โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

หมายเหตุประเพทไทย #168 ตัวละครหญิงในการ์ตูนและภาพยนตร์ Superhero

Posted: 30 Jul 2017 06:44 AM PDT

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ และชานันท์ ยอดหงษ์ พูดคุยกับแขกรับเชิญ ภาวิน มาลัยวงศ์ ถึงผู้หญิงในการ์ตูนและภาพยนตร์แนวซูเปอร์ฮีโร เริ่มต้นด้วย "Wonder Woman" ของค่าย DC ที่ตีพิมพ์เป็นการ์ตูนในปี ค.ศ. 1941 อย่างไรก็ตามบทบาทของ Wonder Woman ก็ถูกจำกัด เช่นในช่วงทศวรรษ 1940 ขณะที่เหล่าฮีโรในนาม Justice League ไปปฏิบัติภารกิจในภาคพื้นยุโรป แต่ Wonder Woman กลับถูกวางบทบาทให้เป็นเลขานุการของกลุ่มและให้ประจำอยู่ที่ฐานในสหรัฐฯ

ทิ้งช่วงไปจนถึงปี ค.ศ. 1961ในการ์ตูน Fantastic Four ของค่าย Marvel ก็มีฮีโรหญิงคือ Susan "Sue" Storm-Richards หรือ The Invisible Woman ซึ่งมีพลังพิเศษคือสามารถล่องหนได้ แต่ที่น่าสนใจคือ The Invisible Woman ไม่มีเรื่องราวของตัวเอง เรื่องราวมักจะผูกติดกับตัวละครชาย เช่น เป็นที่รู้จักเพราะเป็นภรรยาของ Richards หรือ Mister Fantastic ที่เป็นซูเปอร์ฮีโรใน Fantastic Four

ภาวินนำเสนอด้วยว่ากลุ่มสัดส่วนระหว่างเพศของผู้ชมภาพยนตร์กับการ์ตูนคอมิกส์แนวซูเปอร์ฮีโรมีความแตกต่างกัน โดยในงานสำรวจของ DC Comics เมื่อปี ค.ศ. 2012 พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสำรวจร้อยละ 93 เป็นเพศชาย ซึ่งมีผลต่อจุดเน้นของการนำเสนอตัวละครหญิงในการ์ตูนและภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร โดยในภาพยนตร์ซึ่งเหมือนชมละครจากด้านหน้าเวที ที่การลำดับภาพ การเปลี่ยนฉาก ก็เป็นไปด้วยความรวดเร็ว ขณะที่การ์ตูนคอมิกส์ก็เหมือนด้านหลังเวที ที่ผู้ชมสามารถจ้องมองซูเปอร์ฮีโรหญิงได้นานกว่า โดยพื้นที่ของการ์ตูนคอมิกส์ยังคงเป็นวัฒนธรรมย่อยที่ผู้ชายยึดครองได้มากกว่า

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่ https://www.facebook.com/maihetpraphetthai
หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลให้ไต่สวนคดี 'อนัน เกิดแก้ว' ชี้ถูกทำร้ายระหว่างคุมตัวจนเสียชีวิต

Posted: 30 Jul 2017 06:36 AM PDT

ศาลจังหวัดนครราชสีมามีคำสั่งคดีไต่สวนการตาย ช.3/2559 ชี้ว่า 'นายอนัน เกิดแก้ว' ถูกทำร้ายในระหว่างถูกควบคุมตัวจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต ญาติติดใจหวังอัยการนำคนผิดมาลงโทษ

 
30 ก.ค. 2560 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมแจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2560 ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครราชสีมาออกนั่งพิจารณา นัดอ่านคำสั่งคดีหมายเลขดำที่ ช.3/2559  คดีชันสูตรพลิกศพนายอนัน เกิดแก้ว ศาลเชื่อว่าสาเหตุการเสียชีวิตของนายอนัน เกิดแก้ว เนื่องจากถูกทำร้ายร่างกาย ระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุม 
 
โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2558 เวลาประมาณ 18.10 น. นายอนัน เกิดแก้ว ได้ถูกเจ้าพนักงานตำรวจชุดปราบปรามยาเสพติดตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมาจับกุม และควบคุมตัวต่อเนื่องตลอดเวลา ซึ่งสถานที่ควบคุมตัวนั้นเป็นบ้านพักของเจ้าพนักงานตำรวจในลักษณะที่เรียกว่า "เซฟเฮ้าส์" โดยเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมดังกล่าว อ้างว่าควบคุมตัวนายอนันฯ เพื่อทำการสอบสวนขยายผลไปยัง
 
ผู้ค้ายาเสพติดรายอื่น หลังจากนั้นจึงได้นำตัวนายอนันฯ ส่งสถานีตำรวจภูธรจอหอ ในวันที่ 11 พ.ย. 2558 เวลาประมาณ 01.00 น. ต่อมาทางญาติได้รับแจ้งว่านายอนัน เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราช จังหวัดนครราชสีมา โดยไม่แจ้งสาเหตุ เมื่อญาติเดินทางไปถึงโรงพยาบาลฯ ก็พบว่านายอนัน ได้รับบาดเจ็บสาหัส ไม่สามารถสื่อสารได้ และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลดังกล่าวในวันที่ 13 พ.ย. 2558
 
ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดนครราชสีมายื่นคำร้องขอไต่สวนการตายนายอนัน เกิดแก้ว ต่อศาลจังหวัดนครราชสีมา เป็นคดีหมายเลขดำที่ ช.3/2559 และมารดาผู้ตายได้แต่งตั้งทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเข้าไปในคดี เพื่อซักถามพยานของพนักงานอัยการฯและนำพยานหลักฐานของฝ่ายมารดาผู้ตายเข้าไต่สวน  ศาลจังหวัดนครราชสีมานัดไต่สวนพยานครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2559 และไต่สวนนัดสุดท้ายจนแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2560 โดยศาลได้ไต่สวนพยานทั้งหมด 10 ปาก ได้แก่ พยานของพนักงานอัยการผู้ร้อง จำนวน 6 ปาก และพยานของมารดาผู้ตาย จำนวน 4 ปาก 
 
เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2560 ศาลได้มีคำสั่งในคดีดังกล่าว สรุปความได้ว่า เหตุแห่งการเสียชีวิตของนายอนันฯ เนื่องจากสมองบาดเจ็บอย่างรุนแรงจากการเหวี่ยงกระแทกของศีรษะ และพฤติการณ์เกิดจากผู้ตายถูกเจ้าพนักงานตำรวจชุดปราบปรามยาเสพติดตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมาจับกุมและควบคุมตัว มีการทำร้ายร่างกายผู้ตาย เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บ ถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลมหาราช จังหวัดนครราชสีมา แล้วถึงแก่ความตาย  
 
โดยศาลพิจารณาจากพยานหลักฐานทั้งหมดแล้ว เชื่อว่าหลังจากนายอนัน ถูกจับและอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุม ได้ถูกทำร้ายร่างกายด้วย และเป็นสาเหตุให้ถึงแก่ความตาย ซึ่งศาลได้วินิจฉัยว่า การตายของนายอนัน ไม่ได้เกิดจากการหกล้มหรือกระโดดสะพานระหว่างหลบหนีตามคำเบิกความของเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุม เนื่องจากสภาพศพของนายอนันฯ ปรากฎบาดแผลหลายแห่งที่ศีรษะ ใบหน้า อก ลำตัว มือ ขาและเท้า 
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บริเวณศีรษะซึ่งเป็นสาเหตุการตาย เพราะสมองได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงอันเนื่องจากการเหวี่ยงกระแทกของศีรษะ ตามรายงานการชันสูตรพลิกศพและรายงานการตรวจศพประกอบคำเบิกความของแพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพและตามคำเบิกความของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งยืนยันว่าบาดแผลที่เกิดขึ้นบริเวณศีรษะและใบหน้าของผู้ตายนั้น เกิดจากการถูกทำร้ายร่างกาย ไม่ใช่เกิดจากอุบัติเหตุ
 
หลังจากผู้พิพากษาได้อ่านคำสั่งคดีดังกล่าวแล้ว ศาลได้แจ้งต่อมารดาและญาติผู้ตายว่าจะดำเนินการส่งสำนวนคดีให้พนักงานอัยการเพื่อดำเนินการต่อไป มารดาและญาติของนายอนันฯ ได้กล่าวหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการในศาลแล้วว่า ภายหลังจากศาลได้มีคำสั่งว่าบุตรชายของตนเสียชีวิตจากการถูกทำร้ายในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงานตำรวจ ตนก็คาดหวังว่ากระบวนการยุติธรรมจะสามารถนำตัวบุคคลที่ทำร้ายบุตรชายของตนจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตมาลงโทษได้ และขอขอบคุณมูลนิธิผสานวัฒนธรรมที่ให้ความช่วยเหลือตลอดมา
 
คดีที่เกี่ยวเนื่องจากกรณีการเสียชีวิตของนายอนัน นอกจากคดีชันสูตรพลิกศพดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีคดีแพ่ง ที่มารดาและบิดาของนายอนัน ได้ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมและควบคุมตัวนายอนัน โดยเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2559 ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้  เป็นการเรียกค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย คดีอยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ในเรื่องการขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล หลังจากนั้นศาลแพ่งกรุงเทพใต้จึงจะนัดพร้อมและพิจารณาคดีต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ระบบตรวจสอบชดเชย กองทุนบัตรทอง ช่วยเกลี่ยงบประมาณ ลดความคาดเคลื่อนเบิกค่ารักษา

Posted: 30 Jul 2017 06:25 AM PDT

"หมอ รพ.สวรรค์ประชารักษ์" ชี้ "การตรวจสอบเบิกจ่ายชดเชยค่ารักษา" ช่วยเกลี่ยงบบัตรทอง ลดความคลาดเคลื่อนเบิกจ่าย ทั้งกรณีเบิกเกินหรือน้อยกว่าอัตราค่ารักษาที่ควรได้รับ แถมเป็นประโยชน์ต่อแพทย์ และผู้ป่วย เพิ่มความปลอดภัยในการรักษา ได้ข้อมูลเวชระเบียนครบถ้วนยิ่งขึ้น 

