โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สภาเลื่อนถกงบ 57 หลัง 4 วันผ่านได้แค่ 17 มาตรา

Posted: 17 Aug 2013 10:56 AM PDT

17 ส.ค. 56 - ครอบครัวข่าวรายงานว่าหลังจากที่ประชุมใช้เวลาพิจารณาติดต่อกันแบบข้ามคืน และลงมติเห็นชอบในมาตรา 17 งบประมาณรายจ่ายของกระทรวงมหาดไทย ตามความเห็นกรรมาธิการเสียงข้างมาก นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ฐานะประธานในที่ประชุม ได้สั่งพักและเลื่อนประชุมฯ วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ 57 ออกไป เนื่องจากเห็นว่ามีการประชุมติดต่อกันหลายชั่วโมง และเพื่อให้ ส.ส.ได้ลงพื้นที่ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะมีการเรียกประชุมอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 23 ส.ค เนื่องจากในวันที่ 20 ส.ค.ได้มีการนัดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไข รธน.ในประเด็นที่มา สว.ในวาระ 2 และ 3 ซึ่งอาจยืดเยื้อไปถึงวันที่ 21 และ 22 ได้
 
ทั้งนี้ที่ประชุมสภาฯ ได้ใช้เวลาพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 57 ตั้งแต่วันที่ 14-17 ส.ค. รวมเวลากว่า 57 ชั่วโมง แต่พิจารณาได้ถึงแค่ มาตรา 17 เท่านั้นจากทั้งสิ้น 35 มาตรา 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประกาศเจตนารมณ์ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง

Posted: 17 Aug 2013 09:53 AM PDT

เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา ในงาน "พหุวัฒนธรรมกะเหรี่ยงกับสังคมไทย : วิถีชีวิตที่ปรับเปลี่ยน" ซึ่งจัดที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสนั้น ในช่วงเย็นภายหลังการประชุมหารือ ระดมความคิดเห็นตลอดสองวันที่ผ่านมา เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายชุมชนกะเหรี่ยงในประเทศไทย ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ "แนวนโยบายและแผนงานในการขับเคลื่อนฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง" ตามมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 โดยมี "ข้อตกลงที่จะนำเสนอเจตนารมณ์และข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย และกระทรวง/หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนกะเหรี่ยงได้รับทราบ และได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาของพวกเราชาวกะเหรี่ยง ทั้งในระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติการ" โดยมีทั้งสิ้น 7 ข้อ ได้แก่

1. เราชาวกะเหรี่ยงขอยืนยันว่า เราเป็นพลเมืองไทยที่จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และมุ่งรักษาสืบทอดอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงเราให้ยั่งยืนตลอดไปร่วมไปกับการพัฒนาประเทศ โดยที่รัฐจักต้องยอมรับในวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย ที่รัฐต้องปกป้อง คุ้มครอง ส่งเสริมและสนับสนุนให้คงอยู่ในประเทศไทยได้อย่างมีศักดิ์ศรีร่วมไปกับวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใดๆ

2. รัฐบาลต้องดำเนินการโดยนำมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนชาวกะเหรี่ยงอย่างจริงจัง

3. กระทรวงที่เกี่ยวข้องตามที่ระบุในมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ต้องให้ความสำคัญและเข้ามาดำเนินการอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม โดยมีแผนปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมที่ชัดเจน รวมทั้งมีการจัดตั้งกลไกติดตามการดำเนินงานเพื่อให้บังเกิดผลตามเจตนารมณ์ของมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว

4. กระทรวงศึกษาธิการจักต้องผลักดันให้มีการนำหลักสูตรวิถีวัฒนธรรมและภาษาของชาวกะเหรี่ยง บูรณาการเข้าสู่การเรียนการสอนของสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในชุมชนกะเหรี่ยงตามที่ระบุในมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว

5. รัฐบาลต้องส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการสร้างความเข้มแข็งให้กับชาวกะเหรี่ยง โดยการจัดตั้งคณะกรรมการหรือกลไกอื่นใดในการขับเคลื่อนงานการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงในทุกระดับตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาความเข้มแข็งขององค์กรและเครือข่ายชาวกะเหรี่ยงเพื่อให้สามารถจัดการวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

6. ระหว่างการดำเนินงานฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องยุติการจับกุม ข่มขู่ และคุกคามชาวกะเหรี่ยงที่อยู่อาศัยและประกอบอาชีพในที่ดินที่ทางราชการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ทับซ้อน นอกจากนี้ รัฐจำเป็นต้องมีมาตรการที่จะให้ความคุ้มครองกับวิถีการทำมาหากินตามจารีตประเพณีของชาวกะเหรี่ยงบนพื้นฐานของหลักการเรื่องสิทธิมนุษยชนและหลักสิทธิมนุษยชนสากล

7.เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายชุมชนกะเหรี่ยงในประเทศไทย ขอยืนยันที่จะร่วมแรงร่วมใจในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ซึ่งรวมถึงการดูแลรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของชุมชนชาวกะเหรี่ยง โดยเน้นกระบวนการการมีส่วนร่วม ทั้งร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมปฏิบัติการและร่วมประเมินผลกับหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนองค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังและต่อเนื่องจนกว่าปัญหาและข้อเรียกร้องของชาวกะเหรี่ยงจะได้รับการแก้ไขและตอบสนองให้ลุล่วงไป อันนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชนและวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงและสังคมไทยโดยรวมสืบไป

โดยกิจกรรมในวันสุดท้ายคือวันที่ 18 ส.ค. ตั้งแต่เวลา 9.00 น. จะมีการพิธีผูกข้อมือประจำปีกะเหรี่ยง โดยผู้อาวุโสชาวกะเหรี่ยงและเครือข่ายชาวกะเหรี่ยงทั่วประเทศไทย และหลังการผูกข้อมือจะมีการแสดงไปจนถึงเวลา 16.00 น.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดใจญาติเหยื่อรายที่ 15 ความรุนแรงที่บ้านปุลากาซิง ปัตตานี

Posted: 17 Aug 2013 09:20 AM PDT

อับดุลรอฟา ปูแทน เหยื่อความรุนแรงรายที่ 15 แห่งบ้านปุลากาซิง ญาติเผยเป็นคนที่ชาวบ้านเคารพและเป็นรายที่ 3 ของครอบครัว หัวหน้าทหารพรานระบุสาเหตุ 2 ประเด็น คือการเมืองท้องถิ่นและความไม่สงบ

 

รายที่ 15 ของหมู่บ้าน - นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี มอบเงินช่วยเหลือจำนวนหนึ่งแก่ญาติของนายอับดุลรอฟา ปูแทน ที่ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตเป็นรายที่ 15 ของหมู่บ้านปูลากาซิง ต.กอลำ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี

"ผมไม่สามารถอธิบายความรู้สึกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ เพราะปีนี้ผมสูญเสียญาติไป 3 คนแล้ว" คำพูดช่วงหนึ่งของญาตินายอับดุลรอฟา ปูแทน ที่ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2556 เป็นรายที่ 15 ของหมู่บ้านปูลากาซิง ต.กอลำ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี

ญาตินายอับดุลรอฟาคนเดิมให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ หลังเกิดเหตุดังกล่าวในวันถัดมาว่า คนในครอบครัวทั้ง 3 คนที่ถูกยิงเสียชีวิต คือ 1.นายตอเล็ก ปูแทน หลานของนายอับุดลรอฟา ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตเมื่อเดือนเมษายน 2556 รายที่ 2.นายอิสมาแอ ปาโอ๊ะมานิ้ น้าชายของนายอับุดลรอฟา ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2556 และรายที่ 3 คือนายอับุดลรอฟา

ญาตินายอับดุลรอฟาคนเดิม เล่าถึงภูมิหลังของนายอับดุลรอฟาว่า เคยเป็นครูสอนวิชาสังคมศึกษาที่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ อ.เมือง จ.ยะลา ประมาณ 10 กว่าปี จากนั้นมาเล่นการเมืองท้องถิ่เป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (สจ.)ปัตตานี 3 สมัย เป็นประธานชมรมโรงเรียนตาดีกา อ.ยะรัง ขณะเดียวกันยังเป็นประธานสภาวัฒนธรรม อ.ยะรัง

ที่สำคัญนายอับดุลรอฟา เคยถูกดำเนินคดีความมั่นคง 3 คดี แต่ศาลพิพากษายกฟ้องทั้งหมด

ต่อเมื่อปี 2554 นายอับดุลรอฟาได้เปิดโรงเรียนปฏิบัติธรรมมูลนิธิ เป็นโรงเรียนระดับอนุบาล ตั้งอยู่ที่บ้านปูลากาซิง และมีแผนที่จะขยายจนถึงระดับประถมศึกษา ปัจจุบันนี้มีนักเรียน 282 คน

ญาติคนเดิมเล่าด้วยว่า เหตุยิงนายอับดุลรอฟาครั้งนี้ ชาวบ้านในพื้นที่รู้ดีว่าใครฝีมือของใครแต่ชาวบ้านไม่อยากพูด กลัวจะไม่ปลอดภัย

"เขาเป็นคนที่มีบทบาทในหมู่บ้าน เป็นคนที่สามารถประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ได้ ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน ซึ่งทำให้มีคนบางกลุ่มไม่พอใจ เพราะการที่เขามีบทบาทดังกล่าวและคนในหมู่บ้านเองก็ให้ความเคารพนับถืออย่างมาก ทำให้หน่วยงานรัฐบางหน่วยงานมองว่า เขาเป็นสมาชิกฝ่ายการเมืองของขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่" ญาตินายอับดุลรอฟา ระบุ

ในวันเดียวกัน ได้มีญาติของนายอับดุลรอฟา รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ มาเยี่ยมและให้ความช่วยเหลือ เช่น นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ที่มอบเงินช่วยเหลือจำนวนหนึ่ง เป็นต้น

ด้าน พ.อ.บุญสิน พาดกลาง ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 22 (ผบ.ฉก.22) ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ อ.ยะรัง เปิดเผยว่า เหตุยิงนายอับดุลรอฟา เจ้าหน้าที่สันนิษฐานไว้ 2 ประเด็น คือความขัดแย้งทางการเมืองท้องถิ่น เนื่องจากผู้ตายกำลังเตรียมลงสมัครนายกองค์การบริหารส่วนตำบลกอลำ  ที่จะมีการเลือกตั้งในอีกไม่กี่เดือนนี้ และประเด็นการก่อเหตุไม่สงบ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จะต้องรอผลการตรวจปลอกกระสุนที่เก็บได้ในที่เกิดเหตุก่อน

ส่วนความคืบหน้าของคดีนั้น พนักงานสืบสวนและสอบสวนสถานีตำรวจภูธรยะรัง กำลังตรวจสอบภาพในกล้องวงจรปิด เพื่อติดตามลักษณะรถยนต์ที่คนร้ายใช้ก่อเหตุ โดยเจ้าหน้าที่เชื่อว่าคนร้ายเป็นคนในพื้นที่ ซึ่งปลอกกระสุนปืนที่พบในที่เกิดเหตุเป็นชนิด AK จำนวน 2 ปลอกและชนิด M16 จำนวน 26

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มีผู้ยิงอาวุธปืนใส่บ้านพัก บก.โพสต์ทูเดย์ พร้อมแขวนระเบิดขู่

Posted: 17 Aug 2013 08:55 AM PDT

คนร้ายใช้ปืนยิงบ้านบรรณาธิการบริหารโพสต์ทูเดย์ โดยไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ด้านนายกสมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเชื่อว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นการคุกคามจากการทำหน้าที่สื่อมวลชน และสมาคมจะออกแถลงการณ์เพื่อประฌามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ รายงานวันนี้ (17 ส.ค.) ว่า เมื่อเวลา 5.00 น. ที่ผ่านมา ได้มีผู้ใช้อาวุธปืนยิงใส่บริเวณใกล้บ้านพักของนายภัทระ คำพิทักษ์ บรรณาธิการบริหาร นสพ.โพสต์ทูเดย์ อ.เมือง จ.นนทบุรี  โดยไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ

ทั้งนี้นายสราวุฒิ  พูลเกิด เจ้าของบ้านที่อยู่ติดกัน ระบุว่า ได้ยินเสียงดัง ในช่วงเวลาราว 3.00 - 5.00 น. แต่ไม่ได้คิดอะไร มาตื่นอีกครั้งเวลา หกโมงเช้า  พบว่ารถยนต์ของตนถูกยิง โดยรอยกระสุนทะลุจากประตูบ้านที่เป็นสแตนเลสเข้ามายังประตูท้ายรถ ทำให้หน้ารถ กระจกแตกเสียหาย จึงได้แจ้งตำรวจ

เมื่อตำรวจได้มาตรวจสอบ ยังพบว่าได้มีผู้แขวนระเบิดลูกเกลี้ยงแบบ V40 ไว้ที่หน้าบ้าน หน่วยเก็บกู้ระเบิดตรวจสอบพบระเบิดนี้มีแต่โลหะห่อหุ้ม ไม่มีสารระเบิด โดยเจ้าหน้าที่จะไปตรวจสอบว่าที่มาของระเบิดมาจากแหล่งใด แต่เชื่อว่าเป็นการข่มขู่ เพราะไม่สามารถระเบิดได้

ทั้งนี้นายสราวุฒิ กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นวิศวกรที่บริษัทยูไอเอช ไม่ได้มีเรื่องขัดแย้งใคร แต่ในพื้นที่บ้านหลังนี้ มีบ้านสามหลังเรียงติดกันอยู่ภายในรั้วเดียวกัน  ติดกับบ้านของเขาก็เป็นบ้านของนายภัทระ ส่วนอีกหลังเป็นของญาติตน อย่างไรก็ตาม ที่บ้านตนจะใช้รับส่งนสพ.โพสต์ทูเดย์ทุกวัน

พ.ต.อ.สุรพงษ์ ถนอมจิตร รอง ผบก.ภ.จว.นนทบุรี กล่าวว่า ได้สอบถามนายภัทระเชื่อว่า สาเหตุการยิงครั้งนี้ มาจากการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนที่ตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล กลุ่มการเมือง

โพสต์ทูเดย์รายงานด้วยว่า นายภัทระระบุว่า หลังเกิดเหตุดังกล่าว ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาจัดสายตรวจมาเป็นพิเศษและติดตู้สายตรวจไว้ที่หน้าบ้านให้ นอกจากนี้นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้เดินทางมาให้กำลังใจนายภัทระที่บ้านพักด้วย โดยเชื่อว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นการคุกคามจากการทำหน้าที่สื่อมวลชน และสมาคมนักข่าวจะไปออกแถลงการณ์เพื่อประฌามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และต้องการให้ตำรวจนำคนร้ายมาดำเนินคดี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เจ้านายเก่ามือฆ่าเอกยุทธ แสดงความบริสุทธิ์ใจเข้าพบ ผบช.น.ยันไม่เกี่ยวคดี

Posted: 17 Aug 2013 08:07 AM PDT

เจ้าของบริษัทผลิตเครื่องประมวลผลคอมพิวเตอร์ เข้าพบ ผบช.น. ปฏิเสธไม่เกี่ยวข้องจ้างฆ่า "เอกยุทธ" หลังถูกพาดพิง เตรียมฟ้องผู้ที่พาดพิงให้ได้รับความเสียหายด้วย ด้าน ผบช.น.วอน "ทนายสุวัตร" เข้าให้ข้อมูลตำรวจ "นพดล" เผยเตรียมฟ้อง "สุวัตร-อัจฉรา" กล่าวหา "ทักษิณ" พัวพันจ้างฆ่าลั่นดำเนินการเอาผิดถึงที่สุด

 
ผบช.น.วอน ทนายเอกยุทธ เข้าให้ข้อมูลตำรวจ
 
17 ส.ค. 56 - เนชั่นทันข่าวรายงานว่า พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เรียกร้องให้ นายสุวัตร อภัยภักดิ์ อดีตทนายความของ นายเอกยุทธ อัญชันบุตร เข้าให้ข้อมูลกับทางพนักงานสอบสวน เกี่ยวกับคดีด้วยตนเอง หากมีข้อมูล และพยานหลักฐาน ยืนยัน ตำรวจพร้อมดำเนินการสืบสวนคดีอย่างตรงไปตรงมา โดยระบุว่า การแถลงข่าวและอ้างถึง นายสมชาย เป็นคนจ้างวานฆ่านั้น หากมีข้อมูลขอให้นำมามอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ อย่าพูดผ่านสื่ออย่างเดียวเพราะไม่มีหลักฐาน อีกทั้งที่ผ่านมา ทางพนักงานสอบสวนได้พยายามสอบปากคำ นายสันติภาพ เพ็งด้วง หรือ บอล ผู้ต้องหาแล้ว ซึ่งให้การรับสารภาพ
 
กก.สิทธิแย้งกันเอง ชี้สรุปมั่ว คดีเอกยุทธมีแต่เดา
 
ด้านข่าวสดรายงานว่าเมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด กรรมการสิทธิมนุษยชนฯ กล่าวถึงคดีนายเอกยุทธว่า กรรมการสิทธิฯทั้งหมดมีอยู่ 7 คน แบ่งหน้าที่รับผิดชอบกันตามลักษณะงาน โดยตนเป็นประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบสิทธิกระบวนการยุติธรรม คดีฆาตกรรมนายเอกยุทธจึงอยู่ในความรับผิดชอบของตน ที่ผ่านมาตนติดตามการทำงานของตำรวจมาตั้งแต่ตอนที่นายเอกยุทธหายตัวไป จนกระทั่งจับกุมคนร้ายได้ทั้งหมด ไม่พบว่ามีสิ่งผิดปกติ เพราะคดีนี้นครบาลให้ความสำคัญ มีพล.ต.ต.อนุชัย เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน เช่นเดียวกับผบ.ตร.ก็มอบหมายให้พล.ต.อ. ปานศิริ ประภาวัต รองผบ.ตร.เข้ามาควบคุมการสืบสวนสอบสวนอีกชั้นหนึ่ง
 
