โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

รบ.ตั้ง 'พล.อ.บุญสร้าง' นั่งประธาน กก.ปฏิรูปตำรวจ

Posted: 04 Jul 2017 12:12 PM PDT

'วิษณุ' แจงจะเอาระบบทหารมาใช้กับระบบตำรวจหรือไม่ต้องอยู่ที่ กรรมการ 36 คนโหวตกัน ระบุ 'พล.อ.บุญสร้าง' เป็นนายทหารสายวิชาการ เก่งเรื่องโครงสร้างหน่วยงานด้านความมั่นคง สอดคล้องกับงานปฏิรูปตำรวจ  Police watch จ่อแถลงผิดหวัง

4 ก.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้(4 ก.ค.60) เมื่อเวลา 15.00 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแต่งตั้ง พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานคณะกรรมการฯ พร้อมกับได้ให้แนวทางการทำงานไปแล้ว เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการทำงานในพื้นที่ระดับจังหวัดด้วยจะต้องทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการเพื่อทำงานร่วมกัน ในการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ของแต่ละจังหวัด และเพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น มีความสุข แต่สายการบังคับบัญชายังขึ้นตรงกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเหมือนเดิม

ขณะที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีนำทหารมาเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ จะมีปัญหาในแง่ภาพลักษณ์หรือไม่ ว่า แล้วแต่คนจะมอง แต่รัฐบาลไม่ได้มองแบบนั้น เพราะ พล.อ.บุญสร้าง เป็นนายทหารสายวิชาการ จบการศึกษาจาก โรงเรียนนายร้อยเวสต์ พ้อยต์ ของสหรัฐอเมริกา เก่งเรื่องโครงสร้างหน่วยงานด้านความมั่นคง สอดคล้องกับงานของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ที่มี 3 ด้าน คือ 1. โครงสร้าง สังกัด อำนาจหน้าที่ 2. อำนาจการสอบสวนจะแยกหรือไม่ และ 3.การบริหารงานบุคคล การแต่งตั้งโยกย้าย ไม่ให้มีการซื้อขาย ตำแหน่ง โดยกรรมการแต่ละคนเชี่ยวชาญแต่ละด้าน

"ถ้าจะเอาตำรวจมาเป็น รัฐธรรมนูญก็ห้ามไว้ ถ้าไม่ใช่ตำรวจมาเป็น ก็แพ้ทางตำรวจอีก จึงต้องเอาคนที่ตำรวจแพ้ทาง  ไม่ได้จำเป็นต้องเป็นทหาร แต่บังเอิญเราหาผู้ใหญ่ไม่ได้ เพราะหลายคนที่ดีและดัง ไม่ขอรับตำแหน่ง เพราะรู้ว่างานเร่งรัด ยินดีเป็นที่ปรึกษามากกว่า" วิษณุ กล่าว

ต่อกรณีคำถามที่ว่าจะถูกมองว่าจะเอาระบบทหารมาใช้กับระบบตำรวจหรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า กรรมการ 36 คนต้องโหวตกัน 

Police watch จ่อแถลงผิดหวัง

ด้าน เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ แจ้งว่า ตามที่นายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 260 ซึ่งรายชื่อจำนวนมาก เป็นบุคคลที่ไม่สอดคล้องกับการปฏิรูปตำรวจ มีข้าราชการ ทหารและตำรวจรวมถึง 23 คนจาก 36 คน และไม่มีตัวแทนภาคประชาสังคมแม้แต่คนเดียว

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (Police Watch) จึงขอเชิญสื่อมวลชน ร่วมฟังการแถลงข่าวท่าทีภาคประชาชนในการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว ในวันพุธ ที่ 5 ก.ค.นี้ เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถ.ราชดำเนิน นำแถลงโดยเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ สมศรี หาญอนันทสุข บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ และพ.ต.อ.วิรุฒ ศิริสวัสดิบุตร

 

ที่มา เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลและสำนักข่าวไทย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หลังใช้ ม.44 ยังไม่ชัดเจนว่าจะหยุดการไหลกลับของแรงงานข้ามชาติหรือไม่

Posted: 04 Jul 2017 11:58 AM PDT

ผู้ประสานงานเครือข่ายประชากรข้ามชาติระบุหลังใช้มาตรา 44 จะมีผลเลื่อนใช้บทลงโทษ 4 มาตราใน พ.ร.ก.การทำงานคนต่างด้าวฉบับใหม่ และเปิดโอกาสให้นายจ้าง-ลูกจ้างดำเนินการตามกฎหมายใหม่ แต่จะหยุดการเดินทางกลับของแรงงานข้ามชาติหรือไม่ยังไม่ชัดเจน ต้องรอดูมาตรการอื่นๆ ขณะที่ผู้สังเกตการณ์แรงงานข้ามชาติเดินทางกลับภูมิลำเนาที่ด่านแม่สอด-เมียวดีเผยว่าผู้คนเดินทางกลับฝั่งพม่าเนื่องจากกลัวผลกระทบจากกฎหมายฉบับใหม่ หลายคนขนข้าวของที่จะพอติดตัวได้ รวมทั้งสัตว์เลี้ยงกลับไปด้วย บ้างขอกลับไปตั้งหลัก-บ้างขอกลับไปทำงานบ้านเกิด

000

ภาพหน้าแรกของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 33/2560 ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560

5 ก.ค. 2560 หลังจากที่มีการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา และมีรายงานการเดินทางกลับของแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารเป็นจำนวนหลายหมื่นคนตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงสัปดาห์นี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ก.ค. มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 33/2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว โดยมาตรการหนึ่งก็คือ ให้เลื่อนใช้บทลงโทษ 4 มาตราในพระราชกำหนดฉบับใหม่ และให้นายจ้าง-ลูกจ้างดำเนินการตามกฎหมายใหม่ภายใน 1 มกราคม 2561 นั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

นักวิจัยชี้ต้องดูมาตรการอื่นนอกจาก ม.44
ว่าจะส่งผลต่อการกลับของแรงงานข้ามชาติหรือไม่

อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายประชากรข้ามชาติ (ที่มา: แฟ้มภาพ/MW)

ด้านอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายประชากรข้ามชาติ กล่าวถึงผลของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 33/2560 ว่ามีผล 4 ประการ ข้อ 1 การเลื่อนการใช้บังคับ 4 มาตราในพระราชกำหนดคือมาตรา 101 มาตรา 102 มาตรา 119 และมาตรา 122 ทำให้ยังไม่มีการใช้บทลงโทษกรณีการไม่มีใบอนุญาตทำงาน กรณีจ้างคนงานที่ไม่มีใบอนุญาตไปจนถึง 1 มกราคมปี 2561

ข้อ 2 ให้นายจ้างและคนงานดำเนินการให้ถูกกฎหมายฉบับใหม่ โดยกรณีที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อไปดำเนินการให้ถูกต้อง จะได้รับการยกเว้นการดำเนินการตามตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ซึ่งวิธีการในส่วนของรายละเอียดต้องรอดูประกาศของ รมว.กระทรวงแรงงาน

ข้อ 3 ห้ามเจ้าหน้าใช้อำนาจมิชอบกับคนงาน หากฝ่าฝืนให้ผู้บังคับบัญชาเอาผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง

และข้อ 4 ให้กระทรวงแรงงานไปปรับปรุงแก้ไขกฎหมายภายใน 120 วัน ในการปรับปรุงให้มีการรับฟังความคิดจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตามจากข้อ 4 เชื่อว่าหากกระทรวงแรงงานนำไปปรับปรุงแก้ไขคงไม่รื้อพระราชกำหนดทั้งฉบับ เพราะทั้งฉบับมีถึง 160 มาตราและลงรายละเอียดมาก แต่ก็ดูมีจุดขัดแย้งพอสมควร เพราะอีกด้านหนึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็เตรียมนำพระราชกำหนดมาพิจารณาและลงมติรับรองให้เป็นพระราชบัญญัติ และถึงแม้ สนช. จะลงมติรับรองแล้วมาตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อแก้ไข ก็จะไปขัดกับการดำเนินการของกระทรวงแรงงานตามคำสั่งหัวหน้า คสช. หรือไม่

ทั้งนี้นอกจากการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ตามอำนาจในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 แล้วในช่วงรัฐบาล คสช. ยังมีการออกพระราชกำหนด ในกรณีที่รัฐบาลต้องการดำเนินนโยบายเร่งด่วน โดยในปี 2558 เคยมีการออกพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งก็เป็นมาตรการที่ประกาศออกมารวดเร็วและสร้างผลกระทบเช่นเดียวกับพระราชกำหนดล่าสุดนี้

เมื่อเปรียบเทียบกับการเดินทางกลับภูมิลำเนาระลอกใหญ่ของแรงงานข้ามชาติก่อนหน้านี้ อดิศรชี้ว่าในช่วงปี 2557 ภายหลังรัฐประหารก็มีแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะจากประเทศกัมพูชาซึ่งไม่มั่นใจในสถานการณ์ในไทยเดินทางกลับระลอกใหญ่และขนข้าวของส่วนตัวกลับไปด้วย แต่หลังจากมีการออกนโยบายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ คนงานก็ค่อยเดินทางกลับเข้ามาใหม่ แต่ในกรณีของปี 2560 ปัจจัยที่ทำให้แรงงานเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด นอกจากปัจจัยจากฝ่ายของแรงงานแล้ว ยังมีปัจจัยจากนายจ้างที่เกิดความไม่มั่นใจที่จ้างงานด้วย หลังมีมาตรการและการเพิ่มบทลงโทษตามพระราชกำหนดฯ ฉบับใหม่ ซึ่งปัจจัยจากนายจ้างไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงของการเดินทางกลับระลอกใหญ่ในปี 2557

ต่อคำถามที่ว่าหลังการใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. 33/2560 จะส่งผลต่อการเดินทางกลับของแรงงานข้ามชาติหรือไม่ อดิศรกล่าวว่ายังไม่ชัดเจน โดยต้องพิจารณาประกอบกับมาตรการอื่นๆ ที่จะติดตามมาหลังจากนี้ด้วย

อนึ่งก่อนหน้านี้เครือข่ายประชากรข้ามชาติ ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนโดยชี้ว่าการจัดการนโยบายแรงงานข้ามชาติไม่จำเป็นต้องตราเป็นพระราชกำหนด และรัฐบาลควรเปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ อย่างรอบด้าน เพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ทั้งยังเรียกร้องให้ยุติมาตรการกวาดล้างจับกุมแรงงานข้ามชาติ ออกมาตรการด่วนที่จะสร้างความมั่นใจต่อแรงงานข้ามชาติ และผู้ประกอบการว่ามาตรการการจัดระบบแรงงานข้ามชาติจะไม่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน เพื่อยับยั้งการไหลออกของแรงงาน สืบเนื่องจากมีกระแสข่าวการปิดล้อมจับกุมแรงงานข้ามชาติ ในหลายพื้นที่ ดังที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2557 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

ผู้สังเกตการณ์เผยสถานการณ์แรงงานพม่าเดินทางกลับด้าน อ.แม่สอด
มีทั้งขอกลับไปตั้งหลัก และขอกลับไปทำงานบ้านเกิด

แรงงานข้ามชาติจากพม่าเดินทางข้ามชายแดนไทยด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก มาถึงเมืองเมียวดี ในรัฐกะเหรี่ยง เพื่อเตรียมเดินทางกลับภูมิลำเนาในหลายพื้นที่ของพม่า เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 (ที่มา: รวีพร ดอกไม้/เอื้อเฟื้อภาพ)

 

ด้านรวีพร ดอกไม้ นักวิจัยของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) ซึ่งสังเกตการณ์การเดินทางกลับของแรงงานจากประเทศพม่าด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก และเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า ให้ข้อมูลว่าหลังบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน จนถึง 3 กรกฎาคม 2560 มีแรงงานจากพม่าเดินทางกลับที่ด่านชายแดนด้าน อ.แม่สอด แล้ว 27,000 ราย และหากนับถึงวันที่ 4 กรกฎาคม ตัวเลขอาจสูงถึง 30,000 ราย

สำหรับแรงงานที่เดินทางเพื่อข้ามแดนที่ด่าน อ.แม่สอด มีทุกเพศทุกวัย และส่วนมากไม่ได้เดินทางกลับเพื่อไปร่วมงานบุญเข้าพรรษา ซึ่งเป็นประเพณีทางพุทธศาสนาที่สำคัญในฝั่งพม่า แต่เดินทางกลับเนื่องจากกลัวผลกระทบจากการออกพระราชกำหนดฯ ฉบับใหม่ โดยจำนวนมากนอกจากกระเป๋าเสื้อผ้าแล้วยังนำสิ่งของที่พอนำกลับไปได้ เช่น พัดลม และบางคนก็มีนำสัตว์เลี้ยงอย่างเช่นแมวกลับไปด้วย

สำหรับเอกสารประกอบการทำงานนั้น เท่าที่ได้สอบถามมีทั้งผู้ที่เข้าเมืองตามขั้นตอนแต่ไม่ได้ต่ออายุหลังพ้นกำหนดในบัตรอนุญาตทำงาน อยู่ระหว่างเตรียมเอกสารเพื่อขออนุญาตทำงานตามช่องทาง MOU รวมทั้งผู้ที่ไม่มีเอกสารทำงาน ในจำนวนนี้มีบางรายที่เดินทางกลับ หลังจากนายจ้างบอกให้กลับภูมิลำเนาเพื่อให้กลับมาทำเอกสารให้ถูกต้อง และมีหลายรายที่เดินทางกลับเพราะญาติที่บ้านโทรศัพท์มาบอกให้รีบกลับหลังทราบข่าวว่าทางการไทยใช้กฎหมายฉบับใหม่

ทั้งนี้เท่าที่นักวิจัยมีโอกาสพูดคุยกับแรงงานที่เดินทางกลับ หลายรายระบุว่าหลังจากทราบข่าวต้องการเดินทางกลับไปตั้งหลัก หรือดำเนินการเรื่องเอกสารให้เรียบร้อยแล้วกลับมาทำงานเมืองไทยใหม่ แต่ก็มีหลายรายบอกว่าจะไม่กลับมาแล้วโดยจะกลับไปทำนาที่บ้าน บ้างก็ระบุว่าจะไปหางานทำในย่างกุ้ง ซึ่งเศรษฐกิจเริ่มขยายตัวหลังพม่าเปิดประเทศ

โดยวิธีการเดินทางกลับนั้น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ในจังหวัดที่มีการจ้างแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก เช่น ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฯลฯ เป็นผู้จัดหาพาหนะสำหรับขนส่งแรงงานมาที่ด่านชายแดน โดยเท่าที่สอบถามแรงงานที่โดยสารมากับรถที่ ตม. ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่มีบางส่วนที่แรงงานต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาชายแดนเพราะเหมารถพาหนะมาเอง

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ฝั่งพม่าด้านเมืองเมียวดีจะจัดหาพาหนะสำหรับรับแรงงานกลับภูมิลำเนา โดยไปส่งทุกเมืองในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงที่ติดต่อกับชายแดนไทย รวมทั้งไปส่งถึงภาคย่างกุ้ง แต่ในส่วนของแรงงานที่มีภูมิลำเนาอยู่ห่างจากชายแดนด้าน อ.แม่สอด เช่น มาจากภาคสะกายและรัฐคะฉิ่น ซึ่งมาจากตอนเหนือของพม่า เจ้าหน้าที่พม่าจะพาไปส่งที่เมืองสะเทิม ซึ่งเป็นเมืองชุมทางในรัฐมอญ ก่อนที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาอีกทอดหนึ่ง

นอกจากการแจกน้ำดื่มและอาหารสำหรับรับประทานระหว่างการเดินทางแล้ว เจ้าหน้าที่ในฝั่งพม่ายังมีการแจกเอกสารประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่จะกลับมาทำงานที่เมืองไทย เตรียมเอกสารและดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายอีกด้วย และเท่าที่สอบถามการจัดพาหนะให้แรงงานจากพม่าในฝั่งเมืองเมียวดียังไม่พบว่ามีการเก็บค่าใช้จ่ายกับผู้ที่เดินทางกลับแต่อย่างใด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มติ กกต. ตั้ง อนุ. กก. สอบ ปม 90 สนช. ถือครองหุ้น ขัด รธน.

