โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

จรรยาปัญญา (1) เอกศักดิ์ ยุกตะนันท์ นิยามศีลธรรมและคำถามจากนักปรัชญา

Posted: 07 Jul 2017 12:29 PM PDT

เสวนาโดยกลุ่ม "พลเรียน" "จรรยาปัญญา: ว่าด้วยคุณงามความดีในโรงเรียนไทย" เอกศักดิ์ ยุกตะนันท์ ไล่เรียงแนวคิดเรื่องศีลธรรมผ่านมุมมองนักปรัชญาจากโสกราตีสถึงเบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ และศีลธรรมในฐานะการปลูกฝังในโรงเรียนทำงานอย่างไรโปรดติดตาม

เอกศักดิ์ ยุกตะนันท์ ร่วมเสวนา "จรรยาปัญญา: ว่าด้วยคุณงามความดีในโรงเรียนไทย" (ที่มาของภาพประกอบ: เพจพลเรียน)

 

สรุปประเด็นจากเวที จรรยาปัญญา: ว่าด้วยคุณงามความดีในโรงเรียนไทย วงเสวนาซึ่งจัดโดยกลุ่ม "พลเรียน" ซึ่งจัดเมื่อ 17 มิถุนายน 2560 ที่้ห้อง EB4509 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

วิทยากรประกอบด้วย เอกศักดิ์ ยุกตะนันท์ รองศาสตราจารย์ ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ผ่องฉวี ไวยาวัจมัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อภิสิทธิ์ บุตรวงศ์ นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินรายการโดย สหรัฐ เพิ่มทรัพย์

 

เอกศักดิ์ ยุกตะนันทน์

นักคิดที่สอนให้ตั้งคำถามต่อศีลธรรม โสกราตีส นิตเช่ มาร์คซ์ ฟรอยด์

เอกศักดิ์เริ่มอภิปรายโดยนำเสนอแนวคิดเชิงศีลธรรมของนักปรัชญา เริ่มตั้งแต่สมัยกรีก-โรมัน โดยคนแรกที่เขากล่าวถึงก็คือ โสกราตีส นักปรัชญาที่ชวนผู้คนให้ตั้งคำถามเรื่องชีวิต ผู้ตั้งคำถามว่า "ความดีคืออะไร ?" "ชีวิตที่ดีคืออะไร?" เขาพยายามจะบอกผู้คนว่า "ไม่มีใครหรอกที่ทำความเลว โดยรู้ว่ามันเป็นความเลว" ดังนั้น ความดีกับความรู้ต้องสัมพันธ์กัน และเราต้องหาให้ได้ว่าดีกับเลวคืออะไร ทีนี้เขาก็ชวนให้ตั้งคำถามอีกว่า "ที่มันดี ดีเพราะอะไร" "ที่มันเลว เลวเพราะอะไร" จากคำถามเหล่านี้นำไปสู่กรถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าไม่เชื่อฟังในศาสนา ในที่สุดก็ไม่เป็นที่พอใจของนักการเมือง เพราะนักการเมืองชอบให้ผู้คนเชื่อในศาสนา รวมทั้งรัฐบุรุษและประชาชนจำนวนหนึ่งไม่ชอบสิ่งที่โสกราตีสทำ ทำให้โสกราตีสถูกดำเนินคดี ในที่สุดก็ถูกตัดสินให้ถูกประหารชีวิต ตัวโสกราตีสเองก็ยอมรับโทษประหารชีวิต อันที่จริงโสกราตีสมีทางเลือกก็คือการเลิกสอนให้คนตั้งคำถาม แต่เขาตอบกลับไปว่า เขาไม่สามารถเลิกสอนได้ เพราะสิ่งที่เขาทำมันถูกต้องที่สุดแล้วต่อสังคม เพราะฉะนั้นก็จะยังยืนยันที่จะทำอย่างนี้แม้มีชีวิต

กลับมาที่คำถามว่า ความดีกับความรู้สัมพันธ์กันอย่างไร นั่นคือหัวใจของปรัชญาตะวันตกที่มีมายาวนานกว่า 2500 ปีมาแล้ว โสกราตีสไม่มีคำตอบว่าสองสิ่งนี้สัมพันธ์กันอย่างไร เขาแค่บอกว่า "คุณต้องตั้งคำถามและต้องหา" นี่จึงเป็นต้นกำเนิดของความพยายามของโลกตะวันตกที่พยายามสร้างวิชาจริยศาสตร์ขึ้นมา แล้วก็พัฒนาเรื่อยมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19-20

นิชเช่ (Friedrich Wilhelm Nietzsche) บอกว่า "ศีลธรรมเป็นเรื่องน่ากลัว" โดยอธิบายจากประเด็นของคนยิวที่สามารถเอาความตายของตัวเองไปเอาชนะคนโรมันได้ด้วยศาสนาคริสต์ เขามองว่าศีลธรรมเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมือง ในที่สุดคนยิวสามารถเอาชนะคนโรมันได้ด้วยศาสนาของพระเยซู เพราะฉะนั้นศาสนาก็คือเครื่องมือทางการเมือง ศาสนาคือเครื่องมือทางอำนาจ ความอ่อนน้อมของชาวยิว การยอมให้ตบหน้าซ้ายแล้วเอาแก้มขวาให้ตบ เอาชีวิตเข้าแลก มันคือความกระหายที่อยากจะเป็นนายเหนือชาวยิว

เอกศักดิ์ นำเอาแนวคิดของนิชเช่มาอธิบาย 'ความเป็นไทย' โดยนิยามเกี่ยวกับ 'ความอ่อนน้อมของความเป็นไทย' ไว้ว่า ความอ่อนน้อมของความเป็นไทย คือความอ่อนน้อมแบบทาสที่ซ่อนความปรารถนาอยากเป็นนายอยู่ในเบื้องหลัง นี่เป็นศีลธรรมที่นิชเช่บอกว่าเป็นศีลธรรมนายกับทาส ศีลธรรมทาสกับนาย ความอ่อนน้อมมักจะซ่อนสิ่งนี้เอาไว้เสมอ เพราะฉะนั้น นิชเช่บอก ศีลธรรมคือเครื่องมือของอำนาจ ศีลธรรมไม่ได้มาเพียว ๆ (Pure) แต่ก่อนจะมาได้มันมีการสร้างความจริงมาก่อน ความจริงถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออ้างเหตุผลให้กับศีลธรรม

มาร์คซ์ (Karl Heinrich Marx) บอกว่า "ศีลธรรมไม่เคยบริสุทธิ์ ศีลธรรมรับใช้ผลประโยชน์ของชนชั้น" เขาอธิบายไว้เพียงเท่านี้ แต่หลังจากนั้น คำอธิบายของเขาได้กลายเป็นสำนักแฟรงค์เฟิร์ต (Frankfurt) กลายเป็น Critical Theory กลายเป็นทฤษฎี False Consciousness ถ้าอยากจะดู ก็ให้ดู False Consciousness แบบ 'เจ๊ระเบียบรัตน์' ความคิดของผู้หญิงที่บอกว่าความดีของผู้หญิงก็คือ จะต้องรักนวลสงวนตัว บริสุทธิ์ สะอาด อะไรทำนองนี้ ถามว่าศีลธรรมอันนี้ ความดีอันนี้ มันรับใช้ผลประโยชน์ทางชนชั้นของใคร ? ก็คือชนชั้นของผู้ชาย เพราะผู้ชายมีอำนาจ แล้วก็แบบเดียวกัน คำสอนในสังคมไทยที่สอนเรื่องความกตัญญู มันรับใช้ใคร ? มันรับใช้ระบบอุปถัมภ์

ฟรอยด์ (Sigmund Freud) บอกว่า ศีลธรรมของมนุษย์เป็นต้นเหตุให้เกิดโรคจิตและเป็นอาการของโรคจิต ตัวอย่างก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เอกศักดิ์ได้ยินข่าวมาว่าพระอาจารย์ใช้ระบบ 'SOTUS' กับเด็ก ใช้จิตวิทยากับเด็ก เป็นความโรคจิตบนพื้นฐานของศีลธรรม (อ้างอิงแหล่งข้อมูล [1], [2])

 

ศีลธรรมที่แท้ ศีลธรรมจอมปลอม

เราต้องแยกให้ได้ ว่าศีลธรรมใดที่แท้ และศีลธรรมใดที่จอมปลอม อาจไม่จริงว่าศีลธรรมจะจอมปลอมไปทั้งหมด ความกตัญญูมันก็ไม่ได้จริงว่ามันจะต้องรับใช้ชนชั้นไปซะทั้งหมดถ้ามันมีสติ แต่หากกตัญญูจนกระทั่งปล่อยให้ผู้ที่เคยอุปถัมภ์เราสามารถทุจริตคดโกงได้ ทำให้เกิดการเล่นพรรคเล่นพวก เล่นสี เล่นสถาบัน มันก็กลายเป็นความชั่วในสังคม เราจะได้คำตอบว่าศีลธรรมใดที่แท้และศีลธรรมใดที่จอมปลอมก็เมื่อเราเข้าใจศีลธรรมจริง

เวลาที่เราเข้าใจศีลธรรมจริงๆ ก็ต้องไปดูว่าศีลธรรมเป็นสิ่งมนุษย์ปฏิเสธไม่ได้ ในฐานะมนุษย์อย่างไรก็ต้องมีศีลธรรม แต่เราต้องเอาปัญญาไปกำกับให้ได้ ซึ่งมันก็จะเป็นอย่างที่โสกราตีสพูดว่า ต้องสร้างปัญญามากำกับศีลธรรมของตัวเองให้ได้ การศึกษาไทยทำอะไรลงไปกับพลเมืองไทย การศึกษาไทยทำลายปัญญาของพลเมืองซึ่งในที่สุดแล้วทำให้คนไทยมีศีลธรรมที่ต่ำมาก ใช่หรือไม่ ? ในที่สุดแล้ว ผู้ที่มีการศึกษาของสังคมไทยคือชนชั้นกลางทั้งหลาย กลายเป็นพวกคนดีซึ่งอยากจะสู้กับการทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมือง แต่พวกเขาเลือกที่จะสู้ด้วยการละเมิดสิทธิของประชาชนทั้งเทศ โดยที่เขาไม่คำนึงเรื่องความยุติธรรมทางสังคมใด ๆ ทั้งสิ้น เขามีคอนเซ็ป (Concept) เดียวคือ 'โกง-ไม่โกง' แต่ไม่มีคอนเซ็ปเรื่อง 'อะไรคือความยุติธรรม' ดังนั้นเลเวล (Level) ในความเข้าใจทางศีลธรรมของเขามันต่ำจริง ๆ เป็นเช่นนี้เพราะอะไร เอกศักดิ์อธิบายต่อไปว่า เป็นเพราะการศึกษาไม่ยกเขาให้ไปมีระดับความสามารถที่จะคิดถึงตรงนั้น อาจเพราะมัวแต่ไปพูดเรื่องศีล 5 ซึ่งมันก็ไม่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมอยู่แล้ว ศีล 5 สอนเรื่องโกง-ไม่โกง เช่น ห้ามลักทรัพย์ เบียดเบียนทรัพย์โดยมิชอบ ฯลฯ แต่ศีล 5 ยังเข้าไปถึงความยุติธรรม ประเด็นก็คือ ครูทั้งประเทศ โรงเรียนทั้งประเทศผลิตพลเมืองซึ่งออกมาให้เชื่อแบบนั้นได้อย่างไร คิดแต่เรื่องว่าใครโกง-ไม่โกง แต่ไม่คิดเรื่องความยุติธรรม

 

ปัญหาเรื่องต้นแบบทางศีลธรรมสำหรับโรงเรียน เพียเจ รัสเซิล

เอกศักดิ์กล่าวด้วยว่า คนที่พูดเรื่องโมเดลการสอนศีลธรรม มี 2 คนที่พูดไว้ดีมาก โดยพูดคล้าย ๆ กัน คนหนึ่งพูดในเชิงวิชาการเต็มที่ ก็คือ เพียเจต์ นักจิตวิทยา ส่วนอีกคนเป็นนักปรัชญาที่พูดไว้อย่างง่าย ๆ ก็คือ รัสเซิล

เพียเจต์ (Jean Piaget) นักจิตวิทยาพัฒนาการ จริง ๆ แล้ว เพียเจต์เป็นนักปรัชญา จบ ปริญญาเอกทางปรัชญาก่อน แล้วหลังจากนั้นก็เริ่มต้นทำวิจัยทางจิตวิทยา แต่ไม่ได้เรียนจิตวิทยา เขาจบวิจัยทางปรัชญา แล้วเขาเชื่อในแบบของ "Kantianism" เขาเปลี่ยนความคิดแบบ Kantianism ให้เป็นงานวิจัยเชิงประจักษ์ ก็คือเปลี่ยนความคิดของ Kantianism ในเชิงทฤษฎีเป็นงานวิจัยเชิงประจักษ์ เพราะฉะนั้นเขาสร้างสิ่งที่เราเรียกว่า 'ญาณวิทยาเชิงประจักษ์' เพื่อหาดูว่าคนสร้างความรู้อย่างไร โดยเข้าไปพูดคุยกับเด็กเล็กที่สุดที่พูดรู้เรื่อง เพื่อดูพัฒนาการวิธีคิดในแต่ละช่วงวัย

ในหนังสือ Morality of the child (ศีลธรรมของเด็ก) เพียเจต์โต้เถียงกับนักสังคมวิทยาที่ชื่อ เดอร์ไคห์ม (David Emile Durkheim) เดอร์ไคหม์ เสนอว่า โรงเรียนต้องใช้โมเดลทางการสอนศีลธรรม แบบที่สังคมไทยใช้อยู่ แบบที่เป็นสัญชาตญาณของคนทั่วไป ก็คือ อำนาจจากบนลงล่าง ก็คือ โรงเรียนต้องเป็นเหมือนราชอาณาจักร มีศูนย์กลางแห่งอำนาจ อำนาจกระจายไปยังครูแต่ละห้องเรียนที่เป็นเหมือนจังหวัด นักเรียนเหมือนพลเมืองในแต่ละจังหวัด แล้วครูก็เป็นผู้ควบคุมกฎ ถ้ามีกฎเยอะก็ยิ่งดี เพราะนักเรียนมีหน้าที่เดียวก็คือเรียนรู้ที่จะทำตามกฎ คำอธิบายของเดอร์ไคห์มคือ นี่เป็นการจำลองมาจากความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่าง พ่อ แม่ และลูก ในครอบครัว เด็กเรียนรู้ที่จะเป็นคนดีจากการที่ยอมอยู่ใต้อำนาจของพ่อแม่ อันนี้คือโรงเรียนสมัยเก่า อันนี้คือความคิดของเดอร์ไคห์ม นอกจากนี้ เดอร์ไคห์มอธิบายว่าโมเดลนี้ถูกใช้มาในประวัติศาสตร์มนุษย์แทบจะทั้งหมด ทั้งศาสนา จารีตประเพณี กฎหมาย และโมเดลทางสังคมวิทยา ก่อนหน้าที่จะเป็นประชาธิปไตย เพียเจต์ จึงได้นำคำอธิบายพวกนี้มาวิพากษ์

โดยอธิบายว่า ความสัมพันธ์ทางสังคมที่เด็กเจอ มันจริงอยู่ที่ความสัมพันธ์แรกที่เจอ เป็นความสัมพันธ์จากบนลงล่าง แต่ทันทีที่เด็กมีพี่น้องหรือเจอกันเอง เด็กจะเริ่มมีความสัมพันธ์แนวราบ ทันทีที่เด็กมีความสัมพันธ์แนวราบจะทำให้เด็กเริ่มต้นความสัมพันธ์แบบเพื่อน ความสัมพันธ์ของการเล่นเกม ในหนังสือ Moraliity of the child พูดถึงสิ่งที่เพียเจต์เข้าไปทดลอง ศึกษา สังเกตปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของเด็กในวัยต่าง ๆ เพียเจต์พบว่า แม้เด็กจะมีอายุที่แตกต่างกัน เด็กจะมีความเสมอภาค พวกเขาจะพลัดกันออกกฎและเคารพกฎของกันและกัน เพียเจต์บอกว่าอันนี้เป็นโมเดลที่ดีกว่าที่คนจะสามารถเรียนรู้ในการอยู่กับกฎได้ แล้วมันเกิดการเต็มใจที่จะยอมรับ เพียเจต์ได้สรุปลงในหนังสือ Morality of the child ว่า โรงเรียนประชาธิปไตย โรงเรียนซึ่งเด็กอยู่ร่วมกัน สร้างกฎร่วมกัน มันเป็นโมเดลที่ดีกว่าเยอะในการเสริมสร้างการอยู่ร่วมกัน ครูควรเป็นส่วนหนึ่งของเพื่อนที่จะอยู่กับเด็กแบบนั้น ครูไม่ใช่ผู้ควบคุมเด็ก ครูควรจะอยู่ร่วมกับเด็กเพื่อให้เด็กช่วยกันสร้างกฎของการอยู่ร่วมกัน ซึ่งตัวอย่างก็คือโรงเรียน Summerhill

