โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ระหว่างความจริงกับความเชื่อ: ผู้หญิงที่กำลังถูกข่มขืนมีปฏิกิริยาอย่างไร

Posted: 18 Jul 2017 11:59 AM PDT



เมื่อวานสอนวิชาสัมมนากฎหมายอาญา แล้วถามนักศึกษาว่า "พวกคุณคิดว่าผู้หญิงที่กำลังถูกข่มขืนเค้าจะมีปฏิกิริยาอย่างไร" นักศึกษาทั้งห้อง (11 คน ถามทีละคน) ซึ่งมีทั้งหญิงและชายตอบตรงกันว่าผู้หญิงก็คงจะดิ้นรน ขัดขืน และร้องเรียกให้คนช่วย คำตอบนี้ไม่แตกต่างกันกับคำตอบที่ถามในหลายๆ คลาสที่สอน และกับหลายๆคนที่พูดคุย

เรามักจะเชื่อกันอย่างนั้นเพราะส่วนใหญ่เราก็ไม่เคยถูกข่มขืน และถึงแม้ตามสถิติแล้วผู้หญิงทั่วโลกโดยเฉลี่ยทุก 1 ใน 5 คน จะเคยถูกข่มขืนหรือถูกพยายามข่มขืน แต่คนที่ผ่านประสบการณ์นี้ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ออกมาพูดให้เราฟัง เราจึงเรียนรู้ประสบการณ์แบบนี้ด้วยจินตนาการ ผ่านทางสื่อต่างๆซึ่งสร้างภาพให้เราเห็นว่าผู้หญิงที่ถูกข่มขืนจะดิ้นรนสุดกำลังและเรียกร้องให้คนมาช่วย เพื่อสร้างภาพเหยื่อให้น่าสงสารที่สุด

ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและควรต้องคุยกัน และผมไม่คิดว่าเราควรรู้สึกกระอักกระอ่วนที่ต้องพูดเรื่องความผิดเกี่ยวกับเพศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักกฎหมาย เพราะเมื่อเรามีความคาดหวังว่าผู้หญิงที่เป็นเหยื่อต้องมีปฏิกิริยาเช่นนี้ แล้วในชีวิตจริงเหยื่อนิ่งเฉยไม่โวยวาย ผู้กระทำความผิดอาจอ้างได้ว่ายินยอม เพราะถ้าไม่ยอมคงดิ้นแล้ว โวยวายแล้ว และเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้องได้ (ดู CEDAW/C/57/D/34/2011 และ CEDAW/C/46/D/18/2008) รวมทั้งเป็นการวางตราบาปให้กับผู้หญิงที่ถูกข่มขืนว่าทำไมเราไม่สู้ ทำไมเราไม่หนี ถ้าเราทำแบบนั้น ผลคงไม่เป็นแบบนี้

แล้วผู้หญิงโวยวาย ดิ้นรน และเรียกให้ช่วย..จริงหรือ? หรือถามใหม่ ในทางชีววิทยาผู้หญิงในสภาวะเช่นนั้นโวยวาย ดิ้นรน ร้องให้คนช่วยได้จริงหรือ?

คำตอบอาจทำให้ประหลาดใจ เพราะถึงแม้โดยปกติเมื่อเราเผชิญกับภยันตรายร่างกายเราจะสั่งให้เราเข้าสู่สภาวะเตรียมพร้อมที่จะสู้ หรือหนี (fight or flight) ดวงตาเปิดกว้าง ลูกตาดำกรอกด้วยความเร็ว ได้ยินเสียงทุกอย่างอย่างชัดเจน แต่ถ้าภยันตรายนั้นเป็นภยันตรายที่หนีไม่พ้น และรู้ว่าสู้ไม่สำเร็จ (สมองเราคำนวณความเป็นไปได้เร็วมากว่าจะชนะหรือแพ้ และการคำนวณนี้อยู่เหนือการควบคุมของเรา) และภยันตรายนั้นกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรง ซึ่งการคุกคามทางเพศโดยเฉพาะการข่มขืนเป็นภยันตรายที่อยู่ในกลุ่มนี้สมองจะสั่งการให้เราอยู่เฉยๆ แล้วการสั่งการนี้ไม่ใช่การแนะนำของสมองต่อร่างกายนะครับ แต่เป็นการที่สมองยึดครองร่างกายไปจากเรา เพราะตอนนั้นสมองส่วนใช้เหตุผล (prefrontal cortex) จะถูกทำให้ใช้การไม่ได้ เราจะอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถสั่งการให้ร่างกายขยับได้ตามใจ (เหมือนกวางที่ถูกเสือจ้อง) ปฏิกิริยาโดยธรรมชาติของร่างกายเมื่ออยู่ในสภาวะสิ้นหวังเช่นนั้นก็คือ จากตาที่เปิดกว้างในตอนแรกแต่ตอนนี้เราจะปิดตาลง ตัวสั่นเทา อุณหภูมิร่างกายลดลง ไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวด หมดเรี่ยวแรง และในกรณีที่รุนแรงคือเราไม่รู้สึกถึงตัวตนหรือแยกตัวตนออกจากร่างกายที่ถูกกระทำ เราเรียกปฏิกิริยาทั้งหมดนี้ว่า "tonic immobility"

แน่นอนว่าเราสามารถเอาชนะปฏิกิริยาธรรมชาติพวกนี้ ด้วยการฝึกฝนให้ร่างกายเราคุ้นเคยกับสภาวะหวาดกลัวและสิ้นหวังนั้น เหมือนทหารที่ทำให้คุ้นเคยกับเสียงดงกระสุน เมื่อสมองคุ้นชินความหวาดกลัวรูปแบบนี้ เราก็จะยังสามารถบังคับร่างกายได้ คำถามคือผู้หญิงที่เป็นเหยื่อได้ถูกฝึกหัดให้คุ้นชินกับความหวาดกลัวจากการถูกจู่โจมในทางเพศหรือไม่ ผมคิดว่าเรารู้ว่าคำตอบคือไม่ (เว้นแต่กรณีภรรยาถูกสามีข่มขืนเป็นประจำ แต่นั้นก็อาจอธิบายได้ว่าทำไมภรรยาถึงกล้าตอบโต้สามีมากกว่าผู้หญิงถูกคนแปลกหน้าจู่โจม เพราะภรรยา "อาจ" ไม่ได้หวาดกลัวสามี หรือคุ้นชินกับความหวาดกลัวนั้น เหมือนทหารที่ถูกฝึกฝน)

ผมหวังว่าเพื่อนในเฟซบุ๊ก ที่เป็นนักกฎหมายรุ่นใหม่เมื่อเป็นผู้พิพากษาแล้ว หรือที่เป็นผู้พิพากษาอยู่เมื่อเจอคดีว่าผู้หญิงไม่ร้อง ไม่หนี ไม่ดิ้น จะเข้าใจปฏิกิริยาทางธรรมชาติของร่างกายได้ดีขึ้น และไม่ตัดสินคดีตามจินตนาการว่าการที่ไม่ร้อง ไม่หนี ไม่ดิ้น แปลว่ายอม ซึ่งนั่นไม่เพียงเป็นการทำลายชีวิตคนที่ถูกทำลายมาแล้วหนึ่งครั้ง แต่ยังเป็นการส่งต่อความเชื่อผิดๆ ให้กับคนรุ่นต่อไปด้วยครับ

อย่าให้รุ่นลูกฉลาดเพียงเท่ารุ่นเรา ข่มขืนไม่ใช่เรื่องล้อเล่น



หมายเหตุ:

รายละเอียดอาการและกรณีศึกษา tonic immobility ดูเพิ่มเติมที่ Fear and the Defense Cascade: Clinical Implications and Management บทความนี้ตีพิมพ์ในวารสารจิตเวชศาสตร์ ของ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย Harvard)

ส่วนเรื่องการที่สมองส่วนการใช้เหตุผลใช้การไม่ได้เมื่อถูกโจมตีอย่างรุนแรง ดู Stress signalling pathways that impair prefrontal cortex structure and function. ตีพิม์ใน Nature Reviews Neuroscience 

ใครไม่อยากอ่านงานเขียนทางแพทย์ยาวๆ (แต่สนุกมากอ่านเถอะ)หรืออ่านเป็นพื้นความรู้ก่อน อาจอ่านได้จากบทความ Why many rape victims don't fight or yell ในหนังสือพิมพ์ที่เขียนโดยแพทย์จิตเวชเกี่ยวกับเรื่องนี้ 



เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Ronnakorn Bunmee

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: ยุติธรรมไม่ซึ่งหน้า

Posted: 18 Jul 2017 11:37 AM PDT




สนช.มีมติเอกฉันท์ 176 เสียง ผ่านร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งให้รับฟ้องได้แม้ไม่มีตัวจำเลยมายื่นฟ้อง พิจารณาและตัดสินคดีได้ แม้ไม่มีตัวจำเลยมาปรากฏต่อศาล

มี สนช.ซักถามว่าการ "พิจารณาลับหลัง" ขัดหลักความยุติธรรม ขัดกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองของสหประชาชาติหรือไม่ กรรมาธิการและ กรธ.ก็ยืนกรานว่าไม่ขัด อ้างว่าต้องใช้วิธีนี้กับผู้กระทำความผิดที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมือง ไม่เหมือนชาวบ้านทั่วไป

หลังกฎหมายผ่าน ก็มีเสียงแซ่ซ้องยกใหญ่ สุริยะใส กตะศิลา ตีปี๊บดีใจว่าต่อไปนี้นักการเมืองจะหนีศาลก็ต้องหนีทั้งชีวิต คำนูณ สิทธิสมาน ฟุ้งว่าเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ บทเฉพาะกาลจะทำให้คดีของอดีตนายกรัฐมนตรีเดินหน้าอีก 4 คดี

สุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะรองประธาน กรธ.ก็บอกว่ากฎหมายนี้ใช้กับคนโกง ไม่ได้ใช้กับคนดี แต่ไม่ใช่ต้องการเช็คบิลทักษิณ ชินวัตร เพราะบังคับใช้กับนักการเมืองทุกคน

พูดแบบคนดีกันทั้งนั้น แต่ทำเป็นลืมว่า ตอนที่ กรธ.ยกร่างกฎหมายฉบับนี้ ผู้ที่คัดค้านอย่างแข็งขันไม่ใช่พวกทักษิณหรอก แต่เป็นศาลยุติธรรม! ศาลซึ่งจะต้องทำหน้าที่พิจารณาคดีนักการเมืองตามกฎหมายนี่แหละ ศาลยืนกรานไม่ยอมรับหลักการ "พิจารณาลับหลัง" เพราะไม่สง่างาม และกระทบหลักความยุติธรรมสากล

ศาลส่งนายอธิคม อินทุภูติ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม มาแสดงความไม่เห็นด้วยกับ กรธ. ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม ฝั่ง กรธ.อ้างว่าจะให้ความเป็นธรรมนักการเมือง ไม่ให้ต่างชาติมองว่ากระบวนการยุติธรรมไทยเป็น "บ้านป่าเมืองเถื่อน" กระนั้นในการประชุมคณะกรรมาธิการครั้งสุดท้าย ก่อน สนช.ผ่านร่าง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการฯ ก็ยังสงวนความเห็นให้ตัดมาตรา 27, 28 ว่าด้วยการพิจารณาลับหลังทิ้งไป

ขนาดศาลยังไม่เห็นด้วย แต่ กรธ.สนช.เสียงข้างมากลากกันไปยัดกฎหมายใส่มือศาล แล้วมาลอยหน้าลอยตาบอกว่าไม่ขัดหลักยุติธรรม ไม่ขัดหลักสากล มันเป็นไปได้อย่างไร

หลักความยุติธรรมถือว่ากระบวนพิจารณาคดีต้องทำต่อหน้าจำเลย ต้องให้สิทธิจำเลยได้เห็นและโต้แย้งการพิจารณาคดีได้เต็มที่ เรียกว่า "Right to stand face the accused"

ถ้าพิจารณาคดีลับหลังได้ ไม่ขัดจริง ทำไมไม่ใช้กับคดีอาญาทั้งหมดล่ะ โจรปล้นฆ่า ข่มขืน ยักยอก หลอกลวง ฯลฯ ที่หลบหนีไป ถ้าเห็นว่าเป็นคนชั่วคนเลวทั้งนั้น ทำไมไม่พิจารณาคดีลับหลังทั้งหมด

อ้าวดูอย่าง "เณรคำ" ทำไมต้องรอขอตัวจากอเมริกา ทำไมไม่พิจารณาลับหลังไปเลย ก็แก้กฎหมายประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ให้พิจารณาลับหลังทุกคดีสิครับ ถ้าไม่ขัดหลัก ทำไมไม่ทำ ทำไมเลือกทำเฉพาะนักการเมือง

กฎหมายที่ศาลไทยยังไม่ยอมรับ จะให้ชาวโลกยอมรับได้อย่างไร ป่วยการพูดถึง "ปิดบัญชีทักษิณ" ถามสิ ทำไมไม่ขอตัวทักษิณกลับ ถ้าคิดว่าชาวโลกยอมรับกระบวนการยุติธรรมไทย ทำไมปล่อยให้ทักษิณไปได้ทั่ว ยุโรป อเมริกา

คดีเดิมก็มีปัญหา ไม่เป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว ยังจะให้พิจารณาลับหลังอีก 4 คดี ถามจริง มีความหมายอะไร ยังไงทักษิณก็กลับประเทศไม่ได้อยู่แล้ว ยังไงก็ขอตัวไม่ได้อยู่แล้ว ยังไงก็ขอตัวไม่ได้อยู่แล้ว มีแต่ทำให้ภาพลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมไทยต่ำตมลงไปอีกในสายตาชาวโลก