Posted: 04 Jul 2017 11:55 AM PDT

กกต. มีมติเอกฉันท์ เห็นพ้องร่างกฎหมายลูกพรรคการเมือง ไม่มีเนื้อหาขัดรัฐธรรมนูญ ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณี 90 สนช. ถือครองหุ้น ขัดรัฐธรรมนูญ

4 ก.ค. 2560 สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกต.มีมติตามที่สำนักกฎหมายของสำนักงาน กกต. เสนอให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณี เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ตรวจสอบการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 186 ประกอบมาตรา 187 และมาตรา 170(5) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการถือครองหุ้นของสมาชิกสภานิติบัญญัติแแห่งชาติ (สนช.) 90 คน ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 264 วรรคสอง โดยประธาน กกต.จะมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการให้แล้วเสร็จภายใน 7 วันนับจากนี้ และคณะอนุกรรมการไต่สวนมีเวลาดำเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ก่อนเสนอความเห็นต่อ กกต. โดยหากเห็นว่าไม่มีมูล ก็จะเสนอ กกต.ยกคำร้อง แต่หากเห็นว่ามีมูล ก็จะเสนอให้ กกต.มีความเห็นเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

สมชัย ยังกล่าวดว้ยว่า ที่ประชุม กกต.มีมติเอกฉันท์ เห็นตามที่สำนักงาน กกต.เสนอว่าร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองไม่มีเนื้อหาขัดหรือแย้งต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ และเมื่อรัฐธรรมนูญมาตรา 267 วรรค 5 กำหนดว่า หากมีความเห็นแย้งก็ให้ส่งความเห็นกลับไปยัง สนช.ภายใน 10 วัน แต่เมื่อขณะนี้ กกต.ไม่มีความเห็นแย้ง ดังนั้นก็จะไม่มีหนังสือแจ้งกลับไป    อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการปฏิบัติตามร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ยอมรับว่าอาจจะมีปัญหา ซึ่งที่ประชุม กกต.ก็ให้แนวปฏิบัติกับทางสำนักงานฯ ว่าหากร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว กกต.ต้องแถลงชี้แจงให้กับพรรคการเมืองทั้งใหม่และเก่าให้ทราบว่าจะต้องทำอะไรบ้าง เช่น 6 เดือนแรกหลังประกาศใช้ พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นใหม่ จะต้องหาสมาชิกใน 4 ภาคให้ได้ 5,000 คน และต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท เป็นต้น โดยพรรคการเมืองก็ต้องศึกษากฎหมายให้เข้าใจว่ามีเนื้อหาสาระอย่างไร

"มติ กกต.วันนี้เป็นมติเอกฉันท์ 4 เสียง เนื่องจากประธาน กกต.ติดไปร่วมประชุมคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย พิจารณา พ.ร.ป.กกต. แต่ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะมติ กกต.วันนี้ก็สอดคล้องกับความเห็นของคณะที่ปรึกษากฎหมายของ กกต. และความเห็นของสำนักงานฯ โดยการปฏิบัติตามร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองเป็นรายละเอียดใหม่ที่อาจจจะยุ่งยากต่อการปฏิบัติในระยะแรก ๆ แต่กระบวนการต่าง ๆ มุ่งหวังที่จะทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง มีความเป็นสถาบัน  ซึ่ง กกต.จะพยายามช่วยอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติให้กับพรรคการเมืองมากที่สุด" สมชัย กล่าว

ที่มา : สำนักข่าวไทย 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชมรมเพื่อนไรคไตค้านข้อเสนอ สตง.ให้สิทธิบัตรทองร่วมจ่าย สปสช.แจงสิทธิฯ ยังเหมือนเดิม

Posted: 04 Jul 2017 10:20 AM PDT

ชมรมผู้ป่วยโรคไตแห่งประเทศไทย โวย หลังสตง.จี้ สปสช.ทบทวนบริการไตวายเรื้อรัง ตามมติ ครม.ปี 50 ให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมค่าใช้จ่าย เหตุกองทุนบัตรทองติดหนี้ 2 พันล้าน ชี้เป็นข้อเสนอทำร้ายผู้ป่วย ด้าน สปสช.แจงสิทธิประโยชน์ผู้ป่วยไตวายยังเหมือนเดิม ยึดตามเจตนารมณ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 

 

4 ก.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา ชมรมผู้ป่วยโรคไตแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยเครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพ (Healthy Forum) นำโดย สุภัทรา นาคะผิว ประธานคณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์แห่งประเทศไทย สมควร เกตุทอง รองประธานชมรมผู้ป่วยโรคไตแห่งประเทศไทย และสมชาย กระจ่างแสง ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ พร้อมด้วยตัวแทนเครือข่าย ได้เข้ายื่นหนังสือถึง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อขอให้สนับสนุนงบประมาณในการให้บริการผู้ป่วยไตเรื้อรัง  โดยมี นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. และ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการบอร์ด สปสช.เป็นผู้รับมอบหนังสือแทน      

สุภัทรา กล่าวว่า ตามที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้แนะนำให้บอร์ด สปสช.ทบทวนการให้บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง โดยอ้างข้อสังเกตของสำนักงบประมาณในปี 2550 ว่าการรักษาพยาบาลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังมีค่าใช้จ่ายสูงมากและสร้างภาระให้กับงบประมาณของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งอาจไม่เพียงพอสำหรับผู้ป่วยในภาพรวมทั้งหมด ดังนั้นหากมีแนวทางให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมชำระค่าใช้จ่ายบางส่วนตามความเหมาะสม จะทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาพยาบาลมากยิ่งขึ้น พร้อมระบุว่า บอร์ด สปสช.มิได้ให้ผู้ป่วยไตวายเรื้องรังมีส่วนร่วมชำระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตามข้อสังเกตจนทำให้ค่าบริการทดแทนไตวายเรื้อรังที่ สปสช.ได้รับจัดสรรจากรัฐบาลไม่เพียงพอต่อการให้บริการ และทำให้เกิดหนี้สินจำนวน 2,317 ล้านบาท

ทั้งนี้ชมรมผู้ป่วยโรตไตแห่งประเทศไทยและเครือข่ายผู้ป่วยรู้สึกผิดหวังต่อทัศนคติ สตง.ที่ขาดความเข้าใจและขาดข้อมูลเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและงบประมาณประเทศ เพราะข้อมูลเป้าประสงค์ของแผนบูรณาการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพกำหนดไว้ว่า รายจ่ายด้านสุขภาพของรัฐบาลต้องไม่เกินร้อยละ 5 ของจีดีพี ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 4.2 เท่านั้น ขณะที่รายจ่ายสุขภาพไม่เกินร้อยละ 20 ของจ่ายรัฐบาลทั้งหมดที่ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 17

ขณะที่ภาระค่าใช้จ่ายสุขภาพประเทศเกิดจากระบบรักษาในสวัสดิการข้าราชการที่ขาดประสิทธิภาพ โดยมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 13,000 บาทต่อคน ขณะที่งบบัตรทองอยู่ที่ 3,100 บาทต่อคน แต่กลับไม่ได้รบการท้วงติงจาก สตง.ในเรื่องนี้

อภิวัฒน์ กล่าวว่า การให้ความเห็น สตง.ครั้งนี้ สะท้อนแนวคิดที่เป็นปัญหา ทำร้ายผู้ป่วย ทำร้ายประชาชน เป็นข้อเสนอที่จับผู้ป่วยเป็นตัวประกัน เพราะการเข้าถึงการล้างไตช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้ ถือเป็นความไม่รู้ของ สตง. ดังนั้น สตง.ควรที่จะทบทวนตนเองว่าเข้าใจเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและ 3 กองสุขภาพดีแค่ไหน ขณะเดียวกันบอร์ด สปสช.เองต้องให้ความรู้กับ สตง.ด้วยว่า สิ่งที่ สตง.เสนอมานั้นเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขัดต่อหลักมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างไร ซึ่งในการจัดการงบประมาณระบบหลักประกันสุขภาพมีวิธีอื่นที่สามารถทำได้ในการจัดหางบเพิ่มเติม และมีประสิทธิภาพมากกว่า ไม่ใช่ให้ผู้ป่วยร่วมจ่ายโดยตรง อีกทั้ง 3 กองทุนสุขภาพยังมีความไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้นควรจะมีการพัฒนาระบบรวม 3 กองทุนให้บริการรักษาเป็นมาตรฐานเดียวกันมากกว่า  

"เราขอตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และประเด็นร่วมจ่ายก็เป็นหนึ่งในที่มีการถกเถียงการแก้ไข แต่อยู่ๆ สตง.ก็โผล่เรื่องนี้ขึ้นมา เราไม่รู้ว่ามีอะไรที่อยู่เบื้องหลังหรือไม่ เป็นสิ่งที่น่าคิด ซึ่งเรากังวลว่าหากมีการร่วมจ่าย ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังจะเป็นผู้ป่วยกลุ่มแรกที่ต้องร่วมจ่ายนี้ ทั้งนี้ในวันนี้เราจะไปยื่นหนังสือนี้ต่อ สตง.ที่มีการจัดทำข้อเสนอนี้ และจะไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน" อภิวัฒน์ กล่าว

สมควร กล่าวว่า ในฐานะผู้ป่วยขอชื่นชมระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและการบริหารจัดการของ สปสช. ซึ่ง 10 ปีที่ผ่านมาได้ช่วยให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเข้าถึงการรักษาได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งกรณี สตง.ที่เสนอให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังต้องร่วมจ่ายค่ารักษานั้น เป็นข้อเสนอที่กระทบต่อผู้ป่วยโดยตรงและทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงการรักษาได้ ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวนกว่า 5 หมื่นคน  

ขณะที่ สมชาย กล่าวว่า ขอเสนอ รมว.สาธารณสุขและบอร์ด สปสช.พิจารณาเสนอ ครม.เห็นชอบเพื่อดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ดังนี้        

1. ยึดประโยชน์ผู้ป่วยเป็นสำคัญ ทำให้ผู้ป่วยมีหลักประกันสุขภาพที่จะไม่ถูกปฏิเสธการรักษา และต้องต่อรองราคายาและเวชภัณฑ์รวมถึงค่าบริการต่างๆ ให้มีราคาถูกลง และมีคุณภาพ รวมทั้งมีการดำเนินการเพื่อการส่งเสริมป้องกันให้ผู้ป่วยมีจำนวนน้อยลงอย่างเข้มข้น

2. ยึดหลักการไม่เลือกปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มิเช่นนั้นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังจะเป็นผู้ป่วยเพียงกลุ่มเดียวที่ต้องร่วมจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและเข้าไม่ถึงบริการ

3. ให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณค่าใช้จ่ายที่ให้บริการเกินสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้องรังจำนวน 2,317 ล้านบาท โดยให้มีงบประมาณเพียงพอเพื่อจัดบริการ

4. เร่งดำเนินการเพื่อให้เกิดการปฏิรูป และลดความเหลื่อมล้ำระบบบริการสุขภาพทั้ง 3 กองทุน ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อประสิทธิภาพในการบริหารงบประมาณ

ทั้งนี้ในการประชุมบอร์ด สปสช. วาระพิจารณา "ข้อเสนอหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2561" ได้มีการหารือในงบประมาณบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง โดยปี 2561 อยู่ที่ 8,165.60 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2560 จำนวน 636.37 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.45 โดย นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า งบประมาณในการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังต้องมีการคำนวณล่วงหน้า ซึ่งเราคงตั้งงบประมาณปลายเปิดไม่ได้ ทั้งนี้เพื่อให้สำนักงบประมาณรับทราบสถานการณ์ล่วงหน้า ส่วนการจะร่วมจ่ายหรือไม่เราคงต้องมาช่วยกันคิด รวมทั้งต้องมีการบริหารจัดการโรคไตวายเรื้อรังที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาแม้แต่คลินิกไตวายเพื่อชะลอการล้างไตก็ทำมาแล้ว ทั้งหมดนี้ต้องมีการประมาณการณ์ล่วงหน้า

กรรณิการ์ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ป่วยต่างกังวลต่อการร่วมจ่ายเพราะอาจส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงการรักษา โดยในวันนี้เครือข่ายผู้ป่วยได้มายื่นหนังสือต่อบอร์ด สปสช.เพื่อให้ทบทวนแนวคิดการร่วมจ่ายที่อาจจะเกิดขึ้น

ด้าน นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในปี 2550 ที่มีการนำเสนอสิทธิประโยชน์ไตวายเรื้อรังเข้าสู่ ครม.ได้มีการประมาณการงบประมาณดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในปี 2560 ถึง 18,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันเราใช้อยู่ที่ 8,000 ล้านบาท แปลว่าเราได้บริหารจัดการระบบและควบคุมงบประมาณได้ดี และขณะนั้น พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกมนตรี ได้มีการประกาศจะไม่อนุมัติแผนงานงบประมาณที่ผูกพันและมีผลกระทบระยะยาว แต่กลับอนุมัติโครงการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังนี้ ซึ่งจากที่ได้พบกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จึงถามว่า ทำไมจึงอนุมัติโครงการนี้ที่สวนทางกับนโยบายรัฐบาล ท่านตอบว่า คุณหมอ คนที่ไม่ได้รับการล้างไตตายนะ คนที่รับถึงรอด คนจน คนรายได้ปานกลางจึงขายทุกอย่างเพื่อให้อยู่รอด รัฐไม่ช่วยไม่ได้ ซึ่งหลักการของหลักประกันสุขภาพคือต้องประกันรักษาในเรื่องร้ายแรง ไม่ใช่เจ็บป่วยเล็กน้อย และเรื่องนี้ก็เป็นบาทสุดท้ายของชีวิต ดังนั้นจึงขอให้กลับไปดูข้อเสนอโครงการในปี 2550 ใหม่

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษก สปสช.