สรุปก็คือ มี 2 โมเดล คือ โมเดลของการสอนศีลธรรม ทำให้คนยอมอยู่ใต้กฎด้วยการใช้อำนาจการบนลงล่าง อีกโมเดลหนึ่งก็คือ การทำให้คนยอมรับกฎด้วยความสัมพันธ์แนวราบ โมเดลที่สองเหมาะสมประชาธิปไตยมาก แต่ว่าครูทั้งประเทศเคยชินกับการอยู่ในโมเดลที่หนึ่ง ดังนั้นจึงใช้โมเดลที่หนึ่ง แต่ทำอย่างไรจึงจะให้ครูเชื่อในโมเดลที่สอง ซึ่งหากมีใครอธิบายแนวคิดของเพียเจต์อย่างละเอียดได้ คนก็น่าจะยอมรับ เพราะในโลกตะวันตกที่ความคิดของเพียเจต์ถูกเผยแพร่ออกไป โรงเรียนมันก็เปลี่ยน

เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ (Bertrand Russell) นักปรัชญา มีงานศึกษา "ความรู้ในมือของความรัก" โดยโจมตีว่า การสอนศิษย์ด้วยศาสนาศีลธรรมมีอันตรายสูง เพราะศีลธรรมใส่ความรุนแรงทางจิตใจ เช่น นรก สวรรค์ บาป กรรม ของพวกนี้เป็นความรุนแรงทางจิตใจ แล้วก็ความไร้เหตุผล อาศัยศรัทธา ซึ่งในที่สุดแล้วมันไม่เคยถูกยอมให้ตั้งคำถามและหาคำอธิบาย เพราะฉะนั้นมันมีปัญหาในตัวมันเองสูง มีแต่จะทำร้ายสติปัญญา นี่คือข้อโจมตีที่หนึ่งของรัสเซิลต่อวิธีการสอนศีลธรรมด้วยศาสนาต่อเด็กในโรงเรียน ข้อที่สอง รัสเซิลตั้งคำถามว่า เมื่อเข้ามาในระดับของโรงเรียนแล้ว เมื่อเด็กเข้ามาสู่วัยที่เริ่มรู้ตัวเองว่ามีเป้าหมายที่จะมาเพื่อมาเรียนรู้ เด็กต้องเรียนศีลธรรมอะไรบ้าง รัสเซิลบอกว่า "ไม่มีเลย เด็กไม่ต้องเรียนจริยธรรมอะไรทั้งสิ้นนอกจากศีลธรรมหรือคุณธรรมทางปัญญา เด็กต้องการแค่ถูกฝึกให้มีคุณธรรมทางปัญญาเท่านั้น" คุณธรรมทางปัญญาก็คือรักที่จะรู้ รักที่จะเรียน รัสเซิลบอกว่า คุณธรรมอื่น ๆ มันถูกสอนมาตั้งแต่ที่บ้าน ตั้งแต่อยู่ที่โรงเรียนอนุบาล ก็เหมือนกับที่เพียเจต์พูดก็คือ เด็กสามารถเรียนรู้การอยู่ร่วมกันได้ตั้งแต่พวกเขาเล่นกับพี่-น้อง-เพื่อนของเขาตั้งแต่เรียนชั้นอนุบาลแล้ว พอเข้ามาประถมเขาก็รู้วิธีการอยู่ร่วมกันแล้ว มัธยมก็รู้วิธีการอยู่ร่วมกันแล้ว อยู่ประถมหรือมัธยมก็ต้องการเพียงแค่คุณธรรมกับการที่จะเอาจริงเอาจังกับการค้นหาความรู้เท่านั้น เขาไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่านี้ เอกศักดิ์ได้ยกตัวอย่างในชั้นเรียนที่เขาเป็นผู้สอนในมหาวิทยาลัย ว่า "ในชั้นเรียนนี้ไม่มีสัมมาคารวะ เพราะว่าถ้ามีสัมมาคารวะเมื่อไร เดี๋ยวคุณก็จะบอกว่า 'ผมไม่กล้าถามอาจารย์ ผมไม่กล้าเถียงอาจารย์'" นอกจากนี้ยังกล่าวต่อไปอีกว่า "ไม่ได้ ผมกับคุณเท่ากัน หน้าที่ของคุณคือถามผม เถียงผม เอาให้แน่ใจให้ได้ว่าคุณเข้าใจทุกอย่างที่คุณอยากจะเข้าใจ คุณรู้ทุกอย่างที่คุณอยากจะรู้ ถ้าคุณคิดว่าผมมีคำตอบ คุณต้องเอาไปจากผมให้ได้ ถ้าสัมมาคารวะมันขวางของพวกนี้ มันก็ต้องไม่มีของแบบนี้ เรามีกันแค่ความเคารพซึ่งกันและกันในฐานะสุภาพชนก็พอแล้ว" เพราะสัมมาคารวะมันหมายความว่า ข้างบนลงล่างใช่หรือเปล่า มันไม่มีสัมมาคารวะแบบครูมีสัมมาคารวะกับศิษย์ มันมีแต่สัมมาคารวะแบบศิษย์มีสัมมาคารวะต่อครูฝ่ายเดียว

000

หลังการนำเสนอของเอกศักดิ์ ผู้ดำเนินรายการคือ สหรัฐ เพิ่มทรัพย์ นำเสนอ 3 คำถามเพื่อให้วิทยากรตอบ ก็คือ 1. คุณธรรม จริยธรรมและความดีงามในโรงเรียนไทย ในมุมมองของแต่ละท่านเป็นอย่างไรบ้าง และใครเป็นผู้กำหนด?

2. ถ้ามองผ่านแง่มุมพัฒนาการการศึกษาไทย ท่านคิดว่า กระบวนการเล่าเรียนหรือบ่มเพาะคุณธรรมจริยธรรมที่ผ่านมาได้ ดำเนินมาอย่างไร และสะท้อนให้เห็นอะไรในบริบทการศึกษาและสังคมไทย ในปัจจุบันได้บ้าง?

3. ถึงเวลาที่เราควรจะก้าวข้ามคุณธรรมจริยธรรมแบบศาสนา (moral education) ไปสู่การศึกษาด้านคุณลักษณะ (character education) หรือไปสู่การศึกษาแบบอื่นๆ หรือยัง?

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสียงสะท้อนจากผู้ประท้วงการประชุมผู้นำโลก G20 ในฮัมบูร์ก

Posted: 07 Jul 2017 10:06 AM PDT

เดอะการ์เดียนสอบถามความไม่พอใจของประชาชนชาวฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ที่บางส่วนไม่พอใจการใช้ย่านที่พักอาศัยของพวกเขาเป็นที่จัดประชุมผู้นำโลก G20 ในปี 2560 ที่มีการวางกำลังเจ้าหน้าที่แน่นหนา นอกจากนี้ยังมีผู้ประท้วงที่ไม่พอใจการครอบงำของพวกสถาบันการเงินใหญ่ และการดำเนินนโยบายที่ลิดรอนสิทธิของประชาชน

ผู้นำ G20 ถ่ายรูปร่วมกันในระหว่างการประชุมที่จัดขึ้นที่ฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี (ที่มา: Presidential Press and Information Office of Russia/Wikipedia)

ในวันที่ 7-8 ก.ค. นี้มีการประชุมประจำปีของกลุ่มผู้นำประเทศ G20 ที่เมืองฮัมบูร์กประเทศเยอรมนี โดยมีเจ้าภาพคือ แองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี มีผู้คนจำนวนมากกลายกลุ่มวางแผนประท้วงเพื่อส่งเสียงความคับข้องใจของพวกเขา มีกลุ่มอนาธิปไตย รวมถึงมีบางส่วนที่เป็นกลุ่มสุดโต่ง อย่างไรก็ตามชาวเมืองฮัมบูร์กเองก็ใช้โอกาสนี้ในการแสดงออกด้วยการประท้วงอย่างสันติโดยไม่สนใจว่าจะถูกขู่ใช้ความรุนแรง การวางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเพิ่มขึ้นก็ไม่ทำให้พวกท้อถอย

เดอะการ์เดียนรวบรวมการสัมภาษณ์ประชาชนในเมืองฮัมบูร์ก เมืองที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของประเทศเยอรมนี เกี่ยวกับเรื่องการประท้วง หนึ่งในนั้นคือจอร์จ เลตต์ส ที่ปรึกษาด้านการสื่อสารอายุ 52 ปี เขาบอกว่าการประท้วงถูกสร้างภาพให้ดูเลวร้าย แต่เขาเองก็ต้องการประท้วงเดินขบวนในนาม "ไม่ต้อนรับ G20" เพื่อต่อต้านนักการเมืองที่เป็นภัยต่อประชาธิปไตยที่จะเดินทางเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้โดยสัญญาว่าจะดำเนินการประท้วงอย่างสงบ และประเมินว่าจะมีผู้เข้าร่วม 100,000 คน

อย่างไรก็ตามเลตต์สบอกว่าถึงแม้พวกเขาอยากประท้วงต่อต้านผู้นำอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์, เรเซฟ ตอยยิบ เออร์โดกัน และ วลาดิเมียร์ ปูติน เพื่อแสดงให้เห็นว่าประชาธิปไตยทำงานอย่างไร แต่การที่นักการเมืองท้องถิ่นจำกัดการเคลื่อนไหวของพวกเขารวมถึงการวางกำลังตำรวจก็ทำให้เกิดอุปสรรคในการชุมนุม

ผู้คนในพื้นที่เปิดเผยว่ามีการวางกำลังตำรวจหนาแน่นมาก มีเฮลิคอปเตอร์บินวนรอบสถานที่ มีรานงานว่ามีผู้ถูกจับกุมและมีการใช้ปืนน้ำฉีดสลายผู้ชุมนุม อย่างไรก็ตามผู้ประท้วงส่วนใหญ่ก็ยังคงประท้วงอย่างสันติแต่กำลังตำรวจทำให้เกิดความตึงเครียดมากขึ้น

ชายอีกคนหนึ่งชื่อจิม มาลอนนีย์ อายุ 42 ปี กล่าวถึงสาเหตุที่เขามาชุมนุมว่าเพราะเขามีความภาคภูมิใจในเมืองที่มีเสรีภาพและความหลากหลาย และต้องการต่อสู้กับผู้นำโลกที่ออกนโยบายและมีความคิดเห็นในเชิงปิดกั้นและไม่ยอมรับความต่าง

ขณะเดียวกันการวางกำลังตำรวจจำนวนมากก็ทำให้ชาวฮัมบูร์กไม่พอใจเช่นกัน ลอเรล หญิงอายุ 47 ปี ผู้เคยประท้วง G20 ในโตรอนโตมาก่อนบอกว่าเธอประท้วงต่อต้านการวางกำลังตำรวจและวิธีการใช้เทคนิคสร้างความหวาดกลัวถึงแม้ว่าการประท้วงจะดำเนินไปอย่างสงบ เธอบอกว่ามีการวางกำลังอย่างแน่นหนาแม้แต่ในที่ที่ไม่มีการประท้วงเกิดขึ้นก็ตาม

ลอเรลบอกถึงอีกหนึ่งเหตุผลที่เข้าร่วมประท้วงว่าเธอไม่พอใจที่ธนาคารและสถาบันการเงินมีทบาทครอบงำนโยบายของรัฐมากเกินไป การเอากำไรนำหน้าทุกสิ่งทุกอย่างส่งผลกระทบต่อปัญหาโลกร้อนและเสรีภาพในการเดินทาง

คนทำงานอีกคนหนึ่งคือราล์ฟ นักประสานงานอายุ 49 ปี บอกว่าเขาจำเป็นต้องทำงานจากบ้านเพราะการวางกำลังของตำรวจและความวุ่นวายที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามราล์ฟวางแผนว่าจะเข้าร่วมประท้วงในวันเสาร์นี้ (8 ก.ค.) เพื่อแสดงความไม่พอใจในเรื่องการกระจายควาามมั่งคั่งที่ไม่เป็นธรรมทั่วโลก รวมถึงประท้วงปัญหาโลกร้อนและการผุดขึ้นของแนวคิดชาตินิยม โดยไม่หวั่นเรื่องการใช้กำลังอย่างไม่เป็นของตำรวจหรือกลัวว่าจะมีกลุ่มก่อจลาจลเข้าร่วมชุมนุมด้วย โดยที่ตัวเขาเองสนับสนุนการชุมนุมอย่างสันติ

นอกจากนี้ประชาชนที่ให้สัมภาษณ์ต่อเดอะการ์เดียนส่วนมากบอกว่าพวกเขาไม่พอใจที่ G20 เลือกสถานที่จัดประชุมเป็นย่านใจกลางเมืองฮัมบูร์กที่เป็นย่านที่พักอาศัยที่เป็นการรบกวนชีวิตประจำวันของพวกเขาและเป็นการลิดรอนสิทธิมนุษยชน และการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ก็ถือเป็นการนำเงินภาษีประชาชนมาใช้อย่างสิ้นเปลือง

ดาวินา อายุ 26 ปีบอกว่าหลายคนต้องปิดร้านโดยไม่มีค่าชดเชยในย่านที่ใกล้กับการประชุม G20 ตัวเธอเองก็ร่วมประท้วงด้วยไม่เพียงแค่ประท้วงนักการเมืองเท่านั้นแต่ยังปะท้วงต่อต้านการเลือกสถานที่จัดประชุมด้วย เธอบอกว่าการประท้วงในตอนนี้ยังคงเป็นไปอย่างสันติ ยังคงมีการเล่นดนตรีและผู้คนเต้นรำบนท้องถนน แต่ก็กลัวว่าจะมีการยกระดับจนเกิดความรุนแรง

แอนนา โจนส์ อายุ 44 ปี เดินทางจากเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ไปประท้วงที่ฮัมบูร์กกล่าวว่าเธอไม่พอใจการตัดสินใจของผู้นำโลกเหล่านี้ที่ทำให้ประชาชนยากจนลงและมีการสนับสนุนสงคราม อีกทั้งเธอยังมองว่าการจัดประชุมเช่นนี้เป็นการนำเงินของประชาชนมาใช้อย่างเปล่าประโยชน์โดยไม่ได้ทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาใดๆ เลย

เรียบเรียงจาก

'A sign to the Trumps, Erdoğans and Putins': Hamburg residents on the G20 protests, The Guardian, 06-07-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารนำตัว 'เจริญชัย' ส่งถึงบ้าน หลังคุมตัวในมทบ.11 ครบ 7 วัน

Posted: 07 Jul 2017 09:53 AM PDT

เจริญชัย แซ่ตั้ง นักเคลื่อนไหวเรียกร้องยกเลิก ม.112 ถูกทหารปล่อยตัวแล้ว หลังคุมตัวในมทบ.11 ครบ 7 วัน เจ้าตัวเผยไม่มีการดำเนินคดี ทหารไม่ได้ข่มขู่และไม่ถูกทำร้ายร่างกาย และเตือนไม่ให้โพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นความผิด ม.112 แต่วิจารณ์รัฐบาล คสช. ก็ยังทำได้

เจริญชัย แซ่ตั้ง

7 ก.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 20.38 น. เจริญชัย แซ่ตั้ง นักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (หมิ่นพระมหากษัตริย์) ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารคุมตัวมา 7 วันแล้ว โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "ผมกำลังเดินทางกลับบ้าน ปลอดภัย ไม่มีปัญหา อีกชั่วโมงหนึ่งก็ถึงบ้านแล้ว"

โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานด้วยว่า เมื่อเวลา 21.24 น. เจริญชัย โทรศัพท์แจ้งแก่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้นำตัวมาส่งถึงบ้านเมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. โดยก่อนปล่อยตัวเจ้าหน้าที่ได้ให้เซ็นชื่อรับเงื่อนไขการปล่อยตัว 3 ข้อ และไม่มีการดำเนินคดี แต่ถูกเตือนเรื่องการโพสต์เฟซบุ๊กที่สุ่มเสี่ยงเป็นความผิด ม.112

เจริญชัย เล่าว่าระหว่างการควบคุมตัวภายในค่ายทหาร เจ้าหน้าที่ไม่ได้ข่มขู่และไม่ถูกทำร้ายร่างกายแต่อย่างใด แต่มีการซักถามถึงเนื้อหาการโพสต์สเตตัสเฟซบุ๊กของตน ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ไม่พบว่ามีโพสต์ใดเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมาย จึงไม่มีการดำเนินคดี แต่เจ้าหน้าที่ทหารที่ทำการซักถามได้เตือนไม่ให้โพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถ้าหากจะวิจารณ์รัฐบาล คสช. ก็ยังทำได้

เจริญชัยเล่าต่อว่า ก่อนที่จะได้รับการปล่อยตัวในวันนี้ เจ้าหน้าที่ได้นำเอกสารให้เซ็น ซึ่งเป็นเงื่อนไขการปล่อยตัว 3 ข้อ ได้แก่ ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง หากมีการเคลื่อนไหวจะต้องยินยอมให้ดำเนินคดีและระงับธุรกรรมทางการเงิน และห้ามเดินทางออกนอกประเทศก่อนได้รับอนุญาตจาก คสช.