ภายในประเทศ ก็ไม่มีความหมายเช่นกัน คนที่เกลียดทักษิณก็ยิ่งปลุกความเกลียดชัง คนที่รู้สึกว่าไม่ยุติธรรมก็ยิ่งคับแค้นและเห็นอกเห็นใจตระกูลชินวัตร

 

ที่มา: https://www.kaohoon.com/content/175919

 


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วงเสวนา: อาหารริมทางต้องเชิงรุก เปิดตลาดใหม่ แนะใช้เครื่องมือออนไลน์ ทำเดลิเวอรี

Posted: 18 Jul 2017 11:00 AM PDT

เสวนาหาทางออกอาหารริมทางหลัง กทม. ประกาศจัดระเบียบ ตีโจทย์ผสานระเบียบกับเสน่ห์เมืองไทย ความสะอาดต้องจัดระเบียบ แต่ถ้าระเบียบจัดเสน่ห์หาย แนะเปิดตลาดใหม่อย่าเป็นฝ่ายนั่งรอ ขยายร้านริมทางด้วยโลกออนไลน์ เดลิเวอรีตีโจทย์จัดระเบียบ แต่ต้องเป็นมวย พร้อมลงทุนลงแรง กูรูตลาดญี่ปุ่นแนะกรอบวิเคราะห์การตลาดผ่านสินค้า ลูกค้า ข้อมูลออนไลน์ เปิดท่องเที่ยว Street Food แดนอาทิตย์อุทัยขายเอกลักษณ์

Image may contain: 6 people, people smiling, people standing

จากซ้ายไปขวา: ภาณุ อิงคะวัต กฤตินี พงษ์ธนเลิศ ก่อเกียรติ เจียรจรัส ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ธีรศานต์ สหัสสพาศน์ สหัสวรรษ ชอบชิงชัย (ที่มา:Facebook/BrandThink)

เมื่อ 17 ก.ค. ที่ผ่านมา Brandthink คลังความคิดด้านธุรกิจ จัดงานเสวนา "ThinkBowl#2 : Street Food ธุรกิจจะไม่บูดริมทาง" ณ ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ชั้น 6 โซน Food Fan มีการนำกรณีศึกษาจากก่อเกียรติ เจียรจรัส ทายาทรุ่นที่ 2 ของร้านเซี้ย หูฉลาม แห่งเยาวราช มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สหัสวรรษ ชอบชิงชัย Food Blogger ภายใต้ฉายา "หม่อมถนัดแดก" ธีรศานต์ สหัสสพาศน์ เจ้าของร้าน JM CUISINE อาหารความคิดสร้างสรรค์ต้นตำรับเพชรบุรี กฤตินี พงษ์ธนเลิศ หรือ เกตุวดี Marumura กูรูด้านการตลาดญี่ปุ่น และภาณุ อิงคะวัต Executive Creative Director บริษัท เกรฮาวด์ จำกัด

ความสะอาดต้องจัดระเบียบ แต่ถ้าระเบียบจัดเสน่ห์หาย แนะเปิดตลาดใหม่อย่าเป็นฝ่ายนั่งรอ

ธีรศานต์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญอีกสิ่งที่ร้านค้าริมทางควรปรับปรุงคือเรื่องการดูแลร้านค้าหลังร้านปิด เช่น การเทขยะหรือน้ำมันลงท่อทำให้เกิดไขมันขึ้นมา การจัดระบบระเบียบในประเด็นนี้จึงควรทำเพื่อให้การค้ามีความยั่งยืน อยู่ร่วมกันกับสังคมได้ แต่ถ้าไปจัดระเบียบมากไป เสน่ห์ของร้านค้าริมทางจะหายไป ควรปล่อยให้เป็นตามธรรมชาติบนฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

ประเด็นคือ อาหารริมทางก็มีเวลาขายดีของมันอยู่ เช่น ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ วันธรรมดาก็เงียบหน่อย วันไหนแจ็คพอตฝนตกลงมา คนหายเลยทันที ตอนเป็นเด็กผมก็เคยไปเดินขายน้ำผลไม้ คิดว่าจะได้กำไรเท่านั้นเท่านี้ พอฝนตกกลายเป็นขายไม่ได้เลย เป็นปัญหาว่า รูปแบบการรับพรีออเดอร์ล่วงหน้า คนขายอาหารริมทางจะประเมินรายได้แทบไม่ได้เลยว่าวันนี้จะมีรายได้เท่าไหร่ แต่ถ้าเราสามารถสร้างช่องทางให้ลูกค้าที่เคยเข้ามาใช้บริการผ่านรูปแบบการจัดส่ง การจอดแวะรับ หรือทำรายการอาหารพิเศษที่ถ้าใครสนใจก็สามารถโอนเงินได้เลย แล้วจะมีคนไปส่ง อันนี้จะช่วยเปลี่ยนภาพลักษณ์จากการเป็นฝ่ายนั่งรออย่างเดียว อีกอย่าง เทคโนโลยีต่างๆ แอปต่างๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือเรื่องเหล่านี้ เราสามารถไปเชื่อมได้ สร้างช่องทางของตัวเองได้จากแทนที่ลูกค้าจะมากินที่ร้านอย่างเดียว เพราะไม่งั้นฝนตก จอดรถลำบาก คนก็ไม่มาแล้ว

เจ้าของร้านดังจาก จ.เพชรบุรี ยังแนะนำว่าธุรกิจรับจัดเลี้ยงตามโรงแรมหรืองานต่างๆ กำลังเป็นที่นิยม แม้แต่คนก็ยังแย่งกันจัดงาน ตอนนี้ตามโรงแรมใหญ่ๆ เงินในการลงทุนจัดงานอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านบาท เงินมันกองอยู่ตรงนั้นอยู่แล้ว อยู่ที่เราจะไปแทรกตรงนั้นอย่างไร ตอนนี้ธุรกิจที่ทำก็มีทีมออกงานจัดเลี้ยง แล้วมันก็มีเครื่องมือออนไลน์เช่น เฟซบุ๊กแอด (Facebook Ad) ที่เราสามารถไปเซ็ตได้ว่าถ้ามีงานที่ตรงเงื่อนไขจะสามารถยิงโฆษณาหาเขาได้เลย ในวันนี้เราต้องหากระบวนการ วิธีการที่ทำให้เราเกิดรายได้ล่วงหน้าที่สามารถรับรู้ได้ชัวร์ๆ ถือเป็นรูปแบบการกระจายความเสี่ยงอีกมุมหนึ่ง

ต่อประเด็นการผสานกันของการจัดระเบียบจากภาครัฐ และการมีอยู่ของร้านอาหารริมทาง ธีรศานต์กล่าวว่า จริงๆ ภาครัฐก็จัดของเขาไปอยู่แล้ว แต่อยากให้ผู้ประกอบการอาหารริมทางหวงแหนในอาชีพของตนด้วย เดี๋ยวนี้บางทีคนทำอาหารก็ไม่ใช่คนไทยแล้ว เพราะเจ้าของรุ่นก่อนมีลูกก็ไม่ได้สืบทอด เพราะเห็นว่าเหนื่อย แต่ถ้าสืบทอดกิจการ มันก็มีวิธีที่ทำให้มีเรื่องราว มีการเล่าเรื่องที่มีคุณค่า แต่ด้วยความคิดของธุรกิจที่สังคมมองว่าต้องโต ต้องขยาย แต่ว่าจริงๆแล้ว ในคำว่าขยาย คุณทำแค่รักษาคนของคุณได้ แล้วคุณมีความรัก ภักดี ด้วยจิตใจที่ทำมา ตนคิดว่าลูกค้ารับรู้ได้ ตอนผมกลับบ้านมีอยู่ร้านหนึ่งที่จะไปซื้อกิน ร้านเปิดสี่ทุ่ม ก็ต้องพากันไปนั่งรอตั้งแต่สองทุ่ม แกก็ขายผัดสะตอ มันก็เป็นอาหารผัด น้ำมันก็เยิ้ม แต่มันก็เป็นความเคยชิน มันมีรูปแบบความผูกพันกันในแง่สังคมไทยกันอยู่ เราต้องรักษาส่วนนี้ไว้ ลูกหลานก็ต้องปรับเปลี่ยนให้มันดีขึ้น กิมมิคที่ลูกค้ารับรู้คือการรับรู้การเติบโตในทางสังคม เราต้องทำให้คนอื่นรับรู้ถึงคุณค่าเล็กๆ เหล่านี้ เพราะคนส่วนมากชอบมองข้ามสิ่งที่อยู่ตรงหน้า อยากเป็นอย่างเขา ทั้งๆ ที่เมืองนอกเวลาเขาตั้งโต๊ะร้านอาหารใช้จานสังกะสี แก้วน้ำหลอดแปลกๆ เขาทำเท่ แต่พอเมืองไทยทำแล้วกลายเป็นกระจอก มาดูถูกกันเอง

ภาณุมองว่า ถ้าดูในภาพใหญ่ การผสานระหว่างระเบียบและคงไว้ซึ่งเสน่ห์ของอาหารริมทางนั้นหาทางให้เกิดสมดุลได้ยาก ต้องอาศัยเวลาให้หาทิศทางกันสักพักหนึ่ง อย่างที่เคยเห็นตรงซอยสุขุมวิท 39 ผมเคยเห็นเมื่อก่อนนั่งกันริมถนน แล้วก็โดนขับไล่ก็ไปอยู่ที่ใต้อพาร์ตเมนท์ แล้วดูวันนี้สิ แห้วมาก เพราะมันเฟค เป็นอาหารที่หลอกล่อนักท่องเที่ยว คออาหารคนไทยไปแล้วก็เลิก โจ๊กเจ้าอร่อยก็ไม่อยู่แล้ว บะหมี่เจ้าอร่อยก็ไม่อยู่แล้ว ที่ญี่ปุ่นดีหน่อย ตรงที่ตรงไหนก็อร่อยเท่ากัน แต่ที่เมืองไทย สตรีทฟู้ดนี่เหมือนฆ่าตัวตาย สักแต่จะตั้งรถเข็นขึ้นมา สักแต่ทำ ผมยังอยากถามเลยว่าคุณเคยลองกินลูกชิ้นที่คุณขายเองมั้ยว่ามันไม่อร่อย ทำไมคุณเอามาขายได้อีก แต่เขาก็ขายไปเรื่อยๆ ไม่สนใจ ในที่สุดมันก็จะทำร้ายตัวเขาเอง ในแต่ละชุมชน คุณภาพ หรือจิตใต้สำนึกของแต่ละคนในการที่จะทำให้มันมีคุณภาพ เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ชุมชนอาหารริมทางนี้อยู่ได้หรือไม่ได้ มันเป็นเรื่องยากที่จะต้องถอยกลับมาดู จับมือกันว่า เราเป็นเจ้าอร่อยด้วยกัน ต้องหาที่ใหม่ร่วมกัน พอต่างคนต่างแยกไป มันก็เลยกระจัดกระจาย สุดท้ายแต่ละคนก็ใช่ว่าจะขายดี เป็นเรื่องน่าเศร้า

ขยายร้านริมทางด้วยโลกออนไลน์ เดลิเวอรีตีโจทย์จัดระเบียบ แต่ต้องเป็นมวย พร้อมลงทุนลงแรง

สหัสวรรษ กล่าวว่า อาหารริมทางทุกร้านมุ่งเน้นที่กำไรเป็นหลัก การที่จะได้กำไรก็คือต้องขายอาหารให้ได้เยอะที่สุดในแต่ละวัน การที่จะไปขั้นนั้นก็ต้องมีการวางเป้าหมายก่อนว่าภายในหนึ่งวันอยากได้เท่าไหร่ แล้วต้องขายกี่ห่อ กี่ถ้วย เป็นเป้าแรก แล้วเมื่อได้เป้าแรกแล้วจึงจะสามารถพัฒนาต่อไปได้ไหม ก็ต้องดูศักยภาพของร้านด้วย บางทีพื้นที่จำกัด ต่อให้ทำให้ตายก็ได้เท่านั้น ก็ต้องพัฒนา ขยายครัว ขยายคน เพิ่มศักยภาพในตัวคุณเอง แล้วถึงจะไปถึงเป้าหมายต่อไปที่ต้องการ เรื่องการพัฒนาอาหาร เป็นแค่สิ่งแรก แต่จริงๆแล้วต้องพัฒนาตัวเองก่อน ศึกษาก่อนว่าตัวเองพร้อมจะเดินไปแบบไหน การพัฒนาธุรกิจอาหารมีรูปแบบเยอะมาก แต่ทุกอย่างมันต้องศึกษาหมดเลย และทุนที่มีอยู่ เราสามารถเดินต่อได้ไหม ต้องดูว่าเราถนัดแบบไหน จะพัฒนาแบบไหน ต้องวางแผนเป็นลำดับไป