สปสช.ยันสิทธิประโยชน์ยังเหมือนเดิม ยึดตามเจตนารมณ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษก สปสช.กล่าวถึงกรณีที่ชมรมเพื่อนโรคไตยื่นหนังสือถึง รมว.สาธารณสุข ไม่เห็นด้วยข้อเสนอ สตง.ที่ให้ สปสช.ทบทวนให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังร่วมจ่าย ว่า สิทธิประโยชน์ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ยึดหลักการให้ประโยชน์ต่อผู้ป่วยเป็นสำคัญ เป็นหลักประกันเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยถูกปฏิเสธการรักษา โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กำหนดแนวทางนโยบายล้างไตช่องท้องเป็นทางเลือกแรก กรณีมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่าไม่สามารถล้างไตทางช่องท้องได้ สามารถฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันยังใช้หลักเกณฑ์นี้อยู่ ไม่มีการตัดสิทธิการรักษาของผู้ป่วยแต่อย่างใด

"บอร์ด สปสช.ยังไม่ได้ปรับหลักเกณฑ์ตามข้อเสนอของ สตง.แต่อย่างใด และหากจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทุกอย่างจะอยู่บนพื้นฐานเจตนารมณ์ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ ป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยต้องล้มละลายจากการต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล ไม่ให้ผู้ป่วยต้องถูกปฏิเสธการรักษา เนื่องด้วยปัญหาค่าใช้จ่าย และไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วย" โฆษก สปสช. กล่าว 

ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน สิทธิประโยชน์การให้บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังด้วยวิธีการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังใช้หลักเกณฑ์เดิมเมื่อปี 2559 ซึ่งมีทั้งกรณีที่ต้องร่วมจ่ายและกรณีที่ไม่ต้องร่วมจ่าย โดยสรุปคือ ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการฟอกเลือดมาก่อนวันที่ 1 ต.ค.51 ซึ่งเป็นวันที่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเริ่มให้สิทธิประโยชน์โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ไม่ต้องร่วมจ่าย รวมถึงผู้ป่วยรายใหม่ที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่าไม่สามารถบำบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตทางช่องท้องได้ ก็ไม่ต้องร่วมจ่ายเช่นกัน แต่สำหรับผู้ป่วยหลังวันที่ 1 ต.ค.51 หรือผู้ป่วยรายใหม่ที่ไม่สมัครใจเลือกรับบริการทดแทนไตผ่านทางช่องท้อง และไม่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบคณะกรรมการเพื่อให้ใช้วิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ในกรณีนี้ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง  

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใช้ ม.44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. เลื่อนใช้บทลงโทษ 4 มาตรา พ.ร.ก.การทำงานคนต่างด้าว

Posted: 04 Jul 2017 09:07 AM PDT

คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 33/2560 เลื่อนใช้บทลงโทษ 4 มาตราใน พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ให้นายจ้าง-ลูกจ้างดำเนินการตามกฎหมายใหม่ภายใน 1 มกราคม 2561 กำชับเจ้าหน้าที่มิให้ใช้อำนาจมิชอบ ให้กระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพรับฟังความเห็นและแก้ไขกฎหมายที่ประกาศไปแล้วดังกล่าว-เสนอคณะรัฐมนตรีภายใน 120 วัน

แฟ้มภาพศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ จดทะเบียนแรงงานที่เข้าเมืองโดยไม่มีเอกสารจาก พม่า ลาว กัมพูชา ที่ จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรก เปิดดำเนินการระหว่างวันที่ 30 มิ.ย. - 30 ก.ค. 2557 (แฟ้มภาพ/ประชาไท)

ภาพหน้าแรกของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 33/2560 ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560

 

4 ก.ค. 2560 วันนี้ใน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 134 ตอนพิเศษ 176 ง มีการเผยแพร่ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 33/2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ภายหลังจากที่มีการประกาศใช้ "พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำ งานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560" โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ที่ 33/2560
เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

ตามที่มีการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 เพื่อให้สามารถบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวได้ทั้งระบบ อันเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านแรงงาน เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ นั้น โดยที่พระราชกำหนดดังกล่าวกำหนดให้นายจ้างและคนต่างด้าวมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายหลายประการ และได้กำหนดความผิดและบทกำหนดโทษ ในอัตรารุนแรง ซึ่งยังมิได้มีเวลาสร้างความรับรู้ความเข้าใจเพียงพอแก่ประชาชนจึงก่อให้เกิดความตื่นตระหนกและอาจส่งผลกระทบต่อนายจ้างภาคครัวเรือน ภาคผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และภาคเกษตรกรรมจนกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมได้ ดังนั้น เพื่อให้นายจ้างและคนต่างด้าว รวมทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้มีเวลาเตรียมการและดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อความเป็นธรรมและไม่เกิดผลกระทบในทางเศรษฐกิจและสังคมรุนแรงเกินควร โดยยังคงรักษาเจตนารมณ์ในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวทั้งระบบให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและยังคงมีมาตรการต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีความจำเป็นต้องมีมาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวตามพระราชกำหนดดังกล่าวในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านการใช้บังคับกฎหมาย

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้มาตรา 101 มาตรา 102 มาตรา 119 และมาตรา 122 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป

ข้อ 2 ให้นายจ้างและคนต่างด้าวเร่งดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วนตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกำหนด

ในกรณีที่คนต่างด้าวผู้ใดมีความจำเป็นต้องเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเพื่อกลับไปยังประเทศต้นทางหรือเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้ถูกต้องตามวรรคหนึ่งให้คนต่างด้าวผู้นั้นได้รับยกเว้นการดำเนินการเกี่ยวกับการเดินทางเข้าหรือออกนอกราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกำหนดเป็นการชั่วคราวโดยการหารือร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ข้อ 3 ห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามกฎหมายหรือคำสั่งนี้ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ หรือกระทำหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งโดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ในกรณีที่ปรากฏว่ามีการกระทำ การเพิกเฉยหรือละเลยไม่กระทำการหรืองดเว้นกระทำการของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใด ให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นดำเนินการทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครองกับพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด

ข้อ 4 ให้กระทรวงแรงงานดำเนินการแก้ไขหรือปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ ตลอดจนพิจารณาหลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวอย่างเป็นระบบและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อประโยชน์ในการป้องกันการค้ามนุษย์ และอำนวยความสะดวกในการดำเนินการแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนโดยให้กระทรวงแรงงานเสนอรายงานผลการดำเนินการต่อนายกรัฐมนตรีทราบเป็นประจำทุกเดือน

ในการพิจารณาจัดทำร่างกฎหมายตามวรรคหนึ่งและอนุบัญญัติที่ออกตามความในพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ให้กระทรวงแรงงานรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและนำมาประกอบการพิจารณาด้วย

ข้อ 5 ในกรณีที่เห็นสมควรนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้

ข้อ 6 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ 4 กรกฎาคม พุทธศักราช 2560

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ILO ร้องให้มีการเจรจสามฝ่ายเพิ่มมากขึ้น ปม.ก.ม.แรงงานข้ามชาติ

Posted: 04 Jul 2017 05:34 AM PDT

องค์การแรงงานระหว่างประเทศชี้บทบัญญัติ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว บางประการอาจกระทบสิทธิของ เช่น อำนาจในการจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนย้าย กำหนดบทลงโทษอาจมากเกินไป ร้องปรึกษาหารือกับผู้เกี่ยวข้องทั้งองค์กรนายจ้างและองค์กรลูกจ้าง

4 ก.ค. 2560 รายงานข่าวจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) แจ้งว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายแรงงานข้ามชาติในช่วงเวลาสั้นๆ ได้ก่อให้เกิดความยากลำบากแก่แรงงานและภาคอุตสาหกรรมในช่วงเวลาที่แรงงานและภาคอุตสาหกรรมกำลังเผชิญความท้าทายในการปรับตัวให้เข้ากับกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ความท้าทายเหล่านี้มีผลกระทบโดยตรงต่อการวางแผนธุรกิจและการสร้างความมั่นใจเรื่องการคุ้มครองแรงงานสำหรับแรงงานข้ามชาติ

พัฒนาการล่าสุดยืนยันว่าการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและกับทางสังคมมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ILO ขอย้ำถึงความสำคัญสำหรับผู้กำหนดนโยบายในการใช้การเจรจาแบบไตรภาคีอย่างเป็นประจำ และความจำเป็นในการพัฒนาและการบังคับใช้นโยบายตามหลักฐาน

ระยะเวลาผ่อนผันตามแผนที่ประกาศโดยรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นโอกาสที่จะใช้การเจรจาแบบไตรภาคีในการที่จะพิจารณาถึงผลประโยชน์ของนายจ้างในด้านความต่อเนื่องทางธุรกิจและการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานและความมั่นคงในการทำงานและสถานะการทำงานของแรงงาน

การเปลี่ยนแปลงทางนโยบายต้องการการมีส่วนร่วมและการเจรจากับแรงงานและนายจ้างโดยผ่านกลไกการปรึกษาหารือรวมทั้งการให้ข้อมูลล่วงหน้า เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. พ.ศ. 2560 พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว ได้รับการประกาศใช้และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. พ.ศ.2560 เพียงแค่หนึ่งวันหลังจากการประกาศใช้


พ.ร.ก. ฉบับนี้มีบทบัญญัติที่ดีเกี่ยวกับการจ้างงาน เช่นการไม่เสียค่าใช้จ่ายสำหรับแรงงานข้ามชาติ นอกจากนี้ กองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักรได้ถูกแทนที่ด้วยการกองทุนการจัดการการจ้างงานแรงงานข้ามชาติซึ่งมีการคุ้มครองที่กว้างขวางขึ้นและไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากแรงงาน

แม้จะมีพัฒนาการที่สำคัญเหล่านี้ พ.ร.ก. ฉบับนี้ก็มีบทบัญญัติบางประการที่อาจกระทบสิทธิของแรงงานข้ามชาติ เช่น อำนาจในการจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนย้าย นอกจากนี้พระราชกำหนดดังกล่าวได้กำหนดบทลงโทษที่หนักสำหรับนายจ้างที่จ้างแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองผิดกฏหมายและยังคงมีบทลงโทษทางการเงินและทางอาญาต่อตัวแรงงานซึ่งอาจมากเกินไป

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเรียกร้องให้มีการปรึกษาหารือกับผู้เกี่ยวข้องหลัก อันได้แก่ องค์กรนายจ้างและองค์กรลูกจ้าง ในขณะที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ มีความยินดีสำหรับบทบัญญัติที่มีการพัฒนาที่ดีที่เป็นไปตามมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ องค์การแรงงานระหว่างประเทศขอแนะนำว่ารัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยวิเคราะห์ผลกระทบทางกฎหมาย ทบทวนข้อกำหนดเรื่องการแบ่งเขตและพิจารณาขอบเขตการลงโทษที่บังคับใช้กับนายจ้างและลูกจ้าง

ILO จะยังคงสนับสนุนรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและภาคประชาสังคมให้ทำงานร่วมกันในการปรับปรุงกรอบกฎหมายให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการเพิ่มการคุ้มครองทางกฎหมายต่อแรงงานบังคับตามพิธีสารบังคับแรงงานของ ILO (Forced Labour Protocol ) และการให้บริการตรวจสอบแรงงานจะเป็นบททดสอบที่สำคัญของความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา การจัดระเบียบและการเจรจาต่อรองสิทธิสำหรับแรงงานที่ปรากฏในอนุสัญญาหลักของ ILO เช่น อนุสัญญาฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ยังคงเป็นส่วนสำคัญที่ในการใช้แก้ปัญหา

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์เผยใช้ ม.44 ออกคำสั่งชะลอลงโทษตาม พ.ร.ก.การทำงานของคนต่างด้าว เพื่อให้ปรับตัว

Posted: 04 Jul 2017 04:18 AM PDT

พล.อ.ประยุทธ์ เผยการออกคำสั่งตามมาตรา 44 ชะลอการลงโทษ พ.ร.ก.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 เพื่อแก้ไขปัญหาการเสียผลประโยชน์ภายในประเทศ ไม่ใช่ยอมทำตามใคร

4 ก.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (4 ก.ค.60) เวลา 15.00 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  เห็นชอบการออกคำสั่งตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ชะลอการลงโทษตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ว่า เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ประเด็นสำคัญคือทำอย่างไรจะไม่ให้เสียผลประโยชน์อย่างอื่นไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของธุรกิจภายในประเทศ รวมถึงการขาดแคลนแรงงานในอาชีพบางประเภท แต่ไม่ใช่ยอมทำตามใคร และที่สำคัญต้องดูเรื่องของการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นพันธสัญญาโลก ต่อไปถ้าไม่สามารถแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และแรงงานเถื่อนในประเทศได้จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่น ทำให้ต่างประเทศไม่ซื้อสินค้าของประเทศไทย ผลกระทบที่เกิดขึ้นต้องแก้ไขภายในให้ได้เพื่อตอบสนองโจทก์

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า มาตราที่มีการยกเว้น เกี่ยวข้องกับการเอาผิดนายจ้างและลูกจ้าง ที่ทำผิดกฎหมาย และยังเป็นการแก้ปัญหาด้านแรงงานในช่วงแรกของการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้ผู้ประกอบการและแรงงาน มีเวลาในการปรับตัว และดำเนินการจดทะเบียนให้ถูกต้อง และว่า ขอความร่วมมือผู้ประกอบการและลูกจ้าง ทำตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อประโยชน์ของประเทศ 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวยืนยันด้วยว่า การบังคับใช้กฎหมาย เป็นไปตามพันธะสัญญาระหว่างประเทศ ที่สืบเนื่องไปถึงปัญหาการค้ามนุษย์ และการทำประมงผิดกฎหมาย  และการใช้มาตรา 44 จะไม่เป็นช่องให้เจ้าหน้าที่ แสวงหาผลประโยชน์ โดยหากตรวจสอบพบ จะดำเนินการตามกฎหมาย และลงโทษสถานหนัก

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ทำ MOU กับประเทศเพื่อนบ้านเกี่ยวกับแรงงาน คือต้องจดทะเบียนแรงงานให้ถูกต้อง และต้องมาพิสูจน์สัญชาติ โดยส่งเจ้าหน้าที่ของแต่ละประเทศมาพิสูจน์สัญชาติแรงงานในประเทศไทย ทำให้การพิสูจน์สัญชาติที่ผ่านมาสามารถทำได้จำนวนไม่มาก ประเทศเพื่อนบ้านรวมถึงประเทศไทยจึงต้องการจะแก้ไขปัญหาส่วนนี้คือให้มีการจดทะเบียนและพิสูจน์สัญชาติที่ชายแดนให้เรียบร้อย ซึ่งต้องแก้ไขปัญหาภายในประเทศ รวมถึงปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย การประมงที่ขาดการรายงาน และการประมงที่ขาดการควบคุม ทั้งนี้ ทุกคนต้องร่วมมือกันทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบขึ้นมาอีก

ต่อกรณีที่กัมพูชาปิด 43 ด่านข้ามแดน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่ต้องปิด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ และได้ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าไปช่วยดูแล

ที่มา เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลและสำนักข่าวไทย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาค ปชช.ไทย รายงาน กก.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี ย้ำหลังรัฐประหารการต่อสู้ยิ่งยากขึ้น

Posted: 04 Jul 2017 03:22 AM PDT

ตัวแทนเครือข่ายสตรีจากภาคประชาสังคมร่วมกันอ่านแถลงการณ์รายงานสถานการณ์ไทยต่อ กก.อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ CEDAW ที่ สนง.ใหญ่สหประชาชาติ เจนีวา พร้อมระบุ 32 ปีที่รัฐไทยรับอนุสัญญา CEDAW ผ่าน 14 รัฐบาลความคืบหน้าในการยุติการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงก็ยังล่าช้าอยู่มาก ย้ำหลังรัฐประหารการต่อสู้ยิ่งยากขึ้น

4 ก.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า ที่สำนักงานองค์การสหประชาชาติ กรุงเจนีวา ตัวแทนเครือข่ายสตรีจากภาคประชาชนหลากหลายองค์กรอาทิ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจังหวัดเลย สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ เครือข่ายสตรีไทยพื้นเมือง (IWNT) องค์กรชาวพื้นเมืองในเอเชีย (AIPP) มูลนิธิ Empower มูลนิธิผู้หญิง(FFW) โพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่ลนัล มูลนิธิผสานวัฒนธรรม  องค์กร Togetherness for Equality and Action (TEA Group) และเครือข่าย PATANI Working Group for Monitoring of International Mechanisms  ได้เข้าร่วมรายงานสถานการณ์ของผู้หญิงในประเทศไทย ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ( Convention on the Elimination of all Forms of Discrimination against Women:CEDAW) ต่อหน้าคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ CEDAW

บรรยากาศในห้องประชุมของคณะอนุกรรมการ CEDAW

ทั้งนี้อนุสัญญา CEDAW เป็นอนุสัญญาเพื่อสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่มุ่งเน้นสิทธิสตรี รวมถึงประเด็นต่างๆ ด้านสิทธิมนุษยชน ของสตรีทั่วโลก และยังเป็นหนึ่งในสนธิสัญญาแห่งสหประชาชาติ ที่รัฐภาคีให้สัตยาบรรณเป็นวงกว้างที่สุดทั่วโลก โดยกรรมการสิทธิมนุษยชนและตัวแทนของรัฐบาลไทยต้องร่วมรายงานสถานการณ์ของผู้หญิงในประเทศไทย ภายใต้อนุสัญญานี้ในวันที่ 5 ก.ค. 2560 ที่จะถึงนี้ด้วย

