โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ไอลอว์ เผย 3 ปี คสช. ปิดกั้น-แทรกแซงกิจกรรมสาธารณะ ไม่น้อยกว่า 157 ครั้ง

Posted: 13 Jul 2017 10:54 AM PDT

ไอลอว์ เผยภาพรวมการปิดกั้นและแทรกแซงกิจกรรมสาธารณะ 3 ปี ยุค คสช. พบมีไม่น้อยกว่า 157 ครั้ง จนท.ใช้มาตรการในระดับต่างๆ กันไป ตั้งแต่การสั่งไม่ให้จัด เข้ามากดดันให้เจ้าของสถานที่งดจัด หรืออนุญาตให้จัด แต่ตั้งเงื่อนไขต่างๆ ฯลฯ
 

ภาพเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่าวนิว ขณะทำกิจกรรมนั่งรถไฟ ไปอุทยานราชภักดิ์ โดยกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา 7 ธ.ค. 2558 (แฟ้มภาพ)

เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพโดย ไอลอว์ เผยแพร่รายงาน ภาพรวมการปิดกั้นและแทรกแซงกิจกรรมสาธารณะยุค คสช. โดย ระบุว่า การปิดกั้นและแทรกแซงการจัดกิจกรรมสาธารณะเป็นสิ่งที่ คสช. ได้ทำตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โดยจากข้อมูลที่ไอลอว์รวบรวมไว้จนถึงปัจจุบัน (10 ก.ค. 60) พบว่า มีไม่น้อยกว่า 157 ครั้งที่เจ้าหน้าที่เข้ามาปิดกั้นหรือแทรกแซงกิจกรรมต่างๆ แต่ละครั้งเจ้าหน้าที่จะใช้มาตรการในระดับต่างๆ กันไป ตั้งแต่การสั่งไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรมด้วยช่องทางโทรศัพท์ การเข้ามาที่สถานที่จัดงานเพื่อกดดันให้เจ้าของสถานที่งดจัดกิจกรรม หรืออนุญาตให้จัด แต่ตั้งเงื่อนไขต่างๆ เช่น ขอให้เปลี่ยนวิทยากรที่เข้ามาพูดในงาน, กำหนดไม่ให้ใช้คำที่อ่อนไหวในบริบทของสังคม เช่น "เผด็จการ" และ "กบฏ" เป็นต้น  และการสร้างความไม่สะดวกทางอ้อม เช่น การไม่อนุญาตให้ใช้เครื่องเสียง การตัดไฟฟ้า เป็นต้น

กิจกรรมสาธารณะที่ถูกจับตามองจากภาครัฐมักจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือ ประเด็นที่เปราะบางในเวลานั้น กรณีที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือ กิจกรรมสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับ การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในปี 2559 โดยกิจกรรมเกือบทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อพูดคุยถึงเนื้อหารายละเอียดร่างรัฐธรรมนูญ 2559 และสร้างความตระหนักรู้และองค์ความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกและให้ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฯ แต่อย่างไรก็ดีกิจกรรมสาธารณะเหล่านั้นถูกปิดกั้นและแทรกแซงจากรัฐไม่น้อยกว่า 20 กิจกรรม
 
ไอลอว์ ระบุอีกว่า บรรดานักกิจกรรมหรือผู้จัดงานกิจกรรมเหล่านี้ยังถูกดำเนินคดีอีกด้วยดังนี้ เช่น กรณีกลุ่ม นปช. ที่ถูกดำเนินคดีฐานขัดคำสั่งที่ 3/2558 จากการแถลงข่าวเปิดศูนย์ปราบโกง, สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 61  วรรคสอง ของพ.ร.บ.ประชามติฯ จากการแจกใบปลิวโหวตโน ที่ชุมชนเคหะบางพลี และกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ที่ถูกกล่าวหาว่า ขัดคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 จากการจัดกิจกรรม "พูดเพื่อเสรีภาพ ร่างรัฐธรรมนูญกับคนอีสาน " เป็นต้น
 
ไอลอว์ ชี้ด้วยว่า ฐานอำนาจที่เจ้าหน้าที่นำมาใช้หลักๆ คือ คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 โดยตามหลักกฎหมายแล้วหากมีกฎหมายใหม่คือ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ออกมาบังคับใช้กฎหมายเดิมคือ คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 จะต้องยกเลิกไป แต่สิ่งที่ปรากฏ คือ อำนาจทั้งสองยังคงถูกใช้ควบคู่กันเรื่อยมา โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ  ข่มขู่เพื่อให้การชุมนุมหรือการจัดกิจกรรมถูกยกเลิกให้ได้ เห็นได้ชัดเจนในกรณีของการชุมนุมคัดค้านถ่านหินที่บริเวณสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(กพร.)เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 โดย ในวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา หลังผู้ชุมนุมเคลื่อนตัวออกจากบริเวณ กพร. เจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องขอศาลแพ่งไต่สวนให้ยกเลิกการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ เหตุเคลื่อนตัวออกจากพื้นที่ที่ขออนุญาตไว้ วันถัดมาเจ้าหน้าที่ทยอยจับกุมแกนนำทั้งห้า กับผู้เข้าร่วมการชุมนุมในกพร. 12 คนและนักศึกษา ม.รังสิตอีก 2 คนโดยไม่มีการแจ้งข้อหาหรือชี้แจงอำนาจการจับกุม ต่อมาวันที่ 19 ก.พ. 60 ทหารแถลงว่า ผู้ชุมนุมกระทำผิด พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯจากการที่ผู้ชุมนุมออกมาชุมนุมนอกพื้นที่กพร. ตามที่ขออนุญาตไว้

แต่ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการจับกุมต่อเมื่อศาลมีคำสั่งเลิกการชุมนุมและให้พื้นที่ชุมนุมเป็นพื้นที่ควบคุม ซึ่งไม่ได้เขียนให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการจับกุม แล้วนำตัวไปพูดคุยในค่ายทหาร เมื่อทนายความได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ทหารที่ ค่ายมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ซึ่งเป็นสถานที่ควบคุมตัวแกนนำ กลับได้รับแจ้งว่า เป็นการจับกุมโดยใช้อำนาจตาม ม.44 (คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558) ที่สามารถจับกุมและควบคุมตัวผู้ฝ่าฝืนคำสั่งหรือประกาศ คสช. ได้

ไอลอว์ ระบุอีกว่า รัฐยังมีการใช้มาตรการทางกฎหมายอื่นๆ เข้ามาเพื่อปิดกั้นหรือรบกวนการจัดกิจกรรมด้วย เช่น พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ความสะอาดฯ) ในกรณีที่ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) แขวนป้ายรำลึกรัฐประหารปี 2549 และนวมทอง ไพรวัลย์ และ กิจกรรมทวงความเป็นธรรม เหตุไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินศาลอาญายกฟ้อง 'อภิสิทธิ์-สุเทพ' ที่ผู้จัดถูกแจ้งความกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนพ.ร.บ.ความสะอาดฯ และถูกสั่งปรับ 5,000 บาท หรือการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ กรณีขบวนการประชาธิปไตยใหม่เดินรณรงค์แจกเอกสารเพื่อให้ประชาชนลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตพื้นที่และโหวตโนที่บริเวณอิมพีเรียล สำโรง

ในท้ายของรายงาน ไอลอว์ ยังได้ประเมินแนวโน้มกิจกรรมสาธารณะในปีที่ 4 ของ คสช. ด้วยว่า จากการรวบรวมตัวเลขกิจกรรมที่ถูกปิดกั้นและแทรกแซงโดยคสช. เห็นได้ว่า ในปี 2557 มีกิจกรรมที่ถูกปิดกั้นและแทรกแซงทั้งหมด 39 กิจกรรม ปี 2558 มีทั้งหมด 66 กิจกรรม ปี 2559 มีทั้งหมด 37 กิจกรรม และช่วงหกเดือนแรกของปี 2560 มีทั้งหมด 13 กิจกรรม  ตัวเลขของกิจกรรมที่ถูกปิดกั้นและแทรกแซงมีจำนวนลดน้อยลงเรื่อยๆ เช่นนี้ อาจสะท้อนความหมายของสถานการณ์สังคมการเมืองไทยยุค คสช. ได้พอสมควร
 
วรวุฒิ นักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ เคยเล่าว่า ช่วงต้นของการรัฐประหารเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจอย่างเข้มข้น เพราะต้องการควบคุมสถานการณ์ให้เรียบร้อยที่สุด พอเข้าปี 2558 คสช. เริ่มจัดโครงสร้างและระเบียบทางการเมืองได้แล้ว จึงเริ่มปล่อยให้มีการจัดกิจกรรมมากขึ้น และเข้าปี 2559 ก็ค่อนข้างผ่อนคลายมากขึ้น ถ้าไม่ใช่ประเด็นที่ท้าทาย คสช. หรือประเด็นที่แหลมคม โดยที่ผ่านมามีนักกิจกรรมไม่น้อยที่ถูกคุกคามหรือดำเนินคดี ซึ่งลักษณะดังกล่าวยังผลให้กลุ่มคนที่ทำกิจกรรมคัดค้านการปกครองของ คสช. ค่อยๆ ลดน้อยลงไปพร้อมกับความหวังของการเปลี่ยนแปลงสังคม
 
นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีเครื่องมืออีกหลายประเภทที่ คสช. นำมาใช้จำกัดการแสดงออกและการทำกิจกรรมของประชาชน ไม่ว่าจะการคุมขังตามอำเภอใจไว้ในค่ายทหาร, การเรียกรายงานตัว, การเข้าหาผู้ปกครองหรือสมาชิกในครอบครัว และติดตามตัวที่บ้าน เป็นต้น  สำหรับวิธีการเก็บข้อมูลการปิดกั้นและแทรกแซงกิจกรรมของ คสช. ไอลอว์เก็บรวบรวมข้อมูลจากข่าวกระแสหลักและข้อมูลที่แพร่ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค โดยจำนวนดังกล่าวเป็นจำนวนข้อมูลเท่าที่เราสามารถบันทึกและเข้าถึงได้เท่านั้น อาจมีกิจกรรมอีกจำนวนไม่น้อยที่ถูกปิดกั้นหรือแทรกแซงที่ยังไม่ถูกบันทึกข้อมูลไว้
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หลิวเสี่ยวโปเสียชีวิตแล้ว ทั่วโลกประณามจีนไม่ดูแลนักโทษป่วยหนัก

Posted: 13 Jul 2017 10:23 AM PDT

หลิวเสี่ยวโป นักโทษการเมืองที่กิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในจีน ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2553 เสียชีวิตแล้วขณะรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจีน เรื่องนี้ทำให้มีเสียงประณามทางการจีนที่ปล่อยให้นักโทษที่ตัวเองควบคุมดูแลอยู่เสียชีวิต

ภาพวาดหลิวเสี่ยวโปในงานรับรางวัลโนเบลเมื่อปี 2553 ซึ่งเขาไม่สามารถเดินทางมาได้เนื่องจากถูกจองจำ 
ที่มา: Flickr/
Nancy Pelosi/CC BY 2.0

 

13 ก.ค. 2560 เจ้าหน้าที่ทางการจีนในเมืองเสิ่นหยางประกาศว่าหลิวเสี่ยงโป นักโทษการเมืองผู้เรียกร้องสิทธิมนุษยชนเสียชีวิตแล้วในโรงพยาบาลทางตอนเหนือของจีนจากสภาพอวัยวะภายในหลายแห่งล้มเหลว หลังจากที่ชาติตะวันตกและเยอรมนีประณามเรื่องที่จีนไม่ยอมอนุญาตส่งตัวผู้ต้องขังที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะอันตรายไปรักษาตัวที่ต่างประเทศ

หลิวเสี่ยวโปเป็นนักเขียน-ปัญญาชนที่เคยได้รับการเสนอชื่อเข้ารับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 2553 จากการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย เขาถูกทางการจีนสั่งคุมขังเนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับคำประกาศต่อต้านรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน เขาเสียชีวิตขณะมีอายุ 61 ปี

เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาเขาเคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวด้วยเหตุผลทางการแพทย์ หลังจากตรวจพบว่าเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายเมื่อเดือน พ.ค. ใน "การตรวจร่างกายประจำ" แต่เรื่องการป่วยของเขาก็ไม่มีการนำเสนอสู่สาธารณะชนจนกระทั่งถึงปลายเดือน มิ.ย.