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเพิ่มเติมด้วยว่ากรณีนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อ เวลาประมาณ 06.00 น. ของวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทหารจำนวนกว่าสิบนายและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ บุกเข้าทำการจับกุม เจริญชัย แซ่ตั้ง วัย 60 ปี นักเคลื่อนไหวผู้เรียกร้องให้มีการยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ มาตรา 112 ที่บ้านพักย่านดาวคะนอง กรุงเทพมหานคร โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้แสดงหมายจับหรือหมายค้นแต่อย่างใด แต่อ้างว่าใช้อำนาจตามมาตรา 44 และอ้างว่าเป็นการนำตัวไปปรับทัศนคติเท่านั้น โดยเจ้าหน้าที่ที่เข้าตรวจค้นจับกุมบางส่วนใส่หน้ากากอนามัยปิดปากเอาไว้ โดยเจ้าหน้าที่ได้ยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเครื่องมือสื่อสารของนายเจริญชัยและของพี่ชายไป และนำตัวนายเจริญชัยไปควบคุมไว้ที่ มทบ.11 มาโดยตลอดจนกระทั่งถึงวันนี้รวมเป็นเวลา 7 วัน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ก.แรงงาน แจงแนวปฏิบัติจ้างเมียนมา ลาว กัมพูชา ตาม พ.ร.ก.ต่างด้าว

Posted: 07 Jul 2017 09:16 AM PDT

กระทรวงแรงงาน เตรียมเปิดศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว 24 ก.ค.นี้รองรับยื่นคำขอจ้างแรงงานข้ามชาติ กรณีนายจ้างใช้แรงงานต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงาน รมว.แรงงาน เร่งรัดกัมพูชาร่วมมือจัดระบบ

7 ก.ค. 2560 รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงาน แจ้งว่า อนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน แถลงข่าวชี้แจง 'แนวทางปฏิบัติการจ้างแรงงานต่างด้าวระยะผ่อนผัน' ให้สามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องว่า เมื่อวันที่ 6 ก.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ออกประกาศกระทรวง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตทำงานและการอนุญาตให้ทำงาน ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 เป็นผลให้ผู้ประกอบการ/นายจ้าง ที่มีแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว กัมพูชา ทำงานอยู่ด้วยแบบไม่ถูกต้อง  สามารถดำเนินการได้ดังนี้
 
1) แรงงานต่างด้าวที่ผ่านการตรวจสัญชาติ และได้รับหนังสือเดินทาง (Passport) หนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport) เอกสารเดินทาง (Travel Document) หรือเอกสารรับรองบุคคล(Certificate of Identity) ซึ่งได้รับการตรวจลงตรา (Visa) ประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant L-A) แต่ไม่ยื่นคำขออนุญาตทำงานภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับการตรวจลงตรา ให้ไปยื่นคำขออนุญาตทำงาน ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่ทำงานปัจจุบัน  มีค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอ 100 บาท และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน ปีละ 900 บาท
 
2) แรงงานต่างด้าวที่ผ่านการตรวจสัญชาติ และได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร (บัตรสีชมพู) ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำงาน แต่ทำงานไม่ตรงกับนายจ้างตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตทำงานเดิม หรือไม่ตรงตามเอกสารแสดงตน ให้ไปยื่นคำขออนุญาตทำงาน ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่ทำงานปัจจุบัน  มีค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอ ๑๐๐ บาท และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน ปีละ 900 บาท ซึ่งจะได้รับการยกเว้นการตรวจสุขภาพ
 
3)  นายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอจ้างแรงงานต่างด้าว โดยกระทรวงแรงงานจะเปิด ศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว ให้บริการในกรุงเทพมหานคร 10 แห่ง และ 1 แห่งในทุกจังหวัด  ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค.  -  7  ส.ค. /ถุจ ในเวลาราชการ ไม่เว้นวันหยุดราชการ ซึ่งนายจ้างสามารถมายื่นด้วยตนเองหรือมอบอำนาจผู้ทำการแทนได้  โดยใช้เอกสารบัตรประชาชน หรือหนังสือใบสำคัญการจดทะเบียนนิติบุคคลของนายจ้าง  และเอกสารหรือภาพถ่ายของแรงงานต่างด้าว ขนาด 1.5 นิ้ว หรือ 2 นิ้ว 2 รูป  โดยจะออกใบรับคำขอพร้อมกำหนดนัดหมายให้นายจ้างนำแรงงานต่างด้าวไปพบภายหลัง เพื่อตรวจสอบและพิสูจน์ทราบว่าเป็นลูกจ้างและทำงานกับนายจ้างจริง ก่อนออกเอกสารรับรองการเดินทางไปนอกราชอาณาจักรเพื่อขอรับหนังสือเดินทาง (Passport) หนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport) เอกสารเดินทาง (Travel Document) หรือเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity) หรือเอกสารที่ประเทศต้นทางออกให้  ทั้งนี้ กรณีเป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา  สามารถไปจัดทำเอกสารกับประเทศเมียนมาในศูนย์ตรวจสัญชาติคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ที่จังหวัดสมุทรสาคร 2 แห่ง สมุทรปราการ ระนอง ตาก และเชียงราย โดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง  เมื่อแรงงานต่างด้าวได้รับเอกสารดังกล่าวแล้ว  ให้ไปขอรับการตรวจลงตรา (Visa) ณ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดที่จะทำงานกับนายจ้าง โดยชำระค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา (Visa) ประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant L-A) ในอัตรา 500 บาท ซึ่งจะอนุญาตให้อยู่ทำงานได้ถึงวันที่ 31 มี.ค. 2561  และให้นายจ้างนำคนต่างด้าวไปยื่นคำขออนุญาตทำงาน ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่ทำงานปัจจุบัน  มีค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอ 100 บาท และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน 450 บาท  พร้อมทั้งให้ตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพในระหว่างเวลาที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม 
 
"สำหรับนายจ้างที่มีความประสงค์จ้างแรงงานต่างด้าวทำงาน หรือต้องการแรงงานต่างด้าวเพิ่มจากที่มีจ้างไว้อยู่เดิมแบบถูกกฎหมาย  สามารถดำเนินการยื่นคำขอจ้างได้ตามขั้นตอนระบบ MOU ได้ตามปกติ ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10  ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังกำชับเด็ดขาดให้ลงโทษวินัยร้ายแรง และดำเนินคดีอาญา หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่กระทำผิดเรียกรับสินบนหรือทรัพย์สินจากนายจ้างหรือแรงงานต่างด้าว"  โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าว

รมว.แรงงาน เร่งรัดกัมพูชาร่วมมือจัดระบบแรงงาน

วันเดียวกัน (6 ก.ค.60)  พล.อ.ศิริชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ อิทธิ์ ซัมเฮง (H.E. Mr.lth Samheng) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและฝึกอาชีพ ราชอาณาจักรกัมพูชา ในโอกาสขอเข้าพบเพื่อหารือแนวทางการปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว ณ ห้องรับรอง ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน รวมทั้งได้หารือเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว เพื่อลดความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ กัมพูชา แจ้งว่ามีแรงงานกัมพูชายื่นขอรับหนังสือเดินทางแล้ว จำนวน 47,450 คน แต่ได้รับหนังสือเดินทางแล้ว เพียง 27,935 คน ขณะที่ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2560 พบว่า แรงงานสัญชาติกัมพูชาที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในประเทศไทยตาม MOU จำนวน 160,881 คน และแรงงานกัมพูชาที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำงานในประเทศไทยในลักษณะไป – กลับหรือตามฤดูกาลข้อมูลสะสม ณ เดือนมิถุนายน 2560 มีจำนวนรวม 72,365 คน ซึ่งการหารือในครั้งนี้ กัมพูชาเห็นด้วยกับการออก พรก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 เพราะจะเป็นประโยชน์กับทั้งสองประเทศ กัมพูชาจึงแจ้งว่าจะดำเนินการ ดังนี้ คือ 1. เร่งรัดแจกหนังสือเดินทาง (PP) ที่ค้างอยู่ 160,000เล่ม ให้แรงงานกัมพูชาที่ทำงานอยู่ในไทย ให้หมดภายใน 100 วัน และ 2. จะเร่งรัดการตรวจสัญชาติแรงงานกัมพูชาเพื่อออกเอกสารรับรอง ความเร่งด่วนแรก คือ แรงงานประมงที่ จ.ระยอง และ จ.สงขลา โดยสามารถออกหนังสือให้แล้วเสร็จภายใน 1 วัน

นอกจากนี้ ฝ่ายกัมพูชาขอให้ไทยอำนวยความสะดวกให้แรงงานกัมพูชาที่ไม่มีเอกสารอะไรเลย ให้สามารถทำงานในไทยได้ ซึ่งได้ชี้แจงแนวทางการแก้ไขปัญหาแรงงานที่ทำงานผิดกฎหมายในไทยให้สามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง คือ หากมีเอกสารถูกต้อง แต่เปลี่ยนนายจ้างให้สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ เสียค่าใช้จ่าย 1,000 บาท หรือผู้ที่มีบัตรสีชมพูแต่ไม่สามารถขออนุญาตทำงานได้ภายใน 15 วัน หรือเปลี่ยนนายจ้าง ไปแล้วสามารถที่จะขออนุญาตทำงานและเปลี่ยนนายจ้างได้ สำหรับผู้ที่ไม่มีเอกสารอะไรเลยให้ไปแสดงตนพร้อมนายจ้างในห้วง 24 ก.ค.-7 ส.ค. 60 และจะได้รับเอกสารรับรองเพื่อเดินทางกลับไปทำหนังสือเดินทาง และเข้าสู่กระบวนการขออนุญาตทำงานต่อไป พร้อมกันนี้ได้ขอให้กัมพูชาประชาสัมพันธ์อีกทางหนึ่งให้แรงงานกัมพูชาให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามแนวทางที่แจ้งให้ทราบนี้ด้วย

สำหรับการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตรวจคนเข้าเมืองและประชากรของเมียนมานั้น มีกำหนดในวันที่ 7 กรกฎาคมนี้ จากนั้นจะหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ของ สปป.ลาวในวันที่ 10 - 11 ก.ค. 2560 เมื่อได้หารือครบทั้ง 3 ประเทศแล้ว จะได้ข้อสรุปถึงแนวทางปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวในประเด็นที่มีความเกี่ยวเนื่องกับประเทศต้นทางให้มีความชัดเจนมากขึ้น

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศูนย์ทนายสิทธิฯ ชี้ทหารคุมตัว 'เจริญชัย' ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จี้ปล่อยตัวทันที

Posted: 07 Jul 2017 06:47 AM PDT

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์กรณีการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 'เจริญชัย แซ่ตั้ง' นักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการยกเลิก ม.112 ขอทหารปล่อยตัวโดยเร็วที่สุดและขอให้ผู้รับผิดชอบชี้แจงถึงอำนาจและเหตุในการควบคุมตัว

เจริญชัย แซ่ตั้ง 

7 ก.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ต่อ กรณีการควบคุมตัว เจริญชัย แซ่ตั้ง นักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (หมิ่นพระมหากษัตริย์) โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเรียกร้องให้ 1. เจ้าหน้าที่ทหารปล่อยตัวเจริญชัย โดยเร็วที่สุดและขอให้ผู้รับผิดชอบการควบคุมตัวเจริญชัยชี้แจงถึงอำนาจและเหตุในการควบคุมตัวดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ทหารต้องรับผิดชอบชดเชยเยียวยาหากเกิดความเสียหายใดๆต่อสิทธิเสรีภาพของนายเจริญชัย 2. เจ้าหน้าที่รัฐยุติการใช้อำนาจโดยอำเภอใจ การจับกุมและการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะอ้างอำนาจตามมาตรา 44 คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 หรือ คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2559 และ 3. ยกเลิกมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และคำสั่งที่ออกตามความในมาตราดังกล่าว โดยเฉพาะคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2559

โดยมีรายละเอียดดังนี้ : 

แถลงการณ์ ต่อ กรณีการควบคุมตัว นายเจริญชัย แซ่ตั้ง โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

จากกรณีที่ นายเจริญชัย แซ่ตั้ง นักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (หมิ่นพระมหากษัตริย์) ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบซึ่งอ้างว่าใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยึดอุปกรณ์สื่อสารและจับกุมตัวจากบ้านพักโดยนำตัวไปควบคุมต่อในมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2560 จนกระทั่งปัจจุบัน ยังไม่มีผู้ใดสามารถติดต่อนายเจริญชัยได้ ทั้งนี้ ญาติของนายเจริญชัยได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บุคคโล ว่ามีการจัดทำบันทึกเชิญตัวโดยระบุเหตุที่ควบคุมนายเจริญชัยว่ามีพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการกระทำความผิดตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญาแต่ยังมิได้ดำเนินคดี และแม้ญาติจะติดตามขอเข้าพบนายเจริญชัย ณ มทบ.11 ถึง 2 ครั้ง แต่กลับได้รับการปฏิเสธโดยไม่มีการชี้แจงอำนาจ เหตุและระยะเวลาในการควบคุมตัวแต่อย่างใด (อ่านต่อที่นี่)    

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่ารูปแบบการจับกุมและควบคุมตัวดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ยิ่งเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐสามารถกล่าวอ้างการใช้อำนาจนั้นได้เพราะได้รับการรับรองไว้ให้ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 44 และโดยคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และ 13/2559 กระบวนการควบคุมตัวบุคคลได้มากสุดถึง 7 วัน จึงกลายเป็นมาตรการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกควบคุมโดยมิได้รับการตรวจสอบจากองค์กรตุลาการ (อ่านต่อที่นี่) ยิ่งไปกว่านั้น กรณีที่มีการดำเนินคดีกับผู้ถูกควบคุมตัวในภายหลัง ข้อเท็จจริงที่ได้มาระหว่างการควบคุมดังกล่าวกลับถูกรวมเข้าในสำนวนการสอบสวน ซึ่งขัดต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม

ศูนย์ทนายความฯ ขอย้ำว่า การกระทำดังกล่าวของรัฐเป็นการควบคุมตัวบุคคลโดยใช้อำนาจตามอำเภอใจซึ่งอาศัยฐานที่มาแห่งกฎหมายจากการรัฐประหาร อันมีผลโดยตรงทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวซึ่งขณะนี้อยู่ในที่ลับและไม่สามารถติดต่อบุคคลใดได้ เสี่ยงต่อการกระทำทรมานและการปฏิบัติที่เลวร้ายอื่น ซึ่งศูนย์ทนายความฯ เห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐจะกลายเป็นปัจจัยหนึ่งของการบังคับให้บุคคลหายสาบสูญโดยไม่สมัครใจอันละเมิดต่อตราสารระหว่างประเทศอย่าง ICCPR อย่างร้ายแรง และหากเจ้าหน้าที่รัฐยังไม่ยุติการปฏิบัติตามมาตรา 44 คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และ 13/2559 ยิ่งจะเป็นการจงใจละเลยต่อพันธกรณีในฐานะรัฐภาคีด้วยการเปิดช่องว่างทางกฎหมายให้เกิดการควบคุมตัวโดยไม่ชอบตลอดทั้งไม่มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุผลของการควบคุมตัว ยกเว้นการตรวจสอบและควบคุมโดยศาลและตัดสิทธิมิให้ผู้ถูกควบคุมตัวเรียกร้องความรับผิดและการชดเชยจากรัฐ

การใช้อำนาจในลักษณะดังกล่าวโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ควรถูกทำให้กลายเป็น "เรื่องปกติ" ที่เกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่องในสังคม และเพื่อยุติมิให้เกิดอาชญากรรมที่กระทำโดยรัฐและเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอเรียกร้องให้ 

1. เจ้าหน้าที่ทหารปล่อยตัวนายเจริญชัย แซ่ตั้ง โดยเร็วที่สุดและขอให้ผู้รับผิดชอบการควบคุมตัวนายเจริญชัยชี้แจงถึงอำนาจและเหตุในการควบคุมตัวดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ทหารต้องรับผิดชอบชดเชยเยียวยาหากเกิดความเสียหายใดๆต่อสิทธิเสรีภาพของนายเจริญชัย

2. เจ้าหน้าที่รัฐยุติการใช้อำนาจโดยอำเภอใจ การจับกุมและการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะอ้างอำนาจตามมาตรา 44 คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 หรือ คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2559

3. ยกเลิกมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และคำสั่งที่ออกตามความในมาตราดังกล่าว โดยเฉพาะคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2559

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

MV ใหม่ 'TATTOO COLOUR' มาหมดทั้ง 44 กฎเหล็ก, เรือดำน้ำ, ปรับทัศนคติ, ตรวจคอมฯ

Posted: 07 Jul 2017 05:43 AM PDT

7 ก.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (ุ6 ก.ค.60) วงดนตรีแทตทูคัลเลอร์ (TATTOO COLOUR) เผยแพร่เพลงและมิวสิควิดีโอเพลงใหม่ทางยูทูบ ชื่อ 'เผด็จเกิร์ล' โดยในมิวสิควิดีโอมีประเด็นการนำเสนอชื่อว่า '44 กฎเหล็กที่ผู้ชายทุกคนต้องทำตาม' ตัวอย่าง เชื่อฟัง, อย่าให้เหลือร่องรอย, ปรับทัศนคติ, ต้องตรวจสอบ, เงินของคุณคือเงินของฉัน,  เดาใจให้ถูก, ห้ามลืมทุกเรื่องสำคัญ, อยากได้อะไร ต้องได้, อย่าคลาดสายตา, ไม่มีความลับ และ ห้ามหนีไปไหน 

นอกจากนี้ในมิวสิควิดีโอ ช่วงเสนอต่ละข้อของกฎเหล็กดังกล่าว เช่น ต้องตรวจสอบ นั้นจะมีการตรวจสอการแสดงความเห็นทางคอมพิวเตอร์ หรือช่วงข้อ อยากได้อะไร ต้องได้ ก็จะมีภาพตัวต่อเรือดำน้ำ เป็นต้น

เพลง 'เผด็จเกิร์ล' เนื้อร้องและทำนอง โดย รัฐ พิฆาตไพรี เรียบเรียง โดย Tattoo Colour ขณะที่ มิวสิควิดีโอ โดย dylan films
 
เนื้อเพลง มีดังนี้
 
ความรักไม่มีเหตุผล ไม่มีความเท่าเทียมใดๆ 
ต้องยอมรับเอาไว้ทุกอย่าง 
ไม่มีวันชนะ ต่อให้มีเหตุผลเท่าไหร่ก็ตาม

นี่คือชีวิตที่ต้องเผชิญ 
ลำบากทุกครั้งที่คุยกับเธออยู่ร่ำไป 
จะกี่เหตุผลในใจที่มี 
ก็อยากจะเถียงเธอดูซักที จะดีไหม

* อย่าเลย ( บอกแล้ว ) อย่าเสี่ยง 
ถูกให้ตาย ตอนสุดท้ายเราก็ผิด 
จะยังไงก็ต้องเจอ 
นี่คือเธอผู้ไม่แพ้ 
ก็แล้วแต่ ให้ทำใจเอาไว้

** ความรักไม่มีเหตุผล 
ไม่มีความเท่าเทียมใดๆ 
ต้องยอมรับเอาไว้ทุกอย่าง 
ไม่มีสิทธิ์จะเถียง 
ไม่มีสิทธิ์เรียกร้องอะไรไปกว่านี้
รู้ต้องบอกไม่รู้ 
ไม่มีความคิดเห็นใดๆ 
อดทนรับเอาไว้ทุกอย่าง
ไม่มีวันชนะ 
ต่อให้มีเหตุผลเท่าไหร่ก็ตาม 

แผ่นดินพายุจะพังทลาย 
ไม่อาจทำร้ายทำอันตรายเธอได้เลย 
ผิดถูกไม่รู้ชนะเหมือนเคย 
สนุกสนานกับฉันได้เลย ไม่เป็นไร

*, **

และจะเป็นอย่างนี้ไปนานเท่านาน
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วงเสวนา: กฎหมายและนโยบายผู้ลี้ภัยในไทยยังไม่ลงตัว แนะ เอาสิทธิผู้ลี้ภัยเป็นตัวตั้งก่อนตัดสินใจ

Posted: 07 Jul 2017 03:49 AM PDT

ผู้แทนเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐระบุกฎหมายไทยริเริ่มแนวทางจริงจังหลังจากประชุมมติ ค.ร.ม. แต่กฎหมายยังไม่ครอบคลุมถึงสิทธิผู้ลี้ภัยให้คุ้มครองได้อย่างเต็มที่ ด้านอาจารย์ประจำศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษา ชี้ว่า ควรจัดการผู้ลี้ภัยอย่างมีมนุษยธรรม พบยังมีผู้ลี้ภัยและปัญหาผู้ลี้ภัยในไทยต่อเนื่องยาวนาน

ซ้ายไปขวา: นวลน้อย ธรรมเสถียร ศรีประภา เพชรมีศรี ศิววงศ์ สุขทวี อดิศร เกิดมงคล

สืบเนื่องจากงานเสวนาหัวข้อ "เปิดสถานการณ์ผู้ลี้ภัยกว่า 40 ชาติในประเทศไทย: สู่ความคุ้มครองและการจัดการที่เหมาะสมของรัฐไทย" วันที่ 22 มิ.ย.2560 ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เวลา 10.00-13.00 น.โดยมีศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์ประจำศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, ศิววงศ์ สุขทวี และ อดิศร เกิดมงคล ผู้แทนเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐเป็ํนวิทยากร ดำเนินรายการโดย นวลน้อย ธรรมเสถียร ผู้สื่อข่าวอิสระและผู้ผลิตสารคดี

ปัญหาผู้ลี้ภัยยังมีต่อเนื่อง เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัย ระบุ กฎหมายควรพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัย

ศิววงศ์ กล่าวว่า ผู้ลี้ภัยที่อยู่ภายในประเทศไทยไม่ได้มีแค่ชาวเมียนมาร์ แต่มีประเทศอื่นๆ ราว 40 ประเทศ ซึ่งมีทั้งกลุ่มคนที่ถือวีซ่าเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย และไม่มีเอกสารเดินทางอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จะตกอยู่ในกระบวนการค้ามนุษย์ เป็นเสมือนสินค้าสูงมาก โดยไม่ได้มีกฎหมายรองรับการจัดการผู้ลี้ภัยทำให้เกิดการขยายตัวของขบวนการนอกกฎหมาย เพราะ เขาไม่มีทางเลือกหาที่ทำกิน ผู้ลี้ภัยมาจากทั้งปากีสถาน เวียดนาม โซมาเลีย ปาเลสไตน์ ซึ่งในประเทศไทยไม่ได้มีกฎหมายผู้ลี้ภัย นั่นแสดงถึงชีวิตทางสังคมไม่สามารถทำสิ่งใดได้ ตั้งแต่การหางาน การมีสิทธิพลเมืองในประเทศที่มาลี้ภัย  ดังนั้น พวกเขาจึงถูกกดขี่ให้ไปทำงานผิดกฎหมาย

จากคลิปสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย มีใจความว่า ผมไม่มีบ้าน อยู่ด้วยความลำบาก หนีภัยมาจากสงคราม ไม่สามารถเรียนหนังสือ หรือหางานทำในเมืองไทย นอกจากนี้ยังมีภาวะอุปสรรคทางการสื่อสารกับชุมชนคนไทยอีกด้วย เขาอยากให้มองว่าผู้ลี้ภัยเป็นแค่สถานะชั่วคราว ไม่อยากให้ยึดติดกับสถานะดังกล่าว

ชวรัตน์ ชวรางกูร ที่ปรึกษาอาวุโสด้านนโยบาย องค์กร Asylum Access Thailand กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาที่ลี้ภัยในประเทศกว่า 120,000 คน ซึ่งเป็นผู้หนีภัยจากการสู้รบจากประเทศเมียนมา กว่า 110,000 คน โดยอาศัยอยู่ในศุูนย์พักพิงชั่วคราวตามแนวชายแดน ไทย-พม่า เป็นระยะเวลากว่า 30 ปี และผู้ลี้ภัยจากประเทศปากีสถาน เวียดนาม โซมาเลีย อิรัก ปาเลสไตน์  ซีเรีย และอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ภายนอกศูนย์พักพิงชั่วคราวที่กระจายอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอีกประมาณ 7,400 คน โดย จำนวนผู้ลี้ภัยได้เพิ่มขึ้นมาตลอดในช่วงระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาและมีแนวโน้มคงที่ ณ ปัจจุบัน ขณะเดียวกันยังมีผู้อพยพกลุ่มอื่นๆ ที่หลบหนีเข้ามายังประเทศไทยเพื่อแสวงหาการปกป้องคุ้มครองไม่ว่าจะเป็นผู้อพยพชาวโรฮิงญาหรือผู้อพยพชาวอุยกูร์

ขณะที่ศิววงศ์ กล่าวว่า ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้เป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494 ไม่มีกฎหมายและนโยบายในการบริหารจัดการผู้ลี้ภัย ประกอบกับการใช้ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 เป็นกรอบการดำเนินการหลักในลักษณะของการปราบปรามมากกว่าการปกป้องคุ้มครอง ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้ลี้ภัยถูกจับกุมและถูกกักขังโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา  รวมถึงการถูกผลักดันกลับไปเผชิญอันตรายในประเทศบ้านเกิดบ่อยครั้ง ทั้งนี้สถิติผู้ลี้ภัย ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2560 มีผู้ที่ได้รับการรับรองสถานะเป็นผู้ลี้ภัยจาก UNHCR จำนวนประมาณ 4,100 คน และผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่ที่รอผลการพิจารณาจาก UNHCR ประมาณ 3,300 คน  ในจำนวนผู้ลี้ภัยนี้มีผู้ถูกกักอย่างไม่มีกำหนด ณ สำนักงานตรวจคนเมืองอยู่ประมาณ 260 คน นอกจากนี้ผู้ลี้ภัยยังเผชิญปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ที่มีปัญหาเรื่องการใช้ภาษาในการเข้ารักษาในสถานพยาบาลของรัฐ รวมถึงการไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ครบถ้วน จากการไม่มีระบบประกันสุขภาพพื้นฐานที่ผู้ลี้ภัยสามารถเข้าถึงได้ ขณะที่สถานพยาบาลเอกชน แม้จะได้รับการบริการที่ดีกว่า แต่ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่สูง  ขณะที่การเข้าถึงการศึกษาของเด็กผู้ลี้ภัยก็ยังมีปัญหาในภาคปฏิบัติ แม้ไทยจะมีนโยบายการศึกษาเพื่อปวงชน (Education For All) เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนโยบายซึ่งเปิดโอกาสให้เด็กผู้ลี้ภัยเข้าถึงการศึกษาของภาครัฐและผู้ลี้ภัยยังไม่มีสถานะทางกฎหมายที่ชัดเจนทำให้ไม่สามารถขออนุญาตทำงานตาม พ.ร.บ. การทำงานของคนต่างด้าวได้ จึงต้องทำงานเพื่อความอยู่รอดแบบผิดกฎหมาย ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเข้าถึงการได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

ผู้แทนเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐกล่าวเสริมว่า ผู้ลี้ภัยไร้รัฐชาวโรฮิงยายังคงลี้ภัยเข้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยจุดมุ่งหมายของผู้ลี้ภัยเหล่านี้ต้องการไปต่อยังประเทศที่สาม โดยเฉพาะประเทศมาเลเซีย ผู้ลี้ภัยไร้รัฐชาวโรฮิงยาจำนวนมากอาศัยการพึ่งพาจากขบวนการนำพาคนหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งหลายครั้งกลายเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการค้ามนุษย์ และเมื่อเจ้าหน้าที่ไทยดำเนินการจับกุมมาได้ จำนวนหนึ่งก็จะถูกกักขังอย่างไม่มีกำหนด หรืออยู่ในสถานะที่ได้รับการปกป้องคุ้มครองในฐานะเหยื่อ หรือพยานจากการค้ามนุษย์ ทั้งยังได้ยกตัวอย่างมาตรการทางเลือกแทนการกักตัวผู้อพยพลี้ภัยในต่างประเทศ อาทิ มาเลเซียที่ไม่จับกุมและกักตัวผู้ที่เป็นผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัยหากมีบัตรสถานะการขอลี้ภัยที่ทาง UNHCR ออกให้ ขณะที่ประเทศอินโดนีเซียมีกฎหมายคนเข้าเมืองอนุญาตให้กลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้หญิงตั้งครรภ์ และคนป่วย ไปพักอาศัยชั่วคราวในบ้านพักอาศัยในชุมชนได้ โดยไม่ต้องถูกควบคุมตัวในสถานกักตัวคนต่างด้าว

ศิววงศ์กล่าวว่า ประเทศแคนาดามีกฎหมายคุ้มครองผู้ลี้ภัยโดยมีหน่วยงานอิสระในการออกคำสั่งการกักตัวหรือปล่อยตัวผู้ต้องกัก โดยมีการพิจารณาคำตัดสินการกักตัวเป็นระยะๆ ซึ่งช่วยทำให้บุคคลไม่ถูกกักขังโดยไม่จำเป็น และยังมีโครงการนำร่องการประกันตัวโดยไม่ต้องใช้เงินประกัน ขณะที่ประเทศแซมเบียมีกลไกระดับชาติด้านการส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแนวทางการให้ความคุ้มครองแก่ผู้อพยพที่เปราะบาง  และฮ่องกงมีระบบคัดกรองผู้ลี้ภัย โดยผู้ที่เข้าสู่กระบวนการคัดกรองสามารถได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐกำหนดและได้รับการคุ้มครองจากการผลักดันไปสู่อันตราย

นักวิชาการสิทธิมนุษยชนระบุ กฎหมายไทยสามารถแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยได้มีมนุษยธรรม แต่ยังไม่มีเข็มนโยบายชัดเจน

ศรีประภา กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ลี้ภัยเป็นเด็กและผู้หญิงมากขึ้น จากกรณีโรฮิงญาเข้ามาในเมืองไทยเป็นจำนวนมากในปี 2015 โดยนโยบายรัฐไทยในการจัดการผู้ลี้ภัยเป็นแนวทางป้องกันโดยควบคุมจำนวนผู้ลี้ภัยให้ได้มากที่สุดสะท้อนมิติของความมั่นคงมากกว่ามนุษยธรรม อย่างไรก็ตาม กฎหมายหลายๆ ฉบับของไทยก็ให้ความคุ้มครองแก่ผู้ลี้ภัย อย่าง พ.ร.บ. เด็กและการศึกษา บังคับใช้อย่างครอบคลุมแก่ทุกคนที่อยู่ในประเทศ หรือ การแจ้งเกิดลูกของผู้ลี้ภัยก็ครอบคลุมและดูแลสิทธิพลเมืองของเด็กที่เกิดมา ซึ่งมีแนวคิดในการระบุตัวตนมากกว่าที่จะมองในแง่มุมมนุษยธรรมกับกลุ่มผู้ลี้ภัย แต่เธอเห็นด้วยว่าควรจัดการกับกลุ่มผู้ลี้ภัยอย่างมีมนุษยธรรม