"ผมติดตามการทำงานของตำรวจมาโดยตลอด เพราะทราบว่าสังคมตั้งข้อสงสัยเรื่องการเสียชีวิตของนายเอกยุทธ แต่การทำงานของตำรวจก็เป็นขั้นเป็นตอน ไม่ทิ้งขว้าง ไม่ละเลย มีพยานหลักฐานแน่นหนา และก็ยังไม่พบว่ามีผู้ร้องเรียนถึงความไม่ชอบมาพากลของตำรวจเลย" พล.ต.อ.วันชัยกล่าว และว่า กระทั่งเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ามีคนกลุ่มหนึ่งกับกรรมการสิทธิฯฝ่ายหนึ่งลงไปตรวจสอบพื้นที่จุดฝังศพ นายเอกยุทธที่ภาคใต้ ถือว่าก้าวก่ายการทำงานของตำรวจ ต่อมาเมื่อ 2-3 วันก่อนก็ยังออกมาแถลงว่าคดีเอกยุทธเป็นฝีมือคนมีสีบ้าง ตายด้วยกระบวนท่า พิเศษบ้าง
 
กรรมการสิทธิฯกล่าวต่อว่า ต้องถามว่าการที่กลุ่มคน 2-3 คนลงไปตรวจที่เกิดเหตุเอง มีการกลั่นกรอง เป็นการตรวจพิสูจน์ที่ถ่องแท้หรือไม่ แต่กลับมานั่งแถลงโดยใช้การคาดคะเน คาดเดาว่าจะต้องไปอย่างนั้นอย่างนี้ ความจริงแล้วหากคนกลุ่มนี้มีข้อมูลหลักฐาน หรือมีข้อสงสัยก็ควรส่งให้ตำรวจตรวจสอบเพิ่ม เพราะความจริงคดีนี้ยังไม่ได้สรุปสำนวน ยังไม่ได้ปิดคดี นอกจากนี้ยังมีการบวนการ อื่นๆ อีก เช่น อัยการที่ต้องกลั่นกรองสำนวนว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ ยังมีศาลที่ต้องไต่สวนให้ความยุติธรรมกับทั้งผู้เสียหายและจำเลย
 
"กลุ่ม คน 2-3 คนไปดูที่เกิดเหตุกันเอง แล้วก็มีคาดเดากันกันไปต่างๆ นานา แบบนี้จะเกิดความวุ่นวาย กระทบต่อกระบวนการยุติธรรมโดยรวม เพราะในชั้นของพนักงานสอบสวนนั้น ตำรวจทำงานกันเป็นคณะ มีทุกหน่วยงานร่วมทั้งพฐ. นิติเวช นิติวิทยาศาสตร์ การทำสำนวนก็เป็นไปตามความเห็นของรูปแบบคณะกรรมการ ไม่ใช่ทำตามความเห็นส่วนตัว อีกทั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบสิทธิกระบวนการยุติธรรม ก็ติดตามคดีนี้มาโดยตลอด ก็พบว่าการทำงานของตำรวจน่าเชื่อถือ" พล.ต.อ.วันชัยกล่าว
 
คุกแฉทีมฆ่า"เอกยุทธ" ไม่เคยให้ทนายสุวัตรเข้าเยี่ยม
 
ด้านเดลินิวส์รายงานเมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า รายงานข่าวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ระบุถึงกรณีที่ นายสุวัตร  อภัยภักดิ์  ทนายความนายเอกยุทธ อัญชันบุตร ออกมาเปิดเผยว่าส่งทีมทนายเข้าพบกับนายสันติภาพ เพ็งด้วง หรือบอล ผู้ต้องหาฆ่านายเอกยุทธ และมีการให้ข้อมูลใหม่กับทีมทนายโดยกลับคำให้การว่าไม่ได้เป็นผู้ลงมือฆ่านายเอกยุทธ แต่คนมีสีเป็นผู้ลงมือนั้น 
 
จากการตรวจสอบรายละเอียดการเข้าเยี่ยมนายสันติภาพพบว่า มีทีมทนายติดต่อเข้าเยี่ยมนายสันติภาพจริง แต่นายสันติภาพไม่อนุญาตให้เข้าเยี่ยม  ซึ่งถือเป็นสิทธิผู้ต้องขังว่าจะสมัครใจให้บุคคลใดเข้าเยี่ยมได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามกับนายสันติภาพระบุว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ตำรวจออกมาเปิดเผย ไม่ได้มีการกลับคำให้การ สำหรับสภาพความเป็นอยู่ภายในเรือนจำของนายสันติภาพเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีปัญหา และปลอดภัย
 
 
เจ้านายเก่ามือฆ่าเอกยุทธ แสดงความบริสุทธิ์ใจเข้าพบ ผบช.น.ยันไม่เกี่ยวคดี
 
มติชนออนไลน์รายงานว่าเมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 17 สิงหาคม นายสมชาย จิตปรีดากร กรรมการบริษัท ทรีวิว จำกัด และทีมทนายความ เดินทางเข้าพบ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. เเละ พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รอง ผบช.น. เพื่อเเสดงความบริสุทธิ์ใจ ภายหลังจากที่ถูกนายสุวัตร อภัยภักดิ์ อดีตทนายความนายเอกยุทธ อัญชันบุตร กล่าวหาว่าเป็นเจ้านายเก่าของนายสันติภาพ เพ็งด้วง หรือบอล รวมทั้งมีส่วนพัวพันและจ้างวานนายสันติภาพและคนมีสีให้ฆ่านายเอกยุทธ เป็นจำนวนเงิน 3 ล้านบาท
 
พล.ต.ท.คำรณวิทย์ กล่าวว่า หลังจากที่เมื่อช่วงเช้าของวันที่นายสุวัตรได้ยื่นหนังสือมาถึงตน และตั้งข้อสังเกตไว้ 5 ข้อ พร้อมมีการระบุชื่อว่าใครมีส่วนในการจ้างวานฆ่า รวมทั้งระบุยอดเงิน 3 ล้านบาทนั้น ทำให้ตนต้องรีบดำเนินการโดยเร็ว นั่นคือตั้งกรรมการขึ้นมา โดยให้กองสืบกระทำการสืบสวนหาข้อเท็จจริงไปตามอำนาจหน้าที่ โดยตนได้จำกัดระยะเวลาเพื่อขอทราบผลภายในวันที่ 25 สิงหาคม แต่ขณะเดียวกันวันนี้และตอนนี้นายสมชาย ซึ่งมีชื่อพัวพันอยู่ด้วยได้ติดต่อขอเข้าพบพนักงานสอบสวน ซึ่งตรงนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
 
พล.ต.ต.อนุชัย  กล่าวว่า วันนี้นายสมชายต้องการมาแสดงความบริสุทธิ์ทั้งกับพล.ต.ท.คำรณวิทย์ และตน โดยยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น กับการที่ติดต่อว่าคนมีสีได้จ้างวานให้นายบอลฆ่านายเอกยุทธ และหากนายสมชายพร้อมเมื่อไหร่ ทางตนจะทำการบันทึกปากคำไว้ในฐานะเป็นผู้ให้การ
 
ด้านนายสมชาย กล่าวว่า  สิ่งที่ตนได้อ่านจากทางหนังสือและทางเว็บไซต์ข่าวที่ได้ลงไปหมดนั้นไม่จริงทั้งสิ้น เรามีความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ตนรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ร้ายแรงและทำให้เสียชื่ออย่างมาก โดยยอมรับว่านายสันติภาพเคยมาสมัครทำงานที่บริษัท ซึ่งทำอยู่ประมาณ 1 เดือน ก่อนจะลาออกไป ส่วนสาเหตุที่ทำให้นายบอลกล่าวอ้างถึงตนนั้น ตนก็ไม่ทราบจริงๆ เพราะส่วนตัวแล้วมักจะทำงานอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก และมีเดินทางค้าขายในเมืองจีนบ้าง ซึ่งภายใน 1 ปี ตนจะกลับมาเมืองไทยเพียง 3-4 ครั้งเท่านั้น อีกทั้งไม่เคยทำงานร่วมกับนายสันติภาพมาก่อนเลย
 
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่านายสมชายรู้จักกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือไม่นั้น นายสมชายกล่าวว่า ตนรู้จักพ.ต.ท.ทักษิณตามสื่อหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และการรับข่าวสารทั่วๆ ไป แต่ไม่ได้รู้จักหรือสนิทเป็นการส่วนตัว และไม่เคยทำธุรกิจร่วมกันแต่อย่างใด
 
เมื่อถูกถามว่าเคยพบกับพ.ต.ท.ทักษิณบ้างหรือไม่ นายสมชายก็ยืนยันคำเดิมว่าพบเจอเพียงในสื่อหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์เท่านั้น ซึ่งตนยังสงสัยว่านายเอกยุทธเป็นใคร เพราะไม่เคยรู้จักมาก่อน
 
ต่อข้อซักถามที่นายสันติภาพเข้ามาสมัครทำงานกับนายสมชายในตำแหน่งอะไร นายสมชาย กล่าวว่า เป็นตำแหน่งคนขับรถให้ผู้จัดการฝ่ายการเงินที่บริษัท ซึ่งไม่ได้ใกล้ชิดกับตนหรือมีเหตุให้ต้องเกี่ยวข้องพัวพันกันแม้แต่น้อย
 
ผู้สื่อข่าวถามถึงที่มีการพาดพิงว่านายสันติภาพบอกว่าเคยติดตามนายสมชายเข้าไปในพรรคเพื่อไทยนั้น นายสมชายยืนยันว่า ไม่มีเด็ดขาด เนื่องจากตนไม่เคยไปไหนมาไหนและไม่เคยใช้งานนายสันติภาพมาก่อนดังที่กล่าวไปแล้ว
 
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าหลังจากมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้สอบถามไปยังผู้จัดการฝ่ายการเงินที่เป็นเจ้านายเก่าของนายสันติภาพถึงสาเหตุที่นายสันติภาพลาออกไปหรือไม่ นายสมชายว่าได้สอบถามไปแล้ว หลังจากเดินทางกลับจากประเทศจีนเมื่อคืน (16 สิงหาคม) โดยโทรศัพท์ไปสอบถามได้ความว่านายสันติภาพอ้างว่าเงินเดือนได้น้อย อยากทำงานที่อื่นซึ่งได้เงินมากกว่า แต่ตนไม่ได้ถามถึงพฤติกรรมระหว่างที่นายสันติภาพทำงานกับผู้จัดการฝ่ายการเงินแต่อย่างไร และตนก็ไม่รู้จักว่านายสุวัตรคือใคร
 
ทั้งนี้ ทางทีมทนายของนายสมชายจะเตรียมรวบรวมเอกสารในการฟ้องร้องต่อไปอีกชั้นหนึ่ง ส่วนจะฟ้องผู้ใดบ้างนั้น และในข้อหาอะไรนั้น จะพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
 
 
"ทักษิณ" ส่งทนายฟ้อง "สุวัตร-อัจฉรา" กล่าวหาพัวพันจ้างฆ่า "เอกยุทธ" ลั่นดำเนินการเอาผิดถึงที่สุด
 
เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่าเมื่อวันที่ 17 ส.ค.นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่นายสุวัตร อภัยภักดิ์ อดีตทนายความนายแอกยุทธ อัญชันบุตร และน.ส.อัจฉรา แสงขาว ทนายความกลุ่มพันธมิตรฯ ร่วมแถลงข่าวว่านายสันติภาพ หรือบอล เพ็งด้วง ให้การว่านายสมชาย จิตปรีดากร เป็นคนสนิท พ.ต.ท.ทักษิณ และเป็นผู้ว่าจ้างให้นายบอลไปฆ่านายเอกยุทธ ล้วนเป็นความเท็จทั้งสิ้น เป็นการบิดเบือนใส่ร้ายโดยใช้จินตนาการของนายสุวัตร และน.ส.อัจฉรา เพื่อใส่ร้าย พ.ต.ท.ทักษิณ หวังให้คนเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังการสังหารนายเอกยุทธ ซึ่งข้อย้ำว่าเป็นความเท็จ และเป็นเรื่องที่น่าละอายเป็นอย่างยิ่ง ที่ใช้ความเท็จมาทำลายคนอื่น เพื่อหวังผลทางการเมือง
 
"ผมขอเรียนว่านายสมชาย ไม่ใช่คนสนิทของ พ.ต.ท.ทักษิณ เพียงแต่เคยเห็นกันในต่างประเทศ เพราะนายสมชายเป็นคนไทยที่ไปอยู่ในสหรัฐอเมริกา และมีกิจการขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกไปทั่วโลก พ.ต.ท.ทักษิณไม่เคยสั่งการหรือขอให้นายสมชายไปฆ่านายเอกยุทธ นายสมชายเป็นคนที่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง ประกอบอาชีพสุจริต และไม่มีเหตุขัดแย้งกับนายเอกยุทธ ผมได้ขอให้ทีมทนายไปดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ เอาผิดกับนายสุวัตร และน.ส.อัจฉรา และทราบว่านายสมชาย ก็จะไปแจ้งความดำเนินการเอาผิดจนถึงที่สุด โดยจะไม่มีการยอมความใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อไม่ให้เป็นแบบอย่างที่เลวในสังคมไทย" นายนพดล กล่าว.
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เบโธเฟน : เงาสะท้อนของคีตกวีและดนตรีบนการเมือง

Posted: 17 Aug 2013 07:52 AM PDT

 
"There are and always will be thousands of princes, but there is only one Beethoven!" 
― Ludwig van Beethoven 
 
มีเจ้าชายเป็นพัน ๆ หมื่นๆ พระองค์ แต่มีเบโธเฟนเพียงคนเดียว!
        -ลุดวิก ฟาน เบโธเฟน

ผู้เขียนเชื่อว่าคีตกวีที่โลกมักกล่าวถึงด้วยความเคารพและชื่นชอบมากที่สุดในโลกก็คงไม่พ้นลุดวิก ฟาน เบโธเฟน อาจมีคนนำชื่อวุฟกัง อะมาดิอุส โมซาร์ตมาแย้ง ซึ่งก็ไม่ผิดในระดับหนึ่งเพราะทั้งเบโธเฟนและ   โมซาร์ตต่างยิ่งใหญ่และมีดนตรีที่ซับซ้อนในยุคของตัวเอง โมซาร์ตนั้นได้รับความชื่นชมในเรื่องของการเป็นเด็กอัจริยะของเขา (Child prodigy) ที่สามารถสร้างสรรค์ดนตรีที่ประณีตงดงามในยุคคลาสสิกจนกลายเป็นมรดกชิ้นสำคัญของอารยธรรมตะวันตก นอกจากนี้ยังส่งผลถึงความนิยมของชนชั้นกลางในปัจจุบันที่คิดว่าการเปิดเพลงของโมซาร์ตแก่ลูกในท้องหรือตอนเป็นทารกจะทำให้เป็นเด็กฉลาด แต่สำหรับเบโธเฟนซึ่งเคยเรียนดนตรีกับโมซาร์ตมาเพียงชั่วสั้นๆ ได้เบิกทางดนตรีคลาสสิกไปสู่ยุคโรแมนติกอันจะส่งอิทธิพลถึงคีตกวีคนดังอื่นๆ อีกมากมายยิ่งกว่าโมซาร์ต ที่สำคัญงานของเบโธเฟนหลายชิ้นถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองกว่า 2 ศตวรรษที่ผ่านอันตั้งอยู่บนอุดมการณ์ที่แตกต่างกันอย่างไม่น่าเชื่อเช่นเดียวกับภาพลักษณ์และชีวประวัติของเขาซึ่งถูกเล่าสืบกันมาจนหลายครั้งเหมือนตำนานที่จะมาเสริมสร้างการโฆษณาชวนเชื่อแนวคิดทางการเมืองของทั่วโลกในแต่ละยุค

ประวัติโดยย่อของเบโธเฟน

ลุดวิก ฟาน เบโธเฟนได้รับศีลจุ่มเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 1770 ที่กรุงบอนน์ เมืองหลวงเก่าของเยอรมันตะวันตก เขาได้เป็นนักเล่นออร์แกนประจำสำนักของเจ้าชายแม็คซิมิลาน ฟรานซ์ เจ้าครองนครโคโลจน์ ด้วยอายุเพียง 14 ปี ต่อมาเจ้าชายแมกซิแลนได้ส่งเขาไปยังกรุงเวียนนาในปี 1787 เพื่อจะเรียนดนตรีเพิ่มเติมกับโมซาร์ต มีตำนานว่าโมซาร์ตได้พบกับเบโธเฟนและได้กล่าวกับเพื่อนว่า "อย่าลืมชื่อของเขา คุณจะได้ยินคนพูดถึงอยู่เสมอ"  แต่ไม่นานนักเบโธเฟนก็ต้องกลับไปที่บ้านเกิดเพื่อดูใจคุณแม่เป็นครั้งสุด ในปี 1792 เบโธเฟนได้กลับไปกรุงเวียนนาอีกครั้งเพื่อรับทุนการศึกษาเป็นเวลา 2 ปีโดยเจ้าชายองค์หนึ่งที่กรุงเวียนนา อาจารย์ของเบโธเฟนที่ชื่อเสียงโด่งดังคือฟรานซ์ โจเซฟ ไฮเดิน แต่ทั้ง 2 ได้แตกคอกันในภายหลัง นอกจากนี้เขายังศึกษาดนตรีกับอัลเบรชส์ เบอร์เกอร์และอันโตนิโอ สเลียเย่

