โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ชาตินิยมกับชาติพันธุ์นิยม

Posted: 11 Aug 2013 08:18 AM PDT

"คนไทยไม่ทิ้งกัน" นี่คงเป็นคำขวัญที่สร้างความประทับใจมากสุดในน้ำท่วมคราวนี้ จึงมีผู้เอาไปแต่งเป็นเพลงหรือแทรกอยู่ในเนื้อเพลงปลุกปลอบใจ ที่มีการแต่งกันหลายเพลงในช่วงนี้

ผมนึกถามตัวเองว่า แล้วใครเป็น "คนไทย" วะ ที่ชัดเจนแน่นอนอย่างหนึ่งคือ แรงงานพม่าไม่ใช่แน่ เพราะเขาถูกทิ้งให้เผชิญภัยพิบัติอย่างน่าเวทนาจำนวนมาก รายได้ก็ขาด อาหารก็ไม่มีใครเอาไปแจก พูดขอความช่วยเหลือกับใครก็ไม่มีใครรู้เรื่อง

ทั้งนี้ เพราะเขาไม่ได้ถือสัญชาติไทย จึงไม่ใช่ "คนไทย" เท่านั้นหรือ แต่ก็ได้ยินเขาพูดกันอยู่บ่อยๆ ว่า คนเหล่านี้คือแรงงานที่ขาดไม่ได้ในเศรษฐกิจไทย (เพราะแรงงานที่ถือสัญชาติไทยมีไม่พอ) เขาคือคนที่มาช่วยพยุงให้อุตสาหกรรมของ "คนไทย" ดำเนินต่อไปได้ไม่ใช่หรือ

แต่ในทางตรงกันข้าม ในบรรดา "คนไทย" ที่ไม่ถูกทิ้งนั้น มีคนเชื้อสายจีนอยู่มาก เพราะอะไร? เพราะเขาถือสัญชาติไทยตามกฎหมาย เขาจึงเป็น "คนไทย" กระนั้นหรือ

อีกกลุ่มใหญ่เบ้อเริ่มคือคนเชื้อสายมลายูในภาคใต้ เขาเป็น "คนไทย" ด้วยหรือไม่ หรือเป็นเท่ากับ "คนไทย" ทั่วไปหรือไม่ เมื่อตอนที่เกิดกรณีตากใบซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตร่วมร้อย ความเห็นในสื่อสังคมจำนวนมาก แสดงความสะใจอย่างเปิดเผย แถมอีกหลายคนยังเสนอว่า เมื่อเขาไม่พอใจประเทศไทย เขาก็ควรออกไปจากประเทศนี้

ทำนองเดียวกับที่ดาราทีวีคนหนึ่ง ซึ่งกล่าวสุนทร(?)พจน์ในคราวรับรางวัลอะไรสักอย่าง แล้วบอกว่า ใครที่ไม่ชอบ "พ่อ" ก็ควรออกไปจาก "บ้านของพ่อ"

แล้วยังพวกเสื้อแดงอีก เขาเป็น "คนไทย" เหมือนและเท่ากับคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ หรือไม่ ความตายและความบาดเจ็บของเขาจึงได้รับการจดจำน้อยกว่าซากตึก

คนไทยเป็นเจ้าของประเทศนี้ไม่เท่ากันหรอกครับ และมันก็เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่เริ่มปลุกความรัก "ชาติ" กันมาในสมัย ร.6 แล้ว ดังนั้น การเรียกร้องความเสมอภาคของเสื้อแดงจึงสั่นสะเทือนไปถึงรากฐานความเป็น "ชาติ" ของไทยทีเดียว

อะไรคือ "ชาติ" ในพระราชมติของ ร.6 ท่านทรงเขียนไว้ชัดเจนว่า ชาติหมายถึงกลุ่มคนที่อยู่ร่วมกัน มีวัฒนธรรมเช่นภาษาอันเดียวกัน ผ่านประสบการณ์ในอดีตมาร่วมกัน และมีระบบค่านิยมที่เหมือนกัน (นับถืออะไรคล้ายๆ กัน)

ผมเขียนให้เข้าใจง่ายๆ ในภาษาปัจจุบัน เพื่อสะดวกในการวิเคราะห์ว่า ชาติเกิดจากปัจจัย 4 ประการคือ ภูมิศาสตร์, วัฒนธรรม, ประวัติศาสตร์ และค่านิยม คือจากปัจจัยภายนอกไล่ไปจนถึงส่วนที่ลึกสุดในสำนึกของคน (และขอให้สังเกตด้วยว่า ความเป็นเจ้าของ "ชาติ" โดยเท่าเทียมกันนั้น ไม่มีอยู่ในนิยามนี้ อย่างน้อยก็ไม่มีอยู่อย่างชัดเจน)

แต่ทั้ง 4 ปัจจัยนี้หาได้ตรงกับประเทศไทยในความเป็นจริงไม่ ทั้งในสมัยของพระองค์หรือสมัยปัจจุบัน

ในทางภูมิศาสตร์ คนที่มาอยู่ร่วมกันในราชอาณาจักรสยาม-ไทย ไม่ได้สมัครใจมาอยู่ภายใต้ร่มธงเดียวกัน ก็ทั้งตัวพระราชอาณาจักรดังกล่าวก็เพิ่งเกิดขึ้น (หลังจากแก่งแย่งดินแดนกับฝรั่งจนในที่สุดฝรั่งก็ขีดเส้นเขตแดนให้เรารับไป) แม้แต่ธงก็เพิ่งคิดขึ้นไม่นาน

ศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของคนอีสานสมัยนั้นคือเวียงจัน ไม่ใช่กรุงเทพฯ ไม่นานก่อนหน้า ร.6 เจ้านายเมืองเชียงใหม่ยังแอบติดต่อกับพระเจ้าแผ่นดินพม่า และในส่วนต่างๆ ของประเทศ มีกลุ่มคนที่ปัจจุบันเรียกว่า "ชนส่วนน้อย" อาศัยอยู่กระจัดกระจายเต็มไปหมด เช่น ประชาชนบนที่สูง ต่างพากันอพยพลงมาตั้งทำกิน โดยไม่ได้สนใจว่าเป็นราชอาณาจักรของใคร คนเชื้อสายเขมรในบุรีรัมย์-สุรินทร์-ศรีสะเกษสมัยนั้นยังพูดไทยไม่ได้ ภาษาชองยังใช้กันในชีวิตประจำวันของประชาชนในจังหวัดจันทบุรี ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงชาวมลายูในภาคใต้ และชาวกะเหรี่ยงซึ่งกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปตามป่าเขาในภาคเหนือและภาคกลาง

อันที่จริง ปัจจัยทางภูมิศาสตร์เป็นปัจจัยที่อ่อนสุดในความเป็น "ชาติ" ของทุกชาติในโลกนี้ เพราะเขตแดนของรัฐสมัยใหม่ไม่ได้เกิดขึ้นจากสำนึกร่วมกันของพลเมือง แต่เกิดขึ้นจากเหตุผลทางการเมืองระหว่างประเทศเกือบทั้งนั้น

เมื่อปัจจัยทางภูมิศาสตร์ไม่อาจให้หลักเกณฑ์อะไรแก่ความเป็น "ชาติ" ได้ ปัจจัยทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ก็พังไปด้วย ส่วนใหญ่ของข้าราษฎรใน ร.6 พูดภาษากรุงเทพฯ ไม่เป็น และมักจะฟังไม่ค่อยรู้เรื่องด้วย จะอ้างว่าแม้กระนั้นพวกเขาก็ใช้ภาษาในตระกูลไท-กะไดด้วยกัน ก็จะยิ่งยุ่ง เพราะต้องรวมประชาชนที่อยู่นอกเขตภูมิศาสตร์ของราชอาณาจักรอีกมาก ไล่ไปถึงยูนนาน, กวางสี, ตังเกี๋ย, ลาว, พม่า, อินเดีย และบางส่วนในรัฐมลายูนอกสหพันธรัฐ