หลังจากนั้นหลิวเสี่ยวโปก็ถูกส่งตัวไปรักษาที่เสิ่นหยาง มณฑลเหลียวหนิง ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยการแพทย์เสิ่นหยาง แต่ก็ไม่ยอมให้ส่งตัวไปรักษาต่างประเทศโดยบอกว่าหลิวเสี่ยวโปอาการหนักเกินกว่าจะเดินทางไปได้ ขณะที่ผู้นำนานาชาติอย่างแองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และไช่อิงเหวิน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีน หรือไต้หวัน ต่างก็เรียกร้องให้หลิวเสี่ยงโปได้รับการรักษาตัวในต่างประเทศโดยแมร์เคิลบอกให้ทางการจีน "มีมนุษยธรรม" บ้าง

ข่าวการเสียชีวิตของหลิวเสี่ยวโปทำให้หลายคนแสดงความโศกเศร้าเสียใจและความโกรธแค้น เทียนจื่อ มาร์ติน-เหลียว เพื่อนของหลิวเสี่ยวโปที่เป็นนักเขียนและนักกิจกรรมบอกว่ามันยากลำบากสำหรับเขามากอีกทั้งยังบอกว่าเขาเกลียดชังรัฐบาลจีนและไม่เพียงแค่รู้สึกเศร้าแต่รู้สึกโกรธจัดด้วยจากการที่รัฐบาลปฏิบัติต่อหลิวเสี่ยวโปเช่นนี้

นอกจากนี้ยังมีหลายคนที่ประณามจีนว่าโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และน่ารังเกียจมากจากการที่ไม่ยอมส่งตัวหลิวเสี่ยวโปไปเข้ารับการรักษาก่อนหน้าที่เขาจะอาการทรุดหนัก อีวา พิลส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจีนและสิทธิมนุษยชนจากมหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจบอกว่าเรื่องนี้เป็นการที่ทางการจีนปล่อยให้คนตายในการดูแลของตัวเอง

หลิวเสี่ยวโปเกิดในมณฑลจี๋หลินเมื่อปี 2498 เขาเป็นนักศึกษารุ่นแรกสุดที่ได้เข้ามหาวิทยาลัยหลังช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมของเหมาเจ๋อตุง หลิวเสี่ยวโปศึกษาวรรณกรรมจีนและกลายเป็นนักเขียน-ปัญญาชน ที่ได้รับการยอมรับ

ในช่วงที่มีการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 2532 หลิวเสี่ยวโปกำลังสอนหนังสืออยู่ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา แต่ตัดสินใจเดินทางกลับไปที่กรุงปักกิ่งแม้ว่าจะสนใจการเมืองน้อยมากและกลายเป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในการชุมนุมรวมถึงการอดอาหารประท้วงเขาถูกจับขังเป็นเวลาเกือบ 2 ปี จากการปราบปรามในครั้งนั้น ประสบการณ์ในครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขากลายเป็นนักกิจกรรมที่อุทิศตัวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในจีน

เรียบเรียงจาก

Liu Xiaobo, Nobel laureate and political prisoner, dies at 61 in Chinese custody, The Guardian, 13-07-2017

Chinese dissident and Nobel Peace Prize winner Liu Xiaobo dies at 61, South China Morning Post, 13-07-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'คนงานรถไฟ' ขอ 'ประยุทธ์' ชะลอพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง

Posted: 13 Jul 2017 10:22 AM PDT

สมาพันธ์คนงานรถไฟยื่นหนังสือถึง ประยุทธ์ ติดตามกรณีเสนอข้อมูลเพื่อการปฏิรูปการรถไฟแห่งประเทศไทยและระบบขนส่งทางราง พร้อมให้ชะลอการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง

 
ภาพจาก เฟซบุ๊กแฟนเพจ สมาพันธ์คนงานรถไฟ

13 ก.ค. 2560 เว็บไซต์ voicelabour.org รายงานว่า สมาพันธ์คนงานรถไฟ (สพ.รฟ.) ได้ยื่นหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเรื่อง ติดตามเรื่องการเสนอข้อมูลเพื่อการปฏิรูปการรถไฟแห่งประเทศไทยและระบบขนส่งทางราง โดยมี พันศักดิ์ เจริญ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการส่วนประสานมวลชนและองค์กรประชาชน (สปอ.) เป็นผู้รับหนังสือ ทั้งนี้ยังได้เดินทางไปยังกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกด้วย

เฟซบุ๊กแฟนเพจ สมาพันธ์คนงานรถไฟ โพสต์รายละเอียดด้วยว่า มีการยื่นหนังสือ 5 ฉบับ นอกจากยื่นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ แล้ว ยังยื่นต่อ ยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และประธานคณะการกฤษฎีกาคณะที่ 4 เพื่อติดตามเรื่องการเสนอข้อมูลเพื่อการปฏิรูปการรถไฟแห่งประเทศไทยและระบบขนส่งทางราง และการชะลอการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ..... 

ที่มา เฟซบุ๊กแฟนเพจ สมาพันธ์คนงานรถไฟ

สำหรับ สมาพันธ์คนงานรถไฟ นั้น สุวิช  ศุมานนท์ ประธาน สพ.รฟ.กล่าวว่า สมาพันธ์คนงานรถไฟ เกิดขึ้นจากการรวมตัวของคนงานรถไฟทุกภาคส่วน เห็นด้วยอย่างยิ่งกับแนวทางการปฏิรูปกิจการรถไฟ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน และคงไว้ซึ่งความเป็นหน่วยงานของรัฐเพื่อสร้างระบบการขนส่งทางรางให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน อย่างไรก็ตามเพื่อความโปร่งใสตามหลักการธรรมาภิบาล ควรให้ผู้เกี่ยวข้องได้วิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้าน และเป็นระบบ

"จึงขอเสนอให้ยุติกระบวนการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. ….ไว้ก่อน แล้วนำกลับเข้ามาให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้พิจารณาทบทวนอีกครั้ง โดยให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมในการรับฟังความคิดเห็น วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 77 ต่อไป  และตามที่สมาพันธ์ฯได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลตามหนังสืออ้างถึง 1. เมื่อวันที่  22 พ.ค. 2560 นั้น จนถึงบัดนี้ยังไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาลแต่อย่างใด ซึ่งหากการพิจารณามีผลเป็นประการใดโปรดแจ้งให้กับทางสมาพันธ์ฯทราบด้วย" สุวิช กล่าว

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คกก.แก้ กม.หลักประกันสุขภาพ เมินเสียง ปชช. หวั่นยา-เวชภัณฑ์ขาดแคลนซ้ำรอยอดีต

Posted: 13 Jul 2017 08:06 AM PDT

คกก.พิจารณา กม.หลักประกัน คงร่วมจ่ายไว้ แยกเงินเดือน และให้ สธ.จัดซื้อยา ทั้งที่ภาค ปชช.คัดค้านมาตลอด เรียกร้องหมอปิยะสกล รมว.สธ. แสดงความรับผิดชอบต่อผลในอนาคตและตั้งคณะทำงานติดตามผล คนรักหลักประกันถาม สปสช. ซื้อยาได้ดีอยู่ ทำไมไม่ให้ทำ หวั่นยา-เวชภัณฑ์ขาดแคลนซ้ำรอยอดีต

วันที่ 13 กรกฎาคม 2560 เวลา 9.30 น. เครือข่ายภาคประชาชน คนรักหลักประกันสุขภาพ รวมตัวกันที่หน้าบริเวณสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อติดตามการพิจารณาการแก้ไขกฎหมายของคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเรียกร้องให้ทางคณะกรรมการเปิดเผยข้อมูลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และรอฟังผลการพิจารณาของคณะกรรมการ โดยระหว่างรอ ทางเครือข่ายฯ มีการตั้งวงอภิปรายให้ข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหากฎหมาย รวมทั้งเรียกร้องให้ตัดประเด็นการร่วมจ่ายออกจากมาตรา 5 ในกฏหมายหลักประกัน

เวลาประมาณ 12.30 เครือข่ายภาคประชาชนฯ ได้รับทราบผลการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของคณะกรรมการฯ ว่า จะยังคงประเด็นการร่วมจ่ายไว้ในมาตรา 5, ให้หน้าที่การจัดซื้อยาเป็นของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และทำการแยกเงินเดือนจากเงินเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งทั้ง 3 ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่เครือข่ายภาคประชาชนฯ คัดค้าน

เนื่องจากอาจทำให้เกิดการร่วมจ่ายได้ในอนาคต ประเด็นการให้ สธ. เป็นผู้จัดซื้อยาและเวชภัณฑ์แทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อาจทำให้ไม่สามารถจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ได้ในราคาถูกและมีประสิทธิภาพเพียงพอ ขณะที่การแยกเงินเดือนอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการขาดแคลนแพทย์ในบางพื้นที่

เครือข่ายภาคประชาชนฯ จึงนำสัญลักษณ์โลงศพและพวงหรีดมาวางที่ด้านหน้าสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ได้อ่านแถลงการณ์ โดยเนื้อความตอนหนึ่งเรียกร้องต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่า

1.ขอเรียกร้องให้เป็นเปิดเผยข้อมูลความเห็นในการแก้ไขกฎหมายที่ยังมีความเห็นต่างต่อสาธารณะและสร้างกระบวนการที่เป็นกลาง โปร่งใส ให้ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างเสมอภาค

2.ขอเรียกร้องให้ นพ.ปิยะสกล ในฐานะ รมว.สธ. ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาแถลงชี้แจงแสดงความรับผิดชอบยอมรับต่อผลที่จะตามมาจากการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ ไม่ว่าผลที่เกิดขึ้นหลังจากการแก้ไขครั้งนี้จะเป็นอย่างไร

3.ขอเรียกร้องให้ นพ.ปิยะสกล แต่งตั้งคณะทำงานที่น่าเชื่อถือ เป็นกลาง และเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มาดำเนินการติดตามผลการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อการแก้ไขกฎหมาย แม้ว่าท่านจะไม่ใช่ผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนก็ตาม