ทั้งนี้ วาทกรรมการค้ามนุษย์และการค้ายาต่างๆ ที่ถูกผูกโยงกับผู้ลี้ภัย ทำให้ถูกมองว่าเป็น Irregular Migrants หรือเป็นผู้ลี้ภัยไม่มีเอกสารอนุญาตเข้ามาเป็นจำนวนมาก ศรีประภา กล่าวว่า กรณีศึกษาอุยกูร์ที่เป็นข่าวถูกนำส่งกลับจีนในช่วง 2 ปีก่อน จำนวน 109 คน ต้องเข้าใจว่าสถานการณ์ในตอนนั้นไม่มีอิสระทางการเมืองสำหรับกลุ่มผู้ลี้ภัย นอกจากนี้ การเมืองระหว่างประเทศที่กดดันให้ต้องส่งผู้ลี้ภัยกลับไปประเทศต้นทาง หรือส่งไปที่อื่น สะท้อนให้เห็นว่าการดูแลผู้ลี้ภัยของประเทศไทยไม่มีนโยบายที่ต่อเนื่องอย่างแน่ชัด

ด้าน อดิศร กล่าวว่า วิธีการจัดการกับผู้ลี้ภัยนั้นจัดการไปตามสถานการณ์ โดยปฏิบัติกันตั้งแต่สงครามอินโดจีน อย่างในล่าสุด มีมติ ค.ร.ม. ผู้ลี้ภัย ซึ่งได้ใช้คำนี้อย่างเป็นครั้งแรกและมีแนวทางชัดเจน ระบุไว้ว่า เห็นชอบกับการมีแนวทางให้จัดการผู้ลี้ภัยโดยสำนักนายกฯ และหน่วยงานรัฐ ซึ่งจะให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จัดการ และ การให้มีหน่วยงานผ่านการตั้งของกระทวงมหาดไทย

ตัวแทนเครือข่ายองค์กรระบุมติ ค.ร.ม. ไม่จับกุมสตรีและเด็ก วอนคำนึงสิทธิผู้ลี้ภัยก่อนออกนโยบาย

อดิศร กล่าวว่า   กรณีที่ประเทศไทยเห็นชอบการจัดตั้งกลไกการคัดกรองผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายและผู้ลี้ภัย ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา มีคำถามว่า จะสามารถแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมา จะเห็นว่า ก่อนการออกมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ไม่มีตัวแทนจากภาคประชาสังคม นักวิชาการ รวมไปถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบ เข้าไปมีส่วนร่วมในการดูหรือร่วมแสดงความคิดเห็นในกฎหมายนี้เลย

อย่างไรก็ตามในระหว่างรอการดำเนินการออกกฎหมายและแนวทางในการคัดกรองผู้ลี้ภัย ภาครัฐควรพิจารณาให้มีมาตรการและแนวปฏิบัติระยะสั้นที่จะไม่จับกุมคุมขังกลุ่มผู้ลี้ภัยเปราะบาง ประกอบด้วยเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วย และพิจารณาผ่อนผันให้ผู้ลี้ภัยซึ่งถือเอกสาร UNHCR พักอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว

ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า "กรณีเด็กลี้ภัยอายุต่ำกว่า 18 ปี นอกจากทางภาครัฐจะไม่จับกุมแล้ว ควรเพิ่มสวัสดิการให้กับเด็กเหล่านี้ด้วย ทั้งเรื่องการดูแลผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือ พม. รวมถึงการอนุญาติให้ซื้อหลักประกันสุขภาพ และสิทธิการได้เรียนหนังสือ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ควรระบุให้ชัดในร่างกฎหมายดังกล่าวด้วย"

นอกจากนี้สิ่งที่ต้องระบุให้ชัดในการดำเนินการคือ กรณีการขอประกันตัว ควรมีหลักเกณฑ์ในการประกันตัวที่ชัดเจน และมีอัตราจำนวนเงินประกันที่ไม่ควรสูงจนเกินไป เพราะปัจจุบันอยู่ที่อัตรา 50,000 บาท ซึ่งถือว่าสูงมาก พร้อมกันนี้ นายอดิศร ยังมีข้อเสนอไปยังหน่วยงานรัฐ เกี่ยวกับมาตรการระยะยาว โดย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง และการจัดทำกลไกการคัดกรองผู้ลี้ภัยตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2560 ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและผู้ลี้ภัย โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง  และคำนึงถึงถึงประสิทธิภาพ และการปกป้องสิทธิผู้ลี้ภัยเป็นสำคัญ รวมทั้งเสนอให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการ 3 ชุดในการบริหารจัดการผู้ลี้ภัย ได้แก่   คณะอนุกรรมการคัดกรอง คณะอนุกรรมการด้านดูแลช่วยเหลือผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัย และ คณะอนุกรรมการด้านอุทธรณ์การอนุญาตให้อยู่ชั่วคราวในประเทศไทย ตามหลักสิทธิมนุษยชนที่ผู้ลี้ภัยควรมีต่อไป

รายงานแนวโน้มผู้ลี้ภัยทั่วโลกประจำปี 2558 ของ UNHCR ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลของผู้พลัดถิ่นทั่วโลกจาก UNHCR รัฐบาลประเทศต่างๆ รวมถึงองค์กรพันธมิตร เช่น ศูนย์ติดตามผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internal Displacement Monitoring Centre)  ชี้ให้เห็นว่า ณ สิ้นปี 2558 นั้นจำนวนผู้พลัดถิ่นได้พุ่งขึ้นสูงถึง 65.3 ล้านคน เมื่อเทียบกับ ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ 59.5 ล้านคน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่จำนวนผู้พลัดถิ่นทั่วโลกได้ข้ามผ่านสถิติ 60 ล้านคน โดยในจำนวนผู้พลัดถิ่น 65.3 ล้านคนนั้น กว่า 3.2 ล้านคนเป็นผู้ที่มาจากประเทศอุตสาหกรรมซึ่ง ณ สิ้นปี 2558 นั้นยังคงรอคอยที่จะได้รับสถานะผู้ลี้ภัย ถือเป็นจำนวนมากที่สุดที่ UNHCR เคยบันทึกมา โดย 21.3 ล้านคนเป็นผู้ลี้ภัยทั่วโลก ซึ่งมากกว่าปี 2557 ถึง 1.8 ล้านคน

กล่าวถึงสาเหตุผู้ลี้ภัยที่มีจำนวนมากขึ้นพบว่า "จำนวนของผู้ที่ต้องพลัดถิ่นเพิ่มขึ้นเนื่องมาจากสงครามและการประหัตประหารเป็นสิ่งที่น่ากังวลอยู่แล้ว หากแต่ปัจจัยอื่นๆที่ส่งผลด้านลบต่อผู้ลี้ภัยก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน" นายฟิลิปโป แกรนดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าว   "จำนวนของผู้อพยพที่ต้องเสียชีวิตทางทะเลเป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัว ซึ่งในขณะเดียวกันผู้พลัดถิ่นที่แสวงหาที่หลบภัยก็ยังโดนปิดกันโดยมาตรการชายแดนที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการเมืองในประเทศนั้นที่ต้องการนำปัญหาของผู้ลี้ภัยมาเป็นเครื่องต่อรองทางการเมือง ซึ่ง ณ ขณะนี้ความท้าทายที่สุดของเราคือความร่วมมือของประเทศต่างๆ ในการหาทางออกไม่เฉพาะปัญหาผู้ลี้ภัย แต่หากรวมถึงผลประโยชน์ส่วนรวมมนุษยชาติ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจิตวิญญาญแห่งความสามัคคีจะนำพาพวกเราก้าวข้ามผ่านสถานการณ์ที่ต้องเผชิญอยู่"

อ้างอิงจาก https://www.unhcr.or.th/news/GlobalTrend_2015

ภาพประกอบจากงาน

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความเห็นต่อบทสัมภาษณ์ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ว่าด้วย ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ในฐานะโวหาร ‘เสรีนิยมใหม่’

Posted: 07 Jul 2017 02:33 AM PDT

เพิ่งอ่านบทสัมภาษณ์ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ในประชาไทจบไปเมื่อกี้นี้ รู้สึกเหนื่อย

ผมเหนื่อยกับปัญหาหนึ่งของปัญญาชนไทยที่หมกมุ่นกับทฤษฎีก็คือ เอา concept ใหญ่ๆโตๆ มาใช้ในสังคมไทยอย่างผิดฝาผิดตัวกับความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ของไทยอยู่เป็นประจำ ที่มีอิทธิพลก็ส่งผลให้เกิดการออกนอกลู่นอกทางเสียหายกันไปมาก เช่นความคิดเรื่องกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา ที่ไม่ค่อยมีอิทธิพลไม่ส่งผลมากไปกว่าการสร้างฝักฝ่ายทะเลาะกันเพราะมักใช้ท่าทีราวกับว่า concept เหล่านี้เป็นสัจธรรม เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย แทนที่จะถือเป็นแนวคิดเพื่อช่วยให้เราเข้าใจเรื่องต่าง ๆ ได้ดีขึ้น แต่ไม่ควรยึดถือมันมากเกินไป

ความเห็นเก่งกิจที่น่าสนใจมีหลายประเด็นแต่ส่วนใหญ่เป็นประเด็นย่อย เช่น ข้อวิจารณ์เอ็นจีโอ  ประเด็นสำคัญเป็นหลักที่สุดของบทความนี้คือเห็นว่า รัฐไทยในปัจจุบันเป็นรัฐเสรีนิยมใหม่ กลุ่มพลังที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในปัจจุบันมองไม่เห็นข้อนี่จึงไม่ได้ต่อสู้กับรัฐเสรีนิยมใหม่

หากยึดเอาคำนิยามลัทธิเสรีนิยมใหม่ตามที่อยู่ท้ายบทสัมภาษณ์เก่งกิจนั่นแหละ "หลักการของเสรีนิยมใหม่ ตั้งอยู่บนฐานความเชื่อว่า เงื่อนไขที่จำเป็นของการอยู่ดีมีสุขของมนุษย์นั้นคือ เสรีภาพของปัจเจกบุคคล (ในการประกอบการ)  " ดังนั้น "โครงสร้างเชิงสถาบันที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางเสรีนิยมใหม่คือ การคุ้มครองกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลอย่างเข้มงวดและระบบตลาดแข่งขันเสรี"  แล้วรัฐไทยในปัจจุบันเป็นเสรีนิยมใหม่หรือ

ในขณะที่ อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เพิ่งเสนอไม่กี่วันก่อนว่าชนชั้นนำไทยผนึกกำลังรัฐราชการ เก่งกิจบอกว่าปัจจุบันเป็นรัฐเสรีนิยมใหม่ รัฐสองประเภทนี้ตรงข้ามกันสุดๆเลย การต่อสู้กับรัฐสองประเภทนี้ก็ต้องตั้งเป้าจับประเด็นตรงข้ามกันเลย คือจะสู้กับรัฐราชการก็ต้องเพิ่มอำนาจนอกระบบราชการ ลดบทบาทรัฐ การสู้กับรัฐเสรีนิยมใหม่ต้องสนับสนุนรัฐเพื่อไปทานกับอำนาจของเอกชน  ตกลงรัฐไทยเป็นยังไงกันแน่ ใครกันแน่จับแพะชนแกะทางทฤษฎีผิดฝาผิดตัว

อ.กุลลดา เกษบุญชู  อ.ไชยันต์ รัชชกูล และอีกหลายคน ได้ชี้ตรงกันว่า ทุนอาณานิคมไม่ได้ทำให้รัฐไทยกลายเป็นรัฐอาณานิคมไปด้วย  แต่กลับทำให้เกิดรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ ซึ่งก็คือการเปลี่ยนรัฐจักรวรรดิแต่เดิมให้ผ่านเข้าสู่การเป็นรัฐสมัยใหม่ โดยหยิบยืมเทคโนโลยีทางการปกครอง รูปของรัฐ และระบบราชการจากรัฐที่ตกเป็นอาณานิคมมาใช้เพื่อผนึกอำนาจของเจ้าจักรวรรดิ  ผลของการทำอย่างนี้ไม่ได้ทำให้รัฐสมบูรณาญาสิทธิ์เป็นรัฐอาณานิคมแต่อย่างใด  มีความต่างกันโดยพื้นฐานหลายอย่าง ประเด็นก็คือ ภายใต้อิทธิพลของเสรีนิยมใหม่ ไม่ได้หมายความว่า จะต้องทำให้รัฐและสังคมไทยกลายเป็นเสรีนิยมใหม่ไปด้วยเสมอไป

ตรงนี้แหละที่ผมมีปัญหากับหลายๆคนที่พูดถึงเสรีนิยมใหม่ในสังคมและของรัฐไทย คือมักแค่อธิบายว่า เพราะสังคมไทยรัฐไทยเป็นส่วนหนึ่งของระบบโลก ก็ต้องรับอิทธิพลของเสรีนิยมใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตรงนี้ผมเห็นด้วย 100 เปอร์เซ็นต์ครับ

แต่แทบไม่มีใครเลยที่อธิบายว่า ในเมื่อสังคมไทยแต่เดิมไม่ใช่สุญญากาศที่ปราศจากรัฐอยู่เดิม จะเรียกรัฐราชการ หรือรัฐ ป ช ต ท ม พ ม ห ก ษ ป ป ม หรืออะไรก็ตามที ในเมื่อสังคมไทยที่เป็นอยู่เดิมก่อนเสรีนิยมใหม่ มีทุนนิยมที่พัฒนามาตามประวัติศาสตร์ของไทยซึ่งไม่ค่อยเสรีสักเท่าไร แต่มีพุทธศาสนาแบบไทยๆ  มี hyper-royalism ฯลฯ ระบบเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรมเหล่านี้อิงแอบกับรัฐทรงอำนาจทั้งนั้น ไม่เคยผ่านการปฏิวัติศาสนาจนเกิด secularism ไม่เคยผ่านการปฏิวัติมนุษย์นิยมจนเกิด individuality ซึ่งเป็นฐานของ liberalism ทั้งเก่าใหม่ ไม่เคยเกิดการปฏิวัติประชาธิปไตยจนเกิด citizenship ไม่เคยเป็นรัฐที่เก็บภาษีแบบก้าวหน้าเพื่อสร้างระบบสวัสดิการและประกันสังคมเพื่อทัดทานกับผลของทุนที่กระทำต่อประชากรโดยทั่วไป จนกระทั่งทุนเอกชนต้องตอบโต้กับรัฐด้วย "เสรีนิยมใหม่" อย่างในโลกตะวันตก  แถมรัฐไทยเป็นรัฐกระจุกไม่กระจายอำนาจมาตลอดร้อยกว่าปี เหล่านี้เป็นสภาพที่ดำรงอยู่เดิมก่อนอิทธิพลเสรีนิยมใหม่ คงต้องอธิบายให้ได้ว่า เสรีนิยมใหม่เข้ามาปะทะต่อรองกับสภาพที่ดำรงอยู่เดิมอย่างไร ส่งผลให้รัฐและสังคมไทยเปลี่ยนเคลื่อนไปอย่างไร  ผมไม่เห็นการอธิบายในแง่นี้สักเท่าไหร่ไม่ว่าจะใครทั้งสิ้น และผมยังรออ่านอยู่ 

ถ้าบทสัมภาษณ์ของเก่งกิจมีจุดประสงค์หลักต้องการโต้ อ.เสกสรรค์ ก็กรุณาอย่าทึกทักว่ารัฐไทยเป็นรัฐเสรีนิยมใหม่โดยไม่อธิบาย ผมไม่รู้ว่าด้วยซ้ำเสรีนิยมใหม่ในสังคมไทยปัจจุบันหน้าตาเป็นอย่างไร 

แต่หวังว่าคงไม่ใช่แค่กระโถนทางทฤษฎีที่มีไว้รับขยะอะไรก็ได้เวลาเราคิดอะไรยากๆไม่ออก