การเปิดพื้นที่ขายสู่พื้นที่ออนไลน์ว่าต่างไปจากรูปแบบการขายเดิมที่การรับลูกค้ามีจำกัดตามจำนวนที่นั่งในร้าน แต่ในระบบออนไลน์นั้นกลุ่มลูกค้ามีไม่จำกัด จึงอยู่ที่ว่าร้านจะสามารถรองรับความไม่จำกัดได้หรือเปล่า ต้องพิจารณาความพร้อม ครัวต้องขยาย ถ้าเดิมทำครัวตอนกลางคืน อาจจะได้เพิ่มมาทำตอนกลางวันด้วย ทั้งนี้ก็มีทางลัดในการนำธุรกิจสู่พื้นที่ออนไลน์ด้วยการจ้างบล็อกเกอร์มาช่วยประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักผ่านเว็บใหญ่ๆ เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วว่าถ้าอยากได้ยอดขายสูงขึ้นแล้วจะไม่ลงทุนเพิ่มขึ้นหรือไม่ลงทุนเลย ส่วนในประเด็นการจัดระเบียบอาหารริมทางนั้น ฟู้ด บล็อกเกอร์ชื่อดังแนะว่า ควรให้คนรุ่นใหม่เป็นผู้นำการจัดระเบียบ เพราะคนรุ่นเก่าอยู่กับสังคมแบบหนึ่งมา ถ้าคนรุ่นใหม่ได้จัดระเบียบ เชื่อว่าคนรุ่นต่อไปในอนาคตก็จะทำตาม

ภาณุ กล่าวถึงการเพิ่มยอดขายว่า เนื่องจากเราถูกจำกัดเนื้อที่ให้เล็กลง ยอดขายอาจจะลดลงจากจำนวนที่นั่ง จำนวนการเข้าถึงของลูกค้า ดังนั้นจึงต้องเพิ่มทั้งพื้นที่การขาย ไม่ว่าจะเป็นออนไลน์หรือระบบส่งอาหารเดลิเวอรี แต่ตนเห็นว่า ปัจจุบันช่องทางเดลิเวอรีมีความสำคัญ เพราะทุกวันนี้หลายคนไม่อยากออกมารถติด กระเสือกระสนหาที่จอดรถ โดยยกตัวอย่าง JQ ปูม้านึ่ง เดลิเวอรีอาหารทะเลที่ประสบความสำเร็จ (อ่าน "JQ ปูม้านึ่ง" จากลูกแม่ค้าแพปูสู่เดลิเวอรี่ร้อยล้าน ใน โพสท์ทูเดย์)

Executive Creative Director บริษัท เกรฮาวด์ จำกัด แนะว่า ควรมองธุรกิจให้เป็นสองรูปแบบชัดเจน ในส่วนของร้าน การเพิ่มยอดขาย เพิ่มโต๊ะ เพิ่มที่นั่ง เรียกคนเข้าร้านให้มากขึ้นก็เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าจะไปทางโซเชียล ขอให้ทิ้งคนที่ถนัดเรื่องทำอาหารรับหน้าที่ทำอาหารไป แล้วออกมาศึกษา ตั้งหน่วยขึ้นมาใหม่ เจาะลึกพฤติการณ์ตั้งแต่เปิดเพจ ติดต่อไลน์แมน(บริการรับซื้อ ส่งอาหารจากบริษัทไลน์) ทำอย่างไรจะส่งอาหารให้ไปถึงลูกค้า บรรจุภัณฑ์จะทำอย่างไรให้อาหารยังคงน่ากินเมื่อถึงมือลูกค้า มีหลายเรื่องที่จะต้องศึกษา ต้องลงทุน ลงใจ ลงความคิดให้มันออกมาดี

การใช้เครื่องมือออนไลน์นั้นต้องพิจารณาว่าจะใช้เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ หรือว่าใช้เป็นพื้นที่การขาย การเดลิเวอรี่ ถ้าเป็นพื้นที่การขายหรือการเดลิเวอรี่ โหมดการทำธุรกิจจะเปลี่ยนไป ก็ต้องพิจารณาถึงความพร้อมว่าเรื่องระบบว่ารองรับการขายแบบใหม่หรือไม่ คนโทรมาแล้วมีคนรับสายหรือไม่ ถ้าโทรแล้วไม่รับ คนโทรไม่กี่ทีก็เบื่อ หรือจะให้ไลน์แมนมานั่งรอครึ่งชั่วโมงก็ยังไม่ได้ของ เขาก็กลับ คนซื้อก็ไม่เอาแล้ว ถ้าผู้ขายไม่พร้อมก็จะเป็นการขัดขาตัวเองเสียเปล่าๆ ต้องมีระบบและทีมที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเพิ่มขนาดร้าน ขึ้นขายออนไลน์ หรือเปิดในห้าง ทั้งหมดต้องการโฟกัสที่ไม่เหมือนกัน ต้องศึกษาและพร้อมที่จะเหนื่อย

ธีรศานต์ กล่าวว่า สื่อโซเชียลและโลกออนไลน์สามารถช่วยให้ร้านอาหารริมทางที่ผูกโยงตนเองเข้ากับระบบดังกล่าวทราบฐานข้อมูลของลูกค้าที่เข้ามาร้านหรือให้ความสนใจ ซึ่งในปัจจุบันมีเครื่องมือหลายชนิดให้เลือกใช้ แต่ก็มีเงื่อนไขที่ผู้บริโภคแต่ละคน นักท่องเที่ยวแต่ละชาติอาจใช้สื่อโซเชียลคนละชนิด ในพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวจากหลายชาติอย่างเยาวราชอาจพบเจอเงื่อนไขดังกล่าวบ่อยๆ การมีประวัติร้านที่ดีหรือมีทำเลทองก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่การสร้างระบบขึ้นออนไลน์ หรือเดลิเวอรี่ ก็ต้องมีการจัดการเพิ่มเติม ต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ของการใช้โซเชียลมีเดียของตนเองว่าต้องการใช้เพียงประชาสัมพันธ์ หรือใช้เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางการขาย เช่น บริการเดลิเวอรี่ หรือโยงตัวเองเข้ากับบริษัทรับเดลิเวอรี่ เพื่อจะบริหารกิจการให้สอดคล้องกับเป้าหมาย สิ่งสำคัญก็คือ อะไรที่จะสร้างความแตกต่างให้กับร้านของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นรสชาติหรือแม้กระทั่งบรรจุภัณฑ์

กูรูตลาดญี่ปุ่นแนะกรอบวิเคราะห์การตลาดผ่านสินค้า ลูกค้า ข้อมูลออนไลน์ เปิดท่องเที่ยว Street Foodแดนอาทิตย์อุทัยขายเอกลักษณ์

กฤตินีกล่าวว่า ตนผูกพันกับร้านอาหารริมทางมาตั้งแต่เด็ก ด้วยลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างตนกับผู้ขายที่มีความเป็นกันเอง จดจำกันได้ กินง่าย เช่น ถ้าอยากกินหูฉลามที่ร้านริมทางก็สามารถสั่งได้เลย แต่ถ้าเป็นร้านอาหารใหญ่ก็จะต้องสั่งอย่างอื่นอีกเยอะแยะ

กูรูด้านการตลาดญี่ปุ่นฝากถึงผู้ประกอบการร้านอาหารริมทางว่า ผู้ประกอบการหลายคนต้องทำทั้งเรื่องการตลาดบริหารกิจการประจำวันในคนเดียวกัน อยากให้ลองพักสักวันแล้วมองรอบๆ ให้มองเห็นอนาคตข้างหน้า และยกตัวอย่างกรอบความคิดง่ายๆ ด้วย Ansoff's Matrixคือการแบ่งปัจจัยพิจาณาออกเป็นสองแกน ได้แก่ แกนลูกค้า ประกอบด้วย ลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ ในแกนสินค้าประกอบด้วย สินค้าเก่าและสินค้าใหม่ พอเอามาพิจารณาร่วมกันก็อาจจะเห็นช่องทางการค้าใหม่ เช่น จะทำให้สินค้าเก่าไปหาลูกค้ากลุ่มใหม่อย่างไร หรือจะทำสินค้าใหม่เป็นที่นิยมของกลุ่มลูกค้าเก่าอย่างไร ส่วนในแง่การสื่อสาร ทำเว็บ ทำแฟนเพจอย่างไร ให้ลองค้นหาคำว่า Content Marketing เพราะการทำเนื้อหาสำคัญมาก จะสื่อสารเรื่องราวของธุรกิจอย่างไรบนเว็บไซต์ เพราะเวลาเราขายของคงไม่มีเวลามาบอกเล่าลูกค้า ส่วนเรื่องเดลิเวอรี่ ข้อมูลนอกจากเรื่องของการเพิ่มยอดขาย แต่ยังเพิ่มโอกาสให้เข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ นอกจากคนที่เดินในที่ตั้งร้านค้า การทำการตลาดออนไลน์ยังทำให้รู้ข้อมูลของกลุ่มลูกค้าจากทางออนไลน์ว่ามีอายุเท่าไหร่ มาจากที่ไหน ออเดอร์มาจากที่ไหนบ้าง จะทำให้สามารถเลือกทำการตลาดให้สอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าได้

กฤตินียกตัวอย่างการใช้อาหารริมทางเป็นจุดขายในการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นว่า การท่องเที่ยวในพื้นที่ค้าขายอาหารริมทางนั้นได้รับการยอมรับจนเป็นวัฒนธรรม ทั้งผู้ขายและนักท่องเที่ยวต่างมีแบบแผน พิธีรีตองในการท่องเที่ยว มีกระทั่งคำแนะนำในคู่มือท่องเที่ยว ทั้งหลายร้านก็มีการออกแบบร้านเล็กๆ ให้เป็นเคาเตอร์ที่ผู้ขายและลูกค้าสามารถพูดคุยกันได้เหมือนล้อมวงกินข้าว ข้อดีของญี่ปุ่นคือมีทั้งความเป็นระเบียบและความเป็นเอกลักษณ์ ในตลาด ร้านจะมีขนาดเท่ากันหมด มีป้ายเหมือนกัน แต่ม่านหน้าร้านจะไม่เหมือนกัน นักท่องเที่ยวถ่ายรูปสวยมาก มันมีเอกลักษณ์ในระเบียบ บางร้านขายราเม็งกับไวน์ พนักงานเสิร์ฟใส่สูท บางร้านขายอาหารเป็นสีต่างๆ ซึ่งรสชาติธรรมดา แต่ว่ามีความโดดเด่นจนมีคนอยากเข้ามาลองชิมกัน หรือการออกแบบร้านราเม็งให้เป็นคอกนั่งส่วนตัวเพื่อให้ดื่มด่ำกับรสชาติโดยไม่ให้พูดคุยกับใคร นั่นก็ถือเป็นเอกลักษณ์แล้ว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปธ.ศาลอุทธรณ์ แถลงลาออกด้วยความเจ็บปวด ระบุถอยจนไม่มีที่ยืน

Posted: 18 Jul 2017 09:20 AM PDT

ศิริชัย วัฒนโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์ แถลงข่าวลาออกจากราชการ และไม่รับตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา หลังถูกพิจารณาว่าไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา ยันถอยจนไม่รู้จะถอยยังไงถอยจนไม่มีที่ยืน

18 ก.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (18 ก.ค.60) เวลาประมาณ 14.00 น. ศิริชัย วัฒนโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์ เปิดแถลงข่าวที่อาคารศาลอุทธรณ์เป็นครั้งสุดท้าย ยืนยันจะลาออกจากราชการ และไม่รับตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกาที่แต่งตั้งขึ้นใหม่ เพราะเป็นตำแหน่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตั้งขึ้นลอยๆ เป็นครั้งแรก และศักดิ์ศรีไม่เท่ากับตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ อีกทั้งตามนิติประเพณีผู้ที่เป็นประธานศาลอุทธรณ์จะได้เป็นประธานศาลฎีกา และแม้จะไม่ได้เป็นก็ยังได้อยู่ในตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์เดิม ยืนยันที่ผ่านมาได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต ขันแข็ง แต่กลับถูกตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ซึ่งตนถอยจนไม่มีที่ยืน ต้องลาออกจากราชการด้วยความเจ็บปวด โดยการแถลงข่าวครั้งนี้มีคณะผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ของศาลอุทธรณ์มาร่วมรับฟังด้วย

สำหรับการถูกพิจารณาว่าไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา ศิริชัย อธิบายว่า อาจเกี่ยวข้องกับการตัดสินคดีค้ายาเสพติดที่สั่งเพิกถอนการโอนคดียาเสพติดโดยทำให้เกิดการลงโทษคดียาเสพติดในอดีตจำนวน 3 คดีในอดีต ซึ่งจำเลยทั้ง 3 คดีก็ยอมรับคำพิพากษาโดยไม่ยื่นต่อสู้ในชั้นฎีกา ซึ่งตนเองรู้สึกเสียใจที่คณะกรรมการตัดสินเช่นนั้นเพราะตนทำงานมานาน ทางเดียวที่ทำได้คือลาออก และไม่ขอรับตำแหน่งที่ปรึกษา ประธานศาลฏีกาตามมติของคณะกรรมการศาลตุลาการ

"ผมถอยจนไม่รู้จะถอยยังไงถอยจนไม่มีที่ยืน ไม่เคยคิดว่า ชีวิตข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความขยันขันแข็ง" ศิริชัย กล่าว พร้อมระบุว่า ไม่แน่ใจว่าตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกามีหรือไม่หลังประชุม กต.เสร็จแล้วก็ให้ผู้ใหญ่มาพบให้พบเลือก 2 อย่างเป็นอาวุโสศาลอุทธรณ์หรือที่ปรึกษาประธานศาลฎีกาว่า ก็แปลกใจว่าไม่เหมือนกับที่ปฏิบัติกันมาก็อยากให้ช่วยคิดต่อว่าเป็นอย่างไร ขณะนี้ได้ยื่นใบลาออกแล้วซึ่งมีผลตั้งแต่วานนี้ (17 ก.ค.60) ซึ่งใบลาออกขึ้นอยู่กับประธานศาลฎีกาจะพิจารณาอนุมัติและการตั้งคณะกรรมการวินัยก็ดำเนินต่อไป