ด้านสุรีรัตน์ ตรีมรรคา กรรมการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตัวแทนภาคประชาชน อธิบายกับประชาไทถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการให้ สธ. ทำหน้าที่จัดซื้อยาและเวชภัณฑ์แทน สปสช. ว่า

"ขณะนี้ สปสช. จ่ายเป็นยา เช่น ยามะเร็งเข็มละแสนสองแสนหรือขดลวดขยายหัวใจ ก็เจรจาซื้อตรงกลาง ซึ่งทำให้ซื้อได้ราคาถูก แล้ว สปสช. ก็ไม่ได้จ่ายเป็นเงินให้โรงพยาบาลที่รักษามะเร็ง แต่ให้เป็นยา คุณใช้ไปเท่าไหร่ เราก็ทดแทนให้ เพราะเราเป็นคนซื้อให้ ที่เราบริหารแบบนี้เพราะคนไข้มะเร็งไม่ได้อยู่ทุกโรงพยาบาล เราจะเหมาจ่ายไปให้ทุกโรงพยาบาลเพื่อรักษามะเร็งไม่ได้ ยังไงก็ต้องประกันให้ประชาชนว่า ถ้าใครเป็นโรคหัวใจ ใครต้องผ่าตัดสมอง มันมีกองกลางอยู่ตรงกลาง คุณเคลมมาที่นี่ ตอนนี้ให้เคลมเป็นวัสดุ ยา หรือเงินก็ได้

"แต่ต่อไปเขาอาจจะบอกว่าให้เคลมเฉพาะเงิน แล้วกระทรวงสาธารณสุขจะไปเจรจากับทางบริษัทนั้นเองว่า ถ้าใครจะซื้อวัสดุน่าจะได้ราคานี้นะ แล้วให้โรงพยาบาลนั้นซื้อเอง คือกระทรวงสาธารณสุขคงไม่สามารถเป็นคนซื้อแล้วสต็อกไว้ที่กระทรวงและส่งออกไปได้ มันจะเป็นกระบวนการที่ซ้ำซ้อนและที่ผ่านมากระทรวงทำไม่ได้ คือเขาจะมีราคากลางไว้ ถ้าคุณซื้อจากบริษัทนี้ คุณจะได้ราคานี้ แต่มันก็เป็นอิสระของโรงพยาบาลที่จะซื้อหรือไม่ซื้อก็ได้

"ที่ผ่านมาในอดีตเคยมีว่า ยาต้านไวรัสควรซื้อให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี แต่บางโรงพยาบาลอาจจะยังไม่ซื้อ ไม่พร้อมซื้อ อยากเอาไปซื้ออย่างอื่นก่อน เอชไอวีเอาไว้ทีหลัง แล้วก็ขาดยา ผู้ติดเชื้อเอชไอวีก็ร้องว่าไม่ได้กินยา สมมติว่าเราเป็นมะเร็ง ต้องทำคีโม วันนี้โรงพยาบาลไม่พร้อมจะซื้อคีโมสต็อกไว้เยอะๆ แต่ดันมีผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้น รอก่อน เรายังให้คีโมคุณไม่ได้ อันนี้เป็นปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในทางปฏิบัติ เพราะมันเป็นเสรีภาพของทุกโรงพยาบาล กระทรวงจะสั่งทุกโรงพยาบาลได้มั้ย ถ้าสั่งไม่ได้ กระทรวงต้องซื้อคีโมเอง แล้วส่งคีโมไป กระทรวงก็ต้องบริหารเหมือนที่ สปสช. บริหารในสิบปีที่ผ่านมา ต้องสร้างระบบขึ้นมาใหม่ ถ้าจะรับประกันว่าจะมีระบบแบบเดิมก็ไม่ว่ากัน หรือต่อไปอาจกลายเป็นให้ สปสช. ทำให้ แต่ฉันเป็นคนตัดสินก็ได้ ประเด็นคือ สปสช. ทำดีอยู่แล้ว ทำไมไม่ให้ทำต่อ ไม่ยอม อ้างว่ากฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้"

ด้านนิมิตร์กล่าวว่า ทางเครือข่ายภาคประชาชนฯ จะทำการยื่นร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของภาคประชาชนประกบไปกับร่างกฎหมายของคณะกรรมการฯ ในขั้นตอนต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สมาคมธุรกิจร้านอาหาร' คาดปี 60 ร้านขนาดเล็ก-กลาง ปิดกิจการอีกเพิ่มเท่าตัว

Posted: 13 Jul 2017 06:25 AM PDT

นายกสมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหาร คาดปี 60 ผู้ประกอบการร้านอาหารคนไทยทั่วประเทศทั้งขนาดเล็กและกลางปิดกิจการประมาณ 2,300 ร้าน เพิ่มขึ้นถึง 1 เท่าตัว จากปี 59 เหตุภาวะเศรษฐกิจกำลังซื้อชะลอตัว ขาดแคลนแรงงานต่างด้าว

แฟ้มภาพ ประชาไท

13 ก.ค. 2560 คมชัดลึกออนไลน์ รายงานว่า ณ ห้องมิตติ้ง รูม 3,ศูนย์ประชุมแห่งชาติ สิริกิติ์ สมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหาร  นำโดย ลัดดา สำเภาทอง นายกสมาคมฯ พร้อม คณะกรรมการสมาคม ได้ร่วมกันจัดงานแถลงข่าว "เปิดตัวสมาคม พร้อม ชี้วิกฤตร้านอาหารและทางรอด สู้ภัยเศรษฐกิจ"  ต่อกลุ่มสื่อมวลชน เป็นครั้งแรก  

โดย ลัดดา เปิดเผยว่า จากสถิติตลาดธุรกิจร้านอาหาร ที่ครอบคลุมถึงเชนร้านอาหาร และ ร้านอาหารทั่วไปในปี 2559 นี้ มีมูลค่าประมาณ 382,000 - 385,000 ล้านบาท มีการเติบโตในอัตราร้อยละ 1.9 - 2.7 เมื่อเทียบ จากปี 2558 ที่มีมูลค่า  375,000 ล้านบาท นับเป็นการเติบโตที่มีการชะลอตัวอย่างเด่นชัดจากปี 2558 ที่มีการเติบโตถึง 4% โดยแบ่งเป็นมูลค่าของตลาดทีเป็นเชนร้านอาหาร 114,000 – 116,000 ล้านบาท  เติบโตในอัตรา 3.6 – 5.5% จากปี 2558  ที่มีมูลค่า 110,000 ล้านบาท และมูลค่าตลาดของร้านอาหารทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารขนาดกลางและเล็ก ประมาณ  268,000 – 269,000  ล้านบาท เติบโตในอัตรา 1.1 – 1.5%  จากปี 2558  ที่มีมูลค่า 265,000 ล้านบาท  

เดลินิวส์ รายงานเพิ่มเติมถึงการคาดการณ์ร้านอาหารของคนไทยทั่วประเทศทั้งขนาดเล็กและขนาดกลาง โดย นายกสมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหาร เปิดเผยว่า ปี 60 นี้คาดว่าผู้ประกอบการร้านอาหารของคนไทยทั่วประเทศทั้งขนาดเล็กและขนาดกลางปิดกิจการลงประมาณ 2,300 ร้านค้า นับเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 1 เท่าตัว จากปี 59 ที่ปิดกิจการประมาณ 1,000 ร้านค้า  โดยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อชะลอตัวทำให้คนทานข้าวนอกบ้านน้อยลง และการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีกลับไปประเทศตนเอง 

นายกสมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหาร ระบุด้วยว่า การมีร้านอาหารต่างชาติในระบบแฟรนไชส์เข้ามาเปิดในไทยจำนวนมาก และแข่งขันกันรุนแรงด้วยโปรโมชั่น เช่น การให้ส่วนลด ซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง การจัดชุดอาหารเพื่อสร้างความคุ้มค่า ทำให้ถูกดึงดูดไปเข้าใช้บริการเชนร้านอาหารหมด รวมทั้งบริการเดลิเวอรี่ในระบบออนไลน์ยังทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ ในครึ่งปีแรกได้ปิดตัวลงไปแล้ว 1,300 ร้านค้า โดยเฉพาะภาคอีสานที่ปิดกิจการมากที่สุดประมาณ 700 ร้านค้า รองลงมาคือภาคเหนือปิดไปแล้ว 300 ร้านค้า และที่เหลือในภาคอื่นๆรวมกัน จากจำนวนร้านอาหารในไทยที่มีปัจจุบัน 200,00 – 300,000 ร้านค้า 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คสช. สั่งกองทัพบก เปิด 'ตู้ปณ.-สายด่วน' รับเรื่องร้องเรียนทุจริต

Posted: 13 Jul 2017 04:48 AM PDT

ประยุทธ์ มีคำสั่งให้ คสช.-กองทัพบก เปิดช่องทางรับเรื่องร้องเรียนการทุจริตประพฤติมิชอบ เรียกรับสินบน หรือผลประโยชน์ทุกรูปแบบ ที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง 

ที่มา เฟซบุ๊กแฟนเพจ กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย

13 ก.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ หัวหน้า คสช. มีคำสั่งให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติและกองทัพบก ซึ่งรวมไปถึงกองทัพภาคและหน่วยทหารของกองทัพบกในพื้นที่ เป็นช่องทางรับเรื่องร้องเรียนการทุจริตประพฤติมิชอบ เรียกรับสินบน หรือผลประโยชน์ทุกรูปแบบ ที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ด้วยการเปิดตู้ ปณ.และสายด่วนให้ประชาชนแจ้งข้อมูลเบาะแสต่าง ๆ โดยมอบหมายให้ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการ คสช. เป็นผู้รับผิดชอบ

"นายกฯ กำชับให้ คสช.และกองทัพเร่งดำเนินการ และแจ้งให้ประชาชนทราบ เนื่องจากการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะมีความเกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรงและเชื่อมโยงไปสู่ปัญหาอื่น ๆ เช่น ปัญหาการค้ามนุษย์ การขาดความศรัทธาในหน่วยงานของรัฐ ประเทศชาติสูญเสียงบประมาณแผ่นดินมหาศาล และกระทบต่อความเชื่อถือของต่างประเทศ" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  เรื่องร้องเรียนทั้งหมดจะถูกรวบรวมส่งไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด  นโยบายดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่ฝังรากลึกในสังคมมายาวนาน เปลี่ยนประเทศไทยให้ใสสะอาด และสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนทุกคน

ล่าสุด เฟซบุ๊ก กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย โพสต์ภาพพร้อมข้อความว่า "โกงเก่าโกงใหม่ ต้องไม่ให้มีที่ยืน" ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแส ข้อมูลความประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ ที่ "ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ" ของ คสช.

