โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

20 ปีต้มยำกุ้ง: อภิชาต สถิตนิรามัย มรดกเศรษฐกิจและการเมืองจากวิกฤตปี 40

Posted: 01 Jul 2017 12:04 PM PDT

สำรวจมรดกทางเศรษฐกิจและการเมืองที่วิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ 20 ปีก่อนยังคงฝากไว้แก่สังคมไทย ผ่านการศึกษาของ 'อภิชาต สถิตนิรามัย' โดยเฉพาะเมื่อมรดกทางเศรษฐกิจที่ครั้งหนึ่งเคยพยุงเศรษฐกิจไทย ถึงวันนี้กำลังจะดับ

วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 หรือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว อาจนับได้ว่าเป็นการเริ่มต้นของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่สุดของประเทศไทย-วิกฤตต้มยำกุ้ง มันเป็นวันประกาศลดค่าเงินบาทและเพียงไม่นานค่าเงินบาทก็อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ธุรกิจจำนวนพังทลายลงเหลือเพียงซากปรักหักพัง

ผ่านมา 20 ปี ความทรงจำเจ็บปวดในอดีต กับบางคนยังจำได้ขึ้นใจ วิกฤตต้มยำกุ้งไม่เพียงทิ้งรอยแผลไว้กับผู้คน แต่ยังทิ้งมรดกไว้กับเศรษฐกิจไทยจวบจนปัจจุบัน มรดกที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และปัจจุบันมันกำลังจะหมดเรี่ยวแรง

เศรษฐกิจ: มรดกเครื่องยนต์ที่กำลังดับ

อภิชาต สถิตนิรามัย จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ทำการศึกษาและเขียนงานวิชาการเกี่ยวกับวิกฤตต้มยำกุ้ง กล่าวกับประชาไทว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในอดีตพึ่งพิงการลงทุนในประเทศสูง พูดได้ว่าเศรษฐกิจของไทยขึ้นอยู่กับตัวเรามากกว่า ทว่า การลงทุนที่สูงเกินไปนั้นเองที่ทำให้เกิดวิกฤต เพราะประเทศไทยลงทุนมากกว่าศักยภาพที่มีอยู่ กล่าวคือลงทุนมากกว่าเงินออมที่มี ทำให้ต้องกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ จนมีภาระหนี้ต่างประเทศสูง

เป็นสภาพการณ์ที่เดินตามโมเดลการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือการลงทุนโดยมีรัฐและเอกชนเป็นตัวนำ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนของไทยหรือต่างประเทศ การเติบโตเป็นตัวนำการลงทุน อภิชาตเรียกว่า เป็น Investment let Growth แต่ภาพนี้ก็แปรเปลี่ยนหลังวิกฤตเศรษฐกิจเป็น Export let Growth หมายความว่าเศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตได้ก็ขึ้นกับว่าจะส่งออกได้มากหรือไม่

เครื่องยนต์ในการนำเศรษฐกิจของไทยเปลี่ยนตัว แต่ก่อนเครื่องยนต์ที่เป็นตัวนำคือการลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของเอกชน หลังวิกฤตเศรษฐกิจกลายเป็นการส่งออก

"ในทางเศรษฐกิจ มรดกหลัง 20 ของวิกฤตเศรษฐกิจ คือมันทำให้เศรษฐกิจไทยพึ่งพิงการส่งออกสูงมาก จากเดิมสัดส่วนการส่งออกต่อรายได้ประชาชาติของเราก่อนวิกฤตอยู่ที่ร้อยละ 20-30 เท่านั้น แต่กลายเป็นร้อยละ 70 ของรายได้ประชาชาติ ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ในรอบหลายปีที่ผ่านมาเมื่อเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ยุโรป และจีนในระยะหลัง มันจึงทำให้การเติบโตของไทยต่ำลงไปด้วย คือเราพึ่งพาดีมานด์จากต่างประเทศเป็นหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

"ช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจได้ไม่นาน ประมาณ 10 ปีแรกของวิกฤต ค่าเงินบาทอ่อนลงกว่าเดิมมาก ทำให้การส่งออกของเรายังขยายตัว เรายังมีการลงทุนเพื่อการส่งออกจำนวนหนึ่ง เศรษฐกิจไทยก็ยังโตได้ เช่นในยุคทักษิณ โตประมาณร้อยละ 5-6 แต่หลังปี 2550 เราก็มีวิกฤตการเมือง มีวิกฤตเศรษฐกิจโลก ค่าเงินบาทก็แข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การส่งออกของเราน้อยลง โตช้าลง เมื่อส่งออกน้อยลง เราก็จะลงทุนในการผลิตน้อยลง ถ้าลงทุนเยอะเกินไป ผลิตแล้วอาจจะไม่มีคนซื้อ"

อภิชาต กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีหลังมานี้การลงทุนของไทยต่ำลงมาก หากเปรียบเทียบกับก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ รายได้ที่ประเทศไทยหาได้ 100 บาท มาจากการลงทุนถึง 40 บาท แต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจ มูลค่าการลงทุนเฉลี่ยเหลือเพียง 20 บาท เมื่อการเติบโตของการส่งออกลดลง เงินลงทุนก็ยิ่งลดลงตาม เศรษฐกิจไทยจึงอยู่ในสภาพโตช้าลง นี่คือผลอย่างสำคัญของวิกฤตเศรษฐกิจ 2540

อภิชาต ขยายความต่อ Export let Growth หนึ่ง-พึ่งตลาดภายนอก ถ้าตลาดภายนอกไม่ดี ไทยก็แย่ไปด้วย สอง-พึ่งความสามารถในการแข่งขันระหว่างไทยเทียบกับคู่แข่ง ที่ผ่านมาไทยใช้ทรัพยากรแบบเดิมหมดแล้ว เช่น ทรัพยากรป่าไม้ ปลาในทะเล ของเหล่านี้ย่อมแพงขึ้น ความสามารถในการแข่งขันต่ำลง ที่สำคัญไปกว่านั้น กำลังแรงงานหมด ไม่มีแรงงานราคาถูก แต่เปลี่ยนเป็นแรงงานรายได้ปานกลาง จึงทำให้ความสามารถในการแข่งขันในระยะหลังของไทยต่ำลงด้วย เมื่อสองปัจจัยนี้เจอกันก็ยิ่งทำให้มีการลงทุนน้อย การเติบโตก็จะยิ่งน้อย เพราะลงทุนผลิตแล้วไม่รู้จะขายใคร จะแข่งกับเพื่อนบ้านในสินค้าแบบเดิมๆ ที่ไม่มีนวัตกรรมก็ไม่สามารถทำได้

"ถ้าสถานการณ์นี้ไม่เปลี่ยนแปลง เราจะไม่เจอวิกฤตเศรษฐกิจแบบในปี 2540 ซึ่งในความหมายหนึ่งคือวิกฤตเศรษฐกิจด้านมหภาค เป็นวิกฤตการเงิน การธนาคาร และอัตราแลกเปลี่ยน...แต่สิ่งที่เราจะเจอ ถ้าจะเรียกว่าวิกฤตในอนาคตก็คือวิกฤตที่เราโตช้า ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจเราโตร้อยละ 7 ต่อปี 10 แรกหลังวิกฤตเราโตร้อยละ 5-6 ปัจจุบันเราโตประมาณร้อยละ 3 ในขณะที่ประชากรของเราแก่ขึ้นอย่างรวดเร็ว สัดส่วนของคนแก่ในสังคมไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจเราโตช้าลงเยอะ ถ้าจะเจอวิกฤตเราจะเจอแบบที่เรียกว่าวิกฤตต้มกบ"

วิกฤตเศรษฐกิจเปลี่ยนไทยให้กลายเป็นฐานของประเทศอย่างญี่ปุ่น เงินที่เข้ามาหลังวิกฤต เงินที่เข้ามาช้อนซื้อธุรกิจก็คือเงินญี่ปุ่น เพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก เช่น รถยนต์ เพราะค่าเงินบาทตก ตอนนั้นทรัพยากร แรงงานก็ยังพอมี ถึงจุดนี้สิ่งที่เป็นฐานเหล่านี้มันหมดลงแล้ว

การลงทุนที่ผ่านมาเหมาะกับเศรษฐกิจเกิดใหม่เมื่อ 40 ปีมาแล้ว แต่ไทยกลับยังลงทุนในแบบเดิมมาตลอด คือการโตขึ้นบนฐานของทรัพยากรอุดมสมบูรณ์รวมแรงงาน เมื่อสิ่งเหล่านี้หมด การลงทุนจึงหดลง ถ้ายังอยากลงทุนให้สูงกว่านี้ก็ต้องลงทุนในสินค้าที่ขายออก ดังนั้น สินค้าแบบเก่าจึงไม่มีคนลงทุน ต้องไปลงทุนในสินค้าแบบใหม่

"ถ้าสถานการณ์นี้ไม่เปลี่ยนแปลง เราจะไม่เจอวิกฤตเศรษฐกิจแบบในปี 2540 ซึ่งในความหมายหนึ่งคือวิกฤตเศรษฐกิจด้านมหภาค เป็นวิกฤตการเงิน การธนาคาร และอัตราแลกเปลี่ยน ที่เกิดจากภาวะความไม่มั่นคงของทางมหภาค ตรงกันข้าม ภาวะเศรษฐกิจมหภาคในปัจจุบันของเรามั่นคงมาก แต่สิ่งที่เราจะเจอ ถ้าจะเรียกว่าวิกฤตในอนาคตก็คือวิกฤตที่เราโตช้า ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจเราโตร้อยละ 7 ต่อปี 10 แรกหลังวิกฤตเราโตร้อยละ 5-6 ปัจจุบันเราโตประมาณร้อยละ 3 ในขณะที่ประชากรของเราแก่ขึ้นอย่างรวดเร็ว สัดส่วนของคนแก่ในสังคมไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจเราโตช้าลงเยอะ ถ้าจะเจอวิกฤตเราจะเจอแบบที่เรียกว่าวิกฤตต้มกบ

"เมื่อเศรษฐกิจโตอย่างช้าๆ สังคมก็จะไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะรองรับคนแก่ วิกฤตที่เราจะเจอ ไม่ใช่วิกฤตการเงิน การธนาคาร อัตราแลกเปลี่ยน แต่เป็นวิกฤตสังคมแก่ก่อนรวย แปลว่าเป็นสังคมที่ไม่มีศักยภาพที่จะเลี้ยงดูคนแก่ เพราะคนแก่ใช้เงินเยอะ เราจะมีคนอายุเกิน 65 ปีในสัดส่วนที่เกินร้อยละ 20 ของประชากรภายใน 4-5 ปีข้างหน้า แปลว่าภาระของสังคมที่จะต้องเลี้ยงดูคนแก่จะสูงขึ้น ถ้าเศรษฐกิจโตช้าๆ ถ้าไม่มีความพยายามที่จะเก็บภาษีเพิ่ม สัดส่วนที่จะต้องใช้ในค่ารักษาพยาบาลก็จะสูงขึ้น แล้วรัฐจะยอมลดค่าใช้จ่ายตรงไหนมาดูแลคนแก่ ขณะที่ลูกหลานจะมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นช้าลงเมื่อเทียบกับก่อนวิกฤต นี่คือภาวะต้มกบ"

หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องเล่าที่ว่า หากเทกบใส่ลงไปในน้ำเดือด มันจะกระโดดออกมาทันที แต่ถ้าใส่มันไว้ในน้ำอุณหภูมิห้อง แล้วค่อยๆ ต้มน้ำจนเดือด ในตอนแรกกบจะไม่กระโดดหนี แต่จะค่อยๆ ปรับตัวกับน้ำที่อุณหภูมิสูงขึ้นๆ จนในที่สุดก็ไม่สามารถทานทนได้อีกต่อไปและตายในที่สุด อภิชาตย้ำว่า

"มันเป็นวิกฤตที่จะอยู่ใกล้ตัวมากขึ้น เกิดขึ้นช้าๆ ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง ไม่หวือหวา ไม่ตื่นเต้น ซึ่งจะทำให้คนไม่ค่อยตระหนัก มรดกของวิกฤตเศรษฐกิจคือต่ออายุการเติบโตออกไป แต่ตอนนี้หมดแล้ว ก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบที่จะทำให้เศรษฐกิจโต"

นี่คือสิ่งที่เรียกว่ากับดักรายได้ปานกลาง

"เราต้องลงทุนในสินค้าใหม่ ซึ่งเราไปไม่ได้ และอย่าคิดว่าต้องลงทุนเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมอย่างเดียว ลงทุนแบบเคป็อปหรือสินค้าเชิงวัฒนธรรมก็ได้"

การเมือง: ช่องว่างทางการเมือง การเปลี่ยนรุ่น และรัฐธรรมนูญ 2540

"ปัจจุบัน 20 ปีหลังวิกฤตเศรษฐกิจ เราไม่ต้องกู้ต่างประเทศแล้ว เราออมมากกว่าการลงทุน ในความหมายนี้ เรากลายเป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศแล้ว ตอนนี้เราลงทุนน้อย เราจึงโตช้า เงินออมจึงเหลือ เราก็ส่งออกเงินออมนี้ไปให้ต่างประเทศกู้ ตัวเลขที่ชัดเจนคือเงินสำรองของแบงค์ชาติเรามีเป็นแสนล้าน เรามั่นคงมาก เราจะไม่เจอปัญหาแบบต้มยำกุ้ง"

เมื่อเงินออมมีปริมาณมาก อัตราดอกเบี้ยจึงต่ำเตี้ยตามหลักดีมานด์-ซัพพลาย อย่างไรก็ตาม อภิชาตกล่าวว่าประเด็นที่ซ่อนอยู่ในรายละเอียดคือธนาคารได้กำไรมหาศาลภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ เนื่องจากช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้สูงกว่าก่อนวิกฤตเสียอีก นำมาสู่ประเด็นต่อมาที่ว่า

"ภาคการธนาคารของไทยเป็นภาคที่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐสูงมาโดยตลอดตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจมีความพยายามจะเปิดให้ต่างชาติเข้ามาตั้งธนาคารได้ แต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นเสียก่อน แต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจ แบงค์ขาดทุนมาก รัฐจึงอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาซื้อหุ้นของแบงค์ที่มีอยู่แล้วและเปลี่ยนชื่อเป็นแบงค์ต่างชาติ ดังนั้น เมื่อเทียบกับก่อนวิกฤตเศรษฐกิจกับปัจจุบันมีผู้เล่นที่เป็นต่างชาติมากขึ้น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา รัฐไม่ได้ขยายให้ต่างชาติเข้ามาเปิดกิจการมากขึ้นด้วยซ้ำ ในแง่นี้ ภาคธนาคารจึงเป็นภาคที่ได้รับการปกป้องจากภาครัฐมาโดยตลอด"

ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ นายทุนระดับชาติที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อการเมืองไทยคือทุนธนาคารพาณิชย์ เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้น ชาตรี โสภณพานิชย์ แห่งอาณาจักรธนาคารกรุงเทพ ถึงกับกล่าวว่าตนเองเป็นเจ้าสัว Yesterday ทุนหายไป ภาคธนาคารล้มทั้งภาค ในแง่นี้จึงเปิดช่องว่างให้กับนายทุนหน้าใหม่ที่เป็นทุนระดับชาติ