ขณะที่ วิรอน รุจิไชยวัฒน์ ตัวแทนจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจังหวัดเลยที่เข้าร่วมรายงานสถานการณ์ของผู้หญิงในครั้งนี้ระบุว่า  ในประเทศไทยมีผู้หญิงจำนวนมากที่ลุกขึ้นมาต่อสู้และปกป้องทรัพยากรของตนเอง  และหลายครั้งที่การลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเองนั้นทำให้ผู้หญิงจำนวนมากต้องเสี่ยงต่อการถูกข่มขู่คุกคามทำร้ายร่างกาย และถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อให้ยุติการต่อสู้  โดยพื้นที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ซึ่งเป็นพื้นที่ของตนและชุมนได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ตนและผู้หญิงในหมู่บ้านอีกหลายคนได้ออกมาต่อสู้ในเรื่องนี้แต่กลับถูกแจ้งข้อหาในความผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 โดยผู้แจ้งข้อหาครั้งนี้เป็นนายเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องปกป้องคุ้มครองประชาชนและยืนอยู่เคียงข้างประชาชน นอกจากนี้เรายังถูกตั้งข้อหาจากหน่วยงานท้องถิ่นของรัฐอีกด้วย การเข้าร่วมรายงานสถานการณ์ CEDAW ของเราในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่เราจะได้บอกเล่าเรื่องราวและข้อเรียกร้องของเราให้ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

บรรยากาศในการร่างแถลงการณ์

ด้าน ชัชลาวัณย์ เมืองจันทร์ ตัวแทนจากมูลนิธิ EMPOWWER ซึ่งทำงานกับผู้หญิงบริการในประเทศไทยระบุว่า  ผู้หญิงที่ทำงานบริการในประเทศไทยมักจะถูกเลือกปฏิบัติโดยใช้ความผิดจากการค้าประเวณีเป็นตัวตั้ง จึงทำให้หลายครั้งถูกเจ้าหน้าทีรัฐหรือผู้มีอำนาจใช้วิธีการที่ละเมิดโดยการบุกทลายและล่อซื้อซึ่งเป็นการกระทำที่รุนแรงและไม่เคารพต่อศักดิศรีความเป็นมนุษย์ รวมไปถึงความผิดตามพรบ.ปรามการค้าประเวณีทำให้ผู้หญิงบริการเข้าไม่ถึงสิทธิด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นคุ้มครองแรงงาน การเป็นพยานในคดีค้ามนุษย์หรือแม้กระทั่งการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมต่างๆ ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้เราอยากให้มีการแก้ไขให้เป็นรูปธรรมด้วยเช่นกัน

ด้าน กัลยา จุฬารัฐกร เครือข่ายสตรีไทยพื้นเมือง (IWNT) กล่าวว่า ระบุว่าในนามขององค์กรภาคประชาสังคมที่อยู่  ที่นี้เป็นเวลากว่า 32 ปี นับตั้งแต่ที่ประเทศไทยให้สัตยาบันกับอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ตั้งแต่เวลานั้น เรามีรัฐบาล 14 รัฐบาล ทั้งที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและจากการแต่งตั้งตัวเอง แต่ความคืบหน้าในการยุติการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงก็ยังล่าช้าอยู่มาก ดังนั้นพวกเราอยากจะใช้โอกาสนี้เพื่อแจงภาพรวมของสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของผู้หญิงและนำเสนอประเด็นเร่งด่วนของเรา โดยประเด็นที่พวกเราเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานในประเทศไทยต้องการเสนอรายงานแก่อนุกรรมการ CEDAW มีรายละเอียดดังนี้

ตั้งแต่การรัฐประหารในเดือนพฤษภาคมปี 2557 การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและความเท่าเทียมกันของผู้หญิงก็ยิ่งยากยิ่งขึ้นเนื่องจากการจำกัดสิทธิเสรีภาพและการเลือกปฏิบัติที่มีมากขึ้น เรามีความกังวลโดยเฉพาะคือสถานการณ์ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะผู้หญิงที่เรียกร้องสิทธิชุมชนของตนเองในเรื่องที่ดินและทรัพยากร ผู้หญิงที่อยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธรุนแรง ผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศ แรงงานข้ามชาติหญิง   พนักงานบริการ  ผู้หญิงในเรือนจำ ผู้หญิงพิการ และผู้หญิงที่ระบุว่าเป็น LBTI

รัฐบาลไทยได้เสนอนโยบายและโครงการที่มุ่งพัฒนาการพัฒนาสตรีอย่างพระราชบัญญัติความเสมอภาคทางเพศ (พ.ศ. 2558) อย่างไรก็ตามหลายนโยบายเหล่านี้ถูกลดหย่อนและถูกบดบังด้วยการใช้กฎหมายพิเศษ เช่นกฎอัยการศึก   มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว  และคำสั่งและประกาศคสช.  ที่ขัดขวางสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้หญิง  สภาวะแวดล้อมปัจจุบันขัดขวางการเข้าถึงความยุติธรรมและเสรีภาพที่ปราศจากการเลือกปฏิบัติ อีกทั้งยังละเมิดพันธกรณีของไทยภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบ

นอกจากนี้ในส่วนของการเข้าถึงความยุติธรรมนั้น กลไกระดับชาติที่อ่อนแอทำให้ผู้หญิงมีความเสี่ยงมากขึ้นและสร้างอุปสรรคต่อการเข้าถึงความยุติธรรม  โดยในประเด็นแรกเรื่องเกี่ยวกับระบบยุติธรรมสำหรับผู้หญิงมลายูมุสลิมมีความซับซ้อน เนื่องจากมีการใช้หลักระบบยุติธรรมพหุลักษณ์ทางกฎหมายและระบบความยุติธรรมทางวัฒนธรรมทำให้ขาดความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมายอิสลามในการเข้าถึงความยุติธรรม ที่เกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวและในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวและมรดก ระบบยุติธรรมทางแพ่งในปัจจุบันใช้กระบวนพิจารณาโดยองค์คณะผู้พิพากษาโดยรับฟังความเห็นจากดาโต๊ะยุติธรรมซึ่งหนึ่งในคุณสมบัติต้องเป็นผู้รู้ศาสนาเพศชายเท่านั้น  ในระดับจังหวัดคณะกรรมการอิสลามจังหวัดมีส่วนกำหนดระบบกฎหมายจารีตประเพณีทางการซึ่งได้รับการจัดการโดยผู้นำชุมชนที่เป็นชาย   ผู้หญิงมุสลิมในพื้นที่ที่มักถูกเลือกปฏิบัติในทางนิตินัยและพฤตินัยส่งผลต่อสิทธิเท่าเทียมกันและความรับผิดชอบอันเนื่องมาจากการแต่งงาน การหย่าร้าง; และความรุนแรงต่อผู้หญิง รัฐบาลไม่ได้พยายามที่จะปฏิรูปและทบทวนเนื้อหาแม้ว่าจะมีการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้พิพากษาในท้องถิ่นรวมทั้งนักวิชาการเกี่ยวกับการไม่ปฎิรูปกฎหมายอิสลาม  ครอบครัวและมรดกที่กำลังถูกปฏิรูปในประเทศมุสลิมอื่นๆ

พนักงานบริการผู้หญิงหญิงซึ่งรวมถึงพนักงานบริการหญิงข้ามเพศที่ทำงานบริการมักมีประสบการณ์ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจเช่นการบุกทลายการควบคุมตัว การล่อซื้อ โดยเฉพาะซึ่งเป็นผลมาจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 การล่อซื้อและการบุกจับเกิดขึ้นมากกว่าหนึ่งครั้งต่อเดือน ภายในระยะเวลาหกเดือนที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์กว่า 19 เหตุการณ์ ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงมากกว่า200 คน

ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะผู้ที่เรียกร้องสิทธิชุมชนของตนเองในเรื่องที่ดินและทรัพยากร ถูกจับกุม ถูกฟ้องร้องคดี ถูกการกระทำที่เป็นอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังและความรุนแรง เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นต่อผู้หญิงบ่อยกว่าผู้ชายที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

ผู้หญิงพิการและผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธ์ยังขาดซึ่งกลไกลและกระบวนการที่รับรองการเข้าถึงความยุติธรรมของพวกเธอ การเหมารวมและการสร้างภาพพจน์ในแง่ลบต่อผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธ์นำไปสู่การลงโทษและการกล่าวหาพวกเธอในอาชญากรรมบางประเภทเช่น การค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ และการบุกรุกที่ดิน รวมทั้งการไม่ยอมรับซึ่งภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่แตกต่างจากระบบยุติธรรมปกติ การเลือกปฏิบัติซ้ำซ้อนส่งผลให้จำนวนของผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธ์ถูกควบคุมตัว ถูกตัดสินลงโทษโดยไม่มีการชดเชยเยียวยามากขึ้น และยังมีการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธ์เรื่องสิทธิการจ้างงานของพวกเธอ

แรงงานข้ามชาติผู้หญิงถูกเลือกปฏิบัติในเรื่องการจ้างงาน การเข้าถึงระบบสาธารณสุขและโอกาสในการได้รับจดทะเบียนการจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย พระราชกำหนดการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 เพิ่มบทลงโทษของการจ้างงานของผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน ความหวาดกลัวเกิดขึ้นจากการที่มีการเลิกจ้างแรงงานข้ามชาติ มีการรายงานว่าผู้หญิงแรงานข้ามชาติมักเป็นผู้ที่ถูกเลิกจ้างเป็นคนแรก ดังนั้นเราคาดการว่าผู้หญิงจะได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมอันเป็นผลจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้

เรามีความกังวลอย่างมากว่ารัฐใช้ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงแห่งชาติในการควบคุมสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของผู้หญิงและผู้คนในสังคม ประกอบกับวัฒนธรรมไม่นำคนผิดมาลงโทษที่มีอยู่แล้วและระบบที่สนับสนุนให้มีการทุจริตคอรัปชั่น โดยวิธีการเหล่านี้นำไปสู่การเลือกปฏิบัติและความรุนแรงต่อผู้หญิงที่มีอยู่เดิมให้ขยายวงกว้างมากขึ้น ซึ่งเป็นระบบที่มีผู้ชายเป็นใหญ่ฝังและรากลึกอยู่ในสังคมไทย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฤาการทำร้ายชาวมุสลิมมิใช่การก่อการร้าย?: นิยามการก่อการร้ายที่คับแคบและข้อจำกัด

Posted: 04 Jul 2017 02:51 AM PDT


 

เมื่อวันพุธที่ 21 มิถุนายน ที่ผ่านมาสำนักข่าวจากประเทศสหราชอณาจักรหลายสำนักรายงานถึงเหตุการณ์ชาวมุสลิมสองคนถูดสาดน้ำกรดใส่โดยไม่มีสาเหตุ ในย่านตะวันออกของกรุงลอนดอน สำนักข่าว The Guardian รายงานว่า Jameel Muhktar และ Resham Khan ถูกจู่โจมทั้งๆที่พวกเขานั่งอยู่บนรถขณะติดไฟแดงในช่วงเช้าวันนั้น ทั้งสองคนได้รับบาดแผลไหม้รุนแรงบนใบหน้าและร่างกาย ถึงขนาดที่ Muhktar หนึ่งในผู้เคราะห์ร้ายมีอาการอยู่ในขั้นโคม่าในช่วงแรก

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มีความน่าสนใจตรงที่ว่า ข่าวการถูกทำร้ายร่างกายของชาวมุสลิมคู่นี้ถือว่าเงียบเชียบมากเมื่อเทียบกับข่าวอื่นๆในบ้านเรา และอาจจะถือว่าได้รับความสนใจจากคนในประเทศสหราชอณาจักรน้อยเช่นกัน เมื่อเทียบกับข่าว "ก่อการร้าย" ที่เกิดขึ้นในสหราชอณาจักรก่อนหน้านี้

ในที่สุด เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน หลังจากที่อาการของ Muhktar ดีขึ้นแล้ว เขาก็ออกมาทำลายความเงียบอันแปลกแยกนั้น โดยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวหลายสำนักและตั้งคำถามกับคนทั้งโลกว่า "ทำไมเหตุการณ์นี้ถึงไม่ถูกเรียกว่าเป็น "การก่อการร้าย" บ้างเล่า?"[1]

Muhktar ให้สัมภาษณ์ว่า "ผมไม่รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นการล้างแค้นรึเปล่า แต่ว่าพวกเราคือคนบริสุทธิ์ พวกเราไม่สมควรที่จะต้องเจอกับอะไรแบบนี้ ผมไม่เคยเจอผู้ชายคนที่ลงมือทำร้ายผมมาก่อนเลย ผมไม่เคยมีปัญหากับใคร ญาติของผมเธออายุเพิ่งจะแค่ 21 ทำไมต้องมีคนทำอย่างนี้กับเราด้วย"[2]

"คุณลองคิดดูว่าถ้าเกิดบทบาทของพวกเราสลับกัน กลายเป็นคนเอเชียที่ทำร้ายคนอังกฤษผิวขาวโดยไม่มีสาเหตุ คนทั้งประเทศคงเรียกเหตุการณ์นี้ว่า "การก่อการร้าย" แน่นอน"[3]

ผมคิดว่าประเด็นที่ Muhktar หยิบยกขึ้นมากล่าวถึงนี้น่าสนใจไม่น้อย และผมก็เห็นด้วยกับเขาว่าถ้าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นนข่าวที่ถูกทำร้าย กระแสข่าวคงจะไม่เงียบกริบเช่นนี้ และตามร้านขายหนังสือและอินเตอร์เน็ตคงเต็มไปด้วยพาดหัวข่าวขนาดใหญ่ถึงเหตุการณ์ก่อการร้ายชวนระทึกขวัญกลางกรุง

ปรากฎการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่ประเทศสหราชอณาจักรเพียงแห่งเดียวเท่านั้น แต่มันเกิดขึ้นทั่วไป เช่นเดียวกับประเทศไทย ข่าวการเสียชีวิตของพระสงฆ์และทหารในภาคใต้มักจะได้รับความสนใจและได้รับการพาดหัวข่าวใหญ่โตพร้อมกับคำว่า "ก่อการร้าย" ในขณะที่การเสียชีวิตของชาวมุสลิมในภาคใต้นั้นแทบไม่มีพื้นที่เหลืออยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์เลยด้วยซ้ำ ทั้งๆที่งานวิจัยและสื่อกระแสรองจำนวนหนึ่งก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า มีชาวมุสลิมมลายูจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในภาคใต้ไม่น้อยไปกว่าข้าราชการและชาวไทยพุทธเลย

ผมพยายามนึกหาคำตอบว่าทำไมสิ่งที่ Muhktar พูดจึงถูกต้อง ทำไมในชั่ววินาทีแรกที่เราเห็นข่าวนี้เราจึงไม่จัดมันว่ามันอยู่ในข่าวก่อการร้าย? ทำไมเหตุการณ์การทำร้ายชาวมุสลิมถึงได้รับความสนใจน้อยกว่าข่าวคนผิวขาวถูกทำร้าย? คำถามเหล่านี้ดึงผมให้กลับไปนึกหนังสือเกี่ยวกับการก่อการร้ายบางเล่มที่ผมได้อ่านเมื่อไม่นานมานี้ ผมขบคิดถึงเนื้อหาในหนังสือเหล่านั้นจนได้คำตอบว่า เหตุการณ์ทำร้ายร่างกาย Muhktar และ Khan นั้น ไม่ถูกจัดเป็นการก่อการร้าย เพราะนิยามการก่อการร้ายกระแสหลักนั้นมันคับแคบจนเกินไป

หนังสือและงานวิจัยเกี่ยวกับการก่อการร้ายหลายชิ้นเห็นตรงกันว่า นิยามกระแสหลักของคำว่าก่อการร้ายนั้นมักจะถูกให้ความหมายโดยรัฐ เนื่องจากในยุคสมัยใหม่นี้รัฐเป็นหนึ่งในผู้เล่นทางการเมืองที่ทรงอำนาจที่สุด ดังนั้นนิยามก่อการร้ายที่เราใช้กันจึงมักจะถูกให้ความหมายโดยใช้รัฐเป็นศูนย์กลาง

พูดง่ายๆคือให้ความหมายก่อการร้าย โดยดูว่าใครเป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐ ถ้ารัฐเป็นพระเอก ก็ย่อมมีตัวร้าย ซึ่งตัวร้ายในกรณีนี้ก็คือคนที่ต่อต้านรัฐ หรือก็คือผู้ก่อการร้ายนั่นเอง