จากนั้นเบโธเฟนเริ่มเขียนงานและออกแสดงเป็นครั้งแรกในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 จนมีชื่อเสียงและได้รับความนิยมชื่นชมจากชนชั้นสูงของกรุงเวียนนา ในปี 1801 เขาเริ่มรู้สึกถึงปัญหาที่นำไปสู่อาการหูหนวกถาวรในที่สุดแต่เขาก็ใช้พรสวรรค์ในการแต่งเพลงจากความจำในหัวของตัวเองจนสำเร็จไปได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้เบโธเฟนได้รับการอุปถัมภ์ทางการเงินจากเพื่อนที่เป็นจ้าชายและขุนนางทำให้เขากลายเป็นนักประพันธ์เพลงที่เป็นไทแก่ตนเป็นคนแรก ก่อนหน้านี้ทั้งนักดนตรีและนักประพันธ์เพลง แม้แต่บาค  โมซาร์ต และไฮเดิน เป็นเหมือนกับคนใช้ในบ้านของครอบครัวชนชั้นขุนนางที่ร่ำรวย เบโธเฟนจึงมีสิทธิที่จะเขียนเพลงได้ตามใจไม่ต้องฟังคำบัญชาของใครอีกต่อไป หลังจากผลิตผลงานอันโด่งดังไปทั่วยุโรปมากมาย เบโธเฟนถึงแก่กรรมในวันที่ 26 มีนาคม 1827 ที่กรุงเวียนนารวมสิริอายุ 56 ปี  5 เดือนเศษ

อุปนิสัยและตัวตนของเบโธเฟน

อุปนิสัยของเบโธเฟนเป็นสิ่งสำคัญเพราะได้ถูกนำมาเล่าขานและผลิตซ้ำจนกลายเป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของการที่บุคคลธรรมดาถูกอุปโลกน์ให้เป็นเทพของวัฒนธรรมตะวันตก แม้ว่าไม่ต้องสงสัยในความเป็นอัจฉริยะทางดนตรี แต่ตามความจริงแล้วเบโธเฟนคือความขัดแย้งระหว่างผลงานและอุปนิสัยหลายอย่าง แม้ดนตรีของเขาจะประณีตและอลังการ แต่นิสัยส่วนหนึ่งของเขาจะเป็นคนไม่มีระเบียบ ไม่เอาใจใส่ในชีวิตความเป็นอยู่นัก  แม้ดนตรีของเขาหลายชิ้นจะกล่าวถึงเสรีภาพหรือความรักระหว่างเพื่อนมนุษย์ แต่เขาเป็นคนโมโหร้าย อัตตาสูง มองเพื่อนมนุษย์ในแง่ลบ เบโธเฟนยังได้รับการสันนิฐานว่าป่วยเป็นโรคอารมณ์อารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) อันส่งผลให้ดนตรีของเขามีจังหวะทั้งช้าและเร็วสลับกันไป กระนั้นคนในยุคหลังได้พยายามสร้างตัวตนของเบโธเฟนเสียใหม่โดยเน้นไปที่ความเข้มแข็งทางจิตใจของเบโธเฟนภายหลังจากเคยคิดจะฆ่าตัวตายเพราะความกดดันจากอาการความผิดปกติทางหู (ผ่านจดหมายที่เขาตั้งใจจะเขียนให้กับน้องชายคือ Heilingenstadt Testament) ตัวอย่างได้แก่ริชาร์ด  วาคเนอร์ผู้ประพันธ์อุปรากรและนักปรัชญาชื่อดังคือฟริดริค นิตเช่ ซึ่งนิยมชมชอบเบโธเฟนได้ขยายตัวตนของเขาให้เป็นนักปราชญ์ผู้มีความลุ่มลึกทางปัญญาและจิตวิญญาณ แม้ว่าเบโธเฟน ศึกษาดนตรีและงานเขียนทางปรัชญาของนักปรัชญาและกวีคนสำคัญไม่ว่าอิมมานูเอล คานท์  ฟริดริช ชิลเลอร์ โยฮันน์ วุฟกัง ฟอน เกอเธ่ แต่ก็ยังไม่หลักฐานชัดเจนว่าเบโธเฟนได้ซึมซับเอาแนวคิดเหล่านั้นมาใช้กับงานของตัวเองมากน้อยเพียงใด เว้นแต่ซิมโฟนีหมายเลข 9

สำหรับนักปกครองและนักคิดหัวเอียงขวาในเยอรมันยุคอาณาจักรไรซ์ที่ 2 และสาธารณรัฐไวมาร์พยายามใช้ดนตรีของเบโฟนเป็นเครื่องมือในการสร้างความรักชาติและปลุกเร้าความกล้าหาญสำหรับบรรดาเด็กหนุ่มในการเข้าสู่สงครามโลกที่ 1 ส่วนอาณาจักรไรซ์ที่ 3 นักประวัติศาสตร์สำนักนาซีได้ไปไกลกว่านั้นโดยการพยายามล้างประวัติครอบครัวและตัวตนของเบโธเฟนเสียใหม่โดยให้คนเยอรมันเข้าใจว่าเบโธเฟนสืบเชื้อสายอารยันถึงแม้ตามความจริงเขามีเชื้อสายเฟลมิสจากเบลเยี่ยม ส่วนหน้าตาและรูปร่างของเบโธเฟนก็ถูกผลิตซ้ำเสียผ่านสื่อต่างๆ ออกมาเป็นภาพของผู้ชายผิวขาวและสูงสง่าซึ่งตามความจริงแล้วเบโธเฟนมีลักษณะทั้งเตี้ยและผิวคล้ำ สามารถจัดได้ว่ามีลักษณะเหมือนคนแอฟริกันถ้าใช้มาตรฐานของลักษณะชาวยุโรปทั่วไป แต่สำนักนาซีพยายามนำเสนอว่าเบโธเฟนมีคุณสมบัติของชนเผ่าอารยันคือมีเจตจำนงในการมีอำนาจ การที่เขาครองตัวเป็นโสดไปตลอดชีวิตเป็นตัวตอกย้ำถึงบุคคลซึ่งยอมอุทิศทั้งชีวิตสำหรับการผลิตผลงานอันยิ่งใหญ่แก่ชาวโลก นักคิดกลุ่มนาซีถึงกลับพยายามบอกว่าฮิตเลอร์เป็นผู้ที่จะมาเต็มเติมความปรารถนาอันแรงกล้าเช่นนี้ของเบโธเฟน

แต่สำหรับกลุ่มนักประวัติศาสตร์ดนตรีหัวเอียงซ้ายหรือเสรีนิยม เบโธเฟนมีความคิดรุนแรงทางการเมืองที่จะนำมนุษย์ปลดปล่อยจากพันธนาการของการปกครองแบบเผด็จการหรือศักดินาในยุคเก่า (แม้ว่าตามความจริงเบโธเฟนจะยังพึ่งพิงการอุปถัมภ์จากเจ้าชายอยู่ก็ตาม) นอกจากงานและคำพูดของเบโธเฟนที่ว่าเขารักเสรีภาพแล้ว ตำนานในชีวิตของเขาบางเสี้ยวก็ตอกย้ำความเชื่อของพวกหัวเอียงซ้ายเช่นขณะที่เขาเดินสนทนากับเกอเธ่ในเมืองเทปลิตซ์ปี 1812  บนทางในชนบท ทั้งคู่ได้พบกับขบวนเสด็จของจักรพรรดินี เกอเธ่แสดงความเคารพต่อองค์จักรพรรดินี แต่เบโธเฟนได้เดินทางเลยไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น รัฐบาลเยอรมันตะวันออก (1945-1989) ซึ่งมีการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ถึงกลับยกย่องว่าเบโธเฟนเป็นคีตกวีของชนชั้นกรรมาชีพและดนตรีของเขาเปรียบได้ดังจิตวิญญาณและความงดงามของวัฒนธรรมเยอรมันที่เป็นป้อมปราการต่อสู้กับวัฒนธรรมอันเน่าเฟะของโลกตะวันตก รัฐบาลของเยอรมันตะวันออกพยายามใช้ประโยชน์จากเบโธเฟนถึงขั้นยกให้เป็นเทพที่เฝ้ามองและปกป้องประเทศเยอรมันเคียงคู่ไปกับเกอเธ่

กระนั้นสำหรับจีนในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม (1966-1976) โดยแก๊ง 4 คนที่นำโดยนางเจียงชิง ภรรยาของเหมา เจ๋อตง ดนตรีคลาสสิกถูกโจมตีว่าเป็นความเสื่อมทรามของวัฒนธรรมตะวันตก เบโธเฟนถูกตีตราว่าเป็นชนชั้นกระฎุมพี แต่ดนตรีของเขาก็ยังไม่ถูกห้ามบรรเลงไปเสียทีเดียว  ในปี 1971 เฮนรี คิสซิงเจอร์ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของริชาร์ด นิกสันได้ไปเยือนกรุงปักกิ่งเป็นครั้งที่  2 โจว เอินไหล นายกรัฐมนตรีได้ขอให้วงซิมโฟนีของรัฐบาลจีนบรรเลงเพลงของเบโธเฟนเพราะคิสซิงเจอร์มีเชื้อสายเยอรมัน จากเดิมที่วาทยกรของวงได้วางรายการว่าจะเล่นซิมโฟนีหมายเลข 3 และ 5 แต่แก๊ง 4 คนก็บีบบังคับให้วงเล่นซิมโฟนีหมายเลข 6 ซึ่งบรรยายเกี่ยวกับความรู้สึกของเบโธเฟนเมื่อยามไปเยือนชนบทซึ่งมีการกล่าวถึงชาวนาหรือชนชั้นกรรมาชีพ  ภายหลังจากกลุ่ม 4 คนถูกจับกุมในปี 1976  สถานีวิทยุของรัฐบาลจีนได้เล่นเพลงของเบโธเฟนคือเปียโนโซนาตาที่ชื่อ  Appassionata โดยอ้างว่าเป็นเพลงโปรดของเลนินรวมไปถึงซิมโฟนีหมายเลข 5 ราวกับจะเป็นสัญญาณว่าการปฏิวัติวัฒนธรรมได้สิ้นสุดลงแล้ว

 

งานดนตรีชิ้นสำคัญของเบโธเฟน

ต่อไปนี้เป็นงานดนตรีบางส่วนซึ่งถูกนำมาใช้สำหรับสนับสนุนหรือตอกย้ำแนวคิดทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง

ซิมโฟนีหมายเลข 3  (Eroica)

เบโธเฟนได้เขียนซิมโฟนีหมายเลข 3 ในช่วงปี 1803-1804  เพื่อเป็นเกียรติแก่นโปเลียน โบนาปาร์ตซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้ปลดปล่อยชาวยุโรปออกจากการกดขี่ของรัฐบาลที่ชั่วร้ายนับตั้งแต่ปฏิวัติฝรั่งเศส แต่เมื่อ นโปเลียนได้ปราบดาภิเษกจากกงสุลตลอดชีพมาเป็นจักรพรรดิ เบโธเฟนแสดงความโกรธกริ้วและขีดลบชื่อโบนาปาร์ตจากปกของสมุดโน้ตเพลงพร้อมทั้งด่าทอนโปเลียนว่าจะเหยียบย่ำสิทธิมนุษยชนและยกตัวเองเป็นทรราชในที่สุด ตำนานเช่นนี้ถูกอ้างโดยพวกเสรีนิยมหรือแม้แต่คอมมิวนิสต์ในการยืนยันว่าเบโธเฟนเป็นปรปักษ์กับชนชั้นปกครอง อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเบโธเฟนรู้สึกจงเกลียดจงชังนโปเลียนซึ่งอายุแก่กว่าเขาเพียง 1 ปี หากพิจารณาดูให้ดีแล้วเบโธเฟนจะชื่นชอบนโปเลียนในฐานะเป็นบุรุษเหล็กและเป็นกงสุลมากกว่าเป็นจักรพรรดิ ความรู้สึกของเบโธเฟนที่มีต่อนโปเลียนค่อนข้างผสมปนเป จนมีคนสันนิฐานว่านโปเลียนในยุคแรกอาจสะท้อนตัวตนในอุดมคติของเบโธเฟนเอง

ซิมโฟนีหมายเลข 5

เบโธเฟนเขียนงานชิ้นนี้ในปี 1804-1808 ถือได้ว่าเป็นซิมโฟนีที่โด่งดังและน่าจะคุ้นหูชาวโลกมากที่สุดโดยเฉพาะกระบวนแรกเพราะถูกนำแสดงบ่อยครั้งและนำมาประกอบสื่อต่างๆ ไม่ว่าโฆษณาหรือภาพยนตร์จนถึงปัจจุบัน  การเริ่มต้นของกระบวนแรกนั้นมีการตีความได้หลายกรณี เช่นมีผู้ตีความว่าเปรียบได้กับการเคาะประตูแห่งโชคชะตาอันเป็นเรื่องราวของเบโธเฟนเองที่ต้องต่อสู้กับอาการหูหนวกของตนที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ  จนไปถึงความผันผวนของชีวิตอันของเขาในช่วงบั้นปลาย แต่อีกท่านหนึ่งเห็นว่าได้แรงบันดาลใจมาจากการปฏิวัติฝรั่งเศส ดนตรีเปิดฉากด้วยกระบวนแรกที่ตื่นเต้นและรุนแรง ก่อนจะเปลี่ยนเป็นช้าเนิบนาบสลับเร็วในกระบวนที่ 2 และเพิ่มจังหวะเร็วขึ้นและสนุกสนานในกระบวนที่ 3  ปิดท้ายด้วยกระบวนที่ 4 ซึ่งขึ้นต้นด้วยพลังและความอลังการราวกับจะประกาศชัยชนะต่อโชคชะตา  ดนตรีชิ้นนี้ย่อมได้รับความนิยมและถูกออกเล่นเพื่อผลทางการเมืองต่างๆ ไม่ว่าการปลุกเร้าให้คนออสเตรียรู้สึกต่อต้านกองทัพของฝรั่งเศสหรือเป็นเพลงประกอบโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลเยอรมันในการทำสงครามโลกทั้ง 2 ครั้งหรือแม้แต่การปลุกระดมของพวกคอมมิวนิสต์ให้ประชาชนต่อต้านโลกตะวันตกที่เป็นพวกทุนนิยม

อุปรากรฟีเดลิโอ

อุปรากรเพียงเรื่องเดียวของเบโธเฟนเดิมมีชื่อว่าลีโอนอร่า เขาได้เขียนและแก้ไขเพลงโหมโรงถึงสี่ครั้ง ชื่อของอุปรากรจึงเปลี่ยนไปเป็นฟีเดลิโอ และได้นำออกแสดงใน วันที่ 20 พฤศจิกายน 1805 โดยมีผู้ชมคือทหารฝรั่งเศสกลุ่มหนึ่งภายหลังจากที่นโปเลียนนำกองทัพเข้ายึดกรุงเวียนนา เนื้อเรื่องของฟีเดลิโอก็คือหญิงสาวได้ปลอมตัวเป็นชายหนุ่มเพื่อจะแอบเข้าไปในคุกใต้ดินเพื่อปลดปล่อยสามีนักหนังสือพิมพ์ซึ่งถูกผู้มีอำนาจสั่งคุมขังไว้จนประสบความสำเร็จ ฉากสุดท้ายที่เป็นการประสานเสียงร้องระหว่างกลุ่มนักโทษที่บรรยายถึงความสุขจากการปลดปล่อยและการได้อยู่ร่วมกับครอบครัวอีกครั้งเปรียบได้กับบรรพบุรุษของส่วนร้องประสานใน "บทกวีแห่งความปีติ" (Ode to Joy) ของซิมโฟนีหมายเลข 9  แน่นอนว่าย่อมมีผู้ตีความของอุปรากรชิ้นนี้ว่าต่อต้านรัฐเผด็จการอำนาจนิยมที่เข่นฆ่าหรือกดขี่ประชาชนในประเทศต่างๆ  ได้ตั้งแต่พม่ากับนางออง ซานซูจีจนมาถึงนายบาชาร์ อัลอัสซาดของซีเรีย

เอกมอนต์ Egmont

ดนตรีประกอบเรื่องราวที่เบโธเฟนเขียนในช่วงปี 1809-18010 ที่บอกเล่าชีวประวัติของขุนนางที่ชื่อเอกมอนต์ซึ่งยอมสละชีวิตเพื่อให้เนเธอร์แลนด์ได้รับเอกราชจากสเปนเมื่อศตวรรษที่ 16 เพื่อยกย่องความกล้าหาญของมนุษย์ในการต่อสู้กับการกดขี่ของฝ่ายทรราช  ในช่วงที่ฮังการีได้พยายามก่อการปฏิวัติปลดแอกตัวเองออกจากการปกครองของสหภาพโซเวียตในปี 1956 ก็ได้ใช้เพลงโหมโรงของเอกมอนท์เป็นเพลงชาติของตนอย่างไม่เป็นทางการ

ซิมโฟนีหมายเลข 9

เบโธเฟนเขียนงานชิ้นนี้ในช่วงบั้นปลายชีวิตของเขาคือระหว่างปี 1822-1824  เป็นซิมโฟนีที่ไม่เหมือนงานชุดก่อนๆ ของเขาเพราะในกระบวนที่ 4  เบโธเฟนได้ยืมบทกวีของฟริดริช ชิลเลอร์มาดัดแปลงเป็นเสียงร้องประสานที่ชื่อบทกวีสู่ความปีติ อันทำให้ซิมโฟนีบทนี้ทรงอิทธิพลและมีคุณค่าที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยประดิษฐ์มาเนื้อหาสำคัญเป็นการบรรยายถึงภราดรภาพและความเป็นหนึ่งเดียวของมนุษยชาติ ซึ่งน่าจะสะท้อนถึงการที่เบโธเฟนได้รับจากอุดมคติของการปฏิวัติฝรั่งเศส  และซิมโฟนีบทนี้ก็ถูกนำมาผลิตซ้ำและตีความโดยนักคิดหัวเอียงซ้ายที่ต้องการยกย่องความเท่าเทียมกันของชนชั้น รวมไปถึงการร่วมมือกันระหว่างชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลก  สำหรับพวกนาซีนั้นแน่นอนว่าย่อมลังเลใจที่จะใช้ซิมโฟนีหมายเลข 9 ในการโฆษณาชวนเชื่อเพราะพวกเขาไม่เชื่อในเรื่องความรักใคร่สมานฉันท์ระหว่างพวกอารยันกับเชื้อชาติอื่นเช่นยิว ทว่าในที่สุดแล้วซิมโฟนีบทนี้ก็ได้รับการยอมรับจากนาซีดังเช่นวิลเฮล์ม เฟิร์ตแวงเลอร์ได้กำกับวงเบอร์ลิน ฟิลฮาร์โมนิกเพื่อบรรเลงซิมโฟนีหมายเลข 9 ในการฉลองครบรอบวันเกิดของฮิตเลอร์ในปี 1942

