว่าประชาชนจะไม่ได้อะไรเพิ่ม ส่วนจะแย่ลงแค่ไหนนั้นยังไม่รู้ ซึ่งการแก้ไขกฎหมายต้องเอาปัญหาการเข้ารับบริการของประชาชนเป็นที่ตั้ง และต้องมุ่งลดความเหลื่อมล้ำในระบบหลักประกันสุขภาพซึ่งยอมรับว่าเป็นไปได้ยาก เพราะที่ผ่านมาในฐานะเลขาธิการ สปสช. ที่เป็นเลขานุการในบอร์ด สปสช. ซึ่งตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กำหนดให้รวมกองทุนใน ม.9, 10 และ 11 แต่กลับไม่สามารถทำได้ ขณะที่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น มีความพยายามทำให้ สปสช. อ่อนแอลง อย่างการจัดซื้อยา ไม่เคยบอกว่า สปสช. ทุจริต การทักท้วงก็ระบุเพียงว่า สปสช. ไม่มีอำนาจทางกฎหมาย แต่ในการแก้กฎหมายฉบับใหม่กลับไม่แก้ให้ สปสช. มีอำนาจเรื่องนี้ เช่นเดียวกับการแก้ไขกฎหมายที่มีการเพิ่มสัดส่วนตัวแทนผู้ให้บริการ ทั้งที่เป็นบอร์ดผู้ซื้อบริการ ส่วนตัวจึงหมดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้

"เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคงต้องพยายาทำให้ประชาชนเข้าใจ ทั้งลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพทั้ง 3 ระบบ ทำให้ทุกระบบมีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งคงต้องฝากรัฐบาลหน้าหากมีการเลือกตั้ง เพราะรัฐบาลนี้คงไม่สนว่าเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องของการลงทุน ไม่ใช่ภาระงบประมาณประเทศ" อดีตเลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายบัตรทองจะเป็นบัตรอนาถาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ 3 ประเด็น คือ 1.รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่แตกต่างจากปี 2540 และ 2550 ที่ไม่มีคำว่าผู้ป่วยอนาถาหรือผู้ป่วยรายได้น้อย และไม่จำกัดให้เข้าถึงบริการเฉพาะของรัฐ แต่ให้ประชาชนมีสิทธิและเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับมีการจำกัดสิทธิ 2.การแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติขณะนี้ จะมีประโยชน์ต่อประชาชนหรือไม่ ซึ่งต้องยึดหลักการคือ ทุกคนต้องเข้าถึงระบบสาธารณสุขภายใต้หลักการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข มีมาตรฐานเสมอกัน และเปิดโอกาสให้ทุกคนดูแลสุขภาพตนเองได้ ไม่จำกัดให้อยู่แต่เฉพาะมือหมอและพยาบาลเท่านั้น และ 3.ความมีอคติของผู้ให้บริการที่เกิดจากการแบ่งแยกชนชั้นผู้รับบริการจากสิทธิสุขภาพและอคติทางการเมือง

นพ.ชลน่าน กล่าวถึงการแก้ไขกฎหมายขณะนี้ว่า ยังมีประโยขน์ และมองว่าเรื่องการร่วมจ่ายต้องคงไว้ เพียงแต่ควรเป็นการร่วมจ่ายก่อนป่วย นอกจากนี้ ยังเป็นห่วงเรื่องหมวดส่งเสริมสุขภาพว่าค่าใช้จ่ายจะไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงต้องหาวิธีการกำหนดสัดส่วนงบประมาณในเรื่องนี้ให้เหมาะสม อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้จะมีการสรุปเนื้อหาแล้ว แต่เรายังมีโอการแสดงความเห็นและปรับแก้ไขในชั้นกรรมาธิการพิจารณากฎหมาย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และแม้จะออกเป็นกฎหมายแล้วก็สามารถทบทวนได้ หากดูสาระแล้วว่าเป็นประโยชน์และจำเป็นต้องปรับแก้

อนันต์ ในฐานะแกนนำกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ ประสบปัญหาการทำงานหนักมากจากปัญหาการตีความกฎหมายกำหนดให้งบบัตรทองต้องลงสู่หน่วยบริการเท่านั้น งบประมาณที่ใช้เพื่อสร้างกระบวนการทำงานกับผู้ติดเชื้อ 29 ล้านบาท จึงกระจายกองไว้ที่โรงพยาบาล แม้ว่าเครือข่ายฯ จะทำแผนส่งไปยัง รพ. แต่ก็ติดหลักเกณฑ์เงื่อนไขเงินบำรุง ทำให้หลายพื้นที่ทำงานไม่ได้ โดยในปี 2560 ยังไม่ผ่าน และจนถึงวันนี้ปัญหายังไม่คลี่คลาย ซึ่งทิศทางในปี 2561 ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ซ้ำยังมีแนวโน้มจะแยกเงินเดือนอีก