"การ กต.และ อนุ กต.มีหรือ อนุกต. 14-0 เสียง หากเป็นท่านจะคิดอย่างไรในการทำงานตลอดชีวิต ผมเคยคิดจะทูลเกล้าฯถวายฎีกาก็เกรงว่าจะกระทบเบื้องพระยุคลบาท มีคนบอกว่าผมถูกปล้นกลางวันแสกๆ การปล้นครั้งนี้ยังมีการทำร้ายผมด้วย ซึ่งการไม่เลือกผมเพราะไม่ใช่เรื่องอาวุโสแต่เป็นเพราะผมสั่งลงโทษผู้ต้องหาค้ายาเสพติด ผมฝากไปยังหัวหน้า คสช.ด้วยว่าจะยังอยู่ที่ระบบอาวุโสหรือไม่ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเป็นธรรมมาดูว่า ผมเลวร้ายแค่ไหนจึงถูกกระทำขนาดนี้ " ประธานศาลอุทธรณ์ ระบุ

ศิริชัย ยังกล่าวว่า ตอนนี้ก็ยังไม่ได้คิดฟ้องร้องใครเพราะฟ้องไปยังประชาชน สื่อมวลชนและหัวหน้า คสช.ให้รับทราบเมื่อตนไม่ได้รับความยุติธรรมก็คิดอยู่ทุกคนคงทราบเพราะเล่าให้ฟังทั้งหมดแล้วและตนคงต้องไป

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ครั้งที่ 13/2560 ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการโยกย้ายแต่งตั้ง ศิริชัย วัฒนโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา ในวาระ 1 ต.ค. 2560 ซึ่งคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมประจำชั้นศาลทุกชั้นศาลได้กลั่นกรองเสนอความเห็นเกี่ยวกับการเลื่อนตำแหน่งดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เพื่อประกอบการพิจารณา ที่ประชุม ก.ต. เห็นว่า ในการพิจารณาแต่งตั้งผู้บริหารจะต้องคำนึงถึงความรู้ความสามารถในการบริหารงานศาลไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าหลักอาวุโส ซึ่งเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์การแต่งตั้ง การเลื่อนตำแหน่ง การโยกย้ายแต่งตั้งและการเลื่อนเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งข้าราชการตุลาการ พ.ศ. 2554 โดยที่ประชุม ก.ต. ได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางและพิจารณาแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เห็นชอบในการแต่งตั้งให้ ศิริชัย วัฒนโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์ ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา เนื่องจากเป็นผู้ที่ไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งดังกล่าว แม้จะเป็นผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดก็ตาม
 
สำหรับ ประธานศาลฎีกา เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา ก.ต.มีมติเอกฉันท์ 14-0 เห็นชอบให้ ชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกาอาวุโสลำดับสอง ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา คนที่ 44 ต่อไป

ที่มา : สำนักข่าวไทย และไทยพีบีเอส

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมีพูห์ก็ผิด!? จีนพยายามเซนเซอร์หลังผู้นำถูกเปรียบเทียบกับ 'วินนี เดอะ พูห์'

Posted: 18 Jul 2017 07:41 AM PDT

สื่อต่างชาติเริ่มตั้งข้อสังเกตว่าทางการจีนกำลังพยายามแบนตัวการ์ตูน 'วินนี่ เดอะ พูห์' หรือที่เรียกกันว่า 'หมีพูห์' หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยมีการทำมีมตัวการ์ตูนตัวนี้เปรียบเทียบกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน พวกเขาสั่งห้ามการแสดงความคิดเห็นว่า "เจ้าหมีน้อยวินนี" ในโซเชียลมีเดียและนำสติกเกอร์ลายหมีพูห์ออก

18 ก.ค. 2560 "ไม่รู้ว่าวินนีเดอะพูห์ไปทำอะไรให้กองเซนเซอร์ของจีนโกรธ" เดอะการ์เดียนนำเสนอในข่าวของพวกเขา ทางการจีนก็ยังไม่มีคำอธิบายใดๆ เกี่ยวกับการเซนเซอร์ตัวการ์ตูนตัวนี้

โดยถึงแม้ว่าในช่วงวันจันทร์ที่ผ่านมา (17 ก.ค.) จะยังคงโพสต์รูปและเขียนคำว่าวินนีเดอะพูห์ในภาษาจีนได้ทางโซเชียลมีเดียอย่างเว่ยป๋อ แต่การแสดงความคิดเห็นด้วยคำว่า "เจ้าหมีน้อยวินนี" ซึ่งเป็นคำที่จีนใช้เรียกหมีพูห์จะทำให้เกิดข้อความระบุว่าไม่สามารถดำเนินการต่อได้เพราะ "เนื้อหานี้ผิดกฎหมาย" ในวีแช็ตก็มีการนำสติกเกอร์หมีพูห์ออก แต่ภาพเคลื่อนไหวสั้นๆ แบบ gifs ยังคงสามารถใช้ได้ 

มีการตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดถึงแบนการสื่อถึงหมีพูห์ไปบางส่วน สื่อต่างประเทศมองว่าน่าจะเป็นเพราะหมีพูห์เคยถูกนำมาเปรียบเทียบเป็นประธานาธิบดีสีจิ้นผิงมาก่อน

การเปรียบเทียบที่ว่านี้มีมาตั้งแต่ปี 2556 แล้ว เคยมีคนนำเสนอรูปของสีจิ้นผิงกำลังเดินคุยกับบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในยุคสมัยนั้น แล้วนำมาเทียบกับรูปของหมีพูห์เดินคุยกับเพื่อนเสือทิกเกอร์ ซึ่งหลังจากนั้นผู้ใช้โซเชียลมีเดียชาวจีนก็เริ่มแพร่กระจายภาพเหล่านี้ออกไปเรื่อยๆ

ในปี 2557 ก็เคยมีรูปของสีจิ้นผิงจับมือกับนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น ก็มีคนนำรูปนี้มาเทียบกับหมีพูห์กำลังจับมือกับลาหน้าตาเศร้าสร้อยที่ชื่ออีออร์ ในปี 2558 ก็มีรูปของสีจิ้นผิงยืนแสดงตัวผ่านหลังคารับแดดของรถในขบวนพาเหรด มีคนนำรูปภาพนี้มาเทียบกับรูปของเล่นหมีพูห์กำลังนั่งรถ ซึ่งสื่อวิเคราะห์การเมืองโกลบอลริสค์อินไซต์ระบุว่ารูปหลังนี้กลายเป็นรูปที่จีนเซนเซอร์บ่อยครั้งที่สุดในปีนั้น

เดอะการ์เดียนระบุว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีความอ่อนไหวมากต่อเรื่องการนำเสนอภาพในเชิงการ์ตูนของผู้นำโดยเฉพาะกับผู้นำสีจิ้นผิงที่พยายามรวบอำนาจไว้ในช่วงก่อนการประชุมประจำปีของพรรคหลังจากนี้

อย่างไรก็ตามมีผู้ใช้โซเชียลมีเดียในจีนหลายคนพยายามทดสอบว่ามีการปิดกั้นการสื่อถึงหมีพูห์นี้มากแค่ไหน มีผู้ใช้เว่ยป๋อรายหนึ่งระบุว่า "เจ้าวินนี่น้อยผู้น่าสงสาร ... เจ้าหมีบ้าน้ำผึ้งที่น่ารักตัวนี้ไปทำอะไรที่เป็นการยุยงปลุกปั่นอะไรใครหรือไง"

แม้จะดูเป็นตัวการ์ตูนน่ารักแต่ผู้นำจีนคนปัจจุบันก็ดูจะเคร่งขรึมเสียจนไม่ยอมให้เอาภาพของตัวเองไปเทียบกับตัวการ์ตูนน่ารักๆ ที่ไม่มีพิษมีภัย นี่คือสิ่งที่สตีเฟน แมคโดเนลล์ นำเสนอมุมมองไว้ในบีบีซีระบุว่าสีจิ้นผิงรักษาภาพลักษณ์ของตัวเองให้ดูเป็นคนที่ไม่ทำอะไรไร้สาระ ดูไม่มีอะไรแปลกประหลาด พยายามทำตัวให้ตัวเองดูเหมือนไม่มีความผิดพลาด อยู่เหนือทุกคนโดยที่ไม่ต้องมีใครตั้งคำถามกับเขา

ทั้งนี้แมคโดเนลล์ ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่าชาวเน็ตของจีนก็พยายามจะล้อเลียนเสียดสีรัฐบาลจีนในแบบที่พวกเขาพอจะทำได้ เช่นบล็อกเกอร์บางคนเวลาถูกเซนเซอร์พวกเขาจะใช้คำว่า "ถูกทำให้ปรองดอง" ซึ่งเป็นการเสียดสีคำพูดติดปากของผู้นำจีนคนก่อนหน้านี้หูจินเทาที่ชอบใช้คำว่า "เสริมสร้างสังคมที่ปรองดอง" อดีตผู้นำอีกคนหนึ่งคือเจียงเจ๋อหมินก็เคยเสนอทฤษฎี "สามตัวแทน" ซึ่งมีคนนำมาสลับตัวอักษรกลายเป็นนาฬิกาข้อมือสามเรือน หลังจากนั้นก็มีคนแสดงออกในเชิงเสียดสีด้วยการสวมนาฬิกาสามเรือนเพื่ออ้างว่ากำลัง "ช่วยเกื้อหนุนสังคมนิยมแบบจีน"

นอกจากนี้ยังมีกรณีการพยายามปิดกั้นการพูดถึงนักต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย หลิวเสี่ยวโป หลังจากที่เขาเสียชีวิตเมื่อไม่นานนี้โดยการบล็อกข้อความหรือรูปภาพที่ถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับตัวเขา

แมคโดนเนลล์วิเคราะห์ถึงสีจิ้นผิงอีกว่าการที่เขาพยายามบล็อกแม้กระทั่งหมีพูห์สะท้อนความพยายามควบคุมอำนาจของสีจิ้นผิงเองในการเข้าสู่ตำแหน่งสมัยที่ 2 จากการส่งเสริมคนที่ดูเป็นพันธมิตรกับเขาและกีดกันคนที่ดูเป็นภัยสำหรับเขา แต่สีจิ้นผิงเองก็สร้างศัตรูเอาไว้ภายในพรรคมากเช่นกันในช่วงที่มีการปราบปรามคอร์รัปชัน สีจิ้นผิงจังพยายามไม่ยอมให้มีช่องโหว่ใดๆ ในการจะเล่นงานเขาได้ เรื่องนี้ถึงทำให้เกิดบรรยากาศปิดกั้นในประเทศขึ้น

 

เรียบเรียงจาก

'Oh, bother': Winnie the Pooh falls foul of Chinese internet censors, The Guardian, 17-07-2017

https://www.theguardian.com/world/2017/jul/17/winnie-the-pooh-chinese-internet-censors-xi-jinping

Why China censors banned Winnie the Pooh, Stephen McDonell, BBC, 17-07-2017

http://www.bbc.com/news/blogs-china-blog-40627855

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'คนรักหลักประกัน' ยันไม่ร่วมถกวงแก้ไข ก.ม.บัตรทองที่ สธ. จัดพรุ่งนี้

Posted: 18 Jul 2017 06:29 AM PDT

กลุ่มคนหลักประกันสุขภาพ ยันไม่เข้าร่วมประชุมแก้ไขกฎหมายบัตรทองที่ สธ. พรุ่งนี้ เหตุผู้บริหาร สธ.ยังยืนยันที่จะให้ตัวแทนรพ.ขนาดใหญ่-เล็ก บางส่วนที่หนุนการแยกเงินเดือนออกจากค่าเหมาจ่ายรายหัวเข้าร่วมประชุม แต่ไม่รับข้อเสนอของทางกลุ่มที่ให้เชิญตัวแทน รพ.ในชนบทที่จะได้รับผลกระทบเข้าร่วมประชุม

ภาพจาก เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' โพสต์ข้อความว่า ตามที่ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาธร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้ทางกระทรวงนัดหารือเรื่องแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในประเด็นที่ยังเห็นต่างกัน คือ การแยกเงินเดือนออกจากค่าเหมาจ่ายรายหัว และ สัดส่วนคณะกรรมการ โดยทาง นพ.มรุต จิรเศรษฐศิริ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ นัดประชุมวันพรุ่งนี้ (19 ก.ค.60) บ่ายนั้น

สุภัทรา นาคะผิว โฆษกกลุ่มคนหลักประกันสุขภาพ เปิดเผยว่า ทางกลุ่มฯ คงไม่สามารถเข้าร่วมประชุมดังกล่าว เนื่องจากผู้บริหาร สธ.ยังยืนยันที่จะให้ตัวแทนรพ.ขนาดใหญ่และ รพ.ขนาดเล็กบางส่วนที่สนับสนุนการแยกเงินเดือนออกจากค่าเหมาจ่ายรายหัวเข้าร่วมประชุม แต่ไม่รับข้อเสนอของทางกลุ่มฯที่ให้เชิญตัวแทน รพ.ในชนบทที่จะได้รับผลกระทบจากการแยกเงินเดือนครั้งนี้เข้าร่วมประชุมด้วย