(แม้กระนั้น ความคลุมเครือเรื่องภาษากับ "ชาติ" เช่นนี้ ยังทำให้นักเขียนรุ่นหลังหลายคน ขนลุกเกรียวๆ เมื่อได้มีโอกาสพูดกับคนไท-ไตในเมืองจีน, พม่า, และอินเดีย ขนของนักเขียนรุ่นหลังที่อาจลุกได้ง่ายๆ นี้ จะช่วยอธิบายความสับสนในเรื่อง "ชาติ" ของไทยได้ด้วย)

เรื่องประสบการณ์ร่วมในอดีตหรือประวัติศาสตร์ไม่ต้องพูดถึง ประชาชนในประเทศไทยมีวีรบุรุษคนละคนกันมานานจนเมื่อการศึกษามวลชนแพร่หลายในสมัยหลังแล้ว และประวัติศาสตร์ไทยก็กลายเป็นยี่เกทั้งในจอหนังและตำราแล้ว

เพราะหาหลักเกณฑ์อะไรไม่ได้ จึงต้องมาเน้นกันที่ส่วนลึกในจิตใจคือค่านิยม เกณฑ์ง่ายๆ ของ ร.6 ก็คือ "คนไทย" ต้องนับถือองค์พระมหากษัตริย์เป็นผู้นำของตน "คนไทย" คือคนที่นับถือพระมหากษัตริย์ "ชาติ" ไทยคือ "บ้านพ่อ"

ในทัศนะแบบนี้ "คนไทย" จึงไม่เกี่ยวกับเชื้อชาติหรือสัญชาติ แต่เกี่ยวกับความภักดีต่างหาก ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงเคยมีนโยบายต่อต้านจีนได้ โดยมีคนเชื้อสายจีนจำนวนมากได้อภิสิทธิ์ต่างๆ ทั้งทางการค้าและการเมือง เพราะคนจีนที่ถูกต่อต้านนั้น ไม่ได้หมายถึง "เจ๊ก" แต่หมายถึงคนที่ถูกสงสัยในความภักดี (ต่อพระมหากษัตริย์หรือต่อผู้นำประเทศ)

สํานึกชาตินิยมเช่นนี้ นับตั้งแต่เริ่มถือกำเนิดในสมัย ร.6 มาจนถึงปัจจุบัน ไม่อาจเรียกว่า "ชาตินิยม" ได้จริง แต่ควรเรียกว่า "ชาติพันธุ์นิยม" (ethnonationalism) ต่างหาก

"ชาติพันธุ์" ไม่ได้หมายถึงคุณลักษณะในเม็ดเลือดนะครับ แต่หมายถึงการถือวัฒนธรรม (ในความหมายกว้าง นับตั้งแต่ภาษา, ความเชื่อ, ค่านิยม, หรือแม้แต่บุคลิกภาพ) อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอัตลักษณ์ของตน คนต่างเผ่าพันธุ์กันหันมาอยู่ในชาติพันธุ์เดียวกัน จึงเกิดขึ้นเป็นประจำตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์


รัฐบาลไทยนับตั้งแต่ ร.6 เป็นต้นมา ใช้นโยบายที่เป็นทั้งไม้นวมและไม้แข็ง เพื่อให้ประชาชนทั้งหมดยึดถือชาติพันธุ์ "คนไทย" ร่วมกันให้ได้

และในวัฒนธรรมทางการเมือง คุณสมบัติซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานที่ขาดไม่ได้ของชาติพันธุ์ "คนไทย" ก็คือ สองมาตรฐานไงครับ พูดอีกอย่างหนึ่งคือการไม่ยอมรับความเสมอภาค การรู้จักที่ต่ำที่สูง (เช่น การนับถือพระมหากษัตริย์เป็นผู้นำของ ร.6) การกระจายสิทธิต่างๆ ที่ต้องลดหลั่นกันลงไปตามแต่ช่วงชั้นทางสังคม

คุณจะเป็นเจ๊กเป็นจีน เป็นแขกเป็นมอญ เป็นฝรั่งมังค่า เป็นม้งเป็นเย้าอะไรก็ตาม คุณคือ "คนไทย" หากยอมรับว่าความไม่เสมอภาคคือหลักการที่เราจะอยู่ร่วมกันโดยสงบ

น่าสังเกตนะครับว่า พฤติกรรมที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่า "เป็นคนไทยหรือเปล่า" นั้น มักเป็นพฤติกรรมที่ไม่ยอมรับความเหลื่อมล้ำต่างๆ เสมอ

หลักการพื้นฐานของ "ชาตินิยม" นั้นแตกต่างโดยสิ้นเชิงจาก "ชาติพันธุ์นิยม" เพราะ "ชาตินิยม" คือความเสมอภาคของพลเมืองทุกคน ไม่ว่าเขาจะอยู่ในเผ่าพันธุ์ใด ถือศาสนาใด พูดภาษาใดก็ตาม เขาย่อมเป็นเจ้าของ "ชาติ" เท่าเทียมกับคนอื่นทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวกับประชาธิปไตยนะครับ แม้แต่ในรัฐเผด็จการ พลเมืองก็อาจเสมอภาคกันได้ ผู้เผด็จการได้อำนาจมาตามกระบวนการของกฎหมาย ฆ่าคนหรือขังคนตามกระบวนการของกฎหมาย ฉะนั้น ผู้เผด็จการก็อยู่ใต้กฎหมายเหมือนกัน (เช่น ฮิตเลอร์และสตาลิน เป็นต้น)

หากทว่า กฎหมายและกระบวนการทางกฎหมายนั้นๆ อาจไม่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น แต่เสมอภาคแน่ครับ

ชีวิตและสวัสดิภาพของคนเสื้อแดงมีความสำคัญน้อย เพราะเขาแสดงตัวว่าเขาไม่ใช่ "คนไทย" ก็ไม่ยอมรับความเหลื่อมล้ำ (ทางการเมือง) นี่ครับ ชีวิตของชาวมลายูมุสลิมยิ่งด้อยความสำคัญลงไปใหญ่ เพราะเขาแข็งข้อ ไม่ใช่แข็งข้อต่อรัฐนะครับ แต่แข็งข้อต่อความเหลื่อมล้ำอยุติธรรมซึ่งเป็นพื้นฐานของ "ชาติพันธุ์นิยม" ไทยเลยทีเดียว ซ้ำวิถีชีวิตของเขายัง "แข็งข้อ" ต่อชาติพันธุ์ไทยตลอดมาเสียด้วย

อุดมการณ์ของสลิ่มและเสื้อเหลือง (รวมผู้สนับสนุนเบื้องหลังด้วย) คืออุดมการณ์ของ "ชาติพันธุ์นิยม" อย่างชัดแจ้ง ส.ส. ต้องจบปริญญาตรีขึ้นไป, อำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันของสถาบันทางการเมืองต่างๆ เช่น กองทัพเป็นรัฐอิสระ ซึ่งควรเข้ามาทำรัฐประหารเสียก่อนจะสายเกินไป เพราะกองทัพไม่ใช่หน่วยงานหนึ่งเหมือนกรมชลประทานนะครับ ฯลฯ

ตราบเท่าที่ยังเป็น "คนไทย" ในความหมายของ "ชาติพันธุ์นิยม" เราก็จะไม่ทิ้งกัน

แต่ "ชาติพันธุ์นิยม" กำลังถูกท้าทายอย่างหนักจากคนเสื้อแดง ในอีกมุมมองหนึ่ง ความขัดแย้งที่เราเผชิญอยู่เวลานี้คือการปะทะกันอย่างหนักเป็นครั้งแรกในประเทศนี้ ระหว่างพลังสองฝ่ายคือ "ชาตินิยม" กับ "ชาติพันธุ์นิยม"

ในด้านอุดมการณ์ ผมเข้าใจว่าฝ่าย "ชาตินิยม" ยังไม่ได้พัฒนาขึ้นมาให้ชัดเจน มากไปกว่าความเสมอภาค ซึ่งอาจนำไปสู่เผด็จการอีกชนิดหนึ่งก็ได้ (จึงพร้อมจะรับ คุณทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้นำได้อย่างไม่รู้สึกตะขิดตะขวง)