อธิกกิต กล่าวทิ้งท้ายว่า วันนี้เรื่องฉันทามติต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเรื่องสำคัญ ประชากรร้อยละ 99 ต้องใช้สิทธินี้ ซึ่งอาจมีเพียงร้อยละ 1 ที่สามารถเข้าโรงพยาบาลเอกชนได้ เนื่องจากค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนแพงขึ้นทุกวัน วันนี้ถึงเวลาที่คนไทยต้องคุยกัน มองให้กว้างขึ้นกว่าการทะเลาะกันอย่างทุกวันนี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชัยชนะของผู้หญิงในอินเดีย เมื่อภาพยนตร์มุมมองผู้หญิงที่เคยถูกสั่งแบนได้ฉายแล้ว

Posted: 23 Jul 2017 09:43 PM PDT

หลังจากถูกสั่งแบนไปก่อนหน้านี้ ภาพยนตร์  "ลิปสติกอันเดอร์มายบุรกา" จากผู้กำกับหญิงชาวอินเดียที่มีเนิ้อหาสะท้อนมุมมองจากผู้หญิงรวมถึงเรื่องเพศก็ได้ฉายแล้วในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผกก. มอง การเมืองเรื่องเพศในชีวิตประจำวันถูกนำมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในสังคมถือเป็นเรื่องดี

<--break- />

 
Lipstick Under My Burkha (2017).jpg
โปสเตอร์โฆษณาภาพยนตร์เรื่อง "ลิปสติกอันเดอร์มายบุรกา" (Lipstick Under My Burkha) (ที่มา:วิกิพีเดีย)
 
24 ก.ค. 2560 ภาพยนตร์ "ลิปสติกอันเดอร์มายบุรกา" (Lipstick Under My Burkha) โดยผู้กำกับหญิงชาวอินเดีย อาลันคริตา ชรีวาสตาวา เคยถูกสั่งแบนจากทางการอินเดียมาก่อนด้วยข้ออ้างที่ว่า "เอนเอียงไปในทางผู้หญิงมากเกินไป" แต่ก็มีการจัดฉายเป็นครั้งแรกในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ผู้กำกับหญิงมองว่าเป็นชัยชนะสำหรับผู้หญิงอินเดีย
 
ภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นภาพยนตร์แนวตลกร้าย (black comedy) ที่นำเสนอโลกของผู้หญิงที่ชายชาวอินเดียอาจจะไม่คุ้นเคย เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับผู้หญิง 4 คน ในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งของอินเดียผู้พยายามดิ้นรนเพื่ออิสรภาพและได้เป็นตัวของตัวเอง โดยในเรื่องนี้ยังนำเสนอเรื่องเพศจากมุมมองของสตรีอินเดียด้วย
 
ถึงแม้ว่าลิปสติกอันเดอร์มายบุรกาจะได้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์โตเกียวและเทศกาลภาพยนตร์มุมไบมาก่อนหน้านี้ และได้รับรางวัลสปิริตออฟเอเชียกับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้านความเท่าเทียมทางเพศของอ็อกแฟมมาก่อน แต่คณะกรรมการตรวจสอบรับรองภาพยนตร์อินเดีย (CBFC) ก็ไม่ยอมให้การรับรองและจัดประเภทภาพยนตร์นี้โดยบอกว่ามีเนื้อหาที่เอนเอียงไปทางผู้หญิง จินตนาการเหนือชีวิตจริงของผู้หญิง และกล่าวหาว่ามีฉากเพศสัมพันธ์ คำหยาบ การใช้เสียงที่ส่อไปในทางเพศ รวมถึง "มีการแตะต้องเรื่องอ่อนไหวในภาคส่วนหนึ่งของสังคม"
 
พวกเขาเรียกร้องมาเป็นเวลาหลายเดือนนับตั้งแต่คณะกรรมการตรวจสอบรับรองภาพยนตร์ของอินเดียปฏิเสธไม่ให้การรับรองภาพยนตร์ของชรีวาสตาวา ทำให้ชาวอินเดียตำหนิการตัดสินใจของคณะกรรมการฯ รวมถึงมีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้จากภายนอกประเทศ กระทั่งต่อมาคณะกรรมการบอร์ดอุทธรณ์ก็ยกเลิกการแบนภาพยนตร์เรื่องนี้
 