นอกจากนี้ทำนองของกระบวนที่ 4 ยังถูกใช้แทนเพลงชาติของทีมผสมของเยอรมันทั้งตะวันออกและตะวันตกในการแข่งขันโอลิมปิกระหว่างปี  1956 จนถึง 1968  เมื่อเยอรมันตะวันออกและกำแพงเบอร์ลินล่มสลายในปี 1989  ซิมโฟนีบทนี้ได้กลายเป็นตัวตอกย้ำความศักดิ์สิทธิ์ของการรวมประเทศเยอรมันราวกับจะบอกว่าทั้งคนเยอรมันตะวันออกและตะวันตกต่างมีความปีติในการเป็นพี่น้องอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตามในเดือนธันวาคมปีเดียวกันนั้นวาทยกรชาวอเมริกันคือลีโอนาร์ด เบิร์นสไตน์ได้กำกับซิมโฟนีหมายเลข 9 ที่โรงละครในกรุงเบอร์ลินตะวันออกเพื่อเป็นเฉลิมฉลองการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน โดยมีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก เบิร์นสไตน์ได้เปลี่ยนคำในส่วนของการเสียงร้องประสานเสียใหม่คือจากบทกวีแห่งความปีติ(ภาษาเยอรมันคือ An die Freude) เป็นบทกวีสู่เสรีภาพ (An die Freiheit) เพื่อสะท้อนว่าคนเยอรมันตะวันออกได้เข้าสู่เสรีภาพภายหลังจากถูกคุมขังโดยคณาธิปไตยอย่างพรรคคอมมิวนิสต์  กระนั้นแนวคิดที่ว่าซิมโฟนีบทนี้เป็นตัวแทนของเสรีภาพไม่น่าจะเป็นแนวคิดใหม่ มีผู้บอกว่าแนวคิดเสรีภาพเป็นผลผลิตของการแสดงซิมโฟนีบทนี้ในฝรั่งเศสเมื่อปี 1882  หรือก่อนหน้าคอนเสิร์ตของเบิร์นไสตน์เพียงไม่กี่เดือน หนึ่งในแกนนำนักศึกษาที่ประท้วงในจัตุรัสเทียนอันเหมินของจีนได้เปิดซิมโฟนีหมายเลข  9 เพื่อจะเรียกร้องประชาธิปไตยและเสรีภาพจากพรรคคอมมิวนิสต์ก่อนจะโดนปราบปรามอย่างหนักจากกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน

ที่น่าจะกล่าวถึงในตอนท้ายนี้คือสหภาพยุโรปได้ใช้ทำนองของบทกวีแห่งความปีติเป็นบทเพลงประจำองค์กรอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 1985 เพื่อแสดงถึงความรักและความสมานฉันท์ระหว่างชาวยุโรปด้วยกัน อย่างไรก็ตามแต่ความรักนี้จะรวมถึงผู้อพยพจากประเทศโลกที่ 3 ที่นับถือศาสนาอิสลามและชาวยุโรปตะวันออกที่อพยพเข้ามาอาศัยและทำงานในยุโรปตะวันตกจนทำให้เกิดกระแสต้านชาวต่างชาติด้วยหรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่สหภาพยุโรปต้องหาคำตอบให้ได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จาก บิดาของท่าน บิดาของข้าพเจ้า ของ บัณฑิต อานียา ถึง “คดีตั้งชื่อให้สุนัขของรพีพร”

Posted: 17 Aug 2013 04:52 AM PDT

 

"หนังสือเล่มนี้ไม่เหมาะสำหรับคนปัญญาอ่อนอ่าน. เพราะคนปัญญาอ่อนเอาไปอ่านแล้ว, ก็อ่านไม่รู้เรื่อง, ซึ่งนั่นมิใช่เป็นปัญหาเดือดร้อนแต่ประการใดสำหรับข้าพเจ้า, แต่การที่คนปัญญาอ่อนเอาไปอ่าน, แล้วตีความหมายออกมาผิด ๆ ถูก ๆ อย่างคนปัญญาอ่อน, จนถึงกับทำให้คนปัญญาอ่อนจับเอาถ้อยคำบางคำ, บางคำพูด, บางประโยค, ไปเป็นหลักฐานฟ้องกับตำรวจผู้ใจดีว่า, ถ้อยคำเหล่านั้น, คำพูดเหล่านั้น, ประโยคเหล่านั้น, ที่ข้าพเจ้าเขียนไว้นี้, เป็นข้อเขียนที่ผิดกฎหมายมาตรานั้นมาตรานี้, จนทำให้ตำรวจผู้ใจดีดังกล่าว, ต้องเสียเวลาการทำงานอันมีค่าของเขา ในการรักษาความสะอาดและความสงบของบ้านเมือง, มาเอาเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องของข้าพเจ้า"

 

คำนำ ๑.jpg

 

"ข้าพเจ้าขอบอกท่านทั้งหลายด้วยความเชื่อ และด้วยความนับถืออันสถาพรว่า, คนปัญญาอ่อนจะพาไปสู่ความมืดแห่งความโง่เขลา, และแห่งความทุกข์ชั่วกาลนาน"

 

คำนำ ๒ new.jpg

 

ข้างต้นเป็นบางส่วนของคำนำ "เรื่องยาวขนาดสั้น" บิดาของท่าน บิดาของข้าพเจ้า เขียนโดยบัณฑิต อานียา พิมพ์เมื่อ มกราคม 2524 (ราคา 20 บาท) หนา 178 หน้า

 

cover.jpg

บิดาของท่าน บิดาของข้าพเจ้า เป็นเรื่องของบิดาคนหนึ่งกระทำต่อเมียหลวงและบุตรของเมียหลวง กับเมียใหม่และบุตรของเมียใหม่ แตกต่างกันราวฟ้ากับเหว

เรื่องเปิดมาด้วยฉากพิธีกรรมไหว้บรรพบุรุษแบบชาวจีนที่สุสาน ซึ่งบิดาที่เสียชีวิตไปแล้ว กลับมานั่งสนทนาวิสาสะกับภรรยาและลูก ๆ อย่างอิ่มอาบและเป็นสุข จากนั้นก็แยกย้ายกลับไปยังภพของตน เมื่อภรรยาและลูก ๆ กลุ่มแรกกลับไปแล้ว ต่อมาลูกชายของภรรยาหลวงผู้ทุกข์ตรมก็มาถึง ปลุกผีบิดาขึ้นมารับฟังความโกรธแค้นชิงชังต่อสิ่งที่บิดาได้เคยกระทำไว้กับตนและแม่ของตน

ตั้งแต่ต้นเรื่องจนถึงกลางเรื่องดำเนินไปด้วยท่วงทำนองเหนือจริงอย่างน่าสนใจ เสียดายว่านับจากครึ่งหลังลงไปกระบวนเรื่องกลับเบี่ยงไปสู่ท่วงทำนองขนบแบบนิทาน และเต็มไปด้วยการเทศนาสั่งสอน  "เรื่องยาวขนาดสั้น" เรื่องนี้จึง "หลุด" จากกลวิธีเล่าเรื่องอันสดใหม่ ไปสู่ความเป็น "นิทาน" เทศนา

ประเด็นของเรื่องคือ "การให้อภัย" ของบุตรชายต่อ "บิดาคนเดียวกัน" ซึ่งปฏิบัติต่อบุตรและภรรยาสองครอบครัวแตกต่างกันอย่างชั่วราย ซึ่งเมื่ออ่านเรื่องจบแล้วก็ไม่ควรจะคิดอะไรมาก ทว่าอ่านคำนำของผู้เขียนแล้วก็คิดไปเองได้ต่าง ๆ นานา โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากบริบทเวลาของการเขียนและตีพิมพ์

บัณฑิต อานียา เป็นนักเขียนนอกกระแสอย่างแท้จริง จะเรียกนักเขียนข้างถนน หรือนักเขียนเถื่อนก็ว่า มีผลงานจำนวนไม่น้อย ปัจจุบันกำลังรอคำพิพากษาศาลฎีกาที่กำลังมาถึงในวันพุทธนี้ ว่าจะต้องเข้าไปนอนตารางอีกครั้งในวัยเจ็ดสิบกว่าปี ด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่

ในอดีต นอกจากบัณฑิต อานียาแล้ว นักเขียนหลายคนที่วงวรรณกรรมปัจจุบันมักนำมายกย่องก็เคยถูกพิพากษาจำคุกด้วยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ผู้ที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ก็คือ สุวัฒน์ วรดิลก หรือ รพีพร  ซึ่งศาลประทับรับคำฟ้องในปี 2501 และสิ้นสุดคดีด้วยคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำคุก 5 ปี ในปี 2503 คดีนี้เรียกกันในสมัยนั้นว่า "คดีตั้งชื่อให้สุนัข"

สุวัฒน์ วรดิลก เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย (สมาคมเดียวกับสมาคมนักเขียนในปัจจุบัน!)[1] ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติในปี 2534 ได้รับรางวัลศรีบูรพาในปี 2548  นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัลรพีพรซึ่ง (เขา) ว่าเป็นรางวัลสำคัญของวงวรรณกรรม[2]  "สุวัฒน์ วรดิลก" จึงถือเป็น "กำพืด" ของวงวรรณกรรม หรืออย่างน้อยก็ของสมาคมนักเขียนที่ยังกล่าวอ้างเขาอยู่ เชื่อว่าหากแม้นเขายังมีชีวิตอยู่ ย่อมไม่เห็นด้วยกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จึงน่าสนใจว่า ผ่านมา 53 ปี จาก "คดีตั้งชื่อให้สุนัข" ของสุวัฒน์ วรดิลก มาจนถึง "คดีคำแนะนำเกี่ยวกับรูปบุคคลเหนือตาชั่ง" ของบัณฑิต อานียา "กำพืด" นี้จะถูกลืมเลือนเสมือนไม่เคยดำรงอยู่หรือไม่

 

 

 


[1] "สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย มีจุดกำเนิดในปี 2511 จากการที่ นายเลียว ศรีเสวก เจ้าของนามปากกา "อรวรรณ" นักประพันธ์เอก ป่วยหนัก เหล่านักเขียนโดยการนำของนายสุวัฒน์ วรดิลก ได้รวมตัวกันจัดงานชุมนุมน้ำใจในวันที่ 5 พฤษภาคม 2511 เพื่อหาเงินช่วย "อรวรรณ" หลังจากการจัดงานครั้งนั้น นักเขียนทั้งหลายได้รวมตัวกันก่อตั้งชมรมนักเขียน 5 พฤษภา และถือเอาวันที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันฉัตรมงคล และเป็นวันมงคล เป็นวันของนักเขียน เพื่อร่วมชุมนุมกันเป็นประจำทุกปีมาจนปัจจุบัน 
    "ชมรมนักเขียน 5พฤษภามีนายสุวัฒน์ วรดิลก เป็นประธานใน 2 ปีแรก (2511-2512) นายอุทธรณ์ พลกุล เป็นประธานในปีต่อมา และในปี 2514 ชมรมนักเขียน 5 พฤษภา ก็ได้ก่อตั้งเป็นสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2514 โดยการนำของผู้ก่อตั้งสามคนคือ นางสุภาว์ เทวกุล ณ อยุธยา, นายเสนีย์ บุษปะเกศ และนายถาวร สุวรรณ และผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมฯคนแรกคือ นายอุทธรณ์ พลกุล"  (ดู ประวัติสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย http://www.thaiwriterassociation.org/about.php)

 

[2] ดูเว็บไซต์สมาคมนักกลอน  http://www.thaipoet.net/index.php?lay=boardshow&ac=webboard_show&No=282950

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุวรรณา -ชูศักดิ์ เสวนาเรียนรู้อำนาจวัฒนธรรม ผ่านขงจื่อ-กัลตุง-พ.ค.53

Posted: 17 Aug 2013 02:18 AM PDT

 

วันที่ 14 – 15  สิงหาคม 2556 ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชสนามจันทร์ จัดงานสัมมนาทางวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา ในหัวข้อ "การเปลี่ยนแปลงของความรู้และอำนาจเชิงจารีตประเพณี ศาสนาและจริยธรรมในโลกยุคใหม่"

ในวันที่ 15 ส.ค.56  ช่วงบ่าย รองศาสตราจารย์ ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ จากภาควิชาปรัชญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมถกเถียงสนทนาว่าด้วยอำนาจและวัฒนธรรม "Culture of Power– Power of Culture: อ่านวัฒนธรรมอำนาจเพื่อการเรียนรู้อำนาจของวัฒนธรรม และการอยู่ร่วมกันในสังคมยุคใหม่" โดยมี วิจักขณ์  พานิช  ผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนาสายวัชรยาน เป็นผู้ดำเนินรายการ

วิจักขณ์ กล่าวนำว่า งานนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจมาก เนื่องจากเป็นการพูดคุยในเรื่องปรัชญาศาสนาในสถาบันการศึกษาใหญ่ๆ โดยเฉพาะเมื่อมีแง่มุมที่ท้าทาย ตั้งคำถามกับโครงสร้าง เพื่อเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง ตรงกับที่ช่วงนี้สถานการณ์บ้านเมืองกำลังคุกรุ่น และอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลง สำหรับหัวข้อ Culture of Power– Power of Culture มีความน่าสนในคือ คำว่า วัฒนธรรม ที่อยู่กับการดำเนินชีวิตของเราทุกวันนี้คืออะไร วัฒนธรรมไทย เป็นพลังที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้นหรือไม่ พลังเหล่านี้อยู่กับใคร ตัวของเรา ปัจเจกบุคคล คนหนุ่มสาว นักวิชาการ หรือเอาเข้าจริงแล้วมีอะไรบางอย่างที่กดทับเราอยู่ เราจึงจำเป็นจะต้องตั้งคำถามและเข้าใจโครงสร้างที่ทำให้คำว่าวัฒนธรรมไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพลัง

สุวรรณา สถาอานันท์ พูดถึงพหุวัฒนธรรมในปรัชญาขงจื่อ  โดยแบ่งการนำเสนอออกเป็น  5 ประเด็นหลัก

1. ความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมกับปรัชญา

สังคมปัจจุบันที่เราอยู่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงเมื่อสี่ร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ในอดีต หรือเรียกว่า โลกโบราณ มีคำถามทางปรัชญาที่สำคัญคือคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่ดีงาม ชีวิตที่ดี และการพบความจริงสูงสุด ตัวอย่างที่สำคัญคือ ปรัชญากรีก เช่น "โลกของแบบ" ของเพลโต ที่เป็นคำตอบเกี่ยวกับความจริงสูงสุด และเป็นคำตอบเกี่ยวกับชีวิตที่ดีของมนุษย์ หรือ ปรัชญาพุทธ เมื่อเราพบธรรม เราจะพบสัจธรรมแห่งธรรมชาติ และพบหนทางแห่งแนวปฏิบัติของชีวิตที่ดีด้วย

ในขณะที่โลกสมัยใหม่ได้แยกคำถาม normative และ ultimate truth คือ ไม่พยายามหาความจริงสูงสุดอีกต่อไป แต่จะหาความจริงเชิงประจักษ์ที่พิสูจน์ได้โดยวิทยาศาสตร์ วัดได้ จับต้อง มองเห็นได้ สิ่งที่มนุษย์ในโลกสมัยใหม่สนใจจึงเป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์

2. จุดกำเนิดปรัชญาจีนยุคคลาสสิก

เมื่อประมาณ 500 ปีก่อนคริสต์ศักราช ช่วงรบพุ่งระหว่างนครรัฐในจีน มีนักคิดคนหนึ่ง ซึ่งต่อมาเรารู้จักในนามของ ขงจื่อ เขามองเหตุการณ์ในเวลานั้นแล้วรู้สึกว่าอารยธรรมแห่งราชวงศ์โจวที่เคยเจริญกำลังเสื่อมลง เขาจึงพยายามรื้อฟื้นอารยธรรมนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการรบพุ่งระหว่างนครรัฐทั้งหลาย นี่คือจุดเริ่มต้นของปรัชญาจีน ซึ่งแตกต่างจากการเริ่มต้นแบบกรีก ไม่ได้สนใจคำถามทางอภิปรัชญา เพื่อจะอธิบายโลกเชิงประจักษ์ที่เห็น แต่สนใจว่า มนุษย์จะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร เป็นคำถามทางจริยศาสตร์

ความสำคัญของจุดเริ่มต้นแบบนี้ คือ ไม่ได้พยายามหาความจริงสูงสุด แต่กำลังรื้อฟื้นวัฒนธรรมที่เห็นว่างดงาม สำหรับขงจื่อ เขาพูดชัดว่าต้องการที่จะรื้อฟื้นราชวงศ์โจว  "อารยธรรมโจวช่างงดงามสมบูรณ์เสียนี่กระไร เราเลือกตามโจว" การพูดแบบนี้เท่ากับยอมรับว่าเป็นการเลือกหนึ่งวัฒนธรรม ท่ามกลางวัฒนธรรมหลายแบบ ไม่ใช่การยอมรับว่าเป็นสัจธรรมสูงสุด

3. ปรัชญาจีนของขงจื่อในฐานะข้อเสนอทางวัฒนธรรม

สุวรรณายกตัวอย่างบทกวีที่ว่า "ชุมชนมีมนุษยธรรมนั้นงดงาม แต่เลือกไม่อยู่ มนุษยธรรมจะมีปัญญาได้อย่างไร" และใช้บทนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการอ่านคัมภีร์ของขงจื่อทั้งเล่ม ในฐานะนี่เป็น Philosophical Project ของขงจื่อที่บอกว่า การฟื้นคืนราชวงศ์โจวคือการสร้างชุมชนที่มีมนุษยธรรม 