ในทางตรงกันข้าม ฝ่าย "ชาติพันธุ์นิยม" สามารถใช้อุดมการณ์ที่ได้พัฒนาสั่งสมกันมาตั้งแต่ ร.6 ซึ่งมีความชัดเจนและครอบคลุมไปทั้งชีวิตคน ซ้ำเป็นอุดมการณ์ของ "ชาติ" ไทยที่เป็นฐานการศึกษาทุกชนิด (รวมสื่อด้วย) มานาน และด้วยเหตุดังนั้น จึงสามารถดึงดูดการสนับสนุนจากคนมีการศึกษาซึ่งกระจุกตัวในเขตเมืองได้มาก รวมทั้งที่ทำงานอยู่ในสื่อต่างๆ ด้วย

 

ที่มา: มติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช.ถอย คุมเนื้อหาสื่อ เปลี่ยนแนวให้กำกับกันเอง

Posted: 11 Aug 2013 08:02 AM PDT

บอร์ดกสท. ปรับมาตรฐานการจัดเรทคุมเนื้อหา สนับสนุนสื่อกำกับกันเองตามจริยธรรมให้เข้มแข็ง – ลดข้อหาแทรกแซงสื่อ

นางสางสุภิญญา กลางณรงค์ เปิดเผยว่า แม้สัปดาห์นี้ บอร์ดกสท.จะไม่ได้มีการพิจารณาเพิ่มเติมเรื่องที่เกี่ยวข้องกับร่างประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ... ตามมาตรา37 แห่ง พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 (ขณะนี้นำขึ้นเวบเพื่อเปิดรับฟังความเห็นทางเวบไซต์ www.nbtc.go.th)ก็ตาม แต่มติครั้งที่ผ่านมาตนได้ส่งบันทึกความเห็นเพิ่มเติมต่อร่างประกาศฯดังกล่าว ดังนี้ มีความคลุมเครือระหว่างการกำกับดูแลเนื้อหารายการที่เป็นการกระทำผิดกฎหมายตามมาตรา 37 กับการกระทำผิดจรรยาบรรณ ซึ่งเกี่ยวข้องกับมาตรา 39 และ มาตรา 40 ของพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว จึงเสนอให้สำนักงาน กสทช.จัดการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในประเด็นเพิ่มเติม ว่า สาระส่วนใดของร่างประกาศฯ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 37 โดยตรง และสาระในส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการส่งเสริมและควบคุมจริยธรรมแห่งวิชาชีพและการคุ้มครองผู้เสียหายจากการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.

รวมทั้ง สืบเนื่องจากการประชุมครั้งที่ 24/2556 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2556 ได้พิจารณาร่างประกาศฯ ฉบับยกร่างโดยกลุ่มงานกฎหมายกระจายเสียงและโทรทัศน์ และ ร่างประกาศฯ ฉบับยกร่างโดยคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ การประชุมในครั้งนั้นตนได้สงวนความคิดเห็นว่า เห็นด้วยกับสาระโดยส่วนใหญ่ของร่างประกาศ กสทช. ฉบับยกร่างโดยกลุ่มงานกฎหมายกระจายเสียงและโทรทัศน์เนื่องจากหมวดสองในร่างประกาศของคณะอนุกรรมการด้านผังรายการฯ เป็นการลงรายละเอียดในแนวทางปฏิบัติ ซึ่งเปิดให้เป็นการใช้ดุลพินิจของกรรมการ กสทช. ที่มากเกินไป อีกทั้งสาระในหมวดสองยังอยู่นอกเหนือขอบเขตของมาตรา 37 ของพ.ร.บ. การประกอบกิจการฯ พ.ศ. 2551 และอาจขัดกับมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งตนยังอยากเสนอให้คณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการนำร่างประกาศ กสทช. ฉบับยกร่างโดยกลุ่มงานกฎหมายฯ มาประกอบการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขอีกครั้ง

นอกจากนี้ในที่ประชุม คณะอนุกรรมการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง ซึ่งตนเป็นประธาน ได้มีมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2556 พิจารณาให้ความคิดเห็นต่อร่างประกาศดังกล่าว ว่าไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาบางส่วนในร่างประกาศดังกล่าว เนื่องจากมีความเกี่ยวพันและขัดกับหลักการการกำกับดูแลกันเองซึ่งเป็นอำนาจที่ พ.ร.บ. ได้กำหนดไว้ในมาตรา 39 และ มาตรา 40 และมีความขัดแย้งกับหลักการบางมาตรารัฐธรรมนูญฯ ซึ่งร่างประกาศดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนต่อการประกอบวิชาชีพและเป็นเรื่องที่องค์กรวิชาชีพสื่อหลายองค์กรได้มีการทักท้วงตามที่ได้ปรากฏเป็นข่าว จึงเห็นควรให้ทบทวนกระบวนการจัดทำร่างประกาศฯ โดยให้มีการรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มโดยครอบคลุมผู้เกี่ยวข้อง ทั้งระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น และคณะอนุกรรมการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองได้จัดทำแนวทางธำรงไว้ซึ่งจรรยาบรรณและจริยธรรมและแนวทางการกำกับดูแลกันเองขององค์กรวิชาชีพด้านกระจายเสียงและโทรทัศน์ไว้ในเบื้องต้นแล้ว และได้มีการประสานงานกับคณะอนุกรรมการพัฒนาวิชาชีพในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ให้นำแนวปฏิบัติดังกล่าวไปปรากฏไว้ในภาคผนวกของร่างมาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้ประกอบวิชาชีพที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไข โดยคณะอนุกรรมการได้เสนอให้ กสท.โปรดพิจารณาเร่งรัดกระบวนการจัดทำมาตรการดังกล่าวและให้ความสำคัญกับการส่งเสริมกลไกการกำกับดูแลกันเองของผู้รับใบอนุญาตและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว

นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า อย่างไรก็ตามเรื่องใดที่ไม่ได้มีความผิดร้ายแรงควรจะให้เป็นเรื่องของการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง และหนึ่งในนั้นเป็นคือการจัดระดับเนื้อหาความเหมาะสมทางโทรทัศน์(หรือการจัดเรท)น่าจะเป็นทางออกตรงกลางระหว่างเสรีภาพกับความรับผิดชอบของสื่อ ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละช่องก็มีการจัดเรตเนื้อหาของช่องอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมายังไม่มีมาตรฐานเดียวกันและอาจไม่สอดคล้องกับยุคสมัย โดยที่ กสทช.น่าเป็นตัวกลางในการทบทวนและจัดทำเรทที่เหมาะสมมีการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน แต่ยังเน้นหลักการคุ้มครองเด็กและเยาวชนตามหลักวิชาการ นอกจากนี้ยังมีหลายวิธีที่จะสนับสนุนวิชาชีพสื่อให้มีการกำกับตนเองตามกรอบจรรณยาบรรณ ที่จะมาช่วยเติมช่องว่างในสิ่งที่หายไปจากการควบคุมจากรัฐ ที่น่าจะเป็นทางออกระยะยาวที่น่าจะนำไปสู่ความรับผิดชอบต่อสังคมโดยที่รัฐไม่เข้ามาแทรกแซงและกระทบเสรีภาพสื่อมาก ทั้งนี้การจัดเรทความเหมาะสมกำลังพิจารณาอยู่ว่าจะใช้กับเฉพาะฟรีทีวี หรือรวมทั้งในทีวีเคเบิ้ลดาวเทียมด้วย คงต้องหารือกันต่อไป.