สำหรับรูปแบบวิธีการระบุหน้าซองจดหมาย ถึง "ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ" ของ คสช. สามารถทำได้ใน 2 รูปแบบ ดังตัวอย่าง กรุณาส่ง (1.) ตู้ ปณ.444 ปณ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ 10200 หรือ (2.) สำนักงานเลขาธิการ คสช. ตู้ ปณ.444 ปณ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ 10200

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิกฤตตุลาการคือการขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย

Posted: 13 Jul 2017 03:34 AM PDT

เลือกประธานศาลฎีกาไม่ได้ ทำไมจึงเป็นวิกฤตตุลาการ? 'ประชาไท' ชวนตั้งคำถามหรือวิกฤตตุลาการคือการขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ไม่ยึดโยงประชาชน ขาดห่วงโซ่แห่งความชอบธรรม นักนิติศาสตร์เสนอโมเดลเชื่อมโยงประชาชน ชี้อาการรังเกียจการเมือง-นักการเมืองเป็นปมปัญหาใหญ่ปฏิรูปตุลาการ

เมื่อ ศิริชัย วัฒนโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์ ไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ ก.ต. ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา วีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกาคนที่ 43 ซึ่งจะเกษียณอายุในวันที่ 30 กันยายน 2560 ก่อนที่ ก.ต. จะมีมติเอกฉันท์แต่งตั้งชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา ขึ้นเป็นประธานศาลฎีกา ประมุขฝ่ายตุลาการคนที่ 44

กรณีที่เกิดขึ้นนี้ถูกจับตาและตั้งข้อสังเกตไปต่างๆ นานา เนื่องจากกรณีเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับองค์กรตุลาการที่ค่อนข้างจะเคร่งครัดกับระบบอาวุโส

อย่างน้อยก็ไม่เคยเกิดขึ้นมาตั้งแต่วิกฤตตุลาการปี 2534 ที่ฝ่ายการเมืองที่นำโดยประภาศน์ อวยชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม งัดข้อกับฝ่ายตุลาการนำโดยโสภณ รัตนากร ประธานศาลฎีกา เมื่อฝ่ายแรกต้องการดันสวัสดิ์ โชติพานิชขึ้นเป็นประธานศาลฎีกาต่อจากโสภณ ขณะที่โสภณกลับเสนอให้ประวิทย์ ขัมภรัตน์ ซึ่งมีอาวุโสน้อยกว่าสวัสดิ์ขึ้นดำรงตำแหน่งต่อจากตน

แต่สุดท้าย 8 พฤศจิกายน 2534 ก็มีพระบรมราชโอการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้สวัสดิ์ โชติพานิช เป็นประธานศาลฎีกา ทำให้ม็อบผู้พิพากษากว่า 500 คนที่ชุมนุมกันที่เวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ (หรือเซ็นทรัล เวิร์ลในปัจจุบัน) มีมติน้อมรับพระราชโองการในที่สุด แต่เรื่องก็ยังไม่จบลงเพียงเท่านั้น เมื่อ 11 กันยายน 2535 รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ.2521 แต่ถูกต่อต้านจากผู้พิพากษากว่า 700 คนทั่วประเทศ เนื่องจากเห็นว่าการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้จะทำให้ฝ่ายบริหารเข้ามามีอิทธิพลเหนือผู้พิพากษาและทำลายหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเมื่อชวน หลีกภัย ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 23 กันยายน 2535 แล้ว 7 ตุลาคม 2535 สภาผู้แทนราษฎรก็มีมติเอกฉันท์ไม่อนุมัติพระราชกำหนดฉบับดังกล่าว

อาจกล่าวได้ว่า ทุกอย่างจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายตุลาการที่ยังสามารถป้องกันการ 'แทรกแซง' จากฝ่ายการเมืองได้อีกครั้ง

วิกฤตความชอบธรรมทางประชาธิปไตย

กับกรณีการแต่งตั้งประมุขฝ่ายตุลาการที่เพิ่งผ่านไป ด้านศิริชัยเองก็ยืนยันว่าจะไม่มีการฟ้อง ก.ต. ดังที่เป็นข่าว ฝ่ายที่หวั่นวิตกว่าจะเกิดวิกฤตตุลาการคงจะเบาใจได้ อย่างไรก็ตาม ชวนตั้งคำถามว่า จะเกิดวิกฤตได้อย่างไร ในเมื่อครั้งนี้การแต่งตั้งประธานศาลฎีกาเป็นเรื่องภายในของเหล่าผู้พิพากษาเท่านั้น ฝ่ายการเมืองไม่ได้เกี่ยวข้องหรือพยายามแทรกแซงแต่อย่างใด

อีกทั้งในบริบทปัจจุบัน คงต้องยอมรับว่าฝ่ายการเมืองซึ่งมาจากการรัฐประหารกับฝ่ายตุลาการค่อนข้างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอยู่แล้ว

ตรงกันข้าม ประชาไททดลองตั้งสมมติฐานใหม่ว่า หรือจริงๆ แล้ว องค์กรตุลาการของไทยวิกฤตมาก่อนหน้านี้นานแล้ว โดยเฉพาะวิกฤต 'ความชอบธรรมทางประชาธิปไตย' ที่ไม่สามารถสืบสาวหรือยึดโยงกลับไปหาประชาชนได้เลย

หากดูตำแหน่ง ก.ต. จำนวน 15 คน จะพบว่า 13 คนมาจากฝ่ายตุลาการ ที่เหลืออีก 2 คนมาจากการคัดเลือกของวุฒิสภา ซึ่งเป็นความพยายามหาจุดยึดโยงกับประชาชนอันเป็นผลสืบเนื่องจากการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญ 2540 แต่เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบัน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คนนี้ถูกเลือกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อีกทั้งในอนาคต ประเทศไทยจะมีสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด 250 คน ซึ่งแตกต่างอย่างชัดเจนจากสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 ความพยายามยึดโยงกับประชาชนที่บางเบาอยู่แล้ว จึงหายไปในทันที

ห่วงโซ่ความชอบธรรมทางประชาธิปไตยขาดหาย

ฤทธิภัฏ กัลป์ยาณภัทรศิษฏ์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผู้ศึกษาเรื่องการถ่วงดุลและตรวจสอบฝ่ายตุลาการในระบบกฎหมายไทย กล่าวว่า ระบบ ก.ต. เกิดขึ้นในฝรั่งเศสเพื่อสร้างการถ่วงดุลระหว่างฝ่ายการเมืองและฝ่ายตุลาการ เนื่องจากผู้มีอำนาจแต่งตั้งผู้พิพากษาคือรัฐมนตรี ก.ต. จะทำหน้าที่ตรวจสอบว่าฝ่ายการเมืองแต่งตั้งคนเหมาะสมกับตำแหน่งหรือไม่

"แต่ของเรากลับมีปัญหา หลังการปฏิวัติ 2475 อาจารย์ปรีดี พนงยงค์ พยายามนำโมเดลนี้มาใช้ คือรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจแต่งตั้งผู้พิพากษาและมีการตั้ง ก.ต. ขึ้นมาถ่วงดุลกับรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม แต่ระบบนี้ถูกเปลี่ยนประมาณปี 2500 เปลี่ยนไปให้ ก.ต. มีอำนาจในการควบคุมการคัดเลือกผู้พิพากษาทั้งหมด รัฐมนตรีมีอำนาจแค่คัดค้าน ถ้าจะไม่แต่งตั้งก็ต้องโยนกลับมาที่ ก.ต. ซึ่ง กต. ก็จะมีอำนาจยืนยันมติของตนเองและแต่งตั้งไปตามนั้น แล้วก็เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งตอนรัฐธรรมนูญปี 2540 มีการตรา พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ ปี 2542 และ 2543 ตอนนั้นตัดอำนาจของรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมไปเลย กลายเป็นประธานศาลฎีกาเป็นคนแต่งตั้งตามข้อเสนอของ ก.ต."

ถามว่า ก.ต. ที่มีสัดส่วน 2 คนที่มาจากการคัดเลือกของวุฒิสภาถือว่ามีความเชื่อมโยงกับประชาชนเพียงพอหรือไม่ ฤทธิภัฏ กล่าวว่า ไม่พอ เพราะโดยหลักแล้วสมาชิกอย่างน้อยครึ่งหนึ่งต้องเชื่อมโยงกลับไปหาประชาชนได้ เช่น ผู้พิพากษาตั้งจาก ก.ต. ต้องย้อนกลับไปว่า ก.ต. มาจากไหน ถ้า ก.ต. มาจากผู้พิพากษาด้วยกันเอง ลักษณะนี้เรียกว่าห่วงโซ่ความชอบธรรมทางประชาธิปไตยขาดไป แต่ถ้า ก.ต. มาจากสภา สภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน ลักษณะนี้ห่วงโซ่ความชอบธรรมจะย้อนกลับไปหาประชาชนได้

"ประธานศาลฎีกาของไทยมีอำนาจควบคุมการบริการตุลาการด้วย ดังนั้น โดยสภาพผู้ที่มาทำหน้าที่ตรงนี้ควรได้รับความชอบธรรมหรือได้รับการอนุมัติมาจากตัวแทนประชาชน"

"เมื่อเดินมาแบบนี้ทำให้การคัดเลือกหรือแต่งตั้งผู้พิพากษาถูกตัดออกจากฝ่ายการเมือง ซึ่งในมุมมองของฝ่ายตุลาการมองว่า ถ้าปล่อยให้การเมืองเข้ามายุ่งจะทำให้เสียความเป็นอิสระ แต่ขณะเดียวกันเมื่อตัดฝ่ายการเมืองออกไปก็เท่ากับตัดขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตยออกไปด้วย"

มิซซูรี แพลน-เมอร์ริต แพลน

ฤทธิภัฏ อธิบายว่า ในต่างประเทศมีหลายโมเดลที่จะทำให้ห่วงโซ่ความชอบธรรมทางประชาธิปไตยไม่ขาดตอน ขณะที่การตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างสองฝ่ายยังคงมีอยู่ และความมีอิสระของฝ่ายตุลาการไม่ถูกกระทบกระเทือน เช่น การให้ประชาชนเลือกผู้พิพากษาโดยตรง ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในระดับมลรัฐในอเมริกาฯ ในการเลือกผู้พิพากษาระดับล่าง มีข้อดีว่าความชอบธรรมหรือการยอมรับผู้พิพากษาจากประชาชนจะมีสูง ส่วนข้อเสียคือการเลือกตั้งไม่สามารถคัดกรองคนที่มีความรู้ความสามารถ ในบางกรณีอาจเป็นการเลือกตามกระแส ตามอารมณ์ของสังคมในช่วงเวลานั้นๆ ทำให้ได้ผู้พิพากษาที่ไม่มีคุณภาพดีพอ

อีกโมเดลหนึ่งที่ใช้ในอเมริกาฯ เรียกว่า มิสซูรี แพลน ระบบนี้จะมีกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งคัดเลือกคนที่เหมาะสมที่จะเป็นผู้พิพากษา กรรมการชุดนี้ครึ่งหนึ่งมาจากผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย อีกครึ่งมาจากฝ่ายการเมืองเป็นผู้แต่งตั้งเข้ามา แล้วทำการเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติจะเป็นผู้พิพากษา ทำเป็นบัญชีรายชื่อประมาณสามสี่คนส่งให้ผู้ว่าการรัฐเป็นผู้เลือกจากบัญชีรายชื่อ ผู้ที่ได้รับการเลือกจะต้องไปเรียนการเป็นผู้พิพากษาและทำงานประมาณปีหรือสองปีตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อครบกำหนดแล้วจึงให้ประชาชนลงมติว่าจะให้ผู้พิพากษาคนดังกล่าวยังคงดำรงตำแหน่งต่อไปหรือไม่ กล่าวได้ว่าเป็นการเลือกเพื่อรักษาตำแหน่งผู้พิพากษา