เอาละพอดีกว่า เหนื่อย

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยเยือนไทย 13 องค์กรสิทธิร้อง รบ.เร่งคัดกรองผู้ลี้ภัยตามที่นายกฯ สัญญา

Posted: 07 Jul 2017 02:04 AM PDT

แอมเนสตี้และพันธมิตร 13 องค์กรที่ทำงานด้านผู้ลี้ภัยทั่วโลกเรียกร้องไทยตั้งกระบวนการคัดกรองผู้ลี้ภัยตามที่ ประยุทธ์ เคยให้สัญญาไว้ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ผู้ลี้ภัยเข้าถึงความช่วยเหลือต่างๆ ได้ ในโอกาสที่ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยฯ เยือนไทยวันนี้

 

7 ก.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมกับองค์กรพันธมิตร 13 องค์กรที่ทำงานด้านผู้ลี้ภัยทั่วโลกออกแลถงการณ์ร่วมเนื่องในโอกาสที่ ฟิลิปโป กรานดี ข้าหลวงใหญ่เพือผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เยือนไทยในวันนี้ (7 ก.ค. 60) โดยเรียกร้องให้ทางการไทยปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้ลี้ภัยตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะการจัดตั้งกระบวนการคัดกรองผู้ลี้ภัย

เมื่อเดือน ก.ย. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้คำมั่นสัญญาในการประชุมผู้นำโลกที่นครนิวยอร์กว่าทางการไทยจะจัดตั้งกระบวนการคัดกรองผู้ลี้ภัยที่มีประสิทธิภาพ และจะส่งเสริมให้ผู้ลี้ภัยเข้าถึงการศึกษาและสุขภาพในไทยได้ แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่เคารพ "หลักการไม่ส่งกลับ" (Non-refoulement) ด้วยการส่งผู้ลี้ภัยไปยังพื้นที่ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตของพวกเขา ยกตัวอย่างเช่น การส่งนายเอ็ม ฟูรกาน เซิกเม็น ไปยังตุรกี ซึ่งเขาถูกคุกคามทางกฎหมายจากรัฐบาล หรือการส่งชาวอุยกูร์ราว 100 คนไปยังจีน ซึ่งทำให้พวกเขาเสี่ยงที่จะถูกทางการจีนประหัตประหาร

แอมเนสตี้และองค์กรพันธมิตรอีก 12 แห่งร่วมกันเรียกร้องให้ทางการไทยเร่งรัดกระบวนการคัดกรองผู้ลี้ภัยให้เกิดขึ้นโดยเร็ว มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐานสากล และปฏิบัติตามหลักการไม่ส่งกลับ นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ทางการไทยยุติการควบคุมตัวผู้ลี้ภัยโดยพลการ ตลอดจนเปิดโอกาสให้พวกเขาได้รับการช่วยเหลืออย่างมีมนุษยธรรม ซึ่งรวมถึงการศึกษา สุขภาพ และการประกอบอาชีพ

นอกจาก แอมเนสตี้ฯ แล้วองค์กรพันธมิตรที่ร่วมแถลงการณ์ประกอบด้วย เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยแห่งเอเชีย-แปซิฟิก (Asia Pacific Refugee Rights Network) องค์กรอไซลัมแอคเซส ประเทศไทย (Asylum Access Thailand) เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ (Coalition for the Rights of Refugees and Stateless Persons) องค์กรเซ็นเตอร์ ฟอร์ อไซลัม โพรเทคชั่น (Center for Asylum Protection) สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล(FIDH - International Federation for Human Rights) องค์กรโฟร์ติไฟย์ไรท์ (Fortify Rights) ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Worker Rights Network) เครือข่ายองค์กรด้านแรงงานข้ามชาติ (Migrant Working Group) มูลนิธิศักยภาพชุมชน (People Empowerment Foundation) องค์การช่วยเหลือเด็ก(Save the Children) และกลุ่มอุมมาตี (Ummatee)

AttachmentSize
Joint Statement_Thai.pdf493.99 KB
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

อาจารย์จุฬาฯ ระบุ การศึกษาไทยตามโลกไม่ทันเพราะการเมือง นโยบายและประชาชน

Posted: 07 Jul 2017 01:00 AM PDT

ประชาชนมองว่าเป็นเรื่องของรัฐอย่างเดียว ไม่มีส่วนร่วมพัฒนาการศึกษา เอาตัวเองไว้ก่อน นโยบายการศึกษาสั้น เปลี่ยนตามเจ้ากระทรวง การสอบและพัฒนาหลักสูตรทำผิดจุด ไม่ตอบโจทย์ ยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากหลายชาติ ควรลดกำหนดนโยบายแบบรวมศูนย์ ผู้ปกครองต้องร่วมมือพัฒนาอย่ารอแต่ปาฏิหาริย์ วอนโรงเรียนอย่าลืมเด็กไม่เก่ง

ในภาพอาจจะมี หนึ่งคนขึ้นไป, ผู้คนอยู่บนเวที และ สถานที่ในร่ม

ภาพบรรยากาศงานเสวนาหลังฉายภาพยนตร์

จากกรณีงานเสวนาภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Most Likely to Succeed ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ได้มีการกล่าวถึงประเด็นปัญหาการศึกษาของไทย และทางออกของระบบการศึกษาผ่านการเสวนาของ ผศ. อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ นักวิชาการอิสระ

ชี้ปัญหาเรื้อรัง การวัดผลไม่เชื่อมโยงการพัฒนาหลักสูตร ข้อสอบไม่ชี้วัดทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21

อรรถพลมองว่า หนึ่งในปัญหาระบบการศึกษาไทยมาจากการวัดผลคะแนนสอบ จากคะแนนสอบระดับชาติ PISA* (Programme for International Student Assessment) 2558 พบว่า โรงเรียนหลายแห่งมีการติวเข้มการสอบ PISA อย่างหนักหน่วง แต่ผลสอบกลับตบหน้านโยบายการติวสอบ เพราะค่าเฉลี่ยของคะแนนโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ PISA อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development-องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ผู้ริเริ่มโครงการ PISA)กำหนดไว้ สะท้อนว่านโยบายการศึกษาการติวสอบ PISA ล้มเหลว จากงานวิจัยพบว่า ค่าเฉลี่ยคะแนนสอบ PISA ที่ผ่านระดับมาตรฐาน จะเป็นกลุ่มโรงเรียนสาธิตต่างๆ และ โรงเรียนเน้นวิทยาศาสตร์อย่างจุฬาภรณ์หรือมหิดลวิทยานุสรณ์ เมื่อมาเปรียบเทียบกันจึงพบว่า เด็กเก่งกระจุกตัวในบางโรงเรียน

อ่านสรุปผลงานวิจัย PISA 2015 ของ สสวท. กระทรวงศึกษาธิการ

นักการศึกษาจากจุฬาฯ แนะว่า การใช้ข้อสอบวัดระดับมาตรฐานระดับชาติให้เป็นประโยชน์คือการใช้ข้อสอบเพื่อพัฒนาและออกแบบการศึกษาในโรงเรียน เช่น การทดสอบที่ประเทศออสเตรเลีย มีการสอบ NT หรือการทดสอบระดับชาติ ในระดับชั้น ป.3 ป.5  ม.1 และ ม.3 โดยมีการสอบหลังจากเปิดเทอม 1 เดือน เพื่อสอบวัดระดับ โดยหลังจากผลคะแนนออก จึงนำมาพัฒนาระบบการเรียนการสอนในโรงเรียน ว่าต้องใช้ระบบแบบใดนักเรียนถึงจะมีคะแนนเฉลี่ยมากขึ้น ในขณะที่ข้อสอบวัดระดับมาตรฐาน O-NET (Ordinary National Education Test)  ของไทยเป็นการใช้คะแนนอย่างผิดจุดประสงค์ในการพัฒนาการศึกษา เพราะไม่สามารถวัดผลได้ เนื่องจากนักเรียนที่จะได้ศึกษาในหลักสูตรที่พัฒนาจะเป็นคนละรุ่นกับรุ่นที่สอบ บางปีโรงเรียนได้นักเรียนที่เก่งหลายคน ค่าเฉลี่ยก็สูงขึ้น ขณะที่รุ่นถัดมาไม่ใช่เด็กเก่ง ค่าเฉลี่ยก็ไม่สูงเท่า จะเห็นได้ว่าแตกต่างกับการวัดผลสอบของออสเตรเลียที่นักเรียนที่สอบและรับการพัฒนาตามผลสอบตั้งแต่ต้นเทอมเป็นเด็กรุ่นเดียวกัน

อรรถพลยังได้ยกสาระในหนังสือ"ทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21" แปลโดยวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรืองที่กล่าวว่า ทักษะที่จำเป็นในศตวรรษ 21 มี 3 ด้านได้แก่ ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะชีวิตและการทำงาน และทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี ซึ่งตนเห็นว่า ข้อสอบวัดมาตรฐานต่างๆไม่สามารถวัดทักษะชนิด Soft Skills เช่น การทำงานร่วมกันเป็นทีม การคิดสร้างสรรค์ การตัดสินใจ การจัดการ เป็นต้น ซึ่งเป็นปัญหาที่ควรแก้ไขภายในโรงเรียนผ่านการสอนแบบปฏิบัติ

อาจารย์จากจุฬาฯ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงการศึกษาเป็นหน้าที่ของทุกคน ปัจจุบันนี้ในเมืองไทย ผู้ปกครองมองว่าตนเองมีหน้าที่ส่งเสริมทรัพยากร เช่น หาเงินช่วยเหลือโรงเรียนประเทศไทยเริ่มมีการศึกษาในรูปแบบโรงเรียนที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในเฉพาะกรณีที่มีความพร้อมและผู้ปกครองสนับสนุน แต่โรงเรียนกระแสหลักในเมืองก็ยังตามกระแสโลกปัจจุบันไม่ทัน

นโยบายต้องยั่งยืนกว่าตัว รมว. แนะ โรงเรียนอย่าลืมเด็กไม่เก่ง

อรรถพลกล่าวว่า ปัญหาอีกประการหนึ่งคือการที่นโยบายการศึกษาผูกโยงกับการเมือง ในช่วงเวลา 20 ปี กระทรวงศึกษาธิการมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 20 คน มีเพียง 3 คนที่เรียนมาทางวิชาชีพครู โดยคนที่มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษามีเป้าหมายในการพัฒนาการศึกษาในระยะสั้น ซึ่งแท้จริงแล้ว การศึกษาไม่ควรถูกแทรกแซงโดยการเมือง ควรสร้างนโยบายระยะยาวทางการศึกษาและนโยบายควรเกิดการเปลี่ยนแปลงน้อย

โรงเรียนเองก็ควรแบ่งการใช้เงินไปพัฒนาการเรียนการสอน นโยบายเพิ่มเงินเดือนครู ที่ทำให้ครูต้องทำงานวิจัยเพิ่มมากขึ้นเพื่อขึ้นตำแหน่งและเงินเดือนผ่านการประเมินจากตำแหน่ง คศ. 1 คศ. 2 ครูชำนาญการ คศ. 3 ครูชำนาญการพิเศษ อาจทำให้ครูลืมใส่ใจการสอนในห้องเรียน นอกจากนั้น นโยบายการแข่งขันความเป็นเลิศต่างๆ อาทิ เพชรยอดมงกุฎ ทำให้ครูมองเด็กเก่งในฐานะการพัฒนาความเป็นเลิศ ขณะที่นักเรียนที่ไม่เก่งถูกทิ้งไว้ในห้องเรียน ตัวเลขที่โรงเรียนนำมาอ้างอิงมักเป็นจำนวนเด็กที่สอบติด แต่ไม่พูดถึงเด็กที่สอบไม่ติด

ความเห็นต่อประเด็นที่จะไม่มีทุนการศึกษาฟรีสำหรับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อรรถพล เห็นว่า 5 ปีแรกก่อนไปทำงานมีความสำคัญมากต่อชีวิตการทำงาน จำเป็นจริงๆ หรือที่ต้องตัดโอกาสการเรียน ม. ปลาย ซึ่งมีนโยบายการช่วยเหลือเด็ก 12+3 อยู่แล้ว โดยมีงานวิจัยพบว่า มีร้อยละ 54.8 ที่เด็กเรียนครบ 12 ปี ขณะอีกร้อยละ 45.2 เด็กออกระหว่างทางใน 12 ปี เพื่อไปทำงาน

ควรลดนโยบายแบบรวมศูนย์ ผู้ปกครองต้องร่วมมือพัฒนาอย่ารอแต่ปาฏิหาริย์

อรรถพล แนะว่า สังคมต้องไม่ฝากความหวังไปที่รัฐอย่างเดียว หัวใจสำคัญคือความร่วมมือทางการศึกษา บ้านเรามองว่าการศึกษาเหมือนเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่มีใครเชื่อระบบ เลยต้องพยายามซิกแซก เช่น การใช้เงินแป๊ะเจี๊ยะเพื่อให้ลูกเข้าได้โรงเรียนดัง โรงเรียนที่มีคุณภาพให้ได้ ไม่มีใครเชื่อว่าการศึกษาเป็นผลประโยชน์ของสาธารณะ เหมือนเป็นค่านิยมของสังคม ทั้งยังยกตัวอย่างกรณี-*โรงเรียนชุมชนของญี่ปุ่นที่เทศบาลมีส่วนร่วมในการลงเงินสนับสนุนกับโรงเรียน เหมือนเป็นการคืนความเป็นเจ้าของให้กับท้องถิ่น ผู้อำนวยการเองก็เป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนโรงเรียนชนบทดังกล่าว ขณะที่ในโรงเรียนไทยถ้าเป็นโรงเรียนเล็กจะมีโอกาสน้อยที่รัฐหรือชุมชนให้สนับสนุน  อาจถูกยุบโรงเรียนไปในที่สุด

ในกรณีฟินแลนด์ หากเด็กไม่มีการศึกษาคือเด็กแพ้ รัฐต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูเขาไปจนกระทั่งเสียชีวิต ขณะที่ รัฐอำนาจนิยมอย่างสิงคโปร์สามารถพัฒนาการศึกษาได้ เป็นเพราะเป้าหมายร่วมกันทางการศึกษาของโรงเรียนที่ผสานกับความร่วมมือของผู้ปกครอง ขณะที่ประเทศไทยมองดูแต่ผลลัพธ์ที่สำเร็จแล้ว ไม่ได้มองย้อนไปที่กระบวนการการศึกษา ไม่มีปาฏิหาริย์ในการเปลี่ยนแปลงการศึกษา แม้แต่ฟินแลนด์เองที่ได้รับการพูดถึงในฐานะประเทศที่มีการศึกษาชั้นนำระดับโลกยังใช้เวลาถึง 40 ปีในการเปลี่ยนแปลง

อรรถพล เห็นว่า การลงทุนทางการศึกษาคือความคุ้มค่าในระยะยาว ทำได้ได้โดยกระจายอำนาจไปอยู่ในท้องถิ่น ควรปล่อยอำนาจในการตัดสินใจลงไปสู่ระดับผู้อำนวยการและครู ถ้าหากครูและผู้อำนวยการยังไม่ตื่นตัว การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาจะยิ่งยากขึ้น ทั้งนี้โครงการครูอาสาอย่าง Teach For Thailand และโครงการครูอาสานอกระบบต่างๆ ควรทำงานร่วมมือกับโรงเรียนในระบบให้ได้ โดยให้นักวิชาการมาร่วมมือกัน ทั้งยังต้องใช้นวัตกรรมทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง นำมาใช้อย่างเข้าใจไม่ใช่นำมาแค่เปลือก และทำให้เชื่อว่าการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคนในสังคม ไม่ใช่รัฐทำไม่ดีก็โทษรัฐ ถ้าผู้ปกครองรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องของเรา รอดูผลอย่างเดียวก็แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว

อาจารย์จากคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า ไม่มีคำตอบตายตัวสำหรับโมเดลทางการศึกษา แต่โอกาสการเข้าถึงคุณภาพการศึกษาคือปัญหา อย่างห้องโปรแกรมพิเศษต่างๆ เช่น EP IEP Gifted ที่พ่อแม่ยอมจ่ายเงินเพิ่ม โดยเด็กได้รับการปฏิบัติอย่างดี ขณะที่ห้องคละกลับถูกตอกย้ำเรื่องความไม่เก่ง ทำให้เขาไม่สามารถเป็นคนของสังคมนี้ได้ ผู้ใหญ่จึงมีหน้าที่ในการสนับสนุนนักเรียนจนทำให้เขาสามารถพัฒนาตนเองได้  "ไม่มีประเทศไหนเปลี่ยนสังคมสำเร็จโดยไม่ใช้การศึกษา ดังนั้น เราทุกคนจึงควรช่วยกันพัฒนาการศึกษาในสังคม การศึกษายังต้องการเสียงจากสังคม" อรรถพล กล่าวก่อนปิดเสวนา

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ถกเครียดปมป้อมมหากาฬวันสุดท้าย กทม.ยันไม่เก็บไว้ทุกหลัง

Posted: 06 Jul 2017 10:34 PM PDT

ถกเครียดประชุมป้อมมหากาฬวันสุดท้าย สุนี ไชยรส ยื่นหนังสือข้อเสนอและทางออก นักวิชาการชี้ชุมชนป้อมมหากาฬทำเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีชีวิตได้

 

7 ก.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ก.ค. ที่ผ่านมามา ชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ประชุมครั้งสุดท้ายโดยคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ได้แก่ 1) ชุมชนและนักวิชาการ 2) กรุงเทพมหานคร นำโดย ยุทธพันธุ์ มีชัย เลขานุการผู้ว่าราชการกทม.  3) ทหาร มีตัวแทนจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ เพื่อพิจารณาเนื้อหาเอกสารข้อเสนอที่จะนำไปสู่การลงนามร่วมกันของทุกฝ่ายเพื่อแก้ปัญหา หลังจากมีการประชุมร่วมกัน 10 ครั้ง ในระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงเช้าของการประชุมเป็นการรับรองเอกสารการประชุมครั้งที่ผ่านๆ มา โดยทุกฝ่ายร่วมกันแก้ไข โดยบรรยากาศค่อนข้างตึงเครียด ทั้งนี้ ฝ่ายนักวิชาการ โดย สุดจิต เศวตจินดา สนั่นไหว สมาคมสถาปนิกสยามฯ ภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระ มีการทักท้วงถึงข้อความที่ตกหล่นไปในหลายประเด็นในบันทึกการประชุม พร้อมมีการยื่นเอกสารข้อสงวนสิทธิ์ความเห็นต่างและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

ด้านยุทธพันธุ์ มีชัย เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เพิ่มเติมสาระสำคัญบางส่วนและให้เหตุผลกรณีไม่อนุรักษ์บ้านทั่วไปและบ้านร่วมสมัยจำนวน  11 หลัง และยังกล่าวอีกว่าในเรื่องการย้ายจะย้ายไปที่ไหน อย่างไรจะมีการพูดคุยกันอีกครั้ง "ที่ประชุมพิจารณาบ้านสีเทานั้นสร้างขึ้นในภายหลังและตั้งอยู่บนกรรมสิทธิ์ที่ดินของ กทม. ที่ซื้อมาจากเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิม ซึ่งไม่ได้ดูว่าเป็นบ้านเก่าหรือใหม่ เน้นดูเรื่องกรรมสิทธิ์ ในส่วนข้อมูลทางสถาปัตยกรรมจากสถาปนิกและศิลปกรรมในคุณค่าทั้ง 5 ด้านนั้นมีน้ำหนักมากน้อยแตกต่างกัน"

"บ้านสีเทานั้นตนเองมองว่าหลักฐานคุณค่าของสถานที่ไม่ได้ส่งเสริมและมีความสำคัญเพียงพอที่จะอนุรักษ์ไว้ ไม่เก็บตัวบ้านไว้เพราะไม่ได้อยู่ในที่ตั้งเดิมและรูปลักษณ์ที่ไม่ตรงของเดิม" ยุทธพันธุ์ กล่าว

ก่อนจบประชุมในช่วงเช้า สุนี ไชยรส อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) พร้อมนักศึกษาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิตถือป้ายผ้า ข้อความว่า 'ขอให้หยุดการรื้อย้ายบ้านในป้อมมหากาฬ' และได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกเครือข่ายนักวิชาการ นักศึกษา ศิลปิน และภาคประชาสังคม เรื่อง ข้อเสนอแนะ ทางออก แก้วิกฤตชุมชนป้อมมหากาฬ โดยยุทธพันธุ์เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ และยืนยันว่าไม่สามารถเก็บบ้านทุกหลังไว้ได้ ขณะที่ชาวบ้านร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างดุเดือด

"มาวันนี้เรารู้สึกว่าที่เราเสียสละ ยอมรื้อบ้านเพื่อให้ กทม. สร้างสวนสาธารณะมันเสียเปล่า ที่เรายอมรื้อเพราะเราคิดว่ายอมสละบ้านเพื่อจะได้อยู่พร้อมหน้าพี่น้องหลังอื่นๆ กันทุกคน มันเป็นบ้านที่เราอยู่ตั้งแต่เกิด เคยเกิดเหตุไฟไหม้เมื่อปี 2513 พอผ่านไป 2-3 วันก็กลับมาสร้างที่เดิม จึงมีความผูกพันมาก เราอยากให้สังคมข้างนอกเห็นว่าจุดยืนของคนป้อมไม่ได้ต้องการดื้อด้าน ไม่อยากเห็นแก่ตัว อยากมีชีวิตที่ดีแต่เราเลือกเกิดไม่ได้ ความรู้สึกเมื่อได้รู้ว่าบ้านสีเทาต้องถูกรื้อก็เสียใจ ไม่รู้จะพูดยังไง เพราะเวลาเราเดินออกมาก็จะเจอพี่น้องที่บ้านนู้นบ้านนี้ แต่ในท้ายที่สุดถ้าต้องรื้อก็ไม่ต้องรื้อทั้งหมดได้ไหม มาปรับปรุงดีกว่าไหม" สุภาณัช ประจวบสุข ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวทั้งน้ำตา

สำหรับการประชุมครั้งนี้หลังจากมีการลงนามจะนำส่งทางผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งในรายงานมีทั้งความคิดเห็นที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หลังจากนั้นจะมีการส่งต่อไปที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ต่อไป

ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ รังสิมา กุลพัฒน์ นักวิจัยสถาบันเอเชีย มหาวิทยาลัยนอร์ทคาโรไลน่า แชปเปิ้ลฮิลล์ ได้ความเห็นต่อกรณีป้อมมหากาฬว่า กทม.เน้นเรื่องตัวบ้าน เน้นเรื่องสถาปัตยกรรมมากเกินไป อนุรักษ์แต่บ้าน ควรคิดถึงชุมชนมากกว่านี้ หากจะเน้นด้านการท่องเที่ยวต้องทำให้เป็น  Living Heritage ให้นักท่องเที่ยวมาชื่นชมวิถีชีวิตแต่หากเป็น Living Museum เมื่อไรคนจะกลายเป็นวัตถุจัดแสดงทันที

"กทม.ไปเน้นที่ตัวสถาปัตยกรรมมากเกินไป ส่วนตัวคิดว่าต้องเน้นที่ชุมชน เพราะสถาปัตยกรรมมันเป็นองค์ประกอบมีความเสื่อมสลาย ตัวบ้านสามารถ reconstruction หรือจะสร้างขึ้นมาด้วยสถาปัตยกรรมแบบไหนก็ได้ อีกอย่างเราสามารถทำให้สะอาดได้ ทำให้สวยได้ ยังไงชุมชนก็ต้องปรับตัว ต้องดูแลบ้านเขาเอง ในเมื่อเขาอยู่ในใจกลางกรุงในจุดที่สวยงามของกรุงเทพฯ มี case study ในโลกนี้เยอะมาก เช่น เมืองชาร์ลสตัน รัฐเซ้าท์แคโรไลน่า สหรัฐอเมริกา บ้านเมืองเป็นบ้านทาสแต่วันหนึ่งก็มีพวก gentrification ชนชั้นกลาง ที่ลุกขึ้นมาบอกว่าบ้านแบบนี้สวย ฉันอยากซื้อ หลังจากซื้อและเข้ามาอาศัยอยู่เขาก็ต้องปรับตัวเองให้เข้ากับชุมชนเพราะเขามาจากเมืองอื่น ไม่ได้อยู่ในชาร์ลสตันตั้งแต่แรก แต่คนพวกนี้กลับอนุรักษ์สถาปัตยกรรมให้อย่างดีเลย"

"เพราะฉะนั้นเราจะมาหาของแท้ มาบอกว่าคนที่อยู่ในชุมชนป้อมมหากาฬต้องสืบสายเจ้าพระยาเพชรปาณีมันไม่มีหรอก มีแต่ฮิตเลอร์ที่คิดแบบนั้น มันไม่มีอะไรแท้ มันผสมกันหมด ผสมไปผสมมาเป็นไฮบริดหมด แต่ว่าของแท้คือเขาอยู่ในชุมชนนี้ต่างหาก เขารู้จักพื้นที่ตัวเอง เขารู้จักทุกซอกทุกมุมว่าหินดินทรายเป็นอย่างไร ขนาดพิพิธภัณฑ์ที่สิงคโปร์เหลือหินก้อนเดียวยังสามารถนำมาเล่าเรื่องได้เป็นวันๆ" รังสิมา กล่าว

ทั้งนี้ ปัญหาที่ชุมชนป้อมมหากาฬได้รับผลกระทบอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นผลมาจากโครงการปรับปรุงพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬเพื่อจัดทำเป็นสวนสาธารณะและอนุรักษ์โบราณสถานของชาติตั้งแต่ปีพ.ศ.2502 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์ ทำให้ต้องมีการรื้อถอนบ้านและย้ายชุมชนที่อยู่ในแนวกำแพงป้อมมหากาฬออกทั้งหมด เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และทำเป็นสวนสาธารณะแต่ก็ยังทำไม่สำเร็จ ต่อมา กทม.ทำการเวนคืนที่ดินในปี พ.ศ.2535 ตั้งแต่นั้นก็มีปัญหาไล่รื้อเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยในปีนี้มีการรื้อถอนบ้านเรือนไปแล้ว 19 หลัง อย่างไรก็ตาม ชาวชุมชนป้อมมหากาฬก็มีการต่อสู้เพื่อสิทธิในการอยู่อาศัยโดยใช้แนวคิดการพัฒนาสวนสาธารณะป้อมมหากาฬด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน ตามกระบวนการ co - creation ที่เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของชุมชนและการออกแบบจากทุกภาคส่วน รวมถึงมีการทำงานร่วมกันของคณะกรรมการ 3 ฝ่าย คือ 1. ชุมชนและนักวิชาการ 2. กรุงเทพมหานคร และ 3. ทหารที่เข้ามาเป็นคนกลาง โดยมีความพยายามหาทางออกด้วยการพิสูจน์คุณค่าของบ้านแต่ละหลัง โดยบ้านที่จะได้รับการอนุรักษ์ต้องมีการพิสูจน์ให้ครบถ้วนทั้ง 5 ด้านด้วยกัน คือ 1) ด้านคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ 2) ด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรมและผังเมือง 3) สังคมและวิถีชีวิต 4) โบราณคดีและการตั้งถิ่นฐาน และ 5) คุณค่าในด้านวิชาการ ซึ่งมีการประชุมเรื่องคุณค่ากันไปแล้ว 10 ครั้ง 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

TCIJ School: นักกิจกรรมการเมืองที่เชียงใหม่ หายไปไหน?

Posted: 06 Jul 2017 06:32 PM PDT

กลุ่มนักกิจกรรมที่ จ.เชียงใหม่ หายไปไหน? สำรวจพบท่ามกลางบรรยากาศกดดันหลังรัฐประหาร 2557 ถูกข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ ถูกเรียกปรับทัศนคติ สั่งห้ามกิจกรรมเสวนา จึงขาดการประชาสัมพันธ์ แม้นักกิจกรรมน้อยลง แต่ยังมีความหวังในหมู่นักศึกษา

หากกล่าวถึงเชียงใหม่กับการเมือง หลายคนอาจจะนึกถึงจังหวัดที่เป็นบ้านเกิดของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร บุคคลที่สร้างแรงกระเพื่อมอย่างสำคัญให้กับการเมืองไทยในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา และมีส่วนทำให้เกิดรัฐประหารขึ้นในประเทศไทยสองครั้งคือปี 2549 และปี 2557 เชียงใหม่จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางและฐานที่มั่นสำคัญทางการเมืองในภาคเหนือของคนที่มีความคิดความเชื่อและการให้คุณค่าแก่ประชาธิปไตยเป็นหลัก

ความตื่นตัวทางการเมืองของคนเชียงใหม่นั้น อาจเริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549 นอกเหนือจากกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยกลุ่มที่แสดงตนว่าสนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ และพรรคไทยรักไทย (เปลี่ยนมาเป็น 'พลังประชาชน' และ 'เพื่อไทย' ในเวลาต่อมา) อย่างชัดเจน ที่เรามักเรียกกลุ่มนี้ว่า 'คนเสื้อแดง' ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มสถานีวิทยุชุมชนของกลุ่มคนเสื้อแดง, กลุ่ม นปช. และเสื้อแดงกลุ่มย่อยต่าง ๆ ในพื้นที่  กิจกรรมของกลุ่มนี้มักจะกำหนดแนวทางโดย 'แกนนำ' และใช้ 'สถานีวิทยุ' ของตนเองเป็นกระบอกเสียงหลักในการระดมมวลชนทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งกิจกรรมส่วนใหญ่ก็จะเป็นการร่วมชมและฟังการปราศรัยจากเวที นปช.ส่วนกลาง, การเชิญแกนนำและนักการเมืองจากส่วนกลางมาปราศรัยที่เชียงใหม่, การระดมพลไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อกดดันพรรคการเมืองกลุ่ม การเมืองฝ่ายตรงข้าม และการระดมพลไปให้กำลังใจพรรคการเมืองกลุ่มการเมืองฝ่ายเดียวกัน เป็นต้น ตัวอย่างกลุ่มคนเสื้อแดงที่สำคัญ ๆ ของเชียงใหม่ก็ได้แก่กลุ่มรักเชียงใหม่ 51 สถานีวิทยุ FM 92.50 MHz เป็นต้น

กลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ชุมนุมที่หน้า บช.ภ.5 ถ.มหิดล อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และที่หน้าอาคารศูนย์ราชการ ถ.โชตนา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เมื่อเดือน ก.ค. 2552 ที่มาภาพ: สำนักข่าวประชาไท

ภาพลักษณ์ของคนเสื้อแดงนั้น ถูกวาทกรรมทางการเมืองเรียกว่าเป็นพวก 'ควายแดง' หรืออาจเรียกว่าเป็น 'Red germ' หรือเชื้อร้าย ซึ่งเป็นคำที่ธงชัย วินิจจะกูลเคยใช้ในบทความ เชื้อร้าย: เมื่อร่างกายทางการเมืองไทยติดเชื้อแดง วิเคราะห์ภาพลักษณ์ของกลุ่มคนเสื้อแดงในสายตาของชนชั้นกลางในเมือง คนเสื้อแดงถูกทำให้เป็นพวกไม่มีการศึกษา น่ารังเกียจ

ในขณะเดียวกัน การมีกลุ่มนักกิจกรรมและนักวิชาการออกมาแสดงตัวว่าสนับสนุน จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนเสื้อแดงมั่นใจในจุดยืนของตัวเอง ซึ่งที่ จ.เชียงใหม่นั้น  ก็มีกลุ่มกิจกรรมทางการเมืองที่ไม่ได้มีภาพพจน์ผูกติดกับนักการเมืองและพรรคการเมือง ออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนคนเสื้อแดง อันประกอบไปด้วย นักวิชาการ นักศึกษา เอ็นจีโอ นักกิจกรรมอิสระ กลุ่มศิลปิน รวมทั้งประชาชนทั่วไป ร่วมกันจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ต่าง ๆ ใน จ.เชียงใหม่ เริ่มเห็นอย่างชัดเจนมากขึ้นหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 มีการจัดกิจกรรมผูกผ้าแดง การรวมตัวรำลึกและทวงความยุติธรรมให้คนตายจากเหตุการณ์นองเลือดปี 2553 ในทุกวันอาทิตย์ พร้อมไปกับการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งทำคู่ขนานไปกับเวทีในกรุงเทพฯ