"ช่องว่างทางการเมืองเกิดขึ้นได้ มันก็เปลี่ยนรุ่น เงินน้อยก็เจ๊งไป แล้วพวกทุนธนาคารก็ไม่เคยเล่นการเมืองแบบตั้งพรรคการเมืองเอง การเมืองก็คนละวิถี ทักษิณโตมาจากทุนสัมปทาน การเป็นนักการเมืองเองจึงน่าจะมีแรงจูงใจมากกว่า ประกอบกับรัฐธรรมนูญปี 2540 เปิดช่อง เขาเห็นกติกาใหม่ว่าแบบนี้มีทางไปได้ดีกว่ากติกาเก่า ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญใหม่ เขาจะลงมั้ย ก็อาจไม่ลงก็ได้ ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญ 2540 การเมืองก็จะเป็นรัฐบาลผสมและอ่อนแอ"

ปัจจุบัน นายธนาคารไม่ได้เป็นผู้ชี้เป็นชี้ตายเศรษฐกิจอีกแล้ว การเปิดเสรีทางการเงินในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจทำให้นายทุนไม่ต้องพึ่งเงินกู้ธนาคาร แต่สามารถกู้จากตลาดทุน จากตลาดพันธะบัตร ออกหุ้นกู้ นำบริษัทเข้าตลาดหุ้นเพื่อระดมทุน หรือกู้เงินจากต่างประเทศได้โดยตรง จึงเท่ากับลดอิทธิพลของนายธนาคารลง

"อีกด้านหนึ่ง วิกฤตเศรษฐกิจเป็นตัวทำคลอดรัฐธรรมนูญ 2540 ผมคิดว่านี่คือตัวสำคัญที่ทำให้กระแสมันไป สุดท้ายมันบีบให้รัฐสภาต้องผ่านรัฐธรรมนูญปี 2540 ทั้งที่คนอย่างเสนาะ เทียนทอง บอกว่าจะคัดค้านมาโดยตลอด แต่เมื่อถึงตอนที่สภาต้องโหวต เสนาะก็โหวตให้รัฐธรรมนูญ 2540 ในแง่นี้วิกฤตเศรษฐกิจจึงทำคลอดรัฐธรรมนูญปี 2540"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิวยอร์กไทม์รายงานข่าวพนักงานหวั่นถูกเลย์ออฟ ประท้วงหน้าสำนักงานตัวเอง

Posted: 01 Jul 2017 06:41 AM PDT

นิวยอร์กไทม์กำลังพยายามปรับโครงสร้างซึ่งอาจจะส่งผลให้ภาคส่วนงานตรวจทานข่าวถูกยุบทิ้ง พวกเขาจึงประท้วงกันด้วยการเขียนป้ายที่จงใจพิมพ์ผิดเพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ตรวจทานข่าวมีความสำคัญ และนักข่าวเองก็ช่วยเรียกร้องโดยมองว่ากอง บ.ก. ตรวจทาน เป็น "ภูมิคุ้มกัน" ที่สำคัญที่จะป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดที่น่าอาย


1 ก.ค. 2560 ในงานข่าวมีตำแหน่งงานที่ชื่อว่าบรรณาธิการต้นฉบับหรือบรรณาธิการย่อย (Copy Editor) ผู้ดูแลตรวจสอบเนื้อหาทั้งการใช้คำให้สละสลวยและความแม่นตรงของข้อมูลรวมถึงทำให้อ่านง่ายและจัดคำให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การนำเสนอ แต่ตำแหน่งบรรณาธิการย่อยของนิวยอร์กไทม์กำลังเผชิญวิกฤติเนื่องจากนิวยอร์กไทม์กำลังตัดสินใจปรับลดพนักงานและยุบโต๊ะกอง บ.ก.ย่อยทิ้ง
 
เรื่องนี้ทำให้กอง บ.ก.ย่อยของนิวยอร์กไทม์ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงผู้อำนวยการบริหารและบรรณาธิการผู้จัดการของสื่อตัวเอง เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (28 มิ.ย.) แน่นอนว่าการส่งจดหมายถึงผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจจะกลายเป็นประเด็นข่าวๆ หนึ่ง ไม่ต่างจากการที่นักกิจกรรมส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนักการเมืองหรือคนงานภาคส่วนอื่นๆ รวมตัวกันส่งจดหมายเปิดผนึกถึงเจ้านายตัวเอง
 
คนทำงานในนิวยอร์กไทม์ก็ต้องรายงานข่าวเรื่องการส่งจดหมายประท้วงของตัวเองในวันต่อมา (29 มิ.ย.) ในข่าวนั้นผู้สื่อข่าวระบุถึงเนื้อความในจดหมายว่า "บรรณาธิการย่อยช่วยชีวิตของผู้สื่อข่าวและเดอะไทม์ทุกวันๆ จากความผิดพลาดนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่" พวกเขารายงานอีกว่าการถอดกอง บ.ก. ย่อย ออกไปนั้น "ไม่ฉลาด" และจะทำลายคุณภาพของ "สินค้า" ของพวกเขา
 
ก่อนหน้านี้บรรณาธิการระดับสูงของนิวยอร์กไทม์เปิดเผยว่าพวกเขาพยายามปรับให้ระบบกองบรรณาธิการทำงานได้เร็วขึ้น แต่คำกล่าวนี้ก็สร้างความกังวลใจให้กับคนทำงานในนิวยอร์กไทม์ที่กลัวว่าจะถูกเลย์ออฟ
 
นิวยอร์กไทม์ยังรายงานกรณีที่มีคนทำงานในสื่อตนเองประท้วงด้วยการเดินออกจากที่ทำงานเป็นเวลา 20 นาทีในช่วงบ่ายของวันที่ 29 มิ.ย. พวกเขาเดินลงไปที่ชั้นล่างหน้าทางเข้าอาคารที่ตั้งสำนักงานนิวยอร์กไทม์ แล้วทำการประท้วงเล็กๆ ด้วยการถือป้ายที่จงใจพิมพ์ผิดอย่าง "ป้ายนี้ยังไม่ได้ตรวจแก้" (This sign wsa not edited.) ที่คำว่า "wsa" ควรจะเป็น "was" พวกเขาต้องการแสดงให้เห็นว่างานตรวจทานของกองบรรณาธิการย่อยมีความสำคัญ
 
ทางด้านฝ่ายบริหารของนิวยอร์กไทม์ยอมรับว่าพวกเขาจะยุบแผนกกองบรรณาธิการย่อยออกจริงเพื่อปรับกับการสื่อสารแบบดิจิตอลที่อาศัยความรวดเร็ว แต่จะไม่ได้หมายความว่าจะยุบกระบวนการตรวจแก้ไปด้วย อย่างไรก็ตามพวกเขาเปิดเผยต่อสื่อตัวเองว่าพวกเขารับรู้อย่างจริงจังเรื่องความกังวลของคนทำงาน
 
ทางด้านกอง บก.ย่อย ระบุในชดหมายว่าพวกเขาพร้อมจะปรับตัวและตรวจแก้งานให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม แต่ก็ไม่ควรทำเหมือนพวกเขาเป็น "กลุ่มประชากรคนติดโรค" ที่จะถูกไล่ต้อนหาโรคแล้วก็ขับออกไป แต่มีนักข่าวอาวุโสที่มองว่า กอง บก.ตรวจทานเหล่านี้เป็นภูมิคุ้มกันของสื่อที่คอยป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดที่น่าละอายต่างหาก
 
เรียบเรียงจาก
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พวงทอง ภวัครพันธ์ุ: ไว้อาลัยแด่ Michael Vickery

Posted: 01 Jul 2017 02:39 AM PDT

ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทย-เขมรที่เราคิดว่าเก่งที่สุดคนหนึ่ง เสียชีวิตแล้วเมื่อวานนี้ที่เมืองพระตะบอง กัมพูชา ด้วยวัย 86 ปี

วิคเคอรี่เป็นชาวอเมริกัน เป็นมาร์กซิสต์ เป็นผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์โบราณของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พูดได้อย่างน้อย 10 ภาษา งานประวัติศาสตร์โบราณของเขามักอาศัยความสามารถทางภาษาในการวิเคราห์หลักฐาน หรือใช้วิธีการทางนิรุกติศาสตร์ในการศึกษา ซึ่งปัจจุบันแทบจะหาคนทำงานในลักษณะนี้ไม่ได้แล้ว งานแต่ละชิ้นของเขามักเริ่มจากการวิพากษ์หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ช่วงที่ฉันทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกก็ได้เรียนรู้การวิพากษ์หลักฐานประวัติศาสตร์จากงานของวิคเคอรี่นี่เอง (เพราะตอน ป.ตรีไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์ และระบบปริญญาเอกของออสเตรเลียในยุคนั้นไม่มีคอร์สเวิร์ค คนเรียนต้องเรียนรู้ทุกอย่างเองหมด)

ความที่เป็นตัวของตัวเองมาก เขาจึงไม่สามารถหางานประจำในมหาวิทยาลัยดัง ๆ ได้ แต่คนที่สนใจประวัติศาสตร์กัมพูชาตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบัน ถ้าไม่อ่านงานของวิคเคอรี่ ก็ถือว่าพลาดอย่างจัง เขาย้ายงานไปตามที่ต่าง ๆ ที่ ๆ สอนได้นานที่สุดน่าจะเป็นมหาวิทยาลัยในมาเลเซีย ช่วงปลายชีวิต เขากับคู่ชีวิตย้ายมาอยู่เชียงใหม่ เดินทางไปมาระหว่างเชียงใหม่กับพนมเปญ แต่เขาผูกพันกับกัมพูชามากกว่าไทย

อาจารย์ที่ปรึกษาของฉันบอกว่าเขา eccentric เกินไป ตามใจตนเองเกินไปจนไม่มีใครอยากจ้างงาน ครั้งหนึ่งเขาเคยตกลงว่าจะทำวิจัยเรื่องนครวัดให้มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในออสเตรเลียเป็นเวลา 3 ปี แต่พอหมดเวลา แทนที่จะมีงานวิจัยเรื่องนครวัด กลับมีหนังสือเรื่อง Cambodia, 1975-1982 ออกมาแทน ทำแบบนี้คนจ้างก็ไม่พอใจ แม้ว่าหนังสือจะสร้างความฮือฮาในวงวิชาการเรื่องเขมรแดงก็ตาม

ฉันเจอเขาครั้งแรกในงานสัมมนาที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ได้มีโอกาสเสนอประเด็นในวิทยานิพนธ์ของตนเอง วิคเคอรี่ฟังอย่างตั้งใจ เขาคอมเมนท์แบบกลาง ๆ ว่างานน่าสนใจและสำคัญ ยังไม่มีใครทำเรื่องนี้ จริง ๆ ฉันเสนองานด้วยใจเต้นตุ๋ม ๆ ต่อม ๆ เพราะได้อ่านงานเขามามาก จึงรู้ว่าเป็นคนทิ่วิพากษ์แบบถึงพริกถึงขิง แต่กลับพบว่าตัวจริงไม่ดุดันเกรี้ยวกราดเลย แสดงความเห็นตัวเองเป็นที่ชัดเจน แล้วก็จบ ยอมฟังความเห็นคนอื่น ไม่ใช่มุ่งเอาชนะ กดดันให้คนอื่นยอมรับว่า เขาถูกอยู่คนเดียว

ตอนเขียนวิทยานิพนธ์เสร็จ บอกอาจารย์ที่ปรึกษาสองคนว่าอยากส่งให้วิคเคอรี่อ่าน (ระบบออสเตรเลียต้องส่งให้คนนอกมหาวิทยาลัยอ่าน และเขาต้องไม่เคยอ่านงานเรามาก่อน) แต่ที่ปรึกษาบอกว่าอย่าเลย He is so unpredictable. ก็เลยส่งให้ Craig Reynolds กับ David Chandler อ่านแทน โชคดีผ่านแบบไม่ต้องแก้สักตัว ขอโทษ..คุยซะเลย)

ฉันเจอเขาหลังสุดสัก 10 ปีที่แล้วที่พนมเปญ เขารับงานเป็นล่ามให้กับทนายฝ่ายผู้นำเขมรแดง เป็นงานที่ทำให้คนในวงวิชาการต่างพากันเหลือกตา แต่เขาบอกว่านี่เป็นโอกาสที่จะทำให้เขาได้เข้าไปรับรู้ข้อมูลวงใน แถมเงินดีด้วย เจอกันครั้งสุดท้าย มีโอกาสได้ฟังเรื่องเล่าสนุก ๆ สมัยเขาผจญภัยอยู่ในไทยและกัมพูชาตั้งแต่ทศวรรษ 1960-1970
งานแต่ละชิ้นของวิคเคอรี่มีข้อถกเถียงสำคัญและตรงไปตรงมา

วิทยานิพนธ์ของเขา Cambodia After Angkor: The Chronicular Evidence for the Fourteenth to Sixteenth Centuries, Yale University, Ph.D., December 1977. ศึกษาประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรอยุธยากับนครวัด โดยใช้ศิลาจารึกและพระราชพงศาวดารทั้งของไทยและเขมรเป็นหลักฐานสำคัญ งานชิ้นนี้เริ่มจากวิพากษ์พระราชพงศาวดารทั้งหมด เพื่อบอกว่าอันไหนใช้ได้ อันไหนใช้ไม่ได้ อันไหนลอกอันไหนมา การลอกกันทำให้เกิดการผลิตซ้ำข้อมูลที่ผิดเพี้ยนอย่างไร สำหรับวิคเคอรี่ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาของไทยนั้นใช้ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาได้น้อยมาก เพราะส่วนใหญ่เขียนขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ เต็มไปด้วยการเมือง และลอกต่อ ๆ กันมา อันที่น่าเชื่อถือที่สุดคือ พระราชพงศาวดารฯ ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ที่เขียนขึ้นในสมัยพระนารายณ์ แต่ก็มีข้อมูลน้อยและสั้นที่สุด ส่วนพระราชพงศาวดารเขมรยิ่งแล้วใหญ่ เพราะเขียนขึ้นทีหลัง แล้วมาลอกบางส่วนจากของไทยไป

วิทยานิพนธ์ของเขามีประเด็นสำคัญหลายประเด็น นอกจากความสัมพันธ์ฉันท์เครือญาติและวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงระหว่างราชสำนักสยามกับนครวัดแล้ว คือการเสนอว่าสยามบุกไปตีนครวัดเพียงครั้งเดียว ไม่ใช่ 3-4 ครั้งตามที่พระราชพงศาวดารไทยที่เขียนในยุคกรุงเทพฯระบุไว้ การตีเพียงครั้งเดียวนี้จึงไม่ใช่สาเหตุที่นำไปสู่การล่มสลายของนครวัด ตามที่ประวัติศาสตร์ไทยมักกล่าวอ้าง (รวมทั้งงานของนักวิชาการฝรั่งที่ใช้พระราชพงศาวดารอย่างไม่วิพากษ์ ก็ระบุตามนี้ เช่นงานของ David Wyatt) แต่การย้ายเมืองหลวงจากนครวัดลงสู่ใต้ (ย้ายลงมาที่ละแวก และอุดงมีไชยตามลำดับ) น่าจะเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ กล่าวคือ เมื่อราชสำนักจีนในศตวรรษ 14-15 เริ่มอนุญาตให้รัฐเล็กรัฐน้อยเข้าไปทำการค้าเรือสำเภากับจีนได้โดยตรง โดยก่อนหน้านี้มีเพียงไม่กี่รัฐที่จีนอนุญาตให้แต่งเรือสำเภาไปค้ากับตนได้ หนึ่งในนั้นคือ อาณาจักรศรีวิชัย (เชื่อว่าอยู่ในเกาะสุมาตราในปัจจุบัน)