ขณะที่ญี่ปุ่นนำโมเดลนี้ไปประยุกต์ใช้เรียกว่า Merit Plan โดยคณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้เลือกผู้พิพากษาศาลสูงสุด 15 คนและสามารถทำงานได้ทันที แต่เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไป ประชาชนมีสิทธิลงคะแนนว่าจะให้ผู้พิพากษาดำรงตำแหน่งต่อไปหรือไม่ หากเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบก็จะสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ 10 ปี เมื่อครบ 10 ปี ประชาชนก็จะลงมติซ้ำว่าจะให้เป็นต่ออีกหรือไม่ ขณะที่ผู้พิพากษาระดับล่าง คณะรัฐมนตรีจะแต่งตั้งตามที่ผู้พิพากษาศาลสูงสุดเสนอมา เป็นการถ่วงดุลกันระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายตุลาการ

ประธานศาลฎีกาควรได้รับความชอบธรรมจากตัวแทนประชาชน

ส่วนกรณีการแต่งตั้งประธานศาลฎีกาของไทย ฤทธิภัฏ กล่าวว่า

"ในความเห็นของผมต้องดูก่อนว่า ประธานศาลฎีกามีหน้าที่อะไรบ้าง หลังจากรัฐธรรมนูญ 2540 มีการแยกศาลออกจากกระทรวงยุติธรรม หมายถึงว่าให้ฝ่ายตุลาการรับผิดชอบจัดทำบริการสาธารณะทางตุลาการ คือจัดสถานที่ จัดบุคลากร ตัดสินข้อพิพาทให้แก่ประชาชนทั่วไป ก่อนปี 2540 งานนี้เป็นภารกิจ เป็นอำนาจของรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง หลังปี 2540 อำนาจนี้ถูกโอนมาให้ฝ่ายตุลาการ คนที่รับผิดชอบงานนี้คือประธานศาลฎีกาทำหน้าที่กุมนโยบาย แต่ในโครงสร้างจะมีองค์กรที่คอยถ่วงดุลอำนาจประธานศาลฎีกาอีกทีหนึ่ง

"เพราะฉะนั้นประธานศาลฎีกาที่คนทั่วไปอาจจะคิดว่าตัดสินคดีอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วประธานศาลฎีกาของไทยมีอำนาจควบคุมการบริการตุลาการด้วย ดังนั้น โดยสภาพผู้ที่มาทำหน้าที่ตรงนี้ควรได้รับความชอบธรรมหรือได้รับการอนุมัติมาจากตัวแทนประชาชน ในความเห็นของผมอาจอนุมัติโดยให้สภาเป็นผู้ลงมติเห็นชอบ โดย ก.ต. อาจทำหน้าที่คัดกรองคุณสมบัติ ทำบัญชีรายชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติ แล้วให้สภาคัดเลือก ซึ่งจะเชื่อมโยงความชอบธรรมทางประชาธิปไตยได้ในระดับหนึ่ง แต่อาจจะไม่ทั้งหมด"

บริหาร-ตุลาการ ถ่วงดุลหรือแทรกแซง?

แต่ด้วยบุคลิกของสังคมไทยที่รังเกียจการเมืองและนักการเมือง การสร้างห่วงโซ่ความชอบธรรมทางประชาธิปไตย การถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหารและตุลาการ มักถูกหันเหไปสู่ประเด็นว่าการเมืองแทรกแซงฝ่ายตุลาการ ฤทธิภัฏ แสดงความเห็นว่า

"ในสังคมมองว่าตุลาการเป็นฝ่ายเทพ ถ้าให้การเมืองเข้ามาแต่งตั้งผู้พิพากษาจะทำให้ฝ่ายตุลาการแปดเปื้อนไปด้วย ซึ่งปมนี้เป็นปมที่แกะยากที่สุดในสังคมไทย การที่ ก.ต. มีอำนาจแบบนี้เคยมีความพยายามจะแก้อย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งหนึ่งสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร จะออกมาเป็นประกาศคณะปฏิวัติ แต่ก็โดนสื่อมวลชนและสังคมประณามว่าจะทำให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงฝ่ายตุลาการ สุดท้ายก็ต้องยกเลิกไป อีกครั้งหนึ่งคือตอนวิกฤตตุลาการ 2534 ที่พยายามจะออกพระราชกำหนดแก้สัดส่วนใน ก.ต. ก็โดนต่อต้าน จนต้องถอนออกไปเหมือนกัน ซึ่งตรงนี้เป็นปมที่ยากที่สุดในการปฏิรูปฝ่ายตุลาการบ้านเรา"

ฤทธิภัฏ กล่าวอีกว่า ในต่างประเทศที่แม้ว่าจะมีความรังเกียจฝ่ายการเมือง แต่ประชาชนมีความเชื่อมั่นว่าตนมีอำนาจสามารถควบคุมฝ่ายการเมืองได้ ซึ่งต่างกับในประเทศไทย เขาอธิบายเพิ่มเติม เหตุนี้ นอกจากการนำโมเดลต่างๆ ข้างต้นมาประยุกต์ใช้แล้ว การสร้างระบบที่แยกเรื่องการแต่งตั้งกับการถอดถอนออกจากกันถือเป็นหนทางหนึ่งที่จะคงความเป็นอิสระของตุลาการ

"การแยกระบบการแต่งตั้งกับระบบถอดถอนออกจากกัน คนที่มีอำนาจแต่งตั้งจะไม่มีอำนาจถอดถอน คนที่ได้รับการแต่งตั้งเข้าไปแม้จะทำสิ่งที่ไม่ถูกใจผู้ที่แต่งตั้งตน แต่ก็ไม่กลัวว่าจะถูกถอดโดยผู้แต่งตั้ง เช่น อเมริกา คนแต่งตั้งคือประธานาธิบดีโดยมีวุฒิสภาเป็นผู้อนุมัติ แต่ตอนถอดออกต้องเข้ากระบวนการ Impeachment ซึ่งต้องเริ่มจาก ส.ส. ก่อน ลงมติ แล้วเสนอมให้ สว. ลงมติซ้ำ ซึ่งประธานาธิบดีไม่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ผู้พิพากษาจึงไม่ต้องกลัวและไม่ต้องทำงานตอบสนองต่อผู้ที่แต่งตั้งตนเข้าไป"

สิ่งที่เรียกว่าวิกฤตตุลาการที่วิตกกันไปก่อนหน้านี้จึงอาจเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว ทว่า วิกฤตจริงๆ ของสถาบันตุลาการไทยคือวิกฤตการขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตยที่ยังไม่มีหนทางคลี่คลาย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'See You Again' แซง 'กังนัมสไตล์' ขึ้นแท่นยอดวิวสูงสุดบน YouTube แล้ว

Posted: 13 Jul 2017 02:52 AM PDT

หลังวิดีโอคลิป 'กังนัมสไตล์' ครองแชมป์ยอดวิวสูงสุดบน YouTube มาเกือบ 5 ปี ล่าสุด 'See You Again' ซึ่งขณะนี้มียอด 2,909 ล้านวิว แซงขึ้นขึ้นแท่นยอดวิวสูงสุดแล้ว 

เอ็มวีเพลง See You Again ของ Wiz Khalifa 

13 ก.ค. 2560 หลังจากเมื่อเกือบ 5 ปีก่อน (ธ.ค.55) วิดีโอคลิป "PSY - GANGNAM STYLE (강남스타일) M/V " ซึ่งเป็น MV เพลงกังนัมสไตล์ ของไซ หรือ ปาร์ค แจซัง  (Psy, Park Jae-Sang) นักร้องชาวเกาหลีใต้ใช้เวลาเพียง 5 เดือนเศษ มียอดผู้เข้าชม 1,000 ล้านครั้ง ทำสถิติสูงสุด แซง คลิป "Justin Bieber - Baby ft. Ludacris" ของ จัสติน บีเบอร์ ครองอันดับ 1 ในยูทูบมาก่อนหน้านั้น และหลังจากขึ้นอันดับ 1 MV เพลงกังนัมสไตล์ ครองอันดับนี้มาเป็นเวลาเกือบ 5 ปี ขณะนี้ยอดวิวทะลุไปถึง 2.89 พันล้าน

จนล่าสุด CNN ซึ่งสรุปความและแปลโดย Blognone รายงานว่า สถิตินี้ก็ถูกล้มลงแล้ว ซึ่งผู้ครองแชมป์รายใหม่ก็คือเอ็มวีเพลง See You Again ของ Wiz Khalifa ณ ขณะที่เขียนข่าวนี้ ยอดวิวของ See You Again อยู่ที่ 2,909 ล้านวิว ส่วน Gangnam Style อยู่ที่ 2,897 ล้านวิว

สถิติการรับชมคลิป See You Again

สำหรับ See You Again เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Furious 7 ที่ออกฉายในปี 2015 ซึ่งใช้เป็นเพลงในภาพยนตร์เพื่ออุทิศให้กับ Paul Walker นักแสดงนำที่เสียชีวิตก่อนภาพยนตร์ออกฉาย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฝ่าวิกฤตซาอุฯแบน-นักธุรกิจกาตาร์สั่งนำเข้าวัวนมทางอากาศ 4,000 ตัว

Posted: 13 Jul 2017 02:21 AM PDT

นักธุรกิจกาตาร์วางแผนนำเข้าวัวนม 4,000 ตัวด้วยการขนส่งทางอากาศ โดยเมื่อวันอังคารนี้วัวนมล็อตแรกมาถึงกาตาร์แล้ว โดยนักธุรกิจผู้นี้เปิดเผยว่าต้องการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ตามยุทธศาสตร์กาตาร์ที่มุ่งลดการพึ่งพาธุรกิจปิโตรเลียม และเมื่อถูกซาอุดิอาระเบียนำชาติอาหรับคว่ำบาตร ธุรกิจเกษตรของเขาจึงเร่งมือทำตามแผนให้เร็วขึ้น

(ซ้าย) วัวนมในปศุสัตว์แห่งหนึ่ง (ขวา) มุทัส อัล คายัต ประธานบริษัทพาวเวอร์ อินเตอร์เนชันแนล โฮลดิง ซึ่งเตรียมขยายกิจการจากธุรกิจก่อสร้างมาทำธุรกิจด้านการเกษตร (ที่มาของภาพประกอบข่าว: geograph.org.uk/powerholding-intl.com)

13 ก.ค. 2560 หลังซาอุดิอาระเบียและกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับสั่งคว่ำบาตรกาตาร์โดยอ้างว่าพวกเขาสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งทางกาตาร์ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้มาโดยตลอด การกีดกันของกลุ่มประเทศอาหรับทำให้กาตาร์เผชิญอุปสรรคเรื่องการนำเข้าสินค้าและการเดินทางของผู้คนที่ต้องการสัญจรข้ามประเทศ ถึงแม้ว่ากาตาร์จะเป็นประเทศที่ส่งออกก๊าซธรรมชาติเป็นอันดับชั้นนำของโลกแต่ก็ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าวัสดุอุปกรณ์ รวมทั้งอาหารจากหลายประเทศ การถูกแบนในครั้งนี้ส่วนหนึ่งทำให้พวกเขาถูกปิดเส้นทางการนำเข้าด้วย