ชุมชนที่มีมนุษยธรรม เป็นชุมชนที่ "เมื่ออาจารย์กินข้าวข้างๆ คนไว้ทุกข์  อาจารย์ไม่เคยกินจนอิ่ม" หมายความว่าคนไม่เลือกอดอาหาร แต่ไม่กินจนอิ่ม แต่ระวังไวต่อความรู้สึกคนที่นั่งข้างๆ ซึ่งเป็นใครก็ได้ เสียสละความสุขส่วนหนึ่งของตัวเองสำหรับแสดงความเห็นใจในความทุกข์ของคนที่นั่งข้างๆ จึงเป็นชุมชนที่มีมนุษยธรรม เรามีความรักให้กับใครก็ได้ที่เขากำลังทุกข์ร้อน เป็นการแสดงความมีมนุษยธรรมของชุมชนที่ขงจื่อคาดหวัง

4. ความตรึงแย้งในข้อเสนอทางปรัชญาของขงจื่อ

ขงจื่อเสนอให้มนุษย์รื้อฟื้นความสัมพันธ์ทั้งห้า (บิดามารดา – บุตร , สามี – ภรรยา , พี่ – น้อง , เพื่อน – เพื่อน , ผู้ปกครอง – ผู้ใต้ปกครอง)  เพราะเชื่อว่าถ้าโครงสร้างความสัมพันธ์นี้ดำรงอยู่ได้อย่างเที่ยงแท้ด้วยความรัก สังคมก็จะมีเสถียรภาพ แต่การทำแบบนี้ทำให้เกิดความตรึงเครียดบางอย่าง ขงจื่อถูกวิจารณ์ว่าเป็นระบบคิดที่มอบอำนาจให้ผู้อาวุโส เป็นอำนาจนิยม เช่น บทกล่าวตอนหนึ่งของอาจารย์โหยว (ลูกศิษย์ของขงจื่อ) ว่า "ผู้มีความกตัญญูและเชื่อฟังพี่น้อยนักที่จะขัดขืนผู้บังคับบัญชา ผู้ที่ไม่ขัดขืนผู้บังคับบัญชา ไม่มีเลยที่จะก่อความวุ่นวาย" หรือ "วิญญูชนใส่ใจในรากฐาน เมื่อรากฐานตั้งมั่น เต๋าก็เกิด ความกตัญญูและเชื่อฟังพี่ เป็นรากฐานแห่งมนุษยธรรมแน่แท้" การรู้จักอาทรคนอื่นจึงพัฒนามาจากความสัมพันธ์ในครอบครัว เรียนรู้การเคารพผู้ใหญ่จากครอบครัว  ถ้าคนๆ นั้นเป็นสมาชิกของสังคมการเมือง ความระส่ำระสายก็จะลดลง นี่เองที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นปรัชญาที่สนับสนุนอำนาจทางช่วงชั้น ทั้งในครอบครัวและในรัฐ

อย่างไรก็ตาม ส่วนที่คนมองไม่เห็น กลับเห็นอีกด้านหนึ่งของปรัชญาขงจื่อ  คือด้านที่มีวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้แบบปลายเปิด อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่อ้างความจริงสูงสุด และเลือกวัฒนธรรมปลายเปิด คือ วัฒนธรรมโจว ซึ่งเรียนรู้มาจากสองราชวงศ์ก่อนหน้านั้น การเลือกวัฒนธรรมโจวจึงเป็นความสามารถที่จะเรียนรู้ ไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูป ต้องมีการปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ คำตอบเชิงปรัชญาในแง่จริยศาสตร์ของขงจื่อนั้นจึงเป็นคำตอบเชิงพหุวัฒนธรรม เพราะต้องเรียนรู้จากคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ดังเช่นบทที่ว่า

"เมื่อาจารย์อยู่รัฐฉี อาจารย์ได้ฟังดนตรีแห่งเสา หลังจากนั้นไม่รู้รสเนื้อเป็นเวลานานสามเดือน อาจารย์กล่าวว่า เราไม่เคยคิดมาก่อนว่าดนตรีจะดีเลิศได้ถึงเพียงนี้"

บทนี้บอกว่า ขงจื่อสามารถซาบซึ้งดื่มด่ำกับวัฒนธรรมด้านอื่นได้อย่างลึกซึ้งจนกระทั่งผัสสะการรับรสหายไปนานถึงสามเดือน แม้ตัวเองจะเป็นคนอีกรัฐหนึ่ง แต่กลับซาบซึ้งในทำนองดนตรีของอีกรัฐหนึ่งได้ นี่ประสบการณ์อันสุนทรีสูงสุดในชีวิตของขงจื่อ นอกจากนี้การยอมรับว่า "ไม่ได้คิด" ย่อมหมายถึงการยอมรับว่าประสบการณ์ทำให้คิดเรื่องที่ไม่ได้คิดมาก่อนได้

บทที่ว่า "อาจารย์แล่นกังสดาลในรัฐเว่ย มีชายถือตะกร้าเดินผ่านประตู กล่าวว่าหัวใจช่างมุ่งมั่นคนเล่นกังสดาลนี้ ผ่านไปสักครู่หนึ่งก็กล่าวว่า น่าเวทนาเสียดื้อดึง เมื่อไม่มีใครรู้จักก็เลิกเสียดีกว่า เมื่อน้ำลึกก็ลุยทั้งเสื้อผ้า เมื่อน้ำตื้นก็ยกชายเสื้อขึ้น อาจารย์กล่าวว่า เด็ดขาดดี ถ้างั้นก็ไม่มีอะไรยากสิ"

ในบทนี้ คนถือตะกร้าเป็นตัวแทนของของคนที่สิ้นหวังกับสังคมการเมือง ทว่ายังฟังดนตรีของขงจื้อได้ดี แต่ไม่เห็นด้วยกับความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองของขงจื้อ เห็นว่าทำอะไรไม่ได้แล้ว แต่คำว่า "เด็ดขาด" ที่ขงจื่อตอบ หมายความว่า การสิ้นหวังเป็นเรื่องง่าย แต่การมีความหวังสิยากกว่า

ในบทที่ว่า "อาจารย์กล่าวว่าวิญญูชนสร้างความกลมเกลียวแต่ไม่เหมือน เสี่ยวเหรินเหมือนกัน แต่ไม่สร้างความกลมเกลียว"

เสี่ยวเหรินหมายถึงคนพวกที่คิดเล็กคิดน้อย คิดแต่ประโยชน์เฉพาะหน้า ส่วนวิญญูชนหมายถึงคนในอุดมคติ บทนี้หมายความว่า คนกลุ่มหนึ่งยอมรับความแตกต่างแล้วสร้างความกลมเกลียว กับอีกกลุ่มหนึ่งที่คิดว่าจะมีเอกภาพได้ ต้องสร้างความเหมือน ขงจื่อไม่ได้เชื่อในความเหมือน แต่เชื่อในความแตกต่างและจะทำยังไงให้ความแตกต่างนั้นเกิดเป็นบทเพลงเดียวกันที่ไพเราะ ไม่ใช่ทำให้ตัวโน๊ตทุกตัวเหมือนกัน

5. อคติร่วมของวัฒนธรรม

ในประเด็นสุดท้าย สุวรรณาแสดงความเห็นว่า วัฒนธรรมเป็นเพียงเป็นอคติร่วม ไม่ได้เป็นคำตอบเกี่ยวกับความจริง โดยยึดความหมายความจริงตามมุมมองของเอมมานูเอล ค้านท์ ที่บอกว่ามนุษย์ไม่สามารถอ้างความจริงที่เป็นปรนัยเกี่ยวกับโลกภายนอกได้ แต่ที่เราเห็นโลกตรงกันเพราะมีชุดการรับรู้ชัดเดียวกัน จึงเห็นโลกได้เหมือนกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าโลกที่เราเห็นนั้นมีเท่าที่เรารู้ ถ้าคิดเช่นนี้จะเป็นการเปิดประตูสู่คำอธิบายว่า การเห็นโลกนั้นเป็นเรื่องของการตีความ การอธิบาย วัฒนธรรม หรือเรื่องเล่า ถ้าเรายอมรับตั้งแต่ต้นว่า เราต่างมีอคติคนละชุด ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีความจริง น่าจะสร้างเสน่ห์ให้การพูดคุยกันของคนเรา เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน การพูดเรื่องพหุวัฒนธรรม จึงน่าจะเริ่มต้นจากการยอมรับโดยพื้นฐานว่า ความรู้ของเรา เป็นเพียงข้ออ้างทางวัฒนธรรมด้วยกันทั้งนั้น
 

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ เสนอประเด็นสนทนาเรื่องความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม โดยกล่านำว่าเมื่อพูดถึงวัฒนธรรมของอำนาจ หรือ อำนาจของวัฒนธรรม คำว่า อำนาจ หรือในภาษาอังกฤษว่า power สามารถแปลได้หลายความหมาย นักคิดสมัยใหม่ก็มองได้กว้างไกลมาก แต่ในที่นี้ขอแปลว่า ความรุนแรง และจะพูดให้แคบลงไปอีก เป็นความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม

เมื่อพูดถึงความรุนแรง ชูศักดิ์นึกถึงคำปรารภของนักศึกษาคนหนึ่งที่เคยสอนมานานแล้ว นักศึกษาคนนี้เป็นนักกิจกรรมในมหาวิทยาลัย ได้เล่าให้เขาฟังว่า ประเพณีหนึ่งของนักกิจกรรมคือการเล่าขานตำนานขบวนการนักศึกษาสมัย 14 ตุลาคม และ 6 ตุลาคม มีการฉายวิดีโอเกี่ยวกับเหตุการณ์ การให้รุ่นพี่มาเล่าประสบการณ์ให้ฟัง จากกิจกรรมทั้งหมดนี้ มีอยู่กิจกรรมหนึ่งที่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ นั่นคือการร้องเพลง "หนุ่มสาวเสรี" ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่ใช้ทำนองเป็นเพลงไทยเดิม มีจังหวะคึกคักเร้าใจ และมีเนื้อหาบอกเล่าเรื่องขบวนการนักศึกษาช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ท่อนที่นักศึกษาผู้นี้ติดใจมากที่สุด คือท่อนซ้ำของเพลงที่ว่า "เจ้าหนุ่มเจ้าสาวเอย เจ้าเคยแล้วหรือยัง ตายเพื่อสร้าง ตายเพื่อสร้างเสรี" รู้สึกติดใจว่า แค่มาทำกิจกรรมถึงกับจะต้องตายเชียวหรือ คำถามของนักศึกษาชวนให้คิดไม่อยู่ไม่น้อย ทั้งเกี่ยวกับเพลงนี้ และเกี่ยวกับระบบคิดว่าด้วยเสรีภาพ ความตาย และความรุนแรงในสังคมไทย 

แม้แนวคิดเรื่องเสรีภาพกับความตายมิใช่เรื่องเฉพาะเจาะจงในสังคมไทยเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงสงครามประกาศอิสรภาพของอเมริกา ผู้ว่าการเขตอาณานิคมรัฐเวอร์จิเนียก็เคยลั่นวาจาว่า "Give me liberty or give me the death" เพื่อประกาศแก่เจ้าอาณานิคมให้ตระหนักว่า ชาวอเมริกันเห็นว่าเสรีภาพมีค่าเท่าชีวิต

เพลงหนุ่มสาวเสรี มีความน่าสนใจมากไปกว่านี้อีก ตรงท่อนที่ถามว่า "เจ้าเคยแล้วหรือยัง" ลักษณะคำถามนี้ชวนให้คิดว่า การตายเพื่อเสรีภาพนั้นเป็นเรื่องปกติสามัญ เหมือนการกินข้าวนอกบ้านหรือการถีบจักรยาน ที่จะสามารถถามได้ว่า เคยหรือยัง ก็คงไม่ใช่ และก็แน่นอนว่า นี่เป็นปฏิปุจฉา ไม่ได้ต้องการคำตอบ เพราะตัวคำถามก็เป็นคำตอบอยู่ในที ซึ่งลักษณะนี้ก็ปรากฏอยู่ในงานวรรณกรรม ในเพลงอื่นๆ ด้วย  แต่กระนั้นก็ตามคำถามนี้ก็ยังแฝงด้วยเสน่ห์อันสยองอยู่ดี เอาจริงๆ แล้วมันน่าจะเป็นการตั้งคำถามกับคนหนุ่มสาวว่าพวกเขาพร้อมที่จะตายเพื่อสร้างเสรีภาพหรือไม่ และไม่เพียงแค่นี้ แต่ยังถามไปถึงสังคมไทยด้วยว่าถึงเวลาหรือยังที่จะยอมรับว่ามีคนจำนวนหนึ่งได้ยอมตายเพื่อเสรีภาพ แม้ว่าพวกเขาจะไม่สามารถหวนชีวิตคืนมาบอกเราว่าเขาได้สละชีพเพื่อสร้างเสรีภาพ

ความรุนแรงทางวัฒนธรรม

ชูศักดิ์ยกสุภาษิต "รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี" ตั้งต้นเพื่ออธิบายความรุนแรงทางวัฒนธรรม โดยตีความจากความหมายที่เข้าใจกันแล้วว่า ถ้าเช่นนั้นการจองจำสัตว์หรือเฆี่ยนตีเด็กดูจะไม่เป็นเรื่องน่าเสียหาย แต่เป็นเรื่องดีงาม น่ากระทำ เพราะแสดงออกถึงความรักที่มีต่อลูกและสัตว์เลี้ยง นั่นหมายความว่า การกระทำใดๆ ที่กระทำในนามของความรัก ย่อมไม่ถือว่าเป็นความรุนแรงใช่หรือไม่

ความรุนแรงคืออะไร

ในการอธิบายถึงความรุนแรง ชูศักดิ์นำแนวคิดของ Johan Gultung มาเป็นแนวทาง เนื่องจาก Johan Gultung เป็นนักคิดที่เชื่อว่าน่าจะรู้จักกันดีในหมู่ของนักสันติศึกษา งานเขียนของกัลตุงที่ถูกอ้างถึงบ่อยมาก คือบทความชื่อ "V iolence , Peace and Peace Research" เขียนตั้งแต่ปีค.ศ. 1969 บทความนี้ได้วางรากฐานความคิดด้านสันติศึกษาไว้ได้อย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งมีข้อเสนอใหม่ๆ ที่ต่อมากลายเป็นบรรทัดฐานในการพูดถึงความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวคิดเรื่องความรุนแรงเชิงโครงสร้าง

คุณูปการประการแรกที่สำคัญของกัลตุงคือการนำประเด็นเรื่องสันติภาพไปผูกโยงเข้ากับความรุนแรง เขาเสนอให้ขยายนิยามของคำว่า "สันติภาพ" จากเดิมที่อธิบายว่าเป็นสภาวะปลอดสงคราม ไปเป็น สภาวะปลอดความรุนแรง ในตอนต้นของบทความ กัลตุงแสดงความเหนื่อยหน่ายวงวิชาการยุคนั้น ที่นำคำว่า "สันติภาพ" มาใช้อย่างพร่ำเพรื่อ จนหมดความหมาย ใครทำอะไร ก็อ้างว่าเพื่อสันติภาพ โดยเฉพาะรัฐ ที่มีโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม สร้างโรงงาน ปฏิรูปการศึกษา ขยายการค้า และอื่นๆ ก็ล้วนบอกว่าทำเพื่อสันติภาพ  ในที่สุดคำนี้ก็กลายเป็นคำที่คนหยิบฉวยมาใช้อ้างในทุกเรื่องๆ มีสรรพคุณครอบจักรวาล รักษาได้ทุกโรค กลายเป็นยาผีบอกที่ไม่มีใครกล้าปฏิเสธ

อย่างไรก็ตาม กัลตุงก็เห็นว่า คำว่าสันติภาพ ซึ่งให้ความหมายว่าเป็นสภาวะปลอดสงคราม มีความหมายแคบเกินไป การรณรงค์เรื่องสันติภาพจึงมีเฉพาะเรื่องสงคราม ซึ่งก็เป็นไปตามบริบทที่มีสงครามเย็นและสงครามเวียดนาม นี่ทำให้คำว่าสงครามและสันติภาพเป็นคู่ขัดแย้งตรงข้ามกัน กัลตุงพยายามจะทำให้คำว่าสันติภาพมีความหมายและสามารถนำไปใช้ผลักดัน หรือประยุกต์ใช้ได้จริงในสังคม จึงเสนอให้นิยามคำว่าสันติภาพให้ชัดเจน นั่นคือพยายามผูกโยงเข้ากับความรุนแรง ทำให้ทางหนึ่งมีความหมายกว้างกว่าสงคราม และอีกทางหนึ่งก็ไมได้ครอบจักรวาลจนทำให้ทุกเรื่องกลายเป็นประเด็นเรื่อสันติภาพ

การนิยามความรุนแรง

กัลตุงนิยามว่า ความรุนแรง หมายถึง อำนาจ อิทธิพล ที่ส่งผลให้มนุษย์ไม่สามารถบรรลุศักยภาพด้านร่างกายและจิตใจของตัวเองได้อย่างเต็มที่ (violence is present when human beings are being influenced so that their actual somatic and mental realizations are below their potential  realizations ) ชูศักดิ์เห็นว่านี่เป็นคำนิยามที่กว้างมาก ไม่ใช่มีความหมายแต่เพียงการทุบตีทำร้ายใคร ไม่ใช่แค่การลิดรอนอิสรภาพ หรือการดูหมิ่นเหยียดหยาม แต่มากไปกว่านั้น คำสำคัญอยู่ที่ ความรุนแรงเกิดขึ้นได้เมื่อศักยภาพที่จะทำ กับ สภาวะจริงที่เกิดขึ้น ไม่สัมพันธ์กัน เป็นการที่คนๆ หนึ่งไม่สามารถที่จะกระทำหรือคิดในสิ่งที่เขามีศักยภาพจะทำหรือคิดได้ เช่นการห้ามไม่ให้ผู้หญิงเป็นผู้บริหารระดับสูง การตายก่อนวัยอันควรเพราะเข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุข เด็กนักเรียนบ้านนอกเข้าไม่ถึงการศึกษาอันทันสมัยเหมือนเด็กนักเรียนในกรุงเทพ ก็ย่อมถือเป็นความรุนแรงทั้งหมด