การเปลี่ยนนโยบายของจีนเป็นหนึ่งในสาเหตุของการล่มสลายของศรีวิชัย ที่เคยเป็นศูนย์กลางที่รวบรวมสินค้าจากภูมิภาคนี้ส่งไปขายจีน เมื่อรัฐเล็กสามารถค้าขายกับจีนได้โดยตรง เราจึงเริ่มเห็นปรากฏการณ์ที่ศูนย์กลางอำนาจรัฐที่อยู่ใกล้ทะเลผงาดขึ้นมามีอำนาจ เมืองหลวงของรัฐเปลี่ยนมาอยู่ใกล้กับทางออกสู่ทะเล โดยชนชั้นนำที่ร่ำรวยจากการค้าทางทะเลสถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ และทำให้ศูนย์กลางอำนาจเดิมยอมสวามิภักดิ์ ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทั้งในสยาม (จากสุโขทัย ลงสู่อยุธยา และบางกอก) ในพม่า (จากอังวะลงสู่หงสาวดี) ในกรณีเวียดนาม งานประวัติศาสตร์ของ Li Tana ก็ชี้ว่าการขึ้นมาของราชวงศ์เหงียนทางตอนใต้ ก็มาจากการค้าสำเภากับจีน งาน A History of Cambodia ของ David Chandler และงาน Southeast Asia in the age of commerce ของ Anthony Reid ก็รับแนวการอธิบายนี้ของวิเคอรี่ไว้

วิคเคอรี่เป็นหนึ่งในคนแรก ๆ ที่ชี้ว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 หรือศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ไม่ใช่ของแท้ที่ทำในสมัยสุโขทัย โดยเขาค้นพบความผิดปกติของคำจำนวนมากที่ปรากฏในศิลาจารึก แต่สิ่งที่วิคเคอรี่ต่างจาก ศ. พิริยะคือ เขาไม่ฟันธงว่าใครเป็นทำ เขาบอกว่าบอกไม่ได้ หลักฐานบอกเพียงแค่ว่าเป็นของที่ทำขึ้นทีหลัง แต่ ศ.พิริยะฟันธงว่ารัชกาลที่ 4 เป็นคนสร้างขึ้นมาเองโดยดูจากทั้งกลุ่มคำในศิลาจารึก และเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่แวดล้อมอยู่

"Cambodia 1975-1982" เป็นหนังสือที่อ่านสนุกมาก เป็นหนังสือที่ฉันชอบมากที่สุดเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือวิชาการไม่กี่เล่มที่อ่านทั้งเล่ม และต้องกลับไปดูอีกหลายครั้ง เขาวิพากษ์ตั้งแต่สื่อมวลชนรายใหญ่ของฝรั่ง มหาอำนาจสหรัฐฯ จีน ไทย ยันบรรดานักวิชาการเขมรศึกษา รวมทั้งอดีตอาจารย์ที่ปรึกษาเราด้วย เขาไม่เห็นด้วยกับการเรียกระบอบเขมรแดงว่าเป็นระบบฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) ไม่ใช่เพราะสนับสนุนเขมรแดง ไม่เลย เขาค่อนข้างเห็นใจเวียดนามและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา (People's Republic of Kampuchea) ที่นำโดยเฮง สัมริน

แต่เขาเห็นว่าการสังหารผู้คนจำนวนมากและหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นอดีตเจ้าหน้าที่รัฐ คนเมือง คนมีการศึกษา คนจีน จามมุสลิม พระสงฆ์ เป็นเหตุผลทางชนชั้น ไม่ใช่เหตุผลทางชาติพันธุ์ ถ้าจะมีการฆ่าที่เข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ก็มีกลุ่มเดียวเท่านั้น คือ การฆ่าชาวเวียดนาม และแขมร์กรอม (คนเขมรเชื้อสายเวียดนาม ส่วนใหญ่อยู่ใกล้ชายแดนเวียดนาม) เขาเสนอว่าควรฟ้องร้องเอาผิดผู้นำเขมรแดงด้วยข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crimes against humanity) มากกว่าข้อหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

งานเขียนชิ้นสำคัญของเขาอีกชิ้นหนึ่งคือ Society, Economics and Politics in Pre-Angkor Cambodia: The 7th-8th Centuries, Tokyo, The Centre for East Asian Cultural Studies for Unesco, The Toyo Bunko, 1998. ฉันถามเขาว่าทำไมให้ญี่ปุ่นพิมพ์ หาซื้อยาก การจัดจำหน่ายแย่ ตอนสั่งซื้อต้องทำเรื่องโอนเงินข้ามประเทศวุ่นวายมาก

เขาบอกว่าไม่ได้คิดว่าจะมีใครตีพิมพ์ให้ด้วยซ้ำ แต่วันหนึ่งในที่สัมมนาอะไรสักอย่าง ระหว่างที่กำลังยืนฉี่อยู่ ศ.โยนิโอะ อิชิอิ เดินเข้ามายืนฉี่ข้าง ๆ แล้วถามว่าทำอะไรอยู่ เขาก็เล่าว่าเพิ่งเขียน manuscript เรื่องนี้เสร็จ ศ. อิชิอิ ก็เลยบอกว่าช่วยส่งมาให้ดูหน่อย ก็เลยได้ตีพิมพ์ สารภาพว่าฉันอ่านไปได้นิดเดียว ไม่มีเวลา ความสนใจเปลี่ยน แต่เห็น @Niti Pawakapan ตั้งใจอ่านมาก

ถามวิคเคอรี่เมื่อ 10 ปีก่อนว่ากำลังทำอะไรอยู่ เขาบอกว่ากำลังศึกษาประวัติศาสตร์อาณาจักรจาม โดยอ่านศิลาจารึกภาษาจาม ถามต่อว่าแล้วเรียนภาษาจามโบราณที่ไหน เขาบอกว่าสอนตัวเอง เพราะไม่มีใครอ่านเป็น ฮาๆๆ สุดยอดจริง ๆ

เสียดาย อยากให้คนแบบนี้อยู่ยงคงกระพัน จะได้มีงานดี ๆ ที่ไม่มีใครอยากทำออกมาอีก

Rest in peace, Michael Vickery, a true scholar, one of a kind.
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จรัลแจงขอสัญชาติฝรั่งเศสเพราะเป็นนักสากลนิยม ชี้ 'ชาติไทย' ถูกผูกขาดโดยผู้ปกครอง

Posted: 01 Jul 2017 01:59 AM PDT

จรัล ดิษฐาอภิชัย เผยเหตุขอสัญชาติฝรั่งเศส คาดจะต้องอยู่นาน บวกกับเป็นนักสากลนิยมไม่ยึดติดชาติ และฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐที่เน้นคุณค่าความเป็นพลเมือง สามารถเคลื่อนไหวทางสากลง่ายขึ้น ชี้ชาติไทยที่ผ่านมาไม่ได้เป็นของปชช.แต่เป็นของผู้ปกครอง 
แฟ้มภาพประชาไท
 
1 มิ.ย. 2560 จากกรณีที่ จรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดแรก นักกิจกรรมฝ่ายซ้าย แกนนำเสื้อแดง ผู้มีประสบการณ์ด้านกิจกรรมทางการเมืองกว่า 50 ปี จนกระทั่งหลังรัฐประหาร พ.ค.2557 ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ เนื่องจากถูกดำเนินดคีทางการเมืองและความคิด ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา จรัล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งต่อมา คมชัดลึกออนไลน์ได้รายงานข่าวว่า เขา ได้สัญชาติฝรั่งเศส เป็นพลเมืองของสาธารณรัฐฝรั่งเศสอย่างสมบูรณ์ 
 
และต่อมา เปลว สีเงิน คอลัมนิสต์ เขียนบทความลงไทยโพสต์วิพากษ์วิจารณ์ จรัล ว่า ทราบข่าวคราว จรัล นอกคอกเป็น "เมอซิเยอร์จรัล" ก็ดีแล้ว ใต้เงาไตรรงค์ร่วมผืน ให้เลือดอื่น ที่ต่างดีเอ็นเอ อยู่ร่วมยืน ไม่เกิดประโยชน์หรอก ไปแล้ว ก็ขอให้ไปลับ อย่ากลับมาอีกเลย
 
จรัล เปิดเผยถึงการขอสัญชาติฝรั่งเศสกับประชาไทว่า ประการแรก คาดว่าจะต้องอยู่นาน และการอยู่ในประเทศไหนนานๆ สถานะผู้ลี้ภัยแม้ว่ามีสิทธิอะไรมาก แต่ก็ไม่เท่าพลเมือง ตนเป็นนักสากลนิยม ตั้งแต่เป็นนักศึกษา ไม่ยึดติดกับชาติ และเป็นสากลมากยิ่งขึ้น ดังนั้นตนจึงไปสนัสนุนการต่อสู้ของประเทศต่างๆ เช่น พม่า ก็เคยไปถูกจับระหว่างการสนับสนุนต่อสู้มาแล้ว หรือแม้กระทั้งประเทศอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย ติมอร์ เลสเต มาเลเซีย จนถึงยุโรป แม้กระทั่งชิลี เพราะฉะนั้นการเป็นนักสากลนิยมไม่ยิดติดชาติ ทำให้ตน สามารถขอสัญญาชาติได้ง่าย

จรัลแปะรูปนักโทษมาตรา 112 ที่อนุสาวรีย์สาธารณรัฐ ที่ จตุรัสสาธารณรัฐ ปารีส วันที่ 22 พ.ค. 58 ภาพโดย ดิน บัวแดง

จรัล อธิบายเพิ่มเติมว่าตนยังมีเชื้อชาติไทย แต่สัญชาติเป็นเรื่องรัฐ และชาติไทยที่ผ่านมาไม่ได้เป็นของประชาชนแต่เป็นของผู้ปกครอง เพราะฉะนั้นมีหรือไม่มีไม่ได้หมายความว่าเราเสียชาติ

ประการที่สอง ฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐที่เน้นคุณค่าความเป็นพลเมือง ตอนมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยก็ได้รับการอบรมคุณค่าและหลักการดังกล่าว ประการที่สาม ตนลี้ภัยมา ก็เพราะว่ารัฐบาลเผด็จการมีหมายจับ มีคดีทั้งหมด 6 คดี และเมื่อก่อนตนนักปฏิวัติในเมื่อก่อน ปัจจุบันเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ถ้าอยู่เมืองไทยก็คงติดคุกแล้ว แม้สมัยก่อนติดคุกจะเป็นการต่อสู้อย่างหนึ่ง แต่สมัยนี้มันไม่เข้มข้นขนาดนั้นแล้ว ดังนั้นการอยู่ต่างประเทศก็สามารถเคลื่อนไหวทางสากลง่ายขึ้น ไปไหนมาไหนไม่ต้องขอวีซ่า

สำหรับกรณีถูกโจมตีว่าตนไม่รักชาติไทยนั้น จรัล กล่าวว่า ตนเป็นนักสากลนิยม ความสำนึกเป็นนักสากลนิยม ตอนอยู่ในป่าต่อสู้ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มีสหายหลายคนถามถามกับตน ซึ่งขณะนั้นใช้ชื่อ สหายชัย ว่า ถ้าการปฏิวัติชนะแล้วจะทำอะไร ตนก็ยืนยันมาตลอดว่าจะไปปฏิวัติประเทศอื่น คือไม่ได้ผูกพันกับชาติ

จรัล เล่าถึงสถานการณ์การเมืองในไทยให้นักศึกษาฝรั่งเศสที่มาสังเกตการณ์การชุมนุม ที่ จตุรัสสาธารณรัฐ ปารีส 22 พ.ค. 58 ภาพโดย ดิน บัวแดง

จรัล อธิบายกระบวนการขอสัญชาติเบื้องต้นด้วยว่า การขอสัญชาติสำหรับผู้ลี้ภัยสามารถขอได้ทันที ถ้าเป็นคนทั่วไปถ้าแต่งงานกับคนฝรั่งเศส ต้องใช้เวลา 3 ปีขึ้นไป และถ้าเป็นคนธรรมดาต้องอยู่มากกว่า 5 ปี อย่างไรก็ตามการเป็นผู้ลี้ภัยกระบวนการยาวนานมาก โดยทั่วไป 2 ปี แต่ตน 1 ปี 9 เดือน เพราะว่ามันขาดเอกสารที่เป็นต้นฉบับ รวมทั้งการทดสอบด้านภาษาที่ตนมีความรู้ด้านนี้อยู่แล้วเนื่องจากเคยเรียนที่นี่ สำหรับสถานะผู้ลี้ภัยเขาให้ 10 ปี สำหรับการอยู่ แล้วก็ต้องต่อสถานะผู้ลี้ภัยไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเป็นสัญชาตินั้นจะได้รับการคุ้มครองจากรัฐที่นี่ดีกว่า แต่ถ้าเป็นการคุ้มครองสากลการเป็นผู้ลี้ภัยจะดีกว่าเพราะจะได้รับการคุ้มครองจากประเทศที่ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปลดพันเอกปลอมเอกสารขายรถยนต์ทหาร 1,136 คัน

Posted: 01 Jul 2017 01:41 AM PDT

ทบ.ปลดทหารกรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) ยศพันเอก ฐานปลอมเอกสารขายรถยนต์ทหารกว่า 1,136 คัน

 
1 ก.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก เปิดเผยถึงกรณีกรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) ตรวจพบบัญชีแจ้งการประมูลขายทอดตลาดรถยนต์ทหารโดย ขส.ทบ. จำนวน 9 ฉบับ เป็นรถรวมทั้งสิ้น 1,136 คัน โดยมีนายทหารยศ "พันเอก" เป็นผู้ดำเนินการ ว่าจากการตรวจสอบรายละเอียดแล้วพบว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารเท็จทั้งหมด รายละเอียดที่ระบุไว้ในเอกสาร เช่น หมายเลขเครื่อง หมายเลขตัวถัง ก็ไม่ใช่รถในอัตราของกองทัพบก การลงนามของผู้มีอำนาจตามหน้าที่ในเอกสารก็เป็นการปลอมแปลงขึ้นมาเอง ที่สำคัญในห้วงระยะเวลาดังกล่าวกองทัพบก โดย ขส.ทบ.ไม่ได้มีการประมูลรถขายทอดตลาดออกไปแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นเอกสารดังกล่าวทั้งหมดจึงเป็นเอกสารปลอมที่จัดทำขึ้นมาเอง
 
พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ขณะนี้ ขส.ทบ.ได้ดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ผู้ที่เกี่ยวข้องในทางวินัยขั้นร้ายแรงแล้ว โดยการเสนอให้ปลดออกจากราชการ ส่วนการนำเอกสารปลอมดังกล่าวไปเป็นองค์ประกอบเพื่อใช้ยื่นขอจดทะเบียนให้กับรถยนต์คันใดที่อาจมีที่มาไม่ถูกต้องนั้นทางกรมขนส่งทางบกจะติดตามเพื่อขอเพิกถอนทะเบียนต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

Posted: 01 Jul 2017 12:56 AM PDT

"เปลี่ยนการมองระยะสั้น เป็นการมองระยะยั่งยืน อย่างมียุทธศาสตร์ โดยเน้นการลงทุนเพื่ออนาคต ยอมเป็นหนี้ในวันนี้ เพื่อกำไรในวันหน้า เพราะเป็นหนี้ที่จะก่อให้เกิดมูลค่าในอนาคต"

กล่าวตอนหนึ่งในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" 30 มิ.ย.2560

ประยุทธ์ แนะมองลงทุนรถไฟและทุกโครงสร้างพื้นฐาน "ยอมเป็นหนี้ในวันนี้ เพื่อกำไรในวันหน้า"

Posted: 01 Jul 2017 12:32 AM PDT

พล.อ.ประยุทธ์ ชูเปลี่ยนแปลง "ระดับยุทธศาสตร์" 4 ประการ ยกเปลี่ยนการมองระยะสั้นเป็นการมองระยะยั่งยืน อย่างมียุทธศาสตร์ โดยเน้นการลงทุนเพื่ออนาคต ยอมเป็นหนี้ในวันนี้ เพื่อกำไรในวันหน้า เพราะเป็นหนี้ที่จะก่อให้เกิดมูลค่าในอนาคต  