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ประเทศกาตาร์มีจีดีพีสูงติดอันดับต้นๆ ของโลกจากรายงานปี 2559 และถูกจัดว่าเป็นประเทศร่ำรวยสูงสุดจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ ทำให้กาตาร์ต้องใช้เส้นทางการค้าใหม่เพื่อการนำเข้าวัสดุอุปกรณ์และอาหาร ไม่ว่าจะเป็นวัว 165 ตัวจากประเทศเยอรมนีที่พร้อมจะให้นมมีการใช้เส้นทางลำเลียงจากบูดาเปสต์ประเทศฮังการี โดยบริษัทนำเข้า พาวเวอร์ อินเตอร์เนชันแนล โฮลดิง บอกว่าผลิตภัณฑ์นมจากโคเหล่านี้จะส่งถึงตลาดภายในประเทศภายในสัปดาห์นี้

นอกจากเยอรมนีแล้วพวกเขายังนำเข้าโคนมจากประเทศอื่นๆ อีกอย่างออสเตรเลีย สหรัฐฯ โดยจะทยอยลำเลียงเข้าสู่กาตาร์เรื่อยๆ ทุกๆ 3 วัน จนกระทั่งพวกเขานำเข้าวัวรวม 4,000 ตัว ภายในเวลา 1 เดือน

นอกจากวัวแล้ววกเขายังนำเข้าสินค้าจำพวกนมต่างๆ จากตุรกี และนำเข้าผลไม้จากเปรูและโมร็อกโกด้วย

ก่อนหน้าที่พวกเขาจะถูกแบนจากกลุ่มอ่าวอาหรับกาตาร์นำเข้าสินค้าจำพวกนมจากซาอุดิอาระเบียเพื่อเลี้ยงประชากร 2.7 ล้านคน บริษัท พาวเวอร์ อินเตอร์เนชันแนล โฮลดิง เปิดเผยว่าการนำเข้าวัวของพวกเขาจะสามารถตอบสนองความต้องการของคนในประเทศได้ราวร้อยละ 30

เดือนก่อนหน้านี้ มุทัส อัล คายัต ประธานบริษัทพาวเวอร์ อินเตอร์เนชันแนล โฮลดิง กล่าวว่าจะใช้เที่ยวบินทั้งหมด 60 เที่ยวบินโดยสายการบินกาตาร์ แอร์เวย์ส เพื่อลำเลียงวัวซึ่งมีน้ำหนักเฉลี่ยต่อตัวราว 590 กิโลกรัม "เวลานี้เป็นเวลาที่ผมจะทำงานเพื่อกาตาร์"

กิจการของ อัล คายัต หลักๆ ก็คือธุรกิจก่อสร้าง เขากล่าวว่า ก่อนหน้านี้เขาได้ขยายกิจการไปสู่ธุรกิจการเกษตร โดยสร้างฟาร์มอยู่ห่างจากโดฮาไปทางตอนเหนือ 50 กม. เขาบอกว่าความมั่นคงทางอาหารเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์รัฐบาลกาตาร์ที่จะทำให้กาตาร์ลดการพึ่งพาเงินรายได้จากปิโตรเลียม เช่นเดียวกับที่ซาอุดิอาระเบียมี "วิชัน 2030"

โดยฟาร์มของอัล คายัต มีขนาดใหญ่เท่ากับสนามฟุตบอล 70 สนาม โดยจะผลิตนมและเนื้อจากแกะ นอกจากนี้เคยคิดจะนำเข้าวัวมาทางทะเล แต่เมื่อกาตาร์ถูกคว่ำบาตรจึงเร่งโครงการนี้อีก โดยผลิตภัณฑ์นมวัวจะเริ่มผลิตตั้งแต่ปลายเดือนนี้ เร็วขึ้นจากกำหนดเดิมคือกันยายน ทั้งนี้การเปลี่ยนแผนนำเข้าวัวนมจากการขนส่งทางเรือมาเป็นเครื่องบิน ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น 5 เท่า หรือราว 8 ล้านเหรียญสหรัฐ

"ไม่มีใครรอบๆ ตัวผมที่รู้สึกว่าเกิดวิกฤต" อัล คายัตกล่าว "รัฐบาลทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะไม่เกิดผลกระทบ"

 

เรียบเรียงจาก

Flying Cows to Qatar Is One Man's Way to Beat the Saudis, Bloomberg, 13 June 2017

Qatar's First Shipment ofAir-Lifted Cows Lands in Doha, Bloomberg, 12 July 2017

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Qatar

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จอม เผยได้รับสถานะผู้ลี้ภัยอย่างสมบูรณ์ในอเมริกา ย้ำมีพลังใจทำงานสื่อเพื่อประชาธิปไตยมากขึ้น

Posted: 13 Jul 2017 01:08 AM PDT

จอม เพชรประดับ สื่อมวลชนอิสระ ผู้ลี้ภัยในต่างแดนหลังถูกคำสั่ง คสช. เรียกรายงานตัวตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยอย่างสมบูรณ์ในอเมริกาแล้ว ระบุสถานะนี้ทำให้มีพลังใจในการทำงานสื่อเพื่อประชาธิปไตยและเพื่อปากเสียงของคนไทยได้มากขึ้น

 จอม เพชรประดับ สื่อมวลชนอิสระ 

13 ก.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (13 ก.ค.60) จอม เพชรประดับ สื่อมวลชนอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะสาธารณะกรณีได้รับสถานะผู้ลี้ภัยอย่างสมบูรณ์ในอเมริกาว่า ขอกราบขอบพระคุณ ทุกๆ กำลังใจ ที่หลั่งไหลเข้ามานะครับ หลังจากที่ทราบข่าวว่า ตนได้รับสถานะ ผู้ลี้ภัย อย่างสมบูรณ์ในอเมริกา

จอม ระบุด้วยว่า ทีแรกไม่อยากจะบอกใคร นอกจากสมาชิกในครอบครัว แต่เมื่อคนที่รู้จักทราบเรื่อง ก็มีการนำไป เผยแพร่และเขียนความคิด ความรู้สึกเพิ่มเติมเข้าไป ต้องขอขอบคุณด้วยความซาบซึ้งใจ เพราะหลายคนรู้ว่า สภาพความเป็นอยู่ในขณะที่ยังไม่ได้รับรองเป็นผู้ลี้ภัยอย่างสมบูรณ์นั้นเป็นอย่างไร 

"ก็อยากจะขอชี้แจงเพื่อให้หายห่วงใยกันนะครับ คือ สถานะที่ผมได้รับเป็น สถานะผู้ลี้ภัย นะครับ ไม่ใช่ กรีนคาร์ด แต่เนื่องจากสถานะผู้ลี้ภัยจะได้รับสวัสดิการจากรัฐ เกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีพ เกือบจะเท่ากับคนที่มี กรีดคาร์ด ทำให้คนไทยในอเมริกาส่วนใหญ่ก็มักจะสรุปรวมว่ามีค่าหรือมีความหมายเท่ากัน ซึ่ง ทนายความบอกว่า หลังจากได้สถานะผู้ลี้ภัยแล้ว การ apply green card ก็เร็วและง่ายขึ้น โดยจะใช้เวลาไม่เกิน 4 เดือน และเมื่อได้ green card แล้วก็สมัครเป็น พลเมือง citizenship ก็จะเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะเป็นพลเมืองที่สมบูรณ์ของอเมริกา ซึ่งอันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของเราอีกทีว่า สุดท้ายแล้วจะยอมทิ้งมาตุภูมิที่ให้กำเนิด เพื่อยอมเป็นพลเมืองในแผ่นดินใหม่เพื่อใช้เป็นที่พักพิงสุดท้ายหรือไม่ 

ต่อกรณีคำถามที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยอย่างสมบูรณ์แล้ว จะทำให้ความเป็นอยู่ต่างไปจากเดิมอย่างไรนั้น จอม โพสต์ตอบว่า สบายใจและเบาใจมากขึ้นในการดำรงชีวิต ประการสำคัญแรกสุดคือ การรักษาพยาบาล การตรวจสุขภาพ เจ็บป่วย ไม่สบาย ก็จะได้รับการดูแลรักษาฟรี ถัดมาคือเรื่องอาหารส่วนหนึ่งจะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ ถัดมาคือเรื่อง อาชีพ จะได้รับการแนะนำ ช่วยเหลือ ฝึกทักษะให้ถ้าต้องการทำงานในสายอาชีพ และไม่ต้องต่ออายุ working permit เป็นรายปีอีกต่อไป นับจากนี้ไปก็สามารถทำงานได้ทุกที่ ทุกแห่งตามความสามารถ 

"สถานะผู้ลี้ภัยอย่างสมบูรณ์ ทำให้มีพลังใจในการทำงานสื่อเพื่อประชาธิปไตย และเพื่อปากเสียงของคนไทยได้มากขึ้นด้วย ขอบพระคุณอย่างสูงสำหรับทุก ๆ กำลังใจอีกครั้งนะครับ ขอบคุณที่เป็นลมใต้ปีกให้สามารถเข้มแข็ง มีแรงบินมาได้จนถึงทุกวันนี้ แม้จะรู้ว่าจะยังต้องประคองตัวเองให้บินอยู่ได้ต่อไปอีกยาวไกลก็ตาม" จอม โพสต์

ตัวอย่างภาพรายการของจอมที่เผยแพร่ทางยูทูบ

สำหรับ จอม สื่อมวลชนอิสระ หลังรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกตัวเขาเพื่อเข้ารายงานตัวด้วยคำสั่ง คสช. 82/2557 โดยปัจจุบัน จอม ได้ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ จนล่าสุดได้รับสถานะผู้ลี้ภัยอย่างสมบูรณ์ในอเมริกา ปัจจุบัน เขา ยังคงผลิตรายการสัมภาษณ์ผ่านทางยูทูบจำนวนมาก ผ่านช่อง 'jom voice' โดยช่องนี้ ตั้งแต่ เม.ย.ที่ผ่านมา ถูกปิดกันการเผยแพร่สำหรับผู้ที่ตั้งค่าโลเคชั่นในประเทศไทย โดยเมื่อเข้าหน้ารวมของช่อง จะมีข้อความ "ไม่สามารถดูช่องนี้ได้ในประเทศของคุณ"

ภาพยูทูบช่อง 'jom voice' ที่ถูกระงับการเผยแพร่สำหรับผู้ที่ตั้งโลเคชั่นในประเทศไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมอนวดในต่างแดน เมื่อคนไทยเป็นแรงงานต่างด้าว

Posted: 13 Jul 2017 12:31 AM PDT

คุยกับคนงานและเจ้าของร้านนวดไทยในเกาหลีใต้และนอร์เวย์ ถึงสวัสดิการรัฐ ความปลอดภัย การศึกษาที่ดีกว่าในไทย 

ภาพประกอบจากร้านนวด Al-Thai Homeostasis ประเทศนอร์เวย์

เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลไทยออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ส่งผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติและนายจ้างในวงกว้าง ทำให้แรงงานจำนวนมากเดินทางกลับประเทศ กระทั่งวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติออกคำสั่ง ที่ 33/2560 เลื่อนใช้บทลงโทษ 4 มาตราใน พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวออกไป 180 วัน ให้นายจ้างและลูกจ้างดำเนินการตามกฎหมายใหม่ภายใน 1 ม.ค. 2561 