อาจกล่าวได้ว่ากลุ่ม 'นักกิจกรรม' และกลุ่ม 'มวลชนคนเสื้อแดง' ที่ จ.เชียงใหม่ นั้นดำเนินกิจกรรมควบคู่กันไป แม้จะไม่เป็นเนื้อเดียวกัน มีความเห็นไม่ได้ตรงกันในทุกเรื่อง แต่ก็มีการเคลื่อนไหวที่เป็นไปในทางสนับสนุนกัน

ในปี 2553 ได้เกิด 'สถานีวิทยุสร้างสรรค์สังคมเชียงใหม่' FM 99.15 MHz คลื่นวิทยุชุมชนที่ได้รับเงินบริจาคจากประชาชนที่สนับสนุนและเป็นคลื่นเดียวที่กล้าพูดเรื่องการเมืองในสมัยนั้น จึงถือเป็นคลื่นวิทยุที่เกิดขึ้นจากความตื่นตัวของชาวเชียงใหม่ในเรื่องประชาธิปไตย มีการเผยแพร่บทความของนักวิชาการหลายคน และได้รับเสียงตอบรับจากทั้งปัญญาชนและชาวบ้านจำนวนมาก สถานีวิทยุสร้างสรรค์สังคมเชียงใหม่ FM 99.15 MHz  จึงถือเป็นสะพานเชื่อมให้กลุ่มนักกิจกรรมที่ไม่ได้สนับสนุนพรรคการเมืองหรือกลุ่มคนเสื้อแดง กับชาวบ้านได้เริ่มทำกิจกรรมร่วมกัน

ต่อมาปีใน 2554 ร้าน Book Re:public ได้ก่อตั้งขึ้น ร้านหนังสือนี้มีกิจกรรมเสวนา ฉายหนังหมุนเวียนกันไป รวมทั้งโครงการ 'ห้องเรียนประชาธิปไตย' ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาและคนทั่วไปที่สนใจ ได้เข้ามาเรียนรู้ ถือเป็นอีกแหล่งที่สร้างบรรยากาศทางการเมืองเชิงวิพากษ์ เปิดโอกาสให้คนหลายกลุ่มได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

กิจกรรมผูกผ้าแดงรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม 10 เม.ย. 2553 เมื่อเดือน ต.ค. 2553 ที่ จ.เชียงใหม่ ที่มาภาพ: สำนักข่าวประชาไท

นักกิจกรรมและคนเสื้อแดงเชียงใหม่จัดกิจกรรม 'วันเด็ก 54 ไม่เล่นกับทหาร' เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2554 ที่มาภาพ: Ardisto เดอะภารโรง

'ปฏิบัติการอดอาหารท้วงประเทียด 112 ชั่วโมง' (112 Hunger Strike) ของ 'มิตร ใจอินทร์' และกลุ่มเพื่อนศิลปิน เมื่อเดือน ต.ค. 2554 ที่มาภาพ: มติชนออนไลน์ และ Thai E-News

แม้ว่ากิจกรรมเชิงรณรงค์ของนักกิจกรรมกลุ่มที่ไม่ได้ฝักใฝ่พรรคการเมือง จะเกิดขึ้นมากมายที่ จ.เชียงใหม่ แต่ก็อาจเป็นกิจกรรมในวงที่ค่อนข้างแคบ ตัวอย่างเช่น กิจกรรมของ ครก. 112 (คณะกรรมการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112) หรือมีการจัดกิจกรรมที่กลุ่มศิลปินประท้วงอดหาร 112 ชั่วโมง เพื่อเรียกร้องให้มีการยกเลิกมาตรา 112, กิจกรรมวันเด็กไม่เล่นกับทหาร, กิจกรรมกินข้าวรอเลือกตั้ง รวมทั้งกิจกรรมอื่น ๆ เมื่อเทียบกับกิจกรรมที่มีการนำโดยกลุ่มการเมืองที่มีความใกล้ชิดพรรคการเมืองและกลุ่มดีเจของสถานีวิทยุเสื้อแดงต่าง ๆ

แต่แล้วต่อมา สิ่งเหล่านี้ก็ดูเหมือนถูกกลืนหายไปท่ามกลางบรรยากาศแห่งความกลัวภายหลังรัฐประหารปี 2557

"มันลดลงไปแน่นอนอยู่แล้ว เพราะด้วยบรรยากาศความกดดัน และด้วยการที่ไม่มีคนใหม่ ๆ เข้ามาแทน" นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่คนหนึ่งกล่าว เขาเองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ตื่นตัวทางการเมือง และสนใจศึกษาในเชิงงานวิชาการ เขาเห็นว่า แม้จะไม่มีกิจกรรมทางการเมือง แต่ก็ใช่ว่าจะทำให้กลุ่มนักศึกษาหรือผู้สนใจเลิกสนใจในประเด็นเหล่านี้

เมื่อพูดถึงภาพรวมของความตื่นตัวทางการเมือง เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่เก็บข้อมูลในพื้นที่ภาคเหนือ เล่าให้ฟังถึงการรวมกลุ่มของนักกิจกรรมในภาคเหนือว่า ไม่ได้รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ กระจัดกระจายเป็นกลุ่มย่อย แต่มีความพยายามเชื่อมกันเวลาทำกิจกรรมใหญ่ ๆ เช่น การผูกผ้าแดง การจุดเทียนต้านรัฐประหาร ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำล้อไปกับกิจกรรมในกรุงเทพฯ

"มันมีช่วงพีคของมัน ช่วงปี 2553-2554 กิจกรรมพบปะกันทุกวันอาทิตย์ เหมือนเป็นที่ระบายของคนที่อึดอัด เราเข้ามาในฐานะคนที่เห็นใจคนเสื้อแดง และอยากช่วย อยากลงแรง คนที่มาคือคนที่อยากพูด อยากระบาย ตอนที่สลายการชุมนุมตัวเองอยู่ตรงไหน มีไอเดียทางการเมืองยังไง เป็นบรรยากาศที่คึกคักในวงแคบ แต่เหมือนมีสีสันเพราะสื่อรับลูก มีวอยซ์ทีวี ประชาไท แต่สำนักข่าวใหญ่ก็จะเล่นแต่เหตุการณ์ใหญ่ ๆ  หรือแกนนำเด็ด ๆ "

เขาเล่าต่อว่า "กิจกรรมต่าง ๆ เริ่มแผ่ว ปี 2556-2557 เมื่อมีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พอมีการจัดการเรื่องนักโทษการเมือง เรื่องเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ 7.5 ล้าน ไม่แน่ใจว่ามันเป็นผลต่อเนื่องกันรึเปล่า แต่ก็เป็นขาลง เพราะสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย การทวงความยุติธรรมมันไม่ได้ผลทันทีอยู่แล้ว การชุมนุมยืดเยื้อ คนน้อยลงเรื่อย ๆ คนเริ่มอิ่มเริ่มพอ เป็นช่วงซบเซา แต่พอเกิดรัฐประหารอีกครั้งก็มีการออกไปประท้วงพร้อมกับเวทีที่กรุงเทพฯ แต่หลังจากนั้นสถานการณ์มันก็ตึงเครียดมาก มีการข่มขู่คุกคาม สั่งปิดงานเสวนา"

นอกจากนี้เขายังตั้งข้อสังเกตว่า "บางครั้งข้อเสนอมักอยู่ในวงค่อนข้างแคบ ไม่ได้ขยับไปอีกฝั่ง ทั้งที่ถ้ามันเป็นประเด็นโครงสร้าง ปัญหาสังคม คนอีกฝั่งก็น่าจะสนใจ ทั้งที่ถ้ามันอยู่ในระบบเหตุผลเขาน่าจะมองเห็น แต่มันกลายเป็นว่าพออีกฝั่งพูด ไม่ว่าจะพูดเรื่องอะไรก็ต้องไม่เห็นด้วยไปก่อน อันนี้มองจากวันนี้กลับไปวันนั้น เราว่ามันเลยขยับได้แต่หมู่เสื้อแดงและเป็นในหมู่เสื้อแดงที่แคบลงด้วย อย่างเช่นคนที่สนับสนุนทักษิณจำนวนมากก็ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิก 112"

คณาจารย์ นักกิจกรรม ประชาชนเชียงใหม่กว่า 15 คน ร่วมสวมเสื้อขาว ยืนเฉย ๆ แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ 'ปล่อยประชาชนโดยไม่มีเงื่อนไข' ที่ข่วงท่าแพ จ.เชียงใหม่ เมื่อเดือน เม.ย. 2559 ที่มาภาพ: สำนักข่าวประชาธรรม

รจเรข วัฒนพาณิชย์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งร้านหนังสือบุ๊ครีพับลิก และ รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักกิจกรรมอีกหนึ่งคน รวม 3 คน ถูกเรียกให้เข้าพบเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ที่มณฑลทหารบก 33 ค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่ เมื่อเดือน เม.ย. 2559 ที่มาภาพ: Pipob Udomittipong

ด้านรจเรข วัฒนพาณิชย์ เจ้าของร้านหนังสือ Book Re:public และเจ้าของรางวัลผู้หญิงกล้าหาญจากรัฐบาลสหรัฐฯ ผู้จัดตั้งโครงการห้องเรียนประชาธิปไตย เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์หลังช่วงรัฐประหารว่า

"ก่อนรัฐประหารช่วงปี 2554-2555 บรรยากาศ เสรีภาพทางความคิดเห็นมันมีความเสี่ยงน้อยมาก หลังรัฐประหารมันมีความเสี่ยงสูง ไม่คุ้มกับการออกมา หลายกลุ่มที่อยากช่วยกันแต่ถูกเรียกตลอดเวลา จนหมดมุข คิดอะไรใหม่ไม่ออก ทำไปก็โดนเรียก เราก็เบื่อ ทหารก็เบื่อ แต่เขาก็จับตาดูกันตลอดเวลา ยิ่งช่วงหลังมีการใช้ ม.44 การออกมามันถูกทำให้เป็นการต้านทหารและเป็นภัยด้านความมั่นคงด้วย การใช้ ม.112 อย่างโหดร้ายในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ทุกอย่างมันถูกตีความไปทางนั้น เป็นทั้งความเสี่ยงทางสังคมและการแซงชั่นทางกฎหมาย"

รจเรขเล่าว่า ความจริงก็เกิดกลุ่มนักกิจกรรมสมัชชาเสรีเพื่อประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่หลังรัฐประหารปี 2557 แต่ก็เป็นการรวมตัวอย่างหลวม ๆ แลกเปลี่ยนความคิดความรู้ทางการเมือง ซึ่งเธอก็ยอมรับว่ามีคนรุ่นใหม่น้อยลงที่เข้ามารวมกลุ่ม เพราะขาดการประชาสัมพันธ์ หากประชาสัมพันธ์ก็จะโดนเรียกไป 'คุย' อีก ส่วนกลุ่มนักกิจกรรมที่รู้จักก่อนรัฐประหารส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา พอหลังรัฐประหารบางส่วนก็จบออกไป เรียนต่อบ้าง กระจายตัวไปหางานทำบ้าง

"นักกิจกรรมที่ออกมาแอคชั่นพับบลิก ไม่มี ความเสี่ยงสูงมาก ปัจจัยทางครอบครัว พ่อแม่พร้อมไหม พร้อมถูกไล่ออกไหม พร้อมถูกลงโทษทั้งทางสังคม มหาลัย และทหารไหม บางคนพร้อมเป็นคนเบื้องหลังในการช่วยเหลือด้านข้อมูล แต่คนที่พร้อมจะออกมาต้านแบบ'ดาวดิน' มีน้อยมาก ไม่พอจะทำอะไรได้ มีคนที่ถูกทหารตามไปที่บ้าน พ่อแม่ก็ห้ามไม่อยากให้ลูกไปยุ่ง" รจเรขกล่าว

เธอเล่าว่า ร้านหนังสือของเธอเองก็ยังจัดเสวนาอย่างต่อเนื่อง เดือนละครั้งสองครั้งบ้าง แต่จัดโดยใช้คำที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง แม้จะพาดพิงเรื่องสถานการณ์บ้านเมืองอยู่บ้าง ทุกครั้งก็มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมานั่งฟัง 2-3 คน

"เราถูกสั่งให้เซ็น MOU ห้ามไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมือง และถูกสั่งห้ามไม่ให้ทำงานกับนักศึกษา เพราะเขาหาว่าเราล้างสมองเด็ก ซึ่งไม่ใช่ไง ใครจะถูกล้างสมองได้ง่ายขนาดนั้น" รจเรขกล่าวติดตลก

"หลังรัฐประหารเราถูกเรียกทุกปี ปีละครั้งสองครั้ง เวลาเคลื่อนไหวอะไรบางอย่าง เช่น ล่าสุดเดือนเมษาใส่หน้ากากไผ่ ไปถ่ายรูปตามกาดหลวง ศาลเก่า เรือนจำเก่า ลงโซเชียลเขียนว่า 'ปล่อยไผ่' เรากับภัควดี (ภัควดี วีระภาสพงษ์) ก็ถูกเรียกเข้าค่ายไปปรับทัศนคติครึ่งวัน หรือปีที่แล้วไปยืนหน้าท่าแพให้ปล่อยเพื่อนที่ถูกจับ 7 คน เรา ปิ่นแก้ว (ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี) และน้องอีกคนก็ถูกเรียก ทำให้เราเคลื่อนไหวยากเพราะเราถูกจับตาตลอด"

ทั้งนี้รจเรขเห็นว่า เธอไม่อยากเป็นข่าวมาก เพราะจะทำให้คนอื่นไม่กล้าทำอะไร แม้เธอจะคิดว่าหากสื่อหลักเล่นประเด็นเหล่านี้ ก็อาจจะสร้างผลกระเทือนในสังคมวงกว้างได้บ้าง แต่เธอให้ความเห็นว่าสื่อในปัจจุบันไม่ได้อยู่เคียงข้างประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ได้เป็นกระบอกเสียงของประชาชน พอมีพ.ร.บ.คุมสื่อออกมา จึงไม่มีใครออกมาเรียกร้องแทนสื่อ

"ถ้าสื่ออยู่เคียงข้างประชาชนจริง เวลามีกฎหมายแบบนี้ออกมา เราก็จะรู้สึกว่าเสรีภาพของเขากับเสรีภาพของเรามันอันเดียวกัน" รจเรขกล่าว

เธอตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า "คนที่สนใจการเมืองเพิ่มขึ้นในความเห็นเรา แต่อย่าดูตอนเขาออกมาแอคชั่นในพับบลิก ดูความคิดเห็นทางการเมืองของเขามันเปลี่ยนมาฝั่งไม่เอาทหารมากขึ้น เราจะเห็นว่าประชามติปีที่แล้ว ในเขตพื้นที่ที่ประชามติไม่ผ่านมากที่สุดเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์คือที่มช. ซึ่งมีทั้งอาจารย์และนักศึกษา น่าตกใจเพราะตอนแรกเราอาจจะไปปรามาสว่าเด็กพวกนี้ไม่สนใจการเมือง"

"แต่ตราบใดที่ทหารยังอยู่ ต่อให้มีเลือกตั้ง เขาก็เขียนทุกอย่างในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ทำให้อำนาจเขายังอยู่อีกยาว เขาทำทุกอย่างไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง กฎหมายคุมเสรีภาพสื่อ พ.ร.บ.คอมฯ เขาปูทางไว้หมดแล้ว แต่ถ้ายกเลิก ม. 44 ก็อาจจะดีขึ้น"

ทั้งนี้เธอยังมีความหวังกับคนรุ่นใหม่ "ถ้าได้สัมพันธ์ก็จะรู้สึกว่า เออ จริง ๆ มันก็มีนี่หว่า มันยังมีคนแบบนี้อยู่ แต่ถ้าถามว่ากล้าออกมาตอนนี้ไหม ความเสี่ยงก็มีมากอยู่ดี มันพูดได้แหละว่า เฮ้ย! ทำไมนักกิจกรรมถึงหายไป ทำไมไม่ออกมาเลย ถามตัวคุณเองก่อนว่าคุณกล้าออกมาไหม" รจเรขตั้งคำถามทิ้งท้าย

 

*นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์  นักข่าวประจำสำนักข่าวประชาไท  www.prachatai.com

 


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น