กัลตุงได้จำแนกความรุนแรงออกเป็นสองแบบ คือ ความรุนแรงโดยตรง หมายถึงความรุนแรงที่มองเห็นเหยื่อและผู้กระทำชัดเจน เช่นพ่อห้ามไม่ให้ลูกสาวเรียนหนังสือเพราะเห็นว่าเป็นผู้หญิง เป็นต้น และความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เป็นความรุนแรงที่ไม่อาจระบุเหยื่อและผู้กระทำได้ชัดเจน นั่นคือความ อยุติธรรมทางสังคม รวมไปถึงการรวมศูนย์อำนาจและการกระจายทรัพยากร

กลไกที่ทำให้เกิดความรุนแรงเชิงโครงสร้าง

ชูศักดิ์อธิบายว่า ในความหมายของกัลตุง เมื่อพูดถึงความอยุติธรรมหรือความเหลื่อมล้ำในสังคม ไม่ได้หมายความว่าเราจะเรียกร้องให้คนในสังคมเท่ากันหรือเหมือนกันหมด แต่เป็นการเรียกร้องความเท่าเทียมกัน ในโอกาสที่จะพัฒนาศักยภาพของปัจเจกบุคคล และเกิดความเท่าเทียมกันในเชิงโครงสร้าง ซึ่งดูว่ามีการผูกขาดอำนาจไว้ที่คนกลุ่มเดียว และการแบ่งช่วงชั้นในสังคมทุกระบบเป็นไปอย่างตายตัว คนกลุ่มหนึ่งอยู่ในตำแหน่งสูงสุดของโครงสร้างของโครงสร้างของระบบทุกระบบ เช่น ในมหาวิทยาลัย มีนายป. เป็นอธิการบดี และนายป.ก็ยังเป็นนายกสมาคมศิษย์เก่าฯ เป็นกรรมการโรงเรียนสาธิต เป็นรองประธานสหกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นกรรมการสภาการศึกษา เป็นกรรมการกองทุนส่งเสริมการศึกษา เป็นประธานการรมการหมู่บ้านเศรษฐีวิลล์ เป็นกรรมการสมานฉันท์ เป็นนายกสมาคมคนรักแมว เป็นกรรมการตัดสินรางวัลคนดีของสังคม และอื่นๆ

ถ้าโครงสร้างของระบบต่างๆ ในสังคมมีลักษณะเช่นนี้ แสดงว่าสังคมนั้นมีความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ซึ่งหากดูสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยก็คงจะบอกได้ว่ามีความรุนแรงเชิงโครงสร้างหนักหน่วงขนาดไหน ถ้าเราดูภาพใหญ่ระดับกลุ่มสังคม จะเห็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่น่าสนใจสำหรับสังคมไทย  เช่นอาชีพแพทย์ ในทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน อย่างน้อยจะมีนายแพทย์คนหนึ่งมีตำแหน่งในระดับสูงของหน่วยงานนั้น สังคมไทยเป็นสังคมที่ใช้งานแพทย์มากที่สุด นอกจากจะรักษาคนไข้แล้ว แพทย์ยังต้องดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม การสื่อสาร ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปสังคม ปฏิรูปศาสนา ความรุนแรงสามจังหวัด พิพิธภัณฑ์ชุมชน ประกวดรางวัลสิ่งแวดล้อม ฯลฯ นี่อาจจะเหมือนที่เคยได้ยินหมอค่อนขอดกันเองว่า เป็นระบบแพทยาธิปไตย

การนิยามแนวคิดเรื่องสันติภาพและความรุนแรงไว้อย่างชัดเจน ทำให้การวิจัยด้านสันติศึกษาครอบคลุมเรื่องต่างๆได้กว้างขวางกว่าที่เคยเป็นมา ไม่จำกัดอยู่แค่เรื่องสงคราม หรือความรุนแรงทางตรง ทั้งหมดนี้มีคุณูปการต่อสันติศึกษา แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นมโนทัศน์ที่ไม่มีปัญหาเสียทีเดียว กัลตุงตระหนักว่าเมื่อมีการเพิ่มปัจจัยเรื่องความรุนแรงเชิงโครงสร้างเข้ามาในการศึกษา ทำให้ความรุนแรงทางตรงและความรุนแรงเชิงโครงสร้างมีความสัมพันธ์กัน ซึ่งเป็นปัญหาที่ซับซ้อน่าปวดหัว เช่น อาจมีคำถามว่า ความรุนแรงไหนเป็นผลลัพธ์ ความรุนแรงไหนเป็นจุดเริ่ม การกำจัดความรุนแรงอันหนึ่ง จะทำให้อีกอันหมดไปด้วยหรือไม่ ถ้าต้องเลือกกำจัดจะเลือกประเภทใดก่อน แล้วหากเลือกให้ความสำคัญกับความรุนแรงประเภทหนึ่ง จะกลายเป็นการส่งเสริมความรุนแรงอีกประเภทหนึ่งหรือไม่

อย่างไรก็ตามในขณะนั้นกัลป์ตุงยังเชื่อมั่นว่าจะสามารถศึกษาความรุนแรงทั้งสองไปพร้อมๆ กัน และแนวทางสันติวิธีอาจเป็นทางออกให้กับปัญหาได้ แต่สิ่งที่กัลตุงไม่ได้คาดการณ์ไว้ก็คือ ในท้ายที่สุด มโนทัศน์เรื่องความรุนแรงเชิงโครงสร้างของเขา ได้กลายเป็นเครื่องมือผดุงความรุนแรงเชิงโครงสร้างและสร้างความชอบธรรมให้กับความรุนแรงทางตรง คำว่า "ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง" กลายเป็นคำใหญ่ที่ว่างเปล่า ไม่ต่างกับคำว่า "สันติภาพ"  ในสังคมไทย ช่วงแรกๆ มโนทัศน์นี้ก็เป็นคำอธิบายที่ทรงพลัง ช่วยให้เข้าใจปรากฏการณ์ในสังคมไดลึกซึ้งขึ้น แต่นานๆเข้า ก็กลายเป็นคำวินิจฉัยครอบจักรวาลที่ใช้อธิบายทุกเรื่อง เมื่อสรุปว่าอะไรเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างเสียแล้ว ก็ไม่ต้องหาผู้รับผิดชอบต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ต้องจัดการกับคนผิด

ยกตัวอย่างเหตุการณ์เมษา-พฤษภาอมหิตในปี 2553 ที่มีคนตายนับร้อยเจ็บนับพัน จนทำให้คนกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาเรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐบาลในขณะนั้น แต่แล้วก็มีคุณหมอผู้รอบรู้ลุกขึ้นมาบอกว่าปัญหาทั้งหมดมีต้นตอมาจากความอยุติธรรมทางสังคม เราต้องเร่งปฏิรูปสังคมไทยให้เกิดความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่นาน พรรคพวกของคุณหมอนั่นเองที่ยืนกระต่ายขาเดียวมาตลอดว่าไพร่ อำมาตย์ หมดไปจากสังคมไทยแล้ว สังคมไม่มีความเหลื่อมล้ำ พวกที่พูดเรื่องนี้ต้องการสร้างความแตกแยกในหมู่คนไทย ปัญหาสังคมไทยนั้นเป็นเรื่องของคนไม่ดีหยิบมือเดียวที่ฉ้อฉลในอำนาจ เราต้องให้คนดีมีคุณธรรม (อย่างพวกเรา) ไปจัดการ

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า แนวคิดความรุนแรงเชิงโครงสร้างก็ทำให้เกิดการศึกษาที่น่าสนใจ แต่ในจุดหนึ่งก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือของความรุนแรงไปอีกตัวหนึ่งเช่นกัน

ความรุนแรงแบบที่สาม : ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม

20 ปีผ่านไป กัลตุงเสนอบทความอีกชิ้นหนึ่งชื่อ "ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม" เนื่องจากเห็นว่าความรุนแรงทั้งสองอย่างที่เคยเสนอมา ไม่น่าจะพียงพอที่จะทำให้เข้าใจความรุนแรงโดยรวมของสังคม ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม ที่เสนอมา หมายถึง มิติใดมิติหนึ่งของวัฒนธรรมที่ถูกใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับความรุนแรง ทั้งในรูปของความรุนแรงโดยตรงและความรุนแรงเชิงโครงสร้าง  (Any aspect of a culture that can be used to legitimize violence in its direct or structural forms ) เช่น ศาสนา อุดมการณ์ ภาษา ศิลปะ วิทยาศาสตร์ และ ศาสตร์บริสุทธิ์ เช่นตรรกวิทยา คณิตศาสตร์ โดยยกตัวอย่าง อาทิ ไม้กางเขน พระจันทร์เสี้ยว ดาว ธงชาติ เพลงชาติ ขบวนพาเหรดของทหาร รูปภาพผู้นำที่ปรากฏอยู่ทุกหัวระแหง รวมไปถึง Hate speech

ความรุนแรงทั้งสามประเภทที่กล่าวมาทำงานร่วมกัน แต่อยู่กันคนละระดับ ความรุนแรงทางตรงคืออุบัติการณ์ที่เห็นได้ง่ายและชัดเจน ความรุนแรงเชิงโครงสร้างจะไม่ชัดเจนเพราะเป็นกระบวนการ ส่วนความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมอยู่ในระดับที่ลึกลงไปอีก ทำหน้าที่ทำสร้างความชอบธรรมให้กับความรุนแรงทั้งสองประเภทก่อนหน้าเป็นที่ยอมรับได้ ทั้งในแง่การสร้างความชอบธรรมให้กับความรุนแรง และทำให้ความรุนแรงกลายเป็นเรื่องปกติวิสัย จนคนไม่คิดว่ามันคือความรุนแรง

ชูศักดิ์ยกสุภาษิต"รักวัวให้ผู้ รักลูกให้ตี" ขึ้นมาอีกรอบ ว่าเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับความรุนแรง โดยอ้างความรักและความปรารถนาดีมาทำให้การเฆี่ยนตีหรือการจองจำเป็นสิ่งที่พึงกระทำ แม้จะเป็นการใช้กำลังบังคับก็ตาม และความรุนแรงที่น่ากลัวยิ่งกว่านี้ก็คือ การทำให้เราไม่รู้สึกว่าความรุนแรงนั้นเป็นเรื่องความรุนแรง เช่น คำกล่าวเปรียบเปรยการทำร้ายร่างกายของคู่สมรสว่าเป็นเรื่องปกติ ว่าเป็น "ลิ้นกับฟัน" ซึ่งหากกระทบกระทั่งกันบ้างย่อมเป็นเรื่องธรรมดา หรือคำอธิบายเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคมโดยเปรียบกับนิ้วมือทั้งห้าที่สูงต่ำไม่เท่ากัน  โดยอ้างหน้าที่ที่ต่างกัน อ้างว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติทางชีวิวิทยาซึ่งมีค่าคงที่ ทั้งที่สถานะทางสังคมไม่ใช่สิ่งที่ตายตัวเหมือนนิ้ว แต่สามารถขยับขึ้นลงได้

ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมในไทย

เมื่อกล่าวถึงความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมในสังคมไทย ชูศักดิ์เริ่มต้นด้วยการยกตัวอย่างเหตุการณ์ทางการเมือง ในปีพ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเกิดความรุนแรงชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และน่าจะเป็นกรณีนี่ท้าทายนักสันติศึกษาอยู่ไม่น้อย ว่าจะอธิบายปรากฏการณ์นี้อย่างไร มีหลายฝ่ายพยายามออกมาอธิบายปรากฏการณ์นี้แล้ว โดยเฉพาะฝ่ายที่มีหน้าที่จะต้องทำ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ก็ได้ออกมาพูดเรื่องนี้แล้ว ซึ่งก็ทำให้เราเข้าใจแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนบ้านเราว่าก้าวหน้าหรือถอยหลังไปถึงไหนแล้ว รวมไปถึงนักเขียนและกวีที่ดูจะโศกเศร้ากับห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ที่ถูกเผา มากกว่าคนที่ล้มตายบาดเจ็บ แต่คนอีกกลุ่มที่คาดหวังว่าจะได้ยิน ว่าจะออกมาตามจรรยาบรรณ แม้จะมิใช่หน้าที่โดยตรง ก็คือ นักสันติศึกษา ทว่าเท่าที่ผ่านมายังไม่พบว่ามีนักสันติศึกษาคนใดออกมาวิเคราะห์หรือทำวิจัยเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว

ที่นี่มีคนตาย

สำหรับกรณีเหตุการณ์ในปีพ.ศ. 2553 ชูศักดิ์ได้ตั้งข้อสังเกตถึงปฏิกิริยาของผู้คนในเหตุการณ์นี้ โดยพยายามนำแนวคิดเรื่องความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมมาวิเคราะห์

คำถามที่ 1 ทำไมคนจำนวนวนไม่น้อยในสังคมโดยเฉพาะคนในกรุงเทพฯ ไม่รู้สึกรู้สมกับการตายของคนนับร้อยและบาดเจ็บนับพัน ว่าเป็นเรื่องร้ายแรง แต่ออกมาคร่ำครวญหวนไห้กับห้างสรรพสินค้าและโรงภาพยนตร์ที่ถูกเผา จนต้องมีการออกมารณรงค์เพื่อเตือนสติว่า "ที่นี่มีคนตาย"

เมื่อย้อนไปในอดีตที่มีการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยครั้งอื่นๆ  เราจะพบว่าคนจำนวนไม่น้อยออกมาแสดงความเห็นอกเห็นใจตำหนิหรือประณามการกระทำของรัฐ หลังเกิดความสูญเสีย ไม่ว่าเป็น กรณี พฤษภา 2535 หรือกรณี 14 ตุลา 2516 ยกเว้นกรณี 6 ตุลา 2519 ที่ไม่มีออกมา แต่ก็สรุปไม่ได้ว่าเพราะอะไร อาจเป็นเพราะคนในสังคมไม่เห็นว่ามีคนตาย เนื่องจากเกิดการปฏิวัติ ยึดอำนาจและใช้อำนาจของคณะปฏิวัติปิดกั้นสื่อ แต่ในกรณีปี2553 ซึ่งการปิดกั้นสื่อเป็นไปได้ยากกว่ามาก คนจำนวนมากก็มองไม่เห็นการตายของคนเสื้อแดง กลับเห็นแต่ตึกและโรงหนังที่ถูกเผา

ตามแนวคิดของนักสันติศึกษาก็คงต้องอธิบายว่า เพราะคนเสื้อแดงไม่ถูกมองว่าเป็นคน ดังที่เราจะเห็นจากข้อความในเฟซบุ๊คจำนวนมากที่มักเรียกคนเหล่านี้ว่า "ควายแดง" เมื่อไม่เห็นว่าเป็นคน ความตายของพวกเขาจึงไร้ค่า คำอธิบายนี้ตอบข้อข้องใจได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ตอบว่ามีวัฒนธรรมอะไรที่ทำให้พวกเขาพร้อมเชื่อว่า คนเสื้อแดงที่มาชุมนุมกันนี้คือ "ควายแดง" และตายซะก็ดีแล้ว

เพื่อยกระดับการตอบคำถามดังกล่าว ชูศักดิ์ยกสุภาษิตขึ้นมาอีกบทหนึ่ง คือ "รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา" ในพจนานุกรม มีคำอธิบายสุภาษิตนี้ว่า "ประพฤตดีงามจะได้รับความสุข ประพฤติชั่วจะประสบความลำบาก" นอกจากนี้ พระมหาสถาพรอธิบายที่มาของสุภาษิตนี้ว่า "งามหามจั่วเป็นงานของพวกนายช่าง เพราะจั่วนั้นแม้จะเบาแต่หามยาก เป็นงานลำบากสำหรับผู้ใช้สมองมากกว่าแรงกาย ดังนั้นผู้ที่รักและตั้งใจเรียน ตั้งใจทำความดี ก็จะได้ทำงานที่ใช้สมองมากกว่าแรงกาย ส่วนงานหามเสานั้นเป็นงานของกรรมกร เนื่องเสาหามง่ายแต่หนัก จึงเป็นงานสำหรับผู้ขาดความรู้ ไม่รักเรียน ต้องใช้แรงกาย"

สุภาษิตนี้จัดแบ่งคนจากการงานที่ทำ ทึกทักว่าแรงงานคือพวกสติปัญญาต่ำต้อย พวกเทคนิคมีความรู้สูงส่ง แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือคำว่า "รักดี" และ "รักชั่ว" หน้าที่งานไม่เพียงแต่เป็นตัวกำหนดระดับสติปัญญา แต่ยังกำหนดระดับศีลธรรมด้วย คนขายแรงงานจึงไม่เพียงเป็นคนโง่ แต่เป็นคนชั่วไปด้วย  สอดคล้องกับที่คนกรุงเทพมองเสื้อแดงว่าเป็นควายแดง เมื่อพวกเขาเป็นคนชั่ว เพราะฉะนั้นตายเสียก็ดี

ความตายที่ไร้ค่านี้ แสดงให้เห็นว่า "ศีลธรรม" ที่น่าจะเป็นสันติวิธีหยุดยั้งความรุนแรง กลับเป็นความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมที่สร้างความชอบธรรมให้กับความรุนแรงที่กระทำโดยรัฐ อย่างน้อยๆก็มีพระสองรูปที่เคยประกาศว่า "ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป" และ "ฆ่าเวลา บาปกว่าฆ่าคน" ฉะนั้นสิ่งที่นักสันติศึกษาไทยสมควรกระทำอย่างเร่งด่วนคือ การทบทวนเรื่องศีลธรรมใหม่ เพื่อไม่ไห้คำว่า "ศีลธรรม"  มีสถานะเหมือนคำว่าสันติภาพ ที่กัลตุงรำพึงรำพันไว้ ว่าถูกใช้จนหมดความหมาย