     

30 ก.ค. 2560 นพ.บริรักษ์ เจริญศิลป์ นายแพทย์เชี่ยวชาญสาขาศัลยกรรม รพ.สวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ แพทย์ผู้ร่วมตรวจสอบการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

กล่าวว่า การตรวจสอบการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ที่เป็นการสุ่มตรวจเวชระเบียนของแพทย์ที่ให้การรักษาผู้ป่วย ถือเป็นระบบการตรวจสอบปกติของการดำเนินกองทุนหลักประกันสุขภาพในทุกประเทศ โดยในส่วนกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีการจัดทำระบบตรวจสอบและดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง สาเหตุที่ต้องมีระบบการตรวจสอบนี้ เพื่อความถูกต้องของข้อมูลเบิกจ่ายค่าชดเชยและการใส่รหัสเบิกจ่ายตามระบบกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (Diagnosis Related Group:  DRG) ที่พัฒนาโดยสำนักพัฒนาโรคร่วมไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ซึ่งในระบบประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการต่างต้องมีระบบตรวจสอบเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้หลักเกณฑ์การตรวจสอบการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ที่ใช้ในปัจจุบัน มาจากการระดมความเห็นของแพทย์สาขาต่างๆ ที่มีประสบการณ์ในการตรวจสอบเวชระเบียน โดยอ้างอิง Standard Coding Guideline สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข, ICD-10 หรือ ICD-9-CM องค์การอนามัยโลก และแพทย์ที่ปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วภูมิภาค โดยจะสุ่มตรวจเวชระเบียนของหน่วยบริการ โดยเฉพาะกลุ่มเวชระเบียนที่มีความคลาดเคลื่อนปริมาณมาก ซึ่งจะมีการแจ้งไปยังหน่วยบริการว่าจะสุ่มตรวจผู้ป่วยรายใด เพื่อให้จัดเตรียมข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนการตรวจสอบ และหากหน่วยบริการไม่เห็นด้วยก็สามารถอุทธรณ์ได้ 

นพ.บริรักษ์ กล่าวว่า การตรวจสอบเวชระเบียนในการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการทาการแพทย์ แม้จะดูเหมือนเป็นการจับผิดแพทย์หรือโรงพยาบาล แต่ข้อเท็จจริงเป็นการยังประโยชน์ให้กับหน่วยบริการเอง เพราะเป็นไปเพื่อไม่ให้เกิดความคลาดเคลื่อนการเบิกจ่าย ซึ่งจะส่งผลต่อการรับค่าชดเชยที่ไม่เป็นธรรมได้ ทั้งกรณีที่หน่วยบริการได้รับการชดเชยมากหรือน้อยเกินไปจากอัตราที่ควรได้รับ ซึ่งจะกระทบต่อหน่วยบริการในภาพรวมได้

"จากประสบการณ์มากกว่า 10 ปี ของการเป็นผู้ตรวจสอบเวชระเบียนในการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ พบว่ามีหลายหน่วยบริการที่ส่งข้อมูลคลาดเคลื่อน ทำให้เบิกค่าชดเชยมากกว่าหน่วยบริการอื่นที่ให้บริการลักษณะคล้ายกัน ซึ่งงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วหน้าเป็นแบบปลายปิดที่จำกัด และจัดสรรงบเป็นก้อนลงไปยังเขตเพื่อกระจายให้กับหน่วยบริการ ดังนั้นเมื่อมีหน่วยบริการที่เบิกค่าชดเชยในจำนวนมาก สูงกว่าอัตราบริการที่ควรได้รับ จะส่งผลให้หน่วยบริการอื่นได้รับค่าชดเชยลดลง"

นพ.บริรักษ์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันการตรวจสอบการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการรทางการแพทย์ยังเป็นประโยชน์ต่อตัวแพทย์เอง เพราะทำให้แพทย์ได้ทบทวนการรักษาจากการจดบันทึกเวชระเบียนและสรุปการรักษานี้ นำไปสู่การแก้ไขจุดบกพร่อง ทำให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ป่วยยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ยังทำให้เวชระเบียนผู้ป่วยมีความสมบูรณ์เพิ่มขึ้น สามารถดูข้อมูลการรักษาย้อนหลัง ทำให้เกิดการรักษาต่อเนื่องโดยเฉพาะในกรณีที่ส่งต่อ รวมทั้งหากเกิดปัญหา ทั้งนี้การบันทึกเวชระเบียนและสรุปการรักษานี้ไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระให้กับแพทย์ เนื่องจากเป็นสิ่งที่แพทย์ต้องทำเป็นปกติอยู่แล้ว เพียงแต่อาจเพิ่มความละเอียดมากขึ้นเท่านั้น