"เราขอบคุณรัฐมนตรี สธ.ที่พยายามแก้ไขความเห็นต่างด้วยการให้ความสำคัญของการพูดคุยกันโดยใช้ข้อมูลความรู้และงานวิจัยต่างๆเพื่อหาทางออกของการแก้ไขกฎหมายบัตรทองในขณะนี้ แต่จากสัดส่วนองค์ประชุมที่หัวหน้าผู้ตรวจราชการ สธ.แจ้งมา ว่าตัวแทน สธ.จะมีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในภาคกลาง 2 แห่ง และอาจเพิ่ม รพ.ขนาดเล็กในภาคกลางเข้าร่วมเท่านั้น โดยไม่ได้สนใจข้อท้วงติงของทางกลุ่มฯ ที่ขอให้เชิญตัวแทนของโรงพยาบาลในชนบททางภาคอีสานหรือ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่จะได้รับผลกระทบจากการแยกเงินเดือนออกจากค่าเหมาจ่ายรายหัวมาเข้าร่วมประชุมด้วย ทั้งที่โรงพยาบาลในชนบทเหล่านี้ก็อยู่ในสังกัด สธ. เช่นเดียวกัน และจะกระทบกับการจ้างลูกจ้างพยาบาลและสหวิชาชีพ จนส่งผลต่อการดูแลประชาชนในชนบทในที่สุด" สุภัทรา กล่าว

"แม้รัฐมนตรีจะเจตนาดีให้มีการพูดคุย หารือเพื่อหาทางออก แต่เจ้าหน้าที่ สธ.ยังคงเดินย้ำรอยเดิม เอาคนเดิมๆเข้ามาคุย ข้อสรุปคงไม่เปลี่ยน จึงเชื่อได้ว่าเจตนารมณ์รัฐมนตรีคงเป็นหมัน" โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพย้ำ

ทั้งนี้ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ยังพร้อมที่จะหารือด้วยเหตุด้วยผลและใช้ข้อมูลการศึกษาและงานวิจัยต่างๆเพื่อแก้ไขกฎหมายบัตรทองให้ดีที่สุด ซึ่งสิ่งที่ควรเป็นขณะนี้คือ ต้องแก้เฉพาะในประเด็นที่เป็นไปตามคำสั่ง มาตรา 44 ที่ 37/2559 และให้เพิ่มอำนาจหน้าที่ให้ สปสช.สามารถจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น ตามที่ได้ดำเนินการมาด้วยดีตลอด 10 กว่าปีมานี้ได้เท่านั้น ส่วนประเด็นการแยกเงินเดือนออกจากค่าเหมาจ่ายรายหัว และการเพิ่มสัดส่วนคณะกรรมการนั้น เป็นประเด็นที่ต้องไปศึกษาเพิ่มเติมเพื่อป้องกันปัญหาวิกฤติกำลังคน และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ยังไม่พึงนำมาพิจารณาในการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้

ทางด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขที่ไม่ใส่ใจผลกระทบที่จะเกิดกับ รพ.ในชนบท ทั้งที่นี่จะเป็นมหาวิกฤตสาธารณสุขครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นจากนโยบายของผู้บริหารชุดนี้

"ขอประกาศจุดยืนว่า เงินเดือนต้องอยู่ในเงินเหมาจ่ายรายหัวไม่สามารถแยกได้ เพราะหากแยกออกไปแล้วโรงพยาบาลในเมืองก็จะไม่เกิดสำนึกทางการเงิน เวลาใครขอย้ายจากชนบทไปอยู่ในเมือง เมืองก็จะรับทันทีเพราะไม่ต้องจ่ายเงินอะไร แต่ถ้ายังรวมอยู่ในรายหัวเหมือนเดิม โรงพยาบาลเมืองก็จะประเมินแล้วว่าคนของตัวเองเยอะเกิน อาจจะไม่รับเพิ่มดีกว่า ตรงนี้จะเป็นแรงช่วยดันไว้ช่วยชะลอไม่ให้แพทย์ไหลจากชนบทไปสู่เมืองได้เร็วขึ้น การกระจายบุคคลากรจะไม่เกิด แต่จะเกิดการกระจุกตัวในเขตเมือง ในชนบทจะยิ่งขาดแคลนบุคลากรมากขึ้น เงินงบประมาณด้านสุขภาพของภาคอีสานและตะวันตกจะแย่ลง คุณภาพบริการก็จะแย่ตามไปด้วย ประเด็นทางการเมืองจะตามมา และเท่ากับผู้บริหารสธ.ผลักมิตรให้เป็นศัตรูกับรัฐบาลนี้" ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผย! แรงงานไทยถูกมาเลย์จับกว่า 100 ราย หลังสิ้นสุดผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย

Posted: 18 Jul 2017 06:02 AM PDT

กระทรวงแรงงาน เตือนแรงงานไทยที่ประสงค์จะไปทำงานมาเลเซียให้ไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พบขณะนี้ แรงงานไทยถูกจับแล้ว 111 ราย  หลังทางการมาเลเซียสิ้นสุดการผ่อนผันให้กับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย 30 มิถุนายนที่ผ่านมา

18 ก.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย แจ้งว่า กรมการตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) มาเลเซียประกาศว่าได้เริ่มปฏิบัติการตรวจค้นจับกุมนายจ้างและลูกจ้างที่เป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายทั่วประเทศอย่างเข้มงวดหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการออกบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (E-Kad) ผ่อนผันให้กับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่ไม่มีหนังสือเดินทาง ตามโครงการ Rehiring Program เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยในช่วงวันที่ 1-10 กรกฎาคม 2560 สามารถจับกุมแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายได้จำนวน 3,014 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นคนไทย จำนวน 111 คนและดำเนินคดีนายจ้างแล้ว 57 ราย ทั้งนี้ ตม.มาเลเซียยังย้ำอีกว่าปฏิบัติการตรวจค้นและจับกุมอย่างเข้มงวดในครั้งนี้จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องไม่มีกำหนดสิ้นสุด

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวด้วยว่า กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานจึงขอแนะนำให้คนไทยในมาเลเซียทั้งที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างรีบดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายมาเลเซีย และขอย้ำเตือนผู้ที่ประสงค์จะไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียให้ไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อย่าลักลอบเข้าไปโดยเด็ดขาด เนื่องจากการเข้าไปทำงานในประเทศมาเลเซียในทุกอาชีพและทุกประเภทจะต้องได้รับอนุญาตให้ทำงาน (work permit) ซึ่งหากพบว่าเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย จะมีโทษรุนแรง ปรับไม่เกิน 10,000 ริงกิต หรือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับและถูกเฆี่ยน 6 ครั้ง และทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับตามระยะเวลาของโทษคือ 6 เดือน ถึง 1 ปี ปรับ 2,100 ริงกิต มากกว่า 2 ปี ถึง 6 ปี ปรับ 3,000 ริงกิต หรือทั้งจำทั้งปรับ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน 1694

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เพื่อไทย' ร้องทบทวน ก.ม.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ....

Posted: 18 Jul 2017 01:03 AM PDT

พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์ขอให้ทบทวนและแก้ไขเนื้อหาของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. .... ปมอายุความ พิจารณาคดีลับหลังจำเลย ตรากฎหมายย้อนหลังที่เป็นโทษกับบุคคล 

18 ก.ค.2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทย ได้ออกแถลงการณ์ของพรรค เรื่อง ขอให้ทบทวนและแก้ไขเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ....  แถงการณ์ ระบุถึงกรณีที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. .... เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญบางประการที่แตกต่างไปจาก ร่าง พ.ร.ป.เดิม และหลักการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องอายุความ การให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีลับหลังจำเลยและการตรากฎหมายย้อนหลังที่เป็นโทษกับบุคคล 

พรรคเพื่อไทย เห็นว่า ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 ซึ่งบัญญัติว่า "บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน" และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ข้อ 7 ซึ่งกำหนดว่า "ทุกคนเสมอภาคกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด..." ข้อ 10 ที่กำหนดว่า "ทุกคนย่อมมีสิทธิในความเสมอภาคอย่างเต็มที่ในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและเปิดเผย..." รวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 วรรคหนึ่ง ซึ่งกำหนดว่า "บุคคลทั้งปวงย่อมเสมอกันในการพิจารณาของศาลและคณะตุลาการในการพิจารณาคดีอาญา ซึ่งตนต้องหาว่ากระทำผิด..." ซึ่งประเทศไทยโดยรัฐธรรมนูญทุกฉบับได้บัญญัติรับรองและผูกพันต่อพันธกรณีระหว่างประเทศดังกล่าว รวมถึงคำประกาศของผู้นำประเทศคนปัจจุบัน และแม้แต่เนื้อหาของร่างสัญญาประชาคมก็ยังระบุไว้เช่นเดียวกัน  

พรรคเพื่อไทยมีความเห็นว่า 1. การยกเว้นไม่นำหลักเรื่องอายุความที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาซึ่งเป็นกฎหมายสาระบัญญัติมาใช้บังคับกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นการเฉพาะขัดต่อหลักที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากนี้การที่กฎหมายที่มีการกำหนดอายุความในทางอาญาหรือแม้แต่ในทางแพ่งล้วนมีเจตนารมณ์ไม่ต้องการให้นำคดีมาว่ากล่าวกันเมื่อใดก็ได้ เช่นอีก 30 ปี หรือ 50 ปี ฯลฯ ข้างหน้าซึ่งจะเป็นไปไม่ได้เลยที่คู่ความหรือผู้เกี่ยวข้องในคดีจะสามารถนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ข้อเท็จจริง เช่น พยานเอกสารอาจสูญหาย บุคคลอาจจะเสียชีวิตหรือไม่สามารถจำสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตนานๆได้อย่างถูกต้อง อันจะกระทบการต่อการอำนวยความยุติธรรมอย่างร้ายแรง การบัญญัติกฎหมายในลักษณะดังกล่าวยังทำให้เกิดความลักลั่นในการบังคับใช้และเป็นการเลือกปฏิบัติ  

2. การกำหนดให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ โดยไม่ต้องมีตัวจำเลยมาศาลหรืออยู่ในอำนาจศาล ซึ่งแตกต่างไปจากการพิจารณาคดีอาญาทั่วไป รวมถึงคดีที่อยู่ในอำนาจศาลคดีทุจริต  และประพฤติมิชอบซึ่งใช้บังคับกับข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐด้วยที่กำหนดว่าการพิจารณาและสืบพยานในศาลให้กระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย แต่ตามร่างกฎหมายนี้ กลับยกเลิกหลักการดังกล่าวโดยกำหนดให้ศาลรับฟ้องโดยไม่ต้องมีตัวจำเลยมาศาลและพิจารณาสืบพยานจนถึงการพิพากษาคดีไปได้ ทั้งที่หลักการพิจารณาและสืบพยานต้องกระทำต่อหน้าจำเลยนั้น เป็นหลักยุติธรรมสากล ที่มีขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันคุ้มครองสิทธิของจำเลยอันเป็นสาระสำคัญของหลักนิติธรรมและหลักการพื้นฐานในกระบวนการพิจารณาคดีอาญา ซึ่งหลักการดังกล่าวได้รับการรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 วรรคสาม (d) อย่างชัดเจนว่า "ในการพิจารณาคดีอาญาบุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดย่อมมีสิทธิที่จะได้รับหลักประกันขั้นต่ำดังต่อไปนี้โดยเสมอภาค... (d) สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาต่อหน้าบุคคลนั้น..." แต่ร่างกฎหมายนี้กลับยกเว้นหลักการดังกล่าว ทำให้การพิสูจน์ความจริงของศาลสามารถกระทำได้เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ต้องฟังความจากฝ่ายจำเลยแต่ประการใด การกำหนดเช่นนี้ยังขัดต่อหลักความเสมอภาคตามที่กล่าวไว้ในข้อ 1 อีกด้วย 

3. การกำหนดให้ร่างกฎหมายนี้มีผลใช้บังคับย้อนหลังทั้งๆ ที่ร่างเดิมของ กรธ. ไม่ได้กำหนด จึงเป็นการตรากฎหมายที่มีผลย้อนหลังเป็นโทษต่อบุคคล ซึ่งขัดกับหลักนิติธรรมอย่างชัดเจน แม้จะอ้างว่าเป็นเรื่องของวิธีพิจารณาแต่ก็ไม่สามารถทำได้เพราะว่าเรื่องอายุความก็ดี การพิจารณาคดีที่ต้องทำต่อหน้าจำเลยก็ดี หากบัญญัติกฎหมายฉบับใหม่ย้อนหลังไปใช้บังคับอันมีลักษณะเป็นการจำกัดตัดสิทธิจำเลยเพื่อทำให้จำเลยเสียเปรียบในคดีอาญา ย่อมถือว่าเป็นการตรากฎหมายย้อนหลังเป็นโทษทั้งสิ้น  

"การทุจริตและประพฤติมิชอบนั้นเป็นภัยอันร้ายแรงของชาติ และเห็นด้วยต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในทุกรูปแบบแต่จะต้องกระทำโดยยึดหลักนิติธรรม รัฐธรรมนูญและพันธะกรณีระหว่างประเทศโดยเคร่งครัดตามที่กล่าวมาข้างต้น เพราะมิเช่นนั้นจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาอย่างร้ายแรงและไม่เป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ ซึ่งพรรคจะได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอไปยังองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อพิจารณาต่อไป ขณะเดียวกันก็จะทำหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ด้วย" แถลงการณ์ พรรคเพื่อไทย ระบุตนท้าย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จีนปิดกั้นการพูดถึง 'หลิวเสี่ยวโป' ทางอินเทอร์เน็ตหลังเสียชีวิต

Posted: 17 Jul 2017 11:44 PM PDT

หลังการเสียชีวิตของ หลิวเสี่ยวโป นักกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลจีนคนสำคัญ ศูนย์วิจัยในต่างประเทศทำการทดสอบ พบว่าโซเชียลมีเดียและโปรแกรมสนทนาของจีนมีการบล็อกชื่อของหลิวเสี่ยวโปรวมถึงคำที่เกี่ยวข้องกับตัวเขา รวมถึงบล็อกรูปภาพในโปรแกรมแชทด้วย