 

                                                                                   

                                                           

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โอบาม่า ปรับปรุงระบบการสืบข่าวกรอง หวังสร้างความเชื่อมั่นหลังถูกเปิดโปง

Posted: 11 Aug 2013 02:41 AM PDT

ปฏิกิริยาล่าสุดจากทางการสหรัฐฯ หลังมีการเปิดโปงเอกสารเรื่องโครงการสอดแนมของหน่วยงานความมั่นคง ปธน. โอบาม่าแถลงว่าจะแต่งตั้งผู้คอบดูแลด้านสิทธิความเป็นส่วนตัวเพื่อถ่วงดุล และมุ่งสร้างความเข้าใจด้านการทำงานข่าวกรอง แต่ยังก็คงยืนยันให้มีโครงการสอดแนมต่อไป

 
เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2013 ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ของสหรัฐฯ ได้แถลงข่าวยอมรับกรณีโครงการสอดแนมที่ถูกเปิดโปงเป็นครั้งแรก หลังจากที่สาธารณชนแสดงความกังวลต่อโครงการดังกล่าว
 
ในที่ประชุมแถลงข่าวของทำเนียบขาว ปธน. โอบาม่ากล่าวว่าการเปิดเผยการกระทำของสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSA) ทำให้ชาวอเมริกันตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อมั่นของพวกเขาที่มีต่อรัฐบาล และเป็นการทำลายชื่อเสียงของประเทศสหรัฐฯ ในสายตาต่างชาติ แต่โอบาม่าก็ยังยืนยันว่าพวกเขาจะยังคงให้โครงการสอดแนมมีอยู่ต่อไป
 
อย่างไรก็ตามทางรัฐบาลสหรัฐฯ ให้คำมั่นว่าพวกเขาจะมีการพิจารณาปรับปรุงระบบข่าวกรองและการโทรคมนาคม โดยจะมีการรายงานผลภายในสิ้นปีนี้
 
"แค่ผมที่เป็นประธานาธิบดีมีความเชื่อมั่นในโครงการเหล่านี้ยังถือว่าไม่มากพอ ประชาชนอเมริกันก็ควรมีความเชื่อมั่นต่อโครงการพวกนี้" โอบาม่ากล่าว
 
โอบาม่ากล่าวว่า เขามีแผนการ 4 ขั้นตอนที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนอเมริกันและปรับภาพลักษณ์ต่อสายตาชาวโลก โดยอาศัยการทำงานร่วมกับรัฐสภาเพื่อปฏิรูปกฏหมายต่อต้านการก่อการร้ายมาตรา 215 ตามความเหมาะสม ซึ่งกฏหมายฉบับนี้ได้มอบอำนาจให้ทางการสามารถเก็บข้อมูลการสื่อสารทางโทรศัพท์ของผู้ใช้ชาวสหรัฐฯ หลายล้านคนได้
 
โอบาม่าเสนอให้มีการแต่งตั้ง "ผู้ให้คำแนะนำด้านสิทธิความเป็นส่วนตัว" ในการบวนการศาลสืบราชการลับ โดยมีการเสนอชื่อวุฒิสมาชิก 3 คน คือ ริชาร์ด บลูเมนธาล, มาร์ค อูดัล และ รอน ไวเดน เพื่อเป็นผู้ให้คำแนะนำดังกล่าวตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา และดูเหมือนจะได้รับการสนับสนุน
 
อย่างไรก็ตามเดอะ การ์เดียน กล่าวว่า สิ่งที่โอบาม่ากล่าวในการการแถลงข่าวไม่ได้ทำให้การสอดแนมของทางการสหรัฐฯ เปลี่ยนไป และดูเหมือนว่าในแง่สมดุลระหว่างการเก็บข้อมูลข่าวกรองและสิทธิความเป็นส่วนตัว พวกเขาจะเอนเอียงมาทางสิทธิความเป็นส่วนตัวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
 
หนึ่งในวุฒิสมาชิกที่ได้รับการเสนอชื่อ รอน ไวเดน ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์การสอดแนมของ NSA กล่าวว่าเขายอมรับข้อเสนอของโอบาม่า แต่ก็เรียกร้องให้โอบาม่าให้รายละเอียดมากกว่านี้ รอนชี้อีกว่าคำแถลงของโอบาม่าไม่ได้กล่าวถึงการยกเลิกการอาศัยช่องกฏหมายในการค้นหาอีเมล์และข้อมูลโทรศัพท์ของชาวอเมริกันโดยไม่ต้องอาศัยหมายค้นภายใต้มาตรา 702 ของกฏหมายว่าด้วยการสืบราชการลับต่างประเทศ (Foreign Intelligence Surveillance Act)
 
อย่างไรก็ตามในที่ประชุมแถลงข่าวโอบาม่าได้ว่า แม้การเปิดโปงเอกสารข้อมูลของทางการโดยเอ็ดเวิร์ด สโนวเดนจะทำให้เกิดการถกเถียงในทางสาธารณะ แต่ก็ยืนยันว่าสโนวเดนไม่ถือเป็น "คนรักชาติ" อีกทั้งยังกล่าวอีกว่าไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองใช้อำนาจในทางที่ผิดแต่เป็นเรื่องปัญหาการรับรู้ของสาธารณะ
 
ขณะที่จามีล แจฟเฟอร์ รองผู้อำนวยการด้านกฏหมายขององค์กรสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (ACLU) กล่าวคัดค้านว่า "แค่จากข้อเท็จจริงเรื่องรัฐบาลเก็บข้อมูลทั้งหมดของประชาชนชาวอเมริกันก็ถือว่าเป็นการใช้อำนาจในทางที่ผิดแล้ว แต่แม้ว่าพวกเราจะจำกัดนิยามเรื่องการใช้อำนาจในทางที่ผิดให้แคบเข้ามาอีกพวกเราก็ไม่มีข้อมูลเพราะมันถูกปิดเป็นความลับหมด"
 
ในเว็บไซต์คอมมอนดรีมส์กล่าวถึงแผนการพิจารณาปรับปรุงของโอบาม่าอีกว่า มีการให้ NSA แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ด้านสิทธิความเป็นส่วนตัวและด้านเสรีภาพพลเมือง และเสนอให้มีการสร้างเว็บไซต์เพื่อเพิ่มความโปร่งใสให้กับการทำงานของเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรอง โดยให้ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับและเข้าใจวิธีการทำงานของหน่วยข่าวกรอง
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Obama touts NSA surveillance reforms to quell growing unease over programs, The Guardian, 09-08-2013
http://www.theguardian.com/world/2013/aug/09/obama-nsa-surveillance-reforms-press-conference
 
Obama: Snowden 'Triggered More Rapid' NSA Dialogue for Nation, CommonDreams, 09-08-2013
http://www.commondreams.org/headline/2013/08/09-10
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: โค่นทำไมระบอบทักษิณ!

Posted: 11 Aug 2013 02:15 AM PDT

สถานการณ์ทางการเมืองต้นเดือนสิงหาคมนี้ ดูเหมือนว่าจะร้อนแรงมากขึ้น เมื่อฝ่ายต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลุ่มเก่าๆ ได้นำเอาเรื่องการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมในสภามาเป็นข้ออ้าง แล้วสร้างการเคลื่อนไหวทางการเมืองเต็มรูปแบบ โดยกลุ่มที่เคลื่อนไหวที่เปิดตัวชัดมี 2 กลุ่มคือ พรรคประชาธิปัตย์ที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ประกาศจะต่อสู้ทั้งในและนอกสภา และอีกกลุ่มหนึ่งคือ พลังมวลชนฝ่ายขวาที่ตั้งเป็น กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ การเคลื่อนไหวครั้งนี้ มีผู้สนับสนุนคือ สื่อมวลชนกระแสหลักจำนวนหนึ่ง และกลุ่มพลังอื่นในรัฐสภา เช่น กลุ่ม 40 สว. ที่เป็นแนวร่วมโดยอ้อมกับฝ่ายประชาธิปัตย์มาช้านาน กลุ่มต่อต้านรัฐบาลเหล่านี้ เห็นว่า สถานการณ์ในขณะนี้สุกงอมพอที่จะนำไปสู่การ"โค่นระบอบทักษิณ"ได้ ถึงขนาด พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ผู้นำฝ่ายกองทัพประชาชนได้ประกาศว่า จะล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ภายใน 7 วัน โดย พล.ร.อ.บรรณวิทย์วิเคราะว่า รัฐบาลจะล้มด้วยวิธีการ 2 อย่าง คือ การยุบสภา กับการรัฐประหาร แต่น่าจะลงท้ายด้วยการรัฐประหารมากกว่า ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการล้มล้างระบอบทักษิณให้หมดไป