นอกจากนี้ในการกำหนดค่า DRG เพื่อเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ ในการคำนวณจะใช้ข้อมูลการเบิกจ่ายค่ารักษาย้อนหลังของหน่วยบริการ ดังนั้นหากการบันทึกเวชระเบียนมีความคลาดเคลื่อน ไม่เพียงแต่จะมีผลต่อการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ยังทำให้ค่า DRG ที่จะจัดทำขึ้นในอนาคตมีความคลาดเคลื่อนไปด้วย ดังนั้นหากทุกหน่วยบริการมีการส่งข้อมูลที่ถูกต้องก็จะสร้างความเป็นธรรมต่อระบบสาธารณสุขในอนาคตที่ทุกคนต้องใช้ร่วมกัน รวมถึงยังเป็นข้อมูลที่ดีสำหรับใช้วางแผนเพื่อพัฒนางานสาธารณสุขของประเทศไทยได้อย่างมีคุณภาพด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

TCIJ School: ส่องงบ ‘ทหารพัฒนา’ ไฉนเพิ่มขึ้นทุกปี ภารกิจครอบจักรวาล-ซ้อนทับ อปท.

Posted: 30 Jul 2017 05:22 AM PDT

<--break- />

งบประมาณกลาโหมเพิ่มขึ้นทุกปี จากปี 2549-2561 พบพุ่งพรวด270% ขณะที่งบรายจ่ายรวมทั้งประเทศสูงขึ้นเพียง 20% รวมถึงงบประมาณ 'ภารกิจของทหารพัฒนา' ที่เปลี่ยนมาหลากหลายชื่อ ชวนตั้งคำถามกับภารกิจครอบจักรวาล ทำงานซ้อนทับหน่วยงานอื่นโดยเฉพาะ 'อปท.' และการใช้จ่ายงบประมาณที่เหมาะสมกับบทบาทหน้าที่หรือไม่? จากภาพประกอบทหารพัฒนากับภารกิจฝึกสอนชาวบ้านปั่นโอ่ง

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2561 ในวาระแรก เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2560 วงเงินทั้งหมด 6.6 แสนล้านบาท เป็นงบประมาณกระทรวงกลาโหม 2.2 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบประมาณที่เกี่ยวกับภารกิจของ 'ทหารพัฒนา' ในชื่องบประมาณ 'ประชาชนในพื้นที่ดำเนินงานที่กระทรวงกลาโหมได้รับมอบหมายมีความเป็นอยู่ที่ดี' จำนวน 3.3 พันล้านบาท

งบประมาณทหารพัฒนา

ย้อนกลับไปก่อนหน้ารัฐประหารปี 2549 โดยคณะความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) งบประมาณกระทรวงกลาโหมปี 2549 มีเพียง 8.5 หมื่นล้านบาท ส่วนงบประมาณในปี 2561 กระทรวงกลาโหมได้งบประมาณ 2.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 270% ขณะที่งบประมาณรายจ่ายรวมประจำปีทั้งหมด ในปี 2549 มีงบประมาณทั้งสิ้น 2.4 แสนล้านบาท แต่ในปี 2561 มีงบประมาณ 2.9 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเพียง 20% เท่านั้น

จากการสืบค้น ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีย้อนหลังตั้งแต่ปีงบประมาณ 2548 (เข้าถึงออนไลน์เมื่อ, 1/7/2560) พบว่าในร่างงบประมาณส่วนของกระทรวงกลาโหมนั้น ในปีงบประมาณ 2548, 2549 และ 2550 มีชื่อว่า 'งบประมาณการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน' (2,318 ล้านบาท, 1,454  ล้านบาท และ2,416 ล้านบาท) ตามลำดับ จากนั้นในปีงบประมาณ 2551 มีการเกิดงบประมาณที่ชื่อว่า 'งบประมาณประชาชนในพื้นที่ดำเนินการของทหารเป็นอยู่ดีขึ้น แบ่งเป็นด้านท่องเที่ยว 20 ล้านบาท และด้านความมั่นคง 1,387 ล้านบาท งบประมาณนี้ยังมีมาต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2552 แบ่งเป็นด้านท่องเที่ยว  29 ล้านบาท ด้ายความมั่นคง 1,658 ล้านบาท และมีเพิ่มด้านระบบเตือนภัย 35 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2553 มีงบประมาณ 1,799 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2554 มีงบประมาณ 1,900 ล้านบาท

จากนั้นในปีงบประมาณ 2555 เปลี่ยนชื่อเป็น 'งบประมาณตัวชี้วัดประชาชนในพื้นที่ดำเนินการกลาโหมมีความผาสุข'  มีงบประมาณ 2,723 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2556 มีงบประมาณ 4,290 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2557 เปลี่ยนชื่อมาเป็น 'งบประมาณประชาชนในพื้นที่ดำเนินที่กระทรวงกลาโหมรับผิดชอบมีความเป็นอยู่ทีดีขึ้น' มีงบประมาณโครงสร้างขั้นพื้นฐาน 3,583 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2558 มีงบประมาณ 3,176 ล้านบาทและในปีงบประมาณ 2559 มีงบประมาณ 3,372 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2560 เปลี่ยนชื่อเป็น 'งบประมาณประชาชนในพื้นที่ดำเนินที่กระทรวงกลาโหมได้รับมอบหมาย มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีความพร้อมในการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดภัยพิบัติ' มีงบประมาณ 3,375 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2561 เปลี่ยนชื่อเป็น 'งบประมาณประชาชนในพื้นที่ดำเนินงานที่กระทรวงกลาโหมได้รับมอบหมายมีความเป็นอยู่ที่ดี' มีงบประมาณ 3,339 ล้านบาท (หมายเหตุ: ตัวเลขงบประมาณมาจาก 'ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย' ในปีงบประมาณนั้น ๆ)