เมื่อนิยามนี้ถูกผลิตซ้ำบ่อยๆเข้าผ่านหน่วยงานรัฐและสื่อต่างๆ แม้ทุกครั้งจะไม่ได้พูดถึงนิยามของมันอย่างชัดแจ้ง แต่การนำเสนอข่าวทุกครั้งประชาชนที่รับสื่อก็รับเอาความหมายโดยนัยของคำว่าก่อการร้ายไปโดยไม่รู้ตัว

เราเรียนรู้ไปโดยไม่รู้ตัวว่าก่อการร้าย จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการ "ต่อต้านรัฐ" เท่านั้น ทั้งๆที่ความจริงแล้วไม่ใช่เลย

การนิยามการก่อการร้ายว่าต้องเกี่ยวกับการต่อต้านรัฐเท่านั้น ทำให้ความรุนแรงต่อกลุ่มคนที่ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นพวกเดียวกับรัฐ (เช่น ชาวมุสลิม คนต่างด้าวที่ไม่มีสิทธิพลเมือง) ถูกจัดว่าไม่เป็นการก่อการร้ายโดยอัตโนมัติ เพราะการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐนั้นมิได้เป็นการต่อต้านรัฐแต่อย่างใด (ในบางกรณีอาจจะเป็นการช่วยเหลือรัฐด้วยซ้ำ) อย่างเช่นกรณีการทำร้ายร่างกาย Muhktar และ Khan เป็นต้น

การนิยามคำว่าก่อการร้ายที่คับแคบเช่นนี้ ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมาหลายประการ และเป็นหนึ่งในอุปสรรคหลักในการต่อสู่กับการก่อการร้ายอย่างยั่งยืน ดังที่ผมจะแสดงให้เห็นต่อไปนี้

ปัญหาประการแรกที่เกิดจากนิยามก่อการร้ายที่คับแคบ คือ ปัญหาคนกลุ่มน้อยในสังคมถูกตีตราว่าเป็นผู้ก่อการร้ายได้ง่ายเกินความเป็นจริง เนื่องจากคนกลุ่มน้อยในสังคมมักจะถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์กับรัฐเพราะมีอัตลักษณ์ของกลุ่มไม่ตรงกับอัตลักษณ์แห่งชาติ ฉะนั้น เมื่อคนกลุ่มนี้ใช้ความรุนแรงก็จะถูกมองว่าเป็นการต่อต้านรัฐหรือการก่อการร้ายโดยทันที ในขณะที่ คนผิวขาวหรือชาวพุทธที่เป็นคนส่วนมากต่อให้ทำร้ายคนมุสลิมก็จะไม่ถูกมองว่าเป็นการก่อการร้าย

นอกจากนี้ คำว่าก่อการร้ายนั้นมักโดนเชื่อมโยงกับชุดมายาคติอื่นๆอยู่เสมอ เช่น เมื่อเรานึกถึงการก่อการร้าย เรามักนึกถึงกลุ่มสุดโต่งทางศาสนา เรามีคำอธิบายไว้ในหัวก่อนแล้วว่า ก่อการร้ายนั้นเกี่ยวข้องกับศาสนา และศาสนาคือรากของปัญหา ฉะนั้น ถ้ามีการใช้ความรุนแรงที่ถูกจัดประเภทว่าเป็นการก่อการร้ายเกิดขึ้น เรามักจะเชื่อมโยงได้โดยทันทีว่า ผู้ที่นับถือศาสนาเดียวกับผู้ก่อการร้ายย่อมเป็นผู้ก่อการร้ายเช่นกัน

ในทางตรงกันข้าม ถ้าความรุนแรงต่อคนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นพวกเดียวกับรัฐเกิดขึ้น ก็จะไม่ถูกนับรวมว่าเป็นการก่อการร้าย และชุดคำอธิบายที่ว่าการก่อการร้ายเกี่ยวข้องกับศาสนานั้นก็จะไม่สามารถนำมาใช้อธิบายได้ ดังนั้น เมื่อเกิดการทำร้ายชาวมุสลิมขึ้น เราจึงมักจะมองว่าความผิดที่เกิดขึ้นย่อมเกิดจากตัวบุคคล ไม่ได้เกี่ยวข้องกับศาสนาหรือเชื้อชาติแต่อย่างใด เช่น ในกรณีของ Muhktar และ Khan สังคมมักจะมองว่าความผิดตกอยู่กับผู้สาดกรดเพียงคนเดียว ไม่ได้ตกอยู่กับคนผิวขาว หรือชาวคริสต์ทุกคน

เมื่อระบบคิดเช่นนี้เกิดขึ้น คนกลุ่มน้อยซึ่งถูกมองว่าไม่เป็นพวกเดียวกับรัฐจึงมักจะตกเป็นเป้าของการถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ก่อการร้ายได้ง่ายกว่าคนกลุ่มอื่นๆในสังคม

และน่าเศร้าที่คนกลุ่มน้อยเหล่านี้มักจะเป็นกลุ่มที่เปราะบาง (vulnerable) ในสังคมอยู่แล้ว และมักมีชีวิตลำบากกว่าเพื่อนร่วมสังคมคนอื่นๆแต่ต้น เพราะมีอัตลักษณ์ของกลุ่มที่ไม่เหมือนกับอัตลักษณ์ที่รัฐและคนส่วนใหญ่เชิดชู จึงจำเป็นต้องปรับตัวเข้าหาอัตลักษณ์ของรัฐและระบบสังคมอย่างมากเพื่อให้กลมกลืนอยู่ได้ และยังไม่รวมถึงปัญหาการเป็นพลเมืองชั้นสอง การไม่ได้รับการดูแลจากรัฐเท่ากับสมาชิกคนอื่นๆ และการเลือกปฏิบัติ

ฉะนั้น เมื่อกลุ่มคนเหล่านี้ถูกเหยียบซ้ำด้วยนิยามก่อการร้ายแบบคับแคบและการตีตราทางสังคม คนกลุ่มนี้อาจถูกบีบให้ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมสมัยใหม่เหมือนพลเมืองทั่วไปได้ เช่น ไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้เพราะหางานยากกว่า หรือเพราะไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะจากรัฐได้ จึงทำให้ต้นทุนในการประกอบธุรกิจสูงกว่าคนปกติ

และเมื่อไม่สามารถใช้ชีวิตตามกรอบสมัยใหม่ได้ คนกลุ่มนี้อาจต้องใช้วิธีการรุนแรงเพื่อต่อสู้กับสังคมที่ไม่เหลือที่ยืนให้กับพวกเขา เช่น เมื่อหางานไม่ได้ก็ต้องปล้นชิง หรือ บางคนอาจหันไปเข้ากับกลุ่มก่อการร้ายจริงๆ เกิดเป็นวัฎจักรความรุนแรงที่ไม่สิ้นสุด และยิ่งตอกย้ำให้คนส่วนใหญ่ในสังคมเชื่อแบบฝังลึกลงไปอีกว่าคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะก่อการร้ายมากกว่ากลุ่มอื่น

ยิ่งไปกว่านั้น การนิยามการก่อการร้ายแบบคับแคบที่นับรวมเฉพาะการต่อต้านรัฐเท่านั้น เป็นการทำให้สังคมเมินเฉยกับ "การก่อการร้ายโดยรัฐ" และเป็นการให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงปราบปรามคนกลุ่มน้อยโดยอ้อม เช่น เรามักไม่มองว่าการทำร้ายชนกลุ่มน้อยโดยเจ้าหน้าที่รัฐในพม่า, การฆ่าล้างชาวจีนในอินโดนีเซีย, การปราบปรามฝ่ายซ้ายของรัฐไทยในยุค 2490s-2520s, หรือการกำราบชาวมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการก่อการร้าย ทั้งๆที่การใช้ความรุนแรงเหล่านั้นก็ล้วนแต่เป็นการสร้างความหวาดกลัว (Terrorise) ให้เกิดขึ้นในสังคมเพื่อเป้าหมายทางการเมืองบางอย่างเช่นเดียวกับการก่อการร้ายแบบอื่นๆ ในทางตรงกันข้าม รัฐส่วนใหญ่มักจะมีนิยามอื่นที่สวยหรูเพื่อใช้แทนคำว่าก่อการร้ายโดยรัฐอยู่แล้ว เช่น คำว่า "การจัดการกับผู้ก่อความไม่สงบ" หรือคำว่า "การสร้างความสงบเรียบร้อยในสังคม" เป็นต้น

ปัญหาของการนิยามการก่อการร้ายที่คับแคบเช่นนี้ยังไม่หมด การนิยามการก่อการร้ายโดยเน้นรัฐเป็นศูนย์กลางยังทำให้เรามักจะคิดว่าการแก้ปัญหาต้องทำโดยรัฐและใช้กำลังทหารเท่านั้น เพราะการนิยามก่อการร้ายแบบคับแคบนี้แสดงให้เห็นเพียงว่าคู่ขัดแย้งมีแค่ 'รัฐ' และ 'ผู้ต่อต้านรัฐ' เท่านั้น และเมื่อมีผู้ต่อต้านรัฐก็ย่อมต้องใช้กำลังเข้าปราบปรามเป็นธรรมดา ทั้งๆที่จริงๆแล้วปัญหาการก่อการร้ายส่วนใหญ่แทบไม่ได้เกิดจากประเด็นเรื่องการทหารเลย ผู้ก่อการร้ายส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ดีๆรู้สึกทะเยอทะยานอยากเป็นใหญ่ แล้วจะแบ่งแยกประเทศอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ แต่แรงผลักดันที่ทำให้เขาก่อการร้ายมักจะมาจากความลำบากทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เช่น การได้รับการปฏิบัติแบบพลเมืองชั้นสอง การไม่มีสิทธิเสรีภาพเหมือนที่สมาชิกกลุ่มอื่นมี การไม่สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการสาธารณะได้ จนไม่สามารถแข่งขันและปรับตัวในตลาดเสรีได้ การไม่สามารถแสดงอัตลักษณ์ของกลุ่มได้ รวมไปถึงปัญหาการถูกเหยียดหยาม และการถูกกลั่นแกล้งในสังคม เป็นต้น

เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาการก่อการร้ายในระยายาวจึงไม่ใช่แค่การใช้ยุทธวิธีแบบรัฐนำหรือใช้กำลังทหารนำ (state-led / military-led) เพียงอย่างเดียว เราต้องมองใหม่ว่าการก่อการร้ายไม่ใช่ปัญหา "ความมั่นคงของรัฐ (state security)" เหมือนที่นิยามการก่อการร้ายกระแสหลักชี้นำ แต่มันคือปัญหา "ความมั่นคงของมนุษย์ (human security)" ที่ไม่สามารถแก้ไขได้หากปราศจากความร่วมมือจากภาคประชาสังคม และมาตรการอื่นๆ เช่น การให้โอกาสทางการศึกษา การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ/ความยากจน และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนกลุ่มน้อย เป็นต้น[4]

เราควรระลึกอยู่เสมอว่าการก่อการร้ายนั้นเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการต่อต้านรัฐเท่านั้น แต่ตัวรัฐเองก็ก่อการร้ายได้เช่นกัน และเราเองในฐานะประชาชนในสังคมก็อาจจะมีส่วนในการสนับสนุนการก่อการร้ายอยู่ ผ่านการเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ และการผลิตซ้ำมายาคติบางประการโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้

 

เชิงอรรถ

[2] แปลจาก "I don't know if people are trying to retaliate. We're innocent people. We didn't deserve that. I've never seen this guy in my life. I don't have any problems with anybody. My cousin is 21. She's a business student. Why would anyone do that to us?"

[3] แปลจาก "if the roles had been reversed and an Asian man had attacked an English couple with acid, "the whole country knows it would be classed as a terror attack""

[4] ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแก้ปัญหาก่อการร้ายอย่างยั่งยืนได้ใน Nelles, W. (2003) Comparative Education, Terrorism and Human Security: From Critical Pedagogy to Peacebuilding? และ Sen, A. (2006) Identity and Violence: The Illusion of Destiny. 


เกี่ยวกับผู้เขียน: พสิษฐ์ วงษ์งามดี เป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี: ว่าด้วย "คนต่างด้าว"

Posted: 04 Jul 2017 02:32 AM PDT




การพยายามควบคุมกำกับกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า "คนต่างด้าว" ด้วยเอกสารนั้น เป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่สมัย ร. 7 โดยการทะลักเข้ามาของ "คนจีน" เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐสยามในสมัยนั้น ถึงกับต้องลุกขึ้นมาตรา พ.ร.บ.คนเข้าเมือง เพื่อควบคุมกำกับ "คนต่างด้าว" ให้เข้าไทยอย่าง "ถูกต้องตามกฎหมาย"

ถ้าจะว่าไป บรรพบุรุษของลูกหลานเจ๊กชนชั้นกลางที่กลายเป็นไทยในปัจจุบัน ถือเป็นต้นกำเนิดของสิ่งที่เรียกว่า "ต่างด้าว" ขนานแท้ ไม่ใช่ชาวพม่า เขมร ลาว ที่เข้ามาไทยในยุคหลัง

สิ่งที่น่าสนใจคือ ในยุคเริ่มแรกของการพยายามใช้เอกสารควบคุมกำกับผู้ที่เข้าประเทศที่ไม่มีสัญชาติไทย (ซึ่งส่วนใหญ่มาทางเรือ) รัฐสยามในยุคนั้น เข้าใจดีว่า การที่จะเรียกร้องหาเอกสารทางการที่ระบุตัวตนบุคคลนั้นเป็นเรื่องที่ยาก และแทบจะเป็นไปไม่ได้ พาสปอร์ตเองก็ยังไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นในจีนเสียด้วยซ้ำไป หลายคนที่มาจากชนบทอันไกลโพ้น การจะออกบัตรประจำตัวบุคคลนั้น เป็นเรื่องที่ยากเย็น ดังนั้นในทางปฏิบัติแล้ว คนต่างด้าวจีนจึงสามารถที่จะเข้าไทยได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตเข้าเมือง ไม่ต้องมีการตรวจตราในหนังสือเดินทาง ไม่ต้องขอวีซ่า เมื่อไม่มีเอกสารพิสูจน์ตน รัฐสยาม ก็ออกเอกสารพิสูจน์ตนให้ จ่ายค่าธรรมเนียมสี่บาท (แพงเอาการ) แลกกับใบต่างด้าว และใบแสดงถิ่นที่อยู่ ก็สามารถที่จะออกไปทำมาหากิน เป็นแรงงานรับจ้างในที่ต่างๆ หากจะย้ายถิ่นฐาน ก็มาแจ้งแก่ราชการเป็นคราวๆ ไป ไม่เห็นว่า "ต่างด้าว" จีนเหล่านี้ จะสร้างปัญหาความมั่นคงอะไรให้กับประเทศชาติ ก็เห็นออกลูกออกหลานเป็นเจ๊กนักธุรกิจสร้างบ้านสร้างเมืองอยู่มาจนทุกวันนี้

ความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการชนที่ไม่ใช่พลเมือง ยังดำเนินต่อมาแม้ในยุคสงครามเย็น ที่บรรดาลาว เขมร เวียดนาม พม่า มลายู จีนฮ่อ เนปาล ฯลฯ ต่างพากันทะลักเข้าไทยจากสงครามทางการเมือง แม้ว่ารัฐไทยในยุคนั้น จะใช้ระบบเอกสาร หรือที่เรียกกันว่า "บัตรสี" อันแสนสับสนอลหม่านและไร้ประสิทธิภาพ เพื่อจัดจำแนกกลุ่มคนที่พากันข้ามพรมแดนเข้ามาอย่างโกลาหล และควบคุมกำกับไม่ให้เดินทางออกนอกพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่ คนเหล่านี้ ในรุ่นลูกรุ่นหลานในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ต่างก็พากันได้สัญชาติไทยเสียส่วนมาก เช่นเดียวกับลูกหลานพวกคนจีนในยุคแรก ไม่เห็นว่า คนต่างด้าวเหล่านี้ หรือลูกหลานของพวกคนต่างด้าวยุคบุกเบิก จะไปสร้างปัญหาความมั่นคงอะไร ให้กับประเทศ และไม่ยักกะเห็น คนไทยแท้ๆ (หากว่ายังมี) จะก่นด่าว่าคนต่างด้าวเหล่านี้ ว่าไปแย่งงานพวกเขาทำ จนกลายเป็นปัญหาของสังคม

ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากนิยาม คนต่างด้าว ไปสู่ แรงงานต่างด้าว จากยุคสงครามเย็น สู่ยุคเสรีนิยมใหม่ น่าแปลกที่ท่าทีที่ยืดหยุ่นต่อชนที่มิใช่พลเมืองไทย ได้หายไปจากอุดมการณ์ของรัฐราชการไทย การเรียกร้องการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลผ่านเอกสาร กลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสูงสุด เหนือตัวบุคคลนั้นๆ เอง และเหนือเป้าประสงค์ใดๆ แม้กระทั่งเหนือผลได้ทางเศรษฐกิจอย่างน่าประหลาดใจ ทั้งที่เอาเข้าจริงแล้ว สภาวะที่แรงงาน "ต่างด้าว"จำนวนไม่น้อย ไม่สามารถที่จะเข้าถึงเอกสารระบุตัวตนของตนได้ ไม่ว่าจะเป็นบัตรประชาชน หรือพาสปอร์ตก็ตามที ไม่ได้ต่างไปจากภาวะการณ์ที่คนจีนในยุคอพยพเข้าไทยในยุคโน้นเผชิญเท่าใดนัก หากแต่ความเข้าอกเข้าใจที่เคยมีในเรื่องนี้สำหรับรัฐไทย กลับอันตรธานหายไปโดยสิ้นเชิง

ยิ่งไม่ต้องพูดถึงความทรงจำในเรื่องนี้ สำหรับลูกหลานเจ๊กที่บรรพบุรุษนั่งเรือมาไทยโดยไม่มีเอกสารติดตัวสักใบ

น่าสนใจที่การนิยามความเป็นต่างด้าวที่คับแคบ ติดกับดักวัตถุเอกสารของรัฐราชการไทย ที่ได้กลายเป็นต้นเหตุของการอพยพข้ามพรมแดนกลับประเทศของแรงงานต่างชาติครั้งประวัติการณ์ครั้งนี้ ช่างย้อนแย้งโดยสิ้นเชิงกับความปรารถนาจะพาประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ หรือที่เรียกขานกันอย่างกลวงๆ ว่าไทยแลนด์ 4.0 แถมความย้อนแย้งอันหายนะประเภทนี้ ดันถูกแซ่ซร้องโดยพวกลูกหลานคนต่างด้าวรุ่นบุกเบิกเสียอีกต่างหาก

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กป.อพช.ใต้ ร้องหยุด! คุกคามแกนนำเครือข่ายติดตามแก้ ก.ม.บัตรทอง

Posted: 04 Jul 2017 01:58 AM PDT

กป.อพช.ใต้ แถลงการณ์ หยุด! ติดตามคุกคามแกนนำเครือข่ายติดตามแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพ ทบทวนกระบวนการแก้กฎหมายตามรับธรรมนูญมาตรา 77

4 ก.ค.2560 คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายหลักประกันสุขภาพภาคประชาชนภาคใต้ และเครือข่ายภาคประชาสังคม ติดตามสถานการณ์การแก้กฎหมาย ได้มีการการจัดประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์การแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยได้มีตำรวจสันติบาลปะปนและถ่ายรูปเข้ามาร่วมประชุมด้วยซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีการส่งข้อมูลจากภูมิภาคต่างๆว่ามีการติดตามจากตำรวจสันติบาล โดยการเข้าพบครอบครัวและโทรศัพท์สอบถามข้อมูล ทำให้เครือข่ายภาคประชาชนห่วงกังวลต่อเรื่องความปลอดภัย และกังวลต่อการมีส่วนร่วมในกระบวนการแก้กฎหมายบัตรทอง

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) จึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลใน 2 ประเด็น คือ 1. ขอให้หน่วยงานรัฐที่ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามแกนนำเครือข่าย หยุดการติดตามคุกคาม  การทำกิจกรรมรวมถึงการดำเนินชีวิตประจำวันของพี่น้อง ที่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องการแก้  กฎหมายหลักประกันสุขภาพ  ที่มีส่วนร่วมในทุกภูมิภาคทุกพื้นที่ 2. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็น พิจารณาทบทวนและจัดกระบวนการ รับฟังให้เกิดการมีส่วนร่วมที่ถูกต้อง ตามมาตรา 77 แห่งฐธรรมนูญ 2560

ทั้งนี้ กป.อพช.ใต้ และเครือข่ายภาคีภาคประชาชน   จะติดตามสนับสนุนการดำเนินการของกลุ่มภาคีเครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพ  ตลอดจนติดตามการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของหน่ายงานภาครัฐ   ต่อกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ กฏหมายฉบับอื่นๆ ที่กระทบต่อประชาชน ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม   เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ และ สามารถเข้าถึงการแสดงความคิดเห็นในช่องทางต่างๆ  โดยสะดวกต่อไป 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์: ผู้สาว " ขาเลาะ"

Posted: 04 Jul 2017 01:41 AM PDT

<--break- />

สังคมไทยจะเข้าใจความนิยมเพลง " ผู้สาวขาเลาะ" ของคุณลำไย ไหทองคำได้อย่างไร หากจะวัดจากสายตาของคนรุ่นอาวุโสทั่วไปในสังคมไทย  ก็คงต้องออกมาในลักษณะแบบเดียวกับที่ " ลุงตู่" ได้ลงทุนกล่าวว่าเอาไว้เท่านั้น ซึ่งผมคิดว่าไม่มีประโยชน์โพดผลอันใดเลย

ความเปลี่ยนแปลงทุกๆอย่างในสังคมไทยหรือสังคมโลกก็ตาม ไม่มีอะไรเกิดขึ้นในสุญญากาศ ทุกอย่าง/ทุกมิติล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับเงื่อนไขสิ่งแวดล้อมทางสังคมทั้งสิ้น

ความนิยมเพลง "ลูกทุ่ง" ที่เนื้อร้องเน้นประเด็น " ทางเพศ" และการแสดงบนเวทีที่เน้น " ร่างกาย" ได้รับความนิยมมากขึ้นในระยะหลัง    ตัวอย่างที่ชัดเจนมาก ก็ได้แก่  เพลง " คันหู "  และมีพัฒนาการต่อเนื่องมาจนถึง " ผู้สาวขาเลาะ "  แต่หากพิจารณากลับไปในอดีต ก็จะพบว่า ช่วงเวลาที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการแสดงเพลงที่มีลักษณะเช่นนี้ได้ปรากฏขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ ๒๕๓๐ แล้ว   ดังจะเห็นได้ว่าเพลงที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ล้วนแล้วแต่แสดงความปรารถนาส่วนตัวอย่างตรงไปตรงมาไม่ว่าจะเป็น " กระแซะ" หรือเพลง (ที่น่าสนใจมากที่คุณพุ่มพวงเสนอให้)  " ปฏิวัติผัว" เป็นต้น

เพลงจะได้รับความนิยมก็ต่อเมื่อได้ "สื่อสาร" ทางอารมณ์ความรู้สึกอย่างสอดคล้องไปกับแรงปรารถนาของคนในสังคม ดังนั้น การทำความเข้าใจเพลง จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราเข้าใจสังคมโดยเฉพาะทางด้านอารมณ์ความรู้สึกได้มากขึ้น    และต้องเน้นว่า เพลง " ลูกทุ่ง" นับจากพุ่มพวง ดวงจันทร์ มาจนถึงปัจจุบันนี้จึงเป็นปรากฏการณ์ที่แสดงการเคลื่อนไหวทางอารมณ์ความรู้สึกอันสำคัญยิ่งของผู้หญิงในสังคมไทย

กล่าวได้ว่า สังคมไทยได้สร้างระเบียบทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็งมากให้ตกเป็นพันธกิจหนักอึ้งบนบ่าของผู้หญิง เริ่มต้นจากการควบคุมร่างกาย ควบคุมอารมณ์  ต่อมาก็ควบคุมการแสดงออกทุกมิติในพื้นที่สาธารณะ และเมื่อมีครอบครัวแล้วก็ควบคุมวัตรปฏิบัติทั้งหมดในการมีชีวิตคู่  ในขณะที่ผู้ชายไทยได้รับอิสระอย่างมากในพื้นที่สาธารณะ

กรอบวัฒนธรรมเดิมของไทยที่เน้นให้ผู้ชายมีชีวิตเสรีนอกบ้านเพื่อแสวงหาเกียรติยศซึ่งมีหลากหลายทาง เช่น การบวชเรียน การเป็นนักเลงดูแลหมู่บ้าน หรือ การเข้าร่วมเป็นพ่อค้าทางไกล  ในขณะที่ผลักดันให้ผู้หญิงมีชีวิตอยู่ในบ้านทำหน้าที่ดูแลครอบครัว ( ดูแลเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต) และผู้หญิงเองก็จะต้องควบคุมตัวเองให้อยู่ "ใน ร่องในรอย" ทางวัฒนธรรมเพื่อที่จะได้รับการยอมรับจากสังคมชุมชน

ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจนับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ ๑ เป็นต้นมา ได้เข้ามาผลักผู้หญิงให้ก้าวออกนอกพื้นที่บ้านมากขึ้น และการออกมาแสวงหาเงินตราเพื่อส่งกลับไปใช้ในครอบครัวได้กลายเป็นชีวิตปรกติธรรมดาของผู้หญิงไทยทั้งแต่ทศวรรษ ๒๕๓๐ เป็นต้นมา ( เส้นทางเดินชีวิตนอกบ้านของผู้หญิงเป็นเรื่องที่น่าศึกษามากนะครับ ตัวอย่าง เช่น ผู้หญิงภาคเหนือเคลื่อนออกมาทำงานนอกบ้านด้วยการเป็นคนใช้ให้แก่ชนชั้นกลางที่เริ่มขยายตัวในช่วงทศวรรษ ๒๕๐๐  ต่อมาพบว่าชีวิตคนใช้ที่นายจ้างพยายามจะผูกให้รับใช้ไปอีกเจ็ดชั่วโครตแบบผู้ดีเก่าที่ลอกเลียนมานั้นไม่ได้ช่วยให้ชีวิตดีขึ้นทางเศรษฐกิจ จึงขยับออกมาสู่ภาคบริการ ส่วนพี่น้องผู้หญิงทางอีสานก็เคลื่อนเข้ามาแทนที่ต่ออีกสักช่วงหนึ่ง แล้วผันออกไปขายแรงงานด้านอื่นๆ เป็นต้น )

การปรากฏตัวของผู้หญิงในที่สาธารณะสมัยใหม่ได้ขยายตัวมากขึ้นมากตลอดเวลา หากมองในระบบราชการปัจจุบันจะพบว่าสัดส่วนของผู้หญิงมากกว่าผู้ชายมากกว่าหนึ่งเท่า ในระบบเศรษฐกิจที่เป็นทางการ ก็จะพบว่าแรงงานผู้หญิงมีมากกว่าและเข้มแข็งมากกว่า ในระบบเศรษฐกิจไม่เป็นทางการ ผู้หญิงเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญกว่าในขณะที่ผู้ชายเป็นแรงงานธรรมดา (ในการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป สัดส่วนของนักศึกษาหญิงก็สูงกว่านักศึกษาชายมาก )

การเคลื่อนไหวทางสังคมเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนี้  ได้ส่งผลโดยตรงทำให้เกิดความพยายามจะเปลี่ยนแปลงความหมายในระบบวัฒนธรรม โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง การเกิดการท้าท้ายและต่อต้านระบบวัฒนธรรมที่ควบคุมผู้หญิงอย่างเข้มข้นนั้นได้รับการท้าทายมากขึ้นๆ      

การท้าท้ายและต่อต้านระบบวัฒนธรรมที่ควบคุมอยู่จะเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงความหมายของ " ตัวตน" ก่อนจะขยับไปยังพื้นที่ทางสังคมวัฒนธรรมด้านอื่นๆ

การแสดง "ตัวตน" ของผู้หญิงเยี่ยง "มนุษย์" คนหนึ่งที่มีแรงปรารถนาของตนเอง และพร้อมที่จะแสดงออกโดยไม่จำเป็นต้อง " อิดเอื้อน/ปิดบัง" หรือหลบเลี่ยงการแสดงออกด้วยการใช้มารยาสาไถย ( แบบเดิม) จึงปรากฏขึ้น  ลองฟังเพลง " ขอให้โสดที่เถอะ" (ซึ่งเนื่อหาสาระมีลักษณะเดียวกับ "ผู้สาวขาเลาะ") และ " ชวนแฟนดับไฟ " ของคุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ นะครับ

กระบวนการเปลี่ยนแปลงความหมายทางวัฒนธรรมอันเป็นสายใยความหมายชีวิตที่รัดตรึงเราไว้กับคุณค่าความหมายนั้นๆ (   "ผู้หญิงดี" ย่อมจะต้องปฏิบัติตัวตาม หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า เป็นต้น ) จึงได้เริ่มขึ้นจากการแสดงถึงความหมายใหม่ของความเป็นตัวตนผู้หญิงโดยเริ่มจากธรรมชาติของความเป็นผู้หญิงนั้นเอง

กล่าวได้ว่า การต่อต้านอำนาจนำทางวัฒนธรรมที่ดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงช่วงของการปฏิวัติวัฒนธรรมทางเพศของผู้หญิงส่วนใหณ่ในสังคมไทยได้เริ่มขึ้นในพื้นที่การสื่อสารทางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดในสังคม ซึ่งพื้นที่ที่สำคัญ ได้แก่ เพลง "ลูกทุ่ง" 

เพลงจะได้รับความนิยมก็ต่อเมื่อได้ "สื่อสาร" ทางอารมณ์ความรู้สึกอย่างสอดคล้องไปกับแรงปรารถนาของผู้คนในสังคม   เพลงลูกทุ่งจำนวนไม่น้อยที่แสดงถึง "ตัวตน" ของผู้หญิงเยี่ยง "มนุษย์" คนหนึ่งที่มีแรงปรารถนาของตนเอง และพร้อมที่จะแสดงออกโดยไม่จำเป็นต้อง " อิดเอื้อน/ปิดบัง"   จึงเป็นความเปลี่ยนแปลงในระบอบอารมณ์ความรู้สึกต้องการท้าท้ายและต่อต้านระบบวัฒนธรรมที่ควบคุมผู้หญิง เพราะสังคมไทยได้สร้างระเบียบทางวัฒนธรรมที่เป็นพันธกิจหนักอึ้งบนบ่าของผู้หญิง เริ่มต้นจากการควบคุมร่างกาย การควบคุมอารมณ์  และการควบคุมการแสดงออกทุกมิติในพื้นที่สาธารณะ รวมไปถึงการควบคุมวัตรปฏิบัติทั้งหมดในการมีชีวิตคู่

กระบวนการท้าทายและต่อต้านวัฒนธรรมที่ควบคุมมนุษย์นั้นจำเป็นที่จะต้องเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงความหมายของ " ตัวตน" ก่อนเสมอ  เพราะการเปลี่ยนความหมาย "ตัวตน" นี้จะนำไปสู่การสร้างพลังอันจะนำไปขยับเคลื่อนความหมายพื้นที่ทางสังคมวัฒนธรรมอื่นๆ  กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมอันเป็นการปรับเปลี่ยนสามสัมพันธ์ของสายใยความหมายชีวิตที่รัดตรึงผู้หญิงเอาไว้กับคุณค่าเดิม จึงเริ่มขึ้นจากการแสดงถึงความหมายใหม่ของความเป็นตัวตนผู้หญิงที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์นั้นเอง