อะไรคือ ระบอบทักษิณที่ต้องการที่จะโค่น ในแถลงการณ์ของกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ อธิบายว่า ระบอบทักษิณ คือ "ระบอบการปกครองที่ได้อำนาจรัฐจากการใช้เงินซื้อเสียงเลือกตั้งแล้วอ้าง ประชาธิปไตย มอมเมาให้ประชาชนเสพติดนโยบายประชานิยม เอาภาษีของคนทั้งประเทศไปผลาญสร้างความนิยม แล้วใช้อำนาจไปทุจริตคอรัปชั่น โกงกิน ทุกรูปแบบอย่างไม่เกรงกลัว ทำลาย แทรกแซงกลไกตรวจสอบถ่วงดุล ทำลายและลดความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญ มุ่งทำลายและจ้องล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อการสืบทอดอำนาจในตระกูล นักการเมือง สมุนและพวกพ้อง ใช้รัฐตำรวจข่มขู่ คุกคาม ปราบปรามประชาชนจนถึงอุ้มฆ่า รวมทั้งใช้มวลชนในสังกัดข่มขู่ คุกคามผู้มีความเห็นต่าง"

นอกจากนี้ แถลงการณ์ยังได้อธิบายถึงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรว่า  ถือว่าเป็นรัฐบาล "ของเน่าทั้งแผ่นดิน"เนื่องจากการบริหารประเทศที่ไร้ทิศทาง และล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงกับการจัดการปัญหา นำมาสู่การปล่อยน้ำเข้าท่วมกรุงเทพและจังหวัดที่เป็นที่ตั้งทางธุรกิจขนาดใหญ่ นานกว่า 1 เดือน และยังล้มเหลวในการจัดการปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรจนเกิด "หอมแดงเน่าจากการรับจำนำ" ตลอดจนการทุจริตขนาดใหญ่ สร้างประวัติการณ์ "ข้าวเน่าทั้งแผ่นดิน" ยังไม่รวมถึงการบริหารประเทศที่ส่อไปทางทุจริต คอรัปชั่น จากโครงการเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท
การบริหารประเทศโดยเอาประชาชนเป็นตัวประกันความ "โง่" ของตนเองดังกล่าว  ก็เพราะมุ่งแต่การ คอรัปชั่นและคิดแต่จะดำเนินการเพื่อช่วย"นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร" ให้รอดพ้นคดีโดยไม่คำนึงถึงความชอบธรรมและถูกต้องตามหลักของบ้านเมือง

อยากจะขอเริ่มต้นตรงนี้ก่อนว่า คำอธิบายทั้งเรื่องระบอบทักษิณและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนั้น ไม่มีอะไรถูกต้องเลย เป็นวาทกรรมที่วางอยู่บนความเชื่ออันขาดหลักฐาน และขาดหลักเหตุผลหลายเรื่อง คำอธิบายเช่นนี้จึงใช้ได้เพียงการปลุกปลอบกลุ่มของตนเองที่เชื่อในแบบเดียวกัน ไม่มีทางที่จะสร้างประชามติให้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยได้ ดังนั้น การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ของพวกเขา จึงล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า และขนาดของประชาชนที่เข้าร่วมก็น้อยลงทุกที ในครั้งนี้ พวกเขานัดชุมนุมกันที่สวนลุมพินี ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม ที่ผ่านมา และประกาศที่จะชุมนุมยืดเยื้อ แต่ข้อมูลจากสำนักข่าวทั้งหลายตรงกันว่า ในช่วงที่มีประชาชนเข้าร่วมมากที่สุด ไม่มากเกิน 2 พันคน ด้วยพลังประชาชนจำนวนขนาดนี้ คงยากที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เป็นจริงได้

มีผู้ถามมาจำนวนมากว่า สถานการณ์เผชิญหน้าเช่นนี้จะรุนแรงมากขึ้นไหม คงต้องตอบว่าโอกาสน้อยมาก เพราะกลุ่มต้านระบอบทักษิณไม่มีกำลังเพียงพอที่จะเผชิญกับฝ่ายรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ได้ประกาศใช้กฎหมายความมั่นคง และติดตั้งตำรวจหลายพันคนบริเวณรอบรัฐสภาและทำเนียบรัฐบาล ทั้งยังมีฝ่ายคนเสื้อแดงที่มีกำลังมากกว่าหลายเท่าคอยสนับสนุน ฝ่ายที่มีกำลังสนับสนุนมากกว่ากองทัพประชาชน คือ พรรคประชาธิปัตย์ แต่ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาบอกให้ทราบว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยต่อสู้อะไรจริงจัง ละทิ้งมวลชนเสมอ และคอยฉวยโอกาสจากการสนับสนุนของกลุ่มชนชั้นนำ ซึ่งในครั้งนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็รู้ทัน โดย การที่นายกรัฐมนตรีเสนอเมื่อวันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม ให้มีการจัดตั้งสภาปฏิรูปการเมือง โดยเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทุกกลุ่มทุกสี มาพูดคุยเพื่อหาทางออกทางการเมืองร่วมกัน ข้อเสนอนี้คงไม่ได้มุ่งหวังที่จะให้เกิดการเสวนาในลักษณะเชนนี้จริง เพราะประเมินล่วงหน้าได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มเสื้อเหลืองจะไม่มีทางร่วมด้วย แต่เป็นการสื่อสารไปยังกลุ่มชนชั้นนำกลุ่มอื่นว่า รัฐบาลพร้อมที่จะปรองดองและพูดคุย เพื่อลดอุณหภูมิความร้อนแรงทางการเมือง

ความจริงแล้ว เหตุผลแห่งการสร้างกระแสการต่อต้านรัฐบาลที่เกิดขึ้นก็มาจากการบิดเบือน เพราะเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนายวรชัย เหมะ ที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ก็ได้เสนอหลักการชัดเจนมาตั้งแต่ต้นว่า ต้องการที่จะนิรโทษกรรมประชาชนคนเสื้อแดงที่ถูกดำเนินคดีและติดคุก ไม่มีข้อใดที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่มีการละเมิดอำนาจศาล และไม่มีเรื่องที่จะกระทบกระเทือนสถาบันพระมหากษัตริย์ เอาเข้าจริงไม่มีความจำเป็นใด ที่จะต้องต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมถึงขนาดนี้ การสร้างกระแสต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมจึงเป็นเรื่องอันไร้เหตุผล

ความล้มเหลวอย่างแน่นอนของกลุ่มโค่นระบอบทักษิณขณะนี้ ยังไม่ใช่เรื่องของมวลชน แต่เป็นเรื่อง ความไม่สามารถในการสร้างความเห็นพ้อง และทำให้ชนชั้นนำส่วนใหญ่ในสังคมสนับสนุน เพราะแม้ว่ากลุ่มนายทุน ศักดินา และหลายฝ่ายในระบบการเมือง จะไม่ได้นิยมชมชื่นกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่เห็นได้ว่า การโค่นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ลงในขณะนี้ จะสร้างความเสียหายมากกว่า เพราะกลุ่มต่อต้านระบอบทักษิณ ก็ไม่ได้มีจินตภาพชัดเจนว่า ถ้าโค่นระบอบทักษิณลงได้ แล้วจะเอาอะไรมาแทน ถ้าเลิกโครงการทั้งหมดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะยิ่งสร้างความเสียหายมากกว่าหลายเท่าสำหรับประเทศชาติ ดังนั้น ในระยะเฉพาะหน้า การคงรักษารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยังเป็นประโยชน์แก่ชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ มากกว่า พรรคประชาธิปัตย์คงจะฝันหวานเกินไป ที่จะคิดว่ากลุ่มชนชั้นนำจะช่วยกันโค่นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แล้วอุ้มนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

จึงสามารถอธิบายต่อไปได้ว่า แนวโน้มที่จะเกิดรัฐประหารโค่นรัฐบาล แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะไม่มีสถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงเพียงพอ ไม่มีนายทหารกลุ่มไหนพร้อมที่จะดำเนินการ เหตุผลและความชอบธรรมที่จะอ้างทำเรื่องรัฐประหารก็ไม่มี

นี่คือสถานการณ์ที่เป็นจริง!