 
 
ภาพการทดลองส่งรูปภาพ และชื่อของหลิวเสี่ยวโปเป็นภาษาจีนและอังกฤษบนแอปพลิเคชันวีแชท จะเห็นว่าชื่อ และรูปภาพไปไม่ถึงผู้รับ (ที่มา:citizenlab.ca)
 
17 ก.ค. 2560 หลังจากการเสียชีวิตของ หลิวเสี่ยวโป นักเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในจีนที่เคยได้รับเสนอชื่อเข้ารับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าทางการจีนพยายามเซนเซอร์การพูดถึงหลิวเสี่ยวโป รวมถึงคำอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเสียชีวิตของเขา ทางซิติเซนแล็บ ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยของวิทยาลัยกิจการนานาชาติแห่งมุงค์ มหาวิทยาลัยแห่งโตรอนโต ได้ทำการทดลองในเรื่องการเซนเซอร์ของรัฐบาลจีน พบว่ามีการเซนเซอร์การพูดถึงหลิวเสี่ยวโปอยู่จริง
 
หลิวเสี่ยวโปเสียชีวิตจากโรคมะเร็งระยะสุดท้ายขณะอยู่ในการคุมขังโดยทางการจีน ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนที่แล้วทางการจีนเพิ่งเปิดเผยว่าหลิวเสี่ยวโปเป็นโรคมะเร็งและส่งตัวไปรับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งทั้งๆ ที่เขาป่วยมาก่อนหน้านี้แล้ว จนกระทั่งหลิวเสี่ยวโปเสียชีวิตท่ามกลางการประณามของนานาชาติในเรื่องที่จีนไม่ยอมให้เขาได้ไปรักษาตัวที่ต่างประเทศ
 
เรื่องราวการเสียชีวิตของหลิวเสี่ยวโปมีการนำเสนอทั่วไปในสื่อนอกประเทศจีน แต่ในจีนเองมีการเซนเซอร์คำบางคำที่เกี่ยวข้องกับหลิวเสี่ยวโปในโปรแกรมแช็ตและโซเชียลมีเดียต่างๆ จากจีน ไม่ว่าจะเป็นวีแช็ต (WeChat) หรือเว่ยป๋อ (Weibo) จากเดิมที่บริการสื่อสารเหล่านี้สั่งห้ามพูดถึงหลิวเสี่ยวโปอยู่แล้ว แต่ก็มีการเซนเซอร์หนักขึ้นหลังการเสียชีวิต
 
ซิติเซนแล็บทดสอบพบว่าจีนบล็อกชื่อหลิวเสี่ยวโปในวีแช็ตทั้งภาษาจีนแบบตัวอักขระจีนแผ่นดินใหญ่และจีนแผ่นดินใหญ่ รวมถึงภาษาอังกฤษด้วย นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกที่มีการห้ามส่งภาพผ่านแช็ต ส่วนโซเชียลมีเดียจีนอย่างเว่ยป๋อสั่งห้ามการค้นหาชื่อหลิวเสี่ยวโปทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษและเพิ่มการเซนเซอร์ถึงขั้นห้ามค้นหาชื่อ "เสี่ยวโป" เปล่าๆ อย่างไรก็ตามซิติเซนแล็บสันนิษฐานว่าการเซนเซอร์เหล่านี้ก็ไม่ทำให้ผู้ใช้เลิกสนใจเกี่ยวกับเรื่องของหลิวเสี่ยวโปได้ แต่จะพยายามหาคีย์เวิร์ดอื่นๆ ในการต้นหาเนื้อหาที่เกี่ยวกับหลิวเสี่ยวโปต่อไป
 
ไม่เพียงแค่ชื่อของหลิวเสี่ยวโปเท่านั้นซิติเซนแล็บยังรายงานอีกว่ามีการเซนเซอร์คำที่เกี่ยวข้องกับหลิวเสี่ยวโปอย่างคำว่า "กฎบัตร 08" ซึ่งเป็นแถลงการณ์ต่อต้านรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน เรียกร้องประชาธิปไตยที่ทำให้หลิวเสี่ยวโปถูกจับกุมเพราะถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับแถลงการณ์นี้ ซิติเซนแล็บระบุว่าการเสียชีวิตของหลิวเสี่ยวโปกลายเป็นสิ่งที่อ่อนไหวทางการเมืองสำหรับพรรคคอมมิวนิสต์จีนเทียบกับการเสียชีวิตของหูเย่าปัง อดีตผู้นำพรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งการเสียชีวิตของเขาเป็นหนึ่งในชนวนให้เกิดการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน
 
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจคำสำคัญต่างๆ ที่รัฐบาลจีนห้ามค้นหา ซิติเซนแล็บพบว่ารัฐบาลจีนรู้สึกอ่อนไหวมาตั้งแต่เรื่องการป่วยของหลิวเสี่ยวโปแล้ว พวกเขาพยายามควบคุมการบรรยายเรื่องราวการป่วยของหลิวเสี่ยวโปมาตลอด มีการควบคุมการเข้าพบหลิวเสี่ยวโปเป็นการส่วนตัวอย่างเข้มงวดและไม่ยอมให้ไปรักษาตัวต่างประเทศ
 
จากการทดสอบของซิติเซ่นแล็บยังพบว่า นอกจากการบล็อกข้อความแล้ว ทางการจีนยังบล็อกการโพสต์รูปของหลิวเสี่ยวโปด้วยไม่ว่าเป็นรูปถ่ายหรือรูปที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวข้องกับตัวเขาอย่างรูปการ์ตูนของเก้าอี้ว่างเปล่าที่ผู้วาดต้องการสื่อถึงการที่หลิวเสี่ยวโปไม่ได้มีโอกาสไปเข้าร่วมงานประกาศผลรางวัลโนเบล
 
ซิติเซนแล็บสรุปว่าจากงานศึกษาก่อนหน้านี้และเอกสารคำสั่งที่รั่วไหลของทางการจีนทำให้พบว่าผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียในจีนถูกกดดันจากรัฐบาลหนักขึ้นให้ต้องเซนเซอร์เหตุการณ์ที่ดูอ่อนไหวต่อรัฐบาลหรือเป็นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลรวมถึงในกรณีของหลิวเสี่ยวโปด้วย พวกเขายังวิเคราะห์อีกว่าเหตุที่ทางการจีนแบนเรื่องนี้เพราะทางการจีนกลัวว่าอาจจะมีการเคลื่อนไหวรวมตัวกันของประชาชน ขณะเดียวกันก็เป็นการพยายามรักษาหน้าตาของเจ้าหน้าที่ทางการจีนที่ไม่อยากอับอายเพราะเรื่องนี้ด้วย
 
เรียบเรียงจาก
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ตัดพ้อแก้ปัญหา 3 ปี ยังถูกกล่าวหาเดิมๆ ว่า 'เศรษฐกิจตกต่ำ-เอื้อประโยชน์กับกลุ่มต่างๆ'

Posted: 17 Jul 2017 11:20 PM PDT

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตัดพ้อแก้ปัญหามาตลอด 3 ปี แต่กลับต้องมาเจอการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเก่าๆ ที่ถูกกล่าวหาว่าเศรษฐกิจตกต่ำและกล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์กับกลุ่มต่างๆ ชี้แก้ปัญหาต้องทำทั้งรายใหญ่และรายย่อยเพื่อจะเจริญเติบโตไปด้วยกัน

ภาพจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

18 ก.ค. 2560 สื่อหลายสำนัก เช่น ไทยรัฐออนไลน์ มติชนออนไลน์ และผู้จัดการออนไลน์รายงานตรงกันว่า วันนี้ (18 ก.ค.60) เวลา 09.00 น. ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยระหว่างเดินไปยังตึกบัญชาการ 1 ผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายกฯถึงวาระการแต่งตั้งปลัดกระทรวงมหาดไทยจะเข้าที่ประชุม ครม.วันนี้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพียงว่า "ไม่รู้"

จากนั้น พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำคณะเข้าพบนายกฯ เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ในการเก็บรวบรวมของเสียอันตรายจากชุมชน ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้แนวทาง "ประชารัฐร่วมใจแยกทิ้งขยะอันตราย" โดยนายกฯได้กล่าวว่า ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันทำสิ่งดี ๆ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม และประเทศชาติ ถ้าทุกคนร่วมมือกันประเทศชาติก็จะแข็งแรง

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวหยอกล้อกับ จตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ด้วยว่า ทำตู้แยกขยะอันตราย ต้องทำช่องเปิดให้กว้างกว่านี้เพื่อที่จะทิ้งขยะคนได้ ส่วนตู้โมเดลที่ให้มาต้องนำไปทิ้งขยะใจ

"ผมแก้ปัญหาต่างๆ มาตลอด 3 ปี แต่กลับต้องมาเจอการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเก่าๆ ที่ถูกกล่าวหาว่าเศรษฐกิจตกต่ำและกล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์กับกลุ่มต่างๆ ซึ่งมองว่าเป็นการพูดแบบเดิมๆ ดังนั้นการแก้ปัญหาต้องทำทั้งรายใหญ่และรายย่อยเพื่อจะเจริญเติบโตไปด้วยกัน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว ตัดพ้อ
 
จากนั้น จิรชัย มูลทองโร่ย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นำคณะเทศบาลพระงาม ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมืองฯ จังหวัดลพบุรี เข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานผลการเข้าร่วมประชุมและการเข้ารับรางวัล UNPSA ประจำปี ค.ศ. 2017 สาขานวัตกรรมและความเป็นเลิศในการให้บริการด้านสุขภาพของภูมิภาคเอเชียและเอเชียแปซิฟิก
 
ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งถึงวันกรรมกรสากล และสภาวะเศรษฐกิจของไทยในขณะนี้ โดยระบุว่ารัฐบาลมีนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวกับแรงงาน ทั้ง ด้านสุขภาพ ด้านสวัสดิการสังคม  ด้านพัฒนาฝีมือแรงงานและความมั่นคงในอาชีพ พร้อมทั้งยืนยันว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น อย่างต่อเนื่อง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: การเปลี่ยนแปลง

Posted: 17 Jul 2017 10:41 PM PDT



ปัจเจกชนกระดกความยุติธรรมราคาถูกจนหมดจอก
ตบตูดด้วยเสรีภาพแช่น้ำแข็ง
ขากถุยประชาธิปไตยเหนียวหนืดลงพื้น
กัดแกล้มความเสมอภาคสองแก่นจิ้มเกลือ
จุดภราดรภาพมวนแรกดูด
พ่นทุนนิยมเสรีใหม่สีเทาละมุนอวลร้านเหล้าตอง
วีรชนเอกชนชูสามนิ้วเป็นสัญญาประชาคมว่าตองที่สามแล้ว
ความเท่าเทียมนอนอยู่ก้นขวด
ปิตุภูมิเอนเอียงตามจำนวนก้านไม้ขีดเรียงขอบบาร์
อุดมคติพร่ามัวอย่างเห็นได้ชัด
ปัจเจกชนกระดกความยุติธรรมราคาถูกเกลี้ยงขวด
เสรีภาพไม่มีความจำเป็น ณ เพลานี้
ภราดรภาพมวนสุดท้ายหักงอยับย่น
ทั้งนายทุน ขุนศึก ศักดินา ตีขย้อนกระอักกระอ่วนอยู่ในท้อง
กี่นครามิอาจยับยั้ง
ศัตรูภายในนั้นใหญ่หลวง
วีรชนเอกชนหน้าแดงก่ำเกินต้านทาน
สัจจะทั้งหมดทั้งมวนพวยพุ่งออกมาอย่างเป็นธรรม
ปัจเจกชนฟุบหน้าลงท่อนแขน
เผด็จการไหลเยิ้มหยึดเป็นทาง
นายทุนน้อยยืนส่ายหัวเอือมระอา
นักปฏิวัติส่ายหางดิกๆ แลบลิ้นเลียความเปลี่ยนแปลงแผล็บๆ

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความใจแคบทางการเมืองของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ (บางส่วน)

Posted: 17 Jul 2017 09:58 PM PDT

 


เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้อ่านบทความ "ความเฉื่อยชาทางการเมืองของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ" ซึ่งเขียนโดยนิสิตปีสองของคณะ หลังอ่านจบข้าพเจ้าก็เกิดคำถามขึ้นว่า เหตุใดในยุคที่นิสิตคณะรัฐศาสตร์ท่านหนึ่งสามารถก้าวขึ้นไปเป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯ ได้ภายในระยะเวลาเพียงสองภาคการศึกษา อีกทั้งยังสามารถจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่เรียกเสียงฮือฮาได้จากทั้งใน และต่างประเทศ ยังถูกหาว่าเฉื่อยชาทางการเมืองได้ หากเป็นเช่นนั้น ในสมัยของข้าพเจ้าที่แทบไม่มีกิจกรรมใดๆ เลย นอกจากงานเสวนาเล็กๆ ที่จัดโดยกลุ่มหรือชมรม ตามโอกาส ตามความสะดวก คงถูกเรียกว่า ตายด้านทางการเมืองเป็นแน่แท้ แต่ข้าพเจ้าก็มั่นใจว่าความตื่นตัวทางการเมืองของข้าพเจ้าก็มิได้ยิ่งหย่อนไปกว่าตัวผู้เขียนบทความเท่าใดนัก ข้าพเจ้าจึงอยากจะสนทนากับผู้เขียนบทความข้างต้นเล็กน้อย ด้วยหวังว่าท่านจะอ่านด้วยจิตอันมีไมตรี