การเปลี่ยนแปลงความหมายของตัวตน " ผู้หญิง" ที่สำคัญยิ่ง ได้แก่  การทำให้เกิด " ผู้หญิง" ขึ้นมา เพราะเดิมนั้น " ผู้หญิง" อย่างเดียวหรือ " ผู้หญิงที่เป็นอิสระ " ไม่มีความหมาย เพราะ " ผู้หญิง" จะถูกผูกล่ามไว้ด้วยความเป็นเมีย เป็นแม่  ซึ่งทำให้ในสมัยก่อนนั้นผู้หญิงที่ไม่มีครอบครัว จะถูกทำให้รู้สึกว่าไม่ได้ทำหน้าที่ของผู้หญิงที่แท้จริง
กล่าวได้ว่า กระบวนการเปลี่ยนความหมายที่ดำเนินมาเป็นการปลดปล่อยให้ " ความเป็นหญิงที่มีเสรีภาพ " เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด  จนทำให้เวลาคนในสังคมไทยในปัจจุบันนี้คิดถึง " ผู้หญิง"จึงไม่ได้มีจินตนาการของการผูกล่ามไว้กับพันธกิจทางสังคมแบบเดิมอีกต่อไป
            
แน่นอนว่า การต่อต้านอำนาจนำทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะเรื่องเพศนี้แตกต่างไปในแต่ละชนชั้น ผู้หญิงชนชั้นกลางที่ได้รับการศึกษาสามารถที่จะหยิบเอาหลักการความเสมอภาคทางเพศขึ้นมาใช้เป็นอาวุธได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และสามารถสถาปนาหลักการนี้ได้อย่างมั่นคงในชนชั้นตนเองแล้ว แต่ในวันนี้ พื้นที่การต่อสู้ได้ขยายออกอย่างกว้างขวางครอบคลุมสังคมไทยอย่างชัดเจน

แต่อย่างไร ก็ตาม กระบวนการทางสังคมไม่เคยจบสิ้นหรือหยุดนิ่ง กระบวนการการปลดปล่อย "ความเป็นหญิงที่มีเสรีภาพ" จึงเกิดขึ้นอย่างเป็นระลอกๆ ตามจังหวะของการเคลื่อนตัวออกสู่พื้นที่สาธารณะของผู้หญิง  ขณะเดียวกัน กลุ่มที่ปรับเปลี่ยนความหมายตัวตนมาก่อนก็ได้ปรับเปลี่ยนความหมายและคุณค่าอื่นไปประกอบด้วย กลุ่ม " ผู้หญิง" วัยทำงานที่ผ่านการเปลี่ยนความหมายตัวตนมาก่อนแล้วจำนวนมากได้เปลี่ยนแปลงความหมายตัวตนที่นอกจากเป็น "ผู้หญิงเสรีชน " แล้วยังได้เคลื่อนไปสู่ผู้หญิงที่เป็น " พลเมืองผู้มีสำนึกเกี่ยวข้อง" ( Concerned Citizen) ดังจะเห็นได้จากการเคลื่อนไหวทางการเมืองทุกมิติในช่วงสิบปีที่ผานมาที่ผู้หญิงเป็นพลังหลัก การเกิด"ผู้สาวขาเลาะ"เป็นการเคลื่อนไหวสุดท้ายของกลุ่มวัยรุ่นผู้หญิงที่ข้ามมาจากภาคเกษตรกรรมแบบเดิม

ประเด็นที่น่าสนใจได้แก่ การเปลี่ยนความหมายผู้หญิงในระลอกล่าสุดนี้ที่ปรากฏในเพลง " ผู้สาวขาเลาะ " ซึ่งนอกจากเป็นกระบวนการลักษณะเดียวกันที่ทำให้การแสดงออกในเรื่องส่วนตัวของผู้หญิงเป็นไปอย่างเสรี แต่ในอีกด้านหนึ่ง กลับเป็นการทำให้เกิดการนิยามอัตลักษณ์ร่วมหมู่ (Collective Identity) ของการเป็นวัยรุ่นผู้หญิงที่เป็น "ขาเลาะ" อันหมายถึงชอบเที่ยวเล่นสนุกสนานไปวันๆ และไม่สนใจเรียน

แน่นอนว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา วัยรุ่นหญิงที่ไม่สนใจเรียนและชอบสนุกสนานกับชีวิตมีจำนวนไม่น้อย  แต่พวกเธอยังไม่สามารถสร้างและยกระดับรูปแบบการใช้ชีวิตของเธอให้เป็นลักษณะร่วมได้ แต่เมื่อเกิดคำว่า " ผู้สาวขาเลาะ" ขึ้นมา ก็ได้กลายมาเป็นคุณลักษณะร่วมกันของวัยรุ่นหญิงกลุ่มหนึ่งที่จะสามารถใช้อ้างอิงและดำเนินชีวิตได้อย่างมีตัวตน

การสร้างและยกระดับความคิดนามธรรม " ผู้สาวขาเลาะ" ให้เป็นลักษณะร่วมของกลุ่มขนาดใหญ่เช่นนี้จึงกลายการเปิดพื้นที่ให้แก่การไม่ชอบเรียนหนังสือและการแสวงหาความสนุกสนานให้กลายเป็นการดำเนินชีวิตลักษณะเด่นทดแทนการใช้ชีวิตเพื่อจุดมุ่งหมายอื่นๆ เช่น ความสำเร็จในการเรียน

ภายใต้การเกิดความคิดนามธรรมแทนวัยรุ่นหญิงเป็นคนๆว่า " ผู้สาวขาเลาะ" ซึ่งย่อมอยู่ตรงกันข้ามกับ " ผู้สาวขาเรียน" วัยรุ่นหญิงที่อ้างอิงตนเองกับการเป็น " ขาเลาะ" ก็จะใช้ชีวิตที่ปล่อยปละละเลยได้มากขึ้น ความจริงจังในการใช้ชีวิตในวันนี้เพื่ออนาคตในวันหน้าก็จะลดลงไปเรื่อยๆ การตัดสินใจเพื่อวันนี้ก็จะกลายเป็นคุณลักษณะสำคัญของ "ขาเลาะ " ซึ่งแน่นอนที่สุดว่าย่อมสร้างฐานการอ้างอิงครอบคลุมไปทั้งหญิงและชาย

ลึกลงไปในวัฒนธรรม" ขาเลาะ" จึงไม่ใช่แค่การแต่งกายโป๊ หรือ แสดงแบบที่ของสงวนเกือบโผล่ อย่างที่ลุงตู่มากระแนะกระแหนเท่านั้น หากแต่เป็นการสถาปนาระบบความสัมพันธ์ทางสังคมรูปแบบใหม่ของกลุ่มวัยรุ่นซึ่งไม่ใช่สิ่งที่คนรุ่นพ่อแม่/ปู่ย่าจะเข้าใจได้อีกต่อไป

คำถามที่สำคัญที่สังคมต้องช่วยกันหาคำตอบ ก็คือ อะไรทำให้วัยรุ่นกลุ่มใหญ่ในสังคมไทยกลายเป็น " ขาเลาะ" ระบบการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้แน่ๆ แต่คงไม่ใช่เท่านั้น ระบบครอบครัวที่กลายมาเป็นครอบครัวเดี่ยวและมีการหย่าร้างสูงก็มีส่วน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นก็มีผลต่อการสร้างวัฒนธรรมใหม่  นอกเหนือจากนั้นคืออะไรบ้าง สังคมต้องช่วยกันหาคำอธิบายครับ ไม่อย่างนั้นแล้ว เราจะอยู่กันอย่างไร หากลูกหลานเรากลายเป็น " ขาเลาะ" กันไปหมด

การเกิดปรากฏการณ์ " เปรี้ยว" จึงไม่ใช่เพียงเรื่องของวัยรุ่นกลุ่มเล็กๆเท่านั้น  หากแต่เป็นส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งของความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพราะเมื่อพวกเขา/เธอ ใช้ชีวิตแบบ "ขาเลาะ" จะหาเงินตรามาใช้จ่ายจากไหน การหันไปสู่เส้นทางการหาเงินแบบง่ายๆก็จะทวีมากและหลากหลายมากขึ้น 

ดังนั้น หากเราพิจารณาการแสดงออกของผู้คนในสังคมไทยให้ลึกไปกว่าการก่นด่าแบบมักง่ายด้วยกรอบคิดความเป็นไทยแบบเดิมว่าคนไทย/ผู้หญิงไทย ที่ดีต้องเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ ก็จะทำให้สังคมไทยมีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาต่างๆได้หลากหลายแนวทางมากขึ้น

คงต้องบอกลุงตู่และผู้มีอำนาจในบ้านเมืองวันนี้ว่าอย่ามองปรากฏการณ์ในสังคมอย่างมักง่าย เพราะทุกอย่างมันไม่ใช่เรื่องที่จะอธิบายได้ง่ายๆแบบที่พวกท่านคิดกันหรอกครับ ไม่งั้น การรัฐประหารของท่านก็แก้ไขปัญหาได้หมดซิ  สามปีผ่านมาก็รู้อยู่แล้วว่าการใช้อำนาจแบบมักง่ายมันไม่ได้ผลหรอกครับ
 

 

 


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ติดหนี้จีนแล้วเป็นอย่างไร บทเรียนจากประเทศศรีลังกา

Posted: 04 Jul 2017 01:30 AM PDT

ศรีลังกาเป็นประเทศที่กู้ยืมจีน และเปิดให้จีนเข้าไปลงทุนสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในประเทศ แต่นอกจากพวกเขาจะได้ท่าเรือร้างๆ สนามบินที่มีไม่กี่ไฟล์ท และสิ่งก่อสร้างที่ชาวบ้านในพื้นที่ต่อต้านแล้ว ยังก่อหนี้จำนวนหลายหมื่นล้านดอลลาร์ที่ส่งผลกระทบทำให้ต้องยอมให้จีนเอาเปรียบในโครงการอื่นๆ

ที่มาภาพจาก pxhere.com

4 ก.ค. 2560 ในขณะที่จีนกำลังรุกคืบด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและโครงการพัฒนาในศรีลังกา ประชาชนชาวศรีลังกาจำนวนมากก็รู้สึกว่ารัฐบาลตัวเองกำลังขายชาติให้กับจีน

บีบีซีรายงานเรื่องนี้เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา พวกเขาระบุถึงสภาพของท่าเรือฮัมบันโตตาในทางตอนใต้ของศรีลังกาว่ามีสภาพแตกต่างจากท่าเรือของเอเชียอื่นๆ ถนนที่นำไปสู่ท่าเรือเอเชียอื่นๆ มักจะดูคึกคัก มีรถบรรทุกสินค้าผ่านไปมา มีร้านรวงเล็กๆ หลายแห่งที่คนขับรถส่งของและคนงานมักจะเข้าไปใช้บริการพักดื่มน้ำชา

แต่สภาพของท่าเรือฮัมบันโคตาที่จีนสนับสนุนการสร้างกลับเงียบเหงา ถึงแม้ว่าท่าเรือนี้จะเปิดมาเป็นเวลา 7 ปี แล้ว ถนนทางเข้าสู่ตัวท่าเรือแทบไม่มีรถเหยียบ แม้แต่คนในพื้นที่ก็บางคนก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าท่าเรือนี้อยู่ตรงไหน รถคันเดียวที่เข้าไปในวันนั้นคือรถของนักข่าว ที่ตัวท่าเรือเองก็ไม่มีใครอยู่เลยแม้แต่คนเดียวนอกจากนักข่าวบีบีซี และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ติดตามไป พวกเขาเห็นเรือบรรทุกยานพาหนะกำลังลำเลียงยานพาหนะจากบริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่ของเอเชีย แต่เรือลำถัดไปจะไม่มาจนกว่าจะพ้นไปอีกสองวัน

บีบีซีระบุว่าท่าเรือฮัมบันโตตาแห่งนี้ได้เงินกู้ยืมทุนสร้างจากจีนและสร้างโดยบริษัทจีน โดยมีบูลค่าถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 34,000 ล้านบาท) แต่ก็กลายเป็นท่าเรือที่ดูเงียบเหงาไม่มีใครมาทำธุรกิจมากพอ ประเทศศรีลังกาเองก็ดิ้นรนอย่างหนักในการหาเงินมาใช้หนี้จีนทำให้พวกเขาถูกบีบให้ลงนามในข้อตกลงที่จะให้จีนถือหุ้นท่าเรือดังกล่าวเพื่อหักหนี้บางส่วน แต่สัญญาขอถือหุ้นดังกล่าวให้จีนถึงหุ้นมากถึงร้อยละ 80

ราวี การุณานายาเก รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของศรีลังกาเปิดเผยว่าการสร้างท่าเรือนี้เป็นการกระทำที่ราคาแพงเกินกว่าจะจ่ายได้แต่ก็ไม่ได้ส่งผลดีอะไรทางเศรษฐกิจกลับมาเลยบีบให้พวกเขาต้องมองหาทางเลือก

ก่อนหน้านี้มีการวางเล็งให้ท่าเรือฮัมบันโตตาเป็นท่าเรือที่จะนำเรือมาที่ศรีลังกามากขึ้นและลดความหนาแน่นของท่าเรือโคลอมโบที่เป็นแหล่งขนส่งที่สำคัญของเอเชีย ประเทศศรีลังกาเองก็เป็นแหล่งเส้นทางขนส่งน้ำมันทางเรือจากตะวันออกกลางทำให้จีนมองว่าเป็นสาเหตุหลักที่พวกเขาจะเลือกลงทุน นอกจากนี้ยังเข้ากับโครงการ "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" (One Belt, One Road) ที่เป็นความทะเยอทะยานของจีน แต่ก็เป็นโครงการที่ทำให้เกิดข้อโต้แย้ง

บีบีซีระบุว่าสาเหตุที่ฮัมบันโตตาทำกำไรน้อยมากส่วนหนึ่งเป็นเพราะท่าเรือนี้อยู่ในที่ที่ค่อนข้างห่างไกลผู้คน ไม่มีแหล่งอุตสาหกรรมอยู่ใกล้ๆ เลย ทำให้ไม่มีผู้ใช้บริการประจำที่อยู่ใกล้ๆ แต่ในตอนนี้จีนเริ่มพยายามหารือกับรัฐบาลศรีลังกาเพื่อต้องการสร้างเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยต้องการซื้อที่ดิน 15,000 เอเคอร์เอาไว้สร้างโรงงานอุตสาหกรรมและสำนักงาน

แต่การพยายามสร้างเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของจีนก็ทำให้เกิดความขัดแย้งกับคนในท้องถิ่น เมื่อผู้อาศัยในพื้นที่ไม่ยอมยกบ้านและไร่นาของตัวเองให้ มีการประท้วงใหญ่จากชาวบ้านตั้งแต่ในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ตำรวจใช้แก็สน้ำตาและปืนน้ำยิงสลายการชุมนุมมีผู้ชุมนุมบางคนถูกจับคุมขังหลายสัปดาห์ เรื่องนี้มีแต่จะยิ่งทำให้ความโกรธแค้นไม่พอใจหนักขึ้น หนึ่งในผู้ชุมนุม เคพี อินดรานี บอกว่าพวกเขาต้องการแสดงให้เห็นว่าพวกเขาต่อต้านโครงการนี้ ไม่ใช่เพราะพวกเขาต่อต้านการพัฒนาแต่เพราะพวกเขาไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยจากการโครงการนี้

ศรีลังกาติดหนี้จีนอยู่รวม 64,000 ล้านดอลลาร์ โครงการที่มีคนประท้วงนี้เป็นโครงการที่ทำกับจีนเพื่อให้จีนลดหนี้ให้ 8,000 ล้าน โดยในตอนนี้รายได้ร้อยละ 95 ของศรีลังกาหายไปกับการชดใช้หนี้ให้จีน ส่วนหนี้จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานก็ไม่ได้ทำกำไรอะไรเลยมีแต่จะสร้างความเสียหาย

นอกจากท่าเรือเกือบร้างอย่างฮัมบันโตตาแล้ว โครงการอื่นๆ ที่จีนเข้าไปสร้างก็ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรมาก อย่างสนามบินนานาชาติที่ห่างจากฮัมบันโตตาไปเพียง 30 กม. มีเที่ยวบินออกจากสนามบินเพียงแค่ 5 ไฟล์ทต่อ 1 สัปดาห์มีผู้โดยสารขึ้นเครื่องเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ศูนย์ประชุมสุดทันสมัยก็มีการใช้งานแค่ไม่กี่ครั้ง สนามแข่งกีฬาคริกเก็ตก็มีคนเอาไว้เช่าจัดงานแต่งงานนานๆ ครั้งเท่านั้น