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. กล่าวตอนหนึ่งในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง "ระดับยุทธศาสตร์" 4 ประการ ประกอบด้วย

1. เปลี่ยนการพัฒนาที่เน้นแข่งขันตักตวง มาเป็นการเผื่อแผ่แบ่งปัน เติบโตไปด้วยกัน โดยใช้จุดแข็งของไทยเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ในการเชื่อมโยง "ห่วงโซ่อุปทาน" จากภายในประเทศ แล้วขยายไปสู่นอกประเทศ  ซึ่งต้องอาศัยโครง สร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งทุกระบบ เป็นเสมือน "เส้นเลือด" เชื่อมการค้า การลงทุน จาก 10 เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ไปสู่กลุ่มประเทศ CLMVT– อาเซียน – อนุภูมิภาค – และโลก ผ่านโครงการร่วมมือระหว่างประเทศ อาทิ One Belt One Road และเขตการค้าเสรีใหม่ ๆ เป็นต้น  ซึ่งจะมีส่วนช่วยยกระดับบทบาทของไทย ให้เป็น "ศูนย์กลาง" ด้าน   ต่าง ๆ ตาม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้ไม่ยาก ทั้งนี้ จะต้องเข้มแข็งไปด้วยกัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ก็จะเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันด้วยนะครับ

2. เปลี่ยนการมองระยะสั้น เป็นการมองระยะยั่งยืน อย่างมียุทธศาสตร์ โดยเน้นการลงทุนเพื่ออนาคต ยอมเป็นหนี้ในวันนี้ เพื่อกำไรในวันหน้า เพราะเป็นหนี้ที่จะก่อให้เกิดมูลค่าในอนาคต  ไม่เกินกรอบของเพดานหนี้สาธารณะที่กำหนดไว้ หลังจากที่ประเทศไทย แทบไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่มานานกว่า 20 ปี ที่เรียกว่า กินบุญเก่า  จนเกือบจะรั้งท้ายในเอเชีย และไม่มีอะไรจะดึงดูดความสนใจจากต่างประเทศ แต่ 2 ปีที่ผ่านมานี้นั้น เราพยายามผลัก ดันให้เกิดการลงทุน วงเงินกว่า 2.4 ล้านล้านบาท ในแทบทุกโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ทั้งถนน ทางด่วน มอเตอร์เวย์ รถไฟ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ สนามบิน และสถานีขนส่งสินค้า โดยเฉพาะรถไฟฟ้า เริ่มแล้ว 5 เส้นทาง และจะประมูลอีก 3 เส้นทางในปีนี้ รถไฟทางคู่ไม่มีการสร้างเพิ่มมาหลายสิบปี โดยปีนี้จะสร้างใหม่และต่อขยายอีก เกือบ 3 พันกิโลเมตร  อีกทั้งมีรถไฟไทย จีน และรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง กรุงเทพ-ระยอง และ กรุงเทพ-หัวหินเป็นต้น  นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและโทรคมนาคม อีกกว่า 3 หมื่นล้านบาทเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข เชื่อมโยงการค้า e-Commerce จากท้องถิ่นสู่ตลาดโลก เป็นต้น  ทั้งนี้ ทุกอย่างต้องอาศัยเวลา แม้ไม่เห็นผลในวันนี้ แต่ก็ต้องทำ และยินดีที่รัฐบาลในอนาคตจะสานต่อ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนด้วยนะครับ

3. เปลี่ยนการผลิตที่เน้นปริมาณ มาสร้างมูลค่าเพิ่ม และเปลี่ยนจากการพึ่งพามาเน้นการพึ่งตนเอง โดยให้ความสำคัญกับ 4 เรื่อง คือ วิทยาการ วิจัยและพัฒนา นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์  ด้วยการเสริมสร้างศักยภาพบุคคลากรภายในประเทศ และดึงดูดมันสมองจากนอกประเทศ ในส่วนที่เราขาด เข้ามาเติมเต็ม หรือเริ่มต้นให้ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ นำไปสู่การผลิต และการสร้างแบรนด์ไทย ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน หรือสินค้า GI ที่บ่งบอกที่มาทางภูมิศาสตร์ ทั้งนี้ การเติบโตที่สมดุลในอนาคต ต้องลดการพึ่งพาการส่งออก การลงทุน การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ และบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศ  แล้วหันมายึดแนวทาง "ศาสตร์พระราชา" ที่เน้นการระเบิดจากข้างใน สร้างความเข้มแข็งจากฐานราก ทั้งชุมชน OTOP SME  Start up ซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจของประเทศ

วันนี้ยังมีความจำเป็นอยู่ทั้งหมด ผมขอยกตัวอย่างการนำงานวิจัยมาผลิตใช้จริง จากกรณีการนำอุปกรณ์ช่วยฝึกการออกกำลังกายของผู้ประสบภาวะเส้นโลหิตสมองตีบมาใช้ในการทำกายภาพบำบัด ซึ่งเป็นผลการวิจัยพัฒนาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ ดร.พัชรี คุณค้ำชู จากภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ ร่วมกับทีมนักศึกษามหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์  โดยเครื่องนี้ มีราคาจากต่างประเทศถึง 18 ล้านบาท แต่เราสามารถผลิตได้เองด้วยราคาเพียง 4 แสนกว่าบาทเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันได้แจกจ่ายไปทดลองใช้งาน ใช้งบประมาณของกระทรวงพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ ไปใช้ในโรงพยาบาลต่าง ๆ 10 เครื่องแล้วนะครับ ในด้านการผลิตเราต้องเร่งสร้างเครือข่ายการเชื่อมโยงกัน ตั้งแต่ "ต้นทาง" แหล่งผลิตภาคเกษตร   อุตสาหกรรม "กลางทาง" การแปรรูป  การสร้างมูลค่าเพิ่ม และ "ปลายทาง" ตลาดชุมชน ตลาดออนไลน์ ซึ่งย่อมต้องอาศัย "พลังประชารัฐ" เป็นแรงขับเคลื่อน ตั้งแต่ระดับชุมชน  อำเภอ  จังหวัด  กลุ่มจังหวัด ภาค ที่ต้องมี "ยุทธศาสตร์" เป็นของตนเองด้วย

4. เปลี่ยนจากธุระไม่ใช่ ให้เป็นวาระเพื่อชาติ และเปลี่ยนจากคอร์รัปชั่นเป็นโปร่งใสตรวจสอบได้ ที่ไม่เพียงเน้นการปฏิรูประบบบริการของหน่วยงานราชการ ให้สามารถรองรับนโยบายอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอน ขจัดอุปสรรค หรือ Ease of doing business เท่านั้น ใน 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลนี้เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเปิดช่องให้มีการร้องเรียน แจ้งเบาะแสผ่าน OSS และสายด่วนต่าง ๆ มีการออกกฎหมายใหม่ ๆ เพื่อป้องกันการทุจริต เช่น พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ และ การกำหนดราคากลาง รวมทั้ง เพื่อรักษาวินัยการเงิน การคลัง เช่น พ.ร.บ.งบประมาณและวินัยการคลัง ริเริ่มการใช้ "สัญญาคุณธรรม" (IP) และ โครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (COST) เพื่อลดความเสียหายจากการคอร์รัปชั่นและ เน้นการมีส่วนร่วม เป็นต้น ทั้งนี้การพัฒนาใด ๆ ก็ตาม หากบกพร่องในการป้องกันการทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ก็จะไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งได้อย่างถาวร เพราะโครงสร้างมี "สนิมที่เนื้อใน" แล้วตั้งแต่ต้น เราจะติดตาม จับกุม ดำเนินคดีให้ได้ อย่างต่อเนื่อง  วันนี้มีปรากฏในหลายวงการ อาจจะยังคงมีอยู่ ขอเตือนไว้ก่อน  ภาคธุรกิจเอกชนเอง ก็ต้องไม่ไปเสนอผลประโยชน์  หากใครมีข้อมูล ให้ร้องเรียน แจ้งเบาะแส  มาที่ผมนายกรัฐมนตรีได้โดยตรง ในทันที ทุกอย่างจะเก็บเป็น "ความลับ" แต่จะไปดำเนินการต่อสู้เรื่องทุจริต  ไม่ใช่ทราบแล้วก็เก็บเรื่อง มาถึงวันนี้ทุกคนคงต้องรับรู้และเข้าใจว่า "เราไม่สามารถอยู่คนเดียวในโลกได้"  เพราะโลกกำลังจับตามองเราอยู่  ดังนั้น เราจะต้องปรับตัวและตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง "ครั้งใหญ่" ของประเทศเพื่อไม่ให้เกิดอาการ เหมือน "ปลาช็อคน้ำ" อีก ซึ่งในครั้งนี้ จะเป็นก้าวย่างเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญตามนโยบาย "ประเทศไทย 4.0" ที่จำเป็นต้องมีการปฏิรูปในอีกหลาย ๆ ด้านด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 25 มิ.ย.-1 ก.ค. 2560

Posted: 30 Jun 2017 11:19 PM PDT

นักวิชาการชี้ประวัติศาสตร์แรงงานไทยหล่นหาย
 
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2560 ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย เขตมักกะสัน กทม.ได้มีการจัดงานรำลึกและทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้อดีตผู้นำแรงงานและผู้มีคุณูปการต่อขบวนการแรงงานที่เสียชีวิตไปแล้ว พร้อมทั้งมีการทอดผ้าป่าเพื่อหารายได้บำรุงพิพิธภัณฑ์แรงงาน โดยในช่วงเช้ามีพิธีสงฆ์และถวายกองผ้าป่า ส่วนช่วงบ่ายมีการเสวนาเรื่อง "แรงงานอยู่ตรงไหนในประวัติศาสตร์ชาติไทย" โดยมีนำแรงแรงงาน และผู้คนในแวดวงแรงงานมาร่วมกันอย่างคับคั่ง ศ.ดร.พรรณี บัวเล็ก ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาการประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์สากล คณะศิปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก กล่าวว่าแรงงานอยู่มากกว่าประวัติศาสตร์ไทยเพราะมนุษย์วิวัฒนาการการใช้แรงงานเรื่อยมาโดยแรงงานอยู่ในทุกๆที่ของขั้นตอนในประวัติศาสตร์ แต่ในช่วงสงครามแรงงานถูกลดค่าให้มีหน้าที่ต่อนาย และในสมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มปลดปล่อยไพร่เพื่อไปผลิตสินค้าเกษตรโดยเฉพาะข้าว ไพร่เปลี่ยนสถานะเป็นชาวนา ส่วนกรรมกรยุคแรกเป็นชาวจีนเข้ามาเพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าข้าว ขณะเดียวกันในยุคใหม่แรงงานกลายเป็นตัวกำหนดในสังคมอุตสาหกรรมตามที่บริษัทข้ามชาติวางไว้ จนกระทั่งปัจจุบันที่เข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่หวังว่าจะรอดจากการขายแรงงานราคาถูก แต่ไม่แน่ว่าจะรอดหรือไม่ เพราะต้องอาศัยสังคมประชาธิปไตยและระบบธรรมาภิบาล โดยประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของรัฐ ซึ่งเกิดขึ้นได้ในช่วงที่สังคมมีเสรีภาพและคนหลุดพ้นจากอำนาจทั้งปวง เช่นเดียวกันยุโรปสมัยหนึ่ง
 
"เหตุใดแรงงานไทยถึงไม่มีประวัติศาสตร์ก็เพราะว่าผู้บันทึกประวัติศาสตร์คือชนชั้นสูงเท่านั้น สมัยก่อนพระมหากษัตริย์เป็นคนบันทึกก็จะเห็นแต่บารมีของตัวเอง ประวัติศาสตร์จึงไม่มีพื้นที่สำหรับชนชั้นล่างหรือสามัญชน แต่ในบางยุคก็มีการท้าท้าย เช่น สมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีก.ศ.ร.กุหลาบ ที่พยายามเขียนประวัติศาสตร์ แต่สุดท้ายก็ถูกลงโทษ อย่างไรก็ตามมีเรื่องเล่าของชาวบ้านที่เป็นตำนานหรืออยู่ในท้องถิ่นที่ไม่ถูกบันทึกและนักเรียนก็ไม่เคยได้เรียนเรื่องของชนชั้นล่าง แม้ในช่วง 20 ปีมีความพยายามฟื้นฟูประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหรือประวัติศาสตร์ของชนชั้นล่าง แต่ลำบากเพราะหาคนทำได้น้อยที่สำคัญคือไม่ค่อยมีข้อมูล มีแต่เรื่องเล่าของชาวบ้าน ที่ฉันทำงานมาตระหนักในคุณค่าของสามัญชนมาโดยตลอดเพราะต้องการให้เกิดบันทึก"ศ.ดร.พรรณี กล่าว ศ.ดร.พรรณีกล่าวว่า 20 ปีที่ผ่านมามีการตระหนักถึงการทำวิจัยเพื่อให้เห็นพื้นที่ของชนชั้นล่างมากขึ้น ส่วนที่สำคัญของประวัติศาสตร์คือทำให้ตระหนักถึงคุณค่าของตัวเองแต่เมื่อประวัติศาสตร์ของแรงงานไม่ถูกนำมาถ่ายทอดทำให้แรงงานไม่เห็นคุณค่าของตัวเองและเรียนแต่คุณค่าของชนชั้นสูงที่เขียนประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้นเมื่อไม่เห็นค่าของตัวเองก็จะไม่มีพลังในการเปลี่ยนแปลงหรือไม่มีสำนึกร่วมและชีวิตไม่มีการพัฒนาหรือไม่เราก็ต้องบีบตัวเองให้เป็นชนชั้นอื่น "ในศตวรรษที่ 15 มนุษย์หลุดจากอำนาจของพระเจ้าและชนชั้นปกครอง ทำให้เกิดกระบวนการพัฒนาและการสร้างสรรค์มากมาย เช่น สิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่เห็นอยู่จนถึงทุกวันนี้"ศ.ดร.พรรณี กล่าว ศ.ดร.พรรณีกล่าวว่า การจะทำให้แรงานเป็นประวัติศาสตร์ของชาติไทยนั้น ต้องดูว่าวันนี้มีความรู้เรื่องเหล่านี้กันแค่ไหน จำเป็นต้องทำวิจัยเกี่ยวกับความรู้ของชนชั้นล่างให้มากและสนับสนุนให้มีการหยิบมาใช้ จริงๆแล้วชาวบ้านเป็นที่สั่งสมภูมิปัญญาซึ่งเป็นรากของสังคมไทยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร การดำรงชีวิต ตลอดจนสมุนไพรต่างๆ เราต้องเอาคุณค่าในระดับรากหญ้าเหล่านี้ และจริงๆแล้วทุกคนสามารถสร้างบันทึกของตัวเองได้ แรงงานสามารถบันทึกของตัวเองหรือเก็บไว้ในองค์กร หรือบันทึกเรื่องราวของผู้นำแรงงานซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่า การบันทึกแรงงานทำให้เกิดความภาคภูมิใจในเรื่องเล่าเหล่านี้
 
 
ก.แรงงาน เตรียมแก้กฏหมายขยายเวลารับเงินชราภาพ เป็น 60 ปี
 
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นโยบายของกระทรวงแรงงาน โดยพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญ กับการสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตที่มั่นคง ของแรงงานทั้งในช่วงที่อยู่ในระบบแรงงาน และเมื่อต้อง ออกจากระบบแรงงานไปแล้ว จึงมีนโยบายที่จะสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้กับแรงงาน ในส่วนของผู้ประกันตน
 