ผู้เขียนได้พูดถึงเรื่อง "อำนาจมิติที่ 3" ซึ่งถือเป็นวิชาเบิกเนตรของนิสิตชั้นปีที่หนึ่ง ผู้เขียนได้อธิบายทฤษฎีดังกล่าวได้อย่างถูกต้องแม่นยำราวกับกางตำราเขียน แต่ถึงกระนั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าผู้เขียนคงจะหลงลืมหนึ่งในแนวคิดจากวิชาเบิกเนตรดังกล่าวที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือความแตกต่างระหว่าง อัตตวิสัย (subjectivity) และ วัตถุวิสัย (objectivity) ข้าพเจ้าไม่อยากใช้คำใหญ่คำโต จึงขอเรียกอัตตวิสัยว่า "มุมมองแบบมีอคติ" ส่วนวัตถุวิสัยว่า "มุมมองแบบปราศจากอคติ" ซึ่งข้าพเจ้าคงไม่ต้องอธิบายอะไรเพิ่มเติม

เหตุใดข้าพเจ้าจึงมองว่าสองแนวคิดนี้สำคัญ เนื่องจากเมื่อเราเข้าใจแก่นของอำนาจมิติที่สาม เมื่อเราเข้าใจว่าทุกความเชื่อ ค่านิยม และอุดมการณ์ที่เราเคยยึดถือมาตั้งแต่จำความได้ล้วนหลอกลวงและโป้ปด สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือเรามักจะอัญเชิญอุดมการณ์อื่นๆ เข้ามาแทนที่อุดมการณ์ที่โป้ปดนั้น อาจจะเป็นเสรีนิยม ประชาธิปไตย สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ หรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วเราก็จะยึดมันเป็นสารณะ ว่านี่แหละถูกต้อง นี่แหละจริงแท้ เชื่อว่ามันคือสิ่งถูกต้องอย่างเป็น "วัตถุวิสัย" โดยหารู้ไม่ว่าเราได้ตกไปอยู่ใต้อำนาจมิติที่สามอีกชุดหนึ่งไปแล้วโดยปริยาย

มาถึงตรงนี้อาจเกิดคำถามว่า แล้วมุมมองแบบใดถือเป็นมุมมองส่วนบุคคล และแบบใดถือว่าปราศจากอคติ ซึ่งคำตอบของข้าพเจ้าก็คือ "มุมมองแบบปราศจากอคตินั้นไม่มีอยู่จริง" แม้วิทยาศาสตร์ซึ่งดูเป็นตัวแทนของความจริงแท้ไร้ซึ่งอคติ ก็ยังหนีไม่พ้นอิทธิพลของอคติทางสังคม อย่าลืมว่าในอดีต การแพทย์ตะวันตกเคยถือว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศคือผู้พิการทางจิต และความต้องการทางเพศของผู้หญิงถือเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษา การพึงระลึกอยู่เสมอว่าความเชื่อของเรามิใช่ความจริงแท้จึงสำคัญเสียยิ่งกว่าการตระหนักในอุดมการณ์ที่ครอบงำเราอยู่เสียอีก

ที่กล่าวมาข้างต้นคือข้อถกเถียงระดับทฤษฎี ต่อไปนี้คือข้อถกเถียงรายประเด็น

ประการแรก ผู้อ่านมองว่าในขณะที่คณะรัฐศาสตร์สอนเรื่อง "ความตระหนักในความเท่าเทียมในเรื่องหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน หรือเรื่องสิทธิมนุษยชน" แต่นิสิตในคณะ (ผู้อ่านใช้คำว่า "พวกเขา" เรากับตนเองมิใช่นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ) "เรียนไปในลักษณะ รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม ไม่มีการนำองค์ความรู้ที่เรียนไปทดสอบว่า ปฏิบัติได้จริง" คำถามแรกของข้าพเจ้าคือ วิธีการใดกันที่จะสามารถพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่คณะรัฐศาสตร์สอนนั้น "ปฏิบัติได้จริง" ตามที่ผู้เขียนกล่าว เพราะองค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์ที่ผู้เขียนยกมานั้น เป็นเรื่องของชุดคุณค่า และอุดมคติเสียส่วนใหญ่ หากใช้ศัพท์แสงของผู้เขียนคือ เป็นเรื่องของ "What ought to be" มันจึงมิใช่สิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้ดั่งองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ที่ฟันธงได้ว่าโลกโคจรรอบพระอาทิตย์

แต่ถึงกระนั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่าสิ่งที่ผู้เขียนพยายามจะสื่อก็คือ นิสิตคณะรัฐศาสตร์ ไม่ยอมออกมาทำกิจกรรมทางการเมือง จึงมองว่าไม่ได้ใช้องค์ความรู้ที่เรียนมา หากนี่คือสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อ ข้าพเจ้าต้องขอกล่าวว่าผู้เขียนยังไม่ประสบความสำเร็จในเรียนรัฐศาสตร์ เพราะรัฐศาสตร์ไม่ได้สอนเพียงแค่ ประชาธิปไตย ความเท่าเทียม หรือ สิทธิมนุษยชน หากเป็นเช่นนั้นรัฐศาสตร์ก็ไม่ต่างจากการท่องสูตรคูณเป็นนกแก้วนกขุนทอง ตรงกันข้าม รัฐศาสตร์สอนวิธีการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมและการเมือง เข้าใจว่าเหตุใดจึงเกิดเสื้อเหลือง เสื้อแดง เหตุใดจึงเกิดการรัฐประหาร เหตุใดจึงมีการถอนหมุดคณะราษฎร์ การตอบคำถามเหล่านี้ต้องอาศัยองค์ความรู้และสติปัญญามากกว่าการพร่ำบ่นว่า "รัฐประหารเป็นศัตรูต่อประชาธิปไตย" มากนัก แน่นอน ข้าพเจ้าเห็นด้วยว่า "รัฐประหารเป็นศัตรูต่อประชาธิปไตย" แต่รัฐศาสตร์สอนให้ข้าพเจ้าทำความเข้าใจมันให้ลึกซึ้งเข้าไปอีก เข้าใจจนถึงต้นตอของการรัฐประหาร และค้นหา "วิธีการ" ที่จะป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นอีกในอนาคต

ข้าพเจ้าเชื่อว่านิสิตคณะรัฐศาสตร์ส่วนใหญ่คงตระหนักดีว่า "รัฐประหารเป็นศัตรูต่อประชาธิปไตย" (หาไม่แล้ว คณะนี้คงจะล้มเหลวโดยสิ้นเชิง) แต่ "วิธีการ" ที่แต่ละคนใช้ย่อมต่างกัน ตามแต่เงื่อนไขทางสังคมของแต่ละคน และ วิธีการวิเคราะห์ (approach) ของแต่ละคน นิสิตบางคนอาจศรัทธาประชาธิปไตย แต่ฐานะทางเศรษฐกิจทำให้พวกเขาไม่สามารถออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ เช่น ต้องช่วยแม่ขายปาท่องโก๋ เลยไปเคลื่อนไหวไม่ได้ หรือนิสิตที่ศรัทธาประชาธิปไตยบางส่วนอาจจะวิเคราะห์มาอย่างแยบยลแล้วว่า การเคลื่อนไหวในรูปแบบกระบวนการนักศึกษานั้นไม่สามารถสั่นคลอนระบอบอำนาจนิยมของประเทศนี้ได้ สู้รักษาประวัติของตนให้ขาวสะอาด แล้วสมัครเข้าไปทำงานราชการเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบจากภายในจะไม่ฉ,าดกว่าหรือ ท่านกล้าหาญมาจากไหนกันจึงตัดสินว่าผู้ที่ไม่ออกมาเคลื่อนไหวนั้น "เฉื่อยชา" ทางการเมือง  ท่านกำลังมองว่าวิธีการเปลี่ยนแปลงสังคมของท่านนั้นดีที่สุด และนิสิตท่านอื่นต้องเชื่อเช่นนั้น ปฏิบัติเช่นนั้น ไม่สำคัญว่าเงื่อนไขทางสังคมของพวกเขาคืออะไร "ท่านใจแคบไปหรือไม่?"

ในแง่หนึ่ง ตัวผู้เขียนก็ตระหนักดีว่าพฤติกรรม "ความเฉื่อยชาทางการเมือง" นี้ ในแง่หนึ่งเป็นผลมาจากการที่สังคมไทยยังคงอยู่ในระบอบอำนาจนิยม แต่คำถามของข้าพเจ้าคือ ในเมื่อผู้เขียนเล็งเห็นถึงปัญหาในเชิงโครงสร้างได้อย่างลึกซึ่งถึงเพียงนี้ เหตุใดยังคงโยนบาปให้กับปัจเจกเสียเอง ทั้งๆ ที่พวกเขาก็เป็นเหยื่อของโครงสร้างอันบัดซบนี้ไม่ต่างจากท่าน

ประการที่สอง ผู้เขียนกล่าวว่า "ข้าพเจ้าเคยประสบกับเหตุการณ์ที่มีนิสิตจำนวนหนึ่งนิยมแนวคิดสังคมนิยม (Socialism) ตามทฤษฎีมาร์กซิสต์ แสดงตนว่าต่อต้านระบบทุนนิยมและระบบชนชั้นที่สร้างโดยพวกนายทุน แต่ตนเองกลับไม่กล้าวิจารณ์หรือแสดงออกต่อต้านนายทุนในสังคมที่กำลังกระทำการไม่ชอบธรรมอย่างเปิดเผย ออกแนวเป็นชาวมาร์กซิสต์ตามกระแสเสียมากกว่า" เมื่ออ่านถึงตรงนี้ ข้าพเจ้าก็ตระหนักได้ว่า คนประเภทนี้มันมีอยู่ทุกรุ่นทุกสมัยจริงๆ

เปล่า ข้าพเจ้ามิได้หมายถึงเหล่า มาร์กซิสต์ตามกระแสที่ผู้เขียนพูดถึง ข้าพเจ้ากำลังพูดถึง เหล่ามาร์กซิสต์ "จริงแท้" ที่มักพิสูจน์ความจริงแท้ของตนโดยการแปะป้ายว่าผู้อื่นว่าเป็นของปลอม หากผู้เขียนเป็นมาร์กซิสต์จริงแท้ ข้าพเจ้าคงไม่มีโอกาสได้อ่านข้อเขียนของท่าน เพราะท่านคงจะกำลังง้วนอยู่กับการจัดตั้งมวลชนตามต่างจังหวัดกับเหล่าชาวนาและกรรมกรโรงงาน หรือไม่ก็กำลังถือปืนสู้กับรัฐไทย

สำหรับข้าพเจ้า การศึกษาแนวคิดสังคมนิยมของคณะรัฐศาสตร์มิได้มีจุดประสงค์เพื่อให้นิสิตออกไปปฏิวัติสังคมให้เป็นคอมมิวนิสต์ แต่เราศึกษามันในฐานะ "แว่น" ในการมองสังคม สังคมนิยมทำให้เราสามารถมองเห็นปัญหาความไม่เท่าเทียมของระบบทุนนิยม ซึ่งเราเคยเชื่อว่ามันเป็นระบบทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุดสำหรับมนุษยชาติ สังคมนิยมมทำให้เราเห็นอกเห็นใจเหยื่อของระบบทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นแรงงาน ขอทาน หรือโสเภณี ทำให้เรามองพวกเขาในฐานะเหยื่อของระบบอันฟอนเฟะและต้องการความช่วยเหลือเอื้ออาทร มิใช่แค่เหล่าผู้เกียจคร้านที่ไม่ควรได้สวัสดิการใดๆ จากรัฐ แน่นอน ท่านอาจโต้แย้งว่าหากทำเช่นนั้นก็เท่ากับยอมประนีประนอมกับระบอบทุนนิยม แต่คำถามคือ ในเมื่อระบบทุนนิยมยังคงดำรงอยู่ และจะไม่มีทางล่มสลายไปในระยะเวลาอันสั้น เราก็ควรจะผลิตมนุษย์ที่มองเห็นความอยุติธรรมของมันบ้างแม้เพียงเล็กน้อยก็ยังดีมิใช่หรือ?