 

ที่มา: โลกวันนี้วันสุข  10 สิงหาคม 2556

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ส่งท้ายรอมฎอนสันติภาพ ลุ้นอีก 10 วันท่ามกลางความคลุมเครือ

Posted: 10 Aug 2013 11:28 PM PDT

ส่งท้ายรอมฎอนยังคงมีเหตุรุนแรง ก่อนฮารีรายอลอบวางบึ้ม อส.ยะลาเจ็บ 3 ราย และมีคลิปวิดีโอปริศนาโผล่ หลังฮารีรายอปะทะเดือดที่ลาโละฝ่ายก่อการเสียชีวิต 2 ราย ขณะเดียวกันพบป้ายผ้าข้อความสอดคล้องกับคลิปล่าสุดหลายพื้นที่ ด้านวิทยุร่วมด้วยออกอากาศบทสัมภาษณ์ฮัสซัน ตอยิบ

กิจกรรมรอมฎอนจรรโลงสันติภาพ

วันที่ 8 สิงหาคม 2556 ตรงกับวันที่ 1 เดือนเซาวัล ปีฮิจเราะห์ 1434 คือวันอิดิ้ลฟิตรี หรือวันรายอ เป็นวันฉลองการสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิมทั่วโลก ซึ่งหลายพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างร่วมฉลองในวันดังกล่าวนีด้วย นอกจากการประกอบศาสนกิจในวันดังกล่าวแล้ว บางพื้นที่ยังมีการจัดกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย

ดังเช่น เครือข่ายองค์กรมุสลิม มัสยิดและชุมชน จังหวัดยะลา จัดโครงการละหมาดอิดิ้ลฟิตรี ฮิจเราะห์ 1434 โดยมีกิจกรรมพบปะ ทักทาย สลามชื่นชมยินดีกับผู้นำทุกระดับด้วยความปีติยินดีและอวยพรระหว่างกัน เพื่อความเป็นเอกภาพและภราดรภาพในบรรดาผู้ศรัทธาจังหวัดยะลาและจังหวัดใกล้เคียงและยังมีกิจกรรมคุฏบะฮ์อิดิลฟิตรี้ ในหัวข้อ รอมฏอนสันติภาพ สังคมสันติสุข โดยมีพี่น้องมุสลิมกว่า 5,000 คน ร่วมละหมาดอิดิ้ลฟิตรี ต้อนรับวันฮารีรายอที่ศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา

ในวันนี้พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมพบปะพี่น้องมุสลิมที่มา ละหมาดอิดิ้ลฟิตรี ประจำปี ฮิจเราะห์ศักราช 1434 ในโครงการ "จรรโลงสันติภาพ"

สำหรับการอ่านคุตบะห์ในครั้งนี้โดยอาจารย์มัสลัน มะหะหมัด ซึ่งตอนหนึ่งมีใจความว่า "การใช้กองกำลังและการใช้ความรุนแรง ไม่เคยแก้ปัญหาใดๆ นอกจากบ่มเพาะความสูญเสียและความเคียดแค้นที่ไม่มีวันสิ้นสุด ประเทศอิรักและอัฟกานิสถานเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ ถึงแม้มหาอำนาจใช้ศักยภาพที่เหนือกว่า แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างสำเร็จลุล่วง เพราะความยุติธรรมและเสรีภาพคือความต้องการพื้นฐานสำคัญของมนุษย์ ตราบใดที่ยังไม่พบเจอมนุษย์จะต้องถามทั้ง 2 ประการนี้ตลอดเวลา ทั้งหลายทั้งปวงนั้น เพื่อยืนยันว่า กองกำลังและศักยภาพทางอาวุธ อาจสามารถเปิดประเทศ หรือยึดครองประเทศได้ แต่ไม่มีทางที่จะไปยึดครองหัวใจของผู้คนได้ จึงขอเชิญชวนให้ทุกท่านตระหนักถึงความสำคัญของการใช้หลักยุติธรรมและเสรีภาพ โดยผ่านกระบวนการสถานเสวนา เพื่อสร้างสังคมสันติสุขที่แท้จริง"

 

คลิปปริศนาก่อนรอยอมีประกาศมติสภาชูรอ BRN

วันที่ 6 สิงหาคม ได้มีการเผยแพร่คลิปวีดีโอในยูทูบที่ประกาศว่าเป็นคำปรพกาศมติของสภาซูรอหรือสภาที่ปรึกษา BRN ที่มีเนื้อหาว่า BRN คือขบวนการหนึ่งที่ต้องการปลดปล่อยชาวปาตานีจากการกดขี่ของนักล่าอาณานิคมสยามซึ่งมีเป้าหมายที่จะสถาปนาความยุติธรรม สันติภาพ และความสงบสุขแก่ชาวปาตานีในความหมาย " แผ่นดินทีดีและได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้า" เมื่อพิจารณาข้อเสนอ  5 ข้อแรกและเงื่อนไข 7 ข้อหลัง เพื่อบรรลุข้อตกลง(ความเข้าใจร่วม) 30 วันเดือนรอมฎอน และ 10 วันเดือนเชาวาลพบว่า นักล่าอาณานิคมสยามมิได้ปฏิบัติตามเลยแม้แต่ข้อเดียว  ในทางกลับกันนักล่าอาณานิคมสยามทำการบ่อนทำลาย โกหกและยังคงเผยแผ่การใส่ร้ายกับชาวปาตานี

ดังนั้นเมื่อพิจารณาตามมติสภาชูรอ (ที่ปรึกษา) BRN ตราบใดที่นักล่าอาณานิคมสยามยังมีจุดยืนดังกล่าว ดังนั้นนักล่าอาณานินิคมสยามไม่มีสิทธิที่สานต่อการสานเสวนาสันติภาพและไม่มีสิทธิอยู่ในพื้นแผ่นดินปาตานีและจะไม่มีตัวแทน BRN ในการสานเสวนาสันติภาพกับตัวแทนนักล่าอาณานิคมสยามตลอดไป

 

ป้ายผ้าที่เนื้อหาสอดคล้องกัน

หลังวันฮารีรายอพบมีป้ายผ้าที่มีข้อความการทวงสิทธิความเป็นเจ้าของและการประการกาศจะต่อสู้จนเลือดหยดสุดท้ายแขวนในหลายพื้นที่ในคืนวันฮารีรายอ โดยมีทั้งที่เขียนด้วยภาษายาวีและเขียนด้วยอักษรรูมี นอกจากนั้นยังมีป้ายผ้าที่เขียนข้อมความอวยพรความสุขวันฮารีรายอโดยไม่ระบุชื่อหรือหน่วยงานผู้เขียน แต่มีข้อความภาษาอาหรับความว่า บัลดาตน ตอยยีบาตน วาร๊อบบนรอฟูร ซึ่งมีความหมายว่า "แผ่นดินทีดีและได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้า" อันเป็นข้อความเดียวกันกับที่ประกาศในคลิปก่อนหน้า

 