ด้วยการขยายระยะเวลาการรับเงินชราภาพของผู้ประกันตนจาก อายุ 55 ปี เป็น 60 ปี ซึ่งจะทำให้การรับเงินบำเหน็จบำนาญชราภาพ จะทำได้ต่อเมื่ออายุ 60 ปีแล้ว เป็นการขยายเวลาการส่งเงินสมทบ และสิทธิประโยชน์เงินบำเหน็จบำนาญชราภาพ ที่มีเงื่อนไขการจ่ายเงินชราภาพ 20 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนรวม 5 ปีสุดท้ายของการทำงาน เป็นรายเดือนให้แก่ผู้ประกันตน
 
ซึ่งจะต้องดำเนินแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือพระราชบัญญัติ ประกันสังคม พ.ศ. 2533 โดยเมื่อมีการปรับปรุงแก้ไขแล้ว ในอนาคตผู้ประกันตนจะสามารถอยู่ในระบบได้จนถึงอายุ 60 ปี
 
ซึ่งเรื่องนี้ เป็นแนวคิดที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เห็นชอบ และสั่งการให้สำนักงานประกันสังคมดำเนินการศึกษารูปแบบความเป็นไปได้ เพื่อนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานต่อไป
 
 
เบรค นศ.WORK AND TRAVEL
 
กรมการจัดหางานถก Work and Travel หลังนักศึกษาร้องทุกข์ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงราย สั่งชะลอ-ยุติส่งนศ.ไปฝึกงานในต่างประเทศชั่วคราวก่อนมีมาตรการต่อไป
 
26 มิ.ย.2560 นายวรานนท์ ปิติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า หลังจากที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงราย มีหนังสือรายงานมาว่า นักศึกษาร้องทุกข์ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงราย เนื่องจากไปศึกษาดูงานในประเทศเกาหลี ลักษณะ Work and travel แต่ถูกใช้แรงงาน จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อมาหารือร่วมกัน เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กองปราบปรามการค้ามนุษย์ สำนักงานคระกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และกระทรวงแรงงาน ที่ห้องประชุมเทียน ชัชนนท์ กรมการจัดหางาน
 
"ที่ประชุมมีมติให้ชะลอการส่งนักเรียน นักศึกษา ไปฝึกงานในต่างประเทศในช่วงนี้ก่อน โดยจะนำข้อสรุปของที่ประชุมเสนอต่อ รมว.แรงงาน เพื่อพิจารณารายงานต่อที่ประชุม ครม.ต่อไป"
 
นอกจากนี้ ยังขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปตรวจสอบว่าสถาบันการศึกษาใดที่มีการทำข้อตกลงความร่วมมือ หรือ MOU กับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ ซึ่งจะตกลงร่วมกันว่าจะส่งนศ.ไปดูงานตามหลักสูตร จากนั้นขอให้รายงานข้อมูลต่อที่ประชุมในครั้งต่อไป ตลอดจนขอความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศ ช่วยประสานขอข้อมูลจากสถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทยว่าบริษัทเอกชนกี่แห่ง และที่ใดบ้าง ที่ดำเนินกิจการเป็นตัวแทนประสานงานพา นศ.ไปดูงานในต่างประเทศ จากนั้นจะเชิญตัวแทนบริษัทเข้าที่ประชุมในครั้งต่อไปด้วย
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า การเดินทางไปในลักษณะ เวิร์ค แอนด์ ทราเวล นี้ ยังไม่มีหน่วยงานใดดูแลรับผิดชอบโดยตรง นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่า นักศึกษาที่กลับมาแล้วสามารถบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่ เช่นการใช้ภาษาของประเทศนั้น เพราะบางโครงการก่อนเดินทางไปบางประเทศ เช่นเกาหลี ไม่ได้มีข้อกำหนดคุณสมบัติว่าจะต้องผ่านการเรียนวิชาภาษาเกาหลีก่อนไป จึงทำให้มีปัญหาในการสื่อสาร กรณีที่ถูกละเมิดด้านการใช้แรงงาน ที่สำคัญคือการถูกละเมิดทางเพศ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก
 
 
ลูกจ้างบ.บริติชไทยซินเทติคเท็กสไทล์ 111 ชีวิต ได้รับเงินชดเชยจากกองทุนลูกจ้าง คนละไม่ต่ำกว่า 1.8 หมื่นบาท 
 
เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2560 -นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)เปิดเผยกับ"เวบไซดฺ์คมชัดลึก"ว่า จากเหตุการณ์ของบริษัทบริติชไทยซินเทติคเท็กสไทล์ ได้ปิดกิจการลงหลังจากศาลพิพากษาให้บริษัทล้มละลาย ทำให้คนงานทั้งหมดจำนวน 111 คน ซึ่งส่วนมากเป็นผู้หญิงทั้งที่เป็นแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ ต้องถูกลอยแพคนงาน โดยไม่มีการจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างค้างจ่าย นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2560 ทำให้คนงานต้องประสบกับความเดือดร้อนอย่างมาก
 
นายชาลี กล่าวอีกว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาคนงานบริษัทบริติชไทยซินเทติคเท็กสไทล์ ก็ได้พยายามหาวิธีการให้หน่วยงานของรัฐเข้ามาแก้ไขปัญหา ทั้งที่เป็นนายจ้าง หน่วยงานภาครัฐ คือ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และกรมบังคับคดี เพื่อให้หาแนวทางในการเยียวยาแก้ไขปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องคนงาน รวมทั้งการเขียนคำร้องเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง และความพยายามก็เกิดขึ้นหลายครั้ง ในการประสานหน่วยงานต่างๆ แต่การแก้ไขปัญหาก็เป็นไปด้วยความล่าช้า
 
"คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) เห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเป็นเรื่องของการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างรุนแรงที่นายจ้างกระทำต่อลูกจ้างโดยไม่รับผิดชอบใดๆ การบังคับใช้กฎหมายให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก และเรื่องดังกล่าวก็เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงาน ซึ่งทุกครั้งที่มีการติดตามเรื่องก็จะได้รับคำตอบว่า "นายจ้างล้มละลายจะให้ทำอย่างไรได้ ก็ได้พยายามแล้ว"นายชาลี กล่าว
 
นายชาลี กล่าวอีกว่า แม้กระทั่งอำนาจหน้าที่ ที่จะเยียวยาตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ในการบรรเทาทุกข์ของคนงาน จากเงินสงเคราะห์ลูกจ้าง ก็อ้างเรื่องสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ตรวจสอบเรื่องการบริหารกองทุนที่มียอดเงินลดลง ทำให้มีปัญหาในการจ่าย
 
อย่างไรก็ตามภายหลังจากการประชุมกรรมการบริหาร คสรท.เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2560 ได้มีมติให้ คสรท.ร่วมกับสหภาพแรงงานบริษัทบริติชไทยซินเทติคเท็กสไทล์ เร่งดำเนินการผลักดันเพื่อให้คนงานได้รับสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้โดยเร็วต่อไป และในวันที่ 21 มิถุนายน 2560 คสรท.นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคสรท.,นายไพฑูรย์ บางหรง กรรมการบริหาร และประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก และผู้แทนจากสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)ร่วมกับสหภาพแรงงานบริษัทบริติชไทยซินเทติคเท็กสไทล์ สนมาชิกประมาณ 40 คน ได้ไปติดตามเรื่องการเยียวยาจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ซึ่งมีการประชุมในวันดังกล่าวกระทั่งการประชุมสิ้นสุดลงผลการประชุมมีดังนี้
 
"1.อนุมัติการจ่ายเงินสงเคราะห์ลูกจ้างตามหลักเกณฑ์ให้แก่คนงานไทยซึ่งจะได้รับประมาณคนละไม่เกิน 18,000 บาท 2.สำหรับแรงงานข้ามชาติประมาณ 20 คน ต้องไปตรวจสอบเอกสารการทำงานว่าถูกต้องหรือไม่ หากมีเอกสารการทำงานและเดินทางมาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็มีสิทธิในการรับเงินสงเคราะห์ แต่หากไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือมีแค่ใบอนุญาตทำงานชั่วคราว(บัตรสีชมพู)ไม่สามารถจ่ายได้ ซึ่งจะนำมาพิจารณาอีกครั้งหลังตรวจสอบเอกสารแล้ว 3.ส่วนการจ่ายเงินจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน" รองประธาน คสรท. กล่าว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากรับฟังคำชี้แจงจากผู้อำนวยการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างแล้ว นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคสรท.กล่าวขอบคุณประธานและคณะกรรมการลูกจ้าง ผู้อำนวยการ รวมทั้งข้าราชการกระทรวงแรงงานหลายคนที่อำนวยความสะดวกให้การต้อนรับรวมทั้ง ทหาร ตำรวจ ที่เฝ้าเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิดจากหอพักคนงานย่านอ้อมน้อย อ้อมใหญ่จนถึงกระทรวงแรงงาน
 
"คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)ขอขอบคุณองค์กรสมาชิก และเพื่อนพี่น้องเครือข่ายที่ได้ส่งกำลังใจและการสนับสนุนจนทำให้เกิดความสำเร็จไประดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีเรื่องค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานซึ่งคนงานยังไม่ได้รับก็คงเป็นจังหวะก้าวในการติดตามต่อไป...และพึงระลึกไว้เสมอว่า ความรักที่มีต่อกันของพี่น้องคนงาน ความสามัคคีอย่างมีพลังจะนำพาพวกเราสู่ความกินดี อยู่ดี มีความสุข"นาสาวิทย์ กล่าวในที่สุด
 
 
สหรัฐคงระดับค้ามนุษย์ไทย "เทียร์ 2 จับตา"
 
นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงถึงรายงาน ทิป รีพอร์ต ประจำปี 2560 โดยสหรัฐฯ ยังจัดให้ไทยคงอันดับเดิมที่ "เทียร์ 2 ที่ต้องจับตามอง" เป็นปีที่สองติดต่อกัน หลังจากก่อนหน้านั้นไทยเคยถูกจัดอยู่ที่ระดับ "เทียร์ 3" ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน ส่วนรัสเซียและคิวบายังคงอันดับเดิมในปีนี้เช่นกัน
 
นอกจากนี้ รายงาน ทิป รีพอร์ต ในปีนี้ยังเลื่อนระดับการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ให้กับเมียนมา อัฟกานิสถาน มาเลเซีย และกาตาร์ เนื่องจากมีสถานการณ์ดีขึ้น ขณะเดียวกันได้ลดระดับจีนสู่ "เทียร์ 3" ซึ่งเป็นระดับเดียวกับอิหร่าน เกาหลีเหนือ และซีเรีย โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลจีนยังไม่แก้ปัญหาค้ามนุษย์อย่างจริงจัง
 
รายงานประจำปีที่ครอบคลุมประเทศและดินแดนต่างๆ จำนวน 188 ประเทศ แบ่งเกณฑ์การประเมินประวัติการค้ามนุษย์และแรงงานบังคับ ออกเป็นเทียร์ต่างๆ ได้แก่ เทียร์ 1 สำหรับชาติต่างๆ ที่ได้มาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐฯ เทียร์ 2 สำหรับประเทศที่มีความพยายามอย่างเห็นได้ชัดที่จะพัฒนาให้ถึงระดับมาตรฐาน และ เทียร์ 3 คือประเทศที่ล้มเหลวในการปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำสุดของสหรัฐฯ และไม่มีความพยายามอย่างเห็นได้ชัด
 
นายเร็กซ์ แถลงรายงานค้ามนุษย์ประจำปี 2560 คงอันดับไทยให้อยู่ในกลุ่ม "เทียร์ 2 ที่ต้องจับตามอง" โดยให้เหตุผลว่า แม้ไทยไม่ได้ทำตามมาตรฐานขั้นต่ำในการปราบปรามค้ามนุษย์ แต่แสดงความพยายามด้วยการปราบปราม และยึดทรัพย์ จากบรรดาผู้ค้ามนุษย์ รวมมูลค่า 784 ล้านบาท ทั้งยังมีการดำเนินคดีกับเจ้าของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงานในภาคประมงมากขึ้น พร้อมยืดระยะเวลาให้เหยื่อ และพยานชาวต่างชาติในคดีค้ามนุษย์ ได้พำนักอยู่ในประเทศนานขึ้น
 
อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยไม่ได้แสดงความพยายามเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา และไม่ได้ดำเนินคดีอาชญากรรมเกี่ยวกับการค้ามนุษย์อย่างแข็งขันมากนัก
 
 
ประกันสังคมร่อนหนังสือแจงยิบ หลังโดนร้องเรียนบริการแย่!
 
นางสาวอำพันธ์ ธุววิทย์ ผู้ตรวจราชการกรม ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ส่งหนังสือชี้แจงกรณีที่มีการนำเสนอข่าวผู้ประกันตนถูกหักเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมปีละ 9,000 บาท แต่เมื่อไปรับบริการทางการแพทย์กับโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ ได้รับการบริการที่ไม่ดีนั้น ทางสำนักงานประกันสังคมจึงขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
 
1.สำนักงานประกันสังคมเก็บเงินสมทบจากนายจ้าง และผู้ประกันตนร้อยละ 5 ต่อเดือน โดยคำนวณค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับ ซึ่งกำหนดจากฐานค่าจ้างเป็นรายเดือนต่ำสุดเดือนละ 1,650 บาท และสูงสุดไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท เพื่อจ่ายสิทธิประโยชน์ใน 7 กรณี ให้แก่ผู้ประกับตน ประกอบด้วย กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน
 
ดังนั้นผู้ประกับตนจะจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมสูงสุดเดือนละ 750 บาท ปีละ 9,000 บาท แต่จะมีเงินสมทบกรณีชราภาพเดือนละ 450 บาท ปีละ 5,400 บาท และยังมีเงินสมทบที่นายจ้างจ่ายสมทบอีกเดือนละ 450 บาทปีละ 5,400 บาท ซึ่งผู้ประกันตนจะได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเมื่อสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน และมีอายุครบ 55 ปี บริบูรณ์
 
2.การให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตน สำนักงานประกันสังคมมีกระบวนการตรวจสอบมาตรฐานการรักษาของโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ และโรงพยาบาลที่รับส่งตัวผู้ประกันตนเพื่อเข้ารับการรักษา เพื่อให้ผู้ประกันตนเกิดความเชื่อมั่นในการให้บริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลในระบบประกันสังคม
 
3.ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสำนักงานประกันสังคมได้ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองต่างๆ ให้กับผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้เพิ่มค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว เพิ่มค่าบริการทางการแพทย์กรณีโรคที่มีภาระเสี่ยง และเพิ่มค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยใน ที่มีค่าใช้จ่ายสูงให้แก่สถานพยาบาลที่อยู่ในระบบประกันสังคม โดยยึดหลักมุ่งมั่น ทุ่มเทการทำงานเพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับความพึงพอใจ
รวมถึงต้องปฏิรูประบบให้บริการทางการแพทย์ ลดความเหลื่อมล้ำ บูรณาการงานด้านบริการทางการแพทย์ที่เหมาะสมอย่างเท่าเทียมมีคุณภาพ นำไปสู่การยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมของประเทศอย่างยั่งยืน
 