แต่ก็มีโครงการบางอย่างของจีนที่ใช้ได้จริงในศรีลังกา เช่นพวกโครงสร้างพื้นฐานอย่างถนนและทางหลวงที่เอื้อต่อการเดินทางข้ามเมืองทำให้การท่องเที่ยวศรีลังกาดีขึ้นโดยที่กาท่องเที่ยวศรีลังกาเป็นแหล่งรายได้อันดับแรกของประเทศ

แองเจลา มานซีนี ทีปรึกษาด้านธุรกิจและการลงทุนของรัฐบาลกล่าวว่าผลในระยะสั้นคือจะเป็นการสร้างงานให้คนศรีลังกา ส่วนผลในระยะยาวคือจะทำให้ศรีลังกาเข้าสู่ส่วนหนึ่งของระบบเส้นทางการค้าโลกที่จีนหนุนหลังอยู่

โครงการของจีนส่วนมากสร้างขึ้นในสมัยของอดีตประธานาธิบดี มหินทรา ราชปักษา เมื่อรัฐบาลใหม่ขึ้นสู่อำนาจในปี 2558 ก็มีการให้สัญญาว่าจะลดการพึ่งพาจีนลงแต่แรงกดดันทางการเงินก็บีบให้พวกเขาต้องกลับมาตามใจจีน รัฐบาลใหม่ของศรีลังกาเคยสั่งระงับโครงการใหญ่ที่จีนลงทุนอย่างการสร้างเมืองแถบชายฝั่งโคลอมโบ แต่พวกเขาก็กลับมาดำเนินโครงการต่ออีกครั้งเพราะไม่สามารถปฏิเสธเงิน 1,400 ล้านดอลลาร์ได้

แผนการของจีนต้องการเปลี่ยนชายหาดชายหาดประวัติศาสตร์ที่มีทางเดินและสวนสาธารณะทอดยาวริมหาดอย่างกัลล์เฟซให้กลายเป็นเมืองใหญ่ภายในปี 2573 ที่เต็มไปด้วยอาคารบรรษัทอวดความฟุ่มเฟือย รวมถึงอพาร์ทเมนต์ โรงแรม รีสอร์ท ห้างสรรพสินค้า และท่าจอดเรือขนาดเล็ก โครงการนี้มีผู้สร้างและผู้ที่ได้ประโยชน์ใหญ่ๆ คือ บริษัทไชนาฮาร์เบอร์เอนจิเนียร์ริงจากจีน (CHEC) ที่จะมีสิทธิเหนือที่ดิน 2 ใน 3 ที่ทำการค้าได้เป็นเวลา 99 ปี ซึ่งผู้ร่วมทำโครงการเมืองท่ามองว่าจะเป็นการกระตุ้นการลงทุนจากต่างชาติให้กับศรีลังกาได้

แต่โครงการเมืองริมหาดนี้ก็ถูกต่อต้านจากคนในพื้นที่รวมถึงกลุ่มชาวประมงที่ทำการชุมนุมประท้วง พวกเขากังวลว่าโครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยที่พวกเขาไม่เชื่อผลการศึกษาจากองค์กรของรัฐบาล นอกจากนี้ประชาชนยังกังวลว่าจีนจะเข้ามามีอิทธิพลกับศรีลังกามากขึ้น อรุณา โรจันธา ชาวประมงในพื้นที่กล่าวว่า "รัฐบาลควรจะปกป้องผืนแผ่นดินของพวกเราเอง ไม่ใช่ขายมัน"

ทางด้านรัฐบาลศรีลังกาไม่ได้มีอำนาจต่อรองมากนัก รัฐมนตรีต่างประเทศของศรีลังกาก็อ้างว่าพวกเขาต้องการให้ต่างชาติเข้าหาชาติใดก็ได้ พวกเขาจำเป็นต้องขายประเทศตัวเองโดยทำให้ "การทูตเชิงเศรษฐศาสตร์" เป็นจุดขายของศรีลังกา

 

เรียบเรียงจาก

Sri Lanka: A country trapped in debt, BBC, 26-05-2017

http://www.bbc.com/news/business-40044113

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'หมอมงคล' ค้านแก้ ก.ม.บัตรทอง อัดรัฐนำงบฯซื้ออย่างอื่นได้ แต่ซื้อสุขภาพ ปชช. ไม่ได้

Posted: 04 Jul 2017 01:06 AM PDT

'หมอมงคล' ชี้ต้นตอความขัดแย้งแก้ ก.ม.บัตรทอง เหตุรัฐบาลให้งบจำกัด ทำระบบติดขัด อัดรัฐนำงบฯซื้ออย่างอื่นได้ แต่กลับซื้อสุขภาพให้กับ ปชช. ไม่ได้ พร้อมค้านแก้ ก.ม.บัตรทอง ทั้งการแยกเงินเดือนจากงบเหมาจ่าย เพิ่มสัดส่วนผู้ให้บริการในบอร์ด สปสช. ทำลายหลักการแยกผู้ซื้อ-ผู้ขาย เท่ากับล้มหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

4 ก.ค.2560 นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ คิดเพื่อไทย TV.24 ถึงการแก้ไข พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า ขณะนี้ต่างคนต่างบอกว่าโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ล้มแน่นอน แต่หากมีการแก้ไขหลักการที่เป็นหัวใจสำคัญก็เหมือนกับการล้มไปโดยปริยาย ซึ่งหากยืนยันที่จะคงโครงการนี้ไว้ การแก้ไขกฎหมายจะต้องคงหลักการที่เป็นหัวใจสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือการแยกชัดเจนระหว่างผู้ให้บริกรรและผู้ซื้อบริการแทนประชาชน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความยุติธรรมสำหรับประชาชนที่จะได้รับบริการสุขภาพจำนวนงบประมาณที่จ่ายลงไป

นพ.มงคล กล่าวว่า หัวใจสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือเมื่อประชาชนอยู่ที่ไหนงบเหมาจ่ายรายหัวต้องกระจายไปที่นั่นรวมถึงเงินเดือนบุคลากร ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ที่กระจุกตัวในเมืองทำให้โรงพยาบาลชนบทไม่มีผู้ให้บริการ ส่งผลให้เกิดการเข้าไม่ถึงบริการ เกิดความไม่เสมอภาคในระบบบริการสุขภาพ จนกลายเป็นความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจน ดังนั้นในการจัดงบเหมาจ่ายรายหัวจึงต้องรวมเงินเดือนไดว้เพื่อให้กระจายบุคลากรทางการแพทย์ออกไปย ดังนั้นการแก้ไขกฎหมายที่ให้แยกเงินเดือนจากงบเหมาจ่ายรายหัวและรวมไว้ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สิ่งที่เกิดขึ้นบุคลากรจะขอย้ายไปอยู่ที่โรงพยาบาลใดก็ได้ ไม่ต้องกระจายไปตามประชากรและงบเหมาจ่ายรายหัวแล้ว ส่งผลปัญหาระบบอุปถัมภ์ที่มีอยู่ก็จะเพิ่มขึ้น เพราะขณะนี้แม้ว่าจะมีการรวมเงินเดือนไว้ในงบเหมาจ่ายแล้ว แต่การกระจายบุคลากรทางการแพทย์ไปตามประชากรยังทำได้ไม่ดี หากแยกเงินเดือนก็จะทำให้เกิดปัญหาย้อนกลับได้

"โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหมอสงวนได้เน้นตรงนี้มาก ประชากรอยู่ตรงไหน เงินต้องอยู่ตรงนั้น รวมถึงเงินเดือนบุคลากร จึงได้ออกแบบผูกเงินเดือนไปกับงบเหมาจ่ายรายหัวเพื่อให้คนเข้าถึงบริการได้ แต่หากแยกเงินเดือนเมื่อไหร่ สธ.ที่เป็นเจ้าของหน่วยบริการและเป็นเจ้าของเงินเดือนก็จะให้คนย้ายไปอยู่ตรงไหนก็ได้" อดีต รมว.สาธารณสุข กล่าวและว่า ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ จ.สิงห์บุรีที่มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ถึง 2 แห่ง โรงพยาบาลจังหวัด ไม่รวมโรงพยาบาลชุมชนอีก บุคลากรทางการแพทย์มีเป็นร้อยคน ขณะที่บางจังหวัดในภาคอีสานมีหมอแค่ 7 คน จึงต้องมีการบริหารจัดการเพื่อกระจายแพทย์ออกไป ซึ่งวิธีภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ดำเนินอยู่ขณะนี้ได้สร้างความเป็นธรรมที่ดีอยู่แล้ว จึงไม่รู้ว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายนี้เพื่ออะไร

นพ.มงคล กล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีการเสนอแก้ไขเพิ่มสัดส่วนผู้ให้บริการในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) นั้น หลักการสำคัญของโครงการอย่างที่กล่าวแล้วคือการแยกผู้ซื้อและผู้ให้บริการ โดยผู้ซื้อมีหน้าที่ต้องทำให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมในการรับบริการสุขภาพต่องบประมาณที่ลงไป และเมื่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่นี้ ภายใต้การตัดสินใจของบอร์ด สปสช.ที่ประกอบด้วยผู้แทนภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะตัวแทนประชาชนในฐานะผู้รับบริการ สัดส่วนของบอร์ด สปสช.จึงต้องมีความเป็นธรรม ดังนั้นเมื่อมีการลดตัวแทนภาคประชาชนในบอร์ด สปสช.และเพิ่มตัวแทนผู้ให้บริการเป็น 7 คน เท่ากับเป็นการสร้างความไม่เป็นธรรมในการลงมติ เพราะเสียงส่วนใหญ่จะตกอยู่ที่ฝ่ายผู้ให้บริการ ทั้งนี้บอร์ด สปสช.ที่เป็นผู้ซื้อบริการต้องทำหน้าที่ควบคุมการให้บริการของฝ่ายผู้ให้บริการ เมื่อยกบอร์ด สปสช.นี้ให้เป็นของฝ่ายผู้ให้บริการแล้ว การบริการสุขภาพในระบบจากนี้จะขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการกำหนดว่าจะจัดให้มากน้อยเพียงใด เท่ากับจากนี้จะไม่มีหลักประกันอะไรให้กับประชาชน

"สปสช.ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการของบอร์ด สปสช. นำมติบอร์ดไปปฏิบัติ หากต่อไปบอร์ด สปสช.มีผู้ให้บริการมากกว่าผู้แทนประชาชน การดำเนินประโยชน์ต่างๆ ภายใต้กองทุนจะเสียสมดุลและอาจจะเอนเอียงเพื่อลดความเสี่ยงในการบริหารโรงพยาบาล ทำให้ประชาชนอาจถูกริดรอนและขาดการรับบริการที่ดีได้ ขึ้นอยู่กับความเมตตาของผู้ให้บริการ นอกจากนี้ยังทำให้ขาดความเป็นกลางในการตรวจสอบได้" อดีต รมว.สาธารณสุข กล่าว

ส่วนกรณีที่ไม่มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ สปสช.ดำเนินจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ได้นั้น เนื่องจากมีการเอื้อประโยชน์ในเรื่องนี้ นพ.มงคล กล่าวว่า เรื่องนี้ที่ผ่านมาทั้ง คตร. และ สตง. ได้ตรวจสอบ สปสช.แล้ว แม้ว่าจะไม่พบการทุจริตแต่ก็ยังมีการย้ายเลขาธิการ สปสช.ขณะนั้น อย่างไรก็ตามการจัดซื้อยาของ สปสช.เพียงแค่ร้อยละ 4 ของยาทั้งหมด โดยจัดซื้อเฉพาะกลุ่มยาราคาแพงซึ่งหากไม่มีอำนาจต่อรองราคายาก็จะสูงมาก อย่างยาโดซีแทคเซลใช้รักษามะเร็ง จากราคา 4 หมื่นบาทเหลือเพียงแค่หมื่นกว่าบาทเท่านั้น เช่นเดียวกับสายสวนหัวใจ ชนิดอาบน้ำยาจาก 8 หมื่นบาท เหลือเพียง 1.2 หมื่นบาท เป็นต้น และกลุ่มยากำพร้าที่ไม่มีใครผลิตหรือนำเข้า และจากการจัดซื้อยาของ สปสช.ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ประหยัดงบประมาณจากการต่อรองราคายาได้เกือบแสนล้านบาท ซึ่งหากถามว่า สธ.จะจัดซื้อยาเช่นเดียวกับ สปสช.ได้หรือไม ที่ผ่านมา สธ.เองเคยมีปัญหาทุจริตยาจนอดีต รมว.สาธารณสุขติดคุมาแล้ว

นพ.มงคล กล่าวต่อว่า ในช่วงที่มีการผลักดันกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และต้องแยกผู้ซื้อผู้ขาย ขณะนั้นอยู่ในตำแหน่งปลัด สธ. และไม่อยากให้ตั้ง สปสช. ซึ่ง นพ.สงวน นิติยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการ สปสช.บอกว่าถ้าเช่นนั้นต้องแยกหน่วยบริการออกจาก สธ. โดยให้ สธ.ทำหน้าที่ซื้อบริการจากโรงพยาบาลแทน รวมถึงการติดตามประเมินผลการให้บริการแทน ซึ่งรัฐมนตรีสาธารณสุขขณะนั้นไม่เห็นด้วย จึงต้องตั้ง สปสช.เพื่อเดินหน้าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ต่อข้อซักถามว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถูกมองเป็นภาระรัฐบาล นพ.มงคล กล่าวว่า มี 2 คำอยากให้พิจารณ์ คือ ภาระและการลงทุน ซึ่งประเทศที่พัฒนาไปได้จะต้องลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ หากประชากรอ่อนแอประเทศก็จะพัฒนาไม่ได้ ดังนั้นการทำให้ประชากรมีสุขภาพดีทั้งกายและใจจึงถือเป็นการลงุทน โดยเราไม่ได้เน้นแต่การรักษาแต่รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ดังนั้นคนที่คิดว่าเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นภาระของประเทศ แสดงว่าคนนั้นไม่ได้ปรารถนาดีกับประเทศ

ส่วนกรณีที่มีการมุ่งเพื่อให้เกิดการร่วมจ่าย โดยยังคงรักษาฟรีกรณีผู้มีรายได้น้อยนั้น นพ.มงคล กล่าวว่า เป็นสิ่งที่เกลียดและโกรธที่สุด เพราะจะทำให้ความเป็นมนุษย์นั้นหายไป ซึ่งอยากให้ลองคิดดูว่า หากคนรายได้น้อยจะเข้ารับบริการฟรีแต่ละครั้งจะต้องคอยหันซ้ายหันขวาเพื่อยืนบัตร แล้วความรู้สึกจะเป็นอย่างไร ทั้งที่คนเหล่านี้ต่างต้องเสียภาษีให้กับรัฐบาลเช่นกัน แม้ไม่ใช่ภาษีบุคคล แต่ก็ถูกจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการซื้อสินค้า เราจึงต้องให้เกียรติความเป็นคนนี้ด้วย

อย่างไรก็ตามปัญหาความขัดแย้งในการแก้ไข กม.บัตรทองขณะนี้ ต้นตอสำคัญเกิดจากรัฐบาลที่จัดสรรงบประมาณสู่ระบบน้อยไป จนเกิดปัญหาติดขัดและขัดแย้ง ทั้งที่ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายดูแลสุขภาพประชาชนเพียงร้อบละ 4.6 ของจีดีพีเท่านั้น และเมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลอยู่ที่ร้อยละ 17 เท่านั้น ขณะที่ประเทศอื่นๆ อยู่ที่ร้อยละ 20 ดังนั้นจะบอกว่าเราใช้เงินกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามากคงไม่ได้ อีกทั้งการใช้จ่ายงบประมาณประเทศขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะให้เรื่องใดเป็นความจำเป็นสูงสุด จะนำเงินไปซื้ออย่างอื่นกี่หมื่นกี่แสนล้านบาทก็ได้ แต่กลับซื้อสุขภาพให้กับประชาชนไม่ได้ ซึ่งในช่วงที่อยู่ในรัฐบาลปฏิวัติทำให้ไม่มีคนกล้าพูดเรื่องนี้ จึงต้องมานั่งทะเลาะกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น