 

เอกสารไม่รับรองภาพยนตร์โดยคณะกรรมการตรวจสอบรับรองภาพยนตร์ของอินเดีย (ที่มา: twitter/Under My Burkha)

 
ขณะเดียวกันการที่เรื่องนี้กลายเป็นข้อถกเถียงในเรื่องการสั่งห้ามก็ทำให้ผู้คนสนใจจนต่อคิวเข้าชมในการฉายรอบแรกที่เมืองสาเกต มีนักศึกษารายหนึ่งชื่อซากอนชมภาพยนตร์เรื่องนี้กล่าวว่ามันมีเรื่องของการพูดคุยถกเถียงกันเกียวกับประเด็นสตรีนิยมและปัญหาในอินเดียที่มีความขัดแย้งระหว่างหลายศาสนา เป็นการที่ภาพยนตร์พูดถึงปัญหาเหล่านี้ให้เห็นอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่แอบซ่อน
 
ในขณะที่คนดูที่เป็นชายหนุ่มชื่อนิบราสมองว่าที่คณะกรรมการฯ ปิดกั้นเรื่องนี้เป็นเพราะฉากโป๊เปลือย แต่เพื่อนของเขาชื่อไคนาทคิดว่าน่าจะเป็นเพราะแนวคิดแบบชายเป็นใหญ่มากกว่า เขาอธิบายว่าพวกเขาอยู่ในสังคมภายใต้อำนาจชายเป็นใหญ่พอเมื่อมีภาพยนตร์นำเสนอมุมมองของผู้หญิงก็จะถูกทำให้กลายเป็นเรื่องชวนถกเถียง และคนในสังคมแบบนี้ก็จะแปลกใจมากถ้าหากผู้หญิงพูดถึงเสรีภาพหรือความปรารถนาของตัวเอง เพราะสังคมชายเป็นใหญ่ไม่ได้มองว่าผู้หญิงมีความปรารถนาของตัวเอง
 
ผู้ชมที่มีอายุอีกคนหนึ่งชื่ออนุภัมกล่าวว่า CBFC คงแบนเรื่องนี้เพราะกลัวว่ามันจะส่งเสริมให้ผู้หญิงเป็นอิสระและพึ่งพาตนเองมากขึ้น แต่การแบนเรื่องนี้ไม่มีเหตุผลเลยสำหรับเขาเพราะคนทำภาพยนตร์สื่อเรื่องราวต่างๆ ออกมาควรจะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่จะทำได้ ถ้าใครไม่อยากดูก็แค่ไม่ต้องไปดู คู่รักของอนุภัมชื่อมานจูบอกว่า มันถึงเวลาแล้วที่ต้องรับฟังความรู้สึกของผู้หญิงบ้าง เธอบอกว่าแม้ CBFC อาจจะไม่รู้ แต่เรื่องในภาพยนตร์ก็เป็นเรื่องที่ผู้หญิงพูดกันเองอยู่แล้ว
 
ถึงแม้ชรีวาสตาวา ผู้กำกับหญิงของภาพยนตร์เรื่องนี้เองจะกังวลว่าผู้คนจะมาดูภาพยนตร์ของเธอเพียงเพราะแค่ได้รับรู้ข่าว "ดราม่า" ข้อถกเถียงเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์โดยไม่รู้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร แต่การที่เรื่องนี้เป็นข้อถกเถียงก็นับเป็นเรื่องดีที่จะทำให้ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องพื้นที่การเมืองในชีวิตประจำวันของผู้หญิงมีการพูดคุยกันในกระแสหลักรวมถึงโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจับจ้องของเพศชาย (Male Gaze) ที่ทำให้ผู้หญิงดูเป็นเพียงวัตถุไม่มีความรู้สึกและประเด็นอื่นๆ ที่เป็น กระบวนทัศน์ของภาพยนตร์อินเดียโดยส่วนใหญ่
 
สำนักข่าว เดอะการ์เดียน รายงานว่าคณะกรรมการตรวจสอบภาพยนตร์ของอินเดียในช่วงหลังๆ เริ่มทำการแบนและการเซ็นเซอร์มากขึ้นจนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน เช่น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับอมาตยา เซ็น นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ก็มีการเซ็นเซอร์คำว่า "วัว" และ "คุชราต" ซึ่งเป็นรัฐบ้านเกิดของนายกรัฐมนนตรีอินเดียคนปัจจุบัน นเรนทรา โมดี 
 