 
กม.แรงงานต่างด้าวใหม่ ให้โอกาส 2 เดือนเข้าระบบถูกต้อง
 
(29 มิ.ย.) นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงข้อกังวลต่างๆ เกี่ยวกับ พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ที่บังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ว่า กรมฯ ได้นำข้อมูลและผลการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาสังคมมาใช้เพื่อประกอบการพิจารณา ตั้งแต่ก่อนเสนอร่าง พ.ร.ก. ต่อ ครม. และเมื่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างฯ แล้วเสร็จ กรมฯ ก็ได้จัดการรับฟังความคิดเห็นด้วยวิธีการสัมมนา ส่งแบบสอบถาม และรับฟังผ่านเว็บไซต์มาตลอด ส่วนกรณีคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) มีหนังสือเสนอให้เปิดการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายทั่วประเทศอีกครั้ง ต้องเรียนว่า ที่ผ่านมา มีการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย 4 ครั้งแล้ว หากยังเปิดลงทะเบียนเรื่อยๆ ก็จะมีอีกต่อไป แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายก็จะไม่มีวันหมด สิ่งที่ต้องทำคือ ทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย
 
นายวรานนท์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าจะไม่มีมาตรการดูแลเลย เนื่องจากนายกรัฐมนตรีกำชับว่า ต้องหามาตรการมาดูแลเพื่อลดผลกระทบกับผู้ประกอบการ โดยกรมการจัดหางาน ได้มีแนวทางวางไว้ให้ คือ 1.มีมาตรการผ่อนคลายด้วยการให้แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย กลับไปดำเนินการให้เข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง เป็นเวลาประมาณ 1 - 2 เดือน ซึ่งหากเป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่ไม่มีเอกสารใดๆ เลย และต้องกลับประเทศไปดำเนินการให้ถูกต้อง มั่นใจว่าระยะเวลาดังกล่าวน่าจะเพียงพอในการดำเนินการ โดยมีค่าใช้จ่ายตกคนละไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งถือว่าคุ้มค่าเมื่อเทียบกับการถูกกฎหมาย และลดปัญหาต่างๆ ทั้งนี้ ระหว่างนี้หากผู้ประกอบการไม่มีแรงงานในการดำเนินงาน ก็สามารถติดต่อมายัง กกจ. ได้ เนื่องจากมีคนไทยที่พร้อมจะทำงานอีกประมาณ 7 - 8 พันคนต่อเดือน ซึ่งจะทดแทนปัญหาจุดนี้ได้
 
นายวรานนท์ กล่าวว่า 2. เปิดโอกาสให้นายจ้างมายื่นขอเปลี่ยนชื่อนายจ้างใหม่ได้ โดยจ่ายค่าธรรมเนียมเพียง 100 บาท เนื่องจากเดิมทีนายจ้างจะประสบปัญหาแรงงานต่างด้าวย้ายงาน แต่ชื่อยังติดกับนายจ้างคนเดิม อาจจะเกิดปัญหาได้ จึงเปิดโอกาสให้เปลี่ยนชื่อนายจ้างได้ ซึ่งจากการตรวจสอบที่ผ่านมาพบปัญหาแรงงานต่างด้าวทำงานไม่ตรงกับนายจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กว่าครึ่ง วิธีนี้ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาได้ และ 3. การลงนามความร่วมมือกับพม่า เพื่อลดขั้นตอนในกระบวนการเข้าสู่ระบบแรงงานที่ถูกกฎหมาย โดยวันที่ 29 มิ.ย. จะเดินทางไปยังพม่าเพื่อหารือเรื่องนี้
 
"ข้อกังวลเรื่องโทษปรับที่มากถึง 4 แสนบาท ต้องบอกว่า โทษก็ยังเป็นความผิดตามกฎหมายเดิม แต่ที่ปรับให้มากขึ้น ก็เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายฉบับอื่นด้วย เช่น กฎหมายการค้ามนุษย์ กฎหมายการใช้แรงงานเด็ก และกฎหมายแรงงานประมง หากทำผิดก็มีโทษปรับ 4 แสนบาทเช่นกัน ซึ่งการมีมาตรฐานของโทษที่ใกล้เคียงกันจะทำให้สังคมโลกยอมรับในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ส่วนข้อกังวลเจ้าหน้าที่เรียกเก็บค่าปรับ ขอย้ำว่า หากมีการกระทำความผิด เจ้าหน้าที่รัฐจะไม่สามารถเรียกเก็บค่าปรับ ณ ที่เกิดเหตุได้ทันที แต่ต้องมีการส่งเรื่องและประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อพิจารณา และให้ผู้ที่เข้าข่ายกระทำผิดยอมรับสารภาพ และเปรียบเทียบปรับตามขั้นตอน ซึ่งหากพบเจ้าหน้าที่เรียกเก็บถือว่ามีความผิด ก็ยื่นเรื่องเอาผิดได้เช่นกัน ซึ่งนายกฯ ก็กำชับว่า ต้องดูแลให้ดีหากพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐทำผิด หรือทุจริตต้องมีโทษหนักเช่นกัน ส่วนที่กังวลว่ามีโทษถึง 8 แสนบาทนั้น เป็นโทษขั้นสูงจะหมายถึงมีความผิดกรณีอื่นๆ เช่น ค้ามนุษย์ แต่ทั้งหมดอยู่ดุลพินิจของศาล" นายวรานนท์ กล่าว
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า แรงงานต่างด้าวมีการย้ายพื้นที่ทำงาน จะเข้าข่ายผิดกฎหมายนี้ด้วยหรือไม่ นายวรานนท์ กล่าวว่า ไม่ผิดแน่นอน เพราะกฎหมายปลดล็อกโดยไม่ระบุพื้นที่ทำงาน แต่ขอให้ทำงานตรงกับนายจ้างที่ระบุไว้ ซึ่งสอดคล้องกับการเปิดให้นายจ้างมาเปลี่ยนชื่อให้ถูกต้อง รวมทั้งยังตัดช่องทางการถูกเจ้าหน้าที่รีดไถ และการเปลี่ยนนายจ้างเองของลูกจ้างด้วย เช่น เดิมอยู่กับนายจ้าง ก. ก็เปลี่ยนเองไปอยู่กับนายจ้าง ข. เป็นต้น สำหรับการตรวจจับนั้น หากพบว่านายจ้างมีการใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายซึ่งหน้า คือ ระหว่างทำงาน เจ้าหน้าที่รัฐพบต้องดำเนินคดีตามกฎหมายทันที มิฉะนั้น จะเข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่ แต่หากนายจ้างคนใดทราบว่า แรงงานของตนผิดกฎหมาย ให้รีบส่งแรงงานต่างด้าวมาแสดงตนและดำเนินการให้ถูกต้องจะดีที่สุด ซึ่งหากมีการดำเนินการก็ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกจับกุม
 
นายวรานนท์ กล่าวว่า พ.ร.ก. ดังกล่าว นอกจากจะทำทุกอย่างอย่างถูกกฎหมายแล้ว ยังพบว่า ช่วยลดปัญหาเรื่องสาธารณสุขอีก เนื่องจากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า ต้องใช้งบประมาณในการดูแลสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนถูกต้องสูงถึง 8,000 ล้านบาท แต่หากเข้ามาถูกกฎหมายก็จะอยู่ในระบบประกันสังคม ก็จะถือเป็นเรื่องของความเป็นธรรมกับคนไทยเองในเรื่องนี้ที่ต้องจ่ายภาษีกันทุกคน
 
นายวรานนท์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ข้อดีของกฎหมายฉบับนี้มีมากมาย อาทิ เมื่อแรงงานต่างด้าวเข้ามาถูกต้องตามกฎหมาย ก็จะควบคุมดูแลได้ ซึ่งแรงงานต่างด้าวจะได้รับการคุ้มครองและมีสิทธิประโยชน์ตามที่พึงได้ อีกทั้ง เนื้อหาสาระของ พ.ร.ก. ยังเป็นการส่งเสริมสนับสนุน (Promotion) ส่งเสริมการจ้างแรงงานไทย โดยเปิดโอกาสให้รับแรงงานไทยเข้าทำงานเป็นลำดับแรก ส่งเสริมการนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งในปัจจุบันกระทรวงแรงงานได้มีการปรับปรุงระเบียบให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย เมื่อการเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย มีค่าใช้จ่ายน้อยและสะดวกรวดเร็ว การกระทำผิดกฎหมายก็จะลดลงตามลำดับ และเป็นการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวอย่างยั่งยืน
 
 
สนช.ผ่านร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
 
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้(29 มิ.ย.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้วในวาระ 2 และ 3 ซึ่งพล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร ประธานกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ใช้แรงงานและนายจ้างที่มีผลต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ กรรมาธิการฯ จึงพิจารณาปรับแก้ไข โดยคำนึงถึงประโยชน์ของทุกภาคส่วน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ และผลประโยชน์ของทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคแรงงาน
 
พล.อ.สิงห์ศึก กล่าวว่า กฎหมายนี้มีทั้งสิ้น 7 มาตรา กรรมาธิการฯ แก้ไข 3 มาตราเพื่อประโยชน์แก่ผู้ใช้แรงงานเป็นหลัก เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่บังคับใช้มาเป็นเวลานาน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เช่น แก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 87 เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างบางกลุ่มหรือบางประเภท เช่น นักเรียน นักศึกษา คนพิการ และผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมการจ้างงานและคุ้มครองแรงงาน แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 108 และมาตรา 110 ปรับปรุงเรื่องข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเพื่อลดภาระของนายจ้าง
 
"มาตรา 118/1 ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการเกษียณอายุและการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างกรณีเกษียณอายุเพื่อคุ้มครองลูกจ้างกรณีเกษียณอายุเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมาย และแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 144(1) การเพิ่มบทกำหนดโทษกรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างกรณีเกษียณอายุ พร้อมกับเพิ่มเติมบทบัญญัติ มาตรา 144 กำหนดโทษสำหรับนายจ้างที่ฝ่าฝืนไม่จ่ายค่าชดเชยเพราะเหตุเกษียณอายุ" พล.อ.สิงห์ศึก กล่าว
 
ทั้งนี้ ไม่มีสมาชิกสงวนคำแปรญัตติ โดยหลังการพิจารณาในวาระ 2 แล้ว ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบด้วยคะแนนเอกฉันท์ 208 เสียง ในวาระ 3 ให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
 
 

กม.แรงงานโหด กระทบพม่าถูกลอยแพกว่า 400 คน จนท.เมียนมาชี้สวนทางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

 
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 60 แรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียนมา ประมาณ 400 คน ต้องเดินทางกลับไปยังประเทศเมียนมา ที่จังหวัดเมียวดี ตรงข้ามอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก หลังจากที่นายจ้าง และผู้ประกอบการไม่กล้าจ้างแรงงานต่างด้าว ที่ผิดกฏหมาย และไม่สามารถนำแรงงานเมียนมา เข้ามาทำงานตรงกับอาชีพที่ระบุไว้ได้
 
หลังจากที่ประเทศไทยได้ออกกฏหมายแรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ที่มีโทษรุนแรง ทำให้สถานประกอบเริ่มได้ผลกระทบ และทางการเมียนมาต้องแบกรับภาระการหลั่งไหลกลับไปของแรงงานที่ได้รับความเดือดร้อน โดยซื้อข้าวห่อไปเลี้ยงแรงงานที่ตกงานทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีบรรดานายหน้าที่เคยส่งแรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียน ก็ไม่รับแรงงานต่างด้าวอีกเกรงว่าจะถูกจับกุม และได้รับโทษที่รุนแรง
 
เจ้าหน้าที่เมียนมา รายหนึ่งแจ้งว่า แรงงานเมียนมา ที่กลับไป ต่างบอกว่า ไม่ได้ไปก่ออาชญากรรม และกระทำผิดกฏหมายความมั่นคงของไทย ทำไมต้องมากำหนดโทษรุนแรง และยังเป็นช่องทางหากินของเจ้าหน้าที่ไทยด้วย
 
สำหรับเรื่องนี้ กำลังเป็นที่ถูกวิพากษ์จารณ์จากนายจ้างคนไทย และผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าว โดยการออกกฏหมายลักษณะเช่นนี้ ไม่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการค้า การลงทุน ของไทย และยังสวนทางกับนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตากด้วย
 
นายหม่อง จ่อ อายุ 25 ปี แรงงานเมียนมา รายหนึ่งที่กลับไปยังจังหวัดเมียวดี บอกว่า ต้องจ่ายเงินค่านายหน้าวิ่งหางานทำให้ ในราคา 3,000 บาท พอไปถึงโรงงาน นายจ้างไม่กล้ารับเพราะกลัวถูกจับ จึงกลับไปฝั่งเมียนมา เพื่อกลับบ้าน แต่ที่สำคัญไม่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เงินหมดตัว เพราะจ่ายเงินให้นายหน้าไปหมดแล้ว
 
 
กลุ่มผู้แปรรูปยางพาราร้อง สนช.ขอขยายเวลาคุ้มครองชั่วคราว พรก.จัดการการทำงานของคนต่างด้าว
 
กลุ่มผู้แปรรูปยางพาราและกลุ่มผู้ประกอบกิจการยางพารา เข้ายื่นเรื่องต่อ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร ประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และ การแรงงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เรียกร้องให้มีการขยายเวลาคุ้มครองชั่วคราว พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งพระราชกำหนดดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้แปรรูปยางพาราและกลุ่มผู้ประกอบกิจการยางพารา เพราะต้องใช้เวลาดำเนินการ เพื่อให้ทุกขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมาย และต้องมีระยะเวลาจัดทำเอกสารประมาน 30-90 วัน
 
ทั้งนี้ การผลิตและแปรรูปยางพารานั้น จำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีฝีมือจากต่างประเทศด้วย จึงจำเป็นต้องมีการทดลองฝีมือแรงงานก่อนทำข้อตกลงกัน ทำให้มีระยะเวลาดำเนินการหลายขั้นตอน ทั้งนี้ทางกลุ่มยืนยันว่า การยื่นเรื่องดังกล่าวไม่ใช่การคัดค้านการออกกฎหมาย และยินดีที่จะทำตามอย่างเคร่งครัด
 
 
มูลนิธิ LPN ร้องรัฐทบทวนกฏหมายแรงงาน
 
นายสมพงค์ สระแก้ว มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน(LPN) บอกว่า นโยบายด้านแรงงานช่วงนี้ เสมือนการเก็บต้อนส่งกลับประเทศต้นทาง ซึ่งไม่มีความสอดคล้องกับวิธีคิดจัดการปัญหาระดับอาเซียนในมิติเศรษฐกิจและสังคม ที่ผ่านมาคือ การจับผลักดันส่งกลับไม่มีผลต่อการลดจำนวนแรงงานเพื่อนบ้านในประเทศไทย อีกทั้งเสียงบประมาณโดยวันนี้ได้พูดคุยกับพี่น้องแรงงานชาวพม่า พบว่า แรงงานเหล่านี้ต่างหวาดกลัวเจ้าหน้าที่รัฐและอยากเปลี่ยนนายจ้างใหม่ นายจ้างเก่าไม่ยอมทำงานและขับไล่ออกจากที่ทำงาน ล่าสุดบอกว่า แต่ละคนต่างหาทางกลับประเทศตนเอง รัฐบาลจะต้องทบทวนนโนบายด้านแรงงานข้ามชาติอย่างเร่งด่วน เพราะหลายๆ อย่างในความเป็นจริงเชิงระบบ คือ ตัดตอนผลประโยชน์อยู่ในแต่ละพื้นที่ส่วยแรงงานมีแทบทุกที่ ควรเอามาขึ้นทะเบียนใหม่ นำเงินเข้ารัฐบาลมาแก้ไขปัญหาดีกว่า เพราะสงสารแรงงาน และเด็กๆ ที่ลำบากในประเทศไทย
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวบ้านชุมชนป่าโคกโชคหวังรัฐแก้ปัญหา หลังถูกฟ้องบุกรุกที่ดินหลวง