แต่ไม่ได้มีเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่รองรับแรงงานข้ามชาติ แรงงานไทยเองก็เดินทางไปทำงานต่างประเทศจำนวนมาก เมื่อปลายปีที่แล้ว กรมการจัดหางานระบุว่า ตลอดปี 2559 มีจำนวนแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางานกระทรวงแรงงานให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศ และยังคงทำงานอยู่ในต่างประเทศจำนวนทั้งสิ้น 114,437 คน โดยประเทศที่อนุญาตให้แรงงานไทยเดินทางไปทำงานมากที่สุด ได้แก่ ไต้หวัน จำนวน 35,027 คน เกาหลีใต้ จำนวน 12,590 คน อิสราเอล จำนวน 8,629 คน ญี่ปุ่นจำนวน 8,610 คน และสิงคโปร์ จำนวน 5,843 คน ซึ่งสามารถสร้างรายได้ส่งกลับประเทศ ผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทยจนถึงวันที่ 30 ธ.ค.59 เป็นเงินจำนวน 112,997 ล้านบาท

แรงงานไทยที่เคลื่อนย้ายไปทำงานในต่างประเทศเหล่านี้ บางส่วนเริ่มผันตัวไปเป็นผู้ประกอบการ รวมถึงการลงทุนในหลายประเทศ หนึ่งในธุรกิจที่เป็นที่นิยมในต่างประเทศคือ ธุรกิจนวดแผนไทย โดยพบว่า คนไทยเริ่มเป็นเจ้าของธุรกิจลักษณะนี้มากขึ้นทั้งในแถบเอเชียและยุโรป ในโอกาสนี้จึงได้สัมภาษณ์ ดวงพร แสงสุข ชาว ยโสธร ผู้เคยประกอบอาชีพหมอนวดในประเทศไทยหลายปีก่อนจะไปทำงานในร้านนวดแผนไทยที่ประเทศเกาหลีใต้ และสยามล สินสืบผล อายุ 29 ปี ชาวนครปฐม ผู้ประกอบการร้านนวดในนอร์เวย์ เพื่อทำความเข้าใจถึงสภาพการทำงานและคุณภาพชีวิตใน 2 ประเทศนั้น

ลูกจ้างร้านนวดไทยในเกาหลีใต้

ดวงพร แสงสุข ชาวยโสธร หนึ่งในผู้ใช้แรงงานชาวอีสานในต่างประเทศ เผยว่า เคยทำอาชีพเป็นหมอนวดที่เมืองไทยมาหลายปีก่อนจะไปทำงานในร้านนวดแผนไทยที่ประเทศเกาหลีใต้โดยการชักชวนจากคนรู้จัก เพราะต้องการมีรายได้ที่เพียงพอสำหรับส่งลูกเรียนหนังสือและจุนเจือครอบครัว เธอบอกว่า งานนวดในประเทศไทยมักถูกมองไปในทางที่ไม่ดี แต่ในต่างประเทศ อาชีพหมอนวดเป็นอาชีพที่มีเกียรติเหมือนกับทุกๆ อาชีพ มีรายได้แต่ละเดือนตกอยู่ประมาณ 45,000 บาท เมื่อบวกค่าคอมมิชชั่น (Commission) 10% ก็จะมีรายได้รวมทั้งสิ้นประมาณ 75,000 ต่อเดือน อีกทั้งยังมีสวัสดิการที่พัก อาหาร รวมถึงสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล ซึ่งรัฐบาลเกาหลีใต้ให้จ่ายในส่วนนี้เพียง 50% ของค่ารักษาทั้งหมด และเนื่องจากเกาหลีใต้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงทำให้มั่นใจในเรื่องความปลอดภัย กล้องวงจรปิดก็มีทุกมุมของประเทศ ที่สำคัญใช้งานได้ทุกตัว จึงพอใจที่จะทำงานในต่างประเทศมากกว่าในประเทศไทย และเมื่อมีโอกาสทำงานในต่างประเทศจึงทำให้รู้ว่า คนไทยยังล้าหลังมากในด้านการศึกษาและด้านดูแลสวัสดิการแรงงาน

นอกจากธุรกิจร้านนวดไทยแล้ว คนไทยก็นิยมทำธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งก็ได้รับความนิยมและเป็นช่องทางที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่คนไทยในต่างประเทศได้ไม่น้อย

กิจการร้านนวดไทยในนอร์เวย์

ขณะที่สยามล สินสืบผล อายุ 29 ปี ชาวนครปฐม เธอเป็นผู้ประกอบการและเจ้าของร้านนวดไทยที่ ชื่อ Al-Thai Homeostasis เธอเผยว่า เริ่มจดทะเบียนบริษัทประกอบกิจการในนอร์เวย์เมื่อตอนต้นปีที่แล้ว (2559) ขั้นตอนการจดทะเบียนไม่ยุ่งยาก สามารถทำทุกอย่างได้เองผ่านอินเตอร์เน็ต การลงทุนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ประกอบธุรกิจ

สาเหตุที่เธอเลือกลงทุนธุรกิจนวดแผนไทยเริ่มขึ้นจากความชอบส่วนตัว บวกกับการใช้เงินลงทุนที่ไม่สูงมากและเป็นการลงทุนครั้งเดียวจบ ไม่ต้องซื้อวัตถุดิบตลอดเวลาเหมือนร้านอาหาร มีอิสระเรื่องเวลาซึ่งเหมาะกับชีวิตของเธอที่ขณะนี้มีลูก 2 คน เธอบอกว่า เอาเข้าจริงๆ กิจการร้านนวดของเธอเหมือนเป็นงานอดิเรกที่ได้เงินมากกว่า เพราะเป็นการให้บริการเมื่อมีลูกค้านัดหมาย ไม่ได้นั่งรอลูกค้าเหมือนร้านๆ อื่นที่เปิด-ปิดเป็นเวลา เป็นการทำเฉพาะเวลาที่เราสะดวกเท่านั้น และอาจถือว่างานหลักจริงๆ ของเธอคืองานบ้าน

ที่นอร์เวย์ ความนิยมใช้บริการนวดมีมากพอสมควร แต่อาจจะใหม่สำหรับลูกค้าบางคน เธอเล่าว่า ผู้ที่เคยเดินทางไปประเทศไทยจะมาเป็นลูกค้าประจำเยอะ แล้วพอพูดถึง Thai massage คนต่างชาติส่วนใหญ่มักคิดว่า เป็น 'happy ending massage' หรือการนวดเร้ากำหนัด (นวดเพื่อสำเร็จความใคร่) ที่หาได้ไม่ยากในไทย ซึ่งก็ต้องใช้เวลาเพื่อทำความเข้าใจพอสมควร  ลูกค้าที่ใช้บริการส่วนมากจะเป็นวัยทำงานไปถึงวัยผู้สูงอายุ เงินเดือนแต่ละเดือนไม่แน่นอน เฉลี่ยเป็นเงินไทยก็ตกประมาณเดือนละ 50,000 – 60,000 บาท อัตราค่าใช้บริการตกชั่วโมงละประมาณ 3,000 บาท ซึ่งโดยทั่วไปในประเทศไทยจะตกอยู่ที่ชั่วโมงละ 200 – 500 บาท

คุณภาพชีวิตและสิทธิที่ได้รับ

เจ้าของร้านนวดแผนไทยในนอร์เวย ยังกล่าวอีกว่า ในประเทศนอร์เวย์ สิทธิของทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะแต่งงานหรือไม่แต่งงานกับคนที่นี่ ทุกคนต้องจ่ายภาษีเหมือนกัน สิทธิในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ การลงทุน รวมไปถึงเงินเกษียณอายุก็ได้เหมือนกัน เธอมีบ้านที่ประเทศนอร์เวย์ และคิดว่าจะลงหลักปักฐานที่นั่น เพราะคุณภาพชีวิตแตกต่างจากที่ประเทศไทยโดยสิ้นเชิง ทั้งระบบการศึกษา ความปลอดภัย  สังคมและวินัยของผู้คน

"ใช้ชีวิตอยู่ที่นอร์เวย์ 5 ปี แทบจะนับครั้งได้เลยว่า มีข่าวอาชญากรรมทั้งหมดกี่ครั้ง มันแทบจะไม่มีเลย เราไม่ต้องคอยกังวลว่าเดินๆ ไปจะมีใครมาฉุด หรือว่าจะมีสิ่งก่อสร้างอะไรหล่นลงมาทับหัวเรา แค่ทำท่าว่าจะข้ามถนน รถแทบทุกคันก็จะหยุดให้ข้ามตั้งแต่เรายังไม่ทันคิดจะข้ามด้วยซ้ำ ไม่ต้องวิ่งหนีรถบนทางม้าลายเหมือนบ้านเรา เราจ่ายภาษีเยอะก็จริง แต่สิ่งที่เราจ่ายไปมันก็กลับมาหาเรา โรงเรียนก็เรียนฟรี เด็กๆ คนท้อง คนแก่ คนเป็นโรคป่วยร้ายแรง ได้รักษาพยาบาลฟรี" สยามล กล่าว

ต่างประเทศไม่ได้แค่มีด้านดี การศึกษาหาข้อมูลเป็นสิ่งจำเป็น

อย่างไรก็ตาม เธอเตือนว่า คนที่อยากมีสามีฝรั่ง อยากมาใช้ชีวิตในต่างประเทศ แล้วคิดว่าจะสบายเป็นความคิดที่ผิด "เวลาเห็นคนต่างชาติไปบ้านเราเยอะๆ ไม่ใช่ว่าเขาจะรวย เพียงแค่ค่าครองชีพบ้านเรามันถูกกว่าบ้านเขาแค่นั้นเอง ฝรั่งก็เหมือนคนทุกประเทศ  มีทั้งร่ำรวยและยากจน ผู้หญิงไทยบางคนที่เรารู้จักก็ลำบากมาก เจอสามีไม่ดี ทำร้ายทั้งตัวเอง และลูก หากอยากจะตามสามีมา จึงควรประวัติของเขาให้ดีเสียก่อน  แล้วตัดสินใจให้ดี เคยมีเหตุการณ์หนึ่งที่ผู้หญิงไทยถูกสามีฆ่าตายพร้อมกับลูกที่ต่างประเทศ" สยามล กล่าว พร้อมระบุอีกว่า อุปสรรคสำคัญคือเรื่องภาษาและความแตกต่างทางวัฒนธรรม บางครั้งคนไทยด้วยกันเอง สื่อสารกันยังไม่เข้าใจก็มี เพราะฉะนั้นศึกษาให้ดีก่อน ไม่ใช่แค่เรื่องแฟน แต่รวมไปถึงธุรกิจที่จะมาทำด้วย เพราะเคยได้ยินข่าว คนไทยถูกหลอกไปทำงานต่างประเทศเยอะ โดนหลอกไปใช้งานฟรีบ้าง รวมทั้งหลอกมาขายบริการบ้างก็มี