มีอดีตคนทำงานให้กับ CBFC ชื่อ ชูบรา กุปตา เปิดเผยว่าคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ในอินเดียถูกครอบงำโดยแนวคิดอนุรักษ์นิยมฝังรากลึกทำให้ทั้งคนทำภาพยนตร์และผู้ชมภาพยนตร์ต่างไม่ชอบหน่วยงานนี้ แต่คนทำภาพยนตร์ก็พยายามผลักและท้าทายเส้นอาณาเขตการเซ็นเซอร์อยู่ตลอดและผู้คนก็ส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเซ็นเซอร์เหล่านี้มากขึ้น
 
เรียบเรียงจาก
 
Lipstick Under My Burkha's release hailed as victory for Indian women, The Guardian, 23-07-2017
 
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อุทธรณ์แก้โทษจำคุก 2 ปี เหลือ 8 เดือน แกนนำพธม.ยึดทำเนียบฯ เหตุไม่ใช่ทำเพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

Posted: 23 Jul 2017 09:23 PM PDT

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โทษ 6 แกนนำพันธมิตรฯ คดียึดทำเนียบฯ จากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 2 ปี ให้เป็นจำคุก 1 ปี โดยลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา เหตุกระทำมิได้เป็นประโยชน์เพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตน

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง (แฟ้มภาพ)

24 ก.ค.2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (24 ก.ค. 60) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) บุกรุกทำเนียบรัฐบาลปี 2551 หมายเลขดำ อ.4925/2555 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อายุ 82 ปี, สนธิ ลิ้มทองกุล อายุ 69 ปี, พิภพ ธงไชย อายุ 71 ปี, สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อายุ 67 ปี, สมศักดิ์ โกศัยสุข อายุ 71 ปี อดีตแกนนำ พธม. และ สุริยะใส กตะศิลา อายุ 45 ปี อดีตผู้ประสานงาน พธม. เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกโดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358, 362, 365

จากกรณี เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 51 จำเลยกับพวกได้ปราศรัยชักชวนให้ประชาชนกดดันให้ สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ลาออก แล้วปิดล้อมเข้าควบคุมทำเนียบรัฐบาล ห้ามราชการเข้าปฏิบัติหน้าที่ ทำลายทรัพย์สินได้รับความเสียหาย  โดยคดีนี้ศาลชั้นต้น พิพากษาจำคุกจำเลยคนละ 3 ปี ให้การเป็นประโยชน์ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยไว้คนละ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ก่อนยื่นขอประกันตัวสู้คดีชั้นอุทธรณ์ ซึ่งเมื่อถึงเวลานัด จำเลยทุกคนมาศาล และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้เบิกตัวสนธิมาฟังคำพิพากษา
 

รายงานข่าวระบุว่า ศาลอุทธรณ์พิเคราะแล้วเห็นว่า โจทก์มีรองเลขาธิการ สำนักนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักสถานที่ดูแลรักษาความเรียบร้อย สันติบาล 4 ปาก เบิกความถึงรายละเอียดเหตุการณ์ที่โจทก์ทั้ง 6 ที่เป็นแกนนำและผู้ชุมนุม ที่เข้าไปในทำเนียบรัฐบาลและได้นำรถ 6 ล้อเข้าไปตั้งเวทีปราศรัย หน้าสนามหญ้าทำเนียบนัฐบาล มีการตัดโซ่ที่คล้องประตู รวมทั้งผลักดันแผงเหล็กกั้นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจัดไว้ เพื่อรักษาความปลอดภัย ซึ่งการกระทำนั้นส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อระบบรดน้ำ, สนามหญ้าที่ตายทั้งหมด และระบบไฟในสนามหญ้า ศาลจึงเห็นว่าการกระทำของจำเลยนั้นเป็นการกระทำฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาฐานบุกรุกนั้นชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยขอให้ศาลลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ โดยอ้างเหตุว่าจำเลยเป็นผู้มีการศึกษา มีสถานะทางสังคม และได้ทำงานสังคม อีกทั้งไม่เคยต้องโทษในคดีอาญามาก่อน กับการชุมนุทนั้นก็เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะนั้น ศาลเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการบุกรุกทำเนียบรัฐบาลซึ่งเป็นสถานที่ราชการ ซึ่งการที่จำเลยจะใช้เสรีภาพนั้นก็จะต้องไม่กระทบต่ออำนาจหน้าที่อื่น และเพื่อไม่ให้การกระทำของจำเลยนั้นเป็นเยี่ยงอย่าง แต่เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของพวกจำเลยมิได้เป็นประโยชน์เพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งและไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตน จึงเห็นควรพิพากษาลงโทษให้เหมาะสมกับพฤติการณ์จึงพิพากษาแก้ จากเดิมที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 2 ปี ให้เป็นจำคุก 1 ปี โดยลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยทั้ง 6 เป็นเวลาทั้งสิ้น 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา

รายงานข่าวระบุอีกว่า วันนี้ (24 ก.ค. 60) เป็นการนัดอ่านคำพิพากษา ครั้งที่ 3 หลังจากมีการเลื่อนครั้งที่ 1 จากวันที่ 16 พ.ค. เนื่องจาก พล.ต.จำลอง ศรีเมือง จำเลยที่ 1 ป่วย และเลื่อนครั้งที่ 2 จากวันที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา เนื่องจาก สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ จำเลยที่ 4 ป่วย ไม่ได้เดินทางมาศาล แต่มอบอำนาจให้ทนายความมาแถลงขอเลื่อนนัดแทน ซึ่งศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 4 จะมีอาการป่วยจริง จึงให้ออกหมายจับจำเลยที่ 4 เพื่อให้มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ พร้อมปรับนายประกันเต็ม 200,000 บาท และกำหนดนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในวันนี้ (24 ก.ค.60) เวลา 09.00 น. โดยศาลได้กำชับคู่ความด้วยว่า หากจำเลยคนใดป่วยอีกให้นำแพทย์มาไต่สวนด้วย 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้ อัยการโจทก์ ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.55 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 51 ได้มีผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งมีจำเลยดังกล่าวเป็นแกนนำได้จัดปราศรัยชักชวนประชาชนเข้าร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน เพื่อกดดันให้ สมัคร สุนทรเวช ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเคลื่อนขบวนฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำเนียบรัฐบาลและกระจายกำลังปิดล้อมสถานที่ราชการ เช่น สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยและสถานีวิทยุกระจายเสียง กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรฯ ต่อมา สมัคร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ และ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน 

ต่อมา เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 51 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกก็ได้เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลโดยปิดล้อมทางเข้าออกทำเนียบทุกด้าน ได้ทำลายเครื่องมือ ทำลายกุญแจประตูทำเนียบ และทำลายแผงกั้นที่เจ้าหน้าที่ใช้ควบคุมดูแลความสงบในทำเนียบ จนถึงวันที่ 3 ธ.ค. 51 พวกจำเลยซึ่งไม่ได้รับอนุญาตได้ร่วมกันรื้อทำลายสิ่งกีดขวางแล้วปีนรั้วเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งนำรถยนต์ 6 ล้อที่ติดเครื่องขยายเสียงขนาดใหญ่ไปจอดหน้าตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล แล้วผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยและระหว่างวันที่ 26 ส.ค.-3 ธ.ค. 51 

ซึ่งมีการจัดเวทีปราศรัยในทำเนียบรัฐบาลและมีผู้ชุมนุมจำนวนมากได้เหยียบสนามหญ้าและต้นไม้ประดับจนตาย แล้วยังทำให้ระบบสปริงเกอร์อัตโนมัติ ระบบไฟสนามหน้าตึกไทยคู่ฟ้า-หน้าตึกสันติไมตรีในความดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรีได้รับความเสียหายรวม 5 ล้านบาท อีกทั้งเมื่อมีฝนตกทำให้น้ำฝนซึมเข้าขังในถุงดำที่ห่อหุ้มกล้องวงจรปิด ทำให้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกล้องเสียหายรวม 10 ตัว ค่าเสียหายอีก 1,766,548 บาท โดยจำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ 

ซึ่งศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 58 เห็นว่า จำเลยทั้งหกกระทำความผิดตามประมวลกฎหมาอาญา มาตรา 358, 365 การกระทำของจำเลยผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดฐานบุกรุกสถานที่ราชการ จำคุกคนละ 3 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยไว้คนละ 2 ปี โดยจำเลยทั้งหก ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดีดังกล่าว

ที่มา : คมชัดลึกออนไลน์, ช่อง 7 และกรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น