Posted: 30 Jun 2017 10:33 PM PDT

ชาวบ้านฮึดสู้! เพื่อผืนดินสุดท้ายของบรรพชน โร่ร้องขอความเป็นธรรมที่ทำกินครั้งแล้วครั้งเล่า กลับเงียบเป็นป่าสาก ชาวบ้านชุมชนป่าโคกโชค อ.เมือง จ. สุรินทร์ กว่า 36 หลังคาเรือน จ่อบุกยื่นหนังสือหวังพึ่งรัฐบาลหลังชาวบ้าน 31 คนถูกฟ้องดำเนินคดีอาญาฐานบุกรุก

จากกรณีปัญหาข้อพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้านบนพื้นที่พิพาท 883 ไร่ ที่บริเวณที่สาธารณประโยชน์ ทำเลเลี้ยงสัตว์ ป่าโชคเหนือ ต.คอโค อ.เมือง จ.สุรินทร์ อยู่ติดถนนหลวงแผ่นดิน 226 ประมาณ ก.ม.ที่ 9-10 ถนนสุรินทร์-กระสัง ชาวบ้านกว่า 100 ครัวเรือน ได้รวมตัวกัน ฮึดสู้ เพื่อผืนดินสุดท้ายของบรรพชน หลังโร่ร้องหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร้องขอความเป็นธรรมมากว่า 5 ปี แต่กลับไร้วี่แวว ชาวบ้าน 30 คน ต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาฐานบุกรุก ศาลนัดฟังคำพิพากษา ในวันที่ 21 ก.ค. 2560 นี้

ชาวบ้านที่นี้ส่วนใหญ่ฐานะยากจนไม่มีที่ดินทำกินต่างอ้างว่าแผ่นดินนี้เป็นมรดกของบรรพบุรุษ มี สค. 1 ลั่นจะไม่ถอยอีกแล้ว ซึ่งเหตุการณ์เมื่อ 3 ปีก่อน เจ้าหน้าที่ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ ที่ดินจังหวัดสุรินทร์ ฝ่ายปกครองอำเภอเมืองสุรินทร์ ตำรวจ ป่าไม้ และ อส. เข้ารังวัดชี้แนวเขตที่ชาวบ้านบุกรุกเข้าอาศัยในที่ดินพิพาท 883 ไร่ กว่า 100 ครัวเรือน และบุกจับราษฎรบุกรุกที่หลวงกว่า 2,000 ไร่ ทำนา ก่อนหน้าได้ควบคุมตัว นางสุกานดา พูนดี และพวกรวม 11 คน มาที่กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดสุรินทร์ จทบ.สุรินทร์ และทำการตรวจยึดรถไถนาเดินตามและรถไถนาขนาดใหญ่มาตรวจสอบที่ สภ.เมืองสุรินทร์ เพื่อดำเนินคดี

นายคราศรี ลอยทอง ทนายความได้พาชาวบ้านเข้าร้องขอความเป็นทำต่อสภาทนายความ เพื่อช่วยทางกฎหมาย และทางสภาทนายความมีมติเห็นชอบให้ช่วยเหลือชาวบ้านอย่างเต็มที่ พาคณะลงพื้นที่สำรวจ ชุมชนป่าโคกโชค ต.คอโค อ.เมือง จ.สุรินทร์ และอาสานำกลุ่มชาวบ้านยื่นหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมไปยังกรมการปกครอง เพื่อขอความเป็นธรรมในการครอบครองที่ดินเพื่อทำกินหลังเรื่องเงียบหายไปนาน

ซึ่งปัญหาความเดือนร้อน ของชาวบ้านดังกล่าว นายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พร้อมด้วยนายกฤษณุ เหลืองพิบูลกิจ นายอำเภอเมืองสุรินทร์ รุดเข้าเจรจากลุ่มชาวบ้านชุมชนป่าโคกโชค ต.คอโค อ.เมือง จังหวัดสุรินทร์ หลังกลุ่มชาวบ้านได้ยื่นหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมไปยังกรมการปกครอง เพื่อขอความเป็นธรรมในการครอบครองที่ดินเพื่อทำกินหลังเรื่องเงียบหายไปนาน โดยนายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ได้เข้าพบปะและเจรจากับกลุ่มชุมชนชาวบ้านว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ จะให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย เเต่ต้องเป็นไปตามกระบวนการที่ถูกต้องและให้สิทธิ์เท่าเทียมกัน

นางสุกานดา พูลดี แกนนำกลุ่มชาวบ้าน กล่าวว่าก่อนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์จะเข้ามา ได้มีการประสานมาก่อนเบื้องต้น ว่าผู้ว่าฯ จะเข้ามา ชาวบ้านต่างพากันตกใจว่าจะเข้ามาดี หรือเข้ามาร้าย สักพักก็มีการสื่อสารมาอีกว่า ชาวบ้านจะมาดูพื้นที่ ว่าชาวบ้านอยู่กันแบบไหน มีปัญหาอะไรบ้าง พอผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์มาถึงพื้นที่ ก็ถามชาวบ้านถึงเรื่องราวความเป็นมาว่าพื้นที่ตรงนี้มันเป็นอะไร ตนก็ได้เท้าความว่าเมื่อปี พ.ศ.2468 มีการประกาศที่สาธารณะจริง เป็นป่าสาธารณะประโยชน์ป่าโคกเพชรน้อย มีเนื้อที่ประมาณ 2,100 ไร่ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2522 เมื่อทางราชการมีคำสั่งให้ผู้ใหญ่บ้าน ณ ตอนนั้น เก็บเอกสาร สค.1 ไปส่งที่ จังหวัด ขณะเก็บผู้ใหญ่บ้านได้คุยกับชาวบ้านว่าจะออกเอกสารสิทธิให้ใหม่เป็น นส.3 พวกชาวบ้านต่างพากันหลงเชื่อก็เลยให้ สค.1 ไป ทั้ง สค.1 ทั้งใบประสงค์จะได้สิทธิ หลังจากเอาเอกสารไปหมดแล้วเขาจึงมาประกาศปากเปล่าว่าที่ดินตรงนี้ได้ประกาศเป็นพื้นที่สาธารณะหมดแล้ว ห้ามมิให้ชาวบ้าน บุกรุกเข้ามาทำกิน ซึ่งชาวบ้านก็ไม่สนใจในคำประกาศหรือคำห้ามปรามใด ๆ ทั้งสิ้นเข้ามาทำกินเหมือนเดิม

ปี พ.ศ.2524 ชาวบ้านถูกตำรวจจับและชาวบ้านก็ถูกการ ขมขู่ คุกคาม จากหน่วยงานรัฐที่ถือกกหมาย ก็ทนไม่ไหว ช่วงกลางคืนชาวบ้านที่นอนเฝ้ากระท่อมที่นาถูกยิงตาย ชาวบ้านต่างผวาและหวาดกลัว จึงได้ทิ้งที่ดินทำกินดังกล่าวตรงนี้ ซึ่งเวลานั้นสร้างความแตกแยกหลายครอบครัวล้มสลายอย่างครอบครัวตนเองก็ต้องพากันหนีเข้าป่าไปอาศัยอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เพื่อความปลอดภัย พร้อมกลับหันมาต่อสู้กับนโยบายของรัฐ ที่ไม่เป็นธรรม ต่อมามีการประกาศนโยบาย 66/2523 ให้คอมมิวนิสต์เข้ามามอบตัว กลุ่มชาวบ้านก็เดินทางเข้ามามอบตัวหวังความปลอดภัยในชีวิตได้มีพันธะสัญญาระหว่างรัฐกับชาวบ้านว่าจะดูแลกัน เมื่อเวลาผ่านมาดูแล้วมันไม่ใช่ พวกเราก็ต่างพากันอยู่อย่างทรมาน อยู่อย่างทรหด ไม่มีที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยมีแค่ไม่ถึงงาน ครอบครัวตนเองเป็นครอบครัวใหญ่ พ่อ แม่ ลูก 7-8 คน อยู่กันแบบอดยาก ต้องแบก ต้องหามตลอด เพื่อความอยู่รอด

ต่อมา ปี พ.ศ.2550 ได้ตัดสินใจหลังได้พูดคุยกับพี่น้อง ชาวบ้านที่มีเอกสาร สค.1 ว่าเราควรจะฮึดลุกขึ้นต่อสู้ เพื่อเรียกร้องสิทธิอีกครั้ง ได้ทำหนังสือยื่นถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ แต่ก็หาได้รับความเป็นธรรมไม่ จนมาถึง ณ วันนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ได้เข้ามา หลังจากได้พูดคุยพวกเรารู้สึกว่ามีความหวังเราเคยคุยกันว่า ถึงแม้ใน สค.1 มีเนื้อที่ 20 ไร่ 30 ไร่ก็ตาม เราของสิ่งที่เหลือสิ่งปลูกสร้างของหน่วยงานรัฐ ชาวบ้านไม่ติดใจ จะได้ที่ดินเพียง 2-3 ไร่ เราก็ยอม ขอให้ได้แค่ที่อยู่ ที่กิน แต่ชาวบ้านยังไม่มั่นใจในคำพูดของผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ จึงขอให้ทางเจ้าพนักงาน ที่ดินจังหวัดสุรินทร์ บันทึกวาระการประชุมในครั้งนี้ไว้เป็นหลักฐาน

นายคราศรี กล่าวว่าชาวบ้านถูกฟ้อง คดีบุกรุกที่ดินป่าทำเลของ อบต.คอโค ประมาณ 30 กว่าครัวเรือนที่โดนฟ้อง คดีก็ยังอยู่ในการสู้กันอยู่ ปัจจุบันยังไม่มีการสืบพยาน ก่อนที่กำหนดประเด็นในการสืบพยาน ตรวจพยานหลักฐาน ทางผู้พิพากษาหัวหน้าศาลในสมัยนั้น ก็ได้มอบหมายให้ ท่านอุกฤษ์ (จำนามสกุลไม่ได้) ผู้พิพากษา ให้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างฝ่ายปกครอง กับทางประชาชน โดยศาลจังหวัดสุรินทร์ ได้เรียนเชิญ ที่ดินจังหวัด ปฏิรูปที่ดินจังหวัด กำนันตำบลคอโค นายก อบต.คอโค และนายก อบต.ตระแสง รวมทั้งชาวบ้านทั้งหมดไปหารือกัน สิ่งหนึ่งที่ทางราชการโต้แย้งมา ก็บอกว่าเป็นที่ดินของทางราชการ โดยเฉพาะ อบต.คอโคก็บอกว่าให้ไม่ได้ ไม่มีอำนาจจะเอาที่ดินของทางราชการมาให้ใคร ตนก็พยายามอธิบายให้ศาลท่านฟังว่า ชาวบ้านไม่ได้มาขอ แต่ชาวบ้านมาใช้สิทธิของเขา เพราะเขามีเอกสารสิทธิแต่เดิม ไม่ใช่จู่ๆมาบุกรุก จึงอยากให้ศาลพิจารณาให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้าน ชาวบ้านมีเอกสารสิทธิก็ควรให้ความเป็นธรรมกับเขา ก่อนที่จะมีการประกาศ นสร. ปี พ.ศ.2525 ยังไม่มีการประกาศยกเลิก สค.1 ทั้งหมด ชาวบ้านไปใช้สิทธิฟ้องที่ศาลปกครอง อ้างว่า ทางราชการออกเอกสาร ของทางราชการ คือ นสร. ปี พ.ศ.2525 ทับที่ดินชาวบ้าน แต่ปรากฏว่า คดีมันขาดอายุความ เลยมากว่า 20 ปี แต่ในความเป็นจริงยังไม่มีกระบวนการ พิสูจน์ว่า นสร.ของทางราชการ กับ สค.1 ของชาวบ้าน อะไรทับกันแน่

ซึ่งชาวบ้านเข้าใจว่า สคร.มาทำที่ดินเขาแน่นอน ในความเป็นจริงทางกฎหมาย ก็ยังมีข้อเท็จจริงทางรัฐศาสตร์ ทำไมไม่พิสูจน์กัน แล้วให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้าน นสร.ที่ไม่ทับที่ดินชาวบ้าน รับก็เอาไป วันนี้ได้ฟังจากปาก แกนนำกลุ่มชาวบ้าน จะเห็นว่าชาวบ้านก็ยอมเสียสละว่าอันไหน ที่เป็นสิ่งปลูกสร้างของทางราชการ ไปแล้ว ชาวบ้านก็ไม่ติดใจ ยินดีให้ความช่วยเหลือกับทางราชการคือ ไม่เอา จะเอาเฉพาะส่วนที่เหลือ ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าเหลือเท่าไหร่ จะให้ดีก็ขอให้มีที่ดินทำกิน มีที่อยู่อาศัย

ตนและชาวบ้านได้ยื่นหนังสือ ต่อหน่วยงานรัฐหลายครั้งแล้วแต่ก็ไม่เป็นผลไม่มีหน่วยงานไหนยื่นมือเข้ามาช่วย เพราะที่ดินพื้นนี้ตนและชุมชนชาวบ้านได้ครอบครองที่ทำกินมานานหลายสิบปีแล้ว ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย แถมยังถูกขับไล่ อีกต่างหาก ตนและกลุ่มชาวบ้านจึงไม่พอใจ จึงได้ ยื่นหนังสือเรียกร้องขอความเป็นธรรมในครั้งนี้อีกครั้ง ตนแนะนำชาวบ้านว่า เมื่อระบบตุลาการ หมดอายุความ ก็ควรจะไปพึ่งพาฝ่ายบริหาร ตามระบอบประชาธิปไตย มีฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ฝ่ายบริหารสามารถหยิบเรื่องนี้มาพิจารณาใหม่ได้ ถ้าเห็นว่า ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม แผนที่ทางอากาศ แผนที่ทหาร ข้อมูลจาการสำนักงานที่ดิน ทะเบียนที่สาธารณะก็มี ทำไมจะเอามาเทียบเคียงกับ สค.1 ไม่ได้ อะไรที่ไม่ใช่ป่าก็คืนให้เขาไป โดยเฉพาะ แผนที่ทางอากาศ ปี พ.ศ.2495 จะปรากฏชัดเลยว่า ที่ดินทำกิน ที่นา เป็นพื้นที่สี่เหลี่ยม พื้นที่ป่าก็จะมีสัญลักษณ์ว่า เป็นป่า มันสามารถพิสูจน์ได้