ต้นปีที่ผ่านมา สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงแรงงาน ประเมินว่า มีแรงงานไทยผิดกฎหมายอยู่ในต่างประเทศ 173,527 คน อยู่ที่ประเทศมาเลเซียสูงสุด 1 แสนคน ตามมาด้วยเกาหลีใต้และญี่ปุ่น แรงงงานยื่นร้องทุกข์ที่ไต้หวันมากที่สุด ตามมาด้วยเกาหลีใต้และอิสราเอล ส่วนด้านการคุ้มครองสิทธิประโยชน์แรงงานไทยในต่างประเทศรอบ 7 เดือน (1 ต.ค. 2559 – 30 เม.ย. 2560) มีจำนวนแรงงานไทยที่มาร้องทุกข์เกี่ยวกับเงินสิทธิประโยชน์และไม่เกี่ยวกับเงินสิทธิประโยชน์รวม 10,238 คน ร้องทุกข์ที่ไต้หวันสูงสุด 5,118 คน (ไทเปและเกาสง) เกาหลีใต้ 1,975 คน และอิสราเอล 1,021 คน 

สำหรับ วารีรักษ์ รักคำมูล เป็นนักศึกษา สาขานิเทศศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปัจจุบัน ฝึกงานกับประชาไท โดยสนใจประเด็นศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งคุณภาพชีวิต 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทอ.ยันซื้อเครื่องบินยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง 'ศรีสุวรรณ' เตรียมฟ้องศาล รธน. 20 ก.ค.นี้

Posted: 12 Jul 2017 11:47 PM PDT

โฆษกกองทัพอากาศ จัดซื้อเครื่องบินขับไล่ T-50TH ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ยันซื้อโดยคำนึงถึงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้าน 'ศรีสุวรรณ' เตรียมฟ้องศาล รธน. 20 ก.ค.นี้

ที่มาภาพ http://rach1968.blogspot.com/2015/09/t-50th.html

13 ก.ค. 2560 จากกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ การจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ T-50TH ในระยะที่ 2 จำนวน 8 เครื่อง เพื่อให้ครบ 12 เครื่อง วงเงินประมาณ 8,800 ล้านบาทเศษ งบประมาณผูกพัน 3 ปี ให้กับกองทัพอากาศ ซึ่งมีการอนุมัติก่อนหน้านี้ กองทัพอากาศจัดเตรียมงบประมาณไว้แล้ว โดยระยะแรก อนุมัติซื้อไปเมื่อปี 58 จำนวน 4 ลำ ด้าน ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์คัดค้านและระบุว่าการจัดซื้อเครื่องบินอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 62 ประกอบมาตรา 75 และมาตรา 76

โฆษก ทอ.ยันซื้อเครื่องบินยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ล่าสุดวานนี้ (12 ก.ค.60) กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ต.พงษ์ศักดิ์ เสมาชัย ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน กรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ ในฐานะโฆษกกองทัพอากาศ ชี้แจง โครงการจัดซื้อเครื่องบินดังกล่าวว่า ในฐานะที่เราเป็นชาติที่มีเอกราชและอธิปไตย การจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพที่เหมาะสม เพียงพอ และที่จำเป็นเพื่อใช้ในการป้องกันประเทศ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งนี้ การดำเนินการสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่กำหนดให้รัฐต้องมีกำลังทหารไว้เพื่อการป้องกันประเทศ และสอดคล้องกับพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 ที่กำหนดให้กองทัพมีหน้าที่ในการเตรียมกำลังและป้องกันราชอาณาจักร 

"ไม่มีทางสรุปง่ายๆ ได้เลยว่าการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพเพื่อการป้องกันประเทศเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 3 วรรค 2 บัญญัติว่า หน่วยงานของรัฐซึ่งรวมถึงกองทัพอากาศต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม ประกอบมาตรา 52 รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราชอธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขต และเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิ และผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ รัฐต้องจัดให้มีการทหารที่มีประสิทธิภาพ" 

ส่วนที่ศรีสุวรรณระบุว่าการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ขัดต่อหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และสะท้อนว่ารัฐบาลไม่รักษาวินัยทางการเงินการคลังนั้น โฆษกกองทัพอากาศ ชี้แจงว่า โครงการจัดหาเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้นของกองทัพอากาศในครั้งนี้ ได้ดำเนินการโดยคำนึงถึงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญคือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และความมีภูมิคุ้มกัน 

พล.อ.ต.พงษ์ศักดิ์ ยังยืนยันว่า โครงการดังกล่าวมีความโปร่งใส และมีขั้นตอนที่สามารถตรวจสอบได้ อีกทั้งเป็นไปตามยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม พ.ศ.2555 ซึ่งกำหนดโครงสร้างกำลังรบของกองทัพอากาศให้มีฝูงบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น โดยการจัดหาเครื่องบิน T-50TH ในครั้งนี้ จะเข้าประจำการทดแทนเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้นแบบ L-39 (ในฝูงบินเดิม) ซึ่งปัจจุบันได้ทยอยปลดประจำการเนื่องจากครบอายุการใช้งาน หากไม่มีการจัดหาทดแทนจะส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติภารกิจของกองทัพอากาศ 

"การจัดทำงบประมาณประเทศเป็นกระบวนการทางกฎหมาย เรื่องนี้ได้ผ่านขั้นตอนตามกระบวนการจนเป็นรายการตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 การจัดทำงบประมาณเป็นไปตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณประจำปีของรัฐบาล โดยรายการดังกล่าวมีการวางแผนผูกพันงบประมาณข้ามปี และแบ่งชำระเป็น 4 ปี (พ.ศ.2560 - 2563) เป็นการทยอยจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณที่กองทัพอากาศได้รับการจัดสรรในแต่ละปี ตามแผนยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคงฯ ทำให้ไม่สามารถชะลอการจัดซื้อฯ ได้เพราะจะกระทบต่อการฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้นของกองทัพอากาศ ส่งผลต่อการเตรียมกำลังกองทัพอากาศเพื่อการป้องกันประเทศตามที่ระบุในรัฐธรรมนูญ" พล.อ.ต.พงษ์ศักดิ์ กล่าว

ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย (ที่มาภาพ เฟซบุ๊ก Srisuwan Janya)

ศรีสุวรรณ เตรียมฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ 20 ก.ค.นี้

ด้าน ศรีสุวรรณ เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย แถลงคัดต้านข้อแถลงดังกล่าวด้วย ดังนี้ 1) การจัดซื้อเครื่องบิน T-50TH ดังกล่าว ไม่สอดคล้องใด ๆ กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 แต่อย่างใด เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ "รัฐต้องมีกำลังทหารไว้เพื่อป้องกันประเทศ" ไม่ได้กำหนดให้ "รัฐต้องจัดให้มีการซื้อเครื่องบิน T-50TH ไว้เพื่อป้องกันประเทศ" แต่อย่างใด อีกทั้ง "การเตรียมกำลัง" ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 นั้น มี "พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497" บัญญัติไว้รองรับชัดเจนอยู่แล้ว ที่กำหนดให้ให้เฉพาะชายที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมายมีหน้าที่ต้องเข้ารับการเกณฑ์เพื่อรับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน อันถือได้ว่าเป็น "การเตรียมกำลัง" ไว้ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติโดยชัดแจ้ง ดังนั้น การอ้างรัฐธรรมนูญเพื่อการจัดซื้อเครื่องบิน T-50TH จึงเป็น "การตะแบง" ที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

2) การอ้างมาตรา 3 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าหน่วยงานของรัฐซึ่งรวมถึงกองทัพอากาศต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุขของประชาชนโดยรวมนั้น เป็นการกล่าวอ้างโดยไม่คำนึงถึงมาตรา 3 วรรคแรกเสียก่อนที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย" ไม่ใช่อำนาจอธิปไตยเป็นของกองทัพอากาศ หรือของกระทรวงกลาโหม หรือของรัฐบาลฝ่ายบริหารแต่เพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นการที่หน่วยงานรัฐจะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญนั้น กองทัพอากาศควรที่จะต้องไปพิจารณาและปฏิบัติให้เป็นไปตามหมวดที่ 5 ว่าด้วย "หน้าที่ของรัฐ" ในมาตรา 51 มาตรา 53 ประกอบมาตรา 62 และมาตรา 63 ด้วย จึงจะถูกต้อง

3) การอ้างมาตรา 52 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ว่ารัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราชอธิปไตยบูรณภาพแห่งอาณาเขต และเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิ และผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ รัฐต้องจัดให้มีการทหารที่มีประสิทธิภาพนั้น ข้ออ้างดังกล่าวนั้น สอดคล้องกับรูปธรรมที่เกิดขึ้นจริงกับบูรณภาพแห่งอาณาเขต และเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิ และผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐอย่างไร เมื่อเทียบกับ กรณีเขาพระวิหาร กรณีที่มีชาวกัมพูชาเข้ามายึดครองที่ดินทำกินบริเวณหนองจาน อ.โคกสูง จ.สระแก้ว กรณีพื้นที่ทับซ้อนแหล่งปิโตรเลียมกลางอ่าวไทย และล่าสุดกรณีการอนุญาตให้สถาปนิก และวิศวกรจีนเข้ามาก่อสร้างและดำเนินการรถไฟความเร็วสูง อย่างไร กองทัพอากาศได้ปฏิบัติหน้าที่สอดคล้องกับกรณีที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง ทั้งนี้มาตรา 52 ดังกล่าวเป็นการบัญญัติให้ "รัฐต้องจัดให้มีการทหาร การทูต และการข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพ" ไม่ใช่กำหนดให้ "รัฐต้องจัดให้มีการซื้อเครื่องบิน T-50TH ไว้" แต่อย่างใด ซึ่งในยุค 4.0 นี้เขาใช้การทูต และการข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพในการรักษาบูรณภาพแห่งอาณาเขต สิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิ และผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐกันแล้ว ไม่ใช่ "การสะสมอาวุธ" ดังที่กระทรวงกลาโหมกำลังดำเนินการในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา และในรอบ 50 ปีที่ผ่านมากองทัพไทยได้สะสมอาวุธยุทโธปกรณ์มากมายมหาศาลจนเกินจำเป็นแล้ว ยังไม่เพียงพอที่จะใช้ป้องกันประเทศหรือรักษาความมั่นคงแห่งรัฐอีกหรือ ?

4) ข้อกล่าวอ้างที่ว่าการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ถามหน่อยเถิดว่า สอดคล้องกับหลักความพอประมาณ หลักความมีเหตุผล หลักความโปร่งใส และมีขั้นตอนที่สามารถตรวจสอบได้อย่างไร ประชาชนคนธรรมดาสามารถตรวจสอบกระบวนการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพได้อย่างไร โดยวิธีการใด และยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2555 ที่กล่าวอ้างนั้น กระทรวงกลาโหมได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเจ้าของประเทศที่แท้จริงเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้อย่างไร

แถลงการณ์ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ระบุด้วยว่า สมาคมฯ จะไปแถลงรายละเอียดและประเด็นการคัดค้านอีกครั้งในวันพุธที่ 19 ก.ค. พ.ศ.2560 เวลา 10.00-12.00 น. ในเวทีอภิปรายสาธารณะ "แก้ปัญหาคอรัปชั่น ชาตินี้หรือชาติหน้า ? (ครั้งฉุกเฉิน 2) ณ ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ และจะนำความไปหาข้อยุติโดยยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันพฤหัสที่ 20 ก.ค. 2560 เวลา 10.00 น. ณ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ อาคาร A ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ กทม.ด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น