สรุปเหตุก่อนรายอ 6 - 7 สิงหาฯ เกิดเหตุ 7 ครั้ง

วันที่ 7 สิงหาคม 2556 เวลา 02.50 น. เกิดเหตุคนร้าย 2 คน ประกบยิงนายมูฮัมหมัดรูดวานสาและอายุ 17ปี ได้รับบาดเจ็บเหตุเกิดบนถนนสาย 409 บ้านลิมุดหมู่ที่ 3 ต.ท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา เวลา 05.30 น. พบศพชายไทยบริเวณบ้านบาโงยือแม็ง หมู่ที่ 5 ต.กะรุบี อ.กะพ้อ จ.ปัตตานีต่อมาทราบชื่อนายฮัมดัมวาจิอายุ 30 ปี ชาวบ้านหมู่ที่ 5 ต.กะรุบีอ.กะพ้อ จ.ปัตตานีสภาพศพถูกยิงด้วยอาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาดเสียชีวิตมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 วัน

เวลา 12.20 น. เกิดเหตุระเบิดอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) อ.เมือง จ.ยะลา ทำให้มีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจำนวน 3 ราย มี คือ 1.นายกฤษณะ โอภางกูล อายุ 30 ปี 2. นายสฤษดิ์วิจิตรพรรณ อายุ 27 ปี 3. นายอารียะ สะแม อายุ 45 ปีเหตุเกิดบนถนนสายชนบทบ้านบ่อเจ็ดลูกหมู่ที่ 6 ต.ยุโป อ.เมือง จ.ยะลา

เวลา 18.15 น. เกิดเหตุคนร้ายยิงนายมะซาอุดีมะดาวีอายุ 28 ปีเสียชีวิต เหตุเกิดที่บ้านสะปอมหมู่ที่ 13 ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส

วันที่ 6 สิงหาคม 2556 เวลา 16.00 น.เกิดเหตุระเบิดชุดปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยครูกองร้อยทหารพราน 4513 หน่วยเฉพาะกิจที่ 45  ขณะปฏิบัติหน้าที่หน้าโรงเรียนบ้านบองอ หมู่ที่ 4 อ.ระแงะ จ.นราธิวาส  ทำให้มีทหารพรานเสียชีวิต 1 ราย คือ อส.ทพ.อภิศักดิ์ ยันตะศิริ

ต่อมาเมื่อเวลา15.00 น. เกิดเหตุระเบิดชุดปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยครู หน่วยเฉพาะที่ 32 ขณะปฏิบัติหน้าที่ที่บ้านกำปงปีแซ หมู่ที่ 3 ต.ลูโบะบือซา อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ไม่มีเจ้าหน้าที่ทหารได้รับบาดเจ็บ เวลา 18.00 น.เกิดระเบิดชุดปฏิบัติการกองร้อยทหารราบที่ 4022 หน่วยเฉพาะกิจที่ 32 ขณะปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยครู เหตุเกิดที่บ้านตะโละสะโต หมู่ที่ 6 ต.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลาไม่มีทหารได้รับบาดเจ็บ

 

หลังฮารีรายอปะทะเดือด

วันที่ 9 สิงหาคม ฉก.นราธิวาส 30 สนธิกำลังเข้าติดตามจับกุมบุคคลเป้าหมายในพื้นที่พงยือติ ต.ลาโละ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ได้เกิดปะทะกับกลุ่มก่อเหตุ ทำให้ฝ่ายก่อการเสียชีวิต 2 ราย คือ นายมูฮำหมัดซาแปอิง แวกาจิ และนายอุสมาน แวกาจิ เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ โดยเจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดรถจักรยานยนตร์ที่๔กโจรกรรมจำนวน 3 คัน พร้อมกับอาวุธยุธโทปกรณ์และสิ่งของหลายรายการ

 

ฮัสซัน ตอยิบ สัมภาษณ์ออกอากาศวิทยุร่วมด้วย

ระหว่างวันที่ 7-9 สิงหาคม สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน มีเดียสลาตัน ได้เปิดคลิปเสียงสัมภาษณ์ อุสตาซ ฮัสซัน ตอยิบ ตัวแทนของ BRN ในการพูดคุยสันติภาพ โดยทีมงานได้เดินทางไปสัมภาษณ์ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งให้สัมภาษณ์ด้วยภาษามลายูโดยพูดคุยในประเด็นต่างๆ  ดังต่อไปนี้ ข้อคิดเห็นของท่านเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ  เกี่ยวกับเป้าหมายการโจมตีของฝ่าย BRN  รูปแบบการปกครอง สถานการณ์ในเดือนรอมฎอนปีนี้ รูปแบบการปกครอง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเดือนรอมฎอิน การควบคุมของกำลังในสนาม การพูดคุยรอบต่อไป ความรวมมือกับขบวนการอื่น ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความรวมมือจากฝ่ายต่างๆ รวมทั้งบทบาทของนายทักษิณ ชินวัตร ในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ (http://www.deepsouthwatch.org/node/4600)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตั้งเป้าลดภาวะตาบอดจากต้อกระจกปีงบ 57

Posted: 10 Aug 2013 11:08 PM PDT

สปสช.ลดภาวะตาบอดจากต้อกระจก ปีงบประมาณ 57 เน้นตรวจคัดกรองเพิ่มชดเชยให้ รพ.ผ่าตัดผู้ป่วยตามัวมองไม่เห็น

11 ส.ค. 56 - นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในแต่ละปีมีผู้สูงอายุป่วยด้วยโรคตาต้อกระจกรายใหม่ 60,000 คน ขณะที่มีผู้ป่วยสะสมรอรับการผ่าตัดกว่า 100,000 คน ซึ่งหากยังปล่อยให้สภาวะดำเนินไปเช่นนี้ จะส่งผลให้ตัวเลขผู้ป่วยสะสมทวีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และสร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้สูงอายุและครอบครัว สปสช.จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขใช้แนวทางการบริหารจัดการโรคเฉพาะ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้มากขึ้น ลดจำนวนผู้ป่วยสะสม เริ่มตั้งแต่ปี 2549เป็นต้นมา และให้บริการด้วยคุณภาพและมาตรฐานตามที่ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์กำหนด มีการกำหนดแนวทางการชดเชยที่เหมาะสม ชัดเจนแก่โรงพยาบาลที่รักษา ทำให้ผู้ป่วยตาต้อกระจกเข้าถึงบริการมากขึ้น ลดการรอคิว ลดจำนวนผู้ป่วยสะสม และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนไทย ผลการดำเนินงาน มีผู้ได้รับการผ่าตัดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เฉลี่ยปีละ 100,000 ราย โดยล่าสุดในปี 2555 มีผู้ได้รับการผ่าตัดต้อกระจกและการเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียม 141,574 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 142 จากเป้าหมาย 100,000 ครั้ง
 
"สำหรับแนวทางการบริหารจัดการโรคตาต้อกระจกในปีงบประมาณ 2557 นั้น ตั้งเป้าหมายผ่าตัดแก่ผู้ป่วยต้อกระจกอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 120,000 ราย โดยจะลดอัตราผู้ป่วยที่ตาบอดจากต้อกระจก ดังนั้นจึงต้องเพิ่มการผ่าตัดตาต้อกระจกในผู้ป่วยตาต้อกระจกที่มีภาวะตามัวมากจนมองไม่เห็น (blinding cataract) ให้เข้าถึงบริการมากขึ้น ตั้งเป้าหมายว่าในแต่ละเขต มีจำนวนผู้ป่วยตามัวจนมองไม่เห็นได้รับการผ่าตัดตาต้อกระจกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 จากเดิมที่แต่ละเขตมีผู้ป่วยกลุ่มนี้เข้ารับการรักษาเฉลี่ยร้อยละ 13 ซึ่งจะต้องเน้นไปที่การบริการตรวจคัดกรองที่ต้องครอบคลุมผู้ป่วยกลุ่มนี้ เพื่อให้ได้รับการผ่าตัดและลดภาวะการตาบอดจากต้อกระจกลงได้ และเพิ่มอัตราการจ่ายให้สถานพยาบาลที่ผ่าตัดตาต้อกระจกในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะตามัวมากจนมองไม่เห็น (blinding cataract) ให้ได้รับค่าชดเชย 9,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราที่เท่ากับการผ่าตัดในกลุ่มซับซ้อน เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของกลุ่มเป้าหมายหลักนั่นเอง"
 