จากข้อมูล จะเห็นได้ว่างบประมาณกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้นหลังการปฏิวัติรัฐประหารสองครั้งหลังสุด และงบประมาณของทหารพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นตามมาด้วย ซึ่งงบประมาณประเภทนี้ใช้จ่ายผ่านทางหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงกลาโหม  มีทั้งวิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่ผ่านกรมบัญชีกลาง และการจัดชื้อจัดจ้างของแต่ละหน่วยงาน อาทิเช่น ระบบจัดชื้อจัดจ้างหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา มีบางโครงการใช้จ่ายงบประมาณในการจัดจ้างบริษัทเข้ามารับเหมางาน

หน่วยงานทหารพัฒนา บทบาทงานเพื่อสังคมของกองทัพ

หน่วยงานที่เข้ามาใช้งบประมาณในส่วนนี้โดยตรงคือ 'หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา' (นทพ.)หรือ 'ทหารพัฒนา' สังกัดกองบัญชาการกองทัพไทย ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2505 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด จัดตั้งขึ้นมา เพื่อต่อสู้กับการแทรกซึมของพรรคคอมมิวนิสต์ในชนบท ช่วงชิงศรัทธาของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล เดิมเรียกชื่อว่า 'กองอำนวยการกลางรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ'

เมื่อย้อนกลับไปดูการก่อตั้งของหน่วยทหารพัฒนาหลายพื้นที่นั้น พบว่า หลายแห่งก่อตั้งมาหลังเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญที่ทหารมีบทบาทเป็นตัวละครหลัก ตัวอย่างเช่น สำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (สน ภ.3 นท พ.) ที่มีภารกิจในดำเนินการเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของชาติด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมจิตวิทยา รวมทั้งการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือนั้น หน่วยนี้ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2534 หลังการรัฐประหารของ คสช. เมื่อเดือน ก.พ. 2534 ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่ากองทัพได้ใช้หน่วยนี้ปฏิบัติการเพื่อสร้างความชอบธรรมและสร้างความนิยมแข่งกับฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งก็เป็นได้ เพราะนอกเหนือจากการออกไปทำโครงการช่วยเหลือประชาชนในด้านสาธารณูปโภคต่าง ๆ แล้ว หน่วยนี้ยังมีกระบอกเสียงในการสื่อสารกับประชาชนโดยตรง เพราะมีสถานีวิทยุกระจายเสียงเป็นของตัวเองด้วย

ทับซ้อนท้องถิ่นไหม? ในยุคกระจายอำนาจ

หลากหลายภารกิจของทหารพัฒนาตั้งแต่ฝึกสอนชาวบ้านปั่นโอ่ง ผสมเทียมโค ช่วยชาวบ้านดำนา และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่มาภาพ: หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 56 สำนักงานพัฒนาภาค 5 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา

แต่เมื่อพิจารณาโครงการของทหารพัฒนา ตัวอย่างเช่น โครงการสร้างถนน ซึ่งทับซ้อนกับกรมทางหลวง, โครงการปั่นโอ่งต้านภัยแล้ง ทับซ้อนกับโครงการของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ยังมีโครงการที่ทับซ้อนกันเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในเขตที่มีองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.)

นางประดับ สมณะ ผู้ใหญ่บ้านโพธิ์ศรีสำราญ อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ตั้งข้อสังเกตว่า โครงการของทหารพัฒนาจะเข้ามาในรูปแบบต่าง ๆ ที่ทับซ้อนกันกับหน่วยงานอื่น เช่น โครงการขุดบ่อเก็บน้ำ ก็จะมีโครงการคล้ายกันกับกรมทรัพยากรฯ แต่ข้อจำกัดของทหารพัฒนา คือ ตัวโครงการจะเป็นแบบแผนที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ยกตัวอย่าง ขุดสระน้ำบางโครงการต้องมีพื้นที่ 30 ไร่ขึ้นไป ถ้าชุมชนนั้นมีพื้นที่สาธารณะไม่พอก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์ ต้องรอโครงการใหม่ อีกอย่างหนึ่งคือความรับผิดชอบของหน่วยทหารพัฒนา ในเขตจังหวัดหนองบัวลำภูไม่มี ต้องไปขอโครงการจากจังหวัดเลยที่มีหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาเคลื่อนที่ 23 ผ่านทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นคนคัดเลือกส่งเข้าไปขอที่ทหารพัฒนาอีกที