เมื่อพูดเช่นนี้ท่านผู้เขียนอาจจะโต้แย้งว่า "ใครบอกว่าข้าพเจ้าเป็นมาร์กซิสต์จริงแท้ ข้าพเจ้ากำลัง 'กังขาว่าการศึกษาคณะนี้สอนให้เรามีแนวคิดเป็นของตนเอง หรือสอนให้เรามีแนวคิดตามที่อาจารย์สอนครั้งล่าสุด?" ซึ่งข้าพเจ้าก็จะตอบว่านั่นไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอันใด หากจะพูดแบบอ้างอาวุโส แม้กระทั่งตอนข้าพเจ้าเรียนอยู่ปี 4 แนวคิดของข้าพเจ้าก็ยังคงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพราะแนวคิดย่อมของเราย่อมเปลี่ยนแปลงได้เมื่อเราเจอแนวคิดใหม่ที่ดีกว่า หรือสมเหตุสมผลกว่า การไม่ยอมเปลี่ยนแปลงต่างหาก คือความล้มเหลวของการเรียนรัฐศาสตร์

ข้าพเจ้าจะขอสรุปทิ้งท้ายบทความชิ้นนี้โดยละวางทฤษฎี และหลักวิชาลง แต่จะพูดในฐานะสิงห์ดำถึงสิงห์ดำด้วยกัน ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ผู้เขียนได้แสดงความกล้าหาญที่จะวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาภายในคณะ แม้จะตระหนักดีว่าการกระทำดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยของท่าน แต่สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าความกล้าหาญ คือการเปิดกว้างต่อความเห็นต่าง ท่านมีแนวทางของท่านก็จงเชื่อมั่นแล้วทำมันให้ดี แต่การกล่าวหาผู้อื่นที่มีแนวทางต่างจากท่านว่าล้มเหลว เฉื่อยชา ไม่เคยจะยังประโยชน์ใด การทำงานสายนักกิจกรรมนั้นไม่ง่าย หลายครั้งเราจัดกิจกรรมสายตัวแทบขาด หวังให้คนตื่นตัวและสนใจ แต่ต้องพบกับความจริงที่ว่ามีคนเข้าร่วมเพียงหยิบมือ เมื่อประสบปัญหาดังกล่าว แต่นักกิจกรรมทั่วไปจะเพียรถามว่า "เหตุใดพวกเขาจึงไม่ออกมา" แต่นักกิจกรรมชั้นดีจะถามว่า "ทำอย่างไรพวกเขาจึงจะออกมา" ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อเลยว่า บทความของท่านจะไม่ทำให้ใครออกมาร่วมกับท่านอย่างแน่นอน หรืออย่างน้อย ลองคิดถึงวันที่ท่านต้องถูกคุมขังคุกคาม จากระบอบอำนาจนิยมไทย ท่านอยากได้ยินเสียงใดระหว่าง "ปล่อยเพื่อนกู" หรือ "สมน้ำหน้ามึง"

ข้าพเจ้าขอขอบคุณผู้เขียนอีกครั้ง หากท่านอ่านมาถึงบรรทัดนี้ได้ แสดงว่าท่านก็คงเปิดรับให้กับความเห็นต่างอยู่มิน้อย หวังว่าเราจะมีโอกาสได้สนทนาผ่านตัวอักษรกันในโอกาสต่อไป

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นโยบายสาธารณะ พื้นที่หากิน และความกล้าหาญ

Posted: 17 Jul 2017 09:31 PM PDT


ในช่วงฤดูกาลหน้าฝนอย่างนี้  เกิดฝนตกขี้หมูไหล... มีการรวมตัวของนักวิจัยบางคน นักวิชาการบางคน และเอ็นจีโอบางคน ที่ต้องใช้บางคนก็เพราะว่าพวกเขาไม่ใช้ตัวแทนของขบวนใดๆ ทั้งสิ้น เราจะพบว่าพอมีสถานการณ์โครงการพัฒนาต่างๆ ของรัฐหรือเอกชนที่เรียกว่า "นโยบายสาธารณะ" เรามักจะพบผู้หวังดีในนามองค์กรต่างๆ ในตระกูล ส. วิ่งลงไปหาคนมาบ่มเพาะปลุกปั้นเป็นนักเก็บข้อมูลชุมชน HIA,CHIA หรือนักวิจัยชุมชน พอแต่งตัวชาวบ้านเสร็จแล้วก็นำชาวบ้านออกประกวดเวทีในที่สัมมนา (งานอีเวนต์) โชว์ปัญหาในพื้นที่ เช่น แผนที่ทำมือ ข้อมูลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในชุมชน พวกที่นั่งฟังก็น้ำตาไหล เศร้าแทนชาวบ้าน และลงท้ายด้วยตั้งคณะทำงาน แบ่งงานความรับผิดชอบและนัดประชุมใหม่เดือนหน้า (กว่าจะหาวันว่างตรงกันโคตรยากเพราะต้องไปประชุมอีเวนอื่นอีก)

ในนามของความหวังดีหรือเห็นว่านี่เป็นแหล่งพื้นที่ทำมาหากิน หาเงิน หาโครงการฯ ต่อลมหายใจขององค์กรตระกูล ส. และคำพูดที่มักจะใช้คือ "ชาวบ้านเป็นเจ้าของปัญหาเราคือพี่เลี้ยง ที่ปรึกษา และต้องใช้ข้อมูลในการขับในการเคลื่อนปัญหา "(คุ้นๆ มั๊ย) และ "ต้องใช้ปัญญาจากข้อมูลต่อสู้ " (โดยนัยยะแล้วเหยียดพวกที่ทำงานจัดตั้งเคลื่อนไหวว่าใช้แต่กำลังหรือพวกม็อบ) และ "การทำงานต้องใช้การประสานงานหาความร่วมมือกับรัฐและทุกภาคส่วนเพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน "  (อืม..ฟังแล้วดูดีมีความวิชาการมากเลยขอบอก  ส่วนพวกไปม๊อบเนี่ยเป็นพวกต่ำตมสุดๆ ) หรือเป็นไปได้หากมีโครงการที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชน "ชาวบ้านต้องต่อรองผลประโยชน์สูงสุด" แต่ชาวบ้านจะเอาอะไรไปต่อรองล่ะรวมตัวก็ไม่ติด ผู้นำก็สนับสนุนบริษัทเสียแล้ว  แค่แนวคิดก็ผิดขั้นตอนการต่อรองแล้ว ก็ได้แค่เขียนลงเฟส บ่นๆ กันไป

ถ้าเรามองปัญหาในความเป็นจริงแล้วโครงการพัฒนาต่างๆ ที่สร้างผลกระทบต่อชุมชนจะเรียกว่านโยบายสาธารณะก็ตาม เป็นโครงการหรือกิจกรรมที่เข้าไปทำลายวิถีชีวิตของชุมชนและเป็นการใช้อำนาจรัฐในการสนับสนุนกลุ่มทุนให้สามารถดำเนินกิจกรรมโดยมีข้าราชการในทุกระดับเป็นสุนัขรับใช้ ซึ่งในหลายกรณีมีกฎหมายเป็นเครื่องมือในการทำงานคำถามง่ายๆ คือชาวบ้านกำลังเผชิญกับอำนาจรัฐ+ทุน+ข้าราชการ + ศาล  รุมกระทำย่ำยีอย่างที่ไม่มีทางสู้หรือขยับได้เลย  แล้วข้อมูลที่เก็บโดยใช้ปัญญาของท่านที่เรียกว่า HIA  มีพลังเพียงพอหรือไม่ที่ชุมชนจะสามารถนำข้อมูลไปต่อรองได้   มันเป็นไปได้เหรอ? หากเราไม่ทำงานฝังตัวจัดตั้งองค์กรชาวบ้านอย่างจริงจัง มีจิตสำนึก มีอุดมการณ์ มีเป้าหมายชัดเจนในการปกป้องชุมชนแล้วจะต่อสู้กับอำนาจรัฐได้ (อย่าอ้างว่าไม่ถนัดงานชุมชนและไม่ใช่บทบาทนะเถียงตายเลย)   มันเป็นไปได้เหรอ? ที่พาชาวบ้านไปเจรจาต่อรองแล้วไม่มีการเตรียมการอย่างรู้เขารู้เรา  พอเจอนักการเมือง  เจอข้าราชการรับปากว่าจะแก้ไขปัญหาให้ก็ดีใจจนตัวสั่นกลับบ้านอย่างมีความหวังแล้ว  หารู้ไม่เค้าหลอกให้ชาวบ้านตายใจ  (อย่างน้อยเจ้าหน้าที่เช้าชามเย็นชามอย่างกรูก็ไม่โดนข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่  ฮ่า!)

การต่อสู้ที่แท้จริงมีหลายวิธีแต่สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกันคือไม่ควรดูถูกวิธีการกันเอง ไม่ว่าการเริ่มต้นทำงานจะเป็นการจัดตั้งองค์กรชาวบ้าน งานข้อมูล งานรณรงค์ งานสื่อสารสาธารณะ แต่ต้องมีขบวนการที่ชัดเจนใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งแบบฝังลึก สร้างคนในการทำงานเพื่อยกระดับจิตสำนึกระยะยาวควรจะเป็นทางออกที่แท้จริงในการทำงานที่ต้องสู้กับอำนาจรัฐในปัจจุบัน และการสร้างผู้นำจะต้องใช้เวลาเพื่อมองให้เห็นภาวะผู้นำของชาวบ้านจริงๆ งานสร้างผู้นำในหลายครั้งต้องใช้สถานการณ์เป็นตัวฝึกตัวผู้นำและเราเองเป็นผู้จัดกระบวนการสรุปบทเรียนอาจจะใช้เวลาหลายปีที่จะพบผู้นำที่แท้จริง ที่ผ่านมามักจะเห็นผู้นำที่เติบโตในเวทีสัมมนาคือไม่ติดดิน หรือผู้นำบ่มแก๊ส

แต่ถ้าหากบอกว่าขบวนการที่กำลังคิดนั้นเลอเลิศก็อยากให้ สช. สสส. และสกว. ลองยกรูปธรรมงานตัวเองที่ประสบผลสำเร็จมาให้ดูหน่อยจะได้สบายใจว่าเคยมีผลงานรูปธรรม ประเภท ทำหนังสือไม่เอา ทำถุงผ้าลดโลกร้อนก็ไม่เอา หรือจัดเวทีสมัชชาสุขภาพประจำปีเกณฑ์คนมาเป็นพันคนมีเยอะแล้ว  มีมติหลายพันมติแล้วยังไงล่ะ  เอารูปธรรมที่ใช้ข้อมูล+ปัญญาและหยุดโครงการได้สำเร็จ  เราเชื่อว่าถ้าหากการต่อสู้ถึงที่สุดแล้วและต้องเลือกข้าง  พวกกลุ่มตระกูล ส. ทั้งหลายก็ไม่กล้าสู้ข้างชาวบ้านหรอกเพราะห่วงตัวเองและองค์กร  กลัวเสียภาพพจน์นักวิชาการ กลัวเสีย connection มากกว่าห่วงชาวบ้าน (มีรูปธรรมเยอะ) เพราะการต่อสู้กับอำนาจต้องใช้ความกล้าหาญที่จะยืนเคียงข้างชาวบ้านและต้องใช้เวลาเป็นการพิสูจน์ความจริงและประการสำคัญก็ห่วงปากท้องรายได้ของตัวเองด้วย  ชิมิ  ...เรื่อง แนวคิด-จุดยืน-ทัศนะ-วิธีการ จึงเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ  "พวกคุณมีความกล้าหาญพอหรือยัง?"

สิ่งที่พบในการทำงานในตระกูล ส. ที่เอาประเด็นขององค์กรเป็นตัวตั้งและกำหนดให้ชุมชนทำตามนั้นโดยมีกล่อง หรือชุดความคิดเป็นตัวกำหนดและเงินจำนวนหนึ่งที่หยิบยื่นเป็นเครื่องมือหลอกล่อให้ชาวบ้านยอมรับบวกกับวางมาดเป็นนักวิชาการจับประเด็นแม่น มีหลักการ มันก็เป็นเพียงการสร้างระบบอุปถัมภ์รูปแบบใหม่ ให้กับชาวบ้านเพื่อหวังพึ่งองค์กร หน่วยงาน บุคคล นั้นเอง เราจะเห็นชาวบ้านที่ทำงานกับกลุ่มนี้จะถูกอุปโลกน์ว่าเป็นตัวแทนชาวบ้าน  ตัวแทนชุมชน  มีบุคลิกพูดเก่ง  จับไมค์แนบอก  ความคิดความอ่านเหนือกว่าชาวบ้านธรรมดาเพราะออกประชุมบ่อยและได้ค่าเบี้ยเลี้ยง   แต่พอชาวบ้านเหล่านั้นหันกลับไปที่ชุมชนกลับมองไม่เห็นคน  สื่อสารกับใครไม่ได้ พูดคุยกับคนในชุมชนไม่รู้เรื่อง เมื่อปรากฏการณ์ เป็นเช่นนี้  พวกตระกูล ส.รู้สึกอย่างไร?   หรือแท้จริงกระบวนการทำงานแบบตระกูล ส.ทั้งหลาย คือการแบ่งแยกคนในชุมชน  แทนที่จะทำให้ชุมชนเข้มแข็งเพื่อต่อสู้กับปัญหา   กลับบั่นทอนให้ชุมชนอ่อนแอและยอมรับกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นได้โดยง่ายและรอรับการช่วยเหลืออย่างไร้ศักดิ์ศรีจากหน่วยงานรัฐหรือทุนที่เข้ามาละเมิดสิทธิทำลายชุมชนหยิบยื่นให้   และไม่มีโอกาสแม้แต่จะต่อรองผลประโยชน์สูงสุดอย่างที่นักวิชาการบางคนได้กล่าวเอาไว้

การต่อสู้กับนโยบายสาธารณะที่ละเมิดสิทธิชุมชน ถ้าวิธีการเริ่มต้นผิดจะทำให้ชุมชนอ่อนแอไม่เข้มแข็ง หวังพึ่งคนอื่นมากกว่าพึ่งตัวเอง เราอยากเห็นสังคมชุมชนเป็นแบบนี้หรือ? ยุคที่รัฐราชการมีอำนาจและเผด็จการทหารควบคุมเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ การต่อสู้กับอำนาจนิยมต้องให้ประชาชนมีสำนึกตื่นตัวและเชื่อมั่นในพลังของตนเองและเขาสามารถแก้ปัญหาเองได้ ไม่ใช่มีพระเจ้าองค์ไหนมาชี้ทางให้และเดินหนีไปประชุมต่อ  ชุมชนต้องการคนที่เรียนรู้ร่วมกันในระยะยาว เป็นเพื่อน  ร่วมทุกข์สุขด้วยกันมากกว่ามานั่งจับประเด็น เป็นวิทยากรกระบวนการและบ่ายสามขึ้นเครื่องกลับ กทม.

                                                                          

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น