นพ.วินัย กล่าวว่า ขณะเดียวกัน เพื่อให้ผู้ป่วยในพื้นที่ที่เข้าถึงการรักษายาก เช่น พื้นที่ทุรกันดาร และพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน เข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น ได้ปรับวิธีการให้สามารถเบิกจ่ายโดยใช้งบผู้ป่วยในของแต่ละเขตได้ ในกรณีที่แต่ละเขตมีการทำการผ่าตัดเกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ วิธีนี้จะทำให้ไม่ต้องกังวลกับงบประมาณว่าจะมีให้หรือไม่ เนื่องจากสามารถใช้งบผู้ป่วยในได้ ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดนั้น ผู้ป่วยไม่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มแต่อย่างใด มีเพียงจ่ายค่าธรรมเนียม 30บาทต่อครั้งเท่านั้น หากไม่ประสงค์จ่ายก็สามารถทำได้ แต่การปรับวิธีการนี้จะทำให้สถานพยาบาลทำงานได้สะดวกและคล่องตัวมากขึ้นเพื่อให้การผ่าตัดตาต้อกระจกครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย และลดจำนวนผู้ป่วยสะสมนั่นเอง 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอฟทีเอ ว็อทช์จี้เจรจาเอฟต้า ต้องไม่ยอมรับทริปส์พลัสด้านยา

Posted: 10 Aug 2013 10:57 PM PDT

เอฟทีเอ ว็อทช์ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เจรจาการค้ากับเอฟต้า ต้องไม่ยอมรับทริปส์พลัสด้านยาและทรัพยากรชีวภาพ และห้ามนักลงทุนต่างชาติ ฟ้องนโยบายสาธารณะ

 
(กรุงเทพฯ/ 10 ส.ค.56) ตามที่คณะรัฐมนตรีจะรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าระหว่างไทย กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA) ซึ่งประกอบด้วยประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ และ ไอซ์แลนด์ โดยจะพิจารณาร่างกรอบเจรจาในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 13สิงหาคมนี้ เอฟทีเอ ว็อทช์และภาคประชาสังคมที่ติดตามผลกระทบจากการเจรจาการค้าเสรีได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ ระบุผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเข้าไม่ถึงยา การผูกขาดทรัพยากรชีวภาพ และบั่นทอนการกำหนดนโยบายสาธารณะของรัฐบาล
 
นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) กล่าวว่า ข้อเรียกร้องของเอฟต้าใกล้เคียงกับข้อเจรจาที่ไทยเคยถูกเรียกร้องจากประเทศสหรัฐอเมริกา และกับท่าทีของสหภาพยุโรป กล่าวคือ เป็นข้อตกลงที่ครอบคลุมการเปิดเสรีทุกด้านที่เรียกว่า Comprehensive packageได้แก่ การเปิดตลาดสินค้า การเปิดเสรีการค้าบริการ การเปิดเสรีการลงทุน การคุ้มครองการลงทุน และทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะมีผลต่ออำนาจอธิปไตยในการกำหนดทิศทางการพัฒนา และมีแนวโน้มจะสร้างผลกระทบเลวร้ายต่อประชาชนทุกสาขาอาชีพอย่างรุนแรง และกว้างขวาง
 
"มีการเจรจาหัวข้อสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของคนไทยในการเข้าถึงยา ซึ่งข้อเรียกร้องของเอฟต้า ได้แก่ การขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรยาจาก 20 ปีเป็น 25 ปี และการคุ้มครองความลับทางการค้า (Data Exclusivity) เป็นเวลา 5 ปี ตลอดจนการคุ้มครองสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตทุกประเภทที่จะเอื้อให้บรรษัทข้ามชาติเข้ามาผูกขาดพันธุกรรม
 
นอกจากนี้ ข้อกังวลประการสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การเปิดเสรีการบริการ การลงทุน และการคุ้มครองการลงทุน หมายถึงการให้การปฏิบัติอย่างเสรีเท่าเทียมกับคนในชาติ ที่เรียกว่าการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ และการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง ประเทศคู่เจรจาต้องยอมให้มีการถ่ายโอนเงินเข้าและออกจากประเทศ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของผลกำไร ดอกเบี้ย เงินปันผล และรายได้อื่น ได้อย่างเสรีโดยไม่ชักช้า
 
ข้อที่น่าห่วงใยที่สุด คือ การคุ้มครองนักลงทุนต่างชาติให้มากขึ้นเพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุน โดยการจำกัด (ลด)อำนาจของรัฐในการควบคุมบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ลงไป และยังมีความสุ่มเสี่ยงที่นโยบายสาธารณะของรัฐบาลจะถูกนักลงทุนนำไปฟ้องร้องผ่านอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เพื่อล้มนโยบายต่างๆที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนแต่อาจไปเข้มงวดกับการประกอบกิจการของนักลงทุน"
 
ผู้ประสานงาน เอฟทีเอ ว็อทช์ มองว่า ประเทศในกลุ่มเอฟต้ามีความได้เปรียบในความสามารถในการลงทุนค่อนข้างสูงโดยเฉพาะประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้นมีแนวโน้มที่จะได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุนมากที่สุด เนื่องจากเป็นที่ตั้งของบริษัทข้ามชาติจำนวนมาก ทั้งกิจการการเงินการธนาคาร ประกันภัย ยาและเวชภัณฑ์ อาหาร โทรคมนาคม ดังนั้น ร่างกรอบเจรจาจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องชัดเจนเพื่อให้การเจรจาได้ประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริง
 
"เรามีข้อเรียกร้องและข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย ในการกำหนดจุดยืนและท่าทีในการเจรจาเขตการเสรีกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป ดังนี้
 
1. ต้องไม่ยอมรับเนื้อหาการเจรจาที่เกินไปกว่าข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาของ WTO(ไม่ยอมรับ ทริปส์พลัส) โดยเฉพาะในประเด็น การขยายเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตร, การผูกขาดข้อมูลทางยา, การบังคับใช้กฎหมาย, มาตรการ ณ จุดผ่านแดน และไม่ยอมรับการแก้ไขกฎหมายระบบการคุ้มครองพันธุ์พืชที่ประเทศไทยใช้บังคับอยู่ ซึ่งเป็นไปตามความตกลงทริปส์และสอดคล้องกับอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว
 
2. การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนในบทว่าด้วยการลงทุน ที่ให้ทางเลือกเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ต้องยกเว้น ข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการลงทุนสาธารณะ, การออกนโยบายหรือมาตรการเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะ, การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม, ด้านสาธารณสุข, สาธารณูปโภคพื้นฐาน และความมั่นคง
 
3. ไม่เปิดเสรีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ การทำนา ทำสวน ทำไร่ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การปลูกป่า การเพาะและขยายพันธุ์พืช ตลอดจนการลงทุนที่สร้างผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร 
 
4. ถอนสินค้าเหล้า บุหรี่ ออกจากการเจรจาสินค้า
 
5. ให้มีการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางของภาคประชาชนตั้งแต่การกำหนดกรอบการเจรจาและการเจรจา ทั้งในระดับการร่วมรับรู้ข้อมูล การร่วมแสดงความคิดเห็น และระดับการร่วมตัดสินใจ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อคณะผู้เจรจาของไทย ทำให้ได้รับข้อมูล ข้อเสนอแนะเพื่อการเจรจาอย่างครบถ้วนรอบด้าน และยังเป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรองเจรจาได้อีกทางหนึ่ง"
 
ทั้งนี้ ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมในการเจรจาของฝ่ายไทยต้องอาศัยข้อมูลความรู้และงานวิจัยอย่างมาก เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับทีมเจรจา อย่าปล่อยให้ถูกดูถูกเรื่องความรู้ความสามารถดังที่อดีตฑูตสหรัฐฯ นายราล์ฟ บอยซ์ เคยเขียนวิจารณ์ในเคเบิ้ลที่ส่งถึงกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น