ผู้ใหญ่ประดับ ยังตั้งข้อสังเกตเพิ่มถึงโครงการบางประเภทของทหารที่เข้ามาในชุมชน เช่น โครงการปั่นโอ่งต้านภัยแล้ง ไม่เห็นด้วยที่มีโครงการแบบนี้ ตนคิดว่าเป็นการใช้งบประมาณที่สิ้นเปลืองมาก เพราะความจริงชาวบ้านเลิกใช้โอ่งหันไปใช้ถังพาสติกแทนแล้ว แต่ทหารกลับมาทำโครงการส่งเสริมการปั่นโอ่ง ตนเสียดายงบประมาณในส่วนนี้ที่น่าจะเอาไปใช้ประโยชนย์อย่างอื่นได้   

ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ จากสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง นักวิชาการที่ทำงานศึกษาเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย ระบุถึงภารกิจของหน่วยทหารพัฒนากับ อปท. ว่า เมื่อดูภารกิจของหน่วยทหารพัฒนาแล้วนั้นครอบจักรวาลมาก ยกตัวอย่างเช่น การสร้างถนน แจกจ่ายน้ำดื่ม สร้างฝาย ขุดลอกคลอง สร้างอาคารโรงเรียน เปลี่ยนประตู ทาสีห้องน้ำ และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งหลายสิ่งที่หน่วยทหารพัฒนาทำนั้นซ้อนทับกับภารกิจขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยตรง ข้อสังเกตที่สำคัญก็คือ มีความรวดเร็วในการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ดำเนินโครงการต่าง ๆ ได้เลยเมื่อมีคำสั่ง ซึ่งต่างจาก อปท. ที่ต้องมีกลไกผ่านสภาท้องถิ่นรวมถึงมีการตรวจสอบจากหน่วยงานจากภายนอก เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แต่หน่วยทหารพัฒนาไม่ติดขัดในเรื่องเหล่านี้ รวมถึงได้รับการจัดสรรงบประมาณอย่างมหาศาล

รวดเร็วฉับไวใคร ๆ ก็ชอบ แต่ต้องตรวจสอบได้

จาก รายงานการตรวจสอบดำเนินงานด้านจัดหาแหล่งน้ำกินน้ำใช้ หน่วยงานบัญชาการทหารพัฒนา กระทรวงกลาโหม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2543-2545 ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจสอบกรณีเพื่อให้ทราบว่ามีการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำตามวัตถุประสงค์ของงาน มีการจัดสรรแหล่งน้ำในพื้นที่ไม่ขาดแคลนหรือไม่ ข้อตรวจสอบพบว่า บ่อบาดาลทั้งหมด 199 แห่ง เป็นบ่อบาดาลที่มีประโยชน์ 111แห่ง บ่อบาดาลที่มีประโยชน์น้อยหรือใช้ได้ไม่เต็มที่ 41แห่ง และบ่อบาดาลที่ไม่มีประโยชน์ 47แห่ง

ข้อเสนอแนะในรายงานฉบับนี้ คือให้ประสานงานบูรณการกับกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และข้อเสนอต่างๆ สะท้อนให้เห็นว่าหน่วยงานทหารพัฒนายังไม่มีความยืดโยงต่อระบบการตรวจสอบ และการประสานงานระหว่างหน่วยงานอื่นอยู่

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่สังคมให้ความสนใจและตั้งคำถามถึง 'ทหารพัฒนา' ที่เข้าไปรับงานกรณีพิเศษตามที่ สำนักข่าวอิศรารายงานว่า หน่วยบัญชาการทหารพัฒนาและกรมทางหลวงทิ้งงานรับจ้างก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดในปี 2554 (อ่านเพิ่มเติม: เจาะแฟ้มประชุมกมธ.ไขปริศนากรมทางหลวงโผล่รับงานส.กีฬาจว.-ทหารทิ้งงาน?) ทิ้งคำถามให้สังคมว่า ในกรณีนี้ ทหารพัฒนาเข้าไปอยู่ส่วนไหนของการบริหารงานส่วนราชการและทำไมถึงสามารถรับงานก่อสร้างข้ามหน่วยงานได้

ดร.ณัฐกร ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า แม้แต่ในช่วงที่การเมืองเป็นประชาธิปไตย นักการเมืองเองก็เลือกใช้กลไกนี้ในแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนด้วยเช่นกัน แทนหน่วยงานอื่นที่มักจะมีอุปสรรคและล่าช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนหนทางในป่าดอย อย่างในสมัยรัฐบาลทักษิณ ถือว่าตำแหน่งนี้มีความสำคัญมาก จึงได้แต่งตั้งเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหารคือ พลตรียุทธพงษ์ พวงทอง (ยศตอนนั้น) ให้เข้ามาดูแลพื้นที่ภาคเหนือ หรือกับ พลตรีอินทรัตน์ ยอดบางเตย ที่ใช้ประสบการณ์ทำงานส่วนนี้สร้างชื่อเสียงให้ตนเอง ก่อนที่ผันตัวไปทำงานการเมืองในเวลาต่อมา