คำถามที่ 2 กรณีการตายของคนหกคนในบริเวณวัดปทุมวนาราม ที่กลุ่มนักสันติศึกษากลุ่มหนึ่ง ประกาศให้เป็นเขตอภัยทาน และเปิดให้เป็นแหล่งพักพิงของผู้ชุมนุม กรณีนี้นักสันติศึกษาได้นำแนวคิดของกัลตุง เรื่องสันติเชิงวัฒนธรรมมาใช้ อาศัยความเชื่อทางพระพุทธศาสนาเพื่อยับยั้งความรุนแรง แต่ปรากฏว่าแม้แต่สันติวัฒนธรรมก็ไม่สามารถคุ้มครองผู้หลบอยู่ในวัดได้ ทำให้น่าคิดว่า วัฒนธรรมพุทธเดินทางมาถึงจุดไหนแล้วในสังคม

ประเด็นที่ชูศักดิ์ข้องใจ ไม่ใช่สงสัยว่าทำไมทหารยิงคนในเขตอภัยทาน  แต่สงสัยว่า ทำไมนักสันติศึกษาที่ผลักดันเชื้อเชิญให้คนไปหลบในวัดปทุมวนาราม จึงไม่ออกมาแสดงความเห็นใดๆ กับความสูญเสียที่เกิดขึ้น เราสามารถนำแนวคิดเรื่องความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมมาอธิบายอาการเบื้อใบ้ของนักสันติศึกษาต่อความสูญเสียที่เกิดในวัดปทุมวนารามและความสูญเสียทั้งหมดได้หรือไม่

รักเอย จริงหรือที่ว่าหวาน

ช่วงท้ายของการเสนอประเด็นความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม ชูศักดิ์พูดถึงหนังสือ "รักเอย" ซึ่งเป็นบันทึกความทรงจำของผู้หญิงที่ชื่อ รสมาลิน ตั้งนพคุณ เนื้อหาบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของเธอกับคนรักที่ด่วนจากไปก่อนเวลาอันควร เธอตั้งชื่อหนังสือนี้ตามชื่อเพลงที่ชื่นชอบ และเป็นเพลงที่สามีของเธอ ร้องให้ฟังในวันแต่งงาน โดยเราทราบกันดีว่า สามีของเธอคือ "อากง" ถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาหมิ่น ต้องจำคุก 20 ปี และเสียชีวิตระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำโดยไม่ได้ประกันตัว

ชูศักดิ์เล่าว่า หนังสือเล่มนี้พูดถึงความรักของคนทั้งสอง เล่าเรื่องชีวิตที่ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นหวือหวา เป็นเพียงชาวบ้านยากจนที่ดิ้นรนทำมาหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว แต่สิ่งที่น่าจะสะดุดใจมากที่สุดคือ เหตุการณ์ที่ตำรวจมาจับตัวสามีของเธอ มีบทสนทนาสองบท ที่ควรค่าแห่งการพูดถึงในที่นี้

"นายตำรวจคนหนึ่งซักถามฉัน และบอกฉันว่า สามีฉันไปทำอะไรไว้ ฉันยังไม่เข้าใจ เพราะชีวิตห่างไกลจากเทคโนโลยีพวกนั้นมาก ทั้งห่างไกล และทั้งยังไม่รู้ว่ามันเกี่ยวข้องอะไรกับเรา"

"ลื้อไปทำอะไร ลื้อได้ทำมั๊ย"
"อั๊วไม่ได้ทำ อั๊วะไม่รู้เรื่อง"

โดยที่บันทึกทั้งเล่ม ไม่มีที่ใดเลยที่จะระบุถึงสาเหตุการถูกจับ หรือเล่าว่าถูกตัดสินด้วยข้อหาอะไร ฉากที่ตำรวจเข้ามาจับถึงบ้าน เป็นฉากสำคัญของหนังสือ และน่าจะเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดในชีวิตของรสมาลินด้วย แต่กลับเล่าได้เพียงเท่านี้

ทำไมเรื่องร้ายแรงถึงขั้นหัวหลุดจากบ่าจึงกลายเป็นเพียง ปฤจฉาสรรพนาม ละไว้เหมือนรู้ว่า "ลื้อไปทำอะไร" คือทำอะไร หรืออย่างมากที่สุดก็แค่ อนิยมสรรพนาม "สามีฉันไปทำอะไรไว้"  ราวกับว่าทุกคนรู้กันดีว่า "อะไร" นั้น คืออะไร

ทำไมเธอจึงพูดไม่ได้ จะว่าเป็นเพราะกฎหมายหมิ่นฯ 112 ปิดปากเธอไว้ ทำให้เธอไม่กล้าจะพูด ก็คงไม่น่าจะใช่  จะเป็นเพราะมีใครโทรมาขอร้องไม่ให้เธอพูด ก็คงไม่น่าจะใช่ มันน่าจะมีอะไรมากกว่านั้น มีความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมบางอย่างที่ทำให้เธอพูดได้เท่าที่ยกมา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวหนองทะเล จ.กระบี่ ประท้วงต้านทหารตั้งกรมทหารราบที่ 2

Posted: 17 Aug 2013 02:16 AM PDT

ชาวบ้าน ต.หนองทะเล จ.กระบี่ รวมตัวค้านทหารตั้งกรมทหารราบที่ 2 กองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน พื้นที่แหลมหางนาค แฉพบมีการเคลื่อนย้ายหลักเขต หวั่นสร้างความขัดแย้งในพื้นที่

 
17 ส.ค. 56 - ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าเมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (17 ส.ค.) ชาวบ้านในพื้นที่ ต.หนองทะเล อ.เมือง จ.กระบี่ ประมาณ 200 คน ได้ถือพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และธงชาติ เดินทางมารวมตัวกันบนถนนก่อนถึงพระตำหนักแหลมหางนาค ม.2 ต.หนองทะเล ประมาณ 1 กิโลเมตร พร้อมทำการปิดกั้นการจราจร โดยการตั้งเต็นท์ที่พักกลางถนน และห้ามรถทุกชนิดผ่านเข้า-ออก โดยมีตัวแทนชาวบ้านปลัดเปลี่ยนกันกล่าวโจมตีการตั้งกรมทหารราบที่ 2 กองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน พื้นที่แหลมหางนาค ที่กำลังก่อสร้าง พร้อมเรียกร้องให้มีการยกเลิกการก่อสร้าง
       
ต่อมา นายสุขกาย จันอ่อน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองทะเล และนายสมพร จันทร์อ่อน กำนันตำบลหนองทะเล เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือการคัดค้านการตั้งกรมทหารราบที่ 2 กองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน พื้นที่แหลมหางนาค จากตัวแทนชาวบ้านพร้อมกล่าวว่า สำหรับการก่อตั้งกรมทหารราบที่ 2 กองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน พื้นที่แหลมหางนาค ชาวบ้านไม่มีใครรับรู้มาก่อน โดยมาทราบอีกทีเมื่อมีการก่อสร้างอาคารไปแล้วบางส่วนภายในเขตพระตำหนัก ทำให้ชาวบ้านเกรงว่าเมื่อมีทหารเข้ามาอยู่เป็นจำนวนมาก มีการตั้งกองพล ก็จะทำให้ชาวบ้านอยู่อย่างยากลำบาก
       
และว่าขณะนี้ทหารก็เริ่มใช้อำนาจไปในทางที่มิชอบโดยพบว่ามีการทำลายหลักหมุด หรือหลักเขตเดิมที่เคยมีการปักกันไว้ โดยพบว่ามีการทำลายทิ้งไปแล้ว และนำหลักมาใหม่มาปักแทนซึ่งมีแนวเขตขยายออกไปจากที่เดิมกินบริเวณกว้างรุกล้ำที่ดินชาวบ้าน โดยไม่ได้แจ้งให้ชาวบ้านทราบ ซึ่งตนก็ได้นำเรียนไปยังผู้บังคับบัญชาให้มีการตรวจสอบหลักเขตเดิม ซึ่งทางจังหวัดก็ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า หลักเขตเดิมได้หายไปแล้วจริง ซึ่งตนได้ให้ทาง อบต.ทำหนังสือทวงถามไปยังทหาร แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ และที่ชาวบ้านเริ่มมีความรู้สึกไม่ดีกับทหารมากยิ่งขึ้นก็คือ ที่ดินชาวบ้านหลายแปลงถูกทหารยึดห้ามเข้าทำประโยชน์ แม้แต่สำนักสงฆ์ ยังถูกห้ามจดทะเบียนเป็นวัด 
       
กำนันตำบลหนองทะเล กล่าวด้วยว่า ชาวหนองทะเลทุกคนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของทั้งสองพระองค์ รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ และปลาบปลื้มยินดีที่มีพระตำหนักแหลมหางนาค แต่ชาวบ้านรับไม่ได้หากว่าให้ทหารเข้ามาตั้งกองพันในพื้นที่ โดยไม่ได้ถามชาวบ้าน และจะร่วมคัดค้านไปพร้อมกับชาวบ้านด้วยให้ถึงที่สุด เพราะเชื่อว่าเมื่อทหารเข้ามาความวุ่นวายก็ตามมาอย่างแน่นอน ซึ่งปัจจุบัน มี นย.ที่ 411 อยู่ในพื้นที่แล้วชาวบ้านพอรับได้ เพราะมีกำลังพลไม่ใหญ่มาก
       
ต่อมา นายมานะ จรุงเกียรติขจร นายอำเภอเมืองกระบี่ ได้เดินทางมาพบชาวบ้านพร้อมรับมอบหนังสือคัดค้านการตั้งตั้งกรมทหารราบที่ 2 กองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน พื้นที่แหลมหางนาค จากนายสมพร และรับปากภายใน 15 วัน จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวเพื่อหาทางออกต่อไป ทำให้ชาวบ้านพอใจ และแยกย้ายกันกลับ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บัวแก้วเผยช่วย 4 คนงานไทยถูกลักพาตัวในไนจีเรียได้แล้ว ชี้ปมขัดแย้งธุรกิจ

Posted: 17 Aug 2013 02:05 AM PDT

16 ส.ค. 56 - เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่านายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศ โดยสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำไนจีเรีย ได้ให้การช่วยเหลือคนไทย 4 คน ที่ถูกจับตัวในประเทศไนจีเรียได้แล้ว ซึ่งทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวและปลอดภัย ขณะนี้พักอยู่ในบ้านพักของประธานรัฐ ริเวอร์ สเตท และจากข้อมูลเบื้องต้นที่ได้โทรศัพท์พูดคุยกับคนไทยที่ได้รับการปล่อยตัวทราบว่า สาเหตุการจับตัวครั้งนี้เกิดจากขัดแย้งทางธุรกิจบ่อปลานิล ในพื้นที่ ที่มีความพยายามที่จะต่อรองทางธุรกิจ จึงมีความสบายใจได้ว่าไม่ได้มาจากสาเหตุของความรุนแรง หรือการเรียกค่าไถ่แต่อย่างใด ทั้งนี้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะเดินทางเยือนไนจีเรียในสัปดาห์หน้า และจะใช้โอกาสพบกับคนไทยทั้ง 4 คนด้วย
 
ทั้งนี้ คนไทยทั้ง 4 คนประกอบด้วยนายพันพินิจ สมโมหก นางบุษยา ศรีปัญญา นายไชยยันต์ ไทชมพู  และนายบุญเทียน  ไม่ทราบนามสกุล โดยทั้งหมดทำงานให้กับบริษัทสัญชาติอิสราเอล และมีหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการผสมพันธุ์ปลา
 
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังเปิดเผยถึงสถานการณ์ล่าสุดในอียิปต์ ว่า ยังไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเพิ่มเติม พร้อมย้ำว่า รัฐบาลโดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้ความช่วยเหลือประสานและทำความเข้าใจกับคนไทยทั้งหมด เพื่อเตรียมความพร้อมในทุกรูปแบบ และหากมีเหตุการณ์รุนแรงก็สามารถอพยพได้ทันที ซึ่งขอให้ญาติและคนไทยมีความมั่นใจในมาตรการ การให้ความช่วยเหลือของรัฐบาล
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มสิทธิฯ ในบาห์เรนเผย นักข่าวพลเมืองจำนวนมากถูกจับ-ทำร้าย ก่อนการประท้วงล่าสุด

Posted: 17 Aug 2013 12:39 AM PDT

ก่อนหน้าการประท้วงใหญ่ในประเทศบาห์เรนเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มสิทธิมนุษยชนในบาห์เรนเปิดเผยว่ามีสื่อทั้งช่างภาพและบล็อกเกอร์ถูกจับกุม มีบางคนถูกทำร้ายและข่มเหงเพื่อคุ้ยข้อมูล จากการที่พวกเขาถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมกับกลุ่มผู้ประท้วง

15 ส.ค. 2013 - สำนักข่าวอัลจาซีราเปิดเผยว่าตั้งแต่วันพุธที่ผ่านมามีการประท้วง 60 แห่งทั่วประเทศบาห์เรน ซึ่งขณะที่ทางการบาห์เรนมีมาตรการจำกัดการชุมนุมโดยการสั่งห้ามการชุมนุมในเมืองหลวง มีการปิดถนนและตั้งด่านตรวจพร้อมรั้วลวดหนาม

การประท้วงล่าสุดในบาห์เรนจัดตรงกับวันครบรอบการประกาศอิสรภาพของบาห์เรนจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษ จัดโดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "ทามารอด" แปลว่า "กบฏ" โดยได้รับอิทธิพลจากขบวนการคนหนุ่มสาวที่เคยประท้วงขับไล่ประธานาธิบดีมอร์ซี ในอียิปต์ กลุ่มผู้ประท้วงในบาห์เรนได้ประท้วงเรียกร้องเสรีภาพ โดยประเทศบาห์เรนเป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมนิกายชีอะห์ แต่มีโครงสร้างอำนาจและผู้ปกครองระบอบราชาธิปไตยเป็นนิกายซุนนี

ทางด้านศูนย์สิทธิมนุษยชนในบาห์เรน (BCHR) เปิดเผยว่า ในวันพุธที่ผ่านมามีการจับกุมตัว 19 ราย โดยก่อนหน้านี้ก็มีการจับกุมผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากตั้งแต่มีการลุกฮือเกิดขึ้นในบาห์เรนปี 2011 ไม่ว่าจะเป็นทีมแพทย์ นักสิทธิมนุษยชน ผู้ชุมนุม และนักข่าว แต่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาดูเหมือนจะมีการปราบปรามนักข่าวมากขึ้น โดยที่มีนักข่าว บล็อกเกอร์ และช่างภาพรวม 5 คนถูกจับกุมตัวตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.ค.

ซาอิด ยูซีฟ จากศูนย์สิทธิมนุษยชนในบาห์เรนเชื่อว่าการจับกุมผู้รายงานข่าวเหล่านี้เป็นปฏิกิริยาโต้ตอบการประท้วง 'ทามารอด'


เหตุจับกุมนักข่าว
เมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ช่างภาพชื่อ อาห์เมด อัล-ฟาร์ดาน ผู้ที่ทำงานให้กับสื่อ Demotix และ Sipa press ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบสองคนจับกุมตัวขณะอยู่ที่ร้านกาแฟใกล้บ้าน โดยตำรวจอ้างว่าต้องการเวลาพูดคุยกับเขา 5 นาที แต่ก็พาเขาไปทำร้ายร่างกาย โดยอีกคนหนึ่งชกต่อยขณะที่อีกคนบีบคอเขา รวมถึงข่มขู่ให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการเดินขบวนของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลและของนักข่าวรายอื่นๆ

อาห์เมด อัล-ฟาร์ดาน กล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ปืนขู่บอกว่าพวกเขาสามารถนำตัวอัล-ฟาร์ดานไปไว้ที่ไหนก็ได้ พวกเขาขู่จะบุกรื้อค้นบ้าน ขู่ว่ารู้เบอร์โทรศัพท์ รู้ว่าบ้านเขาอยู่ไหนและสามารถจับกุมตัวคนในครอบครัวเขาได้

โดยก่อนหน้ากรณีของอัล-ฟาร์ดาน ก็มีบล็อกเกอร์ชื่อ โมฮัมเหม็ด ฮันซัน ซึ่งเป็นบล็อกเกอร์ผู้มีชื่อเสียงและเป็นผู้ให้คำแนะนำแก่นักข่าวต่างประเทศบอกว่าเขาถูกจับเมื่อช่วงดึกของวันที่ 31 ก.ค. โดยมีคนสวมหน้ากากบุกรุกบ้านเขา ตัวเขาถูกจับไปไว้ในสถานที่ไม่ทราบชื่อเป็นเวลาสามวันและไม่รู้ว่าถูกจับด้วยข้อหาใด

นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนเชื่อว่า ฮัสซัน ตกเป็นเป้าหมายเนื่องจากเขาออกตัวเป็นผู้สนับสนุนประชาธิปไตยในบาห์เรน ก่อนหน้านี้ในปี 2012 เขาถูกจับกุมตัวจากข้อความในบล็อกและจากที่เขาให้การสนับสนุนนักข่าวต่างประเทศในการรายงานข่าวการชุมนุมประท้วง

กลุ่มสิทธิมนุษยชนในบาห์เรนกล่าวอีกว่าฮัสซันถูกสอบสวนที่สำนักงานกรมอัยการเมื่อวันที่ 3 ส.ค. ในเรื่องกิจกรรมในโลกออนไลน์ การเข้าร่วมกิจกรรมสัมมนานอกประเทศ และความสัมพันธ์กับนักข่าวที่เข้ามาในบาห์เรน

ฮัสซันบอกว่าเขาถูกทุบตีระหว่างสืบสวน โดย อับดุล อะซิซ โมซา ทนายความของฮันซันเปิดเผยว่าฮัสซันมีรอยแผลถูกทุบตีที่แขน และเขาได้พูดถึงเรื่องนี้ผ่านทวิตเตอร์และหลังจากนั้นสำนักงานอัยการของบาห์เรนก็ได้ประกาศกักตัวโมซาไว้เพื่อการสืบสวนเรื่องการเปิดเผยชื่อจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาต

อีกรายหนึ่งคือฮุสเซน ฮับบิล ช่างภาพข่าวบาห์เรนถูกจับกุมที่สนามบินมานามาในคืนเดียวกับฮัสซัน และถูกไต่สวนจากการที่เข้าใช้ทวิตเตอร์กล่าวโยงถึงเหตุการณ์ประท้วงเมื่อวันที่ 14 ส.ค. ทั้งฮัสซันและฮับบิลถูกขังไว้ 45 วันเพื่อการสืบสวน โดยองค์กรแอมเนสตี้กล่าวว่าพวกเขาถูกตั้งข้อหา "ยุยงให้เกิดความรุนแรง"  "เรียกร้องให้มีการชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย"  "ยุยงให้ประชาชนละเมิดกฎหมาย" และ "มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มสื่อ 14 ก.พ. (กลุ่มแนวร่วมคนหนุ่มสาวที่เรียกร้องให้มีการประท้วงลุกฮือในบาห์เรน)"

ช่างภาพข่าวอิสระอีกรายชื่อ กัสซิม ซาอิน อัลดีน ถูกจับกุมตัวขณะอยู่ที่บ้านเมื่อวันที่ 2 ส.ค.