นายคราศรี ระบุว่าในฐานะที่เป็นทนายความอาสามาช่วยเหลือชาวบ้านตั้งแต่ต้น ในฐานะที่เป็นกรรมการสภาทนายความ ภาค 3 ครอบคลุมดูแล พื้นที่ จ.สุรินทร์ด้วย มูลเหตุที่เข้ามาช่วย เพราะชาวบ้านหมดที่พึ่ง ชาวบ้านมาร้องทุกข์ ชาวบ้านมาปรึกษา ว่าชาวบ้านกว่า 30 ครัวเรือน ได้เข้ามาทำกินในที่ดินของบรรพชน กลับถูกทางราชการ กล่าวหาว่าบุกรุกที่ ตนก็ถามว่าอ้างว่าเป็นที่ดินของบรรพชน ชาวบ้านก็ตอบว่า มีเอกสาร สค.1 ตนได้ตรวจสอบและสอบถามคนที่มีอายุมากที่สุด บนพื้นดินผืนนี้คือใคร ชาวบ้านก็ตอบว่า นายวน เย็นประโคน อายุ 90 ปี ตอนที่ถามเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ตอนที่ถามอายุประมาณ 97 ปี เมื่อตรวจเอกสารเขาก็มี เอกสาร สค.1 จริง ๆ ส่วนทางราชการอ้าง ประกาศ นสร. พ.ศ.2525 ตนก็แปลกใจทำไมออกมาทับที่ดินของประชาชน สค.1 คือ สิทธิครอบครองของประชาชน ก่อนที่จะมาครอบครองทำกินก็จะแจ้ง ผู้ปกครองท้องที่ ต้องครอบครองในที่ไม่ผิดกกหมาย และสามารถออกเอกสารสิทธิได้ ถ้าที่ครอบครองเป็นของหลวง เป็นที่สาธารณะ ทำเลเลี้ยงสัตว์ มีการประกาศเป็นที่ นสร. เป็นที่ป่าช้า หรือเป็นที่ส่วนรวมใช้ร่วมกัน มันไม่สามารถออกเป็นเอกสาร สค.1 ได้ เมื่อชาวบ้านยื่นเรื่องก่อนที่จะไปถึงอำเภอ ก็จะต้องมีผู้ใหญ่บ้านรับรอง และจะต้องมีที่ดินข้างเคียง รับรองว่า ไม่รุก ไม่ล้ำ ที่ดินของเขา ไม่ว่าจะเป็นทิศ เหนือ ใต้ ออก ตก ในที่สุดแล้วเมื่อชาวบ้านไปยื่น มีการออก สค.1 รุ่น นายวน เย็นประโคน อ้างว่าได้มรดกที่ดินจาก พ่อ แม่ เขา นั้นหมายความว่าก่อนนายวน ก็จะมีพ่อแม่เขา ครอบครองทำกินอยู่ ปี พ.ศ.2497 ที่ว่าอำเภอเมืองสุรินทร์ ก็มีการรับรองออกให้ ตามที่ชาวบ้านร้องขอ และมีการทำกิน ต่อมาพอปี พ.ศ.2524 ทางอำเภอเมืองสุรินทร์ เรียกเก็บ เอกสาร สค.1 โดยอ้างว่าจะให้ นส.3 ก หรือโฉลด ชาวบ้านก็ให้ไป ต่อมาปี พ.ศ.2525 ได้มีการประกาศเป็นที่ นสร. ซึ่งก่อนปี พ.ศ.2497 พื้นที่บริเวณนี้มีการขึ้นทะเบียน นสร.เป็นพื้นที่ป่าอยู่แล้ว ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2468 ถ้าที่ดินชาวบ้านทับพื้นที่ป่า มันออกเอกสาร สค.1 ไม่ได้แน่นอน แต่เมื่อปี พ.ศ.2525 ได้มีการประกาศเป็นที่ นสร. ครอบคลุมเอาพื้นที่ชาวบ้านไปด้วย ตนเห็นว่ามันไม่เป็นธรรม ชาวบ้านได้ลุกขึ้นมาต่อสู้ และคัดค้าน หลายคนก็ยังอยู่ แต่มันสู้อำนาจฝ่ายปกครองไม่ได้ ชาวบ้านหลายครอบครัว ต้องหนีเข้าป่าไปจับปืน เพื่อสู้กับทางการ ในป่า กลายเป็นคอมมิวนิตย์ ตนและสภาทนายความ พร้อมต่อสู้เคียงข้างชาวบ้านกลุ่มนี้ เพื่อทวงคืนผืนดินสุดท้ายของบรรพชน ของพวกเขาเหล่านี้ จนถึงที่สุด

ด้านนายกฤษณุ เหลืองพิบูลกิจ นายอำเภอเมืองสุรินทร์ กล่าวว่าในส่วนทางอำเภอเมืองสุรินทร์ ก็ไม่ได้นิ่งดูดายและเมินเฉย แต่อยากให้พี่น้องชุมชน ชาวบ้านต้องเห็นใจ ในการทำงานของหน่วยงานรัฐบ้าง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ต้องเป็นไปตามนโยบาย ผ่านกระบวนการอีกหลายขั้นตอน ซึ่งต้องมีการประชาคมอีกหลายฝ่าย เพราะเป็นพื้นที่ที่ชุมชนชาวบ้าน มาจับจองครอบครองอยู่นี้ ซึ่งเป็นพื้นที่ของสาธารณะ มิใช่ใครกลุ่มหนึ่งจะมาครอบครองก็ได้ แต่เรื่องนี้ทางอำเภอเมืองสุรินทร์ และทางท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ได้ทราบปัญหาของชุมชนชาวบ้านแล้ว น่าจะอีกไม่นานคงได้คำตอบให้ชุมชนชาวบ้าน ให้มีความพึงพอใจ คาดว่าอีกคงไม่นาน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: หอชมเมือง

Posted: 30 Jun 2017 09:23 PM PDT

@เชิญขึ้นหอ มาชมเมือง ฟังเรื่องเก่า
มองเห็นเสา ตอโฮปเวล detailสวย
เหลือบทางซ้าย เห็นหลักสี่ ที่ตั้งกรวย
รายล้อมด้วย ซุ้มมือปืน ในคืนวาน

@ราชประสงค์ มองตรงไป จำได้ดี
เลือดไหลปรี่ กลิ่นคาวคลุ้ง ทุ่งสังหาร
เห็นบ่อนไก่ ถัดไปนิด ปิดตำนาน
ทะลายด่าน ด้วยรถถัง ยังฝังใจ

@โรงพยาบาล สวยสง่า ดาดฟ้าเด่น
ฤาจะเป็น ที่พำนัก พักอาศัย
พลซุ่มยิง ได้พักผ่อน ก่อนลั่นไก
เล็งเข้าใส่ หัวเสธฯแดง แห่งชาวดิน

@โอ้นั่นไง วัดปทุม อยู่มุมขวา
ภาพติดตา ควันปืนดำ ยังจำกลิ่น
เสียงปืนรัว ร้องเรียกใคร ไม่ได้ยิน
เห็นคนดิ้น อยู่หกศพ พบเรียงราย

@ราชปรารภ พบน้องเฌอ เจอแต่ร่าง
ตลอดทาง แลทุกจุด จนสุดสาย
เล่นสงกรานต์ กันดุเดือด เลือดกระจาย
โน่นดินแดง อยู่ทางซ้าย เจ็บหลายคน

@ตึกเวิล์ดเทรด ยังสวยเด่น เธอเห็นไหม
ไม่ทันไร ทหารมา ฟ้าก็หม่น
ควันสีดำ กระจายฟุ้ง พุ่งขึ้นบน
เผาแล้วปล้น บังคับให้ จ่ายประกัน

@ถัดเข้ามา นั่นฟุตบาท ราชวิถี
มองดูซี คนเคราะห์ร้าย ตายที่นั่น
โดนรุมตี กระทืบเขา อย่างเมามัน
เมืองเทวัญ ของคนดี ผีคุ้มครอง

@ใกล้มาหน่อย ต้นมะขาม สนามหลวง
เขาเอาบ่วง แขวนคอชาย ตายสยอง
เก้าอี้ฟาด สะใจล้น คนยืนมอง
เปล่งเสียงร้อง อย่างปรีดา สาแก่ใจ

@ทุ่งพระสุเมรุ เขาเข็นร่าง เอายางเผา
เห็นไหมเล่า นักศึกษา มาจากไหน
ชายถอดเสื้อ หญิงถอดเหลือ แต่เสื้อใน
จับกุมได้ ก็ทุบตี ที่ม.ธ
.
@มองย้อนมา แยกคอกวัว ขนหัวลุก
ทหารบุก ชายชุดดำ ทำหลอกล่อ
ชายคนหนึ่ง กะโหลกอ้า น้ำตาคลอ
ราวกับจ่อ เขาล้มลง ธงกระเด็น

@ราชดำเนิน มองไกลไกล ไฟระยับ
เป็นจุดอับ ไม่สวยงาม ตามที่เห็น
หลายสิบปี มีคนตาย ไม่ว่างเว้น
เลือดกระเซ็น ปี35 พฤษภาทมิฬ

@เจ้าพระยา ไหลเนิ่นนาน สะพานพุทธ
มีหลายจุด ฆ่าอำพราง อย่างโหดหิน
สะพานแขวน ม๊อบใครหนอ รอเช็คบิล
เป็นเจ้าถิ่น จับยัดถุง พุ่งลงคลอง

@ยามชื่อยืม ไม่ลืมชื่อ คือคนรอด
เกือบจะจอด ที่สวนลุมฯ โดนรุมสอง
เห็นสวนลุม สบายตา น่าเดินมอง
ถูกทุบถอง ใส่ถุงทิ้ง ตลิ่งชัน

@สนามบิน หนองงูเห่า เอากล้องส่อง
เธอจะมอง เห็นคนดี ยึดที่นั่น
ดนตรีเพราะ อาหารดี ตีแบตกัน
ไม่กี่วัน พบศพชาย ตายเปล่าเปลือย

@นี่คือวิว ดูจากหอ ก็จะเห็น
จุดฆ่าเข่น ให้มองหา จนตาเมื่อย
ใช้ชีวิต ประชาชน จนฟุ่มเฟือย
เมืองเน่าเปื่อย มองมุมไหน ก็ไม่งาม...

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

iLaw จัดทำการ์ตูนชุดแก้ กม.บัตรทอง สื่อสาร ปชช.เข้าใจง่าย

Posted: 30 Jun 2017 08:52 PM PDT

iLaw จัดทำการ์ตูนชุด "4 ข้อเห็นด้วย 5 ข้อเห็นต่าง 7 ข้อเสนอเพิ่ม แก้ไข กม.บัตรทอง" สื่อสาร ปชช.เข้าใจง่ายต่อผลกระทบร่าง กม.บัตรทอง พร้อมห่วงทิศทางการออก/แก้ กม.ไทย ร้อยละ 90 ร่างโดยภาครัฐและหน่วยงานราชการ มุ่งแก้ปัญหาหน่วยงาน รวบอำนาจสู่ศูนย์กลาง ขาดการมีส่วนร่วมของ ปชช.

 
 
นายยิ่งชีพ อัชชานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวถึงการจัดทำการ์ตูนชุด "4 ข้อเห็นด้วย 5 ข้อเห็นต่าง 7 ข้อเสนอเพิ่ม ต่อการแก้ไข กม.บัตรทอง" โดยเผยแพร่ผ่านเฟสบุ๊ค iLaw ว่า การแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือกฎหมายบัตรทอง ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนขณะนี้ แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะสนใจเนื้อหาของการแก้ไขกฎหมายนี้ แต่ด้วยเนื้อหาที่เข้าใจยาก ถึงจะอ่านร่างกฎหมายก็ยังอาจไม่เข้าใจว่า การแก้ไขนี้จะดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร ซึ่งเราเองได้เคยผ่านสถานการณ์นี้มาก่อน และจากที่ได้ติดตามการแก้ไขกฎหมายบัตรทองที่ผ่านมาก็พอเข้าใจถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในระดับหนึ่ง ซึ่งเมื่อกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพได้มีการจัดทำคำชี้แจงความเห็นต่อการแก้ไขกฎหมายบัตรทองนี้ ใน 4 ข้อเห็นด้วย 5 ข้อเห็นต่าง 7 ข้อเสนอเพิ่มที่มีความชัดเจน ถึงจะเข้าใจได้ง่าย แต่มองว่ายังเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยากสำหรับคนที่ไม่เคยติดตามกฎหมายบัตรทองมาก่อน ดังนั้นจึงได้หยิบยกจัดทำเป็นการ์ตูน พร้อมอธิบายด้วยถ้อยคำง่ายที่ทำให้เกิดความเข้าใจ 
 
นายยิ่งชีพ กล่าวว่า การ์ตูนชุดการแก้ไขกฎหมายบัตรทองที่ทำนี้ จะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ รูปภาพการ์ตูนที่เป็นตัวแทนของประชาชน และถ้อยคำประกอบด้วยคำพูดที่ง่ายๆ แต่สื่อสารได้ชัดเจนถึงเนื้อหาที่จะมีการแก้ไข และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการแก้ไขกฎหมายบัตรทองนี้ โดยจัดทำในรูปแบบการ์ตูนเช่นเดียวกับการแก้ไขกฎหมาย 3-4 ฉบับก่อนหน้านี้ พร้อมกับการศึกษาเพิ่มเติม 
 
ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นกฎหมายที่ดี เพราะเป็นการนำงบประมาณมาดูแลรักษาพยาบาลคนไทย ช่วยให้เข้าถึงการรักษาโดยไม่ต้องกังวลต่อค่าใช้จ่ายที่แต่เดิมเป็นอุปสรรค และเชื่อว่าคงไม่มีใครค้านเพราะป็นประโยชน์ต่อประชาชน เพียงแต่การบริหารจัดการคงเป็นเรื่องลำบาก ทั้งมีความเห็นว่าต้องมองในเรื่องค่าใช้จ่ายประเทศและความมั่นคงของภาครัฐด้วย แต่ทั้งนี้ไม่ว่าอย่างไรการแก้ไขกฎหมายใดๆ ที่กระทบต่อคนส่วนใหญ่ ควรเปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียโดยเฉพาะประชาชนมีส่วนร่วมกับการแก้ไขกฎหมาย ไม่ใช่เป็นการแก้ไขโดยภาครัฐเป็นหลักแต่เพียงฝ่ายเดียว และต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ
 
"กฎหมายบัตรทองดำเนินมา 15 ปีแล้ว นับเป็นเวลาไม่มากไม่น้อย เนื้อหาของกฎหมายและร่างกฎหมายที่มีการแก้ไขเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ ยังไม่เข้าใจว่าจะมีผลกระทบกับเขาอย่างไร มีกลุ่มคนที่เข้าใจอยู่ไม่มาก และการทำความเข้าใจกับคน 48 ล้านคนถือเป็นงานใหญ่ ดังนั้นทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย จึงได้จัดทำเป็นชุดการ์ตูนเพื่อสื่อสาร ซึ่งที่ผ่านมา iLaw เป็นการทำงานที่เกียวข้องกับการออกกฎหมายที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม และ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็เป็นหนึ่งในนั้น" ผู้จัดการ iLaw กล่าว   
 
นายยิ่งชีพ กล่าวว่า กฎหมายที่ดีควรมาจากการเรียนรู้ปัญหาร่วมกัน เมื่อมีกฎหมายแล้วและมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอย่างไร คนที่มีส่วนได้เสียกับกฎหมายก็ควรที่จะได้มีส่วนในการคิดและร่างกฎหมายด้วย แต่ที่ผ่านมาการออกกฎหมายร้อยละ 90 ของประเทศไทยเป็นการร่างโดยภาครัฐและข้าราชการที่เป็นผู้ปฏิบัติ ยึดหลักการว่าหน่วยงานอยากมีอำนาจอะไรและต้องการทำอะไร โดยไม่ได้ร่างเนื้อหาจากผู้ที่ประสบปัญหาจริงๆ ซึ่งบ้านเรามีระบบการออกกฎหมายที่อันตราย เพราะป็นการออกกฎหมายโดยผู้มีอำนาจบังคับใช้ ไม่ใช่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของปัญหา
              
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองอย่างไรต่อเหตุผลของกระทรวงสาธารณสุขในการผลักดันแก้ไขกฎหมาย เพราะโรงพยาบาลประสบปัญหา นายยิ่งชีพ กล่าวว่า ภาพรวมการออกกฎหมายเราเข้าใจว่าหน่วยงานราชการว่าไม่ได้มีเจตนาร้าย เพียงแต่มีเจตนาต้องการแก้ไขกฎหมายในปัญหาที่เขากำลังเผชิญอยู่ แต่แนวโน้มการแก้ไขกฎหมายขณะนี้มีทิศทางที่หน่วยงานราชการเป็นหลักทั้งการร่างและเสนอกฎหมาย ซึ่งเป็นการออกกฎหมายที่มุ่งรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง เพิ่มอำนาจให้หน่วยงานราชการ ตัดการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นทิศทางประเทศที่น่ากังวล
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น