"คำถามคือ บทบาทหลักของทหารต้องเน้นเรื่องความมั่นคง ส่วนเรื่องการพัฒนาในแต่ละด้านนั้นมีหน่วยงานรัฐอื่นที่รับผิดชอบเต็มไปหมดอยู่แล้ว โดยเฉพาะกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่มีภารกิจกว้างขวางรอบด้านในระดับพื้นที่ ทหารพัฒนายังเหมาะสมหรือไม่ ? ภายใต้บริบทกระจายอำนาจ"

ขณะที่ผู้ใหญ่บ้านประดับเห็นว่า ทหารพัฒนายังจำเป็นในการแก้ไขปัญหาโครงการที่สร้างไม่เสร็จหรือล่าช้า เพราะรู้สึกว่าถ้าทหารลงมาทำโครงการ ทุกหน่วยงานจะให้ความร่วมมือและไม่มีปัญหา แต่โครงการต้องยึดโยงกับประชาชน ส่วนโครงการประเภทที่ไม่มีประโยชน์กับชาวบ้านก็ควรจะปรับเปลี่ยน หรือให้งบประมาณแก่หน่วยงานอื่นมารับผิดชอบแทน

*ดลวรรฒ สุนสุข  เกษตรกรและผู้สื่อข่าวอิสระ

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ ขอบคุณทุกภาคส่วนแก้น้ำท่วม ย้อนปี 54 สาเหตุจากบริหารผิดพลาด

Posted: 30 Jul 2017 01:42 AM PDT

โฆษกประจำสำนักนายกฯ เผย ประยุทธ์ ขอบคุณทุกภาคส่วนช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ยันไม่ต้องการให้นักการเมืองฉวยโอกาสแสวงหาประโยชน์ทางการเมืองด้วยการกล่าวโจมตีรัฐบาล ย้อนปี 54 สาเหตุเกิดจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาด 

แฟ้มภาพ

30 ก.ค.2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (30 ก.ค.) พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอบคุณทุกภาคส่วน ทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ และภาคเอกชน ที่ได้ร่วมมือร่วมใจกันอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคกลางบางส่วน โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีระดับน้ำท่วมสูงมาก และประชาชนได้รับความเดือดร้อน ซึ่งสถานการณ์ครั้งนี้เกิดจากสาเหตุทางธรรมชาติอย่างแท้จริง โดยประเทศเพื่อนบ้านก็ได้รับความเสียหายหนักเช่นกัน
       
"นายกฯ ไม่ต้องการให้นักการเมืองฉวยโอกาสที่ประชาชนเดือดร้อนแสวงหาประโยชน์ทางการเมืองด้วยการกล่าวโจมตีรัฐบาล และสร้างข่าวลือเพื่อให้ผู้คนเกิดความตื่นตระหนก เพราะเมื่อย้อนกลับไปดูเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 จะพบว่า สาเหตุเกิดจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาด แม้รัฐบาลรู้ว่ามีปริมาณฝนตกมาก แต่ไม่เร่งระบายน้ำ จนเกิดความเสียหายแก่ประเทศอย่างมหาศาล" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
       
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า กรมอุตุนิยมวิทยา และ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ออกประกาศเตือนประชาชนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่รับทราบข้อมูลสภาพอากาศ พร้อมทั้งส่งเจ้าหน้าที่ ปภ. และอาสาสมัครเตือนภัยออกไปแจ้งข่าวแก่ประชาชนอย่างรวดเร็วตามนโยบายประเทศไทยปลอดภัย หรือ Safety Thailand และนับตั้งแต่ที่ฝนเริ่มตกจนถึงขณะนี้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร ได้ออกปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยมาโดยตลอด รวมทั้งยังได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาคเอกชนด้วย
       
"นายกฯ สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และทุกเหล่าทัพ เร่งนำเครื่องสูบน้ำไปติดตั้งเพื่อระบายน้ำออกสู่แม่น้ำสายหลักโดยเร็ว พร้อมทั้งกำชับให้แต่ละจังหวัดเตรียมสำรวจความเสียหายของอาคารบ้านเรือน จำนวนผู้ได้รับผลกระทบ บาดเจ็บ หรือ เสียชีวิต เพื่อให้ความช่วยเหลือตามระเบียบของทางราชการต่อไป" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
       
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้รับรายงานว่า ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้บูรณาการทุกหน่วยงาน เพื่อระดมเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย เช่น รถไฟฟ้าส่องสว่าง รถสูบน้ำระยะไกล รถผลิตน้ำดื่ม รถบรรทุก เรือท้องแบน ฯลฯ สนับสนุนปฏิบัติการกู้วิกฤตน้ำท่วม รวมถึงจัดวางแนวกระสอบทรายเป็นคันกั้นน้ำล้อมรอบสถานที่สำคัญ ตลอดจนจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว พร้อมจัดหาอาหาร น้ำดื่ม และถุงยังชีพแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนอย่างเต็มที่ด้วย 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหาร-ตร. สั่งห้ามจัดกิจกรรม 'Free Palestine' ระบุเรื่องเขา เราอย่ายุ่ง - ชุมนุมขัดคำสั่ง คสช.