เจ้าหน้าที่ศูนย์สิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่านอกจากมีนักข่าวพลเมืองถูกจับกุมตัวแล้ว ยังมีนักข่าวอย่างน้อย 7 คน ที่หลบซ่อนตัวหลังจากถูกบุกค้นบ้านหลังการประกาศของกลุ่มทามารอดเมื่อวันที่ 5 ก.ค.


"ทุกคนในบาห์เรนกลายเป็นผู้สื่อข่าวได้หมด"
ทางสภาของบาห์เรนได้มีการประชุมร่างกฏหมายข้อแนะนำ (recommendations) 22 ข้อและให้มีการรับรองโดยกษัตริย์ฮาหมัด บิน อิสซา คาลิฟา และมีข้อแนะนำหนึ่งถูกนำมาใช้ตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. คือการสั่งห้ามการปักหลักชุมนุม การเดินขบวนและการรวมตัวกันในเมืองหลวงมานามา และอีกข้อแนะนำเรียกร้องให้สื่อเปิดโปงเรื่องการก่อการร้ายและผลกระทบที่มีต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจของชาติ

เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ฝ่ายสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มความเข้มงวดในกฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย และข้อแนะนำหนึ่งที่ระบุให้มีการยกเลิกสัญชาติผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย

ทางด้านองค์กรแอมเนสตี้เรียกร้องให้ทางการบาห์เรนเลิกปราบปรามการชุมนุมโดยสันติ และประณามการจับกุมนักข่าว ช่างภาพ บล็อกเกอร์ และผู้มีบทบาทในโซเชียลมีเดียเพื่อป้องกันการวิพากษ์วิจารณ์

นิโคลาส แมคจีฮาน นักวิจัยจากฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่ากลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซียมีความกังวลเกี่ยวกับพื้นที่ถกเถียงในอินเทอร์เน็ตเนื่องจากพวกเขาไม่คุ้นเคยกับการมีพื้นที่เสรีจึงไม่รู้วิธีต่อรอง พวกเขาจึงใช้วิธีการขั้นรุนแรงและมีลักษณะกดขี่

แม้ว่าจะมีการจับกุมจากทางการเกิดขึ้นหลายกรณี แต่นักข่าวพลเมืองและนักกิจกรรมก็ยืนยันทำข่าวการประท้วงภายในประเทศต่อไป โดยในการปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตาและกระสุนลูกเบอร์ (birdshot) เมื่อวันพุธที่ผ่านมาก็มีคนเก็บภาพและโพสต์ลงบนอินสตาแกรมและทวิตเตอร์

"ตอนนี้ทุกคนในบาห์เรนกลายเป็นนักข่าวกันได้หมด" ยูซิฟกล่าว "คุณไม่สามารถจับกุมตัวคนบางคนแล้วคิดว่าคนอื่นจะถ่ายรูปไว้ไม่ได้ มันกลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว ถ้าคุณจับผู้สื่อข่าวไปคนหนึ่ง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีคนอื่นถ่ายรูปได้อีก"

 


เรียบเรียงจาก

Bahrain clamps down on citizen media, aljazeera, 15-08-2013
http://www.aljazeera.com/indepth/features/2013/08/201381512518789977.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อียิปต์นองเลือดอีกในการชุมนุม "วันแห่งความโกรธแค้น"

Posted: 17 Aug 2013 12:17 AM PDT

ผู้ต้านรัฐประหารในอียิปต์นัดชุมนุมอีกครั้งเมื่อศุกร์ที่ผ่านมาแม้รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีการปะทะกันที่สะพานในกรุงไคโรจากการล้อมปราบของตำรวจรวมถึงเหตุปะทะในที่อื่นๆ ด้านกษัตริย์ซาอุฯ แถลงสนับสนุน "การต่อต้านการก่อการร้าย" ในอียิปต์

16 ส.ค. 2013 - หลังจากเมื่อวันพุธที่ผ่านมามีการปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างหนักจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 638 คน และมีการประณามจากนานาชาติ เมื่อกลุ่มภราดรภาพมุสลิมก็ยังคงเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมออกมาประท้วงกันอีกในการชุมนุมที่มีชื่อว่า "วันแห่งความโกรธแค้น"

สำนักข่าวอัลจาซีราเปิดเผยเมื่อช่วงเวลา ตี 2 ตามเวลาในประเทศไทยว่ามีผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมที่จัตุรัสรัมเซสในกรุงไคโร อย่างน้อย 95 ราย และมีผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนมากหลังจากกองทัพรัฐบาลเปิดฉากยิงผู้ชุมนุม ขณะที่เดอะ การ์เดียน ระบุว่ามีอย่างน้อย 60 รายที่เสียชีวิต

ผู้ประท้วงเปิดเผยว่ามีคนในเฮลิคอปเตอร์และสไนเปอร์ยิงใส่ผู้ชุมนุม โดยก่อนหน้านี้ก็เกิดเหตุนองเลือดหลังจากตำรวจยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนปืนใส่ผู้ชุมนุมที่ 'สะพาน 6 ตุลาคม' ใกล้กับจัตุรัสรัมเซส นอกจากนี้ยังมีการปะทะกันระหว่างผู้อยู่อาศัยที่ปิดกั้นถนนในกรุงไคโรกับผู้ชุมนุมต่อต้านการรัฐประหาร

ในเมืองอื่นๆ เช่น ดาเมียตตา อิสมาลิยา และอเล็กซานเดรีย ก็มีรายงานการเสียชีวิตของกลุ่มผู้ชุมนุม โดยผู้สื่อข่าวอัลจาซีราเปิดเผยว่ามีกลุ่มคนติดอาวุธกระบองและมีดมาเชตต์เดินอยู่ตามท้องถนนเมืองอเล็กซานเดรียในตอนกลางคืน

ทางด้านเจเรมี โบเวน ผู้สื่อข่าว BBC กล่าวถึงเหตุการณ์ในพื้นที่ว่าผู้ชุมนุมเริ่มมีความรุนแรงขึ้นหลังจากมีป้อมตำรวจถูกเผา เขาได้ยินเสียงอาวุธปืนอัตโนมัติ มีการวางกำลังอย่างแน่นหนาในเขตเมืองหลวง มีรถขนทหารจำนวนมากออกมาตามท้องถนน และมีการปิดกั้นไม่ให้มีคนเข้าจัตุรัสทาห์รีร์ซึ่งเคยเป็นแหล่งชุมนุมประวัติศาสตร์ของอียิปต์

ด้านอัลจาซีราเผยแพร่ภาพอาคารบริษัทของผู้รับเหมาอาหรับถูกจุดไฟเผาใกล้กับจัตุรัสรัมเซส นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอซึ่งถ่ายทำโดยมือสมัครเล่น แสดงให้เห็นภาพผู้ชุมนุมกระโดดจาก 'สะพาน 6 ตุลาคม' เพื่อหนีจากการสลายการชุมนุมโดยตำรวจที่ล้อมหน้าล้อมหลังพวกเขา (สะพาน 6 ตุลาคมในอียิปต์ตั้งชื่อตามวันที่เริ่มต้นปฏิบัติการ 'The Crossing' ที่ทำให้เกิด 'สงครามเดือนตุลา' ระหว่างอาหรับ-อิสราเอลในปี 1973)

โมฮัมเหม็ด อาห์เหม็ด อับเดล ซาเลม แพทย์อายุ 25 ปี ที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่ามีรถตำรวจเข้าล้อมด้านหลังและเริ่มยิงใส่พวกเขาเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ในป้อมตำรวจข้างสะพาน ตำรวจใช้ทั้งแก๊สน้ำตาและกระสุนจริง มีคนพยายามขนผู้บาดเจ็บออกไปแต่ไปไหนไม่ได้เพราะถูกล้อม มีบางคนพยายามใช้ที่กำบังและบางคนขว้างปาก้อนหินใส่สถานีตำรวจ ซาเลมกล่าวอีกว่าฝ่ายผู้ชุมนุมที่สะพานซึ่งมีราว 2,000 คน อาจมีแค่ 2 คนที่มีอาวุธ แต่ฝ่ายตำรวจเป็นผู้เริ่มเปิดฉากยิงก่อน

เดอะ การ์เดียนเปิดเผยว่า มีหน่วยแพทย์บางคนที่ถูกโจมตีขณะกำลังรักษาผู้บาดเจ็บบนสะพาน นอกจากนี้ยังมีการชุมนุมของกลุ่มที่ไม่สนับสนุนทั้งมอร์ซีและกองทัพซึ่งมีบางส่วนมีอาวุธ แต่ก็ได้ปะทะกับผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ทางตะวันตกของกรุงไคโรหลังจากผู้อยู่อาศัยเริ่มยิงโจมตีก่อน

หลังเหตุรุนแรงก่อนหน้านี้ในวันพุธ ทางการอียิปต์ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและมีการจำกัดเคอร์ฟิว ทางกระทรวงมหาดไทยของอียิปต์ได้สั่งให้มีการใช้กระสุนจริงกรณีที่ผู้ชุมนุมจู่โจมเจ้าหน้าที่หรืออาคารของทางการโดยอ้างว่าเป็นการทำเพื่อป้องกันตัวตามกฎหมาย แต่ผู้ชุมนุมซึ่งเป็นกลุ่มร่วมระหว่างภราดรภาพมุสลิมกับกลุ่มพันธมิตรต่อต้านการรัฐประหารยังคงออกมาชุมนุมขัดขืนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและละเมิดเคอร์ฟิว

ผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารเริ่มชุมนุมหลังจากการรัฐประหารโมฮัมเหม็ด มอร์ซี อดีตประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งและอยู่ในสังกัดพรรคการเมืองของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม


เหตุเผาโบสถ์ 32 แห่ง
แม้จะมีการพยายามใช้มาตรการความมั่นคงเข้าควบคุมผู้ชุมนุม แต่รัฐบาลจากการรัฐประหารของอียิปต์ก็ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ทั้งหมด หลังจากการปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างหนัก มีผู้ชุมนุมสนับสนุนมอร์ซีส่วนหนึ่งออกไปเผาโบสถ์และทำลายทรัพย์สินของชาวคริสต์นิกายคอปต์ โดยมีโบสถ์อย่างน้อย 32 แห่งถูกเผา

กลุ่มชาวคริสต์ซึ่งเป็นประชากรร้อยละ 10 ของอียิปต์มักจะบอกว่าพวกเขาตกเป็นเหยื่อการกระทำรุนแรงจากกลุ่มหัวรุนแรง และดูเหมือนว่าเหตุการณ์รุนแรงเหล่านี้จะเพิ่มมากขึ้นหลังจากรัฐประหารเมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา และแม้ผู้นำศาสนาจะเห็นด้วยกับการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง แต่ชาวคริสต์บางคนเช่น ไมเคิล แมกดี ซึ่งแม้จะเคยประท้วงต่อต้านมอร์ซีแต่ก็ไม่สนับสนุนทหาร

"ผมประท้วงต่อต้านมอร์ซีในวันที่ 30 มิ.ย. ตอนแรกผมไม่นึกเกี่ยวกับเรื่องกองทัพจะยึดอำนาจอียิปต์มาก่อน ผมไม่ชอบทั้งตำรวจและทหาร ผมเคยอยู่ในที่ชุมนุมมอสตาฟา มาห์มูด (การประท้วงในปี 2011) และอยู่ในเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ปอร์ซาอิด"


กษัตริย์ซาอุฯ แถลงหนุนทหารอียิปต์
ในวันที่ 16 ส.ค. กษัตริย์อับดุลเลาะห์แห่งซาอุดิอาระเบียแถลงผ่านช่องโทรทัศน์ของรัฐบาลซาอุดิอาระเบียเรียกร้องให้ร่วมใจกันต่อต้านผู้ที่พยายามทำให้อียิปต์ขาดเสถียรภาพ

"ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย เรียกร้องให้ประชาชนและรัฐบาลยืนเคียงข้างพี่น้องชาวอียิปต์เพื่อต่อต้านการก่อการร้าย" กษัตริย์อับดุลเลาะห์กล่าว โดยซาอุดิอาระเบียเคยเป็นพันธมิตรกับอดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค และมีความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยดีนักกับกลุ่มภราดรภาพมุสลิม และเมื่อเดือนที่แล้วได้มีการให้สัญญาว่าจะช่วยเหลืออียิปต์เป็นเงิน 5,000 ล้านดอลลาร์ หากสามารถถอนมอร์ซีและกลุ่มภราดรภาพมุสลิมจากตำแหน่งได้

ด้านประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ประณามการปราบปรามผู้ชุมนุมในอียิปต์ และสั่งยกเลิกโครงการความร่วมมือทางการทหารรวม ถึงมีการตัดเงินช่วยเหลือจำนวน 1,300 ล้านดอลลาร์ โอบามาบอกว่าเขาไม่สามารถให้ความร่วมมือทางทหารต่อไปได้ตราบใดที่ยังมีพลเรือนถูกสังหาร

ทางด้านทางการตุรกีกล่าวว่าเหตุการณ์รุนแรงในวันพุธที่ผ่านมาเป็น "การสังหารหมู่" และเรียกตัวเอกอัครราชทูตกลับประเทศเพื่อหารือเรื่องความคืบหน้า ทางการอียิปต์ก็ได้ถอนกำลังกองทัพเรือในตุรกีเป็นการตอบโต้

ด้านกลุ่มประเทศยุโรปมีการนัดประชุมหารือด่วนในเรื่องวิกฤติในอียิปต์ ซึ่งทางแคธเธอรีน แอชตัน ผู้แทนฝ่ายนโยบายการต่างประเทศของสหภาพยุโรปกล่าวว่า ผู้รับผิดชอบต่อวิกฤติในครั้งนี้คือรัฐบาลรักษาการรวมถึงผู้นำอื่นๆ ของอียิปต์



เรียบเรียงจาก

Scores dead in Egypt's 'day of rage' clashes, Aljazeera, 16-08-2013
http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2013/08/2013816121757821877.html

Egypt's Christians face unprecedented attacks, Aljazeera, 16-08-2013
http://www.aljazeera.com/indepth/features/2013/08/2013816102257435227.html

Saudi king backs Egypt's military, Aljazeera, 16-08-2013
http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2013/08/201381615196784361.html

Egypt: scores killed in 'day of rage', The Guardian, 16-08-2013
http://www.theguardian.com/world/2013/aug/16/egypt-scores-killed-day-rage

Egyptians grieve for loved ones as massacre continues, The Guardian, 16-08-2013
http://www.theguardian.com/world/2013/aug/16/egypt-massacre-morsi-clashes-mosques

Egypt crisis: Deaths as Cairo violence resumes, BBC, 16-08-2013
http://www.bbc.co.uk/news/world-middle-east-23721584

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

30 ก.ย.นี้ ศาลนัดฟังคำสั่งคดี 'จรูญ-สยาม' 2 เหยื่อกระสุน 10 เมษา

Posted: 16 Aug 2013 11:50 PM PDT

ไต่สวนคดี 'จรูญ-สยาม' 2 เหยื่อกระสุน 10 เม.ย.53 หน้า ร.ร.สตรีวิทยา เสร็จแล้ว ทนายญาติฯ แถลงว่าญาติผู้ตายทั้งสองไม่ติดใจนำพยานมาสืบเพิ่ม หลักฐานครบถ้วนแล้ว ศาลนัดฟังคำสั่งในวันที่ 30 ก.ย. เวลา 09.00 น.
 
15 ส.ค.56 เวลา 09.30 น.  ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดไต่สวนชันสูตรพลิกศพ คดีที่พนักงานอัยการสำนักอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายจรูญ ฉายแม้น ผู้ตายที่ 1 และนายสยาม วัฒนนุกูล ผู้ตายที่ 2 ถูกยิงเสียชีวิตหน้า ร.ร.สตรีวิทยา ถ.ดินสอ ในเหตุกระชับพื้นที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้เป็นการไต่สวนพยานของฝ่ายญาติผู้ตาย แต่ทนายความญาติผู้ตายแถลงว่าญาติผู้ตายทั้งสองไม่ติดใจนำพยานมาสืบเพิ่ม เนื่องจากได้หลักฐานครบถ้วนแล้ว ศาลจึงนัดฟังคำสั่งในวันที่ 30 ก.ย. เวลา 09.00 น.
 
อ่านรายละเอียดการไต่สวนคดี "จรูญ-สยาม"  และรายละเอียดคดี 10 เม.ย. 53 ที่มีการไต่สวนขณะนี้อีก 3 รายประกอบด้วย นายฮิโรยูกิ มูราโมโต้ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น นายวสันต์ ภู่ทอง และนายทศชัย เมฆงามฟ้า คลิ๊ก
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น