Posted: 30 Jul 2017 01:09 AM PDT

ทหาร-ตำรวจ สั่งสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิม เลิก กิจกรรม "ปกป้อง อัล-อักซอ ปกป้อง ชาวปาเลสไตน์" ระบุขัดคำสั่ง คสช. เป็นภัยต่อความมั่นคง ประธานนักศึกษาแจงแสดงจุดยืนส่งผลดีต่อไทย ด้านเจ้าหน้าที่ย้ำ เป็นเรื่องของเขา เราไม่ควรยุ่ง 
<--break- />

30 ก.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (29 ก.ค.60) เวลา 12.00 น. สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย (MUSTFETH) นัดรวมตัวจัดกิจกรรมแสดงจุดยืนต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ภายใต้สโลแกน Save Al-Aqsa, Justice for Palestinian, Free Palestine ณ สวนจตุจักร กรุงเทพมหานคร ใกล้สถานีรถไฟ MRT สวนจตุจักร โดยตามกำหนดการเดิมในวันนี้เริ่มจากกิจกรรมการพูดคุยแลกเปลี่ยน ละหมาดฮายัต (ละหมาดขอพร) สานเสวนา และจบด้วยการแสดงจุดยืนของกลุ่มด้วยการอ่านแถลงการณ์ แต่ทั้งหมดถูกยกเลิกไปเนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาต  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อถึงเวลานัดรวมตัวปรากฏว่า มีจ้เาหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.บางซื่อ ทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบ รวมจำนวน 60 นาย ควบคุมพื้นที่สวนจตุจักร และคุมตัวนักศึกษาจำนวน 5 คน ที่เดินทางมาถึงสถานที่ก่อนจะมีการจัดกิจกรรม เพื่อสอบสวน พร้อมทั้งห้ามจัดกิจกรรมดังกล่าว โดยระบุว่าเป็นการรวมตัวชุมนุมเกินจำนวนที่กำหนด ขัดต่อคำสั่งของรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และอาจเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงระหว่างประเทศด้วย

"ประเด็นนี้เป็นเรื่องระหว่างประเทศ ไม่เกี่ยวกับพวกเราชาวไทย จึงไม่จำเป็นต้องแสดงจุดยืนใดๆ ทั้งสิ้น" เจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งกล่าวย้ำ 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในขณะเดียวกันนั้นนักศึกษาและผู้สนใจก็เริ่มทยอยมาถึงสถานที่จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง พร้อมยืนยันที่จะจัดกิจกรรมดังกล่าว โดยขอให้ผ่อนปรนเหลือเพียงแค่กิจกรรมพูดคุยแลกเปลี่ยน และละหมาดฮายัต (ละหมาดขอพร) แต่เจ้าหน้าที่ยืนยันที่จะไม่ให้จัดกิจกรรมใดๆ ทั้งสิ้น พร้อมสั่งการให้นักศึกษาสลายตัวออกจากพื้นดังกล่าว ไม่อย่างนั้นจะมีการเรียกกองกำลังเพิ่มเพื่อควบคุมสถานการณ์

จากนั้นเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 2 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่จึงมีการสั่งปิดประตูทางเข้า-ออกสวนจตุจักร ห้ามคนนอกเข้าและคนในห้ามออก กระทั่งเวลา 14.00 น. นักศึกษายอมยกเลิกจัดกิจกรรมดังกล่าว แต่ขออนุญาตเจ้าหน้าที่ทหารใช้พื้นที่สวนจตุจักรเพื่อรับประทานอาหารเนื่องจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังไม่มีใครรับประทางอาหารเที่ยง เจ้าหน้าที่ทหารจึงยินยอม แต่ในขณะที่นักศึกษากำลังรับประทานอาหารอยู่นั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.บางซื่อ เข้ามาขับไล่ให้นักศึกษาทุกคนออกจากพื้นที่ทันที หากขัดคำสั่งเจ้าหน้าที่จะควบคุมตัวทุกคนไปพูดคุยกันที่ สน.บางสื่อ จึงมีการสลายการรวมตัวดังกล่าว พร้อมเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่

บูคอรี เด็ง ประธานสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมเเห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่ชาวยิวจากอิสราเอลรุกรานศาสนสถานมัสยิดอัลอักซอ ซึ่งเท่ากับการรุกรานคนมุสลิมทั่วโลก เพราะมัสยิดอัลอักซอถือว่าเป็นศาสนาสถานของคนมุสลิมทั่วโลก ถึงแม้จะอยู่ในพื้นที่ของชาวปาเลสไตน์ก็ตาม

"การรุกรานของชาวยิวครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง การที่พวกเรานักศึกษาทุกคนร่วมกันประณามและรณรงค์ในครั้งนี้ย่อมเป็นผลดีต่อประเทศไทยด้วยซ้ำ ฉะนั้น ผมคิดว่าเจ้าหน้าที่ไม่ควรอ้างเหตุผลว่าเป็นเรื่องของต่างประเทศ ไม่เกี่ยวกับเรา แต่ผมค่อนข้างเข้าใจวิธีคิดของเจ้าหน้าที่ เขาโตมาในวงแคบๆ น่าจะมองมิติอื่นไม่ออก" บูคอรี กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น